ความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน

วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา
เรือนพักอาศัยนั้นถือว่าเป็นศูนย์รวมของชีวิตในสังคมทุกๆ สังคม
เพราะสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ การศึกษาเรื่องเรือนพักอาศัยของแต่ละแห่งนั้นย่อมหยั่งทราบถึงเนื้อหาสาระของสังคมที่แฝงเร้นอยู่ในรูปทรงของอาคารนั้นอีกด้วย ฉะนั้นการค้นคว้าศึกษาเรือนท้องถิ่นหรือเรือนชาวบ้านนั้น นอกจากสถาปนิกแล้วกลุ่ม
นักศึกษาทางคติชนวิทยายังมุ่งสนใจกันอย่างกว้างขวาง ใน
เรื่องของการศึกษาคติพื้นถิ่นและชีวิตพื้นถิ่น (Folklore and Folklife) โดยที่สาขาวิชาชีวิตพื้นถิ่นได้เน้นถึงวัฒนธรรม ทางด้านวัตถุ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Folk Archi¬tecture) ศิลปกรรมพื้นถิ่น (Folk Art)เป็นต้น เพราะเรือนของแต่ละท้องถิ่นนี้ย่อมมีลักษณะเฉพาะตัวและเป็น รูปแบบทางประเพณีนิยม (Tradition Building Type) ที่ประชาชนนิยมสร้างสืบเนื่องกันต่อมา เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้ว อีกทั้งลักษณะเรือนพักอาศัยแบบพื้นบ้านหรือพื้นถิ่นยังเป็นสถาปัตยกรรมที่นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ถือว่าเป็นแหล่งศูนย์กลางที่สะท้อนถึงสภาพวัฒนธรรมของแต่ละสังคมได้เป็นอย่างดี
การศึกษาเรือนพื้นบ้านหรือเรือนที่มีรูปแบบทางประเพณีนิยมของลานนาย่อมมีความมุ่งหมายดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่การศึกษาในครั้งนี้จะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมเชิงพฤติกรรม และคติความเชื่อพร้อมทั้งพิธีกรรมและประเพณีบางประการที่สัมพันธ์ กับขั้นตอนการก่อสร้าง กับเนื้อที่และรูปทรงของอาคาร ตลอดถึงคติความเชื่อบางอยางในการตั้งถิ่นฐานระดับต่างๆ ของชุมชนลานนามากกว่าที่จะอธิบายในเชิงระบบการก่อสร้างหรือแง่ของสถาปัตยกรรมศึกษาโดยตรงโดยจะอาศัยแนวทางทางคติชน วิทยาหรือคติชาวบ้านเป็นแนวทางในการศึกษา หากจะพิจารณาเฉพาะแง่สถาปัตยกรรมโดยตรง เพียงส่วนเดียวแล้ว ย่อมไม่กว้างขวาง เพราะตัวสถาปัตยกรรม (อาคาร) มิใช่ เป็นผลผลิตทางวัสดุก่อสร้างระบบการก่อสร้าง หรือทาง เทคโนโลยีเพียงส่วนเดียว แต่สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ พฤติกรรมและความต้องการที่ลี้ลับเพื่อขจัดความกลัวและสร้างความหวังให้แก่ชีวิต เนื่องจากความเชื่อต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่อยู่นอกเหนือจากความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และทั้งยังเป็นการสั่งสมมรดกของอดีตที่ต่อเนื่องมาสู่ปัจจุบันอีกด้วย
ความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน
สถาปัตยกรรมจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สถาปัตยกรรมแบบพื้นบาน (Arche-typcs) และสถาปัตยกรรมแบบยิ่งใหญ่ (Master Works)
ความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรม ๒ ประเภทดังกล่าวนี้ก็คือ สถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านนั้น ได้แก่ อาคารประเภท บ้าน โรงนา และอาคารที่แสดงถึงฝีมือการปลูกสร้างของชาวบ้านชาวนาโดยทั่วไป ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของวิธีการก่อสร้างและฝีมือของผู้สร้าง ซึ่งมีประสบการณ์จากความรู้พื้นๆ และการแก้ปัญหาอย่างซื่อๆ และตรงไปตรงมา ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงชีวิตที่อยู่อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย อาคารมักมีรูปแบบคล้ายๆ กัน เพราะสร้างกันตามประเพณีที่เคยประพฤติสืบต่อเนื่องกันมา ไม่มีสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบโดยเฉพาะแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นช่างปลูกสร้างกันเอง เพราะได้รับการถ่ายทอดระบบวิธีการก่อสร้างมาจากสมาชิกรุ่นก่อนๆ ของสังคม ตัวสถาปัตยกรรมมักถูกละเลยและมอง ข้ามจากกลุ่มนักออกแบบสมัยปัจจุบันและไม่ค่อยเอ่ยถึงกันนัก
ส่วนงานสถาปัตยแบบยิ่งใหญ่นั้น คือ สถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมของแต่ละชุมชนเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ และแสดงศักยภาพของการก่อสร้างของสังคมแต่ละสังคมเป็นประดุจดั่งสิ่ง แสดงถึงหลักชัยของความก้าวหน้า (Milestone) ทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาค ตัวสถาปัตยกรรมมักเป็นอาคารที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยของแต่ละประเทศ เช่น พีรามิด อียิปต์ โคโรเซียมของโรมัน วิหารเซนต์บีเตอร์ ที่นครวาติกันหรือวัดพระแก้วของไทย เป็นต้น ตัวสถาปัตยกรรมมักเป็นที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไป
และผู้รู้ทางสถาปัตยกรรมบางท่านยังแบ่งประเภทสถาปัตยกรรมออกเป็นหลายประเภทหลายระดับ คือ
สถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Vernacular Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Spiritual Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Monumental Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Utilitarian Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture ได้แก่ สถาปัตยกรรมประเภทอาคารพักอาศัยของชาวบ้านทั่วๆ ไป ในแต่ละท้องถิ่นที่ได้พัฒนารูปแบบ จนมีลักษณะเฉพาะตัว แม้ว่ากลุ่มชนนั้นๆ จะอพยพโยกย้ายไปอาศัยในแดนอื่นๆ แต่ก็ยังสร้างอาคารในรูปแบบเดิมที่ตนคุ้นเคย โดยไม่ได้ดัดแปลงรูปแบบให้สอดคล้องกับภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอาคารแสดงให้เห็นฝีมือในการตกแต่งแบบง่ายๆ ของชาวบ้าน
สถาปัตยกรรมประเภท Vernacular Architecture ได้แก่ อาคารที่พัฒนารูปแบบจาก Folk Architecture แต่รูปแบบของอาคาร ย่อมมีการพัฒนาต่อไปให้เหมาะสมกับสภาพท้องที่และดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
Spiritual Architecture คือ อาคารที่ออกแบบเพื่อผลทางจิตใจของมนุษย์ (อาคารทางศาสนา) อาคารที่สร้าง เพื่อสิ่งเคารพนับถือของชุมชน ตัวอาคารแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ที่สูงกว่าอาการทั่วไป อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ดีที่สุดและเป็นอาคารที่คนทั่วไปชื่นชม สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถรวบยอดของช่างในแต่ละท้องถิ่น
ส่วนอาคารประเภท Monumental Architecture- คือ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นให้มั่นคง และถาวรเป็นพิเศษกว่าอาคารประเภท Folk. Architecture และ Vernacular
อาคารมักมีรูปทรงที่เป็นแท่งก้อน เป็นอาคารซึ่งแต่เดิมสร้างเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่คนตายหรือผู้ที่จากใป
Utilitarian Architecture ได้แก่ สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบให้สนองกับประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอย่างนอกเหนือจากอาคารทางศาสนา อาคารบ้านพักอาศัย หรืออาคารประเภทอนุสาวรีย์
สรุปความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านจึงได้แก่ สถาปัตยกรรมประเภท Achetypes หรือสถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture และ Vernacular Architecture นั่นเอง และเรือนลานนา ตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงเรือนพักอาศัยที่มีขนาดใหญ่โตที่สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางประเพณีนิยมอันมีลักษณะเฉพาะตัวนั้นจึงจัดอยู่ในสถาปัตยกรรมพื้นบ้านได้ทั้งสิ้น
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

เจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯ

ศรีศักร  วัลลิโภดม จาก “สยามใหม่” รายสัปดาห์

ฉบับที่ ๒๘๘  ๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔

เมื่อคราวที่แล้วพูดถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง คราวนี้เลยอดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรบ้าง เพราะถ้าว่ากันตามความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์นั้น เจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรเกิดขึ้นก่อนของพ่อขุนรามคำแหง

คือเกิดขึ้นเพราะรัชกาลที่หก โปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตและเจ้าบ้านผ่านเมืองในสมัยนั้น เที่ยวสอบค้นกันจนได้พบพระเจดีย์ที่น่าจะเป็นพระเจดีย์ที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สร้างขึ้น ส่วนเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานขึ้น

ผลที่ตามมาก็คือเจดีย์ทั้งสองได้กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะ ที่คนในปัจจุบันเชื่อถือว่าเกิดขึ้นจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ไป และแถมยังมีผลไปถึงความเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและของคนทั้งชาติในส่วนรวมด้วย

ในเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรนี้ ก็เช่นเดียวกันกับเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง ข้าพเจ้ายังตระหนักในคุณค่าของความสำคัญที่มีต่อความเป็นปึกแผ่นทางสังคมของท้องถิ่นและของชาติ ไม่ได้มีเจตนาที่จะคัดค้านว่าไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง แต่ในที่นี้เพียงนำมาเสนอเป็นแง่คิดในเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

ข้าพเจ้าใคร่นำความคิดในเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างโดด ๆ มาพิจารณาอีกว่ามีอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยในกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ เพราะความเห็นของผู้ที่พบเจดีย์องค์นี้ ระบุว่าพบเจดีย์เพียงองค์เดียวโดด ๆ ร้างอยู่กลางป่าจึงเข้ากันได้ดีกับความคิด ในการสร้างอนุสาวรีย์ที่คนไทยในสมัย รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ได้อิทธิพลมาจากความคิดของคนทางตะวันตก

ทีนี้มาถึงเรื่องที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารบ้างว่าทำไมถึงมีการกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ขึ้นหลังเมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ชัยชนะแล้ว ประการแรกต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า พงศาวดารคือเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่มีผู้เขียนขึ้น จึงมีทั้งข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และการตีความตลอดจนการสอดแทรกความคิดเห็นเพิ่มเติมเสริมขึ้นของผู้ที่เขียนพงศาวดารนั้นขึ้น จะมีมากน้อยหรือพิลึกกึกกือแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของผู้เขียนเอง

เพราะฉะนั้น การที่จะอ้างพงศาวดารในการศึกษาทาง ประวัติศาสตร์จึงต้องมีการตรวจสอบเข้าไปถึงใครเป็นผู้เขียนขึ้นและเขียนขึ้นเมื่อใด

นับว่าโชคดีหน่อยที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีหลายฉบับ จึงพอเปรียบเทียบและประเมินหาข้อเท็จจริงได้ดีพอสมควร ก็พอสรุปการประเมินหาข้อเท็จจริงได้ว่า พงศาวดารฉบับที่น่าเชื่อถือได้ คือฉบับหลวงประเสริฐฯ ซึ่งเป็นการนำเอาจดหมายเหตุของโหรที่บันทึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมาเรียบเรียงขึ้นนั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่สมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชา มีการบอกแต่เพียงว่ามีการรบเกิดขึ้นและสมเด็จพระนเรศวรทรงชนะพระมหาอุปราชา

ส่วนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์สวมพระศพของพระมหาอุปราชานั้น เป็นฉบับที่พวกนักปราชญ์ที่เคยบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเขียนขึ้นพวกนี้มีความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ได้ดีเช่น อินเดีย ลังกา พม่าและมอญ เป็นต้น

โดยเฉพาะลังกานั้นถือได้ว่า ทุกคนจะต้องมีความรู้เป็นอย่างดี โดยเหตุนี้จึงมักอ้างถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนาในลังกามาเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการชนช้างของสมเด็จพระนเรศวรเปรียบเทียบกับการชนช้างที่เกิดขึ้นในลังกาทุษฎะคามณี กับ พระยาเอฬาระทมิฬ

สมเด็จพระนเรศวรนั้นเปรียบเทียบได้กับพระเจ้าทุษฎะคามณี  ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวลังกาและทรงเป็นผู้ที่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนพระมหาอุปราชาคงเปรียบได้กับพระยาเอฬาระทมิฬ ซึ่งเป็นผู้ที่ย่ำยีพระพุทธศาสนา

ในพงศาวดารลังกามีอยู่ว่าเมื่อพระเจ้าทุษฎะคามณี ทรงชนช้างชนะโดยฟันพระยาเอฬาระทมิฬตายแล้ว ก็โปรดให้สร้างเจดีย์สวมพระศพของพระยาเอฬาระทมิฬไว้เป็นที่ระลึก

ตรงนี้แหละที่ผู้เขียนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้นำมาต่อเติมให้เป็นเรื่องการสร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาขึ้น

อย่างไรก็ตามการสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็น การทำบุญ อันเนื่องจากการสงคราม ก็มีในสมัยอยุธยาเหมือนกันแต่เป็นการสร้างวัด ไม่ใช่เจดีย์โดด ๆ แบบการสร้างอนุสาวรีย์และยิ่งกว่านั้นไม่จำกัดอยู่เฉพาะเมื่อตอนได้ชัยชนะเท่านั้น ถึงแพ้ก็ยังสร้าง เช่นในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิคราวเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยก็ได้มีการสร้างวัดสวนหลวงสบสวรรค์ขึ้นในที่พระราชทานเพลิง และสร้างพระสถูปบรรจุพระอัฐิ

ก่อนหน้ารัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นไปในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง(เจ้าสามพระยา)ก็ได้มีการสร้างพระเจดีย์ บรรจุอิฐของเจ้าอ้ายและเจ้ายี่ที่สิ้นพระชนม์ ในการชนช้างแย่งราชสมบัติกรุงศรีอยุธยากัน

แต่พระเจดีย์ที่ว่านี้ก็สร้างขึ้นเป็นวัด ซึ่งในสมัยนั้นคงรวมอยู่ในเขตวัดราชบูรณะที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงสร้างอุทิศให้แก่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งเป็นพระราชบิดา

สถานที่ในอดีต

คลองบางลำภูคือคลองอะไร?

สาเหตุที่จะเขียนเรื่องนี้ก็เพราะได้อ่านจดหมายเหตุฉบับหนึ่ง บอกว่าคลองบางลำภูมีวัด ๕ วัด นอกกำแพงเมือง ๓ วัด ในกำแพงเมือง ๒ วัด

นอกกำแพงคือ วัดสังเวชฯ, วัดตรีทศเทพ, วัดปรินายก

ในกำแพงคือ วัดรังษีสุทธาวาส,วัดบวรนิเวศฯ,

ก็เลยทำให้สงสัยว่า คลองบางลำภูนั้นมีอยู่แค่ไหน?

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ตอนรัชกาลที่ ๑ กล่าวไว้ว่า

“ในจุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบ็ญจศก (พ.ศ.๒๓๒๖) โปรดให้ตั้งกองสักเลขไพร่หลวงสมกำลังและเลขหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้อกำแพงกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระราชบวรสถานมงคลในปีนั้น โปรดให้รื้อป้อมวิชชเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีข้างฟากตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คนเข้ามาขุดคลองคูพระนคร ด้านตะวันออกตั้งแต่บางลำภูตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อ คลองรอบกรุง”

สรุปแล้วคลองที่เราเรียกกันว่าคลองบางลำภู ก็ดี คลองผ่านฟ้า ก็ดี คลองสะพานหัน ก็ดี และคลองโอ่งอ่างก็ดี ชื่อที่แท้ของมันก็คือ คลองรอบกรุง แต่คนมักเรียกชื่อตามถิ่นที่คลองผ่านไปเป็นตอน ๆ เหมือนอย่างแม่น้ำท่าจีน ตอนที่ผ่านนครชัยศรีคนก็เรียกแม่น้ำนครชัยศรี

นี่ก็เช่นกัน ตอนปากคลองด้านเหนือผ่านบางลำภูคนก็เรียกคลองบางลำภู ตอนกลางผ่านสะพานหัน คนก็เรียกตรงนั้นว่าคลองสะพานหัน ส่วนปลายคลองด้านใต้นั้นแต่เดิมจะเรียกว่าคลองวัดสามปลื้มหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ถ้าจะเรียกกันเช่นนั้นน่าจะเรียก “คลองวัดเชิงเลน” มากกว่า เพราะวัดเชิงเลนอยู่ริมคลองกว่า และปากคลองกว่า แต่ที่มาเรียกกันว่า “คลองโอ่งอ่าง” นั้นก็เป็นเพราะเรือโอ่งอ่างจากปากเกร็ดมาจอดค้างอ้างแรมขายโอ่งอ่างกันเป็นประจำ และก็แน่นขนัดจนไป-มาไม่ค่อยสะดวก

เรื่องนี้พอจะมีหลักฐานเอกสารสนับสนุน ในนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่

“เชิงเลนเป็นตลาดสล้าง       หลักเรือ

โอ่งอ่างบางอิฐเกลือ                    เกลื่อนกลุ้ม

หลีกร่องช่องเล็กเหลือ                 ลำบาก ยากแฮ

ออกแม่น้ำย่ำกุ้ม                         ถี่ฆ้องสองยาม”

ถ้าคลองบางลำภูมีแค่ผ่านฟ้าละก็ ๕ วัแน่ แต่ถ้าตลอดไปจนออกแม่น้ำต้นใต้ละก็ ๑๑ วัด คือต่อจากที่กล่าวแล้วก็มีวัดราชนัดดา วัดเทพธิดา วัดสระเกศ วัดสามปลื้ม วัดเชิงเลน

ถ้าจะคิดอย่างปัจจุบันก็ ๑๐ วัด เพราะวัดรังษีสุทธาวาสกับวัดบวรรวมกันเสียแล้วแต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๘๕)

วัดเชิงเลนคือวัดอะไร?

ถ้าเราดูจากพงศาวดาร จะเห็นว่าไม่ได้กล่าวถึงวัดเชิงเลนเลย ทั้ง ๆ ที่คลองนี้ขุดผ่านหน้าวัดนี้มา วัดสามปลื้ม ซึ่งอยู่ในเข้าไปเสียอีก กลับถูกกล่าวถึง ถ้าเราจะเชื่อแต่พงศาวดารวัดนี้ก็ยังมีอยู่ หลักฐานโบราณวัตถุย่อมเชื่อถือได้หนักแน่นกว่าเอกสาร

วัดนี้เป็นวัดเก่า เมื่อรัชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่แล้วพระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามใหม่ว่า “บพิตรพิมุข” มาสมัยรัชกาลที่ ๕ คงจะได้ปฏิสังขรณ์อีกบ้าง จึงได้เสด็จประพาส พลับพลารับเสด็จซึ่งสร้างโดยพระราชทรัพย์ก็ยังอยู่ และอยู่ริมคลองนี้ด้วย น่าที่กรมศิลปากรจะได้ไปเหลียวแลดูบ้าง เพราะเป็นหลักฐานของการเริ่มยุคสมัยสถาปัตย์แบบใหม่ของไทย เป็นพลับพลาโถง แต่ถ้าต้องการให้ทึบก็กางมานเฟี้ยมออกมาเป็นฝาได้ ท่อนล่างเป็นลูกกรงลายฉลุ ระบายชายคาก็ฉลุด้วยฝีมืออย่างวิจิตร ทั้งฝาและพื้นประกอบด้วยไม้สักทั้งสิ้น จึงได้อยู่ยงคงทนมาจนบัดนี้

เว้นแต่หลังคาเท่านั้น ที่เริ่มพังไปบ้างแล้ว แต่ตราประจำรัชกาลที่หน้าจั่วนั้นยังสมบูรณ์

พลับพลาหลังนี้เมื่อเสร็จสิ้นการประพาสแล้วก็คงจะปิดไว้เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร เพราะเป็นของหลวงยากที่ใครจะอาจเอื้อมข้องแวะ

จนต่อมาเมื่อสมัยเริ่มการศึกษาแผนใหม่ได้ใช้เป็นโรงเรียนมัธยม

แต่ต่อมาการศึกษาขยายตัว นักเรียนมากขึ้นก็ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ เมื่อย้ายไปอยู่อาคารใหม่ที่เก่านี้ก็คงจะถูกปิดไว้อย่างเดิม

ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของพระ แต่จะจำพรรษาหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะได้ถูกกันออกมาอยู่กำแพงวัดเสียแล้ว และสองข้างก็ถูกขนาบด้วยตึกแถว

ปัจจุบันพลับพลาหลังนี้คงจะเป็นหนามยอกอกของวัด เพราะจะซ่อมก็ไม่มีเงิน และก็จะใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่าย่อมจะรื้อจะขายก็ไม่ได้ เพราะเป็นของหลวง ก็เลยปล่อยให้พังไปเองตามสภาพ ช่างไม่มีใครเห็นคุณค่าของโบราณสถานเสียเลย หรือจะเห็นว่าของสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่เก่า

ถ้าจะว่าในทางฝีมือช่างแล้วยังวิจิตรกว่าโรงกษาปณ์ที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเสียอีก น่าสงสาร

คำ “เชิง” แปลว่า ตีน

“เชิงสะพาน” ก็ตีนสะพาน

“เชิงเลน” ก็คือตีนเลน

วัดนี้แต่เดิมคงจะอยู่ริมแม่น้ำและหันหน้าลงแม่น้ำด้วย (เพราะแม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม) แล้วดินหน้าวัดคงจะงอกออกไป เวลาน้ำลงจึงเป็นหาดเลนไปไกล ชาวบ้านจึงเรียก “วัดเชิงเลน” แล้วภายหลังมาขุดคลองรอบกรุงผ่านข้างวัด ก็จึงหันหน้าลงคลองอีกแห่ง ศาลาท่าน้ำด้านในคลองคงจะถูกรื้อไปเพราะทำถนนเลียบคลอง จึงเหลือแต่พลับพลาซึ่งอยู่ในเข้ามาหน่อย หน้าวัดด้านริมแม่น้ำก็ถูกเฉือนทำถนนเสียอีกวัดจึงเลยอยู่ในเข้ามา

คลองหลอดอยู่ที่ไหน?

ถ้าเราดูพงศาวดารต่อมาอีกหน่อยจะพบว่า

“แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม ๒ คลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่”

คลองรอบกรุงเราก็ทราบกันแล้วคือคลองบางลำภู หรือคลองผ่านฟ้า หรือคลองสะดานหัน หรือคลองโอ่งอ่างดังที่กล่าวแล้ว

แล้วท่านก็ขุด คลองหลอด จากคลองคูเมืองเดิม ๒ คลอง

คลองหลอด ๒ คลองที่ท่านขุดก็คือ ตรงหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์(ข้างวัดสิริอำมาตย์) ไปทะลุระหว่างวัดเทพธิดากับวัดราชนัดดาไปลงคลองรอบกรุงตรงข้างป้อมมหากาฬคลองหนึ่ง และตรงข้างวัดราชบพิตร ระหว่างโรงหนังศรีอยุธยาไปสะพานถ่าน ไปกทม. ปัจจุบันผ่านคุกลหุโทษไปลงคลองรอบกรุงตรงสามยอด

นี่คือ “คลองหลอด”

แต่ปัจจุบันเรามาเรียกคลองคูเมืองเดิมว่าคลองหลอดกัน

ถ้าเช่นนนั้นคลองคูเมืองเดิมชื่ออะไรเล่า

ไม่ปรากฎว่ามีชื่อตั้ง มีแต่ชื่อที่เรียกกันเองตามสัญญลักษณ์ที่เห็นเช่นเรียก “คลองท่าโรงโม่” บ้าง “คลองตลาด” บ้าง

ที่เรียกคลองท่าโรงโม่ เพราะมีโรงโม่แป้งอยู่ปากคลอง และมีท่าเรือข้ามฟากอยู่ข้างโรงโม่ด้วย

ที่เรียกคลองตลาด เพราะมีตลาดอยู่ในคลอง คือตลาดลอยเรือ หรือที่เรียกกันว่า “ตลาดท้องน้ำ” คือลอยเรืองซื้อขายกันในท้องน้ำ ตั้งแต่สะพานมอญจนหลามออกไปปากคลอง

ชื่อนี้มีในจดหมายเหตุสองแห่งคือนิราศถลางของนายมีหมื่นพรหมฯ

“ครั้นเสด็จคำร่ำฝากออกจากท่า

จวนเวลารุ่งรางสว่างไสว

ได้ฤกษ์งามยามพฤหัสกำจัดภัย

ก็ล่วงไปจากท่าหน้าวัดโพธิ์

ถึงตลาดท้องน้ำระกำหวล”

นี่ ถัดจากวัดโพธิ์มาก็มาถึงตลาดท้องน้ำ ตลาดที่ติดในน้ำเขาเรียก “ตลาดท้องน้ำ” นะครับ ไม่ใช่ “ตลาดน้ำอย่างปัจจุบัน ฟังดูเหมือนตลาดขายน้ำ

ปัจจุบันโครงสร้างทางภาษาของเราเปลี่ยนไป คือภาษาของเราเองไปแปลเป็นภาษาฝรั้งเพื่อนำฝรั่งเที่ยวแล้วเราก็แปลจากภาษาฝรั่งกลับมาเป็นไทยอีกที มันก็ได้ภาษาอย่างนี้แหละครับ ยัง “แม่น้ำแคว” อีกคำ

อีกแห่งก็จดหมายเหตุความทรงจำของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าไว้ว่า

“การก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้น เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาด ตอนระหว่างสะพานช้าง โรงสีกับสะพานมอญ…”

เห็นไหมละครับ ว่าคนชั้นหลังเรานี่ เข้าใจผิด เรียก “คลองตลาด” เป็น “คลองหลอด” แต่ชื่อที่ถูกยังเหลืออยู่ก็มี คือ ปากคลองนี้เรายังเรียก “ปากคลองตลาด” กันอยู่ ก็บริเวณปากคลองตลาดปัจจุบันนี้ไงและปัจจุบันก็เป็นตลาดไปเสียด้วย แต่แต่ก่อนนี้ไม่ได้เป็นตลาดหรอก ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเป็นตลาดนี้เป็นโรงเรียนอำนวยศิลป์

บ้านหม้อสะพานมอญ

เห็นจะไม่ต้องเล่ากระมังครับว่าทำไมทั้งสองแห่งนี้จึงได้ชื่ออย่างนั้น

อี่นี่ผมได้ความรู้จากคนรถราง ขณะขึ้นรถรางทีเดียว คนรถรางหนุ่มกับคนรถรางแก่เขาคุยกัน พอรถรางถึงตรงนี้คนหนุ่มก็ถาม

ก็คงจะถามเรื่อยเปื่อยไปยังงั้นละไม่ได้หวังคำตอบอะไร แต่เผอิญถูกคนแก่ที่แกรู้เข้า แกก็ตอบ

“ก็เรือมอญขายหม้อพากันมาจอดตรงนี้นะซี”

เท่านี้ก็คงจะหลับตาเห็นภาพ ก็เหมือนกับเรือโอ่งอ่างในคลองโอ่งอ่างแหละครับ เป็นธรรมดาของตลาดเมื่อขายอะไรก็ขายกันเป็นพืดเป็นแถบไป บรรดาหม้อนอกจากในเรือข้างตลิ่งแล้ว ร้านค้าข้างบนก็คงจะกองเป็นพืดเป็นแถวไป บริเวณตรงนั้นจึงเรียกบ้านหม้อ และ สะพานมอญ

พูดถึง “บ้านหม้อ” ทำให้ผมนึกถึง “บ้านดอกไม้” เมื่อคราวที่มีงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” เมื่อปีที่แล้วที่สวนอัมพรเห็นจัดให้มีบ้านอะไรต่ออะไร บ้านขายเหล้า บ้านดนตรี บ้านดอกไม้ บ้านใบตอง ฯลฯ

บ้านใบตองก็ประดิษฐ์เครื่องใบตอง บ้านดอกไม้ก็ประดิษฐ์ดอกไม้ ซึ่งใช้ดอกไม้จริง ๆ

ก็ไม่ได้ผิดคิดร้ายอะไรหรอกครับ แต่อยากจะเรียนให้ทราบว่า บ้านดอกไม้ ที่คู่กับ บ้านบาตร หลังวัดสระเกศนั้นไม่ใช่เขาทำดอกไม้แบบนี้นะครับ เป็น ดอกไม้ไฟ สำหรับจุดเวลามีงานศพหรือเทศกาลลอยกระทงเดือนสิบสอง

สะพานหก

ถัดจากสะพานมอญมาก็สะพานหก คือตรงหน้าวัดราชประดิษฐกับหน้าสุสานวัดราชบพิธมุมกระทรวงมหาดไทย

ม.จ.วิเศษศักดิ์  ชยางกูร เคยทรงเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านเป็นนักเขียนเคยข้ามเป็นไม้แผ่นเดียว มีลูกปืนใหญ่มัดลวดถ่วงอยู่ฝั่งข้างนี้ (ฝั่งวัดราชประดิษฐ์) เวลาเรือมาก็เอาเท้าเหยียบให้กระดกเพื่อให้เรือผ่าน

แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็ดกลับจากสิงคโปร์ได้มาทรงสร้างสะพานหกเพื่อให้รถข้ามคลองเหมือนอย่างที่ปัตตาเวีย ก็คงจะสร้างทับสะพานไม้เดิมนี่กระมัง แต่ปัจจุบันดูแล้วไม่มีร่องรอยว่าจะเป็นสะพานรถข้ามเลยเพราะแคบ

ตรงตีนสะพานหกฝั่งวัดราชประดิษฐ์ ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์อยู่แห่งหนึ่ง เป็นรูปหมู ได้ยินว่าเกิดขึ้นเพราะบรรดาข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ด้วยความระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ได้พากันมาบำเพ็ญทักษิณานุปทานอุทิศส่วนกุศลถวายท่านที่วัดราชประดิษฐ์ เมื่อทำบุญกันเสร็จแล้วเงินยังเหลืออยู่ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยทำอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึก

และเนื่องจากท่านประสูตรปีกุนก็เลยทำเป็นรูปหมู

วันประสูติของท่านคือวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑ ปีกุน จ.ศ.๑๒๒๕ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๖๒

องค์นี้แหละครับที่ประทานนามให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

และก็องค์นี้แหละครับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อครั้งยังเป็นทารกได้เต้นอยู่ในวงพระพาหา(แขน) เมื่อครั้งท่านเสด็จตรวจราชการที่พิษณุโลก หาใช่สมเด็จพระศรีนครินทร์ไม่

สะพานช้างโรงสี

ถัดจากสะพานหกมา ก็สะพานช้างโรงสี ตรงมุมระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกรมแผนที่เก่า ทอดข้ามไปสี่กั๊กเสาชิงช้า ที่เรียก “สะพานช้าง” เพราะเป็นสะพานสำหรับช้างข้าม

แต่ก่อนช้างเป็นพาหนะสำคัญจะไปไหนก็ต้องนึกถึงช้างเสมอ เพราะขบวนต่าง ๆ ประกอบด้วยช้าง ไปรบก็ช้าง สะพานไม้แผ่นเดียวนั้นคนข้ามได้แต่ช้างข้ามไม่ได้ จึงต้องสร้างสะพานสำหรับช้าง และฝั่งตรงข้ามคือฝั่งกระทรวงมหาดไทยนั้น แต่ก่อนมีโรงสีเลยเรียก “สะพานช้างโรงสี”

สะพานสำหรับช้างข้ามนี้ เมื่อครั้งสร้างกำแพงพระนครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระอนุชาธิราชได้เลยทรงพระราชดำริที่จะทำตรงใต้ปากคลองมหานาค เพื่อข้ามคลองรอบกรุงเหมือนกัน แต่พระพิมลธรรมวัดโพธิ์ได้ถวายพระพรว่า ไม่มีอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อนและหากเกิดสงครามขึ้นแล้ว ข้าศึกจะเข้าถึงพระนครได้ง่าย

อนึ่งแม้มีการอะไรขึ้น จะแห่กระบวนเรือรอบพระนครก็ไม่ได้ ก็ทรงเห็นด้วย จึงไม่ได้สร้าง แต่คลองตลาดนี้เป็นคลองในพระนคร จึงได้สร้าง

สะพานรถราง

ถัดสะพานช้างโรงสีมาหลังกลาโหมตรงนี้แต่เดิมเป็นสะพานรถรางมีบางท่านบอกว่าแต่เดิมเป็นสะพานไม้และหกได้ สงสัยจะมีการเข้าใจผิดแบบคลองตลาด เป็นคลองหลอดเสียละกระมัง

สะพานรถรางหกได้ก็เหลือเชื่ออยู่แล้ว แล้วยังแถมเป็นไม้เสียอีก รถรางคันหนึ่งไม่ใช่เบา ๆ อย่างรถยนต์นะครับ

ผมเองก็นั่งรถรางมา ๓๐ กว่าปี ยังไม่เคยเห็นสะพานรถรางตรงนี้หกได้ ถ้าใครไปพินิจดู จะเห็นว่าไม่มีทางจะหกได้เลย เพราะสะพานรถรางไม่ใช่สะพานข้ามไปตรง ๆ แต่เป็นสะพานเอื้ยง ๆ แบบฝานบวบ รถรางไม่ใช่คันสั้น ๆ อย่างรถยนต์ จะได้หักเลี้ยวได้ง่าย

สุดท้ายนี้ผมขอจบบทความนี้ด้วยเพลงฉลองกรุงที่ว่า “โอ้ว่ารัตนโกสินทร์ เมืองอินทร์ เมืองแก้วแพรวสี…”

ถ้าคำว่า “โกสินทร์” แปลว่าพระอินทร์ได้ คำว่า “นาคินทร์” และ “หัสดินทร์” ก็เห็นจะแปลว่า พระอินทร์ได้

ผมได้สองคำนี้มาจากสมุทโฆษคำฉันทร์ครับ ความเต็มเขามีว่า “เลิศล้านศุภลักษณ์นาคินทร์ สิบหมู่พัสดินทร์อุทิศวงศ์ไกวัล”

ก็ลองแปลดูเถอะครับว่าเขาเอาคำ “อินทร์” มาเข้าสนธิในฐานะอะไร

หอไตรวัดระฆัง ฯ “เรือนสามหอ” ของ รัชกาลที่ ๑

วัดระฆังโฆสิตาราม แต่เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร

พุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงครองราชย์แล้ว ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

พุทธศักราช ๒๓๑๒ มีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าข้าศึก มีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎก จากนครศรีธรรมราช พร้อมกันนั้นได้อาราธนาพระอาจารย์สีขึ้นมาด้วย

เดิมพระอาจารย์สีอยู่วัดพนัญเชิงอยุธยา เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสนาธุระ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ท่านหลบลงไปอยู่นครศรีธรรมราช

เมื่อพระอาจารย์สีมาอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่แล้ว จึงทรงสถาปนาพระอาจารย์สี ขึ้นเป็นสมเด็ดพระสังฆราชแล้วให้ประชุมพระเถรานุเถระทำสังคยานาพระไตรปิฎก

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา มีพระชนมายุได้ ๓๓ พรรษา ทรงย้ายบ้านมาจากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อรับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังคามุงจาก ฝาสำหรวดกั้นด้วยกระแซง มาปลูกถวายวัดบางหว้าใหญ่

หอพระไตรปิฎก

อีก ๑๔ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในพ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ได้ทรงปรารภถึงพระตำหนัก และหอประทับนั่งหลังนั้น ทรงใคร่จะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น และมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอพระไตรปิฎก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงทราบมาว่าขุดได้ในวัดและมีเสียงไพเราะนัก ก็ได้ความว่าขุดได้ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ จึงรับสั่งให้ขุดสระลงในที่นั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรื่องอิฐก่อกรุไม้กั้นโดยรอบเพื่อกันทลาย แล้วรื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้อง ชายคามีกระเบื้องกระจังดุษรูปเทพประนม เรียงรายเป็นระยะ ๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดและฝากั้นกระแซงเป็นฝาไม้สักลูกปกนกายในเรียบเขียนรูปภาพ บานประตูหอด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางโถง แกะเป็นนกวายุภักษ์ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ มีซุ้มข้างบนเป็นลายกนกดอกไม้เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม

ทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ หลัง ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือและหอด้านใต้ ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้ทรงอำนวนการสร้าง โดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะ นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านกับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา

เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ฯ ให้จัดพระราชพิธีมหกรรมและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงปลูกต้นจันทร์ไว้ในทิศทั้ง ๘ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทรและครูช่างอยุธยา เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอพระไตรปิฎก(แต่มีผู้เรียกว่า “ตำหนักต้นจันทน์” จนทุกวันนี้) กับได้ทรงขอระฆังเสียงดังดีไปไว้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงสร้างระฆังมาพระราชทานแทนไว้ ๕ ลูก

เหตุนี้วัดบางหว้าใหญ่จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดระฆังโฆสิตารามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงบันทึกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับแบบอย่างฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ที่พึงชม หรือควรกำหนดใจรู้ไว้ว่าเฉพาะเรื่องหอพระไตรปิฎก ของวัดระฆังฯ ดังนี้

“….ภายในหอพระไตรปิฎก จำได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีประหลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เป็นหอฝากระดานมุงกระเบื้องสามหลังแฝด มีชานหน้า ปลูกอยู่กลางสระดูเหมือนหนึ่งว่า หลังซ้ายขวาจะเป็นที่ไว้คัมภีร์พระปริยัติธรรม หลังกลางจะเป็นที่บอกหนังสือ หรือดูหนังสือ ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่า มีสิ่งที่ควรชมอยู่หลายอย่าง คือ

๑.  ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนมอย่างกรุงเก่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่ได้

๒. ประตูและซุ้ม  ซึ่งจะเข้าในชาลา สลักลายอย่างเก่า งามประหลาดตาทีเดียว

๓.  ประตูหอกลาง ก็สลักงามอีก ต่างลายกับประตูนอก

๔.  ฝาในหอกลาง เขียนเรื่องรามเกียรติ์ฝีมือพระอาจารย์นาค ผู้เขียนมารประจญในพระวิหารวัดพระเชตุพน ท่วงทีขึงขังนัก

๕.  บานประตูหอขวา เขียนรดน้ำ ลายยกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมากแต่ดูหาสู้ดีไม่

๖.  ฝาในหอขวา เขียนภาพเรื่องเห็นจะเป็นชาดก ฝีมือเรียบ ๆ

๗.  ตู้สำหรับไว้พระไตรปิฎกตั้งอยู่ในหอทั้งซ้ายขวามีมากมายใหญ่จนออกประตูไม่ได้ก็มี เขียนลายรดน้ำหลายฝีมือด้วยกัน แต่ล้วนดี ๆ มีฝีมือ คนที่ผูกลายบานมุกด์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็หลายใบ ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั่นแล้วจะไม่อยากกลับบ้าน

การบูรณะปฏิสังขรณ์

หอพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ เริ่มแต่เสาตอม่อขาด หลังคารั่ว กระเบื้องกระจังหล่นหาย ตัวไม้ผุ ฝาบางกร่อน จนถึงแตกร้าวและทะลุ จิตรกรรมฝาผนังลบเลือน สระตื้นเขินและสกปรก

ความเสื่อมโทรมดังกล่าวนี้เนื่องมาจากขาดการเอาใจใส่ดูแล มิหนำซ้ำถึงกับใช้เป็นที่เก็บศพก็เคย

ต่อมายังมีการสร้างกุฏีและอาคารอื่น ๆ อันเนื่องในการฌาปนกิจศพจนประชิด ทำให้บริเวณหอพระไตรปิฎกขาดความสง่างาม หากปล่อยไว้ในสภาพเช่นนี้ต่อไปก็เป็นที่น่าวิตกว่าจะถึงจุดที่จะสูญเสียจิตรกรรมฝาผนังอันมีค่าอย่างไม่อาจจะเอากลับคืนมาได้อีก

กรมศิลปากร  ได้พยายามที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ก็ยังหางบประมาณไม่ได้

ทางวัดเรี่ยไรมาได้ก็ไม่พอแก่การ ทั้งยังต้องการผู้รู้ผู้ชำนาญ ทั้งทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และอื่นๆ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ถูกต้องตามหลักวิชา

ด้วยเหตุนี้ พระราชธรรมภาณี ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงมีลิขิตลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๑ มายังสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ขอให้คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมให้ความร่วมมือกับทางวัดในการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตปิฎก เพื่อให้เป็นศิลปสถานอันงามเด่นสืบไป

คณะกรรมาธิการฯ รับสนองคำของของวัดด้วยความยินดี และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ หลายท่านมาร่วมกันตั้งเป็นคณะอนุกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกขึ้นเมื่อวันที่  ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๑ โดยทูลเชิญศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ทรงเป็นประธาน

คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม  ๒๕๑๑ ที่วัดระฆังฯ แล้วได้เริ่มเตรียมงานและจัดหาทุนสะสมไว้จนถึงได้ทำสัญญาบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ และการบูรณะได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๓

คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปสถานอาคารไม้หลังสำคัญที่สุดอันเนื่องด้วยพระบรมราชบรรพบุรุษนี้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณา “ชมเชย” การกระทำทั้งนี้ว่า “เป็นความดำริชอบ” ทั้งยังพระราชทานพรให้การกระทำของพวกเรา “จงได้ดำเนินให้สำเร็จลุล่วงเป็นผลดีทุกสถานต่อไป” (ตามหนังสือ ของสำนักราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๑๒๐๙ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๒

ใช่แต่เท่านั้นยังพระราชทานเงินก้นถุงมาให้เป็นประเดิมสำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกด้วย นับเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วลงมติว่าสถานที่ใหม่ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับชลอหอพระไตรปิฎกไปประกอบขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณลานพระอุโบสถในเขตพุทธาวาส ทางด้านตะวันตก ซึ่งมีกำแพงรั้วโดยรอบ สะดวกแก่การดูแลรักษา

อนึ่ง หอพระไตรปิฎกที่บูรณะขึ้นใหม่นี้มิได้มุ่งหมายที่จะใช้เป็นหอพระไตรปิฎก คงบูรณะไว้เป็นอาคารสำคัญทางศิลปะและประวัติศาสตร์เท่านั้น

ครั้นวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อจำลองรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ณ วัดระฆังฯ

เมื่อเสร็จการนั้นแล้วพระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาส และศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจฯ ประธานอนุกรรมการฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎก ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปลูกต้นจันทน์ในสนามหญ้า หอพระไตรปิฎกแล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรภายในหอพระไตรปิฎกด้วยความสนพระทัยราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระกระแสรับสั่งไถ่ถามและแนะนำเป็นหลายประการ

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการ ฯ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้า หาที่สุดมิได้ ทั้งยังรู้สึกเสมือนว่าได้นิมิตรเห็นสายใยทิพย์อันเรืองรองแห่งกาลเวลาซึ่งเชื่อมโยงและย้อนหลังนับด้วยศตวรรษกลับไปยังรัชกาลที่ ๑ คือพระบรมปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีผู้ทรงพระราชทานเรือนสามหอ ซึ่งมีอายุเท่ากับกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์นั้นด้วย

นับเป็นมหามงคลเป็นมิ่งขวัญก่อให้เกิดความอิ่มเอมและปิติโสมนัสในดวงจิตของผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันมหามงคลนั้นทั่วหน้ากัน

 

ที่มา :
มสรศิลปวัฒนธรรม
สุจิตต์  วงษ์เทศ

เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

เจดีย์อีกองค์ที่มีประวัติเนื่องจากความเชื่อ เกี่ยวกันถึงการมีชัยชนะครั้งนี้ของสมเด็จพระนเรศวร  คือเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา เชื่อกันว่า เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนั้นของพระองค์

ความเชื่อเรื่องนี้ยิ่งเลื่อนลอยเสียยิ่งกว่าเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีเสียอีก  เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดแม้เพียงชิ้นเดียวที่จะแสดงว่าสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเนื่องในชัยชนะดังกล่าว

ที่มาของความเชื่อเรื่องนี้ เพิ่งเกิดขึ้นภายในไม่กี่สิบปีมานี้เอง  เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี” ในตอนที่สอบค้นหาเจดีย์ยุทธหัตถีและวัดป่าแก้วที่พระวนรัตน์จำพรรษา

ความจริงเรื่องในหนังสือมหาวงศ์ มิใช่เป็นเอกสารที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะไม่รู้จัก ตรงกันข้าม ทรงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงนำเอาพระนามของกษัตริย์ลังกาบางพระองค์  มาใช้เป็นมงคลนามในชีวิตส่วนพระองค์ในบางโอกาสด้วย แต่แทนที่จะทรงวิเคราะห์ว่า ผู้เรียบเรียงพระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพลจากหนังสือมหาวงศ์  จึงนำเกร็ดบางตอนในหนังสือดังกล่าวมาตกแต่งเรื่องราวในพระราชพงศาวดารที่เขาเรียบเรียงขึ้น ดังเช่นในกรณีของเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี แต่ทรงกลับไปวิเคราะห์ว่าพระเอกของเรื่องคือสมเด็จพระนเรศวร  น่าจะได้รับข้อเสนอแนะจากพระวนรัตน์วัดป่าแก้วให้ทรงเอาเยี่ยงอย่างพระเจ้ากุฏฐคามณิอภัยในมหาวงศ์  แล้วก็เลยสร้างเรื่องเติมเข้าไปจากเรื่องเดิมให้มากไปอีกว่าพระวนรัตน์ก็คงที่จะได้ถวายคำแนะนำให้สร้างเจดีย์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนั้น  คือเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนั่นเอง  ซึ่งต่อมาเพียงไม่เท่าไร ก็เกิดเป็นความเชื่อขึ้นในหมู่ปวงชนว่าเป็นข้อเท็จจริง  โดยมิได้ตรวจดูที่มาว่า เป็นเพียงความคิดเห็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ภายในเวลาไม่กี่สิบปีมานี่เอง

 

วัดเศวตฉัตร : วัดบางลำภูล่าง

วัดเศวตฉัตร

แต่ก่อนนี้เรียกกันว่า “วัดบางลำภูล่าง” เพราะที่แถวนั้นมันเป็นบางลำภูล่าง ที่มีคำ “ล่าง” เพราะมันเกิดมีสองลำภู และลำภูนี้มันอยู่ตอนล่างของแม่น้ำ  จึงเรียกว่า บางลำภูล่าง

ส่วนบางลำภูบนนั้นก็คือ บางลำภูวัดบวรฯ  ซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำ และ “วัดบางลำภูบน” นั้นก็คือ วัดสังเวชฯ

ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ก่อนนี้เต็มไปด้วยต้นลำภูทั้งนั้น  เวลากลางคืนละก็สว่างวับไปด้วยแสงหิ่งห้อย  แต่ตรงบางลำภูสองบางนี้หนาแน่นกว่าที่อื่นจึงตั้งเป็นชื่อบาง ดังปรากฎในนิราศทวารวดีของนายฤกษ์

“ออกคลองบางลำภูดูวะวับ

หิ่งห้อยจับพฤกษ์แจ่มแอร่มหาว

เหมือนแหวนเพ็ชรเม็ดพร่างสว่างพราว

ของเจ้าสาวแน่งน้อยสอดก้อยกร”

ลำภู  เป็นคำสองคำผสมกันคือ “ลำ” กับ “ภู”

อะไรที่มันเป็นแท่งหรือท่อน ยาว ๆ กลม ๆ เราเรียก ลำ เช่น ลำไม้ไผ่ ลำแขน

ภู  ก็คือ อะไรที่ปูด ๆ หนูด ๆ ขึ้นมาสูงกว่าที่อื่น อย่างเช่น เขา (ภาคกลางเราเรียกเป็นคำคู่ว่า “ภูเขา”)

ต้นไม้ชนิดนี้มันมีรากผุดขึ้นมาจากดินเหมือนเขา  แต่มันไม่ใหญ่และไม่กว้างอย่างเขา มันเป็นลำเรียว ฉะนั้นเขาจึงเรียกมันว่า “ลำภู”

ถ้าจะดูเอกสารเก่า ๆ ว่า ลำภูหรือ “บางลำภู” เขาเขียนอย่างไร ? ก็จะพบว่าเขาเขียน “ลำภู” อย่างนี้ทั้งนั้น เป็นต้น ทำเนียบนาม ตำนานวังเก่า ตำนานเสนาบดี จดหมายเหตุความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2478

ฉะนั้นใครอย่าได้ไปเปลี่ยน ถ้าจะเปลี่ยนก็จงเปลี่ยนคำ “ภู” ที่ภูเขาเสียด้วย เพราะเป็นคำเดียวกัน

ต้นลำภูนั้นคู่กับหิ่งห้อย  สังเกตดูเถอะ มีต้นลำภูที่ไหนก็มีหิ่งห้อยที่นั่น บางต้นก็มากเสียจนสว่างยังกะไฟเฉลิมเมื่อเวลากลางคืน

มีนิทานเก่าเล่ากันมาว่า เจ้าหนุ่มหิ่งห้อยไปรักลูกสาวต้นลำภู  ต้นลำภูก็บอกว่า  ถ้าถอนลูกสาวข้า (ต้นลำภู) ให้ขึ้นก่อนแล้วข้าจะให้

ฉะนั้นที่เราเห็นต้นลำภูแดงวาบ ๆในเวลากลางคืนนั้นไม่ใช่อะไร  หิ่งห้อยมันกำลังถอนต้นลำภูนั้นเอง  มันออกแรงถอนจนดากแพล็มออกมา  และตราบที่ต้นลำภูยังไม่ขึ้น  มันก็ยังถอนอยู่อย่างนั้น เพราะมันรักลูกสาวเจ้าลำภูอยู่

นี่ก็เป็นเรื่องในอดีตเหมือนกัน จึงรวมมาเข้าชุดไว้ โบราณนั้นเขาอธิบายอะไรไม่ได้เขาก็ต้องเล่าเป็นนิทานแบบนี้ละครับ  แต่สิ่งหนึ่งที่เขารู้แน่ก็คือหิ่งห้อยมันจะต้องอยู่คู่ต้นลำภู มีต้นลำภูแล้วต้องมีหิ่งห้อย

วัดบางลำภูล่างนี้ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1  ท่านสร้างครับ จึงได้นามพระราชทานว่า “เศวตฉัตร” เพราะพระนามเดิมของท่านคือพระองค์เจ้าชายฉัตร

ราชสกุล “ฉัตรกุล” น่ะขึ้นต้นที่พระองค์นี้

ศาลหลักเมือง:ประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมือง

ศาลหลักเมือง


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรับอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ  เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้ว  ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมายังฝั่งตรงข้ามกับกรุงธนบุรี  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี  เป็นแม่กองก่อสร้างพระมหานคร  และพระบรมมหาราชวัง  ได้มีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕  เวลาย่ำรุ่ง ๕๔ นาที

การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีตามตำรา  เรียกว่า  พระราชพิธีนครสถานโดยเฉพาะ  เอาไม้ชัยพฤกษ์มาทำเป็นเสาหลักเมือง  เอาไม้แก่นประดับนอก  กำหนดให้ความสูงของเสาเมื่ออยู่พ้นดินแล้ว ๑๐๘ นิ้ว  ฝังลงไปในดิน ๗๙ นิ้ว  มีเม็ดยอดสวมลงบนยอดหลังคาลงรักปิดทอง  ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงพระชันษา(ชะตา) พระนคร (เมือง)

หลักเมืองในสมัยต้น ๆ ไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างปกคลุมเหมือนอย่างทุกวันนี้  คงเป็นเพียงศาลาปลูกไว้กันแดดกันฝนเท่านั้น  และมีแต่เสาหลักเมืองอย่างเดียว  ไม่มีเทวดาต่าง ๆ เข้ารวมอยู่เหมือนปัจจุบันคงจะปล่อยกันตามบุญตามกรรมไม่ได้ซ่อมแซมหลายรัชกาล  ปรากฎชำรุดมากในสมัยรัชกาลที่ ๔  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่  ประกอบพิธีพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วบรรจุดวงพระชาตาเมืองให้เรียบร้อย  ลงด้วยแผ่นทองคำหนัก ๑ บาท  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ก่อศาลาขึ้นใหม่ให้เป็นยอดปรางค์ตามแบบอย่างศาลาที่พระนครศรีอยุธยา  คือแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม:โบราณสถานของไทย

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

พระปรางค์วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้ง  เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย  ของเดิมสูงเพียง ๑๖ เมตร  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์จะสร้างให้สูงไปกว่าเดิม  แต่ไม่ทันสร้างก็เสด็จสวรรคตเสียกอ่น  รัชกาลที่ ๓  ได้โปรดให้ดำเนินการสร้างต่อมาจนสำเร็จ  แต่ไม่ทันจัดงานฉลองก็สิ้นรัชการ

พระปรางค์ในปัจจุบันนี้สูง  ๘๑.๘๕ เมตร

วารสารวัฒนธรรมไทย

เป็นวารสารรายเดือนของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

กระทรวงศึกษาธิการ

เจ้าของ สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ ใน

สนามกีฬาแห่งชาติ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

รองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม

ผู้อำนวยการกองวัฒนธรรมสัมพันธ์

ผู้อำนวยการกองวิจัยและแผนงาน

พระพุทธบาทสระบุรี

พระพุทธบาทสระบุรี


ตามประราชพงศาวดารกล่าวว่า  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้เสด็จไปก่อสร้างพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท  ที่จังหวัดสระบุรี  สำหรับราษฎร กษัตริย์ประพาสสุขสำราญ

ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก  พวกจีนคลองสวนพลูพากันไปเก็บเงินทองของมีค่ามาเสียมาก

สมัยรัตนโกสินทร์ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่

 

สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย”วัดเจดีย์ยอดทอง”

วัดเจดีย์ยอดทอง เป็นวัตถุที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลก  โดยมีถนนพญาเสือ ผ่านไปทางเดียวกับวัดอรัญญิก  วัดเจดีย์ยอดทองในปัจจุบัน  เหลือเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเพียงองค์เดียว  ที่เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย  ฐานกว้างประมาณ  ๙  เมตร  สูง  ๒๐ เมตร  เฉพาะยอดทรงดอกบัวตูมนั้นได้เห็นรอยกระเทาะปูน  ทำให้แลเห็นการเสริมยอดโดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดตอนแหลมของดอกบัวตูม