สังเสทชโยนิ

สังเสทชโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากไคล คนที่เกิดจากไคล ก็มีเช่นกัน ดังเรื่องของนางปทุมาวดี ซึ่งมีบุตรชายถึง ๕๐๐ คน ซึ่งมีเรื่องเล่า

เมื่อชาติก่อนนางปทุมาวดีเป็นคนยากจนเข็ญใจ มีอาชีพทำนา วันหนึ่ง นางไปไถนาและจะนำอาหารไปส่งสามี การถือกำเนิด1ได้เอากระเชอข้าวทูนไว้บนศีรษะ ขณะที่เดินไปตามทางได้พบพระปัจเจกโพธิเจ้าองค์หนึ่งรูปงามมาก นางจึงมีใจเลื่อมใสศรัทธา คิดว่าจะถวายอาหารบิณฑบาตรแก่พระปัจเจกโพธิเจ้า จึงเอาข้าวใส่บาตร และเอาข้าวตอกกวนกับนํ้าผึ้งขึ้นเป็นก้อนได้ ๕๐๐ ก้อน วางลงในบาตรบนข้าวสุก นางแลเห็นดอกบัวหลวงในสระข้างทางจึงไปเก็บดอกบัวใส่ลงในบาตร และวางไว้ที่พระบาทพระปัจเจกโพธิเจ้าเพื่อถวายบูชาคารวะ นางได้ตั้งปรารถนาว่า ด้วยผลอานิสงส์ที่ได้บูชาพระปัจเจกโพธิเจ้า ด้วยข้าวตอกกับนํ้าผึ้ง ๕๐๐ ก้อนนี้ ขอให้นางได้มีบุตรชาย ๕๐๐ คน และด้วยผลบุญที่นางบูชาด้วยดอกบัวหลวง ขอให้นางเดินไปที่แห่งใดก็ให้มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับเท้าของนางทุกย่างก้าวตลอดทางมิให้ขาด พอกล่าวคำปรารถนา เสร็จก็ไหว้อำลาพระปัจเจกโพธิเจ้าไปทำงานของนางต่อ ในที่สุดเมื่อนางสิ้นชีพ แล้วได้จากโลกมนุษย์ไปเกิดในสวรรค์เสวยสมบัติเป็นทิพย์ เมื่อสิ้นชีพจากสวรรค์ ก็ได้มาเกิดในโลกมนุษย์อีก นางรู้สึกเกลียดครรภ์มารดา ใคร่จะได้เกิดในดอกบัว ดังนั้นการมาเกิดในโลกมนุษย์ครั้งนี้นางจึงได้เกิดในดอกบัวหลวงดอกหนึ่งในสระเชิงเขาหิมพานต์

ครั้งนั้นมีฤษีองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ มักจะลงมาอาบนํ้าในสระนี้ทุกวัน ท่านได้เห็นดอกบัวในสระบานทุกดอก ยกเว้นดอกหนึ่งที่ยังไม่บานเป็น เวลานานถึงเจ็ดวัน พระฤษีรู้สึกแปลกใจจึงหักดอกบัวนั้นมา จึงได้เห็นเด็กอ่อนอยู่ในดอกบัวนั้น เป็นเด็กหญิงมีผิวพรรณงามราวทองคำเนื้อสุก พระฤษีมีใจกรุณาต่อเด็กนั้นมากจึงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ให้เด็กน้อยดูดหัวแม่มือกิน เนื่องด้วยมีนํ้านมไหลจากหัวแม่มือพระฤษี ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจของพระฤษี และบุญของทารกน้อยนี้ พระฤษีตั้งชื่อนางว่าปทุมาวดี เพราะเหตุว่านางเกิดในดอกบัว

คราวนั้นมีพรานเนื้อผู้หนึ่งเดินทางกลางป่ามาจนถึงป่าหิมพานต์ ได้เห็นนางผู้มีความงามยิ่งนี้ พรานนั้นจึงนำความไปทูลพระเจ้าพรหมทัตผู้ทรงราชย์ ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตจึงเสด็จไปนมัสการพระฤษี ทรงขอนางมาเป็นพระมเหสี ตั้งแต่นางเกิดมา ไม่ว่าจะย่างเท้าก้าวเดินไปที่ใด ก็จะ มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับเท้านาง ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยผลบุญที่นางได้บูชาพระปัจเจกโพธิเจ้าด้วยดอกบัวหลวง ครั้นนางได้เข้าไปอยู่ในวัง นางก็ตั้งครรภ์จนครบสิบเดือน ได้คลอดบุตรเป็นชายครบจำนวน ๕๐๐ คน ล้วนเป็นเจ้าชาย เกิดในพระราชวัง เจ้าชายองค์ใหญ่องค์เดียวที่เกิดอยู่ภายในรก ส่วนโอรสอีก ๔๙๙ คน นั้นอยู่ภายนอกรก ดังนั้นเจ้าชายองค์ใหญ่จึงได้ชื่อว่า พญาปทุมกุมาร เจ้าชายทั้งห้าร้อยองค์ เมื่อเจริญวัยขึ้นก็พากันไปบวช ได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกโพธิเจ้าทั้งห้าร้อยองค์ ในที่สุดเมื่อสิ้นพระชนมชีพแล้วก็เสด็จสู่นิพพาน เจ้าปทุมกุมารผู้พี่ซึ่งเกิดในรกนั้น เรียกว่าเกิดเป็นชลามพุชโยนิ แต่เจ้าผู้น้อง ๔๙๙ องค์ นั้น เรียกว่าเกิดจากสังเสทชโยนิ บรรดาคนที่เกิดจากไคลก็มี ดังที่ได้กล่าวมานี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

อัณฑชโยนิ

อัณฑชโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากไข่ มนุษย์ที่เกิดจากไข่ ก็มีเช่นกัน ดังเช่นนิทานที่จะเล่าต่อไปนี้

ครั้งนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง อยู่ในเมืองใหญ่ชื่อ ปาตลีบุตร วันหนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้ได้เดินทางออกจากเมืองเข้าไปในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ได้พบนางกินรีตัวหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ อัณฑชโยนิเกิดความรักในนางกินรีนั้นเป็นอันมาก จึงสมสู่กับนางในกลางป่านั้น ต่อมานางกินรีได้ตั้งครรภ์และออกไข่มาสองฟอง นางกินรี ก็ฟักไข่จนไข่แตกออกเป็นมนุษย์สองคน คนพี่ให้ชื่อว่า ดิสสกุมาร คนน้องให้ชื่อว่า มิตรกุมาร

ครั้นกุมารทั้งสองเจริญวัยขึ้น ก็สังเกตเห็นว่าหน้าบิดามารดาของเขา นั้นแตกต่างกันมากจึงรู้สึกสลดใจ ทั้งสองปรึกษากันว่า การเวียนว่ายตายเกิด นี้เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน เราทั้งสองควรจะไปบวชเป็นสมณะเพื่อบรรลุนิพพานจะดีกว่า แล้วกุมารทั้งสองก็จากบ้านไปบวชในสำนักพระมหาเถระองค์หนึ่งนามว่า พระพุทธเถระ บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลานาน จนในที่สุดทั้งสองก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นสิ้นชีพแล้วก็ได้ไปสู่นิพพาน มนุษย์ที่เกิดจากไข่ ก็มีเช่นสองพี่น้องดังกล่าวมานี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

นกเค้าแมว ๑๘ ชนิดของไทย

นกเค้า ๑๘ ชนิดที่มีในประเทศไทยนั้น คือ นกแสก นกเค้าแดง นกเค้าหน้าผากขาว นกเค้าภูเขาหูยาว นกเค้าหูยาวเล็ก นกเค้ากู่ นกเค้าเล็กลายจุด นกเค้าแคระ นกเค้าโมง นกเค้าเหยี่ยว นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา นกเค้าใหญ่สีคล้ำ นกทึดทือพันธุ์ภาคนกเค้าหน้าผากขาวเหนือ นกเค้าป่าหลังจุด นกเค้าป่าสีน้ำตาล นกเค้าแมวหูสั้น

นกเค้าแมวเหล่านี้ แม้จะมีชื่อเรียกต่างๆ กัน แต่รูปร่างหน้าตาของมันดูเพียงผิวเผินก็เหมือนกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม นกเค้าแมวนั้นมีชื่อเรียกอีกหลายอย่างตามท้องถิ่นเช่น นกทึดทือ นกแสก นกฮูก โดยมากก็มักจะเรียกตามเสียงของมันที่ร้องออกมา ตามชนิดของมันนั่นเอง แม้แต่นกตบยุงก็นับเข้าเป็นพันธุ์เดียวกับนกเค้าแมว

อักษรไทยของเรานี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเจ้าได้ทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช ๑๘๓๕ คิดเป็นเวลาถึง ๖๘๕ ปีในปีนี้ (๒๕๒๓) เราได้อาศัยตัวอักษรไทยที่พระองค์ท่านได้ทรงประดิษฐ์ขึ้น จดเรื่องราวต่างๆ ของชาติไทยและชาติอื่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับชาติไทยไว้เป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี ด้วยปัญญาของไทยเราเอง ซึ่งพยัญชนะของไทยเรานี้แม้บางคนจะว่าพระองค์ได้ดัดแปลงมาจากอักษรของชาติอื่นก็ตาม แต่มีใครบ้างเล่าที่ทำอะไรคิดอะไรได้โดยไม่ต้องอาศัยของเก่า หรือเลียนแบบธรรมชาติ ถึงอย่างไรก็ควรจะภาคภูมิใจในอักษรไทย ภาษาไทยของเรา จงช่วยกันรักษาไว้ทั้งรูปแบบ และรูปคำพูด ให้ยืนยงคงไว้ตลอดไป

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

นกฮูกและนกเค้าแมว

นกฮูกนั้น นับเนื่องอยู่ในวงศ์ของนกเค้าแมว ซึ่งออกหากินในเวลากลางคืน แต่ที่เรียกว่านกฮูก เข้าใจว่าเรียกตามสำเนียงที่มันร้องว่า คุกๆ ฮูก เสียงของนกฮูกนั้นฟังแล้วโหยหวนชวนให้กลัวผี โดยเฉพาะเด็กๆ เมื่อได้ยินเสียงนกฮูกร้อง ก็ต้องวิ่งเข้าไปอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ทันที ทั้งนี้ก็เพราะว่ามีนิทานเกี่ยวกับนกฮูกเมื่อไรก็มักจะมีเรื่องผีตามมาเมื่อนั้น เรียกว่านกฮูกเป็นนกผีนั่นเอง ซ้ำร้ายที่สุดก็คือคนส่วนมากไม่เคยเป็นตัวนกฮูกจริงๆ เลย เพราะมันออกหากินในเวลากลางคืน

คนอินเดียถือว่านกแสกซึ่งเป็นนกอยู่ในตระกูลเดียวกับนกฮูก เป็นพาหนะของพระยม ซึ่งเป็นเจ้าแห่งความตาย ดังนั้นเมื่อได้ยินเสียงนกแสกร้องเมื่อไร ก็แสดงให้เห็นว่าพระยมจะมาเอาชีวิตคนเมื่อนั้น นกฮูกหรือนกแสกเกาะหลังคาเรือนใครว่ากันว่าจะมีคนตายหรือเจ็บป่วยที่เรือนนั้น เท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบ เขาว่ากันอย่างนั้น

ได้กล่าวแล้วว่านกฮูกนั้นอยู่ในตระกูลเดียวกับนกเค้าแมว อันนกเค้าแมวนั้นเขาเรียกพวกนกตระกูลหนึ่งซึ่งกินเนื้อเป็นอาหาร และมีอยู่ถึง ๑๓๓ ชนิด และนกเค้าแมวนี้จะพบได้ในทุกส่วนของโลก ยกเว้นในแถบขั้วโลกใต้และเกาะในมหาสมุทรบางแห่ง

สำหรับในประเทศไทยนั้น ท่านผู้รู้กล่าวว่ามีนกเค้าแมวอยู่เพียง ๑๘ ชนิด

นกเค้าแมวเป็นนกที่ชอบหากินในเวลากลางคืน ฉะนั้นจึงมีระบบตาและหูที่เจริญพิเศษเหนือนกอื่นๆ โดยมีดวงตาที่โตใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าของศีรษะ รอบๆ ตามีขนซึ่งเรียงออกไปเหมือนจานกลมๆ ใบใหญ่ ตาของมันใช้ชำเลืองดูไปมารอบๆ เหมือนตาคนหรือสัตว์อื่นๆ ไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าหากมันต้องการจะดูอะไร ต้องหันหน้าตรงไปด้วยจึงจะมองเห็น มันสามารถมองตามของบางอย่าง ซึ่งเคลื่อนไวไปรอบๆ ตัวของมันจากข้างหน้าไปข้างหลังได้ คอมีขนปกคลุมหนา จึงทำให้เห็นเป็นนกคอสั้น แต่ความนกฮูกจริงคอของมันยาวพอที่จะหันหัวไปข้างหลังได้อย่างสบายๆ มันมีหูที่ดีมาก หูทั้งสองข้างโตไม่เท่ากัน จึงทำให้มันรู้ว่า เสียงนั้นมาจากทางไหนได้ดีกว่าสัตว์อื่นๆ ฉะนั้น นกเค้าแมวบางชนิดสามารถจับเหยื่อได้ในที่มืดสนิท โดยโฉบเอาตามเสียง บางชนิดมีขนบนหูตั้งชันขึ้นไปคล้ายใบหูของสัตว์สี่เท้า นกเค้าแมวเป็นนกที่กินสัตว์เล็กต่างๆ เป็นอาหาร เช่นบางชนิดชอบกินหนู บางชนิดชอบกินกบ เขียด กิ้งก่า จิ้งเหลน งู บางชนิดชอบกินปูปลา บางชนิดชอบกินนกเล็กๆ เท้าของนกเค้าแมวมีเล็บโค้งและแหลมคมคล้ายเท้าของเหยี่ยว ปากก็โค้งแหลมเหมือนปากเหยี่ยว

ขนของนกเค้าแมวส่วนมากอ่อนนุ่ม ปลายขนก็อ่อนมากเป็นพิเศษ ฉะนั้นมันจึงบินได้เงียบดีมาก เหมาะที่จะบินโฉบจับเหยื่อในเวลากลางคืนที่เงียบสงัด แต่บางชนิดก็นกเค้าแมวออกหากินในเวลากลางวัน นกเค้าแมวชนิดที่ออกหากินในเวลากลางวันขนจะแข็งกว่านกที่ออกหากินในเวลากลางคืน

นิ้วก้อยของนกเค้าแมวทุกชนิดใช้เป็นนิ้วหน้าก็ได้ เป็นนิ้วหลังก็ได้ เวลาเกาะไม้มันเอานิ้วก้อยหันไปข้างหลัง จึงเห็นนิ้วข้างหน้าเท้าละสองนิ้ว ข้างหลังสองนิ้ว แต่เวลาจับเหยื่อมันใช้นิ้วก้อยอย่างกับนิ้วหน้า

ไข่ของนกเค้าแมวโดยมากเป็นสีขาวและค่อนข้างกลม ในประเทศไทยมักวางไข่เพียงสองสามฟอง แต่ในเมืองหนาววางไข่มากฟองกว่า หากปีไหนอาหารไม่สมบูรณ์ไข่ก็มีน้อยฟองลงไปกว่าธรรมดา มันไม่ได้วางไข่ทุกวัน แต่วางไข่ห่างวันกันมาก แม่นกจะเริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ฉะนั้น ในรังหนึ่งๆ จึงมีลูกนกขนาดใหญ่เล็กผิดกันมาก

การทำรัง  นกเค้าแมวบางชนิด ทำรังในโพรงไม้ บางชนิดทำตามซอกหินผา ซอกรูโพรงตามเจดีย์ร้าง ตามเพดานหรือตามซอกหลังคา

ลูกนกเค้าแมว เวลาออกจากไข่มีขนปุยขาวๆ คลุมตามตัว ตาปิด นอนกลิ้งไปมาจะยืนเดินหรือช่วยตัวเองไม่ได้เลย

สีของนกเค้าแมวส่วนมากเป็นสีน้ำตาล มีลายเลอะๆ ต่างๆ กัน ซึ่งยากที่จะอธิบายเป็นอักษรได้ ตัวเมียโตกว่าตัวผู้เล็กน้อย แต่มีสีคล้ายกับตัวผู้

นกเค้าแมวเป็นนกที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวนามาก เพราะมันชอบกินหนู บางชนิดก็ทำลายตั๊กแตน และแมลงต่างๆ ซึ่งเป็นศัตรูของพืช

ทำไมคนจึงกลัวนกเค้าแมว นกฮูก หรือนกแสก ก็เพราะว่านกเหล่านี้ชอบออกหากินในเวลากลางคืน โดยเฉพาะนกเค้าแมวที่เราเรียกกันว่านกแสกนั้น เมื่อเรามองในเวลากลางคืนโดยเอาไฟส่องดูมัน จะเห็นวงหนาขาวน่ากลัวคล้ายหน้าปีศาจ เวลาบินมันจะทำเสียงร้องดัง “แสก” ถ้าฟังในเวลาเงียบสงัดจะโหยหวนชวนกลัวผียิ่งนัก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

อ่างอาบน้ำในวรรณคดี

อ่างเป็นภาชนะใหญ่เตี้ยและปากผายทำด้วยดินเผา ซึ่งมีใช้กันแทบทุกบ้าน สมัยก่อนนี้อ่างเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น เพราะใช้สำหรับใส่สิ่งของ เช่น กะปิ เป็นต้น อ่างกะปิเรายังเห็นใช้อยู่จนทุกวันนี้

นอกจากนี้ อ่างนิยมใช้กันอีกอย่างหนึ่ง คือสำหรับเป็นภาชนะอาบน้ำให้เด็ก ซึ่งเราเรียกว่าอ่างอาบน้ำ เด็กไทยทุกคนต้องอาศัยอ่างอาบน้ำมาแล้วทั้งนั้น

เมื่อพูดถึงอ่างน้ำแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงเรื่องการอาบน้ำของคนเราไม่ได้ ว่ากันว่ามนุษย์เรานั้นถ้าไม่รู้จักทำความสะอาดร่างกายของตนเองแล้ว จะเป็นสัตว์โลกที่สกปรกและมีกลิ่นที่ออกจะรุนแรงกว่าสัตว์โลกชนิดอื่น ดังนั้น คนเราจึงต้องชำระร่างกายด้วยน้ำอยู่เสมอ

พวกพราหมณ์ถือว่า น้ำเป็นสิ่งที่ชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ เมื่อจะทำกิจการอะไรจึงต้องมีการชำระร่างกายให้หมดจดมลทินเสียก่อน แต่การอาบน้ำของพราหมณ์ที่สำคัญในชีวิตก็คือ อาบเมื่อแรกเกิด อาบเมื่อสมรส และอาบเมื่อตาย

การอาบน้ำสำหรับคนแต่ละชาติแต่ละภาษานั้นมีกรรมวิธีไม่เหมือนกัน อย่างในประเทศร้อน ก็อาจจะอาบน้ำในแม่น้ำและลำคลองได้ เพราะอากาศร้อน ไม่จำเป็นต้องต้มน้ำเสียก่อน แต่ในประเทศหนาวนั้น การจะอาบน้ำในแม่น้ำลำคลองในฤดูหนาว คงจะไม่มีใครที่ใจกล้าเสี่ยงต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย พวกที่อยู่ในประเทศหนาวจึงต้องทำห้องน้ำ และต้องต้มน้ำให้ร้อนเสียก่อนจึงจะอาบได้

การอาบน้ำสำหรับคนไทยเรา ซึ่งเป็นชาวบ้านทั่วๆ ไปสมัยก่อน ก็อาบกันตามแม่น้ำลำคลองหรือลำธาร หรือตามบ่อสระ ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น การที่จะอาบน้ำให้ประเจิดประเจ้อในเมืองที่มีคนมาก ดูจะไม่เหมาะสมนัก คนไทยเราทุกวันนี้จึงสร้างห้องน้ำและอาบน้ำกันในห้องน้ำอย่างมิดชิด นอกจากประชาชนตามบ้านนอกเท่านั้นที่ยังอาบน้ำแบบเดิมกันอยู่

แต่สำหรับคนชั้นสูง เช่น ข้าราชการผู้ใหญ่ และพระยา พระมหากษัตริย์ มีห้องอาบน้ำหรือห้องสรงน้ำนานมาแล้ว เรารู้จักใช้ฝักบัวหรือที่เรียกว่าสุหร่ายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างที่ปรากฏในหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วชวนนางพิมอาบน้ำตอนหนึ่งว่า

“พลายแก้วลุกแล้วชวนน้องรัก    ร้อนนักไปอาบน้ำบ้างเถิดหนอ
นางพิมพ์ฟังว่าไม่รารอ            จูงข้อมือเจ้าพลายนั้นเดินมา
ย่องเหยียบพอดังเกรียบกรอบลั่น    ศรีประจันทักไปนั่นใครหวา
เจ้าพลายสะกิดพิมพ์ให้เจรจา    ฉันเองคะออกมาจะอาบน้ำ
ครั้นถึงอ่างวางอยู่ที่นอกชาน    สองสำราญขึ้นนั่งบนเตียงต่ำ
จึงไขน้ำจากบังตะกั่วทำ        น้ำก็พร่ำพรายพรูดูกระเด็น”

นอกจากนี้ ในวรรณคดีต่างๆ ก็ยังพูดถึงเรื่องอาบน้ำฝักบัวไว้อีกหลายเรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนชั้นสูงของเรามีวิธีการอาบน้ำด้วยฝักบัวกันมานานแล้ว แต่คนไทยเราก็ยังมิได้มีการลงไปแช่ในอ่างนอกจากจะตักน้ำมารดตัวหรือใช้ไขน้ำจากฝักบัวกัน ต่อมาน้ำฝักบัวนั้นมีการใช้กันทั่วๆ ไป เมื่อมีน้ำประปาใช้กันทั่วไปแล้ว

ต่อมาเมื่อพวกฝรั่งได้เข้ามาตั้งรกรากหลักฐานในเมืองไทยมากขึ้น และคนไทยได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศมากขึ้น อ่างอาบน้ำแบบฝรั่งคือเป็นรูปร่างยาวลึกพอที่คนจะลงไปนอนอยู่ได้เมื่อต้องการจะอาบน้ำจึงมีใช้ในบ้านของคนมีอันจะกินมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันในหมู่คนไทยทั่วๆ ไป บางคนไม่รู้ไปด้วยซ้ำว่า อ่างอาบน้ำฝรั่งนั้นเขาอาบกันอย่างไร มีเรื่องเล่ากันว่า สมัยหนึ่ง รัฐบาลได้ส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปทัศนาจรเมืองนอก เขาจัดให้พักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แล้วเหตุการณ์เรื่องอาบน้ำในห้องน้ำก็เกิดขึ้น เพราะมีท่านสมาชิกคนหนึ่งอาบน้ำในห้องน้ำแล้ว น้ำเกิดล้นออกมานอกห้อง พนักงานของโรงแรมต้องโกลาหลจัดการกับน้ำที่เอ่อนองออกมานั้น ได้ความว่า ท่านสมาชิกผู้นั้น ท่านเปิดน้ำใส่อ่างน้ำแล้วเอาขันน้ำตักน้ำอาบอย่างเราตักน้ำจากโอ่งอาบนั่นแหละ ทีนี้ห้องน้ำของฝรั่งนั้น เขาไม่ได้ทำทางระบายน้ำไว้ตรงพื้นเหมือนของเรา เพราะเขาไม่อาบน้ำนอกอ่าง เขามีทางระบายน้ำในอ่างแห่งเดียว เมื่อท่านสมาชิกตักน้ำออกมาอาบนอกอ่างเรื่องโกลาหลก็เกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว เรื่องนี้จะเท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบ และที่นำมาเล่านี้ก็ไม่มีเจตนาที่จะเยาะเย้ยท่านผู้ใด เพราะคนเรานั้น มีโอกาสทำในสิ่งที่เราไม่รู้กันมาแทบทุกคน

ในเรื่องอาบน้ำนี้ ในทางพระพุทธศาสนาได้บัญญัติวิธีการอาบน้ำไว้หลายประการเหมือนกัน เช่นการบัญญัติให้พระภิกษุต้องนุ่งผ้าอาบน้ำฝน สาเหตุก็มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระภิกษุยังไม่มีจีวรหรือผ้าหลายผืน พระภิกษุหมู่หนึ่งต้องการจะอาบน้ำฝน เมื่อฝนตกครั้นจะนุ่งผ้าอาบน้ำก็จะไม่มีผ้านุ่งอีก จึงเปลือยกายอาบน้ำฝน มีผู้ไปเห็นเข้าก็ติเตียนว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเปลือยกายเหมือนพวกเดียรถีย์ พระพุทธองค์ทรงทราบจึงห้ามมิให้พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำ และยังบัญญัติว่าในการอาบน้ำนั้นห้ามถูหลังหรือร่างกายด้วยต้นไม้ ให้ใช้ผ้าถูตัว ถ้าจำเป็นจะต้องอาบน้ำเปลือยกายในแม่น้ำลำคลองก็ให้ทำได้ โดยวิธีค่อยๆ เปลื้องผ้าขึ้นข้างบนพอร่างกายท่อนล่างจมน้ำหมด ก็เอาผ้าวางบนก้อนหินหรือไม้หลักเมื่ออาบน้ำแล้ว ก็ค่อยๆ โผล่ตัวเอาผ้าคลุมนุ่งลงไปจากข้างบน  ไม่ให้อุจาดนัยน์ตาได้ วิธีการเช่นว่านี้มีผู้เล่ากันว่า พวกชาวเขาบางเผ่ายังใช้อยู่คนที่ไปแอบดูชาวเขาอาบน้ำมักจะดูไม่ค่อยทันด้วยซ้ำไปว่าเขาเอาผ้าออกจากตัวแต่เมื่อไร สำหรับพระภิกษุนั้น ถ้าจะอาบน้ำบนบกท่านจึงต้อมีห้องอาบน้ำของท่านไม่ประเจิดประเจ้อนานมาแล้ว ถ้าคนไทยเราทำตามพระในการดำเนินชีวิต ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็จะมีอีกหลายอย่างไม่ใช่เฉพาะแต่การอาบน้ำเท่านั้น

อุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำสำหรับคนไทยสมัยก่อน คือเครื่องขัดสีฉวีวรรณ ก็เห็นจะมีจำพวกส้มเช่นมะกรูดสำหรับสระผม และมีขมิ้นสำหรับประทินผิวให้เหลือง เมื่อสบู่เข้ามาเราก็หันมาใช้สบู่ชำระร่างกายกันทั่วไป จนบัดนี้แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีมุมไหนของประเทศไทยที่ไม่รู้จักใช้สบู่ถูตัว จนทำให้บริษัทค้าสบู่ร่ำรวยไปตามๆ กัน

การอาบน้ำของคนเรานั้นได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ จนกระทั่งบัดนี้ ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์เรานั้นชอบแสวงหาความสบายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การอาบน้ำเป็นความสบายอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา โดยเฉพาะเมื่อได้ใช้สบู่ถูฟอกตัวจนร่างกายสะอาด จะทำให้รู้สึกสดชื่นสบายเป็นอย่างมาก เรื่องของสบู่แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ในการชำระร่างกายให้หมดก็จริง แต่สบู่ที่ใช้ในการอาบน้ำก็ต้องระมัดระวัง ท่านผู้รู้แนะนำไว้ว่า การที่จะใช้สบู่อย่างใดนั้น ก็ย่อมแล้วแต่บุคคลแล้วแต่สภาพของผิวหนัง บางคนไม่อาจที่จะใช้สบู่ฟอกตัวได้ โดยเฉพาะพวกที่มีผิวแห้งมากๆ การใช้สบู่ยิ่งทำให้ผิวแห้งมากขึ้น หรือบางคนอาจจะแพ้สบู่ได้อย่างมาก พวกเหล่านี้ก็ควรใช้สบู่ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามสบู่ที่ใช้อาบน้ำที่นับว่ามีคุณสมบัติที่ดีนั้น มีหลักอันควรเลือกซื้อได้ดังนี้ สบู่ที่ดีจะต้องเป็นสบู่ที่มีฤทธิ์ด่างอ่อนๆ ไม่เติมสีใดลงไป ไม่เติมพวกตัวยาอย่างใดผสมลงไป ผสมน้ำหอมอยู่เพียงเล็กน้อย และประการสุดท้ายก็คือราคาถูก ดังนั้น สบู่ที่มีสีสันต่างๆ สบู่ที่มีกลิ่นหอมมากๆ สบู่ที่มีตัวยาอื่นผสมลงไปและเรียกกันว่าสบู่ยาหรือสบู่ที่เติมไวตามิน เติมฮอร์โมนอะไรลงไปผสมด้วยกับสบู่ราคาแพงนั้น ไม่ใช่สบู่ที่มีคุณสมบัติที่ดีเสมอไป

อาบน้ำวันละกี่ครั้งถึงจะเพียงพอ ปกติแล้ว เราอาบน้ำกันเพียงวันละ ๒ ครั้ง คือเช้าหลังจากตื่นนอนแล้ว และเย็นภายหลังกลับจากทำงานก่อนรับประทานอาหารเย็น แต่ในหน้าร้อนก็อาจจะอาบน้ำมากกว่านี้ได้ แล้วแต่ความจำเป็น แต่การอาบน้ำมากเกินไปนั้น หาใช่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายไม่ ซ้ำจะกลับเป็นโทษเสียอีก โดยเฉพาะในผู้ที่สูงอายุคือถ้าอาบน้ำมากอาจจะทำให้หมดเรี่ยวแรง หากน้ำที่อาบน้ำนั้นเป็นน้ำร้อน นอกจากนี้ในรายที่มีความดันโลหิตสูง การอาบน้ำร้อนอาจเป็นเหตุให้แรงดันสูงขึ้นไปอีก การอาบน้ำ สำหรับคนสูงอายุหรือคนที่อ่อนเพลียอยู่แล้ว ควรจะอาบน้ำเย็นธรรมดา และถ้าจะเป็นน้ำอุ่นก็ให้อุ่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี ได้กล่าวถึงเรื่องการอาบน้ำไว้ว่า “ในฤดูร้อนเรามีเหงื่อออกมาก การอาบน้ำฟอกสบู่อาจใช้ได้มากเพื่อการฟอกล้างกำจัดเหงื่อไคลสิ่งสกปรกที่ติดผิวกายออกให้หมด ขณะที่อาบน้ำฟอกสบู่นี้ พวกน้ำมันธรรมชาติ ซึ่งต่อมน้ำมันที่ผิวหนังจะขับออกมาเพื่อช่วยให้ผิวหนังอ่อนนุ่มและชุ่มชื้น จะพลอยถูกฟอกล้างออกไปด้วย แต่ในชั่วระยะไม่นานนัก ต่อมน้ำมันก็จะขับนํ้ามันออกมาสู่ผิวหนังได้อีก โดยผิวหนังไม่แห้งจากการขาดน้ำมันธรรมชาตินี้

“แต่ในฤดูหนาว ผิวหนังจะขับนํ้ามันธรรมชาตินี้ออกมาน้อย ประกอบกับอากาศหนาวเย็นนั้นแห้งด้วย แม้ว่าการอาบน้ำจะเป็นการช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากผิวกายได้ก็จริง ในฤดูหนาวถ้าอากาศเย็นมาก การอาบนํ้าหากว่าอาบบ่อยครั้งและใช้สบู่มากเกินไป จะทำให้น้ำมันตามธรรมชาติถูกชะล้างออกจากผิวหนังไปหมด จะทำให้ผิวหนังแห้งคันและผิวแตก ซึ่งนับว่าการอาบน้ำและฟอกสบู่นานๆ หรืออาบน้ำบ่อยครั้งแทนที่จะเกิดผลดี กลับอาจเกิดผลร้ายแก่ผิวกายได้ การอาบนํ้าในฤดูหนาวนั้น การฟอกล้างผิวกายด้วยสบู่จึงควรใช้ไม่มากนัก จะฟอกล้างได้มากโดยเฉพาะมือและเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับความสกปรกที่สุด กับบ่ริเวณรักแร้ และขาหนีบ ซึ่งเป็นส่วนที่อับและมีเหงื่อออกมากเท่านั้น สำหรับคนผิวแห้งมากๆ หลังการอาบน้ำแล้วอาจใช้ครีม หรือน้ำมันสำหรับทาผิวกายบ้าง เพื่อเป็นการทดแทนน้ำมันธรรมชาติ และกันผิวแห้งคันและผิวแตก เป็นสิ่งที่สมควร”

นอกจากนี้ อันตรายอันเกิดจากการอาบน้ำในห้อน้ำยังมีอีก เช่น การติดเชื้อโรคจากห้องน้ำ การหกล้มในห้องน้ำโดยเฉพาะในคนสูงอายุหรือเด็ก ซึ่งบางรายก็พิการก็ถึงแก่ชีวิตมาแล้ว เป็นอันตรายที่ไม่ควรจะมี ถ้าเราใช้ความระมัดระวังและป้องกันโดยการคอยทำความสะอาดในห้องน้ำมิให้มีการลื่นหกล้มได้ เช่นชำระเศษของสบู่หรือผงซักฟอกเป็นต้น

การอาบน้ำของคนไทยเรา หลังจากสงครามโลกคราวที่แล้วมานี้ นับว่าก้าวหน้าไปไกลมาก ถึงขนาดที่มีสถานที่อาบน้ำไว้สำหรับรับจ้างผู้ต้องการอาบเป็นพิเศษ ซึ่งเราเรียกกันสถานอาบ อบ นวด ณ สถานที่เหล่านี้ จะมีพนักงานรับใช้หรือหมอนวดล้วนแต่เป็นผู้หญิงสาวคอยรับใช้ผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการของเขา ซึ่งผู้ที่ใช้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายทั้งนั้น ว่ากันว่าการอาบน้ำแบบนี้ จะทำให้ผู้ที่ไปอาบน้ำได้รับความสดชื่นกระชุ่มกระชวยมากทีเดียว เพราะได้มีการอบตัวด้วยความร้อนให้เหงื่อออก และได้รับการนวด จากหมอนวดที่มีความชำนาญ สถานอาบอบนวดเหล่านี้ทำรายได้ให้แก่เจ้าของมิใช่น้อย บางแห่งมีหมอนวดไว้คอยบริการลูกค้านับเป็นร้อยคน ถึงอย่างนั้นลูกค้ายังต้องไปรอคิวกัน การอาบน้ำ ณ สถานที่เหล่านี้เสียค่าบริการเป็นรายชั่วโมง ส่วนจะคิดชั่วโมงละเท่าไรนั้นไม่แน่นอน แล้วแต่จะกำหนดกันเป็นแห่งๆ ไป แต่อย่างน้อยค่าน้ำประปา ซึ่งเราใช้กันทั้งครัวเรือนในหนึ่งเดือนนั้น คงจะน้อยกว่าอาบน้ำ ณ สถานที่เหล่านั้นเพียงชั่วโมงเดียว

พวกผู้ชายคงจะชอบสถานที่เหล่านี้ แต่ฝ่ายผู้หญิงไทยโดยเฉพาะที่มีสามีแล้วเกลียดสถานที่เหล่านี้ยิ่งกว่าเกลียดเจ้าหนี้ตอนมาทวงดอกเบี้ยเสียอีก และสถานที่เหล่านี้ก็เคยทำให้สามีภรรยาทะเลาะเบาะแว้งกันและหย่าร้างกันมาแล้วหลายร้อยหลายพันคู่

การเปลือยกายอาบน้ำสำหรับคนไทยเรา ดูจะเป็นของใหม่ที่เราเพิ่งประพฤติกัน เมื่อไม่เท่าไรมานี้เอง แต่สำหรับชาติอื่นแล้ว การเปลือยกายอาบน้ำดูเหมือนจะเป็นของธรรมดา สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทย พวกคนไทยเห็นเป็นของแปลกประหลาดที่เห็นทหารญี่ปุ่นแก้ผ้าอาบน้ำหน้าตาเฉยที่ก๊อกประปาสาธารณะ เรื่องการอาบน้ำในถังเดียวกันของชาวญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เขาทำกันเป็นของธรรมดา มีผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่งไปพักในบ้านของชาวญี่ปุ่น เล่าว่า วันหนึ่งเธอลงไปอาบน้ำอยู่ในถังน้ำในบ้าน (ก็เปลือยกายอาบน้ำนั่นแหละ) พ่อบ้านชาวญี่ปุ่นก็ลงไปอาบด้วย เธอจะขึ้นก็ไม่กล้าขึ้น และก็ถังอาบน้ำของชาวญี่ปุ่นนั้นเขาสุมไฟไว้ข้างล่าง ลงไปใหม่ น้ำยังไม่ทันร้อนพออาบไป น้ำก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ลงท้ายที่สุดผู้หญิงฝรั่งคนนั้นทนไม่ไหว ต้องเผ่นขึ้นจากถังน้ำทั้งๆ ที่พ่อบ้านชาวญี่ปุ่นยังอยู่ในถังน้ำนั่นเอง โดยที่พ่อบ้านคนนั้นไม่ได้สนใจอะไรในตัวของผู้หญิงคนนั้นเลย เขาว่ากันอย่างนั้น

การอาบน้ำของพวกผู้ชายนอกจากอาบจากสถานที่อาบอบนวดแล้ว ก็เห็นจะไม่มีอะไรที่น่าสนใจอีก แต่ฝ่ายผู้หญิงนั้น อุปกรณ์ในการอาบน้ำนอกจากพวกสบู่แล้ว ยังมีพวกเครื่องประทินผิวทั้งก่อนและหลังอาบน้ำอีกมากมาย บริษัทค้าเครื่องสำอางก็พยายามหาวิธีมาโฆษณาว่าสินค้าของตนนั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ จนผู้หญิงทุกวันนี้เกือบจะจมอยู่ในทะเลแห่งเครื่องสำอางก็มี บางคนเรารู้จักแต่นอกบ้าน ถ้าวันไหนเผลอเข้าไปเยี่ยมถึงในบ้าน บังเอิญเธอยังไม่ได้ลูบไล้เครื่องสำอางละก็ เป็นจำไม่ได้ทีเดียว อิทธิพลของเครื่องสำอางนั้นมีมากมายสามารถลบรอยด่างดำรอยแผลเป็น(นอกจากแผลที่หัวใจ) ของสตรีให้สะอาดหมดจดไปได้ ทุกวันนี้เรามองไปทางไหนก็เห็นแต่สตรีที่สวยสดงดงามไปทั้งนั้น เรียกว่าสวยเกือบจะเหมือนกันหมด อย่างที่ท่านว่าในศาสนาพระศรีอาริย์ พอผู้หญิงออกจากบ้านก็สวยเหมือนกันหมด แม้สามีตนเองก็จำภรรยาของตนไม่ได้ก็อาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของเครื่องสำอางค์นี้เอง

ว่ากันว่า ผู้หญิงที่จะเข้าประกวดนางงามนั้น พิถีพิถันในการอาบน้ำมาก บางรายลงทุนซื้อนมสดมาอาบ ว่าทำให้ผิวงามเหมือนน้ำนมนั่นเทียว แต่ก็มีนิทานตลกๆ เล่ากันมาว่า ผู้อุปการะนางงามคนหนึ่ง ลงทุนซื้อน้ำนมมาให้อาบแล้ว ต้องการถอนทุนคืน ก็เอาน้ำนมนั้นกรอกใส่ขวดคืน ปรากฏว่าขวดที่ใส่น้ำนมมานั้นไม่พอที่จะใส่น้ำนมกลับคืน เขาว่าแกได้กำไรครั้งละขวดด้วยซ้ำไป

ท่านรู้จักชำระร่างกายให้หมดจดนะเป็นการดีแล้ว แต่อย่าลืมชำระใจของท่านให้หมดจดจากสิ่งสกปรกบ้างก็แล้วกัน โบราณว่า “สะอาดกายเจริญวัย สะอาดใจเจริญสุข”

โดยทั่วไปเราอาบน้ำเย็นตามธรรมดาเพื่อการชำระล้างร่างกายให้สะอาด แต่ก็มีผู้แนะนำว่า การที่จะอาบน้ำให้เกิดความสดชื่นดีแล้ว ควรอาบน้ำอุ่นสลับกับน้ำเย็น กล่าวคือตอนแรกให้อาบน้ำอุ่นก่อน ความร้อนของน้ำให้ร้อนมากพอที่จะทนได้ ในเมื่อผิวกายถูกกับน้ำร้อน เลือดจะมาสู่ส่วนผิวมากขึ้น หัวใจจะทำงานดีขึ้น และขณะเดียวกันต่อเหงื่อจะทำหน้าที่ขับเหงื่อออกได้มาก ในระหว่างนี้ให้ถูนวดตามผิวกายให้ทั่ว หรือจะใช้ผ้าถูให้ทั่วร่างกาย เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีในผิวหนังทั่วไป

ต่อจากนั้นให้หยุดน้ำร้อน เริ่มอาบด้วยน้ำเย็น โดยค่อยๆ เพิ่มความเย็นขึ้นทีละน้อย จนถึงขั้นสุดท้ายให้น้ำเย็นมากเมื่อจะขึ้นจากน้ำ ในขณะที่ผิวกายถูกความเย็นนี้กล้ามเนื้อทั่วไปจะมีการบีบรัดตัวช่วยทำให้กล้ามเนื้อมีกำลังได้ดีขึ้น

พอขึ้นจากน้ำให้เช็ดตัวให้แห้งทันที และเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่สวมแทนชุดเก่า การอาบน้ำดังกล่าวนี้จะช่วยให้สุขภาพของร่างกายดียิ่งขึ้นและรู้สึกสดชื่นอย่างมาก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เสือชนิดต่างๆ

เสือเป็นสัตว์สี่เท้าที่ดุร้ายในจำพวกแมว กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร มีอยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง เสือดาว เป็นต้น ใครที่ไม่เคยเห็นเสือก็จงดูแมวเป็นตัวอย่าง ลักษณะของเสือเมื่อเวลาเข้าจับเหยื่อไม่ผิดกับแมวเมื่อเวลาจับนกหนูเป็นอาหาร คนโบราณจึงว่า เสือนั้นเป็นลูกหลานของเสือโคร่งแมว และจิ้งจกเป็นตายายของจระเข้ ทำไมบรรพบุราของสัตว์พวกนี้จึงรูปร่างเล็กกว่าลูกหลานก็ไม่ทราบ

พูดถึงกระบวนสัตว์ดุร้ายที่เป็นสัตว์บกสี่เท้ากันแล้ว ถัดจากราชสีห์ลงมาแล้วก็ไม่มีสัตว์ใดเกินกว่าเสือไปได้  เพราะเสือนอกจากกัดหมูวัวควายของชาวบ้านไปกินแล้ว บางตัวยังอาจเอื้อมมากัดคนไปกินเป็นอาหารก็ยังมี เสือบางตัวในประเทศอินเดียกว่าจะถูกสังหารลงไปได้  ปรากฏว่ากินคนไปตั้ง ๒-๓๐๐ คน แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว เสือตัวไหนร้ายขนาดกัดคนเสือตัวนั้นจะมีโอกาสอยู่ดูโลกไม่นานเลย ไม่ช้าก็ถูกล่าโดยญาติหรือมิตรสหายของผู้ตาย ทั้งนี้ก็เพราะว่าในเมืองไทยปืนมีมากกว่าในประเทศอินเดียนั่นเอง

เสือมีมากมายหลายชนิดก็จริง แต่เสือที่ใหญ่และน่ากลัวจริงๆ ก็เห็นจะมีแต่เสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอนเท่านั้น โดยเฉพาะเสือโคร่งนับเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เสือโคร่งอวัยวะกล่องเสียงเจริญกว่าเสือชนิดอื่นสามารถคำรามเสียงดังก้องเช่นเดียวกับสิงโต และเสือดาวซึ่งเป็นเสือมีลายจุดเล็กและดุร้ายเหมือนกัน

เมื่อเราพูดถึงเสือโคร่งว่าเป็นเสือที่ดุร้ายที่สุดแล้ว เรามาศึกษาเรื่องของเสือโคร่งกันดูก็คงไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว

เสือโคร่งนั้นเรียกกันว่าเสือลายพาดกลอนหรือเสือใหญ่ก็เรียก ลักษณะสีของตัวทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองแกมแดงจางๆ สีเข้มมากตอนบนตัว และจางขาวลงไปทางด้านใต้ท้อง มีลายสีดำลากจากบนหลังลงไปทางข้างคอ ข้างตัวและตะโพก หางลายดำเป็นปล้องๆ ปลายหางสีดำ (ไม่มีพู่ปลายหางอย่างสิงโต) ที่หน้าก็มีลายดำในพื้นสีน้ำตาล ลายดำบนช่วยปลายขาหน้ามีน้อยหรือไม่มีเลย

เสือโคร่งอายุรุ่นหนุ่มสาวมีสีเข้มสวย พออายุมากสีจางลงทุกที เสือแก่ๆ บางตัวสีจางและลายไม่ใคร่ชัด ชาวบ้านป่าเรียกกันว่า สาง และก็อาจจะเป็นเพราะคำนี้เอง เราจึงมีคำว่าเสือสางใช้ควบคู่กัน

ที่ข้างแก้มตั้งแต่ใต้หูลงไปจนถึงคางมีขนสีขาวยาวกว้างออกไป ทำให้หน้าของมันกว้างกลมใหญ่น่ากลัวขึ้นอีกมาก หนวดสีขาวค่อนข้างยาว หูสั้นกลมหลังหูสีดำ มีดวงสีขาวกลไปทางปลายหู เวลามันขู่หูของมันรี่ไปข้างหลัง ปลายจมูกมีแถบที่ไม่มีขน เป็นหนังสีชมพูอ่อน ม่านตากลม เวลามันขู่คำรามจะเห็นเขี้ยวยาวทั้งสี่ อยู่ที่กรามล่าง ๒ ซี่ กรามบน ๒ ซี่ และฟันหน้าบนซี่เล็กๆ ๖ ซี่ เล็บหดได้อย่างแมว

เสือโคร่งนี้มีผู้พบว่าเป็นสีขาวก็มีสีดำก็มี แต่ก็น้อยมาก

ขนาดของเสือโคร่ง ส่วนมากยาวจากจมูกถึงโคนหางราว ๑.๖๕-๒.๙๕ ม. หางยาวราว ๙๐ ซม. สูงที่ไหล่ราว ๐.๙๐-๑.๐๔ ม. มีบางตัวใหญ่กว่านี้แต่ก็ไม่มากนัก เสือโคร่งขนาดใหญ่ในอินเดียบางตัวยาวจากจมูกถึงปลายหาง ๓.๖๐ ม. เสือโคร่งในไซบีเรีย บางตัวยาวถึง ๓.๙๐ ม. ในประเทศไทยมีน้อยตัวที่ยาวถึง ๓.๓๐ ม. การวัดความยาวนี้ควรวัดก่อนถลกหนัง ถ้าหากถลกหนังแล้ววัดความยาวที่หนังจะได้ขนาดที่ผิดความจริง เพราะหนังของมันเมื่อดึงแรงๆ จะยืดยาวออกไปอีกได้มาก ชาวบ้านมักพูดกันเสมอว่า เขาเคยยิงเสือใหญ่ได้ถึง ๑๐ ศอก หรือ ๑๒ ศอก (๕ ม. หรือ ๖ ม.) เป็นการวัดด้วยการคาดคะเนเชื่อไม่ได้

เสือโคร่งนี้ท่านผู้รู้แบ่งออกเป็นชนิดได้ถึง ๙ ชนิด มีอยู่กระจายทั่วไปในหลายประเทศ เช่นแถบเอเชียอาคเนย์ อาฟกานิสถาน เปอร์เซีย และไซบีเรีย ประเทศจีน เกาหลี เกาะสุมาตรา เกาะชวาและบาหลี

เสือโคร่งส่วนมากผสมพันธุ์ ตั้งท้องราว ๑๔-๑๕ อาทิตย์ คลอดลูกครั้งละ ๒-๔ ตัว มีน้อยที่จะมีถึง ๖ ตัว ตัวเมียเป็นสัดปีละหลายครั้ง ฉะนั้นจึงผสมพันธุ์ได้ตลอดปีไม่เป็นฤดู จึงพบลูกเสือเล็กๆ ได้ทุกฤดู

นางเสือโคร่งมักจะแยกไปจากตัวผู้เมื่อมันจะออกลูก โดยมากหวงลูก มันจะต่อสู้ไม่ยอมให้ตัวผู้เข้าใกล้ได้ ลูกมักจะอยู่กับแม่จนโตเกือบเท่าแม่ ตัวเมียมักจะไม่ยอมให้ตัวผู้ทับในระยะที่ยังเลี้ยงลูก ฉะนั้นแม่เสือจึงตั้งท้องราว ๓-๔ ปีต่อครั้ง

มีนิทานเกี่ยวกับการเกิดหรือกำเนิดของสัตว์เล่าต่อๆ มาเป็นปรัมปรานิทานว่า ครั้งหนึ่งสัตว์ทั้งหลายได้พากันไปหาพระอิศวรผู้เป็นเจ้า ทูลถามว่าสัตว์ชนิดไหนควรจะมีลูกปีละกี่ครอก และครอกหนึ่งจะต้องมีกี่ตัว เสือทูลถามพระอิศวรว่า ตนจะมีลูกได้เท่าไร พระอิศวรตอบโดยไม่ทันคิดเหมือนตอบสุกรและสุนัขไปว่า มีลูกปีละ ๗ ครั้งๆ  ละ ๗ ตัว เสือก็ทูลลากลับไป ฝ่ายมนุษย์เฝ้าอยู่ที่นั้นด้วยจึงอุทธรณ์คัดค้านขึ้นตามประสาของมนุษย์แม้จนทุกวันนี้ว่า ถ้าพระอิศวรให้เสือมีลูกปีละ ๗ ครั้งๆ ละ ๗ ตัวละก็ อีกไม่นานมนุษย์จะไม่มีเหลืออยู่ในโลก เพราะถูกเสือกินเป็นภักษาหารเสียหมด พระอิศวรผู้เป็นเจ้าทรงได้คิด จึงแปลงตัวเป็นนกคุ้ม ไปแบบอยู่ข้างทางที่เสือเดินผ่านไป ฝ่ายตัวแทนเสือเมื่อเดินกลับมากลัวจะลืมเรื่องคลอดลูกก็เดินท่องไปว่าปีละ ๗ ครั้งๆ ละ ๗ ตัว ท่องไปเรื่อยๆ พอถึงตรงที่นกคุ้มแอบอยู่ นกคุ้มก็บินปร๋อขึ้นโดยเร็วเป็นเหตุให้เสือตกใจ ท่องพรที่พระอิศวรประทานผิดไปเป็น ๗ ปี ครั้งละหนึ่งตัว ว่ากันว่าเพราะเสือลืมพรท่องไว้อย่างนี้เสือจึงออกลูกหลายปีต่อครั้งอย่างที่ว่าไว้ข้างต้นนั้นแล

เสือโคร่งมักจะอยู่โดดเดี่ยว ถ้าเราพบเสืออยู่หลายๆ ตัว มักจะเป็นครอบครัวของมันคือพ่อแม่และลูกเท่านั้น เสือโคร่งมักจะนอนพักผ่อนในเวลากลางวันและออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเดินตามทางเดิน ด่านสัตว์หรือที่ตามหาดทราย ระยะทางที่มันเดินหากินอาจจะไกลถึง ๒๐-๓๐ กม. ก็ได้ อาหารสำคัญสำหรับเสือก็คือหมูป่าอีเก้งและกวาง สัตว์ที่ใหญ่กว่านี้เช่น วัวแดง กระทิง ช้าง ควายป่า มันก็กินหากได้โอกาส แต่สัตว์พวกนี้มีเขางาเป็นอาวุธ ถ้าเสือเผลอเป็นถูกทำร้ายถึงตายหรือสาหัสไปเหมือนกัน โดยเฉพาะพวกวัวแดง กระทิง หรือควายป่านั้นมันมีวิธีสู้เสือโดยตั้งทัพเป็นวงกลมเอาตัวเมียและลูกไว้ข้างในวง ตัวที่แข็งแรงหรือตัวผู้หันหน้าออกนอกสู้เสือ เสือก็ต้องล่าถอยไปเหมือนกันไม่กล้าเข้าใกล้ ช้างก็เหมือนกันถ้าเสือตัวไหนบังอาจก็อาจจะถูกช้างจับขยี้เสียได้ง่ายๆ เหมือนกัน

สำหรับคนนั้น  สัตว์เกือบทุกชนิดมันจะไม่กล้าเข้าใกล้ เสือก็เช่นกัน มันคงจะสอนกันมาหรือรู้โดยสัญชาติญาณว่าสัตว์สองขาอย่างคนอย่าเข้าใกล้มีอันตรายรอบข้างทีเดียว เสือจึงกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับคน และมันจะไม่ชอบกินคนเลยถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เสือที่กัดคนคือเสือที่ต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตัว เสือแม่ลูกอ่อนที่หวงลูกเหมือนสัตว์ทั้งหลาย เสือที่ได้รับบาดเจ็บผูกอาฆาต ดังนั้นพรานป่าที่ยิงเสือไม่ตายได้รับบาดเจ็บไป จึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องตามไปสังหารมันให้ตาย ไม่เช่นนั้นคนอื่นจะต้องรับเคราะห์จากเสือตัวนั้นเป็นแน่

อย่างไรก็ตามเสือที่บังเอิญเคยกินคนมาแล้ว มักจะไม่ค่อยกลัวคน เพราะมันคงรู้ว่าคนนั้นเนื้อหนังมังสาอ่อนนุ่มน่ากินยิ่งกว่าสัตว์อื่นก็เป็นได้ เสือกินคนจึงเป็นเสือที่น่ากลัว และต้องพยายามกำจัดเสียโดยเร็ว

เสือโคร่งไม่ค่อยร้องคำรามบ่อยๆ มันคำราม “ฮาว” แล้วลงท้าย “ฮู” ซ้ำกัน ๒-๓ ครั้งไม่ใคร่มากกว่านั้น ตอนจะจบมักจะหยุดเป็นช่วงสั้นๆ “อาวฮู อาวอู อูอุอุ” หากมันตกใจอะไรทันทีทันใดมันจะส่งเสียงดัง “วูฟ”

เสือโคร่งว่ายน้ำได้เก่ง บางครั้งว่ายน้ำจากช่องทะเลจากเกาะไปหาฝั่ง หรือฝั่งไปหาเกาะเป็นระยะทางไกลๆ ได้ สมัยเมื่อราว ๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว เล่ากันว่าที่เกาะแห่งหนึ่งในทะเลสาบสงขลาเขตอำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง ในคืนดึกสงัดมีคนได้ยินเสียงเสือและเสียงจระเข้กัดกันและคำรามดังก้องท้องน้ำ พอรุ่งขึ้นเช้าคนก็ไปพบทั้งศพเสือและศพจระเข้ลอยอยู่ในทะเลตรงช่องระหว่างเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่ง เข้าใจกันว่าเสือว่ายน้ำจะไปยังอีกเกาะหนึ่ง ไปพบจระเข้ ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นเข้าก็เกิดต่อสู้กัน สุดท้ายทั้งเสือทั้งจระเข้ก็สิ้นชีวิตทั้งสองฝ่าย เรื่องของการต่อสู้ก็เป็นอย่างนี้เอง ไม่ว่าคนหรือสัตว์มักจะสิ้นสุดลงด้วยความตาย ทั้งๆ ที่ตั้งต้นด้วยความลำพองเหมือนตนเองจะไม่ตายฉะนั้น

เสือที่จับมาเลี้ยงตั้งแต่เล็กๆ นั้น ว่ากันว่าสามารถเลี้ยงให้เชื่องหัดให้เล่นละครสัตว์ได้ แต่ภาษิตไทยหรือคำพังเพยของเราก็มีอยู่ว่าเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ เรื่องที่จะให้มันรู้จักกตัญญูรู้คุณนั้นไม่มี ซ้ำร้ายเผลอตัวเมื่อไรมันจะกัดเอาตายเมื่อนั้น เหมือนเลี้ยงคนอกตัญญูนั่นแหละ

เสือที่กินคนมามากนั้น เล่ากันว่าวิญญาณผีร้ายของคนจะเข้าสิงอยู่ในเสือ จนทำให้เสือมีอิทธิฤทธิ์สามารถจะแปลงร่างเป็นคนได้ พวกพรานป่าเล่าว่า เวลาไปนั่งห้างยิงสัตว์ถ้ามีคนมาเรียกเวลากลางคืนห้ามล่งไปอย่างเด็ดขาด เพราะเสือสมิงจะแปลงร่างเป็นคนมาหลอกให้พรานลงไป พรานคนไหนเวทย์มนต์คาถาไม่แข็งลงไปก็ถูกเสือกัดตาย โดยมากเสือสมิงจะแปลงเป็นร่างคนที่พรานรักเช่นบุตรภรรยาเป็นต้น จะเท็จจริงอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่พวกพราน ซึ่งอยู่ในกรุงหรือตัวเมืองจะไม่ยอมเชื่อเรื่องเช่นนี้ เขาว่าที่เห็นเป็นคนนั้นเพราะพวกพรานนั่งถ่างตาตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่นเที่ยงคืน ความง่วงเหงาหาวนอนประกอบด้วยความเงียบสงัดของป่าชัฏเป็นเหตุให้ตาของพวกนั่งห้างคอยยิงสัตว์ฝาดไปก็ได้

อีกอย่างหนึ่งคำว่าเสือสมิงนั้น ว่ากันว่าครั้งแรกเป็นคนมีวิชาความรู้เรื่องอยู่ยงคงกระพันมาก พอแก่วิชามากเข้าก็กลายเป็นเสือสมิงไปได้เหมือนกัน นี่เป็นความเชื่อของคนโบราณที่ยังตกทอดเป็นมรดกมาถึงพวกเรา

เพราะความดุร้ายของเสือและความทะนงองอาจของมัน เราจึงนิยมว่าเสือเป็นสัตว์ที่เก่งกล้าสามารถไม่กลัวใคร เสือเป็นสัตว์ที่ไม่อาศัยสัตว์อื่นในการแสวงหาอาหาร มันหิวก็จับสัตว์อื่นกินเอง หาไม่ได้ก็อด หาได้ก็มีอาหารเหลือฟุ่มเฟือย เรามีคำพังเพยอยู่คำหนึ่งว่า “อาหารเสือ” คือวันไหนไม่มีก็ไม่มีที่จะบริโภค วันไหนมีก็บริโภคจนไม่หมด เช่น ภิกษุสงฆ์ เป็นต้น คำโคลงโลกนิติ์ของเราบทหนึ่งยกย่องเสือไว้ว่า

ยามจนทนกัดก้อน        กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ        พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ    สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง            กัดเนื้อกินเอง

ผิดกับสุนัขจิ้งจอกที่คอยตามหลังเสือ คอยแทะเนื้อกระดูกที่เหลือจากเสือกินเป็นอาหารแล้ว

เสือนั้นว่ากันว่าเป็นเจ้าแห่งป่า หากว่าป่านั้นไม่มีสิงโตหรือราชสีห์อยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมกลังเกรงเสือ พวกพรานป่าเขาให้ข้อสังเกตว่า หากเราเดินป่าซึ่งปกติมีเสียงสัตว์หรือนกร้องกันเซ็งแซ่แล้วจู่ๆ เสียงทุกชนิดก็หยุดชงักลงทันที เรียกว่าป่าทั้งป่าสงบนิ่งละก็ พึงรู้เถิดว่าเจ้าป่าหรือเสือกำลังมาหรืออยู่ในที่ใกล้ๆ นั่นเองให้ระวังตัวได้ เพราะเสือมีตบะและอำนาจอย่างนี้เอง เมื่อใครล่าเสือได้ เขาจึงเอาหนังหน้าผากเสือมาทำเป็นของขลัง คือลงยันต์แล้วพกติดตัวไปว่าทำให้คนเกรงขาม เป็นที่ปรารถนาของพวกนักเลงสมัยก่อนนัก

หัวกะโหลกเสือนั้นพวกคนมีเงินเขาเอาไปขัดแล้วเลี่ยมเงินหรือทองตรงเขี้ยวของมันเอาไปวางเป็นที่เขี่ยบุหรี่ เป็นเครื่องประดับบารมีของคนเราประการหนึ่ง

หนังสือก็เป็นที่ปรารถนาของคนเรา เขานำไปเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ไม้สอยแสดงถึงความมั่งมีประการหนึ่งเหมือนกัน เพราะเป็นของแพงหายาก

เพราะความดุร้ายของเสือนี่เอง เราจึงเรียกพวกโจรหรือนักเลงอันธพาลหรือพวกโจรปล้นสะดมก็ตัวฉกาจว่าอ้ายเสือ และตามคตินิยมของพวกโจรปล้น เมื่อจะขึ้นปล้นบ้านใดก็มักจะตะโกนว่าไอ้เสือบุก เป็นการข่มขวัญเจ้าทรัพย์ให้กลัวไว้ก่อนโดยอ้างเอาชื่อเสือเป็นสมัญญานามของพวกตน แต่ถ้าถูกเจ้าทรัพย์หรือเจ้าหน้าที่ต่อต้านหนาแน่นจนไม่สามารถจะทำการได้สำเร็จก็ต้องร้องว่า อ้ายเสือถอย แล้วก็วิ่งหนีเหมือนกัน บางทีหนีไม่ทันอ้ายเสือก็ถูกยิงตายอยู่ข้างถนนก็มี

ท่านผู้รู้กล่าวว่ากริยาของเสือมีอยู่ ๒ ประการคือ
๑. ซ่อนเร้นอยู่ในที่ลับ คอยตะครุบหมู่เนื้อกินเป็นอาหาร
๒. เนื้อชนิดใดชนิดหนึ่งที่มันตะครุบได้แล้ว ถ้าล้มลงข้างซ้ายก็ไม่กิน

กริยาของเสือเหลืองเช่นนี้ท่านเปรียบเหมือนพระสาวกของพระพุทธองค์ที่อยู่ในเสนาสนะป่าอันสงัด เจริญภาวนาจนมีความชำนาญในอภิญญาหก และไม่บริโภคอาหารอันได้มาด้วยมิจฉาชีพ และได้มาโดยประการที่ไม่ชอบธรรม

ก็เพราะความกล้าหาญของเสือนี่เอง เราจึงมีองค์การหนึ่งขึ้น เพื่อฝึกหัดอบรมให้เยาวชนของเราเป็นคนดีเมื่อเติบโตขึ้น นั่นคือลูกเสือ

ผู้ที่เริ่มตั้งกิจการลูกเสือขึ้นครั้งแรกคือ ลอร์ค บาเดนเพาเวล (Lord Badenpowell) ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ สำหรับประเทศไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงจักรีเป็นผู้ทรงริเริ่มตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

นิทานเกี่ยวกับฤาษี

สมัยหนึ่ง นานมาแล้ว มีฤาษีหินตนหนึ่ง ตั้งอยู่กลางป่าห่างไกลจากหมู่บ้านและทางไปก็ทุรกันดารเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ในปากของฤาษีหินตนนี้ มีทรัพย์สินเงินทองบรรจุไว้มากมาย วิธีที่จะเอาทรัพย์ออกจากปากฤาษี2ฤาษีนั้นไม่ยาก เพียงแต่จุดเทียนแล้วเอาไฟลนใต้คางฤาษีๆ ก็จะอ้าปากออก แล้วก็ล้วงเอาทรัพย์ออกมาได้ ถ้าเทียนดับฤาษีก็จะหุบปากทันที แต่นี่เป็นเพียงคำเล่ากันมา ไม่มีใครู้ว่าฤาษีนั้นอยู่ที่ไหน

ยังมีผัวหนุ่มเมียสาวคู่หนึ่ง เพิ่งแต่งงานกัน เป็นคนยากจนหาเช้ากินค่ำแต่เป็นคนขยันหมั่นเพียรและเป็นคนโอบอ้อมอารี จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนบ้านทั่วไป วันหนึ่งมีขอทานแก่ๆ คนหนึ่งมาที่บ้านของผัวเมียคู่นั้น ขอผ้านุ่งผืนหนึ่ง เพราะว่าขอทานคนนั้นมีผ้านุ่งผืนเดียว และก็ขาดจวนจะปกปิดร่างกายไม่มิดอยู่แล้ว ผัวเมียคู่นั้น ทั้งๆ ที่ตนมีผ้านุ่งอยู่คนละผืน และฝ่ายสามียังโชคดีที่มีผ้าใหม่อยู่อีกหนึ่งผืน แต่เมื่อมีคนมาขอก็อดสงสารไม่ได้ จึงไปเอาผ้าผืนใหม่นั้นให้ขอทานคนนั้นไป พร้อมกับพูดว่า

“ลุงครับ ผมกับเมียเป็นคนจน มีผ้านุ่งใหม่เพียงผืนเดียวนี่แหละ แต่ก็ยังดีกว่าลุง เพราะผมและเมียยังแข็งแรง ทำมาหากินได้ ส่วนลุงแก่แล้ว จะทำอะไรก็คงไม่ได้ ผมยินดีให้ผ้าผืนนี้แก่ลุง ถ้ามีมากกว่านี้ผมยินดีจะให้อีก แต่นี่จนใจจริงๆ มีเพียงเท่านี้เอง”

ชายของทานคนนั้น ยกมือขึ้นไหว้แล้วให้ศีลให้พร พร้อมกับพูดว่า “ลุงก็ไม่มีอะไรจะตอบแทน แต่ลุงมีสิ่งหนึ่งจะมอบให้หลาน เพราะเป็นคนดีโอบอ้อมอารีและเสียสละ ของสิ่งนี้ ลุงเก็บไว้นานแล้ว แต่เวลานี้ลุงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่หลาน รับเอาไว้เถอะ เผื่อเป็นบุญของหลาน คงจะค้นหาได้” ว่าแล้วก็ส่งกระดาเก่าๆ ให้ แล้วเดินลับไป

สองผัวเมียรับกระดาแผ่นนั้นมาแล้ว ก็คลี่ออกอ่าน ปรากฏว่า เป็นแผนที่แสดงที่ตั้งของฤาษีหินที่เล่าต่อๆ กันมานั่นเอง สองผัวเมียรู้สึกดีใจเป็นอันมาก จึงจัดแจงหาเสบียงกรังเดินทางไปค้นหาฤาษีหินทันที

ทั้งสองเดินรอนแรมมาในป่าหลายเพลา ผ่านหุบเขาและผาชัน ซึ่งเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ และไข้ป่า สุดท้ายก็มาถึงสถานที่ตั้งฤาษีหิน ในกลางดงลึก ซึ่งไม่มีใครผ่านไปมาเลยสองผัวเมียจึงจุดเทียนขึ้น ฝ่ายเมียเอาเทียนลนใต้คางฤาษี พอคางฤาษีถูกไฟลน ก็อ้าขึ้น ฝ่ายผัวก็เอามือล้วงลงไปในปากของฤาษี เอาเงินและทองออกมา ทั้งสองดีใจเป็นที่สุด แล้วก็ล้วงอีกต่อไป ขณะที่ล้วงอยู่นั้นบังเอิญลมกรรโชกมาโดยแรง ทำให้เทียนดับวูบลง และปากของฤาษีก็หุบลงทันที และงับเอามือของผัวไว้ด้วย จะดึงเท่าไรก็ไม่หลุดออกมาได้ สองผัวเมียรู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไฟที่ติดตัวมาก็หมดลงพอดี ตนไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น จึงไม่ได้ตระเตรียมไฟไว้ เมื่อทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะดึงมือออกจากปากฤาษีได้แล้ว ทั้งสองก็ร่ำไห้อาลัยอาวรณ์กันอยู่ตรงนั้นเอง ภายหลังร่ำไห้กันอยู่นานแล้ว ฝ่ายผัวก็พูดขึ้นว่า

“น้องเอย เราต้องเสี่ยงเอา จะมัวร่ำไห้กันอยู่อย่างนี้เห็นทีจะไม่เป็นผล น้องจงกลับไป พบบ้านคนแล้วเอาไฟกลับมา แต่ระยะทางที่ไปนี้หลายวันนักกว่าน้องจะกลับมาพี่อาจจะตายเสียก่อนก็ได้ ไหนๆ จะจากกันแล้ว ขอพี่ชื่นใจน้องสักทีเถิด” ฝ่ายเมียก็เข้ามาโอบกอดผัวแล้วเอียงแก้มให้ผัวจูบ ต่างคนตางจูบล่ำลากัน ขณะนั้น เหมือนฟ้าบันดาล ฤาษีหินซึ่งปราศจากชีวิตจิตใจนั้น ก็หัวเราะก๊ากๆ ขึ้น พร้อมกับพูดว่า

“เออ แกสองคนนี้รักกันจริง และเป็นคนดี โอบอ้อมอารีกับเพื่อนบ้าน ล้วงเงินทองเอาไปอีกเถอะ ข้ามอบให้” สองผัวเมียดีใจเป็นล้นพ้น แล้วช่วยกันล้วงเอาเงินทองออกจากปากฤาษีจนเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ก็ก้มลงกราบฤาษีหิน นำเงินทองกลับมาบ้านกลายเป็นเศรษฐีย่อยๆ ขึ้นครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านนั้น

บางครั้งอนุภาพแห่งความรัก ก็สามารถฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้เหมือนกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ฤาษีแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น

เมื่อพูดถึงคำว่าฤาษี พวกเราแทบทุกคนคงเคยได้ยินคำนี้มาแล้ว และฤาษีนี้ดูเหมือนจะคุ้นเคยกับคนไทยเรามากที่สุด เพราะเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ของเราอันเป็นหนังสือฤาษีประโลมโลกรุ่นคุณปู่ได้กล่าวถึงฤาษีไว้แทบทุกเรื่องหรือเท่าที่อ่านมาก็ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่กล่าวถึงฤาษี แม้แต่เรื่องพระอภัยมณีวรรณคดีที่เรารู้จักกันดีอยู่จนทุกวันนี้ ท่านสุนทรภู่ก็ไม่ลืมที่จะเอาฤาษีไปเป็นตัวละครของท่าน

ฤาษีคือใคร  ฤาษีนั้นว่ากันว่าเป็นนักบวชพวกหนึ่งอยู่ในป่า แต่นักบวชพวกนี้นับถือศาสนาอะไร หรือนับถืออะไร ไม่มีกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ฤาษีนี้ภาษาบาลีว่า อิสิ หรือ อิสี แปลว่า ผู้แสวงหาความดี และเชื่อกันว่าฤาษีนี้มีมาก่อนพุทธกาล และเป็นนักบวชที่ถือศาสนาพราหมณ์นั่นเอง เพราะมีการบูชาไฟซึ่งเรียกว่ากองกูณฑ์พิธี

มีผู้แปลคำว่าฤาษีว่า  ผู้มีปัญญาอันได้มาจากพระเป็นเจ้า และได้แบ่งแยกฤาษีออกเป็น ๔ ชั้น คือ

๑. ราชรรษีหรือราชฤาษี ได้แก่กษัตริย์ที่ออกบวชเป็นภาษี
๒. พราหมณรรษีหรือพราหมณฤาษี
๓. เทวรรษีหรือเทวฤาษี
๔. มหรรษีหรือมหาฤาษี

และว่าฤาษีนี้นับเป็นพราหมณ์ชั้นสูง ฤาษีที่ว่านี้คงเป็นพวกที่พราหมณ์แบ่งแยกไว้

ส่วนในหนังสือเทวกำเนิดได้แบ่งแยกฤาษีหรือเซียนเหย่งหรือเซียนเต่าไว้ ๕ จำพวกคือ

๑. เถียนเซียน คือเทพฤาษี อาศัยอยู่รอบเขาพระสุเมรุ
๒. เซียนเซียน คือบุรุษฤาษี เร่ร่อนอยู่ในอากาศ
๓. เหย่งเซียน คือนรฤาษี อาศัยอยู่ในหมู่คน
๔. ตี้เซียน คือภูมิฤาษี อยู่ตามในถ้ำต่างๆ
๕. กุ้ยเซียน คือเปรตฤาษี ไม่มีที่อยู่เป็นแห่ง เร่ร่อนอยู่

ฤาษีพวกนี้เป็นฤาษีของจีนเห็นจะอยู่ในลัทธิเต๋า

สำหรับในประเทศไทยเรานั้น เข้าใจว่ามีฤาษีอยู่นานแล้วเหมือนกัน เพราะปรากฏว่ามีเมืองหลายเมืองซึ่งฤาษีเป็นผู้สร้างเช่นนครลำพูน
หรือหิรภุญชัยก็ว่าฤาษีสร้างแล้วให้คนมาอัญเชิญพระนางจามเทวีขึ้นไปครอง เมืองศรีสัชนาลัยก็ว่าฤาษีสร้างเช่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก แต่ฤาษีในเมืองไทยคงจะนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย ดังนั้นเรื่องของฤาษีก็หมายเอานักพรตพวกหนึ่งซึ่งสละบ้านช่องแล้วออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรนั่นเอง เราจึงเรียกพวกนี้ว่า ฤาษีชีไพร

อย่างไรก็ตาม คำที่เราใช้เรียกฤาษีนั้นมีอยู่หลายคำ คือ

๑. สิทธา  หมายถึงฤาษีที่ทรงคุณธรรมอย่างมั่นคง มีวิมานอยู่ระหว่างพื้นดินกับพระอาทิตย์
๒. โยคี  หมายถึงผู้สำเร็จหรือกำลังศึกษาในโยคธรรมได้แก่พราหมณ์ที่เที่ยวทรมานตนในป่า
๓. มุนี  หมายถึงพราหมณ์ผู้มีความรู้ชั้นสูง ที่เรียกว่าจบไตรเภท คือฤคเวทยัชุรเวทและสามเวท
๔. ดาบส  หมายถึงผู้บำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลสมุ่งไปในทางทรมานกายและจิตหวังโลกุตรสุข ที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอัตกิลมถานุโยค เป็นวิธีการที่ตึงเกินไป พระพุทธองค์ไม่ประสงค์ให้พุทธบริษัทกระทำเพราะไม่ใช่ทางแห่งการแห่งตรัสรู้หรือหลุดพ้นจากกิเลส
๕. ชฎิล  หมายถึงนักพรตจำพวกหนึ่งที่มีผมมุ่นเป็นเซิง หรือเกล้าเป็นมวยสูง
๖. นักสิทธิ  หมายถึงฤาษีจำพวกครึ่งเทวดา ครึ่งมนุษย์ สถิตในอากาศระหว่างมนุษย์โลกกับอาทิตยโลก ว่ามีจำนวน ๘๘,๐๐๐ ตน ป่านนี้จะเพิ่มเหมือนพลเมืองของไทยหรือไม่ก็ไม่ทราบ

รวมความแล้วฤาษีก็มีหลายพวกและหลายระดับ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ลัทธิการสร้างศาลมาจากไหน

ลัทธิการสร้างศาลเจ้าเห็นจะเนื่องมาจากชนชาวจีนมากกว่าชนชาติอื่น เพราะปรากฏว่าในประเทศจีนนั้นเต็มไปด้วยศาลเจ้า และเมื่อคนจีนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย คนจีนก็นำเอาลัทธิความเชื่อถือเกี่ยวกับวิญญาณเข้ามาในประเทศไทยด้วย การสร้างศาลเจ้าก็คือสร้างสถานที่ให้วิญญาณของผู้ตายที่นับถือกันว่าเป็นคนดีได้สิงสถิตศาลเจ้าอยู่เป็นที่พึ่งของคนอยู่ข้างหลังนั่นเอง อย่างกวนอู ซึ่งเป็นทหารเอกคนหนึ่งของเล่าปี่ในเรื่องสามก๊ก เป็นนักรบที่เข้มแข็งกล้าหาญและมีความกตัญญู เมื่อกวนอูถูกสำเร็จโทษแล้วเมื่อ พ.ศ. ๗๖๒ ชื่อเสียงเกียรติคุณของกวนอูปรากฏว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในสงคราม ยังเป็นที่นับถือเลื่องลือในหมู่ชาวจีนสืบมา เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ทางราชการสมัยซ้องฮุยจงฮ่องเต้ ยกย่องให้เป็น “กง” อันเป็นตำแหน่งชั้นสูงสุดของขุนนางจีน และเรียกชื่อว่า “กวนกง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๑๖๗๑ เลื่อนขึ้นเป็นอ๋องหรือเจ้า แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเทพารักษ์เรียกว่า “กวนตี๋” หรือ “เจ้ากวนอู” เมื่อพ.ศ. ๒๑๗๗ ในสมัยเม่งบ้วนและฮ่องเต้ เจ้ากวนอูก็เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า บูตี่ คือ เจ้าแห่งสงคราม เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ พระเจ้าเต้ากวางฮ่องเต้ในราชวงศ์เชงกำลังทรงปราบปรามกบฏชาวจีนที่ถือศาสนาอิสลาม พอดีพวกศัตรูต้องแตกหนีไป เพราะปรากฏตามทางสอบสวนว่าเจ้ากวนอูยกทัพมาช่วย พระเจ้าเต้ากวางจึงทรงยกย่องเจ้ากวนอูขึ้นเป็นเจ้าแห่งสงคราม อันเป็นเจ้าที่ชาวจีนทำรูปขึ้นไว้บูชา และมีศาลเจ้าอยู่ทั่วไปในประเทศจีน ที่ในประเทศเกาหลีมีผู้นิยมนับถือมาก กล่าวกันว่าเมื่อสามร้อยปีเศษที่ล่วงมานี้ เจ้ากวนอูบันดาลให้ญี่ปุ่นที่ยกมาตีเกาหลีตกใจกลัวต้องกลับไป

เรื่องของศาลเจ้ากวนอูเพียงผู้เดียวยังมากมายทั่วประเทศจีนถึงอย่างนี้ แล้วคนอื่นอีกมากมายเล่าจะไม่ทำให้ศาลเจ้ามีเต็มเมืองจีนได้อย่างไร ถึงแม้ในประเทศไทยเองก็ยังมีศาลเจ้าจีนอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พูดง่ายๆ ว่ามีคนจีนอยู่ที่ไหนก็ต้องมีศาลเจ้าอยู่ที่นั่น

ศาลอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ คือ ศาลเพียงตา ศาลเพียงตานี้เป็นศาลที่ยกเสาขึ้นสี่เสาไม่มีหลังคาใช้ในการพิธีชั่วคราว เช่นในการทำพิธียกเสาเรือนหรือพวกโจรทำพิธีก่อนเข้าปล้นเป็นต้น หรือบางทีพวกที่นับถือผีสาง เมื่อจะทำพิธีเรียกผีก็มักจะต้องปลูกศาลเพียงตาขึ้นก่อนเพื่อทำพิธีชั่วคราว ศาลชนิดนี้จึงต้องทำขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อจะวางเครื่องเซ่นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ลองมาดูวิธีปลูกศาลเพียงตาตอนเณรแก้วเรียกผีก็ได้ กลอนตอนนี้มีอยู่ว่า

“ตกแต่งตัวผูกลูกสะกด        พร้อมหมดเครื่องรางปรอทมั่น
นุ่งยกกนกเป็นเครือวัลย์        รูปสุบรรณบินเหยียบวาสุกรี
เพลาะดำร่ำหอมห่มกระหวัด    พู่ตัดติดห้อยข้างชายคลี่
คาดปั้นเหน่งกระสันมั่นดี        เหน็บกริชด้ามมีศีรษะกา
จัดเครื่องบัตรพลีพลีเลิศ        ข้าวสารเสกประเสริฐแกล้วกล้า
มือถือเทียนชัยแล้วไคลคลา        จันทราส่องแสงสว่างทาง
ท้องฟ้าดาดาษดาวประดับ        แสงระยับยามสองส่องสว่าง
พระจันทร์ตรงทรงกลดดังกลดกาง        อยู่ในกลางด้าวเด่นทุกดวงดาว
รีบเร่งมาถึงซึ่งป่าช้า            ปลูกศาลเพียงตาดาดผ้าขาว
แล้วจุดเทียนสว่างกระจ่างพราว    ทิ้งสายสิญจน์ก้าวสะกดวง”

นี่เป็นเรื่องของศาลเพียงตา

ศาลหลักเมือง  คือศาลซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลักของเมืองนั่นเอง การสร้างเมืองสมัยก่อนถือกันว่าต้องเลือกชัยภูมิให้ดีบ้านเมืองจึงจะอยู่ดีมีความสุข ข้าศึกมาตีก็ไม่แตก หรือต้องพ่ายแพ้ไป เมื่อเลือกได้ชัยภูมิแล้วก็มีพิธีฝังหลักเมืองเป็นปฐมก่อนที่จะก่อสร้างอย่างอื่น พิธีฝังหลักเมืองสมัยก่อนมีเรื่องเล่ากันว่าต้องฝังคนทั้งเป็นลงไปด้วย โดยเลือกเอาผู้หญิงมีครรภ์แก่และเลือกเอาคนที่ชื่อว่าอินทร์ จันทร์ มั่น คง ซึ่งเป็นมงคลสนามฝังลงไปด้วย พิธีการเช่นว่านี้จะเคยมีที่ไหนยังไม่ปรากฏหลักฐาน เป็นเพียงเรื่องที่เล่าลือกันทั้งนั้นแม้แต่หลักเมืองของเราในกรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างขึ้นคราวสร้างกรุงเทพฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝังคนทั้งเป็นอย่างที่ว่ากันเลย เรื่องฝังคนทั้งเป็นนี้มีหลักฐานรับรองว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า มิใช่พระมหากษัตริย์ที่จะทรงทำเช่นนั้น ก็คือประกาศห้ามฆ่าสัตว์ ซึ่งประกาศใช้ในรัชสมัยของพระองค์ตอนหนึ่งว่า

“แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้ข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อยรักษาเมือง ผู้ทั้งกรมการเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทั้งปวงบรรดามีศาลเทพารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ พระเสื้อเมืองทรงเมือง ให้บำรุงซ่อมแปลงที่ปรักหักพังนั้นให้บริบูรณ์ และแต่งเครื่องกระยาบวดผลไม้ถั่วงาเป็นต้น และธูปเทียนของบูชาฟ้อนรำระบำบวงสรวงพลีกรรมถวายสิ่งซึ่งอันสมควรแก่เทพารักษ์ แต่อย่านับถือว่ายิ่งกว่าพระไตรสรณคม ห้ามอย่าให้พลีกรรมด้วยฆ่าสัตว์” ดังนี้

การที่เล่าลือกันว่าฝังคนทั้งเป็นพร้อมทั้งหลักเมืองนั้นเป็นเรื่องที่เหลวไหล ตามประกาศหรือกฎหมายฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าคนสมัยนั้นต่างนับถือผีสางเทวดากันมากจนถึงกับฆ่าสัตว์ตัดชีวิตพลีกรรมเทพารักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จึงทรงประกาศห้ามดังกล่าวแล้ว

เรื่องของเทพารักษ์หรือเจ้าองค์ไหนชอบอะไรนี่ก็แปลก อย่างท้าวมหาพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณในกรุงเทพฯ ท่านชอบช้างไม้และพวงมาลัยดอกไม้ ปรากฏว่าคนเอาช้างและพวงมาลัยไปถวายกันมาก โดยเฉพาะช้างไม้นั้นปีหนึ่งๆ ทางโรงแรมเอราวัณประมูลขายได้เงินมองให้องค์การกุศลหรือวัดวาอารามได้เงินมิใช่น้อย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

แหวนเป็นของสำคัญในการสมรสเมื่อใด

เมื่อพูดถึงแหวน เราทุกคนต้องรู้จัก เพราะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องเคยเห็นแหวนมาแล้วไม่ของตนเองก็ของผู้อื่น แหวนนั้น คือเครื่องประดับนิ้วมือรูปเป็นวง และเรียกสิ่งอื่นที่มีรูปเช่นนั้นด้วย เช่นวงแหวน คือสิ่งที่มีรูปเป็นวงเหมือนแหวน

แหวนเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครที่จะให้คำตอบที่แน่นอนได้ เข้าใจกันว่าแหวนนั้นคงจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกำไลมือ กำไลแขน กำไลเท้า และกำไลคอ และเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เรารู้จักเอาโลหะมาทำเป็นเครื่องใช้สอยแล้ว ในสมัยแหวนอียิปต์โบราณก็มีการใช้กำไลและแหวนกันแล้วอย่างรูปสลักของอียิปต์แสดงให้เห็นเช่นนั้น กำไลหรือแหวนครั้งแรกคงจะทำจากสำริด หรือทองแดงหรือเหล็กก่อน ต่อมาจึงทำด้วยแร่เงินและทอง เมื่อเรารู้จักเจียรนัยหินมีค่าต่างๆ แล้ว ก็คงจะเห็นว่าถ้าเอาประดับเป็นหัวแหวนหรือฝังกำไล ก็จะทำให้สวยงามมากยิ่งขึ้น หัวแหวนก็คงจะวิวัฒนาการต่อมา จนเวลานี้เราทำหัวแหวนจากหินสีต่างๆ และเพชรพลิยราคามีตั้งแต่ถูกที่สุดจนสูงสุดขนาดเศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อใช้ก็มี

แหวนสมัยแรกจริงๆ คงจะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ เพราะปรากฏว่าชาวตะวันตกใช้แหวนแต่งงานเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ หาได้ฝังเพชรพลอยไม่ และประเพณีอันนี้ยังใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ แหวนแต่งงานนั้นว่ากันว่าเพื่อเป็นเครื่องหมายและเครื่องเตือนใจว่าคู่ผัวตัวเมียนั้นจะต้องมีความรักให้กันและกันไม่มีที่ตั้งต้นและที่สิ้นสุดเช่นเดียวกับวงแหวนนั่นเอง แต่ก็เอาแน่ไม่ได้หรอก บางทีแหวนแต่งงานยังกลมอยู่เหมือนเดิมแต่ความรักนั้นขาดสะบั้นไปแล้วก็มี

ในเรื่องแหวนนี้ ก.ศ. เวชยานนท์ ได้เล่าไว้ในหนังสือวิทยานุกรมของเขาว่า “ประเพณีใช้โลหธาตุอันมีค่ามาทำอาภรณ์ประดับร่างกายเช่นแหวนสำหรับสวมนิ้วมือ และอื่นๆ มนุษย์เราได้รู้จักใช้กันมาหลายพันปีแล้ว หลักฐานที่ค้นพบในสุสานเก่าๆ แห่งประเทศไอคุปต์ก็ปรากฏว่าในสมัยที่ไอคุปต์มีความเจริญนั้น ชาวไอคุปต์ได้รู้จักใช้เครื่องประดับกายต่างๆ รวมทั้งแหวนสำหรับสวมนิ้วมือด้วยแล้ว ส่วนการที่แหวนจะกลายมาเป็นของสำคัญในการสมรสของฝรั่งนั้น เชื่อกันว่าได้เริ่มต้นมาแต่สมัยที่เกิดมีชาติโรมันขึ้น (สมัยโรมิวลุสสร้างกรุงโรมเมื่อก่อนพุทธกาล ๒๑๐ ปี) ชาวโรมันนิยมการใช้แหวนเหล็กสำหรับทำการหมั้นเจ้าสาวเพื่อเป็นการวางมัดจำ ในการที่จะทำการสมรส ครั้นต่อมาในสมัยราวๆ ศตวรรษที่ ๒ แห่งคริสตกาล (ประมาณ พ.ศ. ๕๔๓-๖๔๓) ได้เริ่มนิยมใช้แหวนซึ่งทำด้วยทองคำแทนแหวนเหล็ก ซึ่งเคยใช้กันอยู่เดิม ประเพณีนี้ในชั้นเดิมเป็นแต่ความนิยมของคนส่วนมากเท่านั้น มิได้เกี่ยวข้องในทางศาสนาอย่างใดเลย ครั้นเมื่อคริสต์ศาสนาได้แผ่ไปตั้งหลักฐานมั่นคงในประเทศโรมัน ก็เป็นธรรมดาที่พิธีในทางศาสนาต่างๆ ย่อมพยายามให้กลมกลืนกับประเพณีเดิมให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ความนิยมในศาสนา ฉะนั้นในราวศตวรรษที่ ๑๑ แห่งคริสตกาล ทางศาสนาคริสต์ก็บัญญัติให้ใช้แหวนสวมนิ้วมือ ในการสมรสตามพิธีทางศาสนา ดังที่ได้ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่คริสต์ศาสนิกชนในบัดนี้ ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงทำให้วงแหวนเกลี้ยงๆ ซึ่งเดิมใช้แต่เพียงของหมั้นของชาวโรมัน กลายเป็นเครื่องหมายสำหรับสตรีผู้ได้กระทำการสมรสแล้วสวมไว้ที่นิ้วมือซ้ายของตน เพื่อแสดงให้ชายอื่นๆ ทราบ

เมื่อพูดถึงแหวนแต่งงานของชาวตะวันตกแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงเรื่องของหมั้นและสินสอดของไทยเรามิได้ ของหมั้นของไทยเรานั้น แต่แรกเริ่มเดิมที คงจะไม่ได้ใช้แหวนอย่างทุกวันนี้เราใช้ทองจะเป็นสร้อยหรือแหวนก็ได้ทั้งนั้น แต่ต่อมาเมื่ออารยธรรมแบบตะวันตกเผยแพร่เข้ามาในประเทศเรา ความนิยมเรื่องของหมั้นจากทองธรรมดาๆ ก็กลายมาเป็นแหวนไป และทุกวันนี้ในสังคมของคนที่พอจะมีเงินอยู่บ้าง ใช้แหวนเพชรเป็นของหมั้น นับเป็นการัตๆ กัน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของการหมั้น

ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เครื่องประดับกายของมนุษย์เรานั้น มีหลายอย่างคือกำไลเป็นอันดับแรก กำไลนั้นมีทั้งกำไลข้อเท้า กำไลข้อมือกำไลแขน บางชาติบางเผ่าก็นิยมใช้กำไลคอหรือห่วงสวมคอ การสวมกำไลแสดงถึงฐานะของบุคคลอย่างหนึ่ง คนที่มีฐานะดีก็ใส่กำไลหลายอัน ฐานะน้อยก็ใส่น้อยอัน ฐานะดีก็ใช้วัตถุหรือโลหะมีค่าเช่นเงินหรือทองนาค ฐานะไม่ค่อยดีก็ใช้โลหะธาตุที่มีค่าน้อยลงไปเป็นลำดับ ข้อนี้เราจะเห็นได้ตามรูปสลักโบราณต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเรารู้จักใช้กำไลมานานแล้ และกำไลแสดงถึงฐานะบุคคลด้วย

เมื่อพูดถึงกำไลแล้ว ทำให้นึกถึงกำไลในประวัติศาสตร์อันหนึ่ง นั่นคือกำไลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราชได้พระราชทานแก่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๕๐) เป็นกำไลทำเป็นรูปตาปูแบบโบราณไขว้กัน ถ้ามองตรงเป็นอักษร s (หมายถึงสดับ) ภาษาอังกฤษ ถ้าบิดข้อมือเสียหน่อยจะเป็นตัว c (หมายถึงจุฬาลงกรณ์) เนื้อทองของกำไลนั้นบริสุทธิ์จนบิดได้ และทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยม บนรอบด้านนั้นจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์ไว้ ๔ คำกลอน เป็นตัวหนังสือขนาดจิ๋ว อ่านได้ความว่า

“กำไลมาศชาตินพคุณแท้        ไม่ปรวนแปรไปอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที        จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก        ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย        เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”

จากเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้ชายสมัยก่อนยังไม่นิยมให้แหวนแก่ผู้หญิงเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก แต่ให้ของอย่างอื่นแทน เช่นกำไลเป็นต้น แหวนเพิ่งเข้ามามีบทบาทในตอนหลัง

แหวนมีขึ้นเมื่อไร คำถามนี้ดูเหมือนจะได้ตั้งไว้ครั้งหนึ่งแล้ว และมีคำตอบแล้วด้วยว่ามีมาตั้งแต่สมัยไอคุปต์และโรมันโบราณ จากหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งไทยเราได้รับมาจากชมพูทวีป ซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ยิ่งกว่ายุโรปหรือกรุงโรมเสียอีก ได้กล่าวถึงแหวนไว้เหมือนกัน แหวนนั้นเป็นแหวนที่พระอิศวรพระราชทานให้นางสีดา เรื่องตอนนี้มีอยู่ว่า เมื่อทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาจะพาไปกรุงลงกานั้น พญานกสดายุได้เข้าขัดขวางรบกันหลายเพลงก็ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ทศกัณฐ์ก็ดูเหมือนจะหมดฤทธิ์หมดปัญญาที่จะเอาชนะพญานกสดายุได้ บังเอิญพญานกสดายุได้พลั้งปากพูดถึงความลับของตนออกมาว่า

“เมื่อนั้น                สดายุใจหาญชาญสมร
บินขวางหน้าท้าวยี่สิบกร    แสดงฤทธิรอนดังลมกัลป์
กางปีกแผ่หางพลางเย้ย    ว่าเหวยอสุรีโมหันต์
สิบเศียรสิบพักตร์กุมภัณฑ์    ยี่สิบหัตถ์อันชิงชัย
พุ่งซัดอาวุธเป็นห่าฝน        จะต้องปลายขนก็หาไม่
ถึงทั้งสามภพจบแดนไตร    กูจะเกรงผู้ใดอย่าพึงคิด
กลัวแต่พระสยมภูวนาถ        พระนารายณ์ธิราชจักริศ
กับธำมรงค์พระอิศวรทรงฤทธิ์    ที่ติดนิ้วน้อยนางมาฯ

ทศกัณฐ์ได้ฟังดังนั้นจึงถอดแหวนที่นิ้วนางของนางสีดา ขว้างไปถูกปีกของพญาสดายุจึง

“สองปีกหักสลักอก        ตกลงมาจากเวหา
ปากคาบธำมรงค์อลงการ์    เอาใจไว้ท่าพระจักรี”

เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า อินเดียโบราณก็นิยมใช้แหวนเป็นเครื่องประดับกันแล้ว

ผู้หญิงสมรสแล้วจะสวมแหวนสมรสไว้ที่นิ้วนางข้างซ้าย และแหวนหมั้นก็นิยมสวมนิ้วนางซ้ายเหมือนกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าจะพูดถึงความสวยงามแล้ว การสวมแหวนไว้ที่นิ้วนางซ้ายดูเหมือนจะทำให้สวยงามกว่านิ้วอื่น เพราะนิ้วนางนั้นเวลาเราจะกระดิกนิ้วก็ทำได้สะดวกและวามกว่ากระดิกนิ้วอื่น และมือข้างซ้ายก็ไม่ต้องใช้งานหนักเหมือนมือข้างขวาจึงเหมาะที่จะเอาแหวนไปประดับไว้ แต่อีกความคิดหนึ่งกล่าวว่า ที่สวมแหวนหมั้นหรือแหวนวิวาห์ไว้ที่นิ้วนางข้างซ้ายก็เพราะว่า มือขวาเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ มือซ้ายเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ในบังคับ และเชื่อกันว่านิ้วนางนั้นเมื่อจับที่ปลายนิ้วนั้นแล้ว ความรักความซาบซึ้งจะแล่นเข้าถึงหัวใจทีเดียว เพราะว่ากันว่าเส้นประสาทในนิ้วนางแล่นตรงมาจากหัวใจ แต่สมัยเอลิซเบธแห่งอังกฤษนิยมสวมแหวนหมั้นที่หัวแม่มือ คนไทยเราบางคนก็นิยมสวมแหวนไว้ที่นิ้วชี้หรือนิ้วอื่นเหมือนกัน แต่เป็นแหวนอื่นไม่ใช่แหวนหมั้น ฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมพระธำมรงค์ทุกองคุลี คือสวมครบทั้งสิบนิ้ว สมัยนี้ใครขืนสวมแหวนมากขนาดนั้นก็มีหวังถูกตัดนิ้วไปจำนำเป็นแน่ เมื่อเสร็จสงครามโลกคราวที่แล้วใหม่ๆ ตำรวจจับชายผู้หนึ่งได้แถวศาลาแดง เพราะตรงกระเป๋ากางเกงของเขามีเลือดหยดออกมา ตำรวจตรวจดูปรากฏว่าในกระเป๋าของเขามีนิ้วของผู้หญิงสวมแหวนเพชรเม็ดงามอยู่วงหนึ่ง เขาสารภาพว่าตัดนิ้วมาจากมือของผู้หญิงคนหนึ่งที่ห้อยมือลงข้างรถรางที่ศาลาแดงนั่นเอง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชคงจะโปรดพระธำมรงค์เป็นอันมาก จนถึงกันทรงสวมทุกองคุลี เมื่อศรีปราชญ์ทำความชอบแต่งโคลงถวายจึงได้รับพระราชทานแหวนเป็นรางวัลนายประตู ซึ่งไม่เคยเห็นศรีปราชญ์สวมแหวนก็ประหลาดใจจึงถามและตอบเป็นคำโคลงว่า

นายประตูถามว่า… “แหวนนี้ท่านได้แต่        ใดมา
ศรีปราชญ์ตอบว่า    เจ้าพิภพโลกา        ท่านให้
นายประตูถามว่า    ทำชอบสิ่งใดนา        วานบอก
ศรีปราชญ์ตอบว่า    เราแต่งโคลงถวายไท้    ท่านให้รางวัล”

สมัยโบราณนั้นแหวนเป็นเครื่องประดับบอกยศศักดิ์อย่างหนึ่ง สามัญชนคนธรรมดาจะแต่งเครื่องทองหยองต้องระมัดระวังไม่ให้เหมือนเจ้าหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพราะมีกฎหมายห้ามไว้ว่า “จะแต่งบุตรแลหลานก็ให้ใส่แต่จี้เสมา ภัควจั่น จำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้ อย่าให้ประดับเพชรถมยาราชาวดี ลูกประหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยงเกี้ยวอย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ และอย่าให้ใส่กระจับปิ้งพริกเทศทองคำ กำไลทองใส่เท้า แลห้ามอย่าให้ช่างทองทั้งปวงรับจ้างแลทำจี้ เสมา ภควจั้น ประดับเพชรถมยาราชาวดี แลกระจับปิ้ง พริกเทศ กำไลเท้าทองคำ และแหวนถมยาราชาวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยและอาณาประชาราษฎร์ช่างทอง กระทำให้ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน จะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก” นี่เป็นกฎหมายเก่า ซึ่งได้ยกเลิกไปนานแล้ว ปัจจุบันนี้ใครผู้ใดมีเงินทองจะแต่งตัวให้เต็มไปด้วยเพชรพลิยอย่างไรก็ไม่มีโทษตามกฎหมายแล้ว เพราะกฎหมายไม่ถือเป็นความผิด ถ้าจะมีโทษก็เห็นจะเป็นโทษทางโจรหรือโจรภัยอย่างเดียวเท่านั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี