ที่มาของชื่อประเพณียี่เป็ง

ต้นกำเนิดของประเพณียี่เป็งหรือการลอยโคมมาจากชาวล้านนา ซึ่งเป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ นับเป็นเวลายาวนานกว่า 700 ปี ที่ชาวล้านนาได้รับอิทธิพลการดำเนินชีวิตมาจากพระพุทธศาสนา

ยี่เป็ง เป็นภาษาทางภาคเหนือ โดยคำ “ยี่” แปลว่า สอง ส่วนคำ “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หรือ เพ็ง ซึ่งหมายถึงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 การนับเดือนของชาวล้านนาก็นับได้ 12 เดือน เหมือนแบบสากลทั่วไป แต่จะนับตามจันทรคติ ซึ่งนับเดือนตุลาคมเป็นเดือน 1 หรือเดือนเกี๋ยง ดังนั้น เดือนพฤศจิกายน ก็จะเป็นเดือนยี่ หรือเดือน 2 ชาวล้านนาเรียกประเพณีนี้ว่า “ป๋าเวณียี่เป็ง” ซึ่งตรงกับประเพณีลอยกระทงที่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป

และยังมีความเชื่อกันว่า ประเพณีนี้อาจมีต้นกำเนิดมาจากพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม เพื่อบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าทั้ง 3 ของพราหมณ์ ต่อมาผู้ที่หันมานับถือศาสนาพุทธก็ได้ทำพิธียกโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมฆทานที ประเทศอินเดีย

ชาวท้องถิ่นล้านนาจะเรียกโคมลอยนี้ว่า “ว่าว” ซึ่งมีทั้งชนิดที่ลอยในตอนกลางวัน(ว่าวโฮม-ว่าวควัน) ชนิดที่ลอยกลางคืน(ว่าวไฟ) และโคมชนิดที่ใช้แขวนตามบ้านเรือน

ประเพณีการลอยโคมยี่เป็งของทางภาคเหนือในช่วงเทศกาลลอยกระทง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีกิจกรรมมากมายที่ทางสถานที่นั้นๆ จัดขึ้น เช่น การประกวดขบวนแห่กระทง การประกวดนางนพมาศ การออกร้านขายของและกระทง เป็นต้น ครั้นถึงเวลาที่แต่ละคนต่างปล่อยโคมลอยขึ้นสู่บนท้องฟ้า ก็จะดูสวยงามเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

มารยาทเพื่อบุคลิกภาพของเรา

การลุกขึ้นยืนให้เกียรติแก่สตรีที่เข้ามาในห้อง เมื่อสตรีนั่งลงแล้วบุรุษถึงจะนั่งลงได้ ถือเป็นมารยาทดีงามของสุภาพบุรุษอย่างหนึ่ง

และถ้านายวินัยนั่งอยู่ก่อน และมีคนพานายสมศักดิ์มาให้รู้จัก นายวินัยจะลุกขึ้นยืนแสดงการต้อนรับอย่างเต็มใจ ก็ถือเป็นมารยาทดีได้เช่นกัน แต่ถ้านายวินัยอาวุโสกว่านายสมศักดิ์หลายปี นายวินัยไม่ต้องลุกขึ้นก็ได้ และถ้าอายุไล่เลี่ยกันทั้งสองคนก็ไม่ต้องลุกขึ้นก็ได้ ผู้อายุน้อยกว่าต้องลุกให้ผู้อาวุโสเสมอ

ถ้าสตรีสองคนถูกแนะนำให้รู้จักกัน ผู้ที่นั่งอยู่อาจลุกหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ที่นั่งอยู่ต้องลุกขึ้นต้อนรับเสมอถ้าสตรีที่เข้ามาทีหลังมีอาวุโสกว่า หรือมีเกียรติมียศสูงกว่า

สตรีทุกคนจะมีความพอใจที่มีผู้ให้เกียรติตนเสมอ จากการที่ลุกขึ้นต้อนรับ และพอใจที่ได้พูดว่า “เชิญนั่งลงเถิดค่ะ” หรือ “นั่งเถอะหนู”

มารดาควรสอนให้ลูกทำความเคารพต่อผู้ใหญ่ ส่วนฝรั่งจะสอนให้ลูกลุกขึ้นยืนเมื่อมีผู้ใหญ่เข้ามาในห้อง การยื่นมือออกไปเช็คแฮนด์ ก็ต้องให้ผู้ใหญ่ส่งมือมาก่อนจึงทำได้

เป็นเรื่องที่น่ารู้ไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องการจับมือแสดงการทักทายตามธรรมเนียมตะวันตก ฝ่ายชายต้องรอให้ฝ่ายหญิงยื่นมือมาก่อนจึงจะยื่นมือไปจับได้ ถ้าฝ่ายหญิงจะไม่ยื่นมือไปก็ได้จะไม่มีการบังคับ การยื่นมือให้เป็นการแสดงความพอใจและเต็มใจที่ได้รู้จักกับผู้นั้นอย่างแท้จริง

หญิงกับหญิงอาจเช็คแฮนด์กันได้ หรือแล้วแต่ความสมัครใจ ถ้าใครส่งมือมาให้จับ แต่ท่านกลับหดมือหนี ถือว่าเป็นสิ่งหยาบคายที่ทำให้เขาเก้อ และอาจโกรธท่านได้

ถ้าลูกเล็กๆ ของท่านมีเพื่อน ท่านก็ควรให้ลูกเชิญเพื่อนๆ มาเที่ยวที่บ้านบ้าง และให้ลูกแนะนำเพื่อนๆ ให้ท่านรู้จักเป็นรายๆ ไป หากฝึกกันตั้งแต่เล็กๆ ก็จะทำให้กลายเป็นนิสัย เด็กจะไม่รู้สึกกระดากอายที่ต้องพาเพื่อนไปพบบิดามารดา บิดามารดาก็จะได้ศึกษาอุปนิสัยของเพื่อนๆ ของลูกด้วย

เด็กที่อายุยังน้อยก็ย่อมสอนได้ง่ายกว่าเด็กที่โตแล้ว เด็กที่ไหว้สวย น้อมตัวต่ำ ก้มศีรษะอย่างอ่อนน้อมจะน่ารักมาก แต่ในกลุ่มของเยาวชนก็มักจะไม่ปรากฏในเห็นแล้ว ส่วนใหญ่ก็สักแต่ไหว้ บางคนก็ยกมือมาถึงจมูก บางคนก็ไม่ก้มศีรษะเลย แสดงให้เห็นว่าเขาได้รับการอบรมเอาใจใส่มาหรือไม่ เกี่ยวกับมารยาท

มารยาทที่ติดตัวมาแต่วัยเด็ก จะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ติดตัวไปจนถึงวัยทำงานและแม้แต่การเข้าสังคมต่างๆ ด้วย

การแนะนำแขกทุกคนให้รู้จักกันอย่างดี คือมารยาทของเจ้าของบ้านที่ดี ทุกอย่างต้องมีการฝึกหัดบ่อยๆ จนรู้สึกว่าตัวเองมีความเชื่อมั่นดีแล้ว ซึ่งท่านจะเห็นผลสำเร็จได้เมื่อการแนะนำที่แท้จริงมาถึง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทในการเขียนจดหมาย

การเขียนจดหมายบางคนมีความเบื่อมาก ถ้ามีจดหมายมาถึงการตอบจดหมายก็ยิ่งทำให้น่าเบื่อยิ่งขึ้น

มารดาอาจจะคอยจดหมายจากลูกที่ต้องไปอยู่โรงเรียนประจำที่ต่างจังหวัด เพื่อนอาจคอยจดหมายจากเพื่อนเก่า น้องคอยจดหมายพี่ การละเลยเรื่องนี้อาจทำให้เกิดการผิดใจกันได้ บางคนอาจโกรธและไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย เพราะละเลยไม่ตอบจดหมาย ทั้งๆ ที่การตอบจดหมายก็ใช้เวลาไม่มาก
นาย ก.
“ผมเกลียดการเขียนจดหมาย ไม่รู้ว่าโรคอะไร”

นางสาว ข.
“เขียนจดหมายหรือคะ? ให้ฉันถูกทำโทษเสียดีกว่า”

นาง ค.
“สำหรับดิฉัน การเขียนจดหมาย คืองานที่น่าเบื่อที่สุดในโลก!”

ไม่รู้ว่ากี่สมัยต่อกี่สมัยมาแล้วที่ความคิดนี้เกิดขึ้นในสมองของมนุษย์ คนที่คิดเช่นนี้ คือคนที่สักแต่พูดโดยไม่คิดถึงเหตุผล

ท่านลองคิดดูว่า ท่านรังเกียจที่เพื่อนๆ มาเยี่ยมเยียนและคุยด้วยหรือเปล่า? ท่านรังเกียจในการไปพบปะสนทนากับมิตรของท่านหรือเปล่า?

ถ้าท่านตอบว่า ไม่ แล้วทำไมท่านจึงรังเกียจที่จะส่งจดหมายไปสนทนากับมิตรสหายแทนตัวท่านเล่า? เขาจะยินดีมากขณะที่จดหมายของท่านไปถึงมือ แสดงว่าท่านให้ความสนใจต่อเขา

บางคนอาจแก้ตัวว่า
“ฉันเขียนจดหมายไม่เป็นหรอก ไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียน ชีวิตมันก็อย่างนี้แหละ วันแล้วก็วันเล่า ไม่เห็นมีอะไรแปลกหรือดีขึ้นมากกว่าเก่าเลย”
อย่างนี้คือคนที่ไม่พยายามทำตัวให้ขยันขึ้น ไม่เหมือนกับที่ขยันแต่งตัวเวลาไปหาเพื่อนเลย

จดหมายที่เขียนบนกระดาษที่เรียบร้อย ด้วยลายมือที่ประณีต ด้วยข้อความที่เหมาะสม สื่อความหมายว่าผู้รับถูกระลึกถึงอย่างมาก จะเป็นตัวแทนนำความสดชื่นและความพออกพอใจให้แก่ผู้รับเป็นอันมาก ไม่ควรเขียนให้เสร็จเร็วๆ แบบลวกๆ เท่านั้น

การทดสอบว่าจดหมายมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของผู้รับเพียงใด ทำได้โดย ท่านลองเขียนจดหมายฉบับหนึ่งตามอารมณ์ที่ยุ่งเหยิงของท่าน มีการขูดลบขีดฆ่า ไม่สนใจการเว้นระยะ เขียนไปตามสบาย กับอีกฉบับหนึ่ง ให้พยายามเขียนอย่างประณีตสวยงามสะอาด แม้ใจความจะเป็นอย่างเดียวกับฉบับแรก แต่ก็จะได้ผลลัพธ์แตกต่างกันมากทีเดียว

หลักสำคัญในการเขียนจดหมาย คือ
1. อย่าฝืนเขียนจดหมาย หากท่านยังไม่สบอารมณ์ แต่จงเขียนเมื่อคิดถึงผู้นั้น ท่านจะได้เล่าเหตุการณ์ให้เขาฟังราวกับว่าท่านอยู่ตรงหน้าเขาได้

2. ใช้กระดาษและซองจดหมายที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ แต่ถ้าเขียนถึงผู้อาวุโสก็ไม่ควรใช้ปากกาลูกลื่น หรือกระดาษจดหมายที่มีกลิ่นหอม

3. ควรเลือกกระดาษจดหมายที่เป็นสีขาว เทาอ่อน ฟ้าจางๆ ไม่ใช้สีฉูดฉาด ไม่ใช้กระดาษที่มีเส้นบรรทัด ควรใช้เฉพาะหมึกสีน้ำเงินแก่ หรือน้ำเงินดำ

4. ปากกาที่เขียนต้องไม่กัดกระดาษ หมึกไม่ซึม เขียนแล้วไม่ทำให้เส้นแตก

5. จดหมายของท่านจะเต็มไปด้วยเนื้อหาที่น่าอ่านจากอารมณ์ที่แจ่มใสของท่าน หากได้เลือกโต๊ะที่นั่งให้สบาย มีแสงในระดับที่ดี จนท่านต้องประหลาดใจ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ความสะอาดของมือลูก

เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับความสะอาดของมือ เรื่องนี้มักจะถูกมองข้ามกันไป ความสะอาดของร่างกายแสดงให้เห็นถึงการนับถือตัวเองของบุคคลนั้น มีผู้กล่าว่า
“ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นคนสะอาด ก็ให้ดูที่มือของเขาเท่านั้นเป็นพอ”

คุณแม่มักจะบอกลูกๆ ว่า
“หนูไปล้างมือเสียก่อนอาหาร”

ลูกเดินไปเอามือจุ่มน้ำ เช็ดมือที่ก้นกับกางเกงหรือกระโปรง แล้วมาหยิบช้อนส้อมบริโภคอาหาร คุณแม่ไม่ได้ดูว่ามือลูกสะอาดแล้วหรือยัง หากสังเกตตอนรับประทานอาหารก็จะรู้ได้ บางคนอาจมีรอยเปื้อนหมึก เล็บยาวดำสกปรก จนมองเห็นชัดเจน

บางคนอาจบ่นว่า
“ไปกินข้าวบ้านโน้นไม่อร่อยเลย ไม่ใช่ว่าฝีมือแม่บ้านไม่ดีนะ แต่ตาลูกชายนะซี เล่นลูกหินมากับทรายหยกๆ แม่ก็ไม่สั่งให้ล้างมือ จะว่าฉันเป็นผู้ดีก็ยอมละ แต่ฉันอดมองดูมือเล็กๆ นั้นไม่ได้ แล้วเลยกินข้าวไม่ลง”

ควรอบรมสั่งสอนเด็กมาตั้งแต่เล็กๆ ว่าให้ล้างมือให้สะอาดก่อนแตะต้องอาหารเสมอ โดยมารดาหรือครูอาจแสดงวิธีการล้างมือที่สะอาดให้ดู มีการถูสบู่ ล้างด้วยน้ำมากๆ ถ้ามีแปรงเล็กๆ สำหรับแปรงเล็บและฝ่ามือได้ก็ยิ่งดี การใช้เปลือกมะนาวสดถูเล็บก่อนจะล้างด้วยน้ำอุ่นกับสบู่ ก็ทำให้ความสกปรกหมดไป เกิดความสะอาดขึ้นได้

มือเด็กๆ ที่ชอบเล่นลูกหินลูกแก้วย่อมมีเชื้อโรคอยู่ แม้เด็กจะไม่เคยเป็นอะไร แต่ก็ไม่เหมาะหากต้องรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ควรเอาใจใส่เรื่องนี้ให้มาก ชาวยุโรปถือว่าอาหารตาก็สำคัญเช่นกัน เขาต้องแต่งกายใหม่เมื่อถึงเวลาอาหารค่ำ แม้จะอยู่ในครอบครัว โดยไม่ทำตัวมอมแมมเลยที่โต๊ะอาหาร

ถ้ามารดาเอาใจใส่ดูแลเรื่องความสะอาดของลูกๆ โดยสอนให้ล้างมือด้วยตัวเอง และขอดูมือหลังจากที่ล้างมาแล้ว ก็จะทำให้กลายเป็นนิสัยติดตัวเด็กไปเอง บิดาเองก็ต้องให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่า “เฮ้อ! ช่างมันเถอะน่า เด็กมันกำลังหิว” แต่ควรจะช่วยสอนและอธิบายความสำคัญของความสะอาด

หากเด็กถูกปล่อยให้รับประทานอาหารกันเองตามลำพัง มารยาทที่ดีในโต๊ะอาหารย่อมไม่เกิดขึ้น บางคนถึงกับไม่กล้าให้ลูกมาร่วมโต๊ะเมื่อมีแขกมารับประทานอาหารด้วย เพราะเกรงว่าระหว่างรับประทานอาหารเด็กๆ จะแสดงกิริยาไม่งามออกมา อาจต้องแยกออกไป หรือให้รับประทานเสียก่อน น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไว้ใจเด็กในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะถ้าเด็กมีมารยาทดี การเข้ามาร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ใหญ่ ความน่ารักจากการพูดจาของเขาย่อมทำให้เกิดความรื่นรมย์เป็นอันมาก

ถ้าเด็กของท่านประพฤติตัวดีพอที่จะเข้าร่วมโต๊ะอาหารได้ โดยที่มารดานั่งรับประทานอย่างสบายใจ ท่านย่อมเป็นผู้ชนะในความสำเร็จอย่างภาคภูมิใจ โดยที่ไม่ต้องมาคอยเก็บเศษอาหารที่ตกหล่น หรือต้องคอยเอ็ดเวลาซดน้ำแกงเสียงดัง เขี่ยผักออกจากจาน ตักแต่เนื้อชิ้นโต ข้าวก็ขึ้นมาเลยขอบจาน เอาผ้าเช็ดมือมาเล่น ใช้ช้อนส้อมเสียงดัง ฯลฯ

ผลการสั่งสอนจากมารดาบิดาผู้ฉลาด จะทำให้เด็กเข้ามาร่วมโต๊ะบริโภคได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ทำให้ท่านกระดากอายแขกที่มาร่วมโต๊ะด้วย บางครั้งเขาอาจเงียบจนลืมไปว่าเขาอยู่ที่นั่นด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มารยาทในการสูบบุหรี่

หากท่านไปที่บ้านของใครแล้ว ไม่เห็นร่องรอยว่าคนในบ้านนั้นสูบบุหรี่ ไม่มีที่เขี่ยบุหรี่หรือเถ้าบุหรี่ให้เห็น หากท่านต้องการสูบ ก็ควรถามเจ้าของบ้านเสียก่อนว่า “รังเกียจไหม ถ้าท่านจะสูบบุหรี่?”

คนที่ติดบุหรี่ มักจะเขี่ยเถ้าบุหรี่ในที่ต่างๆ โดยไม่ระวัง และอาจไม่รู้สึกว่าการสูบบุหรี่ทำความรำคาญให้กับผู้อื่น การเขี่ยเถ้าบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทางอาจทำให้เจ้าของบ้านไม่พอใจได้ หากเราจะไปคุยธุระก็อาจจะไม่ได้ผล สาเหตุเพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี้

แม่บ้านที่ต้องคอยเก็บกวาดเถ้าบุหรี่ จากการที่ท่านเขี่ยไว้ไม่เป็นที่เป็นทางอาจสร้างความรำคาญให้แก่เธอได้ ดังนั้น จึงควรสูบบุหรี่และเขี่ยให้ถูกที่ เพื่อให้เกิดความสะอาดแก่บ้านมากที่สุด

ในที่ชุมชน เช่น ในรถโดยสาร โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะการพ่นควันบุหรี่ใส่ผู้อื่นเขามักจะทนควันบุหรี่ไม่ได้ ท่านควรไตร่ตรองให้รอบคอบและให้ความเห็นใจคนอื่นด้วย

ท่านจะพอใจหรือไม่ หากท่านไม่สูบบุหรี่ แล้วต้องคุยกับคนที่กำลังสูบบุหรี่ เขาพ่นควันใส่หน้าท่านจะรู้สึกอย่างไร

ในขณะรับประทานอาหารไม่ควรสูบบุหรี่เลย ถ้าจำเป็นต้องสูบหลังอาหารก็ควรระวังเถ้าบุหรี่ที่จะหล่นลงไปในจานหรือปลิวไปถูกคนอื่นเข้า

สาวิตรีไม่แตะต้องไอศกรีมเยลลี่เลยในงานเลี้ยงแบบกันเองแห่งหนึ่ง เพราะเถ้าบุหรี่จากเจ้าของบ้านปลิวลงไปในถ้วยเสียแล้ว บางคนก็รู้สึกว่ามีเส้นของยาสูบติดอยู่ในปาก ก็ถ่มออกมาบนพื้น แม้เส้นยาจะเล็กจนสังเกตไม่เห็น แต่มารยาทเช่นนี้ก็ไม่ควรทำ การถ่มสิ่งของจากปากของท่านออกมาเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ท่านควรหาที่ลับๆ หยิบมันมาออกจากปากแล้วทิ้งในถังขยะหรือที่เขี่ยบุหรี่เสีย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรทำเช่นนี้

เรื่องการเกิดเพลิงไหม้เพราะก้นบุหรี่มีขึ้นบ่อยครั้ง ก่อนทิ้งบุหรี่ควรดูให้แน่ใจก่อนว่าบุหรี่ดับแล้วจริงๆ ถ้าทิ้งลงบนถนนก็ควรใช้รองเท้าที่สวมขยี้ให้ไฟดับเสียก่อน หลายครั้งที่อาจมองเห็นก้นบุหรี่แดงวาบอยู่บนกองหญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ความสะเพร่าเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นต้นเพลิงนำไปสู่ความหายนะที่ใหญ่หลวงได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

ในเวลาปฏิบัติงาน

มารยาทในการทำงานมีความจำเป็นมากเมื่อท่านทำงานอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
-ในเวลาทำงานอย่าโทรศัพท์ถึงเพื่อนชายหญิง ไม่ควรพูดโทรศัพท์นานเกินไป

-ผู้หญิงก็ไม่ควรโทรศัพท์ถึงชายที่มีภรรยา นอกจากมีกิจธุระจำเป็นจริงๆ

-พูดโทรศัพท์ให้ได้ใจความที่ต้องการแบบตรงไปตรงมาสั้นๆ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ ให้บอกผู้รับสายว่าจะโทรไปใหม่ หรือบอกธุระของท่านให้ผู้รับสายจดบันทึกไว้บอกผู้ที่ท่านต้องการติดต่อ

-ไม่ควรดูนาฬิกาบ่อยๆ เพราะจะดูว่าท่านเบื่อที่จะต้องมานั่งทำงานอยู่เต็มประดา

-ห้ามถอนหายใจยาวเด็ดขาด เพราะสิ่งนี้จะแสดงชัดเจนเท่ากับคำพูดว่า “เฮ้อ! เบื่อโลก! เมื่อไหร่ไอ้งานบ้าๆ นี่จะเสร็จสักที” ทำนองนี้

-อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ถ้างานชิ้นหนึ่งเสร็จแล้วก็ให้หางานอื่นมาทำ ไม่ควรทำงานรีบเร่งสักแต่จะให้เสร็จไป แล้วนั่งรอเวลากลับบ้าน ไม่ควรนั่งเหม่อลอยเลยเป็นอันขาด

-หากท่านต้องรอคำสั่งงานจากนายจ้าง ช่วงเวลาที่ว่างท่านก็อาจใช้เวลานั้นทำงานอื่น หรือวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ท่านประสบความสำเร็จในงานนี้

-โต๊ะทำงานของท่านควรรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ ปัดฝุ่น จัดสมุด หนังสือ กระดาษ เครื่องเขียนให้เป็นระเบียบ หาแจกันเล็กๆ ใส่ดอกไม้วางไว้มุมโต๊ะเพื่อความสดชื่น หากใครมองเห็นก็คงชอบ และอาจมีคนทำตาม ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น

-หากมีเวลาว่างเหลืออยู่อีก ก็พยายามศึกษางานของผู้อื่นบ้าง แต่ต้องไม่เป็นการรบกวนการทำงานและเวลาของเขา

-การเรียนรู้งานของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าผู้นั้นต้องออกจากหน้าที่ไป ท่านก็จะสามารถทำงานแทนเขาได้ ท่านก็จะมีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต เมื่อท่านมีความสามารถมากก็ย่อมมีคนอิจฉาเป็นธรรมดา ไม่ควรให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่ควรทำงานของท่านให้ดีที่สุด และขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นให้น้อยที่สุด หรือถ้าทำเองได้ทั้งหมดก็ยิ่งดี เพราะการซักถามมากเกินไปอาจทำให้คนอื่นรำคาญได้ ก่อนถามควรให้แน่ใจเสียก่อนว่าเราจนปัญญาจริงๆ การไตร่ตรองตัดสินใจและคิดสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง จะทำให้ท่านมีความเชื่อมั่น นายจ้างก็จะเห็นในความสามารถของท่านได้

-อย่าตอบว่า “ดิฉันไม่ทราบ” แต่ให้พูดว่า “ดิฉันไม่ทราบ แต่จะลองค้นดูก่อนค่ะ” และไม่จำเป็นยืนกรานว่าต้องทำให้ได้ถ้านายจ้างบอกว่า “อย่าลำบากเลย ผมจะค้นเอาเอง” ก็ตามใจเขา แต่ถ้าท่านได้พูดว่าจะหาคำตอบของปัญหานั้นให้ได้ ก็ต้องทำตามคำพูด โดยต้องค้นหาจากสารคดี หนังสือ ตำรา เมื่อได้คำตอบแล้วก็ต้องรีบบอกให้เขาทราบ เพื่อสร้างเครดิตให้กับตัวท่านเองอีกทางหนึ่ง ปัญญาของท่านจะแตกฉานได้โดยการสะสมคำตอบของคำถามต่างๆ เอาไว้ให้มาก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

การบริโภคอาหารที่บ้าน

การตกแต่งบ้านและความเป็นอยู่ แสดงออกถึงรสนิยมเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านที่มีโต๊ะตัวเก่า ไม่มีผ้าปูเวลารับประทานอาหาร เมื่อบริโภคเสร็จก็ใช้เป็นโต๊ะทำงาน พอเสร็จงานก็มีแมวหรือสุนัขมาชะเง้อหาเศษอาหาร น่าเศร้าเหลือเกินสำหรับบ้านที่มีสภาพแสดงถึงความละเลยไม่เอาใจใส่เช่นนี้

มีบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง พ่อบ้านแม่บ้านก็ไม่ใช่คนมีเงินมากมาย แต่สภาพความเป็นอยู่ในบ้านสะอาดงดงาม แม่บ้านเอาใจใส่การประดับเล็กๆ น้อยๆ ไม่ละเลยเรื่องความสะอาด โยกย้ายเปลี่ยนแปลงห้องในบางโอกาส แขกที่มาเยี่ยมเห็นได้ชัดเจนว่าเจ้าของบ้านรักความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย

บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีลูกหลายคน ไม่มีแม้แต่ห้องรับแขก ลูกก็ต้องการห้องสำหรับท่องหนังสือ นั่งเล่น และนอน กันทุกคน แม่บ้านใช้มุมห้องรับประทานอาหารที่ถูกขัดจนเป็นมัน มีแดดอ่อนๆ ส่องถึง ใช้เป็นที่รับแขก เมื่อลูกอยู่กับครบเธอก็ย้ายคนเล็กๆ ไปรับประทานที่มุมสะอาดของห้องครัว ทุกสิ่งทุกอย่างถูกเก็บกวาดสะอาดอยู่เสมอ

ผ้าปูโต๊ะอาหารก็ขาวสะอาด รีดเรียบ มีรอยพับเป็นรอยเตารีดอยู่ตรงกลางพอดี ผ้าเป็นเนื้อธรรมดา เล็มตามริมแบบง่ายๆ แต่ลงแป้งเสียทำให้ดูว่าราคาแพง ตรงมุมหนึ่งมีถ้วยเล็กๆ ปักดอกบานไม่รู้โรยสีม่วงอ่อนเพื่อความสดชื่นงดงามอย่างตามมีตามเกิดของเจ้าของบ้าน ทำให้ดึงดูดสายตาของผู้ที่เข้าไปเห็น

ลูกคนโตๆ จะเป็นผู้จัดโต๊ะ เดินโต๊ะ และเก็บจานชามไปล้าง ถ้ามีแขกมารับประทานอาหารด้วย ลูกคนเล็กๆ ก่อนจะแยกย้ายไปนอนหรือทำการบ้านก็จะช่วยในสิ่งที่พอจะช่วยได้

เด็กทุกคนร่างกายสะอาดหมดจด ตัดผมสั้น หวีผมเรียบ เล็บตัดสั้น มือสะอาด หน้าตาสดใส ก่อนมานั่งโต๊ะอาหารทุกคนต้องล้างมือมาอย่างสะอาด

มารยาทที่ดีของแขกผู้ได้รับเชิญไปรับประทานอาหาร ควรชิมอาหารก่อนที่จะปรุงอาหารของตนด้วยน้ำปลา มะนาว เติมพริกน้ำส้ม หรือน้ำตาลลงไป เพราะผู้ปรุงอาหารบางคนถือเป็นการดูถูกว่าท่านไม่เชื่อฝีมือของเขา

อย่าเสิร์ฟอาหารหรือเครื่องชูรส โดยภาชนะที่ท่านซื้อมาจากร้านเลย ควรหาขวดแก้วเล็กๆ บรรจุน้ำปลา น้ำตาล วางบนถาดหรือจานประจำโต๊ะ จะทำให้น่าดูกว่ามาก

ไม่ควรนำจานบิ่น ส้อมโค้ง หรือช้อนที่คิดว่าจะบาดปากมาตั้งให้แขก สมัยนี้มีของสวยๆ ถูกๆ ถมเถไป หากเก่าไม่น่าดูน่าใช้ก็ควรเปลี่ยนเสียใหม่

ถ้ามีเครื่องเงิน ก่อนจะนำออกมาใช้ก็ให้ขัดถูเสียก่อน ควรใส่วงแหวนสีต่างๆ ในผ้าเช็ดมือเพื่อให้จำได้ง่าย และก่อนที่จะสกปรกก็ควรซักเสีย ไม่ต้องเอาขวดยามาตั้งบนโต๊ะถ้าสมาชิกในครอบครัวต้องกินยาก่อนหรือหลังอาหาร แต่ควรเอาสลากสีฉูดฉาดหรือโบว์แดงผูกขวดไว้กันลืม แล้วนำไปไว้ที่อื่น ผู้ที่มารยาทดีจะไม่บริโภคยาที่โต๊ะอาหาร เพราะไม่ใช่สิ่งชวนดูเลยสำหรับผู้ร่วมวงที่โต๊ะอาหารที่จะต้องมาดมกลิ่นยาที่ไม่ชวนดม และดูกิริยาผู้บริโภคยาอย่างยากเย็น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

สิ่งที่ควรและไม่ควรทำเวลาบริโภคอาหาร

มารยาทที่โต๊ะอาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้ที่มีมารยาทดีควรรู้จักถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

-ไม่ควรชิมชาหรือกาแฟ หรือเครื่องดื่มร้อนๆ ด้วยช้อนชา ให้ยกด้วยขึ้นชิมเลยโดยตรง

-ไม่ควรบริโภคอาหารที่ท่านไม่แน่ใจว่าร้อนจัดหรือไม่ ควรลองดูในปริมาณน้อยก่อน คนที่ป้อนของร้อนๆ เข้าปากตัวเองแล้วทำท่าจะคายออกมาใหม่จะน่าเกลียดขนาดไหน?

-ไม่ควรเป่าอาหารให้หายร้อน

-ไม่ควรเอาช้อนกลางเข้าปากเป็นอันขาด ควรตักอาหารจากช้อนกลางมาใส่จานหรือช้อนของท่าน แล้วจึงค่อยบริโภคจากช้อนของท่านเอง

-ไม่ควรแทะกระดูกหมูหรือไก่อย่างเปิดเผย มีเสียงดัง ควรใช้กระดาษเช็ดมือหยิบถ้าต้องการหยิบขึ้นมาแทะ

-ไม่ควรเลียมือ ถ้ามีอาหารติดมืออยู่ ถ้าอาหารเหนียวติดมือควรเช็ดด้วยกระดาษเช็ดมือ หรือเมื่อมีโอกาสก็ควรล้างมือเสีย

-ไม่ควรเลียริมฝีปาก ไม่ว่าจะเป็นขณะบริโภค ริมฝีปากควรสะอาดค่อนข้างแห้ง ไม่มันแผล็บไปด้วยน้ำลายในทุกๆ ขณะ

-ไม่ควรปล่อยให้เศษอาหารติดตามมุมปาก ตามไรฟัน ถ้ารู้ตัวว่ามีเศษอาหารติดฟันก็ควรจัดการเสีย ถ้าไม่แน่ใจก็ให้ขอตัวไปห้องน้ำเพื่อสำรวจให้เรียบร้อย เพราะคงไม่มีผู้ใดอยากบอกท่านเป็นแน่

-ไม่ควรจับช้อนส้อมเหมือนจับดินสอปากกา หรือเหมือนจับด้านเสียมพรวนดิน ต้องมีการฝึกหัดจากแบบอย่างที่ดี

-ไม่ควรเอาข้อศอกขึ้นมาวางบนโต๊ะ เท้าคางเวลาพูดหรือฟัง

-ไม่ควรแบ่งอาหารในจานของท่านให้คนข้างเคียง เช่น “แหม! ให้แยะจัง ถ้าจะรับประทานไม่หมด หนูช่วยหน่อยสิ” หรือ “คุณตักของดิฉันไปก็ได้ค่ะ ดิฉันยังไม่ทันได้แตะต้องสักนิดเดียว” หรือ “เอาของผมสิครับผมอิ่มพอดีเชียว”

-ควรรักษาสภาพของจานชามที่ท่านใช้รับประทานให้น่าดู ควรเขี่ยข้าวลงมาจากขอบจาน หากจะหยุดรับประทาน ควรตะล่อมเศษอาหารเข้ารวมกันอย่างดี แล้วรวมช้อนกับส้อมเข้าด้วยกัน ให้เรียงช้อนอยู่ด้านขวา และส้อมอยู่ด้านซ้าย ไม่ให้ไขว้กัน

-เพื่อเป็นการเยินยอฝีมือผู้ปรุงทางอ้อม ควรจะรับประทานอาหารให้หมด แต่ไม่ถึงขนาดว่า ข้าวเม็ดสุดท้ายก็ไม่เหลือ สิ่งใดที่ไม่ชอบรับประทานก็ไม่ควรพูดหรือแสดงอาการออกมา ควรทิ้งไว้ในจานอย่างนั้นก็พอ

-ควรหยิบขนมปังด้วยมือ ไม่ควรใช้ส้อมจิ้มขึ้นมาเป็นอันขาด ในชา กาแฟ หรือน้ำเกรวี่ที่เหลือบนจานไม่ควรจิ้มขนมปังลงไปแล้วเอามาเข้าปาก ไม่ควรเอามีดเข้าปาก ควรใช้ช้อนตัก ระหว่างนั้นถ้าอยากพูดคุยควรวางช้อนบนจานรองถ้วย

-ระหว่างการรับประทานอาหาร ควรพูดแต่สิ่งที่งดงามน่าสดชื่น ไม่ควรพูดวาจาหยาบคายทุกคำ

-หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ผู้อื่น เช่น
“ตายจริง! คุณรับประทานแตงโมจิ้มเกลือ มิคลื่นไส้แย่รึ?”

-สำหรับสิ่งที่มีผู้อื่นให้ ควรพูดว่า “ขอบคุณ”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

มือของเด็กและความสะอาด

ขณะที่ใกล้ถึงเวลาอาหาร คุณแม่จะบอกลูกว่า
“มาลูก ล้างมือเสีย”

ลูกวิ่งไปก๊อกน้ำเปิดน้ำล้างมือแป๊บเดียวก็กลับมา และเพียงแต่จุ่มมือลงไปในน้ำไม่ได้ทำให้ดินในซอกเล็บ หรือคราบบนมือหายไปเลย

ถ้าคุณแม่ได้สังเกตมือของเด็กที่ร่วมโต๊ะอาหารจะพบว่า มือของลูกไม่สะอาดเลย บางคนมือยังเปียกน้ำก็เข้ามารับประทานอาหารแล้ว และสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าได้แขวนผ้าขนหนูสะอาดขนาดย่อมเอาไว้ในห้องน้ำ

คุณแม่ต้องไม่สั่งลูกให้ทำโดยไม่แสดงวิธีถูกต้องให้ดูเสียก่อน ควรเปิดน้ำให้ถึงครึ่งอ่างล้างมือ ถูมือด้วยสบู่ ถ้ามีแปรงแข็งๆ ถูตามเล็บก็ยิ่งดี ถูมือทั้งสองไปมาจนออกฟองเรื่อยไปจนถึงแขน เพราะอาจโดนอะไรเปรอะเปื้อนมา ถ้าได้แสดงให้ดู ลูกเล็กๆ ก็จะจดจำได้ดี ในเวลาอาหารมือของเด็กจะต้องสะอาดอยู่เสมอ จะทำให้เด็กอยากปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้นหากได้รับคำชมเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าคุณแม่ล้างมือให้ เฉพาะเวลาที่แขกหรือเวลารับประทานเลี้ยงก็จะไม่ได้ผลอะไร

สมองจะจดจำได้ง่ายถ้าได้รับการสั่งสอนตั้งแต่อายุน้อยๆ คุณแม่จะมีลูกที่เรียบร้อยทั้งตัว เข้ามาร่วมโต๊ะอาหารด้วย และคุณแม่ก็ได้นั่งคุยกับแขกอย่างสบาย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์

เชื้อโรคกับวันเกิด

เราได้ประเพณีให้ขนมเค้กวันเกิดมาจากฝรั่ง ซึ่งนิยมกันมากในปัจจุบันนี้ คุณปู่คุณย่าของเราอาจไม่เคยลิ้มรสหรือเห็นขนมเค้กมาก่อน บางท่านอาจบ่นว่า “เหม็นนมเหม็นเนยออกจะตายไป”

ขนมเค้กไม่ได้มีอันตรายอะไร แต่อันตรายมาจากเรื่องที่เรานึกไม่ถึง เค้กวันเกิดต้องมีเทียนปักเท่าอายุอยู่บนนั้น แล้วมักพูดว่า
“เอ้า! เจ้าของวันเกิด เป่าเทียนให้ดับสิจ๊ะ”

การเป่าเทียน โดยไม่คำนึงว่าลมปากของเจ้าของวันเกิดจะมีสิ่งสกปรกอะไรบ้าง ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา อาจเป็นการแพร่เชื้อโรคลงไปสู่ขนมเค้กนั้นได้ เชื้อโรคก็จะแพร่ไปสู่แขกทุกคนที่ได้รับเค้กไปรับประทาน

แขกบางรายอาจอาสาเป่าเทียนที่เยอะตามอายุให้
“เทียนแยะเหลือเกิน! มา…พวกเรามาช่วยกันเป่า”
เชื้อโรคจึงมาจากหลายๆ คน และแพร่กันไปทั่ว

ท่านอาจจะเถียงว่าถ้าเป็นอย่างนั้นประเพณียุโรปก็คงสูญไปจากเมืองไทยอย่างน่าเสียดาย

แต่ถ้าส่องเค้กวันเกิดหลังจากเป่าเทียนแล้วด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็อาจทำให้ท่านรับประทานเค้กไม่ลงเลยทีเดียว

ฝรั่งมักเป็นผู้ที่คำนึงถึงสุขวิทยาอนามัยเป็นอันมาก แต่ก็แปลกที่เขามองข้ามข้อเสียนี้ไป

แต่ถ้าเจ้าของวันเกิดจะต้องมีขนมเค้ก และต้องจุดเทียนบนนั้น ก็ทำได้โดยดึงเทียนทุกเล่มออกส่งให้แขกเป่า และพูดอย่างสุภาพว่า
“ช่วยกันเป่าเทียนหน่อยเถอะ”
การกระทำเช่นนี้ เชื้อโรคไม่ถูกเป่าลงบนหน้าขนมโดยตรง ทำให้เชื้อโรคแพร่ได้น้อยลงด้วย และบรรยากาศความสนุกก็ไม่เสียไปด้วย

หลายคนคงนึกอยู่ในใจว่า “อือ! แปลก ฉันไม่เคยคิดอย่างนี้มาก่อน”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์