เครื่องประดับม้า

เมื่อพูดถึงม้าซึ่งใช้เป็นพาหนะแล้ว ก็ควรจะพูดถึงอัสสาภรณ์คือเครื่องประดับม้าเสียด้วย ม้าทรงนั้นประกอบด้วยเครื่องประดับต่างๆ ดังนี้เครื่องประดับม้า

๑. ตาบและพู่  เป็นเครื่องประดับให้สวยงาม ตาบเป็นรูปใบโพธิ์ใช้ติดห้อยลงทางด้านหน้า ส่วนพู่จะใช้ห้อยคอหรือหัวหรือท้ายอานก็ได้

๒. พานหน้าและพานท้าย  เป็นเครื่องรัดผมม้าทั้งสองอย่าง คือพานหน้าใช้รัดผมหน้าม้า ส่วนพานท้ายใช้รัดผมม้าด้านหลังหรือผมนกเอี้ยง ทั้งพานหน้าพานท้ายทำด้วยด้ายถักหรือใช้หนังก็ได้ มีดาวเล็กๆ หรือลูกพรวนประดับ เวลาวิ่งดังกริ๊งๆ เพราะดีเหมือนกัน

๓. ขลุม  เป็นสายเชือกถักติดกับบังเหียน แล้วรัดพาดปากม้า โยงติดกับพานหน้าและพานท้าย

๔. อาน  คือที่รองนั่งบนหลังม้า ทำด้วยหนังหรือผ้าก็ได้ ส่วนมากจะมีนวมบุข้างในเพื่อให้นั่งสบายๆ

๕. สายง่อง  คือสายเชือกที่โยงจากสายรัดอกม้ามายังขลุมตรงคางม้า เพื่อกันมิให้ม้าเงยหน้ามากเกินไป มีประโยชน์มากในเวลาขึ้นที่สูงหรือที่ชัน คอม้าก็จะไม่เงยหงายมิฉะนั้นจะทำให้คนขี่ตกได้ง่ายๆ สายง่องจะช่วยให้คอม้าโก่งอยู่เสมอ

๖. สายเหา  คือเครื่องรัดท้ายม้าจากอานไปยังโคนหาง

๗. สายถือคือสายบังเหียน  จะเป็นสายหนังหรือเชือกก็ได้ ใช้สำหรับบังคับม้าให้หันเลี้ยงไปตามทิศทางที่ประสงค์

๘. โกลน  คือเหล็กที่รองเหยียบมีสายห้อยติดอยู่ข้างอาน

๙. พะนัง  หรือแผงข้าง ทำด้วยแผ่นผ้าหรือแผ่นหนังก็ได้ ใช้รองอานม้าและลาดปกลงมาสองข้างม้า เป็นเครื่องป้องกันไม่ใช้ขาของผู้ขับขี่เสียดสีกับข้างม้า และเป็นเครื่องป้องกันมิให้เหงื่อม้าเปื้อนผู้ขับขี่ด้วย

เรื่องเครื่องประดับม้านี้ ส.พลายน้อยได้เล่าเป็นประวัติไว้ในหนังสือสัตว์นิยายว่า “ม้านั้นเดิมเป็นสัตว์ที่เหาะได้ คราวหนึ่งม้าได้บุกเข้าไปในสวนของพระอิศวร เพื่อเข้าไปหานางม้าอัศวราช ๒ ตัว ซึ่งพระพายได้ถวายไว้เป็นม้าเทียมรถของพระอุมา ม้าทั้ง ๔ ได้กินหญ้าและพืชพันธุ์ต่างๆ ในสวนนั้นอย่างเพลิดเพลิน อสูรนนทกาลผู้เฝ้าสวนเห็นเช่นนั้นก็สำแดงอานุภาพทำให้กายใหญ่เข้ารวบรัดจับม้าทั้ง ๔ ไว้ แล้วนำไปถวายพระผู้เป็นเจ้า กล่าวโทษที่ม้าทั้ง ๔ มาทำลายเหยียบย่ำสวนจนยับเยินไปหมด พระอิศวรจึงมีเทวโองการสั่งให้อสูรนนทกาลตัดเอ็นเหาะที่เท้าม้าทั้ง ๔ นั้นเสีย อย่าให้ม้านั้นเหาะเหินเดินอากาศได้สืบไป แล้วให้เอาเหล็กบิดเป็นเกลียวมีห่วงใส่วงกระวินข้างหนึ่งมีปลายขดเป็นข้อ มีขนาดยาวสี่นิ้วสองอัน เอาข้อต่อข้อเกี่ยวกันให้มั่น แล้วเอาเชือกถักเป็นขลุมเงื่อนผูกกับห่วงกระวินทั้งสอง เหล็กนั้นผ่าปากม้าให้คาบขลุมนั้นสวมศีรษะม้าครอบหูแล้วเอาเชือกผูกขลุมข้างขวา อ้อมใต้คางมาผูกขลุมข้างซ้ายเรียกว่ารัดคางบังเหียน ม้าจะบริโภคอันใดให้ลำบาก แล้วเอาเชือกยาว ๔ ศอกผูกระหว่างกระวินทั้งสอง ชักซ้ายไปขวา ชักสองสายให้ยืนนิ่งอยู่ แล้วให้เอากระดูกตะโพกก้นกระบือตายวางครอบลงบนหลังม้าเรียกว่า อาน เอาเชือกผูกอ้อมรัดอานไว้กับอกเรียกว่ารัดอก เชือกสายหนึ่งอ้อมคอผูกไว้กับหัวอานทั้งสองเรียกว่า รั้งหน้า เชือกสายหนึ่งอ้อมโคนหางมาผูกท้ายอานทั้งสองเรียกว่า รั้งท้าย เชือกสายหนึ่งที่ผูกกระวินขลุมทั้งสองสอดมาหว่างเท้าหน้ามาผูกที่สายรัดอกเรียกว่า สายง่อง

ครั้นแต่งเครื่องประจานเสร็จแล้ว พระอิศวรให้พาม้าเดินตระเวนรอบสวนสามรอบ ประกาศให้สัตว์ทั้งหลายอย่าได้เอาเยี่ยงอย่าง แล้วเอาไปปล่อยยังโลกมนุษย์ และตั้งแต่นั้นมา ม้าก็เป็นพาหนะของมนุษย์ได้ใช้สืบมาจนทุกวันนี้”

ม้านั้นนอกจากใช้ขี่เป็นพาหนะไปไหนมาไหนได้รวดเร็วแล้วคนเรายังใช้เป็นพาหนะสำหรับรบด้วย การขี่ม้ารบกันหรือที่เรียกว่าทหารม้านั้นนิยมกันมานานแล้ว นอกจากนี้ในสมัยโบราณยังนิยมเอาม้าเทียมรถด้วย รถม้านี้นอกจากเป็นยานที่ขับขี่ตามธรรมดาแล้วยังใช้เป็นรถรบด้วย ซึ่งเราเคยทราบกันอยู่แล้ว ผู้ที่จะขับขี่รถม้าจะต้องมีความชำนาญในการขับขี่ม้าหรือบังคับม้าได้เป็นอย่างดีด้วย คนพวกนี้ภาษาบาลีเรียกว่าสารถี ซึ่งเรานำมาใช้เรียกคนขับรถยนต์ทุกวันนี้ก็มี

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ม้าสีหมอกของขุนแผน

ม้าในวรรณคดีอันเลื่องชื่อของเราอีกตัวหนึ่ง ก็คือม้าสีหมอก ซึ่งเป็นม้าพาหนะคู่ขาของขุนแผนยอดนักรักและนักรบในเรื่องขุนช้างขุนแผนของเรา ม้าสีหมอกนั้นตามประวัติกล่าวไว้ว่าม้าสีหมอก

“จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ    พระโองการตรัสใช้ไปตะนาวศรี
ไปตั้งอยู่มฤทเป็นครึ่งปี            กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามไป
ด้วยหลวงศรีวรข่านไปซื้อม้า            ถึงเมืองเทศยังช้าหามาไม่
ต้องรออยู่จนฤดูลมแล่นใบ            เรือที่ไปเมืองเทศจึงกลับมา
หลวงศรีได้ม้ามามอบให้            ทั้งม้าเทศม้าไทยหกสิบห้า
อีเหลืองเมืองมฤทพลอยติดมา        ผัวมันท่านว่าเป็นม้าน้ำ
มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก            มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ
ร้ายกาจหนักหนานัยน์ตาดำ            เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา”

ม้าสีหมอกเป็นม้าที่เก่งกาจเที่ยวไล่กัดม้าหลวงจนพวกที่ไปรับม้าเหลือระอา พอดีขุนแผนซึ่งวางแผนจะหาเครื่องมือสามอย่าง ว่าถ้าได้ตามกำหนดแล้วจะไม่ต้องกลัวใครอีก เครื่องมือทั้งสามนั้นก็คือ ดาบ กุมารทอง และม้า เมื่อขุนแผนเห็นม้าสีหมอกออกลำพองสมปองปรารถนาที่นึกไว้

“ลักษณะถูกต้องตามตำราสิ้น      ดังองค์อินทร์เทวราชประสารทให้”

ขุนแผนจึงขอซื้อม้าตัวนี้จากหลวงศรี หลวงศรีดีใจที่ม้าตัวนี้จะได้พ้นภาระของตนเสียที เพราะเป็นม้าที่ก่อความลำบากให้ และมิใช่เป็นม้าหลวง จึงตกลงขายให้ขุนแผนในราคาสิบห้าตำลึง ขุนแผนซื้อแล้วก็ขึ้นขี่กลับบ้านเขา ม้าสีหมอกเป็นม้าฝีเท้าไว วิ่งจนลมออกหูรับใช้ขุนแผนอยู่หลายปีจนที่สุดขุนแผนติดคุกต้องฝากม้าสีหมอกไว้ที่เมืองพิจิต ถ้าท่านไปจังหวัดพิจิตรแล้วลองสอบถามชาวพิจิตรดูก็ได้ว่าคอกม้าสีหมอกของขุนแผนนั้นอยู่ตรงไหน คนพิจิตรเขาจะบอกท่านเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ม้าเซ็กเธาว์ของกวนอู

ในหนังสือเรื่องสามก๊กของเราได้กล่าวถึงม้าของกวนอูไว้ว่าชื่อม้าเซ็กเธาว์ ความจริงคำว่าเซ็กเธาว์ก็เคลื่อนมาจากคำว่า สินธพนั่นเอง ม้าเซ็กเธาว์นั้นหนังสือสามก๊กได้พรรณนาคุณภาพไว้ว่า “มีฝีเท้าเดินทางได้วันละหมื่นเส้น ถ้าขึ้นเขาและข้ามน้ำก็เหมือนกับเดินที่ราบ” และม้าเซ็กเธาว์บอกลักษณะม้าเซ็กเธาว์ไว้ว่า “ขนนั้นแดงดังถ่านเพลิงทั่วทั้งตัว มิได้มีสิ่งใดแกมสูงสี่ศอกเศษ ได้ลักษณะเป็นม้าศึกเข้มแข็งกล้าหาญ” แต่บริวิตต์ เทเลอร์ ได้ทำเป็นคำโคลงกล่าวถึงม้าเซ็กเธาว์ไว้ ดังคำแปลที่มีผู้แปลไว้ว่า

“เจ้าม้าศึกผู้ระแวดระไวและมิรู้เหน็ดเหนื่อย

พึงดูจากฝุ่นที่ฟุ้งตลบเป็นกลุ่มเมฆด้วยแรงควบทะยานของมัน มันทั้งว่ายน้ำและบางครั้งก็ควบตะลุยขึ้นเนิน

วิ่งฝ่าไปในกลุ่มหมอกสีม่วง มันวิ่งลิ่วอย่างผยองมิพักต้องมีบังเหียนใช้บังคับ

คงเห็นแต่สายบังเหียนวามวาวสะบัดขึ้นลงอยู่แทบสองข้างหัว ช่างดูราวกับมังกรไฟที่ล่องลอยลงมาจากสวรรค์สูงสุดนั้นเทียว”

ม้าอีกตระกูลหนึ่งคือม้าอัศดร  ว่ากันว่าม้าอัศดรนี้เวลาจะคลอดต้องแหกท้องแม่ออกมา แม่ของม้าอัศดรนั้นเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วก็ต้องตาย แต่ม้าอัศดรจะมีรูปร่างอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

เมื่อพูดถึงตระกูลของม้าแล้ว ก็อดที่จะนึกถึงม้าอีกตระกูลหนึ่งไม่ได้ นั้นคือม้าแกลบ ซึ่งเป็นม้าไทยตระกูลหนึ่ง เป็นม้าขนาดเล็ก พวกข้าราชการที่ไม่จบจากเมืองนอกมักจะเรียกตัวเองว่า พวกม้าแกลบ มันจะสู้พวกม้าเทศคือพวกนักเรียนนอกไม่ได้ เพราะนักเรียนนอกก้าวหน้ากว่านักเรียนใน เหมือนม้าเทศวิ่งเร็วกว่าม้าแกลบฉะนั้น แต่อย่างไรก็ตามจะเป็นม้าเทศหรือม้าไทยก็เป็นม้าเหมือนกันทั้งนั้น ม้าไทยนั้นถึงจะวิ่งช้าแต่ก็อดทนวิ่งจนถึงจุดหมายเหมือนกัน เว้นแต่บางตัวถ้าคนขี่ไม่ชำนาญม้าไทยหรือม้าแกลบก็พากลับหลังอยู่ท่าเดียว

เมื่อพูดถึงม้า เราผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ก็อดนึกถึงม้าในพุทธประวัติไม่ได้นั้นคือ ม้ากัณฐกะ ซึ่งเป็นม้าทรงของสิทธัตถะกุมาร เมื่อคราวออกผนวช หรือเป็นม้าทรงของพระพุทธเจ้านั้นเอง หนังสือปฐมสมโพธิกถา ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ เรียกม้ากัณฐกะว่า “พญาม้ากัณฐกะอัศวราช” และพรรณนารูปร่างลักษณะของพญาม้าไว้ว่าใหญ่โต ล่ำสัน แข็งแรง วัดจากส่วนคอถึงท้ายมีความยาวถึง ๑๘ ศอก สูงเหมาะสมกับส่วนยาวของร่างกาย มีลักษณะที่สวยงามเป็นพิเศษคือ “สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกามีเกศาในประมุขประเทศขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องอันงามสะอาด” และม้ากัณฐกะนี้เกิดในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จึงเป็นสหชาติและเป็นราชพาหนะคู่พระบารมี

ในหนังสือเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ซึ่งนาง แอล อดัมส์ เบ็คก์ ชาวอังกฤษแต่งไว้ และอาษาขอจิตต์เมตต์ แปล ก็ได้พรรณนาลักษณะของม้ากัณฐกะไว้ว่า “ม้ากัณฐกะตัวนี้เป็นม้าตระกูลสูงเยี่ยม รูปร่างสง่างาม หางเป็นพวงพลิ้ว หลังกว้าง หน้าผากใหญ่ รูจมูกกลม และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเล็บของมัน”

ม้ากัณฐกะคงเป็นม้าที่แสนรู้ เพราะเมื่อพระโพธิสัตว์จะขึ้นประทับบนหลังม้าตอนที่จะออกมหาพิเนษกรมณ์ หรือออกผนวช พระโพธิสัตว์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนพ่อกัณฐกะมโนมัย ท่านจงพาอาตมาไปให้ตลอดในราตรีเดี๋ยวนี้ อาตมาจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า จะได้ขนข้ามเวไนยสัตว์ทั้งมนุษย์โลกกับทั้งเทวโลก ให้พ้นจากจตุโอฆสงสารบรรลุถึงฝั่งปรินิพพานในครั้งนี้” แล้วพระองค์ก็เสด็จประทับบนหลังม้าพระที่นั่ง มีนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิทยึดหางม้าตามไปด้วย ราตรีเดียวก็ผ่านกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองสาวัตถี และเมืองเวลาลี นับเป็นระยะทางถึง ๓๐ โยชน์ ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ณ ที่นี้ พระโพธิสัตว์ได้เปลื้องเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ออกมอบให้นายฉันนะ พระองค์ตัดพระเมาลีถือเพศเป็นนักบวช ฝ่ายฉันนะนำเครื่องทรงและจูงม้ากัณฐกะกลับ แต่ม้ากัณฐกะตายเสียเพราะความเศร้าโศกเสียใจ ด้วยพลัดพรากจากเจ้าของ หนังสือปฐมโพธิกถาพรรณนาความตอนนี้ไว้ว่า “ม้านั้นก็หันหน้ากลับมาดูพระพักตร์เพ่งพิศจนลับเนตรพ้นเขตทัศนวิสัย มิได้วายอาลัยในพระมหาบุรุษราช มีศออันเหือดแห้งขาดเขฬะความโศกปะทะปิดทางอัสสาสะ เดินไปหน่อยหนึ่งดวงหฤทัยก็ทำลายออกเป็น ๗ ภาค กระทำกาลกิริยาล้มลงในมัคคันตรวิถี” นี้เป็นประวัติของม้าทรงของพระพุทธเจ้า เมื่อช่างจะสร้างพระพุทธรูปตอนพระพุทธองค์ออกผนวช เขาจะเขียนเป็นพระพุทธรูป มีม้ากัณฐกะอยู่ข้างหนึ่ง มีนายฉันนะอยู่ข้างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายว่าออกผนวช ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่จะบวชสมัยนี้ยังนิยมขี่ม้าแห่นาคจากบ้านไปวัดด้วย ทำคล้ายกับว่าประวัติตอนพระพุทธเจ้าออกผนวชฉะนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ม้าเจ็ดหมู่หรือเจ็ดตระกูล

ม้าเป็นสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งอยู่ในจำพวกสัตว์มีกีบทึบมีขนคอยาว  ใช้เป็นพาหนะขับขี่และเทียมรถเห็นกันอยู่ทั่วไป บางประเทศก็ใช้ม้าเทียมไถนา แต่ก็มีน้อยเต็มที ส่วนใหญ่จะใช้ขี่และเทียมรถม้า

ม้าเป็นสัตว์ที่มีฝีเท้าวิ่งได้รวดเร็วและอดทน ฝึกง่าย คำที่ใช้เรียกม้ามีอยู่หลายคำ ส่วนใหญ่มีความหมายว่ารู้ง่ายและไปได้เร็ว เช่น พาชี อัศวา อาชา อาชาไนย ว่ารู้ได้รวดเร็ว มโนมัย สำเร็จดังใจ เป็นต้น

ม้าคงจะเป็นสัตว์ที่มนุษย์เราใช้เป็นพาหนะมาแต่โบราณ เพราะเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ง่าย และรู้ใจเจ้าของ ม้าจึงเป็นสัตว์พาหนะที่จัดเข้าเป็นกองทัพในสมัยก่อน เรียกว่าทัพม้าหรืออัศวานิก นับเป็นกองทัพสำคัญ เพราะเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว อย่างคราวหนึ่งสมัยกรุงศรีอยุธยาของเรา เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นมหาอุปราชกำลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาอยู่ ได้ข่าวว่าข้าศึกเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา พระองค์จึงพร้อมด้วยเหล่าทหารหนุ่มคู่พระทัย นำทัพม้าจากกรุงศรีอยุธยามาตีข้าศึกที่เมืองนครราชสีมา ภายในสองวันเท่านั้น แทนที่จะเป็นหลายวันดังข้าศึกคาดหมาย เป็นเหตุให้ข้าศึกพ่ายไปเพราะไม่ทันตั้งตัว

กองทัพม้าของไทยมีชื่อมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าม้าไทยจะมีขนาดเล็กแต่ก็อดทน ม้าไทยนั้นมีหลายสี อย่างที่พรรณนาไว้ในหนังสือลิลิตตะเลงพ่ายว่า

“ส่ำแสะหาญห้าวฮึก ล้วนแสะศึกแสะทรง พงศ์สินธพพาชี สีแดงดำขำเขียว ลางกะเลียวหลายหลาก มากม้าผ่านม้าแซม แกมม้าขาวม้าฟ่าย รายเรียงเคียงแข่งคู่ ครบเจ็ดหมู่เจ็ดพงศ์” (แสะ เป็นภาษาเขมรแปลว่า ม้า) ตามลิลิตตะเลงพ่ายนี้แยกม้าออกเป็นเจ็ดหมู่หรือเจ็ดตระกูล คือ ม้าแดงดำเขียว กะเลียว ผ่านแซม ขาว และฟ่ายสีอื่นๆ เห็นจะพอเข้าใจกันได้ทั่วไป เว้นแต่สีกะเลียว และสีฟ่ายออกจะเข้าใจยาก สีกะเลียวนั้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า สีเขียวอมดำ แต่บางท่านว่าสีลานทั้งตัว ส่วนม้าฟ่ายคือม้สีเทานั่นเอง

เมื่อพูดถึงทัพม้าแล้วก็อดนึกถึงทัพม้าของ เจงกิสข่าน นักรบชาวมองโกลไม่ได้เพราะเจงกิสข่านมีทัพม้าอันเกรียงไกรคือมีทหารม้าถึง ๗๐๐,๐๐๐ คน บุกเข้าไปในเมืองจีน และรัสเซีย ทหารของเจงกิสข่านล้วยแต่ชำนาญม้าทั้งสิ้น แทบจะว่ากินนอนบนหลังม้าก็ได้ เจงกิสข่านมีชื่อเสียงก้องโลกก็เพราะกองทัพม้านี้เอง

สำหรับเมืองไทยเราก็ได้ใช้ม้าออกสงครามมานานแล้ว และคนไทยเรามีความชำนาญในการดูม้ามาก จนถึงสร้างตำราไว้เป็นหลักฐาน กองทัพม้าของเราที่เริ่มฝึกตามแบบยุโรป เพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และตลอดมาจนบัดนี้

ม้าคงเป็นพาหนะและเป็นเพื่อนของมนุษย์เรามาแต่โบราณ เพราะตามศิลาจารึกและหินสลักต่างๆ ที่มีอายุประมาณ ๓๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาลมีเรื่องเกี่ยวกับม้าและภาพม้าอยู่แล้ว

กำเนิดของม้าตามความเชื่อถือของคนอินเดียกล่าวไว้ว่า “พระพายเทพบุตรได้บันดาลให้เกิดอัศวราชคือม้า ๔ ตระกูลขึ้น คือ ตระกูลชื่อ วลาหก ๑ อาชาไนย ๑ สินธพมโนมัย ๑ และอัศดร ๑

ม้าพลาหกจะมีลักษณะอย่างไรนั้น เราทุกวันนี้คงจะมีน้อยคนนักที่จะบอกได้ แต่ตามตำราม้าของไทยเราอธิบายไว้ว่า

“ศรีเหลืองศรีเลื่อมแท้        เทียมสุวรรณ
แปรงและหูหางพรรณ        เศวตแพร้ว
ปากแดงดังชาดอัน        ทาทาบ
บัวหน้าศุภลักษณ์แกล้ว    กาจล้ำเดชขจร

ราตรียามเมื่อม้า            หลับใหล
มักละเมอหมายใจ        เรียกร้อง
เพราะเห็นเพื่อนมาใน        อากาศ
ถือชาติพลาหกต้อง        ประเสริฐแท้ภูลผล

ม้าอย่างนี้ เราจะหาดูได้ที่ไหน เห็นจะไม่มีใครบอกได้

ม้าอาชาไนยนั้นจะเป็นม้าชนิดไหนไม่ทราบ แต่ตามตัวอักษรแปลว่าสำเร็จด้วยใจหรือดังใจดังได้กล่าวมาแล้ว เห็นจะหมายถึงม้าที่มีลักษณะดี ฝึกง่าย ฝีเท้าจัด อันมีลักษณะดีนั้น ในหนังสือพระนลคำฉันท์ได้กล่าวไว้ตอนที่พระนลได้ทูลลักษณะของม้าดีให้ท้าวฤตุบรรณผู้ชำนาญแต่ทรงสกาแต่ไม่ประสีประสาเรื่องม้าว่า

“ขวัญหนึ่ง ณ หน้าผาก        ดังแบบบุราณมา
สองขวัญ ณ อกปรา-            กฎแท้บ่แปรผัน
สองขวัญ ณ หัวม้า            ผิวหาจะเห็นสำคัญ
สีข้างก็สี่ขวัญ                หยข้างละสองละสอง

ขวัญหนึ่ง ณ หลังม้า        ดุจข้าทำนูลลบอง
สิบขวัญสำคัญปอง        จิตพบก็สบประสงค์”

ม้าสินธพมโนมัยนั้น คือม้าที่เกิดจากกลุ่มน้ำสินธูในประเทศอินเดีย เป็นม้าขนาดใหญ่อย่างที่เราเรียกว่าม้าเทศ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

กฎหมายตราสามดวงว่าด้วยตำแหน่งนาของพลเรือ

สำเภานั้นเป็นเรือเดินทะเลขนาดใหญ่แบบจีน จึงควรจะเข้าใจว่าจีนนั้นเป็นนักการค้าและนักเดินเรือมาแต่โบราณ จึงมีความคิดที่จะต่อเรือขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้นานมาแล้ว เพราะเรือสำเภาของจีนนั้น เดินทางจากประเทศจีนไปชะวา ตลอดไปถึงประเทศอินเดีย สำหรับประเทศสำเภาจีนไทยนั้น สำเภาจีนไปมาค้าขายอยู่เป็นปกติ จนชนชาวจีนมีตำแหน่งสำคัญๆ ในกรมท่า เพราะเป็นผู้ชำนาญในการเดินเรือนั่นเอง

เรือเดินทะเลขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่ง เป็นเรือใบแบบตะวันตก เรียกกันว่าเรือกำปั่น ดังนั้นถ้าพูดถึงคำว่าสำเภาก็หมายความถึงเรือเดินทะเลขนาดใหญ่แบบจีน ถ้าพูดถึงเรือเดินทะเลแบบตะวันตกจึงเรียกว่ากำปั่น เรือกำปั่นคงจะเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและคงจะใช้สะดวกกว่าเรือสำเภาของจีน สำเภาแบบจีนจึงนับวันแต่จะหาดูได้ยากยิ่งขึ้น สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดฯ ให้ทำสำเภาจำลองไว้ที่วัดยานนาวาลำหนึ่ง ดังปรากฏในพงศาวดารว่า “วัดคอกกระบือนั้น ให้ทำสำเภาด้วยเครื่องก่อไว้หลังพระอุโบสถลำ ๑ ยาว ๑ เส้น ด้วยทรงเห็นว่านานไปจะไม่มีผู้เห็นสำเภาจึงให้ทำขึ้นไว้เป็นสำเภาโลกอุดรพระราชทานชื่อว่า “วัดยานนาวา” ดังนี้

สำเภาหรือกำปั่นนั้น คงเป็นพาหนะติดต่อค้าขายสำคัญมาก และการค้าขายก็เป็นทางหนึ่งที่ทำรายได้ให้บ้านเมือง ทางรัฐบาลสมัยก่อนจึงต้องทำการค้าขายเองด้วย และในการค้าขายนั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่ของหลวงไปติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเองบ้าง หลวงตั้งคลังสินค้าขายส่งที่ในประเทศบ้าง ผู้ที่ติดต่อค้าขายนั้นสังกัดอยู่กรมท่า ก็คือกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ในบัดนี้รวมกันนั่นเอง

พวกเจ้าหน้าที่ ซึ่งประจำเรือค้าของหลวงนั้น ถือศักดินากันทุกคนตั้งแต่นายเรือลงมาปรากฏในกฎหมายตราสามดวงที่ว่าด้วยตำแหน่งนาพลเรือดังนี้

“นายเรือปาก ๔ วาขึ้นไป นา ๔๐๐ นายเรือปากกว้าง ๓ วาเศษ นา ๒๐๐ จุ่นจู่ นายสำเภา นา ๔๐๐ ต้นหน ดูทาง ล้าต้า บาญชียใหญ่ ประจำสำเภาใหญ่นา ๒๐๐ สำเภา น้อยนา ๑๐๐ ปั๋นจู ซ่อมแปลงสำเภา และใต้ก๋ง นายท้าย ซ้าย ขวา ๒ นาย นาคนละ ๘๐ ซินเตงเถา ซ้ายขวา ๒ บาญชียกลาง อาปั๋น กระโดงกลาง จงกว้า ใช้คนทั้งนั้น เต๊กข้อ ได้ว่าระวางบรรทุก อากึ่ง ช่างไม้สำเภา นา ๕๐ เอียวก๋ง บูชาพระ ตั้งเลียวว่าสายเลียวกับเสาท้าย สำปั๊นกับเสาหน้า ขมภู่ (เข้าใจว่าเป็นคนครัว) เท่าเต้ง ว่าสมอ ฮู้เตี้ยว ทองดิ่ง นาคนละ ๓๐ อิดเซี่ยร ยี่เซี่ยร สามเซี่ยร (เข้าใจว่ามีหน้าที่ลดใบ) จับกะเถา กวาดสำเภา เบ๊ยปั๊น จ่ายกับข้าว ซินเต๋ง ๑๘ คน ทนายจุ่นจู๊ ล้าต้า ปั๋นจู นายรอง ๗ คน ได้ระวางคนละ ๑๖ นาคนละ ๒๕” สำเภาลำหนึ่งๆ มีเจ้าหน้าที่เกือบ ๕๐ คนนี้นับว่าเป็นอย่างน้อย

การแต่งสำเภาของหลวงไปค้าขายต่างประเทศนั้นน่าจะมีมาจนกระทั่งรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบปัจจุบันขึ้น เข้าใจว่าการค้าขายคงจะปล่อยให้เอกชนทำไปฝ่ายเดียว โดยฝ่ายรัฐบาลเพียงแต่คอยควบคุมและเก็บภาษีอากรเท่านั้น

เรื่องเรือสำเภานี้เข้าใจว่า เป็นเรือที่กว้างขวางสบาย เหมาะที่จะเป็นเรือโดยสารไปไหนๆ ด้วย สุนทรภู่ จึงให้ท้าวสิลราชนำนางสุวรรณมาลีราชธิดาประพาสทะเลโดยเรือสำเภาดังคำกลอนตอนนี้ว่า

“ฝ่ายองค์ท้าวสิลราชไสยาสน์ตื่น    สำราญรื่นแต่งองค์ทรงภูษา
ชวนบุตรีลีลาสลงเภตรา        พร้อมบรรดาสาวสุรางค์นางกำนัล
พระทรงนั่งยังแท่นท้ายบาหลี    ฝูงนารีแซ่ซร้องอยู่ห้องกั้น
เหล่าล้าต้าต้นหนคนทั้งนั้น        เร่งให้ขันกว้านโห่โล้สำเภา
ทั้งหน้าหลังดั้งกันลั่นม้าล่อ        แล้วขันช่อชักใบขึ้นใส่เสา
พอออกอ่าวลมอุตรามาเพลาเพลา    แล่นสำเภาผางผางมากลางชล”

เรือสำเภามีที่เด่นอยู่ก็เห็นจะเป็นห้องท้ายบาหลี หรือห้องท้ายเรือนั่นเอง เพราะเป็นที่อยู่สบายที่สุด และท้ายบาหลีของเรือสำเภานี้อยู่สูงมองเห็นได้ไกลกว่าส่วนอื่นของเรือ

เมื่อพูดถึงสำเภาของจีนแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงกำปั่นอีกไม่ได้ เพราะท่านสุนทรภู่ได้กล่าวถึงกำปั่นไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าสำเภากับกำปั่นนั้น แตกต่างกันอย่างไร ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงกำปั่นขนาดใหญ่ ซึ่งสมัยนี้ก็ยากที่จะมีเช่นนั้นได้ คือกำปั่นของโจรสลัดชาติอังกฤษ ดังคำกลอนในหนังสือพระอภัยมณีตอนนี้ว่า

“จะกล่าวฝ่ายนายโจรใจฉกาจ    เป็นเชื้อชาติอังกฤษริษยา
คุมสลัดอัศตันวิลันดา            เป็นโจรห้าหมื่นพื้นทมิฬ
มีกำปั่นยาวยี่สิบเส้น            กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน    ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน        คชสารม้ามิ่งมหิงษา
มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ”

คนในสมัยท่านสุนทรภู่อ่านคำกลอนตอนนี้แล้ว คงจะไม่มีใครเชื่อว่าจะมีเรือขนาดใหญ่อย่างที่ท่านสุนทรภู่ว่าไว้เป็นแน่ แต่สมัยนี้เรือโดยสารขนาดใหญ่ที่จุคนได้หลายพันคนมีสนามฟุตบอล มีโรงภาพยนตร์ มีสระว่ายน้ำ และมีร้านขายของเหมือนเมืองย่อมๆ นั้นเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นแปลกเสียแล้ว นับว่าท่านสุนทรภู่มีจินตนาการคาดการณ์ล่วงหน้าได้นับเป็นร้อยปีทีเดียว ยิ่งกว่านั้น สำเภายนต์ของท่านสุนทรภู่ยังแล่นได้ทั้งในน้ำบนบกก็มีเสียอีกด้วย ดังปรากฏคำกลอนในหนังสือเรื่องพระอภัยมณีตอนที่กล่าวถึงสำเภายนต์ของพราหมณ์สามคนว่า

“จะจับบทบุตรพราหมณ์สามมานพ    ได้มาพบคบกันเล่นเป็นสหาย
คนหนึ่งชื่อโมราปรีชาชาย            มีแยบคายชำนาญในการกล
เอาฟางหญ้ามาผูกสำเภาได้            แล้วแล่นไปในจังหวัดไม่ขัดสน
คนหนึ่งมีวิชาชื่อสานน                ร้องเรียกฝนลมได้ดังใจจง
คนหนึ่งนั้นมีนามพราหมณ์วิเชียร        เที่ยวร่ำเรียนสงครามตามประสงค์
ถือธนูสู้ศึกนึกทะนง                หมายจะปลงชีวาปัจจามิตร
ธนูนั้นลั่นทีละเจ็ดลูก            หมายให้ถูกที่ตรงไหนก็ไม่ผิด
ล้วนแรกรุ่นร่วมรู้คู่ชีวิต            เคยไปเล่นเป็นนิจที่เนินทราย
พอแดดร่มลมตกลงชายเขา        ขึ้นสำเภายนต์ใหญ่ดังใจหมาย
ออกจากบ้านอ่านมนต์เรียกพระพาย    แสนสบายบุกป่ามาบนดิน
ถึงทะเลแล่นตรงลงในน้ำ            เที่ยวลอยลำแล่นมหาชลาสินธุ์”

เรื่องของพราหมณ์โมรานี้ ทางประเทศตะวันตกเพิ่งคิดค้นขึ้นได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เป็นเรือสะเทินน้ำสะเทินบก แล่นบนบกก็เป็นรถ พอลงน้ำก็กลายเป็นเรือ แต่ท่านสุนทรภู่ใช้จินตนาการสร้างมาเป็นร้อยปีแล้ว

และก็เพราะเรือเป็นทรัพย์สินสำคัญอย่างหนึ่ง การซื้อขายเรือกฎหมายจึงบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเลียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย มิฉะนั้นเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ ปรากฏตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๕๖ ว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านมาเป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไปหรือเรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ตำรานรลักษณ์ทำนายลักษณะฟันของชาวจีน

ในตำราโฮ้วเฮ้ง หรือตำรานรลักษณ์ว่าด้วยการทำนายลักษณะของชาวจีนได้กล่าวถึงลักษณะของฟันไว้ว่า

“ฟันนี้เป็นใหญ่กว่ากระดูก และฟันนี้บังเกิดขึ้นด้วยโลหิต ถ้าโลหิตบริบูรณ์ฟันนั้นก็บริบูรณ์มิได้โยก มิได้คลอนIE112-076

ถ้าฟันเป็นเหลี่ยม ยาว โตเรียบเสมอไม่สูงไม่ต่ำ ฟันแน่นชิดกัน ผู้นั้นอายุยืน

ถ้าฟันแหลม ฟันบาง ฟันห่าง ฟันสั้น ฟันคด อายุสั้น

ถ้าฟันโต ฟันตรง รากฟันแน่น ฟันเสมอ ริมฝีปากตรงไม่เบี้ยว ผู้นั้นซื่อตรง คำนับผู้มีคุณ แลใจศรัทธานับถือยำเกรงบิดามารดาดี

ถ้าฟันห่าง ฟันแตก ฟันสั้น ฟันแหลม ฟันแห้ง ฟันเหลือง ผู้นั้นเจรจากลับกลอก เจรจาเท็จมาก มิดี

ฟันโต ฟันชิด ฟันยาว ฟันเสมอ ฟันขาว ฟันดำ ดูงามสดใส มิได้มีมลทินบริสุทธิ์ และฟันรากลึกแน่น มิได้คลอน ผู้นั้นจะมีทรัพย์สิ่งสิน อายุยืน

ถ้าฟันโตแลห่าง ฟันเล็กแลแหลม ฟันสั้นแลบาง ฟันแตกแลงกิน แลฟันดังคราดชักหญ้า ผู้นั้นจะเข็ญใจ จะตายด้วยอาวุธเขี้ยวงา มิดี

อนึ่ง ให้พิจารณาดูหน้าฟันเบื้องบน เบื้องต่ำ สองซี่นั้น ถ้าแน่นและเสมอชิดกันเป็นเหลี่ยมขาวบริสุทธิ์ มิได้ย้อมด้วยสิ่งใดไซร้ ผู้นั้นเจรจาสัตย์ซื่อมั่นคง และเจรจาไพเราะ ประกอบด้วยของกินบริบูรณ์ มิได้อดอยาก

ถ้าฟันเหลือง ฟันขาวแห้งไม่บริสุทธิ์ ฟันไม่ตรง จะเข็ญใจ เป็นคนโลเล มักเที่ยวเตร่ อยู่มิได้เป็นที่

ถ้าฟันเหมือนฟันนาคราช ถ้ามีลูกจะมีวาสนา จะได้พึ่งลูก

ถ้าฟันเหมือนสิงโต จะได้เป็นใจเสียงว่าจะได้เป็นเสนาผู้ใหญ่ ดี

ถ้าฟันโอนไม่ตรง ผู้นั้นเป็นคนอาศัยวัด อาศัยศาลเจ้า เป็นคนไม่รู้จักคุณผู้มีคุณ เป็นคนท่านด่าพาลทะเลาะมักวิวาทมิดี

ถ้าฟันเหมือนฟันสุนัข ผู้นั้นโกหก เจรจาเอาคำจริงมิได้

ถ้าฟันชิดกันและขาวบริสุทธิ์เหมือนเงิน ผู้นั้นซื่อตรง มักเรียนวิชาทุกอันฉลาดดี

ถ้าฟันห่าง ฟันแห้ง ฟันเหลือง ผู้นั้นจะเล่าเรียนสิ่งใดมิได้

ถ้าฟันดำเหมือนแก้วนิลใสสดแสงงาม จะมีสิ่งบริวารโภคสมบัติมาก เทวดารักษา

ถ้าฟันเหมือนสีเงิน  อันขัดสีบริสุทธิ์เป็นแสงงาม ผู้นั้นจะมีทรัพย์มีวาสนามาก

ถ้าฟันขาวแห้งเหมือนกระดูกตาย ผู้นั้นจะยากจน หากินยาก ได้เช้าหาค่ำมิใคร่จะทันกิน

ถ้าฟันเหลืองเหมือนใบไม้ที่หล่นลงจากิ่งไม้ ผู้นั้นเข็ญใจ หาเรือนมิได้ จะอาศัยป่าช้าผี

ถ้าฟันเหลืองบริสุทธิ์เหมือนแก้วเหลือง ผู้นั้นจะมีสมบัติไหลมาด้วยบุญ จะได้สิ่งใดก็ได้โดยง่ายโดยสะดวกดี

ถ้าฟันเหมือนไม้ตาย จะเข็ญใจ หาเลี้ยงปากได้ยากนัก มิดี

ถ้าฟันนับซี่ได้สี่สิบและฟันขาวบริสุทธิ์ แลรากแน่น แลชิด แลเสมอมิได้คดมิได้โอน ฟันเรียบงามดี ผู้นั้นภาษาจีนว่า “ฝุกโจ๊” ภาษาไทยว่า “พระเจ้า” หาผู้เสมอสองมิได้

ถ้าฟันนับได้สามสิบแปดซี่ แลขาวเกลี้ยงเป็นเงางาม ผู้นั้นจะมีอานุภาพมาก กล้าหาญมีชัยในสงคราม จะได้ดีด้วยการรณรงค์ ประกอบด้วยโภคสมบัติมาก

ถ้าฟันได้สามสิบหกซี่ จะได้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ จะมีทรัพย์สมบัติมาก

ถ้าฟันได้สามสิบสี่ซี่ ผู้นั้นจะเป็นมัธยมจะมีทรัพย์สิ่งสินเครื่องใช้สอยทั้งปวงพอกินพอใช้เป็นปานกลาง

ถ้าฟันได้สามสิบซี่  ถ้าขาวบริสุทธิ์เกลี้ยงงามดี จะได้เป็นขุนนางดี

ถ้าฟันได้ยี่สิบแปดซี่   หาสิ่งสินยาก จะเข็ญใจ แลถ้าขาวบริสุทธิ์ดีจะมีทรัพย์สิ่งสิน แต่อายุสั้น

ถ้าฟันได้ยี่สิบสี่ซี่ ผู้นั้นคือผีเกิดเป็นคน จะเข็ญใจหนัก”

ตามตำราจีนที่ว่านี้ รวมความแล้วถ้าฟันเรียบร้อยขาว หรือสีงดงามก็ทายว่าดี ถ้าตรงข้ามก็ทายว่าไม่ดี

ถ้าใครฝันว่าฟันหัก ก็มักจะได้รับข่าวเกี่ยวกับการตายของญาติมิตร หรือคนใกล้ชิด

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

การรักษาสุขภาพของฟัน

หลักในการรักษาสุขภาพของฟันก็คือ

๑. งดอาหารหวานที่ติดฟันง่าย ควรรับประทานอาหารที่ทำให้ฟันสะอาด เช่น อ้อย ฝรั่ง เป็นต้น

๒. แปรงฟันและนวดเหงือกให้ถูกวิธี ภายหลังอาหารทุกมื้อ หรืออย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ก่อนนอนและในตอนเช้าแปรงฟัน

๓. อย่ารอจนกระทั่งมีเลือดออกตามไรฟัน หรือเจ็บปวดฟัน จงหมั่นไปให้หมอฟัน หรือทันตแพทย์ตรวจขูดหินน้ำลาย ทำความสะอาดฟัน และแก้ไขสิ่งบกพร่องต่างๆ ในช่องปาก อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง

๔. บำรุงสุขภาพให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อเพิมความต้านทานโรค

ข้อที่ควรจำเกี่ยวกับหมอฟันก็คือว่า หมอฟันนั้นไม่ใช่มีไว้เพื่อถอนฟันหรือทำฟันปลอมอย่างเดียว แต่มีไว้เพื่อรักษาป้องกันมิให้ฟันของท่านผุกร่อนหรือเป็นโรคอีกด้วย จึงควรใช้หมอฟัน หรือทันตแพทย์ของเราให้เกิดประโยชน์แก่ตัวท่านและบุตรหลานเสียก่อนฟันจะหมดปาก

ฟันนั้น นอกจากจะใช้เคี้ยวหรือบดอาหารแล้ว ยังเป็นฐานกรณ์ที่เกิดของเสียงด้วยพยัญชนะบางตัวมีเสียงเกิดแต่ไรฟันที่เรียกว่า ทันตชะ เช่น พยัญชนะ ด ต ถ ท ธ น เป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว ผู้ที่ฟันห่างหรือฟันไม่มี จะออกสำเนียงพยัญชนะเหล่านี้ไม่ชัด ถ้าเป็นภาษาพระก็เรียกว่า อักษรวิบัติ ใช้ไม่ได้ อย่างนักร้องบางคนที่มีแต่เสียงที่เกิดจากริมฝีปาก และเสียงที่เกิดแต่ลำคอเท่านั้น แต่เราก็นิยมกันว่าร้องเพราะ ด้วยเป็นเสียงที่แปลกกว่าคนอื่น

นอกจากนี้ ฟันของคนเรา เป็นอวัยวะที่เสริมเสน่ห์อย่างหนึ่ง ผู้ที่มีฟันสวยงามไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย มักจะมีเสน่ห์มากกว่าคนที่ฟันไม่สวย สมัยโบราณมีหลายชาติที่นิยมฟันเป็นสีอื่นไม่ใช่สีขาวอย่างทุกวันนี้ อย่างน้อยก็คนไทย นิยมย้อมฟันให้มีสีดำ ว่าทำให้ฟันทน สิ่งที่จะเอามาย้อมฟันดำนั้นเรียกว่าซี่ โดยใช้กะลามะพร้าวเผาให้เป็นถ่านบดให้ละเอียดแล้วผสมยางไม้ น้ำมะนาวถูฟันจนเกิดสีดำมันวาว ในหนังสือจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส และได้เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการย้อมฟันของคนไทยไว้ตอนหนึ่งว่า

“การที่ชาวสยามจะย้อมฟันให้ดำนั้น ให้เอามะนาวร้อนจัดๆ แก่พอทนได้เข้าคาบฟันไว้กดถึงเหงือกราวสักชั่วโมงหรือกว่า ชาวสยามบอกว่าการทำเช่นนี้ ทำให้ฟันอ่อนลงได้เล็กน้อย แล้วจึงถูฟันด้วยชี่ ซึ่งเอาออกจากรากไม้อย่างหนึ่ง หรือออกจากกะลามะพร้าวที่สำรอกเอายางออก นี่แหละเป็นการย้อมให้ฟันดำละ (ในชั้นหลังๆ ข้าพเจ้าเคยเห็นบีบน้ำมะนาวลงในชี่แล้วถูฟัน ไม่เห็นขบมะนาวร้อน) กระนั้น บางทีชาวสยามสำราญใจที่จะกล่าวว่า การย้อมฟันนั้น จำเป็นต้องนอนอดข้าวไม่กินอาหารหยาบเลยอยู่ถึง ๓ วัน แต่บางคนยืนยันต่อข้าพเจ้าว่า ข้อที่ว่านี้ไม่จริง เป็นแต่ไม่กินอาหารร้อนๆ สักสองหรือสามวัน ข้าพเจ้าเองเชื่อว่าฟันมนุษย์ค่อนข้างเคลือบมันลื่น ยากจะย้อมให้กรังแน่นอยู่ได้จนถึงสามารถที่จะเคี้ยวอาหารกระด้างได้ โดยไม่ลอกไม่กะเทาะ คงเป็นการจำเป็นต้องซ่อมย้อมใหม่เนืองๆ ถ้าจะให้ฟันดำขลับอยู่เสมอ”  นอกจากนี้ในจดหมายเหตุนี้ยังบอกไว้ด้วยว่าคนไทยสมัยนั้นยังนิยมย้อมเล็บให้เป็นสีแดงด้วย โดยใช้น้ำข้าวผสมกับใบไม้ ก็คงจะเป็นใบเทียนนั่นเอง นับว่าคนไทยเรารู้จักแฟชั่นแต่งเล็บมานานแล้วเหมือนกัน

แฟชั่นนิยมย้อมฟันดำ มาเลิกเสียเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง คือเมื่อยาสีฟันฝรั่งเข้ามามากแล้วนั่นเอง เข้าใจว่า ที่คนไทยเราย้อมฟันให้ดำ นอกจากเพื่อให้คงทนแล้ว ยังทำให้กลิ่นปากสะอาดอีกด้วย เพราะลาลูแบร์ว่า ตนไม่เคยพบคนไทยมีกลิ่นปากไม่สะอาด  เป็นเหตุให้ความรักเลือนหายไปๆ อย่างคำโฆษณาขายยาสีฟันทุกวันนี้ แต่เหตุที่คนไทยไม่มีกลิ่นปาก อาจจะเนื่องมาจากคนไทยนิยมกินหมากก็ได้เหมือนกัน

นอกจากนิยมฟันดำแล้ว บางชาติยังนิยมฟันสีแดงเสียอีกด้วย อย่างน้อยก็คนชวาคงจะนิยมสีเช่นว่านี้ เพราะปรากฏว่าวิหยาสะกำนั้นมีฟันสีแดง ดังกลอนเรื่องอิเหนาตอนวิหยาสะกำตายตอนหนึ่งว่า

“ตรัสพลางย่างเยื้องยุรยาตร        องอาจดังไกรสรสีห์
สองระตูตามเสด็จจรลี            ไปที่วิหยาสะกำตาย
มาเห็นศพทอดทิ้งกลิ้งอยู่        พระพินิจศพดูแล้วใจหาย
หนุ่มน้อยโสภาน่าเสียดาย        ควรจะนับว่าชายโฉมยง
ทนต์แดงดังแสงทับทิม            เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
เกศาปลายงอนงามทรง        เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา”

ที่ฟันแดงเข้าใจว่าเพราะชาวชวากินหมากเช่นเดียวกับคนไทยหรืออาจจะย้อมฟันก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง

การรักษาฟันของคนโบราณ ก็คือหากปวดฟันก็เข้าใจกันว่าเป็นรำมะนาด จึงต้องหายาแก้รำมะนาดทาที่ฟัน นอกจากนี้สมัยก่อน แปรงถูฟันยังไม่แพร่หลาย คนไทยเราอาศัยไม้จิ้มฟัน เป็นเครื่องทำความสะอาดฟัน แต่สำหรับพระสงฆ์องค์เจ้าแล้ว เรามีไม้สีฟันให้ท่านใช้เหมือนกัน ไม้สีฟันนั้นเป็นไม้เนื้ออ่อนบางชนิด เช่นข่อย เป็นต้น วิธีทำก็คือไปตัดไม้สดๆ โตไม่เกิดข้อมือ ตัดให้ยาวท่อนละประมาณสักคืบกว่าๆ แล้วหาไม้มาต่อยจนไม้นั้นนุ่มเป็นฝอย แล้วผ่าออกเป็นซี่ๆ เหลาปลายด้านที่ไม่มีฝอยให้เรียวแหลมเป็นไม้จิ้มฟัน ส่วนด้านที่มีฝอยก็ทำเป็นแปรงถูฟัน เวลาเข้าพรรษาสมัยก่อน เราจะเป็นชาวบ้านนำไม้ถูกฟันนี้ไปถวายพระเป็นมัดๆ แต่สมัยนี้แปรงถูฟันเข้ามามีบทบาทไม้สีฟันก็เลยหายไปด้วย เพราะไม่สะดวกแก่การที่จะทำหรือใช้นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมดาโลก

เมื่อฟันน้ำนมหลุด คนโบราณเขาถือเคล็ดลับอย่างหนึ่งคือ ถ้าฟันน้ำนมข้างบนหลุดให้เอาฟันนั้นโยนลงใต้บันไดเรือน แต่ถ้าฟันข้างล่างหลุดให้โยนขึ้นหลังคา ว่าทำให้ฟันแท้งอกออกมาเร็วๆ เท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าเองก็เคยทำมาแล้ว นี้เป็นมรดกอย่างหนึ่งของเรา เรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรม เชื่ออะไรตามๆ กันมา หาเหตุผลไม่ได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

โรคในช่องปาก

โรคในช่องปากนั้นมีอยู่มากมาย สาเหตุเนื่องมาจากฟันไม่ดีแทบทั้งนั้น ดังนั้นการรักษาฟันให้สะอาดจึงเป็นการป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้อีกด้วยโรคฟัน

ฟันนั้นนอกจากมีหน้าที่บดอาหารแล้ว ยังทำให้รูปหน้าของคนเราสวยงามคงรูปไม่เหี่ยวย่นหรือยานเกินกว่าวัยได้อีกด้วย คนที่ฟันหลุดฟันร่วงแล้วไม่ใส่ฟันปลอมเสียใหม่นั้น ทำให้รูปหน้าเปลี่ยนไปได้เหมือนกัน มีผู้เล่าให้ฟังว่า ตอนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี  พนมยงค์ หนีการเมืองนั้น ครั้งแรกหนีไปอยู่ที่ชลบุรีก่อน แต่ก็ไม่รู้จะออกนอกประเทศได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องเข้ามาพึ่งพาอาศัยสถานทูตของประเทศหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่การที่จะผ่านด่านตรวจของฝ่ายรัฐบาลใหม่เข้ามากรุงเทพฯ นั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย เพราะใครๆ ก็รู้จักท่านหลวงประดิษฐ์ฯ ใส่ฟันปลอมอยู่ จึงจัดการถอดฟันปลอมออกเสีย แต่งเครื่องแบบพันจ่าทหารเรือ ว่ากันว่าแม้แต่เอกอัครราชทูตของประเทศที่เคยคุ้นเคยกัน กว่าจะรู้จักก็ต้องแนะนำกันเป็นเวลาหลายนาทีเหมือนกันทั้งนี้ก็เพราะฟันเป็นเหตุนั่นเอง

โรคของฟันนอกจากฟันผุแล้วยังมีโรคอีกหลายโรคเช่น เหงือกอักเสบ อันเกิดจากการปล่อยให้หินน้ำลายและคราบสีดำจับบนฟัน แล้วไม่ขูดออก หรือมีโรคของร่างกายบางอย่างเป็นสาเหตุให้เหงือกอักเสบได้ ลักษณะของเหงือกอักเสบ คือเหงือกจะขรุขระขอบไม่เรียบร้อย และแยกตัวห่างออกจากตัวฟัน เมื่อเคี้ยวอาหารหรือบ้วนปากแต่เพียงเบาๆ จะทำให้เลือดออกง่าย นอกจากนี้เหงือกอักเสบอาจเกิดจากการแคะเศษอาหารด้วยไม้จิ้มฟัน การแปรงฟันไม่ถูกวิธีเป็นต้น

โรคฟันอีกชนิดหนึ่ง เรียกตามศัพท์แพทย์ว่า โรคปริทันต์ ถ้าจะแปลตามตัวก็คงจะได้ความว่า “โรครอบๆ ฟัน” นั่นเอง เพราะโรคนี้เป็นกับเหงือกและเนื้อเยื่อที่อยู่รอบรากฟัน รวมทั้งส่วนของขากรรไกรที่อยู่รอบรากฟัน มีอาการเหงือกอักเสบหรือมีอาการอักเสบเรื้อรังนานๆ เข้าเหงือกกับเนื้อเยื่อรอบๆ รากฟันจะค่อยๆ สลายตัวไปได้ จะเห็นว่ามีเหงือกรน และฟันแต่ละซี่จะยาวขึ้น เหงือกแยกตัวออกจากฟันทำให้เกิดฟันโยก มีอาการเจ็บปวดโดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาหาร และมีกลิ่นปากเหม็น โรคปริทันต์มักมีสาเหตุมาจากหินน้ำลาย ปากสกปรก และเหงือกอักเสบเรื้อรัง แต่คนที่มีปากสะอาดก็พบว่าเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากเป็นโรคอย่างอื่นด้วย เช่น โรคประจำตัวบางอย่าง โรคเบาหวาน เป็นต้น เมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคปริทันต์ ควรจะรีบไปหาทันตแพทย์หรือหมอฟันทันที อย่าปล่อยให้เนิ่นนาน เพราะจะเกิดโรคอีกหลายอย่างตามมา บางทีก็อาจจะสายเกินแก้ โรคนี้มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ ๓๕ ปีล่วงไปแล้ว และผู้ที่มีอายุปูนนี้มักจะเป็นโรคของฟันอย่างอื่นด้วย เพราะเราใช้ฟันมานานแล้วนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ฟันมีกี่ชุด

ฟันนั้นคือสิ่งที่แข็งเหมือนกระดูกเป็นซี่ๆ อยู่ในปาก สำหรับกัดฉีกเคี้ยว มีอยู่ทั้งในคนและสัตว์ฟัน

ฟันนับเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งของมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะคนเรานั้น ฟันคือเครื่องบดอาหารอันดับแรก ก่อนที่จะกลืนลงไปให้น้ำย่อยในกระเพาะทำหน้าที่ย่อยแล้วส่งอาหารไปบำรุงเลี้ยงร่างกายอีกต่อหนึ่ง หากเครื่องบดชำรุดหรือไม่สมประกอบ ภาระอันหนักก็จะตกอยู่แก่กระเพาะหรือน้ำย่อย ถ้าเราเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เพราะฟันเราไม่ดีก็ดี หรือเพราะรีบรับประทานเกินไปก็ได้ เป็นเหตุให้กระเพาะอาหารพิการหรือท้องไม่ปกติได้ ยิ่งกว่านั้นถ้าฟันผุหรือพิการไปแล้วอาจจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้อีกหลายประการทีเดียว ดังนั้น เรามาพูดกันถึงเรื่องฟันกันสักหน่อยก็คงจะไม่เสียเวลาเปล่าเสียทีเดียว

ฟันนั้นมีอยู่สองชุด ฟันชุดแรกเรียกว่าฟันน้ำนม ส่วนฟันชุดที่สองเรียกว่าฟันแท้ หรือฟันถาวร ฟันทั้งสองชุดนี้ความสำคัญพอๆ กัน บางท่านว่าฟันน้ำนมนั้นไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยรักษาฟันน้ำนมของเด็กให้ดีเท่าที่ควร เพราะถือเสียว่ามีอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก หมอฟัน หรือทันตแพทย์ท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าเราไม่รักษาฟันน้ำนมให้ดีแล้ว ฟันแท้ก็จะงอกออกมาไม่ดีเท่าที่ควรเหมือนกัน ดังนั้น ฟันน้ำนมหรือฟันแท้ก็ควรจะได้รักษาเอาใจใส่พอๆ กัน

คนเรามีฟันเมื่อไร ตามความเข้าใจของคนธรรมดานั้นเข้าใจกันว่า ฟันซี่แรกจะงอกมาเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วได้ ๖ เดือนขึ้นไป ความจริงแล้ว        ทันตแพทย์ท่านบอกว่าฟันเริ่มเกิดขึ้นเมื่อทารกอายุได้ ๖ อาทิตย์ และยังอยู่ในครรภ์มารดา หมายความว่า พอเราปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดาได้ ๖ อาทิตย์ ก็จะมีฟันขึ้นแล้ว แต่ยังไม่โผล่พ้นเหงือกออกมาเท่านั้น ในเด็กธรรมดา ระยะการงอกของฟันน้ำนมหรือฟันชุดแรกมีดังนี้

ฟันล่างสองซี่เริ่มขึ้นมาเมื่อเด็กเกิดแล้วได้ ๖ เดือน ถึง ๑ ปี ต่อมาฟันหน้าบนสองซี่และฟันน้ำนมซี่อื่นๆ จึงงอกตามมา ฟันน้ำนมขึ้นเต็มปากเมื่อเด็กอายุได้ ๒ ขวบครึ่ง ฟันน้ำนมมีทั้งหมด ๒๐ ซี่ คือข้างบน ๑๐ ซี่ ข้างล่าง ๑๐ ซี่ ฟันน้ำนมนี้ พอเด็กอายุ ๕ ปีขึ้นไปถึง ๑๒ ปี ก็จะทยอยหลุดไปและมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ ฟันแท้ซี่แรกเป็นฟันกราม ฟันหน้าแท้ทั้งบนและล่างขึ้นเมื่ออายุได้ ๗ ปี เมื่อเด็กอายุได้ ๑๒ ปี ควรมีฟันแท้ในปาก ๒๘ ซี่ และฟันกรามซี่สุดท้าย ๔ ซี่ บางท่านก็เรียกว่ากรามสุด บางท่านเรียก “ฟันฉลาด” ทำไมจึงเรียกว่าฟันฉลาดก็ไม่ทราบ กรามสุดนี้อาจขึ้นเร็วหรือช้าง่ายหรือยากก็ได้ มีระยะเวลาขึ้นกว่าจะเต็มซี่ตั้งแต่อายุ ๑๘ ถึง ๔๐ ปี รวมความแล้วฟันแท้ของคนเรามีทั้งหมด ๓๒ ซี่ เมื่อฟันแท้ขึ้นเต็มที่แล้ว หากฟันซี่ไหนหลุดโยกคลอนถอนไปก็ไม่มีฟันขึ้นมาใช้แทนอีก นอกจากจะใช้ฟันชุดที่สาม คือฟันปลอม

ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่าฟันนั้นเป็นเครื่องบดอาหารชั้นต้น ถ้าเครื่องบดไม่ดีแล้วก็อาจทำให้สุขภาพของเราไม่ดีได้ เราจะเห็นคนแก่บางคนมักบ่นเสมอว่า ฟันฟางไม่ดีรับประทานอาหารอะไรก็ไม่อร่อย ไม่มีรสไม่มีชาด และคนแก่ก็พาลจะเป็นโรคท้องอืดท้องเฟ้ออยู่เรื่อย เป็นเหตุให้ยาธาตุ ยาย่อยอาหารที่ประกาศโฆษณาทางวิทยุขายดี เป็นเทน้ำเทท่า ดังนั้น ก่อนที่จะสายเกินแก้ เราจึงควรจะรักษาหรือถนอมฟันเสียตั้งแต่เริ่มแรก วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาฟันก็คือระวังเรื่องอาหาร เด็กส่วนมากฟันผุเพราะรับประทานขนมหวาน เช่น ทอฟฟี่ เป็นต้น แล้วไม่แปรงฟันให้สะอาดก็จะเกิดเป็นกรดกัดฟันจนผุไป นอกจากนี้ ก็ควรจะพาเด็กไปพบทันตแพทย์หรือหมอฟันปีหนึ่งสักครั้งหรือสองครั้ง แม้ว่าเด็กจะไม่ปวดฟันก็ตาม ทั้งนี้ ทันตแพทย์จะได้ให้คำแนะนำแก่เราหรือเด็กในการรักษาฟันหรือให้คำแนะนำในการทำให้สุขภาพของฟันดีขึ้น สมัยนี้วงการทันตแพทย์ของเราเจริญมากแล้ว ไม่ใช่มีหน้าที่แต่ถอนฟันหรือทำฟันปลอมอย่างแต่ก่อน แต่ทันตแพทย์สามารถดัดแก้ไขฟันที่เกขึ้นไม่เรียบร้อยให้เป็นระเบียบขึ้นได้ หากว่าเราจะได้พาเด็กไปพบเสียแต่เนิ่นๆ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เครื่องถมไทย

การถมก็คือการสลักลวดลายลงบนภาชนะที่ต้องการจะถม แล้วเอาตัวยาที่จะถมซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและทองแดง ถมลงล่องของลวดลายนั้น แล้วขัดให้ผิวเรียบ ตัวยาที่ถมเป็นสีดำถ้าเอาเงินมาทำเป็นภาชนะ สีเงินกับสีเครื่องถมดำก็จะตัดกันเป็นลวดลายสวยงาม ถมที่มีชื่อได้แก่ถมที่ทำจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเรียกกันว่าถมนคร

อย่างไรก็ตาม เครื่องถมไทยนั้น อย่างน้อยก็มีใช้มาแล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพานนั้น ก็ใช้มาแล้วในสมัยนั้นเช่นกัน พานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นั้น เป็นพานแว่นผ้า พานแว่นฟ้าคือพานที่ประดับกระจก และโดยมากซ้อนกันสองลูก จดหมายเหตุราชทูตไทยไปเฝ้าโปป ณ กรุงโรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชสาส์น ราชสาส์น….ม้วนบรรจุไว้ในผอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่…ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทอง หีบถมตะทองตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ อุปทูตเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการ…ตรีทูตเชิญของถวายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์….มีถุงเข้มขาบพื้นเขียวหุ้ม ๑ ถุง ตั้งบนพานถมตะทองสำหรับถวายโปป….”

ตามจดหมายเหตุฉบับนี้แสดงว่าพานนั้นเราใช้เป็นของสูงมานานแล้ว และทำให้เรารู้ว่านอกจากพานถมเงินแล้ว ยังมีถมทอง ถมตะทอง ลงยาราชาวดีอีกด้วย เรื่องเหล่านี้เห็นจะต้องพูดเสียในคราวนี้ด้วย

ถมเงินนั้นได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น ส่วนถมทอง ก็เนื่องมาจากถมเงินนั้นเอง คือเมื่อถมเงินแล้ว เนื้อเงินยังขาวอยู่ ช่างก็เอาทองมาทาลงบนเนื้อเงินนั้นอีกทีหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรทองจึงจะติดอยู่กับเนื้อเงินนั้น ไม่ใช่วิสัยที่จะพูดในที่นี้ ยกให้เป็นเครื่องของช่างเขาโดยเฉพาะ

ยังมีคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า “ถมตะทอง” คำนี้ว่าเป็นคำพูดของพวกช่าง ความจริงคือถมแต้มทอง ถมตะทองนั้นก็ถมเงินนั่นเอง แต่มีทองแต้มระบายไว้เป็นแห่งๆ เช่น ถ้าถมนั้นมีลายเป็นเถาไม้ ก็อาจจะระบายเฉพาะดอกไม้ให้เป็นสีทองเป็นแห่งๆ ได้ระยะกัน

อีกคำหนึ่งคือ “ลงยาราชาวดี” คำนี้หมายความว่า ลงน้ำยาทองให้เป็นสีฟ้านั่นเอง “ราชาวดี” ว่าเป็นคำมาจากเปอร์เชีย และการลงยาราชาวดีว่าได้มาจากเปอร์เชียก่อน

เมื่อพูดถึงพานแล้ว ถ้าไม่พูดถึงพานสำหรับรองรับรัฐธรรมนูญแล้วก็เห็นจะไม่สมบูรณ์ท่านที่เคยเห็นภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเห็นว่าบนนั้นมีพานแว่นฟ้าสองชั้นมีภาพสมุดข่อยวางอยู่บนพานนั้น แสดงว่าเป็นสมุดที่จารึกรัฐธรรมนูญ ซึ่งของจริงก็วางไว้บนพานแว่นฟ้าเช่นเดียวกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี