นิทานเรื่องปูทอง

กาลครั้งหนึ่ง มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมีลูกสาวชื่อินุ  วันหนึ่งสองคนผัวเมียได้ไปหาปลา และเมื่อสามีได้ปลาแต่ละครั้ง ภรรยาก็จะพูดว่า

“ให้อินุตัวหนึ่ง ให้อินุตัวหนึ่ง”

หล่อนพูดอย่างนี้ทุกครั้ง  จนในที่สุดสามีเกิดโมโหเอาด้ามสวิงตีภรรยาจนถึงแก่ความตาย ภรรยาจึงกลายเป็นปูทองอยู่ในแม่น้ำนั้น

ต่อมาชายผู้สามีและลูกสาวของเขาก็ได้ทำไร่เป็นอาชีพ วันหนึ่งอินุได้เอาฟักทองในไร่ไปขายที่บ้านแม่ของอิเนา แม่ของอิเนาก็ซื้อฟักทองไว้ และเอาข้าวเปลือกให้เป็นค่าฟักทอง แต่แทนที่นางจะเอาข้าวเปลือกใส่ลงในกระจาดเพียงอย่างเดียว  นางกลับเอาก้อนหินใส่ลงไปด้วยแล้วเอาข้าวเปลือกกองไว้ข้างบน เมื่ออินุจะยกกระจาดขึ้นทูนบนศีรษะจึงยกไม่ขึ้นเพราะหนักก้อนหิน  แม่ของอิเนาก็ไม่ยอมช่วย  และบอกให้อินุร้องเรียกพ่อของหล่อนมาอินุก็ร้องเรียกพ่อ  เมื่อพ่อของอินุมาถึง  แม่ของอิเนาก็จัดแจงหาอาหารแล้วเชิญให้พ่อของอินุกิน พอกินอิ่มแล้วอินุก็ชวนพ่อกลับ แต่แม่ของอิเนาพูดว่า

“ไม่ได้ละ เขากินข้าวกับฉันแล้วทีนี้เขาก็เป็นสามีของฉัน แกจะกลับก็กลับไปคนเดียวซิ พ่อแกไปไม่ได้”

“ฉันก็จะไม่อยู่เหมือนกัน” พ่อของอินุพูดขึ้น  “ถ้าไม่มีลูกสาวของฉันอยู่ด้วย”

“งั้นก็ตกลง” แม่ของอิเนาพูดขึ้น “ให้อินุอยู่ด้วย”

ด้วยเหตุนี้ทั้งหมดก็อยู่ด้วยกัน

อินุและอิเนาได้ไปเลี้ยงควายด้วยกันทุกวัน  แต่แล้ววันหนึ่งแม่ของอิเนาได้ให้อิเนาอยู่บ้านเพื่อทอผ้า ให้อินุไปเลี้ยงควายเพียงคนเดียว ตอนนี้แม่ของอินุซึ่งตายไปแล้ว และได้ตายไปแล้ว ได้แลเห็นลูกสาวเศร้าโศกไม่มีความสุข จึงมาปลอบและเอาก้ามหวีผมให้ลูกสาวทุก ๆ วัน

ฝ่ายแม่ของอิเนาสังเกตเห็นผมของอินุเรียบร้อยผิดธรรมดาก็เฆี่ยนตีซักถาม

“นี่แกไปสำราญองค์อยู่ที่ไหน หนอยแน่ให้ไปเลี้ยงควายกลับไปนั่งแต่งตัวเสียนี่”

แต่อินุก็ไม่ยอมปริปากเล่าเรื่องให้ฟัง

วันหนึ่งแม่ของอิเนาก็ตามอินุเข้าไปในป่าเฝ้าคอยดูอยู่ในขณะที่อินุกำลังเลี้ยงควาย นางแม่เลี้ยงได้แลเห็นปูทองมาหวีผมให้อินุ  นางก็คิดพยาบาทจะหาทางฆ่าปูทองเสียให้จงได้ นางจึงกลับมาบ้านและแกล้งทำเป็นป่วย เอาข้าวเกรียบวางไว้ใต้เสื่อที่นอน  ทุกครั้งที่พลิกตัวไปมาข้าวเกรียบก็หักเสียงดังกรอบแกรบและหล่อนก็จะร้องโอดครวญขึ้นว่า

“โอย พ่อเอ๋ย กระดูกของฉันหักหมดแล้ว มันลั่นกรอบแกรบไปหมด”

พ่อของอินุเชื่อว่าหล่อนป่วยจริงจึงเข้าไปเฝ้าดูอาการ  หล่อนจึงพูดขึ้นว่า

“ไปตามหมอให้ทีเถอะ”

แท้ที่จริงนั้นหล่อนได้นัดแนะกับหมอไว้แล้ว  โดยสั่งว่าถ้าสามีของหล่อนมาหาละก็ให้บอกว่า อาการของโรคจะหายได้ก็จะต้องกินมันของปูทองเท่านั้น เมื่อพ่อของอินุไปหาหมอ หมอจึงแกล้งทำเป็นตรวจอาการของแม่เลี้ยงแล้วบอกตามที่แม่เลี้ยงสั่งไว้  พ่อของอินุเชื่อก็จะไปจับปูทองมาให้

อินุ ได้ยินว่าเขาจะเอาปูทองมาฆ่ากินก็รีบไปบอกแม่ของหล่อน

“ระวังตัวไว้หน่อยนะแม่ เขาจะมาจับแม่ไป ถ้าเขามาที่ริมฝั่งก็หนีไปอยู่เสียกลางแม่น้ำ  ถ้าเขาออกมากลางแม่น้ำก็หลบเข้าไปอยู่เสียริมฝั่ง”

ปูได้หลบเลี่ยงตามคำบอกของอินุุุอยู่เช่นนี้หลายวัน พ่อของอินุุก็ยังจับปูไม่ได้ แม่เลี้ยงของอินุุุจึงพาลหาเรื่องกับอินุ และใช้ให้อินุไปจับปูทองมาให้หล่อน  แต่ถึงแม้ว่าอินุจะไปจับปูทุก ๆ วัน อินุก็ไม่ได้ปูกลับมาบ้าน  ในที่สุดปูได้แลเห็นลูกสาวโศกเศร้าจึงพูดว่า

“จับแม่ไปเถอะ  ลูกจะได้หมดทุกข์ทรมาน และแม่จะได้หมดกรรมที่จะเป็นปูต่อไป  ปล่อยให้เขาทำตามแต่เขาจะปรารถนาเถิด

เมื่อปูพูดเช่นนั้นหลายครั้งหลายหน อินุก็จำใจจับปูกลับไปบ้าน  แม่เลี้ยงจึงให้อินุต้มน้ำเอาปูลงต้ม อินุจำใจทำตามคำสั่ง และเมื่อน้ำเริ่มร้อน ปูก็พูดขึ้นว่า

“ลูกเอ๋ย ขาของแม่ร้อนเหลือเกิน”

อินุุได้ยินเช่นนั้นจึงราไฟเพื่อไม่ให้น้ำร้อนมากขึ้นแต่แม่เลี้ยงแลเห็นเข้า จึงตีและให้ใส่ไฟเข้าไปอีก พอน้ำร้อนมากขึ้นปูก็พูดว่า

“ลูกเอ๋ย อกของแม่ร้อนเหลือเกิน”

อินุก็ราไฟอีก  แม่เลี้ยงเห็นเข้าก็เฆี่ยนตีให้ใส่ไฟเข้าไปอีก  ปูแลเห็นลูกถูกตีเช่นนั้นก็สงสาร  จึงพูดขึ้นว่า

“ลูกเอ๋ย เมื่อแม่ตาย จงรวบรวมกระดูกของแม่ไปฝังไว้ใกล้พระเจดีย์”

เมื่อพูดแล้วก็ขาดใจตาย แม่เลี้ยง เมื่อเห็นปูสุกแล้วก็แบ่งปูให้อินุุเอาไปให้เพื่อนบ้านรวมเจ็ดบ้านด้วยกัน เมื่ออินุเอาไปให้บ้านไหน อินุก็บอกบ้านนั้นว่า

“อย่าทิ้งกระดูก โปรดเก็บเอาไว้ให้ฉันด้วย”

แม่เลี้ยงกินเนื้อปูแล้วก็เอากระดองทิ้งใต้ถุน  อินุจึงแอบเข้าไปเก็บมารวมไว้ในโกศ และไปเก็บจากที่อื่น ๆ มารวมไว้ด้วยกัน  เมื่อได้ครบแล้วก็เอาไปฝังไว้ใกล้ ๆ พระเจดีย์ตามที่ปูได้สั่งไว้

ไม่นานเท่าไรนัก ตรงที่ได้ฝังโกศกระดูกปูนั้นก็มีต้นไทรทองขึ้นมาต้นหนึ่ง และพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทราบ จึงมีรับสั่งให้เสนาบดีนำทหารไปขุด แต่แม้ว่าทหารจะพยายามขุดถอนอย่างไร ๆ ก็ไม่สามารถจะขยับเขยื้อนต้นไทรทองออกมาได้ พระเจ้าแผ่นดินจึงมีรับสั่งให้ไปตีฆ้องร้องป่าวประกาศว่า

“ใครก็ตามที่สามารถขุดต้นไทรขึ้นมาได้จะได้รางวัล  และถ้าเป็นผู้หญิงพระเจ้าแผ่นดินจะทรงสถาปนาให้เป็นพระมเหสี”

เมื่ออินุ ได้ฟังประกาศเช่นนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อขอรับอาสาและเมื่ออินุไปถึงต้นไทร  หล่อนก็ใช้นิ้วเพียงสองนิ้วเท่านั้น  ก็สามารถถอนต้นไทรขึ้นมาได้  อินุจึงนำต้นไทรเข้าไปเมืองหลวง  และได้นำไปปลูกไว้ที่หน้าพระราชวัง  ส่วนอินุได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสี

วันหนึ่ง แม่เลี้ยงของอินุได้ให้คนมาส่งข่าวหลอกลวงว่าบิดาของอินุป่วย ดังนั้นอินุจึงแต่งกายไปที่บ้านของแม่เลี้ยง  เมื่อไปถึงแม่เลี้ยงก็ออกมารับหน้าและพูดว่า

“อย่าเพิ่งเข้าไปข้างในเลย แม่เกรงว่าพ่อจะถูกผีงำ ไปอาบน้ำเสียก่อนเถิด”

อินุเชื่อ และขณะที่กำลังอาบน้ำอยู่นั้นเอง  แม่เลี้ยงก็ขโมยเอาเสื้อผ้าไปและผลักอินุตกลงไปในบ่อถึงแก่ความตาย และได้กลายเป็นนกแก้ว

แม่เลี้ยงเมื่อกำจัดอินุได้แล้ว ก็เอาเสื้อผ้าและเครื่องประดับของอินุมาตบแต่งให้อิเนาลูกของตน  แล้วส่งกลับเข้าไปในวัง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็นเข้าก็ทรงทัก

“ทำไม่ผมของเธอจึงหงิกงอเช่นนั้น”

“บิดาของหม่อมฉันตาย หม่อมฉันจึงร้องไห้และทึ้งผมของหม่อมฉัน  จึงทำให้ผมหงิกงอ”

“แล้วทำไม่ตาของเธอจึงโปนอย่างนั้นล่ะ”

“หม่อมฉันร้องไห้เมื่อบิดาตายและได้ขยี้ตามากไป จึงทำให้ตาบวมโปนออกมา”

“แล้วนิ้วของเธอทำไมจึงได้หงิกงออย่างนั้นด้วย”

“หม่อมฉันร้องไห้และบิดมือไปมาจึงทำให้นิ้วงอ”

“เอ แล้วทำไม่ขาของเธอจึงโก่งอย่างนั้นล่ะ”

“หม่อมฉันฟาดแข้งฟากขาด้วยความเสียใจ ขาเลยเสีย”

พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่ออย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้อิเนาจึงได้ตำแหน่งแทนอินุ  และอินุได้กลายเป็นนกแก้วก็บินมาเกาะที่ต้นไทรทุก ๆ วัน และพูดว่า

“ผู้หญิงที่ปราศจากความละอายคนหนึ่งได้นอนอยู่ในอ้อมกอดของพระเจ้าแผ่นดิน และลูกน้อยของฉันก็นอนอยู่แทบเท้าของหญิงไร้ยางอายคนนั้น”

พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงฟังนกแก้วพูด ก็ตรัสสั่งให้มหาดเล็กจับนกแก้วมาเลี้ยง  วันหนึ่งขณะที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสนอกพระราชวัง อิเนาก็ฆ่านกแก้ว แล้วแกงกับน้ำเต้า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จกลับมาไม่เห็นนกแก้ว  จึงตรัสถามอิเนาว่านกแก้วเป็นอะไรไป อิเนาก็ทูลว่า

“แมวฆ่านกแก้วเสียแล้ว และหม่อมฉันได้แกงกับน้ำเต้า”

เมื่อทูลเช่นนั้นแล้ว อิเนาก็นำอาหารที่เตรียมไว้มาถวายพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระองค์ไม่ยอมเสวยได้เททิ้งไป และตรงที่เทอาหารนั้นเองได้มีต้นน้ำเต้าขึ้นมาต้นหนึ่ง และมีผลเพียงผลเดียว พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงเก็บไว้ในหีบ และในไม่ช้าไม่นานก็มีหญิงสาวออกมาจากน้ำเต้า และหล่อนคืออินุนั่นเอง  หล่อนได้ทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนต้นให้ทรงทราบ  เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องเช่นนี้แล้ว  จึงตรัสสั่งให้ประหารอิเนาแล้วทำเป็นแบบปลาจ่อม ศีรษะของอิเนาเอาวางไว้ก้นไห  ขาวางไว้ตรงกลาง ส่วนแขนและมือวางไว้ตอนบน เมื่อแม่ของอิเนามาเยี่ยมลูกสาวที่พระราชวัง พระเจ้าแผ่นดินก็ได้ประทาน “ปลาจ่อม” ไปให้  พอไปถึงบ้านนางก็สั่งให้ลูกสาวคนเล็กเอาไปปรุงเป็นอาหาร ลูกสาวแลเห็นเข้าก็พูดว่า

“แม่จ๋าแม่ นี่เหมือนกับมือของพี่เนาจัง”

“แกรู้ได้อย่างไรกัน  ลูกสาวของข้าเป็นพระมเหสี  และนี่เป็นปลาจ่อมที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้มา”

แม่ของอิเนาได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอีก และพระองค์ก็ได้พระราชทาน “ปลาจ่อม” ท่อนขามาให้ เมื่อลูกสาวคนเล็กได้แลเห็นเข้าก็พูดขึ้นว่า

“แม่จ๋าแม่ นี่เหมือนกับขาของพี่เนาจังเลย”

“นังนี่จะบ้าเสียแล้ว ลูกของข้าเป็นถึงพระราชินี  และนั่นเป็นขาของสัตว์อะไรก็ได้”

ต่อมาอีก  แม่ของอิเนาก็เข้าไปในพระราชวัง  พระเจ้าแผ่นดินก็พระราชทาน “ปลาจ่อม” ท่อนหัวไปให้ เมื่อนางให้ลูกสาวปรุงเป็นอาหาร ลูกสาวก็พูดขึ้นอีกว่า

“แม่จ๋าแม่  นี่เหมือนกับหัวของพี่เนาจังเลย”

แม่ของอิเนามองดูก็จำได้ว่าเป็นศีรษะของลูกสาว  นางจึงเข้าไปในวังเพื่อต่อว่าพระเจ้าแผ่นดิน  แต่เมื่อเข้าไปในถึงพระเจ้าแผ่นดินก็ทำตะไกรหนีบหมากหล่นลงบนพื้น พลางตรัสบอกหล่อนว่า

“ช่วยหยิบตะไกรส่งให้ฉันทีเถอะแล้วเราค่อยพูดตกลงกัน”

แม่ของอิเนาก้มลงเก็บตะไกร พระเจ้าแผ่นดินได้โอกาสก็เอาน้ำร้อนมาราดรดหล่อน  พอถูกน้ำร้อนเข้าก็ร้องด้วยความเจ็บปวด  พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสว่า

“จงกลับไปบ้าน ปูเสื่อเอาเกลือโปรยแล้วก็นอนกลิ้งบนเสื่อนั้น แล้วจะหายปวดเอง”

แม่ของอิเนาวิ่งกลับมาบ้านพลางร้องว่า

“ลูกของแม่ ปูเสื่อเอาเกลือโปรยที ปูเสื่อเอาเกลือโปรยให้ที”

ลูกสาวคนเล็กแลเห็นแม่วิ่งกลับมาอย่างรีบร้อน  หล่อนก็ออกมายืนที่นอกชานบ้าน พลางเต้นแล้วร้องว่า

“พี่ของฉันเป็นพระมเหสีเอิงเงย ฉันก็จะแต่งตัวแบบชาววังเอิงเงย”

หล่อนเต้นและร้องเพลงพลางวิ่งไปเอาเสื่อมาปู แล้วเอาเกลือโปรยลงบนเสื่อ  พอแม่ของหล่อนมาถึงก็ล้มตัวลงนอนกลิ้งเกลือกบนเสื่อ และขาดใจตายบนเสื่อนั่นเอง

นิทานที่มีเค้าโครงคล้ายเรื่องนิทานปลาบู่ทองของไทย  ตามที่เล่ามาเพียง ๔ ชาตินี้  จะเห็นว่าเค้าโครงส่วนใหญ่คล้ายกัน  ต้นเรื่องและลงท้ายต่างกันไปบ้างสุดแต่ว่าชาติไหนจะให้หนักเบาอย่างไร  แต่สรุปได้ว่าเป็นเรื่องกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น  อนึ่ง  นิทานเรื่องแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงนี้ในนิทานของอินเดียบางเรื่องบางตอนก็คล้ายกับบางตอนในนิทานปลาบู่ทองเหมือนกัน

 

 

 

นิทานลาว:ภูท้าวภูนาง

ภูท้าวภูนาง


ส. พลายน้อย

กาลครั้งหนึ่ง มีนางยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่ากินนา อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ใกล้ภูเขา  นางกินนายังเป็นสาวไม่มีผัว  อยู่ตัวเดียวเดี่ยวโดด  ทุก ๆ เช้านางกินนาจะเดินไปตามป่า  จะกลับมาบ้านต่อเมื่อถึงเวลาอาหาร  นางจะเฝ้าดูน้ำที่ไหลไปตามซอกหินและต้นหญ้า  บ่อยครั้งที่นางจะนั่งอยู่ใต้ต้นไทรที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้าง  ทำให้ร่มเย็นแสนสบาย

การที่นางกินนาใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ในป่าเช่นนั้น  ทำให้นางคุ้นเคยกับสัตว์ป่านานาชนิด  บางครั้งจะเห็นนางนั่งเล่นอยู่กับนกจำนวนมาก  นกเหล่านั้นจะร้องเพลงให้หล่อนฟัง และบางครั้งหล่อนก็จะขึ้นไปนั่งบนคอช้างป่า

เช้าวันหนึ่ง นางกินนาได้เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังเดินเข้ามาในป่า ชายหนุ่มคนนั้นมีรูปร่างงดงามราวกับพระอินทร์(ลาวชอบเปรียบคนรูปงามว่างามราวกับอินทา ในต้นฉบับอธิบายไว้ว่า อินทาเป็นเทพเจ้าแห่งความงาม) หนุ่มผู้นั้นถือปืนไว้ในมือ นางกินนาใฝ่ฝันอยู่นานแล้วที่จะมีสามีสักคนหนึ่ง  หล่อนจึงรู้สึกปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูกเมื่อแลเห็นหนุ่มรูปงามคนนี้

ขณะที่นางกินนากำลังรำพึงฝันหวานอยู่นั้น  นางก็ระลึกขึ้นได้ว่านางเป็นยักษ์รูปร่างหน้าตาน่าเกลียด  เมื่อชายหนุ่มเห็นเข้าก็คงจะไม่หลงรักอย่างแน่นอน  อย่ากระนั้นเลยปลอมแปลงกายให้งดงามเสียก่อนจะดีกว่า นางจึงร่ายเวทมนต์กลายร่างจากยักษ์เป็นหญิงสาวรูปงาม มีเสน่ห์ยากที่หญิงใดจะเทียบเคียงได้ เมื่อแปลงกายแล้ว  นางกินนาก็ออกเดินเข้าไปหาชายหนุ่มแล้วถามว่า

“ พี่เข้ามาในป่าจะไปไหนหรือ”

“  ฉันมาล่าสัตว์”  ชายหนุ่มตอบ

แล้วถามต่อไปว่า “เธออยู่ที่นี่คนเดียวหรือ”

“ จ้ะ ฉันอยู่คนเดียว อยู่กับนกกับต้นไม้”

เสน่ห์ของนางกินนาทำให้ชายหนุ่มเริ่มจะหลงรัก เขาเดินเข้ามายืนอยู่ใกล้ ๆ แล้วชวนพูดคุยถึงเรื่องต่าง ๆ   เมื่อเห็นหญิงสาวไม่รังเกียจ  ก็ชวนไปนั่งคุยที่ลานหญ้าใกล้ลำธารชายหนุ่มได้บอกชื่อของเขาให้หล่อนทราบว่า เขาชื่อพุทเสนแล้วเล่าเรื่องราวให้หล่อนฟัง  นางกินนาได้ขอร้องให้ชายหนุ่มพักอยู่กับหล่อนนาน ๆ พุทเสนก็ยอมตกลงด้วยความยินดี

พุทเสนอยู่กับนางกินนาด้วยความสุขสำราญ  จนทำให้เขาลืมมารดาที่อยู่อย่างยากจนทางบ้าน

วันหนึ่งนางกินนาได้บอกความลับของนางให้พุทเสนฟังด้วยความไว้วางใจ

“ พี่  ฉันลืมบอกพี่ไปว่าในหีบใบนี้มีมะนาวที่ไม่รู้จักสุกไม่รู้จักเหี่ยวอยู่หลายผล  เป็นมะนาววิเศษที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งย่าครั้งยายของฉันทีเดียว  มะนาวเหล่านี้มีอำนาจวิเศษมาก พี่เคยไปเที่ยวสวนของฉันบ้างไหม”

“ไม่เคยเลย” ชายหนุ่มตอบ “อยู่ที่ไหนล่ะ”

“อ๋อ” กินนาตอบ “อยู่ห่างจากนี่สักแปดสิบเส้นเห็นจะได้  แต่ฉันขอร้องอย่าได้คิดไปเลย มันมีอันตรายมาก”

พุทเสนไม่ตอบ  แต่เขาก็ยังคงคิดถึงเรื่องสวนแห่งนี้

วันหนึ่งเมื่อนางกินนาไม่อยู่  พุทเสนก็ถือโอกาสตอนที่นางกินนาไม่อยู่นั้นไปที่สวนที่นางกินนาห้าม  ในสวนแห่งนั้นพุทเสนได้พบกระดูกมนุษย์ทับถมอยู่ในคูเกือบเต็ม  พุทเสนนึกเดาเรื่องได้ตลอด นางกินนาไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาอย่างแน่นอน  เขาเกิดความกลัวขึ้นมาจึงวิ่งกลับมาบ้านแล้วเข้าไปในห้องเปิดหีบหยิบมะนาววิเศษออกมา  เขาไม่รีรอให้เสียเวลารีบวิ่งออกจากป่าไปทันที

หลังจากที่พุทเสนหนีไปได้ไม่นานเท่าไรนัก นางได้เข้าไปดูที่เก็บมะนาวไว้ พอรู้ว่ามะนาวหายก็นึกรู้ได้ทันทีว่าพุทเสนรู้ความลับและหนีไปแล้ว นางจึงกลับกลายเป็นยักษ์ตามเดิมแล้วไล่ตามพุทเสนไป

ด้วยกำลังยักษ์ นางกินนาวิ่งตามเพียงพักเดียวก็แลเห็นหลังพุทเสนไว ๆ นางกินนาร้องเรียกให้พุทธเสนหยุดพูดกันก่อน  แต่พุทเสนไม่ยอมฟังเสียง  เมื่อเห็นนางกินนาใกล้เข้ามา  พุทเสนก็ล้วงเอามะนาวในย่ามออกมาผลหนึ่งแล้วขว้างไปตรงหน้านางกินนา ทันใดนั้นก็เกิดเป็นกองไฟกองมหึมาลุกลามกั้นนางกินนาไว้ ได้ยินแต่เสียงนางกินนาร้องเรียกแต่มองไม่เห็นตัว เพราะเปลวไฟลุกโพลง

พุทเสนไม่รอช้าขณะที่ไฟกำลังลุกโชติช่วงอยู่นั้น  เขาก็วิ่งหนีต่อไป  แต่หนีไปไม่ได้ไกลเท่าไร  ก็ได้ยินเสียงนางกินนาร้องเรียกใกล้เข้ามา นางกินนาได้ใช้เวทมนต์ดับไฟสามารถไล่ตามเขามาได้อีก พุทเสนเห็นจวนตัวจึงหยิบมะนาวอีกผลหนึ่งออกมาจากย่ามแล้วขว้างไป  คราวนี้เป็นทะเลสาบกว้างใหญ่มองแทบไม่เห็นฝั่ง

นางกินนาถึงจะเหนื่อยอ่อนแต่ก็ยัง ไม่ละความพยายามกระโจนลงน้ำว่ายข้ามทะเลสาบมาอย่างกล้าหาญ  เมื่อนางกินนามาถึงฝั่งตรงข้าม  นางก็เหนื่อยอ่อนเต็มที นอนหลับอยู่ริมตลิ่งนั่นเอง นางไม่สามารถจะขยับเขยื้อนกายต่อไปได้อีก นางได้อ้อนวอนต่อสวรรค์  ขอให้ลงโทษต่อสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ของนาง เมื่อนางอ้อนวอนสิ้นสุดลงดวงตาของนางก็ปิดสนิทนางกินนาขาดใจตายเสียแล้ว

เมื่อพุทเสนแลเห็นนางกินนานอนนิ่งไม่ขยับเขยื้อนกายเช่นนั้นก็นึกว่านางคงจะเหนื่อย  อ่อนกำลังไม่สามารถจะทำอะไรเขาได้แล้ว  นึก ๆ ไปพุทเสนก็เกิดสงสารนางกินนาขึ้นมา  เพราะตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน  นางกินนาได้เอาอกเอาใจเป็นอย่างดี  นางกินนารักพุทเสนด้วยใจจริง  เมื่อคิดถึงความหลังขึ้นมาอีก พุทเสนก็ใจอ่อนเดินกลับไปหานางกินนาที่นอนอยู่ และพอรู้ว่านางกินนาขาดใจตายไปแล้ว พุทเสนก็ทรุดตัวลงข้าง ๆ ร่างของนางกินนา พยายามพยาบาลจะให้นางฟื้นขึ้นมาอีก  แต่ไม่สำเร็จพุทเสนเสียใจมาก เขาล้มฟุบลงบนร่างของนางกินนา และขาดใจตายตามไปอีกคนหนึ่ง

ร่างของนางกินนาและพุทเสน คงอยู่ริมแม่น้ำแห่งนั้น และเมื่อหลายร้อนปีผ่านไป ร่างของทั้งสองก็กลายเป็นภูเขาสองลูก ซึ่งเรียกกันว่า ภูท้าว และ ภูนาง ยังคงมีอยู่ใกล้ ๆ กับหลวงพระบางในเวลานี้

นิทานลาว

หมายเหตุ ภูท้าว หมายถึง ภูเขาผู้ชาย, ภูนาง หมายถึง ภูเขาผู้หญิง

รูปช้างแต่งสัปคับสมัยอยุธยาตอนต้น

รูปช้างแต่งสัปคับ


ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น  พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับแก้วสี สัปคับทำเป็นช่องสำหรับบรรจุตลับ

ประเพณีลากพระ:ประเภทของการลากพระ

ประเพณีลากพระ


ประเพณีลากพระของปักษ์ใต้มี ๒ ประเภท คือ การลากพระทางบก และ การลากพระทางเรือ ในปัจจุบันนี้ประเพณีดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปมากตามความเจริญของบ้านเมือง เช่น แทนที่จะใช้คนลากเหมือนในสมัยโบราณ ก็ใช้รถยนต์ เป็นต้น  ท่านที่สนใจจะอ่านได้ในวารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับกันยายน ๒๕๒๔  เพื่อจะได้ทราบและเปรียบเทียบกันว่าประเพณีนี้ได้เปลี่ยนแปลงมาอย่างไรบ้าง

สมาน  เฉตระการ

 

เครื่องสักการบูชา:ศิลปะของไทยที่สวยงาม

เครื่องสักการบูชา


เครื่องสักการคือเครื่องที่นำมาแสดงความเคารพบูชาประกอบด้วยพวงดอกไม้หรือพุ่มดอกไม้ รูปเทียนแพ

ดอกไม้ที่จัดเป็นพิ่มใส่พานเป็นศิลปะของไทยที่สวยงาม และดูจะมีเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น  เรียกว่ามีแห่งเดียวในโลก เป็นศิลปะพิเศษเพราะไม่มีชาติไหนที่เขาจัดเครื่องสักการบูชาแบบเรา

สมพงษ์  ทิมแจ่มใส

ศาลหลักเมือง:ประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมือง

ศาลหลักเมือง


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรับอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ  เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้ว  ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมายังฝั่งตรงข้ามกับกรุงธนบุรี  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี  เป็นแม่กองก่อสร้างพระมหานคร  และพระบรมมหาราชวัง  ได้มีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕  เวลาย่ำรุ่ง ๕๔ นาที

การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีตามตำรา  เรียกว่า  พระราชพิธีนครสถานโดยเฉพาะ  เอาไม้ชัยพฤกษ์มาทำเป็นเสาหลักเมือง  เอาไม้แก่นประดับนอก  กำหนดให้ความสูงของเสาเมื่ออยู่พ้นดินแล้ว ๑๐๘ นิ้ว  ฝังลงไปในดิน ๗๙ นิ้ว  มีเม็ดยอดสวมลงบนยอดหลังคาลงรักปิดทอง  ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงพระชันษา(ชะตา) พระนคร (เมือง)

หลักเมืองในสมัยต้น ๆ ไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างปกคลุมเหมือนอย่างทุกวันนี้  คงเป็นเพียงศาลาปลูกไว้กันแดดกันฝนเท่านั้น  และมีแต่เสาหลักเมืองอย่างเดียว  ไม่มีเทวดาต่าง ๆ เข้ารวมอยู่เหมือนปัจจุบันคงจะปล่อยกันตามบุญตามกรรมไม่ได้ซ่อมแซมหลายรัชกาล  ปรากฎชำรุดมากในสมัยรัชกาลที่ ๔  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่  ประกอบพิธีพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วบรรจุดวงพระชาตาเมืองให้เรียบร้อย  ลงด้วยแผ่นทองคำหนัก ๑ บาท  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ก่อศาลาขึ้นใหม่ให้เป็นยอดปรางค์ตามแบบอย่างศาลาที่พระนครศรีอยุธยา  คือแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน

กาน้ำลายน้ำทองสมัยรัชกาลที่ ๕

กาน้ำลายน้ำทอง


กาน้ำลายน้ำทอง  ตกแต่งด้วยลายพุ่มข้าวบิณฑ์  ดอกไม้ ผีเสื้อ  ตรงกลางตกแต่งเป็นลายพระมหามงกุฎอยู่เหนือช้างเผือก เป็นของสั่งเข้ามาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา

สมชาย  วรศาสตร์  ถ่ายภาพ

หุ่น:มหรสพการแสดงหุ่นในเมืองไทย

การแสดงหุ่นได้มีในเมืองไทยมานานหลายร้อยปี  นับเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่งในสมัยโบราณ  แม้ในตอนต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์  เมื่อมีงานฉลองสมโภชอะไรก็ต้องมีการแสดงหุ่นอยู่ด้วยเสมอ  บางวัดที่มีเมรุเผาศพประจำ  ถึงกับสร้างโรงหุ่นไว้เลยก็มี

ทวารบาล:ภาพเขียน,ภาพแกะสลักรูปเทวดา

ทวารบาล

ตามบานประตูวัดมักจะมีภาพเขียนหรือภาพแกะสลักเป็นรูปเทวดาเรียกกันว่า ทวารบาล  หรือบางทีทำเป็นรูปแบบจีนเรียกกันว่า “เสี้ยวกาง”  ซึ่งก็หมายถึงผู้เฝ้าหรือรักษาประตูเช่นเดียวกัน

ทวารบาลที่ทำแปลกกว่าที่อื่นก็คือทวารบาลที่วัดราชบพิธ  ทำเป็นรูปทหารแต่งตัวแบบใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔

สมพงษ์ ทิมแจ่มใส


นกเทศ:สัตว์หิมพานต์

นกเทศ

ดูตามรูปคำ “นกเทศ” เหมือนจะหมายว่าเป็นนกที่มาจากต่างประเทศหรือหมายถึงแขก เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ ผ้าเทศ

ถ้าเป็นนกเราก็เคยมีเรียกนกชนิดหนึ่งว่า นกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นนกต่างประเทศเข้ามาครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ตามเรื่องว่า อะลังกะปูนี  ชาวอังกฤษได้แล่นเรือกำปั่นเข้ามาเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์  ได้นำ ม้าเทศ สิงโต และนกกระจอกเทศ เข้ามาถวายเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๐๘

นกกระจอกเทศนั้นสูง  ๓ ศอกคืบ

เป็นนกที่สูงใหญ่แข็งแรงมากจนเด็กขึ้นไปขี่เล่นได้

แต่นกเทศในจำพวกสัตว์หิมพานต์ที่กล่าวถึงจะสมมุติหรือคิดขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนนกกระจอกเทศหรือเปล่าไม่ทราบ

ดูตามลักษณะเฉพาะส่วนหาง  กระเดียดไปทางหางนกยูง  ซึ่งนกกระจอกเทศไม่มีหางเช่นนี้  ฉะนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

ก็สรุปเอาว่าช่างคิดประดิษฐกันขึ้นมาเอง  ผสมผสานให้ดูเล่นแปลก ๆ อย่างนั้นเอง

เรื่อง – “สวรรยา”

ภาพ – ประสงค์  พวงดอกไม้