แหวนเป็นของสำคัญในการสมรสเมื่อใด

Socail Like & Share

เมื่อพูดถึงแหวน เราทุกคนต้องรู้จัก เพราะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องเคยเห็นแหวนมาแล้วไม่ของตนเองก็ของผู้อื่น แหวนนั้น คือเครื่องประดับนิ้วมือรูปเป็นวง และเรียกสิ่งอื่นที่มีรูปเช่นนั้นด้วย เช่นวงแหวน คือสิ่งที่มีรูปเป็นวงเหมือนแหวน

แหวนเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครที่จะให้คำตอบที่แน่นอนได้ เข้าใจกันว่าแหวนนั้นคงจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกำไลมือ กำไลแขน กำไลเท้า และกำไลคอ และเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เรารู้จักเอาโลหะมาทำเป็นเครื่องใช้สอยแล้ว ในสมัยแหวนอียิปต์โบราณก็มีการใช้กำไลและแหวนกันแล้วอย่างรูปสลักของอียิปต์แสดงให้เห็นเช่นนั้น กำไลหรือแหวนครั้งแรกคงจะทำจากสำริด หรือทองแดงหรือเหล็กก่อน ต่อมาจึงทำด้วยแร่เงินและทอง เมื่อเรารู้จักเจียรนัยหินมีค่าต่างๆ แล้ว ก็คงจะเห็นว่าถ้าเอาประดับเป็นหัวแหวนหรือฝังกำไล ก็จะทำให้สวยงามมากยิ่งขึ้น หัวแหวนก็คงจะวิวัฒนาการต่อมา จนเวลานี้เราทำหัวแหวนจากหินสีต่างๆ และเพชรพลิยราคามีตั้งแต่ถูกที่สุดจนสูงสุดขนาดเศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อใช้ก็มี

แหวนสมัยแรกจริงๆ คงจะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ เพราะปรากฏว่าชาวตะวันตกใช้แหวนแต่งงานเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ หาได้ฝังเพชรพลอยไม่ และประเพณีอันนี้ยังใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ แหวนแต่งงานนั้นว่ากันว่าเพื่อเป็นเครื่องหมายและเครื่องเตือนใจว่าคู่ผัวตัวเมียนั้นจะต้องมีความรักให้กันและกันไม่มีที่ตั้งต้นและที่สิ้นสุดเช่นเดียวกับวงแหวนนั่นเอง แต่ก็เอาแน่ไม่ได้หรอก บางทีแหวนแต่งงานยังกลมอยู่เหมือนเดิมแต่ความรักนั้นขาดสะบั้นไปแล้วก็มี

ในเรื่องแหวนนี้ ก.ศ. เวชยานนท์ ได้เล่าไว้ในหนังสือวิทยานุกรมของเขาว่า “ประเพณีใช้โลหธาตุอันมีค่ามาทำอาภรณ์ประดับร่างกายเช่นแหวนสำหรับสวมนิ้วมือ และอื่นๆ มนุษย์เราได้รู้จักใช้กันมาหลายพันปีแล้ว หลักฐานที่ค้นพบในสุสานเก่าๆ แห่งประเทศไอคุปต์ก็ปรากฏว่าในสมัยที่ไอคุปต์มีความเจริญนั้น ชาวไอคุปต์ได้รู้จักใช้เครื่องประดับกายต่างๆ รวมทั้งแหวนสำหรับสวมนิ้วมือด้วยแล้ว ส่วนการที่แหวนจะกลายมาเป็นของสำคัญในการสมรสของฝรั่งนั้น เชื่อกันว่าได้เริ่มต้นมาแต่สมัยที่เกิดมีชาติโรมันขึ้น (สมัยโรมิวลุสสร้างกรุงโรมเมื่อก่อนพุทธกาล ๒๑๐ ปี) ชาวโรมันนิยมการใช้แหวนเหล็กสำหรับทำการหมั้นเจ้าสาวเพื่อเป็นการวางมัดจำ ในการที่จะทำการสมรส ครั้นต่อมาในสมัยราวๆ ศตวรรษที่ ๒ แห่งคริสตกาล (ประมาณ พ.ศ. ๕๔๓-๖๔๓) ได้เริ่มนิยมใช้แหวนซึ่งทำด้วยทองคำแทนแหวนเหล็ก ซึ่งเคยใช้กันอยู่เดิม ประเพณีนี้ในชั้นเดิมเป็นแต่ความนิยมของคนส่วนมากเท่านั้น มิได้เกี่ยวข้องในทางศาสนาอย่างใดเลย ครั้นเมื่อคริสต์ศาสนาได้แผ่ไปตั้งหลักฐานมั่นคงในประเทศโรมัน ก็เป็นธรรมดาที่พิธีในทางศาสนาต่างๆ ย่อมพยายามให้กลมกลืนกับประเพณีเดิมให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ความนิยมในศาสนา ฉะนั้นในราวศตวรรษที่ ๑๑ แห่งคริสตกาล ทางศาสนาคริสต์ก็บัญญัติให้ใช้แหวนสวมนิ้วมือ ในการสมรสตามพิธีทางศาสนา ดังที่ได้ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่คริสต์ศาสนิกชนในบัดนี้ ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงทำให้วงแหวนเกลี้ยงๆ ซึ่งเดิมใช้แต่เพียงของหมั้นของชาวโรมัน กลายเป็นเครื่องหมายสำหรับสตรีผู้ได้กระทำการสมรสแล้วสวมไว้ที่นิ้วมือซ้ายของตน เพื่อแสดงให้ชายอื่นๆ ทราบ

เมื่อพูดถึงแหวนแต่งงานของชาวตะวันตกแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงเรื่องของหมั้นและสินสอดของไทยเรามิได้ ของหมั้นของไทยเรานั้น แต่แรกเริ่มเดิมที คงจะไม่ได้ใช้แหวนอย่างทุกวันนี้เราใช้ทองจะเป็นสร้อยหรือแหวนก็ได้ทั้งนั้น แต่ต่อมาเมื่ออารยธรรมแบบตะวันตกเผยแพร่เข้ามาในประเทศเรา ความนิยมเรื่องของหมั้นจากทองธรรมดาๆ ก็กลายมาเป็นแหวนไป และทุกวันนี้ในสังคมของคนที่พอจะมีเงินอยู่บ้าง ใช้แหวนเพชรเป็นของหมั้น นับเป็นการัตๆ กัน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของการหมั้น

ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เครื่องประดับกายของมนุษย์เรานั้น มีหลายอย่างคือกำไลเป็นอันดับแรก กำไลนั้นมีทั้งกำไลข้อเท้า กำไลข้อมือกำไลแขน บางชาติบางเผ่าก็นิยมใช้กำไลคอหรือห่วงสวมคอ การสวมกำไลแสดงถึงฐานะของบุคคลอย่างหนึ่ง คนที่มีฐานะดีก็ใส่กำไลหลายอัน ฐานะน้อยก็ใส่น้อยอัน ฐานะดีก็ใช้วัตถุหรือโลหะมีค่าเช่นเงินหรือทองนาค ฐานะไม่ค่อยดีก็ใช้โลหะธาตุที่มีค่าน้อยลงไปเป็นลำดับ ข้อนี้เราจะเห็นได้ตามรูปสลักโบราณต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเรารู้จักใช้กำไลมานานแล้ และกำไลแสดงถึงฐานะบุคคลด้วย

เมื่อพูดถึงกำไลแล้ว ทำให้นึกถึงกำไลในประวัติศาสตร์อันหนึ่ง นั่นคือกำไลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราชได้พระราชทานแก่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๕๐) เป็นกำไลทำเป็นรูปตาปูแบบโบราณไขว้กัน ถ้ามองตรงเป็นอักษร s (หมายถึงสดับ) ภาษาอังกฤษ ถ้าบิดข้อมือเสียหน่อยจะเป็นตัว c (หมายถึงจุฬาลงกรณ์) เนื้อทองของกำไลนั้นบริสุทธิ์จนบิดได้ และทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยม บนรอบด้านนั้นจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์ไว้ ๔ คำกลอน เป็นตัวหนังสือขนาดจิ๋ว อ่านได้ความว่า

“กำไลมาศชาตินพคุณแท้        ไม่ปรวนแปรไปอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที        จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก        ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย        เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”

จากเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้ชายสมัยก่อนยังไม่นิยมให้แหวนแก่ผู้หญิงเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก แต่ให้ของอย่างอื่นแทน เช่นกำไลเป็นต้น แหวนเพิ่งเข้ามามีบทบาทในตอนหลัง

แหวนมีขึ้นเมื่อไร คำถามนี้ดูเหมือนจะได้ตั้งไว้ครั้งหนึ่งแล้ว และมีคำตอบแล้วด้วยว่ามีมาตั้งแต่สมัยไอคุปต์และโรมันโบราณ จากหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งไทยเราได้รับมาจากชมพูทวีป ซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ยิ่งกว่ายุโรปหรือกรุงโรมเสียอีก ได้กล่าวถึงแหวนไว้เหมือนกัน แหวนนั้นเป็นแหวนที่พระอิศวรพระราชทานให้นางสีดา เรื่องตอนนี้มีอยู่ว่า เมื่อทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาจะพาไปกรุงลงกานั้น พญานกสดายุได้เข้าขัดขวางรบกันหลายเพลงก็ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ทศกัณฐ์ก็ดูเหมือนจะหมดฤทธิ์หมดปัญญาที่จะเอาชนะพญานกสดายุได้ บังเอิญพญานกสดายุได้พลั้งปากพูดถึงความลับของตนออกมาว่า

“เมื่อนั้น                สดายุใจหาญชาญสมร
บินขวางหน้าท้าวยี่สิบกร    แสดงฤทธิรอนดังลมกัลป์
กางปีกแผ่หางพลางเย้ย    ว่าเหวยอสุรีโมหันต์

สิบเศียรสิบพักตร์กุมภัณฑ์    ยี่สิบหัตถ์อันชิงชัย
พุ่งซัดอาวุธเป็นห่าฝน        จะต้องปลายขนก็หาไม่
ถึงทั้งสามภพจบแดนไตร    กูจะเกรงผู้ใดอย่าพึงคิด
กลัวแต่พระสยมภูวนาถ        พระนารายณ์ธิราชจักริศ
กับธำมรงค์พระอิศวรทรงฤทธิ์    ที่ติดนิ้วน้อยนางมาฯ

ทศกัณฐ์ได้ฟังดังนั้นจึงถอดแหวนที่นิ้วนางของนางสีดา ขว้างไปถูกปีกของพญาสดายุจึง

“สองปีกหักสลักอก        ตกลงมาจากเวหา
ปากคาบธำมรงค์อลงการ์    เอาใจไว้ท่าพระจักรี”

เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า อินเดียโบราณก็นิยมใช้แหวนเป็นเครื่องประดับกันแล้ว

ผู้หญิงสมรสแล้วจะสวมแหวนสมรสไว้ที่นิ้วนางข้างซ้าย และแหวนหมั้นก็นิยมสวมนิ้วนางซ้ายเหมือนกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าจะพูดถึงความสวยงามแล้ว การสวมแหวนไว้ที่นิ้วนางซ้ายดูเหมือนจะทำให้สวยงามกว่านิ้วอื่น เพราะนิ้วนางนั้นเวลาเราจะกระดิกนิ้วก็ทำได้สะดวกและวามกว่ากระดิกนิ้วอื่น และมือข้างซ้ายก็ไม่ต้องใช้งานหนักเหมือนมือข้างขวาจึงเหมาะที่จะเอาแหวนไปประดับไว้ แต่อีกความคิดหนึ่งกล่าวว่า ที่สวมแหวนหมั้นหรือแหวนวิวาห์ไว้ที่นิ้วนางข้างซ้ายก็เพราะว่า มือขวาเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ มือซ้ายเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ในบังคับ และเชื่อกันว่านิ้วนางนั้นเมื่อจับที่ปลายนิ้วนั้นแล้ว ความรักความซาบซึ้งจะแล่นเข้าถึงหัวใจทีเดียว เพราะว่ากันว่าเส้นประสาทในนิ้วนางแล่นตรงมาจากหัวใจ แต่สมัยเอลิซเบธแห่งอังกฤษนิยมสวมแหวนหมั้นที่หัวแม่มือ คนไทยเราบางคนก็นิยมสวมแหวนไว้ที่นิ้วชี้หรือนิ้วอื่นเหมือนกัน แต่เป็นแหวนอื่นไม่ใช่แหวนหมั้น ฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมพระธำมรงค์ทุกองคุลี คือสวมครบทั้งสิบนิ้ว สมัยนี้ใครขืนสวมแหวนมากขนาดนั้นก็มีหวังถูกตัดนิ้วไปจำนำเป็นแน่ เมื่อเสร็จสงครามโลกคราวที่แล้วใหม่ๆ ตำรวจจับชายผู้หนึ่งได้แถวศาลาแดง เพราะตรงกระเป๋ากางเกงของเขามีเลือดหยดออกมา ตำรวจตรวจดูปรากฏว่าในกระเป๋าของเขามีนิ้วของผู้หญิงสวมแหวนเพชรเม็ดงามอยู่วงหนึ่ง เขาสารภาพว่าตัดนิ้วมาจากมือของผู้หญิงคนหนึ่งที่ห้อยมือลงข้างรถรางที่ศาลาแดงนั่นเอง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชคงจะโปรดพระธำมรงค์เป็นอันมาก จนถึงกันทรงสวมทุกองคุลี เมื่อศรีปราชญ์ทำความชอบแต่งโคลงถวายจึงได้รับพระราชทานแหวนเป็นรางวัลนายประตู ซึ่งไม่เคยเห็นศรีปราชญ์สวมแหวนก็ประหลาดใจจึงถามและตอบเป็นคำโคลงว่า

นายประตูถามว่า… “แหวนนี้ท่านได้แต่        ใดมา
ศรีปราชญ์ตอบว่า    เจ้าพิภพโลกา        ท่านให้
นายประตูถามว่า    ทำชอบสิ่งใดนา        วานบอก
ศรีปราชญ์ตอบว่า    เราแต่งโคลงถวายไท้    ท่านให้รางวัล”

สมัยโบราณนั้นแหวนเป็นเครื่องประดับบอกยศศักดิ์อย่างหนึ่ง สามัญชนคนธรรมดาจะแต่งเครื่องทองหยองต้องระมัดระวังไม่ให้เหมือนเจ้าหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพราะมีกฎหมายห้ามไว้ว่า “จะแต่งบุตรแลหลานก็ให้ใส่แต่จี้เสมา ภัควจั่น จำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้ อย่าให้ประดับเพชรถมยาราชาวดี ลูกประหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยงเกี้ยวอย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ และอย่าให้ใส่กระจับปิ้งพริกเทศทองคำ กำไลทองใส่เท้า แลห้ามอย่าให้ช่างทองทั้งปวงรับจ้างแลทำจี้ เสมา ภควจั้น ประดับเพชรถมยาราชาวดี แลกระจับปิ้ง พริกเทศ กำไลเท้าทองคำ และแหวนถมยาราชาวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยและอาณาประชาราษฎร์ช่างทอง กระทำให้ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน จะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก” นี่เป็นกฎหมายเก่า ซึ่งได้ยกเลิกไปนานแล้ว ปัจจุบันนี้ใครผู้ใดมีเงินทองจะแต่งตัวให้เต็มไปด้วยเพชรพลิยอย่างไรก็ไม่มีโทษตามกฎหมายแล้ว เพราะกฎหมายไม่ถือเป็นความผิด ถ้าจะมีโทษก็เห็นจะเป็นโทษทางโจรหรือโจรภัยอย่างเดียวเท่านั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี