เฮเลน เกลเลอร์นักเขียนและนักศึกษาที่ได้บรรลุถึงความสูงเด่น

Helen Keller
เฮเลน เกลเลอร์ เป็นสตรีที่ได้ลงชื่อในพจนานุกรมชีวประวัติของประเทศต่างๆ ตั้งแต่เธอยังมีชีวิตอยู่

ในพจนานุกรม Chamber’s Biographical ได้เขียนข้อความไว้ว่า Attained high distinction as a writer and scholar(ได้บรรลุถึงความสูงเด่น ในทางนักเขียนและนักศึกษา)

คำยกย่องเช่นนี้ นับว่าสูงมากยากที่บุคคลใดจะได้คำยกย่องนี้ในพจนานุกรม ถ้าสตรีผู้นี้เป็นหญิงปกติธรรมดาทั่วไปก็คงไม่แปลก แต่เฮเลน เกลเลอร์ คือ หญิงที่หูหนวกตาบอดมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ 10 ขวบ เพิ่งมาเริ่มสอนพูด หนังสือเรื่องสำคัญที่เธอได้แต่งไว้ มี 6 เรื่องคือ

1. The Story of My Life แต่งในปี พ.ศ. 2445
2. Optimism แต่งในปี พ.ศ. 2446
3. The World I Live In แต่งในปี พ.ศ. 2453
4. My Religion แต่งในปี พ.ศ. 2470
5. Midstream แต่งในปี พ.ศ. 2472
6. Helen Keller’s Journal แต่งในปี พ.ศ. 2481

แม้แต่คนหูหนวกตาบอด เพิ่งเริ่มสอนพูดเมื่ออายุ 10 ขวบ ยังสร้างความยิ่งใหญ่ถึงขนาดนี้ได้ แล้วทำไมคนที่ปกติจะสร้างบ้างไม่ได้

เฮเลน เกลเลอร์ ไม่ได้หูหนวกตาบอดมาแต่กำเนิด แต่เมื่อมามองไม่เห็นและไม่ได้ยินก็ไม่เข้าใจ คิดว่าต้องมีใครแกล้ง เธอโกรธและร้องอยู่เสมอ มีอารมณ์ฉุนเฉียว โทสะร้าย คลำไปเจออะไรเข้าก็ฉีกก็ขว้างให้เสียหาย แต่พอนานเข้าอารมณ์เหล่านี้ก็ค่อยคลายลงไป เพราะเธอมีของเล่นเป็นตุ๊กตา

แม้ฐานะของพ่อแม่มีอันจะกินแต่ก็ไม่มีทางรักษา การเอาเครื่องสำหรับคนหูหนวกมาใส่ก็ทำให้พอได้ยิน เธอได้รับความเมตตาจาก อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบล ผู้ประดิษฐ์เครื่องโทรศัพท์ ทำเครื่องฟังให้ เชื่อว่าได้ยินแต่ไม่รู้เรื่อง เพราะยังพูดไม่ได้ไม่เข้าใจภาษา

บิดาของเฮเลน เกลเลอร์ ได้รับคำแนะนำจาก เกรแฮม เบล ให้ร้องขอไปยังโรงเรียนคนตาบอด บิดาก็ทำตาม ทางโรงเรียนก็ส่งครูคนหนึ่งมาให้ ชื่อ นางสาวอานน์ ซุลลิวัน พื้นเพเดิมของครูคนนี้เป็นคนยากจน บิดาชอบดื่มเหล้าและเมาเป็นประจำ มารดาตายด้วยวัณโรค ตาบอดมาจนถึงอายุ 18 ปี เมื่อแพทย์ลองทำการผ่าตัดก็เกิดมองเห็น และเรียนสำเร็จมาจากโรงเรียนคนตาบอด ขณะที่มาสอนเฮเลน เกลเลอร์นั้น อานน์ ซุลลิวันมีอายุ 20 ปี และเฮเลน เกลเลอร์มีอายุ 6 ขวบ

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นการยากเหลือเกินที่ อานน์ ซุลลิวัน จะทำให้เด็กที่ทั้งตาบอด หูหนวก และเป็นใบ้ มีอาการดีขึ้น ลำพังแค่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ยากแล้ว

อานน์เริ่มต้นด้วยการเขียนหนังสือลงบนฝ่ามือของเฮเลนเป็นตัวๆ ของที่เฮเลนชอบคือ ตุ๊กตา อานน์ได้เอาตุ๊กตาใส่มือให้แล้วเอานิ้วมือเขียนคำว่า Doll ในฝ่ามือของเฮเลน ทำอยู่อย่างนี้ช้านานจนเฮเลนรู้ และเข้าใจความหมาย เฮเลนก็ลองเขียนด้วยนิ้วมือบ้างเช่นเดียวกัน เวลาพบกับพ่อแม่ก็จับเอามือมาเขียน

จากนั้นอานน์ ก็เปลี่ยนเอาสุนัขที่เลี้ยงในบ้านมาให้ลูบคลำเล่น แล้วเขียนในฝ่ามือว่า Dog เฮเลนเข้าใจในทันทีว่าหมายถึงสุนัข แต่เมื่อเอาหมวกมาให้เฮเลนรู้จักหมวกมาแล้วจากที่เคยใส่ พออานน์เขียนคำว่า Hat ลงในฝ่ามือเฮเลนก็เขียนได้ เปลี่ยนไปเรื่อยจนถึง Father Mother Sister และคำต่อๆ ไป

อานน์ได้ทำอยู่อย่างนี้ 4 ปี และพูดเข้าทางเครื่องสำหรับคนหูหนวกให้เฮเลนได้ยิน แต่พูดออกมาไม่ได้ ต้องคอยจับที่ปากให้เด็กรู้ว่าออกเสียงอย่างไรก็ต้องทำปากอย่างนั้น ทำไปทีละน้อยจนเริ่มพูดได้เมื่ออายุ 10 ขวบ

อานน์จึงกลายมาเป็นเพื่อนชีวิตของเฮเลน เกลเลอร์ ไม่อาจแยกกันได้ต้องอยู่กับเฮเลนตลอดเวลา

จากนั้นอานน์ก็สอนให้เฮเลนเรียนพิมพ์ดีด ในขั้นแรกก็ต้องใช้เครื่องสัมผัสแบบอักษรนูน แต่เมื่อพิมพ์สัมผัสได้คล่องก็สามารถใช้เครื่องพิมพ์ธรรมดาได้ ธรรมชาติมักทดแทนแก่สิ่งที่เสียไปเสมอ เฮเลนมีประสาททางหูและตาเสียไป แต่ประสาทสัมผัสของเธอดีมาก เมื่อเรียนพิมพ์ดีดก็ทำได้รวดเร็วและแม่นยำโดยที่ไม่ต้องดู

เฮเลนได้เข้าโรงเรียนแห่งหนึ่งเมื่ออายุได้ 16 ปี โดยมีอานน์เข้าเรียนและนั่งอยู่ข้างๆ ตลอด เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็ไปเข้าในขั้นที่สูงกว่าต่อ ในการสอบไล่ครั้งสุดท้ายก็ได้คะแนนเกียรตินิยมในทางอักษรศาสตร์ อังกฤษ และเยอรมัน

เฮเลนได้สำเร็จการศึกษาในโรงเรียนชั้นสูง ได้ประกาศนียบัตรอย่างดี เฮเลนจะอ่านจากหนังสือตัวนูนสำหรับคนตาบอด เรื่องตาบอดไม่มีทางแก้ไขได้ แต่เรื่องหูหนวกก็พอจะใช้วิธีพูดกรอกใส่เครื่องให้ได้ยินได้ อานน์ก็อยู่กับเฮเลนตลอด แม้เฮเลนจะจบการศึกษาและออกไปอยู่นอกบ้านแล้วอานน์ก็ตามไปด้วย อานน์เอาเชือกผูกจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งเพื่อให้เฮเลนเดินเล่นได้ และเฮเลนก็เริ่มแต่งหนังสือจากที่นี่

หนังสือเล่มแรกของเธอชื่อว่า “The Story of My Life” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตเธอเอง ที่บรรยายถึงความรู้สึกของเธอ ตั้งแต่จำความได้ ชีวิตที่ผิดปกติ และความสงสารในตัวเธอทำให้หนังสือนั้นขายดี เป็นเรื่องที่เร้าความอยากรู้ของคน แต่หนังสือก็เป็นหนังสือที่แต่งดีมากเช่นกัน เฮเลน เกลเลอร์มีนิสัยของนักประพันธ์อยู่แล้ว นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกาอย่าง มาร์ค ทเวน ยังได้กล่าวถึงเธอว่า ไม่แปลกเลยที่คนอย่างเฮเลน เกลเลอร์จะเขียนหนังสือได้ดี เพราะคนหูหนวกตาบอดก็เหมือนคนปกติอยู่ในที่มือ พอมีแสงสว่างมาเล็กน้อยก็เห็นว่ามากทีเดียว เขาชมเฮเลนว่า เธอเห็นโลกเห็นชีวิตมากกว่าคนตาดีเสียอีก การมองไม่เห็นด้วยตาแต่เห็นด้วยใจจะมีกำลังแรงมากกว่า

เรื่องของเฮเลน เกลเลอร์ได้รับความนิยมทั่วไป เธอต้องทำงานหนัก บางวันต้องพิมพ์ถึง 40 หน้ากระดาษ เมื่อพิมพ์เองไม่ไหวก็ต้องมีเลขานุการพิมพ์โดยที่ตนเองเป็นคนบอกให้พิมพ์

ครั้งหนึ่งเฮเลน เกลเลอร์ ได้รักกับเลขานุการหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นคนพิมพ์ เขาขอเธอแต่งงาน เธอได้เขียนเรื่องไว้ตอนหนึ่งว่า เธอวิ่งเข้าออกในระหว่างประตูสวรรค์ โดยไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปหรือไม่ แต่ในที่สุดก้ตัดสินใจว่า ไม่เข้าไป เธออยู่คนละโลกกับมนุษย์ทั้งหลาย ความรักในทางกาย และความรื่นรมย์ในการแต่งงานไม่ใช่ของเธอ ความรับผิดชอบในการเป็นมารดา เธอทำไม่ได้ เธอจำเป็นต้องอยู่ในโลกของเธอ โลกที่แวดล้อมด้วยความฝัน และหนังสือ

ส่วนอานน์ ซุลลิวัน ในที่สุดก็แต่งงานมีสามี และเข้ามาอยู่ด้วยกันกับเฮเลน แต่ก็ต้องออกไปเพื่อทำมาหากินทางอื่น และเฮเลนก็ได้จ้างสตรีคนใหม่มาเป็นเพื่อนและเป็นเลขานุการ

คนใหญ่คนโตของอเมริกา มหาเศรษฐีขนาด คาร์เนกี ยังมาเยี่ยมเธอด้วยความเมตตา มาร์ค ทเวน ก็มาเยี่ยมบ่อยครั้ง และให้กำลังใจแก่เธอว่า “มีมากมายหลายอย่างที่คนตาดีมองไม่เห็น แต่คนตาบอดมองเห็น คนหูดีไม่ได้ยิน แต่คนหูหนวกได้ยิน”

นอกจากการแต่งหนังสือแล้ว เฮเลน เกลเลอร์ยังได้ทำการสอนให้ทั้งคนตาบอดและตาดีด้วย เธอได้ทำ “Lecture Tour” เป็นการท่องเที่ยงแสดงปาฐกถาในเมืองใหญ่ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ไปที่ไหนก็มีคนต้อนรับอย่างคับคั่ง ผู้ฟังและปราชญ์ทั้งหลายก็ให้การรับรองปาฐกถาที่ได้ฟังว่า เฮเลน เกลเลอร์ เป็นผู้ที่มีความรู้สูงจริงๆ คนหนึ่ง สมกับที่พจนานุกรม Chamber ได้เขียนไว้ว่า ได้บรรลุถึงความสูงเด่นในทางที่เป็นนักเขียนและนักศึกษา

แต่ใน พ.ศ. 2479 ขณะที่เธอมีอายุได้ 56 ปี เธอต้องพบกับความเศร้าสลดครั้งใหญ่เมื่อรู้ว่าอานน์ ซุลลิวัน ถึงแก่ความตาย แม้ดวงตาที่ไม่สามารถมองเห็นอะไรแต่ก็ยังมีน้ำตาออกมาได้

เฮเลน เกลเลอร์เป็นคนที่เคร่งครัดทางศาสนามาก เธอเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง และเชื่อมั่นในลัทธิของสวีเดนเบอร์ก เชื่อว่าสวรรค์มีจริง เธอเชื่อเสมอว่าเธอจะได้ขึ้นสวรรค์ และที่เธอได้รับจากสวรรค์อันแรกก็คือสายตาที่มองเห็น นัยน์ตาของเธอจะมองเห็นทันทีเมื่อเธอขึ้นสวรรค์ เธอเชื่ออย่างนั้น
ที่มา: พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

นรกใหญ่

บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้กระทำบาปด้วย กาย วาจา ใจ ดังกล่าว แล้ว ย่อมได้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ซึ่งมีนรก เป็นต้น และนรกใหญ่ ๘ ขุม อยู่ภายใต้แผ่นดินซึ่งเราอยู่นี้เป็นชั้นๆ ถัดกันลงไปชั้นล่างสุดคือ นรก
อวีจีนรก ชั้นบนสุดคือ สัญชีพนรก

นรกขุมที่หนึ่ง ชื่อว่า สัญชีพ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้ มีอายุยืนได้ ๕๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๙ ล้านปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๕๐๐ ปี ในสัญชีพนรกจึงเท่ากับล้านหกแสนล้านสองหมื่นปี ในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่สอง ชื่อว่า กาฬสุตตะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑,๐๐๐ ปีในกาฬสุตตนรก เทียบเท่ากับ ๑๒,๖๙๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่สาม ชื่อว่าสังฆาฏะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๒,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๑๔๕,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๒,๐๐๐ ปีในสังฆาฏนรกจึงเท่ากับ๑๐๓,๖๘๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่สี่ ซื่อ โรรุวะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๔,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๔,๐๐๐ ปีในโรรุวนรกนี้จึงเท่ากับ ๘๒,๙๔๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่ห้า ชื่อมหาโรรุวะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๘,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๘,๐๐๐ ปีในมหาโรรุวนรกนี้ จึงเทียบเท่ากับ ๖,๖๓๕,๕๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่หก ชื่อว่าตาปะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑๖,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกนี้ เทียบได้กับ ๙,๒๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีในตาปนรกนี้จึงเทียบเท่ากับ ๕๓,๐๘๔,๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่เจ็ด ชื่อมหาตาปะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนมากนัก จะนับเป็นปีเดือนนรกนั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้กึ่งกัลป์

นรกขุมที่แปดชื่อ อวีจี สัตว์ที่เกิดในนรกนี้ มีอายุยืนยิ่งนัก จะนับเป็นปี เดือนนรกนั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้หนึ่งกัลป์

นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ แต่ละขุมมี ๔ มุม และมีประตูประจำทั้ง ๔ ทิศ พื้นเป็นเหล็กแดง มีฝาปิดข้างบนเป็นเหล็กแดงเช่นกัน มีเนื้อที่กว้างและสูงเท่ากัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่ละด้านยาว ๑๐๐ โยชน์ และ ๑ โยชน์เท่ากับ ๘,๐๐๐ วา ส่วนหนาของผนัง ๔ ด้าน พื้นและเพดานส่วนละ ๙ โยชน์ ในนรกไม่มีที่ว่างเปล่า เต็มไปด้วยฝูงสัตว์นรก ซึ่งเบียดเสียดกันอยู่เต็มพื้นที่ ไฟนรกลุกโชนอยู่ตลอดเวลาไม่เคยดับ ไหม้คุกรุ่นอยู่ตลอดกัลป์ บาปกรรมของสัตว์นรกลุกขึ้นเป็นไฟเผาภายในตัวบุคคลนั้นราวกับเป็นฟืนซึ่งไม่เคยดับเลย นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ ล้อมรอบด้วยนรกบ่าว ๑๖ ขุม ด้านละ ๔ ขุม นอกจากนี้นรกบ่าวยังแบ่งย่อยเป็นนรกเล็ก เรียกว่า ยมโลกอีก ๔๐ ขุม นรกบ่าวมีความกว้าง ๑๐ โยชน์ ทั้งนรกบ่าวและนรกใหญ่รวมทั้งสิ้นได้ ๔๕๖ ขุม ในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนั้นไม่มียมบาล แต่นรกบ่าว และนรกเล็กมียมบาลอยู่ด้วย นรกบ่าวที่มียมบาลอยู่นั้น เรียกชื่อว่า อุสุทนรก

ยมบาลทั้งหลายนั้น เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้ทำทั้งบาปและบุญ ดังนั้นเมื่อ ตายจึงได้ไปเกิดในนรกเป็นเวลา ๑๕ วัน ถูกยมบาลอื่นๆ ฟัน แทง ตลอด ๑๕ วันนั้น ต่อจากนั้นก็ได้กลับเป็นยมบาลอีก ๑๕ วัน วนเวียนไปมาเช่นนี้เป็นเวลานานมาก จนกว่าจะสิ้นบาปที่ได้เคยกระทำไว้ เป็นเหมือนเปรตจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า วิมานเปรตนั้น บางตนกลางวันเป็นเปรต กลางคืนเป็นเทวดา บางตน กลางวันเป็นเทวดา กลางคืนเป็นเปรต บางตนข้างขึ้นเป็นเปรต ข้างแรมเป็นเทวดา บางตนข้างขึ้นเป็นเทวดา ข้างแรมเป็นเปรต จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมที่เคยทำ เปรตและยมบาลดังกล่าวแล้วนี้มีลักษณะคล้ายกันคือ วนเวียนเกิดเป็นสัตว์นรก บ้าง เป็นยมบาลบ้าง เมื่อสิ้นบาปกรรมแล้วจึงจะเกิดเป็นยมบาลอย่างเดียว แต่บางตนเมื่อสิ้นบาปกรรมแล้ว ก็มิได้เกิดเป็นยมบาล แต่ตายไปเกิด ณ ที่แห่งอื่น

เมืองพระยายมราชนั้น มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล ล้อมรอบด้วยประตูนรก ๔ ด้าน พระยายมราช เป็นผู้ทรงธรรมยิ่งนัก พิจารณาคดีด้วยความซื่อสัตย์ และชอบธรรม ทุกกาลทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปเฝ้าพระยายมราชก่อน และพระยายมราช ก็จะถามผู้นั้นว่า ผู้ตายได้เคยทำบาปหรือบุญอย่างใดบ้าง จงคิดดู และให้กล่าวตามความสัตย์จริง ในขณะเดียวกันก็มีเทพยดา ๔ องค์ องค์หนึ่งถือบัญชีซึ่งจดบุญและบาปของคนทั้งหลายไว้ ผู้ใดทำบุญ เทพยดาก็เขียนชื่อผู้นั้นไว้ในแผ่นทองคำ แล้วทูนศีรษะถวายพระยายมราช เมื่อพระยายมราชรับไปแล้วก็จบเหนือพระเศียร แล้วแสดงการสาธุอนุโมทนายินดีด้วย ทรงวางแผ่นทองคำไว้บนแท่นทอง ซึ่งประดับด้วยแก้วเจ็ดประการ มีรัศมีงดงาม ส่วนผู้ที่กระทำบาป เทพยดาก็จดลงบนแผ่นหนังหมา เมื่อพระยายมราชถามผู้ที่ตายว่าได้เคยทำบุญสิ่งใดบ้าง ผู้นั้นก็จะสามารถรำลึกได้ด้วยอำนาจบุญ สามารถทูลตอบแก่พระยายมราชว่า ตนได้เคยกระทำบุญและธรรมไว้อย่างใดบ้าง เทพยดาผู้ถือบัญชี ก็นำบัญชีนั้นมาตรวจ สอบตามที่จดไว้ในแผ่นทองคำ ก็พบว่าถูกต้องตามที่เจ้าตัวได้กล่าวไว้ พระยายมราชก็มีบัญชาให้ผู้นั้นขึ้นสู่สวรรค์ สถิต ณ วิมานทอง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เสวยอาหารทิพย์ มีแต่ความสุข ถ้าผู้ใดทำบาปไว้ เมื่อหวนคิดถึงบาปของตน ก็ไม่สามารถบอกได้ เทพยดาจึงนำบัญชีแผ่นหนังหมามาอ่านให้ฟัง เมื่อผู้ที่ทำบาปได้ฟังแล้วก็สารภาพว่า ได้ทำบาปเช่นนั้นจริง พระยายมราชจึงสั่งให้ยมบาลนำตัวผู้นั้นไปลงโทษตามควรแก่บาปและกรรมที่หนักหรือเบานั้น และควรตกนรกในขุมใดตามแต่บาปหนักหรือเบา ความทุกขเวทนาที่ผู้ทำบาปได้รับนั้น มีมากจนมิสามารถบรรยายได้ ส่วนผู้ที่ทำทั้งบุญและบาป เทพยดา ก็จะชงส่วนบุญและบาปดูทั้งสองอย่าง ถ้าบุญหนักกว่าบาป ก็ให้ไปขึ้นสวรรค์ก่อน ภายหลังจึงกลับมาใช้บาปของตนในเมืองนรก ถ้าส่วนที่เป็นบาปหนักกว่าก็ส่งให้ไปตกนรก ภายหลังจึงมาเสวยบุญในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำทั้งบุญและบาปเท่าๆ กันนั้น พระยายมราชและเทพยดาที่ถือบัญชี ก็จะสั่งให้เป็นยมบาล ๑๕ วัน มีสมบัติทิพย์เช่นเดียวกับเทพยดา ต่อจากนั้น ก็ให้ตกนรก ๑๕ วัน จนกว่าจะสิ้น บาปที่กระทำไว้

ส่วนผู้ใดที่เกิดมาโดยไม่รู้จักบาปและบุญ ไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่รู้จักให้ทาน ตระหนี่ เมื่อผู้อื่นจะให้ทานก็ขัดขวาง ไม่รู้จักรักพี่น้อง ไม่มีความเมตตากรุณา ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น โดยเจ้าของมิได้ให้ เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ลอบรักภรรยาผู้อื่น พูดจาเหลาะแหละ กล่าวร้ายส่อเสียดเบียดเบียนผู้อื่น กล่าวสบประมาทผู้อื่น กล่าวคำหยาบช้าบาดใจผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บอาย กล่าวคำเท็จไร้สาระอันเป็นดิรัจฉานกถา เสพสุราเมามาย ไม่เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ นักบวช ผู้ทรงศีล ครูอาจารย์ ผู้ใดที่ทำบาปดังกล่าวแล้วนี้ เมื่อตายไป ก็ได้ไปเกิดในนรกใหญ่ ๘ ขุมดังกล่าว ได้รับความเจ็บปวดทนทุกขเวทนามากนัก มิอาจจะบรรยายได้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

การแบ่งฤาษีตามคัมภีร์เวสสันดร

ในคัมภีร์เวสสันดรทีปนี หรือคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องพระเวสสันดรได้แยกประเภทดาบสหรือฤาษีออกเป็น ๘ จำพวก คือ

๑. สปุตตกภริยา ดาบสมีบุตรมีภรรยา ได้แก่ดาบสที่ฤาษี1ออกบวชพร้อมด้วยบุตรภรรยา เช่น เกณียชฎิลเลี้ยงชีพด้วยกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น
๒. อุญฉาราริกา  ดาบสบูชาไฟ ได้แก่ดาบสสร้างอาศรมริมประตูเมือง สอนศิลปะศาสตร์แก่โอรสของกษัตริย์และบุตรของพราหมณ์เป็นต้นในอาศรมนั้น รับเงินและทองแล้วแลกของเป็นกับปิยะเช่นน้ำมันและข้าวสารเป็นต้น พวกนี้ดีกว่าพวกมีบุตรภรรยา
๓. สัมปัตตกาลิกา  ดาบสรับบิณฑบาตเฉพาะเวลา ได้แก่ดาบสที่รับอาหารเฉพาะแต่ในเวลาอาหาร เลี้ยงชีพไปวันหนึ่งๆ พวกนี้นับว่าประเสริฐกว่าพวกบูชาไฟ
๔. อนัคคิปักกิกา  ดาบสที่บริโภคของไม่สุกด้วยไฟ คือบริโภคแต่ใบไม้ หรือผลไม้ซึ่งไม่สุกด้วยไฟ ดาบสพวกนี้ดีกว่าพวกที่รับบิณฑบาตเฉพาะเวลา
๕. อัสสมุฏฐิกา  ดาบสใช้ก้อนหิน ได้แก่ดาบสที่ถือก้อนหินมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือมีดและหอยกาบเที่ยวจาริกไป เวลาหิวก็ถากเปลือกไม้ที่พบเข้าเคี้ยวกิน อธิษฐานอุโบสถเจริญพรหมวิหารสี่ ดาบสพวกนี้ประพฤติพรตดีกว่าพวกที่บริโภคของไม่สุกด้วยไฟ
๖. ทันตลุยยกา  ดาบสแทะเปลือกไม้บริโภค ดาบสพวกนี้บริโภคอาหารเช่นเดียวกับพวกที่ ๕ ผิดแต่ไม่ใช้เครื่องมืออย่างอื่นถากเปลือกไม้บริโภค เมื่อหิวกระหายขึ้นมาก็ใช้ฟันแทะเปลือกไม้ที่ต้องการบริโภคเป็นอาหาร เรียกว่าสันโดษกว่าพวกที่ ๕ ที่ต้องอาศัยเครื่องมืออย่างอื่นทำให้ต้องถือลำบากเป็นภาระ ดาบสพวกนี้ถ้าแก่ตัวลงฟันฟางหักเหี้ยนไปก็เห็นจะต้องเลิกประพฤติพรตแบบนี้หรือไม่เช่นนั้นก็คงจะให้อดตายไปเลยเป็นสิ้นเรื่องกันที ดาบสพวกนี้อธิษฐานอุโบสถและเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ เหมือนกับพวกที่ ๕
๗. ปวัตตผลิกา  ดาบสกินผลไม้ตามแต่จะได้ ได้แก่ดาบสพวกที่อาศัยหนองน้ำหรือราวป่าอยู่ แล้วบริโภคเหง้าบัวหรือรากบัวในหนองน้ำหรือบริโภคดอกไม้เมื่อถึงหน้าดอกไม้ และบริโภคผลไม้เมื่อถึงหน้าผลไม้ เมื่อผลไม้ดอกไม้ไม่มีก็กินสะเก็ดไม้ ไม่เที่ยวหาอาหาร อธิษฐานอุโบสถ เจริญพรหมวิหาร พวกนี้ดีกว่าพวกแทะเปลือกไม้ เพราะพวกนั้นยังต้องเที่ยวไป แต่ดาบสพวกนี้อยู่กับที่มีหรือไม่มีอะไรกินก็ไม่ไปแสวงหาที่อื่น
๘. วัณฎมุตตกา  ดาบสบริโภคใบไม้ที่หลุดจากขั้ว ได้แก่ดาบสที่บริโภคแต่ใบไม้ที่หลุดจากขั้วหล่นลงบนแผ่นดิน พวกนี้ยกย่องกันว่าวิเศษที่สุด

ดาบสพวกที่บริโภคแต่ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมานี้ยังได้แบ่งออกไปอีกเป็น ๓ พวกคือ พวกหนึ่งถือเคร่งครัดมากจะบริโภคเฉพาะใบไม้ผลไม้ที่หล่นลงมาอยู่แค่มือเอื้อมเท่านั้น ที่เคร่งครัดเพลาลงมาหน่อยก็ถือว่าบริโภคอยู่ต้นไหนก็บริโภคแต่ต้นนั้นไม่ไปเก็บจากต้นอื่นๆ ส่วนพวกที่ถืออย่างอ่อน ได้แก่พวกที่เที่ยวเก็บเอาที่หล่นลงมาจะเป็นของต้นไหนก็เอาทั้งนั้น

คัมภีร์ภควัทคีตา  ได้ให้ความหมายของคำว่าดาบสไว้ว่า เป็นชื่อเรียกนักพรตผู้ประกอบกรรม ๓ อย่างคือ ยัญ การบูชาไฟ ทาน การเสียสละโลกียสุข และตบะการบำเพ็ญเพียร

อย่างไรก็ตามนักบวชเช่นฤาษีนี้ต้องพึ่งพาอาศัยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ที่เป็นฤาษีก็ต้องมีเครื่องใช้สอยหรือบริขารที่จำเป็นไว้ด้วย เช่น ขอสำหรับสอยผลไม้ เสียม สาแหรก ไม้คาน กระเช้าสานสำหรับใส่ผลไม้ และทัพพีประจำตนสำหรับตักเนยบูชาไฟ ไม้เท้าและถุงย่าม ส่วนเครื่องนุ่งห่มนั้นใช้เปลือกไม้บ้าง ใบไม้บ้าง หนังสัตว์ เช่นหนังสือบ้าง และนุ่งคากรองบ้าง

ในประเทศอินเดียพวกฤาษีคงจะมีมาก่อนพุทธกาล เพราะตอนพระพุทธเจ้าประสูตินั้น อสิตดาบสหรือกาฬเทวินดาบสได้เข้ามาเยี่ยมและถวายพระพรด้วย และนอกจากนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าออกผนวชใหม่ๆ ได้เข้าไปศึกษาอยู่ในสำนักของอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรวมบุตรจนสำเร็จได้บรรลุสมาบัติ ๘

ฤาษีทั้งหลายนับเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ และตั้งสำนักส่วนใหญ่อยู่ที่นครตักศิลา ซึ่งเรียกว่าเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ หรือเป็นนครมหาวิทยาลัยสมัยก่อนของชมพูทวีปทีเดียว ดังนั้นบรรดากษัตริย์ทั้งหลายจึงนิยมส่งโอรสไปศึกษาวิชาการต่างๆ จากสำนักทิศาปาโมกข์เหล่านั้น

ฤาษีทั้งหลายทำอะไรบ้าง ฤาษีหรือโยคีนั้นต้องบำเพ็ญตบะ ว่ากันว่าถ้าตบะแก่กล้าแล้วสามารถบันดาลอะไรได้หลายอย่าง สาปแช่งใครให้เป็นอะไรก็ได้ คนจึงกลัวฤาษี หรือโยคีกันมาก ลัทธิที่โยคีต้องศึกษาเล่าเรียนนั้นว่ามีอยู่ ๕ ชั้น คือ

๑.ตหโยคะ  เรียนบริหารร่างกาย ให้แข็งแรงสามารถต่อสู้โรคภัยตลอดถึงดื่มยาพิษหรือกินแก้วกระจกได้ ท่านที่เคยไปวัดพระเชตุพนที่กรุงเทพฯ คงจะเคยเห็นรูปปั้นฤาษีดัดตนท่าต่างๆ วางไว้ นั้นก็คือท่าที่ฤาษีทำการบริหารร่างกายดังกล่าวแล้ว เพราะฤาษีต้องนั่งทำจิตใจให้เป็นสมาธิเป็นเวลานาน จึงต้องมีการบริหารร่างกายแก้เมื่อยขบเป็นเครื่องช่วย ส่วนการที่สามารถดื่มยาพิษได้โดยไม่เป็นอันตรายนั้นมีผู้เล่าว่ามีโยคีหนุ่มคนหนึ่งสามารถดื่มยาพิษชนิดร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้คนตายได้เป็นร้อยคน โดยที่ตนไม่เป็นอะไรเลย นี่ก็คือผลของการบำเพ็ญโยคะอันที่ ๑
๒. ญาณโยคะ  เรียนศิลปะต่างๆ ให้รู้ทางธรรมหรือวิชาหัตถกรรม
๓. กรรมโยคะ  หัดฝึกใจให้ทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทน หัดละโลภ โกรธ หลง
๔. ภักติ โยคะ  หัดภาวนา ฝึกดวงจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่
๕. ราชโยคะ  หัดให้เป็นคนวิเศษ เหนือมนุษย์สามัญ มีทิพโสต ทิพจักษุ นี้เป็นเรื่องของฤาษีหรือโยคีของอินเดีย และลัทธิโยคีนี้คงจะติดตามคนอินเดียเข้ามาในเมืองไทย เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว นิยายเรื่องฤาษีจึงติดอยู่ในจิตใจและในชีวิตของคนไทยต่อมาจนบัดนี้

พวกฤาษีคงจะมีคนนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์มาแต่เก่าก่อน โดยเฉพาะพวกนักแสดงเช่นหนังตลุง และละครชาตรี ต่างนับถือฤาว่าเป็นครูของตน นั่นก็แสดงว่าความรู้เกี่ยวกับการแสดงเหล่านี้ นักพรตเช่นฤาษีเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้นั่นเอง

ฤาษีจะหมดไปจากประเทศ่ของเราแล้วหรือยังก็ไม่ทราบ แต่พวกที่นับถือศาสนาพุทธแล้วไม่ได้บวช ได้แต่หลีกเร้นไปอยู่ตามถ้ำและภูเขาลำเนาไพรก็คงมีอยู่มาก ท่านเหล่านี้เราจะเรียกว่าฤาษีก็คงจะได้กระมัง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ตำรานรลักษณ์ทำนายลักษณะฟันของชาวจีน

ในตำราโฮ้วเฮ้ง หรือตำรานรลักษณ์ว่าด้วยการทำนายลักษณะของชาวจีนได้กล่าวถึงลักษณะของฟันไว้ว่า

“ฟันนี้เป็นใหญ่กว่ากระดูก และฟันนี้บังเกิดขึ้นด้วยโลหิต ถ้าโลหิตบริบูรณ์ฟันนั้นก็บริบูรณ์มิได้โยก มิได้คลอนIE112-076

ถ้าฟันเป็นเหลี่ยม ยาว โตเรียบเสมอไม่สูงไม่ต่ำ ฟันแน่นชิดกัน ผู้นั้นอายุยืน

ถ้าฟันแหลม ฟันบาง ฟันห่าง ฟันสั้น ฟันคด อายุสั้น

ถ้าฟันโต ฟันตรง รากฟันแน่น ฟันเสมอ ริมฝีปากตรงไม่เบี้ยว ผู้นั้นซื่อตรง คำนับผู้มีคุณ แลใจศรัทธานับถือยำเกรงบิดามารดาดี

ถ้าฟันห่าง ฟันแตก ฟันสั้น ฟันแหลม ฟันแห้ง ฟันเหลือง ผู้นั้นเจรจากลับกลอก เจรจาเท็จมาก มิดี

ฟันโต ฟันชิด ฟันยาว ฟันเสมอ ฟันขาว ฟันดำ ดูงามสดใส มิได้มีมลทินบริสุทธิ์ และฟันรากลึกแน่น มิได้คลอน ผู้นั้นจะมีทรัพย์สิ่งสิน อายุยืน

ถ้าฟันโตแลห่าง ฟันเล็กแลแหลม ฟันสั้นแลบาง ฟันแตกแลงกิน แลฟันดังคราดชักหญ้า ผู้นั้นจะเข็ญใจ จะตายด้วยอาวุธเขี้ยวงา มิดี

อนึ่ง ให้พิจารณาดูหน้าฟันเบื้องบน เบื้องต่ำ สองซี่นั้น ถ้าแน่นและเสมอชิดกันเป็นเหลี่ยมขาวบริสุทธิ์ มิได้ย้อมด้วยสิ่งใดไซร้ ผู้นั้นเจรจาสัตย์ซื่อมั่นคง และเจรจาไพเราะ ประกอบด้วยของกินบริบูรณ์ มิได้อดอยาก

ถ้าฟันเหลือง ฟันขาวแห้งไม่บริสุทธิ์ ฟันไม่ตรง จะเข็ญใจ เป็นคนโลเล มักเที่ยวเตร่ อยู่มิได้เป็นที่

ถ้าฟันเหมือนฟันนาคราช ถ้ามีลูกจะมีวาสนา จะได้พึ่งลูก

ถ้าฟันเหมือนสิงโต จะได้เป็นใจเสียงว่าจะได้เป็นเสนาผู้ใหญ่ ดี

ถ้าฟันโอนไม่ตรง ผู้นั้นเป็นคนอาศัยวัด อาศัยศาลเจ้า เป็นคนไม่รู้จักคุณผู้มีคุณ เป็นคนท่านด่าพาลทะเลาะมักวิวาทมิดี

ถ้าฟันเหมือนฟันสุนัข ผู้นั้นโกหก เจรจาเอาคำจริงมิได้

ถ้าฟันชิดกันและขาวบริสุทธิ์เหมือนเงิน ผู้นั้นซื่อตรง มักเรียนวิชาทุกอันฉลาดดี

ถ้าฟันห่าง ฟันแห้ง ฟันเหลือง ผู้นั้นจะเล่าเรียนสิ่งใดมิได้

ถ้าฟันดำเหมือนแก้วนิลใสสดแสงงาม จะมีสิ่งบริวารโภคสมบัติมาก เทวดารักษา

ถ้าฟันเหมือนสีเงิน  อันขัดสีบริสุทธิ์เป็นแสงงาม ผู้นั้นจะมีทรัพย์มีวาสนามาก

ถ้าฟันขาวแห้งเหมือนกระดูกตาย ผู้นั้นจะยากจน หากินยาก ได้เช้าหาค่ำมิใคร่จะทันกิน

ถ้าฟันเหลืองเหมือนใบไม้ที่หล่นลงจากิ่งไม้ ผู้นั้นเข็ญใจ หาเรือนมิได้ จะอาศัยป่าช้าผี

ถ้าฟันเหลืองบริสุทธิ์เหมือนแก้วเหลือง ผู้นั้นจะมีสมบัติไหลมาด้วยบุญ จะได้สิ่งใดก็ได้โดยง่ายโดยสะดวกดี

ถ้าฟันเหมือนไม้ตาย จะเข็ญใจ หาเลี้ยงปากได้ยากนัก มิดี

ถ้าฟันนับซี่ได้สี่สิบและฟันขาวบริสุทธิ์ แลรากแน่น แลชิด แลเสมอมิได้คดมิได้โอน ฟันเรียบงามดี ผู้นั้นภาษาจีนว่า “ฝุกโจ๊” ภาษาไทยว่า “พระเจ้า” หาผู้เสมอสองมิได้

ถ้าฟันนับได้สามสิบแปดซี่ แลขาวเกลี้ยงเป็นเงางาม ผู้นั้นจะมีอานุภาพมาก กล้าหาญมีชัยในสงคราม จะได้ดีด้วยการรณรงค์ ประกอบด้วยโภคสมบัติมาก

ถ้าฟันได้สามสิบหกซี่ จะได้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ จะมีทรัพย์สมบัติมาก

ถ้าฟันได้สามสิบสี่ซี่ ผู้นั้นจะเป็นมัธยมจะมีทรัพย์สิ่งสินเครื่องใช้สอยทั้งปวงพอกินพอใช้เป็นปานกลาง

ถ้าฟันได้สามสิบซี่  ถ้าขาวบริสุทธิ์เกลี้ยงงามดี จะได้เป็นขุนนางดี

ถ้าฟันได้ยี่สิบแปดซี่   หาสิ่งสินยาก จะเข็ญใจ แลถ้าขาวบริสุทธิ์ดีจะมีทรัพย์สิ่งสิน แต่อายุสั้น

ถ้าฟันได้ยี่สิบสี่ซี่ ผู้นั้นคือผีเกิดเป็นคน จะเข็ญใจหนัก”

ตามตำราจีนที่ว่านี้ รวมความแล้วถ้าฟันเรียบร้อยขาว หรือสีงดงามก็ทายว่าดี ถ้าตรงข้ามก็ทายว่าไม่ดี

ถ้าใครฝันว่าฟันหัก ก็มักจะได้รับข่าวเกี่ยวกับการตายของญาติมิตร หรือคนใกล้ชิด

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ธงราชการทหาร

ธงราชการทหาร มี ๔ ชนิดคือ
(๑) ธงฉาน  มีลักษณะเช่นเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง ธงนี้เป็นธงที่ใช้ในเรืองพระที่นั่งและเรือธงฉานหลวง หรือเป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบก ซึ่งหน่วยทหารนั้นไม่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

(๒) ธงประจำกองทัพบก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีแดง ตรงกลางของผืนธงมีรูปเครื่องหมายกองทัพบกเป็นสีเหลือง

(๓) ธงประจำกองทัพเรือ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน พื้นธงสีขาบ ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๔ ใน ๖ ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง

(๔) ธงประจำกองทัพอากาศ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นธงสีฟ้า ตรงกลางของผืนธงมีรูปเครื่องหมายกองทัพอากาศเป็นสีเหลือง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

คำพังเพยและภาษิตเกี่ยวกับเด็ก

การอบรมเด็กนั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าช่วยกันอบรมเสียตั้งแต่เด็กยังเยาว์วัย เพราะเด็กเยาว์วัยนั้น เหมือนผ้าขาว เราจะย้อมให้เป็นสีอะไรก็ได้ หรือเหมือนไม้อ่อน เราจะดัดให้เป็นรูปอะไรก็ได้ อย่างคำพังเพยของเราว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย แต่ไม้แก่ดัดยาก” ดังนี้เด็ก

สำนวนไทยเกี่ยวกับเด็กนั้นมีอยู่หลายคำ เช่นคำขวัญวันเด็กว่า “เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” หมายความว่า ต้องช่วยกันอบรมเด็กเสียในวันนี้ เพื่อจะให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า แต่คำขวัญนี้เคยมีผู้ต่อท้ายว่า “ผู้ใหญ่ในวันนี้คือผีในวันหน้า” ซึ่งเป็นความจริงเหมือนกัน แต่ก็ดูไร้สาระเต็มที

สำนวนไทยอีกคำหนึ่งที่เราชอบพูดกันนักก็คือ “คบเด็กสร้างบ้าน” พูดในเมื่อผู้ใหญ่ใช้ให้เด็กทำอะไรแล้วทำได้ไม่เหมือนใจของตน เพราะเด็กยังมีนิสัยที่ชอบเล่นมากกว่าชอบทำงานที่ต้องรับผิดชอบ โคลงกระทู้สุภาษิตเกี่ยวกับคำนี้ว่า

คบ      ทารกช่วยรื้อ               โรงเรือน
เด็ก     ชอบเล่นแชเชือน        ชักช้า
สร้าง   ทำสักกี่เดือน              ประดักประเดิดใจนา
บ้าน    บ่แล้วล่าล้า                เลิกทิ้งการงาน

เด็กนั้นจะดีหรือชั่วจึงขึ้นอยู่ที่เราผู้ใหญ่จะได้ช่วยกันอบรม คือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ต้องช่วยกันไม่ว่าบิดามารดาผู้ปกครองหรือครูบาอาจารย์ต้องช่วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่โยนความรู้ไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียว แต่การอบรมที่สำคัญที่สุด ก็คือการทำตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็นมีค่ามากกว่าคำที่พรํ่าสอนมากมายนัก

แหล่งอบายมุขต่างๆ ที่พวกผู้ใหญ่ต่อตั้งขึ้น เพื่อแสวงหาเงินหรือเพื่อความสนุกสนานของตนนั้น เป็นแหล่งเพาะเชื้อของความชั่วร้ายเกินกว่าที่วัดวาอารามหรือคำที่พระท่านเทศน์จะอบรมให้เด็กเป็นคนดีได้ เราโฆษณาสิ่งเลวทรามกันทุกวันนี้ มากกว่าจะโฆษณาคุณธรรมความดีหลายเท่านัก ถ้าเรายังไม่สามารถขจัดแหล่งเสื่อมโทรมทางศีลธรรมออกไปแล้วการที่จะอบรมให้เด็กเป็นคนดีตามที่เราต้องการนั้นก็ดูจะห่างออกไปทุกที

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

อายุเท่าไรจึงเรียกว่าผู้เฒ่า

คำว่าเฒ่านั้นตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นวิเศษหมายความว่าแก่ มีอายุมาก เฒ่าแก่ เป็นนามหมายถึง ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายใน ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการหมั้นและขั้นหมากผู้สูงอายุ

คำว่าผู้เฒ่าในที่นี้หมายเอาถึงอู้มีอายุมาก หรือคนแก่คนชรา แต่คำว่าคนแก่คนชราดูจะไม่เป็นที่ต้องการของคนบางคน เพราะคำว่าแก่และชรา ดูจะใกล้คำว่าตายเข้าไปมาก จึงไม่มีใครต้องการคำนี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้จึงมีนักจิตวิทยาเปลี่ยนคำนี้เสียใหม่ว่าผู้สูงอายุ ดูจะทำให้มีความหมายน่าเกรงขาม ไม่อ่อนปวกเปียกเหมือนคำว่าแก่และชราดังที่ใช้มาแต่เดิม อย่างไรก็ตาม คำว่าผู้เฒ่าในความหมายธรรมดาแล้วก็คือไม่ใช่คนหนุ่มหรือคนสาวหรือคนวัยกลางคนนั้นเป็นของที่ไม่มีใครจะเถียงได้

แต่ปัญหามีอยู่ว่าคำผู้เฒ่านั้น หมายถึงคนที่มีอายุขนาดไหนปูนไหน จึงจะเรียกว่าเฒ่า ตามกฎหมายเก่าของเรา เด็กเจ็ดข้าว เฒ่าเจ็ดสิบ ท่านว่าทำผิดก็อย่าเอาโทษเลย ในที่นี้ก็จะถือเอายุติไม่ได้ว่าผู้เฒ่าต้องอายุเจ็ดสิบ เพราะเฒ่าเจ็บสิบกฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้นเอง ถือว่าแก่มากหลงๆ ลืมๆ ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี พอๆ กับเด็กอายุเจ็ดขวบ แต่เดี๋ยวนี้กฎหมายมาตรานี้ยกเลิกไปเสียแล้ว แต่ที่อายุต่ำกว่าเจ็ดสิบก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้เฒ่า

ตามคติของฝรั่งเขาว่าชีวิตคนเราเริ่มต้นเมื่ออายุ ๔๐ ดังนั้นคนผิวขาวชาวยุโรปอเมริกา อาจจะถือว่าคนแก่นั้นต้องอายุ ๗๐-๘๐ ปีขึ้นไปก็ได้ ตามคติของไทยคนอายุ ๖๐ ปี ก็น่าจะเป็นคนเฒ่าคนชราแล้ว เพราะตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการว่าข้าราชการอายุครบ ๖๐ ปี ต้องเกษียณอายุ ต้องออกรับบำเหน็จหรือบำนาญ เว้นแต่ทางการจะต่ออายุให้จนถึง ๖๕ ปี

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

งูเป็นสัตว์เลื้อยคลาน

พูดถึงงูใครๆ ก็รู้จัก ส่วนใหญ่ทั้งเกลียดทั้งกลัวและขยะแขยงทีเดียว แต่บางคน เช่นพวกขี้เมาเห็นงูเป็นอาหารอันโอชะก็มีไม่น้อย

งูเป็นสัตว์เลื้อย ไม่มีอวัยวะช่วยความเคลื่อนไหวภายนอกร่างกาย คือไม่มีตีน หรือครีบอย่างสัตว์อื่นหรือปลา งูอยู่ในวงศ์สัตว์เลื้อยคลานสะเทินบกสะเทินน้ำ สามารถเลื้อยบนที่แห้งหรือขึ้นต้นไม้ได้ สามารถเคลื่อนไหวในน้ำหรือบนผิวน้ำได้ และบางพวกที่อยู่ในนาเค็มหรืองูทะเล เคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกับปลา พวกนี้มีลักษณะเป็นปลาค่อนข้างแบน และส่วนหน้าอกหรือส่วนท้องคล้ายคมมีด ทำให้ว่ายน้ำสะดวกขึ้น แต่เลื้อยบนบกไม่ได้

งูส่วนมากมีลักษณะกลมยาว มีศีรษะเป็นรูปกระสวยหรือเบี้ยจั่น ต่อจากศีรษะคอจะมีขนาดเล็กลงและค่อยๆ โตไปตามลำตัว แล้วก็เล็กลงจนกระทั่งถึงหาง งูก็เหมือนสัตว์อื่นอีกหลายอย่างที่มีสีสรรเป็นไปตามลักษณะของสิ่งแวดล้อม เช่นงูเขียวชอบอยู่ตามต้นไม้ และงูกะปะซึ่งมีสีคล้ายใบไม้แห้ง ชอบอยู่ในบริเวณทรายสกปรกและมีใบไม้แห้งเป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูเห็นตัวนั่นเอง งูเป็นสัตว์มีตาแต่ไม่มีหนังตา ทำให้แพ้แสงง่าย ออกหากินในเวลากลางวันไม่สะดวก มันจึงต้องออกหากินในเวลากลางคืน ตั้งแต่พลบค่ำจนกระทั่งสว่าง งูไม่มีอวัยวะที่ทำให้เกิดเสียงแต่อาจจะทำเสียงได้โดยการขยายอวัยวะหายใจ ซึ่งมีอยู่ เกือบตลอดลำตัว งูมีลิ้นที่สามารถตวัดเอาแมลงกินได้เช่นเดียวกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั้งหลาย

ในประเทศไทยเรามีงูอยู่หลายชนิดทั้งไม่มีพิษ มีพิษน้อย และมีพิษร้ายแรง งูที่มีพิษร้ายแรงในประเทศเราก็คือ งูเห่า งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม งูจงอาง และงูกะปะ ซึ่งมีอยู่ในจังหวัดต่างๆ ที่มีดินปนทรายเช่นจังหวัดทางภาคใต้เป็นต้น มีงูกะปะอยู่ชุกชุม งูเหล่านี้ กัดคนตายได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีงูทะเลบางชนิดที่กัดคนตายเหมือนกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

กฐิน ตามศัพท์บาลีแปลว่า กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเย็บจีวรถวายพระภิกษุห่มครอง กรอบไม้ขึงผ้าเพื่อเย็บนี้ไทยเรียกว่า สะดึง เมื่อนำผ้าไตรจีวรเย็บโดยใช้กรอบไม้ขึงให้เป็นผืนติดต่อกันเป็นท่อนๆ เรียกว่า เย็บเข้ากระทงสำเร็จรูปเป็นไตรจีวร เหตุที่ต้องใช้กรอบไม้ขึงผ้าเย็บก็เพราะในสมัยพุทธกาลไม่มีเครื่องจักรที่จะเย็บผ้าเช่นปัจจุบัน จึงผ้าพระกฐินเกิดเป็นศัพท์ว่า ผ้าไตรกฐิน ผ้าไตรองศ์กฐิน หรือผ้ากฐิน

มูลเหตุที่เกิดทอดกฐินในบาลีกล่าวว่า ครั้งพุทธกาลพระภิกษุเมืองปาไถยรัฐ ๓๐ รูปจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ที่ประทับเชตุวันมหาวิหาร แต่มาไม่ทันเพราะจะถึงเวลาเข้าพรรษาจึงพักเข้าพรรษาเสียก่อนที่เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้วก็รีบออกเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า การเดินทางของพระภิกษุเหล่านี้ถูกฝนเปรอะเปื้อนโคลนตมในระหว่างเดินทาง พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความยากลำบากได้ทรงตรัสอนุญาตให้พระภิกษุเมื่อออกพรรษาแล้ว ให้อยู่รับผ้ากฐินที่จะมีผู้นำมาถวายเสียก่อน คือกำหนดเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เป็นเวลา ๑ เดือน เรียกว่าสุดกฐินกาล

ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุจำนวนมากขึ้นผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทำขึ้นมีไม่พอจะถวายทั่วทุกองศ์ พระภิกษุสงฆ์ไม่กล้าที่จะรับเกรงว่าจะเป็นการแก่งแย่งกัน เป็นการนำมาซึ่งความแตกสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเพื่อความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ขึ้นเป็นพระธรรมวินัย กำหนดให้พระภิกษุผู้จำพรรษาสิ้น ๓ เดือน คือไตรมาสในอาวาสนั้น โดยวางหลักเกณฑ์ว่าพระภิกษุรูปใดมีจีวรครองเก่ากว่าภิกษุอื่นในอาวาสที่จำพรรษาด้วยกัน รอบรู้พระธรรมวินัยปฏิบัติศาสนกิจเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ เป็นที่เคารพนับถือของหมู่พระสงฆ์ และไม่มีอธิกรณ์ใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียในทางปฏิบัติและพระธรรมวินัย พระภิกษุในอาวาสที่จำพรรษาลงอุโบสถร่วมสังฆกรรมได้เห็นชอบพร้อมกันอนุโมทนาให้เป็นผู้รับครองผ้ากฐิน ซึ่งผู้นำมาถวายจะเจาะจงถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้ จึงต้องวางไว้แล้วกล่าวคำถวายโดยไม่เจาะจง จึงเรียกกันว่า ทอดกฐิน

โดยเหตุนี้การทอดกฐินจึงเป็นเทศกาลและประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชน จัดเป็นงานกุศลยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพิธีของหลวงหรือพิธีของราษฎร คือเป็นประเพณีสำคัญมาแต่โบราณตั้งแต่ไทยได้รับพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไม่มีการกุศลใดๆ ที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันด้วยจิตศรัทธาและมีความสามัคคีในการทำบุญเสมอการทอดกฐิน ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัยว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ฝูงท่วย มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอนบริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน คำบงคำกลอย ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ….”

ประเพณีกฐินจึงสืบเป็นราชประเพณีและเทศกาลบำเพ็ญกุศลทอดกฐิน เริ่มแต่วันออกพรรษา แรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เป็นสุดกฐินกาล

ส่วนราชประเพณีของหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงในวันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันแรม ๙ คํ่า เดือน ๑๑ เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางบก ทางเรือ วันละ ๒ วัดบ้าง ๓ วัดบ้าง ในสมัยก่อนๆ เป็นงานใหญ่เสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค คือทรงพระราชยาน มีกระบวนแห่ราชอิสริยยศ เครื่องสูง สังข์ แตร กลองชนะ คู่เคียง อินทร์พรหมถือหอก ถือทวน ถือดาบ เชิญพระแสงต่างๆ เป็นกระบวนราชอิสริยยศ แต่งกายอย่างทหารไทยโบราณ สมัยต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกองทหารแบบยุโรปขึ้นแล้ว จึงจัดให้มีกองทหารแบบใหม่เป็นกระบวนหน้าและกระบวนหลังตาม เช่น มีแตรวงธงประจำกองนำ ทหารม้า ทหารราบทุกเหล่า ทหารปืนใหญ่ ทั้งหมดแต่งเครื่องแบบเต็มยศแห่นำและตามเสด็จฯ และบางปีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินทางเรือเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค ผ้าไตรองค์กฐินตั้งในบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กระบวนเรือพระอิสริยยศมีเรือคู่ชักเป็นรูปสัตว์ที่หัวเรือ เช่นรูปพญาพานรบ้าง รูปอสูรบ้าง มีสังข์ แตร มโหระทึก ปี่ กลองชนะ ประโคม มีศิลปินเห่เรือ และมีกระบวนเรือตั้งเรือแซง เป็นต้น แต่งกายด้วยเครื่องทหารแบบโบราณ สวมหมวกหูกระต่าย หมวกทรงประพาส เมื่อเคลื่อนกระบวนเรือพยุหยาตรา ศิลปินประจำเรือผ้าไตรจะเห่ตามบทประพันธ์กาพย์เห่เรือ ฝีพายร้องรับเป็นตอนๆ

ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่ง รถยนต์พระที่นั่ง เรือยนต์พระที่นั่ง ไปถวายผ้าพระกฐิน และบางปีก็โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเป็นเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราสถลมารค บางปีก็กำหนดเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารคตามโบราณราชประเพณี เช่น เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๒ และ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินวัดอรุณราชวราราม เป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคโดยจัดเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งบุษบกเชิญผ้าไตรพระกฐิน นำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในกัญญาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เพื่อเป็นการรักษาราชประเพณีที่เคยมีมาแต่กาลก่อนและเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมของไทย

โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภ์ เฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนามีวัดที่ทางราชการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ๑๙๐ วัด ในฐานะที่เป็นวัดหลวงตามราชประเพณีพระมหากษัตริย์ย่อมจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดหลวงทุกวัด แต่จำนวนวัดหลวงมีมากมายหลายจังหวัดทั่วราชอาณาจักร บางโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง และบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินให้ครบทุกวัดที่เป็นพระอารามหลวงตามกำหนดเทศกาลทอดกฐินได้

เมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินพระอารามหลวงในเขตที่ใกล้พระนครเป็นส่วนมาก เริ่มพระกฐินหลวงแต่วันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ เป็นวันแรก กำหนดเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ๓ วัด หรือ ๒ วัด รุ่งขึ้นแรม ๗ คํ่าพักวันหนึ่ง วันที่พักนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานเตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป็น กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคจะต้องกำหนดในวันแรม ๙ คํ่า ก็เพราะวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่านํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนพระนครจะขึ้นมากและนิ่งไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปแต่ละปี

พระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนดเป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เป็นประจำปีในปัจจุบัน ๑๖ วัด คือ
๑. วัดบวรนิเวศวิหาร (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๖)
๒. วัดสุทัศนเทพวราราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๘)
๓. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๑)
๔. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๕)
๕. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๗)
๖. วัดมกุฎกษัตริยาราม (มีพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๔)
๗. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๔)
๘. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (เป็นวัดคู่พระบรมราชวงศ์จักรี)
๙. วัดราชาธิวาส (มีพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๑๐. วัดราชโอรสาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๓)
๑๑. วัดอรุณราชวราราม (มีพระบรมราซสริรางคารรัชกาลที่ ๒)
๑๒. วัดเทพศิรินทราวาส (รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างอุทิศถวายพระบรมราชชนนี)
๑๓. วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สร้างขึ้นไว้ ณ นิวาสสถานเดิม)
๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริ ให้สร้างเป็นวัดประจำพระราชวังบางปะอิน)
๑๕. วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๖)
๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (เป็นวัดในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ ถือเป็นราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์เสวยราชย์บรมราชาภิเษกแล้วจะต้องเสด็จฯ ไปถวายสักการะ พระพุทธชินราช)

พระอารามหลวงในจำนวน ๑๖ วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินวันละ ๓ วัด หรือ ๒ วัด เริ่มแต่วันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ เสด็จฯ ๓ วัน ส่วนวัดที่เหลือก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระกฐินหลวงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์และเป็นกฐินหลวงพระราชทานพระบรมวงศ์ หรือราชสกุล ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นกฐินพระราชทาน

ส่วนพระอารามหลวงอื่นๆ นอกจาก ๑๖ วัดนี้ ซึ่งมีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บางปีก็โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นบางวัด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้กระทรวง ทบวง กรม สถาบัน คณะบุคคล เมื่อมีจิตศรัทธาจะถวายผ้าพระกฐิน พระอารามหลวงวัดใดวัดหนึ่งนอกจากที่สงวนไว้ ๑๖ วัดนั้นแล้ว ก็ให้แจ้งความจำนงขอพระราชทาน ไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะรวบรวมกราบบังคมทูลขอพระราชทานครองพระกฐินหลวงนำไปทอดถวาย ณ วัดหลวงที่มีจิตศรัทธาประสงค์จะไปทอดกฐิน เครื่องพระกฐินวัดเหล่านี้กรมการ ศาสนาเป็นผู้จัดไว้ให้พร้อม เพราะถือเป็นพระกฐินหลวงพระราชทาน

การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินและโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยออกเป็นหมายกำหนดการ แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ สวมสายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือจุลจอมเกล้าและช้างเผือก ถ้าปีใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามด้วย ต้องกำหนดสายสะพายราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยเป็นสายสำคัญ แต่สำหรับวัดอรุณราชวราราม ต้องกำหนดสายสะพายราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์เป็นสายสำคัญ ในกรณีที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์นั้น หมายกำหนดการจะได้กำหนดแต่งกายเต็มยศ สายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี และทุกวัดที่ออกหมายกำหนดการแต่งเครื่องแบบเต็มยศต้องมีทหารเหล่ารักษาพระองค์จัดเป็นกองเกิยรติยศ พร้อมแตรวง ธงประจำกองไปตั้งรับ-ส่งเสด็จฯ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

พระอารามหลวงที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ถวายผ้าพระกฐินเป็นงานออกหมายกำหนดการเต็มยศ ในพระอุโบสถจะได้ทอดพระราชอาสน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยถวายคลุมด้วยผ้าเยียรบับ

พระกฐินหลวงที่ทอด ณ วัดฝ่ายธรรมยุต ที่ไตรองค์กฐินจะมีผ้าขาวพับซ้อนอยู่ข้างบน เมื่อทอดถวายพระสงฆ์ทำกฐินกรรมเสร็จแล้ว เสด็จฯ กลับ เจ้าพนักงานช่างเย็บซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายใน (สตรี) สังกัดสำนักพระราชวัง จะช่วยฝ่ายสงฆ์ตัดเย็บผ้าขาวที่ทรงทอดถวายรวมกับไตรองค์กฐินเอาไปตัดเย็บเข้ากระทงเป็นจีวรแล้วย้อมใหม่ด้วยสีกรัก (สีเปลือกไม้) ถวายพระสงฆ์ไปทำพิธีกรรมในการครองผ้าพระกฐินต่อไป ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จในวันนั้น

กำหนดวันและวิธีถวายผ้าพระกฐินเสด็จพระราชดำเนินและแทนพระองค์ มีดังนี้

วันแรก ขึ้น ๖ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายมงกุฎไทย

วันที่ ๒ ขึ้น ๗ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๓ ขึ้น ๘ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๔ ขึ้น ๙ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายนพรัตน์ และข้างเผือก

วันที่ ๕ ขึ้น ๑๐ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๖ ขึ้น ๑๑ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรีและจุลจอมเกล้า

วันที่ ๗ ขึ้น ๑๒ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรีและ จุลจอมเกล้า

เวลา ๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดที่ ๑ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ เจ้าหน้าที่ศุภรัตทูนเกล้าฯ ถวายผ้าพระกฐินที่ประตูนอกพระอุโบสถ ทรงรับพาดระหว่างพระกรอุ้มเชิญเข้าไปในพระอุโบสถ ทรงวางผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้าหน้าอาสนสงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถทรงกราบทรงหยิบผ้าสำหรับห่มถวายพระประธานที่วางอยู่บนหลังผ้าไตรพระกฐิน พระราชทานให้เจ้าหน้าที่ภูษามาลา แล้วเจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดนี้ จบแล้ว ทรงหยิบผ้าไตรกฐินที่วางบนพานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกรประนมพระหัตถ์ผินพระพักตร์สู่พระประธาน ทรงว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ๓ จบ แล้วหันพระพักตร์สู่ที่ชุมนุมสงฆ์ ทรงว่าคำถวายผ้าพระกฐิน
แบบที่ ๑ สำหรับวัดฝ่ายธรรมยุต
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส
โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ
อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏคฺคณฺหาตุ
ปฏิคฺเหตุวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ
อมหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

แบบที่ ๒ สำหรับวัดฝ่ายมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ทุติยมฺปิ อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ตติยมฺปิ อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม

แบบที่ ๓ สำหรับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มีราชประเพณีวางไว้ให้ว่าเป็นภาษาไทย

ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษาถ้วนไตรมาส ในพระอาวาส ราชวรมหาวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินแล้วกระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ฯ

แบบที่ ๔ สำหรับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงกำหนดให้ใช้ตามแบบวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์

ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจำพรรษา ถ้วนไตรมาส ในพระอาวาสราชวรวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินแล้วกระทำกฐินัตถารกิจ ตาบพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ฯ

เมื่อทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินแล้วทรงวางผ้าไตรบนพานแว่นฟ้า ทรงประเคนเทียนปาติโมกข์ แด่พระสงฆ์รูปที่ ๒ แล้วประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์ทำกฐินกรรมตามพระวินัย พระสงฆ์รูปที่ได้เป็นผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองไตรพระกฐินเรียบร้อยแล้วกลับมานั่งที่เดิม ต่อจากนี้เลขาธิการพระราชวังจะได้เข้าไปหมอบเฝ้าฯ กราบบังคมทูล แล้วเชิญพระราชกระแสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ถวายเครื่องบริขารพระกฐิน แด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน พระราชวงศ์ผู้ที่ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้า จะถวายความเคารพแล้วไปยังอาสนสงฆ์ พระราชวงศ์องค์อื่นจะได้ส่งเครื่องบริขารให้พระราชวงศ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้ารับแล้วถวายพระสงฆ์โดยผินพระพักตร์ออกสู่ที่ประทับ แต่ถ้าเป็นของมีคม เช่น ขวาน สิ่ว จะต้องหันหลังส่งตามลำดับ เมื่อถวายเครื่องบริขารพระกฐินเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถ้าวัดใดมีผู้ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ผู้แทนเจ้าอาวาสจะกราบบังคมทูลเบิกตัวเข้าไปเฝ้าฯ ทูนเกล้าฯ ถวายเงินตามลำดับจนหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปฏิสันถารกับเจ้าอาวาส แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบที่เครื่องนมัสการหน้าพระพุทธปฏิมาประธาน เสด็จฯ ยังวัดที่ ๒ หรือที่ ๓ ต่อไป แล้วเสด็จฯ กลับ

ในกรณีวัดที่เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินนั้น มีการสดับปกรณ์พระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เช่น วัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อพระผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองผ้าไตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะแล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป สดับปกรณ์ ออกไปครองผ้ากลับเข้านั่งที่เดิมพร้อมกับพระผู้ครองผ้าพระกฐินแล้วจึงถวายเครื่องบริขารพระกฐิน

อนึ่งพระกฐินหลวงที่โปรดเกล้าฯ ให้แทนพระองค์ ตลอดจนพระกฐินพระราชทาน รวมทั้งที่แจ้งความจำนงไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีคำว่าถวายผ้าพระกฐินเป็นภาษาไทย ดังนี้

“ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา¬ภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าน้อมนำถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ”

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้วางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงและกฐินพระราชทาน ดังนี้

แนวปฏิบัติ เกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงและพระกฐินพระราชทาน
เนื่องด้วยกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นว่า สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในวัดหรือใกล้วัดมักจะนำนักเรียนไปตั้งแถวรับพระกฐินหลวง และพระกฐินพระราชทานเป็นประจำ กระทรวงศึกษาธิการจึง ปรับปรุงแนวปฏิบัติขึ้นใหม่ ดังนี้

๑. พระกฐินหลวงและพระกฐินพระราชทาน
“พระกฐินหลวง” หมายความว่า พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ องคมนตรี หรือบุคคลผู้หนึ่งผู้ใด เสด็จไป หรือไปถวายแทนพระองศ์ ตามหมายของสำนักพระราชวัง

“พระกฐินพระราชทาน” หมายความว่า พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน แก่กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สโมสร สมาคม หรือเอกชนผู้มีเกียรติซึ่งขอพระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่อนำไปถวาย ณ พระอารามหลวง

“สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน วิทยาลัย หรือสถานศึกษา ที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

“หัวหน้าสถานศึกษา” หมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

แนวปฏิบัตินี้เป็นแนวปฏิบัติของสถานศึกษาที่นำนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ลูกเสือ ยุวกาชาด หรือเนตรนารี ไปตั้งแถวรับผู้เป็นองค์ประธานหรือประธานเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับพิธีทางศาสนา หรือพิธีการในพระอุโบสถ

๒. สถานศึกษาที่ควรไปรับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน
๒.๑ สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในวัดนั้น
๒.๒ สถานศึกษาที่เคยตั้งอยู่ในวัดนั้น
๒.๓ สถานศึกษาที่ทางวัดเคยอุปการะ หรือกำลังอุปการะอยู่
๒.๔ สถานศึกษาที่ทางวัดขอร้อง หรือสถานศึกษาที่ทางจังหวัดเห็นสมควรให้ไปรับพระกฐินหลวง หรือพระกฐินพระราชทาน

๓. วิธีดำเนินการ
เมื่อวัดใดได้รับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน ให้หัวหน้าสถานศึกษาดังกล่าวในข้อ ๒ นำนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ ไปตั้งแถวรับผู้เป็นองค์ประธาน หรือประธาน โดยให้ดำเนินการดังนี้
๓.๑ ติดต่อประสานงานกับวัดเพื่อทราบกำหนดแน่นอน และแจ้งจำนวนครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ ที่จะไปตั้งแถวรับให้ทางวัดทราบแล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย
๓.๒ การฝึกซ้อมเกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน ให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ควรจะให้เสียเวลาของนักเรียนนักศึกษาน้อยที่สุด

๔. การรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน และรับผู้เป็นประธานที่ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินมาทอดถวาย
๔.๑ การแต่งกาย ให้เป็นไปตามหมายกำหนดการ หรือกำหนดการว่าด้วยการนั้น
๔.๒ การตั้งแถวรับ จะคัดจัดนักเรียนนักศึกษาทุกแผนกไว้ในที่เดียวกัน หรือแบ่งแยกนักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี หรือยุวกาชาดไว้คนละแห่ง ก็ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาตามที่เห็นสมควร
๔.๓ การจัดโต๊ะหมู่บูชา ถ้าเป็นการรับเสด็จพระราชดำเนิน หรือในกรณีที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ให้จัดโต๊ะหมู่บูชา ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ ไม่ต้องจุดธูปเทียน

๕. การจัดดุริยางค์บรรเลงรับ-ส่ง
๕.๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีใน รัชกาลก่อน สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระ ราชดำเนินมาถึงให้หัวหน้าสถานศึกษา หรือผู้ควบคุมแถวบอกทำความเคารพ นักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ทำความเคารพตามระเบียบว่าด้วยการนั้น ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
๕.๒ พระกฐินหลวงที่พระราชทานพระราชวงศ์ องคมนตรี ไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง เมื่อเสด็จหรือไปถึงวัดรับผ้าไตรของหลวง เชิญเข้าสู่พระอุโบสถ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อกลับบรรเลงเพลงมหาชัย
๕.๓ นายกรัฐมนตรี หรือผู้มีเกียรติที่ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดถวายมาถึงรับผ้าไตรของหลวงเชิญเข้าสู่พระอุโบสถ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อนายกรัฐมนตรีกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย ส่วนบุคคลผู้มีเกียรตินอกจากนี้เมื่อกลับไม่ต้องบรรเลงเพลงใดๆ

๖. การถวายรายงานและรายงาน
ให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ควบคุมแถว ถวายรายงานและหรือรายงานตามแบบดังนี้
(แบบถวายรายงานรับพระกฐินหลวง)
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า……………………..(ออกนาม) ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท………………………..(ชื่อสถานศึกษา) นักเรียน นักศึกษา………..คน
ครู อาจารย์…………..คน ลูกเสือ……………คน เนตรนารี………………คน
ยุวกาชาด…………….คน รวมทั้งสิ้น…………คน

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า……………………………..(ลงนาม)
ตำแหน่ง………………………………………
หมายเหตุ ถ้าเป็น
๑. สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อน
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ๓. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
คาขึ้นต้นใช้ “ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาท……………..
คำสรรพนาม “ข้าพระพุทธเจ้า, ใต้ฝ่าละอองพระบาท”
คำลงท้าย    “ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”

                 ซอง
ขอพระราชทานทูนเกล้าฯ ถวาย
รายงาน
จำนวน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา
ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด

(แบบกล่าวรายงานรับพระกฐินพระราชทาน)
ถ้าผู้ได้รับพระกฐินพระราชทานเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า หรือสมเด็จพระบรมวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้า ใช้ว่า

“ขอพระราชทานกราบทูล ทราบฝ่าละอองพระบาท…………………….(ชื่อสถานศึกษา) นำนักเรียน นักศึกษา………….คน ครู/อาจารย์……………..คน ลูกเสือ    ………………คน เนตรนารี…………คน
ยุวกาชาด……………คน รวมทั้งสิ้น……………………คน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า……………………..(ลงนาม)
ตำแหน่ง……………………………..
หมายเหตุ
๑. ถ้าเป็นพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ให้ใช้ ขอประทานกราบทูล ทราบฝ่าพระบาท ถ้าเป็นหม่อมเจ้า ใช้ กราบทูล คำลงท้ายว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
๒. ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา

คำขึ้นต้น    “กราบเรียน, เรียน…………….(ออกชื่อตำแหน่งที่จะรายงาน)
คำลงท้าย    “จึงขอประทานกราบเรียน เรียน เพื่อโปรดทราบ”

                    ซอง
รายงาน
จำนวนครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา
ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระแก้วมรกต นั้น เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ เซนติเมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระรัศมี ๖๖ เซนติเมตร พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จไปปราบปรามความไม่พระแก้วมรกตเรียบร้อยในแคว้นลานช้าง จึงได้เชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาจากนครเวียงจันทน์ มาถึงกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ ภายหลังพระองค์ได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี จึงโปรดให้ย้ายพระนครและสร้างพระราชฐานใหม่ พร้อมกันนี้ได้โปรดให้สร้างวัดไว้ในพระราชฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งได้มีพิธีแห่ข้ามฟากจากกรุงธนบุรีมาประดิษฐาน ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชศรัทธา ทรงสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝนได้เสด็จไปถวายเป็นพุทธบูชา จึงเป็นราชประเพณีเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรปีละ ๒ ฤดู แต่นั้นมา

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงสร้างเครื่องทรงฤดูหนาวถวายเป็นพุทธบูชาอีกฤดูหนึ่ง จึงมีเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเปลี่ยนตามฤดูกาลมาจนปัจจุบัน คือ
วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๔ เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวเป็นเครื่องทรงฤดูร้อน วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๘ เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อนเป็นเครื่องทรงฤดูฝน
วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูฝนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว

เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชรและมณีต่างๆ มงกุฎที่ทรงเป็นเทริด ยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่

เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน ทรงอย่างห่มดอง ใช้ทองคำทำเป็นกาบจำหลักลายทรงข้าวบิณฑ์ ประดับมณีต่างๆ เมื่อประกอบเข้ากับองค์พระแล้วก็เหมือนผ้าทรงอย่างห่มดอง พระศกศิราภรณ์ ทำด้วยทองคำลงยาสีนํ้าเงินแก่ ปลายพระเกศาที่เวียนเป็นทักษิณาวรรตประดับด้วยมณีเม็ดย่อมๆ ทั่วไป พระรัศมีลงยา

เครื่องทรงสำหรับฤดูหนาว เป็นผ้าทรงคลุมแต่ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยลวดเหมือนตาข่าย ใช้คลุมทั้งสองพระพาหา พระศกคล้ายของฤดูฝน

พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ ที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนด้วยพระองค์เอง เว้นแต่ทรงมีพระราชกรณียกิจไม่อาจเสด็จฯ ได้ จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระราชกรณียกิจในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมีดังนี้

ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าหน้าที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามจะได้เปลื้องเครื่องที่ทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรออก เหลือไว้แต่มงกุฎหรือพระศกศิราภรณ์

เวลา ๑๕ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ ประตูทางเสด็จฯ เข้าวัด เจ้าหน้าที่พระแสงต้น กองพระราชพิธีถวายพระแสงดาบคาบค่าย ซึ่งเป็นพระแสงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้วพระราชทานให้มหาดเล็กถือเชิญตามเสด็จฯ ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ เสด็จฯ ไปยังบันไดเกยที่ฐานชุกชีด้านหลังบุษบกประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อเสด็จฯ ขึ้นถึงบุษบกทรงกราบ ต่อจากนั้นทรงเปลื้องมงกุฎหรือพระศกศิราภรณ์ออกจากพระเศียร แล้วทรงหลั่งพระสุคนธ์ด้วยพระมหาสังข์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สร้างถวายไว้ประจำพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีมังสีเป็นคันทวย ตั้งอยู่หน้าบุษบก แล้วทรงหลั่งพระสุคนธ์ด้วยพระมหาสังข์เพชรน้อย เสร็จแล้วทรงซับองค์พระด้วยผ้าขาว ๔ ผืน จากนั้นถวายมงกุฎหรือพระศกศิราภรณ์ แล้วเสด็จลงจากเกยไปประทับพระเก้าอี้ข้างมุมฐานชุกชีด้านเหนือ ทรงจุ่มผ้าขาวที่ได้ซับองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงในหม้อพระสุคนธ์ แล้วทรงบิดลงในโถแก้วและหม้อนํ้าเพื่อเป็นนํ้าพระพุทธมนต์สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ด้วยพระมหาสังข์เพชรน้อย และสำหรับพระราชทานข้าทูลละอองพระบาทที่มาเวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้วยพระสุหร่าย

ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกหน้าฐานชุกชี ทรงเปลี่ยนยอดพระรัศมี พระสัมพุทธพรรณี (ฤดูร้อนกะไหล่ทอง ฤดูฝนเป็นแก้วสีนํ้าเงิน ฤดูหนาวเป็นแก้วขาว) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปของรัชกาลที่ ๔ สร้างไว้ แล้วทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่บูชาพระรัตนตรัย จากนั้นเสด็จไปประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่ภูษามาลาเชิญพระมหาสังข์เพชรน้อยบรรจุพระสุคนธ์ที่สรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาทูนเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งนํ้าพระมหาสังข์ที่พระเศียรของพระองค์เองแล้วพระบรมวงศานุวงศ์เข้าไปหมอบเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งพระราชทานที่พระเศียรตามลำดับ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงพระสุหร่ายพระราชทานแก่ข้าทูลละอองพระบาทซึ่งเฝ้าฯ เรียงรายรอบผนังภายในพระอุโบสถ แล้วประทับพระราชอาสน์ หัวหน้าพราหมณ์เบิกแว่น พราหมณ์เป่าสังข์ พนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร ดุริยางค์ ข้าราชการที่ยืนเฝ้าฯ เรียงรายนั้นรับแว่นเวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว หัวหน้าพราหมณ์ขึ้นบันไดเกยไปเจิมพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเจ้าหน้าที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่แต่งเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเสร็จ เรียบร้อยกลับลงมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระอุโบสถพระราชทานนํ้าพระพุทธมนต์ทสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ด้วยพระสุหร่ายแก่ประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทอยู่รอบพระอุโบสถทั้งในและนอกกำแพงแก้ว แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ ก่อนจะเสด็จฯ ออกจากประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระแสงดาบคาบค่ายคืนให้เจ้าหน้าที่พระแสงต้นรับไปเก็บรักษา

งานนี้แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว
ที่มา:กรมศิลปากร