องค์ประกอบของเรือนลานนา

องค์ประกอบของเรือนลานนาโดยทั่วไปและคติความเชื่อบางประการ
เรือนลานนาเป็นเรือนใต้ถุนสูงหรือยกพื้นสูง ลักษณะเนื้อที่ใช้สอยทั่วไปของเรือนลานนานั้นประกอบด้วยชานกว้างมีบันไดทอดขึ้นไป หากเป็นเรือนไม้ปั่วบันไดจะหลบอยู่ใต้ชายคาเรือน และทอคสู่ชานเล็กๆ ใต้ชายคา จากชานทั้งประเภทชานโล่งหรือชานใต้ชายคา ตรงริมชานด้านใดด้านหนึ่งจะมีหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่มพร้อมทั้งกระบวย หิ้งสูงจากระดับพื้นชานประมาณ ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร ภาคเหนือเรียกว่า “ฮ้านน้ำ” (ร้านน้ำ) ซึ่งวางอยู่ในระดับสูงพอที่ยืนตักดื่มได้อย่างสบาย หากร้านน้ำอยู่ตรงบริเวณชานโล่ง ชาวบ้านก็จะสร้างเป็นเรือนเล็กๆ มีหลังคาคลุมไว้ ส่วนชานนี้เป็นบริเวณที่เชื่อมส่วนต่างๆ ของเรือน ถัดจากชานเป็นห้องโถงเปิดโล่ง และยกระดับสูงกว่าระดับชานประมาณคืบเศษๆ เป็นส่วนที่อยู่ใต้ชายคา มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ห้อง เสาบริเวณนี้เป็นบริเวณอเนกประสงค์ ชาวลานนาเรียกส่วนนี้ว่า “เติ๋น” กั้นฝาเต็มด้านเดียว ใช้เป็นที่นั่งเล่นรับประทานอาหารรับแขก จัดงานศพ เมื่อมีคนในบ้านถึงแก่กรรมลง บริเวณเติ๋นมีลักษณะกึ่งเปิดโล่ง (semiopen quarter) ในกรณีเรือนชนบทที่เป็นเรือนไม้บัวบริเวณเติ๋น เป็นเนื้อที่ใช้ งานอย่างยืดหยุ่น และแม้จะเป็นเรือนไม้จริงขนาดใหญ่ก็ตาม “เติ๋น” ก็เป็นเนื้อที่มีขนาดพอใช้งานได้ตามความจำเป็นเท่านั้น เพราะต้องการ ให้เป็นบริเวณโล่งโถงจึงเกิดปัญหา เรื่องที่เก็บของใช้ ในกรณีนี้ชาวเหนือได้ใช้ปริมาตรที่ว่างอย่างเต็มที่โดยทำเพดานใต้หลังคาเป็นส่วนเก็บของโดยทำเป็นเพดานโปร่ง เป็นตะแกรงตาสี่เหสี่ยมเหนือบริเวณเติ๋น ใช้เก็บข้าวของเกือบทุกประเภท เช่น โตก หม้อ ถวยชามสำรอง คนโทน้ำ ขนาดของช่องตะแกรงมักถือขนาดของคนโทดินเผาเป็นเกณฑ์ โดยทำช่องตะแกรงไม้ให้แคบกว่าความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลางคนโท โดยที่เมื่อเก็บคนโท โดยการควํ่าคนโทลงเอาคอคนโทเสียบลงในช่องตะแกรง ช่องตะแกรงจะรับเอาตัวคนโทเอาไว้ เพดานตะแกรงโปร่ง นี้ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง ยึดติดกับขื่อและแม่หัวเสาของเรือนมีเคร่าไม้ดึงตะแกรงไว้กับตัวจันทันและแป ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ควั่น” เติ๋นนี้บางทีในช่วงตอนกลางคืนก็ใช้เป็นที่หลับนอนของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ เป็นชาย หรือแขกผู้ชายที่มาเยี่ยมเยียน หรือใช้เป็นที่นอนลูกชายวัยแตกเนื้อหนุ่มที่ออกเที่ยวยามค่ำคืน เมื่อกลับมาตอนดึกดื่น จะได้ไม่ต้องปลุกใคร ทางด้านตะวันออกของเติ๋นหรือด้านตัวนอนจะมีหิ้งพระ สำหรับบูชาสักการะ บนหิ้งวางพระพุทธรูป แจกันดอกไม้ และในปัจจุบันนี้ จะมีรูปถ่ายของพระเถระที่มีชื่อเสียง อันเป็นที่เคารพของชาวเมือง เช่น รูปครูบาศรีวิชัย เป็นต้น ติดกับฝาผนังเชิดกับหิ้งพระ สมัยก่อนจะมีภาพเขียนรูปพระธาตุ ที่สำคัญพร้อมด้วย “รูปตัวเบิ้ง” (รูปปีเกิด) แขวนไว้เช่นกัน เนื่องจากชาวเหนือถือว่าคนเกิดปีไหนจะต้องไปสักการะบูชาพระธาตุประจำปีเกิดเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนและให้มีอายุ มั่นขวัญยืน ถือว่าได้อานิสงส์มาก พระธาตุประจำปีเกิดมีดังนี้ เช่น คนเกิดปีชวด (ปีใจ้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุจอมทอง คนเกิดปีฉลู (ปีเป้า) พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น หากผู้ใดไม่สามารถจะเดินทางไปสักการะได้ก็จะซื้อภาพเขียนที่มีผู้เขียนไว้เป็นภาพปีนักกษัตร หรือปีเกิด และรูปพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งวางขายตามร้านมาบูชาในสมัยประมาณ ๓๐ ปีก่อนนี้มีกันแทบทุกบ้าน นอกจากนี้บนหิ้งพระยังเป็นที่เก็บหนังสือสมุดข่อย ตำราฤกษ์ยามตลอดจนตำรายาอีกด้วย ในกรณีที่เจ้าบ้านฝ่ายชายเป็นอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรม โหราจารย์ และหมอรักษาโรค ซึ่งบ้านที่มีอาชีพดังกล่าวยังมี “หิ้งครู” เพิ่มขึ้นอีกหิ้งหนึ่ง แต่มีระดับต่ำกว่าหิ้งพระ
ถัดจากเติ๋นเป็นห้องนอน เป็นห้องที่มีฝาปิดทั้ง ๔ ด้าน เป็นลักษณะห้องทึบ (Closed Space) มีประตูเปิดเข้าจากเติ๋นเข้าไปภายในห้อง เหนือประตูนี้มีไม้แกะสลักลวดลายสวยงามไม้แผ่นนี้มิใช่ เป็นของประดับให้สวยงามเพียงอย่างเดียว หากชาวเหนือยังถือว่าเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ติดไว้เพื่อใช้ป้องกันภัยอันตรายที่มองไม่เห็นต่างๆ ที่จะผ่านประตูเรือนเข้าไป ไม้แกะสลักแผ่นนี้เรียกว่า “หำยนต์” ใต้หำยนต์ ลงมาที่ตรงพื้นหรือบริเวณธรณีประตูจะยกขอบธรณีประตูสูงขึ้นกว่าปกติ เรียกว่า “ข่มประตู” ทำหน้าที่นอกจากเป็นกรอบประตูแล้วยังทำหน้าที่เป็นเส้นกั้นอาณาเขตห้องนอนอันเป็นบริเวณหวงห้าม คนภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ไม่มีสิทธิ์ล่วงล้ำเข้าไปได้หากล้ำเลยข่มประตูไปถือว่า “ผิดผี” หรือผิดจารีตประเพณีของชาวไทยยวน จำต้องทำพิธีเซ่นสรวงผีเรือนเป็นการไถ่โทษ
ส่วนหำยนต์นั้น คำว่า “หำ” เป็นศัพท์ลานนาแปลว่า “อัณฑะ” ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งรวมพลังบุรุษ ส่วนคำว่า “ยน” คงได้มาจากศัพท์สันสกฤตว่า “ยนตร์” แต่ในความหมายของลานนาหมายถึงสิ่งป้องกันรักษาที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตามตำนานต่างๆ เช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวง มักกล่าวถึงบริเวณที่ฝังของมีค่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยโบราณผู้ทรงวิทยาคม (ผู้เข้าใจในทางประดิษฐ์กลไก) จะประดิษฐ์ “หุ่นยน” หรือ “ยนฟัน” ไว้รักษาปากทางเข้า หากผู้ใดบุกรุกเข้าไปภายในก็จะถูก “ยนฟัน” นี้ฟันถึงแก่ความตาย ฉะนั้นคำว่า “หำยน” จึงทำหน้าที่เสมือน “ยันตร” อันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยป้องกันภยันตรายต่างๆ ที่จะเข้ามาจากภายนอกเข้าสู่ภายในห้องนอน ขนาดของหำยนจะกว้างเท่ากับขนาดของช่องประตู ซึ่งจะวัดขนาดจากส่วนยาวของเท้าของ
ชายหัวหน้าครอบครัวนั้นๆ โดยให้กว้าง ๔-๕ ช่วงเท้า บางประตูก็กว้างกว่านี้ ตามประเพณีนั้นเท้าถือว่าเป็นของต่ำที่สุดของร่างกาย ดังนั้นเมื่อสิ่งใดจะเล็ดลอดผ่านประตูได้ “หำยน” เข้าไปภายในตัวเรือน “ความต่ำของเท้าที่วัดขนาดเท่ากับขนาดของหำยนไว้นั้นก็จะช่วย “ขม” ให้สิ่งที่ชั่วร้ายทั้งมวลที่จะลอดผ่านเข้าไปตกอยู่ใต้อานุภาพของการ “ข่ม” นี้ทั้งสิ้น
อนึ่งฝากั้นห้องนอนทั้ง ๔ ด้าน จะมีฝาด้านยาวของห้องนอนฝาตรงข้ามกับฝาด้านหัวนอนยาวเลยเกินออกมากินเนื้อที่ของส่วนเติ๋นที่วางชิดกับ “ฮ่อมชาน” (ช่องระเบียงชาน) ด้านข้างประมาณ ๑ ศอก ภาษาลานนาเรียกฝาที่เกินมานี้ว่า “ฝาลับนาง” มีหน้าที่กำบังหญิงสาวที่ทำงานอยู่ในบริเวณเติ๋นส่วนนี้ยามค่ำคืน หรือเป็นส่วนที่หญิงสาวใช้เป็นบริเวณนั่งคุยกับหนุ่มต่างบ้านที่มาคุยด้วย
ห้องนอนที่วางถัดจากเติ๋นไป จะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าบ้าน ความกว้างของเรือนนอน จะเป็นตัวกำหนดขนาดใหญ่ เล็กของเรือนโดยถือเอาขนาดขื่อ และความยาวของชื่อเป็นเกณฑ์ สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะนอนรวมกันในห้องโถงนอนนี้ หากเป็นเรือนไม้บัวของระดับคนจนในชนบท ห้องนอนจะมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อที่ใช้งานอื่นในเรือน การนอนนั้นจะแบ่งเนื้อที่นอนตามห้องเสา ห้องเสาสุดภายในจะเป็นส่วนนอนของหัวหน้าครอบครัวและภรรยาสามีจะนอนอยู่ทางทิศเหนือของภรรยา โดยยึดเอาทิศเหนือเป็นสัญลักษณ์ว่าอยู่เหนือหรือสูงกว่าภรรยานั่นเอง ถัดจากนั้นมาก็จะเป็นส่วนนอนของลูกๆ หากลูกคนที่แต่งงานมีคู่แล้วก็จะนอนในส่วนถัดไป การแยกกลุ่มนอนแยกโดยการปูเสื่อปูที่นอนและกางมุ้งเหนือที่นอน การนอนแบบนี้ฝรั่งเห็นไปว่าเป็นการแบ่งที่ว่างภายในของที่นอนออกเป็นส่วนย่อยๆ
(Microspace) ได้อีกโดยไม่ต้องกั้นฝา โถงห้องนอนนี้ เนื่องจากมีขนาดเนื้อที่มากกว่าส่วนอื่นใดภายในตัวเรือน และฝาเรือนก็ผายล้มออก การแบ่งเนื้อที่ใช้สอยจะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ซีกหนึ่งใช้นอน อีกซีกหนึ่งใช้เป็นส่วนเก็บของ โดยเฉพาะเสื้อผ้าและหีบใส่ของมีค่า การแบ่งโถงนอนออกเป็น ๒ ซีกนี้แบ่งโดยมี “ไม้แป้นต้อง” วางแบนเสมอระดับพื้น วางแบ่งกลางตัวเรือนตามแนวยาวขนาดหนาประมาณ ๓-๔ นิ้ว กว้าง ๗-๘ นิ้ว หน้าที่ทางโครงสร้างเพื่อลดความยาวของพื้นกระดานเพราะวางบนเสาต่อม่อกลางเรือน หน้าที่นอกเหนือจากโครงสร้างคือ แบ่งพื้นเรือนให้เป็นสองซีกดังกล่าวแล้วและยังใช้เป็นทางเดินเมื่อออกจากบริเวณนอน ในยามเช้ามืด เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังและพื้นเรือนไหวอันจะเป็นการรบกวนผู้ที่ยังหลับสนิทอยู่ในยามรุ่งสาง
นอกจากห้องนอนแล้วยังมีเรือนครัว หรือเรือนไฟแยกออกไปอีกหลังหนึ่ง มักวางขนานกับเรือนนอน วางอยู่ด้านตะวันตกโดยมีชานเชื่อมไว้ ด้านหลังครัวจะมีชานเล็กๆ เป็นชานหลัง วางหม้อน้ำขนาดใหญ่ไว้ที่ระดับพื้นชาน ต่างกับหม้อน้ำสำหรับดื่มที่วางบนหิ้ง เป็นน้ำสำหรับล้างถ้วยชาม และใช้ปรุงอาหาร แสดงถึงวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของลานนา ที่แยกประเภทน้ำดื่ม และน้ำใช้ไว้คนละระดับโดยน้ำดื่มจะวางสูงกว่าน้ำใช้ หม้อใส่น้ำใช้เรียกว่า “หม้อน้ำซัวะ” ตรงชานหลังจะมีบันไดอีกเพื่อสะดวกในการตักน้ำ ใต้ถุนชานหลังนี้ มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “พื้นน้ำข้าวหม่า” (เพราะเป็นพื้นที่ๆ อยู่ใต้หม้อแช่ข้าวเหนียวไว้สำหรับนึ่ง) (การนำเอาข้าวเหนียวมาแช่น้ำไว้ก่อนนึ่งเรียกว่า “หม่าข้าว”) นับเป็นบริเวณสำคัญอีกบริเวณหนึ่ง คือ ในกรณีพวกที่นับถือผีบรรพบุรุษประ¬เภท “ผีมดผีเม็ง” ในเทศกาลเซ่นสรวงผีจะมีการ “ฟ้อนผี” ผีบรรพบุรุษจะเข้าสิงร่างพวกลูกหลานโดยเฉพาะพวกผู้หญิง ออกร่ายรำ หากมีผีร้ายอื่นแปลกปลอมเข้าสิงสู่ลูกหลานโดยจะแสดงท่ารำเกรี้ยวกราดดุดันมีอาการแปลกกว่าการฟ้อนรำของบุคคลอื่นๆ พวกลูกหลานจะฉุดผู้ถูกผีอื่นเข้าสิงนี้มาจาก “ผาม” หรือข่วง (ผามปะรำฟ้อนผี) เอามาซุกไว้ใต้พื้นน้ำข้าวหม่านเชื่อกันว่าผีจะออกจากร่างโดยทันที
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ปลูกเรือนตามตำราโลกสมมุติราช

ลักษณะการแบ่งขนาดและประเภทของเรือน ตลอดจนอาชีพด้วยขนาดความยาวของขื่อแปจากหนังสือตำราโลก สมมุติราช
ตำราดังกล่าวว่า “เรือนอันว่าแป (ยาว) ๒๔ ศอก ขื่อ ๘ ศอก ชื่อสีหลักขณะอุตมะนักแลเรือนจำพวกหนึ่ง แป ๑๘ ศอก ขื่อ ๘ ศอก ชื่อสีหลักขณะมัชฌิมะแลจำพวกหนึ่ง แป ๓๐ ศอก ขื่อ ๙ ศอก ชื่อสุภลักษณะเหลือกว่านี้อาจารย์เจ้ากล่าวว่าบ่ดีแล
นัยหนึ่งลักษณะแปง (สร้าง) เรือนเอาแป ๑๒ ศอก ขื่อ ๗ ศอกเศษ ๑ เป็นเรือนพ่อค้าดีแล แป ๑๒ ศอกขื่อ ๗ ศอกเศษ ๒ ชื่อปทุมลักษณะเป็นพ่อครัวดี แป ๙ ศอกขื่อ ๗ ศอกก็เป็นดังภายหลังนั้นแล แป ๑๒ ศอกขื่อ ๘ ศอก เศษ ๔ ชื่อสวาณะเป็นวัจจกุฏิแล แป ๑๑ ศอกขื่อ ๗ ศอก ชื่อพัทธะลักษณะเป็นเล้มฉางคอกวัวควายดีแล แป ๑๓ ศอก ขื่อ ๗ ศอกเศษ ๗ ขื่อเช ลักษณะเรือนเสนาอำมาตย์และโรงช้างม้าอยู่ดีแล แป ๑๖ ศอกขื่อ ๖ ศอกเศษ ๘ ชื่อดังภายหลังแล เศษ ๑ ชื่อกาบลักษณะบ่ดีอยู่แล
ศิริวคณะเรือนนัยหนึ่งมีฉันนี้เล่าแป ๓๐ ขื่อ ๗ ชื่อ อุสุภลักขณะอยู่เป็นดีแล ขื่อ ๑๑ แป ๓๓ ผู้เป็นใหญ่อยู่ดี ขื่อ ๑๒ แป ๓๔ คนทั้งหลายอยู่ดี ชื่อมหาอุสุภลักขณะ ขื่อ ๑๔ แป ๓๙ ชื่อฉันเดียว (กัน) ขื่อ ๑๕ แป ๓๐ ชื่อสุภลักขณะ ขื่อ ๓ วาแป ๑๐ อุสุภลักขณะ ขื่อ ๕ ศอกแป ๑๒ เรือนพ่อค้า ขื่อ ๒ วา แป ๖ วา มีข้าวของมากแล ขื่อ ๕ ศอก แป ๑๐ ศอก ค่าว ๕ ศอกคืบ ขายปาด ๒ นิ้วมือดีนักแล
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกสร้างเรือน

พิธีกรรมบางประการเกี่ยวกับลำดับการปลูกสร้างเรือน
จากการค้นคว้าเรื่องพิธีกรรมในการสร้างเรือนจากแหล่งเอกสารเท่าที่หาได้พอสรุปเป็นขั้นตอนเคร่าๆ ได้ดังนี้
๑) การเข้าป่าตัดไม้มาทำเสาและเครื่องเรือนในตำราแผนโบราณ จะบ่งบอกถึงเดือนที่เป็นมงคล ที่สมควร จะเข้าป่าเอาไว้ เมื่อตัดไม้แล้วหากไม้ล้มไปฟาดกับไม้ต้นอื่น ไม้ต้นนั้นไม่ควรนำเอามาสร้างเรือน หากล้มไปทิศต่างๆ ก็จะมีข้อความทำนายเอาไว้ว่าควรนำไม้ที่ล้ม หรือฟันไม้ให้ล้มไปทางทิศใดมาสร้างจึงจะอยู่สุขสบาย สัตว์เลี้ยงไม่มีโรคภัย
๒) ฤกษ์ที่เหมาะสม ในภาษาทางเหนือเรียกว่า “มื้อจั๋นวันดี” โดยที่ตำราจะแบ่งไว้ดังนี้ วันเสียประจำเดือน ว่าแต่ละเดือนมีวันใดบ้างที่เป็นวันเสีย วันจมวันฟู วันจม เป็นวันที่ควรเว้น วันฟูเป็นวันดีในตำราจะบอกวันจมวันฟู ของแต่ละวันเอาไว้
การหา “วันฟ้าตี๋แส่ง” โดยให้เอาจุลศักราชตั้งเอา ๑๐๘ หารเอาเศษที่ได้มาตั้งเอาเกณฑ์เดือน (ในตำราจะบอกเกณฑ์เดือนแต่ละเดือนไว้) เข้าบวกเอาดิถีวันที่เราต้องการบวกเอา ๕ คูณ ๗ ลบ เอา ๙ หาร ถ้ามีเศษเท่าใดให้ถือว่าวันนั้น “ฟ้าตี๋แส่ง” เท่านั้น และเศษแต่ละเศษที่ได้จะมีข้อกำหนด และทำนายเหตุการณ์ดีร้ายเอาไว้
นอกจากได้วันที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวไว้แล้ว ยังต้องเอาอายุผัวและเมียของผู้ต้องการจะปลูกบ้านมารวมกันแล้วจัด “ออก ๘ แล ๘” (มีความหมายว่าหารด้วย ๘) เหลือเศษเท่าใดก็ให้ดูข้อทำนายร้ายดีจากตำรา
๓) พิธีเสี่ยงทายหาบริเวณจะสร้างบ้านว่าบริเวณใด ในที่ดินทั้งหมดที่จะสร้างเรือนเป็นที่เหมาะสม เมื่อสร้างแล้ว จะเกิดมงคลแก่ผู้อาศัย โดยได้กำหนดพิธีกรรมเอาไว้ให้หาใบฝาแป้งมา ๘ ใบ แล้วเอาใบฝาแป้งนี้ห่อขี้ดินใบหนึ่ง ห่อเปลือกไม้ใบหนึ่ง ห่อเปลือกไข่ไก่ใบหนึ่ง ห่อดอกไม้หอมใบหนึ่ง ห่อถ่านไฟใบหนึ่ง ห่อลูกหินใบหนึ่ง ห่อข้าวเปลือก ใบหนึ่ง ห่อผมยุ่งใบหนึ่ง เมื่อห่อเสร็จแล้วให้จัดพานข้าวตอกดอกไม้ใส่ธูป ๕ คู่ เท่ยน ๕ คู่แล้วเอาห่อเหล่านั้นใส่พานพร้อมกับเงินตามที่กำหนดไว้ แล้วจึงให้ผู้ประกอบพิธีอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดนุ่งห่มผ้าใหม่ นำพานไปยังบริเวณที่จะปลูกเรือน พอไปถึงให้นั่งคุกเข่าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยกพานขึ้นเหนือหัวพร้อมกับกล่าวคำอธิษฐานแล้วอาราธนาอัญเชิญพระอินทร์ พระพรหม เทวดา แม่นางธรณี เจ้าที่ รุกขเทวดา ฯลฯ แล้วอธิษฐานว่าผู้สร้างบ้านและครอบครัวจักปลูกสร้างบ้านในบริเวณที่นี้ หากบริเวณส่วนใดไม่ดี ก็ขอให้จับได้ห่อที่ไม่ดี แล้วว่าคาถาตามที่กำหนด ๓ คาบ หลับตาจับเอาห่อสิ่งของนั้น ๑ ห่อแล้วเอามาเปิดดู ถ้าได้ห่อดินกระทำการอันใดสัมฤทธิ์ทุกอย่าง ถ้าได้ห่อเปลือกไม้มักมีโรคภัยเบียดเบียนมิขาด ได้ห่อข้าวเปลือกจักมีสุขสวัสดี ได้ห่อลูกหินจะอยู่ดีมีสุขมีหลักฐานมั่นคง ได้ห่อเปลือกไข่การทำมาหากินไม่เจริญ ได้ดอกไม้จักมีชื่อเสียงได้ยศได้เกียรติ ได้เป็นใหญ่ ได้ห่อผมยุ่งจักอายุสั้นจักฉิบหายทั้งครอบครัว ได้ถ่านไฟจักถูกภัยพิบัติฉิบหายทั้งคนและสัตว์เลี้ยง เมื่อทำพิธีในบริเวณใดจับได้ห่อไม่ดีก็ให้ย้ายไปที่อื่นให้ห่างจากเดิมไปประมาณ ๓ วา จนกว่าจะจับได้ห่อดีจึงใช้บริเวณส่วนนั้นเป็นที่ปลูกบ้าน
๔) พิธีขุดหลุมเสา ผู้สร้างบ้านจะต้องถามหมอดู หรืออาจารย์เสียก่อนว่าจะขุดหลุมทางทิศใดก่อนและควรเอามูลดินที่ขุดได้จากหลุมกองไว้ทางทิศใดของหลุม เอาปลายเสาไปทางทิศใด ตามวัน และเดือนที่ตำราบ่งไว้
๕) พิธีขอที่ดินกับพญานาค โดยก่อนที่จะขุดหลุมเสาเรือนนั้นต้องวัดจากมุมทั้ง ๔ ของบริเวณที่จะปลูกสร้าง เพื่อจะหาจุดศูนย์กลาง แล้วขุดหลุมอีก ๑ คืบ กว้าง ๑ คืบ เตรียมเครื่องสังเวยตามตำรา ถัดจากนั้นอาจารย์หรือหมอจะอ่านโองการขอที่ดินจากพญานาค โดยเชื่อว่าเป็นผู้รักษาแผ่นดินให้ขึ้นมารับเครื่องสังเวยเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีโชคชัย ลาภสักการ เมื่อว่าโองการเสร็จ ๓ คาบแล้วให้เอาผ้าขาวรองพื้นหลุมเสามงคล เอาน้ำหอมประพรมลงไป เองสะตวง (กระทงกาบกล้วยใส่เครื่องสังเวย) ไปส่ง (ไปทิ้ง) ทางทิศตะวันออก
๖) พิธีข่มนางไม้ บ้านทุกบ้านต้องมี “เสามงคล” (บางแห่งโดยเฉพาะเมืองน่าน เรียกว่า “เสาพญา”) และเสานางอันเป็นเสารองจากเสามงคล ก่อนจะทำพิธียกเสามงคล และเสานาง ช่างไม้ต้องการให้ทั้ง ๒ เสานี้มีอาถรรพ์และศักดิ์สิทธิ์และกันมิให้ตกมัน ช่างจะต้องทำพิธีศาสตรเภท คือ แก้เสนียดจัญไรโดยช่างไม้ระดับหัวหน้าจะเสกขวานหรือมีดที่จะเกลาเสามาถากพร้อมกับเสกคาถากำกับไปด้วยเพื่อ “ข่ม นางไม้” เมื่อถากเสร็จก็เป็นอันว่าล้างเสนียดในเสาทั้ง ๒ ได้
๗) พิธีเอาใบไม้ผูกเสามงคลและเสานาง โดยเอาใบของนางพญาไม้มาผูกกับเสาตามวัน วัน ๑ (อาทิตย์) ไม้บง ไม้ซางเป็นพญาไม้ (ให้เอาใบไม้ดังกล่าวมาผูก) วันที่ ๒ ไม้ เดื๋อเกี้ยงเป็นพญา วันที่ ๓ ไม้กุ่มเป็นพญาไม้ วันที่ ๔ ไม้ แงะเป็นพญา วันที่ ๕ ไม้ม่วงเป็นพญา วัน ๖ ไม้ทัน (พุดซา) เป็นพญา วันที่ ๗ ไม้ฝาแป้งเป็นพญาไม้แล นอกจาก นี้แต่ละเดือนก็ยังมีพญาไม้เช่นกัน คือ เดือน ๑๑-๑๒ เดือน เกี๋ยงไม้ลมแล้งเป็นพญาไม้ เดือนยี่ ๓-๔ ไม้บัวลาเป็นพญา เดือน ๕-๖-๗ ไม้ชมพูเป็นพญา เดือน ๘-๙-๑o ไม้ขี้เหล็กดำ ไม้ขนุนเทศเป็นพญา (การนับเดือนของลานนาเร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)
๘) พิธียกเสามงคลและเสานาง เพื่อให้เสามีมงคล และเกิดสุข สวัสดี แก่เจ้าของชาวบ้านจะต้องหาเพื่อนบ้านที่มีชื่อว่า แก้ว คำ เงิน ทอง มั่น แก่น มาเป็นคนช่วยหามและยกเสาลงหลุม ก่อนจะยกเสาลงหลุมและฝังเสานั้นจะต้องไปหาใบเต้า ใบหนุน (ขนุน) ใบดอกแก้ว ใบตัน (พุทรา) มารองก้นหลุมเสาเพื่อเป็นคติว่า จะได้มาช่วยค้ำหนุนจุน เจือ ให้เรือนหลังนั้นมั่นคง และผู้อยู่อาศัย ก็มีฐานะมั่นคง และ เจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิต เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวบ้านถือเอาชื่อที่ตรงกับความหมายของชีวิตในทางที่ดีมาเป็นเกณฑ์ ในการประกอบพิธี
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ประตูบ้าน ยุ้ง และบ่อน้ำชาวลานนา

คติความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะการเจาะประตูเข้าบ้าน การสร้างยุ้ง และบ่อน้ำ
ตำราได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่าหากจะทำประตูบ้านก็ควรทำให้ถูกต้องตามลักษณะถึงจะดีแล และควรทำดังต่อไปนี้ ให้เอาเชือกวัดยาวไปตามรั้วบ้านที่ต้องการจะทำประตูนั้น สมมุติว่าจะทำประตูด้านใต้ก็ให้เอาเชือกวัดแค่มุมรั้วบ้านตะวันออกจรดมุมบ้านตะวันตกแล้วเอาความยาวที่วัดได้จากเชือกนั้นมาหักเป็น ๖ ส่วนเท่าๆ กัน แล้วหมายเนื้อที่บ้านเป็น ๖ ส่วน เท่าที่วัดนั้น ให้นับแต่มุมตะวันออกเป็นส่วนที่ ๑ มาตลอด ถึงส่วนที่ ๖ มุมตะวันตกนั้นแล ถ้าทำประตูในส่วนที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ส่วนที่ ๓ ไม่ดี ส่วนที่ ๔, ๕, ๖ ทั้งสามส่วนนี้ดีนักแล ฯ สำหรับด้านอื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน ด้านตะวันตก ให้นับจากมุมใต้เป็นส่วนที่ ๑ ส่วนที่ ๑-๒ ไม่ดี ส่วนที่ ๓-๔ ดี ที่ ๕ ไม่ดี ที่ ๖ ดีนัก ด้านเหนือให้นับมุมตะวันตกเป็นส่วนที่ ๑ ไม่ดี ส่วนที่ ๒ ดีนัก ที่ ๓ ไม่ดี ที่ ๔ ดีนัก ที่ ๕, ๖ ไม่ดี ในด้านตะวันออกให้นับจากมุมเหนือเป็นส่วนที่ ๑ ดี ส่วนที่ ๒ ดี ส่วนที่ ๓ ไม่ดี ที่ ๔ ดี ๕-๖ ไม่ดี
ส่วนลักษณะบริเวณที่ควรปลูกยุ้งข้าวนั้น ตำรากล่าวว่าผู้ใดจักปลูกสร้างยุ้งข้าวให้ถือเอาดังนี้
หากเป็นลูกหัวปี ให้สร้างยุ้งข้าวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลูกคนที่ ๒ สร้างยุ้งทิศตะวันออก คนที่ ๓ สร้างทิศตะวันออกเฉียงใต้ คนที่ ๔ สร้างทิศใต้ คนที่ ๕ ทิศตะวันตก คนที่ ๖ ทิศเหนือ คนที่๗ สร้างทิศตะวันตกเฉียงใต้ คนที่ ๘ สร้างยุ้งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถ้าเป็นคนที่ ๙, ๑๐, ๑๑ ก็ไล่ต่อๆ ไปตามลำดับ ที่กล่าวมานั้นหากปลูกเยีย (ยุ้ง) ข้าวตามลักษณะทิศทางที่กล่าวนี้ก็จะอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารมั่งมูลเสมอ
การขุดบ่อน้ำไว้ สำหรับใช้นั้นให้เลือกขุดในที่ดินที่ถือว่าเหมาะสม โดยให้ข้อพิจารณาตามทิศดังนี้ ขุดบ่อน้ำหนตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกไม่ดีจักฉิบหายข้าวของสมบัติ ขุดทางทิศใต้จักได้ทุกข์มากนัก ขุดทางตะวันออกเฉียงใต้ มักผิดเถียง (ทะเลาะ) มักเป็นคดีความ หากของเก่ามีก็ควรถมเสียไม่ดีแล ขุดทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกดีอยู่ดีมีสุขเจริญรุ่งเรืองนักแล
นอกจากนี้ยังมีลักษณะขึดหรืออุบาทว์บางประการที่น่าสนใจ และเป็นข้อห้ามที่ไม่ควรทำได้แก่ การสร้างครกมอง (ครกกระเดื่องตำข้าว) ใต้เยียข้าว (ยุ้งข้าว)บ่ดี ไว้งัวควาย เป็ดไก่หมูใต้เยียข้าวบ่ดี แปง (สร้าง) เยียข้าวกับเรือนบ่ดีผู้ใดกระทำฉันนี้ฉิบหายแล เท่าที่ออกสำรวจ เรือนพื้นบ้านลานนาพบว่าชาวบ้านปฏิบัติตามข้อห้ามนี้โดยเคร่งครัดโดยที่ชาวลานนาจะสร้างครกกระเดื่องตำข้าวเป็นโรงต่างหากโดยเฉพาะ และสร้างยุ้งข้าวแยกจากตัวเรือนโดยเฉพาะทางเชียงใหม่ และลำปางนั้นจะแยกห่าง แต่ทางเมืองแพร่จะแยกห่างจากตัวเรือนไม่มาก ระยะห่างพอที่ไม้กระดานที่จะพาดจากรั้วระเบียงชานไปถึงพื้นระ เบียงของยุ้งข้าวไม่นิยมสร้างบันไดถาวรเอาไว้จะใช้บันไดไม้ไผ่พาดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วนคอกควายวัวนั้นจะแยกไว้ตรงบริเวณหลังบ้านโดยเฉพาะ อยู่ใกล้กับโรงเก็บฟางที่ภาษาเหนือเรียกว่า “ก้างเฟือง” คอกวัวควายนั้น เรียกว่า “ผามวัว ผามควาย” บางทีก็เรียกว่า “แหล่ง” โดย นำวัวควายจากทุ่งนามาผูกกับเสาผาม ผามวัวควายนี้จะปลูกใกล้กับตัวเรือนเพื่อปลอดภัยจากการลักขโมย
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ลักษณะการวางผังบริเวณบ้านของลานนา

ข่วงบ้านบริเวณบ้านของลานนาไทยนั้น มักจะกั้นรั้วไม้ไผ่ที่ให้ความรู้สึกโปร่ง เป็นการบอกขอบเขตอย่างหลวมๆ
ไม่มีความมุ่งหมายที่จะใช้ขอบเขตทางกายภาพอย่างมั่นคงแข็งแรง โดยจะใช้รั้ว ๓ ประเภทด้วยกัน คือ รั้วประเภทที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดก็เป็นเพียงรั้วไม้ไผ่ขัดแตะตามแนวตั้งขัดชิดกันเป็นลายขัดแน่นมองไม่ทะลุไปข้างหลังได้ เรียกว่า “รั้วสะลาบ” หากต้องการไม่ให้สิ้นเปลืองไม้ไผ่ก็จะขัดรั้วเป็นตารางสี่เหลี่ยมโปร่งเรียกว่า “รั่วตาแสง” โดยมากจะ ใช้เป็นรั้วหลังบ้าน รั้วชนิดนี้ชาวบ้านจะใช้เป็นร้านสำหรับไม้เลื้อยที่ใช้รับประทาน เช่น ตำลึง ผักบุ้ง บวบ ให้ไต่เกาะตามแนวรั้วทำให้รั้วดูแน่นทึบขึ้น รั้วอีกชนิดหนึ่งเป็นรั้วโปร่งใช้ไม้รวกลำเล็กๆ มาวางสอดไปในช่องเสาตามแนวนอนวางซ้อนห่างกันประมาณ ๓-๔ ช่อง เรียกว่ารั้ว “ตั้งป่อง” รั้วชนิดนี้มักใช้เป็นรั้วชั่วคราวครั้นมีหรือหาไม้ไผ่ได้มากพอก็จะเปลี่ยนเป็น “รั้วสะลาบ” หรือ “รั้วตาแสง” ต่อไปแล้วแต่จะต้องการ ในกรณีที่อยู่ชิดถนนและระบบการสัญจรใหม่เข้ามา ชาวบ้านจะทำรั้วด้านติดถนนอย่างมั่นคงแข็งแรงเท่านั้น บางแห่งจะปลูกต้นชาเป็นพุ่มหนา แล้วตัดเป็นแนวกำแพงอย่างมีระเบียบ ลดความแข็งกระด้างลงได้ ซึ่งเป็นรั้วที่เพิ่งนิยมกันในระยะหลัง
ภายในเขตบ้านจะประกอบด้วยสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุ คือ ตัวเรือน ยุ้งข้าว บ่อน้ำและห้องน้ำที่ก่อเป็นกำแพงอิฐ หรือเสื่อลำแพน เรียกว่า “ต้อมน้ำ” ตั้งอยู่ใกล้กับบ่อน้ำ บริเวณใกล้บ่อน้ำ หรือเชิงบันไดขึ้นบ้านจะปลูกสวนดอกไม้ช่วยสร้างบรรยากาศแก่ตัวเรือนอย่างน่าชม การที่ปลูกสวนดอกไม้อยู่ใกล้เชิงบันไดก็เพื่อสะดวกที่จะเก็บดอกไม้ไปถวายพระ หน้าตัวเรือนจะเป็นลานบ้านหรือข่วงบ้าน เป็นลานสำหรับเป็นที่เล่นของเด็กแล้วยังเป็นที่ใช้สารพัดประโยชน์ ตั้งแต่ตากพืชผล ผ้าผ่อน ชุมนุมกลุ่ม ฯลฯ เป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดมุมมองที่งดงามแก่ตัวเรือน ส่วนบริเวณที่เหลือจะปลูกไม้ยืนต้นต่างๆ เช่น ลำใย มะม่วง มะปราง กระท้อน มะกรูด มะนาว ต้นหมาก มะพร้าว ไม้ไผ่ กล้วย อ้อย ฯลฯ ริมรั้วจะปลูกขิง ข่า ตะไคร้ ผักตำลึง ผักบุ้ง ให้ทอดยอดไปตามรั้วบ้านเมื่อเวลารับประทานก็เก็บไปแกงกินได้ ถัดจากข่วง หรือใกล้ๆ กับข่วงบ้านจะมีสวนครัวปลูกผักต่างๆ ไว้รับประทานตามฤดูกาล เช่น ผักกาด ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ต้นหอม ผักชี ฯลฯ สวนครัวนี้จะล้อมด้วยไม้ไผ่ สานเป็นตาเล็กๆ กันมิให้เป็ด ไก่ สัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันทุกบ้านเข้าไปรบกวน รั้วชนิดนี้เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “ฮั้วฮี้” อนึ่งข่วงบ้านนั้นหากบ้านใดปล่อยไว้ให้สกปรกไม่เรียบร้อยแล้วเจ้าของบ้านมักถูกตำหนิว่าคนในบ้านเป็นคนเกียจคร้าน
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ความเชื่อเรื่องวางผังหันทิศของตัวบ้านของชาวลานนา

คติความเชื่อบางประการของลำดับการสร้างบ้านจากเรือนไม้ปั่วไปสู่เรือนไม้จริง
จากคำเวนตานและคำหื้อปอน (คำให้พร) (พิธีอ่านโองการพร่ำพรรณาเหตุการณ์และอานิสงส์) ขึ้นบ้านใหม่ของชาวเหนือนั้น พบว่าก่อนที่ชาวบ้านจะสร้างเรือนไม้จริงนั้น เขาจำต้องอยู่อาศัย “ตูบ” หรือ กระต๊อบหลังเล็กๆ ไปพลางก่อน อีกทั้งยังต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองและวัสดุก่อสร้างมาจนครบ ซึ่งจะกินเวลานานพอสมควรจึงจะสามารถสร้างเรือนไม้จริงขึ้นมาได้ แม้ในตำราโลกสมมุติราชอันเป็นตำรากล่าวถึงความเชื่อ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกเรือนของลานนาก็กล่าวไว้ว่า เมื่อบุคคลแยกเรือนออกจากเรือนพ่อแม่ไปนั้น ครั้งแรกควร สร้างเรือนขนาดเล็กประเภทเสา จ้ำดิน (เสาเตี้ยติดพื้น) ชนิดตูบไปพลางก่อนแล้วค่อยขยับขยายให้ใหญ่ขึ้นจนกระทั่งเป็นเรือนไม้จริงในชั้นหลัง หากไม่ทำตามลำดับขั้นตอนดังว่านี้ถือว่า “ขึด” แก่ผู้อาศัย ดัง ข้อความดังนี้ “ทีนี้จักกล่าวห้องคนทั้งหลายควรสร้างแปงเรือนอยู่นั้น บุคคลลงจากเรือนพ่อแม่หัวที (ตอนแรก) นั้น ก็ควรแปงเรือนเสาดั้งจ้ำดินก่อนแล หลังจากนั้นก็ควรแปงเรือนมัดขื่อมัดแป หลังจากนั้นแม้นจักแปงเรือนประการดัง ฤาก็ควรแลบุคคลผู้แปงเรือนสุบขื่อสุบแปเป็นจามะขันยศอันใหญ่แล้ว” และครั้นเมื่ออยู่เรือนสุบขื่อสุบแปมีฐานะสูงแล้ว ก็ไม่ควรมาสร้างเรือนแบบเสาดั้งจ้ำดินอาศัยอีก ส่วนว่าเมื่อสร้างเรือนเสาดั้งจ้ำดินอยู่นั้นก็ควรพำนักอาศัยอยู่เพียง ๓ ปี เป็นอย่างมาก แสดงว่าชาวบ้านเกือบทุกครอบครัว หากเตรียมของสร้างเรือนใหม่จะใช้เวลาเตรียมของให้พร้อมและครบได้ในเวลา ๓ ปี
คติความเชื่อเกี่ยวกับการหันทิศของตัวบ้านและการวางผังอาคารทิศที่ควรหันหัวนอน
ความเชื่อในเรื่องทิศของชาวลานนานั้นเชื่อว่าทิศที่เป็นมงคล ได้แก่ ทิศเหนือและตะวันออกเพราะเป็นทิศที่ให้ความเจริญงอกงามและพละกำลัง ส่วนทิศใต้และทิศตะวันตก หมายถึงความตายและความเสื่อม ฉะนั้นวัดวาอารามของภาคเหนือมักนิยมหันหน้าไปทางเหนือหรือตะวันออกเป็นส่วนมาก ส่วนบ้านเรือนนั้นกลับหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือใต้โดยวางขื่อไว้ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (ด้านขื่อ เป็นด้านสกัดของบ้าน ขื่อจึงอยู่ทางทิศเหนือและใต้)
มิฉะนั้นจะเรียกว่า “วางแปขวางเมือง”๑ เพราะเมืองเหนือนั้นการวางตัวเมืองจะวางด้านสะกัดหรือด้านกว้างไว้ทิศเหนือ และใต้ เรียกว่า “ขื่อเมือง” ส่วนยาวของเมืองนั้นไว้ในทิศตะวันออก-ตะวันตกเรียกว่า “แปเมือง” การวางกำแพงเมือง เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าเม็งรายก็วางผังกำแพงในทิศทางเช่นนี้ ฉะนั้นแกนของตัวเรือนลานนาจึงวางแกนไปตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งภาษาช่างเรียกว่า “วางเรือนขวาง
ตะวัน” โดยหันด้านสะกัดซึ่งเป็นด้านหน้าจั่วไว้ทางทิศเหนือ และใต้เอาด้านสะกัดเป็นหน้าเรือน ผิดกับการวางแกนและตัวเรือนของภาคกลางที่วางแกนไปตามทิศตะวันออกหรือ ตะวันตก หรือวางตามตะวันและใช้ด้านยาวเป็นด้านหน้าเรือน เหตุที่เรือนลานนาวางเรือนแบบนี้จนถือเป็นกฎเกณฑ์ของสังคม อาจจะสันนิษฐานว่าได้วิวัฒนาการมาจากคติดั้งเดิม เนื่องจากเดิมชาวเหนือเดิมอาศัยอยู่ในดินแดนแถบหนาว จึงวางตัวเรือนให้ขวางตะวันรับแสงแดด เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตัวเรือน ดังที่ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ ได้กล่าวว่าตัวท่านเองได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า เชียงใหม่สมัยโบราณครั้งที่ยังมีป่าไม้หนาแน่น ดินฟ้าอากาศเย็นสบายกว่าปัจจุบันนี้ แม้เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมาแล้วยังมีเรือนบางหลังที่สร้างห่างจากตัวเมืองออกไปยังมีการวางเตาไฟ อยู่ในห้องนอนใหญ่ ครั้นการขยายบริเวณเพาะปลูกกสิกรรม ทำนาอย่างกว้างขวาง เป็นสาเหตุทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวนแห้งแล้งร้อนอบอ้าวยิ่งขึ้น เตาไฟจึงมีเพื่อการปรุงอาหารแต่อย่างเดียว ฉะนั้นจึงแยกให้เตาไฟอยู่ในเรือนครัวอีกหลังหนึ่ง ออกจากเรือนใหญ่โดยชานระเบียง (ชานฮ่อม) การแยกเตาไฟ ออกจากส่วนพักอาศัยนี้นับว่าเป็นวิวัฒนาการ ครั้งสำคัญยิ่งของเรือนไทย ส่วนตัวเรือน ยังคงวางขวางตะวันอยู่เช่นเดิม แสดงว่าได้คงลักษณะเรือนแบบดั้งเดิม สมัยแรกเริ่มครั้งบรรพบุรุษได้ปลูกอยู่ในดินแดนที่หนาวเย็น เอาไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ทิศที่สำหรับหันหัวนอน นั้นถือไปอีกแบบหนึ่ง ต่างกับการวางตัวเรือนในตำราแผนโบราณพื้นเมืองกล่าวถึงลักษณะการผินหัวนอนไว้ว่า ลักษณะการนอนต้องนอนให้ถูกทิศทางจึงจะดี ควรเลือกดังนี้ นอนผินหัวไปทางทิศตะวันออกมีความสุขความเจริญมีปัญญาดีปราศจากภัยร้ายทั้งมวล นอนผินหัวไปทางทิศใต้มีอายุมั่นขวัญยืน นอนผินหัวไปทางทิศตะวันตกจักมีแต่ความเดือดเนื้อร้อนใจ ผินหัวไปทางทิศเหนือมักมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนเสียข้าวเสียของไม่ดีแล ฯ ความเชื่อเรื่องทิศหันหัวนอนนี้ต่างกับทิศของการผังวัด แต่เท่าที่สำรวจมาแล้วพบว่าการผินหัวนอน ส่วนมากแทบทุกบ้านจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกไปทาง หิ้งพระในเรือนเพราะทุกบ้านทำหิ้งไว้ตรงฝาตะวันออกของเรือนและหันหน้าหิ้งมาทางหัวนอน สรุปความได้ว่า ทิศตะวันออกนั้นเป็นทิศที่เป็นมงคลอย่างเดียว ทิศตะวันตกเป็นทิศอัปมงคลอย่างเดียว ส่วนทิศเหนือ และใต้นั้นไม่แน่นอน เป็นได้ทั้งมงคลและไม่มงคล แล้วแต่เงื่อนไขที่ตำราจะบ่งบอกไว้หาได้ตายตัวเช่นทิศตะวันออกและตะวันตกไม่
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ข้อห้ามการสร้างบ้านไม้จริงของชาวล้านนา

ข้อห้ามบางประการของการสร้างบ้านไม้จริงของชาวบ้านธรรมดา
มีประเพณีถือกันมาว่าเรือนไม้จริงนั้นสร้างได้เฉพาะเรือนของเจ้าและท้าวพญาที่เป็นชนชั้นสูงเท่านั้น หากชาวบ้านธรรมดาจะสร้างบ้างก็ได้แต่มีข้อห้ามว่าไม่ให้สร้างด้วยไม้จริงหมดทั้งหลัง โครงสร้างและเสาต่างๆ เป็นไม้จริงหมด ส่วนพื้นนั้นต้องปูฟากบางส่วน ฝาบางส่วนจะต้องเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะหรือภาษาถิ่นเรียกว่า “ฝาขี้ล่าย” ที่เป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า การสร้างเรือนไม้จริงทั้งหลังเป็นงานใหญ่ต้องอาศัยแรงงานมากกว่าเรือนไม้ปัว ผู้ที่สามารถจะสร้างได้ต้องอาศัยกำลังคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนระดับเจ้าและท้าวพญานั้น ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เพราะสามารถเกณฑ์แรงงานได้จาก “พวกไพร่” ที่ขึ้นสังกัดกับตนมาใช้งานได้ การทำงานจะต้องเริ่มตัดไม้จากป่า เลือกโค่นไม้ต้นใหญ่ๆ เพื่อมาทำเสา ฝา และพื้น ตลอดจนคานและตง การลำเลียงมาสู่เมือง หรือ บริเวณปลูกสร้าง ย่อมเป็นไปอย่างยากลำบากต้องอาศัยเวลา และแรงงานมาก ขณะก่อสร้างการยกเสา คาน และตัวไม้ โครงสร้างต่างๆ เข้าประกอบเป็นตัวเรือนก็ต้องอาศัยกำลังคนหลายคน นอกจากนี้การเตรียมการตั้งแต่เลื่อยหรือถากเสา ฝากระดาน ขื่อ แป คาน ตง ก็ต้องเสียเวลาหลายเดือนกว่าจะได้ตัวไม้ เครื่องเรือนครบบริบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านจะเสียเวลาทำมาหากินในช่วงเมื่อถึงฤดูทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนในสังคมกสิกรรมไปเสีย เพราะการปลูกสร้างบ้านเรือนั้นมักจะเริ่มเตรียมการหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไปแล้ว หากชาวบ้านซึ่งเป็นชาวนาส่วนใหญ่และไม่มีฐานะทางการเงินที่จะว่าจ้างค่าแรงและจ้างช่างมาปลูกสร้างก็ย่อมเป็นการยากเกินกว่าฐานะที่ตนจะทำได้นั่นเอง ผู้ใดฝืนทำย่อมตกในฐานะผู้ล่มจม และต้องความเป็นอัปมงคลแก่ตนโดยแท้ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปถือว่าขึดแก่ตัวผู้สร้างเองโดยถ่ายเดียว ครั้นต่อมาเมื่อเจ้านายทางภาคเหนือหันไปนิยมสรางอาคารพักอาศัยแบบสมัยนิยม คติข้อห้ามนี้จึงได้เลิกราไปโดยปริยาย และชาวบ้านที่มีฐานะจึงสามารถใช้ไม้กระดานสร้างเรือนไม้จริงได้ทั้งหลัง
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ความเชื่อเกี่ยวกับที่พักอาศัยของล้านนา

ความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับเรือนพักอาศัยของลานนา
ลักษณะทางกายภาพของการตั้งถิ่นฐานเดิมของลานนา ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นๆ ของสังคมเกษตรกรรม คือ แบ่งได้เป็นการตั้งถิ่นฐานระดับเมืองและชนบท ชุมชนระดับเมืองนั้นประกอบด้วยบริเวณที่เป็นเมืองโดยเฉพาะได้แก่ส่วนที่มีกำแพงล้อมรอบ และหมู่บ้านที่รายล้อมบริเวณกำแพงเมืองออกไป ภายในตัวกำแพงเมือง เรียกว่า “ในเวียง” ประกอบด้วยที่พำนักของเจ้าเมือง หรือคุ้มหลวง ติดกับคุ้มหลวงจะมีสนามกว้างเรียกว่า “ข่วง” บริเวณใกล้กับข่วงจะมีวัดชื่อ “วัดหัวข่วง” เสมอ นอกจากนี้จะเป็นย่านพำนักอาศัยของพวกขุนนางและผู้มีฐานะซึ่งจะเป็นเจ้าของที่ดินหรือที่นาจำนวนมากในชนบทรอบๆ ตัวเมือง หมู่บ้านภายในตัวเมืองมีหลายหมู่บ้าน ศูนย์กลางของหมู่บ้านมีถนนหลักและถนนซอยเชื่อมโยงหมู่บ้านต่างๆ เข้าด้วยกัน ถนนหลักจะ ตัดเป็นเส้นตรงตัดตั้งแกกัน ส่วนถนนซอยจะมีลักษณะเป็นเส้นตรงบ้างคดเคี้ยวบ้างไม่แน่นอน เมืองบางเมืองโดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ จะมี หนองนาใหญ่ๆ ภายในกำแพงเมืองใกล้ๆ กับกลุ่มวัดบางกลุ่มเป็นส่วนที่คอยรับน้ำฝนที่เอ่อนองในตัวเมืองจากลำเหมืองระบายน้ำแล้วระบาย ต่อลงยังคูเมือง และธารน้ำนอกเมืองลงสู่ลำน้ำใหญ่ต่อไป
ถัดจากชุมชนเมืองออกไปจะเป็นทุ่งนารายล้อมหมู่บ้านรอบเมืองเอาไว้ มีหมู่บ้านของชาวนาในชนบทกระจายตัวอยู่ท่ามกลางทุ่งนาข้าว หมู่บ้านมีสองลักษณะคือหมู่บ้านแบบเกาะกลุ่มแน่นเป็นกระจุกบนที่ดอน หรือเรียงรายเป็นลักษณะเส้นแถบตามสันพนังของลำน้ำใหญ่ๆ และลำห้วย หรือลำเหมืองที่ไหลรวมลงสู่ลำน้ำ
จากโคลงเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจืองที่ได้ยกมาแต่แรก ทำให้ทราบชัดว่าได้มีการแบ่งขนาดลักษณะของเรือนพักอาศัยตามลำดับช่วงชั้นของสังคม โดยแบ่งช่วงชั้นออกเป็น ๒ ระดับอย่างกว้างๆ คือ ระดีบบริหารและระดับชาวบ้านซึ่งมีอาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่กล่าวมานี้กล่าวถึงรูปแบบของชุมชนก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารมาเป็นแบบสมัยปัจจุบัน โดยที่ชนชั้นระดับบริหารจะอยู่เรือนไม้ขนาดใหญ่ ชาวบ้านหรือชาวนาที่มีฐานะจะอยู่เรือนไม้ขนาดธรรมดาและชาวนาทั่วๆ ไปที่มีฐานะค่อนข้างยากจนจะอยู่เรือนไม้ไผ่
เรือนพักอาศัยของเจ้าผู้ครองนคร หรือกษัตริย์นั้น อาคารพักอาศัยมีลักษณะแตกต่างกับเรือนขุนนางและเรือนชาวบ้าน อาคารจะประดับด้วยช่อฟ้าป้านลมปิดทองอย่างงดงามเรียกว่า “หอคำ” บ้านของขุนนางระดับท้าวพญาหรือชนชั้นสูงเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเรือนหมู่ยกพื้นสูงส่วนมากจะเป็นเรือนแฝดติดกันตั้งแต่สองหลังขึ้นไป หาก แฝดสองหลังภาษาท้องถิ่นก็เรียกว่า “เรือนสองหลังร่วมพื้น” บางหลังอาจจะเพิ่มเรือนครัวขึ้นอีกหนึ่งเป็น “สามหลังร่วมพื้น” ก็มี หลังคามุงดินขอ (กระเบื้อง) หรือ แป้นเกร็ด (กระเบื้องไม้) เคยได้ยินว่าแม้บ้านเจ้านายที่ฐานะไม่ใช่เจ้าผู้ครองนครก็เป็นเรือนหมู่เช่นกันแต่มีหลายหลังร่วมพื้นเดียวกัน เช่น บ้านเจ้าหัวเมืองแก้วซึ่งมีตำแหน่งทางการว่า เจ้าบุรีรัตน์องค์ที่อยู่ที่บ้านประตูเชียงใหม่ในตัวเวียงเชียงใหม่ ในสมัย ๖๐ ปีมาแล้ว มีถึง “เจ็ดหลังร่วมพื้น” ทีเดียว ส่วนบ้านคนมีฐานะมักเป็นเรือนไม้มีลักษณะคล้ายกับเรือนท้าวพญา ซึ่งอย่างมากจะมี ๔ หลังร่วมพื้น อย่างน้อย ๒ หลังร่วมพื้นซึ่งมีทั้งในตัวเมืองและชนบท สำหรับบ้านพักอาศัยของชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีฐานะจะเป็นเรือนไม้ไผ่ผสมไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ทั้งหมดหลังคามุงแฝกหรือใบตองตึง (ใบพลวง) เสาส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เนื้อแข็งขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ นิ้วใหญ่ไม่เกิน ๖ นิ้ว พื้นบางส่วนเป็นฟากบางส่วนเป็นไม้กระดาน ฝาเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะ เรือนยกใต้ถุนสูงเช่นกัน
สันนิษฐานว่าเรือนไม้ไผ่เป็นเรือนพักอาศัยดั้งเดิมของชาวลานนาโดยทั่วไป ครั้นเมื่อเทคนิควิทยาและเครื่องมือพัฒนาขึ้นจึงวิวัฒนาการเป็นเรือนไม้กระดานอีกชั้นหนึ่ง เรือนพักอาศัยแบบเรือนไม้ไผ่ส่วนใหญ่การยืดตัวโครงสร้าง และส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนนั้นด้วยการผูกและมัดด้วยหวายและตอก ซึ่งภาษาทางภาคกลางเรียกว่า “เรือนเครื่องผูก” เรือนแบบนี้เป็นเรือนขนาดเล็ก ทั้งขนาดและตัวไม้โครงสร้าง เสาขื่อแปมีขนาดเล็กพอที่บุคคลเพียงคนเดียวหรือสองคนยก หรือแบกหามได้สะดวก และชาวบ้านทุกคนโดยเฉพาะผู้ชาย สามารถปลูกสร้างกันเองได้โดยไม่ต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญ อีกทั้งสามารถสร้างเสร็จภาย ในหนึ่งวัน หากเตรียมเครื่องเรือนต่างๆ ไว้พร้อมและอาจจะอาศัยชาวบ้านใกล้เคียงมาช่วยกันปลูกสร้างหรือลงแขก บางท้องถิ่นในภาคเหนือเรียกว่า “มาช่วยเอามือหรือเอาแรง” กัน
ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่า “เรือนลานนา” ยกเว้น “หอคำ” ของเจ้าเมืองนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ตามช่วงชั้นของสังคมคือ ชาวบ้านธรรมดาและผู้บริหารได้แก่ “เรือนเครื่องผูก” และ “เรือนเครื่องสับ” (เรือนไม้กระดาน) ตามภาษาทั่วไปของท้องถิ่นภาคเหนือเรียกว่า “เรือนไม้ปัว” (ไม้ปัว-ไม้ไผ่) และ “เรือนไม้จริง” แต่ภาษาโบราณเรียก “เรือนไม้ปัว” ว่า “เรือนมัดขื่อมัดแป” และ “เรือนไม้จริง” ว่า “เรือนสุบขื่อสุบแป”
เรือนไม้จริงของผู้มีฐานะระดับชาวบ้านจะมีขนาดใหญ่กว่าเรือนเครื่องผูก ลักษณะการวางผังนั้น ก็มีระบบเดียวกันกับเรือนเครื่องผูก เรือนพวกนี้ส่วนมากจะอาศัย ช่างผู้ชำนาญที่ชาวลานนาเรียกว่า “สล่า” เป็นผู้ปลูกสร้างโดยมีหน้าที่กะขนาดตัดบากตัวไม้ซึ่งต้องอาศัยฝีมือความชำนาญ และเครื่องมือช่างพิเศษกว่าเครื่องมือของชาวบ้านโดยทั่วไป
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ระดับความเชื่อของชาวล้านนา

ความสัมพันธ์ของคติความเชื่อระหว่างระดับเมืองและระดับหมู่บ้าน
ตำราการดูลักษณะดินของครูบาโนกล่าวนั้นสามารถใช้เลือกสถานที่สำหรับสร้างเมืองจนกระทั่งถึงหมู่บ้านตลอดจนที่สำหรับสร้างบ้าน การเลือกทำเลเมืองนั้นย่อมเป็นวิสัยของชนชั้นบริหารระดับเจ้านาย จึงแสดงว่าตำราดังกล่าวที่ได้รวบรวมคติและพิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นความรู้ที่ผู้รู้จะเป็นผู้บอกกล่าว หรือแนะนำแก่ชนชั้นปกครองจนถึงชาวบ้านและเป็นความรู้หรือตำราที่ใช้ร่วมกัน ในสมัยที่ลานนายังเป็นอิสระดำรงฐานะเป็นประเทศราชอยู่นั้น พิธีกรรมต่างๆ ในราชสำนักของเจ้าผู้ครองนครยังคงนิยมประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันเรื่อยมา ครั้นอำนาจบริหารตกมาอยู่ใต้อำนาจบริหารส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมานั้น คติความเชื่อและพิธีกรรมของราชสำนักฝ่ายเหนือก็เริ่มเสื่อมความนิยมและเลิกราไปในที่สุด แต่พิธีกรรมตลอดจนคติความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นตกมาอยู่กับประชาชนทั่วไปทั้งหมู่บ้านในเมืองและชนบทที่ยังคงนิยมปฏิบัติและยึดถือกันอยู่ โดยชาวบ้านจะอาศัยพระที่เชี่ยวชาญทางคติแผนโบราณเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งพระประเภทนี้มักจะมีตำราที่ตกทอดสืบต่อกันมาบันทึกไว้ในสมุดข่อยหรือปั้มหนังสา และในใบลาน พิธีกรรมบางอย่างพระก็จะเป็นผู้ประกอบพิธีเอง บางอย่างพระจะให้คำแนะนำโดยให้ชาวบ้านไปว่าจ้าง หรือติดต่อ ฆราวาส “หรืออาจารย์” ผู้ทรงความรู้ประจำหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบพิธี ความรู้เหล่านี้เดิมบันทึกสำหรับใช้กันเฉพาะหมู่ผู้ประกอบพิธีกรรมเท่านั้นและเป็นตำราที่หวงแหนไม่ค่อยถ่ายทอดกันอย่างกว้างขวาง ครั้นตกมาถึงสมัยปัจจุบันความรู้ต่างๆ เริ่มสูญหายไป จนถึงกับมีสำนักพิมพ์บางแห่งในภาคเหนือได้ว่าจ้าง ให้หาผู้รวบรวมและพิมพ์ เผยแพร่ซึ่งหนังสือ ดังกล่าวจะมีวางขายกันทั่วไปตามร้านขายเครื่อง สังฆภัณฑ์ ซึ่งผู้รวบรวมก็มักกล่าวว่าได้รวบรวมมาจากตำราแผนโบราณที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่โบราณที่ได้มาจากสมุดข่อยและคัมภีร์ใบลานที่เขียนด้วยอักษรพื้นเมือง
อนึ่งการเลือกดูที่ๆ จะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ในพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงพระเจ้าเม๊งราย พระร่วงและพระยางำเมืองได้ขึงเชือกระดับดูก็รู้ว่าพื้นดินตรงบริเวณจะสร้างเมืองนั้น เบื้องตะวันตกสูงเอียงต่ำไปทางตะวันออก เป็นที่ที่มีเดชะเป็นชัยมงคลเป็นอันมาก ซึ่งตรงกับตำราแผนโบราณในคัมภีร์โลกสมมุติราช และตำราแผนโบราณพื้นเมือง ซึ่งญาณรังษีเป็นผู้รวบรวม และร้านประเทืองวิทยาเชียงใหม่ จัดพิมพ์จำหน่าย โดยได้กล่าวถึงอุปะเทห์แห่งการตั้งบ้านเมืองว่า “เนื้อที่บ้านใด ทิศตะวันตกเฉียงใต้สูง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่ำและทิศตะวันตกเฉียงเหนือสูง ทิศตะวันออก-เฉียงเหนือต่ำ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือสูง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ต่ำ สถานที่นั้นจะมีโชคลาภดีนัก ฯ” (ซึ่งซอยทิศไว้ เป็น 3 ทิศ พื้นที่เป็นมงคลจะสูงตะวันตก และเอียงต่ำมาทางตะวันออก) ซึ่งแสดงว่าคติความเชื่อตั้งแต่สมัยพระเจ้าเม็งรายนั้นยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีคติความเชื่อดั้งเดิมอีกหลายอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานระดับหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าแต่ละหมู่บ้านย่อมมีผี หรืออารักษ์คอยคุ้มครองอยู่เพื่อคอยปกป้องรักษาและอำนวยความสุขสมบูรณ์แก่ชาวบ้านหมู่บ้านในชนบทของลานนาเกือบทุกหมู่บ้านใน ปัจจุบันนี้ แต่ละหมู่บ้านจะมีบริเวณที่พำนักของผีเสื้อบ้าน (บางแห่งเรียกว่าผีเจ้าบ้าน) โดยบริเวณนั้นชาวบ้านจะปลูกศาลหรือหอให้ผีเจ้าบ้านใช้เป็นที่สิงสถิต บริเวณดังกล่าวจะตั้งอยู่ตรงบริเวณชายบ้านที่เป็นดงไม้หรือมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ โดยเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นเป็นที่สิงสถิตของผีและถือว่าเป็นอารักษ์ที่มีศักดิ์ตํ่ากว่าอารักษ์เสื้อเมือง ซึ่งผีหรือเจ้าบางองค์จะคุ้มครองหมู่บ้านตลอดทั้งไร่นา และผีหรือเจ้าบางองค์จะคุ้มครอง เฉพาะตัวหมู่บ้าน ผีที่คุ้มครองหมู่บ้าน และไร่นา เรียกว่า “ผีเจ้านาย” ผีที่คุ้มครองหมู่บ้านโดยเฉพาะเรียกว่า “ผีเจ้าบ้าน” ผีนี้จะไม่มีอำนาจครอบคลุมไปถึงบริเวณเนื้อที่นา ซึ่งบรรดาผีหรืออารักษ์หรือเจ้านี้สะท้อนให้เห็นไปถึงโครงสร้างทางการเมือง และสังคม ของชาวนาไทยภาคเหนือ โดยที่แต่ละหมู่บ้านตำบล และเมืองจะมีวิญญาณคุ้มครองอยู่เป็นตำแหน่งประจำ ที่มีอำนาจลดหลั่นกันตามลำดับชั้นของขนาดเนื้อที่ๆ ผีเจ้าถือครองอยู่ จากการสำรวจข้อมูล ทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ นั้นพบว่าชาวบ้านยังคงนับถือ บางบ้านถือเคร่งครัดมาก และยังเชื่อกันว่าหากหมู่บ้านใดมีคนจากหมู่บ้านอื่นโยกย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะต้องไปบอกกล่าวให้ผีเสื้อบ้านหรือผีเจ้าบ้านทราบเสมอ โดยเฉพาะแถบอำเภอจูน จังหวัดพะเยา และหมู่บ้านแถบอำเภอเชียงกลางจังหวัดน่าน การเซ่นสรวงจะต้องกระทำทุกปีในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมอันเป็นเวลาก่อนช่วงฤดูทำนานั่นเอง แม้ในเมืองเชียงใหม่นั้นก็เชื่อกันว่ามีผีปู่แสะย่าแสะ เป็นผีที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่นอกเหนือจากอารักษ์เจ้าหลวงคำแดง และมีความสำคัญมาก สมัยก่อนกษัตริย์ ขุนนาง และชาวบ้านเป็นผู้ร่วมพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี กล่าวกันว่าการที่เมืองเชียงใหม่ต้องประสบยุคเข็ญก่อนเสียเอกราชแก่พม่าในสมัยกษัตริย์เมกุฏิก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากที่กษัตริย์ห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปทำพิธีบูชา และเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ แม้ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของเชียงใหม่ได้มีชาวบ้านส่งบัตรสนเท่ห์ กล่าวหาว่าเจ้าเมืองไม่สนใจเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ การเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะนี้ชาวบ้านเชิงดอยสุเทพ และชาวบ้านแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ยังคงกระทำพิธีสังเวยอยู่ นอกจากนี้ยังมีพิธีสักการะบูชาเสาอินทขีล (หลักเมือง) ซึ่งเป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต พิธีดังกล่าวมักจะทำกันในปลายเดือน ๘ เหนือ (เดือน ๖ ใต้) ช่วงข้างแรมแก่ๆ มักจะเริ่มทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ เสร็จเอาเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ในระหว่างการทำพิธีนี้เขาจะจัดให้มีซอพื้นเมือง และมีช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบมาฟ้อนสังเวยเทพยดาอารักษ์ พวกช่างซอที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ทุกคนไม่ว่าอยู่ห่างไกลสักเพียงไร จะต้องเดินทางมารวมกันที่เสาอินทขีล และผลัดกันซอ เป็นพลีกรรมถวาย และมีพิธีกรรมสืบชาตาเมืองชาตาบ้านอีกด้วย การสืบชาตาเมืองจะทำที่บริเวณกลางเมืองและบริเวณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในกำแพงเมือง ส่วนพิธีสืบชาตาบ้านจะทำที่บริเวณ “ทอเสื้อบ้าน” มีการสังเวยจตุโลกบาล และเสื้อบ้านมีการทำบุญ ตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษึสงฆ์ ที่นิมนต์มาสวดพระปริตต์ และชัยมงคล เพื่อขับไล่สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรในหมู่บ้าน ให้อันตรธานหรือสูญหายไป พิธีสักการะบูชาเสาอินทขีลนั้นในสมัยก่อนได้จัดทำกันเป็นงานใหญ่ และทำกันเป็นประจำมาเลิกเอาในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา และปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รื้อฟื้นจัดทำพิธีขึ้นอีกแต่ทำเฉพาะการบูชาอินทขีลอย่างเดียว
ในบางหมู่บ้านตรงบริเวณทางแยก ๔ หรือ ๓ แพร่ง กลางๆ หมู่บ้านจะมีการปักเสาหลักไม้ เรียกว่า “เสาหลักบ้าน” เอาไว้นอกเหนือจากศาลผีเสื้อบ้านที่อยู่ในดงไม้เสานี้ บางหมู่บ้านเรียกว่า “ใจบ้าน” (คล้ายกับสะดือบ้าน) ถือว่าเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านนั่นเอง ซึ่งได้คติมาจากเสาหลัก และทุกปีหลังสงกรานต์จนถึงก่อนเข้าพรรษาจะมีการทำบุญเลี้ยงพระและมีการอาราธนาให้ท่านสวดพระปริตต์และชัยมงคลคาถาที่บริเวณหลักบ้านนี้เช่นกัน เสาใจบ้าน หรือหลักบ้านนี้ไม่ค่อยพบมากเท่าที่พบเมื่อออกสำรวจข้อมูลทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน พบเพียง ๓ แห่งที่เป็นหมู่บ้านของชาวไทยยวน คือ ที่หมู่บ้านดอนมูล อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ บ้านเวียงป่าเป้า อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย และบ้านส้อ ต.เบือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ลักษณะดินปลูกบ้านของชาวล้านนา

“ที่ดินใดดินขาวหอมดั่งดอกบัวที่นั้นพี่น้องหลาย ที่ใดหอมดั่งดอกแก้วและเคดเคล้าที่นั้นอยู่ดีมีลูกหลาย ที่ใดดินแดงหอมดั่งโกฏสมอสมุนแว้ง หมาก ขนุน อยู่ที่นั้นดีนัก ที่ใดเหม็นขี้มดก็ดีที่นั่นดีนัก ที่ใดดินเหลืองดั่งขมิ้นที่นั้นอยู่ ท่านมักบูชาที่ใดเป็นทบคดไปมาลายดั่งงูอยู่ บ่อดีมักเสียของแล”
พิธีล้างเสนียดจัญไร (ขึด) ในเมื่อที่ดินมีลักษณะไม่เหมาะสม
ลักษณะที่ดินที่ยกมานี้เป็นเพียงบางส่วน แสดงว่าการเลือกที่ดินที่ จะปลูกสร้างนั้นจะแบ่งลักษณะดินเป็นหลายประเภท คือ ลักษณะรูปร่างของพื้นที่ดิน ลักษณะความสูงต่ำของที่ดินตามทิศต่างๆ ลักษณะของเนื้อดิน หากบ้านใดไปปลูกสร้างในที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามลักษณะเป็นที่ “ขึด” (อุบาทว์) นั้น เชื่อกันว่าผู้อยู่อาศัยในที่ดังกล่าวมักอยู่ไม่ค่อยสบาย มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย มักเกิดถ้อยคดีความ ตกเบี้ย เสียของ ลูกเสียเมียตาย มีข้าวของสิ่งใดก็ฉิบหายวายสิ้น บางทีก็เกิดวิกลจริตและมักมีเหตุร้ายต่างๆ เกิดขึ้นในบ้าน คลอดจนสัตว์เลี้ยงเสมอ ชาวบ้านจะมี “พิธีส่งขึด” (พิธีล้างอุบาทว์จัญไร)โดยมีการแต่งเครื่องบูชาโดยทำสะตวง(กระทงหยวกกล้วยเย็บเป็นรูปสี่เหลี่ยม) ๔ ใบ ถ้วยใส่น้ำ ๔ ใบเล็ก ใส่ในสะตวงพร้อมด้วยสิ่งของต่างๆ ที่ในตำราบอกไว้ แล้ว นำเอาสะตวงไปตั้งไว้ ๔ มุมเรือนโดยอาจารย์ผู้ประกอบพิธี จะอ่านโองการจากสมุคข่อยถอนขึดเสีย การอ่านโองการจะต้องอ่าน ๗ คาบแล้วเอามีดขุดดินและถากเสาเรือนเอาไปใส่ในสะตวงทั้ง ๔ ใบ แล้วนำสะตวงไปวางตามทิศที่บ่งไว้ในตำราให้พ้นเขตบ้าน และพ่อบ้านแม่เรือนต้องย้ายที่นอนเพื่อหลีกเคราะห์เสีย ๓-๗ วัน แล้วค่อยย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมจึงจะวุฑฒิจำเริญสวัสดีแก่ผู้อยู่อาศัย ส่วนหมอหรืออาจารย์จะกล่าวคำอำนวยพรแก่เจ้าเรือนพร้อมกับเสกน้ำมนต์ด้วยน้ำที่ นำเอาส้มป่อย ๗ ฝักชนิดฝักละ ๗ ข้อมาเสกด้วยคาถา ๗ คาบ ให้ผู้อาศัยในบ้านหรือเรือนนั้นนำเอานามนต์มาสระหัวและประพรมในบริเวณบ้านและบนเรือนให้ทั่ว
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์