จารึกกลางรอยพระพุทธบาท

นางสาวนิยะดา  ทาสุคนธ์ และนายเทิม  มีเต็ม อ่าน

นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์  จำลองอักษรและอธิบาย

นายวิรัตน์  อุนนาทรวรางกูร  แปล

หอสมุดแห่งชาติ  กรมศิลปากร

รอยพระพุทธบาทศิลาสีเขียว มีอักษรจารึกอยู่ใกล้กับรูปดอกบัวที่กึ่งกลางรูปรอยพระบาท รอยพระพุทธบาทนี้เป็นสมบัติของวัดพระพุทธบาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ นายภูธร  ภูมะธน หัวหน้าพิพิธภัณฑสภานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี  ได้มีหนังสือเป็นทางการมาถึงกองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการอ่านแปลจารึกดังกล่าวนี้ เมื่อครั้งตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี

อนึ่ง รอยพระพุทธบาทนี้ หลายปีมาแล้วได้ถูกผู้ร้ายโจรกรรมไปจากวัด จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๔ สมาคมส่งเสริมศิลปโบราณวัตถุ ได้นำรอยพระพุทธบาทดังกล่าว มามอบให้กรมศิลปากร ดังนั้นรอยพระพุทธบาทนี้จึงได้มาพักอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดนิทรรศการเรื่อง จารึกพบที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๔ จึงได้เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทนี้ ไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประกอบการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนั้นด้วย

ภายหลังการแสดงนิทรรศการ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทราบว่า ชาวอำเภอไพศาลีและพุทธศาสนิกชนในเขตใกล้เคียง มีความประสงค์จะขอนำรอยพระพุทธบาทกลับคืนไปประดิษฐานไว้ ณ วัดพระพุทธบาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ดังเดิม และด้วยเหตุที่รอยพระพุทธบาทนี้เป็นโบราณวัตถุสำคัญ สมควรจะได้มีการศึกษาประวัติความเป็นมาให้ถูกต้องชัดเจน ประกอบกับมีอักษรจารึกอยู่ที่กลางรอยพระพุทธบาทนี้ด้วย  ซึ่งน่าจะได้ศึกษารูปลักษณะของเส้นและภาษา ตลอดจนข้อความที่จารึกไว้นั้นให้ถ่องแท้ชัดเจนอีกด้วย  ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้นำหลักฐานนั้นมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านโบราณคดีต่อไป

รูปอักษรที่จารึกอยู่กลางรอยพระพุทธบาทนี้ มีขนาดตัวอักษรเล็กมากวัดได้ ๒ ซม. เท่านั้น รอยเส้นอักษรก็เบาบางและลบเลือน จนไม่สามารถทำสำเนาด้วยวิธีการใช้กระดาเพลาและน้ำตบให้เป็นรอยรูปอักษรได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการอ่านจารึกพร้อมทั้งคัดลอกรูปอักษรออกมา เฉพาะส่วนที่จะสามารถอ่านเห็นได้ และเมื่อได้ศึกษาวิเคราะห์ลักษณะรูปลายเส้นอักษร ซึ่งปรากฎอยู่ที่กลางรอยพระพุทธบาทนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่จะชี้บ่งถึงเวลา หรืออายุของรูปอักษรนั้นให้แน่นอนตายตัวลงไปได้ ทั้งนี้เพราะองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเส้นอักษรลบเลือน และเบาบางมากจนไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างใกล้เคียง ฉะนั้นจึงสันนิษฐานไว้เป็นเบื้องต้นว่า น่าจะจารึกขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

ด้วยเหตุที่รูปอักษรซึ่งจารึกไว้กลางรอยพระพุทธบาทนี้เส้นอักษรเบาบางมาก อ่านจับใจความได้ไม่ตลอดทุกตัวอักษร ดังนั้นการอ่านและแปลข้อความในจารึก จึงสามารถกระทำได้เพียงสรุปความโดยสังเขปเท่านั้น ซึ่งนายวิรัตน์  อุนนาทรวรางกูร ผู้เชี่ยวชาญ ภาษาบาลี งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ได้อธิบายพร้อมทั้งแปลสรุปไว้ว่าข้อความที่จารึกนั้นเป็นการกล่าวสรรเสริญอานุภาพของพระศรีอาริยเมตไตรย ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต คงจะมิได้หมายความว่า เป็นรอยบาทของพระโพธิสัตว์เมตไตรยที่กล่าวเช่นนี้ก็ด้วยสังเกตจากคติความนิยมและความเชื่อของคนไทยในยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ นั้น ซึ่งมีความเชื่ออยู่ว่า การทำบุญสร้างกุศลในชาติปัจจุบัน มีเจตจำนงหวังเพื่อจะได้พบพระพุทธเจ้าในอนาคต คือ พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ในชาติหน้า หรือชาติต่อไปนั้นเอง

รอยพระพุทธบาทศิลานี้ ภายหลังเมื่อเจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณกองหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินการอ่านแปลแล้วจารึกได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่วัดพระพุทธบาทอำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ดังเดิม

ประวัติ

อักษร ขอม

ภาษา บาลี

ศักราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

จารึกอักษร จำนวน ๑ ด้าน มี ๓ บรรทัด

วัตถุที่จารึก หินชนวนสีเขียว

ลักษณะ สี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปรอยพระพุทธบาท อักษรจารึกอยู่ใกล้กับรูปดอกบัว กึ่งกลางของพระบาท

ขนาด แผ่นศิลามีขนาดกว้าง ๗๐.๕ ซม. ยาว ๑๖๙ ซม. หนา ๙ ซม. รูปรอยพระบาทกว้าง ๕๒.๕ ซม. ยาว ๑๔๐ ซม. ส่วนที่จารึกอักษรขนาดกว้าง ๓ ซม. ยาว ๑๗.๕ ซม.

สถานที่พบ สมาคมส่งเสริมศิลปโบราณวัตถุ มอบให้กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔

สำรวจเมื่อ ๒๓ มกราคม ๒๕๒๕

ปัจจุบันศิลาจารึกอยู่ที่ วัดพระพุทธบาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

ลำเลิกอดีต:สถานที่ในอดีต


ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกษ เปรตวัดสุทัศน์

ประตูที่ดังคู่กับประตูสามยอดคือประตูสำราญราษฎร์ แต่ปากชาวบ้านเรียกกันว่า “ประตูผี” เพราะเป็นทางที่เอาศพออกไปวัดสระเกษ และถนนบำรุงเมืองคือถนนสายที่ออกประตูนี้ก็พลอยเรียก “ถนนประตูผี” กันไปด้วย

แต่ก่อนนี้วัดในเมืองเผาผีไม่ได้ ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นใครจะว่าคูเมืองอยู่ที่ไหนนอกจากดูกำแพงเมืองแล้วดูวัดเอาก็ได้ ถ้าวัดอยู่ในกำแพงเมืองแล้วจะไม่มีเมรุเผาศพ

บรรดาคนทั้งหลายที่ตายกันในเมืองต้องเอาศพออกไปเผานอกเมืองทั้งนั้น และส่วนมาก็วัดสระเกษ จนวัดสระเกษมีชื่อในเรื่องแร้งชุม

เมรุเผาศพแต่ก่อนนี้ไม่ได้ทันสมัยอย่างเดี๋ยวนี้ เป็นเพียงตะแกรงเหล็กแล้วเอาไฟใส่ข้างใต้เท่านั้น การจะเผาก็ต้องแล่เอาเนื้อออกเสียก่อน แล้วเอากระดูกห่อผ้าขึ้นตั้งบนตะแกรง ถ้ายกขึ้นตั้งกันสด ๆ ก็มีหวังไฟดับ

และเมื่อแล่แล้วจะเอาเนื้อไปไว้ไหนล่ะ แร้งรออยู่เป็นฝูง ๆ จะมัดไปฝังให้เสียแรงเสียเวลาทำไม ก็เฉือนแล้วก็เหวี่ยงให้แร้ง ไปทีละก้อนสองก้อน ฉะนั้นจะหาแร้งที่ไหนขึ้นชื่อลือชาเท่าวัดสระเกษเป็นไม่มี

มีคำพูดคล้องจองกันอยู่ ๓ ประโยคว่า “ยักษ์วัดแจ้ง-แร้งวัดสระเกษ-เปรตวัดสุทัศน์”

ยักษ์วัดแจ้งนั้นก็รู้ละว่าเป็นยักษ์หิน แร้งวัดสระเกษก็ได้เห็นละจากกรณีนี้ แต่เปรตวัดสุทัศน์นี่ยังไม่ประประจักษ์ เพราะวัดสุทัศน์เองก็ไม่ได้มีเมรุเผาผี แต่มีเสียงว่ากันว่า เนื่องพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย และว่ากันว่าวันดีคืนดีคนแถวนั้นจะได้ยินเสียงเปรตร้องเป็นการขอส่วนบุญ ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกกันเล่นเพื่อให้คนทำบุญ ได้พยายามอ่านจดหมายเหตุเก่า ๆ ก็ไม่เคยพบกล่าวถึงว่าเคยมีพราหมณ์โล้ชิ้งช้าตกมาตาย

หัวเม็ด สะพานหัน

เลี้ยวขวาจากสามยอดมาก็เป็นย่านวังบูรพาภิรมณ์ เมื่อ ๓๐ ปีก่อนที่ยังไม่ศูนย์การค้านั้น ตรงนี้กลิ่นแรงชะมัด เพราะตอนกลางคืนอัตคัดไฟ ใครไปธุระแถวนั้นพอมีทุกข์เบาก็หันเข้าไปปลดเปลื้อง

สะพานหัน เมื่อก่อนท่านว่าเป็นสะพานไม้หันได้

ก็ต้องแน่ละ เพราะเมื่อก่อนนี้คลองเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ เรือแพนาวาผ่านไปผ่านมาทั้งวัน ถ้าจะทำสะพานก็ต้องทำให้สูง เพื่อให้เรือลอดได้ ถ้าเตี้ยก็ต้องหันหรือหกได้ เพื่อให้เรือผ่าน

แต่สะพานหันนี้ได้ยินว่ามีตัวอาคารคร่อมสะพานด้วย ได้ยินว่ามาสองปากแล้ว เห็นจะพอเชื่อถือได้

ข้ามสะพานหันไป ตรงทางจะข้ามถนนจักรวรรดิไปฝั่งโน้น ได้ยินท่านบอกว่ามีเสาหัวเม็ดทรงมัณพ์ปักอยู่ แต่ไม่ได้ซักท่านว่ามีไว้ทำไม จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “หัวเม็ด”

สำเพ็งอยู่ที่ไหน?

ถ้าเราจะดูพระราชพงศาวดารตอนสร้างกรุงจะพบข้อความว่า “พระราชวังใหม่ให้ตั้งในที่ ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง”

วัดสามปลื้มนั้นเราก็รู้กันแล้วคือ วัดจักรวรรดิ แต่วัดสามเพ็งล่ะ ก็คือวัดประทุมคงคาปัจจุบัน โน่นอยู่หัวลำโพงโน่น

ว่าที่จริงแล้วย่านสำเพ็งน่าจะอยู่แถว ๆวัดประทุมคงคา วัดเกาะ หรืออย่างจะลาม ๆ มาก็ไม่ควรเกินวัดสามปลื้ม แต่ก็กินมาจนยันสะพานหัน

ถนนสายสะพานหันไปยันวัดเกาะนั้นแต่ก่อนเรียกกันถนนสำเพ็ง แต่เดี๋ยวนี้ทาง กทม.ท่านเปลี่ยนเป็นถนนวาณิชไปเสียแล้ว ฉะนั้นถ้าใครไปอ่านหนังสือเก่า ๆ เป็นต้นว่าทำเนียบนาม พบความว่า “ราชวงศ ถนนจดลำน้ำเจ้าพระยาผ่าน “ถนนสำเพ็ง…” ก็อย่าไปงง ก็คือถนนวาณิช ปัจจุบันนี่เอง

สำเพ็งมีอะไร?

สินค้าในสำเพ็งแต่ก่อนนี้ นอกจากของกินของใช้ของคนจีนแล้วสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือสำนักอย่างว่าสุนทรภู่ท่านบอกไว้ในนิราสเมืองแกลงว่า

“ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ

แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน

มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน

ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง”

ตรอก “นางจ้าง” หรือที่ชาวอีสานเรียก “แม่จ้าง” ของสุนทรภู่นี้ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน หรือจะเป็นที่ที่นายมีหมื่นพรหมสมพัตสรแกว่าไว้ในนิราสเดือนว่า

“ที่เต็มอัดกลัดมันกลั้นไม่หยุด

ก็รีบรุดเร็วลัดไปวัดเกาะ”

สำนักหลังวัดเกาะนี้ดังมาก ยังมีชื่อเป็นอนุสรณ์อยู่จนบัดนี้ นั้นก็คือ “ตรอกน่ำแช”

น่ำแช แปลว่า โคมเขียว แต่ก่อนนี้สำนักโสเภณีตั้งแขวนโคมเขียวไว้หน้าสำนัก เป็นสำนักของคนจีน สินค้าก็เป็นจีนล้วน ๆ เรียกว่า “เพื่อคนจีนโดยคนจีน” อายุแค่ 10-12 เท่านั้น รับแต่คนจน คนไทยไม่รับ เพราะนิสัยคนไทยชอบบรรเลงเพลงเถา กว่าจะออกลูกหมดหางเครื่องได้แต่ละเพลงละแหม เอื้อนอยู่นั่นแล้วสู้คนจีนไม่ได้มีแต่เพลง ๒ ชั้น ชั้นเดียว หรือบางทีก็มีแต่ชั้นเดียวออกออกลูกหมดเลย

คนไทยที่จะเข้าไปได้ก็ต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ และคนจีนที่เจ้าสำนักรู้จักพาไป แต่ราคาที่นี่แพงกว่าที่อื่น อย่างที่อื่นสองสลึง ที่นี่ต้องหกสลึง

คำที่ว่า “เดี๋ยวจับนมเดี๋ยวดมหน้าหกสลึงแอ็คหกท่า” ไปจากที่นี่ แสดงถึงความเป็นเจ้าบทบาทของพี่ไทยเรา

เคยถามว่า อายุ ๑๑-๑๒ เท่านั้นน่ะจะรับแขกไหวหรือ

“ไหวซี ก็แม่เล้ามันเอาผิวไม้ไผ่เข้าไปถ่างอยู่ทุกวัน ๆ “

ผู้ตอบคำถามนี้คือตาแบน บ้านพระยาสีหราชฤทธิไกร คือก่อนที่จะเอามาหาเงินนั้น เจ้าสำนักเขาจะเอาไม้ไผ่เหลาขี้ออกให้เหลือแต่ผิวและไม่ให้มีคม แล้วก็โค้งเอาเข้าสอดช่องคลอดไว้ให้ไม้ไผ่มันค่อย ๆ ถ่างออกมาทีละน้อย ๆ และทำอยู่เป็นเดือน ๆ

นี่เป็นวิธีการของคนจีนเขา

นอกจากนั้นสิ่งที่สำเพ็งมีพิเศษกว่าที่อื่นก็คือ ไส้หู้ คือช่างโกนหัว

คนจีนแต่ก่อนนั้นไว้เปียกัน และรอบ ๆ เปียจะต้องโกน ฉะนั้นจึงต้องมีคนรับจ้างโกนผม

มีดโกนของไส้หู้นั้นว่ากันว่าคมนัก ขนาดเส้นผมตกลงมากระทบยังขาด คำบอกเล่านี้เป็นของพระถมหรือหลวงตาแดงจำไม่ได้แน่ เพราะท่านนั่งคุยกันเป็นกลุ่ม

สำเพ็งแปลว่าอะไร?

จากพระราชพงศาวดารที่คัดมาข้างต้นนั้นจะเห็นว่า สำเพ็ง นั้นเดิมเขาคือ สามเพ็ง แต่ภายหลังเราเรียกกันเร็ว ๆ เสียงสามก็เลยหดสั้นเข้ามาเป็นสำ เหมือนอย่างถนนซังฮี้ เดิมก็เป็น ซางฮี้ แล้วหดมาเป็น ซังฮี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยเป็นราชวิถี

“สาม” คำนี้จะเป็นจำนวน ๓ ใช่หรือเปล่าข้าพเจ้าไม่แน่ใจ ในกลุ่มนี้มี ๓ สาม คือสามปลื้ม สามเพ็ง สามจีน แต่วัดสามจีนก็เปลี่ยนเป็นไตรมิตรไปแล้ว จะเป็นเพราะความเมาความหรือเปล่าไม่ทราบ ถ้าสามจีนหมายถึง จีน ๓ คนช่วยกันสร้าง ก็ถ้ายังงั้นสามปลื้มและสามเพ็งล่ะ ตาเพ็ง ๓ คน และยายปลื้ม ๓ คนยังงั้นรึ

ถ้าวัดสามพระยาละก็ใช่ เพราะพระยา ๓ ท่านช่วยกันสร้าง คือ พระยาเทพอรชุน พระยายมราช และพระยานครไชยศรี

สามแยกต้นประดู่

ถัดจากน่ำแชไปนิดก็สามแยกต้นประดู่ เคยมีนักจัดรายการของกรมประชาสัมพันธ์ท่านหนึ่งเอาหนังสือเรื่องความรู้ต่าง ๆ ของพระยาอนุมานราชธนมาอ่าน ในหนังสือเล่มนั้นท่านเอ่ยถึง “สามแยกต้นประดู่” ผู้จัดรายการก็สันนิษฐานทีเดียว “ต้นประดู่คงจะเรียงราย…”

ผมขอแก้อรรถให้เสียเลยว่า มีต้นเดียวครับ แต่เป็นต้นใหญ่ อยู่ตรงที่ที่เป็นธนาคารเอเซียอยู่ในปัจจุบันนั้นแหละ แล้วตรงเบื้องหน้าธนาคารมาทางซ้าย คือตรงปากตรอกโรงหนังเฉลิมบุรีนั่นน่ะ มีร้านลอดช่องสิงคโปร์อยู่ร้านหนึ่ง ชื่อสิงคโปร์ ขายมานมนาน กินกันมาตั้งแต่เด็กตั้งแต่แก้วละ ๓ สตางค์จนเดี๋ยวนี้ ๓ บาทแล้วมัง ก็ยังขายอยู่ เป็นต้น ตำหรับของลอดช่องสิงคโปร์ ก่อนที่จะระบาดไปตามหาบเร่และรถเข็น

หัวลำโพงวิทยุ

ไหน ๆ ก็ได้เหยียบย่างเข้ามาในย่านหัวลำโพงแล้วก็ฝอยเรื่องหัวลำโพงสักหน่อย

ว่ากันมาว่าสถานีรถไฟและบริเวณรอบ ๆ นั้น แต่ก่อนเป็นทุ่ง เรียก “ทุ่งวัวลำพอง” แล้วเจ๊กลากรถ พูดไทยไม่ชัด เรียกว่าวัวลำพองเพี้ยนเป็นหัวลำโพง ก็เลยกลายเป็น “หัวลำโพง” ไป

อีนี่เห็นจะเป็นความจริง เพราะเคยพบในจดหมายเหตุจำไม่ได้ว่าชื่อหนังสืออะไร กล่าวว่าในสมัยก่อนใช้ทุ่งวัวลำพองเป็นที่หัดทหาร และในทำเนียบนามภาค ๔ ก็กล่าวว่า ถนนสุรวงษ์ซึ่งพระยาสีหราชเดโชไชยสร้างนั้น ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงมาจรดคลองวัวลำพอง

คลองวัวลำพองนั้นก็คือคลองที่เริ่มต้นแต่คลองผดุงกรุงเกษมตรงข้างสะพานเคียงขนานกันไปกับถนนพระรามที่ ๔ โดยมีทางรถไฟสายปากน้ำคั่นกลางไปจนจรดคลองเตย แต่ภายหลังรถไฟก็เลิก คลองก็เลยถมขยายเป็นถนนพระรามที่ ๔ ไปหมด

วัดหัวลำโพงนั่นแหละเป็นวัดอยู่ริมคลองฝั่งโน้นและวัดนี้ก็แสดงว่าเป็นวัดเพิ่งสร้าง เมื่อภาษามันวิบัติมาแล้ว

ตำบลวิทยุก็เป็นตำบลที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่แถวนี้ยังเป็นตำบลศาลาแดง ทุกเช้าจะได้ยินเสียงจากวิทยุว่า “ที่นี่วิทยุศาลาแดงแบ็งข็อก”

ที่ทำการวิทยุก็คือโรงเรียนเตรียมทหารปัจจุบัน

แต่ก่อนที่จะเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เป็นกองสัญญาณทหารเรือมาก่อน อาศัยที่เป็นที่ทำการของสถานีวิทยุ รถรางสายบางกระบือก็มาสุดสายที่นี่และขึ้นป้ายว่าวิทยุ-บางกระบือ หรือบางกระบือ-วิทยุ ก็เลยวิทยุ ๆ กันเรื่อยมาจนกลายเป็นตำบล

คลองผดุง นางเลิ้ง

คลองผดุงกรุงเกษมนี้ใคร ๆ มักเข้าใจผิดว่าเป็นคลองหัวลำโพง

ไม่ใช่ คลองหัวลำโพงคือคลองวัวลำพองดังกล่าวแล้ว

คลองนี่ปากชาวบ้านแถวนั้นเขาเรียกคลองวัดตะเคียน เพราะตรงปากคลองมันย่านหน้าวัดตะเคียนมา

วัดตะเคียนคือวัดมหาพฤฒาราม ปากคลองมันเริ่มต้นแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าสีพระยาข้ามไปคลองสานแล้วก็ไหลผ่านมาหลังโรงน้ำแข็งนายเลิด หน้าวัดมหาพฤฒาราม เฉียดสถานีหัวลำโพง นพวงศ์ หน้าวัดเทพศิรินทร์ แล้วไปออกแม่น้ำด้านเหนือตรงวัดเทวราชกุญชรเทวเวศม์

คลองนี้ก็เหมือนกับคลองอื่น ๆ เช่น คลองหลอด หรือคลองสะพานหัน คือมีหลายชื่อ ปากคลองด้านใต้เรียกคลองวัดตะเคียนดังกล่าวแล้ว ส่วนปากคลองด้านเหนือก็เรียก “คลองวัดสมอแคลง” บางคนเดาะเข้า “สมอแคลงสมอราย” นั่นแน่ะ

อีนี่เห็นจะผิด เพราะวัดสมอรายไม่ได้อยู่ในคลองนี้ อยู่แต่วัดสมอแคลง วัดสมอแคลงคือวัดเทวราชกุญชร วัดสมอรายคือ วัดราชาธิวาส นี่เป็นเรื่องของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่เรียกคลองเทเวศร์

ตรงกลางคลองบางคนก็เดาะเรียกคลองมหานาค น้อยนักที่จะเรียกคลองผดุง ฯ

คลองมหานาคคือคลองตรงโบ๊เบ๊เฉียดข้างภูเขาทองมาทะลุคลองผ่านฟ้าตรงป้อมมหากาฬ

ตรงกลางคลองผดุงกรุงเกษมนี้มีตำบล ๆ หนึ่งซึ่งน่าจะพูดถึง นั่นคือ “นางเลิ้ง”

“นางเลิ้ง” เป็นคำประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้สุภาพสำหรับทูลเจ้า คำที่แท้ของมันคือ “อีเลิ้ง”

“อีเลิ้ง” แปลว่าอะไร จะขอยกกลอนนิราสวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ขึ้นมาแสดง

“ชาวบ้านนั้นเป็นอีเลิ้งใส่เพิ่งพะ

กะโถนกะทะอ่างโอ่งกระโถงกะถาง

เขาวานน้องร้องถามไปตามนาง

ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ”

อีเลิ้งคือโอ่งดินเผา ถิ่นอีสาน อีเลิ้ง หมายถึงเครื่องดินเผาทุกชนิด ถ้าเป็นโอ่งก็เรียก “โอ่งอีเลิ้ง” ถ้าเป็นชามก็เรียก “ชามอีเลิ้ง” แต่ในในภาคกลางเราเรียกอีเลิ้งหมายเพียง โอ่งเท่านั้น

ที่ตรงนี้เรือมอญขายโอ่งมาจอดประจำจนเป็นทำเล จึงเรียก “อีเลิ้ง” แล้วตกแต่งเป็น “นางเลิ้ง” ดังกล่าว

หัวลำโพงก็เหมือนกัน เคยได้ยินหลายท่านใช้ “ศีรษะลำโพง” ชะรอยจะเห็นว่า “หัว” เป็นคำไม่สุภาพกระมัง ถ้าเช่นนั้นก็หันกลับไปใช้ “วัวลำพอง” อย่างเดิมไม่ดีหรือเป็นการรักษาตำนานสถานที่ดีด้วย

ในบทนี้ผมได้เขียนคำ เทวเวศม์ ไว้คำหนึ่ง ไม่ใช่เขียนผ่านแต่เป็นการจงใจเขียน เพราะตำบลนี้ได้ชื่อตามวังของสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และวังของท่านมีชื่อตามที่เขียนเป็นตัวปูนปั้นไว้ที่เสาประตูว่า “เทวะเวศม์”

ชาวบ้านสมัยแม่ผมว่างี่เง่าแล้ว เขาก็ยังเรียกกัน เทว-เวด แต่คนชั้นหลังนี้กลับออกเสียง เท-เวด และสะพานชั้นหลังนี้ก็มาตั้งชื่อ เท-เวศร์นฤมิตร เข้าด้วย ก็โข่งกันไปใหญ่

 

เจดีย์ยุทธหัตถีพ่อขุนรามฯที่เมืองตาก

ศรีศักร  วัลลิโภดม

ทุกวันนี้ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และโบราณคดีเวลาไปเที่ยวเมืองตากก็จะนึกถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงก่อนอย่างอื่น ๆ เพราะเป็นเจดีย์ที่เป็นอนุสรณ์สงครามเก่าแก่และความสำคัญของเมืองตากประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เป็นการนึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นพระอดีตมหาราชที่สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่คนไทยในแหลมทองนี้

ข้าพเจ้าเคยดูพระเจดีย์องค์นี้บ่อย ๆ บางครั้งก็นำเพื่อนฝูงหรือนักวิชาการไปชม แต่เวลาจะบอกกับเขาว่าเป็นพระเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออนุสรณ์ในการที่ทรงชนช้างได้ชัยชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดแล้ว รู้สึกตะขิดตะขวงใจพิกล เลยต้องแก้เกี้ยวไปว่าเป็นพระเจดีย์แบบสุโขทัย ที่นักวิชาการสมัยก่อนสันนิษฐานว่า เป็นพระเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงและเป็นที่เชื่อถือของชาวบ้านชาวเมืองมาทุกวันนี้

การที่ต้องอธิบายไปเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้ามีความเห็นว่าความรู้และความเชื่อเรื่องราวในอดีตของคนเรานั้น มีที่มาอยู่สองทางด้วยกัน ทางหนึ่งคือจากหลักฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง อีกทางหนึ่งคือการสันนิษฐานและการบอกเล่าของผู้ที่เป็นที่เชื่อถือว่าเป็นผู้มีความรู้และไว้ใจได้ ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเชื่อถือกันต่อ ๆ มาว่าเป็นเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ความรู้ที่มาจากทางที่สองนี้ มักจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงที่พิสูจน์ไม่ได้ และมีอยู่ในทุก ๆ สังคมของมนุษย์ซึ่งภาษาฝรั่งเรียกว่า myth อย่างเช่นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกในคัมภีร์ทางคริสตศาสนา และเรื่องราวเกี่ยวกับการไปโปรดสัตว์และการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในดินแดนประเทศไทยดังปรากฎในตำนานพงศาวดาร เป็นต้น

เรื่องราวที่เกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถี ของพ่อขุนรามคำแหงฯนั้นมีที่มาดังนี้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าคือ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยได้ทรงวินิจฉัยว่าพระเจดีย์องค์นี้เป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นรูปแบบของพระเจดีย์ในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะตั้งอยู่อย่างโดด ๆ ในลักษณะที่ไม่เป็นวัด คงจะสร้างขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

พอดีกับมีข้อความที่กล่าวถึงเมืองตากในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งของกรุงสุโขทัยว่า ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกกองทัพมาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปขับไล่ ได้ชนช้างกับขุนสามชน เกิดเสียทีแก่ขุนสามชน ถูกขุนสามชนไล่เอา พ่อขุนรามคำแหงตอนนั้นทรงมีประชนม์ได้ ๑๙ พรรษาเสด็จไปในกองทัพด้วยก็ไสช้างทรงเข้าขัดขวางช่วยพระราชบิดาได้ และขณะเดียวกันก็เอาชนะขุนสามชนได้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงพระราชทานนามให้แก่พระโอรสว่า “รามคำแหง”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงสันนิษฐานว่าพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่สร้างอยู่โดด ๆ ที่เมืองตากนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่แสดงชัยชนะของพระองค์ที่มีต่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด

จากคำสันนิษฐานนี้ บรรดานักประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยนั้นสร้างใหญ่เห็นชอบด้วยเลยแพร่หลายกลายเป็นความเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของทุกวันนี้

ข้าพเจ้ายังไม่แลเห็นคล้อยตาม และยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงในทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะมีหลักฐานและความคิดเห็นขัดแย้งหลาย ๆ อย่าง ประการแรกพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น คือเจดีย์ทรงดอกบัวที่พบในเขตแคว้นสุโขทัยจริง แต่ว่าไม่มีหลักฐานอันใดยืนยันได้ว่าเป็นเจดีย์ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ในทำนองตรงข้าม ลักษณะรูปแบบและหลักฐานที่สัมพันธ์กับอายุของพระเจดีย์แบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นของที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นชั้นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงลงมา ประการที่สอง พระเจดีย์องค์นี้ไม่ได้ตั้งอยู่โดด ๆ ดังคำสันนิษฐานของสมเด็จพระยากรมดำรงราชานุภาพ แต่มีฐานของพระวิหารอยู่เบื้องหน้า มีลักษณะเป็นวัดที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำปิง

และที่สำคัญก็คือตั้งอยู่บนเนินเขาติดอยู่กับตัวเมืองตากทางด้านตะวันออก ด้านเหนือและด้านใต้ของเนินเขาลูกนี้เป็นบึงใหญ่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าหากมีการชนช้างกันจริง ๆ แล้วในบริเวณนี้ ทั้งช้างของขุนสามชน พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนรามคำแหงคงหล่นลงไปในบึงเป็นแน่

ประการสุดท้าย ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแนวความคิดในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไป ที่คนไทยมีการสร้างพระเจดีย์โดด ๆ ในลักษณะที่เป็นอนุสาวรีย์แบบที่ฝรั่งเขาทำกัน มีแต่การสร้างวัด ซึ่งเป็นศาสนสถานแม้แต่การสร้างสถูป บรรจะอัฐิของคนตาย เขาก็มักทำกันในเขตวัด

อย่างไรก็ตามที่เขียนขัดแย้งขึ้นมานี้ก็ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะลบล้างความเข้าใจในเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี อันแสดงพระเกียรติคุณของพระมหากษัตราธิราชเจ้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้ายินยอมรับในความเป็นจริงที่ว่า ในการเป็นมนุษย์ของเรานั้นความเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้หรือที่เรียกว่า myth นั้นยังมีความสำคัญในการจรรโลงสังคมให้มีความเป็นปึกแผ่น และดำรงอยู่ได้อย่างราบรื่น

ข้าพเจ้ามุ่งหวังเพียงแต่ให้มีการทบทวนในแง่ของความจริงทางประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เป็นวิทยาการเท่านั้น

จาก สยามใหม่ รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๒๒๗ : ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๔

เจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯ

ศรีศักร  วัลลิโภดม จาก “สยามใหม่” รายสัปดาห์

ฉบับที่ ๒๘๘  ๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔

เมื่อคราวที่แล้วพูดถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง คราวนี้เลยอดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรบ้าง เพราะถ้าว่ากันตามความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์นั้น เจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรเกิดขึ้นก่อนของพ่อขุนรามคำแหง

คือเกิดขึ้นเพราะรัชกาลที่หก โปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตและเจ้าบ้านผ่านเมืองในสมัยนั้น เที่ยวสอบค้นกันจนได้พบพระเจดีย์ที่น่าจะเป็นพระเจดีย์ที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สร้างขึ้น ส่วนเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานขึ้น

ผลที่ตามมาก็คือเจดีย์ทั้งสองได้กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะ ที่คนในปัจจุบันเชื่อถือว่าเกิดขึ้นจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ไป และแถมยังมีผลไปถึงความเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและของคนทั้งชาติในส่วนรวมด้วย

ในเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรนี้ ก็เช่นเดียวกันกับเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง ข้าพเจ้ายังตระหนักในคุณค่าของความสำคัญที่มีต่อความเป็นปึกแผ่นทางสังคมของท้องถิ่นและของชาติ ไม่ได้มีเจตนาที่จะคัดค้านว่าไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง แต่ในที่นี้เพียงนำมาเสนอเป็นแง่คิดในเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

ข้าพเจ้าใคร่นำความคิดในเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างโดด ๆ มาพิจารณาอีกว่ามีอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยในกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ เพราะความเห็นของผู้ที่พบเจดีย์องค์นี้ ระบุว่าพบเจดีย์เพียงองค์เดียวโดด ๆ ร้างอยู่กลางป่าจึงเข้ากันได้ดีกับความคิด ในการสร้างอนุสาวรีย์ที่คนไทยในสมัย รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ได้อิทธิพลมาจากความคิดของคนทางตะวันตก

ทีนี้มาถึงเรื่องที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารบ้างว่าทำไมถึงมีการกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ขึ้นหลังเมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ชัยชนะแล้ว ประการแรกต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า พงศาวดารคือเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่มีผู้เขียนขึ้น จึงมีทั้งข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์และการตีความตลอดจนการสอดแทรกความคิดเห็นเพิ่มเติมเสริมขึ้นของผู้ที่เขียนพงศาวดารนั้นขึ้น จะมีมากน้อยหรือพิลึกกึกกือแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของผู้เขียนเอง

เพราะฉะนั้น การที่จะอ้างพงศาวดารในการศึกษาทาง ประวัติศาสตร์จึงต้องมีการตรวจสอบเข้าไปถึงใครเป็นผู้เขียนขึ้นและเขียนขึ้นเมื่อใด

นับว่าโชคดีหน่อยที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีหลายฉบับ จึงพอเปรียบเทียบและประเมินหาข้อเท็จจริงได้ดีพอสมควร ก็พอสรุปการประเมินหาข้อเท็จจริงได้ว่า พงศาวดารฉบับที่น่าเชื่อถือได้ คือฉบับหลวงประเสริฐฯ ซึ่งเป็นการนำเอาจดหมายเหตุของโหรที่บันทึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมาเรียบเรียงขึ้นนั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่สมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชา มีการบอกแต่เพียงว่ามีการรบเกิดขึ้นและสมเด็จพระนเรศวรทรงชนะพระมหาอุปราชา

ส่วนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์สวมพระศพของพระมหาอุปราชานั้น เป็นฉบับที่พวกนักปราชญ์ที่เคยบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเขียนขึ้นพวกนี้มีความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ได้ดีเช่น อินเดีย ลังกา พม่าและมอญ เป็นต้น

โดยเฉพาะลังกานั้นถือได้ว่า ทุกคนจะต้องมีความรู้เป็นอย่างดี โดยเหตุนี้จึงมักอ้างถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนาในลังกามาเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการชนช้างของสมเด็จพระนเรศวรเปรียบเทียบกับการชนช้างที่เกิดขึ้นในลังกาทุษฎะคามณี กับ พระยาเอฬาระทมิฬ

สมเด็จพระนเรศวรนั้นเปรียบเทียบได้กับพระเจ้าทุษฎะคามณี  ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวลังกาและทรงเป็นผู้ที่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนพระมหาอุปราชาคงเปรียบได้กับพระยาเอฬาระทมิฬ ซึ่งเป็นผู้ที่ย่ำยีพระพุทธศาสนา

ในพงศาวดารลังกามีอยู่ว่าเมื่อพระเจ้าทุษฎะคามณี ทรงชนช้างชนะโดยฟันพระยาเอฬาระทมิฬตายแล้ว ก็โปรดให้สร้างเจดีย์สวมพระศพของพระยาเอฬาระทมิฬไว้เป็นที่ระลึก

ตรงนี้แหละที่ผู้เขียนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้นำมาต่อเติมให้เป็นเรื่องการสร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาขึ้น

อย่างไรก็ตามการสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็น การทำบุญ อันเนื่องจากการสงคราม ก็มีในสมัยอยุธยาเหมือนกันแต่เป็นการสร้างวัด ไม่ใช่เจดีย์โดด ๆ แบบการสร้างอนุสาวรีย์และยิ่งกว่านั้นไม่จำกัดอยู่เฉพาะเมื่อตอนได้ชัยชนะเท่านั้น ถึงแพ้ก็ยังสร้าง เช่นในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิคราวเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยก็ได้มีการสร้างวัดสวนหลวงสบสวรรค์ขึ้นในที่พระราชทานเพลิง และสร้างพระสถูปบรรจุพระอัฐิ

ก่อนหน้ารัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นไปในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง(เจ้าสามพระยา)ก็ได้มีการสร้างพระเจดีย์ บรรจุอิฐของเจ้าอ้ายและเจ้ายี่ที่สิ้นพระชนม์ ในการชนช้างแย่งราชสมบัติกรุงศรีอยุธยากัน

แต่พระเจดีย์ที่ว่านี้ก็สร้างขึ้นเป็นวัด ซึ่งในสมัยนั้นคงรวมอยู่ในเขตวัดราชบูรณะที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงสร้างอุทิศให้แก่สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งเป็นพระราชบิดา

สถานที่ในอดีต

คลองบางลำภูคือคลองอะไร?

สาเหตุที่จะเขียนเรื่องนี้ก็เพราะได้อ่านจดหมายเหตุฉบับหนึ่ง บอกว่าคลองบางลำภูมีวัด ๕ วัด นอกกำแพงเมือง ๓ วัด ในกำแพงเมือง ๒ วัด

นอกกำแพงคือ วัดสังเวชฯ, วัดตรีทศเทพ, วัดปรินายก

ในกำแพงคือ วัดรังษีสุทธาวาส,วัดบวรนิเวศฯ,

ก็เลยทำให้สงสัยว่า คลองบางลำภูนั้นมีอยู่แค่ไหน?

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ตอนรัชกาลที่ ๑ กล่าวไว้ว่า

“ในจุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบ็ญจศก (พ.ศ.๒๓๒๖) โปรดให้ตั้งกองสักเลขไพร่หลวงสมกำลังและเลขหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้อกำแพงกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระราชบวรสถานมงคลในปีนั้น โปรดให้รื้อป้อมวิชชเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีข้างฟากตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คนเข้ามาขุดคลองคูพระนคร ด้านตะวันออกตั้งแต่บางลำภูตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อ คลองรอบกรุง”

สรุปแล้วคลองที่เราเรียกกันว่าคลองบางลำภู ก็ดี คลองผ่านฟ้า ก็ดี คลองสะพานหัน ก็ดี และคลองโอ่งอ่างก็ดี ชื่อที่แท้ของมันก็คือ คลองรอบกรุง แต่คนมักเรียกชื่อตามถิ่นที่คลองผ่านไปเป็นตอน ๆ เหมือนอย่างแม่น้ำท่าจีน ตอนที่ผ่านนครชัยศรีคนก็เรียกแม่น้ำนครชัยศรี

นี่ก็เช่นกัน ตอนปากคลองด้านเหนือผ่านบางลำภูคนก็เรียกคลองบางลำภู ตอนกลางผ่านสะพานหัน คนก็เรียกตรงนั้นว่าคลองสะพานหัน ส่วนปลายคลองด้านใต้นั้นแต่เดิมจะเรียกว่าคลองวัดสามปลื้มหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ถ้าจะเรียกกันเช่นนั้นน่าจะเรียก “คลองวัดเชิงเลน” มากกว่า เพราะวัดเชิงเลนอยู่ริมคลองกว่า และปากคลองกว่า แต่ที่มาเรียกกันว่า “คลองโอ่งอ่าง” นั้นก็เป็นเพราะเรือโอ่งอ่างจากปากเกร็ดมาจอดค้างอ้างแรมขายโอ่งอ่างกันเป็นประจำ และก็แน่นขนัดจนไป-มาไม่ค่อยสะดวก

เรื่องนี้พอจะมีหลักฐานเอกสารสนับสนุน ในนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่

“เชิงเลนเป็นตลาดสล้าง       หลักเรือ

โอ่งอ่างบางอิฐเกลือ                    เกลื่อนกลุ้ม

หลีกร่องช่องเล็กเหลือ                 ลำบาก ยากแฮ

ออกแม่น้ำย่ำกุ้ม                         ถี่ฆ้องสองยาม”

ถ้าคลองบางลำภูมีแค่ผ่านฟ้าละก็ ๕ วัแน่ แต่ถ้าตลอดไปจนออกแม่น้ำต้นใต้ละก็ ๑๑ วัด คือต่อจากที่กล่าวแล้วก็มีวัดราชนัดดา วัดเทพธิดา วัดสระเกศ วัดสามปลื้ม วัดเชิงเลน

ถ้าจะคิดอย่างปัจจุบันก็ ๑๐ วัด เพราะวัดรังษีสุทธาวาสกับวัดบวรรวมกันเสียแล้วแต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๘๕)

วัดเชิงเลนคือวัดอะไร?

ถ้าเราดูจากพงศาวดาร จะเห็นว่าไม่ได้กล่าวถึงวัดเชิงเลนเลย ทั้ง ๆ ที่คลองนี้ขุดผ่านหน้าวัดนี้มา วัดสามปลื้ม ซึ่งอยู่ในเข้าไปเสียอีก กลับถูกกล่าวถึง ถ้าเราจะเชื่อแต่พงศาวดารวัดนี้ก็ยังมีอยู่ หลักฐานโบราณวัตถุย่อมเชื่อถือได้หนักแน่นกว่าเอกสาร

วัดนี้เป็นวัดเก่า เมื่อรัชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่แล้วพระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามใหม่ว่า “บพิตรพิมุข” มาสมัยรัชกาลที่ ๕ คงจะได้ปฏิสังขรณ์อีกบ้าง จึงได้เสด็จประพาส พลับพลารับเสด็จซึ่งสร้างโดยพระราชทรัพย์ก็ยังอยู่ และอยู่ริมคลองนี้ด้วย น่าที่กรมศิลปากรจะได้ไปเหลียวแลดูบ้าง เพราะเป็นหลักฐานของการเริ่มยุคสมัยสถาปัตย์แบบใหม่ของไทย เป็นพลับพลาโถง แต่ถ้าต้องการให้ทึบก็กางมานเฟี้ยมออกมาเป็นฝาได้ ท่อนล่างเป็นลูกกรงลายฉลุ ระบายชายคาก็ฉลุด้วยฝีมืออย่างวิจิตร ทั้งฝาและพื้นประกอบด้วยไม้สักทั้งสิ้น จึงได้อยู่ยงคงทนมาจนบัดนี้

เว้นแต่หลังคาเท่านั้น ที่เริ่มพังไปบ้างแล้ว แต่ตราประจำรัชกาลที่หน้าจั่วนั้นยังสมบูรณ์

พลับพลาหลังนี้เมื่อเสร็จสิ้นการประพาสแล้วก็คงจะปิดไว้เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร เพราะเป็นของหลวงยากที่ใครจะอาจเอื้อมข้องแวะ

จนต่อมาเมื่อสมัยเริ่มการศึกษาแผนใหม่ได้ใช้เป็นโรงเรียนมัธยม

แต่ต่อมาการศึกษาขยายตัว นักเรียนมากขึ้นก็ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ เมื่อย้ายไปอยู่อาคารใหม่ที่เก่านี้ก็คงจะถูกปิดไว้อย่างเดิม

ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของพระ แต่จะจำพรรษาหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะได้ถูกกันออกมาอยู่กำแพงวัดเสียแล้ว และสองข้างก็ถูกขนาบด้วยตึกแถว

ปัจจุบันพลับพลาหลังนี้คงจะเป็นหนามยอกอกของวัด เพราะจะซ่อมก็ไม่มีเงิน และก็จะใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่าย่อมจะรื้อจะขายก็ไม่ได้ เพราะเป็นของหลวง ก็เลยปล่อยให้พังไปเองตามสภาพ ช่างไม่มีใครเห็นคุณค่าของโบราณสถานเสียเลย หรือจะเห็นว่าของสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่เก่า

ถ้าจะว่าในทางฝีมือช่างแล้วยังวิจิตรกว่าโรงกษาปณ์ที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเสียอีก น่าสงสาร

คำ “เชิง” แปลว่า ตีน

“เชิงสะพาน” ก็ตีนสะพาน

“เชิงเลน” ก็คือตีนเลน

วัดนี้แต่เดิมคงจะอยู่ริมแม่น้ำและหันหน้าลงแม่น้ำด้วย (เพราะแม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม) แล้วดินหน้าวัดคงจะงอกออกไป เวลาน้ำลงจึงเป็นหาดเลนไปไกล ชาวบ้านจึงเรียก “วัดเชิงเลน” แล้วภายหลังมาขุดคลองรอบกรุงผ่านข้างวัด ก็จึงหันหน้าลงคลองอีกแห่ง ศาลาท่าน้ำด้านในคลองคงจะถูกรื้อไปเพราะทำถนนเลียบคลอง จึงเหลือแต่พลับพลาซึ่งอยู่ในเข้ามาหน่อย หน้าวัดด้านริมแม่น้ำก็ถูกเฉือนทำถนนเสียอีกวัดจึงเลยอยู่ในเข้ามา

คลองหลอดอยู่ที่ไหน?

ถ้าเราดูพงศาวดารต่อมาอีกหน่อยจะพบว่า

“แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม ๒ คลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่”

คลองรอบกรุงเราก็ทราบกันแล้วคือคลองบางลำภู หรือคลองผ่านฟ้า หรือคลองสะดานหัน หรือคลองโอ่งอ่างดังที่กล่าวแล้ว

แล้วท่านก็ขุด คลองหลอด จากคลองคูเมืองเดิม ๒ คลอง

คลองหลอด ๒ คลองที่ท่านขุดก็คือ ตรงหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์(ข้างวัดสิริอำมาตย์) ไปทะลุระหว่างวัดเทพธิดากับวัดราชนัดดาไปลงคลองรอบกรุงตรงข้างป้อมมหากาฬคลองหนึ่ง และตรงข้างวัดราชบพิตร ระหว่างโรงหนังศรีอยุธยาไปสะพานถ่าน ไปกทม. ปัจจุบันผ่านคุกลหุโทษไปลงคลองรอบกรุงตรงสามยอด

นี่คือ “คลองหลอด”

แต่ปัจจุบันเรามาเรียกคลองคูเมืองเดิมว่าคลองหลอดกัน

ถ้าเช่นนนั้นคลองคูเมืองเดิมชื่ออะไรเล่า

ไม่ปรากฎว่ามีชื่อตั้ง มีแต่ชื่อที่เรียกกันเองตามสัญญลักษณ์ที่เห็นเช่นเรียก “คลองท่าโรงโม่” บ้าง “คลองตลาด” บ้าง

ที่เรียกคลองท่าโรงโม่ เพราะมีโรงโม่แป้งอยู่ปากคลอง และมีท่าเรือข้ามฟากอยู่ข้างโรงโม่ด้วย

ที่เรียกคลองตลาด เพราะมีตลาดอยู่ในคลอง คือตลาดลอยเรือ หรือที่เรียกกันว่า “ตลาดท้องน้ำ” คือลอยเรืองซื้อขายกันในท้องน้ำ ตั้งแต่สะพานมอญจนหลามออกไปปากคลอง

ชื่อนี้มีในจดหมายเหตุสองแห่งคือนิราศถลางของนายมีหมื่นพรหมฯ

“ครั้นเสด็จคำร่ำฝากออกจากท่า

จวนเวลารุ่งรางสว่างไสว

ได้ฤกษ์งามยามพฤหัสกำจัดภัย

ก็ล่วงไปจากท่าหน้าวัดโพธิ์

ถึงตลาดท้องน้ำระกำหวล”

นี่ ถัดจากวัดโพธิ์มาก็มาถึงตลาดท้องน้ำ ตลาดที่ติดในน้ำเขาเรียก “ตลาดท้องน้ำ” นะครับ ไม่ใช่ “ตลาดน้ำอย่างปัจจุบัน ฟังดูเหมือนตลาดขายน้ำ

ปัจจุบันโครงสร้างทางภาษาของเราเปลี่ยนไป คือภาษาของเราเองไปแปลเป็นภาษาฝรั้งเพื่อนำฝรั่งเที่ยวแล้วเราก็แปลจากภาษาฝรั่งกลับมาเป็นไทยอีกที มันก็ได้ภาษาอย่างนี้แหละครับ ยัง “แม่น้ำแคว” อีกคำ

อีกแห่งก็จดหมายเหตุความทรงจำของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าไว้ว่า

“การก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้น เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาด ตอนระหว่างสะพานช้าง โรงสีกับสะพานมอญ…”

เห็นไหมละครับ ว่าคนชั้นหลังเรานี่ เข้าใจผิด เรียก “คลองตลาด” เป็น “คลองหลอด” แต่ชื่อที่ถูกยังเหลืออยู่ก็มี คือ ปากคลองนี้เรายังเรียก “ปากคลองตลาด” กันอยู่ ก็บริเวณปากคลองตลาดปัจจุบันนี้ไงและปัจจุบันก็เป็นตลาดไปเสียด้วย แต่แต่ก่อนนี้ไม่ได้เป็นตลาดหรอก ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเป็นตลาดนี้เป็นโรงเรียนอำนวยศิลป์

บ้านหม้อสะพานมอญ

เห็นจะไม่ต้องเล่ากระมังครับว่าทำไมทั้งสองแห่งนี้จึงได้ชื่ออย่างนั้น

อี่นี่ผมได้ความรู้จากคนรถราง ขณะขึ้นรถรางทีเดียว คนรถรางหนุ่มกับคนรถรางแก่เขาคุยกัน พอรถรางถึงตรงนี้คนหนุ่มก็ถาม

ก็คงจะถามเรื่อยเปื่อยไปยังงั้นละไม่ได้หวังคำตอบอะไร แต่เผอิญถูกคนแก่ที่แกรู้เข้า แกก็ตอบ

“ก็เรือมอญขายหม้อพากันมาจอดตรงนี้นะซี”

เท่านี้ก็คงจะหลับตาเห็นภาพ ก็เหมือนกับเรือโอ่งอ่างในคลองโอ่งอ่างแหละครับ เป็นธรรมดาของตลาดเมื่อขายอะไรก็ขายกันเป็นพืดเป็นแถบไป บรรดาหม้อนอกจากในเรือข้างตลิ่งแล้ว ร้านค้าข้างบนก็คงจะกองเป็นพืดเป็นแถวไป บริเวณตรงนั้นจึงเรียกบ้านหม้อ และ สะพานมอญ

พูดถึง “บ้านหม้อ” ทำให้ผมนึกถึง “บ้านดอกไม้” เมื่อคราวที่มีงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” เมื่อปีที่แล้วที่สวนอัมพรเห็นจัดให้มีบ้านอะไรต่ออะไร บ้านขายเหล้า บ้านดนตรี บ้านดอกไม้ บ้านใบตอง ฯลฯ

บ้านใบตองก็ประดิษฐ์เครื่องใบตอง บ้านดอกไม้ก็ประดิษฐ์ดอกไม้ ซึ่งใช้ดอกไม้จริง ๆ

ก็ไม่ได้ผิดคิดร้ายอะไรหรอกครับ แต่อยากจะเรียนให้ทราบว่า บ้านดอกไม้ ที่คู่กับ บ้านบาตร หลังวัดสระเกศนั้นไม่ใช่เขาทำดอกไม้แบบนี้นะครับ เป็น ดอกไม้ไฟ สำหรับจุดเวลามีงานศพหรือเทศกาลลอยกระทงเดือนสิบสอง

สะพานหก

ถัดจากสะพานมอญมาก็สะพานหก คือตรงหน้าวัดราชประดิษฐกับหน้าสุสานวัดราชบพิธมุมกระทรวงมหาดไทย

ม.จ.วิเศษศักดิ์  ชยางกูร เคยทรงเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านเป็นนักเขียนเคยข้ามเป็นไม้แผ่นเดียว มีลูกปืนใหญ่มัดลวดถ่วงอยู่ฝั่งข้างนี้ (ฝั่งวัดราชประดิษฐ์) เวลาเรือมาก็เอาเท้าเหยียบให้กระดกเพื่อให้เรือผ่าน

แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็ดกลับจากสิงคโปร์ได้มาทรงสร้างสะพานหกเพื่อให้รถข้ามคลองเหมือนอย่างที่ปัตตาเวีย ก็คงจะสร้างทับสะพานไม้เดิมนี่กระมัง แต่ปัจจุบันดูแล้วไม่มีร่องรอยว่าจะเป็นสะพานรถข้ามเลยเพราะแคบ

ตรงตีนสะพานหกฝั่งวัดราชประดิษฐ์ ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์อยู่แห่งหนึ่ง เป็นรูปหมู ได้ยินว่าเกิดขึ้นเพราะบรรดาข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ด้วยความระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ได้พากันมาบำเพ็ญทักษิณานุปทานอุทิศส่วนกุศลถวายท่านที่วัดราชประดิษฐ์ เมื่อทำบุญกันเสร็จแล้วเงินยังเหลืออยู่ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยทำอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึก

และเนื่องจากท่านประสูตรปีกุนก็เลยทำเป็นรูปหมู

วันประสูติของท่านคือวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑ ปีกุน จ.ศ.๑๒๒๕ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๖๒

องค์นี้แหละครับที่ประทานนามให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

และก็องค์นี้แหละครับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อครั้งยังเป็นทารกได้เต้นอยู่ในวงพระพาหา(แขน) เมื่อครั้งท่านเสด็จตรวจราชการที่พิษณุโลก หาใช่สมเด็จพระศรีนครินทร์ไม่

สะพานช้างโรงสี

ถัดจากสะพานหกมา ก็สะพานช้างโรงสี ตรงมุมระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกรมแผนที่เก่า ทอดข้ามไปสี่กั๊กเสาชิงช้า ที่เรียก “สะพานช้าง” เพราะเป็นสะพานสำหรับช้างข้าม

แต่ก่อนช้างเป็นพาหนะสำคัญจะไปไหนก็ต้องนึกถึงช้างเสมอ เพราะขบวนต่าง ๆ ประกอบด้วยช้าง ไปรบก็ช้าง สะพานไม้แผ่นเดียวนั้นคนข้ามได้แต่ช้างข้ามไม่ได้ จึงต้องสร้างสะพานสำหรับช้าง และฝั่งตรงข้ามคือฝั่งกระทรวงมหาดไทยนั้น แต่ก่อนมีโรงสีเลยเรียก “สะพานช้างโรงสี”

สะพานสำหรับช้างข้ามนี้ เมื่อครั้งสร้างกำแพงพระนครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระอนุชาธิราชได้เลยทรงพระราชดำริที่จะทำตรงใต้ปากคลองมหานาค เพื่อข้ามคลองรอบกรุงเหมือนกัน แต่พระพิมลธรรมวัดโพธิ์ได้ถวายพระพรว่า ไม่มีอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อนและหากเกิดสงครามขึ้นแล้ว ข้าศึกจะเข้าถึงพระนครได้ง่าย

อนึ่งแม้มีการอะไรขึ้น จะแห่กระบวนเรือรอบพระนครก็ไม่ได้ ก็ทรงเห็นด้วย จึงไม่ได้สร้าง แต่คลองตลาดนี้เป็นคลองในพระนคร จึงได้สร้าง

สะพานรถราง

ถัดสะพานช้างโรงสีมาหลังกลาโหมตรงนี้แต่เดิมเป็นสะพานรถรางมีบางท่านบอกว่าแต่เดิมเป็นสะพานไม้และหกได้ สงสัยจะมีการเข้าใจผิดแบบคลองตลาด เป็นคลองหลอดเสียละกระมัง

สะพานรถรางหกได้ก็เหลือเชื่ออยู่แล้ว แล้วยังแถมเป็นไม้เสียอีก รถรางคันหนึ่งไม่ใช่เบา ๆ อย่างรถยนต์นะครับ

ผมเองก็นั่งรถรางมา ๓๐ กว่าปี ยังไม่เคยเห็นสะพานรถรางตรงนี้หกได้ ถ้าใครไปพินิจดู จะเห็นว่าไม่มีทางจะหกได้เลย เพราะสะพานรถรางไม่ใช่สะพานข้ามไปตรง ๆ แต่เป็นสะพานเอื้ยง ๆ แบบฝานบวบ รถรางไม่ใช่คันสั้น ๆ อย่างรถยนต์ จะได้หักเลี้ยวได้ง่าย

สุดท้ายนี้ผมขอจบบทความนี้ด้วยเพลงฉลองกรุงที่ว่า “โอ้ว่ารัตนโกสินทร์ เมืองอินทร์ เมืองแก้วแพรวสี…”

ถ้าคำว่า “โกสินทร์” แปลว่าพระอินทร์ได้ คำว่า “นาคินทร์” และ “หัสดินทร์” ก็เห็นจะแปลว่า พระอินทร์ได้

ผมได้สองคำนี้มาจากสมุทโฆษคำฉันทร์ครับ ความเต็มเขามีว่า “เลิศล้านศุภลักษณ์นาคินทร์ สิบหมู่พัสดินทร์อุทิศวงศ์ไกวัล”

ก็ลองแปลดูเถอะครับว่าเขาเอาคำ “อินทร์” มาเข้าสนธิในฐานะอะไร

พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีประเพณีที่กลายเป็นปัญหา

ปรานี  วงษ์เทศ

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชา มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร

เก็บความและเรียบเรียงจาก Female Circumcision On Trial โดย Emily และ Per Ola D’Aulaire ใน Reader’s Digest ฉบับเดือนมีนาคม ๑๙๘๑

พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีเป็นประเพณีโบราณที่ฝังรากลึกมาแต่อดีตนั้น ในที่สุดก็ถูกประณามว่า เป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และนำความทนทุกข์ทรมานอย่างไม่จำเป็นให้กับผู้หญิงหลายล้านคน

ขณะที่องค์กรอนามัยโลกประณามว่าพิธีกรรมดังกล่าวนี้ ไม่ควรสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกต่อไปด้วยเหตุผลทางการแพทย์ นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมบางคน กลับปกป้องว่าเป็นประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว บรรดาสตรีจากโลกตะวันตกและโลกที่สามต่างถกเถียงกันอย่างดุเดือดและเผ็ดร้อนในการประชุมระดับโลกของ ยูเอ็น เกี่ยวกับสตรี ณ กรุงโคเปนเฮเกน เจ้าของประเพณีนี้เองกลับมีความเห็นว่า พิธีกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดีงามและยังมีความยึดมั่นด้วยศรัทธาแรงกล้า

แต่สำหรับผู้ที่อยู่นอกวัฒนธรรมนี้ต่างรู้สึกช็อคกับประเพณีดังกล่าว และกล่าวหาว่าเป็นความป่าเถื่อน และเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน

พิธีกรรมนี้ ถ้าหากจะเรียกให้สละสลวยสักหน่อยก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นพิธีครอบของสตรี ซึ่งเป็นคำที่ใช้หมายถึงขบวนการแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตัด การทำอวัยวะสืบพันธุ์ให้พิกลพิการในหมู่ผู้หญิงและเด็กสาวของชนเผ่าดั้งเดิม โดยมีบรรดาผู้หญิงสูงอายุเป็นผู้ประกอบการถือว่าเป็นการรักษาประเพณีของเผ่าพันธุ์

ผู้ที่สนับสนุนการต่อต้านพิธีกรรมนี้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า “พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีไม่ต่างอะไรกับการใช้เข็มขัดลั่นกุญแจรักษาพรหมจรรย์ของผู้หญิงในยุคกลาง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเลือดและเนื้อจริง ๆ เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ควรจะให้มีการหยุดยั้งการกระทำเช่นนี้ได้แล้ว”

แม้ว่าพิธีนี้จะเคยได้รับการยึดถือปฏิบัติกันต่อ ๆ มาอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีปในอดีต แต่ปัจจุบันกลุ่มที่ยังมีการยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่สุดได้แก่ประชาชนที่อยู่ในแอฟริกา ซึ่งมีรายงานว่ามีถึง ๓๒ ประเทศ จากบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา  ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแอฟริกามายังประเทศอียิปต์ ลงไปจนถึงประเทศเคนยา ทานซาเนีย และอาจรวมทั้งประเทศโมซามบิคด้วย

ประมาณว่าสตรีที่เป็นเหยื่อของพิธีกรรมนี้จะมีระหว่าง ๑๐ ถึง ๕๐ ล้านคน

แต่ไม่มีวิถีทางใดที่จะทราบจำนวนที่แน่นอนได้ เนื่องจากพิธีกรรมนี้ถูกครอบงำไปด้วยความลึกลับ และความเชื่อในไสยศาสตร์และอำนาจลึกลับต่าง ๆ โดยที่ไม่เคยมีการนำมาถกเถียงอย่างเปิดเผย สาเหตุของความตาย มักจะเชื่อกันอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นผลจาก “ชะตากรรม”

การประกอบพิธีนี้ เชื่อกันว่าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นผู้หญิงที่แท้จริง เป็นการพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ และเชื่อถือว่าเป็นความจำเป็นทางสังคม ตามความเป็นจริงแล้วในหลาย ๆ ประเทศ พิธีขลิบอวัยวะเพศนับเป็นพิธีครอบที่สำคัญ ที่เป็นการสั่งสอนแนะนำให้ผู้เข้าพิธีมีความเป็นผู้ใหญ่ ให้อยู่ในสังคมได้

ผู้อำนวยการการให้บริการทางการแพทย์ อธิบายว่า “สังคมของเราเป็นสังคมที่ขึ้นอยู่กับกลุ่ม พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีจึงนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากในประเทศนี้ มีเด็กหญิงที่เข้าพิธีที่อายุระหว่าง ๑๐-๑๕ ปี ถึงมากกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์”

ในประเทศแกมเบีย  การขลิบอวัยวะเพศของสตรีใช้วิธีการตัดทิ้งซึ่งหมายความว่า “เม็ดละมุด” (ไครโตริส) ถูกตัดทิ้งออกทั้งหมด “โดยไม่ใช้ยาสลบเลย” ดอกเตอร์ แซมบา กล่าวว่า “พวกที่เข้าพิธีกรรมทุกคนจะถูกปิดตา เขาจะใช้มีดที่ลับจนคมตัดออก ตลอดพิธีจะมีเสียงกลองดังสนั่น จนหนวกหู พร้อมกับมีเสียงร้องเพลง และการเต้นรำของญาติมิตรประกอบ หลังการผ่าตัดจะมีการชำระล้างแผลและทายาที่ทำจากสมุนไพรผสมกับรากไม้ที่นำมาบดเป็นผงทุก ๆ วัน จนกระทั่งแผลหาย”

“ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลยจริง ๆ”

พิธีที่น่ากลัวกว่านี้ ยังมีการปฏิบัติกันในประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกา ที่นั้นเด็กผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง ๔-๘ ปี จะถูกจับให้นอนลงบนเสื่อที่ทำพิธีกรรม บรรดาหญิงชราที่มาร่วมพิธีจะจับแขนขาและศีรษะให้แนบติดอยู่กับพื้น ผู้ประกอบพิธีเรียกว่า “Gedda”ได้แก่ผู้หญิงที่มีอายุรุ่นคราวย่าหรือยาย จะใช้มีดโกน หรือของมีคมอื่น ๆ ตัดอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอกออกจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเม็ดละมุด แคมเล็กแคมใหญ่ หลังจากนั้นจะมีการเย็บบาดแผลให้ติดกันด้วย หนาม เอ็นแมว หรือลวด เหลือช่องว่างแค่หัวไม้ขีดไฟ (เพื่อไว้ทำหน้าที่ทางสรีระเท่านั้น) ขาของเด็กผู้หญิงแต่ละคนจะถูกมัดติดกันจนกว่าแผลแห้งติดกัน มีผลเหมือนกับเป็นการลั่นกุญแจของลับของสตรี ป้องกันการผิดประเวณี ซึ่งมักทำกับภรรยาของพวกที่ไปรบในยุโรป มิให้มีชู้

“เหมือนกับมองดูผนังกำแพงที่ว่างเปล่า” ผู้ชำนาญโรคสตรีชาวอเมริกันผู้หนึ่งพูดขึ้นหลังจากตรวจดูผลการผ่าตัดจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าพิธีนี้ “ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย”

หญิงสาวที่เข้าพิธีตัดอวัยวะเพศนี้ เรียกว่าพิธี ฟาโรนิค (มาจากภาษาอียิปต์โบราณ เพราะเชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้มีต้นกำเนิดมาจากชาวอียิปต์) แปลว่า การเย็บ (มาจากภาษาลาติน ที่แปลว่า เย็บหรือติดเข้าด้วยกัน) ซึ่งมีขั้นตอน ๓ ขั้นตอนด้วยกัน ครั้งแรกจะทำระหว่างพิธีการขลิบ ครั้งแรกเมื่อเริ่มเป็นสาว ครั้งที่ ๒ ตอนแต่งงาน และครั้งที่ ๓ ระหว่างการคลอดบุตร

เนื้อเยื่อที่กลายเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่จากพิธีกรรมนี้ จะทำให้เวลามีความสัมพันธ์ทางเพศตามปกติเป็นสิ่งที่เจ็บปวดทรมานและอันตรายมาก

“ถ้าหากอวัยวะที่เป็นแผลมีขนาดเล็กและมีแผลเป็นใหญ่มาก ก็คงจำเป็นจะต้องมีขบวนการที่เกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อเปิดอวัยวะอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน” ดอกเตอร์ ตาบา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการระดับภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก ประจำเขตเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกในเมืองอเล็กซานเดรียกล่าวอธิบาย

ยิ่งกว่านั้น การมีสัมพันธ์ทางเพศสำหรับผู้หญิงที่ผ่านพิธีเย็บอวัยวะเพศดังกล่าว จะเป็นเสมือนสิ่งที่กลายเป็นฝันร้ายชั่วชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บทรมาน จะผ่านพ้นไปได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีการคลอดบุตร เนื้อเยื่อที่ถูกเย็บติดจะไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งทำให้การคลอดตามปกติเป็นไปได้ยาก จึงมีความจำเป็นต้องมีการผ่าเพื่อเปิดช่องคลอดให้กว้างขึ้น และเมื่อมีการผ่าซึ่งมักทำกันอย่างลวก ๆ ระหว่างการคลอด ก็อาจทำอันตรายหรือผ่าเอาศีรษะของเด็กที่กำลังเคลื่อนออกมาทางช่องคลอดทำให้ตายได้

ถึงตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ความทุกข์ทรมานของผู้หญิงจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะหลังจากการคลอดบุตร ถ้าหากสามีเธอจะต้องเดินทางไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลานาน เขาสามารถที่จะสั่งให้ภรรยาเย็บช่องคลอดให้ติดกันอีกก็ได้ เพื่อเป็นการรับประกันความซื่อสัตย์จงรักภักดี และวัฏจักรของความเจ็บปวดทรมานก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

กลุ่มผู้คัดค้านกล่าวอีกว่า พิธีดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ความเป็นผู้หญิงตกอยู่ในกำมือของผู้ชายขบวนการของพิธีกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่เจ็บปวดทรมาน แต่ยังทำเหมือนผู้หญิงมิใช่มนุษย์อีกด้วย เป็นการกระทำที่ลดฐานะสตรีลงเป็นแค่เครื่องจักรที่ทำการผลิตได้เท่านั้น “เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วมา การขลิบอวัยวะเพศของสตรีในแอฟริกาไม่มีอะไรมากไปกว่า เป็นเพียงสิ่งที่มีผู้เขียนถึงในเชิงอรรถเท่านั้น” สตรีชาวเบนินซึ่งเป็นอนุกรรมการเกี่ยวกับสถานภาพของสตรีวิจารณ์ ปัจจุบันเมื่อผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในสังคม เรื่องนี้จึงได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญ ไม่ว่าที่ไหนที่ยังมีการทำตามประเพณีนี้อยู่ พวกผู้หญิงควรจะคัดค้านต่อสู้ให้ถึงที่สุด”

ที่น่าประหลาดใจก็คือ เหตุผลที่ผู้หญิงชาวพื้นเมืองเป็นจำนวนมากไม่ต้องการต่อต้านพิธีนี้เพราะเนื่องจากเชื่อกันว่า เป็นกฎบังคับของศาสนาอิสลาม

“แต่ในคัมภีร์โกหร่านก็มิได้มีอะไรที่ระบุไว้ถึงเรื่องเหล่านี้เลย” มุสลิมคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์การอนามัยโลกกล่าว “ความจริงแล้วการจะตัดหรือทำการผ่าตัดอะไร ชนิดไหนก็ควรเป็นเรื่องที่น่าประณามอย่างยิ่งอยู่แล้ว”

ยิ่งกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมดังกล่าวนี้ ได้แพร่กระจายมาก่อนศาสนาอิสลามจะเข้ามาถึงแล้ว ไม่มีใครรู้แน่นอนว่า พิธีครอบเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร แต่ทั้งการขลิบอวัยวะเพศของหญิงและชายดูเหมือนจะเป็นวิธีการผ่าตัดที่เก่าแก่โบราณมากที่สุดวิธีหนึ่ง หลักฐานทางโบราณคดีได้ค้นพบมัมมี่ของชาวอียิปต์เป็นสตรีที่ได้ผ่านการขลิบอวัยวะเพศมัมมี่นี้มีอายุถึง ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวนี้มีหน้าที่เสมือนเป็นพลังเชื่อมทางด้านจิตใจ ให้สมาชิกในสังคมรู้สึกว่ามีความเป็นพวกเป็นกลุ่มเดียวกัน

การเข้าสุนัติของผู้ชายกลับเป็นผลดีแก่สุขภาพ และมิได้มีอิทธิพลใด ๆ ต่อหน้าที่ทางเพศเลย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์เป็นจำนวนมาก ตรงข้ามกับการขลิบอวัยวะเพศของผู้หญิงที่นำความทุกข์ทรมานมาให้ชั่วชีวิต ผู้ที่อยู่ในแวดลงทางด้านสุขภาพเกือบทุกคนที่รู้เรื่องต่างกล่าวขวัญถึงความน่ากลัวของพิธีนี้ เพราะมีผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่นเชิงกรานอักเสบบวมเป็นโรคเรื้อรัง บาดทะยักที่มดลูก โรคเนื้อตายที่อวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ โรคเหล่านี้ทำให้อัตราการตายของทารกในแอฟริกาสูงถึง ๓๘ เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก

จากปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนี่เอง ทำให้เรื่องพิธีกรรมนี้ เป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจระดับระหว่างชาติขึ้นมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๑๙๗๙ องค์การอนามัยโลกได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาในหัวข้อ ประเพณีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของสตรีขึ้น และได้มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาหลังจากที่ผู้แทนทางการแพทย์จากแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้ฟังหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ก็ได้เสนอให้มีการร่างนโยบายระหว่างชาติเพื่อกำจัดการขลิบอวัยวะเพศของสตรี เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ๑๙๘๑ องค์การยูนิเซฟก็ได้ประกาศโดย “สัญญา” ว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลที่จะช่วยเหลือโครงการของชาติที่เกี่ยวข้องกับการขลิบอวัยวะเพศของสตรี นับเป็นคำปฏิญาณที่มีลักษณะพิเศษสำหรับหน่วยงานของ ยูเอ็น

การหยุดยั้งประเพณีดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะแม้แต่ผู้ที่ต้องทนทรมานจากความเจ็บปวดของพิธีนี้ ก็ยังคงเชื่อถือกันอย่างเคร่งครัด ว่าเป็นเรื่องจำเป็นและถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเป็นผู้หญิง บางคนก็มีทัศนะว่า พิธีกรรมนี้เป็นขบวนการฝึกให้มีความ “อดทนมากยิ่งขึ้น”

“ชีวิตที่นี้ลำบากมาก” หญิงชาวแอฟริกันผู้หนึ่งกล่าว “พิธีนี้จะเตียมเราให้พร้อมที่จะเผชิญความยากลำบาก”

ในหลาย ๆ ท้องที่ ผู้หญิงที่ไม่ได้ผ่านพิธีกรรมนี้ จะถูกประณามว่าเป็นพวกไม่สะอาดและถูกเยาะเย้ยจากเพื่อนฝูง ฐานเป็นคนไม่เหมาะสมที่จะแต่งงานด้วย บางคนก็เชื่อว่า การให้กำเนิดบุตรจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากไม่มีการผ่าตัดบางคนก็เชื่อว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้เข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศจะนำความหายนะมาให้แก่กลุ่มชนพวกเขาเอง

“มันเจ็บปวดทรมาน”

ไม่เพียงแต่ผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาเท่านั้นที่ติดอยู่กับความเชื่อนี้ อดีตประธานาธิบดีของเคนยา ได้เคยเขียนไว้ว่า การผ่าตัดในพิธีนี้ เป็นขบวนการให้การศึกษาทางศาสนาและทางศีลธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนนายโซมาลิ ทูตของยูเอ็นก็ได้ประกาศว่าเป็นประเพณีที่เด็กหญิงทุกคนในประเทศของเขารวมทั้งภรรยาและลูกสาว ๒ คนของเขาด้วยต้องเข้าพิธีกรรมแบบนี้ ทั้งผู้เชี่ยวชาญโรคสตรีชาวซูดานที่น่าเชื่อถือคนหนึ่งก็ยังสนับสนุนให้ภรรยาของเขาเข้าพิธีนี้ สุภาพสตรีบางคนซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลก็ยังจัดพิธีกรรมนี้ให้แก่หลานของเธอเอง

หญิงชาวโซมาเลียอายุ ๓๔ ปี ผู้หนึ่งเคยทำงานอยู่ในปารีส ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเธออายุ ๔ ปี เธอได้เข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศ “มันเจ็บปวดทรมานมาก แต่เราถูกสอนให้เป็นเด็กหญิงที่กล้าหาญ” เมื่อถูกถามว่าเธอจะยอมให้ลูกสาวเข้าพิธีนี้ด้วยหรือไม่ เธอตอบอย่างลังเลใจว่า “ดิฉันไม่อยากให้เขาเย็บของเธอให้ติดกัน” เธอสารภาพ “แต่ควรจะมีการตัดอะไรออกบ้างมิฉะนั้นเธอจะรู้ได้อย่างไรว่าเธอเป็นผู้หญิง”

“ความเชื่อนี้ลงรากลึกมาก” ดอกเตอร์ฮาร์ดิ้ง จิตแพทย์ขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงคงไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนได้ อาจจะต้องใช้เวลาเปลี่ยนความคิดของผู้คน และทำให้ประชาชนเปลี่ยนความเชื่อ นับเป็นวิถีทางเดียว” เพราะการออกกฎหมายลงโทษ ก็มิได้เป็นคำตอบในการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น แม้ว่าจะมีนโยบายของทางการที่เข้มงวดในประเทศนี้เป็นเวลา ๓๐ ปี มาแล้ว แต่ผู้หญิงชาวซูดานก็ยังคงดื้อรั้นที่จะปฏิบัติตามความเชื่อนี้กับเด็กหญิงอายุ ๕-๘ ขวบ และก็ไม่มีใครถูกลงโทษตามกฎหมาย แม้จะมีบทกำหนดให้จำจองถึง ๓ ปีก็ตาม ในบางส่วนของประเทศ มีผู้หญิงถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศนี้ “การทำพิธีนี้มักลักลอบทำกันใต้ดิน ในที่ที่สภาพทางสุขอนามัยอยู่ในขั้นล้าหลังมาก”

“การแก้ปัญหาไม่สามารถมาจากบุคคลภายนอกได้ จะต้องมาจากประชาชนเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นระดับรากเหง้าทีเดียว เป็นการถอนรากถอนโคน” เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือจากภายนอกอาจจำเป็น ในการช่วยทำให้การกำจัดอย่างถอนรากถอนโคนเริ่มต้นขึ้นได้ ควรจะมีการอบรมพวกหมอกลางบ้าน หรือผู้หญิงที่เป็นที่นับถือของชุมชนระดับชาวบ้าน และควรมีการอบรมพวกหมอตำแยให้รู้ถึงอันตรายของพิธีนี้ มูลนิธิวางแผนครอบครัวระหว่างชาติ ซึ่งมีประเทศสมาชิกถึง ๙๕ ประเทศในปัจจุบัน ได้รวมเอาพิธีนี้เข้าเป็นโครงการให้การศึกษาทั่วไปด้วย ผู้นำทางศาสนาควรชี้แจงให้กระจ่างว่า พิธีนี้มิได้เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในคัมภีร์โกหร่าน นายตาบา เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกกล่าวอีกว่า “พิธีกรรมนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงและเด็ก ๆ ไม่ได้มีผลดีแต่อย่างไรเลย การเลิกพิธีนี้ จะส่งผลกระเทือนต่อวัฒนธรรมประเพณีไม่มากไปกว่าการเลิกสูบบุหรี่”

พวกผู้หญิงด้วยกันควรช่วยเหลือด้วย ดอกเตอร์ฮาร์ดิ้ง เชื่อว่า “ถ้าหากสตรีที่เป็นที่เคารพเชื่อถือของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องกับพิธีนี้จะพูดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ ประชาชนอาจจะฟังก็ได้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและความเสมอภาคของสตรี ที่ต้องขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้หญิงเองที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นขึ้น”

แน่นอนที่ความหมายในด้านสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอาจจะเป็นปัญหาที่ยากที่จะเกี่ยวข้องด้วย แต่ความจริงที่พิธีนี้เป็นที่เข้าใจหรือมีความหมายทางวัฒนธรรม ก็มิได้หมายความว่า จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่ควรให้อภัยในระดับนานาชาติ ดังที่ชาวแอฟริกันผู้หนึ่งได้กล่าวว่า “ประเพณีและความก้าวหน้ามิใช่สิ่งที่ขัดแข้งกัน แต่เป็นความนึกคิดที่ควรช่วยเหลือกัน วิธีการก็คือ นำสิ่งที่ดีที่สุดของโลกทั้งสองมาแต่งงานกัน และละทิ้งสิ่งที่เลวร้ายเสีย”

และแน่นอนเช่นกันที่พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรี ซึ่งมีผลให้เกิดโรคแพร่หลายและเป็นการกดขี่ทางเพศ ทำให้เกิดการตาย ย่อมเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งจากการสัมมนาได้ทำให้เป็นที่กระจ่างว่า พิธีนี้ได้ถูกนำมาพิจารณา จากความพยายามในระดับชาติที่ทำกันอย่างเงียบ ๆ พิธีนี้ควรจะถูกตัดสินให้เลิกได้แล้ว

 

โปงลาง:เครื่องกำเนิดทำนองดนตรีและสัญญาณการค้าต่างแดนของชาวอีสาน

โดย จารุบุตร  เรืองสุวรรณ

หนังสือ พจนานุกรมภาษา ภาคอีสาน-ภาคกลาง ฉบับปณิธาน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อธิบายศัพท์คำโปงลางไว้ว่า “น. ระฆังโลหะ หรือไม้ขนาดเล็กใช้แขวนคอวัว หรือผูกกับซุ้มวางบนต่างที่วัวบรรทุกต่าง หมากโปงลางก็ว่า”

คำอธิบายออกจะคลุมเครือ อาจจะก่อให้เกิดความสับสน จึงขอเสนอความเห็นไว้ดังนี้ คือ จะต้องแยกคำว่า “โปง” อย่างหนึ่ง กับ “โปงลาง” อีกอย่างหนึ่งออกจากกันจึงจะพอเข้าใจง่ายขึ้นบ้าง เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นคนละอย่างแตกต่างกัน

“โปง”  มีความหมายเหมือนคำว่า “โป่ง” ในภาษาภาคกลาง คือหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะกลวงข้างในทุก ๆ วัดในภาคอีสานสมัยก่อนจะมี “โปง” ทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่ขุดเจาะให้กลวง แขวนไว้สำหรับใช้ท่อนไม้กระทุ้งตีสัญญาณ มีเสียงก้องกังวานไปให้คนทั้งหมู่บ้านได้ยินเป็นสัญญาณบอก หรือเตือนให้ทราบเวลาทำบุญหรือฟังเทศน์ตามวัด หรือเตือนให้ผู้ประกอบอาชีพการงานต่าง ๆ ทราบเวลา ตลอดจนได้ยินไปถึงผู้ที่กำลังทำงานในป่าหรือเดินทางในป่าให้ทราบเวลาจวนค่ำและกำหนดเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านคน

ส่วนไม้ขนาดเล็กใช้แขวนคอวัวนั้น ไม่เคยได้ยินคนทั้งหลายในจังหวัดใดทางภาคอีสานเรียกชื่อว่า โปงลางมีแต่ใช้ชื่อว่าขิกหรือขอ หรือขอลอ ซึ่งต่อมาภายหลังพวกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นำมาใช้ตีสัญญาณเรียกว่า กะลอ หรือ เกราะ โปงไม้ขนาดเล็กอาจมีใช้แขวนคอควายอยู่บ้าง

ประเภทที่หล่อด้วยทองสำริดทองเหลือง เหล็ก หรือโลหะอื่นๆ เรียกว่า หมากฮิ่งกระดิ่ง หรือ หมากกะโหล่ง ถ้ามีหลายลูกร้อยเป็นพวง ใช้ผูกคอวัวเทียมเกวียนเรียกว่า หมากฮิ่งห่อ ถ้าลูกขนาดโตร้อยเป็นพวงใช้ผูกคอช้างเรียกว่า ซ่วงซ้าง ถ้าหลอมหล่อผสมแร่เงินมีขนาดเรียวยาว เสียงแหลมได้ยินไปไกลใช้ผูกคอช้างก็เรียกว่า หมากฮิ่งซ้าง

“โปงลาง” คือโปงโลหะสำริด ซึ่งอยู่ในฮางหรือในราง ทางภาคเหนือเรียกว่าผางฮางหรือผางลาง เดิมใช้แขวนไว้บนหลังวัวต่าง ต่อมาการค้าวัวต่างซบเซาลง พวกบริษัททำป่าไม้ทางภาคเหนือจึงนำเอาโปงสำริดแต่ละลูกมาผูกคอช้างลากซุง

ไม่ว่าทางภาคเหนือ หรือภาคอีสานจะไม่มีผู้ใดอุตรินำเอาโปงลางไปแขวนคอวัวหรือคอควาย เพราะฮางหรือรางคือคอกใส่โปงสำริดคู่นั้นกินเนื้อที่และมีน้ำหนักมาก ซึ่งคอสัตว์ทั้งสองคงไม่เหมาะที่จะรับได้

ต้นกำเนิดดนตรีชาวอีสาน

วิถีการดำเนินชีวิต (Way of life way of living) หรืองานอาชีพการทำมาหากินของชาวอีสานโบราณนั้น นอกจากการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์หาของป่าแล้ว ยังมีอาชีพทางด้านการค้าในท้องถิ่น และการค้ากับต่างแดนที่ห่างไกล มีทั้งทางน้ำและทางบก

การค้าทางน้ำ อาศัยลำน้ำสำคัญ เช่น น้ำโขง น้ำมูล น้ำชี น้ำพอง น้ำสงคราม น้ำปาว ใช้บรรทุกสินค้า โดยเรือขุดเป็นเรือถ่อหรือใช้แพไม้ไผ่ตามที่ราบลุ่มน้ำหรือริมฝั่งน้ำมีไม้ไผ่นานาชนิด ซึ่งบางชนิดเหมาะที่จะนำเอามาทำเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แคน” จากการใช้ชีวิตจำเจในแม่น้ำ ก่อให้เกิดจินตนาการ จิตใจลอยล่องไปตามกระแสน้ำ จนเกิดทำนองเพลงหรือ “ลาย” ซึ่งออกจะยาวยืดยาด หรือมีเสียงกระชั้นกระฉอกเหมือนกระแสน้ำที่ไหลกระเซ็น หรือวนเวียนเหมือนน้ำในวังวน เช่นลายยาว ลายล่องของ เป็นแม่บท ทั้งหมดนี้ จัดอยู่ในประเภทตระกูลลายแคน

การค้าทางบก พาหนะสำหรับลำเลียงขนส่งสินค้าทางบกนั้น การใช้เกวียนมีขอบเขตจำกัดมาก เนื่องจากไม่มีถนนหรือสะพานเหมือนเวลานี้ ดังนั้นจึงต้องใช้แรงงานสัตว์ โดยเฉพาะวัวซึ่งมีมากที่สุดในภาคอีสาน ตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งปัจจุบัน จึงใช้วัวบรรทุกต่าง บรรจุสรรพสินค้าส่งออกและนำเข้า สำหรับการค้ากับแดนไกล เปรียบเสมือนกองเรือพาณิชย์นาวีในยุคปัจจุบัน ทำให้สามารถเดินทางไปค้าขายกับภาคกลาง ภาคเหนือ ของประเทศไทย รัฐไทยใหญ่ มอญ พม่า แม้กระทั่งญวนและเขมร

ตามปกติเมื่อเสร็จจากฤดูทำนาแล้ว ฝ่ายหญิงจะเฝ้าบ้านเลี้ยงลูก ทอผ้า ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์อยู่ในหมู่บ้านฝ่ายชายจะต้องออกหารายได้นอกบ้าน ที่ทำกันแพร่หลายมากคือไปค้าขายต่างแดนไกล โดยใช้ขบวนวัวต่าง มีทั้งขบวนใหญ่และขบวนย่อยบางขบวนไปขายวัวโดยเฉพาะ บางขบวนก็บรรทุกสินค้าผลิตผลพื้นบ้านไปขาย แล้วรับสินค้าที่หายากกลับมา

การจัดขบวนวัวไปค้าต่างประเทศ

หน่วยย่อยที่สุดเรียกว่า “พาข้าว” มีเจ้าของวัวต่างประมาณ ๑๐ คน แต่ละคนมีวัวต่าง ๕ ถึง ๑๕ ตัว ผู้เป็นหัวหน้าพาข้าวเรียกชื่อว่านายฮ้อย พาข้าวมีความหมายเหมือนห้างหุ้นส่วน แต่ละพาข้าวทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกัน อยู่กินร่วมกันในพาข้าวเดียวกัน วัวต่างบรรทุกสินค้าทุกตัวมีสองต่างขนาบลำตัวสองข้างในพาข้าวหนึ่งจะมีวัวต่างหนึ่งบรรทุก “โปงลาง” ไว้บนหลังวัวหลังต่าง ต่างของวัวสำคัญตัวนี้จะไม่บรรจุสินค้ามีเพียงว่านยาหรือเครื่องพิธีกรรมเท่านั้น

การ “เอ้” วัวจ่าฝูง

คำว่า เอ้ คือการแต่งตัว ตบแต่งประดับประดา วัวที่จะทำหน้าที่เป็นจ่าฝูงหรือวัวสำคัญได้รับเกียรติ์บรรทุกโปงลางบนหลังนั้น จะต้องเป็นตัวผู้ที่มีลักษณะดีมีหนอกขึ้นสูง เดินโยกอย่างสง่าเป็นจังหวะ เรียกว่า “มีสังวาสย่าง” จึงจะเดินโยกโปงลางให้มีเสียงไพเราะแต่น่ายำเกรงอีกด้วย

เมื่อเลือกวัวสำคัญได้แล้วก็นำมาเอ้ คือส่วนเขาจะต้องขัดให้ขึ้นมันบางพวกใช้แผ่นเงินเลี่ยมเป็นเปลาะตอนปลายเขามัดด้ายกระทงหรือช่อดอกไม้ ตรงหน้าผากมีแว่นกระจกผูกติดไว้ให้สะท้อนแสงแดดจะมองเห็นได้ไกล(คอกไม้หรือฮางโปงลางบางอันสลักลวดลายสวยงามและใช้แว่นกระจกประดับไว้ตอนหน้าด้วย) ที่ปากวัวสรวม “กะทอ” หรือขลุมทำด้วยหวายเพื่อมิให้พะวงกินหญ้า(เว้นแต่เวลาหยุดพัก) ให้กินได้แต่น้ำมิฉะนั้น วัวลูกน้องตัวอื่นจะเอาอย่างเสียเวลาเดินทาง บางพวกคล้องมาลัยพวงใหญ่ที่คอวัวอีกด้วย

บนหลังวัวปูผ้าคล้ายผ้ารองอาน ม้ามีสีและลวดลายต่าง ๆ ใช้เปลือกกะโดนปูทับ มีหมอนสองใบรองรับต่างสองข้าง เพื่อมิให้หลังวัวถลอก มีไม้เป็นคานคาด หูต่างทั้งสองพาดบนหมอน แล้วเอาโปงลางวางข้างบนชิดไปทางหนอกวัว มีเชือกรั้งจากต่างรัดโคนหางวัว เวลาลงเขาจะไม่รูดไปข้างหน้า มีเชือกรั้งกับคอและขาหน้าตลอดจนท้องวัว(เพื่อมิให้โปงลางและต่างรูดไปด้านหลังหรือด้านข้างเวลาขึ้นเขา หรือไปในที่ขรุขระ) ที่หน้าวัวและหางวัว บางพวกก็ใช้สีต่าง ๆ ทาสลับกัน

พาข้าวหรือหุ้นส่วนหนึ่งมักจะไปจากแต่ละคุ้มของหมู่บ้าน กองคาราวานวัวต่างแต่ละขบวนมีหลายพาข้าว บางขบวนมีวัวต่าง ๑,๕๐๐ ถึง ๑,๘๐๐ ตัว มีชายฉกรรจ์คุมวัวประมาณ ๑๐๐ คนมีนายฮ้อยใหญ่เป็นแม่ทัพควบคุมบังคับบัญชาทุกพาข้าวอีกชั้นหนึ่ง พื้นที่ภาคอีสาน ๑๖ จังหวัดจะมีขบวนวัวต่างขนาดใหญ่หลายสิบ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยคนหลายพันและวัวต่างหลายหมื่น ไปมาค้าขายยังแดนไกลเป็นประจำทุกปี ซึ่งต้องใช้เวลา ๓-๔ เดือน หรือบางครั้งใช้เวลาแรมปีถ้าการค้าเกิดอุปสรรค

นายฮ้อยใหญ่หรือแม่ทัพจะนัดหมายให้แต่ละพาข้าวออกเดินทางไปพบกันที่จุดแห่งหนึ่ง เพื่อรวมตัวกันเดินทางเปนขบวนใหญ่ ก่อนออกเดินทางอาจจะมีพิธีกรรมตามความเชื่อถือลูกเมียจะพากันหาบคอนเสบียงอาหารตามไปส่งระยะทางไกลค้างแรม ๕-๑๐ คืนก็มี ต่างก็มีความอาลัยอาวรณ์ฝากชีวิตฝากความหวังในอนาคตไว้ซึ่งกันและกัน ทั้งผู้ที่จะจากไปไกลและรอคอยอยู่เบื้องหลังด้วยจิตใจอันจดจ่อห่วงใย

นอกจากเสบียงกรัง ว่านยา วัตถุมงคล และอาวุธประจำกายชายชาตรีแล้วมักจะนำเครื่องดนตรีติดตัวไปด้วย เช่น พิณ ซอ แคน หึน เสียงของโปงลางแต่ละพาข้าวนั้นได้ยินไปไกลประมาณ ๕-๖ ก.ม. มีทั้งโปงลางใบใหญ่รูปกลมเสียงทุ้มอยู่ต้นขบวน และโปงลางรูปสี่เหลี่ยมแบนเสียงแหลมอยู่ท้ายขบวน ส่งเสียงก้องกังวานขานรับกันไปตามทุ่งตามป่า ตามดงตามเทือกเขา เวลาทัพวัวต่างออกจากบ้านผ่านท้องทุ่ง เกิดความว้าเหว่วิเวกวังเวง พวกที่มีพิณ ซอ แคน ก็จะพยายามเทียบเลียนเสียงโปงลางในสภาพที่ผ่านภูมิประเทศ ภูมิอากาศและบรรยากาสนั้น จนกลายเป็นทำนองเพลงหรือลาย แม่ฮ้างกล่อมลูก เวลาขบวนผ่านป่าไม้ดงทึบเห็นฝูงผึ้งกำลังทำรังหรือบินว่อนเพื่อดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ประกอบกับบรรยากาศทึบทึม จึงมีจินตนาการจากเสียงโปงลางเกิดเป็นลาย แมงภู่ตอมดอก หรือชมดอก บางคนมีแรงบันดลใจแรงกล้า คว้าเอาใบไม้ใกล้ทางมาเป่าจนเป็นลายต่าง ๆ ที่มีความไพเราะประเภทหนึ่ง

ขณะที่ขบวนวัวต่างผ่านภูมิประเทศทุระกันดารขรุ ๆ ขระ ๆ มีก้อนหินระเกะระกะวัวเดินไม่เป็นปกติ เสียงของโปงลางก็ขย่อนไปขย่อนมา จึงเกิดเป็นลาย กาเต้นก้อน (เหมือนอาการของอีกาเต้นโขยกจากก้อนดินขี้ไถก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง เพื่อจับปลากุ้งเป็นอาหาร ยามที่ไถคราดนาใหม่)

เมื่อขบวนวัวต่างไต่เขาขึ้นที่สูงเสียงโปงลางจะเนิบช้า แต่เวลาลงเขาเสียงโปงลางจะถี่กระชั้น เป็นเค้ามูลที่มาของลายภูไทไต่ภู หรือลมพัดชายเขา

ตามหมู่บ้านในเส้นทางผ่านของขบวนวัวต่าง มักจะมีมิตรสหายหรือเสี่ยว คือเพื่อนร่วมชีวิตของพวกนายฮ้อย ซึ่งพอจะจำเสียงโปงลางของกันได้ เมื่อได้ยินแว่วเสียงมาแต่ไกลก็จะจัดการเตรียมต้อนรับไว้ล่วงหน้าพวกเด็ก ๆ และผู้หญิงจะมารุมล้อมดูและเดินตาม โดยให้ความสนใจกับวัวจ่าฝูงซึ่งบรรทุกโปงลาง ประจวบกับเป็นยามเย็นมีลมพัดพริ้ว ใบมะพร้าวในหมู่บ้านปลิวไสว เสียงโปงลางในบรรยากาศเช่นนั้นจึงเกิดแรงดลใจให้มีลาย ลมพัดพร้าว ขึ้น

การพักแรมคืนสาธิตเสียงโปงลาง

การเดินทัพในขบวนวัวต่างนั้น แต่ละพาข้าวจะต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงโปงลางของพาข้าวซึ่งอยู่ถัดตามกันมา หากแว่วเสียงอยู่ไกลก็ชะลอการเดินทางหรือหยุดพักคอย หากเสียงโปงลางหายไป ต้องให้คนออกตามเพราะเกรงจะเกิดอันตราย

เมื่อถึงจุดนัดหมายพักแรมที่เลือกเอาทำเลกว้างขวาง สามารถหาน้ำท่าอาหารได้บริบูรณ์ให้คนและวัวจำนวนมากได้พักผ่อนนอนหลับ ในตอนหัวค่ำจะมีชาวบ้านมาติดต่อซื้อสินค้าหรือถามข่าวคราว และมักจะมีการขอร้องให้พวกนายฮ้อยนำเอาโปงลางซึ่งปลดออกจากหลังวัวต่างมาโยกหรือเขย่าเป็นเสียงต่าง ๆ ให้ชม ทั้งนี้เพราะรู้สึกจับใจในเสียงอันมีชีวิตชีวาคล้ายกับกับมีวิญญาณสิงสู่ เขาเหล่านั้นได้ยินเสียงอันโหยหวลมีเสน่ห์น่าอัศจรรย์ก้องกังวานแต่ไกล กว่าจะมาถึงเป็นเวลาช้านาน เนื่องจากโปงสำริดบางลูกหลอมหล่อผสมแร่ทองหรือแร่เงินด้วย

การสาธิตโยกโปงลางใช้วิธีนั่งชันเข่าส้นเท้ายันกับดิน เมื่อโยกโปงลางหลายคู่พร้อมกันจะมีเสียงทุ้มเสียงแหลมเสียงสูงเสียงต่ำ เมื่อนำเอาพิณ ซอ แคน มาบรรเลงประสานจึงเกิดดนตรีวงใหญ่ขึ้น ทั้งพ่อค้าวัวต่าง และชาวบ้านทุกเพศทุกวัย ต่างก็ร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนาน

ตอนขากลับพอจวนจะถึงบ้านเดิม เสียงของโปงลางซึ่งแว่วมาแต่ไกลก็พอจะจำกันได้ ผู้ที่ตั้งตารอคอยเป็นแรมเดือน ก็จะเกิดความลิงโลดดีใจ เตรียมการคืนสู่เหย้า ก่อนเข้าหมู่บ้านบรรดาพ่อค้าวัวต่างจะจุดประทัดและยิงปืนเสียงดังกึกก้องหลังจากพักผ่อน 2-3 วันแล้วก็มีพิธีสูตรขวัญญาติมิตรหรือลูกหลานมักจะมารบเร้าให้ผู้กลับมาโยกหรือเขย่าเพื่อฟังเสียงโปงลางให้ถนัด เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หมู่บ้านใดตั้งอยู่บริเวณที่ลุ่ม ใช้ล้อเกวียนไม่ได้ ก็นำเอาวัวต่างมาขนข้าวเปลือก โดยเอ้วัวต่างอีก และใส่โปงลางบนหลังอย่างเดิม พ่อค้าที่เคยค้าวัวต่าง เมื่อยามไปเฝ้านาเฝ้าลอมข้าว มักจะนำเอาโปงลางมาโยก มีเสียงเป็นลายหรือท่วงทำนองเพลงต่าง ๆ ได้ยินไปไกลในยามดึกสงัด

เนื่องจากโปงลางแต่ละคู่เป็นของมีค่าราคาแพงเป็นเงินหลายชั่งบางพวกมีพิธีกรรมเก็บรักษาประดุจหนังประกำช้าง ไม่สามารถจะนำเอามาแสดงได้สะดวก จึงมีการหาวัสดุอื่นมาให้เสียงเลียนแบบ เช่นใช้ไม้ไผ่ตัดเป้นปล้องสั้นยาว เพื่อให้เกิดเสียงทุ้มแหลม นำมาร้อยรวมกันเข้าจนเกิดเป็นเครื่องดนตรีโปงลางไม้ไผ่ซึ่งเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมานี้ก็ยังมีอยู่

โปงลางไม้หมากหาด

ต่อมามีการนำเอาไม้หมากหาดหรือมะหาดมาทำเป็นลูกระนาด ตีแทนเสียงโปงลาง ทั้งนี้เพราะเสียงก้องกังวานไม้หมากหาด มีความใกล้เคียงกับเสียงโปงลางมากที่สุด คนรุ่นหลังไม่ค่อยมีโอกาสทราบความจริง จึงเข้าใจผิดไปว่าลูกระนาดที่ทำด้วยไม้มะหาดคือโปงลางอันแท้จริง แต่อย่างไรก็ตามการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่าโปงลางก็มีเหตุผลพอจะอนุโลมได้ เพราะมีที่มาดังกล่าวแล้วข้างต้น

โปงลางเสียงสัญญาณการเดินทัพวัว

ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เมื่อไปในที่แปลกถิ่น เมื่อได้ยินเสียงผิดปกติมักจะตื่นตกใจง่าย ชาวอีสานโบราณทราบจิตวิทยาของสัตว์ดี จึงจัดหาลูกกระพรวนไว้ผูกคอวัวเทียมเกวียนเวลาจะเดินทางไกล เสียงของกระดิ่งหรือลูกกะพรวนจะกลบเสียงแปลก ๆ ซึ่งวัวไม่คุ้นให้หายไปได้ วัวต่างตัวจ่าฝูงก็เช่นเดียวกัน ถ้าได้ยินแต่เสียงโปงลางก็ฟังเพลินไปเลย เมื่อวัวตัวหน้าไม่ตื่น วัวตัวลูกน้องก็เดินตามไปโดยอาการสงบ ถ้าฝูงวัวเกิดความแตกตื่นแล้วจะนำมาซึ่งความหายนะ

การเดินทัพวัวจะต้องสังเกตฟังเสียงโปงลางของพาข้าวต้นขบวนและพาข้าวท้ายขบวนมิให้เกิดความถี่หรือห่างกันมากเกินไป จนเกิดการหลงทางหลงขบวน

ตามเส้นทางบางตอนผ่านป่าทึบ ทางแคบคดเคี้ยวมองไม่ค่อยเห็นกันจะต้องสังเกตฟังจากเสียงโปงลาง หากมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้น เช่น ถูกโจรดักปล้น ถูกสัตว์ร้ายเช่นงูจงอางไล่ฉก เสือโคร่งตะปบกัดวัว โขลงช้างไล่บุกขบวนวัว ฯลฯ

เสียงสัญญาณการจราจร

ขบวนวัวต่างต้องเดินทางผ่านภูมิประเทศนาๆ ชนิด ตามช่องเขาหรือในที่แคบ บางแห่งขบวนวัวหลีกกันไม่ได้บางช่องเขาถึงกับให้วัวตะแคงตัวลอดไป ป่าทึบในดงพญาไฟบางตอนทั้งคนทั้งวัวไปได้แต่แถวเรียงหนึ่งเท่านั้น เมื่อได้ยินเสียงโปงลางดังมาแต่ไกลในที่คับขันจึงต้องหยุดรอคอยเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่านไปก่อน เสียงโปงลางจึงกลายเป็นสัญญาณจราจรให้เดินทางเดียวอีกด้วย

โปงลางวัวกับวรรณกรรมภาษาอีสาน

ผู้ใดมีโปงลางไว้เป็นกรรมสิทธิ์ในบ้านเรือนก็แสดงถึงฐานะความมั่นคงหรือมั่งคั่งของครอบครัว เพราะเคยเป็นนายฮ้อยพ่อค้าวัวต่างมาแล้ว ดังนั้น จึงปรากฎมีลำเกี้ยวหรือลำแก้โจทก์ ซึ่งหนุ่มสาวใช้ไต่ถามถึงฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นกลอน ๗ ว่า “พ่อแม่เจ้า โปงลางมีบ่”

คำกาพย์เทศน์มหาชาติบูพกรรมกุมารมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ จักได้พรรณนาเรื่องกัณหาชาลีแต่ปางก่อน ชาติก่อนนั้นพราหมณ์เกิดเป็นวัส กัณหาชาลีเป็นพ่อค้า พราหมณาเป็นงัว ต่างทางหลังใส่ต่างตั้ง ทางหน้าใส่ซอง ทางคอผัดฮัดอ้อง ทางท้องผัดฮัดโคน ทางก้นผัดใส่พาน สองก็ตีวัวขว้าม ภูพานซ้อนภูม่าน ขึ้นภูเขียวลงมาภูอ้ม ขึ้นม้มแล้วเหลียวล่ำภูพาน เห็นแต่ภูเขาคั่น ฝอยลมมระแหม่ง ไปฮอดห้วยเหวซัน ๆ น้ำขุ่น ๆ สองก็บายเอาได้หวางสะนอยมาฟาด งัวก็พะลาดล้ม สองเจ้าเล่าตี หักฟดจิกตีหลังหักฟดฮังตีก้น หักฟดขี้อ้นตีก้นงัวซ้ำผัดเล่าตาย งัวจึงตายจากชาตินี้ มาเกิดเป็นพราหมณ์”

คำกาพย์ข้างบนนี้สะท้อนให้เห็นส่วนหนึ่งว่าการค้าวัวต่างมีการทรมานสัตว์จนต้องแต่งกาพย์ขึ้น เพื่อเป็นคติสอนใจ

ในสมัยโบราณมีการค้าวัวต่างเป็นพื้น วัวทุกตัวใส่ต่างบรรทุกสินค้าเต็มระวาง ถ้าปีใดการค้าขายสินค้าซบเซาก็ไล่ต้อนแต่ฝูงวัวไปขายซึ่งมีเฉพาะวัวตัวเมีย ในสมัยที่มีกลอนลำอัดจานเสียงยุคต้น จานเสียงที่ได้รับความนิยมมากคือกลอนไปค้างัวแม่ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “จัดให้ แม่ต่ำแหล่ ออกก่อนเดินทาง ตีให้ ขี้ทับหาง พันกันล้าวอ้าว” ในขบวนไปค้างัวแม่นี้ วัวตัวเมียที่เป็นสินค้าจะถูกไล่ต้อนไปตัวเปล่า จะมีวัวตัวผู้เพียงตัวเดียวในแต่ละพาข้าว ซึ่งบรรทุกต่างใส่ เสบียงกรังและว่านยา โดยมีโปงลางอยู่บนหลังต่างหลังวัวอีกด้วย

ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้นิยมไล่ต้อนฝูงควายไปขายอย่างเดียว จึงมีแต่นายฮ้อยขายควายหลงเหลืออยู่ประเภทเดียว

 

 

หอไตรวัดระฆัง ฯ “เรือนสามหอ” ของ รัชกาลที่ ๑

วัดระฆังโฆสิตาราม แต่เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร

พุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงครองราชย์แล้ว ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

พุทธศักราช ๒๓๑๒ มีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าข้าศึก มีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎก จากนครศรีธรรมราช พร้อมกันนั้นได้อาราธนาพระอาจารย์สีขึ้นมาด้วย

เดิมพระอาจารย์สีอยู่วัดพนัญเชิงอยุธยา เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสนาธุระ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ท่านหลบลงไปอยู่นครศรีธรรมราช

เมื่อพระอาจารย์สีมาอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่แล้ว จึงทรงสถาปนาพระอาจารย์สี ขึ้นเป็นสมเด็ดพระสังฆราชแล้วให้ประชุมพระเถรานุเถระทำสังคยานาพระไตรปิฎก

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา มีพระชนมายุได้ ๓๓ พรรษา ทรงย้ายบ้านมาจากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อรับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังคามุงจาก ฝาสำหรวดกั้นด้วยกระแซง มาปลูกถวายวัดบางหว้าใหญ่

หอพระไตรปิฎก

อีก ๑๔ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในพ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ได้ทรงปรารภถึงพระตำหนัก และหอประทับนั่งหลังนั้น ทรงใคร่จะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น และมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอพระไตรปิฎก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงทราบมาว่าขุดได้ในวัดและมีเสียงไพเราะนัก ก็ได้ความว่าขุดได้ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ จึงรับสั่งให้ขุดสระลงในที่นั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรื่องอิฐก่อกรุไม้กั้นโดยรอบเพื่อกันทลาย แล้วรื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้อง ชายคามีกระเบื้องกระจังดุษรูปเทพประนม เรียงรายเป็นระยะ ๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดและฝากั้นกระแซงเป็นฝาไม้สักลูกปกนกายในเรียบเขียนรูปภาพ บานประตูหอด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางโถง แกะเป็นนกวายุภักษ์ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ มีซุ้มข้างบนเป็นลายกนกดอกไม้เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม

ทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ หลัง ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือและหอด้านใต้ ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้ทรงอำนวนการสร้าง โดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะ นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านกับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา

เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ฯ ให้จัดพระราชพิธีมหกรรมและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงปลูกต้นจันทร์ไว้ในทิศทั้ง ๘ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทรและครูช่างอยุธยา เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอพระไตรปิฎก(แต่มีผู้เรียกว่า “ตำหนักต้นจันทน์” จนทุกวันนี้) กับได้ทรงขอระฆังเสียงดังดีไปไว้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงสร้างระฆังมาพระราชทานแทนไว้ ๕ ลูก

เหตุนี้วัดบางหว้าใหญ่จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดระฆังโฆสิตารามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงบันทึกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับแบบอย่างฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ที่พึงชม หรือควรกำหนดใจรู้ไว้ว่าเฉพาะเรื่องหอพระไตรปิฎก ของวัดระฆังฯ ดังนี้

“….ภายในหอพระไตรปิฎก จำได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีประหลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เป็นหอฝากระดานมุงกระเบื้องสามหลังแฝด มีชานหน้า ปลูกอยู่กลางสระดูเหมือนหนึ่งว่า หลังซ้ายขวาจะเป็นที่ไว้คัมภีร์พระปริยัติธรรม หลังกลางจะเป็นที่บอกหนังสือ หรือดูหนังสือ ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่า มีสิ่งที่ควรชมอยู่หลายอย่าง คือ

๑.  ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนมอย่างกรุงเก่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่ได้

๒. ประตูและซุ้ม  ซึ่งจะเข้าในชาลา สลักลายอย่างเก่า งามประหลาดตาทีเดียว

๓.  ประตูหอกลาง ก็สลักงามอีก ต่างลายกับประตูนอก

๔.  ฝาในหอกลาง เขียนเรื่องรามเกียรติ์ฝีมือพระอาจารย์นาค ผู้เขียนมารประจญในพระวิหารวัดพระเชตุพน ท่วงทีขึงขังนัก

๕.  บานประตูหอขวา เขียนรดน้ำ ลายยกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมากแต่ดูหาสู้ดีไม่

๖.  ฝาในหอขวา เขียนภาพเรื่องเห็นจะเป็นชาดก ฝีมือเรียบ ๆ

๗.  ตู้สำหรับไว้พระไตรปิฎกตั้งอยู่ในหอทั้งซ้ายขวามีมากมายใหญ่จนออกประตูไม่ได้ก็มี เขียนลายรดน้ำหลายฝีมือด้วยกัน แต่ล้วนดี ๆ มีฝีมือ คนที่ผูกลายบานมุกด์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็หลายใบ ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั่นแล้วจะไม่อยากกลับบ้าน

การบูรณะปฏิสังขรณ์

หอพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ เริ่มแต่เสาตอม่อขาด หลังคารั่ว กระเบื้องกระจังหล่นหาย ตัวไม้ผุ ฝาบางกร่อน จนถึงแตกร้าวและทะลุ จิตรกรรมฝาผนังลบเลือน สระตื้นเขินและสกปรก

ความเสื่อมโทรมดังกล่าวนี้เนื่องมาจากขาดการเอาใจใส่ดูแล มิหนำซ้ำถึงกับใช้เป็นที่เก็บศพก็เคย

ต่อมายังมีการสร้างกุฏีและอาคารอื่น ๆ อันเนื่องในการฌาปนกิจศพจนประชิด ทำให้บริเวณหอพระไตรปิฎกขาดความสง่างาม หากปล่อยไว้ในสภาพเช่นนี้ต่อไปก็เป็นที่น่าวิตกว่าจะถึงจุดที่จะสูญเสียจิตรกรรมฝาผนังอันมีค่าอย่างไม่อาจจะเอากลับคืนมาได้อีก

กรมศิลปากร  ได้พยายามที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ก็ยังหางบประมาณไม่ได้

ทางวัดเรี่ยไรมาได้ก็ไม่พอแก่การ ทั้งยังต้องการผู้รู้ผู้ชำนาญ ทั้งทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และอื่นๆ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ถูกต้องตามหลักวิชา

ด้วยเหตุนี้ พระราชธรรมภาณี ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงมีลิขิตลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๑ มายังสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ขอให้คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมให้ความร่วมมือกับทางวัดในการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตปิฎก เพื่อให้เป็นศิลปสถานอันงามเด่นสืบไป

คณะกรรมาธิการฯ รับสนองคำของของวัดด้วยความยินดี และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ หลายท่านมาร่วมกันตั้งเป็นคณะอนุกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกขึ้นเมื่อวันที่  ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๑ โดยทูลเชิญศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ทรงเป็นประธาน

คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม  ๒๕๑๑ ที่วัดระฆังฯ แล้วได้เริ่มเตรียมงานและจัดหาทุนสะสมไว้จนถึงได้ทำสัญญาบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ และการบูรณะได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๓

คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปสถานอาคารไม้หลังสำคัญที่สุดอันเนื่องด้วยพระบรมราชบรรพบุรุษนี้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณา “ชมเชย” การกระทำทั้งนี้ว่า “เป็นความดำริชอบ” ทั้งยังพระราชทานพรให้การกระทำของพวกเรา “จงได้ดำเนินให้สำเร็จลุล่วงเป็นผลดีทุกสถานต่อไป” (ตามหนังสือ ของสำนักราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๑๒๐๙ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๒

ใช่แต่เท่านั้นยังพระราชทานเงินก้นถุงมาให้เป็นประเดิมสำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกด้วย นับเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วลงมติว่าสถานที่ใหม่ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับชลอหอพระไตรปิฎกไปประกอบขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณลานพระอุโบสถในเขตพุทธาวาส ทางด้านตะวันตก ซึ่งมีกำแพงรั้วโดยรอบ สะดวกแก่การดูแลรักษา

อนึ่ง หอพระไตรปิฎกที่บูรณะขึ้นใหม่นี้มิได้มุ่งหมายที่จะใช้เป็นหอพระไตรปิฎก คงบูรณะไว้เป็นอาคารสำคัญทางศิลปะและประวัติศาสตร์เท่านั้น

ครั้นวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อจำลองรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ณ วัดระฆังฯ

เมื่อเสร็จการนั้นแล้วพระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาส และศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจฯ ประธานอนุกรรมการฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎก ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปลูกต้นจันทน์ในสนามหญ้า หอพระไตรปิฎกแล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรภายในหอพระไตรปิฎกด้วยความสนพระทัยราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระกระแสรับสั่งไถ่ถามและแนะนำเป็นหลายประการ

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการ ฯ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้า หาที่สุดมิได้ ทั้งยังรู้สึกเสมือนว่าได้นิมิตรเห็นสายใยทิพย์อันเรืองรองแห่งกาลเวลาซึ่งเชื่อมโยงและย้อนหลังนับด้วยศตวรรษกลับไปยังรัชกาลที่ ๑ คือพระบรมปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีผู้ทรงพระราชทานเรือนสามหอ ซึ่งมีอายุเท่ากับกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์นั้นด้วย

นับเป็นมหามงคลเป็นมิ่งขวัญก่อให้เกิดความอิ่มเอมและปิติโสมนัสในดวงจิตของผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันมหามงคลนั้นทั่วหน้ากัน

 

ที่มา :
มสรศิลปวัฒนธรรม
สุจิตต์  วงษ์เทศ