ลักษณวงศ์วรรณคดีของสุนทรภู่

วรรณคดีเรื่องลักษณวงศ์เป็นงานชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งของท่านกวีเอกสุนทรภู่ ท่านกวีผู้นี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านคงรู้จักมาบ้างแล้ว จึงจะไม่นำประวัติของท่านมากล่าวละเอียด แต่จะขอกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเรื่องลักษณวงศ์เท่านั้น

พูดถึงเรื่องลักษณวงศ์เข้าใจว่านักอ่านรุ่นกลางๆ คนขึ้นไปย่อมรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ แต่นักอ่านรุ่นเยาว์คงจะมีน้อยคนนักที่จะเคยอ่านหรือแม้แต่เคยได้ยินชื่อ ทั้งนี้เพราะเหตุผลหลายประการ เช่นหนังสือเรื่องลักษณวงศ์หาอ่านยากอย่างหนึ่ง เรื่องรสนิยมในการอ่านวรรณคดีประเภทโคลงฉันท์ กาพย์กลอนในสมัยนี้มีน้อยประการหนึ่ง

แต่จะอย่างไรก็ดี เมื่อชาติไทยยอมสดุดีว่าสุนทรภู่เป็นกวีเอกของชาติคนหนึ่งแล้ว การที่เราจะสนทนากันถึงวรรณกรรมเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็น่าจะไม่เป็นเรื่องที่ล้าสมัยหรือไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องลักษณวงศ์มาสนทนากับท่าน

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า หนังสือเรื่องลักษณวงศ์นี้มีลักษณะน่าสังเกตบางประการ ประการแรก ก็คือ วัตถุประสงค์ของการแต่ง คือมีวัตถุประสงค์แตกต่างกับเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ แต่ไหนแต่ไรมาสุนทรภู่แต่งหนังสือเพื่อถวายเจ้านายที่ตนได้พึ่งพระคุณเริ่มตั้งต้นแต่วรรณคดีเรื่องแรกคือ โคบุตร ก็ดี วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีซึ่งเป็นวรรณกรรมเยี่ยมยอดของสุนทรภู่ก็ดี ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์จะถวายเจ้านายทั้งนั้น ส่วนวรรณคดีเรื่องลักษณวงศ์นี้สุนทรภู่มิได้แต่งเพื่อถวายเจ้านายพระองค์ใด หากแต่แต่งเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเอง เพราะสนุทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ไนขณะที่ตนเองหมดที่พึ่งขาดเจ้านายอุปการะดังแต่ก่อน ต้องสัญจรร่อนเร่ลอยเรือขายของไปตามแม่นํ้าลำคลอง และขายสำนวนกลอนลักษณวงศ์เลี้ยงอาตมาอยู่อย่างอาภัพอับจน น่าจะกล่าวได้ว่าในประวัติวรรณคดีไทย สนุทรภู่เป็นคนขายสำนวนประพันธ์หากินได้เป็นคนแรก และถ้าอย่างนั้น วรรณกรรมหากินเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็คือ ลักษณวงศ์ ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี่เอง ลักษณวงศ์เป็นวรรณกรรมหากินของกวีเอกสุนทรภู่ในยามวิบัติ

ก็เนื้อเรื่องของลักษณะวงศ์นั้นเป็นอย่างไร? จะขอเก็บความมาพอเป็นเค้า สุนทรภู่ได้คลี่คลาย นิยายประโลมโลกของท่านด้วยกลอนเสนาะตลอดเรื่อง เริ่มด้วยท้าวพรหมทัตผู้หลงมายาอิสตรีจนถึงกับสั่งฆ่านางสุวรรณอัมพาผู้มเหสีและลักษณวงศ์ผู้โอรสแต่เดชะบุญแม่ลูกทั้งสองนี้รอดความตายมาได้เพราะเพชฌฆาตปล่อยให้เป็นอิสระ สองแม่ลูกต้องออกเร่ร่อนผจญภัย และในที่สุดต้องพลัดพรากกันเป็นเหตุให้ลักษณวงศ์ตกไปอยู่ยังสำนักหนึ่งร่วมกับนางทิพเกสร ลักษณวงศ์กับทิพเกสรได้สนิทสนมรักใคร่กันมาแต่ปฐมวัย แต่ในตอนหลังทั้งสองมีเหตุต้องพลัดพรากกัน คือลักษณวงศ์ต้องออกติดตามชนนี ส่วนทิพเกสรต้องไปอาศัยอยู่กับเหล่านางกินนรีที่ในถํ้า ครั้นเวลาล่วงไปเมื่อลักษณวงศ์ตามพบชนนีแล้วได้เที่ยวตามหาทิพเกสรหญิงคนรักต่อไปอีก คราวนี้ลักษณะวงศ์มาพบทิพเกสรที่ถํ้านางกินนรี และได้ทิพเกสรหญิงคนรักเป็นชายา
แต่แล้วสุนทรภู่ก็ให้พระและนางของตนพรากกันอีกครั้งหนึ่ง ลักษณวงศ์ไปสู่เมืองอุบลนคร และได้ธิดาเจ้าเมืองชื่อยี่สุ่นเป็นชายา ส่วนทิพเกสรก็ออกติดตามสามีโดยแปลงเพศเป็นพราหมณ์ผู้ชาย เรียกนามตนเองว่าพราหมณ์เกสร เที่ยวสัญจรตามสามีจนในที่สุดมาพบกัน พราหมณ์เกสรได้สมัครเข้าไปอยู่ในราชสำนักของลักษณวงศ์ ลักษณวงศ์โปรดปรานพราหมณ์เกสรยิ่งนัก ทั้งนี้เป็นเหตุให้ยี่สุ่นชายาโกรธแค้น จึงหาอุบายต่างๆ ในทำนองว่าพราหมณ์เกสรล่วงเกินนางในทางชู้สาว ยี่สุ่นจึงแกล้งทูลลักษณวงศ์สวามี จนกระทั่งลักษณวงศ์เกิดโมหาคติสั่งประหารพราหมณ์เกสร ซึ่งที่แท้ก็คือชายาคู่ทุกข์คู่ยากนั่นเอง ทิพเกสรถูกประหารทั้งๆ ที่นางกำลังตั้งครรภ์

นี่คือเรื่องประโลมโลกของสุนทรภู่ที่เรียกนํ้าตาคนไทยอย่างมาก

ปัญหาที่น่าสนใจต่อมามีว่าสุนทรภู่ได้เค้าเรื่องลักษณวงศ์มาจากไหน สุนทรภู่เองได้แสดงไว้ในตอนคำนำเรื่องว่าได้จากเรื่องดึกดำบรรพ์ทำนองชาดก คือกล่าวว่า “นิทานหลังครั้งว่างพระศาสนา เป็นปฐมสมมุติกันสืบมา โดยปัญญาที่ประวิงทั้งหญิงชาย ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง จึงแสดงคำคิด ประดิษฐ์ถวาย ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย ให้เพริดพรายมธุรสพจนา” คำเกริ่นบอกเรื่องของสุนทรภู่มักเป็นเช่นนี้เสมอ เรื่องโคบุตรสุนทรภู่ก็ว่าได้เค้าเรื่องจากโบราณเช่นเดียวกันนี้

แต่ตามความเป็นจริงเห็นจะไม่ใช่ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นักค้นคว้าโบราณคดี สำคัญพระองค์หนึ่งทรงเล่าไว้ว่า เรื่องลักษณวงศ์นี้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าสุนทรภู่ได้เค้าเรื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายผู้สูงศักดิ์สองพระองค์ คือระหว่างเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งภายหลังได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระองค์เจ้าหญิงนฤมล เจ้าหญิงพระองค์นี้ดูเหมือนจะเป็นราชธิดากรมพระราชวังบวรฯ มหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสิเนหาเจ้าหญิงพระองค์นั้นมากแต่เจ้าหญิงพระองค์นั้นได้ด่วนสิ้นพระชนม์เสียในพระวัยอันเยาว์ ทั้งนี้เป็นเหตุให้เจ้าฟ้ามงกุฎทรงโศกาดูรอาลัยอาวรณ์ในเจ้าหญิงพระองค์นั้นมาก ในคราวงานสดับปกรณ์ เจ้าฟ้ามงกุฎถึงกับ กำสรวลจนนํ้าพระเนตรคลอ สุนทรภู่เมื่อเห็นหรือทราบเรื่องนั้นจึงเก็บมาสร้างเป็นโครงเรื่องลักษณวงศ์ขึ้น เรื่องนี้ปรากฎในพระนิพนธ์เรื่องลิลิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังจะขอคัดมาให้พิจารณาดังนี้

ฟ้ามกุฎสุดสวาทน้อง            นางสุดา อาว์ท่าน
นามพระองค์นฤมล            เมื่อน้อย
ชิงสิ้นพระชนมาย์            เมื่อภิเนก ษกรมแฮ
ยามสดับปกรณ์ท้อนละห้อย        เหิ่มหวน

ทรวงกำสรวลส่อน้ำ    เนตรคลอ เนตรท่าน
จับจิตจนสุนทร        ภู่เย้า
เฉลยลักษณวงศ์กรอ    กลอนเปรียบ ภิเปรยเอย
เยาว์อยู่ยินผู้เถ้า        ถั่งเถิง

ดังนี้ ตามข้อความของโคลงที่ยกมา แสดงว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องลักษณวงศ์ขึ้นโดยเค้าเรื่องจากชีวิตจริงๆ ของบุคคลสำคัญในชีวิตของสุนทรภู่เอง คือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายชั้นสูงทั้งสองพระองค์นั้นจรรโลงใจสุนทรภู่ จนสุนทรภู่นำไปสร้างเป็นโครงเรื่องลักษณวงศ์ขึ้น ดังโคลงกรมพระ- นราธิปฯ ว่า “จับจิตจนสุนทร ภู่เย้า” คำว่า “เย้า” ก็คือล้อนั้นเอง

แต่สุนทรภู่เย้าเจ้าฟ้ามงกุฎเพียงไหน และเย้าอย่างไร เรื่องนี้เราไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายสองพระองค์นั้นอย่างถี่ถ้วน ทราบแต่ว่าเจ้าหญิงนฤมลมาสิ้นพระชนม์เสียเมื่อรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎจึงโศกาลัยอย่างสุดซึ้ง ตามเรื่องสุนทรภู่จึงสร้างให้ทิพเกสรผู้ซื่อสัตย์ได้วายชนม์ลง เป็นเหตุให้ลักษณวงศ์ต้องคร่ำครวญหวนโหยเป็นที่สุด เจตนาของสุนทรภู่ดูเหมือนจะแต่งเรื่องเทียบเรื่องของเจ้านายที่นับถือของตนเพียงเท่านี้ ส่วนรายละเลียดปลีกย่อยอื่นๆ ในเรื่องลักษณวงศ์คงเป็นบทขยาย หรือโครงเรื่องย่อยดังที่เรียกกันในวงประพันธ์ว่า Sub-plot อันเกิดจากความคิดคำนึงประดิษฐ์ประดอยขึ้นทั้งสิ้น การเย้าหรือล้อของสุนทรภู่จึงเป็น “การเย้าด้วยความคารวะ” เท่านั้น

เกี่ยวกับบทบาทของตัวละครเราจะเห็นว่าสุนทรภู่พยายามจะวาดหญิงแบบฉบับขึ้นคนหนึ่ง อย่างทิพเกสร เป็นคนเดียวที่อาภัพอับโชคที่สุดในชีวิต บางทีสุนทรภู่อาจชี้ให้เห็นว่า “คนดีที่ความดีคุ้มครองไม่ได้” ก็มีอยู่เหมือนกันในโลกนี้ สุนทรภู่วาดทิพเกสรให้เป็นเหมือนตัวแทนพระองค์เจ้าหญิงนฤมลกระนั้นหรือ?

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ท่านทราบแล้วว่าโลกนี้เป็นกามภพ มนุษย์เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เมื่อสร้างเรื่องลักษณวงศ์นี้สุนทรภู่จึงสร้างปมมืดมนงมงายขึ้นให้กับตัวละคร ปมนั้นคืออวิชชาและ โมหาคติ แล้วจึงคลี่คลายเรื่องออกไปทีละน้อยๆ แทรกแซงปมมืดเหล่านั้นด้วยอารมณ์ปุถุชน มีความรัก ความโกรธ ความหึง และมายาต่างๆ เมื่อได้ทรมานตัวละครพอสมควรแล้ว สุนทรภู่ก็คลายปมมืดนั้นออกทีละน้อยๆ บุคคลที่มากด้วยอวิชชาและโมหาคติก็ค่อยสำนึกตัวในที่สุด และแล้วก็สารภาพความผิด
คนทั้งหลายทำผิดเพราะความรักความหลงอยู่ไม่น้อยเลย สุนทรภู่จึงสร้างท้าวพรหมทัต และลักษณวงศ์ไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับสอนคนไทยในสมัยของสุนทรภู่เรื่องลักษณวงศ์จึงเป็นทั้งมหรสพ และเป็นทั้งแบบเรียนศีลธรรม นี่คือโศกนาฏกรรมที่บรรพชนของเราชื่นชมมาแล้วอย่างจับอกจับใจ

เมื่อข้าพเจ้าศึกษาชีวิตและงานของสุนทรภู่แล้ว เกิดมีความรู้สึกขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องลักษณวงศ์นี้อาจเป็นเรื่องชีวิตของสุนทรภู่เองก็ได้ คือสุนทรภู่ถ่ายทอดชีวิตตนเองลงเป็นเรื่องลักษณวงศ์ ทำไมข้าพเจ้าจึงคิดเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะขอแสดงเหตุผลต่อไป ขอท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดอภัยด้วยถ้าหากข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าจะผิดไป เจตนาของข้าพเจ้ามีเพียงการสันนิษฐานเพื่อประโยชน์ทางประวัติวรรณคดีไทยอาจผิดก็ได้ อาจถูกสักเล็กน้อยก็ได้

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเรื่องลักษณวงศ์เป็นเรื่องเทียบขอให้เราพิจารณาชื่อเรื่องของตัวละครสำคัญๆ ดู คำว่าลักษณวงศ์ ซึ่งเป็นตัวเอกฝ่ายชายนั้นถ้าจะแปลความหมายก็ว่า วงศ์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นพิเศษ ถ้าท่านตรวจประวัติวรรณคดีไทยดู ท่านจะทราบได้ว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในชีวิตของสุนทรภู่เป็นกวีทั้งสิ้น รัชกาลที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือดีๆ มีค่าไว้ทุกพระองค์ แปลว่าราชวงศ์จักรีนี้เป็นราชวงศ์แห่งกวี ความเป็นกวีเป็นลักษณะพิเศษของราชวงศ์จักรี ฉะนี้กระมัง สุนทรภู่ผู้เป็นจินตกวีจึงมองเห็นลักษณะเด่น เลยตั้งชื่อเรื่องของตนว่าลักษณวงศ์ เมื่อเทียบกับพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ตนได้พึ่งพระคุณและมีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่ โดยเฉพาะลักษณวงศ์อาจเป็นพระนามที่สุนทรภู่เทียบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกระมัง?

ส่วนนามตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่องลักษณวงศ์นั้นเล่า มีข้อน่าคิดว่าหมายถึงตัวสุนทรภู่เอง คำว่าทิพเกสรหรือทิพ์เกสรก็มีความหมายในทำนองหอมหวานเป็นชั้นทิพย์ชั้นสวรรค์ ก็นามบรรดาศักดิ์สุนทรโวหารของสุนทรภู่ก็เข้าลักษณะ ดี งาม ไพเราะ จนมีชื่อเสียงหอมหวนนั้นเอง จึงทำให้น่าคิดว่าสุนทรภู่ใช้นางเอกของเรื่องที่ชื่อว่าทิพยเกสรหรือทิพเกสรนั้นหมายถึงตนเอง แต่สุนทรภู่มีชีวิตแบ่งได้เป็น ๒ ยุค คือยุคร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๒ กับยุคอาภัพอับจนต้องทนทุกข์ในรัชกาลที่ ๓ ชีวิตของทิพเกสรก็หมายถึงชีวิตตอนเป็นสุขของสุนทรภู่    ส่วนชีวิตตอนลำบากเริ่มตั้งแต่ออกบวชนั้นก็ได้แก่ชีวิตตอนทิพเกสรแปลงตัวเป็นพราหมณ์เกสรนั้นเอง การที่สุนทรภู่ให้ทิพเกสรปลอมตัวเป็นพราหมณ์ก็อ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและเราท่านย่อมทราบว่าสุนทรภู่นั้นเคยไปบวชเป็นพระเพื่อหนีภัยในรัชกาลที่ ๓ ฉะนั้นจึงน่าคิดว่าพราหมณ์เกสรก็คือพระสุนทรภู่นั่นเอง

ท่านผู้อ่านที่นับถือ ก่อนจบข้าพเจ้าขอยกข้อสมมุติสักอย่างหนึ่งคือ ถ้าลักษณวงศ์มิใช่เรื่องโบราณดังสุนทรภู่ว่าก็ดี หรือมิใช่เรื่องของเจ้าฟ้ามงกุฎกับพระองค์เจ้าหญิงนฤมลดังที่กรมพระนราธิป ทรงเล่าก็ดี ข้าพเจ้าสงสัยว่าเรื่องลักษณวงศ์น่าจะหมายถึงใครต่อใครในชีวิตของสุนทรภู่อย่างมาก โดยเฉพาะสุนทรภู่อาจจะเคลิ้มไปว่าตนเองคือทิพเกสรหรือพราหมณ์เกสรนั่นเอง สุนทรภู่อาจแต่งเรื่องนี้ในทำนองเรื่องเทียบความปรากฏตอนหนึ่งเหมือนกับชีวิตของสุนทรภู่ในขณะเป็นกวีที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคือตอนบรรยายถึงความใกล้ชิดระหว่างลักษณวงศ์กับพราหมณ์เกสรว่าดังนี้

“ปางพระองค์ทรงแต่งเรื่องอิเหนา    พราหมณ์ก็เข้าเคียงเขียนอักษรศรี
เมื่อท้าวติดพราหมณ์ก็ต่อพอดี    ท้าวทวีความสวาทประภาษชม”

จากเรื่องลักษณวงศ์นี้ทำให้น่าเข้าใจว่า ตัวนางทิพเกสร สุนทรภู่หมายถึงตนเองในยุคเป็นสุข และพราหมณ์เกสรก็คือสุนทรภู่ตอนตกยาก นับตั้งแต่ออกบวชเป็นต้นไปนั้นเอง ที่ใช้นามทิพเกสรก็หมายถึงเกสรดอกไม้สวรรค์ย่อมหอมหวน เช่นเดียวกับชื่อเสียงอันหอมหวนของสุนทรภู่ตอนก่อนที่ รัชกาลที่ ๒ จะโปรดให้เข้ารับราชการกระมังสุนทรภู่เป็นคนหยิ่งในทางการประพันธ์ แม้ตอนอดอยากก็ยังหยิ่ง แต่นี่เป็นเพียงการสันนิษฐานของข้าพเจ้าอย่างที่คิดเห็นไปเอง ยังไม่มีหลักฐานอันใดดีกว่าการคิดอนุมานเอา แต่ถ้าท่านทราบชีวประวัติของสุนทรภู่แล้ว ท่านจะเห็นว่าเหมือนพราหมณ์เกสรเป็นอย่างมาก จึงขอฝากความคิดนี้แด่เพื่อนนักศึกษาวรรณคดีโดยทั่วกันเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สิงหไกรภพ

นิทานคำกลอนที่ขึ้นชื่อลือชาอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ที่เด็กๆ สมัยนี้ต่างนิยมชมชอบ เนื่องจากได้มีผู้นำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง สิงหไกรภพ ออกแพร่ภาพจนเด็กๆ ติดกันงอมแงม นับว่าสุนทรภู่สามารถผูกนิทานได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

สิงหไกรภพ เป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวรองลงมาจากเรื่องพระอภัยมณี คือมีความ ยาว ๑๕ เล่มสมุดไทย บางคนกล่าวว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้เพื่อประชันกับเรื่องไกรทองพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗) เพื่อถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ (ขณะนั้นยังทำหน้าที่ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์อยู่) แล้วมาแต่งต่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เรื่องค้างอยู่ แต่งไม่จบ

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า ท้าวอินณุมาศครองเมืองโกญจา มีนางจันทรเป็นมเหสี ไม่มีโอรสหรือธิดา ต่อมาเอาลูกโจรมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่าคงคาประลัย คงคาประลัยชิงราชสมบัติของท้าวอินณุมาศ พระอินทร์ช่วยอุ้มท้าวอินณุมาศและนางจันทรมาอยู่ป่า สองกษัตริย์ปลอมพระองค์เป็นคนสามัญ ไปอาศัยอยู่กับพรานป่าชื่อเพิก จนกระทั่งนางจันทรคลอดโอรส แล้วโอรสองค์นี้ถูกพราหมณ์เทพจินดาขโมยไปเลี้ยงไว้ ยักษ์พินทุมารจับพราหมณ์เทพจินดาและพระโอรสนั้นได้เอาไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อพระโอรสว่าสิงหไกรภพ เมื่อโตขึ้นพราหมณ์เทพจินดาและสิงหไกรภพขโมยยาวิเศษของยักษ์ แล้วพากันหนีจากไปพราหมณ์เทพจินดาพาสิงหไกรภพไปอยู่ที่บ้านตน สิงหไกรภพทราบว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ก็หนีพราหมณ์เทพจินดาออกตามหาบิดามารดา ได้นางสร้อยสุดาธิดาของท้าวจตุรพักตร์ กษัตริย์แห่งเมืองมารันเป็นชายา จนนางตั้งครรภ์แล้วพากันหนีมา ท้าวจตุรพักตร์ตามมาชิงนางสร้อยสุดาคืนไป พราหมณ์เทพจินดาตามสิงหไกรภพกลับไปครองเมืองโกญจา ท้าวจตุรพักตร์ยกทัพมาตีเมือง โกญจา ถูกสิงหไกรภพฆ่าตาย สิงหไกรภพรับนางสร้อยสุดามาอยู่ด้วยกันที่เมืองโกญจนา แล้วให้พราหมณ์เทพจินดาครองเมืองมารันต่อมารามวงศ์โอรสของสิงหไกรภพซึ่งอยู่กับยายที่เมืองมารันเติบโตขึ้นได้ลายายมาเยี่ยมสิงหไกรภพ แต่หลงทางเข้าไปในเมืองยักษ์ ได้นางแก้วกินรีแล้วพลัดพรากจากกัน สิงหไกรภพออกติดตามรามวงศ์ ได้นางเทพกินราเป็นชายา ต่อมานางเทพกินราทำเสน่ห์เพื่อให้สิงหไกรภพหลงใหลตน พราหมณ์เทพจินดาแก้เสน่ห์ให้ ต่อจากนี้รามวงศ์ได้ติดตามหาสิงหไกรภพ แต่ไม่ทันได้พบกัน และเรื่องก็จบเพียงเท่านั้น
สุนทรภู่เริ่มต้นนิทานเรื่องนี้ว่า

ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง
แต่ปางหลังยังมีบุรีเรือง    ชื่อว่าเมืองโกญจาสถาวร
นามพระองค์ซึ่งดำรงอาณาราษฎร์    อินณุมาศบพิตรอดิศร
พระนามนางเกศสุรางคนิกร        ชื่อจันทรแก้วกัลยาณี
แสนสนมหมื่นประนมประณตน้อม    ดังดาวล้อมจันทราในราศี
ทั้งเสนาพฤฒามาตย์ราชกระวี    อัญชุลีเพียงพื้นพระโรงเรียง
สำราญรอบขอบคันนิคมเขต        ทั่วประเทศพิณพาทย์ไม่ขาดเสียง
สองพระองค์ทรงธรรมไม่ต่ำเอียง    ไร้แต่เพียงบุตราธิดาดวง
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙)

ตอนโหรทำนายฝันของนางจันทร แล้วกล่าวว่าท้าวอินณุมาศและนางจันทรจะสูญเสียราช¬สมบัติ ท้าวอินณุมาศปลงตก คิดได้ว่า

เป็นทุกขังอนิจจังอนัตตา    อันเกิดมาเป็นบุคคลไม่พ้นตาย
สุขกับโศกเหมือนหนึ่งโรคสำหรับร่าง    รำพึงพลางหักให้พระทัยหาย
กลับคนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย        ตรัสสอนสายสุดสวาทนาฏอนงค์
สงวนครรภ์ขวัญเนตรเถิดน้องรัก        โหราทักทุกข์แทบจะผุยผง
เรายึดยุดพุทธคุณให้มั่นคง            เป็นทางตรงตราบสิ้นชีวาลา
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๕)

สุนทรภู่บรรยายความทุกข์ยากลำบากของนางจันทรขณะอยู่กับพรานเพิกว่า

น่าสงสารทรามวัยพระทัยหาย
ภูษาทรงโจงกระหวัดรัดพระกาย    ฉวยกระบายโกยเข้าลงใส่ครก
ไม่เคยตำก็ถลำถลากพลาด        ออกพรุดพราดเรี่ยรายกระจายหก
ไม่ทันแตกเอาขึ้นหัตถ์ฝัดกระทก    แล้วใส่ครกกลับตำนั้นร่ำไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๔)

ตอนนางจันทรคลอดพระโอรส สุนทรภู่บรรยายให้เห็นความเศร้าโศกของท้าวอินณุมาศ และนางจันทรที่โอรสมาคลอดกลางป่าว่า

ดูลูกรักวรพักตร์เพียงเพ็ญจันทร์    พระทรงธรรม์กอดลูกแล้วโศกา
นฤบาลว่าสงสารพระลูกแก้ว    เกิดมาแล้วเมื่อพ่อขาดวาสนา
นางจันทรว่าแม้นก่นพ่อเกิดมา    พระวงศาก็จะล้อมอยู่พร้อมเพรียง
พระบิดาว่าแม้นเมื่อได้ฤกษ์        จะเอิกเกริกแตรสังข์ประดังเสียง
พระชนนีว่าจะมีแม่นมเคียง        พระพี่เลี้ยงเฒ่าแก่จะแจจัน
พระปิตุเรศว่าประเทศทุกไทท้าว    ถ้ารู้ข่าวก็จะรีบมาทำขวัญ
พระมารดาว่าพ่อนอนเมื่อกลางวัน    ฝูงกำนัลก็จะเห่ดังเรไร
พระบิดาว่าโอ้มาคลอดเจ้า    กระท่อมเท่ารังกาได้อาศัย
พระมารดาว่าสงสารสายสุดใจ    อู่ก็ไม่มีรองพระองค์เลย
พระทรงฤทธิ์ว่าคิดแล้วใจหาย    เอาหนังควายต่างฟูกเถิดลูกเอ๋ย
พระมารดาว่าขวัญเข้าเจ้าทรามเชย    มาเสวยถันเต้าแม่เต็มทรวง
สองกษัตริย์โทมนัสด้วยลูกน้อย    ยิ่งเศร้าสร้อยคิดคะนึงถึงวังหลวง
แล้วแข็งขืนกลืนโศกไว้ในทรวง    อาทิตย์ล่วงเลยลัดอัสดงค์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๗)

สิงหไกรภพให้คำมั่นสัญญาแก่นางสร้อยสุดาว่า“ถึงม้วยดินสินฟ้าสุราลัย ไม่จากไกลกลอยสวาทแล้วชาตินี้” (พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ,, นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๘)

ตอนสิงหไกรภพอุ้มนางสร้อยสุดาหนียักษ์ผู้เป็นบิดา สุนทรภู่บรรยายถึงความว้าเหว่ของสิงหไกรภพขณะที่เหาะไปในท้องฟ้าว่า

จะแลซ้ายสายเมฆวิเวกจิต                ให้หวาดหวิดว้าเหว่ในเวหา
จะเหลียวกลับลับปราสาทหวาดวิญญา        จะแลขวาขวัญหายไม่วายครวญ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๗๗)

พราหมณ์เทพจินดาเตือนสิงหไกรภพให้รีบไปหาบิดามารดาก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาชิงนางสร้อยสุดาคืน โดยให้เหตุผลว่า

พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง        ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย        ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
พระบิดามารดานั้นหายาก        กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย
นางไปอยู่บุรีไม่มีภัย        มาเมื่อไรคงพบประสบกัน
ขอเชิญพ่อหน่อเนื้อในเชื้อแถว    ไปกรุงแก้วโกญจามหาสวรรย์
พระบิตุราชมาตุรงค์เผ่าพงศ์พันธุ์    จะนับวันคอยหาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๓)
ตอนสิงหไกรภพชมธรรมชาติแล้วระลึกถึงนางสร้อยสุดา สุนทรภู่เล่นคำได้ดี คือบรรยายว่า

เห็นธารน้ำรำลึกเมื่อเล่นธาร        เริงสำราญหรือรกร้างให้ห่างกัน
เห็นกวางทองย่องเยื้องชำเลืองหลบ    เหมือนแลพบพักตร์ยุพินเมื่อผินผัน
หอมลูกอินกลิ่นระคนปนลูกจันทน์        เหมือนกลิ่นขวัญเนตรรื่นชื่นอารมณ์
นางแย้มงามยามเยื้อนเหมือนเบือนยิ้ม    ให้เชยชิมชื่นชิดสนิทสนม
ดอกเล็บนางอย่างเล็บพระเก็บชม    แต่ไม่คมข่วนเจ็บเหมือนเล็บนาง
รสสุคนธ์เหมือนสุคนธ์ปนแป้งสด    มาร้างรสสุคนธ์น้องให้หมองหมาง
อบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนที่ร้างมาห่างกัน    ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนพี่ร้างมาห่างกัน        ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนเมื่อเคยเชยกลิ่นอบ    หอมตระหลบอบกลิ่นไม่สิ้นหอม
พยอมเอ๋ยเคยใจมิใคร่ยอม    ให้ต้องออมอกช้ำทุกค่ำเช้า
เห็นโศกออกดอกอร่ามเมื่อยามโศก    แสนวิโยคโศกทรวงให้ง่วงเหงา
ถึงดอกงามยามโศกเหมือนโรคเรา        มีแต่เศร้าโศกซ้ำนั้นร่ำไป
เห็นยมโดยโดยดิ้นถวิลโหย        เหมือนดิ้นโดยดังจะพาน้ำตาไหล
โอ้ระกำเหมือนกรรมในน้ำใจ    ด้วยมาไกลกลืนช้ำระกำตรม
เห็นกลอยออกดอกดวงเป็นพวงห้อย    เหมือนกลิ่นกลอยใจคิดสนิทสนม
เสน่หาอาวรณ์ร้อนอารมณ์        จะแลชมอื่นๆ ไม่ชื่นใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๗)

เมื่อสิงหไกรภพมีสารมาถึงนางสร้อยสุดา ก็ยํ้าถึงความซื่อสัตย์ต่อความรักของพระองค์ที่มีต่อนางว่า

จนม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดเสน่หาจนอาสัญ
ถึงตัวไปใจคิดเป็นนิรันดร์    ที่รับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาย
(พ. ณประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๑๓)

เมื่อสิงหไกรภพฆ่าท้าวจตุรพักตร์ มเหสีและนางสร้อยสุดาผู้เป็นธิดารวมทั้งญาติอื่นๆ ได้คร่ำครวญอาลัยรักดังนี้

มเหสีตีทรวงเสียงฮักฮัก    โอ้ปิ่นปักปัถพินมาสิ้นสูญ
จะเสียวงศ์พงศ์ยักษ์ศักดิ์ตระกูล    จะตามทูนกระหม่อมม้วยเสียด้วยกัน
พระธิดาว่าโอ้พระปิตุเรศ    เคยปกเกศชุบย้อมถนอมขวัญ
ให้ผาสุกทุกเวลาทิวาวัน    ยังไม่ทันแทนพระคุณมาสูญลับ
พระวงศาว่าทูนกระหม่อมแก้ว    นิพานแล้วมืดเหมือนดังเดือนดับ
นางห้ามแหนแสนอาลัยว่าไปทัพ    เคยคอยรับหรือมาร้างถึงวางวาย
นางพระยาว่าพระคุณมาสูญเสีย    เหมือนศอเมียขาดกระเด็นไม่เห็นหาย
จะโศกช้ำร่ำรับแต่อับอาย    จะสู้ตายให้พ้นทนทรมาน
พระธิดาว่าพระคุณทูนกระหม่อม    เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกหลาน
แต่ครั้งนี้มีโทษไม่โปรดปราน        ไปรอนราญจนสวรรคครรไล
พระวงศาว่าแต่นี้ไม่มีสุข    จะรับทุกข์ทุกเวลาน้ำตาไหล
สนมนางต่างว่านับจะลับไป        จะมิได้เฝ้าองค์พระทรงยศ
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร    ให้สงสารวิโยคโศกสลด
แต่สองนางอย่างจะม้วยระทวยทด    ทรงกำสรดโศกาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๒๓-๑๒๔)

บรรดาสาวสนมกำนัลของสิงหไกรภพ    เมื่อรู้ว่าสิงหไกรภพไม่สนใจพวกตนก็พากันเล่นเพื่อน ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

เห็นโฉมสร้อยสุดามารศรี
ดังเดือนเพ็งเปล่งฟ้าไม่ราคี    ถึงทั้งมีลูกเต้ายังเพราพริ้ง
ประไพพักตรลักษณะพระวิลาศ    ดูผุดผาดล้ำเลิศประเสริฐหญิง
ที่เหิมฮึกนึกไว้อายใจจริง    เหลือจะชิงชมชิดทำบิดเบือน
แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง    ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน
ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน    เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๓๓-๑๓๔)

เรื่องสิงหไกรภพค้างอยู่เพียงท้าวกาลเนตรตายเท่านั้น เข้าใจว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่งไว้จนจบเรื่อง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

พระอภัยมณี

พระอภัยมณี เป็นนิทานคำกลอนเรื่องยาวที่สุดของสุนทรภู่ มีความยาว ๙๔ เล่มสมุดไทย นับเป็นตอนๆ ได้ถึง ๖๔ ตอน

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผินก็ดูคล้ายกับเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วๆ ไป แต่อันที่จริงแล้วเรื่องนี้มีลักษณะแปลกไปจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ กล่าวคือ ตัวละครเอกคือ พระอภัยมณีไม่ชำนาญในเรื่องการสู้รบลักษณะเช่นนี้ต่างจากตัวละครเอกอื่นๆ ในบรรดาเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลาย นอกจากนี้พระอภัยมณียังชำนาญการเป่าปี่ไม่ได้ชำนาญการใช้อาวุธอื่นใด ส่วนศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความสำคัญรองลงมา แม้จะเก่งในทางรบพุ่งมากกว่าพระอภัยมณี แต่อาวุธที่ใช้ในการรบก็เป็นเพียงกระบองเท่านั้น นอกจากนี้พระอภัยมณีและศรีสุวรรณก็ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านไสยศาสตร์ที่จะใช้ในการป้องกันตัว มีแต่เพียงวิชาการเป่าปี่และวิชากระบี่กระบองเท่านั้น นับว่าวิชาความรู้ของตัวเอกค่อนข้างจะแปลกไปกว่าที่ปรากฎในเรื่องจักรๆวงศ์ๆ อื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้ตัวละครฝ่ายหญิงยังมีความรู้ความสามารถในการทำศึกสงคราม ลักษณะเช่นนี้ต่างไปจากตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วๆ ไปอย่างเห็นได้แจ่มชัด อนึ่ง ในตอนท้ายเรื่อง แทนที่พระอภัยมณีจะได้ครองคู่กับนางสุวรรณมาลีและนางละเวงอย่างมีความสุข กลับปรากฏว่าสุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีหาความสงบสุขด้วยการออกบวช นับว่าต่างไปจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดอีกประการหนึ่ง นอกจากนี้เนื้อหาของเรื่องพระอภัยมณียังสามารถแบ่งออกได้เป็นตอนๆ แต่ละตอนมีเนื้อหาสนุกสนาน ชวนแก่การติดตาม มีของวิเศษ สัตว์วิเศษ และสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ นานาอันเป็นเรื่องที่สุนทรภู่จินตนาการขึ้นเองบ้าง นำความรู้ความคิดมาจากตำนาน ประวัติศาสตร์ ชาดกและวรรณคดีของชาติอื่นบ้าง แล้วนำมาผสมผสาน สอดร้อยเข้าเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

สุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยแต่งเพื่อขายฝีปากเลี้ยงตนเองขณะติดคุก ราวปีพ.ศ. ๒๓๖๔ แต่คงแต่งไว้แต่เพียงเล็กน้อย เมื่อพ้นโทษคงจะได้แต่งต่อบ้างตามสมควร แต่ก็คงไม่มากนักเพราะมีราชการต้องเข้าเฝ้าอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อสุนทรภู่บวชในสมัยรัชกาลที่ ๓ และจำพรรษาอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ระหว่างพ.ศ. ๒๓๗๗-๒๓๗๘ อยู่ในพระอุปการะของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สุนทรภู่ก็ได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อ เป็นการแต่งถวายตามรับสั่งของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แต่งได้มากน้อยเพียงใดและแต่งถึงตอนใดก็ไม่ปรากฎหลักฐาน ในระยะต่อมาเมื่อสุนทรภู่ได้พึ่งพระบารมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ในตอนปลายสมัยรัชกาลท ๓ ก็ได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อไปอีกโดยแต่งตามรับสั่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระพี่นางร่วมเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แต่งจนถึงเล่มที่ ๔๙ คือตอนพระอภัยมณีออกบวช หลังจากนั้นได้ให้ผู้อื่นแต่งต่อ ไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่

เนื้อหาของเรื่องพระอภัยมณีมีอยู่ว่า ท้าวสุทัศน์ ครองกรุงรัตนา มีโอรส ๒ องค์คือ พระอภัยมณีและศรีสุวรรรณพระองค์รับสั่งให้สองโอรสไปเรียนวิชาเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในการครองราชย์สืบไป พระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ ศรีสุวรรณเรียนวิชากระบี่กระบอง เมื่อกลับกรุงรัตนา พระบิดาโกรธเคืองที่เรียนวิชาไม่เหมาะสมกับที่เป็นโอรสกษัตริย์ ก็ขับไล่ออกจากเมืองพระอภัยมณีและศรีสุวรรณออกจากเมืองพบพราหมณ์โมรา สานน และวิเชียร พระอภัยมณีเป่าปี่ให้ ๓ พราหมณ์ฟังจนถูกนางผีเสือยักษ์อุ้มเอาตัวไป แปลงร่างเป็นหญิงสาวอยู่ด้วยกันจนมีบุตรคนหนึ่งชื่อสินสมุทร สินสมุทรพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อยักษ์มาที่เกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีได้นางเงือกเป็นชายา ส่วนศรีสุวรรณและ สามพราหมณ์ออกติดตามหาพระอภัยมณีจนไปได้นางเกษราธิดาเจ้าเมืองรมจักรเป็นชายา

ท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกพาสุวรรณมาลีผู้เป็นธิดาออกเที่ยวทะเล มาถึงเกาะแก้วพิสดาร พบพระอภัยมณีและสินสมุทร ทั้งสองขอโดยสารเรือไปด้วย ขณะที่เดินทางไปนั้น นางผีเสือยักษ์ได้ทำเรือจม ท้าวสิลราชสิ้นพระชนม์ พระอภัยมณีกับศิษย์หนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา พระอภัยมณีเป่าปี่ นางผีเสื้อยักษ์ขาดใจตาย สินสมุทรแบกนางสุวรรณมาลีว่ายนํ้าพาขึ้นเกาะแห่งหนึ่งและขอโดยสารเรือโจรสุหรั่ง สินสมุทรฆ่าโจรเพราะโจรลวนลามนางสุวรรณมาลี แล้วแล่นเรือต่อไปยังเมืองผลึกเมื่อเรือผ่านมาถึงเมืองรมจักร ได้รบกับศรีสุวรรณ สินสนุทรจับศรีสุวรรณได้และรู้ว่าเป็นอา จึงได้พากันออกติดตามหาพระอภัยมณี

ฝ่ายอุศเรนคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลีออกติดตามหานางได้พบพระอภัยมณีกับพวกอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง พระอภัยมณีขออาศัยเรืออุศเรนมาด้วย จนพบเรือของสินสมุทร อุศเรนขอนางสุวรรณมาลีคืน แต่สินสมุทรไม่ยอมเกิดรบกันขึ้น อุศเรนแพ้หนีไปลังกา พระอภัยมณีกับพวกพากันเข้าเมืองผลึก พระอภัยมณีได้ครองเมืองผลึก นางสุวรรณมาลีโกรธพระอภัยมณีที่จะคืนนางให้แก่อุศเรน จึงหนีออกบวช นางวาลีออกอุบายจนนางสุวรรณมาลียอมสึกและอภิเษกกับพระอภัยมณี จนกระทั่งมีธิดาฝาแฝด ชื่อสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา ต่อมาพระอภัยมณีให้ศรีสุวรรณพาสินสมุทรและอรุณรัศมีเดินทางไปเฝ้า ท้าวสุทัศน์ยังเมืองรัตนา

ฝ่ายนางเงอกที่เกาะแก้วพิสดารได้คลอดบุตรชายที่เกิดกับพระอภัยมณีให้ชื่อว่าสุดสาคร  เรียนวิชากับพระฤาษีจนเก่งกล้า มีม้ามังกรเป็นพาหนะ แล้วลาพระฤาษีออกติดตามหาพระอภัยมณี รบกับปีศาจที่เมืองร้างและถูกชีเปลือยหลอกผลักตกเหว พระฤาษีมาช่วยไว้ สุดสาครตามชีเปลือยไปถึงเมืองการเวก เอาม้ามังกรและไม้เท้าวิเศษคืนมาได้ เจ้าเมืองการเวกรับสุดสาครเป็นบุตรบุญธรรม ให้อยู่กับหัสไชย และเสาวคนธ์ผู้เป็นโอรสและธิดา

เมื่ออุศเรนกลับไปถึงเกาะลังกา ได้ขอให้บิดายกทัพมาตีเมืองผลึก นางวาลีและสุวรรณมาลี ช่วยรบและจับอุศเรนได้ เจ้าลังกาหนีไป นางวาลีเยาะเย้ยอุศเรนจนอุศเรนแค้นใจอกแตกตาย แต่ปีศาจอุศเรนก็มาหักคอนางวาลีให้ตายตามไป

ฝ่ายเจ้าลังกา เมื่อเห็นศพอุศเรนที่พระอภัยส่งมาให้ก็เสียใจจนสิ้นพระชนม์ นางละเวงผู้เป็นธิดา จึงขึ้นครองราชย์ นางละเวงคิดจะทำศึกกับเมืองผลึกโดยหาผู้อาสา จึงได้ส่งรูปของนางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อให้มาช่วยรบ โดยสัญญาว่าหากใครรบชนะก็จะยอมเป็นมเหสี เมืองผลึกจึงต้องรับศึกหนักถึง ๙ ทัพ สินสมุทรและศรีสุวรรณต้องมาช่วยพระอภัยมณีทำศึก พระอภัยมณีจับเจ้าละมานซึ่งหลงรูปนางละเวงและเป็นผู้มาอาสาทำศึกให้นางละเวงได้ พระอภัยมณีเห็นรูปนางละเวงจนคลั่ง สุดสาครพาเสาวคนธ์และหัสไชยมาช่วยเมืองผลึกทำศึกและเพื่อแก้ไขพระอภัยมณีจนพระอภัยมณีหายคลั่ง

พระอภัยมณีกับพวกยกทัพไปลังกาเพื่อแก้แค้นนางละเวง แต่พอเห็นนางละเวงก็พอพระทัยในตัวนาง นางละเวงหนีเข้าเมืองลังกาพร้อมกับนางยุพาผกาและสุลาลีวัน พระอภัยมรีกับพวกหลงเสน่ห์ นางละเวงกับพวกพระอภัยมณีได้นางละเวงเป็นมเหสี ศรีสุวรรณตามไปช่วยก็ได้นางรำภาส่าหรี สินสมุทรได้นางยุพาผกา สุวรรณมาลียกทัพเข้าประชิดลังกา พระอภัยมณีรบกับนางสุวรรณมาลี สุดสาครยกทัพมาช่วยสุวรรณมาลี แต่ถูกเสน่ห์นางสุลาลีวัน เสาวคนธ์ยกทัพมาจากเมืองการเวกมาช่วยทำศึกได้รบกัน ร้อนถึงพระฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารมาเทศนาโปรดกลางสนามรบ เมืองผลึกและลังกาจึงเลิกรบกัน นางเสาวคนธ์ได้ขอโคตรเพชรจากนางละเวงแล้วนำกลับเมืองการเวก

พระอภัยมณีพาพรรคพวกกลับเมืองผลึก ขอนางอรุณรัศมีให้สินสมุทร ขอเสาวคนธ์ให้สุดสาคร แต่เสาวคนธ์หนีไปเมืองวาหุโลม สุดสาครออกตามหาพบกันแล้วพากันกลับเมือง

ฝ่ายมังคลาโอรสของนางละเวงขึ้นครองลังกา ได้รับคำยุยงจากบาทหลวงให้ไปทวงโคตรเพชรคืนมาจากเมืองการเวก เกิดทำสงครามกัน พระอภัยมณีและนางละเวงช่วยกันปราบมังคลาผู้เป็นโอรสแล้วอภิเษกสุดสาครกับเสาวคนธ์ หัสไชยกับนางสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา ส่วนพระอภัยมณีภายหลัง ต้องออกบวชเป็นฤาษีที่เขาสิงคุตร์เพราะชายาทั้ง ๒ คือสุวรรณมาลีและละเวงหึงหวงกัน แล้วทั้งสองนางก็ออกบวชเป็นชีตามพระอภัยมณีด้วย

มีผู้กล่าวว่าสุนทรภู่สร้างตัวละครต่างๆ ในเรื่องพระอภัยมณีโดยนำมาจากบุคคลต่างๆ ในชีวิตจริง เช่น ท้าวสุทัศน์คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ที่เห็นได้ชัดเจนคือวันเดือนปี ที่ท้าวสุทัศน์สิ้นพระชนม์ตรงกับวันเดือนปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต) นางสุวรรณมาลีคือแม่จันภรรยาคนแรกของสุนทรภู่ซึ่งมีนิสัยขี้หึงเหมือนกัน นางละเวงคือแม่งิ้วที่สุนทรภู่กล่าวถึงหลายเรื่อง สินสมุทรคือนายพัดผู้บุตรชายซึ่งเป็นคนไม่เจ้าชู้ (ในนิราศสุพรรณ กล่าวว่ามีสาวลาวมาหาถึงในเรือ หนูพัดไม่กล้าออกมาพบ)

นอกจากนี้สุนทรภู่ยังนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นมาสอดแทรกไว้ในเรื่องได้อย่างเหมาะสม เช่น ศึก ๙ ทัพที่ยกมาตีเมืองผลึก สุนทรภู่ได้เค้าเงื่อนมาจากศึก ๙ ทัพที่พระเจ้าปะดุงแห่งพม่ายกมาตีไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๘

เรื่องของเจ้าละมาน สุนทรภู่ก็ได้เค้ามาจากเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์ คือในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปีพ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุคิดกบฎ ถูกจับได้แล้วนำตัวมาขังไว้ในกรุงเทพฯ ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ประชาชนพากันไปดูหน้า

เรื่องนางละเวงฝึกหัดทหารหญิงเพื่อใช้ในการรบ สุนทรภู่คงจะได้เค้ามาจากเรื่องที่คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารีรวบรวมหญิงไทยสู้รบกับกองทัพเจ้าอนุก็ได้

เรื่องพระอภัยมณีหัดพูดภาษาฝรั่ง สุนทรภู่คงได้เค้าความคิดนี้จากเรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะสมัยนี้คนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันแล้ว เช่นเจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และหม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เป็นต้น

เรื่องนางสุวรรณมาลีได้รับการผ่าตัด สุนทรภู่คงได้เค้าเรื่องมาจากเรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งไทยเริ่มรู้จักรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นครั้งแรก คือ มีพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดประยูรวงศ์ถูกไฟพะเนียง ระเบิดแขนหัก หมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกันได้รักษาด้วยวิธีตัดแขนพระรูปนั้น แต่ในเรื่อง พระอภัยมณี สุวรรณมาลีไม่ได้โดนตัดแขน เพียงแต่

ฝ่ายสุวรรณมาลีศรีลวัสดิ์        ถึงปรางค์รัตน์เร้ารวดปวดอังสา
ให้หมอแก้แผลกำซาบซึ่งอาบยา    เอามีดผ่าขูดกระดูกที่ถูกพิษ
เป่าน้ำมันกันแก้ตรงแผลเจ็บ        เอาเข็มเย็บยุดตรึงขี้ผึ้งปิด
ทั้งข้างนอกพอกยาสุรามฤต        ให้ถอนพิษผ่อนปรนพอทนทาน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติเล่ม ๑, หน้า ๔๕๕)

เรื่องการทำศึกสงครามที่อ่าวปากนํ้าในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่คงจะได้เค้าเงื่อนมาจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่มีการเตรียมป้องกันศึกทางทะเลโดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครเขื่อนขัณฑ์หรือพระประแดง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ สร้างป้อมทั้งทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันออกมี ๓ ป้อม คือ ป้อมใบเจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร (ส่วนป้อมวิทยาคมสร้างไว้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว) ฝั่งตะวันตกมี ๕ ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรู พินาศ ป้อมจักรกรด ป้อมพระจันทร์-พระอาทิตย์ ริมแม่น้ำก็เอาสายโซ่ขึงกันเอาไว้ เรื่องการเอาโซ่ขึงแม่น้ำไว้นี้ สุนทรภู่ก็ได้กล่าวไว้ตอนท้าวทศวงศ์ป้องกันเมืองรมจักร เมื่อทราบว่าท้าวอุทานยกทัพมา ท้าวทศวงศ์สั่งว่า

ที่ปากน้ำสำคัญอยู่แห่งหนึ่ง        เอาโซ่ขึงค่ายดูดูรักษา
ให้ลากปืนป้อมฝรั่งขึ้นจังกา        คอยยิงข้าศึกให้บรรลัยลาญ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๖๗)

เรื่องฝรั่งอยู่ในเมืองลังกา สุนทรภู่คงได้ข่าวเรื่องประเทศอังกฤษได้ลังกาเป็นเมืองขึ้นในสมัยนั้นซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับ ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่จึงได้สมมุติให้เมืองลังกาเป็นเมืองของฝรั่ง (ข้อนี้มีบางคนตำหนิว่าสุนทรภู่ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าลังกาเป็นเมืองแขก ไม่ใช่เมืองฝรั่ง นับว่ายังเข้าใจผิดอยู่)

นอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่สุนทรภู่ได้เค้าเรื่องมาจากตำนาน นิทาน นิยายของชาติอื่นเช่น เรื่องที่สุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีแต่งงานกับชาวต่างชาติคือนางละเวง น่าจะได้เค้าความคิดมาจากเรื่องอาหรับราตรี ฉบับเซอรริชาร์ต เบอร์ตัน มีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงกษัตริย์อิสลามยกทัพไปทำศึกสงครามกับนางกษัตริย์ที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้มีโอกาสพบกันตัวต่อตัวกลางสนามรบ แล้วเกิดรักใคร่กัน

เรื่องม้านิลมังกร สุนทรภู่ก็คงได้เค้าเรื่องมาจากนิทานอาหรับราตรีเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงเจ้าชาย อายิบ เดินทางท่องเที่ยวไปในทะเล เรือถูกภูเขาแม่เหล็กดูดเข้าไปหา เนื่องจากแผ่นกระดานเรือตรึงด้วยตะปูเหล็ก ในที่สุดตะปูเหล่านั้นก็หลุดออกจากตัวไม้ ทำให้เรือแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจมลงไปในทะเล เจ้าชายอายิบเกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งจนขึ้นไปอยู่บนศาลายอดเขาแม่เหล็กได้ ต่อมาเจ้าชายก็ได้ผจญภัยต่างๆ จนได้พบม้าตัวหนึ่งในปราสาททองคำ ม้านั้นมีปีกบินได้

เรื่องพระอภัยมณีเจ้าชู้มีชายาเป็นยักษ์ เงือก มนุษย์ และอื่นๆ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่คงจะได้เค้าเรื่องมาจากชีวิตรักของอรชุน ซึ่งเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องมหาภารตยุทธ์

นอกจากนี้เรื่องวิชาเป่าปี่ของพระอภัยมณีและวิชาความรู้ด้านกระบี่กระบองของศรีสุวรรณ สุนทรภู่ก็ได้มาจากพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น คือเตียวเหลียงชำนาญวิชาการเป่าปี่ พระเจ้าฌ้อปาอ๋อง เป็นกษัตริย์ที่ชำนาญกระบี่กระบอง เพลงปี่ของพระอภัยมณีที่เป่าครั้งแรกตอนตีเมืองลังกาก็ได้มาจากเพลงปี่ของเตียวเหลียง

เพลงปีของเดียวเหลียงมีเนื้อความว่า เสียงเป่าปี่อยู่บนภูเขาเป็นเพลงว่า เดือนยี่ฤดูหน้าหนาวนํ้าค้างตกเย็นทั่วไปทั้งสี่ทิศ จะดูฟ้าก็สูงแม่นํ้าก็กว้าง ฤดูนี้คนทั้งปวงได้ความเวทนานักที่จากบ้านเมืองมาต้องทำศึก อยู่นั้น บิดามารดาและบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยืนคอคอยอยู่แล้ว ถึงมีเรือกสวนและไร่นาก็จะทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดจะทำ เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกันก็จะอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ก็ป่วยเจ็บล้มตายเสีย หาได้เห็นใจบิดามารดาไม่ และตัวเล่าต้องมาทำศึกอยู่ฉะนี้ ถ้าเจ็บป่วยล้มตายลงก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว บุตรภรรยาและญาติพี่น้องก็มิได้ปรนนิบัติรักษากัน เป็นผีหาญาติมิได้ ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งใด ก็มีแต่ฆ่าฟันกัน กระดูกและเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้งดูสังเวชนัก ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์มีสติปัญญาอยู่ทุกคน เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด ท่านไม่รู้หรือ ม้านั้นก็เป็นแต่สัตว์เดียรัจฉาน ถ้าผู้ใดพาไปจากโรงและมิได้ผูกถือกักขังไว้ก็ย่อมกลับคืนมาถิ่นที่อยู่ของตัว อันประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตายก็ย่อมให้อยู่ที่บ้านช่องของตัวพร้อมบิดามารดาและญาติพี่น้องจึงจะดี ครั้งนี้เทพยดารู้ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องสิ้นวาสนาเเล้ว และมีความกรุณาแก่ท่านทั้งปวงว่าจะมาพลอยตายเสียเปล่า จึงใช้เรามาบอกให้รู้ ให้เร่งคิดเอาตัวรอดเสีย ถ้าช้าอยู่อีกวันสองวันฮั่นอ๋องก็จะจับตัวพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ ถึงผู้ใดมีกำลังและหมายจะสู้รบก็เห็นจะไม่พ้นมือฮั่นอ๋องแล้ว อันกำลังศึกฮั่นอ๋องครั้งนี้อย่าว่าแต่คนเข้าต้านทานเลย ถึงมาตรว่าหยกและศิลาก็มิอาจทนทานอยู่ได้ อันฮั่นอ๋องนั้นเป็นคนมีบุญ นํ้าใจก็โอบอ้อมอารีนัก ถึงผู้ใดจะเป็นข้าศึกถ้าและเข้าไป สามิภักดิ์แล้ว ก็ชุบเลี้ยงมิได้ทำอันตรายเลย ฮั่นอ๋องจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นแท้ ท่านทั้งปวงจงคิดอ่านเอาตัวรอดรักษาชีวิตไว้เอาความชอบดีกว่า ซึ่งเพลงของเราทั้งสามร้อยคำนี้ ท่านทั้งปวงตรึกตรองทุกคำเถิด เดียวเหลียงเป่าซ้ำอยู่ดังนี้ถึงเก้าครั้งสิบครั้ง ทหารของพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ยินเสียงปี่ และถ้อยคำที่เป่ารำพันไปดังนั้นก็ยิ่งมีนํ้าใจสลดลง กลัวความตายให้คิดถึงบิดามารดานัก นั่งกอดเข่าถอนใจใหญ่ร้องไห้อยู่

ส่วนเพลงปี่ของพระอภัยมณีนั้น มีเนื้อความว่า

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต        ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง        อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้            ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย    น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉือยชื่น    ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน        จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่            พวกโยธีทิ้งทวนชนวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหลับทับกันเอง            เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔๙๔-๔๙๖)

นอกจากนี้เรื่องกลศึกในเรื่องพระอภัยมณี ก็เข้าใจว่าสุนทรภู่จะได้จากเรื่องสามก๊ก ฯลฯ

นอกจากนี้มีหลายเรื่องที่เกิดจากจินตนาการของสุนทรภู่เองซึ่งทำให้คนอ่านแปลกใจที่สุนทรภู่ มีจินตนาการที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คิดฝันในสิ่งที่เพิ่งจะมีหรือเพิ่งจะมีการประดิษฐ์ขึ้นในสมัยหลังๆ ได้ อย่างเป็นที่น่าประหลาดใจ

ตัวอย่างเช่นเรือขนาดใหญ่ของโจรสุหรั่งซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีสุนทรภู่ก็ได้บรรยายไว้ว่า

มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น        กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน    ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน        คชสารม้ามิ่งมหิงษา
มีกำปั่นหกร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๗)

เรื่องเรือยนต์ของพราหมณ์โมราที่เข้าปล้นด่านดงตาลก็คือเครื่องบินสะเทิ้นนํ้าสะเทิ้นบกซึ่งเพิ่งจะมีขึ้นในภายหลัง สุนทรภู่บรรยายเรือยนต์ลำนี้ไว้ว่า

เจ้าโมราว่าจะผูกเรือยนต์รบ     บรรจุครบพลนิกายทั้งนาย ไพร่
แล่นไปตามข้ามภูเขาเข้าข้างใน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๕๔๐)

เรือสำหรับทัพละร้อยทั้งน้อยใหญ่        บรรจุไพร่พร้อมเพียบเงียบสงบ
เมื่อฤกษ์ดีมีลมให้สมทบ            แล่นตลบเข้าบุรีทั้งสี่นาย
เราจะยกวกอ้อมเข้าล้อมหลัง        แม้นแตกพังไพรีจะหนีหาย
เห็นดีพร้อมน้อมคำนับรับอุบาย        สานนนายพราหมณ์อ่านโองการมนต์
ร้องเรียกลมกลมกลุ้มคลุ้มพยับ        บัดเดี๋ยวกลับพัดมาโกลาหล
โห่สนั่นหวั่นไหวกางใบกล            อันเรือยนต์เขยื้อนออกเคลื่อนคลา
ทัพละร้อยลอยลิ่วฉิวฉิวเฉื่อย        เหมือนงูเลื้อยแล่นลูบนภูผา
กระทบผางกางเกยเลยศิลา            ด้วยฟางหญ้าหยุ่นท้องจึงคล่องเคล้า
ที่ถือท้ายสายยนต์มือคนเหนี่ยว        ให้ลดเลี้ยวแล่นตลอดถึงยอดเขา
แล้วกลับตรงลงเชิงเทินเนินลำเนา        ในเมืองเหล่าชนวิ่งทั้งหญิงชาย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่น ๑, หน้า ๕๕๑-๕๕๒)

เรื่องนางละเวงให้พระอภัยมณีแต่งกายแบบสากลก็เป็นจินตนาการที่สุนทรภู่สร้างขึ้น ปรากฎว่า คนไทยเพิ่งจะนิยมแต่งกายแบบสากลกันภายหลัง คือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. ๒๔๗๕

สุนทรภู่บรรยายไว้ว่า

นางจัดเครื่องเมืองฝรั่งตั้งถวาย        ล้วนเพชรพรายพลอยระยับจับเวหา
พระอภัยไม่เคยทรงให้สงกา            ถามวัณลาทูลฉลองยิ้มย่อมกัน
พระสอดซับสนับเพลาเนาสำรด        รัตคตพรรณรายสายกระสัน
ฉลององค์ทรงเสื้อเครือสุวรรณ        สลับชั้นเชิงหุ้มดุมวิเชียร
สายปั้นเหน่งเปล่งเม็ดเพชรประดับ    สอดสลับซ้อนระบายล้วนลายเขียน
ทัดพระมาลาทรงประจงเจียน        ดูแนบเนียนเนาวรัตน์ชัชวาล
ใส่เกือกทองรองเรืองเครื่องกษัตริย์    เพชรรัตน์รจนามุกดาหาร
มีนวมนุ่มหุ้มพระชงฆ์อลงการ        สอดประสานสายสุวรรณกัลเม็ด
ธำมรงค์วงรายพรายพระหัตถ์        เนาวรัตน์วุ้งแววล้วนแก้วเก็จ
ทรงกระบี่มีโกร่งปรุโปร่งเพชร        แล้วห้อยเช็ดหน้ากรองทองประจง
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๕)

เมื่อพระอภัยมณีแต่งกายเช่นนี้ พวกพระอภัยเห็นเข้าก็ยังแปลกใจ ดังนี้

ศรสุวรรณพิศดูภูวไนย
เห็นแต่งองค์ทรงสำอางอย่างฝรั่ง        ครั้นจะบังคมพระองค์ก็สงสัย
สินสมุทรสุดแสนที่แค้นใจ            แกล้งทำไม่รู้จักเมินพักตรา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๕)

เรื่องที่สุนทรภู่ให้คนไทยแต่งกายตามแบบสากลก็ดี และเรื่องที่ให้คนไทยแต่งงานกับฝรั่งก็ดี ทำให้มีผู้กล่าวว่า “เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่นับได้ว่าเป็นวรรณคดีไทยเรื่องแรกที่กล่าวถึงวัฒนธรรมฝรั่ง แม้จะเป็นการกล่าวที่ผิดความจริงไปบ้าง ก็ยังนับว่าได้กล่าวถึงวัฒนธรรมเป็นอย่างมากพอใช้ทีเดียว” และ “สุนทรภู่เป็นกวีไทยคนแรกที่เบิกทางให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีวัฒนธรรมดีพอที่จะคบค้าสมัครสมานกับชาวตะวันตกได้ ฯลฯ

สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีโดยได้นำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเคยได้อ่านได้ยินหรือได้ฟังมาประสมประสานกับจินตนาการที่ตนสร้างขึ้น แล้วเขียนเป็นนิทานที่สนุกสนาน มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเร้าใจชวนแก่การติดตาม จนเป็นที่ติดใจของนักอ่านตั้งแต่สมัยโน้นมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

ในการแต่งเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ขึ้นต้นเรื่องว่า
แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์
สมมุติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์    ผ่านสมบัติรัตนานามธานี
อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์    ภูเขาโหดเป็นกำแพงบูรีศรี
สะพรึ่บพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี    ชาวบุรีหรรษาสถาวร
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑)

ตอนพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ ปรึกษากันเรื่องวิชาที่จะเลือกเรียนสุนทรภู่บรรยายว่า

จึงบัญชาว่ากับพระน้องแก้ว        พ่อเห็นแล้วหรือที่ลายลิขิตเขียน
สองอาจารย์ปานดวงแก้ววิเชียร    เจ้ารักเรียนที่ท่านอาจารย์ใด
อนุชาว่าการกลศึก            น้องนี้นึกรักมาแต่ไหนไหน
ถ้าเรียนรู้ว่ากระบองได้ว่องไว    จะชิงชัยข้าศึกไม่นึกเกรง
พระเชษฐาว่าจริงแล้วเจ้าพี่        วิชามีแล้วใครไม่ข่มเหง
แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง            หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง
แต่ขัดสนจนจิตคิดประวิง        ด้วยทรัพย์สิ่งหนึ่งนี้ไม่มีมา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔)

พระอภัยมณีพรรณนาคุณประโยชน์ของดนตรีให้สามพราหมณ์ฟังดังนี้
พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม    จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป    ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช    จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน    ก็สุดสิ้นโทโลที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ    อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญา    จึงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง
แล้วหยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้        เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง
พระเป่าปี่เปิดนิ้วเอกวิเวกดัง        สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย    ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย    จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม    ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
แม้ได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย    ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง        สำเนียงเพียงการะเวกกังวานหวาน
หวาดประหวัดสัตรีฤดีดาล        ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๒)

ตอนบรรยายกิริยาอาการของนางผีเสื้อยักษ์เมื่อจะลักตัวพระอภัยมณี สุนทรภู่สามารถใช้คำที่ผู้อ่านรู้สึกว่านางผีเสื้อมีกำลังมาก ดังนี้

อุตลุดผุดทะลึ่งขึ้นตึงตัง    โดยกำลังโลดโผนโจนกระโจม
ชุลมุนหมุนกลมดังลมพัด    กอดกระหวัดอุ้มองค์พระทรงโฉม
กลับกระโดดลงน้ำเสียงต้ำโครม    กระทุ่มโถมถีบดำไปถ้ำทอง
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๓)

เรื่องพระอภัยมณี มีหลายตอนที่สุนทรภู่เรียกผีเสื้อสมุทรว่า “อีนางยักษ์” เช่น “อีนางยักษ์กลับปลอบไม่ตอบโกรธ” (พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๕ ) หรือ “อีนางยักษ์ควักค้อนแล้วย้อนว่า” (พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๖) เป็นต้น

กองทัพของท้าวอุเทนส่งสารไปถึงท้าวทศวงศ์ให้ส่งนางเกษราให้ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

บัดนี้เราเข้ามาล้อมป้อมปราการ    ชีวิตท่านเหมือนลูกไก่อยู่ในมือ
แม้นบีบเข้าก็จะตายคลายก็รอด    จะคิดลอดหลบหลีกไปอีกหรือ
แม้นโอนอ่อนงอนง้อไม่ต่อมือ    อย่าดึงดื้อเร่งส่งองค์บุตรี
จะนำนาง ไปถวายถ่ายชีวิต        ให้พ้นผิดอยู่บำรุงซึ่งกรุงศรี
ไม่ส่งมาถ้าเราได้เข้าตี            ชาวบุรีก็จะตายวายชีวา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๗๓)

ตอนศรีสุวรรณทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้นางเกษรา ได้กล่าวฝากรักนางว่า

พี่ขอฝากความรักที่หนักอก        ช่วยปิดปกไว้แต่ในน้ำใจสมร
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้าแลสาคร        อย่าม้วยมรณ์ไมตรีของพี่เลย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๘๒)

นางเกษราเป็นตัวละครหญิงที่กล้าแสดงความรู้สึกของตนออกมาอย่างเปิดเผยถึงขนาดกล่าวกับ ศรีสุวรรณว่า

แม้นมิกีดปิตุราชมาตุรงค์    จะเชิญองค์ไว้ปราสาทราชฐาน
บรรทมที่ยี่ภู่ช่วยอยู่งาน    ให้สำราญร่มเกล้าทุกเพรางาย
นี่จนใจได้แต่ใจนี่ไปด้วย    เป็นเพื่อนม้วยภูวนาถเหมือนมาดหมาย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๘๒)

ตอนพระอภัยมณีเทศนาธรรมให้นางผีเสื้อยักษ์ฟัง พระอภัยมณีกล่าวว่า

จงฟังธรรมคำนับดับโมโห        ให้โทโสส่างเสื่อมค่อยเลื่อมใส
แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย    ด้วยความในโลกีย์สี่ประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส    ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน        ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล    ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย    จะจำตายตกนรกอเวจี
พี่แบ่งบุญบรรพชาสถาผล        ส่วนกุศลให้สุดามารศรี
กลับไปอยู่คูหาในวารี            อย่าได้มีห่วงใยอาลัยลาญ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๘๙)

มหิงข์สิงขรเทวราชที่มาห้ามพระอภัยมณีเผาร่างนางผีเสื้อยักษ์ สุนทรภู่บรรยายว่าเป็นคนชราที่หน้าตาอ่อนเยาว์คล้ายเด็กทารก ดังนี้

พอได้ยินเสียงระฆังข้างหลังเขา    เห็นผู้เฒ่าออกจากชะวากผา
ดูสรรพางค์ร่างกายแก่ชรา        แต่ผิวหน้านั้นละม้ายคล้ายทารก
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๓)

มหิงข์สิงขรเทวราชแนะนำพระอภัยมณีให้กินนํ้าที่ไหลออกจากปากนางผีเสื้อ คือ
อันวารีที่ไหลออกจากปาก        คือแรงรากษสซ่านเหมือนธารไหล
ใครกินน้ำกำลังจะเกรียงไกร        ทั้งโรคภัยมิได้มีมาบีฑา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๑๙๔)

ตอนสุวรรณมาลีน้อยใจที่พระอภัยมณีจะคืนนางให้แก่อุศเรน นางตั้งใจจะฆ่าตัวตายและกล่าวคำอำลาสินสมุทรว่า

เจ้ารักแม่แม่ก็รู้อยู่ว่ารัก    มิใช่จักลืมคุณทำฉุนเฉียว
แต่เหลืออายหลายสิ่งจริงจริงเจียว        เป็นหญิงเดียวชายสองต้องหมองมัว
เมื่อแรกเราเล่าบอกเขาออกอื้อ    อ้างเอาชื่อพระบิดาว่าเป็นผัว
ครั้นคู่เก่าเขามารับก็กลับกลัว    แกล้งออกตัวให้มาถามว่าตามใจ
จึงเจ็บจิตคิดแค้นแม้นจะอยู่        ก็อดสูเสียสัตย์ต้องตัดษัย
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๒๗๔)

ตอนพระอภัยมณีกล่าวกับอุศเรนว่าสินสมุทรมีกำลังมาก และใจคอดุร้าย อุศเรนได้ฟังก็ไม่กลัวกล่าวหาพระอภัยมณีว่า

เขียนจระเข้ขึ้นไว้หลอกตะคอกคน
เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ    ถึงปะเสือก็จะสู้ดูสักหน
ไม่รักวอนงอนง้อทรชน        แล้วพาพลกลับมาเภตราพลัน
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๒๗๘)

สุนทรภู่บรรยายภาพธรรมชาติภูเขารุ้งที่นางสุวรรณมาลีไปบวชอยู่ว่า

ถึงธารถ้ำลำเนาภูเขารุ้ง        ดูเรืองรุ่งราวกับลายระบายเขียน
บ้างเขียวขาววาวแววแก้ววิเชียร    ตะโล่งเลี่ยนเลื่อมเหลืองเรืองระยับ
บ้างเปล่งปลั่งดังเปลวพระเพลิงทุ่ง    เหมือนแสงรุ้งรัศมีสีสลับ
กุฎีน้อยน้อยร้อยเศษสังเกตนับ    เครื่องสำหรับกุฎีก็มีพร้อม
ต้นไม้ดอกออกลูกปลูกริมกุฏิ์    ต้นสายหยุคพดลำดวนให้หวนหอม
ที่กุฎิ์ใหญ่ไทรเรียงเคียงพะยอม    ทอดกิ่งค้อมข้ามหลังคาดูน่าชม
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๑๙-๓๒๐)

นางวาลีในเรื่องพระอภัยมณีก็เป็นตัวละครหญิงอีกตัวหนึ่งที่กล้าเปิดเผยความในใจกับชายที่ตนหมายปองอย่างตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองรูปไม่งามและค่อนข้างจะน่าเกลียด ดังที่กล่าว กับพระอภัยมณีว่า

นางนบนอบตอบรสพจนารถ        คุณพระบาทกรุณาจะหาไหน
แต่ยศศักดิ์จักประทานประการใด        ไม่ชอบใจเจตนามาทั้งนี้
ด้วยเปลี่ยวใจไม่มีที่จะเห็น    จะขอเป็นองค์พระมเหสี
แม้นโปรดตามความรักจะภักดี    ถ้าแม้นมิเมตตาจะลาไป
พวกขุนนางต่างหัวร่อข้อประสงค์    ทั้งพระองค์สรวลสันต์ไม่กลั้นได้
จงตรัสว่าวาลีมีแก่ใจ    มารักใคร่ครั้นจะชังไม่บังควร
แต่รูปร่างยังกระไรจะใคร่รู้    พิเคราะห์ดูเสียด้วยกันอย่าหันหวน
จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร    จงใคร่ครวญนึกความให้งามใจ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๒๗)

สุนทรภู่ชี้ให้เห็นความสำคัญของวิชาความรู้ และยังแสดงความคิดเห็นว่าความรู้อาจช่วยให้คนดูงามขึ้นได้ ดังในกรณีของนางวาลี พระอภัยมณีดำริว่า

“ดูผิวพรรณสรรพางค์อย่างคุลา    แต่วิชาพางามขึ้นครามครัน”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๓๕)

ฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารก็สอนสุดสาครว่า

“รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา        รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๖๗)

รวมทั้งสอนสุดสาครว่า

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์        มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด    ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน        บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน        เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ        ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๓๖๗)

กุฎีสังฆราชบาทหลวงแห่งเมืองลังกามีบันไดกล ใครเหยียบบันไดเข้า จะมีเสียงดังให้เจ้าของรู้ว่ามีแขกมาหา ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

สี่พี่เลี้ยงเคียงคลอจรลี        ขึ้นกุฎีบาทหลวงมีควงกล
พอเหยียบบันได ไพล่พลิกเสียงกริกกร่าง    ระฆังหง่างเหง่งตามกันสามหน
พระฝรั่งฟังสำคัญอยู่ชั้นบน        รู้ว่าคนเข้ามาหาออกมารับ
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑, หน้า ๔๐๒)

พระอภัยมณีให้สัญญากับนางละเวงว่าจะรักนางตลอดไป โดยกล่าวว่า

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร        ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ    พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา        เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่        เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง        เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๑๐)

ในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่เน้นเรื่องความเป็นอนัตตาของสิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องความสุขแห่งนิพพานหลายครั้ง ดังที่ปรากฎตอนพระอภัยมณีเทศนาธรรมให้แก่นางผีเสื้อยักษ์ ในคำเทศนาของฤาษีที่เกาะแก้วพิสดารก็มีเนื้อความดังนี้

พระโยคีเทศนาในอาการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้    ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึ่งให้เห็นเป็นประธาร    หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้    เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย    จะตกอบายภูมิขุมนรก
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๒๑๔)

แม้ในคำเทศนาที่พระอภัยมณีเทศน์แก่นางสุวรรณมาลี นางละเวง ก็กล่าวว่า

“พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกร้อน    เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย”
(พระอภัยมณีฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๒, หน้า ๕๖๘)

สำนวนของสุนทรภู่จบเรื่องตรงพระอภัยมณีออกบวชที่เขาสิงคุตร์ นางสุวรรณมาลี และนางละเวงได้บวชตามด้วย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

โคบุตรนิทานคำกลอนของสุนทรภู่

โคบุตร เป็นนิทานคำกลอนเรื่องแรกและผลงานเรื่องแรกของสุนทรภู่ มีความยาว ๘ เล่ม สมุดไทย สุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก่อน พ.ศ. ๒๓๔๙ ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองแกลงเพื่อเยี่ยมบิดา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าสุนทรภู่คงตั้งใจที่จะแต่งถวายเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในพระราชวังหลัง

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้เป็นแบบจักรๆ วงศ์ๆ คือเนื้อเรื่องมีอยู่ว่านางฟ้าองค์หนึ่งมีความสัมพันธ์กับพระอาทิตย์ จนกระทั่งเกิดบุตรคนหนึ่ง แล้วนางฟ้าองค์นั้นเสด็จกลับสู่วิมาน พระอาทิตย์ได้นำบุตรผู้นั้นไปฝากนางราชสีห์ให้ช่วยเลี้ยงไว้และให้ชื่อว่าโคบุตร เมื่อโตขึ้นโคบุตรได้ไปเที่ยวหิมพานต์ พบนางมณีสาครและอรุณกุมารซึ่งเดินทางเร่ร่อนมาเพราะพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาถูกพราหมณ์ปุโรหิตแย่งชิงบ้านเมือง แล้วพระเจ้าพรหมทัตนั้นก็ถูกประหารพร้อมพระมเหสี โคบุตรช่วยนางมณีสาครและอรุณกุมารชิงราชสมบัติคืนมาและช่วยชุบพระเจ้าพรหมทัตและพระมเหสีให้ฟื้นจนได้ครอบครองบ้านเมืองต่อไป ต่อมาโคบุตรกับอรุณกุมารออกเที่ยวป่า รบกับยักษ์ ชื่อหัศกัณฐ์และถูกนางยักขิณีลวงไป แต่พากันหนีมาได้ ต่อมาโคบุตรได้นกขุนทองมาตัวหนึ่งพูดภาษาคนได้ เมื่อไปถึงเมืองกาหลงได้ใช้นกสื่อสารความรักกับนางอำพันมาลาผู้เป็นธิดาเจ้าเมืองกาหลง จน กระทั่งพานางหนีมาอยู่พาราณสี พระอาทิตย์บิดาของโคบุตรได้เนรมิตเมืองให้โคบุตรครอบครองแล้วอภิเษกโคบุตร ตั้งนางมณีสาครให้เป็นมเหสีฝ่ายขวา นางอำพันมาลาเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย ต่อมานางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์เพื่อให้โคบุตรหลงตน นกขุนทองแจ้งข่าวเรื่องนี้แก่อรุณกุมารซึ่งอยู่เมืองพาราณสี อรุณกุมารจึงมาจับเสน่ห์นางอำพันมาลายอมรับผิด โคบุตรจะประหารนางแต่อรุณกุมาร และขุนทองขอชีวิตเอาไว้ โคบุตรจึงขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง ก่อนจากไปนางอำพันมาลาเศร้าโศกจนสลบไปแล้วเรื่องก็ค้างอยู่เพียงเท่านี้ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่อาจจะแต่งไม่จบเรื่อง หยุดแต่เพียงเท่านี้ หรืออาจแต่งไว้จนจบแต่พบต้นฉบับเพียงเท่านี้

โคบุตรเมื่อได้อยู่ในความดูแลเลี้ยงของราชสีห์ มีกำลังมาก เพราะได้กินนมนางราชสีห์ ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

กุมาราชันษาได้สิบทัศ        งานจำรัสเหมือนองค์พระสุริยใส
กำลังเจ็ดช้างสารอันชาญชัย    เพราะว่าได้กินนมนางสิงหรา
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๕)

เมื่อพระอาทิตย์เสด็จมาเยี่ยมโคบุตร ได้ตั้งชื่อให้พร้อมกับมอบเครื่องประดับและอาวุธให้แก่โอรสดังนี้

พระสุริยันตรัสประภาษกับราชสีห์
จะให้นามตามวงศ์สวัสดี        แซกชนกชนนีเข้าในนาม
ชื่อโคบุตรสุริยาวราฤทธิ์        จงประสิทธิ์แก่กุมารชาญสนาม
ทั้งตรีโลกโลกาสง่างาม        เจริญความเกียรติยศปรากฎครัน

พระอาทิตย์นิรมิตรเครื่องประดับ    ให้เสร็จสรรพล้วนเทพรังสรรค์
เป็นเครื่องทิพศาสตราสารพัน    ให้ป้องกันอยู่ในกายกุมารา
รณรงค์คงทนด้วยกายสิทธิ์        พระอาทิตย์จึงสั่งโอรสา
อันเครื่องทรงที่ในองค์พระลูกยา    ล้วนเทพศาสตราอันเกรียงไกร
จะรบราญรณรงค์เข้ายงยุทธ    ไม่พักหาอาวุธอย่าสงสัย
เครื่องประดับรับรบอรินทร์ภัย    เหาะเหินได้รุ่งเรืองด้วยเครื่องทรง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร“นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๖)

หลังจากนี้พระอาทิตย์สั่งโอรสให้ออกเดินทางหาคู่ครอง แล้วพระอาทิตย์ก็ลาโคบุตรไป ตอนนี้สุนทรภู่บรรยายความรู้สึกของบิดากับบุตรที่ต้องพรากจากกันว่า

พระโคบุตรสุริยาน้ำตาไหล        ด้วยอาลัยสุริยฉายนั้นผายผัน
ยิ่งแลลับพระบิดายิ่งจาบัลย์        สะอื้นอั้นกำสรดระทดกาย
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๓๗)

สุนทรภู่บรรยายภาพนางกำนัลตอนพราหมณ์ปุโรหิตปลิดพระชนม์ท้าวพรหมทัตว่าตอนต้นเรื่องสุนทรภู่กล่าวว่านิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้วนำมาเล่าต่อดังนี้

แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมุตินิทานมา        ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง        จึงแสดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย        ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน

จับกระษัตริย์ตัดเศียรสิ้นชีวิต    ทวารปิดมิให้คนลอบหนีได้
จับพวกเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน    มาคุมไว้กลางชลาหน้าพระลาน
แสนสังเวชนางในใจจะขาด        ร้องกรีดกราดแซ่เสียงสำเนียงขาน
ผ้านุ่งห่มลุ่ยหลุดกระเซอซาน    บ้างคลำคลานออกมาทุกหน้านาง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสึนทรภู่, หน้า ๕๓๙)

ตอนโคบุตรสู้กับยักษ์ ๔ ตนที่เฝ้าสระ สุนทรภู่บรรยายภาพการรบไว้อย่างเด่นชัดดังนี้

พระลองแรงแผลงฤทธิ์เข้ารบรับ    พระหัตถ์จับข้างละสองสี่ยักษา
เผ่นผงาดฟาดผางกลางศิลา        อสุราดิ้นกระเดือกลงเสือกกาย
จึงโอมอ่านอาคมพรหมประสิทธิ์    ก็เปลืองปลิดเจ็บปวดนั้นสูญหาย
เข้ากลาดกลุ้มรุมรบอยู่รอบกาย    ดังเสียงสายสุนีลั่นสนั่นดัง
ด้วยเดชะเครื่องประดับสำหรับศึก    แล่นพิลึกโลดไล่ไม่ถอยหลัง
ได้กินนมราชสีห์มีกำลัง        ไม่พลาดพลั้งติดพันประจัญบาน
ต่างกำแหงแรงเริงในเชิงรบ        ไม่หลีกหลบโลดไล่ด้วยใจหาญ
ยักษ์จะจับพี่น้องสองกุมาร        เพราะสังวาลป้องกันไม่อันตราย
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๔๒-๕๔๓)

ตอนโคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา สุนทรภู่บรรยายว่า

ต่างหลงเชิงพระละเลิงด้วยชมโฉม        หลงประโลมลืมรักเจ้าปักษี
นางลืมสองจักรพรรดิสวัสดี            พระลืมที่สวนขวัญอนุชา
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๘๘)

ตอนท้าวพรหมทัตทรงทราบว่าโคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา ก็ทรงเกิดความรู้สึกเสียดาย เพราะแต่เดิมตั้งพระทัยจะให้โคบุตรครองคู่กับราชธิดาคือนางมณีสาคร สุนทรภู่บรรยายความรู้สึกของท้าวพรหมทัตว่า

โอ้ครั้งนี้วาสนาธิดาเรา
ได้จินดามาถือถึงมือแล้ว        เสียดายแก้กลับคืนเป็นของเขา
แล้วหักจิตคิดความตามสำเนา    เมื่อลูกเราบุญน้อยจะโทษใคร
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๙๘)

โคบุตรตำหนิพระองค์เองเมื่อทรงเห็นว่ามณีสาครเป็นหญิงรูปงาม ดังนี้

แค้นจิตที่ยังพิศไม่เต็มพักตร        กำเริบรักจิตรำพึงตะลึงหลง
แต่แรกรู้ว่างามอร่ามทรง        ไม่เดินดงไปให้ยากลำบากใจ
คิดแค้นตาน่าจะตำให้แตกหัก    ไม่รู้จักคนงามก็เป็นได้
ให้กลัดกลุ้มรุมรึงตะบึงไป        ด้วยพระทัยร้อนร่านในการรัก
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๕๙๘)

ก่อนที่มณีสาครจะครองคู่กับโคบุตร พระราชมารดาได้ทรงอบรมว่า

เจ้าโฉมงามทรามรักของแม่เอ๋ย    อย่าลืมเลยจงจำคำแม่สอน
ภัศดาอุปมาเหมือนบิดร        จงโอนอ่อนฝากองค์พระทรงฤทธิ์
สรงเสวยคอยระวังอย่าพลั้งพลาด        เมื่อไสยาศผ่อนพร้อมถนอมจิต
ถ้าท้าวโศกแม่อย่าสรวลจงควรคิด        ระวังผิดอย่าให้ผ่านวรกาย
ผัวเคียดแม่อย่าเคียดทำโกรธตอบ        เอาความชอบมาดับให้สูญหาย
ถึงท้าวรักก็อย่าเหลิงละเลิงกาย        ครั้นระคายแล้วมักมีราคีคาว
ความลับแม่อย่าแจ้งแถลงไข        จงกล้ำกลืนกลบไว้อย่าให้ฉาว
แม้นปากชั่วตัวจะดีก็มีคาว            พระทัยท้าวเธอจะแหนงระแวงความ
อันหญิงชั่วผัวร้างนิราศรัก        อัปลักษณ์ถ้าคนจะหยาบหยาม
มารดาพร่ำร่ำสอนจงทำตาม    แล้วโฉมงามแต่งกายให้สายใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๐๗)

ตอนโคบุตรเล้าโลมมณีสาคร สุนทรภู่แต่งโดยใช้วิธีการเล่นคำ คือให้โคบุตรกล่าวว่า

โอ้ดวงนุชสุดสายสวาทจิต        สวาทเจ้าหรือจะคิดอางขนาง
สวาทน้องอย่าหมองเลยน้องนาง    สวาทโน้นหรือจะร้างสวาทนุช
สวาทไหนหรือจะเปรียบสวาทมิ่ง    สวาทแม่นี่แน่ยิ่งเป็นที่สุด
พี่หวังเษกเป็นเอกอนงค์นุช        อนงค์ไหนมิได้สุดสวาทเรียม
สวาทรักภัคินีเป็นที่ยิ่ง            เป็นยอดรักหนักจริงอย่าอายเหนียม
หรืออายพักตรว่าศักดิ์พี่ไม่เทียม    มานั่งแท่นเถิดเรียมจะกล่อมน้อง
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๐๘)

โคบุตรตัดพ้อนางอำพันมาลา หลังจากที่ทรงทราบว่านางทำเสน่ห์ว่า

เมื่อแรกรักคิดว่าศักดิ์กระษัตริย์สูง        มาเป็นฝูงสัตว์ร้ายระบายสี
คิดว่าหงส์หลงพลัดเป็นกากี            มาย้อมสีลวงชายด้วยลายกร
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทร, หน้า ๖๓๖)

เรื่องโคบุตรนี้จบลงตอนนางอำพันมาลาถูกเนรเทศ และนางครํ่าครวญว่า

จะหมองเศร้าเปล่าใจไกลบุรี        ไกลบุรินธานีกลับพลัดพราย
กลับพลัดพรากจากเขนยเคยสถิต    เคยบรรทมอยู่เป็นนิจจะเสื่อมหาย
จะแสนโหยโดยดิ้นสันโดษดาย    สันโดษเดียวเปลี่ยวกายระกำใจ
ระกำจิตคิดขึ้นมาก็สาจิต        ก็สาใจที่ไม่คิดจะทำไฉน
ฉะนั้นท่านจงทำให้หนำใจ        จะอยู่ไปเป็นกายก็อายคน
ครองชีพอยู่รู้ถึงไหนก็อายทั่ว    เพราะว่าตัวต้องกำจัดมาเดินหน
จะครองชีพอยู่ไปก็อายคน        นฤมลโศกซบสลบไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “โคบุตร” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๔๙)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

รำพันพิลาป

อันโลกีย์วิสัยที่ในโลก                ความสุขโศกสิ้นกายก็หายสูญ
เป็นมนุษย์สุดแต่ขอให้บริบูรณ์        ได้เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย
ขอบุญพระจะให้อยู่ชมพูทวีป        ช่วยชุบชีพชูเชิดให้เฉิดฉาย
ไม่ชื่นเหมือนเพื่อนมนุษย์ก็สุดอาย        สู้ไปตายตีนเขาลำเนาเนิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ตั้งชื่อผิดไปจากนิราศอื่นๆ ตามคำนำของกรมศิลปากรว่า แต่งในปีรัชกาลที่ ๓ เสวยราชย์ คือ พ.ศ. ๒๓๖๗ และสุนทรภู่ถูกถอดในปีเดียวกันนั้น พอถูกถอดสุนทรภู่ก็บวช เที่ยวหัวเมืองเสียพักหนึ่ง แล้วก็มาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่ฝันถึงเทพธิดาผู้ปรารถนาดีต่อท่าน

“เมื่ออยากฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง    เดือนหงายส่องแสงสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา        ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์        พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงส์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า        ชื่อโฉม เทพธิดา มิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้        เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด        มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร    จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง

แล้วสุนทรภู่ก็เคลิบเคลิ้มรำพันรัก แต่ตอนหลังก็คิดได้จึงสารภาพไว้ว่า

“โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน    ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผชิญ    ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ
จึงแต่งความตามฝันรำพันพิลาป        ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย
จะสั่งสาวชาวบางกอกทั้งนอกใจ        ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา
จึงเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น    ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา
ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา            รักแต่เทพธิดาสุราลัย
ได้ครวญคร่ำร่ำเรืองเป็นเครื่องสูง        พอพยุงยกย่องให้ผ่องใส
ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทย    เด็กผู้ใหญ่อย่าเฉลียวว่าเกี้ยวพาน
พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย        อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน        เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

แล้วสุนทรภู่ก็บอกเหตุที่จะต้องจากวัดเทพธิดาไปด้วยความอาลัย

“โอ้ยามนี้ปีขาลสงสารวัด    เคยโสมนัสในอารามสามวษา
สิ้นกุศลผลบุญการุณา        จะจำลาเลยลับไปนับนาน

ตอนหนึ่งได้รำพึงถึงศิษย์ คือพระสิงหะ (หมายถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์) กับพระอภัย (หมายถึง เจ้าฟ้ากลาง) ว่า

พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด        ไม่ยาวยืดยกยอฉลอเฉลิม
เมื่อกระนั้นจันทน์และกระแจะเจิม        ได้พูนเพิ่มเหิมฮึกอยู่ตึกราม

ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องฝัน สุนทรภู่ได้ใช้จินตนาการถึงเรื่องต่างประเทศตามความรู้ของตน คือคิดจะพานางในฝันไปเที่ยวต่างประเทศ ว่า

“แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ    ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา    แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี
ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตร์ถือสัตย์ศิล    ใส่เพชรนิลแนบประดับสลับสี
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี            ชาวบุรีขี่รถบทจร
จะเชิญแก้วแววเนตรขึ้นเขตแคว้น        จัดซื้อแหวนเพชรรัตน์ประภัสสร
ให้สร่างทรวงดวงสุดาสัตถาวร        สว่างร้อนรับขวัญทุกวันคืน
จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย        ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน
กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน            ให้แช่มชื่นชมชะเลทุกเวลา
แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม    ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อีเหนาชาวชวา            วงศ์อะสัญแดหวาน่าหัวเราะ
จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว            ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ        ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม
ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน            ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม        จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา
เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปตั้งตึก        แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวิยะดา            ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาคร
แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่    จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน        ร้องละครอิเหนาเข้ามาลากา
แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง            ไปชมละเมาะเกาะวังกัลปังหา
เกิดในน้ำดำนิลดังศิลา            เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน
ชะเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ        เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน
เห็นหุบห้องปล่องชะลาฝูงนาคิน    ขึ้นหากินเกยนอนฉะอ้อนเนิน
ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึงรอบ        เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน    เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล
จริงน่ะจ๋ะจะเก็บทั้งกัลปังหา        เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน
เบี้ยอี้แก้แลรอบขอบคีริน        ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง
สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด    ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง    เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา
จำปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น        ก้าแฝ่ฝิ่นสุนธุต้นบุหงา
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา        แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กราย
แล้วจะใช้ใบไปดู เมื่องสุหรัด        ถ้าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย    แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์
พื้นม่วงตองทองช้ำย่ำมะหวาด    ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม        เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา
จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร    ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา        ไปมั่งกล่า ฝาหรั่งระวังกระเวน
กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว    ตลบเลี้ยวแลวิ่งดังจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน    เวียนกระเวนไปมาทั้งตาปี
เมืองมังกล่าฝาปรั่งอยู่ทั้งแขก        พวกเจ๊กแซกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี            ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา
ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง    ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา            วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย
แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ            คนซื้อร้องเรียกหาจึงมาขาย
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขะมาย            ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ
นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น        เป็นสวนอินตะผาลำ ทับน้ำหวาน
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล            ต้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง
ถึงขวบปีมีจันทน์ทำขวัญต้น            แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง            ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย
บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตล่ง        ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย        บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์
จะพาไปให้สร้างทางกุศล            ขึ้นสิงหลเห็นจะได้ไปสวรรค์
ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน            พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิ่งคุตร
คิดจะใช้ใบข้ามไปตามเข็ม        เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสมุด
เหมือนหมายทางต่างทวีปเรือรีบรุด    พอสิ้นสุดสายมหาอารณพ
เหมือนเรื่องรักจักประเวศประเทศถิ่น     มิทันสิ้นสุดคำก็จำจบ
แม้นขืนเคืองเปลื้องปลิดไม่คิดคบ        จะเศร้าซบโศกสะอื้นทุกคืนวัน
เหมือนยักษีที่สิงขรต้องศรกก        ปักตรึงอกอานุภาพซ้ำสาปสรร
อยู่นพบูรีที่ตรงหว่างเขานางประจัญ    เสียงไก่ขันขึ้นนนทรีคอยตีซ้ำ
แสนวิตกอกพระยาอุนนาราช        สุดหมายมาดไม่มีที่อุปถัมภ์
ศรสะเทือนเหมือนอุระจะระยำ        ต้องตีซ้ำซ้ำในฤาทัยระทม
ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร        ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม
พอชื่นใจได้สว่างสร่างอารมณ์        เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ
ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง            ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน
ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ            ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน
เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์    สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร            วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอย ฯ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศเมืองเพชร

ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย    ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง    จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก    สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา

ขณะนี้ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะวรรณคดีไทยได้มีผู้สนใจนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เรื่องนิราศเมืองเพชร ของท่านมหากวีเอกสุนทรภู่ ซึ่งสำนักวรรณกรรมแห่งวิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้หยิบยกนิราศเมืองเพชรมาตีความใหม่ เน้นประวัติความเป็นมาของท่านสุนทรภู่ว่าน่าจะเป็นชาวเพชรบุรี มีเชื้อสายพราหมณ์ ระบุไว้อย่างชัดเจนในต้นฉบับสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ข้อความในสมุดไทยบางฉบับไม่ตรงกัน โดยเฉพาะนิราศเมืองเพชรที่นำมาตีพิมพ์เผยแพร่และเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ ได้ขาดข้อความตอนสำคัญไปมาก จากการเปิดเผยของอาจารยเสยย์ เกิดเจริญ อดีตอธิการวิทยาลัยครูเพชรบุรี ร่วมกับ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์ภาษาไทย วิทยาลัยครูเพชรบุรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีไทย ทำให้ยุทธจักรวรรณกรรมต่างสนใจกันมากทีเดียว เพราะขณะนี้ก็ใกล้จะครบรอบวันเกิดของท่านในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ รวม ๒๐๐ ปี พอดี จะมีการสมโภชมโหฬาร ทั้งนี้ก็เพราะองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ยกย่องพระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นกวีเอกของโลก ดังนั้นในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการศึกษาวรรณกรรมของท่านสุนทรภู่ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปใหม่ก็คงจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ก่อนที่จะวิพากษ์อะไรลงไปก็ขอให้ศึกษานิราศเมืองเพชรเสียก่อนตามต้นฉบับที่เรียนกันมา ว่านิราศเรื่องนี้ มีดีอย่างไร

สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นเรื่องสุดท้าย เป็นนิราศที่สมบูรณ์ที่สุดเทียบได้กับนิราศภูเขาทองทีเดียว สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรตอนที่ได้พึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นัยว่าโปรดให้ไปธุระเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กล่าวไว้ในนิราศพอเป็นเค้าๆ ว่า “อธิษฐานถึง คุณกรุณา ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ ถึงทางเขตของประสงค์คงอาสา”

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่ออกเดินทางโดยเรือ ไปทางเดียวกับนายนรินทร์ธิเบศ (อิน) ผู้แต่งโคลงนิราศนรินทร์ ซึ่งผ่านคลองโคกขาม แล้วเขียนโคลงอย่างกำกวมไว้ว่า “โคกขามดอนโคกคล้าย สัณฐาน’’ เป็นเหตุให้ผู้อ่านตีความว่าโคกนี้มีความหมายไปในทางหยาบคาย ท่านสุนทรภู่คงจะเคยได้ทราบเรื่องนี้พอสมควร ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งสุนทรภู่ท่านชอบพูดอะไรให้ชัด ไม่กำกวม ท่านเลยแก้ต่างนายนรินทร์ เสียให้กระจ่างแจ้งจางปางว่า

“ถึงโคกขามคร้ามใจได้ไต่ถาม    โคกมะขามดอกมิใช่อะไรอื่น..”

ก็เห็นจะไม่ต้องตีความกันอีกนะครับ เพราะความหมายชัดในตัวอยู่แล้ว

สุนทรภู่เดินทางถึงเขาตะคริวสวาท แต่ชาวเพชรบุรีเรียก เขาตะคริว เฉยๆ ต่อมาภายหลัง เพี้ยนเป็น เขาตะเครา สุนทรภู่อธิษฐานต่อหน้าพระปฏิมาทองสำริดตอนหนึ่งว่า

“ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง    กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง”

แล้วสุนทรภู่ก็เดินทางเข้าเขตเพชรบุรีพบชาวเมืองคนหนึ่งก็ไถ่ถามเขาว่า บ้านขุนแขวงนั้นยังไม่ไกลอยู่หรือ? ชายนั้นย้อนถามทันควันว่า

“จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา    ถ้าพานหนักพักหนึ่งก็ถึงดอก”

สุนทรภู่ได้ฟังคำตอบถึงกับสะดุ้งโหยงอุทานออกมาว่า “สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา” ซึ่งมีความหมายว่า ชาวเมืองเพชรชอบเล่นลิ้นตีฝีปากเก่งมากเอาการ

การเดินทางไปเมืองเพชรของสุนทรภู่นั้นปรากฎว่าเคยมาแล้วหนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รู้จักมักคุ้นรักใคร่กับชาวเมืองเพชรเป็นอย่างดี ดังนั้นในนิราศเมืองเพชรสุนทรภู่จึงพรรณนาถึงเรื่องราวในอดีตไว้มากทีเดียว พอมาเพชรบุรีคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้ใปเที่ยวเยี่ยมเยียนแทบทุกคน คนแรกที่ควรกล่าวถึงก็คือขุนรองซึ่งสุนทรภู่เขียนเล่าไว้ว่า

“ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกให้ลึกซึ้ง            เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่        สถิตที่ทับนามาอาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ    จึงทำให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง    เขาจะแปลงปลูกทับกับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ    เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน”
เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป    แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต
แสนสนิทนับเนื้อว่าเชื้อไข        จะแวะหาสารพัดยังขัดใน
ต้ออายใจจำลากลัวช้าการ”

ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะสุนทรภู่ไปยุ่งกับนางนวลคนต่อมาที่สุนทรภู่มาอาศัยคือหม่อมบุนนาคท่านว่า

“ถึงต้นตาลนึกคุณหม่อมบุนนาค
เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังคระไลย
มาทำไร่ทำนาท่านการุญ”

เมื่อเรือมาจอดที่ท่าหน้าสะพาน มีศิษย์หาก็กุลีกุจอกันมารับสุนทรภู่ว่า

“ทั้งพี่ปรางนางใหญ่ได้ให้ผ้า        เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ
ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ..”

นอกจากนั้นสุนทรภู่ยังได้เขียนสัพยอกไว้เป็นความขันๆ อีกหลายราย
“ครั้นไปเยือนหลานบ้านวัดเกาะ ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย ต้องให้สีทับทิมจึงยิ้มพราย” ต่อจากนั้นสุนทรภู่ก็ไปบ้านตาลเรียง

“แล้วไปบ้านตาลเรียงเคียงบ้านไร่
ที่นับในเนื้อช่วยเกื้อหนุน
พอวันนัดซัดน้ำเขาทำบุญ
เห็นคนวุ่นหยุดยั้งยืนรั้งรอ
เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว
ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
เหมือนจุดไต้ว่ายน้ำมาตำตอ
เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ
จะแทนคุณบุญมาประสายาก
ต้องกระดากดังหนึ่งศรกระดอนกลับ
ได้ฝากแต่แพรผ้ากับป้าทรัพย์
ไว้สำรับหนึ่งนั้นทำขวัญน้อง
ไปปีหนึ่งครึ่งปีเมื่อมีลูก
จะมาผูกมือบ้างอย่าหมางหมอง”

อีกคนหนึ่งชื่อขำ สุนทรภู่ว่า

“แค้นแต่ขำกรรมอะไรที่ไหนน้อง
เฝ้าท้องท้องทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน
จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ

คนหนึ่งชื่อทองมี สุนทรภู่ว่า
เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก

ครั้นจะหักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
ได้เคยเป็นเห็นฝีมือมักดื้อดึง
จะตูมตึงแตกช้ำระยำเย็น

คนหนึ่งที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก คืออิน
ทีไหนไหนไมตรียังดีสิ้น

เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา
พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ
เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลางตอเป็นกอเตย
ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้น

ครั้นเมื่อสุนทรภู่ไปไหว้พระที่วัดพระนอน
มีผ้าของใครคนหนึ่งติดตัวไปด้วย ท่านเล่าว่า

ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม
ได้คลี่ห่มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง
ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน
มาห่มพระจะได้ผลดลบันดาล
ได้พบพานภายหน้าสถาพร
ทั้งรูปงามทรามประโลมโฉมแฉล้ม
ขอให้แก้มสองข้างอย่างเกสร
ทั้งเนื้อหอมพร้อมสิ้นกลิ่นขจร
คนแสนงอนให้มาง้อมาขอชิม

ต่อมาจึงไปเขาหลวง หวนถึงความหลังว่า

คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน
ชมลูกจันทน์กลั่นกลิ่นระรินรื่น
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลายิ่งอาวรณ์
เคยกล่าวกลอนเห่ชาโอ้ชาตรี
จนจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง
เรไรซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี
คิดคะนึงถึงตัวกลัวต้องตี
ต่อช้าปีจึงค่อยวายฟายน้ำตา
โอ้ยามยากจากบุรินทร์มาถิ่นเถื่อน
ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา
แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น

หลังจากนั้นสุนทรภู่ไปวัดเขาบันไดอิฐและวัดมหาธาตุ แล้วจึงลงเรือกลับกรุงเทพฯ

ศิลปะการประพันธ์
ต่อไปนี้จะขอยกข้อความที่แสดงศิลปะการประพันธ์ของสุนทรภู่ในนิราศเรื่องนี้มาเสนอ

เรื่องแรกที่นักกลอนจะต้องสังเกต คือการเล่นกลอนอื่นอีกแห่งหนึ่ง สุนทรภู่ชอบเล่นนัก เพราะมีคำเช่นนี้เพียง ๔ คำเท่านั้น จีน-ปีน-ตีน และศีล (สิน) ท่านว่า

ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ
ไม่กลัวบาปช่างนับแต่ทรัพย์สีน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน
ตะกายปีนเลนเล่นออกเป็นแปลง

อนึ่ง สุนทรภู่ไม่ยอมจนคำ คำเสียงแอะมีความหมายอยู่ไม่กี่คำ แต่ท่านก็หาสัมผัสได้อย่างดี คือ

“พอถึงตัวเต็มเบียดเขาเสียดแซะ
ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ
เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ
ที่เข็นเคียงเรียงลำขยำแขยะ
มันเกาะแกะกันจริงหญิงกับชาย

ทีนี้ลองฟังกลอน อิ ของสุนทรภู่บ้าง

“เขาไปเที่ยวเกี่ยวข้าวอยู่เฝ้าห้อง    เหมือนพี่น้องนึกโอ้อโสหิ
เนื้อเอ๋ยเนื้อเหลือเจ็บจนเล็บลิ    ยังปริปริปริ่มพร้อยเป็นรอยราย”

ต่อไปนี้เราควรศึกษากลอนที่แสดงลักษณะของส์ตว์ต่างๆ ท่านพรรณนาได้ถูกต้องตามหลักชีววิทยาอยู่บ้างเหมือนกัน

เมื่อพรรณนาถึงปู ท่านว่า

โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ        เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน
ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน    เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา
แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ    เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา
ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า    อุตส่าห์เฝ้าฟูมฟักเพราะรักเมีย
ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ        เมียมันคาบคีบเนื้อเป็นเหยื่อเสีย
จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย    ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ

ส่วนแมงดานั้น ท่านพรรณนาว่า

ให้สมีขี่หลังเที่ยวฝังแฝง        ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา
เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา    ทิ้งแมงตาผัวเสียเอาเมียไป
ฝ่ายตัวผู้อยู่เดียวเที่ยวไม่รอด    เหมือนตาบอดมิได้แจ้งตำแหน่งไหน
ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ    ก็บรรลัยแลกลาดดาษดา
แม้เดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว        ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา
โอ้อาลัยใจนางอย่างแมงดา        แต่ดูหน้าในมนุบย์เห็นสุดแล

ตอนหนึ่งสุนทรภู่ชมนํ้าใจชาวเพชรบุรีไว้น่าฟังว่า

ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี
เห็นจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำตะโหนดประโยชน์ทรัพย์
มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร

เมื่อหวนคิดถึงเรื่องส่วนตัว สุนทรภู่ปรารภเรื่องรักไว้เป็นนัยว่าตนอาภัพ ท่านว่า

ถึงคลองเคยเตยแตกใบแฉกงาม
คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง
ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย
ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ

เมื่อถึงวัดบางนางนองก็ว่า
ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องพี่    มาถึงนี่จะต้องนองน้ำตา
ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เป็นห่วง    แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา
ที่เห็นเห็นเป็นแต่ปะได้ปละตา    ก็ลอบลักรักษาคิดอาลัย

สุนทรภู่วิจารณ์เรื่องความรักกับเงินไว้อย่างเผ็ดร้อน เมื่อตอนถึงบางหลวงท่านว่า

“ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วยรวยโป
หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเรียกหอห้อง
ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
เอาเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก
ได้กินเล็กกินน้อยอร่อยใจ”

เรามีสำนวนอยู่บทหนึ่งว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” สุนทรภู่สงสัยว่าจะมาจากการทำนาเกลือ ท่านจึงว่า

ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชาลา    ไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ        ช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ

เมื่อถึงคลองคด ท่านก็เปรียบว่า

อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่        เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด        ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคน

หอยจุ๊บแจงถูกชาวประมงเรียก สุนทรภู่ได้คติว่า

เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา            แต่หากว่าพูดยากปากเป็นหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย    จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก

พอพบวังร้าง ท่านก็ปลงว่า

เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ    แล้วก็กลับเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน        นึกสะอื้นอายใจมาในเรือ

สุนทรภู่ นอกจากจะเขียนกลอนอย่างไพเราะเพราะพริ้งแล้ว ท่านยังสามารถบรรยายภูมิสถานบ้านเรือนของเพชรบุรีได้อย่างชัดเจน

“พอแดดร่มลมชายสบายจิต        เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี        เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์        มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะโองยาวก้าวตีนปีนทะยาน        กระบอกตาลแขวนก้นคนละพวง”

เมื่อสังเกตการใช้ถ้อยคำและเสียงสัมผัสแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านสุนทรภู่ได้ตั้งใจแต่งนิราศเรื่องนี้เป็นพิเศษ ปรากฎว่าใช้ถ้อยคำที่มีเสียงสัมผัสต่างๆ กันถึง ๖๕ เสียง (นิราศภูเขาทองใช้เพียง ๓๐ เสียง) มากที่สุดในบรรดานิราศของท่าน นอกจากนั้นท่านยังได้ฝากกลอนสัมผัสบังคับที่มีคำรับส่งเพียง ๔ คำ ไว้ถึง ๓ ชุด อย่างที่ไม่ปรากฎในนิราศเรื่องอื่นๆ มาก่อนเลย

ชุดเสียง อีน (ยกมาบ้างแล้ว ขอเน้นอีกครั้ง)

“บ้างถอนเหล็กชักถ่อหัวร่อร่า        บ้างก็มาบ้างก็ไปทั้งใต้เหนือ
บ้างขับร้องซ้องสำเนียงจนเสียงเครือ    ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลวงละโมบด้วยโลภลาภ    ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สิน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลา ตีน        ตะกาย ปีน เลนเล่นออกเป็นแปลง”

ชุดเสียง เอ็ก
“ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก    ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วยรวยโป        หัวอกโอ้อายใจมิใช่ เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง    ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก        ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไม”

ชุดเสียง เอ็ม

“ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า        ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม    ดูกระปุ่มกระปิ่มตุ่มติ่ม เต็ม
ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม        มีขวากล้อมแหลมรายดังปลาย เข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคล เค็ม    บ้างเก็บ เล็ม ลากก้ามครุ่มคร่ามครัน”

ดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้นว่า สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน นับเป็นนิราศที่มีความไพเราะดีเด่นเรื่องหนึ่ง นักศึกษาวรรณคดีหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์ วอลเตอร์ เอฟ. เวลลา ก็ยกย่องว่า นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศที่ดีเด่นที่สุดในบรรดานิราศของท่านสุนทรภู่ ไม่ใช่นิราศภูเขาทอง แม้แต่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์วิทยาลัยครูเพชรบุรี ก็ลงความเห็นว่า “ก็แหละบรรดานิราศของท่านสุนทรภู่นั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นเฉพาะตัวว่า นิราศเมืองเพชรเป็น นิราศดีที่สุดของท่านสุนทรภู่ ไม่ว่าจะพิจารณากันในด้านวรรณศิลป์และหรือสาระที่ท่านผู้แต่งได้เก็บบรรจุไว้ (และเมื่อได้สอบชำระนิราศเมืองเพชรเสร็จแล้ว จึงได้ทราบว่า นิราศเมืองเพชรเป็นนิราศที่ยาวที่สุดอีกด้วยคือยาวถึง ๔๙๘ คำกลอน)”

นิราศเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าท่านสุนทรภู่มีความผูกพันอยู่กับเมืองเพชรบุรียิ่งกว่าเมืองใดๆ ที่ท่านเคยไป และได้แต่งเป็นนิราศไว้ กล่าวคือ ท่านได้เดินทางมาเมืองเพชรบุรีหลายคราว และมีอยู่คราวหนึ่งที่ท่านได้พาแม่จันทร์มาหลบซ่อนอยู่ในถํ้าเขาหลวง (วัดบุญทวี หรือวัดถํ้าแกลบ จังหวัดเพชรบุรี) เมื่อมาคราวแต่งนิราศ สุนทรภู่ได้ไปชมเขาหลวงอีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่าลายมือที่ท่านเคยเขียนไว้ที่ผนังถํ้าเขาหลวงเมื่อครั้งกระโน้นยังอยู่ และมีส่วนปลุกเร้าให้ท่านระลึกนึกถึงความหลัง

สุนทรภู่ได้ชื่อว่า เป็นกวีที่ได้บุกเบิกลีลากลอนสุภาพอย่างใหม่ (เคยเรียกกันในสมัยอยุธยาตอนปลายว่า เป็น กลบทมธุรสวาที) ขึ้นสู่ความนิยมอย่างสูงได้สำเร็จงดงาม และยังสามารถนำสิ่งที่พบเห็น หรือได้ยินได้ฟังมาแต่งเป็นกลอนได้อย่างสละสลวยน่าฟัง เช่นเมื่อท่านเดินทางมาถึงอ่าวยี่สาน จังหวัดเพชรบุรี เห็นหอยจุ๊บแจง ก็นำบทร้องของเด็กมาประสมประสานได้อย่างยอดเยี่ยมว่า

“โอ้เอ็นดูหนูน้อยน้อยร้องหอยเหาะ    ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา
ล้วนจุ๊บแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา        กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาข้าวเปียก        แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
ทั้งงวงทั้งงางอกออกมากิน            ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น            มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย        โอ้นึกอายจุ๊บแจงแกล้งสำออย
เหมือนจะรู้ในเล่ห์เสน่หา            แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย    จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก”

เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๙ นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมการฝึกหัดครูเป็นหัวหน้าคณะ นำข้าราชการ นักวิชาการของกรมการฝึกหัดครู สื่อมวลชน และผู้แทนกรมศิลปากร รวมทั้งหมดประมาณ ๕๐ คน ไปยังจังหวัดเพชรบุรีเพื่อร่วมการสัมมนาที่วิทยาลัยครูจังหวัดเพชรบุรีจัดขึ้น ในหัวข้อด้านประวัติกวีและประวัติวรรณคดีไทยที่เพิ่งค้นพบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับเรื่องต้นตระกูลของสุนทรภู่ว่า ปูย่าตายายของท่านเป็นชาวเมืองเพชรบุรี

การสัมมนามีขึ้นตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น.-๑๒.๐๐ น. มีท่านอธิบดีกรมการฝึกหัดครูเป็นประธาน สมาชิกผู้เข้าร่วมการสัมมนามีนักวิชาการกรมการฝึกหัดครู สื่อมวลชนทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกรมศิลปากร และผู้แทนส่วนราชการในจังหวัด วิทยากรผู้เสนอหลักฐานเรื่องนี้ คือ นายล้อม เพ็งแก้ว นักวิชาการด้านวรรณคดี อาจารย์วิทยาลัยครูจังหวัดเพชรบุรี สาระสำคัญในการสัมมนามีดังนี้

หลักฐานเกี่ยวกับกำเนิดและตระกูลวงศ์ของสุนทรภู่เท่าที่ปรากฎอยู่ในทุกวันนี้ทราบกันแต่เพียงว่า สุนทรภู่เกิดที่พระราชวังหลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราชและสถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ไม่มีหลักฐานใดๆ บอกถึงชื่อของบิดามารดา เพียงแต่ทราบกันว่าบิดาของสุนทรภู่หย่าขาดจากภริยาตั้งแต่สุนทรภู่แรกเกิดมา แล้วไปบวชอยู่ที่บ้านกรํ่า เมืองแกลง จนตลอดชีวิต และมารดาของสุนทรกู่ได้รับหน้าที่เป็นพระนมของพระธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง ทั้งสุนทรภู่ก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่ตลอดวัยเด็กและวัยหนุ่ม จนกระทั่งกรมพระราชวังหลังทิวงคต หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับต้นตระกูลปู่ย่าตายายของสุนทรภู่ไม่เคยมีกล่าวถึง ไม่ว่าจากหลักฐานผลงานที่ท่านแต่งไว้เองหรือข้อมูลจากที่อื่น

นายล้อม เพ็งแก้วชี้แจงว่า ตัวเขาและผู้ร่วมงานตั้งใจจะชำระนิราศเมืองเพชรให้สมบูรณ์ เพื่อพิมพ์ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีของสุนทรภู่ จึงได้ค้นคว้าดูว่า นอกจากนิราศเมืองเพชรฉบับพิมพ์ ซึ่งกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ไว้หลายครั้งแล้ว ยังมีฉบับตัวเขียนอยู่อีกกี่ฉบับ ก็พบว่ามีต้นฉบับตัวเขียนเป็นสมุดไทยเรื่องนิราศเมืองเพชรอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ถึง ๙ ฉบับ อันทางราชการและเอกชนอื่นๆ ไม่เคยตรวจสอบเพื่อเผยแพร่มาก่อน นายล้อม เพ็งแก้ว จึงได้ขอถ่ายไมโครฟิล์ม ไปตรวจสอบโดยละเอียดทั้ง ๙ ฉบับ ๗ ฉบับมีข้อความผิดเพี้ยนกันกับฉบับพิมพ์แพร่หลายไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีอยู่ ๒ ฉบับ ซึ่งฉบับหนึ่งเป็นของหอสมุดมาแต่เดิม อีกฉบับหนึ่ง ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๙ มีเนื้อความลางแห่งแปลกไปกว่าฉบับอื่นๆ และที่ผิดแปลกไปนั้นเป็นเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประวัติสุนทรภู่และเมืองเพชรบุรีทั้งสิ้น วิทยากรได้นำเสนอเนื้อ ความของนิราศเพชรบุรีที่ผิดแปลกไปนี้ เพราะฉบับพิมพ์ตัดทิ้งไปซึ่งอาจจะเกิดจากความบกพร่องของการพิมพ์หรือผู้ตรวจสอบชำระก็ได้ ข้อความบทกลอนในฉบับเขียน ซึ่งในฉบับพิมพ์ขาดไปตอนที่ยืนยัน เรื่องต้นตระกูลของสุนทรภู่ไว้ด้วย อย่างไรก็ดี ทางวิทยาลัยครูเพชรบุรีได้จัดสัมมนาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อ วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๙ ซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติเพราะต้องศึกษาอีกมาก แต่อาจเป็นไปได้ว่าญาติของท่าน สุนทรภู่อาจอยู่เพชรบุรีอีกแห่งหนึ่ง นอกจากเมืองแกลง จังหวัดระยอง ก็ได้?

สถานที่กล่าวถึงในนิราศเมืองเพชร

วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม)    บางสะใภ้
วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม)    แม่กลอง
วัดสังข์กระจาย            คลองช่อง
คลองบางลำเจียก        ยี่สาน
คลองเตย                บ้านสองพี่น้อง
บางหลวง                ปากตะบูน
วัดบางนางชี (วัดนางชี)    คลองบางตะบูนใหญ่
วัดบางนางนอง (วัดนางนอง)    วัดร้าง (พระเจ้าเสือ)
บางหว้า                บางหอ
วัดจอมทอง (วัดราชโอรสาราม)    เขาตะคริวสวาท (เขาตะเครา)
บางประทุน            บ้านบางครก
คลองขวาง                บ้านใหม่
บางระแนะ                บางกุ่ม
วัดไทร                บ้านโพธิ์
บางบอน            บ้านหม่อมบุนนาค
วัดกก            วัดกุฎีทอง
บ้านศีรษะกระบือ (หัวกระบือ)    บางคดอ้อย
บ้านศีรษะละหาน (หัวละหาน)    พริบพรี (เพชรบุรี)
โคกขาม            วัดพลับพลาชัย
ย่านซื่อ            บ้านตาลเรียง
มหาชัย            บ้านไร่
ท่าแร้ง            วัดเขาบันไดอิฐ
บางขวาง            เขาหลวง (วัดบุญทวี-ถํ้าแกลบ)
คลองสามสิบสอง    วัดมหาธาตุ เพชรบุรี
คลองสุนัขหอน

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศพระประธม

สาธุสะพระประธมบรมธาตุ        จงทรงศาสนาอยู่อย่ารู้สูญ
ข้าทำบุญคุณพระช่วยอนุกูล        ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ    ให้สืบชื่อช่อฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ    พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง        แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน    ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา

อาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้เขียนคำนำอธิบายเรื่องนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ ไว้ในฉบับชำระใหม่ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ กล่าวว่า

“พระปฐมเจดีย์ ในจังหวัดนครปฐมบัดนี้ แต่ก่อนเคยเรียกกันมาในสมัยหนึ่งว่าพระประธม และมีนิทานเล่าประกอบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทมและนิพพานที่นั่น แล้วภายหลังพระยาพาน ประสงค์จะล้างกรรมที่ทำปิตุฆาฎ จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน สวมลงตรงที่พระพุทธเจ้าเคยบรรทม จึงเรียกกันว่าพระประธม และต่อมาเมื่อพระเจดีย์ชำรุดลง ก็คงจะมีพุทธศาสนิกชนผู้ทราบนิทานดังกล่าวนี้ และมีศรัทธาเลื่อมใสออกทุนทรัพย์ปฏิสังขรณ์และก่อสร้างปูชนียวัตถุเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ตามยุคตามคราว แล้วพากันมาสักการะบูชาเป็นเทศกาลประจำปีมาช้านาน และฤดูที่กำหนดเป็นเทศกาลขึ้นไหว้ประจำปีก็คงจะเป็นระยะเวลากลางเดือน ๑๒ เช่น ครั้งรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เสด็จไปนมัสการ ใน พ.ศ. ๒๓๗๗ เช่นที่ปรากฎในพระนิพนธ์โคลงนิราศ พระประธม ก็เสด็จในเดือน ๑๒ ท่านสุนทรภู่ไปนมัสการ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ตามที่แต่งไว้ในนิราศพระประธมนี้ ก็ไปในเดือน ๑๒ เหมือนกัน และในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระบวรพุทธศาสนา ได้เสด็จธุดงค์ไปทรงนมัสการเมื่อ พ.ศ.- ๒๓๗๔ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ตามเสด็จหลายรูป มีหลักฐานบอกไว้แต่เพียงว่าเสด็จในฤดูแล้ง ยังมีที่ทรงปักกลดประทับอยู่ ณ เชิงพระเจดีย์ด้านเหนือ แต่เข้าใจว่าเมื่อไม่ใช่ฤดูเทศกาล ก็คงปล่อยทิ้งรางไว้ จะมีก็แต่พระภิกษุสงฆ์อยู่ดูแลบ้าง และแถวถิ่นนั้นก็คงจะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงบ้าง จึงปรากฏกล่าวถึงในนิราศพระประธมนี้และในหนังสืออื่น ว่าเป็นบริเวณป่ารกร้าง มีสัตว์ป่า เช่น กวาง ทราย และไก่เถื่อน เป็นต้น ซึ่งผู้คนที่ไปนมัสการได้พบปะอยู่เสมอ ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงค้นพบหนังสือเก่า เรียกไว้ว่า พระปฐมเจดีย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระประธมว่า “พระปฐมเจดีย์” ตามหนังสือเก่า และโปรดให้ทำการบูรณะเป็นการใหญ่มาตลอดรัชกาล แต่การบูรณะปฏิสังขรณ์ยังไม่เสร็จบริบูรณ์ตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้บูรณะต่อมา และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็มาสำเร็จลงต่อในรัชกาลที่ ๗ เช่น พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ และงานนมัสการที่กำหนดเป็นฤดูเทศกาลประจำปี ก็มีในเดือน ๑๒ สืบเนื่องตลอดมาจนบัดนี้

ถ้าท่านผู้อ่านนิราศพระประธมเล่มนี้ ได้เคยอ่านกลอนเรื่อง รำพันพิลาป ของสุนทรภู่ ฉบับชำระใหม่และพิมพ์จำหน่ายในงานกวีวรรณนา ณ วัดเทพธิดาราม เนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ ครบ ๑๗๕ ปี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านย่อมจะทราบดีแล้วว่า ท่าน สุนทรภู่แต่งรำพันพิลาป ตามความฝันของท่านในคืนวันจันทร์ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเวลานั้น ท่านมีอายุ ๕๖ ปี และยังครองเพศเป็นสมณะอยู่ แต่ได้บอกล่าวในหนังสือรำพันพิลาปนั้นว่า

โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด        เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา
สิ้นกุศลผลบุญกรุณา        จะจำลาเลยลับไปนับนาน

แล้วดูเหมือนท่านสุนทรภู่จะได้ลาสิกขาบทในปีขาล เข้าใจว่าคงจะสึกราวข้างขึ้นเดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น แล้วเข้าถวายตัวพึ่งพระบารมีอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นเสด็จดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี ครั้นต่อมาในเดือน ๑๒ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ นั้นเอง ท่านสุนทรภู่ก็เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ บอกวันออกเดินทางไว้ในเบื้องต้น นิราศพระประธมของท่านว่า “ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ” เข้าใจว่า เป็นวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๘๕ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากเหตุการณ์ใน “รำพันพิลาป” ราว ๓-๔ เดือน ในระยะนั้น ท่านสุนทรภู่ยังอยู่ตัวคนเดียว แต่คงจะริรักแม่หม้ายสักคนหนึ่ง และน่าจะยังมิได้ตกร่องปล่องชิ้นกันจึงรำพึงรำพันไว้ว่า

โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด    ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน
พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน        มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน

ท่านสุนทรภู่เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์คราวนี้มีบุตรชายร่วมเดินทางไปด้วย ๒ คน คนหนึ่งคือ นายตาบ และอีกคนหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นนายนิล เข้าใจว่าลงเรือแถวท่าพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี แล้วไปตามเส้นทาง ดูท่านจะเปลี่ยวเปล่า ว้าเหว่อยู่มาก จึงรำพึงรำพันถึงความหลังที่เคยเกี่ยวข้องกับใครต่อใครมากมายหลายหน้า และเข้าใจว่า ท่านสุนทรภู่มิได้เว้นรำพึงรำพันถึงแม้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เช่นเมื่อเดินทางผ่านวัดสัก ได้รำพันไว้ว่า
ถึงวัดสักเหมือนพึ่งรักที่ศักดิ์สูง        สูงกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย
แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อยลอย    จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง

พิจารณาตามบทกลอนในนิราศพระประธมนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อยังรุ่นหนุ่ม ท่านสุนทรภู่คงจะท่องเที่ยวโปร่งปรุตลอดแถวย่านคลองบางกอกน้อย จนถึงบางกรวยและบางสีทอง และรู้จักมักคุ้นอย่างมีความหมายกับผู้หญิงยิงเรือมากหน้าหลายตาในย่านนั้น เมื่อท่านเดินทางผ่านไปในถิ่นนี้อีก จึงเป็นเหตุให้รื้อฟื้นความทรงจำอย่างมีความหมายและสร้างเป็นบทกลอนอันพริ้งเพรา ดูช่างเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจเสียจริงๆ ยิ่งกว่ากวีอื่นใดที่เดินผ่านเส้นทางสายเดียวกัน ครั้นผ่านพ้นย่านที่เคยมีผู้รู้จักมักคุ้นแล้ว ท่านก็หยิบเอาของกินที่มีผู้จัดหามาให้เป็นเสบียงกลางทางเช่น ฟักเชื่อม จันอับ และมะพลับแช่อิ่ม แล้วกินพลางรำพันถึงเจ้าของไปพลาง ด้วยบทกลอนอันไพเราะเพราะพริ้ง นอกนั้นก็พรรณนาถึงถิ่นฐานบ้านช่องและสิ่งพบเห็นตามทางที่ผ่านไป คลุกคละปะปนกับความรู้สึกของท่าน ว่าถึงปูนอายุของท่านก็ทำให้น่าคิดว่าระยะนั้น ท่านสุนทรภู่คงจะกำลังติดต่ออยู่กับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่หม้าย แต่ยังรวนเรไม่ตกร่องปล่องชิ้น เช่นกล่าวมาข้างต้น จึงรำพันถึงไว้อีกว่า

สงสารแต่แม่หม้ายสายสวาท    นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล
อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองใน    เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว
แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง    ไปร่วมห้องหายหม้ายทั้งหายหนาว

เมื่อเดินทางไปถึงวัดพระประธม ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาถึงองค์พระและบริเวณ ซึ่งรกเป็นราวป่า ตามสภาพที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น เห็นจะตั้งอกตั้งใจไปไหว้ด้วยความมุ่งมั่นมีศรัทธาแก่กล้าในแรงบุญจริงๆ จึงชวนบุตรชาย ๒ คน ปีนป่ายขึ้นไปทำประทักษิณและนมัสการ พลางตั้งจิตอธิษฐานเสียหลายแง่หลายมุม พร้อมทั้งกล่าวอ้างกระทบกระเทียบถึงใครต่อใครแฝงความหมายไว้ยืดยาว แต่ก็อ่านไพเราะน่าพัง ครั้นลงจากองค์พระแล้วก็พาบุตรเข้าไปในโบสถ์ ได้พบท่านผู้เฒ่า คงจะชาวบ้านแถวนั้น ซึ่งรู้นิทานเรื่องพระยากงพระยาพานดี ท่านสุนทรภู่ได้ “ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้ หวังจะให้ทราบความตามประสงค์” แต่เรื่องราวเกี่ยวกับพระยาพานสร้างพระประธมที่ท่านสุนทรภู่ได้ยินได้ฟังแล้ว นำมาแต่งไว้ในนิราศพระประธมนี้ มีพลความแตกต่างไปบ้างจาก “ตำนานพระปฐมเจดีย์” ที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ รวบรวมไว้ เป็นทางช่วยให้เราทราบพลความเพิ่มเติมต่างออกไปอีก จึงได้ทำเชิงอรรถเปรียบเทียบไว้ในหน้านั้นๆ เมื่อท่านสุนทรภู่ออกมานอกโบสถ์ ก็ตรวจนํ้าแผ่ส่วนบุญให้แก่บิดา มารดาครูอาจารย์ของท่าน และในตอนท้ายได้อุทิศกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยความรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ครั้นแล้วก็ถวายกุศลแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย แล้วก็จบนิราศพระประธม”

แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก    ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์

อมตกวีไทยได้มีสภาพเป็นพ่อค้าเรือเร่ และกวีรับจ้างอยู่นานเท่าใดไม่แน่ ดาวประจำชีพของท่านก็ฉายแสงรุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นข้อน่าพิศวงในความผันแปรของชีวิตของกวีแห่งชาติผู้นี้ ตกทุกข์ได้ยากคราวใดก็ไม่ถึงที่อับจนจนเหลือเกิน ไม่ช้าบุญปางหลังก็นำให้ได้ที่พึ่งที่ดีเสมอ คราวนี้ท่านได้พึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระพี่นางของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ นับว่าสุนทรภู่ได้ร่มโพธิ์ร่มไทรที่แผ่สาขาให้ความร่มเย็นเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง สุนทรภู่ได้กรวดนํ้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่า

“ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ        ทรงเสวตคชงามทั้งสามสาร
เสด็จถึงซึ่งบุรีนีรพาน            เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน
สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าออก        น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน
ขอพบเห็นเป็นข้าฝ่ายุคล            พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน
ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์        ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ            ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป            ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน            จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช            บำรุงศาสนาสงฆ์ทรงสิกขา
จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา            ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง”

พระอภัยมณีงานชิ้นเยี่ยมของสุนทรภู่เป็นที่โปรดปรานของเจ้าหญิงพระองค์นี้มาก มีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อไปจนถึงเล่ม ๙๔ นับว่าทรงติดพระอภัยมณีจนถึงกับทรงกำชับให้แต่งเดือนละเล่ม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพิเคราะห์สำนวนว่า พระอภัยมณีตอนหลังๆ นี้สุนทรภู่เห็นจะมิได้แต่งคนเดียว อาจขอให้ศิษย์ช่วงแต่งบ้างก็เป็นได้เพราะอาจมีธุระแต่งเองไม่ทัน นอกจากนั้นสุนทรภู่ยังแต่งสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกเรื่องหนึ่ง แต่งได้ ๑๕ เล่มสมุด โดยยัง ไม่จบ อาจหยุดเมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๘๘ ในรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นได้

เนื้อนิราศ

สุนทรภู่เดินทางด้วยเรือพร้อมกับบุตรชาย 2 คน ผ่านวัดทองระลึกถึงน้องสาวทั้งสอง คือ ฉิมและนิ่ม และเมียที่ชื่อแก้วว่าตายและทำศพที่วัดนี้ เมื่อถึงบางบำรุรำพันประหนึ่งจะเคยไปรักซ้อนเข้ากับเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง ว่า

“บำตำรุเหมือนบำรุบำรุงรัก            จะพึ่งพักพิศวาสเหมือนมาดหมาย
ไม่เหมือนนึกตรึกตรองเพราะสองราย    เห็นฝักฝ่ายเฟื่อนหลงด้วยทรงโลม”

ถึงบางกรวยระลึกถึงแม่งิ้ว รำพันว่า “โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี” และว่านายตาบมองคลองบ้านดูมารดา

ถึงบางศรีทองนึกถึงคนชื่อศรีทองว่า     เคยเป็นคู่บอกสักวา ปากหวานเหมือนนํ้าตาล

“ทุกวันนี้พี่เฒ่าเราก็หง่อม    เธอเป็นจอมเราเป็นจนต้องบ่นหา”

เมื่อถึงบ้านธรรมศาลาได้อธิษฐานว่า

“เดชะคำทำคุณการุณัง            เป็นที่ตั้งวาสนาให้ถาวร
ขอสมหวังดังสวาทอย่าคลาดเคลื่อน    ให้ได้เหมือนหมายรักในอักษร
หนังสือไทยอธิษฐานสารสุนทร        จงถาวรเพิ่มรักเป็นหลักโลม”

ในที่สุดเดินทางถึงพระปธม ได้นมัสการและอธิษฐานว่า

“สาธุสะพระปธมบรมธาตุ        จงทรงศาสนาอยู่ไม่รู้สูญ
ข้าท่ำบุญคุณพระช่วยอนุกูล        ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ    ให้ลือชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล    พระทรงสารศรีเสวตเกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างๆ            แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน    ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา
อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด            ถึงน้ำเนื้อธรรมชาติไม่ปรารถนา
ข้างนอกนวลส่วนข้างใจใจสุดา        เหมือนปลาร้าร้ายกาจอุจาดจริง
ถึงรูปชั่วตัวดำระยำยาก        รู้รักปากรักหน้าประสาหญิง
ถึงปากแหว่งแข้งคอดไม่ทอดทิ้ง        จะรักยิ่งยอดรักให้หนักครัน
จนแก่กกงกเงิ่นเดินไม่รอด            จะสู้กอดแก้ตาจนอาสัญ
อันหญิงลิงหญิงค่างอย่างนั้น        ไม่ผูกพันพิศวาสให้คลาดคลา
ขอเดชะพระมหาอานิสงส์            ซึ่งเราทรงศักราชพระศาสนา
เสน่ห์ไหนให้คนนั้นกรุณา            เหมือนในอารมณ์รักประจักษ์จริง
หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศาวาส        ซึ่งสิ้นชาติชนม์ภพสบสมัย
ขอคุณพระอานิสงส์ช่วยส่งไป        ถึงห้วงไตรตรึงส์สถานพิมานแมน
ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยชื่น                จงปรากฏยศยืนกว่าหมื่นแสน
มั่งมีมิตรพิศวาสอย่าขาดแคลน        ให้หายแค้นเคืองทั่วทุกตัวคน
นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ            เสน่ห์มอบหมายรักเป็นพักผล
เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน        แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี
ให้ได้คู่สู่สมภิรมย์รัก                ที่สมศักดิ์สมหน้าเป็นราศรี
สืบสกูลพูนสวัสดิ์ในปฐพี            ร่วมชีวีกัสองคนไปจนตาย
แต่นารีขี้ปดโต้หลดหลอก            ให้ออกดอกเหมือนวี่วันที่มั่นหมาย
ทั้งลิ้นน้องสองลิ้นเพราะหมิ่นชาย        เป็นแม่หม้ายเท้งเต้งวังเวงใจ
ที่จงจิตพิศวาสอย่าคลาดเคลื่อน        ให้ได้เหมือนหมายมิตรพิสมัย
อย่าหมองหมางห่างเหเสน่ห์ใน        ได้รักใคร่ครองกันจนวันตาย
เป็นคู่สร้างทางกุศลจนสำเร็จ        สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ยังมิถึงซึ่งนิพพานสำราญกาย        จะกลับกลายเป็นไฉนอย่าไกลกัน
แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก            ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์            ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่            ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร            ได้เชยช้อนชมทะเลทุกเวลา
แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์        จะได้ลงสิงสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา            พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัน”

ศิลปะการประพันธ์

คราวนี้สุนทรภู่กำลังมีจิตใจแจ่มใสชื่นบานในบทพรรณนาโวหาร ท่านจะทราบประวัติและตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน บ้านพะเนียดที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง

เมื่อถึงบทพิศวาส สุนทรภู่ได้ตัดพ้อแม่ม่วงซึ่งเลิกกันแล้วอย่างโหยหวน

“ถึงบางม่วงง่วงจิตคิดถึงม่วง    แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ
มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ    มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ
เห็นต้นรักหักโค่นต้นสนัด            เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว
เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย        ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วนะแก้วตา”

ส่วนหญิงที่สุนทรภู่กำลังรักและคร่ำครวญถึงจะเป็นใครก็ตาม ท่านเรียกของท่านว่า น้องเนื้อนพคุณ จะต้องงาม

“พี่เคยเห็นเช่นเคยเชยฉันใด        จนชั้นไฝที่ริมปากไม่อยากเบือน”

และพรํ่าว่า

“โอ้อกพี่นี้ก็ร้อนด้วยความรัก    ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
ไม่เหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน    จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีดิ์เปรม
โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย    จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม
ได้ใกล้เคียงเมียงริมจะอิ่มเอม    แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาดลาย..”

หญิงผู้นี้คงจะต้องสูงศักดิ์นัก

เมื่อถึงตำบลลานตากฟ้าจึงครวญว่า

“โอ้แผ่นฟ้ามาตากถึงภาคพื้น    น่าจะยื่นหยิบเตือนได้เหมือนใจ
เจ้าหนูน้อยพลอยว่าฟ้าน้ำตก    ใครช่างดำยกฟ้าขึ้นมาได้
แม้นแดนดินสิ้นฟ้าสุราลัย        จะเปล่าใจจริงจริงทั้งหญิงชาย… ”

และได้รำพันพ้ออีกแห่งว่า

“โอ้กระต่ายหมายจันทร์ลงชั้นฟ้า            เทวดายังช่วยรับประคับประคอง
มนุษย์หรือถือว่าดีว่ามีศักดิ์                มิรับรักเริดร้างให้หมางหมอง
ไม่เหมือนเดือนเหมือนกระต่ายเสียดายน้อง    จึงขัดข้องขัดขวางทุกอย่างไป…”

พูดถึงแง่ปรัชญาท่านได้เปล่งเสียงสอนไว้หลายตอน เช่นเห็นเขาหีบอ้อย ก็ว่า

“เห็นน้ำอ้อยย้อยรางที่วางเรียง        โอ้พิศเพียงชลนาที่จาบัลย์
อันลำอ้อยย่อยยับเหมือนกับอก        น้ำอ้อยตกเหมือนน้ำตาตวงกว่าขัน
เขาโหมไฟในโรงโขมงควัน        ให้อัดอั้นอกกลุ้มรุมระกำ
อันน้ำในใจคนเหมือนต้นอ้อย    ข้างปลายกร่อยชืดชิมไม่อิ่มหนำ
ต้องหับหนีบแตกให้แหลกลำ    นั่นแหละน้ำจึงจะหวานเพราะจานเจือ”

ว่าถึงความคิดเห็นตามหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน สุนทรภู่ไม่เชื่องมงายในไสยศาสตร์ทั้งหลาย เมือไปเจ็บที่เมืองแกลงเคยรักษาด้วยคนทรงไม่พอใจ บ่นว่า

“….ให้คนทรงลงผีเมื่อพี่เจ็บ        ว่าเพราะเก็บดอกไม้ที่ท้ายเขา
ไม่งอนง้อขอสู่ทำดูเบา            ท่านปู่เจ้าเคืองแค้นจึงแทนทด
ครั้นตาหมอขอโทบก็โปรดให้    ที่จริงใจพี่ก็รู้อยู่ว่าปด
แต่ชาวบ้านท่านถือข้างท้าวมด    จึงสู้อดนิ่งไว้ในอุรา…”

คราวนี้สุนทรภู่ได้ประณามคนทรงว่า

“เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง        ให้คนทั้งปวงหลงลงอุบาย
ซึ่งคำปดมดท้าวว่าเจ้าช่วย        ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย
อันเจ้าผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย        ถึงเจ้านายที่ได้พึ่งจึงจะดี
แต่บ้านนอกคอกนาอยู่ป่าเขา    ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี”

ในตอนสุดท้ายของนิราศพระประธม สุนทรภู่ได้พรรณนาไว้อย่างกินใจตอนหนึ่งว่า

สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก        น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน
โอ้พระคุณทูลกระหม่อมจอมสกล        พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน
ถึงล่วงแล้วแก้เกิดกับบุญฤทธิ์        ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรรอนจำรูญ            ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป            ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน            จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช             บำรุงศาสนสงฆ์ทรงสิกขา
จงไพบูลย์พูลสวัสดืวัฒนา            ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง
ษิโณทกตกดินพอสิ้นแสง            ตะวันแดงดูฟ้าเป็นผ้าเหลือง
เข้าพลบค่ำร่ำระวีราศีประเทือง        ก็จบเรื่องแต่งชมประธมเอย”

สถานที่กล่าวถึงในนิราศพระประธม
๑. วัดระฆัง ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามท่าช้างวังหลวง
๒. บางกอกน้อย คลองแยกแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกเหนือสถานีรถไฟธนบุรี เดิมเป็นลำนํ้าเจ้าพระยา
๓. วังหลัง ตั้งอยู่แถวบริเวณศิริราชพยาบาล
๔. บางหว้าน้อย เดี๋ยวนี้เรียกบางว้า ยังมีโบสถ์วัดบางว้าหรือวัดอัมรินทรารามอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีเป็นสำคัญ
๕. วัดทอง วัดสุวรรณาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย
๖. วัดปะขาว วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย
๗. บางบำหรุ ตำบลในอำเภอบางกอกน้อย บางตำหรุก็เรียก มีคลองแยกจากคลองบางกอกน้อยที่ใต้วัดนายโรง ไปจดวัดสนาม (นอก) เหนือวัดพิกุล
๘. บางขุนนนท์ ตำบลในอำเภอบางกอกน้อย และมีคลองบางขุนนนท์ แยกคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ตอนเหนือวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ในท้องที่อำเภอตลิ่งชัน
๙. บางระมาด คลองแยกและตำบลในอำเภอตลิ่งชัน
๑๐. วัดไก่เตี้ย ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย และมีปากคลองแยกที่วัดไก่เตี้ย ในท้องที่อำเภอตลิ่งชัน
๑๑.  สวนหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ระหว่างวัดน้อยในถึงวัดชัยพฤกษ์มาลา ต่อมาตกเป็นที่ของคุณจอมกลีบในรัชกาลที่ ๕ แล้วแบ่งขายบ้าง ถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดชัยพฤกษมาลาบ้าง และมีที่ซึ่งตกเป็นของนางชื่น แดงอร่าม ภายในที่ผืนนี้ ยังมีสระกว้างยาวประมาณร้อยเมตรและมีลำคู (ตรงข้ามวัดพิกุล) ขุดแยกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกเข้าไปสู่สระ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นทางเรือพระที่นั่งในเวลาเสด็จประพาส แต่เดี๋ยวนี้คูและสระตื้นเขินเสียแล้ว
๑๒. บางขวาง คลองลัดในอำเภอบางกรวย แยกจากคลองมหาสวัสดิ์ ตรงข้ามวัดชัยพฤกษ์มาลา ไปบรรจบคลองวัดสัก ปัจจุบันเรียกกันว่า คลองขวาง
๑๓. วัดพิกุล วัดพิกุลตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกคลองบางกอกน้อย
๑๔. บางสนาม มีคลองแยกอยู่เหนือวัดพิกุล และมีวัดสนามนอกอยู่ริมคลอง ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย
๑๕. สวนแดน คลองในอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรีอยู่ระหว่างวัดไก่เตี้ยกับวัดน้อยในปากคลองแยกจากคลองบางกอกน้อย ที่วัดไก่เตี้ยไปจดคลองศาลเจ้า ยาวราว ๓ กิโลเมตร
๑๖. วัดเกด ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
๑๗. วัดชะลอ ตั้งอยู่ปากคลองวัดชะลอ คลองวัดชะลอนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดให้ขุดมาเชื่อมคลองบางกอกน้อยที่วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๐ ต่อมาเลยเรียกคลองขุดเชื่อมตอนนี้เป็นคลองบางกอกน้อยไปด้วย และคำว่าวัดชะลอเรียกตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีด้วย ที่ว่าการอำเภอบางกรวย ตั้งอยู่เหนือวัดชะลอตรงทางร่วมของคลองบางกรวย และคลองแม่น้ำอ้อมกับคลองบางกอกน้อย ในตำบลวัดชะลอ
๑๘. บางกรวย คลองบางกรวย แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงหน้าวัดเขมาภิรตาราม มาทะลุที่ปากคลองวัดชะลอ หรือที่เรียกรวมเป็นคลองบางกอกน้อยตรงเหนือวัดชะลอ ต่อคลองแม่นํ้าอ้อม เหนือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบางกรวย
๑๙. บางสีทอง คลองแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งขวา ตอนหน้าเมืองนนทบุรี มาต่อกับคลองแม่นํ้าอ้อมเหนือที่ว่าการอำเภอบางกรวย
๒๐. บางอ้อช้าง เดี๋ยวนี้เรียกบางอ้อยช้างและมีวัดบางอ้อยช้าง ตั้งอยู่ปากคลองบางอ้อช้าง ซึ่งแยกคลองแม่นํ้าอ้อม ทางฝั่งตะวันออก
๒๑. วัดสัก มีคลองวัดสักแยกทางฝั่งตะวันตก
๒๒. บางขนุน ตำบลนี้ขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกซ้ายทางฝั่งตะวันตกเข้าไปวัดบางขนุน ว่าแต่ก่อนครั้งท้าวอู่ทองเรียกกันมาว่าบางถนนภายหลังมาเรียกเพี้ยนเป็น บางขนุน
๒๓. บางขุนกอง ตำบลนี้ขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกทางฝั่งตะวันตก
๒๔. บางนายไกร มีวัดบางไกรนอก ตั้งอยู่ริมคลองแม่นํ้าอ้อม และมีคลองบางนายไกร แยกทางฝั่งตะวันตกเข้าไปวัดบางไกรใน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าควรจะเรียกวัดบางนายไกรนอกและวัดบางนายไกรใน ไม่ควรจะตัดคำว่า “นาย” ออกเสีย ณ ที่วัดบางนายไกรใน มีปริศนาลายแทงว่า “วัดบางนายไกร มีตะเข้สระใหญ่ไปใข่สระขวาง ไข่แล้วโบกหาง เอาคางทับไว้” มีพระพุทธรูปหลายองค์ ในโบสถ์และวิหารวัดบางนายไกรในว่านำมาจากวัดนาฬิเก ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ในตำบลบางขุนกอง
อำเภอบางกรวยนั่นเอง และว่าที่วัดนาฬิเกก็มีปริศนาลายแทงว่า “วัดนาฬิเกมีตะเข้สามศอก ใครคิดไม่ออก ให้เอาที่ถอกทาปูน”
๒๕. บางระนก คลองแยกฝั่งตะวันตกจากคลองแม่นํ้าอ้อมในท้องที่อำเภอบางกรวย
๒๖. บางคูเวียง คลองแยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมฝั่งตะวันตก มาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ ที่ใต้สถานีธรรมสพน์ ตำบลขึ้นในอำเภอบางกรวย
๒๗. บางม่วง มีคลองบางม่วงแยกทางฝั่งตะวันตกที่ปากคลองมีวัดอัมพวัน ตำบลบางม่วง ขึ้นในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๒๘. บางใหญ่ คลองยาว ๑๒ กิโลเมตรไปต่อคลองโยง และมีตำบลขึ้นในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองด้านใต้
๒๙. บางกระบือ คลองแยกจากคลองบางใหญ่ ด้านตะวันตก ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๐. บางสุนัขบ้า ปัจจุบันมีวัดชื่อบางโค และมีคลองซึ่งเรียกว่าบางโคบ้า คงจะเรียกกันมาตามชื่อเดิม อยู่ในตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ แต่ในนิราศนี้พรรณนาถึงบางสุนัขบ้า จะเป็นแห่งเดียวกันหรืออย่างไรไม่ทราบ
๓๑. บางโสน มีคลองโสนแยกคลองบางใหญ่ในอำเภอบางใหญ่ทางฝั่งตะวันออกมาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์
๓๒. บ้านใหม่ธงทอง ตาบลขึ้นในอำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๓. คลองโยง เป็นคลองแยกต่อจากคลองบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ไป ออกแม่นํ้านครชัยศรี เมื่อยังไม่ขุดคลองมหาสวัสดิ์ การเดินทางไปมาแต่ก่อนได้ใช้คลองโยงนี้เป็นทางเชื่อมคมนาคม แต่หน้าแล้งนํ้าตื้นต้องใช้ควายโยงลากเรือ เช่นที่กล่าวถึงในนิราศนี้
๓๔. บางเชือก หมู่บ้านในตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
๓๕. ลานตากฟ้า ตำบลในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
๓๖. งิ้วราย ตำบลขึ้นในอำเภอนครชัยศรี มีวัดงิ้วรายและสถานรถไฟสายใต้ชื่อวัดงิ้วราย
๓๗. สำประทวน ตำบลขึ้นอำเภอนครชัยศรี มีวัดสัมปทวนอยู่ฝั่งตะวันตกแม่นํ้านครชัยศรี
๓๘. ปากน้ำสำประโทน แถวที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี แต่ก่อนเรียกกันว่าตำบลปากนํ้า คงหมายถึงปากนํ้าเข้าคลองบางแก้ว
๓๙. บางแก้ว คลองและตำบลขึ้นอำเภอนครชัยศรี มีคลองบางแก้วแยกแม่นํ้าฝั่งขวา เหนือวัดกลางและใต้โรงกลั่นสุรา
๔๐. โพเตี้ย มีหมู่บ้านโพเตี้ยอยู่ในตำบลท่าตำหนัก แต่ปัจจุบันไม่มีต้นโพเตี้ยแล้ว คงมีเนินดินอยู่ในบริเวณบ้านของนายบุก อินทพงศ์ เหนือรางอุทัยแยกคลองบางแก้ว หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี
๔๑. บางกระชับ ตำบลท่ากระชับขึ้นในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ถ้าเข้าไปตามคลองบางแก้ว ตำบลท่ากระชับอยู่เลยตำบลท่าตำหนักเข้าไป ฝั่งตะวันออกเป็นตำบลท่ากระชับ มีวัดไทรอยู่ริมคลองวัดบางแก้วอยู่ตรงวัดไทร
๔๒. วัดสิงห์ อยู่ริมคลองบางแก้วฝั่งตะวันตก ในตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี มีผู้จำปริศนาลายแทงที่วัดนี้ไว้ว่า “ตะริดติ้ดตี่ กะดี่สอง ผินหน้าลงคลอง สองตะกร้าโกยเอา”
๔๓. วัดท่า (ใน) อยู่ริมคลองบางแก้วฝั่งตะวันตก ในตำบลท่าพระยา อำเภอนครชัยศรี และมีศาลาวัดอยู่ริมถนนเพชรเกษมทางซ้ายมือ และปัจจุบันมีถนนพอรถยนต์เข้าไปได้ถึงวัด ระยะ ราว ๒ กิโลเมตร
๔๔. บ้านกล้วย มีบ้านกวยในตำบลท่าพระยา ขึ้นในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
๔๕. บ้านธรรมศาลา ตำบลขึ้นอำเภอเมืองนครปฐม มีวัดธรรมศาลา อยู่ด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม ในวัดมีโคกอิฐขนาดใหญ่อยู่หลังวิหาร เข้าใจว่าเป็นฐานพระเจดีย์
๔๖. บ้านเพนียด ตำบลขึ้นในอำเภอนครชัยศรี
๔๗. วัดพระประธม วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สถานที่กล่าวถึงในโคลงนิราศสุพรรณ

มหานาค ชื่อตำบล ขึ้นอำเภอป้อมปราบ มีคลองมหานาคเลียบข้างวัดสระเกศออกไปขนานกับถนนดำรงรักษ์ไปผ่านวังสระปทุม และไปบรรจบกับคลองแสนแสบ คลองมหานาคนี้ต่อกับคลองบางลำภู และคลองโอ่งอ่าง ที่ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หน้ากรมโยธาธิการ

วัดสระเกศ อยู่ปากคลองมหานาค ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอพระนคร เดิมชื่อวัดสะแก เป็นวัดโบราณ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรื้อสถาปนาใหม่ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างภูเขาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระเจดีย์บนยอดภูเขาทองแต่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ และในรัชกาลปัจจุบันนี้ได้มีการประดับกระเบื้องทององค์พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง

เชิงเลน คือ วัดบพิตรภิมุฃ อยู่ในคลองโอ่งอ่างฝั่งใต้ ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ เดิมชื่อวัดตีนเลนหรือวัดเชิงเลน เป็นวัดโบราณ กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนามเปลี่ยนใหม่ว่าวัดบพิตรภิมุข

วัดเลียบ คือวัดราชบูรณะ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดเลียบ อยู่ในเขตกำแพงพระนครแถบพาหุรัด เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงช่วย และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบุรณะ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ถอนสีมาเก่าแล้วทรงสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างปรางค์องค์ใหญ่ ในรัชกาลต่อๆ มาให้ทรงปฏิสังขรณ์บ้าง เมื่อสงครามโลกคราวที่สอง ได้ถูกระเบิดทำลายเสียหายยับเยิน เพิ่งบูรณะขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน

วัดแจ้ง คือวัดอรุณราชวราราม อยู่บนฝั่งตะวันตกของลำนํ้าเจ้าพระยา เหนือพระราชวังเดิม เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดแจ้ง พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์ส่วนบนอุโบสถเก่า รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชธารามก่อน ภายหลังเป็นวัดอรุณราชวราราม ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปรางค์เป็นยอดมงกุฎและปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพิ่มเติมบ้างและในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์มากเพราะเพลิงไหม้พระอุโบสถ

ฉนวน ทางเดินสำหรับเจ้านายฝ่ายในเสด็จออกทางท่าราชวรดิษฐ

ท่าช้างว้งหลวง อยู่ริมลำนํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตรงข้ามวัดระฆังโฆสิตาราม อยู่ในเขตตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร

วังหลัง ตั้งอยู่แถวบริเวณศิริราชพยาบาล สุนทรภู่มีความสัมพันธ์กับวังหลังมาก โดยที่มารดาได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่เคยอยู่ในวังหลังกับมารดาและได้ถวายตัวเป็นข้าในพระราชวังหลังมาตั้งแต่ยังเด็กจนกระทั่งรุ่นหนุ่ม ได้ลอบรักใคร่กับหญิงชื่อจัน จนได้รับโทษทั้งสองคน แล้วต่อมาสุนทรภู่ก็ได้จันเป็นภรรยา ทำนองเจ้าครอกข้างในชื่อทองอยู่ซึ่งเป็นอัครชายาในกรมพระราชวังหลังจะยกประทานให้

คลองบางกอกน้อย คลองแยกแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเหนือสถานีรถไฟธนบุรี เดิมเป็นลำนํ้าเจ้าพระยา

บ้านบุ ชื่อตำบลขึ้นในอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันนี้ยังมีตลาดบ้านบุอยู่

วัดชีปะขาว คือ วัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย วัดนี้เป็นสำนักศึกษาในวัยเยาว์ของสุนทรภู่ เดิมเรียกกันว่า วัดชีผ้าขาวหรือเรียกวัดปะขาวก็มี เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร ครั้นในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ได้ทรงสถาปนาใหม่ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่าวัดศรีสุดาราม

บางบำรุ คือบางบำหรุ ชื่อตำบลในอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี บางทีเรียกว่าบางตำหรุ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของคลองบางกอกน้อย มีคลองบางบำหรุแยกจากคลองบางกอกน้อยที่ใต้วัดนายโรง ไปจดวัดสนาม (นอก) เหนือวัดพิกุลทอง มีวัดบางบำหรุอยู่ในลำคลองนี้

บางระมาด ตำบลในอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย มีคลองบางระมาด แยกคลองศาลเจ้า ตรงข้ามวัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) ไปจดหนองขี้เหล็ก ในอำเภอตลิ่งชัน

สวนหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ระหว่างวัดน้อยในถึงวัดชัยพฤกษ์มาลา ต่อมาตกเป็นที่ของคุณจอมกลีบในรัชกาลที่ ๕ แล้วแบ่งขายบ้าง ถวายเป็นธรณีสงฆ์ของวัดชัยพฤกษ์มาลาบ้าง และมีที่ซึ่งตกเป็นของนางชื่น แดงอร่าม ภายในที่ผืนนี้ยังมีสระกว้างยาวประมาณร้อยเมตร และมีลำคู (ตรงข้ามวัดพิกุล) ขุดแยกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกเข้าไปสู่สระซึ่งกล่าวกันว่า เป็นทางเรือพระที่นั่งในเวลาเสด็จประพาส แต่เดี๋ยวนี้คูและสระตื้นเขินเสียแล้ว

วัดพิกุล ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของคลองบางกอกน้อย บางทีก็เรียกว่าวัดพิกุลทอง เพื่อให้ต่างกับวัดพิกุลอีกแห่งหนึ่งที่ใต้อำเภอบางใหญ่ ซึ่งเรียกว่าวัดพิกุลเงิน

บางขวาง ชื่อคลองอยู่ในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แยกจากคลองมหาสวัสดิ์ ตรงข้ามวัดชัยพฤกษ์มาลา ปัจจุบันเรียกกันว่า คลองขวาง

บางกรวย เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตั้งที่ว่าการอำเภอที่เหนือวัดชะลอ มีคลองบางกรวยแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม มาต่อกับคลองวัดชะลอที่ขุดในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เหนือวัดชะลอ คลองบางกรวยนี้เดิมเป็นตอนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่อขุดคลองใหม่ กระแสน้ำเปลี่ยนจากแม่น้ำอ้อมมาเดินทางหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติ แม่น้ำเดิมจึงแคบและตื้นเขินกลายเป็นคลองไป

บางศรีทอง หรือบางสีทอง ชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางสีทอง แยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งขวาตอนหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรีไปต่อกับคลองแม่นํ้าอ้อมเหนือที่ว่าการอำเภอบางกรวย บางสีทองนี้เคยมีชื่อว่ามีลำไยดี

บางกร่าง ตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

บางขนุน ตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อยู่ริมคลองแม่นํ้าอ้อมฝั่งใต้ มีคลองบางขนุนแยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมเข้าไป ในคลองนี้มีวัดบางขนุนเป็นวัดโบราณ มีหอไตรเก่า ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในนิราศพระประธมของสุนทรภู่อ้างว่ากันว่าบางถนน ภายหลังมาเรียกเพี้ยนเป็น บางขนุน

บางขุนกอง ตำบลขึ้นในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีคลองแยกทางฝั่งตะวันตก

บางคูเวียง ตำบลขึ้นอำเภอบางกรวย บางทีเรียกบางโคเวียง อยู่ติดกับบางระนก มีคลองบางคูเวียงแยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมฝั่งตะวันตก มาเชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ที่ใต้สถานีธรรมสพน์

บางม่วง ตำบลขึ้นอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มีคลองบางม่วงแยกทางฝั่งตะวันตก จากเหนือวัดอัมพวันหรือวัดบางม่วง ไปเชื่อมกับคลองบางโสน

บางใหญ่ เป็นชื่อคลอง ตำบลและอำเภอ ขึ้นจังหวัดนนทบุรี ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองบางใหญ่ทางฝั่งซ้ายของลำคลองแม่นํ้าอ้อม อำเภอบางใหญ่เดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียกกิ่งบางแม่นาง ต่อมายกเป็นอำเภอบางแม่นาง แล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นอำเภอบางใหญ่

คลองบางใหญ่ แยกจากคลองแม่นํ้าอ้อมยาว ๑๒ กิโลเมตร ผ่านไปเข้าคลองโยง ผ่านตำบลลานตากฟ้า ออกแม่นํ้านครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ในสมัยโบราณเมื่อยังไม่ได้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ในรัชกาลที่ ๔ การคมนาคมระหว่างจังหวัดพระนคร ธนบุรี และนนทบุรี ได้อาศัยผ่านเส้นทางสายนี้

วัดใหม่ธงทอง ชื่อวัดในตำบลบ้านใหม่ธงทอง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

บ้านลานตากฟ้า ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

บ้านกระจัน อยู่ในตำบลท่ากระจัน ขึ้นอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

บ้านศศิธร

บ้านขโมย หรือบางขโมย

บางปลา อยู่ในตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางปลี

บางระกำ อยู่ในตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในแผนที่บางระกำอยู่ก่อนบางปลา

บางยุง อยู่ในตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางกระบือ หรือบางควาย

บ้านไซ หรือบ้านบางไทร

บ้านหินมล

บางหลวง อยู่ในตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางน้อย อยู่ในตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

บางหวาย หรือบ้านบางหวาย

บ้านบางสาม

บ้านด่าน

บางซอ หรือบ้านบางซอ อยู่ในตำบลบางเตากง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านตเภาทลาย มีแต่บ้านสำเภาล่ม

บางปลาร้า

บางสะแก

บ้านคันชั่ง อยู่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกุ่ม อยู่ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

บางนางแม่หม้าย หรือบ้านบางแม่หม้าย ตำบลบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

คลองกฤษณา ชื่อคลองในตำบลสำลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บางเลน หรือบ้านบางเลน อยู่ในตำบลบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บางบัว อยู่ในตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านดารา อยู่ในตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านชีปขาว อยู่ในตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านชีหน หรือบางยี่หน อยู่ในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บางปลาม้า อยู่ในตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

คุ้งโพกระ อยู่ในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

โคกคราม ชื่อตำบลในอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดสวนหงส์ อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ตลาดแก้ว อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

วังตาเพชร อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

สวนขิง อยู่ในตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านยอด อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านขนมจีน อยู่ในตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

โพธิ์คอย ชื่อประตูนํ้าและประตูระบายนํ้า ในคลองส่งนํ้าบางปลาม้า อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และมีวัดโพธิ์คอยในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านตาลราย อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดมะนาวหวาน อยู่ในตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ทับขี้เหล็ก ปัจจุบันมีแต่ ตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดฝาง อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ท่าระหด ตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บางนางสุข อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ย่านยายท้าว อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ท่าโขลง อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกุฎีทอง อยู่ในตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

โคกหม้อ อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านลาว อยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บางน้ำตก อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

เมืองสุพรรณบุรี อยู่ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดพระรูป อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดประตูสาร อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวกันว่า บ้านขุนช้างอยู่ใกล้ๆ วัดประตูสาร มีผู้ชี้ว่าน่าจะอยู่ตรงที่เป็นบริเวณโคกใหญ่ ระหว่างคลองวัดผึ้งกับแม่นํ้าสุพรรณบุรี ใกล้วัดประตูสาร ปัจจุบันมีเรือนคุณยายไห นาคสุวรรณ อายุกว่า ๘๔ ปี เป็นต้น ตั้งอยู่บนโคกนั้น ท่านผู้ชี้สถานที่อธิบายบอกว่า โคกใหญ่นี้แม่ในฤดูนํ้ามาก นํ้าท่วมไปทุกหนทุกแห่งแต่ก็ไม่ท่วมโคกนี้ และยังมีที่เป็นแอ่งอยู่ข้างโคกใหญ่ กล่าวกันว่าเคยเป็นคอกช้าง ซึ่งดูสมกับว่าที่ขุนศรีวิชัยบิดาขุนช้างเป็นนายกองช้าง กรมช้างนอก

วัดกระไกร หรือวัดตะไกร อยู่ติดกับวัดประตูสารในตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าสุพรรณ ทราบว่าโบราณสถานของวัดตะไกรถูกรื้อเสียเมอราว ๑๐ กว่าปีมานี้ แล้วปราบเนื้อที่ตั้งเป็นโรงเรียนวัดประตูสาร จึงไม่มีโบราณสถานอันใดเหลืออยู่ แต่หลังวัดประตูสารออกมาทางทิศตะวันออก ยังมีลำคลองวัดป่าให้เห็นอยู่ และที่ถนนหน้าศาลาวัดประตูสาร ก็ยังเห็นสะพานและปากคลองริมแม่นํ้า สุพรรณเป็นคลองคั่นระหว่างวัดประตูสารกับวัดตะไกร แต่เดิมมาในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ว่า “ทองประศรีนั้นอยู่วัดตะไกร” แต่ในโคลงนิราศสุพรรณนี้ท่านสุนทรภู่ว่า “วัดกระไกรใกล้บ้านที่ ศรีประจัน ถามเหล่าชาวสุพรรณ เพื่อนชี้”

วัดแค อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดในที่เสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวว่า ขุนแผนเมื่อยังเป็นเณรแก้วได้มาอยู่เรียนวิชาต่างๆ กับอาจารย์คง ปัจจุบันนี้มีต้นมะขามต้นหนึ่ง ลำต้นใหญ่กว่า ๕ คนอ้อม กล่าวกันว่าเมื่อเณรแก้วเรียนวิชาเสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตน ได้ใช้ใบมะขามจากต้นนี้

ท่าสิบเบี้ย อยู่ริมลำน้ำสุพรรณ ในตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดฝาโถ อยู่ในตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่แถวบริเวณที่เป็นบ้านพักศึกษาธิการ และครูใหญ่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ในปัจจุบันวิหารและอุโบสถถูกนํ้าเซาะตลิ่งพัง จมหายไปในแม่นํ้าสุพรรณเสียแล้ว

วัดป่าเลไลยก์ อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในวิหารมีพระพุทธรูปโบราณนั่งห้อยพระบาทขนาดใหญ่สูงถึง ๒๑ เมตร ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางประทานเทศนาสมัยทวาราวดี แต่ภายหลังคงชำรุดแล้วถูกบูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาช่างผู้ปฏิสังขรณ์ไม่ทราบความหมายเดิม จึงดัดแปลงพระหัตถ์เปลี่ยนไปเลยเรียกว่า พระป่าเลไลยก์ ในสมัยโบราณ วัดนี้
เป็นแหล่งกลางที่สุพรรณบุรีมาร่วมกันทำบุญบำเพ็ญกุศลในงานเทศกาล เช่น งานสงกรานต์ ก่อพระทราย เทศน์มหาชาติ งานไหว้พระ

โพคลาน อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

โพหลวง อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

สำประทิว อยู่ในตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านรัดช้าง อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านธรรมกูล อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดสว่างอารมณ์ อยู่ในตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

โพธิ์พระยา ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านซ่อง อยู่ในตำบลโพธิ์พระยา ชายเขตอำเภอเมืองต่อกับอำเภอศรีประจันต์

บางมดแดง ตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์

วังยาง หรือบ้านวังยาง ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์

บ้านตาลเสี้ยน อยู่ในตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านศรีจัน หรือบ้านศรีประจันต์ อยู่ในตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ด่านขนอน หรือ หัวขนอน อยู่ในตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บางกระพุ้ง อยู่ในตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านใหม่ อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกร่าง อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านไร่ อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

วังปราน หรือ วังกานต์ อยู่ในตำบลวังนํ้าซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บางม่วง หรือ พังม่วง อยู่ในตำบลวังนํ้าซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านย่านยาว อยู่ในเขตอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ศาลปู่เจ้า อยู่ในตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกล้วย อยู่โนตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

คลองน้ำซับ หรือวังนํ้าซับ อยู่ในตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
บ้านหว้า หรือบ้านวังหว้า อยู่ในตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

วังหิน อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ย่านยาว อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

วังฉลาม อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บางขวาก อยู่ในตำบลย่านยาว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

สามชุก อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

สามเพ็ง อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านชัดหอม อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านทึง (วัดขี้ทึ้ง) อยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านกระตั้ว
บ้านโป่งแดง อยู่ในตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

คลองกระเสียว อยู่ในตำบลกระเสียว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บางแวก

สองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง

หมู่บ้านกระเหรี่ยง

หมู่บ้านละว้า

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

โคลงนิราศสุพรรณ

วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า        เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย            ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย            ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า        คลาดแคล้วแล้วหนอ

คิดคำรำลึกไว้            ใคร่เตือน
เคยรักเคยร่วมเรือน        ร่วมรู้
อย่าเคืองเรื่องเราเยือน       ยามแก่ แม่เอย
ใครที่มีชู้ชู้                ช่วยค้ำคำโคลง

บางทีคนเราทั้งหลายก็ต้องมานั่งเสียใจว่างานที่เขาทำลงไปแล้วนั้น หากไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า เพราะมันทำลายเกียรติที่เขาเคยสร้างไว้แล้วให้อับเฉาไป สำหรับในทางวงวรรณคดี ข้าพเจ้าอยากจะยกเรื่องการแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลงของสุนทรภู่เป็นอุทาหรณ์ หากสุนทรภู่จะไม่แต่งโคลงเสียเลยในชีวิต แต่งแต่กลอนสุภาพที่เคยถนัดอย่างเดียวแล้ว รัศมีแห่งเกียรติทางการประพันธ์ของสุนทรภู่จะบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะท่านได้เกียรติสูงสุดอยู่แล้วในศิลปะของกลอนสุภาพ แต่นี่ท่านสุนทรภู่หาญไปแต่งนิราศสุพรรณเป็นโคลง อันมิใช่มือขวาตนเข้า นิราศสุพรรณจึงแต้มจุดดำแก่เกียรติทางงานนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ด่างพร้อยเพราะนิราศสุพรรณบ้างแต่ก็ไม่มากมายนัก ถึงกระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้ามีเหตุผลบางประการ ที่จะให้ความยุติธรรมแก่อมตกวีผู้นี้ ดังจะได้อภิปรายต่อไป

อันศิลปินนั้นย่อมมีอัจฉริยวุฒิเป็นพิเศษเฉพาะอย่าง ยากนักที่จะให้ศิลปินเชี่ยวชาญในศิลปะได้ในทุกสาขา ในวงวรรณคดีย่อมเป็นที่รับรองกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นเจ้าแห่งกลอนบทละคร สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเป็นยอดกวีทางลิลิตและฉันท์ นายนรินทร์ อันเป็นเอกในกระบวนนิราศคำโคลงและสุนทรภู่ชนะเลิศในกระบวนกลอนสุภาพ เป็นสาขาๆ ไป ดังนั้น เมื่อสุนทรภู่ไปหาญแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลงเข้า สุนทรภู่ต้องเป็นรองเขา นักวรรณคดีถือว่าสุนทรภู่ แพ้นรินทร์อินอย่างหลุดลุ่ยในกระบวนคำโคลงพิศวาส และดูเหมือนจะสู้พระยาตรังเจ้าของนิราศคำโคลงมีชื่อไม่ได้อีกด้วย แต่สุนทรภู่ก็มีวิสัยเป็นนักกีฬาที่รู้แพ้รู้ชนะท่านย่อมแพ้อย่างชื่นตาในการประลองศิลปะแห่งโคลง ดังจะเห็นได้ว่าไม่ได้แต่งโคลงอีกเลยตลอดชีวิต

ทำไมสุนทรภู่จึงแต่งนิราศสุพรรณเป็นคำโคลง? ย่อมเป็นที่รู้กันว่าสุนทรภู่นั้นเป็นกวีที่หยิ่งในศิลปะของตนยิ่งนัก ทั้งมีนิสัยเป็นคนเปิดเผยพูดตรงไปตรงมา ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงใคร มีอหังการเป็นอย่างมาก และโดยเฉพาะหยิ่งนักในกระบวนกลอนของตน ตามธรรมดาคนเราย่อมมีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ คนที่เห็นสุนทรภู่เด่นนักก็อิจฉา แกล้งแคะไค้ ยั่วเย้าสุนทรภู่ จนหนักเข้าถึงประมาทว่าสุนทรภู่นั้นแต่งได้ดีแต่กระบวนกลอน คำประพันธ์ชนิดอื่นคงทำไม่ได้ดี สุนทรภู่นั้นเป็นคนวู่วามที่ไม่ชอบให้คนท้า และยิ่งท้าด้วยอาการประมาทด้วยแล้วก็ออกรับทันที คือสุนทรภู่ลงมือทำพระไชยสุริยา เป็นกาพย์ และทำนิราศสุพรรณเป็นโคลง เพื่อเป็นปฏิกริยาต่อคำประมาทที่ท่านทนอยู่ไม่ไหว

โดยประวัตินิราศสุพรรณแต่งเมื่อ ๒๓๘๔ (ดูคำอรรถและบันทึกของกรมศิลปากรในประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ) เวลานั้นสุนทรภู่บวชอยู่ที่วัดเทพธิดาอายุ ๕๕ ปี นับเป็นนิราศเรื่องที่ ๔ ของกวีผู้นี้ นิราศสุพรรณเขียนภายหลัง “โคลัมบา” ของเมริเม และ “รัศมี กับเงา” ของวิคเตอฮูโก เพียงปีเดียวเวลานั้นกีโซต์นักประพันธ์และนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสุนทรภู่กำลังรุ่งโรจน์ในทางการเมืองและมีโอกาสตั้งรัฐบาลกีโซต์ (๑๘๔๖-๑๘๔๘) แต่สุนทรภู่กำลังคลั่งเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ ที่ไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นก็มีนัยว่าจะไปหาแร่ การเดินทางของสุนทรภู่เต็มไปด้วยการผจญภัย เมืองสุพรรณสมัยสุนทรภู่รกร้างและเปล่าเปลี่ยวมากเต็มไปด้วยเสือตามฝั่งนํ้า ซํ้าในแม่นํ้ามีจระเข้ชุกชุม สุนทรภู่เดินทางโดยเรือและแบบหนีเสือปะจระเข้จริงๆ

เนื้อนิราศ
สุนทรภู่เดินทางโดยเรือจากวัดเทพธิดาไปตามคลองมหานาค มีนายพัด นายตาบ (บุตรชาย) และคนอื่นติดตามไปด้วย เมื่อผ่านวัดสระเกศเราได้ความรู้ว่า แม่ของท่านตายแล้ว และศพอยู่ที่วัดนั้น เมื่อเรือผ่านมาถึงฉนวนเห็นพระที่นั่งที่เคยเฝ้าพระพุทธเลิศหล้าฯ ในการชำระนิพนธ์ก็รำลึกถึงพระคุณท่าน “สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้า กลับร้างห่างฉนวน” ผ่านท่าช้างก็รำพึงว่าเป็นที่ที่ได้รับพระราชทานจากพระพุทธเลิศหล้าฯ ไปถึงวังหลังก็ระลึกถึงชีวิตตอนหนุ่มว่าเคยอยู่กับคุณจัน เดินทางไปจนถึงเมืองสุพรรณซึ่งเวลานั้นรกร้างและเปล่าเปลี่ยวมาก เต็มไปด้วยเสือแม้แต่ริมฝั่งแม่นํ้าก็มีเสือชุม สุนทรภู่ได้ไปเห็นถิ่นฐานบ้านช่องของคนสำคัญในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น ขุนช้าง ศรีประจัน ทองประศรี วัดที่ พิมพิลาไลยสร้าง สุนทรภู่ได้ไปไหว้วัดพระป่าเลไลยก็อธิษฐานว่าดังนี้

ขอเดชุพระพุทธเจ้า    จงเห็น
อุตส่าห์มาเช้าเย็น    ยากไร้
ปรารถนาว่าจะเป็น    ปัจเจกพุทธ ภูมิเอย
บุญช่วยด้วยให้ได้    ดุจข้าอาวรณ์

ยังไปไม่พ้นภพ          สงสาร
ขอปะพระศรีอารย์        อีกเหล้า
ตราบถึงซึ่งพระนิพพาน    ภายภาค หน้าเอย
ขอสุขทุกข์โศกเศร้า      สิ่งร้ายหายสูญ

ต่อจากนั้นก็ได้ไปพบแร่เหล็กอย่างดี และแร่ทองแดง แต่มิได้ปรากฏว่าได้แสดงความสนใจมากมายนัก

ว่าถึงกระบวนพรรณนาและบรรยาย นิราศสุพรรณมีรสด้อยกว่าเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ สังเกตดูตลอดนิราศพูดถึงสิ่งที่พบเห็นอย่างย่อๆ แทบทั้งนั้น ถึงกระนั้นก็ตามเราจะได้พบเรื่องแปลกๆ หลายเรื่อง เช่น ลาวฟ้าแลบ ลาวเปลือย สาวกะเหรี่ยงผูกลูกปัดแดง ครอบครัวชรา (ผัวอายุ ๑๒๐ ปียังสนเข็มได้เมียอายุ ๑๑๘ ปี) ประวัติบ้านทึงและลูกชายสุนทรภู่กับผู้หญิง จะเล่าบางเรื่องดังนี้

ผู้เฒ่าเล่าเรื่องหย้าน        บ้านทึง
ท้าวอู่ทองมาถึง           ถิ่นถุ้ง
แวะขอเชือกหนังขึง        เขาไม่ ให้แฮ
สาปย่านบ้านเขตคุ้ง        คี่ทิ้งถึงแปลง

ศิลปะการประพันธ์

บัดนี้จะพูดถึงศิลปะในทางพิศวาสของสุนทรภู่ตามที่ปรากฎในนิราศสุพรรณสุนทรภู่ได้นำชื่อเมีย ชู้ และคู่รักของตนหลายคนมาเป็นทางระบายอารมณ์พิศวาส ผ่านตำบลใดหรือพบสิ่งใดอันจะเป็นเหตุให้หวนประหวัดถึงคนไหน อมตกวีของเราก็ระบุชื่อคนรักของตน คุณจัน แม่งิ้ว แม่กลิ่น แม่แก้ว แม่ม่วง แม่น้อย แม่สุข และแม่บัวคำ ตลอดจน “นกน้อยลอยลม” ตัวหนึ่งที่เคยกก แต่คนที่ได้รับเกียรติคร่ำครวญหวนโหยด้วยความอาลัยมากที่สุดคือ คุณจัน-ที่สุนทรภู่ได้มาเป็นเมียด้วยความลำบากยากเข็ญและต้องหลุดมือไปเป็นของเขาอื่นอย่างว่าวขาดลมลอย คงจะเป็นคุณจันนี่เองที่ทำให้สุนทรภู่ รู้ถึงอิทธิพลหญิงในศิลปะการประพันธ์ ท่านจึงกล่าวว่า “ใครที่มีชู้ชู้ช่วยคํ้าคำโคลง” เมื่อเรือมาถึงบ้านบุ สุนทรภู่ก็พ้อคุณจันซึ่งหลุดมือตนไปเป็นของเขาอื่นแล้วว่า “มีคู่ชู้ชื่นหน้า นุชปลื้มลืมเดิม” และบ่นด้วยศิลปะอันแสดงความเสียดายอย่างเศร้าๆ เต็มไปด้วยความเสน่หาอาลัย

เสียดายสายสวาทโอ้            อาวรณ์
รักพี่มีโทษกร                กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร           เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง            แตกฟ้าผ่าสลาย

แล้วรำพึงครวญครํ่าอย่างสิ้นหวัง

เดือนดับลับโลกคง        คืนค่ำ อีกเอย
จันพี่นี้ลับหน้า            นับสิ้นดินสวรรค์

เมื่อผ่านบางกรวย สุนทรภู่รำพันถึงแม่งิ้วเมียที่ตายแล้วตรวจนํ้าไปให้ โคลงบทหนึ่งรำพึงว่า

ยามยลต้นงิ้วป่า        หนาหนาม
นกบาปวาบวับหวาม    วุ่นแล้ว
คงจะปะงิ้วทราม        สวาทเมื่อ ม้วยแฮ
งิ้วกับพี่มิแคล้ว        คึ่นงิ้วลิ่วสูง

เมียรักอีกคนหนึ่งที่อมตกวีฝากทำนองพิศวาสไว้ในนิราศสุพรรณ คือ แม่ม่วง (ในโคลงเรียก ม่วงหม่อม) ดูเหมือนจะเป็นแม่ของลูกที่ชื่อนิล สุนทรภู่เปรียบ

นึกมดอดสูใจ        จงมะม่วง หวงแฮ
เพียงพี่มิมอดม้วย    ไม่สิ้นถวิลหวัง

ข้าพเจ้าสังเกตว่าสุนทรภู่ต้องการแสดงความผิดเพื่อนทุกประการของตนในโคลงนิราศสุพรรณ ไม่เอาอย่างใคร อย่างที่นายนรินทร์และพระยาตรังชอบทำ สุนทรภู่ต้องการเป็นตนของตนเอง และดูเหมือนจะต้องนำเพื่อนเสียด้วย โคลงนิราศนั้นโดยมากเขามักเริ่มร่ายสดุดี แต่สุนทรภู่ไม่สดุดีอะไรเลย (อาจเป็นเพราะเป็นรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งไม่โปรดสุนทรภู่นัก และสุนทรภู่เคยว่า “จะหยิบยกธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง”-นิราศภูเขาทอง) สุนทรภู่ยังแทรกทำนองนาคบริพันธ์ ในโคลงนิราศของท่านด้วย ซึ่งนายนรินทร์หรือพระยาตรังไม่ทำ ขอคัดมาให้ดูดังนี้

สาวเอยเคยอ่อนหนุ้ม        อุ้มสนอม
ออมสนิทชิดกลิ่นหอม       กล่อมให้
ไกลห่างว่างอกตรอม        ออมตรึก รฦกเอย
เลยอื่นขึ้นครองได้        ไคร่หว้าน่าสรวล

ลักษณะแห่งความผิดเพื่อนที่สุนทรภู่ถูกติก็คือ สุนทรภู่ไปเล่นสัมผัสในในคำโคลงด้วย นักวรรณคดีบางท่านว่าสัมผัสในลีลาไม่เหมาะกับโคลง แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยทราบว่าระเบียบโคลงจะห้ามสัมผัสในสุนทรภู่นั้นถือว่าเสียงสัมผัสเป็นศิลปะที่เรียกความไพเราะ สุนทรภู่เคยใช้มันได้ผลมาแล้วในกลอน จึงสมัครใช้สัมผัสในโคลงของตนด้วยเป็นการใช้สิทธิ์ของเอกชนในฐานะผู้นำศิลปะชนิดหนึ่ง นี่คือลักษณะของนักก้าวหน้าและผู้ถางทางสำหรับผู้อื่น แต่ทำไมสุนทรภู่จึงเข็นครกขึ้นภูเขาไม่ไหว? นํ้าน้อย ย่อมแพ้ไฟ

อันที่จริงสัมผัสในนั้นข้าพเจ้าก็เคยเห็นกวีเล่นกันทุกคนในโคลง นรินทร์อิน “เอียงอกเท อกอ้างอวดองค์ อรเอย” กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส “โกสุมชุ่มช้อยอรชร” พระยาชัยวิชิต (เผือก) “เอมอ่านอิ่มใจเสบย สบายจิต” ศรีปราชญ์ “คนเดียวมาจากเจ้า เจ็บอก อ่อนเอย” สัมผัสของสุนทรภู่ที่เห็นผิดเพื่อน ก็คือนิยมสัมผัสด้วยสัมผัสในระหว่างวรรค อาจเป็นการเสนอศิลปะเพื่อความเป็นต้นคิดของสุนทรภู่ก็ได้เช่น

๑. เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว
๒. มหานาคชวากรุ้ง คุ้งคลอง
๓. เลี้ยวลัดวัดสระเกศก้ม คมลา
๔. เรือรุ่งฝูงนกร้อง ก้องดง
๕. เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
๖. เคยอยู่คู่สำราญ ร่วมเย่า เจ้าเอย” ดังนี้เป็นต้น

บางทีจะเป็นด้วยสัมผัสดังนี้กระมังที่ทำให้ศิลปะแห่งโคลงของสุนทรภู่ดูยืดยาดไปขาดเสียงกระชับหนักแน่นอยู่บาง นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีข้อผิดแปลกไปกว่าโคลงของคนอื่นอย่างไร หลายบทที่มีความงามอย่างมาก งามทั้งความคิด งามทั้งรูปโคลง ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างความงามในแง่แปลกมาให้ชมสักบทดังนี้

ทุกข์ใครในโลกล้น        ล้ำเหลือ
ไม่เท่าควายลากเรือ        รับจ้าง
หอบฮักจักขุเจือ            เจิ่งชุ่ม ชลเอย
มนุษย์ดุจติดค้าง           เฆี่ยนเจ้าเอาเงิน

นอกจากความผิดเพื่อนด้วยประการต่างๆ ดังอภิปรายมาแล้ว ดูเหมือนว่าในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ต้องการอารมณ์สนุก และเอาอุปนิสัยเด่นของงานนั่นเองมาเปิดเผย เช่นเรื่องกินเหล้าและเรื่องเจ้าชู้ เมื่อสุนทรภู่ไปไหว้พระวัดป่าเลไลยก็ได้อธิษฐานว่าดังนี้

ยังไปไม่พ้นภพ        สงสาร
ขอปะพระศรีอารย์    อีกเหล้า
ตราบถึงซึ่งนิพพาน    ภายภาค หน้าเอย
ขอสุขทุกข์โศกเศร้า    สิ่งร้ายหายสูญ

ข้อความในบาทที่สองนี้หมายความได้ ๒ แง่ คำว่า เหล้า หมายถึงอะไรแน่ สุนทรภู่อาจหมายถึงสุรา มิฉะนั้นจะใช้คำอื่นแทนโดยมิต้องให้เสียเอกโทษโทโทษเลย เช่นตรงนั้นอาจใช้คำว่าด้วยก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องใช้เล่าเป็นเหล้า) ถ้าเป็นจริงก็แปลว่าสุนทรภู่ขอพบเหล้าทุกชาติไป

อารมณ์สนุกในเรื่องเจ้าชู้สุนทรภู่ก็ได้แสดงไว้อย่างขบขันและครื้นเครง สุนทรภู่ได้สอนให้ลูกชาย คือพัดกับตาบเกี้ยวสาวลาว แต่ลูกไม่เจ้าชู้เหมือนพ่อ เกี้ยวไม่เป็นอายผู้หญิง สุนทรภู่จึงปรารภว่า

ลูกเอยเฉยเช่นปั้น    ปูนขาว
สาวเพ่งเล็งหลบสาว    ซิ่นแล้ว
ปะเป็นเช่นพ่อคราว    ครั้งหนุ่ม
ตายราบลาภไม่แคล้ว   คลาดช้านาที

ตอนค่ำลูกสาวลาวมาหาแต่คนเดียว เอาของมาให้ และนั่งใกล้ ลูกชายท่านกวีเจ้าชู้ก็ยังไม่แสดงบทบาทให้สมใจพ่อ สุนทรภู่จึงปรารภถึงความลำบากของการมีลูกผู้หญิง    และความโง่ของลูกตัวเองว่า

บุราณท่านว่าเลี้ยง    ลูกสาว
มันมักหักรั้วฉาว        เช่นพร้อง
หนุ่มชายฝ่ายรุ่นราว    รักขยัน พรั่นแฮ
ลูกโง่โซแสบท้อง      บ่รู้สู่สาว

ในเรื่องภาษาของสุนทรภู่นั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม) นักวรรณคดีชั้นอาจารย์ได้เคยพูดถึงความสามารถของสุนทรภู่อยู่บ่อยๆ ท่านเคยกล่าวถึงการใช้สัมผัสของสุนทรภู่ สระบางสระเช่น อีน หาคำใช้ยาก ในภาษาไทยมีเพียง ๔ คำ คือ ศีล ตีน ปีน จีน แต่สุนทรภู่ก็เอามาใช้ได้อย่างเหมาะสม อย่างอัศจรรย์ ท่านยกตัวอย่างจากเรื่องพระอภัยมณีตอนบรรยายลักษณะของชีเปลือยว่า

“ไม่นุ่งผ้าคากรองครองหนังเสือ    ประหลาดเหลือโล่งโต้งโม่งโค่งขัน
น่าเหียนรากปากมีแต่ขี้ฟัน        กรนสนั่นนอนร้ายเหมือนป่ายปีน
ประหลาดใจใยหนอไม่นุ่งผ้า      จะเป็นบ้าไปหรือว่าถือศีล
หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน    ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที’’

สุนทรภู่จะต้องการ “เป็นนาย” ภาษาไทยให้ได้ ไม่ยอมจนสัมผัส และคำจำพวกอีน ก็นำมาใช้ในโคลงนิราศสุพรรณเหมือนกัน

ลุดลชนบทบ้าน            ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน            ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสีน        สยายเพ่า เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ        สลับผู้หูหนาง

พูดถึงความจริงในการเขียนโคลงนิราศกันแล้ว ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่ชนะเลิศชนะนายนรินทร์ สุนทรภู่เปิดเผยยิ่งกว่าพระยาตรัง สุนทรภู่เขียนด้วยใจมากกว่าหัว เขียนเพราะอารมณ์บันดาลจริงๆ หน้าไหนที่กล้าบอกความจริงอย่างสุนทรภู่บ้าง เมีย ชู้ คนรักมีเท่าไรสุนทรภู่บอกหมด นายนรินทร์นั้นแม้แต่ชื่อเมียที่เขารักเทิดทูน จนไม่รู้จะฝากใคร สวยอย่างสามภพหาไม่ได้ ดีอย่างนั้นหวานอย่างนี้ ล้วนแต่พูดเกินความจริงทั้งเพ แต่นายนรินทร์ก็หากล้าเปิดเผยชื่อเมียของเขาให้ใครรู้จักไม่ ตรงกันข้าม สุนทรภู่จาระไนชื่อไว้หมดอย่างไม่อับอายครั่นคร้าม ข้อติฉินนินทาใดๆ ข้าพเจ้ารักสุนทรภู่นักในเรื่องเขียนด้วยคำซื่อสุจริตและจริงใจ สุนทรภู่หลงความรู้สึกจากหัวใจลงสู่ปากกาหรือดินสอของท่านโดยซื่อเสียจริงๆ ขอคัดมาให้ชมสักบทหนึ่งดังนี้

วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง            เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน        คู่พร้อง
เคยลอบตอบสามสมร        สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง        นกน้อยลอยลม

นิราศสุพรรณมีทุกรส พิศวาส, หรรษา, ธรรมคติ และการด่าอย่างเจ็บปวด ข้าพเจ้าได้เสนอสำนวนพิศวาสไว้ในเรื่องก่อนบ้างแล้ว ในที่นี้จะขอนำเอาการด่าเชิงกวีของสุนทรภู่มาให้ฟังสัก ๒ บท บทแรกด่าขุนนาง บทหลังด่าตระลาการ

กาเหยี่ยวเที่ยวว้าว่อน            เวหา
ร่อนร่ายหมายมัจฉา            โฉบได้
ขุนนางอย่างเฉี่ยวกา            กินสัตว์ สูเอย
โจนจับปรับไหมใช้            เข่นข้าด่าตี

ยางเจ่าเซาจับจ้อง            จิกปลา
กินเล่นเป็นภักษา            สุกล้ำ
ตระลาการท่านศรัทรา           ถือสัตย์ สวัสดิ์แฮ
บนทรัพย์กลับกลืนกล้ำ        กล่าวคล้ายฝ่ายยาง

เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นการยุติธรรมหรือ ที่เราจะหาว่านิราศสุพรรณของสุนทรภู่สู้ของคนอื่นไม่ได้ สุนทรภู่อาจแพ้เขาในกระบวนความงามของโคลง แต่ในกระบวนความงามของความคิด และความซื่อแห่งการแสดงออก ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่ชนะใครๆ หมด นิราศสุพรรณจึงเป็นทองคำขาวที่ทาบไว้กลางทองคำอื่นบนผืนปฐพีวรรณคดีไทย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศอิเหนา

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้            หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก        แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ
จะสร้างพรตอดรักหักสวาท        เผื่อจะขาดข้อคิดพิสมัย
แม้นน้องนุชบุษบานิคาลัย        จะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นโสฬส
จงหยุดทัพยับยั้งตั้งอาศรม        รักษาพรหมจรรย์ด้วยกันหมด
ปะตาปาอายันอยู่บรรพต        อุตส่าห์อดอาลัยก็ไม่คลาย
ภาวนาว่าจะตั้งปลงสังเวช        ก็หลับเนตรเห็นคู่ไม่รู้หาย
จะสวดมนต์ต้นถูกถึงผูกปลาย    ก็กลับกลายเรื่องราวเป็นกล่าวกลอน

ชีวิตในระหว่างสมณเพศของอมตกวีไม่ใคร่อยู่กับที่ จากวัดราชบูรณะไปอยู่วัดเทพธิดา จากวัดเทพธิดาไปอยู่วัดพระเชตุพน และสุดท้ายที่ไปจำพรรษาคือวัดมหาธาตุ นัยว่าเวลานั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวชจากวัดพระเชตุพนแล้ว แต่ยังทรงอุปถัมภ์สุนทรกู่อยู่ จึงชวนให้มาจำพรรษาที่วัดมหาธาตุซึ่งอยู่ใกล้วัดของพระองค์ท่านเพื่อจะได้สะดวกในการถวายภัตตาหาร และการติดต่อส่วนพระองค์ เช่น เวลาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะไปทรงเล่นสักวาที่ใด ก็มักจะนิมนต์พระสุนทรภู่ไปด้วยสำหรับเป็นผู้บอกสักวาในเรือของท่าน เพราะสุนทรภู่มีชื่อเสียงดีในเชิงสักวามาแล้วตั้งแต่รุ่นหนุ่มในที่สุดสุนทรภู่ก็สึก รวมเวลาบวชอยู่ ๗-๘ พรรษา ปีที่สึกก็ควรจะเป็นราว พ.ศ. ๒๓๗๖-๗ อายุประมาณ ๔๗-๔๘ ปี ในระหว่างสึกเป็นฆราวาสก็ยังคงอาศัยพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่อย่างปกติ ลูกอยู่วังหลัง เมียไม่มีเป็นเนื้อเป็นตัว

งานประพันธ์ของสุนทรภู่ในระยะพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ คือ นิราศอิเหนา กับ พระอภัยมณี (ต่อเรื่อยมาจากที่แต่งในคุกเมื่อรัชกาลที่ ๒) นิราศอิเหนาแต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ

นิราศอิเหนาผิดกับนิราศอื่นๆ ของสุนทรภู่ทั้งหมด สุนทรภู่งดพูดถึงตัวเองชั่วคราว มอบบทบาทแห่งความพิศวาสให้แก่อิเหนา ดาราเอกของวรรณกรรมชิ้นสำคัญยิ่งแห่งยุครัตนโกสินทร์ เป็นนิราศแห่งความคิดคำนึงของสุนทรภู่ซึ่งอาศัยอิทธิพลแห่งวรรณคดีจูงใจให้เขียนโดยแท้ เป็นการเขียนเพื่อหย่อนอารมณ์ตามวิสัย “นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ”

เนื้อนิราศ
ผู้อ่านควรศึกษาพระราชนิพนธ์อิเหนาในรัชกาลที่ ๒ ประกอบเสียก่อน เนื้อนิราศมีว่า บุษบา นางเอกของเรื่องถูกลมหอบไป อิเหนาเที่ยวตามพร้อมทั้งกองทัพ รำพึงรำพันด้วยความเสน่หาอาลัย เที่ยวติดตามตลอดไปจนประเทศใกล้เคียงชวา เช่น มะละกา สิ้นเวลา ๗ เดือนก็ไม่พบ จึงสร้างอาศรม บวชอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่ง

ศิลปะการประพันธ์
ด้วยเหตุที่เรื่องนี้เป็นนิราศแห่งความเพ้อฝันอย่างเสรี สุนทรภู่จึงบรรจงศิลปะของท่านอย่างงดงาม กลอนสัมผัสดี ใจความเด่นชัดทุกตอน เต็มไปด้วยความพร่ำเพ้อรำพันอย่างไพเราะจับใจ

พูดถึงกระบวนกลอน ผู้อ่านจะชมชื่นอย่างเพลิดเพลิน เช่น

“โอ้รินรินกลิ่นนวลยังหวนหอม    เคยถนอมแนบทรวงดวงสมร
ยังรื่นรื่นชื่นใจอาลัยวรณ์        สะอืนอ้อนอารมณ์ระทมทวี…”

“โอ้อกเอ๋ยเคยอุ่นละมุนละม่อม        เคยโอบอ้อมอ่อนตามไม่ห้ามหวง
ยังเคลิบเคล้นเช่นปทุมกระพุ่มพวง    เคยแนบทรวงไสยาสน์ไม่คลาคคลา”

เป็นกลอนเบาๆ ฟังง่ายระรื่นหู แต่ซาบซึ้งตรึงใจยิ่งนัก เต็มไปด้วยสัมผัสในซึ่งช่วยให้กลอนชูรสขึ้นอย่างถึงใจ

บทพรรณนานั้นแทนที่จะพูดถึงตำบลต่างๆ ที่ผ่านไป ศิลปินฝีปากเอกได้ทำให้ต่างกับเรื่องอื่นโดยหันมาพูดถึงเครื่องใช้ต่างๆ ของบุษบา ทุกสิ่งล้วนเป็นเครองกระตุ้นเสน่หาอาลัย

“เห็นแท่นทองที่ประทมภิรมย์สงวน    ไม่เห็นนุชสุดจะทรงพระองค์ฃซวน… ’’

“บนยี่ภู่ปูเปล่าเศร้าสรด        ระทวยทดทอดทบซบกันแสง… ”

“เห็นน้ำพุดุดั้นตรงบัลลังก์        เคยมานั่งสรงชลที่บนเตียง
เจ้าสรงด้วยช่วยพี่สีขนอง        แต่น้ำต้องถูกหนีดก็หวีดเสียง…”

ช่างเต็มไปด้วยความยวนยีระคนความเศร้า แต่เป็นเศร้าเพราะรักจึงดูดดื่มยิ่งนัก จะขอยกบทบรรยายลักษณะชมธรรมชาติที่มีความดีเด่นให้ชมดังนี้

“คิดถึงนุชบุษบาแม้นมาเห็น            จะลงเล่นลำธารละหานหิน
ฝูงปลาทองท่องไล่เล็มไคลกิน        กระดิกลิ้นงดงามตามกระบวน
ปลาเนื้ออ่อนอ่อนกายขึ้นว่ายเคลื่อน    ไม่อ่อนเหมือนเนื้อน้องประคองสงวน
ปลานวลจันทร์นั้นก็งามแต่นามนวล    ไม่งามชวนชื่นเช่นระเด่นดวง…”

นอกจากนี้ท่านจะได้ฟังธรรมชาติอื่นๆ อย่างไพเราะ
พูดถึงอารมณ์สวาทก็ดีดดิ้น ดุดัน และท้าทาย

“ดูเวหาว่าแสนแค้นพระพาย        ไม่พาสายสวาทคืนมาชื่นใจ…”

“ต้องพลัดพรากเพราะว่าลมทำข่มเหง     แม้นพบเห็นเป็นต้องไม่กลัวเกรง
จะรำเพลงกริชรานสังหารลม”
แล้วครวญอย่างอ่อนใจ

“โอ้นกเอ๋ยเคยอยู่มาสู่ถิ่น    แต่ยุพินลิบลับไม่กลับหลัง
ครั้นแลดูสุริย์แสงก็แดงดัง    หนึ่งน้ำครั่งคล้ำฟ้านภาลัย
เหมือนครั้งนี้พี่มาโศกแสนเทวษ    ชลเนตรแดงเดือดดังเลือดไหล
โอ้ตะวันครั้นจะลบภพไตร        ก็อาลัยโลกยั้งหยุดรั้งรอ
ประหลาดนักรักเอ๋ยมาเลยลับ    เหมือนเพลิงดับเด็ดเดียว ไปเจียวหนอ… ”

สุนทรภู่บอกบทให้อิเหนาเทิดบุษบายิ่งกว่าหญิงใดๆ ในพิภพ “ระตูต่างส่งธิดามาถวาย ไม่ไยดีอีนังซังกะตาย เหมือนแก้วหายได้ปัด ไม่ทัดเทียม”
แล้วปรารภว่า

“แม้นมิตามความรักเฝ้าชักชวน        ให้ปั่นป่วนไปตามเพราะความรัก
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้                หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก            แต่ตัดรักนี้ม่าดประหลาดใจ”

แม้เมื่อบวชแล้วก็หักสวาทไม่ได้ ดังว่า

“ภาวนาว่าจะตั้งปลงสังเวช        ก็หลับเนตรเห็นคู่ไม่รู้หาย
จะสวดมนต์ต้นถูกไปผูกปลาย    ก็กลับกลายเรื่องราวเป็นกล่าวกลอน”

ความเรื่องบวชแล้วคิดถึงผู้หญิงดังนี้ก็ไม่ผิดไปจากชีวประวัติของสุนทรภู่เอง ในที่สุดอิเหนาก็อธิษฐาน

“จะเกิดไหนในจังหวัดปฐพี            ให้เหมือนปี่กับขลุ่ยต้องทำนองกัน
เป็นจีนจามพราหมณ์ฝรั่งและอังกฤษ    ให้สนิทเสน่หาตุนาหงัน
แม้นเป็นไทยให้เป็นวงศ์ร่วมพงศ์พันธุ์    พอโสกันต์ให้ได้อยู่เป็นคู่ครอง”

นิราศอิเหนาสั้นรองจากนิราศภูเขาทอง แต่เป็นเรื่องที่แต่งอย่างอารมณ์เสรีประกอบทั้งผู้แต่งมีความชำนิชำนาญจัดเจนยิ่งถึงขีด “สุด” แล้ว บวชแล้ว มีเมียแล้ว และร้างแล้ว เห็นโลกชัดเจนหมด ศิลปะในนิราศนี้จึงนับว่าดี ข้าพเจ้าสมัครจะให้เป็นที่ ๓ ในนิราศสุนทรภู่ทั้งหมด (นิราศเมืองเพชรเป็นที่ ๒ นิราศภูเขาทองเป็นที่ ๑)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด