ตำนานเกี่ยวกับพระแม่อุมา

“ขอเดชะพระอุมารักษาสวาท
ให้ผุดผาดเพียงพักตร์พระลักษมี
วิมานแก้วแววฟ้าฝูงนารี
คอยพัดวีแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง”
(รำพันพิลาป-สุนทรภู่)

พระอุมาเหมวดี  เรียกอย่างสั้นก็ว่าพระอุมา เป็นมเหสีของพระอิศวร จึงนับว่าเป็นเทวนารีที่ยิ่งใหญ่ทีเดียวละ พระอุมานี้เป็นธิดาของ พระหิมวัต (เขาหิมาลัย) กับ นางเมนา หรือ เมนกา บุตรีแห่งเมรุ บางตำนานก็มีนิยายประกอบชาติปางก่อนของพระอุมาด้วย คือท้าวเธอถือกำเนิดเป็นพระสตี เป็นธิดาของพระทักษะและได้ตกเป็นมเหสีของพระอิศวร พ่อตากับลูกเขยไม่กินเส้นกันดังที่ผมจ้อไว้ในเรื่อง พระทักษะ แล้ว ความไม่กินสีกันนี้เองมีเหตุการณ์อันทำให้พระสตีเสียชีวิต พระอิศวรตรอมใจเลยออกประพฤติพรตเป็นโยคี ต่อมามียักษ์ตนหนึ่งชื่อ ตารกะ (ในรามเกียรติ์เรียกเป็นตรีปุรัม) บำเพ็ญตบะมีฤทธิ์เยอะ ทวยเทวดาเกรงว่ายักษ์ตนนี้จะก่อความวุ่นวาย ก็สัมมนากันในหัวข้อวิธีกำจัดยักษ์ตนนี้ ในที่สุดก็ได้ความว่า ต้องได้โอรสพระอิศวรไปปราบ แต่ติดขัดที่ชายาพระอิศวรสิ้นชีพไปแล้ว จะหาโอรสมาได้อย่างไรกัน เผอิญในหมู่เทวดาซุบซิบกันว่า พระสตีไปเกิดเป็นพระอุมาแล้ว จึงหกามเทพแผลงศรรักปักอก (ดูเรื่องกามเทพ) ด้วยวิธีการนี้เองพระอิศวรก็ได้โอรสชื่อ พระขันทกุมาร และปราบยักษ์ตนนี้ได้สำเร็จ

บางตำนานกล่าวว่า พระอิศวรทรงสร้างพระอุมาขึ้นเองโดยเอาพระหัตถ์ข้างขวาลูบพระอุระ ก็เกิดเป็นพระอุมาสมปรารถนา และถือเป็น ศักดิ ของพระอิศวร (ศักดิ นี่เดี๋ยวผมค่อยเล่านะครับ) แล้วก็ช่วยกันสร้างโลกไงเล่า
พระแม่อุมาเทวี
พระอุมานี้ มีด้วยกัน ๓ ภาคครับ ภาคที่ ๑ คือ พระอุมา หรือบารพตีหรือบรรพตี (นางชาวเขา) หรือพระมหาเทวี ภาคนี้ใจดีครับ มีสิริโฉมงดงาม ผิวเนื้อเรื่อเรืองเหลืองกระจ่าง บางทีก็เขียนเป็น ๒ กรบ้าง ๔ กรบ้าง ในภาคนี้บางทีก็เรียกว่า เคารี (แปลว่า สีเหลืองกระจ่าง) แล้วก็เติมเกร็ดอีกว่า เดิมทีพระอุมาน่ะมีสีกายดำ พระอิศวรยั่วเรื่องผิวทำให้นางน้อยใจ ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ ที่ภรรยาย่อมน้อยใจที่สามีติในเรื่องความงาม นางก็เลยหนีไปอยู่ป่า พระอิศวรต้องไปง้อและประทานพรให้ผิวเป็นสีเหลือง
พระแม่กาลี
ภาคที่ ๒ เป็นภาคที่ดุและน่ากลัว เรียกกันว่า กาลี หรือ ภัทรกาลี หรือ กาลิกา เอกลักษณ์น่าสยองมากครับ ผิวดำสนิท หน้าดุ อ้วนล่ำ ผมสยายประบ่า มี ๑๐ แขน บางทีก็เขียนเป็น ๔ แขน มีอาวุธพร้อมทุกมือ บางทีก็เขียนเป็นมือหนึ่งถือดาบ มือหนึ่งยกขึ้นประทานพร มือหนึ่งยกขึ้นรับผู้ที่บูชา ที่น่าสะดุ้งก็ตรงที่มีเลือดหยดตามปากและตัวมือ ก็ถือกะโหลกหัวยักษ์ที่ตัดใหม่ๆ สดๆ คาวๆ บางทีก็ถือตรีปฏัก บางทีก็เขียนเป็นรูปยืนเหยียบมหิงสาอสูร
พระแม่ทุรคา
ภาคที่ ๓. ก็เป็นภาคที่ดุร้ายสยดสยองพองขนเหมือนกันมีชื่อว่า ทุรคา รูปทุรคานี้ใช้ศพเป็นตุ้มหู กะโหลกผีเป็นสร้อยคอ มีซี่โครงคนผูกติดกันเป็นเข็มขัด นัยน์ตาทั้งสองโปนแดงยังกะสายเลือดยังไงยังงั้น มีผมยาวถึงส้นเท้า นมก็ยานถึงสะเอว ลิ้นก็แลบออกมาถึงทรวงอก เล็บมือเล็บเท้ายาวแหลมคม มีอาวุธประจำตัว ๑๒ อย่าง คือ จักร ตรี ศูล ขรรค์ หอก กระบอง ลูกธนู บ่วงบาศ ปฏัก โล่ ขวาน ระฆัง แต่ในบางคัมภีร์ก็ว่าภาคทุรคานี้มีสีกายเหลือง และมีรูปโฉมงามเหมือนภาคพระอุมา ที่น่ากลัวอยู่หน่อยก็ตรงที่มีเสือเป็นพาหนะ

พระอุมาปางที่ดุร้ายเป็นพระแม่เจ้ากาลีนี้ แม้แต่พระอิศวรก็ยังเกรงใจ มีนิยายว่างมีความต้องการจะฆ่ายักษ์ตนหนึ่ง แต่เจ้ายักษ์ตนนี้มีฤทธิ์เอาการละครับ แม้นางจะฆ่าอย่างไรเพื่อนก็ไม่ยักตาย เมื่อมีเลือดหยดถูกแผ่นดินเพื่อนก็เกิดใหม่เป็นพัน เจ้าแม่ก็ใช้วิธีดูดเลือดยักษ์ไม่ให้ตกถูกพื้นดิน พร้อมกับฆ่ายักษ์ตนนั้นได้อย่างชนิดหืดขึ้นคอ เมื่อฆ่าได้ก็ดีใจ ฉลองด้วยการแผลงฤทธิ์เล่น แผลงเพลินไป ทำท่าจะยกเท้ากระทืบโลก ซึ่งจะมีผลทำให้มนุษย์เทวดาพากันตายไปตามๆ กัน เทวดาวิ่งวุ่นไปทูลขอพระอิศวร พระอิศวรก็เกรงใจไม่กล้าห้ามหรอก ยิ่งน้ำกำลังเชี่ยวจะเอาเรือไปขวางก็ไม่สมควรนัก แต่พระอิศวรก็คิดว่าไงๆ เจ้าแม่ก็เป็นเมีย คงจะมีความนับถืออยู่บ้าง พระอิศวรจึงลงนอนอยู่บนพื้นดลกในขณะที่เจ้าแม่จะกระทืบโลกพอดี และเจ้าแม่ก็เห็นพระอิศวรเสียก่อนเลยยั้งเท้าไว้ทัน เพราะไงๆ เจ้าแม่ก็เป็นเมีย เมียจะกระทืบผัวจะเป็นตัวอย่างที่ดีได้ไงเล่า ก็เป็นผลให้โลกยังคงอยู่ทุกวันนี้แหละ มนุษย์ได้อาศัยด้วยความสุขและทุกข์ระคนกันไป ในตอนนี้มักจะเขียนรูปเจ้าแม่กาลีเป็น ๔ กร ถือคทายอดหัวกะโหลกคนและเศียรอสูร ผมยาวประบ่า ยืนแลบลิ้น มีเลือดเปรอะเต็มปากและมือ เรียกกันว่า พระแม่เจ้ากาลี อ้อถึงแม้รูปตอนนี้จะน่าสยองขวัญก็มีแววส่อให้เห็นอาการอายนิดๆ ที่ทำท่าจะกระทืบพระสวามีน่ะ

ภาคที่ดุร้ายของพระอุมาน่ะ มีนามเรียกมากครับ เช่น ศยามา(ดำ) จัณฑี จัณฑิกา(ดุร้าย) ไภรวี (น่าพิลึกพึงกลัว)

ภาคของ ทุรคา นี้ บางปุราณะว่าได้ชื่อนี้ก็เพราะพระอุมาปราบอสูรตนหนึ่ง ชื่อ ทุรคะ ที่ทำให้ชาวโลกเดือดร้อน แต่ตามศัพท์น่ะ คำว่า ทุรคา แปลว่าเข้าถึงได้ยากหรือเข้าถึงมิได้ เรื่องนี้ถือกันเป็นลัทธิ “ศักดิ” ซึ่งเป็นลัทธิที่เกิดขึ้นภายหลังศาสนาพราหมณ์นานนัก อธิบายอย่างกว้างๆ ก็ได้ความว่าเป็นลัทธิที่เคารพนับถือชายาของพระเป็นเจ้า คำว่าศักดิแปลว่ากำลังหรือฤทธิ์อำนาจ อย่างเช่น พวกที่นับถือพระศิวะก็ว่าพระอุมาเป็นศักดิ พวกที่นับถือพระนารายณ์ ก็ว่าพระลักษมีเป็นศักดิ พวกที่นับถือพระพรหมก็ว่าพระสรัสวดีเป็นศักดิ แต่โดยทั่วไปก็หมายถึงพระอุมามากกว่า ลัทธินี้นัยว่าเป็นลัทธิประสมออกจากลัทธิฮินดู และเป็นลัทธิที่หันเข้ากลับชนชาติเดิมที่ไม่ใช่ชาวอารยัน ลัทธินี้มีผู้นับถือกันมากในอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถวเนปาลราษฎร์ แคว้นเบงคอล (องคราษฎร์) และในอัสสัม (โบราณเรียกว่าแคว้นกามรูป)

ที่จริงลัทธิศักดินี้ก็เข้าที เพราะตามธรรมเนียม เทวดาใหญ่ๆ ก็ย่อมจะเข้าถึงได้ยาก ถ้าเข้าทางชายาก็ย่อมจะง่ายกว่า ก็เหมือนมนุษย์ละครับ ผู้มีอำนาจน่ะเข้าถึงยากจะตาย เข้าทางประตูหลังหรือคุณนายดูจะง่ายมาก เมียก็บังคับผัวทำนองโง่เง่าเต่าตุ่นไม่รู้จักหาเงินโดยวิธีลัด เรื่องของเรื่องก็สำเร็จทุกประการแล

ทีนี้มาเรื่องเจ้าแม่กาลี คำว่ากาลีบางท่านก็ให้ความหมายว่า ดำ แต่นักปราชญ์บางท่านว่าคำนี้ออกมาจากคำว่า “กาล” แปลว่าเวลา กาลี มีความหมายว่า ผู้ชนะแล้วซึ่งเวลา หรือผู้ซึ่งกาลเวลาไม่สามารถเอาชนะได้ ก็คือไม่ตาย ไม่แก่เฒ่านั่นเอง แต่เรื่องเจ้าแม่กาลีมีเรื่องยืดยาวครับ เพื่อให้เข้าใจง่ายเป็นเรื่องเป็นตอนตามลำดับ เห็นจะต้องกล่าวถึงคำว่า สตี ก่อน

ที่เล่าไว้ในตอนแรกว่า สตีเป็นชายาพระอิศวรน่ะ แล้วมีเรื่องสิ้นชีวิตเพราะพ่อตาลูกเขยไม่ถูกกัน อันนับเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของเมียที่รักผัว ความจริงคำว่า “สตี” แปลว่า หญิงดี และต่อมาราวๆ พ.ศ. ๑๐๐๐ เห็นจะได้ มีประเพณีหญิงม่ายต้องเอาตัวเองตายตามสามี ถ้าสามีมีอันตายก่อน นับว่าเป็นประเพณีที่มหาโหดสำหรับเมียมาก ผู้ที่ยอมเผาตัวตายตามสามีนี้ได้รับการยกยอ่งจากสังคมมาก ว่ากล้าหาญและรักผัวมาก จึงได้ชื่อว่า “สตี” ส่วนหญิงใดไม่ยอมตายตามผัว ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงชั่ว เรื่องนี้เมื่ออินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษก็สั่งห้ามแล้ว เดี๋ยวนี้คงจะหาเมียที่กล้าหาญเช่นนี้ได้ยากเต็มทีครับ แต่สังคมแม่ม่ายส่วนมากก็ยังคงได้รับความทุกขเวทนาอยู่มาก เพราะค่านิยมเก่าๆ นี่แหละ ไม่เหมือนเมืองไทยหรอกนา แต่เรื่องเมียฆ่าตัวตายตามผัวนี้ก็มีในวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารับเอามาจากชวา แสดงว่าชวาก็รับประเพณีสตีนี้ด้วย เรียกกันว่า แบหลา เช่นตอนนางดรสาแบหลาตามระตูบุศสิหนาผู้สามี

“เมื่อนั้น                                นวลนางดรสามารศรี
กำสรดโศกศัลย์พันทวี            อัญชลีทั้งสองกษัตรา
แล้วทูลว่าพระองค์ผู้ทรงเดช   จงได้โปรดเกศเกศา
ข้าน้อยขอถวายบังคมลา         ตายตามภัศดาด้วยภักดี
ฯลฯ

ครั้นเสร็จจึงตั้งอธิษฐาน                เยาวมาลย์กราบงามสามท่า
เห็นเพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์โชตินา        ก็แบหลาโจนเข้าในอัคคี”

ในอิเหนาน่ะมีหลายตอนทีเดียว เช่น “ฉวยคว้าได้กริชของพี่ยา จะแบหลาชีวันให้บรรลัย” และ “น้องจะแบหลาครานี้ ตายตามพระพี่ที่หายไป”

เรื่องประเพณีสตีนี้แหละ เป็นที่มาของเรื่องการนับถือเจ้าแม่กาลีละ หญิงที่กล้าหาญหรือทำเป็นกล้าเผาตัวตายตามสามีเช่นนี้ ก็ย่อมจะเป็นที่ยกย่องแก่บรรดาคนทั่วไป สังคมก็ชม กวีก็ชมถึงกับแต่งบทสรรเสริญไว้มาก โดยปกติคนเราแต่ก่อนถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็เหอะนับถือผีสางกันอยู่แล้ว ผีที่ตายทั้งกลมก็ยิ่งถือว่าเฮี้ยนนัก ยิ่งเป็นผีที่เผาตัวเองตายตามผัว คนก็ยิ่งนับถือกันมาก บังเอิญเฉพาะมีผีที่ตายด้วยวิธีการสตีนี้ตนหนึ่ง เกิดศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ใครบนอะไรก็ได้ ประชาชนก็เลยนับถือผีโชคดีตนนั้นมาก แม้กระทั่งพวกโจรก็นับถือ และเรียกกันว่า เจ้าแม่กาลี พวกพราหมณ์ก็ใช้วิธีการฉลาด ใช้จิตวิทยาขั้นพื้นฐาน คือไม่ขัดศรัทธาของประชาชน ประชาชนนับถือก็นับถือไป เป็นแต่บอกว่า เจ้าแม่กาลีนี้ที่จริงก็ไม่ใช่ใครหรอก ก็คือภาคหนึ่งของพระอุมา มเหสีของพระอิศวรนั่นเอง ประชาชนก็ไม่ว่า เพราะก็นับถือเจ้าแม่กาลีอยู่แล้ว ยิ่งบอกว่าเป็นภาคหนึ่งของพระอุมา ก็เท่ากับยกย่องสิ่งที่ตนนับถืออยู่ ไม่ได้ทำลายศรัทธาของมวลชนด้วยเหตุนี้แหละพระอุมาจึงเป็นเจ้าแม่กาลีด้วยประการฉะนี้แล

เรื่องการบูชาเจ้าแม่กาลีและทุรคานี้ มีวิธีการแปลกๆ วิตถารเอาเรื่อง เล่ากันว่าเจ้าแม่กาลีชอบของสังเวยสัตวพลี ที่เมืองกัลกัตตา ณ ตำบลกาลีฆาฏ มีเทวาลัยของกาลีเทวี ซึ่งมีคนเอาแพะไปตัดคอสังเวยทุกๆ วัน นอกจากวิธีการบูชาด้วยการบูชายัญแล้ว ยังมีการเสพเมถุนกันในเทวาลัยก็จัดให้มีหญิงแพศยาไว้ประจำ เรียกว่าเทพทาส นัยว่าให้เจ้าแม่กาลีเพลิดเพลินกับการดูการเสพเมถุน เพื่อจะได้ไม่ต้องแผลงฤทธิ์ให้สยองขวัญเล่น และบางพวกก็อุจาดยิ่งไปกว่านั้น คือจะมีวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่ถือว่าเป็นวันแสวงหาบุญ จะมีหญิงชายจำนวนมากเข้าไปในเทวาลัยในขณะที่มืดๆ แล้วต่างก็คลำหากัน ชายใดคลำเจอะหญิงคนไหนก็ไม่ต้องถามชื่อแซ่กันละ เสพเมถุนธรรมกันเลยทีเดียว และถ้าเผอิญคลำเจอะพี่น้องพ่อแม่ยิ่งได้บุญใหญ่ ตามปกติพวกนี้ไม่พิเรนอย่างนี้ เป็นคนที่มีศีลธรรมดีทีเดียว แต่เฉพาะวันนี้เท่านั้นที่ถือกันว่าต้องทำเพื่อสะสมบุญไว้ เดี๋ยวนี้น่ะคงไม่มีแล้วหรอกลัทธิวิตถารต่างๆ นี้ เรียกกันว่า ลัทธิตันตระ ซึ่งเป็นเรื่องสุขุม อธิบายให้เข้าใจยากครับ ขอแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ของเสฐียร  โกเศษและนาคะประทีปเอาเอง  ได้ความรู้หลายครับ รวมความว่าทั้งลัทธิศักดิและตันตระน่ะไม่ใช่ของเดิมของศาสนาพราหมณ์และฮินดูหรอก เป็นเรื่องกระเซ้นกระสายไปและไม่ใช่ของพวกอารยันด้วย ส่วนทุรคาเทวีนั้นบางคัมภีร์ว่าเป็นเทพีแห่งสงคราม แต่ก็ได้รับการบูชากราบไหว้ในฐานะเป็นพระแม่เจ้าผู้พิชิตความชั่วร้าย ลัทธิการบูชากราบไหว้พระทุรคานี้ แพร่หลายมากในแคว้นเบงกอล มีเทศกาลและหยุดงานกันเรียกกันว่า ทุรคาบูชา เรียกย่อๆ ว่า D.P Holiday นับเป็นระยะเวลาพักผ่อนหย่อนใจจากการงานที่ยาวนานที่สุดในเบงกอล

เรื่องของพระอุมามีในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น กามนิต อิลราชคำฉันท์ (ได้เล่าไว้แล้วตอนก่อนๆ) และเรื่องรามเกียรติ์ ในเรื่องกามนิตกล่าวถึงเจ้าแม่กาลีว่า

“การปล้นสะดมมักทำในข้างแรมเดือนมืด ด้วยโจรถือว่าเป็นระยะกาลที่พระแม่เจ้ากาลีคุ้มครองโจรกรรม เมื่อคืนแรมสิบห้าค่ำเป็นดิถีสมโภชบูชาพระแม่เจ้ากาลีมีพิธีแสนน่าเกลียดน่ากลัว ฆ่าโคและแพะสีดำนับจำนวนไม่ถ้วนเอาบูชาเทวรูป และฆ่าคนที่จับมาได้บูชายัญอีกด้วย เอาตัวผู้จะถูกฆ่านอนบนแท่นบูชา แล้วแหวะเส้นโลหิตใหญ่ให้โลหิตพุ่งไปเข้าปากเทวรูปร่างร้ายซึ่งมีหัวกะโหลกคนเป็นสังวาลคล้องคอ”

รามเกียรติ์น่ะมีหลายตอน เช่นตอนกำเนิดหนุมาน หนุมานไปซุกซนหักไม้ในสวนของท้าวเธอ จึงถูกสาปให้กำลังหดไปกึ่งหนึ่ง เมื่อหนุมานทูลขอ พระอุมาก็ว่าถอนคำสาปไม่ได้ แต่ก็ให้พรใหม่ว่า

เมื่อนั้น                              องค์พระอุมาโฉมศรี
จึงมีเทวราชวาที                 ว่าเหวยกระบี่ผู้ศักดา
อันคำของกูประกาศิต          ดั่งเหล็กเพชรลิขิตแผ่นผา
ไม่รู้ที่จะคืนวาจา                  แต่ว่าจะให้พรไป
เมื่อใดพระทรงบัลลังก์นาค    เสด็จจากเกษียรสมุทรใหญ่
มาเป็นพระรามเรืองชัย         ได้ลูบหลังจนหางวานร
จึงพ้นคำกูสาปสรรค์            กำลังนั้นคงคืนดั่งก่อน
เอ็งอย่าทุกขาอาวรณ์           วานรจงเป็นสวัสดี

นางมณโฑนั้นก็เกิดจากกบ และเคยอยู่กับพระอุมา ได้เรียนรู้พิธีสัญชีพหุงน้ำทิพย์พรมศพให้คืนชีวิตจากพระอุมา ต่อมานางมณโฑตกเป็นเมียทศกัณฐ์ เพราะทศกัณฐ์ยกเขาไกรลาสที่ทรุดได้ ทศกัณฑ์เล่นขอพระอุมาเป็นชายาแต่แตะต้องไม่ได้ ต้องให้พระอุมานั่งบนหัวไป พระนารายณ์แปลงแนะนำทศกัณฐ์ให้ไปเปลี่ยนเป็นนางมณโฑ ต่อมาเกิดศึกระหว่างทศกัณฐ์กับพระราม ญาติทศกัณฐ์พากันล้มตาย นางมณโฑจึงเล่าให้ทศกัณฑ์ฟังว่าตนได้พิธีชุบชีวิตจากพระอุมา

“จึงประทานพระมนตร์อันหนึ่ง         ลึกซึ้งสุขุมหนักหนา
ให้ทำตบะกิจวิทยา                        ชื่อว่าสัญชีพพิธี
จะเกิดน้ำทิพย์อันวิเศษ                  ดั่งอมฤตตรีเนตรรังศรี
บรรดาใครม้วยชีวี                         รดด้วยน้ำนี้ก็เป็นมา
จะใช้สิ่งใดก็ใช้ได้                        เรืองฤทธิไกรแกล้วกล้า
ทั้งรู้เหาะเหินเดินฟ้า                     แต่เจรจาไม่ได้ดังใจคิด
ถึงตายไปวันละร้อยแสน               จะคืนมาเป็นแน่นอักนิษฐ์
จะรื้อเข้าเข่นฆ่าปัจจามิตร             ด้วยอำนาจฤทธิ์วารี”

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ความเป็นมาเกี่ยวกับพระอิศวร

พระศิวะ
“โอมปรเมศวราย ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่างเพชรกล้า ฆ่าภิฆจนนรย”

ผมคัดบทสดุดีพระอิศวรจากโอการแช่งน้ำมาเจิม เพื่อให้เรื่องนี้ขลังสมกับเป็นเรื่องของเทพยิ่งใหญ่ ในรำพันพิลาปของสุนทรภู่ ท่านก็พรรณนาถึงพระอิศวรไว้เหมือนกัน คือ

“ขอเดชะพระสยมบรมนาถ                 เจ้าไกรลาสโลกามหาสถาน
ทรงวัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล    ถือพัดตาลตาไฟประลัยกัลป์
ประกาศิตอิทธิเวทวิเศษประเสริฐ        ให้ตายเกิดสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
ตรัสอย่างไรเป็นไปเหมือนอย่างนั้น     พระโปรดฉันเชิญช่วยอำนวยพร”

เรื่องพระอิศวรหรือพระศิวะนี้ ผมได้เล่าเคล้าๆ ไปในเรื่องเทพองค์อื่นๆ ไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องพระนารายณ์ และพระพรหมาครับ และได้วิสัชนาเสร็จว่าพระนารายณ์ พระพรหมา และพระอิศวร องค์ไหนจะใหญ่ยิ่งกว่ากัน ลองย้อนไปอ่านอีกทีนะครับ

เรื่องของพระอิศวรเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ครับ ผมจะต้องเขียนยาวแน่ ขนาดย่นย่อแล้วก็ตาม จะเขียนสั้นนิดเดียวจบไม่สมกับความยิ่งใหญ่ของเทพองค์นี้หรอก จบองค์นี้แล้ว ก็เหลืออีกองค์เดียวคือ พระอุมา ก็แปลว่าจบกันจริงๆ ละครับ ต่อจากนั้นผู้อ่านกับผมคงหาเวลาคุยกันได้ยากเต็มที

ที่จริงพระอิศวรหรือพระศิวะเป็นเทพยุคหลังพระอินทร์ครับ ในสมัยไตรเพทไม่มีเทพพระอิศวรนี้หรอก แต่จะว่าไป ในสมัยพระเวทก็มีเทพองค์หนึ่งคือ พระรุทระ ต่อมาบรรดาพราหมณ์ก็ลงมติว่า คือพระอิศวรหรือพระศิวะนั่นเอง ฉะนั้นผมก็ต้องบรรยายถึง พระรุทระ กันก่อนละ ในสมัยไตรเพทเทพองค์นี้มีอำนาจพระเดชล้นพ้น มีริมฝีปากงาม ร่างกายแข็งแกร่ง ปราดเปรียด หนุ่มและครองโลกไม่รู้จักชรา กายเป็นสีทองแดง แต่ก็ปรากฎในร่างต่างๆ ได้เสมอ สามารถเปล่งประกายดังแสงตะวัน และว่ากันว่ามีดวงตานับพัน ท้องและคอเป็นสีน้ำเงิน มีหนังเสือเป็นอาภรณ์และอาศัยอยู่ในขุนเขาทางทิศเหนือ มีวชิระหรือสายฟ้าเป็นอาวุธ รวมทั้งธนูและศร พระรุทระนี้นัยว่าดุร้ายจนบางครั้งได้รับฉายาว่าผู้ฆ่าคน บรรดาทวยเทพก็เกรงกลัวอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นในยุคพราหมณะเลยกำหนดให้พระรุทระท่องอยู่ในเขตขุนเขาทางทิศเหนือ ไม่เหมือนเทพองค์อื่นๆ ที่สถิตอยู่ในสวรรค์ อ้อ มิใช่ว่าเทพองค์นี้จะทารุณโหดเหี้ยมไปหมดหรอก เพราะนัยว่าสามารถประทานพรและโชคลาภ โดยเฉพาะด้านการแพทย์แล้ว ท้าวเธอมีตัวยานับพันขนาน จึงกล่าวได้ว่าพระรุทระเป็นใหญ่เหนือการสรรเสริญยัญกรรม และบำบัดโรค

พระรุทระ มาจากมูลศัพท์ว่า “รุท” แปลว่าร้องไห้คร่ำครวญ เหตุไฉนเทพที่สำคัญถึงได้ฉายาอย่างนี้เล่า ก็มีมูลเหตุครับ คือพอเกิดออกมาก็คึกฤทธิ์ทันที คือร้องไห้จ้า พระประชาบดีผู้เป็นเทพบิดรถามเหตุผล ท้าวเธอก็บอกว่าอยากได้ชื่อ พระประชาบดีจึงให้ชื่อว่า พระรุทระ ถึงแม้ได้ชื่อแล้วก็ยังไม่พอใจร้องไห้อีก จนได้ชื่อถึง ๘ ชื่อ คือ ภพ สรรพ ปศุบดี อุครเทพ มหาเทพ รุทระ อีศาน และ อศนี ในชั้นหลังคือชั้นอุปนิษัท (ได้เล่าแทรกเรื่องอุปนิษัทในตอนอื่นแล้วละ) นัยว่าพระรุทระมีความสำคัญขึ้นอีก จึงได้นามอีกว่า มเหศวร

ก็พระรุทระนี้ละครับคือพระอิศวรหรือพระศิวะละ แต่นั่นแหละ บางตำนานก็ว่า พระรุทระนั้นเดิมทีเป็นเทพประจำพายุ ต่อมาเฟื่องฟูขึ้นแล้วแต่แยกออกเป็นสององค์ได้รับขนานนามขึ้นใหม่ องค์หนึ่งคือพระศิวะ เป็นเทพอยู่บนเขา อีกองค์หนึ่งมีนามว่าวิษณุ (นารายณ์) เป็นเทพอยู่ทะเล แต่ว่าเป็นที่ยอมรับกันส่วนมากว่าพระรุทระคือพระอิศวร

ตรงนี้แทรกนิด ที่ผมว่าพระรุทระแสดงความคึกฤทธิ์ขอชื่อนั้น ผมเทียบเล่นๆ กับท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช ครับ เพราะตามประวัติท่านได้ชื่อคึกฤทธิ์ก็เพราะการร้องจ้าเหมือนกัน คือเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีพระพันปีหลวง ได้เสด็จประพาสมณฑลพิษณุโลกพร้อมด้วยเจ้านายในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ หลายพระองค์ ครั้งนั้นพระ
วรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรพได้ปลูกพลับพลารับเสด็จ และได้ทรงอุ้ม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ผู้บุตรเข้าเฝ้าด้วย สมเด็จพระพันปีหลวงทรงรับมาอุ้ม เด็กน้อยคนนั้นได้แสดงฤทธิ์เต้นและร้อง สมเด็จพระพันปีหลวงจึงพระราชทานชื่อให้ว่า คึกฤทธิ์

ครับ  ขอเดินเรื่องต่อไป ตอนที่พระรุทระมาเป็นพระศิวะนี่ต้องชมบรรดาพราหมณ์ครับ เพราะเก่งชมัดสร้างนิยายได้ดีแท้    ได้กล่าวแล้วนะครับว่าในสมัยไตรเพทน่ะไม่มีพระศิวะมีแต่พระรุทระ ทีนี้เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้สร้างพรหมขึ้นเป็นใหญ่แล้ว ก็พยายามหาเหตุผลจูงใจให้เข้าหาพระพรหม งดสร้างเรื่องเทพต่างๆ ทั้งพยายามสร้างเรื่องชนิดที่เรียกว่า “ป้ายสี” เทพอื่นๆ ให้เสื่อมฤทธิ์ มีความประพฤติไม่เหมาะสมจรรยาบรรณเทวดาว่างั้นเถอะ  ซึ่งเป็นเรื่องของเทพที่ประชาชนสร้างขึ้น ไม่ใช่พวกพราหมณ์สร้าง เทพที่ประชาชนสร้างนั้นก็มีหลายเรื่อง เช่น พระวิษณุ พระศิวะ และเจ้าแม่กาลี เป็นต้น แต่พราหมณ์นั้นฉลาดครับเรื่องใดที่ประชาชนเขานับถืออยู่แล้ว ก็ไม่บอกว่าไม่จริงแต่ดึงเข้าไปสู่เทพของตน โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว ตัวอย่างเห็นง่ายๆ ก็คือว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ คือไม่ทำลาย กลับยกย่อง แต่ยกย่องเข้าหาเรื่องของตน ส่วนการป้ายสีนั้นพราหมณ์ก็ไม่กล้าแตะต้องเทพเจ้าดุๆ เหมือนกัน เช่นพระรุทระซึ่งขึ้นชื่อว่าดุร้าย พระวรุณซึ่งมีหน้าที่ตำรวจคอยจับผู้ผิดส่งให้พระยม ก็แปลว่าพราหมณ์กลัวตำรวจ กลัวความตายเหมือนกันละครับ จึงไม่กล้าสร้างนิยายให้เสื่อมโทรมลงหรอก ในสมัยยุคต้นพุทธกาลน่ะประชาชนในอินเดียเขานับถือพระนารายณ์และพระศิวะ พราหมณ์ก็จำเป็นต้องดึงเข้าหาพรหมให้ได้ละครับ ทีนี้ก็พิจารณาว่าพระศิวะและวิษณุอวตารจากเทพองค์ไหนดีถึงจะเหมาะสมกับแคแรกเตอร์ จึงตกลงว่าต้องเป็นพระรุทระเป็นเหมาะที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องปรับปรุงพระรุทระใหม่ให้เกิดจากพรหม แล้วก็สร้างนิยายว่า ครั้งหนึ่งพระพรหมกำลังบำเพ็ญตบะภาวนาอยู่ใกล้กองไฟ ความร้อนทำให้เหงื่อไหล จึงเอาไม้ปาดที่หน้าผาก เผอิญไม้ทิ่มเอาจนโลหิตไหลหยดลงบนกองไฟ เกิดเป็นพระรุทระขึ้น เมื่อปรับปรุงว่าพระรุทระเกิดจากพรหมแล้วก็เลยประกาศว่าได้ยินจากพระพรหมว่า พระศิวะพระวิษณุไม่ใช่ใครหรอก พระรุทระแบ่งภาคออกไปเอง ภาคหนึ่งเป็นพระศิวะรักษาภูเขา อีกภาคหนึ่งเป็นพระวิษณุรักษาทะเล ประชาชนก็ชอบครับ เพราะไม่ได้ทำลายของที่เขานับถือ กลับยกย่องให้สูงขึ้นอีก เหตุนี้แหละที่ถือว่าพระศิวะและพระวิษณุเป็นองค์เดียวกับพระรุทระ แต่ส่วนมากก็หมายถึงพระศิวะองค์เดียวเท่านั้น และเรื่องกำเนิดพระรุทระนี้ก็สับสนเต็มที บ้างก็ว่าพระรุทระเป็นโอรสของพระกัศยปะกับนางสุรภี ถึงอย่างไรก็ตามก็ทำให้เรื่องพระศิวะ พระนารายณ์แตกกอไปมากละครับ

ก็เดินเรื่องพระอิศวรต่อนะครับ คำว่า “อิศวร” แปลว่าพระเป็นเจ้า ตามศาสนาพราหมณ์ถือว่เป็นผู้ทำลาย ผู้ทำให้สูญ แต่ตามหลักศาสนานี้ บรรดาสรรพสัตว์ไม่ตายสูญไปเลย ถือว่าท่องเที่ยวในวัฏสงสาร หมายความว่าตายแล้วเกิดใหม่นั่นแหละ ฉะนั้นการทำลายล้างถือว่าเป็นของดีครับ เหมือนทำให้สะอาดปราศจากมลทินโทษแล้วจึงได้เกิดใหม่ และโดยลักษณะที่ว่านี้ละครับจึงได้เรียกพระผู้เป็นเจ้าผู้บันดาลให้เกิดความสะอาดนี้ว่า พระศิวะ และ พระสังกร นับว่าเป็นมงคลนาม และโดยเหตุที่ล้างแล้วทำให้เกิดขึ้นใหม่เสมอ จึงเรียกว่า พระอิศวร หรือ พระมหาเทพ ส่วนเครื่องหมายแห่งพระอิศวรในหน้าที่ผู้สร้างขึ้นใหม่นั้น คือ พระศิวลึงค์ อันเป็นเครื่องหมายของการเกิด (ผมได้เคยเขียนเรื่องศิวลึงค์เป็นเรื่องต่างหากไปแล้วคุณต่วยรวมเล่มอยู่ในหนังสือประสาพาสำราญครับ)

ขอสรุปคอนเส็บต์ตรงนี้สักนิดเถอะ คือ ถือว่า
๑. พระพรหมา มีหน้าที่สร้างโลก
๒. พระวิษณุ มีหน้าที่บริหารโลก
๓. พระศิวะ มีหน้าที่ทำลายโลกตามกาละที่หมดยุคหนึ่งๆ เพื่อปรับปรุงให้โลกสะอาดปราศจากมลทิน

ตรงนี้มีนักปราชญ์ทางศาสนาให้แง่คิดว่าพอจะเข้ากับพุทธศาสนาได้เหมือนกันแหละ เป็นในแง่ธรรมาธิษฐานคือโลกเรานี้มีอาการปรากฎอยู่เป็นสามขณะด้วยกัน คือ อุปปาทขณะ คือระยะกาลที่เกิดขึ้น ซึ่งเทียบกับพราหมณ์ก็คือพรหมาผู้สร้างโลก  ฐิตขณะ คือระยะกาลที่โลกดำรงอยู่ ก็เทียบได้กับพระวิษณุผู้บริหารโลก ภังคขณะ คือระยะกาลที่สลายของโลก เทียบเป็นรูปธรรมก็คือ พระศิวะผู้ทำลายโลก เห็นไหมล่ะครับ พุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ก็มีอะไรที่พอจะเทียบๆ กันได้มากเชียวแหละ

จะว่าไปพระอิศวรหรือศิวะไม่ใช่จะทำลายทีเดียวหรอก  ท้าวเธอประสาทพรให้ใครต่อใครได้ง่ายชะมัด จนเทวดาหรือยักษ์ที่ได้พรจากพระอิศวรพากันเหลิงอำนาจ ประพฤติตนไม่ดี (ซึ่งก็เหมือนมนุษย์เรายามใส่หัวโขนละ) เมื่อเป็นเช่นนี้พระอิศวรก็ต้องเชิญพระนารายณ์ไปปราบ พระนารายณ์ก็ต้องอวตารไปปราบไม่รู้ว่ากี่หนกี่ครา เช่น ปราบหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน ไปปราบนนทุกที่ได้พรนิ้วเพชร พระนารายณ์อวตารเป็นอัปสรหลอกให้นนทุกรำตาม นนทุกรำเพลินหลงเอานิ้วชี้ตัวเองก็เลยตาย และที่ปราบยากนักหนาก็คือปางนรสิงหาวตาร คือ อรันตอสุ ได้พรว่าไม่ให้ตายด้วยมือเทวดา มนุษย์ นาค ครุฑ ฤาษี อสูร ปิศาจ ไม่ให้ตายทั้งนอกเมืองในเมือง ไม่ให้ตายในเวลากลางวันกลางคืน พระนารายณ์อวตารเป็นนรสิงห์ไปปราบ ฆ่าด้วยกรงเล็บที่ประตูเมืองในเวลาสนธยา และก็มีผู้ได้รับพรจนพระนารายณ์ปราบไม่ได้ก็มี เช่น ตรีบูรัมในเรื่องรามเกียรติ์ พระอิศวรต้องปราบด้วยดวงตาที่สาม ในรามเกียรติ์มีว่า

“อันตรีบูรัมขุนมาร               สังหารด้วยศรแล้วไม่ได้
จำจะฆ่าเสียด้วยตาไฟ         ให้ม้วยไหม้เป็นภัศมธุลีกัลป์
ตรัสแล้วจับกล้องมณี           กวัดแกว่งรัศมีฉายฉัน
ส่องเนตรจำเพาะกุมภัณฑ์    ด้วยฤทธิ์อันชัยชาญ
บัดนี้                                  ……………………………
ทั้งตรีบูรัมขุนมาร                 ก็วายปราณด้วยพระศุลี”

บางเรื่องพระอิศวรให้พรแล้ว ต้องทำให้พระองค์เองวิ่งหนี คือครั้งหนึ่งพระอิศวรประทานพรให้แก่พฤกาสูรอันเป็นลูกของพระกัศยปะ โดยให้พฤกาสูรมีมือหนึ่งที่มีฤทธิ์เดชดุจเพลิงกรด เมื่อแตะบนหัวใครผู้นั้นจะไหม้เป็นจุล พฤกาสูรสงสัยว่าพรนั้นจะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ อยากลองของดู แต่พิเรนจำเพาะจะลองของกับผู้ให้พร พระอิศวรก็เลยต้องเผ่น พฤกาสูรก็วิ่งไล่ตาม ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องแปลงเป็นมาณพแล้วก็บอกว่า พฤกาสูรนี่โง่จริงๆ พรนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร อยากลองก็ลองกับตนเองได้นี่นา พฤกาสูรเพื่อนก็งี่เง่าจริงๆ เหมือนกัน ก็ทดลองกับตนเองเอามือแตะบนหัวของตน ได้ผลครับ คือตายสนิท

ส่วนกำเนิดพระอิศวรที่แตกกอไปนั้น ก็ทำนองเดียวกันกับเรื่องพระพรหม พระนารายณ์นั่นแหละ สุดแล้วแต่ใครจะนับถือใครเป็นใหญ่ก็สร้างนิยายขึ้น อย่างเรื่องพระอิศวรนี้กล่าวว่า เมื่อไฟบรรลัยกัลป์ไหม้โลกแล้ว อากาสยังว่างเปล่าอยู่ สารพัดมาประชุมกันเข้าบังเกิดเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งมีนามว่า “พระปรเมศวร” จากนั้นพระปรเมศวร ก็สร้างพระพรหมา พระวิษณุช่วยกันสร้างโลก พระปรเมศวรองค์นี้ก็คือพระอิศวรนั่นเอง ตอนนี้แหละพระอิศวรได้นามอีกว่า พระสวยัมภู พระสยมภู สามภู แปลว่าเกิดขึ้นเอง นี่เป็นเรื่องของพวกที่นับถือพระศิวะนะครับ เรียกว่า ไศวนิกาย หรือไศพยนิกาย ยิ่งไปกว่านั้นบ้างก็ว่าสร้างพระอุมาตอนนี้ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างโลก สร้างมนุษย์

เรื่องความสับสนในเรื่องบรรเทวดาทั้งหลายที่ผมเล่าๆ มาจนเกือบจะจบครบองค์นี่นะ เป็นธรรมเนียมของศาสนาพราหมณ์เขาละ ทั้งนี้เพราะศาสนาพราหรมณ์เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดก็ว่าได้และมีความสุขุมคัมภีรภาพและเปลี่ยนแปลงมาหลายทอด ศาสดาของศาสนาพราหมณ์ก็ไม่ใช่มีองค์เดียวเหมือนศาสนาอื่นๆ และไม่มีหัวหน้าเป็นมนุษย์ แต่เป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ การควบคุมให้เป็นองค์คณะรักษาความถูกต้องจึงทำได้ยาก คัมภีร์พระเวทอันถือเป็นหลัก และเป็นคัมภีร์เก่าแก่ก่อนพุทธศาสนาถึงพันปีขึ้นไป ก็ไม่มีการสังคายนา แม้จะมีการรวบรวมก็เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๕๐ นับว่าห่างจากของเดิมมาก ความคลาดเคลื่อนก็ย่อมจะมี และคัมภีร์นี้ก็ถือเป็นสมบัติของพราหมณ์ ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ปิดบัง จะมอบให้แก่ครอบครัวผู้สืบสายเท่านั้น ผิดกับศาสนาพุทธซึ่งมีพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ ไม่ปกปิด มีคณะสงฆ์คอยควบคุมและถ้ามีการขัดแย้งกันก็มีการวินิจฉัยด้วยวิธีการสังคายนา ด้วยเหตุนี้ละครับ เรื่องเทวดาทั้งหลายจึงเกิดความสับสน มีนักปราชญ์ทางศาสนาคือหลวงวิจิตรวาทการ ได้ให้ข้อสังเกตพอจะย่นย่อได้ดังนี้

๑. ในสมัยอริยกะแท้ เทพเจ้าทั้งหลายมีขึ้นเอง หรืออย่างน้อยก็ไม่มีใครตั้งปัญหาถามว่า เทพเจ้าองค์นั้นเป็นลูกใคร หรือใครสร้างเพราะถือว่าเป็นเทพเจ้าแล้ว ก็พอจะมีสมรรถภาพเกิดขึ้นเองได้ แม้ความเชื่อของชนเจ้าของถิ่นเดิมของอินเดียก็ไม่ปรากฎว่า ต้องมีใครสร้างเทพเจ้า ไม่มีความจำเป็นต้องรู้ว่าเทพเจ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ถือว่ามีอยู่แล้ว ก็ควรเคารพบูชาต่อไป

๒. มาถึงสมัยพระเวท การคิดค้นหาเหตุผลได้มีขึ้น ก็เริ่มคิดกันว่าสิ่งนั้นมาจากอะไร หรือเกิดขึ้นได้อย่างไร พวกพราหมณ์ก็ต้องทำความพอใจให้แก่ความอยากรู้เรื่องที่ใครเป็นลูกใคร หรือใครเกิดจากอะไร จึงได้มีขึ้นในสมัยพระเวท แต่ก็เป็นความพยายามในขั้นต้น ซึ่งเป็นไปในลักษณะนามธรรม เช่นพระอินทร์เป็นลูกพระสัจจะคือเกิดจากความจริง

๓. วิธีการในสมัยพระเวท ที่เป็นไปในลักษณะนามธรรมนั้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจของคนนัก ในสมัยพระเวทนี้เองจึงต้องอธิบายให้กระจ่างเข้าไปอีก คือเกิดพระปชาบดีหรือพระเทพบิดรเป็นผู้ให้กำเนิด และให้กำเนิดอย่างมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่เนรมิต คือมีชายา แล้วให้ลูก

๔. ต่อมาก็เลยเกิดตำนานมากมาย ตำนานเกี่ยวกับชาติกำเนิดของเทพเจ้าองค์นี้เป็นลูกขององค์นั้น และตำนานตางๆ นี้ไม่มีใครจะควบคุมให้ลงรอยกันได้ จึงเกิดความสับสนมาก บางตำนานก็ว่าเทพองค์นั้นเป็นลูกขององค์นั้น อีกตำนานหนึ่งก็แย้งกันเช่น เรื่องพระทักษะเป็นลูกพระอทิติ อีกตำนานหนึ่งว่า พระอทิติเป็นลูกพระทักษะ เป็นต้น

๕. เมื่อเกิดความขัดแย้งกันมากเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่พราหมณ์เองก็จำไม่ได้ เมื่อลัทธิศาสนาพราหมณ์ได้กลายมาเป็นศาสนาฮินดูและเกิดพระอิศวรในลัทธิฮินดู ก็เลยเหมาเทวดาหลายองค์ เช่น ดาวนพเคราะห์ต่างๆ ซึ่งเป็นเทพในสมัยพระเวทมาแล้วก็ให้พระอิศวรเป็นผู้สร้างเสียเลย

นี่แหละครับเป็นเหตุผลของความยุ่งยาก และเป็นเรื่องของความสุขุมคัมภีรภาพละ
ตอนนี้จะว่าถึงนามพระอิศวรละครับพระอิศวรน่ะมีนามนับพันเชียวนะ และส่วนมากก็มีเรื่องนิยายประกอบด้วย อย่างที่เล่าข้างต้นว่าพระอิศวรเป็นผู้ทำลายน่ะ ก็ได้นามว่า “พระหระ” แปลว่าพระผู้ทำลาย

ตอนที่เชิญพระแม่คงคาจากสวรรค์ อย่างที่ผมได้เล่าไว้ในเรื่อง คงคาเทวี แล้ว พระคงคามีน้ำโหเสด็จจากสวรรค์อย่างเชียวโกรก พระอิศวรเกรงว่าน้ำจะท่วมโลก ก็ทรงคลีมวยพระเกศารับพระแม่คงคาไว้ แล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำลงมา ตอนนี้พระอิศวรได้นามอีกว่า คงคาธร แปลว่า ทรงไว้ซึ่งพระคงคา และนัยว่าพระอิศวรได้พระคงคาเป็นชายา จึงได้นามอีกว่า คงคาสิริ แปลว่าสามีพระคงคา

ตอนพระจันทร์ไปลักนางดาราชายาพระพฤหัสบดี จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามเทวดา อย่างที่ผมเล่าไว้ในเรื่อง พระจันทร์ แล้ว พระจันทร์ถูกเทวดามติไม่ให้เข้าเทวสมาคม พระอิศวรสงสารพระจันทร์เพราะพระอุมาขอร้อง (พระอิศวรเกรงใจมเหสีหลายเรื่องครับ) จึงเอาพระจันทร์ติดไว้เหนือพระนลาฏ(หน้าผาก) เข้าเทวสมาคม ตอนนี้พระอิศวรได้นามอีกว่า “จันทรเศขร, ศศิเศขร และ จันทรจุฑา” แปลเอาความว่า มีพระจันทร์เป็นปิ่น บางตำนานก็ว่าพระอิศวรเอาพระจันทร์ติดไว้ที่พระเมาลี (ยอด,ผมจุก) จึงได้นามว่า “จันทรเมาลี” มีพระจันทร์ที่มวยผม บางตนานว่าเอาพระจันทร์ติดไว้ที่พระนลาฏ ล้อมตาที่สามของพระองค์จึงได้นามว่า “จันทรเษกระ” แปลว่าผู้มีพระจันทร์อยู่บนนลาฏ แต่เรื่องกำเนิดพระจันทร์นั้นบางตำนานก็ว่าพระจันทร์เกิดจากกวนน้ำอมฤต แล้วพระอิศวรก็เอาเป็นปิ่นทันทีเป็นของที่ระลึกว่างั้นเถอะ ในลิลิตนารายณ์สิบปาง มีว่า

ที่ห้าขึ้นจากน้ำ        คือจันทร์
รังสิสกาวเย็น          เนตรไซร้
องค์พระศิวะพลัน     ฉวยฉับ
ทรงทัดแทนปิ่นไว้    แทบศีร์

บางเรื่องก็เนื่องจากพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะที่เรียกว่าไศวนิกายน่ะ ได้พยายามสร้างนิยายให้พระอิศวรใหญ่ยิ่งสุดยอด คือมีเรื่องว่าครั้งหนึ่งพระนารายณ์พระพรหมาเหาะไปเฝ้าพระอิศวร แต่เข้าไม่ได้ เพราะมีศิวลึงค์ตั้งขวางอยู่ พระพรหมาและพระนารายณ์ก็ทำพิธีบำเพ็ญตบะ พระอิศวรก็ทรงปรากฎกายให้เห็น ซ้ำยังมีพระทัยดีให้พรตามที่ขออีก พระพรหมาขอพรให้พระศิวะเป็นบุตร พระอิศวรเห็นว่าขอมากเกิดไปซะแล้ว เลยสาปให้พระพรหมาไม่ให้มีใครนับถืออีก คือเสื่อมจากความศรัทธาของประชาชน นี่แหละครับเป็นผลให้ประชาชนในอินเดียนับถือพระพรหมาน้อยมาก ส่วนพระนารายณ์ขอพรดีหน่อย คือขอให้ตนเองเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระอิศวรเสมอไปเป็นนิจนิรันดร พระอิศวรก็ชอบซิครับ เลยให้พรว่าพระนารายณ์สามารถอวตารแบ่งภาคเป็นพระอุมา เรื่องนี้ดูจะสร้างนิยายเพลินไปจริงๆ

อีกเรื่องหนึ่ง นัยว่าพระอิศวรเล่าให้พระอุมาฟังว่า เมื่อโลกไหม้ด้วยไฟบรรลัยกัลป์หมดแล้ว ก็มีแต่น้ำทั่วไป พระอิศวรได้กรีดพระเพลาให้โลหิตหยดลงในน้ำเพียงหยดหนึ่ง หยดเดียวจริงๆ หยดโลหิตนั้นก็กลายเป็นไข่ ไข่แตกเป็น ๒ ซีก ซีกหนึ่งเป็นสวรรค์ อีกซีกเป็นโลก ในไข่นั้นมีพระปิตามหะ (แปลว่าพ่อใหญ่เป็นนามหนึ่งของพระพรหมา) เกิดขึ้น พระปิตามหะนี้แหละสร้างมนุษย์สร้างโลก ภายหลังพระพรหมามีปมโด่งมากไป ถือว่าตนเองเป็นผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ พระอิศวรก็เลยตัดเศียรเสีย ตัดไปแล้วก็เสียใจครับ เลยออกบำเพ็ญพรตเป็นโยคีอยู่ตามป่าช้าจนได้นามต่างๆ บางตำนานก็ว่าไม่ใช่หรอก เป็นเรื่องของพระอิศวรเป็นมหาโยคี มุ่งจิตเป็นพราหมณ์ที่ใฝ่ทางสมถะภาวนาและญาณสมาธิ อันเป็นยอดแห่งธรรมปัญญา ก็ในเรื่องที่พระอิศวรเป็นโยคีนี่แหละ จึงมีนามต่างๆ เช่น ทิคัมพร (มีท้องฟ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม คือนุ่งลมห่มฟ้า คือเปลือยกาย) ธุรชฏี (มุ่นผมอันรุงรัง) และเหตุที่พระอิศวรชอบอยู่ตามป่าช้า และมีภูติผีเป็นบริวารจึงได้นามว่า “ภูเตศวร” (เป็นใหญ่ในหมู่ภูต) ทรงประคำทำด้วยหัวกะโหลกคน พระอิศวรจึงได้นามว่า  กปาลมาลิน (มีกะโหลกคนเป็นเครื่องประดับ) และ มุณฑมาลา (มีประคำเป็นหัวกะโหลก)

ตอนเทวดาร่วมือกับยักษ์กวนน้ำอมฤต ซึ่งได้เล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว พระยานาคคายพิษ พระอิศวรมีพระทัยกรุณา เลยดื่มน้ำพิษนั้นก่อนเลยทำให้คอไหม้เป็นสีเขียว จึงได้นามตอนนี้ว่า “นิลกัณฐ์” (คอเขียว) และ ศยามกัณฐ์ (คอดำ) ก็อย่างในเรื่องกามนิตวาสิฏฐีกล่าวเป็นคติดีว่า “ท่านดสมทัตต์ ท่านเข้าใจผิดถนัด ความรักของฉันจะเปรียบด้วยสีดอกไม้ไรๆ ไม่ได้ เพราะฉันได้ยินกล่าวกันว่า ความรักที่แท้จริงไม่ใช่สีแดง ย่อมมีสีดำดั่งสีนิลเหมือนดั่งสีศอพระศิวะเมื่อทรงดื่มพิษร้ายเพื่อรักษาโลกไว้ให้พ้นภัย ความรักแท้จริงต้องสามารถต้านทานพิษแห่งชีวิต และต้องเต็มใจยอมลิ้มรสที่ขมขื่นที่สุด เพื่อเสียสละให้ผู้ที่เรารักคงชีพอยู่ และเพราะด้วยความขมขื่นที่สุดนี้ ความรักย่อมเต็มใจเลือกเอาสีนิล คือความขื่นขมไว้ ดีกว่าจะเลือกเอาสีอื่น คือมุ่งแต่จะหาความบันเทิงสุขอย่างเดียว”

ฮั่นนั่นแน่ ถึงแม้จะเขียนเรื่องเทวดาอันเป็นเรื่องขลัง ผมก็ยังแทรกเรื่องรักหวานอารมณ์ได้เหมือนกัน

บางนามก็น่ารู้ เพราะเกี่ยวข้องกับประเพณีของไทยที่รับจากพราหมร์ครับ นามนี้คือพระนเรศวร์ (เป็นใหญ่ในหมู่คน) คือพิธีโล้ชิงช้าน่ะพราหมณ์เขาถือว่า เป็นการเปิดประตูสวรรค์ให้พระอิศวรเสด็จลงมาเยียมโลกปีละครั้ง ท้าวโลกบาลมาโล้ชิงช้าถวาย จึงได้มีพระยายืนชิงช้า สมมุติเป็นพระอิศวรเสด็จมาทอดพระเนตรทุกข์สุขของประชากรละ หลังจากนี้ก็มี พิธี ตรียัมปวาย (แห่พระอิศวร) เป็นการส่งเสด็จกลับแล้วก็มีพิธี ตรีปวาย (แห่พระนารายณ์) ซึ่งถือเป็นของคู่กันครับ พระอิศวรกระทำตอนเดือนหงาย พระนารายณ์กระทำในตอนเดือนมืด จึงมีคำกล่าวว่า “แห่พระนเรศวร์ เดือนหงาย แห่นารายณ์เดือนมืด” พระนเรศวร์นี้ก็เป็นอีกนามหนึ่งของพระอิศวร

ลักษณะพระอิศวรนั้น ในตอนแรกผมก็เจิมด้วยคำประพันธ์ไว้แล้วนะ จะขอเสริมอีก ในวรรณคดีเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชน่ะ ผมได้คัดมาไว้ในตอนอื่นแล้ว ตอนนี้ก็จะคัดจากลิลิตศรีวิชัยชาดก ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งดูๆ ก็เลียนของเก่าอยู่เหมือนกัน ที่คัดมาจะได้เห็นลีลาความไพเราะอันแตกต่างกันไปนะ มีดังนี้ครับ เป็นตอนชมโฉมพระศรีวิชัย เป็นร่ายครับ

“พิศภูธรงามถงาด เหนือรถราชเรียบพล ดูดำกลแก่เนตร เหตุใดหนอมาสรวงสรรพปักปวงสมโภช เสียงคฤโฆสเนียรนาท ฤาจอมไกรลาสอิศโร ไยบมีโคระวินทรง มหาภุชงค์สังวาลเวศ ฤาท้าวกัมเลศคัลไลย ไยบมีราชวิหคหงษ์ ฤาพระหริวงษ์วรสังข์ บมีบัลลังก์ภุชเคนท์ ฤาจอมสุเรนทรอำมเรศ ไยมิประเวศไอยรา ฯลฯ”

หนังสือจำพวก ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย มีอยู่หลายสำนวนที่สดุดีเทพเจ้าเช่นสำนวนหนึ่งเป็นกาพย์ฉบัง ว่า

“ไหว้องค์มหากาลเทวินทร์          สามเนตรอนิล
สกนธรัตทัดจันทร์
สังวาลวาสุกรีสร้อยกัณฐ์             เศียรภูตกรบัณ-
เฑาะว์ตรีและบ่วงบาศผจง
อาจมล้างสร้างสาปสรรพงศ์        ครองพรตพระทรง
อุศุภอาสน์อวยพร”
นี่บ่งลักษณะพระอิศวรได้ดีแท้      ส่วนคำฉันท์ดุษฎี

กล่อมช้าง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมจะต้องสดุดีเทพอิศวร ผมขอคัดสำนวนของกรมศรีสุเรนทร์

“อัญขยมบังคมเทวา          อาทิไทธาดา
สถิตย์บัลลังก์หลังหงษ์
พระพิศณุศักดิ์สุรทรง         ครุธราชยรรยง
ด้วยนิลวัตถ์รัศมี
ทัดจันทรจุธามาศมณี         สังวาลวาสุกรี
แลขี่อุศุภถึกเถลิง
ข้าขอเคารพพระเพลิง        ทรงแรดแรงเริง
รเห็จเวหาผาดผัง
ทั้งสี่เทวราชผู้รัง-               สฤษดิช้างพลายพัง
พิเศษประเภทหลายพรรค์”

ที่ผมคัดคำฉันท์ดุษฎีกล่อมช้างนี้ ไม่ใช่คัดมาเล่นๆ หรอกครับ เกี่ยวข้องกับพระอิศวรอยู่เหมือนกัน ไม่งั้นผมจะยอมรื้อหนังสือเก่าๆ อย่างนี้หรือ แล้วเจตนาของผมก็ต้องการแทรกเกร็ดวรรณคดีด้วยครับ

เทพข้างต้นนั้น หมายถึงพระพรหม พระวิษณุ พระอิศวร และพระเพลิง(อัคนี) ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดช้างในโลก ฉะนั้น เวลาแต่งคำฉันท์ดุษฎีกล่อมช้างก็ต้องสดุดีเทพนี้ก่อน เป็นธรรมเนียมครับ ตำนานการกำเนิดช้างนั้นตามตำราคชลักษณ์กล่าวไว้ซึ่งขอย่นย่อว่า พระนารายณ์เสด็จบรรทมในเกษียรสมุทร แล้วกระทำอธิษฐานด้วยเทวฤทธิ์เกิดดอกบัวผุดขึ้นในอุทร มีกลีบ ๘ กลีบ มีเกสร ๑๗๓ เกสร พระนารายณ์ได้นำดอกบัวนั้นไปถวายพระอิศวร พระอิศวรก็แบ่งดอกบัวนั้นเป็น ๔ ส่วน ส่วนหนึ่ง ๘ เกสรเป็นของพระองค์ ส่วนหนึ่ง ๒๔ เกสรให้แก่พระพรหม ส่วนหนึ่ง ๘ เกสรให้พระนารายณ์ ส่วนหนึ่ง ๑๓๓ เกสรให้แก่พระอัคนีหรือพระเพลิง พระเป็นเจ้าต่างก็สร้างช้างขึ้นเป็น ๔ ตระกูล มีดังนี้
๑. อิศวรพงศ์  เป็นช้างที่พระอิศวรสร้างขึ้น เป็นช้างที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ สีดำสนิท ผิวพรรณเกลี้ยงละเอียด หน้าใหญ่ โขมดสูง น้ำเต้ากลม งวงเรียว งาทั้งสองใหญ่ งอนขึ้นเสมอกัน ปากรีแหลมรูปเป็นหอยสังข์ คอกลมทรวงอกผึ่งผาย เท้าใหญ่ หลังราวกับธนูศร หูใหญ่และอ่อนนุ่ม ยามเดินเป็นสง่า
๒. พรหมพงศ์  เป็นช้างที่พระพรหมสร้างขึ้น จัดอยู่ในวรรณะพราหมณ์ หนังอ่อน ขนละเอียด หน้าใหญ่ ท้ายต่ำ โขมดคิ้วสูง งวงเรียวรัดสมส่วน ตัวมีสีดังดอกจำปา
๓. วิษณุพงศ์  เป็นช้างที่พระนารายณ์สร้าง อยู่ในวรรณะแพศย์ หนังหนา ขนเกรียน อกใหญ่ หาง งวง และหน้ายาวใหญ่ ตาขุ่น ขนตาใหญ่ หลังราบ
๔. อัคนิพงศ์  เป็นช้างที่พระอัคนีสร้างขึ้น อยู่ในวรรณศูทร ผิวเนื้อแข็งกระด้าง ขนหยาบ หน้าเป็นกระ แดงดังแววมยุรา งาและหลังแดง สีกายไม่ดำสนิท ตาสีน้ำเงิน

จากช้างตระกูลเหล่านี้ยังแย่งออกเป็นช้างอีกหลายชนิดละครับ เช่นช้างโคบุตร สังขทันต์ คันทรง อำนวยพงศ์ สุประดิษฐ์ ฯลฯ อย่างในเสภาขุนช้างขุนแผน มีว่า
“นำโขลงช้างคลาเคลื่อนมากล้ำกราย
ทั้งพังพลายเนียมนิลดูระหง
โคบุตรสังขทันต์คันทรง
อำนวนพงศ์สุประดิษฐ์ตระหว่านงาม”

ว่าเฉพาะชนิดเศียรนะครับ คือช้าง สุประดิษฐ์ ซึ่งตำราช้างของกรมขุนศิริคชสังกาศแต่งไว้ดังนี้
“สุประดิษฐ์พิศภาคพื้น          สนธยา
ปัทมราชบัวแดงปรา-            กฎแท้
ขนดุจอุรพานา-                   คาราช
งาซื่อบริสุทธิ์แล้                   เล่ห์ผ้าขาวผจง”

นี่ละครับ เมื่อได้ช้างเผือกมา ก็ต้องมีพิธีกล่อมช้างซึ่งก็แต่งฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง และต้องสดุดีพระเป็นเจ้าทั้ง ๔ อย่างที่ว่าไง ผมก็ต้องแทรกเกร็ดอีกนั่นแหละ คำฉันท์กล่อมช้างนั้น โดยทั่วไปความหนึ่งๆ แบ่งเป็นหลายตอน ตอนหนึ่งๆ เรียกว่า “ลา” โดยทั่วไปก็มี ๔ ลา คือลาที่ ๑ ขอพร ลาที่ ๒ ลาไพร ลาที่ ๓ ชมเมือง ลาที่ ๔ สอนช้าง มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีกาพย์ขับไม้เพิ่มขึ้นอีก แบ่งเป็น ๕ ตอน เรียกว่า “แผด” (อ่านว่า ผะแด เป็นภาษาเขมรแปลว่าคำ) แผดที่ ๑ ขอพร แผดที่ ๒ ลาไพร แผดที่ ๓ ชมเมือง แผดที่ ๔ สอนช้าง และแผดที่ ๕ ชมคชาภรณ์ คำฉันท์ลาที่ ๑ บางทีก็เรียกว่า ดุษฎีอวยสังเวย เป็นคำนมัสการเทพเจ้าผู้สร้างช้าง บางทีก็มีคำพรรณนาขอช้างจากเทพเจ้าเหล่านั้นแทรกมาอีกลาหนึ่งเรียกว่า สดุดีขอช้าง แต่โดยมากก็พรรณนารวมอยู่ในตอนเดียวกันนั่นแหละ ลาที่ ๒ ที่เรียกว่าลาไพรนั้นมักจะขึ้นต้นว่า “อ้าพ่ออย่า” หรือ “อ้าแม่อย่า” แล้วแต่จะเป็นช้างพลายหรือช้างพัง ความก็ทำนองว่าอย่ามัวคิดคำนึงถึงความเป็นอยู่ในป่าเลย ลาที่สามที่เรียกว่า ชมเมือง ก็มีความทำนองชมว่าเมืองเป็นสถานที่น่าอยู่และสบายกว่าในป่า ลาที่ ๔ สอนช้างนั้นก็มีความว่า อย่าดุร้าย ส่วนลาที่ ๕ คชาภรณ์นั้น ก็มีความพรรณาชมเครื่องประดับช้าง

ท่านผู้อ่านครับ หรือแฟนานุแฟขอรับ ผมจบเรื่องพระอิศวรใน ๒ ตอน ไม่ได้จริงๆ พระเดชพระคุณโปรดเห็นใจเถอะ พระอิศวรเป็นเทพยิ่งใหญ่นะครับ จึงมีเกร็ดฝอยมากมาย ผมต้องอ่านจากหนังสือต่างๆ กว่า ๒๐ เล่ม แล้วก็ปะติดปะต่อกันจนสมองจะเละแล้ว ใช้เวลาเขียนเรื่องนี้เป็นเดือนครับ อยากแทรกเกร็ดให้ผู้อ่านสนุกอย่าว่าอะไรเลย ทนอ่านและอ่านทนเอานิดเหอะ แลขอรับรองว่าบับซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องพระอิศวรจะมีเกร็ดเต็มไปหมด เหอะน่าไหนๆ ก็ถึงพระอิศวรแล้ว เหลือพระอุมาเดียวเท่านั้นก็จบแล้ว ที่จริงในตอนที่แล้ว ผมแทรก พระรุทระ เข้าไปด้วยก็เหมือนกับผมเล่า ๒ องค์นั่นแหละ

ว่าโดยลักษณะพระอิศวรนั้น มีสีกายขาว (ในยัชรุเวชว่าสีกายแดง อาถรรพณเวทว่าสีกายดำ) มี ๓ ตา ตาที่ ๓ อยู่ที่หน้าผาก ทำเป็นพระจันทร์เสี้ยว นี่แหละพระอิศวรจึงมีนามอีกว่า พระตรีโลจนะ (มีตา ๓ ตา) บางตำนานก็ว่ามีตาถึงพันตา (อ้อ ตาที่ ๓ ของพระอิศวรนี้นับว่าสำคัญมากนะครับ นักปราชญ์สันนิษฐานกันว่า ทางพุทธศาสนานำมาเป็น อุณาโลม แปลว่าขนระหว่างคิ้ว ดังที่เห็นปรากฎในพระนลาฏของพระพุทธรูป และลักษณะเช่นนี้ท่านจัดว่าเป็นลักษณะหนึ่งของมหาบุรุษซึ่งมีด้วยกัน ๓๒ ประการ ดังความที่ว่า “กมุ กนตเร ชาตา อุณณาโลมา” แปลว่ามีอุณาโลมเกิดขึ้นระหว่างคิ้ว ที่หมวกทหารบกก็มีอุณาโลมแสดงว่าทหารบกเป็นมหาบุรุษน่ะซีเล่า ส่วนผู้หญิงอินเดียแต้มสีแดงที่หน้าผาก ก็คงมีนัยมาจากตาที่สามของพระอิศวรนี้เหมือนกัน) บางทีก็ทำเป็นพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่เหนือตาที่ ๓ เกสามุ่นเป็นชฎารุงรัง มีประคำกะโหลกคนคล้องคอ มีสังวาลเป็นงู ศอสีนิล นุ่งหนังเสือ หนังช้างหรือหนังกวาง มี ๓ กร บางทีก็ว่ามี ๔ กร หรือ ๘ ก็มี มีพักตร์เดียว แต่บางทีก็ว่ามี ๕ พักตร์ จึงได้นามอีกว่า “ปัญจานนะ” (มี ๕ พักตร์ป มีอาวุธคือ ตรีศูล ชื่อ ปินาก ธนู ชื่อ อชคพ คทา ยอดหัวกะโหลก ชือ ชัฎวางค์ บางทีก็ถือบาศบ้างบัณเฑาะว์บ้าง สังข์บ้าง ปกติประทับอยู่บนเขาไกรลาส ที่เรียกกันว่า ผาเผือก ต่างทีชอบอยู่ตามสุสานป่าช้า เมื่อจะไปไหนก็ทรงโคเผือกชื่อ อุสุภราช บางทีเขียนอุศุภราช โคนี้ในรามเกียรติ์พรรณาลักษณะไว้ว่า

“โคอุศุภราช                       ร้ายกาจรณรงค์สูงใหญ่
สี่เท้าด่างผ่องยองใย           หางขาวอำไพโสภา
หน้าเด่นดังใบโพธิ์ทอง       ขับคล่องว่องไวใจกล้า”

ว่าถึงโคอุศุภราชนี้ บางทีก็เรียกว่า นนทิราช บ้าง พระนนทิน บ้าง นนทิการ บ้าง โคนี้ โดยปรกติก็เป็นเทวดาองค์หนึ่ง บ้างก็ว่าเป็นยักษ์ ถือว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์จตุบาท โดยปรกติก็มีรูปเป็นภูต มีวิมาน ณ เขาไกรลาส เมื่อพระอิศวรจะเสด็จไปไหน พระนนทิราชก็จะแปลงเป็นโค มีบางตำนานว่า เดิมทีเป็นยักษ์มีชื่อว่า พาณ จะถูกพระนารายณ์ฆ่า พระอิศวรขอไว้ให้เป็นผู้เฝ้าประตูเขาไกรลาส มีหน้าที่คล้ายกรมวังของพระอิศวร ก็เติมเกร็ดอีกละ เรื่องโคเผือกนี้เกี่ยวข้องกับตราใหญ่ประจำกระทรวงวัง แต่เดิมเรียกว่า “พระมหาเทพทรงพระนนทิการ” (มหาเทพคือพระอิศวร) ทำเป็นรูปพระศิวะประทับบนหลังโคเผือก ส่วนตราน้อยประจำกระทรวงวัง เรียกว่า “ตราพระนนทิการ” ก็ทำเป็นรูปโคเผือกคือโคพระอิศวรนั่นเอง

ลักษณะพระอิศวรในบางปางก็ต่างไปเอาแน่ยากครับ อย่างตอนที่ปราบพระทักษะ (ก็เล่าไว้แล้วในเรื่องพระทักษะ) ได้นามว่า “วีภัทร” ตอนนี้รูปร่างพระอิศวรประหลาดมาก มีหัว มีตา มีเท้าอย่างละพัน ท้องโต ปากแสยะ มีเขี้ยวงอก นุ่งหนังเสือที่ชุ่มไปด้วยเลือด อาวุธก็มีกระบอง หอกอย่างละพัน ทั้งยังมีจักร สังข์ ธนู ขวานและโล่อีก และปางที่มีนามว่า พระไกรพ ปางนี้ก็ดุเอาการ ซ้ำบางทีไม่ทรงโคกลับไปทรงสุนัขหรือม้า แขนขาดำ (อิสิตางค์) ผิวดำ (กาฬ) ปิ่นปักสีแดง(ตามรจุฑา)

บางครั้งบางหน พระอิศวรก็นึกสนุก คือทำเป็น ๒ เพศ เพศหญิงครึ่งชายครึ่ง เลยได้นามว่า อรรถนารี (ครึ่งหญิง) และ อรรถริศวร (ครึ่งชาย) คือเป็นทั้งพระอิศวรและพระอุมา ซีกข้างซ้ายซึ่งเป็นซีกพระอุมามีเสือหมอบอยู่ ซีกขวาเป็นพระอิศวรมีโคนนทิหมอบอยู่ และมี ๔ กร ซีกขวามีพระคงคาไหลจากพระเศียร บางทีนึกสนุกๆ ก็แปลงเพศเป็นหญิงล้อพระอุมาเล่นเลยทำให้บรรดาสัตว์กลายเพศเป็นหญิงหมด ท้าวอิลราชก็กลายเป็นนางอิลา ดังที่เล่าไว้ในเรื่องพระพุธแล้ว เรื่องนี้แหละเป็นที่มาของวรรณคดีเรื่อง อิลราชคำฉันท์ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) ละ

ตำราฟ้อนรำมีเรื่องเกี่ยวกับพระอิศวรอยู่ด้วย และเป็นที่มาของเทวรูปพระอิศวร ปางนาฏราช ผมก็ขอเล่าเรื่องนี้หน่อย

ในโกบิลปุราณะกล่าวว่าพระอิศวรเป็นครูฟ้อนรำมีเรื่องนิยายว่า สมัยกาลครั้งหนึ่ง มีฤาษีพวกหนึ่งตั้งอาศรมอยู่กับเมียที่ในป่าตารก อยู่มาฤาษีพวกนี้ประพฤติตนไม่เหมาะสมจรรยาบรรณของฤาษี ทำอนาจารฝ่าฝืนเทวบัญญัติ พระอิศวรกับพระนารายณ์ก็เลยต้องเสด็จลงมาปราบ พระอิศวรทรงแปลงพระองค์เป็นโยคีหนุ่ม พระนารายณ์ก็แปลงเป็นภรรยาสาว มีรูปร่างน่าพิศวาสทั้งสองพระองค์ (อ้อ รูปร่างน่าพิศวาสนี้ ภาษาอังกฤษเขาว่าเซ็กซ์แอบพีล ศัพท์บัญญัติเขาว่าวัยวอนเพศรส ส่วนวัยสะรุ่น ศัพท์บัญญัติเขาว่าวัยเจริญพันธุ์ บัญญัติได้ดีแท้ครับ) แล้วก็ไปในป่าตารกะนั้น เล่นเอาพวกฤาษีพากันหัวหมุนไปตามๆ กัน ฤาษีหนุ่มก็หลงรูปนารายณ์สาว ฤาษีสาวก็หลงรูปอิศวรหนุ่ม เกิดวิวาทกันด้วยอำนาจราคจริต ฤาษีชายกับฤาษีสาวก็เกี้ยวนารายณ์และอิศวรแปลง แต่ก็อย่างว่าไม่สำเร็จหรอก ฤาษีเปลี่ยนจากรักเป็นโกรธ สาปทันที ไม่ได้ผลครับ ฤาษีจึงเนรมิตเป็นเสือหวังจะกินโยคีกับเมีย โยคีหรือพระอิศวรก็ฆ่าเสียเลย พวกฤาษีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พระอิศวรเห็นว่าพวกฤาษีไม่มีน้ำยาแล้ว จึงทรงฟ้อนรำทำปาฏิหาริย์ ขณะนั้นมียักษ์ค่อมตนหนึ่งชื่อมูยะละกะ (ไทยเราเรียกว่าอสูรมูลาคนี) เข้าชวยฤาษี พระอิศวรก็เอาพระบาทข้างหนึ่งเหยียบยักษ์ค่อมไว้ แล้วทรงฟ้อนรำต่อไปจนหมดกระบวน ฤาษีนั้นขอขมา พระอิศวรก็มิได้เอาโทษ เสร็จกลับเขาไกรลาส พระนารายณ์เสด็จกลับเกษียรสมุทร ครั้งนั้นพระอนันตนาคราชได้เห็นพระอิศวรทรงฟ้อนรำด้วย ยังติดใจอยากดูอีก พระนารายณ์แนะนำให้บำเพ็ญตบะที่เชิงเขาไกรลาส ก็ทำตาม จนในที่สุดพระอิศวรก็ประทานพรให้ พระอนันตนาคราชขอพรว่าขอดูการฟ้อนรำอีก พระอิศวรรับคำและว่าจะลงไปรำให้ดูในเมืองมนุษย์ ณ ตำบลจิทัมพรัม อันเป็นท่ามกลางของโลก ครั้นถึงวันที่กำหนดพระอิศวรก็ทรงไปฟ้อนรำ ณ ที่ดังกล่าว

ในสมัยกาลต่อมา พระอิศวรมีพระประสงค์จะทรงแสดงการฟ้อนรำให้เป็นแบบฉบับ จึงเชิญพระอุมาให้ประทับเป็นประธานเหนือสุวรรณบัลลังก์ ให้พระสุรัสวดีดีดพิณให้พระอินทร์เป่าขลุ่ย ให้พระพรหมตีฉิ่ง ให้พระลักษมีขับร้อง และให้พระนารายณ์ตีโทน ส่วนพระอิศวรทรงฟ้อนรำให้เทวดา ฤาษี คนธรรพ์ ยักษ์ นาคทั้งหลายได้ชมเป็นขวัญตา และพระฤาษีนารทได้รับเทวบัญชาให้มาแต่งตำราสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์ จากตำนานนี้แหละ ชาวอินเดียถือว่า ที่เมืองจิทัมพรัมซึ่งอยู่ในประเทศอินเดียตอนใต้ ซึ่งบัดนี้อยู่ในมณฑลมัทราฐ เป็นที่พระอิศวรเสด็จลงมาฟ้อนรำในมนุษยโลก ต่อมาก็มีการสร้างเทวรูปพระอิศวรปางการฟ้อนรำ เรียกว่า “นาฏราช” (เราเรียกว่าปางปราบอสูรมูลาคนี) และราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ชาวอินเดียได้สร้างเทวรูปพระอิศวรทรงฟ้อนรำท่าต่างๆ ครบ ๑๐๘ ท่า นับว่าเยอะพอดูนะครับ

ทีนี้จะว่าถึงนามพระอิศวรต่อละครับ บอกแล้วนะว่านามพระอิศวรน่ะมีนับพันนามต่างๆ ก็ได้กล่าวไว้ในเรื่องบ้างแล้วจะไม่กล่าวซ้ำอีกละ จะว่าเฉพาะที่ต่างออกไป เพราะถ้าจะรวมมาอยู่ ณ ที่แห่งเดียวกันให้ค้นง่ายก็เห็นจะยืดยาวต่อไปอีกละครับ นามต่างๆ มีดังนี้ครับ
อโฆระ แปลว่า น่าสะพรึงกลัว
คิรีษะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในขุนเขา
กาละ แปลว่า เวลา
มฤตยุนชะ แปลว่า ผู้ปราบความตาย
มฤตุญชัย แปลว่า ผู้ชนะความตาย
อุคระ แปลว่า ดุ
วิศวนาถ แปลว่า ดุ
วิศวนาถ แปลว่า เป็นที่พึ่งแห่งโลก
มเหศวร, ปรเมศวร แปลว่า พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
ศรีกัณฐะ แปลว่า คองาม
สมรหร แปลว่า ผู้สังหารกามเทพ
สถานุ แปลว่า ตั้งมั่น
ภาควัต แปลว่า ผู้เป็นเจ้า
อิสาน แปลว่า ผู้ปกครอง
พระไภรพ แปลว่า ผู้ทำลายอย่างดุ
ปศุบดี แปลว่า เจ้าแห่งสัตว์
ปถานุ แปลว่า มั่น
วิศเวศวร แปลว่า เป็นใหญ่ครองทั่วไป
ศุลี, ศุลิน แปลว่า พระผู้ทรงศูล

ขอเติมเครื่องหมาย ฯลฯ หน่อยเถอะ อ้อนึกออกอีก เป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษา ในตำราร้อยกรอง ตอนที่ว่าด้วยเรื่องฉันท์ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่เรารับจากอินเดียน่ะเขาแบ่งเป็นคณะ และคณะฉันท์นี้มี ๘ คณะครับ มีบัญญัติชื่อเป็นอักษรย่อไว้ว่า มะคณะ นะคณะ ฯลฯ อักษรย่อนี้มีชื่อเต็ม ชื่อเต็มก็ล้วนเป็นนามพระอิศวรอีกละครับ ในตำรา จินดามณี ของพระโหราธิบดีแต่งในสมัยพระนารายณ์ ผูกเป็นคาถาให้จำง่ายดังนี้

สพฺพญฺญูโม สุมุนิโน สุคโตโส มุนินฺทโช
มารริโต มารชิโก นายโกโร มเหสีโย

ตัวโม โน ฯลฯ ที่อยู่ข้างท้ายน่ะ เป็นตัวแทนของคณะฉันท์ที่ว่า มะคณะ นะคณะ ซึ่งก็มี ๘ คณะ และคำเต็มก็เป็นเนมิตกนาม (นามที่ปรากฎตามรูปร่างหรือลักษณะ) ของพระอิศวรครับ มีดังนี้
ม. มาจาก มารุต แปลว่า ลม
น. มาจาก นภา แปลว่า ฟ้า
ส. มาจาก โสม แปลว่า เดือน
ช. มาจาก ชวลน แปลว่า ไฟ
ต. มาจาก โตย แปลว่า น้ำ
ภ. มาจาก ภูมิ แปลว่า ดิน
ร. มาจาก รวิ แปลว่า ตะวัน
ย. มาจาก ยัญมาน แปลว่า บูชายัญ

ส่วนคำที่เป็นคาถา ก็มีความอีกครับคือ สพฺพญฺญู แปลว่า รู้ทั่ว สุมุนิ แปลว่า ผู้รู้ดี สุคโต แปลว่า ไปดี มุนินฺท แปลว่า จอมปราชญ์ มาราริ แปลว่า เป็นอริกับมาร มารชิ แปลว่า ชนะมาร นายโก แปลว่าผู้นำ มเหสี แปลว่า ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ (มหา+อิสิ) แต่คราวนี้เป็นเนมิตกนามของพระพุทธเจ้าแล้วนะครับ ไม่ใช่ของพระอิศวรหรอก เห็นไหมล่ะครับโบราณเขาเข้าใจสอนดีออกทั้งพราหมณ์ ทั้งพุทธสัมพันธ์กันจนได้ซิน่า

เดินเรื่องต่ออีกนิดครับ พระอิศวรมีมเหสีคือ พระอุมา มีโอรสกับมเหสีเอก ๒ องค์ คือ พระคเณศ และ พระขันทกุมาร และมีชายาอีก ๒ คือ คงคาเทวี และ นางสนธยา

รูปเขียนพระอิศวรทำเป้นคนขาว มีสามตา ตามี่ ๓ อยู่ที่หน้าผาก เกศามุ่นเป็นชฎา มีประคำหัวกะโหลกคนคล้องคอที่เหนือพระนลาฎ (หน้าผาก) ขึ้นไป มีรูปพระจันทร์เสี้ยวติดอยู่ ทรงอาภรณ์หนังเสือ (บางทีก็เป็นหนังช้างหรือหนังกวาง) มีอาสนะเป็นหนังเสือ ทรงโคเป็นพาหนะทำเป็นรูป ๔ กร ถือตรีศูล บ่วงบาศ สังข์ คทา ยอดหัวกะโหลก แต่เรื่องอาวุธเอาแน่ไม่ได้อาจถือบัณเฑาะว์ ธนู ก็มีเหมือนกัน

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ตำนานของพระอินทร์

พระอินทร์
“ให้พระอินทร์หักคอซีเอ้า”
“ให้พระอินทร์เขียวๆ มาบอกก็ไม่เชื่อ”
ที่เขียนข้างต้นน่ะ เป็นคำพูดติดปากคนไทยมานานนม ก็พอจะเป็นหลักเป็นฐานได้ว่า เรารู้จักพระอินทร์นานนักแล้ว และเราสนิทสนมกับพระอินทร์ดีกว่าเทพองค์อื่นๆ มากเชียวละ ดูๆ พระอินทร์ก็ชอบมายุ่งเกี่ยวกับมนุษย์เสียจริง บรรดาวรรณคดีไทยก็มีเรื่องพระอินทร์มากกว่าเทพองค์อื่นๆ แล้วพระอินทร์ก็มีทั้งคติพราหมณืและพุทธ เรื่องของพระอินทร์ผมจึงต้องขอฝอยสัก ๒ ฉบับ ทั้งๆ ที่จ้อได้ถึง ๔ ฉบับ แต่ผมตัดทิ้งไปบ้างครับ

พระอินทร์ตามคติพราหมณ์ถือว่าเป็นเทพที่เก่าแก่ ในสมัยพระเวทถือว่าเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพอื่นๆ ถือว่าเป็นเจ้าแห่งฟ้า เป็นผู้ถืออสุนีบาต เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกและกำกับฤดูกาล และเป็นเทพแห่งสงครามคอยปราบปรามผู้ก่อความเดือดร้อนหรือหนักแผ่นดิน ลักษณะของพระอินทร์ในสมัยพระเวทนั้น มีรูปร่างอ้วน บึกบึน มีศอใหญ่ แผ่นหลังสีน้ำตาล ท้องใหญ่บรรจุน้ำโสมได้หลายสระ โอษฐ์กว้าง เคราสีทอง เกศาสีทอง ผิวก็สีทอง และมีร่างกายใหญ่เท่ากับโลกสิบเท่า โปรดน้ำโสมหรือเหล้าเป็นที่สุด จึงมีนามว่า “โสมปา” ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์มีบทสดุดีพระอินทร์ถึง ๒๕๐ บท มากกว่าเทพองค์ใด ผมขอคัดบทสดุดีมาประกอบความยิ่งใหญ่ของพระอินทร์สักนิดนะครับ จากหนังสือปรีชาญาณของสิทธัตถะ ของ สมัค บุราวาส

“พระผู้เป็นเจ้าองค์ใด ในคราแรกเริ่มเดิมทีที่อุบัติขึ้น เป็นสิ่งแรกที่มีเจตภูตพระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งพิทักษ์เทพเจ้าทั้งหลายด้วยอานุภาพแห่งพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งสองโลกต้องตระหนักด้วยเดชานุภาพ และศักดานุภาพของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งสองโลกต้องตระหนักด้วยเดชานุภาพ และศักดานุภาพของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นแล มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย คือพระอินทร์”

“พระผู้เป็นเจ้าองค์ใดบังคับโลกที่สั่นสะท้านให้นิ่งได้ ทำความมั่นคงให้แก่ขุนเขาที่หวั่นไหว พระผู้เป็นเจ้าองค์ใดสร้างสวรรค์ขึ้น พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นแล มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย คือพระอินทร์” ฯลฯ

พระอินทร์ไม่ถือว่าเป็นสยัมภู คือไม่ได้เกิดขึ้นเอง มีพ่อมีแม่เหมือนกัน แต่ก็สับสนเต็มทีครับ บางทีก็ว่าเป็นโอรสของทยาอุส แต่บางทีว่าเป็นโอรสของพระทวาสตฤกับเทวีนิษฏิกร และบางตำนานว่าเป็นโอรสของ เทยาส (ฟ้า) กับปฤถวี (ดิน) แต่โดยทั่วไปก็เข้าใจกันว่าพระอินทร์เป็นโอรสของพระกัศยปเทพบิดร กับพระนางอทิติเทพมารดร จึงต้องนับว่าเป็นหนึ่งในจำนวนเทพแห่งพระอาทิตย์ทั้งยังถือว่าพระอินทร์เป็นจอมสวรรค์เป็นใหญ่ในหมู่วสุเทพ คือเป็นใหญ่ในหมู่ธร (ดิน) อาป (น้ำ) อนิล (ลม อนล (ไฟ) ธรุระ (ดาวเหนือ) โสม (จันทร์) ปรัตยุษ (รุ่ง) ประภาส (แสงสว่าง) พระอินทร์จึงได้นามว่า วาสพ (เป็นใหญ่ในหมู่วสุเทพ)

ส่วนมเหสีของพระอินทร์ ตามคัมภีร์พระเวทว่ามีองค์เดียว คือ “อินทราณี” แต่ก็เรียกกันหลายนาม เช่น เอนทรี, ศจี และพจนานุกรมอังกฤษ-สันสกฤต ของโมเนียร์ วิลเลียม กล่าวว่ามเหสีของพระอินทร์เรียกกันหลายนาม เช่น ศจี อินทราณี มโฆนิ อินทรศักดิ์ ปุโลมชา และเปาโลมี ส่วนคัมภีร์พระเวทสดุดีไว้ว่า “ตามบรรดาสตรีทั้งหลาย อินทราณีมีโชคดีกว่าหญิงทั้งสิ้น เพราะภัสดาของนางจะมิได้สิ้นชีพด้วยชราภาพในเบื้องหน้า” ข้อนี้นักปราชญ์อธิบายว่า พระอินทร์จะเปลี่ยนไปกี่องค์ก็ตาม อินทราณีก็คงยังเป็นมเหสีของพระอินทร์องค์ต่อๆ ไป หมายความอีกทีว่า เธอไม่รู้จักแก่เฒ่าสาวเสมอสวยเสมอเป็นนั่นเทียว

พระอินทร์คอยปราบปรามผู้ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เช่น ปราบพฤตาสูร จึงได้ฉายาว่า พฤตหน และปราบอสูรวลาสูรผู้ขโมยวัวของฤาษี พระอินทร์จึงได้ฉายาว่า วัลภิท พระอินทร์เคยปราบอสูรโดยทำลายเวียงผาของอสูรเสียหายไปมาก จึงได้ยาว่าปุรันทร์

โอรสของพระอินทร์ก็มีเหมือนกัน มีนามว่า ชยันตะ แต่บางตำนานว่าชื่อ จิตรคุปต์ นัยว่าไม่ได้เกิดในครรภ์ของนางอินทราณีหรอก เกิดในครรภ์ของนางโค ทั้งนี้เพราะพระอุมาได้สาปไว้ไม่ให้นางฟ้าทั้งหลายมีครรภ์ได้ นางอินทราณีขอพรให้มีบุตร จึงต้องให้นางโคมีครรภ์แทน แต่ตอนนางโคคลอด นางก็รู้สึกเจ็บปวดเหมือนจะคลอดบุตรเอง แต่เกร็ดนี้คงเป็นเกร็ดระยะหลัง เพราะในสมัยพระเวทยังไม่มีเทพอิศวรอุมาเลย

ตามคติพุทธศาสนาก็มีเรื่องพระอินทร์มาก แต่บางเรื่องก็ยากจะแยกออกจากคติพราหมณ์ได้เด็ดขาด ตามคติพุทธถือว่าพระอินทร์ในทางพุทธศาสนาจะต้องเป็นไปตามพุทธโอวาท ที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเกิดมาแล้วก็ต้องมีวันเสื่อมไปตามสภาพ เทวดาทั้งหลายสิ้นบุญแล้วก็ต้องจุติ (คือเคลื่อนจากสภาพความเป็นอยู่เดิม คือตาย) ไปปฏิสนธิยังภพใดก็แล้วแต่ผลบุญที่ทำไว้ ใครที่สั่งสมบุญไว้ก็เป็นพระอินทร์ได้ พระอินทร์จึงมีการผลัดเปลี่ยนกันไป คิดไปก็เหมือนตำแหน่งรัฐมนตรีนั่นแหละครับ มี “ขึ้นหม้อ” แล้วก็ “ตกกระป๋อง” ได้เหมือนกันละ

เรื่องของพระอินทร์ตามคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท มีเรื่องย่อๆ ว่า เดิมทีพระอินทร์เป็นมนุษย์ชื่อมฆะ หรือมฆามาณพ (เมื่อได้เป็นพระอินทร์จึงได้ชื่อว่ามฆวาน แปลว่า ผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์) อยู่ที่ตำบลจุลคาม แคว้นมคธ มฆะกับเพื่อนรวมเป็น ๓๓ คนได้ทำกุศลไว้มาก เช่น ทำศาลาพักร้อน บ่อน้ำ ฯลฯ โดยเฉพาะมฆมาณพได้ประพฤติวัฏบท ๗ ประการซึ่งตามนัยวตปทสูตร ก็มี ๑. อุปการะพ่อแม่ ๒. เคารพผู้สูงอายุ ๓. เจรจาด้วยคำหวาน ๔. ไม่พูดให้ร้ายผู้ใด ๕. ยินดีในการบริจาค ๖. มีสัตย์ ๗. ระงับโทสจริต ก็เห็นจะเป็นหลักการขั้นมูลฐานในการดำรงตำแหน่งพระอินทร์ละครับ (ปชานามิ สกฺกกรเณ จ ธมฺเม เยสํ ธมฺมานํ สมทินฺนตฺตา สกฺโก สกฺกตฺตํ อชฺชคา)

เมื่อทั้งสามสิบสามคนตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือตรัยตรึงศ์ ไตรตรึงศ์ ซึ่งก็มาจากคำว่า เตติส แปลว่า ๓๓ คือเป็นที่อยู่ของเทวดา ๓๓ องค์ สวรรค์ชั้นนี้ก็คงจะได้ชื่อมาจากมนุษย์ ๓๓ คนมาปฏิสนธินั่นเอง (สวรรค์ชั้นดาวดึงส์จัดอยู่ในฉกามาพจร ซึ่งมี ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานนรดี ปรินิมมิตวสวัตดี) อันที่จริงสวรรค์ชั้นนี้มีอดีตพระอินทร์ครองอยู่ก่อนแล้วละครับ แล้วก็มีเมืองหลวงอยู่ตรงกลางเมือง เป็นเมืองของพระอินทร์โดยเฉพาะ มีชื่อว่า สุทัศน์ (แปลว่าดูงาม) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า อมราวดี (แปลว่าเมืองของผู้ไม่ตายคือเทวดา) พระอินทร์ใหม่ได้ครองเมืองนี้ ก็จัดสรรเมืองต่างๆ ให้สหายอีก ๓๒ คน โดยจัดเป็นเมืองอยู่รอบนอกเมืองสุทัศน์ทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๘ เมือง เทวดาที่ว่านี้ที่เรารู้จักดีก็มี มาตุลี มีหน้าที่เป็นสารถีขับรถ เวสสุกรรม เทวดานายช่าง พระสุริยะ และพระพิรุณ เป็นต้น

พระอินทร์เก่ากับพวกที่ชอบดื่มเหล้านั้น เมื่อรู้ว่ามฆมาณพกับพวกมาเกิดก็จัดสุรามาเลี้ยงดูกันเป็นที่สำราญ พระอินทร์ใหม่กับพวกไม่ยอมดื่ม ปล่อยให้อดีตพระอินทร์กับพวกเมาจนหัวทิ่ม พระอินทร์ใหม่กับพวกก็จับเหวี่ยงลงจากสวรรค์ ก็เป็นอันว่าสิ้นบุญไม่ได้เป็นพระอินทร์อีกกลายเป็นอสูร แต่ว่าผลบุญเก่าที่ตักตวงไว้ก็ยังพอเหลืออยู่บ้าง จึงบังเกิดอสูรพิภพเชิงเขาพระสุเมรุ มีไม้จิตติปาตลีเป็นไม้ประจำภพพระอินทร์เก่าที่ตกกระป๋องไปเป็นอสูรนี้ มีชื่อว่า เวปจิต หรือ ไพรจิตราสูร หรือ เนวาสิกาสูร พวกนี้นัยว่าเห็นโทษของการดื่มสุรา จึงเลิกเด็ดขาด จึงได้ชื่อว่า อสุระหรืออสูร

ตามคติพุทธนั้นพระอินทร์มีภรรยา ๔ คน และมีภรรยา ๔ คนมาตั้งแต่เป็นมนุษย์ที่ชื่อมฆะแล้ว ภรรยาทั้ง ๔ มีชื่อว่า สุธรรมา สุจิตรา สุนันทา และสุชาดา ภรรยา ๓ คนแรก ได้ร่วมทำกุศลกับมฆมาณพด้วยจึงได้ไปปฏิสนธิชั้นดาวดึงส์และเป็นชายาพระอินทร์ด้วย ส่วนสุชาดาไม่สนใจในเรื่องกุศลนักจึงต้องไปเกิดเป็นนกยาง พระอินทร์เป็นห่วงเมียได้แปลงเพศไปแนะนำให้ถือศีลนางนกยางก็เชื่อ ต่อมาตายไปและเกิดเป็นช่างปั้นหม้อที่เมืองพาราณสี พระอินทร์ก็แปลงเพศไปแนะนำให้ถือศีลอีก เมื่อนางตายไปได้ไปเกิดเป็นธิดาของท้าวเวปจิตติหรือไพจิตราสูร ก็อดีตพระอินทร์นั่นแหละครับ ครั้นนางเจริญวัยบิดาก็ทำพิธีสยุมพรให้เลือกคู่ตามใจชอบ พระอินทร์ก็แปลงเป็นยักษ์แก่ๆ ไปในงานนี้ด้วย นางสุชาดารู้ด้วยเป็นบุพเพสันนิวาสกันจึงเลือกอสูรแก่นั้น และทันใดนั้นพระอินทร์ก็อุ้มนางขึ้นเวชยันต์ไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตอนนี้พระอินทร์ก็เลยได้นามอีกว่า สุชัมบดี แปลว่า สามีสุชาดา) พวกอสูรก็พากันแสบทรวงไปตามๆ กัน จึงยกทัพไปรบเป็นสงครามใหญ่เรียกว่า เทวาสุรสงคราม พวกอสูรแพ้ต้องยกทัพกลับ แต่ครั้นถึงฤดูดอกจิตติปาตลีบานก็ทำให้พวกอสูรมีจิตประหวัดไปถึงดอกปาริฉัตตะ (ต้นปาริชาต) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำภพดาวดึงส์ ก็เลยฟุ้งซ่านถึงเรื่องอดีตที่ตนเคยขึ้นหม้อเป็นพระอินทร์ได้ดื่มสุรากันเป็นที่สำราญ ตลอดไปจนถึงเรื่องพระอินทร์ปลอมมาลักลูกสาวไป พวกอสูรยกทัพขึ้นไปรบกับพระอินทร์อีกก็พ่ายแพ้อีก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่ดอกจิตติปาตลี (แคฝอย)บาน บางครั้งพระอินทร์ก็ใช้ยุทธวิธีขงเบ้งเหมือนกัน คือทำเป็นด่าน มีด่านนาค ด่านครุฑ ด่านกุมภัณฑ์ ด่านยักษ์ ด่านจาตุมหาราช ส่วนที่เมืองพระอินทร์ก็ทำเป็นรูปพระอินทร์ปลอมถือวชิระไว้ทุกๆ ประตู ทำนองขงเบ้งดีดพิณนั่นแหละ พวกอสูรปราได้ทุกด่าน แต่พอมาเป็นรูปพระอินทร์ปลอดถือวชิระก็พากันหนีกระจัดกระเจิงไป

การรบที่เรียกว่าเทวาสุรสงครามนี้ นัยว่างดงามนักหนา คงจะมีท่าทางงดงามสง่า องอาจน่าเกรงขามอยู่ ในวรรณคดีเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย จึงนำมาพรรณนาเป็นทำนองความเปรียบเสมือนหนึ่งการรบของพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ซึ่งมีว่า

งามสองสุริยราชล้ำ          เลอพิศ นาพ่อ
พ่างพัชรินทร์ไพจิตร        ศึกสร้าง
ฤารามเริ่มรณฤทธิ์            รบราพณ์ แลฤา
ทุกเทศทุกทิศอ้าง            อื่นไท้ไป่เทียม

อันว่าเรื่องเทวาสุรสงครามนี้ เอาเค้าไปวิเคราะห์เป็นพงศาวดารก็ยังได้ เพราะมีเค้าจริงๆ ที่กรองได้เหลืออยู่บ้างเหมือนกันแหละครับ คือเป็นเรื่องของพวกอริยกะรุกรานชนเผ่าเดิมของอินเดียซึ่งเรียกกันว่า ทัสยุ หรือ มิลักขะ ก็ในสมัยบรรพกาลโพ้น พวกชนเผ่าอารยันหรือพวกอินโดยูโรเปียน (Indo-european) เป็นเผ่าที่มีความเจริญอยู่แล้ว เดากันว่าดั้งเดิมน่ะพวกนี้อยู่ตอนกลางของทวีปเอเชีย ต่อมาได้แยกย้ายกันไป ปรากฎว่าเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๓ กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มที่ ๑ แยกไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ทวีปยุโรป กลายเป็นชนชาติต่างๆ ในยุโรป
กลุ่มที่ ๒ ลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นชาวอิหร่านหรือเปอร์เซีย
กลุ่มที่ ๓ แยกลงมาทางใต้มาอาศัยตามลุ่มน้ำสินธุ กลายเป็นชาวฮินดูในปัจจุบัน

เรื่องนี้น่ะนักปราชญ์ได้พิสูจน์กันแล้ว ได้ลงความเห็นว่าภาฝรั่งเก่าๆ ที่ใช้ในยุโรป ภาษาเปอร์เชียรุ่นเก่าและภาษาสันสกฤตมีกำเนิดจากชาติเดียวกัน หรือรากเง่าเดียวกัน ก็หมายถึงภาของพวกอริยกะรุ่นดึงดำบรรพ์นั่นแหละ แต่เมื่อแยกกันไปหลายพันปี ติดฟ้าอากาศตลอดจนการผสมกับชนพื้นเมือง จึงทำให้ภาและผิวพรรณของคนเปลี่ยไปเป็นธรรมดา

ส่วนที่อพยพมาตามลุ่มน้ำสินธุ (ภาสันสกฤตเรียกว่า ปัญจนันทยเทศ หรือ ปัญจนที ปัจจุบันนี้เรียกว่า ปัญจาป แต่เดิมก็มีชนพื้นเมืองอยู่แล้ว เรียกว่าทัสยุหรือมิลักขะ (เหตุที่เรียกว่าทัสยุหรือทาสก็เพราะพวกนี้ตกเป็นเชลยของพวกที่ยกเข้ามาใหม่ ส่วนคำว่ามิลักขะศัพท์เดิมแปลว่าชาวเขา แต่แล้วก็กลายความหมายเป็นคนป่าหรือต่ำช้า) ตอนแรกก็ต้องมีการรบราฆ่าฟันแย่งดินแดนกัน และพวกอารยันมีความเจริญกว่าได้รับชัยชนะ พวกนี้มีสติปัญญาเฉียบแหลมจึงผูกเป็นนิยายเทวาสุรสงคราม มีความเป็นนัยพระอินทร์ใหม่ก็คือพวกอารยัน พระอินทร์เก่าที่ถูกเตะจากสวรรค์ก็คือพวกชนพื้นเมืองก็เหมือนอย่างไทยละครับฉลาดไม่ใช่เล่นหรอก การละเล่นละครโขนเรารับจากอินเดีย แต่หัวโขนยักษ์น่ะเราคิดประดิษฐ์ให้คล้ายพวกขอม เราก็เป็นเชื้อสายพ่อขุนรามเหมือนกันนี่ครับ เกลียดพวกขอมก็ให้ขอมเป็นยักษ์เป็นมารไปซะเลย

พระอินทร์เป็นเทพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด เป็นความสมบูรณ์พูนสุขที่มนุษย์จะพึงวาดมโนภาพได้ ทั้งนี้ก็เพราะถือว่าพระอินทร์นั้นเป็นได้เพราะบารมีที่สร้างสมกันมาเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ จะได้เป็นสิ่งดลใจให้มนุษย์พึงกระทำความดีจะได้เสพทิพยวิมานในกาลข้างหน้า

พระอินทร์มีปราสาทชื่อ เวชยันต์ หรือ ไพชยนต์ มีอุทยานชื่อ นันทะ จิตรลดา ปารุสกะ และ สักกวัน มีช้างชื่อ ไอราพต หรือ เอราวัณ มีม้าชื่อ อุจไฉศรพ มีศรชื่อ ศักรธนู มีพระขรรค์ชื่อ ปรัญชะ มีมเหสี ๔ องค์ เวลาพระอินทร์ประทับอยู่เหนือแท่นแก้ว สุธรรมา และ สุจิตรา อยู่เบื้องซ้าย สุนันทาอยู่เบื้องหลัง สุชาดา อยู่เบื้องขวา นอกจากนี้ยังมีชายาอยู่อีก ๙๒ องค์ นางฟ้าคอยบำเรออีกตั้ง ๒๔ ล้าน นี่ก็นับว่ายังน้อยนะครับ ยังน้อยกว่านางฟ้าที่แห่ห้อมล้อมหน้าหลังพระศรีอาริยเมตไตรย เมื่อเสด็จมาไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ ปรากฎว่ามีนางฟ้ามาแห่ห้อมถึง ๔ แสนโกฏิคน เทวดาสามัญยังมีนางฟ้าเป็นบริวารองค์ละพันคนครับ

ตามไตรภูมิพระร่วงนั้น สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่บนเขาสุเนรุราชบรรพต (เขาพระสุเมรุ) เมืองของพระอินทร์กว้าง ๘๐๐,๐๐๐,๐๐๐ วา มีปราสาทแก้ว กำแพงแก้ว ประตูประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะได้ยินเสียงดนตรีอันไพเราะ มีไพชยนต์วิมานหรือปราสาทอันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไพชยนต์วิมานนี้สูง ๒๕,๖๐๐,๐๐๐ วา ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ และประกอบด้วยเชิงชั้นชาลา ๑๐๐ ชาลา แต่ละชาลามีวิมาน ๗๐๐ วิมาน วิมานหนึ่งมีนางเทพอัปสร ๗ องค์ เทพอัปสรองค์หนึ่งมีนางฟ้าเป็นบริวารอีก ๗ คน รวมนางฟ้าซึ่งอยู่ในไพชยนต์ปราสาทก็ได้ ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ นาง

ส่วนอุทยานของพระอินทร์ เยื้องตะวันออกนั้นมีสวนชื่อ นันทอุทยาน (แปลว่าสวนขวัญอันเป็นที่ยินดี) มีสระใหญ่ ๒ สระชื่อ นันทาโบกขรณี (โบกขรณีแปลว่าสระบัว) และ จุลนันทาโบกขรณี น้ำในสระใสสะอาด ริมฝั่งมีศิลาแก้ว ๒ แผ่น ชื่อ นันทาปริถิสาณ และ จุลนันทาปริถิสาณ เป็นแผ่นศิลาที่มีรัศมีรุ่งเรืองและอ่อนนุ่ม

ส่วนด้านใต้ มีอุทยานชื่อ ผรุสวัน (แปลว่าสวนมะปราง) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า ปารุสกวัน (สวนปารุสกวันในพระราชวังสวนดุสิตก็มาจากชื่อนี้) มีสระใหญ่ ๒ สระคือ ภทรโบกขรณี และ สุภัทราโบกขรณี มีศิลาแก้ว ๒ แผ่นชื่อ ภัทราปริภิสาณ และ สุภัทราปริถิสาณ

ทางทิศตะวันตก มีอุทยานชื่อ จิตรลดาวัน (แปลว่างามไปด้วยเถาไม้ และพระตำหนักสวนจิตรลดาก็มาจากชื่อนี้) มีสระใหญ่ ๒ สระคือ จิตรโบกขรณี และ จุลจิตรโบกขรณี มีแผ่นศิลาแก้ว ๒ แผ่นชื่อ จิตรปาสาณ และ จุลจิตรปาสาณ

ทิศเหนือ มีอุทยานชื่อ สักกวัน มีสระ ๒ สระ ชื่อ ธรรมาโบกขรณี และ สุธรรมาโบกขรณี มีศิลาแก้วชื่อ ธรรมาปริถิปาสาณ และ สุธรรมาปริถิปาสาณ

ในไตรภูมิยังกล่าวว่ามีสวนอีกหนึ่งชื่อมหานพ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ก็เห็นจะต้องยกคำกลอนพรรณาอุทยานประกอบละครับ เพราะคำกลอนทำให้เกิดมโนภิรมย์ผ่องใสนัก จากสมบัติอมรินทร์คำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ครับ

“ในอุทยานนันทวันที่ประพาส        รุกขชาติร่มรื่นเกษมสลอน
มณฑาไม้ทิพยรสขจายจร             แก้วซ้อนเกดแซมผกากาญจน์
รกฟ้ารังฟ้าหวนหอม                     ประยงค์เปรียงพยอมกลิ่นหอมหวาน
เสาวรสส่งรสสุมามาลย์                ลมพานเลื่อนพวงลงร่วงราย
อุทยานมีมิ่งไม้สูงระหง                  จันทน์แดงเดื่อดงขล้อขลาย
กุหลาบกาหลงแลยางทราย           กุ่มงอกแกมหงายสลับกัน
พุดจีบพวงจาบพิมเสนสน             จำปาจวงปนนมสวรรค์
แคฝอยเค็ดฝิ่นโมกมัน                  กลำพอกลำพันคนทา
ควรพิศจิตลดาวันสถาน                มะลิพันเลื้อยพานพฤกษา
ช้องนางช้างน้าวมะลิลา                มลุลีลอยฟ้าดอกสะพรั่งไพร
ยมโดยแย้มดอกออกสลอน            อัญชันอ่อนช้อยยอดไสว
สายหยุดส่งเสาวรสไกล                กล้วยไม้เกลื่อนหมู่เถาวัลย์
อันปารุสกวันซึ่งทรงผล                ปรางปนปริงปานดังรังสรรค์
พลวงหว้าพลับหวานม่วงมัน          เกดจันทน์กำจัดไฟเฟือง
แลยอลำไยเรียงขนัด                   ขวิดสละขว้าวสลัดใบเหลือง
สวายสอไสวสีเรื่อเรือง                 ชิดเนื่องชั้นเนินกัทลี”

รถทรงของพระอินทร์มีชื่อว่า “ไพชยนต์” (รถทรงของพระอินทร์นี้นัยว่าเป็นชื่อเดียวกันกับเวชยันต์ราชรถ เป็นราชรถสำหรับชักพระบรมศพมาสู่พระเมรุ) ในไตรภูมิกล่าวพรรณนาไว้ว่า “อนึ่ง ในรถนั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา โดยรีได้ ๘,๐๐๐ วา ท่านใส่กลดแก้ว อนึ่ง กลางแท่นแก้วนั้นกว้างได้โยชน์ ๑ แลดูแท่นแก้วนั้นขาว แลดูกลดแก้วนั้นเลื่อมดังแสงพระอาทิตย์อันส่องลงมาปกพระจันทร์ เมื่อเดือนดับในหัวไพชยนตรถนั้น แลมีม้าแก้ว ๒,๐๐๐ ตัว เทียมรถข้างละพันตัว แลมีเครื่องแก้วประดับทุกๆ ตัว แลรถนั้นเทียรย่อมทองคำและประดับด้วยแก้วสัตตพิธรัตนะ แลมีสร้อยมุกดาห้อยย้อยเป็นมาลัยทองห้อยย้อยลงพาย แลมีระไบแก้วแลพรวนทองอันมีรัศมีรุ่งเรืองดังสายอินทรธนูแลฟ้าแมลบดังแสงอาทิตย์ แลราจะพรรณนาเถิงความนั้นบมิถ้วนได้เลย”

แต่โดยทั่วไปพาหนะของพระอินทร์คือช้างเอราวัณ หรือไอยราวัณ ไอราวัณ ไอยราพรต ไอยราวัต ซึ่งไม่ใช่สัตว์เดรัจแนหรอก แต่เป็นเทพ ชื่อไอยราวัณเทพบุตร เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปไหนก็นิมิตเป็นช้างเผือกให้ประทับไป มีพรรณนาในไตรภูมิว่า “จึงไอยราวรรณเทพบุตรก็นิมิตตัวเป็นช้างเผือกตัว ๑ ใหญ่นักโดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา และมีหัวได้ ๓๓ หัวๆ น้อยๆ อยู่สองหัวอยู่สองข้างนอกทั้งหลายนั้นแลว่าหัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวนั้นเข้าไปทั้งสองข้างแลหัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา เร่งเข้าไปเถิงในก็เร่งใหญ่ถัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวใหญ่อันที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลายชื่อสุทัศ เป็นพระที่นั่งแห่งอินทร์ โดยกว้างได้ ๒๔๐,๐๐๐ วา…” แล้วก็พรรณนาต่อไปว่าเหนือหัวช้างมีแท่นแก้วอันหนึ่งกว้าง ๙๖,๐๐๐ วา มีปราสาทกลางแท่นแก้วสูงได้ ๘,๐๐๐ วา มีหมอนใหญ่ หมอนน้อน หมอนอิง ส่วนองค์อินทร์นั้นสูง ๖,๐๐๐ วา ประทับเหนือแท่นแก้ว มีเทพยดาขี่ ๒๒ หัว ช้างทั้ง ๓๓ หัวจะมีงาหัวละ ๗ กิ่ง และงานั้นยาว ๔๐๐,๐๐๐ วา” แล้วก็บรรยายต่อไปเป็นฉากๆ ซึ่งในรามเกียรติ์ก็นำมาแต่งไว้แต่ผม่จะขอคัดจากบทพากย์เอราวัณของรัชกาลที่ ๒ ตอนอินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์

อินทรชิตบิดเบือนกายิน          เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิมิตฤทธิ์แรงแข็งขัน        เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียรโสภา           เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี               สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์       ดอกหนึ่งเบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา                เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร              อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิมิตมายา
จับระบำรำร่ายส่ายหา             ชำเลืองหางตา
ทำทีดั่งเทพอัปสร
มีวิมานแก้วงามบวร                ทุกเกศกุญชร
ดั่งเวชยันต์อมรินทร์

ตอนนี้เห็นจะต้องเก็บความกันหน่อยละครับ ช้างเอราวัณนี้มีหัว ๓๓ หัว (แต่ภาพเขียนมักจะเขียนเป็น ๓ หัว เห็นจะเขียนไม่ไหวกระมังเพราะยังมีหัวน้อยๆ ประดับข้างหัวใหญ่อีก) มีงา ๒๓๑ กิ่ง มีสระ ๑,๖๑๗ สระ กอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ ดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบดอกบัว ๕๔๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ นางฟ้าบริวาร ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง บริเวณที่งาช้างที่นางฟ้าอยู่นั้น มีความกว้าง ๕๐ โยชน์ ดูไปก็นับว่าออกจะเบียดเสียดกันอยู่เหมือนกัน

ช้างเอราวัณนี้สูง ๑ ล้าน ๒ แสนวา เทียบก็ประมาณได้ ๒๔,๐๐๐ กิโลเมตร ส่วนหัวช้างที่เป็นหัวใหญ่มีชื่อว่าสุทัศน์นั้นมีความกว้างประมาณ ๔,๘๐๐ กิโลเมตร ดูไปก็จะผิดส่วนอยู่เพราะหัวใหญ่กว่าความสูงถึง ๒ เท่า งาที่มี ๗ กิ่งแต่ละกิ่งมีความยาวประมาณ ๕๕๐ กิโลเมตร อ้อ ช้างเอราวัณนี้ใช้เป็นตราเทศบาลนครกรุงเทพฯ

นอกเมืองไตรตรึงษ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสวนชื่อ บุณฑริกวัน มีไม้ทองหลางใหญ่ต้นหนึ่งชื่อ ปาริชิกัลปพฤกษ์ (ที่จริงต้นปาริชาตกับต้นกัลปพฤกษ์ผิดกันครับ ต้นปาริชาตในเรื่องกามนิตนั้นดมแล้วระลึกชาติได้ ส่วนต้นกัลปพฤกษ์มีอยู่ในอุตรกุรุทวีป ใครนึกอะไรก็ได้อย่างนั้น เป็นต้นสารพัดนึก) ต้นปาริชาตนี้ไตรภูมิว่า “รอบพุ่มนั้นได้ ๒๔๐,๐๐๐ วา โดยสูงได้ ๘๐๐,๐๐๐ วา รอบต้นไม้นั้นได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา โดยกว้างพุ่มไม้นั้นได้ ๘๐๐,๐๐๐ วา” ไตรภูมินั้นดูจะแก่ตัวเลขไปสักหน่อย ในหนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอนมีว่า

“มีพระยาไม้ปาริกชาต                  ประจำเชิงเมรุมาศมไหศวรรย์
สูงร้อยโยชน์ยิ่งไม้ในหิมวันต์        ทรงสุคันธ์ทิพยรสขจายจร
กลิ่นบุปผาฟุ้งฟ้าไปร้อยโยชน์      อบเอารสสาโรชเกสร
ทั่วสถานพิมานเทวนิกร               เบิกบัญชรพิศงามเมื่อยามบาน
เพื่อองค์วาสวรินทร์เทวราช         ประเวศน์อาสน์ร่มไม้มณฑลสถาน
ประยูรหมู่สุรเทพเยาวมาลย์         สำราญรมย์ชมช่อมณีผกา”

ใต้ต้นปาริชาตนี้มีแท่นแก้วชื่อ บัณฑุกัมพล เป็นแท่นสีแดงเข้มดังดอกสะเอ้ง (ดอกชบา) โดยรีได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา โดยกว้างได้ ๔๐,๐๐๐ วา โดยหนาได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา” ในสมบัติอมรินทร์มีว่า

“บัณฑุกัมพลอาสน์ศิลาทิพย์        กำหนดสิบห้าโยชน์โดยหนา
กว้างสองหมื่นโยชน์เจษฎา          เป็นมหาบัลลังก์แก้วอำไพ
ยาวหกหมื่นโยชน์แดงก่ำ             ดังน้ำปัทมราชอันสุกใส
เจริญสวัสดิ์โสมนัสแก่หัสนัยน์     ชุ่มฤทัยไปด้วยรสสุมาลี”

แผ่นศิลานี้อ่อนดังฟูกผ้าอ่อนดังหงอนราชหงส์ทอง เมื่อพระอินทร์นั่งจะยุบลงไปถึงสะดือ แต่ถ้าลุกขึ้นก็เต็มดังเดิม ก็เหมือนแท่นสะปริง แต่ถ้ามีเหตุเภทภัยในโลกแท่นนี้จะเตือนให้พระอินทร์รู้ด้วยการแข็งกระด้าง พระอินทร์ก็ต้องลงไปช่วย อย่างในเรื่องสังข์ศิลปชัย และเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเรื่องหลังนี้มีกลอนว่า

“มาจะกล่าวบทไป                    ถึงท้าวสหัสนัยน์ไตรตรึงษา
ทิพยอาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา    กระด้างดั่งศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน        อมรินทร์เร่งคิดจิตสงสัย
จึงสอดส่งทิพยเนตรดูเหตุภัย    ก็แจ้งใจในนางรจนา”

ณ บริเวณเดียวกันนั้น มีศาลาใหญ่ชื่อ “สุธรรมาเทพสภา” เป็นที่ประชุมและฟังธรรมเทศนาของเทวดา และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ อสาพติ ต้นไม้ชนิดนี้พันปีบานครั้งหนึ่ง ส่วนปาริชาตนั้นร้อยปีจะบานสักครั้ง แต่เมื่อบานแล้วคุ้มครับ เพราะหอมนักหนา ดอกปาริชาตน่ะมีรัศมีเรืองไปไกลได้ ๘ แสนวา หอมฟุ้งไปไกลถึง ๘แสนวา เทวดาทั้งหลายชื่นชมกับดอกไม้สองชนิดนี้นักละ

พระอินทร์เป็นเทพที่คอยดูแลความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ คราวหนึ่งพฤตาสูรบำเพ็ญตบะอันทำให้บังเกิดความแห้งแล้งแก่โลก พระอินทร์ต้องปราบ อิลราชคำฉันท์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน  สาลักษณ์) ว่า

“อินทร์รอนพฤตาสูร          เอิบอิศรอันพูน
บำเพ็ญตบะบารมี
พระผลาญมารมอดชีวี        วชิรปาณี
คะนึงในโทษอันทำ
อวยอัศวเมธพลีกรรม         เกลื่อนบาปบ่มบำ
รุงบุญระบอบบำบวง”

เรื่องของเรื่องก็มีว่า พฤตาสูรบำเพ็ญตบะมาช้านาน พระอินทร์เกรงจะก่อความเดือดร้อนให้แก่โลก ได้ไปขอร้องให้พระนารายณ์ปราบ แต่พระนารายณ์เห็นว่าพฤตาสูรบูชาพระองค์ จะฆ่าเสียก็ดูกระไร จึงแบ่งกำลังให้พระอินทร์ พระอินทร์จึงฆ่าพฤตาสูรด้วยวชิระ (อาวุธของพระอินทร์มีมาก เช่น วัชระ พระขรรค์ ศร ขอสับ และร่างแหสำหรับตลบศัตรู) ต่อมาพระอินทร์เห็นว่าการฆ่าพฤตาสูรนั้นเป็นบาปเสมอด้วยฆ่าพราหมณ์ จึงออกไปนอกเขาจักรวาลเพื่อบำเพ็ญตบะ เป็นเหตุให้เทวดาเดือดร้อนไปทั่ว จึงไปร้องทุกข์พระนารายณ์ พระนารายณ์ก็แนะนำให้พระอินทร์ประกอบพิธีอัศวเมธเป็นการล้างบาป ตัวบาปก็เลยออกจากพระอินทร์ แล้วแบ่งเป็น ๔ ภาค ภาคที่ ๑ สิงอยู่ในน้ำทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วนที่ ๒ สิงอยู่ในดินบางแห่งทำให้ดินเค็ม ส่วนที่ ๓ สิงอยู่ในหญิงสาว มีกำหนด ๓ คืนทุกๆ เดือนเพื่อบุรุษจะนอนด้วยไม่ได้ (คือมีระดู) ส่วนที่ ๔ เข้าไปสิงบุคคลที่ฆ่าพราหมณ์อันหาความผิดมิได้

ในสมัยต่อมามีพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ คือพระพรหมา พระอิศวร พระนารายณ์ เรื่องราวของพระอินทร์ก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ ฤทธิ์อำนาจก็ถอยลงครับ อย่างในเรื่องรามเกียรติ์ พระอินทร์รบแพ้เมฆนาท หรือรณพักตร์ลูกของทศกัณฐ์ รณพักตร์จึงได้นามว่าอินทรชิต แปลว่าชนะพระอินทร์ ในเรื่องศกุนตลา พระอินทร์วานให้ท้าวทุษยันต์ไปปราบอสูรกาลเนมี ในเรื่องมหาภารตะมีเรื่องพระอินทร์ผิดศีล คือเป็นชู้กับนางอหลยาเมียของพระโคดมดาบส เป็นเหตุให้ถูกสาปให้มีโยนีติดเต็มตัว พระอินทร์เลยได้นามตอนนี้ว่า สโยนิ และเมื่อพระอินทร์อ้อนวอนจนฤาษีใจอ่อนก็ถอนคำสาปให้โยนีเป็นตาและมีถึงพันตา ในเรื่องจินดารมณ์คำกลอนกล่าวไว้ว่า

“สหัสโยนีสิ้นนามตามสำเหนียก           เขากลับเรียกสหัสนัยน์ไตรตรึงษา
พระเนตรส่องสุดสวรรค์เท่าพันตา         เห็นโลกาเจนจบภพไตร”

เมื่อพระอินทร์กลายมามีพันตาเช่นนี้ ก็เลยมีนามว่า เนตรโยนิ, สหัสรากษะ และ สหัสนัยน์ (พันตา) แต่ความหมายพันตาของพระอินทร์นี้ ตามคติพุทธท่านว่ามีความสามารถคิดข้อความตั้งพันเรื่องได้ในเวลาครู่เดียว

นามพระอินทร์มีมากครับ ขอเก็บมารวมนอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว คือ
อมรินทร์=เป็นใหญ่ในหมู่อมร
เทวปติ, เทวเทวะ=เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา
สุรปติ, สุรบดี, สุรบดินทร์, สุรินทร์=เป็นใหญ่ในหมู่สุระ
มเหนทร, มหินทร=เป็นใหญ่
สักระ, สักรินทร์=ผู้มีความสามารถยิ่ง
วัชรี, วัชรินทร์, วชิรปาณี=ผู้ถือวชิระ
สวรรคปติ, สวรรคบดี=จอมสวรรค์
เมฆวาหน=ผู้ทรงเมฆ
วฤตระหา=ผู้สังหารวฤตระ คือความแห้งแล้ง
ทิวัสปติ=เจ้าแห่งอากาศ
วาสวะ, วาสพ=เป็นใหญ่ในวสุเทพ
ศตกรต, สตมขะ=เจ้าแห่งการบวงสรวงมีกำหนดได้ร้อย (คือพิธีอัศวเมธ ๑๐๐ ครั้ง ซึ่งเป้นผลให้ผู้กระทำได้เป็นพระอินทร์)
ศจีปติ=ภัสดาแห่งนางศจี
มารุตวาน=เป็นเจ้าแห่งลม
สักกะ=ให้ทานด้วยความเคารพ
เทวานมินทะ=ใหญ่กว่าเทวดา

ในวรรณคดีไทยหลายต่อหลายเรื่อง มีเรื่องพระอินทร์เข้าไปเป็นตัวละครด้วย จะเล่าทุกเรื่องก็จะยาวมากนัก จะฝอยเฉพาะบางเรื่องที่สนุกเท่านั้น ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่รำพันคร่ำครวญการจากนางไว้ว่า

“ครั้งอิเหนาสุริยวงศ์อันทรงกฤช        พระแรงฤทธิ์แรมร้างจินตะหรา
พระสุธนร้างห่างมโนราห์                  พระรามร้างแรมสีดาพระทัยตรอม
องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร         เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาณถนอม
สุจิตราลาตายไม่วายตรอม               ล้วนเจิมจอมธรณีทั้งสี่องค์”

กลอนตอนนี้กล่าวถึงตัวพระตัวนาง ๔ คู่ครับ และท้าวตรีเนตรหมายถึงมี ๓ ตานั้นในที่นี้หมายถึงพระอินทร์ไม่ใช่พระอิศวร มีการสับสนเพราะตำนานเป็นเหตุครับ จะขอฝอยเกร็ดเฉพาะ “องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาณถนอม สุจิตราลาตายไม่วายตรอม” เรื่องนี้มีอยู่เรื่องอุณรุทของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีเรื่องย่นย่อว่า ท้าวกรุงพาณขุนยักษ์ผู้ครองเมืองรัตนานคร ประพฤติตนเป็นพาลและมีงานอดิเรกชอบแปลงเป็นเทวาไปสมสู่นางฟ้า ครั้งหนึ่งแปลงเป็นตุ๊ดตู่แอบอยู่ที่วิรานไพชยนต์ เพื่อจะแอบฟังพระเวทที่พระอินทร์ผูกทวารไว้ พระอินทร์เจ้าชู้ก็ต้องหวงเมียเป็นธรรมดา ไปไหนก็ต้องร่ายเวทปิดทวารซะ ต่อมาเมื่อพระอินทร์ไม่อยู่ ท้าวกรุงพาณได้โอกาสแปลงร่างเป็นพระอินทร์ใช้พระเวทนั้นเปิดประตูเข้าไปสมสู่กับสุจิตราโดยที่สุจิตราไม่รู้ แต่วันนั้นพระอินทร์กลับไวและจะสมสู่กับสุจิตราอีก จึงเกิดการเอะอะความเลยแตก สุจิตราต้องจุติจากสวรรค์ไปเกิดในดอกบัว จนเป็นเหตุให้ท้าวกรุงพาณถูกพระนารายณ์อวตารลงมาฆ่าตาย

เรื่องจันทโครบก็มีครับ คือพระจันทโครบเรียนวิชาจบได้ผอบจากฤาษีเป็นประกาศนียบัตร แต่ไปเปิดกลางป่าทั้งๆ ที่พระอาจารย์ห้ามไว้ ผอบนั้นมีนางโมราผู้สวยงามโผล่ออกมา พระจันทโครบก็ย่อมจะดีใจและได้นางเป็นชายา ต่อมาเจอะกับโจรรบกัน โมราสองใจปันรักให้กับโจรยื่นพระขรรค์ทางด้ามให้โจร โจรเลยฆ่าจันทโครบ ต่อมาพระอินทร์ตัวเอกก็มาชุบชีวิตให้ และสาปนางโมราเป็นชะนี เฉพาะตอนพระจันทโครบจะตายนั้นได้บริภาเมียได้ไพเราะนัก ได้รสทางวรรณศิลป์ดีมาก

“อารมณ์นางเหมือนน้ำค้างบนใบพฤกษ์    เมื่อยามดึกดั่งจะรองมาดื่มได้
พอรุ่งแสงสุริย์ฉายก็หายไป                     มาเห็นใจต่อเมื่อใจจะขาดรอน
เมื่อแรกรักมิได้แหนงเสียแรงรัก               เสียดายศักดิ์ที่ได้ร่วมสโมสร
ขอฝากชื่อไว้ให้ลือขจายขจร                  เทพนิกรช่วยประกาศในโลกา
กุลบุตรเป็นบุรุษรักาศักดิ์                       อย่าเรียนรักนารีเหมือนเยี่ยงข้า
สิ้นประกาศขาดจิตจากอุรา                   ก็มรณาอยู่ในไพรพนม”

ตอนพระอินทร์สาปโมรา ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของบรรดาเมียที่คิดฆ่าผัวครับ

“ให้คลับคล้ายคลับคลาภาษาคน        ที่บาปตนฆ่าผัวนั้นนึกได้
ที่เคยมีความอายให้หายไป                ขึ้นไต่ไม้ทรมานประจานตัว
ครั้นสิ้นสายสุริย์แสงแดงอากาศ          รำลึกชาติขึ้นมาได้ว่าเลือดผัว
เที่ยวร่ายไม้ห้อยโหนแล้วโยนตัว        ร้องเรียกผัวเสียงชัดภาษาคน
นั่นแลชะนีจึงไม่มีตัวผู้ผัว                   เพราะหญิงชั่วสาระยำทุกแห่งหน
ได้เชยค่างต่างเพศเป็นผัวตน            ด้วยเดิมคนต้องคำอัมรินทร์”

ที่จริงก็อยากจะเล่าเรื่องวรรณคดี ที่มีพระอินทร์ไปเกี่ยวข้องอยู่อีกหลายเรื่องครับ แต่ก็คล้ายๆ กันนั่นเองจึงขอแถมเพลงยาวนายนรินทร์ไว้สักนิดเถอะ อ่านแล้วเพลินดีเอาไปใช้ก็ย่อมได้ ทั้งมีเรื่องเกี่ยวๆ กับพระอินทร์และต้นปาริชาตอยู่ด้วย

“พี่หมายน้องดุจปองปาริกชาติ        มณฑาไทเทวราชในสรวงสวรรค์
หากนิเวศน์ศิวาลัยสิไกลกัน           จะใฝ่ฝันดอกฟ้าสุมามาลย์
แสนรักหักให้แสนวิตก                   สุดอกที่จะเอื้อมอาจหาญ
ด้วยเกรงเดชศักดาจักรมัฆวาน        เมื่อมณฑาทิพย์สถานสถิตถึงเทวินทร์
แต่ไพจิตรที่เป็นจอมสุธาภพ           หวังประสบมณฑาทองปองถวิล
ก่นแต่ราญรณรงค์ด้วยองค์อินทร์     อมรินทร์ยังไม่อัปรารอน
ถ้าพี่มีเดชได้ดังไพจิตร                 ถึงสิ้นฤทธิ์ไม่สิ้นรักแรงสมร
จะดับจิตลงด้วยจักรกำจายจร        สักพันท่อนพี่ไม่ถอยซึ่งหทัย”

ก็เห็นจะสรุปตรงนี้ละครับ รูปเขียนพระอินทร์บางทีก็มี ๔ กร ๒ หัตถ์ถือหอก หัตถ์ที่ ๓ ถือวชิราวุธ หัตถ์ที่ ๔ ว่าง แต่โดยมากมักเขียนเป็น ๒ กร มีพระกายสีเขียว เพราะในระยะหลังๆ พระอินทร์กล่าวกันว่ามีสีพระกายเป็นสีเขียวไปแล้ว กำลังทรงช้างเอราวัณ หัตถ์ขวาถือวชิราวุธ หัตถ์ซ้ายถือธนูบางทีก็เป็นพระขรรค์
ก็เป็นอันว่าจบเรื่องพระอินทร์กันบรรทัดนี้ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอัศวิน

พระอัศวิน
ตามคัมภีร์มหากาพย์ภารตยุทธ ว่าพระอัศวินเป็นเทวดาแฝดติดกัน องค์หนึ่งมีนามว่า พระนาสัตยอัศวิน หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระนาสัตยะ แปลความว่าไม่อาจจะแบ่งแยกได้ หรือผู้ปราศจากความไม่จริง อีกองค์หนึ่งคือ พระทัสรอัศวิน เรียกสั้นๆ ว่า พระทัสระ แปลความได้ว่า ผู้ทรงความลึกลับ หรือสมบูรณ์ด้วยความมหัศจรรย์

โดยคุณลักษระ พระอัศวินแฝดได้ชื่อว่า เป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของมนุษย์เป็นผู้นำโภคทรัพย์มาให้แก่มนุษย์ และเทวดาแฝดนี้จัดเป็นแพทย์แห่งเมืองสวรรค์ จึงสามารถคุ้มภัยตลอดจนความเจ็บไข้ต่างๆ ให้แก่มนุษย์ได้ เทพแฝดนี้ยังถือว่างามเสมอ หนุ่มเสมอ สวยเสมอ แปลงกายได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นเทวดามีความปราดเปรียวดังพญาเหยี่ยว แต่บุคลิกอันเด่นชัดของเทพแฝดนี้คือมีเศียรเป็นม้า จึงเชี่ยวชาญในด้านบังคับรถเป็นพิเศษ (ที่ออกจะแปลกก็ตรงที่มีเศียรเป็นม้า แล้วจะว่าเทพองค์นี้หล่อเหลาได้อย่างไรกันหนอ)

เทวดาแฝดนี้จัดว่าเป็นหนุ่มอมตะ ถึงแม้ว่าจะดูเป็นหนุ่มแต่ก็อายุมากแล้ว ก่อนจะรุ่งสางเทพแฝดนี้จะปรากฎโฉมบนฟากฟ้าให้เห็นโดยที่ทรงรถทองซึ่งเทียมด้วยนก แต่บางทีก็ว่าเทียมด้วยม้าและบรรทุกน้ำผึ้ง ซึ่งโดยปรกติพระอัศวินจะออกเดินทางโดยขี่รถทองล่วงหน้าอุษาเทวีตอนเช้าตรู่ทุกวัน ชาวอารยันเชื่อว่าพระอัศวินเป็นพระผู้ริเริ่มนำแสงสว่างมาในฟากฟ้าเวลาเช้า เป็นผู้เร่งเมฆที่บังแสงอรุณให้เคลื่อนพ้นไป และเป็นผู้นำทางให้พระอาทิตย์เดิน ชาวอินเดียจะสวดต้อนรับพระอัศวินแต่มืด เมื่อแสงสีขาวอ่อนๆ เริ่มปรากฎขึ้นในท้องฟ้า ถือว่านั่นแหละคือพระอัศวินละ ต่อจากนั้นก็จะสวดต้อนรับพระอุษาเทวี ซึ่งเป็นแสงสีชมพูต่อจากแสงสีขาว ต่อจากนั้นพระอาทิตย์ก็จะเริ่มปรากฎขึ้นบนท้องฟ้า และก็ว่ากันว่าเทวดาฝาแฝดนี้เป็นตัวแทนดาวประกายพรึกบ้าง ดาวอัศวินคู่ (Gimini) บ้าง ส่วนสถานที่อยู่ของเทพแฝดนี้เอาแน่นอนไม่ได้หรอกครับ บางทีก็ว่าอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้ไพรพฤกษา บางทีก็ว่าอยู่บนยอดเขา หรือบางทีก็ว่าบนเกลียวคลื่นของสวรรค์ ที่อยู่หลังนี่ออกจะโรแมนติกเหมือนกันแฮะ

เทพอัศวินแฝดโปรดน้ำผึ้งครับ และนำน้ำผึ้งไปถวายทวยเทพที่ใหญ่ๆ อยู่เป็นนิจ แต่ที่นับว่าสำคัญอันยิ่งใหญ่อันสมควรที่จะรับรางวัลโนเบลก็คือเป็นผู้ค้นพบโสม ในสำนักของทวาสตฤ และซ้ำยังสอนมนุษย์รู้จักดื่มและเห็นคุณค่าของโสม (สุรา) เห็นไหมครับ น่าจะเป็นเทพประจำบ้าน บอ.กอ.ฮอล์ต่วยซะจริงๆ คุณต่วยอ่านเรื่องนี้เห็นท่าจะทำรูปไว้บูชาเป็นแน่นอน อ้อ ยังนับเป็นเทพที่เกี่ยวกับความรัก การผูกสัมพันธ์ความรัก การแต่งงาน ให้ความเป็นลูกผู้ชายและให้ทายาทด้วย นี่แหละจึงนับว่าเป็นเทพที่กำกับเจ้าสาวในยามไปสู่สำนักสามี ยังมีเพิ่มเติมอีกครับคือถือว่าเทพอัศวินเป็นตัวแทนของกลุ่มเกษตรกร คือให้มีสุขภาพดี แข็งแรง หนุ่มแน่น มีลูกหลาน มีความสมบูรณ์พูนสุขารมณ์

พระอัศวินนี้กล่าวกันว่าเป็นโอรสของพระสุริยาทิตย์กับนางอัศวินี เรื่องนี้ก็ต้องอ่านตอนที่ว่าด้วยพระอาทิตย์จึงจะได้เรื่อง ก็เห็นจะย่นย่อไว้ตรงนี้สักหน่อย ชายาของพระสุริยาทิตย์ที่มีนามว่าสัญญานั้น ทนความร้อนของพระสุริยาทิตย์ไม่ไหวเลยหนีไปอยู่ในป่าแปลงร่างเป็นม้า มีนามว่า อัศวินี พระสุริยาทิตย์ตามไปพบแปลงเป็นม้าตัวผู้สมสู่กันจนได้ลูกแฝดและไม่แฝด ที่แฝดคือ พระอัศวิน ที่ไม่แฝดคือ พระเวรันต์ ส่วนพระอัศวินแฝดก็มีลูกเหมือนกันครับ เป็นโอรสที่เกิดจากภาค พระนาสัตยะ กับนางมัทรี โอรสนี้มีนามกรว่า นกูล และโอรสอีกองค์หนึ่งเกิดจากภาคพระทัสระกับนางมัทรีเหมือนกัน โอรสนี้มีนามว่า สหเทพ และโอรสทั้งสองนี้ก็คงจะเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ก็เลยแฝดเหมือนบิดา  ส่วนในเรื่องรามเกียรติ์ลิงที่เป็นสมุนพระรามทีมีนามกรว่า ทววิท และ แมนทะ ก็เป็นบุตรของพระอัศวินนี่แหละ

ส่วนนางมัทรีซึ่งเป็นมารดาของนกูล และสหเทพนั้น ก็มิใช่ชายาที่ถูกต้องของพระอัศวินหรอก แท้ที่จริงเป็นชายาของท้าวปาณฑุ ซึ่งมีเนื้อเรื่องละเอียดในมหากาพย์ภารตยุทธ ซึ่งนับว่าเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุด ยาวกว่ารามายณะอีก จะเล่าเรื่องนี้ก็เห็นจะยาวมากความไป ทั้งๆ ที่ผมเห็นว่าสนุกสนานดีมาก แต่เกรงผู้อ่านไม่สนุกด้วยเท่านั้น ก็เอาความเฉพาะที่เกี่ยวข้องกันก็แล้วกันนะครับ

ท้าวปาณฑุเสด็จล่าสัตว์ทรงยิงเนื้อซึ่งกำลังสมพาสกัน แต่เผอิญเนื้อทั้งสองนั้นไม่ใช่เนื้อจริงๆ หรอก แต่เป็นฤาษีขี้เล่นนึกสนุกแปลงกายเป็นเนื้อมาหาความจรรดลงใจ เมื่อเนื้อตัวที่ถูกยิงก่อนจะตายได้สาปว่า ให้ท้าวปาณฑุต้องตายด้วยการเสพเมถุน ดูๆ ก็สาปพิเรนไปหน่อย เป็นการแกล้งกันชัดๆ เหมือนสาปให้ตายคาอกเมียงั้นแหละแต่คิดไปฤาษีก็ต้องสาปอย่างนั้น เพราะฤาษีกำลัมีความจรรดลงใจอยู่ก็ถูกยิงตายซะแล้ว ก็ต้องแก้เผ็ดกันบ้างละ เหตุนี้ทำให้ท้าวปาณฑุสยองขวัญ ไม่กล้าเกี่ยวข้องกับมเหสีทั้งสองคือ มัทรี กับ กุนตี แต่ถึงกระนั้นท้าวปาณฑุก็สปอร์ตครับ อนุญาติให้ชายามีเทวดาเป็นสามีได้ในบางครั้งบางหน ผลก็มีลูกดังนี้ครับ

๑. ยุธิษเฐียร (ยุธิษฐีระ) เป็นโอรสของนางกุนตีกับพระยม (ธรรมเทพ) เมื่อทำสงครามมีชัยแก่พวกโกรพแล้วได้เป็นราชาธิราชครองนครหัสดิน ทรงนามว่ามหาธรรมราชา
๒. ภีมเสน  เป็นโอรสของนางกุนตีกับพระพายุ เป็นผู้ที่มีกำลังเข้มแข็งใจคอดุร้าย กินจุ
๓. พระอรชุน  เป็นโอรสนางกุนตีกับพระอินทร์ เป็นนักรบ ตัวอรชุนต่อมาก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์ แต่มีลูกเป็นเจ้าเมือง คือท้าวรุวาหนราชาครองมณีปุระ กับมีนัดดาองค์หนึ่งคือท้าวปริกษิต ซึ่งได้ครองนครหัสดินปุระ
๔. พระนกูล  เป็นโอรสนางมัทรีกับพระสัตยอัศวิน
๕. พระสหเทพ เป็นโอรสนางมัทรีกับระทัสรอัศวิน พระนกูลกับสหเทพเป็นลูกแฝด

ทั้งๆ ที่ท้าวปาณฑุไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยนี่แหละ ก็ยอมรับว่าทั้ง ๕ นั้นเป็นโอรส จึงได้เรียกกษัตริย์ทั้งห้านั้นว่า ปาณฑพ และกษัตริย์ทั้ง ๕ นี้ ชาวอินเดียนับถือพระยุธิษเจียรธรรมราชว่าเป็นแบบแผนแห่งกษัตริย์ผู้ปกครองดี นับถืออรชุนเป็นมหาวีรบุรุษ คือเก่งกล้าในเชิงยุทธจักร ภีมเสนไม่มีใครชอบ เพราะเหี้ยมโหด ส่วนนกูลนั้นนับถือในทางฝึกม้า พระสหเทพเป็นโหร

ตอนต้นผมได้กล่าวถึงกษัตริย์ปาณฑพแล้วนะครับ ก็ควรรู้ถึงกษัตริย์โกรพด้วยกล่าวคือกษัตริย์แห่งหัสดินปุระนั้น มีโอรส ๒ องค์คือ ธฤตราษฎร์และปาณฑุ บรรดาโอรส ๑๐๐ องค์ของธฤตราษฎร์นั้นเรียกว่า เการพ ต่อมาเการพและปาณฑพทำสงครามกัน ซึ่งเรียกว่ามหาภารตยุทธ เป็นสงครามที่ขึ้นชื่อลือชามากครับ พระยาอุปกิตศิลปสารได้แต่งเรื่องสงครามภารตคำกลอน บรรยายสนามรบได้อย่างสยดสยองดีครับ คัดมาประกอบเอาอารมณ์หน่อยนะ

“สนามรบคราวนี้อึงมี่ก้อง        เสียงฆ้องกลองอื้ออึงคะนึงลั่น
เสียงกระบี่พลพบกระทบกัน        ลูกเกาทัณฑ์ว่อนหวืออื้ออึงไป
หอกกระทบโลรับเสียงฉับแด    เสียงขวานฟาดฟันกันสนั่นไหว
แลทุกทัพสับสนพลไกร    โลหิตไหลแดงฉาดดังชาดทา
แลดูพลโยธาน่าอนาถ        บ้างหัวขาดล้มอนเบนถลา
บ้างแขนขาดขาขาดดาษดา    คนและม้าล้มกลาดดาษดื่นไป
รพทะลายล้อพรากออกจากรถ    พลคชสู้กันอยู่หวั่นไหว
ร้องแปร๋แปร้นแล่นแทงงวงแกว่งไป     บ้างไส้ไหลล้มผางลงกลางคัน”

ทีนี้วกกลับมาเรื่องพระอัศวินอีกครับ รูปวาดเขียนเป็นเทวดาแฝดติดกัน มีหน้าเป็นม้า สีกายแดง มีสร้อยนวมและทองกร นั่งรถเทียมด้วยม้าหรือนกก็ได้

เพื่อความยิ่งใหญ่แห่งเทวดาแฝดนี้ ในหนังสือพระศุณหเศปพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้กล่าวถึงบทสรรเสริญพระอัศวินไว้ ขอคัดมาประกอบละครับ

“พระศุณหเศปจึงสรรเสริญพระอัศวินด้วยพระฤคเวททั้ง ๓ บท ความว่า
๑. ขอเชิญพระอัศวินเสด็จมา ณ ที่นี้พร้อมด้วยชัชโภชนาหารทั้งหลายบนหลังม้าหลายม้า พระทัสรเทพจงบันดาลให้ที่นี้เต็มไปด้วยโคและทอง
๒. ข้าแต่พระทัสรเทพอันรถแห่งพระองค์ซึ่งผูกแล้ว เพื่อพระองค์ทั้งสองไซร้ย่อมไม่มีเวลาสูญไป ข้าแต่พระอัศวินอันรถนั้นไซร้ย่อมแล่นไปในอวกาศ
๓. ล้ออันหนึ่งไซร้อยู่บนยอดเขา อีกล้อหนึ่งหมุนอยู่ในฟากฟ้า”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎฯ ทรงอรรถาธิบายประกอบไว้ด้วยว่า

อัศวิน แปลว่า “ผู้มีม้า” ฤาผู้ขี่ม้า อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “สารถีทั้งสอง” เป็นนามเทวดาคู่ ซึ่งปรากฎในท้องฟ้าเวลาใกล้รุ่ง ทรงรถทองเทียมม้าฤานก เป็นผู้นำโภคทรัพย์มาให้ชน และเป็นผู้ปัดเป่าปวงภัยให้สูญไป นับถือเป็นแพทย์ของเทวดา

อนึ่ง อัศวินเป็นนามแห่งนักษัตร ซึ่งเป็นดาวสองดวงขึ้นเวลาเช้ามืด
ผมจบเรื่องพระอัศวินเพียงเท่านี้ ทีนี้จำเป็นอีกละครับที่จะต้องเอาเรื่องอื่นมาประกอบ ก็เห็นจะเป็นเรื่องโสมนี่แหละ ในพระราชนิพนธ์ศกุนตลาอธิบายเรื่องโสมไว้และผมเห็นว่าเกี่ยวข้องกับเทพองค์นี้ ในฐานะที่เป็นผู้นำโสมมาเผยแพร่แก่มนุษย์ ผมก็ลอกมาประกอบท้ายเรื่องครบ
โสม ๑.) คือน้ำที่คั้นจากต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าต้นโสม เรียกชื่อตามภาลิตินว่า อัสเคลปิอัสอซิดะ (Asclepias acida) เถานี้เมื่อคั้นเป็นน้ำขาวหมักไว้ก่อนแล้วจึงใช้เป็นเครื่องสังเวยเทวดาและพราหมณ์ดื่มต่อไป เมื่อดื่มแล้วมีเมาและทำให้ใจร่าเริง พวกพราหมณ์ชอบกันมากถึงแก่กล่าวว่าใครดื่มโสมแล้วได้แลเห็นสวรรค์ ในพระฤคเวทมีกล่าวเรื่องน้ำโสมนี้เป็นอันมาก มีคำสรรเสริญและกล่อม กับในหนังสือพราหมณะมีอธิบายพิธีโสมพลี มีข้อความวิจิตรพิสดารมาก อาจจะบำบัดโรคได้ทุกอย่าง ให้ทรัพย์บังเกิดแก่ผู้นับถือ และเป็นผู้ใหญ่ยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง เพราะอาจจะบันดาลให้เทวดาทำอะไรๆ ได้อย่างใจ (คือดื่มเข้าไปแล้วเมานั่นเอง) พระอินทร์เป็นผู้ที่โปรดน้ำโสมมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะถวายสังเวยอะไรก็ไม่โปรดเท่าน้ำโสม
๒. คือพระจันทร์ ตั้งแต่ยุคไตรเพทแล้วได้นามว่าโสมเทพ ชรอยเป็นเพราะมีแสงขาวเหมือนน้ำโสมเมื่อแรกคั้น อภินิหารต่างๆ ของโสมนั้นก็มายกให้พระจันทร์เป็นอันมาก เช่นมีนามว่า โอสถบดี (เจ้าแห่งยา) เป็นผู้คุ้มครองรักษาพลีกรรมและการบำเพ็ญกุศล

อนึ่ง โสมนั้นนิยมกันว่าเป็นยาอันประเสริฐ เพราะเป็นยาเย็นระงับความโกรธอันปองร้ายได้ เพราะฉะนั้นเมื่อระงับโกรธแห่งผู้อื่นได้ด้วยความดี จึงเรียกว่า “ชนะได้ด้วยโสม” และคำที่ใช้เช่นนี้ก็ติดจนถึงในพุทธศาสนาของเรา จึงยังมีปรากฎอยู่ในคาถา “พาหุ” ว่าสมเด็จพระมหามุนินทร์ทรงชำนะนางจิญจได้ด้วยโอสถอันประเสริฐคือโสมดังนี้

หน้ากระดาษก็ยังเหลืออยู่อีกนั่นแหละครับ ขอเติมเรื่อง โลกบาล อีกนิดเถอะ เพราะได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว และที่กล่าวไปก็ไม่แจ่มชัดนัก ขอคัดจากอภิธานศกุนตลาครับ

โลกบาล  ตามความนิยมของพราหมณ์ว่ามีเทวดารักษาทั้ง ๘ ทิศ ดังต่อไปนี้
๑. บูรพา พระอินทร์ ฤาเรียกว่าท้าวธตรฐ ๒. อาคเนย์ พระอัคนี ทิศเรียกตามนามเทวดา ๓. ทักษิณ พระยม ๔. เนรดี พระสุริยะหรืออีกนัยหนึ่งว่าเนรดี (นิร์ฤติ) ๕. ปรัศจิม พระวรุณ ๖. พายัพ พระพายุ ทิศเรียกตามนามเทวดา ๗. อุดร ท้าวกุเวร ๘. อีสาน พระโสม หรืออีกนัยหนึ่งว่าพระอีศาน (ภาคหนึ่งแห่งพระศิวะ)

ส่วนในหนังสือข้างพุทธศาสนามีกล่าวไว้ ๒ อย่าง คือในท้ายอาฏานาฏิยปริตรใน ๑๒ ตำนานกล่าวว่า ปุริมทิศ ท้าวธตรฐ จอมภูต ทักษิณทิศ ท้าววิรุฬหก จอมเทวดาปัจจิมทิศ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค อุดรทิศ ท้าวกุเวร จอมยักษ์ และในมหาสมัยสูตรและภาณยักษ์กล่าวว่า ปุริมทิศ ท้าวธตรฐจอมคนธรรพ์ ทักษิณทิศ ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ปัจฉิมทิศ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค อุดรทิศ ท้าวกุเวร จอมยักษ์ดังนี้

เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกันเข้ากับข้างฝ่ายไสยศาสตร์ ดังกล่าวมาแล้วข้างบนนั้นจะเห็นได้ว่า บูรพาทิศท้าวธตรฐกับพระอินทร์ พอนับว่าตรงกันได้เพราะจะว่าไปพระอินทร์เป็นจอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ก็พอจะใช้ได้ และนาม “ธตรฐ” แปลว่า “รองเมือง” ก็พอควรเป็นชื่อพระอินทร์ได้ ทักษิณข้างไสยศาสตร์ว่าพระยม ในท้ายอาฏานาฏิยปริตรว่าวิรุฬหก “จอมเทวดา” ไม่ตรงพระยม แต่มหาสูตรว่า “จอมกุมภัณฑ์” แปลว่า “มีอัณฑะเท่าหม้อ” และได้ความว่า “เป็นอสูรจำพวกหนึ่งมีพระรุทระ (อิศวร) เป็นอธิบดี” ฉะนี้ดูไขว้เขวไปใหญ่ไม่ลงรอยกันเลยทีเดียว คราวนี้มาตรวจศัพท์ “วิรฬหก” ดูได้ความว่า “วิรุฬโห” หรือ “วิรุฬหโก” แปลว่างอก ก็ไม่เข้าเค้าพระยมอีก จึงเป็นอันลงเนื้อเห็นว่าโลกบาลทิศนี้ข้างพุทธศาสนาและพราหมณ์ไม่ลงกันได้เป็นแน่แท้ ปรัศจิมข้างไสยศาสตร์จำเป็นทิศของพระวิรุณ ข้างพุทธศาสนาว่าท้าววิรูปักษ์จอมนาค พระวรุณเป็นเทวดาผู้มีหน้าที่เกี่ยวแก่น้ำ เพราะฉะนั้นเอาเป็นลงรอยกันได้อีกทิศหนึ่ง อุดรเป็นทิศของท้าวกุเวร ตรงกันทั้งในพุทธศาสนาและไสยศาสตร์ ส่วนทิศเฉียงข้างพุทธศาสนาไม่ได้ออกนามโลกบาล แต่สังเกตตามนามทิศก็ตรงกัน คือตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า “อาคเนย” (ทิศของพระอัคนี) เรียก “เนรดี” (ทิศของพระนิรฤดี) ตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “อีสาน” (ทิศของพระอีศาน) ดังนี้

อนึ่ง ตามตำรับไสยศาสตร์ ทิศทุกทิศย่อมมีช้างสำคัญประจำอยู่ เพื่อเป็นพาหนะแห่งเทพเจ้าผู้อภิบาลทิศนั้น มีนามกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

๑. ทิศบูรพา ช้างสำคัญชื่อไอราพต (ไอราวต) หรือไอราวัณ นางช้างชื่ออะภรมู ๒. ทิศอาคเนย์ ช้างสำคัญชื่อบุณฑริก (ปุณฑริก) นางช้างชื่อกปิลา ๓. ทิศทักษิณ ช้างสำคัญชื่อวามน นางช้างชื่อปิงคลา ๔.ทิศเนรดี ช้างสำคัญชื่อกุมุท นางช้างชื่ออนูปมร ๕. ทิศปรัศจิม ช้างสำคัญชื่ออัญชัน นางช้างชื่ออัญชันวดี ๖. ทิศพายัพ ช้างสำคัญชื่อบุษปทันต์ นางช้างชือศุภทันตี ๗. ทิศอุดร ช้างสำคัญชื่อสรรพโภม ๘. ทิศอีสาน ช้างสำคัญชื่อสุประตีกะ ส่วนนางช้างสำหรับทิศอุดรและอีสานนั้นไม่แน่ยังมีเหลือพังอยู่อีก ๒ คือ อัญชนากับตามรกรรณี แต่พังใดจะอยู่ทิศใดไม่สู้จะแน่นัก ส่วนในหนังสือรามายณะนั้นระบุนามช้างประจำทิศไว้ แต่สำหรับทิศใหญ่ ๔ ทิศ คือ ๑. บูรพา ชื่อพลายวิรูปากษ์ ๒. ปรัศจิม ชื่อพลายโสมนัศ ๓. ทักษิณ ชื่อพลายมหาปทุม ๔. อุดร ชื่อพลายหิมปาณฑร”
ก็เป็นอันว่า ผมโปะเรื่องอื่นเป็นของแถมให้ครบบัญชรแต่เพียงเท่านี้นะครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องราวของพระอัคนี

พระอัคนี

เรื่องของพระอัคนีหรือพระเพลิง ก็ย่อมเป็นธรรมดาในเรื่องความสับสนอลวนอีกนั่นแหละ บ้างก็ว่าเป็นโอรสแห่งอากาสและปฤถวี และเรียกนามว่า พระอภิมาณี งก็ว่าเป็นโอรสของพระกัศยปกับนางอทิติ จึงนับเนื่องเป็นอาทิตย์องค์หนึ่ง บ้างก็ว่าเป็นโอรสพระอัคคีรส ราชาปิตรีทั้งหลาย (คือบิดาของมนุษย์) บ้างก็ว่าเป็นหลานของมุณีคัณฑิล ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยพระเจ้าตามัส ในวิษณุปุราณะเรียก พระอัคนีว่า อภิมาณี เป็นโอรสองค์หัวปีของพระพรหมา และมีลูก ๓ องค์มีชื่อว่า ปาวก ปวราน และศจิ

เรื่องกำเนิดพระอัคนีนี้ยังมีเรื่องพิสดารเอาการอีก คือ บรรดามุนีทั้งหลายทั้งปวงผู้รอบรู้พระเวท ได้เชิญพระอัคนีลงมาสถิตในมนุษยโลกเพื่อรับเครื่องสังเวย เพื่อสดับคำสรรเสริญและเพื่อบันดาลให้ความสำเร็จแก่มนุษย์ พระองค์ก็รับเชิญ แสดงพระกายให้ปรากฎเป็นสีทอง พระเกศาลุกโชน ปลายพระโมลีส่งรัศมีเป็นควันสีหมอกเมฆ พระโอษบ์อมเพลิง เสวยสรรพสิ่งที่เป็นอาหารสำหรับพระองค์แล้วเสด็จขึ้นสู่สุวรรณรถเทียมด้วยม้าสีแดงปลิวตามลมมาถึงแดนมนุษย์ เสวยไม้ หญ้าในป่า ทุ่ง เตียนเหมือนผมที่โกนแล้ว เปลวซึ่งออกจากพระกายเมื่อลมส่งเปล่งเสียงดังเปรี๊ยะๆ วิถีทางที่เสด็จมาคงเหลือแต่แผ่นดินสีดำเหมือนตอตะโก ตอนนี้นึกๆ ก็แปลกนะครับพระมุนีเล่นเชญมากินป่ากินพืชอย่างนี้ไม่รู้จะเชิญมาทำไม คิดไปก็เหมือนมนุษย์ละครับ เลือกผู้แทนบางคนมากินป่าเล่นให้เตียนโล่งจนได้เกิดน้ำท่วมกันทุกบ่อยๆ

พระอัคนีได้ถือปฏิสนธิเป็นครั้งแรกในพระครรภ์ชนนี คือไม้สีไฟอันล่าง ซึ่งมุนีทั้งหลายได้จัดให้แต่งงานแต่งการกับพระชนกคือไม้สีไฟอันบน แล้วพระอัคนีก็สำแดงองค์อันรุ่งโรจน์ออกมา เสร็จแล้วก็เสวยทั้งพระชนกและชนนีเสียเลย ก็คือเผาไม้สีไฟสองอันนั่นแหละแล้วก็หลบไปซ่อนตัวเสีย นับว่าพระองค์เสวยพระชนกชนนีโดยปราศจากโทษ และแม้ว่าพระองค์จะกำพร้าแต่วันแรกที่ถือกำเนิดแต่ก็เจริญวัยได้เอง แต่พระองค์ก็เป็นมิตรกับปวงชน พระมุนีจึงได้เชิญพระองค์มาไว้ในเตาไฟ ลำไส้ตะเกียงและเทียน

ผมคิดๆ แล้วก็เห็นจะยอมยกนิ้วให้ผู้สร้างนิยายตอนนี้ซะจริง ก็แต่ก่อนโบราณกาลนั้นเราๆ ใช้ไม้สองอันสีกันทำให้เกิดความร้อนและไฟขึ้น ไฟก็เผาไม้สองอันนั้นเหมือนพระอัคนีกินพ่อกินแม่นั่นแหละ คนสร้างนิยายก็คงเอาจากสิ่งที่เห็นนั้นมาจินตนาการยกเป็นตำนานขึ้น

อันที่จริงพระอัคนีเป็นเทพรุ่นเก่าในสมัยพระเวทเชียวแหละ และถือกันว่ามีความสำคัญเป็นรองมาจากพระอินทร์ โดยข้อเท็จจริงแล้วพระอัคนีเป็นเทพเจ้าประจำบ้าน ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เพราะว่าในพิธีกรรมทางศาสนาอินเดียนั้นมีการทำยัญกรรม อันได้แก่การเซ่นสรวงเทวดาโดยใช้ถั่ว งา เนย หญ้าฝรั่น ฯลฯ เผาลงในกองไฟ ที่เรียกว่า “โหมกรรม” โดยฐานะเช่นว่านี้ ไฟหรือพระอัคนีจึงได้รับขนานนามต่างๆ เช่นว่าเป็นทูตหรือเป็นโอษฐ์ของเทวดาทั้งหลายบ้าง เป็นพาหะที่นำเครื่องสังเวยไปถวานพระผู้เป็นเจ้าบ้าง

การนับถือไฟนั้นมีมานานแล้ว เดิมทีชนพื้นเมืองของอินเดียที่เรียกกันว่า มิลักขะก็นับถือไฟอยู่แล้ว แต่ต่อมาพวกอริยกะที่บุกรุกเข้าครอบครองได้ยกย่องให้ไฟเป็นเทพเจ้าอีกองค์หนึ่ง ชื่อพระอัคนี ชนพื้นเมืองก็พอใจ แต่พวกอริยกะฉลาดกว่านั้น พวกนี้นับถือพระอาทิตย์หรือพระสาวิตรี ไม่ยอมให้พระอัคนีเป็นเทพเจ้าใหญ่กว่าพระอาทิตย์ แต่เป็นบริวารของพระอาทิตย์ เหมือนหนึ่งเตือนสติชนพื้นเมืองให้สำนึกว่าตนต้องอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าพวกอริยกะเหมือนพระอัคนีเป็นบริวารของพระอาทิตย์ฉะนั้น

อันที่จริงในสมัยพระเวทนั้นพรรณาถึงพระอัคนีว่ามีอยู่ด้วยกันสามรูปแบบ ไฟบนถพื้นดินหนึ่ง ไฟในสายฟ้าซึ่งอยู่ในท้องฟ้าหนึ่ง และไฟซึ่งอยู่ในดวงอาทิตย์อีกหนึ่ง แสดงว่าการนับถือไฟมีมานานนักหนาแล้ว เรื่องนี้พระบาทสมเด็ดพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายไว้ว่า

“ในชั้นต้นพระเวทมี ๓ แท้จริงมีอยู่ ๑ เท่านั้นเอง คือรวบรวมคำบูชา ตามที่ข้าพเจ้าอธิบายมาครั้งก่อนแล้ว บูชาไฟซึ่งมีแบ่งเพียง ๓ ภาค ภาคที่ ๑ คือ อัคนี หรือเพลิง ซึ่งอยู่ในโลกเราทั้งหลาย คือไฟที่จุดอยู่ตามบ้าน หรือใช้ประกอบอาหาร ภาคที่ ๒ สาวิตรีคือแสงสว่างทั้งหลายอยู่บนสวรรค์ที่เราเรียกดวงตะวัน ถูกเข้าก็ร้อนเหมือนถูกไฟ เวลานั้นเขาจึงถือว่า แสงก็คือส่วนหนึ่งแห่งไฟนั้นเอง ซึ่งเรามานึกแล้ว ความรู้ของอาจารย์ในวิทยาศาสตร์ภายหลังก็รับรองว่า ไฟมาจากพระอาทิตย์นั้นเอง เพราะฉะนั้น ความคิดของเขาก็ไม่สู้เลวนักเขาว่าพระอาทิตย์กับไฟเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็นับว่าไม่ผิด ภาคที่ ๓ นั้นเรียกว่าไฟในอากาศ หรือวิทยุ หรือไฟฟ้า พูดถึงไฟฟ้าในที่นี้ ต้องขอให้เข้าใจว่าไฟฟ้าที่เป็นพระเจ้านั้นเป็นส่วนหนึ่ง เราพูดถึงไฟฟ้าดูเหมือนเป็นของใหม่ ที่แท้จริงเมื่อเวลา ๖,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้วเขารู้ว่าไฟฟ้ามี เขาจึงนับถือเป็นพระเจ้า”

หน้าที่สำคัญของพระอัคนี คือการเป็นพยานในความดีของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในการทำความดีงามของมนุษย์ทุกอย่างมนุษย์ย่อมใช้ไฟเสมอละครับ การเซ่นสรวงบูชาเอย การภาวนาเอย ก็ต้องจุดธูปจุดเทียนเพื่อให้พระอัคนีเป็นพยานไว้ว่าได้กระทำอย่างนี้ และเป็นสื่อให้ไปถึงสวรรค์ และผู้ที่เชื่อว่าตนได้ประพฤติดีตลอดคืนตลอดวัน หรืออยากจะหาเครื่องเตือนใจให้ประพฤติดีก็ต้องตามไฟไว้ในที่บูชาโดยไม่ยอมให้ดับเลย ก็เพื่อให้พระอัคนีเป็นพยานแห่งการทำความดีของตน หรือคอยเตือนให้ทำความดี

นักปราชญ์ท่านวิเคราะห์ในเรื่องความคิดเชิงจินตนาการนี้ไว้ว่า ธรรมดามนุษย์เราผู้ที่ทำความผิดหรือทำสิ่งที่ตนต้องอับอายก็มักจะต้องซ่อนทำหรือทำไม่ให้ใครเห็นหรือทำในที่มืดเพรากลัวคนรู้คนเห็น แต่การทำความดีหรือทำอะไรที่พอจะอวดอ้างกันได้ก็ต้องอยากให้คนรู้คนเห็นละ จึงเกิดความคิดว่าพระอัคนีนั่นแหละเป็นพยานในการทำความดีของตน

ชาวอารยันนอกจากถือว่าไฟเป็นสื่อหรือพาหะที่นำเครื่องสังเวยไปมอบถวายเทวดาแล้ว ยังถือว่าไฟเป็นสิ่งที่ชำระล้างมลทินต่างๆ ให้หมดไปด้วยครับ ความคิดนี่ละกระมังทำให้เกิดลัทธิลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนเช่นในเรื่องรามายณะ นางสีดาลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ความคิดนี้เลยมาถึงไทยด้วย ก็เรื่องขุนช้างขุนแผนสร้อยฟ้ากับศรีมาลาต้องลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ของตน ในกฎหมายตราสามดวงของเราก็บ่งถึงการลุยไฟเป็นลักษณะของการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ พวกพราหมณ์เองก็เถอะน่าถ้าได้ทำผิดหรือถูกขับออกจากวรรณะก็ใช้ไฟเป็นเครื่องชำระล้างบาปหรือมลทินได้ โดยนำเอาทองคำเผาไฟแล้ววางไว้บนลิ้นให้ลิ้นไหม้หรือใช้เหล็กแดงนาบตามร่างกาย หรือให้เดินลุยไฟ ก็เท่ากับไฟได้ชำระมลทินที่ทำไว้ให้หมดสิ้นไปแล้วละ

พระอัคนีเป็นที่นับถือกันมากครับจึงมีบทสรรเสริญเกี่ยวกับพระอัคนีมาก ในหนังสือศุณหเศป ของ ร.๖ ก็มี ในหนังสือบ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย ของคุณจำนง  ทองประเสริฐก็มี แต่ผมจะคัดเฉพาะในเรื่องพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เท่านั้นละ

“คำสรรเสริญบทหนึ่ง ซึ่งโปรเฟสเซอร์โมเนียร์วิลเลี่ยมได้แปลหนังสือ ชื่อ “อินเดียวิสดอม” บอกลักษณะพระเพลิงแจ่มแจ้งดี มีใจความตามคำสรรเสริญนั้นว่า มีแสดงสว่างรัศมี ๗ แฉกมีรูปแปลกๆ น่าชม กายเป็นสีทองคำ มีเศียร ๓ เศียร เกศากระจ่างเป็นโพลน และโอษฐ์ทั้ง ๓ มีคางและทนต์อันร้อนจัด เสวยสรรพสิ่งทั้งปวง บางทีพระองค์ก็มีขานับด้วยพันล้านรุ่งโรจน์ มีเนตรนัยด้วยพันอันฉายรัศมีกระจ่างจ้า ทรงรถทองลอยละลิ่วเฉียดลม เทียบม้าอันแดงจัด”

นามของพระอัคนีก็มีมากครับ เช่น
พราหมณัศปติ=เป็นใหญ่ในหมู่พราหมณ์
วาหนี=ผู้รับเครื่องพลีกูณฑ์
ธนัญชัย=ผู้ชำนะทรัพย์
ชวลนะ=ผู้ลุกสว่าง
ธูมเกตุ=ผู้มีควันเป็นที่กำหนดหรือเป็นธง
ฉาครถะ=ผู้ทรงแกะผู้
สัปตชิวหา=ผู้มีชิวหาเจ็ด
โตมรธร=ผู้ถือโตมร
หุตภุช, หุตาศ=ผู้ชอบเครื่องสังเวย
อพฺชหัตถ์=มือถือดอกบัว
โรหิตาศวะ=มีม้าแดง

พระอัคนีมีชายาชื่อนางสวาหา ซึ่งมีรูปเป็นครุฑตัวเมีย บางทีเรียกครุฑี หรือสุบรรณี และบ้างก็ว่าพระอัคนีเป็นเทพโลกบาลทิศอาคเนย์ ในรามเกียรติ์ว่าประอัคนีเป็นบิดาของนิลนนท์ทหารของพระราม

ในวรรณคดีไทยกล่าวถึงพระอัคนีหรือพระเพลิงไว้หลายเรื่องเหมือนกันครับ ในเรื่องกากีคำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนท้าวพรหมทัตครวญถึงกากี เมื่อพระยาครุฑพานางไปวิมานฉิมพลี ก็พรรณนาถึงเทพหลายองค์ บ่งบุคลิกแต่ละองค์ไว้ดีแท้

“นิเวสน์วังตั้งเพียงตระหลบจบ    มิได้พบนิ่มน้องสนองหน้า
ฤาอิศเรศประเวศทรงอุสุภา        ลักสุดาเหินเหาะไปหิมพานต์
ฤาจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ทรงครุฑ    มาลักนุชพี่ไปร่วมภิรมย์สมาน
ฤาธาดาทรงมหาหงส์ทะยาน    ลักสมรไปสมานพิมานพรหม
ฤาอินทร์องค์ทรงพระยาไอยเรศ    พาดวงเนตรที่ไปดาวดึงส์สม
ฤาสุริยงค์ทรงรถอันลอยลม        มาลอบชมกลิ่นแก้วแล้วพาจร
ฤาพระเพลิงฤทธิรงค์ทรงแรด    มาเวียนแวดพาน้องไปสมสมร
ฤาพระพายชายทรงอัสดร        มาอุ้มบังอรแอบอุราไป
ฤาครุฑาวาสุกรีวิทเยศ            มาโลมลวงดวงเนตรไปฤาไฉน
เสียดายเอ๋ยมิได้เคยระคายไกล    เวรใดจึงคลาดเจ้าที่เคล้าคลึง”
และในมัทนะพาธา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุญฯ ได้กล่าวถึงไฟทั้ง ๓ ภาคเลย ดังนี้
“อ้าองค์พระอัคนี            วรศรีประภาใส
เป็นเอกอุดมใน            หุตะกิจพลีการ
ข้าขอประนตองค์        สุระทั้งตรีสถาน
ทุกภาคพิเศษมาน        มนะมุ่ง ณ การยัญ
หนึ่งคือสุรีย์แจ่ม            สุจรัสณภูมิสวรรค์
ส่องโลกมนุษย์นัน-        ทนะอุ่นระอุกาย
ที่สองประภาปรา        กฏะในสภาพราย
คือวิชชุโชติฉาย            รุจิแลบ ณ เมฆา
ที่สามก็คือไฟ             นระก่อ ณ เคหา
เพื่อกอบสุภักษา            และประกอบพลีพูน
องค์นี้แหละได้เชิญ        พระเสด็จ ณ แท่นภูณฑ์
ด้วยพร้อมมโนมูล        จะกระทำหุตาการ”

รูปเขียนพระอัคนีเขียนเป็นบุรุษ ๒ หน้า ๔ กร มีลิ้น ๗ ลิ้น มีควันเป็นมงกุฎ เสื้อทรงสีม่วง สีกายเป็นสีไฟ ถ้าทรงรถใช้ด้วยม้าสีแดง มีแกะเป็นพาหนะ บางตำราก็ว่าทรงแรดหรือระมาดเป็นพาหนะ อาวุธมีหลายอย่างครับ ถือศรชื่ออาคเนยาสน์ ชุบขึ้นเวลาบูชาไฟ และโตมรก็ประกอบขึ้นด้วยเปลวเพลิงอีกนั่นแหละ นอกจากนี้ก็ยังมีดอกบัวและอื่นๆ อีก ที่อยู่ของพระอัคนีมีชื่อว่าปุระชโยติส บางตำราก็ว่ารูปเขียนเป็นสีแดง มี ๓ กร ๗ เนตร ขนงและเกศสีม่วงแก่ ทรงแกะผู้เป็นสีม่วงแก่ คล้องสังวาลสายธุรำซึ่งเป็นสังวาลของพราหมณ์ทำเป็นด้ายพัน ๓ สาย และมีสังวาลผลไม้ร้อยเป็นพวง มีเปลวไฟออกจากโอษฐ์ มีรัศมีเป็น ๗ แฉก ถือขวาน

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอังคาร

ตามธรรมเนียมครับ ดาวพระอังคารจัดเป็นดาวพระเคราะห์ดวงหนึ่ง ผมก้ต้องเริ่มด้วยความรู้เรื่องดาราศาสตร์ก่อนละ

ดาวพระอังคารเป็นดาวพระเคราะห์ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นสีส้ม แต่ดูจากกล้องโทรทรรศน์จะเห็นเป็นสีเหลืองจำปา ดาวอังคารมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔,๓๕๒ ไมล์ พื้นที่ผิวน้อยกว่าโลก ๓.๖ เท่า ปริมาตรน้อยกว่าโลก ๗ เท่า ความหนาแน่นมีประมาณ ๓.๘ กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร (โลกมีประมาณ ๕.๕๒ กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร) ดาวอังคารมีแรงดึงดูดราว ๒ ใน ๕ ของความดึงดูดของพื้นโลก หมุนรอบตัวเองทวนเข็มนาฬิกากินเวลา ๒๔ ช.ม. ๓๗ นาที ๒๒.๕๖ วินาที และหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ใกล้ที่สุดราว ๑๒๘,๗๕๐,๐๐๐ ไมล์ ไกลที่สุดราว ๑๕๕,๐๐๐,๐๐๐ ไมล์ หมุนรอบดวงอาทิตย์ในอัตราเร็ว ๑๕ ไมล์ต่อวินาที โคจรครบรอบใช้เวลา ๖๘๗ วัน ๒๓ ช.ม. และดาวพระอังคารอยู่ใกล้โลกที่สุดราว ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ ไมล์ ไกลที่สุดราว ๖๒,๐๐๐,๐๐๐ ไมล์ และนักดาราศาสตร์ตรวจแล้วว่าไม่พบอ๊อกซิเจนในโลกพระอังคาร

ครับ ต่อไปก็เรื่องของเทพพระอังคาร ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าแห่งเลือดและสงคราม ก็น่าสยองอยู่นะครับ และยังถือพระอังคารเป็นผู้ทรงพลัง

ส่วนกำเนิดของพระอังคารนั้น ในหนังสือเฉลิมไตรภพ กล่าวไว้ว่า
“สั่งท้าวหัสดีจัดสรรค์          อัฏฐะมหิงส์วัน
เร็วพลันจัดหามาถวาย
หัสดีภิวันท์ผันผาย    นำกระบือถวาย
ยังที่สถิตพิธี
ทอดเนตรกระบือด้วยดี    ร่ายเวททั้งสี่
อัคคีลุกวับจับกาย
หิงสากายาสูญหาย        เป็นเถ้าเรี่ยราย
เกลื่อนกลายระคนปนกัน
ห่อผ้าทิพย์สีม่วงมัน        สี่องค์ทรงธรรพ์
โอมอ่านพระเวทมนตรา
ประพรมน้ำชุบสามครา    เกิดเป็นเทวา
สีหว้าอันสุกสดศรี
ทรงเครื่องรุ่งเรืองขจี        ถวายอัญชุลี
ทั้งสี่องค์พระจอมจักรวาล
จอมไตรในนามอังคาร        ไปพักฟังการ
เบญจาที่สามตามวัน”

เอาความก็ได้ว่า พระอิศวรสร้างพระอังคารจากกระบือสี่ตัว คือร่ายพระเวทกระบือก็ละเอียด แล้ห่อด้วยผ้าสีม่วง (บางตำนานว่าสีแดงหลัวหรือสีแก้วเพทาย) และก็ประพรมด้วยน้ำอมฤต เกิดเป็นองค์เทพบุตรขึ้น ก็คือพระอังคารนั่นแหะ มีบุคลิกบึกบึนแข็งแรง สีกายเป็นสีลูกหว้าคือม่วง (บางตำนานก็ว่าเป็นสีเพทายเช่นเดียวกับผ้าที่ห่อ) อาภรณ์เป็นแก้วโกเมน มีวิมานเป็นสีทับทิม ทรงมหิงสาเป็นพาหนะ

ในเรื่องกำเนิดพระอังคารไม่ใช่ง่ายๆ อย่างนี้หรอกครับ สับสนวนเกล้าอยู่เหมือนกันแหละ เรื่อง “คน” ก็มีเรื่องยุ่งๆ อยู่แล้ว แต่เรื่องเทวดายุ่งกว่าครับ แม่แต่ในหนังสือพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ พระราชนิพนธ์ของพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงอรรถาธิบายไว้นิดเดียวว่า

“พระอังคาร “มังคละ” ก็เรียก “กุมมะ” ก็เรียก ไม่ปรากฎว่ากำเนิดเป็นอย่างไร (ค้นยังไม่พบ) มิสเตอร์วิลกินส์กล่าว่าเป็นเทวดาองค์เดียวกับพระขันทกุมาร รูปเป็นคน สีกายแดง ๔ กร ภูษาอาภรณ์แดง ทรงแกะเป็นพาหนะ”

ก็เพียงเท่านี้ละครับ  ก็เห็นจะต้องหนังสือเทวกำเนิดของพระยาสัจจาภิรมย์ละครับ แต่ผมก็เรียบเรียงด้วยลีลาของผมบ้างนะครับ

ว่าตามตำรับสันสกฤต เรื่องปาราศรโหราศาสตร์หรือศานติสารกล่าวว่า พระอังคารน่ะ เป็นโอรสของพระธรณี แต่ไม่ได้บอกว่าใครเป็นบิดา ทีนี้ในหนังสือปุราณะมีกล่าวว่า นางธรณีเป็นชายาของพระนารายณ์ ก็เลยลงมติเป็นเอกฉันท์กันซะเลยว่าพระอังคารเป็นโอรสของพระนารายณ์กับนางธรณี และยังว่าอีกว่า พระอังคารนั้นเกิดที่เมืองอวันตี โดยชาติกำเนิดเป็นกษัตริย์ในภารทวาชโคตรหรือวาสิฎฐโคตร มีรูปร่างสูง บึกบึน เอวเล็ก สีกายแดง ทรงภูษาแดง และทัดดอกไม้สีแดง มี ๔ กร ทรงเทพศัตรา คือ หอก ศูล และกระบอง มีนิสัยโกรธง่ายและดุอยู่สักนิด

ส่วนเรื่องที่เป็นชาติเวรแต่ปางก่อน เป็นศัตรูกับดาวพระเคราะห์ดวงไหน ด้วยเหตุใด และเป็นมิตรกับดวงไหน ก็ได้เล่าไว้ในเรื่องดาวพระเคราะห์ดวงอื่นแล้วละครับ ไม่ขอฉายซ้ำอีกละ

รูปเขียนพระอังคารนั้น เขียนเป็นบุรุษล่ำสัน หน้าตาออกจะดุๆ มี ๔ กร ถือหอก ศูล กระบอง สีกายแดง ทัดดอกไม้สีแดงอีกนั่นแหละ มีราชกาสรคือควายเป็นพาหะน

เป็นอันว่าผมเขียนเรื่องพระอังคารได้เพียงเท่านี้ครับ จะจบเพียงเท่านี้ก็ดูกระไรอยู่ ขอเพิ่มเรื่อง พระมนู สักนิดเถอะ จากหนังสือเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้ของ ร. ๖ ครับ อ่านช้าๆ นะ เข้าใจยากอยู่สักนิด แต่ก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์ซึ่งก็คือคนอยู่ ก็ต้องสนใจบ้างละ ผมลอกเลยครับ

พระมนู ที่กล่าวในที่นี้เป็นองค์ที่ ๗ พระมนูสวายัมภูว ผู้มีกำเนิดจากพระสวยัมภู (พรหมา) ในคัมภีร์ “มานวธรรมศาสตร์” กล่าวไว้ว่า เมื่อพระอาตภูได้ทรงสร้างน้ำขึ้นก่อน แล้วได้ทรงเอาพืชหว่านในน้ำ จากพืชนั้นได้เกิดเป็นไข่ทอง และพระอาตมภูเองได้เข้ากำเนิดในไข่ทองนั้นเป็นพระพรหมา ปีตามหา (ผู้สร้าง) แห่งโลก พระพรหมาอยู่ไข่นั้น ๑ ปี แล้วจึงแบ่งไข่นั้นออกเป็นสองภาคโดยอำนาจพระมโนเท่านั้น เหตุที่ได้มีกำเนิดในไข่ทองเช่นนี้ จึงเรียกพระพรหมาว่า “หิรัณยครรภ” เมื่อออกจากไข่แล้วพระพรหมาจึงเริ่มทรงสร้างโลกต่อไป คัมภีร์พรหมาปุราณะกล่าวว่าเมื่อได้ออกจากไข่ทองแล้ว พระพรหมาแบ่งพระองค์เป็น ๒ ภาค ชายภาค ๑ หญิงภาค ๑ ซึ่งช่วยกันสร้างพระวิษณุเป็นเจ้า แล้วพระวิษณุจึงได้ทรงสร้างบุรุษที่ ๑ ชื่อวิราช และวิราชสร้างพระมนูสวายัมภูว แต่คัมภีร์ “มัตสยะปุราณะ” กล่าวว่าพระพรหมาสร้างนางขึ้นองค์ ๑ ชื่อ สตะรูปา (หรือสรัสวดี) และตรัสชวนให้ช่วยกันสร้างภูตะ (สัตว์ มีชีวิต) ทุกชนิด คือมนุษย์ สุระ อสุระ สององค์จึงไปอยู่สำราญในที่รโหฐานด้วยกัน ๑๐๐ ปีสวรรค์ แล้วจึงได้กำเนิดพระมนูองค์ที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าสวายัมภูวและวิราช

พระมนูสวายัมภูวองค์นี้เป็นผู้ที่รับมองธุระสร้างคน ฉะนั้นคนจึงได้ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเกิดแต่มนู พระมนูได้สร้างประชาบดีขึ้น ๑๐ ตน เพื่อให้เป็นมาหชนกของมนุษย์สืบมา ประชาบดีหรือมาหฤาษี ๑๐ ตน คือ ๑. มะรีจิ ๒. อัตริ ๓. อังคีรส ๔.ปุลัสตยะ ๕. ปุละหะ ๖. กระตุ ๗. สวิษฐ ๘. ประเจตัส หรือทักษา ๙. ภฤค ๑๐. นารถ บางตำรับก็ออกนามประชาบดีเพียง ๗ ตน คือที่เรียกสัปตะฤาษีนั่นเอง พระมนูองค์ที่ ๑ นี้เป็นผู้รจนาคัมภีร์ที่เรียกว่า มนุสันหิตา หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “มานวธรรมศาสตร์” พระมนูที่ ๑ นั้นจัดว่าเป็นพราหมณ์โดยพระชาติ

พระมนูมีกำหนดจะมาบังเกิดในโลก ๑๔ องค์ เป็นใหญ่อยู่ในโลกองค์ละ ๑ มานวันตร ซึ่งเทียบเป็นปีมนุษย์ถึง ๔,๒๐๐,๐๐๐ ปี พระมนูในเรื่องมัตสยาวตารเป็นกษัตริยชาติ โอรสพระสุริยาทิตย์ เป็นมนูองค์ที่ ๗ และในกาลบัดนี้ยังเป็นมานวันตรของพระมนูองค์ที่ ๗ นั้นอยู่

นามพระมนู ๑๔ องค์ตามลำดับต่อไปนี้ คือ ๑. สวายัมภูว ๒. สวาโรจิษ ๓. โอตตมี ๔. ตามะสา ๕. ไรวตะ ๖. จากบุษ ๗. ไววัสวัต หรือสัตยพรต ๘. สาวรรณ ๙. ทักษะวาวรรณ ๑๐ง พรหมสาวรรณ ๑๑. ธรรมสาวรรณ ๑๒. รุทระสาวรรณ ๑๓. เราจะยะ ๑๔. เภาตะยะ

พระมนูไววัสวัต องค์ที่กล่าวถึงในปางมัตสยาวตารมีโอรสที่ ๑ ชื่ออิกษวากุ และอิกษวากุนี้เป็นปฐมกษัตริย์ต้นสุริยวงศ์ ซึ่งครองนครอโยธยา จึงมีข้อความกล่าวไว้ในโองการแช่งน้ำที่พระมหาราชครูอ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่า

“สมมติแกล้วอาทิตย์        เดอมกาล
สายท่านทรงธรณี        เรื่องหล้า”

เรื่องพระอังคาร ผมเห็นจะต้องจบเพียงเท่านี้ สั้นไปมากทีเดียว เพราะจะแถมอะไรเข้าไปอีกก็กลัวท่านผู้อ่านจะเป็นว่าเป็นยานอนหลับไป แต่ก็สั้นเฉพาะเรื่องพระอังคารเท่านั้น เทพองค์อื่นๆ ผมฝอยได้พอดีๆ ครับ

เป็นอันว่าจบสำหรับว่าด้วยเรื่องพระอังคารกันเพียงเท่านี้

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ตำนานของพระอาทิตย์

พระอาทิตย์
เรื่องพระอาทิตย์ ก็ต้องเริ่มด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อีกละครับ ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ อยู่ห่างจากโลกประมาณ ๙๒,๘๗๐,๐๐๐ ไมล์ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘๖๕,๓๗๐ ไมล์ ยาวกว่าโลก ๑๐๙ เท่า มีมวล ๓๓๓,๔๓๔ เท่าของโลก ความดึงดูดบนผิวดวงอาทิตย์มีประมาณ ๒๘ เท่าของความดึงดูดบนผิวโลก สมมุติว่ามีมนุษย์วิเศษสามารถไปยืนอยู่บนดวงอาทิตย์ได้อย่างเบาะๆ ก็คงจะมีน้ำหนักตัวราว ๒ ตัน ดวงอาทิตย์เป็นกลุ่มก้อนก๊าซทรงกลมมหึมานัก ลุกไหม้ด้วยปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ และดวงอาทิตย์ส่งความร้อน แสงสว่าง และกำลังอื่นๆ รวมเข้าแล้วประมาณวันละ ๓๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ตัน แต่ว่าโลกได้รับประมาณ ๑ ส่วนใน ๑,๙๘๐,๐๐๐ ส่วนใน ๑,๙๘๐,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนนั้น ดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเอง แต่เคลื่อนที่ไม่เหมือนกัน แถวเส้นศูนย์สูตรหมุนเร็วมาก เฉลี่ยเท่ากับ ๒๔.๖๕ วัน ที่กึ่งกล่างระหว่างขั้วและเส้นศูนย์สูตรหมุนรอบตัวเองเฉลี่ยเท่ากับ ๒๗.๕๐ วัน และที่ขั้วหมุนรอบตัวเองราว ๓๔ วัน

ในเรื่องวิทยาศาสตร์ ดวงอาทิตย์เป็นเรื่องใหญ่มากครับ และมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ทุกชาติทุกภาษาก็เห็นคุณของพระอาทิตย์ จนนับถือเป็นเทพมานานนักหนาแล้ว นับตั้งแต่ยุคทองแดงโน่น นักโบราณคดีค้นพบวัตถุที่แสดงถึงดวงอาทิตย์มากมาย

ทีนี้ก็มาว่ากันตามลัทธิพราหมณ์ละครับ ว่าถึงตำนานนพเคราะห์ทางโหราศาสตร์ว่า พระอิศวรได้สร้างพระอาทิตย์ขึ้นด้วยการเอาราชสีห์ ๖ ตัวมาป่นแล้วห่อด้วยผ้าสีแดงพรมด้วยน้ำอมฤต ก็เกิดเป็นพระอาทิตย์ขึ้น มีสีกายแดง วิมานก็สีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหะ

ตามคัมภีร์ไตรเพท กล่าวว่า เดิมทีพระอาทิตย์มี ๗ องค์ ต่างก็เป็นโอรสของพระกัศยปเทพบิดรกับนางอทิติเทพมารดร แต่โอรสของนางอทิตินั้นมี ๘ องค์ แต่นางไม่ค่อยจะชอบหน้าโอรสองค์หนึ่ง คือ มรรตตาณฑะ แต่ต่อมาก็นับรวมเป็นอาทิตย์ด้วย รวมความว่าโอรสนางอทิติมีคำว่าอาทิตย์พ่วงท้ายรวม ๘ องค์ คือ
๑. วรุณาทิตย์
๒. มิตราทิตย์
๓. อริยมนาทิตย์
๔. ภคาทิตย์
๕. องศาทิตย์
๖. อินทราทิตย์
๗. ธาตราทิตย์
๘. สุริยาทิตย์
พระสุริยาทิตย์ นี้เดิมก็คือมรรตณฑะที่แม่ไม่ชอบนั่นแหละ ถึงแม้จะได้รับให้มีอาทิตย์พ่วงท้ายก็เถอะแต่แม่ก็ยังไม่รักแฝงอยู่ในหัวใจเหมือนกัน พระสุริยาทิตย์จึงต้องเที่ยวขับรถอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกอยู่บัดนี้ ที่จริงก็ดีเหมือนกันนะ เพราะถ้าไม่มีพระสุริยาทิตย์ขับรถให้ความสว่างและความร้อนแก่โลก ป่านนี้มนุษย์ตายหมดแล้ว ตำราพราหมณืยังถืออีกว่า พระอาทิตย์เป็นโลกบาลทิศเนรดี (หรดี=ตะวันตกเฉียงใต้) และบางตำนานว่าโลกบาลทิศนี้ชื่อเนรดี (นิรฤติ) ตามชื่อทิศ

ต่อไปนี้ พระอาทิตย์ที่จะกล่าวถึงก็ต้องหมายถึง พระสุริยาทิตย์ ละครับ พระอาทิตย์มีชายาหลายองค์ครับ เช่น นางสัญญา นางฉายา นางสุวรรณี นางสวาสดิ และนางมหาวิริยา พระอาทิตย์แม้ว่าจะเป็นเทวดา ก็เหมือนมนุษย์ที่ย่อมจะรักเมียไม่เท่ากัน คือรักนางสัญญามากที่สุด นางสัญญานี้เป็นธิดาของพระวิศวกรรม นางมีลูกกับพระอาทิตย์ดังนี้
๑. พระมนูไววัสวัต หรืออีกนัยหนึ่งคือพระสัตยพรต
๒. พระยม หรือพระธรรมราช
๓. นางยมี หรือยมนา (ลำน้ำ)

ถึงแม้มีลูกด้วยกันถึงสามคนก็เถอะ แต่นางสัญญาก็ทนความร้อนของพระอาทิตย์ไม่ได้ ที่มีลูกได้ถึง ๓ คนก็แสดงว่าอดทนได้เก่งแล้ว ต่อมาทนไม่ไหวเข้านางสัญญาก็หนีพระอาทิตย์ไป แล้วแปลงเป็นนางม้า มีนามว่า อัศวินี พระอาทิตย์รักนางมากก็ต้องตามหาจนเจอะ และรู้ด้วยว่านางแปลงเป็นนางม้า พระอาทิตย์ก็เลยแปลงเป็นม้าผู้มีนามว่า อัศวราช ได้สมสู่กันดังที่ผมได้เล่าไว้ในเรื่องพระเสาร์และพระอัศวินแล้วละครับไม่ฉายซ้ำอีกละ

อย่างไรก็ตาม พระอาทิตย์กับนางสัญญาเกิดถ่านไฟเก่าคุขึ้นปรองดองกันได้ เมื่อกลับมาพระวิศวกรรมผู้เป็นพ่อตาพระทิตย์ได้นำพระอาทิตย์มากลึงเพื่อขูดผิวสว่างออกเสีย ๑ ใน ๘ ส่วน ผิวที่กลึงขูดมานั้นพระวิศวกรรมได้เก็บมาสร้างจักรถวายพระนารายณ์ สร้างตรีศูลถวายพระอิศวร สร้างคทาให้ท้าวกุเวร สร้างหอกแต่บางตำนานว่าพระขรรค์ให้พระขันทกุมาร และยังสร้างอาวุธต่างๆ แจกจ่ายให้เทวดาไว้ป้องกันตัวอีกแยะครับ

นามพระอาทิตย์ก็มีชื่อต่างๆ มาก ดังเช่น
สาวิตฤ=ผู้เลี้ยง
วิวัสวัต=ผู้สว่าง
ภาสกร=ผู้ทำแสงสว่าง
ทินกร=ผู้ทำกลางวัน
อรหบดี=เป็นใหญ่ในกลางวัน
โลกจักษุ=ตาโลก
กรรมสากษี=พยานกรรม
เคราะหราช=เจ้าแห่งดาว
คภัสติมาน=มีแสง
สหัสภิรณ=มีแสงพันหนึ่ง
วิกรรตตนะ=ผู้ถูกตัดแสงสว่างคือถูกขูด

พระสุริยาทิตย์นี้ตามรูปเขียน เป็นรูปสีแดง เป็นคนร่างเล็ก ขี่รถเทียมม้า ๗ ตัว หรือบางทีก็ว่าตัวเดียวมี ๗ หัว ในไตรภูมิพระร่วงว่าพระอาทิตย์ทรงเกวียนทองเทียมด้วยม้าสินธพ ๑ พันตัว มีรังสีหรือรัศมีรุ่งโรจน์รอบตัว มีสารถีชื่อ อรุณ (อรุณนี้ แปลว่าแดงเรื่อ หมายถึงแสงตะวันแรกขึ้น ในหนังสือปุราณะเป็นโอรสท้าวกัศยปกับนางกัทรุ) มีสี่กร กรหนึ่งห้ามอุปัทวันตราย กรหนึ่งประทานพร อีก ๒ กร ถือดอกบัว เสื้อทรงสีเหลืองอ่อนอาภรณ์แก้วปัทมราช บางครั้งบางหนก็มักประทับบนแท่นดอกบัวมีเมืองชื่อ วิวัสวดี หรือภาสวดี

ตรงนี้ขอแทรกเรื่องยุ่งๆ หน่อยครับ ในรามายณะว่า พระสุริยาทิตย์ เป็นพ่อของพระยาสุครีพอุปราชนครกิษกินธยา (รามเกียรติ์ไทยว่าขีดขิน เดี๋ยวจะเล่าเรื่องนี้ต่อครับ) ในมหาภารตะว่าพระอาทิตย์เป็นพ่อของท้าวกรรณผู้ครองแคว้นองคราษฎร์ (เบงคอล) เกิดจากนางกุนตี ท้าวกรรณเป็นแม่ทัพใหญ่ของฝ่ายโกรพ ในหริวัศว่าพระอาทิตย์เป็นพ่อของพระมนูไววัสวัต พระมนูเป็นพ่อของท้าว อิกษวากุ ผู้เป็นบรมชนกแห่งกษัตริย์ สุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีอโยธยา และมิถิลา พระมนูมีธิดาชื่อนางอิลา (คือท้าวอิลราชที่กลายเป็นสตรีดังที่เล่าไว้ในเรื่องพระพุธแล้ว แต่ในรามายณะว่าท้าวอิลราชเป็นบุตรของพระกรรมทมมหาฤาษี) นางอิลานี้ตกเป็นมเหสีพระพุธ เกิดบุตรชื่อ ปุรุรพ ผู้เป็นบรมชนกแห่งกษัตริย์ จันทรวงศ์ เพราะพระพุธเป็นโอรสแห่งพระจันทร์ ตระกูลจันทรวงศ์จึงนับเนื่องเป็นญาติพงศ์กับตระกูลสุริยวงศ์ด้วยประการฉะนี้แล ย่อหน้านี้สับสนหน่อยครับ ถ้ายุ่งนักก็ไม่ต้องสนใจหรอก

ส่วนมูลเหตุแห่งเจ้ากรรมนายเวร หรือชาติกรรมชาติเวรของพระอาทิตย์ซึ่งไม่กินเส้นกับพระเสาร์ พระราหูและพระอังคาร แต่เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดีนั้น ผมก็ได้เล่าในเรื่องเทพองค์นั้นไว้มากพอแล้วละ ไม่ขอวนกลับอีกแล้ว แฮะแฮะ คอยอ่านตอนรวมเล่มนะ

มาถึงเรื่องรามเกียรติ์ไทยเหอะ มีเรื่องสนุกดีออก คือ มีเรื่องว่า ฤาษีโคดมตั้งพิธีกูณฑ์เสกนางกลาลอัจฉาขึ้นแล้วก็ให้เป็นเมียคู่ทุกข์คู่ยาก ต่อมามีลูกหญิงคนหนึ่งชื่อ นางสวาหะ แต่แล้วก็มีพระอินทร์แอบมาตีท้ายครัว จนมีลูกสีกายเขียวเหมือนพ่อ ส่วนพระอาทิตย์ก็เอามั่ง มีกลอนว่า
“เมื่อนั้น                    พระอาทิตย์ฤทธิ์แรงแสงกล้า
จึงส่องทิพยเนตรลงมา            ก็แจ้งว่าอัจนาเทวี
มีความประติพัทธ์ประหวัดจิต    พระอาทิตย์ชื่นชมเกษมศรี
สมคิดที่จะแบ่งฤทธี            ไปช่วยพระจักรีปราบมาร
ตริแล้วจึงสั่งเทพสารถี        ให้ขับรถมณีไพศาล
ส่องโลกไปทั่วจักรวาล        องค์พระสุริย์ฉานก็ลงมา”

ในที่สุด นางอัจนาก็มีลูกกับพระอาทิตย์รูปกายสีแดง แต่แปลกแฮะ ฤาษีโคดมมิยักกะสงสัยในเรื่องกรรมพันธุ์บ้างซะเลย กลับรักลูกที่มีสีเขียวสีแดงมากกว่าลูกของตนด้วยซ้ำ วันหนึ่งฤาษีพาลูกทั้งสามไปอาบน้ำ อุ้มลูกตัวแดงตัวเขียวไป ส่วนลูกตัวเองกลับให้เดินไป นางสวาหะซึ่งเป็นลูกแท้ๆ ก็ย่อมน้อยใจเป็นธรรมดาละครับ และคงรู้ว่าแม่ของตนมีเทวดาแอบมาตีท้ายครัว ก็เลยตัดพ้อว่า ทีลูกของตนให้เดิน ทีลูกคนอื่นอุ้มไป เลนเอาฤาษีสะดุ้ง เลยเสี่ยงทายก่อนปล่อยลงน้ำทั้ง ๓ คนว่า ใครเป็นลูกของตนให้กลับมา ใครเป็นลูกคนอื่นให้เป็นลิงเข้าป่าไป ผลที่สุดลูกตัวเขียวคือพาลีและตัวแดงคือสุครีพก็เป็นลิงไป ร้อนถึงพระอินทร์กับพระอาทิตย์ต้องร่วมมือกันสร้างเมืองขีดขินให้สองลิงนั้นครอบครอง พาลีเป็นพญากากาศเป็นเจ้าเมือง สุครีพเป็นอุปราช ส่วนฤาษีโคดมกลับไปอาศรมก็สาปนางอัจนาให้เป็นหิน นางอัจนาก็สาปนางสวาหะให้ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมอยู่เชิงเขาจักรวาล ต่อเมื่อมีลูกจะพ้นคำสาป ต่อมาพระพายได้นำเทพศัสตราวุธคือคทาเพชร ตรีเพชร จักรแก้วของพระอิศวรไปซัดเข้าในปากนางสวาหะเป็นผลให้นางมีลูกชื่อหนุมาน นั่นแหละครับ

เล่าเรื่องพระอาทิตย์ของพราหมณ์แล้วเห็นว่าหน้ายังเหลือก็เลยฝอยเรื่องพระอาทิตย์ฝรั่งมั่ง เลือกเอาบางตอนเท่านั้น พอให้ได้รสเค็มๆ มันๆ พอหน้ากระดาษเท่านั้นละครับ

อันว่าพระอาทิตย์ของกรีกมีชื่อว่า อาโปลโล (Apollo) หรือ พีบัส (Phoebux) เป็นลูกของซุส (Zeus) ดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นเทพเจ้ายิ่งใหญ่ของกรีก กับนางลาโตนา (Latona) ซึ่งนางเป็นชายาน้อยถูกชายาหลวงคือฮีรา (Hera) หึง ลาโตนาต้องหนีไปคลอดบุตรที่เกาะเดโลส เป็นลูกฝาแฝดชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ชายคือพระอาทิตย์ หญิงคือพระจันทร์ (Artemis) พระอาทิตย์ฝรั่งถือว่าเป็นเทพที่สง่างามนัก มีหน้าที่ขับรถให้แสงสว่างแก่โลก ความร้อนและแสงสว่างออกจากตัวรถไม่ใช่ออกจากตัวพระอาทิตย์อย่างของพราหมณ์ การขับรถนี้ มีเทพบุตรมีนามว่า โฮรา (Hora) เหาะลอยอยู่บนหลังม้าคอยบอกหนทาง นามเทพบุตร Hora กลายมาเป็นคำสามัญว่า Hour ในภาษาอังกฤษ และ Heur ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่าชั่วโมง การขับรถของพระอาทิตย์ให้ความสว่างแก่โลกนี้ บางครั้งก็ต้องต่อสู้กับศัตรูเหมือนกัน พระอาทิตย์ก็ยิงลูกศรรอบตัวรถ ซึ่งทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์มีแสงเป็นวงออกรอบตัว ซึ่งเราเรียกว่าพระอาทิตย์ทรงกลด โดยที่พระอาทิตย์จัดว่าหล่อเหลาเอาการ จึงมีผู้หญิงชาวโลกหลงใหล มีคนหนึ่ง ชื่อ ไคลตี (Clytie) ใฝ่ฝันเสน่หาพระอาทิตย์นักแต่พระอาทิตย์ไม่เล่นด้วย นางก็เลยตายกลายเป็นดอกทานตะวัน

แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ พระอาทิตย์ก็มีลูกกับมนุษย์จนได้ ลูกคนนี้ชื่อพีโธน (Phaethon) หมอนี่ชอบอวดใครๆ ว่าเป็นลูกพระอาทิตย์ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ กลับกลับล้อว่าลูกไม่มีพ่อ วันหนึ่งพีโธนก็ขอรถของพ่อไปขับเพื่อจะอวดชาวโลกว่าเป็นลูกพระอาทิตย์จริง ทีนี้เพื่อนขับรถเสียเตี้ยจนทำให้ชาวโลกร้อนกันไปทั่ว พากันร้องระงม จนในที่สุด ซุสก็เอาสายฟ้าสังหารพีโธน และปล่อยให้ฝนตก ก็อย่างที่เราเห็นละครับก่อนฝนตกอากาศจะร้อนอบอ้าว แล้วก็เกิดฟ้าคะนอง ซึ่งก็คือซุสปล่อยสายฟ้า แล้วฝนก็ตกนั่นแหละ เข้ากับธรรมชาติเปี๊ยบเลย คำพีโธนก็เลยเป็นคำสามัญคือ Pheton แปลว่ารถเทียมม้า ๔ ล้อ

และเมื่อเรื่องพระอาทิตย์หลงรักเทพอัปสรหยาดน้ำค้างชื่อดาฟนี (Daphne) พระอาทิตย์จะวิงวอนขอความรักอย่างไร เธอก็ไม่เล่นด้วย ในที่สุดพระอาทิตย์ก็ปล้ำ แต่เธอก็หายไป พระอาทิตย์ก็ได้แต่กอดต้นไม้เล่น เรื่องของเรื่องก็เป็นการผูกนิยายให้เข้าธรรมชาติอีกนั่นแหละ ตอนเช้าๆ มีหยาดน้ำค้างเกาะอยู่ตามใบไม้ แลดูงดงามนักจึงยกให้เป็นเทพอัปสร และน้ำค้างนั้นดูเหมือนมีพระพาทิตย์มาลูบไล้ แต่นางก็ไม่เล่นด้วยหรอก พอสายหน่อยพระอาทิตย์แสงแรงกล้าก็ดูคล้ายว่าพระอาทิตย์ปล้ำน้ำค้าง แต่น้ำค้างหายไป ก็เพราะสายแล้วนั่นเอง พระอาทิตย์จึงเหมือนจะกอดผิดกลายเป็นกอดต้นไม้ไปนี่แสดงว่าผูกนิยายให้เข้ากับธรรมชาติได้ดีแท้นัก

ผมจะฝอยอีกเกรงจะยืดยาวไปครับ ขอจบเรื่องพระอาทิตย์แต่เพียงนี้เหอะ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เทวประวัติของพระอทิติ

เทพธิดาองค์นี้ เทวประวัติสับสนเหลือเกินละ จับต้นชนปลายไม่ถูกเลย ที่จริงเทวดาเกือบทุกองค์ละครับ มีเทวประวัติสับสน ก็เห็นจะเพราะท่านเกิดมานานเป็นพันๆ ปีแล้วก็อยู่ถึงเมืองสวรรค์ ประวัติก็ย่อมลางเลือนไปเป็นธรรมดา จะไปสัมภาษณ์ก็ไม่ไหว เพราะอยู่ไกลเหลือเกิน พระอทิตินี่ผมก็คงจะเขียได้นิดเดียว ก็ดีเหมือนกันผู้อ่านจะได้ไม่ต้องมาปวดหมองเหมือนผม

หนังสือเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็ดพระมงกุฎเกล้าฯ มีอยู่นิดหนึ่ง ผมขอคัดมาเลยง่ายดี

“อทิติ แปลว่า ไม่มีที่สุด มุ่งความว่าสวรรค์อันหาที่สุดมิได้ สมมุติตัวขึ้นนับว่าเป็นเทพมารดา บ้างก็ว่าเป็นมารดาพระทักษประชาบดี บ้างก็ว่าเป็นธิดาพระทักษา ตามไตเทพว่าพระอทิติมีโอรส ๘ องค์ แต่รับเพียง ๗ องค์ ซึ่งมีนามกรต่อมาว่าอาทิตย์ ในวิษณุปุราณะกล่าวว่าพระอทิติเป็นธิดาพระทักษะ และเป็นชายาพระกัศปะ และพระวิษณุได้อวตารเป็นคนค่อมเรียกว่าพระวามนาวตาร มาเข้าครรภ์พระอทิติ (พระวิษณุจึงมีนามว่าอาทิตย์ด้วยองค์หนึ่ง) พระกัศปะและพระอทิติทั้งสองนี้ ว่าเป็นชนากชนนีแห่งพระอินทร์ด้วย จึงได้นามว่าพระเทพมารดาบ้าง และโลกมารดาบ้าง อนึ่งนางเทวกีผู้เป็นชนนีแห่งพระกฤษณาวตารนั้น ก็กล่าวว่าคือพระอทิติแบ่งภาค”

ก็มีเพียงเท่านี้ครับ เห็นจะต้องพึ่งตำราเล่มอื่นอีก หนังสือศาสนาสากลของหลวงวิจิตรวาทการ มี ๕ เล่มด้วยกัน ท่านวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ไว้ดีนัก เลยถือโอกาสคัดมาประกอบสักนิดเหอะน่า

“พระเทพีอทิติเป็นชายาของพระกัศยปเทพบิดร และเป็นมารดาของเทพเจ้าหลายองค์ สร้างขึ้นพร้อมกับพระกัศยปเทพบิดร ในสมัยที่ยังไม่มีความคิดเรื่องการสร้างเทพเจ้าโดยเนรมิต คือต้องสร้างให้มีพ่อมีแม่อย่างคนธรรมดา แต่พอมาถึงพระทักษะผู้สร้างพระทักษะเกิดจะให้พระอทิติเป็นลูกของพระทักษะ เนื่องจากที่เขาสร้างพระทักษะให้มีพระธิดามากมาย พระเทพีอทิติซึ่งเป็นเทพีเด่นอยู่องค์เดียวก็ควรจะเป็นพระธิดาของพระทักษะเสียด้วย แต่พวกเจ้าตำรารุ่นเก่าไม่ยอม บอกว่าถ้าจะให้มีพระทักษะแล้วก็จะต้องให้เป็นลูกของพระเทพีอทิติ ซึ่งเป็นเทพมารดามามากแล้ว เป็นอันว่าไม่สามารถจะตกลงกันได้ จึงต้องมีตำราสองตำรา ตำราหนึ่งว่าพระเทพีอทิติเป็นลูกของพระทักษะ อีกตำราหนึ่งว่าพระทักษะเป็นลูกของพระเทพีอทิติ ต่างคนต่างก็ได้ยินมาจากพระพรหม พระอิศวร ไม่รู้ว่าเป็นความผิดของใคร เรื่องสร้างกันหลายมือก็เป็นอย่างนี้”

ทีนี้ผมก็ต้องฝอยเอง โดยเก็บความจากหนังสือต่างๆ ไปตามเรื่องและสำนวนลีลาของผมเองละ

พระวรกายของพระอทิติเทพมารดรนี้ เขียนเป็นรูปเทพนารีมีรัดเกล้าอันงดงามประดับด้วยอาภรณ์นิดๆ หน่อยๆ คือเพียงสร้อยรวมกับทองกร ทรงผ้าขาว ส่วนฉวีวรรณก็ขาวผุดผ่อง ประทับนั่งอยู่บนแท่นศิลา ซึ่งหมายถึงภูเขาเหมกูฏอันเป็นที่ประทับร่วมกับพระสวามีคือพระกัศยปเทพบิดร คำว่าเหมกูฏน่ะแปลว่าภูเขายอดทองครับ (เหม=ทอง  กูฏ=ยอด) ภูเขาลูกนี้อยู่เหนือภูเขาหิมาลัย เป็นภูเขาใหญ่กั้นแดนโดยให้ทางเหนือเป็นที่อยู่ของพวกกินนร กินรี

ในมัสยะปุราณะมีเรื่องกล่าวถึงพระอทิติเหมือนกันคือเมื่อครั้งเทวดาหลอกยักษ์ให้กวนน้ำอมฤต ดังที่ผมเล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว (เวลารวมเล่มอ่านสะดวกติดต่อกันดีครับ จดหมายไปโกหกคุณต่วยเหอะว่าสนใจเรื่องนี้ คุณต่วยจะได้รวมเล่มให้ เทวดาจะได้ดลใจให้คุณต่วยรวยอย่างกะอื้อจือเหลียงละ) ครั้งนั้นมีตุ้มหูเกิดขึ้นมาคู่หนึ่ง พระอินทร์ได้นำไปถวายพระอทิติ แล้วก็มีเรื่องพิสดารละเอียดลออแตกกอต่อไปในบรรดาตำรับปุราณะต่างๆ ว่า ตุ้มหูคู่นี้อสูรชื่อนรกะขโมยไปไว้ในนครปุราคชโยติษะ แต่ต่อมาพระกฤษณะได้นำมาคืนพระอทิติตามเดิม ซึ่งตอนนั้นน่ะพระอทิติอยู่ในภาคของนางเทวกีผู้เป็นมารดาของพระกฤษณะ

อ้อ ในหนังสือเทวดาพระเวท ของอุดม เรืองศรี มีเรื่องพระอทิติอยู่นิดหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในอินเดียเจ้าตำรับครับ เป็นหนังสือที่ขลังเลยอ่านเข้าใจยากอยู่สักหน่อย

ก็ได้ความว่า เทวีพระอทิตินี้ไม่ปรากฎชัดเจนในด้านรูปร่าง เพียงแต่รู้ว่าเป็นเทวีผู้ประกอบด้วยความสว่างรุ่งเรือง เป็นผู้ประคับประคองโลกและส่ำสัตว์ทั้งปวงในโลกมนุษย์นี้ อทิติถือว่าเป็นเทวีผู้คุ้มครองคนจากความทุกข์ให้ความปลอดภัยและช่วยให้คนพ้นจากบาปทั้งมวล คำอทิตินี้หมายถึงอิสระไร้ขอบเขต ดังนั้นจึงมีการขอให้เทวีนี้ ปลดปล่อยคนผู้ที่เคารพพ้นจากบาปด้วย กล่าวกันว่า เทพอทิติเป็นตัวแทนของธรรมชาติแห่งจักรวาล อทิติคือท้องฟ้า อทิติคืออากาศ อทิติคือมารดา บิดาและลูก อทิติคือเทพทั้งปวงและชนทั้งห้าเผ่า อทิติคือส่วนที่เกิดขึ้นแล้ว อทิติคือสิ่งเกิดขึ้นในกาลอนาคต

ครับ ผมก็เขียนเรื่องเทพอทิติได้เพียงเท่านี้ละ ไม่ทราบว่าจะไปค้นที่ไหนได้มาอีกแล้ว ตามเคยครับ ผมแทรกความรู้เรื่องอื่นอีก เรื่องพระเวทหรือไตรเพทผมเห็นว่าน่าจะรู้ครับ เพราะเอ่ยถึงบ่อยมาก ในหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เช่นในอภิธานศกุนตลา แต่ผมขอคัดจากหนังสือชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลวงสารานุประพันธ์ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ เพราะเห็นว่าหาอ่านยากครับ

“เมื่อพราหมณ์ได้รับการคารวะนับถือเป็นตระกูลสูงสุด เพราะมีความรู้ความสามารถในปรีชาญาณ ทั้งมีติดต่อกับพรหมโดยตรงแล้ว พราหมณ์จึงได้รวบรวมสรรพวิชาทั้งหลายอันตนค้นพบ หรือเข้าใจเรื่องขึ้นประมวลเข้าเป็นความรู้ เรียกว่า “ไสยศาสตร์” ซึ่งขึ้นต้นด้วยวิชาสำคัญที่สุดคือ “พระเวท” อันหมายถึงวิชาการเกี่ยวด้วยพรหมเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย บรรดาที่มนุษย์จะต้องเคารพบูชา โดยเหตุที่สมัยนั้นหนังสือยังหามีไม่ จึงต้องใช้วิธีท่องจำและสอนกันต่อๆ มา พระเวทประกอบด้วย “มนตร์” คือคาถาท่องจำ กับ “พราหมณะ” คือคำอธิบายลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ของพระเวทของพราหมณ์ แต่เดิมมี ๓ เรียกว่า “ไตรเพท” ได้แก่
๑. ฤคเวท  พระเวทนี้เป็นคัมภีร์เก่าที่สุด มีขึ้นเป็นครั้งแรกในตำราศาสนาพราหมณ์แห่งไสยศาสตร์ กล่าวกันว่าออกจากพระโอษฐ์ของพระพรหมซึ่งพวกมหาฤาษีได้สดับมาแล้ว นำมาอนุศาสน์นรชนอีกต่อหนึ่ง กล่าวด้วยเทวดาต่างๆ สรรเสริญและบนบานขอให้ช่วยกำกัดภัยทั้งมวล เช่น พระอินทร์ พระอัคนี พระสุริยะ ฯลฯ
๒. ยัชุรเวท  เป็นคัมภีร์ที่ – กล่าวด้วยลัทธิพิธีกรรมต่างๆ เช่น ยัญกรรมเป็นอาทิ พระเวทเล่มนี้เป็นตำราการทำพิธีของพราหมณ์โดยตรง
๓. สามเวท เป็นคัมภีร์ที่ ๓ กล่าวด้วยบทคาถาสังเวยสำหรับเห่กล่อมเทวดาบูชาน้ำโสมแก่เทวะทั้งหลาย (สาม แปลว่าสวด) ดังที่เราท่านได้ยินจากพราหมณ์ที่โบสถ์พราหมณ์ เห่กล่อมพระนเรศวร์ พระนารายณ์ หลังจากพิธีตรียัมปาวาย (โล้ชิงช้า) เสร็จสิ้นไปแล้ว

ต่อมามีเพิ่มอีกพระเวทหนึ่งเรียกว่า “อาถรรพณเวท” เป็นพระเวทเกี่ยวด้วยอาถรรพณ์ต่างๆ ในพระเวทนี้มีมนตร์สำหรับใช้ในกิจการทั้งปวง เช่น รักษาโรคภัยไข้เจ็บหรือกำจัดผลร้าย อันจะมีมาแต่พยาธิภัยและมรณภัย และรวมทั้งสำหรับใช้ทำร้ายแก่ศัตรูหมู่อมิตร โดยเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเข้าในตัว หรือฝังรูปฝังรอย หรือทำให้ชู้มีความรักใคร่ ที่เรียกว่าทำเสน่ห์ยาแฝดเป็นต้น

นอกจากพระเวทใหญ่ทั้ง ๔ นี้แล้ว พราหมณ์ยังได้สร้างพระเวทรองขึ้นอีก ๔ เรียกว่า อุปเวท เป็นวิชากล่าวด้วยวิทยาศาสตร์ต่างๆ อันเป็นวิทยาการโดยเฉพาะคือ
๑. อายุรเวท  ได้แก่ตำราแพทยศาสตร์ หรือวิชาหมอ กล่าวด้วยการใช้สมุนไพรและมนต์ต่างๆ ในการรักษาโรคทุกชนิด
๒. คานธรรพเวท  ได้แก่ตำราขับร้อง และดนตรีกับนาฏยศาสตร์หรือการฟ้อนรำ
๓.ธนุรเวท  ได้แก่วิชายิงธนูและการใช้อาวุธในการสงคราม ซึ่งบัดนี้เรียกยุทธศาสตร์
๔. สถาปัตยเวท  ได้แก่วิชาก่อสร้าง ซึ่งบัดนี้เรียกว่าสถาปัตยกรรม

อุปเวททั้ง ๔ นี้ มีเทวดาเป็นเจ้าของวิชาประจำสำหรับเป็นที่เคารพสักการะ ตลอดทุกสาขา ดังที่เราจะได้เห็นศิลปินของทุกวิชา ทำการเซ่นไหว้ตามวาระที่เรียกว่าไหว้ครูนั้น เช่น

อายุรเวท  มีเทวดาประจำเป็นเจ้าของ คือ ฤาษีทั้ง ๘ ซึ่งไม่ปรากฎนามแน่นอนในตำรา

คานธรรพเวท มีเทวดาประจำ คือพระนารทฤาษี ที่เรียกกันว่าพระนารอท หรือพระปรคนธรรพ
ธนุรเวท ในยุคหลังมีเทวดาประจำ ชื่อพระขันทกุมาร
สถาปัตยกรรม มีเทวดาประจำ คือพระวิศนุกรรม ซึ่งเป็นตราเครื่องหมายของนักสถาปัตยกรรมเวลานี้

อนึ่ง วิธีเรียนพระเวทให้เป็นผลนั้น เรียกว่า “เวทางค์” คือองค์ของพระเวทมี ๖ บท หมายความว่า ต้องถนัดจัดเจนในหลักของเวทางค์เสียก่อน แล้วจึงจะเข้าสู่การเรียนพระเวทได้โดยตรง
เวทางค์ทั้ง ๖ องค์ ได้แก่
๑. ศึกษา คือการเรียนออกสำเนียงให้ถูก ทั้งรู้จักครู ลหุและวิธีอ่าน
๒.ฉันท์  คือการรู้จักคณะฉันท์ และแต่งได้บ้างพอควร คำฉันท์มาจากตำราไสยศาสตร์ของพราหมณ์โดยตรง ซึ่งในลักษณะเดิมมีการจำกัดแต่ครุ ลหุของคำ แต่ตกมาถึงประเทศไทย นักวรรณคดีของเราได้บัญญัติสัมผัสเสียงและสัมผัสอักษรลงไปด้วย ดังที่เราได้เห็นในวรรณคดีไทยทั่วๆ ไปในเวลานี้
๓. ไวยากรณ์  คือวิธีการเรียบเรียงถ้อยคำให้เข้าภาษา
๔. นิรุกต์ คือการแปลศัพท์ให้ถูกต้องตามมูลธาตุเดิมของคำนั้นๆ
๕. โชยติษ  คือตำราโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นของนิยมกันตลอดมาจนทุกวันนี้ ในการทำนายพรหมลิขิตของนรชน เป็นวิชาหมอดู วิชาการพยากรณ์โชคชาตาทั้งหลาย
๖. กัลป คือตำรากระทำกิจพิธีต่างๆ ดังปรากฎในสูตรต่างๆ ที่พราหมณ์ร้อยกรองขึ้นไว้ในพระยัชุรเวทอันเป็นพระเวทที่ ๒ นั้น

ในเวทางค์ทั้ง ๖ นี้ กัลป ซึ่งกล่าวด้วยพิธีเป็นองค์สำคัญกว่าเพื่อนสำหรับการเรียนพระเวทตามหลักไสยศาสตร์เพื่อให้เข้าถึงพรหม กัลปแบ่งออกเป็น ๓ สูตร คือ
๑. เศราตสูตร ว่าด้วยพลีกรรม
๒. คฤหสูตร ว่าด้วยพิธีประจำบ้าน
๓. ธรรมสูตร ว่าด้วยกฎข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนทุกวรรณะ

และโดยปฏิบัติการดังนี้ โรงเรียนพราหมณ์จึงเกิดขึ้นและทวีขึ้นโดยลำดับแห่งยุค ต่างคณะหรือบริษัทมีหมวดคัมภีร์สูตรว่าด้วยเวทางค์ทั้งหกของตนมากมาย เช่น โรงเรียนในเมืองตักกะศิลา อันมีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์เป็นอาจารย์ใหญ่อาทิ ประเพณีก็เลยมีมาตั้งแต่บรรพกาลนั้น ในการที่ลูกกษัตริย์หรือยุพราชทุกพระองค์ เมื่อประสงค์จะครอบครองราไชยไอศวรรย์ให้ถาวร จำต้องมีความรู้ความสามารถ และเพื่อที่จะให้ได้รับความรู้ความสามารถคู่ควรแก่การดำรงราชสมบัติต่อไป จึงจำต้องส่งเข้าโรงเรียนพราหมณ์ อันตั้งอยู่ในป่า เขา ลำเนาชัฎ เรียงรายกันไปสุดแต่หัวหน้าสถานศึกษาจะยึดสถานที่วิเวกแห่งใดเป็นอาศรม

ผมก็เติมเรื่องตอนนี้ยาวหน่อย แต่เห็นว่าเป็นเรื่องน่ารู้อยู่เหมือนกันครับ และในวรรณคดีไทยเรามีศัพท์คำเหล่านี้ด้วย อ่านแล้วคงแจ่มแจ้งได้บ้างดอกกระมัง ผมก็เห็นจะจบเพียงเท่านี้ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ความเป็นมาของพระเสาร์

พระเสาร์
เรื่องราวของพระเสาร์ ก็ขอเอาด้านความรู้วิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์กันสักนิดนะ พระเสาร์ (Saturn) เป็นดาวพระเคราะห์ขนาดใหญ่รองจากดาวพฤหัสบดี มีวงแหวนล้อมรอบ กาลิเลโอพบตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๕๓ และเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๙ ฮุยเจน (Huygens) นักดาราศาสตร์ชาวฮอลันดาจึงได้พบวงแหวนรอบดาวพระเสาร์ ดาวพระเสาร์มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗๖,๕๐๐ ไมล์ ใหญ่กว่าโลกมาก อาจบรรจุโลกได้ถึง ๘๐๐ โลก แต่ความแน่นทึบมีเพียง ๑ ใน ๘ ของโลก จึงหนักเพียง ๙๕ เท่าของโลก ความดึงดูดก็มีน้อย คือมีมากกว่าโลกเพียง ๑ ใน ๕ เท่านั้น ดาวพระเสาร์โคจรห่างจากพระอาทิตย์เฉลี่ยประมาณ ๙.๕๔ หน่วยดาราศาสตร์ ห่างที่สุดราว ๙๓๖,๓๘๘,๐๐๐ ไมล์  ทางโคจรเป็นรูปไข่รี โคจรด้วยความเร็ว ๖ ไมล์ต่อวินาที โคจรรอบดวงอาทิตย์นานถึง ๒๙.๔๖ ปี แต่หมุนรอบตัวเองเร็ว ใช้เวลาราว ๑๐ ชั่วโมง ๓๘ นาทีเท่านั้น ดาวพระเสาร์อยู่ห่างจากโลกที่สุดราว ๑,๐๓๐,๙๑๒,๑๐๐ ไมล์ และใกล้ที่สุดราว ๗๔๒,๖๔๔,๐๐๐ ไมล์
ก็เอาเรื่องนี้มาเจิมกันเพียงเท่านี้ละครับ
เรื่องกำเนิดพระเสาร์ก็ดูๆ จะยุ่งๆ ชวนให้ปวดหมองอีกนั่นแหละครับ ในทางโหราศาสตร์ว่าพระอิศวรทรงสร้างพระเสาร์จากเสือ ๑๐ ตัว ในหนังสือเฉลิมไตรภพกล่าวไว้ดังนี้

แล้วนำพยักฆ์ยิ่งยง          สิบตัวประสงค์
ถวายพระองค์ทรงญาณ
พร้อมเสร็จเสด็จภินิหาร    เพ่งเนตรเสนาพาล
พยัคฆ์เป็นผงคลี
ผ้าทิพย์สีเขียวแกสี่          ห่อผงธุลี
คลุกคลีระคนปนกัน
สวดมนตร์ประน้ำทิพย์วัน   รดลงเร็วพลัน
ห่อนั้นก็เป็นเทพา
ทรงเครื่องรุ่งเรืองรจนา      เขียวทั้งกายา
นามว่าพระเสาร์เสารี

บางตำนานก็ว่าพระเสาร์เป็นโอรสของ พรพลราม กับ นางเรวดี และก็บางตำนานอีกนั่นแหละว่าพระเสาร์เป็นโอรสของพระอาทิตย์องค์ที่เป็น พระสุริยาทิตย์ กับ นางฉายา เฉพาะเรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกหน่อย ก็ไม่หน่อยละมากเหมือนกันแหละ และมีเรื่องอยู่ในวิษณุปุราณะเชียวนะ เรื่องของเรื่องก็คือ พระสุริยาทิตย์หรือพระอาทิตย์นี่แหละมีชายา ๕ องค์ คือ สัญญา ฉายา สุวรรณี สวาดี มหาวีรยา แต่พระอาทิตย์รักนางสัญญามากที่สุด แน่ะ เทวดาก็ยังมีลำเอียงด้วยแฮะ อันว่า นางสัญญาหรือสรัณยา หรือ สังคณา ก็องค์เดียวกันนะเนี่ยเป็นบุตรีของพระวิศุกรรม เมื่อได้กับพระสุริยาทิตย์และอยู่ด้วยกันหลายปีดีดักจนมีลูกถึง ๓ องค์ นัยว่าตอนแรกๆ ก็ทนความร้อนของพระอาทิตย์ได้ นานเข้าชักทนไม่ไหว ที่ทนอยู่จนได้ลูกถึง ๓ องค์น่ะนัยว่าอยู่ทนแล้วนะเนี่ย เห็นจะทนอยู่ต่อไปไม่ไหวก็เล่นอุบาย โดยเธอหลบเสีย หลบไปไหนล่ะ ก็คอยอ่านตอนว่าด้วยเรื่องพระอาทิตย์เถอะส่วนตัวปลอมเธอก็ให้นางฉายาเป็นแทน พระสุริยาทิตย์ก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นการย้อมแมวกัน และก็อยู่ด้วยกันหลายปีจนนางฉายาได้โอรสคือพระเสาร์นี่แหละ เรื่องพระเสาร์เป็นโอรสของพระสุริยาทิตย์กับนางฉายาก็เป็นอย่างที่ว่านี่แหละ แต่ต่อมาความจริงก็ถูกเปิดซิครับ เรื่องอย่างนี้ปิดกันไม่ได้หรอก แต่ในเรื่องน่ะความจริงที่ถูกเปิดออกจะเป็นเรื่องประหลาดไม่เหมือนมนุษย์หรอก อ้อเป็นเรื่องเทวดานี่ ลืมไป เรื่องก็มีว่าวันหนึ่งนางฉายามีความโกรธพระยม พระยมนี่เป็นโอรสของนางสัญญาหรือสรัณยากับพระสุริยาทิตย์ นางฉายาก็แช่งฉับเข้าให้ ผลก็เป็นไปตามที่แช่ง ตรงนี้ละเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง คือผิดธรรมเนียมเทวดา เพราะตามธรรมดาคำแช่งของมารดาจะไม่ยังผลต่อบุตร แต่นี่มีผล พระสุริยาทิตย์ก็ใช้วิชาตรรกวิทยาได้ว่า นางยานี่ต้องไม่ใช่แม่ของพระยมถึงได้แช่งแล้วได้ผล เมื่อไม่ใช่แม่ของพระยมต้องไม่ใช่นางสรัณยา เมื่อไม่ใช่นางสรัณยาก็ต้องเป็นตัวปลอด จับความจริงกันได้ด้วยวิธีการนี้ครับ

เรื่องกำเนิดพระเสาร์มีเรื่องแปลกออกไปอีก ในตำรับสันสกฤตเรื่องปาราศรโหราศาสตร์และศานติศาสตร์น่ะ กล่าวว่าพระเสาร์เกิดที่เมืองเสาราษฎร์ อยู่ในวรรณะศูทร รูปร่างดำเป็นนิล ผอมสูง แต่คงไม่ใช่ดาร์คทอลแอนด์แฮนซั่มหรอก เพราะนัยน์ตาจะเป็นน้ำผึ้ง แต่ฟันใหญ่ ผมเหมือนขนลา และมีฐานะเป็นเพียงคนใช้ ถึงกระนั้นก็มีอาวุธประจำตัว คือมีศูลและธนู มีหาหนะเป็นนกแร้ง แต่บางทีก็ว่าเป็นกา ที่ร้ายไปกว่านั้นในตำรับที่ว่านี่แหละ ยังเหมาเอาว่าพระเสาร์เป็นกะเทยเข้าไปอีก คือเป็นนปุงสกลึงค์ ผมออกประหลาดใจแท้ กะเทยนี่มีแล้วแต่ครั้งกระโน้นหรือ

พระเสาร์นี้ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งกสิกรรมและอารยธรรม ทั้งมีหน้าที่ดูแลรักษาฤดูวสันต์คือฤดูใบไม้ผลิ

ส่วนนามแฝงของพระเสาร์มีดังนี้ครับ
กรูรโลจน์ (มีนัยน์ตาดุ)
ปังคุ (มีขาพิการ)
นิลวาส (อาภรณ์สีดำ)
สัปตารฺจิ (มีเปลวเป็นรัศมีเจ็ดแฉก)
ศนิ (ย่อมมีปรกติช้า)
ศไนสฺจร (ไปไหนช้า)
นันทะ (เงื่องหงอย)

เรื่องพระเสาร์ขาเขยกไปไหนช้าเงื่องหงอยนั่นน่ะ ที่จริงผมก็ได้เล่าไว้ในเรื่องพระคเณศแล้วละ จะฉายซ้ำชนิดสั้นอีกครั้ง คือพระอุมามเหสีพระอิศวรมีโอรส บรรดาเทวดาทั้งหลายทั้งปวงก็ไปแสดงความชื่นชม มีแต่พระเสาร์ไม่ยอมมองพระกุมาร ครั้นพระอุมาตรัสถามพระเสาร์ก็เล่าความจริงว่าตนถูกเมียแช่งไม่ให้มองใครถ้ามองใครผู้นั้นจะพินาศ สาเหตุเพราะเมียโกรธที่ตนเข้าฌาณเพลินจนไม่รู้ว่าเมียบ่นเรื่องอะไร พระอุมาก็ขืนให้ดู พระเสาร์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจำใจดู ผลพระกุมารเลยหัวขาด พระนารายณ์ต้องทรงครุฑไปยังลำน้ำบุษปภัทร ตัดศีรษะช้างมาต่อให้กุมาร พระอุมาเลยสาปให้พระเสาร์ขาเป๋ครับ

อ้อ พระเสาร์ไม่ค่อยจะกินเส้นกับพระอังคารนัก ถึงแม้จะเป็นดาวพระเคราะห์ด้วยกันก็เถอะ ทั้งนี้เพราะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันแต่ปางก่อน คือมีเรื่อง ๒ เรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งพระเสาร์ถือกำเนิดเป็นงู พระอังคารถือกำเนิดเป็นหมองู หมองูก็จับงูไปทรมานให้คนดูเล่น งูก็เจ็บและแค้นละครับ อีกเรื่องหนึ่งพระเสาร์ไปเกิดเป็นต้นตะเคียนพระอังคารไปเกิดเป็นคนมีนามว่าพระยาโปริสาตในขณะที่พระยาโปริสาตไปล่าสัตว์เผลอสะดุดตอตะเคียนเข้าเสี้ยนตำที่เท้า ด้วยความเจ็บปวดก็เลยโมโหตอตะเคียน นี่แหละผลนายเวรแต่ปางก่อนละ พระอังคารกับพระเสาร์จึงปีนเกลียวกัน

ในรามเกียรติ์น่ะพระเสาร์ลงมาเกิดเป็นทหารของพระรามด้วยนะ คือเป็นลิงชื่อนิลพานรหรือวิมล

รูปร่างของพระเสาร์นั้น เขียนเป็นมนุษย์รูปร่างแข็งแรงมีรัตนมณีนิลเป็นอาภรณ์อย่างเทวดา สีกายดำมือถือศูลและธนู มีนัยน์ตาดุ ขาพิการ บนเศียรทำเป็นรัศมี ๗ แฉก และทรงเสือเป็นพาหนะ

ก็เป็นอันจบเรื่องพระเสาร์ครับ ทีนี้ผมก็ต้องต่อเติมเรื่องอื่นอีกนั่นแหละ คราวโน้นผมเพิ่มเรื่องวรรณะต่างๆ ไว้ คราวนี้ผมเพิ่มเรื่องพราหมณ์อย่างเดียว โดยที่ขอคัดจากอภิธานศกุนตลาพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เลย มีดังนี้ครับ

พราหมณ์  เป็นชนชาต (หรือวรรณะ) ที่ ๑ ตระกูลนักบวช แต่ไม่จำเป็นจะต้องบวชทุกคน
มานวธรรมศาสตร์จัดพราหมณ์เป็น ๔ ชั้น (อาศรม) คือ
๑. พรหมจารี  นักเรียน มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติและศึกษาพระเวทในสำนักคณาจารย์คนใดคนหนึ่ง (เทียบกับทางพุทธศาสน์ คือสามเณรและนวกะ)
๒. คฤหัสบดี ผู้ครองบ้าน มีภรรยาและครอบครัวเป็นหัวหน้าในบ้าน อ่านและสอนพระเวท ทำการบูชาเองหรือช่วยผู้อื่นกระทำชญกรรม ให้ทานและรับทักษิณ
๓. วานปรัสถ์  ผู้อยู่ป่า ละเคหสถานและครอบครัวเข้าป่าเพื่อทรมานตน มักน้อยในอาหารและเครื่องนุ่งหุ่ม กระทำทุกขกิริยาต่างๆ สมาธิและมั่นคงในกิจวัตร (พวกดาบสและโยคีอยู่ในจำพวกนี้)
๔. สันน์ยาสี เพียรภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน และตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงพระปรพรหมและนฤพาน อีกนัยหนึ่งเรียกว่าภิกษุ (แต่คำภิกษุหรือภิกขุในสมัยนี้ใช้เรียกแต่นักบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพื้น พราหมณ์ที่ประพฤติอย่างภิกขุคงเรียกว่าสันน์ยาสีอย่างเดียว)

ชาติพราหมณ์ มีแบ่งเป็นตระกูลเล็กตระกูลน้อยเป็นอันมากเหลือที่จะพรรณาได้หมด ที่นับว่าเป็นตระกูลหรือคณะอันมีชื่อเสียงมากที่สุด คือคณะเหนือกับคณะใต้ดังนี้
ปัญจโคท (คณะเหนือ) อยู่ในแคว้นองคราษฎร์ (Bengal) มี ๕ เหล่า คือ
๑. กานยกุพชะ อยู่เมืองกันยกุพช์ (Kanauj)
๒. สารัสวัต  อยู่ตามริมฝั่งน้ำสรัสวดี (Sarsuti River)
๓. โคทะ (Gauda Bengal)
๔. มิถิลา (Nort Bihar)
๕. อุตกล (Orissa)

ปัญจทราวิฑ (คณะใต้) คือคณะพราหมณ์ทมิฬ มี ๕ เหล่าคือ
๑. มหาราษฎร์ (Mahratta Country)
๒. เตลิงคะ (Telegu Country)
๓. ทราวิท หรือทมิฬ (Taimil Country)
๔. กรรนาฏ (Canarese Country)
๕. คูร์ชระ (Gujerat)

ข้าพเจ้าได้เขียนนามตำบลเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้ เพราะเห็นว่าถ้ามิฉะนั้นผู้ศึกษาภูมิศาสตร์ตามตำราฝรั่งจะฉงน จะบ่นว่าไม่รู้ว่าที่ไหนเป็นที่ไหน เช่นเมืองมหาราษฎร์เป็นต้น เคยได้ยินแต่ครูเขาเรียกอย่างอังกฤษว่า มาแร็ตต้า จะให้รู้จักอย่างไร เมื่อมาเห็นเขียนเป็นไทยว่ามหาราษฎร์

ข้างต้นผมคัดจากอภิธานศกุนตลาครับ แต่เห็นมีความต่อเนื่องน่ารู้อีกนิด ตรงเรื่องวานปรัสถ์นั่นแหละ ในหนังสือชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของหลวงสารานุประพันธ์ได้แบ่งย่อยลงไปอีกขอเติมเลยนะครับ

๑. ฤาษี แปลว่าผู้แสวง หมายถึงการแสวงหาโมกษะ คือการหลุดพ้นจากสงสารวัฏความเวียนว่ายตายเกิด
๒. โยคี แปลว่าผู้บำเพ็ญโยคะ คือความเพ่งเล็งในดวงจิต เพื่อประโยชน์ให้อาตมันหรือวิญญาณได้เข้าร่วมอยู่ในปรมาตมัน (หรือปรพรหม) ให้เกิดความบริสุทธิ์ใสสะอาดแม้กระทบอารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรวนแปร
๓. ดาบส  แปลว่าผู้บำเพ็ญตบะ คือการทรมานกายโดยวิธีฝืนปกติแห่งอิริยาบถต่างๆ เพื่อหวังผลสำเร็จเป็นผู้วิเศษ เช่น ยืนตีนเดียว เหนี่ยวกินลมอยู่นานนับด้วยสิบๆ ปี หรือนั่งสมาธิไม่ลุกขึ้นนับด้วยสิบๆ ปี
๔. มุนี  แปลว่าผู้สงบ ได้แก่ผู้บำเพ็ญตบะที่นุ่งห่มสีเหลือง
๕. สิทธา แปลว่าผู้สำเร็จฌานสมาบัติ คือผู้กระทำตบะและโยคะ ได้ถึงที่สุดแล้ว
๖. นักพรต แปลว่าผู้บวช และถือพรตพรหมจรรย์ตามลัทธิพราหมณ์
๗. ชฎิล แปลว่า ฤาษีผู้มุ่นมวยผมสูงเป็นชฎา

ความรู้เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ทำให้ผมเขียนเรื่องชุดนี้ได้สบายใจขึ้นครับ เพราะไม่ต้องขยายความของเทพให้ได้ยาวพอเหมาะกับหน้า อย่าได้ถือเป็นเรื่องกริ้วโกรธเลยครับ ผู้อ่านบางคนยังเป็นนักเรียนนักศึกษาที่จำใจเรียนวรรณคดีน่ะจะพลอยได้รับความรู้ไปอย่างที่ไม่คิดว่ามันคือตำราครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

กำเนิดของพระสรัสวดี

พระแม่สุรัสวดี
กำเนิดของพระสรัสวดี  ในสมัยปุราณะเล่าว่า พระพรหมมีความประสงค์จะสร้างสัตว์ มนุษย์ เทวดา อสูร และสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารให้บังเกิดขึ้นในโลก แต่เห็นว่าพระองค์จะสร้างด้วยลำลังก็คงจะไม่ไหวและคงจะว้าเหว่แน่ พระพรหมจึงทรงสร้างนางอีกองค์หนึ่ง คือ ศตะรูปา บางทีก็เรียกว่า พรหมบุตรี ซึ่งที่จริงก็คือพระ สรัสวดี นี่แหละ แล้วก็เป็นชายาของพระพรหม ทีนี้ก็ช่วยกันสร้างสิ่งต่างๆ จนสำเร็จละครับ คิดแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ใครเล่าจะนั่งทำงานอยู่คนเดียวได้ ก็ต้องมีเลขานุการิณีหน้าแฉล้มเป็นกำลังใจบ้างละ

แต่ในลัทธิไวษณะวนิกาย (คือที่นับถือพระนารายณ์เป็นที่ ๑) ว่า เดิมทีน่ะพระนารายณ์มีชายาสามองค์ คือ พระลักษมี พระสรัสวดี และพระคงคา แต่แล้วทั้งสามก็ไม่ยอมลงให้แก่กัน พระนารายณ์ทรงรำคาญก็เลยยกพระสรัสวดีให้พระพรหม ยกพระคงคาให้พระอิศวร ซึ่งผมก็เล่าไว้ในเรื่องพระลักษมีแล้ว ก็เรื่องซ้ำๆ กันก็ต้องเท้าความถึงกันบ้างละ

เอาความได้ว่าพระสรัสวดีเป็นมเหสีพระพรหม ในคัมภีร์มหาภารตะยังเรียกอีกนามหนึ่งว่า วาจ หมายถึงมีวาจาอันไพเราะ โดยทั่วไปถือกันว่าพระสรัสวดีเป็นเจ้าแม่อุปภัมภ์การศึกษา เป็นเจ้าแห่งปัญญาและสรรพวิทยาทั้งหลาย เป็นมารดาแห่งพระเวท ทั้งยังพอพระทัยอุปถัมภ์ด้านอักษรศาสตร์ด้วย กล่าวกันว่าพระสรัสวดีเป็นผู้ริเริ่มคิดตัวอักษรเทวนาครี และภาษาสันสกฤตด้วย ก็ด้วยเหตุนี้แหละที่ตึกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีรูปปั้นพระสรัสวดีไงล่ะ

และก็ด้วยเหตุนี้อีกทีหนึ่ง กล่าวกันว่าที่อินเดียน่ะมีสำนวนคำพังเพยกล่าวว่า “สถานที่ใดที่พระลักษมีไปอยู่สถานที่นั้นพระสรัสวดีมักจะไม่อยู่” คำพังเพยนี้ไม่เกี่ยวกับเทวนารี ๒ องค์นั้น ชิงเด่นชิงสวยชิงงามกันและกันหรอก เป็นเทพธิดาชั้นผู้ใหญ่จะอิจฉากันได้รึ แต่คำพังเพยนี้มีความหมายลึกครับ คือหมายความว่า คนที่เป็นปราชญ์ มักจะขาดแคลนทรัพย์ คือความเป็นปราชญ์กับความมั่งคั่งจะไปด้วยกันได้ยาก เรื่องของเรื่องก็มีนัยยะนั่นแหละ พระสรัสวดีเป็นเจ้าแม่แห่งปัญญา ส่วนพระลักษมีเป็นเจ้าแม่แห่งโชคลาภ ผมเองก็ชักจะสงสัยว่าคำพังเพยนี้จะเหมาะสมกับสังคมไทยไหมหนอ แล้วในสังคมไทยนี่เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าหนอ

นอกจากนี้พระสรัสวดียังนับว่าเป็นเทพธิดาแห่งแม่น้ำอีกด้วยนะ ในประเทศอินเดียมีแม่น้ำหนึ่งชื่อว่า สรัสวดี แต่สำเนียงอินเดียเรียกว่า สูรสูติ อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำยมนา ในคัมภีร์พระเวทพรรณาถึงแม่น้ำสรัสวดีมากกว่าแม่น้ำคงคาเสียอีก แสดงว่าชาวอินเดียนับถือแม่น้ำสรัสวดีมากกว่าแม่น้ำคงคากระมัง

ส่วนรูปพระสรัสวดีเป็นหญิงสาว มีสีกายขาวนวลผ่อง มี ๔ กร กรทางเบื้องขวาที่มี ๒ หัตถ์น่ะ หัตถ์หนึ่งถือดอกไม้เพื่อบูชาพระพรหม และอีกหัตถ์หนึ่งถือคำภีร์ใบลาน ส่วนเบื้องซ้ายมี ๒ หัตถ์เหมือนกัน หัตถ์หนึ่งถือสายสร้อยไข่มุกเรียกว่า ศิวมาลาแทนประคำ อีกหัตถ์หนึ่งถือกลองเรียกว่า ทมรรวะ ไทยเรียกบัณเฑาะว์ แต่บางทีก็ทำเป็นรูปถือพิณ ประทับอยู่บนดอกบัวหลวง

ครับ เรื่องราวของพระสรัสวดีผมก็ค้นและเขียนยืดอย่าไงรก็ได้แค่นี้แหละ ไม่พอฉบับแน่ ก็ต้องทำอย่างคราวก่อนๆ คือ แทรกอะไรที่เป็นความรู้เกี่ยวพันกัน อย่าบ่นนะครับ

ผมขอคัดตัดตอนจากหนังสือประวัติวรรณคดีสันสกฤตยุคพระเวท ของ วิมลศิริ  ร่วมสุข  เพื่อนที่ทำงานเดียวกัน มาผนวกไว้ครับ
การแบ่งวรรณะ
ชาวอารยันได้แบ่งชนชั้นของตนเองเป็นวรรณะต่างๆ ดังนี้
๑. วรรณะพราหมณ์ ถือเป็นวรรณะสูงสุดในการทำหน้าที่ทางศาสนา คำว่าพราหมณ์” เป็นศัพท์ที่เนื่องมาจากคำว่า “พรหม” ชนวรรณะพราหมณ์ถือตนว่าสืบเชื้อสายมาจากพรหม สามารถติดต่อเกี่ยวข้องกับโองการต่างๆ จากพรหม ซึ่งเป็นพระผู้เป็นเจ้ามาแจ้งแก่ชาวมนุษยโลกได้ คำว่าพราหมณ์มีความหมายตรงกับคำว่า “ฟลาเมน” (Flamen) ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่าผู้กระทำกิจในลัทธิ สีประจำวรรณพราหมณ์ได้แก่ สีขาว ชนวรรณะนี้จึงนิยมใช้เครื่องนุ่งห่มด้วยสีขาวล้วนในความหมายที่ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในศีลธรรม
๒. วรรณะกษัตริย์  เป็นวรรณะนักรบ เป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมหมู่คณะและต่อสู้ศัตรูที่มารุกรานหมู่คณะของตน ตลอดจนทำหน้าที่แผ่ขยายอาณาเขตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ชนในวรรณนี้นิยมสีแดงเป็นสีประจำวรรณะ การถือเอาสีแดงเป็นสีประจำวรรณะนี้เข้าใจว่าคงมาจากสีแดงของเลือดที่บุคคลในวรรณะนี้จะต้องสัมผัสเสมอเมื่อเวลาออกศึก
๓. วรรณะแพศย์ หรือ เวศย์ เป็นวรรณะของพ่อค้า กสิกร เกษตรกร ซึ่งมีหน้าที่ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำการค้าและประกอบการต่างๆ เพื่อหาทรัพย์มาสู่รัฐ สีเครื่องนุ่งห่มประจำวรรณะนี้คือสีเหลือง

วรรณะทั้ง ๓ ดังกล่าวมาแล้วนี้ถือว่าเป็นวรรณะของชาวอารยัน ส่วนทัสยุหรือมิลักขะ ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนมัธยมประเทศนั้น ชาวอารยันจัดให้เป็นวรรณะที่ ๔ คือ
๔. วรรณะศูทร  เป็นวรรณกรรมกร หรือผู้เลี้ยงชีพด้วยแรงงาน เป็นวรรณะต่ำในสังคม ไม่มีสิทธิ์คบค้าสมาคมกับชนวรรณะอื่นๆ และเนื่องจากคนในวรรณะนี้ต้องทำงานหนักคลุกเคล้าอยู่กับสิ่งสกปรกและเหงื่อไคลอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับผิวพรรณดั้งเดิมแห่งร่างกายเป็นสีดำอยู่แล้ว สีแห่งเครื่องนุ่งห่มประจำวรรณะจึงถูกกำหนดให้เป็นสีดำ

การแบ่งชั้นวรรณะของคนนี้ ในคัมภีร์พระเวทกล่าวว่า คนวรรณะตางๆ ล้วนมาจากส่วนต่างๆ ของพรหม ดังนี้คือ

พระพรหมทรงสร้างคนชั้นพราหมณ์ (นักบวช) จากพระโอษฐ์
ทรงสร้างคนชั้นกษัตริย์ (นักรบ) จากพระพาหา
ทรงสร้างคนชั้นแพศย์ (พ่อค้า) จากพระโสณี (สะโพก)
ทรงสร้างคนชั้นศูทร (กรรมกร) จากพระบาท
เรื่องการถือชั้นวรรณะ หลวงวิจิตรวาทการได้อธิบายไว้ในศาสนาสากล เล่ม ๑ ว่า

“พวกวรรณะสูงกับพวกวรรณะต่ำจะสมาคมกันไม่ได้ นอนห้องเดียวหรือรับประทานร่วมกันไม่ได้ ห้ามสมสู่อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเด็ดขาด ถ้าคนวรรณะสูงกับวรรณะต่ำไปสมสู่อยู่ด้วยกัน มีลูกออกมาก็เป็นกรรมของลูก เพราะลูกที่เกิดมานั้นถูกเรียกว่าจัณฑาล ซึ่งต่ำช้าเลวทรามกว่าหินชาติเสียอีก”

คัมภีร์ศรีมัทภควัทคีตา (แสง มนวิทูร แปล) กล่าวถึงการกำเนิดวรรณะและการถือชั้นวรรณไว้ว่า

“วรรณะมี ๔ คือพราหมณ์ กษัตริย์ ไวศยะ ศูทร ถ้าชายพราหมณ์ได้ภรรยาเป็นกษัตริย์ ไวศยะหรือศูทร จักอนุโลมนัยไม่เสียธรรมเนียม แต่ถ้าเป็นหญิงพราหมณ์ไปได้สามีกษัตริย์ไวศยะหรือศูทร จัดเป็นปฏิโลมนัยถือเป็นการเสื่อมวรรณะ”

ชาวอารยันวรรณะต่างๆ จึงพยายามแต่งงานแต่ในหมู่ของตน หากจะแต่งงานกับคนนอกวรรณก็จะอยู่ในหมู่วรรณะที่เสมอกัน เช่น พราหมณ์กับกษัตริย์เป็นต้น โดยทั่วไปการแต่งงานของชาวอารยันจะจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. การแต่งงานในลักษณะที่สามีและภรรยาอยู่ในวรรณเดียวกัน
๒. การแต่งงานในลักษณะที่สามีอยู่ในวรรณะที่สูงกว่าภรรยา
๓.การแต่งงานในลักษณะที่สามีอยู่ในวรรณะที่ต่ำกว่าภรรยา

จำนงค์  ทองประเสริฐ ได้เขียนไว้ในเรื่องบ่อเกิดประเพณีอินเดียว่า การแต่งงานต่างวรรณะทำให้เกิดวรรณสังกรขึ้น ลูกที่เกิดจากบิดามารดาต่างวรรณะจะอยู่ในวรรณะสังกรดังนี้
๑. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหรณ์ มารดาเป็นกษัตริย์ เรียก มูรธาวสิกตะ
๒. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นไวศย เรียก อัมพัษฐะ
๓. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นพราหมณ์ มารดาเป็นศูทร เรียก นิษาท หรือปารศวะ
๔. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นกษัตริย์ มารดาเป็นแพศย์ หรือศูทร เรียกว่า มาหิษยะ หรืออุคระ
๕. บุตรที่เกิดจากบิดาเป็นแพศย์ มารดาเป็นศูทร เรียก กรณะ

ในกรณีที่บิดามีวรรณะต่ำกว่ามารดา
๑. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นพราหมณ์ บิดาเป็นกษัตริย์ เรียกว่า สูตะ
๒. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นพราหมณ์ บิดาเป็นแพศย์ เรียกว่า ไวเทหกะ
๓. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นพราหมณ์ บิดาเป็นศูทร เรียกว่า จัณฑาล ซึ่งจะเป็นผู้ถูกกันออกจากการพิจารณาธรรมทั้งปวง
๔. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นกษัตริย์ บิดาเป็นไวศย เรียกว่า มาคธะ
๕. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นกษัตริย์ บิดาเป็นศูทร เรียกว่า กษัตตฺฤ
๖. บุตรที่เกิดจากมารดาเป็นแพศย์ บิดาเป็นศูทร เรียกว่า อาโยควะ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแบ่งชั้นวรรณะเป็นเครื่องกั้นการผสมสายเลือดระหว่างชาวอารยันและชาวทัสยุ แต่เครื่องกั้นนี้ก็ไม่สามารถทำให้เกิดผลสมความมุ่งหมายได้ เพราะยังมีการแต่งงานข้ามวรรณะเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างวรรณะของพวกอารยันเอง หรือระหว่างวรรณะอารยันและทัสยุ มิหนำซ้ำการแบ่งชั้นวรรณะดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียในการแบ่งชาติชั้นกันเองในหมู่ชาวอารยัน คือ ชาวอารยันในวรรณะกษัตริย์และวรรณะแพศย์ กลับตกอยู่ในฐานะและศักดิ์ศรีที่ต้องเป็นรองวรรณะพราหมณ์เพราะเชื่อกันว่า พราหมณ์สามารถติดต่อบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้าให้มาประสาทพรหรือบันดาลความเป็นไปต่างๆ ในโลกมนุษย์ได้ พวกพราหมณ์จึงเป็นที่เคารพและยำเกรงของคนทุกวรรณะ แม้แต่กษัตริย์ซึ่งเป็นใหญ่ในการปกครอง

เมื่อพวกพราหมณ์มีอำนาจมากมีคนยำเกรงมาก โอกาสที่จะแสวงหาลาภสักการะก็มีมากขึ้น ชาวอารยันทุกวรรณะเมื่อจะประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้งต้องอาศัยพราหมณ์ และพราหมณ์จะมีส่วนในการรับทักษิณาด้วยไม่น้อย เมื่อพราหมณ์ร่ำรวยขึ้นด้วยทักษิณาก็คิดแสวงหาอำนาจเพิ่มเติม พราหมณ์แต่ละพวกก็จะแข่งขันกันในการทำพิธี โดยถือว่าการจัดทำพิธีต่างๆ ให้ถูกต้องตามพิธีที่กำหนดไว้ในพระเวทเป็นสิ่งสำคัญ พราหมณ์แต่ละกลุ่มก็ได้เพิ่มเติมพิธีกรรมของตนให้ละเอียดพิสดารขึ้น เพื่อแข่งขันกันในทางรับทักษิณา รายละเอียดของพิธีกรรมต่างๆ ได้ถูกเพิ่มเติมขึ้นจนพราหมณ์เองไม่สามารถท่องจำได้ จึงต้องมีคัมภีร์คู่มือขึ้น เรียกว่าพราหมณะ และพราหมณ์ก็ยกย่องตนเองว่า “สกลจักรวาลย่อมอยู่ในอำนาจเทวดา แต่เทวดานั้นย่อมอยู่ในอำนาจมนตร์ ส่วนมนตร์นั้นอยู่ในอำนาจพราหมณ์ เพราะฉะนั้นพราหมณ์จึงเป็นเทวดาของเรา”

นอกจากนี้แล้วตำนานต่างๆ เกี่ยวกับเทพเจ้าก็มีมากขึ้น มีเทพเจ้าเกิดขึ้นอีกหลายองค์ เทพบางองค์เคยเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ก็กลับมีตำนานแสดงความประพฤติอันไม่สมควร เช่น เรื่องของพระอินทร์ทำชู้กับภรรยาของผู้อื่น เป็นต้น

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร