พิธีอัศวเมธของชาวอินเดีย

Socail Like & Share

ในอินเดียโบราณมีพิธีประกาศความเป็นใหญ่เป็นโตของพระราชาอยู่พิธีหนึ่งเรียกว่าพิธี “อัศวเมธ” คือการฆ่าม้าบูชายัญ

พิธีนี้ คุณสุชีพ  ปุญญานุภาพ เล่าไว้ในหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งศาสนาพุทธว่า “ได้มีการเลือกม้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องดูแลประคบประหงมเป็นพิเศษตลอดเวลาสามปี มีการบูชาเทวดา ๓ องค์ คือพระอินทร์ เพื่อให้ดูแลลูกม้าตัวนั้น พระยมเพื่อให้ป้องกันม้านั้นจากความตายและอุบัติเหตุต่างๆ พระวรุณเทพเจ้าแห่งฝนเพื่อให้ฝนตกลงมายังความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน เพื่อจะได้มีหญ้าดีๆ ให้ลูกม้านั้นกิน”

“ภายหลังที่ลูกม้านั้นอายุเกิน ๓ ปีแล้ว ก็มีการปล่อยให้เที่ยวไปตามชอบใจ มีผู้คนติดตามไปเป็นอันมากและมีกองทัพยกตามไปด้วย เข้าบ้านเมืองไหนถ้าเขายอมแพ้ก็แล้วไป ถ้าไม่ยอมแพ้ก็รบกัน คราวนี้มีผู้ใดต้องการทำลายพิธีนี้ ผู้นั้นก็ยกทัพมาไล่จับม้า ถ้าจับได้ก็ทำลายพิธีสำเร็จ แต่โดยมากผู้ที่จะทำพิธีนี้มักแน่ใจในชัยชนะ คือได้เตรียมการรุกรานไว้แล้ว”  และมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมในหนังสือเล่มอื่นว่า “เจ้าชายแห่งประเทศต่างๆ ที่ม้านี้ผ่านไป ถ้ายอมแพ้ก็ต้องร่วมไปในขบวนทัพที่ติดตามม้านี้ด้วย เมื่อครบปีแล้วจึงพาม้ากลับเมืองแล้วฆ่าม้านั้นบูชายัญ” พูดง่ายๆ ก็ว่าพิธีอัศวเมธนี้เป็นวิธีการล่าเมืองขึ้นชนิดหนึ่งของจักรพรรดิ์โบราณหาเหตุอะไรไม่ได้แล้ว ก็หาเหตุปล่อยม้ายกทัพผ่านเมืองชาวบ้านเล่นอย่างนั้นแหละ

พระยาสัจจาภิรมย์เล่าไว้ในหนังสือเทวกำเนิดของท่านว่า “พิธีอัศวเมธทำได้แต่เฉพาะผู้เป็นราชาธิบดี การที่ทำก็มุ่งหมายเพื่อขอพรพระผู้เป็นเจ้า ในสมัยโบราณกาลนิยมว่าเป็นพิธีสำหรับขอลูก ต่อมาภายหลังจึงถือกันว่าเป็นพิธีแผ่อำนาจ แรกลงมือทำจะต้องกระทำการบูชาไฟ (อัคนิษโฏม) และสมโภชม้าตัวรัก แล้วก็ปล่อยม้าเที่ยวไปตามใจ มีกองทัพตามไปด้วย เมื่อผ่านเข้าไปในแว่นแคว้นใด ผู้ครองแว่นแคว้นนั้นยอมอ่อนน้อมก็ต้องรับรองม้าด้วยความเคารพ ถ้าไม่ยอมก็ต้องรบกับกองทัพที่ตามมานั้นไป เมื่อม้านี้เที่ยวไปได้หนึ่งปี โดยไม่มีอุปสรรคอย่างใดแล้วก็นำม้านั้นกลับมา แล้วสมโภชฉลองกันเป็นครั้งใหญ่ จึงฆ่าม้าตัวนั้นบูชายัญ (เผาไฟ) โดยปกติ นัยว่า ผู้ฆ่าม้าจะต้องเป็นพระอัครมเหสี”

ม้าที่ใช้ในการประกอบพิธีอัศวเมธนี้ต้องใช้ม้าที่ดี ส่วนมากจะเป็นม้าทรงของพระราชาและม้าเช่นนี้เรียกว่าม้าอุปการ อย่างที่เรียกกันว่าปล่อยม้าอุปการ ก็คือการทำพิธีอัศวเมธนี่เอง เรื่องของพิธีอัศวเมธมีในวรรณคดีของเราหลายเรื่อง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิลราชคำฉันท์ เป็นต้น ผู้สนใจโปรดค้นคว้าเอาจากหนังสือนั้นๆ เถิด

เมื่อพูดถึงเรื่องม้าในวรรณคดีแล้ว ถ้าไม่พูดถึงม้าอีกตัวหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณีของท่านสุนทรภู่ก็ดูจะไม่สมบูรณ์นัก ม้านั้นคือม้านิลมังกร ซึ่งเป็นม้าทรงของสุดสาคร ท่านสุนทรภู่พรรณนาลักษณะของม้านิลมังกรไว้ว่า วันหนึ่งสุดสาครลงไปเล่นน้ำปล้ำกับปลาแล้วขี่ปลาไปเที่ยวเล่น

“พอพบม้าหน้าเหมือนมังกรร้าย        แต่กีบกายนั้นเป็นม้าน่าฉงน
หางเหมือนอย่างหางนาคปากคำรณ    กายพิกลกำยำดูดำนิล”

และฤาษีเกาะแก้พิสดารได้ทราบกำเนิดของม้าตัวนี้ โดยการเข้าฌาณว่า

“พระทรงศิลยินสุดสาครบอก    นึกไม่ออกอะไรกัดเหมือนมัจฉา
จึงเล็งญาณฌานชิดด้วยฤทธา    ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน
ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ    ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน
หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์    พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน”

ม้านิลมังกรเป็นม้าที่แปลกเพราะพ่อเป็นมังกรแต่แม่เป็นม้า และอาหารที่มันกินก็แปลกเพราะ

“กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้        มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดระฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน    ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน”

รวมความแล้วม้ามังกรของสุดสาครนั้นมีฤทธิ์เดชมากก็แล้วกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี