ที่มาของชื่อประเพณียี่เป็ง

Socail Like & Share

ต้นกำเนิดของประเพณียี่เป็งหรือการลอยโคมมาจากชาวล้านนา ซึ่งเป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ นับเป็นเวลายาวนานกว่า 700 ปี ที่ชาวล้านนาได้รับอิทธิพลการดำเนินชีวิตมาจากพระพุทธศาสนา

ยี่เป็ง เป็นภาษาทางภาคเหนือ โดยคำ “ยี่” แปลว่า สอง ส่วนคำ “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หรือ เพ็ง ซึ่งหมายถึงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 การนับเดือนของชาวล้านนาก็นับได้ 12 เดือน เหมือนแบบสากลทั่วไป แต่จะนับตามจันทรคติ ซึ่งนับเดือนตุลาคมเป็นเดือน 1 หรือเดือนเกี๋ยง ดังนั้น เดือนพฤศจิกายน ก็จะเป็นเดือนยี่ หรือเดือน 2 ชาวล้านนาเรียกประเพณีนี้ว่า “ป๋าเวณียี่เป็ง” ซึ่งตรงกับประเพณีลอยกระทงที่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป

และยังมีความเชื่อกันว่า ประเพณีนี้อาจมีต้นกำเนิดมาจากพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม เพื่อบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าทั้ง 3 ของพราหมณ์ ต่อมาผู้ที่หันมานับถือศาสนาพุทธก็ได้ทำพิธียกโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมฆทานที ประเทศอินเดีย

ชาวท้องถิ่นล้านนาจะเรียกโคมลอยนี้ว่า “ว่าว” ซึ่งมีทั้งชนิดที่ลอยในตอนกลางวัน(ว่าวโฮม-ว่าวควัน) ชนิดที่ลอยกลางคืน(ว่าวไฟ) และโคมชนิดที่ใช้แขวนตามบ้านเรือน

ประเพณีการลอยโคมยี่เป็งของทางภาคเหนือในช่วงเทศกาลลอยกระทง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีกิจกรรมมากมายที่ทางสถานที่นั้นๆ จัดขึ้น เช่น การประกวดขบวนแห่กระทง การประกวดนางนพมาศ การออกร้านขายของและกระทง เป็นต้น ครั้นถึงเวลาที่แต่ละคนต่างปล่อยโคมลอยขึ้นสู่บนท้องฟ้า ก็จะดูสวยงามเป็นอย่างมากเลยทีเดียว