แหวนเป็นของสำคัญในการสมรสเมื่อใด

เมื่อพูดถึงแหวน เราทุกคนต้องรู้จัก เพราะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องเคยเห็นแหวนมาแล้วไม่ของตนเองก็ของผู้อื่น แหวนนั้น คือเครื่องประดับนิ้วมือรูปเป็นวง และเรียกสิ่งอื่นที่มีรูปเช่นนั้นด้วย เช่นวงแหวน คือสิ่งที่มีรูปเป็นวงเหมือนแหวน

แหวนเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครที่จะให้คำตอบที่แน่นอนได้ เข้าใจกันว่าแหวนนั้นคงจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกำไลมือ กำไลแขน กำไลเท้า และกำไลคอ และเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เรารู้จักเอาโลหะมาทำเป็นเครื่องใช้สอยแล้ว ในสมัยแหวนอียิปต์โบราณก็มีการใช้กำไลและแหวนกันแล้วอย่างรูปสลักของอียิปต์แสดงให้เห็นเช่นนั้น กำไลหรือแหวนครั้งแรกคงจะทำจากสำริด หรือทองแดงหรือเหล็กก่อน ต่อมาจึงทำด้วยแร่เงินและทอง เมื่อเรารู้จักเจียรนัยหินมีค่าต่างๆ แล้ว ก็คงจะเห็นว่าถ้าเอาประดับเป็นหัวแหวนหรือฝังกำไล ก็จะทำให้สวยงามมากยิ่งขึ้น หัวแหวนก็คงจะวิวัฒนาการต่อมา จนเวลานี้เราทำหัวแหวนจากหินสีต่างๆ และเพชรพลิยราคามีตั้งแต่ถูกที่สุดจนสูงสุดขนาดเศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อใช้ก็มี

แหวนสมัยแรกจริงๆ คงจะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ เพราะปรากฏว่าชาวตะวันตกใช้แหวนแต่งงานเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ หาได้ฝังเพชรพลอยไม่ และประเพณีอันนี้ยังใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ แหวนแต่งงานนั้นว่ากันว่าเพื่อเป็นเครื่องหมายและเครื่องเตือนใจว่าคู่ผัวตัวเมียนั้นจะต้องมีความรักให้กันและกันไม่มีที่ตั้งต้นและที่สิ้นสุดเช่นเดียวกับวงแหวนนั่นเอง แต่ก็เอาแน่ไม่ได้หรอก บางทีแหวนแต่งงานยังกลมอยู่เหมือนเดิมแต่ความรักนั้นขาดสะบั้นไปแล้วก็มี

ในเรื่องแหวนนี้ ก.ศ. เวชยานนท์ ได้เล่าไว้ในหนังสือวิทยานุกรมของเขาว่า “ประเพณีใช้โลหธาตุอันมีค่ามาทำอาภรณ์ประดับร่างกายเช่นแหวนสำหรับสวมนิ้วมือ และอื่นๆ มนุษย์เราได้รู้จักใช้กันมาหลายพันปีแล้ว หลักฐานที่ค้นพบในสุสานเก่าๆ แห่งประเทศไอคุปต์ก็ปรากฏว่าในสมัยที่ไอคุปต์มีความเจริญนั้น ชาวไอคุปต์ได้รู้จักใช้เครื่องประดับกายต่างๆ รวมทั้งแหวนสำหรับสวมนิ้วมือด้วยแล้ว ส่วนการที่แหวนจะกลายมาเป็นของสำคัญในการสมรสของฝรั่งนั้น เชื่อกันว่าได้เริ่มต้นมาแต่สมัยที่เกิดมีชาติโรมันขึ้น (สมัยโรมิวลุสสร้างกรุงโรมเมื่อก่อนพุทธกาล ๒๑๐ ปี) ชาวโรมันนิยมการใช้แหวนเหล็กสำหรับทำการหมั้นเจ้าสาวเพื่อเป็นการวางมัดจำ ในการที่จะทำการสมรส ครั้นต่อมาในสมัยราวๆ ศตวรรษที่ ๒ แห่งคริสตกาล (ประมาณ พ.ศ. ๕๔๓-๖๔๓) ได้เริ่มนิยมใช้แหวนซึ่งทำด้วยทองคำแทนแหวนเหล็ก ซึ่งเคยใช้กันอยู่เดิม ประเพณีนี้ในชั้นเดิมเป็นแต่ความนิยมของคนส่วนมากเท่านั้น มิได้เกี่ยวข้องในทางศาสนาอย่างใดเลย ครั้นเมื่อคริสต์ศาสนาได้แผ่ไปตั้งหลักฐานมั่นคงในประเทศโรมัน ก็เป็นธรรมดาที่พิธีในทางศาสนาต่างๆ ย่อมพยายามให้กลมกลืนกับประเพณีเดิมให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ความนิยมในศาสนา ฉะนั้นในราวศตวรรษที่ ๑๑ แห่งคริสตกาล ทางศาสนาคริสต์ก็บัญญัติให้ใช้แหวนสวมนิ้วมือ ในการสมรสตามพิธีทางศาสนา ดังที่ได้ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่คริสต์ศาสนิกชนในบัดนี้ ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงทำให้วงแหวนเกลี้ยงๆ ซึ่งเดิมใช้แต่เพียงของหมั้นของชาวโรมัน กลายเป็นเครื่องหมายสำหรับสตรีผู้ได้กระทำการสมรสแล้วสวมไว้ที่นิ้วมือซ้ายของตน เพื่อแสดงให้ชายอื่นๆ ทราบ

เมื่อพูดถึงแหวนแต่งงานของชาวตะวันตกแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงเรื่องของหมั้นและสินสอดของไทยเรามิได้ ของหมั้นของไทยเรานั้น แต่แรกเริ่มเดิมที คงจะไม่ได้ใช้แหวนอย่างทุกวันนี้เราใช้ทองจะเป็นสร้อยหรือแหวนก็ได้ทั้งนั้น แต่ต่อมาเมื่ออารยธรรมแบบตะวันตกเผยแพร่เข้ามาในประเทศเรา ความนิยมเรื่องของหมั้นจากทองธรรมดาๆ ก็กลายมาเป็นแหวนไป และทุกวันนี้ในสังคมของคนที่พอจะมีเงินอยู่บ้าง ใช้แหวนเพชรเป็นของหมั้น นับเป็นการัตๆ กัน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของการหมั้น

ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เครื่องประดับกายของมนุษย์เรานั้น มีหลายอย่างคือกำไลเป็นอันดับแรก กำไลนั้นมีทั้งกำไลข้อเท้า กำไลข้อมือกำไลแขน บางชาติบางเผ่าก็นิยมใช้กำไลคอหรือห่วงสวมคอ การสวมกำไลแสดงถึงฐานะของบุคคลอย่างหนึ่ง คนที่มีฐานะดีก็ใส่กำไลหลายอัน ฐานะน้อยก็ใส่น้อยอัน ฐานะดีก็ใช้วัตถุหรือโลหะมีค่าเช่นเงินหรือทองนาค ฐานะไม่ค่อยดีก็ใช้โลหะธาตุที่มีค่าน้อยลงไปเป็นลำดับ ข้อนี้เราจะเห็นได้ตามรูปสลักโบราณต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเรารู้จักใช้กำไลมานานแล้ และกำไลแสดงถึงฐานะบุคคลด้วย

เมื่อพูดถึงกำไลแล้ว ทำให้นึกถึงกำไลในประวัติศาสตร์อันหนึ่ง นั่นคือกำไลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราชได้พระราชทานแก่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๕๐) เป็นกำไลทำเป็นรูปตาปูแบบโบราณไขว้กัน ถ้ามองตรงเป็นอักษร s (หมายถึงสดับ) ภาษาอังกฤษ ถ้าบิดข้อมือเสียหน่อยจะเป็นตัว c (หมายถึงจุฬาลงกรณ์) เนื้อทองของกำไลนั้นบริสุทธิ์จนบิดได้ และทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยม บนรอบด้านนั้นจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์ไว้ ๔ คำกลอน เป็นตัวหนังสือขนาดจิ๋ว อ่านได้ความว่า

“กำไลมาศชาตินพคุณแท้        ไม่ปรวนแปรไปอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที        จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก        ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย        เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”

จากเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้ชายสมัยก่อนยังไม่นิยมให้แหวนแก่ผู้หญิงเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก แต่ให้ของอย่างอื่นแทน เช่นกำไลเป็นต้น แหวนเพิ่งเข้ามามีบทบาทในตอนหลัง

แหวนมีขึ้นเมื่อไร คำถามนี้ดูเหมือนจะได้ตั้งไว้ครั้งหนึ่งแล้ว และมีคำตอบแล้วด้วยว่ามีมาตั้งแต่สมัยไอคุปต์และโรมันโบราณ จากหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งไทยเราได้รับมาจากชมพูทวีป ซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ยิ่งกว่ายุโรปหรือกรุงโรมเสียอีก ได้กล่าวถึงแหวนไว้เหมือนกัน แหวนนั้นเป็นแหวนที่พระอิศวรพระราชทานให้นางสีดา เรื่องตอนนี้มีอยู่ว่า เมื่อทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาจะพาไปกรุงลงกานั้น พญานกสดายุได้เข้าขัดขวางรบกันหลายเพลงก็ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ทศกัณฐ์ก็ดูเหมือนจะหมดฤทธิ์หมดปัญญาที่จะเอาชนะพญานกสดายุได้ บังเอิญพญานกสดายุได้พลั้งปากพูดถึงความลับของตนออกมาว่า

“เมื่อนั้น                สดายุใจหาญชาญสมร
บินขวางหน้าท้าวยี่สิบกร    แสดงฤทธิรอนดังลมกัลป์
กางปีกแผ่หางพลางเย้ย    ว่าเหวยอสุรีโมหันต์
สิบเศียรสิบพักตร์กุมภัณฑ์    ยี่สิบหัตถ์อันชิงชัย
พุ่งซัดอาวุธเป็นห่าฝน        จะต้องปลายขนก็หาไม่
ถึงทั้งสามภพจบแดนไตร    กูจะเกรงผู้ใดอย่าพึงคิด
กลัวแต่พระสยมภูวนาถ        พระนารายณ์ธิราชจักริศ
กับธำมรงค์พระอิศวรทรงฤทธิ์    ที่ติดนิ้วน้อยนางมาฯ

ทศกัณฐ์ได้ฟังดังนั้นจึงถอดแหวนที่นิ้วนางของนางสีดา ขว้างไปถูกปีกของพญาสดายุจึง

“สองปีกหักสลักอก        ตกลงมาจากเวหา
ปากคาบธำมรงค์อลงการ์    เอาใจไว้ท่าพระจักรี”

เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า อินเดียโบราณก็นิยมใช้แหวนเป็นเครื่องประดับกันแล้ว

ผู้หญิงสมรสแล้วจะสวมแหวนสมรสไว้ที่นิ้วนางข้างซ้าย และแหวนหมั้นก็นิยมสวมนิ้วนางซ้ายเหมือนกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าจะพูดถึงความสวยงามแล้ว การสวมแหวนไว้ที่นิ้วนางซ้ายดูเหมือนจะทำให้สวยงามกว่านิ้วอื่น เพราะนิ้วนางนั้นเวลาเราจะกระดิกนิ้วก็ทำได้สะดวกและวามกว่ากระดิกนิ้วอื่น และมือข้างซ้ายก็ไม่ต้องใช้งานหนักเหมือนมือข้างขวาจึงเหมาะที่จะเอาแหวนไปประดับไว้ แต่อีกความคิดหนึ่งกล่าวว่า ที่สวมแหวนหมั้นหรือแหวนวิวาห์ไว้ที่นิ้วนางข้างซ้ายก็เพราะว่า มือขวาเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ มือซ้ายเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ในบังคับ และเชื่อกันว่านิ้วนางนั้นเมื่อจับที่ปลายนิ้วนั้นแล้ว ความรักความซาบซึ้งจะแล่นเข้าถึงหัวใจทีเดียว เพราะว่ากันว่าเส้นประสาทในนิ้วนางแล่นตรงมาจากหัวใจ แต่สมัยเอลิซเบธแห่งอังกฤษนิยมสวมแหวนหมั้นที่หัวแม่มือ คนไทยเราบางคนก็นิยมสวมแหวนไว้ที่นิ้วชี้หรือนิ้วอื่นเหมือนกัน แต่เป็นแหวนอื่นไม่ใช่แหวนหมั้น ฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมพระธำมรงค์ทุกองคุลี คือสวมครบทั้งสิบนิ้ว สมัยนี้ใครขืนสวมแหวนมากขนาดนั้นก็มีหวังถูกตัดนิ้วไปจำนำเป็นแน่ เมื่อเสร็จสงครามโลกคราวที่แล้วใหม่ๆ ตำรวจจับชายผู้หนึ่งได้แถวศาลาแดง เพราะตรงกระเป๋ากางเกงของเขามีเลือดหยดออกมา ตำรวจตรวจดูปรากฏว่าในกระเป๋าของเขามีนิ้วของผู้หญิงสวมแหวนเพชรเม็ดงามอยู่วงหนึ่ง เขาสารภาพว่าตัดนิ้วมาจากมือของผู้หญิงคนหนึ่งที่ห้อยมือลงข้างรถรางที่ศาลาแดงนั่นเอง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชคงจะโปรดพระธำมรงค์เป็นอันมาก จนถึงกันทรงสวมทุกองคุลี เมื่อศรีปราชญ์ทำความชอบแต่งโคลงถวายจึงได้รับพระราชทานแหวนเป็นรางวัลนายประตู ซึ่งไม่เคยเห็นศรีปราชญ์สวมแหวนก็ประหลาดใจจึงถามและตอบเป็นคำโคลงว่า

นายประตูถามว่า… “แหวนนี้ท่านได้แต่        ใดมา
ศรีปราชญ์ตอบว่า    เจ้าพิภพโลกา        ท่านให้
นายประตูถามว่า    ทำชอบสิ่งใดนา        วานบอก
ศรีปราชญ์ตอบว่า    เราแต่งโคลงถวายไท้    ท่านให้รางวัล”

สมัยโบราณนั้นแหวนเป็นเครื่องประดับบอกยศศักดิ์อย่างหนึ่ง สามัญชนคนธรรมดาจะแต่งเครื่องทองหยองต้องระมัดระวังไม่ให้เหมือนเจ้าหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพราะมีกฎหมายห้ามไว้ว่า “จะแต่งบุตรแลหลานก็ให้ใส่แต่จี้เสมา ภัควจั่น จำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้ อย่าให้ประดับเพชรถมยาราชาวดี ลูกประหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยงเกี้ยวอย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ และอย่าให้ใส่กระจับปิ้งพริกเทศทองคำ กำไลทองใส่เท้า แลห้ามอย่าให้ช่างทองทั้งปวงรับจ้างแลทำจี้ เสมา ภควจั้น ประดับเพชรถมยาราชาวดี แลกระจับปิ้ง พริกเทศ กำไลเท้าทองคำ และแหวนถมยาราชาวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยและอาณาประชาราษฎร์ช่างทอง กระทำให้ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน จะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก” นี่เป็นกฎหมายเก่า ซึ่งได้ยกเลิกไปนานแล้ว ปัจจุบันนี้ใครผู้ใดมีเงินทองจะแต่งตัวให้เต็มไปด้วยเพชรพลิยอย่างไรก็ไม่มีโทษตามกฎหมายแล้ว เพราะกฎหมายไม่ถือเป็นความผิด ถ้าจะมีโทษก็เห็นจะเป็นโทษทางโจรหรือโจรภัยอย่างเดียวเท่านั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ชาวญี่ปุ่นใช้ลิงสอนลูกหลาน

ลิงนั้นคงจะเป็นสัตว์แพร่หลายไปทั่วโลก แม้ตามเกาะแก่งต่างๆ ก็ยังมีลิงอยู่ ชาวญี่ปุ่นเป็นชาติที่เคร่งครัดในเรื่องศีลธรรมและวัฒนธรรมมาแต่เดิม เขามีวิธีการที่จะปลูกฝังศีลธรรมให้เยาวชนหลายอย่าง มีอยู่วิธีหนึ่งที่ใช้ลิงเป็นเครื่องมือ คือทำเป็นรูปลิง ๓ ตัว เขาเรียกลิง ๓ ตัวนี้ว่าลิงฉลาด ลิง ๓ ตัวนั้นคือลิงสามตัว

ตัวที่ ๑ ชื่อ มีซารุ ทำเป็นรูปลิงเอามือปิดตา มีความหมายว่าไม่ต้องการเห็นสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ตัวที่ ๒ ชื่อ มิกาซารุ  ทำเป็นรูปลิงเอามือปิดหู มีความหมายว่า ไม่ต้องฟังสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ตัวที่ ๓ ชื่อ มาซารุ  ทำเป็นรูปลิงเอามือปิดปาก มีความหมายว่าไม่ต้องการพูดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ความมุ่งหมายที่ทำเป็นรูปลิงสามตัว เพื่อจะสั่งสอนประชาชนของชาติญี่ปุ่นนี้นับว่าเป็นความคิดที่ดีเหลือเกิน เพราะสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ที่จะเข้าไปสู่จิตใจของคนเรานั้น ก็มาทางตาหู และปากของเรานี่เอง ใครก็ตามถ้าสามารถที่จะปิดหูปิดตาปิดปาก โดยไม่ให้ความชั่วร้ายต่างๆ เข้าไปแล้ว นับว่าเป็นคนที่ดีได้

จากคติของญี่ปุ่นเรื่องลิงปิดตาหูปากนี้ ทำให้คิดถึงพระเครื่องรางอย่างหนึ่งของเราที่เรียกว่าพระภควัมหรือพระปิดทวารทั้งเก้า ว่ากันว่ามีคุณในทางป้องกันศัสตราวุธทุกชนิด แต่น่าคิดว่าท่านโบราณาจารย์น่าจะคิดทำพระเครื่องรางแบบนี้ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องสั่งสอนหรือเตือนสติศาสนิกชนให้ปิดทวารคือทางเข้าทั้งเก้าแห่งเสียเพื่อมิให้ความชั่วร้ายเข้าสู่จิตใจของเราก็เป็นได้ ถ้าเรานับถือพระภควัมในแง่นี้ ก็น่าจะเป็นผลดีมากกว่าที่จะนับถือท่านในทางอยู่ยงคงกระพันกระมัง

ก่อนจะจบเรื่องของลิง ขอให้ท่านสังเกตว่าเคยเห็นลิงหลับบ้างไหม คนที่พูดกล่อมใจคนเก่งกล่าวกันว่าสามารถกล่อมให้ลิงหลับก็ได้ จึงพูดกันว่าคนนั้นพูดจนลิงหลับ แต่ฟังไปในทำนองไม่ค่อยจะเป็นมงคลแก่ผู้ถูกกล่าวขวัญถึงนัก ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องลิงหลับต่อไปอีกสักนิดคราวนี้เกี่ยวกับลมด้วย เรื่องมีอยู่ว่า ลมสลาตัน ซึ่งเป็นเจ้าแห่งความเร็วและความแรง สามารถพัดพาอะไรๆ ให้ล่องลอยไปได้ง่าย ไปพบลมพัทธยาซึ่งพัดเอื่อยๆ เข้า ลมสลาตันหัวเราะเยาะว่าลมพัทธยาพัดแบบนั้น ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ลมพัทธยาจึงว่า ท่านถือว่าท่านมีกำลังแรง ลองมาพนันกับเราก็ได้ ถ้าท่านมีกำลังจริงลองพัดลิงที่เกาะอยู่ตามต้นไม้นั้นให้หล่นดูซิ ลมสลาตันมองดูลิงที่ไต่ยั้วเยี้ยอยู่บนต้นไม้แล้วหัวเราะ บอกว่าไม่ถึงอึดใจจะพัดให้ร่วงหมด ว่าแล้วก็แผลงฤทธิ์พัดไปโดยเร็วและแรง ฝ่ายเหล่าวานรทั้งหลายพอพายุพัดมาแรงก็พากันกอดแนบนิ่งอยู่กับกิ่งไม้ ลมสลาตันพัดเท่าไรก็ไม่สามารถทำให้ลิงตกได้แม้แต่ตัวเดียว ต้องยอมให้ลมพัทธยาพัดต่อไป ฝ่ายลมพัทธยานั้นคือลมที่พัดเอื่อยๆ และมีการกรรโชกแรงเป็นบางครั้ง เมื่อพัดเอื่อยๆ พวกลิงก็พากันง่วง พอเห็นลิงง่วง ลมก็กรรโชกแรง ลิงเผลอตัวก็ร่วงหล่นลงมาจากต้นไม้เป็นแถว ลมสลาตันต้องยอมแพ้

ท่านได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องของลม ๒ ชนิดนี้บ้างไหม

ลิงนั้น แม้ว่าสามารถฝึกสอนให้มันทำอะไรได้หลายอย่างก็ตาม แต่ลิงก็คงเป็นลิงอยู่นั่นนเอง เล่ากันว่ามีเจ้าของละครลิงคณะหนึ่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ให้นำละครลิงของตนเข้าไปแสดงถวาย ละครลิงคณะนั้น แสดงได้ดีเป็นที่สพพระราชหฤทัย จึงโปรดพระราชทานรางวัลเป็นเงิน ๒๐ บาท พระองค์ทรงยื่นธนบัตรใบละ ๒๐ บาท พระราชทานให้ลิงตัวเอกในเรื่อง ขณะนั้นพระองค์ทรงพระโอสถซิการ์อยู่ แทนที่พระเอกลิงจะรับพระราชทานเงิน มันกลับจะเอาซิการ์ ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้นตกลง พระองค์ต้องพระราชทานซิการ์ไป ลิงพระเอกรับพระราชทานแล้วไปสูบพ่นควันโขมง พอออกมาจากที่แสดงพ้นเขตพระราชฐาน พระเอกลิงถูกเจ้าของเฆี่ยนเสียเจียนตาย เพราะอดได้เงินตั้ง ๕ ตำลึง ซึ่งเป็นเงินมิใช่น้อยในสมัยนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ลิงชนิดต่างๆ

ลิงนั้น ตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีปกติอยู่บนต้นไม้ มีหางบ้าง ไม่มีบ้าง มีหลายชนิด เช่นลิงลม ลิงแสม” และแสดงกิริยาของลิงไว้ว่า “ชอบกระโดดโลดเต้น”ลิง

เรามีคำที่เรียกลิงอีก ๒-๓ คำ คือ กระบี่ วานร วอก คำว่าลิงนั้นดูจะเป็นคำไม่สุภาพ เราจึงใช้คำสุภาพว่ากระบี่หรือวานร อย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมือง เรียกว่าเมืองวานรนิวาส ถ้าจะแปลกลับไปก็ยังเป็นกุดลิงอยู่ตามเดิมนั่นแหละ แต่ก็ฟังไพเราะสมกับเป็นเมืองมากกว่าคำว่ากุดลิง และถ้าเป็นเรื่องหนังสือแล้วคำว่า ลิงดูจะเป็นลิงชั้นเลว ทำเป็นลิงชั้นดีก็เรียกว่ากระบี่หรือวานร เช่นหนุมานพญาวานรทหารเอกของพระรามเป็นต้น เราไม่เคยเรียกหนุมานว่าลิงเลย

ลิงนั้นมีตั้งแต่ตัวเล็ก เช่น ลิงแสม ที่ชอบอยู่ตามต้นแสมชายเลน หาปูหาปลากิน ลิงชนิดนี้เล่ากันว่ามันมีวิธีจับปูทะเลมากินโดยวิธีเอาหางแหย่ลงไปในรูปู พอปูหนีบหาง มันจะดึงหางขึ้นมาปูก็ติดขึ้นมาด้วย มันก็จะฉีกปูกินเป็นอาหาร แต่บางคราวโชคไม่ดี ถูกปูตัวใหญ่ที่ฉลาดเข้า ลิงก็ดึงปูขึ้นจากรูไม่ได้ พอน้ำขึ้นมากท่วมลิงตาย ลิงก็กลายเป็นภักษาหารของปูไปเหมือนกัน

สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงความเป็นอยู่ของลิงแสมไว้ในนิราศเมืองเพชรของท่านว่า

“ถึงบ้านขอมลอมฟืนดูดื่นดาษ      มีอาวาสวัดวาที่อาศัย
ออกชะวากปากชลามหาชัย        อโณทัยแย้มเยี่ยมเหลี่ยมพระเมรุ
ข้างฝั่งซ้ายชายทะเลเป็นลมคลื่น    นภางค์พื้นเผือดแดงดังแสงเสน
แม่น้ำกว้างว้างเวิ้งเป็นเชิงเลน    ลำภูเอนอ่อนทอดยอดระย้า
หยุดประทับยับยั้งอยู่ฝั่งซ้าย        แสนสบายบังลมร่มรุกขา
บรรดาเรือเหนือใต้ทั้งไปมา        คอยคงคาเกลื่อนกลาดไม่ขาดคราว
บ้างหุงต้มงมงายทั้งชายหญิง    บ้างแกงปิ้งปากเรียกกันเพรียกฉาว
เสียงแต่ตำน้ำพริกอยู่กริกกราว    เหมือนเสียงส้าวเกราะโกร่งที่โรงงาน
เห็นฝูงลิงวิ่งตามกันสอสอ        มาคอยขอโภชนากระยาหาร
คนทั้งหลายชายหญิงทิ้งให้ทาน    ต่างลนลานแย่งได้เอาไพล่พลิ้ว
เวทนาวานรอ่อนน้อยน้อย        กระจ้อยร่อยกระจิดริดจิดจีดจิ๋ว
บางเกาะแม่แลโลดกระโดดปลิง    ดูหอบหิ้วมิให้ถูกตัวลูกเลย
โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งบุตร        เพราะแสนสุดเสน่หานิจจาเอ๋ย
ที่ลูกอ่อนป้อนนมน่าชมเชย        กระไรเลยแลเห็นน่าเอ็นดู
ต่ลิงใหญ่โอ้ทะโมนมันโลนเหลือ    จนชาวเรือเมินหมดด้วยอดสู
ทั้งลิงเผือกเทือกเถามันเจ้าชู้        ใครแลดูมันนักมักยักคิ้ว
บ้างกระโดดโลดหาแต่อาหาร        ได้สมานยอดแสมพอแก้หิว
เขาโห่เกรียวประเดี๋ยวใจก็ไพล่พลิ้ว    กลับชี้นิ้วให้ดูอดสูตา”

และท่านยังได้กล่าวไว้ในที่นี้อีกแห่งหนึ่งว่า

“เขาว่าลิงจองหองมันพองขน”

อย่างไรก็ตามลิงนั้นมีอีกหลายชนิด บางชนิดก็น่ารัก บางชนิดก็น่ากลัว แต่ประโยชน์ของลิงก็มีอยู่มาก ชาวสวนเอาลิงกังมาฝึกหัดใช้งานเช่นให้ขึ้นต้นมะพร้าว เป็นต้น นับว่าช่วยแรงคนได้มาก ชาวเกาะสมุย ซึ่งมีอาชีพส่วนใหญ่คือการทำสวนมะพร้าว เขาฝึกหัดลิงให้ขึ้นมะพร้าว ใช้งานได้น่าอัศจรรย์ ราคาลิงที่ฝึกแล้วตัวละหลายพันบาท

ท่านที่เคยดูละครลิง คงจะเห็นว่าลิงนั้น เขาสามารถนำมาฝึกให้ทำอะไรได้หลายอย่าง เพราะลักษณะท่าทางของลิงใกล้คนมากที่สุด โดยเฉพาะมีลิงอยู่ชนิดหนึ่ง เรียกว่าเอ๊ป หรือลิงชิมแปนซี ซึ่งสวนสัตว์ของเราในกรุงเทพฯ มีอยู่ตัวหนึ่ง หรือสองตัวก็จำไม่ได้เสียแล้ว เขาฝึกหัดให้ลิงชิมแปนซีนี้ ถีบจักรยานก็ได้ เวลากินอาหารจัดให้มันนั่งโต๊ะกินด้วยช้อนส้อม ปรากฏว่ามันทำได้เหมือนเด็กเล็กๆ กินก็เรียบร้อย เด็กๆ ที่รับประทานอาหารมูมมามหรือไม่ค่อยเรียบร้อย ไปเห็นลิงชิมแปนซีกินอาหารสักครั้งรับรองว่าต้องอายลิงเป็นแน่

ลิงในประเทศของเรานั้น ขนาดใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นพวกลิงกังหางสั้น ลิงกังนั้น ว่ากันว่าโตขนาดเด็กอายุเกือบขวบที่เดียว และเป็นลิงที่ดุแต่ก็อาศัยอยู่ตามป่าสูง ไม่ใช่ป่าชายเลนอย่างลิงแสมหรือลิงเสน

สิ่งที่มีชื่อของเมืองไทยอีกแห่งหนึ่ง ก็เห็นจะเป็นลิงที่ศาลพระกาฬ ที่จังหวัดลพบุรี ลิงพวกนี้อาศัยอยู่ที่ศาลพระกาฬนานมาแล้ว ไม่มีใครกล้าทำอะไร เพราะถือว่าเป็นลิงของเจ้าพ่อ สมัยก่อนนี้มีมาก เล่ากันว่าตอนเช้ามันจะพากันขึ้นรถไฟไปหากินทางเหนือ พอตกเย็นก็พากันขึ้นรถไฟกลับมาที่เดิม คนที่ไปไหว้เจ้าพ่อที่ศาลพระกาฬมักจะซื้อกล้วยอ้อยให้ลิงพวกนี้กินเสมอ แต่พอเผลอลิงจะแย่งสิ่งของเช่นกระเป๋าถือของพวกผู้หญิง เป็นต้น แล้วพาขึ้นต้นไม้หายไปเลยก็มี ใครไปเที่ยวต้องระวังไว้

สมัยก่อนป่ามีมาก ลิงก็คงจะมากตามป่าไม้ โดยเฉพาะสมัยอยุธยาลิงคงจะมีมากที่เดียว ลิงอยุธยาได้ทำให้เกิดนักปราชญ์ราชสำนักขึ้นท่านหนึ่ง นั่นคือศรีปราชญ์ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อศรีปราชญ์เป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้ตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งเสด็จไปประพาสอุทยานป่าแก้วด้วย ขณะกำลังประทับอยู่ที่นั่น ได้ทรงสดับเสียงลิงเกรียวกราว เพราะลิงกำลังผสมพันธุ์กันอยู่ สมเด็จพระนารายณ์รับสั่งถามว่านั่นเสียงอะไร ก็ไม่มีใครจะกราบบังคมทูลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าลิงมันทำอะไรกัน แต่การที่จะกราบทูลให้ไพเราะไม่ระคายโสตนั้น คนที่ไม่ได้เตรียมตัวก็คงพูดไม่ออก สมเด็จพระนารายณ์จึงหันไปถามศรีปราชญ์ว่า นั่นลิงมันทำอะไร ศรีปราชญ์กราบทูลว่า “ไม่ควรกราบบังคมทูลหามิได้ มันทำสมัครสังวาสผิดประหลาดกว่าสัตว์ธรรมดา” สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานมาก จึงตรัสว่า “ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์แต่บัดนี้เถิด”

เรื่องการเลี้ยงลิง ลำบากเพียงไรใครๆ ก็รู้ เพราะลิงมันอยู่ไม่สุข ชอบซุกซน แต่ความซนของลิงก็ดูจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับศรีปราชญ์อีก เรื่องมีอยู่ว่า มีพระสังฆราชองค์หนึ่ง ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ทูลเรื่องว่าเวลานี้ราษฎรพากันเดือดร้อน และไม่พอใจในข้อที่สมเด็จพระนารายณ์ ทรงตรากำหนดกฎหมายต่างๆ ออกมาบังคับราษฎร สมเด็จพระ,นารายณ์จึงตรัสปรึกษาเรื่องนี้กับข้าราชการ ศรีปราชญ์ซึ่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วยได้กราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ว่า ขอให้พระองค์โปรดประทานลิงไปให้พระสังฆราชองค์นั้น เลี้ยงดูสักตัวหนึ่ง แต่ขอให้ปล่อยลิงตัวนั้นไว้อย่าไปผูกมัน ให้มันอยู่ตามใจชอบ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเข้าใจความคิดของศรีปราชญ์ จึงประทานลิงให้พระสังฆราชเอาไปเลี้ยง เจ้าลิงนั้นพอถึงกุฏิสังฆราชก็เริ่มอาละวาดตามสัญชาตญาณของมัน รื้อข้าวของหลังคากุฏิเปิงไปหมด สมเด็จพระสังฆราชทนไม่ไหว ก็นำลิงไปถวายคืนสมเด็จพระนารายณ์ๆ ตรัสว่า การปกครองคนที่จะให้เรียบร้อยได้ต้องมีกฎข้อบังคับ หาไม่แล้วก็เหมือนลิงซึ่งเลี้ยงไว้โดยไม่ผูกนั่นแล

ในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ลิงเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างอวัยวะคล้ายคลึงกับคนมากทีเดียว ลิงขนาดใหญ่ เช่น ลิงอุรงอุตัง หรือลิงกอลิลลา มีโครงสร้างของกระดูกมือเท้าคล้ายกับคนมาก ก็เพราะลิงมีรูปร่างคล้ายคนนี่เอง ปราชญ์บางท่าน เช่น ชาร์ล ดาร์วิน จึงลงความเห็นว่า มนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาจากลิง ตามความเห็นของชาร์ล ดาร์วินนี้มีผู้คัดค้านกันมาก โดยเฉพาะพวกแพทย์ลงความเห็นเด็ดขาดว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะเชื้อสืบพันธุ์ของคนและลิงเป็นคนละชนิดคนละพวกกันทีเดียว ถ้าคนวิวัฒนาการมาจากลิงจริงแล้วเชื้อสืบพันธุ์จะต้องเป็นชนิดเดียวกันแน่นอน เรื่องของคนกับลิงจึงยุติได้ว่าไม่ได้มาจากเผ่าเดียวกันแน่

อย่างไรก็ตามลิงกับคนคงจะใกล้ชิดกันมานานทีเดียว อย่างเช่นในเรื่องรามเกียรติ์ของเราซึ่งได้มาจากอินเดียนั้น ทหารของพระรามทั้งหมดทั้งนายทั้งพลทหารล้วนแต่เป็นวานรทั้งนั้น โดยเฉพาะหนุมานนั้น เป็นลิงเผือกที่มีอิทธิฤทธิ์มาก และชาวอินเดียบางพวกยังนับถือหนุมานก็มีอยู่ นายเขียน ยิ้มศิริ ได้กล่าวไว้ในหนังสือศิลปพื้นบ้านของไทยโดยท้าวความถึงหนังสือ “The Wonder that was India ของ A.L. Basham” ได้กล่าวถึงประเพณีของชาวอินเดียที่นับถือหนุมานไว้ว่า

“หนุมานเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง เป็นโอรสของพระพาย เป็นทั้ง พระสหายและข้าช่วงใช้ของพระรามนั้น ชาวอินเดียก็ยังนับถือหนุมานว่าเป็นเทพเจ้าประจำตำบลซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของวานร ที่มีร่างเป็นมนุษย์ ตามศาลเทพารักษ์ต่างๆ หนุมานเป็นเทพเจ้าที่มีความเมตตากรุณา และพิทักษ์รักษาชาวบ้าน ดังนั้นชาวอินเดียจึงนับถือลิงว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ด้วย”

นายเขียน ยิ้มศิริ กล่าวไว้ต่อไปว่า “ชาวอินเดียนับถือหนุมานจะไม่ยอมให้ใครทำร้ายลิง เคยปรากฏว่ามีฝรั่งนักท่องเที่ยวไปยิงลิงในหมู่บ้านที่ชาวบ้านนับถือลิงตายเข้าสองสามตัว เลยถูกประชาทัณฑ์ถึงตาย”

ในพุทธประวัติของเราก็มีลิงเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกัน ไม่สามารถปรองดองกัน แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงวิงวอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ พระพุทธเจ้าจึงหลีกเร้นเข้าไปประทับอยู่ในป่า มีช้างและลิงเป็นผู้อุปถาก โดยลิงเก็บผลไม้และนํ้าผึ้งมาถวาย จนตลอดพรรษา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าลิงนั้นใกล้ชิดกับคนมากเพียงไร ในชาดกทางพุทธศาสนาของเรา มีเรื่องเกี่ยวกับลิงมากมายสุดที่จะนำมาพรรณนาในที่นี้ได้หมด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้คนเรารู้จักบังคับใจตนเองให้อยู่กับที่  เพราะว่าธรรมดาของจิตใจนั้น เคลื่อนไปได้รวดเร็วไม่อยู่กับที่ พระองค์เปรียบจิตใจของคนว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับลิงที่ไม่ชอบอยู่เป็นสุข

ลิงทุกชนิดมีผลไม้เป็นอาหาร ที่เราเอามาเลี้ยงให้กินข้าวมันก็ชอบเหมือนกัน แต่สิ่งที่ลิงเกลียดที่สุดก็คือกะปิ ใครเอากะปิไปทามือลิงแล้วลิงจะเช็ดจนเลือดไหลทีเดียว เช็ดแล้วดมเช็ดแล้วดม จนกว่ากลิ่นจะหมด ลิงจะอาฆาตคนที่ทำเช่นนั้นไม่มีลืม

ที่อยู่ของลิงคือต้นไม้ เว้นแต่ลิงขนาดใหญ่ เช่น พวกกอลิลลามันจะทำที่อยู่ตามโคนไม้ที่พื้นดิน เพราะมันขึ้นต้นไม้ไม่สะดวก

ลิงทำรังหรือที่อยู่กันฝนเหมือนกัน โดยหักกิ่งไม้มาสุมๆ กันไว้บนต้นไม้ ทำจนมองไม่เห็นแสงตะวัน แต่แทนที่มันจะอยู่ภายใต้หลังคาที่มันสร้างขึ้นมา มันกลับขึ้นไปนั่งบนหลังคาหนาวสั่นอยู่บนนั้นเอง บางท่านว่าลิงมันกลัวหางจะเปียก มันจะเอาหางห้อยลงมาใต้หลังคาที่มันทำนั้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่าทำไมลิงมันไปทำอย่างนั้น ทำเหมือนคนโง่ๆ

เพราะลิงเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคนนี่เอง คนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมฆ่าลิงเอามาทำเป็นอาหาร แต่ก็มีคนพวกที่ชอบกินอาหารแปลกๆ อ้างว่าทำให้มีพละกำลังทางเพศ นิยมกินสมองของลิง วิธีกินสมองลิงก็พิศดารทรมานสัตว์ดีนัก คือเขามีโต๊ะจัดไว้เป็นพิเศษ คือเจาะรูไว้ตรงกลางโต๊ะ เมื่อต้องการจะกินสมองลิง (ผมใช้กริยาว่ากิน เพราะเหมาะกันการกินวิตถารนี้) ก็เอาลิงเข้าไว้ใต้โต๊ะให้ศีรษะโผล่พ้นโต๊ะขึ้นมา ใช้มีดเฉาะตรงกะโหลกศีรษะเปิดสมอง พวกที่นั่งคอยอยู่ก็เอาช้อนตักกิน ทั้งๆที่เจ้าของสมองกำลังดิ้นกระแด่วๆ อยู่ ว่ากินแล้วทำให้มีกำลังดีนัก เป็นอาหารเสวยของฮ่องเต้ทีเดียว คนชนิดนี้เผลอๆ ก็จะถูกคนอื่นฉะสมองไปกินเสียบ้างก็ได้

การเลี้ยงลิงคงจะวุ่นวายน่าดูกว่าจะฝึกลิงให้เชื่องได้ เพราะลิงชอบซุกซน เราจึงมีคำพังเพยอยู่บทหนึ่งเกี่ยวกับลิงว่า ฤาษีเลี้ยงลิง ใช้ในเมื่อหัวหน้าของหมู่คณะไม่สามารถจะควบคุมบริวารให้อยู่ในระเบียบวินัยได้ วิธีฝึกลิงโดยใช้อุบายอีกอย่างหนึ่งคือทรมานสัตว์อื่น หรือฆ่าสัตว์อื่นให้ลิงดู เช่นเชือดคอไก่ให้ลิงดู เป็นต้น เพื่อจะขู่ให้ลิงกลัวว่าถ้าขืนซุกซนหรือดื้อไม่ทำตามที่สั่งแล้ว ตัวมันเองจะถูกฆ่าอย่างไก่นั่นด้วย คำนี้เราใช้ในกรณีที่ต้องการจะลงโทษคนหนึ่งเพื่อให้อีกคนหนึ่งเกรงกลัวด้วย ว่าเชือดคอไก่ให้ลิงดู

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

คำพังเพยและสุภาษิตเกี่ยวกับเรือ

นอกจากเพลงเรือแล้ว เพราะเหตุที่เราต้องใช้เรือ คำพังเพยหรือสุภาษิตเกี่ยวกับเรือมีอยู่หลายคำเช่น

“น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” หมายความว่า ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมน้ำจะต้องพึ่งเรือ ที่ถูกเรือต้องพึ่งน้ำ เพราะถ้าไม่มีน้ำเรือก็แล่นไม่ได้ ความจริงก่าจะเป็นเช่นนั้น แต่คนโบราณ  ท่านคิดของท่านอีกเรือมุมหนึ่ง คือท่านเห็นว่า แม่น้ำลำคลองนั้นถ้าไม่มีเรือแล่นขึ้นล่อง ก็จะตื้นเขินเสียง่ายๆ ถ้าเรือแล่นขึ้นล่องแล้ว ก็จะช่วยพัดพาเอาทรายเอาตะกอนหรือดินชายฝั่งให้ลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้แม่น้ำไม่ตื้นเขินเสียง่ายๆ น้ำจึงต้องพึ่งเรือด้วยประการฉะนี้ ส่วนเสือพึ่งป่านั้นไม่มีปัญหาอะไร เสือถึงแสนดุร้ายถ้าไม่มีป่ากำบังกายแล้ว ก็จะถูกล่าเสียได้ง่ายๆ คำเต็มของคำพังเพยบทนี้ก็คือว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ข้าพึ่งเจ้าบ่าวพึ่งนาย” คำกลอนอิสรญาณตอนหนึ่งว่า

“ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า      น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เขาก็จิตคิดดูเล่าเราก็ใจ  รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ”

“น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” สุภาษิตบทนี้เตือนใจว่า ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงแล้ว เราอย่าไปห้ามเลย ขืนเข้าไปห้ามก็มีหวังเราเองจะลำบาก เหมือนน้ำเชี่ยวถ้าเอาเรือไปขวาง ก็มีทางจมมากกว่า

‘‘ปรานีตีเอาเรือ” เรื่องนี้ก็หมายความว่า ช่วยด้วยความปรานีแต่กลับถูกประทุษร้ายเหมือนการทำคุณบูชาโทษ คำนี้ปรากฏในพระราชนิพนธ์ เรื่องสังข์ทอง ในรัชกาลที่ ๒ ว่า

“เอออะไรมาเป็นเช่นนี้        ช่วยว่าให้ดีก็มิเอา
มุทะลุดุดันกันเหลือ        ปรานีตีเอาเรือเสียอีกเล่า”

หรือในคำกลอนพระอภัยมณีตอนหนึ่งว่า

“นึกว่าเพื่อนเหมือนเขาว่าเพราะปรานี  ใยกลับตีเอาเรือไม่เชื่อฟัง”

คำพังเพยบทนี้คงกิดจากคนเดินทางด้วยเรือ รับคนลงเรือมาด้วยความเมตตาแล้วคนนั้นตีเอาเรือไปก็เป็นได้

“ไปไหนเรือรั่ว เมียชั่ว นายชัง” คำพังเพยนี้หมายความว่า คนที่ต้องโดยสารเรือไปไหน แล้วเรือกลับรั่วนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายที่สุด เพราะต้องพะวงกับการวิดน้ำที่รั่วเข้าเรือ ไม่วิดก็ไม่ได้เพราะเรือจะจม เมียชั่วนั้น ผัวต้องช้ำใจทุกคน ส่วนคนเราที่ทำงานนั้นถ้านายชังไม่รักชอบเสียแล้ว ก็มีหวังที่จะไม่ได้เงินเดือนขึ้นเสียมากกว่า

คำพังเพยที่เกี่ยวกับเรืออีกคำหนึ่งก็คือ “ไม่เป็นโล้เป็นพาย” อันการที่เราจะพาเรือให้แล่นไปไหนๆ ได้นั้น ต้องโล้หรือพายเรือไป คนที่โล้เรือก็ไม่เป็น พายเรือก็ไม่ได้ จะทำอะไรในเรือก็ไม่ถนัดทั้งนั้น เราเอาคำนี้มาหมายความถึงคนที่ทำอะไรไม่ค่อยจะได้ความด้วยเรียกว่าไม่เป็นโล้เป็นพาย

เรือจ้าง คือเรือรับจ้างบรรทุกคนโดยสารข้ามฟากแม่น้ำลำคลอง เราเอาความหมายมาใช้เรียกครูว่า “เรือจ้าง” เพราะครูสอนลูกศิษย์ให้จบการศึกษาผ่านไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่ตนเองยังประจำอยู่ที่เดิม เหมือนคนแจวเรือจ้างรับส่งคนโดยสารข้ามฟากนั่นเอง คำนี้หมายถึงความน้อยเนื้อต่ำใจของครูที่เป็นอาชีพถือกันว่าไม่ก้าวหน้า แต่สมัยนี้ครูก้าวหน้ากว่าอาชีพอื่นอีกหลายอาชีพ ครูปัจจุบันไม่ใช่เรือจ้าง แต่เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่สามารถบรรทุกคนโดยสารข้ามมหาสมุทรไปคราวละมากๆ ควรจะเลิกน้อยใจเสียที

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

วิวัฒนาการเรือใบรบของไทยหรือเรือราชนาวี

เรือใบรบของไทยนั้น ความเจริญมีมากขึ้น ก็เห็นจะเป็นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ แห่งรัตนโกสินทร์ เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ พระองค์ได้โปรดเกล้า ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ต่อเรือกำปั่นแปลงขนาดยาว ๑๑ วา กว้าง ๙ ศอก ๑ คืบ หัวเรือเป็นปากปลา ท้ายเป็นแบบกำปั่นมีหลักแจวรายเรือสำเภาตลอดทั้งสองแคม สำหรับแจวในแม่น้ำลำคลอง ต่อมาให้ข้าราชการผู้ใหญ่และเจ้าภาษีอากรช่วยต่อเรือแบบนี้รวม ๓๑ ลำ ได้พระราชทานเงินช่วยลำละ ๓๐ ชั่ง (๒๔๐๐ บาท) ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่แพงสำหรับสมัยนั้น และพระราชทานนามตามลำดับและคล้องจองกันดังนี้

๑. เรือมหาพิไชยฤกษ์    ๒. เรือไชยเฉลิมกรุง    ๓. เรือบำรุงศาสนา ๔. เรืออาสาสู้สมร    ๕. เรือขจรจบแดน   ๖. เรือแล่นลอยลม ๗. เรืออุดมเดชะ  ๘. เรือชนะชิงไชย    ๙. เรือประไลยข้าศึก  ๑๐. เรือพิฤกเลอสรวง   ๑๑. เรือทะลวงกลางรณ ๑๒. เรือประจญโจมทัพ
๑๓. เรือจับโจรทมิฬ    ๑๔. เรือบินอรณพ ๑๕. เรือตลบล่องคลื่น
๑๖. เรือฝืนชลเชี่ยว    ๑๗. เรือเทียวอุทก    ๑๘. เรือกระหนกจาม
๑๙. เรือทรามคะนอง    ๒๐. เรือผยองสมุทร    ๒๑. เรือประทุษฐเมืองพาล
๒๒. เรือบำราญปรปักษ์    ๒๓. เรือจักรอมเรนทร์    ๒๔. เรือตระเวนวารี
๒๕. เรือตรีเพชรฆาฏ    ๒๖. เรือพรหมศาสตร์นารายณ์ ๒๗. เรือลอยชายเข้าเมือง
๒๘. เรือกระเดื่องบุญฤทธิ์ ๒๙. เรือพาณิชภิเษก    ๓๐. เรือเฉกเทพดาสรรค์
๓๑. เรือมหันตมงคล

เรือเหล่านี้คงจะเป็นเรือแจวสำหรับใช้ในแม่นํ้าหรือชายฝั่ง แต่มีเรือรบที่เป็นเรือใหญ่ใช้ใบและมีปืนประจำเรือด้วย อย่างเช่นเรือชื่อแกล้วกลางสมุทร สร้างที่จังหวัดจันทบุรี โดยฝีมือคนไทยที่ต่อกำปั่นใบลำแรก คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ เป็นเรือชนิดบริก ขนาด ๑๑๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๖ กระบอก เรือลำนี้ใช้ในการปราบกบถเจ้าแขกทางปักษ์ใต้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒

เรือระบิลบัวแก้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๓๗๙ ขนาด ๕๐๐ ตัน แต่บางแห่งว่าเป็นเรือขนาด ๑,๔๑๓ ตัน ติดปืนใหญ่ ๕๐ กระบอก นับว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ทีเดียวสำหรับสมัยนั้น แต่น่าเสียดายที่เรือลำนี้ไปอับปางเสียที่เกาะไหหลำ

นอกจากนี้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวร ก็ทรงต่อเรือรบอีกหลายลำ เพราะพระองค์สนพระทัยในการทหารเรือและการรบทางเรือ แต่มีมากเกินกว่าที่จะนำมาบรรยายในที่นี้ได้หมด

เรือรบของไทยเราแต่โบราณโดยเฉพาะเมื่อเป็นเรือพระที่นั่งจะมีรูปร่างหรือการตกแต่งเป็นอย่างไรนั้น ลองมาฟังกลอนชมเรือพระที่นั่งครุฑ ซึ่งสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ครั้งรัชกาลที่ ๑ ใช้เป็นเรือพระที่นั่งไปรบพม่าทางปักษ์ใต้ ก็พอจะทราบได้บ้าง คำกลอนนี้เป็นพระบวรราชนิพนธ์ ขององค์ท่าน ว่าดังนี้

“ที่นั่งครุฑทองท่าเตรียมเสด็จ    ดังจะเห็จนภามาศดูอาจอัด
จับพระยานาคินทร์บินรวบรัด    สองหัตถ์ถือธงพิไชยยุทธ
ลงยันต์ลายทองตำหรับหลวง    เด่นดวงเป็นรูปวายุบุตร
จ่ารงคร่ำใส่ช่องสองข้างครุฑ    ฝรั่งคอยเตรียมชุดจะจุดปืน
นายสมอเตรียมสมอประจำกว้าน    พนักงานคล่องแคล่วไม่ขัดขืน
ฝรั่งเตรียมคลี่ใบขยับยืน    พลแจวเร่งรื่นประจำแจว
ใส่เสื้อปัสตูแขนสั้น        โหมดคั่นขลิบคู่เป็นสองแถว
หมวกปีกยอดปักพู่ดูวับแวว    กางเกงแล้วด้วยแพรส่วยทอ
ยอดเสารายธงริ้วปลิวสะบัด      พระพายพัดแลละลิ่วเป็นทิวหนอ
จำรัสแสงแดงล้วนน่าพึงพอ    ธงรบปักหว่างสมอเป็นคู่กัน
ที่นั่งท้ายรวบรูดวิสูตรโถง    เป็นจรรโลงแผ้วโศกให้เสื่อมกระสัน
สองข้างท้ายลายเครือเจือสุวรรณ    วายุผันระยับพู่จุรีราย
พระแสงปืนล้วนถุงหักทองขวาง    มีหลายอย่างขุดคร่ำต้นเหลี่ยมหลาย
แฝดสองรางส้นคอลาย        ทองปรายปลายหอกรายเรียง
ช่องแกลห้องท้ายบานปิด        เป็นรูปวิจิตรเยี่ยมพักตร์แทบทักเถียง
ยิ้มละมายคล้ายสตรีเป็นที่เมียง    ถวิลเวียงฤามาเมินให้เร่งตรอง
จึงเสมือนพิศกราบสะอาดเรียบ    ดูระเบียบช่องปืนเป็นแถวถ่อง
รายแคมสองข้างลำประจำซอง    กระสุนสองนิ้วกึ่งชาติปากพระ
ระวังหน้าคอยรักษาถือถ่อจ้อง    นายท้ายเตือนร้องอยู่เอะอะ
เห็นเรือมากกลัวสมอจะเกาะพะ    คอยทอดปะทะท่าฤกษ์อยู่เป็นทิว
ทั้งท้ายหน้าใส่เสื้อแดงแขนเขียว    ดูแรงเรี่ยวสวมหมวกเกาจิ๋ว
กางเกงยกทอไหมเป็นลายริ้ว    ดังจะริ่วเย้ายวนให้ชวนทรง
ที่นั่งกราบส่งเสด็จขึ้นเรือใหญ่    สถิตย์ในบัลลังก์ท้ายสูงระหง
ชาวมหาดซึ่งตามเสด็จลง    ก็แต่งกายประจงประกวดกัน
ล้วนแต่ใส่เสื้อเข้มขาบแดง    เป็นริ้วแย่งขลีบครุยดูคมสัน
เชิญเครื่องตามตำแหน่งที่แบ่งปัน    ข้างในกลั่นล้วนสุนงค์ที่ทรงลักษณ์
ทั้งโอรสบุตรีที่เปรมโปรด    ปราโมทย์ที่ได้โดยบรรเทิงหนัก
จำเนียรองค์งามทรงจำนงพักตร์    สมศักดิ์สมศรีฉวีวร
ทรงทอดทัศนาเรือข้าบาท    แต่ละลำดูอาจชาญสมร
พร้อมเสร็จที่จะข้ามชโลธร    พลากรสวมเสื้อใส่หมวกแดง
ลมลงธงปลิวสีสลับ        เหลืองเขียวแดงจับรวีแสง
แสดขาวประจำลำมิให้แคลง    จับแจงเป็นระเบียบตำแหน่งกอง”

เรือรบที่ใช้ใบนี้ใช้ต่อมาจนรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ทั้งๆ ที่สมัยนี้มีเรือกลไฟใช้แล้ว แต่บางคราวเรือกลไฟก็ใช้ใบแล่นเหมือนกันในเมื่อลมดี และต้องการประหยัดเชื้อเพลิง เรือรบที่ใช้เครื่องจักรอย่างเดียวคงจะเข้ามาปลายรัชกาลที่ ๕ หรือต้นรัชกาลที่ ๖ เพราะเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น กองทัพเรือของเราคงจะล้าหลังมาก ฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามาปิดอ่าวเพียง ๒-๓ ลำ ก็สามารถบังคับให้เราจำต้องทำสัญญาที่เราเสียเปรียบแทบทุกอย่าง จนกระทั่งดินแดนบางส่วน เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ พอขึ้นรัชกาลที่ ๖ พระองค์ท่านก็ทรงปลุกใจให้ชาวไทยตื่นขึ้น เพื่อต่อสู้กับต่างชาติที่คอยจ้องจะรุกรานประเทศเรา พระองค์ทรงชักชวนให้ประชาชนเสียสละทรัพย์ซื้อเรือรบให้กองทัพเรือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นเรือพิฆาตลำแรกของไทยสั่งต่อจากประเทศอังกฤษ พระราชทานนามว่า “พระร่วง” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระร่วงเจ้าผู้ทรงสลัดแอกของขอมออกไปได้

นอกจากเรือรบหลวงพระร่วงแล้ว สมัยรัชกาลที่ ๖    ยังปรากฏว่ามีเรือรบอีกหลายลำ เท่าที่ปรากฏในกาพย์ห่อโคลงพระราชนิพนธ์ คือ
๑. เรือมหาจักรี    ๒. เรือพาลีรั้งทวีป    ๓. เรือสุครีพครองเมือง
๔. เรือสุริยมณฑล . ๕. เรือเสือทะยานชล    ๖. เรือคำรณสินธุ์
๗. เรือตอร์ปิโด เป็นต้น

เรือเหล่านี้คงจะเป็นเรือที่สั่งต่อในรัชกาลนี้ เพราะปรากฏชื่อในกาพย์ห่อโคลงซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ทุกวันนี้ราชนาวีของเราเจริญมากขึ้น จนเราสามารถที่จะป้องกันศัตรูที่มาทางทะเลไว้ได้ คงไม่ต้องถึงกับต้องจำใจเซ็นสัญญาเหมือน ร.ศ.๑๑๒ เป็นแน่

ความเป็นอยู่ของไทยเราสมัยโบราณนั้น ต้องอาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นสำคัญ ดังนั้นเรื่องของเรือจึงเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเรามาก

ในพระราชพิธีต่างๆ สมัยก่อนหรือแม้สมัยนี้ เมื่อมีการถวายพระกฐินทางชลมารค ก็ยังมีพิธีที่น่าชมอยู่ โดยเฉพาะกระบวนเรือที่เข้าในพิธีนี้  สมัยก่อนการมีกระบวนแห่ทางเรือ คงจะสนุกสนานไม่ใช่น้อย คงจะมีการเห่กันอย่างสนุกสนานในหน้านํ้า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือที่เรียกกันว่าเจ้าฟ้ากุ้ง กวีองค์หนึ่งปลายสมัยอยุธยาได้ทรงนิพนธ์กาพย์เห่เรือไว้ว่า

“พระเสด็จโดยแดนชล        ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพรวพรรณราย    พายอ่อนหยับจับงามงอน
นาวาแน่นเป็นขนัด        ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน        สาครลั่นครั่นครื้นฟอง

เรือครุฑยุดนาคหิ้ว        ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง        ร้องโห่เห่โอ้เอ้มา ฯลฯ

การเห่เรือนี้ ครั้งแรกคงจะเห่กันเป็นส่วนบุคคลไม่ใช่ทางการ ต่อมาในครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้มีการเห่เรือเป็นทางการด้วย กาพย์เห่เรือที่ขึ้นต้นว่า ‘‘เรือหงส์ทรงภู่ห้อย งามหยดย้อยลอยหลังสินธุ์” ก็เกิดขึ้นเพราะการเห่เรือเป็นทางการนี้เอง เรือรูปสัตว์ที่เข้ากระบวนเรือพระราชพิธีของเราที่เหลืออยู่ก็มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หรืออนันตนาคราช เรือเอนกชาติภุชงค์ เป็นต้น ซึ่งยังเก้บรักษาไว้จนบัดนี้

สำหรับราษฎรนั้น การละเล่นทางเรือในหน้าน้ำ คงจะมีกันมากในสมัยก่อน เราจึงมีเพลงชนิดหนึ่งซึ่งว่าเล่นกัน คือ เพลงเรือ อาจารย์กำชัย ทองหล่อ ได้อธิบายเรื่องเพลงเรือไว้ว่า

“เพลงเรือเป็นเพลงที่ว่าแก้กันเป็นกลอนสด เช่นเดียวกับเพลงฉ่อย” ท่านยกตัวอย่างเพลงเรือว่า

“ลงเรือลอยล่องร้องทำนองเพลงเกริ่น    เสียงเสนาะเพราะเพลิน-จับใจ
มาพบเรือสาวรุ่นราวสะคราญ        แสนที่จะเบิกบาน-หทัย
จึงโผเรือเทียบเข้าไปเลียบข้างลำ        แล้วก็เอ่ยถ้อยคำ-ปราศรัย
แม่เพื่อนเรือลอยแม่อย่าน้อยน้ำใจ    พี่ขอถามเจ้าสักนิด-เป็นไร
แม่พายเรือลัดแม่จะตัดทุ่งไกล        แม่จะไปทางไหน (เอ๋ย) น้องเอย

เมื่อเพลงเรือเป็นเพลงที่ร้องแก้กัน จึงจะกำหนดคำในวรรคให้แน่นอนลงไปไม่ได้ และการใช้คำแต่ละวรรคก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เท่าที่สังเกตในการร้องทั่วๆ ไป วรรคหน้าใช้คำได้มากตั้งแต่ ๕ ถึง ๑๕ คำ ถ้าใช้คำน้อยก็เอื้อนยาว ถ้าใช้คำมากก็ร้องจังหวะเร็ว แต่วรรคหลังใช้ ๖ ถึง ๗ คำเป็นพอดี

คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับคำที่ ๔ หรือที่ ๕ ของวรรคหลัง หรือสังเกตง่ายๆ ก็คือ ให้คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่ ๓ นับถอยหลังจากคำสุดท้ายของวรรคหลัง

คำสุดท้ายของวรรคหลังสุดทุกวรรค (ยกเว้นวรรคสุดท้ายของบท) ต้องมีสัมผัสดันเรื่อยไป จะแต่งยาวเท่าไรก็ได้ แต่เมื่อจะจบต้องให้บรรทัดสุดท้ายของบทสัมผัสกันตามแผน คือคำสุดท้ายวรรคหน้าของบรรทัดสุดท้าย นอกจากจะสัมผัสกันตามระเบียบแล้ว ยังต้องให้สัมผัสคำสุดท้ายวรรค ๒ ของบรรทัดถัดขึ้นไปอีกด้วย

คำสุดท้ายของบทต้องลงด้วยคำว่า “เอย”

เพลงเรือใช้สร้อยตอนลงสัมผัสในวรรคหลังว่า “ฮ้าไฮ้” และตอนจบว่า “เชียะ เชียะ นอระนอย ระนอย ระนอย เชียะ เชียะ ฮ้าไฮ้”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เรือชนิดต่างๆ ของไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังให้ความหมายเรือไว้ว่า “ยานพาหนะ ซึ่งทำด้วยวิธีขุดไม้ทั้งต้น หรือต่อด้วยไม้เป็นต้นสำหรับใช้ไปในน้ำ” แต่ถ้าเติมคำอื่นเข้าข้างหลังก็มีความต่างกันออกไป เช่น เรือเหาะ เรือบิน เรือโบราณหมายถึงยานพาหนะที่ไปมาทางอากาศได้ เป็นต้น แต่ในที่นี้เห็นจะพูดเพียงเรื่องของเรือที่ใช้เป็นยานพาหนะไปมาทางน้ำเท่านั้น

เรือกำเนิดมาเมื่อไร ข้อนี้สุดวิสัยที่จะกำหนดให้แน่นอนลงไปได้ เพราะว่า มนุษย์เรานั้น ต้องอาศัยอยู่ริมน้ำเสมอมา เพราะต้องใช้น้ำในการทำเกษตรกรรม ขาดน้ำเสียแล้วก็ต้องอพยพไปหาแหล่งอื่นต่อไป เมื่อต้องอยู่ใกล้น้ำ ก็มีความจำเป็นต้องข้ามน้ำไปมา ระหว่างฟากแม่น้ำข้างหนึ่งไปสู่ฟากแม่น้ำอีกข้างหนึ่งบ้าง เป็นธรรมดา เรื่องของเรือจึงน่าจะเกิดมานานเท่ากับความเจริญทางเกษตรกรรมของมนุษย์เรานั่นแหละ

เรือเกิดขึ้นอย่างไร ครั้งแรกที่สุดน่าจะมีมนุษย์คนใดคนหนึ่ง เห็นขอนไม้ลอยน้ำมา และตนได้อาศัยขอนไม้นั้นเกาะลอยน้ำไปได้ จึงได้คิดวิธีการที่จะใช้ขอนไม้เป็นยานพาหนะ ครั้งแรกๆ ก็คงจะใช้มือกวักน้ำให้ขอนไม้ลอยไปในที่ต้องการก่อน ครั้นต่อมาคงจะรู้จักวีเอาไม้มาทำถ่อเป็นการสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ การอาศัยขอนไม้ข้ามฟากก็ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก ก็คงจะมีผู้ดัดแปลงโดยขุดขอนไม้ให้ลึกลงไปเป็นร่อง แล้วคนไปนั่งในนั้น ก็ทำให้เกิดมีความสะดวกสบายมากขึ้น นี่เป็นเหตุของการขุดเรือชะล่าหรือเรือมาด เมื่อทำเรือแล้ว ภายหลังต้องการให้เรือใหญ่ขึ้นก็เอาไม้อื่นเป็นแผ่นๆ มาเสริมปากเรือให้สูงขึ้นไปอีก ครั้งแรกก็คงจะเสริมเพียงเล็กน้อยก่อน ครั้นต่อมารู้จักทำกงต่อไม้กระดานเสริมปากเรือให้กว้างและสูงขึ้นไปอีก จนสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ได้ แต่กว่าจะต่อเรือใหญ่ได้ก็คงจะถ่ายทอดเป็นมรดกมาหลายชั่วอายุคนทีเดียว จนบัดนี้เรือนอกจากต่อด้วยไม้แล้วยังทำด้วยเหล็กและวัตถุอย่างอื่นอีกก็มี

เรือของพวกอียิปต์โบราณนั้นว่ากันว่าทำด้วยใบปาปิรัส เป็นเรือสำหรับแล่นตามแม่น้ำไนล์ พวกชาวอาฟริกาบางเผ่าเอาหนังสัตว์มาทำเป็นเรือก็มี

บางท่านว่าวิวัฒนาการของพาหนะทางน้ำครั้งแรก คนเรารู้จักเอาไม้มามัดเข้าเป็นแพก่อน แล้วจึงรู้จักขุดท่อนไม้เป็นเรือทีหลัง

เรือนับเป็นยานพาหนะสำคัญที่นำความเจริญจากชาติหนึ่งไปสู่ชาติหนึ่ง เป็นยานที่ทำให้คนหลายชาติได้ติดต่อค้าขายถึงกันได้โดยง่ายในสมัยก่อน

สำหรับประเทศไทยหรือชาติไทยของเรานั้น คงจะรู้จักใช้เรือมานานแล้วเหมือนกัน เพราะเราชอบอยู่ริมแม่น้ำลำคลองมาแต่เดิม อย่างนิทานเรื่องพระเจ้าสายนํ้าผึ้งนำเรือออกไปรับราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนจากเมืองจีนมาเมืองไทย เป็นต้น นั่นก็มีเค้าเงื่อนแสดงให้เราเห็นว่าเรามีการใช้เรือแล้ว สมัยสุโขทัยก็ว่าพระร่วงเสด็จไปเมืองจีนถึง ๒ ครั้งก็คงจะเสด็จโดยทางเรือนั่นเอง แต่จะเป็นเรือไทยหรือเรือจีนหรือชาติไหนก็ไม่ทราบได้

โดยเหตุที่ประเทศไทยเรา มีแม่นํ้าลำคลองมาก เรือจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ของเรา โดยเฉพาะคนในภาคกลางของประเทศ ต้องอาศัยทางน้ำในการสัญจรไปมาเป็นประจำ เรือลำเล็กๆ จึงมีความจำเป็นมาก เรือที่คนไทยเรารู้จักใช้เป็นอันดับแรกน่าจะเป็นเรือที่เรียกว่า เรือมาด คือเรือขุดที่เบิกแล้ว เป็นเรือขนาดเล็ก เรือชนิดนี้มีใช้ทั่วไป

เรือพายม้า คือเรือขุดที่เสริมกราบ หัวท้ายงอน เรือชนิดนี้เรียกว่าพายม้าหรือไพม้าก็มี ทำไมจึงเรียกอย่างนี้ก็ไม่ทราบ บางคนเรียกเผ่นม้าก็มี อาจจะเป็นเรือที่พายแล่นเร็วดีอย่างม้าเผ่นก็ได้

สำปั้น – เรือต่อชนิดหนึ่งหัวท้ายเชิด เรือชนิดนี้เดิมเป็นเรือเล็กที่บรรทุกมากับเรือใหญ่ เพื่อนำคนจากเรือใหญ่เข้าฝั่งหรือไปที่เรือใหญ่เข้าไม่ถึง

เรือชะล่า – เรือที่ขุดด้วยซุงทั้งต้นแต่ไม่เบิกให้ปากกว้าง

เรือแม่ปะ – รูปคล้ายเรือชะล่า แต่ใหญ่กว่าและมีประทุนอยู่กลาง มีใช้อยู่ตามแถบเหนือ

เรือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรือขนาดเล็กใช้แจวหรือพายในแม่น้ำลำคลองหรือชายฝั่งเท่านั้น และใช้บรรทุกของก็ได้เพียงเล็กน้อย ยังมีเรือบรรทุกสินค้าได้คราวละมากๆ อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เอี้ยมจุ๊น เป็นเรือขนาดใหญ่สำหรับถ่ายของและบรรทุกสินค้าในลำน้ำ สมัยก่อนเรือชนิดนี้ใช้ถ่อขึ้นล่องตามลำน้ำ เสียเวลามาก พอมีเรือกลไฟหรือเรือยนต์ขึ้นแล้ว ใช้เรือกลไฟหรือเรือยนต์โยงเรือเอี้ยมจุ๊นขึ้นล่อง รวดเร็วกว่าแต่ก่อน เพราะเรือกลไฟและเรือยนต์ลำหนึ่งๆ ลากหรือโยงเรือเอี้ยมจุ๊นได้หลายลำ เรือเอี้อมจุ๊นนี้ เรียกว่าเรือเกลือก็มี เพราะความล่าช้าของเรือชนิดนี้ เราจึงเรียกคนที่ทำงานไม่กระฉับกระเฉงว่า อืดอาดเหมือนเรือเกลือ เจ้าของเรือเอี้ยมจุ๊นส่วนใหญ่จะอาศัยกินอยู่หลับนอนในเรือนั่นเอง บางคนตลอดชีวิตไม่เคยมีบ้านเรือนอยู่บนบกเลย เกิดในเรือ อยู่ในเรือ และก็ตายในเรือ จะอยู่บนบกก็เห็นจะตอนเอาไปเผาเท่านั้นเอง ซึ่งก็นับว่าสบายดีเหมือนกัน ในสมัยที่พื้นแผ่นดินแพงและค่าวัสดุก่อสร้างก็แพงอย่างทุกวันนี้

ส่วนเรือขนาดใหญ่ที่ใช้ใบและแล่นออกทะเลได้นั้นมีหลายชนิด ว่าเฉพาะที่เรารู้จักในเมืองของเราเท่านั้น

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องเรือต่อไป เห็นสมควรจะกล่าวถึงเรือสำเภาสักเล็กน้อย ทำไมเรือแบบจีนขนาดใหญ่นั้นจึงเรียกว่าเรือสำเภามีผู้ให้ความเห็นว่า คำว่า “สำเภา” นั้นมาจากคำว่า “ตะเภา” ซึ่งหมายถึงลมที่พัดมาจากทิศใต้ไปทางเหนือในกลางฤดูร้อน เรือค้าขายที่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีการค้าขายติดต่อกับประเทศไทยมากที่สุดในสมัยก่อน โดยมากเข้ามาในประเทศไทยปีละครั้งในฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูที่มีลมตะเภาพัดมา จึงได้เรียกเรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนว่า “เรือตะเภา” หรือ “สะเภา” แล้วภายหลังจึงกลายมาเป็น “สำเภา” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้เหมือนกัน

ที่นี้เรามาพูดกันถึงเรือขนาดใหญ่ต่อไป

เรือสำปั้นแปลง – เรือชนิดนี้ว่าแปลงมาจากเรือสำปั้น เราเคยใช้ในการลาดตระเวนตรวจอ่าวและใช้ในการปราบโจรสลัด ครั้งโบราณเรียกว่า “เรือไล่” พงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ ได้กล่าวถึงเรือสำปั้นแปลงไว้ว่า “เมื่อครั้งทำสวนขวาในรัชกาลที่ ๒ ได้สั่งเรือสำปั้นมาจากเมืองจีนรูปร่างเร่อร่า จึงคิดต่อเป็นสำปั้นแปลง แก้รูปให้เพรียวกว่าเรือจีน ให้พวกข้างในพายในสระ ต่อมาพระยาสุริวงศ์มนตรี จึงคิดต่อเรือสำปั้นยาว ๗-๘ วา ต่อมาต่อเป็นสำปั้นขนาดใหญ่ มีเก๋งสลักลวดลาย เรียกว่า “เรือเก๋งพั้ง” ยาวถึง ๑๔ ๑๕ วา ใช้เป็นเรือพระที่นั่งและเรือที่นั่งของเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่”

พลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ ได้เล่าไว้ในหนังสือ ประวัติการทหารเรือไทยว่า “เรือสำปั้นแปลงที่ต่อแบบใหม่ บางลำก็ท้ายตัด ก็เรียกว่า “สำปั้นท้ายตัด” ในรัชกาลที่ ๓ ได้ใช้เรือสำปั้นแปลงขนาดใหญ่เป็นเรือรบด้วย จึงได้เรียกเรือนี้ว่า “สำปั้นรบไล่สลัด” เรือแบบนี้มีเก๋งอยู่ตอนกลางลำเรือ ใช้ใบและแจวขับเคลื่อนเรือ”

เรือแบบญวน – ท่านที่เคยอ่านพงศาวดารจะพบขัอความตอนทียกทัพเรือบอกชื่อเรือว่า เรือแง่โอ หรือแง่ทราย คงจะสงสัยว่าเรืออะไรที่เรียกอย่างนี้ เรือที่เรียกว่าแง่หรือเง่นี้ เป็นเรือแบบญวน เพราะคำว่าเง่หรือแง่ในภาษาญวนแปลว่าเรือ ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ เช่น เรือแง่ไลรัง เป็นเรือแบบสามเสา เรือแง่ซาวอม เป็นเรือใบเสาเดียว รูปร่างอย่างไรบอกไม่ถูกเหมือนกัน ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีคำสั่งให้ องเซียงสือ ต่อเรือ กุไล ส่งเข้ามาถวายใช้ในราชการถึง ๗๐ ลำ เข้าใจว่าเรือชนิดนี้เป็นเรือญวนขนาดย่อม

เรือฉลอมและเรือเป็ด – เป็นเรือสำหรับชาวประมงหรือพ่อค้าใช้แล่นตามชายฝั่ง

เรือแบบแขก – คือเรือแบบของมลายูหัวท้ายเชิดทำเป็นรูปหัวหางของสัตว์ ทาสีให้เป็นลวดลายแปลกๆ

เรือกำปั่นแปลง – ได้กล่าวแล้วว่าเรือขนาดใหญ่อย่างจีนเรียกเรือสำเภา ถ้าเป็นอย่างฝรั่งเรียกกำปั่น ที่นี้ไทยเราเลียนแบบเรือกำปั่นต่อขึ้นเองให้ผิดไปจากเดิมบ้างเรียกว่าเรือกำปั่นแปลง เรือชนิดนี้ได้เคยต่อใช้สมัยอยุธยามาแล้ว ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้ริเริ่มต่อขึ้นใหม่สำหรับใช้เป็นเรือรบ มีลักษณะหัวเรือเป็นปากปลา ท้ายเรือเป็นกำปั่นขนาดยาว ๑๑ วา กว้าง ๙ ศอก ๑ คืบ มีทั้งแจวและใบขับเคลื่อนเรือ เรือชนิดนี้บางทีก็เรียกเรือรบอย่างนคร

เรือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเรือใช้ธรรมดา แต่ว่าเมื่อถึงคราวที่จะต้องใช้ในการสงครามก็เกณฑ์เข้ามาใช้ได้ เรียกว่าเรือรบเหมือนกัน การรบทัพจับศึกของไทยทางเรือนั้น แทบจะกล่าวได้ว่าแต่เดิมเราไม่มีการรบทางเรือ ที่ว่ายกทัพเรือ ก็หมายความเพียงว่ายกทหารไปทางเรือแล้วยกพลขึ้นบกที่ใดที่หนึ่งแล้วเดินทัพไปรบทางบกนั่นเอง ไม่เหมือนกองทัพเรืออย่างทุกวันนี้

ประเทศไทยเราคงจะต่อเรือใช้มานาน โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คงจะมีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาต่อเรือกันมาก เพราะเรามีไม้ที่เหมาะจะต่อเรือมากมาย รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรามีเรือของหลวงหลายลำ เรามีเมืองท่าค้าขายที่เมือง มะริด มีเรือค้าขายของเรากับต่างประเทศใกล้เคียงด้วย รัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างต่อกำปั่นใหญ่ไตรมุข ขนาด ๑๘ วา ๒ ศอก ปากกว้าง ๖ วา ๒ ศอก ให้ตีเสมอใหญ่ที่วัดมเหยงค์ ๕ เดือน กำปั่นนั้นแล้ว ให้เอาออกไปยังเมืองมะริด บรรทุกช้างได้ ๓๐ ช้าง ให้ไปขายเมืองเทศโน้น คนทั้งหลายลงกำปั่นใช้ใบไปถึง เมืองเทศ แล้วขายช้างนั้นได้เงินและผ้าเป็นอันมาก แล้วกลับคืนมายังเมืองมะริดสิ้นปีเศษ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไทยเรารู้จักต่อเรือขนาดใหญ่สามารถบรรทุกช้างได้ถึง ๓๐ เชือกมานานแล้ว

และก็เพราะเรามีไม้สักไม้ซุงเหมาะที่จะต่อเรือนี่เอง จึงมีชาวต่างประเทศมาต่อเรือในเมืองไทยมากขึ้น ทางราชการเล็งเห็นว่าขืนปล่อยให้ตัดซุงต่อเรือได้ตามใจชอบ เมืองไทยก็เห็นจะไม่มีป่าเป็นแน่ จึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ซึ่งพระองค์ได้ทรงฟื้นฟูและชำระสะสางตัวบทกฎหมายขึ้นใหม่เพราะฟั่นเฝือมานาน ได้ทรงประกาศใช้พระราชกำหนด เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๘ ห้ามมิให้ต่อเรือโดยพลการ นอกจากจะได้รับอนุญาตเสียก่อน และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามประกาศ และการเรียกค่าธรรมเนียมสมัยก่อนนี้ดูจะเรียกกันหลายทอดเหลือเกิน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราน่าจะได้รู้ไว้บ้างจึงขอคัดพระราชกำหนดนั้นมาดังนี้

“ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าสั่งว่า แต่ก่อนครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในพระบรมโกษฐ์ ให้มีกฎหมายไว้ว่า ไม้ซุงสัก ไม้ขอนสัก ไม้ตะเคียน ไม้เคี่ยมไม้อินทนิล และไม้เบ็ดเสร็จทั้งปวง ต้องการสำหรับจะได้บูรณปฏิสังขรณ์สร้างวัดวาอาราม และใช้ราชการเบ็ดเสร็จแต่ละปีเป็นอันมาก และฝ่ายผู้มีชื่อ ลูกค้าผู้มีเงินมาก ย่อมคิดอ่านซื้อหาต่อสำเภาขึ้นเป็นอันมากไม้ซุกสักไม้ขอนสัก และไม้เบ็ดเสร็จ ซึ่งจะได้จ่ายราชการนั้นเปลืองไป หาเป็นประโยชน์แก่กรุงเทพมหานครไม่ ไปเป็นประโยชนแก่ลูกค้า ฝ่ายไม้ทั้งปวงซึ่งจะได้จ่ายราชการ ณ กรุงเทพมหานครขัดสน แต่นี้สืบไปเทื้อหน้า ห้ามอย่าให้ผู้ใดต่อสำเภาแต่อำเภอใจเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าแลผู้ใดจะต่อสำเภาจำเพาะ ให้กราบทูลพระกรุณาก่อนต่อ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อจึงต่อได้ ถ้าแลลูกค้าผู้ใดจะให้ข้าละอองฯ ผู้ใดกราบทูลพระกรุณาต่อสำเภา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งข้างในๆ มาสั่งเถ้าแก่ข้างในให้เรียกค่ารับสั่งสามต่อๆ ละ ตำลึงเป็นเงินสามตำลึง แล้วเถ้าแก่มาสั่งมหาดเล็ก มหาดเล็กเอากราบทูลพระกรุณาฉลอง เรียกเอาค่าทูลฉลองสามต่อๆ ละสามตำลึง เป็นเงินเก้าตำลึง แล้วผู้รับสั่งมาสั่งชาววังผู้อยู่เวรๆ เรียกเอาค่ารับสั่งสามต่อๆ ละตำลึง เป็นเงินสามตำลึง แล้วมหาดไทยหมายให้สัสดี สัสดีเรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละบาท เป็นเงินสามบาท แล้วสัสดีหมายบอกนักการสมุห์บาญชีกรมท่าๆ เรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละบาท เป็นเงินสามบาท แล้วจึงหมายบอกมาถึงเสมียนเวรกรมท่า เอาว่าแก่โกษาธิบดีๆ เอากราบทูลพระกรุณาฉลอง เรียกเอาค่าทูลฉลองสามต่อๆ ละสามตำลึง เป็นเงินเก้าตำลึง แล้วจึงสั่งเสมียนเวรให้หมายบอกโชดึก และเสมียนเวรเรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละ สองบาทสองสลึง เป็นเงินตำลึงสามบาทสองสลึง โชดึกจึงจัดแจงเหยียบที่ให้ผู้มีชื่อต่อสำเภา เรียกเอาค่าธรรมเนียมหกบาท ถ้าสำเภาปากกว้างแต่สามวาขึ้นไป จนปากสามวาศอก ปากสามวาสองศอก ปากสามวาสามศอก ให้กรมท่าเรียกทองแท่งหมึกเป็นของถวายแท่งหนึ่ง หนักหกตำลึงหนึ่งบาทเนื้อหกน้ำ เศษสอง ถ้าหาทองคำมิได้ คิดเป็นเงินราคาสิบสองหนักทองคำหกตำลึงหนึ่งบาทเป็นเงินสามชั่งสิบห้าตำลึง ถ้าสำเภาปากกว้างแต่สี่วาขึ้นไปจนห้าวาศอก ห้าวาสองศอกถึงหกวาขึ้นไป ให้เรียกเอาทองคำแท่งหมึกสามแท่ง ถ้าไม่มีทองคำแท่งหมึกให้คิดเอาเงินตามราคาทองดุจกัน และคิดแต่ผู้จะต่อสำเภาลำหนึ่งต้องเสียเงินค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมายเบ็ดเสร็จศิริเป็นเงินหนึ่งชั่ง สิบสี่ตำลึงสามบาทสองสลึง ถ้าต่อสำเภาหัวเมืองต้องเสียค่าตราสามตำลึงหนึ่งบาท เข้ากันเป็นเงินหนึ่งชั่งสิบแปดตำลึงสองสลึงจึงต่อได้ ถ้าผู้ใดลักลอบต่อสำเภาแต่อำเภอใจตน มิได้ให้กราบพระกรุณาก่อนให้เอาตัวผู้ลักลอบต่อสำเภาเป็นโทษ ลงพระราชอาญาเฆี่ยนยกหนึ่งสามสิบที แล้วให้เรียกเอาค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมาย ทองแท่งหมึก ค่าธรรมเนียม ให้ครบแล้วให้พ้นโทษต่อสำเภาสืบไป และมีกฎหมายอย่างธรรมเนียมสืบมาฉะนี้

ครั้นอยู่มาครั้งแผ่นดินเก่า ให้เรียกธรรมเนียมต่อสำเภาสูงๆ ต่ำๆ ฟั่นเฟือนจะเอาเป็นกฎหมายอย่างธรรมเนียมมิได้ ซึ่งมีกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ์ตรัสสั่งไว้นั้น ก็เห็นเป็นขนบขนาดต้องโดยบูราณราชประเพณีดีอยู่แล้วให้เอาตามกฎหมายเก่า และบัดนี้ต้องสถาปนาสร้างพระนคร และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นใหม่เป็นอันมาก ต้องให้มากกว่าแต่ก่อน

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าผู้ใดจะต่อสำเภาปากกว้างแต่สิบเอ็ดศอกขึ้นไปเท่าใด ก็ให้เรียกเอาทองคำแท่งหมึก ค่ารับสั่งค่าทูลฉลอง ค่าหมาย ค่าธรรมเนียมเบ็ดเสร็จตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมในพระบรมโกษฐ์จงทุกประการ ถ้าลูกค้าผู้ใดจะต่อสำเภา ณ หัวเมืองใดให้มาบอกแก่ผู้รักษาเมืองกรมการ…….แลให้ผู้รักษาเมืองกรมการปรึกษาหารือกันเหยียบที่ให้ตามธรรมเนียมแล้วให้ต่อไปพลางก่อนเถิด แลให้ผู้รักษาเมืองกรมการเรียกเอาทองคำแท่งหมึก แลค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมายเบ็ดเสร็จขนบธรรมเนียมให้ครบตามปากสำเภาดุจหนึ่ง ณ กรุงเทพมหานคร แล้วให้บอกขอต่อสำเภาส่งทองคำแลเงินค่าธรรมเนียมเข้าไปในกรุงเทพมหานครให้สิ้น แต่ค่าธรรมเนียมเหยียบที่ตำลึงสองบาทนั้น ให้ผู้รักษาเมืองกรมการรับพระราชทานตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ครั้นกราบทูลพระกรุณาแล้วมีตรา ตอบออกไปให้ต่อฝ่ายเสมียนเวรเจ้าตราได้รับพระราชทานเงินค่าตรา ค่าแต่ง ค่าเขียน ค่าธรรมเนียม สามตำลึงหนึ่งบาท”

ท่านจะเห็นว่ากว่าจะได้ต่อสำเภาหรือเรือกำปั่นแต่ละลำนั้นลำบากเพียงไร ต้องมีพิธีรีตองเสียเงินมากมาย เมื่อคนเรามิได้รับความสะดวกและเสียเงินทองมากก็ต้องมีการเลี่ยง การเสียเงินเป็นธรรมดา ทีนี้พวกที่มีเรืออยู่แล้วแต่เล็กและเก่าไปก็ถือโอกาสต่อเรือเติมให้กว้างกว่าเดิม เพราะกฎหมายมิได้ห้ามการต่อเรือให้กว้างไว้ คนที่เลี่ยงกฎหมายอย่างนี้คงจะมีมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายห้ามมิให้ต่อเรือโดยวิธีซ่อมแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาต คือให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับเรือที่ต่อใหม่ทั้งลำนั่นเอง

สมัยนี้ การต่อเรือไม่จำต้องลำบากถึงขนาดนี้ แต่ผู้ที่จะตั้งโรงงานหรืออู่ต่อเรือเห็นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งโรงงานหรือถ้ามีการแปรรูปไม้เพื่อจะต่อเรือด้วยก็เห็นจะต้องอนุญาตการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ด้วย

การต่อเรือของไทยคงจะวิวัฒนาการมาตามลำดับ จนกระทั่งเรามีอู่ต่อเรือหรือกรมอู่ทหารเรือของเราคือต่อเรือรบแต่ไม่ใช่ด้วยไม้เสียแล้ว เวลานี้เรือของเราต่อด้วยเหล็กหรือวัสดุอย่างอื่น อย่างที่ท่านได้เห็นอยู่แล้ว

ต้องขออภัยในความตอนก่อนว่าการรบทางเรือของไทยเราแต่โบราณคงจะไม่มี นอกจากขนทหารไปขึ้นบกแล้วรบกันบนบกเท่านั้น ความจริงไทยเราก็มีการรบกันทางเรือมามากเหมือนกันโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยอยุธยาที่เดียว เช่นคราวหนึ่งเมื่อเจ้าท่าเมืองมะริดของเราเกิดทะเลาะกับเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งอังกฤษในสมัยที่แซมวลไวท์ (Samuel White) เป็นเจ้าท่า ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเรือไทยยิงเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกจนเกิดความยุ่งยากทางการค้าและการเมืองไปครั้งหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีการรบทางเรือมาแต่ครั้งนั้น นอกจากนี้จากประวัติการทหารเรือของเรา ทราบได้ว่าไทยเรามีปืนใหญ่ประจำเรือรบตั้งแต่สมัยที่เราใช้เรือใบเป็นเรือรบอยู่แล้ว แต่เรือรบของเรานั้นได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามสมัยนิยม

ในสมัยอยุธยาเรือรบของเราจะมีรูบแบบเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถจะบอกได้เสียแล้ว อาจจะเป็นสำเภาแบบจีนหรือกำปั่นแบบฝรั่งก็ได้ หรืออาจจะเป็นแบบไทยๆ ก็ได้เหมือนกัน

อันสำเภาหรือกำปั่นแบบฝรั่งนั้น ท่านผู้รู้อธิบายไว้ว่ามีอยู่สามชนิด คือบริก บาร์ก และสกูเนอร์ ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ดังนี้

๑. เรือชนิดบริก (Brig) เป็นเรือ ๒ เสา ทั้งสองเสาใช้ใบตามขวางและมีใบใหญ่ ที่กาฟฟ์ (Gaef Mainsail)
๒. เรือชนิดบาร์ก (Brague) เป็นเรือ ๓ เสา เสาหน้าและเสาใหญ่ใช้ใบตามขวาง เสาหลังใช้ใบตามยาว
๓. เรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) เป็นเรือ ๒ เสา แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ แบบเรือบรรทุกสินค้า และแบบเรือยอชท์สำหรับเที่ยวหาความสำราญ เรือสกูเนอร์แบบบรรทุกสินค้าที่เสาหน้าตอนบนใช้ใบตามขวาง ตอนล่างใช้ใบตามยาว ส่วนเสาหลังนั้นก็ใช้ใบตามยาว เรือสกูเนอร์แบบเรือยอชท์ทั้งเสาหน้าและทั้งเสาท้ายใช้ใบตามยาว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

อมนุษย์พวกต่างๆ

ในวรรณคดีสันสกฤตได้กล่าวถึงอมนุษย์ว่ามีอยู่หลายพวกด้วยกัน

อมนุษย์  พวกแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ กินนร คำว่ากินนรนี้ ตามรูปศัพท์แปลว่า คนอะไร ถ้าเป็นเพศเมียก็เรียกว่ากินกินนรีนรี กินนรและกินนรีของไทยนั้น เป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งนก คือท่อนบนเป็นคนแต่ท่อนล่างเป็นนก บางแห่งว่ากินนรนั้นหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน อย่างนางแก้วหน้าม้าของเราก็น่าจะเป็นพวกกินนรได้ ตามวรรณคดีของอินเดียว่ากินนรนั้นเป็นนักดนตรี และนักขับร้องของเทวดาอยู่บนสวรรค์ เป็นบริวารของท้าวกุเวร แต่ในที่บางแห่งคำว่ากินนรหมายถึงคนชั่วช้าเลวทรามก็ได้ ท่านเสถียรโกเศศเล่าว่าไทยอาหมเรียกคนเลวว่า “คมม้า” ทำให้นึกถึงคำไทยคำหนึ่งคือคำว่าหน้าม้า หมายถึงคนที่ชักจูงให้คนอื่นหลงกลให้พวกของตัวหลอกลวงเอาได้ เช่นที่เรียกกันว่าพวกต้มหมู เป็นต้น ทำไมจึงเรียกคนพวกนี้ว่าหน้าม้าก็ไม่ทราบ อาจจะหมายความถึงคนชั่วช้าเลวทรามอย่างภาไทยอาหมก็ได้ ซึ่งของเรากลายความหมายเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว แต่คนไทยอาหมยังรักษาความหมายเดิมไว้ได้ก็เป็นได้

อมนุษย์อีกพวกหนึ่ง ก็คือ คนธรรพ์ ว่ากันว่าเป็นพวกขับร้อง เช่นเดียวกับกินนร บางแห่งก็หาว่าเป็นพวกเดียวกับกินนรนั่นเอง แต่พูดถึงความประพฤติของพวกคนธรรพ์ในทางชู้สาวแล้วดูเหมือนพวกคนธรรพ์จะสำส่อนชอบสนุกในทางนี้ โดยรักใคร่สู่สมกันด้วยตนเอง แล้วพากันไปอยู่ตามอำเภอใจ จนเราเรียกคนที่หนีตามกันไปว่า แต่งงานแบบคนธรรพ์ หรือคันธรรพ์วิวาห์

วิทยาธร  หมายถึงชนเผ่าหนึ่งว่ากันว่ามีวิชาความรู้แสดงกลได้หลายอย่าง แต่เวลานี้จะหมายเอาชนเผ่าไหนก็ยังค้นไม่พบ

อีกพวกหนึ่งคือ รากษสนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่ายักษ์ร้าย ยักษ์เลว ผีเสื้อยักษ์ รากษสจึงเป็นยักษ์พวกหนึ่งนั่นเอง บางแห่งว่ารากษสนั้นพระพรหมได้สร้างขึ้นเพื่อให้รักษาท้องน้ำ ในลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงอธิบายเรื่องรากษสไว้ว่า “เกศินี รากษสี ผู้เป็นมเหสีพระวิศระวัส และเป็นมารดาของทศกัณฐ์” และทรงอธิบายต่อไปว่า นครลงกาของทศกัณฐ์นั้นแต่เดิมมาพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างให้พวกรากษสอยู่ ภายหลังพวกรากษสได้ทิ้งร้างไป พวกต้นตระกูลของทศกัณฐ์จึงได้เข้าไปยึดครองแทน พวกรากษสได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเดิมพวกรากษสก็คือพวกที่อยู่ตามน้ำนั่นเอง อย่างนางผีเสื้อสมุทรตัวละครตัวหนึ่งของสุนทรภู่ ในเรื่องพระอภัยมณีก็คงเป็นรากษสนั่นเอง เพราะท่านพรรณนาไว้ว่า

“จะกล่าวถึงอสุรีผีเสื้อน้ำ    อยู่ท้องน้ำวังวนชลสาย
ได้เป็นใหญ่ในพวกปีศาจพราย    สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา”

ในชาดกทางพุทธศาสนาของเรามีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงรากษสว่าเป็นยักษ์อาศัยอยู่ในน้ำ เช่น สระเป็นต้น ใครเผลอลงไปก็ถูกพวกรากษสจับกินเสีย

ท่าน น.ม.ส. ได้ทรงอธิบายเรื่องรากษสไว้ในหนังสือเรื่องกนกนคร ว่า “รากษสนั้นอ่านในหนังสือสังเกตว่า มีพวกดุเข้ารบเข้าฆ่าซึ่งๆ หน้าอย่างกล้าๆ พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งไม่กล้าสู้ซึ่งๆ หน้า มักจะลวงด้วยมายาต่างๆ ให้คนเสียทีเพลี่ยงพล้ำก่อนจะเข้าทำร้าย มีคำกล่าวว่า เวลาโพล้เพล้เป็นเวลารากษสออกหากิน แขกจึงห้ามกันว่า ไม่ให้คนนอนหลับเวลานั้น เพราะกลัวว่าถ้ารากษสมาพบกำลังหลับก็จะทำร้ายได้ถนัด การห้ามไม่ให้นอนหลับในเวลาโพล้เพล้ ไทยเราก็ยังห้ามอยู่จนบัดนี้ แต่ไม่เคยได้ยินคำอธิบายว่าทำไมจึงห้าม จะเป็นด้วยแขกมาสอนให้กลัวรากษส จนเดี๋ยวนี้เลิกกลัวรากษส แต่ยังไม่เลิกกลัวนอนเวลาโพล้เพล้ จึงไม่มีคำอธิบายก็เป็นได้ หรือถ้ามีข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน”

เรื่องนี้ผมเองได้ยินผู้ใหญ่ให้เหตุผลที่ห้ามนอนตอนโพล้เพล้ว่า นอนตอนนี้จะทำให้ไม่สบาย เคยเผลอนอนถึงตอนโพล้เพล้ รู้สึกไม่สบายครั่นเนื้อครั่นตัวจริงๆ

ท่าน น.ม.ส. ทรงอธิบายเรื่องรากษสต่อไปว่า “ถ้าจะกล่าวตามโปรเฟซเวอร์เดาซัน รากษสมีสามจำพวก พวกหนึ่งทำนองเดียวกับยักษ์ คือเป็นอสูรชนิดไม่ดุร้าย ไม่สู้เป็นภัยกับใครนัก รากษสอีกจำพวกหนึ่ง เป็นศัตรูของเทวดา และจำพวกที่สามเป็นพวกที่เที่ยวอยู่ตามป่าช้าเที่ยวทำลายพิธีบูชา กวนคนจำพรต สิงซากศพ กินคน แลทำการลามก และเป็นภัยแก่มนุษย์ด้วยประการต่างๆ…..” เรื่องของรากษสกับยักษ์เห็นจะแยกกันยาก

อมนุษย์อีกพวกหนึ่งคือพวก คุหยัก แปลตามตัวผู้ซ่อนตัว บางทีจะเป็นพวกขุดหาแก่ก็ได้ บางแห่งว่าเป็นบริวารของท้าวกุเวรมีหน้าที่เฝ้าทรัพย์อยู่ใต้ดิน

ปีศาจ เป็นมนุษย์พวกหนึ่ง ซึ่งตามความเข้าใจของเราว่าเป็นพวกเดียวกับภูตผี เรียกรวมว่าภูตผีปีศาจ แต่ความจริงแล้วคำว่าปีศาจ เป็นชื่อของคนเผ่าหนึ่งซึ่งอยู่ในอินเดีย คือพวกที่อยู่ในแคว้นทรทิศสถาน เหนือแคว้นกัษมีระหรือแคชเมียร์ มีภาษาพูดต่างหากเรียกกันว่าภาษาปีศาจ แต่ภายหลังคงจะเหยียดคนพวกนี้เป็นคนเลว สกปรก ชอบกินเนื้อดิบๆหรือซากศพ ก็เลยสงเคราะห์ให้อยู่ในจำพวกภูตผีเสียเลย อย่างเราเรียกมนุษย์เผ่าหนึ่งว่า ผีตองเหลืองนั่นเอง

ยักษ์นั้นมิใช่ร้ายแต่ส่วนเดียวหรือมิใช่ร้ายไปทั้งหมด ยักษ์ที่มีคุณธรรมความดีก็มีเช่นท้าวกุเวร ซึ่งเป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ นับถือกันว่าเป็นผู้คุ้มครองป้องกันภัยให้แก่มนุษย์ ท่านเสถียรโกเศศอธิบายเรื่องกุเวรไว้สั้นๆ ในหนังสือสารานุกรมไทยว่า “กุเวร ท้าวพระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ มียักษ์และคุหยกะ (ยักผู้เฝ้าขุมทรัพย์) เป็นบริวารท้าวกุเวรนั้นบางทีก็เรียกท้าวไวศรวัน (เวสสุวัณ) ทมิฬเรียกกุเวรว่า กุเปรัน ซึ่งมีเรื่องอยู่ในรามเกียรติ์ว่าเป็นพี่ต่างมารดาของทศกัณฐ์ และทศกัณฐ์ไปแย่งบุษบกของท้าวกุเวรไป ท้าวกุเวรมีรูปร่างพิการ ผิวขาว มีฟัน ๘ ซี่ และมีขาสามขา (ภาพท้าวเวสสุวัณจึงมักเขียนท่ายืนแยงถือไม้ตะบองยาวยันอยู่หว่างขา) เมืองท้าวกุเวรชื่อ อลกา อยู่บนเขาหิมาลัย มีสวนอุทยานอยู่บนไหล่เขาแห่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ ชื่อว่าสวนไจตรตหรือมนทร มีพวกกินนรและคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้…..จีนเรียกโต้แหวนหรือโต้บุ๋น ญี่ปุ่นเรียก พิศมอน ตามคติไทยมักเขียนภาพท้าวกุเวรซึ่งเรียกว่า เวสสุวัณ แขวนไว้ที่แปลเด็กเป็นเครื่องคุ้มกันภัย เพราะท้าวเวสสุวัณมีคนเป็นพาหนะสำหรับพระองค์ขี่….ดังนั้นที่เรานิยมทำรูปยักษ์ไว้ตามประตูโบสถ์วิหารก็เพื่อจะให้ยักษ์คุ้มครองภัยหรือช่วยรักษาทรัพย์นั่นเอง เพราะยักษ์ที่มีคุณความดีก็มีดังกล่าวแล้ว

ในสมัยก่อนมีพระราชพิธีอยู่อย่างหนึ่ง คือพิธีสัพพัจฉรฉินท์คือ พิธีตรุษสิ้นปี ในพิธีนี้มีการสวดอาฏาณาฏิยสูตร และภาณยักษ์ภาณพระที่ในพระบรมมหาราชวัง ว่าเป็นการขับพวกปีศาจให้ออกไปจากเมือง ให้ประชาชนพลเมืองอยู่ดีมีความสุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนพิธีประจำเดือนสี่ว่า

“การที่มุ่งหมายในเรื่องทำพระราชพิธีตรุษสุดปีนี้ มีการสวดอาฏาณาฏิยสูตรซ้ำๆ กันไปตลอดคืนยันรุ่งนี้ ด้วยประสงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาเขต ตามพระบรมพุทธานุญาต แต่ตามที่เข้าใจกันโดยมากว่า ซึ่งพระสงฆ์สวดภาณยักษ์หรือภาณพระนั้น เป็นการขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำสำหรับให้วิ่งจนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทาแล้วทำต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือนเรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนนจะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนื่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ปัสสาวะลงทางร่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางที่ที่เป็นโคมใบโตๆ (คำว่าโคมเป็นสำนวนหมายความว่าเชื่ออย่างงมงาย) จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักตัวใคร่ก็มี การซึ่งว่าขับผีเช่นนี้ ในตัวอาฏานาฏิยสูตรเองก็ไม่ได้ว่าพระสงฆ์ก็ไม่ได้ขู่ตวาดขับไล่ผี ตามความที่คาดคะเนไป มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งแต่ในคำประกาศเทวดาเวลาค่ำขับผีซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฐิ มิอาจที่จะรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์และราษฎร์ได้ ให้ออกไปเสียนอกขอบเขาจักรวาล ชะรอยจะได้ยินคำประกาศอันนี้ ส่อให้เข้าใจภาณยักษ์ภาณพระว่าเป็นขู่ตวาดไล่ผี”

ท่านที่เคยได้ยินพระท่านสวดภาณยักษ์เป็นทำนองแล้ว ก็คงจะเข้าใจทำนองเดียวกับคนไทยสมัยก่อนเข้าใจว่าไล่ผีนั่นเอง เพราะมีคำว่ายักโข วา ยักขิณี วา และพอถึงคำว่ายักษ์พระท่านก็ขึ้นเสียงเหมือนตวาดจริงๆ สมัยผมเป็นเด็กยังถูกเขาบอกเล่าว่าเวลาพระสวดภาณยักษ์นั้นระวังอย่าไปยืนอยู่ตรงทาง ให้หลีกๆ ไปอยู่ในบ้านในเรือนเสีย เพราะผีตกใจพระสวดวิ่งพลวดพลาดมาชนเอาหกล้มไปได้ กว่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องเหลวไหลก็เชื่อไปเสียนานแล้ว

เรื่องของยักษ์แล้วต้องกินเนื้อคนหรือเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มีแทบทุกชาติทุกภาษา และเรื่องของคนกินเนื้อคนด้วยกันนี้ เห็นจะมีในอินเดียมาก เพราะพระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้พระภิกษุฉันเนื้อมนุษย์อยู่ด้วยอย่างหนึ่ง ถ้าคนไม่นิยมกินกันแล้ว คงไม่ต้องห้ามเป็นแน่ ในเรื่องโปริสาทชาดกยังได้กล่าวถึงว่าพระเจ้าโปริสาทถูกคนครัวหลอกให้เสวยเนื้อมนุษย์ครั้งเดียวก็ติดใจ ไม่ยอมเสวยเนื้ออื่นนอกจากเนื้อมนุษย์ จนยอมสละราชบัลลังก์เพียงเพื่อจะได้เสวยเนื้อมนุษย์ตามพระราชหฤทัย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายักษ์ที่กินเนื้อมนุษย์นั้นมีจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเล่นเฉยๆ มนุษย์กินคนยังมีอยู่ทั่วไปในป่าหลายแห่ง

ยักษ์ร้ายนั้นยกไว้เถิด แต่มนุษย์เราใจทมิฬหินชาติยิ่งกว่ายักษ์ทุกวันนี้ก็ยังมีมากท่านควรระวังมนุษย์พวกนี้ยิ่งกว่ายักษ์

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

พระพุทธรูปปางมารวิชัย

ยักษ์คืออะไร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “อมนุษย์พวกหนึ่ง ถือว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัวมีเขี้ยวงอกโง้ง ชอบกินมนุษย์กินสัตว์ โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้ บางทีใช้ปะปนกับคำว่าอสูร และรากษสก็มี นอกจากนี้ยังแปลคำว่ายักษ์ไว้ว่า ผู้ที่ควรได้รับบูชาหรือเซ่นสังเวย”  อ่านแล้วก็เลยไม่ทราบว่ายักษ์คืออะไรอยู่นั่นเองพระพุทธรูปปางมารวิชัย

ตามความเข้าใจของเราทั่วๆ ไป ยักษ์นั้นเป็นผู้ดุร้าย ชอบกินคนและสัตว์ดิบๆ เป็นอาหาร มีร่างกายกำยำใหญ่โต เพราะเราเห็นรูปปั้นตามวัดวาอารามหลายแห่งเช่นที่วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนในกรุงเทพฯ วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง หรือที่วัดพระแก้ว หรือทำเป็นรูปทวารบาลเฝ้าประตูโบสถ์วิหารก็มี ยักษ์จึงเป็นผู้ที่น่ากลัว และเป็นเครื่องหมายของความดุร้าย จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ดุอย่างกะยักษ์กะมาร และยักษ์นั้นดูจะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีกิริยามารยาทเท่าไรนัก พ่อแม่จึงมักดุลูกที่ทำอะไรตึงตังโครมครามว่า หยาบอย่างกะยักษ์กะมาร เป็นต้น เรื่องของยักษ์ของมารจึงเป็นเรื่องที่น่าค้นคว้าและศึกษาว่าเป็นมาอย่างไร

ในหนังสือเรื่องเมืองสวรรค์และผีสางเทวดา ของท่านเสถียรโกเศศ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ในวรรณคดีสันสกฤตแบ่งพวกอมนุษย์ไว้สิบกำเนิดคือ

วิทยาธร อัปสร ยักษ์ รากษส คนธรรพ์ กินนร ปีศาจ คุหยัก สิทธ และ ภูต

“ในหนังสือบาลีอภิธานัปปทีปีกา นอกจากให้รายละเอียดชื่อข้างบนนี้แล้ว ยังเพิ่มกุมภัณฑ์ขึ้นอีกกำเนิดหนึ่ง และในหนังสือว่าด้วยศิลปในทางพุทธศาสนาของ Crunwedel ให้กำเนิดพวกอมนุษย์ไว้ ๖ เหล่า คือ นาค รากษส คนธรรพ์ ครุฑ กินนรและมโหราค (งูใหญ่ชนิดหนึ่ง) ส่วนในคัมภีร์ลลิตวิสตร เติมเปรต ปีศาจ และกุษมาณฑ์เข้าด้วย ในชินะศาสนาแบ่งเป็นปีศาจ ภูต ยักษ์ รากษส กินนร กิมบุรุษ มโหราคและคนธรรพ์” นี้ว่าตามที่ท่านเสถียรโกเศศกล่าวไว้ในหนังสือดังกล่าวแล้วข้างต้น

ตามความเข้าใจของเราส่วนมาก ยักษ์นั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ อสูร ซึ่งแปลว่าผู้ไม่ดื่มสุรา หรือผู้ไม่กล้าหาญ มาร แปลว่าผู้ล้างผลาญ กุมภัณฑ์ ถ้าจะดูตามตัวก็แยกออกได้ กุมภ-หม้อ+อัณฑะ-ไข่ ลองแปลเอาเองก็แล้วกัน

มารนั้นตามคติของอินเดียโบราณไม่ได้หมายถึงยักษ์ แต่หมายถึงกามเทพ ส่วนพวกอสูรนั้นเล่าตามคัมภีร์ของพุทธศาสนาเรา ก็ว่ามีเมืองอยู่บนสวรรค์ เรียกว่าชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ พระอินทร์เห็นว่าเมืองหรือพิภพของอสูรนั้น เหมาะที่จะเป็นของตนมากกว่า จึงเอาสุรามอมให้พวกอสูรกิน พอพวกอสูรกินสุราเมามาย พระอินทร์ก็ชวนพรรคพวกจับพวกอสูรโยนลงมาจากเมืองสู่บาดาลหมด แล้วเข้ายึดครองพิภพของพวกอสูรแทนจนทุกวันนี้ พวกอสูรนั้นเสียใจก็เลยสาปส่งไม่ดื่มเหล้าแต่นั้นมา พวกอสูรนี้ มักจะมีลูกสาวสวย ท้าวเวปจิตติหรือท้าวไพจิตรจอมอสูรตนหนึ่งก็มีลูกสาวชื่อนางสุชาดา ท้าวไพจิตรต้องการจะให้เลือกคู่จึงป่าวประกาศให้เมืองต่างๆ ทราบ พระอินทร์ก็แปลงตัวเป็นอสูรแก่แล้วแย่งชิงนางสุชาดา พาไปไว้บนดาวดึงส์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าอสูรนั้น ไม่ใช่มีรูปร่างน่ากลัวอะไร เพราะถ้ามีรูปร่างน่ากลัวแล้ว ทำไมจึงจะมีลูกสาวสวยได้ อย่างน้อยถึงแม่จะสวย หากพ่อไม่สวยก็น่าจะติดความน่าเกลียดจากพ่อบ้างไม่มากก็น้อย และพวกอสูรก็เป็นพวกที่เจริญแล้วเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นพระอินทร์จะต้องไปแย่งเมืองเขาทำไม

อย่างไรก็ตาม ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า เรื่องอสูรและเทวดานี้ น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์พวกใดพวกหนึ่งมากกว่าจะเป็นเรื่องของอมนุษย์ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงความคิดความฝันโดยเขาให้เรื่องราวไว้ว่า แรกเริ่มเดิมทีในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปนั้นมีชนชาติหนึ่ง เรียกว่าอริยกะ ซึ่งพวกที่เจริญแล้ว เคยอยู่ในตอนเหนือของอินเดีย แล้วแยกย้ายกันลงมาเป็นอิหร่านพวกหนึ่งและฮินดูอีกพวกหนึ่ง พวกอิหร่านเรียกพวกที่มีใจดีลักษณะสูงกว่าพวกอสูรและเรียกพวกใจบาปหยาบช้าว่า พวกเทวะ ซึ่งมีหัวหน้าพระอินทร์เป็นนักเลงขี้เมา นี้ว่าตามคัมภีร์ของพวกอิหร่าน พวกอสูรกลายเป็นผู้ดี แต่พวกเทวะกลายเป็นขี้เมาไป ดังนั้นเมื่อจะเซ่นสรวงบูชาเทวดา เราจึงต้องมีสุราอยู่ในบรรดาเครื่องเซ่นเสมอไป

ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน ถ้าเราเข้าไปในโบสถ์หรือวิหาร เราจะสังเกตเห็นว่าผนังโบสถ์หรือวิหารมักจะนิยมเขียนภาพพุทธประวัติ ถึงไม่ทั้งหมด ก็เขียนภาพตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ หรือปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ส่วนพระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงบนพระชานุเบื้องซ้ายปลายพระหัตถ์ชี้ลงเบื้องล่าง เป็นการอ้างพระแม่ธรณีเป็นพยานว่า พระองค์สร้างสมพระบารมีมากมายเพียงไร ด้านหนึ่งของพระพุทธรูปทำเป็นรูปพระยามารยกทัพมาผจญไม่ยอมให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทางด้านตรงกันข้ามมีรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมบิดน้ำ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นน้ำทักษิโณทก ซึ่งพระพุทธองค์ได้บำเพ็ญบุญกุศลแล้วกรวดน้ำลงบนพระแม่ธรณี เมื่อแม่ธรณีบีบมวยผมน้ำที่สะสมไว้หลายพันชาติก็หลั่งออกมาท่วมนองพื้นแผ่นดิน มีจระเข้เหรามาขบกัดพระยามารและขุนมารพร้อมทหารให้พ่ายแพ้ อาวุธยุทธภัณฑ์กลายเป็นเครื่องบูชา พระยามารตนนี้เราก็เรียกว่า พวกยักษ์มารเหมือนกัน แต่ภาพที่เขียนไว้นั้นท่านกล่าวไว้ว่าเป็นเครื่องอุปมาให้เห็นเรื่องธรรมมากกว่าเป็นเรื่องของบุคคลจริงๆ

เรื่องของยักษ์มารอสูรกุมภัณฑ์นั้น เราใช้รวมเรียกกันไป ถ้าเราอ่านเรื่องรามเกียรติ์จะเห็นความจริงข้อนี้ เพราะท่านแยกพระรามกับพวกออกเป็นมนุษย์ฝ่ายหนึ่ง ส่วนพวกทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกาและพวกนั้น ยกให้เป็นพวกยักษ์มาร ดังคำกลอนตอนหนึ่งยืนยันความข้อนี้ว่า

“จึงมีพระราชบรรหาร        แก่พิเภกขุนมารยักษี
แต่เราปราบหมู่อสูรี        ที่มันหยาบช้าอาธรรม์
บรรดาเป็นเสี้ยนแผ่นดิน    ก็สิ้นสุดชีวาอาสัญ
เสร็จศึกซึ่งปราบกุมภัณฑ์    ท่านนั้นจึงผ่านลงกา
เป็นเจ้าแก่หมู่อสูรศักดิ์        สืบวงศ์พงศ์ยักษ์ไปภายหน้า
บำรุงรี้พลโยธา            เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร”

กลอนตอนนี้เสมือนท่านจงใจจะอธิบายให้เห็นว่าคำว่ายักษ์นั้นเรียกกันอย่างไรบ้างนั่นเอง เพราะมีคำไวพจน์ใช้แทนคำว่ายักษ์หลายคำเหลือเกิน

ท่านผู้รู้อธิบายว่า ความจริงยักษ์นั้น เป็นชนชาติหนึ่ง และมีชีวิตอยู่จริงๆ หาใช่เป็นเพียงความคิดฝันไม่ ชนชาตินั้นคือพวกทราวิฑ หรือพวกทมิฬ ซึ่งคนพวกนี้มีถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย และครั้งหนึ่งเคยไปรุกรานกรุงลังกาพระมหากษัตริย์กรุงลังกาพ่ายแพ้แก่พวกทมิฬคงจะถูกพวกทมิฬฆ่าเสียมาก ความดุร้ายของพวกทมิฬคราวนั้นคงจะเล่าลือต่อๆ กันมา จนมีคำกล่าวว่าใจทมิฬหินชาติ เลยสร้างรูปร่างพวกทมิฬให้เป็นยักษ์เป็นมารไปก็เป็นได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

การแข่งม้าในเมืองไทยมีเมื่อไร

ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องม้าธรรมดากันต่อไปดีกว่า เรื่องของม้านอกจากจะมีไว้ขับขี่และลากรถแล้ว หลายประเทศยังเลี้ยงม้าไว้แข่งกันด้วย กีฬาม้าแข่งนับเป็นกีฬาพระราชาทีเดียว แต่สมัยนี้คนธรรมดาก็เข้าไปเล่นการพนันม้าแข่งการแข่งม้ากันมาก เลยถูกม้าล้วงกระเป๋าเอาหน้าแห้งไปตามๆ กัน ก็บอกแล้วว่านั่นเป็นกีฬาของพระราชาหรือของคนชั้นสูง ซึ่งมีเงินทองมากเขาเล่นกัน คนจนๆ หรือเบี้ยน้อยหอยน้อยเข้าไปเล่น ก็ต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดา

การเล่นม้าแข่งมีแพร่หลายไปทั่วโลก ว่ากันว่าชาวฝรั่งเศสนิยมการแข่งม้ากันมากในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ พระเจ้าริชาร์ดที่ ๒ ของอังกฤษ ได้ทรงโปรดปรานการขี่ม้ามาก และได้วางกำหนดกฎเกณฑ์ในการแข่งม้าขึ้นไว้ด้วย

สำหรับการแข่งม้าในเมืองไทยเรานั้น เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ คราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทวีปยุโรป ในครั้งนั้นทางราชการจัดให้มีการเฉลิมฉลอง มีการเล่นหลายอย่าง โดยเฉพาะ “สโมสรน้ำเค็มศึกษา” ได้จัดให้มีการแข่งม้าถวาย โดยใช้บริเวณสนามหลวงส่วนหนึ่งเป็นสนามม้าชั่วคราว หลังจากนั้นอีกสองสามปีมีคนไทยและฝรั่งร่วมมือกันจัดตั้งสนามม้าขึ้นที่ตำบลสระปทุม โดยขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของพระราชทานเช่าที่ตำบลนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าความมุ่งหมายที่จะบำรุงพันธุ์ม้าให้ใหญ่โตแข็งแรงเป็นประโยชน์แก่ราชการทหารด้วย จึงได้ทรงอนุญาตให้เช่าที่พอเป็นพิธีปีละเฟื้อง และสนามแห่งนี้ก็กลายเป็นราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน

ส่วนสนามแห่งที่สองนั้น คือสนามม้านางเลิ้ง ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้งสนามม้าแห่งนี้ขึ้นก็คือพระยาปรดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์  โดยขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ และได้พระราชทานนามสาคมซึ่งตั้งขึ้นนั้นว่า “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย” ซึ่งยังคงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ นับตั้งแต่นั้นมาสนามม้าแข่งก็ได้แพร่หลายไปยังต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัด

กีฬาม้าแข่งเป็นของดีหรือไม่  ข้อนี้ถ้าเราจะคิดว่าการตั้งสนามม้าแข่งเป็นการส่งเสริมให้เราบำรุงพันธุ์ม้าให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ก็เป็นของที่น่าส่งเสริม แต่เมื่อคำนึงถึงว่าการแข่งม้าทุกวันนี้หาใช่เป็นกีฬาไม่ แต่กลายเป็นการพนันชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้คนหายนะมามากต่อมากแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าสนับสนุนให้มีขึ้นอีก แล้วแต่ความมุ่งหมายที่จะทำ

ในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ได้กล่าวถึงม้ากัณฐกะว่ายาวถึง ๑๘ ศอก บางท่านอาจจะนึกว่าเกินความจริง แต่ม้าชื่อ ดร.เลอเกีย เป็นม้าขนาด ๒๑ แฮนด์ คือสูงได้ ๗ ฟุต มีน้ำหนัก ๒,๙๙๕ ปอนด์ วัดจากปลายจมูกถึงหางได้ ๑๖ ฟุต ก็เกือบจะเท่ากับพญาม้ากัณฐกะนั่นแหละ ม้าตัวนี้เป็นม้าที่เกิดและตายที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซุรี สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๑๙

ทีนี้ม้าตัวเล็กที่สุดจะเท่าไร นายสมิธ  แมคคอย ชาวนารัฐเวอร์ยิเนียตะวันตก ทางภาคตะวันออกของอเมริกา ได้เลี้ยงม้าพันธุ์เชทแลนด์ตัวที่เล็กที่สุดมีความสูงเพียง ๑๗ นิ้ว เท่านั้น

ว่ากันว่าม้าตัวแรกและพันธุ์แรกของโลกนั้น คือพันธุ์ อีโอชีพพัส มีขนาดใหญ่เท่าสุนัขจิ้งจอกสูง ๙ นิ้ว ยาว ๑๘ นิ้ว เท้าหน้าทีนิ้วเป็นกีบ ๔ กีบ ส่วนเท้าหลังมี ๓ กีบ แต่ม้าพวกนี้มีชีวิตอยู่เมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อนโน้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

พิธีอัศวเมธของชาวอินเดีย

ในอินเดียโบราณมีพิธีประกาศความเป็นใหญ่เป็นโตของพระราชาอยู่พิธีหนึ่งเรียกว่าพิธี “อัศวเมธ” คือการฆ่าม้าบูชายัญ

พิธีนี้ คุณสุชีพ  ปุญญานุภาพ เล่าไว้ในหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งศาสนาพุทธว่า “ได้มีการเลือกม้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องดูแลประคบประหงมเป็นพิเศษตลอดเวลาสามปี มีการบูชาเทวดา ๓ องค์ คือพระอินทร์ เพื่อให้ดูแลลูกม้าตัวนั้น พระยมเพื่อให้ป้องกันม้านั้นจากความตายและอุบัติเหตุต่างๆ พระวรุณเทพเจ้าแห่งฝนเพื่อให้ฝนตกลงมายังความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน เพื่อจะได้มีหญ้าดีๆ ให้ลูกม้านั้นกิน”

“ภายหลังที่ลูกม้านั้นอายุเกิน ๓ ปีแล้ว ก็มีการปล่อยให้เที่ยวไปตามชอบใจ มีผู้คนติดตามไปเป็นอันมากและมีกองทัพยกตามไปด้วย เข้าบ้านเมืองไหนถ้าเขายอมแพ้ก็แล้วไป ถ้าไม่ยอมแพ้ก็รบกัน คราวนี้มีผู้ใดต้องการทำลายพิธีนี้ ผู้นั้นก็ยกทัพมาไล่จับม้า ถ้าจับได้ก็ทำลายพิธีสำเร็จ แต่โดยมากผู้ที่จะทำพิธีนี้มักแน่ใจในชัยชนะ คือได้เตรียมการรุกรานไว้แล้ว”  และมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมในหนังสือเล่มอื่นว่า “เจ้าชายแห่งประเทศต่างๆ ที่ม้านี้ผ่านไป ถ้ายอมแพ้ก็ต้องร่วมไปในขบวนทัพที่ติดตามม้านี้ด้วย เมื่อครบปีแล้วจึงพาม้ากลับเมืองแล้วฆ่าม้านั้นบูชายัญ” พูดง่ายๆ ก็ว่าพิธีอัศวเมธนี้เป็นวิธีการล่าเมืองขึ้นชนิดหนึ่งของจักรพรรดิ์โบราณหาเหตุอะไรไม่ได้แล้ว ก็หาเหตุปล่อยม้ายกทัพผ่านเมืองชาวบ้านเล่นอย่างนั้นแหละ

พระยาสัจจาภิรมย์เล่าไว้ในหนังสือเทวกำเนิดของท่านว่า “พิธีอัศวเมธทำได้แต่เฉพาะผู้เป็นราชาธิบดี การที่ทำก็มุ่งหมายเพื่อขอพรพระผู้เป็นเจ้า ในสมัยโบราณกาลนิยมว่าเป็นพิธีสำหรับขอลูก ต่อมาภายหลังจึงถือกันว่าเป็นพิธีแผ่อำนาจ แรกลงมือทำจะต้องกระทำการบูชาไฟ (อัคนิษโฏม) และสมโภชม้าตัวรัก แล้วก็ปล่อยม้าเที่ยวไปตามใจ มีกองทัพตามไปด้วย เมื่อผ่านเข้าไปในแว่นแคว้นใด ผู้ครองแว่นแคว้นนั้นยอมอ่อนน้อมก็ต้องรับรองม้าด้วยความเคารพ ถ้าไม่ยอมก็ต้องรบกับกองทัพที่ตามมานั้นไป เมื่อม้านี้เที่ยวไปได้หนึ่งปี โดยไม่มีอุปสรรคอย่างใดแล้วก็นำม้านั้นกลับมา แล้วสมโภชฉลองกันเป็นครั้งใหญ่ จึงฆ่าม้าตัวนั้นบูชายัญ (เผาไฟ) โดยปกติ นัยว่า ผู้ฆ่าม้าจะต้องเป็นพระอัครมเหสี”

ม้าที่ใช้ในการประกอบพิธีอัศวเมธนี้ต้องใช้ม้าที่ดี ส่วนมากจะเป็นม้าทรงของพระราชาและม้าเช่นนี้เรียกว่าม้าอุปการ อย่างที่เรียกกันว่าปล่อยม้าอุปการ ก็คือการทำพิธีอัศวเมธนี่เอง เรื่องของพิธีอัศวเมธมีในวรรณคดีของเราหลายเรื่อง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิลราชคำฉันท์ เป็นต้น ผู้สนใจโปรดค้นคว้าเอาจากหนังสือนั้นๆ เถิด

เมื่อพูดถึงเรื่องม้าในวรรณคดีแล้ว ถ้าไม่พูดถึงม้าอีกตัวหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณีของท่านสุนทรภู่ก็ดูจะไม่สมบูรณ์นัก ม้านั้นคือม้านิลมังกร ซึ่งเป็นม้าทรงของสุดสาคร ท่านสุนทรภู่พรรณนาลักษณะของม้านิลมังกรไว้ว่า วันหนึ่งสุดสาครลงไปเล่นน้ำปล้ำกับปลาแล้วขี่ปลาไปเที่ยวเล่น

“พอพบม้าหน้าเหมือนมังกรร้าย        แต่กีบกายนั้นเป็นม้าน่าฉงน
หางเหมือนอย่างหางนาคปากคำรณ    กายพิกลกำยำดูดำนิล”

และฤาษีเกาะแก้พิสดารได้ทราบกำเนิดของม้าตัวนี้ โดยการเข้าฌาณว่า
“พระทรงศิลยินสุดสาครบอก    นึกไม่ออกอะไรกัดเหมือนมัจฉา
จึงเล็งญาณฌานชิดด้วยฤทธา    ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน
ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ    ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน
หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์    พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน”

ม้านิลมังกรเป็นม้าที่แปลกเพราะพ่อเป็นมังกรแต่แม่เป็นม้า และอาหารที่มันกินก็แปลกเพราะ

“กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้        มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดระฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน    ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน”

รวมความแล้วม้ามังกรของสุดสาครนั้นมีฤทธิ์เดชมากก็แล้วกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี