หยกเม็ดละหนึ่งล้านบาท

พูดถึงเรื่องของแหวนแล้ววกมาถึงหัวแหวนจนกระทั่งถึงนพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ก็นับว่ากวนพอสมควรทีเดียว แต่ถ้าพูดถึงหัวแหวนแล้วไม่พูดถึงอัญมณีอีกอย่างหนึ่งก็ดูจะไม่สมบูรณ์นั่นคือ หยก ซึ่งเป็นหินสีเขียวอ่อน เป็นของหยกคนจีนนิยมกันมาก ถือว่าใครใส่แหวนหยก หรือกำไลหยกจะเป็นสวัสดิมงคลอยู่เย็นเป็นสุข

ก่อนจะจบเรื่องแหวนก็ขอพูดถึงคำพังเพยเกี่ยวกับแหวนสักอย่างนั้นคือ คำว่า มือด้วนได้แหวน แล้วต่อไปว่าตาบอดได้แว่น และหัวล้านได้หวี คำพังเพยทั้งนี้มีความหมายว่า ผู้ที่ได้ของเหล่านั้นมาแต่ขาดอวัยวะที่จะใช้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เหมือนเราได้อะไรมาสักอย่างแล้วไม่สามารถจะใช้ได้นั่นเอง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

ผู้ใดฝันว่าได้สวมแหวน ถ้าเป็นคนโสดทายว่าจะได้คู่ครอง แต่ถ้ามีคู่ครองแล้วทายว่าจะได้บุตรแล

ขงจื๊อได้พูดถึงหยกไว้ว่า
“หยกเป็นสิ่งอบอุ่นและชุ่มชื้น    เหมือนกับความเลื่อมใสศรัทธา
หยกเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งแน่นแฟ้น    เหมือนกับความฉลาดล้ำ
หยกเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ไร้ราคี        เหมือนกับความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
หยกที่ห้อยประดับนั้นมีลักษณะงามสง่า    เหมือนกับความสุภาพอ่อนโยน

เมื่อหยกกระทบกันเสียงใสนี้ก็จะได้ยินไปไกล ได้ยินอยู่นาน และเสียงนี้จะหยุดได้ทันที เหมือนทำนองเสนาะของดนตรี

หากหยกจะมีตำหนิ แต่ส่วนดีก็มิได้ถูกปิดบังเสีย หากหยกดีอย่างไม่มีที่ติก็ไม่ซ่อนส่วนเสียไว้ เหมือนกษัตริย์ผู้ครองแผ่นดิน

หยกมีความสดใส ช่วยให้สิ่งรอบข้างสว่างไสวเหมือนความจริง

หยกให้แสงสีรุ้งสดสวย เทียบด้วยสรวงสวรรค์

หยกแสดงถึงจิตบริสุทธิ์ ท่ามกลางความสงบของธารน้ำและภูเขาลำเนาไพรเหมือนพิภพ

และในโลกทั้งโลกอันกว้างใหญ่นี้ ไม่มีผู้ใดจะไม่ยกย่องค่าของหยก เหมือนกับเหตุผล”

นายแพทย์ หทัย  ชิตานนท์ ได้เล่าไว้ตอนไปเยือนประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เกี่ยวกับราคาของหยกว่า มีราคาตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท

นายแพทย์ หทัย กล่าวถึงหยกต่อไปว่า “อันที่จริงหยกนั้นเป็นหินชนิดหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท พวกแรกเป็เนไฟรท์คือหยกจีน ตั้งแต่สมัยโบราณ มีเนื้อหนาและแข็งมีหลายชนิดและหลายสี ที่มีมากที่สุดคือสีเขียวมะกอกเรียกว่าสิลาดล รองลงมาก็เป็นสีเหลืองที่เรียกว่า “ไขมันแกะ” และนอกจากนี้ก็มีสีน้ำตาล ชมพู เทา และน้ำเงิน มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น “หญ้ามอสในหิมะ” “สีม่วงของเส้นเลือดดำ” และ “กระดูกไก่” เป็นต้น หยกเนไฟรท์พบครั้งแรกเป็นก้อนกรวดอยู่ตามใต้ท้องแม่น้ำ หยกดำในมณฑลซินเกียง ต่อมาก็พบว่ามณฑลนี้เป็นแหล่งที่มีหยกมากที่สุด จึงได้ขุดมาทำเป็นรูปสลักต่างๆ สำหรับหยกอีกประเภทหนึ่งคือเจไดท์นั้น พบในประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะใสเหมือนแก้ว และใช้ทำเป็นเครื่องประดับที่ดีที่สุดนั้น มีความใสคล้ายกับหยดน้ำมันสีเขียวสด ที่ดีรองลงมาคือสีเขียวมรกต และสีเขียวแอปเปิ้ล หยกที่ได้ไปเห็นเป็นบุญตาเม็ดละล้านบาท ก็คือหยกประเภทเจไดท์นี้เอง”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า

ประกอบด้วย

๑. มหานพรัตน์  ด้านหน้าเป็นดอกประจำยามแปดดอก ประดับทับทิม ๑ มรกต ๑ บุษราคัม ๑ โกเมน ๑ นิล ๑ มุกดา ๑ เพทาย ๑ ไพฑูรย์ ๑ ใจกลางเป็นเพชร รวมพลอย ๙ อย่าง ด้านหลังลงยาสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน และอุณาโลมอยู่กลางมีจุลมงกุฎประดับเพชรอยู่เบื้องบน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ห้อยกับแพรแถบกว้าง ๑๐ ซม. สีเหลืองขอบเขียวมีริ้วแดง และน้ำเงินคั่นในระหว่างสีเหลืองและของเขียวนั้น สะพายบ่าขวาเฉียงลงมาทางซ้าย

๒. ดารานพรัตน์  เป็นรูปดาราแปดแฉก ทำด้วยเงินจำหลักเป็นเพชรตรงกลางเป็นดอกประจำยามฝังพลอย ๘ อย่าง ใจกลางเป็นเพชรเหมือนมหานพรัตน์ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

๓. แหวนนพรัตน์  ทำด้วยทองคำเนื้อสูง ฝังพลอย ๙ อย่าง

ส่วนที่พระราชทานฝ่ายในประกอบด้วยมหานพรัจน์และดารานพรัตน์

ส่วน ของพระมหากษัตริย์นั้น มีลักษณะอย่างเดียวกับที่พระราชทานฝ่ายหน้าแต่ดวงตราประดับเพชรทั้งสิ้น กับมีพระสังวาลนพรัตน์เพิ่มขึ้นเป็นพระสังวาลแฝดมีดอกประจำยามประดับเพชร ๑ ทับทิม ๑ มรกต ๑ บุษราคัม ๑ โกเมน ๑ นิล ๑ มุกดา ๑ เพทาย ๑ ไพฑูรย์ ๑ คั่นสลับกันไปอย่างละดอก ทรงเหนือพระอังสาขวาเฉียงลงทางซ้าย

แต่ของสมเด็จพระบรมราชินี มีลักษณะอย่างที่พระราชทานฝ่ายในดวงตราประดับเพชรอย่างของพระมหากษัตริย์แต่ไม่มีพระสังวาล

เครื่อง ราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ทำคุณให้แก่แผ่นดินอย่างสำคัญ และผู้นั้นจะต้องเป็นพุทธมามกะนับถือพระพุทธศาสนาด้วย ว่ากันว่าผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์นี้ หากขาดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว มักจะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

รัตนชาติหรือนพรัตน์ที่ดี

ความสำคัญของแหวนนั้นไม่ได้อยู่ที่เรือนแหวน แต่สำคัญอยู่ที่สิ่งที่เอามาทำเป็นหัวแหวนมากกว่า เพราะเรือนแหวนเป็นที่รู้กันว่าเหมาะที่สุดก็คือทองคำหรือรัตนชาติทองคำขาว หรือเงิน ซึ่งมีราคาที่คนพอมีฐานะธรรมดาก็อาจจะซื้อหาเอาได้ แต่ถ้าเป็นหัวแหวนที่มีราคาแพงแล้วก็สุดปัญญาเราๆ ท่านๆ จะซื้อหาได้เหมือนกัน เรื่องของหัวแหวนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่จะเอามาทำเป็นหัวแหวนนิยมใช้รัตนชาติ ซึ่งมีลักษณะโปร่งตา แข็งใส มีรัศมีหรือประกายแวววาว เช่นเพชร ทับทิม มรกต หรือหินมีค่าทึบแสง เช่น โอปอล โมรา หยกเป็นต้น หรือตามความนิยมของคนไทยสิ่งที่จะเอามาทำเป็นหัวแหวนคือแก้วเก้าประการที่เรียกกันว่า นพรัตน์หรือเนาวรัตน์ ซึ่งโบราณาจารย์เรียบเรียงเป็นคำคล้องจองกันไว้ว่า

“เพชรดี มณีแดง        เขียวใสแสงมรกต
เหลืองใสสดบุษราคัม    แดงแก่ก่ำโกเมนเอก
สีหมอกเมฆนิลกาล    มุกดาหารหมอกมัว
แดงสลัวเพทาย        สังวาลย์สายไพฑูรย์” ดังนี้

ความจริง แก้วเก้าประการนี้มิใช่เรียกชื่ออย่างที่เราเรียกดังกล่าวข้างต้นไปทุกตำราก็หาไม่ บางตำราจัดแก้วอย่างหนึ่ง แทนแก้วอีกอย่างหนึ่งก็มี เช่นตามตำราของอินเดีย มีเพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เหมือนของเรา แต่ต่อไปเป็นราชาวดีกับแก้วประกาฬ

ตำราว่าด้วยอัญมณีที่เรียกกันว่าตำรานพรัตน์มีคนแต่งกันหลายชาติหลายภาษาอย่าง ดร.จี.เอฟ.คุนซ์ ผู้เชี่ยวชาญอัญมณี และเป็นที่ปรึกษาของบริษัท Tiffany แห่งมหานครนิวยอร์คซึ่งเป็นบริษัทค้าเพชรพลอยที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ก็ได้แต่งตำราเช่นว่านี้ด้วยเขากล่าวว่า อัญมณีกลุ่มหนึ่งเป็นที่นิยมยกย่องว่าเป็นของสูงและนำโชคลาภมาให้ของบรรดาผู้ที่ถือศาสนาพราหมณ์ หรือลัทธิฮินดูมาแต่โบราณ อัญมณีกลุ่มนี้ก็คือนพรัตน์นั่นเอง

แต่ไม่ว่าชาติใดภาษาใดจะแต่งตำราก็ตาม เข้าใจกันว่าได้ลอกจากตำราของอินเดียโบราณกันไปทั้งนั้น รวมทั้งตำรานพรัตน์ของไทยเราด้วย

ตำรารัตนชาติหรือตำรานพรัตน์ของไทยเรานั้นว่ากันว่า พระยาสุริยวงศ์มนตรี พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา หลวงภักดีจินดา และนาชมได้ร่วมกันแต่งขึ้นแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งขึ้นต้นด้วยภาษาบาลี เพื่อความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งภาษาบาลีสมัยนั้นก็เหมือนภาษาอังกฤษสมัยนี้ ใครแต่งหนังสือถ้าไม่วงเล็บภาษาอังกฤษไว้ ก็ดูเหมือนเป็นคนไม่มีความรู้ ขาดความเชื่อถือไป ดังนั้นหนังสือเก่าของเราจึงต้องมีภาษาบาลีหรือสันสกฤตนำหน้าเสมอ แม้ตำรายาก็ยังขึ้นต้นว่า “สิทธิการิยะ โบราณท่านว่า” เป็นต้น ตำรานพรัตน์ก็ขึ้นต้นตามแบบฉบับว่า

วชิรํรตฺตํ อินฺทนีลํ        เวฬริยํ รตฺตกาลมิสฺสกํ
โอทาตมิสฺสกํ นิลํ        ปุสฺสราคํ มุตฺตหารญฺจาติ
อิมานิ นวกาทินี รตนานิ ตสฺมา รตนชาติโย อเนวิธา นานาปเทเสสุ
อุปฺปชฺชนฺตีติ เวทิตพฺพา.

ถ้าจะแปลก็พอจะได้ความว่า รัตนชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้นในนานาประเทศนั้นมีหลายอย่าง เช่นแก้วเก้าประการที่จะกล่าวนี้เป็นต้นคือ แก้ววิเชียร(เพชร) แก้วแดง ได้แก่ ทับทิมอินทนิล แก้วไพฑูรย์ แก้วรัตกาลมิศก แก้วโอทาตมิศก นิลรัตน์ แก้วบุษราคัม และมุกดาหาร

เมื่อขึ้นต้นอารัมภบทเป็นภาษาบาลีแล้ว ตำรานพรัตน์ก็ได้กล่าวถึงลักษณะคุณสมบัติและโทษวิบัติของแก้วเก้าประการไว้มากมาย ซึ่งเห็นว่าถ้าจะนำมากล่าวในที่นี้ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังบ้าง โดยเฉพาะท่านผู้ฟังที่เป็นสตรี ซึ่งนิยมอัญมณีอันมีค่าต่างขวนขวายมาประดับร่างกายให้สวยงามจนบางคนต้องเดือดร้อนเพราะความแวววาวของเพชรพลอยก็มีมาแล้ว เข้าใจว่าเพราะอัญมณีอันนั้นมีโทษมากกว่าคุณ จะได้พูดถึงเพชรพลอยเหล่านี้ตามลำดับไปจนกว่าจะหมดทั้งเก้าประการ

๑. นพรัตน์ประการที่ ๑ คือวชิรหรือเพชร  ซึ่งนับเป็นรัตนะที่มีค่ามากที่สุด และเป็นวัตถุที่แข็งที่สุดในบรรดาแก้วทั้งหลาย ความหมายของเพชรหมายความว่าแข็งด้วย เช่นใจเพชร เหล็กเพชร คนโบราณคงจะเห็นว่าเพชรเป็นของวิเศษ จนถึงยกย่องให้เพชรเป็นอาวุธของพระอินทร์ที่เรียกกันว่าวัชร พระอินทร์จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วชิรปาณี มีเพชรในมือ

ตามตำรานพรัตน์อธิบายว่าเพชรนั้นมีสามประการคือ ประถมชาติ ทุติยชาติ และตติยชาติ

เพชรประถมชาตินั้น แยกชื่อเฉพาะออกไปอีก ๕ ประการ คือ ขัติยชาติ สมณชาติ พรหมชาติ แพทย์ชาติและสูทชาติ การแบ่งชั้นหรือชนิดของเพชรอย่างนี้อนุโลมตามวรรณของอินเดียนั่นเอง แต่เติมสมณชาติเข้าอีกประการหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่าผู้แต่งตำรานพรัตน์ต่อมาคงจะนับถือพุทธศาสนาอยู่ด้วย

เพชรอันได้นามขัติยชาตินั้น มีลักษณะน้ำแดงดังผลตำลึงสุก มีรัศมีขาว เหลือง ดำ เขียว รุ้ง เมื่อส่องดูที่แดดจะเห็นประกายวาวออกจากเหลี่ยมเป็นสีเบญจรงค์ ผู้ถือเพชรขัติยชาติ ท่านว่าผิเป็นไพร่ก็จะกลับได้เป็นนาย ผิเป็นนายจะได้เลื่อนขึ้นเป็นขุน ผิเป็นขุนก็จะได้เลื่อนขึ้นครองเมือง ถ้าเป็นราชตระกูลจะได้เป็นกษัตริย์ ผิว่าทำสงครามจะมีชัยชนะศัตรูจะพ่ายทุกทิศ ท่านให้เอาเพชรขัติยชาติผูกเรือนธำมรงค์ใส่นิ้วชี้มือขวา

เพชรอันได้นามว่าสมณชาตินั้น มีลักษณะเหลืองดังน้ำมันไก่ ประกายแดง เขียว ขาว ดำ และหงสบาท คือสีคล้ายเท้าหงส์ คือสีแดงปนเหลือง สีแดงเรื่อ หรือสีแสด เมื่อส่องดูกับแสงแดดจะปรากฏรัศมีทอกันดังดวงตะวันยามเที่ยง เห็นประกายพุ่งจากเหลี่ยมเป็น ๕ สีทุกเหลี่ยม ท่านให้ผูกเพชรสมณชาตินี้เข้ากับเรือนแหวน สอดนิ้วชี้มือขวา ผู้สวมสอดจะจำเริญสุขสมบูรณ์ทุกประการ เหตุที่เพชรชนิดนี้มีสีเหลือง จึงได้ชื่อว่าสมณชาติก็เป็นได้

เพชรอันได้นามพราหมณชาติ มีลักษณะขาวช่วง, ประกายแคง, ดำ, เหลือง, เขียว และหงสบาท เมื่อต้องแสงตะวันปรากฏเป็นแสงทอกันดังแสงอาทิตย์ยามเที่ยง ผิวประดับเข้ากับเรือนแหวนไซร้ ท่านให้สวมสอดนิ้วชี้มือขวา จะเจริญด้วยลาภ ปลอดภัยและศัตรู

เพชรอันได้นามว่าแพศยชาติ มีพรรณเขียว รัศมีขาว, แดง, เหลือง, ดำและ หงสบาท ส่องดูที่แสงแดดจะเห็นเป็นแสงทอกันดังแสงตะวันยามเที่ยง ธำมรงค์อันประกอบด้วยเพชรชนิดนี้ พึงสอดใส่นิ้วมือขวา ก่อให้เกิดลาภ ค้าขายดี อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดอริศัตรู

เพชรอันได้นามว่าสูทชาติ มีพรรณดังสีตะกั่วตัด ประกายแดง, เหลือง, ขาว, เขียว และหงสบาท เมื่อส่องแดดเห็นเป็นรัศมีฉายเป็นดวงออกจากเหลี่ยม ด้านละ ๘ ดวง ประหนึ่งรุ้งกินน้ำ แสงทอกันราวกะดวงตะวันเมื่อเที่ยง ท่านให้ผูกเรือนสอดใส่นิ้วชี้มือขวา ก่อให้เกิดจำเริญสุขสวัสดิ์ ประกอบกิจการใดก็สำเร็จสมประสงค์ ที่ดีเป็นพิเศษคือการทำนาทำสวน ศัตรูทำร้ายมิได้

จะว่าด้วยเพชรทุติยชาติ อันประกอบด้วยคุณนานาประการ มีอยู่ ๔ จำพวก คือ จำพวกหนึ่งเป็นเพชรยอดมีพู ๖ พู เรียบดังแผ่นกระดาน ท้องและหลังเหมือนกัน จำพวกที่สองมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมีแสงทอกัน จำพวกที่สามมีสีเหลืองผ่านเป็นสังวาล จำพวกที่สี่มีน้ำหนักเบากว่าแก้วผลึก แต่สีเป็นอย่างไรท่านไม่กล่าวถึง เพชรทุติยชาติทั้งสี่ประเภทนี้มีคุณสมบัติในทางอยู่ยงคงกะพัน ศาสตราวุธจะไม่ทำอันตรายแม้แต่ผิวหนังของผู้ที่ถือเพชรเหล่านี้ เป็นที่รักเป็นที่ชอบพอของคนทั้งหลาย ทำราชการก็จำเริญยศศักดิ์ ศัตรูทำร้ายมิได้ ป้องกันไฟไหม้บ้านเรือน ป้องกันอสรพิษทั้งปวง แต่มีข้อห้ามว่า ถ้าคนไข้ถือเพชรพวกนี้จะทำให้โรคกำเริบ

ส่วนเพชรตติยชาติ อันเป็นพวกสุดท้าย เป็นเพชรอันประกอบด้วยโทษอันบุคคลพึงระวัง ลักษณะโทษของเพชรชนิดนี้มีอยู่ ๑๒ ประการ คือ ไม่มีพู เบี้ยว เป็นตำหนิ(รอยยาว) ข้างในกลวง รอยร้าว เห็นเป็นรู เม็ดดังทนานมะพร้าว ช้ำ ดูเหมือนมีรอยเจาะไม่มีน้ำ(รุ้ง) อื่นแกม ผลเป็นรอยดั่งตีนกา ลักษณะโทษของเพชรเหล่านี้ผลร้ายจะหายไปได้ก็ต่อเมื่อช่างได้เจียระไนให้ร่องรอยดังกล่าวมาหมดไปแล้ว มิฉะนั้นผู้ใช้เพชรนั้นจะมีโทษเช่นต้องศาสตราวุธ แพ้ภัยศัตรู สมบัติวิบัติ เกิดโรคและอันตรายนานา

นอกจากนี้ตำรานพรัตน์ยังได้พรรณนาเรื่องของเพชรว่ามีกำเนิดจากประเทศใด  และจากอะไรบ้าง ดูเป็นเรื่องเฝือเกินไป เพียงเท่าที่ยกมานี้ก็ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าประเภทของเพชรดังกล่าวมานี้จะมีอยู่จริงหรือไม่เพียงไรอยู่แล้ว แต่เป็นที่สังเกตอย่างหนึ่งว่า โบราณท่านนับถือว่าเพชรเป็นสิ่งวิเศษจริงๆ แต่ก็อาจจะให้โทษได้ถ้าลักษณะไม่ดีดังได้กล่าวแล้ว สำหรับเพชรที่มีตำหนินั้น จนบัดนี้เราก็ยังถือกันอยู่ว่าเป็นของที่ไม่ควรมีไม่ควรใช้เช่นเพชรที่มีรอยร้าวเป็นขนแมว มีจุดมีตำหนิ เป็นต้น ใช้แล้วให้โทษมากกว่าให้คุณ

บ่อเพชรที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ในทวีปอาฟริกา

เรื่องของเพชรเป็นเรื่องของสตรี แต่ก็ต้องมีผู้ชายเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ในฐานะเป็นผู้แสวงหาเพชรเพื่อเป็นของขวัญให้สตรี ท่านคงใคร่รู้ว่าเพชรนั้นราคาสักเท่าไร เรื่องราคาของเพชรหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง เช่นคุณสมบัติความงามของเพชรประกอบกับความต้องการของคนที่ร่ำรวย เท่าที่ทราบ  เพชรที่ประมูลกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีราคาสูงสุดคือแหวนเพชร ๑ วงมีราคาถึง ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลำพังเพชรหนัก ๖๙.๔๒ การัต แกเลอรี่ปาร์เก้เบร์เนท ในกรุงนิวยอร์ค เป็นผู้ประมูลได้ ต่อรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ดาราภาพยนตร์ชื่อริชาร์ด เบอร์ตัน ได้ซื้อต่อในราคา ๒๙ ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญให้แก่เอลิซเบธเทเลอร์ ภรรยา คนที่โชคดีที่สุดคงจะไม่ใช่เอลิซเบธเทเลอร์ แต่เป็นนายแกเลอรี่ปาร์เก้เบอร์เนท เพียงชั่วระยะเวลาเพียงคืนเดียวแกสามารถทำกำไรได้ถึง ๘ ล้านบาท มีใครบ้างที่สามารรถทำได้อย่างนายคนนี้

ตามปกติแล้ว เพชรนั้นหาเม็ดใหญ่ๆ หลายการัตยากเต็มที ส่วนใหญ่ก็มีน้ำหนักไม่กี่การัต อย่างที่เราเห็นวางอยูตามร้านค้าเพชรพลอยทั่วไป เพชรหนัก ๖๒ การัตกว่าที่ริชาร์ดเบอร์ตันซื้อให้เอลิซเบธเทเลอร์นี้นับว่าหายากอยู่แล้ว แต่ยังมีเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดหนักถึง ๑.๒๕ ปอนด์ ประมาณ ๓,๑๐๖ เมตริกการัต พบโดยร้อยเอก เอ็ม.เอฟ.เวล ในเหมืองพรีเมียร์ ทางตอนใต้ของอาฟริกา เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๘ เพชรเม็ดนี้ต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่า คัลลิแนน ตามชื่อของ เซอร์โทมัส เมเจอร์ คัลลิแนน ผู้เป็นประธานเหมืองแห่งนั้น ต่อมาในปี ๒๔๕๐ รัฐบาลอังกฤษได้ขอซื้อ และขอขึ้นทูลเกล้าถวายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ ต่อมาเพชรคัลลิแนนนี้ ได้รับการเจียรไนจากช่างเมืองอัมสเตอร์ดัม แล้วให้ชื่อว่าสตาร์ออฟอาฟริกา หมายเลข ๑ เจียระไนได้ถึง ๗๔ หน้า หนัก ๕๓๐.๒ เมตริกการัต นับเป็นเพชรที่เม็ดใหญ่ที่สุด ถ้าได้ตกมาอยู่กับเราๆ ท่านๆ แล้ว รับรองว่าไม่มีวันที่จะนอนตาหลับ

เพชรที่หายากที่สุดคือเพชรสีฟ้าและเพชรสีชมพู เพชรสีฟ้าเม็ดใหญ่ที่สุด ชื่อเพชรแห่งความหวัง หนัก ๔๔.๔ การัต สถาบันสมิทโซเนียน โดยนายเฮนรี วินสตัน ช่างเพชร ซื้อไปเป็นมูลค่าประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเพชรสีชมพูเม็ดใหญ่ที่สุดนั้นหนัก ๒๔ การัต ราคาประมาณ ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จะอยู่ที่ใครก็ไม่ทราบเหมือนกัน

๒. นพรัตน์อันดับที่ ๒ คือ ทับทิม  ทับทิมนั้นเป็นพลอยชนิดหนึ่งมีสีแดงทับทิมนี้เรียกว่า ปัทมราดหรือปัทมราชก็มี เรียกมณีแดงก็มี ทับทิมนี้ตามตำรากล่าวว่ามีสีแดง ดังบัวสัตบุศย์ สีดังดอกบัวจงกลนี สีดังดอกทับทิม สีดังแมลงเต่าทอง สีดังเปลวประทีปเมื่อใกล้ดับ สีดังดวงอาทิตย์ยามอุทัย สีดังเม็ดทับทิมสุกเข้ม สีดังตานกจากพราก ทับทิมเหล่านี้มีทั้งคุณและโทษ คือ เม็ดใดลักษณะไม่ดีเบี้ยวมีตำหนิก็ให้โทษ ปราศจากตำหนิจึงให้คุณ

๓. มรกต-นพรัตน์อันดับ ๓ มีตำนานเล่าไว้ว่า สมัยหนึ่งนานมาแล้ว มีพญานาคชื่อพาสุกินาคราช (วาสุกรีนาคราช) ถูกครุฑพาไป ณ ที่แห่งหนึ่งเพื่อจะกิน ครั้นเมื่อพญางูถูกครุฑจิกจะสิ้นชีวิตแล้ว ก็สำรอกอาหารเก่าออกจากท้อง ปรากฏว่าของที่สำรอกออกมาเป็นนาคสวาทและเป็นมรกต ส่วนน้ำลายกลายเป็นครุฑธิการ (เป็นอะไรไม่ทราบเหมือนกัน) หาเป็นโลหิตไม่ มรกต นาคสวาทและครุฑธิการจึงอุบัติขึ้นในโลก

ลักษณะของมรกตนาคสวาทนั้น ท่านพรรณนาว่ามีผิวสีดังเห็ดตับเต่าเขียวดังงูเขียนปากปลาหลด เขียวดังผิวไม้ไผ่ที่เพิ่งเกิดตั้งแต่หนึ่งถึงสองเดือน ใครพบมรกตมีลักษณะดังนี้ผิว่า ถูกเขี้ยวงาเช่นตะขาบและงูพิษขบต่อย ท่านให้เอามรกตนี้กลั้นใจชุบน้ำ เอาน้ำนั้นทาที่แผล และถอนพิษหายแล

วิธีทดลองเพื่อรู้ว่ามรกตใดเป็นนาคสวาทแท้หรือมิใช่ ท่านให้ทำเครื่องบัดพลี เครื่องกระยาบวงสรวงในเดือนสามหรือเดือนสี ตั้งไว้ ณ ที่อันควร ผิว่าดูในที่ตั้งบัดพลีนั้นเห็นคลับคล้ายงูอยู่ ก็พึงปลงใจเชื่อว่านั่นเป็นนาคสวาทแท้

มรกตนั้น พจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า แก้วสีเขียวใบไม้

ท่านพรรณนาลักษณะและคุณของมรกตไว้ต่อไปว่า มรกตอันทรงคุณวิเศษ ๙ ประการ สีเขียวใสดังขนคอนกดุเหว่า สีดังตานกแขกเต้า สีเขียวเหลืองดังใบจิก สีเขียวพรายดังแมลงค่อมทอง สีเขียวดังขี้ทองคำ สีเขียวดังใบข้าว สีดังใบโลด สีดังใบแคและงูเขียวสังวาลพระอินทร์ ๙ อย่างนี้ ทรงคุณวิเศษแก่ผู้ถือ มีแต่ความเจริญและป้องกันมิให้สัตว์เขี้ยวงาที่มีพิษขึ้นบ้านเรือนแล

มรกตที่ให้โทษแก่ผู้ครอบครองคือมรกตที่มีสีดังข้าวสุกขยำแกงฟักอย่างหนึ่ง มีดินอยู่ภายในอย่างหนึ่ง มีสีสะว้าม (สีอะไรไม่ทราบ จะคัดมาผิดหรือเปล่าก็ไม่มีทางรู้) อย่างหนึ่งและรูปพรรณเบี้ยวอีกอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อเจียระไนสิ้นลักษณะเสียแล้วจึงให้คุณ

มรกตแท่งใหญ่ที่สุดก็เห็นจะไม่มีที่ไหนเท่าพระพุทธมหามณีรัตน์หรือพระแก้วมรกตของเรา ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพมหานครเป็นแน่

๔. นพรัตน์อันดับที่ ๔ คือบุษราคัม คือพลอยสีแดง

๕. นพรัตน์อันดับที่ ๕ คือ โกเมน คือพลอยสีแดงเข้ม ว่าได้มาจาก ภูเขาหิมาลัย หรือแม่น้ำสินธุ สำหรับโกเมนของอินเดียนั้นว่ามีลักษณะ ๔ ประเภท คือ สีขาว สีเหลืองซีด สีแดง สีน้ำเงิน

๖. นพรัตน์อันดับที่ ๖ คือนิล อันเป็นพลอยสีดำหรือขาบ ตามตำรานพรัตน์ว่าเกิดในแดนลังกามี ๓ จำพวกคือขัติยชาติจำพวกหนึ่งสีเขียวเจือน้ำแดง ชื่อพราหมณชาติ จำพวกหนึ่งสีเขียวเจือน้ำขาว ชื่อสูทชาติจำพวกหนึ่ง สีเขียวเจือน้ำดำ ยังมีนิลอีก ๑๑ จำพวก ล้วนมีคุณพิเศษคือ ชื่อปริวารนิล สีดั่งน้ำคราม ชื่อนิลอัญชันสีดังดอกอัญชัน ชื่ออินทนิลเมื่อส่องที่แดดจะเห็นเป็นสายขาวเลื่อมประภัสสร ชื่อสรลังกาคนิล สีเขียวพรายเหลืองดังปีกแมลงทับ ชื่อราชนิล สีดังสีตาวัว ชื่อนิลบลหรือนิลุบลสีดังดอกบังครั่ง ชื่อมหาราชนิลสีดังแววหางนกยูง ชื่อนิลคนธิ์ เนื้อเขียวเจือขาว ชื่อนิลมาศคนธี สีดังดอกผักตบ ชื่อพัทนิล สีดังขนคอนกดุเหว่า อีกจำพวกหนึ่งเอาสำลีปัดดูจะเป็นประกายจับสำลี นิล ๑๑ จำพวกดังพรรณนานี้เป็นของวิเศษให้คุณแก่ผู้ถือ

นิลอันให้โทษนั้นมี ๘ ประการ คือลักษณะหนึ่งขาวหม่น (นิลโพรด) มีอันธการ (ดำ) เชี่ยนตะโหนด (เข้าใจว่าจะเป็นเซี่ยนหรือเสี้ยนตาล) เป็นสีขาวและดำ ผลหรือเม็ดแตกลมเข้าอยู่ข้างใน (เป็นรู) หัวหรือยอดขาว สีน้ำอันวาวนั้นเหลืองดังสีน้ำขมิ้น น้ำเหลืองดังน้ำสนิมเหล็ก และข้างในนั้นมีดินเข้าไปอยู่ เหล่านี้เป็นนิลอันประกอบด้วยโทษให้ผลร้ายแก่ผู้ถือ

๗. นพรัตน์อันดับที่ ๗ คือมุกดาหาร  ได้แก่แก้วชนิดหนึ่งมีสีหมอกอ่อนๆ คล้ายสีของไข่มุกแต่ไม่ใช่ไข่มุก แต่ตามตำรานพรัตน์ว่ามุกมีกำเนิดเกิดในหัวปลา ในหอยโข่ง ในงาช้าง ในหัวเนื้อสมัน ในคอผู้หญิง ในคอผู้ชาย ในคอนกกระทุง ในต้นอ้อย ต้นข้าว ลำไม้ไผ่ ในหัวงู ในเขี้ยวหมู ในหอยทะเล ซึ่งออกจะพรรณนาเหลือเฟือเกินไป ถ้าดูตามนี้แล้วมุกดาหาร มิใช่แก้วแต่เป็นไข่มุกนั่นเอง

๘. นพรัตน์อันดับที่ ๘ คือ เพทาย  คือพลอยชนิดหนึ่งสีแดงสลัวๆ ท่านพรรณนาไว้ว่า เพทายมีอยู่ ๑๓ ชนิด คืออย่างหนึ่งชื่อ ริตุกะ สีเหลืองดังขมิ้น ชื่อจุมกุดิ สีขาวใส ชื่อครังคราทิ สีดั่งน้ำฝาง ชื่อสุรคนธิ์ สีแดงดังน้ำครั่ง น้ำภายในสีดังดอกสามหาวหรือผักตบ ชื่อไคเสบพเฉด สีเหลืองดังดอกคูณ ชื่อชไม สีหลายพรรณระคนกัน ชื่อทันตร สีดั่งน้ำค้างไหลไปมาอยู่ภายใน ชื่อรวางคะ ดังหนึ่งน้ำขังอยู่บนดอกบวบอยู่ภายใน ชื่อโควินท์สีแดงและภายในแดงดังปัทมราช ชื่อกตะ น้ำแดงแลขาวระคนกัน และน้ำแดงเหลืองระคนกัน

เพราะเหตุที่เพทายมีสีแดงคล้ายกับทับทิมหรือปัทมราช ท่านจึงแนะวิธีที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าแตกต่างกันอย่างไร คือให้เอาเพทายที่ใคร่รู้นั้นสีกับปัทมราช ผิว่าหารอยมิได้ไซร้ ท่านว่าเพทายนั้นคือปัทมราช ผิมีรอยท่านจึงว่าเป็นเพทายแล

๙. นพรัตน์อันดับที่ ๙ คือ ไพฑูรย์ คือพลอยสีเขียว มีน้ำเป็นรุ้งกลอกไปมา บางแห่งเรียกว่าเพชรตาแมว หรือแก้วสีไม้ไผ่ แต่ตามตำรานพรัตน์กล่าวว่าไพฑูรย์ที่เกิดจากเชิงเขาวิบูลบรรพตที่ชื่อว่ามรินหร มีพรรณขนานสลับสีดำ แดงขาวและเขียว ดังแมลงเต่าทอง นอกจากนี้ท่านยังแบ่งแยกไพฑูรย์ออกเป็นชื่อประถมชาติและทุติยชาติ ว่ามีสามจำพวก ฉวีดังแววหางนกยูง สีดังใบไผ่อ่อนพวกหนึ่ง เขียวเหลืองอ่อนดังงูเขียวปากปลาหลดพวกหนึ่ง สีดังปลีกล้วยแรกบานพวกหนึ่ง มีสีสลับกันตั้ง ๑๐ สีพวกหนึ่ง พวกหนึ่งลายดังจักรมีน้ำเป็นแนวแดง ขาว เหลือง เขียว ดำและหงสบาท พวกหนึ่งประกายดั่งตานกแขกเต้า พวกหนึ่งดั่งตานกพิราบ พวกหนึ่งดั่งตาตั๊กแตน

ท่านพรรณนาโทษของไพฑูรย์ไว้ว่า ไพฑูรย์เม็ดใด ช่างเจียระไนไม่หมดมลทินสิ้นโทษ คือสีนั้นตายกลางยอด จะทำให้ผู้ถือพลัดพรากจากลูกเมีย คนในเรือนจะตายจากอีกอย่างหนึ่งไพฑูรย์เม็ดใดหัวเว้าก็ดี เม็ดบางก็ดี จะพาให้ผู้ถือตกยาก จะต้องศาสตราวุธ จะผิดพี่ผิดน้อง อีกอย่างหนึ่งไพฑูรย์เม็ดใด เม็ดมีแผลรุ้ง ผู้ถือจะเป็นโทษ จะร้อนใจ จะกลายเป็นโจร

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านจะเห็นว่าคนโบราณนั้นนับถือว่าอัญมณีเหล่านี้เป็นของขลังสามารถให้คุณและให้โทษแก่ผู้ใช้ได้ คนไทยเราจึงใช้นพรัตน์ทำเป็นหัวแหวนเรียกว่าแหวนนพเก้าใช้สวมนิ้วชี้เมื่อจะทำการสิ่งใดที่เป็นมงคลเพื่อความขลังก็ใช้นิ้วที่สวมแหวนนี้ทำ เช่นเจิมหน้าคู่บ่าวสาว เป็นต้น

เมื่อพูดถึงนพรัตน์แล้ว ถ้าไม่พูดถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของเราอย่างหนึ่งก็ดูจะไม่สมบูรณ์นั่นคือ “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์” หรือเรียกย่อว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์ (ใช้อักษรย่อว่า น.ร.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ความว่า ได้มีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมคงมีแต่สายสร้อยพระสังวาลประดับนพรัตน์ เรียกว่าสังวาลพระนพ เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพิชัยสงครามหรือสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเมื่อเวลาบรมราชาภิเษก โดยพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงสมก่อนที่จะทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นของสำหรับแผ่นดิน พระสังวาลนี้เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำล้วนมี ๓ เส้น เส้นหนึ่งยาวประมาณ ๑๒๔ ซม. มีดอกประจำยามทำด้วยทองประดับนพรัตน์ดอกหนึ่ง

จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ.๒๓๒๕) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติ ได้ทรงรับพระสังวาลนี้สืบมา และได้สร้างขึ้นอีกสายหนึ่งเป็นสายแฝดประดับนพรัตน์เป็นดอกๆ เรียกว่า “พระมหาสังวาลนพรัตน์” ยาวประมาณ ๑๗๖ ซม. มีดอกประจำยาม ๒๗ ดอก ทำด้วยทองฝังมณีดอกละ ๑ ชนิด สลับกัน

ลุจุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ.๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างดารานพรัตน์เพิ่มขึ้นอีกเป็นเครื่องต้น และสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงถือได้ว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้มีขึ้นในรัชกาลนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระบรมวงศ์มีแต่ดาราไม่มีสังวาล เพราะสังวาลใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น จึงได้ทรงสร้างตรา (มหานพรัตน์) สำหรับห้อยติดกับแพรแถบสีเหลือง ขอบเขียวริ้วแดงและน้ำเงิน สะพายขวามาซ้ายแทนสังวาลด้วย และให้พระราชทานแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ด้วยแต่ก็มีเพียง ๘ สำหรับ รวมทั้งของพระกษัตริย์ด้วยอีก ๑ สำหรับ เป็น ๙ สำรับ ต่อมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) จึงตราพระราชบัญญัติใหม่กำหนดให้มีแหวนนพรัตน์เพิ่มขึ้น และกำหนดให้พระราชทานแก่ฝ่ายในด้วย ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้เพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็น ๒๗ สำรับ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เรือชนิดต่างๆ ของไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังให้ความหมายเรือไว้ว่า “ยานพาหนะ ซึ่งทำด้วยวิธีขุดไม้ทั้งต้น หรือต่อด้วยไม้เป็นต้นสำหรับใช้ไปในน้ำ” แต่ถ้าเติมคำอื่นเข้าข้างหลังก็มีความต่างกันออกไป เช่น เรือเหาะ เรือบิน เรือโบราณหมายถึงยานพาหนะที่ไปมาทางอากาศได้ เป็นต้น แต่ในที่นี้เห็นจะพูดเพียงเรื่องของเรือที่ใช้เป็นยานพาหนะไปมาทางน้ำเท่านั้น

เรือกำเนิดมาเมื่อไร ข้อนี้สุดวิสัยที่จะกำหนดให้แน่นอนลงไปได้ เพราะว่า มนุษย์เรานั้น ต้องอาศัยอยู่ริมน้ำเสมอมา เพราะต้องใช้น้ำในการทำเกษตรกรรม ขาดน้ำเสียแล้วก็ต้องอพยพไปหาแหล่งอื่นต่อไป เมื่อต้องอยู่ใกล้น้ำ ก็มีความจำเป็นต้องข้ามน้ำไปมา ระหว่างฟากแม่น้ำข้างหนึ่งไปสู่ฟากแม่น้ำอีกข้างหนึ่งบ้าง เป็นธรรมดา เรื่องของเรือจึงน่าจะเกิดมานานเท่ากับความเจริญทางเกษตรกรรมของมนุษย์เรานั่นแหละ

เรือเกิดขึ้นอย่างไร ครั้งแรกที่สุดน่าจะมีมนุษย์คนใดคนหนึ่ง เห็นขอนไม้ลอยน้ำมา และตนได้อาศัยขอนไม้นั้นเกาะลอยน้ำไปได้ จึงได้คิดวิธีการที่จะใช้ขอนไม้เป็นยานพาหนะ ครั้งแรกๆ ก็คงจะใช้มือกวักน้ำให้ขอนไม้ลอยไปในที่ต้องการก่อน ครั้นต่อมาคงจะรู้จักวีเอาไม้มาทำถ่อเป็นการสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ การอาศัยขอนไม้ข้ามฟากก็ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก ก็คงจะมีผู้ดัดแปลงโดยขุดขอนไม้ให้ลึกลงไปเป็นร่อง แล้วคนไปนั่งในนั้น ก็ทำให้เกิดมีความสะดวกสบายมากขึ้น นี่เป็นเหตุของการขุดเรือชะล่าหรือเรือมาด เมื่อทำเรือแล้ว ภายหลังต้องการให้เรือใหญ่ขึ้นก็เอาไม้อื่นเป็นแผ่นๆ มาเสริมปากเรือให้สูงขึ้นไปอีก ครั้งแรกก็คงจะเสริมเพียงเล็กน้อยก่อน ครั้นต่อมารู้จักทำกงต่อไม้กระดานเสริมปากเรือให้กว้างและสูงขึ้นไปอีก จนสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ได้ แต่กว่าจะต่อเรือใหญ่ได้ก็คงจะถ่ายทอดเป็นมรดกมาหลายชั่วอายุคนทีเดียว จนบัดนี้เรือนอกจากต่อด้วยไม้แล้วยังทำด้วยเหล็กและวัตถุอย่างอื่นอีกก็มี

เรือของพวกอียิปต์โบราณนั้นว่ากันว่าทำด้วยใบปาปิรัส เป็นเรือสำหรับแล่นตามแม่น้ำไนล์ พวกชาวอาฟริกาบางเผ่าเอาหนังสัตว์มาทำเป็นเรือก็มี

บางท่านว่าวิวัฒนาการของพาหนะทางน้ำครั้งแรก คนเรารู้จักเอาไม้มามัดเข้าเป็นแพก่อน แล้วจึงรู้จักขุดท่อนไม้เป็นเรือทีหลัง

เรือนับเป็นยานพาหนะสำคัญที่นำความเจริญจากชาติหนึ่งไปสู่ชาติหนึ่ง เป็นยานที่ทำให้คนหลายชาติได้ติดต่อค้าขายถึงกันได้โดยง่ายในสมัยก่อน

สำหรับประเทศไทยหรือชาติไทยของเรานั้น คงจะรู้จักใช้เรือมานานแล้วเหมือนกัน เพราะเราชอบอยู่ริมแม่น้ำลำคลองมาแต่เดิม อย่างนิทานเรื่องพระเจ้าสายนํ้าผึ้งนำเรือออกไปรับราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนจากเมืองจีนมาเมืองไทย เป็นต้น นั่นก็มีเค้าเงื่อนแสดงให้เราเห็นว่าเรามีการใช้เรือแล้ว สมัยสุโขทัยก็ว่าพระร่วงเสด็จไปเมืองจีนถึง ๒ ครั้งก็คงจะเสด็จโดยทางเรือนั่นเอง แต่จะเป็นเรือไทยหรือเรือจีนหรือชาติไหนก็ไม่ทราบได้

โดยเหตุที่ประเทศไทยเรา มีแม่นํ้าลำคลองมาก เรือจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ของเรา โดยเฉพาะคนในภาคกลางของประเทศ ต้องอาศัยทางน้ำในการสัญจรไปมาเป็นประจำ เรือลำเล็กๆ จึงมีความจำเป็นมาก เรือที่คนไทยเรารู้จักใช้เป็นอันดับแรกน่าจะเป็นเรือที่เรียกว่า เรือมาด คือเรือขุดที่เบิกแล้ว เป็นเรือขนาดเล็ก เรือชนิดนี้มีใช้ทั่วไป

เรือพายม้า คือเรือขุดที่เสริมกราบ หัวท้ายงอน เรือชนิดนี้เรียกว่าพายม้าหรือไพม้าก็มี ทำไมจึงเรียกอย่างนี้ก็ไม่ทราบ บางคนเรียกเผ่นม้าก็มี อาจจะเป็นเรือที่พายแล่นเร็วดีอย่างม้าเผ่นก็ได้

สำปั้น – เรือต่อชนิดหนึ่งหัวท้ายเชิด เรือชนิดนี้เดิมเป็นเรือเล็กที่บรรทุกมากับเรือใหญ่ เพื่อนำคนจากเรือใหญ่เข้าฝั่งหรือไปที่เรือใหญ่เข้าไม่ถึง

เรือชะล่า – เรือที่ขุดด้วยซุงทั้งต้นแต่ไม่เบิกให้ปากกว้าง

เรือแม่ปะ – รูปคล้ายเรือชะล่า แต่ใหญ่กว่าและมีประทุนอยู่กลาง มีใช้อยู่ตามแถบเหนือ

เรือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรือขนาดเล็กใช้แจวหรือพายในแม่น้ำลำคลองหรือชายฝั่งเท่านั้น และใช้บรรทุกของก็ได้เพียงเล็กน้อย ยังมีเรือบรรทุกสินค้าได้คราวละมากๆ อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เอี้ยมจุ๊น เป็นเรือขนาดใหญ่สำหรับถ่ายของและบรรทุกสินค้าในลำน้ำ สมัยก่อนเรือชนิดนี้ใช้ถ่อขึ้นล่องตามลำน้ำ เสียเวลามาก พอมีเรือกลไฟหรือเรือยนต์ขึ้นแล้ว ใช้เรือกลไฟหรือเรือยนต์โยงเรือเอี้ยมจุ๊นขึ้นล่อง รวดเร็วกว่าแต่ก่อน เพราะเรือกลไฟและเรือยนต์ลำหนึ่งๆ ลากหรือโยงเรือเอี้ยมจุ๊นได้หลายลำ เรือเอี้อมจุ๊นนี้ เรียกว่าเรือเกลือก็มี เพราะความล่าช้าของเรือชนิดนี้ เราจึงเรียกคนที่ทำงานไม่กระฉับกระเฉงว่า อืดอาดเหมือนเรือเกลือ เจ้าของเรือเอี้ยมจุ๊นส่วนใหญ่จะอาศัยกินอยู่หลับนอนในเรือนั่นเอง บางคนตลอดชีวิตไม่เคยมีบ้านเรือนอยู่บนบกเลย เกิดในเรือ อยู่ในเรือ และก็ตายในเรือ จะอยู่บนบกก็เห็นจะตอนเอาไปเผาเท่านั้นเอง ซึ่งก็นับว่าสบายดีเหมือนกัน ในสมัยที่พื้นแผ่นดินแพงและค่าวัสดุก่อสร้างก็แพงอย่างทุกวันนี้

ส่วนเรือขนาดใหญ่ที่ใช้ใบและแล่นออกทะเลได้นั้นมีหลายชนิด ว่าเฉพาะที่เรารู้จักในเมืองของเราเท่านั้น

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องเรือต่อไป เห็นสมควรจะกล่าวถึงเรือสำเภาสักเล็กน้อย ทำไมเรือแบบจีนขนาดใหญ่นั้นจึงเรียกว่าเรือสำเภามีผู้ให้ความเห็นว่า คำว่า “สำเภา” นั้นมาจากคำว่า “ตะเภา” ซึ่งหมายถึงลมที่พัดมาจากทิศใต้ไปทางเหนือในกลางฤดูร้อน เรือค้าขายที่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีการค้าขายติดต่อกับประเทศไทยมากที่สุดในสมัยก่อน โดยมากเข้ามาในประเทศไทยปีละครั้งในฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูที่มีลมตะเภาพัดมา จึงได้เรียกเรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนว่า “เรือตะเภา” หรือ “สะเภา” แล้วภายหลังจึงกลายมาเป็น “สำเภา” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้เหมือนกัน

ที่นี้เรามาพูดกันถึงเรือขนาดใหญ่ต่อไป

เรือสำปั้นแปลง – เรือชนิดนี้ว่าแปลงมาจากเรือสำปั้น เราเคยใช้ในการลาดตระเวนตรวจอ่าวและใช้ในการปราบโจรสลัด ครั้งโบราณเรียกว่า “เรือไล่” พงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ ได้กล่าวถึงเรือสำปั้นแปลงไว้ว่า “เมื่อครั้งทำสวนขวาในรัชกาลที่ ๒ ได้สั่งเรือสำปั้นมาจากเมืองจีนรูปร่างเร่อร่า จึงคิดต่อเป็นสำปั้นแปลง แก้รูปให้เพรียวกว่าเรือจีน ให้พวกข้างในพายในสระ ต่อมาพระยาสุริวงศ์มนตรี จึงคิดต่อเรือสำปั้นยาว ๗-๘ วา ต่อมาต่อเป็นสำปั้นขนาดใหญ่ มีเก๋งสลักลวดลาย เรียกว่า “เรือเก๋งพั้ง” ยาวถึง ๑๔ ๑๕ วา ใช้เป็นเรือพระที่นั่งและเรือที่นั่งของเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่”

พลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ ได้เล่าไว้ในหนังสือ ประวัติการทหารเรือไทยว่า “เรือสำปั้นแปลงที่ต่อแบบใหม่ บางลำก็ท้ายตัด ก็เรียกว่า “สำปั้นท้ายตัด” ในรัชกาลที่ ๓ ได้ใช้เรือสำปั้นแปลงขนาดใหญ่เป็นเรือรบด้วย จึงได้เรียกเรือนี้ว่า “สำปั้นรบไล่สลัด” เรือแบบนี้มีเก๋งอยู่ตอนกลางลำเรือ ใช้ใบและแจวขับเคลื่อนเรือ”

เรือแบบญวน – ท่านที่เคยอ่านพงศาวดารจะพบขัอความตอนทียกทัพเรือบอกชื่อเรือว่า เรือแง่โอ หรือแง่ทราย คงจะสงสัยว่าเรืออะไรที่เรียกอย่างนี้ เรือที่เรียกว่าแง่หรือเง่นี้ เป็นเรือแบบญวน เพราะคำว่าเง่หรือแง่ในภาษาญวนแปลว่าเรือ ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ เช่น เรือแง่ไลรัง เป็นเรือแบบสามเสา เรือแง่ซาวอม เป็นเรือใบเสาเดียว รูปร่างอย่างไรบอกไม่ถูกเหมือนกัน ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีคำสั่งให้ องเซียงสือ ต่อเรือ กุไล ส่งเข้ามาถวายใช้ในราชการถึง ๗๐ ลำ เข้าใจว่าเรือชนิดนี้เป็นเรือญวนขนาดย่อม

เรือฉลอมและเรือเป็ด – เป็นเรือสำหรับชาวประมงหรือพ่อค้าใช้แล่นตามชายฝั่ง

เรือแบบแขก – คือเรือแบบของมลายูหัวท้ายเชิดทำเป็นรูปหัวหางของสัตว์ ทาสีให้เป็นลวดลายแปลกๆ

เรือกำปั่นแปลง – ได้กล่าวแล้วว่าเรือขนาดใหญ่อย่างจีนเรียกเรือสำเภา ถ้าเป็นอย่างฝรั่งเรียกกำปั่น ที่นี้ไทยเราเลียนแบบเรือกำปั่นต่อขึ้นเองให้ผิดไปจากเดิมบ้างเรียกว่าเรือกำปั่นแปลง เรือชนิดนี้ได้เคยต่อใช้สมัยอยุธยามาแล้ว ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้ริเริ่มต่อขึ้นใหม่สำหรับใช้เป็นเรือรบ มีลักษณะหัวเรือเป็นปากปลา ท้ายเรือเป็นกำปั่นขนาดยาว ๑๑ วา กว้าง ๙ ศอก ๑ คืบ มีทั้งแจวและใบขับเคลื่อนเรือ เรือชนิดนี้บางทีก็เรียกเรือรบอย่างนคร

เรือที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเรือใช้ธรรมดา แต่ว่าเมื่อถึงคราวที่จะต้องใช้ในการสงครามก็เกณฑ์เข้ามาใช้ได้ เรียกว่าเรือรบเหมือนกัน การรบทัพจับศึกของไทยทางเรือนั้น แทบจะกล่าวได้ว่าแต่เดิมเราไม่มีการรบทางเรือ ที่ว่ายกทัพเรือ ก็หมายความเพียงว่ายกทหารไปทางเรือแล้วยกพลขึ้นบกที่ใดที่หนึ่งแล้วเดินทัพไปรบทางบกนั่นเอง ไม่เหมือนกองทัพเรืออย่างทุกวันนี้

ประเทศไทยเราคงจะต่อเรือใช้มานาน โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คงจะมีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาต่อเรือกันมาก เพราะเรามีไม้ที่เหมาะจะต่อเรือมากมาย รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรามีเรือของหลวงหลายลำ เรามีเมืองท่าค้าขายที่เมือง มะริด มีเรือค้าขายของเรากับต่างประเทศใกล้เคียงด้วย รัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างต่อกำปั่นใหญ่ไตรมุข ขนาด ๑๘ วา ๒ ศอก ปากกว้าง ๖ วา ๒ ศอก ให้ตีเสมอใหญ่ที่วัดมเหยงค์ ๕ เดือน กำปั่นนั้นแล้ว ให้เอาออกไปยังเมืองมะริด บรรทุกช้างได้ ๓๐ ช้าง ให้ไปขายเมืองเทศโน้น คนทั้งหลายลงกำปั่นใช้ใบไปถึง เมืองเทศ แล้วขายช้างนั้นได้เงินและผ้าเป็นอันมาก แล้วกลับคืนมายังเมืองมะริดสิ้นปีเศษ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไทยเรารู้จักต่อเรือขนาดใหญ่สามารถบรรทุกช้างได้ถึง ๓๐ เชือกมานานแล้ว

และก็เพราะเรามีไม้สักไม้ซุงเหมาะที่จะต่อเรือนี่เอง จึงมีชาวต่างประเทศมาต่อเรือในเมืองไทยมากขึ้น ทางราชการเล็งเห็นว่าขืนปล่อยให้ตัดซุงต่อเรือได้ตามใจชอบ เมืองไทยก็เห็นจะไม่มีป่าเป็นแน่ จึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ซึ่งพระองค์ได้ทรงฟื้นฟูและชำระสะสางตัวบทกฎหมายขึ้นใหม่เพราะฟั่นเฝือมานาน ได้ทรงประกาศใช้พระราชกำหนด เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๘ ห้ามมิให้ต่อเรือโดยพลการ นอกจากจะได้รับอนุญาตเสียก่อน และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามประกาศ และการเรียกค่าธรรมเนียมสมัยก่อนนี้ดูจะเรียกกันหลายทอดเหลือเกิน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราน่าจะได้รู้ไว้บ้างจึงขอคัดพระราชกำหนดนั้นมาดังนี้

“ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าสั่งว่า แต่ก่อนครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในพระบรมโกษฐ์ ให้มีกฎหมายไว้ว่า ไม้ซุงสัก ไม้ขอนสัก ไม้ตะเคียน ไม้เคี่ยมไม้อินทนิล และไม้เบ็ดเสร็จทั้งปวง ต้องการสำหรับจะได้บูรณปฏิสังขรณ์สร้างวัดวาอาราม และใช้ราชการเบ็ดเสร็จแต่ละปีเป็นอันมาก และฝ่ายผู้มีชื่อ ลูกค้าผู้มีเงินมาก ย่อมคิดอ่านซื้อหาต่อสำเภาขึ้นเป็นอันมากไม้ซุกสักไม้ขอนสัก และไม้เบ็ดเสร็จ ซึ่งจะได้จ่ายราชการนั้นเปลืองไป หาเป็นประโยชน์แก่กรุงเทพมหานครไม่ ไปเป็นประโยชนแก่ลูกค้า ฝ่ายไม้ทั้งปวงซึ่งจะได้จ่ายราชการ ณ กรุงเทพมหานครขัดสน แต่นี้สืบไปเทื้อหน้า ห้ามอย่าให้ผู้ใดต่อสำเภาแต่อำเภอใจเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าแลผู้ใดจะต่อสำเภาจำเพาะ ให้กราบทูลพระกรุณาก่อนต่อ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อจึงต่อได้ ถ้าแลลูกค้าผู้ใดจะให้ข้าละอองฯ ผู้ใดกราบทูลพระกรุณาต่อสำเภา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งข้างในๆ มาสั่งเถ้าแก่ข้างในให้เรียกค่ารับสั่งสามต่อๆ ละ ตำลึงเป็นเงินสามตำลึง แล้วเถ้าแก่มาสั่งมหาดเล็ก มหาดเล็กเอากราบทูลพระกรุณาฉลอง เรียกเอาค่าทูลฉลองสามต่อๆ ละสามตำลึง เป็นเงินเก้าตำลึง แล้วผู้รับสั่งมาสั่งชาววังผู้อยู่เวรๆ เรียกเอาค่ารับสั่งสามต่อๆ ละตำลึง เป็นเงินสามตำลึง แล้วมหาดไทยหมายให้สัสดี สัสดีเรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละบาท เป็นเงินสามบาท แล้วสัสดีหมายบอกนักการสมุห์บาญชีกรมท่าๆ เรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละบาท เป็นเงินสามบาท แล้วจึงหมายบอกมาถึงเสมียนเวรกรมท่า เอาว่าแก่โกษาธิบดีๆ เอากราบทูลพระกรุณาฉลอง เรียกเอาค่าทูลฉลองสามต่อๆ ละสามตำลึง เป็นเงินเก้าตำลึง แล้วจึงสั่งเสมียนเวรให้หมายบอกโชดึก และเสมียนเวรเรียกเอาค่าหมายสามต่อๆ ละ สองบาทสองสลึง เป็นเงินตำลึงสามบาทสองสลึง โชดึกจึงจัดแจงเหยียบที่ให้ผู้มีชื่อต่อสำเภา เรียกเอาค่าธรรมเนียมหกบาท ถ้าสำเภาปากกว้างแต่สามวาขึ้นไป จนปากสามวาศอก ปากสามวาสองศอก ปากสามวาสามศอก ให้กรมท่าเรียกทองแท่งหมึกเป็นของถวายแท่งหนึ่ง หนักหกตำลึงหนึ่งบาทเนื้อหกน้ำ เศษสอง ถ้าหาทองคำมิได้ คิดเป็นเงินราคาสิบสองหนักทองคำหกตำลึงหนึ่งบาทเป็นเงินสามชั่งสิบห้าตำลึง ถ้าสำเภาปากกว้างแต่สี่วาขึ้นไปจนห้าวาศอก ห้าวาสองศอกถึงหกวาขึ้นไป ให้เรียกเอาทองคำแท่งหมึกสามแท่ง ถ้าไม่มีทองคำแท่งหมึกให้คิดเอาเงินตามราคาทองดุจกัน และคิดแต่ผู้จะต่อสำเภาลำหนึ่งต้องเสียเงินค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมายเบ็ดเสร็จศิริเป็นเงินหนึ่งชั่ง สิบสี่ตำลึงสามบาทสองสลึง ถ้าต่อสำเภาหัวเมืองต้องเสียค่าตราสามตำลึงหนึ่งบาท เข้ากันเป็นเงินหนึ่งชั่งสิบแปดตำลึงสองสลึงจึงต่อได้ ถ้าผู้ใดลักลอบต่อสำเภาแต่อำเภอใจตน มิได้ให้กราบพระกรุณาก่อนให้เอาตัวผู้ลักลอบต่อสำเภาเป็นโทษ ลงพระราชอาญาเฆี่ยนยกหนึ่งสามสิบที แล้วให้เรียกเอาค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมาย ทองแท่งหมึก ค่าธรรมเนียม ให้ครบแล้วให้พ้นโทษต่อสำเภาสืบไป และมีกฎหมายอย่างธรรมเนียมสืบมาฉะนี้

ครั้นอยู่มาครั้งแผ่นดินเก่า ให้เรียกธรรมเนียมต่อสำเภาสูงๆ ต่ำๆ ฟั่นเฟือนจะเอาเป็นกฎหมายอย่างธรรมเนียมมิได้ ซึ่งมีกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ์ตรัสสั่งไว้นั้น ก็เห็นเป็นขนบขนาดต้องโดยบูราณราชประเพณีดีอยู่แล้วให้เอาตามกฎหมายเก่า และบัดนี้ต้องสถาปนาสร้างพระนคร และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นใหม่เป็นอันมาก ต้องให้มากกว่าแต่ก่อน

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าผู้ใดจะต่อสำเภาปากกว้างแต่สิบเอ็ดศอกขึ้นไปเท่าใด ก็ให้เรียกเอาทองคำแท่งหมึก ค่ารับสั่งค่าทูลฉลอง ค่าหมาย ค่าธรรมเนียมเบ็ดเสร็จตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมในพระบรมโกษฐ์จงทุกประการ ถ้าลูกค้าผู้ใดจะต่อสำเภา ณ หัวเมืองใดให้มาบอกแก่ผู้รักษาเมืองกรมการ…….แลให้ผู้รักษาเมืองกรมการปรึกษาหารือกันเหยียบที่ให้ตามธรรมเนียมแล้วให้ต่อไปพลางก่อนเถิด แลให้ผู้รักษาเมืองกรมการเรียกเอาทองคำแท่งหมึก แลค่ารับสั่ง ค่าทูลฉลอง ค่าหมายเบ็ดเสร็จขนบธรรมเนียมให้ครบตามปากสำเภาดุจหนึ่ง ณ กรุงเทพมหานคร แล้วให้บอกขอต่อสำเภาส่งทองคำแลเงินค่าธรรมเนียมเข้าไปในกรุงเทพมหานครให้สิ้น แต่ค่าธรรมเนียมเหยียบที่ตำลึงสองบาทนั้น ให้ผู้รักษาเมืองกรมการรับพระราชทานตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ครั้นกราบทูลพระกรุณาแล้วมีตรา ตอบออกไปให้ต่อฝ่ายเสมียนเวรเจ้าตราได้รับพระราชทานเงินค่าตรา ค่าแต่ง ค่าเขียน ค่าธรรมเนียม สามตำลึงหนึ่งบาท”

ท่านจะเห็นว่ากว่าจะได้ต่อสำเภาหรือเรือกำปั่นแต่ละลำนั้นลำบากเพียงไร ต้องมีพิธีรีตองเสียเงินมากมาย เมื่อคนเรามิได้รับความสะดวกและเสียเงินทองมากก็ต้องมีการเลี่ยง การเสียเงินเป็นธรรมดา ทีนี้พวกที่มีเรืออยู่แล้วแต่เล็กและเก่าไปก็ถือโอกาสต่อเรือเติมให้กว้างกว่าเดิม เพราะกฎหมายมิได้ห้ามการต่อเรือให้กว้างไว้ คนที่เลี่ยงกฎหมายอย่างนี้คงจะมีมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายห้ามมิให้ต่อเรือโดยวิธีซ่อมแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาต คือให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับเรือที่ต่อใหม่ทั้งลำนั่นเอง

สมัยนี้ การต่อเรือไม่จำต้องลำบากถึงขนาดนี้ แต่ผู้ที่จะตั้งโรงงานหรืออู่ต่อเรือเห็นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งโรงงานหรือถ้ามีการแปรรูปไม้เพื่อจะต่อเรือด้วยก็เห็นจะต้องอนุญาตการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ด้วย

การต่อเรือของไทยคงจะวิวัฒนาการมาตามลำดับ จนกระทั่งเรามีอู่ต่อเรือหรือกรมอู่ทหารเรือของเราคือต่อเรือรบแต่ไม่ใช่ด้วยไม้เสียแล้ว เวลานี้เรือของเราต่อด้วยเหล็กหรือวัสดุอย่างอื่น อย่างที่ท่านได้เห็นอยู่แล้ว

ต้องขออภัยในความตอนก่อนว่าการรบทางเรือของไทยเราแต่โบราณคงจะไม่มี นอกจากขนทหารไปขึ้นบกแล้วรบกันบนบกเท่านั้น ความจริงไทยเราก็มีการรบกันทางเรือมามากเหมือนกันโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยอยุธยาที่เดียว เช่นคราวหนึ่งเมื่อเจ้าท่าเมืองมะริดของเราเกิดทะเลาะกับเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกแห่งอังกฤษในสมัยที่แซมวลไวท์ (Samuel White) เป็นเจ้าท่า ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเรือไทยยิงเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกจนเกิดความยุ่งยากทางการค้าและการเมืองไปครั้งหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีการรบทางเรือมาแต่ครั้งนั้น นอกจากนี้จากประวัติการทหารเรือของเรา ทราบได้ว่าไทยเรามีปืนใหญ่ประจำเรือรบตั้งแต่สมัยที่เราใช้เรือใบเป็นเรือรบอยู่แล้ว แต่เรือรบของเรานั้นได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามสมัยนิยม

ในสมัยอยุธยาเรือรบของเราจะมีรูบแบบเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถจะบอกได้เสียแล้ว อาจจะเป็นสำเภาแบบจีนหรือกำปั่นแบบฝรั่งก็ได้ หรืออาจจะเป็นแบบไทยๆ ก็ได้เหมือนกัน

อันสำเภาหรือกำปั่นแบบฝรั่งนั้น ท่านผู้รู้อธิบายไว้ว่ามีอยู่สามชนิด คือบริก บาร์ก และสกูเนอร์ ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ดังนี้

๑. เรือชนิดบริก (Brig) เป็นเรือ ๒ เสา ทั้งสองเสาใช้ใบตามขวางและมีใบใหญ่ ที่กาฟฟ์ (Gaef Mainsail)
๒. เรือชนิดบาร์ก (Brague) เป็นเรือ ๓ เสา เสาหน้าและเสาใหญ่ใช้ใบตามขวาง เสาหลังใช้ใบตามยาว
๓. เรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) เป็นเรือ ๒ เสา แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ แบบเรือบรรทุกสินค้า และแบบเรือยอชท์สำหรับเที่ยวหาความสำราญ เรือสกูเนอร์แบบบรรทุกสินค้าที่เสาหน้าตอนบนใช้ใบตามขวาง ตอนล่างใช้ใบตามยาว ส่วนเสาหลังนั้นก็ใช้ใบตามยาว เรือสกูเนอร์แบบเรือยอชท์ทั้งเสาหน้าและทั้งเสาท้ายใช้ใบตามยาว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เครื่องถมไทย

การถมก็คือการสลักลวดลายลงบนภาชนะที่ต้องการจะถม แล้วเอาตัวยาที่จะถมซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและทองแดง ถมลงล่องของลวดลายนั้น แล้วขัดให้ผิวเรียบ ตัวยาที่ถมเป็นสีดำถ้าเอาเงินมาทำเป็นภาชนะ สีเงินกับสีเครื่องถมดำก็จะตัดกันเป็นลวดลายสวยงาม ถมที่มีชื่อได้แก่ถมที่ทำจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเรียกกันว่าถมนคร

อย่างไรก็ตาม เครื่องถมไทยนั้น อย่างน้อยก็มีใช้มาแล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพานนั้น ก็ใช้มาแล้วในสมัยนั้นเช่นกัน พานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นั้น เป็นพานแว่นผ้า พานแว่นฟ้าคือพานที่ประดับกระจก และโดยมากซ้อนกันสองลูก จดหมายเหตุราชทูตไทยไปเฝ้าโปป ณ กรุงโรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชสาส์น ราชสาส์น….ม้วนบรรจุไว้ในผอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่…ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทอง หีบถมตะทองตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ อุปทูตเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการ…ตรีทูตเชิญของถวายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์….มีถุงเข้มขาบพื้นเขียวหุ้ม ๑ ถุง ตั้งบนพานถมตะทองสำหรับถวายโปป….”

ตามจดหมายเหตุฉบับนี้แสดงว่าพานนั้นเราใช้เป็นของสูงมานานแล้ว และทำให้เรารู้ว่านอกจากพานถมเงินแล้ว ยังมีถมทอง ถมตะทอง ลงยาราชาวดีอีกด้วย เรื่องเหล่านี้เห็นจะต้องพูดเสียในคราวนี้ด้วย

ถมเงินนั้นได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น ส่วนถมทอง ก็เนื่องมาจากถมเงินนั้นเอง คือเมื่อถมเงินแล้ว เนื้อเงินยังขาวอยู่ ช่างก็เอาทองมาทาลงบนเนื้อเงินนั้นอีกทีหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรทองจึงจะติดอยู่กับเนื้อเงินนั้น ไม่ใช่วิสัยที่จะพูดในที่นี้ ยกให้เป็นเครื่องของช่างเขาโดยเฉพาะ

ยังมีคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า “ถมตะทอง” คำนี้ว่าเป็นคำพูดของพวกช่าง ความจริงคือถมแต้มทอง ถมตะทองนั้นก็ถมเงินนั่นเอง แต่มีทองแต้มระบายไว้เป็นแห่งๆ เช่น ถ้าถมนั้นมีลายเป็นเถาไม้ ก็อาจจะระบายเฉพาะดอกไม้ให้เป็นสีทองเป็นแห่งๆ ได้ระยะกัน

อีกคำหนึ่งคือ “ลงยาราชาวดี” คำนี้หมายความว่า ลงน้ำยาทองให้เป็นสีฟ้านั่นเอง “ราชาวดี” ว่าเป็นคำมาจากเปอร์เชีย และการลงยาราชาวดีว่าได้มาจากเปอร์เชียก่อน

เมื่อพูดถึงพานแล้ว ถ้าไม่พูดถึงพานสำหรับรองรับรัฐธรรมนูญแล้วก็เห็นจะไม่สมบูรณ์ท่านที่เคยเห็นภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเห็นว่าบนนั้นมีพานแว่นฟ้าสองชั้นมีภาพสมุดข่อยวางอยู่บนพานนั้น แสดงว่าเป็นสมุดที่จารึกรัฐธรรมนูญ ซึ่งของจริงก็วางไว้บนพานแว่นฟ้าเช่นเดียวกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เครื่องราชูปโภค ๔ อย่าง

พานคืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความหรือความหมายไว้ว่า พาน ภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับใส่หรือรองสิ่งของ มีดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้น ซึ่งคนที่ไม่เคยเห็นพานก็นึกไม่ออกเลยว่าพานนั้นมีรูปร่างอย่างไร ทั้งนี้เราจะโทษพจนานุกรมก็ไม่ถูก เพราะพจนานุกรมมีจุดมุ่งหมายเพียงให้คำแปลของคำเท่านั้น ถ้าจะให้ละเอียดต้องทำเป็นสารานุกรม  ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกำลังทำอยู่เวลานี้ ดังนั้น เพื่อจะให้รู้ว่าเครื่องราชูปโภคพานมีรูปร่างอย่างไร ก็เห็นจะต้องพูดตามที่ได้เห็นมาดีกว่าอย่างอื่น

พานก็คือภาชนะที่มีรูปแบนๆ ยกขอบตรงขอบ บางทีก็ทำเป็นจักรๆ บางทีก็ทำเรียบๆ และมีเชิงรองอีกทีหนึ่ง พานนั้นว่าด้วยวัสดุที่ทำก็มีหลายอย่าง เช่นทำด้วยทองเหลือง ทำด้วยไม้ ทำด้วยเครื่องเขิน ทำด้วยเงินหรือด้วยทอง สมัยปัจจุบันนี้ พานทำด้วยแก้วก็มี อย่างไรก็ตาม พานนั้นถึงจะมีรูปเหมือนจานเชิง แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่าจานเชิง พานนั้นมีขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กสำหรับใส่หมากพลู บุหรี่ หรือดอกไม้จนถึงขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๒ ฟุตก็มี สำหรับใส่สำรับกับข้าว ใช้แทนโต๊ะหรือโตกพานขนาดใหญ่นี้มีใช้กันมากในวัดสมัยก่อน แต่สมัยนี้ดูเหมือนพานจะหายไปเสียมาก

พานนั้น คงจะเป็นของสำหรับคนชั้นสูงหรือคนที่มั่งคั่งใช้สอยมาแต่ก่อน อย่างเช่นในบรรดาเครื่องราชูปโภคคือเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ ๔ ประการ ก็มีพานอยู่ด้วยเครื่องราชูปโภค ๔ อย่างนั้นคือ
๑. พานพระขันหมาก
๒. พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ (คือหม้อใส่น้ำเย็น)
๓. พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก)
๔. พระสุพรรณราช (กระโถนใหญ่)

ยิ่งกว่านั้น ขุนนางสมัยก่อน เมื่อได้รับพระราชทานยศ ก็มีเครื่องยศพระราชทานมาให้ด้วย พานนับเป็นเครื่องยศอย่างหนึ่ง อย่างพระยาก็ได้รับเครื่องยศเป็นพานด้วย ถ้าเป็นพระยาชั้นที่ได้รับพระราชทานพานทอง ก็เรียกว่ามีเกียรติยศสูงกว่าพระยาที่ได้พานธรรมดาจึงเรียกกันว่าพระยาพานทอง

ท่านที่เคยได้อ่านนิราศพระประธม-พระโทณของท่านสุนทรภู่ คงจะได้ทราบประวัติของผู้สร้างพระปฐมว่าคือพญาพาน พญาพานนั้น เมื่อแรกประสูติ เขาเอาพานมารองรับ พระพักตร์ไปถูกพานจนมีแผลเป็น จึงเรียกว่าพญาพาน ท่านสุนทรภู่แต่งประวัติไว้ว่า

“เห็นรูปหินศิลาสง่างาม         เป็นรูปสามกษัตริย์ขัติยวงศ์
ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้         หวังจะให้ทราบความตามประสงค์
ว่ารูปทำจำลองฉลององค์        พญากงพญาพานกับมารดา
ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราช    เรียงพระญาติพญากงสืบวงศา
เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา    กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน
พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง    ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ
พญากงส่งไปให้นายพราน        ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย
ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง        แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย
ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย    ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง
ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว    แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง
รู้ผูกหญ้าพยนต์มนต์จังงัง        มีกำลังลือฤทธิพิสดาร
พญากงลงมาจับก็รับรบ        ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร
ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพญาพาน        จึงได้ผ่านพบผดุงกรุงสุพรรณ
เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล        จึงเล่าแต่ตามจริงทุกสิ่งสรรพ์
เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ        ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน
ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด    ด้วยปกปิดปฏิเสธด้วยเหตุผล
เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์    จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์พระโทณ”

นี่เป็นเรื่องของพานในนิทานโบราณคดี

พานนั้น ถ้าเป็นเครื่องยศหรือเครื่องราชูปโภค ก็ทำด้วยเงินหรือทองและมีลวดลายสวยงาม บางทีก็ลงยา บางทีก็ถมน้ำยาเรียกว่าพานถม อย่างที่กรุงเทพมหานครมีหมู่บ้านช่างทำพานถมอยู่แห่งหนึ่งเชิงสะพานเฉลิมวันชาติ หลังวัดปรินายก เรียกว่าบ้านพานถม แต่เดี๋ยวนี้จะเหลือช่างอยู่หรือไม่ ก็ไม่ทราบ ว่ากันว่าช่างพวกนี้เดิมเป็นชาวนครศรีธรรมราชอพยพเข้ามาตั้งที่ทำมาหากินในกรุงเทพฯ นานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ฝาเรือน

เมื่อพูดถึงฝา เรามักจะนึกถึงเครื่องปิดภาชนะต่างๆ อย่างหนึ่ง กับเครื่องกำลังหรือเครื่องกั้นของเรือนอย่างหนึ่ง

ฝาซึ่งเป็นเครื่องปิดภาชนะต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อป้องกันของที่ใส่ไว้ในภาชนะมิให้หล่นหรือออกจากภาชนะนั้นๆ หรือเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเช่น ฝุ่นละอองมิให้ตกลงไปในภาชนะนั้น ฝาต้องทำครอบลงบนภาชนะฝาเรือนนั่นเอง เช่นฝาของหม้อดิน เป็นต้น แต่ฝาของหม้อดินเราไม่เรียกว่าฝาเฉยๆ เราเรียกว่า ฝาละมี และคำนี้เอง พวกสตรีชอบไปเรียกสามีของตนว่าฝาละมีเหมือนกัน แต่เป็นการเรียกกันเล่นระหว่างเพื่อนฝูงเท่านั้น ฝานอกจากจะทำให้พอดีกับตัวภาชนะแล้ว ยังจะต้องทำที่จับ เพื่อสะดวกแก่การที่จะปิดหรือเปิดด้วย เช่น ฝาละมีเขาก็ทำที่จับเป็นปุ่มอยู่ตรงกลาง หรือเป็นฝาหม้ออย่างอื่นก็ทำที่จับเป็นคานอยู่ตรงกลาง แต่ก็มีภาชนะบางชนิดเหมือนกันที่ฝาไม่มีที่จับเช่นหม้อแขกเป็นต้น เวลาจะเปิดก็ต้องลำบากนิดหน่อย

นอกจากนี้ ฝาบางชนิดไม่ได้ใช้ปิดภาชนะใบหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ปิดภาชนะหลายๆ ใบรวมกัน เขาเรียกว่าฝาชี ทำไมจึงเรียกฝาชนิดนี้ว่าฝาชีก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ฝานั้น ต้องพอเหมาะพอดีกับตัวภาชนะ ไม่ใช่เล็กเกินไป ซึ่งปิดลงไป ก็ตกลงไปอยู่ในภาชนะ ถ้าใหญ่เกินไป ก็เกินงาม เรียกว่าผิดฝาผิดตัวใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร สำนวนผิวฝาผิดตัวนี้ ยังนำมาใช้สำหรับคู่ผัวตัวเมียที่อยู่กันไม่เป็นปกติสุข ถ้าหากว่าคู่ผัวตัวเมียนั้นจะได้กับคนอื่นซึ่งเข้ากันได้ดี ก็มีความสุขหรอก คู่ผัวตัวเมียอย่างนี้เขาเรียกว่าผิดฝาผิดตัว แต่ผิดแล้วจะเปลี่ยนตัวก็ลำบากเหมือนกัน ถ้าเป็นภาชนะก็เห็นจะต้องใช้จนแตกหรือบุบกันไปนั่นแหละ

ฝาอีกชนิดหนึ่ง ก็คือฝาซึ่งเป็นเครื่องกั้นบ้านเรือน ฝาเรือนก็คงจะวิวัฒนาการมาเช่นเดียวกับตัวเรือนนั่นเอง แต่ฝากับเรือนนี้ ถ้าจะค้นคว้าไปว่าอย่างไหนจะเกิดก่อนหลังก็เห็นจะต้องตอบว่าฝาเกิดก่อนเรือน ที่ตอบดังนี้ ก็ด้วยสันนิษฐานเอาว่า เดิมทีนั้นคนเราอาศัยอยู่ตามถ้ำหรือโพรงไม้ ซึ่งเท่ากับเป็นตัวเรือน แต่บางทีตัวเรือนก็กันลมและฝนไม่ได้ มนุษย์เราคงจะตัดใบไม้มากั้นเป็นฝากำบังลมและฝนก่อน ภายหลังเมื่อรู้จักสร้างบ้านเรือนแล้วครั้งแรกก็คงจะใช้ฝาทำด้วยใบไม้ก่อน ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยังพบเห็นเรือนที่ทำฝาด้วยใบไม้เช่นใบตองตึง ใบพลวง หรือใบตาล ใบจาก ตามชนบทอยู่ทั่วไป ต่อมาเมื่อมีเครื่องมือ เช่นเลื่อย สามารถที่จะเลื่อยไม้ออกเป็นแผ่นๆ แล้ว เราจึงรู้จักทำฝาเรือนด้วยไม้กระดาน เรียกว่า พื้นกระดานฝากระดาน สมัยเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ใครมีเรือนพื้นฝากระดานหลังคามุงกระเบื้องได้ก็เรียกว่าอยู่ในขั้นเศรษฐีของท้องถิ่นทีเดียว ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ฝากระดานดูจะเป็นของที่หายากเข้าทุกทีและเป็นการไม่สะดวกและเปลืองค่าแรงงาน เมื่อจะทำเรือนฝากระดาน เวลานี้ส่วนใหญ่จึงใช้วัสดุอย่างอื่นทำฝาเรือน นอกจากนี้เรายังใช้อิฐหรือปูนทำฝาเรือนฝาตึก เพราะมั่นคงแข็งแรงและทนทานต่อการที่จะถูกไฟเผาผลาญมากกว่าฝาไม้ ผาไม้จึงนับวันแต่จะหายากขึ้นทุกที

พูดถึงฝาเรือนแล้ว อดที่จะตั้งข้อสังเกตไว้ไม่ได้เท่าที่สังเกต เรือนไหนถ้าเจ้าของขึ้นอยู่ก่อนโดยที่กั้นฝาเรือนยังไม่เสร็จ เรือนหลังนั้น จะไม่มีฝาเรือนที่สมบูรณ์ไปอีกหลายปีทีเดียว บางคนสร้างบ้านเรือนไว้ โดยไม่มีปัญญาที่จะกั้นฝา ต้องรอให้ผู้ชายมาสู่ขอลูกสาวเสียก่อน แล้วเรียกร้องฝาเรือนจากผู้ที่จะมาเป็นเขยก็มี เรื่องของฝาเรือนแสดงถึงฐานะของเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี มีบทกล่อมเด็กของชาวปักษ์ใต้อยู่บทหนึ่งกล่าวไว้เป็นทำนองว่า “ลูกสาวชาวเรือนตีน (คือเรือนที่อยู่ทางทิศเหนือ) เทียมได้ผัวจีนนอนสาดเจ็ดชั้น (คือตั้งแต่ได้สามีเป็นจีนนอนเสื่อเจ็ดชั้น) พอได้ผัวไทย นอนเรือนฝาไม้กั้น” นั่นเป็นเรื่องของท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า คนจีนกับคนไทยร่ำรวนผิดกว่ากัน แสดงออกด้วยฝาเรือน

ฝาเรือนที่ทำด้วยอิฐหรือปูนนั้น เราไม่เรียกฝาเฉยๆ แต่เราเรียกฝาผนัง คนไทยเรารู้จักสร้างอาคารด้วยอิฐปูนมานานแล้ว อย่างน้อยก็นับเป็นพันๆ ปี แต่เราไม่นิยมสร้างอาคารเช่นว่านั้นสำหรับเป็นที่อยู่ของคนธรรมดา เราสร้างเป็นโบสถ์วิหาร หรือปราสารทราชวังสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อมีฝาผนังเช่นโบสถ์วิหาร การจะปล่อยผนังไว้ว่างๆ ก็ดูจะเปล่าประโยชน์ ครั้งแรกคงจะมีคนคิดเขียนภาพประดับฝาผนังเพื่อความสวยงามขึ้นก่อน ต่อมาจึงมีผู้คิดเขียนภาพผนังเป็นเรื่องราวทางศาสนาเพื่อการสั่งสอนประชาชนขึ้น เช่นภาพพุทธประวัติและชาดกต่างๆ เช่นเรื่องทศชาติ และเรื่องนรกสวรรค์ เพื่อชักชวนให้คนได้งดพุทธประวัติและชาดกต่างๆ เช่นเรื่องทศชาติ และเรื่องนรกสวรรค์ เพื่อชักชวนให้คนได้งดบาปและก่อสร้างบุญกุศล เพราะภาพที่เขียนนั้น ถึงคนที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายได้ โดยมีคนบอกเพียงครั้งเดียวก็จำได้แล้ว นับว่าภาพผนังเป็นวิธีการสอนที่ดีอย่างหนึ่ง เรียกว่าสอนและเรียนด้วยการดู

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

สิบแปดมงกุฎคืออะไร

สิบแปดมงกุฎนี้ คือเสนาวานร ๑๘ คน เป็นทหารเอกคู่บารมีของพระราม ตามตำนานว่า เป็นเทวดาอวตารคือแบ่งภาคลงมาเกิด มีรายนามดังนี้สิบแปดมงกุฎ

๑. เกยูร (วิรุฬหก) ๒. โกมุท (หิมพาน) ๓. ไชยาพวาน (อิศาน)
๔. มาลุนทเกสร (พฤหัสบดี) ๕. วิมล (เสาร์) ๖. ไวยบุตร์ (พิรุณ) ๗. สัตพลี (พระจันทร์) ๘. สุรกานต์ (มหาชัย) ๙. สุรเสน (พุธ) ๑๐. นิลขัน (พิฆเนศ) ๑๑. นิลปานัน (ราหู) ๑๒. นิลปาสัน (ศุกร์) ๑๓. นิลราช (สมุทร) ๑๔. นิลเอก (พินาย) ๑๕. วิสันตราวี (อังคาร) ๑๖. กุมิตัน (เกตุ) ๑๗. เกสรทมาลา (ไพศรมณ์) ๑๘. มายูร (วิรูปักษ์)

เรื่องชื่อของสิบแปดมงกุฎนี้มีคำกลอนในหนังสือรามเกียรติ์ว่า

“เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่
ต่างทูลอาสาพระภูวไน    จะขอไปเป็นพลพระอวตาร
มล้างเหล่าอสูรพาลา        ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน
พระราหูฤทธิ์ไกรชัยชาญ    เป็นทหารชื่อนิลปากัน
พระพินายนั้นเป็นนิลเอก    พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน
พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน        พระอังคารเป็นสันตราวี
พระหิมมานจะเป็นโกมุท    พระสมุทรนิลราชกระบี่ศรี
พระเพลิงเป็นนิลนนท์มนตรี    พระเสาร์เป็นนิลพานร
พระศุกร์เป็นนิลปาสัน        พระพฤหัสบดีนั้นมาลุนทเกสร
พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน    พระจันทรเป็นสัตพลี
วิรุฬหกวิรุฬปักษ์สองตระกูล    เป็นเกยูรมายูรกระบี่ศรี
เทวันวานรนอกนี้            บัญชีเจ็ดสิบสมุดตรา”

สมัยก่อนเมื่อเอ่ยคำว่าพวกสิบแปดมงกุฎ หมายถึงพวกที่หลอกลวงคน เช่นพวกต้มหมูเป็นต้น ซึ่งพวกนี้มีเล่ห์เหลี่ยมมากมายในการที่จะใช้กลมาหลอกลวงให้คนตายใจ ทำไมจึงเรียกคนพวกนี้ว่าสิบแปดมงกุฎ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ทุกวันนี้ มงกุฎยังมีความสำคัญอยู่คือมงกุฎนางสาวไทยหรือนางงามไม่ว่างามในประเทศหรือระหว่างประเทศหรือนางงามโลกหรืองามจักรวาล เพราะมงกุฎนั้นประดับเพชร จึงเป็นที่ปรารถนาของสตรีที่อยู่ในวัยรุ่นทั้งหลาย ที่นึกว่าตนเองมีความงามพอที่จะเป็นเครื่องมือไขว่คว้ามงกุฎอันนั้นมาได้ แต่มงกุฎนั้นมีน้อย คนต้องการมีมาก บางคนเท่านั้นที่ได้ มงกุฎมาครอง ส่วนอีกหลายคนมักจะได้มงกุฎหนามมาครองให้ยอกอกตนเองไปชั่วชีวิตก็มีไม่น้อย

เรื่องของชฎาหรือเครื่องสวมหัวนั้น เป็นเครื่องเตือนใจเราอย่างหนึ่งว่า อันว่าเครื่องสวมหัวนั้น ไม่จิรังยั่งยืน ถอดออกเมื่อไรก็เหลือแต่หัวของเราเมื่อนั้น เหมือนกับเราสวมหัวโขนนั่นแหละ เป็นตัวของเราเองดีกว่าสวมหัวอะไรหมด

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เครื่องปั้นดินเผาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อรู้ว่าเครื่องปั้นดินเผาของเราแต่โบราณทำขึ้น ณ ที่ใดและมีลักษณะอย่างไรแล้ว ทีนี้เรามาดูเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่าสมัยขอมหรือสมัยลพบุรีที่ขุดพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูบ้างเครื่องปั้นดินเผา1

เครื่องปั้นดินเผาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือตั้งแต่นครราชสีมาขึ้นไป ว่าถึงรูปร่างมีตั้งแต่ไห โอ่ง ชาม กระปุก ขวด แจกัน โถ ตลับ และที่ทำเป็นรูปสัตว์ก็มี เช่น กระปุกเป็นรูปนก ไหเป็นรูปช้างเป็นต้น

ว่าถึงวัตถุที่ทำ มีทั้งที่ปั้นด้วยหินผสมดิน ดินสีแดง ดินขาว ส่วนผิวนั้น มีทั้งที่ไม่เคลือบและที่เคลือบ น้ำยาที่เคลือบนั้น มีทั้งชนิดที่กระเทาะง่ายและที่เคลือบแน่นอย่างเคลือบศิลาดอนหรือเคลือบแบบสังคโลก แต่นํ้ายานั้นไม่ดีเท่าของสังคโลกเท่านั้นเอง พูดถึงรูปแบบแล้วของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่แพ้ที่พบแถวสุโขทัย หรือศรีสัชนาลัย พูดถึง ความคงทน ของที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงทนมากทีเดียว เพราะผสมดินและหินอย่างดีและเผาด้วยไฟแรงสูงมาก ทำให้ภาชนะบางชิ้นแข็งแกร่ง ไม่เปราะ

สีเคลือบที่พบ มีทั้งสีดำ สีน้ำตาลอมเหลือง สีเขียวอ่อน สีขาว ลวดลายเท่าที่พบถ้าเป็นภาชนะขนาดใหญ่ เช่น โอ่งหรือไห มักจะเป็นลายหวีลากเส้นโยงถึงกัน ถ้าเป็นของขนาดเล็ก เช่น กระปุกหรือขวด จะมีลายขีดๆ ลงมา เคยเห็นมีลายนูนเพียงชิ้นเดียว แต่เป็นของไม่ได้เคลือบ นอกนั้นเป็นลายที่ขูดลงไปในตัว

เคยพบไหชนิดสี่หู ปากผาย ทรงป้อม ที่เรียกว่าไหเชลียงหรือไหขอม มีอยู่ทั่วไป ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เคลือบสีดำ จะเป็นของที่ทำขึ้นในภาคนี้ หรือเอามาจากเชลียงก็ไม่ทราบแน่ เพราะยังไม่เคยพบที่ทำ

สำหรับแหล่งที่ทำเครื่องปั้นดินเผาของขอมหรือของลพบุรีนี้ ศาสตราจารย์ ของ บวสเซอลีเย่ชาวฝรั่งเศส ซึ่งค้นคว้าเรื่องนี้ก็ยังไม่ทราบว่ามีแหล่งทำอยู่ที่ใด

ในเรื่องแหล่งที่ทำนี้จะว่าเป็นการบังเอิญก็ได้ ที่ผมได้มีโอกาสไปพบเข้าในเขตอำเภอบางกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ณ ที่นั้นเป็นลำนํ้าเก่าไหลจากตะวันออกไปตะวันตกสองฟากลำน้ำนี้มีเตาเผาอยู่มากมาย ได้ตรวจดูชิ้นส่วนที่เตาเผาแห่งหนึ่ง มีทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ได้เคลือบ และเคลือบอย่างหยาบ และเคลือบอย่างดีตกทับถมกันอยู่มากมาย ที่ว่าเคลือบอย่าง หยาบก็คือเคลือบสีน้ำตาลหรือสีดำ แต่ที่เคลือบสีขาว สีเขียว ซึ่งเป็นเคลือบใกล้เคียงกับของสุโขทัยก็มีผสมกันอยู่ในเตาเดียวกันนั้น บางชิ้น ตัวภาชนะเคลือบสีนํ้าตาล แต่ตรงคอ และปากเคลือบแบบสังคโลก ซึ่งทำให้เห็นว่า เตาแห่งนี้คงจะทำมานาน และเพิ่งค้นพบน้ำยาเคลือบชนิดใหม่จึงลองทำดู ก็อาจจะเป็นได้ และช่างที่ทำที่นี่อาจจะเป็นช่างจีนหรือช่างญวน หรือช่างชาติไหนไม่ทราบแน่ เพราะมีชามซึ่งท่านผู้รู้บอกว่าเป็นรูปแบบของญวน และมีชิ้นส่วนของชามอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นเคลือบสีน้ำตาลอ่อน มีลายอักษรจีนอยู่ที่ก้นด้วย แต่อักษรจีนนี้อาจจะเป็นอักษรที่ญวนใช้ก็ได้เหมือนกัน ให้ผู้รู้ภาษาจีนอ่านก็ยังอ่านไม่ออก

วัตถุที่นำมาปั้น มีทั้งหิน และดินสีแดง ดินเหนียวธรรมดา และดินขาวที่เรียกว่า ดินเกาลินอยู่ด้วย

เมื่อพบเตาเผาในเขตประเทศไทยติดกับประเทศกัมพูชาอย่างนี้ จึงทำให้แน่ใจได้ว่า เครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชาคงจะทำขึ้นที่ประเทศไทยนี้เอง แล้วส่งลงไปใช้หรือส่งเป็นสินค้าออกทางประเทศกัมพูชา

และเป็นเรื่องที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือในเรื่องรูปแบบ ที่คล้ายคลึงกันกับของสุโขทัย อาจจะเป็นเพราะช่างสุโขทัย หรือช่างที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ไปมาหาสู่หรือศึกษาจากกันและกันก็เป็นได้ ซึ่งน่าจะได้ศึกษากันต่อไป

พูดถึงเรื่องเครื่องปั้นดินเผามานานแล้วจนเกือบลืมเรื่องจานที่กล่าวไว้ข้างต้น จานที่เป็นเครื่องปั้นดินเผานั้นค้นพบตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และที่อำเภอบ้านกรวดก็เคยพบภาชนะแบนๆ คล้ายจานชิ้นหนึ่ง แต่ชามนั้นมีมากมาย ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกเหมือนกัน ที่เราไม่พบจานแบนๆ อย่างทุกวันนี้ จานแบนๆ นั้นเข้าใจว่าญี่ปุ่น และฝรั่งบางชาติคิดทำขึ้นภายหลัง

ส่วนจานเชิงนั้น พบทั้งที่สุโขทัยหรือทางเหนือขึ้นไป และพบแถวภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกัน แต่เป็นของฝีมือหยาบส่วนมากมักไม่เคลือบ ส่วนที่สุโขทัยนั้นมีเคลือบเข้าใจว่าจานเชิงนี้คงจะเป็นตัวอย่างให้เราทำพานใช้ขึ้นในภายหลังก็เป็นได้

เท่าที่พูดเรื่องจานแล้วกวนไปถึงเรื่องเครื่องปั้นดินเผานี้ ก็เรียกว่าบังอาจเหลือเกิน เพราะผู้เขียนเองก็หามีความรู้ที่สมควรจะเขียนไม่ แต่ที่นำมาเขียนให้ท่านอ่านนี้ก็อาศัยความรู้ของท่านผู้รู้ที่ค้นคว้าไว้เท่านั้น หากผิดพลาดอย่างไรก็ขออภัยไว้ในที่นี้ด้วย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ความแตกต่างระหว่างเครื่องถ้วยไทยและเครื่องถ้วยจีน

คราวนี้จะได้พูดเปรียบเทียบถึงรูปร่างลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาของไทยและเครื่องเคลือบดินเผาที่ขุดพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ศิลปขอม หรือสมัยลพบุรี แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ จะยกข้อแตกต่างระหว่างเครื่องปั้นดินเผาของจีนและของไทยว่าแตกต่างกันอย่างไรมากล่าวเสียก่อน เพื่อสะดวกแก่การที่จะเปรียบเทียบระหว่างเครื่องเคลือบสุโขทัยเราและของสมัยลพบุรีต่อไปเครื่องถ้วยไทย

พระยานครพระราม ผู้ที่สะสมเครื่องถ้วยคนหนึ่ง ได้เล่าเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเครื่องถ้วยไทย และเครื่องถ้วยจีนไว้ว่า

๑. วิธีปั้นภาชนะปากเล็กหรือค่อนข้างเล็กของจีนโดยมากทำต่อกันที่ส่วนกลางกำล่ง แต่ของไทยไม่ทำต่อแม้ปากเล็กเท่าเล็ก

๒. ภาชนะของจีนในยุคถังหรือซ้องมักจะทำโดยวิธีพิมพ์รูปสำเร็จแทนการปั้นของไทยไม่ปรากฏว่าทำด้วยพิมพ์สำเร็จเลย

๓. ลวดลายที่ขุดขีดในภาชนะของจีนแทบทั่วไปใช้ปาดหรือฝานมีส่วนเส้นกว้างมีรอยข้างหนึ่งลึกข้างหนึ่งตื้นไม่เท่ากัน ของไทยมีเส้นลึกเป็นสามเหลี่ยมหรือโค้งกลมมีส่วนเส้นเสมอกัน

๔. นํ้ายาชนิดเล่งจั้วหรือสีลาดอนของจีนแข็งแต่ขุ่นทึบ ของไทยอ่อนกว่าแต่หนาใส เว้นแต่ของจีนสมัยเหม็งต่อมาทำอย่างใสคล้ายของไทย

๕. รอยแตกหรือแคร๊กของจีนมีเพราะทำขึ้น ของไทยเป็นด้วยน้ำยาเคลือบแตกปริขึ้นเอง ของใหม่จึงไม่ใคร่เป็นรอย ของใช้แล้วมีรอยชัด

๖. หูของจีนนอกจากของเลวใช้ทำเป็นวงแหวนติด ของไทยทำเกาะอย่างตัวปลิง เว้นแต่เตาเวียงกาหลงทำหูภาชนะเล็กคล้ายของจีน ของนิดใหญ่ไม่มีหูทำเป็นปุ่มอย่างเดือยไก่ เครื่องถ้วยจีน

๗. การเขียนลายของจีนแม้แต่สมัยเหม็งตอนต้นก็มีเขียนเส้นเป็นร่างลงแล้วจึงระบายสีทับ ฉะนั้นตำราเครื่องถ้วยซึ่งมีผู้เขียนไว้จึงกล่าวว่า ลอกแบนจากภาพมาเขียน แต่ของไทยเขียนลายลงไปโดยไม่มีเส้นร่างอย่างเดียวกับของจีนสมัยหลังๆ

๘. ของจีนส่วนมากมีเครื่องหมายเตาและศักราช ซึ่งจะหาไม่ได้เลยในของไทย

๙. ของจีนต้องมีลายฮกลกซิ่วพร้อมหรือแต่ละอย่าง

นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่างของไทยและของจีนเท่าที่พระยานครพระรามค้นคว้าเทียบเคียงไว้เป็นข้อใหญ่ๆ

เมื่อพูดถึงลาย ฮกลกซิ่วแล้ว ก็จะขอพูดถึงลายชนิดนี้ ซึ่งปรากฏอยู่ที่เครื่องด้วยหรือเครื่องปั้นดินเผาของจีนเพื่อท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านจะได้มีความเข้าใจเสียด้วย

ลายฮก ลก ซิ่ว นั้น เขียนลายเป็นตัวหนังสือก็มี เขียนเป็นรูปภาพให้มีความหมายอย่างอักษรก็มีคำว่า ฮก หมายถึง วาสนา ลก หมายถึงความบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารสมบัติ ซิ่ว หมายถึง ความยั่งยืนหรือมีอายุยืน แต่คำว่า ฮกลกซิ่วนี้ไม่ใช่เขียนเป็นตัวหนังสือเสมอไป เขียนเป็นรูปภาพก็มี เช่น ฮก เขียนเป็นรูปขุนนางสวมหมวก มีใบหูกาง ๒ ข้าง มีมือถืออยู่อี่ แสดงถึงวาสนา ลก เขียนเป็นรูปเศรษฐี สวมหมวกมีเล้าข้างหลังสูง มีผ้าคลุมลงไปเบื้องหลัง แสดงถึงโภคสมบัติ มีมืออุ้มเด็ก แสดงถึงบริวารสมบัติ และซิ่ว เขียนเป็นรูปคนแก่ ถือไม้เท้ามือหนึ่ง ถือผลท้อมือหนึ่ง แสดงความเป็นผู้มีอายุยืน และมั่นคง ถ้าท่านเห็นรูปภาพดังที่กล่าวมานี้ที่เครื่องถ้วยหรือเครื่องปั้นดินเผาของจีนละก็ พึงรู้เถิดว่านั่นคือลายฮกลกซิ่วดังกล่าวแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นมงคลแก่ผู้ที่ได้ใช้สอย คนเราถ้าได้มีวาสนาดีมีทรัพย์สมบัติมาก และมีอายุยืนปราศจากโรคภัยแล้ว ก็เรียกได้ว่ามีบุญที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนาไม่เฉพาะแต่คนจีนที่เป็นต้นคิดทำเครื่องหมายนี้ขึ้นเท่านั้น

ที่กล่าวถึงลักษณะเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยข้างตนนั้นเป็นคำอธิบายของพระยานคร พระราม เรื่องเครื่องปั้นดินเผามีผู้สนใจค้นคว้ากันมาก เพราะแสดงถึงความเจริญอย่างหนึ่งของไทยเรา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “เนื้อหิน ที่เอามาบดปั้นเป็นเครื่องสังคโลกไทย สังเกตดูที่อย่างดีเป็นหินสีขาวเจือดำอย่าง ๑ สีขาวเจือเหลืองอย่าง ๑…….เครื่องสังคโลกไทย พิเคราะห์ดูทำลักษณะต่างกันเป็น ๓ อย่างคือทำเนื้อด้านไม่เคลือบ (ที่ฝรั่งเรียกบิสคิต) อย่าง ๑ เคลือบเนื้อหยาบอย่างอ่างมังกร อย่าง ๑ เคลือบเนื้อละเอียดอย่างเครื่องถ้วยของจีนอย่าง ๑….

ของสังคโลกที่เคลือบหยาบอย่างอ่างมังกรนั้น มักพบที่ทำเป็นตุ่มใหญ่ๆ ขนาดตั้ง ๏๕-๑๖ กำ แต่ของเล็กจนกระทั่งกาน้ำที่เคลือบอย่างนี้ก็มี แต่ของชนิดนี้พบน้อย

ของเคลือบอย่างละเอียดนั้น เป็นของที่ช่างจีนของสมเด็จพระร่วงมาทำเป็นแน่ ทำได้หลายอย่างสังเกตตามตัวอย่างที่ได้พบ ทำเคลือบพื้นเกลี้ยงอย่างหนึ่ง เคลือบผิวราน (สังคโลก) อย่างหนึ่ง ทำลายในกระบวนปั้นอย่างหนึ่ง ทำลายกระบวนแกะอย่างหนึ่ง ลายเขียนอย่างหนึ่ง สีที่เคลือบเคลือบสีเขียวไข่กาสีหนึ่ง สีเหลืองสีหนึ่ง สีขาวสีหนึ่ง แต่สีขาวต้องเคลือบด้วยยาขาว เพราะเนื้อหินไทยไม่ขาวบริสุทธิ์ถึงหินจีน จะเคลือบยาใสอย่างกังใสไม่ได้ สีที่เขียนพบสีดำสีหนึ่ง สีเหลืองสีหนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบสังคโลกไทยที่เขียนคราม แต่ได้พบเศษชิ้นชามลายครามจีนก่อนไต้เหม็งที่เตาทุเรียงเมืองสวรรคโลกชิ้นหนึ่ง เห็นได้ว่า วิชาเขียนลายครามปรากฏแล้วในครั้งนั้น แต่เห็นจะเป็นเพราะยังไม่รู้วิธีประสมสีครามให้เหมือนของจีนจึงไม่ปรากฏว่าเครื่องสังคโลกไทยมีเขียนลายคราม’’

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี