รายละเอียด ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ ๑)

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง คือ แท่งศิลาที่ถูกสลักเพื่อบันทึกประวัติศาสาตร์ในสมัยกรุงสุโขทัย

ผู้ที่ค้นพบหลักศิลาจารึก คือ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขณะทรงผนวชอยู่ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2376  สถานที่พบ คือ ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

รายละเอียดของศิลาจารึกมีดังนี้

ชื่อวัตถุ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ ๑)
รูปลักษณะ แท่งศิลาสี่เหลี่ยมยอดมนสอบบน มีอักษรภาษาไทย สมัยพ่อขุนรามคำแหง จารึก ทั้ง ๔ ด้าน ด้านที่ ๑ มี ๓๕ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๓๕ บรรทัด ด้านที่ ๓ มี ๒๗ บรรทัด ด้านที่ ๔ มี ๒๗ บรรทัด
ศิลปสมัย สุโขทัย
วัสดุ หินชนวน
ขนาด กว้างด้านละ ๓๕.๕ เซนติเมตร สูง ๑๑๔.๕ เซนติเมตร
สถานที่จัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

การไว้ทุกข์ในงานศพหรืองานเผาศพ

“ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กนั้น  การไว้ทุกข์ในงานศพหรืองานเผาศพ  เจ้าภาพที่มีฐานะจะแจกผ้าขาวและผ้าดำให้แก่ญาติมิตรแต่งกายในงานศพ  คือผู้ที่อายุสูงกว่าผู้ตายแต่งดำทั่วไปนุ่งดำใส่ขา  ผู้เยาว์กว่าผู้ตายนุ่งเสื้อขาว  การนุ่งนั้นทั้งชายและหญิง จะนุ่งผ้าโจงกระเบนก็ได้ หรือหญิงนุ่งผ้าถุง  ชายนุ่งกางเกงจีนขาวหรือดำสุดแต่อายุ  และประเพณีนี้เลิกไปนับตั้งแต่  ๗  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๘๔

ความนิยมชายนุ่งกางเกงฝรั่งขาว  สวมเชิ้ตขาว  ใส่เสื้อคอแบะขาว  ผูกเน็คไทดำ  พันแขนทุกข์ดำ  ที่แขนท่อนบนซ้าย  รองเท้าถุงเท้าดำ  หญิงดำล้วนแบบตะวันตก  เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  เครื่องแต่งกายชายแทนที่จะเป็นขาวล้วน  กลับนิยมใสสีเข้ม  เช่น ดำ น้ำเงิน เทาแก่ สีขาวมีบ้างประปราย  หญิงยังไม่เปลี่ยน  แต่นิยมสวมถุงเท้าดำมากขึ้น  ดูเรียบร้อยงดงามดี”

การไหว้ครู:ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ

การไหว้ครู  เป็นการแสดงถึงความสำนึกที่ดีงาม  โดยเฉพาะเรามักจะกระทำแก่สิ่งของหรือบุคคลที่มีความสำคัญแทบทั้งสิ้น  เช่นนักเรียนประกอบพิธีไหว้ครู  ก็เพราะนักเรียนเห็นว่า ครูเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของเขา  คือเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้และเป็นปูชนียบุคคลครูอาจารย์จึงเป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การได้รับการไหว้เป็นอย่างยิ่ง  และคนไทยเราปรกติเคารพนับถือครูมาก  ถึงกับถือว่าครูเป็นคู่ใจ จะไปทางไหนหรือทำอะไรก็ตาม  ถ้ามีครูเป็นคู่คิดคู่ใจแล้วเป็นสบายใจและอุ่นใจได้ มีประโยคภาษาไทย แสดงคุณค่าของครูอยู่ประโยคหนึ่ง  นั่นคือคำว่า “ศิษย์มีครู”  ซึ่งเป็นคำพูดที่ส่อถึงความมั่นใจของผู้พูดมากทีเดียว  นอกจากนี้  ครูอาจารย์ยังเป็นผู้ผจญกรรมเผชิญเหตุการณ์กับศิษย์เสมอ  แต่ในยามปรกติแล้วมักจะมองเห็นครูอาจารย์ไม่สำคัญเท่าไรนัก  จะเห็นความสำคัญก็ต่อเมื่อยามเข้าสู่ภาวะคับขันนั่นแหละ  อย่างศรีปราชญ์จะถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารชีวิต  ทั้ง ๆ ที่รู้ตัวว่าจะตายก็ตายอย่างไม่พรั่นพรึง  ด้วยเหตุสำนึกถึงครูอาจารย์  ถึงกับเขียนจารึกฝากแผ่นดินไว้ว่า”ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง….”

ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า คนไทยเคยมีความสำนึกดีต่อครูอาจารย์มั่นคงเพียงไร  ฉะนั้นการไหว้จึงเป็นการแสดงออกที่มีความหมาย  นอกจากจะเกิดสิริมงคลแก่ตัวผู้ไหว้เองแล้ว  ยังเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาติเอาไว้ด้วย

ข้อสำคัญที่ควรสำนึกสังวรระวังก็มีว่า  อย่าไหว้อย่าแสดงการบูชา สักแต่ว่าเป็นพิธี  เป็นกิริยาเฉพาะช่วงที่ทำพิธีเท่านั้น  ควรจะให้การไหว้ออกจากน้ำใจอันแท้จริง

มัชฉวาฬ:สัตว์หิมพานต์

มัชฉวาฬ


สัตว์หิมพานต์คราวนี้ดู ๆ ก็ไม่น่าแปลก

เพระดูแล้วก็รู้ว่าเป็นปลา

จะแปลกก็ที่ชื่อ “มัชฉวาฬ” แปลว่าอะไรก็ไม่รู้

ได้ตรวจดูชื่ออะไรต่าง ๆ ที่คนโบราณเขียนไว้ในชุดสัตว์หิมพานต์ หรือภาพเทวดา  ปรากฎว่ามีชื่อแปลก ๆ หาที่มาไม่พบอยู่มาก  บางชื่อก็เพี้ยนเพียงเล็กน้อยพอเดาได้

คำว่า “มัชฉวาฬ” นี้ก็น่าจะอยู่ในจำพวก “เพี้ยน”

“มัชฉ” น่าจะเป็น “มัจฉ” ที่แปลว่า ปลา

ฉะนั้นคำว่า  มัชฉวาฬ  ก็น่าจะเป็น  มัจฉวาฬ  หมายถึง ปลาวาฬ นั่นเอง

ปลาวาฬ  เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม  เป็นสัตว์ทะเล  คนไทยเห็นจะรู้จักปลาวาฬมานาน  เคยอ่านพบว่าในสมัยโบราณเคยมีปลาวาฬมาเกยตื้นในคลองแห่งหนึ่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  คลองนั้นเลยเรียกว่าคลองวาฬ

ปลามัชฉวาฬตัวนี้มีที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือมีเขี้ยวท่าทางออกจะดุร้าย มีหนวดมีเครา

แต่เมื่อเขียนออกมาเป็นแบบไทย ๆ แล้วก็น่ารัก

ไม่ใช่แต่น่ารักเฉพาะปลา

แม้แต่คลื่นก็น่ารัก

ละครเล็ก”การแสดงหุ่นในสยาม”

ละครเล็กหรือหุ่นครูแกร เป็นหุ่นที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕-๖

เจ้าของคณะมีชื่อว่าครูแกร  มีชื่อเสียงในการแสดงเป็นตัวเงาะ  จึงมีชื่อเรียกกันติดปากอีกอย่างหนึ่งว่าครูแกรเงาะ

เรื่องครูแกรจะมีกล่าวถึงในเรื่อง “การแสดงหุ่นในสยาม”

ในหนังสือ  “เล่าเรื่องไท – ไทย”  ของ ส. พลายน้อย

 

การบ่อง(เจาะรูในร่างกาย)

การเจาะรูในร่างกายหรือทางภาคอีสานเรียกว่า “บ่อง” นั้น มีมาด้วยกันหลายชาติหลายภาษา  เช่น ชาวอินเดีย  และชาวอาฟริกัน  อาจนิยมเจาะรูที่จมูกเพื่อสอดใส่เครื่องประดับ  แต่ชนเผ่าอ้ายลาวส่วนมากนิยมเจาะรูที่หู  โดยเฉพาะทางภาคอีสานมีการบ่องหูทั้งเพศหญิงเพศชาย  ตั้งแต่ยังเด็ก  เพศหญิงนิยมบ่องใบหูส่วนล่างสุดทั้งสองข้าง  เพื่อใส่ตุ้มหู หรือกระจอนหู (ต่างหู) ส่วนเพศชายนิยมบ่องใบหูเบื้องซ้ายข้างเดียวเท่านั้น เพื่อเสียบดอกไม้  ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปในภาคอีสานปัจจุบันนี้ที่อยู่ตามชนบทมักจะมีการบ่องหูเบื้องซ้าย

การบ่องในร่างกายตามคำกลอน  ซึ่งฝ่ายหญิงจ่ายผะหญาว่า “แม้นบ่บ่อง บ่ให้จ่องขางเฮือน” คือการทำ “แป้นบ่อง”  การบ่องประเภทนี้สงสัยว่าจะเนื่องมาจากคตินิยมของพวกนับถือศิวลึงค์ โดยอิทธิพลทางอินเดียโบราณ

กรรมวิธีการบ่องคือต้อง “ถวยแถน”  ได้แก่การรูดหนังหุ้มปลายองคชาติของเพศชายแล้วดึงหนังบางย่น ๆ บริเวณใต้ของส่วนปลายให้ยืดออก  แล้วใช้ไม้ฝางแหลมแทงให้เป็นรู (ถ้าใช้โลหะจะอักเสบมาก)  แล้วใช้สโนติดไว้ในรูจนกว่าแผลจะหายสนิทจึงเอาออก เลยเกิดมีรูถาวรตลอดไป

ประโยชน์ที่ได้รับจากการนี้มีบางทานเล่าให้ฟังว่า  เพื่อให้ฝ่ายสามีได้มีโอกาสช่วยภรรยาของตนโดยใช้ขนบางประเภทร้อยเข้าไว้ในรูบ่อง  ในกรณีที่ภรรยาของตนไม่สามารถบรรลุจุดสุดยอดได้  ในเวลาร่วมประเวณีตามปกติธรรมดา  เปรียบเสมือนการฝังมุกสำหรับชายบางคนทางภาคกลาง  ผู้ที่ทำการบ่องแบบนี้มีอยู่ไม่มากนัก  แต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่บ้านใกล้เคียง

เมื่อเวลามีงานบุญพระเวส  หรืองานเทศน์มหาชาติประจำปีของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อ ๕๐-๖๐ ปี ขึ้นไปนั้น เวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นของวันงาน  มักจะมีการจัดขบวนแห่”ดอกนารี”  โดยจัดร้อยพวงมาลัยดอกไม้ขนาดใหญ่ยาวเป็นวา  แล้วเอาเส้นด้ายที่ร้อยพวงมาลัยด้านหนึ่งไปผูกไว้กับองคชาติของชายที่มีรูบ่องนั้น  จึงจัดให้มีคนช่วยถือพวงมาลัยเดินออกหน้า  บางครั้งก็ให้ชายผู้ที่ถูกผูกรูบ่องขึ้นเสลี่ยงคานหามไปในขบวน  พร้อมกับมีคนร้องแห่ไปรอบบ้านว่า “แห่ดอกนารี เด้อ ๆๆๆ”

ในพิธีงานบุญพระเวสหรืองานบุญบั้งไฟในสมัยเก่า  มักจะมีการทำ “ผาม” หรือ “ตูบ” คือประรำไว้สำหรับให้แขกรับเชิญจากหมู่บ้านต่าง ๆ  ได้พักนอนรอบวัด  ซึ่งชาวบ้านไกลก่อนจะเข้าวัด มักจะหาบริเวณเนินดินที่มีหนองน้ำจัดการเปลี่ยนเสื้อผ้าแต่งเนื้อแต่งตัวหรือเรียกว่า “เอ้” เสียก่อนบริเวณเหล่านั้นจึงมีชื่อว่า “โนนสาวเอ้”  เมื่อแขกรับเชิญจากต่างบ้านเขาตูบหรือผามแล้ว  บางครั้งก็อาจจะมีการเล่น “ผีขน” หรือ “ผีโขน” เหมือนกับรูปหุ่นหัวโตทางภาคกลาง  ผู้ร่วมแสดงบางคนก็ทำเป็นนุ่งผ้าด้วย “ดางแห” คือตาข่ายแหห่าง ๆ  บางคนก็อาจจะเอาการบ่องตนเองออกแสดง  บางคนสะพายข่องขาด เสื้อ (ฟูก) หรือหมอนขาด ทำให้ปุยนุ่นฟุ้งกระจายไป  บางพวกก็เอาโคลนทาหัวเหมือนคนโกนหัวโล้นเพื่อเข้าพิธีบวช  บางพวกเอาหมากอึ(ฟักทอง) ซึ่งนึ่งสุกแล้วสีเหลือง ๆ ทาตะโพกของตนเหมือนคน “ขี้แตก”  การละเล่นเหล่านี้มีเพียงปีละหน  จึงแสดงได้อย่างสุดเหวี่ยงมุ่งหวังแต่เสาะหาความสนุกสนานสำราญเบิกบานใจเป็นส่วนใหญ่

เรื่องที่เกี่ยวกับวันสงกรานต์

ในการนับเอาวันตรุษสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น  ประเทศไทยเราได้ถือเอาเป็นประเพณีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว  ซึ่งการถือเอาวันตรุษสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่นี้  ทั้งภาคกลางและพี่น้องชาวไทยทางภาคเหนือได้ถือแบบเดียวกันหมด  และถือกันอย่างนี้มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดให้ใช้วันที่  ๑  เมษายน  เป็นวันขึ้นปีใหม่  ตั้งแต่เมื่อวันที่  ๑   เมษายน  พ.ศ. ๒๔๓๒  เป็นต้นมา

ส่วนประเพณีตรุษสงกรานต์  ซึ่งมักจะไปตรงกับวันที่  ๑๓  เมษายน  นั้น  ก็ให้ถือเป็นเรื่องประเพณีไปเสีย  คือ  ให้มีเป็นประเพณีเป็นประจำกันได้ตลอดมา  ทั้งนี้เพราะเหตุว่า  การถือเอาเรื่องวันที่  ๑๓  เมษายน  เป็นเรื่องของประเพณีนั้น  ไม่ได้ไปขัดกับหลักของสากลแต่อย่างใด

พระพุทธบาทสระบุรี

พระพุทธบาทสระบุรี


ตามประราชพงศาวดารกล่าวว่า  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้เสด็จไปก่อสร้างพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท  ที่จังหวัดสระบุรี  สำหรับราษฎร กษัตริย์ประพาสสุขสำราญ

ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก  พวกจีนคลองสวนพลูพากันไปเก็บเงินทองของมีค่ามาเสียมาก

สมัยรัตนโกสินทร์ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่

 

การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์

การรดน้ำของภาคกลาง  ผู้ใหญ่ที่จะได้รับการรดน้ำ  จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปี  ขึ้นไป

สิ่งของที่นิยมใช้กันในสมัยก่อน ได้แก่ เครื่องหอม เช่น  น้ำอบไทย แป้งร่ำ  ปัจจุบันนี้แป้งร่ำเกือบจะไม่มีใครนิยมเท่าใดนัก  ที่เห็น ๆ กันส่วนมากมีแต่น้ำอบไทย  และเครื่องนุ่งหุ่มประเภทเสื้อผ้าเสียเป็นส่วนใหญ่  เพราะถือว่าเมื่อรดน้ำ(อาบน้ำ)แล้วก็ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่  ฉะนั้น ผู้ใหญ่บางท่านเมื่อ บุตร-หลาน  รดน้ำขอพรแล้ว  เพื่อสนองความปรารถนาดีของบุตรหลาน ท่านเหล่านั้นจะเปลี่ยนมาใช้เสื้อผ้าที่เขาเหล่านั้นนำมามอบให้ทันทีก็มีบ้างเหมือนกัน

ประเภทเสื้อผ้า  สำหรับญาติผู้ใหญ่(ชาย) ได้แก่ กางเกงแพร เสื้อคอกลม  ปัจจุบันเพิ่มเสื้อชุดชายไทยด้วยก็ทันสมัยดีเพราะกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้อาจจะใช้ประเภทผ้าต่าง ๆ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ผ้าตัดกางเกง ฯลฯ

สำหรับญาติผู้ใหญ่(หญิง) อาจใช้ผ้าถุง ผ้าซิ่น เป็นเนื้อฝ้ายหรือไหมแล้วแต่ความเหมาะสม  เสื้อสำเร็จรูปต่าง ๆ

ประเภทผ้า  อาจเป็นผ้าชิ้น ๆ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ

การเตรียมสิ่งของเพื่อรดน้ำในวันสงกรานต์นั้น  นิยมใช้น้ำอบไทยบรรจุขวดแก้วเจียรไนหรือขวดอื่นใดที่เห็นว่างดงามพร้อมทั้งเสื้อหรือผ้าที่จะนำไปมอบ  สมัยก่อนมักจะอบร่ำให้มีกลิ่นหอม  ถ้าเป็นผ้าจะพับจับกลีบแล้วผูกด้วยริบบิ้น เพื่อความสวยงามน่าดูแทนการใส่กล่องห่อด้วยกระดาษห่อของขวัญแล้วจัดใส่พานตามความเหมาะสมของผู้มอบและผู้รับ

การรดน้ำนิยมปฏิบัติ  ในวันที่  ๑๓  เมษายน  ด้วยการพาครอบครัวไปด้วย ก่อนรด ผู้น้อยวางพานสิ่งของที่นำมาแล้วก้มลงกราบ ค่อย ๆหยดน้ำอบไทยที่เตรียมมาลงในฝ่ามือของผู้ใหญ่ด้วยกิริยานอบน้อม  ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็จะกล่าวอวยพร  เมื่อจบแล้ว ผู้น้อยก้มลงกราบอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี

บางครอบครัวญาติผู้ใหญ่จะนัดหมายบรรดาลูกหลานให้มาพร้อมเพรียงกันในวันนี้  โดยจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน เช่น ข้าวแช่ ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะสมกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว  ปัจจุบันไม่ใคร่มีแพร่หลายนัก  เพราะเป็นเรื่องจุกจิกในการเตรียม  ที่ทำกันก็ไม่ครบเครื่องเหมือนสมัยก่อน  เพราะไม่มีเวลาตระเตรียมอีกทั้งสมัยนี้  อาหารสำเร็จมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

การที่ลูกหลานมาร่วมชุมนุมกันในวันสำคัญเช่นนี้  เป็นประจำทุก ๆ ปี เท่ากับเป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน  ให้เกิดขึ้นในวงศ์ญาติเพื่อความเป็นปึกแผ่นแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งผิดกับปัจจุบัน  สังคมเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก  ประเพณีเก่าแก่อันดีงามถูกละเลย  ทำให้สังคมสมัยใหม่เป็นไปแบบตัวใครก็ตัวใคร  ญาติพี่น้องไม่มีโอกาสพบปะกัน  หรือพบกันก็น้อยเต็มที  ยิ่งกว่านั้นบางทีญาติพี่น้องสกุลเดียวกันยังไม่รู้จักว่าใครเป็นญาติลำดับไม่ถูกจะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนท่านมีจุดมุ่งหมายในทางสร้างสรรที่ดีงามอยู่ไม่น้อยทีเดียว

 

การอวยพรในเทศกาลสงกรานต์

เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวไทยเราแต่สมัยโบราณ  ต่อมาเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ เมษายน  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ในโอกาสนี้  คนไทยนิยมจัดงานสงกรานต์กันทั่วไปตามแบบฉบับของแต่ละท้องถิ่น

เทศกาลสงกรานต์นั้นมีด้วยกัน ๓ วัน คือ วันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ เมษายน ของทุก ๆ ปี โดยถือวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งนับเป็นวันสำคัญ เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์”  อันเป็นวันหยุดราชการ  ส่วนวันที่ ๑๔ เมษายน ถือว่า เป็น”วันเนา” อีกนัยหนึ่งคือ วันพักผ่อนหรือวันว่าง และวันที่ ๑๕ เมษายน  ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ถือเป็นวันเถลิงศก เริ่มจุลศักราชใหม่ตามแบบฉบับวิชาโหราศาสตร์  เริ่มใช้กาลโยค ซึ่งประกอบด้วย วันยาม ราศี ดิถี ฤกษ์ ในวันนี้และปีนี้  วันเสาร์เป็นวันธงไชย วันพุธเป็นวันอธิบดี  วันศุกร์เป็นวันอุบาทว์ และ โลกาวินาศ

ประเพณีสงกรานต์ที่นิยมปฏิบัติกันมาช้านาน  ประกอบด้วยการบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร  ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ  บังสุกุลอัฐิบุรพการีและญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว  เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านเหล่านั้น  นอกจากนี้ยังมีการละเล่นต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง  การแสดงคารวะต่อผู้มีพระคุณและแสดงความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน

การแสดงคารวะต่อผู้มีพระคุณด้วยการรดน้ำซึ่งเป็นพิธีที่ชาวเหนือปฏิบัติกันแต่เรียกพิธีนี้ว่า “พิธีรดน้ำ ดำหัว”