ปฏิภาณและความสามารถของสุนทรภู่

ปฏิภาณของสุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก พูดอะไรคล้องจองกันได้ในทันทีทันใด แสดงว่ามีปฏิภาณดีมาก ดังที่มีเรื่องเล่ากันว่า ขณะที่สุนทรภู่ยังเป็นเด็ก ได้เดินตามอาจารย์ไปในท้องทุ่ง ระหว่างทางเกิดลมบ้าหมู สุนทรภู่ไม่รู้จักก็ถามอาจารย์ อาจารย์ก็ตอบให้ทราบ เมื่อสุนทรภู่ได้ฟังก็พูดขึ้นเป็นคำคล้องจองว่า “แต่ลมยังเป็นบ้าสุกรพัด ไฉนสัตว์จะไม่หลงในสงสาร” อาจารย์ได้ยินก็พูดขึ้นว่า “เอ็งนี่ต่อไปจะเป็นจินตกวีเอกเจียวหรือ”

การคิดหาคำที่คล้องจองกันได้ในทันทีทันใดถือว่าเป็นปฏิภาณและความสามารถที่น่ายกย่อง เพราะต้องหาคำที่มีความหมายตามเนื้อหาที่ต้องการ รวมทั้งต้องหาคำที่มีสัมผัสตรงตามฉันทลักษณ์ของการแต่งคำประพันธ์ด้วย

สุนทรภู่มีความสามารถในการต่อบทประพันธ์ของผู้อื่นได้อย่างทันใจหรือทันทีทันควันหลายครั้ง เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตอนสีดาผูกคอตายมาทรงแก้ไขให้เหมาะสมกับกระบวนการแสดงละครบทเดิมนั้นมีว่า

เอาภูษาผูกคอให้มั่น        แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรจำนงปลงใจ        อรไทก็โจนลงมา
บัดนี้                    วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต        ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนลงตรงไป        ด้วยกำลังว่องไวทันที
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง        ที่ผูกศอองค์พระลักษมี
หย่อนลงยังพื้นปัถพี        ขุนกระบี่ก็โจนลงมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงคิดว่าบทดังกล่าวข้างต้นเล่นไม่ทันใจและใช้เล่นละครไม่ได้ เพราะกว่าหนุมานจะแก้ไขได้ นางสีดาน่าจะต้องตายเสียก่อน จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่เพื่อให้หนุมานแกไข้ได้อย่างรวดเร็ว และได้ทรงแต่งบทของนางสีดาว่า

จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด        เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่

แล้วก็ทรงต่อไปไม่ได้ จนพระทัยไม่ทรงทราบว่าจะทรงต่ออย่างไรจึงจะให้หนุมานช่วยนางสีดาได้อย่างทันใด เหล่ากวีที่ปรึกษาอื่นๆ ก็แต่งถวายไม่ได้ไม่สามารถต่อบทพระราชนิพนธ์ได้ถูกพระทัย จึงโปรดฯให้สุนทรภู่แต่งถวายสุนทรภู่ก็แต่งว่า

ชายหนึ่งผูกศออรไท        แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น                วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย

ปฏิภาณและความสามารถของสุนทรภู่ครั้งนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพอพระทัยยิ่งนัก ได้ทรงยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่เป็นอย่างมาก

ในคราวที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนชมรถทรงทศกัณฐ์สุนทรภู่ก็ได้แสดงความสามารถดังกล่าวนี้อีก คือพระองค์ทรงไว้ว่า

รถที่นั่ง                    บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล    ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
คุมวงกงหันเป็นควันคว้าง        เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน            พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

ทรงพระราชนิพนธ์ได้เท่านี้ก็จนอีก ทรงนึกหาข้อความอื่นๆ มาสนับสนุนความยิ่งใหญ่ของรถทศกัณฐต่อไปไม่ได้ สุนทรภู่จึงแต่งถวายว่า

นทีตีฟองนองระลอก        คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน    อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท    สุธาวาสไหวหวั่นสั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน    คลาดเคลื่อนจตุรงค์ตรงมา

ข้อความที่สุนทรภู่แต่งถวายนี้ช่วยเสริมให้เห็นความเกรียงไกรของรถทรงและกองทัพของทศกัณฐ์ได้อย่างดียิ่ง เป็นที่สบพระทัย กล่าวคือ เมื่อทศกัณฐ์เคลื่อนทัพ พื้นแผ่นดินก็กระเด็นกระดอน นํ้าในแม่นํ้ามหาสมุทรไหวกระฉอกอย่างรุนแรง และเขาพระสุเมรุที่เคยแข็งแกร่งก็กลับเอนเอียงไปมา ด้วยแรงสั่นสะเทือนของการเคลื่อนย้ายกองทัพครั้งนี้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ ม.จ.จันทรจิรายุ รัชนี ทรงรวบรวมเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และสุนทรภู่ได้ร่วมเล่นสักวากลอนสดที่ลงท้ายด้วย คำตาย ซึ่งหาคำมารับสัมผัสยาก ปรากฎว่าต่างก็สามารถต่อกลอนสักวากันได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย : สักวาระเด่นมนตรี
จรลีเลยลงสรงในสระ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ : เอาพระหัตถ์ขัดพระองค์ทรงชำระ
สุนทรภู่ : แล้วเรียกพระอนุชามากระซิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย : นั่นกอบัวมีดอกเพิ่งออกฝัก
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ : จงไปหักเอาแต่ตัวฝักบัวดิบ
สุนทรภู่ : โน่นอีกกอแลไปไกลลิบลิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย : ให้ข้างในไปหยิบเอามาเอย

นับว่าสักวาบทนี้แสดงปฏิภาณไหวพริบและความสามารถในการแต่งกลอนที่ทัดเทียมกัน ได้อย่างชัดแจ้ง

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งสุนทรภู่โดยเสด็จประพาสทางชลมารคพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทอดพระเนตรเห็นมะกรูดที่ริมฝั่ง ก็ทรงตรัสว่า “เฮ้ย ไอ้ภู่ มะกรูดพวงนี้หนามัน น่าเก็บ’’ สุนทรภู่ก็ใช้ปฏิภาณกราบทูลไปทันทีว่า ”พระพุทธเจ้าข้า เอาหยิกขยี้สีเล็บแล้วดมผิว”

นอกจากนี้ ในตอนที่สุนทรภู่จะพ้นโทษจำคุกเนื่องจากทำร้ายญาติผู้ใหญ่ก็ได้อาศัยปฏิภาณ และความสามารถของตนทำให้เป็นที่สบพระทัยเช่นเดียวกันคือในตอนนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงชมม้าทรงว่า “ม้าเอยม้าเทศ” แล้วก็ทรงหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ไม่มีใครแต่งต่อให้ถูกพระทัยได้ ก็ทรงรำลึกถึงสุนทรภู่ และโปรดฯ ให้เบิกตัวออกมา สุนทรภู่ต่อบทพระราชนิพนธ์ว่า “สูงสามศอกเศษสีสังข์” ปรากฎว่าถูกพระทัยเป็นอย่างยิ่งจึงโปรดฯ ให้พ้นโทษเข้ารับราชการดังเดิม

นอกจากนี้นายกุหลาบได้เล่าเรื่องปฏิภาณของสุนทรภู่ในสยามประเภท ฉบับวันที่ ๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๗) โดยอ้างว่าได้ฟังจากนายพัดซึ่งเป็นบุตรของสุนทรภู่ว่า ครั้งหนึ่ง พระยาไชยา (ซุ้ย) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายมาดเรือยาวเส้นเศษ เมื่อโปรดฯ ให้ทำเป็นเรือพระที่นั่งก็ปรากฎว่ายาวกว่าเรือพระที่นั่งที่เคยมีมาแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพอพระทัยมาก พระราชทานนามว่า เรือ “ใบตองปลิว” แล้วรับสั่งถามว่าใครเคยรู้ว่ากษัตริย์องค์ใดหรือกษัตริย์เมืองใด มีเรือพระที่นั่งยาวเท่านี้บ้าง ทุกคนก็กราบทูลว่าไม่เคยได้ยินว่าใครมีเรือพระที่นั่งยาวเท่านี้มาก่อน พระองค์จึงตรัสถามว่า ถ้าเช่นนั้นมีใครเคยได้ยินคำเล่าลือบ้าง ก็ไม่มีใครตอบได้ พระองค์จึงทรงถามสุนทรภู่ สุนทรภู่ก็กราบทูลว่า ตนเคยได้ยินเขาโจษกันว่ามีเรือซึ่งยาวกว่าเรือใบตองปลิว พระองค์จึงทรงถามว่ายาวเท่าใด สุนทรภู่ก็กราบทูลว่า เคยได้ยินเด็กๆ ร้องกันว่า

“เรือเอ๋ยเรือเล่น        ยาวสามเส้นสิบห้าวา
จอดไว้หน้าท่า        คนลงเต็มลำ”

คือสุนทรภู่นำเอาคำร้องเล่นของเด็กๆ มาตีโวหาร แทนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะกริ้ว กลับทรงพระสรวลด้วยความชอบพระทัยที่สุนทรภู่มีปฏิภาณไหวพริบดีไม่ยอมอับจนง่ายๆ

นอกจากจะได้แสดงปฏิภาณไหวพริบระหว่างรับราชการแล้ว แม้ในชีวิตส่วนตัวก็มีเรื่องเล่า เกี่ยวกับปฏิภาณของสุนทรภู่ไว้ว่า

เมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี แต่งมาติดอยู่ที่กลอนตอนหนึ่ง ก็นั่งอ่านยํ้าอยู่ว่า “สินสมุทรสุดที่รักของพ่อเอ๋ย ๆ ๆ ๆ” ภรรยาของสุนทรภู่ไม่ทราบว่าเป็นแม่จัน แม่นิ่ม หรือแม่ม่วง กำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว ได้ยินเสียงสุนทรภู่ยํ้าอยู่เช่นนั้น ก็อาจจะนึกรำคาญหรือเกิดอารมณ์ขัน และได้จังหวะที่จะประชดสุนทรภู่ จึงร้องตะโกนต่อกลอนออกมาจากในครัวว่า “ทองสักนิดก็ไม่ติดตัวมาเลย” ด้วยความมีปฏิภาณไหวพริบดี สุนทรภู่ก็ต่อกลอนว่า “พ่อทรามเชยเกิดมาเวลาจน” นับว่าเป็นคำตอบที่ แก้ข้อตำหนิของภรรยาได้ดีทีเดียว

อนึ่ง พ.ณ.ประมวญมารค เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งสุนทรภู่กำลังนั่งเขียนกลอนอยู่ มีนักเลงคนหนึ่งเดินผ่านและเอาก้อนอิฐขว้างมาที่บ้านสุนทรภู่ สุนทรภู่ตกใจอุทานออกมาว่า “เฮ้ยไอ้ภู่ กำลังนั่ง คิดกลอนลงนอนเขลง คิดตอนพระอภัยเกี้ยวละเวง พออิฐปาฝาเป้งก็ตกใจ” แล้วสุนทรภู่ก็ลุกขึ้นเขียนกลอนต่อ

เสงี่ยม คุมพวาส ก็เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งสมัยรัชกาลที่ ๒ ขณะที่สุนทรภู่ยังเป็นหนุ่ม สุนทรภู่ดื่มเหล้าเมาได้ขนาดก็นอนเอกเขนก เอาขาไขว่ห้างและว่ากลอนลั่นบ้านว่า “สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง มือก่ายหน้าผากไขว่ขาร้องว่าเพลง” พอดีขณะนั้นข้างบ้านเกิดรำคาญที่สุนทรภู่ส่งเสียงดังก็เอาอิฐปาฝาบ้าน สุนทรภู่ได้ยินดังนั้นก็แต่งกลอนต่อไปว่า “เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป” ฝ่ายยายนัย (ไม่ใช่ยายแท้ๆ แต่เคยเลี้ยงสุนทรภู่มา) ได้ยินเสียงอิฐขว้างบ้านก็ต่อว่าสุนทรภูว่า “อ้ายภู่นะอ้ายภู่ มึงไม่รู้จักอะไรเสียมั่งเลย ชาวบ้านเขารำคาญรู้ไหม” สุนทรภู่ก็ต่อเป็นคำกลอนออกไปอีกว่า “ว่าหรือไม่ว่ากูรู้ อยู่เต็มจิตต์” ยายได้ยินก็ร้องออกมาด้วยความโมโหว่า ‘‘มึงจะเกรงกลัวใครมั่งไม่มีเลย” สุนทรภู่ก็ต่อ เป็นกลอนไปอีกว่า “จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่” ยายอดทนต่อคำล้อเลียนไม่ไหว ก็ออกปากไล่สุนทรภู่ให้ไปอยู่ที่อื่นว่า “ไปนะอายภู่มึงไปให้พ้น ใครจะว่าจะด่าไม่นำพาเสียเลย” แทนที่สุนทรภู่จะสงบคำ กลับต่อออกไปเป็นกลอนว่า “ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป ใครว่าช่างใครไม่นำพา”

ถ้านำข้อความคำกลอนที่สุนทรภู่แต่งครั้งนี้มาเรียบเรียงใหม่ จะได้ดังนี้
สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง
มือก่ายหน้าผากไขว่ขาร้องว่าเพลง
เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป
ว่าหรือไม่ว่ากูรู้อยู่เต็มจิตต์
จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่
ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป
ใครว่าช่างใครไม่นำพา

นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงเล่าว่าทรงเคยได้ฟังมาว่า ขณะที่สุนทรภู่บวช ครั้งหนึ่งไปจอดเรืออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งมีชาวบ้านนำอาหารมาถวาย แต่กล่าวคำถวายไม่เป็น ได้อาราธนาสุนทรภู่ให้ช่วยสอนให้ เวลานั้นชาวบ้านผู้นั้นอยู่บนตลิ่ง สุนทรภู่จึงสอนให้กล่าวคำถวาย เป็นคำกลอนว่า

อิมัสมิงริมฝั่ง    อิมังปลาร้า                กุ้งแห้งแตงกวา
อีกปลาดุกย่าง    ช่อมะกอกดอกมะปราง    เนื้อย่างยำมะดัน
เข้าสุกค่อนขัน    น้ำมันขวดหนึ่ง            น้ำผึ้งครึ่งโถ
ส้มโอแช่อิ่ม    ทับทิมสองผล            เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ

อนึ่ง สุนทรภู่เคยใช้ปฏิภาณของตนทำมาหาเลี้ยงชีพ คือได้ทำหน้าที่บอกดอกสร้อยสักวา และบอกบทละคร ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวนี้ต้องอาศัยปฏิภาณและความสามารถในการแต่งกลอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่ต้องการอย่างรวดเร็วทันใจเพื่อให้การโต้ตอบสักวาหรือการแสดงละครดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด

เท่าที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นชัดว่าสุนทรภู่เป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม สามารถโต้ตอบหรือแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ ได้อย่างฉับพลันทันที รวมทั้งมีความสามารถในการต่อบทประพันธ์ได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่น่าพึงพอใจ มีผลให้สุนทรภู่เป็นกวีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดปรานยิ่งกว่ากวีอื่นๆ นอกจากนี้ในช่วงที่ตกยาก สุนทรภู่ก็สามารถใช้ปฏิภาณดังกล่าวนี้ทำมาหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ด้วย

ความสามารถของสุนทรภู่
สุนทรภู่มีความสามารถหลายด้าน แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะความสามารถด้านการแต่งคำประพันธ์และที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งคำประพันธ์เท่านั้น

สุนทรภู่มีความสามารถทั้งในด้านการแต่งกาพย์ โคลง และกลอน ผู้เขียนขอแบ่งเป็น ๓ หัวข้อ ดังนี้
๑. ความสามารถในการแต่งกาพย์
๒. ความสามารถในการแต่งโคลง
๓. ความสามารถในการแต่งกลอน

๑. ความสามารถในการแต่งกาพย์
กาพย์ที่สุนทรภู่แต่งไว้ ได้แก่ กาพย์นิทานเรื่องพระไชยสุริยา และกาพย์ที่ปรากฎในบทเห่กล่อมพระบรรทมรวม ๔ เรื่อง ได้แก่ เห่จับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี และเห่เรื่องโคบุตร

แม้สุนทรภู่จะแต่งกาพย์ไว้เพียงไม่กี่เรื่อง ก็สามารถแสดงให้เห็นว่ามีฝีมือด้านนี้พอควร

กาพย์ของสุนทรภู่มักมีสัมผัสในตรงกลางวรรค โดยมากเป็นสัมผัสสระลักษณะเช่นนี้ปรากฏทั้งในกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ดังตัวอย่าง

กาพย์ยานี
เทวัญกั้นหน้า        นางฟ้าเอียงอาย
ไว้จังหวะประปราย    รำลอยชายเข้าวัง
ฉวยชิดติดพัน        นางสวรรค์หันหลัง
หลีกเลี่ยงเบี่ยงบัง    เวียนระวังว่องไว

กาพย์ฉบัง
สมบัติสัตว์มนุษย์ครุธา    กลอกกลับอัปรา
เทวาสมบัติชัชวาล
(พ.ณ.ประมวญมารค, “เห่จับระบำ” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๔๘)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

จินตนาการของสุนทรภู่

เรื่องราวในชีวประวัติของสุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า สุนทรภู่ได้ศึกษาที่วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดาราม ริมคลองบางกอกน้อย มีเกร็ดเล่ากันอีกว่าสุนทรภู่มีความเฉลียวฉลาด แตกฉาน ในเรื่องหนังสือมาก สุนทรภู่คงจะได้ศึกษาหาความรู้ศาสตร์ด้านต่างๆ เอาไว้มากมาย ไม่ใช่เฉพาะแต่ด้านอักษรศาสตร์หรือด้านกวีเพียงอย่างเดียว สุนทรภู่คงจะนำความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาโหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ และจากประสบการณ์ชีวิตมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อสร้างแนวคิดในการสร้างสรรค์บทกวี โดยเฉพาะในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ใช้วิชาความรู้ด้านต่างๆ สร้างเรื่องหรือสร้างจินตนาการขึ้นจนเป็นนิทานที่สนุกสนาน เป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยเป็นอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบมูลเรื่องพระอภัยมณีว่า เค้ามูลมีอยู่ในเรื่องอาหรับราตรี ฉบับเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน เรื่องหนึ่งว่า มีกษัตริย์ถือศาสนาอิสลามไปตีเมืองซึ่งนางพระยาถือศาสนาคริสต์ เมื่อไปพบกันเข้าตัวต่อตัวในกลางศึก แล้วเลยรักใคร่กัน ทำนองเดียวกับเมื่อพระอภัยมณีได้นางละเวง นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์เรื่องที่สุนทรภู่คิดให้พระอภัยมณีชำนาญการเป่าปี่ ต่างไปจากวีรบุรุษในวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ นั้น ทรงคิดว่าเรื่องนี้ก็มีเค้ามูลอยู่ในหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น คือเตียวเหลียงเป่าปี่เมื่อฮั่นอ่องรบกับพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง และที่กำหนดให้ศรีสุวรรณชำนาญกระบองว่ามีเค้ามูลอยู่ในเรื่องไซ่ฮั่นเช่นเดียวกัน ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องเป็นนักรบวิเศษด้วยฝีมือกระบอง

อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะเรื่องภายในประเทศเท่านั้น แต่มีความรู้ความสนใจวรรณคดีจากต่างประเทศอีกด้วย จนสามารถนำความคิดมาผูกเป็นเรื่องพระอภัยมณีขึ้นมาได้ ความรู้ในเรื่องศาสตร์ต่างๆ ที่สุนทรภู่ใช้เป็นวัตถุดิบนำมาผสมกับแนวความคิดอันเฉียบแหลมที่เกิดจากอารมณ์ของการเป็นกวี ทำให้เกิดผลงานอันประณีตบรรจง และให้คุณค่าทางศิลปะอย่างสูงนั้น อาจจะจำแนกได้ดังนี้

ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์
สุนทรภู่คงจะมีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ดีมากผู้หนึ่ง โดยอาจจะค้นคว้าจากหนังสือหรือตำนานเมื่อผ่านสถานที่ต่างๆ ที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ สุนทรภู่ก็มักจะอธิบายเอาไว้อย่างแจ่มแจ้ง และถูกต้อง

ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่คงจะนำเค้ามูลทางประวัติศาสตร์มาผูกเป็นเรื่องขึ้น ซึ่งปรากฏหลายตอน เช่น
ฝรั่งลังกา เรื่องฝรั่งอยู่เมืองลังกานั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์ว่า มีเค้ามูล เพราะในปี ค.ศ. ๑๘๑๕ หรือ พ.ศ. ๒๓๕๘ อังกฤษยึดลังกาเป็นเมืองขึ้น เหตุการณ์ที่เกาะลังกาคงจะเลื่องลือเข้ามาถึงประเทศไทย ในข้อนี้เองที่ทำให้สุนทรภู่สมมติว่าเมืองลังกาเป็นเมืองฝรั่ง และสุนทรภู่คงจะรู้ก่อนหน้าที่จะเป็นเมืองขึ้นอังกฤษก็เคยเป็นเมืองของชาวสิงหลมาก่อน

ศึกเก้าทัพ ตอนศึก ๙ ทัพเข้าตีเมืองผลึก สันนิษฐานว่าสุนทรภู่อาจจะได้ความคิดมาจากประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระเจ้าปะดุงยกกองทัพมาตีประเทศไทยโดยระดมพลประมาณแสนเศษ จัดแบ่งเป็น ๙ ทัพ เข้าตีกรุงเทพฯ ๕ ทัพ ตีเมืองเหนือ ๒ ทัพ เมืองปักษ์ใต้ ๒ ทัพ และให้เข้าตีในเวลาพร้อมกัน อาจจะเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตอนนี้เองที่สุนทรภู่เอามาแปลงเป็นศึก ๙ ทัพในเรื่องพระอภัยมณี

เรื่องทหารหญิง ตอนนางละเวงฝึกทหารหญิงไว้ใช้นั้น สันนิษฐานกันว่าเป็นจินตนาการ อันกว้างไกลของสุนทรภู่ เพราะทหารหญิงเพิ่งมีในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยยังไม่เคยมีกองทหารหญิง แต่ยังมีความที่อาจจะเป็นไปได้ว่า สุนทรภู่ได้รับความคิดจากประวัติศาสตร์คราวคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ที่ได้รวบรวมผู้หญิงขึ้นสู้รบกับกองทัพเจ้าอนุ เมืองเวียงจันทน์ จึงได้นำมาแต่งไว้ในพระอภัยมณี นับเป็นจินตนาการของสุนทรภู่อีกอย่างหนึ่ง และปรากฎว่ามีจริงในระยะเวลาต่อมา

เรื่องตอนเจ้าละมาน สันนิษฐานกันว่าเจ้าอนุเวียงจันทน์คือที่มาของเรื่องตอนเจ้าละมาน สุนทรภู่คงจะได้จากประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลที่ ๓ คือเรื่องกบฎเจ้าอนุ ใน พ.ศ. ๒๓๖๙ เมื่อเจ้าอนุถูกจับได้นั้น ถูกนำมาขังไว้ที่กรุงเทพฯ ที่หน้าพระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ สุนทรภู่คงจะนำเหตุการณ์นั้นเขามาผูกเป็นตอนหนึ่งของเรื่องพระอภัยมณี โดยตั้งเป็นเรื่องของเจ้าละมานขึ้น

ความคิดเรื่องให้กษัตริย์เป็นสตรี ในเรื่องนี้กล่าวกันว่าสุนทรภู่อาจจะได้แนวความคิดจากประวัติศาสตร์อังกฤษตอนพระนางวิคตอเรียเสวยราชย์ เพราะเวลานั้นไทยกับอังกฤษติดต่อกันแล้ว สุนทรภู่คงจะรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงแต่งให้นางละเวงเป็นกษัตริย์ในเรื่องของตนบ้าง

ยักษ์มักกะสัน ตอนเลี้ยงเจ้าละมาน มีกลอนว่า

“ฝ่ายแม่ครัวหัวป่าก์หาแกล้มเหล้า    จะเลี้ยงเหล่าพวกยักษ์มักกะสัน”
ยักษ์มักกะสันสุนทรภู่จะหมายถึงพวกแขกชาวเมืองมากัสซ่าร์ ซึ่งอยู่แถบเกาะซีลิบีส พวกนี้ดุมาก เคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทยสมัยพระนารายณ์มหาราช และก่อการกบฎขึ้น เรียกว่า กบฏมักกะสัน

เรื่องการสู้ศึกที่อ่าวปากน้ำ สุนทรภู่พรรณนาความตอนนี้ว่า

“ที่เหลือนั้นหันกลับไม่รับรบ        โจรตลบแล่นไปไล่ถลำ
พัลวันกันเข้าอ่าวปากน้ำ        พวกโจรซ้ำยิงตายทลายพัง
นายด่านไปไล่คนขึ้นบนป้อม    สะพรั่งพร้อมโยธาทั้งหน้าหลัง
เห็นโจรไล่ใกล้ตลิ่งยิงประดัง        เสียงตึงตังตูมสนั่นดังครั่นครื้น
พอข้างหลังอังกุหร่าก็มาถึง        สั่งให้ขึงตะรางเหล็กลำละผืน
พอคลุมลำกำปั่นกันลูกปืน        ทหารยืนตามช่องคอยมองยิง
พอลมแปรเข้าฝั่งอังกุหร่า        ให้โยธาเทียบสำเภาเข้าตลิ่ง
ทั้งชาวด่านให้ทหารเอาหินทิ้ง    พวกโจรยิงปืนปีนตีนกำแพง
พวกบนป้อมหลอมตะกั่วคั่วทรายสาด    จนถึงฟาดฟันกันด้วยขันแข็ง
ปืนฝรั่งอังกฤษติดจะแรง    ยิงกำแพงด่านพังเสียงดังครืน”

ความตอนนี้ทำให้น่าสังเกตว่าสุนทรภู่จะได้ความคิดจากประวัติศาสตร์ ครั้งรัชกาลที่ ๒ สร้างเมืองนครเขื่อนข้ณฑ์ (พระประแดง) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗ ครั้งนั้นได้สร้างป้อมทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตกมี ๕ ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรด ป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ ฝั่งตะวันออกมี ๓ ป้อม คือ ป้อมปุ่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร และที่ริมแม่นํ้าทำลูกทุ่นสายโซ่สำหรับขึงกันแม่นํ้า การทำโซ่ขึงกลางแม่นํ้าดังกล่าวนี้ สุนทรภู่ได้นำมากล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“ที่ปากน้ำสำคัญอยู่แห่งหนึ่ง    เอาโซ่ขึงค่ายคูรักษา
ให้ลากปืนป้อมฝรั่งขึ้นจังกา        คอยยิงข้าศึกให้บรรลัยลาญ”

นอกจากเรื่องพระอภัยมณีแล้ว ในนิราศต่างๆ สุนทรภู่ได้แทรกความรู้ทางประวัติศาสตร์ ไว้หลายตอน เช่น ในนิราศพระบาท เมื่อผ่านตำบลสามเสน สุนทรภู่ได้อธิบายประวัติความเป็นมาของตำบลนี้ว่า

“ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเนียก    เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี            ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง        เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี้หรือรักจะมิน่าเป็นราคิน            แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ

ในนิราศภูเขาทอง เมื่อผ่านจังหวัดปทุมธานี สุนทรภู่ได้อธิบายเอาไว้ว่า เมืองปทุมธานี เดิมชื่อว่า เมืองสามโคก สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “ปทุมธานี” ให้สมกับเป็นเมืองที่มีบัวมาก ดังความที่กล่าวว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า        พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อมปทุมธานีเพราะมีบัว

ในนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ได้อธิบายถึงตำนาน และความเป็นมาเกี่ยวกับชื่อเมืองสามโคก ความว่า

“พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก        เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้        ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง        ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ            ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
จึงที่นี่มีนามชื่อสามโคก            เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง
ครั้งพระโกศโปรดปรานประทานแปลง    ที่ตำแหน่งนอกมาสามิภักดิ์
ชื่อปทุมธานีที่เสด็จ    เดือนสิบเอ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก        พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา”

ในนิราศวัดเจ้าฟ้าเช่นเดียวกัน เมื่อถึงวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุนทรภู่ก็ได้กล่าวถึงประวัติ และความสำคัญของวัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่และเป็นที่นับถือกันมาตลอดจนทุกวันนี้
พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถวัดพนัญเชิง นับเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสำหรับเสี่ยงทายองค์หนึ่ง เล่ากันว่าหากบ้านเมืองจะเกิดยุคเข็ญ จะเกิดอาเพศจากพระพุทธรูปองค์นี้ก่อนคือหักพังลงมา และหากบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขพระพักตร์ของพระองค์ท่านก็จะอิ่มเอิบเปล่งปลั่งอยู่เสมอ พระพุทธรูปวัดพนัญเชิงองค์นี้คนจีนพากันนับถือมาก และเรียกว่า “ซำปอกง” ซึ่งแปลว่า พระใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์ สุนทรภู่อาจจะฟังคำเรียกพวกคนจีนไม่ชัด จึงใช้คำว่า “ปูนเถาก๋ง” ดังที่ได้บรรยายเอาไว้ว่า

“มาถึงวัดพนังเชิงเทิงถนัด        ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้าพระกลาโหม
ผนังก่อย่อมุมเป็นซุ้มโคม        ลอยโพยมเยี่ยมฟ้านภาลัย
มีศาลาท่าน้ำดูฉ่ำชื่น            ร่มระรื่นรุกขาน่าอาศัย
บิดาพร่ำร่ำเล่าให้เข้าใจ        ว่าพระใหญ่อย่างเยี่ยงที่เสี่ยงทาย
ถ้าบ้านเมืองเคืองเข็ญจะเป็นเหตุ    ก็อาเพศพังหลุดทรุดสลาย
แม้พาราผาสุกสนุกสบาย    พระพักตร์พรายเพราพริ้มดูอิ่มองค์
แต่เจ็ดย่านบ้านนั้นก็นับถือ    ร้องเรียกชื่อว่าพระเจ้าปูนเถาก๋ง

ในนิราศเมืองเพชร เมื่อผ่านวัดราชโอรสสุนทรภู่ก็อธิบายว่า วัดนี้เดิมเรียกกันว่าวัดจอมทอง ดังที่ปรากฎในนิราศว่า

“โอ้รื่นรื่นชื่นเชยเช่นเคยหอม        เคยถนอมนวลปรางมาหมางหมอง
ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง    ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง        เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม    โอรสราชอารามงามเจริญ”

ในนิราศพระประธม เมื่อถึงตำบลบางนายไกร สุนทรภู่อธิบายเอาไว้ว่า ชื่อของตำบลนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ไกรทอง หมอจระเข้ที่ฆ่าชาละวันในวรรณคดีเรื่องไกรทอง กล่าวกันว่าไกรทองเกิดที่ตำบลนี้

“บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้        ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย
ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย        เป็นยอดชายเชี่ยวชาญการวิชา”

อีกตอนหนึ่งในนิราศพระประธม เมื่อถึงตำบลโพธิ์เตี้ย สุนทรภู่ก็กล่าวถึงประวัติของตำบล ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาว่า เกิดจากกรรมอันเป็นบาปหนาของพระยาพานที่ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดาของตนเอง เมื่อปลูกต้นโพธิ์จึงเผอิญให้ต้นเตี้ยตํ่าไปหมด ดังที่อธิบายเอาไว้ว่า

“ถึงโพเตี้ยโพต่ำเหมือนคำกล่าว    แต่โตราวสามอ้อมเท่าพ้อมสาน
เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพระยาพาน    มาสังหารพระยากงองค์บิดา
แล้วปลูกพระมหาโพธิ์บนโขดใหญ่    เผอิญให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา
อันเท็จจริงสิ่งใดเป็นไกลตา        เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง”

ในนิราศเรื่องเดียวกันนี้ เมื่อเดินทางถึงพระปฐมเจดีย์ สุนทรภู่ก็ได้อธิบายตำนานการสร้างพระปฐมเจดีย์เอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งสุนทรภู่ก็บอกไว้ว่าได้ทราบเรื่องนี้จากผู้เฒ่าคนแก่อีกทอดหนึ่ง ดังที่กล่าวว่า

“จึงสำเหนียกเรียกผ่านบ้านยายหอม    ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิ์อธิษฐาน
ครั้นเสร็จสรรพกลับมาหาอาจารย์        เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศิลา
จึงทำเมรุเกณฑ์พหลพลรบ        ปลงพระศพพระยากงพร้อมวงศา
แล้วเปลืองเครื่องกษัตริย์ขัตติยา    ของบิดามารดาแต่ก่อนกาล
กับธาตุใส่ในกรุบรรจุไว้    ที่ถ้ำใต้เนินพนมประธมสถาน
จึงเลื่องลือชื่อว่าพระยาพาน        คู่สร้างชานเชิงพนมประธมทอง”

ความคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
สุนทรคู่เป็นกวีที่มักจะมีความคิดก้าวหน้าในทางอนาคตของวิทยาการอยู่มาก โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะมีการคิดค้นหรือประดิษฐกรรมออกมาได้นั้น มักจะมีการคาดคะเนหรือวาดมโนภาพขึ้นมาก่อน ในเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้านี้ สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ในเรื่องพระอภัยมณีหลายตอน ซึ่งในสมัยนั้นผู้อ่านคงจะคิดกันว่าเป็นเพียงนิยายอ่านเล่นเรื่องหนึ่ง และประดิษฐกรรมที่กล่าวถึงเป็นเพียงองค์ประกอบเรื่องให้ดูประหลาดและน่าตื่นเต้นเท่านั้น คงจะไม่มีใครคิดว่าสิ่งที่สุนทรภู่พูดถึงนั้นจะเป็นไปได้จากความคิดและการกระทำของมนุษย์นอกจากปาฏิหาริย์  แต่สิ่งเหล่านั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้วสมกับที่สุนทรภู่ใฝ่ฝันและวาดภาพเอาไว้

ความคิดของสุนทรภู่เกี่ยวกับประดิษฐกรรมของมนุษย์ที่แปลกและพิสดาร ซึ่งในสมัยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของอนาคตหรือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตามที่ปรากฎในเรื่องพระอภัยมณี พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้

เรือของโจรสุหรั่ง สุนทรภู่ได้วาดภาพเป็นคำกลอนว่า เป็นเรือที่ใหญ่โตมโหฬาร มีความประหลาดพิสดารความที่กล่าว ดังนี้
“จะกล่าวฝ่ายนายโจรใจฉกาจ    เป็นเชื้อชาติอังกฤษริษยา
คุมสลัดอัศตันวิลันดา            เป็นโจรห้าหมื่นพื้นทมิฬ
มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น        กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน    ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงแพะแกะไก่สุกรห่าน        คชสารม้ามิ่งมหิงสา
มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ”

เรือโจรสุหรั่งตามจินตนาการของสุนทรภู่นี้ นับว่าใหญ่มาก คือมีความยาวตั้ง 20 เส้น หรือ 800 เมตร ภายในเรือยังมีการปลูกไม้ผลต่างๆ ไว้กิน พร้อมทั้งเลี้ยงสัตว์เอาไว้ด้วย ในสมัยนั้นคงจะไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีเรือเช่นนี้เกิดขึ้นในโลก แต่ในปัจจุบันปรากฏว่ามีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่หลายลำ แม้จะมีขนาดไม่เท่ากับเรือที่สุนทรภู่กล่าวเอาไว้ก็ตาม ก็แสดงให้เห็นว่าจินตนาการของสุนทรภู่นั้น ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในปัจจุบันมาก

นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงเรือยนต์ของพราหมณ์โมรา ที่เอาหญ้าฟางมาผูกขึ้น ถ้าจะเทียบกับสมัยนี้ก็เปรียบได้กับเรือเดินชายฝั่งที่ใช้ทั้งใบและเครื่องยนต์ หรืออาจจะเทียบได้กับเรือกลไฟ สุนทรภู่เขียนไว้ดังนี้

“คนหนึ่งชื่อโมราปรีชาชาย        มีแยบคายชำนาญในการกล
เอาฟางหญ้ามาผูกสำเภาได้        แล้วแล่นไปในจังหวัดไม่ขัดสน”

หีบเพลง ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนกษัตริย์สามัคคี สุนทรภู่ได้จินตนาการให้มีหีบดนตรี นางละเวงได้ใช้หีบดนตรีตอนกินเลี้ยงพร้อมกับกษัตริย์ต่างๆ เมื่อไขเข้าไปแล้วปรากฎมีเสียงร้องเพลง เสียงดนตรีบรรเลงอย่างไพเราะ หีบดนตรีของนางละเวงมีลักษณะอย่างนี้

“ฝ่ายยุพาผการำภาสะหรี        ไขดนตรีที่ตั้งกำบังแฝง
เหมือนดนตรีปี่พาทย์ไม่พลาดแพลง    เสียงกระแซงซ้อนเพลงวังเวงใจ
กระจับปี่สีซอเสียงกรอกรีด        บัณเฑาะว์ดีดดนตรีปี่ไฉน
นางสำหรับขับร้องทำนองใน        บ้างขับไม้มโหรีให้ปรีดิ์เปรม
เป็นภาษาฝรั่งว่าครั้งนี้            จะเป็นที่เสน่ห์สนุกสุขเกษม

อีกตอนหนึ่งในคราวนางละเวงเลี้ยงส่งเจ้าละมานก็มีการเล่นดนตรี และไขกลดนตรีให้ฟังว่า

“ฝ่ายสุรางค์นางบำเรอเสนอหน้า    รินสุราแลชม้อยคอยถวาย
สาวสำรับขับเรียงเคียงชม้าย    ประสานสายซอดังเสียงวังเวง
แล้วขับขานประสานเสียงสำเนียงเรื่อย    ช่างฉ่ำเฉื่อยฉอเลาะล้วนเหมาะเหม็ง
บ้างไขกลดนตรีให้ตีเอง    ได้ฟังเพลงเพลิดเพลินเจริญใจ’’

ตอนแต่งงานสินสมุทรกับนางอรุณรัศมีที่เมืองรมจักรก็มีการไขหีบดนตรีให้บรรเลง ดังที่กล่าวไว้ว่า

“เสียงสุรางค์วังเวงร้องเพลงขับ    ซอกระจับปี่กรีดนิ้วดีดสี
ข้างชั้นในไขกลเพลงดนตรี        พร้อมพราหมณ์ชีช่วยกันเวียนเทียนเจ้านาย”

หีบดนตรีหรือเครื่องกลดนตรีของนางละเวงที่สุนทรภู่จินตนาการขึ้นนั้น อาจจะเปรียบเทียบได้กับเครื่องเล่นจานเสียงในปัจจุบัน สุนทรภู่คงจะคิดคำนึงว่าประดิษฐกรรมลักษณะหีบเพลงนี้ มนุษย์จะต้องคิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากเรื่องหนึ่งที่ต่อมาอีกสมัยหนึ่งก็เกิดมีหีบเสียงหรือเครื่องเล่นจานเสียงขึ้นมาจริงๆ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีก่อนมีหีบเสียงขึ้นในโลกถึง ๔๐ ปี นับเป็นเรื่องที่ตรงกันระหว่างจินตนาการของกวีกับความสามารถของนักประดิษฐ์

โต๊ะกล ในงานเลี้ยงของนางละเวง มีโต๊ะอาหารซึ่งสุนทรภู่เรียกว่า “โต๊ะกล” เมื่อนางละเวง เชิญวงศาญาติของพระอภัยมณีไปชมเขาที่มีโคตรเพชรเป็นที่สำราญแล้ว ก็พากันไปเสวยที่ในสวน โดยจัดโต๊ะเอาไว้หมู่หนึ่ง คนกินนั่งเรียงแถวกันอยู่ต่างหากอีกทางหนึ่ง เมื่อได้เวลาโต๊ะดังกล่าวก็จะเคลื่อนมาเทียบข้างหน้า โดยไม่ต้องมีคนเสิร์ฟ ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ต้นไม้ร่มลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยพัด    โต๊ะเขาจัดแต่งไว้ทั้งซ้ายขวา
พอพร้อมกันลั่นระฆังสั่งสัญญา    โต๊ะก็มาเกลื่อนกล่นด้วยกลไก
ลูกล้อกลิ้งวิ่งเวียนเหมือนเกวียนขับ    พร้อมสำรับหวานคาวขวดเหล้าใส่
เสียงกริ่งกร่างต่างเขม้นไม่เห็นใคร        แต่โต๊ะใหญ่ไปถึงทั่วทุกตัวคน
นางเชิญองค์พงศาบรรดากษัตริย์        เสวยมัจฉะมังสาผลาผล
นางหม่อมห้ามนั่งเรียงเคียงโต๊ะกล    ข้าหลวงคนใช้นั้นเป็นหลั่นไป

สุนทรภู่จินตนาการโต๊ะอาหารดังกล่าวไอยางน่าประหลาดมาก เสมือนหนึ่งว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบค้นคว้าประดิษฐ์สิ่งแปลกๆ ประดิษฐกรรมนี้ในสมัยของสุนทรภู่ยังไม่มีแน่นอน ท่านจะคิดขึ้นเองหรือได้พบได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่สามารถดลใจท่านมีความคิดสิ่งนี้ขึ้นมาก็ไม่มีหลักฐานกล่าวเอาไว้แน่ชัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริถึงเค้ามูลเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่นางละเวงรับรองกษัตริย์โดยมีโต๊ะกล ตามความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ตอนเสด็จทอดพระเนตรที่พระราชวังแวร์ซายว่า “…ห้องที่แปลกนั้นคือห้องเสวย ไม่มีโต๊ะเสวย ถ้าถึงเวลาเสวย โต๊ะจัดอยู่ในชั้นตํ่าสำเร็จแล้วทะลึ่งขึ้นมาบนพื้นเอง สุนทรภู่คงจะระแคะระคายใครเล่า ให้ฟัง หรือจะมีในหนังสือเก่าๆ ครั้งโกษาปาน…”

การโดดร่ม ในเรื่องพระอภัยมณี เมื่อคราวมีงานฉลองการอภิเษกระหว่างสินสมุทรกับนางอรุณรัศมี ซึ่งจัดให้มีการละเล่น มหรสพต่างๆ มากมาย มีการละเล่นอีกอย่างหนึ่งแสดงให้ประชาชนได้ชม คือการกระโดดร่มให้ลอยไปตามลม โดยให้ผู้โดดขึ้นไปบนปลายไม้ที่ต่อสูงกันสามต้น จากนั้น จึงกระโดดลงมา ความคิดของสุนทรภู่เกี่ยวกับการโดดร่มผาดโผนนี้น่าจะคิดขึ้นมาเอง เพราะในสมัยนั้นไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศยังไม่มีการโดดร่ม แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดเพราะในสมัยต่อมามีการโดดร่มขึ้นมาจริงๆ โดยใช้หลักการเช่นเดียวกับที่สุนทรภู่จินตนาการเอาไว้ ความที่กล่าวถึงการโดดร่ม ว่า…

“บ้างขึ้นไต่ไม้สูงต่อตั้ง        รำแพนทั้งโจนร่มตามลมเหลิง”

ความคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์
ในเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์หรือการรบนั้น สุนทรภู่ได้บรรยายเอาไว้อย่างละเอียดในวรรณคดี เรื่องพระอภัยมณี นับตั้งแต่การเตรียมกำลังรบ การอบรมนักรบ การจัดรูปแบบกองทัพ ตลอดจนถึงแม่ทัพนายกองตามตำแหน่ง สุนทรภู่ได้สร้างจินตนาการออกมาจนเห็นภาพที่ชัดเจน ราวกับว่าท่านเป็นแม่ทัพนายกองด้วยคนหนึ่ง จากผลงานของท่านที่ได้แสดงออกมาในแนวความคิดด้านยุทธศาสตร์นี้ อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจตำรามาเป็นอย่างดี จนสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประพันธ์ได้ นอกจากจะได้เน้นถึงรูปแบบการรบแล้ว สุนทรภู่ยังได้แสดงถึงเกียรติภูมิของนักรบ ความเป็นชายชาติทหาร ความคิดของทหารที่จะต้องอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อมไม่ประมาท เมื่อต้องประจัญหน้ากับศัตรู สิ่งเหล่านี้สุนทรภู่ได้ประพันธ์ออกมาอย่างน่าศึกษาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

สมัยที่สุนทรภู่แต่งหนังสือนั้น เป็นสมัยที่ใช้อาวุธสั้นกันเป็นการรบที่ติดพันถึงขั้นตะลุมบอนถึงตัว สำหรับปีนและธนู เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ในการเขียนถึงกลศึกและการสงครามในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้หลายตอนเช่น

ตอนที่พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน และมาพบกับเรือสินสมุทรลูกชายที่พานางสุวรรณมาลีมาด้วย อุศเรนนั้นทราบแน่ว่าเรือใหญ่ที่ประจัญหน้ากันอยู่นั้นมีสุวรรณมาลีคู่หมั้นตนเองอยู่ ครั้นทูตกลับมาบอกว่านางสุวรรณมาลีมีผัวแล้วก็โกรธจะต้องรบให้ได้ แต่ถึงแม้อุศเรนจะเกิดใต้เศวตฉัตร และเล่าเรียนการสงครามมาเจนจบเพียงไรก็ต้องมาปรึกษาพระอภัยมณี และพระอภัยมณีก็แสดงความรู้ทางกลศึกให้ฟังว่า

“เป็นไรมีที่ตรงจะยงยุทธ        การบุรุษรู้สิ้นทุกถิ่นฐาน
อันแยบยลกลศึกสี่ประการ        เป็นประธานที่ในกายของนายทัพ
ประการหนึ่งถึงจะโกรธพิโรธร้าย    หักให้หายเหือดไปเหมือนไฟดับ
ค่อยคิดอ่านการศึกที่ลึกลับ        แม้จะจับให้มั่นคั้นให้ตาย
อนึ่งว่าข้าศึกยังฮึกฮัก            จะโหมหักเห็นไม่ได้ดังใจหมาย
สืบสังเกตเหตุผลกลอุบาย        ดูแยบคายคาดทั้งกำลังพล
อนึ่งให้รู้รบที่หลบไล่            ทหารไม่เคยศึกต้องฝึกฝน
ทั้งถ้อยคำสำหรับบังคับคน        อย่าเวียนวนวาจาเหมือนงาช้าง
ประการหนึ่งซึ่งจะชนะศึก        ต้องตรองตรึกยักย้ายให้หลายอย่าง
ดูท่วงทีกิริยาในท่าทาง            อย่าละวางไว้ใจแก่ไพรี”

เมื่อกองเรือศรีสุวรรณสินสมุทรแล่นมาพบเข้ากับกองเรืออุศเรน ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และเกรงจะเกิดการเข้าใจผิดถึงกับรบพุ่ง ในฐานะที่เป็นแม่ทัพ ศรีสุวรรณได้แสดงออกถึงความรอบคอบอันควรแก่การควบคุมกระบวนทัพ จึงออกคำสั่งไปว่า

“เขาแล่นมาถ้าเราแล่นไปมั่ง        จะคับคั่งเคืองใจไม่พอที่
ทอดสมอรอเรียงอยู่เพียงนี้        ดูท่วงทีท่าทางจะอย่างไร”

การจัดทัพเรือของอุศเรนในการที่จะทำสงครามชิงนางกับสินสมุทร สุนทรภู่บรรยายไว้ดังนี้

“ร้องเรียกเรือรบฝรั่งมาทั้งนั้น    แล้วแบ่งปันเป็นแผนกแยกนาวา
กองละร้อยคอยรบสมทบทัพ    เกณฑ์กำกับเกียกกายทั้งซ้ายขวา
ให้คอยล้อมพร้อมพรั่งดังสัญญา    เห็นลมกล้าได้ทีตีประดัง
ให้พวกเรือเหนือลมนั้นสมทบ    เข้ารุมรบลำใหญ่เหมือนใจหวัง
แม้นขึ้นได้ไฟจุดอย่าหยุดยั้ง        แล้วกองหลังหนุนด้วยช่วยให้ทัน
แม้นพบชายนายทัพจงจับมัด    มันขืนขัดค่อยฆ่าให้อาสัญ
ถ้าลำไหนได้นางจะรางวัล        ครองประจันตประเทศเขตนคร

ฝ่ายฝรั่งพรั่งพร้อมต่างน้อมนบ    ลงเรือรบเรียบร้อยลอยสลอน
ทั้งโยธากล้าหาญคอยราญรอน    ใส่เสื้อซ้อนเกราะกระสันกันศัสตรา
ทหารปืนยืนมองตามช่องกราบ    ศรกำซาบแซกรายทั้งซ้ายขวา
พร้อมทหารขานโห่เป็นโกลา        ธงสัญญาโบกบอกให้ออกเรือ
กองละร้อยคอยรบไม่หลบหลีก    ชักเป็นปีกกาไปทั้งใต้เหนือ
บ้างถือชุดจุดไฟไว้เป็นเชื้อ        เขาล้อมเรือลำใหญ่ระไวระวัง”

ฝ่ายทัพสินสมุทร เมื่อได้ปรึกษากับอังกุหร่า แม่ทัพรองแล้ว ได้จัดการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยการเตรียมตั้งรับ คือไม่ยอมรบประชิดตัว เพราะเรือใหญ่กว่า ข้าศึกอาจจะเอาไฟเผาได้ สินสมุทรจึงสั่งให้พลรบพยายามรบห่างๆ โดยใช้อาวุธยาวเท่าที่มีคือปีนและธนู พร้อมกันนั้นก็ให้เตรียมถังนํ้าไว้ให้มากดังความที่กล่าวบรรยายดังนี้

“อังกุหร่าว่าเรือเรากว้างขวาง    รบให้ห่างอย่าให้ถึงจึงจะได้
ฉวยรบรับสัปยุทธมันจุดไฟ        จะแก้ไขขัดสนจนปัญญา
ขอพระองค์จงออกรับกองทัพหลวง    ข้าทั้งปวงจะได้รับทัพซ้ายขวา
ข้างหลังไว้ให้ทหารพระเจ้าอา    รายรักษาแซงกันให้ทันการ
แล้วเร่งรัดหัศเกนลงเรือรบ    บรรจุครบเครื่องศัสตราล้วนกล้าหาญ
ใส่เสื้อหมวกพวกจะฟันประจัญบาน    เคียงขนานหนุนรับทัพลังกา
แต่คนน้อยค่อยรบประจบรับ    แทรกสลับเปลี่ยนซ้ายแล้วย้ายขวา
ใส่ธงเทียวเขียวแดงดาษดา        เป็นเรือห้าร้อยถ้วนกระบวนรบ
พลประจำลำทรงสินสมุทร        ถืออาวุญโล่ห์เขนล้วนเจนจบ
ทั้งหน้าหลังดั้งกันก็ครันครบ        ทหารรบเรือใหญ่ให้ประจำ
ปืนจังก้าหน้าท้ายทั้งรายข้าง    เกณฑ์ลูกจ้างจีนไทยทั้งไหหลำ
ให้ทำค่ายรายตั้งล้วนถังน้ำ        ตลอดลำสำหรับไว้ดับเพลิง”

ในการที่กองทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าประจัญบานกันครั้งนี้ อุศเรนจัดเป็นรูปพระยานาค มีหัว มีหางเตรียมรัดกระหวัดสินสมุทรให้ดิ้นไม่หลุด ส่วนข้างสินสมุทรก็จัดขบวนเรือเป็นรูปเหราเข้ารับด้วยคิดว่าจะรับข้าศึกและตีให้แตกพ่ายได้ เพราะตัวเหราได้เปรียบพระยานาค พระยานาคมีแต่หัวหาง และเขี้ยว ฝ่ายเหรามีทั้งหัวและเขี้ยว แถมยังมีตีนและเล็บอีก เมื่อกองทัพเรือทั้งสองเข้าประจัญหน้ากัน ต่างก็ส่งอาวุธยาวออกประหัตประหาร คือทั้งปืนเล็ก ปืนใหญ่ และธนู กองทัพเรือของอุศเรนได้รุกเข้าใส่กองทัพเรือสินสมุทรอย่างไม่พรั่นพรึง พยายามจะตีให้เรือถึงกัน และเอาไฟเผาเรือใหญ่ของสินสมุทรให้ได้ และเมื่อกองทัพเรือเข้าประชิดติดกัน พลไพร่ต่างโดดเข้าใช้อาวุธสั้นเข้าตะลุมบอน กันชุลมุนในที่สุดสินสมุทรก็ตีตะลุยเข้าไปสู้กับอุศเรนตัวต่อตัว และจับอุศเรนได้ แต่พระอภัยมณีเข้าไปขอชีวิตอุศเรนไว้ และปล่อยอุศเรนไป

นอกจากยุทธศาสตร์ทางเรือระหว่างอุศเรนกับสินสมุทรแล้ว สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงการรบทางการเรืออีกหลายครั้ง แต่จะไม่นำมากล่าวทั้งหมด ต่อไปนี้จะขอยกเอาการต่อสู้ทางบก เพื่อต้องการให้ทราบถึงความรู้ความคิดของสุนทรภู่ ว่ามีจินตนาการเกี่ยวกับการสงครามทั้งทางเรือ และทางบกประดุจแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ถึงแม่วาจะเป็นนิทานที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงของผู้อ่านเท่านั้น แต่ข้อมูลก็ไม่เกินความจริงเลย แสดงถึงความรอบรู้ความเข้าใจของผู้แต่งได้เป็นอย่างดี

ตอนที่กล่าวถึงการศึกระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาครั้งแรก จะรบทั้งทางบกและทางเรือ เมื่อทัพเรือกรุงลังกายกเข้ามาใกล้เขตกรุงผลึก กองสอดแนมฝ่ายพระอภัยก็ทราบหมดสิ้น นางวาลี เสนาธิการทัพก็วางกลยุทธเพื่อจะพิชิตศึกในครั้งนี้ โดยให้พระอภัยคุมกองทัพประมาณพันเศษยกออกไปปากอ่าวเป็นเชิงว่าไม่ขอสู้ ส่วนนางสุวรรณมาลีกับนางวาลีซุ่มทัพไว้บนบกเพื่อดักสะกัดตีทัพอุศเรน ที่หลงระเริงว่าตัวเองชนะแน่ นอกจากนี้นางวารียังให้คนลงเรือเล็กพร้อมทั้งขนของไปแล่นวนเวียน เพื่อล่อให้ทหารลังกาจับ แล้วปั่นข่าวเท็จว่าพระอภัยมณีขนทรัพย์สมบัติลงเรือหนีออกไปแล้ว อุศเรนกับเจ้าเมืองลังกาหลงกลทันที จึงตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ นางวาลี เสนาธิการแห่งเมืองผลึกจึงสร้างความพินาศยับเยินให้แก่ทัพลังกา ดังจะยกมากล่าวต่อไปนี้

“ส่วนสุวรรณมาลีศรีสมร        เป็นทัพซ่อนซุ่มสมอารมณ์หมาย
จึงขับไพร่ให้ล้อมเลียบหาดทราย    แล้วตัดสายสมอใหญ่จุดไฟโพลง
ผลักกำปั่นหันกลับทัพปะทะ        ล้วนเกะกะปะกันควันโขมง
นางวาลีที่อยู่ห้องท้องพระโรง    เห็นเพลิงโพลงพลอยให้ปืนใหญ่ยิง
แล้วยกออกนอกกำแพงไล่แทงทัพ        มิทันรับรบสู้เสียรู้หญิง
บ้างจับตายนายไพร่ตกใจจริง        กระเจิงวิงเวียนวนด้วนจนใจ
จะลงเรือเชื้อเพลิงก็โพลงผลาญ        เหล่าทหารเห็นไม่มีที่อาศัย
บ้างลงน้ำดำดั้นจนบรรลัย            ชาวเมืองไล่จับกุมตะลุมบอน”

สำหรับการยุทธทางบกอีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่ศึกเก้าทัพรับอาสานางละเวงมารุมรบเมืองผลึกนั้น เป็นศึกที่แสดงฝีมือในเชิงอาวุธสู้กันซึ่งหน้าชนิดใครดีใครอยู่ แม้แต่นางสุวรรณมาลีเองก็ต้องคุมทัพออกสู้ฝ่าคมอาวุธออกรับศึก เพราะขณะแรกที่ถูกโจมตีนั้น พระอภัยมณีกำลังคลั่งไคล้หลงใหลรูปนางละเวงอยู่ จนลืมองค์ไม่เอาธุระในการบ้านการเมือง นางสุวรรณมาลีจึงแข็งใจสู้ข้าศึกอย่างเต็มความสามารถ แต่ยังเคราะห์ดี่เพราะในขณะที่เข้าตาจนนั้น สุดสาครยกทัพมาตามหาพระอภัยมณี เมื่อเห็นศึกติดเมืองอยู่เช่นนั้นจึงเข้าช่วยรบพอตรึงข้าศึกไว้ได้ จนกระทั่งศรีสุวรรณ สินสมุทร และพราหมณ์พี่เลี้ยงทั้งสมาช่วยกันเข้าตะลุยตีทัพทั้งเก้าแตกกระจายไปหมด และพราหมณ์สานนใช้วิชาเรียก ลมฝนมาทำลายข้าศึก จึงได้เสร็จสิ้นสงครามเก้าทัพในครั้งนั้น ดังที่สุนทรภู่พรรณนาไว้ดังนี้

“ฝ่ายมหาสานนพระมนต์ขลัง    เรียกกำลังลมประสาททั้งธาตุสินธุ์
วลาหกตกใจไขเมฆิน            เป็นวารินร่วงโรยอยู่โกรยกราว
ทั้งเทวามารุตผุดพุ่ง            เป็นควันพลุ่งโพลงสว่างขึ้นกลางหาว
เสียงครึกครื้นพื้นแผ่นทั้งแดนดาว    อากาศราวกับจะฟังกำลังมนต์
ฝ่ายทมิฬจีนตั้งฝรั่งร้าย        เห็นวุ่นวายเวหาเป็นฟ้าฝน
ทั้งหนาวเหน็บเจ็บตาอุตส่าห์ทน    ออกตรวจพลถ้วนทั่วทุกตัวนาย
จะกอ่ไฟไม่ติดผิดประหลาด        ทั้งฝนสาดลูกเห็บเจ็บใจหาย
ถูกพลับพลาฝรั่งพังทลาย        ทั้งขอบค่ายลู่ล้มด้วยลมแรง
ฯลฯ
พลฝรั่งอังกฤษไม่คิดรบ        แตกตลบลงชลาไม่ฝ่าฝืน
บ้างล้มตายวายวางในกลางคืน    บ้างวิ่งตื่นแตกป่วนอยู่รวนเร
บ้างลงเรือเหลือตายทั้งนายไพร่    พายุใหญ่ปั่นป่วนให้หวนเห
บ้างแตกล่มลมพัดเที่ยวซัดเซ    จนถึงเวลารุ่งรบพุ่งกัน”

ตัวอย่างที่แสดงถึงความรู้ทางยุทธศาสตร์ของสุนทรภู่มากล่าวเอาไว้พอเป็นสังเขปนั้น ก็พอที่จะชี้ให้เห็นถึงความรอบรู้ในด้านนี้ของท่านกวีเอกได้

ความรู้ทางศาสนศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณี
สุนทรภู่ได้แทรกความรู้ทางศาสนศาสตร์เอาไว้ในผลงานของท่านหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

กวีเอกสุนทรภู่ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์วัดมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย และได้ยึดมั่นในพุทธศาสนามาตลอด ยังได้เคยบวชเป็นพระภิกษุอยู่หลายปี เป็นไปได้ว่าท่านคงจะมีความรอบรู้ในพระธรรมวินัยมากทีเดียว จึงสามารถนำความรู้ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนามาแทรกเอาไว้ โดยเฉพาะในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีมีอยู่หลายตอนด้วยกัน อาทิเช่น

เมื่อพระอภัยมณีกับสินสมุทรได้อาศัยอยู่กับพระฤาษีที่เกาะแก้วพิศดาร แล้วก็เลยขอบวชเป็นฤๅษีทั้งสองคน พระฤๅษีจึงให้สองพ่อลูกรับศีลห้าตามประเพณีว่า

“แล้วอวยชัยให้ศีลห้าสถาผล    ต้งแต่ต้นปาณาไม่ฆ่าสัตว์
ครั้นจบศีลสิกขาสารพัด        หมั่นนมัสการเพลิงตะเกิงกอง”

ในตอนนี้สุนทรภู่ได้แสดงให้เห็นถึงการตั้งมั่นในศีลห้า ตามหลักพุทธศาสนา แต่ก็ได้แทรกลัทธิการบูชาเพลิง ซึ่งเป็นประเพณีของนักบวชบางลัทธิที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมา

อีกตอนหนึ่ง เมื่อนางผีเสื้อตามพระอภัยมณีไปจนถึงเกาะแก้วพิศดาร แต่ก็เข้าไปใกล้เกาะไม่ได้เพราะกลัวมนต์ฤๅษี นางได้อ้อนวอนให้พระอภัยมณีกลับไปอยู่ในถํ้าตามเดิม ขณะนั้นพระอภัยกำลังเพศฤๅษีอยู่ และได้ตัดรักจากนางผีเสื้ออย่างเด็ดขาดแล้ว จึงได้เทศน์โปรดแนะนางผีเสื้อ ซึ่งคำเทศนาก็เป็นหลักคำสอนทางพุทธศาสนา ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ดังความว่า

“ประเดี๋ยวนี้พี่บวชชวดสบาย        จะสอนสายสวาทเจ้าให้เข้าใจ
จงฟังธรรมคำนับดับโมโห            ให้โทโสสร่างเสื่อมค่อยเลื่อมใส
แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย        ด้วยความในโลกีย์สี่ประการ
อันรูปรสกลิ่นเสียงเรียงสัมผัส        ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้งระงับดับขันธสันดาน            ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล        ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย        จะจำตายตกนรกอเวจี”

ในตอนที่ชีเปลือยแสดงรูปขันธ์หลอกสุดสาคร เพื่อจะแย่งม้ามังกรและไม้เท้าของดาบสอาจารย์ โดยทำทีว่าตนเองนั้นเข้าใจสัจธรรมและปลงสังขารแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่มีส่วนใดที่จะพึงหวงแหน ล้วนเป็นสิ่งที่โสโครกน่าเกลียดน่ากลัวทั้งนั้น เกิดมาแล้วก็ต้องแตกดับสูญสลายไป ไม่มีสิ่งใดที่ควรหลงรักงมงายในเบญจขันธ์ ดังข้อความว่า

“เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย        ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค    แสนวิโยคคืออายุกเป็นทุกขัง
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง            จรปิดบังเทวดาไว้ว่าไร
เราถือศีลจินตนาศิวาโมกข์            สละโลกรูปนามตามวิสัย
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด        ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ        อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี”

เทศนาครั้งสำคัญที่พระฤๅษีแสดงต่อกษัตริย์ทั้งสิบห้าพระองค์ เมื่อครั้งทำศึกกรุงลังกา และมีผลทำให้เหล่ากษัตริย์เกิดความสามัคคีเลิกโกรธแค้นพยาบาทกัน เทศนาครั้งนี้ยืดยาวแยกแยะชี้แจง แสดงโทษ และเหตุผลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถึงการแตกแยกและความสามัคคีรักใคร่ปรองดองกัน นับว่าเป็นการแสดงธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งครั้งหนึ่ง ดังความว่า

“ขณะนั้นค่อนดึกศึกสงบ        ต่างนอบนบนับถือพระฤาษี
ไม่กริบเกรียบเงียบสงัดทั้งปฐพี    พระโยคีเทศนาในอาการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้    ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึงให้เห็นเป็นประธาน    หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้    เพราะโลกีย์ตัณหาพาชิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย    จะตกอบายภูมิขุมนรก
หนึ่งว่าอย่าลักเอาของเขาอื่น    มาชมชื่นฉ้อฉลคนโกหก
หนึ่งทำชู้คู่เขาเล่าลามก        จะตายตกในกะทะอเวจี
หนึ่งสูบฝิ่นกินสุรามุสาวาท        ใครทำขาดศีลห้าสิ้นราศรี
ใครสัตย์ซื่อถือมั่นในขันตี        จะถึงที่นิพพานสำราญใจ
อย่าโกรธขึ้นหึงสาพยาบาท        นึกว่าชาติก่อนกรรมทำไฉน
เหมือนดุมวงกงเกวียนวนเวียนไป    อย่าโทษใครนี่เพราะกรรมจึงจำเป็น
ประการหนึ่งซึ่งขาดประศาสนา    ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ
ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น    ก็ต้องเป็นไมตรีปราณีกัน”

ตอนที่กล่าวถึงนางเสาวคนธ์หนีการวิวาห์ แล้วแปลงเพศเป็นฤๅษี ไปถึงด่านเมืองวาหุโลม เพื่อจะแวะชมเมือง และหาทางชักชวนให้ชาวเมืองนั้นหันมานับถือพระพุทธศาสนา นางจึงเทศน์ให้ชาวด่านเมืองวาหุโลมฟังอย่างไพเราะ และมีหลักธรรมว่า

“อันเราถือฤาษีนั้นดีสุด    เป็นภูมิพุทธวิชารักษาศีล
อันแก้วแหวนแสนทรัพย์นับเหมือนดิน    มีแล้วสิ้นเสียเปล่าไม่เข้าการ
อันกุศลผลผลาอานิสงส์    จะช่วยส่งเป็นสมบัติพัศถาน
ใครถือธรรมจำศีลอภิญญาณ    ถึงนิพพานพูนสวัสดิ์อยู่อัตรา”

ในตอนที่พระอภัยมณีออกบวช ก่อนจะเดินทางไปจำศีลภาวนายังเขาสิงคุตร์ ได้เทศน์โปรดลูกหลานอีกครั้งหนึ่ง มีความสำคัญว่า

“ทรงแก้ไขในข้อพระบรมัตถ์        วิสัยสัตว์สิ้นพิภพล้วนศพผี
ย่อมสะสมถมจังหวัดปัฐพี        ไพร่ผู้ดีที่เป็นคนไม่พ้นตาย
พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกข์ร้อน    เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย
สิ้นถวิลสิ้นทุกข์เป็นสุขสบาย        มีร่างกายอยู่ก็เหมือนเรือนโรคา
ทั้งแก่เฒ่าสาวหนุ่มย่อมลุ่มหลง    ด้วยรูปทรงลมเล่ห์เสน่หา
เป็นผัวเมียเคลียคลอครั้นมรณา    ก็กลับว่าผีสางเหินห่างกัน
จงหวังพระปรมาศิวาโมกข์        เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน        เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธธันดร”

ที่ยกมากล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่มีความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาในพุทธศาสนามาก แม้จะไม่ถึงกับแตกฉานราวกับผู้คงแก่เรียนทางพระก็ตาม นอกจากนี้สุนทรภู่ยัง ได้พยายามชี้แนะให้เห็นว่า ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากกิเลสตัณหาของมนุษย์นั้น หลักธรรมของพุทธศาสนา สามารถจะแก้ไขให้เกิดผลดีขึ้นมาได้

นอกจากนี้สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงศาสนาของพวกฝรั่งลังกา แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นศาสนาอะไร กล่าวถึงแต่พระสังฆราชบาทหลวงว่ามีเมียไม่ได้ แต่เป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่มีศีลมีสัตย์เต็มไปด้วยความอาฆาตพยาบาท การที่สุนทรภู่ไม่กล่าวว่าเป็นศาสนาอะไรนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าท่านยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับศาสนาที่พวกฝรั่งนับถือกันในสมัยนั้น กล่าวคือ อาจจะยังไม่รู้จักศาสนาคริสต์ดีพอ หรืออีกอย่างหนึ่งคือ สุนทรภู่จินตนาการขึ้นเอง เพื่อจะได้ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่นๆ โดยคิดขึ้นให้แตกต่างไปจากศาสนาพุทธ ซึ่งจะเห็นได้ชัดตอนที่กล่าวถึงพิธีฝังศพอุศเรนกับเจ้าลังกานั้น สุนทรภู่ได้เล่าถึงประเพณีการฝังศพเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีในโลก จึงเป็นไปได้ที่สุนทรภู่จะจินตนาการขึ้นเอง

ในพิธีฝังศพอุศเรนและเจ้าลังกา สุนทรภู่อธิบายว่า เวลาฝังจะต้องเอาหัวลง เอาเท้าขึ้นชี้ฟ้า นัยว่าเท้าที่ชี้ขึ้นไปบนฟ้านั้น จะได้เป็นพาหนะพาผู้ตายขึ้นไปสู่สวรรค์ ในระหว่างฝังศพก็มีการสวดด้วย และมีที่คล้ายกับศาสนาคริสต์อยู่เหมือนกัน เพราะได้กล่าวอ้างถึงการมีไม้กางเขนปักไว้ด้วย ดังที่พรรณนาไว้ว่า

“พนักงานการสำหรับประดับศพ    ก็แต่งครบเครื่องอร่ามตามภาษา
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเกาะลังกา    ท้าวพระยาอยู่ปราสาทราชวัง
ก็ต้อมีที่ตายไว้ท้ายปราสาท        สำหรับบาดหลวงจะได้เอาไปฝัง
เป็นห้องหับลับลี้ที่กำบัง        ถึงฝรั่งพลเรือนก็เหมือนกัน
ใครบรรลัยก็ไปบอกพระบาดหลวง    มาควักดวงเนตให้ไปสวรรค์
มีไม้ขวางกางเขนเป็นสำคัญ        ขึ้นแปลงธรรม์เทศนาตามบาลี
ว่าเกิดมาสามัญคนทั้งหลาย        มีร่างกายจำยากคือทรากผี
ครั้นตัวตายภายหลังฝังอินทรีย์    เอาเท้าชี้ขึ้นนั้นด้วยอันใด
วิสัชนาว่าจะให้ไปสวรรค์        ว่าเท้านั้นนำเดินดำเนินได้
อันอินทรีย์ชีวิตพลอยติดไป        ครั้นเท้าย่างทางไหนไปทางนั้น
จึงฝรั่งฝังผีตีนชี้ฟ้า            ให้บาทาเยื้องย่างไปทางสวรรค์
ว่ารูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครัน        ให้สูญลับกัปกัลป์พุทธันดร
เทศนาหน้าศพจบแล้วสวด        พวกนักบวชบาดหลวงทั้งปวงสอน
ให้เผ่าพงศืวงศานรากร        นั้นมานอนคว่ำเรียงเคียงเคียงกัน
ครั้นสวดจบศพใส่ไว้ในถุง        บาดหลวงนุ่งห่มดำนำไปสวรรค์
อ่านหนังสือถือเทียนเวียนระวัน        ลูกศิษย์นั้นแบกผีทั้งสี่คน
ค่อยเดินตามข้ามหลังคนทั้งหลาย        ที่นอนรายเรียงขวางกลางถนน
บาดหลวงพระประพรำด้วยน้ำมนต์    ตลอดจนห้องฝังกำบังลับ
หกศีรษะเอาศพใส่หลุมตรุ            แต่พอจุศพถุงเหมือนปรุงปรับ
พระบาทบงสุ์ตรงฟ้าศิลาทับ        เครื่องคำนับนั้นก็ตั้งหลังศิลา
ให้ลูกหลานหว่านเครือและเชื้อสาย    ได้ถวายข้าวตอกดอกบุปผา
ให้กราบลงตรงบัลลังก์ตั้งบูชา    เหมือนกราบฝ่าพระบาทไม่ขาดวัน”

นอกจากนี้ก็มีเรื่องของศาสนาพราหมณ์แทรกอยู่หลายตอน แต่ปะปนอยู่ในเรื่องพิธีกรรมเสียส่วนมาก เช่น พระราชพิธีอภิเษก หรือพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์

เรื่องโหราศาสตร์
เรื่องวิชาโหราศาสตร์ หรือความเชื่อเกี่ยวกับโชคชะตาราศี แม้ว่าสุนทรภู่จะเขียนเอาไว้ไม่มากนัก แต่ก็พอจะยกมาเป็นตัวอย่างได้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าท่านกวีเอกก็มีความรู้ความเข้าใจทางด้านนี้เช่นเดียวกัน และสามารถนำเป็นแนวคิดในการสร้างผลงานได้ และหลักวิชาการที่ท่านยกมาอ้างนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากหลักวิชาการโหราศาสตร์เลย

ในนิราศเมืองแกลง สุนทรภู่ได้กล่าวถึงโชคลางเอาไว้หลายตอน เช่น ตอนที่เห็นบ้านชาวประมงปลูกไม่มีปั้นลม ท่านว่าถ้าใครขืนทำก็จะเกิดไฟไหม้บ้าน เพราะชาวประมงเป็นผู้มีบาปหนา จึงต้องถูกสาปให้ปลูกบ้านเช่นนั้น ดังที่สุนทรภู่กล่าวเอาไว้ว่า

“อันพวกเขาชาวประมงไม่โหย่งหยน    ล้วนตีนถีบปากกัดขัดเขมร
จะได้กินข้าวเช้าก็ราวเพล            ดูจัดเจนโลดโผนในโคลนตม
จึงมั่งคั่งตั้งมั่นในการบาป            แต่ต้องสาปเคหาให้สาสม
จะปลูกเรือนก็มิได้ใส่ปั้นลม            ใครขืนทำก็ระทมด้วยเพลิงลาม”

อีกแห่งหนึ่งในนิราศวัดเจ้าฟ้า เมื่อสุนทรภู่ได้พักนอนอยู่กลางทุ่ง ตอนกลางคืนมองดูรอบๆ ก็เวิ้งว้างไปหมดทุกทิศ เห็นเงาไม้ในยามกลางคืนก็เกิดอุปทานเป็นรูปสัตว์ต่างๆ การเห็นในลักษณะนั้นถือกันว่าเป็นเรื่องโชคลาง ดังที่ท่านสุนทรภู่สอนลูกชายให้พิจารณารูปสัตว์เหล่านั้นว่า

“ถึงย่านขวางบางทะแยงเป็นแขวงทุ่ง    ดูเวิ้งวุ้งหว่างละแวกเป็นแฝกเฝือ
เห็นไรไรไม้พุ่มคลุมคลุมเครือ        เหมือนรูปเสือสิงห์โตรูปโคควาย
ท่านบิดรสอนหนูให้รู้ว่า    มันผินหน้าออกนั้นกันชิบหาย
แม้ปากมันพันเข้าข้างเจ้านาย    จะล้มตายพรายพลัดเร่งตัดรอน
จารึกไว้ให้เป็นทานทุกข์บ้านช่อง    ฉันกับน้องนี้จำเอาคำสอน”

ในนิทานเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงเรื่องโหราศาสตร์อยู่หลายแห่ง เช่น ตอนที่นางสุวรรณมาลี หนีพระอภัยมณีไปบวชชี พระอภัยมณีตามไปงอนง้อขอให้สึกออกมาอภิเษก แต่นางไม่ยอม ในที่สุดพระอภัยมณีก็แนะกับนางสุวรรณมาลีว่า วันที่ไปพบนี้เป็นวันที่ฤกษ์ดี หากใครบวชอยู่สึกในวันนี้ก็จะโชคดี สิ้นเคราะห์และความอัปมงคลทั้งปวง ดังความที่ว่า

“การทั้งหลายร้ายดีมิได้พ้น        จะกลัวคนครหาว่ากระไร
ฤกษ์วันนี้สี่ค่ำเป็นอมฤก        ใครบวชสึกสิ้นวิบัติปัถไหม
อย่ารอราช้าฉวยฉันขัดใจ        จะอุ้มไปกระนั้นดอกบอกจริงจริง”

ตอนที่สินสมุทรถูกพวกชาวลังกายิงกระเด็นไปตกทะเล พระอภัยมณีให้โหรทาย โหรก็ทายถวายว่า

“โหรารับจับยามตามสังเกต        พิเคราะห์เหตุหารคูณไม่สูญหาย
จึงทูลความตามตำรับไม่กลับกลาย    ยังไม่ตายแต่ว่ายากลำบากครัน
ต้องตกไปไกลที่ถึงสี่โยชน์        เดี่ยวสันโดษดังชีวาจะอาสัญ
ต่อเช้าตรู่สุริยฉายขึ้นพรายพรรณ    พระพุธนั้นถึงพฤหัสสวัสดี
จะได้ลาภปราบศึกให้กึกก้อง    ได้สิ่งของมาประณตบทศรี”

ตอนที่นางละเวงจะอภิเษกเจ้ามังคลาลูกชาย ให้ครองกรุงลังกาแทน และให้หลานชายขึ้นเป็นอุปราชนั้น นางได้ไปหาบาดหลวงให้ช่วยดูฤกษ์ให้ ดังความว่า

“ฝ่ายฝรั่งสังฆราชพระบาดหลวง    ลงเลขดวงลัคณ์จันทร์ดูชันษา
จึงว่าเดือนสี่ฤกษ์เบิกราชา        ขึ้นสิบห้าค่ำนั้นเป็นวันดี”

อีกตอนหนึ่ง เมื่อนางสุวรรณมาลีถูกท้าวทศวงศ์ซักถามว่าอายุเท่าไร นางก็ทูลไปว่า

“ยุพยงทรงฟังรับสั่งถาม    ให้เขินขามคิดพรั่นประหวั่นไหว
ไม่เคยปดอดสูอยู่ในใจ        แข็งฤทัยทูลความไปตามเกิน
ชันษาเข้ายี่สิบสี่เศษ        เบญจเพศจึงต้องตกระหกระเหิน
อังคารเข้าเสาร์ทับแทบยับเยิน    ให้เผอิญพรากพลัดพระภัสดา”

เกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์ตามที่สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้ ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นความเชื่อของคนไทยที่มีมานานแล้ว และแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังเชื่ออยู่ ฤกษ์ต่างๆ ที่สุนทรภู่กล่าวเอาไว้นั้น ก็ตรงกับความจริงในตำราโหราศาสตร์ที่นับถือกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นประจักษ์ชัดทีเดียวว่าท่านสุนทรภู่ก็มีความรู้ทางด้านนี้อยู่มากเหมือนกัน

นอกจากความรู้ในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว สุนทรภู่ยังนำความรู้รอบๆ ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย โดยนำมากล่าวเอาไว้ในผลงานหลายเรื่องที่ท่านแต่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ในพระราชวัง ตลอดจนถึงการใช้ราชาศัพท์ สุนทรภู่ก็สามารถนำมาเขียนหรือนำมาอธิบายได้ถูกต้อง และสรรหามาเข้าสัมผัสกลอนได้อย่างสละสลวยไพเราะ ไม่เสียทั้งความ ไม่เสียทั้งราชาศัพท์ และเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม การที่สุนทรภู่มีความรอบรู้ในเรื่องนี้อย่างดีเยี่ยมนั้น เพราะสุนทรภู่ได้อาศัยอยู่ในพระราชวังมาตั้งแต่แรกเกิด คือตั้งแต่วังหลัง พระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล คงจะได้รู้ได้เห็นพระราชพิธีต่างๆ มาตลอด จึงสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างดีเยี่ยม ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีในวัง ตลอดจนการใช้ราชาศัพท์ต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่สุนทรภู่จะกล่าวเอาไว้ในเรื่องพระอภัยมณี ดังตัวอย่าง อาทิเช่น

พระราชพิธีอภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษรา    สุนทรภู่ได้พรรณนาพระราชพิธีไว้อย่างละเอียด

“ศรีสุวรรณนั้นนั่งบัลลังก์แก้ว        ดูผ่องแผ้วพักตร์เพียงพระสุริย์ใส
พระนุชนั่งเหนือกองทองอุไร        ดังแขไขเคียงคู่พระสุริยัน
ให้สององค์ทรงเกี่ยวก้อยกระหวัด    ตามกษัตริย์เษกสมภิรมย์ขวัญ
ปุโรหิตติดเทียนแว่นสุวรรณ        บังคมคัลส่งกษัตริย์ขัตติยา
ท้ายทศวงศ์ส่งให้มเหสี            นางชุลีแล้วก็ส่งให้วงศา
ต่างคำนับรับเทียนเวียนออกมา    พวกเสนารับส่งเป็นวงไป
กองประโคมแตรสังข์ประดังเสียง    เสนาะสำเนียงดนตรีปี่ไฉน
มโหรทึกกึกก้องทั้งฆ้องไชย        เสียงหวั่นไหวแว่นแคว้นทุกแดนดาว”

อีกตอนหนึ่ง สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงการแต่งองค์ของสินสมุทร ตามแบบอย่างพระราชโอรสของกษัตริย์ในสมัยนั้น และได้กล่าวถึงเครื่องแต่งกายแต่ละชิ้นได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนสามารถนำมาเขียนเป็นกลอนได้ ดังความที่ท่านได้พรรณนาว่า

“พลางมุ่นเกล้าเมาลีให้พี่น้อง    นุ่งยกทองเทพนมดูคมขำ
เข็มขัดเพชรเจ็ดกะรัตคาดประจำ    ลูกปล่ำลงยาราชาวดี
ทองพระกรซ้อนนวมสวมพระหัตถ์        เนาวรัตน์ราคาค่ากรุงศรี
สังวาลแววแก้วเก็จเพชรมณี        ผูกวะลีลายลอยล้วนพลอยเพชร
ธำมรงค์ทรงรายพรายพระหัตถ์    แจ่มจำรัสรุ้งแววล้วนแก้วเก็จ
กรรณเจียกจรซ้อนกุดั่นกัลเม็ด    ใส่เกือกเพชรเพทายริมรายพลอย”

พรรณนาถึงเครื่องแต่งองค์ของสุดสาครตอนเข้าเมืองการเวก ท่านเจ้าเมืองขอไว้เป็นโอรส แต่สุดสาครไม่ยอมสึกจากฤๅษี เจ้าเมืองการเวกจึงจัดเครื่องทรงแต่งทับลงไปทั้งชุด ดังนี้

“สองกษัตริย์จัดแจงแต่งประดับ    ใส่สร้อยทับทรวงสังวาลประสานสาย
คาดปั้นเหน่งเปล่งเม็ดเพชรเพทาย    สอิ้งพรายพลอยวามอร่ามเรือง
แล้วให้อย่างช่างชฎามาประดับ    เอาแก้วแกมแซมกับหนังสือเหลือง
มงกุฎกลายปลายจีบกลีบมะเฟือง        ประดับเนื่องแนบเลียดกรรณเจียกจร
พระพาฟาพาหุรัดกระจัดแจ่ม    ล้วนนิลแนมเนาวรัตน์ประภัสสร
แล้วสวมสร้อยนวมทองรองพระกร         สลับซ้อนแสงแก้วดูแพรวพราย
ธำมรงค์วงวาวเขียวขาวเหลือง    อร่ามเรืองนิ้วพระหัตถ์จำรัสฉาย
ใส่เกือกทองรองบาทแล้วนาฏกราย    พระผันผายมานั่งบัลลังก์รัตน์

การแต่งกายของสตรีนั้น ในพระราชพิธีอภิเษกนางเกษรากับศรีสุวรรณ สุนทรภู่ได้อธิบายถึงเครื่องแต่งกายของนางเกษรา เอาไว้ว่า

“ให้แต่งองค์สรงชลสุคนธา        ทรงภูษาค่าเมืองเรืองระยับ
สี่พี่เลี้ยงเคียงองค์ประจงจัด        คาดเข็มขัดกลเม็ดเพชรประดับ
ห่มสะไบริ้วทองมีรองซับ        สอดสังวาลบานพับประดับพลอย
ทั้งสร้อยนวมสวมพระศอละอออ่อน    ทองพระกรแลกระจ่างอย่างหิ่งห้อย
ธำมรงค์เรือนเก็จทั้งเพชรพลอย    ดูเรียบร้อยนิ้วพระหัตถ์จำรัสเรือง
ทรงมงกุฎบุตรีมณีประดับ    กระจ่างจับผุดผ่องละอองเหลือง”

เมื่อนางอรุณรัศมีเขาพิธีเศกสมรสกับสินสมุทร สุนทรภู่ได้บรรยายเครื่องแต่งกายของนางอรุณรัศมี ว่า

“ทรงภูษาค่าเมืองเรืองอร่าม      รัดองค์ความแววแวมแจ่มจำรัส
ฉลององค์ทรงสวมค่อยรวมรัด    ใส่ดุมกลัดกลมกล่อมละม่อมละมุน
สังวาลแก้วแววเวียนวิเชียรช่วง    สร้อยทับทรวงสอดสวมใส่นวมหนุน
สะไบบังอังษากรองตาชุน        มงกุฎกุณฑลประดับเพชรทับทิม”

ส่วนที่เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในพระราชพิธีนั้น สุนทรภู่สามารถนำมาพรรณนาได้อย่างละเอียด ราวกับท่านได้บันทึกจากพิธีต่างๆ ซึ่งก็ต้องนับว่าท่านรอบรู้เรื่องราวด้านนี้อย่างละเอียดจริงๆ คนหนึ่ง ดังเช่นในเรื่องพระอภัยมณี เมื่อครั้งทำพิธีอภิเษกศรีสุวรรณขึ้นครองเมืองรมจักรนั้น สุนทรภู่ได้บรรยายถึงกระบวนการในพระราชพิธี และเครื่องประกอบในพระราชพิธี ดังความที่ว่า
“ฝ่ายขุนนางต่างทำทุกตำแหน่ง    ให้ตกแต่งปราสาททองอันผ่องใส
พระที่นั่งตั้งแท่นทองประไพ        เอาหนังไกรสรราชมาลาดทับ
ราชวัตรฉัตรสุวรรณเป็นหลั่นลด    พระเต้าตั้งสังข์กรดเตรียมสำหรับ
บายศรีแก้วบายศรีทองสองสำรับ    เครื่องคำนับเทวาบูชายัญ
มีพานทองรองพระแสงสำหรับยุทธ    อัษฎาอาวุธทุกสิ่งสรรพ์
ทั้งแก้วทองกองเรียงอยู่เคียงกัน        แล้วปักกั้นเศวตฉัตรจำรัสเรือง”

Iและต่อไปก็เป็นเรื่องของพราหมณ์ว่า

“แล้วชวนองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา        เสด็จมาพระโรงรัตน์ชัชวาลย์
จึงให้ศรีสุวรรณวงศ์เข้าสรงชล        ในมณฑลมุรธากระยาสนาน
สะพรั่งพร้อมโหราพฤฒาจารย์        พนักงานเครื่องสำอางค์มาวางเรียง”

ในพระราชพิธีอภิเษกสุดสาครกับนางเสาวคนธ์ และหัสไชยกับนางสร้อยสุวรรณและนางจันทร์สุดา สุนทรภู่ก็ได้อธิบายถึงขั้นตอนในพระราชพิธี ดังความว่า

“ฝ่ายโยคีพราหมณ์รามราช        สำรวมศาสตร์อิศโรสโมสร
สวดพิธีอภิรมย์สยมพร            ให้ถาวรสืบกษัตริย์สวัสดี
ได้เวลาฟ้าร้องตีฆ้องฤกษ์        พฤฒาเฒ่าเช้าเบิกขวัญบายศรี
บัณเฑาะว์ดังกังวานขานดนตรี    พวกโหรตีฆ้องโห่ก้องโลกา
ปุโรหิตติดแว่นวิเชียรเทียน        จุดเพลิงเวียนวนซ้ายไปฝ่ายขวา
โหมพิณพาทย์ฆาฎฆ้องก้องลังกา        แตรฝรั่งมังค่ากลองมลายู”

จะเห็นได้ว่าผลงานของท่านสุนทรภู่แม้จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ท่านก็ได้แฝงข้อมูลที่เป็นความรู้ในด้านต่างๆ เอาไว้หลายด้าน และเป็นข้อมูลที่ทางวิชาการยอมรับทั้งสิ้น แม้ในบางตอนจะเป็นจินตนาการ แต่เมื่อกาลเวลาล่วงมาสิ่งที่ท่านกล่าวเอาไว้นั้นก็เป็นความจริง ท่านสรรหาเรื่องราวต่างๆ มาบรรยายได้อย่างกลมกลืนและสมจริงสมจัง แฝงไปด้วยความไพเราะของบทกลอน เป็นการบำเรออารมณ์ผู้อ่านได้อย่างแท้จริง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

โคบุตร-นิพนธ์เรื่องแรกของสุนทรภู่

ท่านจะพิศวงเมื่อได้ฟังกลอนวิเศษของชายหนุ่มอายุ ๒๐ ปี แห่งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งว่า

“อันมนุษย์สุดเชื่อมันเหลือปด    พูดสบถแล้วสะบัดไม่ขัดสน
เพราะแต่คำนํ้าจิตคิดประจญ    ปากเป็นผลใจเป็นพาลเหลือมารยา
ใครหลงลิ้นกินลูกยอก็พอม้วย    ต้องตายด้วยปากมนุษย์ที่มุสา
คนทุกวันมันมิซื่อถือสัจจา        สู้สัตว์ป่าก็ไม่ได้ใจลำพอง”

แต่ท่านจะไม่ประหลาดใจเลย เมื่อทราบว่ากลอนนี้เป็นฝีปากสุนทรภู่ในเรื่องโคบุตร สุนทรภู่คนนี้แหละที่ชาติไทยเทิดทูนในฐานะบุคคลสำคัญของชาติคนหนึ่ง สุนทรภู่คนนี้แหละที่ชาติไทยจะได้สำแดงคารวะอย่างสมเกียรติ โดยสร้างอนุสาวรีย์เพื่อท่าน มีวันที่ระลึกสำหรับท่านสุนทรภู่

ท่านผู้นี้มีความสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในโลกวรรณคดีไทย เป็นกวีที่มีนามคู่กับชาติ ชาติไทย- สุนทรภู่ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษางานวรรณกรรมของท่าน ในอันดับแรกนี้ขอเสนอ “ศึกษาโคบุตร” เป็นการเชิญชวนให้ชมชื่นวรรณกรรมอันเกิดจากนํ้ามือและสมองของผู้ที่เหมาะสม กับนามอมตกวีที่ชาติไทยเทิดทูน

โคบุตรมีความพิเศษอยู่หลายประการ ตามความสันนิษฐานทางวรรณคดีกล่าวกันว่า เป็นงานเรื่องแรกของสุนทรภู่อมตกวีที่ชาติไทยบูชา แต่งเมื่ออายุอย่างมากก็ราว ๒๐ ปี หรือราว พ.ศ. ๒๓๔๘ ในรัชกาลที่ ๑ ท่านสุนทรภู่ได้เริ่มศักราชใหม่แห่งการกวีของเมืองไทย โดยสร้างโคบุตรขึ้นด้วยกลอนสุภาพ นับตั้งแต่เดิมมาเรื่องนิทานมักเขียนเป็นลิลิต, ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นคนแรกที่เสนอศิลปะของกลอนสุภาพในการสร้างนิทานประโลมโลก และก็เป็นผลสำเร็จ โคบุตรกลายเป็นวรรณกรรมแบบฉบับที่นักแต่งทั้งหลายถือเป็นครู นับได้ว่าโคบุตรมีส่วนสำคัญยิ่งในประวัติวรรณคดีของชาติไทย

ก่อนจะพิจารณาโคบุตร ขอให้ท่านได้ทวนชีวประวัติของสุนทรภู่ก่อนแต่งเรื่องนี้พอเป็นเค้า สุนทรภู่เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ คือเมื่อสร้างกรุงเทพฯ ได้สัก ๔ ปี เราเสียใจที่ไม่รู้จักชื่อพ่อแม่ของท่าน เป็นครอบครัวคนธรรมดาสามัญ และดูเหมือนจะยากจนเสียด้วย สุนทรภู่อาภัพมาตั้งแต่เยาว์ ดูเหมือนเกิดมาไม่ทันได้ ๒ ขวบ พ่อแม่ก็มีเรื่องต้องหย่าร้างกัน พ่อกลับไปบวชที่บ้านเกิดคือบ้านกรร อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แม่คงอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ได้ผัวใหม่ สุนทรภู่อยู่กับแม่ ครั้นต่อมาแม่ของท่านได้ไปเป็นพระนมพระธิดาในเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง
เลยเป็นโอกาสให้แม่ของท่านถวายตัวสุนทรภู่เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ท่านมหากวีผู้นี้ได้รับการศึกษาจากพระวัดชีปะขาว (ศรีสุดาราม) คลองบางกอกน้อย มีความรู้พอเป็นเสมียนได้ ซึ่งนับว่าดีนักหนาสำหรับคนสามัญในสมัยแห่งการศึกษายุคเพิ่งสร้างกรุงเทพฯ เมื่อเรียนเสร็จสุนทรภู่ก็ออกมาเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ตอนนั้นอายุรุ่นหนุ่มตะกอ ร่าเริง สนุกสนาน ในฐานะที่เป็น คนหนุ่มมีความรู้ และอุปนิสัยเป็นกวีสุนทรภู่จึงได้ออกโรงในการแต่งสักวาและดอกสร้อยบ่อยๆ จนกลายเป็นบุคคลเด่นในวงสังคมของท่าน อนึ่ง อิทธิพลแห่งวรรณคดีน่าจะจรรโลงใจให้ท่านเคลิบเคลิ้ม หลงใหล เลยเบื่องานเสมียนและทอดทิ้งตำแหน่งเสีย หันหน้าเข้าสู่โลกวรรณคดีอันแรงด้วยอานุภาพลึกลับ เข้าใจว่าในระยะนี้เองที่สุนทรภู่แต่งโคบุตร คือเมื่ออายุอย่างมากก็ ๒๐ ปี หรือราว พ.ศ. ๒๓๔๘

ทีนี้ขอให้เราพิจารณาวัตถุประสงค์แห่งการแต่งโคบุตรของท่าน ท่านเริ่มคำนำว่า

“แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมุติกันสืบมา    ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง    จึงสำแดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย    ให้เพริดพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน”

จากคำนำดังนี้พอจะสันนิษฐานได้ว่า สุนทรภู่แต่งโคบุตรขึ้นเพื่อถวายเจ้านายของตน

ปัญหาต่อไปมีว่า กวีหนุ่มผู้นี้ได้เค้าเรื่องจากไหน? เป็นเรื่องแต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา จริงหรือ? เข้าใจว่าสุนทรภู่จะได้สร้างโคบุตรขึ้นจากเรื่องสมัยอยุธยาแล้วจึงใช้อานุภาพแห่งความคิดคำนึงของตนขยายเรื่องให้วิจิตรพิสดาร แทรกนั่นนิดประดิษฐ์นี่หน่อย ร้อยกรองขึ้นด้วยศิลปะอันงาม สง่าของตน จนกลายเป็นเรื่องโคบุตร-ประโลมโลกที่คนชอบ

กวีหนุ่มอายุ ๒๐ ปี กำลังลำพอง คะนอง และภาคภูมิ ดำเนินเรื่องของตนอย่างตรงไปตรงมา นิ่มนวล อ่อนหวาน ห้าวหาญ และเผ็ดร้อน บางตอนก็ครํ่าครวญด้วยศิลปะอันน่าชมชื่น รู้, เห็น, คิด ฝัน แล้วก็เขียน-เขียนไป

หนังสือเรื่องโคบุตรเป็นเรื่องของการผจญภัยและความรัก แต่เป็นรักซ้อน จึงหึงกันอย่างเกรียวกราว เป็นลักษณะของการสร้างเรื่องของคนหนุ่มคะนองโดยแท้ ตัวเอกของเรื่องคือ โคบุตร มณีสาคร อำพันมาลา และลางที่จะเป็นสาลิกาลิ้นทองด้วย

เรื่องโดยย่อมีว่า โคบุตรเป็นวีรบุรุษนักผจญภัยที่ชนะแทบทุกครั้ง ไปช่วยปราบกบฎที่เมืองพาราณสี อันเป็นเหตุให้มีความสัมพันธ์กับมณีสาคร (นางเอก) และอรุณ (น้องนางเอก) แต่สุนทรภู่ สร้างเรื่องให้โคบุตรไปได้อำพันมาลา (นางรอง) เสียก่อนโดยใช้สาลิกาลิ้นทอง ซึ่งได้นามว่า “พ่อร้อยลิ้นกินหวานนํ้าตาลทา” เป็นแม่สื่อ ครั้นโคบุตรพาอำพันมาลากลับพาราณสี ท้าวพรหมทัตผู้หวังจะให้โคบุตรได้กับมณีสาครธิดาของตนก็เสียดาย ถึงกับปรารภว่า

“… ได้จินดามาถือถึงมือแล้ว      เสียดายแก้วกลับคืนเปีฌนของเขา…”

ส่วนโคบุตรจากมณีสาครไปแต่วัยเด็ก ครั้นกลับมาพบมณีสาครกำลังรุ่นกำดัดก็

‘‘กำเริบจิตรำพึงตะลึงหลง แต่แรกรู้ว่างามอร่ามทรง จะเดินดงไปให้ยากลำบากใย คิดแค้นตา น่าจะตำให้แตกหัก ไม่รู้จักคนงามก็เป็นได้ ให้กลัดกลุ้มรุมรึงตะบึงไป ด้วยพระทัยร้อนร่านในการรัก”

ในที่สุดโคบุตรก็สามารถจัดการเรื่องรักของตนสำเร็จ โคบุตรยกมณีสาครขึ้นเป็นฝ่ายขวา และอำพันมาลาตกลงเป็นฝ่ายซ้าย และก็เป็นธรรมดาย่อมเกิดการอิจฉาและหึงหวงกันขึ้น ในที่สุดอำพันมาลาทำเสน่ห์จนโคบุตรลุ่มหลง แต่อรุณน้องของมณีสาครจับเสน่ห์อำพันมาลาได้ โคบุตรจึงขับอำพันมาลาเสียจากเมืองทั้งๆ ที่นางกำลังมีครรภ์ อำพันมาลาต้องรับทุกข์ ระเหระหนไปในป่าในดงจนไปเกิดบุตร เดชะบุญได้ราชสีห์ซึ่งเคยมีบุญคุณแก่โคบุตรมาช่วย และราชสีห์สามารถนำนางกลับไปมอบแก่โคบุตร อนึ่ง ขณะนั้นมณีสาครก็มีบุตรแล้ว โคบุตรจึงจัดการสมโภชและให้นามตามชื่อบิดามารดา ผสมกันว่า มณีสุริยัน และอำพันสุริยา

แต่โคบุตรเคยมีกรรมเก่าอยู่ในคราวท่องเที่ยวผจญภัย คือเคยฆ่าหัสกรรจ์มัจฉาตายเป็นเหตุให้ตะวันนาคาสหายของหัสกรรจ์มัจฉาคิดแก้แค้น มณีกลีบสมุทรลูกสาวอายุ ๑๙ ปี อาสาพ่อไปใช้กลอุบายจับโคบุตรโดยยอมเสียสละพรหมจารีย์ของตน และในที่สุดตามวิสัยเจ้าชู้ โคบุตรได้พานางมณี กลีบสมุทรเข้าวัง เป็นเหตุให้เกิดการหึงกันอย่างครื้นเครงอีกคราวหนึ่ง จะอย่างไรก็ตามมณีกลีบสมุทร ก็ไม่พ้นมือพระเอกของสุนทรภู่ พอมีครรภ์อ่อนๆ มณีกลีบสมุทรก็นึกถึงหน้าที่ของตัวตามที่บิดาใช้มา จึงใช้อุบายสะกดโคบุตรนำไปยังเมืองพ่อ แต่โคบุตรเป็นผัวเสียแล้วจะปล่อยให้พ่อฆ่าไม่ลง นางจึงนำโคบุตรไปซ่อนไว้ก่อน สุนทรภู่เขียนมาเพียงนี้ก็จบเล่ม ๘ สมุดไทย (ต่อไปนั้นคนอื่นแต่งต่อซึ่งเราจะไม่พิจารณา)

แม้โคบุตรจะเป็นงานเรื่องแรก และดูเหมือนจะเป็นงานทดลอง เราก็เห็นศิลปะอันงดงามของสุนทรภู่ ท่านได้เสนอศิลปะของท่านให้ชาววังหลังทั้งไพร่และเจ้านายได้ชมชื่นกันอย่างเป็นที่น่าพอใจ ในที่นี้ขอให้เราพิจารณาศิลปะของท่านเป็นเรื่องๆ ไป คือ

ศิลปะในการสร้างเรื่อง ศิลปะกระบวนกลอน ศิลปะในวิธีเขียน ตลอดจนคติธรรมและปรัชญา

ก่อนอื่นจะพิจารณาถึงศิลปะในการสร้างเรื่อง สุนทรกู่วางโครงเรื่องง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน ดำเนินเรื่องอย่างได้จังหวะ พยายามคลี่คลายให้เรื่องหมดไปเป็นตอนๆ ในเวลาเดียวกัน ได้แทรกข้อความอันคมขำ หรือบทสนทนาที่จับใจไว้ทั่วไป จึงอ่านได้ไม่เบื่อ อนึ่ง สุนทรภู่มีความคิดและความฉลาด ในการจัดตัวละคร สุนทรภู่ใช้สาลิกาเป็นแม่สื่อ ก็มีเหตุผลสมควร เพราะนกชนิดนี้พูดได้ และเมื่อมันเป็นสาลิกาของสุนทรภู่ มันจึงพูดเพราะนักหนา อันนกพูดได้นี้มีตำนานอยู่ ๔ จำพวกคือ สาลิกา นกแก้ว กระตั้ว และนกเอี้ยง หนังสือสิทธิธนู ของพระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) บิดาพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) เจ้าของอิลราชคำฉันท์ อธิบายว่า นางโรหิณีเป็นผู้มีวาสนามาก มีนกสำหรับประกาศเกียรติคุณ ๔ มุมเมือง ดังคำกลอนของท่านว่า

“ดงข้างฝ่ายบูรพา มีหมู่สาริกาอักนิฐ กระตั้วอยู่หนอุดรดงชิต นกเอี้ยงสถิตดงปัจฉิมประจำงาน ดงทิศใต้ฝ่ายข้างนครเขา ต่อกับแดนเราข้างอิสาน มีนกแก้วอยู่ในดงดาน คือดงที่พระกุมารเข้าไป อันฝูงสกุณีทั้ง ๔ หมู่ รู้พูดภาษาคนได้ ด้วยอานุภาพนางทรามวัย บันดาลเป็นไปทั้งนี้ สำหรับประกาศเกียรติคุณ ชมบูญชมโฉมมารศรี ให้แพร่หลายไปทั่วธาตรี โดยมีกิตติศัพท์ลือมา อันพันธุ์นกเนื่องจากสกุณี ในตระกูลทั้งสี่ทิศา แม้นคนใดสอนให้เจรจา สกุณาจึงพูดได้ดังใจ”

อีกเรื่องหนึ่ง คือสุนทรภู่กำหนดให้ราชสีห์เป็นผู้อุปถัมภ์คํ้าชูในเรื่องของท่าน ข้อนี้เป็นความคิดดีอีกประการหนึ่ง แม้ฝรั่งก็ใช้เหมือนกัน ท่านย่อมเคยเห็นทาร์ซานมาแล้วในภาพยนตร์ ไม่มีใครจะยิ้มเยาะสุนทรภู่ได้เลย ถ้าเรานึกถึงนกพิราบสื่อสารเดี๋ยวนี้เปรียบเทียบกับนกสาลิกาของสุนทรภู่ และเราจะต้องชมราชสีห์ของสุนทรภู่ไม่น้อยกว่าช้างของทาร์ซาน สรุปความได้ว่า โคบุตรถูกสร้างขึ้นอย่างกะทัดรัดสมส่วน ประกอบด้วยความคิดคำนึงอันน่าชมเชย

ส่วนกระบวนกลอนในโคบุตร แม้จะยังไม่ประณีตหมดจดดังกลอนพระอภัยมณี หรือขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงามก็ตาม เราก็ต้องชมว่า ท่านเริ่มต้นดีอย่างที่นักกลอนรุ่นหลังก็ยังขึ้นไม่ถึงกวีหนุ่มบรรจงกลอนของท่านอย่างง่ายๆ เบาหู ใช้คำตลาดจึงจับใจประชาชน กล่าวได้ว่าสุนทรภู่รู้จิตวิทยาประชาชนเป็นอย่างดี ในเรื่องศิลปะแห่งกลอน ท่านถือ “เสียง” เป็นสำคัญที่สุด ถือว่าเสียงสัมผัสเป็นสิ่งเรียกร้องความไพเราะจึงได้รับเกียรติเป็น “บิดาแห่งสัมผัสใน” เพราะเป็นผู้ริเริ่มสัมผัส ในขึ้นในกลอนสุภาพ นับว่าเป็นผู้สร้างศิลปะแห่งความงามให้แก่คำประพันธ์ไทยเป็นอย่างมาก ถ้าท่านจะสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่า สุนทรภู่ได้เริ่มเล่นสัมผัสในตั้งแต่วรรณกรรมเรื่องแรก คือโคบุตรนี้ เช่น

“คลี่ประทุมอุ้มนางขึ้นวางตัก”
“นางขยับจับสาลิกากอด”
“เอานกแอบแนบชมอารมณ์ชื่น” และ

“เสียดายบุตรสุดหวังกำลังสาว    ไม่เคยคาวหมององค์ที่ตรงไหน
บริสุทธิ์ดุจแก้วอันแววไว        ยังมิได้มีฝ้าเป็นราคี
จะต้องไปใช้อุบายให้ชายชิด        ถึงสมคิดเป็นเมียได้เสียศรี
จะชอกขช้ำซ้ำสิ้นทั้งอินทรีย์        จะเสียศรีสิ้นสาวเป็นคาวไป..”

งานทุกชิ้นของท่าน โดยเฉพาะพระอภัยมณี-พราวไปด้วยสัมผัสในทั้งนั้น แม้แต่โคลงและกาพย์ ร่าย ก็นิยมสัมผัสใน (ศึกษานิราศเมืองสุพรรณและพระไชยสุริยา)

ด้วยเหตุที่สุนทรภู่เทิดสัมผัสในเป็นศิลปะอันสูง จึงยอมเสียสละถ้อยคำเพื่อแลกกับศิลปะที่ตนรัก เป็นการเสียสละอย่างไม่กลัวใครว่าไร้ภูมิ ท่านยอมใช้คำผิดบ่อยๆ เช่นให้ พังงา, บำญัติ และ ตัดษัย แทนที่จะใช้พงา บัญญัติ และตักษัย ที่ใช้ผิดมิใช่ว่าไม่รู้ แต่ใช้ทั้งรู้ๆ เพื่อประสงค์อย่างเดียว คือสัมผัสใน เช่น “แล้วตรัสหยอกบอกสั่งแก่พังงา’’ ทุกคืนคํ่าบำญัติระมัดกาย “แม้นไม่แน่แล้วจงฟัดให้ตัดษัย” ดังนี้เป็นต้น

ทีนี้จะพูดถึงวิธีเขียนของสุนทรภู่ในเรื่องโคบุตร ท่านเขียนตามอารมณ์คนหนุ่มคะนองจริงๆ ตรงไปตรงมา รวบรัดและชัดเจน มีความง่ายเป็นหลักสำคัญ บทรักหวานจ๋อย บทโลมยวนยี บทชม น่าเพลิดเพลิน และบทโศกก็ชวนสะอื้น ยิ่งกว่านั้นเมื่อถึงบทหึงก็แสบหูถึงขึ้นช้างขึ้นม้าทีเดียว ท่านพยายามเอาใจประชาชน ชอบอย่างไร เขียนอย่างนั้น แต่ก็อยู่ในกรอบข่ายแห่งศีลธรรมและวัฒนธรรม สุนทรภู่จึงได้รับความนิยม เป็นกวีสำหรับประชาชน และเป็นอมตกวีสำหรับชาติ

ในที่สุดเราก็มาถึง “เพชรของสุนทรภู่” ซึ่งฉายแสงแพรวพราวอยู่ในโคบุตร นั้นคือ ปรัชญา คติธรรม และการอุปมาอุปไมยอันแหลมคม จริงอยู่สุนทรภู่ยังหนุ่มอายุ ๒๐ ปี ยังไม่ได้บวช ยังกำลังฟุ้งซ่าน แต่ท่านจะตะลึงเมื่อเด็กหนุ่มๆ เสนอคติปรัชญาลงไปว่า

“จงตรองตรึกนึกกำดัดสมบัติทิพย์        วิมานลิบลอยสลอนอัปสรสวย
สมบัติใครในมนุษย์ถึงสุดรวย    จะเปรียบด้วยทิพย์สมบัติไม่ทัดทัน
ทรัพย์ทั้งนี้ที่เอาไว้ไม่กะผีก        สู้แต่ซีกหนึ่งไม่ได้ในสวรรค์
อย่างห่างใยในสมบัติจงตัดมัน    หมายสวรรค์เถิดออเจ้าไปเฝ้าชม”

ในที่นี้จะขอเสนอ “แก่นสาร” ทำนองนี้อีกบางตอนเพื่อแสดงว่ากวีหนุ่มผู้นี้สมกับนาม “กวี-ปรัชญาเมธี” เพียงไร

น้องชายเตือนสติพี่สาวผู้พยาบาทให้มั่นอยู่ในขันตีว่า

“ใครเกิดมาถ้าจิตนั้นติดปราชญ์        ย่อมหมายมาดขันตีเป็นที่ตั้ง
เหมือนเขาพระสุเมรุมาศไม่พลาดพลั้ง    ใครชิงชังเหมือนหนึ่งว่าพายุพาน
ถึงแสนลมที่จะหมายทำลายโลก        ไม่คลอนโยกหนักแน่นเป็นแก่นสาร
ใครเกิดจิตอิจฉาเป็นสามานย์    สันดานพาลผู้ใดทำกรรมอนันต์”

แม่ให้โอวาทลูกสาวก่อนเข้าหอว่า

“…ภัสดาอุปมาเหมือนบิดร            จงโอนอ่อนฝากองค์พระทรงฤทธิ์
สรงเสวยคอยระวังอย่าพลั้งพลาด        เมื่อไสยาสน์ผ่อนพร้อมถนอมจิต
ถ้าท้าวโศกแม่อย่าสรวลควรคิด        ระวังผิดอย่าให้ผ่านวรกาย
ผัวเดียดแม่อย่าเคียดทำโกรธตอบ        เอาความชอบมาดับให้สูญหาย
ถึงท้าวรักก็อย่าเหลิงระเริงกาย        ครั้นระคายแล้วก็มักมีคาว
ความลับแม่อย่าแจ้งแถลงไข        จงกล้ำกลืนกลบไว้อย่าให้ฉาว
แม้นปากชั่วตัวดีจะมีคาว            พระทัยท้าวเธอจะแหนงระแวงความ
อันหญิงชั่วผัวร้างนิราศรัก            อัปลักบณ์น่าคนจะหยาบหยาม มารดาพร่ำร่ำสอนจงทำตาม….”

แม่อีกคนหนึ่งเตือนลูกสาวที่จะสละพรหมจารีย์เพิ้อจับศัตรูของพ่อว่า

“ลูกคิดนี้ดีแล้วหรือแก้วแม่    เป็นสาวแส้ดุจศรีมณีฉาย
จะคิดแนบแอบชิดสนิทชาย    ได้สมหมายแล้วจะมาคิดฆ่ามัน (ฟัน?)
ไม่รักซื่อถือแซ่เอาแต่ได้    ผิดวิสัยพูดจา ไม่น่าขัน
จงอยู่เล่นเป็นหม้ายสบายครัน    คิดฉะนั้นดีแล้วหรือแก้วตา”

และแม่คนเดียวกันนี้ปรารภในตอนหลังว่า

“เห็นลูกรักจักแบนเสียแม่นมั่น    วิสัยสาวคราวกำหนัดนี้กลัดมัน
พระทรงธรรม์คิดอุบายให้ชายชม    จะหลงลืมปลื้มจิตไม่คิดกลับ
ดูเช่นกับเขาว่าก็น่าสม            ใช้แมวไปหาปลาย่างต่างอารมณ์ แมวก็สมปรารถนากินปลาเพลิน… ”

สุนทรภู่ได้เตือนเรื่องการเข้าหาคนว่า

“ตามโบราณก่อนเก่าท่านเล่ามา    ว่าญาติใครได้ดีเขามีทรัทย์
ตัวแค้นคับเข็ญใจอย่าไปหา        ถึงรักแรงแข็งขันได้สัญญา
อนาถาแล้วไม่นับเขาอับอาย”

เมื่อพูดถึงความทะเยอทะยานอย่างเกินตัว สุนทรภู่ก็ว่า “อย่าใฝ่สูงให้เกินคักดิ์จะหักกลาง ดูรูปร่างเสียก่อนจะนอนเตียง”

ฉากที่มีคารมคมคายเต็มไปด้วยคำเหน็บแนม การประชดประชัน การย้อนถ้อยคำกัน ตลอดจนด่า-คือฉากของการหึง เสียดายถ้าจะไม่เล่าไว้ เพราะมี “เพชร” แพรวพราวทีเดียว โคบุตรเข้าโลมมณีกลีบสมุทรในห้อง
“…เมื่อรักจักกลืนยังขืนรอ แม่รูปหล่ออย่าสลัดตัดอาลัย เหมือนน้ำอ้อยย้อยถูกจมูกมด สุดจะอดเหลือทนพ้นวิสัย….” มณีสาครกับอำพันมาลาหมั่นไส้เต็มทน จึงส่งลูกชายเล็กๆ เข้าไปเป็นก้างขวางคอขัดจังหวะเข้าไว้ เด็กน้อยจึงเข้าไป “เหน็บ” จนมณีกลีบสมุทรว่า “เด็กเท่านี้ฝีปากเหมือนขวากตำ” และยังกระทบกระเทียบว่า “คนคัดท้ายคงจะมีเห็นดีครัน แล้วลอยหน้าว่าสองพี่น้องพลอด ชะพ่อยอดหูดจาว่าขยัน เออลูกแม่แท้อยู่ดูสำคัญ เป็นผัวฉันได้หรือพ่อไม่พอคำ” ทำให้เมียเก่าทั้งสองทนไม่ไหว แหวออกไปว่า “อย่าเผยอเย่อหยิ่งกิ่งจะหัก ช่างพูดยักว่าใครนี้ใช้สอย นางแพพานด้านหน้ามาตะบอย เมื่อลูกน้อยว่าไม่พออย่าท้อใจ จะเที่ยวหามาถวายให้หลายอย่าง…จงเลือกเอาเฝ้าชมให้สมใจ จะทุกข์ไยว่า พระหน่อไม่พอคำ…” ตอนนี้มณีกลีบสมุทรก็ย้อนให้อย่างแสบแก้วหู เมียเก่าโมโหสุดขีด จึงพรวดพราดเข้าไปในห้อง “อีชาติข้าหน้าด้านสะพานช้าง ช่างหมดยางไม่มีอายเสียดายศรี มาว่าได้ไม่กลัวทำตัวด็ ได้นั่งที่แล้วจะถองเจ้าของเรือน” พระเอกคือโคบุตรทำท่าจะเข้าข้างคนใหม่ เลยตวาดเมียเก่าว่า
“ถือว่ารักแล้วก็หยิ่งเหมือนกิ้งก่า ไม่เกรงกลัวตัวดีแกล้งตีปลา ให้ลูกมาขัดคอไม่พอแรง ยังเข้ามาท้ารบจะตบต่อย ดูช่างคอยหยิบผิดมันคิดแกล้ง.” เป็นเหตุให้รุนแรงยิ่งขึ้นถึงแก่ตบตีกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย

เราไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมสุนทรภู่จึงแต่งเรื่องโคบุตรค้างไว้เพียง ๘ เล่มสมุดไทย อาจเบื่อ อาจเกียจคร้าน หรืออาจถูกอิทธิพลมืดบังคับให้ยุติ จะอย่างไรก็ตาม ได้มีผู้เสียดายเรื่องโคบุตรจึงได้แต่งต่อมา

วรรณกรรมเรื่องแรกของอมตกวีจบลงแล้ว ท่านได้เสนอศิลปะของท่านให้ผู้อ่านทึ่งพอใช้ อาจพูดได้ว่าโคบุตรให้หลายสิ่งหลายอย่างอันเป็นบรรทัดฐานแห่งวรรณกรรมประเภทจักรๆ วงศ์ๆ โคบุตรมีอิทธิพลมากในวรรณกรรมสมัยก่อน รัศมีแห่งเกียรติศักดิ์ทางวรรณกรรมของสุนทรภู่เริ่มฉายแสงแล้วรำไร และเป็นสะพานที่ทอดให้สุนทรภู่ไต่ขึ้นไปสู่ตำแหน่งอาลักษณ์ที่รุ่งโรจน์ในภายหลัง และในที่สุดเป็นอมตกวีที่ชาติไทยเทิดทูนจนทุกวันนี้

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ค่านิยมส่วนตัวของพระอภัยมณี

ค่านิยมส่วนตัวของพระอภัยมณีที่พิจารณาจากบทบาท พฤติกรรม และบุคลิกภาพของพระอภัยมณี แสดงให้เห็นได้ดังนี้คือ

ค่านิยมในเรื่องความรู้
ค่านิยมของพระอภัยมณีที่เกี่ยวกับความรู้มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ความสำคัญของวิชาความรู้ และประเภทของวิชาความรู้

บทบาทและพฤติกรรมของพระอภัยมณีแสดงให้เห็นค่านิยมว่า การมีวิชาความรู้ไม่ว่าจะเป็นความรู้อะไรก็ตาม ย่อมจะยังประโยชน์มาสู่ตนและหมู่คณะทั้งในยามปกติและยามคับขัน โดยเฉพาะผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ ความรู้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้นเมื่อเจริญวัย พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณจึงออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้สำหรับกษัตริย์ อันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ดังถ้อยคำของท้าวสุทัศน์ที่ว่า
อันชายชาญเชื้อกษัตริย์ขัตติยา
ย่อมพากเพียรเรียนไสยศาสตร์เวท    สิ่งวิเศษสืบเสาะแสวงหา
ได้ป้องกันอันตรายนัครา            ตามกษัตริย์ขัตติยาอย่างโบราณ

ทั้งนี้ พระอภัยมณีเองก็ตระหนักถึงความจำเป็นข้อนี้เหมือนกัน ดังคำที่กล่าวแก่ท้าวสุทัศน์ว่า

ลูกคิดมาจะประมาณก็นานครัน
หวังแสวงไปตำแหน่งสำนักปราชญ์    ซึ่งรู้ศาสตราเวทวิเศษขยัน
ก็สมจิตเหมือนลูกคิดทุกคืนวัน        ….

พระอภัยมณีเลือกเรียนวิชาเป่าปี่ ด้วยเหตุผลที่บอกแก่ศรีสุวรรณว่า

แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง        หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง

การเลือกวิชาเป่าปี่นั้นเป็นค่านิยมส่วนตัวที่เกี่ยวกับประเภทของวิชาที่เห็นว่า “เพลงดนตรี นี่ดีจริง” นั้น น่าจะเนื่องจากนิสัยส่วนตัวเป็นประการแรก

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของวิชาความรู้นั้น พระอภัยมณีถือว่าวิชาดนตรีนั้น หากศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงแล้ว ก็ถือเป็นความรู้ของกษัตริย์ซึ่งสามารถปกครองบ้านเมืองได้เพราะวิชาดนตรีเป็นวิชาศิลปะก็มีความสำคัญและมีคุณค่าไม่ด้อยกว่าวิชาอื่นที่นิยมกันเหมือนกัน

ฉะนั้น เมื่อตระหนักถึงคุณค่าในข้อนี้ พระอภัยมณีจึงศึกษาวิชาเป่าปี่อย่างจริงจัง พระอภัยมณีใช้เวลาศึกษาเพียง ๗ เดือน ก็มีความสามารถในการเป่าปี่เป็นเลิศ สามารถใช้กลวิธีในการเป่าให้กระแสเสียงสะกดผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้มและหลับหรือตายได้

แต่วิชาดนตรีไม่เป็นที่ยอมรับของท้าวสุทัศน์ นอกจากนี้ยังได้รับการดูหมิ่นว่าเป็นวิชาความรู้ขั้นตํ่า ดังที่ท้าวสุทัศน์บริภาษว่า

อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลง    เป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง
แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวัง            มันก็ยังเรียนร่ำได้ชำนาญ

ด้วยเหตุนี้ พระอภัยมณีจึงพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าการมีวิชาเป่าปี่เพียงอย่างเดียว ถ้าได้เรียนมาอย่างจริงจังจนมีความสามารถเป็นเลิศ ก็มีคุณค่าไม่ด้อยกว่าวิชาอื่น ทั้งยังสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อถึงคราวคับขันได้เช่นเดียวกับวิชาเวทมนตร์หรือวิชาการรบ

พระอภัยมณีได้เป่าปี ๑๑ ครั้ง จำนวน ๑๑ ครั้งนี้ แยกตามเหตุการเป่าดังนี้
๑. เป่าลองวิชา ๑ ครั้ง
๒. เป่าสะกดทัพ ๔ ครั้ง
๓. เป่าปลุกทัพ ๒ ครั้ง
๔. เป่าเรียกคนที่ต้องการให้มาหา ๓ ครั้ง
๕. เป่าฆ่านางผีเสื้อ ๑ ครั้ง

และสินสมุทรเป่าทดลองวิชาให้ท้าวสิลราช และนางสุวรรณมาลฟีงอีก ๑ ครั้ง รวมทั้งสิ้น
๑๒ ครั้ง

ปรากฎว่าแต่ละครั้งได้ผลตามที่ประสงค์ทุกประการ

ในจำนวน ๑๒ ครั้ง ครั้งที่แสดงให้เห็นประโยชน์และคุณค่าของความรู้โดยแท้จริง ได้แก่ ครั้งที่เป่าฆ่านางผีเสื้อ เพื่อช่วยตนเองและพวกสานุศิษย์ที่ติดตามให้รอดพ้นอันตราย และอีกครั้งหนึ่ง คราวที่เป่าสะกดทัพลังกา เพื่อให้รอดพ้นกลไกที่นางละเวงทำลวงไว้

ปี่ของพระอภัยมณีมิใช่ปี่วิเศษ แต่เป็นปี่ที่สร้างขึ้นอย่างวิเศษมีความประณีตยิ่ง เสียงจึงไพเราะกว่าปี่โดยทั่วไป และโดยธรรมชาติเสียงดนตรีอาจสะกดผู้ฟังให้ตกอยู่ในความเคลิบเคลิ้ม สามารถโน้มน้าวจิตใจให้เกิดอารมณ์คล้อยตามเสียงดนตรีนั้นๆ ได้อยู่แล้ว ประกอบกับพระอภัยมณีมีความสามารถเป็นเลิศ และได้รับการสั่งสอนจากพินทพราหมณ์ในการเลือกเนื้อความและห่วงทำนองที่จะให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงสามารถใช้ศิลปะในการเป่าสะกดผู้ฟังได้ตามประสงค์

ด้วยประการฉะนี้ ปี่ของพระอภัยมณีจึงดูมีอำนาจมากอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ สมดังที่พระอภัยมณีอธิบายให้บุตรพราหมณ์ทั้งสามฟังว่า

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป     ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช    จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน    ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ    อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา

ค่านิยมในเรื่องความซื่อสัตย์และความกตัญญู
พระอภัยมณีเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความสัตย์และความกตัญญูอย่างยิ่ง พระอภัยมณีถือว่าความซื่อสัตย์และความกตัญญูเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ เพราะเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป ตรงข้ามหากไม่มีความสัตย์ หรือความกตัญญู ก็ย่อมถูกสาปแช่ง เสื่อมศักดิ์ศรี ไม่เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ดังที่พระอภัยมณีได้กล่าวแก่สินสมุทร เมื่อครั้งจะทำสงครามกับอุศเรนเพื่อชิงนางสุวรรณมาลี ว่า

อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที    ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อกตัญญูตาเขา    เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล    พระเวทมนตร์เสื่อมคลายทำลายยศ

ด้วยเหตุนี้ เมื่ออุศเรนรบแพ้ถูกจับได้ พระอภัยมณีจึงให้ปล่อยเป็นอิสระทันที เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่รับพระอภัยมณีจากเกาะซึ่งก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณแล้วแต่พระอภัยมณี ก็ถือว่าบุญคุณที่อุศเรนได้มีแก่ตนนั้นไม่อาจตอบแทนให้หมดสิ้นได้ ฉะนั้น เมื่ออุศเรนยกกองทัพมารบเมืองผลึก และพ่ายแพ้ถูกจับได้อีก พระอภัยมณีก็จะปล่อยเป็นอิสระเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณอีก ดังที่กล่าวแก่อุศเรนว่า

จะปล่อยไปไม่สังหารผลาญชีวิต    ด้วยว่าคิดคุณน้องสนองคุณ
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าก็ป่วยจะช่วยเจ้า    แทนที่เรามาเรือเจ้าเกื้อหนุน

ค่านิยมในเรื่องผู้หญิง
ค่านิยมของพระอภัยมณีในเรื่องผู้หญิงนี้ อาจพิจารณาได้เป็น ๒ ประการ คือค่านิยมในการตีค่า และค่านิยมในรูปโฉม

พระอภัยมณีถือว่าผู้หญิงเป็นสิ่งที่ให้ความชื่นใจ ให้ความหวานในชีวิต ไม่มีสิ่งใดที่จะมีคุณค่าเท่ากับผู้หญิงในเรื่องนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากเพลงปี่ที่พระอภัยมณีเป่าให้บุตรพราหมณ์ทั้งสามคนฟังว่า

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย        ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย            จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม        ไม่เทียมโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
แม้นได้แก้แล้วจะค่อยประคองเชย        ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน

ด้วยประการฉะนี้ จึงพบว่าแม้พระอภัยมณีจะมีผู้หญิงเป็นคู่ครองอยู่เป็นตัวเป็นตนแล้วก็ตาม ก็ยังปรารถนาจะได้ผู้หญิงอื่นมาชื่นชมอีกก็น่าจะเนื่องด้วยค่านิยมในประการนี้

ส่วนค่านิยมในรูปโฉมนั้น พระอภัยมณีถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งผู้หญิงที่จะเป็นคู่ครองต้องมีโฉมงดงาม ทั้งนี้จะเห็นได้จากคราวที่นางวาลีมาเข้ารับราชการโดยขอเป็นมเหสี พระอภัยมณีก็ท้วงในเรื่องรูปโฉมว่า

…วาลมีแก่ใจ            มารักใคร่ครั้นจะชังไม่บังควร
แต่รูปร่างยังกระไรใคร่จะรู้        พิเคราะห์ดูเสียด้วยกันอย่าหันหวน
จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร        มิใคร่ครวญนึกความให้งามใจ

ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าผู้หญิงที่พระอภัยมณีปรารถนาและได้มาเป็นคู่ครอง ไม่ว่าจะเป็นนางเงือก นางสุวรรณมาลี หรือนางละเวง ต่างมีรูปโฉมงดงามทั้งสิ้น

ค่านิยมในเรื่องศักดิ์ศรี
พระอภัยมณีแสดงให้เห็นค่านิยมในเรื่องศักดิ์ศรีในตอนที่ไปลังกาอีกครั้งหนึ่งคราวศึกมังคลา ครั้งนั้น พระอภัยมณีอยู่พร้อมทั้งนางสุวรรณมาลีและนางละเวง เมื่อพระอภัยมณีไปหานางสุวรรณมาลี หวังจะประโลม แต่นางสุวรรณมาลีไม่ยอมปรองดองให้เกี่ยวข้องด้วย บ่ายเบี่ยงให้พระอภัยมณีไปหานางละเวง ทำให้พระอภัยมณีรู้สึกเก้อตรัสขึ้นมา

ลูกก็เสียเมียก็หมดต้องอดรัก    เปรียบเหมือนสักวาไปมิได้เล่น
รู้กระนิ้วบากต้องยากเย็น        จะเกิดเป็นเช่นกระเทยชวดเชยชม

และเมื่อพระอภัยมณีไปหานางละเวง ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างนางสุวรรณมาลี ทั้งๆ ที่พระอภัยมณีพยายามประเล้าประโลมอย่างไรก็ตาม นางก็ไม่ยินยอมให้เกี่ยวข้อง

ค่าที่พระอภัยมณีเคยภาคภูมิใจในความ “ชำนาญแต่การปาก” แต่ต้องมาได้รับการปฏิบัติอันแสดงถึงผลที่เป็นตรงข้ามกับความภาคภูมิใจ จากบุคคลที่ใกล้ชิดที่สุดคือมเหสีของตนเช่นนี้ ทำให้พระอภัยมณีเกิดความรู้สึกว่าตนได้เสียศักดฺศรี ถึงกับ

ทั้งแสนแค้นแสนรักสลักอก        แสนวิตกจนพระรูปซีดซูบผอม
น้อยหรือเมียเสียได้มันไม่ยอม    พูดอ้อมค้อมขัดข้องจองหองคึก

แต่ครวญคร่ำรำพึงคะนึงนึก        จนจับไข้ให้สะทึกสะท้านองค์

ทางออกของที่พระอภัยมณีพบว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็คือการออกบวช ดังที่ตรัสแก่มเหสีทั้งสองว่า

นี่แน่เจ้าเล่าก็มีบุรีครอง        ทั้งเงินทองมองมูลประยูรยศ
อยู่ถิ่นฐานบ้านเมืองไปเบื้องหน้า    จะปรารถนาอะไรก็ได้หมด
เราจะไปในอรัญอยู่บรรพต        รักษาพรตพรหมจรรย์บรรพชา
ด้วยชาตินี้วิบัติให้พลัดพราก        เหลือวิบากยากแค้นนั้นแสนสา
จะสืบสร้างทางกุศลผลผลา        เมื่อชาติหน้าอย่าให้เป็นเหมือนเช่นนี้

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

บุคลิกภาพของพระอภัยมณี

จากพฤติกรรมและบทบาทของพระอภัยมณีที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น ทำให้มองเห็นบุคลิภภาพของพระอภัยมณีทั้งในทางกายและทางใจ ดังนี้

บุคลิกภาพทางกาย
บุคลิกภาพทางกายนั้น สรุปได้ ๓ ประการคือ รูปร่างลักษณะท่วงทีกิริยารวมทั้งการปฏิบัติต่อคนอื่น และคำพูด

โดยรูปร่างลักษณะภายนอก กล่าวได้ว่าพระอภัยมณีมีรูปร่างงดงามเช่นเดียวกับพระเอกในวรรณคดีไทยทั้งหลาย แม้จะมีคำพรรณนาถึงความงดงามแต่เพียงสั้นๆ ว่า

ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม
จะกล่าวถึงพระอภัยวิไลลักษณ์
ฝ่ายพระองค์ทรงโฉมประโลมสวาท

ดั่งนี้ ก็กล่าวได้ว่าพระอภัยมณีมีรูปโฉมงดงามทัดเทียมกับพระเอกอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อความพรรณนาที่แสดงให้เห็นว่าพระอภัยมณีมีรูปโฉมที่งดงาม กล่าวคือ เมื่อผู้อื่นได้เห็นพระอภัยมณีก็ชื่นชมในรูปร่างหน้าตาอันงดงามนั้น เช่นเมื่อนางผีเสื้อสมุทรได้เห็น พระอภัยมณีก็ให้รัญจวนใจ

เห็นพระองค์ทรงโฉมประโลมใจ    นั่งเป่าปี่อยู่ใต้พระไทรทอง
ทั้งทรวดทรงองค์เอวก็อ้อนแอ้น    เป็นหนุ่มแน่นน่าชมประสมสอง

ในคราวที่บริวารของท้าวสิลราชเมื่อได้เห็นพระอภัยมณีในเพศดาบส ก็กล่าวว่าตะลึงในรูปโฉม

มองเห็นคนบนศาลาที่หน้าชาน     มากประมาณร้อยเศษหลายเพศพรรค์
พระโยคีก็มีสองเจ้าเณรหนึ่ง        หลงตะลึงแลชมล้วนคมสัน

เมื่อครั้งนางมณฑามเหสีท้าวสิลราชได้พบพระอภัยมณีครั้งแรก ก็พรรณนาแสดงความรู้สึก

ฝ่ายโฉมยงองค์ชนนีนาถ        เห็นสองราชบพิตรอดิศร
ขนงเนตรเกศกรรณพระกายกร    สำอางอ่อนเอี่ยมอิ่มดูพริ้มพราย
พระพี่ขาวราวกับเพชรไพฑูรย์เทียบ    พระน้องเปรียบบุษยรัตน์จำรัสฉาย
โฉมแฉล้มแย้มยิ้มก็พริ้มพราย    เหมือนละม้ายรูปจริตไม่ผิดกัน

นอกเหนือจากมีรูปโฉมงดงามแล้ว พระอภัยมณียังมีความสง่างามสมเป็นกษัตริยดังในคราวที่อุศเรนมาพบพระอภัยมณีที่เขามหิงษ์สิงขร

พอเห็นองค์พระอภัยวิไลโฉม        งามประโลมแลเลิศดูเฉิดฉาย
อร่ามเรืองเครื่องประดับสำหรับกาย    เห็นดีร้ายกษัตรามาแต่ไกล

อนึ่ง ไม่มีข้อความตอนใดที่กล่าวแสดงให้เห็นความมีอำนาจของพระอภัยมณีเลยอย่างมากก็เพียงใช้คำว่า “พระอภัยเจ้าไตรจักร” หรือ “พระอภัยเจ้าไตรภพ” เท่านั้น นอกจากนี้ ก็ไม่มีพฤติกรรมอะไรที่เป็นการแสดงอำนาจของพระอภัยมณี ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยลักษณะนิสัยของพระอภัยมณีเป็นอย่างนั้น คือไม่ต้องการแสดงอำนาจทั้งๆ ที่มีอำนาจ จะเห็นได้ในคราวที่มังคลาพาเอานางสุวรรณมาลีกับธิดาแฝดไปลังกา พระอภัยมณีให้ประชุมพวกขุนนางนายทหารเพียงเพื่อจะปรึกษาโฉม

พระเอื้อนอรรถตรัสประภาษราชการ    เรามีภารธุระไปไกลบุรี
ได้สั่งเหล่าท้าวพระยาพวกข้าเฝ้า        อยู่แทนเราบำรุงซึ่งกรุงศรี
ตัวละให้อ้ายฝรั่งทำดังนี้            โทษจะมีบ้างหรือไม่จะใคร่รู้

ครั้นบรรดาขุนนางนายทหารขอโอกาสแก้ตัวโดยยกไปรบกับลังกา พระอภัยมณีก็พอใจยกโทษให้

ในด้านท่วงทีกิริยานั้น พระอภัยมณีเป็นบุคคลที่มีความสุภาพอ่อนน้อมต่อคนทุกชั้น วรรณะ การปฏิบัติตนต่อผู้อื่นเป็นไปด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง คราวที่พบกับบุตรพราหมณ์สามคน เมื่อสามพราหมณ์ไต่ถามความเป็นมา พระอภัยมณีก็ตอบอย่างสุภาพว่า

พระฟังความถามทักเห็นรักใคร่    จึงขานไขความจริงทุกสิ่งสรรพ์
เราชื่ออภัยมณีศรีสุวรรณ        เป็นพงศ์พันธุ์จักรพรรดิสวัสดี
ไปร่ำเรียนวิชาที่อาจารย์        ตำบลบ้านจันตคามพนาศรี
อันตัวเรานั้ชำนาญการดนตรี    น้องเรานี้ชำนาญการศัสตรา
พระปิตุเรศขับไล่มิให้อยู่        ว่าเรียนรู้ต่ำชาติวาสนา
เราพี่น้องสองคนจึงซนมา        หวังจะหาแห่งครูผู้ชำนาญ
ด้วยจะใคร่ไต่ถามตามสงสัย        วิชาใดจึงจะดีให้วิถาร
ที่สมศักดิ์จักรพรรดิพิสดาร        จะคิดอ่านเรียนร่ำเอาตำรา
อันตัวเข้าเผ่าพราหมณ์สามมาณพ    ได้มาพบกันในวันนี้ดีหนักหนา
ท่านทั้งสามนามใดไปไหนมา    จงเมตตาบอกเล่าให้เข้าใจ

คราวที่เงือกถูกสินสมุทรจับได้แล้วฉุดกระชากลากถูมาได้รับความเจ็บปวด พระอภัยมณี กล่าวคำขอโทษด้วยอาการสุภาพอ่อนน้อมว่า

จึงว่าพี่มีคุณน้องสักครั้ง        ให้ได้ดังถ้อยคำที่รำพัน
ซึ่งลูกรักหักหาญให้ท่านโกรธ    จงงดโทษทำคุณอย่าหุนหัน
ช่วยไปปิดปากถ้ำที่สำคัญ        จวนสายัณห์ยักษ์มาจะว่าเรา
เมื่อนางมณฑามเหสีท้าวสิลราชจะมอบราชสมบัติเมืองผลึกให้พระอภัยมณีแทนที่จะรับในทันที ได้แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยกล่าวแก่นางมณฑาว่า

พระมารดาปรานีมีอาลัย            พระคุณใหญ่หลวงล้นพ้นประมาณ
แต่ข้านี้มิได้ทำซึ่งความชอบ            ไม่ควรมอบสมบัติพัสถาน
ด้วยเดิมข้ามาอยู่เกาะแก้วพิสดาร        ได้โดยสารพระบิดามาธานี
ด้วยกำปั่นบรรดาโยธาหาญ            ของกุมารกับของแม่น้องหญิง
อันตัวข้ามาถึงได้พึ่งพิง            เป็นความจริงลูกนี้จนพระชนนี
ถึงรบรับทัพลังกาข้ามาด้วย            มิได้ช่วยพระธิดามารศรี
จนมีผิดติดพันทุกวันนี้                พระบุตรีกริ้วโกรธเป็นโทษทัณฑ์
ขอพระองค์ทรงถามทรามสงวน        ลูกไม่ควรที่จะได้ไอศวรรย์
เป็นผู้น้อยพลอยอาสามากระนั้น        ถึงเขตคันแล้วก็ข้าขอลา ไป

จริงอยู่ ในความรู้สึกที่แท้จริงของพระอภัยมณีก็คงมีความปรารถนาในราชสมบัติและการที่ตอบแก่นางมณฑาเช่นนี้ อาจจะถือว่าตอบโดยมารยาท พระอภัยมณีน่าจะได้คิดแล้วว่าหากตอบรับในทันทีก็จะดูน่าเกลียด เพราะถึงอย่างไรนางมณฑาคงจะอ้อนวอนให้รับอย่างแน่นอน ก็นับได้ว่าพระอภัยมณี เป็นคนฉลาดลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม ก็ด้วยอัธยาศัยที่อ่อนน้อมนั้นเองที่ทำให้พระอภัยมณีตอบนางมณฑาด้วยลักษณะที่ถ่อมตน น่าฟังอย่างยิ่ง

กับอุศเรนซึ่งถือได้ว่าเป็นมิตรที่กลายเป็นศัตรูก็ไม่น่าจะต้องปฏิบัติอย่างมิตรอีก แต่เมื่ออุศเรนยกกองทัพมาตีเมืองผลึกต้องพ่ายแพ้ถูกจับได้ แทนที่พระอภัยมณีจะแสดงท่าทีเหยียดหยาม กล่าววาจาเยาะเย้ยอย่างผู้ชนะ กลับปฏิบัติต่ออุศเรนเยี่ยงมิตร โดยกล่าววาจาอย่างสุภาพ แม้อุศเรนจะกล่าวแสดงความอาฆาตพยาบาท พระอภัยมณีก็ไม่แสดงว่าขุ่นเคืองแต่อย่างใด กล่าวแก่อุศเรนในลักษณะที่สุภาพ และไพเราะเช่นเดิมว่า

จึงว่าเจ้าเล่าก็ยังกำลังแค้น        จะทดแทนทำสงครามก็ตามจิต
จะปล่อยไปไม่สังหารผลาญชีวิต    ด้วยว่าคิดคุณน้องสนองคุณ
เดี๋ยวเล่าเจ้าก็ป่วยจะช่วยเจ้า    แทนที่เรามาเรือช่วยเกื้อหนุน
พระน้องจงสรงเสวยเหมือนเคยคุ้น    พระการุญร่ำว่าด้วยอาลัย

ในด้านวาจานั้น พระอภัยมณีเป็นผู้มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน ถ้อยคำของพระอภัยมณีใครได้ยินได้ฟังก็ให้รู้สึกชื่นใจ ติดอกติดใจและอาจถึงกับหลงเสน่ห์เพราะถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวานนั้น และคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวานนั้นพระอภัยมณีพูดกับทุกคน มิใช่เจาะจงเฉพาะคนหนึ่งคนใด เช่นในคราวที่สินสมุทรจับเงือกมาให้ดู พระอภัยมณีพูดภับเงือกโดยเรียกเงือกว่าพี่และใช้สรรพนามแทนตัวว่าน้อง

จึงว่าพี่มีคุณน้องสักครั้ง        ให้ได้ดังถ้อยคำที่รำพัน
ซึ่งลูกรักหักหาญให้ท่านโกรธ    จงงดโทษทำคุณอย่าหุนหัน

กับนางผีเสื้อสมุทรซึ่งพระอภัยมณีมิได้มีความรักหรือปรารถนาจะอยู่ร่วมด้วยเลย เมื่อหนีนางมาถึงเกาะแก้วพิสดารต้องการจะให้นางกลับไปถํ้าที่อยู่    ก็มิได้ขับไล่ไสส่ง แต่กล่าวด้วยถ้อยคำที่ละมุนละไมว่า

พระอภัยใจอ่อนถอนสะอื้น        อุตส่าห์ฝืนพักตร์ว่านิจจาเอ๋ย
แม่ผีเสื้อเมื่อไม่เห็นใจเลย        พี่ไม่เคยอยู่ถ้ำให้รำคาญ
คิดถึงน้องสองชนกที่ปกเกล้า    จะสร้อยเศร้าโศกาน่าสงสาร
ด้วยพลัดพรากจากมาเป็นช้านาน        ไม่แจ้งการว่าข้างหลังเป็นอย่างไร
จึงจำร้างห่างห้องให้น้องโกรธ    จงงดโทษที่ยาอัธยาศัย
แม้นไปได้ก็จะพาแก้วตาไป        นี่จนใจเสียด้วยนางตระกูล
ที่มนุนย์สุดสวาทเป็นชาติยักษ์    จงคิดหักความสวาทให้ขาดสูญ
กลับไปอยู่คูหาอย่าอาดูร        จงเพิ่มพูนภาวนารักษาธรรม
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตพิษฐาน        หมายวิมานเมืองแมนแดนสวรรค์
จะเกิดไหนขอให้พบประสบกัน    อย่าโศกศัลย์แคล้วคลาดเหมือนชาตินี้
ที่ขอบุตรสุดใจเอาไปด้วย        เป็นเพื่อนม้วยเหมือนสุดามารศรี
ขอลาแก้วแววตาไปธานี        อย่าราคีขุ่นข้องให้หมองมัว

เมื่อคราวที่อุศเรนยกกองทัพมารบเมืองผลึกและแพ้ถูกจับเป็นเชลย พระอภัยมณีก็พูดด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวานมิให้กระทบกระเทือนจิตใจสักแม้แต่น้อย

จึงสุนทรอ่อนหวานชาญฉลาด    เราเหมือนญาติกันดอกน้องอย่าหมองศรี
เมื่อแรกเริ่มเดิมได้เป็นไมตรี        เจ้ากับพี่เล่าก็รักกันหนักครัน
มาขัดข้องหมองหมางเพราะนางหนึ่ง    จนได้ถึงรบสู้เป็นคู่ขัน
อันวิสัยในพิภพแม้นรบกัน        ก็หมายมั่นว่าจะใคร่ได้ชัยชนะ
ซึ่งครั้งนี้พี่พาเจ้ามาไว้        หวังจะได้สนทนาวิสาสะ
ให้น้องหายคลายเคืองเรื่องธุระ    และก็จะรักกันจนวันตาย
ทั้งกำปั่นบรรดาโยราทัพ    จะคืนกลับให้ไปเหมือนใจหมาย
ทั้งสองข้างอยู่ตามความสบาย    เชิญอภิปรายโปรดตรัสสัตย์สัญญา
กับผู้หญิง กล่าวได้ว่าพระอภัยมณีเป็นคน “ปากหวาน” สามารถใช้โวหารและถ้อยคำที่ทำให้ผู้หญิงต้องเคลิบเคลิ้ม หลงใหลในเสน่ห์ของถ้อยคำ และรักใคร่ปลงใจด้วยในที่สุด ตัวอย่างเช่น คราวที่ไปพบนางเงือก พระอภัยมณีกล่าวเรียกนางว่า

นางมัจฉาวารีของพี่เอ๋ย    เจ้าทรามเชยอยู่ที่นี่หรือที่ไหน
พี่มาเยือนเพื่อนยากฝากอาลัย    สายสุดใจจงขึ้นมาหาพี่ชาย

เมื่อนางเงือกขึ้นมาพบ พระอภัยมณีก็กล่าวประโลมนางว่า

จงอดออมอาดูรให้สูญหาย        เจ้าพาพี่หนีรอด ไม่วอดวาย
คุณของสายสวาทล้นคณนา        จะปกป้องครองคู่ไม่รู้ร้าง
ไม่เว้นว่างวายประโลมโฉมมัจฉา    ประสายากฝากรักกันสองเรา
แก้วกานดาดวงจิตอย่าบิดเบือน

เมื่อนางเงือกค้านว่านางกับพระอภัยมณีต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ ทั้งนางก็น้อยวาสนา แต่พระอภัยมณีก็ให้เหตุผลแก้จนนางเงือกคล้อยตามและปลงใจด้วยในที่สุด

พระแย้มยิ้มพริ้มพรายว่าสายสวาท    แสนฉลาดเหลือดีจะมีไหน
น่าสงสารวานอย่าว่าเป็นข้าไท    มิใช่ใจพี่นี้หมายเป็นนายน้อง
ถึงต่างชาติวาสนาได้มาพบ        ก็ควรคบเคียงชมประสมสอง
เจ้าโฉมงามทรามสงวนนวลละออง    อย่าขัดข้องคิดหมางระคางใจ
ประเวณีมีทั่วทุกตัวสัตว์    ไม่จำกัดห้ามปรามตามวิสัย
นาคมนุษย์ครุฑาสุราลัย    สุดแต่ใจปรองดองจะครองกัน
เจ้ากับพี่นี้ก็เห็นเป็นกุศล    จึงหนีพ้นมารมาไม่อาสัญ
จะเคียงคู่ชูชื่นทุกคืนวัน    โอ้เจ้าขวัญนัยนาได้ปรานี

นางละเวงซึ่งโดยฐานะก็เป็นศัตรูคู่ศึก และในจิตใจของนางเองก็มีความแค้นพระอภัยมณี ที่เป็นต้นเหตุให้บิดาและเชษฐาต้องเสียชีวิต แต่เมื่อได้ยินถ้อยคำที่พระอภัยมณีทอดไมตรีในวันที่พบกันกลางสนามรบว่า

พระน้องหรือชื่อละเวงวัณลาราช    อย่าหวั่นหวาดวิญญามารศรี
จงหยุดยั้งรั้งราจะพาที            ไม่ฆ่าตีศรีสวัสดิ์เป็นสัจจา
พี่จงจิตติดตามข้ามสมุทร        มาด้วยสุดแสนสวาทปรารถนา
จะถมชลจนกระทั่งถึงลังกา        เป็นสุธาแผ่นเดียวเจียวจริงจริง
จงแจ้งความตามใจน้ำใจพี่        ไม่ราคีเคืองข้องแม่น้องหญิง
อย่าเคลือบแคลงแหนงจิตคิดประวิง    สมรมิ่งแม่วัณลาจงปรานี

ก็ให้จับใจต้องเอ่ยวาจาตอบแม้จะเป็นถ้อยคำที่กระทบกระเทียบเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์เสียชีวิตของพ่อและพี่ก็ตาม เมื่อพระอภัยมณีกล่าวแก้และฝากรักว่า

ประเดี๋ยวนี้พี่ได้พบประสบน้อง    อย่าขุ่นข้องขาดรักหักประหาร
จงเคลื่อนคลายหายเป็นเหือดที่เดือดดาล    เชิญแม่ผ่านพาราให้ถาวร
อันผู้คนพลไพร่จะให้ตื่น    ขอกลับคืนคงถวายสายสมร
เป็นเสร็จศึกตรึกตรองครองนคร    อย่าให้ร้อนไปถึงท้าวทุกด้าวแดน
ด้วยฝรั่งลังกาอาณาเขต    ล้ำประเทศถิ่นอื่นสักหมื่นแสน
แม้เมืองไหนไม่นอนนบจะรบแทน        เป็นทองแผ่นเดียวกันจนวันตาย

นางละเวงก็รู้สึก “เสียวสวาทหวานหูไม่รู้หาย” และเริ่มมีจิตใจผูกพันพระอภัยมณีตั้งแต่ขณะนั้น และยิ่งได้ฟังเพลงปี่ของพระอภัยมณีด้วยแล้ว นางต้องพยายามหักใจมิให้หลงใหล เพราะมิฉะนั้น การณ์จะเป็นไปอย่างที่นางรำพึงเมื่อห่างพระอภัยมณีมาแล้วว่า

อันลมปี่นี้ระรวยให้งวยงง    สุดจะทรงวิญญารักษาตัว
ถ้าขืนอยู่สู้อีกไม่หลีกเลี่ยง    ฉวยพลั้งเพลี่ยงเพลงปี่ต้องมีผัว

ที่นางละเวงรำพึงว่า “ถ้าขืนอยู่สู้อีกไม่หลีกเลี่ยง” นั้น ได้แก่การต่อสู้กันด้วยวาจานั้นเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยพระอภัยมณีมิใช่จะ “ปากหวาน” เท่านั้น ยังพูดเป็น คือรู้จักใช้ถ้อยคำโวหาร ที่จะให้ผู้ที่ประคารม หรือคู่สนทนาต้องยอมฟังและคล้อยตามไปด้วย ลักษณะเช่นนี้แม้แต่พระอภัยมณีเองก็รู้ตัว ดังที่กล่าวแก่ศรีสุวรรณและสินสมุทรว่า

วิสัยพี่นี้ชำนาญแต่การปาก        มิให้ยากพลไพร่ใช้หนังสือ

บุคลิกภาพทางใจ
บุคลิกภาพทางใจของพระอภัยมณี    ซึ่งปรากฎให้เห็นได้ในพฤติกรรมและบทบาทของพระอภัยมณีเองนั้น อาจกล่าวได้โดยลำดับดังนี้

ความเป็นตัวของตัวเอง
พระอภัยมณีมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากการเลือกเรียนวิชาเป่าปี่ ด้วยเหตุผลที่บอกแก่ศรีสุวรรณว่า

แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง        หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง

ความเป็นคนฉลาด มีสติปัญญา
พระอภัยมณีเป็นคนฉลาด ความฉลาดของพระอภัยมณีอาจกล่าวได้ ๓ ลักษณะ ได้แก่ ความฉลาดในทางสติปัญญา ความฉลาดในทางรู้ใจ รู้เท่าทันคน…และความฉลาดในทางการใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์

ความฉลาดในทางสติปัญญานั้น จะเห็นได้ว่าพระอภัยมณีได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาเป่าปี่กับพินทพราหมณ์เพียง ๗ เดือน ก็มีความชำนาญลํ้าเลิศ สามารถบรรเลงเพลงปี่ได้อย่างไพเราะ แสนหวาน ใครได้ยินได้ฟังก็ให้เพลิดเพลิน ปล่อยอารมณ์ไห้เคลิบเคลิ้มไปกับท่วงทำนองเพลงปี่ที่วิเวกหวาน และหลับไปในที่สุด แม้แต่สัตว์เมื่อได้ยินเพลงปี่ก็ลืมกินหญ้ากินนํ้าเข้ามาฟังหมดทั้งสิ้น ดังที่พรรณนาไว้ว่า

แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่    ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น
แต่เสือสางกลางไพรที่ได้ยิน    ก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง

ยิ่งกว่านั้น พระอภัยมณียังสามารถเป่าให้ฟังเกิดความรู้สึกวิเวกหวิว…จนไม่อาจทนอยู่ได้ ต้องขาดใจตาย เช่นคราวที่เป่าฆ่านางผีเสื้อยักษ์

แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วเสียง    สอดสำเนียงนิ้วเอกวิเวกหวาน
พวกโยธีผีสางทั้งนางมาร    ให้เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ
แต่เพลินฟังนั่งโยกจนโงกหงุบ    ลงหมอนฟุบซวนซบสลบไสล
พอเสียงปี่ที่แหบหายลงไป        ก็ขาดใจยักษ์ร้ายวายชีวา

ความฉลาดในทางปัญญาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระหว่างที่อาศัยอยู่เกาะแก้วพิสดารซึ่ง ณ ที่นั้น มีบรรดาชาวต่างชาติซึ่งได้แก่ ฝรั่ง จีน และจาม เรือแตกขึ้นมาอาศัยอยู่ด้วย พระอภัยมณีได้เรียนภาษาต่างประเทศเหล่านั้น จนมีความชำนาญสามารถพูดภาษาเหล่านั้นได้คล่องราวกับล่าม

จะกล่าวถึงพระอภัยมณีนาถ    กับองค์ราชกุมารชาญสนาม
หัดภาษาฝรั่งทั้งจีนจาม        ราวกับล่ามพูดคล่องทั้งสองคน

ความฉลาดในทางด้านรู้ใจ รู้เท่าทันคนนั้น พระอภัยมณีได้แสดงให้เห็นหลายอย่างเช่นการล่วงเจตใจของผู้หญิง พฤติกรรมต่างๆ ที่นางสุวรรณมาลีแสดงให้เห็นว่ามีความรักใคร่เอ็นดูสินสมุทรตั้งแต่วันแรกที่พบ และสินสมุทรขอฝากตัวเป็นลูกเป็นต้นมานั้น พระอภัยมณีรู้ว่านางก็มีจิตใจเอนเอียงมาทางตนอยู่ ฉะนั้น แม้พระอภัยมณีจะทราบในภายหลังว่านางมีคู่หมั้นแล้ว ก็ยังอยากจะลอง “ชิงชู้” ดูสักครั้ง

พระเอนเอกเขนกขึงรำพึงคิด        ไม่แจ้งจิตเลยว่าเขามาขอ
เหมือนตามใต้ในน้ำมาตำตอ    ถึงแค้นคอคงจะกลื่นไม่คืนคลาย
แล้วเกิดคำจำครูดูวันนั้น        ที่หมายมั่นว่าจะสมอารมณ์หมาย
จะหาไหนได้เหมือนนุชสุดเสียดาย    ลูกผู้ชายชิงชู้ดูสักที
จะเล้าโลมโฉมยงให้ปลงจิต        แม้นสมคิดก็จะพาสุดาหนี

และก็เป็นไปตามที่พระอภัยมณีคาดคิด นางสุวรรณมาลีก็มีจิตใจรักใคร่พระอภัยมณีเช่นเดียวกัน ถึงกับยอมแลกของที่ระลึก ฉะนั้น ในระหว่างที่พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรนมาเพื่อติดตามหานางนั้น พระอภัยมณีได้รำพึงถึงนางด้วยความมั่นใจในความรักของนางที่มีต่อตน แม้จะกังวลในข้อที่ว่านางเป็นคู่หมั้นของอุศเรนซึ่งมีบุญคุณต่อตนอยู่ก็ตาม ความกังวลในเรื่องบุญคุณดูจะมีนํ้าหนักน้อยกว่า

ถ้าพบนางกลางน้ำทำอย่างไร    จึงจะได้นุชน้องเป็นของเรา
ด้วยว่าองค์อุศเรนมาเป็นมิตร    ครั้นจะคิดขัดไว้เกรงใจเขา
แต่พี่รู้อยู่ว่าองค์นางนงเยาว์        รักข้างเราจึงได้ให้สังวาล
พี่ก็ได้ให้ธำมรงค์รัตน์            สารพัดพูดจาน่าสงสาร
ยิ่งคิดก็ยิ่งให้อาลัยลาญ        ชมสังวาลต่างนางในกลางคืน
ฯลฯ
จนยามดึกครึกครื้นเสียงคลื่นซัด    พงศ์กษัตริย์เศร้าสร้อยละห้อยหา
ชุลีหัตถ์อธิษฐานถึงเทวา    ฉ้อกามาเมืองสวรรค์ถึงชั้นพรหม
แม้นสุวรรณมาลีศรีสมร    แต่ชาติก่อนได้เป็นคู่เคยสู่สม
อย่ากลายแคล้วแก้วตาเหมือนอารมณ์    ให้ได้ชมเชยนางเหมือนอย่างเคย

นางละเวงก็เช่นเดียวกัน ท่าทีของนางที่แสดงให้พระอภัยมณีเห็นในวันที่พบกันครั้งแรกในสนามรบ ทำให้พระอภัยมณีมั่นใจว่านางก็มีจิตใจผูกพันกับตนอยู่เหมือนกัน ฉะนั้น พฤติกรรมของพระอภัยมณีที่ไปเกี่ยวข้องกับทางฝ่ายเมืองลังกา จึงเป็นไปในลักษณะที่วางใจไม่ได้เกรงว่าจะเป็นอันตรายแต่อย่างใด เช่นการตามนางยุพาผกาเข้าไปในเมืองลังกา โดยมีความมั่นใจนางละเวงมีจิตใจรักใคร่ผูกพันตนอยู่ คงจะไม่คิดทำร้ายแน่นอน

ส่วนอุศเรนนั้น ดูพระอภัยมณีจะล่วงรู้จิตใจไปเสียทุกอย่าง รู้ถึงความรู้สึกความคิดของอุศเรน ข้อที่สำคัญก็คือรู้ถึงความหยิ่งในศักดิ์ศรีของอุศเรน ด้วยเหตุนี้พระอภัยมณีสามารถทำอะไรโดยไม่ กระทบกระเทือนความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักดิ์ศรีของอุศเรน อันอาจจะกระทบกระเทือนไมตรีระหว่างตนกับอุศเรน ซึ่งพระอภัยมณีไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ความฉลาดอีกประการหนึ่งก็คือ ฉลาดในการใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์ ความฉลาดของพระอภัยมณีในข้อนี้ จะเห็นได้จากคราวที่โดยสารเรืออุศเรนมาจนพบกับเรือสินสมุทรและศรีสุวรรณ เมื่ออุศเรนทราบว่านางสุวรรณมาลีอยู่ในเรือลำนั้น ก็ขอนางคืน แต่สินสมุทรไม่ยอมให้ จึงจะเกิดสงครามชิงนางสุวรรณมาลี โดยที่พระอภัยมณีได้ประเมินกำลังและฝีมือการรบแล้วเห็นว่าการรบจะยุติในลักษณะใด เพื่อที่จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนเนรคุณ เพื่อที่จะไม่ให้สินสมุทรโกรธ และเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของอุศเรน พระอภัยมณีจึงบอกแก่ทุกคนว่าจะวางตนเป็นกลาง
และการสงครามก็เป็นไปตามความคาดหมาย อุศเรนแพ้ถูกจับได้ พระอภัยมณีก็ให้รีบปล่อยให้เป็นอิสระทันที และกล่าวแก่อุศเรนให้นึกถึงคำของตนที่ห้ามมิให้รบกับสินสมุทรว่า

อันใจพี่นี้ไม่หวงไม่ลวงหลอก    แต่พี่บอกน้องรักขืนหักหาญ
จึงให้น้องลองสู้กับกุมาร        เดี๋ยวนี้ท่านเล่าก็แพ้แก่โอรส
เราขอไว้ไม่เอาทั้งข้าวของ        คืนสนองคุณให้ท่านไปหมด

แล้วสั่งให้สินสมุทรคืนเรือแพนาวาทั้งหมดแก่อุศเรน อันเป็นการปลดเปลื้องบุญคุณที่อุศเรนได้มีแก่พระอภัยมณีแต่ต้นโดยสิ้นเชิง

นอกเหนือจากความฉลาดแล้ว พระอภัยมณียังมีความรอบคอบดังจะเห็นได้จากการให้บรรดาสานุศิษย์ที่ติดตามพระอภัยมณีมาจากเกาะแก้วพิสดารและได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลกันทั่วหน้าแล้ว ไปอยู่ตามเมืองต่างรายรอบเขตเมืองผลึกเพื่อสืบข่าวศึกทั้งนี้ดีร้ายจะได้เตรียมการสู้รบป้องกันเมืองได้ทัน

แล้วรางวัลบรรดาสานุศิษย์         ซึ่งตามปกติปรนนิบัติเมื่อขัดสน
ล้วนจีนจามพราหมณ์แขกฝรั่งปน    ทั้งร้อยคนคู่ยากลำบากมา
ให้ไปอยู่บูรีรอบขอบประเทศ        คอยแจ้งเหตุตื้นลึกศึกสิงหล
ให้มีไพร่ไว้สำหรับอยู่กับตน        ทั้งร้อยคนคนละร้อยไม่น้อยใจ
ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลลักษณ์    ปล่อยคนรักรายแฝงทุกแห่งหน
แม้นฝรั่งลังกามาผจญ            จะซ้อมกลการศึกให้ลึกซึ้ง

ความเป็นผู้มีอารมณ์อ่อนไหว
โดยที่พระอภัยมณีเป็นศิลปิน จึงเป็นผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหว สะเทือนใจง่าย ลักษณะเช่นนี้ ได้ปรากฎให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบใจ เมื่อที่หนีนางผีเสื้อยักษ์มาถึงเกาะแก้วพิสดาร นางผีเสื้อยักษ์ได้อ้อนวอนให้พระอภัยมณีได้เห็นใจในความรักขอให้กลับไปอยู่ด้วย

นิจจาเอ๋ยเคยอยู่เป็นคู่ชื่น    ทุกวันคืนค่ำเช้าไม่เศร้าหมอง
จนมีลูกปลูกเลี้ยงเคียงประคอง    มิให้ข้องเคืองขัดพระอัชฌา
อยู่ดีดีหนีเมียมาเสียได้        เสียน้ำใจน้องรักเป็นหนักหนา
จึงอุตส่าห์พยายามสู้ตามมา        ขอเป็นข้าบาทบงสุ์พระทรงธรรม์
พระเสด็จไปไหนจะไปด้วย    เป็นเพื่อนม้วยภัสดาจนอาสัญ
ประทานโทษเลี้ยงแต่เพียงนั้น    อย่าบากบั่นความรักน้องนักเอย

พระอภัยมณีก็เกิดความสงสาร บังเกิดความสะเทือนใจในทันที

พระอภัยใจอ่อนถอนสะอื้น        อุตส่าห์ฝืนพักตร์ว่านิจจาเอ๋ย
แม่ผีเสื้อเมื่อไม่เห็นใจเลย        พี่ไม่เคยอยู่ถ้ำให้รำคาญ
พี่ขอบุตรสุดใจเอาไปด้วย        เป็นเพื่อนม้วยเหมือนสุดามารศรี
ขอลาแล้วแววตาไปธานี        อย่าราคีขุ่นข้องให้หมองมัว

ความอ่อนไหวในอารมณ์ประกอบความเป็นเลิศในวิชาเป่าปี่ ทำให้พระอภัยมณีได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจออกมาปรากฎในเพลงปี่อย่างไพเราะและสะเทือนอารมณ์

ปกติ เพลงดนตรีที่จะสะกดผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้ม ปล่อยใจปล่อยอารมณ์ให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเศร้าหมอง ต้องอาศัยท่วงทำนอง กระแสเสียง และเนื้อความของเพลงประกอบกัน องค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ด้วยกลวิธีการประพันธ์ก็อาจถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำได้

ฉะนั้น เพลงปี่ของพระอภัยมณี แม้จะปรากฎเพียงถ้อยความก็ด้วยกลวิธีดังกล่าว ผู้อ่านจะรู้สึกเคลิบเคลิ้มไปกับท่วงทำนองและกระแสเสียงของเพลงที่แทรกอยู่ในถ้อยคำ จังหวะ และลีลาของกาพย์กลอนนั้นด้วย

การเป่าปี่ของพระอภัยมณีทั้ง ๑๑ ครั้ง มีสาเหตุแตกต่างกันดังที่กล่าวแล้ว และโดยที่สาเหตุของการเป่าต่างกัน เนื้อความและท่วงทำนองก็น่าจะแตกต่างกันไปด้วย กล่าวคือ การเป่าปี่เพื่อจะให้หลับ เนื้อความและท่วงทำนองต้องวังเวงต่อความรู้สึกให้วาบหวิวจนเคลิบเคลิ้ม และหลับไปในที่สุด การเป่าเพื่อเรียกให้ไปหา ก็น่าจะมีท่วงทำนองที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ว้าเหว่ จนต้องไปหา หรือการเป่าเพื่อปลุกทัพ เพลงก็น่าจะมีเนื้อความ และท่วงทำนองที่ร่าเริงสร้างความรู้สึกที่สดชื่น

แต่ปรากฎว่าเนื้อความของเพลงเป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งหมดคือ ส่วนใหญ่เป็นการพรรณนาถึงความว้าเหว่อ้างว้าง การพลัดพรากตลอดจนความอาลัยอาวรณ์ที่เกิดจากความห่างไกลกัน ดังข้อความในเพลงปี่ต่อไปนื้

เพลงปี่เป่าเมื่อลองวิชาครั้งแรกให้พราหมณ์ทั้งสามคนฟัง

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย    ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย    จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม    ไม่เทียมโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย
แม้ได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย    ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่งเสียง    สำเนียงเพียงการะเวกกังวานหวาน
หวาดประหวัดสัตรีฤดีดาล    ให้ซาบซ่านเสียวสดับจนหลับไป

พระอภัยมณีเป่าเรียกสินสมุทรขณะซึ่งอยู่บนเรือพร้อมกับศรีสุวรรณ

พระเป่าปี่เปิดเสียงสำเนียงเอก    เสนาะดังฟังวิเวกกังวานหวาน
ละห้อยหวนครวญเพลงบรรเลงลาน    โอ้สงสารสุริย์ฉายจะบ่ายคล้อย
พี่คลาดแคล้วแก้วตามาว้าเหว่    ท้องทะเลแลเปล่าให้เศร้าสร้อย
ป่านนี้น้องสองคนกับลูกน้อย    จะลิ่วลอยไปอยู่หนตำบลใด
เรื่อยเรื่อยเฉื่อยวายุพัดแผ้ว        เหมือนเสียงแก้วกลอยจิตพิสมัย
หอมรวยรวยชวยชื่นรื่นฤทัย        เหมือนใกล้ใกล้เข้ามาแล้วแก้วพี่เอย
เขาบอกว่ามาในลำเรือกำปั่น    หรือสุวรรณมาลีเจ้าพี่เอ๋ย
สินสมุทรไม่มาหาบิดาเลย        พ่อจะเชยใครเล่าเจ้าพ่ออา
แม้นอยู่ลำกำปั่นเหมือนมั่นหมาย    จงแหวกว่ายสายสมุทรผุดมาหา
แล้วแหบหวนครวญโหยโรยชวา    พระแกล้งว่าไปในเพลงวังเวงใจ

เพลงปี่ที่เป่าสะกดทัพนางละเวง

วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น    คนขยั้นขืนขึงตลึงหลง
ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง    ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต    ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากวัง    อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไหน        ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย    น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำในอัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น    ระรวนรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน        จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง

เพลงปี่ที่เป่าเรียกนางละเวงในคราวที่พบกันในสนามรบ

ต้อยตะริดติ๊ดตี่เจ้าพี่เอ๋ย    จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย    แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย
ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด    จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย    ใครจะเชยโฉมน้องประคองนวล
เสนาะดังวังเวงเป็นเพลงพลอด    เสียงฉอดฉอดชดช้อยละห้อยหวน
วิเวกแว่วแจ้วในใจรัญจวน        เป็นความชวนประโลมโฉมวัณลา

เพลงปี่ที่เป่าสะกดทัพคราวที่พระอภัยมณีจะลอบตามนางยุพาผกาเข้าเมืองลังกา

เสียงแจ้วแจ้วแว่วโหวยโหยละห้อย   
โอ้หอมสร้อยเสาวรสแป้งสดใส
เสาวคนธ์มณฑาสุมาลัย   
สักเมื่อไรสาวน้อยจะลอยมา
แล้วเป่าเห่เรไรจับใจแจ้ว   
ค่ำลงแล้วเจ้าจะคอยละห้อยหา                         
ระหวยหิวหวิววับจับวิญญา

เพลงปี่ที่เป่าเรียกนางละเวงเมื่อนางพลัดกับทัพลังกา
……………….. ให้วาบวับแว่วเพลงวังเวงหวาน
วิเวกโหวยโหยให้อาลัยลาญ        โอ้ดึกป่านนี้แล้วแก้วกลอยใจ
แม่วัณลานารีศรีสวัสดิ์            จะพรากพลัดไพร่พลไปหนไหน
น้ำค้างย้อยพรอยพรมพนมไพร    จะหนาวในทรวงน้องจนหมองนวล
โอ้ยามสามยามนี้เจ้าพี่เอ๋ย        พี่เคยเกยกอดน้องประคองสงวน
แม่ยอดหญิงมิ่งขวัญจะรัญจวน    เสียดายนวลเนื้ออุ่นละมุนทรวง
เคยไสยาสน์อาสน์อ่อนบรรถรณ์แท่น    มาเดินแดนดงรังใช่วังหลวง
ขอเชิญแก้วแววตาสุดาดวง        มาชมพวงมาลีด้วยพี่ยา
ล้วนชื่นแช่มแย้มบานทุกก้านกิ่ง    ยิ่งคิดยิ่งหวนหอมบนจอมผา
พี่อยู่เดียวเปลี่ยวใจนัยนา        แม่วัณลาหลบแฝงอยู่แห่งไร
จนดาวเคลื่อนเดือนดับยิ่งลับน้อง    เห็นแต่ห้องหิมวาพฤกษาไสว
มาหาพี่นี่หน่อยเถิดกลอยใจ        จะกล่อมให้บรรทมได้ชมเชย
ถึงยากไร้ไม่มีที่พระแท่น    จะกางกอดทอดแขนแทนเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย    ใครจะเชยโฉมน้องประคองเคียง
เคยอยู่วังฟังนางสุรางค์เห่    มาฟังเรไรเพราะเสนาะเสียง
วิเวกแว่วแจ้วเจื้อยเรื่อยสำเนียง    เสนาะเพียงพิณเพลงบรรเลงลาญ

เพลงปี่ที่ปลุกทัพมังคลา
……………….. วิเวกแว่วแจ้วสำเนียงส่งเสียงใส
โอ้แสงทองส่องฟ้านภาลัย        ดวงดอกไม้ชื่นช่ออรชร
ลมเฉื่อยเฉื่อยเรื่อยรินกลิ่นกุหลาบ        ละอองอาบซาบทรวงดวงสมร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน        จะอาวรณ์ว้าเหว่อยู่เอกา
เจ้าพี่เอ๋ยเคยเรียงอยู่เคียงข้าง    จะอ้างว้างห่างเหเสน่หา
โอ้ยามตื่นขึ้นแล้วนะแก้วตา        จะลับหน้านึกถึงคะนึงครวญ
แม้เสร็จศึกดึกดื่นยามตื่นหลับ    ภิรมย์รับขวัญประคองครองสงวน
ห่างถนอมหอมอื่นไม่ชื่นชวน        ไม่เหมือนนวลเนื้อหอมถนอมเชย
เวลาเช้าสาวหยุดก็สุดหอม        ไม่เหมือนกล่อมกลิ่นเกลี้ยงเคียงเขนย
รสระรื่นชื่นใจสิ่งใดเลย            ไม่เหมือนเชยโฉมชื่นระรื่นเย็น
อยู่บ้านถิ่นสิ้นทุกข์เป็นสุขสุด    มายงยุทธยากแค้นถึงแสนเข็ญ
สามิภักดิ์เจ้านายไม่วายเว้น        อยากไปเห็นถิ่นฐานบ้านเมืองเอย

จากเนื้อความในเพลงปี่ ทำให้มองเห็นว่าส่วนลึกในจิตใจของพระอภัยมณีนั้นมีแต่ความรู้สึกที่อ้างว้าง ว้าเหว่ เนื่องแต่พลัดพรากจากบ้านและผู้เป็นที่รัก ทำให้รู้สึกขาดความอบอุ่นจากผู้ที่ให้ความอบอุ่นได้

สาเหตุนี้เห็นได้ชัด

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าพระอภัยมณีมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง ได้รับความอบอุ่นในชีวิตครอบครัวเพียงระยะเวลา ๑๕ ปี ก็ต้องออกจากบ้านไปศึกษาหาความรู้ เมื่อสำเร็จกลับมาก็มีเวลา อยู่เห็นหน้าพ่อแม่ไม่ถึงครึงวัน ก็ต้องระหกระเหินอยู่เป็นเวลานาน

เมื่อไปอยู่เมืองผลึก ในฐานะที่เป็นกษัตริย์ก็น่าจะมีโอกาสได้กลับไปบ้านเมืองเพื่อเห็นหน้าพ่อแม่ ก็มีเหตุที่ทำให้เป็นห่วงไม่อาจละทิ้งเมืองผลึกไปได้ ด้วยกลัวศึกจะมาติดเมือง ต้องให้ศรีสุวรรณไปแทน กว่าพระอภัยมณีจะมีโอกาสกลับไปยังกรุงรัตนาได้ก็เมื่อท้าวสุทัศน์กับนางปทุมเกสรสิ้นพระชนม์แล้วคือไปเคารพศพ

นี่คือสาเหตุแห่งความรู้สึกที่อ้างว้าง ว้าเหว่ ขาดความอบอุ่นทั้งหลายทั้งปวง

อนึ่ง ความเป็นผู้มีอารมณ์อ่อนไหว สะเทือนใจง่ายนี้เอง ทำให้พระอภัยมณีหลงใหลในรูปโฉมของสตรีได้ง่าย และความหลงใหลก็กลายเป็นความลุ่มหลง ความลุ่มหลงนั้นคงมีลักษณะรุนแรง ตามลักษณะอารมณ์ของศิลปิน ทำให้พระอภัยมณีทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ยั้งคิด เอาอารมณ์ของตนเป็นที่ตั้ง ดังคราวที่ทิ้งทัพตามนางยุพาผกาเข้าเมืองลังกา ด้วยหลงใหลในเสน่หานางละเวง โดยไม่ทันได้คิดว่าขณะนั้นอยู่ในระหว่างศึก ศรีสุวรรณกับสินสมุทรต้องรบศึกหนัก เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย เดือดร้อนไปทั่ว

ความเด็ดขาด
แม้ว่าพระอภัยมณีจะมีอารมณ์อ่อนไหว สะเทือนใจง่ายก็ตาม พระอภัยมณีก็ยังมีความเด็ดขาดแฝงอยู่ในจิตใจ ซึ่งปรากฎเห็นได้จากคำพูดและพฤติกรรมบางอย่าง

คำพูดของพระอภัยมณีที่กล่าวแก่อุศเรน หลังจากที่อุศเรนรบแพ้ถูกจับได้ ในคราวสงครามเมืองผลึกว่า

อันวิสัยในพิภพแม้นรบกัน    ก็หมายมั่นว่าจะได้ชัยชนะ

นี้แสดงให้เห็นความเด็ดขาดในการกระทำ โดยเฉพาะในเรื่องการสงครามจำเป็นต้องต่อสู้กันอย่างเต็มที่ จะมีอารมณ์ความรู้สึกอื่นมาทำให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ความเด็ดขาดของพระอภัยมณีที่ปรากฎให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง ได้แก่คราวที่ไปลังกาเพื่อจัดการศึกมังคลา ทั้งนางสุวรรณมาลีและนางละเวงซึ่งอยู่พร้อมหน้ากัน ต่างแง่งอนไม่ยอมให้เกี่ยวข้องด้วย เป็นเหตุให้พระอภัยมณีขุ่นเคืองและมองเห็นความวุ่นวายในทางโลกจึงตัดสินใจออกบวชหาความสุขในทางธรรม เมื่อนางสุวรรณมาลีและนางละเวงมาเฝ้า พระอภัยได้บอกถึงการตัดสินใจว่า

นี่แน่เจ้าเล่าก็มีบุรีครอง    ทั้งเงินทองมองมูลประยูรยศ
อยู่ถิ่นฐานบ้านเมืองไปเบื้องหน้า    จะปรารถนาหาอะไรก็ได้หมด
เราจะไปในอรัญอยู่บรรพต    รักษาพรตพรหมจรรย์บรรพชา
ด้วยชาตินี้วิบัติให้พลัดพราก        เหลือวิบากยากแค้นนั้นแสนสา
จะสืบสร้างทางกุศลผลผลา        เมื่อชาติหน้าอย่าให้เป็นเหมือนเช่นนี้

นางทั้งสองเข้าใจว่าพระอภัยแกล้งตรัส ก็ไม่ทูลทัดทาน ซ้ำยังกล่าวประชดอีกว่า

ขอตามติดคิดคุณพระมุนี    เป็นหลวงชีปรนนิบัติด้วยศรัทธา
ยิ่งไปอยู่เกาะแก้วแล้วขยัน    อยากพบพี่ศรีสุวรรณมัจฉา
สุมาลีว่านี่แน่แม่วัณลา    แม่ช่วยหาหนังเสือเผื่อสักไตร

ขอตามติดคิดคุณพระมุนี    เป็นหลวงชีปรนนิบัติด้วยศรัทธา
ยิ่งไปอยู่เกาะแก้วแล้วขยัน    อยากพบพี่ศรีสุพรรณมัจฉา
สุมาลีว่านี่แน่แม่ววัณลา    แม่ช่วยหาหนังเสือเผื่อสักไตร

แต่พระอภัยมณีมีความตั้งใจแน่วแน่เสียแล้ว จึง

พระขึ้นบนมนเทียรวิเชียรรัตน์    จึงปลดเปลืองเครื่องกษัตริย์ประภัสสร
ทรงเครื่องขาวดาบสประณตกร    อุทุมพรทับเฉียงเฉวียงองค์
แล้วจัดกลีบจีบชฎารักษาพรต    เป็นดาบสบุตรพรหมสมประสงค์
สอดสวมด้วยสายธุรำประจำทรง    ตั้งดำรงศีลห้าสมาทาน
ถือพัดวาลวิชนีแล้วลีลาศ    ขึ้นนั่งอาสน์อิศรามุกดาหาร
พร้อมโอรสยศยงพระวงศ์วาน    โปรดประทานเทศนาตามบาลี

ทำให้นางสุวรรณมาลีและนางละเวงเกิดศรัทธาขอออกบวชตามด้วย

ความหลงใหลในรูปโฉมของสตรี
ลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งของพระอภัยมณีคือความหลงใหลในรูปโฉมของสตรี ลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้พระอภัยมณีแสดงความเจ้าชู้ปรากฎให้เห็น เช่น เมื่อคราวที่เห็นนางเงือกครั้งแรก ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาที่จะหนีนางผีเสื้อยักษ์ พระอภัยมณีก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความรู้สึกที่พอใจรูปโฉมของนางเงือก

พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย    ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม    ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด        ดังสุรางค์นางนาฎในวังหลวง
พระเพลินพิศคิดหายเสียดายดวง    แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป

ด้วยความพอใจในรูปโฉมของนางเงือกนี้เอง เมื่อหนีนางผีเสื้อยักษ์มาอยู่ที่เกาะแก้วพิสดารแล้ว พระอภัยมณีก็ประโลมนางจนได้นางมาเป็นชายา

ระหว่างที่อยู่เกาะ พระอภัยมณีก็ได้พบนางสุวรรณมาลีซึ่งท้าวสิลราชผู้บิดาได้พาเที่ยวทางทะเล และหลงทางพลัดกับขบวนเรือมาถึงที่เกาะแก้วพิสดารนั้น ทั้งๆ ที่อยู่ในเพศนักบวช และนางเงือก ก็ยังอยู่ที่เกาะนั้น พระอภัยมณีก็ให้หลงใหลในรูปโฉมของนางสุวรรณมาลี ปรารถนาจะได้นางมาเป็นคู่ครอง ดังข้อความที่พรรณนาตอนที่นางหลับด้วยอำนาจเพลงปี่ที่สินสมุทรทดลองเป่าให้ฟัง

พระเพ่งพิศธิดายุพาพักตร์        ดูน่ารักรูปทรงส่งสัณฐาน
ช่างเปล่งปลั่งยังไม่มีราคีพาน    น่าสงสารซบนิ่งไม่ติงกาย
พระเลื่อนองค์ลงจากบัลลังก์อาสน์    หวังสวาทว่าจะโลมนางโฉมฉาย
ครั้นเข้าชิดคิดได้ไม่ใกล้กราย    แต่เดินชายชมนางไม่วางตา
พระโอษฐ์เอี่ยมเทียมสีลิ้นจี่จิ้ม    เป็นลักยิ้มแย้มหมายทั้งซ้ายขวา
ขนงเนตรเกศกรกัลยา    ดังเลขาผุดผ่องละอองนวล
ทำไฉนหนอจะได้ดวงสมร    ร่วมที่นอนแนบน้องประคองสงวน
แล้วรั้งรักหักใจไม่บังควร    ให้ปั่นป่วนกลับมานั่งข้างหลังครู

ส่วนนางละเวงนั้น เพียงแต่พระอภัยมณีได้เห็นโฉมในรูปวาดก็ให้หลงใหลติดเสน่ห์นางแล้ว
พระอภัยได้ยลวิมลโฉม    งามประโลมหลงแลดังแขไข
ต้องเสน่ห์เลขาคิดอาลัย

ฉะนั้น เมื่อได้พบนางกลางสนามรบได้เห็นรูปโฉมตัวจริง พระอภัยมณีถึงกับกล่าววาจาทอดไมตรี

พระน้องหรือชื่อละเวงวัณลาราช    อย่าหวั่นหวาดวิญญามารศรี
จงหยุดยั้งรั้งราจะพาที        ไม่ฆ่าตีศรีสวัสดิ์เป็นสัจจา
พี่จงจิตติดตามข้ามสมุทร    มาด้วยสุดแสนสวาทปรารถนา
จะถมชลจนกระทั่งถึงลังกา    เป็นสุธาแผ่นเดียวเจียวเจียวจริง
จงแจ้งความตามในน้ำใจพี่    ไม่ราคีเคืองข้องแม่น้องหญิง
อย่าเคลือบแคลงแหนงจิตคิดประวิง    สมรมิ่งแม่วัณลาจงปรานี

ความหลงใหลในรูปโฉมของสตรีนี้เอง น่าจะทำให้บุคลิกลักษณะของพระอภัยมณีมีแววของความเป็นคนเจ้าชู้ให้คนอื่นมองเห็นได้ ดังที่เสนาเมืองลังกากล่าวกับอุศเรนว่า

อันรูปทรงองค์พระอภัยมณี    ดูท่วงทีเธอทายาทชาติเจ้าชู้

มีความอ่อนโยนและเยือกเย็น
บุคลิกภาพทางใจของพระอภัยมณีข้อนี้ เห็นได้จากคราวที่ออกจากกรุงรัตนามาพบบุตรพราหมณ์สามคน หลังจากได้ไต่ถามความเป็นมาและได้ทราบว่าใครมีความรู้อะไรแค่ไหน บุตรพราหมณ์ ก็แสดงความสงสัยคุณค่าของวิชาเป่าปี่ ทั้งยังพูดในทำนองดูหมิ่นวิชาว่าเหมาะสำหรับใช้เกี้ยวผู้หญิง

ซึ่งองค์พระอนุชาเรียนอาวุธ        เข้ายงยุทธข้าก็เห็นจะเป็นผล
แต่ดนตรีนี้ดูไม่ชอบกล            ข้าแสนสนเท่ห์ในน้ำใจจริง
ดนตรีนี้มีคุณที่ข้อไหน            หรือใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง
ยังสงสัยในจิตคิดประวิง        จงแจ้งจริงให้กระจ่างสว่างใจ

พระอภัยมณีมิได้มีความขุ่นเคือง ได้อธิบายคุณค่าของวิชาดนตรีและอำนาจของเพลงปี่อย่างปกติว่า

พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม    จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป    ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช    จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน    ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ    อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา

แล้วพระอภัยมณีก็บรรเลงเพลงปี่ให้เป็นที่ประจักษ์ในคุณค่า

เช่นเดียวกับในครั้งที่ท้าวสิลราชเมื่อทรงทราบว่าพระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ก็กล่าวเป็นทำนองว่าเป็นวิชาที่ไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด ดีแต่จะเที่ยวเป่าให้ใครๆ ฟังอย่างเพลินๆ เท่านั้น

กรุงกษัตริย์ตรัสว่าน่าหัวร่อ        เออก็พอที่หรือพระฤาษี
วิชาอื่นดื่นไปว่าไม่ดี            เรียนแต่ปี่ไปเที่ยวเป่าให้เขาฟัง

พระอภัยมณี ก็มิแสดงอาการว่าขุ่นเคืองท้าวสิลราชแต่อย่างใด
คราวที่อุศเรนยกกองทัพมาตีเมืองผลึก และแพ้ถูกจับได้ เมื่อพระอภัยมณีกล่าวปลอบโยน ให้อุศเรนคลายความแค้นเคือง เลิกรายกทัพกลับไป และให้เป็นไมตรีกันดังเดิม อุศเรนก็ไม่ปรารถนา ซํ้ายังกล่าววาจา “จ้วงจาบหยาบช้าพูดท้าทาย” ก็มิได้โกรธเคืองยังถามอุศเรนว่าจะให้ทำอย่างไรจึงจะหายแค้น อุศเรนก็ตอบแสดงความอาฆาตว่า
……………….. มาตรแม้นเราตีบุรีได้
จะจับตัวผัวเมียมามัดไว้        แล้วจะให้แล่เนื้อเอาเกลือทา
กับเปลี่ยนหัวผัวเมียเสียสำเร็จ    จึงจะเสร็จสมมาดปรารถนา

พระอภัยมณีก็ไม่โกรธ ตอบอุศเรนด้วยความปรานีว่า

จึงว่าเจ้าเล่าก็ยังกำลังแค้น         จะทดแทนทำสงครามก็ตามจิต
จะปล่อยไปไม่สังหารผลาญชีวิต     ด้วยว่าคิดคุณน้องสนองคุณ
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าก็ป่วยจะช่วยเจ้า     แทนที่เรามาเรือเจ้าเกื้อหนุน
พระน้องจงสรงเสวยเหมือนเคยคุ้น    ………………

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระอภัยมณีมีวัยล่วงเลยมากขึ้น ความมีจิตใจเยือกเย็นหนักแน่นดูจะลดลง กลายเป็นคนใจน้อย แสนงอน เช่นในคราวที่พร้อมหน้ากันที่ลังกาหลังจากศึกมังคลาแล้ว ทั้งนางสุวรรณมาลีและนางละเวงไม่ยอมปรองดองให้เกี่ยวข้องด้วย พระอภัยมณีก็ขุ่นเคืองเมื่อนางทั้งสองมาเฝ้าทูลถามถึงอาการประชวรอันเกิดจากสาเหตุนี้ พระอภัยมณีก็แสดงอาการแสนงอนไม่ยอมตอบ

พระฟังคำชำเลืองค้อนเคืองขัด    มิได้ตรัสตอบความทรามสงวน
ครั้นถามซ้ำทำว่าชะเจ้ากระบวน    อย่ามากวนเซ้าซี้ที่นี่เลย
แล้วเอนองค์ลงบรรทมทรงห่มส่าน        สั่นสะท้านทำเบือนแกล้งเชือนเฉย

เมื่อนางทั้งสองเห็นผิดสังเกตก็เข้านวดฟั้น พระอภัยมณีเห็นเช่นนั้นก็

พระเห็นนางข้างสุวรรณบรรจถรณ์    ชำเลืองค้อนโฉมฉายทั้งซ้ายขวา

แล้วกล่าวตัดพ้อต่อว่านางด้วยความน้อยพระทัยว่า

…………………… แน่นางมาลีนะนางละเวง
แกล้งเป็นหมอคนเดียวกันเจียวเจ้า    ใครเชิญเล่าเข้ามารุมกันคุมเหง
สารพัดขัดคำไม่ยำเกรง            วาสนาของข้าเองมันอาภัพ
ตัวคนเดียวเจียวจิตไม่คิดอยู่         ตายเสียรู้แล้วไปเถิดไข้จับ
อย่ารักษาอย่ามาทำขยำยับ         พากันกลับไปเสียหนาข้าจะนอน

ความไม่นิยมความรุนแรง
พระอภัยมณีไม่นิยมกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความรุนแรงพระอภัยมณีจะใช้วิธีที่นุ่มนวล ละมุนละไมก่อนเสมอ ต่อเมื่อไม่ได้ผลและเห็นสุดหนทางแล้วจึงจะใช้วิธีการรุนแรง ดังจะเห็นได้จากคราวที่นางผีเสื้อยักษ์ตามอาละวาดขบวนเรือของท้าวสิลราชที่พระอภัยมณีอาศัยโดยสารมาด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าพระอภัยมณีมีความเป็นเลิศในการเป่าปี่สามารถเป่าให้คนฟังหลับ หรือแม้กระทั่งขาดใจตายก็ได้ แต่พระอภัยมณีก็ไม่ใช้ด้วยน่าจะเห็นว่าเหตุการณ์คงจะไม่ร้ายแรง จนกระทั่งเรือล่มท้าวสิลราชจมนํ้าสิ้นพระชนม์ ส่วนพระอภัยมณีกับพวกสานุศิษย์หนีขึ้นไปบนภูเขาได้ นางผีเสื้อยักษ์ก็ตามไปอาละวาดอีก แม้พระอภัยมณีจะพูดจาขอร้องวิงวอนให้นางกลับไปอยู่เสียที่ถํ้าตามเดิมสักเท่าไรก็ตาม นางผีเสื้อยักษ์ก็ไม่ฟังซํ้ายังแผลงฤทธิ์ให้ลูกเห็บตกต้องถูกพระอภัยมณีกับพวกได้รับความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส พระอภัยมณีเห็นสุดหนทางที่จะทนทานได้ต่อไปอีกแล้ว จึงเป่าปี่ขึ้นเสียงเอกฆ่านางยักษ์ เสีย

กล่าวได้ว่า นางผีเสื้อยักษ์นั้นตายเพราะความรุนแรงของตนโดยแท้

นอกจากไม่นิยมความรุนแรงแล้ว พระอภัยมณียังไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นใช้ความรุนแรงเพื่อตัดสินการอย่างหนึ่งอย่างใดอีกด้วย และหากมีหนทางที่จะป้องกันมิให้ผู้อื่นใช้ความรุนแรง พระอภัยมณีก็จะพยายามกระทำเช่นในคราวที่ห้ามอุศเรนกับสินสมุทรมิให้ทำสงครามเพื่อแย่งนางสุวรรณมาลี ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ฟังดึงดันจะรบ แม้กระนั้นพระอภัยมณีซึ่งคาดการณ์และประเมินฝีมือการรบของอุศเรนแล้วว่าสู้สินสมุทรไม่ได้ การรบจะยุติในลักษณะใด ก็ห้ามอุศเรนโดยบอกให้รู้ถึงฝีมือของสินสมุทรว่า

เป็นความจริงสิ่งสัตย์บรรทัดเที่ยง        ไม่หลีกเลี่ยงเลยพระองค์อย่าสงสัย
แต่จะห้ามตามประสายังอาลัย    จะชิงชัยสินสมุทรจงหยุดยั้ง
เขาเรี่ยวแรงแข็งขันทั้งสันทัด        สารพัดจะศึกษาวิชาขลัง
ทั้งดุร้ายใจเหมือนเสือเหลือกำลัง    ห้ามไม่ฟังเหมือนทุกคนก็จนใจ

แต่อุศเรนไม่เชื่อหาว่าพระอภัยมณีพูดขู่เพื่อหวังจะได้นางสุวรรณมาลี ในที่สุดอุศเรนก็ต้องพ่ายแพ้ได้รับทั้งบาดแผลและความอับอาย

เมื่ออุศเรนยกกองทัพมาตีเมืองผลึกเป็นการแก้แค้น ด้วยอุบายของนางวาลี อุศเรนแพ้ถูกจับได้ พระอภัยมณีได้แสดงให้เห็นลักษณะนิสัยที่นิยมการเอาชนะโดยสันติมากกว่าใช้กำลังจากคำพูดที่กล่าวแก่อุศเรนตอนหนึ่งว่า

ซึ่งครั้งนี้พี่พาเจ้ามาไว้        หวังจะได้สนทนาวิสาสะ
ให้น้องหายคลายเคืองเรื่องธุระ    แล้วก็จะรักกันจนวันตาย
ทั้งกำปั่นบรรดาโยธาทัพ    จะคืนกลับให้ไปเหมือนใจหมาย
ทั้งสองข้างอยู่ตามความสบาย    เชิญภิปรายโปรดตรัสสัตย์สัญญา

ดังนี้ แม้พระอภัยมณีจะอยู่ในฐานะผู้ชนะอย่างไม่มีข้อแม้แล้วก็ตาม พระอภัยมณีก็พยายามเกลี้ยกล่อมศัตรูอย่างละมุนละม่อม อันเป็นลักษณะของนโยบายทางการทูต

รักความสงบ ปรารถนาการอยู่ร่วมกันโดยสันติ
คำพูดของพระอภัยมณีที่กล่าวแก่อุศเรนเมื่ออุศเรนแพ้สงครามถูกจับได้ ว่า

ซึ่งครั้งนี้พี่พาเจ้ามาไว้        หวังจะได้สนทนาวิสาสะ
ให้น้องหายคลายเคืองเรื่องธุระ    แล้วก็จะรักกันจนวันตาย
ทั้งกำปั่นบรรดาโยธาทัพ    จะคืนกลับให้ไปเหมือนใจหมาย
ทั้งสองข้างอยู่ตามความสบาย    เชิญภิปรายโปรดตรัสสัตย์สัญญา

นั้น แสดงให้เห็นลักษณะนิสัยของพระอภัยมณีได้อย่างชัดเจนว่า เป็นผู้รักความสงบ ปรารถนาจะให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่เบียดเบียนรุกรานกัน

อนึ่ง การแสดงอัธยาศัยไมตรีต่อทุกคนที่ได้พบและรู้จัก แม้แต่อุศเรนซึ่งพระอภัยมณีก็รู้ว่า เป็นคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี โดยฐานะต่างก็เป็น “คู่แข่งขัน” กัน แต่ด้วยความปรารถนาดังกล่าวนี้ ทำให้พระอภัยมณีคิดว่า

……………. ไม่ควรชิงพระธิดามารศรี
จะผูกพันไว้เป็นไมตรี            จึงพาทีมิให้หมางระคางคำ

อย่างไรก็ตาม การที่พระอภัยมณียกกองทัพข้ามไปตีเมืองลังกาในครั้งแรกนั้น มิใช่เป็นการก่อสงคราม แต่ด้วยความคิดที่ตรัสแก่พวกเสนาอำมาตย์ที่ว่า

……………………. นางวัณลายังเป็นสาวสิบเก้าปี
จะเชิญท้าวด้าวแดนทั้งแสนภพ    มารุมรบเมืองผลึกดังศึกผี
ฉวยประมาทพลาดพลั้งเหมือนครั้งนี้    ชาวบุรีราษฎรจะร้อนรน
เราตรองตรึกนึกว่าน่าจะข้าม        ไปราบปรามแว่นแคว้นแดนสิงหล
ล้อมลังกาฆ่านายให้วายชนม์    เหมือนตัดต้นเสียแล้วปลายก็ตายตาม

อันเป็นการยุติศึกซึ่งจะก่อให้เกิดความสงบและสันติโดยถาวร

ความเป็นผู้มีความกตัญญู
พระอภัยมณีควรจะได้รับการสรรเสริญในข้อที่ว่าเป็นผู้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

โดยที่พระอภัยมณีถือว่าอุศเรนมีบุญคุณแก่ตนที่รับให้โดยสารเรือจากเกาะนับเป็นการช่วยให้ชีวิตรอด ฉะนั้น การที่พระอภัยมณีบอกแก่ทุกคนว่าจะวางตัวเป็นกลาง ไม่เอาตัวไปเกี่ยวข้องด้วยกับกรณีพิพาทในเรื่องนางสุวรรณมาลี ระหว่างสินสมุทรกับอุศเรน ก็น่าจะเนื่องด้วยไม่ปรารถนาจะได้ชื่อว่า เป็นคนเนรคุณ นี้ประการหนึ่ง

นอกจากจะไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นคนเนรคุณแล้ว พระอภัยมณีก็น่าจะคิดใช้สถานการณ์ตอบแทนบุญคุณอุศเรนด้วยเช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อพระอภัยมณีเห็นว่าจะรบกันแน่และพอจะเดาได้ว่าผลการรบจะยุติลงในลักษณะใด จึงตรัสห้ามสินสมุทรไว้ล่วงหน้ามิให้ฆ่าอุเศเรน

จงคิดอ่านการสงครามตามแต่เจ้า        ผู้ใดเขาเคยศึกจงปรึกษา
เอ็นดูพ่อขอแต่ลูกเจ้าลังกา            อย่าเข่นฆ่าชีวันให้บรรลัย

และการณ์ก็เป็นไปตามความคาดคิด อุศเรนแพ้ถูกจับได้ พระอภัยมณีก็ให้รีบแก้มัดและปล่อยเป็นอิสระในทันที นับเป็นการตอบแทนบุญคุณในครั้งแรก

เมื่ออุศเรนถูกจับได้อีกครั้งหนึ่ง คราวศึกเมืองผลึก พระอภัยมณียังนึกถึงบุญคุณของอุศเรนที่ทำไว้ พระอภัยมณีก็จะปล่อยอุศเรนให้เป็นอิสระเป็นการตอบแทน โดยกล่าวแก่อุศเรนว่า

จะปล่อยไปไม่สังหารผลาญชีวิต        ด้วยว่าคิดคุณน้องสนองคุณ
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าก็ป่วยจะช่วยเจ้า        แทนที่เรามาเรือเจ้าเกื้อหนุน
พระน้องจงสรงเสวยเหมือนเคยคุ้น    พระการุญร่ำว่าด้วยอาลัย

แต่เป็นคราวเคราะห์ของอุศเรนจะถึงฆาต นางวาลีซึ่งเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในภายหน้า เพราะ

ประเพณีตีงูให้หลังหัก        มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง    เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า    ไปข้างหน้าศึกใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย    จะทำภายหลังยากลำบากครัน

จึงคิด “จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ ประหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ” แล้วนางวาลีก็ใช้วาจา กล่าวเยาะเย้ยให้อุศเรนชํ้าใจจนอกแตกตาย

ความเข้าใจในแก่นแท้ของโลก และเชื่อในหลักธรรม
พระอภัยมณีแม้จะมีความรัก ความปรารถนาความสุขต่างๆ ทางโลกซึ่งได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส พระอภัยมณีก็ยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร ไม่จีรังยั่งยืน เป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงในชีวิต สิ่งที่เป็นความสุขที่แท้จริงนั้น ได้แก่ การปกิบัติตามหลักธรรมใน ศาสนา ดังที่พระอภัยมณีรำพึงเมื่อคราวที่อยู่ที่เกาะแก้วพิสดารว่า

คิดรำพึงถึงธรรมพระกรรมฐาน    เป็นอาการถ่ายโทษที่โหดหืน
เกิดแล้วตายวายวางไม่ยั่งยืน    จะม้วยคืนวันไรก็ไม่รู้
เราเกิดมาอาภัพอัปภาคย์        ต้องพลัดพรากจากนครจนอ่อนหู
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส    ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน        ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล    ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย
อย่าฆ่าสัตย์ตัดชีวิตคิดอุบาย    จะจำตายตกนรกอเวจี

แม้พระอภัยมณีจะยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีแก่นสาร เป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงก็ตาม พระอภัยมณีก็ไม่อาจตัดให้ขาดได้ยังหลงใหลในโลกียสุขเหล่านี้ พระอภัยมณีออกบวช ขณะที่อยู่ที่เกาะแก้วพิสดาร โดยหวัง

พอสมสร้างทางธรรมสำมะดึงส์    ให้ลุถึงพระนิพพานสำราญใจ

แต่เมื่อได้พบนางสุวรรณมาลี ความหลงใหลในรูปโฉมของนางทำให้พระอภัยมณีไม่อาจตัดสิ่งที่ตนยอมรับว่าไม่มีแก่นสารไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริง แสดงความปรารถนาอย่างรุนแรงถึงกับติดตามนางสุวรรณมาลีไปทั้งๆ ที่อยู่ในเพศดาบส ฉะนั้นการที่พระอภัยมณีเทศนาให้นางผีเสื้อยักษ์เข้าใจถึงความไม่เป็นสาระ ความไม่จีรังของรูปรสกลิ่นเสียงและสัมผัส ก็เหมือนกับสั่งสอนตัวเอง นั้นเอง

นี้แสดงให้เห็นความเป็นปุถุชนของพระอภัยมณีอย่างแท้จริง

พระอภัยมณีประพฤติปฏิบัติเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร ไม่จีรังยั่งยืนเหล่านี้จนเกือบจะตลอดชีวิต จนกระทั่งได้ประจักษ์ว่าสิ่งเหล่านี้ที่แท้คือความทุกข์ทั้งสิ้น จึงได้ออกบวชอีกครั้งหนึ่ง และเทศนายํ้าทุกคนประจักษ์ในความจริงว่า

…………….. วิสัยสัตว์สิ้นพิภพล้วนศพผี
ย่อมสะสมถมจังหวัดปฐพี        ไพร่ผู้ดีที่เป็นคนไม่พ้นตาย
พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกข์ร้อน    เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย
สิ้นถวิลสิ้นทุกข์เป็นสุขสบาย        มีร่างกายอยู่ก็เหมือนเรือนโรคา
ทั้งแก่เฒ่าสาวหนุ่มย่อมลุ่มหลง    ด้วยรูปทรงลมเล่ห์เสน่หา
เป็นผัวเมียเคลียคลอเหมือนมรณา    ก็กลับว่าผีสางเหินห่างกัน
จงหวังพระปรมาศิวาโมกข์    เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน    เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธันดร

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

บทบาทของพระอภัยมณี

บทบาทของพระอภัยมณีอาจกล่าวได้ในฐานะต่างๆ ดังนี้
ฐานะลูก
พระอภัยมณีเป็นโอรสท้าวสุทัศน์กับนางปทุมเกสร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างท้าวสุทัศน์และนางปทุมเกสรกับพระอภัยมณีนั้น กล่าวได้ว่าห่างเหินกันมาก กล่าวคือ พระอภัยมณีมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้องได้รับความอบอุ่นในชีวิตครอบครัวเพียง ๑๕ ปี ก็ต้องจากบ้านไปศึกษาหาความรู้ เมื่อสำเร็จกลับมาก็มีเวลาอยู่เห็นหน้าพ่อแม่ไม่ถึงครึ่งวันก็ต้องออกจากบ้านเมืองระหกระเหินอยู่เป็นเวลานาน

เมื่อไปอยู่เมืองผลึก ในฐานะที่เป็นกษัตริย์น่าที่พระอภัยมณีจะมีโอกาสกลับไปบ้านเมืองเพื่อเห็นหน้าพ่อแม่ ก็มีเหตุที่ทำให้ไม่อาจทิ้งเมืองผลึกไปได้ คือกลัวศึกมาติดเมืองต้องให้ศรีสุวรรณกับสินสมุทรไปแทน กว่าพระอภัยมณีจะมีโอกาสได้ไปกรุงรัตนาก็เมื่อท้าวสุทัศน์กับนางปทุมเกสรตายแล้ว คือไปในพิธีศพ

แม้เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องระหว่างพระอภัยมณีกับท้าวสุทัศน์และนางปทุมเกสรว่ามีน้อยเหลือเกินก็ตาม ในฐานะลูก กล่าวได้ว่าพระอภัยมณีเป็นลูกที่มีความเคารพเชื่อฟังอยู่ ในโอวาทของพ่อแม่ แม้การกระทำของพ่อแม่จะไม่ตรงกับความคิดของตน ก็ไม่ได้แย้งหรือแสดงความไม่พอใจอย่างใด

จะเห็นได้จากคราวที่พระอภัยมณีกลับจากการไปศึกษาหาความรู้ เมื่อท้าวสุทัศน์ทราบว่า พระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ และศรีสุวรรณเรียนวิชากระบี่กระบอง ซึ่งผิดจากความคาดหวังของพระองค์ ก็พิโรธและดูถูกวิชาที่เรียนมาว่าไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด แต่พระอภัยมณีก็ไม่ได้โต้แย้งหรือชี้แจงเพื่อทดลองให้เห็นคุณค่าของวิชาที่เรียนมาให้ประจักษ์

ทั้งนี้น่าจะเนื่องด้วยความคิดของพระอภัยมณีที่มีความเห็นว่าข้อวินิจฉัยทั้งหลายของพ่อแม่นั้น แม้จะไม่ตรงตามความเห็นของตนก็ตาม เป็นสิ่งที่ลูกจะพึงยอมรับ

ครั้นท้าวสุทัศน์ซึ่งโกรธเคืองถึงกับตรัสบริภาษอย่างรุนแรง แล้วขับไล่พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณออกจากบ้านจากเมือง

ลูกกาลีมีแต่จะขายหน้า    ช่างชั่วช้าทุจริตผิดวิสัย
จะให้อยู่เวียงวังก็จัง ไร    ชอบแต่ไสคอส่งเสียจากเมือง

พระอภัยมณีก็ปฏิบัติตามโดยมิได้แสดงความขุ่นเคือง นอกจากรำพันกับศรีสุวรรณด้วยความน้อยใจว่า

พระเชษฐาว่าโอ้พ่อเพื่อนยาก    สู้ลำบากบุกป่าพนาสัณฑ์
มาถึงวังยังไม่ถึงสักครึ่งวัน        ยังไม่ทันทดลองทั้งสองคน
พระกริ้วกราดคาดโทษว่าโฉดเขลา    พี่กับเจ้านี้ก็เห็นไม่เป็นผล
อยู่ก็อายไพร่ฟ้าประชาชน        ผิดก็ด้นดั้นไปในไพรวัน

เมื่อคราวที่พบกับท้าวสิลราช พระอภัยมณีได้เล่าความเป็นมาตั้งแต่ต้นจนกระทั้งมาอยู่ที่เกาะแก้วพิสดารกับพระโยคี พระอภัยมณีเว้นไม่เล่าถึงเหตุการณ์ที่ท้าวสุทัศน์กริ้วถึงกับขับไล่ออกจากวัง

พระบิดา ข้าชื่อท้าวสุทัศน์        ผ่านสมบัติรัตนามหาสถาน
ข้ากับน้องต้องไปเรียนวิชาการ    ตำบลบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา
รูปเรียนกลดนตรีคือปี่เป่า        พระน้องเจ้าเรียยกระบองคล่องนักหนา
อยู่ปีครึ่งจึงจากอาจารย์มา        เที่ยวลีลาเลียบเดินตามเนินทราย
เห็นร่มไทรใกล้ฝั่งเข้ายั้งหยุด        พบบุรุษหนุ่มพราหมณ์สามสหาย
ชวนพูดเล่นเจรจาประสาสบาย    อยู่ที่ชายทะเลลมใต้ร่มไทร
สามมาณพรบเร้าให้เป่าปี่        อยากฟังฝีปากเล่นเป็นไฉน
ครั้นรูปเป่าเข้าก็หลับระงับไป    ไม่แจ้งใจว่าไพรีจะมีมา
พอนางผีเสื้อสมุทรมาฉุดลาก    ต้องกรำกรากตรอมอยู่ในคูหา
เอาความหลังทั้งนั้นมาพรรณนา    จนหนีมาพึ่งบุญพระมุนี

การที่พระอภัยมณีละเว้นไม่เล่าเหตุการณ์ที่ท้าวสุทัศน์กริ้วถึงกับขับไล่พี่น้องทั้งสองออกจากบ้านเมือง ก็เนื่องด้วยไม่ปรารถนาจะให้ท้าวสุทัศน์ได้รับการตำหนิว่าเป็นพ่อที่ขาดเมตตาธรรม เป็นกษัตริย์ที่ขาดความยั้งคิดไตร่ตรอง ขาดเหตุผลที่ควรไม่ควร อันแสดงให้เห็นความเคารพบูชาของพระอภัยมณีที่มีต่อท้าวสุทัศน์

ฐานะพี่
พระอภัยมณีมีความรัก ความห่วงใยศรีสุวรรณเป็นอย่างมาก ความรู้สึกนี้พระอภัยมณีแสดงให้เห็นชัดในคราวที่ถูกนางผีเสื้อยักษ์พาไปอยู่ในถํ้า พระอภัยมณีครวญถึงศรีสุวรรณว่า

โอ้สงสารป่านฉะนี้ศรีสุวรรณ    อยู่ด้วยกันหลัดหลัดมาพลัดพราก
พอตื่นขึ้นยามเย็นไม่เห็นพี่        จะโศกีโหยหาน่าใจหาย
ได้เห็นแต่เจ้าพราหรมณ์ทั้งสามนาย    เข้าผันผายลับตาจะอาวรณ์
นิจจาเอ๋ยเคยเห็นกันพี่น้อง        มาเที่ยวท่องบุกเดินเนินสิงขร
อียักษ์ลักพี่ลงมาในสาคร        จะทุกข์ร้อนว้าเหว่อยู่เอกา

ครั้งเมื่อคราวโดยสารเรืออุศเรนและมาพบกับเรือสินสมุทร เมื่อทราบจากสินสมุทรว่า ศรีสุวรรณก็มาด้วย พระอภัยมณีก็แสดงความดีใจ

พระรู้ว่าอนุชามาด้วยบุตร        ยิ่งแสนสุดชื่นชมสมประสงค์

อนึ่ง ในวรรณคดีไทยทั่วไป ตัวละครที่มีฐานะเป็นพี่มักจะมีบทบาทที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ปกป้องให้ความคุ้มครอง ให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพาอาศัยของน้องอยู่ตลอดเวลา ส่วนพระอภัยมณีซึ่งนับเป็นตัวอย่างของพี่ที่ดีในด้านความรักความห่วงใยน้อง แต่ในด้านที่จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยคอยช่วยเหลือปกป้องน้องนั้นไม่ปรากฎว่าพระอภัยมณีมีบทบาทดังกล่าว ตรงกันข้ามพระอภัยมณีกลับเป็นพี่ที่ได้รับความช่วยเหลือจากน้องศรีสุวรรณต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแก่พระอภัยมณีอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะในการศึกสงคราม ศรีสุวรรณต้องออกทำศึกสงครามช่วยเหลือพระอภัยมณีเกือบจะทุกครั้ง

ฐานะสามี
ในฐานะสามี พระอภัยมณีดูจะเป็นสามีที่ไม่น่ายกย่องนักในหลายประการ ประการแรกได้แก่ การเป็นสามีที่เจ้าชู้มีเมียมาก พระอภัยมณีมีเมีย ๔ คน เป็นมนุษย์ ๒ คน ได้แก่ นางสุวรรณมาลีกับ นางละเวง เป็นอมนุษย์ ๒ ตน คือนางผีเสื้อยักษ์กับนางเงือก

บรรดาเมียทั้งสี่ของพระอภัยมณี ยกไว้เฉพาะนางผีเสื้อยักษ์ที่พระอภัยมณีต้องจำใจอยู่ร่วมด้วย เพราะมีความเกรงกลัวอำนาจของนาง มิได้เกิดจากความรัก ความปรารถนาของตน

ข้อที่น่าตำหนิก็คือเมื่อได้นางเงือกเป็นชายาแล้ว พอได้พบนางสุวรรณมาลีก็แสดงนิสัยเจ้าชู้ รักนางอย่างจับใจขึ้นมาทันที ปรารถนาจะได้นางมาเป็นชายา ถึงกับอุบายขอให้พระโยคีฝากให้โดยสารไปกับเรือ โดยหวังจะอยู่ใกล้ชิดกับนางเพื่อให้ความปรารถนาของตนสมประสงค์ โดยมิได้นึกถึงหรือเป็นห่วงนางเงือกที่ต้องว้าเหว่อยู่ที่เกาะเลย

เมื่อได้อภิเษกกับนางสุวรรณมาลีสมปรารถนาแล้ว ได้พบกับนางละเวงกลางสนามรบครั้งที่ยกกองทัพข้ามไปตีลังกาครั้งแรก พระอภัยมณีกลับหลงใหลนางละเวง แสดงความเจ้าชู้เกี้ยวพาราสีทั้งๆ ที่อยู่ในระหว่างการรพุ่งกันอยู่ ปรารถนาจะได้นางมาเป็นชายาอีกโดยมิได้คิดว่านางละเวงเป็นศัตรู และตนเองก็มีมเหสีอยู่แล้ว

การแสดงความเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิงโดยหวังจะได้นางมาเป็นคู่ครอง ทั้งๆ ที่มีคู่ครองอยู่เป็นตัวเป็นตนแล้ว นับเป็นข้อตำหนิในประการที่สอง คือเป็นสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อภรรยา

การที่ผู้ชายเป็นคนเจ้าชู้และมีเมียมากอย่างพระอภัยมณี หรือพระเอกในวรรณคดีไทยเรื่องอื่นอย่างนี้ อาจจะไม่เป็นข้อเสียหาย หรือเป็นค่านิยมของสังคมไทยในยุคนั้น เพราะมิฉะนั้นลักษณะเช่นนี้คงจะไม่มีปรากฎในวรรณคดีไทยเกือบทุกเล่ม หากค่านิยมของสังคมเป็นดังที่ปรากฎเช่นนี้ และพระอภัยมณีจะอยู่ในข่ายที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกตำหนิในข้อประพฤติสองประการนั้น ก็ต่อเมื่อพระอภัยมณีจะมีความรับผิดชอบต่อภรรยาทุกๆ คนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

แต่พฤติกรรมของพระอภัยมณีแสดงให้เห็นว่า เป็นสามีที่ขาดความรับผิดชอบ นับแต่นางเงือก แม้พระอภัยมณีจะไม่ได้แสดงว่ารักนอกจากความสงสารก็ตามก็น่าที่จะมีความสำนึกในความรับผิดชอบคอยดูแลให้ความสุขตามฐานะอันควร ปกป้องอันตรายอันอาจจะมีขึ้น แต่เมื่อได้พบนางสุวรรณมาลี พระอภัยมณีก็หลงใหล อุบายขอโดยสารเรือไปด้วย สามารถทอดทิ้งนางเงือกให้ผจญชีวิตอยู่ตามลำพัง โดยปลอบใจนางแต่เพียงว่า

สักปีครึ่งจึงจะกลับมารับน้อง    อย่ามัวหมองหมางจิตคิดสงสัย

ครั้นนางเงือกร้องไห้บอกถึงความหวาดกลัวภัยจากนางผีเสื้อยักษ์ ทั้งในเวลานั้นนางก็กำลังมีครรภ์ พระอภัยมณีก็อ้อนวอนให้เลิกร้องไห้โดยอ้างว่า

อย่าครวญคร่ำกำสรดสลดนัก    วิมลพักตร์ผิวน้องจะหมองไฉน
ถึงตัวไปใจเฝ้าอยู่เล้าโลม        จริงนะโยมเงือกน้อยกลอยฤทัย
ถ้าโฉมฉายวายวางเหมือนย่างว่า    เหมือนแกล้งฆ่าผัวรักให้ตักษัย
จงผ่อนตามทรามถนอมอย่าตรอมใจ    เหมือนช่วยให้พี่ยาไปธานี

แล้วพระอภัยมณีก็จากนางเงือกไปอย่างที่แสดงให้เห็นว่านางเงือกไม่มีความหมายอีกต่อไป

ส่วนนางสุวรรณมาลีนั้น พระอภัยมณีก็มีพฤติกรรมแสดงให้เห็นว่าขาดความรับผิดชอบ กล่าวคือเมื่อได้พบนางละเวงที่สนามรบ พระอภัยมณีก็หลงรักเพียรพยายามเฝ้าประโลมจนได้นางมาเป็นชายา แล้วหลงเสน่ห์นางละเวงทอดทิ้งให้นางสุวรรณมาลีรับภาระในการปกครองบ้านเมืองแต่ลำพังเป็นเวลาถึง ๒ ปี

ยิ่งกว่านั้น เมื่อนางสุวรรณมาลียกกองทัพข้ามมาถึงลังกาทำสงครามรบพุ่งกันใหญ่โตกว่าจะยุติได้ก็ต้องอาศัยเดชะบารมีของพระโยคี เมื่อเหตุการณ์สงบทุกฝ่ายต่างปรองดองเข้าใจกันแล้ว พระอภัยมณีก็กลับเมืองผลึก ซึ่งแม้ในครั้งแรกพระอภัยจะไม่กล้าชวนละเวงไปเมืองผลึกด้วย เพราะเกรงใจนางสุวรรณมาลี แต่พระอภัยมณีก็มิได้สนใจที่จะมาเยี่ยมเยียนกลับทอดทิ้งปล่อยให้นางละเวงอยู่ที่ลังกา ถึง ๑๘ ปี

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเกิดศึกมังคลา พระอภัยมณีต้องมาลังกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อระงับศึก และเมื่อศึกสงบ พระอภัยมณีหมายจะประโลมนางละเวง แต่ด้วยความน้อยใจที่พระอภัยมณีทอดทิ้งนางจึงไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องด้วย โดยกล่าวตัดพ้อว่า

แต่ห่างเหินเนิ่นนานหม่อมฉานเล่า    มีลูกเต้ามัวหมองไม่ผ่องใส
เคยชิดชมขมหวานประการใด        มิใช่ไม่เคยเห็นจงเอ็นดู
สิบแปดปีนี่แล้วที่เป็นหม้าย            จนเหลืออายอัปยศต้องอดสู
มีลูกเต้าเล่าก็พลัดเป็นศัตรู            คิดก็รู้อยู่ว่ากรรมให้จำเป็น
เมื่อรุ่นสาวคราวพบต้องรบผัว        ครั้นแก่ตัวรบกับลูกถูกแต่เข็ญ
แสนอาภัพรับแต่ร้อน ไม่ผ่อนเย็น        พระก็เห็นก็รู้อยู่ด้วยกัน

พระอภัยมณีเป็นสามีประเภทเจ้าชู้ เกรงใจเมีย เฉพาะนางสุวรรณมาลีดูพระอภัยมณีจะเกรงใจอยู่มาก เช่นในคราวที่พระอภัยมณีจะกลับเมืองผลึก ในใจอยากจะพานางละเวงไปด้วย ก็เกรงว่านางสุวรรณมาลีจะไม่ยอม

ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลลักษ์ณ์    ไม่สิ้นรักวัณลามารศรี
คิดจะพาไปอยู่ร่วมบูรี            เกรงสุวรรณมาลีจะมิยอม

ครั้นจะไม่ชวนก็เกรงว่านางละเวงจะน้อยใจ ก็แสร้งทำทีว่าอยากจะชวนนางไปงานพิธีอภิเษกโอรสกับหลานที่เมืองรมจักรและเมืองการะเวก แต่ก็เกรงว่าทางลังกาจะมีศึกจึงขอให้นางอยู่รักษาเมือง

คิดจะใคร่ให้วัณลายุพาพาล        ไปช่วยงานอภิเษกเอกโอรส
แต่คนอยู่บูรีหามีไม่            หนทาง ไกลเกลือกว่าจะเกิดกบฏ
จงครองวังลังการักษายศ        เลี้ยงโอรสในครรภ์ของกัลยา

เมื่อถึงวันจะเดินทาง พระอภัยมณีจะไปรํ่าลานางละเวงก็เกรงนางสุวรรณมาลี

ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม    เสียงประโคมยามสองให้หมองศรี
จะไปสั่งวัณลาเกรงมาลี    แกล้งพาทีเพทุบายให้ตายใจ

ฐานะพ่อ
พระอภัยมณีมีโอรสและธิดาที่เกิดจากแม่ทั้ง ๔ ได้แก่ สินสมุทร สุดสาคร สร้อยสุวรรณ กับ จันทร์สุดา และมังคลา ไม่นับสร้อยสุวรรณ กับจันทร์สุดา ธิดาแฝดที่เกิดจากนางสุวรรณมาลี ซึ่งกล่าวได้ว่าพระอภัยมณีได้ทำหน้าที่ของความเป็นพ่ออย่างไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก จะมีแต่สินสมุทรที่เกิดจากนางผีเสื้อเท่านั้นที่พระอภัยมณีมีความผูกพันให้ความรักความอาทรห่วงใยมาตั้งแต่เกิด ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากความใกล้ชิดที่มีมาตั้งแต่ต้น

ส่วนอีก 2 คน คือ สุดสาคร กับ มังคลา นั้น พระอภัยมณีทอดทั้งมิได้ให้ความเอาใจใส่ ตั้งแต่โอรสทั้งสองยังไม่เกิด ทั้งๆ ที่เมื่อพระอภัยมณีจะจากไปก็รู้ดีว่านางกำลังมีครรภ์ แต่ก็มิได้แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นห่วงเป็นใย ปรารถนาจะได้เห็นหน้า กับนางเงือก พระอภัยมณีกล่าวแต่เพียงว่าจะฝากฝังพระโยคีให้ช่วยดูแล

ซึ่งทรงครรภ์นั้นอย่าได้ปรารภ    จงนอบนบนับถือพระฤาษี
จะฝากฝังสั่งไว้ด้วยไมตรี        ให้เป็นที่พึ่งพาสีกาโยม

ส่วนนางละเวงนั้นพระอภัยมณีบอกแก่นางว่า

ขอฝากบุตรสุดใจที่ในครรภ์        ให้สืบพันธุ์พงศ์กษัตริย์สวัสดี

หลังจากนั้นพระอภัยมณีก็มิได้มีความคิดคำนึงเลยว่าโอรสทั้งสองจะเกิดมามีทุกข์มีสุขอย่างไร สุดสาครถูกทอดทิ้งให้อยู่ที่เกาะแก้วพิสดารกับนางเงือก และพระดาบสตามลำพัง ส่วนมังคลาน่าที่พระอภัยมณีจะไปเยี่ยมเยียนได้โดยสะดวก ก็ถูกปล่อยให้อยู่กับนางละเวงจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่

การทอดทิ้งไม่สนใจลูกของพระอภัยมณีเช่นนี้ ทำให้ความผูกพันระหว่างพระอภัยมณีกับลูกทั้งสอง คือสุดสาคร กับมังคลา ไม่มีเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้พระอภัยมณีจะมิได้มีความคิดคำนึงแสดงความห่วงใยสุดสาครในตอนต้น แต่เมื่อได้พบกันแล้ว โดยความรู้สึกของผู้เป็นพ่อ พระอภัยมณีได้แสดงความรักใคร่ห่วงใยสุดสาครอย่างลึกซึ้งไม่ต่างจากความรู้สึกที่มีต่อสินสมุทรเลย

ส่วนมังคลานั้นพระอภัยมณีมิได้มีความผูกพันมาก่อน ฉะนั้น เมื่อได้พบกับมังคลาในลักษณะคู่ศึก ความรู้สึกความเป็นพ่อของพระอภัยมณีก็หมดไปโดยสิ้นเชิง

ฐานะกษัตริย์
หน้าที่หรือกิจที่สำคัญของกษัตริย์ตามคตินิยมที่ปรากฏในวรรณคดีไทยทั้งหลายมี ๒ ประการ คือ ด้านการรบและด้านการปกครอง

ในด้านการรบ
แม่โดยลักษณะพระอภัยมณีจะเป็นกษัตริย์ศิลปินมากกว่าที่จะเป็นกษัตริย์นักรบก็ตาม พระอภัยมณีก็ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ในกลยุทธ ดังจะเห็นได้จากคราวที่อาศัยเรืออุศเรนมา และได้พบกับเรือของสินสมุทรกับศรีสุวรรณ ทั้งสองฝ่ายจะทำศึกกัน พระอภัยมณีคิดที่จะห้ามโดยอธิบายอุบายศึกให้อุศเรนฟังว่า

เป็นไรมีที่ตรงจะยงยุทธ        การบุรุษรู้สิ้นทุกถิ่นฐาน
อันแยบยลกลศึกสี่ประการ        เป็นประธานที่ในกายของนายทัพ
ประการหนึ่งถึงจะโกรธพิโรธร้าย    หักให้หายเหือดไปเหมือนไฟดับ
ค่อยคิดอ่านการศึกใหัลึกลับ        แม้จะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย
อนึ่งว่าข้าศึกยังฮึกฮัก            จะโหมหักเห็นไม่ได้ดังใจหมาย
สืบสังเกตเหตุผลกลอุบาย        ดูแยบคายคาดทั้งกำลังพล
อนึ่งให้รู้รบที่หลบไล่            ทหารไม่เคยศึกต้องฝึกฝน
ทั้งถ้อยคำสำหรับบังคับคน        อย่าเวียนวนวาจาเหมือนงาช้าง
ประการหนึ่งซึ่งจะชนะศึก        ต้องตรองตรึกยักย้ายให้หลายอย่าง
ดูท่วงทีกิริยาให้ท่าทาง            อย่าละวางไว้ใจแก่ไพรี
โดยที่พระอภัยมณีมีแม่ทัพ ขุนศึก ซึ่งได้แก่อนุชา โอรส และพระญาติวงศ์ที่มีความสามารถ มีฝีมือในการรบแวดล้อมซึ่งพร้อมที่จะให้คำปรึกษาและออกทำการรบอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ การศึกสงคราม แต่ละครั้งพระอภัยมณีจึงไม่ค่อยได้ออกรบแสดงฝีมือให้ปรากฏ และอีกประการหนึ่งโดยลักษณะนิสัยของพระอภัยมณีเป็นผู้ที่รักความสงบ ไม่ชอบความรุนแรง นอกจากจะไม่ปรารถนาที่จะรบแล้ว ยังปรารถนาที่จะไม่ให้ผู้อื่นรบด้วย มักจะคอยห้ามมิให้ทำศึกสงครามกัน จึงทำให้ดูเหมือนว่าพระอภัยมณีเป็นกษัตริย์ที่ขี้ขลาด

แท้จริงแล้วพระอภัยมณีมิได้เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องออกรบเอง พระอภัยมณีก็ได้แสดงให้เห็นความกล้าหาญ แสดงฝีมือความสามารถในการรบ เช่นในคราวที่ออกรบและพบกับนางละเวงครั้งแรกในสนามรบ

พระอภัยใจกล้าเห็นข้าศึก            ลุกสะอึกองอาจฟาดพระแสง
นางแทงอีกหลีกเลี่ยงก็เพลี่ยงแพลง    พระต่อแย้งยกปืนขึ้นยืนยิง
ถูกปากม้าพาโลดกระโดดดีด        นางร้องหวีดเต็มเสียงสำเนียงหญิง
ครั้นรู้สึกนึกอายในใจจริง            นางควบมิ่งม้ากลับไปทัพชัย

ทางด้านการปกครอง
กล่าวได้ว่าพระอภัยมณีเป็นนักปกครองที่ดี รู้จักใช้คนตรงตามความสามารถของบุคคลนั้น โดยพระอภัยมณีไม่ต้องลงมือทำงานเองทั้งหมด เช่น ในการรบก็มีศรีสุวรรณ สินสมุทรและสุดสาคร ซึ่งมีฝีมือในการรบออกรบแทน พระอภัยมณีจะลงมือกระทำเองเมื่อถึงคราวจำเป็น เช่นในคราวที่นำกองทัพข้ามไปตีลังกาครั้งแรกและออกรบแสดงฝีมือเองคราวที่พบกับนางละเวงในสนามรบ

พระอภัยมณีรักคนมีวิชาความรู้และรับเข้ามาช่วยราชการโดยมิได้รังเกียจเดียดฉันท์ว่าจะมีพื้นเพตระกูลเดิมสูงต่ำประการใด ดังจะเห็นได้จากนางวาลีเข้ามาถวายตัวขอเป็นมเหสีเมื่อพระอภัยมณีได้ทราบว่านางมีวิชาความรู้ก็ให้รับไว้และให้ตำแหน่งเป็นสนมเอก และนางวาลีก็ได้ใช้สติปัญญาอุบายให้นางสุวรรณมาลีรีบสึกออกมาอภิเษกกับพระอภัยมณีได้ ทั้งยังวางแผนรบชนะอุศเรน ตลอดจนใช้คำพูดฆ่าอุศเรนได้อีกด้วย

พระอภัยมณีเป็นนักปกครองที่ไม่เห็นประโยชน์สุขแต่เฉพาะตน เมื่อพระองค์ได้ครองราชสมบัติ เมืองผลึก มีความสุข ก็นึกถึงผู้ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาว่าควรจะได้รับลาภยศและความสุขด้วย จึงได้ประทานทรัพย์สินเงินทองแก่บริวารที่ติดตามมาแต่เกาะแก้วพิสดารโดยทั่วหน้ากัน

แล้วรางวัลบรรดาสานุศิษย์            ซึ่งตามติดปรนนิบัติไม่ขัดสน
ล้วนจีนจามพราหมณ์แขกฝรั่งปน        ทั้งร้อยคนคู่ยากลำบากมา
ประทานเมียสาวสาวชาวน้อยน้อย    ถ้วนทั้งร้อยรูปงามตามภาษา
กับกำปั่นบรรทุกเกลือข้าวปลา        ทั้งเงินห้าร้อยทั่วทุกตัวคน

พระอภัยมณีเป็นนักปกครองที่มีความรอบคอบ โดยเฉพาะในการปกครองบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากการส่งคนไปประจำไว้ในที่ต่างๆ คอยแจ้งเหตุศึก เพื่อจะได้เตรียมการป้องกันได้ทันท่วงที

ให้ไปอยู่บูรีรอบขอบประเทศ        คอยแจ้งเหตุตื้นลึกศึกสิงหล
ให้มีไพร่ไว้สำหรับอยู่กับตน        ทั้งร้อยคนคนละร้อยไม่น้อยใจ

ความเป็นนักปกครองที่ดีอีกประการหนึ่งของพระอภัยมณีก็คือ การฟังความเห็นของที่ปรึกษา ไม่ดึงคนที่จะกระทำตามความคิดเห็นของตนโดยไม่มีเหตุผล ในคราวที่อุศเรนยกกองทัพมาตีเมืองผลึก พระอภัยมณีก็ขอคำปรึกษามาจากนางวาลีว่า

พระอภัยได้ความให้ขามศึก        อุตส่าห์ตรึกตรองอุบายเป็นหลายเล่ห์
จะรบพุ่งกรุง ไกรใกล้ทะเล        ให้ว้าเหว่วิญญาเอกากาย
เป็นห่วงหลังระวังหน้าหนักหนานัก    พระน้องรักลูกน้อยก็คอยหาย
ยิ่งตรองตรึกนึกไปไม่สบาย        จึงภิปรายปรึกษานางวาลี
ศึกมายั้งตั้งกระบวนจะจวนข้าม    มาสงครามรบพุ่งถึงกรุงศรี
จะจัดแจงแต่งทหารออกต้านตี    หรือจะหนีนางเห็นเป็นอย่างไร

เมื่อนางวาลีอธิบายกลอุบายในการทำศึก พระอภัยมณีก็เห็นด้วยและปฏิบัติตามจนได้ชัยชนะต่ออุศเรน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักปกครองพฤติกรรมบางอย่างของพระอภัยมณีที่ควรจะได้รับการตำหนิก็มีอยู่ กล่าวคือการกระทำตามความพอใจ ความปรารถนาของตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิง โดยลืมนึกถึงความรับผิดชอบที่มีอยู่ ดังจะเห็นได้จากคราวที่ทำศึกกับลังกา ในขณะที่ศรีสุวรรณกับสินสมุทรต้องรับศึกหนัก พระอภัยมณีกลับตามนางยุพาผกาเข้าไปในเมืองลังกาเพื่อจะได้พบนางละเวงที่รักใคร่หลงใหล โดยไม่บอกกล่าวใครทั้งสิ้น เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วทั้งกองทัพ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

พระอภัยมณีพระเอกศิลปิน

พระอภัยมณี ตัวละครเอกของนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี เป็นตัวละครเอกที่แปลกจากตัวละครเอกในวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ หลายประการ ทั้งในด้านบุคลิกลักษณะ บทบาทและพฤติกรรม

พระอภัยมณีมิใช่กษัตริย์นักรบที่รักการต่อสู้ผจญภัย แต่พระอภัยมณีเป็นกษัตริย์ศิลปินที่มีความสามารถในทางดนตรี ปรารถนาความอ่อนหวานในชีวิตและรักสันติ

พระอภัยมณีเป็นตัวละครเอกของเรื่องที่มีบทบาทไม่เด่นอย่างตัวละครเอกของวรรณคดีเรื่องอื่นๆ กล่าวคือ พระอภัยมณีมิได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของตัวละครอื่น แต่เป็นตัวละครเอกที่กลับได้รับความช่วยเหลือจากตัวละครอื่นอยู่ตลอดเวลา นับเป็นตัวละครเอกที่มีลักษณะตรงข้ามกับตัวละครเอกของนิทานประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม พระอภัยมณีก็เป็นตัวละครเอกที่มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างบุคคลทั่วไป มีข้อดี ข้อบกพร่อง มีข้อผิดพลาด เป็นอย่างที่บุคคลเป็นจริงมี โดยเฉพาะพระอภัยมณีมีความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ พระอภัยมณีจึงอยู่ในความทรงจำของท่านผู้อ่านได้ดีเป็นพิเศษ ทั้งยังดำรงฐานะความเป็นตัวละครเอกของเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ตลอดไป

ประวัติชีวิตและพฤติกรรม
พระอภัยมณี โอรสท้าวสุทัศน์แห่งกรุงรัตนา มารดาชื่อนางปทุมเกสร เมื่อเจริญวัย พระอภัยมณีพร้อมด้วยอนุชาชื่อศรีสุวรรณก็เดินทางไปศึกษาวิชาความรู้สำหรับกษัตริย์ อันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ในการศึกษาวิชานั้น พระอภัยมณีได้ตัดสินใจเลือกวิชาเป่าปี่ ด้วยเหตุผลที่กล่าวแก่ศรีสุวรรณว่า

แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลง        หมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นประโลมโลก    ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง

ส่วนศรีสุวรรณเลือกเรียนวิชากระบี่กระบอง

พระอภัยมณีได้เรียนวิชาเป่าปี่กับพินทพราหมณ์เป็นเวลานาน ๗ เดือน มีความสามารถในการบรรเลงเพลงปี่อย่างล้ำเลิศ ใครได้ยินได้ฟังก็ให้รู้สึกไพเราะจับใจ ปล่อยอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มไปกับท่วงทำนองและกระแสเสียงที่วิเวกหวาน จนหลับไปในที่สุด

เมื่อพี่น้องทั้งสองเสร็จสิ้นการศึกษาก็ลาอาจารย์กลับบ้านเมืองด้วยความภาคภูมิใจในวิชาความรู้เป็นเลิศที่ตนได้เลือกศึกษาเล่าเรียนมา แต่การณ์กลับปรากฎตรงกันข้าม เมื่อท้าวสุทัศน์ได้ทราบถึงวิชาความรู้ที่โอรสทั้งสองได้ศึกษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะวิชาดังกล่าวมิใช่วิชาสำหรับกษัตริย์ ที่จะใช้ในการปกครองบ้านเมือง ก็ให้ขัดเคืองพระทัยถึงกับขับไล่โอรสทั้งสองออกจากบ้านเมืองไปทันที

พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณซึ่งกลับถึงบ้านเมืองไม่ทันได้ครึ่งวันไม่มีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ ก็ต้องเดินทางออกจากบ้านจากเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยมีฐานะอย่างคนธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ในฐานะรัชทายาท

ทั้งสององค์พากันเดินทางบุกป่าฝ่าดงได้เป็นเวลา ๓ เดือน ก็ได้พบบุตรพราหมณ์ ๓ คน ได้แก่ โมรา สานน และวิเชียร หลังจากที่ได้ไต่ถามถึงชาติตระกูลและวิชาความรู้ที่มีประจำตนแล้ว พระอภัยมณีก็ได้แสดงคุณของวิชาดนตรีตอบข้อสงสัยของบุตรพราหมณ์ทั้ง ๓ คนนั้นว่า

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป        ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช        จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน        ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ        อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา

เมื่อแสดงคุณของดนตรีดังนั้นแล้วเพื่อให้บุตรพราหมณ์ทั้งสามได้คลายสงสัยพระอภัยมณีจึงหยิบปี่ที่อาจารย์ให้มาขึ้นเป่าให้ฟัง ด้วยอำนาจแห่งกระแสเสียงของเพลงปี่ที่วิเวกวังเวงใจ ทำให้สามพราหมณ์และศรีสุวรรณเคลิ้มหลับไปในที่สุด ขณะนั้นเองนางผีเสื้อสมุทรตนหนึ่ง ซึ่งกำลังออกหากินได้ยินเสียงเพลงปี่ตามมาจนพบพระอภัยมณีให้บังเกิดความรักใคร่ จึงตรงเข้าอุ้มเอาพระอภัยมณีไปถํ้าที่อาศัย แล้วแปลงร่างเป็นนางงามปรนนิบัติให้ความสุขตั้งแต่บัดนั้น

พระอภัยมณีอยู่ร่วมกับนางผีเสื้อยักษ์อย่างไม่มีความสุขนัก จนมีบุตรคนหนึ่งชื่อ สินสมุทร แล้ววิถีชีวิตของพระอภัยมณีก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อวันหนึ่งสินสมุทรซึ่งขณะนั้นอายุได้ ๘ ปี ขณะที่นางผีเสื้อยักษ์ไม่อยู่ได้เปิดหินที่ปิดปากถํ้าหนีออกไปเล่นนํ้าในทะเล ได้พบนางเงือกตัวหนึ่งโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไรจึงจับมาให้พระอภัยมณีได้ดู และเมื่อเงือกได้เสนอให้ความช่วยเหลือพระอภัยมณี ซึ่งคิดจะหนีนางผีเสื้อยักษ์อยู่ตลอดเวลาได้โอกาสจึงขอให้เงือกช่วยพาหนี

การหนีนางผีเสื้อยักษ์เป็นไปอย่างไม่สะดวกนัก เงือกสองตายายต้องเสียชีวิตถูกนางผีเสื้อยักษ์จับกินด้วยความแค้น แต่พระอภัยมณีกับสินสมุทรพร้อมด้วยลูกสาวเงือกก็สามารถไปถึงเกาะแก้วพิสดารได้โดยปลอดภัย ซึ่ง ณ ที่นั้น พระอภัยได้พบกับโยคีซึ่งให้ความคุ้มครองให้รอดพ้นอันตรายจากนางผีเสื้อยักษ์ และบรรดาพวกต่างชาติที่เรือแตกมาอาศัยอยู่ที่เกาะนั้น

ระหว่างที่อยู่เกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีซึ่งได้แสดงความรู้สึกต้องใจในรูปโฉมของนางเงือกเมื่อพบครั้งแรกที่ถํ้าของนางผีเสื้อยักษ์ ได้มาพูดจาโอ้โลมจนนางเงือกยอมตกลงปลงใจเป็นชายา

พระอภัยมณีคงต้องอาศัยอยู่ที่เกาะแก้วพิสดารในเพศนักบวชตลอดไป หากท้าวสิลราชซึ่งพานางสุวรรณมาลี ธิดาสาวมาประพาสทะเล จะไม่พลัดหลงทางกับขบวนเรือจนมาถึงเกาะแก้วพิสดารนั้น จากการที่ได้พบนางสุวรรณมาลีซึ่งมีรูปโฉมงดงามเป็นเหตุให้พระอภัยมณีบังเกิดความรักใคร่หลงใหลนาง และด้วยความปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิดนางเพื่อให้ความรักได้สมประสงค์ พระอภัยมณีจึงทำอุบายขอให้โยคีฝากตนกับสินสมุทรไปกับเรือโดยอ้างว่าอยากจะกลับไปบ้านเมือง

ระหว่างเดินทางกลับนั้น พระอภัยมณีได้ทราบว่านางมีคู่หมั้นแล้ว แต่ด้วยความรัก ก็เฝ้าตาม ประโลมจนนางสุวรรณมาลีปลงใจรัก แต่เคราะห์ร้ายเมื่อนางผีเสื้อสมุทรซึ่งถูกโยคีขับไล่และวนเวียนอยู่บริเวณนั้น รู้ว่ามีเรือแล่นออกไปจากเกาะ จึงออกติดตามและสำแดงฤทธิ์จนเรือล่ม ท้าวสิลราชจมน้ำสิ้นพระชนม์ บรรดาข้าราชบริพารต่างพากันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ส่วนพระอภัยมณีกับสานุศิษย์โยคีมิได้เป็นอันตรายพากันขึ้นฝั่งได้ นางผีเสื้อยักษ์ก็ไม่อาจทำอันตรายได้ด้วยเกรงมนต์ที่โยคีให้ไว้ จึงตามผจญไปจนพระอภัยมณีกับพวกพากันขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง นางผีเสื้อไม่สามารถติดตามขึ้นไปได้จึงบันดาลให้ฝนและลูกเห็บตกต้องผู้คนเหล่านั้นได้รับความเจ็บปวดยิ่งนัก พระอภัยมณีเห็นสุดที่จะทนทานได้แล้ว จึงลาพรตและเป่าปี่ขึ้นเสียงเอกจนนางผีเสื้อยักษ์ไม่สามารถจะทนเสียงปี่ได้ถึงแก่ความตายที่เชิงเขานั้นเอง

พระอภัยมณีกับพวกอยู่ที่เขานั้นถึง ๕ เดือน จนกระทั่งอุศเรนโอรสเจ้าลังกาซึ่งเป็นคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี รู้ข่าวว่านางประพาสทะเลและเรือพลัดหลงหายไป จึงออกเรือติดตามหามาจนถึงเขาที่พระอภัยมณีกับพวกอาศัยอยู่ หลังจากที่ไต่ถามได้ความแล้วพระอภัยมณีก็รู้ว่าอุศเรนคือคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี ทั้งๆ ที่ตนเองก็มีความรักนาง แต่ก็เห็นว่าควรจะผูกไมตรีไว้ จึงไม่บอกความในใจระหว่างตนกับนางสุวรรณมาลีให้อุศเรนได้ทราบ เพียงแต่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนที่เรือล่ม หลังจากนั้นพระอภัยมณีจึงได้อาศัยไปกับเรือเที่ยวตามหานางต่อไป

โดยบังเอิญ เรืออุศเรนได้พบกับเรือสินสมุทรกับศรีสุวรรณ เมื่ออุศเรนทราบว่านางสุวรรณมาลี อยู่ในเรือนั้นด้วยก็ขอนาง แต่สินสมุทรไม่ยอมให้ อุศเรนจึงเตรียมการรบเพื่อชิงนาง แล้วขอคำปรึกษาพระอภัยมณี พระอภัยมณีรู้ว่าเป็นสินสมุทรจึงออกอุบายเป่าปี่เรียกสินสมุทร แล้วพาอุศเรนไปพบกับศรีสุวรรณเพื่อปรึกษาความกัน โดยที่พระอภัยมณีก็มีความรักในตัวนางสุวรรณมาลีแต่ก็ต้องการให้อุศเรนเห็นว่าตนนึกถึงบุญคุณของอุศเรนที่รับให้โดยสารเรือ และโดยที่พระอภัยมณีก็รู้ถึงจิตใจของนางว่ามีใจผูกพันกับตนอยู่ ทั้งเข้าใจความคิดความรู้สึกของสินสมุทรว่าจะตัดสินอย่างไร พระอภัยมณีจึงแกล้งบอกสินสมุทรให้ไปถามคนกลางคือ นางสุวรรณมาลีว่าจะตัดสินอย่างไร และการณ์ก็เป็นไปตามที่คาดหมายคือสินสมุทรตัดสินใจเองว่าไม่ยอมคืนนางสุวรรณมาลี พระอภัยมณีจึงแกล้งบอกให้สินสมุทรนึกถึงคุณค่าของความสัตย์ และห้ามอุศเรนมิให้รบแต่ก็ไม่เป็นผล

เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์จะลุกลามไปจนถึงขั้นรบแตกหัก พระอภัยมณีซึ่งพอจะเดาได้ว่าผลการรบจะลงเอยอย่างไร จึงบอกแก่ทุกคนว่าจะวางตัวเป็นกลาง แล้วตรัสห้ามสินสมุทรไว้ล่วงหน้ามิให้ฆ่าอุศเรน และผลการรบปรากฏว่าอุศเรนแพ้ถูกสินสมุทรจับได้จึงเป็นโอกาสของพระอภัยมณีที่จะตอบแทนบุญคุณอุศเรน จึงให้ปล่อยอุศเรนเป็นอิสระทันที พร้อมทั้งคืนอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ยึดได้ให้แก่ธุศเรนทั้งหมด

เมื่อพระอภัยมณีเดินทางไปถึงเมืองผลึก นางมณฑามเหสีท้าวสิลราชได้มอบราชสมบัติให้ ส่วนนางสุวรรณมาลีเข้าใจผิดคิดแค้นพระอภัยมณีว่าไม่มีความอาลัย ผิดคำสัตย์จะยอมยกนางให้แก่อุศเรน จึงหาทางเลี่ยงไปบวชอยู่ที่เชิงเขารุ้งพร้อมด้วยสินสมุทร อรุณรัศมีและนางกำนัล พระอภัยมณี ไม่อาจจะทัดทานได้ จึงจัดการบ้านเมืองรอการอภิเษกและโดยที่ตระหนักว่าอุศเรนคงจะมาทำศึกอีก จึงให้ป่าวร้องหาคนดีมีวิชาและมีฝีมือในการรบมาช่วยราชการ

ครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางวาลี รูปร่างนางนั้นขี้ริ้วอัปลักษณ์แต่มีความรอบรู้ในคัมภีร์ไตรเภท รู้ฤกษ์ต่างๆ เจนจบ นางวาลีมีใจใฝ่สูงจะใคร่ได้พระอภัยมณีเป็นสามี ครั้นทราบข่าวว่าพระอภัยมณีต้องการคนดีมีวิชา จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระอภัยมณีได้เห็นรูปร่างหน้าตาของนางอัปลักษณ์ก็จริง แต่เมื่อพิจารณาท่วงท่าก็คาดว่านางจะมีอะไรดี จึงไต่ถามจนเป็นที่พอใจว่านางมีวิชาความรู้พอที่จะรับเข้าทำราชการได้ เมื่อทราบความประสงค์ของนางแล้ว พระอภัยมณีก็ได้เมตตาตั้งให้เป็นพระสนมเอก และด้วยปัญญาของนางวาลีทำให้พระอภัยมณีได้อภิเษกกับนางสุวรรณมาลีได้สมประสงค์ ต่อจากนั้น พระอภัยมณีจึงให้ศรีสุวรรณพาสินสมุทรและอรุณรัศมีไปเฝ้าท้าวสุทัศน์และนางปทุมเกสรที่เมือง รัตนา

พระอภัยมณีได้ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ได้ประทานรางวัลแก่พวกที่ติดตามมาตั้งแต่เกาะแก้วพิสดารโดยทั่วถึงกันทุกคน แล้วโปรดให้กลับไปยังบ้านเมืองของตนคอยฟังข่าวเรื่องเมืองลังกา โดยสั่งว่าหากมีเหตุการณ์อะไรให้รีบนำความมาบอก

พระอภัยมณีอภิเษกนางสุวรรณมาลีไม่นาน นางสุวรรณมาลีได้ประสูติพระธิดาแฝด นามว่า สร้อยสุวรรณ และจันทร์สุดา

ระหว่างที่ศรีสุวรรณและสินสมุทรอยู่ที่กรุงรัตนานั้น อุศเรนซึ่งต้องรักษาพระชงฆ์ที่ถูกปืนแล้วประชวร เมื่ออาการดีขึ้นบ้างแล้วก็ให้เกณฑ์ทัพเตรียมยกมาประชิดติดเมืองผลึก

พระอภัยมณีเมื่อทราบข่าวศึกก็ให้วิตกเนื่องจากพระอนุชาและพระโอรสยังไม่กลับจากเมืองรัตนา จึงต้องปรึกษาการศึกกับนางวาลี ก็ด้วยอุบายกลยุทธของนางวาลีทัพลังกาต้องพ่ายแพ้แก่เมืองผลึก เจ้าลังกาต้องธนูของนางวาลีได้รับบาดเจ็บหนีไป ส่วนอุศเรนนั้นถูกจับได้

พระอภัยมณี ซึ่งยังระลึกถึงบุญคุณของอุศเรนอยู่ พยายามเกลี้ยกล่อมอย่างละมุนละม่อมให้เลิกราอย่าได้ยกกองทัพมารบกันอีกต่อไป และจะปล่อยให้อุศเรนเป็นอิสระอีก แต่นางวาลีเห็นไม่เป็นการที่ปล่อยอุศเรนเป็นอิสระ อาจจะเป็นภัยแก่เมืองผลึกอย่างแน่แท้ จึงคิดอุบายแกล้งกล่าววาจาเยาะเย้ย เสียดแทงจนอุศเรนชํ้าใจจนอกแตกตาย พระอภัยมณีจึงให้รีบทำโกศใส่ศพอุศเรนแล้วให้พวกเชลยแห่ศพเจ้านายกลับไปเมืองลังกา

ฝ่ายนางวาลีเองก็ถูกปีศาลอุศเรนซึ่งเข้าสิงชาวที่เข้ามาทำร้าย จนนางวาลีคลั่งไคล้ต่างๆ จนในที่สุดอาการค่อยทรุดหนักลงๆ และตายตามอุศเรนไป

หลังจากศึกอุศเรนแล้ว เมืองผลึกก็ยังไม่ว่างศึก นางละเวงวัณฬา ซึ่งครองเมืองลังกาแทนเจ้าลังกา ที่สิ้นพระชนม์ด้วยความเศร้าโศกที่ได้เห็นศพของอุศเรน ได้ถูกขุนนางเมืองลังกามีพระสังฆราช เป็นต้นยุยงให้มีความแค้นเมืองผลึก ให้นางใช้เล่ห์ส่งรูปของนางพร้อมกับสารไปเชิญกษัตริย์เมืองต่างๆ ให้ยกทัพไปตีเมืองผลึก โดยสัญญาว่าแม้นกษัตริย์องค์ใดชนะศึกจะได้อภิเษกกับนางและได้ครองลังกาด้วย

เจ้าละมานกษัตริย์องค์หนึ่งที่ได้รับรูปและสารของนาง รีบยกกองทัพข้ามสมุทรมาตีเมืองผลึก ก่อนกษัตริย์องค์อื่น แต่ต้องพ่ายแพ้เพราะเสียงปี่พระอภัยมณีและถูกจับไปปล่อยเกาะพร้อมกับทหาร และในการศึกครั้งนี้เอง พระอภัยมณีต้องหลงในรูปโฉมของนางละเวงจากรูปวาดที่ได้จากเจ้าละมาน ซํ้าผีเจ้าละมานมาเข้าสิงรูปนั้นอีก ยิ่งทำให้พระอภัยมณียิ่งคลั่งไคล้หนักลงไปอีก สุดหนทางที่นางสุวรรณมาลีจะแก้ไขได้

ในขณะที่พระอภัยมณีหลงใหลในรูปโฉมนางละเวงอยู่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๑๑ เมือง ซึ่งต่างก็ได้รับสารจากนางละเวงเช่นเดียวกับเจ้าละมาน ต่างยกกองทัพมาล้อมเมืองผลึก นางสุวรรณมาลีจึงรีบแต่งทูตถือสารแจ้งข่าวไปยังศรีสุวรรณกับสินสมุทรที่เมืองรัตนาแล้วนางก็ออกบัญชาการรบด้วยตนเอง

ในการออกรบครั้งหนึ่งนางสุวรรณมาลีถูกข้าศึกเข้าโจมตีจวนเจียนจะเสียที ก็พอดีสุดสาครโอรสพระอภัยมณีซึ่งเกิดแต่นางเงือกเดินทางออกจากเมืองการะเวกมาถึงเมืองผลึกได้ช่วยแก้ไขไว้ทัน และครั้งนั้น สุดสาครก็ทำลายรูปผีสิงได้ พระอภัยมณีเมื่อหายจากคลั่งไคล้ก็นำศรีสุวรรณและสินสมุทร ซึ่งกลับจากเมืองรัตนาพร้อมด้วยสุดสาครออกตีทัพกษัตริย์ทั้ง ๑๑ เมืองแตกพ่ายไป

หลังจากที่ทัพกษัตริย์ ๑๑ เมืองพ่ายแพ้ไปแล้ว พระอภัยมณีเกรงว่าศึกคงจะยกมาไม่รู้จบสิ้น เพื่อเป็นการตัดศึกจึงให้เตรียมเรือและกำลังกองทัพแล้วเคลื่อนพลมุ่งสู่ลังกา

สงครามลังกาครั้งนั้นเอง พระอภัยมณีก็ได้พบนางละเวงกลางสนามรบ ด้วยรูปโฉมอันงดงามของนางทำให้พระอภัยมณีบังเกิดความรักในทันที จึงปราศรัยทอดไมตรีด้วย แต่นางละเวงซึ่งรู้ดีว่าใจของนางไม่มั่นคงพอก็ควบม้าหนีกลับเข้ากรุงลังกา

หลังจากที่พบกับนางละเวงที่สนามรบแล้ว พระอภัยมณีก็ให้รักใคร่หลงใหลนางไม่เป็นอันทำศึก ฝักใฝ่นางอยู่ตลอดเวลา ยิ่งได้พบนางแต่ละครั้งในสนามก็ให้ยิ่งหลงใหลมากขึ้น พยายามพูดโอ้ใลมให้นางตอบรัก ฉะนั้นเมื่อนางยุพาผกา บุตรเลี้ยงของนางละเวงรับอาสาจะมาพาเอาตัวพระอภัยมณีไปเพื่อเผด็จศึก มาอุบายทูลว่าจะพาไปพบนางละเวงโดยให้พระอภัยมณีเป่าปี่ให้ทหารหลับ พระอภัยมณีก็มิได้ลังเลกระทำตามอุบายของนางทุกประการ แล้วขึ้นรถไปกับนางยุพาผกา

เมื่อพบกับนางละเวงแล้วก็ติดตามนางเข้าลังกาโดยมิได้นึกห่วงกองทัพเมืองผลึกแม้แต่น้อย และทั้งๆ ที่นางละเวงก็มีจิตใจรักใคร่พระอภัยมณีอยู่ แต่เมื่อการที่คิดไว้ยังไม่สำเร็จนางจึงไม่ยอมปลงใจเป็นมเหสี ต้องอาศัยอุบายของนางยุพาผกา พระอภัยมณีจึงได้นางละเวงเป็นมเหสี และหลงเสน่ห์นางละเวงอยู่ที่ลังกานั้นเอง

เหตุการณ์มิได้ยุติเพียงแค่นั้น ปรากฏว่าในไม่ช้าศรีสุวรรณและสินสมุทรต่างก็มาต้องเสน่ห์ หลงใหลนางรำภาสะหรีและนางยุพาผกา ถึงกับทั้งทัพเข้าไปอยู่ร่วมกับนางในวัง สามพราหมณ์จึงต้องทำใบบอกไปยังกรุงผลึก เมื่อนางสุวรรณมาลีได้แจ้งเรื่องก็ร้อนใจ แต่งสารส่งไปยังรมจักรและแล้วยกกองทัพไปยังลังกาทันที

เมื่อเผชิญหน้ากันที่หน้าป้อม ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์นางละเวงทำให้พระอภัยมณีกล่าวตัดรอนนางสุวรรณมาลี เป็นเหตุให้นางสุวรรณมาลีก็มีความแค้นเป็นอย่างมาก ระดมกองทัพเข้าตีลังกาแล้วการศึกสงครามระหว่างนางละเวงกับฝ่ายสุวรรณมาลีก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

จนในที่สุดพราหมณ์โลกเชษฐ์เห็นว่าการศึกสงครามครั้งนี้ก็เนื่องมาจากพระอภัยมณีกับอนุชา และโอรสต่างหลงเสน่ห์ฝ่ายลังกาจึงทำพิธีเชิญพระโยคีมาแก้ไข และยุติศึกลงได้และพระอภัยมณีก็ลานางละเวงกลับเมืองผลึก

ระหว่างที่พระอภัยมณีพร้อมด้วยศรีสุวรรณกับสินสมุทรไปงานพิธีพระศพท้าวสุทัศน์ที่กรุงรัตนา ก็ได้ทราบข่าวจากเมืองผลึกว่า มังคลาโอรสเกิดจากนางละเวงซึ่งนางละเวงมอบให้ครองกรุงลังกานั้น ได้ยกกองทัพชิงเอาโคตรเพชรที่นางเสาวคนธ์ขุดจากลังกาไว้ที่เมืองการะเวก ทั้งยังจับเอานางสุวรรณมาลีพร้อมด้วยธิดาทั้งสอง และท้าวสุริโยทัยกับมเหสีไปคุมที่ลังกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามใหญ่โตระหว่างมังคลากับฝ่ายนางสุวรรณมาลีขึ้นอีก พระอภัยมณีจึงต้องไปยังกรุงลังกาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อระงับศึก และในที่สุดก็สงบลงโดยมังคลาหนีไปได้พร้อมกับพระสังฆราช

หลังจากศึกสงบแล้วพระอภัยมณีก็ประกอบพิธีอภิเษกสุดสาครกับเสาวคนธ์ หัสไชยกับสร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา แล้วต่างพากันแยกย้ายกลับบ้านเมือง

ระหว่างที่พำนักอยู่ที่ลังกานั้น ทั้งนางสุวรรณมาลีและนางละเวงต่างพากันงอนและเล่นตัวไม่ยอมปรองดองเกี่ยวข้องกับพระอภัยมณีให้ขัดเคืองถึงกับตัดสินพระทัยออกบวชเป็นเหตุให้มเหสีทั้งสองมีศรัทธาออกบวชตาม ฝ่ายสินสมุทรไม่ปรารถนาจะให้ทั้งสามองค์ทรงลำบากกาย จึงสร้างอาศรมไว้ให้พำนักที่เขาสิงคุตรแล้วสินสมุทรก็กลับไปครองเมืองผลึก ส่วนสุดสาครอยู่ครอบครองเมืองลังกา

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

พระอภัยมณีพบนางละเวง

บันทึกทางวรรณคดี
เหตุใดจึงถือว่าตอนพระอภัยพบนางละเวงเป็นตอนสนุก? คำตอบที่มีเหตุผลก็คือ เพราะตอนนี้ เป็นตอนพระเอกพบนางเอกเป็นครั้งแรกในเรื่อง เราทราบดีแล้วว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้มาถึง ๓๐ บท เคยกล่าวถึงความงามของนางละเวงจนเป็นเหตุให้เจ้าละมานและเจ้าต่างประเทศอื่นๆ พากันคลั่งไคล้ หลงนาง ถึงกับอาสามาทำศึกล้มตายกันเป็นอันมาก และในที่สุดแม้แต่พระอภัยเองเพียงแต่ได้รูปนางละเวงก็หลงเช่นเดียวกัน ฉะนั้นผู้อ่านย่อมกระหายหนักหนาว่า เมื่อพระอภัยพบนางละเวงตัวจริงเข้า เรื่องจะเป็นอย่างไร การที่สุนทรภู่หน่วงเรื่องไว้นานเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านสนใจ และเมื่อได้มาอ่านตอนที่ ๓๑ อันเป็นตอนพระอภัยพบนางละเวงและได้แสดงบทบาทต่อกัน ทั้งในทางบทสนทนาอันน่าฟัง ทั้งในการแสดงเช่นการรบระหว่างชายกับหญิง ทั้งในทางการแสดงความรักระหว่างศัตรู เรื่องทั้งหมดจึงมีทั้งความแปลกความใหม่ เพราะไม่ใคร่มีในวรรณคดีเรื่องอื่น วรรณคดีตอนพระอภัยพบนางละเวงจึงเป็นตอนที่สนุกที่สุดตอนหนึ่ง

ถ้าจะว่าถึงศิลปะของการแต่งเรื่อง ตอนนี้นับว่าสุนทรภู่ได้แต่งตรงกับหลักการประพันธ์สากล การแต่งของสุนทรภู่ตรงกับสูตรที่เรียกว่าสูตรชายพบหญิง (A Boy Meets A Girl Formula) ทีเดียว

นางละเวงเห็นกองทัพนอนสลบหมดเพราะได้ฟังปี่ นางจึงคาดว่าคงจะเป็นปี่พระอภัย จึงคิดจะไปดูให้รู้แน่ นางจะรบกับพระอภัยเพื่อแก้แค้นแทนบิดา จึงขึ้นม้าต้นควบมาทางกำแพงเห็นไพร่พลนอนหลับหมด ทันใดนางก็เห็นพระอภัยนั้งเป่าปี่อยู่บนรถแต่ลำพัง นางจึงแอบเข้าทางท้ายรถ แผลงเกาทัณฑ์ไปถูกปี่ตกจากหัตถ์พระอภัย แล้วยิงซํ้าอีกลูกหนึ่งถูกเกราะ ทันใดนางก็ขับม้าชักทวนเข้าสวนแทง พระอภัยตกพระทัยจึงฟาดด้วยพระแสงดาบ แล้วขนาบด้วยพระแสงปืน ปืนถูกปากม้านางละเวง นางจึงร้องหวีดขึ้นด้วยสำเนียงผู้หญิง แล้วควบม้าวิ่งหนีไป

พระอภัยก็สงสัยว่านางคงจะเป็นธิดาเจ้าลังกา พระอภัยจึงลงจากรถปลุกม้าขึ้นควบตามไป พอทันกันนางยิงด้วยเกาทัณฑ์แต่ไม่ถูก นางจึงใช้ไฟกรดฟาดถูกพระอภัยเข้าอย่างจัง พอเข้าใกล้เห็นถนัด พระอภัยจึงตรัสทัก

พระน้องฤาชื่อละเวงวัณฬาราช        อย่าหวั่นหวาดวิญญามารศรี
จงหยุดยั้งรั้งราจะพาที                ไม่ฆ่าตีศรีสวัสดิ์เป็นสัจจา
พี่จงจิตติดตามข้ามสมุทร            มาด้วยสุดแสนสวาทปรารถนา
จะถมชลจนกระทั่งถึงลังกา            เป็นสุธาแผ่นเดียวเจียวจริงจริง
จึงแจ้งความตามในน้ำใจพี่            ไม่ราคีเคืองข้องแม่น้องหญิง
อย่าเคลือบแคลงแหนงจิตคิดประวิง        สมรมิ่งแม่วัฒฬาจงปรานี

ละเวงฟังคำหวานก็ซ่านจิต แต่ด้วยจริตหญิงเบือนหน้าหนีเสีย ทั้งรักทั้งแค้นข่มใจถามไปว่า

ท่านี้หรือชื่ออภัยใคร่จะรู้        ที่ชิงคู่เขาไปชมประสมสอง
พระเชษฐาปรานีเหมือนพี่น้อง    ยังขัดข้องคิดทำลายให้วายชนม์
แล้วมิหนำซ้ำตามข้ามสมุทร        มายงยุทธกับผู้หญิงถึงสิงหฬ
ครั้นหักโหมโจมจับไม่อับจน        กลับแต่งกลเกี้ยวพานด้วยมารยา
อันเยี่ยงอย่างข้างชมพูต่อสู้รบ    หรือจึงคบคิดรักกันหนักหนา
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเมืองลังกา    จะเมตตาเพราะมีไมตรีกัน
ประการหนึ่งซึ่งกษัตริย์กำจัดทัพ    แม้นคนหลับแล้วไม่ฆ่าให้อาสัญ
ย่อมรบสู้ดูดีตีประจัญ            เออเช่นนั้นหรือจะลือว่าชื่อชาย
นี่พระองค์ทรงศักดิ์รักแต่ทรัพย์     ทำให้หลับแล้วก็รินให้ฉิบหาย
จะผูกมิตรชิดเชื้อก็เหลืออาย        ถึงวอดวายไว้ชื่อให้ลือชา

พระอภัยก็ตอบว่าที่อุศเรนพี่ของนางตาย พระองค์ก็ทรงสงสาร ที่นางส่งกองทัพไปรบถึงเมืองก็เพราะนางไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ที่มานี่ก็หวังจะอธิบายให้เข้าใจ ที่เป่าปี่ให้กองทัพหลับก็เพราะเกรงว่าตัวเองจะถึงสิ้นชีวิต
ประเดี๋ยวนี้พี่ได้พบประสบน้อง    อย่าขุ่นข้องขาดรักหักประหาร
จงเคลื่อนคลายหายเหือดที่เดือดดาล    เชิญแม่ผ่านพาราให้ถาวร
อันผู้คนพลไพร่จะให้ตื่น    ขอกลับคืนคงถวานสายสมร
เป็นเสร็จศึกตรึกตรองสองนคร    อย่าให้ร้อนไปถึงท้าวทุกด้าวแดน
ด้วยฝรั่งลังกาอาณาเขต    ล้ำประเทศถิ่นอื่นสักหมื่นแสน
แม้นเมืองไหนไม่นบจะรบแทน    เป็นทองแผ่นเดียวกันจนวันตาย

นางละเวงรำพึงว่า เสียงพระอภัยเป็นเสียงสวาทหวานหูมิรู้หาย นางแสร้งเพทุบายว่า หากแก้ไขให้กองทัพฟื้นแล้วกลับคืนไปนคร นั่นแหละจึงจะเห็นว่าเป็นสัตย์ธรรม

อันผู้หญิงสิงหฬนี่คนซื่อ            จะนับถือแต่ที่แน่นเป็นแก่นสาร
แม้นกลับกลายหลายคำแล้วรำคาญ    ไม่ขอพานพบกันจนวันตาย

พระอภัยจึงว่าพระองค์เป็นชายซื่อ ขอเชิญนางไปเจรจากันบนรถ คนทั้งหลายจะได้เห็นว่าดีกันแล้ว นางยังยืนยันขอให้ไพร่พลตนก่อน หากไม่เชื่อจะตามรบอีกก็เชิญ ทันใดนั้นนางก็เป่ามนต์ขับม้า เลี้ยวแฝงแสงไฟไป พระอภัยเสียดายจึงทรงเป่าปี่เกี้ยวให้กลับ

ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย        จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อี่อ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย        แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย
ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด    จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย    ใคร่จะเชยโฉมน้องประคองนวล
เสนาะดังวังเวงเป็นเพลงพลอด    เสียงฉอดฉอดชดช้อยละห้อยหวน
วิเวกแว่วแจ้วใจใจรัญจวน        เป็นความชวนประโลมโฉมวัณฬา

อำนาจเพลงทำให้ละเวงอัดอั้นคิดอยากจะกลับไปหา เพราะ

เธอพูดดีปี่ดังฟังเสนาะ        จะฉอเลาะลูบต้องทำนองไหน
แม้นถนอมกล่อมกลอกเหมือนดอกไม้    จะชื่นใจน้องยาทุกราตรี
ยิ่งกลับฟังวังเวงเพลงสังวาส        ยิ่งหวั่นหวาดวิญญามารศรี
ตะลึกลืมปลื้มอารมณ์ไม่สมประดี        ด้วยเพลงปี่เป่าเชิญให้เพลินใจ
จนลืมองค์หลงรักชักสินธพ    กลับมาพบพิศวงด้วยหลงใหล

พอพระอภัยเห็นก็วางปีเข้าประโลม คลอขึ้นรถ ทันใดนั้นนางก็รู้สึกพรั่นใจกลับชักม้าขับหนี อ้อมเขาไปพลางนางก็คำนึง

อันลมปี่นี้ระรวนให้งวยงง        สุดจะทรงวิญญารักษาตัว
ถ้าขืนอยู่สู้อีกไม่หลีกเลี่ยง        ฉวยพลั้งเพลี่ยงเพลงปี่ต้องมีผัว
จะพลอยพาหน้าน้องให้หมองมัว    เหมือนหญิงชั่วชายเกี้ยวประเดี๋ยวใจ
นางจึงตัดสินใจทิ้งกองทัพกลับลังกา ขับม้ามากลางคืนคนเดียวในดินแดนอันเป็นพงไพรใหญ่กว้าง ฝ่ายพระอภัยเสียดาย ปรารภว่า

“เมื่อปี่เป่าเยาวมาลย์มาเหมือนใจ        ครั้นหยุดปี่หนีไปไม่ได้การ”

เลยชักม้าควบตามหาก็ไม่พบ จึงเป่าปี่อีกครั้งหนึ่งจนคอแห้งก็ไม่สำเร็จ คิดว่าถ้าปลุกทัพขึ้น นางคงจะมา ทันใดนั้นเสียงปี่ก็กังวานแว่วขึ้น กองทัพทั้งนายไพร่ตื่นขึ้นอย่างพร้อมเพรียง สินสมุทร ขอตามตีต่อไป พระอภัยห้ามไว้ แล้วเล่าเรื่องที่ได้พบและสู้รบกับนางละเวงจนถูกไฟกรดให้ฟัง สรุปว่าได้ตกลงที่จะเป็นไมตรีกับเขาแล้ว ศรีสุวรรณรู้ทีก็สัพยอกว่าพระอภัยหลงนางละเวงพระอภัยก็รับอย่างหน้าชื่น

สำรวลพลางทางสนองพระน้องยา        ธรรมดามดดำกับน้ำตาล
ได้เข้าเรียงเคียงใกล้แล้วไม่อด        คงชิมรสรู้กำพืดว่าจืดหวาน
อนุชาอย่าประมาทว่าคลาดการ        ไม่เนิ่นนานนักดอกบอกจริงๆ

สินสมุทรกับศรีสุวรรณตัดพ้อพระอภัยว่า เดิมจะฆ่าผู้หญิงสิงหฬ แต่ครั้นจริงจังเข้ากลับมาทำไมตรี พระอภัยจึงห้ามว่าอย่าพูดดูถูกลูกผู้หญิง

ทำเหมือนเจ้าเข้าไปล่อเอาไฟจุด        แล้วไม่หยุดยั้งคิดจนติดกับ
อันแยบยลกลศึกย่อมลึกลับ            แม้นจะจับก็ให้มั่นคั้นให้ตาย
เราชิงชัยไม่ชนะกลัวจะแพ้            จึงเกี้ยวแก้การศึกเหมือนนึกหมาย
ด้วยเสียทีชีวันจะอันตราย        แต่รอดตายเหมือนกระนี้เป็นดีนัก

พระอภัยจึงขอให้หยุดพักพลไว้ก่อน

ฝ่ายนางละเวงขับม้ามาลำพังในป่าตั้งแต่กลางคืนจนเช้าถึงพลบค่ำยามราตรีอีกก็รู้สึกว้าเหว่ ม้าก็สิ้นกำลัง ครั้นยามดึกก็มาถึงลำธารแห่งเขาอังกาศ จึงปลงม้าให้กินนํ้าตั้งสัตย์อธิษฐานว่าถ้าจะได้เป็นใหญ่ต่อไปก็ขออย่าให้เป็นอันตราย จะปล่อยม้าให้กินหญ้า เมื่อนึกถึงขอให้ม้ามาหาตามใจนึก นางเอาตราราหูส่องดูตามศิลา เห็นที่แห่งหนึ่งเป็นศิลาลายเหมือนบัลลังก์จึงเอนลงบรรทมหลับไป

ครั้นรุ่งเช้านึกถึงม้าก็มาเที่ยวหา ทันใดนั้นเกิดเหตุวิปริต

พอได้ยินดินลั่นเสียงครั่นครื้น    สะเทือนพื้นภูผาป่าระหง
ประเดี๋ยวหนึ่งถึงสะดุ้งดังผลุงลง    กลิ้งอยู่ตรงหน้าเท่าน้ำเต้าทอง
เหลืองอร่ามงามงอนหอมระรื่น    ดูสดชื่นชูสีไม่มีสอง
สงสัยนักชักมีดออกกรีดลอง        ขาดเป็นสองซีกไส้ข้างในแดง
นางชิมดูรู้ว่าโอชารส        เหลือกำหนดในมนุษย์สุดแสวง
ทั้งหอมหวานซ่านเสียวมีเรี่ยวแรง        ที่คอแห้งหิวหายสบายบาน
พอม้ามิ่งวิ่งมาแล้วอ้าปาก        รู้ว่าอยากยื่นให้ม้าเป็นอาหาร
ม้าลำพองลองเริงเชิงสำราญ    นางนั่งฝานชิ้นชิมจนอิ่มใจ
ยังเหลืออีกซีกเสี้ยวไม่เหี่ยวแห้ง    ห่อตะแบงมานมั่นไม่หวั่นไหว
ขึ้นทรงนั่งหลังม้าแล้วคลาไคล    พอสัตว์ไพรรู้อึงคะนึงมา
ทั้งเนื้อเบื้อเสือสิงห์กระทิงถึก    หมู่มฤคแรดควายทั้งซ้ายขวา
บ้างแลพบหลบตัวด้วยกลัวตรา    บ้างวิ่งมาวิ่งไปออกไขว่กัน

นางละเวงเห็นคนครึ่งกายบนชะง่อนเขาร้องขอให้แบ่งดินสำคัญให้ตัวได้กินบ้างคนผู้นั้นเป็นผู้เฒ่ามีรูปกายเฉพาะด้านขวา

พอเห็นคนบนชะง่อนสิงขรเขา    ร้องว่าเรารักษาพนาสัณฑ์
นางวัณฬามาได้กินดินสำคัญ    ไม่แบ่งปันให้เราบ้างเป็นอย่างไร
นางแลดูผู้เฒ่าบนเขาเขียว        เป็นซีกเสี้ยวแต่ข้างขวาน่าสงสัย
จึงซักถามตามแคลงไม่แจ้งใจ    ท่านชื่อไรร้องทักรู้จักเรา
อันของดีมีรสไม่หมดสิ้น     จะให้กินได้อยู่ท่านผู้เฒ่า
แต่พรายแพร่งแจ้งความตามสำเนา    ก่อนเถิดเราก็จะให้เป็นไรมี
ฝ่ายอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตสถาน    จึงแจ้งการกับวัณฬามารศรี
ลูกนั้นหรือชื่อว่า นมพระธรณี    ถึงพันปีผุดขึ้นเหมือนปืนดัง
ฝูงสัตว์ไพรได้ยินทั้งกลิ่นหอม    มาพรั่งพร้อมเพราะจะกินถวิลหวัง
ด้วยหวานเย็นเห็นประเสริฐเกิดกำลัง    กำจัดทั้งโรคาไม่ราคี
อายุยืนชื่นชุ่มเป็นหนุ่มสาว        ผิวนั้นราวกับทองละอองศรี
ถึงแก่เฉ่าเข้าเรือนสามร้อยปี        ก็ไม่มีมัวหมองละอองนวล
ทั้งเนื้อหอมกล่อมกลิ่นระรินรื่น    เป็นที่ชื่นเชยบุรุษสุดสงวน
เราได้กลิ่นดินถนันให้รัญจวน    ด้วยธุระพระอิศาวรเธอสาปไว้
ให้อยู่เฝ้าเขาอังกาศขาดครึ่งซีก    สุดจะหลีกเลี่ยงกรรมทำไฉน
ต่อให้กินดินถนันเมื่อวันไร        จึงจะได้เต็มกายสบายบาน

นางละเวงทราบเคราะห์กรรมของคนครึ่งซีก จึงฝาน “ถันสุธา” ออกวางไว้ให้บนต้นไม้ใกล้ลำธาร พร้อมกับขอให้ช่วยชี้ทางให้นางกลับด้วยเทวดาองค์นั้นจึงแจ้งว่า

ซึ่งโฉมยงหลงทางมากลางไพร    เพราะจะได้พบลาภปราบไพรี
จงรีบรัดตัดทางไปข้างเขา        จะพบชาวบ้านป่าพนาสี
ทั้งจะปะพระปีโปบาลีดี        จงพาทีไต่ถามตามสงกา

เสร็จแล้วเทวดาก็หายวับไปพร้อมกับถันสุธานั้น นางละเวงขับม้าชมไพรต่อไป

เห็นสายหยุดพุดพยอมนางน้อมกิ่ง    วิสัยหญิงอยากได้เด็ดใส่ผม
ถึงยากเย็นเห็นดอกไม้จะใคร่ชม        ชื่นอารมณ์เรี่ยทางไปกลางดง

ครั้นนางได้เห็นนกกระตั้วกับนกโนรี    ก็หวนคิดถึงนกโนรีที่นางเคยเลี้ยง แสดงว่าสุนทรภู่หางานอดิเรกให้นางเอกฝรั่งเหมาะดีเหลือเกิน

พินิจพลางนางรำพึงถึงนิเวศน์    อยู่ขอบเขตโดยรักเลี้ยงปักษา
ให้จับคอนนอนเล่นเจรจา        ถึงเวลาแสบท้องเคยร้องวอน
โอ้จากนกตกมาอยู่ป่าสูง    ฟังแต่ฝูงนกเถื่อนไม่เหมือนสอน
สงสารโอ้โนรีอยู่ที่คอน        เคยชูช้อนชื่นอาวรณ์ได้ชมเชย

กล่าวถึงชาวบ้านสิกคารนำ คำนี้แปลเป็นไทยว่า บ้านเขาเขียว มีบาทหลวงนักปราชญ์สร้างตึกอยู่ริมทางเดิน มีชาวบ้านเอาลูกหลานมาฝากเรียนวิชามาก

อันลูกเต้าชาวป่าเอามาฝาก        ประมาณมากเหมือนคณะพระฤาษี
เรียนวิชาไตรดาโหราดี            ตามบาลีเพศฝรั่งชาวลังกา
คนทั้งนั้นวันอาทิตย์เป็นอิสระ    มาไหว้พระพร้อมกันด้วยหรรษา
ทำบุญบวชสวดมนต์สนทนา        บาทหลวงมาขึ้นนั่งบัลลังก์พรต

วันหนึ่งบาทหลวงดูดาว เห็นดาวเจ้าเมืองลังกากับดาวเจ้าเมืองผลึกเข้าร่วมธาตุกัน ก็ทราบความจึงบอกแก่เหล่าศิษย์และประชาชนว่า

เราดูดาวเจ้าประเทศเขตลังกา    ไม่มีข้าคนเที่ยวอยู่เดียวดาย
อันดวงดาวเจ้าผลึกเป็นศึกสู้        กลับร่วมรู้รักกันขันใจหาย
ส่วนพวกไพร่ใหญ่น้อยจะพลอยตาย    แต่ตัวนายนั้นจะอยู่เป็นคู่เคียง

พอพูดขาดคำก็เกิดเหตุวิปริต คือฝูงกาแตกตื่นร้องขึ้นในเวลากลางคืน ม้า ลา อูฐ ก็ส่งเสียงขึ้น บาทหลวงจึงดูตำราราชาสัตว์แจ้งแก่ประชาชนว่า

ซึ่งสัตว์ร้องต้องยามตามตำรับ    มันคอยรับเจ้าแผ่นดินถวิลหา
พรุ่งนี้เย็นเห็นลูกสาวเจ้าลังกา    จะเข้ามาบ้านนี้เพราะมิตาย
ในตำราว่าโจรตามมาด้วย        ท่านจงช่วยป้องกันให้ผันผาย
ได้อาศัยในแผ่นดินทำกินสบาย    ทั้งหญิงชายฉลองคุณอย่าสูญใจ

บาทหลวงบอกว่าสำหรับตัวท่านนั้นจะหลบหน้าเสีย ใครอย่าบอกนางเป็นอันขาด
พอตกคํ่า นางละเวงก็มาถึงที่แห่งหนึ่ง เห็นควันขึ้นโขมงก็คิดว่าเป็นบ้านคนธรรมดาจึงเข้าไปถาม แต่ปรากฏว่าพวกนี้เป็นโจร มีหัวหน้า ๓๕ คน กับกลาสี ๓,๒๐๐ คน พอเห็นนางละเวงมาจึงเข้าล้อมจะจับนางจึงบอกว่า นางเป็นกษัตริย์ลังกา หลงทางมา ขอให้ช่วยนำเข้าลังกา จะประทานรางวัล โดยตั้งให้เป็นขุนนาง แต่พวกโจรไม่ต้องการยศศักดิ์ ต้องการเงินและของเป็นสำคัญ ขู่ให้นางเปลื้องเครื่องทรงและเครื่องม้าให้เสียโดยดี นางจึงเอานํ้าเย็นเข้าลูบปลอบว่า ตัวเป็นโจรทำผิดไว้แต่ก่อนถ้ากลับตัวได้จะมีความชอบ

อันต้นร้ายปลายดีไม่มีโทษ        เป็นประโยชน์ยาวยืนอยู่หมื่นแสน
จะเที่ยวปล้นคนกินเหมือนสิ้นแกน    ถึงมาดแม้นมีทรัพย์ก็อับอาย
อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง        ชื่อก็ยังยืนอยู่ไม่รู้หาย
แม้นสังหารผลาญเราเป็นเจ้านาย        ตัวจะตายไม่ทันข้ามสามเวลา

แต่คำของนางหาได้ทำให้พวกโจรใจอ่อนไม่ มันจึงศอกกลับเอานางละเวงว่า “แต่ขุนนาง ยังเบียนชาวนา จะมาว่าแต่เราเป็นชาวดง” แล้วนายโจรก็สั่งสมุนเข้ารุมนาง แต่นางเอาพระแสงฟาด ฟันตายไปมาก นางขับม้าหนี พวกมันก็ยังไล่ตามเอาทวนและหลาวพุ่งแทง แต่อำนาจตราคุ้มนางไว้ได้ นางยิงมันด้วยเกาทัณฑ์ล้มตายไปบ้าง แต่ที่เหลือก็เข้าล้อมนางไว้ได้อีก นางใช้หอกสู้ใหม่หวังทะลวงออกจากที่ล้อมแต่ก็เหลือกำลัง

ขณะนั้นชาวบ้านสิกคารนำออกมาช่วยรบ โจรหนีกระจายไป ทุกคนลงกราบไหว้ นางจึงถามว่าพวกเหล่านี้เป็นใคร ไฉนจึงรู้จักนางว่าเป็นกษัตริย์ ผู้เฒ่าชาวบ้านสิกคารนำจึงทูลว่า ตนเป็นชาวป่า ทราบว่านางเสียทัพ โจรกำลังจะจับ จึงนำกันออกมาช่วยด้วยความกตัญญู นางจึงขอไปพักด้วยวันหนึ่ง พวกนี้จึงนำนางเข้าบ้าน

ถึงปากทางหว่างเนินเพลินประพาส    เห็นอาวาสวัดวาที่อาศัย
กุฎิตั้งอาศรมรื่มร่ม ไทร            ศาลาลัยแสนสะอาดด้ายกวาดเตียน
ตึกน้อยน้อยห้อยระฆังน่าฟังเล่น        ดูเหมือนเช่นฉากฉายระบายเขียน
มีเสาหงส์ธงลมใส่โคมเวียน        ดาษเดียรด้วยบุปผาสาระพัน

นางจึงสอบถามได้ความว่า เป็นอาวาสพระบาทหลวง สำหรับให้คนไปอาศัยส่วนตัวท่านบาทหลวงนั้น ไม่ทราบว่าไปอยู่แห่งใด ตอนคํ่านางละเวงไปศาลาวัด เห็นเด็กจุดโคมแก้วสว่างไสว มีเด็กสี่ห้าคนมาเชิญเพราะทราบว่าเป็นกษัตริย์ นางถามถึงพระบาทหลวง เด็กไม่ยอมบอก ประเดี๋ยวหนึ่งมีสตรีเดินถือโคมมาหลายคน มาทำหน้าที่อยู่รักษานาง นางชมเชยความสุภาพและความโอบอ้อมอารีของเมียชาวบ้านเหล่านี้ นางชวนเด็กรับใช้สองคนคือ ยุพาผกาพี่อายุ ๑๔ ขวบ และสุลาลีวันน้อง อายุ ๑๒ ขวบ เป็นเด็กกำพร้าที่บาทหลวงเลี้ยงไว้ จึงขอเป็นลูก นางทั้งสองก็ยินดี

รุ่งเช้านายบ้านจึงไปตามบาทหลวงมาเฝ้านางละเวง

บาทหลวงว่าอย่าประมาทชาติกษัตริย์    เหลือกำจัดกลความตามวิสัย
เมื่อดีเย็นเช่นมหาชลาลัย    โกรธเหมือนไฟฟุนฟอนให้ร้อนทรวง
แล้วเรารู้อยู่ว่านางแต่ปางหลัง    ถือพระสังฆราชผู้บาทหลวง
ไว้ฝึกสอนรอนราญการทั้งปวง    จะไปช่วงชิงรู้เหมือนดูเบา
เมื่อยามดีมีได้พึ่งครั้นถึงยาม    จะพลอยรากเลือดตายต้องอายเขา
ถึงแม้องค์นงลักษณ์จะรักเรา    พวกคนเก่าเขาคงกันด้วยฉันทา

นางจึงตรัสเล่าให้ฟัง และขอเชิญบาทหลวงช่วยสั่งสอนการบ้านเมือง และการศึกสงครามด้วย แต่ท่านปีโปเฒ่าก็พยายามถ่อมตัว อ้างว่ารู้แต่ทางสิกขาสมาทาน นางละเวงมีทหารก็ควรปรึกษา เรื่องศึกสงคราม เรื่องทางศาสนามีสังฆราชอยู่ในเมืองหลวงแล้ว แต่นางละเวงก็ขะยั้นขะยอขอให้ช่วย
พระบาลีมีวิจิตรคิดสงสาร        แจ้งวิจารณ์ทางธรรมด้วยหรรหา
เพราะมีหูอยู่ก็ปี่มีศักดา        แม้หูหาไม่ปี่ไม่มีฤทธิ์
แม้เพลิงกาฬผลาญแผ่นดินสิ้นชีวิต    อำนาจฤทธิ์ย่อมแพ้แก่ปัญญา
เชิญไปฟังสังฆราชพระบาทหลง    อย่างพ่อล่วงความคิดเป็นศิษย์หา
แม้ศึกเสือเหลือขนาดจึงอาตมา    จะอาสาหาบหามตามกำลัง
แต่เดี๋ยสนี้ศรีสวัสดิ์พลัดทหาร    ไม่แจ้งการดีร้ายข้างภายหลัง
เสร็จไปให้ถึงเขตนิเวศน์วัง        อย่ารอรั้งราชการจะนานวันฯ

นางละเวงก็ขอฝากให้ช่วยในโอกาสข้างหน้าต่อไป และขอนางทั้งสองไปเป็นลูก พระบาทหลวงก็ยินดี แล้วพานางทั้งสองเข้าไปสอนในห้อง

กุลสตรีวิสัยในมนุษย์        ให้สิ้นสุดสอนสั่งเหมือนดังหลาน
แล้วเขียนหนังสือลับพับเหล็กลาน        กลการลึกล้ำที่สำคัญ
ให้สองนางพลางว่ารักษาไว้        ต่อเมื่อไรรบรับถึงคับขัน
ดูหนังสือมือเสื้อที่ใส่นั้น    จึงผ่อนผันคิดความตามอุบาย

ต่อไปนี้บาทหลวงและพวกชาวบ้านจึงจัดกระบวนส่งเสด็จนางละเวงเข้ากรุงลังกานางละเวงทรงรถโดยสองนางเป็นสารถี กระบวนแห่มีธงดำนำหน้า เดินทางมาหลายราตรี พอมาถึงถํ้าลำพันเวลาพลบ จึงตรัสสั่งให้พักพล

ต่อไปนี้นางละเวงใช้นางทหารหญิงทั้งนั้น มีแต่ย่องตอดเป็นผู้ชายคนเดียว นายทหารหญิง คือรำภาส่าหรี ยุพาผกา สุลาลีวัน นายทหารหญิงเหล่านี้ในที่สุดทำให้นายทหารชายทุกคนทิ้งทัพของตัว วิ่งเข้าไปหานายทหารหญิงและหลงเสน่ห์อย่างงมงายจนได้กันเป็นคู่ๆ คือพระอภัยได้กับนางละเวง ศรีสุวรรณได้รำภาส่าหรี สินสนุทรได้ยุพาผกา และสุดสาครได้สุลาลีวัน

เหลือคนสำคัญเพียงคนเดียวคือสุวรรณมาลี เมียพระอภัย ซึ่งบัดนี้มีลูกสาวสองคน คือ สร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา พอทราบว่าพระอภัยไปหลงนางละเวงก็ยกทัพไปรบแต่ไปหึงมากกว่า เรียกกันว่าไปหึงหน้าป้อม พระอภัยซึ่งหลงนางละเวงก็สลัดรักเอาต่อหน้า สุวรรณมาลีเลยสลบ ต้องแก้ไขกันเป็นนานจึงฟื้น ต่อมามีพรรคพวกจากเมืองการะเวกไปสมทบอีก การรบจึงดำเนินต่อไป ตอนนี้สุนทรภู่ก็ให้นายทหารหญิงขี้หึงทำร้ายกันอย่างขบขัน นางสุวรรณมาลียิงธนูถูกอกนางละเวงๆ หนีเข้าป่าไป เสาวคนธ์คนรักของสุดสาครยิงแก้มนางสุลาลีวันเมียชาวลังกาของสุดสาคร การรบดำเนินต่อไปอย่างกว้างขวาง พราหมณ์โลกเชษฐ์ซึ่งมาจากเมืองการะเวกต้องการให้ยุติสงครามด้วยวิธีต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ ต้องทำพิธีเชิญฤาษีเกาะแก้วพิสดารมาแสดงธรรม กองทัพทุกฝ่ายจึงวางอาวุธ สันติภาพจึงครองเกาะลังกา ไมตรีจิตมิตรภาพจึงมีขึ้นระหว่างทุกฝ่าย นางละเวงเจ้าภาพจึงจัดงานสันนิบาตฉลองสันติภาพ อย่างเต็มที่

สำหรับเรื่องผู้ใหญ่ เรื่องก็ควรจะจบลงตรงนี้เพราะลงดีกันด้วยธรรม แต่สุนทรภู่สร้างตัวละครรุ่นเด็กไว้มาก จึงยังต้องดำเนินเรื่องต่อไปอีก คือให้จับคู่กันเสีย

เวลาเขียนเรื่องตอนนี้อาจมีข่าวแผ่นดินไหวฃึ้นที่ไหนสักแห่งหนึ่งและคงรู้และโจษขานกันมากในเมืองไทย สุนทรภู่จึงนำเข้ามาใส่ในเรื่อง คือเรื่องโคตรเพชรเสาวคนธ์ขอโคตรเพชรจากนางละเวง นางก็อนุญาต แต่โคตรเพชรนี้พอถอนขึ้นเกิดแผ่นดินไหวทั่วลังกา เสาวคนธ์นำโคตรเพชรกลับเมืองการะแวก พระอภัยและพวกก็พากันกลับจากลังกา

คราวนี้ถึงเรื่องการแต่งงาน พระอภัยขออรุณรัศมีลูกศรีสุวรรณให้แก่สินสมุทรขอเสาวคนธ์ลูกท้าวสุริโยทัยเมืองการะเวกให้กับสุดสาคร นางสาวทั้งสองต่างไม่ยอมเข้าหอลงโรงด้วย โดยอ้างว่า มีหญิงชาวลังกาเป็นเมียมาก่อนแล้ว สินสมุทรเกี้ยวผู้หญิงไม่เป็น นางสุวรรณมาลีต้องช่วยในตอนท้าย เสาวคนธ์หนีอภิเษกถึงกับหนีปลอมเป็นฤาษีไปต่างประเทศ คือไปถึงเมืองวาหุโลม ไปทำศึกได้เมืองครอง สุดสาครก็ตามไป และไปเรียนวิชาเกี้ยวผู้หญิงมาได้เรื่องจึงทำให้เสาวคนธ์ยินยอมอภิเษกด้วย

ทางลังกา มังคลาลูกพระอภัยกับนางละเวงเป็นกษัตริย์สืบแทน ถูกพระสังฆราชบาทหลวง ยุให้เอาโคตรเพชรคืนจากเมืองการะเวก ก็เชื่อและยกทัพมารบการะเวก ในเวลาเดียวกันใช้กลลวง คุมตัวสุวรรณมาลีกับธิดาไปขังไว้ รวมทั้งพ่อตาแม่ยายของศรีสุวรรณด้วย พระอภัย ศรีสุวรรณ และสินสุมทร กำลังไปในงานพระศพพระราชบิดามารดาที่เมืองรัตนา

ครั้งนี้เอง ในที่สุดจึงรวมกำลังกันไปรบลังกาอีกครั้งหนึ่ง นางละเวงร้อนใจจะทัดทานห้ามปรามมังคลาสักเท่าใดก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดมังคลาก็ต้องทำศึกกับพ่อของตัวเอง คือพระอภัย นางละเวงก็ต้องยกทัพออกช่วยพระอภัย ทำศึกกันอยู่นาน ในที่สุดพระอภัยก็เป่าปี่เผด็จศึกครั้งสุดท้ายได้สำเร็จ มังคลากับสังฆราชผู้ร่วมคิดการร้ายหนีไปได้

สงครามเสร็จลง พระอภัยซึ่งแม้สุวรรณมาลีกับนางละเวงจะปรองดองกันได้แล้วแต่เรื่องเมียสองต้องห้าม ดำรงชีวิตอยู่ที่เกาะลังกาอย่างไม่มีความสุข จึงไปบวชเป็นฤาษีที่เขาสิงคุตร์ นางละเวงกับสุวรรณมาลีก็ไปบวชปรนนิบัติพระอภัยมณี คำกลอนก็จบเพียงนี้

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

พระอภัยมณี-เรื่องเอกของสุนทรภู่

เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องคู่กับชื่อของสุนทรภู่ทีเดียว สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้โดยยึดลัทธิสมจริง (Realism) เป็นหลักตามแบบสากล ไม่มีเหาะเหินเดินอากาศอย่างเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ของคนอื่น

สุนทรคู่เนรมิตเรื่องพระอภัยของจากเรื่องหลายกระแส เช่น
(๑) จากประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ
(๒) จากนิยายไทยและต่างประเทศ
(๓) ใช้จินตนาการของตนเองคาดอนาคตในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง เช่นเรื่องเครื่องปรับอากาศ เรื่องวิตามิน และเรื่องอื่นๆ อีกมาก
(๔) สุนทรภู่บันทึกความคิด ความเชื่อ ระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมไทยไว้มากที่สุด
(๕) บางตอนน่าจะเป็นชีวิตจริงของสุนทรภู่เอง

เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องกว้างขวางมาก นักศึกษาพึงจำตัวละครตามชื่อ ๕ นครที่มีความสัมพันธ์กันดังต่อไปนี้

กรุงรัตนา
ท้าวสุทัศน์
พระนางประทุมเกสร
พระอภัยมณี
ศรีสุวรรณ
สินสมุทร(ลูกนางผีเสื้อ)
สุดสาคร(ลูกนางเงือก)

กรุงผลึก
ท้าวสิลราช
พระนางมณฑา
สุวรรณมาลี
สร้อยสุวรรณ
จันทร์สุดา

กรุงรมจักร
ท้าวทศวงศ์
เกษรา
อรุณรัศมี

กรุงการเวก
ท้าวสุริโยทัย
เสาวคนธ์
หัสไชย

กรุงลังกา
เจ้าลังกา
อุศเรน
นางละเวง
มังคลา

พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณแห่งกรุงรัตนา เรียนวิชาดีกันคนละอย่าง พระอภัยเป่าปี่เก่ง ทำให้กองทัพทั้งกองทัพหลับได้ ศรีสุวรรณเก่งทางตีกระบี่กระบอง เมื่อเรียนแล้วกลับเมือง พระบิดากริ้วว่า ไปเรียนวิชาไม่มีประโยชน์สำหรับกษัตริย์มา จึงเลยขับออกจากเมือง สองพี่น้องจึงต้องเดินทางออกผจญภัย ไปพบพราหมณ์หนุ่มสามคนชื่อวิเชียร โมรา สานน เลยคบเป็นเพื่อน

ต่อมาพี่น้องทั้งสองพลัดกัน พระอภัยถูกนางผีเสื้อจับตัวไปเป็นผัว หนีนางผีเสื้อกลับมาได้นางเงือกเป็นเมียอีก มาอาศัยฤาษีอยู่ที่เกาะแก้วพิสดารชั่วคราวกับสินสมุทร (ลูกผีเสื้อ) ส่วนศรีสุวรรณไปได้เกษราธิดาเจ้าเมืองรมจักรเป็นเมีย

ครั้งหนึ่งเรือท้าวสิลราชกับสุวรรณมาลีแห่งเมืองผลึกถูกลมซัดมาที่เกาะแก้วพิสดาร พระอภัยกับสินสมุทรเลยขอโดยสารกลับเมือง คราวนี้เองพระอภัยเกิดรักสุวรรณมาลีขึ้น สินสมุทรทำหน้าที่เป็นสื่ออย่างสนิทสนม

เรือเกิดแตก สินสมุทรพาสุวรรณมาลีไปพบสุหรั่งนายโจรสลัด โจรสุหรั่งจะเอาสุวรรณมาลีเป็นเมีย สินสมุทรจึงฆ่าเสีย เลยได้สมุนโจรเป็นบริวาร นำเรือไปแวะรมจักรไปพบศรีสุวรรณผู้เป็นอา แต่ไม่รู้จักกัน เกิดรบกันขึ้น ภายหลังจึงรู้ว่าเป็นอาหลานกันแล้วจึงออกตามพระอภัยซึ่งเรือแตกพลัดกัน

ทางเกาะลังกา อุศเรนคู่หมั้นของสุวรรณมาลีทราบว่านางหายก็ออกติดตามไปพบพระอภัยที่เกาะแห่งหนึ่ง ทราบเรื่องเรือแตกจากพระอภัย ก็เป็นห่วงสวรรณมาลี อิศเรนรับพระอภัยให้โดยสารเรือมาด้วย

แล้วเรืออุศเรนก็มาพบเรือศรีสุวรรณ สินสมุทร และสุวรรณมาลี อุศเรนทวงนางสุวรรณมาลี สินสมุทรไม่ยอมทั้งๆ ที่พระอภัยขอให้สินสมุทรส่งคืน เลยสินสมุทรกับอุศเรนรบกัน อุศเรนแพ้ ขาเสียหนีกลับลังกา

พวกพระอภัยไปถึงเมืองผลึก นางมณฑาแม่ของสุวรรณมาลีมอบราชสมบัติให้พระอภัย แต่สุวรรณมาลีแค้นด้วยความรัก เพราะพระอภัยเคยให้สินสมุทรมอบตัวนางให้กับอุศเรน คราวนี้นางเลยหนีไปบวช พระอภัยอภิเษกกับนางไม่ได้ เกรงอุศเรนจะมารบ จึงประกาศหาคนวิชาดีไว้ช่วยสู้ศึก นางวาลีหญิงรูปชั่วปัญญาดีจึงมาอาสา พระอภัยไม่ชอบรูปร่าง แต่อยากได้ใช้ปัญญานาง เลยรับเป็นสนม นางวาลีได้ใช้อุบายจนทำให้สุวรรณมาลีมาอภิเษกกับพระอภัยได้ และเมื่ออุศเรนกลับมารบพร้อมกับบิดา นางวาลีก็ได้ตีแตกไป เจ้าลังกาถูกธนูหนีไปได้ อุศเรนถูกจับและนางวาลีเย้ยหยันเสียจนอุศเรนรากเลือดตาย แต่ผีอุศเรนก็เข้าสิงนางวาลีจนตายเหมือนกัน เจ้าลังกาทราบว่าอุศเรนตายก็สิ้นพระชนม์ลงอีก นางละเวงน้องสาวอุศเรนจึงขึ้นครองราชย์ มีตราราหูเป็นของวิเศษ มีบาทหลวงเป็นที่ปรึกษาราชการ

นางละเวงตกลงทำสงครามแก้แค้นแทนพ่อและพี่ชาย โดยคำแนะนำของบาทหลวง นางใช้เสน่ห์หญิงเป็นเครื่องมือ ส่งรูปนางพร้อมกับสาส์นเชิญกษัตริย์ต่างประเทศรบเมืองผลึกของพระอภัย สัญญาจะอภิเษกกับกษัตริย์ที่ทำสงครามชนะ

เจ้าละมานกษัตริย์องค์หนึ่งอาสารบ ก็แพ้สงคราม พระอภัยได้รูปนางละเวงจากเจ้าละมาน เลยคลั่งไคล้ใหลหลงเสน่ห์นาง ต่อมากษัตริย์อีกเก้าทัพมารบ สุดสาครลูกพระอภัยมฌีที่เกิดกับนางเงือกมาช่วยไว้ได้ สุดสาครทำให้พระอภัยหายคลั่งแล้วจึงช่วยกันปราบศึกเก้าทัพพ่ายไป

คราวนี้พระอภัยพาพรรคพวกทั้งหมดไปรบลังกาแก้แค้นบ้าง ศรีสุวรรณกับสินสมุทรไปติดกลไกที่นางละเวงสร้างล่อไว้พร้อมทั้งกองทัพ พระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพหลับหมด เว้นแต่นางละเวง ซึ่งมีตราราหูคุ้มเสียงปี่ได้ พระอภัยกับนางละเวงพบกันเป็นครั้งแรก

เมื่ออำมาตย์ทูลให้นางละเวงครองราชย์ ได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของตราราหูซึ่งเป็นตราแผ่นดินไว้ว่า

ประการหนึ่งซึ่งตราพระราหู        เป็นของคู่ขัตติยาเทวาถวาย
เป็นตราแก้วแววเวียนวิเชียรพราย     แต่เช้าสายสีรุ้งดูรุ่งเรือง
ครั้นแดดแข็งแสงขาวดูพราวพร้อย    ครั้นบ่ายคล้อยเคลือบสีมณีเหลือง
ครั้นค่ำช่วงดวงแดงแสดงประเทือง     อร่ามเรืองรัศมีเหมือนสีไฟ
แม้นเดินหนฝนตกไม่ถูกต้อง        เอาไว้ห้องหับแห่งตำแหน่งไหน
ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นละมุนละไม    ถ้าชิงชัยแคล้วคลาดซึ่งศาสตรา

ตราแผ่นดินลังกาตามจินตนาการของสุนทรภู่นี้มีคุณสมบัติแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือใช้ปรับอากาศได้ เหมือนกับเครื่องปรับอากาศสมัยนี้ “เอาไว้ห้องหับแห่งตำแหน่งไหน ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นละมุนละไม”

สมัยนั้นเครื่องปรับอากาศยังไม่มีในโลก เราจึงต้องยกย่องสุนทรภู่ว่ามีความคิดเชิงพยากรณ์อนาคตได้ถูกต้อง เพราะสุนทรภู่สามารถเดาถึงประดิษฐกรรมในอนาคตได้ นั่นคือการประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

วิพากษ์วรรณกรรมเด่นของสุนทรภู่:นิราศภูเขาทอง

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ    เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง    มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ    ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
ลิ้นแผ่นดินสิ้นรสลุคนธา        วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

ในระยะเวลาใกล้ๆ กับที่ กีโซต์, ติเอรี และ มิเชอเลต์ กำลังมีชื่อเสียงเพราะเขียนประวัติศาสตร์ อยู่ในฝรั่งเศล เฮเน กำลังเพลินกวีนิพนธ์อยู่ในเยอรมนี คาลายกำลังทำความเรียงวินิจงานของเบินส์ อยู่ในอังกฤษ และ เฟนิมอร์ คูเปอร์ กำลังเด่นในการสร้างนวนิยายในอเมริกานั้น เขาจะทราบหรือไม่ว่ามีกวีไทยร่วมยุคกับเขาอีกคนหนึ่งกำลังครวญครางอยู่ในนิราศเอกของเขา กวีผู้นั้นคือ สุนทรภู่ นิราศเอก นั้นคือนิราศภูเขาทอง

ข้าพเจ้ากำลังศึกษา “ชีวประวัติและงานนิพนธ์” ของสุนทรภู่อยู่ กำลังเพลิดเพลินกับชีวิต และงานของศิลปิน ผู้ซึ่งเขียนหนังสือเพื่อจะให้เป็นมหรสพของประชาชนกำลังศึกษากวีผู้มีนามควบคู่กับชาติ ชาติไทย-สุนทรภู่! ก็พอดี “วงวรรณคดี” เปิดขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ข้าพเจ้าจะได้เชิญชวนท่าน ให้ชมชื่นนิราศเอกของท่านมหากวีผู้ใหญ่ยิ่งขึ้น

สุนทรภู่เป็นนักเขียนนิราศกลอนคนสำคัญที่สุดในวรรณคดีไทย ตลอดชีวิตเขียนนิราศตั้ง ๘ เรื่อง ข้าพเจ้ายังไม่เคยทราบว่าใครเขียนมากเท่าสุนทรภู่ เริ่มเขียนนิราศเมืองแกลงอันเป็นเรื่องแรก ตั้งแต่เมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี และจบนิราศเมืองเพชรอันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายเมื่อก่อนถึงอนิจกรรมเพียงไม่กี่ปี สุนทรภู่โปรดนิราศเป็นที่สุด นิราศกลอนของสุนทรภู่ถูกถือเป็นแบบฉบับได้ทุกกระบวน นายมีผู้แต่งนิราศถลาง หม่อมราโชทัยผู้แต่งนิราศลอนดอน ล้วนเป็นศิษย์สุนทรภู่ทั้งนั้น คนแรกแทบจะสู้ครูได้ คนหลังพยายามจะเขียนนิราศให้เป็นจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ จึงหย่อนศิลปะแห่งนิราศไปบ้าง กระนั้นก็ดี หม่อมราโชทัยก็มีเกียรติสูงสุดในทัศนะของท่าน ซึ่งหวังว่าครั้งหนึ่งข้าพเจ้าจะมีโอกาสให้ความยุติธรรม

กล่าวโดยลักษณะนิราศเป็นคำประพันธ์ที่แต่งในขณะที่ผู้แต่งจากที่อยู่ จะจากจริงหรือสมมุติ ว่าจากไม่สำคัญ ในโอกาสเช่นนั้นคนที่มีนิสัยเป็นกวีย่อมอยู่นิ่งไม่ได้ เมื่อเห็นหรือผ่านอะไรสะดุดตา สะดุดใจ ก็นำมาคิดและเขียนลงไว้ อาจเป็นประวัติ อาจเป็นคติธรรมและภาษิตหรืออุปมาอุปไมยอันคมคาย หรืออาจเป็นการชมธรรมชาติอย่างน่าเพลิดเพลิน แล้วแต่สิ่งเหล่านี้จะดลใจ นิราศจึงมีลักษณะคล้ายๆ วรรณกรรมประเภทเดินทางและบันทึกความจำของวรรณคดียุโรป แต่นิราศมีลักษณะพิเศษ นอกเหนือไปกว่านั้น คือต้องมีโวหารสังวาสหรือรสพิศวาสประกอบด้วย จึงจะครบลักษณะแห่งศิลปะของนิราศ ผู้แต่งย่อมรักจะแสดงโวหารครํ่าครวญ และอาลัยคนรักของตนซึ่งอยู่เบื้องหลัง จะมีคนรักจริงๆ หรือสมมุติว่ามีก็ได้ สาระสำคัญคืออาลัยอิทธิพลอิสตรีให้เป็นที่มาแห่งความอ่อนหวานแห่งถ้อยคำ และเป็นห้วงกำเนิดแห่งความเคลิ้มฝันอันเป็นศิลปะของกวีเป็นสำคัญ ท่านสุนทรภู่อ้างอิทธิพลของสตรีต่อศิลปะแห่งการกวีไว้ในนิราศสุพรรณของท่านว่า “ใครที่มีชู้ชู้ช่วยคํ้าคำโคลง” ทั้งนี้ย่อมเป็นที่รับรองกันทั่วไป เพราะเราทราบกันดีอยู่ว่า สตรีเป็นผู้ก่อให้เกิดศิลปะในแทบทุกสาขา อันโวหาร สังวาสนี่ถึงกับเปรียบเทียบกันต่างๆ ท่านสุนทรภู่ว่าเหมือนพริกไทยใบผักชีที่ทำให้อาหารชูรส หลวงจักรปาณี (ฤกษ์) ผู้แต่งนิราศทวาราวดี ว่าเหมือนนํ้าตาลที่ทำให้ทองหยิบฝอยทองหวาน สรุปความได้ว่า ธรรมดานิราศถ้าขาดโวหารสังวาสก็ขาดศิลปะ

แต่สุนทรภู่เขียนนิราศของท่านให้วิเศษยิ่งขึ้นไปกว่านิราศของคนอื่น สุนทรภู่เล่าประวัติชีวิตของตนเองไว้ลงในนิราศ บอกเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนชีวิตคน บอกอุปนิสัยและอารมณ์รักอารมณ์ชัง ไว้ในนิราศ บอกจนกระทั่งความที่ไม่เป็นมงคลแก่ตัวเอง ถ้าจะพูดตามสำนวนของนักวรรณคดีฝรั่งเศส ก็ว่า สุนทรภู่วาดภาพและระบายสีชีวิตของตนไม่แพ้ มองเตญ และลารอชฟูโกลด์ กวีฝรั่งเศสเลย ในนิราศเรื่องที่สุนทรภู่เขียนมีอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่สุนทรภู่มิได้พูดถึงตนเอง นิราศพิเศษนี้คือนิราศอิเหนา ซึ่งสุนทรภู่มอบความเคลิ้มฝันอันผาสุกผสมความเศร้าให้แก่อิเหนา-ดาราละครรำของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมความได้ว่ามหากวีผู้นี้เขียนอัตชีวประวัติ (โอโตไบโอกราฟี) ลง ไว้ในนิราศของตน เป็นอัตชีวประวัติซึ่งนักศึกษาวรรณคดีไทยในปัจจุบันใช้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิจัยและวิจารณ์ชีวิตและงานของท่านได้อย่างกว้างขวาง

บัดนี้ขอแนะนำให้ท่านที่ยังไม่รู้จักนิราศภูเขาทอง ได้รู้จักนิราศเอกของท่านวรรณกรรมโกวิทแห่งชาติไทย โดยประวัตินิราศภูเขาทอง เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ นับเป็นนิราศเรื่องที่ ๓ รองจากนิราศเมืองแกลง (ต้น พ.ศ. ๒๓๕๐) และนิราศพระบาท (ปลาย พ.ศ. ๒๓๕๐) ท่านสุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทอง เมื่อท่านกำลังบวชอยู่ที่วัดราชบูรณะ ขณะนั้นอายุของท่านได้ ๔๒ ปี

ถ้าเราศึกษานิราศของสุนทรภู่โดยไม่ศึกษาประวัติของท่านประกอบไปด้วย เราจะได้รับรสนิราศไม่สมบูรณ์ จึงขอเล่าประวัติของท่านก่อนแต่งนิราศภูเขาทองไว้พอเป็นเค้า สุนทรภู่นั้นเมื่อน้อย เป็นข้าอยู่ในวังหลัง ครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ในคลองบางกอกน้อยมีนิสัยเป็นกวีมาแต่เยาว์ ครั้นเป็นหนุ่มรุ่นคะนองก็เป็นดาราในวงสักวาและดอกสร้อยอันเป็นมหรสพอยู่ในเวลานั้น เคยรับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวนอยู่พักหนึ่ง แต่อิทธิพลลึกลับแห่งวรรณคดีทำให้ท่านทิ้งอาชีพเสมียน และหันเข้าสู่โลกแห่งวรรณคดี เริ่มแต่ง “โคบุตร” ประโลมโลก แบบฉบับทำให้มีชื่อเสียงดีขึ้น กลายเป็นคนเด่นในวังหลัง ในวัยหนุ่มอันขาดสติสัมปชัญญะ สุนทรภู่ ได้ไปลอบรักกับคุณจันหญิงชาววัง ทั้งนี้ทำให้สุนทรภู่กับคุณจันต้องรับอาญาโดยถูกเวรจำทั้งสองคน เพราะบุพเพสันนิวาสในตอนหลังได้อยู่กินเป็นผัวเมียกัน แต่สุนทรภู่เจ้าชู้และเมาจนคุณจันทนไม่ไหว คุณจันก็สลัดกวีขี้เมาไปมีผัวใหม่ สุนทรภู่ก็เสียขวัญจนแทบจะเสียคน ต่อนั้นมาก็เกี่ยวข้องกับหญิงหลายคน เป็นเมียบ้าง เป็นชู้บ้าง เป็นคู่รักบ้าง และเมาตลอดมา ส่วนในด้านการงานสุนทรภู่อาศัยศิลปะแห่งกลอนของตนได้เสมอ สุนทรภู่ได้โฆษณาตนเองจนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงรู้จัก และโปรดให้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ มีความดีความชอบเรื่อยมาจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรโวหาร ทรงพระเมตตาเป็นอย่างดียิ่ง พระราชทานที่ให้ปลูกบ้าน และได้เป็นกวีที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จอมกวีมีเกียรติยศสูงเด่นในสังคมชั้นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต แต่ท่านขุนสุนทรโวหารยังคงดื่มสุราจัด จนครั้งหนึ่งวิวาททุบตีญาติผู้ใหญ่ถึงกับทรงพระพิโรธ และโปรดให้เอาสุนทรภู่ไปเข้าคุกอยู่คราวหนึ่ง ต่อมามีความชอบโดยต่อกลอนได้สมพระราชหฤทัย จึงพ้นโทษออกมาจากคุกได้

โดยอุปนิสัยสุนทรภู่เป็นคนตรงไม่ตรงมา และมั่นใจในศิลปะของตนจนเกินไป สุนทรภู่เคยทักแก้บทพระนิพนธ์ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในที่ชุมนุมกวีหน้าพระที่นั่งตั้งสองหน ทำให้กรมหมื่นพระองค์นั้นทรงแค้นเคืองสุนทรภู่มาก ฉะนั้นพอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กลายเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านขุนสุนทรโวหาร-กวีปากเปราะชนิดขวานผ่าซากก็ถูกถอด และเป็นที่ทรงเกลียดชังเรื่อยมา สุนทรภู่จึงต้องไปบวช แต่ท่านกวีผู้นี้หนีเวรไม่พ้น เมื่อบวชนั้น ต้องอธิกรณ์เรื่องสำคัญ ถ้าไม่ใช่เรื่องสุราน้ำนรก ก็คงเป็นเรื่องสตรี-ศัตรูพรหมจรรย์ จะเท็จจริงอย่างไรไม่มีใครทราบ ท่านสุนทรภู่เปิดเผยไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง    มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา    ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชตรวจน้ำขอสำเร็จ    พระสรรเพ็ชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย        ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแต่ว่าเรายังเมารัก    สุดจะหักห้ามจิตจะคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป        แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน..”

จะเป็นเพราะเรื่องเหล้าหรือผู้หญิงก็ตาม ในที่สุดพระสุนทรภู่อายุ ๔๒ ปี ก็ถูกบรรพาชนียกรรม จากวัดราชบูรณะให้ไปอยู่วัดอื่น ท่านจึงถือโอกาสแห่งความเศร้าครั้งนี้นิราศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสักการะเจดีย์ภูเขาทอง นี้คือมูลเหตุที่สุนทรภู่เขียนนิราศภูเขาทอง และเขียน “ตามภาษาไม่สบาย พอคลายใจ” ดังที่ท่านบอกไว้ท้ายนิราศนั้น

เนื้อของนิราศมีอยู่ย่อๆ ว่า หลังจากรับกฐินประจำปีแล้ว พระสุนทรภู่ก็ออกจากวัดราชบูรณะ โดยทางเรือ มีนายพัดบุตรชายซึ่งคุณจันทิ้งไว้ให้ติดตามไปด้วย เมื่อเรือผ่านจวนของผู้รักษากรุงเก่า- พระยาไชยวิชิต หรือพระนายไวย เพื่อนข้าราชการในครั้งรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่คิดจะแวะเยี่ยม

“…แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก    มิอกแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร        จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ…”

ท่านกวีตกยากจึงเจียมตัวไม่แวะเยี่ยมไปจอดเรือพักอยู่ตรงข้ามวัดหน้าพระเมรุ วันรุ่งขึ้นจึงไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง

ขอแทรกประวัติของเจดีย์ภูเขาทองไว้โดยย่อในที่นี้ด้วย เมื่อพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น โปรดให้สร้างพระเจดีย์มอญองค์มหึมาขึ้นไว้ที่วัดๆ หนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ วัดนั้นอยู่ในทุ่งทางฝั่งตะวันออกห่างจากตัวกรุงเก่าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร การสร้างปูชนียวัตถุเช่นนี้ขึ้นก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพม่าได้เคยมามีอำนาจเหนือประเทศไทย เรียกเจดีย์นี้ว่าภูเขาทอง และเลยเรียกนามวัดนั้นว่าวัดภูเขาทองด้วยกาลสืบต่อมา วัดและเจดีย์ภูเขาทองปรักหักพังไปมาก ใน พ.ศ. ๒๒๘๗ พระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เจดีย์ใหม่ โดยเปลี่ยนรูปเจดีย์มอญให้เป็นเจดีย์ไทยเสีย ถึงกระนั้นก็ตามเชิงฐานยังคงมีเค้าฝีมือมอญอยู่ คติแห่งการสร้างเจดีย์นี้อยู่ที่ประกาศความเป็นทาสกับการประกาศความเป็น ไทย!

ศิลปะแห่งการกวีในนิราศภูเขาทองขึ้นถึงขีดสูงสุด สมบูรณ์ด้วยลักษณะกระบวนนิราศทุกประการ ว่าถึงกระบวนกลอนและการใช้ถ้อยคำก็ประณีตบรรจงยิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ นิราศเรื่องนี้เป็นนิราศ แห่งความตกยาก ความเศร้า และความพลาดหวัง ความคิดเกี่ยวแก่การปลงสังเวชตนจึงหลั่งไหลออกมาจากหัวใจของสุนทรภู่อย่างไม่สิ้นสาย สุนทรภู่อุทิศส่วนใหญ่ของนิราศเพื่อพูดถึงตนเอง และพูดครวญครํ่ารำพันอย่างอิสระตามอำเภอใจ เป็นการพิลาปตามทำนองเสรีรำพันในลัทธิโรมังติสม์ของวรรณคดียุโรปแท้ทีเดียว ท่านรำพันด้วยความอาลัยถึงวัดราชบูรณะว่า

“โอ้อาวาสราชบูรณะพระวิหาร    แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
หวนรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง        ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง’’

เต็มไปด้วยเสียงอาลัย เต็มไปด้วยความแค้นอย่างพูดไม่ออก และเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ตนไม่ได้รับความยุติธรรม

ในขณะถูกขับจากวัดนี้ สุนทรภู่เสียสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งที่ไม่มีอยู่ ท่านได้ปลงสังเวชความทุกข์ยากของตนว่า

“โอ้พสุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น        ถึงสี่หมื่นสองแสนแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้        ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา’’

การถูกบรรพาชนียกรรมทำให้มหากวีอาภัพปวดร้าวและครวญออกมาอย่างที่คนอื่นเอาอย่างไม่ได้ กวีนักนิราศอีกคนหนึ่งคือหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) เจ้าของนิราศทวาราวดีพยายามจะสู้สำนวนนี้ โดยกล่าวว่า

“ถึงบ้านบางธรณีไม่มีชื่น        โอ้ภาคพื้นแผ่นที่ใหญ่หนา
ยามเราจนอ้นอั้นเหลือปัญญา    สุดจะอาศัยดินสิ้นทั้งปวง’’

ท่านจะเห็นความแตกต่างในรสเพราะและความงามได้อย่างชัด คุณหลวงยังขึ้นไม่ถึงท่านขุนถูกถอด เพราะคุณหลวงมิได้ปวดร้าวจริงดังท่านขุนโวหารตอนนี้ของสุนทรภู่จึงสมดังที่คีตส์กวีร่วมยุคกับสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า “ความงามคือความจริง และความจริงคือความงาม’’

ถ้าท่านศึกษาสุนทรภู่ท่านจะเห็นว่าเป็นคนกตัญญที่สุดคนหนึ่ง แต่สุนทรภู่เป็นกวีที่ยากจน ค่นแค้น มีหนทางเดียวที่จะแสดงกตเวทีได้คือโดยถ้อยคำ สุนทรภู่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า

“โอ้ผ่านเกล้าเจ้าพระคุณของสุนทร    แต่ปางก่อนเคยได้เฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานหนึ่งศีรษะขาด        ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมวิบัติมาซัดเป็น        ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย    ประพฤติฝ่ายสมถะพระวษา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา        ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป”

อนิจจา ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะทรงทราบด้วยพระญาณใดๆ ว่ากวีที่พระองค์เคยโปรดกำลังถวายความจงรักภักดีอย่างน่าสงสารเช่นนี้ พระองค์จะปีติสักเพียงไหน

ท่านอมตกวีสำแดงความภาคภูมินักหนาในชีวิตราชการของท่านในรัชกาลที่ ๒ เพราะท่านเคยรับราชการใกล้ชิดสนิทสนมในเรือพระที่นั่ง เมื่อกษัตริย์จอมกวีจะทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใด สุนทรภู่ก็เคยมีหน้าที่อ่านและเขียนถวาย ท่านว่า

“เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ        ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา            วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์…”

นี่คือการเปรียบเทียบที่หอมยิ่งกว่ากลิ่นสุคนธ์ใดๆ อันความสนิทสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้ สุนทรภู่คงถึงกับเอาไปเคลิ้มฝันไว้ในลักษณวงศ์วรรณกรรมหากินยามยากของท่าน ในเรื่องนี้ท่านเปรียบตัวเองเป็นพราหมณ์เกสร และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เป็นลักษณวงศ์ ในความว่า

“ปางพระองค์ทรงแต่งเรื่องอิเหนา        พราหมณ์ก็เข้าเคียงเขียนอักษรศรี
เมื่อท้าวติดพราหมณ์ก็ต่อพอดี        ท้าวทวีความสวาทประภาษชม”

ข้าพเจ้าอาจเรียกได้เต็มปากว่าสุนทรภู่เป็นนักรักคนสำคัญ ท่านศิลปินได้ประสบรสของความรักทุกกระบวน อันรสของความรักนี้วรรณคดีสันสกฤตเรียกว่า “ศฤงคารรส” ซึ่งมีความคลี่คลายออกไปเป็นชั้นๆ คือเมื่อหญิงกับชายต่างเกิดความพิสมัยในกันและกันขึ้น โดยต่างฝ่ายต่างยังไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน เรียกความรักตอนนี้ว่าอโยค ถ้าหญิงชายได้ร่วมรักสมัครสมานกันจนสนิทสนมแล้ว ลักษณาการของความรักระยะนี้เรียกว่าสมโภค และถ้าหากว่าทั้งสองฝ่ายมีความจำเป็นที่จะต้องแตกความสัมพันธ์กันในตอนหลัง ความรักในระยะนี้เรียกว่า วิประโยค หรือบางทีเรียกวิประลัมภ์ ท่านสุนทรภู่ผ่านศฤงคารรสทุกชั้นตามตำรานี้! เคยก่อความรักขึ้นกับคุณจันตั้งแต่ในวัยรุ่น เคยชนะหัวใจคุณจันจนได้ เป็นภรรยา และในบั้นท้ายคุณจันก็หลุดมือไปอย่างไม่มีวันกลับ นอกจากนั้นยังมีเมียและชู้รักอีกหลายคน เช่น แม่นิ่ม แม่ม่วง แม่แก้ว แม่กลิ่น แม่สุข แม่น้อย บัวคำ (ลาว) ตลอดจน “นกน้อยลอยลม” ซึ่ง ท่านศิลปินเอกได้ให้เกียรติยศอ้างชื่อไว้ในนิราศสุพรรณโดยไม่เกรงข้อครหาใดๆ ด้วยเหตุที่ท่านมีความชำนาญในเรื่องรักอย่างชัดเจน จึงรู้แจ้งเห็นจริงในกระบวนนิราศอย่างเต็มภาคภูมิ และนำเอาอารมณ์ ทั้งหลายอันเกิดจากศฤงคารรสมาจารึกไว้ในนิราศและงานนิพนธ์อื่นๆ อย่างวิจิตรพิสดารที่สุด

ในนิราศภูเขาทองถึงแม้ท่านสุนทรภู่จะอยู่ในสมณเพศและอยู่ในระหว่างเศร้าโศก สุนทรภู่ ไร้ญาติขาดมิตร เมียและคนรักก็ดูเหมือนจะไม่มี แต่สุนทรภู่เสียดายศิลปะของพิศวาสนัก หากจะไม่รำพันโวหารพิศวาสไว้ด้วย ฉะนั้นในนิราศเรื่องนี้จึงมีกระบวนพิศวาสที่น่าเพลิดเพลินอยู่หลายตอน

“…เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง    ทั้งรักแซงแซมสวาทประหลาดเหลือ
เหมือนโศกพี่ที่ระกำก็ช้ำเจือ        เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย”

นี่คือการพรํ่าเพ้อของกวีเมียทิ้ง ที่น่าอ่านยิ่ง ตอนหนึ่งท่านศิลปินเอกรู้สึกเหมือนว่าตนเองเข้าไปอยู่ในอาณาจักรแห่งความผันแปรของอารมณ์ มีรัก มีระกำและมีโศกสลับกันไป และศิลปินนักฝันผู้นี้ได้เหยียดความคิดของตนไปไกลจนถึงกับว่า

“งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม        ดังขวากเสี้ยมแซมแซกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย        ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว(๔๒ ปี)    ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง        เจียนจะต้องปีนบ้างหรืออย่างไร…”

สังเกตดูทัศนะสำคัญยิ่งของท่านอมตกวีในนิราศภูเขาทองนี้อยู่ที่การจะพูดถึงโลกและชีวิตเป็นสำคัญ เป็นการเปล่งเสียงที่ปลงตกไปเสียทุกอย่าง

“โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก    เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงและเกียรติยศ    จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้มีดีมากแล้วยากเย็น    คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น…”

โวหารการประกาศความเข้าใจในโลกและมนุษย์อันคมคายมีอยู่มากในนิราศภูเขาทอง

“…ถึงบ้านเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด        บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน        อุปมายเหมือนมะเดื่อเหลือระอา…”

และได้เน้นจิตมนุษย์ไว้ว่า

“โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง        เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย
นี่หรือจิตคิดหมายเป็นหลายใจ    ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิด…”

ด้วยโลกทัศน์อันกว้างและลึกซึ้งของสุนทรภู่ดังนี้กระมัง บางท่านจึงเทิดมหากวีสุนทรภู่ว่า เป็นกวีปรัชญาเมธีผู้หนึ่งที่ชาติไทยควรจะภาคภูมิ

นิราศภูเขาทองนั้นเป็นนิราศสั้นที่สุดของสุนทรภู่ แต่ว่ามีศิลปะแห่งนิราศพร้อมบริบูรณ์ทุกกระบวน นักปราชญ์คนสำคัญๆ ของเมืองไทย เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงยกย่องนิราศภูเขาทองเป็นนิราศเยี่ยมยอดของสุนทรภู่ ดีกว่านิราศเมืองแกลง ซึ่งเขียนเมื่ออายุเพียง ๒๐ ปี เด่นกว่านิราศพระบาท ซึ่งครํ่าครวญถึงเมียที่ตนทะนุถนอมแต่อย่างเดียว วิเศษกว่านิราศวัดเจ้าฟ้า ซึ่งตัวสุนทรภู่เองต้องใช้สำนวนเณรหนูพัดแทน ซาบซึ้งยิ่งกว่านิราศอิเหนา ซึ่งเป็นนิราศที่สุนทรภู่มิได้พูดถึงตนเอง ชนะนิราศสุพรรณซึ่งแต่งเป็นโคลงที่สุนทรภู่ไม่ถนัด จะมีนิราศที่พอเท่าเทียมกับนิราศภูเขาทองได้ก็แต่นิราศเมืองเพชร ซึ่งแต่งเมื่อสุนทรภู่ “สุกสมบูรณ์แล้ว” อนึ่ง ตามทัศนะของข้าพเจ้าเห็นว่า นิราศพระปธม ก็เกือบจะขึ้นถึงนิราศภูเขาทองเหมือนกัน แต่เรื่องนี้วิเศษเฉพาะความงาม ในกระบวนโวหารพิศวาส เช่นที่จับใจคน จนมีผู้เอาไปประกอบเพลงดนตรีก็มี คือ

“แม้นเป็นไม้ให้พี่ได้เป็นนก        ให้ไก้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์        ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่        ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร        ได้เชยช้อนชมทะเลทุกเวลา
แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์    จะได้ลงสิ่งสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา        พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัน…”

ข้าพเจ้าใคร่จะวิจารณ์ว่าอันจิตตารมณ์ของนิราศ โดยเฉพาะนิราศของสุนทรภู่นั้นมีทำนองรำพันอย่างเสรี ดิ้นรนที่จะแสดงความรู้สึก ความเพ้อฝันอันวิจิตรพิสดาร ผู้แต่งต้องการแสดงความฉลาดของตัวให้โลกเห็น ต้องการเป็นตนของตนเอง มีความรู้สึกรุนแรงที่จะรังสรรค์ความงามให้อิ่มใจ และกล้าพูดกล้าคิด ไม่เอาใจใส่ต่อแบบแผนและประเพณี จิตตารมณ์ของนิราศจึงไปเหมือนกับลัทธิ โรมังติสม์ของวรรณคดียุโรปเข้าอย่างแปลกประหลาด และที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือ สุนทรภู่เป็นกวีร่วมยุคกับกวีลัทธิโรมังติสม์ เช่น ซาโตบริอางค์ ลามาตีน และฮูโกของฝรั่งเศส และไบรอน เวิดสเวิธ และคีตส์ของอังกฤษอีกด้วย ท่านจะไม่ภาคภูมิหรือที่ชาติไทยมีสุนทรภู่?

แก้เอยแก้วใด                หาได้ไม่ยากหากจะหา
ขุนพลแก้วขุนคลังแก้ก็เหลือตรา    ทั้งนางแก้วกัลยาแก้วมณี
ยิ่งช้างแก้วม้าแก้วแล้วยิ่งมาก    ที่หายากคือแก้วกวีศรี
ห้าสิบสองล้านพลเมืองที่ไทยมี    หากวีแก้วได้เท่าใดเอย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด