แดนของสัตว์เดรัจฉาน

สัตว์เดรัจฉานที่เกิดในแดนนี้ มีกำเนิด ๔ ประการ คือ เกิดจากไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไคล และเกิดโดยมีรูปกายโตใหญ่ขึ้นทันใด บรรดาสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ได้แก่ ครุฑ นาค สิงห์ ช้าง ม้า วัว ควาย เนื้อ เป็ด ห่าน ไก่ และนก เป็นต้น สัตว์เหล่านี้บางชนิดไม่มีเท้า บางชนิดมี ๒ เท้า บางชนิดมี ๔ เท้า บางชนิดมีเท้าเป็นจำนวนมาก สัตว์เหล่านี้เวลาเดินควํ่าตัวลงขนานกับพื้น

สัตว์เดรัจฉานมีความรู้อยู่ ๓ อย่างคือ รู้สืบพันธุ์ รู้กินอาหาร และรู้กลัวความตาย ตามปกติสัตว์เดรัจฉาน ไม่รู้จักบุญหรือธรรม ไม่รู้จักเลี้ยงตนด้วยการค้าขาย ทำไร่ไถนา บางชนิดกินหญ้าเป็นอาหาร บางชนิดกิน เถาวัลย์ กินใบไม้ บางชนิดกินกันเอง บางชนิดกินสัตว์ที่อ่อนแอกว่าตน สัตว์ที่อ่อนแอมักจะหนีไปซ่อนในที่เร้นลับ เมื่อสัตว์ที่แข็งแรงกว่าวิ่งไล่ทันก็จะกินสัตว์ที่อ่อนแอนั้น การที่สัตว์เดรัจฉานเลี้ยงชีวิตด้วยการฆ่ากัน เมื่อตายไปย่อมไปเกิดในอบายภูมิ ๔ สัตว์เดรัจฉานจำนวนน้อยที่ได้ไปเกิดบนสวรรค์ สัตว์ซึ่งเดินควํ่าตัวลงขนานกับพื้นนั้นมีทั้งที่ดีและที่ไม่ดี ที่ดี ได้แก่ ราชสีห์ซึ่งมี ๔ ประเภท คือ ติณสีหะ กาฬสีหะ ปัณฑุรสีหะ และไกรสรสหะ ติณสีหะประเภทแรก คือ ติณสีหะนั้น มีขนสีหม่น เหมือนสีปีกนกเขา กินหญ้าเป็นอาหาร ประเภทที่ ๒ กาฬสีหะนั้นมีขนสีดำเหมือนวัวดำ กินหญ้าเป็นอาหาร ประเภทที่ ๓ ปัณฑุรสีหะ มีขนสีเหลือง เหมือนสีใบไม้ กินเนื้อเป็นอาหาร ประเภทที่ ๔ ไกรสรสีหะ มีปากและเท้าทั้ง ๔ เป็นสีแดง ดุจเอาน้ำครั่งละลายด้วยนํ้าชาดหรคุณทาไว้ ท้องก็เป็นสีแดงเช่นกัน มีแนวแดงตั้งแต่หัวตลอดจนถึงหลัง และอ้อมลงถึงขาแนวแดงนี้ดุจรัดสะเอว งามเหมือนมีผู้แต้มไว้ ขนคออ่อนนุ่มราวกับพันด้วยผ้าแดง ซึ่งมีค่าแสนตำลึงทอง ขนที่ตัวไกรสรสีหะนี้ บางตอนก็มีสีขาวงามประดุจหอยสังข์ที่ขัดใหม่ เมื่อไกรสรสีหะออกจากถํ้าที่อยู่จะเป็นถํ้าทอง หรือถํ้าแก้วก็ตาม จะขึ้นไปอยู่บนแผ่นหินซึ่งมีสีเหลืองงาม ประดุจทองคำ สองตีนหลังเหยียดเสมอกัน และยืนสองตีนหน้า สะบัดขนมองหลัง แล้วเหยียดสองตีนหน้า ฟุบสองตีนหลังลงแล้วยืนตัวขึ้น ส่งเสียงดังดุจฟ้าลั่นสะบัดขนแล้วจึงออกเดิน เมื่อวิ่งไปมามีลักษณะเหมือนลูกวัววิ่ง ท่าเดินของไกรสรสีหะนั้น ดูว่องไวงดงามเหมือนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ถือดุ้นไฟแกว่งไปมา ในคืนเดือนมืด เสียงร้องของไกรสรสีหะนั้นดังมากจนได้ยินไปไกลถึง ๓ โยชน์ ร้อง ๓ ครั้ง บรรดาสัตว์ ๒ ตีน ๔ ตีน ซึ่งอยู่ในระยะเสียงที่ได้ยินนั้น ก็จะตกใจ กลัวตัวสั่น และสลบอยู่ไม่รู้สึกตัว แล้วพากันหนีจากที่นั้นไปจนหมดสิ้น ส่วนสัตว์ที่อาศัยอยู่ในนํ้า ก็ดำหนีลงไปจนถึงใต้พื้นนํ้า ร้องครวญคราง ช้างสารในป่าเมื่อได้ยินเสียงไกรสรสีหะ ก็รู้สึกกลัวร้องขึ้นและหนีไปในป่า ส่วนช้างบ้านที่ผูกไว้ด้วยเชือก หรือเชือกหนัง เมื่อได้ยินเสียงไกรสรสีหะ ก็ดิ้นแรงจนเชือกขาด ขี้ เยี่ยวราดแล้ววิ่งหนีไป เว้นแต่ไกรสรสีหราชด้วยกัน ม้าแก้วที่ชื่อว่า พลาหก และผู้มีบุญคือ พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ ขีณาสพเท่านั้น ก็สามารถฟังเสียง ไกรสรสีหะนั้นได้

ยามเมื่อไกรสรสีหะกระโดดโลดเต้นนั้น เมื่อกระโดดไปทางซ้ายหรือ ขวาก็จะกระโดดไปได้ไกลระยะทางเท่าสุดเสียงวัวร้อง เมื่อกระโดดขึ้นเบื้องต้น ก็จะกระโดดได้สูงเป็นสี่เท่าของระยะสุดเสียงวัวร้อง บางครั้งก็สูงถึงเจ็ดเท่า ของระยะสุดเสียงวัวร้องเมื่อกระโจนออกไปข้างหน้าก็จะกระโจนออกไปได้สิบหก ถึงยี่สิบเท่าของระยะสุดเสียงวัวร้อง หากกระโจนลงจากที่สูงลงล่างก็จะไปไกล ๖๐ ถึง ๘๐ โยชน์ เมื่อกระโดดขึ้นไปกลางอากาศ ต้นไม้ใหญ่ก็จะแหวกเป็นช่องทั้งด้านซ้ายและขวาและกระโดดได้สูงเป็นระยะทางเท่าสุดเสียงวัวร้อง พอหยุดการกระโดดโลดเต้นแล้ว ก็จะส่งเสียงร้องอย่างดังสามครั้ง ครั้นหยุดแล้วก็จะกระโดดโลดเต้นโดยกระโดดไปข้างหน้า ๓ โยชน์ ความเร็วก่อให้เกิดลมพัดดัง เสียงดังของลมจะได้ยินไล่มาข้างหลัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไกรสรสีหะมีกำลังวังชาแข็งแรงยิ่งนักในบรรดาสัตว์สี่ตีนนั้นไม่มีสัตว์ใดจะกระโดดไปในอากาศได้เร็วเท่าไกรสรสีหะยกเว้นแต่ช้างแก้ว

ช้างแก้วนั้นมีอยู่ ๑๐ ตระกูล ได้แก่ ช้างที่มีผิวกายสีดำ
(กาฬาพกหัตถีกุล) ช้างที่มีผิวกายสีนํ้าไหล (คังเคยยหัตถีกุล) ช้างที่มีผิวกายสีขาว (ปัณฑรหัตถีกุล) ช้างที่มีช้างแก้วผิวกายสีทองแดง (ตามพหัตถีกุล) ช้างที่มีผิวกายสีแสด (ปิงคลหัตถีกุล) ช้างที่มีกลิ่นหอม (คันธหัตถีกุล) ช้างมงคล (มังคลหัตถีกุล) ช้างที่มีสีกายสีทอง (เหมหัตถีกุล) ช้างซึ่งรักษาศีลแปด(อุโปสถหัตถีกุล) และช้างหกงา (ฉัททันตหัตถีกุล) ฝูงช้างทั้งหลายนี้ อาศัยในถํ้าทองกว้างใหญ่ตกแต่งอย่างงดงาม

สัตว์ที่ไม่มีตีน อันได้แก่ ปลาใหญ่ ๗ ตัว คือ ตัวหนึ่งชื่อติมิ ตัวยาว ๒๐๐ โยชน์ ตัวหนึ่งชื่อ ติงมิงคล ตัวยาว ๓๐๐ โยชน์ ตัวหนึ่งชื่อ ติมิรปิงคล ตัวยาว ๕๐๐ โยชน์ ส่วนอีก ๔ ตัวต่อไปนี้ตัวยาว ๑,๐๐๐ โยชน์ ได้แก่ ปลาอานนท์ ปลาอานนท์ปลาติมินทะ ปลาอัชฌนาโรหะ ปลามหาติมิระ เมื่อใดที่ปลาติมิรปิงคล โบกครีบไปทางด้านซ้ายและขวา โยกหาง แกว่งหัว นํ้าในมหาสมุทรก็จะเกิดเป็นฟองประดุจดังหม้อแกงเดือด ฟองนี้จะแผ่กระจายไปไกลถึง ๔๐๐ โยชน์ เมื่อใดที่ปลานี้โบกครีบทั้งสองแกว่งหางแกว่งหัว ว่ายน้ำฉวัดเฉวียน นํ้านั้นก็จะกระเทือนไปถึงแผ่นดิน ทำให้เกิดฟองกระจายไป ๗๐๐ ถึง ๘๐๐ โยชน์ ที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นความแข็งแรงของปลาติมิรปิงคล ส่วนปลาใหญ่อีก ๔ ชนิดก็ยิ่งมีกำลังใหญ่ยิ่งกว่านี้

พญาครุฑก็จัดเป็นสัตว์เดรัจฉานเช่นเดียวกัน แต่อาหารและที่อยู่ของ ครุฑนั้นเหมือนของเทวดาในสวรรค์ มีฤทธิอำนาจ สามารถเนรมิตตนได้เช่นกัน ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าเทพโยนิ ที่เชิงเขาพระสุเมรุมีสระใหญ่สระหนึ่ง ชื่อ พญาครุฑสิมพลี กว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีต้นงิ้วขึ้นเป็นป่าล้อมรอบ มีความสูงเท่ากันราวกับมีผู้ปลูกไว้ ใบเขียวงามน่าดูยิ่งนักและยังมีต้นงิ้วใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ขนาดเท่าต้นไม้ชมพูทวีป สระนี้เป็นที่อยู่ของฝูงครุฑ ไม่มีสัตว์ปีกใดที่จะเทียบเท่าครุฑได้เลย พญาครุฑ ผู้เป็นใหญ่นั้นมีร่างกายใหญ่โตถึง ๑๕๐ โยชน์ ปีกซ้ายขวายาว ๑๕๐ โยชน์ หางยาว ๖๐ โยชน์ คอยาว ๓๐ โยชน์ ปากยาว ๙ โยชน์ ตีนทั้งสองยาว ๑๒ โยชน์ เมื่อครุฑกางปีกเต็มที่บินไปในอากาศจะยาวถึง ๗๐๐ โยชน์ เวลาเหยียดปีก เต็มที่ จะได้ถึง ๘๐๐ โยชน์ ครุฑนั้นมีร่างกายใหญ่โตและกำลังวังชาแข็งแรงยิ่งนัก เมื่อเวลาครุฑเฉี่ยวนาคกลางมหาสมุทร นํ้าจะแยกออกโดยรอบมีรัศมี ๑๐๐ โยชน์ ครุฑจะใช้เล็บรัดหางนาค ปล่อยหัวห้อยลง แล้วพาบินไปยังที่อยู่แล้วจึงจะกินเป็นอาหาร ครุฑมักจะเลือกกินนาคที่มีขนาดเท่าตนหรือเล็กกว่า ถ้ามีขนาดใหญ่กว่า ก็ไม่สามารถจับกินได้ ครุฑจะมีการเกิดได้ ๔ แบบ คือ จากครรภ์ จากไข่ จากไคล และเกิดเป็นรูปกายโตใหญ่ในทันที แต่พญาครุฑที่เกิดจากครรภ์และไข่ จะไม่สามารถจับนาคที่เกิดจากไคล และที่เกิดเป็นรูปกายโตใหญ่ในทันทีได้

หลังจากไฟบรรลัยกัลป์ไหม้แล้ว ก็จะเริ่มเกิดแผ่นดินใหม่ มีแต่ความ ว่างเปล่า บางแห่งโล่งว่างมีความกว้างและสูงถึง ๓๐๐ โยชน์ บางแห่ง ๕๐๐ โยชน์ บางแห่ง ๗๐๐ โยชน์ เป็นที่ราบเท่ากัน พื้นดินปกคลุมด้วยสีขาวเป็นมันราวแผ่นเงินยวง บางแห่งมีหญ้าแพรกขึ้นเขียวเป็นมัน สูง ๓-๔ นิ้วมือ เขียวงามราวแผ่นแก้วไพฑูรย์ ดูสว่างเรืองรองทั่วแผ่นดิน มีสระหลายแห่งเต็มไปด้วยพันธุ์บัว ๕ ชนิด สวยงามยิ่งนัก มีไม้ยืนต้นซึ่งลำต้นงามไม่มีด้วงหรือแมลงเจาะไช ผลิตดอกออกผลดูตระการตายิ่งนัก ส่วนเถาวัลย์นั้นก็ออกดอกเป็นสีแดง สีขาว สีเหลือง ดูงามตาราวกับมีผู้มาประดับตกแต่งไว้ สถานที่ดังกล่าวแล้วนี้เรียกว่า นาคพิภพ เป็นที่อยู่ของเหล่านาคทั้งหลาย มีปราสาทแก้ว ปราสาทเงิน ปราสาท ทองงามมาก มีที่ว่างโล่งแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีสิ่งใดอาศัยอยู่เลย เป็นที่กลวงอยู่ภายใต้เขาหิมพานต์ กว้าง ๕๐๐ โยชน์ เป็นเมืองนาคราช มีแก้ว ๗ ประการ แผ่นดินงดงามดั่งสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ อันเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ มีสระใหญ่ๆ หลายแห่ง ล้วนเป็นที่อยู่ของฝูงนาค นํ้าใสสะอาด ไม่มีตะไคร่ดูราวกับแผ่นแก้วแผ่นใหญ่ ซึ่งเช็ดขัดซ้ำแล้วซํ้าอีก มีท่านํ้าราบเรียบแห่งหนึ่ง ซึ่งนาคชอบมาอาบนํ้าเล่น ในน้ำนั้นมีปลาใหญ่ไล่กัดปลาเล็ก มีจอกและพันธุ์บัว ๕ ชนิดดอกบานดูตระการตา บัวหลวงดอกใหญ่เท่าล้อเกวียน สะเทือนไหวไปตามน้ำ ดูงามยิ่งนักราวกับมีผู้ประดับแต่งไว้

นาคชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ในทะเล เมื่อนาคตัวเมียมีครรภ์แก่ก็จะตรึกตรอง อยู่ในใจว่า หากจะออกลูกกลางทะเลนี้ ทะเลก็มีฟองมากซึ่งเกิดจากนกนํ้า และครุฑ ดังนั้น นาคที่มีครรภ์แก่จึงดำนํ้าลงไปจนถึงแม่นํ้าทั้งห้า ที่ชื่อว่า คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหีมหานที ซึ่งไหลลงสู่มหาสมุทรใหญ่ แล้วจึงดำนํ้าขึ้นไปยังป่าใหญ่ ที่ชื่อ ป่าหิมพานต์ ในป่าหิมพานต์นั้น มีถํ้าทอง ซึ่งครุฑไม่สามารถบินไปถึงได้ นางนาคจึงคลอดลูกไว้ในที่นั้น แล้วเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่แข็งแรงแล้วจึงพาลงนํ้าลึก เพียงหน้าแข้ง และสอนให้ว่ายนํ้าทั้งที่ลึกและที่ตื้น จนเห็นว่าลูกว่ายนํ้าได้ดีแล้ว จึงพาว่ายข้ามแม่นํ้าใหญ่มาจนเห็นว่าลูกว่ายนํ้าได้รวดเร็วดีแล้ว จึงเนรมิต ให้ฝนตกหนักจนนํ้านองเต็มป่าหิมพานต์ และท่วมถึงทะเล จึงเนรมิตปราสาททองคำประดับด้วยแก้วเจ็ดประการงามรุ่งเรืองนัก ในปราสาทมีเครื่องประดับ เครื่องอุปโภคบริโภคอันเป็นทิพย์ ราวกับวิมานเทพยดาในสวรรค์ ต่อจากนั้น นาคจึงนำลูกตนขึ้นอยู่บนปราสาท แล้วพาปราสาทล่องนํ้าลงมาถึงมหาสมุทรที่ลึกถึง ๑,๐๐๐ วา แล้วพาปราสาทและลูกดำนํ้าลงไปอยู่ในทะเลนั้น

นาคมี ๒ ชนิด คือ ถลชะ ชลชะ นาคถลชะสามารถเนรมิตตนได้แต่บนบก ไม่สามารถเนรมิตตนในนํ้า ส่วนนาคชลชะสามารถเนรมิตตนในนํ้า แต่ไม่สามารถเนรมิตนาคตนบนบกได้ ในสถานที่ ๕ แห่งต่อไปนี้ นาคไม่สามารถเนรมิตตนได้ ได้แก่ ที่เกิด ที่ตาย ที่นอน ที่สมสู่ ที่ลอกคราบ ถ้านาคไปอยู่ในที่แห่งอื่น นอกจากห้าแห่งนี้ นาคก็สามารถเนรมิตตนได้ นาคสามารถเนรมิตตนให้งามราวเทพยดาได้ ส่วนนาคตัวเมียก็สามารถเนรมิตตนให้งามราวเทพธิดา และเทพอัปสร

เมื่อนาคต้องการล่าเหยื่อชนิดใด ก็จะแปลงตัวเป็นเหยื่อชนิดนั้น

เมื่อนาคต้องการหาอาหารบนแผ่นดิน ก็จะเนรมิตตัวเช่นงูไซ งูกระสา งูเห่า งูเขียว และอื่นๆ บางครั้งก็จะเนรมิตตัวเป็นสัตว์อื่นที่ต้องการล่ากิน ทั้งนี้ เพราะนาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ระยะทางจากพื้นแผ่นดินที่เราอยู่ จนถึงนาคพิภพนั้น ลึกถึง ๘,๐๐๐ วา

บรรดาสัตว์เดรัจฉานเป็นต้นว่า ราชหงส์ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขาคิชฌกูฏ และในถํ้าทองนั้น อาศัยอยู่ในปราสาทรวมกับฝูงนกอื่นๆ และสัตว์ต่างๆ ตามที่มีอยู่ ในป่าหิมพานต์หงส์นั้นมีจำนวนมากมาย ส่วนที่อาศัยอยู่ในบ้านในเมืองก็ยังมีอีกมากเป็นต้นว่า เป็ด ไก่ นก และห่าน ซึ่งคนเลี้ยงไว้กินเป็นอาหาร ครุฑกินนาค เป็นอาหารส่วนนาคกินกบเขียด กบเขียดกินแมลง บุ้ง สัตว์ใหญ่มักกินสัตว์เล็ก เสือโคร่งเสือเหลืองตัวเมีย ที่ต้องเลี้ยงลูกนั้น เมื่อหิวจัดก็จะออกไปหาอาหาร แต่ก็หาอาหารได้ยากลำบากมาก เมื่อลูกเสือเข้ามากินนมด้วยความรักนั้น แม่เสือจึงจับลูกกินเอง เพราะความอดอยากหิวโหยนั่นเอง

สัตว์เดรัจฉานบางชนิด เกิดนอกเนื้อเดรัจฉาน บางชนิดเกิดในเนื้อ เดรัจฉาน สัตว์บางจำพวกเกิดในที่ไม่ดี หากินเลี้ยงตัวเองไม่ได้ก็จะตายไป บางจำพวกเกิดในท้องมนุษย์มี ๘ ครอก(น่าจะเป็น ๘๐ ครอก)เป็นต้นว่า หนอนที่แผ่พืชพันธุ์และตายในท้องมนุษย์ หรือในท้องสัตว์ที่ใหญ่กว่ามนุษย์ยึดท้องเป็นที่อยู่อาศัย เป็นต้นว่า ไส้เดือนในท้อง สัตว์บางจำพวกมีขน เล็บ เนื้อ เอ็น กระดูก เขา งา ซึ่งคนนำมาใช้ทำงาน แม้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะไม่มีความผิดใดๆ ก็ตาม ก็จะถูกล่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ สัตว์บางจำพวก เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า คนนำมาใช้ทำงานหนัก ตรากตรำ ไม่ได้หยุดพัก เมื่อกินหญ้า และนํ้าด้วยความหิว ก็จะถูกคนตี ด่า บังคับ ที่กล่าวโดยสังเขปมานี้ เป็นเรื่องของเดรัจฉานภูมิ

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

มหาอวีจีนรก

บรรดาสัตว์ที่เกิดในมหาอวีจีนรกนี้ได้รับทุกขเวทนาเป็นเวลานานถึง กัลป์หนึ่งจึงจะพ้นทุกข์ กัลป์หนึ่งนั้นมีระยะเวลานานเท่าใด จะนับด้วยปีและเดือน ก็มิอาจนับได้ อุปมาเหมือนภูเขาเทือกหนึ่ง สูง ๑ โยชน์ กว้างโดยรอบ มหาอวีจีนรก๓ โยชน์ เมื่อถึง ๑๐๐ ปี ก็มีเทวดาองค์หนึ่งนำผ้าทิพย์ที่บางอ่อนราวควันไฟมากวาดภูเขา แต่ละครั้งที่เทพยดากวาดภูเขาให้ราบเรียบลงเป็นแผ่นดิน ก็เรียกว่าสิ้นกัลป์หนึ่ง หากมีผู้ถามว่าผู้ที่กระทำบาป ๕ ประการ (บาป ๕ ประการนั้น คือ ปัญจานันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้โลหิตพระพุทธเจ้าห้อเลือด และยุยงสงฆ์ให้แตกกัน) แล้วไปเกิดในมหาอวีจีนรก เหตุใด จะนับว่าครบ ๑ กัลป์ เพราะกัลป์หนึ่งผ่านไปแล้ว ๓ ส่วน ยังเหลืออีก ๑ ส่วน และไฟบรรลัยกัลป์ก็จะไหม้ขึ้นครั้งหนึ่ง

มีคำตอบดังนี้ บรรดาสัตว์ที่เกิดในมหาอวีจีนรกนั้น ก็ยังไม่ครบ ๑ กัลป์ ดังกล่าวแล้ว ถ้าไฟบรรลัยกัลป์ไหม้ก็จะไม่ไหม้คนนรก ทั้งนี้ เพราะเมื่อไฟบรรลัยกัลป์ไหม้มาถึงมหาอวีจีนรก ก็จะมีลมชนิดหนึ่งเกิดจากบาปกรรมได้พัดพาตัวคนนรกไปยังนรกขุมอื่นซึ่งไฟยังไหม้ไปไม่ถึง ลมนี้พัดเร็วมาก เปรียบดังนกตัวหนึ่งจับอยู่บนต้นไม้สูงมาก ขณะเมื่อนกบินไปจากต้นไม้ก็จะเห็นเงานกตกลงกลางพื้นดินพร้อมกันไม่ทันรู้ว่า นกและเงาของนกนั้น สิ่งไหนเกิดก่อน สิ่งไหนเกิดทีหลัง ตราบใดที่ยังไม่ครบกัลป์หนึ่ง คนนรกก็ยังไม่พ้นบาปตราบนั้น ดังเช่นบาปของพระเทวทัตซึ่งไหม้อยู่ในมหาอวีจีนรกนั้น

ระยะทางจากมนุษยโลกถึงยมโลกคือ ๑๔๐ โยชน์ จากยมโลกถึง มหาอวีจีนรกคือ ๑,๐๐๐ โยชน์ แผ่นดินที่เราอยู่นี้กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ หนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ นํ้าที่พยุงแผ่นดินไว้หนา ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์ ลมซึ่งพยุงนํ้าและดินไว้มิให้จม มิให้ไหวหนา ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ บรรดาสัตว์นรกทั้งหลายนั้นอยู่ใต้แผ่นดินที่เราอยู่นี้ เรื่องของบรรดาสัตว์ที่เกิดในนรกภูมิมีข้อความย่อ ๆ ดังกล่าวแล้วเพียงเท่านี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

โลกันตนรก

โลกันตนรกตั้งอยู่ระหว่างจักรวาลทั้ง ๓ เปรียบเหมือนนำกงล้อเกวียน ๓ ล้อมาวางชิดกัน ช่องว่างระหว่างล้อทั้ง ๓ คือที่ตั้งของโลกันตนรก หรือเปรียบเหมือนนำบาตร ๓ ใบมาวางควํ่าไว้ให้ชิดกัน ช่องว่างระหว่างบาตรนั้นคือที่ตั้งของโลกันตนรก นรกนี้กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ ความยาวโลกันตนรกไม่สามารถวัดได้ มีคูลึกและยาว มีความลึกที่หยั่งไม่ได้ เบื้องบนไม่มีฝาปิด เบื้องล่างมีนํ้ารองรับแผ่นดินเป็นพื้น เบื้องบนนั้นเป็นปล่องสูงขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ไม่มีวิมานเทพยดาในโลกันตนรกนี้มีแต่ความมืดมนยิ่งนัก สัตว์ที่เกิดในโลกันตนรกนี้มองไม่เห็นอะไรเลยราวกับหลับตาในคืนเดือนมืด แม้ว่าแสงดาวแสงเดือนและแสงตะวันจะส่องสว่างให้แก่คนทั้ง ๔ ทวีป ให้มองเห็นได้ แต่ก็ไม่สามารถจะส่องให้เห็นในโลกันตนรกได้ ทั้งนี้เพราะเดือนและตะวันซึ่งมีแสงสว่างนั้นส่องได้ในระยะไกลเพียงยอดเขา ยุคันธรเท่านั้น ไม่สามารถส่องสว่างเลยเขตกำแพงจักรวาลไปได้ โลกันตนรกนั้น ตั้งอยู่นอกกำแพงจักรวาล ดังนั้นแสงสว่างจึงส่องไปไม่ถึง แต่ถ้ามีปรากฏการณ์ ๕ ประการต่อไปนี้เกิดขึ้น จึงจะมีแสงสว่างในโลกันตนรก คือ ประการแรก เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงมาปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ประการที่ ๒ เวลาที่ พระโพธิสัตว์ออกจากครรภ์พระมารดา ประการที่ ๓ เวลาที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้ ประการที่ ๔ เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระธรรม ประการที่ ๕ เวลาที่ พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เมื่อสัตว์ในโลกันตนรกแลเห็นกันแล้ว ต่างก็คิดว่า แต่ก่อนเคยอยู่ตัวเดียว ณ ที่นี้ ไม่รู้ว่ามีคนมากมายอยู่ในนรกที่ร้ายนี้ด้วย แต่ช่วงที่สัตว์นรกแลเห็นกันนั้นสั้นมากเปรียบดังชั่วระยะดีดนิ้ว (ลัดนิ้วมือ) หรือราวกับชั่วฟ้าแลบ และรวดเร็วเท่ากับช่วงกล่าวคำว่า “อันใดๆ” พอกล่าวได้เท่านั้น แสงสว่างนั้นก็กลับมืดดังเดิม ช่วงที่แสงสว่างอยู่นานที่สุดคือเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนา

ผู้ใดประทุษร้ายบิดามารดา นักบวช ครูอาจารย์ ผู้มีศีล และยุยงสงฆ์ให้ แตกกัน เมื่อตายไปก็จะเกิดในโลกันตนรกนี้ สัตว์ในนรกนี้ร่างกายสูงใหญ่ถึง ๖,๐๐๐ วา เล็บมือเล็บเท้านี้เกาะที่แห่งใดก็จะติดกับที่แห่งนั้น สัตว์นรกนี้ใช้เล็บเกาะกำแพงจักรวาล ห้อยโหนโยนตัวเหมือนค้างคาว มีความหิวโหยอย่างเหลือประมาณ ครั้นปีนป่ายไปหาอาหารก็จะถูกต้องมือของกันและกัน คิดว่าเป็นอาหาร ต่างก็ดีใจจึงกัดกินกันและกัน ต่างใช้มือตะครุบและรัดกันเพื่อกินเป็นอาหารจนตกลงในนํ้าซึ่งรองรับแผ่นดินไว้ ขณะที่ตกลงไปในนํ้านั้นเหมือนผลไม้ใหญ่หล่นนํ้าซึ่งแสงแดดไม่เคยส่องถึงเลย ดังนั้นนํ้าจะเย็นยะเยือกเป็นที่สุด พอตกลงไปในนํ้า แล้วครู่เดียวร่างกายก็เปื่อยยุ่ยราวกับก้อนอุจจาระตกลงในนํ้า เมื่อสัตว์นรกนี้ตาย แล้วก็กลับเป็นตัวตนขึ้นอีก ปีนขึ้นไปเกาะกำแพงจักรวาลด้านนอก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้รับทุกขเวทนาเป็นเวลานานชั่วพุทธันดรกัลป์หนึ่ง(พุทธันดรกัลป์หนึ่ง หมายถึง ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นในโลกพระองค์หนึ่ง)

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

นรกบ่าว

นรกเล็กต่างๆ อันเป็นบริวารนรกบ่าวนั้นมีจำนวนมากจนไม่สามารถจะบรรยายได้ทั้งหมด จะกล่าวแต่เฉพาะนรกบ่าว ๑๖ ขุมซึ่งอยู่ล้อมรอบสัญชีพนรก ซึ่งมีชื่อว่าอุสุทนนรกบ่าวรก เป็นนรกที่อยู่สูงสุดเหนือนรกทั้งหลาย เมื่อพระมาตุลีจะนำเสด็จ พระยาเนมิราชทอดพระเนตรนรกนั้น ได้นำเสด็จไปทอดพระเนตรนรกบ่าว ๑๖ ขุมก่อนดังนี้

นรกขุมแรก ชื่อ เวตรณีนรก (นรกแม่น้ำหวาย) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์สิน และบริวารมากมาย แต่มักทำร้ายผู้อื่น ชิงทรัพย์สินและข้าวของของผู้อื่น เพราะมีกำลังมากกว่า เมื่อตายแล้วจึงเกิดในนรกขุมนี้ ยมบาลของนรกขุมนี้ลงโทษด้วยไม้ฆ้อน มีดพร้า หอก ดาบ หลาว แหลน อาวุธที่ใช้ในการฆ่าด้วยการแทง ยิง และตีนั้น เป็นเหล็กแดง มีเปลวไฟพุ่งขึ้น ราวกับไฟไหม้ฟ้า ไม่มีวันดับ ยมบาลทั้งหลายถืออาวุธดังกล่าวไล่แทงตี ฝูงสัตว์นรกให้เจ็บปวดทรมานน่าเวทนา จนไม่สามารถจะทนได้

ในนรกขุมนี้ มีแม่น้ำใหญ่ชื่อว่า เวตรณี มีรสเค็มยิ่งนัก ถ้าผู้ใดหนีลงแม่นํ้า ก็จะมีเส้นหวาย และเครี่องหวายระเนื้อตัวและถูกทิ่มแทงด้วยหนามหวายใหญ่เท่าจอบ เหล็กแดงลุกเป็นเปลวไฟ พอหนีลงนํ้าร่างกายก็ถูกหนามหวายตัดขาด ราวกับถูกมีดกรดอันคม ใต้เครื่องหวายนั้นมีขวากใหญ่และยาว เป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวไฟไหม้ตัวเขาราวกับไฟไหม้ต้นไม้ในป่า ผู้ใดหลุดจากหนามหวายไปได้ก็จะตกลงไปบนขวากเหล็กซึ่งอยู่ภายใต้นั้น ร่างกายขาดวิ่นทุกแห่ง เมื่อขวากเหล็กนั้นแทงเสียบตัวเขาอยู่ราวกับปลาที่ถูกเสียบ ทันใดนั้น เกิดเป็นไฟไหม้ขวากเหล็กแล้วลุกไหม้ร่างกายสัตว์นรกนั้นอยู่เป็นเวลานาน จนร่างกายสุก เน่าและเปื่อย ไปในที่สุด

ใต้ขวากเหล็กในแม่น้ำเวตรณีนั้น มีใบบัวหลวงเป็นเหล็กแดง มีคมรอบตัว คมมีดใบบัวนี้เป็นเปลวไฟลุกไม่มีวันดับ ถ้าสัตว์นรกใดลอดขวากเหล็กไปได้ ก็จะตกลงบนใบบัวเหล็กแดงอันคมนั้น ใบบัวจะบาดร่างกายจนขาดวิ่นราวกับถูกตัดตามขวางและตามยาวตลอดตัวเขา จะติดอยู่ในใบบัวเหล็กแดงนั้นเป็นเวลานาน แล้วจึงหลุดตกลงไปในนํ้า นํ้านั้นเค็มมากทำให้แสบตามเนื้อตัวแสนสาหัส ดิ้นไปมาราวปลาถูกคนตีที่บนบก ทันใดนั้น แม่น้ำนั้นก็กลายเป็นเปลวไฟไหม้ตัวเขา มีควัน และเปลวไฟพุ่งขึ้นจากตัวทุกแห่ง ใต้ท้องนํ้าเวตรณีนั้น มีมีดคมวางหงายอยู่ทุกแห่ง เมื่อสัตว์นรกร้อนด้วยเปลวไฟที่ไหม้ก็จะคิดในใจว่ากูจะดำนํ้านี้ลงไป อาจจะพบนํ้าเย็นภายใต้น้ำ จะได้มีกำลังวังชาขึ้น ดังนั้น จึงดำนํ้าลงไป แต่ก็ถูกคมมีดที่หงายอยู่ใต้ท้องนํ้านั้นตัดตัวเขาขาดทุกแห่ง ยิ่งได้รับความเจ็บแสบแสนสาหัส ส่งเสียงร้องดังด้วยความเจ็บปวดแทบสิ้นชีวิต บางครั้งนํ้าได้พัดตัวเขาให้พุ่งขึ้น บางครั้งลมก็พัดตัวเขาให้ดำลง ได้รับทุกขเวทนายิ่งนัก ผู้ที่เกิดในเวตรณีนรกนั้น เป็นทุกข์ เจ็บปวดดังกล่าวแล้ว

นรกขุมที่สอง ชื่อ สุนัขนรก (นรกหมา) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยด่า ว่านักบวชผู้ทรงศีล พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ครูอาจารย์และอุปัชฌาย์ ในสุนัขนรกนั้น มีหมา ๕ จำพวกได้แก่ หมาขาว หมาแดง หมาด่าง หมาดำ และหมาเหลือง หมาเหล่านี้รูปร่างใหญ่โตเท่าช้างสารทุกตัว แร้งกาที่อยู่ในนรกนี้ ก็มีรูปร่างใหญ่โต เท่าเกวียนทุกตัว ปากและเล็บของแร้งและกาเป็นเหล็กแดงลุกเป็นไฟไม่รู้ดับ ฝูงแร้งกาและหมารุมจิกและกัดร่างกายสัตว์ที่อยู่ในนรกขุมนี้ด้วยผลบาปกรรมของเขา ทำให้ไม่ตายแต่ต้องทนเจ็บปวดสาหัส ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก ในนรกที่ชื่อว่า สุนัขนรกนี้

นรกขุมที่สาม ชื่อว่า สโชตินรก (นรกเปลวไฟ) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยด่าว่าผู้ทรงศีล ซึ่งไม่เคยทำผิดต่อตนหรือสิ่งอื่นใดเลย แต่กล่าวร้ายแก่ท่าน ประดุจเอาหอกมาแทงหัวใจท่านให้ได้รับความเจ็บอาย คนเช่นนั้นเมื่อตายไปแล้ว ก็จะมาเกิดในนรกขุมนี้ พื้นนรกเป็นเหล็กแดงเป็นไฟไม่รู้ดับ เมื่อสัตว์นรกเหยียบบนแผ่นเหล็กแดง ก็จะถูกเหล่ายมบาลใช้ฆ้อนเหล็กแดงใหญ่เท่าลำตาล ตีให้วิ่งไปบนแผ่นเหล็กแดงนั้น ขณะที่วิ่งแผ่นเหล็กแดงจะลุกเป็นไฟไหม้เท้า ทำให้ร้อนน่าเวทนายิ่งนัก เมื่อเหล่ายมบาลไล่ตีสัตว์นรกนั้น เนื้อตัวเขาก็จะแตกละเอียดจนเป็นเถ้าผงไป แต่แล้วเขาก็กลับคืนร่างดังเดิม เพราะผลบาปกรรมที่ทำ ไว้ยังไม่สิ้น จำทนทุกขเวทนาในนรกที่ชื่อว่า สโชตินรก นี้

นรกขุมที่สี่ ชื่อ อังคารกาสุนรก (นรกหลุมถ่านเพลิง) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยชักชวนผู้อื่นให้ทำบุญ แต่นำเอาทรัพย์สินที่คนมาทำบุญนั้นมาใช้ประโยชน์ส่วนตน คนเช่นนี้เมื่อตายแล้ว จะมาเกิดในนรกขุมนี้ ยมบาลที่รักษานรก ถือหอกดาบเป็นเหล็กแดงเป็นไฟไม่รู้ดับไล่แทง ฟัน ตี และผลักให้ตกลงในหลุมถ่านไฟที่ลุกแดง ถ่านไฟได้ลุกไหม้ตัวเขาเหล่านั้นทำให้ร้อนน่าเวทนานัก เหล่ายมบาลจะใช้จะหวักเหล็กอันใหญ่ ตักถ่านไฟแดงรดบนหัวเขา ร้อนจนทนไม่ได้จึงส่งเสียงร้องดัง เพราะผลบาปกรรมที่ทำไว้ยังไม่สิ้น เขาจึงยังไม่ตาย ครั้นหนีขึ้นจากหลุมถ่านไฟได้ ก็วิ่งหนี แต่เหล่ายมบาลก็ไล่ต้อน ตี ทุ่ม แทงให้ ตกลงหลุมซํ้าแล้วซํ้าอีก จนกว่าจะสิ้นอายุในนรกนั้น

นรกขุมที่ห้า ชื่อ โลหกุมภีนรก (นรกหม้อเหล็กแดง) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยทรมานทำร้ายสัตว์ นักบวชผู้ทรงศีล ครูอาจารย์ ในนรกขุมนี้มีหม้อเหล็กแดง ใบใหญ่เท่าภูเขา ในหม้อนั้นเต็มไปด้วยเหล็กแดงที่ละลายเหลวเป็นนํ้า เหล่ายมบาลจับสองเท้าของคนนรกแล้วหย่อนหัว พุ่งลงไปในหม้อใหญ่นั้น เขาได้รับความร้อนดิ้นไปมา ได้รับทุกขเวทนา ซ้ำไปมาอยู่เช่นนั้นจนกว่าจะสิ้นอายุของเขา

นรกขุมที่หก ชื่อ อโยทกนรก (นรกนํ้าเหล็กแดง) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยเชือดคอสัตว์ให้ตาย สัตว์นรกในขุมนี้มีร่างกายสูงใหญ่ถึง ๖ พันวา มีหม้อเหล็กแดงใหญ่เท่าภูเขา เหล่ายมบาล ใช้เชือกเหล็กแดงที่ลุกเป็นไฟไม่รู้ดับไล่รดตัว แล้วบิดคอ จนขาด แล้วเอาหัวที่ขาดทอดลงในหม้อเหล็กแดงนั้น เขาจึงกลายเป็นสัตว์หัวขาด ทันใดนั้น ก็เกิดหัวใหม่ขึ้นมาแทน แล้วเหล่ายมบาลก็เอาเชือกเหล็กแดงบิดคอจนขาด แล้วทอดหัวนั้นลงในหม้อเหล็กแดง ซ้ำแล้วซํ้าอีกจนสิ้นอายุ และสิ้นบาปกรรมของเขา

นรกขุมที่เจ็ด ชื่อ ถุสปลาสนรก (นรกแกลบและฟาง) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยเอาข้าวลีบ แกลบ ฟางมาปนกับข้าวเปลือก แล้วเอาไปหลอกขาย ว่าเป็นข้าวดี ในนรกขุมนี้มีแม่นํ้าที่มองดูใสไหลไปมาไม่ขาดสาย ใต้ท้องนํ้าเต็มไปด้วยแผ่นเหล็กแดงลุกเป็นไฟ ไหม้ร่างกายสัตว์นรกให้ได้รับความร้อนมากมาย เมื่อเขากระหายน้ำมากแทบไส้จะขาด เขาก็ยกมือทั้งสองขึ้นพาดบนหัวร้องไห้ คร่ำครวญ วิ่งไปบนแผ่นเหล็กแดง ไฟก็ลุกไหม้เท้าเขา เขาก็จึงวิ่งตรงไปที่แม่นํ้าที่มองดูใส แล้วกระโจนลงไป ทันใดนั้น นํ้าก็กลายเป็นไฟขึ้นทั้งสองฟากฝั่ง ลุกไหม้ตัวเขา นํ้านั้นก็จะกลายเป็นข้าวลีบและแกลบลุกเป็นไฟไหม้ตัวเขาทำให้กระหายนํ้าจนทนไม่ได้ เขาก็ร้องไห้แล้วกินข้าวลีบและแกลบนั้นเข้าไป เมื่อข้าวลีบและแกลบตกถึงท้องเขาก็จะกลายเป็นไฟพุ่งออกทางทวารหนัก เขายกมือขึ้นพาดเหนือหัวแล้วร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง ตราบเท่านานแสนนาน

นรกขุมที่แปดชื่อ สัตติหตนรก (นรกหอก) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยลักขโมยทรัพย์สินผู้อื่น และกล่าวโทษผู้นั้นว่าเป็นโจร จนเจ้าของทรัพย์นั้นพ่ายแพ้ แล้วเก็บเอาทรัพย์สินนั้นไว้แต่ผู้เดียว เหล่ายมบาลที่รักษานรกขุมนี้ ยืนรายรอบสัตว์นรกเหล่านี้ ราวกับคนยืนล้อมสัตว์ในป่าไม่ให้หนีรอดไปได้ เหล่ายมบาลใช้หอกชะนักไล่พุ่งแทงเขาเหล่านั้นจนเป็นบาดแผลเจ็บตลอดร่าง แหลกเหมือนใบตองแห้งที่ถูกสับ

นรกขุมที่เก้า ชื่อ พิลสนรก (นรกชิ้นเนื้อ) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคย ฆ่าปลานำมาขายที่ตลาด เหล่ายมบาลใช้เชือกเหล็กแดงคล้องคอเขาเหล่านั้น แล้วลากไปไว้เหนือแผ่นเหล็กแดง แล้วแทงด้วยหอกชะนัก ฟันด้วยมีดแล้วแล่เนื้อออกวางเรียง เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อชิ้นปลาวางเรียงขายในตลาด แต่แล้วเขาก็จะกลับคืนร่างดังเดิมไปมาหลายครั้งหลายหน

นรกขุมที่สิบชื่อ โบราณมิฬหนรก (นรกอาจมเก่า) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยถูกท้าวพระยาใช้ให้ไปเก็บภาษีอากรจากราษฎร แต่กลับเรียกเก็บมากกว่ากำหนด ผู้ที่เคยกล่าวให้ร้ายแก่ผู้อื่น ฆ่า ติผู้ที่เป็นมิตรกับตน รวมทั้งผู้ที่กระทำบาปโดยการข่มขู่ผู้อื่นว่าจะใช้ชื่อคาผูกมือและเท้าเขา ข่มเหงเขา คนเหล่านี้ตายไปจะเกิดในนรกขุมนี้ จมอยู่ในแม่นํ้าใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาจมเหม็นยิ่งนัก แม้อยู่ห่าง ๑๐๐ โยชน์ก็ยังเหม็นอยู่ สัตว์นรกนั้นอายุยืนมากนัก เมื่ออยู่นานทนไม่ไหวก็กินอาจมนั้นแทนข้าวน้ำทุกวัน

นรกขุมที่ ๑๑ ชื่อ โลหิตปุพพนรก (นรกเลือดและหนอง) ผู้ที่อยู่ในนรก ขุมนี้ แต่ก่อนเคยทำร้ายพ่อแม่ พระสงฆ์ ผู้ที่มีคุณ ผู้ทรงศีล คนนรกจะอยู่ในแม่น้ำใหญ่เต็มไปด้วยเลือดและหนองไม่มีอะไรจะกิน จึงร้องไห้ เพราะความหิวจัด จึงกินเลือดและหนองนั้น แต่เลือดและหนองที่กลืนเข้าไปกลับกลายเป็นไฟไหม้ทุ่งออกทางทวารหนัก

นรกขุมที่ ๑๒ ชื่อ โลหพิฬสนรก (นรกเบ็ดเหล็กแดง) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยติดต่อซื้อสินค้าจากผู้อื่นแล้วหลอกว่าจะจ่ายเงินให้ แต่แล้วก็ไม่ให้เงิน แต่กลับโกงเอาสิ่งของท่านด้วยตาชั่งหรือทะนานก็ดี เหล่ายมบาลใช้คีมคีบลิ้นสัตว์นรกเหล่านี้ออกมาแล้วเอาเบ็ดเหล็กเกี่ยวลิ้นไว้ คันเบ็ดนั้นใหญ่เท่าลำตาล เป็นเหล็กแดงลุกเป็นไฟไม่รู้ดับ เหล่ายมบาลก็จะลากตัวเขาไปและแล้วผลักให้ ล้มลงบนแผ่นเหล็กแดง ไฟก็จะลุกไหม้ทั่วตัวเขา แล้วยมบาลก็จะแล่เอาหนังสัตว์นรกออกไปชั่งไว้เหมือนชั่งหนังวัว เหล่าสัตว์นรกทนเจ็บไม่ไหว ร้องไห้ ครํ่าครวญ ตัวสั่นระริกราวกับปลาที่ถูกหักคอแล้วโยนขึ้นมาบนบก อาเจียนเป็นขี้ เป็นเลือดตลอดเวลา

นรกขุมที่ ๑๓ ชื่อ สังฆาฏนรก (นรกพิฆาต) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อน คือ ชายที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น หรือหญิงที่มีชู้ ในนรกขุมนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เหล่ายมบาลก็จะเอาหอกทิ่มแทงตัวเขาจนขาดวิ่น เลือดและหนองไหลออกมามากมาย ราวกับวัวที่ถูกแทงด้วยหอก มีเลือดไหลทั่วตัว ร่างกายของสัตว์นรกนั้น จมอยู่ในแผ่นเหล็กแดงครึ่งตัว ราวกับถูกฝังไว้ เขาจะยกมือขึ้นพาดหัวร้องไห้ ครํ่าครวญ และแล้วก็จะมีภูเขาเหล็กแดงลุกเป็นไฟ กลิ้งเข้ามาด้วยเสียงดังราวกับ เสียงฟ้าผ่า ทับตัวเขาแหลกตายไป แต่เขาก็จะกลับคืนร่างดังเดิม แล้วก็มีภูเขาเหล็กแดงกลิ้งมาทับเขาอีก บางครั้งก็จะมีภูเขาเหล็กแดงใหญ่ ๒ ลูก กลิ้งเข้ามาหนีบตัวเขาทั้งสองข้างไว้เหมือนอ้อยถูกหนีบ เป็นอยู่เช่นนี้ซํ้าแล้วซํ้าเล่า

นรกขุมที่ ๑๔ ชื่อ อวังสิรนรก (นรกหย่อนหัวลง) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนเคยเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ในนรกนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายมากมาย ยมบาลจับสองเท้าของเขาขึ้นแล้วหย่อนหัวลงในขุมนรกนั้น แล้วใช้ฆ้อนเหล็กแดงตีร่างของเขาให้แหลกละเอียดไป

นรกขุมที่ ๑๕ ชื่อ โลหสัมพลีนรก (นรกต้นงิ้วเหล็ก) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนคือชายที่เคยเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น หรือหญิงมีสามีแล้วคบชู้นอกใจสามี ในนรกนี้ มีป่าไม่งิ้ว ต้นงิ้วนั้นสูงต้นละหนึ่งโยชน์ มีหนามเป็นเหล็กแดงลุกเป็นไฟ หนามงิ้วยาว ๑๖ องคุลี ลุกเป็นเปลวไฟอยู่มิรู้ดับ ในนรกขุมนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายมากมาย เขาเหล่านั้นเคยเป็นชู้กันมาก่อน บางครั้งผู้หญิงจะขึ้นไปอยู่บนยอดงิ้ว ส่วนผู้ชายอยู่ข้างล่าง เหล่ายมบาลก็จะเอาหอกดาบหลาวแหลนที่เป็นเหล็กแดง คม แทงเท้าผู้ชายบังคับให้ขึ้นไปหาผู้หญิง ยมบาลกล่าวว่า ชู้ของเจ้าอยู่บนยอดงิ้ว โน้น จงขึ้นไปเร็วๆ อย่าอยู่ที่นี้ ผู้ชายเหล่านั้นทนเจ็บไม่ได้จำใจต้องปีนขึ้นไปบนต้นงิ้วนั้น ครั้นขึ้นไปแล้ว ก็ถูกหนามงิ้วนั้นบาดตัวเขาขาดทั่วร่าง แล้วก็มีเปลวไฟไหม้ตัวเขาจนทนไม่ไหวต้องกลับหัวบ่ายหน้าลงมา เหล่ายมบาลก็เอาหอกแทงซ้ำแล้วร้องว่าเจ้ารีบขึ้นไปหาชู้ของเจ้าบนยอดงิ้วโน้น จะลงมาทำไมเล่า เขาทนเจ็บปวดไม่ได้ แต่ไม่อาจโต้เถียงยมบาลได้ เขาจึงต้องปีนขึ้นไป ถูกหนามงิ้วบาดทั่วทั้งตัว เจ็บปวดยิ่งนักแทบจะขาดใจตาย ด้วยความกลัวยมบาล เขาจึงปีนขึ้นไปถึงยอดงิ้ว ครั้นใกล้จะถึง ก็มองเห็นผู้หญิงกลับลงมาอยู่ข้างล่าง ยมบาลก็จะแทง เท้าผู้หญิงให้ขึ้นไปหาชายชู้ ร้องว่า เจ้าจงเร่งขึ้นไปหาชายชู้ของเจ้าบนยอดงิ้วนั้น หญิงชายเหล่านั้นปีนขึ้นปีนลงหากันอยู่อย่างนั้นแต่มิได้เคยพบกันเลย ยมบาล บังคับให้หญิงชายปีนขึ้นปีนลงหากันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้รับความลำบากยิ่งนัก

นฺรกขุมที่ ๑๖ ชื่อ มิจฉาทิฏฐินรก (นรกของผู้เห็นผิด) ผู้ที่อยู่ในนรกขุมนี้ แต่ก่อนคือ ผู้ที่เห็นผิด ๒ ประการ คือ เห็นว่าสิ่งทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ประการหนึ่ง และทำความดีไม่ได้ดีอีกประการหนึ่ง คนเหล่านี้ไม่รู้จักบุญ ทำแต่บาป ในนรกขุมนี้มียมบาลร่างใหญ่ถือหอกดาบหลาวแหลนและค้อนเหล็กแดง ลุกเป็นไฟ มิรู้ดับ ทิ่ม แทง ฆ่า ฟัน สัตว์นรกเหล่านั้นได้รับความเจ็บปวดทนทุกขเวทนายิ่งกว่านรกทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว

ทั้งหมดที่กล่าวแล้วนี้ คือ นรกบ่าว ๑๖ ขุม อยู่รอบสัญชีพนรก ซึ่งเป็น นรกขุมบนสุด ส่วนนรกบ่าวทั้งหลายที่อยู่รอบนรกใหญ่ ๗ ขุม ทั้งอยู่ใต้สัญชีพนรกลงไป ไม่อาจจะกล่าวถึงได้เลย เพราะเลวร้ายยิ่งไปกว่านี้อีกมากมายนัก

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

นรกใหญ่

บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้กระทำบาปด้วย กาย วาจา ใจ ดังกล่าว แล้ว ย่อมได้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ซึ่งมีนรก เป็นต้น และนรกใหญ่ ๘ ขุม อยู่ภายใต้แผ่นดินซึ่งเราอยู่นี้เป็นชั้นๆ ถัดกันลงไปชั้นล่างสุดคือ นรก
อวีจีนรก ชั้นบนสุดคือ สัญชีพนรก

นรกขุมที่หนึ่ง ชื่อว่า สัญชีพ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้ มีอายุยืนได้ ๕๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๙ ล้านปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๕๐๐ ปี ในสัญชีพนรกจึงเท่ากับล้านหกแสนล้านสองหมื่นปี ในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่สอง ชื่อว่า กาฬสุตตะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑,๐๐๐ ปีในกาฬสุตตนรก เทียบเท่ากับ ๑๒,๖๙๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่สาม ชื่อว่าสังฆาฏะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๒,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๑๔๕,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๒,๐๐๐ ปีในสังฆาฏนรกจึงเท่ากับ๑๐๓,๖๘๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
นรกขุมที่สี่ ซื่อ โรรุวะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๔,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๔,๐๐๐ ปีในโรรุวนรกนี้จึงเท่ากับ ๘๒,๙๔๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่ห้า ชื่อมหาโรรุวะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๘,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้ เทียบได้กับ ๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๘,๐๐๐ ปีในมหาโรรุวนรกนี้ จึงเทียบเท่ากับ ๖,๖๓๕,๕๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่หก ชื่อว่าตาปะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑๖,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกนี้ เทียบได้กับ ๙,๒๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีในตาปนรกนี้จึงเทียบเท่ากับ ๕๓,๐๘๔,๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

นรกขุมที่เจ็ด ชื่อมหาตาปะ สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนมากนัก จะนับเป็นปีเดือนนรกนั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้กึ่งกัลป์

นรกขุมที่แปดชื่อ อวีจี สัตว์ที่เกิดในนรกนี้ มีอายุยืนยิ่งนัก จะนับเป็นปี เดือนนรกนั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้หนึ่งกัลป์

นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ แต่ละขุมมี ๔ มุม และมีประตูประจำทั้ง ๔ ทิศ พื้นเป็นเหล็กแดง มีฝาปิดข้างบนเป็นเหล็กแดงเช่นกัน มีเนื้อที่กว้างและสูงเท่ากัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่ละด้านยาว ๑๐๐ โยชน์ และ ๑ โยชน์เท่ากับ ๘,๐๐๐ วา ส่วนหนาของผนัง ๔ ด้าน พื้นและเพดานส่วนละ ๙ โยชน์ ในนรกไม่มีที่ว่างเปล่า เต็มไปด้วยฝูงสัตว์นรก ซึ่งเบียดเสียดกันอยู่เต็มพื้นที่ ไฟนรกลุกโชนอยู่ตลอดเวลาไม่เคยดับ ไหม้คุกรุ่นอยู่ตลอดกัลป์ บาปกรรมของสัตว์นรกลุกขึ้นเป็นไฟเผาภายในตัวบุคคลนั้นราวกับเป็นฟืนซึ่งไม่เคยดับเลย นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ ล้อมรอบด้วยนรกบ่าว ๑๖ ขุม ด้านละ ๔ ขุม นอกจากนี้นรกบ่าวยังแบ่งย่อยเป็นนรกเล็ก เรียกว่า ยมโลกอีก ๔๐ ขุม นรกบ่าวมีความกว้าง ๑๐ โยชน์ ทั้งนรกบ่าวและนรกใหญ่รวมทั้งสิ้นได้ ๔๕๖ ขุม ในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนั้นไม่มียมบาล แต่นรกบ่าว และนรกเล็กมียมบาลอยู่ด้วย นรกบ่าวที่มียมบาลอยู่นั้น เรียกชื่อว่า อุสุทนรก

ยมบาลทั้งหลายนั้น เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้ทำทั้งบาปและบุญ ดังนั้นเมื่อ ตายจึงได้ไปเกิดในนรกเป็นเวลา ๑๕ วัน ถูกยมบาลอื่นๆ ฟัน แทง ตลอด ๑๕ วันนั้น ต่อจากนั้นก็ได้กลับเป็นยมบาลอีก ๑๕ วัน วนเวียนไปมาเช่นนี้เป็นเวลานานมาก จนกว่าจะสิ้นบาปที่ได้เคยกระทำไว้ เป็นเหมือนเปรตจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า วิมานเปรตนั้น บางตนกลางวันเป็นเปรต กลางคืนเป็นเทวดา บางตน กลางวันเป็นเทวดา กลางคืนเป็นเปรต บางตนข้างขึ้นเป็นเปรต ข้างแรมเป็นเทวดา บางตนข้างขึ้นเป็นเทวดา ข้างแรมเป็นเปรต จนกว่าจะสิ้นบาปกรรมที่เคยทำ เปรตและยมบาลดังกล่าวแล้วนี้มีลักษณะคล้ายกันคือ วนเวียนเกิดเป็นสัตว์นรก บ้าง เป็นยมบาลบ้าง เมื่อสิ้นบาปกรรมแล้วจึงจะเกิดเป็นยมบาลอย่างเดียว แต่บางตนเมื่อสิ้นบาปกรรมแล้ว ก็มิได้เกิดเป็นยมบาล แต่ตายไปเกิด ณ ที่แห่งอื่น

เมืองพระยายมราชนั้น มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล ล้อมรอบด้วยประตูนรก ๔ ด้าน พระยายมราช เป็นผู้ทรงธรรมยิ่งนัก พิจารณาคดีด้วยความซื่อสัตย์ และชอบธรรม ทุกกาลทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปเฝ้าพระยายมราชก่อน และพระยายมราช ก็จะถามผู้นั้นว่า ผู้ตายได้เคยทำบาปหรือบุญอย่างใดบ้าง จงคิดดู และให้กล่าวตามความสัตย์จริง ในขณะเดียวกันก็มีเทพยดา ๔ องค์ องค์หนึ่งถือบัญชีซึ่งจดบุญและบาปของคนทั้งหลายไว้ ผู้ใดทำบุญ เทพยดาก็เขียนชื่อผู้นั้นไว้ในแผ่นทองคำ แล้วทูนศีรษะถวายพระยายมราช เมื่อพระยายมราชรับไปแล้วก็จบเหนือพระเศียร แล้วแสดงการสาธุอนุโมทนายินดีด้วย ทรงวางแผ่นทองคำไว้บนแท่นทอง ซึ่งประดับด้วยแก้วเจ็ดประการ มีรัศมีงดงาม ส่วนผู้ที่กระทำบาป เทพยดาก็จดลงบนแผ่นหนังหมา เมื่อพระยายมราชถามผู้ที่ตายว่าได้เคยทำบุญสิ่งใดบ้าง ผู้นั้นก็จะสามารถรำลึกได้ด้วยอำนาจบุญ สามารถทูลตอบแก่พระยายมราชว่า ตนได้เคยกระทำบุญและธรรมไว้อย่างใดบ้าง เทพยดาผู้ถือบัญชี ก็นำบัญชีนั้นมาตรวจ สอบตามที่จดไว้ในแผ่นทองคำ ก็พบว่าถูกต้องตามที่เจ้าตัวได้กล่าวไว้ พระยายมราชก็มีบัญชาให้ผู้นั้นขึ้นสู่สวรรค์ สถิต ณ วิมานทอง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เสวยอาหารทิพย์ มีแต่ความสุข ถ้าผู้ใดทำบาปไว้ เมื่อหวนคิดถึงบาปของตน ก็ไม่สามารถบอกได้ เทพยดาจึงนำบัญชีแผ่นหนังหมามาอ่านให้ฟัง เมื่อผู้ที่ทำบาปได้ฟังแล้วก็สารภาพว่า ได้ทำบาปเช่นนั้นจริง พระยายมราชจึงสั่งให้ยมบาลนำตัวผู้นั้นไปลงโทษตามควรแก่บาปและกรรมที่หนักหรือเบานั้น และควรตกนรกในขุมใดตามแต่บาปหนักหรือเบา ความทุกขเวทนาที่ผู้ทำบาปได้รับนั้น มีมากจนมิสามารถบรรยายได้ ส่วนผู้ที่ทำทั้งบุญและบาป เทพยดา ก็จะชงส่วนบุญและบาปดูทั้งสองอย่าง ถ้าบุญหนักกว่าบาป ก็ให้ไปขึ้นสวรรค์ก่อน ภายหลังจึงกลับมาใช้บาปของตนในเมืองนรก ถ้าส่วนที่เป็นบาปหนักกว่าก็ส่งให้ไปตกนรก ภายหลังจึงมาเสวยบุญในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำทั้งบุญและบาปเท่าๆ กันนั้น พระยายมราชและเทพยดาที่ถือบัญชี ก็จะสั่งให้เป็นยมบาล ๑๕ วัน มีสมบัติทิพย์เช่นเดียวกับเทพยดา ต่อจากนั้น ก็ให้ตกนรก ๑๕ วัน จนกว่าจะสิ้น บาปที่กระทำไว้

ส่วนผู้ใดที่เกิดมาโดยไม่รู้จักบาปและบุญ ไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่รู้จักให้ทาน ตระหนี่ เมื่อผู้อื่นจะให้ทานก็ขัดขวาง ไม่รู้จักรักพี่น้อง ไม่มีความเมตตากรุณา ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น โดยเจ้าของมิได้ให้ เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ลอบรักภรรยาผู้อื่น พูดจาเหลาะแหละ กล่าวร้ายส่อเสียดเบียดเบียนผู้อื่น กล่าวสบประมาทผู้อื่น กล่าวคำหยาบช้าบาดใจผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บอาย กล่าวคำเท็จไร้สาระอันเป็นดิรัจฉานกถา เสพสุราเมามาย ไม่เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ นักบวช ผู้ทรงศีล ครูอาจารย์ ผู้ใดที่ทำบาปดังกล่าวแล้วนี้ เมื่อตายไป ก็ได้ไปเกิดในนรกใหญ่ ๘ ขุมดังกล่าว ได้รับความเจ็บปวดทนทุกขเวทนามากนัก มิอาจจะบรรยายได้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

แดนนรก

สัตว์ที่ในนรกนั้น เกิดขึ้นด้วยรูปกายโตใหญ่ทันใด โดยมีรูปธรรม ๒๘ อย่างครบบริบูรณ์ รูปธรรม ๒๘ อย่าง นั้น คืออะไร คือ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพศหญิง เพศชาย หัวใจ ชีวิต เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ความว่าง แดนนรกการบอก กล่าวด้วยท่าทาง การบอกกล่าวด้วยวาจา ความเบา (ลหุตา) ความอ่อน (มุทุตา) ความสามารถในการงาน (กัมมัญญตา) ความเจริญเติบโต (อุปจยะ) ความสืบต่อ (สันตติ) ความเสื่อมแห่งรูป (รูปปัสสชรตา) ความไม่เที่ยงแห่งรูป (รูปัสสอนิจจตา)

ธาตุดิน ได้แก่ กระดูกและหนัง ธาตุนํ้า ได้แก่ นํ้าที่ไหลอยู่ในร่างกาย ธาตุไฟ ได้แก่ ความร้อนที่อยู่ในเลือด ธาตุลม ได้แก่ลมที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกาย

ตาคือสิ่งที่ทำให้เห็น หูคือสิ่งที่ทำให้ได้ยิน จมูกคือสิ่งที่ทำให้ได้กลิ่น ลิ้นคือสิ่งที่ทำให้รู้รสอันเปรี้ยว ฝาด และรสอื่นๆ กายคือสิ่งที่ทำให้รู้สัมผัส ให้รู้เจ็บ รู้ปวด จากการสัมผัส รูปคือสิ่งที่เห็นด้วยตา เสียง คือสิ่งที่ได้ยิน
กลิ่นคือสิ่งที่รู้ด้วยจมูก เช่น กลิ่นหอม รส คือ สิ่งที่สัมผัสด้วยลิ้น และสัมผัส คือ สิ่งที่แตะต้องได้ เพศหญิง คือ ความเป็นหญิง เพศชาย คือ ความเป็นชาย หัวใจ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งอยู่ภายในร่างกาย ชีวิต คือสิ่งทำให้ร่างกายดำรงอยู่ เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต คืออาหารที่กินเข้าไป อากาศ คือความว่างที่มีอยู่ภายในร่างกาย การบอกให้ทราบด้วยทำทาง การบอกกล่าวด้วยวาจา คือ การบอกให้ทราบด้วยคำพูด ความเบา คือรูปอันรู้ไปโดยฉับพลัน ความอ่อน คือ ความอ่อนละมุน ความสามารถในการงาน คือความสามารถในการทำงานอันเหมาะสม อุปจยะ คือรูปอันเกิดเพิ่มพูนได้ สันตติ คือ รูปอันเกิดทดแทนได้ รูปปัสสชรตา คือ รูปที่เสื่อมสภาพได้ รูปปัสสอนิจจา คือ รูปที่ไม่ยั่งยืน

รูปต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ๒๘ อย่างนี้มีอยู่ในชีวิตสัตว์ในนรก

สัตว์ที่เกิดในนรกนั้นเพราะทำบาปด้วยใจร้าย ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง ดวงแรก คือ ทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป และกระทำบาปเองด้วยใจกล้าและยินดี ดวงที่สอง คือ ทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาปและกระทำบาปโดยมีสิ่งชักจูง ดวงที่สาม คือ ทำบาปโดยรู้ว่าเป็นบาป และกระทำบาปด้วยใจกล้าและยินดี ดวงที่สี่ ทำบาปโดยรู้ว่าเป็นบาปและกระทำบาปด้วยความยินดีและมีสิ่งชักจูง ดวงที่ห้า ทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป และกระทำบาปด้วยใจวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย ดวงที่เจ็ด ทำบาป โดยรู้ว่าเป็นบาป และกระทำบาปโดยไม่มีสิ่งชักจูง ด้วยใจวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย ดวงที่แปดทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป และกระทำบาปโดยมีสิ่งชักจูง ด้วยใจวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย ดวงที่เก้า คือ ทำบาปด้วยความโกรธ และกระทำบาปด้วยใจกล้า และใจร้าย ดวงที่สิบ คือทำบาปด้วยความโกรธ และกระทำบาปโดยมีสิ่งชักจูง ดวงที่สิบเอ็ด คือ ทำบาปโดยไม่เชื่อในบาปและบุญ และกระทำบาปด้วยใจวางเฉย ดวงที่สิบสอง ทำบาปด้วยจิตฟุ้งซ่าน เปรียบเหมือน เอาก้อนหิน ทุ่มทิ้งลงในกองขี้เถ้าให้ฟุ้งกระจาย และกระทำบาปด้วยใจวางเฉย อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงนี้ หากเกิดขึ้นแก่ผู้ใด คนนั้นก็จะไปเกิดในที่ที่ทนทุกข์ทรมาน ซึ่งเรียกว่า อบายภูมิ ๔

เหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายมีใจร้ายและทำให้สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในอบายภูมิ ๔ นั้น มือยู่ ๓ ประการคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งชักจูงให้คนทำบาป ความโลภ คือ ความอยากได้ในทรัพย์สินของผู้อื่น จึงฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นเพื่อแย่งเอาทรัพย์สิน ความโกรธ คือ ความขัดเคืองผู้อื่น ความเกลียดชังผู้อื่น ความคิดเบียดเบียนผู้อื่น การจับผิดใส่ร้ายผู้อื่น ความหลงคือ ความไม่รู้ในพระธรรม มีจิตใจเป็นพาล หลงงมงาย ใจบาป ไม่ยุติธรรม และความไม่รู้จักอิ่ม เหตุสามประการนี้จักพาให้สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในที่ทนทุกข์ทรมาน คือ อบายภูมิ ๔

สภาพการทำบาปของสัตว์ทั้งหลายมี ๑๐ จำพวก คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ กายกรรม ๓ ได้แก่ การฆ่าคนและสัตว์ด้วยมือและเท้าของตน การลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ไม่ได้ให้แก่ตน และการเป็นชู้กับภรรยาและสามีของผู้อื่น วจีกรรม ๔ ได้แก่ หนึ่ง การกล่าวเท็จ สอง การกล่าวคำส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นผิดใจกัน สาม การกล่าวย้อนคำหยาบคาย ติเตียน นินทา ถ้อยคำบาดใจผู้อื่น และถ้อยคำหยาบช้า สี่ การกล่าวคำเพ้อเจ้อไร้สาระ การกล่าวเช่นนี้เรียกว่า ดิรัจฉานกถา มโนกรรม ๓ ได้แก่ หนึ่ง ความดื้อรั้น เห็นผิดเป็นชอบ เห็นถูกเป็นผิด ลอง ความโกรธแค้นผู้อื่นและเห็นว่าเป็นศัตรู ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อแก้แค้น ความโกรธไม่มีวันสิ้นสุด สาม ความตั้งใจทำร้ายผู้อื่น คิดฆ่าเพื่อชิงทรัพย์สิน สภาพการทำบาปของสัตว์ทั้งหลายมี ๑๐ จำพวก ดังกล่าวนี้

เจตสิก คือสภาวะเกิดขึ้นกับใจชักจูงให้ทำบาป มี ๒๗ ประการคือ ความกระทบอารมณ์ ความเสวยอารมณ์ ความจำอารมณ์ ความตั้งใจ ความมีใจเป็นสมาธิ ความดำรงชีวิตอยู่ ความใคร่ครวญไตร่ตรอง ความตรึกแต่จะทำบาป ความตรองแต่ในเรื่องบาป การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะทำบาป ความพยายามทำบาป ความชื่นชมยินดีในการทำบาป ความพอใจที่จะทำบาป ความหลงมัวเมาในการทำบาป ความไม่ละอายต่อบาป ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ความฟุ้งซ่าน ความโลภ ความดื้อรั้น ความถือตัว ความโกรธ ความริษยา ความตระหนี่ ความ รำคาญใจ ความหดหู่ใจ ความง่วงเหงา ความลังเลสงสัย เจตสิกทั้ง ๒๗ ดังกล่าวแล้ว เป็นเหตุชักจูงใจให้กระทำบาป

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

ปฏิสนธิ

ปฏิสนธิ (การถือกำเนิด) นั้นมี ๒๐ จำพวก ซึ่งจัดได้เป็น ๓ กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง คือ กามาพจร ปฏิสนธิ ๑๐, กลุ่มที่สองคือ รูปาวจร ปฏิสนธิ ๖, กลุ่มที่สาม คือ อรูปาวจร ปฏิสนธิ ๔

กามาพจรปฏิสนธินั้น ได้แก่การถือกำเนิดของสัตว์ในกามภูมิ จำแนกออกได้เป็น ๑๐ จำพวก คือ จำพวกที่หนึ่ง ภพภูมิเกิดด้วยจิตที่เป็นผลบาปอารมณ์ที่ไม่ดี พร้อมด้วยความวางเฉย จำพวกที่สอง เกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ อารมณ์ที่ดี พร้อมด้วยความวางเฉย จำพวกที่สาม เกิดด้วยจิตที่เกิดเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดีมีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สี่ เกิดด้วยจิตที่เกิดโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่ห้า เกิดด้วยจิตที่เกิดเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่หกเกิดด้วยจิตที่เกิดโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความยินดี ไม่มิภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เจ็ดถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งครัดจริงจัง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่แปดถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักชวน พร้อมด้วยความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เก้า เกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สิบเกิดด้วยจิตที่เป็นผลบุญ เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง พร้อมด้วยความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม

รูปาวจรปฏิสนธิ ๖ นั้น ได้แก่การเกิดของสัตว์ในรูปภูมิ จำแนกออกเป็น ๖ จำพวก คือ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของรูปฌาน ๕ จำพวก และถือกำเนิดด้วยรูปอย่างเดียว ๑ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของรูปฌาน ๕ จำพวกนั้น ได้แก่ จำพวกที่หนึ่งเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความตรึก ความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ  จำพวกที่สาม เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่สี่ เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่ห้า เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และความมีใจเป็นสมาธิ จำพวกที่หกเกิดด้วยรูปอย่างเดียว พรหมที่มีรูปร่างอันเรียกว่า รูปพรหมนั้น ย่อมเกิดด้วยปฏิสนธิ ๖ อย่างนี้

อรูปาวจรูปฏิสนธิ ๔ ได้แก่การเกิดของสัตว์ในอรูปภูมิ คือ การเกิดด้วยจิตที่เป็นผลของอรูปฌาน ๔ จำพวก ได้แก่ จำพวกที่หนึ่ง เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน ที่กำหนดอากาศอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ จำพวกที่สอง เกิดด้วยจิต ที่เป็นผลของฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ จำพวกที่สาม เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานที่กำหนดภาวะไม่มีอะไรๆ แม้แต่น้อยเป็นอารมณ์ จำพวกที่สี่ เกิดด้วยจิตที่เป็นผลของฌานที่กำหนดภาวะที่มีสัญญาละเอียดยิ่ง จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่เป็นอารมณ์ พรหมทั้งหลายที่หารูปมิได้ ย่อมเกิดด้วยปฏิสนธิจิต ๔ อย่างนี้

ปฏิสนธิใน ๓ ภูมิ คือ กามาวจรปฏิสนธิ ๑๐ รูปาวจรปฏิสนธิ ๖ และ อรูปาวจรปฏิสนธิ ๔ จึงรวมเป็นปฏิสนธิ ๒๐

สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมินรกนั้น เกิดด้วยกำเนิดผุดขึ้นอย่างเดียว คือ พอเกิดขึ้นมาก็มีรูปกายโตใหญ่ในทันใด และเกิดด้วยจิตซึ่งเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิของเปรต ภูมิสัตว์เดรัจฉาน และในภูมิของอสุรกาย มีลักษณะในการเกิดเช่นเดียวกัน คือมีจิตเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย

สรรพสัตว์ในภูมิเดรัจฉาน ภูมิเปรต ภูมิอสุรกาย ทั้ง ๓ ภูมินี้ เกิดด้วย กำเนิด ๔ อย่าง บางครั้งเกิดจากไข่ บางครั้งจากครรภ์ จากไคล หรือเกิดผุดขึ้น มีจิตซึ่งเป็นผลบาป พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี และมีความวางเฉย

สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิมนุษย์ย่อมถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิได้ทั้ง ๑๐ อย่าง (กามาวจรปฏิสนธิ ๑๐) ถ้าเป็นคนมีบุญถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิ ๙ อย่าง แลคนที่มีบาปและพวกเทวดาชั้นตํ่า ถือกำเนิดด้วยจิตที่เป็นผลแห่งอกุศลที่เกิดพร้อมด้วยความวางเฉย พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี

ผู้รู้หลักเหตุผล ผู้มีสติปัญญา ผู้รู้บุญและบาป และผู้รู้ธรรม เป็นต้นว่า พระโพธิสัตว์ ย่อมถือกำเนิดด้วยปฏิสนธิ ๘ จำพวก คือ จำพวกที่หนึ่ง เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สอง เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยสิ่งชักจูง มีความยินดี มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่สามเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่สี่เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความยินดี ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยร่าเริง ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่ห้า เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความวางเฉย มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่หกเกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความวางเฉยมีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม จำพวกที่เจ็ด เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นเอง มีความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึมชอบเป็นผู้นำ จำพวกที่แปด เกิดด้วยจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งชักจูง มีความวางเฉย ไม่มีภูมิปัญญา อุปนิสัยเคร่งขรึม ชอบเป็นผู้ตาม

สรรพสัตว์ที่เกิดในภูมิของเทวดา ๖ ชั้น เรียกว่า ฉกามาพจร ซึ่งเริ่มด้วย ชั้นจาตุมหาราชิกา นั้นเกิดด้วยกำเนิดผุดขึ้นอย่างเดียวคือ เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด และเกิดด้วยปฏิสนธิทั้ง ๘ จำพวกดังกล่าวแล้ว การกล่าวถึงกามาพจรปฏิสนธิ ๑๐ จำพวก และกำเนิด ๔ ในกายภูมิ จบลงเพียงเท่านี้

ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นแรกนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความตรึก ความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขสบายใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใด พิจารณาฌานเพียงเล็กน้อย ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นปาริสัชชา หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลาง ก็จะไปเกิด ในพรหมชั้นปโรหิตา และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมาก ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นมหาพรหม ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้คือ ปฐมฌานภูมิ

ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นที่สองนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความตรอง ความอิ่มใจ ความสุข สบายใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลาง ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาฌาน และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมาก จะไปเกิดในพรหมชั้น อาภัสสรา ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้ คือ ทุติยฌานภูมิ

ผู้เป็นพรหมฌานภูมิชั้นที่สามนั้น เกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ หากผู้ใดพิจารณาฌานเพียงลางเลือน ก็จะได้ไปเกิดในพรหมชั้น ปริตตสภา หากผู้ใดพิจารณาฌานปานกลาง ก็จะไปเกิดในพรหมชั้น อัปปมาณสภา และหากผู้ใดพิจารณาฌานอย่างมาก ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นสุภกิณหา ภูมิทั้ง ๓ ชั้นดังกล่าวนี้ คือ ตติยฌานภูมิ

ผู้เป็นพรหมในฌานภูมิชั้นที่สี่นั้นเกิดขึ้นโดยมีรูปกายโตใหญ่ในทันใด ด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน อันเกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และความมีใจเป็นสมาธิ และจะได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลา และชั้นสุทธาวาส ๕ อันเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีและพระอรหันต์ อันได้แก่ชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ส่วนพรหมชั้นอสัญญีสัตตาภูมิ เกิดด้วยรูปปฏิสนธิอย่างเดียว ปฏิสนธิ ๖ อย่างนี้ ชื่อว่า รูปาวจปฏิสนธิ

ผู้เป็นพรหมในอรูปาวจรภูมิ ๔ ชั้น ซึ่งเป็นปัญจมฌานภูมินั้น เมื่อเกิดในชั้นอากาสานัญจายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตเพ่งความว่างเปล่า หรืออากาศเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้นวิญญาณัญจายตนะ ก็ไม่มีรูปกายเช่นกัน เกิดด้วยจิตเพ่งวิญญาณ อันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้น อากิญจัญญายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตเพ่งภาวะไม่มีอะไรแม้แต่น้อยเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีรูปกาย เกิดด้วยจิตซึ่งเพ่งภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งสิ้น ๓๑ ภูมิ ซึ่งจัดอยู่ใน ไตรภูมิ

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

ภูมิสาม

สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดในภูมิสาม ภูมิสามนั้นคืออะไร ภูมิหนึ่งชื่อว่า กามภูมิ ภูมิสองซื่อว่า รูปภูมิ ภูมิสามชื่อว่า อรูปภูมิภูมิสาม

ในกามภูมินั้นยังแยกย่อยออกเป็น ๑๑ ภูมิ ซึ่งจัดเป็น ๒ ภูมิใหญ่ คือ อบายภูมิ ๔ และสุคติภูมิ ๗ อบายภูมิ ๔ นั้น ได้แก่ นรกภูมิ (ภูมิสัตว์นรก) ติรัจฉานภูมิ (ภูมิสัตว์เดรัจฉาน) เปรตวิสัยภูมิ (ภูมิของเปรต) อสุรกายภูมิ (ภูมิของอสูร) สุคติภูมิ ๗ ได้แก่ มนุสสภูมิ (ภูมิของมนุษย์) จาตุมหาราชิกาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา) ตาวติงษาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นดาวดึงส์) ยามาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นยามา) ดุสิตาภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นดุสิต) นิมมานรตีภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นนิมมานรดี) ปรนิมิตว¬สวัตตีภูมิ (ภูมิของเทวดาชั้นปรนิมิตวสวัดดี)

ในรูปภูมิอันเป็นภูมิของพรหมนั้น ยังแยกย่อยออกเป็น ๑๖ ซึ่งจัดเป็น ๔ ภูมิชั้นใหญ่ๆ ดังนี้ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จตุตถฌาณภูมิ ๗

ปฐมฌานภูมิ ๓ นั้นได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปาริสัชชา ภูมิชั้นพรหมปโรหิตา ภูมิชั้นมหาพรหมา
ทุติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตาภา ภูมิชั้นพรหมอัปปมาณา ภูมิชั้นพรหมอาภัสสรา

ตติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมปริตตสุภา ภูมิชั้นพรหมอัปปาณ- สุภา ภูมิชั้นสุภกิณหา

จตุตฌานภูมิ ๗ ได้แก่ ภูมิชั้นพรหมเวหัปผลา ภูมิชั้นพรหมอสัญญีสัตตา ภูมิชั้นพรหมอวิหา ภูมิชั้นพรหมอตัปปา ภูมิชั้นพรหมสุทัสสา ภูมิชั้น พรหมสุทัสสี ภูมิชั้นพรหมอกนิฏฐา

ตั้งแต่ภูมิชั้นพรหมอวิหาจนถึงพรหมอกนิฏฐา รวม ๕ ชั้นเรียกว่า ปัญจสุทธาวาส

อรูปภูมินั้น ยังแยกย่อยออกเป็น ๔ ภูมิ ได้แก่ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

ภูมิใหญ่ทั้ง ๓ ซึ่งแยกย่อยเป็น ๓๑ ภูมินี้ รวมเรียกว่า ไตรภูมิ

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในภูมิ ๓๑ นี้ มีที่เกิดได้กี่ประการ  มีที่เกิดได้ ๔ ประการ คือ เกิดจากไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไคล และเกิดขึ้นเอง

สัตว์ที่เกิดจากไข่ เป็นต้นว่า งู ไก่ นก ปลา สัตว์ที่เกิดจากครรภ์ เป็นสัตว์ ที่เกิดจากมดลูกมีรกหุ้มห่อ เป็นต้นว่า ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์ที่เกิดจากไคล ได้แก่สัตว์ที่เกิดที่ใบไม้ ละอองเกสรดอกบัว หญ้าเน่า เนื้อเน่า และเหงื่อไคล เป็นต้นว่า หนอน แมลง บุ้ง ริ้น ยุง ปลา สัตว์ที่เกิดจาก ไข่ ครรภ์ และไคล ดังกล่าวแล้วนี้ เมื่อเกิดแล้วจะเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ ส่วนการเกิดประการที่สี่คือ เกิดเองนั้น เมื่อเกิดเป็นตัวแล้ว จะมีลักษณะเติบใหญ่ทันที เป็นต้นว่า พรหม เทวดา และสัตว์นรก

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

ไตรภูมิกถา

เตภูมิกถา
รตนตยปณามคาถา
๑    วนฺทิตฺวา สิรรสา พุทฺธํ        สสทฺธมฺมคณุตฺตมํ
อิทํ เตภูมิสงฺเขปํ            ปวกฺขามิ กถํ อิธ

๒    สุจิรภชิตุกามํ            สชฺชนาลิยสโมหํ
มธุรสมตทานํ            ปารมีปารุฬฺหหกา
คุณยสรสคนฺธํ            กณฺณิกาจกฺกวณฺณํ
ชินจรณสโรชํ            ปีติปาโมชฺเชภิวนฺเท

๓    วิกสิตวิทิตานํ            สชฺชนโปรุปหนํ
สชนหทยสาเม            สาวนาภายุเทนฺตํ
อกุสลติมิรนฺธํ            ธํสนํ ปาตุภูตํ
มุนิวรมวลตฺถํ            ธมฺมทีปํภิวนฺเท

๔    สชนมนสโรชํ             พุทฺธิวารีสชผลํ
อุทิรินํ ภชิตนฺตํ             ธมฺมาลงฺการลงฺกตํ
วิมลธุวสสีลํ            รํสิปญฺญายุเปตํ
สีลาธรํ วรสํฆํ             อุตฺตมงฺเค อวนฺเท

๕-๙ ชโนรุณา วิภาเวนฺโต        เหมปาสาทปญฺญวา
สทฺธาจลผลาพนฺธิ        พาหุสจฺจธนาลํโย
กุปภูปนฺธยนฺโต โย        ราชา สูรานุรญฺชโก
สุโขเทยฺยนรินฺทสฺส        ลิเทยฺโย นาม อตุรโช
อภิราโม มหาปญฺโญ        ธิติมา จ วิสารโท
ทานสีลคุณูเปโต            มาตาปิตุภโรปิ จ
ธมฺมธโร สุกุสโล            สพฺพสตฺเถสุ ปากโฎ
อยํ ภูมิกถา นาม            รญฺญา เภเทน เตน จ
สชฺชนาลยฺยปุรมฺหิ        ฐปิตา ทยฺยภาสโต
ทุชฺฌิตุº  สาสนญฺเจว        สกฺกจฺจํ สพฺพโส สทา.

คำแปล
คาถานมัสการพระรัตนตรัย
๑    ข้าพเจ้า (องค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์) ขอนมัสการ พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระสัทธรรม และพระอริยสงฆ์อันสูงสุดด้วยเศียรเกล้า ในที่นี้ (ก่อน) แล้ว จักกล่าวกถาสังเขปว่าด้วยไตรภูมิดังต่อไปนี้

๒    ข้าพเจ้า ขอนมัสการ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงชนะ (มารและ
เสนามาร) ผู้ประทานอมตธรรมเทศนาอันไพเราะ (แก่เวไนยสัตว์) ทรงประสงค์จะจำแนก (พระสัทธรรม) เพื่อความตั้งอยู่ยืนนาน (แห่งพระศาสนา) ทรงเป็นที่สักการะบูชา (ศูนย์รวมจิตใจ) ของประชาชนชาวศรีสัชชนาลัย ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระบารมี พระรัศมี ๖ ประการ (คือ ฉัทพัณณรังสี) แผ่สร้านออกเป็นประกาย ดุจช่อฟ้า ซึ่งประกาศถึงพระอธิคุณ (คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ) และพระอิสริยยศอันน่าชื่นชมยินดี อันให้เกิดความปีติและปราโมทย์ (แก่ชนทั้งหลาย)

๓    ข้าพเจ้า ขอนมัสการ ซึ่งดวงประทีปคือพระธรรมอันพระมุนีเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้ว อัน (สามารถ) กำจัดความมืดมนอันธการคืออกุศลเสียได้ ทำให้ (กุศล) ปรากฏได้  อันเป็นเครื่องประดับและปลูก (ความเลื่อมใส) แก่คนทั้งหลาย ผู้มีใจเบิกบาน และแจ่มใสแล้ว อันผุดขึ้นด้วยแสงสว่างแห่งการฟังของข้าพเจ้าด้วยดวงใจ (ใคร่จะแสดง) แก่ชนชาวศรีสัชชาลัยทั้งหลาย

๔    ข้าพเจ้า ขอนมัสการ ซึ่งพระอริยสงฆ์ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงไว้
ซึ่งศีลนั้น ผู้มีใจดุจดอกบัว (เป็นเครื่องบูชา) ของสาธุชน ผู้ประดับแล้ว ด้วยอาภรณ์คือพระธรรม ผู้มีน้ำ (ใจ) คงมั่น สะอาด ปราศจากมลทิน ประกอบด้วยรัศมีคือ ปัญญา เป็นผู้ที่ท่านจำแนกแล้วว่าเป็นบุคคล ควรกล่าวสรรเสริญ เต็มเปี่ยมด้วยฐานะ คือที่เกิดแห่งปัญญาเพียงดังแม่น้ำ

๕ – ๙    พระราชา ทรงพระนามว่า “พญาลิไทย” ผู้ทรงพระปรีชา
แตกฉาน เป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์แห่งเมืองสุโขทัย (ทรงพระนามว่า พญาเลอไทย) มีพระปัญญา ผ่องใสบริสุทธิ์ดุจดังปราสาททองธรรมชาติ มีทรัพย์คือความเป็นผู้ทรงสดับมากเป็นเรือนประดับ (พระวรกาย) เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่เป็นที่สุดในแผ่นดิน (สุโขทัย) ประสูติในตระกูลกษัตริย์อันสูงเกียรติน่าสรร¬เสริญ ทรงมีพระหทัยรื่นรมย์ยิ่งนัก มีพระสติปัญญามั่นคงและองอาจยิ่ง เป็นผู้ทรง (ทศพิธ) มีพระปรีชาญาณอย่างยิ่ง ทรงมีพระเกียรติคุณปรากฏด้วยทรงรอบรู้ในศิลปศาสตร์ทั้งปวง ทรงพระประสงค์จะประกาศศาสนธรรมให้แพร่หลาย จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ หนังสือ (ไตร) ภูมิกถานี้ขึ้นไว้เป็นภาษาไทย ที่เมืองศรีสัชชนาลัย เพื่อยกย่องเชิดชูพระศาสนาไว้ โดยเคารพ (ให้ปรากฏ) ตลอดกาล ทุกเมื่อ.

มหานครนิพพาน

silapa-0005 - Copy

มหานครนิพพาน ตามคติมหายานเรียกว่า เมืองสุขาวดี มีพื้นแผ่นดินเรียงรายด้วยทรายแก้ว สระโบกขรณี บริบูรณ์ด้วยน้ำเย็น เต็มไปกับดอกบัวบานอยู่มิขาด หมู่แมลงภู่เคล้าเกสรบัว และหมู่นกยูง นกกระเรียน นกจากพราก และราชหงส์แดง ราชหงส์ขาว มาร้องไพเราะทุกเมื่อ

นิมมานรดีเทวโลก

silapa-0006 - Copy

เป็นสวรรค์ชั้นกามาพจร

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

silapa-0007 - Copy

บุคคลผู้ใด คำรพยำเกรงบิดามารดาผู้เฒ่าผู้แก่ ในตระกูลแห่งตน แลมิได้ตระหนี่ยินดีในที่บริจาคทาน แลประกอบไปด้วยความอดกลั้นความโกรธเสียได้ ผู้นั้นได้เกิดในดาวดึงส์สวรรค์

พิภพอสูร
silapa-0008 - Copy
โรรุวนรก

silapa-0009 - Copy

นรกนี้ชื่อโรรุวนรก มีดอกบัวรุ่งเรืองด้วยเปลวไฟ สัตว์เกิดในดอกบัวนั้นจมอยู่เพียงคอ เพียงเอว เพียงเข่า สัตว์เหล่านี้เมื่ออยู่ในโลกมนุษย์ พูดปด เป็นพยานเท็จ กล่าวโทษผู้อื่น ชิงทรัพย์สินเงินทอง บ้านเรือนไร่นา ลูกเมียผู้อื่น หญิงนอกใจผัวไปคบชาย ชายไปคบหญิงเมียผู้อื่น ตายไปตกในนรกนี้

เปรตทั้งหลาย

silapa-0010 - Copy

ผู้ทำความชั่วต่างๆ ตายไปเกิดเป็นเปรตต่างๆ เช่น มหิทธิกาเปรต เปรตชิ้นเนื้อ เปรตงูเหลือม เป็นต้น

เปรตมีวิมาน

silapa-0011 - Copy

เปรตมีวิมาน ผู้พิพากษาคดีมิเป็นธรรม โดยเห็นแก่สินจ้าง ตายไปเกิดเป็นเปรต กลางวันเสวยทิพย์วิมาน กลางคืนเป็นเปรต มีเล็บมือเท่าแผ่นจอบขุดเนื้อสั้นหลังตัวเองกิน

อเวจีนรก

silapa-0012 - Copy

อเวจีนรก ลุกรุ่งเรืองด้วยเปลวไฟอยู่เป็นนิตย์ คนทำอนันตริยกรรม ๕ ทำลายพระพุทธรูป ทำลายเจดียฐาน ฆ่าสัตว์กินขายเป็นนิตย์ ตายไปตกในนรกนี้

เรื่องไตรภูมิกถานี้ แต่งขึ้นเมื่อใด แต่งขึ้นเมื่อปีระกา ศักราช ๒๓ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ คํ่า วันพฤหัส พญาลิไทยทรงริเริ่มนิพนธ์ขึ้น พญาลิไทยทรงเป็นโอรสพญาเลลิไทย ผู้ครองเมืองศรีสัชชนาลัยและสุโขทัย พญาลิไทยทรงเป็นราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระอัยยกาเจ้าพญาลิไทยเมื่อทรงราชย์ ณ เมืองศรีสัชชนาลัย ได้ ๖ ปี ได้ทรงเริ่มแต่งไตรภูมิกถา เหตุใดจึงทรงนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น เหตุที่ทรงนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น ก็เพื่อจะนำคำสอนในพระอภิธรรมของพระพุทธเจ้ามาเทศนาถวายพระราชชนนี และเพื่อเผยแพร่พระธรรมให้เจริญรุ่งเรือง

เนื้อเรื่องไตรภูมิกถา พญาลิไทยทรงเก็บความมาจากคัมภีร์ใดบ้าง ทรงเก็บความจากคัมภีร์พระอรรถกถาจตุราคม อรรถกถา ฎีกาพระอภิธรรมาวดาร พระอภิธรรมสังคหะ พระสุมังคลวิลาสินี พระปปัญจสูทนี พระสารัตถปกาสินี พระมโนรถปูรณี พระลีนัตถปกาสินี พระอรรถกถาฎีกาพระวินัย พระธรรมบท พระมหาวัคค์ พระธรรมมหากถา พระมธุรัตถวิลาสินี พระธรรมชาดก พระชินาลังการ พระสารัตถทีปนี พระพุทธวงศ์ พระสารสังคหะ พระมิลินทปัญหา พระปาเลยยะ พระมหานิพาน พระอนาคตวงศ์ พระจริยาปิฎก พระโลกปัญญัติติ พระมหากัลป์ พระอรุณวตี พระสมันตปาสาทิกา พระวิสุทธิมัคค์ พระลักษณาภิธรรม พระอนุฎีกาหิงธรรม พระสารีริกพินิจฉัย พระโลกุปปัตติ ทรงรวบรวม เนื้อความพระธรรมเหล่านี้มาผสมผสานใหม่ให้ชื่อว่า ไตรภูมิกถา

เหตุใดพญาลิไทยผู้เป็นพระมหากษัตริย์ จึงทรงนิพนธ์พระคัมภีร์ไตรภูมิ กถานี้ได้ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงรอบรู้พระไตรปิฎก และได้ทรงศึกษาจากสำนักพระสงฆ์ที่สำคัญๆ หลายแห่ง พระอาจารย์องค์แรกคือ พระมหาเถรมุนิพงศ์ ต่อจากนั้น ทางเล่าเรียนจากพระอโนมทัสสี พระมหาเถรธรรมปาลเจ้า พระมหาเถรสิทธัตถเจ้า พระมหาเถรพุทธพงศ์เจ้า พระมหาเถรปัญญานันทะ นอกจากนี้ ทรงเล่าเรียนจากราชบัณฑิตสองท่าน คือ อุปเสนราชบัณฑิต และ อทรายราชบัณฑิต และยังได้ทรงเล่าเรียนโดยการติดต่อทางพระราชสาสน์กับพระมหาเถรพุทธโฆษาจารย์ ณ เมืองหริภุญไชย์

ผู้ใดปรารถนาบรรลุสวรรค์นิพาน จงสดับฟังไตรภูมิกถาด้วยความตั้งใจ จริงอย่าได้ประมาท เพื่อว่าจะได้พบพระศรีอารยเจ้า เมื่อจะลงมาโปรดแก่ผู้รู้ทั้งหลายในโลกนี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

นกเค้าแมว ๑๘ ชนิดของไทย

นกเค้า ๑๘ ชนิดที่มีในประเทศไทยนั้น คือ นกแสก นกเค้าแดง นกเค้าหน้าผากขาว นกเค้าภูเขาหูยาว นกเค้าหูยาวเล็ก นกเค้ากู่ นกเค้าเล็กลายจุด นกเค้าแคระ นกเค้าโมง นกเค้าเหยี่ยว นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา นกเค้าใหญ่สีคล้ำ นกทึดทือพันธุ์ภาคนกเค้าหน้าผากขาวเหนือ นกเค้าป่าหลังจุด นกเค้าป่าสีน้ำตาล นกเค้าแมวหูสั้น

นกเค้าแมวเหล่านี้ แม้จะมีชื่อเรียกต่างๆ กัน แต่รูปร่างหน้าตาของมันดูเพียงผิวเผินก็เหมือนกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม นกเค้าแมวนั้นมีชื่อเรียกอีกหลายอย่างตามท้องถิ่นเช่น นกทึดทือ นกแสก นกฮูก โดยมากก็มักจะเรียกตามเสียงของมันที่ร้องออกมา ตามชนิดของมันนั่นเอง แม้แต่นกตบยุงก็นับเข้าเป็นพันธุ์เดียวกับนกเค้าแมว

อักษรไทยของเรานี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเจ้าได้ทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช ๑๘๓๕ คิดเป็นเวลาถึง ๖๘๕ ปีในปีนี้ (๒๕๒๓) เราได้อาศัยตัวอักษรไทยที่พระองค์ท่านได้ทรงประดิษฐ์ขึ้น จดเรื่องราวต่างๆ ของชาติไทยและชาติอื่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับชาติไทยไว้เป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี ด้วยปัญญาของไทยเราเอง ซึ่งพยัญชนะของไทยเรานี้แม้บางคนจะว่าพระองค์ได้ดัดแปลงมาจากอักษรของชาติอื่นก็ตาม แต่มีใครบ้างเล่าที่ทำอะไรคิดอะไรได้โดยไม่ต้องอาศัยของเก่า หรือเลียนแบบธรรมชาติ ถึงอย่างไรก็ควรจะภาคภูมิใจในอักษรไทย ภาษาไทยของเรา จงช่วยกันรักษาไว้ทั้งรูปแบบ และรูปคำพูด ให้ยืนยงคงไว้ตลอดไป

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี