การแบ่งฤาษีตามคัมภีร์เวสสันดร

ในคัมภีร์เวสสันดรทีปนี หรือคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องพระเวสสันดรได้แยกประเภทดาบสหรือฤาษีออกเป็น ๘ จำพวก คือ

๑. สปุตตกภริยา ดาบสมีบุตรมีภรรยา ได้แก่ดาบสที่ฤาษี1ออกบวชพร้อมด้วยบุตรภรรยา เช่น เกณียชฎิลเลี้ยงชีพด้วยกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น
๒. อุญฉาราริกา  ดาบสบูชาไฟ ได้แก่ดาบสสร้างอาศรมริมประตูเมือง สอนศิลปะศาสตร์แก่โอรสของกษัตริย์และบุตรของพราหมณ์เป็นต้นในอาศรมนั้น รับเงินและทองแล้วแลกของเป็นกับปิยะเช่นน้ำมันและข้าวสารเป็นต้น พวกนี้ดีกว่าพวกมีบุตรภรรยา
๓. สัมปัตตกาลิกา  ดาบสรับบิณฑบาตเฉพาะเวลา ได้แก่ดาบสที่รับอาหารเฉพาะแต่ในเวลาอาหาร เลี้ยงชีพไปวันหนึ่งๆ พวกนี้นับว่าประเสริฐกว่าพวกบูชาไฟ
๔. อนัคคิปักกิกา  ดาบสที่บริโภคของไม่สุกด้วยไฟ คือบริโภคแต่ใบไม้ หรือผลไม้ซึ่งไม่สุกด้วยไฟ ดาบสพวกนี้ดีกว่าพวกที่รับบิณฑบาตเฉพาะเวลา
๕. อัสสมุฏฐิกา  ดาบสใช้ก้อนหิน ได้แก่ดาบสที่ถือก้อนหินมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือมีดและหอยกาบเที่ยวจาริกไป เวลาหิวก็ถากเปลือกไม้ที่พบเข้าเคี้ยวกิน อธิษฐานอุโบสถเจริญพรหมวิหารสี่ ดาบสพวกนี้ประพฤติพรตดีกว่าพวกที่บริโภคของไม่สุกด้วยไฟ
๖. ทันตลุยยกา  ดาบสแทะเปลือกไม้บริโภค ดาบสพวกนี้บริโภคอาหารเช่นเดียวกับพวกที่ ๕ ผิดแต่ไม่ใช้เครื่องมืออย่างอื่นถากเปลือกไม้บริโภค เมื่อหิวกระหายขึ้นมาก็ใช้ฟันแทะเปลือกไม้ที่ต้องการบริโภคเป็นอาหาร เรียกว่าสันโดษกว่าพวกที่ ๕ ที่ต้องอาศัยเครื่องมืออย่างอื่นทำให้ต้องถือลำบากเป็นภาระ ดาบสพวกนี้ถ้าแก่ตัวลงฟันฟางหักเหี้ยนไปก็เห็นจะต้องเลิกประพฤติพรตแบบนี้หรือไม่เช่นนั้นก็คงจะให้อดตายไปเลยเป็นสิ้นเรื่องกันที ดาบสพวกนี้อธิษฐานอุโบสถและเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ เหมือนกับพวกที่ ๕
๗. ปวัตตผลิกา  ดาบสกินผลไม้ตามแต่จะได้ ได้แก่ดาบสพวกที่อาศัยหนองน้ำหรือราวป่าอยู่ แล้วบริโภคเหง้าบัวหรือรากบัวในหนองน้ำหรือบริโภคดอกไม้เมื่อถึงหน้าดอกไม้ และบริโภคผลไม้เมื่อถึงหน้าผลไม้ เมื่อผลไม้ดอกไม้ไม่มีก็กินสะเก็ดไม้ ไม่เที่ยวหาอาหาร อธิษฐานอุโบสถ เจริญพรหมวิหาร พวกนี้ดีกว่าพวกแทะเปลือกไม้ เพราะพวกนั้นยังต้องเที่ยวไป แต่ดาบสพวกนี้อยู่กับที่มีหรือไม่มีอะไรกินก็ไม่ไปแสวงหาที่อื่น
๘. วัณฎมุตตกา  ดาบสบริโภคใบไม้ที่หลุดจากขั้ว ได้แก่ดาบสที่บริโภคแต่ใบไม้ที่หลุดจากขั้วหล่นลงบนแผ่นดิน พวกนี้ยกย่องกันว่าวิเศษที่สุด

ดาบสพวกที่บริโภคแต่ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมานี้ยังได้แบ่งออกไปอีกเป็น ๓ พวกคือ พวกหนึ่งถือเคร่งครัดมากจะบริโภคเฉพาะใบไม้ผลไม้ที่หล่นลงมาอยู่แค่มือเอื้อมเท่านั้น ที่เคร่งครัดเพลาลงมาหน่อยก็ถือว่าบริโภคอยู่ต้นไหนก็บริโภคแต่ต้นนั้นไม่ไปเก็บจากต้นอื่นๆ ส่วนพวกที่ถืออย่างอ่อน ได้แก่พวกที่เที่ยวเก็บเอาที่หล่นลงมาจะเป็นของต้นไหนก็เอาทั้งนั้น

คัมภีร์ภควัทคีตา  ได้ให้ความหมายของคำว่าดาบสไว้ว่า เป็นชื่อเรียกนักพรตผู้ประกอบกรรม ๓ อย่างคือ ยัญ การบูชาไฟ ทาน การเสียสละโลกียสุข และตบะการบำเพ็ญเพียร

อย่างไรก็ตามนักบวชเช่นฤาษีนี้ต้องพึ่งพาอาศัยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ที่เป็นฤาษีก็ต้องมีเครื่องใช้สอยหรือบริขารที่จำเป็นไว้ด้วย เช่น ขอสำหรับสอยผลไม้ เสียม สาแหรก ไม้คาน กระเช้าสานสำหรับใส่ผลไม้ และทัพพีประจำตนสำหรับตักเนยบูชาไฟ ไม้เท้าและถุงย่าม ส่วนเครื่องนุ่งห่มนั้นใช้เปลือกไม้บ้าง ใบไม้บ้าง หนังสัตว์ เช่นหนังสือบ้าง และนุ่งคากรองบ้าง

ในประเทศอินเดียพวกฤาษีคงจะมีมาก่อนพุทธกาล เพราะตอนพระพุทธเจ้าประสูตินั้น อสิตดาบสหรือกาฬเทวินดาบสได้เข้ามาเยี่ยมและถวายพระพรด้วย และนอกจากนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าออกผนวชใหม่ๆ ได้เข้าไปศึกษาอยู่ในสำนักของอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรวมบุตรจนสำเร็จได้บรรลุสมาบัติ ๘

ฤาษีทั้งหลายนับเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ และตั้งสำนักส่วนใหญ่อยู่ที่นครตักศิลา ซึ่งเรียกว่าเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ หรือเป็นนครมหาวิทยาลัยสมัยก่อนของชมพูทวีปทีเดียว ดังนั้นบรรดากษัตริย์ทั้งหลายจึงนิยมส่งโอรสไปศึกษาวิชาการต่างๆ จากสำนักทิศาปาโมกข์เหล่านั้น

ฤาษีทั้งหลายทำอะไรบ้าง ฤาษีหรือโยคีนั้นต้องบำเพ็ญตบะ ว่ากันว่าถ้าตบะแก่กล้าแล้วสามารถบันดาลอะไรได้หลายอย่าง สาปแช่งใครให้เป็นอะไรก็ได้ คนจึงกลัวฤาษี หรือโยคีกันมาก ลัทธิที่โยคีต้องศึกษาเล่าเรียนนั้นว่ามีอยู่ ๕ ชั้น คือ

๑.ตหโยคะ  เรียนบริหารร่างกาย ให้แข็งแรงสามารถต่อสู้โรคภัยตลอดถึงดื่มยาพิษหรือกินแก้วกระจกได้ ท่านที่เคยไปวัดพระเชตุพนที่กรุงเทพฯ คงจะเคยเห็นรูปปั้นฤาษีดัดตนท่าต่างๆ วางไว้ นั้นก็คือท่าที่ฤาษีทำการบริหารร่างกายดังกล่าวแล้ว เพราะฤาษีต้องนั่งทำจิตใจให้เป็นสมาธิเป็นเวลานาน จึงต้องมีการบริหารร่างกายแก้เมื่อยขบเป็นเครื่องช่วย ส่วนการที่สามารถดื่มยาพิษได้โดยไม่เป็นอันตรายนั้นมีผู้เล่าว่ามีโยคีหนุ่มคนหนึ่งสามารถดื่มยาพิษชนิดร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้คนตายได้เป็นร้อยคน โดยที่ตนไม่เป็นอะไรเลย นี่ก็คือผลของการบำเพ็ญโยคะอันที่ ๑
๒. ญาณโยคะ  เรียนศิลปะต่างๆ ให้รู้ทางธรรมหรือวิชาหัตถกรรม
๓. กรรมโยคะ  หัดฝึกใจให้ทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทน หัดละโลภ โกรธ หลง
๔. ภักติ โยคะ  หัดภาวนา ฝึกดวงจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่
๕. ราชโยคะ  หัดให้เป็นคนวิเศษ เหนือมนุษย์สามัญ มีทิพโสต ทิพจักษุ นี้เป็นเรื่องของฤาษีหรือโยคีของอินเดีย และลัทธิโยคีนี้คงจะติดตามคนอินเดียเข้ามาในเมืองไทย เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว นิยายเรื่องฤาษีจึงติดอยู่ในจิตใจและในชีวิตของคนไทยต่อมาจนบัดนี้

พวกฤาษีคงจะมีคนนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์มาแต่เก่าก่อน โดยเฉพาะพวกนักแสดงเช่นหนังตลุง และละครชาตรี ต่างนับถือฤาว่าเป็นครูของตน นั่นก็แสดงว่าความรู้เกี่ยวกับการแสดงเหล่านี้ นักพรตเช่นฤาษีเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้นั่นเอง

ฤาษีจะหมดไปจากประเทศ่ของเราแล้วหรือยังก็ไม่ทราบ แต่พวกที่นับถือศาสนาพุทธแล้วไม่ได้บวช ได้แต่หลีกเร้นไปอยู่ตามถ้ำและภูเขาลำเนาไพรก็คงมีอยู่มาก ท่านเหล่านี้เราจะเรียกว่าฤาษีก็คงจะได้กระมัง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ฤาษีแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น

เมื่อพูดถึงคำว่าฤาษี พวกเราแทบทุกคนคงเคยได้ยินคำนี้มาแล้ว และฤาษีนี้ดูเหมือนจะคุ้นเคยกับคนไทยเรามากที่สุด เพราะเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ของเราอันเป็นหนังสือฤาษีประโลมโลกรุ่นคุณปู่ได้กล่าวถึงฤาษีไว้แทบทุกเรื่องหรือเท่าที่อ่านมาก็ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่กล่าวถึงฤาษี แม้แต่เรื่องพระอภัยมณีวรรณคดีที่เรารู้จักกันดีอยู่จนทุกวันนี้ ท่านสุนทรภู่ก็ไม่ลืมที่จะเอาฤาษีไปเป็นตัวละครของท่าน

ฤาษีคือใคร  ฤาษีนั้นว่ากันว่าเป็นนักบวชพวกหนึ่งอยู่ในป่า แต่นักบวชพวกนี้นับถือศาสนาอะไร หรือนับถืออะไร ไม่มีกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ฤาษีนี้ภาษาบาลีว่า อิสิ หรือ อิสี แปลว่า ผู้แสวงหาความดี และเชื่อกันว่าฤาษีนี้มีมาก่อนพุทธกาล และเป็นนักบวชที่ถือศาสนาพราหมณ์นั่นเอง เพราะมีการบูชาไฟซึ่งเรียกว่ากองกูณฑ์พิธี

มีผู้แปลคำว่าฤาษีว่า  ผู้มีปัญญาอันได้มาจากพระเป็นเจ้า และได้แบ่งแยกฤาษีออกเป็น ๔ ชั้น คือ

๑. ราชรรษีหรือราชฤาษี ได้แก่กษัตริย์ที่ออกบวชเป็นภาษี
๒. พราหมณรรษีหรือพราหมณฤาษี
๓. เทวรรษีหรือเทวฤาษี
๔. มหรรษีหรือมหาฤาษี

และว่าฤาษีนี้นับเป็นพราหมณ์ชั้นสูง ฤาษีที่ว่านี้คงเป็นพวกที่พราหมณ์แบ่งแยกไว้

ส่วนในหนังสือเทวกำเนิดได้แบ่งแยกฤาษีหรือเซียนเหย่งหรือเซียนเต่าไว้ ๕ จำพวกคือ

๑. เถียนเซียน คือเทพฤาษี อาศัยอยู่รอบเขาพระสุเมรุ
๒. เซียนเซียน คือบุรุษฤาษี เร่ร่อนอยู่ในอากาศ
๓. เหย่งเซียน คือนรฤาษี อาศัยอยู่ในหมู่คน
๔. ตี้เซียน คือภูมิฤาษี อยู่ตามในถ้ำต่างๆ
๕. กุ้ยเซียน คือเปรตฤาษี ไม่มีที่อยู่เป็นแห่ง เร่ร่อนอยู่

ฤาษีพวกนี้เป็นฤาษีของจีนเห็นจะอยู่ในลัทธิเต๋า

สำหรับในประเทศไทยเรานั้น เข้าใจว่ามีฤาษีอยู่นานแล้วเหมือนกัน เพราะปรากฏว่ามีเมืองหลายเมืองซึ่งฤาษีเป็นผู้สร้างเช่นนครลำพูน
หรือหิรภุญชัยก็ว่าฤาษีสร้างแล้วให้คนมาอัญเชิญพระนางจามเทวีขึ้นไปครอง เมืองศรีสัชนาลัยก็ว่าฤาษีสร้างเช่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก แต่ฤาษีในเมืองไทยคงจะนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย ดังนั้นเรื่องของฤาษีก็หมายเอานักพรตพวกหนึ่งซึ่งสละบ้านช่องแล้วออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรนั่นเอง เราจึงเรียกพวกนี้ว่า ฤาษีชีไพร

อย่างไรก็ตาม คำที่เราใช้เรียกฤาษีนั้นมีอยู่หลายคำ คือ

๑. สิทธา  หมายถึงฤาษีที่ทรงคุณธรรมอย่างมั่นคง มีวิมานอยู่ระหว่างพื้นดินกับพระอาทิตย์
๒. โยคี  หมายถึงผู้สำเร็จหรือกำลังศึกษาในโยคธรรมได้แก่พราหมณ์ที่เที่ยวทรมานตนในป่า
๓. มุนี  หมายถึงพราหมณ์ผู้มีความรู้ชั้นสูง ที่เรียกว่าจบไตรเภท คือฤคเวทยัชุรเวทและสามเวท
๔. ดาบส  หมายถึงผู้บำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลสมุ่งไปในทางทรมานกายและจิตหวังโลกุตรสุข ที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอัตกิลมถานุโยค เป็นวิธีการที่ตึงเกินไป พระพุทธองค์ไม่ประสงค์ให้พุทธบริษัทกระทำเพราะไม่ใช่ทางแห่งการแห่งตรัสรู้หรือหลุดพ้นจากกิเลส
๕. ชฎิล  หมายถึงนักพรตจำพวกหนึ่งที่มีผมมุ่นเป็นเซิง หรือเกล้าเป็นมวยสูง
๖. นักสิทธิ  หมายถึงฤาษีจำพวกครึ่งเทวดา ครึ่งมนุษย์ สถิตในอากาศระหว่างมนุษย์โลกกับอาทิตยโลก ว่ามีจำนวน ๘๘,๐๐๐ ตน ป่านนี้จะเพิ่มเหมือนพลเมืองของไทยหรือไม่ก็ไม่ทราบ

รวมความแล้วฤาษีก็มีหลายพวกและหลายระดับ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

การแบ่งศาลยุติธรรม

ปัจจุบันนี้ ได้แบ่งศาลยุติธรรมออกเป็น ๓ ขั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุด

ศาลชั้นต้นนั้นแบ่งออกเป็น
๑. ศาลแขวง
๒. ศาลคดีเด็กและเยาวชน
๓. ศาลจังหวัด

ศาลทั้งสามนี้มีอยู่ตามหัวเมือง โดยเฉพาะศาลจังหวัดนั้นมีอยู่ทุกจังหวัดส่วนศาลแขวงนั้นมีเฉพาะที่จังหวัดใหญ่ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระศาลจังหวัดเกี่ยวกับคดีเล็กๆ ศาลยุติธรรม1น้อยๆ ส่วนศาลคดีเด็กและเยาวชนนั้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เด็กกระทำผิด แต่ก็มีอยู่ไม่กี่แห่งในหัวเมืองและในกรุงเทพมหานคร

๔. ศาลอาญา
๕. ศาลแพ่ง

ทั้งสองศาลนี้ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครแยกคดีอาญาและคดีแพ่งพิจารณาแต่ละศาล เพราะในกรุงเทพฯ มีคดีความมาก แยกกันก็เป็นการสะดวก ไม่เหมือนศาลจังหวัดซึ่งคนน้อยจึงรวมการพิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งไว้ในศาลเดียวกัน

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังประกาศตั้งศาลแรงงานขึ้นอีกศาลหนึ่ง พิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับแรงงาน

ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา  นั้นมีอย่างละ ๑ ศาล ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น

คดีที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาแล้ว หากคู่ความไม่พอใจก็อาจจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใต้กฎหมายที่อนุญาตไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วหากคู่ความไม่พอใจอีก ก็อาจจะยื่นฎีกาให้ศาลฎีกาพิพากษาได้อีกศาลหนึ่ง แต่ก็ต้องแล้วแต่เรื่องเป็นเรื่องๆ ไป มิใช่ว่าจะยื่นฎีกาได้เสมอไปเมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้วคดีเป็นอันถึงที่สุด

ปัจจุบันนี้ การปกครองของเราได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น ๓ อย่างคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการหรืออำนาจในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี อำนาจทั้งสามประการนี้ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ผู้ที่จะออกกฎหมายก็คือสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติ ส่วนอำนาจบริหารนั้นรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้โดยผ่านเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ อำนาจตุลาการนั้นเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ ใช้ภายใต้กฎหมายและในนามพระมหากษัตริย์ เรื่องอำนาจของศาลนี้ ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่อีกมากว่าผู้พิพากษาอยู่ในอำนาจของฝ่ายปกครอง ศาลพิพากษาแล้วคู่ความไม่พอใจไปฟ้องร้องผู้ว่าราชการจังหวัดว่าศาลตัดสินไม่ยุติธรรมก็มี ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยตัดสินใหม่ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ถ้าท่านมาเป็นความที่ศาลแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามทางของศาลสถิตยุติธรรม คือเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินอย่างใดแล้วท่านยังไม่พอใจก็อาจจะอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้อีก ผู้พิพากษานั้นตัดสินความตามตัวบทกฎหมายและพยานหลักฐาน ซึ่งอาจจะมีความเห็นผิดแผกแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เพื่อความยุติธรรมแก่ราษฎรเป็นที่ตั้ง การตัดสินความนั้นจะให้ถูกใจของคนทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าจะลำบากอยู่สักหน่อย แต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้ท่านที่ไม่พอใจได้มีโอกาสขอให้ศาลสูงตัดสินใหม่ได้อยู่แล้ว จึงไม่ควรที่จะวิ่งเต้นไปให้ฝ่ายอื่นมามีอำนาจเหนือศาลอีก บางคนศาลตัดสินแล้ว วิ่งไปหากลุ่มหรือศูนย์ต่างๆ ให้ช่วยเหลือก็มี หรือวิ่งไปหานายกรัฐมนตรีช่วยเหลือก็มี ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านแสวงหาความยุติธรรมนอกบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องลำบากเอง เพราะไม่มีใครที่จะช่วยเหลือท่านได้ ถ้าท่านเดินผิดทาง

ท่านเคยคิดหรือไม่ว่า ทำไมเราจึงเรียกสถานที่ซึ่งตัดสินคดีความหรือชำระความว่าศาล คำนี้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือที่เรารู้จักในพระนามว่า น.ม.ส. ทรงเขียนว่า ศาน เพราะทรงรังเกียจว่าคำว่า ศาล มาจากภาษามคธสันสกฤต ซึ่งแปลว่าต้นรังหรือศาลา ศานนั้นทรงเห็นว่าเป็นคำไทยทีเดียว เช่นเดียวกับคำว่าศานเพียงตาหรือศานเจ้า เรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงสันนิษฐานไว้ในศาส์นสมเด็จตอนหนึ่งว่า

“หนังสือเก่าท่านก็เขียนสะกด น เกล้ากระหม่อมยอมรับไม่มีอะไรเถียง อันชื่อว่าศานนั้นนึกได้สามอย่าง ศานเพียงตาอย่างหนึ่ง ทำเป็นพื้นลดสองชั้น ชั้นบนเข้าใจว่าตั้งเจว็ด ชั้นลดตั้งเครื่องพลีถัดไป อีกอย่างหนึ่งก็ศานเจ้าแบบไทย ก็เหมือนกับศานเพียงตานั่นเอง แต่มีหลังคาขึ้นที่สามก็คือศานพิพากษาคดี นี่ก็เป็นจนด้วยเกล้าทีเดียวด้วยไม่เคยเห็น ถ้าหากมีลักษณะเหมือนศานเจ้าก็ไม่เหมาะที่จะประชุมชำระความบนนั้น เหมาะที่จะเป็นโรงเสียมากกว่า แต่คำพูดก็มีว่าโรงศานติดกันอยู่ จะเป็นได้หรือไม่ว่าที่ชำระความนั้นมีศานอยู่ในโรง เวลาจะพิพากษาคดีท่านผู้พิพากษาเผ่นขึ้นไปนั่งบนศาน อย่างพระเทศน์ขึ้นธรรมาสน์ในการเปรียญ หรือจะดูอีกทางหนึ่ง พระโรงราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดิน เช่นพระที่นั่งอมรินทร์ก็มีบุษบกมาลาตั้งในพระโรง เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกวินิจฉัยคดี”

ปัจจุบันนี้ การจัดสถานที่ชำระความของศาล จัดเป็นห้องฝ่ายธุรการที่เจ้าพนักงานศาล เช่นจ่าศาลเป็นต้นทำงานอยู่ส่วนหนึ่ง ห้องพักของผู้พิพากษาหรือห้องทำงานก่อนพิจารณาคดีอีกส่วนหนึ่ง ส่วนห้องที่ชำระความนั้นเรียกว่าห้องพิจารณาจัดอยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก ในห้องนั้นมีที่นั่งของผู้พิพากษายกพื้นสูงวางเก้าอี้และข้างหน้าเป็นโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือเรียกว่าบัลลังก์ เหนือบัลลังก์นี้มีพระบรมฉายาลักษณ์ติดไว้เบื้องสูง ถัดหน้าบัลลังก์ออกมาเป็นโต๊ะของเสมียนหน้าบัลลังก์ทางขวามือเป็นที่นั่งของคู่ความผู้เป็นโจทก์ ทางซ้ายมือเป็นที่นั่งฝ่ายจำเลย ตรงกลางเป็นคอกสำหรับพยานยืนให้การ หลังนั้นออกไป เป็นที่นั่งของผู้ที่เข้าฟังการพิจารณาคดี ห้องพิจารณาคดีหรือบัลลังก์นี้ จะมีมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่ศาลนั้นจะมีคดีความมากหรือน้อย

เมื่อพูดถึงศาลแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ได้ สิทธิอันนี้ก็คือสิทธิที่ประเทศที่มีอิทธิพลทางตะวันตกสมัยหนึ่งไม่ยอมให้คนในชาติหรืออารักขาของตนมาขึ้นศาลของประเทศที่ตนได้เข้ามาอาศัยและได้ทำความผิดหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ประเทศที่ถูกตัดรอนสิทธิทางศาลเช่นนี้มีอยู่หลายประเทศทางเอเซีย รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย เราถูกประเทศทางตะวันตกมาทำสัญญาไม่ยอมให้คนของเขาขึ้นศาลไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ตลอดมาจนเราได้พยายามปรับปรุงกฎหมายของเราและแก้ไขสัญญาเช่นว่านี้ให้หมดไปเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๒ ภายหลังที่เราต้องเสียเอกราชในทางศาลไปถึง ๘๓ ปีเศษ เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้มีผู้เขียนไว้มากแล้ว จึงจะไม่ขอกล่าวให้ยาวความในที่นี้อีก

เรื่องของศาลเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตราบใดที่คนเรายังเคารพนับถือกฎหมายอยู่และเคารพในอำนาจของศาล ตราบนั้นคนเราก็จะอยู่ด้วยความสงบสุข แต่ทุกวันนี้คนบางพวกบางหมู่พยายามที่จะพูดว่า กฎหมายทุกวันนี้ไม่ยุติธรรมแก่สังคม เพราะเป็นกฎหมายของพวกศักดินาบ้าง ของนายทุนบ้าง ไม่ยุติธรรมแก่คนจน ก็แล้วแต่ท่านจะคิด ข้าพเจ้าคิดว่าตัวบทกฎหมายไทยและการปกครองของไทยนั้น ให้เสรีภาพแก่คนใช้ชาติมากเกินกว่าที่เราคิดถึงมากมายนัก มากจนเราจะสำลักเสรีภาพลงไปสู่ความหายนะสักวันหนึ่ง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ศาลยุติธรรม

ศาลอีกชนิดหนึ่ง คือศาลยุติธรรม
ศาลที่ชำระความหรือศาลสถิตยุติธรรมนี้ ก็คือที่ชำระคดีความหรือตัดสินความเมื่อราษฎรได้ทำความผิดทางศาลยุติธรรมอาญาหรือพิพาทกันในทางแพ่งนั่นเอง

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องตัวศาล จะได้พูดถึงเรื่องอำนาจชำระคดีความเสียก่อน แต่เดิมมานั้นอำนาจการปกครองของไทยเราอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลเพียงคนเดียว คือพระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองผู้เป็นประมุขของประเทศ อย่างที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแหละผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้จึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน” ดังนี้ ครั้งแรกๆ เมื่อบ้านเมืองยังมีผู้คนน้อยอยู่ ประมุขของประเทศเป็นผู้ตัดสินคดีเอง ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น มีผู้คนมากขึ้น การที่ประมุขของประเทศจะตัดสินคดีเอง ย่อมจะกระทำไม่ได้ จึงได้แต่งตั้งผู้ตัดสินคดีขึ้นมาทำการแทน อย่างเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งผู้ตัดสินความขึ้นที่เรียกว่า ผู้พิพากษาหรือตุลาการ แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังสงวนอำนาจไว้ที่จะทรงตัดสินคดีด้วยพระองค์เองได้เสมอ วิธีการเช่นว่านี้ปฏิบัติมาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ การศาลยุติธรรมก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะได้ทรงปรับปรุงใหม่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น ศาลได้กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เช่นเรื่องเกี่ยวกับที่ดินกระทรวงเกษตรมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี คดีเกี่ยวแก่การภาษีอากรกระทรวงการคลังมีหน้าที่พิพากษาคดีเป็นต้น เรียกว่ากระทรวงไหนมีหน้าที่รักษากฎหมายฉบับใด ก็มีหน้าที่ตัดสินความตามกฎหมายฉบับนั้นด้วย สำหรับหัวเมืองนั้น หน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีขึ้นอยู่กับเจ้าเมือง ไม่ได้แยกอำนาจศาลออกต่างหากอย่างทุกวันนี้

ต่อมารัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงจัดการปกครองออกเป็นกระทรวง และตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ได้ยุบเลิกศาลตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่มากมายนั้นมาขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรมเพียงแห่งเดียว สำหรับศาลหัวเมืองก็แต่งตั้งผู้พิพากษาออกไปประจำอยู่แยกอำนาจปกครองกับอำนาจศาลการพิจารณาออกต่างหากจากกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ลัทธิการสร้างศาลมาจากไหน

ลัทธิการสร้างศาลเจ้าเห็นจะเนื่องมาจากชนชาวจีนมากกว่าชนชาติอื่น เพราะปรากฏว่าในประเทศจีนนั้นเต็มไปด้วยศาลเจ้า และเมื่อคนจีนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย คนจีนก็นำเอาลัทธิความเชื่อถือเกี่ยวกับวิญญาณเข้ามาในประเทศไทยด้วย การสร้างศาลเจ้าก็คือสร้างสถานที่ให้วิญญาณของผู้ตายที่นับถือกันว่าเป็นคนดีได้สิงสถิตศาลเจ้าอยู่เป็นที่พึ่งของคนอยู่ข้างหลังนั่นเอง อย่างกวนอู ซึ่งเป็นทหารเอกคนหนึ่งของเล่าปี่ในเรื่องสามก๊ก เป็นนักรบที่เข้มแข็งกล้าหาญและมีความกตัญญู เมื่อกวนอูถูกสำเร็จโทษแล้วเมื่อ พ.ศ. ๗๖๒ ชื่อเสียงเกียรติคุณของกวนอูปรากฏว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในสงคราม ยังเป็นที่นับถือเลื่องลือในหมู่ชาวจีนสืบมา เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ทางราชการสมัยซ้องฮุยจงฮ่องเต้ ยกย่องให้เป็น “กง” อันเป็นตำแหน่งชั้นสูงสุดของขุนนางจีน และเรียกชื่อว่า “กวนกง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๑๖๗๑ เลื่อนขึ้นเป็นอ๋องหรือเจ้า แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเทพารักษ์เรียกว่า “กวนตี๋” หรือ “เจ้ากวนอู” เมื่อพ.ศ. ๒๑๗๗ ในสมัยเม่งบ้วนและฮ่องเต้ เจ้ากวนอูก็เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า บูตี่ คือ เจ้าแห่งสงคราม เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ พระเจ้าเต้ากวางฮ่องเต้ในราชวงศ์เชงกำลังทรงปราบปรามกบฏชาวจีนที่ถือศาสนาอิสลาม พอดีพวกศัตรูต้องแตกหนีไป เพราะปรากฏตามทางสอบสวนว่าเจ้ากวนอูยกทัพมาช่วย พระเจ้าเต้ากวางจึงทรงยกย่องเจ้ากวนอูขึ้นเป็นเจ้าแห่งสงคราม อันเป็นเจ้าที่ชาวจีนทำรูปขึ้นไว้บูชา และมีศาลเจ้าอยู่ทั่วไปในประเทศจีน ที่ในประเทศเกาหลีมีผู้นิยมนับถือมาก กล่าวกันว่าเมื่อสามร้อยปีเศษที่ล่วงมานี้ เจ้ากวนอูบันดาลให้ญี่ปุ่นที่ยกมาตีเกาหลีตกใจกลัวต้องกลับไป

เรื่องของศาลเจ้ากวนอูเพียงผู้เดียวยังมากมายทั่วประเทศจีนถึงอย่างนี้ แล้วคนอื่นอีกมากมายเล่าจะไม่ทำให้ศาลเจ้ามีเต็มเมืองจีนได้อย่างไร ถึงแม้ในประเทศไทยเองก็ยังมีศาลเจ้าจีนอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พูดง่ายๆ ว่ามีคนจีนอยู่ที่ไหนก็ต้องมีศาลเจ้าอยู่ที่นั่น

ศาลอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ คือ ศาลเพียงตา ศาลเพียงตานี้เป็นศาลที่ยกเสาขึ้นสี่เสาไม่มีหลังคาใช้ในการพิธีชั่วคราว เช่นในการทำพิธียกเสาเรือนหรือพวกโจรทำพิธีก่อนเข้าปล้นเป็นต้น หรือบางทีพวกที่นับถือผีสาง เมื่อจะทำพิธีเรียกผีก็มักจะต้องปลูกศาลเพียงตาขึ้นก่อนเพื่อทำพิธีชั่วคราว ศาลชนิดนี้จึงต้องทำขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อจะวางเครื่องเซ่นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ลองมาดูวิธีปลูกศาลเพียงตาตอนเณรแก้วเรียกผีก็ได้ กลอนตอนนี้มีอยู่ว่า

“ตกแต่งตัวผูกลูกสะกด        พร้อมหมดเครื่องรางปรอทมั่น
นุ่งยกกนกเป็นเครือวัลย์        รูปสุบรรณบินเหยียบวาสุกรี
เพลาะดำร่ำหอมห่มกระหวัด    พู่ตัดติดห้อยข้างชายคลี่
คาดปั้นเหน่งกระสันมั่นดี        เหน็บกริชด้ามมีศีรษะกา
จัดเครื่องบัตรพลีพลีเลิศ        ข้าวสารเสกประเสริฐแกล้วกล้า
มือถือเทียนชัยแล้วไคลคลา        จันทราส่องแสงสว่างทาง
ท้องฟ้าดาดาษดาวประดับ        แสงระยับยามสองส่องสว่าง
พระจันทร์ตรงทรงกลดดังกลดกาง        อยู่ในกลางด้าวเด่นทุกดวงดาว
รีบเร่งมาถึงซึ่งป่าช้า            ปลูกศาลเพียงตาดาดผ้าขาว
แล้วจุดเทียนสว่างกระจ่างพราว    ทิ้งสายสิญจน์ก้าวสะกดวง”

นี่เป็นเรื่องของศาลเพียงตา

ศาลหลักเมือง  คือศาลซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลักของเมืองนั่นเอง การสร้างเมืองสมัยก่อนถือกันว่าต้องเลือกชัยภูมิให้ดีบ้านเมืองจึงจะอยู่ดีมีความสุข ข้าศึกมาตีก็ไม่แตก หรือต้องพ่ายแพ้ไป เมื่อเลือกได้ชัยภูมิแล้วก็มีพิธีฝังหลักเมืองเป็นปฐมก่อนที่จะก่อสร้างอย่างอื่น พิธีฝังหลักเมืองสมัยก่อนมีเรื่องเล่ากันว่าต้องฝังคนทั้งเป็นลงไปด้วย โดยเลือกเอาผู้หญิงมีครรภ์แก่และเลือกเอาคนที่ชื่อว่าอินทร์ จันทร์ มั่น คง ซึ่งเป็นมงคลสนามฝังลงไปด้วย พิธีการเช่นว่านี้จะเคยมีที่ไหนยังไม่ปรากฏหลักฐาน เป็นเพียงเรื่องที่เล่าลือกันทั้งนั้นแม้แต่หลักเมืองของเราในกรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างขึ้นคราวสร้างกรุงเทพฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝังคนทั้งเป็นอย่างที่ว่ากันเลย เรื่องฝังคนทั้งเป็นนี้มีหลักฐานรับรองว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า มิใช่พระมหากษัตริย์ที่จะทรงทำเช่นนั้น ก็คือประกาศห้ามฆ่าสัตว์ ซึ่งประกาศใช้ในรัชสมัยของพระองค์ตอนหนึ่งว่า

“แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้ข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อยรักษาเมือง ผู้ทั้งกรมการเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทั้งปวงบรรดามีศาลเทพารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ พระเสื้อเมืองทรงเมือง ให้บำรุงซ่อมแปลงที่ปรักหักพังนั้นให้บริบูรณ์ และแต่งเครื่องกระยาบวดผลไม้ถั่วงาเป็นต้น และธูปเทียนของบูชาฟ้อนรำระบำบวงสรวงพลีกรรมถวายสิ่งซึ่งอันสมควรแก่เทพารักษ์ แต่อย่านับถือว่ายิ่งกว่าพระไตรสรณคม ห้ามอย่าให้พลีกรรมด้วยฆ่าสัตว์” ดังนี้

การที่เล่าลือกันว่าฝังคนทั้งเป็นพร้อมทั้งหลักเมืองนั้นเป็นเรื่องที่เหลวไหล ตามประกาศหรือกฎหมายฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าคนสมัยนั้นต่างนับถือผีสางเทวดากันมากจนถึงกับฆ่าสัตว์ตัดชีวิตพลีกรรมเทพารักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จึงทรงประกาศห้ามดังกล่าวแล้ว

เรื่องของเทพารักษ์หรือเจ้าองค์ไหนชอบอะไรนี่ก็แปลก อย่างท้าวมหาพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณในกรุงเทพฯ ท่านชอบช้างไม้และพวงมาลัยดอกไม้ ปรากฏว่าคนเอาช้างและพวงมาลัยไปถวายกันมาก โดยเฉพาะช้างไม้นั้นปีหนึ่งๆ ทางโรงแรมเอราวัณประมูลขายได้เงินมองให้องค์การกุศลหรือวัดวาอารามได้เงินมิใช่น้อย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

พระภูมิเจ้าที่ ๙ องค์

ศาลพระภูมิ ศาลาหลังเล็กหรือเรือนหลังเล็กๆ ซึ่งเจ้าของอาคารสถานที่สร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นสิ่งสิงสถิตของพระภูมิเจ้าที่  ซึ่งได้แก่ผีสางหรือเทวดาซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของสถานที่นั้นอยู่ และเซ่นสรวงตามกาลเวลา เพื่อให้??????????????????????ท่านคุ้มครองผู้เป็นเจ้าของบ้านและที่อยู่อาศัยในบ้านนั้น

พระภูมิเจ้าที่นั้นในตำราพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งท่านเสถียรโกเศศเขียนไว้ว่าพระภูมิเจ้าที่มีอยู่ ๙ องค์ด้วยกัน คือ

๑. พระภูมิบ้านเรือน  ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น
๒. พระภูมิรักษาประตูและหัวกระได  นี่ตรงกับทวารารักษ์ หรือทวารบาลของอินเดียและของจีน พวกเซี่ยงกาง ซึ่งทำเป็นรูปทหารหนวดยาวถืออาวุธเหยียบสิงโตของเราก็อยู่ในจำพวกพระภูมิประตูหัวกะได ที่โบราณห้ามไม่ให้เหยียบธรณีประตูเพื่อจะเข้าไปหรือออกมาก็ถือว่าที่ตรงนั้นเป็นที่อยู่ของท่าน
๓. พระภูมิรักษาโรงบ่าวสาวหรือเรือนหอ
๔. พระภูมิโรงวัวควาย
๕. พระภูมิยุ้งข้าว
๖. พระภูมินา
๗. พระภูมิสวน
๘. พระภูมิลาน
๙. พระภูมิวัด

พระภูมิอะไรก็ยังพอมองเห็นว่าน่าจะทำศาลพระภูมิไว้ตามความเชื่อถือของคน แต่พระภูมิวัดนี่ดูขัดกับหลักธรรมความเชื่อถือของพุทธศาสนิกชนจริงๆ วัดนั้นนับถือพระรัตนตรัยไม่น่าที่พระภูมิจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

การตั้งศาลพระภูมินี้ มิใช่ว่าใครๆ จะตั้งก็ตั้งได้ ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ในกิจพิธีมาตั้งให้จึงจะได้ การตั้งศาลพระภูมิถ้าทำไม่ถูกทิศถูกทาง ก็ว่ากันว่าให้โทษมากกว่าให้คุณ ถ้าตั้งไม่ถูกพิธีแล้วอย่าไปตั้งเสียเลยดีกว่า ตั้งศาลพระภูมิแล้วก็ต้องมีหน้าที่เซ่นสรวงพระภูมิด้วยมิเช่นนั้นพระภูมิจะให้โทษ เช่นทำให้ปวดหัวตัวร้อนนอนสะดุ้งฝันร้ายเป็นต้น พระภูมินี่ก็แปลก เมื่อจะให้คุณนั้นดูไม่ค่อยจะเห็นเสียเลย ถ้าให้โทษละก็ชงัดนัก อย่างไรก็ตาม บ้านหนึ่งๆ ไม่ควรจะมีศาลพระภูมิเกินหนึ่งศาล เพราะถ้ามีหลายศาลก็อาจจะทำให้เกิดเรื่องได้เหมือนกัน ข้าพเจ้าเคยเห็นบ้านหลังหนึ่งเจ้าของมีภรรยาสองคน และมีศาลพระภูมิ ๒ ศาล ถามได้ความว่าภรรยาหลวงตั้งศาลพระภูมิหลังหนึ่ง ส่วนภรรยาน้อยก็ตั้งอีกหลังหนึ่ง ของใครคนนั้นก็เซ่นสรวงกันเอง ลงท้ายภรรยาทั้งสองคนตีกันเกือบทุกวัน พระภูมิเองจะทะเลาะตีกันหรือเปล่าไม่ทราบ

เรื่องชาวพุทธตั้งศาลพระภูมินี้ ท่านผู้นับถือพุทธศาสนาท่านหนึ่งคัดค้านอย่างแข็งขันว่าเป็นเรื่องเชื่ออย่างงมงายผิดหลักของพุทธศาสนา ถึงกับประกาศรับอาสารื้อศาลพระภูมิ และเรื่องทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับท่านผู้รู้พุทธศาสนาดีที่สุดท่านหนึ่ง ท่านผู้นี้ปลูกเรือนใหม่ พ่อตาของท่านบอกว่าต้องตั้งศาลพระภูมิด้วย มิเช่นนั้นอยู่ไม่มีความสุข ท่านอึ้งอยู่นาน เพราะขืนให้ศาลพระภูมิมาตั้งอยู่ในบริเวณบ้านของท่าน ความคิดเห็นที่ท่านคัดค้านเรื่องนี้ตลอดมาก็จะถูกคนอื่นหัวเราะเยาะเอา แต่ด้วยเชาว์ไหวพริบดี เพื่อมิให้บัวช้ำน้ำขุ่น จะไปขัดคอพ่อตาก็ใช่ที่ ท่านผู้นี้จึงบอกว่า ท่านเป็นถึงพระภูมิเจ้าที่ จะให้ท่านอยู่เรือนหลังเล็กๆ แล้วเราเองมาอยู่บ้านหลังใหญ่หลายเท่า ดูเหมือนจะไม่เหมาะนัก ทางที่ดีเราควรจะอัญเชิญท่านมาสิงสถิตอยู่บนเรือนใหญ่นี่แหละ ท่านจะอยู่ตรงไหนให้ท่านเลือกเอา พ่อตาเห็นชอบด้วย บ้านหลังนั้นจึงทำเพียงอัญเชิญพระภูมิเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีศาลพระภูมิอยู่ต่างหากจนทุกวันนี้ เรียกว่าท่านผู้นั้นรอดตัวไปได้

พระภูมินั้นเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าท่านชอบกินหัวหมูและกินไก่ ถึงกับพูดว่า “พระภูมิกินไก่ ไก่กินปลวก ปลวกกินศาลพระภูมิ” ดูไปแล้วพระภูมิเองก็คุ้มครองศาลาของตัวเองจากภัยปลวกไม่ได้ แล้วจะมาคุ้มครองเราได้อย่างไร ยังสงสัยอยู่

อย่างไรก็ตามในชีวิตของเราทุกวันนี้ คนบางคนก็ทำตัวเป็นพระภูมิ ใครไม่เซ่นวักตักแตนก็ทำโทษให้เป็นที่เดือดร้อนต่างๆ นานา และคนเราบางคนก็ชอบหาพระภูมิไว้คุ้มกันตัวเสียด้วย ถ้าเรามีพระภูมิเพียงน้อยองค์ เราก็เสียเครื่องเซ่นน้อยหน่อย แต่ถ้ามีพระภูมิหลายองค์ ก็คงต้องเที่ยววิ่งเต้นหาเครื่องเซ่นลำบากเหมือนกัน ถ้าไม่อยากเสียเครื่องเซ่นก็มีวิธีเดียวเท่านั้นคือท่านไม่ต้องพึ่งพระภูมิ คนที่พึ่งพระภูมิดูเหมือนไม่ใช่คนที่ตั้งหน้าทำมาหากินโดยสุจริตนัก

ศาลอีกชนิดหนึ่งเข้าใจว่าเป็นทำนองเดียวกับศาลพระภูมินั่นคือศาลที่สร้างขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ที่เห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ได้แก่ศาลเทพารักษ์หรือศาลเจ้า ศาลเทพารักษ์หรือศาลเจ้านี้จะแบ่งออกเป็นชั้นๆ ตามความสำคัญของสถานที่หรือเทพารักษ์

ตามข้างถนนหลายแห่งโดยเฉพาะตรงทางโค้ง หรือที่มีต้นไม้ใหญ่มักจะมีศาลเหมือนศาลพระภูมิอยู่เสมอ ศาลเหล่านี้ประชาชนสร้างขึ้นเพราะว่าเกิดมีอุบัติเหตุขึ้น ณ สถานที่นั้นหลายครั้งหลายคราวจนเป็นที่หวาดและเกรงกลัวของผู้ที่ขับขี่ยวดยานไปมา เพื่อให้วิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้สิงสถิตอาศัยอยู่โดยปกติสุขไม่ไปก่อให้เกิดทุกข์ภัยแก่ผู้อื่นอีกและเพื่อให้คุ้มครองแก่ผู้สัญจรไปมา ศาลชนิดนี้มีประโยชน์อยู่มาก สำหรับจะได้เตือนผู้ที่ขับขี่รถเร็วๆ เพราะจะได้เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วของรถลงเมื่อจะถึงหรือผ่านสถานที่นั้นๆ ศาลเทพารักษ์เหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์และขลังกว่าป้ายสัญญาณเตือนอันตรายของกรมทางมากนัก มีสถานที่หลายแห่งที่ทางการปักป้ายห้ามขับรถเกินที่กำหนดไว้ เช่นห้ามขับเกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หามีผู้สนใจไม่ ต่อเมื่อมีผู้ขับรถคว่ำตายไปหลายรายและมีผู้สร้างศาลเทพารักษ์ขึ้นแล้ว ผู้ขับรถจึงต้องลดความเร็วของรถลงตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ดังนี้ก็มี ศาลเทพารักษ์นี้ ถ้าเป็นศาลที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นศาลเจ้าพ่อหรือศาลเจ้าแม่ละก็ มักจะมีคนไปเซ่นไหว้มิค่อยได้ขาด เช่น ศาลปู่หลุบในเส้นทางจากขอนแก่นไปจังหวัดเลย ใกล้จะถึงผานกเค้าในเขตอำเภอภูกระดึง มีคนสร้างเป็นตึกและมีคนเอาเหล้าไปเซ่นวันละหลายๆ ขวด มีเฮียกงคอยเก็บกวาดปฏิบัติเจ้าพ่อปู่หลุบอยู่ประจำ เฮียกงนั้นได้อาศัยเหล้าเครื่องเซ่นที่เหลือจากเซ่นเจ้าพ่อกินเองบ้างขายไปบ้างพอประทังชีพอยู่ได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ศาลาชนิดต่างๆ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า ศาลาไว้ว่า ที่พักสำหรับคนทั่วไป ที่ว่าการของรัฐบาล เรือนที่ปลูกไว้ในวัดสำหรับทำบุญและศึกษาเล่าเรียน โดยนัยนี้ศาลาก็หมายเอาอาคารเป็น ๓ ชนิด คือศาลา

๑. ที่พักสำหรับคนเดินทางทั่วไป  ศาลาชนิดนี้เราจะเห็นอยู่ทั่วไปตามชนบท ซึ่งคนที่สัญจรไปมา ต้องอาศัยการเดินทางด้วยเท้าหรือด้วยเกวียนหรือยวดยานอย่างอื่น เรื่องที่พักเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็หายากในท้องถิ่นกันดาร ประชาชนที่มีใจบุญกุศลจึงช่วยกันสร้าง เพื่อให้ผู้เดินทางได้พักอาศัย เราจึงเห็นศาลาที่พักคนเดินทางมีอยู่ทั่วไปตามริมทางไม่ว่าทางบก หรือทางแม่น้ำลำคลอง

ท่านที่เคยอ่านประวัติของพระอินทร์ หรือท้าวสักกเทวราช ราชาเทวดาประจำชั้นดาวดึงส์แล้ว คงจะจำได้ว่าก่อนที่พระอินทร์จะได้ไปบังเกิดเป็นราชาของเทวดานั้น เดิมชื่อมาฆมาณพเป็นคนที่เสียสละเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้ชวนสมัครพรรคพวกสละแรงกายและทรัพย์สินสร้างศาลาที่พักคนเดินทาง เมื่อตายไปจึงมีวิมานงดงามเป็นเจ้าแห่งสรวงสวรรค์ ดังที่เราซึมทราบกันดีแล้ว เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่คนโบราณเขาเห็นความสำคัญของศาลาที่พักของคนเดินทางเป็นอย่างมาก จึงพรรณนาอานิสงส์ของการสร้างศาลาไว้ถึงขนาดนั้น สมัยนี้ศาลาเช่นว่านี้นับวันแต่จะร่อยหรอลง คงมีอยู่แต่ตามชนบทเท่านั้น สำหรับในกรุงเทพฯ นั้น กลับมีที่พักคนโดยสารรถประจำทางขึ้นมาแทน ก็คือศาลาพักสำหรับผู้เดินทางเหมือนกัน

๒. ศาลาว่าการของรัฐบาล  ศาลานี้ปัจจุบันก็คือศาลากลางประจำจังหวัดนั่นเอง สมัยก่อนที่ว่าการประจำเมืองหรือที่ทำการของรัฐบาลประจำเมืองนั้น อยู่ที่บ้านของผู้เป็นเจ้าเมืองเอง คือเป็นทั้งที่พักของเจ้าเมืองและที่ทำการเสร็จไปในตัว เราเรียกที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าเมืองว่า จวน ทำไมจึงเรียกว่าจวนก็ไม่ทราบ วิธีการเช่นว่านี้มีอยู่ตลอดมาจนกระทั่งได้มีการปรับปรุงการปกครองให้เป็นแผนใหม่ขึ้นอย่างปัจจุบันเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระปิยะมหาราช จึงแยกศาลาว่าการของรัฐบาลออกเป็นสัดส่วนต่างหาก และเป็นของหลวงไม่ใช่ของส่วนตัวของเจ้าเมืองอย่างแต่ก่อน ที่ทำการของรัฐบาลเช่นว่านี้คงจะตั้งอยู่กลางชุมนุมชนหรือกลางเมือง จึงเรียกกันว่า ศาลากลางเมือง แต่ตอนหลังเรียกกันว่าศาลากลางเฉยๆ ผิดถูกอย่างไรไม่รับรอง เพราะนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้ในเรื่องสาส์นสมเด็จเกี่ยวกับเรื่องเมืองชุมพร และจวนของเจ้าเมืองตอนหนึ่งว่า

“ส่วนการปกครองแต่ก่อนไม่มีสถานที่ของรัฐบาล บ้านเจ้าเมืองเรียกกันว่า “จวน” อยู่ที่ไหนก็ว่าราชการเมืองที่นั่น มีแต่ศาลาโถงปลูกไว้ข้างหน้าบ้านหลัง ๑ “เรียกว่าศาลกลาง” เป็นที่สำหรับชำระความและประชุมกรรมการ”

ศาลากลางสมัยก่อนมีรูปแบบแปลกๆ ไปตามศิลปะการก่อสร้างของท้องถิ่นเป็นแห่งๆ ไป ครั้นต่อมาศาลากลางได้รับการออกแบบเป็นอาคารทรงไทย ไปดูที่ไหนก็เหมือนๆ กันทุกจังหวัดจึงดูไม่แปลกตาเหมือนสมัยก่อน

๓. ศาลาวัด  สำหรับศาลาประเภทนี้ก็คือศาลาที่สร้างไว้ในวัดนั่นเอง แต่ศาลาวัดนี้มีทั้งศาลาหลังเล็กๆ เช่น ศาลาสำหรับตักบาตร หรือมีศาลาขนาดใหญ่ที่เรียกว่าศาลาการเปรียญ ศาลาการเปรียญของวัดนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าตัวโบสถ์วิหาร นี่พูดถึงในทางใช้ประโยชน์ ไม่ได้พูดในแง่ของความมีสง่าราศี หรือความโอ่อ่าของวัด เพราะศาลาการเปรียญนั้นเป็นศาลาที่เรียกได้ว่าศาลาเอนกประสงค์ ใช้เป็นที่ทำบุญสุนทานก็ได้ ใช้เป็นที่ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ได้ ใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรกุลธิดาก็ได้ โรงเรียนสมัยก่อนได้อาศัยศาลาวัดเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนทำให้คนเป็นคนมานับไม่ถ้วนแล้ว ผิดกับสมัยนี้ซึ่งมีอาคารโอ่โถง แต่คนที่เรียนอยู่ในอาคารทันสมัยเหล่านั้น นับวันแต่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นทุกวัน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

นอกจากศาลาทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีศาลาอีกชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในชาดกหรือเรื่องราวเก่าๆ คือ บรรณศาลา ศาลาชนิดนี้ก็คือโรงที่มุงด้วยใบไม้ใช้เป็นที่อยู่ของฤาษีชีไพรนั่นเอง

เมื่อพูดถึงศาลาแล้วทำให้นึกถึงคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า ศาล ศาลนั้นมีหลายอย่างคือ ศาลพระภูมิ ศาลเพียงตา ศาลหลักเมือง ศาลชำระคดีความหรือที่เราเรียกกันให้เต็มภาคภูมิว่าศาลสถิตยุติธรรม ทำไมจึงเรียกอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างชนิดนี้ว่าศาล เราลองมาคิดกันดูก็คงจะไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

หยกเม็ดละหนึ่งล้านบาท

พูดถึงเรื่องของแหวนแล้ววกมาถึงหัวแหวนจนกระทั่งถึงนพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ก็นับว่ากวนพอสมควรทีเดียว แต่ถ้าพูดถึงหัวแหวนแล้วไม่พูดถึงอัญมณีอีกอย่างหนึ่งก็ดูจะไม่สมบูรณ์นั่นคือ หยก ซึ่งเป็นหินสีเขียวอ่อน เป็นของหยกคนจีนนิยมกันมาก ถือว่าใครใส่แหวนหยก หรือกำไลหยกจะเป็นสวัสดิมงคลอยู่เย็นเป็นสุข

ก่อนจะจบเรื่องแหวนก็ขอพูดถึงคำพังเพยเกี่ยวกับแหวนสักอย่างนั้นคือ คำว่า มือด้วนได้แหวน แล้วต่อไปว่าตาบอดได้แว่น และหัวล้านได้หวี คำพังเพยทั้งนี้มีความหมายว่า ผู้ที่ได้ของเหล่านั้นมาแต่ขาดอวัยวะที่จะใช้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เหมือนเราได้อะไรมาสักอย่างแล้วไม่สามารถจะใช้ได้นั่นเอง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

ผู้ใดฝันว่าได้สวมแหวน ถ้าเป็นคนโสดทายว่าจะได้คู่ครอง แต่ถ้ามีคู่ครองแล้วทายว่าจะได้บุตรแล

ขงจื๊อได้พูดถึงหยกไว้ว่า
“หยกเป็นสิ่งอบอุ่นและชุ่มชื้น    เหมือนกับความเลื่อมใสศรัทธา
หยกเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งแน่นแฟ้น    เหมือนกับความฉลาดล้ำ
หยกเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ไร้ราคี        เหมือนกับความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
หยกที่ห้อยประดับนั้นมีลักษณะงามสง่า    เหมือนกับความสุภาพอ่อนโยน

เมื่อหยกกระทบกันเสียงใสนี้ก็จะได้ยินไปไกล ได้ยินอยู่นาน และเสียงนี้จะหยุดได้ทันที เหมือนทำนองเสนาะของดนตรี

หากหยกจะมีตำหนิ แต่ส่วนดีก็มิได้ถูกปิดบังเสีย หากหยกดีอย่างไม่มีที่ติก็ไม่ซ่อนส่วนเสียไว้ เหมือนกษัตริย์ผู้ครองแผ่นดิน

หยกมีความสดใส ช่วยให้สิ่งรอบข้างสว่างไสวเหมือนความจริง

หยกให้แสงสีรุ้งสดสวย เทียบด้วยสรวงสวรรค์

หยกแสดงถึงจิตบริสุทธิ์ ท่ามกลางความสงบของธารน้ำและภูเขาลำเนาไพรเหมือนพิภพ

และในโลกทั้งโลกอันกว้างใหญ่นี้ ไม่มีผู้ใดจะไม่ยกย่องค่าของหยก เหมือนกับเหตุผล”

นายแพทย์ หทัย  ชิตานนท์ ได้เล่าไว้ตอนไปเยือนประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เกี่ยวกับราคาของหยกว่า มีราคาตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท

นายแพทย์ หทัย กล่าวถึงหยกต่อไปว่า “อันที่จริงหยกนั้นเป็นหินชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท พวกแรกเป็เนไฟรท์คือหยกจีน ตั้งแต่สมัยโบราณ มีเนื้อหนาและแข็งมีหลายชนิดและหลายสี ที่มีมากที่สุดคือสีเขียวมะกอกเรียกว่าสิลาดล รองลงมาก็เป็นสีเหลืองที่เรียกว่า “ไขมันแกะ” และนอกจากนี้ก็มีสีน้ำตาล ชมพู เทา และน้ำเงิน มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น “หญ้ามอสในหิมะ” “สีม่วงของเส้นเลือดดำ” และ “กระดูกไก่” เป็นต้น หยกเนไฟรท์พบครั้งแรกเป็นก้อนกรวดอยู่ตามใต้ท้องแม่น้ำ หยกดำในมณฑลซินเกียง ต่อมาก็พบว่ามณฑลนี้เป็นแหล่งที่มีหยกมากที่สุด จึงได้ขุดมาทำเป็นรูปสลักต่างๆ สำหรับหยกอีกประเภทหนึ่งคือเจไดท์นั้น พบในประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะใสเหมือนแก้ว และใช้ทำเป็นเครื่องประดับที่ดีที่สุดนั้น มีความใสคล้ายกับหยดน้ำมันสีเขียวสด ที่ดีรองลงมาคือสีเขียวมรกต และสีเขียวแอปเปิ้ล หยกที่ได้ไปเห็นเป็นบุญตาเม็ดละล้านบาท ก็คือหยกประเภทเจไดท์นี้เอง”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า

ประกอบด้วย

๑. มหานพรัตน์  ด้านหน้าเป็นดอกประจำยามแปดดอก ประดับทับทิม ๑ มรกต ๑ บุษราคัม ๑ โกเมน ๑ นิล ๑ มุกดา ๑ เพทาย ๑ ไพฑูรย์ ๑ ใจกลางเป็นเพชร รวมพลอย ๙ อย่าง ด้านหลังลงยาสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน และอุณาโลมอยู่กลางมีจุลมงกุฎประดับเพชรอยู่เบื้องบน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ห้อยกับแพรแถบกว้าง ๑๐ ซม. สีเหลืองขอบเขียวมีริ้วแดง และน้ำเงินคั่นในระหว่างสีเหลืองและของเขียวนั้น สะพายบ่าขวาเฉียงลงมาทางซ้าย

๒. ดารานพรัตน์  เป็นรูปดาราแปดแฉก ทำด้วยเงินจำหลักเป็นเพชรตรงกลางเป็นดอกประจำยามฝังพลอย ๘ อย่าง ใจกลางเป็นเพชรเหมือนมหานพรัตน์ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

๓. แหวนนพรัตน์  ทำด้วยทองคำเนื้อสูง ฝังพลอย ๙ อย่าง

ส่วนที่พระราชทานฝ่ายในประกอบด้วยมหานพรัจน์และดารานพรัตน์

ส่วน ของพระมหากษัตริย์นั้น มีลักษณะอย่างเดียวกับที่พระราชทานฝ่ายหน้าแต่ดวงตราประดับเพชรทั้งสิ้น กับมีพระสังวาลนพรัตน์เพิ่มขึ้นเป็นพระสังวาลแฝดมีดอกประจำยามประดับเพชร ๑ ทับทิม ๑ มรกต ๑ บุษราคัม ๑ โกเมน ๑ นิล ๑ มุกดา ๑ เพทาย ๑ ไพฑูรย์ ๑ คั่นสลับกันไปอย่างละดอก ทรงเหนือพระอังสาขวาเฉียงลงทางซ้าย

แต่ของสมเด็จพระบรมราชินี มีลักษณะอย่างที่พระราชทานฝ่ายในดวงตราประดับเพชรอย่างของพระมหากษัตริย์แต่ไม่มีพระสังวาล

เครื่อง ราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ทำคุณให้แก่แผ่นดินอย่างสำคัญ และผู้นั้นจะต้องเป็นพุทธมามกะนับถือพระพุทธศาสนาด้วย ว่ากันว่าผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ หากขาดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว มักจะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

รัตนชาติหรือนพรัตน์ที่ดี

ความสำคัญของแหวนนั้นไม่ได้อยู่ที่เรือนแหวน แต่สำคัญอยู่ที่สิ่งที่เอามาทำเป็นหัวแหวนมากกว่า เพราะเรือนแหวนเป็นที่รู้กันว่าเหมาะที่สุดก็คือทองคำหรือรัตนชาติทองคำขาว หรือเงิน ซึ่งมีราคาที่คนพอมีฐานะธรรมดาก็อาจจะซื้อหาเอาได้ แต่ถ้าเป็นหัวแหวนที่มีราคาแพงแล้วก็สุดปัญญาเราๆ ท่านๆ จะซื้อหาได้เหมือนกัน เรื่องของหัวแหวนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่จะเอามาทำเป็นหัวแหวนนิยมใช้รัตนชาติ ซึ่งมีลักษณะโปร่งตา แข็งใส มีรัศมีหรือประกายแวววาว เช่นเพชร ทับทิม มรกต หรือหินมีค่าทึบแสง เช่น โอปอล โมรา หยกเป็นต้น หรือตามความนิยมของคนไทยสิ่งที่จะเอามาทำเป็นหัวแหวนคือแก้วเก้าประการที่เรียกกันว่า นพรัตน์หรือเนาวรัตน์ ซึ่งโบราณาจารย์เรียบเรียงเป็นคำคล้องจองกันไว้ว่า

“เพชรดี มณีแดง        เขียวใสแสงมรกต
เหลืองใสสดบุษราคัม    แดงแก่ก่ำโกเมนเอก
สีหมอกเมฆนิลกาล    มุกดาหารหมอกมัว
แดงสลัวเพทาย        สังวาลย์สายไพฑูรย์” ดังนี้

ความจริง แก้วเก้าประการนี้มิใช่เรียกชื่ออย่างที่เราเรียกดังกล่าวข้างต้นไปทุกตำราก็หาไม่ บางตำราจัดแก้วอย่างหนึ่ง แทนแก้วอีกอย่างหนึ่งก็มี เช่นตามตำราของอินเดีย มีเพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เหมือนของเรา แต่ต่อไปเป็นราชาวดีกับแก้วประกาฬ

ตำราว่าด้วยอัญมณีที่เรียกกันว่าตำรานพรัตน์มีคนแต่งกันหลายชาติหลายภาษาอย่าง ดร.จี.เอฟ.คุนซ์ ผู้เชี่ยวชาญอัญมณี และเป็นที่ปรึกษาของบริษัท Tiffany แห่งมหานครนิวยอร์คซึ่งเป็นบริษัทค้าเพชรพลอยที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ก็ได้แต่งตำราเช่นว่านี้ด้วยเขากล่าวว่า อัญมณีกลุ่มหนึ่งเป็นที่นิยมยกย่องว่าเป็นของสูงและนำโชคลาภมาให้ของบรรดาผู้ที่ถือศาสนาพราหมณ์ หรือลัทธิฮินดูมาแต่โบราณ อัญมณีกลุ่มนี้ก็คือนพรัตน์นั่นเอง

แต่ไม่ว่าชาติใดภาษาใดจะแต่งตำราก็ตาม เข้าใจกันว่าได้ลอกจากตำราของอินเดียโบราณกันไปทั้งนั้น รวมทั้งตำรานพรัตน์ของไทยเราด้วย

ตำรารัตนชาติหรือตำรานพรัตน์ของไทยเรานั้นว่ากันว่า พระยาสุริยวงศ์มนตรี พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา หลวงภักดีจินดา และนาชมได้ร่วมกันแต่งขึ้นแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งขึ้นต้นด้วยภาษาบาลี เพื่อความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งภาษาบาลีสมัยนั้นก็เหมือนภาษาอังกฤษสมัยนี้ ใครแต่งหนังสือถ้าไม่วงเล็บภาษาอังกฤษไว้ ก็ดูเหมือนเป็นคนไม่มีความรู้ ขาดความเชื่อถือไป ดังนั้นหนังสือเก่าของเราจึงต้องมีภาษาบาลีหรือสันสกฤตนำหน้าเสมอ แม้ตำรายาก็ยังขึ้นต้นว่า “สิทธิการิยะ โบราณท่านว่า” เป็นต้น ตำรานพรัตน์ก็ขึ้นต้นตามแบบฉบับว่า

วชิรํรตฺตํ อินฺทนีลํ        เวฬริยํ รตฺตกาลมิสฺสกํ
โอทาตมิสฺสกํ นิลํ        ปุสฺสราคํ มุตฺตหารญฺจาติ
อิมานิ นวกาทินี รตนานิ ตสฺมา รตนชาติโย อเนวิธา นานาปเทเสสุ
อุปฺปชฺชนฺตีติ เวทิตพฺพา.

ถ้าจะแปลก็พอจะได้ความว่า รัตนชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้นในนานาประเทศนั้นมีหลายอย่าง เช่นแก้วเก้าประการที่จะกล่าวนี้เป็นต้นคือ แก้ววิเชียร(เพชร) แก้วแดง ได้แก่ ทับทิมอินทนิล แก้วไพฑูรย์ แก้วรัตกาลมิศก แก้วโอทาตมิศก นิลรัตน์ แก้วบุษราคัม และมุกดาหาร

เมื่อขึ้นต้นอารัมภบทเป็นภาษาบาลีแล้ว ตำรานพรัตน์ก็ได้กล่าวถึงลักษณะคุณสมบัติและโทษวิบัติของแก้วเก้าประการไว้มากมาย ซึ่งเห็นว่าถ้าจะนำมากล่าวในที่นี้ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังบ้าง โดยเฉพาะท่านผู้ฟังที่เป็นสตรี ซึ่งนิยมอัญมณีอันมีค่าต่างขวนขวายมาประดับร่างกายให้สวยงามจนบางคนต้องเดือดร้อนเพราะความแวววาวของเพชรพลอยก็มีมาแล้ว เข้าใจว่าเพราะอัญมณีอันนั้นมีโทษมากกว่าคุณ จะได้พูดถึงเพชรพลอยเหล่านี้ตามลำดับไปจนกว่าจะหมดทั้งเก้าประการ

๑. นพรัตน์ประการที่ ๑ คือวชิรหรือเพชร  ซึ่งนับเป็นรัตนะที่มีค่ามากที่สุด และเป็นวัตถุที่แข็งที่สุดในบรรดาแก้วทั้งหลาย ความหมายของเพชรหมายความว่าแข็งด้วย เช่นใจเพชร เหล็กเพชร คนโบราณคงจะเห็นว่าเพชรเป็นของวิเศษ จนถึงยกย่องให้เพชรเป็นอาวุธของพระอินทร์ที่เรียกกันว่าวัชร พระอินทร์จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วชิรปาณี มีเพชรในมือ

ตามตำรานพรัตน์อธิบายว่าเพชรนั้นมีสามประการคือ ประถมชาติ ทุติยชาติ และตติยชาติ

เพชรประถมชาตินั้น แยกชื่อเฉพาะออกไปอีก ๕ ประการ คือ ขัติยชาติ สมณชาติ พรหมชาติ แพทย์ชาติและสูทชาติ การแบ่งชั้นหรือชนิดของเพชรอย่างนี้อนุโลมตามวรรณของอินเดียนั่นเอง แต่เติมสมณชาติเข้าอีกประการหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่าผู้แต่งตำรานพรัตน์ต่อมาคงจะนับถือพุทธศาสนาอยู่ด้วย

เพชรอันได้นามขัติยชาตินั้น มีลักษณะน้ำแดงดังผลตำลึงสุก มีรัศมีขาว เหลือง ดำ เขียว รุ้ง เมื่อส่องดูที่แดดจะเห็นประกายวาวออกจากเหลี่ยมเป็นสีเบญจรงค์ ผู้ถือเพชรขัติยชาติ ท่านว่าผิเป็นไพร่ก็จะกลับได้เป็นนาย ผิเป็นนายจะได้เลื่อนขึ้นเป็นขุน ผิเป็นขุนก็จะได้เลื่อนขึ้นครองเมือง ถ้าเป็นราชตระกูลจะได้เป็นกษัตริย์ ผิว่าทำสงครามจะมีชัยชนะศัตรูจะพ่ายทุกทิศ ท่านให้เอาเพชรขัติยชาติผูกเรือนธำมรงค์ใส่นิ้วชี้มือขวา

เพชรอันได้นามว่าสมณชาตินั้น มีลักษณะเหลืองดังน้ำมันไก่ ประกายแดง เขียว ขาว ดำ และหงสบาท คือสีคล้ายเท้าหงส์ คือสีแดงปนเหลือง สีแดงเรื่อ หรือสีแสด เมื่อส่องดูกับแสงแดดจะปรากฏรัศมีทอกันดังดวงตะวันยามเที่ยง เห็นประกายพุ่งจากเหลี่ยมเป็น ๕ สีทุกเหลี่ยม ท่านให้ผูกเพชรสมณชาตินี้เข้ากับเรือนแหวน สอดนิ้วชี้มือขวา ผู้สวมสอดจะจำเริญสุขสมบูรณ์ทุกประการ เหตุที่เพชรชนิดนี้มีสีเหลือง จึงได้ชื่อว่าสมณชาติก็เป็นได้

เพชรอันได้นามพราหมณชาติ มีลักษณะขาวช่วง, ประกายแคง, ดำ, เหลือง, เขียว และหงสบาท เมื่อต้องแสงตะวันปรากฏเป็นแสงทอกันดังแสงอาทิตย์ยามเที่ยง ผิวประดับเข้ากับเรือนแหวนไซร้ ท่านให้สวมสอดนิ้วชี้มือขวา จะเจริญด้วยลาภ ปลอดภัยและศัตรู

เพชรอันได้นามว่าแพศยชาติ มีพรรณเขียว รัศมีขาว, แดง, เหลือง, ดำและ หงสบาท ส่องดูที่แสงแดดจะเห็นเป็นแสงทอกันดังแสงตะวันยามเที่ยง ธำมรงค์อันประกอบด้วยเพชรชนิดนี้ พึงสอดใส่นิ้วมือขวา ก่อให้เกิดลาภ ค้าขายดี อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดอริศัตรู

เพชรอันได้นามว่าสูทชาติ มีพรรณดังสีตะกั่วตัด ประกายแดง, เหลือง, ขาว, เขียว และหงสบาท เมื่อส่องแดดเห็นเป็นรัศมีฉายเป็นดวงออกจากเหลี่ยม ด้านละ ๘ ดวง ประหนึ่งรุ้งกินน้ำ แสงทอกันราวกะดวงตะวันเมื่อเที่ยง ท่านให้ผูกเรือนสอดใส่นิ้วชี้มือขวา ก่อให้เกิดจำเริญสุขสวัสดิ์ ประกอบกิจการใดก็สำเร็จสมประสงค์ ที่ดีเป็นพิเศษคือการทำนาทำสวน ศัตรูทำร้ายมิได้

จะว่าด้วยเพชรทุติยชาติ อันประกอบด้วยคุณนานาประการ มีอยู่ ๔ จำพวก คือ จำพวกหนึ่งเป็นเพชรยอดมีพู ๖ พู เรียบดังแผ่นกระดาน ท้องและหลังเหมือนกัน จำพวกที่สองมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมีแสงทอกัน จำพวกที่สามมีสีเหลืองผ่านเป็นสังวาล จำพวกที่สี่มีน้ำหนักเบากว่าแก้วผลึก แต่สีเป็นอย่างไรท่านไม่กล่าวถึง เพชรทุติยชาติทั้งสี่ประเภทนี้มีคุณสมบัติในทางอยู่ยงคงกะพัน ศาสตราวุธจะไม่ทำอันตรายแม้แต่ผิวหนังของผู้ที่ถือเพชรเหล่านี้ เป็นที่รักเป็นที่ชอบพอของคนทั้งหลาย ทำราชการก็จำเริญยศศักดิ์ ศัตรูทำร้ายมิได้ ป้องกันไฟไหม้บ้านเรือน ป้องกันอสรพิษทั้งปวง แต่มีข้อห้ามว่า ถ้าคนไข้ถือเพชรพวกนี้จะทำให้โรคกำเริบ

ส่วนเพชรตติยชาติ อันเป็นพวกสุดท้าย เป็นเพชรอันประกอบด้วยโทษอันบุคคลพึงระวัง ลักษณะโทษของเพชรชนิดนี้มีอยู่ ๑๒ ประการ คือ ไม่มีพู เบี้ยว เป็นตำหนิ(รอยยาว) ข้างในกลวง รอยร้าว เห็นเป็นรู เม็ดดังทนานมะพร้าว ช้ำ ดูเหมือนมีรอยเจาะไม่มีน้ำ(รุ้ง) อื่นแกม ผลเป็นรอยดั่งตีนกา ลักษณะโทษของเพชรเหล่านี้ผลร้ายจะหายไปได้ก็ต่อเมื่อช่างได้เจียระไนให้ร่องรอยดังกล่าวมาหมดไปแล้ว มิฉะนั้นผู้ใช้เพชรนั้นจะมีโทษเช่นต้องศาสตราวุธ แพ้ภัยศัตรู สมบัติวิบัติ เกิดโรคและอันตรายนานา

นอกจากนี้ตำรานพรัตน์ยังได้พรรณนาเรื่องของเพชรว่ามีกำเนิดจากประเทศใด  และจากอะไรบ้าง ดูเป็นเรื่องเฝือเกินไป เพียงเท่าที่ยกมานี้ก็ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าประเภทของเพชรดังกล่าวมานี้จะมีอยู่จริงหรือไม่เพียงไรอยู่แล้ว แต่เป็นที่สังเกตอย่างหนึ่งว่า โบราณท่านนับถือว่าเพชรเป็นสิ่งวิเศษจริงๆ แต่ก็อาจจะให้โทษได้ถ้าลักษณะไม่ดีดังได้กล่าวแล้ว สำหรับเพชรที่มีตำหนินั้น จนบัดนี้เราก็ยังถือกันอยู่ว่าเป็นของที่ไม่ควรมีไม่ควรใช้เช่นเพชรที่มีรอยร้าวเป็นขนแมว มีจุดมีตำหนิ เป็นต้น ใช้แล้วให้โทษมากกว่าให้คุณ

บ่อเพชรที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ในทวีปอาฟริกา

เรื่องของเพชรเป็นเรื่องของสตรี แต่ก็ต้องมีผู้ชายเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ในฐานะเป็นผู้แสวงหาเพชรเพื่อเป็นของขวัญให้สตรี ท่านคงใคร่รู้ว่าเพชรนั้นราคาสักเท่าไร เรื่องราคาของเพชรหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง เช่นคุณสมบัติความงามของเพชรประกอบกับความต้องการของคนที่ร่ำรวย เท่าที่ทราบ  เพชรที่ประมูลกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีราคาสูงสุดคือแหวนเพชร ๑ วงมีราคาถึง ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลำพังเพชรหนัก ๖๙.๔๒ การัต แกเลอรี่ปาร์เก้เบร์เนท ในกรุงนิวยอร์ค เป็นผู้ประมูลได้ ต่อรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ดาราภาพยนตร์ชื่อริชาร์ด เบอร์ตัน ได้ซื้อต่อในราคา ๒๙ ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญให้แก่เอลิซเบธเทเลอร์ ภรรยา คนที่โชคดีที่สุดคงจะไม่ใช่เอลิซเบธเทเลอร์ แต่เป็นนายแกเลอรี่ปาร์เก้เบอร์เนท เพียงชั่วระยะเวลาเพียงคืนเดียวแกสามารถทำกำไรได้ถึง ๘ ล้านบาท มีใครบ้างที่สามารรถทำได้อย่างนายคนนี้

ตามปกติแล้ว เพชรนั้นหาเม็ดใหญ่ๆ หลายการัตยากเต็มที ส่วนใหญ่ก็มีน้ำหนักไม่กี่การัต อย่างที่เราเห็นวางอยูตามร้านค้าเพชรพลอยทั่วไป เพชรหนัก ๖๒ การัตกว่าที่ริชาร์ดเบอร์ตันซื้อให้เอลิซเบธเทเลอร์นี้นับว่าหายากอยู่แล้ว แต่ยังมีเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดหนักถึง ๑.๒๕ ปอนด์ ประมาณ ๓,๑๐๖ เมตริกการัต พบโดยร้อยเอก เอ็ม.เอฟ.เวล ในเหมืองพรีเมียร์ ทางตอนใต้ของอาฟริกา เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๘ เพชรเม็ดนี้ต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่า คัลลิแนน ตามชื่อของ เซอร์โทมัส เมเจอร์ คัลลิแนน ผู้เป็นประธานเหมืองแห่งนั้น ต่อมาในปี ๒๔๕๐ รัฐบาลอังกฤษได้ขอซื้อ และขอขึ้นทูลเกล้าถวายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ ต่อมาเพชรคัลลิแนนนี้ ได้รับการเจียรไนจากช่างเมืองอัมสเตอร์ดัม แล้วให้ชื่อว่าสตาร์ออฟอาฟริกา หมายเลข ๑ เจียระไนได้ถึง ๗๔ หน้า หนัก ๕๓๐.๒ เมตริกการัต นับเป็นเพชรที่เม็ดใหญ่ที่สุด ถ้าได้ตกมาอยู่กับเราๆ ท่านๆ แล้ว รับรองว่าไม่มีวันที่จะนอนตาหลับ

เพชรที่หายากที่สุดคือเพชรสีฟ้าและเพชรสีชมพู เพชรสีฟ้าเม็ดใหญ่ที่สุด ชื่อเพชรแห่งความหวัง หนัก ๔๔.๔ การัต สถาบันสมิทโซเนียน โดยนายเฮนรี วินสตัน ช่างเพชร ซื้อไปเป็นมูลค่าประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเพชรสีชมพูเม็ดใหญ่ที่สุดนั้นหนัก ๒๔ การัต ราคาประมาณ ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จะอยู่ที่ใครก็ไม่ทราบเหมือนกัน

๒. นพรัตน์อันดับที่ ๒ คือ ทับทิม  ทับทิมนั้นเป็นพลอยชนิดหนึ่งมีสีแดงทับทิมนี้เรียกว่า ปัทมราดหรือปัทมราชก็มี เรียกมณีแดงก็มี ทับทิมนี้ตามตำรากล่าวว่ามีสีแดง ดังบัวสัตบุศย์ สีดังดอกบัวจงกลนี สีดังดอกทับทิม สีดังแมลงเต่าทอง สีดังเปลวประทีปเมื่อใกล้ดับ สีดังดวงอาทิตย์ยามอุทัย สีดังเม็ดทับทิมสุกเข้ม สีดังตานกจากพราก ทับทิมเหล่านี้มีทั้งคุณและโทษ คือ เม็ดใดลักษณะไม่ดีเบี้ยวมีตำหนิก็ให้โทษ ปราศจากตำหนิจึงให้คุณ

๓. มรกต-นพรัตน์อันดับ ๓ มีตำนานเล่าไว้ว่า สมัยหนึ่งนานมาแล้ว มีพญานาคชื่อพาสุกินาคราช (วาสุกรีนาคราช) ถูกครุฑพาไป ณ ที่แห่งหนึ่งเพื่อจะกิน ครั้นเมื่อพญางูถูกครุฑจิกจะสิ้นชีวิตแล้ว ก็สำรอกอาหารเก่าออกจากท้อง ปรากฏว่าของที่สำรอกออกมาเป็นนาคสวาทและเป็นมรกต ส่วนน้ำลายกลายเป็นครุฑธิการ (เป็นอะไรไม่ทราบเหมือนกัน) หาเป็นโลหิตไม่ มรกต นาคสวาทและครุฑธิการจึงอุบัติขึ้นในโลก

ลักษณะของมรกตนาคสวาทนั้น ท่านพรรณนาว่ามีผิวสีดังเห็ดตับเต่าเขียวดังงูเขียนปากปลาหลด เขียวดังผิวไม้ไผ่ที่เพิ่งเกิดตั้งแต่หนึ่งถึงสองเดือน ใครพบมรกตมีลักษณะดังนี้ผิว่า ถูกเขี้ยวงาเช่นตะขาบและงูพิษขบต่อย ท่านให้เอามรกตนี้กลั้นใจชุบน้ำ เอาน้ำนั้นทาที่แผล และถอนพิษหายแล

วิธีทดลองเพื่อรู้ว่ามรกตใดเป็นนาคสวาทแท้หรือมิใช่ ท่านให้ทำเครื่องบัดพลี เครื่องกระยาบวงสรวงในเดือนสามหรือเดือนสี ตั้งไว้ ณ ที่อันควร ผิว่าดูในที่ตั้งบัดพลีนั้นเห็นคลับคล้ายงูอยู่ ก็พึงปลงใจเชื่อว่านั่นเป็นนาคสวาทแท้

มรกตนั้น พจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า แก้วสีเขียวใบไม้

ท่านพรรณนาลักษณะและคุณของมรกตไว้ต่อไปว่า มรกตอันทรงคุณวิเศษ ๙ ประการ สีเขียวใสดังขนคอนกดุเหว่า สีดังตานกแขกเต้า สีเขียวเหลืองดังใบจิก สีเขียวพรายดังแมลงค่อมทอง สีเขียวดังขี้ทองคำ สีเขียวดังใบข้าว สีดังใบโลด สีดังใบแคและงูเขียวสังวาลพระอินทร์ ๙ อย่างนี้ ทรงคุณวิเศษแก่ผู้ถือ มีแต่ความเจริญและป้องกันมิให้สัตว์เขี้ยวงาที่มีพิษขึ้นบ้านเรือนแล

มรกตที่ให้โทษแก่ผู้ครอบครองคือมรกตที่มีสีดังข้าวสุกขยำแกงฟักอย่างหนึ่ง มีดินอยู่ภายในอย่างหนึ่ง มีสีสะว้าม (สีอะไรไม่ทราบ จะคัดมาผิดหรือเปล่าก็ไม่มีทางรู้) อย่างหนึ่งและรูปพรรณเบี้ยวอีกอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อเจียระไนสิ้นลักษณะเสียแล้วจึงให้คุณ

มรกตแท่งใหญ่ที่สุดก็เห็นจะไม่มีที่ไหนเท่าพระพุทธมหามณีรัตน์หรือพระแก้วมรกตของเรา ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพมหานครเป็นแน่

๔. นพรัตน์อันดับที่ ๔ คือบุษราคัม คือพลอยสีแดง

๕. นพรัตน์อันดับที่ ๕ คือ โกเมน คือพลอยสีแดงเข้ม ว่าได้มาจาก ภูเขาหิมาลัย หรือแม่น้ำสินธุ สำหรับโกเมนของอินเดียนั้นว่ามีลักษณะ ๔ ประเภท คือ สีขาว สีเหลืองซีด สีแดง สีน้ำเงิน

๖. นพรัตน์อันดับที่ ๖ คือนิล อันเป็นพลอยสีดำหรือขาบ ตามตำรานพรัตน์ว่าเกิดในแดนลังกามี ๓ จำพวกคือขัติยชาติจำพวกหนึ่งสีเขียวเจือน้ำแดง ชื่อพราหมณชาติ จำพวกหนึ่งสีเขียวเจือน้ำขาว ชื่อสูทชาติจำพวกหนึ่ง สีเขียวเจือน้ำดำ ยังมีนิลอีก ๑๑ จำพวก ล้วนมีคุณพิเศษคือ ชื่อปริวารนิล สีดั่งน้ำคราม ชื่อนิลอัญชันสีดังดอกอัญชัน ชื่ออินทนิลเมื่อส่องที่แดดจะเห็นเป็นสายขาวเลื่อมประภัสสร ชื่อสรลังกาคนิล สีเขียวพรายเหลืองดังปีกแมลงทับ ชื่อราชนิล สีดังสีตาวัว ชื่อนิลบลหรือนิลุบลสีดังดอกบังครั่ง ชื่อมหาราชนิลสีดังแววหางนกยูง ชื่อนิลคนธิ์ เนื้อเขียวเจือขาว ชื่อนิลมาศคนธี สีดังดอกผักตบ ชื่อพัทนิล สีดังขนคอนกดุเหว่า อีกจำพวกหนึ่งเอาสำลีปัดดูจะเป็นประกายจับสำลี นิล ๑๑ จำพวกดังพรรณนานี้เป็นของวิเศษให้คุณแก่ผู้ถือ

นิลอันให้โทษนั้นมี ๘ ประการ คือลักษณะหนึ่งขาวหม่น (นิลโพรด) มีอันธการ (ดำ) เชี่ยนตะโหนด (เข้าใจว่าจะเป็นเซี่ยนหรือเสี้ยนตาล) เป็นสีขาวและดำ ผลหรือเม็ดแตกลมเข้าอยู่ข้างใน (เป็นรู) หัวหรือยอดขาว สีน้ำอันวาวนั้นเหลืองดังสีน้ำขมิ้น น้ำเหลืองดังน้ำสนิมเหล็ก และข้างในนั้นมีดินเข้าไปอยู่ เหล่านี้เป็นนิลอันประกอบด้วยโทษให้ผลร้ายแก่ผู้ถือ

๗. นพรัตน์อันดับที่ ๗ คือมุกดาหาร  ได้แก่แก้วชนิดหนึ่งมีสีหมอกอ่อนๆ คล้ายสีของไข่มุกแต่ไม่ใช่ไข่มุก แต่ตามตำรานพรัตน์ว่ามุกมีกำเนิดเกิดในหัวปลา ในหอยโข่ง ในงาช้าง ในหัวเนื้อสมัน ในคอผู้หญิง ในคอผู้ชาย ในคอนกกระทุง ในต้นอ้อย ต้นข้าว ลำไม้ไผ่ ในหัวงู ในเขี้ยวหมู ในหอยทะเล ซึ่งออกจะพรรณนาเหลือเฟือเกินไป ถ้าดูตามนี้แล้วมุกดาหาร มิใช่แก้วแต่เป็นไข่มุกนั่นเอง

๘. นพรัตน์อันดับที่ ๘ คือ เพทาย  คือพลอยชนิดหนึ่งสีแดงสลัวๆ ท่านพรรณนาไว้ว่า เพทายมีอยู่ ๑๓ ชนิด คืออย่างหนึ่งชื่อ ริตุกะ สีเหลืองดังขมิ้น ชื่อจุมกุดิ สีขาวใส ชื่อครังคราทิ สีดั่งน้ำฝาง ชื่อสุรคนธิ์ สีแดงดังน้ำครั่ง น้ำภายในสีดังดอกสามหาวหรือผักตบ ชื่อไคเสบพเฉด สีเหลืองดังดอกคูณ ชื่อชไม สีหลายพรรณระคนกัน ชื่อทันตร สีดั่งน้ำค้างไหลไปมาอยู่ภายใน ชื่อรวางคะ ดังหนึ่งน้ำขังอยู่บนดอกบวบอยู่ภายใน ชื่อโควินท์สีแดงและภายในแดงดังปัทมราช ชื่อกตะ น้ำแดงแลขาวระคนกัน และน้ำแดงเหลืองระคนกัน

เพราะเหตุที่เพทายมีสีแดงคล้ายกับทับทิมหรือปัทมราช ท่านจึงแนะวิธีที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าแตกต่างกันอย่างไร คือให้เอาเพทายที่ใคร่รู้นั้นสีกับปัทมราช ผิว่าหารอยมิได้ไซร้ ท่านว่าเพทายนั้นคือปัทมราช ผิมีรอยท่านจึงว่าเป็นเพทายแล

๙. นพรัตน์อันดับที่ ๙ คือ ไพฑูรย์ คือพลอยสีเขียว มีน้ำเป็นรุ้งกลอกไปมา บางแห่งเรียกว่าเพชรตาแมว หรือแก้วสีไม้ไผ่ แต่ตามตำรานพรัตน์กล่าวว่าไพฑูรย์ที่เกิดจากเชิงเขาวิบูลบรรพตที่ชื่อว่ามรินหร มีพรรณขนานสลับสีดำ แดงขาวและเขียว ดังแมลงเต่าทอง นอกจากนี้ท่านยังแบ่งแยกไพฑูรย์ออกเป็นชื่อประถมชาติและทุติยชาติ ว่ามีสามจำพวก ฉวีดังแววหางนกยูง สีดังใบไผ่อ่อนพวกหนึ่ง เขียวเหลืองอ่อนดังงูเขียวปากปลาหลดพวกหนึ่ง สีดังปลีกล้วยแรกบานพวกหนึ่ง มีสีสลับกันตั้ง ๑๐ สีพวกหนึ่ง พวกหนึ่งลายดังจักรมีน้ำเป็นแนวแดง ขาว เหลือง เขียว ดำและหงสบาท พวกหนึ่งประกายดั่งตานกแขกเต้า พวกหนึ่งดั่งตานกพิราบ พวกหนึ่งดั่งตาตั๊กแตน

ท่านพรรณนาโทษของไพฑูรย์ไว้ว่า ไพฑูรย์เม็ดใด ช่างเจียระไนไม่หมดมลทินสิ้นโทษ คือสีนั้นตายกลางยอด จะทำให้ผู้ถือพลัดพรากจากลูกเมีย คนในเรือนจะตายจากอีกอย่างหนึ่งไพฑูรย์เม็ดใดหัวเว้าก็ดี เม็ดบางก็ดี จะพาให้ผู้ถือตกยาก จะต้องศาสตราวุธ จะผิดพี่ผิดน้อง อีกอย่างหนึ่งไพฑูรย์เม็ดใด เม็ดมีแผลรุ้ง ผู้ถือจะเป็นโทษ จะร้อนใจ จะกลายเป็นโจร

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านจะเห็นว่าคนโบราณนั้นนับถือว่าอัญมณีเหล่านี้เป็นของขลังสามารถให้คุณและให้โทษแก่ผู้ใช้ได้ คนไทยเราจึงใช้นพรัตน์ทำเป็นหัวแหวนเรียกว่าแหวนนพเก้าใช้สวมนิ้วชี้เมื่อจะทำการสิ่งใดที่เป็นมงคลเพื่อความขลังก็ใช้นิ้วที่สวมแหวนนี้ทำ เช่นเจิมหน้าคู่บ่าวสาว เป็นต้น

เมื่อพูดถึงนพรัตน์แล้ว ถ้าไม่พูดถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของเราอย่างหนึ่งก็ดูจะไม่สมบูรณ์นั่นคือ “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์” หรือเรียกย่อว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์ (ใช้อักษรย่อว่า น.ร.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ความว่า ได้มีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมคงมีแต่สายสร้อยพระสังวาลประดับนพรัตน์ เรียกว่าสังวาลพระนพ เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพิชัยสงครามหรือสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเมื่อเวลาบรมราชาภิเษก โดยพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงสมก่อนที่จะทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นของสำหรับแผ่นดิน พระสังวาลนี้เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำล้วนมี ๓ เส้น เส้นหนึ่งยาวประมาณ ๑๒๔ ซม. มีดอกประจำยามทำด้วยทองประดับนพรัตน์ดอกหนึ่ง

จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ.๒๓๒๕) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติ ได้ทรงรับพระสังวาลนี้สืบมา และได้สร้างขึ้นอีกสายหนึ่งเป็นสายแฝดประดับนพรัตน์เป็นดอกๆ เรียกว่า “พระมหาสังวาลนพรัตน์” ยาวประมาณ ๑๗๖ ซม. มีดอกประจำยาม ๒๗ ดอก ทำด้วยทองฝังมณีดอกละ ๑ ชนิด สลับกัน

ลุจุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ.๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างดารานพรัตน์เพิ่มขึ้นอีกเป็นเครื่องต้น และสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงถือได้ว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้มีขึ้นในรัชกาลนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระบรมวงศ์มีแต่ดาราไม่มีสังวาล เพราะสังวาลใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น จึงได้ทรงสร้างตรา (มหานพรัตน์) สำหรับห้อยติดกับแพรแถบสีเหลือง ขอบเขียวริ้วแดงและน้ำเงิน สะพายขวามาซ้ายแทนสังวาลด้วย และให้พระราชทานแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ด้วยแต่ก็มีเพียง ๘ สำหรับ รวมทั้งของพระกษัตริย์ด้วยอีก ๑ สำหรับ เป็น ๙ สำรับ ต่อมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) จึงตราพระราชบัญญัติใหม่กำหนดให้มีแหวนนพรัตน์เพิ่มขึ้น และกำหนดให้พระราชทานแก่ฝ่ายในด้วย ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้เพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็น ๒๗ สำรับ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี