อุดมคติของชีวิตตามทรรศนะของเล่าจื๊อ

อุดมคติของชีวิต ตามทรรศนะของเล่าจื๊อนั้น อาศัยหลักของคำสอนเรื่อง หวูเหว่ย เป็นประการสำคัญ เขาสอนไม่แต่เฉพาะแต่เรื่องคุณธรรมของการไม่กระทำสิ่งอันใดเท่านั้น แต่ยังสอนเรื่อง คุณธรรมของการไม่มีภาวะที่เป็นตัวตนอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ช่องว่างระหว่างซี่ของล้อรถ และความกลวงของภาชนะดินเผา และความว่างเปล่าภายในตัวอาคารบ้านเรือน คุณค่าของสิ่งทั้งสามที่กล่าวถึงนี้ มาจากความว่างทั้งสิ้น  เขากล่าวเป็นทฤษฎีว่า

เราได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของสิ่งทั้งหลาย
เราใช้ประโยชน์จากความว่างของสิ่งทั้งหลาย

เล่าจื๊อ กล่าวยกย่อง “วิญญาณแห่งหุบเขา” ความอ้างว้างของหุบเขา เป็นสัญลักษณ์ของความว่างในปรัชญาเต๋า เล่าจื๊อ เรียกความอ้างว้างของหุบเขาว่าเป็น “อิตถีภาวะแห่งความลึกลับ” กล่าวคือ เป็นหลักอันสำคัญประการแรกที่สุดของชีวิต เพราะว่าสตรีนั้นเอาชนะโลกได้ด้วยความอ่อนนุ่มละมุนละไม และความอ่อนน้อมถ่อมตน เล่าจื๊อกล่าวว่า

มนุษย์ ขณะที่มีชีวิตอยู่นั้นกายมีลักษณะอ่อนนุ่ม แต่เมื่อตายไปแล้ว กายกลับแข็งกระด้าง ในทำนองเดียวกัน สรรพสิ่งทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น หญ้าและต้นไม้ เมื่อมันมีชีวิตอยู่ มันอ่อนนุ่มและโอนอ่อนไปมา

…..ปรับตนเองให้เข้ากับ เต๋า เป็นผู้มีสติปัญญาอันแหลมคมและลึกซึ้ง ….แต่เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลาย มีกิริยาอาการเรียบง่าย และบริสุทธิ์ใจ ประดุจดังท่อนไม้ที่ยังไม่ได้ขูดถาก (ผู่-P’u) เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางและลึกซึ้งประดุจหุบเขาอันเวิ้งว้าง เป็นผู้มีทรรศนะที่ปราศจากอคติและกว้างไกลประดุจท้องทะเลที่กำลังมีคลื่นอันปั่นป่วน

ด้วยทรรศนะปรัชญาแบบธรรมชาตินิยม และทรรศนะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจารีตประเพณี และการประดิษฐ์สร้างสรรค์ทั้งปวงของมนุษย์เช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เล่าจื๊อ จึงมีความรังเกียจคุณธรรมของขงจื๊อ ที่ว่าด้วยมนุษยธรรม และการยึดมั่นอยู่ในหลักจริยธรรม ที่จริงแล้ว เล่าจื๊อนั้นมีความเห็นว่าการที่มนุษย์ต้องตกต่ำลงไปจากเต๋า และเต้อนั้น ก็เป็นเพราะมนุษย์หันไปยึดถือคุณธรรมของขงจื๊อนั่นเอง

เพราะฉะนั้น เมื่อเต๋าสูยหายไป ก็ยังมี เต้อ เหลืออยู่ เมื่อเต้อสูญหายไป ก็ยังมีมนุษยธรรมเหลืออยู่ เมื่อมนุษยธรรมหายไป ก็ยังมีการปฏิบัติตนอันเหมาะสมเหลืออยู่  …..การปฏิบัติตนอันเหมาะสมนั้นเกิดขึ้นมา เพราะคนขาดความจงรักภักดี และขาดศรัทธาอันดีงาม และเพราะว่าสภาพการณ์ของสังคม เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน

ในทำนองเดียวกัน เล่าจื๊อ ถือว่าความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ การกระทำเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น ความอยากเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ความยกย่องสรรเสริญและโภคทรัพย์เป็นสิ่งที่ปราศจากคุณค่า สิ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง ไม่ใช่สิ่งที่มีขึ้นมาตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นผลของการปรุงแต่งของมนุษย์ ไม่ใช่วิถีทางของธรรมชาติ มนุษย์อาจดำรงชีวิตของตนให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างแท้จริงได้ ธรรมชาติจะเป็นเครื่องนำมนุษย์ไปสู่ความสุข แต่ความรู้และความอยากของมนุษย์ที่เกิดจากการปรุงแต่งนั้น อาจมีอำนาจครอบงำเหนือมนุษย์ และชักนำมนุษย์ให้ออกนอกลู่นอกทาง

สีสัน ทั้งห้าทำให้ตาพร่ามัว
เสียงทั้งห้าทำให้หูอื้อ
รสทั้งห้าทำให้ประสาทลิ้นชินชา
การแสวงหาความสุข ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน
การมีความรักในโภคทรัพย์ ทำให้ประพฤตินอกลู่นอกทาง

เพราะฉะนั้น  บุคคลผู้มีปัญญา เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาดที่บุคคลกระทำ จึงขจัดตนให้หมดสิ้นไปจากความอยาก ไม่โลภหาสิ่งที่หาได้ยาก ไม่เสาะแสวงหาความรู้ เขาย่อมปล่อยให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน

ลักษณะภาวะอันนิ่งเฉยของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ประทับใจเล่าจื๊อมากที่สุด มนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกจักรวาล ต่างมีลักษณะร่วมกันกับสิ่งอื่นๆ ทั้งปวง ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต ลักษณะร่วมกันอันนั้นคือความเป็นธรรมชาติ เหมือนกันกับที่สวรรค์และแผ่นดินมีความเป็นระเบียบและความประสานกลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์ยิ่งนั้น ก็เพราะว่าสวรรค์และแผ่นดินปฏิบัติตนคล้อยตาม เต๋า ฉะนั้นมนุษย์ก็จะสามารถบรรลุถึงภาวะที่เป็นความสุขอย่างยิ่งได้ ก็โดยปฏิบัติตนคล้อยตาม เต๋า ในทำนองเดียวกัน แต่มนุษย์เคยใช้พลังอำนาจที่ตนมีอยู่ไปในการเลือกวิถีทางแห่งชีวิตของตนเองตามลำพัง และสร้างนิสัยทางสังคมของตนขึ้นตามความสามารถอันไม่ยั่งยืนคงทน และไม่มีแก่นสารของตนมากกว่าที่จะใช้ไปเพื่อดำเนินชีวิตของตนไปตามหลักอันนิรันดรของเต๋า อันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงทำให้เกิดมีความทุกข์ยากและความเดือดร้อนนานาประการแก่มนุษย์ขึ้น ในท่ามกลางอารยธรรมจอมปลอมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นนั้นเอง เล่าจื๊อจึงมอบตนให้แก่ เต๋า จึงไม่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแสดงตนเอง หรือเพื่อพยายามมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าในวิถีทางใดๆ ที่จริงแล้ว เล่าจื๊อมีความเห็นว่าภาวะทางจิตใจของเด็กทารกนั้นคือมาตรฐานของวิถีทางแห่งธรรมชาติของชีวิต เขามีความรู้สึกว่า ทารกนั้น มีความรู้ในขอบเขตจำกัด มีความปรารถนาในสิ่งต่างๆ น้อย และไม่แปดเปื้อนจากการสัมผัสกับโลก ฉะนั้นทารกจึงอยู่ใกล้ เต๋า มากกว่าบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ชีวิตของขงจื๊อ

ข้าพเจ้ามิได้มีความรู้มาแต่กำเนิด
แต่อาศัยที่สนใจในสิ่งดีงามที่มีมาแต่อดีต
จึงแสวงหาเอาด้วยความพากเพียร

ปกิณกะนิพนธ์ของ ขงจื๊อ
Analccts, VII-19

ในบรรดานักปรัชญาคนสำคัญของจีน ขงจื้อเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก ชื่อขงจื๊อนั้น ภาษาอังกฤษใช้ว่า confucius แปลจากคำในภาษาจีนว่า ขงจื๊อ (K’ung Tzu) ตามตัวอักษรแปลว่า อาจารย์ขง ขงนั้นเป็นชื่อสกุล ต่อมาจึงมีผู้เพิ่มคำ จื๊อ ซึ่งแปลว่า อาจารย์เพิ่มนำหน้าสกุลเข้าไปเป็นการแสดงความเคารพ

ขงจื๊อเป็นบุคคลคนแรกที่สร้างปรัชญาของจีนขึ้นเป็นระบบครอบคลุมเรื่องต่างๆ ของชีวิตไว้อย่างกว้างขวาง ปรัชญาของขงจื๊อมีผู้เคารพนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานถึงยี่สิบห้าศตวรรษ เป็นปรัชญาที่หล่อหลอมและสร้างสรรค์นิสัยใจคอและบุคลิกภาพของประชาชนชาวจีน

ก่อนสมัยของขงจื๊อ ประเทศจีนมีคลังแห่งวรรณคดีและประวัติศาสตร์ของตนอยู่อย่างมากมาย แต่เป็นไปในลักษณะที่กระจัดกระจาย และไม่มีความสมพันธ์เกี่ยวข้องกัน งานที่ขงจื๊อกระทำนั้น คือ รวบรวมสิ่งที่เป็นเลิศของบรรดากษัตริย์และปราชญ์ของจีนในอดีต แล้วอาศัยพื้นฐานของมรดกทางวัฒนธรรมแต่อดีตนั้น สร้างระบบปรัชญาอันสำคัญของเขาขึ้น จากความสำเร็จของผลงานอันนี้ ขงจื๊อได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นนักปรัชญาที่สำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก

ชีวิตของขงจื๊อ
เมื่อข้าพเจ้าอายุสิบห้า      ข้าพเจ้าตั้งใจศึกษาเล่าเรียน
เมื่อข้าพเจ้าอายุสามสิบ      ข้าพเจ้ามีอุดมคติอันแน่วแน่มั่นคง
เมื่อข้าพเจ้าอายุสี่สิบ    ข้าพเจ้าปฏิบัติกิจต่างๆ ด้วยความรอบคอบ
เมื่อข้าพเจ้าอายุห้าสิบ    ข้าพเจ้ารู้จักหมิงโองการแห่งสวรรค์
เมื่อข้าพเจ้าอายุหกสิบ    ข้าพเจ้าเข้าใจในหลักสัจธรรม
และขณะนี้ข้าพเจ้าอายุเจ็ดสิบ    ข้าพเจ้าสามารถทำอะไรทุกอย่างได้
ตามใจตนเอง โดยไม่ฝ่าฝืนยุติธรรมสำนึกแต่ประการใดเลย

ปีเกิดของขงจื๊อ ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอน แต่ตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมานั้นกล่าวกันว่า ขงจื๊อเกิดในปี 551 ก่อน ค.ศ. คงจะไม่ผิดความจริงสักเท่าใดนัก ขงจื๊อเกิดในแคว้นหลู (Lu) ปัจจุบันเป็นจังหวัด ฉู่ ฝู (Ch’u Fu) ในมณฑลชานตุง (Shantung) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของอาณาจักรจีนในสมัยโบราณ มีเรื่องของเหตุการณ์ ความฝัน และนิมิตต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเกิดของขงจื๊อมากมาย ตัวอย่างเช่น

มีเรื่องเล่าว่า มารดาของขงจื๊อครั้งหนึ่งเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งเพื่ออธิษฐานขอบุตรชายสักคน ในคืนวันนั้น นางได้ฝันไปว่า พระเจ้าจักรพรรดิดำ ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งได้ปรากฏขึ้นแก่นาง และประทานพรให้ตามคำอธิษฐานของนาง เมื่อนางตั้งครรภ์ใกล้จะครบกำหนดคลอด นางจึงวิ่งไปที่ถ้ำนั้น แล้วก็ให้กำเนิดบุตรออกมาเป็นชาย ขณะที่บุตรชายของนางกำลังคลอดออกมานั้น ก็มีน้ำพุน้ำร้อนพลุพลุ่งขึ้นมา นางได้ใช้น้ำพุน้ำร้อนนั้นชำระร่างกายบุตรของนางเป็นการเจิม ในเรื่องเดียวกันนี้มีเรื่องเล่าต่อไปว่า ขงจื๊อขณะที่กำลังเกิดนั้น มีลักษณะเป็นที่น่าอัศจรรย์คือ “ปากกว้าง ริมฝีปากยื่นเหมือนวัว และมีหลังเหมือนมังกร” มังกรนั้นในธรรมเนียมของจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวงศ์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้เราจะถือว่า นิยายดังกล่าวนันเป็นแต่เพียงเรื่องในจินตนาการ แต่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดี ถึงความเคารพนับถือ ที่ประชาชนชาวจีนมีต่อขงจื๊อ

ขงจื๊อมีกำเนิดมาในครอบครัวอันเป็นที่เคารพนับถือ ที่สามารถสืบสาวสกุลขึ้นไปถึงราชวงศ์ชาง (Shang) ในสมัยอดีตกาล บรรพบุรุษของเขา เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในทางการเมืองและวรรณคดี บิดาของขงจื๊อ ขงซูเหลียง-เห (Koung Shu Liang-heh) มีชื่อเสียงว่าเป็นทหารที่มีความกล้าหาญ และมีความเก่งกาจมาก ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เมื่อขงจื๊ออายุเพียงสามขวบ

เรื่องราวของขงจื๊อเมื่ออยู่ในวัยเด็ก ในการดูแลและอบรมสั่งสอนของมารดานั้น มีรู้กันน้อยมาก ขงจื๊อคงจะเป็นเด็กที่เคร่งขรึม เพราะมีเรื่องเล่าว่า เมื่อเขาอายุได้หกขวบนั้น เขาเริ่มเล่นกับพวกเด็กอื่นๆ ชอบแสดงตนเป็น กษัตริย์ผู้มีปัญญารอบรู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ จัดภาชนะในการพิธี และแสดงตนเป็นผู้รู้เรื่องจารีตประเพณีต่างๆ เป็นอย่างดี เมื่อเขาอายุได้สิบห้าปี เขาอุทิศตนให้กับการศึกษาและมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีความรู้ดี และมีความประพฤติดี ในเรื่องความรู้นั้น ขงจื๊อกล่าวถึงในตอนหลังว่า

บุคคลมีความรู้มาแต่กำเนิดนั้น  จัดว่าเป็นบุคคลชั้นเลิศ
บุคคลที่มีความรู้โดยการศึกษา นั้น จัดว่าเป็นบุคคลชั้นสอง
บุคคลที่มีความรู้โดยการพากเพียรอย่างอุตสาหะนั้น จัดว่าเป็นบุคคลชั้นสาม เป็นใหญ่มีโชคช่วยอำนวยให้ เขาก็ประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามีเคราะห์กรรมมาขัดขวาง เขาก็จะดำเนินชีวิตไปด้วยคล้ายกับว่าเท้าทั้งสองของเขาถูกพันธนาการ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่าพ่อค้าที่เก็บทรัพย์สินของตนไว้ให้ดีแล้วนั้น ทำตนดุจประหนึ่งคนขอทานและบุคคลเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมล้ำเลิศนั้น กระทำตนประดุจคนโง่เขลา จงสลัดทิ้งท่าทางหยิ่งผยองของท่านและความทะเยอทะยานของท่านเสียจงขจัดกิริยามารยาทอันเสแสร้างและความอยากทางกามราคะของท่านให้หมด สิ่งเหล่านี้ไม่มีคุณประโยชน์อันใดแก่ท่านหรอก นี้คือคำแนะนำที่ข้าพเจ้าพอจะให้ท่านได้

หลังจากกลับมาจากการเยี่ยมเล่าจื๊อแล้ว แทนที่จะขัดเคืองหวั่นไหวในคำแนะนำอันสุจริตใจและตรงไปตรงมาของเล่าจื๊อ ขงจื๊อได้บอกแก่สานุศิษย์ของตนว่า

ข้าพเจ้ารู้ว่า นกบินได้ ปลาว่ายน้ำได้ สัตว์ทั้งหลายวิ่งไปมาบนบกได้ สัตว์บกอาจถูกแร้งจับ สัตว์น้ำอาจถูกเบ็ด สัตว์ในอากาศอาจถูกลูกธนูยิงตกลงมาตาย แต่มังกรนั้นมันเหิรอยู่บนฟ้า เหมือนเมฆและลม ไม่มีอะไรจะทำร้ายได้ วันนี้ข้าพเจ้าได้พบท่านเล่าจื๊อผู้เปรียบปานประหนึ่ง มังกรฉะนั้น

ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ขงจื๊อได้พบกับ เล่าจื๊อ จริงหรือไม่ก็ตาม แต่การพบปะกันระหว่างบุคคลทั้งสองนี้จะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะในหนังสือคัมภีร์หลี่ จี่ (Li Chi) หรือคัมภีร์แห่งจารีตประเพณี เล่มที่ 29 นั้น ขงจื๊อได้เล่าให้ จี้ ขัง (Chi K’ang) ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาได้รับคำบอกเล่าจาก เล่าจื๊อ ถึงเรื่องกษัตริย์ผู้เป็นปราชญ์ในสมัยบูรพกาล และในคัมภีร์นี้ เล่มที่ 5 ขงจื๊ออ้างถึงคำกล่าวของ
เล่าจื๊อถึงสี่ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องประเพณีในการฝังศพเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีการเล่าเรื่องของขงจื๊อและของเล่าจื๊อไปในทำนองที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ในกาลเวลาต่อมาหลายยุคหลายสมัย สานุศิษย์ของนักปราชญ์ทั้งสองท่านนี้มีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ในทำนองเดียวกันกับปรมาจารย์ของตน  ซึ่งแต่ละท่านมีความยิ่งใหญ่ในทรรศนะของตน ซึ่งเป็นทรรศนะที่แตกต่างกันอย่างมากมาย

ขณะที่ขงจื๊อไปเยี่ยมเมืองโล้นั้น ขงจื๊อได้ไปเยี่ยมสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อความคิดและงานนิพนธ์ของขงจื๊อในตอนหลังเป็นอย่างมาก ขงจื๊อได้ไปเดินเล่นที่บริเวณที่เขาจัดไว้เป็นสถานที่บูชาสวรรค์และดิน เขาได้ไปเยี่ยมพระที่นั่งมหาวิหาร (The Hall of The Grand Temple) อันเป็นสถานที่จัดพิธีบวงสรวงพระวิญญาณของบรรพบุรุษของพระเจ้าแผ่นดิน ในพระที่นั่งมหาวิหารนี้ มีรูปหล่อโลหะเป็นรูปบุคคลคนหนึ่ง มีเข็มกลัดติดอยู่ที่ริมฝีปากของเขาสามเล่ม ที่หลังของรูปโลหะนั้น มีอักษรจารึกเป็นข้อความว่า

จงระมัดระวังคำพูดของท่าน
อย่าพูดมากเกินไป
เพราะการพูดมากจะนำไปสู่ความหายนะ

ขงจื๊อ มีความประทับใจในคำจารึกนี้เป็นอันมาก ถึงกับกล่าวกับสานุศิษย์ของท่านว่า

“คำจารึกนี้มีความจริงอยู่มาก เป็นคำกล่าวที่สะเทือนใจของเราจริงๆ”

หลังจากนั้น ขงจื๊อถูกพาไปชมพระที่นั่งแห่งแสงสว่าง (The Hall of Light) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินใช้ต้อนรับเจ้าปกครองนครของแว่นแคว้นต่างๆ บนฝาผนังของพระที่นั่งแห่งนี้มีภาพเขียนพระฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แต่โบราณ รวมทั้งพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าเย้า (Yao) พระเจ้าซุน (Shun) พระเจ้าเหวิน (Wen) และ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว ซึ่งทรงอุ้มพระราชกุมารพระเจ้าเจ็ง (Cheng) ไว้ในตัก ความสง่าราศีปรากฏบนพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์เหล่านี้ ความโอ่โถงของพระที่นั่งและความงดงามของพระวิหาร ประกอบด้วยความสง่าน่าเกรงขามของพระมหาอุปราช ทั้งหมดนี้ประทับใจของขงจื๊ออย่างลึกซึ้งมาก จนต้องหันไปกล่าวอุทานกับผู้ที่ร่วมทางไปด้วยว่า

บัดนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วถึงปรีชาญาณของพระมหาอุปราช และเหตุผลที่ว่าทำไมราชวงศ์โจว จึงบรรลุถึงความเป็นเลิศในด้านพระราชอำนาจ เราใช้กระจกเงาเพื่อฉายดูรูปแบบของสิ่งต่างๆ ฉันใด เราศึกษาโบราณคดีก็เพื่อจะได้เข้าใจสภาพการณ์ของปัจจุบันฉันนั้น

ถึงแม้ว่าขงจื๊อจะมิได้พำนักอยู่ที่เมืองโล้เป็นเวลานานแต่การเยี่ยมของเขาในครั้งนั้นทำให้เขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของจีน เป็นการเปิดทรรศนะวิสัยใหม่เพื่อเขาจะได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ขณะเดียวกันก็เป็นประจักษ์พยานพิสูจน์ให้เขาเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์โจว

เมื่อขงจื๊อกลับมาสู่แคว้นหลู ขงจื๊อปฏิบัติงานสอนของตนต่อไป ชื่อเสียงของขงจื๊อระบือไปไกลอย่างกว้างขวาง คนหนุ่มจากทุกหนทุกแห่งและจากพื้นเพต่างๆ กัน ผู้มีความทะเยอทะยานต่างกระหายอยากจะศึกษาวิชาโบราณคดี การปกครอง และจารีตประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในสมัยโบราณ ต่างมารุมล้อมศึกษากับขงจื๊อ

จนกระทั่งเมื่อขงจื๊อล่วงเข้าวัยห้าสิบปีแล้ว ขงจื๊อจึงเข้าสู่วงการของบ้านเมืองเมื่อเขาอายุได้ห้าสิบสองปี เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษา ของเมือง จุงตู (Chung-Tu) ต่อมาไม่นานนักเขาได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ต่อมาเมื่อเขาจำเป็นต้องออกจากหน้าที่ราชการบ้านเมืองของแคว้นหลูแล้ว เขาใช้เวลาในต่างแคว้นพร้อมกับสานุศิษย์จำนวนหนึ่งเป็นเวลานานประมาณสิบสาม สิบสี่ปี ท่องเที่ยวไปสอนไปเยี่ยมคำนับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในสมัยนั้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดเขาได้รับคำสั่งให้กลับไปยังแคว้นหลู ขณะนั้นเขาเป็นคนสูงอายุวัยหกสิบแปดปีแล้ว แทบจะไม่มีอิทธิพลอันใดในบ้านเมือง เนื่องจากความคิดเป็นอันตรงไปตรงมาของเขามักจะถูกคนที่มีความอิจฉาริษยาคอยขัดขวางอยู่เสมอ ฉะนั้นเขาจึงหันไปใช้วิธีการทางอ้อม แต่ได้ผลแน่นอนกว่า เขาจึงอุทิศเวลาทั้งหมดที่เหลืออยู่เพื่อสอนคนหนุ่มและเพื่อการรวบรวมบันทึกเอกสารที่มีมาแต่โบราณต่างๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นคำสอนของเขา

ในปี 482 ก่อน ค.ศ. เขาสูญเสียบุตรชายคนเดียวของเขาและในปี 481 ก่อน ค.ศ. เขาสูญเสียศิษย์รักของเขา เยิน หุย (Yen Hui) ในปี 479 ก่อน ค.ศ. ขงจื๊อได้ถึงแก่กาลมรณะขณะที่เขาอายุได้เจ็ดสิบสามปี ศพของเขาถูกฝังไว้ที่เมือง ฉู่ ฝู (Chu-fu)

งานของท่านปรมาจารย์ขงจื๊อ มีความมุ่งหมายอยู่สามประการคือ เพื่อรับใช้บ้านเมือง เพื่อสั่งสอนวิทยาการแก่คนหนุ่ม และเพื่อบันทึกวัฒนธรรมของจีนไว้ เพื่อเป็นมรดกสำหรับคนรุ่นหลัง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

วิวัฒนาการของโลกจักรวาลแบบเล่าจื๊อ

มีหลักอยู่สามประการที่จะต้องระลึกถึงที่เกี่ยวข้องกับเต๋า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของโลกจักรวาล

หลักอันที่หนึ่ง กล่าวได้ดังนี้

สรรพสิ่งทั้งปวงในโลกเกิดขึ้นมาจาก หยู (Yu) (ความมีความเป็นหรือ ภาวะ-being)
หยู เกิดขึ้นมาจาก หวู (Wu) (ความไม่มีความไม่เป็นหรือภาวะ-nonbeing)

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง หวูแสดงถึงภาวะที่มีอยู่ก่อนการเกิดของสวรรค์และแผ่นดิน หยู แสดงถึงภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเริ่มแยกตัวออกเป็นอิสระแก่กันและกัน การเปลี่ยนแปลงจาก หวู มาเป็น หยู นั้น เกิดขึ้นได้โดยอาศัยพลังแห่งจักรวาล คือ เต๋า เต๋าถูกหุ้มห่ออยู่ด้วยความลึกลับของจักรวาล แต่เต๋าเป็นบ่อเกิดอันเดียวของชีวิต ของรูป ของเนื้อ และของแก่น

เต้อ ที่ครอบงำสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นเป็นเสียงสะท้อนของเต๋า
เต๋า นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ทราบแน่ว่าเป็นอะไร เป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ทราบแน่ว่าเป็นอะไร เป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ก็ตาม แต่เต๋าก็เป็นแบบ (Form) ของสิ่งทั้งหลาย ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้และไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไรก็ตาม แต่ เต๋าก็เป็นเนื้อ (Substance) ของสิ่งทั้งหลาย ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งและลึกลับ แต่ เต๋าก็เป็นแก่น (Essence) ของสิ่งทั้งหลาย แก่นของสิ่งทั้งหลายนั้นคือ ภาวะอันแท้จริงเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสัจจภาวะ

เล่าจื๊ออธิบายถึงกระบวนการของความเป็นมาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่า เต๋า ก่อให้เกิด หนึ่ง หรือ มหาปรมภาวะ (The Great Ultimate) จากหนึ่ง ก่อให้เกิดเป็นสอง หรือ ยินและหยัง เป็นพลังปฐมของโลกจักรวาล ประกอบเป็นลักษณะแห่งความเป็นคู่หรือทวิภาวะ ยิน เป็นพลังฝ่ายลบหรือฝ่ายนิ่งเฉย หยัง เป็นพลังฝ่ายบวกหรือฝ่ายเคลื่อนไหว ปฏิกิริยาระหว่างกันและกันของ ยินและหยัง ทำให้เกิดมี ชีวิต ซึ่งเรียกว่าเป็น สามและจากสามทำให้เกิดเป็นสรรพสิ่งทั้งปวง

หลักประการที่สองคือ  ในกระบวนการของความเป็นมาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น ปรากฏการณ์แต่ละอย่างมีความเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามของมัน หรือลักษณะที่ขัดแย้งหรือเป็นฝ่ายลบของมัน โดยเหตุนี้ชีวิตจึงต้องมีความตายตามมา แสงสว่างจึงต้องมีความมืดและความดีจึงต้องมีความชั่ว

ที่ใดที่โลกมองเห็นความงาม ที่นั้นมีความน่าเกลียด
ที่ใดที่โลกมองเห็นความดี ที่นั้นมีความชั่ว
เพราะฉะนั้น ภาวะและอภาวะ จึงเกี่ยวข้องกันและกัน
ความยากและความง่าย จึงเกี่ยวข้องกันและกัน
ความยาว มีความสั้นเป็นความสัมพันธ์
ความสูงก็มีความต่ำเป็นความสัมพันธ์กัน ในทำนองเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ โลกจักรวาลจึงประกอบด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเป็นคู่ ซึ่งมีลักษณะมูลฐานของมัน คือ ภาวะและอภาวะ ความเป็นไปทั้งหลายของโลกจักรวาล การเปลี่ยนแปลงทั้งปวง การเคลื่อนไหวทั้งปวง นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงของอภาวะไปสู่ภาวะ การเปลี่ยนแปลงของความว่างหรือความไม่เป็นตัวเป็นตนไปสู่ความเป็นสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน แต่ถึงแม้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลากฎเกณฑ์ที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง

ในบรรดากฎเกณฑ์ที่ว่านี้ กฎเกณฑ์ที่เป็นหลักเบื้องต้นที่สุดนั้นคือ กฎแห่ง “การทวนวิถีของการเคลื่อนไหวของเต๋า” กล่าวคือ ถ้ามีการเคลื่อนไหวดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวนั้นจะทวนกลับมายังที่เดิม ตัวอย่างเช่น

ความทุกข์ยากเป็นสิ่งส่งเสริมความสุข
ความสุข ก็เหมือนกับเป็นเครื่องแสดงถึงความทุกข์ยาก….
สิ่งที่ถูกต้องอาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ผิด….
สิ่งที่ดี อาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ชั่ว

กฎนี้ไม่ได้เป็นความจริงเฉพาะแต่เรื่องของมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นภาวะอันแท้จริงของความเป็นไปทั้งหลายในโลกจักรวาลด้วย
วิถีทางของสวรรค์เป็นเหมือนคันธนูที่น้าว
ถ้าน้าวปลายธนูด้านบนลง ปลายธนูด้านล่างก็จะงอขึ้น
เมื่อลดความเกินพอดีลง ความขาดแคลนก็สมบูรณ์ขึ้น

เล่าจื๊อ เรียกกฎอันถาวรนี้ว่า กฎแห่งธรรมชาติของฉาง (Ch’ang) หรือ ปกติภาวะ

ถ้าหากโลกจักรวาลไม่เจริญรอยตามภาวะปกติของธรรมชาติแล้ว โลกจักรวาลก็คงจะหมดสภาพของมัน เพราะว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก และจะลงทางทิศตะวันออกนั้น คงจะเป็นสิ่งที่ผิดปกติอย่างแน่นอน แต่ธรรมชาติไม่เคยทดลองในสิ่งที่ผิดปกติเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเต๋า ด้วยเหตุนี้ เล่าจื๊อ จึงกล่าวว่า

เมื่อรู้จัก ภาวะปกติของธรรมชาติแล้ว
มนุษย์ก็สามารถรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
เมื่อมนุษย์รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มนุษย์ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว
เมื่อมนุษย์ไม่มีความเห็นแก่ตัว มนุษย์ก็เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
เมื่อมนุษย์มีอำนาจสูงสุด มนุษย์ก็เป็นเทพเจ้า
เมื่อมนุษย์เป็นเทพเจ้า มนุษย์ก็จะอยู่กับเต๋า
เมื่อมนุษย์อยู่กับเต๋า มนุษย์ก็จะเป็นสิ่งนิรันดร

หลักประการที่สาม  ซึ่งเป็นผลของคำสอนเรื่อง วูเว่ย คือ สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกจักรวาลนั้นดำเนินไปตามวิถีทางธรรมชาติของมัน ดวงอาทิตย์ส่องแสง น้ำไหล เพราะว่าธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้น พืชและต้นไม้ทั้งหลายเจริญเติบโต แล้วก็ตายไป  เพราะว่าธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้น เล่าจื๊อปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่มีตัวตนผู้มีอำนาจสูงสุด ที่เป็นผู้ควบคุมความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาล เขามีความเห็นว่าสวรรค์และแผ่นดินที่เป็นเครื่องแสดงถึงที่มีตัวตนผู้มีอำนาจสูงสุดนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับความเจริญ และวิวัฒนาการของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นตามวิถีทางธรรมชาติของมันเอง ด้วยเหตุนี้ เล่าจื๊อ จึงกล่าวว่า

โลกจักรวาลนี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกหลักจริยธรรม

คุณลักษณะที่มีแฝงอยู่ในสิ่งทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นนั้น เป็นสภาพที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ เหมือนดังแสงรัศมีของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ความเหลวของน้ำ ความเจริญงอกงามของต้นไม้ โลกจักรวาลโดยส่วนรวม คือ สภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนเอง มันไม่มีความปรารถนาหรือความประสงค์อันใดที่ต้องอาศัยหลักจริยธรรม มันเป็นแต่เพียงปล่อยให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามวิถีทางตามธรรมชาติของมันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เล่าจื๊อมิได้ปฏิเสธว่าในโลกจักรวาลนั้นมีพลังอำนาจอย่างหนึ่งอยู่ ซึ่งเป็นพลังอำนาจที่เราไม่สามารถจะรู้จักลักษณะความเป็นไปของมันได้ พลังอำนาจอันนั้นที่จริงแล้วก็คือ เต๋า ซึ่งอาจอธิบายลักษณะได้โดยภาวะอันสงบนิ่งของมัน การที่มันเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆ แต่ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของสิ่งที่มันสร้างขึ้น การกระทำของมันโดยไม่อ้างว่าตนเป็นผู้กระทำ การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเจริญเติบโตขึ้นโดยที่มันไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปครอบงำแต่อย่างใด เต๋า มีลักษณะไม่เป็นบุคคลและไม่เคยมีความรู้สึกถึงภาวะความเป็นอยู่ของมันเองเลย ถึงแม้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะต้องพึ่งภาวะความเป็นอยู่ของเต๋า เต๋าเป็นความว่าง เป็นสิ่งที่ปราศจากรูป ตามความเป็นจริงแล้ว เต๋าไม่ได้สร้างโลกจักรวาลและก็ไม่สามารถสร้างโลกจักรวาลขึ้นได้ด้วย เมื่อเรากล่าว่า เต๋า เป็นผู้สร้างโลกจักรวาล เราหมายถึงแต่เพียงว่า โลกจักรวาลนั้นเป็นผู้สร้างตัวของมันเองตามวิถีทางอันเป็นธรรมชาติของมัน โดยไม่มีการปรุงแต่งเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากโลกจักรวาลเป็นผู้สร้างตัวของมันเอง ฉะนั้นโลกจักรวาลต้องดำเนินไปตามวิถีทางตามธรรมชาติของมันโดยไม่มีการปรุงแต่งแต่อย่างใด นี้คือหลักขั้นมูลฐานของคำสอนของเล่าจื๊อ เรื่อง หวูเหว่ย

จริงอยู่ ความคิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เนื่องจากว่าอย่างน้อยที่สุดมันต้องอาศัยความเข้าใจความหมายของเต๋า เป็นหลัก ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เล่าจื๊อเข้าใจถึงความยุ่งยากอันนี้ จึงกล่าวว่า

บุคคลผู้มีสติปัญญาอันสูงสุดนั้น เมื่อได้ยินเรื่อง เต๋า
ก็ปฏิบัติตามด้วยความเอาจริงเอาจัง
บุคคลผู้มีสติปัญญาธรรมดา เมื่อได้ยินเรื่อง เต๋า
ก็ไม่มีความสนใจแต่อย่างใด
บุคคลผู้มีสติปัญญาต่ำนั้น เมื่อได้ยินเรื่อง เต๋า
ก็ส่งเสียงหัวเราะดัง
ถูกแล้ว ถ้าบุคคลผู้มีสติปัญญาต่ำ ไม่หัวเราะแล้ว
เต๋า ก็ไม่ใช่ เต๋า

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ความหมายของเต๋าสมัยเล่าจื๊อ

มนุษย์เจริญรอยตามแผ่นดิน
แผ่นดินเจริญรอยตามสวรรค์
สวรรค์เจริญรอยตาม เต๋า
และเต๋า เจริญรอยตามวิธีทางแห่งธรรมชาติ

นี้คือ แนวแห่งความคิดโดยทั่วไปของปรัชญาของเล่าจื๊อ ธรรมชาติในที่นี้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่บังเกิดขึ้นในสากลจักรวาล เป็นความบริสุทธิ์ของภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายด้วยเหตุนี้เมื่อสิ่งทั้งหลายถูกปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน สิ่งทั้งหลายจึงเคลื่อนไหวไปด้วยภาวะที่สมบูรณ์ด้วยภาวะที่ประสานสัมพันธ์กันอย่างดี เพราะเหตุว่าสิ่งทั้งหลายที่ดำเนินไปตามธรรมชาติของมันโดยปราศจากการปรุงแต่งแต่อย่างใดนั้น ไม่ได้ขัดขวางเต๋า ซึ่งเป็นหลักปฐมมูลแห่งโลกจักรวาล สภาพการณ์ที่ดำเนินไปเช่นนี้เรียกว่าวิถีทางแห่ง หวู เว่ย (Wu Wei) วิถีทางแห่งการไม่กระทำสิ่งใด หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนไปอีกก้าวหนึ่ง ก็คือ วิถีทางแห่ง เว่ย หวู เว่ย (Wei Wu Wei) วิถีทางแห่งการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่กระทำสิ่งใดเลยที่เป็นการขัดขวางวิถีทางแห่งเต๋า
เต๋าโดยปกติแล้ว ไม่กระทำอันใด
แม้กระนั้น ก็ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ถูกกระทำ
คำสอนเรื่อง หวู เว่ย นี้เป็น ทฤษฎีที่เป็นหัวใจของปรัชญาของเล่าจื๊อ

จากความหมายนี้ มีสิ่งสำคัญเกิดขึ้นตามมาอยู่สองประการ ประการแรกในบทนิพนธ์เรื่อง ประวัติศาสตร์และเรื่องกวีนิพนธ์ (ของขงจื๊อนั้น) ถือเอาว่าสวรรค์เป็นเหมือนบุคคลที่มีตัวตน เรียกว่า ชางตี่ (Shang Ti) หรือ “อัตตภาวะที่สูงสุด” เป็นผู้สนองความต้องการทั้งปวงของมนุษย์ และเป็นผู้ตอบแทนการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ แต่เล่าจื๊อนั้น ปฏิเสธการมีอยู่ของซ้องตี่ และถือว่า สวรรค์นั้นแทนที่จะมีตัวตนเป็นเทพเจ้า มีลักษณะเป็นแต่เพียงเจริญรอยตามเต๋าในกรณีนี้ เล่าจื๊อ เป็นนักปฏิเสธการมีพระเจ้า

ประการที่สอง คือ ปรัชญาของเล่าจื๊อนั้น เป็นปรัชญาที่ยกย่องคุณค่าของธรรมชาติแต่ลดคุณค่าของศิลปะลง ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ มนุษย์นั้นแต่เดิมมีความสุข แต่กลับมามีความทุกข์เพราะผลการเปลี่ยนแปลงที่สังคมเป็นผู้นำมา วิธีที่ดีที่สุดที่จะมีความสุขนั้น คือ การสละทิ้งซึ่งอารยธรรมที่เป็นการปรุงแต่งขึ้นที่มีอยู่ในปัจจุบันให้หมด แล้วดำรงชีวิตโดยสงบ สัมพันธ์กับธรรมชาติในท่ามกลางป่าไม้ ลำธารน้ำ และภูเขา ทรรศนะนี้อาจอธิบายในรูปของความแตกต่างอันน่าทึ่งระหว่างการมีความรู้กับ เต๋า การกลับคืนไปสู่ธรรมชาตินั้นจะกระทำได้ดังนี้

โดยการแสวงหาความรู้ บุคคลนึกถึงประโยชน์มากขึ้นทุกวันๆ โดยการแสวงหา เต๋า บุคคลนึกถึงประโยชน์น้อยลงทุกวันๆ บุคคลจะนึกถึงประโยชน์น้อยลง และสูญเสียประโยชน์ของตนอยู่ตลอดไปจนกระทั่งบุคคลนั้นจะบรรลุถึงวาวะแห่งความสุขสงบ แห่ง หวูเว่ย จงอย่ากระทำสิ่งอันใด โดยการไม่แต่ก็ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ได้กระทำสิ่งอันใด เขาจะเป็นผู้ชนะโลกแต่เมื่อเขาไขว่คว้าเอาเมื่อใด เมื่อนั้นเขาก็ไม่อาจเป็นผู้ชนะโลกได้

เห็นได้ชัดเจนว่า คำว่า เต๋า นั้นเป็นคำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่สุด ประโยคแรกในบทนิพนธ์เรื่อง เต๋า เต้อ จิง มีข้อความว่า

เต๋า ที่สามารถแสดงออกมาเป็นคำพูดได้นั้น ไม่ใช่เต๋าที่เป็นสิ่งนิรันดร ชื่อที่สามารถเอ่ยเป็นชื่อออกมาได้ไม่ใช่ชื่อที่คงอยู่ตลอดกาล

ตามทรรศนะของเล่าจื๊อนั้น เขาเห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว ก่อนการกำเนิดของโลกจักรวาล บางสิ่งบางอย่างนี้คือสิ่งที่เรียกกันว่า เต๋า ซึ่งในสภาวะอันแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ชื่อ เพราะฉะนั้น เต๋า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกมาเป็นคำพูด หรือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทางกายใดๆ เลย

เพราะว่า ตานั้นจ้องมองดู แต่ไม่เคยเห็นสิ่งนี้จึงเรียกว่า ยี่ (Yi)
เพราะว่า หูนั้นเงี่ยฟัง แต่ไม่ได้ยิน สิ่งนี้จึงเรียกว่า ซี่ (his)
เพราะว่ามือนั้นเอื้อมไปไขว่คว้าเอาแต่จับคว้าเอาไม่ได้สิ่งนี้จึงเรียกว่า เว่ย (wei)
ทั้งสามสิ่งนี้ เราไม่สามารถจะเพ่งพิจารณาได้อีกต่อไป
เพราะสิ่งทั้งสามนี้ เข้าผสมรวมกันเป็น หนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ เต๋า จึงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยิน สัมผัสไม่ได้ แต่ เต๋า เป็นสิ่งนิรันดรเป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ เป็นสิ่งที่มีภาวะสูงสุดของมันเป็นอภาวะ (nonbeing) เต๋าเป็นกฎที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นฐานรองรับปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกจักรวาล เต๋า เป็นสิ่งที่นิรันดร เป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในสถานที่ทุกหนทุกแห่ง เป็นสิ่งที่ใช้ไม่มีวันหมด และเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้คล้ายกับเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวง นี้คือเหตุผลทำไม เต๋า ซึ่งเจริญรอยตามวิถีทางของธรรมชาติ จึงมีสวรรค์ แผ่นดิน และมนุษย์ เป็นสิ่งเจริญรอยตาม

เต๋านั้นจะเข้าใจได้ง่าย ถ้าอาศัยความเข้าใจเรื่องราว เต้อ คำว่า เต้อ ตามที่ใช้ในบทนิพนธ์ เต๋า เต้อ จิง นั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางกว่าคำว่าคุณธรรม ตามที่รู้จักในปรัชญาของขงจื๊อ เต๋า คือสิ่งที่ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นมา แต่ในกระบวนการที่สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นมานั้น สิ่งทั้งปวงแต่ละสิ่งได้รับบางสิ่งบางอย่างมาจากเต๋า ที่มีลักษณะเป็นสากลภาวะ บางสิ่งบางอย่างที่สิ่งทั้งปวงแต่ละสิ่งได้รับมาจาก เต๋า ที่เป็นสากลภาวะนี้เรียกว่า เต้อ ด้วยเหตุนี้ เต้อ คือ คติความคิดที่แสดงถึงสภาพตามธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง เพราะฉะนั้น เต้อ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือ ภาวะที่สิ่งนั้นเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

เต๋า เป็นองค์ประกอบอันสูงสุดของชีวิต มนุษย์จะต้องมีความปรารถนาที่จะดำรงชีวิตของตนให้สอดคล้องสัมพันธ์กับ เต๋า เต้อ เป็นพลังของชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป เต้อ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและเสริมสร้างพลังให้แก่ชีวิต ทั้ง เต๋า และ เต้อ เป็นภาวะแห่งธรรมชาติในความหมายที่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติของมันโดยไม่มีการปรุงแต่ง ภาวะอันบริสุทธิ์ของภาวะตามธรรมชาติเอง สิ่งทั้งหลายในโลกจักรวาลนั้นเรียกว่า เต้อ เต๋าเป็นสิ่งที่ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น เต้อ เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งทั้งหลายมีสภาพตามที่มันเป็น นี้คือเหตุผลว่า “สรรพสิ่งทั้งปวงนับถือ เต๋า และยกย่อง เต้อ”

จากความหมายของ เต๋า ตามที่ได้กล่าวมานี้ เราสังเกตเห็นว่า เมื่อ เล่าจื๊อกล่าวว่า เต๋า เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น เล่าจื๊อหมายความแต่เพียงว่า เต๋าปล่อยให้สรรพสิ่งทั้งปวงสร้างตัวของมันเอง ตามธรรมชาติของมัน โดยปราศจากการปรุงแต่งแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ เต๋า จึงไม่ทำสิ่งอันใดแต่ เต๋า “ให้ชีวิตแก่สรรพสิ่งทั้งปวง… ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงลุล่วงสำเร็จ…..หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งทั้งปวง” เต๋า เป็นผู้กระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ขอยกข้อความนี้มาแสดงอีกครั้งหนึ่ง

เต๋า โดยปกติแล้วไม่กระทำสิ่งอันใด
แต่ก็ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ถูกกระทำ
นี้คือ วิถีทางของเว่ย หวู เว่ย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ชีวิตและงานนิพนธ์ของเล่าจื๊อ

เล่าจื๊อ
เมื่อบุคคลผู้เป็นปราชญ์กระทำกิจอันใด
เขาก็จะกระทำด้วยอาการอันเงียบสงบตามหลักของหวู เว่ย
เมื่อบุคคลผู้เป็นปราชญ์สอนสิ่งอันใด
เขาก็จะสอนด้วยการยึดหลักแห่งความเงียบฉันฉัน

บทนิพนธ์ เต๋า เต้อ จิง เล่ม 2 บทที่ 7

ชีวิตและงานนิพนธ์
บางคนยังคงถือว่าเล่าจื๊อ ซึ่งมีชื่อที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า เล่าตัน (Lao Tan) ว่าเป็นบุคคลในจินตนิยาย ที่มีเรื่องเล่าเป็นทำนองการพยากรณ์อย่างแปลกประหลาดมากมาย และมีเรื่องนิยายที่ไม่น่าเชื่อผูกพันกับชื่อของเขาอยู่เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม จากชีวประวัติสั้นๆ ของเขาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ซี่ จี่ (Shih chi) หรือ บันทึกประวัติศาสตร์ของ สุมาเฉี๋ยน (Ssu-ma Ch’ien) ซึ่งถือกันว่าเป็น ฮิโรโดตัส (Herodotus) แห่งประเทศจีน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สองก่อน ค.ศ. นั้น มาในปัจจุบันนี้ บุคคลส่วนใหญ่เชื่อว่าเล่าจื๊อ เป็นบุคคลที่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ขาดข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขาไปอย่างน่าเสียดายเท่านั้นเอง

คำว่า เล่าจื๊อ แปลว่า อาจารย์ผู้อาวุโส เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นคำยกย่องมากกว่าว่าจะเป็นชื่อตัว ชื่ออันแท้จริงของอาจารย์ผู้เฒ่านี้คือไหลตัน (Lai Tan) แต่เขาได้รับการเอ่ยถึงด้วยความเคารพว่า ไหลจื๊อ (Lai Txu) ต่อมาภายหลัง ได้มีการเพิ่มคำว่า เล่า (lao) หรือผู้เฒ่า ผู้อาวุโสเพิ่มเข้าไปกลายเป็น เล่า

เล่าจื๊อ (อาจารย์อาวุโส) เป็นนักปราชญ์คนแรกผู้มีชื่อเสียงเด่นที่สุดของ ปรัชญาเต๋า ที่จริงแล้ว เขาเป็นผู้สถาปนาลัทธิเต๋าขึ้น เขามีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่หก ก่อน ค.ศ. เป็นคนในยุคสมัยเดียวกันกับขงจื๊อ แต่เป็นผู้มีอายุสูงกว่าขงจื๊อ ในสมัยโบราณนั้น ชื่อเสียงของเล่าจื๊อโด่งดังเท่าเทียมกับชื่อเสียงของขงจื๊อ และคำสอนของเล่าจื๊อก็มีอิทธิพลไม่ด้อยไปกว่าของขงจื๊อเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย เหมือนกับที่เปลโตกับอริสโตเติลแตกต่างกัน ฉะนั้น อิทธิพลทางปรัชญาของเล่าจื๊อนั้น พิสูจน์ได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อเวลาล่วงไปเขาได้รับความเคารพนับถือจนกลายเป็นเทพเจ้าองค์สูงสุดของลัทธิเต๋า อันเป็นสภาพที่ขัดแย้งกับคติความคิดของ
เล่าจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เพราะเล่าจื๊อนั้นเป็นผู้ไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้า เขามีความคิดเห็นว่า การที่ปรัชญากลายเป็นศาสนา และการยกย่องนักปรัชญาว่าเป็นเทพเจ้านั้น เป็นสิ่งขัดแย้งกับคำสอนของเขาอย่างที่สุด

ไหลจื๊อ (Lao Lai Tzu) ชื่อนี้เรียกให้สั้นลงเป็นว่าเล่าจื๊อ หรือ เล่าตัน

เล่ากันว่า เหลาจื๊อ เป็นผู้ดูแลหอพระสมุดหลวงในเมืองหลวงที่เมืองโล้ (Lo) ตามที่เราได้ทราบ สันนิษฐานกันว่าเล่าจื๊อ คงจะได้พบปะกับขงจื๊อ เมื่อตอนที่ขงจื๊อไปเยี่ยมชมเมืองหลวงของราชวงศ์โจว ถ้าตามความเป็นจริง หากบุคคลทั้งสองได้พบกันจริงแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า บุคคลทั้งสองต่างทราบเป็นอย่างดีว่า คนนั้นมีทรรศนะแตกต่างกันอย่างมากมาย ขงจื๊อเป็นนักนิยมมนุษยธรรมและสนใจเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ส่วนเล่าจื๊อนั้นสอนปรัชญาที่มีสาระสำคัญเป็นแบบธรรมชาตินิยมและต่อต้านสังคม เป้าหมายของปรัชญาของปรมาจารย์ขงจื๊อ นั้นคือ การพยายามชักจูงกษัตริย์ผู้มีความรู้แจ้งบางพระองค์ให้รับเอาปรัชญาของท่านไปใช้ ในการปกครองบ้านเมือง แต่เป้าหมายของปรัชญาเล่าจื๊อนั้นอยู่ที่การถอนตนให้พ้นไปจากแนวความคิดทั้งปวงของกษัตริย์และพ้นไปจากการปกครองบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง

ความแตกต่างระหว่างนักปรัชญาคนสำคัญทั้งสองนี้ อาจอธิบายได้จากพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ของบุคคลทั้งสอง เราได้สังเกตเห็นแล้วว่า อิทธิพลอันสำคัญของวัฒนธรรมราชวงศ์โจวในด้านจารีตประเพณีนั้น มีผลกระทบต่อขงจื้อเป็นอย่างมาก เพราะขงจื๊อเป็นชาวเมืองหลู ส่วนเล่าจื๊อนั้นเกิดอยู่ในแคว้นจัน (Chan) ปัจจุบันคือ โฮนัน (Honan) ซึ่งในสมัยต่อมาถูกกลืนเข้าไปผนวกเข้ากับแคว้นใหญ่บนฝั่งแม่น้ำหยังจื๊อ (Yang Tzu) คือแคว้น ฉู๋ (Ch’u) อันเป็นแคว้นที่มีอาจารย์ปรัชญาเต๋าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวแคว้นจันเป็นประชาชนของราชวงศ์หยิน (Yin) หรือชาง (Shang) อันเป็นราชวงศ์ที่มีมาก่อนหน้าราชวงศ์โจว ซึ่งมีวัฒนธรรมของตนเป็นแบบธรรมดาสามัญตามแบบธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ความแตกต่างระหว่างปรัชญาขงจื๊อกับปรัชญาเต๋านั้น คือการขยายตัวของความแตกต่างที่มีมาแต่ดั้งเดิมระหว่าง วัฒนธรรมของราชวงศ์โจว กับวัฒนธรรมของราชวงศ์ซ้อง

ที่แตกต่างไปจากขงจื๊อ ผู้เดินทางจากแคว้นหนึ่งไปยังอีกแคว้นหนึ่ง เพื่อแก้ไขเรื่องการปกครองของบ้านเมืองนั้น คือ เล่าจื๊อชอบทำงานโดยไม่เปิดเผยตนเอง ยึดมั่นอยู่แต่ในการปฏิบัติตามหลักของเต๋า อันเป็นหลักแห่งโลกจักรวาล เรื่องเล่าว่า เล่าจื๊ออยู่ในตำแหน่งผู้ดูแล หอพระสมุดหลวงที่เมืองโล้อยู่เป็นเวลานานพอสมควร จนกระทั่งถึงสมัยที่เขาเห็นว่าราชวงศ์โจวกำลังจะเสื่อมสิ้นอำนาจลงอย่างแน่นอน ในตอนแรกเขาเพียงแต่ลาออกจากราชการ แต่ต่อมาได้เห็นความปั่นป่วนระส่ำระสายของบ้านเมืองทวีขึ้นอย่างน่าตกใจ เขาจึงเดินทางพเนจรออกไปจากเมือง มีเรื่องเล่าที่เชื่อสืบทอดกันมาว่าเมื่อเขาเดินทางมาถึงชายแดน มีผู้มารอให้เขายุติการเดินทางเพื่อเขียนปรัชญาของเขาไว้เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง สันนิษฐานกันว่าเล่าจื๊อคงจะหยุดอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นเป็นเวลานานพอที่จะบันทึกปรัชญาของท่านได้ คำสอนที่ท่านบันทึกลงไว้นั้นแบ่งออกเป็นสองภาคคือ เต๋า (Tao) กับ เต้อ (Te) ซึ่งมีความยาวทั้งหมดประมาณห้าพันคำ หลังจากได้บันทึกคำสอนลงไว้แล้วเล่าจื๊อก้หายสาปศูนย์ไป ไม่มีผู้ใดทราบเรื่องเกี่ยวกับตัวเขาอีกเลย ถึงแม้จะสันนิษฐานกันว่า เล่าจื๊อได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษแต่ผู้เดียวจนถึงวัยสูงอายุมากก็ตาม

นี้คือ ทรรศนะที่เกี่ยวกับเล่าจื๊อ ตามที่เชื่อถือกันมาตามประเพณี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เล่าจื๊อได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นิพนธ์งานทางปรัชญางานแรกที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนอีกทรรศนะหนึ่ง  อันเป็นทรรศนะที่ย้ำเรื่องความคลาดเคลื่อนของกาลเวลา และข้อความที่ซ้ำๆ ที่ปรากฏในบทนิพนธ์ของเล่าจื๊อที่จัดทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น ทรรศนะสุดท้ายคือทรรศนะของนักปราชญ์ในสมัยใหม่โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจารณ์ความหมายของข้อความในบทนิพนธ์นั้น มีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อว่า เล่าจื๊อ จะมีชีวิตอยู่จริงในยุคสมัยของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง (772-481ก่อน ค.ศ.) ก็ตามแต่เล่าจื๊อก็ไม่ได้เขียนบทนิพนธ์เรื่อง เต๋า เต้อ จิง (Tao Te Ching) เพราะว่าหลักฐานพยานที่ปรากฏอยู่ในบทนิพนธ์นี้ที่เกี่ยวกับเนื้อหาและลีลาการเขียนนั้นแสดงว่า เป็นบทนิพนธ์ในสมัยหลังจากนั้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน่าจะเขียนขึ้นในสมัยการรบพุ่งระหว่างแคว้นต่างๆ (480-222 ก่อน ค.ศ.) มากกว่า

ทรรศนะทั้งสามนี้ ยังไม่มีทรรศนะใดที่ถือเป็นหลักอันยุติได้ และในที่นี้การจะวิเคราะห์ ถึงข้อโต้แย้งต่างๆ ของทรรศนะเหล่านี้ก็อยู่นอกประเด็น แต่ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าถ้าจะกล่าวถึงความยุ่งยากในเรื่องนี้บ้างในรูปของคำอธิบายแบบสามัญธรรมดา กล่าวคือ บทนิพนธ์เต๋าเต้อจิงนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นในสมัยการรบพุ่งระหว่างแคว้นต่างๆ โดยสานุศิษย์ของเล่าจื๊อ โดยอาศัยบันทึกต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับเล่าจื๊อผู้เป็นอาจารย์ของพวกเขาตลอดทั้งคำสอนของเล่าจื๊อที่พวกตนได้ฟังมาจากอาจารย์เล่าจื๊อเองเป็นหลักประกอบการเรียบเรียง คำอธิบายนี้ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายที่มีเหตุผลอย่างที่สุด และแจ่มแจ้งที่สุด ถ้าหากเราจะระลึกว่าบทนิพนธ์เรื่องปกิณกะนิพนธ์ของขงจื๊อ (Analects) ตลอดทั้งวรรณกรรมในสมัยโบราณอื่นๆ นั้น ต่างรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นในทำนองนี้ทั้งสิ้น ทฤษฎีนี้จะอธิบายได้เป็นอย่างดีถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมวรรณกรรมโบราณเหล่านี้ จึงมีข้อความเป็นบทๆ ต่อเนื่องกัน และเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ ข้อความแต่ละบทมีลักษณะที่แสดงความสมบูรณ์ของมันในตัว ลักษณะดังกล่าวนี้คงจะเป็นไปได้ ถ้าหากบทนิพนธ์นี้เขียนขึ้นโดยบุคคลจำนวนหลายคนด้วยกัน

ดูเหมือนว่า สิ่งที่สอดคล้องกับบทนิพนธ์นี้อย่างที่สุด ที่นอกเหนือไปจากเรื่องผู้นิพนธ์แล้วก็คือ สิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าข้อความส่วนใหญ่ในบทนิพนธ์เต๋าเต้อจิงนั้น แสดงถึงทรรศนะปรัชญาอันแท้จริงของเล่าจื๊อ บทนิพนธ์เล่มนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นต่างๆ ของปรัชญาเต๋าที่คาดคิดกันว่าน่าจะมีอยู่ก่อนสมัยของขงจื๊ออย่างแน่นอน นักปรัชญาในสมัยต้นๆ ของจีนทำนองเดียวกันกับนักปรัชญาในดินแดนอื่นๆ นั้น เป็นนักปรัชญาธรรมชาตินิยม ที่มองออกจากตนเองไปสู่โลกภายนอก แทนที่จะมองดูภายในตนเอง  จนกระทั่งถึงยุคสมัยประมาณศตวรรษที่หกก่อน ค.ศ. ที่ปรัชญาเริ่มหันมาสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาภายในจิตใจของมนุษย์ ชีวิตของมนุษย์ชะตากรรมและจริยธรรมของมนุษย์ การเริ่มต้นและการก่อตัวของทรรศนะปรัชญาอันนี้ กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงจากปรัชญาธรรมชาตินิยมมาสู่มนุษยธรรมนั้น  อาจกำหนดเอาได้ว่าแฝงมาในรูปของปรัชญาของขงจื๊อนั้นเอง บทนิพนธ์เรื่องเต๋า เต้อ จิง นั้น ยืนอยู่ตรงธรณีประตูของการเริ่มต้นและการก่อตัวของการเปลี่ยนแปลงอันนี้ เพราะฉะนั้นเราอาจจะกล่าวถึงบทนิพนธ์ เต๋าเต้อจิงได้อย่างแน่นอนที่สุดว่า บทนิพนธ์นี้ไม่ใช่ผลงานของบุคคลคนเดียว แต่เป็นผลงานของบุคคลหลายคน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทรรศนะอันถูกต้องของปรัชญาของเล่าจื๊อ ผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยก่อนหน้า ของขงจื๊อถัดขึ้นไป

บทนิพนธ์เล่มนี้  ประกอบด้วยสองภาค คือ เต๋า กับ เต้อ จนกระทั่งลุมาถึงสมัยพระจักรพรรดิ จิ้ง (Ching) ปี 156-141 ก่อน ค.ศ. ของราชวงศ์ฮั่น (Han) ที่บทนิพนธ์ทั้งสองภาคนี้ถูกรวมกันเข้าเป็นบทนิพนธ์เล่มเดียวกัน ภายใต้ชื่อที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า เต๋า เต้อ จิง อย่างไรก็ตาม พระจักรพรรดิ์ ซ่วน จุง (Hsuan Chung) ปี ค.ศ.713-755 ของราชวงศ์ถัง (T’ung) ได้แบ่งบทนิพนธ์เล่มนี้ออกเป็นเล่มใหม่อีกครั้งหนึ่ง คือ เต๋า จิง (Tao Ching) กับ เต้อ จิง (Te Ching) ถึงแม้ว่าบทนิพนธ์ในฉบับดั้งเดิมจะไม่มีการแบ่งตอนภายในเล่มแต่อย่างใด แต่ต่อมาในภายหลัง ได้มีการแบ่งข้อความภายในเล่มเป็นบทๆ จำนวนของบทนั้นมีแตกต่างไม่ตรงกัน มีตั้งแต่ห้าสิบห้าบทไปจนถึงแปดสิบเจ็ดบท

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

เม่งจื๊อกับการเมืองหลักการและนโยบาย

เม่งจื๊อ คล้ายกับขงจื๊อ คือมีความสนใจเป็นอย่างมากในเรื่องการสร้างระบบการปกครองที่ดี ซึ่งเขาเรียกว่า เป็นการปกครองโดยมนุษยธรรม ตามแบบฉบับของสำนักปรัชญาขงจื๊อ เม่งจื๊อถือว่า การปกครองที่ดีนั้นไม่ใช่การปกครองที่อาศัยอำนาจอันป่าเถื่อน แต่เป็นการปกครองโดยผู้ปกครองบ้านเมือง ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง เม่งจื๊อมีความเห็นว่าการปกครองนั้น อาจกระทำได้เป็นสองรูปแบบ คือ

การปกครองที่อาศัยอำนาจ และไม่ยกย่องนับถือมนุษยธรรมนั้น เป็นการปกครองแบบทรราชย์ หรือ ป่า (pa)……..การปกครองที่อาศัยคุณธรรมเป็นหลักและยึดมั่นอยู่ ในมนุษยธรรมนั้น เป็นการปกครองแบบกษัตริย์ หรือหวั่ง (wang)…..แต่ในกรณีที่เป็นการปกครองที่ใช้อำนาจเป็นเครื่องมือควบคุมประชาชนนั้น ประชาชนหาได้ยอมจำนนต่อการปกครองด้วยจิตใจไม่ ประชาชนยอมจำนน เพราะพวกเขาไม่อาจขัดขืนได้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นการปกครองที่ใช้คุณธรรม เป็นเครื่องมือควบคุมประชาชนแล้ว ประชาชนมีความรู้สึกพอใจในการปกครอง ด้วยจิตใจอันแท้จริงของตน และเชื่อฟังบ้านเมืองด้วยความสมัครใจ

ความคิดเห็นของเม่งจื๊อในกรณีนี้ หาใช่เป็นความคิดเห็นที่เขาได้มาจากขงจื๊อในฐานะที่เป็นผู้รับช่วงความคิดของขงจื๊อเท่านั้นไม่ แต่เป็นความคิดที่ได้มาจากสถานการณ์อันยุ่งเหยิงของเหตุการณ์ของโลกที่เขารู้จักด้วย ปฏิกิริยาที่มีต่อสภาพสิ่งแวดล้อมของยุคสมัยนั้น ทำให้เขาเกิดความคิดทางทฤษฎีทางการปกครองที่อนุมานจากคำสอนอันเป็นหลักการใหญ่ของเขาที่ว่า มนุษย์นั้นมีความดีเป็นสภาพอันแท้จริงตามธรรมชาติของตน

มนุษย์ทุกคนมีจิตใจที่ไม่สามารถ จะทนเห็นความทุกข์ของบุคคลอื่นได้ พระมหากษัตริย์แต่โบราณนั้น ทรงมีน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์เหล่านั้นจึงมีการปกครองที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณา ด้วยเหตุนี้ การปกครองจึงง่ายเหมือนพลิกของเล่นไปมาอยู่ในอุ้งมือ

จากความคิดเรื่องการปกครองโดยมนุษยธรรมนี้ ทำให้เม่งจื๊อมีความเห็นว่าประชาชนนั้นมีบทบาทอันสำคัญ ในการปกครองบ้านเมือง

ในบ้านเมืองนั้น ประชาชนถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญสูงที่สุด เทวดาของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับที่สอง ส่วนนักการปกครอบนั้นมีความสำคัญน้อยที่สุด

การปกครองที่ดีควรจะเริ่มงานจากประชาชนขึ้นไป มิใช่เริ่มงานมาจากชนชั้นปกครองลงมา ประชาชนไม่ใช่เป็นแต่เพียงรากฐานของการปกครองเท่านั้น แต่ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยคนสุดท้ายของการปกครองด้วย เม่งจื๊อยอมรับเรื่องทฤษฎีแห่ง “โองการแห่งสวรรค์” ที่มีปรากฏอยู่ในบทนิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์ของขงจื๊อ หรืออธิบายว่า พระจักรพรรดิ์นั้นเป็นโอรสแห่งสวรรค์ และเป็นผู้รับใช้คนแรกที่สุดของรัฐ แต่เขาได้ยกข้อความอีกตอนหนึ่งในบทนิพนธืเรื่องประวัติศาสตร์นี้มาอ้างด้วยคือ ข้อความที่กล่าวว่า

“สวรรค์นั้นไม่ได้มีเจตน์จำนงอันแน่นอนคงที่ แต่สวรรค์มองดูสิ่งทั้งหลายโดยผ่านทางสายตาของประชาชน และสดับตรับฟังสิ่งทั้งหลายโดยผ่านทางหูของประชาชน”

ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ประชาชนนั้นมีสิทธิที่จะถอดพระมหากษัตริย์ที่เลวทรามออกจากบัลลังก์ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าทรรศนะของเม่งจื๊อในเรื่องนี้ เป็นทรรศนะที่เกิดขึ้นก่อนทฤษฎีการเมืองของจอห์น ล้อค (John Locke) ที่ว่าด้วย ความยินยอมของประชาชนผู้ถูกปกครองกับสิทธิของประชาชนที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติต่อต้านการปกครองถึง 2000 ปี

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ และความรับผิดชอบของนักการปกครองแล้ว เม่งจื๊อได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้เป็นหลักกว้างๆ โดยยกอุทธาหรณ์ของพระเจ้าหุย แห่งแคว้นเหลียงมาอ้างว่า ถ้าหากพระองค์ จะทรงดำเนินการปกครองโดยถือหลักมนุษยธรรมแล้ว ขอจงได้ลดการลงโทษทัณฑ์ที่รุนแรงลง ลดการเก็บภาษีอากรลง  ดูแลเอาใจใส่ที่ดินทำกินด้วยความอุตสาหะ และระมัดระวัง จัดให้บุคคลที่มีกำลังร่างกายแข็งแรงใช้เวลาว่างไปในเรื่องการปลูกฝังความรักต่อบิดามารดาของตน ความรักในพี่น้อง ความจงรักภักดีในบ้านเมืองและความซื่อสัตย์สุจริต…..เช่นนี้แล้ว ประชาชนพลเมืองของพระองค์ก็จะสามารถสู้รบกับกองทัพศัตรู แม้จะมีเกราะอันแข็งแรงอาวุธแหลมคมให้พ่ายหนีไปได้ ถึงแม้ว่าประชาชนจะมีแต่ไม้พลองเป็นอาวุธเท่านั้นก็ตาม

ถ้าจะกล่าวให้แน่ชัดลงไปแล้ว หน้าที่อันสำคัญของผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นอาจจำแนกได้เป็นสี่ประการคือ ประการที่หนึ่ง ทำให้ประชาชนมีความสมบูรณ์พูนสุขขึ้น โดยการปรับปรุงสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชาชน ประการที่สอง ให้การศึกษาแก่ประชาชน ในเรื่องของจารีตประเพณี และมารยาทของสังคม และความจงรักภักดีในชาติ หน้าที่เหล่านี้หรือนโยบายอันเป็นอุดมการณ์เหล่านี้ มีอธิบายต่อไปดังนี้

เม่งจื๊อกำหนดให้ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องแสวงหาหนทาง ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เป็นประการแรก เพราะว่าคุณธรรม และความสุขสงบนั้นจะมีขึ้นไม่ได้ตราบใดที่ความหิวและความหนาวยังเป็นภาวะครอบงำของสังคมอยู่ ประชาชนจะอยู่โดยปราศจากน้ำและไฟไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น ถ้าท่านเคาะประตูบ้านใครคนหนึ่ง ในเวลาเย็น เพื่อขอน้ำและไฟ ก็คงไม่มีใครจะปฏิเสธช่วยเหลือท่านได้ นี้คือสภาพของความอุดมสมบูรณ์ของไฟและน้ำ…..ในเมื่อข้าวปลาอาหารมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนน้ำและไฟแล้ว ประชาชนจะเป็นอื่นไปได้อย่างไร นอกจากจะเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมอันดีเท่านั้น?

วิธีการที่เม่งจื๊อมองเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้บรรลุถึง ซึ่งสภาพการณ์แห่งสังคม อุดมคตินี้นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีการที่เราอาจคิดว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยในตอนแรกนั้น แต่เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ

ถ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว ข้าวกล้าก็จะได้ผลมากเกินกว่าที่จะบริโภค ถ้าไม่อนุญาตให้ใช้แหถี่ในหนองน้ำและทะเลสาบแล้ว ก็จะมีหอยปูปลากกว่าที่จะบริโภคให้หมด ถ้าอนุญาตให้ถือขวานและพร้าเข้าป่าไปตัดไม้ในสมัยเวลาที่เหมาะสมแล้ว เราก็จะมีไม้มากมายเหลือใช้ เมื่อประชาชนมีข้าวมีปลาจนบริโภคไม่หมด และมีไม้มากมายจนใช้ไม่หมดแล้ว ประชาชนก็จะสามารถเลี้ยงดูคนที่มีชีวิตอยู่ และฝังศพคนที่ตายไปแล้วได้โดยปราศจากความวิตกกังวลใดๆ การที่จะทำให้ประชาชนได้มีหลักประกันเช่นที่ว่านี้ เป็นหน้าที่อันดับแรกของการปกครองที่ดี

ในเรื่องการกสิกรรมนั้น เม่งจื๊อต้องการฟื้นฟู ระบบการทำกสิกรรมแบบ จิ่งเถียน (Ch’ing T’ien) หรือแบบ นา-บ่อ (well-field) ตามวิธีนี้ ที่ดินที่สามารถทำการเพาะปลูกได้จะถูกแบ่งออกเป็นผืนสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเนื้อที่เก้าร้อยมู (mu) ขนาดของมูนั้นไม่ทราบว่าเท่าไร แต่ในปัจจุบันนี้ หนึ่งมูนั้นประมาณเท่ากับหนึ่งในสามของหนึ่งไร่ ที่ดินแต่ละผืนนี้จะกำหนดให้ครอบครัวแปดครอบครัวทำกิน ที่ดินแต่ละผืนจะแบ่งออกเป็นแปลงย่อยมีลักษณะคล้ายกับตัวอักษรจีนว่า บ่อน้ำ หรือ จิ่ง (#) แปลงย่อยแปดแปลงข้างนอกครอบครัวทั้งแปดครอบครัว จะแบ่งกันทำกินครอบครัวละแปลง ส่วนแปลงในสุดตรงกลางนั้นเป็นแปลงที่ทั้งแปดครอบครัวจะทำร่วมกันผลิตผลของแปลงร่วมกันนี้ ครอบครัวทั้งแปดจะต้องมอบให้กับบ้านเมืองไปแทนภาษีอากร ระบบการทำกสิกรรมแบบนี้มายกเลิกไป ในปลายรัชสมัยของราชวงศ์โจว และถูกแทนที่ด้วยระบบการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นส่วนบุคคล อันเป็นระบบที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา เพิ่งจะมาถูกเลิกเมื่อประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมูนิสต์นี้เอง

ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนแต่ละคนมีความมั่งมีขึ้นอยู่ในใจเช่นนี้ เม่งจื๊อจึงได้ขัดขวางเรื่องการเก็บภาษีอย่างกดขี่ ซึ่งเป็นสภาพการณ์ของสมัยนั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเก็บภาษีที่เป็นภาระอันหนักมากของประชาชน ทั้งนี้ เพราะบ้านเมืองมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินเพื่อสงครามตลอดเวลา โดยไม่มีการหยุดเลย เม่งจื๊อมีความเห็นพ้องด้วยว่าต้องมีการเก็บภาษี แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการและปริมาณของการเก็บภาษี เขาได้ยกวิธีการเก็บภาษีที่ปฏิบัติกันในสมัยนั้นสามวิธีมาอ้างคือ การเก็บภาษีในสมัยราชวงศ์เสี่ยในสมัยโบราณนั้น ถือว่าเป็นเครื่องบรรณาการ การเก็บภาษีในสมัยราชวงศ์หยินนั้น ถือว่าเป็นการบริจาคเงินช่วยเหลือ เป็นลักษณะของการช่วยเหลือกันและกัน ระหว่างบ้านเมืองกับประชาชนและประชาชนกับบ้านเมือง และการเก็บภาษีในราชวงศ์โจวนั้น เป็นการประเมินค่าภาษีที่จะต้องเสียโดยบ้านเมือง ในวิธีการเก็บภาษีทั้งสามแบบนี้ เม่งจื๊อดูเหมือนจะพอใจในวิธีการของราชวงศ์หยินมากที่สุด ส่วนวิธีการของราชวงศ์โจวนั้น เม่งจื๊อไม่ชอบใจเลย เขากล่าวว่า

…….ไม่มีการเก็บภาษีวิธีใดที่จะดีไปกว่าการอนุเคราะห์ช่วยเหลือกัน และไม่มีการเก็บภาษีวิธีใดที่จะเลวยิ่งไปกว่าการประเมินเรียกเก็บเอา โดยวิธีการหลังนี้ ค่าภาษีนั้นกำหนดจากรายได้ถัวเฉลี่ยในช่วงระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน ผลก็คือ ในปีที่ทำกิจการงานได้ผลดีมีข้าวกล้าเต็มยุ้งฉางอุดมสมบูรณ์ จะเก็บภาษีมากเท่าใดก็ไม่เป็นการกดขี่ ทำให้เดือดร้อน เพราะค่าภาษีที่จะต้องเสียตามปกตินั้นมีจำนวนไม่มาก แต่ในปีที่กิจการงานได้ผลไม่ดี เมื่อผลิตผลได้น้อยไม่พอเพียงแก่การบริโภค ซ้ำยังต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปุ๋ยด้วย ระบบการเก็บภาษีแบบนี้ก็ยังบังคับเก็บเต็มจำนวนที่เคยเก็บอยู่ ด้วยเหตุนี้  นักการปกครองจึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนต้องทำงานหนักตลอดทั้งปี โดยไม่มีแม้แต่รางวัลเพียงเพื่อพอกับการบริโภคเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เม่งจื๊อได้ระบุว่า ผ้าแพรและผ้าที่ทำด้วยป่านข้าว และการที่บุคคลออกแรงรับใช้ก็เป็นสิ่งตอบแทนเพื่อการเก็บภาษีได้ด้วย แต่เขาย้ำความสำคัญว่า “ผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น ควรจะเรียกเก็บภาษีสิ่งเหล่านี้เพียงปีละอย่างเดียว ส่วนอีกสองอย่างนั้นควรจะผลัดเรียกเก็บในปีต่อๆ ไป”

ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น เม่งจื๊อเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า การอบรมสั่งสอนที่เหมาะสม และการปกครองที่ดีนั้นควรจะต้องดำเนินไปพร้อมกัน

คำพูดที่ไพเราะ ไม่ได้สัมผัสบุคคลอย่างซาบซึ้งเท่ากับการกระทำที่เต็มไปด้วยความกรุณา ในทำนองเดียวกันการปกครองที่ดีจะไม่ผูกพันประชาชนไว้ได้อย่างมั่นคงเท่ากับการให้การศึกษาที่ดี เพราะว่าการปกครองที่ดีนั้น ก่อให้เกิดแต่ความยำเกรงขึ้นในจิตใจของประชาชนเท่านั้น ส่วนการศึกษาที่ดีนั้น ก่อให้เกิดความรักขึ้นในจิตใจของประชาชน การปกครองที่ดีทำให้ประชาชนมีโภคทรัพย์เพิ่มพูนขึ้น แต่การศึกาที่ดีนั้นเป็นเครื่องทำให้ได้น้ำใจของประชาชน

เม่งจื๊อมีความเห็นว่า การศึกษานั้นคือ เป้าหมายของการปกครองที่ดี เช่นเดียวกับที่โภคทรัพย์เป็นบ่อเกิดของการปกครอง เขายอมรับว่าด้วยความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นเป็นการไม่เพียงพอ ประชาชนควรจะต้องมีความรู้เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เกิดผลดีที่สุด

มนุษย์มีจริยธรรมเป็นธรรมชาติของตน ถ้ามนุษย์ได้รับการเลี้ยงดูดี มีเสื้อผ้าใส่อย่างอบอุ่น มีที่พักอาศัยอันสุขสบายแล้ว แต่ถ้าปราศจากการศึกษาอย่างเหมาะสม มนุษย์ก็จะมีสภาพเยี่ยงสัตว์เท่านั้นเอง

บทวิเคราะห์
ข้อสรุปทั้งหลายที่เกี่ยวกับผลงานของขงจื๊อนั้น อาจจะนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีกับผลงานของเม่งจื๊อโดยมีข้อยกเว้นที่เด่นๆ บางประการ ประการแรก ในขณะที่ปรมาจารย์ทั้งสองต่างมีความสนใจในเรื่องการปกครองที่ดีเหมือนกันนั้น เม่งจื๊อมีความเห็นยืนยันว่าการปกครองที่ดีนั้น นักการปกครองจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความยินยอมของประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน “ประชาชนนั้นมีฐานะอันสูงสุดในบ้านเมือง…..ส่วนักการปกครองนั้นมีความสำคัญอันน้อยที่สุด”

แต่ขงจื๊อนั้นถือว่านักการปกครองเป็นเจ้าเหนือหัวผู้มีอำนาจทุกประการ และยินยอมให้แต่เพียงว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเท่านั้นเอง แต่ในวาระที่สุดนั้น เม่งจื๊อถือเอาทรรศนะที่ตรงกันข้ามกับของขงจื๊ออย่างสิ้นเชิง เขากล่าวว่า

มีหนทางอยู่ประการเดียวเท่านั้น ที่จะคงอำนาจปกครองของพระจักรพรรดิไว้ได้ คือ การผูกมัดจิตใจของประชาชน หนทางเดียวที่จะผูกมัดจิตใจของประชาชนไว้ได้นั้น คือ จงให้สิ่งที่ประชาชนชอบ และอย่างบังคับฝืนใจสิ่งที่ประชาชนเกลียดชัง

ประการที่สอง  ซึ่งเป็นเหตุผลขั้นต่อไปนั้น เม่งจื๊อมอบหมายให้ประชาชน และรวมทั้งเสนาบดีทั้งหลาย มีสิทธิ์ที่จะขับไล่ผู้ปกครองบ้านเมืองที่เป็นคนเลวทราม ส่วนขงจื๊อนั้นเพียงแต่กำหนดความสัมพันธ์อันมั่นคงถาวรระหว่างผู้ปกครองบ้านเมืองกับประชาชนไว้เท่านั้น

ขอให้ผู้ปกครองบ้านเมือง จงเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง
เสนาบดี จงเป็นเสนาบดี บิดาจงเป็นบิดา
และบุตรจงเป็นบุตร (จาก ปกิณกะของขงจื๊อ)

ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีทรรศนะอันเป็นการปฏิรูปสังคมเช่นนี้ เม่งจื๊อนั้นอาจถือเอาได้ว่า เป็นนักประชาธิปไตยในความหมายของสังคมในปัจจุบัน

ประการที่สาม ถึงแม้ว่าทั้งขงจื๊อและเม่งจื๊อ ยอมรับเอาทรรศนะที่ว่าการปกครองที่ดีนั้น ต้องอาศัยสภาวะอันดีงามทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจเหมือนกันก็ตาม เราก็ได้เห็นแล้วว่า เม่งจื๊อนั้นมีทรรศนะที่มุ่งหมายเฉพาะเจาะจงมากกว่าขงจื๊อ ผู้เป็นอาจารย์ของเขา ด้วยเหตุนี้ สำหรับเม่งจื๊อนั้น การกล่าวแต่เพียงว่า ควรจะทำให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว จัดให้มีการศึกษานั้นเป็นการไม่เพียงพอ ถ้าจะให้ถูกแล้ว เขาเผยแพร่ทรรศนะของความคิดเห็นที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงลงไปเป็นเรื่องๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น เช่น เรื่องการจัดการกสิกรรมแบบนาบ่อ (well-field) การควบคุมภาษีอากร การสงวนทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เป็นต้น

ประการสุดท้าย เม่งจื๊อถือเอาหลักแห่งความดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นศูนย์กลางของระบบปรัชญาทั้งหมดของตน ส่วนขงจื๊อนั้น ถือเอาแต่เพียงว่ามนุษยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่ เป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การเป็นผู้สืบต่อมรดกทางปรัชญาของมหาปรมาจารย์ขงจื๊อ ผู้อมตะต่อไป

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

เม่งจื๊อกับคำสอนเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

ในฐานะที่เป็นผู้เผยแพร่คำสอนของขงจื๊อ เม่งจื๊อถือเอาคำสอนเรื่อง เหยิน (Yen) เป็นจุดศูนย์กลางของคำสอนของเขาทั้งหมด แต่เขาได้ขยายความคิดเรื่องนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมเพิ่มขึ้น เขามีความเห็นว่า เหยินนั้นควรจะประกอบด้วยหยี (Yi) หรือการยึดมั่นในศีลธรรม

สิ่งที่บุคคลเทิดทูนอยู่ในใจนั้น คือ มนุษยธรรม
สิ่งที่บุคคลเทิดทูนอยู่ด้วยการกระทำนั้น คือการยึดมั่นในศีลธรรม

ในความพยายามที่จะสร้างความคิดในเรื่องการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมนั้น เม่งจื๊อได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ปรัชญาจีนที่สำคัญมากคือ ความเชื่อในเรื่องความดีที่มีมาแต่กำเนิดว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ได้มีข้อโต้เถียงกันมากมายในหมู่บรรดาสานุศิษย์ของขงจื๊อเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในด้านที่เกี่ยวกับจริยธรรม เม่งจื๊อเป็นบุคคลแรกที่ประกาศอย่างชัดแจ้งซึ่งคำสอนว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นโน้มน้อมไปสู่ความดี และความเมตตากรุณา ในยุคสมัยของเม่งจื๊อ มีทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในด้านจริยธรรมอยู่สามทฤษฎี ทฤษฎีที่หนึ่งเป็นทฤษฎีของ เก้าจื๊อ (Kao Tzu) อันเป็นบุคคลผู้ซึ่ง เม่งจื๊อได้เคยโต้เถียงอยู่หลายครั้ง เก้าจื๊อ มีทรรศนะว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่โน้มน้อมไปในทางดีหรือทางชั่วแต่อย่างใด นักปรัชญาจีนอีกท่านหนึ่งถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีลักษณะโน้มน้อมไปในทางดี หรือทางชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง นักปรัชญาจีนท่านที่สามกล่าวว่า ธรรมชาติของมนุษย์บางคนโน้มน้อมไปในทางดีและบางคนโน้มน้อมไปในทางชั่ว

มีข้อความบทหนึ่งซึ่งในบทนิพนธ์เรื่องเม่งจื๊อ ที่แสดงให้เห็นถึงทรรศนะที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นโน้มน้อมไปในทางดี ข้อความบทนั้นว่า

ความรู้สึกของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิดนั้นแสดงว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความดี ถ้ามนุษย์กระทำสิ่งที่ไม่ดี เราก็ไม่ควรจะตำหนิว่านั้นเป็นสันดานของมนุษย์

ความรู้สึกมีเมตตากรุณานั้นเป็นความรู้สึกของมนุษย์โดยทั่วไปทุกคน  ในทำนองเดียวกันกับความรู้สึกละอาย ความรู้สึกรังเกียจ ความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้สึกในสิ่งที่ถูกและในสิ่งที่ผิด ความรู้สึกเมตตากรุณานั้น หมายความถึงความมีมนุษยธรรม ความรู้สึกละอายและรังเกียจนั้นหมายความถึงความยึดมั่นในหลักศีลธรรม ความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น หมายความถึงการปฏิบัติตนอันเหมาะสม ความรู้สึกสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิดนั้นหมายความถึงปัญญา

ด้วยเหตุนี้ ความมีมนุษยธรรม ความยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม ความปฏิบัติตนโดยเหมาะสม และปัญญานั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา ที่เรานำเข้ามาใส่ไว้ในตัวของเรา แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเราตามธรรมชาติ บางครั้งเราลืมสิ่งเหล่านี้ไป เพราะว่าขาดความคิด เหมือนดังคำภาษิตที่ว่า “จงแสวงหาแล้วท่านจะพบ ถ้าท่านละเลยแล้วท่านจะสูญเสีย…” ซึ่งกล่าวเป็นบทกวีนิพนธ์ว่า

สวรรค์เป็นผู้สร้างมนุษย์จำนวนมากมายนี้ สรรพสิ่งทั้งปวงย่อมเป็นไปตามกฎอันเหมาะสมของมัน จงยึดมั่นอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ แล้วมนุษย์ทุกคนจะรักและยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมแห่งความดี

โดยสรุปแล้ว ข้อความบทนี้ แสดงให้เห็นถึงหลักแห่งความคิดอยู่สามประการ ประการที่หนึ่ง มนุษย์นั้นมีความดีงามเป็นธรรมชาติของตนและย่อมกระทำสิ่งที่ดีงามตามธรรมชาติของตน ประการที่สองมนุษย์มีคุณธรรมอยู่สี่อย่างคือ มนุษย์ธรรม ความยึดมั่นในศีลธรรม การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมและปัญญา ประการที่สาม สวรรค์เป็นผู้สร้างมนุษย์และความรู้สึกทั้งหลายที่มนุษย์มีมาแต่กำเนิด

ครั้งหนึ่ง เม่งจื๊อและเก้าจื๊อได้อภิปรายกันถึงทรรศนะต่างๆ ที่กล่าวถึงดังนี้

เก้าจื๊อ กล่าวว่า “ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเหมือนต้นหลิว ความยึดมั่นในศีลธรรมนั้น เป็นเหมือนชามไม้ การปลูกฝังมนุษยธรรมและความยึดมั่นในศีลธรรมนั้น เป็นเหมือนกับการเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้”

เมื่อได้ยินคำกล่าวของเก้าจื๊อเช่นนั้น เม่งจื๊อจึงโต้ตอบว่า ถ้าท่านยึดเอาธรรมชาติของต้นหลิวเป็นหลักแล้ว ท่านจะเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้ได้อย่างไร? ถ้าท่านจะเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้แล้ว ท่านจะต้องทำลายธรรมชาติของต้นหลิวเสียก่อนฉันใด ท่านก็จะต้องทำลายธรรมชาติของมนุษย์เสียก่อน ถ้าท่านจะปลูกฝังมนุษยธรรมและความยึดมั่นในศีลธรรมให้แก่มนุษย์ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คำพูดของท่านจะชักจูงให้คนทั้งหลายถือเอาว่ามนุษยธรรมและความยึดมั่นในศีลธรรมนั้นเป็นความชั่ว”

กล่าวโดยย่อแล้ว คำกล่าวเปรียบเทียบของเก้าจื๊อนั้น เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่า การที่จะเอาต้นหลิวมาทำเป็นชามไม้นั้น จะต้องทำลายธรรมชาติของต้นหลิวเสียก่อน แต่มนุษย์และความยึดมั่นในศีลธรรมนั้น เป็นผลิตผลของความเจริญงอกงามตามธรรมชาติของมนุษย์

อีกตอนหนึ่ง เก้าจื๊อ กล่าวว่า

“ธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือ กระแสน้ำที่รวนเร ถ้าเปิดทางทิศตะวันออกน้ำก็จะไหลไปทางทิศตะวันออก ถ้าเปิดทางทิศตะวันตกน้ำก็จะไหลไปทางทิศตะวันตก ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ดี และก็ไม่ชั่ว เหมือนกับน้ำที่ไม่รู้จักทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตกฉะนั้น”

เม่งจื๊อ โต้แย้งว่า “น้ำนั้นถูกแล้วอาจไหลไปทางทิศตะวันออกหรือทางทิศตะวันตกก็ได้ แต่น้ำจะไหลขึ้นหรือไหลลงเล่า? ธรรมชาติของมนุษย์นั้นโน้มน้อมไปในทางดี เหมือนกับน้ำที่จะต้องไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ น้ำจะต้องไหลไปสู่ที่ต่ำฉันใด มนุษย์จะต้องมีความโน้มน้าวไปสู่ความดีงามฉันนั้น แต่ท่านอาจจะเอาน้ำมาสาดให้ข้ามศีรษะท่านก็ได้ หรือทำเขื่อนทดน้ำให้น้ำไหลทวนขึ้นไปบนยอดเขาก็ได้ แต่นั้นไม่ใช่ธรรมชาติของน้ำ พลังภายนอกต่างหากที่บังคับให้น้ำต้องเป็นไปเช่นนั้น ในทำนองเดียวกัน ถ้ามนุษย์ต้องการกระทำในสิ่งที่เลวทรามนั้น ธรรมชาติของเขาถูกบังคับให้หันเหออกไปจากสภาพอันแท้จริงของตน”

ยิ่งไปกว่านั้น เม่งจื๊อเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้น ถูกสิ่งที่อยู่ภายนอกกายของมนุษย์มาทำให้เสื่อมเสีย บทอุปมาเรื่องภูเขาวัว ต่อไปนี้เป็นเครื่องอธิบายอย่างดีของการที่โลกมาทำลายธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด

ครั้งหนึ่งภูเขาวัวมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างสวยงาม แต่เนื่องจากภูเขาวัวตั้งอยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ ในไม่ช้าต้นไม้บนเขาวัวนั้น ก็ถูกคนมาตัดโค่นลงเสียเตียน…แม้กระนั้นเมื่อได้น้ำฝนและน้ำค้าง ต้นไม้ก็งอกงามขึ้นมาใหม่เป็นต้นอ่อนจากตอไม้เดิมที่ถูกตัดทิ้งไป ต่อมา ฝูงวัวควายและแกะมาและเล็มกินต้นอ่อนหมด ในที่สุดภูเขาวัวก็โล่งเตียนลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคนมาเห็นสภาพเช่นนี้ของภูเขาวัว ก็คิดไปว่า บนภูเขาวัวนี้ไม่เคยมีต้นไม้ขึ้นเป็นป่ามาก่อนเลย สภาพเช่นนี้เป็นสภาพตามธรรมชาติของภูเขาวัวลูกนี้ละหรือ?

ฉันใด ธรรมชาติของมนุษย์ก็เหมือนกัน เราจะกล่าวได้อย่างไรว่า มนุษย์นั้นไม่มีมนุษยธรรม ไม่มีความยึดมั่นในศีลธรรม? มนุษย์ได้สูญเสียความรู้สึกอันดีงามของตนไปในทำนองเดียวกันกับที่ป่าไม้บนภูเขาถูกทำลายลงนั่นเอง  จิตใจของมนุษย์ถูกรบกวนทำลายวันแล้ววันเล่า ไฉนจึงจะดำรงความดีของตนไว้ได้เล่า? ถึงแม้กระนั้น เมื่อได้รับการเลี้ยงดูจากดินฟ้าอากาศอันสงบในเวลารุ่งอรุณ และพลังแห่งชีวิตที่ดิ้นรนงอกงามอยู่ทุกวันทุกคืน มนุษย์ได้สร้างความปรารถนาและความรังเกียจที่เหมาะสมกับธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์ขึ้นในหัวใจของตน แต่ในไม่ช้าความคิดที่ดีงามเหล่านี้กลับถูกพันธนาการและถูกทำลายลงด้วยการบุกรุกของกิจการงานต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จึงต้องเหี่ยวเฉาลง จนกระทั่งพลังหล่อเลี้ยงชีวิตในยามราตรีไม่สามารถจะทำให้ความรู้สึกอันดีเหล่านั้นมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ในวาระที่สุด มนุษย์จึงกลับกลายไปมีสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากสภาพของนกและสัตว์ เมื่อมีสภาพเช่นนี้ คนก็คิดไปว่ามนุษย์นั้นไม่เคยมีความรู้สึกอันดีงามมาก่อนเลย สภาพเช่นนี้เราจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์ได้อย่างไร?

ความหมายของบทอุปมาเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน มนุษย์เหมือนกับภูเขาโล้น ซึ่งสภาพเดิมนั้นมีแต่ความสวยงาม แต่ด้วยอิทธิพลจากพลังภายนอกกาย อาจจะเป็นขวาน สัตว์ เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน มนุษย์ก็เหมือนกับภูเขา ในที่สุดก็สูญสิ้นความงามอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของตนไปหมดสิ้น สภาพเช่นนี้ไม่อาจทำให้เรากล่าวได้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่สวยงาม ไม่ดี หาได้ไม่ เม่งจื๊อ ขยายความคิดนี้ต่อไปโดยยืนยันว่า มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้ว มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน ความแตกต่างของมนุษย์นั้นเนื่องมาแต่สิ่งแวดล้อม เขาเปรียบเทียบมนุษย์กับผลิตผลของข้าวฟ่าง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน ก็ต่อเมื่องอกงามอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเหมือนกันเท่านั้น

ข้อยกเว้นประการเดียวที่เม่งจื๊อยอมให้ในเรื่องความดีอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือ มนุษย์นั้นมีลักษณะอันหนึ่งอยู่ภายในตนเองอันเป็นลักษณะที่ไม่อาจกำหนดได้ อันเป็นลักษณะที่เม่งจื๊อเห็นว่าเป็นส่วนที่ไม่มีความโน้มน้อมไปในทางหลักจริยะรรมเลย และเป็นส่วนที่รับเอาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างให้เป็นไปในรูปใดก็ได้ ข้อยกเว้นอันนี้เองที่ทำให้เม่งจื๊อสามารถอธิบายได้ว่า ทำไม่มนุษย์ถึงแม้ว่าจะมีสภาพตามธรรมชาติของตนดี แต่ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางจริยธรรมได้เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกของมนุษย์มีสภาพที่เป็นอันตราย ส่วนที่เป็นกลางของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ขัดขวางมนุษย์ไม่ให้บรรลุถึงความดีงามอันเป็นสภาพที่แท้จริงของตน

แต่จากความคิดเห็นกว้างๆ ของเม่งจื๊อในเรื่องของธรรมชาติอันดีงามของมนุษย์นั้น เม่งจื๊อถือว่า มนุษย์มีความรู้สึกทางสัญชาตญาณบางประการที่เป็นคุณธรรมอันเป็นสิ่งที่สร้างมนุษย์ให้เป็นคนดี เราจำได้ว่าเม่งจื๊อสรุปความรู้สึกอันดีงามของมนุษย์ไว้ คือ ความเมตตากรุณา ความละอายและรังเกียจ ความสุภาพอ่อนโยน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เม่งจื๊อได้ให้ตัวอย่างดังนี้

ถ้าบุคคลใดเห็นเด็กคนหนึ่งกำลังจะตกลงในบ่อน้ำ บุคคลผู้นั้นจะต้องมีความรู้สึกตกใจและไม่สบายใจเกิดขึ้นทันที โดยไม่มียกเว้นว่าจะเป็นผู้ใด เหตุที่บุคคลนั้นมีความรู้สึกเช่นนั้น หาใช่เพราะว่าเขามุ่งหวังที่จะได้ความขอบคุณจากบิดามารดาของเด็กคนนั้น หรือเพราะว่าต้องการให้ชาวบ้านยกย่องสรรเสริญ หรือเพราะว่าเสียงร้องของเด็กทำให้เขาเป็นทุกข์ไม่สบายใจ ก็หาไม่ จากกรณีนี้ เราจะเห็นได้ว่า บุคคลที่ปราศจากความเมตตากรุณา ความละอาย ความรังเกียจ ความสุภาพอ่อนโยน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้น ไม่ใช่มนุษย์ ความเมตตากรุณาเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยธรรม ความละอาย และความรังเกียจเป็นจุดเริ่มต้นของความยึดมั่นในศีลธรรม ความสุภาพอ่อนโยนเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติตนอันเหมาะสม ความรู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา มนุษย์มีความรู้สึกสี่ประการนี้ เป็นจุดเริ่มต้น อุปมาดั่งแขนขาทั้งสี่ข้างของตน ฉะนั้นเม่งจื๊อ สรุปจากข้อความที่กล่าวนี้ว่า

เนื่องจากมนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกทั้งสี่ประการเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ตนเอง ขอให้มนุษย์ทุกคนจงรู้จักวิธีการส่งเสริมและพัฒนาให้ความรู้สึกทั้งสี่ประการนี้ เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ผลของการพัฒนานั้นจะเป็นเหมือนกับกองไฟที่เริ่มลุกโชน หรือน้ำพุที่เริ่มพลุพลุ่งขึ้นมา

เม่งจื๊อเห็นว่า เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะปลูกฝังคุณลักษณะมูลฐานทั้งสี่ประการนี้ให้เกิดขึ้นมีในคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้บรรลุถึงการมีมนุษยธรรมและการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม

มนุษยธรรมคือ หัวใจของมนุษย์ การยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมคือหนทางของมนุษย์น่าเวทนา บุคคลผู้ละทิ้งหนทางของมนุษย์และไม่แสวงหาหนทางนั้นอีกต่อไป น่าสมเพชบุคคลผู้สูญสิ้นหัวใจของมนุษย์อีกต่อไป เมื่อมนุษย์สูญหายเป็ดไก่ และหมูหมาของตน มนุษย์ยังรู้จักตามหามัน แต่เมื่อมนุษย์สูญหายหัวใจของมนุษย์ที่เป็นของตน ทำไมมนุษย์จึงไม่รู้จักตามหาเล่า ความมุ่งหมายของการศึกษาเล่าเรียนนั้นไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการแสวงหาหัวใจของมนุษย์ที่สูญหายไปนั้นเอง

การแสวงหาหัวใจของมนุษย์ที่สูญหายไปนั้น หมายความถึง การพยายามที่จะกู้คุณงามความดีอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ให้ฟื้นคืนมา การกระทำเช่นนี้เม่งจื๊อมีความรู้สึกว่า เป็นหน้าที่อันสูงสุดของมนุษย์

ประการสุดท้าย สูงขึ้นไปอีกขึ้นเหนือหน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่อตนเองดังกล่าวนี้แล้ว เม่งจื๊อมีความคิดอย่างเดียวกันกับขงจื๊อในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นการมีแต่เพียงการฟื้นฟูความดีอันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์เท่านั้น อาจจะเป็นการไม่เพียงพอ แต่เรายังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะพัฒนาความดีของมนุษย์และขยายความดีของมนุษย์ออกไป เพื่อให้เป็นคุณประโยชน์ของมนุษย์ชาติทั้งปวงอีกด้วย

จงปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสม และขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงผู้สูงอายุของครอบครัวอื่นด้วย
จงปฏิบัติต่อเด็กในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสมแล้วขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงเด็กๆ ของครอบครัวอื่นด้วย

เม่งจื๊อเรียกการกระทำอันนี้ว่า “การเผื่อแผ่ น้ำใจอันดีงามของตนไปถึงบุคคลอื่นๆ” และเขาถือว่าสิ่งนี้เป็นการพัฒนาขั้นสูงสุดของเหยิน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

เม่งจื๊อกับยุคสมัยของเขา

ยุคสมัยที่เม่งจื๊อมีชีวิตอยู่นั้น จำเป็นจะต้องมีอรรถาธิบายเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย ยุคสมัยนั้นนักประวัติศาสตร์เรียกว่าเป็นศักราชแห่งสมัยจั้นกว๋อ (Ch’an Kuo) หรือ สมัยสงครามของแคว้นต่างๆ ดังที่เราได้ทราบมาแล้ว สมัยนี้เป็นสมัยของความระส่ำระสาย รัฐบาลกลางของราชวงศ์โจว สูญสิ้นอำนาจในการปกครอง เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันในหมู่เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ตามมา ยุคสมัยแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ นี้อาจอธิบายสภาพได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง การสงครามเป็นลักษณะเด่นของยุค ในหลายระดับด้วยกัน ด้านหนึ่งแคว้นที่มีอำนาจโดยประมาณมีอยู่แล้วเจ็ดแคว้น ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจและตำแหน่งเพื่อครองบัลลังก์ของพระจักรพรรดิ อีกด้านหนึ่งอันเป็นผลที่เกิดจากสภาพของการแก่งแย่งชิงอำนาจกันของแคว้นใหญ่เหล่านี้ คือ แคว้นเล็กแคว้นน้อยทั้งหลายที่มีอำนาจอ่อนแอ ถูกบังคับให้ต้องป้องกันตนเอง และต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอดของแคว้นของตน พระมหาอุปราชเหวินของแคว้นเถิง  ได้ร้องขอคำแนะนำจากเม่งจื๊อ โดยสรุปสถานการณ์ว่าดังนี้

แคว้นเถิงเป็นแคว้นเล็ก ถึงแม้ข้าพเจ้าจะรับใช้แคว้นใหญ่ทั้งหลายอย่างสุดกำลังแล้ว เราก็ยังไม่สามารถจะรอดพ้นจากความทุกข์ยากที่ได้รับจากพวกแคว้นเหล่านี้ได้ ข้าพเจ้าควรจะกระทำอย่างไรดี จึงจะพ้นจากสถานการณ์อันลำบากนี้ได้?

ประการที่สอง การสงครามนำมาซึ่งภาวะอันหนักเรื่องการบำรุงรักษาทหาร ไม่แต่เท่านั้น ยังต้องมีการเก็บภาษีอย่างสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลที่บังเกิดแก่ประชาชนก็คือ ความยากจนอย่างน่าเวทนาในปีที่การเก็บเกี่ยวได้ผลดี และต้องอดอยากจนถึงสิ้นชีวิตในปีที่ขาดแคลนแห้งแล้ง

ประการที่สาม  สมัยนี้เป็นสมัยที่มีนักการเมืองและผู้มีสติปัญญาเดินทางไปมาบ่อยๆ ที่จริงแล้วไม่ได้ทำให้เกิดผลอะไรเลย นอกจากการฉกฉวยเอาโอกาสนี้ เพื่อทำการค้าขายในระดับสูงเท่านั้นเอง  พระเจ้าหุยของแคว้นเหลียงนั้นไม่ใช่เจ้าครองแคว้นคนเดียวที่ห้อมล้อมตนด้วยพวกที่มีสติปัญญาเป็นเลิศเท่าที่จะหาได้เท่านั้น ในสมัยที่ต้องกะเสือกกะสนดิ้นรนแสวงหาความสำเร็จเช่นยุคนี้นั้น เจ้าครองแคว้นศักดินาที่ยังไม่มีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอต่างแสวงหาผู้มีสติปัญญามา เป็นที่ปรึกษาจากทุกหนทุกแห่งเท่าที่จะหาได้ทั้งนั้น ส่วนบุคคลผู้มีสติปัญญาเล่า ก็ฉวยเอาโอกาสนี้เพื่อแสวงหาอำนาจและอิทธิพลใส่ตนเองบ่อยครั้ง ที่ปรากฏว่านายของแคว้นต่างๆ กลายเป็นตัวหมากรุกที่อยู่ในกำมือของที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของตนไป

เมื่อที่ปรึกษาโกรธ เจ้านายทั้งหลายเกิดตัวสั่นงันงกด้วยความหวาดกลัว เมื่อที่ปรึกษาลาออกจากราชการไปใช้ชีวิตอย่างสงบ โลกก็เต็มไปด้วยความสงบ

ประการที่สี่ ซึ่งเป็นความจริงสำหรับสมัยที่มีความขัดแย้งกันเช่นนี้เสมอในประวัติศาสตร์ของโลก คือ เป็นยุคที่มีความเคลื่อนไหวทางสติปัญญาอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้มีสำนักคิดต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย อันเป็นความคิดที่นอกรีตที่แตกต่างไปจากประเพณีเดิม ซึ่งมีผลเป็นการบั่นทอนปรัชญาขงจื๊อตามที่เคยนับถือกันมา ลักษณะอันนี้ของยุคเป็นลักษณะที่สำคัญยิ่งสำหรับการศึกษาของเรา เพราะว่า ลักษณะนี้เองที่เป็นเครื่องกระตุ้นให้เม่งจื๊ออุทิศชีวิตของตนเพื่อพิทักษ์รักษาปรัชญาของขงจื๊อไว้ได้อย่างดี ลักษณะอันนี้จะสังเกตเห็นได้อย่างดีจากคำตอบที่สานุศิษย์คนหนึ่ง ถามเม่งจื๊อว่า ทำไมเม่งจื๊อจึงชอบการอภิปรายโต้เถียงมากนัก

ถูกต้อง ทำไมข้าพเจ้าจึงชอบการอภิปรายโต้เถียงเสียจริง?
แต่มันเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าช่วยไม่ได้……ในสมัยโบราณ พระจักรพรรดิยู้ (Yu) ผู้ยิ่งใหญ่ ได้สร้างทำนบทดน้ำไม่ให้ท่วมบ้านเมือง บ้านเมืองก็กลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อย พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว กลืนเอาพวกหยี (Yi) และพวกตี่ (Ti) ซึ่งเป็นคนป่าเถื่อนและขับไล่สัตว์ร้ายทั้งหลายออกไปจากบ้านเมืองประชาชนทั้งหลายก็อยู่เย็นเป็นสุข ท่านขงจื๊อได้นิพนธ์คัมภีร์ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง พวกเสนาบดีเลวทรามทั้งหลาย ต่างหนาวๆ ร้อนๆ ด้วยความเกรงกลัว…ข้าพเจ้าเองก็จะเจริญรอยตามปรมาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อปรับจิตใจของมนุษย์ให้ซื่อตรง กวาดล้างคติความคิดนอกรีตนอกรอย จำกัดขอบเขตการกระทำที่ไม่เหมาะสมและห้ามปรามคำพูดที่เหลวไหล ถ้าการกระทำของข้าพเจ้าเช่นนั้นเกิดขึ้นเพราะข้าพเจ้าชอบโต้เถียงอภิปรายแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เม่งจื๊อโจมตีหยางจื๊อ ม่อจื๊อ ด้วยคำพูดที่ชัดเจนแจ่มแจ้งดังนี้

คำพูดของหยางจื๊อ และของ ม่อจื๊อ แพร่สะพัดไปทั่วทั้งโลก ถ้าประชาชนไม่ถือเอาความคิดเห็นของหยางจื๊อแล้ว พวกเขาก็จะต้องรับเอาความคิดเห็นของม่อจื๊อ แต่คำสอนของหยางจื๊อเรื่อง “บุคคลแต่ละคนเพื่อตัวเอง” นั้นเป็นเครื่องทำลายการที่จะต้องมีกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง และหลักคำสอนของม่อจื๊อที่ว่ามีบิดามารดาไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การไม่มีบิดามารดา การไม่มีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองนั้น เป็นการลดค่าของมนุษย์ลงมาสู่ระดับของสัตว์ที่ป่าเถื่อนถ้าไม่มีการยับยั้งคำสอนของหยางจื๊อและคำสอนของม่อจื๊อ และไม่มีการส่งเสริมคำสอนของขงจื๊อแล้ว คำสอนอันนอกลู่นอกทางจะชักจูงประชาชนให้หลงผิด และเปิดหนทางของการมีมนุษยธรรมและการดำรงชีวิตตามทำนองคลองธรรม ถ้าไม่มีมนุษยธรรมและการดำรงชีวิตตามธรรมนองคลองธรรมแล้ว สัตว์ป่าจะเข้ามาห้ำหั่นกันและกัน

ยิ่งไปกว่านั้นเม่งจื๊อไม่ได้แสดงความปราณีอันใดแก่นักปรัชญาจากแคว้นทางใต้ ซึ่งรับนับถือเอาคำสอนของ เซนหนุง (Shen Nung) หรือ เทพเจ้าแห่งชาวนาเลย พวกแคว้นทางใต้มีความเชื่อในเรื่องการดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ถึงขนาดที่ต้องให้กษัตริย์ลงมาทำงานปลูกข้าวในนาเพื่อเป็นอาหารของตนด้วยตนเอง เม่งจื๊อเห็นว่าทรรศนะเช่นนนี้เป็นทรรศนะที่นาขบขัน และชี้ให้เห็นว่า การงานปกครองบ้านเมืองกับการใช้แรงงานในการทำนานั้น เป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันไม่ได้

เหตุผลคือว่า งานบางชนิดนั้นเป็นงานที่เหมาะสมสำหรับคนใหญ่โต งานบางชนิดนั้นเป็นงานที่เหมาะสมสำหรับคนเล็กน้อยสามัญ บุคคลทุกคนจะต้องอาศัยผลผลิตจากแรงงานของบุคคลอื่นทั้งนั้น สิ่งทั้งหลายในโลกจะต้องปั่นป่วนยุ่งเหยิงไปหมด ถ้ากษัตริย์ต้องมาทำสิ่งของเครื่องใช้ของตนด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำกล่าวว่า “บุคคลบางคนทำงานด้วยสมอง บุคคลบางคนทำงานด้วยแรงกาย บุคคลที่ทำงานด้วยสมองเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง บุคคลที่ทำงานด้วยแรงกายเป็นผู้ผลิตอาหาร บุคคลที่เป็นผู้ปกครองเป็นผู้ได้รับอาหารมาบริโภค” นี้เป็นหลักที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไปทั้งโลก

ด้วยการมีภาพของโลกที่ปั่นป่วนยุ่งเหยิงอย่างนี้อยู่ในใจ ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายสำหรับเราที่จะเข้าใจ การที่เม่งจื๊อพยายามแสวงหาอย่างแข็งขัน ซึ่งกษัตริย์ผู้รู้แจ้ง ผู้สามารถจัดบ้านเมืองให้มีความสงบสุขและมีเสถียรภาพอันเป็นยอดปรารถนาของยุคสมัยแห่งสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ แต่ในที่สุดเม่งจื๊อจำต้อง สรุปความคิดเห็นของตนไว้ว่า

โดยปกติแล้ว ในทุกช่วงระยะเวลาของห้าร้อยปี จะต้องมีกษัตริย์ที่ดีเกิดขึ้นพระองค์หนึ่งเสมอ…ตามจำนวนปีที่กล่าวนี้แล้ว บัดนี้เวลาที่ว่านั้นก็ล่วงเลยไปนานแล้ว ถ้าว่าตามสภาพการณ์ของยุคสมัยแล้ว เราอาจจะคาดหวังได้ว่า กษัตริย์ที่ว่านี้ควรจะอุบัติขึ้นมาแล้ว แต่สวรรค์คงจะไม่ปรารถนาที่จะให้มีสันติสุขและการปกครองที่ดีเกิดขึ้นในโลกกระมัง เราจึงยังไม่พบบุคคลดังกล่าว ถ้าหากว่านี้เป็นความประสงค์ของสวรรค์แล้วจะมีใครอีกเล่า ที่จะเป็นผู้สร้างบุคคลเช่นนี้ขึ้นมาให้นอกจากข้าพเจ้า?

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ชีวิตและงานนิพนธ์ของเม่งจื๊อ

เม่งจื๊อ
จงปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสม แล้วขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงผู้สูงอายุของครอบครัวอื่นด้วย จงปฏิบัติต่อเด็กในครอบครัวของท่านด้วยความเหมาะสม แล้วขยายการปฏิบัตินั้นไปถึงเด็กๆ ของครอบครัวอื่นด้วย
Meng Tsu เล่ม 1 ตอน 1 บทที่ VII

ก่อนสิ้นสมัยราชวงศ์โจว ได้เกิดมีสำนักสอนปรัชญาของขงจื๊อขึ้นหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่มีบุคคลใดที่มีสติปัญญาเลิศถึงขนาดที่จะเป็นหลักประกันความคงอยู่ของปรัชญาขงจื๊อได้ จนกระทั่งสมัยของเม่งจื๊อ เม่งจื๊อเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการพูดที่จับใจ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และมีสติปัญญาอันลึกซึ้ง เม่งจื๊อเป็นบุคคลที่เผยแพร่คำสอนของขงจื๊อออกไปอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันเม่งจื๊อก็โจมตีคำสอนที่บิดเบือนไปจากปรัชญาของขงจื๊อด้วย ผลงานที่เขาทำให้ปรัชญาขงจื๊อแพร่หลายออกไปประกอบด้วยการต่อสู้เพื่อป้องกันคำสอนอันบริสุทธิ์ของขงจื๊อนั้น ทำให้เม่งจื๊อได้รับการยกย่องนับถือจากบุคคลทั่วไปว่า เป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่สุดรองลงไปจากขงจื๊อ เป็น “ปรมาจารย์คนที่สอง”

ชีวิตและงานนิพนธ์
เม่งจื๊อหรืออาจารย์เม้ง มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า เม่ง โข (Meng K’o) เขาเกิดเมื่อประมาณร้อยปีเศษหลังจากมาณกรรมของขงจื๊อ ชีวิตของเขาประมาณว่าอยู่ระหว่างปี 372-289 ก่อน ค.ศ. ทำนองเดียวกันกับขงจื๊อ เม่งจื๊อมีนิยายที่เกี่ยวกันกับการกำเนิดของเขามากมาย กล่าวกันว่า มีทูตสวรรค์มาปรากฏแก่มารดาของเขาขณะที่เขากำลังเกิดนั้นมีแสงสว่างเป็นสีรุ้งปรากฏสว่างไปทั่วบริเวณ นิยายเหล่านี้ก็มีลักษณะคล้ายกันกับนิยายที่เกี่ยวกับขงจื๊อ คือ เป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพและศรัทธาที่ประชาชนชาวจีนมีต่อเม่งจื๊อ มากกว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นจริง

เม่งจื๊อเป็นคนชาวเมืองโซ่ว (Tsou) ปัจจุบันเป็นอำเภอ โซ่วเซียน (Tsou Hsien) อยู่ในแคว้นชานตุง (Shantung) เล่ากันว่าเม่งจื๊อมีเชื้อสายมาจากสกุลเม่งซุน ซึ่งเป็นสกุลผู้ดีมีอิทธิพลของแคว้นหลู เมื่อราชวงศ์โจวกำลังเสื่อมจะศูนย์สิ้นอำนาจลงนั้น ครอบครัวของสกุลเม่ง ได้อพยพจากแคว้นหลูไปพำนักอยู่ที่แคว้นโซ่ว เม่งจื๊อเหมือนกับขงจื๊อคือ ต้องกำพร้าบิดาตั้งแต่เมื่อยังอายุยังน้อย บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุได้สามขวบ เขาจึงรับการเลี้ยงดูและการอบรมสั่งสอนจากมารดาเม้ง (Meng) ของเขาเป็นอย่างดี ชื่อของมารดาเม้งของเขานั้น เป็นชื่อที่กล่าวขวัญด้วยความยกย่องกันภายในครอบครัวของชาวจีนมาจวบกระทั่งทุกวันนี้

เรื่องเกี่ยวกับมารดาเม้งของเขานั้น คือ นางต้องย้ายบ้านถึงสามครั้ง เพื่อแสวงหาสิ่งแวดล้อมที่ดีงามเพื่อเลี้ยงลูกชายของนาง ครั้งแรกครอบครัวของนางอาศัยอยู่ใกล้กับฌาปนสถาน ต่อมานางพบว่าลูกชายของนางชอบเล่นแต่เรื่องการฝังศพและการไว้ทุกข์ให้แก่คนตาย นางจึงย้ายบ้านเป็นครั้งที่สองไปอยู่ใกล้ตลาด ซึ่งทำให้ลูกชายของนางไปสนใจในเรื่องการเล่นซื้อเล่นขาย นางก็ไม่พอใจ นางจึงต้องย้ายบ้านเป็นครั้งที่สาม คราวนี้นางไปอยู่ใกล้กับโรงเรียน ณ ที่บ้านแห่งนี้ บุตรชายของนางมีโอกาสที่จะเลียนแบบของครู ของนักเรียน ของโรงเรียนนั้นได้อย่างอิสระ ทำให้มารดาของเม่งจื๊อมีความพอใจมาก เรื่องของมารดาเม้งในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ที่เอาใจใส่ในการเลี้ยงดูลูกนั้น จึงกลายเป็นเรื่องที่บันดาลใจบรรดาผู้เป็นมารดาทั้งหลายในครอบครัวของชาวจีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เม่งจื๊อ มีความเคารพนับถือขงจื๊อว่าเป็นปรมาจารย์ ที่เป็นแบบอย่างของชีวิตของเขา ตั้งแต่เขายังเยาว์วัยอยู่ ครั้งหนึ่งเขากล่าว่า

นับตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีชีวิตของมนุษย์ปรากฏขึ้นในโลกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ยังไม่มีบุคคลใดที่อาจถือเอาได้ว่าเป็นขงจื๊อคนที่สองได้เลย….ความปรารถนาของข้าพเจ้า คือ เรียนรู้เพื่อจะได้เป็นเหมือนท่านขงจื๊อ…ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่สามารถเป็นสานุศิษย์ของท่านขงจื๊อเองได้ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็จะพยายามศึกษาและเจริญคุณธรรมของท่านขงจื๊อเอาจากบุคคลผู้เคยเป็นสานุศิษย์ของท่านมา

แต่ปรมาจารย์ทั้งสองท่านนี้ มีอุปนิสัยใจคอแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทีเดียว ขงจื๊อเป็นคนเก็บความรู้สึก เป็นสุภาพบุรุษผู้ประณีตรอบคอบและระมัดระวังในการพูด ส่วนเม่งจื๊อนั้นเป็นคนเปิดเผย เป็นนักพูดคนสำคัญของยุค มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องปฏิภาณไหวพริบ เมื่อมีผู้ถามปัญหายากๆ หรือเมื่อถูกกล่าวถากถางโจมตี ขงจื๊อมักจะนิ่งเฉยและอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากสวรรค์ให้ลงมาเป็นพยาน แต่เม่งจื๊อไม่ใช่บุคคลเช่นนั้น ลักษณะของเม่งจื๊อนั้น จะต้องตอบโต้ห้ำหั่นกับคู่ต่อสู้และต้อนคู่ต่อสู้ให้เป็นฝ่ายจนมุมทุกครั้งไป

ชีวิตงานของเม่งจื๊อ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่สี่ก่อน ค.ศ. เป็นสมัยที่จีนเก่ากำลังจะสูญสิ้นไป และการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น สมัยนี้เป็นสมัยที่มีความปั่นป่วนทางสังคม ขาดเสถียรภาพในทางการเมือง ขาดหลักการทางสติปัญญา ผลก็คือ ความพยายามของเม่งจื๊อในทางด้านการเมืองไม่ประสบความสำเร็จมากไปกว่าความพยายามของขงจื๊อแต่อย่างใดเลย ในบทนิพนธ์เรื่องบันทึกประวัติหรือ ซี่ จี่ (Shih Chi) ของ สุมาเฉี๋ยน (Ssu-ma Ch’ien) นั้นเราอ่านพบข้อความว่า

หลังจากที่ได้ศึกษาคำสอนของขงจื๊อเป็นอย่างดีแล้ว เม่งจื๊อไปทำราชการอยู่กับพระเจ้าซ่วน แห่งแคว้นฉี๋ (King Hsuan of Ch’i) แต่พระเจ้าซ่วนไม่ยอมปฏิบัติตามหลักการของเม่งจื๊อ ดังนั้นเม่งจื๊อจึงเดินทางต่อไปยังแคว้นเหลียง (Liang) แต่พระเจ้าหุยของแคว้นเหลียง (King Hui) ก็ไม่ยอมรับฟังคำแนะนำของเขา สำหรับบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายแล้ว คำพูดของเม่งจื๊อ เป็นเหมือนคำสวดมนต์ของพวกหมอผี ไม่มีพื้นฐานของความเป็นจริงรองรับแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามกับลำดับเหตุการณ์ที่ปรากฏในบทอ้างที่ยกมาข้างบนนี้ ในปัจจุบันนี้เป็นที่เชื่อกันว่า เม่งจื๊อได้พักอยู่ที่แคว้นเหลียงก่อนแล้วจึงเดินทางไปแคว้นฉี๋ เขาได้ไปที่แคว้นเหลียง ในปี 320 ก่อน ค.ศ. แล้วเดินทางไปสู่แคว้นฉี๋ ในปี 318 ก่อน ค.ศ.

บันทึกเกี่ยวกับการพำนักอยู่ของเม่งจื๊อที่แคว้นเหลียงนั้น แสดงถึงความยุ่งยากต่างๆ ที่เขาได้ประสบอย่างชนิดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เหตุที่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นเป็นเพราะว่า การพบปะระหว่างเม่งจื๊อกับเจ้าผู้ครองแคว้นนั้นที่จริงแล้ว คือการขัดแย้งกันระหว่างโลกของวัตถุ กับโลกของจิตใจ ในสมัยที่บ้านเมืองมีแต่การจลาจลวุ่นวาย พระเจ้าหุยของแคว้นเหลียงพยายามแก้ไขจุดอ่อนของพระองค์ โดยการแสวงหาบุคคลผู้มีสติปัญญาเท่าที่จะหาได้มาร่วมงาน ฉะนั้นเม่งจื๊อซึ่งมีความสนใจในเรื่องการเมืองอยู่แล้ว จึงไปสู่ราชสำนักของแคว้นเหลียง ชื่อเสียงของเม่งจื๊อทำให้ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าหุยเป็นอย่างดี แต่เมื่อพระเจ้าหุยขอคำแนะนำเรื่องการแสวงหาประโยชน์เพื่อราชอาณาจักรของพระองค์ พระเจ้าหุยจึงเห็นว่าคำแนะนำของเม่งจื๊อนั้น มีประโยชน์แก่การแสวงหาอำนาจของพระองค์น้อยมาก ความคิดที่จะแสวงหาผลประโยชน์นั้นเป็นความคิดที่ขัดแย้งกับทรรศนะของเม่งจื๊อ เม่งจื๊อ กล่าวถวายคำแนะนำว่า

เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คำแนะนำของเม่งจื๊อนั้นเป็นคำแนะนำที่ทวนกระแสลม ไม่มีใครรับฟัง เม่งจื๊อพบว่าตนเองนั้นมีโอกาสที่จะรับใช้ราชการบ้านเมืองน้อยเหลือเกิน ในยุคสมัยที่สุขสงบแล้ว เม่งจื๊ออาจมีหวังที่จะพบกับความสำเร็จได้มากกว่านี้ แต่สภาพการณ์อันฉุกเฉินของยุค ทำให้ความพยายามของเขาต้องล้มเหลว เม่งจื๊อพำนักอยู่ในแคว้นเหลียง จนถึงปลายปี 319 ก่อน ค.ศ. เมื่อพระเจ้าหุยสวรรคตลง และพระเจ้าเซียง (King Hsiang) ราชบุตรของพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อไป ภายหลังจากที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าเซียง กษัตริญืหนุ่มเป็นครั้งแรกแล้ว
เม่งจื๊อกล่าวว่า

เมื่อข้าพเจ้ามองดูพระองค์แต่ไกล พระองค์ดูไม่มีท่าทางเหมือนกษัตริย์เลย เมื่อข้าพเจ้าไปใกล้พระองค์ ข้าพเจ้าไม่เกิดความรู้สึกเคารพนับถือในตัวพระองค์เลย

ที่จริงแล้ว เม่งจื๊อมีความรู้สึกรังเกียจและสะอิดสะเอียนอย่างยิ่ง ในไม่ช้าเขาก็จากแคว้นเหลียงไปสู่แคว้นฉี๋

แคว้นฉี๋ เป็นแคว้นที่สงบนิ่งมาเป็นเวลานานถึงสองศตวรรษ แต่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าซ่วน แคว้นฉี๋ได้เจริญรุ่งเรืองเด่นขึ้นมา พระองค์ทรงเปิดประตูต้อนรับบุคคลผู้มีสติปัญญาทุกคนที่กระหายในเรื่องของการเมือง ฉะนั้นจึงมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงเด่นๆ และผู้มีความรู้และสติปัญญาหลั่งไหลมาสู่ราชสำนักของพระองค์เป็นจำนวนมาก พระองค์จัดสถานที่อยู่อันสง่างามให้ ให้รางวับและรายได้ตอบแทนอย่างงดงาม รวมทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ที่มีเกียรติ พระองค์ทรงให้ทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นแต่ตำแหน่งในราชการบ้านเมืองเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นมีเวลาว่างเป็นอิสระพอที่จะศึกษาหาความรู้ทางวิชาการแต่อย่างเดียว และมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการปกครองบ้านเมืองและบรรยายวิชาความรู้ต่างๆ ให้แก่พระองค์เท่านั้น

เมื่อพระเจ้าซ่วนได้ทราบว่าเม่งจื๊อ กำลังเดินทางมาสู่แคว้นฉี๋ พระองค์จึงส่งพระราชบุตรของพระองค์ไปต้อนรับถึงที่ชายเมือง และเมื่อพระเจ้าซ่วนมอบตำแหน่งสูงในราชสำนักให้แก่เขา เม่งจื๊อ รู้สึกว่าแคว้นนี้คือตลาด ที่มีลู่ทางดีพอที่เขาจะขายสินค้าของตนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามปัญหายุ่งยากเก่าๆ  ก็ยังคงมีอยู่ เพราะว่าพระเจ้าซ่วนนั้นก็เหมือนกับเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ทั้งหลายคือ มีความสนใจอยู่ที่การเพิ่มพูนกำลังทางทหารเพื่อที่จะได้มาซึ่งบัลลังก์แห่งพระจักรพรรดิ และมีความอ่อนแอที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องสตรีและทรัพย์สมบัติ เม่งจื๊อ ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องวรรณคดี และความรู้ทั้งหลายได้พยายามปรับตนให้เข้ากับอัธยาศัยของพระเจ้าซ่วน เขาถวายคำแนะนำว่า การที่จะเป็นพระจักรพรรดินั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย ถึงแม้พระองค์จะมีความอ่อนแอบางประการ ถ้าหากว่าพระองค์มีความยินยอมที่จะแบ่งปันความสุขส่วนตัวของพระองค์ให้แก่ประชาชนพลเมือง แต่ในที่สุด เม่งจื๊อก็ไม่อาจต้านทานกับการเป็นตัวของตนเองที่แท้จริงได้  ฉะนั้นความเปิดเผยตรงไปตรงมาของเขาจึงทำให้เขาต้องปลีกตัวออกจากพระเจ้าซ่วน ดังปรากฏในบทสนทนาต่อไปนี้ เม่งจื๊อ ได้ทูลถามพระเจ้าซ่วนว่า

“สมมติว่า เสนาบดีคนหนึ่งของพระองค์ จำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างเมือง จึงได้มอบให้เพื่อนคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลบุตรและภรรยาของตน แต่เมื่อเขากลับจากการเดินทางมาแล้ว พบว่า บุตรและภรรยาของเขาต้องอดอยากและทนหนาวอยู่ เสนาบดีคนนั้นควรจะทำอย่างไรดี กับเพื่อนของเขา?
“ไล่เพื่อนคนนั้นไป” พระองค์ทรงตอบ
“สมมติว่า หัวหน้าผู้พิพากษาของพระองค์ไม่สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของตนได้ พระองค์จะทรงจัดการกับหัวหน้าผู้พิพากษาคนนั้นอย่างไร?”
“ไล่ออกไป” คือคำตอบอันฉับพลันของพระองค์
“ทีนี้ สมมติว่า ภายในอาณาจักรของพระองค์นี้ มีแต่การปกครองที่เลว พระองค์จะทรงทำอย่างไร?”
พระเจ้าซ่วน ทรงเบือนพระพักตร์หนีแล้วเปลี่ยนเรื่องอื่นทันที

พระเจ้าซ่วนทรงสุภาพและรับฟังคำแนะนำปรึกษาของเม่งจื๊อด้วยไมตรีอันดี แต่พระองค์ไม่เคยสนใจมากมายถึงขนาดที่จะนำทฤษฎีของ
เม่งจื๊อไปทดลองปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองของพระองค์ เมื่อกาลเวลาล่วงไป เม่งจื๊อจึงรู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้รับนั้นก็เป็นแต่เพียงการรับฟังอันสงบอย่างตั้งใจ และอย่างสุภาพเท่านั้นเอง ซึ่งไม่บังเกิดผลดีแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เขาจึงเดินทางออกจากแคว้นฉี๋ไป

เหมือนกับขงจื๊อ เม่งจื๊อไม่เคยหมดหวังอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าเขาจะยอมรับในที่สุดว่า ความพยายามของเขานั้นไร้ผล เขามีอายุหกสิบเจ็ดปีแล้ว ในตอนที่เขาออกจากแคว้นฉี๋ใน ปี 312 ก่อน ค.ศ. เพื่อแสวงหากษัตริย์ผู้มีความรู้แจ้งต่อไป

เม่งจื๊อมามีโอกาสอีกครั้งหนึ่งในราชสำนักแห่งแคว้นเถิง (T’eng) ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ อยู่ระหว่างแคว้นที่มีกำลังอำนาจสองแคว้นคือ แคว้นฉู่และแคว้นฉี๋ พระมหาอุปราชเหวินแห่งแคว้นเถิง มีความลำบากใจในการป้องกันตนให้พ้นจากการรุกรานของแคว้นใกล้เคียงที่มีอำนาจ พระองค์จึงไปขอความช่วยเหลือจากเม่งจื๊อ เม่งจื๊อปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งอันสูงที่พระเจ้าเหวินทรงมอบให้ เพราะเม่งจื๊อรู้สึกว่าการมอบตำแหน่งให้นั้นปราศจากความบริสุทธิ์ใจ แต่เขาได้ให้คำแนะนำแก่พระมหาอุปราชเหวินหลายประการด้วยกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่อง การปฏิรูปที่ดิน ที่เรียกกันว่า จิ้งเถียน (Ching-T’ien) หรือระบบการทำนาบ่อ แต่เม่งจื๊อพำนักอยู่ในแคว้นเถิงชั่วระยะเวลาอันสั้น ในปี 307 ก่อน ค.ศ. เขาเดินทางไปสู่แคว้นหลู แล้วก็ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างสงบ อุทิศตนให้กับการเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนหนุ่ม และการเขียนบทนิพนธ์ทางปรัชญาของเขาที่เรียกชื่อว่า เม่งจื๊อ เหมือนขงจื๊อ คือ เม่งจื๊อ เป็นนักการศึกษาที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นที่รักใคร่ของสานุศิษย์ บทนิพนธ์เรื่องเม่งจื๊อของเขาถือว่าเป็นบทนิพนธ์ที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของสำนักปรัชญาขงจื๊อในปี 289 ก่อน ค.ศ. เมื่ออายุได้แปดสิบสี่ปี เม่งจื๊อได้ถึงกาลมาณะในแคว้นอันเป็นมาตุภูมิของเขานั้นเอง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ขงจื๊อและวิทยาการชั้นสูงทั้งหก

(The Six Classics)
ข้าพเจ้าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ข้าพเจ้ามิใช่ผู้สร้างความรู้
ข้าพเจ้ามีความรักและศรัทธาในวิทยาการแห่งอดีต

ถึงแม้ว่าจะยังเป็นเรื่องที่ยังคงโต้เถียงกันที่ยังไม่ยุติก็ตาม ปัจจุบันนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า คำกล่าวที่แสดงอาการถ่อมตนที่ยกมาข้างต้นนั้น เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องไม่มากก็น้อย กล่าวคือความรู้ส่วนใหญ่ที่เรียกว่า วิทยาการหกประการของขงจื๊อนั้น เป็นวิชาความรู้ที่มีมาก่อนยุคสมัยของขงจื๊อ แต่วิชาความรู้เหล่านี้ขงจื๊อเป็นบุคคลผู้ที่ได้รักษาและถ่ายทอดมาสู่บุคคลรุ่นหลังๆ ด้วยความพยายามอันพากเพียรของขงจื๊อ ขงจื๊อเริ่มต้นด้วยการศึกษาความรู้ที่มีมาแต่สมัยโบราณด้วยความหวังว่า จะนำพาความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการปกครองบ้านเมืองตามสภาพที่เป็นจริง จนกระทั่งในบั้นปลายของชีวิตที่ขงจื๊อได้หันมาเรียบเรียงและบันทึกวิชาความรู้เหล่านี้ขึ้นไว้ เพื่อประโยชน์ของบุคคลในรุ่นข้างหน้าสืบต่อไป ในระหว่างที่เขาทำงานเรียบเรียงบันทึกวิชาความรู้เหล่านี้นั้น เขาได้เพิ่มความหมายใหม่อันเป็นผลจากประสบการณ์แห่งความเข้าใจทางจริยธรรมของเขาให้กับวิทยาการโบราณนั้นด้วย

ฉะนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าการทำความรู้จักกับวิทยาการหกประการนี้ เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะเข้าใจถึงผลงานอันมีคุณค่าของขงจื๊อได้

1. บทนิพนธ์เรื่อง ซู่ จิง (Shu ching) หรือ คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่ขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียงขึ้น บรรจุเรื่องราวต่างๆ ของราชวงศ์ต่างๆ ประมาณหนึ่งร้อยเรื่อง ครอบคลุมกาลเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ยี่สิบถึงศตวรรษที่แปดก่อน ค.ศ. ขงจื๊อเรียงลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ตามลำดับของกาลเวลา และเขียนคำนำของเรื่องเหตุการณ์เหล่านั้น เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของบทนิพนธ์นี้ได้มาจากหอพระสมุดของราชสำนักราชวงศ์โจว ประกอบด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับปัญหาของการปกครองบ้านเมืองระหว่างพระจักรพรรดิ์และเสนาบดี เค้าโครงของนโยบายของแคว้นต่างๆ คำสาบานเพื่อสร้างขวัญแก่ทหารก่อนออกทำสงคราม จารึก พระบรมราชโองการและบันทึกเรื่องราวของพระราชพิธีต่างๆ ส่วนย่อยของบทนิพนธ์เล่มนี้ เป็นบทรวบรวมเรื่องและคำกล่าวของบุคคลสำคัญๆ ของราชวงศ์ในสมัยโบราณ เอกสารเหล่านี้ แทรกไปด้วยความคิดที่เกี่ยวกับศาสนา และข้อความที่เป็นบทสนใจในเรื่องต่างๆ

ขงจื๊อรวบรวมและเรียบเรียงเอกสารเหล่านี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้นักศึกษาได้คุ้นเคยกับข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุของความเจริญและของความเสื่อมของราชวงศ์ต่างๆ ในบรรดาเรื่องทั้งหมดหนึ่งร้อยเรื่องนั้น มีอยู่เพียงยี่สิบแปดเรื่องเท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่ในบทนิพนธ์คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นับว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในการศึกษาประวัติศาสตร์และคติความคิดทางการเมืองของจีนในสมัยโบราณ

2. บทนิพนธ์เรื่อง ซี่ จิง (Shih ching) หรือ คัมภีร์เรื่องกวีนิพนธ์ เป็นบทนิพนธ์ที่รวบรวมบทกวีที่แพร่หลาย ที่เขียนขึ้นในช่วงระยะเวลา 500 ปี ระหว่างสมัยเริ่มต้นของราชวงศ์โจว (ศตวรรษที่ 12 ก่อน ค.ศ.) กับ สมัยฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง (ศตวรรษที่ 8 ถึง 5 ก่อน ค.ศ.) ขงจื๊อได้เลือกสรรเอาบทกวีนิพนธ์จำนวน 305 ชิ้น จากบรรดาบทกวีนิพนธ์ทั้งหมด 3,000 ชิ้น แล้วจัดใหม่ภายใต้หัวข้อเรื่องสี่หัวข้อ หัวข้อที่หนึ่งคือ บทกวีนิพนธ์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศ หัวข้อที่สอง คือบทกวีนิพนธ์ตามประเพณีนิยมเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับงานรื่นเริงธรรมดาสามัญ หัวข้อที่สาม คือ บทกวีนิพนธ์ตามประเพณีนิยมที่สำคัญเกี่ยวกับงานพระราชพิธี หัวข้อที่สี่คือบทกวีนิพนธ์เกี่ยวกับการบูชาบวงสรวงที่ใช้ฟ้อนรำในศาสนสถาน และการรื่นเริงสนุกสนานต่างๆ บทกวีนิพนธ์ทั้งหมดนี้ขงจื๊อใช้เป็นบทเรียนพื้นฐานเพื่อสอนแก่นักศึกษาในวิชากวีนิพนธ์

ฉะนั้น เหตุผลของขงจื๊อในการแสดงกวีนิพนธ์ จึงมีหลายประการในระหว่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เป็นธรรมเนียมของสังคมผู้ดีที่จะมีบทแทรกการสนทนาด้วยบทกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้ขงจื๊อ จึงกล่าวว่า

ถ้าปราศจากการศึกษาเรื่องบทกวีนิพนธ์แล้ว
บุคคลก็จะไม่สามารถจดจำถ้อยคำต่างๆ ได้

นอกจากเพื่อประโยชน์ในการช่วยความจำถ้อยคำแล้ว ขงจื๊อยังย้ำความสำคัญของกวีนิพนธ์ในด้านคุณค่าทางจริยธรรม และกล่าวสรุปประโยชน์ของการศึกษากวีนิพนธ์ไว้ดังนี้

กวีนิพนธ์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ นำไปสู่การคิดคำนึงถึงความทรงจำเก่าๆ กวีนิพนธ์เป็นเครื่องเสริมสร้างการสมาคมและเป็นการระบายความไม่สมหวังของบุคคลในการศึกษากวีนิพนธ์นั้น บุคคลได้เรียนรู้วิธีการรับใช้บิดามารดาและเจ้านายของตน นอกจากนี้บุคคลยังได้รู้จักคุ้นเคยกับชื่อต่างๆ ของนก และสัตว์ ต้นไม้และใบหญ้าต่างๆ

3. บทนิพนธ์เรื่องหยาว (Yao) หรือดนตรี ในยุคสมัยของขงจื๊อ ดนตรีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อขงจื๊อรวบรวมบทกวีนิพนธ์ของโบราณอยู่นั้น เขาจึงเรียบเรียงดนตรีเป็นภูมิหลังของบทกวีนิพนธ์ของแต่ละบทที่เขาได้คัดเลือกเป็นครั้งสุดท้ายไว้ด้วย  โดยการปรับปรุงจากดนตรีที่มีอยู่เดิม หรือไม่ก็ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ นี้คือเรื่องราวทั้งหมดที่เรารู้เกี่ยวกับผลงานของขงจื๊อ เกี่ยวกับดนตรีเพราะว่า บทดนตรีที่เขารวบรวมไว้นั้นไม่มีเหลือตกมาถึงทุกวันนี้เลยแม้แต่บทเดียว เรารู้แต่เพียงว่ามีบทดนตรีอยู่สี่ประเภท เหมือนกับที่มีบทกวีนิพนธ์อยู่สี่หัวข้อเรื่อง คือ ดนตรีแบบแคว้นเซ่า(Shao misic) ดนตรีแบบแคว้นโจว (Chou) ดนตรีแบบประเพณีนิยม และดนตรีแบบศาสนสถาน ขงจื๊อนั้นมีความรู้ในเรื่องของการดนตรีเป็นอย่างดี และตัวขงจื๊อเองก็เป็นนักเล่นดนตรีด้วยนั้น เราอาจอนุมานเอาจากข้อความที่ขงจื้อกล่าว คล้ายกับผู้ชำนาญในการดนตรีถึงปรามาจารย์ทางดนตรีของแคว้นหลู ว่า

หลักมูลฐานของดนตรีนั้นดูเหมือนจะเป็นดังนี้ คือ ในตอนเริ่มต้นการเล่นเพลงนั้น เครื่องดนตรีทุกชิ้นควรจะมีเสียงกังวานกลมกลืนกัน เมื่อดนตรีบรรเลงไปตามบทเพลงแล้ว จังหวะเพลงควรจะชัดและระดับเสียงควรจะแจ่มใส แล้วบทเพลงนั้นควรจะดำเนินไปด้วยเสียงที่ประสานกลมกลืนกันอย่างดี ไม่มีเสียงแตกระคายเคืองโสตประสาทจนกระทั่ง จบบทเพลง

เหมือนดังที่เราคาด ขงจื๊อถือว่าดนตรีนั้นมีผลอย่างสำคัญในด้านจริยธรรม และมีความเชื่อมั่นว่า ดนตรีนั้นไม่แต่เพียง “ประสานกลมกลืนความรู้สึกนึกคิดของบุคคลเท่านั้น” แต่ยัง “นำความสับสนวุ่นวายของสังคมไปสู่ความเป็นระเบียบ” อีกด้วย เพื่อที่จะเสริมกำลังทางด้านจริยธรรมของดนตรี ขงจื๊อมีความเห็นว่า ดนตรีนั้นควรจะเผยแพร่ให้กว้างขวางภายในกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น ตัวอย่างเช่น ขงจื๊อเสนอให้มีการตรวจสอบดนตรีแบบแคว้นเจ็ง (Cheng) ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นดนตรีที่ไม่สุภาพและเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนา

ความพึงพอใจที่ขงจื๊อได้รับจากผลงานทางด้านดนตรีของเขานั้น มีปรากฏให้เห็นในข้อความต่อไปนี้ ซึ่งคัดมาจากปกิณกะนิพนธ์ของขงจื๊อ

เฉพาะแต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาจากแคว้นเหว่ย มาถึงแคว้นหลูเท่านั้นที่ข้าพเจ้าเริ่มจัดรูปของดนตรีให้เข้าร่องรอย ดนตรีแบบประเพณีนิยม และดนตรีแบบศาสนสถานนั้นได้รับการปรับปรุงให้มีระเบียบอย่างเหมาะสม

4. บทนิพนธ์เรื่อง หลี จี่ (Li Chi) หรือ คัมภีร์แห่งจารีตประเพณี “ถ้าไม่มีการศึกษาเรื่องจารีตประเพณี บุคคลจะไม่สามารถสร้างฐานะของตนเองได้” ในสมัยโบราณ จารีตประเพณีนั้นจำกัดอยู่แต่การปฏิบัติกิจทางศาสนา แต่ต่อมาภายหลังจารีตประเพณีได้ขยายครอบคลุมกิจการโลกเกือบทุกชนิดด้วย รวมทั้งเหตุการณ์เช่น การต่อสู้ในการยิงธนู และการประชุมของเจ้านายผู้ครองแคว้นต่างๆ ด้วยเหตุนี้ หลี จึงอาจนิยามได้ว่าหมายถึง แบบหรือจารีตประเพณี และขนบธรรมเนียมการประพฤติปฏิบัติทางสังคมของจีนในสมัยโบราณ

นานมาแล้วก่อนสมัยของขงจื๊อ ได้มีประมวลหลักปฏิบัติที่ไม่ได้บันทึกเขียนไว้อยู่แล้วเรียกกันว่า หลี (Li) แต่พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว เป็นบุคคลแรกที่กำหนดและวางเป็นหลักเกณฑ์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คงจะต้องมีความแตกต่างกันบ้างระหว่างหลักที่เขียนขึ้นไว้ กับหลักปฏิบัติที่มีมาแต่ก่อนที่ไม่ได้เขียนเหมือนดังเช่นที่จะต้องมีความแตกต่างระหว่างขนบธรรมเนียมของหลี ของแคว้นต่างๆ ขนบธรรมเนียมของหลีของบางแคว้นนั้นด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ กลับนำไปสู่การปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ของหลีก็มี

จากบทอ้างอิงที่ปรากฏในงานนิพนธ์ของเขา เราได้ทราบว่าขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมบทนิพนธ์เกี่ยวกับจารีตประเพณี เพื่อแก้ไขสภาพการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ ถึงแม้ว่าขงจื๊อจะเป็นผู้มีความรู้ดีในเรื่องของจารีตประเพณี ไม่แต่เพียงของราชวงศ์โจวเท่านั้น แต่ของราชวงศ์อีกสองราชวงศ์ก่อนหน้าราชวงศ์โจว คือ ราชวงศ์เสี่ย ราชวงศ์ซ้อง ก็ตาม แต่จารีตประเพณีที่ “สมบูรณ์และสง่างาม” ของราชวงศ์โจวนั้น เป็นที่พอใจของขงจื๊อมากกว่า นี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดเลย เพราะว่าขงจื๊อนั้นเป็นผู้มีความคิดในเรื่องจารีตประเพณีทั้งหลายในแบบอนุรักษ์นิยม เขาย้ำถึงเรื่องบ่อเกิดและความสำคัญของจารีตประเพณีในสมัยโบราณ แล้วเตือนให้ระลึกว่าหลี นั้นคือการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของจารีตประเพณีเหล่านั้น เขาวิจารณ์การปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่เสื่อมโทรมลงในสมัยของเขา ถ้ามีแต่จารีตประเพณีที่ปราศจากความรู้สึกนึกคิดอันแท้จริงที่เป็นสาระสำคัญของจารีตประเพณีด้วยแล้ว มันก็เป็นแต่เพียงจารีตประเพณีที่จอมปลอมเท่านั้นเอง ขงจื๊อถามขึ้นอย่างโกรธเคืองว่า

เมื่อบุคคลกล่าวถึงจารีตประเพณีนั้น เขาหมายถึงแต่การกำนัลด้วยหยก และผ้าไหม เท่านั้นหรือ?

ในโอกาสอีกครั้งหนึ่ง ขงจื๊อกล่าวว่า

……สำหรับจารีตประเพณีในการไว้ทุกข์ให้คนถึงแก่กรรมไปนั้น ควรจะมีความเศร้าโศกอย่างแท้จริง มากกว่าการพิถีพิถันกันในเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการจัดพิธีการ

5. บทนิพนธ์ยี่ จิง (Yi Ching) หรือ คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงในบรรดาบทนิพนธ์สมัยโบราณทั้งปวง ที่ขงจื๊อศึกษานั้น บทนิพนธ์เรื่อง ยี่จิง หรือ คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นเป็นหนังสือที่เขาชอบมากที่สุด เขาใช้หนังสือเล่มนี้บ่อยที่สุด จนต้องเปลี่ยนเส้นเชือกที่ใช้มัดหนังสือเล่มนี้ถึงสามครั้ง หนังสือเล่มนี้มีเรื่องของปรัชญาที่น่าทึ่ง ที่อาศัยหลักของเส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่ม หรือปากว้า ประกอบด้วยเส้นตรงสามเส้นสองชนิด คือ ชนิดหนึ่งสองเส้นในกลุ่มนั้นก็ได้ เส้นตรงแบบปากว้านี้กล่าวกันว่าคิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าฟู สี (Fu shi) เกิดปี 2852 ก่อน ค.ศ. จากรอยแตกอันลึกลับบนกระดองเต่า ต่อมาพระเจ้าหวิน (Wen) แห่งแคว้นโจวและพระราชบุตร คือ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว เป็นผู้คิดความหมายของปากว้าขึ้นก่อนของขงจื๊อ หนังสือยี่จิงใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์ จากปากว้านี้ชาวจีนใช้เป็นสื่อเพื่อทำความเข้าใจความลึกลับของโลกจักรวาล และเป็นเครื่องชี้แนวทางให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเคราะห์ร้าย และใช้โอกาสของตนให้เป็นประโยชน์อย่างดีที่สุด ทำนองเดียวกันกับ บทนิพนธ์เรื่องกวีนิพนธ์ หนังสือเล่มนี้ แสดงถึงอัจฉริยภาพของคนจีนในสมัยโบราณ ที่นำเอาเรื่องของชีวิตประจำวันมาผสมกับเรื่องของสุนทรีย์ศาสตร์ หนังสือยี่จิงก็แสดงถึงอัจฉริยภาพของคนจีนในสมัยโบราณที่เอาเรื่องของสัญลักษณ์ที่เป็นศิลปะง่ายๆ ธรรมดามาเป็นเครื่องแสดงถึงความรู้อันลึกลับ ที่มีลักษณะเป็นทั้งหนังสือปรัชญาและหนังสือศิลปะ เป็นการผสมผสานของความคิดที่เป็นนามธรรม เข้ากับสิ่งที่เป็นรูปธรรม

ตามคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงแล้ว โลกจักรวาลนี้ประกอบขึ้นด้วยหยินและหยาง เส้นตรงติดต่อทั้งเส้นแทนหยาง(——-) เส้นตรงที่แยกแทนหยิน (- -) หยางและหยินเป็นพลังสองอย่างของธรรมชาติ หยางเป็นบุรุษ หยินเป็นสตรี หยางและหยินเป็นสวรรค์และแผ่นดิน เป็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นแสงสว่างและความมืด เป็นชีวิตและความตาย จะเห็นได้ชัดว่าสัญลักษณ์พื้นฐานสองอย่างนี้มีขอบเขตจำกัด และมีลักษณะเรียบง่าย ไม่สามารถจะใช้ได้กว้างขวาง ต่อมา นักปราชญ์ในสมัยโบราณจึงเกิดความคิดนำเอาเส้นตรงสองแบบนี้มาประกอบเป็นสามเส้นขึ้นผลคือ เป็นเส้นตรงสามเส้น แปดกลุ่ม ที่เรียกว่า ปากว้า เป็นสัญลักษณ์ของปรากฏการณ์ในธรรมชาติ คือ สวรรค์ แผ่นดิน ฟ้าร้อง น้ำ ภูเขา ลม ไฟ หนองบึง

เส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ ยังไม่ได้มีความหมายทางปรัชญาอันใด ต่อมาขงจื๊อได้เพิ่มคำอธิบายผนวกเข้าไปและได้ขยายเส้นตรงสามเส้น แปดกลุ่ม ออกเป็นเส้นตรงหกเส้นหกสิบสี่กลุ่ม เส้นตรงหกเส้นแต่ละกลุ่ม เป็นสัญลักษณ์แทนปรากฏการณ์ของโลกจักรวาลหนึ่งอย่างหรือหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ตัวอย่าง เช่น คำว่า เยอ (ye) ประกอบขึ้นด้วยเส้นตรงสามเส้น ที่แปลว่า ลม ไม้ และการแทรกซึมเข้าไปผสมกับเส้นตรงสามเส้น ที่แปลว่าฟ้าร้อง การเคลื่อนไหว และความเจริญงอกงาม ฉะนั้น เส้นตรงหกเส้นที่เรียกว่า เยอ จึงเป็นสัญลักษณ์ของไม้อยู่ข้างบน และความเจริญงอกงามอยู่ข้างล่าง

6. บทนิพนธ์เรื่องชุนชิว (Ch’un Ch’iu) หรือจดหมายเหตุแห่งฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง ขงจื๊อเป็นผู้รวบรวมและแต่งเติมบ้างเล็กน้อย จดหมายเหตุชุนชิว หรือฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงนี้ โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นผลงานอันแท้จริงชิ้นเดียวของขงจื๊อเป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ตามลำดับปีที่เกิดขึ้นในแคว้นหลูนับตั้งแต่ปีแรกที่พระมหาอุปราชหยิน (Duke of Yin) ขึ้นครองราชย์ ในปี 722 ก่อน ค.ศ. จนกระทั่งถึงปีที่ 14 ของรัชสมัยของพระมหาอุปราชอ๋าย (Duke Ai) ในปี 481 ก่อน ค.ศ. จดหมายเหตุนี้ ได้ชื่อมาจากธรรมเนียมที่บอก ปี เดือน วัน และฤดูลงข้างหน้าเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นที่ลงบันทึกไว้ เนื่องจากฤดูใบไม้ผลินั้น รวมเอาฤดูร้อนเข้าไว้ด้วย และฤดูใบไม้ร่วงรวมเอาฤดูหนาวไว้ด้วย ฉะนั้นในการบันทึก จึงมีคำว่าฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงปรากฏอยู่อย่างมากมาย จดหมายเหตุนี้จึงมีชื่อว่า จดหมายเหตุแห่งฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง

คัมภีร์นี้เป็นเหมือนสมุดบันทึกที่มีเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก เป็นประดุจลูกปัดที่ร้อยด้วยสายใยแห่งวันเวลา เรื่องที่บันทึกเป็นเรื่องสั้นที่สุดที่จะทำได้ ครอบคลุมเรื่องราวของมนุษย์ และปรากฏการณ์ของธรรมชาติทั้งหมดเท่าที่จะมีอยู่ในจินตนาการของมนุษย์ การบันทึกนี้ดีในแง่ของการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ แต่มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะเรียกไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์แต่ความสำคัญของหนังสือนี้ มิใช่อยู่ที่การเป็นแบบฉบับของประวัติศาสตร์ แต่อยู่ที่คุณลักษณะอื่นๆ กล่าวคือ ประการแรก ขงจื๊อแสดงลักษณะที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมเดิม ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่เขาบันทึกจะอาศัยบันทึกทางราชการ ของแคว้นหลูเป็นหลัก แต่ขงจื๊อไม่ยึดถือทรรศนะของแคว้นของตน อันเป็นทรรศนะที่คับแคบเป็นหลัก แต่ย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นต่างๆ รวมทั้งความสุขสงบและความสามัคคีของแคว้นต่างๆ  ประการที่สองในหนังสือเล่มนี้ ขงจื๊อได้สอนเรื่องหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของความจงรักภักดี ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปในหนังสือนี้ว่า ชุนชิวไต้ยี่ (Ch’un Ch’iu Tai Yi) หรือ “หลักอันสำคัญแห่งเกียรติยศและหน้าที่ของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง” ความเลวทราม ความชั่วร้ายต่างๆ ของสมัยดังกล่าวนั้น ขงจื๊อบันทึกไว้โดยไม่มีการเคลือบแฝงแต่อย่างใด เขาแสดงความคิดเห็นของตนอย่างสุจริตใจ ทั้งในด้านที่ยกย่องและตำหนิ ความคิดเห็นของเขานี้แหละที่แสดงถึงปรัชญาทำนองบทสอนใจ ความมุ่งหมายอันสำคัญของจดหมายเหตุนี้คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ของการปกครองที่ดี การชี้นำให้เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ที่แก่งแย่งแข่งดีกันให้หันกลับมาสู่ทำนองคลองธรรม และตำหนิเสนาบดีที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เพื่อเป็นการผดุงรักษาความสุขสงบ และสามัคคีระหว่างแคว้นต่างๆ ประการที่สาม การบันทึกประวัติศาสตร์นั้นตามธรรมเนียมแล้วเป็นหน้าที่ทางราชการของบ้านเมือง แต่ขงจื๊อทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องแพร่หลายไปสู่ประชาชน เขาเป็นผู้ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นแขนงวิชาหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปควรศึกษา นอกจากนี้แล้ว โดยที่คัมภีร์ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงมีข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ฉะนั้นจึงอาจถือได้ว่าเป็นจดหมายเหตุที่เป็นหลักของการเมืองของจีนด้วย

บทวิเคราะห์
ภูเขาใหญ่ยังพังทลาย
ขื่อคานแข็งแรงยังรู้หัก
นักปราชญ์ก็ย่อมร่วงโรยไปเป็นธรรมดา

นี้คือ คำพูดที่ขงจื๊อรำพึงกับตนเองในเช้าตรู่วันหนึ่ง เมื่อตื่นขึ้นจากความฝันที่เป็นลางแห่งมรณกรรมของเขา เขากล่าวรำพึงกับตนเองต่อไปว่า

เพราะกษัตริย์ผู้รู้แจ้งยังไม่เกิด ฉะนั้นจึงไม่มีบุคคลใด ภายใต้แผ่นฝ้านี้ ที่จะรับเอาข้าพเจ้าไปเป็นครู ข้าพเจ้าเกรงว่า บัดนี้ ที่สุดแห่งชีวิตของข้าพเจ้ากำลังใกล้เข้ามาแล้ว

ขงจื๊อนอนซมอยู่ในที่นอน และถึงแก่กรรมลงหลังจากนั้นเจ็ดวัน เป็นเดือนที่สี่ของปี 499 ก่อน ค.ศ. ขณะที่เขาอายุได้เจ็บสิบสามปี

ศพของเขาถูกฝังไว้ใกล้กับเมืองที่เป็นบ้านเกิดของเขา มีสานุศิษย์ของเขาหลายคนอยู่ที่หลุมฝังศพของเขา ไว้ทุกข์ให้เขาเป็นเวลานานถึงสามปี ถึงแม้ว่าบัดนี้กาลเวลาจะล่วงเลยไปนานถึงยี่สิบห้าศตวรรษ แต่ในเกือบทุกเมืองจะมีวิหารของขงจื๊อ ที่มีผู้เคารพนับถือขงจื๊อไปเคารพสักการะตามฤดูกาลและไปประกอบพิธีการตามที่ขงจื๊อเคยสอนไว้ ในบรรดาวิหารของขงจื๊อนี้ จะมีคำจารึกเป็นข้อความว่า

“ท่านผู้ประกอบเป็นองค์สามร่วมกับฟ้าและแผ่นดิน” กล่าวคือ ในบุคลิกภาพของขงจื๊อนั้น พลังทั้งสองของสวรรค์และแผ่นดินได้มาผสมกลมกลืนกันเป็นภาวะที่สมบูรณ์และบริบูรณ์ยิ่งคำจารึกแสดงถึงความเคารพนับถือที่ประชาชนชาวจีนทั้งหลายมีต่อขงจื๊อ

อิทธิพลของขงจื๊อที่มีต่อชีวิตด้านสติปัญญาของประชาชนชาวจีนนั้นยังคงมีอยู่ตลอดไปเป็นเวลาเกือบสองพันปี โดยไม่มีสิ่งใดจะทำลายให้เสื่อมลงได้ คำสอนของขงจื๊อได้รับการนับถือว่าเป็นวิชาการคู่บ้านคู่เมือง บทนิพนธ์ของขงจื๊อได้รับการยกย่องว่าเป็นบทนิพนธ์ชั้นสูง  ที่ใช้ศึกษาในโรงเรียนต่างๆ หลักจริยธรรมของขงจื๊อนับถือกันว่าเป็นมาตรฐานของสังคม ที่จริงแล้วประชาชนชาวจีนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเป็นผู้มีทรรศนะ และความรู้สึกนึกคิดแบบของขงจื๊อทั้งหมดมียกเว้น แต่อิทธิพลของพุทธศาสนาและปรัชญาเต๋าที่แทรกอยู่ในศิลปะและอักษรศาสตร์แล้ว อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมจีน กับปรัชญาของขงจื๊อนั้น แทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าหากไม่เป็นสิ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหลายในประเทศจีนสมัยใหม่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นจึงเป็นการดีที่เราจะพิจารณาทบทวนดูทรรศนะทางประวัติศาสตร์และทางประเพณีของคนจีนที่มีต่อขงจื๊อ และคำสอนของขงจื๊อ จุดที่ดีที่สุดที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาทบทวนปรัชญาของขงจื๊อนั้นคือ หลักคำสอนเรื่อง เหยิน

ตามที่เราได้ทราบมาแล้ว เหยินนั้นเป็นความสำคัญของความสัมพันธ์ของมนุษย์ เหยินสอนให้บุคคลเป็นนักการปกครองที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นบิดามารดาที่ดี เป็นบุตรที่ดี เป็นสามีที่ดี เป็นภรรยาที่ดี และเป็นเพื่อนที่ดี เหยินสอนเรื่องความรักภักดีที่มีต่อบิดามารดา และความรักฉันท์พี่น้อง ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม ความกรุณาและความรักต่อกันและกัน สิ่งทั้งหมดเป็นหลักของความประพฤติปฏิบัติของชาวจีน และเป็นหลักที่ทำให้มนุษย์ทั้งปวงในโลกเป็นพี่น้องกัน ในฐานะดังกล่าว เหยินจึงเป็นปัจจัยอันสำคัญที่ถ่ายทอดและสืบต่อวัฒนธรรมจีน ถ้าหากอารยธรรมในสมัยปัจจุบันจะคงอยู่ต่อไปแล้ว ความสัมพันธ์ของมนุษย์ จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของหลักคำสอนเรื่องเหยิน หาใช่อยู่บนหลักของการใช้อำนาจครอบครองและแสวงประโยชน์ดังเช่นที่เป็นอยู่นี้ไม่

แต่ปรัชญาของขงจื๊อนั้น ก็มีข้อบกพร่องเหมือนกัน ในประการแรก เป็นปรัชญาที่มุ่งแต่มนุษย์โดยเฉพาะมากเกินไป ปรัชญาของขงจื๊อว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติต่อกิจการต่างๆ ของมนุษย์ แต่ได้พูดถึงเรื่องการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลังงานทางฟิสิกส์เลย ปรัชญาขงจื๊อพยายามทำความเข้าใจเรื่องหมิง (ชะตากรรมของชีวิต) แต่ไม่พยายามเอาชนะชะตากรรมของชีวิตเลย ปรัชญาของขงจื๊อพยายามแสงหาทางสายกลางที่พอเหมาะพอควร ไม่ต้องการทางสุดขอบและวิธีการรุกราน ขงจื๊อแสดงปรัชญาเช่นนี้ออกมา เมื่อเขากล่าวว่า

แม้จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมล็ดข้าวทีหยาบ ผักสามัญธรรมดาและน้ำเปล่าๆ พร้อมกับแขนคู้อยู่กับหมอน ข้าพเจ้าก็มีความสุข ทรัพย์สมบัติและเกียรติยศที่ได้มาโดยมิชอบนั้น สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ก็เป็นเหมือนเมฆที่เลื่อนลอย

และอีกครั้งหนึ่ง เขากล่าว่า

ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดพ้อต่อสวรรค์ ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดพ้อต่อมนุษย์ แต่โดยที่ได้ศึกษาจากสิ่งที่ต่ำที่สุด ข้าพเจ้าถึงได้รู้จักสิ่งที่สูงที่สุดและประเสริฐที่สุด สวรรค์เท่านั้นที่รู้จักข้าพเจ้าดี

แต่โชคไม่อำนวย ขณะที่ปรัชญา ของขงจื๊อยกย่องความอดทนพากเพียรของบุคคลนั้น ชีวิตแห่งอุดมคติเช่นนี้ หามีผลอันใดต่อการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจแต่อย่างใดไม่ ปรัชญาขงจื๊อละเลยต่อความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมของโลก และมองข้ามความสำคัญของความต้องการทางวัตถุของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ปรัชญาขงจื๊อเป็นปรัชญาที่อนุรักษ์สภาวะเดิม ไม่มีอิทธิพลชักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นปรัชญาฝ่ายริดรอนมากกว่าเป็นปรัชญาฝ่ายเสริมสร้าง เป็นปรัชญาที่ต้องใช้ความพยายามและความอดกลั้น ไม่ใช่ปรัชญาเพื่อความเจริญก้าวหน้า เพราะอุปกรณ์แห่งความเจริญก้าวหน้านั้นคือ การประดิษฐ์และการคิดค้นสิ่งใหม่อันเป็นสิ่งที่ปรัชญาขงจื๊อไม่ได้วางรากฐานไว้เลย

ข้อบกพร่องที่สำคัญอีกประการหนึ่งของปรัชญาขงจื๊อคือความเคารพนับถือในอดีต ปรัชญาขงจื๊อนั้นสร้างขึ้นบนรากฐานของโบราณคดี และย้ำความสำคัญของอดีตมากมายจนละเลยเรื่องการปรับอดีตให้เข้ากันกับสภาพของอารยธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จนความเคยชินในการแสวงหาจากอดีต ปรัชญาของขงจื๊อประสบความสำเร็จในด้านถ่ายทอดสืบต่อมาและผดุงรักษาความดีงามในอดีต แต่เป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดใหม่และพลังแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งปวงในฐานะที่เป็นอนุรักษ์ประเพณี ขงจื๊อมีความรู้สึกว่าบุคคลทุกคนปฏิบัติตามประเพณีแล้วสังคมจะเป็นสังคมที่สมบูรณ์ ฉะนั้น ควรจะต้องมีการทะนุบำรุงประเพณีแต่ดั้งเดิม และไม่ควรปฏิรูปให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คติความคิดต่างๆ ในสมัยโบราณ ควรจะเป็นสิ่งที่เคารพนับถือไม่ใช่สิ่งที่นำมาวิพากษ์วิจารณ์ ผลของปรัชญาขงจื๊อ คือ เป็นการอนุรักษ์นิยมที่เสียสมดุล จนนักปฏิวัติของจีนสมัยใหม่ถือเป็นข้อตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง

ข้อบกพร่องประการสุดท้ายของขงจื๊อ คือการไม่ยอมรับนับถือคุณต่าและความสำคัญของสามัญชนในระบบความคิดทางการปกครอง แม้ว่าเขาจะย้ำความสำคัญของความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักการปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง และจัดการศึกษาให้แพร่หลายก็ตาม ขงจื๊อดูเหมือนจะเน้นความสำคัญของนักการปกครองมากเป็นพิเศษ จนละเลยเรื่องสิทธิของประชาชนผู้ถูกปกครองไปสิ้น

กษัตริย์นั้นเป็นลม สามัญชนเป็นหญ้า
หญ้าต้องลู่ไปตามกระแสลมอยู่เป็นนิจ

ความคิดที่คล้ายคลึงกันนี้ มีปรากฏอยู่ในหลักมูลฐานสามประการของการปกครองที่ดีที่สุด คือ

ประการแรก ถ้าจะให้ธรรมะครอบงำไปทั่วโลกแล้ว พระจักรพรรดิต้องจัดให้มีจารีตประเพณี ดนตรี และการลงโทษ ประการที่สอง ถ้าจะให้ธรรมะครอบงำไปทั่วโลกแล้ว อำนาจในการปกครองทั้งหลายจะต้องไม่อยู่ในมือของบรรดาเสนาบดีทั้งหลาย ประการที่สาม ถ้าจะให้ธรรมะครอบงำไปทั่วโลกแล้ว ประชาชนคนสามัญจะต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์การปกครองของบ้านเมือง

เราควรจะเข้าใจขงจื๊อได้ว่า ขงจื๊อนั้นรับราชการภายใต้กษัตริย์หรือพระจักรพรรดิ เพราะเขานั้นมีความชิงชังรังเกียจในการสงครามที่เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ และพวกสกุลชั้นสูงต่างๆ เป็นผู้ก่อขึ้น โลกที่มีการปกครองอันแข็งแรงอยู่เป็นศูนย์กลางแห่งเดียวนั้น ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบการปกครองที่มีเสถียรภาพอย่างยิ่งที่สุดสำหรับเขา แต่ตามความเป็นจริงแล้วทรรศนะในทางการเมืองแบบนี้ ถึงแม้จะมีความจำเป็นในขั้นแรกเพื่อสร้างเสถียรภาพทางสังคมก็ตาม ต่อมาถูกโจมตีอย่างหนัก เพราะเหตุที่นักการเมืองและพระจักรพรรดิทั้งหลาย ใช้ความสำคัญของคำสอนของขงจื๊อเป็นข้ออ้าง เพื่อใช้อำนาจปกครองอย่างเผด็จการของตนต่อไป

ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องนานาประการตามที่กล่าวมานี้ก็ตาม แต่ปรัชญาของขงจื๊อก็เป็นปรัชญาที่มีความสำคัญอย่างที่สุดปรัชญาหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา ที่จริงแล้ว ความคิดอันสำคัญเรื่องเหยินอันเป็นยอดของความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้น เป็นทรรศนะที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงสำหรับปรัชญาการเมือง และปรัชญาจริยศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้ว่าเราจะปฏิเสธไม่ยอมเชื่อว่า ขงจื๊อจะเป็นผู้ช่วยโลกปัจจุบันให้พ้นจากความหายนะได้ก็ตาม แต่บทบาทของขงจื๊อในฐานะที่เป็นครูผู้ให้แรงบันดาลใจ ผู้อุทิศตนให้แก่การเผยแพร่ความรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีค่าสูงยิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ และงานนิพนธ์ของขงจื๊อนั้น ถือกันว่าเป็นงานนิพนธ์ชั้นยอด ชั้นหนึ่งของโลกทีเดียว

ที่มา:สกล  นิลวรรณ