เรือชนิดต่างๆ ของไทย

Socail Like & Share

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังให้ความหมายเรือไว้ว่า “ยานพาหนะ ซึ่งทำด้วยวิธีขุดไม้ทั้งต้น หรือต่อด้วยไม้เป็นต้นสำหรับใช้ไปในน้ำ” แต่ถ้าเติมคำอื่นเข้าข้างหลังก็มีความต่างกันออกไป เช่น เรือเหาะ เรือบิน เรือโบราณหมายถึงยานพาหนะที่ไปมาทางอากาศได้ เป็นต้น แต่ในที่นี้เห็นจะพูดเพียงเรื่องของเรือที่ใช้เป็นยานพาหนะไปมาทางน้ำเท่านั้น

เรือกำเนิดมาเมื่อไร ข้อนี้สุดวิสัยที่จะกำหนดให้แน่นอนลงไปได้ เพราะว่า มนุษย์เรานั้น ต้องอาศัยอยู่ริมน้ำเสมอมา เพราะต้องใช้น้ำในการทำเกษตรกรรม ขาดน้ำเสียแล้วก็ต้องอพยพไปหาแหล่งอื่นต่อไป เมื่อต้องอยู่ใกล้น้ำ ก็มีความจำเป็นต้องข้ามน้ำไปมา ระหว่างฟากแม่น้ำข้างหนึ่งไปสู่ฟากแม่น้ำอีกข้างหนึ่งบ้าง เป็นธรรมดา เรื่องของเรือจึงน่าจะเกิดมานานเท่ากับความเจริญทางเกษตรกรรมของมนุษย์เรานั่นแหละ

เรือเกิดขึ้นอย่างไร ครั้งแรกที่สุดน่าจะมีมนุษย์คนใดคนหนึ่ง เห็นขอนไม้ลอยน้ำมา และตนได้อาศัยขอนไม้นั้นเกาะลอยน้ำไปได้ จึงได้คิดวิธีการที่จะใช้ขอนไม้เป็นยานพาหนะ ครั้งแรกๆ ก็คงจะใช้มือกวักน้ำให้ขอนไม้ลอยไปในที่ต้องการก่อน ครั้นต่อมาคงจะรู้จักวีเอาไม้มาทำถ่อเป็นการสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ การอาศัยขอนไม้ข้ามฟากก็ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก ก็คงจะมีผู้ดัดแปลงโดยขุดขอนไม้ให้ลึกลงไปเป็นร่อง แล้วคนไปนั่งในนั้น ก็ทำให้เกิดมีความสะดวกสบายมากขึ้น นี่เป็นเหตุของการขุดเรือชะล่าหรือเรือมาด เมื่อทำเรือแล้ว ภายหลังต้องการให้เรือใหญ่ขึ้นก็เอาไม้อื่นเป็นแผ่นๆ มาเสริมปากเรือให้สูงขึ้นไปอีก ครั้งแรกก็คงจะเสริมเพียงเล็กน้อยก่อน ครั้นต่อมารู้จักทำกงต่อไม้กระดานเสริมปากเรือให้กว้างและสูงขึ้นไปอีก จนสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ได้ แต่กว่าจะต่อเรือใหญ่ได้ก็คงจะถ่ายทอดเป็นมรดกมาหลายชั่วอายุคนทีเดียว จนบัดนี้เรือนอกจากต่อด้วยไม้แล้วยังทำด้วยเหล็กและวัตถุอย่างอื่นอีกก็มี

เรือของพวกอียิปต์โบราณนั้นว่ากันว่าทำด้วยใบปาปิรัส เป็นเรือสำหรับแล่นตามแม่น้ำไนล์ พวกชาวอาฟริกาบางเผ่าเอาหนังสัตว์มาทำเป็นเรือก็มี

บางท่านว่าวิวัฒนาการของพาหนะทางน้ำครั้งแรก คนเรารู้จักเอาไม้มามัดเข้าเป็นแพก่อน แล้วจึงรู้จักขุดท่อนไม้เป็นเรือทีหลัง

เรือนับเป็นยานพาหนะสำคัญที่นำความเจริญจากชาติหนึ่งไปสู่ชาติหนึ่ง เป็นยานที่ทำให้คนหลายชาติได้ติดต่อค้าขายถึงกันได้โดยง่ายในสมัยก่อน

สำหรับประเทศไทยหรือชาติไทยของเรานั้น คงจะรู้จักใช้เรือมานานแล้วเหมือนกัน เพราะเราชอบอยู่ริมแม่น้ำลำคลองมาแต่เดิม อย่างนิทานเรื่องพระเจ้าสายนํ้าผึ้งนำเรือออกไปรับราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนจากเมืองจีนมาเมืองไทย เป็นต้น นั่นก็มีเค้าเงื่อนแสดงให้เราเห็นว่าเรามีการใช้เรือแล้ว สมัยสุโขทัยก็ว่าพระร่วงเสด็จไปเมืองจีนถึง ๒ ครั้งก็คงจะเสด็จโดยทางเรือนั่นเอง แต่จะเป็นเรือไทยหรือเรือจีนหรือชาติไหนก็ไม่ทราบได้

โดยเหตุที่ประเทศไทยเรา มีแม่นํ้าลำคลองมาก เรือจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ของเรา โดยเฉพาะคนในภาคกลางของประเทศ ต้องอาศัยทางน้ำในการสัญจรไปมาเป็นประจำ เรือลำเล็กๆ จึงมีความจำเป็นมาก เรือที่คนไทยเรารู้จักใช้เป็นอันดับแรกน่าจะเป็นเรือที่เรียกว่า เรือมาด คือเรือขุดที่เบิกแล้ว เป็นเรือขนาดเล็ก เรือชนิดนี้มีใช้ทั่วไป

เรือพายม้า คือเรือขุดที่เสริมกราบ หัวท้ายงอน เรือชนิดนี้เรียกว่าพายม้าหรือไพม้าก็มี ทำไมจึงเรียกอย่างนี้ก็ไม่ทราบ บางคนเรียกเผ่นม้าก็มี อาจจะเป็นเรือที่พายแล่นเร็วดีอย่างม้าเผ่นก็ได้

สำปั้น – เรือต่อชนิดหนึ่งหัวท้ายเชิด เรือชนิดนี้เดิมเป็นเรือเล็กที่บรรทุกมากับเรือใหญ่ เพื่อนำคนจากเรือใหญ่เข้าฝั่งหรือไปที่เรือใหญ่เข้าไม่ถึง

เรือชะล่า – เรือที่ขุดด้วยซุงทั้งต้นแต่ไม่เบิกให้ปากกว้าง

เรือแม่ปะ – รูปคล้ายเรือชะล่า แต่ใหญ่กว่าและมีประทุนอยู่กลาง มีใช้อยู่ตามแถบเหนือ

เรือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรือขนาดเล็กใช้แจวหรือพายในแม่น้ำลำคลองหรือชายฝั่งเท่านั้น และใช้บรรทุกของก็ได้เพียงเล็กน้อย ยังมีเรือบรรทุกสินค้าได้คราวละมากๆ อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เอี้ยมจุ๊น เป็นเรือขนาดใหญ่สำหรับถ่ายของและบรรทุกสินค้าในลำน้ำ สมัยก่อนเรือชนิดนี้ใช้ถ่อขึ้นล่องตามลำน้ำ เสียเวลามาก พอมีเรือกลไฟหรือเรือยนต์ขึ้นแล้ว ใช้เรือกลไฟหรือเรือยนต์โยงเรือเอี้ยมจุ๊นขึ้นล่อง รวดเร็วกว่าแต่ก่อน เพราะเรือกลไฟและเรือยนต์ลำหนึ่งๆ ลากหรือโยงเรือเอี้ยมจุ๊นได้หลายลำ เรือเอี้อมจุ๊นนี้ เรียกว่าเรือเกลือก็มี เพราะความล่าช้าของเรือชนิดนี้ เราจึงเรียกคนที่ทำงานไม่กระฉับกระเฉงว่า อืดอาดเหมือนเรือเกลือ เจ้าของเรือเอี้ยมจุ๊นส่วนใหญ่จะอาศัยกินอยู่หลับนอนในเรือนั่นเอง บางคนตลอดชีวิตไม่เคยมีบ้านเรือนอยู่บนบกเลย เกิดในเรือ อยู่ในเรือ และก็ตายในเรือ จะอยู่บนบกก็เห็นจะตอนเอาไปเผาเท่านั้นเอง ซึ่งก็นับว่าสบายดีเหมือนกัน ในสมัยที่พื้นแผ่นดินแพงและค่าวัสดุก่อสร้างก็แพงอย่างทุกวันนี้

ส่วนเรือขนาดใหญ่ที่ใช้ใบและแล่นออกทะเลได้นั้นมีหลายชนิด ว่าเฉพาะที่เรารู้จักในเมืองของเราเท่านั้น

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องเรือต่อไป เห็นสมควรจะกล่าวถึงเรือสำเภาสักเล็กน้อย ทำไมเรือแบบจีนขนาดใหญ่นั้นจึงเรียกว่าเรือสำเภามีผู้ให้ความเห็นว่า คำว่า “สำเภา” นั้นมาจากคำว่า “ตะเภา” ซึ่งหมายถึงลมที่พัดมาจากทิศใต้ไปทางเหนือในกลางฤดูร้อน เรือค้าขายที่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีการค้าขายติดต่อกับประเทศไทยมากที่สุดในสมัยก่อน โดยมากเข้ามาในประเทศไทยปีละครั้งในฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูที่มีลมตะเภาพัดมา จึงได้เรียกเรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนว่า “เรือตะเภา” หรือ “สะเภา” แล้วภายหลังจึงกลายมาเป็น “สำเภา” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้เหมือนกัน

ที่นี้เรามาพูดกันถึงเรือขนาดใหญ่ต่อไป

เรือสำปั้นแปลง – เรือชนิดนี้ว่าแปลงมาจากเรือสำปั้น เราเคยใช้ในการลาดตระเวนตรวจอ่าวและใช้ในการปราบโจรสลัด ครั้งโบราณเรียกว่า “เรือไล่” พงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ ได้กล่าวถึงเรือสำปั้นแปลงไว้ว่า “เมื่อครั้งทำสวนขวาในรัชกาลที่ ๒ ได้สั่งเรือสำปั้นมาจากเมืองจีนรูปร่างเร่อร่า จึงคิดต่อเป็นสำปั้นแปลง แก้รูปให้เพรียวกว่าเรือจีน ให้พวกข้างในพายในสระ ต่อมาพระยาสุริวงศ์มนตรี จึงคิดต่อเรือสำปั้นยาว ๗-๘ วา ต่อมาต่อเป็นสำปั้นขนาดใหญ่ มีเก๋งสลักลวดลาย เรียกว่า “เรือเก๋งพั้ง” ยาวถึง ๑๔ ๑๕ วา ใช้เป็นเรือพระที่นั่งและเรือที่นั่งของเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่”

พลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ ได้เล่าไว้ในหนังสือ ประวัติการทหารเรือไทยว่า “เรือสำปั้นแปลงที่ต่อแบบใหม่ บางลำก็ท้ายตัด ก็เรียกว่า “สำปั้นท้ายตัด” ในรัชกาลที่ ๓ ได้ใช้เรือสำปั้นแปลงขนาดใหญ่เป็นเรือรบด้วย จึงได้เรียกเรือนี้ว่า “สำปั้นรบไล่สลัด” เรือแบบนี้มีเก๋งอยู่ตอนกลางลำเรือ ใช้ใบและแจวขับเคลื่อนเรือ”

เรือแบบญวน – ท่านที่เคยอ่านพงศาวดารจะพบขัอความตอนทียกทัพเรือบอกชื่อเรือว่า เรือแง่โอ หรือแง่ทราย คงจะสงสัยว่าเรืออะไรที่เรียกอย่างนี้ เรือที่เรียกว่าแง่หรือเง่นี้ เป็นเรือแบบญวน เพราะคำว่าเง่หรือแง่ในภาษาญวนแปลว่าเรือ ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ เช่น เรือแง่ไลรัง เป็นเรือแบบสามเสา เรือแง่ซาวอม เป็นเรือใบเสาเดียว รูปร่างอย่างไรบอกไม่ถูกเหมือนกัน ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีคำสั่งให้ องเซียงสือ ต่อเรือ กุไล ส่งเข้ามาถวายใช้ในราชการถึง ๗๐ ลำ เข้าใจว่าเรือชนิดนี้เป็นเรือญวนขนาดย่อม

เรือฉลอมและเรือเป็ด – เป็นเรือสำหรับชาวประมงหรือพ่อค้าใช้แล่นตามชายฝั่ง

เรือแบบแขก – คือเรือแบบของมลายูหัวท้ายเชิดทำเป็นรูปหัวหางของสัตว์ ทาสีให้เป็นลวดลายแปลกๆ

เรือกำปั่นแปลง – ได้กล่าวแล้วว่าเรือขนาดใหญ่อย่างจีนเรียกเรือสำเภา ถ้าเป็นอย่างฝรั่งเรียกกำปั่น ที่นี้ไทยเราเลียนแบบเรือกำปั่นต่อขึ้นเองให้ผิดไปจากเดิมบ้างเรียกว่าเรือกำปั่นแปลง เรือชนิดนี้ได้เคยต่อใช้สมัยอยุธยามาแล้ว ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้ริเริ่มต่อขึ้นใหม่สำหรับใช้เป็นเรือรบ มีลักษณะหัวเรือเป็นปากปลา ท้ายเรือเป็นกำปั่นขนาดยาว ๑๑ วา กว้าง ๙ ศอก ๑ คืบ มีทั้งแจวและใบขับเคลื่อนเรือ เรือชนิดนี้บางทีก็เรียกเรือรบอย่างนคร

เรือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเรือใช้ธรรมดา แต่ว่าเมื่อถึงคราวที่จะต้องใช้ในการสงครามก็เกณฑ์เข้ามาใช้ได้ เรียกว่าเรือรบเหมือนกัน การรบทัพจับศึกของไทยทางเรือนั้น แทบจะกล่าวได้ว่าแต่เดิมเราไม่มีการรบทางเรือ ที่ว่ายกทัพเรือ ก็หมายความเพียงว่ายกทหารไปทางเรือแล้วยกพลขึ้นบกที่ใดที่หนึ่งแล้วเดินทัพไปรบทางบกนั่นเอง ไม่เหมือนกองทัพเรืออย่างทุกวันนี้

ประเทศไทยเราคงจะต่อเรือใช้มานาน โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คงจะมีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาต่อเรือกันมาก เพราะเรามีไม้ที่เหมาะจะต่อเรือมากมาย รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรามีเรือของหลวงหลายลำ เรามีเมืองท่าค้าขายที่เมือง มะริด มีเรือค้าขายของเรากับต่างประเทศใกล้เคียงด้วย รัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างต่อกำปั่นใหญ่ไตรมุข ขนาด ๑๘ วา ๒ ศอก ปากกว้าง ๖ วา ๒ ศอก ให้ตีเสมอใหญ่ที่วัดมเหยงค์ ๕ เดือน กำปั่นนั้นแล้ว ให้เอาออกไปยังเมืองมะริด บรรทุกช้างได้ ๓๐ ช้าง ให้ไปขายเมืองเทศโน้น คนทั้งหลายลงกำปั่นใช้ใบไปถึง เมืองเทศ แล้วขายช้างนั้นได้เงินและผ้าเป็นอันมาก แล้วกลับคืนมายังเมืองมะริดสิ้นปีเศษ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไทยเรารู้จักต่อเรือขนาดใหญ่สามารถบรรทุกช้างได้ถึง ๓๐ เชือกมานานแล้ว

และก็เพราะเรามีไม้สักไม้ซุงเหมาะที่จะต่อเรือนี่เอง จึงมีชาวต่างประเทศมาต่อเรือในเมืองไทยมากขึ้น ทางราชการเล็งเห็นว่าขืนปล่อยให้ตัดซุงต่อเรือได้ตามใจชอบ เมืองไทยก็เห็นจะไม่มีป่าเป็นแน่ จึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ซึ่งพระองค์ได้ทรงฟื้นฟูและชำระสะสางตัวบทกฎหมายขึ้นใหม่เพราะฟั่นเฝือมานาน ได้ทรงประกาศใช้พระราชกำหนด เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๘ ห้ามมิให้ต่อเรือโดยพลการ นอกจากจะได้รับอนุญาตเสียก่อน และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามประกาศ และการเรียกค่าธรรมเนียมสมัยก่อนนี้ดูจะเรียกกันหลายทอดเหลือเกิน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราน่าจะได้รู้ไว้บ้างจึงขอคัดพระราชกำหนดนั้นมาดังนี้

“ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าสั่งว่า แต่ก่อนครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในพระบรมโกษฐ์ ให้มีกฎหมายไว้ว่า ไม้ซุงสัก ไม้ขอนสัก ไม้ตะเคียน ไม้เคี่ยมไม้อินทนิล และไม้เบ็ดเสร็จทั้งปวง ต้องการสำหรับจะได้บูรณปฏิสังขรณ์สร้างวัดวาอาราม และใช้ราชการเบ็ดเสร็จแต่ละปีเป็นอันมาก และฝ่ายผู้มีชื่อ ลูกค้าผู้มีเงินมาก ย่อมคิดอ่านซื้อหาต่อสำเภาขึ้นเป็นอันมากไม้ซุกสักไม้ขอนสัก และไม้เบ็ดเสร็จ ซึ่งจะได้จ่ายราชการนั้นเปลืองไป หาเป็นประโยชน์แก่กรุงเทพมหานครไม่ ไปเป็นประโยชนแก่ลูกค้า ฝ่ายไม้ทั้งปวงซึ่งจะได้จ่ายราชการ ณ กรุงเทพมหานครขัดสน แต่นี้สืบไปเทื้อหน้า ห้ามอย่าให้ผู้ใดต่อสำเภาแต่อำเภอใจเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าแลผู้ใดจะต่อสำเภาจำเพาะ ให้กราบทูลพระกรุณาก่อนต่อ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อจึงต่อได้ ถ้าแลลูกค้าผู้ใดจะให้ข้าละอองฯ ผู้ใดกราบทูลพระกรุณาต่อสำเภา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งข้างในๆ มาสั่งเถ้าแก่ข้างในให้เรียกค่ารับสั่งสามต่อๆ ละ ตำลึงเป็นเงินสามตำลึง แล้วเถ้าแก่มาสั่งมหาดเล็ก มหาดเล็กเอากราบทูลพระกรุณาฉลอง เรียกเอาค่าทูลฉลองสามต่อๆ ละสามตำลึง เป็นเงินเก้าตำลึง แล้วผู้รับสั่งมาสั่งชาววังผู้อยู่เวรๆ เรียกเอาค่ารับสั่งสามต่อๆ ละตำลึง เป็นเงินสามตำลึง แล้วมหาดไทยหมายให้สัสดี สัสดีเรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละบาท เป็นเงินสามบาท แล้วสัสดีหมายบอกนักการสมุห์บาญชีกรมท่าๆ เรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละบาท เป็นเงินสามบาท แล้วจึงหมายบอกมาถึงเสมียนเวรกรมท่า เอาว่าแก่โกษาธิบดีๆ เอากราบทูลพระกรุณาฉลอง เรียกเอาค่าทูลฉลองสามต่อๆ ละสามตำลึง เป็นเงินเก้าตำลึง แล้วจึงสั่งเสมียนเวรให้หมายบอกโชดึก และเสมียนเวรเรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละ สองบาทสองสลึง เป็นเงินตำลึงสามบาทสองสลึง โชดึกจึงจัดแจงเหยียบที่ให้ผู้มีชื่อต่อสำเภา เรียกเอาค่าธรรมเนียมหกบาท ถ้าสำเภาปากกว้างแต่สามวาขึ้นไป จนปากสามวาศอก ปากสามวาสองศอก ปากสามวาสามศอก ให้กรมท่าเรียกทองแท่งหมึกเป็นของถวายแท่งหนึ่ง หนักหกตำลึงหนึ่งบาทเนื้อหกน้ำ เศษสอง ถ้าหาทองคำมิได้ คิดเป็นเงินราคาสิบสองหนักทองคำหกตำลึงหนึ่งบาทเป็นเงินสามชั่งสิบห้าตำลึง ถ้าสำเภาปากกว้างแต่สี่วาขึ้นไปจนห้าวาศอก ห้าวาสองศอกถึงหกวาขึ้นไป ให้เรียกเอาทองคำแท่งหมึกสามแท่ง ถ้าไม่มีทองคำแท่งหมึกให้คิดเอาเงินตามราคาทองดุจกัน และคิดแต่ผู้จะต่อสำเภาลำหนึ่งต้องเสียเงินค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมายเบ็ดเสร็จศิริเป็นเงินหนึ่งชั่ง สิบสี่ตำลึงสามบาทสองสลึง ถ้าต่อสำเภาหัวเมืองต้องเสียค่าตราสามตำลึงหนึ่งบาท เข้ากันเป็นเงินหนึ่งชั่งสิบแปดตำลึงสองสลึงจึงต่อได้ ถ้าผู้ใดลักลอบต่อสำเภาแต่อำเภอใจตน มิได้ให้กราบพระกรุณาก่อนให้เอาตัวผู้ลักลอบต่อสำเภาเป็นโทษ ลงพระราชอาญาเฆี่ยนยกหนึ่งสามสิบที แล้วให้เรียกเอาค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมาย ทองแท่งหมึก ค่าธรรมเนียม ให้ครบแล้วให้พ้นโทษต่อสำเภาสืบไป และมีกฎหมายอย่างธรรมเนียมสืบมาฉะนี้

ครั้นอยู่มาครั้งแผ่นดินเก่า ให้เรียกธรรมเนียมต่อสำเภาสูงๆ ต่ำๆ ฟั่นเฟือนจะเอาเป็นกฎหมายอย่างธรรมเนียมมิได้ ซึ่งมีกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ์ตรัสสั่งไว้นั้น ก็เห็นเป็นขนบขนาดต้องโดยบูราณราชประเพณีดีอยู่แล้วให้เอาตามกฎหมายเก่า และบัดนี้ต้องสถาปนาสร้างพระนคร และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นใหม่เป็นอันมาก ต้องให้มากกว่าแต่ก่อน

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าผู้ใดจะต่อสำเภาปากกว้างแต่สิบเอ็ดศอกขึ้นไปเท่าใด ก็ให้เรียกเอาทองคำแท่งหมึก ค่ารับสั่งค่าทูลฉลอง ค่าหมาย ค่าธรรมเนียมเบ็ดเสร็จตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมในพระบรมโกษฐ์จงทุกประการ ถ้าลูกค้าผู้ใดจะต่อสำเภา ณ หัวเมืองใดให้มาบอกแก่ผู้รักษาเมืองกรมการ…….แลให้ผู้รักษาเมืองกรมการปรึกษาหารือกันเหยียบที่ให้ตามธรรมเนียมแล้วให้ต่อไปพลางก่อนเถิด แลให้ผู้รักษาเมืองกรมการเรียกเอาทองคำแท่งหมึก แลค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมายเบ็ดเสร็จขนบธรรมเนียมให้ครบตามปากสำเภาดุจหนึ่ง ณ กรุงเทพมหานคร แล้วให้บอกขอต่อสำเภาส่งทองคำแลเงินค่าธรรมเนียมเข้าไปในกรุงเทพมหานครให้สิ้น แต่ค่าธรรมเนียมเหยียบที่ตำลึงสองบาทนั้น ให้ผู้รักษาเมืองกรมการรับพระราชทานตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ครั้นกราบทูลพระกรุณาแล้วมีตรา ตอบออกไปให้ต่อฝ่ายเสมียนเวรเจ้าตราได้รับพระราชทานเงินค่าตรา ค่าแต่ง ค่าเขียน ค่าธรรมเนียม สามตำลึงหนึ่งบาท”

ท่านจะเห็นว่ากว่าจะได้ต่อสำเภาหรือเรือกำปั่นแต่ละลำนั้นลำบากเพียงไร ต้องมีพิธีรีตองเสียเงินมากมาย เมื่อคนเรามิได้รับความสะดวกและเสียเงินทองมากก็ต้องมีการเลี่ยง การเสียเงินเป็นธรรมดา ทีนี้พวกที่มีเรืออยู่แล้วแต่เล็กและเก่าไปก็ถือโอกาสต่อเรือเติมให้กว้างกว่าเดิม เพราะกฎหมายมิได้ห้ามการต่อเรือให้กว้างไว้ คนที่เลี่ยงกฎหมายอย่างนี้คงจะมีมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายห้ามมิให้ต่อเรือโดยวิธีซ่อมแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาต คือให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับเรือที่ต่อใหม่ทั้งลำนั่นเอง

สมัยนี้ การต่อเรือไม่จำต้องลำบากถึงขนาดนี้ แต่ผู้ที่จะตั้งโรงงานหรืออู่ต่อเรือเห็นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งโรงงานหรือถ้ามีการแปรรูปไม้เพื่อจะต่อเรือด้วยก็เห็นจะต้องอนุญาตการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ด้วย

การต่อเรือของไทยคงจะวิวัฒนาการมาตามลำดับ จนกระทั่งเรามีอู่ต่อเรือหรือกรมอู่ทหารเรือของเราคือต่อเรือรบแต่ไม่ใช่ด้วยไม้เสียแล้ว เวลานี้เรือของเราต่อด้วยเหล็กหรือวัสดุอย่างอื่น อย่างที่ท่านได้เห็นอยู่แล้ว

ต้องขออภัยในความตอนก่อนว่าการรบทางเรือของไทยเราแต่โบราณคงจะไม่มี นอกจากขนทหารไปขึ้นบกแล้วรบกันบนบกเท่านั้น ความจริงไทยเราก็มีการรบกันทางเรือมามากเหมือนกันโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยอยุธยาที่เดียว เช่นคราวหนึ่งเมื่อเจ้าท่าเมืองมะริดของเราเกิดทะเลาะกับเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งอังกฤษในสมัยที่แซมวลไวท์ (Samuel White) เป็นเจ้าท่า ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเรือไทยยิงเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกจนเกิดความยุ่งยากทางการค้าและการเมืองไปครั้งหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีการรบทางเรือมาแต่ครั้งนั้น นอกจากนี้จากประวัติการทหารเรือของเรา ทราบได้ว่าไทยเรามีปืนใหญ่ประจำเรือรบตั้งแต่สมัยที่เราใช้เรือใบเป็นเรือรบอยู่แล้ว แต่เรือรบของเรานั้นได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามสมัยนิยม

ในสมัยอยุธยาเรือรบของเราจะมีรูบแบบเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถจะบอกได้เสียแล้ว อาจจะเป็นสำเภาแบบจีนหรือกำปั่นแบบฝรั่งก็ได้ หรืออาจจะเป็นแบบไทยๆ ก็ได้เหมือนกัน

อันสำเภาหรือกำปั่นแบบฝรั่งนั้น ท่านผู้รู้อธิบายไว้ว่ามีอยู่สามชนิด คือบริก บาร์ก และสกูเนอร์ ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ดังนี้

๑. เรือชนิดบริก (Brig) เป็นเรือ ๒ เสา ทั้งสองเสาใช้ใบตามขวางและมีใบใหญ่ ที่กาฟฟ์ (Gaef Mainsail)
๒. เรือชนิดบาร์ก (Brague) เป็นเรือ ๓ เสา เสาหน้าและเสาใหญ่ใช้ใบตามขวาง เสาหลังใช้ใบตามยาว
๓. เรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) เป็นเรือ ๒ เสา แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ แบบเรือบรรทุกสินค้า และแบบเรือยอชท์สำหรับเที่ยวหาความสำราญ เรือสกูเนอร์แบบบรรทุกสินค้าที่เสาหน้าตอนบนใช้ใบตามขวาง ตอนล่างใช้ใบตามยาว ส่วนเสาหลังนั้นก็ใช้ใบตามยาว เรือสกูเนอร์แบบเรือยอชท์ทั้งเสาหน้าและทั้งเสาท้ายใช้ใบตามยาว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี