ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์

Socail Like & Share

นักดนตรีเอกของไทย ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงและประพันธ์เพลง ประกอบละคร ภาพยนตร์ เพลงปลุกใจ เพลงเทิดพระเกียรติ เพลงประจำสถาบัน และเพลงเนื่องในโอกาสพิเศษอื่นๆ จำนวนมาก จนกระทั่งได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งซาติ สาขาการแสดง (เพลงไทยสากล) นอกจากนั้นยังอุทิศตนบำเพ็ญคุณประโยชน์ด้านดนตรี ในการสร้างสรรค์ความมั่นคงของชาติมาโดยตลอดท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์

ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ มีนามเดิมว่า หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ เป็นธิดาของนายพันตรี นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ กับคุณยี่สุ่น สกุลเดิม มังกรพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ชื่อ พวงร้อย นั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิทประทานให้ มีความหมายว่า ดอกไม้เลื้อย หนึ่งพวงมีร้อยดอก เพื่อให้คล้องกับชื่อมารดา คือ ยี่สุ่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ หม่อมหลวง สร้อยระย้า ยุคล พี่สาว หม่อมหลวงซัง สนิทวงศ์ พี่ชาย และหม่อมหลวงคงคา สนิทวงศ์ น้องชาย

เมื่อเยาว์วัย ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ อยู่ที่บ้านบางรักริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ปากคลองบางรัก จนกระทั่งอายุ ๕ ปี จึงย้ายไปอยู่ที่บ้านบางซ่อน ใกล้สะพานพระราม ๖ เมื่ออายุ ๗ ปี จึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยเรียนวิชาเปียโนควบคู่ไปด้วย และสนใจเรียนวิชาดนตรีและการประพันธ์เพลง มากกว่าวิชาสามัญอื่นๆ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในด้านการประพันธ์เพลง หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ชีวิตของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ คลุกคลีและผูกพันกับดนตรีมาโดยตลอด เพราะบิดาของท่านเป็นนักดนตรี ได้สะสมแผ่นเสียงเพลงอุปรากรไว้จำนวนมาก หลังจากสำเร็จวิชาแพทย์จากสกอตแลนด์ แล้ว จึงนำแผ่นเสียงเพลงกลับมาด้วย และได้เปิดฟังอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังซื้อเปียโนมาด้วย ๑ หลัง สมัยนั้นเรียกกันว่า หีบเพลง เพราะมีลักษณะเหมือนหีบสูงๆ และมีเพียง ๒ หลังในประเทศไทย คือ ที่วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อีกแห่งหนึ่ง ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ จึงหัดเรียนดนตรีครั้งแรกจากเปียโน และเริ่มแต่งเพลงสั้นเล่นกับเปียโนได้ตั้งแต่เมื่อย้ายไปอยู่บ้านบางซ่อน ต่อมา จึงเริ่มหัดกีตาร์ซึ่งเป็นกีตาร์ไม้ตัวแรกในชีวิต และเป็นกีตาร์คู่ชีพ ซึ่งท่านใช้แต่งเพลงอีกหลายเพลง

หลังจากท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยใน พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ ได้ชักชวนท่านและเพื่อนรวม ๕ คน เล่นแชมเบอร์มิวสิค (Chamber Music) โดยให้ท่านเล่นเปียโน และสมาชิกวงแชมเบอร์มิวสิคนี้ เล่นกันทุกวันอังคาร ติดต่อกันมานาน เป็นเวลาเกือบ ๒๒ ปี รวมทั้งจัดคอนเสิร์ตหารายได้ช่วยเหลือสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นการกุศลทุกปี

ในด้านการประพันธ์เพลงท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ได้ประพันธ์ทำนองเพลง ศุภฤกษ์ดิถี และ เพลงเรือนรัก ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖ และเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงพระนิพนธ์ เรื่อง ถ่านไฟเก่า เพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ในฐานะที่พระองค์เป็นพระสวามีของหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล หลังจากพระองค์ทรงพระนิพนธ์คำร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเพลง บัวขาว และ ในฝัน แล้ว ทรงมอบให้ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ประพันธ์ทำนองเพลง โดยรับสั่งว่า “ก็เล่นเพลง ป็อปปูล่าได้ทำไมจะแต่งไม่ได้ ให้ลองดูก็แล้วกัน”

ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ใช้เวลาแต่งทำนองเพลงบัวขาวประมาณ ๔๕ นาที หลังจากจุดธูปอธิษฐานบอกกล่าวขอพรจากบิดาผู้ล่วงลับไปแล้วว่า ให้สามารถแต่งทำนองเพลงบัวขาวให้ได้ไพเราะ และมีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๒ เพลงบัวขาว ได้รับคัดเลือกให้เป็น “เพลงในเอเชีย” จากมติที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญทางการผลิตอุปกรณ์ดนตรี ในเอเชียครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนเพลงในฝันนั้น ท่านได้ชักชวน หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ น้องชายต่างมารดาแต่งทำนองเพลงร่วมกัน

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านผู้หญิงพวงร้อย สมรสกับนายเชียด อภัยวงศ์ ซึ่งพบกันในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าภาคพื้นยุโรป พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยนายเชียด เป็นผู้แสดงคนหนึ่งในละคร เรื่อง จุดไต้ตำตอ ที่มีเพลงประกอบละคร ๘ เพลง ซึ่งท่านผู้หญิงพวงร้อย เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงทุกเพลง คือ ตาแสนกลม รักเธอแต่แรกยล ชายในฝัน โอ้ความรัก แสนห่วง ไทยเบิกบาน หัวใจเดียว และรินเข้าริน ท่านทั้งสองคนมีบุตรธิดา ๓ คน คือ นายกสก อภัยวงศ์ นางมัทนพันธุ์ ดุละลัมพะ และนางพัชราภรณ์ บุนนาค

หลังจากท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ฝึกฝนด้านดนตรีจนเชี่ยวชาญแล้ว ท่านได้เข้าทดสอบเทียบความรู้ทางเปียโน ในระดับปริญญาตรีจากสถาบัน Trinity Col¬lege of Music, London ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗

ผลงานประพันธ์เพลงของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ มีจำนวน มากถึง ๑๒๔ เพลง มีทั้งเพลงประกอบละครและภาพยนตร์ เพลงปลุกใจ เพลงเทิดพระเกียรติ เพลงสถาบันและเพลงในโอกาสพิเศษต่างๆ ด้วยความรู้ความสามารถทางดนตรีของท่านดังกล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสียสละทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ สร้างสรรค์งานและบุคลากรทางดนตรีของท่าน เช่น บริจาคเงินเป็นทุนเริ่มแรกในการก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย สอนเปียโนและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ทางดนตรีมากยิ่งขึ้น ฯลฯ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงยกย่องท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๐

นอกจากนั้น ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ คือ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดุริยางคศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย (ดนตรีวิจักษ์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เหนือสิ่งอื่นใด ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๑๙ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า
พ.ศ. ๒๕๒๑ ตติยจุลจอมเกล้า
พ.ศ. ๒๕๒๗ ทุติยจุลจอมเกล้า
พ.ศ. ๒๕๓๓ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และ
พ.ศ. ๒๕๓๕ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวและไตวาย เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ รวมอายุได้ ๘๖ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานเพลิงศพที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ปีเดียวกัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ศิรินันท์ บุญศิริ