นิโคไล เลนิน(Nikolai Lenin)

มีน้อยคนในประวัติศาสตร์ที่จะได้รับความรักของคนทั้งหลายอย่างเลนิน เลนินได้ความเคารพรักของคนอย่างลึกซึ้ง เพราะได้ใช้สติปัญญาทั้งหมด เพื่อบริการคนของตน เขามีสมรรถภาพในการอธิบายความคิดที่เข้าใจยากที่สุดให้เป็นถ้อยคำที่เข้าใจง่ายที่สุด เขาพูดได้อย่างที่เขาคิด พูดทุกอย่างด้วยความซื่อ ไม่มีลับลมคมใน ถ้าเขาทำอะไรผิดเขาก็จะแสดงความผิดของเขาออกมาเอง

เลนินมีความมุ่งหมายอยู่อย่างเดียวตลอดชีวิต คือ จัดระเบียบสังคมใหม่ ไม่ให้มีการกดขี่ ไม่มีการทำนาบนหลังคน ไม่มีการตกงาน ไม่มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมตลบตะแลงในการเมืองระหว่างประเทศ และไม่ให้มีสงคราม เขาจึงได้สละความสุขส่วนตัวและความมักใหญ่ใฝ่สูงทุกอย่างเพื่อความมุ่งหมายนี้

เลนินเกิดในปี พ.ศ. 2413 เป็นคนชั้นกลาง มีฐานะทางครอบครัวที่ดี บิดาเป็นศึกษาธิการจังหวัด มารดาเป็นบุตรีของนายแพทย์ เขาเติบโตขึ้นมาด้วยการแวดล้อมไปด้วยผู้ที่มีการศึกษา แต่เมืองที่เขาเกิดนั้น คือ ซิมเบิสกะ เป็นถิ่นแห่งมนุษย์ประหลาด เช่น สเตนกา ราชิน และเป็นศูนย์กลางของพวกนักคิดในทางปฏิวัติ

สเตนกา ราชิน เป็นทหารคอสแซค คือทหารม้าที่มีความกล้าหาญ โลดโผน ผจญภัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัสเซีย พวกเขาจะเที่ยวปล้นค้นมั่งคั่งเพื่อเอาทรัพย์สินมาแจกจ่ายแก่คนยากจน คนยากจนจึงเป็นมิตรกับเขา พวกเขาหาที่หลบซ่อนได้ง่ายจึงจับตัวได้ยาก

นอกจากนี้พวกเขายังเที่ยวยุพวกทาสให้ลุกขึ้นประทุษร้ายนายเงิน จับเจ้าเมืองบางคนที่กดขี่ราษฎรโยนลงมาจากหอสูงจนถึงแก่ความตาย ปล้นและฆ่าเจ้าหน้าที่ที่เก็บภาษีตามหมู่บ้านเอาเงินแจกจ่ายให้ราษฎรที่เสียภาษี แต่สุดท้ายก็ถูกจับแขวนคอที่เมืองซิมเบิสกะ เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อจิตใจของเลนินมาก และเขาก็ได้เหตุการณ์นี้มาตั้งแต่เด็กๆ

พ่อแม่และครอบครัวของเขาไม่ได้โน้มเอียงไปในทางปฏิวัติ และอยากปลูกฝังให้ลูกได้ดีทางการเมือง ลูกทุกคนได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีรวมทั้งเลนินด้วย พี่ชายของเลนินที่ชื่อ อะเล็กซานเดอร์ ได้ศึกษาถึงขั้นมหาวิทยาลัย ตัวเลนินเองก็ได้เข้าเรียนที่เมืองซิมเบิสกะ ในโรงเรียนชั้นสูงมีอาจารย์ใหญ่ชื่อ เกเรนสกี ลูกชายของเขาก็เรียนที่นี่เช่นกัน และไม่มีใครนึกฝันว่าวันหนึ่งเด็กทั้งสองคนนี้จะกลายมาเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์ของรัสเซียได้

เมื่อเลนินอายุได้ 16 ปี ในปี พ.ศ.2429 เรียนอยู่ปีสุดท้ายของชั้นมัธยม ได้เกิดเรื่องที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยถูกจับข้อหาลอบปลงประชนม์พระเจ้าซาร์ จึงถูกประหารชีวิตทั้งกลุ่ม และในนั้นก็มีพี่ชายของเลนินที่ชื่อว่า อะเล็กซานเดอร์อยู่ด้วย ทำให้เขาฝังใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก

เลนินได้เข้ามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2430 เขาถูกทางราชการสั่งให้ทางมหาวิทยาลัยคอยดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นน้องชายของผู้ที่ถูกประหารชีวิตในคดีอุกฉกรรจ์ และทางวิทยาลัยก็ไม่อยากให้เขาอยู่ด้วย เขาถูกคัดชื่อออกจากวิทยาลัยหลังจากเรียนอยู่ได้ไม่กี่เดือน โดยที่มหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่า เขาเป็นนักศึกษาที่มีอิทธิพลร้ายแรงแก่นักศึกษาคนอื่นๆ

เขาได้ศึกษาส่วนตัวอย่างเงียบๆ กับครูคนหนึ่ง ต่อมาก็ได้ไปสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาสอบได้เป็นเนติบัณฑิต และได้เป็นทนายตอนอายุ 24 ปี ว่าความอยู่ได้ 3 ปี ก็ถูกจับไปไซบีเรีย ฐานยุยงผู้คนและก่อความไม่สงบ

เขายินดีที่จะไป เพราะยังดีกว่าถูกประหารอย่างพี่ชาย ความคิดเรื่องปฏิวัติจึงมีขึ้นเต็มหัวใจ เขาเป็นนักปฏิวัติที่แท้จริง มีความรอบคอบ รู้กฎการปฏิวัติที่ต่างกับการจลาจล เพราะปฏิวัติเป็นการกุศล ส่วนจลาจลเป็นบาป เขาต้องทำปฏิวัติไม่ใช่จลาจล การปฏิวัติต้องมีแผนการ มีลัทธิ มีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่การแย่งชิงความยิ่งใหญ่จากผู้อื่นมาไว้ในมือ และก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น

ไซบีเรียเป็นที่เหมาะชั่วคราวสำหรับเขาในการที่จะทำให้ประเทศรัสเซียดีขึ้น โดยเฉพาะให้ประชาชนมีชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป เขาได้ทำงานหนักเพื่อสร้างแผนการที่ละเอียดรอบคอบ สร้างปรัชญาการเมืองและระบอบเศรษฐกิจที่ใหญ่ เลนินได้ทำงานเหล่านี้โดยอาศัยการช่วยเหลือจากสตรีคนหนึ่งที่มีชื่อว่า กรุปสกายา ซึ่งเธอเป็นเพื่อนสมัยเรียนที่เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ซึ่งมีความคิดในทางปฏิวัติเช่นเดียวกัน และถูกเนรเทศมาเหมือนกัน เธอเป็นเลขานุการและเป็นคู่คิดของเลนิน สุดท้ายก็แต่งงานกันที่ไซบีเรีย

ในปี พ.ศ. 2443 เลนินมีอายุได้ 30 ปีพอดี การเนรเทศก็ได้สิ้นสุดลง และเขาได้เดินทางมายังเยอรมนี ได้ตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้นมาฉบับหนึ่งชื่อ Iskra ที่แปลว่า ประกายไฟ ข้อความข้างในเต็มไปด้วยการชักชวนให้ปฏิวัติในรัสเซีย นักปฏิวัติในรัสเซียก็ยึดเขาเป็นหัวหน้าคนหนึ่ง แต่รัฐบาลเยอรมันก็เนรเทศเขาออกจากเยอรมนีอีก

เขาต้องเป็นคนพเนจร แต่ไปทางไหนก็ได้รับความนิยมนับถือ ได้พวกพ้อง ได้ตั้งสาขาติดต่อกับคนในไซบีเรียอย่างสะดวก การหาโอกาสปฏิวัติมีอยู่ทั่วไปในรัสเซีย เพื่อปราบนักปฏิวัติ รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ต้องทำความพยายามอย่างมาก ทั้งประหารชีวิต เนรเทศไปไซบีเรีย แทนที่จะดำเนินการในทางทีดี เช่น บรรเทาทุกข์ราษฎร ช่วยราษฎรที่อดอยาก แต่กลับเพิ่มการกดขี่มากขึ้น จึงทำให้เงาการปฏิวัติยิ่งแผ่ขยายโตขึ้นทุกทีแทนที่จะจางหายไป

ครั้งหนึ่งมีราษฎรหลายหมื่นคนพร้อมลูกเมีย ได้เดินขบวนไปที่พระราชวังของพระเจ้าซาร์ เพื่อเข้าไปร้องขออาหารด้วยความอดอยาก ผู้นำขบวนเป็นพระในคริสต์ศาสนา แต่กลับถูกทหารรักษาการณ์ยิงกราดออกมา กองทหารม้าคอนแซคก็บุกเข้ามาและใช้อาวุธสังหารราษฎรอย่างทารุน มีคนตายที่หน้าพระราชวังประมาณ 1,500 คน

พระเจ้าซาร์และรัฐบาลเห็นว่า ยิ่งปราบก็ยิ่งก่อให้เกิดนักปฏิวัติขึ้น แต่ถ้าให้การบรรเทาทุกข์ หรือทำให้ราษฎรพอใจก็เท่ากับว่ายอมแพ้และจะทำให้พวกปฏิวัติฮึกเหิมว่าตนชนะได้ ทางที่จะระงับความยุ่งยากและทำให้เกิดความสงบ จะต้องทำสงครามขึ้นภายนอก ต้องเลือกมหาสงครามที่จะชนะได้ง่าย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำสงครามกับใคร จึงหันมาที่ญี่ปุ่นเพราะแม้ญี่ปุ่นจะรบชนะจีนมาแล้ว แต่ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะต่อต้านรัสเซียได้ การหาเหตุทำสงครามกับญี่ปุ่นก็ไม่ยาก จึงได้ทำสงครามกับญี่ปุ่นใน ปี พ.ศ.2447

เลนินเห็นว่าเป็นโอกาส การปฏิวัติจะทำได้ในขณะรัสเซียมีสงคราม และลอบเข้าไปในรัสเซียได้ เขาและพรรคพวกชวนกันให้มีการหยุดงานและก่อวินาศกรรมบ้าง สงครามญี่ปุ่น-รัสเซียได้เลิกหลังจากทำไปได้ปีเดียว ถึงรัสเซียจะแพ้แต่ภายในประเทศก็จับพวกนักปฏิวัติได้เป็นจำนวนมาก และเลนินก็หนีไปได้อีก

เขาพเนจรเรื่อยไปไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ก็ไม่ได้หยุดดำเนินการปฏิวัติ ยังพูด เขียน หาพวกพ้อง แต่มิได้แสวงหามติมหาชนอื่นเหมือน ปาเดริวสกี เพราะไม่สามารถทำอย่างนั้นได้

ในปี พ.ศ. 2457 สงครามโลกได้เกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และอีกฝ่ายหนึ่งมีเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี ครั้งนี้เขาระวังตัวมาขึ้น เขาดูผลของสงครามให้แน่นอนก่อน และยังไม่ตัดสินใจทำอะไรลงไป แม้สงครามจะดำเนินมาแล้วตั้ง 2 ปี แต่วันหนึ่งพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าซาร์ได้ถึงการอวสานลงขณะที่เขาอยู่ในเมืองซูริกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาได้ก่อการปฏิวัติใหญ่หลวงขึ้นในรัสเซียและก็ทำได้เป็นผลสำเร็จ

แต่การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ใช่เพราะเขา แต่เป็นของ เกเรนสกี ลูกชายของอาจารย์ในโรงเรียนที่เขาเคยเรียนด้วยกันที่เมืองซิมเบิสกะ สมัยเมื่อ 40 ปีมาแล้ว เกเรนสกี ไวกว่าเลนินมาก เขากระทำการได้สำเร็จ ได้เป็นประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัสเซียที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้

ในรัสเซียตอนนี้เป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบกัน แย่งความเป็นใหญ่ จะหาประวัติศาสตร์แย่งชิงความเป็นใหญ่ได้เหมือนรัสเซียคงไม่มีอีกแล้ว

สงครามโลกครั้งที่ 1 ในปีแรก รัสเซีย โปแลนด์ กาลิเซีย ต้องพ่ายแพ้อย่างใหญ่หลวง ดินแดนสำคัญต้องตกอยู่ในมือของเยอรมัน และเสียกำลังผู้คนอย่างน่าใจหาย ทหารรัสเซียบาดเจ็บและตายถึง 3,800,000 คน ซึ่งในบรรดาสัมพันธมิตร รัสเซียสูญเสียมากยิ่งกว่าใครๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนก็เห็นว่ารัฐบาลไร้ความสามารถ จนพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ต้องเปลี่ยนตัวแม่ทัพนายกอง รัฐมนตรีกลาโหม เปลี่ยนไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น และในปีที่ 2 ของสงครามโลก ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2458 พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ทรงให้ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า พระองค์จะออกสนามรบเอง

การออกรบในครั้งนี้ทำให้เป็นการอวสานของพระองค์ ของวงศ์โรมานอฟ และขัตติยธิปไตยในรัสเซีย การทำเช่นนี้พระองค์อาจเข้าใจว่า จะทำให้พระองค์และวงศ์กษัตริย์เป็นที่รักใคร่ของราษฎร แต่ไม่ได้นึกถึงผลร้ายที่จะเกิดอีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อพระองค์ออกไปรบ ภายในรัสเซียก็ตกอยู่ในมือของ รัสปูติน

เยอรมันส่งรัสปูตินมาเพื่อทำลายล้างรัสเซีย เขามีความร้ายในตัวมากพอที่จะก่อการร้าย เขาปลอมตัวเป็นพระเร่ร่อนพเนจรมาจากไซบีเรีย มีวิชาสะกดจิตอย่างแรงกล้า

ในเวลานั้นพระราชินีรัสเซียเป็นผู้ที่เลื่อมใสในศาสนามาก การนั่งสวดมนต์อ้อนวอน คือความสุขของพระนาง ทรงมีโอรสที่จะเป็นรัชทายาทแต่ก็เป็นคนขี้โรคเกินการรักษาของแพทย์ คือ เมื่อหกล้มหรือมีบาดแผลนิดเดียวก็ทำให้เลือดออกจนซูบซีด ต้องล้มป่วยอยู่นานกว่าจะฟื้น พระราชินีต้องระวังเหมือนไข่ในหิน และแม้จะไม่มีบาดแผลเลือดออก พระโอรสก็เจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ

เรื่องของพระโอรสทำความวิตกให้พระราชินีมาก เพราะแพทย์ก็ไม่อาจรักษาได้ และเมื่อรัสปูตินเข้ามาอาสาว่าจะรักษาพระโอรส และรักษาจนอาการดีขึ้นได้ เพราะการสะกดจิตสามารถรักษาโรคบางโรคได้จริงๆ ในสายตาของพระราชินีในตอนนั้น รัสปูตินคือพระเจ้า และได้ปลดพระประจำราชสำนักที่เป็นพระฝรั่งเศส ชื่อ ฟิลิปป์ เดอ ลียองส์ ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งรัสปูตินขึ้นมาแทนที่ รัสปูตินจึงได้เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักรัสเซียตั้งแต่บัดนั้น

พระราชินีทรงมีกำเนิดเป็นเจ้าหญิงเยอรมัน ได้รับการศึกษาอย่างอังกฤษ มีความนิยมในอังกฤษมากกว่าเยอรมัน เมื่อรัสเซียเข้าสงครามเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ก็สนพระทัยมาก ทรงช่วยงานกาชาดเป็นอย่างดี มีกำลังแรงกล้า แต่มีใจคับแคบ แม้แต่พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของพระมเหสี

อำนาจของรัสปูตินได้เพิ่มมากขึ้นจนสามารถให้คุณหรือโทษต่อใครก็ได้ เพราะการยกย่องของพระราชินี เมื่อพูดอะไรพระราชินีก็เชื่อ ใครที่อยากจะได้ดีทางลัดก็ต้องเข้าเป็นพวกของรัสปูติน พวกรัสปูตินมีมากขึ้น และแวดล้อมด้วยสาวสวยที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ นายพลคนหนึ่งรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความประพฤติที่เลวร้ายของเขาที่มีต่อสตรี ถวายต่อพระเจ้าซาร์โดยตรง พระเจ้าซาร์ก็ไม่กล้าวินิจฉัย จึงเอาหลักฐานไปให้พระราชินีดู นายพลผู้นั้นจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งไป

รัสปูตินมีอำนาจมากขึ้น จนถึงขึ้นถอดถอนหรือแต่งตั้งรัฐมนตรีได้ เขามีงานเลี้ยงรับรองยิ่งใหญ่เหมือนพระเจ้าแผ่นดิน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 นายกรัฐมนตรีชื่อ โกเกมีกิน ถูกพระราชินีบังคับให้ลาออก และแต่งตั้งสมุหพิธีการในราชสำนักที่ชื่อ แล สตีอรเบอร์ ขึ้นรับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพราะผู้นี้เป็นลูกศิษย์ของรัสปูติน

พวกเจ้าใหญ่นายโตของรัสเซียก็แลเห็นว่ารัสปูตินเป็นตัวร้าย คนที่สังหารเขาได้ก็ต้องเป็นเจ้าใหญ่นายโตเท่านั้น จนในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2459 เจ้าชายซูยูปอฟ หลานเขยของพระเจ้าซาร์ ได้เชิญรัสปูตินให้ไปงานเลี้ยงที่บ้านเป็นการส่วนตัว และอยู่กันแค่ 2 คน เจ้าชายได้เอายาพิษใส่ลงในเครื่องดื่มของรัสปูติน แต่ยาพิษไม่สามารถทำอะไรเขาได้ เขารู้ตัวและพยายามจะออกไปจากวัง แต่เจ้าชายก็ได้ยิงเขาด้วยปืนอีก 2 ครั้ง เขาจึงต้องจบชีวิตลง พระเจ้าซาร์ต้องทิ้งสนามรบมาเพื่อฝังศพของรัสปูติน ซึ่งได้จัดขึ้นอย่างมโหฬาร

การฆ่ารัสปูตินไม่สามารถระงับการปฏิวัติได้ พอถึงเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 คนงานสภากาชาดหลายเมืองหยุดงานไปเฉยๆ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ คนในโรงงานทำอาวุธก็หยุดงานหลายแห่ง ต่อมาอาหารในกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์กก็ไม่มีกินเพราะไม่มีคนส่งให้ ในวันที่ 8 มีนาคม ราษฎรเข้ายึดโรงงานทำขนมปังหลายแห่ง จึงเริ่มเกิดการปฏิวัติขึ้นด้วยราษฎรเอง

ราษฎรต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมากด้วยการปราบปรามของตำรวจ ในวันที่ 10 มีนาคม โรงงานและโรงเรียนในเซนต์ปีเตอร์เบิร์กปิดกันหมด มีผู้คนเต็มถนน นักปฏิวัติก็ชักชวนให้คนในชุมชนทำการปฏิวัติ และถูกตำรวจยิงตายไปมาก แต่ทหารบางกลุ่มก็เกิดความเห็นต่อราษฎรจึงเข้าต่อสู้กับตำรวจ

เมื่อพระเจ้าซาร์ทราบเช่นนั้น ก็รับสั่งให้ปราบจลาจลอย่างเด็ดขาด และมอบอำนาจนี้ให้นายพลฮาบาลอฟ โดยเขาประกาศให้ราษฎรอยู่ในความสงบ ห้ามเดินขบวน ห้ามมั่วสุมกัน หากมีการก่อความไม่สงบขึ้นที่ไหนก็จะยิงโดยไม่ปราณี

แต่ราษฎรก็ไม่ได้สนใจกับประกาศนี้ มีคนมากมายมาเดินขบวนตามถนนในวันทอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม ถูกตำรวจยิงกราดล้มตายเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 12 มีนาคม กองทหารรักษาพระองค์ก็มาเข้าช่วยราษฎรด้วยและได้ละทิ้งพระเจ้าซาร์ไว้ กองทหารอื่นๆ ก็เข้าช่วยราษฎรด้วย แล้ว เกเรนสกี ก็ออกมาเป็นผู้บัญชาการปฏิวัติ ราษฎรกับทหารได้เข้ายึดโรงแสงสรรพาวุธ เปิดเรือดจำปล่อยนักโทษ วางเพลิงเผาสถานีตำรวจหลายแห่ง กองทหารของรัฐบาลที่ยังมีอยู่บ้างก็ต้องกักไว้ในกรมกองเพราะกลัวจะไปเข้ากับราษฎรเสียอีก นายพลฮามาลอฟที่ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าซาร์มาให้ปราบกบฏ ก็ไม่สามารถทำได้

รัสเซียมีสภาที่พระเจ้าซาร์ตั้งขึ้นอยู่แล้ว เรียกว่า สภาดูม่า เพื่อไว้ตอบสนองความต้องการของชาวรัสเซียที่อยากมีรัฐสภาเหมือนประเทศอื่น ซึ่งมีหน้าที่คล้ายสภาองคมนตรี อาจมีการประชุมอภิปรายถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าซาร์ แต่ก็อาจจะรับหรือไม่รับคำแนะนำนั้นก็ได้ ในสภานี้มีความโน้มเอียงไปทางปฏิวัติไม่น้อย เมื่อเกิดการปฏิวัติ สภาดูม่า ก็ฉวยโอกาสตั้งตนเป็นสภาแห่งชาติ ทำนองว่าเป็นรัฐบาลชั่วคราว แต่จะไม่เรียกว่ารัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีอย่างที่หลายประเทศเรียกกัน แต่จะเรียกว่า คณะกรรมการ มีการเลือกคนในสภาและพรรคต่างๆ ทำนองรัฐบาลผสม โดยมีประธานกรรมการที่มีฐานะอย่างนายกรัฐมนตรี คือ นายโรดซียังโก เป็นประธานสภาดูม่าอยู่แล้วนั่นเอง

อันที่จริงคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมีอย่างไรก็ยังไม่แน่ใจ จะได้รับการรับรองของพลเมืองหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ตั้งกันไปอย่างนั้นเอง จนกระทั่งนายทหารผู้บังคับบัญชากรมกองต่างๆ ที่มาเข้ากับราษฎรได้บอกให้คำมั่นมาว่า ทหารจะสนับสนุนคณะกรรมการนี้ ขอให้กรรมการคณะนี้ใช้อำนาจและหน้าที่อย่างเป็นรัฐบาลที่แท้จริง จะให้ออกคำสั่งเรียกใช้ทหารเหล่านี้ได้ คณะกรรมการจึงได้ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลที่แท้จริง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ก็ยังคงเรียกกกรมการอยู่นั่นเอง ในคณะรัฐบาลใหม่นี้ เกเรนสกีได้รับเลือกเป็นกรรมการยุติธรรม คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

วิธีการของพวกนี้ก็ดำเนินตามแบบการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส คือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยให้ราษฎรเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสภา และในเวลาเดียวกัน ก็ให้ราษฎรเลือกเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นต่างๆ ใหม่ และให้ทหารมีสิทธิออกเสียงเลือกได้ด้วย

แม้การจะได้ดำเนินมาถึงขึ้นนี้แล้ว พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ซึ่งประทับอยู่ในที่บัญชาการฐานทัพก็ยังไม่ทรงหมดหวังที่จะปราบการปฏิวัติ ได้ทรงส่งนายพลอีกคนหนึ่ง คือ อิวานอฟ คุมกองทหารที่เลือกคัดเป็นพิเศษไปปราบการปฏิวัติ แต่กองทหารของนายพลอิวานอฟนี้ ก็ไม่สามารถจะเข้ากรุงเปโตกราดหรือเซนต์ปีเตอร์เบิร์กได้ รัฐบาลชั่วคราวได้โทรเลขถึงแม่ทัพนายกองที่คุมทหารอยู่ในที่ต่างๆ ขอให้ร่วมมือสนับสนุนรัฐบาลใหม่ ก็ได้รับตอบว่าให้ความร่วมมือ ยิ่งกว่านั้น พระราชวงศ์ชั้นสูงขนาดแกรนด์ดุ๊กหลายองค์ ก็เสนอให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลใหม่ด้วย พระเจ้าซาร์ไม่รู้จะทำประการใด ก็มีรับสั่งให้เข้ามายังกรุงเปโตกราด ให้นายโรดซียังโกออกไปเฝ้า แต่โรดซียังโกก็ไม่ออกไป

พระเจ้าซาร์เสด็จเข้ามาเอง แต่เข้ากรุงเปโตกราดไม่ได้ จึงเสด็จไปกองบัญชาการของนายพลรุซกี ซึ่งทรงเชื่อว่าเป็นนายพลที่จงรักภักดีต่อพระองค์ที่สุด กองบัญชาการของนายพลผู้นี้อยู่ที่เมืองปสะก๊อฟ แต่ในที่นี้ก็ได้ทรงสอบถามแม่ทัพนายกองต่างๆ ของพระองค์มีความเห็นว่าประการใด ทุกคนตอบว่า เห็นควรจะทรงออกจากราชสมบัติ

ในวันที่ 15 มีนาคม รัฐบาลชั่วคราวได้ส่งผู้แทนสองคนไปเฝ้าพระเจ้าซาร์ ทูลขอให้ลาออกจากราชสมบัติ พระเจ้าซาร์ไม่มีทางขัดขืนได้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ใครจะสืบราชสมบัติต่อไป เพราะการลาออกจากราชสมบัตินั้น พระเจ้าแผ่นดินที่ลาออกมีสิทธิจะบอกว่าลาออกเพื่อใคร และให้ราชสมบัติแก่ใคร ผู้มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะได้ราชสมบัติก็คือ พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทอยู่แล้ว แต่พระเจ้าซาร์ก็ทรงทราบว่า สุขภาพอนามัยของพระโอรสไม่ดีเลย พระเจ้าซาร์จึงทรงสละราชสมบัติเพื่อแกรนด์ดุ๊กไมเคิล พระอนุชาธิราช และทรงร้องขอไปยังรัฐบาลใหม่ให้ยกแกรนด์ดุ๊กไมเคิลขึ้นสืบราชสมบัติ

แกรนด์ดุ๊กไมเคิล ซึ่งมองเห็นภัยในกาลข้างหน้าไม่ยอมรับราชสมบัติที่พระเจ้าซาร์พระราชทานให้ และบอกไปยังรัฐบาลใหม่ว่าไม่ยอมรับ นอกจากสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้แต่งตั้ง

นี่คืออวสานแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือคนกว่า 100 ล้านคน สมบูรณ์ด้วยศฤงคารบริวาร ผู้สาบานว่าจะซื่อตรงจงรัก เราจะเห็นได้ว่า การปฏิวัติในรัสเซียไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอย่างไรเลย การปฏิวัติในฝรั่งเศสในสมัยหลุยส์ที่ 16 เสียอีกที่ยังเสียเลือดเนื้อมากกว่า ไม่มีใครคาดหมายเลยว่า พระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าซาร์จะพังทลายลงง่ายเช่นนี้ นักประวัติศาสตร์ทุกคนให้ความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าซาร์ เป็นเสมือนสิ่งก่อสร้างมหึมา ที่รากกร่อนผุพังไปนานแล้ว เมื่อยังไม่มีใครกล้าผลักดัน ก็ยังตั้งอยู่อย่างมหึมาน่าสะพรึงกลัว แต่พอมีคนใจกล้ากล้าลองผลักดันเข้านิดเดียวก็พังทลาย การพยายามรักษาความยิ่งใหญ่ด้วยความโหดร้าย เป็นการทำลายรากฐานแห่งความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ไม่มีใครจะรักษาความยิ่งใหญ่ไว้ได้นาน ด้วยวิธีการอันโหดร้ายนี้

ข้อควรสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การปฏิวัติซึ่งมีผลเปลี่ยนโฉมหน้าของรัสเซีย และเปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ให้เป็นสีแดงไปซีกหนึ่งนั้น เป็นการใช้กำลังเล็กน้อยในกรุงเปโตกราดนั้นเอง พลเมืองทั่วไปยังไม่รู้ว่าการปฏิวัตินั่นคืออะไร ทราบแต่ว่ามีการปฏิวัติ ซึ่งรัสเซียได้คิดคำใช้ใหม่ว่า เรโวลุตเซีย และราชวงศ์โรมานอฟสิ้นสูญไปแล้ เรื่องได้เกิดขึ้นอย่างเดียวกันกับเมื่อ 92 ปีที่แล้ว เมื่อพวกทหารได้คิดการปฏิวัติโดยมุ่งหมายให้พระมหากษัตริย์รัสเซียอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และให้เจ้าชายคอนสตันตินขึ้นครองราชย์สมบัติแทน พระเจ้าเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 1 เพราะทหารรักเจ้าชายคอนสตันตินมาก คำว่า รัฐธรรมนูญ นั้นรัสเซียก็ยังไม่มีใช้ ต้องเอาคำฝรั่งเศสมาใช้ว่า คองสติตูซิยอง ทหารได้ก่อการจลาจลขึ้น ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2368 ทหารทั้งกองวิ่งมาโห่ร้อง ขอให้เจ้าชายคอนสตันตินทรงพระเจริญ ขอให้คองสติตูซิยองจงเจริญ การจลาจลครั้งนี้ รัฐบาลปราบลงได้ เวลาเอาตัวมาชำระ เมื่อตุลาการถามว่าคองสติตูซิยอง ที่ร้องกันนั้นคืออะไร มีหลายคนตอบว่า คือ เจ้าหญิงชายาของเจ้าชายคอนสตันติน ซึ่งเขารักมาก นี้เป็นเรื่องเมื่อ 92 ปีก่อน การปฏิวัติครั้งนี้เวลาล่วงมาเกือบ 100 ปี พลเมืองไม่ได้รับการศึกษาดีขึ้นอย่างไร มีคนเป็นอันมากเดินทางเข้ามาเปโตกราด หาซื้อรูปถ่ายของ เรโวลุตเซีย ที่เขาได้ทราบว่าขึ้นเป็นใหญ่แทนพระเจ้าซาร์ เขาอยากรู้ว่าเรโวลุตเซียหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อพระเจ้าซาร์ลาออกจากราชสมบัติ โดยปราศจากผู้สืบสาย อำนาจในการบ้านการเมืองจึงตกอยู่แก่รัฐบาลชั่วคราว และอังกฤษกับฝรั่งเศสก็รีบรับรองรัฐบาลใหม่ เพื่อให้รัสเซียสู้สงครามต่อไป รัฐบาลใหม่ของรัสเซียได้ให้ความมั่นใจแก่อังกฤษ ฝรั่งเศส ว่าจะสู้สงครามจนถึงชัยชนะ และรัฐบาลใหม่นี้ ก็ประพฤติเรียบร้อย ไม่รุนแรง ไม่เข้าแทรกแซงในงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้สภานั้นทำงานโดยเสรีภาพ

บุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้ลงแรงทำงานมากในเรื่องปฏิวัติ และยังไม่ได้เอ่ยชื่อมาจนกระทั่งบัดนี้ คือ ทร้อตสกี บุคคลผู้นี้เป็นผู้ฉลาด มีความรู้สูง และหาพรรคพวกมาไว้ได้มากเหมือนกัน ในระหว่างที่เกิดการปฏิวัตินี้ ทร้อตสกีอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้รีบเดินทางเข้ามาประเทศรัสเซีย ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษฝรั่งเศส ส่วนเลนินซึ่งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ก็เดินทางเข้ารัสเซียด้วยความช่วยเหลือของเยอรมัน และเข้าถึงกรุงเปโตกราด เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2460 การเดินทางเข้ารัสเซียด้วยความช่วยเหลือของเยอรมันเช่นนี้ ทำให้เลนินตกฐานะยากลำบากมากในชั้นต้น เพราะถึงอย่างไรคนรัสเซียก็ไม่ชอบเยอรมัน ซึ่งจะยังเป็นศัตรูกันอยู่ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเลนินเข้าไปถึง ก็ชักชวนไปในทางที่จะให้รัสเซียเลิกสงคราม อ้างว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงภายในประเทศเพื่อผลดีแห่งการปฏิวัติ การทำสงครามต่อไปไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่ทางเสียแก่ประเทศเช่นนี้ ยิ่งทำให้คนเห็นเลนินเป็นเอเยนต์กินสินบนของเยอรมันมากขึ้น

ในขณะนี้ ผู้ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ เกเรนสกี ซึ่งมีคณะปฏิวัติคณะใหญ่ เรียกชื่อว่า โซเวียต หนุนหลังอยู่ และเกเรนสกียืนยัให้รัสเซียดำเนินการสงครามอยู่ข้างฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศสต่อไป เมื่อเลนินเข้ามาชักจูงในทางตรงกันข้าม พวกของเกเรนสกี ก็เสนอความเห็นให้จับเลนิน แต่เกเรนสกียังไม่ทำ “ปล่อยเขาเถอะ” เกเรนสกีพูด “เขาเป็นคนสติไม่ค่อยดี”

แต่การชักชวนของเลนิน ในการที่จะให้รัสเซียปลีกตัวออกจากสงคราม เพื่อปรับปรุงการภายในของรัสเซียเองนั้นได้ผลมากขึ้นทุกที ส่วนดวงดาวประจำชีพของเกเรนสกีก็กำลังรุ่งโรจน์ ในเดือนพฤษภาคม ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ เกเรนสกีได้เป็นประมุขของรัสเซียโดยมีคณะโซเวียตหนุนหลัง ส่วนเลนินและพวกของทร้อตสกี ทำงานร่วมกัน ยังคงแยกกันอยู่เป็นคนละพวก พวกของเลนินมีจำนวนมากกว่า เรียกกันว่ บอลเชวิค ซึ่งแปลว่า พวกข้างมาก ส่วนทางทร้อตสกีมีพวกน้อยกว่า ที่เรียกกันว่า เมนเชวิค แปลว่า พวกข้างน้อย แต่ก็มีความสำคัญมากเหมือนกัน และเป็นอันว่า คณะพรรคการเมืองที่สำคัญของรัสเซียเวลานั้น มีอยู่ 3 คือ โซเวียตของเกเรนสกี บอลเชวิคของเลนิน และเมนเชวิคของทร้อตสกี

เลนินคงดำเนินกุศโลบายอันเดียว แสดงให้คนเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสังคมและเศรษฐกิจ การปฏิวัติไม่ได้หมายถึงการแย่งอำนาจปกครองจากมือคนคนหนึ่ง หรือพวกหนึ่งมาไว้ในมือคนหนึ่งหรืออีกพวกหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึง งานใหญ่หลวงที่จะต้องทำต่อภายหน้า การโค่นพระเจ้าซาร์ หรือทำลายราชวงศ์โรมานอฟให้ล้มราบไปนั้น ไม่ได้หมายความว่า การปฏิวัติสำเร็จ การปฏิวัติเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้นเอง การทำสงครามต่อไป มีแต่จะเกิดความพินาศแก่รัสเซีย งานเฉพาะหน้าของรัสเซียเวลานี้อยู่ที่ปรับปรุงการภายใน ซึ่งถ้ามัวติดสงครามอยู่ก็ไม่มีทางจะปรับปรุงได้

ส่วนเกเรนสกี พยายามยึดทางทหาร เอาใจใส่กับทหารเป็นพิเศษ ถึงกับออกไปอยู่กับทหารในสนามรบในบางครั้ง บัญชาการรบด้วยตนเอง ทำงานขันแข็งจนกระทั่งในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เกเรนสกีเองเป็นผู้บัญชาการรุกรบอย่างใหญ่ เป็นการรุกรบครั้งแรกที่รัสเซียได้ทำตั้งแต่เกิดการปฏิวัติมา การที่เกเรนสกีเข้าไปยึดทหารเป็นที่พึ่ง ถึงกับบัญชาการรบเองเช่นนี้ เปิดช่องให้เลนินมีทางโจมตีเกเรนสกีก็ได้ดียิ่งขึ้น คือ เลนินประกาศว่า เกเรนสกีทำอย่างนั้น โดยหวังความช่วยเหลือของอังกฤษฝรั่งเศส สำหรับจะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ต่อไป

เผอิญการรุกรบที่เกเรนสกีเปิดขึ้นนั้นก็ไร้ผล ความขาดแคลนเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งในทหารและในชีวิตของพลเมือง ความขาดแคลนอาหารนั้นเป็นภัยที่พลเมืองได้รับอยู่นานแล้ว คราวนี้ทหารในสนามรบเองก็เกิดความขาดแคลนลงไปด้วย ทหารคนหนึ่งได้ขนมปังเพียงวันละ 1 ใน 4 ของปอนด์ จะทำการรบไปได้อย่างไร เครื่องใช้ก็หมดเปลืองไป จนทหารบางกรมกองไม่มีรองเท้าจะใช้ ความตายเพราะอดอยากเจ็บไข้ในสนาม มีมากกว่าความตายด้วยอาวุธของข้าศึก จึงได้เกิดมีทหารหนีทัพเป็นจำนวนมากหลาย เกเรนสกีเห็นว่าการที่เกิดมีทหารหนีทัพก็เนื่องจากการปลุกปั่นของพวกบอลเชวิค และเมนเชวิค จึงรับสั่งจับเลนินและทร้อตสกี และพรรคพวกคนสำคัญๆ ทร้อตสกีกับพวกบอลเชวิค เมนเชวิคหลายๆ คนถูกจับ เลนินหนีได้ แต่ก็มิได้หนีออกจากรัสเซีย คงหลบหนีซุ่มซ่อนอยู่ในรัสเซียนั่นเอง เกเรนสกีได้พยายามประกาศว่า ทั้งเลนิน และทร้อตสกีเป็นเอเยนต์ของเยอรมัน และเป็นศัตรูของประเทศชาติ เป็นอันว่าต่างฝ่ายต่างกล่าวหากัน พวกของเลนินและทร้อตสกี ก็คงดำเนินการป่าวประกาศว่า เกเรนสกีประจบอังกฤษ ฝรั่งเศส เพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของตัวไว้ โดยไม่นึกถึงความยากลำบากของพลเมือง

แต่สิ่งที่ต้องตัดสินความแพ้ชนะของทั้งสองฝ่ายนี้ก็คือความขาดแคลนนั้นเอง สำหรับทหารในสนามรบนั้น นอกจากจะขาดแคลนเรื่องอาหาร และเครื่องหุ้มห่อร่างกายแล้ว กระสุนปืนเองก็บกพร่องขาดแคลนลงไปด้วย เป็นปัญหาที่เกเรนสกีเองไม่สามารถจะแก้ได้ ทหารที่เกเรนสกีพยายามเกาะไว้นั้นก็หันมาเห็นจริงและเลื่อมใสทางเลนิน สุดท้ายทหารก็ยื่นคำขาดต่อเกเรนสกีเองว่าต้องเลิกสงคราม เกเรนสกีถูกบังคับให้สั่งปล่อยพวกบอลเชวิค และเมนเชวิคที่จับไว้ เลนินกับทร้อตสกีก็ร่วมมือกัน พรรคพวกของเลนินมีมากขึ้น เพราะทหารมาเข้าด้วยมากขึ้นทุกที

ในที่สุดเลนินก็ยึดอำนาจด้วยกำลัง มีการสู้รบกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสงครามกลางเมืองใหญ่หลวง เพราะฝ่ายรัฐบาลไม่มีอะไรจะสู้ สุดท้ายเหลือกองทหารหญิงกองเดียวที่เป็นพวกของรับบาล ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 รัฐมนตรีต่างๆ ถูกจับมาขังในป้อง เกเรนสกีพยายามรวบรวมทหารคอสแซคนอกกรุงเปโตกราดเพื่อต่อสู้แต่ก็ไม่สำเร็จ เลนินมีชัยมาตั้งรัฐบาลใหม่ที่มอสโก และรัสเซียก็ทำสันติภาพกับเยอรมัน ในคณะรัฐบาลใหม่ซึ่งเลนินเป็นประมุขนี้ ทร้อตสกีได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อได้อำนาจอันแท้จริงไว้ในมือแล้ว เลนินก็ทำตามที่ตนพูด คือปรับปรุงการภายใน เริ่มตั้งแต่ประกาศให้ที่ดินเป็นสิทธิแก่ผู้ที่กำลังทำอยู่ ซึ่งเป็นการรอนริบที่ดินจากพวกเจ้าที่ดิน และใช้คนเป็นสัตว์อยู่ในที่ดินของตัว และต่อมาไม่ช้าก็ประกาศเอาที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ ริบทรัพย์สมบัติของวัด ซึ่งเป็นแหล่งมั่งคั่งอีกแห่งหนึ่ง ริบบ้านเรือนเคหสถานของผู้มั่งคั่งให้ราษฎรที่ไม่มีบ้านได้เข้าไปอยู่

การปฏิวัติในรัสเซียเริ่มต้นด้วยการไม่เสียเลือดเนื้อมาก แต่ได้มาเสียเลือดเนื้อมากในตอนปรับปรุงตามวิธีของเลนิน พวกคนมั่งมี พวกเจ้าใหญ่นายโตต้องแตกกันไปอยู่ต่างประเทศ หาอาชีพเพียงพอจะให้มีชีวิตอยู่ได้ คนชั้นดุ๊กของรัสเซีย พอใจที่จะรับงานแม้เพียงเป็นคนขับรถ หรือเดินอาหารในเรสเตอรองต์ที่กรุงปารีส สำหรับคนพวกนี้ รัสเซียกลายเป็นประเทศบ้านแตกสาแหรกขาด แต่สำหรับพลเมืองทั่วไป การถูกบังคับให้ทำงานด้วยวิธีการอันแรงร้าย ก็ทำให้มีกินมีอยู่ พูดกันตามความยุติธรรม ฐานะของคนยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรและชาวนานั้นดีขึ้นกว่าในสมัยซาร์เป็นอันมาก ฐานะของพลเมืองรัสเซียอาจไม่ดีกว่าพลเมืองชาติอื่น แต่ดีกว่าฐานะของตนเองในสมัยซาร์แน่

เซอร์ Bernard Pares คนอังกฤษซึ่งถือกันว่าเป็นนักศึกษาที่รู้ความเป็นไปในรัสเซียดีที่สุด และเขียนเรื่องรัสเซียด้วยความเที่ยงธรรมที่สุด ได้เขียนประวัติศาสตร์รัสเซีย จนกระทั่งถึงสมัยสุดท้ายกล่าวถึงเลนินว่า คนทั้งหลายมองดูเลนินเหมือนโมเสส และเชื่อฟังคำสั่งสอนของเลนินเหมือนบัญญัติ 10 ประการ ที่โมเสสถือลงมาจากยอดเขาซินาอี เป็นอันว่าทั้งนักเขียนอังกฤษ อเมริกา เขียนสอดคล้องต้องกัน ว่าประชาชนชาวรัสเซียรักเลนินเหมือนเทพเจ้า

เลนินเป็นนักปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ความร่วมมือของประชาชนอย่างแท้จริง เขาทำงานอย่างเผด็จการ แต่เป็นผู้เผด็จการที่ฟังเสียงประชาชน และอารมณ์ดีอยู่ทุกขณะ ครั้งหนึ่งในที่ประชุมใหญ่ หญิงนักการเมืองคนหนึ่ง ลุกขึ้นกล่าวผรุสวาทต่อเลนินอย่างหยาบคาย ชูปืนขึ้นให้ดู บอกว่ามีปืนอยู่สำหรับจะฆ่าเลนิน เลนินหัวเราะและพูดขอต่อที่ประชุมให้อภัยแก่หญิงนั้น เป็นเหตุให้หญิงนั้นรอดอันตรายไม่ถูกฆ่าตายในที่ประชุม

แต่เลนินเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่อายุสั้น มีโรคภัยไข้เจ็บมาก และถึงแก่ความตายเมื่ออายุเพียง 54 ปี นับว่าเป็นอายุน้อยสำหรับผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย แต่สามารถดำรงความยิ่งใหญ่และความรักความนิยมไว้จนกระทั่งตาย เมื่อตายแล้วจึงยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง กรุงเปโตกราดได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เลนินกราด ที่ฝังศพของเลนินเป็นปูชนียสถานสำคัญที่สุดของรัสเซีย ซึ่งมีคนไปทำสักการบูชาอยู่เป็นเนืองนิตย์

ความตายของเลนิน ได้ทิ้งประเทศรัสเซียไว้ในความแข่งดีของบุคคลสองคน คือทร้อตสกี กับ สตาลิน

ชื่อเลนินก็ดี สตาลินก็ดี ไม่ใช่ชื่อกำเนิด เป็นแต่นามที่ใช้ในเวลาเตรียมการปฏิวัติ ชื่อจริงของเขาอ่านยากกว่านี้มาก ชื่อจริงของเลนินชื่อ Vladimir Ilyich Ulianov ชื่อจริงของสตาลิน ชื่อ Yosif Visarionovitch Dzhugasshvili

สตาลินเกิดภายหลังเลนิน 9 ปี เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในรัสเซีย สตาลินมีอายุเพียง 39 ปี แต่ 38 ปีที่ผ่านมานั้น ก็โลดโผนผจญภัยไม่น้อยกว่าผู้อื่น เคยเข้าคุก 5 ครั้ง ไม่ใช่ถูกจำเพียงเวลาเล็กน้อย ได้รับการปล่อยแล้วก็ทำผิดใหม่ ที่จริงถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลานานปี แต่หนีคุกได้เรื่อยๆ จับเอามาขังใหม่ก็หนีได้ใหม่ สุดท้ายก็ต้องไปอยู่ไซบีเรีย อย่างเดียวกับเลนิน เวลาเกิดปฏิวัติในรัสเซีย สตาลินยังอยู่ที่ไซบีเรีย เพิ่งมาเข้าพวกอยู่กับเลนินเมื่อภายหลังปฏิวัติ

แต่มาเข้าพวกก็เด่นขึ้นเร็วมาก ความเด่นของบุคคลผู้นี้ อยู่ที่ความเป็นนกปฏิวัติ ไม่มีใครจะสามารถปฏิบัติตามคำสั่งของเลนินได้ผลสำเร็จเรียบร้อยเหมือนสตาลิน สั่งไว้อย่างไรทำให้อย่างนั้น บางทีไม่ต้องสั่งเพียงแต่ความประสงค์อย่างกว้างๆ ก็ทำมาได้สำเร็จ เลนินได้สังเกตเห็นทั้งความสามารถและความมักใหญ่ใฝ่สูงของบุคคลนี้ เลนินชอบใช้ แต่ไม่ไว้วางใจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงของสตาลินทำให้เลนินหวั่นใจทุกขณะ เขาได้รับเลือกขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเลนินตั้งขึ้น อันที่จริงไม่มีใครเหมาะสำหรับตำแหน่งนี้เท่าสตาลิน เพราะคุณสมบัติที่ต้องการมากที่สุดในหน้าที่เลขาธิการพรรค คือ ความเป็นนักปฏิวัติ สมรรถภาพทางดำเนินการให้เกิดผลตามมติของที่ประชุม หรือตามคำสั่งของประมุข แต่บุคคลผู้นี้ทำให้เลนินวิตกอยู่ตลอดเวลา วิตกในนิสัยใฝ่สูง ซึ่งเลนินเองมองเห็นอย่างชัดแจ้ง ถึงกับครั้งหนึ่งเลนินแนะนำสมาชิกที่สำคัญๆ พรรคคอมมิวนิสต์ให้ลงมติเอาคนอื่นเป็นเลขาธิการแทนสตาลิน แต่ก็ไม่สามารถเอาสตาลินออกได้

การที่เลนินไม่ไว้วางไว้ ถึงกับพยายามขับไล่เช่นนี้ สตาลินก็ทราบแต่ทำไม่รู้ สตาลินยังแสดงความเคารพความจงรัก และทำตนเป็นศิษย์ที่ภักดีต่อเลนินอยู่เสมอ ทั้งต่อหน้าและลับหลังเลนิน สุดท้ายเลนินก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน

จากปากคำของคนสนิทที่ปฏิบัติเลนินอยู่ใกล้ชิดในเวลาป่วยหนัก เลนินก็แสดงความวิตกในเรื่องคนที่จะเป็นทายาทรับอำนาจแทนตนต่อไป เลนินพูดถึงสตาลินว่ามีลักษณะเป็นผู้ดีน้อยไป เป็นคนถือตัวหยาบคาย และเกรงจะไม่เป็นมิตรกับราษฎรจริงๆ พูดถึงทร้อตสกีว่ามีความรู้เป็นผู้ดีมากกว่าเลนิน ความรู้ความคิดก็ดีกว่า แต่เป็นคนไม่ตัดสินอะไรแน่นอน เปลี่ยนความคิดเห็นได้ง่าย ตกลงใจไว้อย่างหนึ่ง พอมีใครมาชักจูงไปทางอื่น ก็หันเหเปลี่ยนไป คนชนิดนี้จะฉลาดสักเพียงไร ก็ไม่เหมาะสำหรับจะเป็นผู้นำประเทศ เช่น รัสเซีย รวมความว่า เลนินมองก็ไม่รู้จะเลือกใครเป็นทายาทรับภาระการบ้านเมืองเมื่อตนล่วงลับไปแล้ว เลนินจึงต้องตายอย่างปล่อยให้คนที่อยู่ข้างหลังแย่งชิงกันเอง

นอกจากทร้อตสกีกับสตาลิน ยังมีคนอีกสองคนซึ่งมีความสำคัญ คือ กาเมเนฟ และ ชิโนเวียฟ ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินชื่อ เพราะมีความสำคัญอยู่ไม่มากนัก สตาลินได้มงเห็นอยู่แล้วว่า คู่แข่งอันแท้จริงของตนนั้น คือ ทร้อตสกี จึงได้พยายามผูกมิตรกับกาเมเนฟ และซิโนเวียฟ เพื่อให้ตนมีกำลังเหนือทร้อตสกีอยู่เสมอ เมื่อ 3 กำลังมารวมกันเข้าเช่นนี้ ก็แน่ใจว่าจะสามารถเอาชนะทร้อตสกีได้

เมื่อเลนินถึงแก่กรรม ถ้าสตาลินจะเอาอำนาจเป็นของตนแต่ผู้เดียว ก้มีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะเอาได้ แต่สตาลินเองได้เสนอความเห็นให้ตั้งคณะปกครองสามคณะ ทำนอง Triumvirate ของโรมันสมัยโบราณ ผู้ที่อยู่ในคณะปกครองสามคนนี้ คือ กาเมเนฟ ซิโนเวียฟ และตัวสตาลินเอง วิธีการที่ไม่ตะกรุมตะกราม ใจเร็วด่วนได้ หาอำนาจคนเดียวในทันทีทันใดเช่นนี้ เป็นผลดีแก่สตาลินเป็นอันมาก ผลดีประการแรกคือ ทำให้คนเห็นว่าสตาลินเสงี่ยมเจียมตัว ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง และผลประการที่สองซึ่งเป็นผลสำคัญยิ่งกว่าคือ วิธีตั้งคณะปกครอง 3 คนอย่างนี้เป็นทางให้สามารถกำจัดทร้อตสกีออกไปได้แน่นอน

แต่ทร้อตสกียังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพยายามผูกมิตรกับแม่ทัพนายกองทั้งหลายไว้เป็นกำลัง หนึ่งปีภายหลังที่เลนินถึงแก่กรรม สตาลินก็ได้แสดงออกมาอย่างเปิดเผยว่า งานสำคัญที่สุดของรัสเซียไม่ได้อยู่ที่การทหาร เพราะไม่ต้องการจะรบกับใคร ในเวลานี้จุดประสงค์ของการปฏิวัติก็ดี แผนการของเลนินก็ดี ความสำคัญยิ่งใหญ่อยู่ที่เศรษฐกิจ หัวใจของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็อยู่ในเรื่องเศรษฐกิจนี้เอง การทหารในเวลานี้ใครๆ ก็ทำได้ แต่เรื่องเศรษฐกิจนั้นต้องการผู้มีความสามารถเป็นพิเศษ และก็มองไม่เห็นใครนอกจากทร้อตสกี จึงต้องขอให้ทร้อตสกีย้ายจากกลาโหมมาว่ากระทรวงเศรษฐการ

ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เห็นชอบ อนุมัติให้ย้ายทร้อตสกีจากกลาโหมมาไว้เศรษฐการ ทร้อตสกีก็รู้ว่าเป็นการสังหารอนาคตของทร้อตสกี เป็นการตัดหนทางตัดกำลังของทร้อตสกีโดยตรง แต่ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ต้องยอมรับตำแหน่งเศรษฐการ แล้วก็มีเรื่องขัดแย้งกันมากหลายกับสตาลิน ซึ่งสุดท้ายทร้อตสกีก็อยู่ในรัสเซียไม่ได้ ต้องร่อนแร่พเนจรไปหลายแห่ง สุดท้ายได้ไปพักอาศัยเป็นหลักแหล่งอยู่ในประเทศเม็กซิโก เกิดเขียนประวัติของสตาลินขึ้นมา เขียนอย่างละเอียดลออ เป็นหนังสือเล่มขนาดใหญ่ เป็นประวัติละเอียดที่สุดที่จะพึงเขียนได้ในเรื่องชีวิตของมนุษย์ที่ยังไม่ตาย นอกจากจะมีข้อความละเอียดพิสดารแล้ว ทร้อตสกียังสามารถหารูปถ่ายยุคต่างๆ ในชีวิตของสตาลิน ตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งเติบโต

เขียนเนื้อเรื่องและเตรียมภาพประกอบไว้ได้มากแล้วก็เขียนคำนำ ซึ่งเป็นคำนำที่ยืดยาว สมกับเป็นหนังสือเรื่องใหญ่ พิมพ์ตัวเล็กๆ ในหน้ากระดาษขนาดใหญ่ถึง 4 หน้าครึ่งแล้ว ยังไม่จบคำนำ นั่งเขียนอยู่ในบ้านที่อยู่ของตัวในประเทศเม็กซิโก เขียนมาถึงตอนที่ว่า

“เลนินได้สร้างเครื่องจักรทั้งหลายไว้ให้พรักพร้อม สร้างด้วยความร่วมมือของประชาชนเสมอมา และฟังเสียงประชาชน ถ้าไม่ใช่จากปากคำก็จากหนังสือพิมพ์ ถ้าไม่ฟังเองก็ฟังจากศิษย์ ส่วนสตาลินไม่ได้สร้างเครื่องจักรอันใด แต่ถืออำนาจเข้ายึดครองเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องใช้คุณสมบัติพิเศษอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่คุณสมบัติของบุคคลที่ประวัติศาสตร์จะยอมรับว่าเป็นนักริเริ่ม นักคิด นักเขียนหรือนักพูด เครื่องจักรทั้งหลายได้เติบโตขึ้นจากความคิด แต่ลักษณะอันแรกของสตาลินเป็นคนดูหมิ่นความคิดความคิดได้…”

เขียนได้เพียงเท่านี้ ถูกคนร้ายเอาขวานพกฟันลงบนเบื้องหลังของศีรษะถึงแก่ความตาย เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2483

เมื่อทร้อตสกีถึงแก่ความตาย มีอายุ 63 ปี ทร้อตสกีเกิดก่อนสตาลิน 2 ปี

เมื่อทร้อตสกีไม่สามารถจะเป็นคู่แข่งของสตาลินได้แล้ว บุคคลอีกสองคนคือ กาเมเนฟ กับ ซิโนเวียฟ ก็ร่วงหล่นไปโดยง่าย ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2468 ได้เกิดมีความเห็นขัดแย้งระหว่างกาเมเนฟกับสตาลิน เอาเรื่องขึ้นสู่ที่ประชุม หัวหน้าสายของพรรคกาเมเนฟแพ้คะแนนถึง 1 ใน 10 จึงลาออกไป ต่อมาอีกปีหนึ่งใน พ.ศ. 2489 ซิโนเวียฟได้มอบหมายหน้าที่ให้ติดต่อบัญชาการแก่เอเยนต์คอมมิวนิสต์ในประเทศอังกฤษ ให้มีการหยุดงานทั่วไป การหยุดงานไม่ได้ผล ซิโนเวียฟเลยร่วงหล่นไปอีก ตั้งแต่นั้นมาสตาลินก็ครองอำนาจในรัสเซียเพียงผู้เดียว

ข้อความที่กล่าวในเรื่องเลนิน ซึ่งได้กล่าวเลยไปถึงเรื่องของคนสำคัญรัสเซียอีกหลายคน คือ เกเรนสกี ทร้อตสกี และสตาลินนี้ เรื่องราวแจ่มชัดอยู่ในตัว โครสร้างความยิ่งใหญ่ของตนเองด้วยวิธีการหรือกุศโลบายอย่างไร ท่านคงจะได้เห็นแง่เงื่อนมาโดยลำดับแล้ว
ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตวาทการ

ซุนยัดเซน(Sun Yat-Sen)

ซุนยัดเซนเป็นนักปฏิวัติคนหนึ่งที่ได้รับความรักความนับถืออย่างหาใครเปรียบไม่ได้ ในหัวใจของชาวจีนเขามีฐานะอย่างเทพเจ้า เกือบทุกบ้านติดรูปเขาไว้บูชาอย่างรูปโพธิสัตว์ ซึ่งเขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงอีกคนหนึ่งเช่นกัน

ซุนยัดเซนเกิดเมื่อพ.ศ. 2409 และเมื่อ พ.ศ. 2468 ก็ได้ถึงแก่กรรมลง ตอนอายุได้ 59 ปี เขาตายในขณะที่คนกำลังรักและบูชา จึงสามารถดำรงความรักและบูชาของคนทั้งหลายไว้ได้

นาม “ซุนยัดเซน” เป็นนามที่มาเปลี่ยนภายหลัง ตอนแรกที่เกิดพ่อแม่ได้ตั้งชื่อให้เขาว่า “ซุนเวน”

ในวัยเด็กเขาต้องทำงานหนักมาก เรียนหนังสือทุกวันไม่มีวันหยุด กลับจากเรียนก็มาทำงานไร่นาของพ่ออย่างหนักที่บ้าน พ่อของเขาเป็นคนสมัยใหม่ มีความฝันว่า วันหนึ่งลูกของเขาจะได้ไปอเมริกา ทำมาหากินร่ำรวย หาเงินได้มากๆ แล้วกลับมาอยู่บ้านเดิมอย่างสบาย

บิดาของซุนเวนไม่เคยเห็นอเมริกา ไม่เคยทราบว่าอเมริกาหรือชนชาติอเมริกาเป็นอย่างไร ก็พูดไปอย่างนั้นเอง เขาทราบแต่เพียงว่าที่นั่นหาเงินง่าย มีคนร่ำรวยมากมาย มีคนจีนไปทำมาหากินในอเมริกาแล้วร่ำรวยกลับมา

แต่ป้าของซุนเวนเป็นคนมีความรู้กว้างขวางในหมู่บ้าน มีความรู้เรื่องอเมริกาและชาวอเมริกาอยู่บ้าง เธอบอกกับซุนเวนตั้งแต่เด็กว่า ชาวอเมริกันเป็นมนุษย์ที่แปลกประหลาด แต่งตัวไม่เหมือนคนจีน ผู้ชายไม่ไว้ผมเปีย ไม่ใช้ตะเกียบกินอาหาร แต่ใช้เหล็กแหลมๆ แทงลงไปในอาหาร คำอธิบายของป้าทำให้ซุนเวนเกิดความสนใจเกิดความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น

ต่อมาเขาก็ได้สอบถามคนจีนที่เคยไปอเมริกาจริงๆ เพื่อให้แน่ใจถึงคำอธิบายของป้า เขาก็ได้รับคำตอบว่าเป็นความจริงและไม่ใช่เพียงเท่านั้น ชาวอเมริกันยังมีความแปลกอีกหลายอย่าง เช่น เขาไม่ต้องขึ้นอยู่ใต้บังคับของพระโอรสแห่งสวรรค์ของกรุงจีน เขามีผู้ปกครองสูงสุดของเขาเอง และไม่เคยจับคนที่ไม่มีความผิดไปประหารชีวิตหรือลงโทษ

ซุนเวนเคยได้รับคำสั่งสอนมาว่า โลกทั้งโลกอยู่ใต้พระบรมราชานุภาพของพระเจ้ากรุงจีน เขตแดนแผ่นดินไม่ว่าจะตะวันออก ตะวันตก หรือเหนือใต้ จะอยู่ภายใต้อำนาจพระโอรสแห่งสวรรค์เท่านั้น เป็นไปได้หรือที่มนุษย์ใดจะมีผู้ปกครองสูงสุดของเขาเองและไม่ขึ้นกับพระเจ้ากรุงจีน

และที่แปลกยิ่งกว่า ก็คือ ผู้ปกครองสูงสุดของอเมริกัน ไม่เคยจับคนที่ไม่มีความผิดมาประหารชีวิตหรือลงโทษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เขาคิดว่าผู้ปกครองสูงสุดเป็นเจ้าชีวิต อยากฆ่าใคร ลงโทษใครก็ได้ ที่ไม่ลงโทษหรือฆ่าผู้ที่ไม่ทำความผิด และลงโทษหรือประหารเฉพาะผู้ที่ทำความผิดมีอยู่จริงหรือ

ความอยากรู้อยากเห็นเหล่านี้มีอยู่ในใจของซุนเวนเสมอ พ่อของเขาที่เป็นคนสมัยใหม่ได้ส่งลูกชายคนโตที่ชื่อ ดาโก ไปโฮโนลูลู ดาโกเป็นคนเก่งมากที่พยายามทำมาหากินจนตั้งตัวได้ มีร้านค้าเป็นหลักแหล่ง และได้เอาซุนเวนไปอยู่ด้วย โดยให้เรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งนั้น

3 ปี ที่ซุนเวนเรียนอยู่ ด้านภาษาอังกฤษ คำนวณ และประวัติศาสตร์ เขาทำคะแนนได้เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 18 ปี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมและในปีสุดท้ายก็ได้รับรางวัลเรียนดีเป็นพิเศษ

แต่ผลการเรียนของเขาก็ไม่สำคัญไปกว่าความรู้สึกที่ได้รับในเกาะโฮโนลูลูเมืองขึ้นของอเมริกาแห่งนี้ เป็นเมืองที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ไม่เหมือนชาวจีนที่ต้องอยู่ใต้ระบอบการปกครองที่โหดร้าย เขาพูดกับพี่ชายว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวจีนมีความเป็นมนุษย์เท่ากับชาวเกาะโฮโนลูลูได้บ้าง แต่พี่ชายก็บอกว่า ไม่มีทาง

เขาแสดงความเกลียดชังความเป็นไปในเมืองจีน พยายามพูดกับพี่ชายอยู่เสมอ เขาอยากให้ราษฎรชาวจีนมีสิทธิเสรีภาพ ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเหมือนมนุษย์ทั่วไป ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เขาได้มาศึกษาที่นี่ ได้สอนให้รู้ว่า ผู้ปกครองสูงสุดของจีน ไม่ใช่คนจีน แต่เป็นแมนจูที่ตีเมืองจีนได้ และตั้งตนเป็นกษัตริย์ของจีนขึ้น ทำให้เขาเกิดความรักชาติขึ้น และสงสัยว่าทำไมชาติยิ่งใหญ่อย่างจีนที่มีพลเมืองมากกว่าชาติใดในโลก จึงต้องตกมาอยู่ใต้อำนาจของต่างชาติอย่างแมนจูที่มีพลเมืองน้อยกว่าหลายเท่า

พี่ชายของเขาก็มีความคิดเห็นอย่างเขา แต่ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ เพราะแม้คนใหญ่คนโตยังต้องก้มศีรษะโขกดินต่อหน้าพระโอรสแห่งสวรรค์ เด็กหนุ่มอย่างซุนเวนจะทำอะไรได้

ซุนเวนไม่ได้ละทิ้งความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องนี้ พี่ชายของเขาจึงบอกกับพ่อว่าถ้าซุนเวนอยู่ทางนี้ก็ต้องฟุ้งซ่านมากขึ้น เพราะความคิดแบบอเมริกันได้แทรกซึมเข้าในสมองของเขา ที่บิดาหวังไว้ว่าจะให้เขาทำการค้า หาเงินให้ได้มากๆ ก็คงไม่สำเร็จ เขาไม่ชอบค้าขาย ไม่เอาถ่าน มีความคิดวิปริตอยู่เรื่อย ควรให้กลับมาช่วยพ่อทำนาดีกว่า

เมื่ออายุ 19 ปี ซุนเวนก็ถูกส่งกลับบ้านเดิม เขาเที่ยวพูดฟุ้งซ่านกับคนในหมู่บ้านไปทั่ว เขากล่าวว่า “คนที่เรียกตัวเองว่าโอรสแห่งสวรรค์ ที่จริงเขาเป็นลูกแห่งนรก เขาบังคับให้พวกท่านเสียภาษีอากร ให้ก้มศีรษะให้เขา แล้วเงินที่ท่านเสียภาษีนั้นไปทางไหน เขาสร้างโรงเรียนให้บ้างไหม สร้างสะพาน สร้างถนนให้บ้างไหม เปล่าเลย เงินที่ท่านเสียภาษีมันไปทำความมั่งคั่งให้แก่เขา มันไปเป็นเครื่องมือให้เขากดขี่ท่าน”

วันหนึ่ง เขาควักอีแปะทองแดงออกมาจากกระเป๋า แล้วถามคนที่ฟังคำพูดเขาอยู่นั้นว่า “ใครเป็นคนทำอีแปะนี้” เสียงตอบมาว่า “พระเจ้ากรุงจีน” เขาถามต่อว่า “ใครเป็นพระเจ้ากรุงจีน” “พระโอรสของสวรรค์” “เขาเป็นพวกเดียวกับเราหรือ” “แน่ละ ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา จะเป็นโอรสแห่งสวรรค์อย่างไรได้” “แล้วคำที่เขียนไว้บนอีแปะนี้ เป็นคำจีนหรือ” เสียงตอบกลับมาว่า “ไม่ใช่” ซุนเวนกล่าวต่อว่า “ไม่ใช่แน่” “คำที่เขียนบนอีแปะนี่เป็นคำแมนจู เป็นคำต่างภาษา คนต่างชาติมาปกครอบเราอยู่ใช่ไหม”

เมื่อผู้คนเริ่มเข้าใจ ซุนเวนก็เร้าให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงความสำคัญยิ่งใหญ่ของชาติจีน ว่าสำคัญอย่างไร ใหญ่โตเพียงใด มีความรู้ความฉลาดเพียงไร เหตุใดจึงยอมให้ต่างชาติเข้ามามีอำนาจปกครอง

จากปากของเด็กหนุ่มอย่างซุนเวนที่มีอายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้น ชาวจีนเริ่มรู้จักว่าชาตินั้นคืออะไร รู้ว่ามนุษย์ควรรักชาติ บูชาชาติยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ซึ่งซุนเวนได้เป็นบิดาของลัทธิชาตินิยมมาตั้งแต่ก่อนจะมีอายุครบ 20 ปี

การกระทำเช่นนี้เป็นการทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระโอรสแห่งสวรรค์ที่ไม่ใช่คนจีน ซุนยัดเซนยังกล้าเป็นปฏิปักษ์ต่อสวรรค์หรือเทพเจ้าบนสวรรค์ด้วย ในหมู่บ้านของเขามีศาลเทพารักษ์ซึ่งมีรูปเทพเจ้าเป็นรูปไม้สักอยู่ 3 องค์ ชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้าใครไม่เคารพบูชาจะถูกลงโทษ วันหนึ่งเขาได้นำพวกคนหนุ่มๆ ไปที่ศาลเทพารักษ์นั้น แล้วบอกว่าเขาจะแสดงให้เห็นว่าเรื่องเทพารักษ์เป็นเรื่องหลอกลวง เทพารักษ์ไม่สามารถช่วยใครได้แม้แต่ตัวเอง เขาจะทำให้ดูว่าเทพารักษ์ไม่มีฤทธิ์เดชอะไร ซุนเวนเห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นการถ่วงความเจริญก้าวหน้าของชนชาติจีน

จากนั้นเขาก็จับนิ้วเทพารักษ์ที่ทำด้วยไม้หักนิ้วหนึ่งแล้วโยนทิ้ง และบอกว่า ถ้าเทพารักษ์มีฤทธิ์จริงเขาคงจะหักนิ้วออกมาไม่ได้ หรือคงทำโทษเขาให้ตายไปทันที แต่นี่นิ้วหักไปแล้วก็ช่วยตัวเองไม่ได้ และซุนเวนเองก็ไม่ได้เป็นอะไร

จากการกระทำของเขา ชาวบ้านก็กลัวกันว่าจะถูกลงโทษให้พินาศล้มตายกันทั้งบ้านทั้งเมือง จึงยื่นคำขาดไปยังพ่อของเขาว่า ไม่ยอมรับให้เด็กคนนี้อยู่ในหมู่บ้านอีกต่อไป พ่อจึงให้ซุนเวนออกจากบ้านไป

เขามาฮ่องกงด้วยทางเรือ ได้ศึกษาในควีนซคอลเลจ สอบไล่ได้ที่ 1 แล้วเข้ามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่ตั้งขึ้นใหม่ สอบได้ปริญญาเป็นแพทย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัย แต่ใช้เวลาส่วนมากไปกับการเผยแพร่ความคิดทางปฏิวัติ เขามีเสรีภาพที่จะพูดและทำอะไรในทางการเมืองได้ตามความพอใจในฮ่องกงเพราะเป็นดินแดนของอังกฤษ เขาได้ตั้งคณะปฏิวัติที่ประกอบไปด้วยเพื่อนนักเรียนที่สาบานตนว่าจะยอมตายเพื่อการปฏิวัติ จากลุ่มคนน้อยๆ ก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่ และได้แยกย้ายกันไปเผยแพร่ลัทธิปฏิวัติ หาพวกพ้องตามเมืองต่างๆ จนเกิดสมาคมปฏิวัติขึ้นในเมืองสำคัญทุกๆ เมืองที่มีการคมนาคมติดต่อถึงกัน และความเป็นผู้นำของซุนยัดเซนก็ได้รับการยอมรับจากทุกสาขา

ในปี พ.ศ. 2438 ซุนยัดเซนได้ก่อการจลาจลขึ้น เมื่อเขามีอายุได้ 29 ปี เขาได้ทำงานปฏิวัติอย่างรีบร้อน ยังไม่ถึงเวลาและยังไม่มีความพร้อม จึงเกิดความล้มเหลวขึ้น รัฐบาลประกาศจับซุนยัดเซน เมื่อรู้ว่าเขาเป็นหัวหน้าก่อการในครั้งนี้ แต่ไม่สามารถจับตัวได้ เนื่องจากเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกอาณาเขตจีน เขาได้เดินทางไปฮาวาย สหรัฐอเมริกา ภายหลังเกิดความล้มเหลวในครั้งนี้ ได้ไปรวบรวมพวกพ้องแสดงปาฐกถา และหาเงินทุนสำหรับการกู้ชาติ

รัฐบาลแมนจูก็ได้ออกคำสั่งแก่สถานทูตในต่างประเทศทุกแห่ง ให้จับตัวซุนยัดเซนมาให้ได้ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย โดยตีราคาค่าหัวไว้ถึงแสนปอนด์ให้กับผู้ที่จับหรือฆ่าซุนยัดเซนได้ เงินจำนวนมากจูงใจให้คนพยายามจับตัวซุนยัดเซนมาให้ได้ แต่ก็ไม่มีใครทำสำเร็จ

เขาเดินทางจากอเมริกามาอังกฤษ สถานทูตจีนในกรุงลอนดอนจับตัวไว้ได้ เมื่อรัฐบาลอังกฤษทราบเรื่อง ก็ยื่นคำขาดกับสถานทูตจีนให้ปล่อย เพราะจะจับคนขังตามชอบใจไม่ได้ จึงต้องปล่อยตัวออกไป

แล้วเขาก็ได้เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น ได้ผูกมิตรกับหัวหน้ามังกรดำของญี่ปุ่นที่ชื่อ โตยามา ซึ่งทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือในด้านการเงิน อาวุธเถื่อน และทุกอย่างที่ต้องการ ที่โยโกฮามานี้เขาได้ตั้งสำนักงานอย่างเปิดเผยใกล้ๆ กับสถานทูตของจีน สามารถส่งเงิน ส่งอาวุธเถื่อน ส่งคำสั่งแนะนำกันด้วยความสะดวก

ทุกอย่างมีการตระเตรียมและดำเนินการอย่างเปิดเผย รัฐบาลแมนจูก็ไม่สามารถปราบการกระทำเช่นนี้ได้ เพราะอยู่ภายนอกอาณาเขตของตัวทั้งๆ ที่รู้ดี ส่วนในประเทศจีนพวกปฏิวัติก็มีมากเกินกว่าจะจับได้ ซุนยัดเซนได้ให้คำแนะนำแก่พวกพ้องว่า ในฐานะที่ฝ่ายปฏิวัติมีกำลังน้อย จะต้องต่อสู้กับรัฐบาล ที่มีกำลังยิ่งใหญ่ ก็ต้องทำตามวิชามวยในตำรับโบราณที่สอนไว้ว่า ให้ปล่อยฝ่ายปรปักษ์แสดงฝีไม้ลายมืออย่างเต็มที่ก่อน ฝ่ายปฏิวัติก็คอยระวังป้องกันตัวไว้เท่านั้น เมื่อฝ่ายปกปักษ์อ่อนกำลังลง จึงค่อยหาช่องทางหักกระดูกเอาภายหลัง

หลักการสำคัญที่ซุนยัดเซนพยายามเผยแพร่ให้ฝังใจประชาชนทุกชั้น คือ “กษัตริย์แมนจูไม่มีสิทธิ์ที่จะปกครองชนชาวจีน แต่ชนชาวจีนมีสิทธิ์ที่จะปกครองตนเอง” มติมหาชนเป็นอุปกรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการปฏิวัติ ชาวจีนทั้งหลายก็เข้าใจทั่วกันถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ใด เมื่อพูดกันมากๆ ก็เชื่อกันเอง การปฏิวัติของซุนยัดเซนเป็นการปฏิวัติที่แท้จริง ทำอย่างตรงไปตรงมา การปฏิวัติในประเทศจีนจะมีปัญหาก็ในเรื่องเวลาเท่านั้น

ซุนยัดเซนเดินทางไปมาระหว่างญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2454 ขณะที่ซุนยัดเซนมีอายุได้ 45 ปี การปฏิวัติก็เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

เป็นการปฏิวัติที่ฝ่ายปฏิวัติได้เปรียบทุกแห่ง แม้จะมีการนองเลือด และไม่ใช่การสู้รบเล็กๆ ซุนยัดเซนเข้ามาปฏิวัติในประเทศจีนด้วยตัวเอง โดยเริ่มตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นที่นานกิง มณฑลต่างๆ ของจีนก็ประกาศไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของแมนจู เวลานั้นกษัตริย์ที่ครองประเทศจีนเป็นพระเจ้าแผ่นดินเด็ก ชื่อ ปูยี (ต่อมาภายหลังญี่ปุ่นได้ยกขึ้นเป็นจักรพรรดิแมนจูก๊ก) กิจการแผ่นดินอยู่ในมือของเจ้านายและขุนนางแมนจู แต่มีนายกรัฐมนตรีเป็นจีน ชื่อ ยวนซีไข ผู้นี้เคยติดต่อกับซุนยัดเซน เขาได้เสนอความคิดเห็นให้วงศ์แมนจูลาออกจากราชสมบัติ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อไป เมื่อวงศ์แมนจูยอมลาออกชัยชนะก็ตกเป็นของฝ่ายปฏิวัติซุนยัดเซน

จากนั้นสำนักงานปฏิวัติของซุนยัดเซนก็ได้ย้ายจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งเป็นรัฐบาลในประเทศจีน ส่วนราชสำนักแมนจูก็ย้ายไปอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ซุนยัดเซนได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งมหาชนรัฐจีน ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2455

เมื่องานใหญ่หลวงได้สำเร็จลง แม้ว่าซุนยัดเซนจะทำความดีไว้เพียงใด และคนทั่วไปก็รู้ดีว่าไม่มีใครจะมีคุณความดีในการปฏิวัติมากไปกว่าซุนยัดเซน แต่ก็ยังมีคนที่คิดว่าตัวเองดีกว่า หรือเป็นประธานาธิบดีได้ดีกว่า จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้น ซุนยัดเซนต้องออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงเวลาไม่ถึงปี คนที่ขึ้นมารับตำแหน่งต่อก็คือ ยวนซีไข ซึ่งเป็นคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของวงศ์แมนจูนั่นเอง

ซุนยัดเซนคิดว่า การกระทำอย่างนี้เป็นการถูกต้องแล้ว เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้สามารถรักษาความรักความนิยม และสร้างความยิ่งใหญ่อันแท้จริงของตนได้ ถ้าสู้ต่อไป มีแต่จะสร้างศัตรูคู่แข่ง สร้างความอิจฉาริษยา มีการใส่ร้ายป้ายสี แทนที่จะเป็นไปในทางที่ดีก็จะกลายเป็นคนเลวร้ายไปเสีย

การออกมาอยู่นอกตำแหน่งและถืออิทธิพลอยู่ภายนอก คือกุญแจแห่งความยิ่งใหญ่ของซุนยัดเซน ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเป็นแต่ผู้ถืออำนาจในชีวิต คือฆ่าคนก็ได้ แต่ซุนยัดเซนที่อยู่นอกตำแหน่ง สามารถยึดอำนาจในจิตใจ ได้รับความนิยมเชื่อถือเคารพบูชาไว้ในกำมือ เมื่อผู้ที่อยู่ในตำแหน่งทำอะไรไม่เป็นที่พอใจของประชาชน เขาก็จะหันมาหาซุนยัดเซน เขาพูดอะไรคนก็เชื่อฟัง เขากลายเป็นผู้ควบคุมกิจการบ้านเมือง มีอำนาจในจิตใจคนเหนือประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี และไม่มีวิธีใดจะสร้างความยิ่งใหญ่ได้ดีกว่านี้

ผู้ที่ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งประเทศจีนแทนซุนยัดเซนอย่าง ยวนซีไข จะมีเจตนาอย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาเป็นประธานาธิบดีก็ใช้อำนาจแบบเผด็จการในการทำงาน เพราะบุคคลนี้ไม่เคยทำงานในระบอบประชาธิปไตยมาก่อน ซุนยัดเซนได้ขัดขวางการกระทำเช่นนี้ แต่ยวนซีไข ที่ได้เอาทหารไว้ในอำนาจตนจนหมดก็ประกาศให้รางวัลจับตัวซุนยัดเซน เพราะถือว่าเขาเป็นคนนอกกฎหมาย

ซุนยัดเซนได้กลับไปอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ในระหว่างนั้น ยวนซีไข ได้ประกาศตนขึ้นเป็นพระจักรพรรดิจีน โอรสแห่งสวรรค์ที่เกิดใหม่ แต่เป็นได้ไม่นานก็ถึงแก่ความตาย

ประเทศจีนได้กลับมาเป็นมหาชนรัฐใหม่ มีการแย่งชิงอำนาจกันเรื่อยมา แต่ซุนยัดเซนก็เก็บตัวอยู่วงนอกตลอด เพราะเขาฉลาดและถือว่าตนสูงกว่าที่จะเข้ามาแย่งอำนาจชิงตำแหน่งกับคนพวกนี้ คอยเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างเป็นกลางแก่ชาวจีนที่ต้องการสร้างชาติ และเมื่อ พ.ศ. 2486 เขาก็ถึงแก่กรรมลง เมื่ออายุ 59 ปี

ซุนยัดเซนมีฐานะเป็นดั่งเทพเจ้าที่ทำให้คนเคารพบูชาและเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ก็เพราะเขาบำเพ็ญประโยชน์โดยไม่รับตำแหน่งฐานะ หรือช่วงชิงอำนาจกับใครนี้เอง เขาไม่ต้องการตำแหน่งหรืออำนาจ ต้องการจะประกอบความดีเท่านั้น ซึ่งเป็นกุศโลบายในการสร้างความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง ถ้าหากเขาเข้าไปแย่งชิงอำนาจหรือตำแหน่งก็อาจจะเสื่อมเสียไปแล้วก็ได้

ผู้ที่ทำความดีงามสำเร็จแล้วก็ปลีกตัวไม่อยู่รับตำแหน่งฐานันดร มีเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เมื่อลงมือทำแล้วก็ต้องการผลตอบแทน คนที่ทำเพียงเล็กน้อยก็ต้องการผลที่ยิ่งใหญ่มาก คนที่ทำความดีเพื่อความดีนั้นจึงหายากที่สุด ความยิ่งใหญ่ทางจิตใจเป็นความยิ่งใหญ่ที่ถาวร ให้ความผาสุก และจะไม่มีใครทำลายได้

ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

ปาเดริวสกี(Ignace Jan Paderewski)

ปาเดริวสกี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2403 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2483 มีอายุอยู่ได้ 80 ปี เขาเป็นชาวโปแลนด์ และเป็นนักดนตรี ตอนอายุได้ 16-17 ปี ก็เดินทางไปแสดงดนตรีในประเทศต่างๆ พออายุ 19-21 ปี ก็ได้เป็นครูสอนเปียโนในวิทยาลัยดนตรีกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่ออายุ 27-31 ปี ไปแสดงดนตรีที่กรุงเวียนนา กรุงลอนดอน และสหรัฐอเมริกา แต่พออายุ 59 ปี เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ของประเทศโปแลนด์

เขาเป็นนักดนตรีชั้นเอกของโลกคนหนึ่ง ที่กู้อิสรภาพของประเทศโปแลนด์เอาไว้ และตัวเขาเองก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยความที่ชอบดนตรีมาก จึงทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้แค่ 2 ปี ก็ต้องเลิกการเมืองมาเป็นนักดนตรีต่อ

ประเทศโปแลนด์ตั้งขึ้นราว พ.ศ. 1400 เป็นจุดเคราะห์ร้ายจุดหนึ่งในแผนที่ยุโรป ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา เมื่อรัสเซียแข็งแรงขึ้นก็ตกเป็นของรัสเซีย และถูกเชือดเฉือนแบ่งปันกันมาเป็นลำดับในภายหลัง ในปี พ.ศ. 2315 ได้มีการตกลงแบ่งดินแดนโปแลนด์ออกเป็น 3 ส่วน เป็นของรัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรีย โดยแบ่งกันคนละส่วน ต่อมาอีก 21 ปี ก็แบ่งกันใหม่อีก และต่อมาอีก 2 ปี ก็แบ่งกันอีก แบ่งกันอยู่ในระหว่าง 3 ประเทศนี้แต่เปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งเท่านั้น ใน พ.ศ. 2406 รัสเซียได้ดินแดนส่วนใหญ่ที่สุดของโปแลนด์ไป และได้ครอบครองยาวนานมาถึง 50 ปี แต่ดินแดนโปแลนด์ทั้งหมดต้องตกไปอยู่ในความครอบครองของเยอรมันในปี พ.ศ. 2457 เนื่องจากได้เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น

โปแลนด์ต้องสูญเสียอิสรภาพและตกอยู่ในอำนาจของชาติอื่นเป็นเวลาหลายร้อยปี มีหลายครั้งที่ชนรักชาติของโปแลนด์ได้ทำความพยายามกอบกู้อิสรภาพ แต่ก็ต้องประสบเคราะห์กรรมร้ายแรงเช่นคนรักชาติอื่นๆ

ชาวโปแลนด์ขึ้นชื่อและรู้กันทั่วโลกว่า เป็นหมู่ชนที่รักชาติมาก มารี วาลิวสกา ยอมเป็นภรรยาลับของนะโปเลียนเพื่อหวังว่าประเทศจะได้อิสรภาพ มีคนมากมายยอมตาย ยอมตกเป็นทาส เป็นเมืองขึ้น เพื่อกอบกู้อิสรภาพเช่นกัน พวกเขาภูมิใจในชาติของเขา ไม่มีใครสามารถทำให้พวกเขายินดีไปเป็นชาติอื่น หรือลดความภูมิใจในชาติของเขาได้เลย

ชื่อเสียงที่ยิ่งใหญ่ทางดนตรีของปาเดริวสกี ทำให้เขาได้เล่นดนตรีถวายพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระเจ้าแผ่นดินทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนักที่ได้เห็นว่านักดนตรีที่เด่นที่สุดของโลกนั้นเป็นนักดนตรีรัสเซียเสมอ แต่ปาเดริวสกีได้กล่าวตอบว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าพระราชหฤทัยผิดไป” “ข้าพเจ้าเป็นโปล(ชาวโปแลนด์)”

คำตอบเช่นนั้นถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าเป็นคนอื่นคงจะถูกตัดหัวหรือเนรเทศไปไซบีเรียแล้ว พระเจ้าซาร์ทรงทราบดีทีเดียวว่าปาเดริวสกีเป็นชาวโปแลนด์ แต่ที่รับสั่งเช่นนั้นก็เพื่อต้องการยกย่องเขา พระราชทานเกียรติอย่างสูงให้ ถึงกับยอมให้เป็นชาวรัสเซีย พระราชดำรัสทุกๆ คำของพระเจ้าซาร์รัสเซียถือเป็นกฎหมาย เพราะพระองค์ทรงปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การรับสั่งเช่นนั้นย่อมมีผลในทางกฎหมายทำให้ปาเดริวสกีเปลี่ยนสัญชาติจากโปลมาเป็นรัสเซียได้ทันที ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจจะดีใจที่พ้นจากสัญชาติของเมืองขึ้น และได้ถือสัญชาติของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เช่นรัสเซีย แต่ปาเดริวสกีกลับไม่ยอมรับ เขาขอเป็นโปล ชาติเดิมของเขา เขากล้าปฏิเสธพระราชดำรัสของพระเจ้าซาร์นิโคลลาส ซึ่งมีน้อยคนนักที่ทำเช่นนี้

ปาเดริวสกี เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ในเบื้องต้นได้รับการศึกษาไม่ใช่ชั้นดีอะไร เมื่ออายุได้ 12 ปี ก็ตัดสินใจที่จะเรียนดนตรี และเลือกเรียนเปียโน เมื่อเข้าโรงเรียนดนตรี ครูบอกว่าเขามือเล็กเกินไปไม่เหมาะกับการเรียนเปียโน และแนะนำให้เขาเรียนปี่ เพราะว่าปอดเขาแข็งแรง แต่เขามีนิสัยตัดสินใจแน่วแน่มาตั้งแต่เด็ก เขาก็จะเรียนเปียโนให้ได้ อย่างที่ครูว่ามือของเขาเล็กไปจริงๆ สำหรับการเรียนเปียโน แต่ด้วยมันสมองที่ว่องไวต่อวิชาดนตรี ก็ได้ช่วยให้มือที่เล็กของเขากลายเป็นมือที่มีความสามารถ มีอาจารย์เปียโนผู้หนึ่งชื่อ เกินทอป์ฟ ได้เห็นความสามารถพิเศษในตัวเด็กคนนี้ ก็รับไว้เป็นศิษย์ส่วนตัว ปาเดริวสกีได้ครูดี ความสามารถของเขาจึงก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

เมื่ออายุ 16 ปี เขาได้ออกท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงดนตรี เงินอาจจะหาได้ไม่มาก แต่เขามีความชำนาญในดนตรีมากขึ้น เมื่ออายุ 18 ปี เขาก็ได้แต่งงานกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน อายุ 19 ปี ได้เป็นครูสอนเปียโนในวิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่ อายุ 20 ปี ภรรยาของเขาได้ถึงแก่กรรมในขณะคลอดบุตร บุตรรอดชีวิตแต่อ่อนแอเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อีก 1 ปีต่อมาเขาก็เลิกสอนเพื่อหาโอกาสเรียนใหม่ เขาได้เดินทางไปเบอร์ลิน พยายามฝากตัวเป็นศิษย์ของ เลซิติตสกี นักเปียโนชั้นเอกของยุโรปในเวลานั้น และเริ่มหัดแต่งเพลง เขาได้ทำความรู้จักกับสตรีชั้นสูงคนหนึ่ง เป็นตระกูลขุนนาง และมีอิทธิพล เธอชื่อว่า บารอนเนส โดโรเสน สตรีผู้นี้ได้ช่วยให้เขาได้ออกแสดงเพื่อเก็บเงินเป็นทุนเรียนต่อไป การแสดงของเขาประสบผลสำเร็จยิ่งใหญ่ ชื่อเสียงของเขาได้แพร่หลายออกไปมาก วิทยาลัยดนตรีที่สตราบูร์ก ได้ขอจ้างเขาเป็นครูสอนในวิทยาลัย เขาทำอยู่ได้ปีเดียวก็ลาออก เขาไม่ต้องการสอนแต่ต้องการเรียนและได้กลับมาอยู่กับอาจารย์ที่เบอร์ลินใหม่

เขาพยายามศึกษาอย่างหนักและจริงจังกับอาจารย์ที่ดีที่สุด ออกแสดงให้ประชาชนฟังเมื่อมีโอกาสจนได้ชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปาเดริวสกีกลายเป็นนักเปียโนชั้น 1 ที่อาจารย์ของเขารับรองว่ามือชั้นนี้จะไปแสดงที่ไหนก็ได้ เขาจึงลองเสี่ยงโชคไปปารีสมหานครแห่งศิลปะ และเป็นอย่างที่อาจารย์ว่าไว้ เขาประสบความสำเร็จ เพราะสังคมแห่งปารีสได้ให้ความยกย่องเขาอย่างนักเปียโนชั้นเอกจริงๆ

แต่เมื่อเขาไปลอนดอน กลับตรงกันข้ามกับที่เบอร์ลินและปารีส เขาต้องประสบกับความล้มเหลวอย่างไม่นึกฝัน ความนิยมชมชอบที่เขาเคยได้มา กลับไม่มีสำหรับที่นี่ มีนักวิจารณ์คนหนึ่งชื่อ เบอร์นาร์ด ชอว์ ได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่า ขณะที่ปาเดริวสกีเล่นเปียโนเขาอยากจะให้มันพังไปเลยเพราะไม่อยากฟังต่อไป เขาเขียนว่าเขาสรรเสริญในความพยายามของปาเดริวสกีมาก แต่ที่ปาเดริวสกีเล่นเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันไม่ใช่ดนตรี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้จัดการของเขาก็แนะนำให้ออกไปจากอังกฤษ ไปหาชื่อเสียงที่อื่น แต่เขาก็ไม่ยอม เพราะเชื่อว่าคงเป็นเพราะรสนิยมทางดนตรีของอังกฤษไม่เหมือนชนชาติภาคพื้นยุโรป จึงทำให้เขาประสบความล้มเหลว เขาต้องรู้ให้ได้ว่าคนอังกฤษมีรสนิยมอย่างไร เขาออกท่องเที่ยวไปตามหัวเมืองต่างๆ ในอังกฤษ และได้แสดงฝีมือมากมายหลายแห่ง แล้วก็จดจำไว้ว่าแบบไหนที่คนอังกฤษชอบ และแบบไหนที่เขาไม่ชอบ

เมื่อคิดว่ารู้เรื่องรสนิยมของชาวอังกฤษแล้ว เขาก็กลับไปลอนดอนอีกครั้ง คราวนี้เขาได้รับความนิยมทุกหนแห่ง ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม พระราชินีแห่งอังกฤษก็โปรดให้เข้าไปเล่นถวาย พวกขุนนางและผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษก็เข้ามาคบหาสมาคมกับเขา มีผู้คนในอังกฤษมากมายขอลายเซ็นจากเขา ซึ่งเป็นการรับรองว่าเขาได้เป็นนักเปียโนเอกของโลก ในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น

ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ได้เชื้อเชิญให้เขาไปเล่น เขาได้แสดงในคาร์เนกีฮอลล์ มีคนฟังแน่น และได้รับความนิยมชมชอบอย่างสูงสุด จึงไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปในเรื่องที่ว่าเขาเป็นนักเปียโนชั้นเอกของโลก

ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ อีกหลายแห่งเขาก็ได้ไปแสดงฝีมือ และได้รับความสำเร็จเช่นกัน วันหนึ่งมีเด็กหนุ่มสองคนมาขอให้เขาไปแสดงในเมืองเล็กแห่งหนึ่ง ปาเดริวสกีเห็นว่ารายได้จะไม่เพียงพอ แต่เด็กหนุ่มก็รับประกัน และขอทำสัญญากับปาเดริวสกีว่า ในการแสดงครั้งนี้เขาจะจ่ายค่าแรงให้แก่ปาเดริวสกีเป็นจำนวน 2 พันเหรียญ ส่วนที่เหลือจะเป็นของเขาทั้งสองคน ปาเดริวสกีจึงตกลงทำสัญญากับเด็กหนุ่มสองคนนั้น

แต่เขาก็ต้องประสบกับความล้มเหลว รายได้ทั้งหมดที่เก็บได้ไม่ถึง 2 พันเหรียญ อาจเป็นเพราะที่นั่นเป็นเมืองเล็ก หรือมีการโฆษณาไม่ดีพอ หรืออาจจะเป็นเพราะเด็กหนุ่มนั้นจัดการไม่เป็น รายได้จึงไม่พอจ่ายตามสัญญา และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เด็กหนุ่มทั้งสองอยู่ในฐานะลำบากไม่รู้จะทำอย่างไร จึงขออ้อนวอนขอความกรุณาจากปาเดริวสกี เขาจึงตัดสินใจว่า จากเงินที่เก็บได้ให้จ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไปก่อน เหลือเท่าไรก็ให้เด็กหนุ่มทั้งสองคิดเป็นค่าเหน็ดเหนื่อยของเขาในการจัดการ จะคิดเท่าไรก็ตามใจ เหลือเงินเท่าไรแล้วค่อยให้เขา

เด็กหนุ่มทั้งสองปฏิบัติตามคำแนะนำของปาเดริวสกีอย่างซาบซึ้งใจ เพราะถ้าไม่ได้รับการผ่อนผันเช่นนี้ ปาเดริวสกีจะไปฟ้องร้องเอาค่าจ้างตามสัญญา หรืออาจลดให้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เขาทั้งสองลำบากมาก ปรากฏว่าในครั้งนี้ปาเดริวสกีได้รับค่าจ้างจากการแสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่เด็กสองคนนั้น ในอีก 38 ปีต่อมา คนหนึ่งที่ชื่อ เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และได้ตอบแทนบุญคุณของปาเดริวสกีด้วยการช่วยเหลือส่งอาหารให้แก่ราษฎรชาวโปแลนด์ที่อดอยากเป็นอันมาก

นับจากนั้นเขาก็ท่องเที่ยว แสดงฝีมือได้รับความนิยมชมชอบของมหาชน ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ต่อมาเขาก็ได้แต่งงานกับบารอนเนส โดโรเสน สตรีมีอิทธิพลที่ได้ช่วยเหลือเขาเมื่อครั้งที่เข้าศึกษาในเบอร์ลิน ลูกของเขาที่เกิดกับภรรยาเก่า ได้ถึงแก่ความตายเมื่ออายุ 19 ปี เพราะขี้โรคอ่อนแอตลอดมา

ปาเดริวสกีได้มาเช่าบ้านอยู่ที่เมืองมอร์ช ริมทะเลสาบ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังจากที่บุตรถึงแก่กรรมแล้ว และที่นี่เองที่ทำให้ความคิดเขาเปลี่ยนไป ดินแดนสวิสได้ทำให้เขาระลึกถึงคุณค่าของเสรีภาพ เสรีภาพของพลเมืองเพียง 3 ล้านคนในสวิสเซอร์แลนด์ทำให้เขานึกถึงชาวโปล 30 ล้านคน ที่ต้องตกเป็นทาสของชาติอื่น ซึ่งคนเหล่านั้นเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน เป็นฝรั่งเช่นกัน ร่างกายผิวพรรณก็แบบเดียวกัน ทำไมจึงต้องมีความแตกต่างกันเช่นนี้

เขาได้เขียนหนังสือแล้วก็พิมพ์ลอบส่งเข้าไปแจกจ่ายเป็นข้อความกระตุ้นเตือนใจชาวโปแลนด์ให้พยายามสร้างอิสรภาพ เพราะไม่สามารถพูดกันได้ หนังสือหลายพันเล่มที่ถูกส่งถึงมือชาวโปแลนด์ ตำรวจรัสเซียพยายามทำลายเสียแต่ก็ได้กระจายออกไปอย่างทั่วถึงกันแล้ว

การแสดงดนตรีของเขาก็กลายเป็นเรื่องการเมืองไปด้วย เขาได้ฉวยโอกาสพูดในที่ประชุมชนที่ฟังดนตรี จากการที่เขาท่องเที่ยวแสดงดนตรีในหมู่คนมากมายตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา เขาขอความเห็นใจและความกรุณาต่อชาวโปแลนด์ที่ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ต้องตกเป็นทาส เขาแต่งเพลงที่สามารถเรียกน้ำตาและดึงดูดใจผู้ฟังทั้งในยุโรปและอเมริกาให้เมตตาสงสารชาวโปแลนด์ได้เหมือนถูกสะกดจิต

ปาเดริวสกีได้ใช้คำพูดด้วยดนตรี เพื่อกู้อิสรภาพของโปแลนด์ได้เป็นอย่างดี เขาทำมันเพียงคนเดียวแต่ได้ใจมหาชนอย่างกว้างขวางและแท้จริง

ในปี พ.ศ. 2457 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น โดยฝ่ายหนึ่งเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นออสเตรีย และฮังการี ปาเดริวสกีจึงได้เปลี่ยนวิธีการมาเป็นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เขาได้เข้าหารัฐบาลฝรั่งเศสก่อน แต่เป็นการเสี่ยงมากเพราะเวลานั้นฝรั่งเศสกับรัสเซียยังเป็นพันธมิตรกัน การที่เมืองขึ้นอย่างรัสเซียจะร้องขอต่อฝรั่งเศสให้ตนเป็นอิสระ มีทางสำเร็จน้อยมาก แต่เขาก็เดินถูกทาง เขาเข้าหารัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นพลเมืองคนสำคัญของโปแลนด์ที่โลกรู้จักและนิยมชมชอบ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขาไม่มีอำนาจหน้าที่หรือได้รับการแต่งตั้งอะไรเลย แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ไม่ปฏิเสธ และให้ความหวังว่าจะช่วยเหลือเขา

ต่อมาเขาก็ทำแบบเดียวกันนี้กับประเทศอังกฤษ และก็ได้ผลเช่นกัน แล้วไปยังอเมริกา ซึ่งที่นี่มีชาวโปแลนด์ทำมาหากินอยู่มาก เขารวบรวมชาวโปแลนด์ให้มีการติดต่อกัน และเตรียมพร้อมสำหรับงานที่จะต้องทำในวันข้างหน้า

การปฏิวัติได้เกิดขึ้นในรัสเซียในปี พ.ศ. 2460 รัสเซียถอนตัวจากสงครามและทำสันติภาพกับเยอรมัน จึงเป็นความหวังที่เด่นชัดขึ้นที่จะให้ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือ ปาเดริวสกีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นในอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเขาเองและชาวโปแลนด์ชั้นอาวุโส เพื่อดำเนินการกู้อิสรภาพ เขาพยายามขอกู้เงิน 1 ล้านเหรียญจากธนาคารอเมริกันแต่ก็ไม่มีที่ใดให้กู้ เพราะผู้ที่เป็นเพียงบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นแค่คณะกรรมการ และไม่มีอะไรเป็นประกัน ธนาคารก็ไม่สามารถให้กู้ได้

ปาเดริวสกี ได้เข้าหาพันเอกเฮาส์ ให้ช่วยพูดกับประธานาธิบดีวิลสันในเรื่องอิสรภาพของโปแลนด์ ซึ่งในเวลานั้นพันเอกเฮาส์ เป็นผู้ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาให้ความไว้วางใจ ปาเดริวสกีได้ประกาศอิสรภาพของโปแลนด์ในอเมริกาในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 และเขาก็ได้รับการแต่งตั้งจากชาวโปแลนด์ให้เป็นผู้แทน ที่มีอำนาจเจรจาการเมืองกับรัฐบาลอเมริกันหรือรัฐบาลใดก็ได้

มาถึงตอนนี้เขาได้ออกมาเล่นดนตรีให้ประชาชนฟังอีก หลังจากที่ไม่ได้เล่นมาช้านาน ขณะเล่นเขาได้ประกาศว่า ถ้าโปแลนด์ยังไม่ได้เอกราชอย่างแท้จริงเขาจะไม่แตะต้องดนตรีอีกต่อไป คำประกาศเช่นนี้ทำให้คนจำนวนมากอยากฟังดนตรีของเขาอีก และอยากให้รัฐบาลอเมริกันช่วยเหลือโปแลนด์ให้เป็นเอกราชจริงๆ มีการพูดกันไปหลายพันหลายหมื่นปากจึงกลายเป็นมติมหาชนขึ้น ประธานาธิบดีวิลสันได้ประกาศออกมาว่า จะช่วยให้โปแลนด์ได้เป็นเอกราช ซึ่งเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของปาเดริวสกี

ดินแดนโปแลนด์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในความยึดครองของเยอรมัน ภายหลังที่รัสเซียปลีกตัวออกไปจากสงคราม และทำสันติภาพกับเยอรมันแล้ว ปาเดริวสกีจึงได้เดินทางไปยุโรป เข้าไปถึงด่านซิก เพื่อทำความลำบากให้แก่เยอรมัน จึงได้ก่อเหตุจลาจลขึ้นในที่ต่างๆ เมื่อครั้งเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับเยอรมันมีคนหนุ่มของโปแลนด์ถูกเกณฑ์มาเป็นทหารเป็นจำนวนมาก เมื่อรัสเซียเลิกทำสงครามการปลดปล่อยทหารไม่ได้ทำอย่างเรียบร้อย ทำให้อาวุธยังตกอยู่ในมือคนหนุ่มๆ ของโปแลนด์ ซึ่งคนหนุ่มเหล่านี้ยอมรับว่าปาเดริวสกีเป็นผู้นำในการกอบกู้อิสรภาพ และได้ก่อการจลาจลขึ้นในที่ต่างๆ ลอบทำร้ายกองทหารเยอรมัน เมื่อทางเยอรมันทราบเหตุไม่สงบนี้ ก็พยายามจับตัวปาเดริวสกีให้ได้ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งปาเดริวสกีเกือบจะถูกจับ แต่คนหนุ่มของโปแลนด์ได้มาช่วยกันเป็นจำนวนมาก โดยใช้ปืนกลต่อสู้กับทหารเยอรมันเกิดการล้มตายทั้งสองฝ่าย แต่ปาเดริวสกีก็รอดมาได้

เขาพยายามชักชวนเพื่อนร่วมชาติให้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรให้มากที่สุด มีชายฉกรรจ์ชาวโปล อาสาเป็นทหารในกองทัพพันธมิตรเป็นอันมาก ประเทศสัมพันธมิตรจึงเห็นใจให้ความช่วยเหลือ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ที่ประชุมสันติภาพที่แวร์ซายได้ยกประเทศโปแลนด์ขึ้นเป็นเอกราชและให้ความอุ้มชูต่อมา เพราะแม้โปแลนด์จะได้เอกราชแล้วก็ยังประสบกับภัยพิบัติเป็นอันมาก ทั้งทุพภิกขภัยความอดอยาก โรคระบาดร้ายแรง ซึ่งนานาประเทศต้องช่วยส่งอาหาร ส่งเงินสำหรับซื้อเวชภัณฑ์และยาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ไม่มีชาติใดจะได้รับความช่วยเหลืออุปถัมภ์จากนานาประเทศเหมือนโปแลนด์ เนื่องจากความเมตตาสงสารเห็นอกเห็นใจที่ปาเดริวสกีได้สร้างไว้ด้วยคำพูด ด้วยบทเพลง ด้วยความพากเพียรพยายามของเขา

ปาเดริวสกีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศด้วยเมื่อโปแลนด์เป็นเอกราชแล้ว จากนักดนตรี ก็ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่องานใหญ่ในการกู้อิสรภาพเป็นผลสำเร็จแล้ว ปาดัวริวสกีก็ตกอยู่ในฐานะเดียวกันกับโบลิวาร์ คือ ถ้าการกู้อิสรภาพยังไม่เป็นผลสำเร็จก็คงไม่มีใครออกมาว่าอะไรได้ แต่เมื่อสำเร็จไปได้ก็มีคนมากมายออกมาแสดงตัวว่าได้เป็นผู้กอบกู้อิสรภาพด้วย ทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นประมุขแห่งชาติ จึงเกิดความแตกแยกขึ้นเช่นเดียวกับเรื่องของโบลิวาร์

แต่ความแตกต่างของปาเดริวสกีที่ไม่เหมือนกับโบลิวาร์ คือ โบลิวาร์ทนอยู่ ทนสู้ ยอมฆ่าคนที่คิดร้าย มีความพยายามทางการเมืองตลอดเวลา แต่สำหรับปาเดริวสกีจะมองว่า ตำแหน่ง “มนตรี” จะสูงกว่าตำแหน่ง “ดนตรี” ไปได้อย่างไร แต่ประเทศโปแลนด์อยู่ได้ด้วยความสงสารเห็นอกเห็นใจจากนานาประเทศเพราะปาเดริวสกี ดังนั้นการเป็นประมุขของรัฐบาลโปแลนด์จึงไม่มีใครจะเหมาะสมเท่ากับเขา รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ เช่น ลอยด์ยอร์ช ก็นับถือและให้เกียรติเขาอย่างเป็นมิตรสนิทสนม เพราะความแก่งแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเช่นนี้ ปาเดริวสกีจึงทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 ปี ก็ต้องออกไป และได้กลับมายังทะเลสาบสวิส มาเล่นเปียโนของเขาใหม่

ที่วิลลาริมทะเลสาบสวิส เสียงเปียโนของเขาได้ดึงดูดคนใกล้เคียงให้แตกตื่นมาฟังกันอย่างคับคั่ง “ปาเดริวสกีกลับมาเล่นดนตรีใหม่” เป็นข่าวที่สำคัญของโลกไม่น้อยไปกว่าข่าวสงครามหรือสันติภาพ จากสวิสเขาก็ไปยัง ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก แสดงในคาร์เนกีฮอลล์แห่งเดียวกับที่แสดงครั้งแรก ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็อยากเห็นเขาในฐานะนักดนตรีมากว่าในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาเดินทางท่องเที่ยวและได้แสดงไปทั่ว ความเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เป็นเพียงความฝัน ตอนนี้เขาตื่นจากฝันมาเป็นปาเดริวสกีคนเดิมแล้ว

ในปี พ.ศ. 2473 ปาเดริวสกีเดินทางมาลอนดอน ขณะนั้นเขามีอายุ 70 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้ายอร์ชที่ 5 พระเจ้ากรุงอังกฤษกำลังประชวร เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ปาเดริวสกีในฐานะที่เป็นนักเปียโนฝีมือเอก ไม่ใช่ฐานะนายกรัฐมนตรี พระองค์ยังทรงบังคับให้พระราชินีแมรี ไปฟังการแสดงของเขาที่โรงละครใหญ่แห่งหนึ่งอีกด้วย

ในระยะนี้ปาเดริวสกีได้พบกับเด็กหนุ่มที่เขากรุณาลดหย่อนค่าแสดงให้ คือ เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ซึ่งบัดนี้เขาได้ขึ้นสู่ทำเนียบขาวเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแล้ว ท่านผู้นี้ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศโปแลนด์ โดยส่งแป้งสาลีและอาหารไปช่วยบรรเทาทุกข์แก้ความอดอยากเป็นอันมากตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 ถึง พ.ศ. 2476

ปาเดริวสกี ได้กลับไปอยู่เคหสถานริมทะเลสาบสวิสเมื่ออายุเลย 70 ปีแล้ว บารอนเนส โดโรเสน ภรรยาของเขาที่อยู่ด้วยกันมากว่า 30 ปี ก็ยังเป็นเพื่อนชีวิตที่ดีของเขาอยู่เสมอ

ปี พ.ศ. 2482 เขามีอายุถึง 79 ปีแล้ว อากาศบริสุทธิ์ริมทะเลสาบสวิสทำให้เขามีอายุยืนนานจนต้องประสบกับความช้ำใจอีกครั้ง เนื่องจากได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น กองทัพเยอรมนีบุกเข้าโปแลนด์ รัสเซียก็บุกเข้ามาด้วย ทั้งสองประเทศร่วมมือกันเพื่อจะแบ่งโปแลนด์คนละครึ่ง เอกราชของโปแลนด์สร้างไว้ได้แค่ 20 ปี ก็ต้องถูกแบ่งปันกันไปอีก

เขายังพยายามหาทางช่วยประเทศชาติ แม้จะมีอายุ 79 ปีแล้ว เขาออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วยความยากลำบาก จากสวิส ไปฝรั่งเศส เข้าสเปน เมื่อรัฐบาลสเปนไม่ยอมสลักหลังหนังสือเดินทางให้เขาก็เดินทางไปต่อยังโปรตุเกสได้สลักหนังสือเดินทางที่นั่น และไปถึงนิวยอร์ก

รัฐบาลโปแลนด์และรัฐสภาได้อพยพไปอยู่อเมริกา ปาเดริวสกีได้รับตำแหน่งประธานรัฐสภาโปแลนด์อีกครั้งในอเมริกา

ในปี พ.ศ. 2484 เขาก็ถึงแก่กรรมลง เมื่อมีอายุได้ 81 ปี โดยที่เขาไม่ทราบเลยว่าอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป

การนำเอาเรื่องโบลิวาร์ กับ ปาเดริวสกี มาไว้คู่กันนี้ เพื่อให้รู้วา ถ้าอยากเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองด้วยการกอบกู้อิสรภาพ ด้วยการปฏิวัติ หรือการทำงานใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านจะเลือกอย่างโบลิวาร์ หรืออย่างปาเดริวสกี คือ เมื่อทำงานสำเร็จแล้ว ท่านจะรั้งอำนาจความเป็นใหญ่ไว้ในมือท่านต่อไป และต่อสู้ฝ่าฟันอย่างโบลิวาร์ หรือจะวางมืออย่างปาเดริวสกี

ทั้งสองวิธีจะให้ความยิ่งใหญ่แก่ท่านเช่นเดียวกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องเผชิญจะผิดกันมาก เมื่อทำงานใหญ่สำเร็จย่อมมีผู้แย่งกันเป็นคนสำคัญ และตำแหน่งสูงสุดก็มีอยู่ตำแหน่งเดียว ผู้ที่ได้ครองตำแหน่งนั้นย่อมต้องมีศัตรู ถูกริษยา และประทุษร้าย หากต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปก็ต้องสู้ การต่อสู้ทางการเมืองไม่อาจเอาความดีต่อสู้กับความร้ายได้เสมอไป ซึ่งบางครั้งก็ต้องสู้ด้วยความร้ายเช่นกัน อย่างเช่นโบลิวาร์ที่ต้องปราบ ต้องฆ่าคน และฆ่ามิตรของตัวเอง จึงต้องกลายเป็นคนเลวร้ายไป มีการจองเวรกันไปเรื่อยๆ กลายเป็นผลที่ร้ายแรงแก่ผู้ที่ตั้งต้นทำความดีอย่างชีวิตของโบลิวาร์

โบลิวาร์ต้องรอจนกระทั่งตัวตายไปแล้วถึง 12 ปี ถูกฝังศพหมกดินอยู่ที่บ้านเล็กๆ ชายฝั่งทะเล กว่าความดีจะให้ผล มีผู้เห็นคุณความดีขึ้นมา รัฐบาลของประเทศทั้งหลายที่เขาได้สร้างอิสรภาพให้พร้อมใจกันเอาขบวนเรือรบไปรับศพ เขาเพิ่งได้รับเกียรติและได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ ก็ตอนนี้

บุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกับโบลิวาร์อีกคนคือ นะโปเลียน ประสบโชคชะตาคล้ายคลึงกัน เขาถูกปล่อยเกาะจนถึงแก่ความตาย ศพก็ถูกฝังไว้ที่เกาะเล็กๆ นั้น ศพของนะโปเลียนถูกฝังอยู่นานถึง 19 ปี กว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะได้นำมาไว้ในปารีส

แต่ปาเดริวสกีมีชีวิตที่ราบรื่นกว่าโบลิวาร์ เพราะเมื่อประสบความแก่งแย่ง ริบษาแล้วเขาก็หนีทันที กลับไปใช้ชีวิตนักดนตรีอย่างเดิม วิธีนี้ทำให้มีคนสงสารเห็นอกเห็นใจและเห็นความดีเร็ว เขาไม่มีชื่อเสียงในทางร้ายมีแต่ทางดี แม้ช่วงที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้อาศัยความนิยมชมชอบของตัวแสวงหาทางทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวโปแลนด์ เช่น ช่วยบรรเทาทุกข์ภัย ความอดอยากของราษฎร ซึ่งเป็นการสร้างคุณงามความดีไม่ได้ประกอบการร้ายอย่างโบลิวาร์ ความยิ่งใหญ่ของปาเดริวสกีนั้นไม่มีใครตั้งปัญหา ไม่มีใครคัดค้าน ไม่มีความมัวหมอง จึงเป็นทางเลือกที่ดีอยู่เหมือนกัน

เรื่องของปาเดริวสกีสอนให้รู้ว่า บุคคลผู้ที่รักชาติและมีความมุ่งหมายที่แท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็สามารถทำงานอันยิ่งใหญ่เพื่อกอบกู้อิสภาพของประเทศได้ ใครจะคิดว่านักเปียโน นักดนตรีที่มีอาชีพวิชาการห่างไกลการเมืองจะสามารถทำได้ อย่างปาเดริวสกีเขาทำได้ด้วยดนตรี เขาให้สมรรถภาพในทางนี้เรียกร้องความสงสารความเห็นอกเห็นใจจากโลก

ตรงกันข้ามกับโบลิวาร์ ที่ทำงานใหญ่ด้วยกำลัง ใช้อาวุธ แต่ปาเดริวสกีทำงานด้วยการเรียกร้องดวงใจของประชาชน ซึ่งได้ผลดีไม่น้อย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มนุษย์สามารถสร้างคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติและตัวเองได้ ไม่ว่าในวิถีทางใด และไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด

เรื่องของปาเดริวสกี ก็ได้สอนอีกว่า การพยายามหาความรู้การศึกษาให้ดีจริง เป็นกุศโลบายที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความยิ่งใหญ่ จากการศึกษาเขาก็ก้าวมาเป็นครูสอนดนตรีที่วิทยาลัยถึงสองแห่ง คือที่ วอร์ซอ และที่สตราบูร์ก แต่เขาก็พยายามเรียนให้สูงขึ้นไปอีก เขาพอใจที่จะเรียนมากกว่าเป็นครู และต้องการเรียนจริงๆ

กุศโลบายที่ดีที่สุดในการสร้างความยิ่งใหญ่ คือพยายามให้ตัวเองรู้จักผู้อื่นนานกว่าที่จะให้ผู้อื่นรู้จักตัวเอง พยายามให้ตัวเองเข้าใจคนอื่น มากกว่าที่จะให้คนอื่นเข้าใจตัว การแสดงฝีมือที่ลอนดอนครั้งแรกของปาเดริวสกีเป็นความล้มเหลวที่ไม่นึกฝัน ไม่น่าเชื่อ เพราะไม่คิดว่าฝีมือของตนจะมาล้มเหลวที่นี่ และแทนที่เขาจะคิดว่าคนอังกฤษไม่รู้จักของดีที่เขามี เขากลับคิดว่าตัวเองยังไม่รู้จักรสนิยมของคนอังกฤษดีพอ เขาจึงพยายามเรียนรู้ และเขาก็ได้รู้ว่ารสนิยมของชาวอังกฤษเป็นอย่างไร เขาแสวงหาความนิยมได้แม้กระทั่งองค์พระราชินี ความยิ่งใหญ่ของเขาอยู่ที่ความพยายามให้ตัวเองรู้จักผู้อื่น ไม่ใช่พยายามให้ผู้อื่นรู้จักตัวเองแต่ฝ่ายเดียว

ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

ซิมอน โบลิวาร์(Simon bolivar)

ซิมอน โบลิวาร์ เป็นอัจฉริยบุรุษที่ได้กอบกู้อิสรภาพให้แก่ดินแดน 1 ใน 3 ของทวีปอเมริกาใต้ ให้กำเนิดประเทศต่างๆ ถึง 6 ประเทศ คือ เวเนซุเอลา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย และชิลี ประเทศโบลิเวียจะได้นามตามชื่อของเขาเอง บุคคลที่สร้างอิสรภาพให้ประเทศต่างๆ ได้ถึง 6 ประเทศนี้ เป็นบุคคลที่น่าศึกษาในเรื่องกุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่เป็นอย่างยิ่ง

ในทวีปอเมริกาสมัยเมื่อ 170 ปีมาแล้ว ชาติเล็กๆ ได้พยายามกอบกู้อิสรภาพของตนเพื่อให้พ้นจากอำนาจของสเปน ทำให้สเปนต้องสูญเสียจักรภพ เสียความเป็นมหาอำนาจ เกี่ยวกับข้าหลวงและข้าราชการของสเปนที่ไปประจำอยู่ในเมืองต่างๆ ของทวีปอเมริกา มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการขวนขวายแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว กอบโกยความร่ำรวยด้วยวิธีกดขี่ข่มเหงราษฎรแม้จะเป็นชาวสเปนด้วยกันก็ตาม ทำให้ไม่ยินดีที่จะเป็นชาวสเปนต่อไป ความคิดที่จะแยกออกเป็นอิสระได้มีอยู่ทั่วไป หากถูกจับได้ก็จะต้องถูกลงโทษอย่างทารุณ

ใน พ.ศ. 2324 ได้มีความพยายามกอบกู้อิสรภาพของประเทศเปรูด้วยคนพื้นเมืองที่มีชื่อว่า ตูปัคอมรู เมื่อทางราชการสเปนจับตัวได้ ก็นำภรรยาและลูกชายของเขามาดึงลิ้นออก และให้ดูภรรยาและลูกชายของเขาถูกประหารด้วยวิธีทารุณโหดร้าย โดยเอาเชือกผูกแขนทั้งสองและขาทั้งสอง เอาปลายเชือกไปผูกกับม้า 4 ตัว คือเชือกเส้นหนึ่งก็ผู้กับม้าตัวหนึ่ง แล้วก็ขับควบให้ม้าดึงร่างให้ฉีกแยกออกจากกัน ภรรยาของเขาถูกทำก่อน และตามมาด้วยลูกชาของเขา ตูปัคอมรู ถูกบังคับให้ดูภาพที่แสนทุเรศนี้ แล้วเขาเองก็ต้องถูกทำเช่นนี้ด้วย

อิสรภาพของชาติหรือของหมู่ชนย่อมมีค่าสูงกว่าชีวิตของแต่ละคน การเสียสละชีวิตเพื่ออิสรภาพเป็นสิ่งที่มีเกียรติและสมควร การลงโทษทารุณโหดร้ายจึงไม่สามารถที่จะห้ามหรือป้องกันให้เลิกคิดกอบกู้อิสรภาพได้

ในเรื่องนี้มักมีผู้เสียสละกันมาก ในทวีปอเมริกาประเทศน้อยใหญ่ก็ได้กำเนิดขึ้นด้วยการเสียสละนี้

ประเทศทั้งหลายในโลกสมัยใหม่ เช่น สเปน เป็นประเทศที่มีโอกาสมากในการที่จะเป็นเจ้าโลก และเป็นมหาอำนาจสูงสุด โดยอาศัยนักตรวจค้นของตนเองบ้าง จากชนชาติอื่นบ้าง เพื่อหาเขตแดนแผ่นดินให้กว้างขวาง ในทวีปอเมริกาตอนกลางและตอนใต้เกือบทั้งหมดเกือบจะเป็นโลกใหม่ทั้งโลก และอำนาจของสเปนยังขยายออกมาทางตะวันออก ได้หมู่เกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมู่ ผู้คนที่เข้าไปอยู่ในที่นี้ก็เป็นชาวสเปนทั้งนั้น ภาษาพื้นเมืองก็เป็นภาษาสเปน แม้ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ภาษาสเปนก็แทบจะกลายเป็นภาษาพื้นเมือง ซึ่งหาชนชาติที่ยิ่งใหญ่และครองโลกได้เหมือนสเปนยากเหลือเกิน

แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่เป็นความจริงว่า ในเวลานี้ สเปนได้ตกไปเป็นประเทศที่ 3 หรือที่ 4 มีความสำคัญเพียงเล็กน้อย เขตแดนแผ่นดินเหล่านั้นได้หลุดมือไป หมดความยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจ ด้วยเพราะเหตุผลเดียวคือ พฤติการณ์ที่เราเรียกกันทั่วไปในเวลานี้ว่า “คอรัปชั่น” ทั้งบุคคลในรัฐบาล ผู้ปกครอง ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงไปต้องการความมั่งคั่งของเงินทองเพียงอย่างเดียว การช่วงชิงตำแหน่งหน้าที่มีความมุ่งหมายที่ความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียว ใครได้ตำแหน่งใดก็พยายามกอบโกย รีดกันเป็นทอดๆ เพื่อหาความมั่งคั่ง

พระเจ้าแผ่นดินรีดจากขุนนางข้าราชการ ข้าหลวงต่างพระองค์ที่ปกครองเขตแคว้นแดนดินและเมืองขึ้นต่างๆ สิ่งที่ถือเป็นความดีความชอบในราชการมีเพียงสิ่งเดียวคือ การหากเงินทองถวายเป็นราชพลีให้ได้มากๆ จึงทำให้พวกขุนนางข้าราชการไปรีดจากราษฎรต่อไป การคดโกง กอบโกย กดขี่ข่มเหงราษฎร ตลอดถึงการทารุณกรรมเพื่อรีดเอาเงินทอง และการแสดงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อความมั่งคั่งของผู้ปกครองนั้น เป็นเรื่องที่ทำกันอย่างเปิดเผยปราศจากความละอาย

แม้ประชาชนจะอพยพข้ามไปอยู่โลกใหม่เพื่อหาทางทำมาหากินในทวีปอเมริกา ก็ยังถูกพวกข้าหลวงติดตามไปรีดไถในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง โดยที่ผู้ปกครองพวกนี้ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ประชาชนเลย ไม่ได้ให้ความผาสุก ไม่ได้ช่วยเหลืองสร้างทางคมนาคม การสุขาภิบาลหรือการใดๆ ความคิดก่อการจลาจลจึงมีอยู่ทั่วไป เพราะความเกลียดชังรัฐบาล ในขณะที่โบลิวาร์ทำงานสร้างอิสรภาพของอเมริกาใต้ มีชาวสเปนแท้คนหนึ่ง ชื่อ เอลิยาส เขามีพวกพ้องมากและได้นำพรรคพวกมาเข้าร่วมด้วยเป็นทหารกองใหญ่ และเอลิยาส ก็ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องการจะฆ่าพวกสเปนให้หมด ฆ่าคนอื่นให้หมดก่อนแล้วฆ่าลูกเมียของข้าพเจ้า แล้วก็ฆ่าตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นสเปนเสียเองด้วย เพื่อจะมิให้มีเชื้อชาติสเปนเหลืออยู่ในโลกเลย เพราะเลือดสเปนเป็นเลือดที่เลวเหลือเกิน” โบลิวาร์ได้กำเนิดขึ้นด้วยสภาพการณ์อย่างนี้

ซิมอน โบลิวาร์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2326 ที่เมืองคารากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้อำนาจของสเปน เขาเกิดในตระกูลที่สูงและมั่งคั่งตระกูลหนึ่ง แม้จะเป็นเวลา 3 ปีมาแล้ว ที่ตูปัคอมรูได้รับการทารุณกรรม ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนทั้งหลายมาอีกช้านาน ซิมอน โบลิวาร์ ได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ตอนเขาเกิดใหม่ๆ บิดาได้นำไปทำพิธีตั้งชื่อ บิดาของเขาอยากให้ชื่อว่า ซันติอาโก แต่พระบอกว่าเด็กคนนี้เมื่อโตขึ้นจะทำการใหญ่ในการช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสเหมือนอย่าง ซิมอน มัคคาบิวสะ ในพงศาวดารของยิว เขาจึงมีชื่อตัวว่า ซิมอน

เขาเป็นเด็กที่กล้าหาญ ไม่อยู่นิ่ง ชอบทำตามใจตัวโดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง ตอนเขาอายุได้ 3 ขวบ บิดาของเขาก็ถึงแก่กรรมลง มารดาได้พาไปฝากให้ศึกษาอยู่กับพิพากษาคนหนึ่ง และผู้พิพากษาคนนั้นก็ชอบพูดว่า “เด็กคนนี้เป็นเหมือนเขาโคที่บรรจุดินปืน” ที่อาจจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไรก็ได้

ยิ่งโตขึ้นเขาก็ยิ่งเป็นคนรูปงาม ดวงหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ท่าทางที่งามสง่า ดวงตาที่เป็นสีดำ สามารถดึงดูดให้คนทั้งหลายมานิยมชมชอบได้มาก บางคนกล่าวว่า เขาเป็นเหมือนเจ้าชายในนิยาย มารดาของเขาได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อเขามีอายุได้ 9 ปี และได้ทิ้งทรัพย์สมบัติอันใหญ่หลวงไว้ให้ มีเหมืองแร่หลายแห่ง มีไร่อ้อยหลายร้อยเอเคอร์ โรงโม่ โรงหีบ โรงกลั่น สวนผลไม้ที่ใหญ่มหึมา สัตว์เลี้ยงและทาสหญิงจำนวนมาก ซึ่งสมบัติเหล่านี้เขาต้องแบ่งกับน้องชายคนหนึ่ง และน้องสาวอีกสองคน

แต่ซิมอน โบลิวาร์ สนใจแต่เรื่องการผจญภัย ไม่สนใจในทรัพย์สมบัติอันนี้ เขาชอบแวดล้อมอยู่ในหมู่เด็กซนๆ และบางครั้งก็ซุกซนจนเดือดร้อนถึงคนอื่น เขาได้ครูอาจารย์คนหนึ่งเป็นนักปรัชญาพเนจร ทำตัวเหมือนนักปรัชญาบางคนของกรีกในสมัยโบราณ คือ เดินทางท่องเที่ยวและมีจริยวัตรผิวคนธรรมดา หลักการสอนของท่านผู้นี้มีอยู่ว่า ร่างกายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ดวงจิตเป็นของโง่เขลา ที่ทำประโยชน์ได้ก็คือร่างกายเท่านั้น ส่วนดวงจิตมีแต่เรื่องโง่อยู่ตลอดเวลา การบำรุงรักษาร่างกายให้มีอนามัยที่ดี การฝึกหัดกายบริหาร ทำให้ร่างกายแข็งแรง คือหน้าที่ของมนุษย์เรา เมื่อร่างกายดีดวงจิตก็จะดีเอง ไม่เหมือนกับหลักปรัชญาของผู้อื่นที่ว่าดวงจิตสำคัญกว่าร่างกาย นักปรัชญาผู้นี้ให้ความสำคัญกับร่างกาย เขาเปลือยกายไม่ใช้เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือว่าเป็นพวก นูดิสต์ รุ่นแรก เขามีชื่อว่า โรดริเกซ

โบลิวาร์เองก็ชอบลัทธิและคำสอนของอาจารย์ท่านนี้ด้วย เขาปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์และเรียนทุกอย่างที่เป็นศิลปะแห่งการใช้กำลังและออกกำลัง เดินทางบุกป่าข้ามเขาไปกับอาจารย์ เรียนวิชาจับและฝึกม้าป่าจากพวกโคบาล หัดควบม้า จับโค ล้มโค เอาใจใส่ร่างกายมากกว่าดวงจิต ฝึกกายบริหาร สร้างความงามความแข็งแรงให้กับร่างกาย

โรดดิเกซ พอใจในความก้าวหน้าของความแข็งแรงของศิษย์ เขาสามารถอวดได้ว่ากล้ามเนื้อของศิษย์เขาเวลานี้แข็งเป็นเหล็ก เขาบอกแก่ศิษย์ของเขาว่า “เจ้าต้องการความแข็งแรงอันนี้สำหรับการต่อสู้อย่างใหญ่หลวง ที่คอยเจ้าอยู่ข้างหน้า” ในทวีปอเมริกาชาวเวเนซุเอลาและหมู่ชนทั้งหลายทางภาคใต้กำลังต้องการกอบกู้ตัวเอง ชื่อซิมอน เป็นนามของผู้กู้อิสรภาพในตำนานทางศาสนา คำสอนเหล่านี้ได้แทรกซึมและฝังรากแน่นลงในดวงจิต และเหตุการณ์ทั่วๆ ไปที่ปรากฏแก่ตาของโบลิวาร์ในเวลานั้น มีการกบฏ จลาจล การใช้กำลังอำนาจของรัฐบาลเข้าปราบปราม การประหารชีวิตและการทารุณกรรม ซึ่งพวกนักปฏิวัติ นักกอบกู้อิสรภาพต้องรับเพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ให้แก่ตัวเอง การกอบกู้อิสรภาพในอเมริกาใต้นี้ โรดริเกซเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และในที่สุดเขาก็ถูกเนรเทศออกจากเวเนซุเอลา

โบลิวาร์ได้อาสาเข้าอยู่ในกองทหารอาสาสมัครของรัฐบาลเมื่ออาจารย์ถูกเนรเทศไปแล้ว เมื่อมีอายุเพียง 16 ปี ก็ได้เป็นนายร้อยตรี เพราะมีความสามารถ ความแข็งแรง ประกอบกับการที่มีตระกูลเป็นคนมั่งคั่งด้วย

โบลิวาร์ได้เดินทางมาประเทศสเปน ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2342 เขามีวงศ์ตระกูลอยู่ที่นั่นเหมือนกัน ลุงของเขาเป็นข้าราชการในราชสำนักกรุงมาดริดที่มีอิทธิพลคนหนึ่ง เขาได้รับการต้อนรับอย่างดีเมื่อมาถึงสเปน สามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีได้ แต่ก็มีคำสั่งจับเขาจากทางราชการสเปนเมื่อเขาอยู่ที่นั่นได้แค่ 2-3 เดือน เพราะถูกสงสัยว่าคบคิดกับลุงของเขาเพื่อจะทำร้ายพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินี

โบลิวาร์ได้หนีไปที่กรุงปารีส มีพวกพ้องชักนำให้เข้าสู่สังคมชั้นสูงของกรุงปารีส จนได้เข้าเฝ้านะโปเลียน เขาได้รับความนิยมชมชอบทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่สตรีชั้นสูง เพราะมีรูปงาม เมื่อเขาได้ข่าวว่ารัฐบาลสเปนถอนคำสั่งจับแล้วก็กลับมายังสเปนอีก เมื่อเขาอายุได้ 19 ปี ก็ได้แต่งงานกับหญิงชาวสเปนคนหนึ่งและกลับไปทวีปอเมริกา ใช้ชีวิตสมรสอย่างเงียบและผาสุกในที่ดินของเขาแห่งหนึ่ง

แต่อยู่ได้ไม่นานภรรยาของเขาก็จากไปเพราะป่วยไข้อย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมลง เขาก็คิดว่าเวลาแห่งความเป็นเด็ก เวลารื่นเริงสนุกสนานได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อไปนี้เขาจะต้องทำงาน และได้เดินทางกลับสเปน เข้าเรียนกฎหมายและมั่วสุมอยู่ในหมู่นักศึกษาชาวอเมริกาใต้ที่อยู่ในสเปน มีการตั้งเป็นสมาคมขึ้นและโบลิวาร์ก็ได้เป็นหัวหน้า โบลิวาร์ได้รับความนิยมนับถือเพราะมีความแข็งแรงในร่างกาย มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในดวงจิต มีรูปร่างที่เป็นผู้ดีมีตระกูล ประกอบกับมีความมั่งคั่ง มีญาติพี่น้องสูงศักดิ์อยู่ในสเปนด้วย พวกพ้องของเขามีมากขึ้นทุกที จนทราบถึงรัฐบาลสเปน เขาจึงถูกเนรเทศให้ออกไปอีก

เขาได้ไปกรุงปารีสเหมือนอย่างเคย และเช่นเดียวกับครั้งก่อนที่สังคมชั้นสูงให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี เขาสามารถเข้าถึงคนใหญ่คนโตอย่าง ตาเลรังด์ รัฐมนตรีว่าการของนะโปเลียน นายพลดุรอค จอมพลอุดิโนต์ มาดาเรอ กามิเอด มาดาสตาล ที่กำลังรุ่งโรจน์ในสังคมฝรั่งเศสในเวลานั้น เขาก็เป็นคนนำสมัยในปารีส เป็นดาราในสังคม เมื่อแต่งตัวอย่างไรก็ต้องมีคนแต่งตาม เขาใช้หมวกสูงปีกกว้างอย่างสเปน คนในสังคมชั้นสูงของฝรั่งเศสก็ใช้บ้าง และเรียกหมวกนี้กันว่า หมวกโบลิวาร์

ความเป็นดาวดวงเด่นของเขาถูกสร้างขึ้นจากความมั่งคั่งทางทรัพย์สมบัติ และความสมบูรณ์ในรูปสมบัติ คนที่อยู่ในฐานะชนิดนี้ในสมัยนะโปเลียน น่าจะหลงระเริงในความสุขสนุกสนาน เพราะไม่มีความจำเป็นเลยที่เขาจะต้องไปทำงานเสี่ยงภัยให้เกิดความลำบาก เขามีโอกาสหาความรื่นรมย์ทุกอย่างให้แก่ชีวิตได้แม้ในประเทศสเปนเอง เขาสามารถจะมีตำแหน่งสูงและความมั่งคั่งจากราชสำนักสเปนเท่าใดก็ได้ ถ้าเขาได้แสดงให้เห็นว่าเลิกคิดกบฏแล้ว แต่ประเทศอิสระต่างๆ คือ เวเนซุเอลา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย และชิลี ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเขาเป็นบุคคลชนิดนั้น

แต่โบลิวาร์ไม่ได้หลงอยู่กับความมั่งคั่ง สังคม และความเป็นดาวดวงเด่น ที่แวดล้อมด้วยสตรีเพศและกามารมณ์ บรรดาคนใหญ่โตในกรุงปารีสมีอยู่คนเดียวที่เขาสนใจอย่างยิ่ง มีชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมบอลด์ เป็นชาวเยอรมัน ศึกษาค้นคว้าทางธรรมชาติวิทยา และเพิ่งกลับมาจากการค้นคว้าที่อเมริกาใต้ โบลิวาร์ได้ถามเขาว่า ชนชาติต่างๆ ในอเมริกาใต้พร้อมที่จะเป็นอิสระหรือยัง เขาก็ตอบว่า ประชาชนพร้อมแล้ว แต่ยังขาดผู้นำ โบลิวาร์คิดว่าบางทีเขาอาจจะเป็นผู้นำได้

ต่อมา โรดริเกซ อาจารย์ของเขาที่ถูกเนรเทศ ได้ปรากฏตัวขึ้นอีกในปารีส และยังไม่เปลี่ยนความคิดหรือหลักการของเขา ในเรื่องที่ว่า “ร่างกายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ดวงจิตเป็นของโง่เขลา” ความคิดไม่มีประโยชน์อะไร การจะสร้างความสำเร็จได้ต้องลงมือทำเท่านั้น หลักการอันนี้ได้สอนให้โบลิวาร์เป็นคนแปลกประหลาดด้วยเช่นกัน เขาได้ถามอาจารย์ว่า คนอย่างเขาจะเป็นผู้นำกอบกู้อิสรภาพได้หรือไม่ เขาก็ได้รับคำตอบจากอาจารย์ว่า นอกจากเขาแล้วก็ยังมองไม่เห็นใคร

โบลิวาร์รู้ว่า มีความจำเป็นที่เขาจะต้องรู้กิจการบ้านเมืองบ้าง หากคิดทำงานใหญ่ที่เกี่ยวกับบ้านเมืองเช่นนี้ จึงต้องศึกษาหาความรู้พอสมควร เขาได้ศึกษาจากหนังสือตำราที่อาจารย์ของเขาหามาให้ ซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งโดยนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงทางวิชาการเมือง เช่น เพลโต วอลแตร์ รุสโซ มองเตสคิเออ เฮลเวติยส ฮอมส์ฮูม สปินโนซา

ในระหว่างที่โบลิวาร์ได้ศึกษาหาความรู้อยู่นั้น อาจารย์ของเขาก็ไม่ยอมทิ้งหลักการที่ตนสอน แม้โบลิวาร์จะมั่งมีและดำเนินชีวิตได้อย่างสุขสบาย แต่อาจาย์ก็ไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น เขาบังคับให้โบลิวาร์อยู่ในบ้านที่ไม่งดงามโอ่โถง ไม่ให้นอนบนที่นอนนุ่มๆ รับประทานอาหารที่สร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เรียนวิชาฟันดาบจากครูที่ดีที่สุด จนมีฝีมือเชิงดาบที่สามารถต่อสู้กับคนเก่งๆ ได้ โบลิวาร์และอาจารย์เดินทางด้วยเท้าท่องเที่ยวไปทางทิศใต้ของยุโรป เดินข้ามภูเขาแอลป์ ไปอิตาลี เมืองมิลาน เวนิช เนเปิล จนไปถึงกรุงโรม ได้เข้าเฝ้าสังฆราชกรุงโรม แต่ไม่ยอมให้โบลิวาร์ก้มกราบจูบรองพระบาทสังฆราชกรุงโรมเหมือนคนอื่นๆ

โบลิวาร์ได้สาบานต่ออาจารย์ที่กรุงโรมนี้ว่า จะทำงานกู้อิสรภาพดินแดนของตนให้ได้ จะไม่วางมือจนกว่าจะขับไล่อำนาจสเปนออกไปได้

เมื่อเขาอายุได้ 23 ปี ในปี พ.ศ. 2349 ก็ได้เดินทางกลับอเมริกา เมื่อถึงดินแดนที่เป็นมาตุภูมิของเขาก็ได้พบว่า มีผู้พยายามทำงานอย่างเสียสละเพื่อกอบกู้อิสรภาพอยู่แล้ว เขาได้พบกับชาวเมืองเวเนซุเอลาคนหนึ่ง ชื่อ มิรันดา เคยเป็นผู้อาสารบในสงครามกู้อิสรภาพของสหรัฐอเมริกา เคยอาสารบสมัยปฏิวัติในฝรั่งเศส เคยอยู่ในกองทัพของนะโปเลียน มีความกล้าหาญและฝีมือที่ดีเด่นจนได้ยศนายพล ซึ่งการเป็นนายพลในกองทัพนะโปเลียนไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อรู้เช่นนี้ โบลิวาร์จึงคิดว่าการจะมาเป็นผู้นำนั้นไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะมิรันดา มีดีกว่าเขาทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ สามารถเป็นหัวหน้าที่ดีได้ เขาจึงสมัครเข้าอยู่กับมิรันดาทันที

แต่ก็เป็นแค่การเตรียมการ ยังไม่มีการลงมือทำอะไร วิธีเดียวที่จะกอบกู้อิสรภาพคือ ต้องใช้กำลังสู้รบ การเตรียมกำลังรบก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่เข้ามาสมัครเป็นทหารจะต้องยอมเสี่ยงภัย และเสียสละอย่างแท้จริง การประชุมคนในที่รัฐบาลจะจับตัวไม่ได้ง่ายๆ ต้องถูกยึดที่ดิน ไร่นา ทรัพย์สมบัติ สัตว์เลี้ยง ถ้าทิ้งบุตรภรรยาไว้ก็จะเป็นอันตราย แต่มิรันดาก็ยังรวมกำลังคนได้เป็นอันมากในเวลาต่อมา และในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2354 ก็ได้ประกาศอิสรภาพของเวเนซุเอลา ที่เมืองคารากัส

ต้องใช้กำลังทหารเข้าโจมตีรัฐบาลหลังจากประกาศอิสรภาพแล้ว แต่ก็ต้องหมดหวังเพราะทหารไม่มีแม้แต่รองเท้าจะใช้ เรื่องเครื่องแบบไม่ต้องพูดถึง การรบแบบสงครามก็ไม่เคยรบ บางคนยิงปืนก็ยังไม่เป็น ทำไมไม่ฝึกทหารให้ดีก่อนประกาศอิสรภาพ แต่ผู้ที่รู้จักงานปฏิวัติรัฐประหาร หรือการกู้อิสรภาพ รู้ดีว่าไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ต้องประกาศออกมาก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มฝึกทหาร เพราะคนที่สมัครเข้ามาล้วนใจร้อนต้องการเห็นอิสรภาพแม้แต่ในนามอย่างทันใจ ถ้ามัวฝึกอยู่ก็จะกลับใจกันไปเสียหมด

ในการฝึกทหาร โบลิวาร์ได้เป็นกำลังสำคัญของมิรันดา มิรันดาแต่งตั้งยศให้เขาเป็นพันเอก แต่กองทหารที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้นแม้เขาจะใช้ความพยายามสักเพียงใด อาหารก็กินมื้อขาดมื้อ เงินเดือนบางเดือนก็ไม่ได้จ่ายให้กับทหาร ถึงเป็นเช่นนี้ก็ยังรบชนะกองทัพรัฐบาลได้ถึงสองครั้ง และอาจจะเป็นผลสำเร็จถ้าพวกเดียวกันเองไม่หักหลังทรยศเสียก่อน ทำให้ต้องพ่ายแพ้ มิรันดาถูกจับไปขังที่เมืองคาดิช และตายด้วยโรคหัวใจ ส่วนโบลิวาร์หนีไปได้

โบลิวาร์ลอบกลับมาในเมืองคารากัสใหม่ เพื่อคิดแผนการกอบกู้อิสรภาพต่อไป โดยซ่อนตัวอยู่ในกระท่อมของเพื่อนที่เป็นชาวอินเดียนแดงคนหนึ่ง

แต่รัฐบาลก็รู้ว่า โบลิวร์เป็นคนสำคัญในการกู้อิสรภาพของมิรันดาในครั้งนั้น ทรัพย์สินของโบลิวาร์ถูกริบไปจนหมด กองทัพของเขากระจัดกระจายกันไป ในเวเนซุเอลามีคนเสียชีวิตสองหมื่นคนภายหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่ต่อมาเขาก็ต้องถูกจับไปขังไว้ที่เกาะคุราเซา และได้หนีมาอยู่ที่กรานาดาเมืองขึ้นของสเปน

โบลิวาร์ไม่เคยรู้จักกรานาดา ไม่มีความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศ และไม่มีใครรู้จักโบลิวาร์ ด้วยเสน่ห์ในตัวเขาจึงทำให้หาเพื่อนได้รวดเร็ว เขาได้ประกาศอิสรภาพของกรานาดาด้วยวิธีแบบเดียวกับมิรันดา ขณะนั้นกำลังก็ยังมีเพียงแค่สองร้อยคน ยังไม่มีความพร้อม และได้ยกเข้าล้อมป้อมเตเนริฟเฟของสเปน ให้ทหารซุ่มอยู่ตามก้อนหินและต้นไม้ แยกย้ายกันกันอยู่เหมือนมีกำลังมากมาย ได้ส่งคำสั่งไปยังผู้บัญชาการป้อมว่าถ้าไม่ยอมแพ้จะยิงด้วยปืนใหญ่ให้พังพินาศ ซึ่งความจริงเขาไม่มีปืนใหญ่แม้แต่กระบอกเดียว ผู้บัญชาป้อมจึงพากันออกจากป้อม เมื่อโบลิวาร์ยึดป้อมได้แล้วก็เขายึดตัวเมืองโดยไม่เสียชีวิตทหารเลยแม้แต่คนเดียว

จากเมืองเตเนริฟเฟ เขาได้เคลื่อนกำลังเข้าล้อมป้อมมอมป๊อกซ์ และยึดได้อีกป้อมหนึ่งโดยไม่ต้องมีการต่อสู้เลย ความสำเร็จนี้ทำให้คนเริ่มเห็นเขาเป็นพระเจ้า มีคนมาเข้าด้วยกับเขามากมาย เขาต้องรบอย่างหนักถึง 6 ครั้ง กับการเผชิญหน้ากับกองทหารกองใหญ่ๆ ของรัฐบาล แต่ก็ได้ชัยชนะ เขาเคลื่อนกำลังสู่เมืองเวเนซุเอลาซึ่งเป็นทางที่ลำบากและล่อแหลมมาก นายทหารคนหนึ่งบอกเขาว่า “คราวนี้เป็นการเหลือกำลังมนุษย์”

โบลิวาร์ก็ตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นเราก็ต้องใช้กำลังให้เกินกว่ากำลังมนุษย์”

ที่ทหารพูดเช่นนั้นก็เพราะการเคลื่อนกำลังครั้งนี้ได้ทำในฤดูหนาวจัด ทหารของโบลิวาร์เป็นคนเมืองร้อน ไม่เคยเห็นหิมะ ไม่เคยต่อสู้ความหนาวที่เป็นศัตรูร้ายแรงยิ่งกว่ามนุษย์ ในการเดินทางก็ต้องข้ามภูเขา เดินเลาะริมปากเหว มีทางเดินแคบๆ เมื่อหิมะตกทางก็ลื่น มีคนหรือสัตว์ตกเหวอยู่ทุกวัน แต่โบลิวาร์ก็ได้ทำตัวเป็นผู้นำอย่างแท้จริง เขาเดินนำหน้าบ้าง รั้งหลังบ้าง ขึ้นหน้าไปก่อนแล้วคอยดูทหารที่เดินผ่านไปด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยคำพูดที่ปลอบใจ ด้วยการแสดงตัวว่าเขาเองก็ลำบากและเสี่ยงภัยไม่น้อยกว่าผู้อื่น จากทหารที่มีอยู่ 500 คนเศษ ตกเหวตายไปสุดท้ายก็เหลืออยู่ไม่ถึง 500 คน

เมื่อพ้นภูเขาก็เดินทางไปเมืองคารากัส ทหารทั้งหลายมองเห็นชัดว่า โบลิวาร์คิดถูก ที่นำพลเข้าเมืองคารากัสในทางนี้และเข้าในฤดูหนาวจัด รัฐบาลสเปนไม่ได้เตรียมการป้องกันไว้เลย เพราะไม่คิดว่าจะมีใครนำกองทัพเข้ามาทางนี้

แต่โบลิวาร์ไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาคิดว่าการรบกับธรรมชาติบางครั้งง่ายกว่ารบกับมนุษย์เสียอีก เขาถือว่า ควายากลำบากในการข้ามภูเขานั้นคือการรบ ถ้าข้ามได้ก็แปลว่าชนะ งานกู้อิสรภาพของเขาในเมืองนี้กับมิรันดาได้ให้ผลดีแก่เขา เพราะคนเมืองนี้ต้องผู้นำในการกอบกู้อิสรภาพอยู่แล้ว เขาได้ทหารอาสาสมัครมากมาย มีนายทหารเก่าคนหนึ่งชื่อ เอลิยาส ได้นำกองทหารอย่างดีเข้ามาด้วยทั้งกอง เมื่อใกล้เมืองคารากัสก็มีการรบกันอย่างหนัก แต่กำลังของเขาก็มีมากพอในการรบตะลุมบอนเกือบทุกครั้ง เขาควบม้าออกหน้า และใช้วิชาดาบที่ฝึกฝนมาอย่างดีเขาตีเมืองคารากัสได้ การกู้อิสรภาพในเวเนซุเอลาจึงเป็นผลสำเร็จ

ในปี พ.ศ. 2356 โบลิวาร์มีอายุได้ 30 ปี และหาได้ยากมากที่คนอายุ 30 ปี จะกระทำการได้สำเร็จเช่นนี้

แล้วเขาก็ประสบผลสำเร็จเรื่อยๆ มาอีก 11 ปี โบลิวาร์ได้ปลดเปลืองอเมริกาใต้จากอำนาจของสเปน และกลายเป็นประเทศต่างๆ ในปัจจุบันถึง 6 ประเทศ คือ
1. เวเนซุเอลา มีเนื้อที่ประมาณ 353,000 ตารางไมล์
2. โคลัมเบีย มีเนื้อที่ประมาณ 439,000 ตารางไมล์
3. เอกวาดอร มีเนื้อที่ประมาณ 28,000 ตารางไมล์
4. เปรู มีเนื้อที่ประมาณ 482,000 ตารางไมล์
5. โบลิเวีย มีเนื้อที่ประมาณ 419,000 ตารางไมล์
6. ชิลี มีเนื้อที่ประมาณ 297,000 ตารางไมล์

รวมทั้ง 6 ประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 1,992,000 ตารางไมล์ ซึ่งใหญ่กว่าประเทศเราถึง 9 เท่า นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนคนหนึ่งที่ทำได้อย่างนี้ มีประเทศหนึ่งที่ได้นามตามชื่อของโบลิวาร์ คือประเทศโบลิเวีย

แต่ดินแดนที่โบลิวาร์กอบกู้อิสรภาพได้ต้องแตกแยกกันเพราะเหตุใด แล้วทำไมไม่รวมเข้าเป็นประเทศเดียวกัน เหตุผลก็คือ โบลิวาร์สามารถเอาชนะศัตรูได้ แต่ไม่สามารถที่จะเอาชนะมิตรของตัวได้ มีสุภาษิตทางการเมืองอยู่ข้อหนึ่งว่า “เป็นการยากที่จะชนะสงครามและสันติภาพในเวลาเดียวกัน บางครั้งเราชนะสงคราม แต่เสียสันติภาพ (It is difficult to win the war and the peace at the same time, Sometimes we win the war and lose the peace)” เหตุการณ์ของโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงอยู่เป็นอันมาก หลายๆ ประเทศร่วมมือกันทำการต่อสู้ศัตรูจนได้ชัยชนะ แต่ประเทศที่ชนะกลับมาแตกกันเสียเองในภายหลัง เป็นศัตรูร้ายแรงแก่กันยิ่งกว่าเดิม เคยร่วมกันต่อสู้ศัตรูจากภายนอก เมื่อศัตรูพ่ายแพ้แล้วภายในก็แตกมาเป็นศัตรูกัน ประทุษร้ายกัน กลายเป็นสงครามกลางเมือง ทำความเดือดร้อนเสียหายมากกว่าเดิม เคยร่วมกันปราบศัตรูลงไปได้ แต่ต้องกลับมาประหัตประหารกันเอง

เมื่อทำงานสำเร็จแล้ว พวกมิตรที่เคยร่วมมือกันมาก็ไม่ยอมรับว่าความสำเร็จมาจากโบลิวาร์ ไม่ยอมให้โบลิวาร์เป็นใหญ่แต่ผู้เดียว เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ ต้องการให้คนอื่นที่เป็นชั้นหัวหน้ามีอำนาจอย่างนั้นบ้างจึงเกิดความแตกแยกขึ้น พวกนี้ไม่ยอมให้โบลิวาร์ดำรงตำแหน่งจอมทัพ การแก่งแย่งมีมากขึ้นจนถึงขึ้นจลาจลเป็นสงครามกลางเมืองในเวเนซุเอลา การยกพวกสู้กันในสนามหลวง ทหารลุกขึ้นทำร้ายผู้บังคับบัญชา มีการหลบหนีจากกรมกองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีขึ้นไม่หยุดหย่อน

โบลิวาร์ได้พยายามสร้างความสามัคคี และความสงบเรียบร้อยในทุกสถานที่ เขาทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ด้วยการยกยอ การชี้แจงเหตุผล การปลุกปลอบ การให้บำเหน็จรางวัล ให้คำมั่นสัญญา การขอร้องให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ผล เขาต้องหันไปใช้วิธีรุนแรงคือการฆ่า เขาสั่งจับคนที่เคยเป็นมิตรมาประหารจำนวนมาก ในวันหนึ่งเขาต้องสั่งประหารคนถึง 500 คน ยิ่งลงโทษ ยิ่งรุนแรง ยิ่งฆ่าคนก็ยิ่งมีศัตรูมากขึ้น กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีทางสิ้นสุด

เรื่องแตกแยก เรื่องมีศัตรู เรื่องต้องใช้วิธีการทั้งละม่อมและรุนแรง ได้มีมาตั้งแต่เริ่มประกาศอิสรภาพเวเนซุเอลาแล้ว นอกจากวิธีนี้โบลิวาร์ยังพยายามทำความดีขยายอาณาเขตอิสระของตนออกไปเรื่อยๆ ทำการสู้รบกับสเปนโดยหวังว่าการต่อสู้กับศัตรูภายนอกจะระงับศัตรูภายในได้ แต่การสู้รบไปเรื่อยๆ นี้ก็ได้ปรากฏมนุษย์แปลกๆ ขึ้นมา พวกที่รบเก่งได้ชัยชนะแล้วก็เป็นบ้า ทำให้ใจร้าย มีคนหนึ่งชื่อ ซัวโยรา ชอบตัดใบหูคนที่ถูกฆ่าตายมาประดับไว้ที่หมวกของตน ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ อันโตนันซาส ชอบตัวมือตัดจมูกคนใส่หีบส่งไปเป็นของกำนัลแก่เพื่อนๆ

คนเก่งที่กลายเป็นบ้านี้ ต้องการความยิ่งใหญ่เท่าเทียมกับโบลิวาร์ เป็นศัตรูกับโบลิวาร์ จนโบลิวาร์ต้องสังหารคนเหล่านี้ แล้วพวกเขาก็ป่าวประกาศไปทั่วว่า โบลิวาร์ประทุษร้ายต่อมิตร ฆ่าคนที่เคยช่วยเหลือกันมา มีคนคอยติดตามทำร้ายโบลิวาร์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีความผาสุก เขาพยายามทำตนให้สงบเสงี่ยม ไม่ดำเนินชีวิตเป็นหรูหรา ไม่ทำตัวเป็นคนใหญ่โต สมบัติที่เคยโดนริบไปก็ไม่ได้เอาคืน ปล่อยให้คนอื่นเข้าเป็นเจ้าของ และเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นไป อยู่แบบคนชั้นกลาง มีคนใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อจะไปที่ไหนหากคนใช้ต้องติดตามไปด้วย ก็ไม่มีคนเฝ้าบ้าน ทำอะไรแบบไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ถือยศศักดิ์ ประพฤติกับเพื่อนฝูงแบบเสมอต้นเสมอปลาย เพื่อเป็นการระงับความอิจฉาริษยาปองร้าย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะระงับได้

วันหนึ่งมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งมาหา แต่โบลิวาร์ไม่อยู่ ก็ทำตัวถือวิสาสะอย่างเพื่อนสนิท นอนบนเปลแขวนที่โบลิวาร์เคยนอน และเขาก็ถูกแทงตาย คนก็คิดว่าเป็นฝีมือของโบลิวาร์ และนี่ก็เป็นแค่เรื่องหนึ่งที่โดนปองร้ายเท่านั้น

ในสภาพการณ์เช่นนี้ ดินแดนที่โบลิวาร์เคยกอบกู้ไว้ได้ ก็ถูกแบ่งออกเป็น 6 ประเทศ เพราะหลายคนอยากเป็นใหญ่ จึงสร้างความแตกแยกขึ้น ดินแดนที่ควรจะรวมกันเป็นประเทศเดียวและมีความมั่นคงแข็งแรงได้แตกออกเป็นประเทศใหญ่บ้างเล็กบ้าง เมื่อแยกไปแล้วก็ใช่ว่าจะสงบเรียบร้อย ยังคงมีการเข่นฆ่ากันเอง มีการจลาจลเรื่อยมา บางครั้งประเทศหนึ่งใน 1 สัปดาห์ ต้องมีประธานาธิบดีถึง 3 คน เพราะ 2 คนต้องถูกฆ่าตายภายในสัปดาห์เดียวกัน โบลิวาร์ได้พยายามตั้งสภาเกี่ยวโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่า Pan-American Congress โดยมุ่งหวังว่าแม้จะไม่รวมเป็นประเทศเดียวกัน แต่ก็ขอให้พยายามเกี่ยวโยงเป็นพวกเดียวกัน เพื่อความแข็งแรงเป็นปึกแผ่น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

พ.ศ. 2369 โบลิวาร์มีอายุได้ 43 ปีแล้ว ร่างกายของเขาก็เสื่อมลง โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาครอบงำ เขามองผลที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยความเศร้าสลดมากกว่าความภาคภูมิใจ เขาจึงคิดได้ว่า การชนะมิตรนั้นยากกว่าการชนะศัตรูหลายเท่า สุดท้ายเขาต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีแผ่นดินจะอยู่ พวกมิตรที่ต้องการเป็นใหญ่เป็นโตได้แบ่งแย่งกันขึ้นครองอำนาจจนหมด

เพื่อนที่มีอำนาจบางคนได้ร้องขอให้รัฐบาลจ่ายบำนาญแก่โบลิวาร์ปีละ 3 หมื่นเปโซ ซึ่งมากพอที่จะดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและผาสุก และไม่ต้องมายุ่งกับพวกเขาอีก แต่โบลิวาร์ก็ไม่รับบำนาญนี้ สมบัติที่ถูกริบไปก็ไม่ได้เอาคืนปล่อยให้เป็นประโยชน์ของคนอื่นไป เขากลายเป็นคนยากจนไม่มีอะไรติดตัว และต้องเที่ยวเร่ร่อนพเนจรหาแผ่นดินอยู่ไม่ได้เมื่อมีอายุเพียง 45 ปีเท่านั้น

เขามีเพื่อนเหลืออยู่ 4 คน ที่ติดตามเขาไปโดยไม่ละทิ้ง คนหนึ่งเป็นนานทหารชื่อ ซูเคส เคยรบคู่มือกับเขามา คนที่สองชื่อ โอเลียรี เป็นชาวไอริช เป็นนายทหารประจำตัวของเขาเช่นกัน คนที่สามเป็นสตรีชื่อ มันซุเอลา คนที่สี่ คืออาจารย์โรดริเกซ ที่ติดตามลูกศิษย์โดยไม่ทอดทิ้งและยังคงสอนอยู่เสมอว่า “ร่างกายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ดวงจิตเป็นของโง่เขลา” กำลังแขน กำลังดาบ กำลังกายของโบลิวาร์ ได้สร้างอิสรภาพให้แก่ดินแดนอันกว้างใหญ่ แต่ดวงจิตที่โง่เขลาของพวกที่แย่งชิงกันเป็นใหญ่ ทำให้เกิดความยุ่งยากไม่มีสิ้นสุด

สตรีที่ชื่อ มันซุเอลา เป็นสตรีที่สวย มีเชื้อสายสเปน มีสามีเป็นคนอังกฤษ แต่ชอบโบลิวาร์ ได้ทิ้งสามีมาอยู่เป็นภรรยาลับของโบลิวาร์ โดยที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากสามี และไม่ได้แต่งงานใหม่กับโบลิวาร์ โบลิวาร์ต้องปล่อยให้อยู่ด้วยเฉยๆ เมื่อสามีมาตามกลับไป สตรีผู้นั้นก็ตอบว่า เป็นเมียลับของโบลิวาร์ ดีกว่าเป็นเมียจริงของมนุษย์ใดๆ ในโลกทั้งสิ้น เธอจึงสมัครเป็นเมียลับของโบลิวาร์ตลอดเวลาและเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา ยอมรับความลำบากทุกแห่ง อยู่ด้วยกันจนถึงวาระสุดท้าย สำหรับสตรีสเปนถือว่าความพึงพอใจเป็นสิ่งสำคัญกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น

ในพ.ศ. 2373 โบลิวาร์มีอายุได้ 47 ปี เขาต้องตกอยู่ในสภาพของคนที่ไม่มีแผ่นดินอยู่ ทั้งที่เป็นวันที่ดีที่สุด ทั้งสติและปัญญา เราลงเรือลำหนึ่งไปโดยไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะไปที่ไหน บอกคนเป็นนายเรือเพียงว่า เขาต้องการไปให้พ้นความยุ่งยาก ความริษยา ความเกลียดชัง ความปรารถนาของเขาเป็นผลสำเร็จ เขาป่วยในเรือ นายเรือจะนำเรือไปให้ถึงจาไมก้าแต่ไม่สามารถไปถึงได้ และแวะที่สันตามารตาที่ฝั่งโคลัมเบีย แต่ไม่มีทางให้การรักษาใดๆ เขาอยู่ได้ 2-3 วันก็ถึงแก่ความตาย และศพของเขาก็ถูกขุดหลุมฝังไว้ที่ริมฝั่งนั้นโดยไม่มีพิธีรีตอง หรือได้รับเกียรติอย่างใดเลย

ร่างกายของโบลิวาร์ถูกหมกดินอยู่ริมฝั่งทะเล อีก 12 ปี ประเทศทั้งหลายที่เขากอบกู้อิสรภาพไว้จึงนึกขึ้นมาได้ และส่งเรือรบเป็นขบวนมารับเอาศพไปทำพิธีฝังที่เมืองคารากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นที่เกิดของโบลิวาร์

ในเรื่องความยิ่งใหญ่ ประวัติของซิมอน โบลิวาร์ ก็ได้ให้คำอธิบายแก่เราได้อีกประการหนึ่ง หากอยากประสบกับความยิ่งใหญ่ เราต้องตัดสินใจว่าจะเลือกยิ่งใหญ่ทางไหน ต้องการความยิ่งใหญ่ที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ทั่วไปเป็นอิสรภาพซึ่งมนุษย์ต้องการหนักหนา เราก็ต้องยอมรับผลร้ายแก่ตัวเอง เช่นที่โบลิวาร์ได้รับ คำว่า “ทำดีได้ดี” นั้น ย่อมสุดแล้วแต่เราจะแปลไปในทางใด เวลานี้ซิมอน โบลิวาร์ได้รับความนับถือทั่วไป ว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ชั้น 1 ของโลก เป็นคนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และดูเหมือนจะไม่มีใครในทวีปอเมริกาใต้ที่ไม่ให้ความสำคัญและระลึกถึงบุญคุณของซิมอน โบลิวาร์ แต่เขาก็ไม่ได้เห็นผลดีนี้ในชีวิตของเขา

โบลิวาร์ เกิดมาในความมั่งคั่ง มีพร้อมทุกอย่างที่จะแสวงหาความผาสุกในชีวิต แม้ในทางราชการงานเมืองเขาก็อาจจะประสบความยิ่งใหญ่ได้อย่างง่ายๆ ตั้งแต่มาสเปนครั้งแรกเขาอาจจะแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินสเปน และได้ตำแหน่งฐานันดรอันดี ถ้าไม่ฝักใฝ่งานกอบกู้อิสรภาพ ประทุษร้ายอำนาจของสเปน เขาก็อาจจะประสบความยิ่งใหญ่ได้อีกทางหนึ่ง อาจได้เป็นข้าหลวงใหญ่ แล้วทำการกดขี่คนในเมือง สร้างความเป็นมหาเศรษฐีและความสูงศักดิ์ให้แก่ตัวเอง ซึ่งก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน และเป็นความยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างได้ง่ายๆ

หรือเขาอาจจะไปสร้างความยิ่งใหญ่ทางสังคมในปารีส เขาเป็นที่ชอบพอของคนใหญ่โตในราชสำนักปารีส อาจเป็นโอกาสให้เขาสร้างความยิ่งใหญ่ในทางนั้นได้ง่ายๆ เหมือนกัน ถ้าเขาสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพนะโปเลียนจากการสนับสนุนของคนใหญ่คนโตที่เขารู้จัก ก็มีหวังที่จะขึ้นถึงขั้นนายพลของนะโปเลียน ซึ่งไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ที่เล็กน้อย จะทำให้เขาสุขสบาย ไม่ต้องรับเคราะห์กรรมด้วยความยากลำบาก ต้องร่อนเร่พเนจรจนตลอดชีวิต

แต่เขาเลือกเอาความยิ่งใหญ่ที่ตัวเองจะไม่ได้ผลประโยชน์ เขาได้รับผลร้ายจากการทำความดีจนไม่มีแผ่นดินอยู่ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า งานปฏิวัติหรือกอบกู้อิสรภาพให้แก่ประเทศหรือมนุษยชาตินั้น เป็นงานที่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการร่วมมือกันหลายฝ่าย เมื่อทำเสร็จแล้ว ทุกคนก็ต้องคิดว่าตัวมีส่วนสำคัญ ต้องเสียสละ จึงเกิดความสำเร็จได้ เหตุใดความเป็นใหญ่ต้องตกที่คนคนเดียว เช่น โบลิวาร์ ทำไมตัวเขาไม่ได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่บ้าง ในสภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าโบลิวาร์จะทำความดีเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมเกิดความริษยาเกลียดชังขึ้น

เรื่องของโบลิวาร์ให้คติสอนใจเราว่า ในงานสร้างความยิ่งใหญ่ทางการเมืองนั้น การเอาชนะแก่ศัตรู แม้จะยากลำบากเพียงใด ก็ยังไม่ลำบากเท่ากับการเอาชนะมิตร เป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของผู้ที่เสี่ยงภัยเล่นการเมือง คือ คิดว่าถ้าปราบศัตรูได้แล้วก็เป็นชัยชนะ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทันที่ที่ปราบศัตรูลงได้ พวกมิตรนั่นแหละที่จะกลับมาเป็นศัตรู การชนะแก่มิตรนั้นยากกว่าการเอาชนะศัตรูเป็นอย่างมาก ความยิ่งใหญ่ของนักการเมืองไม่ใช่อยู่ที่การปราบศัตรู แต่อยู่ที่จะต้องคุมมิตรไว้ให้อยู่ ถ้าควบคุมไม่ได้แล้วก็จะเกิดผลร้ายอย่างยิ่ง และเป็นผลร้ายที่หาทางแก้ไม่ได้ง่ายๆ การฆ่าศัตรูจะไม่มีใครว่าอะไร แต่การฆ่ามิตรจะก่อให้เกิดผลสะท้อนที่ร้ายแรง อย่างในประวัติของโบลิวาร์

ดังนั้น การสร้างความยิ่งใหญ่ที่ได้จากการศึกษาประวัติของโบลิวาร์นี้ คือ เราต้องระมัดระวังเรื่องมิตรไม่ให้น้อยไปกว่าศัตรู การสร้างความยิ่งใหญ่ทางการเมือง ไม่ว่าจะสร้างด้วยกำลัง หรือสร้างตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีพรรคพวกสำหรับต่อสู้ศัตรู แต่ต้องจำไว้ว่า การต่อสู้ศัตรูที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้านั้น ไม่ร้ายเท่าปัญหาเรื่องมิตรที่จะต้องประสบภายหลัง การจะเอาชนะศัตรูได้หรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับปัญหาว่าจะสามารถคุมมิตรไว้ได้หรือไม่หลังได้ชัยชนะแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาปัญหาทั้งสองข้อนี้ไปพร้อมๆ กัน ปัญหาศัตรูเป็นปัญหาชั่วคราว แต่ปัญหาเรื่องมิตรเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญไปตลอดกาล

จะเห็นได้ว่า งานกอบกู้อิสรภาพของโบลิวาร์หรือคนอื่นๆ ที่ทำสำเร็จจนสามารถกวาดล้างอำนาจของสเปนออกไปได้นั้น ก็เพราะเหตุอันเดียวคือ เรื่องคอรัปชั่น การสร้างความยิ่งใหญ่ของสเปนก็เกี่ยวกับการคอรัปชั่นเช่นกัน เป็นการใช้อกุศโลบาย ยิ่งผู้ที่เข้าใจว่าความมั่งคั่งจะสร้างความยิ่งใหญ่ และสร้างด้วยการคดโกงกอบโกย ไม่เคยประสบผลยั่งยืน การสร้างความยิ่งใหญ่ด้วยการคดโกงกอบโกย จะเป็นความยิ่งใหญ่ที่ปราศจากรากฐาน เหมือนสิ่งที่ก่อสร้างมหึมาที่สร้างขึ้นโดยปราศจากโครงรากที่แน่นหนา เมื่อถูกความกดดันเล็กน้อยก็ล้มราบไป ตัวอย่างที่โบลิวาร์ทำได้อย่างง่ายๆ ที่เพียงแต่เข้าล้อมป้อมแล้วร้องบอกให้ยอมแพ้ ก็ยอมกันเพราะเขาพวกนั้นไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องสละเลือดเนื้อและชีวิต เขาไม่ได้ต้องการอะไรนอกเหนือไปจากความมั่งคั่ง เขาอยากมีชีวิตอยู่เพื่อจะได้รับผลของความมั่งคั่งต่อไป เรื่องของสเปนเป็นตัวอย่างชัดว่า คอรัปชั่น ได้ทำลายอนาคตของชาติไปเพียงใด อีก 150 ปีเศษก็ยังแก้ให้ฟื้นขึ้นมาไม่ได้ ไม่มีโรคใดจะร้ายแรงสำหรับประเทศเท่ากับโรค “คอรัปชั่น”

ความรู้อีกอย่างที่ได้คือ การสร้างความยิ่งใหญ่ในทางกอบกู้อิสรภาพก็ดี ในทางปฏิวัติก็ดี ผู้ทำต้องมีความเสี่ยงจริงๆ ไม่สามารถจะรออะไรให้พร้อมเพรียงจนแน่ใจก่อน เพราะถ้าเตรียมมากจะรักษาความลับไม่ได้ งานพวกนี้ต้องเสี่ยงตายเอาดาบหน้าทั้งสิ้น มิรันดาและโบลิวาร์ก็ได้ใช้วิธีเดียวกัน คือ แม้จะยังไม่มีความพร้อม แต่ต้องประกาศโครมครามออกมาก่อน ทำกันด้วยจำนวนคนที่เล็กน้อย แล้วค่อยหามาเพิ่มภายหลัง เหตุผลการกระทำจึงสำคัญมากในเรื่องชนิดนี้ เพราะถ้าเหตุผลดีจูงใจคนได้ คนก็เข้าด้วย ถ้าพลาดพลั้งก็เป็นความตาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างแท้จริง

ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

เบนจามิน ดิสราเอลี(Benjamin Disraeli)

เบนจามิน ดิสราเอลี เป็นคนรุ่นหลังห่างจากสมัยราเล่ถึงสองศตวรรษครึ่ง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2347 และถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2424 เมื่อมีอายุได้ 77 ปี ท่านผู้นี้เป็นนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประเทศอังกฤษ

ประวัติของท่านผู้นี้มีเรื่องคล้ายคลึงกันกับประวัติของเซอร์วอลเตอร์ ราเล่ คือ ราเล่เป็นคนโปรดในสมัยของพระมหาราชินีอลิซาเบธ และเบนจามิน ดิสราเอลี ก็เป็นนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรีย ซึ่งเป็นราชินีผู้รุ่งโรจน์ของประเทศอังกฤษเช่นกัน

สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเคยรับสั่งว่า “ดิสราเอลีเป็นบุคคลเดียวที่ไม่เห็นฉันเป็นผู้หญิง” ในเวลานั้นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ได้เล่าว่า เวลาที่ดิสราเอลีเข้าเฝ้าราชินี เขาได้มองต่ำจนเกือบจะหลับตา ไม่เคยนั่งต่อหน้าพระราชินี ไม่ว่าจะมีเรื่องงานเมืองทูลนานสักเพียงใด ก็จะต้องยืนอยู่ตลอด โดยไม่ยอมแสดงความสนิทสม หรือทำตนเป็นคนที่ได้รับการไว้พระทัยเลยเป็นอันขาด

ความมักใหญ่ใฝ่สูงที่มีอยู่ในนิสัย ในเลือด และดวงจิตของบุคคลนี้มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ถูกห่อหุ้มปิดบังเอาไว้ด้วยมารยาทที่เสงี่ยมเจียมตัว เขาได้เขียนไว้ว่า “ถ้าเราเป็นคนเล็กน้อย ชีวิตของเราก็สั้นเกินไป” หมายถึงการจะมีชีวิตยืนยาวได้ ก็จะต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น

เขาเกิดในประเทศอังกฤษ มีสัญชาติอังกฤษ รักทุกอย่างที่เป็นอังกฤษ แต่มีความสับสนยุ่งยากอยู่ในเรื่องเลือดเนื้อเชื้อสายและพงศ์พันธุ์ ซึ่งปู่ของเขาเป็นชาวยิว ถือสัญชาติอิตาเลียน อพยพไปอยู่ในอังกฤษ มีอาชีพค้าไก่เล็กฮอร์นและขายหมวกฟาง ในภายหลังก็มั่งคั่งตามลักษณะของยิวจนได้เป็นนายธนาคาร ส่วนพ่อของเขาเกิดในประเทศอังกฤษ แม่ของเขาเป็นสเปน ซึ่งถือว่าเขามีส่วนผสมของหลายชาติหลายภาษา จึงทำให้ฐานะของเขาลำบากมาก ที่สำคัญที่สุดก็คือ ในเรื่องที่เขามีเชื้อชาติยิวทั้งชื่อตัวและนามสกุล และจมูกของเขาก็งุ้มเป็นขอประกาศความเป็นเชื้อชาติยิวอย่างไม่มีทางปฏิเสธได้ บุคคลชนิดนี้จะไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษได้ ถ้าไม่ใช่ด้วยความฉลาดสามารถเลิศล้น

เขาต้องถือลัทธิศาสนายิวเมื่ออยู่ในวัยเด็ก เพราะปู่และพ่อยังถืออยู่ และพ่อของเขายอมให้เปลี่ยนมาถือคริสต์ศาสนาได้เมื่อปู่ของเขาได้ถึงแก่กรรมลง

เขาได้เข้าโรงเรียนเมื่ออายุได้ 13 ปี สิ่งที่ทำให้เขาเด่นกว่าเด็กคนอื่นก็คือ เขามีความใฝ่ฝัน ความเฉลียวฉลาด ความมานะพยายาม มีลักษณะเป็นผู้นำ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เขาได้เป็นหัวหน้าชั้น ได้เป็นหัวหน้าการจัดงานที่นักเรียนจัดขึ้นมาในโรงเรียน เมื่อมีการเล่นละครก็เป็นผู้กำกับการแสดง ทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังในหมู่เด็กอังกฤษ เขาถูกเรียกว่ายิว ถูกเรียกว่าต่างชาติ ซึ่งทำให้เขาขื่นขมตลอดมา และการศึกษาของเขาก็ได้สิ้นสุดลงเนื่องจากครั้งหนึ่งมีเด็กที่โตกว่าเขา มาเรียกเขาว่า คนต่างชาติ ทำให้เขาตรงเข้าทำร้ายคนนั้นทันที และต้องถูกออกจากโรงเรียนไป

เมื่อได้รับความเกลียดชังจากเด็กอังกฤษทั้งหลายก็ไม่มีทางที่จะศึกษาในโรงเรียนได้ แต่ด้วยเขาเป็นคนที่รักวิชา เขาจึงได้ศึกษาจากห้องสมุดของพ่อ อ่านหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะอ่านได้ พ่อได้ฝากให้เขาทำงานในสำนักทนายความเมื่อมีอายุได้ 17 ปี แต่เขาก็ทำด้วยความเบื่อหน่าย เมื่อพ่อของเขามองไม่เห็นทางที่จะให้ลูกได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรือด้วยการฝึกหัดงาน และด้วยพ่อของเขามีฐานะมั่งคั่ง ก็ได้ให้เขาไปศึกษาด้วยการท่องเที่ยวเดินทาง และเป็นที่ถูกใจของดิสราเอลีมาก เขาได้เดินทางไปเยอรมนี สเปน ซึ่งเป็นเมืองของมารดา อิตาลีเมืองของบิดา และเยรูซาเล็มสวรรค์ของยิว ภายหลังจากการได้เดินทางอย่างมากมายเขาก็ตัดสินใจด้วยการเลือกอนาคตในทางเป็นนักประพันธ์

อีสัค ดิสราเอลี บิดาของเบนจามิน ดิสราเอลี เป็นนักประพันธ์และนักอักษรศาสตร์ ได้แต่งหนังสือ Curiosities of Literature(สิ่งน่ารู้ในอักษรศาสตร์) เป็นหนังสือชุดใหญ่จบใน 6 เล่ม ในสมัยนั้นนับว่าเป็นตำราสำคัญ และได้แต่งหนังสือชั้นดีมีชื่อเสี่ยงได้รับความนิยมอื่นๆ อีกมาก เช่น Calamities of Authors(ความล่มจมล้มเหลวของนักประพันธ์ทั้งหลาย) Ouarrels of Authors(การวิวาทโต้เถียงในพวกนักประพันธ์) Commentaries on the Life and Reign of Charles I(บรรยายเรื่องชีวิตและรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1) Amenities of Literature(รสชาติของอักษรศาสตร์) ในประเทศอังกฤษผู้ที่จะแต่งหนังสือชนิดนี้จนได้รับความนิยมต้องเป็นผู้ที่เก่งพอใช้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เบนจามิน ดิสราเอลีจะอาศัยห้องสมุดของพ่อเป็นโรงเรียนอย่างดี และอาศัยพ่อเป็นครูที่ดีที่สุดได้ เพราะบิดาเป็นนักประพันธ์อยู่แล้ว บิดาของดิสราเอลลี จึงไม่ขัดข้องที่เขาเลือกเป็นนักประพันธ์

เบนจามิน ดิสราเอลีเป็นนักประพันธ์ที่ขยันขันแข็ง บทประพันธ์เรื่องใหญ่ที่สำคัญของเขาที่เขียนมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่มีดังนี้

1. เมื่ออายุ 22 ปี แต่งเรื่อง Vivian Gray(นวนิยาย)
2. เมื่ออายุ 24 ปี แต่งเรื่อง Captain Popanilla(นวนิยาย)
3. เมื่ออายุ 27 ปี แต่งเรื่อง Young Duke(นวนิยาย)
4. เมื่ออายุ 28 ปี แต่งเรื่อง Contaribi Fleming(นวนิยาย), เรื่อง The wonderous Tales of Alroy(นวนิยาย)
5. เมื่ออายุ 30 ปี แต่งเรื่อง Revolutionary Epick(สารคดี)
6. เมื่ออายุ 31 ปี แต่งเรื่อง Home Letters(เรื่องการท่องเที่ยว), เรื่อง Vindication of English Constitution(การเมือง)
7. เมื่ออายุ 33 ปี แต่งเรื่อง Henrietta Temple(นวนิยาย), เรื่อง Venetia(นวนิยาย)
8. เมื่ออายุ 40 ปี แต่งเรื่อง Coningsty(นวนิยาย), เรื่อง Sybil(นวนิยาย)
9. เมื่ออายุ 42 ปี แต่งเรื่อง Tancred or The New Crusade(สารคดี)
10. เมื่ออายุ 66 ปี แต่งเรื่อง Lothair(นวนิยาย), เรื่อง Endymeon(นวนิยาย)

นอกจากนี้ยังมีจดหมายและสุนทรพจน์อีกมากมาย บทประพันธ์เหล่านี้ในบางเรื่องก็ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่บางเรื่องก็ต้องประสบความล้มเหลว ในเรื่องแรก คือ Vivian Gray ได้รับความนิยมและทำชื่อเสียงให้ทันทีเมื่อได้พิมพ์ออกไป ซึ่งหายากมากที่นักประพันธ์จะสร้างชื่อเสียงได้ตั้งแต่อายุแค่ 22 ปี

เขาได้บำเพ็ญตัวเป็นนักเขียนนวนิยายอยู่เสมอ ภายหลังจากที่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้บุคคลผู้นี้ทอดทิ้งการเขียนนวนิยาย หรือเห็นว่าการเขียนนวนิยายเป็นงานที่ต่ำไป ซึ่งเรื่องที่เขาได้เขียนภายหลังจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วคือ Lothair และ Endymeon

ความมักใหญ่ใฝ่สูงอยากเป็นนักการเมือง หลังจากที่ทำชื่อเสียงจากบทประพันธ์พอสมควรแล้ว ทำให้เขาพยายามเข้ารับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับความพ่ายแพ้ถึง 3 ครั้ง และในปี พ.ศ. 2380 ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นผลสำเร็จ ซึ่งตรงกับปีแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ในขณะนั้นดิสราเอลีมีอายุได้ 33 ปี

ในการเลือกตั้งชั้นแรก ดิสราเอลี พยายามแข่งขันโดยไม่สังกัดพรรคใด ซึ่งเป็นการยากมากที่จะแข่งขันกับพรรคที่มีหลักฐานมั่งคงมาช้านานในประเทศอังกฤษ ดิสราเอลี ได้เข้าหาเซอร์โรเบิร์ต พีล ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคตอรีส์ เมื่อมีความจำเป็นต้องสังกัดพรรค และได้เข้าสาบานตนเป็นพวกตอรีส์ จนได้รับการเลือกตั้งมา

ดิสราเอลี ได้นั่งข้างหลังเซอร์โรเบิร์ต พีล ฟังคำพูดของสมาชิกทั้งหลายในสภาผู้แทนราษฎร หลังจากได้รับเลือกแล้ว เขาใฝ่ฝันว่าเมื่อไรตัวเขาจะได้พูดเองบ้าง เขาได้หาโอกาสช้านานและได้พูดตามที่ใฝ่ฝันเอาไว้ แต่กลับกลายเป็นฝันร้ายเมื่อเขาได้พูดเข้าจริงๆ ความเป็นเชื้อชาติยิว ที่ได้ทำความลำบากให้เขามาตั้งแต่เล็กๆ ได้ตามมาทำความลำบากให้อีกแม้เวลาที่ได้นั่งในสภาผู้แทนราษฎร เสียงหัวเราะ เสียงผิวปาก เสียงเย้ยหยัน เสียงร้องไห้ มีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งทำให้เขาเสียขวัญแต่ก็พยายามทำใจให้สงบ แต่เมื่อสงบต่อไปไม่ไหว พูดต่อไปไม่ได้ ก็ต้องหยุดพูด ก่อนจะนั่งลงเขาได้พูดว่า “คราวนี้ข้าพเจ้าต้องนั่งลง แต่เวลายังจะมีมาข้างหน้า ที่ท่านต้องฟังข้าพเจ้าด้วยความตั้งอกตั้งใจ”

เขาได้รับการปลอบใจจาก เซอร์โรเบิร์ต พีล หัวหน้าพรรค ด้วยคำกล่าวที่ว่า “ความเป็นนักพูดได้มีอยู่ในตัวดิสราเอลีจริงๆ เขาไม่ต้องวิตก วันหนึ่งเขาจะเป็นนักพูดชั้นที่หนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร”

ดวงดาวประจำโชคของดิสราเอลีได้ลอยขึ้นอย่างช้าๆ ขึ้นทุกที เมื่อเขาได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนที่รักกันมาก ชื่อวิมดัม เลวิส ก็ได้รับเลือกพร้อมกัน วินดัม เลวิสเป็นคนมั่งคั่ง มีอายุมากกว่าดิสราเอลีหลายปี หลังจากได้รับเลือกเพียง 6 เดือน วินดัม เลวิส ก็ถึงแก่กรรมลง ทำให้ภรรยาของเขาที่ชื่อว่า มารีอานน์ กลายเป็นแม่หม้ายที่มั่งมี ดิสราเอลีก็ได้ขอแต่งงานกับเธอ แต่เพื่อดูให้รู้จักนิสัยของดิสราเอลีให้ดีเสียก่อน เธอจึงขอผัดไปอีก 1 ปี

ดิสราเอลีได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการติดต่อกับมารีอานน์ ด้วยการขอแต่งงาน เขียนจดหมายมากมาย ในตอนแรกๆ ก็ได้รับการตอบรับดี และต่อมาก็ไม่ค่อยได้รับ และก็ไม่รับเลยในที่สุด ซึ่งสรุปได้ว่า มารีอานน์ไม่ยอมแต่งงานกับเขา เพราะเธอเชื่อว่าดิสราเอลีไม่ได้รักเธอจริง แต่รักทรัพย์สมบัติของเธอมากกว่า เพราะเธอมีอายุมากกว่าดิสราเอลีถึง 11 ปี ในขณะนั้นเธอมีอายุ 45 ปี ส่วนดิสราเอลีมีอายุเพียง 34 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นการยากที่จะให้เชื่อว่ามาขอแต่งงานด้วยความรักและบริสุทธิ์ใจ

ดิสราเอลีได้เขียนจดหมายอย่างเผ็ดร้อนเมื่อทราบว่ามารีอานน์ไม่ยอมตกลงใจแต่งงานด้วย ซึ่งเป็นใจความที่แสดงถึงความผิดหวัง และบอกว่าเขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จำเป็นต้องเลิกละความพยายามตั้งแต่บัดนี้ไป แต่ในตอนท้ายของจดหมายเขาได้ใช้ถ้อยคำคล้ายกับที่พูดในสภาผู้แทนราษฎรว่า “เวลายังมีมาข้างหน้าที่ท่านจะได้ฟื้นความจำถึงหัวใจรักที่ท่านได้กีดกันและหักหลังอย่างสิ้นเชิง” แต่เมื่อมารีอานน์ได้รับจดหมายฉบับนี้ก็ได้รีบตอบตกลงแต่งงานด้วย

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2382 ดิสราเอลีกับมารีอานน์ ก็ได้แต่งงานกันและมีชีวิตคู่ที่ดีที่สุด ความสุขของชีวิตสมรสไม่ได้ถูกตัดรอนลงไปแม้ภรรยาจะมีอายุมากกว่าสามีถึง 11 ปี ทั้งคู่อยู่ด้วยกันถึง 33 ปี จนดิสราเอลีได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ดิสราเอลีจะได้เป็นนายกในปี พ.ศ. 2411 มารีอานน์ก็ได้เป็นคุณหญิงก่อนแล้ว และเมื่อดิสราเอลีได้เป็นนายกรัฐมนตรี มารีอานน์ก็ได้รับฐานันดรเป็นไวส์เคาน์เดสบีคอนสฟิลด์ เมื่อมารีอานน์มีอายุได้ 79 ปี ก็ถึงแก่กรรมลง ซึ่งเธอเป็นคุณหญิงอยู่ได้แค่ 3 ปี ส่วนในขณะนั้นดิสราเอลีก็มีอายุได้ 68 ปี ดิสราเอลีได้รับแต่งตั้งเหมือนการรับมรดกฐานันดรจากภรรยา คือเป็น เอิร์ล ออฟ บีคอนสฟิลด์ หลังจากภรรยาถึงแก่กรรมได้ 4 ปี

คำพูดครั้งแรกของดิสราเอลีที่ได้กล่าวไว้ว่า “เวลายังจะมีมาข้างหน้า ที่ท่านต้องฟังข้าพเจ้าด้วยความตั้งอกตั้งใจ” นั้น ได้พิสูจน์ตัวของมันเองในเวลาเพียงไม่ช้า เขาได้รับความนิยม ความยำเกรงในรัฐสภามากขึ้นทุกที ความรู้ความฉลาดได้ปรากฏแก่คนทั่วไป เซอร์โรเบิร์ต พีล หัวหน้าพรรคของดิสราเอลี ก็ได้อาศัยเขาเป็นกำลังสำคัญในการโต้ตอบอย่างฉะฉาน การแสดงความ การต่อสู้ด้วยเหตุ ความรู้ และวาทศิลป์ ความโดดเด่นของเขาทำให้ได้มาเป็นมือขวาของหัวหน้าพรรค ได้รับคำชมจากเซอร์โรเบิร์ต พีล ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้แต่ในสภาเองก็ยอมรับดิสราเอลีเป็นสมาชิกชั้นอาวุโส คนทั้งหลายจะฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจทุกครั้งที่เขาพูด นั่นหมายถึงว่าเขาได้สร้างรากฐานที่มั่นคงในทางการเมืองไว้แล้วในอนาคต

แต่ทุกๆ ครั้งที่พรรคของเซอร์โรเบิร์ต พีล ได้มีโอกาสตั้งคณะรัฐบาล ดิสราเอลีก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แม้ทุกคนจะคาดหวังไว้ว่าต้องเป็นอย่างนั้น แต่หัวหน้าพรรคก็ไม่เลือกเขา ดิสราเอลีและมารีอานน์ มีความข้องใจสงสัยจึงได้เขียนจดหมายถึงเซอร์โรเบิร์ต พีล เพื่อสอบถามเหตุผลที่ดิสราเอลีไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่เขามีคุณสมบัติพร้อม แต่ก็ได้คำตอบด้วยเหตุผลที่ไม่แจ่มแจ้งจากเซอร์โรเบิร์ต พีล กลับมา

ดิสราเอลีได้พูดกับภรรยาภายหลังจากที่ได้รับจดหมายตอบรับของเซอร์โรเบิร์ต พีล ว่า “เราเห็นจะต้องทำอย่างตาเรลังด์ คือเข้าห้องนอนแล้วนอนหลับ”

ตาเรลังด์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส ทั้งในสมัยของนะโปเลียน และต่อมาอีกในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เขาเป็นคนฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมทั้งในทางซื่อและทางคดมากมาย เมื่อเกิดปัญหาไม่มีทางแก้ บุคคลผู้นี้ก็จะมีวิธีการที่รู้กันทั่วไปว่า เขาจะเข้าห้องนอนและนอนหลับ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็พบทางที่จะแก้ปัญหานั้นได้ ที่ดิสราเอลีกล่าวก็ด้วยเหตุผลนี้

ความสามารถของดิสราเอลี เซอร์โรเบิร์ต พีล ก็ได้เห็นทุกอย่าง เขารักและวางใจดิสราเอลีมาก แต่ไม่กล้าเสี่ยงยกขึ้นเป็นรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลที่ว่า กลัวคนจะไม่ชอบ เนื่องจากดิสราเอลีเป็นชาวยิว กลัวพรรคจะล่ม แม้ดิสราเอลีจะดีสักแค่ไหน ก็ไม่มีทางได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของเซอร์โรเบิร์ต พีล เป็นอันขาด

แต่ในตอนหลัง ดิสราเอลี ได้เป็นที่นิยมชมชอบของคนหนุ่มๆ ที่ใจเร็วใจร้อน โดยเฉพาะหนุ่มๆ ที่ไปศึกษาหรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศ จะมองเห็นว่าคนแก่งุ่มง่ามงมงาย ไม่ทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าอย่างที่พวกเขาคาดหวัง ในเวลานั้นด้านอุตสาหกรรมกำลังเจริญขึ้นอย่างมาก การเมืองในภาคพื้นยุโรปกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ แต่รัฐบาลอังกฤษยังอยู่ในมือของคนแก่ที่งุ่มง่าม ไม่กล้าเสี่ยงริเริ่มทำอะไร ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกเขาเพ่งเล็งมาที่ดิสราเอลีที่กำลังอยู่ในวัย 40 ปีเศษ ความเป็นยิวของเขาได้จางหายลงไปเป็นอันมาก ด้วยการที่เขาเป็นนักต่อสู้ และได้พิสูจน์ความรู้ ความคิด ให้เห็นแล้วตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนหนุ่มๆ ที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในประเทศอย่างแท้จริง ก็ไม่มีความรังเกียจดิสราเอลี ถ้าเขาสามารถทำให้ประเทศอังกฤษก้าวหน้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร คนกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะยกย่องสนับสนุน

เพื่อให้เป็นกำลังสร้างความก้าวหน้าของประเทศอย่างรวดเร็ว คนหนุ่มพวกนี้ก็ได้พากันมาหาดิสราเอลี ขอให้เขาตั้งพรรคการเมือง หรือตั้งสมาคม หรือทำอะไรสักอย่าง

ดิสราเอลีกับมารีอานน์ได้เดินทางไปกรุงปารีสเพื่อท่องเที่ยว และด้วยความสามารถและชื่อเสียงของเขา ทำให้เขาได้รับเชิญไปในงานสโมสรของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส และคนหนุ่มๆ ชาวอังกฤษที่มาอาศัยอยู่ในประเทศนี้ก็เข้ามาร้องขอให้เขาตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยที่พวกเขาจะสนับสนุน จึงทำให้ดิสราเอลีมีความแน่ใจขึ้นมาว่าเขาอาจจะทำงานใหญ่ได้

ดิสราเอลีจึงได้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นในกรุงปารีส มีชื่อพรรคว่า Young England เมื่อดิสราเอลีแยกไปตั้งพรรคใหม่ พรรคของเซอร์โรเบิร์ต พีล ก็อ่อนกำลังลง สุดท้ายก็ต้องลาออกไป

สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียได้แต่งตั้งให้ ลอร์ด สแตนเลย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้ทูลขอดิสราเอลีมาเข้าร่วมคณะด้วย สาเหตุที่ต้องทูลขอเพราะกลัวว่าราชินีจะทรงรังเกียจดิสราเอลีที่เป็นชาวยิว แต่พระนางเจ้าก็ไม่ได้รังเกียจ กลับสนับสนุนให้เอามาร่วมคณะ และให้ตำแหน่งที่สำคัญยิ่ง คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ดิสราเอลีทำหน้าที่รัฐมนตรีด้วยความสามารถ มีการเข้าออกตามวิถีทางการเมืองที่อาจมีแพ้หรือชนะ แต่ความนิยมเชื่อถือของเขาที่สร้างมาก็ยังมีอยู่เสมอ เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาชิกสภาชั้นผู้นำ แม้ฝ่ายตรงกันข้ามก็ยอมรับและสรรเสริญ ในปี พ.ศ. 2409 เขาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครั้งสุดท้าย เนื่องจากในปี พ.ศ. 2411 ลอร์ดสแตนเลย์ได้ลาออก พระนางเจ้าวิกตอเรียก็ได้แต่งตั้งให้ดิสราเอลีขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุได้ 64 ปี ส่วนมารีอานน์มีอายุถึง 75 ปีแล้ว

หลายปีก่อนหน้านี้ ดิสราเอลีได้เคยเข้าเฝ้าพระนางวิกตอเรีย พระนางเจ้าทรงเห็นความฉลาด ความสามารถของเขามานานแล้ว และเคยรับสั่งว่า “วันหนึ่งข้างหน้าคงจะมีโอกาสตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี” จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสงสัยการแต่งตั้งในครั้งนี้

เมื่อดิสราเอลีเข้าไปรับพระราชทานการแต่งตั้ง พระนางเจ้าก็รับสั่งว่า “ต้องจูบมือฉันซิ” เขาไม่ทราบว่าธรรมเนียมการได้รับตราตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องจูบพระหัตถ์ของราชินีเพื่อแสงความเคารพและจงรักภักดี แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับเขา แต่เมื่อได้รับคำสั่ง เขาก็คุกเข่าลงจูบพระหัตถ์ของราชินีด้วยความเคารพอย่างที่สุด

เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ได้มีการจัดงานสโมสรอย่างใหญ่ขึ้นในพระราชวัง มารีอานน์ก็ยังไม่ยอมขาดงานนั้นแม้จะมีอายุถึง 75 ปีแล้ว

ดิสราเอลีได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 1 ปี เขาก็ล้มป่วยลงต้องพักรักษาตัวอยู่กับบ้าน เมื่อมีปัญหาสำคัญในสภาก็ไม่ได้ไปชี้แจง จนแพ้มติที่สภาต้องลาออก พระราชินีได้พระราชทานและบำเหน็จ และฐานันดร ลอร์ดบีคอนสฟิลด์ ให้แก่เขา แต่เขาก็ปฏิเสธฐานันดรนั้น และได้ทูลขอฐานันดรคุณหญิงให้กับภรรยาแทน พระนางเจ้าวิกตอเรียก็ทรงอนุมัติตามที่ขอ มารีอานน์ได้รับฐานันดรเป็น ไวสเคาน์เตส บีคอนสฟิลด์ ในขณะนั้นเธอมีอายุได้ 76 ปีแล้ว และสามีก็ไม่มีฐานันดรอะไร

เป็นเวลา 3 ปี ที่มารีอานน์ได้ครองตำแหน่งคุณหญิง เนื่องจากเมื่อเธออายุได้ 79 ปี เธอก็ถึงแก่กรรมลง

ในปี พ.ศ. 2417 ดิสราเอลีได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง ตอนนั้นเขามีอายุได้ 70 ปีพอดี ชีวิตอันยิ่งใหญ่ของดิสราเอลีตั้งต้นเมื่ออายุ 70 ปี เนื่องจากในคราวนี้เขาได้ทำงานใหญ่อย่างแท้จริง

กล่าวได้ว่าสมัยนั้นไม่มีใครทัดเทียมอังกฤษ ซึ่งเป็นยุคที่อุตสาหกรรมได้ก้าวหน้าไปอย่างใหญ่หลวง เกิดเครื่องจักรใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ได้มีการส่งเสริมการประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ขึ้น ดิสราเอลีสามารถดึงเอาอำนาจครอบครอง คลองสุเอช ที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ขุด มาไว้ในมือของตัวเองด้วยความฉลาดและวิธีการอันสุขุมลึกซึ้ง เรื่องคลองสุเอชเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เพราะประตูแห่งความเป็นจ้าวโลกจะอยู่ที่นั่น

การได้คลองสุเอชมา ทำให้อินเดียต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2419 ดิสราเอลีได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียขึ้นเป็นพระนางเจ้าจักรพรรดิแห่งอินเดีย เป็นงานชิ้นงามที่นายกรัฐมนตรีคนอื่นไม่สามารถทำได้ ซึ่งถือเป็นฐานะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่รัฐบุรุษสามารถจะถวายแก่พระมหากษัตริย์ของเขา และในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ก็ได้พระราชทานฐานันดร เอิล์ล ออฟ บีคอนสฟิลด์ ให้แก่ดิสราเอลี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับมรดกมาจากภรรยาของเขาเอง

ในเวลานั้น ปัญหาเรื่องแหลมบอลข่าน เรื่องตุรกี เรื่องรัสเซีย เป็นปัญหาที่ร้ายแรงเต็มไปด้วยความปั่นป่วน แต่เยอรมนีกำลังรุ่งโรจน์ใหญ่หลวงเหมือนจะเป็นจ้าวภาคพื้นยุโรปทางตะวันตก ดิสราเอลีได้ดำเนินนโยบายอย่างฉลาดยิ่ง งานของเขาในตอนนี้เป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาการเมืองต่างประเทศจะต้องถือเป็นบทเรียน เขาทำงานอย่างใจเย็น เงียบสงบ ลงมือทำในสิ่งที่ต้องทำเมื่อถึงเวลาอย่างแท้จริง เขาจะดำเนินการอย่างเหมาะสมแก่เวลา และสถานการณ์ แก้ปัญหาทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น และแก้ได้สำเร็จเรียบร้อย จึงนับได้ว่าดิสราเอลีเป็นรัฐบุรุษชั้นหนึ่งของโลก

ดิสราเอลีได้เดินทางเข้าประชุมเรื่องสำคัญที่เบอร์ลินด้วยตนเอง ในขณะนั้นเขามีอายุได้ 74 ปีแล้ว และได้เผชิญหน้ากับรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี ที่ชื่อ บีสมาร์ค บีมาร์คมีอายุอ่อนกว่าดิสราเอลี 10 ปี มีการเล่ากันมาถึงคำพูดของบีมาร์คที่พูดถึงดิสราเอลีว่า “ตายิวแก่นี่เป็นลูกผู้ชายแท้”

ในปี พ.ศ. 2423 ดิสราเอลีมีอายุได้ 76 ปี และได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผ่านมาอีก 1 ปี ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2424 เขาก็ได้ถึงแก่กรรมลง

บ้านของดิสราเอลีมีอยู่ 2 แห่ง คือ แห่งหนึ่งอยู่ในกรุงลอนดอน อีกแห่งหนึ่งเป็นคฤหาสน์ ชื่อ ฮูเกนเดน ตั้งอยู่นอกเมือง ซึ่งเขาซื้อให้ภรรยาเมื่อราว 30 ปีมาแล้ว ในวาระสุดท้ายของชีวิตเขาก็อยู่ในบ้านที่กรุงลอนดอน

เขาได้อยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์ที่ดีที่สุดในอังกฤษ ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของพระราชินี เมื่อดิสราเอลีได้ฐานันดรเป็นขุนนาง ก็ได้เป็นสมาชิกแห่งสภาขุนนาง ได้รับความนับถือเป็นสมาชิกอาวุโสสูงสุด เขาจะออกมาเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ หรือแสดงปาฐกถาคล้ายกับให้โอวาทคำสอนแก่สมาชิกทั้งหลายนานๆ ครั้ง เขาต้องพูดด้วยความยากลำบากเพราะความอ่อนแอในร่างกายและโรคภัยไข้เจ็บ แต่ทุกคำพูดที่ออกมา ฟังดูไพเราะ เต็มไปด้วยวาทศิลป์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักพูดรุ่นหลัง เมื่อใกล้ถึงแก่กรรม ร่างกายของเขาซูบผอมมาก มีแต่หนังหุ้มกระดูกเท่านั้น มีความชราภาพและโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ ผู้ที่ไปพบเห็นเข้าก็ต้องประหลาดใจที่เขายังมีชีวิตอยู่ได้

ดิสราเอลียิ่งพิถีพิถันในการปาฐกถาสุนทรพจน์มากขึ้น เมื่อใกล้ถึงเวลาสิ้นชีพ เขาต้องเขียนร่างเอาไว้ก่อนไม่ยอมพูดด้วยปากเปล่า โดยให้เลขานุการประจำตัวเขียนสุนทรพจน์เรื่องหนึ่งไว้เพื่อนำไปพูด ในคืนวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2424 ก่อนเข้านอน เขาได้นำสุนทรพจน์นั้นมาตรวจทานแก้ไขอีกครั้ง เขาได้พูดกับเลขานุการว่า “ฉันไม่อยากให้ใครมาตรวจพบว่าฉันพูดอะไร พูดผิดไวยากรณ์ไป”

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2424 ที่เขาสิ้นชีวิตลง จากคำบอกเล่าของคนที่นอนเฝ้าอยู่บอกว่า ในเวลา 02.00 น. ตอนกลางดึก ดิสราเอลีได้ตื่นขึ้นมา เขาเอาร่างสุนทรพจน์มาทำท่าเหมือนจะซ้อมอ่าน แต่เขาก็ผงะหงายลงและถึงแก่ความตาย

ศพของดิสราเอลีได้ถูกฝังไว้ที่ ฮูเกนเดน บ้านของเขาเอง เนื่องจากเขาได้ทำพินัยกรรมไว้ว่า ห้ามมิให้เอาศพของเขาไปฝังในโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นที่ฝังศพของคนใหญ่คนโตทั้งหลาย

พระราชินีวิกตอเรียได้เสด็จไปยังที่ฝังศพของเขาด้วย เพราะถือว่าดิสราเอลีเป็นมหามิตร เป็นผู้ทำความดีอันยิ่งใหญ่ สามารถถวายฐานันดรพระนางเจ้าจักรพรรดิแด่พระองค์ได้ ขณะนั้นพระนางเจ้าวิกตอเรียมีพระชนม์ได้ 69 พรรษา และเมื่อ พ.ศ. 2444 ก็เพิ่งมาสิ้นพระชนม์ ทรงมีประชนม์ยืนยาวถึง 82 พรรษา

ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างเซอร์วอลเตอร์ ราเล่ กับ เอิร์ล ออฟ บีคอนสฟิด์ มีอย่างไรบ้างลองมาเปรียบเทียบดู

ในสมัยนั้น อังกฤษมีสถาบันการศึกษาถึงมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ทั้งสองก็มิได้รับการศึกษาถึงขั้นสูง เรียนอยู่ 2-3 ปี แล้วก็เลิกไป แต่สุดท้ายก็ปรากฏว่า ทั้งสองคนมีวิชาความรู้ จะสังเกตเห็นว่าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยน้อย และอาจคิดว่าไม่ได้ศึกษาขั้นสูงเหมือนคนอื่น จึงได้พยายามค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองมากๆ จนกลายเป็นคนมีความรู้ขึ้น และผู้ที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจนถึงชั้นสูงแล้ว หากพยายามค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอีก ก็ย่อมจะอยู่เหนือกว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียน เพราะมีทางที่จะค้นคว้าได้ดีกว่า แต่มีน้อยคนนักที่จะเสาะแสวงหาความรู้ต่อไปอีก

วิธีการก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ของทั้งสองคนนี้จะแตกต่างกันมาก สำหรับราเล่ต้องเสี่ยงโชคอยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่อาสาไปรบในฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และมีชีวิตแบบผจญภัยต่างๆ ส่วนดิสราเอลีไม่ได้มีความเสี่ยงภัยแบบนั้น แต่เขาพยายามสร้างความก้าวหน้าอย่างมั่นคง การเสี่ยงอาจจะทำให้ก้าวหน้าขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ได้อย่างรวดเร็วกว่า แต่การสร้างอนาคตด้วยการเสี่ยงนั้นก็ต้องเสี่ยงไปตลอดชีวิต ตลอดเวลา และอาจจะมีพลาดบ้าง ชีวิตของราเล่ขึ้นสูงได้ด้วยการเสี่ยง แม้จะอยู่ในฐานะที่สูงแล้วก็ยังรู้สึกว่าตัวต้องเสี่ยงอยู่เสมอ จากที่เขาเอาเพชรจารึกไว้ที่กระจกว่า เขากลัวจะตกอยู่เสมอ แต่การสร้างชีวิตอย่างดิสราเอลีไม่มีการเสี่ยง ไม่ต้องกลัวตก การสร้างชีวิตและอนาคตโดยไม่เสี่ยงนั้นอาจเป็นการเฉื่อยช้าในการขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ กว่าจะบรรลุถึงขั้นยิ่งใหญ่ที่ปรารถนาก็ต้องใช้เวลานานมาก แต่ความยิ่งใหญ่เช่นนี้ย่อมมีความมั่นคงและถาวร

ราเล่เป็นคนเสี่ยง อายุเพียง 31 ปี เขาก็ได้ขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่แล้ว เขามีทุกอย่างที่ต้องการ แต่ก็ยังเป็นการเสี่ยงอยู่นั่นเอง

วิธีการของคนทั้งสองในการเกี่ยวข้องกับท่านผู้ใหญ่ จะแตกต่างกันมาก ราเล่พยายามเข้าหาพระราชินีของเขา พยายามแสวงหาความโปรดปรานในทางส่วนตัว แต่ดิสราเอลีกลับพยายามรักษาระยะห่าง ดิสราเอลีทำทุกอย่างเพื่อราชินีของเขาด้วยความรักแต่ไม่ยอมเป็นคนสนิทสนม ซึ่งวิธีการรักษาระยะห่างและให้ความเคารพนบนอบอยู่ห่างๆ นั้น เป็นวิธีการที่ดีมาก

ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นกับราเล่ จากการได้รับพระราชทานทรัพย์สินมากมาย เป็นเรื่องที่ฆ่าตัวเขาเอง เพราะการทำอะไรแล้วต้องการให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนเอง ผู้คนก็จะมองในแง่ร้าย ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหนก็จะถูกลบล้างไปหมดสิ้น ส่วนดิสราเอลีไม่ยอมรับอะไรเป็นของตัว แม้แต่คฤหาสน์ก็พยายามซื้อมาเอง ซึ่งถ้าเขาจะขอพระราชทานจากพระราชินีก็ย่อมทำได้ แต่เขาก็ไม่ทำ แม้แต่ยศที่พระราชินีจะประทานให้ในครั้งแรกก็ไม่ยอมรับ แต่กลับไปขอฐานันดรให้กับภรรยา และนี่คือการสร้างชื่อเสียงที่ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง นอกจากจะเป็นรัฐบุรุษที่ดีแล้ว เขายังเป็นสามีที่ดีอีกด้วย สามารถอยู่กับภรรยาที่มีอายุมากกว่าถึง 11 ปี โดยมีความประพฤติดีมาตลอด ในฐานะทางการเมือง ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็มีความสำคัญอย่างหนึ่งเช่นกัน ในสายตาของคนทั้งหลาย การขอพระราชทานฐานันดรให้แก่ภรรยาโดยที่ตัวเองไม่รับนั้น เป็นความน่ารักน่าเอ็นดู

ความแตกต่างที่สำคัญของบุคคลทั้งสองก็คือ ดิสราเอลีมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ราเล่ไม่เป็นเช่นนั้น ราเล่ได้มอบตัวเองให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่พระราชินี ซึ่งไม่มีทางที่จะดิ้นหลุดตั้งแต่ได้ก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่มา แม้พระราชินีจะมีพระชนม์ถึง 60 พรรษาแล้วก็ยังไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ พอลอบแต่งงานก็เกิดเรื่องถึงต้องจำคุก และไม่เคยมีเวลาเป็นของตัวเองเลย การกระทำของเขาทำให้ต้องตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นตลอดชีวิต ไม่พยายามหลบหลีกหรือกู้ตัวเอง ยอมอาสาจนตัวตาย

แต่ดิสราเอลีไม่เป็นเช่นนั้น แม้ว่าเขาจะได้สาบานเข้าอยู่ในพรรคของเซอร์โรเบิร์ต พีล และทำประโยชน์ให้อย่างที่สุดแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าเขากลายเป็นเครื่องมือให้คนอื่น เขาต้องหาหนทางอื่น เราอาจจะเห็นว่าเป็นความไม่ซื่อสัตย์ก็ได้ จากการที่ดิสราเอลีฝ่าฝืนคำสาบานของตนแล้วออกไปตั้งพรรคใหม่ จนทำให้พรรคของเซอร์โรเบิร์ต พีล อ่อนกำลังลงจนไม่สามารถเป็นรัฐบาลอยู่ต่อไปได้ แต่เราอาจจะไม่ตำหนิดิสราเอลีมากนัก ถ้าคิดกันตามความยุติธรรมว่ามนุษย์เราต้องเป็นตัวของตัวเองบ้าง

ความซื่อสัตย์และจงรักภักดีเป็นของดีมาก แต่บางทีในทางโลกเราก็ต้องซื่อเฉพาะคนที่ซื่อกับเรา รักเฉพาะคนที่รักเรา ภักดีเฉพาะคนที่ดีกับเรา ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์กับเราก็ไม่จำเป็นต้องซื่อสัตย์ ไม่จำเป็นต้องรักคนที่ไม่รักเรา ไม่จำเป็นต้องภักดีต่อผู้ที่ไม่ดีกับเรา ดิสราเอลีเป็นผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้เพราะถือหลักอันนี้ ลองคิดดูว่า หากเขายังจงรักภักดีต่อเซอร์โรเบิร์ต พีล อยู่ แม้จะไม่แต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีถึงสองครั้ง และยอมเป็นเครื่องมือให้คนอื่นอยู่เรื่อยไป นอกจากจะไม่ได้รับความยิ่งใหญ่แล้ว เขาอาจจะต้องกลายเป็นคนที่เลวร้ายที่มหาชนไม่ต้องการไปเสียอีกด้วย

ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้รู้ว่ามีศัตรู มีคนกล่าวร้ายใส่โทษ ราเล่ก็เพิกเฉยต่อศัตรู ไม่พยายามต่อสู้หรือหาทางแก้ไข โดยถือสุภาษิตว่า สุนัขเห่าแต่คนที่มันไม่รู้จัก และไม่ได้พยายามทำตัวให้คนรู้จัก หรือรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร เชื่อว่าบารมีของพระราชินีจะคุ้มครองตัวอยู่ได้เสมอ ปล่อยให้เสียงนินทากระพือเรื่อยไป ซึ่งตรงข้ามกับดิสราเอลี ที่ไม่ยอมให้มีการกล่าวร้ายอย่างนั้น ถ้ามีก็รีบระงับ แม้ในตอนเป็นเด็กที่ถูกเรียกว่า ต่างชาติ เขาก็ไม่ยอม

ราเล่เป็นนักรบ นักผจญภัย ที่กล้าเสี่ยงมาในตอนแรกๆ แต่ในตอนกลางและปลายของชีวิตหลังจากขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่แล้ว เขาไม่ต่อสู้อะไรเลย ปล่อยชีวิตไปตามบุญตามกรรม จากเหตุนี้ก็ได้ที่ทำให้เขาเกิดความล่มจมขึ้น แต่ดิสราเอลี ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ลดละ

ความนึกคิดของเราเองเป็นเครื่องวินิจฉัยความแพ้ชนิด ตราบใดที่เรายังไม่แพ้ ตราบนั้นเราก็ยังไม่แพ้ แต่ในทันทีที่เราคิดว่าแพ้เราก็จะแพ้ทันที ชีวิตคือการต่อสู้ ชีวิตเป็นสงคราม สงครามแห่งชีวิตร้ายแรงกว่าสงครามแห่งประเทศ หรือสงครามโลก เพราะสงครามแห่งประเทศหรือสงครามโลกยังสามารถทำให้เกิดความสันติภาพได้ แต่สงครามชีวิตไม่รู้จะไปทำสันติภาพกับใคร สงครามระหว่างประเทศหรือสงครามโลกนั้นกำลังทรัพย์และกำลังอาวุธมีความสำคัญมาก ส่วนสงครามชีวิต กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ในการทำสงครามจะมีการสู้รบกันอย่างธรรมดา หากข้าศึกล้อมรอบตัวเข้ามาจนเหลือแต่ป้อมปราการชั้นใน เราอาจพ่ายแพ้เพราะหมดกำลังและเสบียงอาหาร แต่ในสงครามชีวิตนั้น ดวงจิตของเราคือป้อมปราการที่สำคัญชั้นที่หนึ่ง ถ้าใจเรายังดีอยู่ ศัตรูจะตีมาสักเท่าใดก็ไม่สามารถจะทำให้เราพ่ายแพ้ไปได้

ไม่มีใครจะมาบันดาลให้ชีวิตเราเป็นไปได้ นอกจากดวงใจของเราเอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเหมือนดาบสองคม สุดแล้วแต่เราจะจับมันด้านไหน หากจับทางคมมันก็จะบาดมือเรา แต่ถ้าจับทางด้ามก็จะเป็นประโยชน์ต่อเราได้ สงครามแห่งชีวิตก็เช่นเดียวกันเราต้องจับให้ตรงด้ามเสมอ เรื่องราวของคนทั้งสองแสดงให้เห็นว่า ดิสราเอลีจับดาบตรงด้ามได้ทุกครั้ง ส่วนราเล่คว้าทางคมดาบทุกที

ชีวิตของมนุษย์จะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับว่ามีกำลังจากภายในแรงพอจะต้านทานกำลังบีบจากภายนอกหรือไม่ เนื่องจากกำลังบีบจากภายนอกนั้นแรงมาก หากเราไม่มีกำลังภายในพอ เราจะถูกบีบจนแบน เกิดความล้มเหลวในชีวิต แต่ถ้ากำลังจากภายในเท่ากับภายนอก ก็จะสามารถทรงตัวอยู่ได้ แต่ถ้ามีกำลังจากภายในมากกว่าภายนอก เราก็จะสามารถเติบโตได้กว่าผู้อื่นที่มีกำลังน้อยกว่าเรา กำลังอันภายในอันนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “สัมมาวายามะ” เป็นมรรคข้อหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญมากในทางพระพุทธศาสนา

หลักธรรมของพระพุทธเจ้าถือว่า ชีวิตเป็นทุกข์ คำว่า ทุกข์ แปลว่า “ยาก” หมายความว่า ชีวิตเป็นของยาก การที่จะได้เกิดมาเป็นคนก็ยากส่วนหนึ่งแล้ว แต่การดำรงชีวิตยังจะยากมากขึ้นไปอีก และจะมีความยากขึ้นไปอีกถ้าต้องการทำให้ชีวิตยิ่งใหญ่มั่นคงถาวร การดำรงชีวิตเป็นของยากที่จะเผชิญและเอาชัยแก่ความผิดหวัง อุปสรรค ความสูญเสีย และความล้มเหลว การดำรงชีวิตต้านทานความบีบคั้น หลีกเลี่ยงการประทุษร้าย หรือการเข้าใจผิดของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็เป็นการยากเหลือเกิน

นักคิดนักปรัชญาทั้งหลาย จึงให้หลักที่สอดคล้องต้องกันเพื่อเอาชนะหรือข้ามพ้นความยากนี้ ด้วยว่าชีวิตนี้ไม่สำคัญ การตัดสินใจว่าจะทำให้ชีวิตเป็นอย่างไรสำคัญมากกว่า ชีวิตมนุษย์มักจะเป็นไปตามที่เจ้าของอยากให้เป็น เราอาจต้องพบกับปัญหาที่รุนแรง ความรับผิดชอบที่หนักมาก อาจเกิดความท้อถอย หมดกำลังที่จะต่อสู้ แต่ถ้าใจเราไม่ยอมแพ้ และต่อสู้กับความกดดันจากภายนอกได้ เราก็จะรักษาชีวิตของเราให้ดีได้ ถ้าหมดกำลังใจอาจทำให้เราต้องประสบกับความล้มเหลวก็เป็นได้

พูดถึงตัวเอง ที่ฝรั่งเรียกว่า Self นั้น มีอยู่หลายตัวในมนุษย์ ตัวของเราที่คนอื่นมองเห็น กับที่ตัวเราเห็นเองนั้น เป็นคนละตัวกัน ยิ่งกว่านั้น ตัวที่เราเห็นของเราเอง กับตัวที่เป็นจริงแท้ๆ ก็เป็นคนละตัวอีก คนเรามีอย่างน้อยที่สุดอยู่ 3 ตัว คือ ตัวที่คนอื่นเห็นอาจจะเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเห็นไปในทางที่ไม่ดี เพราะตามปกติของคนในโลกชอบมุ่งมองในแง่ร้าย สิ่งที่ร้ายมองเห็นง่ายกว่าสิ่งที่ดี มองแล้วสนุกกว่า ดังนั้นหากเราฟังเสียงจากคนอื่นมากๆ เราก็จะพบว่าตัวเราค่อนข้างเลวร้าย

อีกตัวหนึ่ง คือตัวที่เราเห็นของเราเอง เราเป็นอย่างที่เราเป็น แต่เราไม่ได้เป็นอย่างที่คนทั้งหลายคิด ไม่ว่าคนทั้งหลายจะคิดอย่างไรก็ตาม ตัวที่เราเห็นของเราเองนั้นมีความสำคัญมากกว่า

แต่การที่เราจะมองเห็นตัวเองนั้นไม่ใช่การง่าย โดยเฉพาะตัวตนที่แท้จริงนั้นเห็นได้ยากมาก ด้วยเหตุนี้ลัทธิศาสนาบางศาสนาจึงได้สอนว่าการเห็นตัวเองเท่ากับเห็นพระเจ้าหรือเห็นพรหม และมีหลักปรัชญามากมายที่สอนให้พยายามรู้จักตัวของตัวเอง

เป็นปัญหาที่โต้เถียงกันมาก ว่าเสียงของผู้อื่นที่เรียกว่า “เขาว่า” นั้น ควรสนใจเพียงใด บางความเห็นก็ว่ามีความสำคัญมากเหมือนกัน เพราะเราจะไม่สนใจเสียเลยก็ไม่ได้ เราต้องติดต่อกับคนทั้งหลาย และเขาเหล่านั้นก็มองดูเราอย่างที่เขาเห็น ในอีกความคิดเห็นมองว่า การเอาใจใส่ในเสียง “เขาว่า” หรือคำพูดของคนอื่นมีแต่ทำความยุ่งยากลำบากให้ และไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใดเลย

มีเรื่องเล่ากันว่า บุคคลหนึ่งไว้หนวดยาวมาก และเขาเองก็ภาคภูมิใจ วันหนึ่งเมื่อเขาถูกคนถามว่า เวลาที่เขานอนเขาเอาหนวดนี้ไว้นอกหรือในผ้าห่มนอน เขาตอบไม่ได้ เพราะถึงแม้จะเคยมีหนวดยาวมาหลายสิบปีแล้ว ก็ไม่เคยกังวลถึงเรื่องที่จะเอาหนวดไว้นอกหรือในผ้าห่ม ในบางวันอาจจะอยู่นอกหรือในก็ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญอะไร

แต่พอถูกถามเข้าเช่นนั้น ก็เก็บเอามาคิด เมื่อถึงเวลานอนก็ตั้งปัญหากับตัวเองว่า จะเอาหนวดไว้นอกหรือในผ้าห่ม ถ้าเอาไว้ในคงรู้สึกไม่สบาย ถ้าเอาไว้นอกผ้าห่มคงจะเห็นรูปร่างและสภาพที่น่าเกลียดของเขา เขานอนหลับด้วยความยากลำบากที่สุดในคืนนั้น เพราะปัญหาที่ว่าไม่รู้จะเอาหนวดไว้ในหรือนอกผ้าห่ม ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อมีคนถามแต่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ในบางเรื่องเราไม่เคยสนใจเกี่ยวกับตัวเราเอง เพิ่งจะมาสนใจก็ต่อเมื่อมีคนมาถามขึ้น เสียงคนอื่นก็มีประโยชน์และสำคัญหากเรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางที่จะแก้ไขตัวเราเอง

แต่ก็ดูเหมือนจะมีความจำเป็นอยู่อย่างหนึ่ง คือ เสียงที่กล่าวร้ายนั้นปล่อยไว้ไม่ได้ ถ้าปล่อยไว้ยิ่งจะขยายตัวออกไปทุกที เพราะมนุษย์เราชอบฟังเรื่องร้าย ถ้อยคำที่กล่าวร้ายย่อมแพร่หลายออกไปได้เร็วกว่าคำพูดที่ดี เราอาจมีศัตรูเป็นคนที่ไม่เคยเห็นหรือรู้จัก เป็นผู้ที่เราไม่เคยประทุษร้าย ไม่เคยทำอะไรให้ แต่กลับเป็นศัตรูที่ร้ายแรงเกลียดชังเรามาก เนื่องจากเขาได้ฟังเสียงกล่าวร้ายกระจายออกไป ถ้าเราปล่อยไว้เช่นนี้ การแก้ไขก็จะยากมาก

บางที ราเล่อาจจะทำผิดในข้อนี้เป็นสำคัญ คือ เมื่อตัวได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นที่โปรดปรานของพระราชินี และมีความมั่งคั่งขึ้น เป็นธรรมดาที่ต้องเกิดเสียงนินทาว่าร้าย เขาไม่ได้ระงับสิ่งนี้ และไม่ได้หาทางต่อสู้ป้องกัน มัวไปทุ่มเทและไว้วางใจในความโปรดปรานของพระราชินี ความล่มจมจึงมาถึงตัวด้วยเหตุนี้ ส่วนดิสราเอลีมีวิธีการที่ตรงกันข้าม คือถ้ามีเสียงกล่าวร้ายเขาจะพยายามระงับเสียงนั้นทันที
ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

เซอร์วอลเตอร์ ราเล่ ผู้สร้างความยิ่งใหญ่ด้วยเสื้อคลุมตัวเดียว

Sir Walter Raleigh
เซอร์วอลเตอร์ ราเล่ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2095 ในประเทศไทยก็อยู่ในสมัยอยุธยา

ราเล่ได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเมื่อตอนอายุ 14 ปี เรียนอยู่ได้ 3 ปี และยังไม่จบการศึกษาก็ออกไปเฉยๆ เขาอยากได้ความรู้ด้วยการท่องเที่ยวผจญภัยในโลกกว้างเพื่อหาประสบการณ์ ไม่ใช่เป็นการเรียนเฉพาะในห้องเรียนหรือห้องสมุด

ในขณะนั้น พวกเจ้านครต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศสได้มีการรบพุ่งกันเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ ราเล่ได้ไปประเทศฝรั่งเศสหลังจากออกจากวิทยาลัย ในตอนนั้นเขามีอายุได้ 17 ปี และอาสาเข้ากับพวกหนึ่งทำการรบจนได้ชื่อเสียงว่าเป็นนักรบที่เก่งกล้า แล้วจึงกลับมาประเทศอังกฤษ ราเล่ได้อาสาออกไปรบอีกเมื่อมีเหตุจลาจลระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์ จนมีชื่อเสียงในความกล้าหาญและฝีมือการรบมากขึ้นทุกที เมื่ออายุได้ 29 ปี ก็ได้เข้ารับราชการในราชสำนัก เป็นคนรับใช้ของเจ้าใหญ่นายโตคนหนึ่ง ซึ่งประเทศอังกฤษในเวลานั้นเป็นสมัยของ พระนางเจ้าอลิซาเบธ

พระนางเจ้าอลิซาเบธ ทรงอยู่ในราชสมบัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2101-2146 ซึ่งยืนยาวถึง 45 ปี เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ที่ปกครองด้วยพระราชอำนาจส่วนพระองค์มากที่สุด รากฐานแห่งความยิ่งใหญ่ของชาติได้เริ่มก่อขึ้นอย่างมั่นคง ด้วยอังกฤษได้เริ่มเข้าสู่การเป็นจ้าวโลก มีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง การคมนาคมที่สะดวกจึงทำให้มีสินค้าแพร่ไพศาลไปทุกทิศ และได้เริ่มทำการหาเมืองขึ้นกันอย่างจริงจัง

พระนางเจ้าไม่เคยมีพระราชสวามี ไม่เคยอภิเษกสมรส จนตลอดพระชนม์ชีพ เป็นราชินีที่ฉลาด เข้มแข็ง ร้ายแรง มีความรู้สูง สามารถเขียนและพูดภาษากรีก ละติน ฝรั่งเศส และอิตาเลียนได้เป็นอย่างดี ทรงใช้อำนาจแบบเผด็จการ เข้มงวดและเหี้ยมหาญ เสนาบดีทั้งหลายของพระองค์มีหน้าที่เป็นเพียงราชเลขานุการปฏิบัติตามกระแสพระบรมราชโองการเท่านั้น

ในขณะที่ราเล่รับราชการเป็นเด็กรับใช้ของเจ้านายคนหนึ่งนั้น ชื่อเสียงและความกล้าหาญในการเป็นนักรบของเขา ได้ทราบไปถึงพระนางเจ้าอลิซาเบธ ก็ทรงทดลองให้งานกับราเล่และเป็นที่พอพระทัย สุดท้ายก็ได้รับเข้ารับราชการ กลายเป็นคนโปรดของพระราชินี

ในขณะที่เป็นคนโปรดของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ราเล่มีอายุได้ 31 ปี และพระนางเจ้าอลิซาเบธมีพระชนม์ 50 พรรษา

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งราเล่เคยถอดเสื้อคลุมของตัวเองปูบนแผ่นดินที่ชื้นแฉะเพื่อให้พระนางเจ้าอลิซาเบธเสด็จดำเนินไป ขณะที่พระนางเจ้าเสด็จไปบนเสื้อนั้นก็ประทานยิ้มที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดแก่ราเล่โดยเฉพาะ พฤติการณ์อันนี้ คนทั้งหลายก็ทราบว่า ราเล่ได้ขึ้นสู่ความเป็นคนโปรดแล้ว

ราเล่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด ฐานะของเขาก็ดีขึ้นทุกที โดยได้รับพระราชทานฐานันดรเป็น “เซอร์” ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นที่สุด

ราเล่รู้ดีว่าชีวิตเมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง วิถีทางที่จะไม่ตกลงมาได้นั้น คือไม่ก้าวขึ้นไป เขากลัวที่จะตกต่ำลงมาแต่ก็อยากก้าวขึ้นไปให้มากๆ เหมือนกัน และได้เขียนข้อความด้วยหัวของแหวนเพชรไว้บนแผ่นกระจกซึ่งติดอยู่ในพระราชฐานที่ประทับของพระราชินี มีข้อความว่า
Fain would I rise, yet fear to fall
(เมื่อขึ้นได้สูงก็ชื่นชมยินดี แต่กลัวเสมอว่าอาจพลัดตกลงมา)

ต่อมาอีก 2-3 วัน เขาก็ได้เห็นข้อความเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินี เขียนต่อลงมาจากข้อความของเขาว่า
If the heart fails thee, climb not at all
(ถ้าใจเธอไม่กล้าพอ ก็อย่าปีนขึ้นมา)

แต่ราเล่ก็มีความกล้าพอที่จะปีนขึ้นไป และก็ทำได้สำเร็จ เป็นที่พอพระทัยของราชินีเป็นอย่างมาก ได้เป็นตัวโปรดจะขอพระราชทานอะไรก็ได้ จนเขาได้กลายเป็นคนมั่งคั่งใหญ่หลวง ได้รับพระราชทานที่ดินราว 1 แสนไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากสำหรับแผ่นดินเล็กๆ เช่นประเทศอังกฤษ

เสียงกล่าวร้ายติฉินนินทามีขึ้นทั่วไป หลังจากที่เขาได้ขึ้นสู่ฐานะสำคัญและมีความมั่นคงใหญ่หลวงนี้ แต่เขาก็ถือสุภาษิตที่ว่า “สุนัขย่อมจะเห่าแต่คนที่มันไม่รู้จัก” ซึ่งเป็นความจริงว่า ถ้าได้รู้จักมันคงไม่ทำเช่นนี้ หากใครที่ได้ติดต่อกับเขาอย่างใกล้ชิด เห็นนิสัยใจคออันแท้จริงของเขา ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนดีและชอบคนคนนี้ขึ้นมาได้

ในการหาเมืองขึ้นและแย่งอำนาจกับสเปนซึ่งมีจักรภพยิ่งใหญ่ไพศาลในเวลานั้น ราเล่ก็ได้เป็นคู่คิดสำคัญของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ราเล่มีความสนใจในเรื่องทรัพยากร เรื่องแร่ เรื่องพฤกษชาติ นำพันธุ์พืชจากเมืองขึ้นที่สามารถปลูกในอังกฤษได้มาปลูก ได้นำพันธุ์ยาสูบเวอร์จิเนียจากทวีปอเมริกาเข้ามาปลูก และเขาก็ได้ชื่อว่า เป็นคนแรกที่สอนให้ชาวอังกฤษ หรือชาวยุโรปรู้จักสูบยากล้อง เขาได้ใช้ที่ดินอันกว้างขวางของเขานั้นเป็นไร่มันฝรั่ง เป็นการลดหย่อนการซื้ออาหารจากประเทศอื่นเข้ามา ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศอังกฤษได้ และเขาก็ได้กลายเป็นนักค้นคว้าเรื่องสมุนไพรอย่างมากอีกด้วย เนื่องจากมีความสนใจในพฤกษชาติที่จะนำมาใช้เป็นยา โดยการนำมาปลูกและทดลอง

เขาได้เขียนเรื่องของเขาเองว่า ความฝันของเขาอยู่ที่การท่องเที่ยวแสวงหาเมืองขึ้น บุกเบิกและขุดค้นแผ่นดินในเมืองขึ้นให้เป็นประโยชน์ เอาวิชาความรู้ไปทำประโยชน์แก่เมืองขึ้น เอาทรัพยากรพืชผลพันธุ์พฤกษ์ของเมืองขึ้นมาทำประโยชน์แก่อังกฤษ เขาจะลงทุนของเขาเองถ้ารัฐบาลไม่ออกทุนให้ การขอพระราชทานที่ดินและทุนนั้น ก็เพื่อประโยชน์ที่เป็นผลถาวรแก่ประเทศชาติด้วย

เขาได้ของอนุญาตเพื่อไปทดลองลงทุนเพาะปลูกในทวีปอเมริกา และพระนางเจ้าอลิซาเบธก็ยอมให้เงินลงทุนก้อนใหญ่นั้นแก่ราเล่ แต่มีเงื่อนไขว่า ราเล่ต้องไม่ไปทำงานที่นั่นด้วยตนเอง ต้องอยู่ใกล้ชิดพระองค์ และทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จะไปอยู่ห่างไกลอย่างนั้นไม่ได้

ราเล่ได้ทำหน้าที่อย่างผู้บัญชาการกองทัพเรือ สร้างเรือรบ ฝึกสอนการรบ ออกคำสั่งให้เรือรบออกไปทำการในขณะที่มีการรบพุ่งกับสเปนอยู่เรื่อยๆ ในขณะนั้น และในบางครั้งเขาก็ต้องออกไปควบคุมเรือกลางทะเลเองบ้าง แต่พระนางเจ้าอลิเบธได้ออกคำสั่งว่า เมื่อมีการรบ ราเล่ต้องอยู่นอกแนวรบ ไม่ต้องเข้าไปรบด้วย ให้รีบกลับมาอยู่ใกล้ชิดพระองค์เพราะหน้าที่บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์สำคัญกว่า และก็เป็นการยากที่จะได้ชัยชนะเมื่อตัวผู้บังคับบัญชาไม่เข้ารบด้วย จนในที่สุดราเล่ก็ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำการรบเองบ้าง และได้รับชัยชนะเสมอมา

ซึ่งทำให้ราเล่ เป็น “ตัวโปรด” ที่แท้จริง

ในสมัยหนึ่งมีเด็กหนุ่มอายุเพียง 19 ปี เป็นเด็กฉลาดและมักใหญ่ใฝ่สูงมาก แอบมาได้รับการโปรดปรานของพระราชินี ซึ่งเกือบจะมีคู่แข่งมาแย่งเอาความเป็นตัวโปรดไปเสีย ทั้งๆ ที่ราเล่ต้องแสวงหาเมืองขึ้นเพื่อก่อผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติตามแผนของเขา เขาก็ไม่ยอมสละความเป็นตัวโปรดของเขาไป เพราะเด็กหนุ่มคนนี้ได้กล่าวร้ายใส่โทษให้เขาต่างๆ นานา เขาต้องต่อสู้กับเด็กหนุ่มคนนี้และตำแหน่งของคนโปรดก็ยังไม่หลุดมือไป ในภายหลังราเล่ก็ได้รับพระราชทานคฤหาสน์ใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ คฤหาสน์เชอร์บอร์น

คฤหาสน์เชอร์บอร์น เป็นคฤหาสน์ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษเคยพระราชทานแก่คนโปรดปรานที่สุด มีประวัติที่ร้ายแรง แต่มีความสวยงามมาก ว่ากันว่าใครได้เห็นจะต้องหลงความงามจนต้องหยุดหายใจ และคนโปรดคนใดที่ได้รับพระราชทานคฤหาสน์นี้ สุดท้ายจะต้องถูกประหารชีวิตเสมอ

ราเล่ได้พยายามทำทุกอย่างที่เรียกว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก เขาขอพระราชทานอยู่เรื่อยๆ จนครั้งหนึ่งพระนางเจ้าอลิซาเบธก็ได้ตรัสถามเขาว่า “เมื่อไรเธอจะเลิกเป็นขอทานเสียที” และเขาก็ตอบว่า “เมื่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงเลิกเป็นผู้มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยพระเมตตา” เขาก็จะได้สิ่งที่เขาขอเสมอ

แต่ในที่สุดเขาก็ต้องเผชิญกับเคราะห์กรรมที่เขาทำขึ้นเอง โดยเขาได้เกิดรักใคร่กับนางกำนัลของพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ชื่อ อลิซาเบธ ทรอคมอร์ตัน และได้ลอบแต่งงานกัน เมื่อความลับรู้ไปถึงพระราชินีก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ที่ได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์นที่ลงท้ายจะต้องถูกประหารชีวิตเสมอนั้นก็อาจจะเป็นความจริง เขาลืมนึกไปว่าการแต่งงานของเขาไม่อาจเป็นความลับได้เพราะศัตรูของเขาก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ราเล่ก็ต้องหนี เขาถูกตามจับมาขังไว้ในป้อมด้วยความผิดฐานลักลอบแต่งงานกับนางกำนัลของพระราชินีโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนนางกำนัลที่ชื่อ อลิซาเบธ ทรอคมอร์ตัน ก็ถูกขับออกจากราชสำนักให้ไปอยู่ที่คฤหาสน์เชอร์บอร์น โดยไม่มีสามี ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นี้ อยู่ใน พ.ศ. 2126 ซึ่งราเล่มีอายุได้ 41 ปี และพระราชินี มีพระชนม์ได้ 60 พรรษาพอดี

ราเล่เป็นนักโทษถูกขังอยู่ใต้ความควบคุมภายในป้อง ได้รับเสรีภาพพอสมควรไม่ถึงกับเข้มงวดกวดขัน ราเล่เป็นที่รักของบรรดาทหารเรือ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ทหารเหล่านี้ก็ไม่พอใจเป็นอันมาก และราเล่เองก็คิดว่าการจับกุมนี้เขาคงได้เป็นอิสระในไม่ช้า และเมื่อมีเรือโปรตุเกสที่บรรทุกสินค้าหลายลำถูกเรืออังกฤษขับไล่มาเกยตื้นที่ฝั่งเกาะอังกฤษ ทำให้พลเมืองพากันไปแย่งเอาทรัพย์สินในเรือจนเกิดความจลาจล พวกทหารเรือจึงได้ร้องขอมายังรัฐบาลว่าให้ส่งราเล่ไปช่วย เพราะไม่สามารถปราบจลาจลในครั้งนี้ได้ พระราชินีก็ให้คนคุมตัวราเล่ไปเพื่อปราบจลาจลเมื่อเสร็จแล้วก็คิดจะนำมาขังใหม่ ราเล่ได้กระทำการไปได้อย่างเรียบร้อย และพระราชินีก็ตัดสินพระทัยปล่อยราเล่จากการคุมขัง แต่ไม่ยอมให้เข้าเฝ้าหรือรับราชการใกล้ชิดอีกต่อไป

ราเล่พอใจกับการถูกปลดออกจากตำแหน่งและได้รับอิสระในครั้งนี้ เพราะเขาจะได้มีโอกาสอยู่กับภรรยา และใช้เวลาทำงานอย่างคนนอกราชการ เขาได้ค้นคว้าเรื่องเครื่องสมุนไพรเพราะมีความสนใจในเภสัชกรรม ได้แสวงหาสรรพคุณทางยาจากพืชที่ได้นำมาปลูก และเริ่มสนใจในกวีนิพนธ์และไปมาหาสู่กับพวกกวี เริ่มสนใจในศาสนา โดยเฉพาะลัทธินิกายพูริเตน ซึ่งเป็นนิกายของพวกที่พากันอพยพไปอยู่ที่ทวีปอเมริกา และจากการค้นคว้าเครื่องสมุนไพรดังกล่าว จึงทำให้เขากลายเป็นหมอขึ้นมา

ราเล่ยังอยู่ในวัยที่ขยันขันแข็ง ยังมีความมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่ ต้องการจะไปแสวงโชคที่อเมริกาอีก และเขาก็ได้รับการอนุญาตจากพระราชินี เขาได้ออกเดินทางไปเกียนาในปี พ.ศ. 2138 ขณะที่มีอายุได้ 43 ปี เขาได้รับการต้อนรับจากคนที่นี่เป็นอย่างดี และทราบดีว่าในอเมริกาที่เป็นเมืองขึ้นของสเปนนั้น คนพื้นเมืองที่เป็นชาวอินเดียนแดงและฝรั่งที่ทำมาหากินอยู่จำนวนมากได้รับความทารุณโหดร้าย แม้แต่ชาวสเปนเองที่มาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินอยู่ก็เบื่อหน่ายเกลียดชังรัฐบาลและข้าหลวงสเปนที่มาประจำ ราเล่ได้ไปทูลขอกำลังรบ ไปต่อสู้กับสเปน เพื่อจะแย่งดินแดนมาเป็นของอังกฤษ หรือตั้งขึ้นเป็นประเทศอิสระให้แก่ผู้ที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่นั้น และเป็นการตัดรอนความยิ่งใหญ่ของสเปนลงไป

แต่พระราชินีก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า แต่ราเล่ก็ได้รับพระราชทานกองทัพเรือน้อยๆ หลังจากได้พยายามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาชี้แจงเหตุผล ประกอบกับหาคนที่ใกล้ชิดช่วยเพ็ดทูล ราเล่ได้ชัยชนะจากสเปนทุกหนแห่ง ทำให้สเปนอ่อนแอลงไปทุกทีและต้องหมดลงเพราะอำนาจของอังกฤษเข้าไปแทนที่ จักรภพของอังกฤษได้แผ่ไพศาลไปครึ่งทวีปอเมริกา ทำให้ราเล่ภูมิใจในงานของเขาอย่างที่สุด

แต่การกระทำครั้งนี้ไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับราเล่ กลับถูกกล่าวโทษว่าทำให้เสียทางไม่ตรีกับสเปน และไม่ได้รับการยกย่องจากพระนางอลิซาเบธเหมือนแต่ก่อน ขณะนั้นพระนางอลิซาเบธก็ทรงพระชรา พวกศัตรูในราชสำนักก็ได้ยุยงพระนางและพระรัชทายาทผู้ที่จะได้สืบราชสมบัติ เมื่อพระนางเจ้าอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ลงเขาก็จะดำเนินการอันนี้อย่างรอบคอบ พระเจ้าเจมส์ก่อนที่จะได้ราชสมบัติต่อก็มีความเกลียดชังราเล่มาก

ใน พ.ศ. 2146 พระนางเจ้าอลิซาเบธได้สิ้นพระชนม์ลง ด้วยพระชนมายุ 70 พรรษา เวลานี้ราเล่มีอายุได้ 51 ปี มีโรคภัยไข้เจ็บและสุขภาพที่เสื่อมโทรมจากการตรากตรำในช่วงหลังๆ เมื่อพระเจ้าเจมส์ได้รับพระราชสมบัติต่อก็ได้ตั้งนโยบายขึ้นใหม่ ด้วยการจะกลับไปผูกมิตรกับสเปน ทรัพย์สินต่างๆ ของราเล่ที่เคยได้รับก็ถูกริบคืนไปทีละน้อยจนหมด แต่ยังคงเหลือคฤหาสน์เชอร์บอร์นเท่านั้นที่ไม่ถูกริบ

3 เดือนกับ 24 วัน หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าอลิซาเบธ คือในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2146 ราเล่ก็ถูกจับในข้อหาทรยศต่อประเทศชาติ เมื่อขึ้นศาลก็หาพยานไม่ได้สักปากเดียว และถูกพิพากษาตัดสินว่ามีความผิด ให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอต่อหน้าประชาชน

ชนชาวอังกฤษได้ทราบข่าวการพิพากษาประหารชีวิตราเล่ด้วยความขมขื่น เพราะรู้ดีว่าราเล่ได้ทำความดีไว้มากมาย คนบางกลุ่มยังกล้ายื่นฎีกาทูลเกล้าถวายต่อพระเจ้าเจมส์เพื่อให้ราเล่พ้นโทษ แต่ก็ไม่เป็นผล ราเล่ได้เขียนจดหมายถึงภรรยาว่าเมื่อเขาตายแล้วไม่ต้องไว้ทุกข์ เพราะไม่ทำให้เขากลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้

แม้วันที่ต้องประหารชีวิต ศัตรูของราเล่ก็ยังหาทางทรมานใจเขาให้มากขึ้น ด้วยการนำนักโทษคนอื่นๆ ที่ต้องถูกประหารชีวิตด้วยในวันนั้น ไปประหารชีวิตก่อน โดยให้ลาเร่มองเห็นจากที่คุมขังเพื่อให้เกิดความทรมานใจมากขึ้น

นักโทษได้ถูกประหารชีวิตไปต่อหน้าเขา และประชาชนเป็นอันมาก เป็นรายๆ ไป และเมื่อมาถึงคิวของราเล่ กลับต้องรอนานจนผิดสังเกตและล่วงเลยเวลาไปมาก และได้ทราบว่าราเล่ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษจากพระเจ้าเจมส์ในวาระสุดท้าย จากการประหารชีวิตมาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

ราเล่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างคนที่ตายไปแล้วเพราะโทษในครั้งนี้ และผู้คนก็ได้พูดกันว่า ใครที่ได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์น ไม่เป็นความจริงเสมอไปที่จะต้องถูกประหารชีวิตทุกราย แต่อาจเป็นเพียงการจำคุกไปตลอดชีวิตเท่านั้นก็ได้

ราเล่ได้เขียนหนังสือตำรา และค้นคว้าทดลองเครื่องสมุนไพรเพื่อทำยารักษาโรคด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ ในขณะที่ถูกคุมขัง ผลที่ออกมาได้ผลดี ราเล่ได้กลายเป็นหมอในคุกรักษาโรคหายจนมีผู้เลื่อมใสและเล่าลือไปสู่ภายนอก คนภายนอกก็ขออนุญาตเข้าไปรักษากับราเล่จนเขามีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รักษาโรคให้กับพระราชินีองค์ใหม่จนหาย พระราชินีจึงให้สัญญากับราเล่ว่าจะหาทางช่วยให้เขาพ้นโทษให้ได้

และมีเจ้าชายหนุ่มองค์หนึ่ง ชื่อว่าเจ้าชายเฮนรี่ ทราบว่าราเล่กำลังเขียนหนังสือตำราทางการเมือง แม้ว่าราเล่จะไม่ใช่นักศึกษาที่เปรื่องปราชญ์มาก่อนแต่ก็เชื่อว่าคงจะมีเรื่องดีๆ เพราะชีวิตที่สูงลงต่ำของเขาอาจทำให้เขามีความรู้สึกนึกคิดที่น่าเรียนรู้ ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ พระเจ้าเจมส์ก็อนุญาตให้ไปมาหาสู่กับราเล่ในคุกได้ และได้ขอความรู้จากราเล่เกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง

ราเล่ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าชายพระองค์นี้ โดยให้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์โลก แต่การเขียนหนังสือในคุกก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราอย่างเข้มงวดตามลำดับชั้นของผู้บังคับบัญชา และในที่สุดก็มาถึงพระมหากษัตริย์ เรื่อง “ประวัติศาสตร์โลก ได้ถูกห้ามเขียนเมื่อเขียนมาได้ถึงสมัยโรมัน เพราะมีข้อความที่กระทบต่อพระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากเรื่องนี้ ราเล่ได้เขียนตำราไว้อีก 3 เรื่อง คือ เรื่อง “เอกสิทธิ์ของรัฐสภา” , เรื่อง “คณะรัฐมนตรี” และเรื่อง “เล่าเรื่องสงคราม” ในสมัยหลังๆ เรื่องที่ 3 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหนังสือชั้นดี และเจ้าชายเฮนรี่ก็ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ไปมาหาสู่กับราเล่อยู่ตลอดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ความหวังของราเล่ในการที่จะพ้นโทษก็มีเสมอๆ และได้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงให้เขามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2159 พระเจ้าเจมส์ได้พระราชทานอภัยโทษให้ราเล่ออกจากคุก หลังจากที่ต้องติดอยู่นานถึง 13 ปี ในขณะนั้นเขามีอายุได้ 64 ปีแล้ว

แล้วก็มีคนพูดกันต่ออีกว่า ถ้าใครได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์นจะต้องถูกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ก็ไม่ถูกต้อง เพราะราเล่สามารถพ้นโทษได้แล้ว

เมื่อพ้นโทษแล้ว พระเจ้าเจมส์จึงพระราชทานผู้คนและเครื่องมือสำหรับไปค้นหาแหล่งทอง เนื่องจากราเล่มีความชำนิชำนาญในภูมิประเทศที่เกียนา เขาต้องรับทำหน้าที่อันนี้ทั้งๆ ที่เขามีอายุถึง 64 ปีแล้ว

เพียงไม่กี่สัปดาห์ราเล่ก็ได้ไปถึงแหล่งค้นหาทอง แต่ได้เกิดเหตุการณ์ที่เขาไม่คิดมาก่อน เมื่อทหารสเปนกลุ่มหนึ่งได้เข้ามายิ่งพวกของราเล่ก่อน และได้ต่อสู้กัน แม้ราเล่จะมีคนน้อยกว่าแต่ก็ไม่มีใครหนี ไม่นานทหารสเปนก็ล่าถอยไป

ราเล่ก็ได้ค้นหาแหล่งทองต่อไป ทั้งๆ ที่มีอายุมาก ร่างกายอ่อนแอ มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ก็บุกบั่นอย่างเต็มที่ ต่อมาเขาก็ได้ข่าวว่า การยิงกับทหารสเปน รัฐบาลถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐบาลสเปนได้กล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษส่งราเล่ไปก่อความไม่สงบ คนที่ใกล้ชิดกับราเล่แนะนำให้เขาหนีไป แต่ราเล่คิดว่าในเมื่อเขาไม่ได้ทำความผิดจะหนีไปทำไม การหลบก็เท่ากับว่าตนรับผิดในสิ่งที่ทำ และสเปนจะต้องกล่าวหาประเทศอังกฤษได้มากขึ้น เขาจึงเดินทางกลับประเทศอังกฤษเพื่อแก้คดี และเขาก็ถูกจับอีกครั้ง

การแก้คดีของเขา ไม่ได้หมายความว่าเขาจะแก้คดีของตัวเขาเอง แต่เจตนาจะมาแก้คดีเมืองสำหรับประเทศอังกฤษ ราเล่ถูกขึ้นศาลอีกครั้งในข้อหาอุกฤษฏ์โทษ เป็นความเสื่อมเสียแก่ราชอาณาจักร เป็นคดีกบฏ

และศาลก็ได้ตัดสินประหารชีวิตราเล่ ซึ่งน้อยคนนักที่จะถูกตัดสินประหารเป็นครั้งที่ 2 พระเจ้าเจมส์จึงมีรับสั่งให้รีบดำเนินการประหารชีวิตโดยไม่รอช้า เนื่องจากทราบดีว่าประชาชนรักราเล่มาก และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2161 เขาก็ถูกประหารชีวิตจริง ขณะนั้นราเล่มีอายุได้ 66 ปี

ความภายหลังปรากฏออกมาว่า ราเล่ตายด้วยฝีมือการทรยศของชนชาติเดียวกันเอง เนื่องจากศัตรูที่เกลียดชังราเล่ ได้พยายามทำลายเขามาตลอด เมื่อราเล่ออกจากคุกมาก็ไม่ได้เลิกคิดประทุษร้ายและพยายามทำลายใหม่ การที่ราเล่ไปหาแหล่งทองที่อเมริกาย่อมเป็นช่องทางที่ดีสำหรับพวกนี้ จึงได้สมรู้ร่วมคิดกันกับขุนนางสเปนเพื่อก่อความผิดให้ราเล่ ราเล่ได้ช่วงชิงดินแดนภายใต้การยึดครองของสเปนมามาก เขาจึงเป็นที่เกลียดชังของสเปนมาแต่ไหนแต่ไร จึงร่วมมือกันได้ด้วยดี

การค้นคว้าอย่างลึกซึ้งของนักประวัติศาสตร์อเมริกันได้กล่าวว่า ผู้ที่สมคบกับสเปนไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นพระเจ้าเจมส์เองที่ทำความตกลงกันอย่างลับๆ เพื่อขายหัวราเล่ให้กับสเปน เพื่อรับสินบนที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง

ข้อยืนยันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นความจริงเพียงไร แต่ได้สังเกตเห็นในประวัติศาสตร์ว่า บุคคลใดแม้จะเป็นคนดีที่สุด แต่ถ้าท่านผู้ยิ่งใหญ่เกลียดชังเบื่อหน่าย หรือเลิกใช้ แต่แล้วภายหลังก็กลับมาใช้อีก ก็มักจะใช้ด้วยความไม่หวังดี มักมีเจตนาร้าย ให้ไปตาย หรือใช้ในสิ่งที่คนอื่นไม่ยอมทำเหลือเดนจากคนอื่น และสุดท้ายก็เกิดผลร้ายแก่ตัวผู้รับใช้เสมอ

การประหารชีวิตของร่าเล่ในครั้งนี้ เป็นการเอาคอพาดที่เขียง แล้วเอาขวานขนาดใหญ่ฟัน ราเล่ได้เขียนข้อความก่อนที่จะถูกนำไปประหารว่า “โลกนี้ทั้งโลกมิใช่อย่างอื่น โลกเป็นแต่เพียงคุกขนาดใหญ่ และมีวิธีประหารที่เลือกได้หลายๆ อย่างเท่านั้นเอง” เมื่อคิดดูก็เป็นความจริง อย่างเช่นราเล่ ที่ซึ่งถูกขังมาถึง 3 ครั้ง ถูกตัดสินประหารชีวิต 2 ครั้ง แม้ในเวลาที่รุ่งโรจน์ก็อยู่ในภาวะผูกพันไม่ผิดกับการถูกขังคุกมีความล่อแหลมความตายอยู่ทุกขณะ ไม่มีอิสระแก่ตัว ไม่เคยสบายใจแม้ในชีวิตนอกคุก

ความตายของราเล่ มิได้ปราศจากความสงสารเห็นใจจากคนทั้งหลาย แม้แต่ตัวเพชฌฆาตเองก็ต้องคุกเข่าร้องไห้ฟูมฟายอยู่ข้างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เช่นนี้เนื่องจากจะเป็นการเสี่ยงต่อคอของเขาเอง ราเล่ปลอบให้เพชฌฆาตทำงานตามหน้าที่ โดยเอามือแตะไหล่ และบอกว่า เมื่อเอาคอพาดเขียงแล้ว ให้รอจนเขายกมือเป็นสัญญาณก่อนแล้วจึงค่อยฟัน

การที่เขาร้องขอต่อเพชฌฆาตเช่นนั้น จะเพื่อตั้งสตินึกอะไรไม่มีใครทราบได้ เขาเอาคอพาดเขียงและไม่ปล่อยให้เพชฌฆาตต้องรอนาน ในชั่วประเดี๋ยวเดียว เขาก็ยกมือขึ้นให้สัญญาณว่าให้ฟัน เขาร้องบอกว่า “ฟัน” ขวานก็ยังไม่ยอมลงมาที่คอ เขาต้องร้อง “ฟัน” อีกถึงสองครั้ง ขวานจึงฟันลงไปได้ และคอก็ไม่ขาดไปในทีเดียว เพชฌฆาตต้องฟันอีกถึงสองครั้ง

มีคนดูอยู่เป็นอันมากในที่สาธารณสถานการประหารชีวิต และมีคนหนึ่งร้องขึ้นมาว่า “หาหัวอย่างนี้ตัดอีกไม่ได้แล้ว” ซึ่งเป็นความจริงอย่างที่เขาพูด หัวอย่างราเล่หาได้ยากมาก และคนทั้งหลายก็ต้องยอมรับความเชื่อที่ว่า ตัวโปรดคนใดได้รับพระราชทานคฤหาสน์เชอร์บอร์น จะต้องถูกประหารชีวิตนั้นเป็นความจริงเสมอ

การิบัลดีนักกอบกู้อิสรภาพและความยุติธรรม

การิบัลดี(Giuseppe Garibaldi)
การิบัลดี เป็นคนชาติอิตาเลียน ผลงานของเขาเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ และต้องจบชีวิตลงด้วยความยากจน โดยไม่ได้รับอะไรจากผลงาน แม้แต่ชื่อเสียง ซึ่งมีชีวิตคล้ายคลึงกันกับโคลัมบัส

การิบัลดี เป็นนักรบ นักผจญภัยเพื่ออิสรภาพและความยุติธรรม โดยจะยอมเสียสละอย่างจริงจังเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า และไม่หวังผลตอบแทนแต่อย่างใดทั้งนั้น

การิบัลดี เกิดในวันที่ 4 กรกฎาคม ปี พ.ศ.2350 และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2425 ก็ได้เสียชีวิตลง

การิบัลดี เป็นลูกทะเล ว่ายน้ำเก่งตั้งแต่ยังเด็ก เขามีพ่อเป็นนายเรือเดินทะเล เขาได้เคยช่วยหญิงคนหนึ่งที่จมน้ำให้พ้นจากอันตรายเมื่อมีอายุเพียง 8 ขวบ เมื่ออายุ 15 ปี ก็เลิกเรียนเพื่อไปหางานทำในเรือเดินทะเล โดยเริ่มทำงานเป็นเด็กรับใช้ในเคบิน จนได้เป็นนายเรือในเวลาต่อมา เขาหาทางศึกษาด้วยการอ่านหนังสือ อ่านประวัติศาสตร์ ปรัชญา และกวีนิพนธ์ เพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง เขาอ่านได้สองภาษา คือ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอิตาเลียน เคยทำการรบต่อสู้กับโจรสลัดหลายครั้งในระหว่างที่เป็นนายเรือ

การิบัลดีเป็นคนรูปงาม ล่ำสัน ใบหน้าสวย ผมสีทอง โดยผู้เขียนประวัติของเขาได้พรรณนาว่า รูปร่างของการิบัลดีเป็นภาพแห่งเทพเจ้าพระอังคารกับอาโปโลผสมกัน เขางามแม้กระทั่งเส้นผม สิ่งเหล่านี้จึงได้เชิดชูความงามของดวงหน้าและรูปร่างของเขาให้เด่นยิ่งขึ้น และได้มาพร้อมกับจิตใจที่ดีงามกล้าหาญอีกด้วย

ในสมัยนั้น ประเทศอิตาลีได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายแคว้น บ้างก็ตกไปเป็นของฝรั่งเศส บ้างก็ตกไปเป็นของออสเตรเลีย แต่ชาวอิตาเลียนที่รักชาติก็พยายามกอบกู้ประเทศให้รวมเป็นปึกแผ่นเสมอมา หัวหน้าที่ทำการกู้ชาติสำคัญคนหนึ่งในสมัยของการิบัลดีมีชื่อว่า เมโนตติ แต่ก็ต้องมาถูกจับประหารชีวิต ทั้งๆ ที่ทำไปไม่ได้เท่าไร ทำให้ลูกศิษย์ของเมโนตติ ต้องกระจัดกระจายกันไป มีศิษย์ที่สำ

การสร้างความยิ่งใหญ่ของเคมัล อตาเตอร์ก

คนทั่วไปรู้จักกันในนามของ เคมัลปาชา ชาวเตอร์กยกย่องให้เขาเป็นบิดาของประเทศตุรกีใหม่ ท่านผู้นี้ได้ทำความดีให้กับประเทศชาติไว้มากจริงๆ โดยที่ไม่มีการประพฤติชั่ว หรือพูดได้ว่ามีความโหดร้ายน้อยกว่าคนอื่น แต่ก็มีการใช้กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน

ในเวลาที่เคมัล ตั้งตัวและสร้างความยิ่งใหญ่ เขาจะมีเพื่อนสนิทซึ่งร่วมทุกข์ลำบากและมีความจงรักภักดีต่อเขาคนหนึ่งชื่อ พันเอกโชปัล ออสมาน เมื่อตอนที่เคมัลได้เป็นประธานาธิบดีแห่งตุรกี ออสมานก็ได้เป็นผู้บังคับการกองทหารองครักษ์ประจำตัวประธานาธิบดี เมื่อออสมานรู้ว่ามีบุคคลสำคัญคนหนึ่งกำลังจะเป็นศัตรูและอาจนำภัยร้ายมาสู่เคมัล เขาจึงได้ผูกมิตรกับบุคคลผู้นี้จนได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก และได้ฆ่าบุคคลนั้นจนตายคามือหลังจากเสร็จจากงานเลี้ยงที่เขาจัดให้ ทำให้ศัตรูของเคมัลหมดไปคนหนึ่ง เพราะความจงรักภักดีต่อเคมัล

แต่แล้ว เคมัล ก็ได้สั่งจับออสมาน ด้วยคดีฆ่าคนตาย โดยให้เหตุผลว่า “เราไม่ต้องการจะฆ่าศัตรู แต่ต้องการฆ่าเพียงความเป็นศัตรูของเขา และทำศัตรูให้กลายมาเป็นมิตร”

คนทั้งหลายต่างเห็นว่า เคมัลเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง เขาได้รับความนิยมสรรเสริญอย่างยิ่งในเรื่องนี้ คำกล่าวของเขาได้ร่ำลือกันไปทั่วทั้งประเทศตุรกี และได้รับการนับถือว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง

การกระทำของเคมัล อาจจะเป็นกุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเองก็ได้ แต่ความจงรักภักดีของออสมานกลับกลายเป็นความผิดร้ายแรง กลายเป็นคนเลวร้ายหาความดีไม่ได้ หรือเพราะว่าการกระทำของออสมานอาจจะเป็นการทำเพื่อเอาหน้าหาประโยชน์ส่วนตัว

ในประวัติชีวิตมนุษย์เรื่องชนิดนี้ อาจจะมีขึ้นได้ไม่น้อย แม้ความซื่อตรง ความภักดี จะเป็นธรรมอันสูง แต่เราก็จะต้องไม่ประมาทไปกระทำการอันร้ายแรง ผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมายอย่างออสมาน เพราะท่านผู้ยิ่งใหญ่อาจจะใช้กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ขึ้นมาก็เป็นได้ ทำให้เราต้องเสียชื่อเสียง ได้รับความเกลียดชัง

การตายแทนผู้เป็นใหญ่ จะเป็นไปในทางที่ดีได้ก็ต่อเมื่อไม่ได้เป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงที่สุดท้ายแล้วเราจะต้องรับเคราะห์กรรม หาสิ่งดีอันใดไม่ได้

ดังนั้นในเรื่องการสร้างกุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ที่ออกนอกหนทางของศีลธรรม เราก็จำเป็นต้องศึกษาเอาไว้เป็นเครื่องป้องกันมิให้เราต้องได้รับเคราะห์ดังกล่าวบ้าง

เรื่องกุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ จึงต้องพูดกันทั้งในทางที่ดีและไม่ดี เพราะความยิ่งใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจ ต้องใช้เวลาคิดอ่านเขียนอย่างมาก และไม่มีนักปราชญ์ นักเขียนคนใดในโลกที่จะสามารถบอกเคล็ดลับ หรือให้กุญแจลับให้เอาไปใช้เพื่อให้เกิดความยิ่งใหญ่ได้ทันที

ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

ประวัติความเป็นมาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

โคลัมบัส เกิดที่เยนัว ในปี พ.ศ.1989 แต่วันเกิดไม่เป็นที่ทราบกันแน่นอน เขาเป็นชาวอิตาเลียน ได้เสียชีวิตลงเมื่อมีอายุได้ 60 ปี ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2049 ที่ประเทศสเปนโคลัมบัส

พ่อแม่ของโคลัมบัสมีการทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง ฐานะความเป็นอยู่ในวัยเด็กของเขาจึงไม่เลวนัก แต่ต้องมาตายอย่างยากจนที่สุดหลังจากที่ได้ค้นพบโลกใหม่ และได้ให้ความมั่งคั่งแก่คนอย่างมากมายแล้ว

โคลัมบัสได้ทำสัญญากับพระเจ้าเฟอร์ดินันด์แห่งสเปนเกี่ยวกับการค้นให้พบโลกใหม่ โดยที่พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ได้ลงทุนเป็นค่าเรือและค่าเสบียงในการเดินทางให้ จากการค้นพบโลกใหม่ในครั้งนี้ทำให้พระเจ้าเฟอร์ดินันด์มีกำไรอย่างล้นหลาม แต่ก็ยังคิดว่าโคลัมบัสคดโกงอีก จึงได้ส่งขุนนางไปจับตัวโคลัมบัสมารับโทษ

ทวีปอเมริกาที่สมบูรณ์พูนสุขอยู่ในเวลานี้คือ โลกใหม่ที่โคลัมบัสได้ค้นพบ แต่เขาไม่เคยได้ผลประโยชน์จากการค้นพบนี้เลย เขาต้องกลายมาเป็นคนพเนจรหลังจากพ้นโทษทัณฑ์มาแล้ว และต้องตายเพราะความยากจน ไม่มีแม้แต่ชื่อเสียง คนที่เอาชื่อเสียงไปหมดเป็นชาวอิตาเลียนที่มีชื่อว่า อเมริโก เวสปุจจี เนื่องจากภายหลังที่โคลัมบัสได้ค้นพบโลกใหม่แล้วนั้น เขาก็ได้เดินทางไปที่นั่น แล้วได้แสดงตัวว่าเป็นผู้ที่พบทวีปใหญ่นี้เป็นคนแรก เขาได้เอาชื่อของเขาตั้งเป็นชื่อทวีปใหม่ที่พบ โดยพิมพ์ลงในตำราภูมิศาสตร์เสียใหม่ว่า “อเมริกา”

ความดีอันแท้จริงของโคลัมบัส กว่าคนจะได้เห็นอาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยไปกว่า 200 ปี เขาไม่ได้อะไรเลยแม้แต่ชื่อเสียง หลังจากที่ได้ทิ้งโลกใหม่ที่มั่งคั่งสมบูรณ์และยิ่งใหญ่นี้ไว้ให้แก่มนุษย์รุ่นหลังแล้ว

คำพูดของชาวอเมริกันในเวลานี้ ที่ใช้เป็นคำปลอบใจผู้ที่ทำความดีแล้วไม่ได้ชื่อเสียงมาเป็นของตนว่า “อเมริกาไม่ใช่ได้นามตามชื่อโคลัมบัส”

การสร้างผลดีให้แก่ผู้อื่นโดยที่ตนเองไม่ได้รับผลคือ ความยิ่งใหญ่อันแท้จริง ผู้ที่ไม่ได้รับการตอบแทนแม้แต่ชื่อเสียงจากงานสำคัญของตน ก็คือผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง

โคลัมบัสเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ที่ไม่รู้จักการใช้กุศโลบายเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ แต่อเมริโก เวสปุจจี รู้จักการใช้กุศโลบายมาสร้างความยิ่งใหญ่ จึงได้ความยิ่งใหญ่ขึ้นมาจริงๆ ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่อะไรเลย และแม้ชาวโลกจะรู้ว่า อเมริโก เวสปุจจี เป็นนักฉ้อฉลเอาชื่อเสียงของโคลัมบัสไป แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนชื่อทวีปนี้ให้เป็นอย่างอื่นได้ นามของเขาก็ยังคงเป็นชื่อทวีป “อเมริกา” มาจนทุกวันนี้ ดังนั้น ผู้ที่มีนามในที่สำคัญต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นคนสำคัญและมีประโยชน์จริงเสมอไป เรื่องนี้จึงถือเป็นคติสอนใจได้อีกอย่างหนึ่ง

บิดาของโคลัมบัสเป็นเจ้าของภัตตาคารแห่งหนึ่งในเมืองเยนัว สำหรับฝรั่งก็นับว่าเป็นฐานะที่ดี โคลัมบัสได้ช่วยบิดาทำงานในภัตตาคารนั้น โดยมีรายได้ส่วนตัว และได้เป็นหุ้นส่วนด้วย และเขาก็ได้ทำงานมาจนกระทั่งมีอายุได้ 20 ปี

ผู้คนที่เข้ามารับประทานอาหารในภัตตาคารก็ล้วนเป็นนักเดินทะเลทั้งนั้น เพราะเยนัวเป็นเมืองท่า ในช่วงเวลาที่รับประทานอาหาร ชาติที่มีรกรากจากละตินจะชอบการสนทนามาก พวกเขามักสนทนากันเรื่องการผจญภัยทางทะเลว่าใครเดินเรือไปได้ไกลกว่ากัน และเป็นที่ผู้อื่นไม่เคยไปจะทำให้เขาภาคภูมิใจกันมาก ทุกๆ วัน โคลัมบัสจะได้ฟังการสนทนาแบบนี้ และอยากเป็นนักเดินทะเลกับเขาบ้าง ด้วยเพราะเกิดความมักใหญ่ใฝ่สูงขึ้นมาในใจของคนหนุ่ม

เรื่องการเดินทางทะเลไปไกลๆ นั้น เป็นการอวดอ้างที่สำคัญมาก เพราะเป็นการเสี่ยงภัยอันตรายอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่ภัยจากการหมดเสบียงอาหาร การกลับมาไม่ได้ การประสบอุบัติเหตุจากคลื่นลมจนเรือแตกเท่านั้น แต่เป็นอันตรายสำคัญที่กลัวจะพลัดตกลงไปจากโลก เพราะในเวลานั้นยังเข้าใจกันว่าโลกไม่กลม ยังแบนเป็นแผ่นกระดานไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น นักผจญภัยจึงเป็นวีรบุรุษที่กล้าเดินเรือทะเลไปไกลๆ ความรู้สึกเช่นนี้จึงได้เกิดขึ้นกับโคลัมบัสมากขึ้นทุกที

โคลัมบัสได้เลิกทำงานภัตตาคาร และหายตัวไปจากเยนัวโดยที่ไม่มีใครทราบหลายปี แม้เขาจะเขียนประวัติของตัวเองไว้แต่ก็ไม่ได้บรรยายถึงชีวิตในช่วงนี้ ต่อมาอีกหลายปีก็ได้ปรากฏว่าเขาได้เป็นนายเรือรับจ้างติดตามโจมตีเรือโจรสลัดให้กับพระเจ้าแผ่นดินสเปน เพราะรัฐบาลต่างๆ ในเวลานั้น ยังไม่มีเรือรบหลวงเพียงพอในการปราบโจรสลัด จึงต้องจ้างนักผจญภัยเพื่อทำการอันนี้ หลังจากที่โคลัมบัสได้ทำงานนี้อยู่ระยะหนึ่ง เขาก็ได้ประสบกับเหตุการณ์เรือแตกใกล้ฝั่งโปรตุเกส และได้เกาะท่อนไม้ว่ายน้ำมาขึ้นฝั่ง

เมื่อหาเรือได้ใหม่เขาก็เดินทางไปเกาะไอซ์แลนด์ ซึ่งเกาะไอซ์แลนด์ในเวลานั้นเรียกได้ว่าเป็นขอบที่สุดของโลก ถ้าเดินเรือต่อไปก็จะพลัดตกจากโลกได้

โคลัมบัสได้ลองเดินเรือต่อไปไกลจากเกาะไอซ์แลนด์มากก็ไม่ตกลงไปจากแผ่นพิภพ แต่ก็เกิดความกลัวขึ้น และได้เดินเรือกลับมายังโปรตุเกส

จากการเดินเรือครั้งนี้ทำให้โคลัมบัสคิดว่า อาจจะไม่เป็นความจริงในเรื่องที่เชื่อกันมาช้านานว่าโลกแบนและมีขอบเขต เพราะมาร์โคโปโลก็เคยเดินทางไปเมืองจีน ญี่ปุ่น เรียกเมืองจีนว่าคาร์เธ เรียกเมืองญี่ปุ่นว่าชิปังโก ตั้งแต่สมัยอเล็กซานเดอร์มหาราชกรีก ฝรั่งก็เคยรู้จักประเทศทางตะวันออกอย่างอินเดีย ซึ่งกว่าจะถึงเมืองเหล่านี้ก็ไกลมาก และการเดินทางไปตะวันตกก็อาจจะถึงเมืองเหล่านี้ได้ในระยะทางใกล้กว่านี้ถ้าหากว่าโลกกลม

เมื่อโคลัมบัสมีอายุได้ 28 ปี เขาได้แต่งงานในประเทศโปรตุเกส กับสตรีชื่อ พิเลปา เปเรสเตรลโล ซึ่งเป็นลูกครึ่งชาติอิตาเลียนกับโปรตุเกส โดยพ่อตาของเขาเคยเป็นคนเดินเรือที่เก่งคนหนึ่งเหมือนกันก่อนที่จะมาเป็นข้าราชการในสำนักโปรตุเกส และได้สะสมหนังสือเกี่ยวกับการเดินเรือไว้มากมาย หลังจากแต่งงานโคลัมบัสก็ได้ศึกษาหาความรู้อยู่เป็นเวลานานโดยอาศัยจากห้องสมุดของพ่อตา จนมีวิชาการเดินเรือไม่แพ้ใครในสมัยนั้น

ต่อมามีผู้เดินเรือคนหนึ่งมาเล่าให้เขาฟังว่า ได้เดินเรือไปไกลกว่าคนอื่นๆ ทางตะวันตก แต่ประสบกับเรือแตกและรอดชีวิตกลับมาได้ และคิดว่าทางตะวันตกต้องมีทะเลให้เดินต่อไปได้อีกโดยที่ไม่พลัดตกจากแผ่นพิภพ

เพื่อยืนยันความคิดเรื่องนี้ของโคลัมบัสว่าจะผิดหรือถูก เขาจึงได้เขียนหนังสือแสดงความคิดเห็น และขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปยัง มาเอสโตร ปาโกโล ซึ่งเป็นนักศึกษาค้นคว้าวิชาภูมิศาสตร์อย่างมากมายคนหนึ่ง ซึ่งเขาก็ได้รับคำตอบจากท่านผู้นี้ว่า การเดินเรือมุ่งหน้าไปทิศตะวันตกจะสามารถถึงเมืองตะวันออกอย่าง เอเชีย จีน หรือญี่ปุ่นได้ และเป็นระยะทางที่ใกล้กว่าด้วย

เขาจึงเกิดความแน่ใจในเรื่องนี้ขึ้น แต่การเดินทางไกลไปในทะเลที่ไม่เคยไปเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้เรือใหญ่และเป็นเรือที่ดี การหาเรืออย่างนี้ให้ได้ก็ต้องมีเงินทุนจำนวนมาก เขาจึงได้ถวายฎีกาเสนอเรื่องนี้ต่อพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างรวดเร็ว เพราะความคิดของโคลัมบัสที่คิดว่าโลกกลมนั้น ถือเป็นเรื่องสติวิปลาส ต่อมาเขาก็ได้เสนอความคิดเห็นนี้ต่อพระเจ้าเฟอร์ดินันด์แห่งสเปน แต่ปราชญ์ที่เป็นคาทอลิกของพระเจ้าแผ่นดินสเปนก็วินิจฉัยว่า ความเห็นว่าโลกกลมของโคลัมบัสเป็นสิ่งที่นอกรีตนอกทาง เพราะพระเจ้าได้สร้างโลกให้แบนไว้แล้ว

โคลัมบัสได้เดินทางไปประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส หลังจากที่เสนอเรื่องทางสเปนแล้วไม่สำเร็จ โดยเขาได้เสนอต่อพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองประเทศนี้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ในสายตาของคนทั้งหลายในเวลานั้นคิดว่าโคลัมบัสเป็นคนเสียสติ

โคลัมบัสยากจนลงเนื่องจากได้พยายามในเรื่องนี้จนไม่มีเวลาทำมาหากิน ภรรยาของเขาได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา เขากลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีเพื่อน ไม่มีผู้สนับสนุน ได้ไปขออาหารจากวัดเพื่อประทังชีวิต แม้โคลัมบัสจะมีความคิดนอกรีตนอกศาสนา วัดก็ยังเป็นที่ให้อาหารและโอวาทว่า คนที่คิดนอกรีตรู้ดีกว่าพระเจ้า ก็จะเกิดผลร้ายเช่นนี้

แต่โคลัมบัสก็ยังคิดว่าโลกกลมอยู่เสมอ เขาคิดว่าถ้าได้เรือใหญ่ๆ มีเสบียงอาหารเพียงพอ เขาก็จะสามารถมุ่งหน้าไปตะวันตกไปถึงตะวันออกได้ หากมีความพยายามก็อาจพบทางสำเร็จอย่างไม่คาดหมายได้ ต่อมาโคลัมบัสได้บังเอิญไปพบกับหญิงงามชาวสเปนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนโปรดของพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ เธอเชื่อความคิดของโคลัมบัส ทำให้พระเจ้าเฟอร์ดินันด์อยากทดลองเรื่องนี้ขึ้นมา จึงรับสั่งให้โคลัมบัสมาพบ

เมื่อโคลัมบัสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ และได้ตอบข้อซักถามมากมาย เขาก็ได้เรือและทุนสำหรับการเดินทางตามความคิดของเขา โดยได้ทำเป็นสัญญาต่อกัน มีสาระสำคัญว่า ถ้าโคลัมบัสเดินทางเป็นผลสำเร็จ และได้พบทรัพย์สมบัติอะไร ก็ต้องตกเป็นของแผ่นดินสเปน 9 ส่วน อีก 1 ส่วนก็จะเป็นของโคลัมบัส

โคลัมบัสได้ออกเดินทางวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2035 เมื่อได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งในเวลานั้นเขามีอายุได้ 41 ปีแล้ว

โคลัมบัสได้พบโลกใหม่ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2035 โดยใช้เวลาเดินทาง 2 เดือน กับ 8 วัน และเขาก็ได้เขียนจดหมายเหตุ เล่าเหตุการณ์ในการเดินทางผจญภัยครั้งนี้ของเขา ซึ่งมีดังต่อไปนี้

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม เสากระโดงเรืออันหนึ่งหัก สงสัยกะลาสีสองคนจะแกล้งทำหัก เพื่อจะไม่ต้องเดินทางต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม เรือรั่ว ต้องทำการซ่อม

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน เดินทางได้ 10 ลีค แต่ได้จดระยะทางให้น้อยกว่านี้ เพื่อมิให้คนเรือกลัวและท้อถอย(เพราะถ้าคนเรือรู้ว่าเดินทางได้มากและไปไกลก็จะพากันกลัว)

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน เดินทางได้จริง 60 ลีค แต่จดตัวเลขประกาศเพียง 48 ลีค

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน ตอนหัวค่ำ เห็นไฟพุ่งจากท้องฟ้าลงมาทะเล คนเรือกลัวกันมาก

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน เห็นหญ้าและใบไม้สีเขียวลอยอยู่ในทะเล ซึ่งทำให้แน่ใจว่าเกาะหรือฝั่งอยู่ไม่ไกลนัก

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน น้ำทะเลเค็มน้อยกว่าวันก่อน คนเรือดีใจกันมาก(เพราะแสดงว่าน้ำตื้น) เรือแล่นเร็วมากขึ้น ทุกคนมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าจะได้ถึงฝั่งโดยเร็ว

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน เรือแล่นตรงไปทางตะวันตกเรื่อยไป ไม่เห็นเกาะหรือฝั่งเลย วันนี้คนเรือเอะอะมาก บอกว่าลมพัดไปตะวันตกอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เดินทางมายังไม่เคยพบลมพัดไปทิศอื่น มองไม่เห็นทางจะให้เรือแล่นกลับคืนประเทศสเปนได้ คนเรือบ่นวิตกว่าจะต้องพลัดตกจากแผ่นพิภพเป็นแน่

วันอังคารที่ 25 กันยายน เห็นเกาะอยู่ข้างท้ายเรือ แต่สุดท้ายก็เป็นภาพหลอกตา

ในจดหมายเหตุของโคลัมบัสเรียกภาพหลอกตานี้ว่า Mirage ซึ่งในมหาสมุทรและทะเลทรายจะพบได้บ่อยๆ การเห็นเรือใหญ่ หรือเกาะในมหาสมุทรว่าอยู่ใกล้ๆ แล้วก็หายไป เรียกกันว่า เรือผี หรือเกาะผี ภาพหลอกตานี้จะเห็นกันทุกคน ภาพเหล่านี้เป็นภาพจริงๆ ที่อยู่ห่างไกลมาก มันเกิดจากความวิปริตของอากาศจึงทำให้เห็นภาพอยู่ใกล้ๆ และเมื่อหมดความวิปริตภาพนั้นก็จะหายไป ในทะเลทรายบางครั้งก็เห็นเป็นเมืองทั้งเมือง เป็นห้วงน้ำใหญ่ ซึ่งเกิดจากความปรารถนาของผู้เดินทาง เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้เสมอ แต่แล้วก็จะหายไป

วันพุธที่ 3 ตุลาคม คนเรือก่อการจลาจล แต่สงบลงได้ คงแล่นเรือต่อไป

ในตอนหนึ่งโคลัมบัสเขียนเล่าไว้ว่า คนเรือขู่โคลัมบัสว่าถ้าไม่หันเรือกลับก็จะจับเขาโยนน้ำ แต่เขาก็ได้แก้เข็มทิศจากทิศตะวันตกให้กลายเป็นทิศตะวันออกเพื่อหลอกคนเรือ จึงได้มุ่งหน้าต่อไปตามเส้นทางที่ต้องการ

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม มองไม่เห็นเกาะหรือฝั่ง คงแล่นต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม มองเห็นแผ่นดิน เห็นพฤกษชาติสีเขียว คนเรือมารายงานว่า คราวนี้เห็นฝั่งแน่ เวลา 10 น. กลางคืนเห็นไฟจุดอยู่บนฝั่ง ต่อมาอีกสองชั่วโมงภายหลัง ก็แน่ใจว่าถึงฝั่งแน่นอน

ความมานะพยายามในการเดินทางของโคลัมบัส ทำให้ได้ไปถึงแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเขาไม่นึกฝันว่าเป็นโลกใหม่ ทวีปใหม่ที่ได้ค้นพบเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติในวันหน้า แต่รู้ว่าไม่ใช่เมืองจีนหรือเมืองญี่ปุ่น เพราะเคยมีความรู้จากรายงานของมาร์โคโปโลว่า ผิวของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นนั้นไม่คล้ำ แต่คนที่พบในแผ่นดินนี้ มีผิวคล้ำเป็นสีแดง และคิดว่าเป็นแผ่นดินของอินเดีย จึงเรียกคนเหล่านี้ว่า อินเดียนแดง มาจนถึงทุกวันนี้

จากรายงานของมาร์โคโปโลเมื่อ 200 ปีก่อนสมัยของโคลัมบัส ได้บอกไว้ว่า บุรพทิศนั้นเต็มไปด้วยเงินทอง สามารถขนมาได้ตามชอบใจ จึงทำให้พระเจ้าแผ่นดินสเปนแน่ใจและเชื่อว่าการเดินเรือของโคลัมบัสจะเป็นผลสำเร็จจริง แต่เมื่อโคลัมบัสไปถึงแผ่นดินใหม่กลับไม่มีเงินทองอยู่ตามที่มาร์โคโปโลเขียนไว้ แต่จะเป็นแร่ที่ต้องขุดค้นหากันไปทีละเล็กละน้อย

โคลัมบัสเชื่อว่า แผ่นดินใหม่ที่ได้พบนั้นจะเป็นอินเดียหรืออะไรก็ตาม แต่ก็เป็นบุรพทิศที่ต้องมีเงินทองและเพชรนิลจินดาแน่ แล้วเขาก็ได้เดินทางกลับสเปนและรายงานต่อพระเจ้าแผ่นดินว่า เขาได้พบแผ่นดินที่มีทรัพย์สมบัติมีค่ามาถวายตามสัญญาแล้ว

ทรัพย์สมบัติที่ได้กลับมาก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากเหมือนที่พระเจ้าแผ่นดินสเปนหวังไว้ แม้โคลัมบัสจะเดินทางกลับไปอีก 3 ครั้ง ก็ได้ของมาถวายไม่มากอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินหวัง จึงคิดว่าโคลัมบัสอาจจะยักยอกทรัพย์เอาไว้เอง จึงได้ส่งขุนนางมาคอยติดตามความเคลื่อนไหวของโคลัมบัสในขณะที่อยู่ที่แผ่นดินใหญ่ ขุนนางผู้นั้นได้รู้ว่าเงินทองของมีค่าไม่ได้มีอยู่มากมาย การที่โคลัมบัสจะคดโกงนั้นเป็นไปไม่ได้

แต่อาจจะเอาโทษโคลัมบัสได้ก็ในฐานที่โง่กว่ามาร์โคโปโล เพราะจากรายงานที่เขียนไว้ว่า เงินทองเป็นกรวดทราย กอบโกยเอามาเท่าไรก็ได้ แต่ที่โคลัมบัสไปพบ เงินทองก็มีเหมือนกัน แต่ต้องหาด้วยความลำบากและไม่มากแบบนั้น ทำให้เขามีความผิดในฐานที่ไม่สามารถทำประโยชน์แก่แผ่นดินสเปนได้อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินหวังไว้ จึงทำให้โคลัมบัสต้องถูกจับกุม

ในความเป็นจริงแล้ว โคลัมบัสได้ทำประโยชน์ให้แก่พระเจ้าแผ่นดินสเปนมากกว่าทุนที่ได้ลงไปด้วยซ้ำ และเขาก็ได้เขียนเรื่องไว้ในตอนนี้ว่า “ข้าพเจ้าได้ทำประโยชน์ให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน มากกว่าที่เจ้านายคนใหญ่โตใดๆ ได้เคยทำมาแล้วทั้งสิ้น แต่ในเวลานี้ ข้าพเจ้าต้องตกอยู่ในฐานะอันต่ำช้าที่สุด คงจะมีสักวันหนึ่งในภายหน้า ที่คนทั้งหลายจะต้องฟังเรื่องของข้าพเจ้าด้วยความสงสาร และจะต้องสรรเสริญงานที่ข้าพเจ้าทำสำเร็จมา”

โคลัมบัสได้ตายเพราะความยากจน หลังจากพ้นโทษทัณฑ์มาแล้ว ก่อนที่เขาจะตาย เขาได้คิดว่าผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาได้ถูกโกงกันไปหลายชั้น เริ่มจากถูกราชสำนักสเปนคดโกง และต่อด้วยการถูกคนชนชาติเดียวกัน ที่ชื่อ อเมริโก เวสปุจจี คดโกงเอาชื่อเสียงว่าได้เป็นผู้ค้นพบเสียเองไปอีกชั้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2046 โดยการพิมพ์หนังสือออกโฆษณาไปอย่างแพร่หลาย จนมีผู้แต่งตำราภูมิศาสตร์ชาวเยอรมันคนหนึ่งได้เรียกชื่อทวีปใหม่ในหนังสือตำราภูมิศาสตร์ของเขาว่า “อเมริกา” จึงใช้กันมาจนทุกวันนี้

โคลัมบัสได้บากบั่นพยายามเพื่อค้นพบทางคมนาคมใหม่จากการเชื่อว่าโลกกลม เขาได้เพียรพยายาม ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างไม่ลดละ จนได้พบแผ่นดินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร จึงเท่ากับให้โลกใหม่แก่มนุษย์ทั้งโลก จึงไม่ต้องสงสัยว่าความยิ่งใหญ่ของเขาอยู่ที่ตรงไหน ไม่มีพระเจ้าในลัทธิศาสนาใดจะสร้างโลกได้จริงเหมือนโคลัมบัส แต่เขาก็ไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้เลย แม้แต่ชื่อเสียงก็ยังถูกโกงเอาไป สิ่งที่เขาสมหวังก็คงมีอยู่ข้อเดียว คือ ปณิธานที่ได้เขียนไว้ว่า “คงจะมีสักวันหนึ่งในภายหน้า ที่คนทั้งหลายจะต้องฟังเรื่องของข้าพเจ้าด้วยความสงสาร และจะต้องสรรเสริญงานที่ข้าพเจ้าทำสำเร็จมา”

และนี่คือผู้ยิ่งใหญ่ ที่ตายไปพร้อมกับการสร้างโลกใหม่ไว้เป็นสมบัติของมนุษยชาติโดยที่ตัวเขาเองไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างใดเลย

ที่มา:พลตรี  หลวงวิจิตรวาทการ

ฟรี ลานซ์ (Free Lance)

คำว่า ฟรี ลานซ์ ตามคำศัพท์เดิม หมายถึง ทหารอาสาสมัคร ไม่ใช่ทหารประจำการ เป็นทหารอาสาหรือรับจ้าง ในสมัยอัศวิน ลานซ์ แปลว่า หอก นักเขียนที่ไม่ทำงานประจำกับสำนักงานใดๆ เรียกตัวว่า ฟรี ลานซ์ คือ เปรียบปากกา ดังว่าเป็นหอกอัศวิน พวกนักเขียนซึ่งไม่สังกัดสำนักนี้ โดยมากมีอาชีพประจำ แต่ประพันธ์เรื่องเป็นงานอดิเรก หรือเป็นการหารายได้พิเศษ

ตามปกติหนังสือฉบับหนึ่งๆ ย่อมมีเจ้าหน้าที่และนักเขียนประจำ แต่ โดยที่งานประพันธ์เป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง บางเรื่องนักเขียนประจำไม่มีความรู้พอ บางทีนักเขียนประจำไม่อาจผลิตเรื่องที่จะพิมพ์ได้เพียงพอ หนังสือพิมพ์ต่างๆ จึงอาศัยพวก ฟรี ลานซ์ พวก ฟรี ลานซ์ อาจส่งเรื่องให้สำนักพิมพ์โดยตรง หรืออาจส่งให้สำนักงานกลาง (Syndicate) สำนักงานกลางทำการติดต่อจ่ายเรื่องให้สำนักพิมพ์อีกทอดหนึ่ง

นักศึกษาโรงเรียนการประพันธ์ (ทางไปรษณีย์) เช่น London School of Journalism ในอังกฤษ โดยมากต้องการเป็น ฟรี ลานซ์ และเมื่อเขียน เรื่องจนมีชื่อเสียงแล้ว และเห็นปากกาของตน “ทำเงิน” ให้อย่างแน่นอน มั่นคงแล้ว จึงละจากอาชีพอื่นมาทำงานประพันธ์แต่อย่างเดียยโดยเฉพาะ บางคนกลายเป็นบรรณาธิการ บางคนเป็นนักเขียนประจำสำนักพิมพ์ มีเงินเดือนประจำ และพวกฟรี ลานซ์ นี้ มักเริ่มต้นเขียนติดต่อกับหนังสือพิมพ์รายวันก่อน

เครื่องอุปกรณ์ของพวกฟรี ลานซ์
โรเยอส์ กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นฟรีลานซ์ไม่ต้องมีอะไรมาก เครื่องอุปกรณ์ สำคัญ คือเครื่องพิมพ์เครื่องเขียน กระดาษเปล่าๆ สักตั้งหนึ่ง ซองแสตมป์ และข้อสุดท้ายขอให้ “มีเรื่องอยู่ในพุง” มากๆ ถ้านักเขียนคนใดไม่มีเครื่องพิมพ์ ก็ต้องใช้หมึก ปากกา แต่ต้องเขียนลายมือดีๆ ให้อ่านง่าย ถ้าฟรี ลานซ์คนใดพิมพ์ดีดต้นฉบับเรื่อง (MSS.-Manuscripts) ส่ง บรรณาธิการ จะพอใจมากกว่าตัวเขียนลายมือ

งานเขียนของพวกฟรี ลานซ์
ขอบเขตของเรื่องที่พวก ฟรี ลานซ์ จะเขียนส่งหนังสือพิมพ์นั้นมี กว้างขวาง ซึ่งเราอาจเลือกตามความถนัด เช่น บทนำ บทไขข่าว บทวิจารณ์ บทรีวิวหนังสือ ศิลปะ การกีฬา การปาฐกถา ความรู้เบ็ดเตล็ด ความเห็นเกี่ยวกับการเมือง การคลัง การกสิกรรม วิทยาศาสตร์ การพาณิชย์ ความก้าวหน้าของโลก เรื่องการท่องเที่ยว ขนบประเพณี

เริ่มเป็นฟรี ลานซ์
เมื่อท่านเริ่มเขียนเรื่อง และส่งให้หนังสือพิมพ์ก็เท่ากับว่าท่านได้เป็น พวกฟรี ลานซ์ แล้ว แต่การติดต่อระหว่างหนังสือพิมพ์กับฟรีลานซ์นั้น มี ระเบียบและมารยาทอยู่บ้าง ตามที่ข้าพเจ้าได้รับทราบจากผู้เริ่มเขียนบางคนว่า เรื่องที่ส่งให้หนังสือพิมพ์นั้นไปสูญหายเสียเป็นอันมาก ผู้เขียนไม่เคย ได้รับตอบว่าได้รับเรื่องหรือเปล่า เรื่องใช้ได้หรือไม่ บางคนจะขอเรื่องกลับคืนก็ไม่ได้คืน ข้อนี้มักทำให้ผู้เริ่มเขียนมองหนังสือพิมพ์ในแง่ร้าย บางทีก็เกิดความท้อถอย หรือเข้าใจผิดไปได้ต่างๆ

ตามระเบียบปฏิบัติในต่างประเทศนั้นมีดังนี้
ก. นักเขียนนำเรื่องไปส่งที่สำนักงานและนัดหมายเวลาที่จะมาฟังว่า บรรณาธิการจะรับเรื่อง หรือจะมีข้อตกลงอย่างไร ถ้าทำตามฟ้อ ก. นี้ก็ ไม่มีปัญหา แต่โดยมากพวกฟรีลานซ์มักติดต่อกับสำนักพิมพ์โดยทางไปรษณีย์

ข. การติดต่อโดยทางไปรษณีย์นั้น ผู้เขียนจะต้องให้ความสะดวกแก่บรรณาธิการที่จะส่งเรื่องคืนหรือจะติดต่อกับเจ้าของเรื่อง ซึ่งมีระเบียบติดต่อ ดังนี้

๑. ต้นฉบับเรื่องควรพิมพ์หรือเขียนลายมือที่อ่านง่าย หน้าเดียว หน้า หลังห้ามเขียน การเตรียมต้นฉบับจะมีกล่าวเพิ่มเติมตอนท้าย

๒. การส่งต้นฉบับควรลงทะเบียน เพื่อป้องกันการสูญหาย ต้องสอด ซองมีจ่าหน้าถึงเจ้าของเรื่อง พร้อมแสตมป์ให้พอเพียงสำหรับส่งเรื่องคืน

๓. เมื่อบรรณาธิการได้รับต้นฉบับตามที่กล่าวในข้อ ๑ และ ๒ นั้น แล้ว ก็จะอ่านตรวจหรือส่งให้ผู้ช่วย บางทีมีเจ้าหน้าที่อ่านต้นฉบับโดยเฉพาะ ถ้าเรื่องใช้ไม่ได้ บรรณาธิการจะเขียนบันทึกบอกไปว่า ยังใช้ไม่ได้ แต่ถ้า เห็นว่าผู้เขียนมีแววจะเป็นนักประพันธ์ได้สำเร็จ เขาอาจจะบอกว่าอย่าเพ่อท้อใจ ให้พยายามใหม่ โดยมากบรรณาธิการไม่มีเวลาพอที่จะบอก หรือชี้แจงอย่างอื่นยิ่งไปกว่านั้น ถ้าบรรณาธิการรับต้นฉบับก็จะตอบจดหมาย พร้อมกับส่งเงินมาให้ทันที เงินค่าเรื่องนี้ตามสำนักงานเขามีกำหนดไว้แล้ว บางทีอาจจะตอบไปว่า เรื่องใช้ได้ จะลงพิมพ์ในหนังสือฉบับนั้นๆ ส่วนเงินจะส่งให้เมื่อเรื่องนั้นลงพิมพ์แล้วภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ และเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น เจ้าของเรื่องควรบอกไปในหนังสือนำส่งว่า เรื่องนั้นจะขายหรือให้เปล่า

ตามปกติ บรรณาธิการ (หนังสือพิมพ์อเมริกันตามที่โรเยอส์บอกไว้) จะตอบให้เจ้าของเรื่องทราบภายในสองสัปดาห์เป็นอย่างช้า ถ้าในสองสัปดาห์ ผู้เขียนยังไม่ได้รับข่าว ก็หมายความว่าเรื่องเขามีหวังจะลงพิมพ์ได้ เพราะเรื่องที่ใช้ไม่ได้บรรณาธิการจะรีบส่งคืนเจ้าของ นี่เป็นมารยาทซึ่งเชื่อว่า หนังสือพิมพ์ของเราคงจะได้ปฏิบัติกันอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าเวลาล่วงไปสักสี่ห้าสัปดาห์ ผู้เขียนยังไม่ได้รับข่าวอะไรเลย แปลว่า จะต้องมีอะไรผิด ผู้เขียนต้องมีหนังสือสอบถาม ผู้เริ่มเขียนต้องมีความเพียรและความอดทนอยู่บ้าง บางทีท่านอาจรู้สึกว่าอาณาจักรการประพันธ์ซึ่งท่านกำลังเดินทางเข้าไปด้วยหัวใจอันอิ่มเอิบนั้น ช่างทุรกันดารเสียจริงๆ กว่าท่านจะได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จนบรรณาธิการมางอนง้อเรื่องนั้น ท่านอาจต้องเขียนทิ้งเขียนขว้าง หรือแสดงความอดทนอย่างมากมาย

เหตุที่นักประพันธ์ประสบความไม่สำเร็จ
การที่ผู้เริ่มประพันธ์ไม่อาจขาย หรือทำให้เรื่องของตนดีถึงบรรณาธิการรับพิมพ์นั้น มีเหตุใหญ่สามประการ คือ

๑. หย่อนความสามารถ (Incompetence) ในทางเขียน นึกว่าการ ประพันธ์เป็นของง่ายเกินไป และเขียนเรื่องโดยอยากมีชื่อเสียง อยากได้ชื่อ การเข้าสู่วงการประพันธ์โดยไม่ได้ตระเตรียม ฝึกฝนและศึกษาวิชาการประพันธ์ตามสมควร ย่อมพบความสำเร็จช้า หรือไม่พบเลย ดังที่หลายคนเคยบ่นว่า ส่งเรื่องให้หนังสือพิมพ์ตั้งหลายเรื่องไม่ได้ลงพิมพ์สักครั้งเดียว

๒. เขียนเรื่องชนิดหนึ่ง แต่ส่งให้หนังสือพิมพ์ซึ่งมีเข็มการลงพิมพ์เรื่องอีกชนิดหนึ่ง ถึงเรื่องจะดีอย่างไร บรรณาธิการก็เอาลงไม่ได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์หรือผิดแนวของหนังสือนั้นๆ

๓. เขียนเรื่องซึ่งประชาชนนไม่สนใจ ข้อนี้สำคัญมาก สำหรับผู้เริ่มฝึกมักต้องเขียน “ตามใจ” คนอ่านก่อน เมื่อ “เก่ง” แล้ว จึงเขียนตามใจ ตนเองได้ ถ้าผู้เริ่มฝึกได้อ่านหนังสือพิมพ์ต่างๆ แล้วหมั่นพิจารณาเรื่องที่ปรากฏในหน้ากระดาษ ก็พอจะคะเนได้ว่าประชาชนกำลังสนใจ หรือนิยมอ่านเรื่องอะไร

ตลาดหนังสือ
ผู้ที่จะ “เล่นการประพันธ์” ควรเอาใจใส่ในตลาดหนังสือ ในต่างประเทศเขามีสมุดแจ้งเรื่อง (Directory) ของบรรดาหนังสือพิมพ์และแมกกาซีน ที่กำลังออกจำหน่ายพร้อมชื่อบรรณาธิการ สำนักงาน และแนวของหนังสือนั้นๆ และยังมีหนังสือพิมพ์ออกเพื่อประโยชน์แก่การประพันธ์โดยเฉพาะ เช่น Author and Journalist, The Writer, และ The Writer’s Monthly เป็นต้น ในตลาดหนังสือเมืองไทย ยังไม่มีหนังสือชนิดนี้ ฉะนั้นผู้ที่เอาใจใส่ในการเขียน ควรรู้จักหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่กำลังพิมพ์จำหน่ายอยู่ในเมืองเรา ว่าหนังสือฉบับไหน ใครเป็นบรรณาธิการ อยู่ไหน ต้องการเรื่องอะไร ซึ่งเป็นการศึกษาที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ผู้เริ่มเขียนต้องพยายามรู้จักติดต่อกับวงการประพันธ์ บรรณาธิการหรือนักเขียนที่มีชื่อเสียงไว้บ้าง

แนะนำผู้เริ่มฝึก
ผู้เริ่มฝึกที่มุ่งหมายความสำเร็จต้องเขียนมาก และอ่านมาก พยายาม อ่านหนังสือที่เขาถือกันว่าเป็นวรรณกรรมชั้นดี เพื่อจะได้ถือเป็นแบบอย่าง แม้หนังสือพวกชั้นตํ่าที่เรียกว่า “Cheap Literature” ใช้สำนวนภาษาต่ำๆ ที่วางขายอยู่ดาษดื่นก็ควรอ่านพวกหนังสือที่เขาเรียกว่า “สำนวนสิบสตางค์” นี้ อาจจะให้ความคิดแก่ท่านว่า เรื่องอย่างไรที่ไม่ควรเขียน แต่พวก “สำนวนสิบสตางค์” นี้ บางเรื่องก็อาจกลายเป็นเรื่องสำคัญไปได้เหมือนกัน

หนังสือชั้นเก่าที่ให้แบบอย่างสำนวนภาษาก็ดี เช่น

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เรื่องไกลบ้าน พระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เที่ยวเมืองพระร่วง ปกิณกคดีของอัศวพาหุ

นิพนธ์ของ น.ม.ส.-นิทานเวตาล จดหมายจางวางหร่ำ นิทานของ
น.ม.ส.

นิพนธ์ของ ครูเทพ-เรียงความบางเรื่องของครูเทพ

นิพนธ์ของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป-กามนิต ทศมนตรี

เรื่องอื่นๆ มี มหาภารตยุทธ์ ของ ส.น. สามก๊ก ของ เจ้าพระยา พระคลังหน จดหมายเหตุ ความทรงจำพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหล่านี้นับถือกันว่า เป็นแบบสำนวนภาษาที่ดียิ่ง

สำหรับสมัยปัจจุบันนี้ ท่านอาจเลือกเรื่องของนักประพันธ์ที่ท่านชอบ สักคนหนึ่ง พยายามอ่านและพิจารณาว่า ท่านชอบเพราะเหตุใด เขามีสำนวน และเค้าเรื่องที่เขียนอย่างไร

การที่แนะนำหนังสือต่างๆ เหล่านี้ รู้สึกว่านักศึกษาคงหาอ่านได้ยาก
เพราะเป็นหนังสือที่ไม่ค่อยได้พิมพ์มากมายแพร่หลาย อย่างไรก็ดี ถ้ามี โอกาสแล้วท่านควรหาอ่าน จะอ่านหนังสืออะไรก่อนก็ได้ ถ้าท่านพอใจจะเป็นฟรี ลานซ์ จะต้องอ่านหนังสือให้มากที่สุดที่จะมากได้ ทั้งพวกสารคดี และบันเทิงคดี

ส่วนการเขียนนั้น ท่านต้องเขียนอย่างใจเย็น อย่ารีบร้อน เมื่อเขียน เสร็จต้องอ่านตรองทบทวน ถ้าพอมีเพื่อนที่ท่านจะอ่านให้เขาฟังได้ก็ควรทำ เขียนเสร็จแล้วลองทิ้งไว้สักสองสามวัน แล้วหยิบมาอ่านใหม่ บางทีสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าดีแล้วนั้น ยังมีข้อบกพร่องควรแก้ได้อีก ตอนนี้ผู้เริ่มต้องมีความอดทน อย่านึกพอใจตนเองง่ายๆ ทุกคำทุกประโยคต้องอ่านตรึกตรองอย่างละเอียด ถ้าท่านเริ่มโดยความละเอียดประณีต นับว่าท่านเริ่มถูก

ผู้ที่มีความประสงค์จะเขียนให้ดีพิเศษเฉพาะเรื่อง (Specialise) จะต้องหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนให้กว้างขวาง เช่น แผนกบทความใน เรื่องการเงิน การเมือง การกสิกรรม การค้า วิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์ ค้นคว้า (Invention) ศิลปะ สถาปัตย์ ฯลฯ หนังสือพิมพ์รายวันย่อมต้องการบทความเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ นักเขียนนอกจากเขียนเรื่องบันเทิงคดี (Fiction) อาจจะเขียนบทความที่ตนสนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้ แต่ทุกเรื่อง ที่ท่านเขียน ท่านควรมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้เพียงพอ

ผลประโยชน์
ผู้เขียนเรื่องเป็นงานอดิเรกนั้น เพียงแต่เรื่องได้ลงพิมพ์เผยแพร่ก็เป็นที่พอใจ ส่วนประโยชน์ที่เป็นเงินเป็นทองนั้น สำหรับในเมืองไทยบัดนี้ นับว่าสูงขึ้น ก่อนหน้าสงคราม พวกฟรีลานซ์มักจะถูกเขียน “ฟรี” เสียโด มาก แต่บัดนี้วรรณกรรมเป็นสินค้าได้แล้ว แต่ราคาค่าเรื่องนั้นหนังสือพิมพ์ต่างๆ ยังไม่ได้ประกาศชัดแจ้งลงไป ในต่างประเทศ เช่นในอเมริกา เขาคิดราคาเรื่องตามจำนวนคำ และความสำคัญของเรื่องกับนามผู้เขียน อัตราธรรมดาระหว่างคำละหนึ่งเซนต์ถึงสิบเซนต์ โรเยอส์ซึ่งหนังสือ Journalistic Vocations ว่า อย่าไปหวังรวยกับการเป็นฟรี ลานซ์ ให้มากนัก ทางที่ดีควรมีอาชีพอะไรเป็นประจำ แล้วเขียนเรื่องเป็นการหารายได้พิเศษแหละดี

ท่านต้องตรวจตัวสะกดการันต์ การเว้นวรรค และเครื่องหมายวรรค ตอนให้ถูกต้อง หากเป็นสารคดี ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูก พวกวิสามานยนามต้องดูให้ถูกต้อง และควรบอกที่มาของหนังสือค้นคว้าไว้ในตอนท้ายด้วย

การเตรียมต้นฉบับ
ผู้เริ่มควรเขียนเป็นร่างก่อน เมื่อตรวจแก้ร่างจนเป็นที่พอใจแล้ว จงเขียนให้เรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องกลัวเสียเวลา การทำให้เรื่องของท่านอ่านง่ายและน่าดูเป็นสิ่งสำคัญ

๑. ควรใช้กระดาษฟุลสแกป หรือกระดาษไม่มีบรรทัดขนาดกระดาษ พิมพ์ดีด กว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว

๒. ถ้าพิมพ์ต้นฉบับได้เป็นดี ถ้าจะเขียนควรใช้หมึกสีดำหรือนํ้าเงินแก่ ไม่ควรเขียนด้วยตัวดินสอ

๓. เขียนหรือพิมพ์หน้าเดียว เว้นหน้าซ้ายไว้ประมาณ ๑-๑ ๑/๒ นิ้ว
และต้องเขียนบอกหน้าไว้ทุกหน้า

๔. อย่าเขียนจนชิดขอบล่างหรือขอบบนนัก เหลือระยะระหว่างขอบไว้สักหนึ่งนิ้วเป็นดี

๕. ระวังตรวจตัวหนังสือของท่านให้ถูกต้อง อย่าให้ผู้อ่านสงสัย เพราะ ผู้รับเรื่องไม่อาจซักถามท่านได้

๖. การย่อหน้า และเครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ ต้องให้แลเห็นชัดเจน

๗. ข้อสุดท้ายเมื่อเซ็นชื่อแล้ว อย่าลืมเขียนชื่อและตำบลที่อยู่ของท่านให้ชัดเจน

๘. จดหมายถึงบรรณาธิการ ไม่ต้องเขียนยืดยาว บอกแต่ว่า เรื่องที่ส่งมานั้น เป็นเรื่องสั้น บทนำ หรือสารคดี ท่านให้เปล่าหรือต้องการขาย ท่านจะไปฟังผลโดยตนเอง หรือต้องการให้ตอบไป ณ ที่ใด ไม่จำเป็นต้องแนะนำตนเองมากนัก

แบบการจัดต้นฉบับ

silapa-0225

วงการเขียนของพวกฟรี ลานซ์
ถ้าเราหยิบหนังสือพิมพ์ข่าว และนิตยสารหลายๆ ฉบับมาพิจารณาดู แล้วแยกเรื่องออกเป็นประเภทต่างๆ ก็จะได้ดังนี้

๑. ข่าว
๒. บทความ
๓. ความเรียงทั้งเชิงสาระและปกิณกะ
๔. นวนิยาย
๕. เรื่องสั้น
๖. ชีวประวัติ
๗. รีวิวหนังสือและปาฐกถา
๘. บันทึกการท่องเที่ยว หรือขนบประเพณีต่างๆ

เหล่านี้ พวกฟรี ลานซ์ อาจเขียนได้ทั้งนั้น

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร