การสะเดาะเคราะห์

ซึ่งเราจะเห็นว่าการสะเดาะเคราะห์เป็นวิธีการที่แต่ละสำนัก  แต่ละอาจารย์จะมีวิธีชี้แนะ พิธีกรรม ที่ผิดแผกแตกต่างกันไป อยู่ที่ความเชื่อ  ความเหมาะสมแต่ละเรื่องราวของแต่ละท้องถิ่น  แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่เป็นวิธีการที่จะทำให้เคราะห์กรรมเหล่านั้นหมดไปเสียเลยทีเดียว เพียงแต่อาจจะผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือผลของกรรมตามมาล่าช้าเท่านั้นเอง  ซึ่งจะของแนะนำหลักเกณฑ์โดยการไปทำสิ่งเหล่านี้คือ

1.  บริจาคโลงศพให้ศพไร้ญาติ ซึ่งถ้าหากว่าสถานที่แห่งนั้นมีการออกใบอนุโมทนาบัตรให้  ก็ควรที่จะนำไปเผาไฟ พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าพเจ้า(ชื่อ+นามสกุล) ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลในการกระทำครั้งนี้ ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือผู้ที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ให้จงมารับเอาส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทำในครั้งนี้ พร้อมกับช่วยรับเอาทุกข์เอาโศกเอาโรคภัยไปด้วย ขอให้ข้าพเจ้าจงแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง และประสบแต่ความสุข ความโชคดีมีชัยความสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา ทุกประการด้วยเทอญ

2.  การบริจาคเงินร่วมในโครงการไถ่ชีวิตสัตว์ใหญ่ ซึ่งก็อยู่ที่กำลังความพร้อมในการที่จะทำ ว่าทำได้แค่ไหน อีกทั้งเมื่อได้ทำบุญไปแล้วควรเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยก็จะยิ่งดี

3.  การบริจาคโลหิต อาจจะไปบริจาคโลหิต ถ้าร่างกายของเรามีความแข็งแรงเพียงพอ หรือจะบริจาคเงินเพื่อซื้อโลหิตให้แก่ผู้ป่วย ก็แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละบุคคล

ในการสะเดาะเคราะห์ทั้งหมดนี้ จะทำเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ อยู่ที่กำลังความสามารถของเรา ไม่จำเป็น่ที่จะต้องทำทั้ง 3 เรื่องพร้อมกัน  ซึ่งนี่คือการชี้แนะในการแก้ไขทางด้านร่างกาย แต่ทางด้านจิตวิญญาณที่มีการเวียนว่ายตายเกิด ว่าใครเมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรที่ไหนอย่างไร ก็อย่างคำสอนที่กล่าวว่า เมื่อคนเราตายไปแล้วจิตวิญญาณก็จะล่องลอยถอยออกจากร่างในส่วนต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และจะไปเกิดในภพภูมิที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

ถ้าจิตวิญญาณออกทางตา ผู้ตายดวงตาจะเบิกโพลง ก็ไปเกิดเป็น นก กา ไก่ ที่ใช้ดวงตาแสวงหาอาหาร ถ้าจิตวิญญาณออกทางปาก ผู้ตายปากจะเปิดกว้าง ก็ไปเกิดเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ปากขมุบขมิบตลอดเวลา ถ้าจิตวิญญาณออกทางหู ผู้ตายรูหูจะเปิดกว้าง ก็ไปเกิดเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้หูโบกสะบัด ถ้าจิตวิญญาณออกทางจมูก ผู้ตายรูจมูกจะเปิดกว้าง ก็ไปเกิดเป็น มด แมลงหวี่ แมลงวัน ที่ใช้จมูกสูดดมหากิน ถ้าจิตวิญญาณออกทางสะดือผู้ตายรูสะดือจะใหญ่ ก็ไปเกิดเป็นสามัญชนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ถ้าจิตวิญญาณออกทางกระหม่อม ก็ไปเกิดเป็นเทวดา หรือเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ถ้าจิตวิญญาณออกทางประตูวิญญาณ ทุกทวารก็ปิดสนิท ก็กลับสู่นิพพาน ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด

ข้อมูลจาก สถานปฏิบัติธรรมเสียงทิพย์

พิธีซัดน้ำ

นฤมล บุญแต่ง

วัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานนั้น บางส่วนเมื่อเวลาผ่านไปได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย  ปัจจุบันพิธีการหลายอย่างที่มีมาแต่โบราณกาลจึงขาดหายไป เช่น พิธีซัดน้ำ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  มีเรื่องเล่าว่า ซัดน้ำ คือการสาดน้ำในพิธีแต่งงานบ่าวสาวตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ  ซึ่งมีพรรณนาไว้ในบทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม  และตอนแต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลา พิธีนี้เริ่มเวลาบ่ายของวันสุกดิบก่อนพิธีแต่งงาน  จะมีพิธีซัดน้ำที่เรือนหอ เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าว กับกลุ่มของเจ้าสาวกับเพื่อนๆ จะออกมานั่งในพิธีให้ห่างกันพอควรต่อหน้าพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดพระพุทธมนต์ พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี  เป็นผู้นำมงคลสวมให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว  โดยมีสายสิญจน์โยงไปที่หม้อน้ำมนต์  เมื่อพระสงฆ์ให้ศีลสวดมนต์ถึงบทชยันโต  ก็ตีฆ้องชัย  พระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาวและกลุ่มเพื่อนที่น้องห้อมล้อม  ที่ต้องซัดน้ำเพราะนั่งเบียดรวมกันอยู่ จึงต้องใช้น้ำซัดไปจะได้ทั่วถึง จนน้ำหมดบาตรจึงหยุด หรือพอเจ้าบ่าวเจ้าสาวร่นเข้าไปชิดเคียงกันแล้วจึงหยุด ต่อจากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยกบาตรน้ำมนต์เทรดบ่าวสาวคนละครั้ง คนรดสุดท้ายเมื่อเทรดหมดบาตรแล้วก็เอาบาตรครอบศีรษะเจ้าบ่าวเจ้าสาวคนละครั้ง เมื่อเสร็จพิธีพวกเจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงกลับเข้าห้องผลัดเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม

พิธีแต่งงานของชาวอินเดียก็มีการรดน้ำคล้ายของเรา โดยอธิบายว่าน้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์  น้ำจึงเป็นส่วนสำคัญในพิธีแต่งงาน  บ่าวสาวต้องเข้าพิธีอาบน้ำสนานกาย  ให้กายบริสุทธิ์เสียก่อนจึงจะดำเนินพิธีอย่างอื่นต่อไปได้ ดังนั้นพิธีซัดน้ำในงานแต่งงานของไทยจึงน่าจะเป็นเรื่องทำตนให้สะอาดก่อนเข้าพิธีแต่งงานในวันรุ่งขึ้น  ที่ใช้น้ำมนต์ก็เพื่อชำระล้างมลทินอัปรีย์จัญไรให้หมดไป  การรดน้ำจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นพิธีเท่านั้น  ไม่ใช่ตัวพิธีแต่งงานอย่างปัจจุบัน  การซัดน้ำตามประเพณีโบราณ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์  เพราะการซัดน้ำเป็นเรื่องยุ่งยากเปียกเปื้อน จึงเปลี่ยนมารดที่ศีรษะอย่างเดียวต่อมาเห็นว่าการรดที่ศีรษะทำให้ผมเจ้าสาวเสียทรงที่ตกแต่งไว้ จึงเลื่อนมารดที่มือนิดหนึ่ง ด้วยสังข์บรรจุน้ำมนต์ เพื่อให้คล้ายคลึงกับพิธีดั้งเดิม