ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์

นักดนตรีเอกของไทย ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงและประพันธ์เพลง ประกอบละคร ภาพยนตร์ เพลงปลุกใจ เพลงเทิดพระเกียรติ เพลงประจำสถาบัน และเพลงเนื่องในโอกาสพิเศษอื่นๆ จำนวนมาก จนกระทั่งได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งซาติ สาขาการแสดง (เพลงไทยสากล) นอกจากนั้นยังอุทิศตนบำเพ็ญคุณประโยชน์ด้านดนตรี ในการสร้างสรรค์ความมั่นคงของชาติมาโดยตลอดท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์

ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ มีนามเดิมว่า หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ เป็นธิดาของนายพันตรี นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ กับคุณยี่สุ่น สกุลเดิม มังกรพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ชื่อ พวงร้อย นั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิทประทานให้ มีความหมายว่า ดอกไม้เลื้อย หนึ่งพวงมีร้อยดอก เพื่อให้คล้องกับชื่อมารดา คือ ยี่สุ่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ หม่อมหลวง สร้อยระย้า ยุคล พี่สาว หม่อมหลวงซัง สนิทวงศ์ พี่ชาย และหม่อมหลวงคงคา สนิทวงศ์ น้องชาย

เมื่อเยาว์วัย ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ อยู่ที่บ้านบางรักริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ปากคลองบางรัก จนกระทั่งอายุ ๕ ปี จึงย้ายไปอยู่ที่บ้านบางซ่อน ใกล้สะพานพระราม ๖ เมื่ออายุ ๗ ปี จึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยเรียนวิชาเปียโนควบคู่ไปด้วย และสนใจเรียนวิชาดนตรีและการประพันธ์เพลง มากกว่าวิชาสามัญอื่นๆ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในด้านการประพันธ์เพลง หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ชีวิตของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ คลุกคลีและผูกพันกับดนตรีมาโดยตลอด เพราะบิดาของท่านเป็นนักดนตรี ได้สะสมแผ่นเสียงเพลงอุปรากรไว้จำนวนมาก หลังจากสำเร็จวิชาแพทย์จากสกอตแลนด์ แล้ว จึงนำแผ่นเสียงเพลงกลับมาด้วย และได้เปิดฟังอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังซื้อเปียโนมาด้วย ๑ หลัง สมัยนั้นเรียกกันว่า หีบเพลง เพราะมีลักษณะเหมือนหีบสูงๆ และมีเพียง ๒ หลังในประเทศไทย คือ ที่วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อีกแห่งหนึ่ง ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ จึงหัดเรียนดนตรีครั้งแรกจากเปียโน และเริ่มแต่งเพลงสั้นเล่นกับเปียโนได้ตั้งแต่เมื่อย้ายไปอยู่บ้านบางซ่อน ต่อมา จึงเริ่มหัดกีตาร์ซึ่งเป็นกีตาร์ไม้ตัวแรกในชีวิต และเป็นกีตาร์คู่ชีพ ซึ่งท่านใช้แต่งเพลงอีกหลายเพลง

หลังจากท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยใน พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ ได้ชักชวนท่านและเพื่อนรวม ๕ คน เล่นแชมเบอร์มิวสิค (Chamber Music) โดยให้ท่านเล่นเปียโน และสมาชิกวงแชมเบอร์มิวสิคนี้ เล่นกันทุกวันอังคาร ติดต่อกันมานาน เป็นเวลาเกือบ ๒๒ ปี รวมทั้งจัดคอนเสิร์ตหารายได้ช่วยเหลือสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นการกุศลทุกปี

ในด้านการประพันธ์เพลงท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ได้ประพันธ์ทำนองเพลง ศุภฤกษ์ดิถี และ เพลงเรือนรัก ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖ และเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงพระนิพนธ์ เรื่อง ถ่านไฟเก่า เพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ในฐานะที่พระองค์เป็นพระสวามีของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล หลังจากพระองค์ทรงพระนิพนธ์คำร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเพลง บัวขาว และ ในฝัน แล้ว ทรงมอบให้ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ประพันธ์ทำนองเพลง โดยรับสั่งว่า “ก็เล่นเพลง ป็อปปูล่าได้ทำไมจะแต่งไม่ได้ ให้ลองดูก็แล้วกัน”

ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ใช้เวลาแต่งทำนองเพลงบัวขาวประมาณ ๔๕ นาที หลังจากจุดธูปอธิษฐานบอกกล่าวขอพรจากบิดาผู้ล่วงลับไปแล้วว่า ให้สามารถแต่งทำนองเพลงบัวขาวให้ได้ไพเราะ และมีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๒ เพลงบัวขาว ได้รับคัดเลือกให้เป็น “เพลงในเอเชีย” จากมติที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญทางการผลิตอุปกรณ์ดนตรี ในเอเชียครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนเพลงในฝันนั้น ท่านได้ชักชวน หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ น้องชายต่างมารดาแต่งทำนองเพลงร่วมกัน

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านผู้หญิงพวงร้อย สมรสกับนายเชียด อภัยวงศ์ ซึ่งพบกันในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าภาคพื้นยุโรป พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยนายเชียด เป็นผู้แสดงคนหนึ่งในละคร เรื่อง จุดไต้ตำตอ ที่มีเพลงประกอบละคร ๘ เพลง ซึ่งท่านผู้หญิงพวงร้อย เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงทุกเพลง คือ ตาแสนกลม รักเธอแต่แรกยล ชายในฝัน โอ้ความรัก แสนห่วง ไทยเบิกบาน หัวใจเดียว และรินเข้าริน ท่านทั้งสองคนมีบุตรธิดา ๓ คน คือ นายกสก อภัยวงศ์ นางมัทนพันธุ์ ดุละลัมพะ และนางพัชราภรณ์ บุนนาค

หลังจากท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ฝึกฝนด้านดนตรีจนเชี่ยวชาญแล้ว ท่านได้เข้าทดสอบเทียบความรู้ทางเปียโน ในระดับปริญญาตรีจากสถาบัน Trinity Col¬lege of Music, London ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗

ผลงานประพันธ์เพลงของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ มีจำนวน มากถึง ๑๒๔ เพลง มีทั้งเพลงประกอบละครและภาพยนตร์ เพลงปลุกใจ เพลงเทิดพระเกียรติ เพลงสถาบันและเพลงในโอกาสพิเศษต่างๆ ด้วยความรู้ความสามารถทางดนตรีของท่านดังกล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสียสละทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ สร้างสรรค์งานและบุคลากรทางดนตรีของท่าน เช่น บริจาคเงินเป็นทุนเริ่มแรกในการก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย สอนเปียโนและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ทางดนตรีมากยิ่งขึ้น ฯลฯ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงยกย่องท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๐

นอกจากนั้น ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ คือ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดุริยางคศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย (ดนตรีวิจักษ์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เหนือสิ่งอื่นใด ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๑๙ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า
พ.ศ. ๒๕๒๑ ตติยจุลจอมเกล้า
พ.ศ. ๒๕๒๗ ทุติยจุลจอมเกล้า
พ.ศ. ๒๕๓๓ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และ
พ.ศ. ๒๕๓๕ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวและไตวาย เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ รวมอายุได้ ๘๖ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานเพลิงศพที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ปีเดียวกัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ศิรินันท์ บุญศิริ

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา

“ไทย” เป็นชาติอารยะ มีวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามมาแต่โบราณกาล ความดีงามดังกล่าวได้หล่อหลอมชนในชาติให้เจริญรุ่งเรืองโดยลำดับตลอดทุกยุคสมัย แต่ความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมจักไม่ปรากฏ และมิสามารถดำรงอยู่ได้ หากปราศจากผู้เกื้อหนุนผลักดัน โดยเฉพาะ “สตรีไทย” มีบทบาท
สำคัญ ช่วยนำพาให้วัฒนธรรมประเพณีที่ดีของไทยยืนหยัดทัดเทียมสากลได้ ตราบจนถึงปัจจุบัน สตรีไทยกอปรด้วย ความสามารถ คล่องแคล่ว อุตสาหะ รักงาน มุ่งปฏิบัติภารกิจเพื่อสังคม และประเทศชาติ สตรีท่านหนึ่ง ดำรงคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น ทั้งยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทุกพระองค์สืบมาตลอดชีวิตอันยาวนานถึง ๕ รัชกาล จนอาจกล่าวขานกันว่า “สตรีห้าแผ่นดิน” สตรีท่านนั้น คือ “ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา”ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา สกุลเดิมคือ “ไกรฤกษ์” เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะโรง วันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๗ ณ ตำบลตึกแดง ใกล้ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี เป็นบุตรีคนที่สองของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ขณะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์” และท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๒ คน บิดาตั้งนามบุตรและธิดาห้าคนแรกตามราชทินนามที่ได้รับพระราชทานในขณะนั้น โดยแยกราชทินนามออกแต่ละคำคือ “จักร” “ปาณี” “ศรี” “ศีล” “วิสุทธิ์’” และนำชื่อเหรียญตราที่ได้รับพระราชทาน มาตั้งนามของบุตรีอีกสองคนคือ “ดุษฎีมาลา” และ “รัตนาภรณ์” โดยเฉพาะเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา เป็นเหรียญที่ท่านได้รับพระราชทาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ก่อนท่านผู้หญิงดุษฎีมาลากำเนิด ๗ ปี เพราะสอบได้เนติบัณฑิตชั้นที่ ๑ คนแรกของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้บรรดาญาติสนิทและผู้ใกล้ชิดจึงเรียกท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาว่า “คุณเหรียญ”

ลำดับพี่น้องทั้ง ๑๒ คน ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ปรากฏนามดังนี้

๑. เด็กชายจักร ไกรฤกษ์ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)

๒. นายปาณี ไกรฤกษ์ ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายจ่ายวด” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ขณะอายุ ๒๑ ปี

๓. นางสาวศรี ไกรฤกษ์ ภายหลังสมรสแล้วได้บรรดาศักดิ์เป็น “คุณหญิงศรี ไชยยศสมบัติ”

๔. เด็กชายศีล ไกรฤกษ์ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)

๕. นายวิสุทธิ์ ไกรฤกษ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงจักรปาณีศรี ศีลวิสุทธิ์”

๖. นางสาวดุษฎีมาลา ไกรฤกษ์ ภายหลังได้รับพระราชทานสายสะพายทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) เป็น “ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา”

๗. นายวิจิตราภรณ์ไกรฤกษ์

๘. นายภูษณาภรณ์ ไกรฤกษ์

๙. นางนิภาภรณ์ วิมลศิริ

๑๐. เด็กชายมัณฑณาภรณ์ ไกรฤกษ์ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)

๑๑. นางสาวดารา ไกรฤกษ์ ภายหลังเป็น “คุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ”

๑๒. นางรัตนาภรณ์ ยูนิพันธ์

เมื่อเยาว์วัยบิดามารดาได้เลี้ยงดูท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา อย่างสมัยใหม่ อาทิ ไม่ได้โกนผมไฟเช่นเด็กทั่วไป ทั้งตามใจจนเป็นเด็กดื้อ มารดาจึงให้เข้าโรงเรียนพร้อมพี่สาว คือ คุณหญิงศรีไชยยศสมบัติ เมื่ออายุไม่เต็ม ๔ ปี เป็นนักเรียนชั้นมูลคืบ โรงเรียนราชินี ครูผู้สอนอ่านเขียนระยะแรกคือ คุณหญิงภรตราชา แต่เพราะดื้อและเยาว์วัยจึงไม่สนใจเรียนเหมือนเด็กทั่วไป อย่างไรก็ตาม ท่านยังได้ร่วม แสดงชุด “รำธงช้าง” ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในงานประจำปีของโรงเรียน

เมื่อศึกษาใน่โรงเรียนได้ปีเศษ เกิดเหตุจำเป็นในครอบครัว บิดาจึงให้ยุติการเรียนในโรงเรียนระยะหนึ่ง และให้เรียนที่บ้านกับนายเปล่ง ดิษยบุตร (หลวงนัยวิจารณ์) เลขานุการส่วนตัวของบิดา จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนราชินีอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะนักเรียนในพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง เนื่องจากได้ถวายตัวเป็น ข้าหลวงเรือนนอกในพระองค์ฯ

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้ศึกษาชั้นมูลคืบ ค ข ก เป็นเวลา ๓ ปี แล้วจึงศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา มีหม่อมเจ้าหญิงศรีคทาลัย เทวกุล และหม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล เป็นครูประจำชั้นมูลคืบ ค และประถมศึกษาปีที่ ๑ ตามลำดับ นอกจากนั้นเมื่อศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ขณะนั้นคือ มัธยมศึกษาปีที่ ๗ – ๘) จึงได้ศึกษาวิชาต่างประเทศ เรียนเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส มีหลวงเรี่ยมวิรัชพากย์ เป็นครูสอนฝรั่งเศส และมิสซิสเบรียลี่ มิสซิสแคมเบส เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ จนสำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๖๖

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ยังได้ศึกษาขนบประเพณีไทยกับคุณท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) ผู้เป็นป้า ซึ่งถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอยู่ใน ราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เป็นใหญ่ในวังของพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และหัดละครรำไว้ถวายคณะหนึ่ง โดยเฉพาะได้ฝึกตัวละครพระเอกที่สำคัญจนได้เป็นหม่อมของพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา คือ หม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ซึ่งเป็นบุคคลที่รักและอุ้มชูท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาอย่างมาก อย่างไรก็ตามประสบการณ์ที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาได้รับขณะนั้น ทำให้ท่านมีทัศนคติในการสืบทอด อนุรักษ์ และจรรโลงขนบประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ประจวบกับการเจริญรอยตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดการแสดงละคร ทำให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลารักและสนใจ การแสดงอย่างมาก จนเป็นพื้นฐานให้ท่านจัดแสดงละคร โดยตั้งคณะละคร “สโมสรละครสมัครเล่น” เพื่อแสดงละครการกุศล และริเริ่มจัดประกวดมารยาทของนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนเขียนตำรับตำราอันเกี่ยวเนื่องกับมารยาทอันเป็นขนบประเพณีวัฒนธรรมของไทยที่เด็กไทยพึงปฏิบัติในสมัยต่อมา

ชีวิตในวัยทำงาน ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เริ่มเรียนรู้งานจากบิดา ระยะแรกเป็น “เสมียน” เขียนหนังสือตามคำบอก พิมพ์ดีดตามที่ได้รับมอบ ตลอดจนให้รับใช้ติดสอยไปตามสถานที่ต่างๆ ระยะต่อมาจึงเป็น “เลขานุการ” ส่วนตัวของบิดา เช่น แปลข่าว บทความในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ สยามออบเซอเวอร์เป็นภาษาไทยทุกวัน มีหน้าที่ถอนฝากเงิน ณ ธนาคารทุกวัน ควบคุมเงินใช้จ่ายในบ้าน นอกจากนี้ยังปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ในเรื่องราชการ และเรื่องที่เป็นความลับต่างๆ ทำให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลามีประสบการณ์ และความรู้รอบตัวกว้างขวางกว่าบุคคลทั่วไป

ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นนางพระกำนัล (Maid of Honour) ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เพื่อตามเสด็จฯ ไปในงานพระราชพิธีต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘

ครั้นถึงวัยสมควรมีครอบครัว ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้รับหมั้นกับหม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้และเป็นเพื่อนกับพี่ชาย (นายปาณี ไกรฤกษ์ หรือนายจ่ายวด) เป็นบุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ใหญ่สู่ขอ และสมรสเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คู่สมรสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ทรง “รับไหว้” ด้วยเงิน ๕ ชั่ง ส่วนสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีพระราชทานจี้ทับทิม พร้อมสร้อยข้อมือทับทิมล้อมเพชร ๑ สาย

ระยะแรกสมรสนั้น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา พำนัก ณ บ้านราชวิถี ๒- ๓ ปี แล้วย้ายไปอยู่บ้านของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ถนนหลานหลวง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงย้ายไปพำนักถาวร ณ บ้านปลูกใหม่ที่ซอยไชยยศ (สุขุมวิท ๑๑) ถนนสุขุมวิท โดยไม่มีทายาทสืบสกุล

ภายหลังการสมรสครบ ๕๓ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อพระราชทานนํ้าสังข์ด้วยพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เริ่มมีบทบาททางสังคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ โดยเฉพาะในวงการศึกษา ท่านได้ประพันธ์บทไหว้ครู ให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๗ บทร้อยกรองดังกล่าวได้รับบันทึกชมเชยจากพลโท ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการขณะนั้นว่า “คำไหว้ครูนี้ใช้ได้ดี ขอขอบคุณผู้แต่ง ซึ่งไม่ทราบว่าผู้ใด” บทไหว้ครูนี้เป็นที่ยอมรับ และกล่าวขานกันทั่วในสังคม เพราะได้ใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี ผู้ประพันธ์ได้เรียงร้อยถ้อยคำด้วยภาพลักษณ์ของศิษย์ที่สำนึกถึงพระคุณแห่งครูบาอาจารย์ ผู้ประสาทวิชาความรู้จนสำเร็จการศึกษาได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ดังความว่า

“ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์
ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา

ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน

ข้าขอเคารพอภิวันทน์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา

ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน

ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี

ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ”

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้สนใจใฝ่หาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์ แล้วนำผลที่ได้รับต่างๆ มาถ่ายทอดสู่ชนชาวไทยในประเทศ เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้เดินทางรอบโลกครั้งแรก พร้อมกับสามี ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เพื่อไปประชุมองค์การศึกษาสหประชาชาติ ณ ประเทศเลบานอน ทัศนาการศึกษาแผนใหม่ ณ ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มีโอกาสได้ชมมหาอุปรากรเรื่อง “เฟ้าสต์” “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” และ “ไดโดกับอีเนียส” ณ ประเทศอังกฤษ เป็นผลให้ท่านได้นำเรื่องดังกล่าวมาแปลเป็นบทละครให้ชาวไทยได้ศึกษา และครั้งนั้น ท่านยังประพันธ์เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์ในการเดินทางเป็นหนังสือชื่อ “นิราศเมืองไทยไปรอบโลก” นอกจากนั้นท่านยังได้ติดตามสามีไปต่างประเทศอีกหลายครั้ง บางครั้งท่านขออยู่ศึกษาภาษาเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งเพียงลำพังต่ออีกหลายเดือน โดยใช้จ่ายด้วยเงินส่วนตัว ผลที่ได้รับจากประสบการณ์รอบด้านทำให้ท่านสนใจการประพันธ์ต่างๆ ตลอดจนการแปลบทละครของ วิลเลียม เซกสเปียร์ เช่น ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน แปลเทพนิยายของแฮนส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน เช่น คนเลี้ยงหมู เครื่องทรงชุดใหม่ของพระราชาซัมแบลิซ่า นางเงือกน้อย นกไนติงเกลของพระเจ้ากรุงจีน เจ้าหญิงบนเมล็ดถั่ว ฯลฯ แปลคำประพันธ์ภาษาอังกฤษเรื่อง Poor Mother เป็นคำประพันธ์กลอนแปลเรื่อง แม่เอ๋ยแม่ ทำให้มีวรรณกรรมหลากหลายประเภท ทั้งบทความ สารคดี นิทาน หนังสือสำหรับเด็ก บทละครแปล ร้อยกรอง บทเพลง ประจำสถานศึกษา ฯลฯ ที่สำคัญคือบทประพันธ์ที่เกี่ยวกับมารยาท วัฒนธรรม ประเพณีไทยที่มุ่งเน้นให้เด็กไทยมีมารยาทงดงาม รักษารูปลักษณ์ขนบวัฒนธรรมและประเพณีไทยให้คงอยู่สืบไป เช่น มารยาทไทย มารยาทอันเป็นวัฒนธรรมทางประเพณีไทย และมรรยาทเล่มน้อย ซึ่งเล่มหลังนี้ได้พิมพ์เผยแพร่กว่า ๒๐ ครั้งรวมทั้งเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี หนึ่งในสิบเพลงที่ประพันธ์ให้แก่วชิราวุธวิทยาลัย และใช้เป็นเพลงประจำโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน ประพันธ์บทละครเรื่อง แม่ เพื่อแสดงในงานวันแม่ตามที่ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามขอความร่วมมือ และรับเป็นกรรมการจัดงานวันแม่ด้วย นอกจากนั้นยังริเริ่มงานเฉลยปัญหา ราชาศัพท์ จัดงานสัปดาห์แห่งศิลปะ และวรรณคดีนานาชาติ เป็นต้น

ส่วนบทบาทในหน้าที่ของสตรีไทยนั้น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้รับเกียรติจากรัฐบาล แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนสภาวัฒนธรรมแห่งชาติไปประชุมยูเนสโก (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ยุโรป และประเทศต่างๆ ทั่วโลกหลายครั้ง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะท่านได้พยายามรื้อฟื้นและจัดวางระเบียบให้กิจการสโมสรวัฒนธรรมหญิงที่มุ่งส่งเสริมความรู้ให้สตรี และให้ตื่นตัวเกี่ยวกับสิทธิของสตรี การปฏิบัติงานดังกล่าวทำให้ท่านต้องเตรียมจัดงาน เพื่อต้อนรับชาวต่างชาติเป็นประจำ

ในด้านสาธารณประโยชน์ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้อุทิศทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทุนทรัพย์ เพื่อกิจการส่วนรวมของประเทศ เช่น การรื้อฟื้นกิจการเนตรนารี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ จนเจริญก้าวหน้าตราบถึงปัจจุบัน ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังและพระอุโบสถ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสร้าง พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นประธานกรรมการส่งเสริมกิจการ ศาลาวันเด็ก ณ สนามเสือป่า ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเยาวชน ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้ง สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ก่อตั้งสมาคมบ้านเยาวชนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นที่พักทำกิจกรรมของเยาวชนไทยและต่างชาติ ตลอดจนสมัครเป็นสมาชิกองค์การโลกเพื่อส่งเสริมความสามัคคี รักธรรมชาติ รักชาติ และเพื่อนมนุษยโลก ซึ่งมีผู้สมัครเป็นสมาชิกจำนวนมาก ได้โอกาสแลกเปลี่ยนเยาวชนกับต่างชาติ เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมความสะดวกและสุขภาพนักเรียนในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนผู้ยากไร้ ที่ร่างกายไม่สะอาด และเป็นแผล โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปบริการตามสถานศึกษาและชุมชนแออัด นอกจากนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “มูลนิธิราชประชาสมาสัย” เพื่อให้ประชาชนและพระราชาช่วยเหลือกัน โดยมีรับสั่งให้ท่านผู้หญิง ดุษฎีมาลา เป็นประธานกรรมการจัดตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัย เพื่อแยกบุตรจากผู้ป่วยโรค เรื้อน และป้องกันการแพร่กระจายของโรค จนสุดท้ายเด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ภายหลังเมื่อโรคเรื้อนลดน้อยลง โรงเรียนนี้จึงรับนักเรียนทั่วไปในบริเวณใกล้เคียง ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคลุล่วง จนกิจการก้าวหน้าดียิ่งสืบมาจนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา จึงได้บริจาคเงินรวมทั้งสิ้น ๖ ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง “มูลนิธิท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา” เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือบำบัดทุกข์ของประชาราษฎรตลอดเวลา มูลนิธินี้ไม่รณรงค์ขอรับบริจาคเงินด้วยทัศนคติของท่านว่า “ทำบุญต้องใช้ทุนทรัพย์ของตนเอง ไม่ใช่ไปรับบริจาคเงินจากคนอื่นมาเข้าในชื่อของมูลนิธิ”

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นสตรีไทยผู้หนึ่ง ซึ่งมีจิตวิญญาณในการปฏิบัติภารกิจ เพื่อส่วนรวมอันเป็นสาธารณประโยชน์ และประเทศชาติ ทั้งยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหา กษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ด้วยความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมีได้ ดังเช่นความตอนหนึ่งที่บันทึกไว้ในงานเขียนอัตชีวประวัติ เรื่องของคนห้าแผ่นดิน ว่า

“ฉันเคารพในความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ ๕ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงมีต่อครอบครัวของสามีและครอบครัวของฉันเองเป็นอย่างมาก ฉันเห็นพระราชหฤทัยและเลื่อมใสในพระราชจริยวัตรทุกประการของรัชกาลที่ ๗ เอ็นดูและสงสารพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนั้น ฉันมีความสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งด้วยดินฟ้ามหาสมุทร มีความรัก เทอดทูน เคารพบูชาเหนือสิ่งอื่นใด เพราะพระองค์ทรงไว้ ซึ่งทศพิธราชธรรม และทรงมีพระปรีชาสามารถในวิทยาการต่างๆ ทุกแขนงวิชา อย่างน่ามหัศจรรย์ที่สุด …”

สิ่งสำคัญที่ท่านผู้หญิงได้แสดงความรักเทิดทูนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเจตจำนงแน่วแน่ นั่นคือการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายบ้านและที่ดิน ดังความปรากฏในพินัยกรรม ลงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ว่า

“ข้าพเจ้ามีทรัพย์สินที่สำคัญ คือ บ้านเลขที่ ๑๓๙, ถนนสุขุมวิท ที่ใช้เป็นที่อยู่มา ๔๔ ปีแล้ว … ข้าพเจ้าขอพระราชทานทูนเกล้าฯ ถวายโฉนดและกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความจงรักภักดีอันบริสุทธิ์ใจ เมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีวิตแล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำประการใดแก่ที่ดินรายนี้ ก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย ทุกประการ’’

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๑๖ คือ จตุตถจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์มงกุฎไทยประถมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ตลอดจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นต้นว่า ปริญญาศึกษาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์ไทย ของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ และ ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยา ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒

ต่อมาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน เป็นเหตุให้พูดมิได้ แต่สามารถสื่อสารด้วยมือ และเขียนประโยคสั้นๆ ได้ จนถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา เข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยอาการหนักโรคหัวใจ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และอาการเริ่มทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี ๑๐ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๕๔๐

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา จึงเป็นสตรีไทยที่มีชีวิตอยู่ถึง ๕ แผ่นดิน ที่เพียบพร้อมด้วยความสามารถ สร้างสรรค์งานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนมีจิตสำนึกเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตราบจนวาระสุดท้าย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ผกาวรรณ เดชเทวพร

คุณไข่มุกด์ ชูโต

ประติมากรหญิงคนแรกของเมืองไทย เกิดวันจันทร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีของพระมัญชุวาที (โชติ ชูโต) อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ออกจากราชการมาประกอบอาชีพออกแบบและรับต่อเรือ เรือที่ต่อ เช่น คุณไข่มุกด์ ชูโตเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือ ต. ต่างๆ ของกองทัพเรือ กรมศุลกากร บริษัทเรือแดง เรือบรรทุกนํ้ามันของบริษัทเซลล์ ฯลฯ มารดาชื่อนางมัญชุวาที (แอ๋ว ชูโต) ข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เป็นหลานปู่ และหลานย่าของพระยาอาหารบริรักษ์ (ผึ่ง ชูโต) ปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ให้จัดการทำโฉนดที่ดิน กับคุณหญิงผาด (รามโกมุท) เป็นหลานตาและหลานยายของพระยารัตนโกษา (เล็ก สุจริตกุล) ราชเลขาธิการด้านภาษาต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิงละออ (ณ บางช้าง) มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ นางสาวสีทอง ชูโต ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของ องค์การสหประชาชาติ ประจำอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครอบครัวของคุณไข่มุกด์ ชูโต อยู่บ้านเลขที่ ๖๑๑ หมู่ที่ ๑ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นบ้านไม้สักแบบโบราณ สวยงาม ย่านนั้นเรียกกันว่า บ้านขมิ้น

การศึกษาเบื้องต้นเริ่มเรียนที่โรงเรียน เริ่มศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ บ้านระยะหนึ่งแล้ว ย้ายไปเข้าโรงเรียนราชินีตั้งแต่อนุบาล ระหว่างเรียนที่โรงเรียนราชินี ก็ได้ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเสมอ เช่น เล่นละคร ขณะศึกษาอยู่ชั้นมัธยม ๘ ได้เขียนภาพวิจิตรแนวเดียวกับอาจารย์เหม เวชกร เรื่องพระนล ทั้งเรื่อง ขายให้กับสำนักพิมพ์เพลินจิต ได้ค่าเขียน ๓,๐๐๐ บาท เมื่อจบชั้นมัธยม ๘ จึงสอบเข้าดิกษ’าต่อ’ใน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เหตุที่เข้าศึกษาต่อในคณะจิตรกรรมฯ ทั้งๆ ที่ชอบแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ เคยได้รับรางวัลคำประพันธ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปี ขณะศึกษาอยู่ในชั้นมัธยม คงสืบเนื่องจากเมื่อเป็นเด็กชอบขีดเขียนและเกาะอยู่กับโต๊ะเขียนแบบในห้องทำงานของบิดา และเล่นอยู่ในห้องทำงานบิดาทั้งวัน บิดาก็สอนให้ เรียกได้ว่าบิดาเป็นครูสอนการวาดภาพ (drawing) คนแรก ระหว่างเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเลือกให้เป็นนายกชุมนุมนิสิตหญิง เมื่อจบการศึกษา สาขาประติมากรรม ได้รับพระราชทานปริญญาเป็นรุ่นแรกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานปริญญาบัตร

เมื่อจบการศึกษาเริ่มทำงานครั้งแรกที่แผนกศิลป องค์การยูซ่อม (USOM) ทำโปสเตอร์ จัดรูปเล่ม และทำหนังสือ ระหว่างทำงานที่ยูซ่อมก็รับทำงานปั้นและงานเขียนเป็นการส่วนตัวด้วย ทำงานยูซ่อม ๒ ปี ได้ลาออกไปทำงานที่บริษัทเกสเต็ตเนอร์ ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกศิลปะ ๒ ปี คุณไข่มุกด์ ชูโต ต้องการเวลาทำงานด้านศิลปะให้เป็นส่วนตัวจริงๆ เพื่อสร้างงานฝีมือให้ดีที่สุด จึงลาออกมาเป็นช่างอิสระ รับงาน ด้านประติมากรรมอยู่กับบ้าน มีงานสร้างอนุสาวรีย์เล็กๆ ปั้นภาพเหมือนบุคคลและสัตว์ ตลอดจนเขียนภาพ แลนด์สเคป รับตกแต่งสวนภายในบ้าน ตกแต่งห้องจนเริ่มมีชื่อเสียง

พ.ศ. ๒๕๑๑ นายชูพาสน์ ชูโต ผู้เป็นญาติและรับราชการอยู่ในสำนักพระราชวัง ได้พาเข้าถวายตัวต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อปฏิบัติงานด้านประติมากรรมถวาย ซึ่งคุณไข่มุกด์ ชูโต ได้ปฏิบัติงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ แรกเข้าทำงาน งานชิ้นแรกที่ทำถวายคือ รูปปั้นกินรีแม่ลูก ขนาดเท่าจริง จำนวน ๒ ชุด ตั้งไว้ที่สวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง และอีกชุดหนึ่งตั้งไว้ที่หน้าพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่

ผลงานปั้นที่น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

-ปั้นรูปประดับผนังทั้ง ๔ ด้าน เรื่อง ทศชาติ หล่อด้วยพลาสเตอร์ ติดตั้งไว้ที่ท้องพระโรงห้องไทย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จำนวน ๖ แผง

-พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับบนพระเสลี่ยงกง เพื่อพระราชทานไว้ตามฐานทัพต่างๆ

-พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยืนหลั่งทักษิโณทก จากพระสุวรรณภิงคาร

-พระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย ทรงยืน ทรงพระแสงของ้าว ทรงเครื่องศึก

-รูปสมเด็จพระสุริโยทัย ครึ่งพระองค์

-รูปเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (พระยานรรัตนราชมานิต – ตรึก จินตยานนท์) พร้อมด้วยพระพุทธรูปประจำวันเกิดของท่าน ไว้ที่หอบรรจุอัฐิเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

-ปั้นรูปกินนรและกินรี พ่อ แม่ ลูก และปั้นรูปสิงห์ ตั้งไว้ที่พระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

-พระพุทธรูปปางประทานพร สมัยคันธารราษฎร์

-พระพุทธรูปยืน สมัยคันธารราษฎร์

-พระพุทธบรมนาถเบญจสิริสุริโยทัย ขนาดหน้าตัก ๙.๙ นิ้ว

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวช ทรงยืน และประทับนั่ง

-ปั้นช้างศึก ประกอบด้วยเครื่องผูกและแต่ง ขนาด ๑๕ นิ้ว ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ และห้องกาแฟ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

-พระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขนาดครึ่งพระองค์

-พระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (พระสมณศักดิ์ขณะนั้น) จำนวน ๒๕ องค์

-ปั้นต้นแบบสร้างเหรียญหลวงปู่แหวน รุ่นรวมใจ รุ่น ภ.ป.ร. รุ่น ส.ก. รุ่น ม.ว.ก. รุ่น สิรินธร และรุ่น จ.ภ.

-ปั้นต้นแบบสร้างเหรียญหลวงปู่ขาว

-ปั้นต้นแบบสร้างเหรียญพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย

-ปั้นรูปจากวรรณคดีไทยตามพระราชเสาวนีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เช่น ไกรทอง ชาละวัน นางวิมาลา สุดสาครขี่ม้ามังกร มโนราห์กับพรานบุญ หนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา พระรามตามกวาง ฯลฯ

-พระประธานขนาดเท่าจริง ตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระพุทธรูปบูชา จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล (กำลังดำเนินการค้างอยู่)

ผลงานปั้นที่น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
-บรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขนาด ๒ ฟุต ซึ่งจำลองจากแบบของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (ที่ประดิษฐานไว้ ณ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า)

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ขนาดเท่าจริง

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอิริยาบถทรงยืน ขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง

ผลงานปั้นที่น้อมเกล้าฯ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาธินัดดามาตุ
-พระพุทธรูปปางประทานพร พระประธาน พร้อมด้วยพระอัครสาวก ณ อุโบสถวัดบางนํ้าขุ่น จังหวัดระยอง

-พระพุทธรูปบูชา ส.ส.

ผลงานด้านประติมากรรม ที่จัดทำถวายมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญที่สุดคือ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระสุริโยทัย ที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งคณะรัฐบาลจัดสร้างน้อมเกล้าฯ ถวาย เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ และมีองค์ประกอบเรื่องราวใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยพระสุริโยทัยประทับอยู่บนคอพระคชาธาร มีกลางช้างนั่งบนสัปคับ ถือหางนกยูงโบกกำกับกองทัพ มีท้ายช้างและทหารจตุรังคบาทรักษาเท้าช้างอีก ๔ นาย ขนาดเท่าครึ่ง มีกลุ่มของข้าศึกพร้อมช้างเช่นเดียวกันกับองค์พระราชานุสาวรีย์อีก ๔ ชุด ขนาดเท่าจริงประกอบด้วยประชาชนจำนวน ๙ คน ขนาดเท่าจริง รวมจำนวนดังนี้

๑. ช้างขนาดเท่าครึ่ง จำนวน ๑ ช้าง
๒. ช้างขนาดเท่าจริง จำนวน ๔ ช้าง
๓. คนขนาดเท่าครึ่ง จำนวน ๗ คน
๔. คนขนาดเท่าจริง (ทหาร) จำนวน ๒๘ คน
๕. ประชาชนขนาดเท่าจริง จำนวน ๙ คน

นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบศิลปะต่างๆ ที่ได้จัดทำถวาย แล้วแต่จะมีพระราชเสาวนีย์ เช่น ออกแบบ และสร้างของที่ระลึก เพื่อพระราชทานพระราชอาคันตุกะ ออกแบบตุ๊กตาชาววังพร้อมตู้บรรจุตุ๊กตา แสดงภาพชีวิตคนไทย ออกแบบลายปีกพระภูษา ออกแบบพระกระเป๋าย่านลิเภา เครื่องประดับ สร้างฉากละครอิงประวัติศาสตร์ เรื่องสมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระสุพรรณกัลยา ที่นายสมภพ จันทรประภา เขียนบท สร้างฉากในการแสดงแสงสีเสียงเรื่องวีรชนไทย และละครอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เพื่อจัดแสดงถวายทอดพระเนตร ออกแบบงานต่างๆ ให้งานส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรม ราชูปถัมภ์ ซึ่งมีการส่ง เสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมนอกจากการทำนา คือ สอนเย็บปักถักร้อย ทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ายก ผ้าตีนจก ผ้าไหมมัดหมี่ ทำดอกไม้ประดิษฐ์ จักสานด้วยหวาย ป่านศรนารายณ์ ไม้ไผ่ ย่านลิเภา ปั้นตุ๊กตาชาววัง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การถนอมอาหาร สลักดุน เครื่องถมเงิน ถมทอง ช่างไม้ ช่างเงิน ช่างเขียน และช่างปั้นโดยเฉพาะการปั้นนั้นมีโครงการเครื่องปั้นดินเผาตั้งอยู่ที่บ้านกุดนาขาม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทอดพระเนตรโครงการสวนป่ารักนํ้า ที่จังหวัดสกลนคร ราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายกานํ้าเป็นเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งทำขึ้นเองโดยใช้ดินของพื้นที่นั้น จึงมีพระราชดำริว่าสกลนคร เป็นดินแดนที่อยู่ใกล้บ้านเชียง พื้นเพดั้งเดิมแต่โบราณ คงมีการทำเครื่องปั้นดินเผากัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ไปทำการวิจัยดินแถบนั้นว่าสามารถทำเครื่องปั้นดินเผาได้หรือไม่ ข้อมูลที่วิจัยออกมาสามารถทำได้ ประกอบกับมีราษฎรชื่อ นายซื่อสัตย์ ยอดจำปา ได้ถวายที่ดินจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ที่ดินผืนนี้ เป็นที่ก่อสร้างโรงงานเครื่องปั้นดินเผา โดยมอบให้คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นคณะทำงาน ผู้ร่วมก่อตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผา ศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม และมีท่านผู้หญิง หม่อมราชวงศ์สุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ เป็นผู้อำนวยการความสะดวกต่างๆ คุณไข่มุกด์ ชูโต จึงได้เชิญอาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ เจ้าของบริษัทไทยเทอราเซรามิค เป็นผู้ไปวางโครงการ วางรูปแบบโรงงาน และเตาเผา โดยมีนาวาอากาศตรี สมพร พราหมณนันทน์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ช่วย และเป็นครูสอน พร้อมด้วยช่างของอาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ อีก ๒ คน การก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขามนี้ ก่อตั้งเสร็จภายใน ๖๐ วัน คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้วางแผนการ สอนจนกระทั่งหาครูมาสอนเป็นประจำได้ สำหรับคุณไข่มุกด์ จะสอนเรื่องรูปแบบ การออกแบบ การปั้นรูปสัตว์และคนให้รู้จักองค์ประกอบง่ายๆ โดยใช้ความรู้สึก และตาเป็นเกณฑ์ สอนการเขียนสีลงบนกระถาง หรือแจกัน ซึ่งคุณไข่มุกด์ จะเดินทางไปสอนและดูแลบ่อย และพักอยู่ที่จังหวัดสกลนครเป็นเดือนๆ จนผู้มาฝึกหัดสามารถผลิตงานได้จนเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำนา นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องประติมากรรม และเครื่องปั้นดินเผา ให้กับนักเรียนศิลปาชีพจังหวัดนราธิวาส และศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดากรุงเทพมหานคร ซึ่งงานในพระองค์ทั้งหลายเหล่านี้ คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้ทุ่มเทอุทิศแรงกายแรงใจ ให้กับงานเหล่านี้ถวายจนเต็มกำลัง

เมื่อมีเวลาว่างจากงานในพระองค์ คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้รับทำงานประติมากรรมให้แก่บุคคลภายนอก ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน และบุคคลทั่วไป

ส่วนหนึ่งของผลงานที่ปั้น
-ปั้นประติมากรรมนูนตํ่า (bas – relief) รูปกินรีเล่นนํ้า มีพรานบุญถือบ่วงบาศ ประดับผนังสระว่ายนํ้า โรงแรมเฟิร์ส ซึ่งเป็นงานปั้นงานแรก

-ปั้นประติมากรรมนูนต่ำ (bas – relief) รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประดับผนังโรงแรมนารายณ์ หล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ ขนาด ๒.๐๐ X ๘.๐๐ เมตร เป็นงานปั้นเมื่อจบการศึกษาใหม่ๆ

-ปั้นพระพรหม โรงแรมเฟิร์ส รูปแรก (ต่อมาถูกขโมยไป)

-ปั้นประดับผนังโรงภาพยนตร์เอเธนส์ ขนาด ๒.๐๐ X ๘.๐๐ เมตร (โรงภาพยนตร์นี้ ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว)

-ปั้นประดับผนังโรงแรมสยามซิตี้ หล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ ขนาด ๒.๐๐ X ๘.๐๐ เมตร

-ปั้นซุ้มสุโขทัย ลวดลายประดับสมัยสุโขทัย ศรีสัชนาลัย บริเวณสระว่ายนํ้าโรงแรมอินทรา

-ปั้นพระพรหม โรงแรมรามาทาวน์เวอร์ โอเรียนเต็ลโฮเต็ล และพัทยาพาเลซ

-ปั้นอัปสรสีห์ ในห้องรำไทย โรงแรมดุสิตธานี

-ปั้นกินนร – กินรี ๑ คู่ ขนาดเท่าจริง ให้ร้านอาหารไทนาน จังหวัดภูเก็ต

-ออกแบบและควบคุมการสร้างบุษบกไม้สักแกะสลักปิดทอง สูง ๗.๕๐ เมตร ที่ทางเข้าลอบบี้ หน้าบันไดขึ้นไปเมซานีนฟลอร์ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน

-ออกแบบและปั้นหล่อหงส์ ติดตั้ง ณ ที่ทำการบริษัทการบินไทย – ปารีส ฝรั่งเศส จำกัด

-ออกแบบและปั้นหล่องานสมัยใหม่ แสดงเรื่องราวของการรักและเกื้อกูลในมวลมนุษย์ให้กับ สถาบันวิทยาศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่น

-ออกแบบและปั้นหล่อพระประธาน พร้อมพระอัครสาวก และรูปเหมือนหลวงปูโต๊ะขนาดเท่าจริง วัดถ้ำสิงโตทอง จังหวัดราชบุรี ให้แก่ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา

-ปั้นรูปเหมือน (portrait) ของบุคคลต่างๆ จำนวนมาก เช่น ปั้นรูปคุณสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ คุณหญิงล้อม โอสถานุเคราะห์ ฯลฯ

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา และปั้นหล่อพระบรมรูปเล็กให้ข้าราชบริพารอัญเชิญไปสักการบูชา จำนวน ๒๕๑๖ องค์ เพื่อนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ต่อมาพลเอกดำรง สิกขะมณฑล สมุหราชองครักษ์ สั่งหล่อเพิ่มอีก ๑๐,๐๐๐ องค์ เพื่อนำเงินรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี

-พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ โรงเรียนราชินี ถนนมหาราช กรุงเทพมหานคร พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐานบริเวณสนามภายใน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ถนนบ้านหม้อ กรุงเทพมหานคร

-พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ กองพันทหารราบที่ ๗ กรมผสมนาวิกโยธิน ค่ายมหาสุรสิงหนาท อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

-พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระอนุสาวรีย์พญามังราย พญางำเมือง ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ๓ รูป ประดิษฐานหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

-อนุสาวรีย์เจ้าพระยาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าทิพย์ช้าง) ขนาดเท่าครึ่งของคนธรรมดา ประดิษฐานอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

-พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐานหน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดสองเท่าของพระองค์จริง ประดิษฐานหน้าอาคารกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ถนนพระราม ๖ พญาไท กรุงเทพมหานคร

-พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดสองเท่าของพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ บริเวณลานด้านหน้าเสาธง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

-พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงฉลองพระองค์ครุย ของแพทย์ฮาร์เวิร์ด ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐานภายในอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กับรูปปั้นประดับผนังนูนต่ำกึ่งนูนสูง (bas -relief, high – relief) หล่อด้วยหินอ่อนเทียมทั้งสองข้าง ขนาด ๑.๕ X ๗.๐๐ เมตร ด้านซ้ายของพระรูปแสดงวิวัฒนาการของอาคารมหาวิทยาลัย และตราประจำมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปแต่ละสมัย อีกด้านหนึ่งเป็นพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก เมื่อทรงโสกันต์และทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบนายทหารแห่งราชนาวี ประทับระหว่างสมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระราชชนนี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ต่อมาเป็นพระรูปขณะทรงอุทิศพระองค์เพื่อการแพทย์และการสาธารณสุข สุดท้ายเป็นพระรูปขณะประทับกับพระชายา พระโอรส พระธิดาทั้งสามพระองค์ รูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นประดับผนังแห่งแรกในประเทศไทย ที่เป็นพระรูปเหมือนของพระบรมราชวงศ์

-พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ โรงเรียนราชินีบน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

-พระรูปสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขนาดเท่าพระองค์จริง โรงแรมพลาซ่า แอทินี ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร

-พระรูปหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล ณ โรงเรียนราชินี ถนนมหาราช กรุงเทพมหานคร

-พระรูปหม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ณ โรงเรียนราชินีบน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

-พระรูปกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขนาดเท่าพระองค์จริง

นอกจากงานปั้น งานออกแบบศิลปะต่างๆ แล้ว ก็มีงานวาดภาพและเพ้นท์บ้าง เช่น ภาพกำเนิดพระลักษมี ห้องลักษมี โรงแรมนารายณ์ นอกจากนั้น คุณไข่มุกด์ ชูโต ยังมีความสามารถในการร้องเพลง ไทยเดิม เล่นละคร เล่นลิเก โดยการเป็นพระเอกลิเกสมัครเล่น ไม่ว่าจะมีงานสังสรรค์ครั้งใด มักชอบแสดงลิเกให้เพื่อนฝูงชม คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นคนช่างจดจำ ชอบแต่งกลอน แต่งสักวา และชอบเขียนหนังสือ จึงมีผลงานเขียนหนังสือลงในนิตยสารนะคะ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์แนวหน้าในคอลัมภ์คุยกันวันพุธ อีกอย่างหนึ่งด้วย

พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับเชิญในฐานะศิลปินผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยไปเยือนประเทศกัมพูซา ซึ่งเป็นการไปเยือนประเทศกัมพูชาเป็นครั้งแรก โดยสถานทูตไทยประจำราชอาณาจักรกัมพูชาจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา จัดการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในงานนี้คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้ช่วย ต้อนรับแขก และถวายคำอธิบายเกี่ยวกับงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ แก่เจ้าหญิงนโรดม มารี รณฤทธิ์ ด้วย หลังเลิกงานได้เล่นลิเก แต่งกลอนสดให้ฟังอย่างสนุกสนาน

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๔ (จตุตถจุลจอมเกล้า) และในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ปีเดียวกัน ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๔ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย ต่อจากนั้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ เลื่อนชั้นเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าจากชั้นที่ ๔ ขึ้นเป็น ชั้นที่ ๓ (ตติยจุลจอมเกล้า)

คุณไข่มุกด์ ชูโต มิได้สมรส แต่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับงานประติมากรรมที่ตนเองรักอย่างมีความสุข สร้างสรรค์ประติมากรรมอันลํ้าค่าไว้เป็นจำนวนมาก จนตนเองจดจำและบันทึกไว้ไม่หมด มีผลงานเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และเป็นที่ยกย่องของสาธารณชนอยู่เสมอมา จนเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เวลาหนึ่งนาฬิกาเศษ หลังจากเดินทางกลับจากการตรวจดูงานหล่อพระพุทธรูปถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่โรงหล่อ ถนนพุทธมณฑลสาย ๔ ถึงบ้านที่บ้านขมิ้น คุณไข่มุกด์ ชูโต ก็เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ได้รับการปฐมพยาบาลที่โรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำการนวดกล้ามเนื้อหัวใจด้วยไฟฟ้า แต่อาการยังไม่ดีขึ้น

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจที่ทรงรู้จักคุ้นเคย เป็นผู้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิด แต่อาการไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก หลังจากรับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชได้ ๔๒ วัน คุณไข่มุกด์ ชูโต ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการปอดบวม และระบบการหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ รวมอายุได้ ๕๙ ปี ๖ เดือน๑๒ วัน

ประติมากรหญิงคนแรกของเมืองไทย ประติมากรประจำราชสำนัก นาฏยศิลปิน และนักอนุรักษ์ความเป็นไทย สุภาพสตรีผู้อุทิศชีวิตให้กับงานศิลป์ท่านนี้ได้จากไป แต่ผลงานของคุณไข่มุกด์ ชูโต ยังคงเป็น สมบัติลํ้าค่าของแผ่นดินสืบไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:วัฒนา อุ่นทรัพย์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

หรือที่ปวงชนชาวไทยขนานพระนามอย่างสามัญว่า “สมเด็จย่า” และที่บรรดาชาวไทยภูเขาถวายพระสมญานามว่า “แม่ฟ้าหลวง” มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ เสด็จพระราชสมภพที่นนทบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (หรือปีชวด
คริสต์ศักราช ๑๙๐๐) ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นบุตรลำดับที่ ๓ ของพระชนกชู และพระชนนีคำ มีพระภคินีและพระเชษฐาร่วมพระอุทร ๒ คน ทว่าถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์ คงเหลือแต่คุณถมยา พระอนุชาเพียงคนเดียวที่มีวัยอ่อนกว่า ๒ ปี เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงจำความได้นั้น ครอบครัวได้ย้ายบ้านมาประกอบอาชีพทำทองอยู่ที่ธนบุรี บริเวณซอยที่ปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ หรือวัดอนงคาราม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านเดิมของพระชนกชูเท่าใดนัก ทั้งนี้นอกจากครอบครัวของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังมีญาติทางพระชนนีคำ ได้แก่ ท่านซ้วย ร่วมอาศัยอยู่ด้วย เมื่อพระชนกชูสิ้นแล้ว อาชีพการทำทองของครอบครัวก็ยุติลงโดยหันมารับจ้างและค้าขายเล็กน้อยแทนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเริ่มเรียนอักขรวิธี อ่านเขียนเบื้องต้น กับพระชนนีคำ ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ด้านหนังสืออยู่บ้าง แล้วได้ทรงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดอนงคาราม ในแผนกเด็กนักเรียนหญิง ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เวลานั้น เรียนได้ไม่ถึงปี โรงเรียนได้เลิกกิจการ จึงทรงย้ายเข้าเรียนต่อที่โรงเรียศึนารี ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์เช่นกัน ทรงเรียนได้เพียงเดือนกว่าก็ต้องออกจากโรงเรียน เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อพระชนมายุได้ ๗ – ๘ พรรษา พระชนนีคำ อนุญาตให้ท่านรอด น้องของพระชนกชู พาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไปฝากไว้กับคุณพระพี่เลี้ยงจันทร์ แสงชูโต และได้ขึ้นถวายตัวเป็นข้าหลวงรุ่นเด็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) พระราช ธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จ พระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และได้ปฏิบัติหน้าที่ขึ้นเฝ้าเฉพาะตอนเช้าและคํ่า จากนั้นได้ทรงเรียนหนังสือกับหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาสน์ และได้ทรงเข้าโรงเรียนใกล้พระบรมมหาราชวัง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร โปรดให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยา (ตำบลตึกดิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนสตรีวิทยาปัจจุบัน) ในระหว่างที่ทรงศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงย้ายไปประทับอยู่กับคุณหวน หงสกุล ข้าหลวงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนจนพระชนมายุ ๙ พรรษา พระชนนีคำ ถึงแก่กรรม ดังนั้นจึงทรงอยู่ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรตลอดมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงย้ายไปพำนักที่บ้านพระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ และแพทย์ใหญ่ทหารบก เพื่อรับการผ่าตัดเนื่องจากเข็มตำฝ่าพระหัตถ์ และได้ประทับเรื่อยมาจนกระทั่งทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนสตรีวิทยาใน พ.ศ. ๒๔๕๖ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา จึงทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งสังกัดกระทรวงธรรมการ ตามคำชักชวนของพระยาดำรงแพทยาคุณ ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ และทรงเป็นนักเรียนใหม่ที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่น การที่ทรงเลือกศึกษาวิชพยาบาลนี้ นับว่าถูกกับพระอุปนิสัย เนื่องจากทรงสุภาพอ่อนโยน มีพระเมตตาและขันติธรรม ทรงเอื้ออาทรต่อบุคคล ทั่วไป

สเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นนักเรียนหลวง ดังนั้นจึงต้องทรงย้ายมาพำนักเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงพยาบาลศิริราช หลักสูตรการเรียนกำหนดไว้ ๓ ปี ปีแรก เรียนหลักวิชาการต่างๆ คือ ภาคทฤษฏี อาทิ วิชาสรีรวิทยา ผดุงครรภ์ สุขวิทยา การตรวจไข้ การพยาบาล และธรรมจริยา ปีที่สองและที่สามจึงฝึกหัดทำงานภายใต้การควบคุมของพยาบาล ทรงเรียนได้ดีและจบหลักสูตรได้รับประกาศนียบัตรในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้วทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

จากการที่ทรงเลือกศึกษาในวิชาชีพแขนงนี้ นับเป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในพระชนมชีพ เนื่องจากในเวลาต่อมาสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ได้พระราชทานทุนเล่าเรียน โดยได้คัดเลือก นักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาล ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการตระเตรียมครู ทั้งฝ่ายแพทย์และพยาบาลต่อไป ตามพระประสงค์ของพระราชโอรส คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (หรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ซึ่งทรงสนพระทัย และมุ่งส่งเสริมการศึกษาเพื่อปรับปรุงยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (ต่อมาดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ทรงคัดเลือกนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลประเภทละ ๒ ทุน สำหรับทุนนักเรียนพยาบาลนั้น ทรงเลือกสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ นางสาวสังวาลย์ ขณะนั้น และนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา โดยมีเกณฑ์การพิจารณาจากความฉลาดหลักแหลมเป็นสำคัญ ก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทรงเข้าชั้นเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งมีแหม่มโคล (Miss Edna Sarah Cole) เป็น อาจารย์ใหญ่ อย่างไรก็ดี การเดินทางไปยังต่างประเทศจำเป็นต้องมีนามสกุลใช้ในหนังสือเดินทาง ดังนั้น จึงทรงขออนุญาตใช้นามสกุลของขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฎ) เจ้ากรมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล อดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับเรื่องนามสกุลนี้ ภายหลังคุณถมยาได้ขอจดทะเบียนนามสกุลที่อำเภอว่า “ชูกระมล” ดังความที่ปรากฏในหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตอนหนึ่งว่า

“ส่วนถมยาน้องชายของแม่ เมื่อเจริญวัยได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุลว่า “ชูกระมล” ถึงแม้ว่าแม่ไม่เคยใช้นามสกุล ชูกระมล ก็อยากถือว่าแม่เกิดมาในสกุลนี้”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จฯ โดยทางเรือพร้อมคณะนักเรียนไทยและผู้ดูแลจากกรุงเทพฯ ถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พระองค์และนางสาวอุบล ได้พักอยู่กับครอบครัวอดัมเสน ที่เมืองเบอร์คลี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเรียนภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมอเมริกันเป็น เวลาประมาณ ๑ ปี จากนั้นได้เดินทางโดยรถไฟพร้อมคณะนักเรียนไทยอีกจำนวนหนึ่ง ไปยังเมืองบอลตัน และได้เฝ้าฯ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์เป็นครั้งแรก ที่สถานีรถไฟ เวลานั้นกำลังทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แม้ว่าจะทรงดำรงพระอิสริยยศสูงศักดิ์ แต่กลับทรงดำเนินพระกิจวัตรอย่างเรียบง่าย ทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์ ม. สงขลา เนื่องจากมีพระชนมายุสูงกว่าบรรดานักเรียนไทย จึงทรงวางพระองค์ประดุจผู้ดูแลนักเรียนไทย ทรงรับเป็นพระธุระดูแล ให้คำแนะนำ ตลอดจนทรงช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ด้วยนํ้าพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาธรรมนี้ จึงก่อให้เกิดความรู้สึกเคารพรัก เลื่อมใสในหมู่ นักเรียนไทยและผู้ที่ได้เข้าเฝ้าฯ ทั้งนี้ได้โปรดให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนางสาวอุบล เดินทางจากเมืองบอสตันไปพำนักกับครอบครัวสตรองที่เมืองฮาร์ตฟอร์ด มลรัฐคอนเนตทิคัต เพื่อฝึกฝน ทักษะการพูด อ่าน เขียน ให้ชำนาญก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และได้เสด็จเยี่ยมนักเรียนหญิงทั้งสองอยู่เนืองๆ

ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ขอพระราชานุญาตหมั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้มีพิธีอภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เป็นประธานในพิธี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงมีฐานะในเวลานั้นเป็นหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา หลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ได้กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ หลักสูตร การสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียนที่สถาบัน เอ็ม.ไอ.ที. ต่อมาทรงเข้าศึกษาวิชาจิตวิทยา และคหกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยซิมมอนส์ ตามลำดับ และมีพระราชโอรสธิดา ๓ พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอบรมอภิบาลพระราชธิดาและพระราชโอรสด้วยพระองค์เองมาตลอด ทรงอนุสาสน์สั่งสอนทั้งความประพฤติ การปฏิบัติพระองค์ ตลอดจนการศึกษามาโดยลำดับ ทรงมีหลักสำคัญอยู่ ๒ ประการ คือ เด็กต้องมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ และต้องอยู่ในระเบียบวินัย หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังคงประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ทรงพาพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้งสามกลับไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและพระอนามัยที่ดี ครั้นถึง วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (พระอิสริยยศขณะนั้น) ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เฉลิมพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระราชชนนีว่า พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ตามคำประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ และด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ยังมีพระชนมายุน้อยมาก ดังนั้นจึงตกเป็นพระภาระของสมเด็จพระราชชนนีที่จะต้องอภิบาลอบรมในเรื่องความรู้ต่างๆ พระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีในระบอบประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นได้ทรงอบรมพระธิดาและพระโอรสพระองค์เล็ก ให้ทรงเป็นเจ้านายที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในอนาคตอีกด้วย แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลจะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว แต่พระองค์ยังคงประทับเพื่อทรงศึกษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ได้เสด็จนิวัตพระนครเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกร และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้เสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง โดยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จวบจนเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบแทน เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระราชชนนีทรงถวายการอภิบาลอยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่ง พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงบรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้ เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินเยือนนานาประเทศอย่างเป็นทางการหลายครั้งหลายคราว นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ ก็ได้ทรงรับพระราชภาระปฏิบัติราชการแผ่นดินในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๓

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย โปรดการทรงงานต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เสมอ มีพระราชดำริว่า “เวลาเป็นของมีค่า” งานอดิเรกที่ทรง มีหลายประเภท อาทิ งานปักผ้า งานดอกไม้แห้ง การปลูกต้นไม้ งานปั้น และเขียนลายกระเบื้องเคลือบ เป็นต้น ทรงใช้จ่ายอย่างประหยัด ทั้งนี้เพื่อนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการกุศล โดยทรงคำนึงประโยชน์ ส่วนรวมเป็นหลัก นอกจากนี้ยังโปรดการเดินป่า ปีนเขา ทอดพระเนตรดอกไม้และทิวทัศน์ธรรมชาติ ทรงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ใฝ่รู้ในการศึกษาวิชาการ ตลอดจนศาสตร์ต่างๆ ที่แปลกใหม่ จากการที่ทรง เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทำให้ทรงสพระทัยศึกษาหลักธรรมคำสอน การฝึกสมาธิ ทรงดำเนินพระชนมชีพอยู่ในธรรม ไม่ทรงติดข้องอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ

ตลอดพระชนมชีพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงยึดมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย นอกจากพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่ง คือการอภิบาลพระราชโอรสทั้งสอง และพระราชธิดา ซึ่งต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ที่ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นที่เคารพรักเทิดทูนของปวงพสกนิกรแล้ว ยังได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ อีกเป็นอเนกประการ กล่าวคือ ได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่มูลนิธิและองค์การกุศลต่างๆ ตามกำลังพระราชทรัพย์และนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา ได้เสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎร ในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ พระราชทานสิ่งของความช่วยเหลือ ทรงบำรุงขวัญกำลังใจแก่ราษฎร ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนเป็นประจำ จากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทรงริเริ่มงานพัฒนาต่างๆ ดังนี้

ด้านการศึกษา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สร้างโรงเรียนเล็กๆ ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการจัดตั้งโรงเรียนชาวเขาและ ประชาชนไกลคมนาคมของตำรวจตระเวนชายแดน และได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่เยาวชนตามเกาะต่างๆ อนึ่ง ยังได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์ผ่านมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยที่ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ พัฒนาอบรมเด็กชาวเขาด้านสุขวิทยา การประกอบอาชีพ โดยส่งเสริมการศึกษาตามความสามารถของเด็ก นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมการเผยแพร่ธรรมะแก่เยาวชนและประชาชนทางหนังสือ และวิทยุ

ด้านการสาธารณสุข
ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงเริ่มจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อออกรักษาพยาบาลแก่ประชาชนตามเขตชายแดน และเขตทุรกันดารในวันหยุดราชการ หน่วยแพทย์นี้มีชื่อ เรียกว่า แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ผู้ปฏิบัติงานล้วนเป็นอาสาสมัคร เนื่องจากรัฐบาลตระหนักในประโยชน์ของโครงการนี้ จึงได้ให้เงินอุดหนุนจำนวนหนึ่งในแต่ละปี กิจการ พอ.สว. ยังมีบทบาทสำคัญในด้านทันตสาธารณสุข และการนำคนไข้ที่ป่วยเฉพาะโรคในที่ห่างไกลมารับการรักษาต่อไป และนับจาก พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นมา พอ.สว. ได้เป็นหน่วยงานที่ช่วยเสริมงานสาธารณสุข มูลฐานของรัฐบาลด้วย

ด้านการฟื้นฟูปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดอยตุง
โครงการพัฒนาดอยตุงนับเป็นโครงการพัฒนาสมบูรณ์แบบ ได้เริ่มดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๑ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอแม่จัน และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ ๙๐,๐๐๐ กว่าไร่ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลำธาร ในบริเวณที่เสื่อมโทรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์เป็นผู้ประสานงานดูแลโครงการ ผลการดำเนินงานของโครงการในระยะ ๖ ปีแรก พื้นที่ประมาณร้อยละ ๘๐ ได้กลับคืนสู่สภาพป่าที่สมบูรณ์ นอกจากนั้นโครงการพัฒนาดอยตุง ยังได้ส่งเสริมการฝึกอาชีพต่างๆ ให้แก่ราษฎร ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวรพระโรคพระหทัยและได้เสด็จฯ เข้ารับการรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ และได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันอังคาร ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เวลา ๒๑.๑๗ นาฬิกา สิริรวมพระชนมายุ ๙๔ พรรษา ปวงพสกนิกรต่างเชื่อมั่นว่า ด้วยอานุภาพแห่งกุศลธรรมที่ทรงบำเพ็ญเป็นอเนกอนันต์ พระผู้ทรงจากไปได้เสด็จสถิตในภพภูมิอันประเสริฐอันควรแก่พระคุณธรรมของพระองค์แล้ว ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนีขึ้นประดิษฐาน เหนือพระเบญจาทอง ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตกแต่งที่ประดิษฐานพระโกศ ถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี แล้วบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนาถวาย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เข้าถวายบังคมพระบรมศพ ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้จัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:อิสรีย์ ธีรเดช

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

พระบรมวงศ์พระองค์หนึ่งในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทรงเป็นสตรีที่ดำรงตำแหน่งประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หลายวาระติดต่อกันยาวนานถึง ๒๑ ปีหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ หม่อมเฉื่อย สกุลเดิม ยมาภัย ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่วังสามยอด ริมถนนเจริญกรุง เชิงสะพานดำรงสถิตย์ มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมหม่อมมารดา ๙ องค์ คือ พันโท หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๒๔ – ๒๔๙๐) หม่อมเจ้าอิทธิดำรง ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๒๘ – ๒๔๓๕) หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๖๙) หม่อมเจ้าหญิงแฝด ๑ คู่ หม่อมเจ้ารัชลาภจิรฐิต ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๓) หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล หม่อมเจ้าพิลัยเลขา ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๔๖๙) และหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๔๕ – ๒๕๑๐)

เมื่อยังทรงพระเยาว์ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงศึกษาภาษาไทยกับคุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์ (อ่อง) ทรงศึกษาวิชาสำหรับกุลสตรีจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา) และทรงศึกษาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสโดยตรงจากครูสตรีชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนวิชาการด้านต่างๆ เช่น โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม ศาสนา พระองค์ทรงศึกษาโดยตรงกับพระบิดา นักปราชญ์ผู้ทรงได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” เพราะทรงรับใช้ใกล้ชิดมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากหม่อมมารดาเสียชีวิตตั้งแต่พระองค์มีพระชันษา ๗ ปี

การศึกษาดังกล่าวมาของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล นับเป็นประสบการณ์ตรง ด้วยการตามเสด็จพระบิดาไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ในเวลาที่เสด็จไปทรงตรวจราชการและเสด็จประพาสต่างประเทศ ดังนั้นพระองค์จึงทรงรอบรู้เรื่องบ้านเมือง การประเพณี และเรื่องราวต่างประเทศเกี่ยวกับพระราชวงศ์และบุคคลสำคัญต่างๆ รวมทั้งทรงรู้จักสนิทสนมกับชาวต่างประเทศหลายคน

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังในสำนักของพระวิมาดาเธอ กรมพระ สุทธาสินีนาฏ จนกระทั่งพระชันษา ๑๕ ปี จึงเสด็จกลับไปประทับปฏิบัติรับใช้พระบิดาอยู่ใกล้พระองค์ตลอดพระชนมชีพ แม้ขณะที่เสด็จไปประทับที่ปีนัง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วก็ตาม และทรงเล่าถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกของสมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ สรุปความได้ว่า ทุกพระองค์ต้องตื่นบรรทมแต่เช้า ต้องทำงานการบ้านการครัวเป็น เพื่อควบคุมคน ต้องแต่งกายสุภาพเหมาะสมกับกาลเทศะและเกียรติยศ ต้องไม่พูดปด พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ไม่ทำหน้างอเวลาสนทนากับผู้อื่น ตรงต่อเวลาและละเอียดถี่ถ้วน ใช้ปัญญาคิดหาเหตุผลถึงเรื่องต่างๆ ทั้งดี และไม่ดี รวมทั้งทรงแนะนำให้อ่านแต่หนังสือที่ดีมีคุณค่าเพราะว่า “… หนังสือ เป็นเพื่อนที่ดีและอยู่ในอำนาจเรา ไม่ชอบก็เก็บเข้าตู้ไว้ ไม่เหมือนคุยกับคน ไม่ถูกใจก็ต้องทนเพราะไล่เขาไม่ได้…”

นอกจากนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงพาพระธิดาไปทอดพระเนตรพิธีในศาสนาต่างๆ เช่น วัน Good Friday ของคริสต์ศาสนา เป็นวันที่ปลดพระเยซูลงจากไม้กางเขน พิธีลุยไฟของเจ้าเซน ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดสนใจเรื่องราวของพุทธศาสนาต่อมา แล้วทรงแนะนำให้พระธิดาอ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าทรงอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ตรัสอนุญาตไว้ว่า “คราวนี้ไม่ เข้าใจก็มาถามฟัง” จึงเป็นเหตุให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงสนพระทัยศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังต่อมา และทรงสรุปความถึงผลที่ทรงได้รับจากพุทธศาสนาไว้ว่า

พระพุทธศาสนาได้ทำให้ข้าพเจ้าเป็นคนรู้จักเหตุผล ทำให้ฉลาดขึ้น ทำให้เป็นคนรู้จักทำความสุขให้ตัวเองได้ ทำให้เป็นคนกล้าไม่กลัวอะไรนอกจากบาป และเป็นคนมีเสรีภาพไม่ผูกพันหลงใหลแก่สิ่งต่างๆ ซึ่งไม่มีสาระแก่นสาร เพราะเชื่อแน่ในพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา …

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านศาสนาอันเป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนทั่วโลกหลายประการ ทั้งงานด้านการเขียน การพูด การให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งอุทิศพระองค์ทำงานเพื่อพุทธศาสนาด้วยการเป็นกรรมการบริหารสมาคมและองค์กรพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง เช่น

-ทรงพระนิพนธ์หนังสือสอนศาสนาสำหรับเด็ก เรื่อง ศาสนคุณ ส่งเข้าประกวดได้รับพระราชทาน รางวัลที่ ๑ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธี วิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๗๒ พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์คำนำชมเชยไว้ด้วย นอกจากนั้นยังมีพระราชดำรัส ชักชวนให้ไปสอนพุทธศาสนาแก่เด็กที่พระองค์ทรงเลี้ยงอีกด้วย สำนวนการเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับ ศาสนาของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล นี้ แม้แต่พระบิดายังทรงชมเชย ทั้งๆ ที่ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง ว่า “ใครหนอเขียน No. ๒ ? เขาช่างสอนลงมาให้เด็กเข้าใจดีจริงๆ พ่อตกลงใจให้ No. ๒ เป็นที่ ๑ !”

นอกจากทรงพระนิพนธ์เรื่องศาสนาแล้ว หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ยังทรงพระนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเสด็จไปประชุมด้านศาสนาในประเทศต่างๆ ก็จะทรงนิพนธ์ไว้เสมอ

-ทรงรับเชิญเป็นผู้บรรยายเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา ตามที่สถาบันและหน่วยงานต่างๆ ทูลเชิญ ด้วยทรงสามารถอธิบายหลักธรรมในพุทธศาสนาให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ฟังเข้าใจง่าย ไม่เบื่อหน่าย โดยการ เทียบเคียงอุปมาอุปไมย แม้แต่ชาวต่างชาติก็สนใจ เช่น พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงรับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๑ ปี และทรงรับเชิญไปแสดงปาฐกถาธรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษา และผู้สนใจตามโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถานีวิทยุกระจายเสียง รวมทั้งการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน

-ทรงรับเชิญเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มพุทธศาสนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเสด็จไปยังคณะอักษรศาสตร์ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เพื่อประทานความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำ แก่นิสิตที่สนใจ ต่อมาทรงรับเชิญเป็นที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอีกแห่งหนึ่ง

-ทรงเป็นกรรมการบริหารและอุปนายกของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงร่วมคณะผู้แทนไทยไปประชุมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เป็นผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

-ทรงได้รับเลือกเป็นรองประธานองค์การ พ.ส.ล. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้วทรงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การ พ.ส.ล. เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่เดิมสำนักงานใหญ่และสำนักงานเลขาธิการขององค์การ พ.ส.ล. จะตั้งอยู่ในประเทศที่ผู้แทนของประเทศได้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา ที่ประชุมมีมติให้ตั้งสำนักงานถาวรอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ พระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภกและรัฐบาลไทยให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การตลอดมา

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงดำรงตำแหน่งประธานองค์การ พ.ส.ล. อยู่หลายวาระ เป็นเวลา ๒๑ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๗ พระชันษา ๘๙ ปี จึงทรงได้รับยกย่องเป็นประธานกิตติมศักดิ์ตามประเพณี

ระหว่างที่ทรงเป็นประธานองค์การ พ.ส.ล. นั้น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงปฏิบัติงานประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ตลอดมา และยังทรงอุตส่าห์เสด็จไปเยือนศูนย์ภาคีขององค์การ พ.ส.ล. ตามประเทศต่างๆ รวมทั้งทรงบรรยายหลักธรรมทางพุทธศาสนาไปด้วย ทำให้มีผู้รู้จักเคารพนับถือพระองค์ท่านอยู่ทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ชาวไทยพุทธเท่านั้น
ความพยายามของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ในการทรงงานเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความกลมเกลียว ร่วมมือกันระหว่างพุทธศาสนิกชนทั่วโลก อันนำไปสู่สันติภาพนี้ ทำให้พระเกียรติคุณแผ่กระจายเป็นที่ชื่นชมทั่วไป มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์แด่พระองค์ คือ มหาวิทยาลัยดองกุก ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถวายปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓

ที่สำคัญและเป็นพระเกียรติอย่างยิ่ง คือ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วชิรมงกุฎ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัยด้วยพระโรคชรา ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ พระชันษา ๙๕ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ศิรินันท์ บุญศิริ

แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล

นักสังคมสงเคราะห์ผู้อุทิศตนในการช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก โสเภณี จนได้รับการยกย่อง ทั้งจากคนไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ก่อตั้ง พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ในพระราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นธิดาของนายตรงกิจ นางพันธ์ ฮุนตระกูล ครอบครัวมีฐานะดี เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเสาวภา กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนแพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุลจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ จากนั้นสมัครเป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์อยู่ประมาณ ๒ ปี แล้วเดินทางไปศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนามเป็นเวลา ๑ ปี ต่อมาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนลีเซบูมาเฟมองต์ ประเทศฝรั่งเศส จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ แล้วจึงเข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส จบแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ และประกาศนียบัตรวิชาแพทย์ชั้นสูง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙

ขณะศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศนั้น แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล มีความอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียนอย่างยิ่ง บางเวลาได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันและบุคคลต่างๆ เช่นทุนสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี ทุนมหิดล ทุนพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ บางเวลาทุนการศึกษาที่ได้รับหมด ตามกำหนดเวลาและเงื่อนไข ท่านต้องทำงานหาเงินเป็นค่าใช้จ่าย และค่าเล่าเรียน

เมื่อสำเร็จการศึกษา แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล เดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ในตำแหน่งนายแพทย์โท กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ต่อมาอีก ๔ ปี ย้ายไปสังกัดแผนกกามโรค กองแพทย์สังคม กระทรวงสาธารณสุข รับราชการเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕

นอกจากรับราชการแล้ว แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ยังอุทิศทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือสตรีผู้ประสบปัญหาในชีวิตครอบครัว เด็กที่มีปัญหาจากการสมรสของบิดามารดา รักษาผู้ป่วยกามโรค และช่วยเหลือหญิงโสเภณี ประสบการณ์สำคัญในการทำงานมุ่งอุทิศตนช่วยเหลือสังคม เนื่องมาจาก วันหนึ่งมีหญิงสาวมาจากครอบครัวผู้มีอันจะกินมาปรึกษาขอทำแท้งเพราะผิดหวังเรื่องความรัก ท่านเห็นว่าการทำแท้งเป็นบาป ให้หญิงสาวคนนั้นกลับไปปรึกษาแม่ แต่หญิงสาวกลับถูกแม่ดุด่าเสียใจจนคิดสั้นดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย ท่านพยายามจะช่วยชีวิตเธอไว้แต่สุดความสามารถ

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ท่านอุทิศตนช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาในชีวิต รับเลี้ยงดูเด็กที่เกิดนอกสมรส ให้ความรู้แก่สตรี โดยมีจุดมุ่งหมายว่า “อบรมแม่คนเดียวเท่ากับอบรมคนทั้งบ้าน” สถานที่ทำการก่อตั้งครั้งแรก อยู่ที่ย่านพลับพลาชัย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ เรียกว่า มาตาภาวสถาน ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เลขที่ ๑๘๗ ถนนสาทรใต้ เขตยานนาวา พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประทานนามว่า พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ปัจจุบันสถานทำการของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๓๑/๒ ซอยพหลโยธิน ๔๗ ถนนพหลโยธิน ลาดยาว จตุจักร

หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ดำเนินกิจการพีระยานุเคราะห์ มูลนิธิในการให้ความอุปการะแก่สตรีที่ประสบปัญหาในชีวิตครอบครัว รับเลี้ยงดูเด็กกำพร้า แรกทีเดียวท่านให้เด็กๆ เหล่านั้นใช้นามสกุลของท่าน คือ ฮุนตระกูล แต่ญาติของท่านขอให้ใช้นามสกุลอื่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ใช้นามสกุล เวชบุล เด็กๆ เหล่านั้นมีแพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล เป็นมารดา พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ เป็นบิดาตามกฎหมาย และตัวท่านเองได้เปลี่ยนไปใช้นามสกุล เวชบุล ด้วย บุตรบุญธรรมของท่านมีประมาณ ๔,๐๐๐ คน ส่วนมากจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะท่านเลี้ยงดูเอาใจใส่บุตรบุญธรรมของท่านอย่างดียิ่ง ไม่ให้มีปมด้อย โดยอาศัยหลักวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา จากกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเช่นนี้ มูลนิธิจึงได้รับเงินอุดหนุนทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤตของมูลนิธิขึ้นครั้งหนึ่ง เนื่องจากในการดำเนินการคงต้องใช้เงินมาก จึงเป็นหนี้ธนาคารออมสินกว่า ๓ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ธนาคารออมสินฟ้องให้ชดใช้หนี้สิน เหตุการณ์ครั้งนั้นประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมใจกันบริจาคสมทบทุนรวมเงินได้ ๓ ล้าน ๔ แสนบาท ไปใช้หนี้ธนาคารได้ เรียกการบริจาคเงินครั้งนั้นว่า “ประชาอุทิศ”

นอกจากการรับอุปการะเด็กและสตรีแล้ว แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ยังมีชื่อเสียงในการรักษากามโรคด้วย ประการสำคัญคือ มิได้รักษา โรคแก่บุรุษเท่านั้น ท่านให้ความสำคัญในการป้องกันโรคให้กับหญิงขายบริการทางเพศ ความตั้งใจในการทำงานของท่านมีมาก บางคราวถึงกับปลอมตัว เข้าไปในสถานบริการเพื่อฉีดยาป้องกันและรักษาโรค ให้แก่ผู้ป่วย ท่านเป็นผู้ก่อตั้งบ้านเกร็ดตระการ ของ กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสงเคราะห์หญิงขายบริการและเด็กเร่ร่อน

จากกิจกรรมอันเป็นประโยชน์แก่สังคมดังกล่าว สถาบันการศึกษาหลายแห่ง จึงส่งนักศึกษา ไปศึกษาดูงานที่พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ โดยศึกษาเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก จิตวิทยาเด็ก และยังมีนักทัศนาจร นักวิชาการ องค์กรของชาวต่างประเทศมาเยี่ยมชมกิจการของมูลนิธิอยู่เสมอ

ด้วยการอุทิศตนทำงานด้านสังคมสงเคราะห์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ได้รับการยกย่องให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น กรรมการสภาสงเคราะห์แห่งประเทศไทย กรรมการ สันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมสตรีนานาชาติ ฯลฯ ท่านได้รับยกย่องจากหน่วยงาน สถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมากมาย เช่น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เหรียญกาชาดสรรเสริญ ได้รับพระราชทานปริญญาสังคมวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๓ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยิอองดอนเนอร์ (Commander Legion d’Honnour) จากประเทศฝรั่งเศส ได้รับเหรียญทอง Woman of the World จากสมาคมสตรีนานาชาติ ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย EWHA WOMAN UNIVERSITY ประเทศเกาหลี ได้รับรางวัล Spirit of Achievment จากมหาวิทยาลัยอัลเบิร์ตไอน์สไตน์แห่งเยนิวา เมืองนิวยอร์ก ฯลฯ ผลงาน ของท่านแพร่หลาย จนบริษัทฮอลลีวู้ดขอนำชีวประวัติไปสร้างภาพยนตร์ นิตยสาร รีดเดอร์ ไดเจสต์ นำประวัติผลงานของท่านตีพิมพ์แพร่หลายไปทั่วโลก

แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมอายุ ๘๖ ปี ปัจจุบันพีระยานุเคราะห์มูลนิธิยังดำเนินการสืบต่อเจตนารมณ์อุดมการณ์ของแพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล โดยมีศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน และได้ร่วมงานกับสถานรับเลี้ยงเด็กก่อน วัยเรียน พีระยา นาวิน มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ขยายกิจการสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน จากครอบครัวที่มีรายได้น้อยไปยังต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดกาญจนบุรี และยังจัดสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนด้วย เช่น โรงเรียนบ้านคลองชล ตำบลวังทอง อำเภอ วังสมบูรณ์จังหวัดสระแก้ว โรงเรียนโคกป่าจิก ตำบลปรือ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนบ้านสว่างใหม่ ตำบลนํ้าพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน โรงเรียนบ้านบูกาฮาแลแม ตำบลปะโค อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี

นับเป็นการขยายขอบข่ายการดำเนินงานให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคมให้กว้างขวางหลากหลายยิ่งขึ้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ธีระ แก้วประจันทร์

หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย

ประเทศไทยมีเอกลักษณ์หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นที่ชื่นชม และแพร่หลายไปในนานาประเทศทั่วโลก “อาหารไทย” นับว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ชาวต่างชาติรู้จักกันมานานนับแต่สมัยโบราณ ทั้งนี้ก็เนื่องจากอาหารไทยได้รับการหม่อมหลวงเติบ ชุมสายอนุรักษ์และสืบทอดกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน สตรีไทยท่านหนึ่งได้ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดียิ่ง ท่านผู้นี้คือ หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ผู้ได้นำวิชาการแขนงนี้ออกไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ

หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย เป็นธิดาของพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ถัด ชุมสาย บิดาคือ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย มารดาคือหม่อมเจ้าหญิงสารภี สนิทวงศ์) กับคุณหญิงสีหศักดิ์สนิทวงศ์ (คุณหญิงติ๊ ธิดาขุนโภคาสมบัติ (เอม) และนางโภคาสมบัติ (จั่น)) หม่อมหลวงเติบเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้อง ๗ คน ได้แก่ หม่อมหลวงติ๋ว (หญิง) หม่อมหลวงต๋อย (ชาย) หม่อมหลวงต้อย (ชาย) หม่อมหลวงตุ้ย (ชาย) หม่อมหลวงต่อ (หญิง) หม่อมหลวงเติบ (หญิง) และหม่อมหลวงสีตอง (หญิง) หม่อมหลวงเติบจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนสายปัญญา และมัธยมศึกษาปีที่ ๘ จากโรงเรียนราชินีบน

หม่อมหลวงเติบและพี่น้องของท่านทุกคน ล้วนได้รับการปลูกฝังความรู้และประสบการณ์เรื่องการประกอบอาหาร และการดูแลงานครัว มาจากฝ่ายบิดาและมารดา โดยเฉพาะมารดาของท่านนั้น เป็นผู้ที่มีฝีมือในการปรุงอาหารหวานคาวเป็นเลิศ ทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง หม่อมหลวงเติบเคยเล่าไว้ในหนังสือคู่มือแม่บ้านว่า

“.. วิธีเรียนการครัวของพวกเรา จะเริ่มต้นด้วยบิดามารดาเล่านิทานก่อนแม่นอน นิทานที่เกี่ยวกับงานครัว นั่นเมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กๆ ต่อมาจะฝึกในเรื่องรสนิยม ชี้หรือหาแบบอย่างให้ดูให้ชิน จนเด็กๆ จดจำแม่นยำไม่เคลือบแคลงหรือปะปน… การฝึกต่อไปอีก เมื่อโตขึ้นหน่อยคือพาให้ได้เห็นสังคมการกินอยู่บ่อยๆ แล้วสอบพวกเราด้วยตั้งคำถาม ต่างๆ นานา เมื่อพวกเราพอจะรู้เรื่องของโลกมาขึ้นหน่อย จึงเริ่มเรียนเรื่องของ นาม ใน วิชาการครัว เช่น ปรัชญา จรรยา ธรรมชาติ ต่อเมื่อโตพอจะอ่านหนังสือได้โดยเข้าใจความหมาย จึงเริ่มฝึกจากการอ่าน การฝึกที่บิดามารดาข้าพเจ้าถือว่าสำคัญคือ การอำนวยงาน งานครัวอย่างเดียวที่พวกเราต้องฝึกฝนด้วยการลงมือคือ จำพวกงานที่ต้องใช้ฝีมือ หรือจะเรียกอย่างสมัยใหม่ว่าจำพวกที่เป็นศิลป… ”

นอกจากนี้ หม่อมหลวงเติบยังเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร ลลนา ว่า

“…ญาติทั้งบิดามารดาเป็นผู้ที่อยู่ในวงการอาหาร มารดาก็เรียกว่าอยู่ในสกุลที่ชอบอาหารเหมือนกัน คือเป็นชาวบางลำพู บางขุนพรหม ซึ่งในสมัยที่เป็นเด็กหรือก่อนหน้านั้นมา แม่เล่าว่าชาวบางลำพู บางขุนพรหม เขาถือว่าเป็นพวกที่มีฝีมือในการทำอาหารคาวหวาน มีญาติทางแม่หลายท่านเหมือนกันที่รับราชการห้องพระเครื่องต้น… ”

อนึ่ง เนื่องจากพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ผู้เป็นบิดา เป็นผู้ที่สนใจและให้การสนับสนุนกิจการงานครัวเป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการละเลงขนมเบื้อง และการปอกมะปรางริ้ว ประกอบกับท่านเป็นผู้ที่มีฝีมือในทางช่างอยู่ด้วย ท่านจึงได้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับการครัวให้แก่ภริยาและธิดาทั้งหลาย ดังปรากฏ ในอัตชีวประวัติที่ท่านเขียนเองตอนหนึ่งว่า

“…ระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่นั้น วันหยุดราชการหรือวันว่างข้าพเจ้าชอบทำการฝีมือเสมอ แต่ข้าพเจ้าทำเฉพาะที่ข้าพเจ้าชอบทำ เช่น เครื่องมือทำขนมเบื้องไทย มีจ่าละเลงขนมเบื้อง เหล็กแซะ เหล็กขูดมะพร้าว กระทะเหล็ก เตาอั้งโล่ มีปลอกทองเหลือง ทองแดง ทองขาว อะลูมิเนียม บุตรีของข้าพเจ้าทุกคนต่างละเลงขนมเบื้องไทยได้เป็นอย่างดี และข้าพเจ้าได้จัดทำเครื่องมือทำขนมเบื้องไทยแจกให้ครบชุดทุกคน ใช่แต่บุตรีเท่านั้น หลานๆ ผู้หญิงโดยมากที่เป็นศิษย์ฝึกหัดละเลงขนมเบื้องจากแม่ติ๊ภรรยาข้าพเจ้า ก็ได้ขอร้องให้ทำเครื่องมือให้ทุกคน…”

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านบิดาของหม่อมหลวงเติบ ยังขวนขวายซื้อหาตำรับตำราอาหาร มาช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวของท่านมีความรู้ในด้านนี้อย่างกว้างขวางทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น หม่อมหลวงเติบได้รับของขวัญวันเกิดอายุครบ ๙ ขวบเป็นตำราอาหารเล่มแรก ซึ่งเป็นตำราภาษาอังกฤษ เขียนโดยมิสซิสบีตันส์ และพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ ยังได้แปลตำรา อาหารภาษาอังกฤษให้แก่คุณหญิงผู้เป็นภรรยาด้วย หม่อมหลวงเติบและครอบครัวของท่านจึงรักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ ไม่เว้นแม้แต่ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครอบครัวของท่านไม่ได้อพยพหนีภัยระเบิดไปจากกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภค ในเวลานั้นคนไทยนิยมหันมารับประทานขนมปังกันบ้างแล้ว เผอิญแป้งสาลีที่นำเข้าจากต่างประเทศขาดแคลนลง ครอบครัวหม่อมหลวงเติบได้คิด หาสิ่งทดแทนสำหรับทำขนมปังและขนมเค้ก โดยใช้วิธีการผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว และแป้งมัน ส่วนยีสต์ที่ทำขนมปังก็ทำมาจากยีสต์ที่ทำข้าวหมัก และยังได้ทำแป้งสำหรับทำเส้นบะหมี่และสปาเกตตีด้วย

สิ่งที่หม่อมหลวงเติบได้สั่งสมมาแต่วัยเยาว์มิใช่แต่เพียงความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการทำอาหารเท่านั้น หากท่านยังสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับบ้านเรือนและการครัวด้วย ซึ่งเห็นได้จากข้อเขียนของท่านหลายเรื่อง เช่น ครัวที่น่าเข้า เขาฝึกการครัวกันอย่างไร และงานครัวเป็นบ่อเกิดแห่งความงาม เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนตำราอาหารหวานคาวไว้ไม่น้อย ทั้งตำรับไทยและฝรั่ง ซึ่งถือว่าเป็นตำรับ เฉพาะตัวของท่าน เช่น ขนมจีนประเภทต่างๆ ห่อหมก หมี่กรอบ ข้าวแช่ ลูกชุบ ทองหยิบ ทองหยอด และขนมไทยอื่นๆ อาหารฝรั่ง ได้แก่ ขนมเค้กชนิดต่างๆ พาย พัฟ และขนมปังนานาชนิด ตำรับหรือสูตรของท่านนั้นไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีรายละเอียดและส่วนผสมที่ชัดเจน เพราะหม่อมหลวงเติบเป็นผู้ที่เคร่งครัดในเรื่องการ “ชั่ง ตวง วัด” เป็นอย่างยิ่ง ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอว่า ถ้าไม่มีเครื่องชั่ง ตวง วัด คือไม่มี “มาตร” หรือ “สูตร” แล้ว ท่านจะไม่ทำอาหารเป็นอันขาด หม่อมหลวงเติบได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ในการทำอาหารที่เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มาตรคือเครื่องชั่ง ตวง วัด เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอ กระจายความรู้ให้กว้างขวางโดยไม่เปลืองเวลาซักถามฝึกซ้อม ผลพลอยได้สำหรับเด็กๆ ถือว่าฝึกนิสัยมีระเบียบและตรงต่อเวลา ในภายหน้าจะได้มีผู้ใหญ่ที่ทรงสัจธรรมมากขึ้น… ”

ผลงานของหม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนตามสื่อต่างๆ มาเป็นเวลายาวนานตลอดช่วงชีวิตของท่าน หม่อมหลวงเติบเป็นผู้จัดและดำเนินรายการยอดนิยมในขณะนั้นรายการหนึ่งคือ “รายการแม่บ้าน” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๙ รวมเวลา ๒๐ กว่าปี ในขณะเดียวกันหม่อมหลวงเติบก็ได้นำรายการอาหารที่ออกอากาศเหล่านั้นมาเขียนเป็นตำราลงพิมพ์ในหนังสือ คู่มือแม่บ้านทางวิทยุและโทรทัศน์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนบทความ บทละคร เรื่องสั้น แปลบทกวีของชาวต่างประเทศ เป็นต้นว่า Leigh Hunt, Desangiers และ Shakespeare รวมทั้งบทกวีที่ท่านแต่งเอง เช่น บทกลอนชื่อ “ดอกไม้” “สาวน้อย” และ “ผู้บำเพ็ญประโยชน์” ลงในหนังสือเล่มนี้ด้วย และหม่อมหลวงเติบยังได้ใช้เวลาว่างของท่านเขียนหนังสือและตำราอีกหลายเล่ม ได้แก่ ตำรับอาหารทาง T.V. ตำรับอาหารประจำวัน พระเครื่องต้นที่สกลนคร การปรุงอาหารว่างต่างๆ อาหารว่าง ชุดความรู้ไทยเรื่องข้าว กับข้าวรัตนโกสินทร์ ๒๕๒๕ ซึ่งสายปัญญาสมาคมในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดพิมพ์ในโอกาสครบ ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ และเรื่อง แม่โพสพ ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทหนังสือเด็ก พ.ศ. ๒๕๑๗

ความที่เป็นผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญในด้านโภชนาการและอาหารโดยเฉพาะอาหารไทย ทำให้หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ได้รับเชิญไปบรรยาย สาธิตและจัดแสดงในงานต่างๆ อยู่เสมอ เช่น งานเคหศิลป์ของสภาสตรีแห่งชาติ งานแสดงของหวานไทยในงานประชุมทันตแพทย์ภาคพื้นแปซิฟิก ที่โรงแรมสยาม คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เป็นต้น และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่วิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ อีกหลายแห่ง นอกจากนี้ ความสามารถเฉพาะตัวของหม่อมหลวงเติบ ยังได้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศด้วยเช่นกัน ท่านเคยได้รับเชิญให้เปิดร้านอาหารที่องค์การ สปอ. หรือซิโต้ (SEATO) อยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนี้ท่านยังได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร และจัดแสดงกิจกรรมที่ช่วยเผยแพร่ตำรับอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น อาทิ ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายพิเศษในโครงการ East-West ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย และเป็นผู้สาธิตวิธีประกอบอาหารไทยในประเทศต่างๆ เช่น งานสัปดาห์อาหารไทย โดยสภากาชาดเดนมาร์ก ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก งานเทศกาลอาหารไทยที่ซูริค และบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และงานสัปดาห์อาหารไทยในประเทศแถบยุโรปอีกหลายแห่ง ระหว่างที่ท่านเดินทาง ซึ่งบางครั้งก็กินเวลาแรมเดือนนั้น หม่อมหลวงเติบมักจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้พบเห็นส่งมายังเมืองไทยในรูปของบทความ จดหมาย และบทกลอน ซึ่งส่วนมากจะพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ คู่มือแม่บ้าน อย่างต่อเนื่อง ข้อเขียนเหล่านี้ มีรายละเอียดในแทบทุกด้านและแทรกความคิดเห็นของผู้เขียนไว้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของท่าน

หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ถึงแก่มรณกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ นับจนถึงบัดนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน ก็ยังเป็นที่รำลึกจดจำอย่างไม่รู้ลืม ผลงานเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ของท่านนั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ท่านทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญนี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:นุชนารถ กิจงาม

ศาสตราจารย์พิเศษ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย และนักเขียนที่มีชื่อเสียง

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ สกุลเดิม กุญชร เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่บ้านคลองเตย ถนนสุนทรโกษา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านพักนอกเมืองของบิดา ส่วนบ้านเดิมของตระกูลคือ บ้านเลขที่ ๑๒๘ ถนนอัษฎางค์ เขตหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณพระนคร หรือที่เรียกกันว่า วังบ้านหม้อ เป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศร วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) และหม่อมนวล พ.ศ. ๒๕๐๓ สมรสกับนายแพทย์ชม เทพยสุวรรณ ไม่มีบุตรและธิดา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้รับการศึกษาตามลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๔๕๙ ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

พ.ศ. ๒๔๖๕ เรียนต่อที่ Convent of the Holy Infant Jesus ปีนัง ได้รับประกาศนียบัตร มัธยมศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อกลับประเทศไทยได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๘ ที่โรงเรียนเซนต์แมรี่ส์หรือ S.P.G. ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Society for the Propagation of the Gospel เนื่องจากต้องการประกาศนียบัตรของกระทรวงธรรมการ

พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๙ ศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (อ.บ.)

พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม

พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๔๙๓ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาโททางการศึกษา M.A. (Ed.)

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้เริ่มชีวิตการทำงานดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๘๑ เข้ารับราชการที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และช่วยสอนภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์

พ.ศ. ๒๔๘๘ ลาออกจากราชการ แต่ยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ และสอนภาษาไทยที่โรงเรียนมาแตร์เดอี

พ.ศ. ๒๔๙๐ กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งที่แผนกครุศาสตร์ คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาโททางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้ย้ายไปดำรง ตำแหน่งสำคัญทางการศึกษาตามลำดับ คือ

-ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

-หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา

-รักษาการในตำแหน่งรองอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน

-ช่วยราชการกองเผยแพร่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

-คณบดีคณะอักษรศาสตร์ วิทยาเขตทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ลาออกจากราชการ แต่ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะอักษรศาสตร์ วิทยาเขตทับแก้ว และมหาวิทยาลัยอื่นอีกหลายแห่ง

ตั้งแต่เริ่มเป็นครู ภาษาไทยเป็นวิชาที่หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เห็นว่าเป็นวิชาที่สำคัญ ที่ต้องการสอนมากที่สุด เนื่องจากภาษาเป็นชีวิตและศูนย์รวมของชาติ เป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่การพัฒนา บุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ครูมีโอกาสที่จะทำให้นักเรียนมีความคิดก้าวไกลได้มาก ในชั่วโมงภาษาไทย หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เป็นครูที่รอบรู้ทั้งภาษาไทย วรรณคดี และวิธีสอน ได้คลุกคลีกับวรรณคดีไทยจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัวมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเรียนหนังสือก็ได้ศึกษาวรรณคดีไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะวรรณคดีอังกฤษอย่างกว้างขวาง ทำให้มีความรู้แตกฉาน สามารถวิเคราะห์วิจารณ์และเปรียบเทียบวรรณคดีไทยกับวรรณคดีต่างประเทศได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้เป็นผู้นำภาษาศาสตร์มาเผยแพร่ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยเน้นหนักเรื่องการใช้ภาษาศาสตร์ ช่วยในการเรียนการสอน สำหรับวิธีสอนนั้นได้ศึกษาโดยตรงในระดับปริญญา และมีประสบการณ์จากการอบรม ประชุม รวมทั้งสัมมนา จนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ มีความเห็นว่าความบกพร่องในงานสอนภาษาไทยที่สำคัญที่สุดคือ การขาดความเอาใจใส่และความพยายามในอันที่จะค้นคว้าวิธีสอนที่ได้ผล รวมทั้งการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ก้าวหน้า

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้เข้าร่วมการประชุม สัมมนาทางการสอน การศึกษา ทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง ดังตัวอย่าง

-ศึกษาอบรมเรื่องโรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยอาชีวศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๙๓

-ศึกษาและดูงานด้านการจัดโรงเรียนและร่วมประชุมกับนักการศึกษาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

-ศึกษาและดูงานด้านการจัดโรงเรียนมัธยมที่เมืองเจนีวาและโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๔๙๙

-ร่วมสัมมนาเรื่องนักเรียนในภูมิภาคเอเชียใต้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการศึกษา จัดสัมมนาโดย Society of Friends (Quakers) ณ กรุงเทพฯ ปอร์ต ดิคสัน ประเทศมาเลเซีย (Port Dickson, Malaysia) และจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑ – ๒๕๐๙
ฯลฯ

และเนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ จึงได้รับเชิญให้ร่วมงานการศึกษาและสาธารณประโยชน์อยู่เสมอ ดังตัวอย่าง

-เป็นผู้ร่างหลักสูตรวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-เป็นผู้ร่วมปรับปรุงหลักสูตรและแบบเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

-เป็นกรรมการประสานงานวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา

-เป็นนายกสตรีอุดมศึกษา

-เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ

-เป็นประธานกรรมการและประสานงานการสอนภาษาอังกฤษระดับชาติ

-เป็นกรรมการองค์การภาษาอังกฤษซิมิโอ (Southeast Asia Minister Organization)

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่แต่ละโครงการได้วางไว้ โดยมีหลักในการทำงานว่า “เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำอะไรก็ตาม ต้องพยายามทำให้เต็มความสามารถ และทำใจให้ชอบให้สนุกกับสิ่งที่ต้องทำ”

เนื่องจากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ จึงได้รับการยอมรับนับถือ ในวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง เป็นผลให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายสาขา คือ

ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๑๗

ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๐

ปริญญาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๔

ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๔

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นจำนวนมาก อาจยกประเภทได้ดังนี้ คือ

ประเภทภาษาไทย
๑. ไขความบัญญัติศัพท์บางคำ
๒. ความรู้เบื้องต้นเรื่องวัฒนธรรมของชนชาติที่พูดภาษาไทย
๓. แนะแนวการศึกษาวิชาวรรณคดี
๔. ภาษาไทยวิชาที่ถูกลืม
๔. ตัวอย่างการวิจารณ์นวนิยาย
๖. วิเคราะห์รสวรรณคดีไทย
๗. วรรณคดี
๘. หนังสือเรียนภาษาไทยเพื่อกิจธุระ ท. ๓๓๑ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ๙. สนทนาเรื่องพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๑๐. การอภิปรายเรื่อง “นวนิยายของดอกไม้สด” เนื่องในวันดอกไม้สดรำลึก

ประเภทภาษาอังกฤษ
๑. ภาษาอังกฤษ (คู่มือครูประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น วิชาภาษาอังกฤษ)
๒. ภาษาอังกฤษ
๓. รวมบทความเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
๔. วัฒนธรรมของชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษ
๕ รวบรวมเรื่องสั้นจากสหรัฐอเมริกา

ประเภทเกี่ยวกับชีวิต
๑. ความสุขของสัตว์
๒. ความสำเร็จและความล้มเหลว

ประเภทนวนิยาย
๑. คนถูกคนผิด
๒. ฉากหนึ่งในชีวิต
๓. ดร. ลูกทุ่ง
๔. ตกหลุมตกร่องแล้วใดใดก็ดี
๕. ทุติยะวิเศษ
๖. ศิลาอาถรรพณ์
๗. สะใภ้แหม่ม
๘. สุรัตนารี

ประเภทบทความจากวารสาร
๑. การใช้ศัพท์วิชาการศึกษา วารสารครุศาสตร์ ๓ (๕) : ๒๑ – ๒๘, สิงหาคม – กันยายน ๒๕๑๖

๒. การที่ครูจะเจริญรอยบาทพระศาสดา วารสารวิทยุศึกษา ๔ (๘) : ๓๒ – ๓๖, สิงหาคม ๒๕๐๐

๓. การปลูกฝังค่านิยมโรงเรียนวารสารคหเศรษฐศาสตร์ฉบับพิเศษ๑๘ : ๑๖๑-๑๖๖, ธันวาคม ๒๕๑๗

๔. การสอนภาษาไทยกับค่านิยมปัจจุบัน วิทยาสาร ๒๕ (๓๗) : ๑๘ – ๒๐, ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๗

๕. การอบรมศึกษากับค่านิยมที่พึงประสงค์ เอกลักษณ์ไทย ๑ (๑) : ๓๑- ๕๐ มกราคม ๒๕๒๐

๖. แก่นและกระพี้ของวัฒนธรรมไทย วารสารครุศาสตร์ ๑(๑) : ๓๒ – ๔๘ ธันวาคม ๒๕๑๓

๗. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมสหพันธ์ องค์การอาชีพครูแห่งโลก ณ ศาลาสันติธรรม ศูนย์ศึกษา ๑๑ (๒) : ๖๑- ๖๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗

๘. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาในปัจจุบัน วารสารสภาการศึกษาแห่งชาติ ๗ (๔) : ๔๑- ๕๒ กันยายน ๒๕๑๕

๙. ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นมาของละครไทยและการปรับปรุง วารสารธรรมศาสตร์ ๒ (ฉบับพิเศษ นาฏศิลป์และดนตรีไทย) : ๑๖๐ – ๑๘๙ ๒๕๑๖

๑๐. ข้อสังเกตเรื่องวรรณคดีไทย วารสารห้องสมุด ๑๑ (๔) : ๒๑๔ – ๒๑๕ กรกฎาคม – สิงหาคม ๒๕๑๐

๑๑. ความผิดหวังในการศึกษา จันทรเกษม ๙๗ : ๒๕ พฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๑๓

๑๒. แนะแนวทางสอนอ่านนวนิยาย วารสารวิสามัญศึกษา ๔(๑) : ๗ -๑๑ พฤษภาคม ๔ (๒) : ๕ – ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๐

๑๓. ประเพณีไทยขัดขวางหรือสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ปาจารยสาร ๓ (๙) : ๒๙ มกราคม – มีนาคม ๒๕๑๗

๑๔. เปลี่ยนแล้วจะเกิดอะไร วิทยาสาร ๒๔ (๑): ๖- ๑๑ ๑ มีนาคม ๒๕๑๖

๑๕. พันธกิจของแผนกวิชาภาษาไทยในมหาวิทยาลัย วารสารธรรมศาสตร์ ๒ (๒) : ๖๐ – ๗๑

๑๖. ภาษาฝรั่งที่มีอิทธิพลต่อภาษาไทย สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ๕ (๑): ๖๐ – ๖๙ มิถุนายน – สิงหาคม ๒๕๑๐

๑๗. วรรณกรรมการเมือง ภาษาและหนังสือ ๗ (๔) : ๑๐๖ – ๑๐๙ เมษายน ๒๕๑๔

๑๘. วรรณคดีกับการวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ปริทัศน์ ๒ (๒) : ประจำภาคเรื่องที่สอง ๒๕๒๓

๑๙. วิชาวรรณกรรมศึกษา : สิ่งที่สอนและวิธีสอน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ๗ (๑๑) : ๒๑- ๒๗

๒๐. สาส์นศึกษา วารสารวิทยุศึกษา กุมภาพันธ์ – มีนาคม ๒๔๑๗ ๒๙ – ๓๔

๒๑. หัวอกครู จันทรเกษม (๑๐๖) : ๔ -๑๘ พฤษภาคม – มิถุนายน ๒๕๑๕

๒๒. หัวอกครู วารสารวิทยุศึกษา ๒๐ (๑): ๙- ๑๒ ๑ มกราคม ๒๕๑๖

นามปากกา
๑. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
๒. บุญเหลือ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ทองเพียร สารมาศ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

พระนามเดิม หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็นพระธิดา ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ต้นราชสกุลรัชนี ซึ่งวงการประพันธ์รู้จักกันในพระนามว่า “น.ม.ส.” และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ มีพระพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตอนุชาร่วมพระมารดาหนึ่งองค์ คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเริ่มการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนผดุงดรุณี ๑ ปี แล้วทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยไม่ถึง ๑ ปี จึงเสด็จเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอี วิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๘ และยังได้ทรงศึกษาเพิ่มเติม ณ โรงเรียนแห่งนี้ อีก ๓ ปี ในหลักสูตรพิเศษสำหรับนักเรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่สนใจเรียนรู้วิชาพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองต่อไป ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ทรงแตกฉานในภาษาศาสตร์ทั้งไทยและอังกฤษ สามารถตรัสภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว

ต่อมาพระบิดาทรงมอบให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตช่วยจัดหนังสือในห้องสมุดส่วนพระองค์ ที่ทรงสะสมหนังสือซึ่งมีคุณค่าและหายากไว้เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากทรงเป็นผู้โปรดการอ่านหนังสืออย่างยิ่ง จึงสนพระทัยในการอ่านมากกว่าการจัดห้องสมุด พระบิดาจึงทรงมอบให้ทำหน้าที่เลขานุการส่วนพระองค์ เพื่อช่วยค้นหนังสือและจดตามรับสั่ง โดยเฉพาะเมื่อตอนที่พระเนตรของพระบิดาเป็นต้อ ได้ทรงเขียนคำประพันธ์ตามคำบอกไปลงพิมพ์ในหน้า ๕ ของหนังสือ ประมวญวัน รายวัน และประมวญสาร รายสัปดาห์ รวมทั้งทรงตรวจพิสูจน์อักษรแทนพระบิดาด้วย นอกจากนี้ยังได้ทรงจดกวีนิพนธ์ อันยิ่งใหญ่เรื่อง สามกรุง และคำประพันธ์เรื่องต่างๆ ที่พระบิดาทรงประพันธ์ขึ้นในขณะนั้นอีกหลายเรื่อง

เมื่อครั้งที่พระบิดาทรงตั้งวงสักวาขึ้นที่วังถนนประมวญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงช่วยจดบทสักวาอันไพเราะที่นักกลอนแต่งสดๆ เพื่อให้นักร้องขับร้องกับวงมโหรี ต่อมาเมื่อพระบิดาและ คณะเล่นสักวาไปรษณีย์ พระองค์ก็ทรงช่วยเปิดซอง และอ่านบทกลอนสักวาอย่างสนุกสนาน จึงกล่าวได้ว่า ทรงอยู่ในแวดวงของกวีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และเป็นช่วงเวลาที่ทรงได้รับใช้พระบิดาอย่างใกล้ชิด ทรงได้รับการถ่ายทอดพระคุณสมบัติและสรรพวิชาการทั้งปวงจากพระบิดาผู้ทรงเป็นจินตกวีชั้นเยี่ยม เป็นปราชญ์องค์หนึ่งของเมืองไทย ที่ทรงเชี่ยวชาญในวิทยาการหลายสาขา และทรงแตกฉานในอักขรสมัยทั้งไทยและต่างประเทศ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต รับสั่งอยู่เสมอ ว่า “ทรงสำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัย น.ม.ส.” ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ และพระกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญ เพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติในเวลาต่อมา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ต้นราชสกุลรังสิต โดยได้รับพระราชทาน นํ้าพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงมีธิดา ๒ คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ รังสิต และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต ทรงปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะพระชายาและพระมารดาได้อย่างบริบูรณ์

ในด้านพระจริยวัตรส่วนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นเจ้านายที่ไม่ถือพระองค์ ทรงเข้ากับคนได้ทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย มีความเสมอต้นเสมอปลาย มีพระอารมณ์ขัน และพระนิสัยกล้าเสี่ยงมาแต่ทรงพระเยาว์ มีนํ้าพระทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา โปรดการช่วยเหลือผู้อื่น อาทิ ทรงช่วยเหลือและสนับสนุนทุนทรัพย์แก่ผู้ด้อยโอกาส ที่ใฝ่เรียนรู้ให้ได้รับการศึกษาสูงขึ้น และมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ทรงประกอบกิจกรรมการกุศลต่างๆ เพื่อสงเคราะห์ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ยังทรงเป็นนักสำรวจทางโบราณคดีที่ยอดเยี่ยม ได้ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดี และเสด็จไปยังแหล่งขุดค้น เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งประทานทุนให้แก่ข้าราชการของกรมศิลปากรไปฝึกงาน ณ ต่างประเทศในสาขาวิชาเกี่ยวกับโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำความรู้มาสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ด้านพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงของไทย มีพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมหลากหลายประเภท ทั้งนี้เพราะทรงสืบสายพระโลหิตของนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่สองพระองค์ คือ เป็นพระธิดาของ น.ม.ส. รัตนกวี และพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จึงโปรดการอ่านและการประพันธ์หนังสือ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเชี่ยวชาญในศาสตร์ทั้งหลายโดยเฉพาะภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เมื่อรวมกับสรรพวิชาความรู้ที่ทรงได้รับการถ่ายทอดจากพระบิดา ตลอดจนแนวคิด ลีลาการเขียน และวิธีการประพันธ์ที่ทรงศึกษาในงานวรรณกรรมของพระบิดา รวมทั้งพระอารมณ์ขันส่วนพระองค์แล้ว จึงทำให้งานเขียนทุกเรื่องมีคุณค่า ให้ความรู้ ความบันเทิงและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน เป็นเสน่ห์ในงานประพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของงานพระนิพนธ์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นนักเขียนที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ ผลงานด้านการประพันธ์มีหลากเรื่อง หลายรส ทั้งเรื่องสั้นสำหรับเด็ก นวนิยาย สารคดี นวนิยายอิงประวัติศาสตร์บทความ เรื่องแปล ละครวิทยุ ทรงใช้พระนามจริงในงานเขียนประเภทสารคดี และทรงใช้นามปากกาว่า “ว. ณ ประมวล มารค” ในงานเขียนประเภทอื่นๆ

เรื่อง เด็กจอมแก่น เป็นงานเขียนเรื่องแรกที่ทรงนิพนธ์ เมื่อพระชันษา ๑๔ ปี ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านวัยเยาว์สมัยนั้นเป็นอันมาก และเป็นกำลังใจให้ทรงนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ในเวลาต่อมา ส่วนผลงานประเภทนวนิยายที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรื่อง ปริศนา เจ้าสาวของอานนท์ รัตนาวดี งานเขียนที่โปรดมากที่สุด คือ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ไว้ ๓ เรื่อง คือ เรื่อง พระราชินีนาถวิกตอเรีย คลั่งเพราะรัก และฤทธีราชินีสาว งานเขียนทุกเรื่องทรงสร้างสรรค์ขึ้นอย่างประณีต โดยเฉพาะนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ทรงอุตสาหะ ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีหลักฐานอ้างอิงได้นำมาเรียบเรียงด้วยกลวิธีอันเหมาะสม เพื่อเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้ผู้อ่านได้อ่านอย่างเพลิดเพลิน จึงเป็นเรื่องที่ให้ทั้งความรู้ในกลวิธีการประพันธ์นวนิยาย และด้านวิชาการ
ด้านการบำเพ็ญพระกรณียกิจ เพื่อประเทศชาติและประชาชน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วิภาวดีรังสิต ทรงเริ่มเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการโดยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศหลายครั้งในฐานะนางสนองพระโอษฐ์ ได้โดยเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เอเชีย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๑๘ รวม ๗ ครั้ง ซึ่งรวมถึงใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่โดยเสด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ไปร่วมพิธีศพ
พระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ ณ ประเทศสวีเดนด้วย ทรงคุ้นเคยกับพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี และพระราชวงศ์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป และทรงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียม ประเพณีในราชสำนักของประเทศต่างๆ เหล่านั้นอย่างแตกฉานลึกซึ้ง

เมื่อมีแขกต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงทำหน้าที่ดูแลรับรองทุกครั้ง พระปรีชาสามารถด้านการต่างประเทศ และพระอัธยาศัยอันน่าชื่นชม ทำให้นานาประเทศมีความเข้าใจประเทศไทยดีขึ้น จึงนับได้ว่า ทรงเป็นผู้มีส่วนช่วยเผยแพร่เกียรติภูมิของชาติอีกทางหนึ่งด้วย พระองค์ได้ทรงปฏิบัติราชกิจน้อยใหญ่ สนองพระเดชพระคุณด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดีตลอดมา จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง

การสนองพระเดชพระคุณด้านกิจการภายในประเทศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ได้เสด็จไปปฏิบัติพระภารกิจแทนพระองค์ในการเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของประชาชนทางภาคใต้ ในระยะ ๑๐ ปี สุดท้ายแห่งพระชนมชีพ กล่าวคือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา เล่าพระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ถึงความยากลำบากขาดแคลนของข้าราชการ และประชาชนในอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระองค์จึงกราบบังคมทูลรับอาสาที่จะเดินทางไปช่วยเหลือราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นดังกล่าวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเสด็จไปครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อเยี่ยมเยียนหน่วยพระราชทานและราษฎรที่อำเภอพระแสง ทรงปฏิบัติภารกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความลำบาก ผลการปฏิบัติงานทำให้อำเภอพระแสงมีการพัฒนาทั้งด้านสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม การศึกษา สุขอนามัย นอกจากนี้ได้ทรงขยายงานไปในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และต่อๆ ไปในทุกจังหวัดของภาคใต้ ทั้งเสด็จไปปีละครั้งมิได้ขาด ในคราวนํ้าท่วมใหญ่ภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็ได้ทรงนำหน่วยพระราชทานเข้าไปช่วยเหลือด้วยนํ้าพระทัยอันเปี่ยมด้วยพระกรุณา บางครั้งแม้ต้องเสด็จไปในที่กันดารก็มิได้ทรงย่อท้อ หรือแสดงพระกิริยาเบื่อหน่าย หรือเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด ทรงทุ่มเทเสียสละความสุขสบายส่วนพระองค์ เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ราษฎรที่ทุกข์ยาก ให้มีคุณภาพชีวิตความที่ดีขึ้น เกิดกำลังใจและความอบอุ่นว่ามิได้ถูกทอดทิ้ง

ในการเสด็จทุกครั้งพระองค์ทรงนำสิ่งของพระราชทานไปประทานแก่ราษฎรที่ยากจนขัดสน อาทิ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อุปกรณ์การเรียนสำหรับนักเรียน และเครื่องใช้สอยต่างๆ รวมทั้งนำแพทย์ พยาบาลร่วมคณะไปด้วย เพื่อตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย เมื่อแพทย์พยาบาลตรวจพบคนไข้ที่มีอาการหนัก หรือซับซ้อนเกินความสามารถที่จะบำบัดรักษา ณ ที่นั้นได้ ก็รับสั่งให้ส่งคนไข้รายนั้น ไปรับการพยาบาลรักษาที่โรงพยาบาลของจังหวัด ในฐานะคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ หรือบางรายก็รับสั่งให้เข้าไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังทรงนำ นักการเกษตรไปแนะนำการเพาะปลูกพืช และทรงส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร ทรงฟื้นฟูหัตถกรรมพื้นบ้านของจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ราษฎรใช้เวลาว่างประกอบเป็นอาชีพเสริม อันเป็นการเพิ่มพูนรายได้แก่ครอบครัว ในด้านการศึกษาได้ทรงจัดครูไปสอนนักเรียนในหมู่บ้านที่ห่างไกลการคมนาคม และประทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงแก่ครูเหล่านั้นด้วย

นอกจากพระภารกิจในภาคใต้แล้ว พระองค์ยังทรงนำของพระราชทานไปแจกแก่ชาวเขาที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และบนยอดดอยอมพาย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งชาวเขาที่บ้านแม่สาน จังหวัดสุโขทัย และเสด็จเข้าไปส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่ราษฎร อีกทั้งเสด็จส่วนพระองค์ไปช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ในท้องถิ่นต่างๆ อยู่เสมอ

ในระยะหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เสด็จไปประกอบพระภารกิจแทนพระองค์ในการบำรุงขวัญทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร พลเรือน ที่ปฏิบัติราชการชายแดนจังหวัดต่างๆ และในเขตที่มีผู้ก่อการร้าปฏิบัติการอย่างรุนแรง พระองค์จึงต้องเสด็จประทับในท้องที่ชนบทเกือบตลอดเวลา ทรงปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่หวาดเกรงต่อความยากลำบากและภัยอันตรายต่อชีวิต พระภาระหน้าที่ครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมซีพ คือ การเสด็จไปทรงเยี่ยมเยียน เพื่อบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มกันการก่อสร้างบ้านพักพระราชทานในเขตคุกคามของผู้ก่อการร้ายที่หมู่บ้านเหนือคลอง ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ครั้นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงถูกกระสุนปืนของผู้ก่อการร้ายที่ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ ระหว่างเสด็จไปทรงรับตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิดของผู้ก่อการร้าย ถึงสิ้นพระชนม์บนเฮลิคอปเตอร์ที่นำเสด็จกลับมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานี พระชันษา ๕๗ ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสรงพระศพ พระราชทาน โกศมณฑปสูงสุดทรงพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานจนถึงวันออกเมรุ ในโอกาสนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพวงมาลาดอกไม้สด มีข้อความไว้อาลัยและสดุดีพระเกียรติคุณ ต่อมาวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ หม่อมเจ้าวิภาวดีรังลสิต ขึ้นเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเป็นเกียรติยศ และพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ พร้อมกับตำรวจ ทหาร พลเรือนอาสาสมัคร ซึ่งเสียชีวิตด้วยการกระทำของผู้ก่อการร้าย

แม้ว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเพื่อสังคมและประเทศชาติอย่างยากที่จะหาผู้ใดเปรียบได้นั้น ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงใจของชาวไทยเสมอ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดีของพระองศ์ ชาวสุราษฎร์ธานีได้กำหนดให้วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันวิภาวดี” และผู้ก่อการร้าย ๗๕ คน กลับใจอุทิศส่วนกุศลถวายหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระสวามีได้ก่อตั้ง “มูลนิธิวิภาวดี รังสิต” เพื่อทำหน้าที่สืบต่องานช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยและยากไร้ ขาดแคลนในท้องถิ่นทุรกันดาร หนังสือสตรีสารรายสัปดาห์ ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ประทานงานพระนิพนธ์ไปลงพิมพ์เสมอ ได้ตั้ง “ทุนอนุสรณ์ ว. ณ ประมวลมารค” เพื่อเก็บดอกผลให้เป็นรางวัลแก่เรื่องสั้นดีเยี่ยมในรอบปี สภาสตรีแห่งชาติตั้งทุนในพระนามพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สำหรับสตรีที่ปฏิบัติงานดำเนินรอยตามพระองค์ และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์นำนวนิยายเรื่องปริศนา มาลงพิมพ์เป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้รัฐบาลได้ตั้งชื่อถนนซูเปอร์ไฮเวย์ จากสามแยกดินแดงจนถึงสะพานรังสิตว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจัดสร้างพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าโรงเรียนประชาบาล อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นสิ่งอนุสรณ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสดุดีและรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญ คุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนไว้นานัปการ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:พันธุ์อร จงประสิทธิ์

หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์

นักเขียนสตรีผู้มีชื่อเสียง
หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ สกุลเดิม กุญชร เจ้าของนามปากกา “ดอกไม้สด” เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘ ที่วังบ้านหม้อ เป็นธิดาเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร)หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ และหม่อมมาลัย เมื่ออายุ ๔ ขวบ หม่อมเจ้าหญิงชม ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ขอไปเป็นบุตรบุญธรรม ได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งอายุ ๑๓ ปี จึงกลับออกมาวังบ้านหม้อดังเดิม พ.ศ. ๒๔๗๕ สมรสกับนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีบุตรและธิดา ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ณ บ้านพักสถานทูตไทย กรุงเดลฮี ซึ่งขณะนั้นนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินเดีย

หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ หรือ ดอกไม้สด เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนกระทั่งจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ ทางภาษาฝรั่งเศส ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ โดยได้รับการฝึกฝนด้าน
กิริยามารยาทและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะศึกษาอยู่ในโรงเรียนนั้น รวมทั้งได้รับการส่งเสริมให้ รักการอ่านหนังสือจากแม่ชีชื่อมาร์กาเร็ต ซึ่งทำให้ดอกไม้สดเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือต่อมา

นอกจากจะได้รับการส่งเสริมให้รักการอ่าน ซึ่งทำให้ดอกไม้สดคิดอยากจะเป็นนักเขียนแล้ว สภาพแวดล้อมทางบ้านที่มีการฝึกหัดและแสดงละครก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อดอกไม้สดหัดแต่งหนังสือครั้งแรก ด้วยการเขียนบทละครชื่อเรื่อง “ดีฝ่อ” ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ไทยเขษม ก็ได้รับการพิจารณาลงพิมพ์ ต่อมาดอกไม้สดเห็นว่า บทละครไม่ใช่เรื่องสำหรับอ่าน จึงเปลี่ยนมาเขียนนวนิยาย นวนิยายเรื่องแรก คือเรื่องศัตรูของเจ้าหล่อน ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยเขษม ฉบับวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ต่อมาได้แต่งนวนิยายเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง เรื่องที่มีชื่อเสียงในระยะแรกๆ คือ ความผิดครั้งแรก ลงพิมพ์ในนิตยสารนารีนาถ และสมชาย พิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มโดยโรงพิมพ์ไทยเขษม

ผลงานของดอกไม้สด ได้รับยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมที่งดงามด้วยภาษาเขียนและเนื้อความ นวนิยายแต่ละเรื่องได้แทรกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องเตือนใจ และช่วยยกระดับความนึกคิดของผู้อ่าน จึงนับเป็นวรรณกรรมอันมีคุณค่าอย่างยิ่ง สถาบันการศึกษาหลายแห่งที่มีวิชาวรรณกรรมปัจจุบัน ในหลักสูตรได้คัดเลือกผลงานเขียนของดอกไม้สดเป็นเอกสารประกอบการศึกษา

นวนิยายของดอกไม้สดมี ๑๕ เรื่อง คือ
๑. ศัตรูของเจ้าหล่อน
๒. ความผิดครั้งแรก
๓. กรรมเก่า
๔. ชัยชนะของหลวงนฤบาล
๕. นันทวัน
๖. นิจ
๗. นี่แหละโลก
๘. ผู้ดี
๙. พลเมืองดี
๑๐. สามชาย
๑๑. หนึ่งในร้อย
๑๒. อุบัติเหตุ
๑๓. บุษบาบรรณ รวมเรื่องสั้นไว้ ๖ เรื่อง คือ
-พฤติการณ์ของผู้รักความโสด
-เมื่อกลับจากดูเรื่องวอลแตร์
-บุพเพสันนิวาส
-ไฟ
-ดวงจักษุของท่านผู้พิพากษา
-๑/๕๐๐
๑๕. พู่กลิ่น รวมเรื่องสั้น ๑๔ เรื่อง คือ
-Romance ซ้อนเรื่องจริง
-เนื้อคู่
-เรื่องนิดๆ หน่อย
-นิทานคำกาพย์
-เรื่องยิงสัตว์
-แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม
-ศิลปคืออะไร
-นางในรูป
-อัวรานางสิงห์
-การอ่าน (จากเรื่อง Mein Kamf ของ Adolf Hitler)
-๔ ชั่วโมงในรถไฟ
-หมองูตายเพราะงู….หมอฟัน
-พลเมืองดี
-คนใจบุญ
๑๕. วรรณกรรมชิ้นสุดท้ายของดอกไม้สด

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ทองเพียร สารมาศ