พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนรินทรเทวี

เป็นพระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิมว่า กุ มีพระสมญานามที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” ที่มาของคำนี้ อาจสันนิษฐานถึงที่มาได้ดังนี้ คำว่า “เจ้าครอก” หมายถึง การเป็นเจ้าโดยกำเนิดมิได้ยกย่องหรือแต่งตั้ง ส่วนคำว่า “วัดโพธิ์” มาจากวังที่ประทับติดกับวัดโพธิ์ ปัจจุบันคือบริเวณที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาส

พระองค์เจ้ากุเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๖ ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และพระน้องนางร่วมพระชนกชนนีกับพระอัครชายา (หยก บางแห่งว่า ดาวเรือง) ผู้เป็นพระบรมราชชนนีแห่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระชนกทั้งสิ้น ๗ พระองค์ ดังปรากฏหลักฐานในราชสกุลวงศ์ “ลำดับปฐมวงศ์” ว่า

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระองศ์ผู้เป็นต้นพระบรมราชวงศ์จักรี พระนามเดิมว่า ทองดี พระอัครชายา พระนามเดิมว่า หยก มีพระโอรสธิดา ๗ พระองศ์ นับเป็นชั้นที่ ๑ ในปฐมวงศ์ คือ

๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี

๒. พระเจ้ารามณรงค์

๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

๕. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ทั้ง ๕ พระองค์นี้ประสูติแต่พระอัครชายา (หยก)

๖. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ประสูติแต่พระน้องนางของพระอัครชายา (หยก)

๗. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามา

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกมีพระชายา ๓ องค์ คือ พระอัครชายา (หยก) เป็นลำดับที่ ๑ หลังจากพระอัครชายา (หยก) ทิวงคตแล้ว พระน้องนางของพระอัครชายา (หยก) เป็นพระชายาลำดับที่ ๒ และ เจ้าจอมมารดามา เป็นลำดับที่ ๓ ปรากฏความในปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวลำดับประวัติความเป็นมาของพระปฐมบรมราชวงศ์จักรี ดังนี้

“จะขอกล่าวถึงความประวัติเป็นไปต่างๆ ในโลกนี้ จนถึงกาลเมื่อละโลกนี้ล่วงไปยังปรโลกของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นบุรพบุรุษในพระบรมราชวงศ์อันนี้ซึ่งเป็นชั้นต้น คือสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี แลสมเด็จพระปัยยิกาใหญ่ แลสมเด็จพระปัยยิกาน้อย ๓ พระองค์ แลชั้นสองคือ พระโอรส พระธิดาของสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีทั้ง ๗ พระองค์…

สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีนั้น ทราบแต่ว่าได้ดำรงพระชนมายุแลสุขสมบัติ ครอบครองสกุลใหญ่ และมีอำนาจในราชกิจดังกล่าวแล้วอยู่สิ้นกาลนาน จนตลอดเวลาพม่าข้าศึกเข้าล้อมกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในคราวที่กรุงจะแตกทำลายนั้น

สมเด็จพระปัยยิกาพระองค์ใหญ่นั้น ได้มีพระเอารส พระธิดา ๕ พระองค์ แล้วก็สิ้นพระชนม์ล่วงไปโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อสิ้นพระชนม์นั้นพระชนมายุเท่าไรไม่ทราบถนัด พระปัยยิกาพระองค์น้อยได้รับปรนนิบัติสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีในที่นั้นต่อมา ได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่งแล้ว จะสิ้นพระชนม์เมื่อใดก็หาได้ความเป็นแน่ไม่ ได้ความเป็นแน่แต่ว่าเมื่อเวลาพม่าเข้าล้อมกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เวลาที่สุดนั้น สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีมีพระดำริจะออกจากกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หลีกหนีข้าศึกไปอยู่ให้ห่างไกล จะชักชวนพระเอารสพระธิดาทั้งปวงตามเสด็จไปด้วยพร้อมกัน พระเอารส พระธิดาทั้ง ๖ พระองค์ที่ทรงพระเจริญแล้วนั้นได้แยกย้ายไปตั้งสกุลอื่น มีพระบุตร พระบุตรี เกี่ยวข้องเป็นห่วงใยพัวพันมากมาย จะรวบรวมมาพร้อมเพรียงกันแล้ว คุมเป็นพวกใหญ่ ออกไปโดยง่ายหาได้ไม่ เมื่อได้ช่องจึงได้พาแต่พระกุมารพระองค์น้อยกับหญิงบาทบริจาริก ซึ่งเป็นหม่อมมารดาของพระกุมารนั้นไปอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก…”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงอภิเษกกับหม่อมมุก นายกวดหุ้มแพร มหาดเล็ก ครั้งกรุงธนบุรี บุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ มีพระโอรส ๒ พระองค์ คือ

๑. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ (พระองศ์เจ้าชายฉิม)

๒. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ (พระองศ์เจ้าชายเจ่ง)

ปรากฏหลักฐานในลำดับปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“กรมหลวงนรินทรเทวีนั้น เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีได้กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ซึ่งคนเป็นอันมากเรียกว่า กรมหมื่นมุกเป็นพระภัสดา ได้ประสูติพระบุตรพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่น นรินทรเทพแล้ว มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติพระบุตรอีกพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์ กรมหมื่นซึ่งเป็นพระบุตรทั้งสองนั้น ก็ได้เป็นต้นวงศ์ของหม่อมเจ้าชาย หม่อมเจ้าหญิงเป็นอันมากสืบลงมา ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี สิ้นพระชนม์เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๗๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นสกุล “นรินทรกุล” พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ปีชวด จ.ศ. ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาพระนามพระอัฐิเป็น “กรมหลวงนรินทรเทวี” เนื่องจากทรงเห็นว่า ยังไม่มีพระนามบรรดาศักดิ์ ดังปรากฏในคำประกาศตั้งพระอัฐิ หนังสือจดหมายเหตุ เรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ว่า

“ในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งกรมพระอัฐิเจ้านายอีก ๓ พระองค์ ตั้งเมื่อปีใดใน จดหมายเหตุอาลักษณ์หาปรากฏปีไม่ คือ

พระเจ้าไอยิกาเธอ พระองค์เจ้ากุ เป็นกรมหลวงนรินทรเทวี พระองค์ ๑ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชี เป็นกรมขุนรามินทรสุดา พระองค์ ๑ สมเด็จพระมาตุจฉาฯ เป็นกรมขุนอนัคฆนารี พระองค์ ๑

มีจดหมายเหตุอาลักษณ์ อยู่ดังนี้
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมหลวงนรินทรเทวี
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมขุนรามินทรสุดา
ทรงตั้งพระอัฐิ กรมขุนอนัคฆนารี

ประกาศตั้งพระอิฐ
ทรงพระราชดำริว่าพระบรมราชวงศ์อันนี้ ได้ดำรงถาวรวัฒนาการมา พระราชวงศานุวงศ์มีพระบรมธรรมิกราชาธิราช ๔ พระองค์ด้วยกัน บางพระองค์ได้ดำรงมามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์นั้นๆ บางพระองค์ทิวงคตเสียก่อน แต่ยังมิได้สร้างพระนครนี้ก็มี บางพระองค์ก็ดำรงมาแต่หามีพระนามปรากฏตามบรรดาศักดิ์ไม่ มีแต่พระอัฐ ซึ่งได้เชิญประดิษฐานไว้ในหอพระอัฐิข้างใน ในหอพระอัฐิข้างนอก เมื่อคราวใดพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแลพระราชวงศานุวงศ์คิดถึงพระเดชพระคุณ และจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระราชวงศานุวงศ์ซึ่งทิวงคตแล้ว ยังมีอยู่แต่พระอัฐินั้นๆ ก็หามีสำคัญที่จะออกพระนามให้รู้ชัดโดยสะดวกได้ไม่ อนึ่งเมื่อคราวใดจะกล่าวเรื่องราวในพระราชพงศาวดาร ก็ออกพระนามผิดบ้าง ถูกบ้างไม่ต้องกัน ยากที่จะเข้าใจได้ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้ประกาศแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม แลพระราชวงศานุวงศ์แลข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงให้รู้จงทั่วกันว่า พระอัฐิพระบรมชนกนาถในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระบรมไอยกาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระบรมไปยกาในพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ให้เรียกว่า พระอัฐิในสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี

อนึ่ง พระราชธิดาผู้ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ยังหามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์ไม่ เพราะว่าเจ้าต่างกรมแลพระองศ์เจ้าฝ่ายในในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่าพระบรมวงศ์เธอทั้งสิ้นแล้ว บัดนี้จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เรียกพระอัฐิพระราชธิดาผู้ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่าพระอัฐิในพระประถมบรมวงศ์

อนึ่ง พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นยังหามีพระนามปรากฏโดยบรรดาศักดิ์ไม่ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระนามพระอัฐิเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี… ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งมีคุณค่ามากทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตลอดจนพระราชพิธีสำคัญๆ ในขณะนั้น เป็นมรดกทางปัญญาที่สืบทอดมาถึงอนุชนรุ่นหลัง ผลงานดังกล่าว คือ จดหมายเหตุความทรงจำ ซึ่งเป็นบนทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ ลักษณะเป็นการจดบันทึก จากความทรงจำเท่าที่จำความได้ มิได้เรียงลำดับเหตุการณ์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า

“จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีนี้ ไม่ใช่ผู้รู้แต่งจดหมายเหตุและพงคาวดาร ไม่ใช่จินตกวีทั้งสองอย่าง เป็นข้อความที่ท่านทรงจำไว้ ตั้งแต่จำความได้จนตลอดเวลาที่เขียน คงจะเป็นเวลาที่ทรงพระชรา มีผู้ทูลว่าข้อความจะสูญเสียหมด ขอให้จดลงไว้ จึงได้พยายามจดลงไว้ตามแต่ที่จะนึกได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักอะไรเลย”

เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้หนังสือเรื่องนี้มาจากวังหน้า ๑ เล่มสมุดไทย ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ทรงเห็นว่ามีข้อความแปลก จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้แต่งเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาหาตัวผู้เขียนพร้อมทั้งมีพระราชวิจารณ์และในที่สุดมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าผู้แต่งน่าจะเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี เนื่องจากเหตุผล ๓ ประการ คือ

๑. โวหารท่วงทีถ้อยคำเป็นสำนวนผู้หญิง

๒. ผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้เป็นผู้รู้เรื่องราวภายในใกล้ชิดมาก

๓. กระบวนใช้ถ้อยคำทำให้เห็นว่าจะเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตในหนังสือเรื่องนี้ถึงคำว่า กรมหมื่น โดยมิได้ออกพระนาม ๒ แห่ง คือ

“วันเดือนแปด แรมค่ำหนึ่ง ปีมะโรง สัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ไว้พระศพบนปราสาท พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่นว่าสิ้นลูกคนนี้แล้วพระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้า ดูชำระเถิดอย่าทูลเลย” อีกแห่งหนึ่งว่า

“ณ เดือนห้า จุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลู นพศก กรมหมื่นสิ้นพระชนม์ ประชุมเพลิง ณ วัดราชบุรณะ” ดังนั้น กรมหมื่นพระองค์นี้ คือ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เป็นพระสามีของพระองค์เจ้ากุ พระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นผู้เก็บอากรตลาดท้ายสนมต่อเจ้าฟ้า กรมหลวงศรีสุนทรเทพ จนตลอดพระชนมายุ ถ้อยคำที่จดลงไว้ไม่ใช้ว่าสิ้นพระชนม์ ไม่ใช้ว่าถวายพระเพลิง ตรงกับข้อความที่เล่ากันว่า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ไม่ไว้พระองค์เป็นเจ้าแท้ กรมหลวงนรินทรเทวีอยู่ข้างจะกดขี่ มีตัวอย่าง กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงเล่าว่าเจ้านายไปทูลลาโสกันต์ กรมหลวงนรินทรเทวีประทับบนยกพื้นในประธานท้องพระโรง เรียกเจ้าที่ไปทูลลาให้ขึ้นไปนั่งบนยกพื้นด้วย แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์มานั่งอยู่ที่พื้นเฉลียงและหมอบกราบเจ้านายที่ไปทูลลา เพราะเหตุฉะนั้นผู้แต่งหนังสือนี้จึงได้ใช้คำผิดกับเจ้านายองค์อื่นสิ้นพระชนม์

พร้อมทั้งทรงตั้งชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า “จดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่จุลศักราช ๑๑๒๙ ถึงจุลศักราช ๑๑๘๒ เป็นเวลา ๕๓ ปี”

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์และมีพระบรมราชวินิจฉัยล่วงไปแล้ว ๘ ปี หอพระสมุดฯ ได้หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำมาอีก ๑ ฉบับ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ข้อความในจดหมายมีเนื้อความยาวต่อจากฉบับเดิมไปอีกประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย สิ้นสุดลงใน พ.ศ. ๒๓๘๑ เมื่อพิจารณาดูพระชนมายุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๗๐ จึงเกิดข้อวิจารณ์ต่อมาว่าจดหมายเหตุฉบับนี้ใครเป็นผู้แต่ง เนื่องจากมีข้อความเกินพระชนมายุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวีไปถึง ๑๐ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา- นุภาพ ได้ทรงแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมพร้อมทั้งทรงวินิจฉัยไว้ดังนี้

“การพิมพ์หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำคราวนั้น มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นในทางโบราณคดี เนื่องด้วยพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างหนึ่ง คือว่า จดหมายเหตุความทรงจำที่ได้มาใหม่ฉบับนี้เนื้อเรื่องมีต่อลงมาจนปีฉลู จุลศักราช ๑๒๐๐ ตามจดหมายเหตุในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยา ทิพากรวงศ์ปรากฏว่า กรมหลวงนรินทรเทวี สิ้นพระชนม์ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๘๙ …เป็นข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นก็จะไม่ใช่กรมหลวงนรินทรเทวีแต่งจดหมายเหตุความทรงจำ ดังพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะเรื่องในฉบับที่ได้มาใหม่มีลงมาภายหลังท่านสิ้นพระชนม์มาถึง ๑๐ ปี ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจำจะต้องวินิจฉัยความสงสัยนี้พร้อมกับที่ให้พิมพ์หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำฉบับนี้ จึงได้เรียบเรียงข้อวินิจฉัยของข้าพเจ้าพิมพ์ไว้ข้างท้าย ด้วยอยากจะให้ท่านทั้งหลายได้อ่านตัวจดหมายเหตุเสียให้ตลอดก่อนจะได้ช่วยกันวินิจฉัย”

สรุปข้อวินิจฉัยเรื่องผู้แต่งจดหมายเหตุความทรงจำ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ความว่า หนังสือเรื่องนี้มี ๒ สำนวน สำนวนแรกแต่งแต่ต้นมาจบเพียงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต อีกสำนวนหนึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๓ และคงตั้งใจจะทำตามสำนวนเดิม

“แต่จับได้ว่าต่างสำนวน ตั้งแต่กระบวนเรียบเรียงเรื่อง สำนวนใหม่รู้เรื่องข้างฝ่ายหน้ามากไม่ใคร่รู้เรื่องข้างฝ่ายใน กระบวนโวหารที่เรียงหนังสือ สำนวนเดิมมีกระบวนยอพระเกียรติเติมแต่แห่งละเล็กละน้อย สัมผัสนานๆ จึงใช้ สำนวนใหม่ชอบยอพระเกียรติ กล่าวทุกโอกาสและชอบเล่นสัมผัสจัด แม้ศัพท์ก็ใช้พลาดๆ ไม่เหมือนสำนวนต้น ข้าพเจ้า คิดเห็นเช่นนี้ ไม่ไว้ใจเกรงจะพลาดอยากจะหารือผู้อื่นให้หลายๆ คนด้วยกัน แต่หนังสือนี้จะรีบพิมพ์ เวลาไม่พอ จึงได้นำไปถวายหารือท่านผู้ซึ่งข้าพเจ้านับถือว่าชำนาญในกระบวนหนังสือยิ่งกว่าข้าพเจ้าพระองค์หนึ่ง ขอให้ช่วยตรวจ เมื่อท่านตรวจแล้วก็เห็นพ้องกันว่า เป็นหนังสือ ๒ สำนวน มิใช่แต่งคนเดียวกันทั้งตอนต้นและตอนหลัง เพราะฉะนั้นยังเชื่อได้ว่า ตอนต้นนั้นกรมหลวงนรินทรเทวีทรงแต่ง ดุจพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ตอนหลังยังทราบไม่ได้ว่าเป็นของผู้ใดแต่ง ข้าพเจ้าอยากจะเดาว่า เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในวังหน้า ดูผู้แต่งสำนวนหลังอยู่ข้างจะเอาใจใส่ ข้างการวังหน้า”
อย่างไรก็ตามจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีจัดเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ามาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า

“จดหมายฉบับนี้ ปรากฏชัดว่าได้จดลงโดยความซื่อตรงและความที่จำได้ ไม่มีนึกแต่งให้พิสดารเป็นอัศจรรย์ ให้ผู้อ่านพิศวงอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถ้าจะมีการตื่น ท่านก็ตื่นส่วนพระองค์ท่านเองตามความเห็นที่จับใจท่านขึ้นมาอย่างไร เวลาก็ดี ข้อความก็ดี ที่เคลื่อนคลาดบ้าง ก็เป็นธรรมดา หนังสือที่ท่านไม่ได้จดลงไว้โดยทันทีมาเขียนต่อภายหลัง แต่ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าหนังสือฉบับนี้ไม่มีความเท็จเลย ความที่เคลื่อนคลาดนั้น ด้วยลืมบ้าง ด้วยทราบผิดไปบ้าง เรียงลงไม่ถูกเป็นภาษาไม่สู้แจ่มแจ้งบ้าง ทั้งวิธีเรียงหนังสือ ในอายุชั้นนั้นไม่สู้จะมีเครื่องมือสำหรับเขียนบริบูรณ์และคล่องแคล่วเหมือนอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะเขียนหนังสือแล้วคิดนานๆ บรรจุความให้แน่นในวรรคหนึ่งแล้วจดลงไป ผู้ใดแต่ง หนังสือให้สั้นและให้จุความมากได้ผู้นั้นแต่งหนังสือดี ไม่เหมือนอย่างเวลานี้ ที่เขียนหน้ากระดาษหนึ่งได้ใจความสักบรรทัดเดียว…

แต่เป็นเคราะห์ดีที่สุดที่จดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีฉบับนี้ไม่ปรากฏแก่นักเลงแต่งหนังสือในรัชกาลที่๔ หรือในรัชกาลประจุบันนี้ตกอยู่ในก้นตู้ได้จนถึงรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ นี้ นับว่าเป็นหนังสือพรหมจารี ไม่มีด้วงแมลงได้เจาะไชเลย ความยังคงเก่าบริบูรณ์”

และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ว่า

“หนังสือเรื่องนี้ถึงเป็น ๒ สำนวน ก็ยังเป็นหนังสือดีตลอดเรื่องด้วยเรื่องพงศาวดารในตอนหลัง ก็มีเรื่องแปลกๆ ซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารอยู่หลายเรื่อง เป็นหนังสือน่าอ่านและควรนับถือทั้ง ๒ ตอน”

จะเห็นได้ว่าแม้จะทรงมีผลงานเพียงชิ้นเดียวก็ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์และโบราณคดี เนื่องจากในสมัยโบราณการจดบันทึกเรื่องราว หรือเหตุการณ์ต่างๆ มักไม่นิยมบันทึกไว้ เป็นผลให้ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อน ซึ่งนักประวัติศาสตร์โบราณคดีต้องใช้การสันนิษฐานอยู่เสมอ และเมื่อปรากฏหลักฐานอื่นๆ มาลบล้างข้อสันนิษฐานได้ ก็จะเกิดทฤษฎีและข้อสันนิษฐานใหม่ๆ อีกต่อไป จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี จึงมีประโยชน์ในการรักษาข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถสอบค้นข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์นั้นๆ ได้ จดหมายเหตุฉบับนี้จัดว่าเป็นข้อมูลชั้นต้น เป็นสิ่งที่ผู้จดบันทึกพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง ประกอบทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนรินทรเทวี ทรงเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศ จึงทำให้ข้อมูลเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวิชาการในปัจจุบัน ดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวไว้ใน “คำบรรยาย
ความเห็นและความคิดที่จะเรียบเรียงหนังสือนี้’’ เป็นข้อสนับสนุนว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ทรงมีความจำดีมาก

“แต่ถึงดังนั้น ควรจะเห็นเป็นอัศจรรย์ในความทรงจำของท่าน หรือถ้าหากว่าจะเป็นเหตุให้มีผู้สงสัยความทรงจำ จะได้ถึงเพียงนี้ทีเดียวหรือ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าเคยเห็นเจ้านายฝ่ายในที่ทรงแม่นยำเช่นนี้หลายพระองค์ แต่ไม่ยิ่งกว่า และไม่สิ้นพระชนม์ ภายหลังที่สุด เช่น พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา อันสิ้นพระชนม์แล้วได้ ๘ เดือนนี้ทรงจำแม่นจนกระทั่งวันเดือนปีอันเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทั่วไปทุกสิ่งลักษณะ ความจำเช่นนี้อย่างเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอ้างให้เห็นได้ว่า ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ความที่ทรงจำวันคืนแม่นก็ปรากฏอยู่ฉะนี้ จึงเห็นได้ว่า กรมหลวงนรินทรเทวีนี้ความทรงจำของท่านคงเป็นลักษณะเดียวกันกับกรมหลวงวรเสรฐสุดา

ส่วนข้อความที่จดนั้น ท่านได้เปรียบอย่างหนึ่ง เพราะท่านมีพระสามีอาจจะรู้ราชการจากทางนั้นได้ แต่ก็ปรากฏว่าถ้าเป็นการแผ่นดินแท้เช่นการทัพศึก ท่านเห็นเกินความสามารถที่ท่านจะพรรณนาให้ถูกต้องได้ ได้ว่าความรวบเข้าเป็นหมวดๆ พอให้รู้เหตุการณ์ ถ้าเป็นเรื่องราวซึ่งออกจะปกปิดกันในเวลานั้น หรือเรื่องราวซึ่งท่านเห็นไม่สู้เป็นพระเกียรติยศ ท่านได้จดลงไว้แต่ย่อพอเป็นเครื่องสังเกตข้อที่ท่านจดลงพิสดารกว่าที่อื่น ล้วนเป็นเรื่องที่ท่านพอพระทัย แต่เมื่ออ่านทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าพระญาณของท่านในทางทรงจำและความพอพระทัย เข้าพระทัยในเหตุการณ์สูงอยู่กว่าคนแก่สามัญเป็นอันมาก”

จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี จะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายในที่เคารพยกย่องแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์แล้ว ยังอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญของชาติในการสร้างสรรค์งานวิชาการอีกด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

ในสมัยโบราณแม้สตรีไทยจะมิได้มีบทบาททางการเมืองและการปกครอง แต่ก็มีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งในการปกครองบ้านเรือน และการอบรมดูแลบุตรธิดา บริหารงานบ่าวไพร่ดำเนินกิจการ เป็นผลประโยชน์แก่ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่ผู้นำเป็นทหาร และอยู่ในยุคที่ต้องกอบกู้บ้านเมือง หรือปราบปรามอริราชศัตรู เสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ภรรยาจึงต้องเป็นผู้มีความเข้มแข็ง อดทน สามารถปกครองครัวเรือนได้ ซึ่งเท่ากับช่วยสนับสนุนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานแก่สามีด้วย เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี หลายฉบับกล่าวว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง ต้องตามลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นที่เกรงพระทัยของสมเด็จพระราชสวามี พระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาตลอดมา

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระนามเดิมว่า “นาก” เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๐๙๙ ตรงกับวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๘๐ พระชนกพระนามว่า “ทอง” พระชนนีพระนามว่า “สั้น” ซึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศเฉลิมพระนามพระอํฐิว่า “สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี” มีนิวาสสถานเดิมอยู่ที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พระชนกนั้นถึงแก่พิราลัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ส่วนพระชนนีนั้นภายหลังผนวชเป็นรูปชี ประทับ ณ วัดอัมพวันเจติยาราม จนถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระประยูรญาติร่วมพระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง อธิบายราชินิกูลบางช้าง มีดังนี้
๑. เจ้าคุณหญิงแวน
๒. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ หรือเรียกกันว่า เจ้าคุณผู้ใหญ่ ได้สมรสกับท่านตาขุนทองผู้เป็นญาติกัน
๓. เจ้าคุณชายชูโต มีภรรยาชื่อทองดี เป็นต้นตระกูลชูโต สวัสดิ-ชูโต และ แสง-ชูโต
๔. สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี
๕. เจ้าคุณชายแตง
๖. เจ้าคุณหญิงชีโพ
๗. เจ้าคุณชายพู
๘. เจ้าคุณหญิงเสม
๙. เจ้าคุณหญิงนวล หรือที่เรียกว่าเจ้าคุณโต ต่อมาสมรสกับเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ต้นตระกูลบุนนาค
๑๐. เจ้าคุณหญิงแก้ว หรือเรียกว่า เจ้าคุณบางช้าง สมรสกับพระยาสมุทรสงคราม (ศร) ต้นตระกูล ณ บางช้าง

บุรพชนของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี เป็นคหบดีผู้มีชื่อเสียงในเขตอัมพวา เมื่อสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงเจริญวัย มีพระสิริโฉมงดงาม เพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณสมบัติของกุลสตรีในตระกูลสูง กิตติศัพท์จึงเลื่องลือทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้สืบหาสตรีรูปงามผู้มีตระกูลและทรัพย์ทั้งในและนอกกรุงไปเป็นบาทบริจาริกา ได้มีผู้มาขอทาบทามกับพระชนกพระชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี แต่ทั้งสองพระองค์ไม่ประสงค์จะให้พระธิดาประทับห่างไกล ณ สถานที่อันเข้มงวดด้วยจารีตประเพณีเช่นนั้น จึงได้จัดคนไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ให้ทรงช่วยหาทางผ่อนผัน สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ได้ทรงสู่ขอสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ไว้ให้แก่พระราชโอรสแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามที่กราบบังคมทูลขอ ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จไปรับราชการในตำแหน่งหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ได้ทรงสมรสกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และประทับ ณ นิวาสสถานที่ตำบลอัมพวานั้น ต่อมาหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียอิสรภาพแก่พม่า ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระราชโอรสพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ดังนี้

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่สมัยอยุธยา

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ตั้งแต่สมัยอยุธยา

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ เป็นพระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชมารดาของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายฉิม คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแจ่ม คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ

๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

๗. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์

๘. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

๙. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเอี้ยง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี

ถึงสมัยธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้รับเลื่อนตำแหน่งราชการและบรรดาศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับ ท้ายสุดคือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในฐานะภรรยาขุนนางขั้นผู้ใหญ่ ก็ได้ทรงมีบรรดาศักดิ์สูงตามพระราชสวามีไปด้วย ในระหว่างนี้ได้ประทับ ณ ทำเนียบเจ้าพระยาอุปราช อันป็นตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงเทียบเท่า ทำเนียบนี้อยู่ในบริเวณกรมอู่ทหารเรือปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเสด็จเข้าประทับค้างแรมกับพระธิดาพระองค์ใหญ่ (เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) ซึ่งเป็นพระราชชายาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ณ พระตำหนักในพระราชวังเสมอ จนกระทั่งพระราชธิดา (เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๒๒

ก่อนเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จไปราชการสงคราม ณ ประเทศกัมพูชา นั้นปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสัญญาวิปลาส เกิดความหวาดระแวงบุคคลแวดล้อม ตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการฝ่ายใน จนถึงพ่อค้าประชาชนทั่วไป ประกอบกับมีผู้กราบบังคมทูลยุยงให้หลงผิด ดังนั้นจึงมีผู้ต้องพระราชอาญาจำจอง โบยตี หรือประหาร เป็นจำนวนไม่น้อย ในบรรดาผู้ต้องพระราชอาญานี้ มีสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ตลอดจนพระประยูรญาติรวมอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าทรงกระทำความผิดเรื่องใด จึงนับว่าทรงได้รับทุขเวทนาจากความผันผวนของบ้านเมือง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบปรามจลาจลราบคาบและทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินี แต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ก็ยังคงประทับ ณ พระตำหนักเดิมทางฝั่งธนบุรี มิได้เสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง เป็นแต่เสด็จเข้ามาเป็นครั้งคราว คงจะเป็นด้วยขณะนั้นเจริญพระชนมายุถึง ๔๕ พรรษาแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะประทับอยู่อย่างสงบ ร่วมกับพระราชโอรสมากกว่า พ.ศ. ๒๓๔๙ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จประทับในพระราชวังเดิมธนบุรี สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ก็ทรงเข้าประทับ ณ ที่นั้นด้วยจนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่ ๑

พ.ศ. ๒๓๕๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงสถาปนาพระเกียรติสมเด็จพระราชชนนีเป็น “สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์” เทียบอย่างกรมพระเทพามาตย์ที่สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงตามโบราณราชประเพณี ดังความในจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ ต่อไปนี้

“ตั้งกรมสมเด็จพระพันปีหลวง
ณ วัน ๒ ฯ ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียโทศก เพลาเช้า ๒ โมง ๖ บาท
พญารักษ์ ๑
พระอาลักษณ์ ๑
พระราชสมบัติ ๑
พระโหรา ๑
ขุนโชติ ๑
ขุนสารประเสริฐ ๑
นายชำนิโวหาร ๑
นายเทียรฆราช ๑
นั่งพร้อมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานตั้งเครื่อง

ใบศรีแก้ว ใบศรีทอง ใบศรีเงิน มโหรีปี่พาทย์ฆ้องไชยพร้อม ลงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นพระอมรินทรามาตย์

หมื่นสุวรรณอักษรจาฤกแผ่นพระสุพรรณบัฏเป็นอักษร ๓ บรรทัด แผ่นพระสุพรรณบัฏ กว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว หนัก ๑ ๓/๓

ทองร่อนบางตะพาน พระหีบเงินถมยาคำตะทองหนัก ๑๓ ส่วน ใส่พานทอง มอบหลวงธรรมเสนาไว้ในพระอุโบสถ

ครั้น ณ วัน ๖ฯ๗ ๑๑ ค่ำ จึงเชิญพานพระสุพรรณบัฏขึ้นเหนือพระเสลี่ยงอันวิจิตรไปด้วย

ราชาอาสน์อภิรม ราชาอาสน์ชุมสาย ราชาอาสน์พัดโบก ราชาอาสน์จ่ามอน เป็นอินทร์พรหมเทวดาเกณฑ์แห่แตรสังข์ แห่ไปที่พระมณฑลพระตำหนักตึก

พระสงฆ์ ๑๕ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้น สวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน

ครั้น ณ วัน ๒๑๐ ฯ ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า ๑ โมง กับ ๒ บาท เสด็จสรงมุระธาภิเษก

พระสังฆราช พระพนรัจน์ พระญาณสังวร ถวายนํ้าพระพุทธมนต์ พราหมณถวายนํ้าสังข์ กรด เสร็จแล้ว เสด็จออกมาถวายเข้าสงฆ์ พระสงฆ์ฉันแล้ว ได้ฤกษ ๓ โมง กับ ๕ บาท ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ์ เชิญพานพระสุพรรณบัฏเข้าไป พระอาลักษณ์เป็นผู้ถวายต่อพระหัตถ์ เจ้าฟ้ากรมหลวง (พิทักษมนตรี) ถวายตราประจำที่แล้วพระราชทานให้เลี้ยงข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยพร้อมกัน

ในรัชกาลนี้ เข้าใจว่าได้เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง แต่อาจจะไม่ประทับเป็นการถาวร เนื่องจากหลักฐานบางแห่งว่าประทับ ณ พระตำหนักเดิมที่ฝั่งธนบุรีตลอดพระชนม์ชีพ ในช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพนั้น ปรากฏว่าสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนามาก เสด็จไปทรงศีลและบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดระฆังโฆสิตารามเป็นนิจ ทรงสถาปนาและบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามต่างๆ เช่น ทรงสถาปนาวัดเงิน ซึ่งเป็นวัดโบราณตั้งอยู่ในท้องที่คลองบางพรหมใหม่ และทรงบูรณะวัดอัมพวันเจติยาราม ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระรูป ศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระราชชนนี ทรงสร้าง ณ บริเวณนิวาสสถานเดิม เป็นต้น

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่มีพระชนมพรรษายืนยาวถึง ๓ รัชกาล คือ ดำรงพระชนม์ชีพจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๑๘๘ ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงเสด็จสวรรคต พระชนมพรรษาได้ ๘๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง จัดเป็นพิธีใหญ่อย่างสมพระเกียรติ และอัญเชิญพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ปรากฏรายละเอียดในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ดังนี้

“ในปีชวดนั้น ทรงพระดำริว่า กองทัพศึกค่อยสงบลงแล้ว พระศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ยังค้างอยู่ จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานซ่อมแซมประดับประดาพระเมรุให้งดงามดีดังเก่า การสารพัดทั้งปวงเหมือนพระบรมศพอย่างใหญ่เสร็จแล้ว ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ (อังคารที่ ๒๒ เมษายน ๒๓๗๑) ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาสู่พระเมรุ มีการมหรสพ ๑ วัน ๑ คืน เชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ (วันที่ ๒๔ เมษายน) ได้เชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุ มีการมหรสพวัน 9 ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ได้เชิญพระบรมอัฐิกลับ ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ได้เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ แห่มาขึ้นพระมหาพิไชยราชรถ แห่กระบวนใหญ่เข้าสู่พระเมรุ ได้มีการมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน และบำเพ็ญพระราชกุศลถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญเป็นอันมาก ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๔ คา (วันที่ ๒ พฤษภาคม) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการและท้าวพระยาหัวเมืองประเทศราช พร้อมกันกราบถวายบังคมถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วสมโภชพระบรมอัฐิอีก ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ แห่พระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง”

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ในรัชกาลก่อนๆ ที่เคยดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีให้สูงขึ้น จึงทรงประกาศเฉลิมพระนามใหม่ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ได้เฉลิมพระนามใหม่เป็น “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ

เจ้าฟ้ามงกุฎ

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้ บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

จากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนให้เห็นถึงประวัติวรรณคดีไทยในสมัยอยุธยาว่ามี “เจ้าสตรี” ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านกวีนิพนธ์โดยทรงพระนิพนธ์เรื่องอิเหนาไว้ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ

เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ประสูติแต่เจ้าฟ้าสังวาลย์ มีพระภคินีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าฟ้ากุลฑล

พระประวัติเจ้าฟ้ามงกุฎไม่ปรากฏหลักฐานเท่าใดนัก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นขัตติยนารีที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ตามธรรมเนียมราชประเพณีของราชสำนักฝ่ายใน โดยเฉพาะทรงพระปรีชาสามารถเป็นพิเศษในด้านกวีนิพนธ์ ดังปรากฏหลักฐานว่า ทรงพระนิพนธ์บทละครที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดารชวาเรื่อง “อิเหนา” ตามที่นางข้าหลวงชาวมลายู ซึ่งเป็นเชลยจากเมืองปัตตานีได้เล่าถวายเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ในการนี้ เจ้าฟ้ากุลฑล พระภคินี ทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลัง ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนา ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทอดพระเนตรพระนิพนธ์บทละครทั้งสองเรื่อง ของพระราชธิดา ทรงพอพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชนิพนธ์บทละครของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์มาเล่นละคร นับแต่นั้นเป็นต้นมา

พระนิพนธ์บทละครเรื่องดาหลัง และอิเหนา ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดารชวาเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เป็นการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันไป จึงกลายเป็นบทละครถึงสองเรื่อง โดยนิยมเรียกว่า “อิเหนาใหญ่” และ “อิเหนาเล็ก” ตามลำดับ ในการนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่า ในสมัยอยุธยาคงจะหมายถึง เรื่องอิเหนาของพระองค์ใหญ่ กับเรื่องอิเหนาของพระองค์เล็ก

เป็นที่น่าเสียดายว่าพระนิพนธ์บทละครเรื่อง “อิเหนา” ของเจ้าฟ้ามงกุฎ ต้นฉบับได้สูญหายกระจัดกระจายไปหมดแล้ว คงปรากฏเพียงพระนามของเจ้าฟ้ามงกุฎ ขัตติยนารีแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงพระปรีชาสามารถด้านกวีนิพนธ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้จดจำและรำลึกถึงพระเกียรติคุณสืบไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย

เจ้าฟ้ากุลฑล

ขัตติยนารีแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงพระปรีชาสามารถด้านกวีนิพนธ์
เจ้าฟ้ากุลฑล เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ประสูติจาก เจ้าฟ้าสังวาลย์ มีพระขนิษฐาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ

เป็นสมัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านวรรณกรรม และศิลปะการละครมากในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพราะทรงส่งเสริมทำนุบำรุงยิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสันนิษฐานว่า พระราชธิดาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าฟ้ากุลฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ น่าจะทรงมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดควบคุมการซ้อมละครหลวงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย

เจ้าฟ้ากุลฑล มีบทบาทและความสำคัญปรากฏหลักฐานในฐานะกวีหญิงของราชสำนักฝ่ายใน โดยทรงพระนิพนธ์บทละครที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดารชวาเรื่อง ‘อิเหนา’ ตามที่นางข้าหลวงชาวมลายู ซึ่งเป็นเชลยจากเมืองปัตตานี ได้เล่าถวายเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ ในการนี้ เจ้าฟ้ากุลฑลได้ทรงพระนิพนธ์ บทละครเรื่อง ‘ดาหลัง’ ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระนิพนธ์ บทละครเรื่อง “อิเหนา” และในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระนิพนธ์บทละครของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์มาเล่นละครใน นิยมเรียกบทละครทั้งสองเรื่องว่า “อิเหนาใหญ่” และ “อิเหนาเล็ก” ตามลำดับ

อิเหนาเป็นตัวเอกของพงศาวดารชวา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวชวาและมลายูนิยมนำมาเล่นหนัง หรือละคร บางแห่งเรียกว่า ละครแขก หรือหนังแขก ส่วนดาหลัง หมายถึง คนพากย์หนังของชวาซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังจอ ทำหน้าที่เชิดตัวหนัง แล้วพากย์เป็นกาพย์กลอนบรรยายเรื่องให้คนฟัง

ต้นฉบับพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลัง ของเจ้าฟ้ากุลฑลได้สูญหายกระจัดกระจายไปหมดแล้ว แต่ยังคงปรากฏพระเกียรติคุณของพระองค์สืบไป ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ความว่า

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้ บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย

กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ

กรมหลวงโยธาทิพ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ บางแห่งเรียก พระราชกัลยาณี ส่วน กรมหลวงโยธาเทพ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี

กรมหลวงโยธาทิพ และกรมหลวงโยธาเทพ เป็นเจ้านายฝ่ายในซึ่งดำรงพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นต้นว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ รวมถึงเอกสารบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พรรณนาเรื่องราวที่เป็นพระชะตาชีวิตของเจ้านายทั้งสองพระองค์ไว้มีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว พระอำนาจวาสนาดูจะผันผวนตามพระอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์เป็นสำคัญ ดังจะแยกกล่าวโดยลำดับดังต่อไปนี้

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้กรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ อยู่ใกล้พระองค์มาแต่ยังมิได้เสวยราชย์ เช่นในรัชกาลเจ้าฟ้าไชย เมื่อทรงคิดการกับพระศรีสุธรรมราชาพระเจ้าอา จะกำจัดเจ้าฟ้าไชยออกจากราชสมบัติ เมื่อจะลอบออกจากพระราชฐาน พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“…ครั้นเพลาค่ำ พระนารายณ์เป็นเจ้าก็พาพระขนิษฐาของพระองค์ลอบหนีออกทางประตู ตัดสระแก้วไปหาพระเจ้าอาพระศรีสุธรรมราชา…”

เมื่อพระศรีสุธรรมราชาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๗ ทรงสถาปนาสมเด็จพระนารายณ์เป็นมหาอุปราช เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนพระขนิษฐายังคงประทับที่พระตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นในดังเดิม ภายหลังเกิดเหตุให้ต้องเสด็จหนีราชภัยออกมาเฝ้าสมเด็จพระ นารายณ์ฯ เพราะพระศรีสุธรรมราชาต้องพระราชหฤทัยในพระสิริโฉมโปรดให้ขึ้นไปเฝ้า แต่พระนางมิทรงปลงพระทัยด้วยจึงลอบหนีออกมา ดังความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“…พระราชกัลยาณีมิได้ขึ้นไป หนีลงมาพระตำหนักแล้วบอกเหตุกับพระนม พระนมจึงเชิญพระราชกัลยาณีเข้าไปในตู้พระสมุดแล้วหามออกมา แสร้งว่าจะเอาพระสมุดไปยังพระราชวังบวรสถานมงคล นายประตูก็มิได้สงสัย ครั้นไปถึงพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว พระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาริราช ทรงพระกันแสงทูลประพฤติเหตุทั้งปวง”

ด้วยเหตุที่พระศรีสุธรรมราชาประพฤติพระองค์ไม่สมควรดังกล่าว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงยึดพระราชอำนาจ สำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชา แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระขนิษฐาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ภายหลังทรงตั้งเป็น กรมหลวงโยธาทิพ คู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งทรงตั้งเป็น กรมหลวงโยธาเทพ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย ทรงอธิบายการตั้งกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ว่ามิใช่เป็นการสถาปนาพระอิสริยยศ

“…ความจริงคือโปรดให้รวมคนเข้าสังกัดหมวดหมู่ตั้งขึ้นเป็นกรมใหม่ ๒ กรม ให้เจ้ากรมเป็นหลวงมีชื่อว่า หลวงโยธาทิพ กรม ๑ หลวงโยธาเทพ กรม ๑ กรมหลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟื้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาเทพให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี คนทั้งหลายจึงเรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นั้นว่า เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอว่า เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ ไม่ใช่เป็นพระนามส่วนพระองค์…”

การตั้งพระราชวงศ์ฝ่ายในให้ทรงกรมมีขึ้นในโอกาสนั้นเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ จึงเป็นเจ้านายฝ่ายในสองพระองค์แรกที่ได้ทรงกรม

เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เปลี่ยนเป็นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินพระองศ์ใหม่ทรงสถาปนากรมหลวงโยธาทิพเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา มีพระราชโอรสพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าพระขวัญ ซึ่งทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติยศ โดยโปรดให้มีการพระราชพิธีโสกันต์ พระราชทานตามราชประเพณีโบราณ เมื่อทรงเจริญพระชันษา มีข้าไทและคนทั้งปวงนับถือมาก กรมพระราชวังบวรฯ คือ ขุนหลวงสรศักดิ์จึงวางแผนลวงไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพจึงต้องทรงพบกับการสูญเสียที่ทรงพระโศกาอาดูรมาก เมื่อขุนหลวงสรศักดิ์ขึ้นเสวยราชสมบัติจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกไปประทับ ณ พระตำหนักตึกริมวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งได้เสด็จประทับสืบมาจนสิ้นพระชนม์ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ดังมีความในพระราชพงศาวดารว่า
“…ในปีนั้น (ปีมะสัปตศก) เจ้าพระอัยกี กรมหลวงโยธาทิพ ทิวงคต ณ พระตำหนักตึกริมวัดพุทไธสวรรย์นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ช่างไม้กระทำการเมรุ ขื่อยาวห้าวาสองศอก โดยสูงยี่สิบวาสองศอก แลพระเมรุทองกลาง แลการพระเมรุทั้งปวงนั้น หกเดือนเศษจึ่งแล้ว เชิญพระโกศทองขึ้นราชรถพร้อมเครื่องอลงกตแห่แหนเป็นอันมาก นำมาสู่พระเมรุทอง แลการที่บูชาให้ทานทั้งปวงตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน สมโภชเจ็ดวัน การศพนั้นสำเร็จบริบูรณ์…”

ส่วนกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปรานเช่นกัน มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี แต่ผู้คนทั่วไปเรียกตามนามกรม ที่ทรงกำกับดูแลว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามิได้กล่าวถึงพระอุปนิสัยพระราชจริยวัตร หรือพระราชกิจที่ชัดเจนในกรมหลวงโยธาเทพ แต่เอกสารของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อทางพระราชไมตรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พรรณนารายละเอียดไว้อย่างสนใจยิ่งว่า เป็นพระราชธิดาที่สมเด็จพระชนกนาถ ไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงกำกับดูแลการต่างๆ ในพระราชสำนัก ด้วยทรงพระปรีชาชาญกว่าราชนารี พระองค์ใดในสมัยนั้น

ลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้เขียนจดหมายเหตุการเดินทาง เล่าเรื่องถึงความสำคัญของเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ ไว้ดังนี้

“…พระราชธิดาพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติยศและเสด็จประทับ ณ พระมนทิราลัย เยี่ยงพระอัครมเหสี พระชายาของพระมหากษัตริย์… ล้วนยำเกรงพระราชธิดาทั้งสิ้น และนับถือพระราชธิดาเสมอว่าเป็นแม่เจ้าชีวิตของตน เมื่อมีคดีอย่างไรเกิดขึ้น พระสนมเหล่านี้ก็ตกอยู่ในการพิจารณาทางยุติธรรม โดยทำนองเดียวกันกับพวกนางพระกำนัลและพวกขันทีทั้งปวง ด้วยบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถจะออกมาข้างหน้าเพื่อร้องเรียนยังโรงศาลได้ พระราชธิดาจึงจำเป็นต้องทรงเป็นผู้ชำระตัดสินและลงพระอาญา เพื่อป้องกันมิให้วิวาทต่อกัน อันเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยภายในพระราชนิเวศน์…”

นอกจากสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพจะทรงรับพระราชภาระกำกับดูแลราชการในพระราชสำนักฝ่ายในต่างพระเนตรพระกรรณแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะทรงมีบทบาทในการติดต่อกับชาวต่างประเทศในส่วนที่เป็นการรับรองคณะราชทูตและคณะผู้แทนทางการค้า การศาสนาที่เข้ามาหลายกลุ่มหลายพวก ดังพบหลักฐานในจดหมายเหตุของ เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๐ – ๒๒๓๑ ซึ่งราชทูตผู้นี้ได้พยายามที่จะขอเข้าเฝ้าสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายของต่างๆ เมื่อขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชวังเมืองลพบุรี บันทึกว่า

“…เราได้พยายามหลายครั้งแล้วที่จะหาโอกาสเฝ้าสมเด็จพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงสยาม…”

“ในระหว่างที่รอรับประทานอาหารอยู่นั้น เราได้พูดกับมองซิเออร์คอนซตันซ์อีกครั้งหนึ่ง ขอให้จัดการให้เราได้เฝ้าสมเด็จพระราชธิดา เพื่อเราจะได้นำของต่างๆ ของมกุฏราชกุมารีฝรั่งเศสถวาย มองซิเออร์คอนซตันซ์จึงบอกกับเราว่า เวลานี้สมเด็จพระราชธิดากำลังประชวรพระโรคหืดอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และพระบาทก็แพลงมาช้านานแล้ว ซึ่งไม่มีใครจะรักษาให้หายได้เลย มองซิเออร์คอนซตันซ์จึงเชื่อว่า สมเด็จพระราชธิดาคงจะไม่เสด็จออกให้เราเฝ้า แต่คงจะโปรดให้เจ้าพนักงานมารับของถวายจากเราเป็นแน่แล้ว มองซิเออร์คอนซตันซ์ได้ยอพระเกียรติยกคุณความดีต่างๆ ของสมเด็จพระราชธิดาให้เราฟัง…”

ความที่ คอนซแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เล่าให้ราชทูตฟังตามที่ราชทูตบันทึกไว้ก็คือ

“… พระเจ้ากรุงสยามผู้เป็นชนกทรงรักใคร่โปรดปรานสมเด็จพระราชธิดาเป็นอันมาก และได้ทรงมอบการฝ่ายในให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชธิดาเหมือนกับพระมเหสีในประเทศสยาม ได้เคยดูแลการฝ่ายในแต่โบราณราชประเพณีมา … ในส่วนที่เกี่ยวด้วยมหาดเล็กเด็กชานั้น สมเด็จพระราชธิดาก็ทรงปกครองว่ากล่าวได้ทั้งสิ้น และทรงพระเมตตากรุณาแก่พวกมหาดเล็กเด็กชา จนพวกนี้กลายเป็นคนหยิ่งจองหองไปหมด…”

อย่างไรก็ดี ของขวัญที่มกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสที่ราชทูตฝรั่งเศสอัญเชิญมาเพื่อถวายสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพในครั้งนั้น เจ้าพนักงานภูษามาลาได้เป็นผู้มาอัญเชิญไปถวาย ดังที่ราชทูตเซเบแรต์ เล่าไว้ต่อมาว่า

“…เมื่อได้รับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาของพระเจ้ากรุงสยาม…ได้มาหาเราเพื่อมารับของที่มกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสได้ส่งมาถวายสมเด็จพระราช¬ธิดา…”

“เจ้าพนักงานเหล่านี้จึงได้บอกกับเราว่า สมเด็จพระราชธิดาทรงขอบใจมกุฎราชกุมารีที่ได้ส่งของมาถวายดังนี้ และทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมากที่พระองค์ต้องประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา หาได้ตามเสด็จพระราชบิดาขึ้นมาเมืองลพบุรีไม่ เพราะเหตุที่ยังทรงพระประชวรอยู่ จึงเป็นการจำเป็นที่จะเสด็จออกให้เราเฝ้ายังไม่ได้…”

การถวายของขวัญแก่กันระหว่างราชกุมารีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส กับสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาน่าจะเป็นธรรมเนียมทางการทูตอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมเด็จกรมหลวง โยธาเทพได้ทรงปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติยศแห่งราชสำนักฝ่ายในของสยามโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ดังมี หลักฐานบาญชีของที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานไปยังมกุฎราชกุมารีในจดหมายของมองซิเออร์เวเรต์ ในปี ค.ศ. ๑๖๘๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๓๐ ซึ่งน่าจะเป็นมูลเหตุที่ราชกุมารีฝรั่งเศสโปรดให้ราชทูตเซเบเรต์ เชิญของมาถวายตอบแทนก็อาจเป็นได้

บาญชีสิ่งของที่สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ โปรดให้นำไปถวายมกุฎราชกุมารีฝรั่งเศสนั้น ล้วนเป็นของมีค่าหายาก ซึ่งราชสำนักสยามเลือกซื้อหาไว้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น เช่น กานํ้า ทองคำฝีมือญี่ปุ่น หม้อใส่ชอกอเล็ตทำด้วยทองคำ หีบปิดทอง ถ้วยทองคำ ขวดเงิน โถเงิน ตุ๊กตาผู้หญิง ญี่ปุ่นทำด้วยเงินกาไหล่ทองลงยามือถือถ้วย มีลานไขให้เดินได้ ฉากญี่ปุ่นมีรูปนกและรูปต้นไม้ เสื้อญี่ปุ่นงามอย่างที่สุด กระปุกหมึก ที่สำหรับใส่หนังสือเลี่ยมเงิน เครื่องลายครามอย่างงามที่สุด ๖๔๐ ชิ้น และยังมีของอื่นๆ อีกมาก

ซึ่งนอกจากของถวายราชกุมารีฝรั่งเศสแล้ว ในคราวเดียวกัน สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพยังทรงจัดของมีค่าไปถวาย ดุกเดอบรุกอยน์ ด้วย

ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช น่าจะถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของความรุ่งโรจน์สูงสุดแห่งพระชนม์ชีพ เพราะเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมา ได้ทรงสถาปนาสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย คู่กับสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา แต่ในพระราชพงศาวดาร พรรณนาความในทำนองว่า สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงปลงพระทัยที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว จนสมเด็จพระเพทราชาต้องทรงใช้คุณไสย ดังความที่บันทึกไว้ว่า

“…ทรงพระกรุณาให้หมอทำเสน่ห์ ครั้นได้หมอมาแล้ว ก็ให้กระทำตามวิธีเสน่ห์ แลกรมหลวงโยธาเทพก็คลั่งไคล้ใหลหลง ทรงพระกันแสงถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นกำลัง…”
สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทรงพระครรภ์ประสูติพระราชโอรส พระญาติวงศ์ทั้งหลายถวายพระนามว่า เจ้าพระตรัสน้อย แต่สมเด็จพระเพทราชาพระชนกนาถตรัสเรียกว่า สำมะยัง

เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทรงพาเจ้าพระตรัสน้อยเสด็จออกไปประทับ ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์ เช่นเดียวกับสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ และน่าจะเป็นเพราะทรงเกรงราชภัยจะมีมาถึงพระราชโอรสเช่นเดียวกับเจ้าพระขวัญ พระราชนัดดา จึงโปรดให้เจ้าพระตรัสน้อยทรงผนวชอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ ณ วัดพุทไธสวรรย์มาจนตลอดแผ่นดินขุนหลวงสรศักดิ์ พระเจ้าท้ายสระ และแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้เอง ที่พระภิกษุเจ้าพระตรัสน้อย พระโอรสในสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งในพระราชพงศาวดารขานพระนามว่า “เจ้าพระ” เกือบจะต้องได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากความหวาดระแวงของราชสำนัก เมื่อครั้งเกิดกบฏจีนนายก่ายเข้าปล้นพระราชวังหลวง ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ เมืองลพบุรี เจ้าพระตรัสน้อย เสด็จเข้ามาช่วยป้องกันรักษา พระราชวัง ดังที่ความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“…จึงพระยาเพชรพิชัยและข้าราชการทั้งหลาย ซึ่งอยู่รักษาพระนครนั้นก็แต่งหนังสือบอกให้เรือเร็วถือขึ้นไป ณ เมืองลพบุรี กราบทูลพระกรุณาให้ทราบเหตุนั้นทุกประการ ดำรัสว่า พระสมีสำมยัง นั้นจะเอาราชสมบัติเองหรือประการใด ฝ่ายเจ้าพระวัดพุทไธสวรรย์ ก็เสด็จลงเรือเร็วขึ้นไป ณ เมืองลพบุรี เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินถวายพระพรแถลงเหตุนั้นให้ทราบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัสยินดีหายที่ข้อทรงพระวิตก…”

ภายหลังจากเกิดเหตุที่พระโอรสเกือบต้องราชภัย ราว ๑ ปี สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระอัยกีในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็สิ้นพระชนม์ โปรดเกล้าฯ ให้มีงานพระเมรุ ณ วัด พุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นพระอารามที่เจ้าพระตรัสน้อย พระโอรสทรงผนวชประทับจำพรรษาอยู่ ดังปรากฏความอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า

“..ในปีเถาะนั้น สมเด็จพระอัยกีกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์นั้น ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้ทำพระเมรุมาศขนาดน้อย ณ วัดพุทไธสวรรย์นั้น แล้วเชิญพระโกศขึ้นพระยานุมาศแห่เข้าพระเมรุ พระราชทานพระสงฆ์ สดัปกรณ์และมีงานมหรสพสามวัน แล้วเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพตามโบราณราชประเพณีสืบๆ กันมา…”

หลังจากสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพสิ้นพระชนม์แล้ว สันนิษฐานว่า เจ้าพระตรัสน้อยคงจะทรงผนวชอยู่ ณ วัดพุทไธสวรรย์ โดยสงบเงียบสืบมาโดยไม่ทรงเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏเรื่องราวที่กล่าวถึงเจ้านายพระองค์นี้อีกเลย

กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ราชนารีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยานับเป็นสตรีไทยที่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบภารกิจอันเป็นเรื่องราชการบ้านเมือง โดยทรงเป็นเจ้านายผู้หญิงที่ได้รับ พระราชทานให้ทรงกรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก

เจ้าแม่วัดดุสิต

พระนมและผู้ถวายพระอภิบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อทรงพระเยาว์คือ เจ้าแม่วัดดุสิต ท่านผู้นี้เป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเป็นขุนนางคนสำคัญ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

นามของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้น มีที่มาเนื่องจากท่านได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับวัดดุสิดาราม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างขึ้น จึงได้ชื่อว่าเจ้าแม่วัดดุสิต

มีที่มาต่างกันไปในประวัติของเจ้าแม่วัดดุสิต เช่นที่กล่าวไว้ในหนังสือโครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ปราโมช ว่า มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าทางสายสมเด็จพระมหาธรรมราชาชื่อบัว และที่กล่าวไว้ในหนังสือราชนิกุลรัชกาลที่ ๕ ของสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา ภาณุพันธุวงศ์วรเดช ว่า มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าชื่อบัวเช่นกัน ส่วนที่กล่าวไว้ในหนังสือเจ้าชีวิตของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ว่า เป็นหม่อมเจ้าชื่ออำไพ

เจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คงจะเป็นที่เกรงพระทัยด้วย ดังเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือขณะเป็นขุนหลวงสรศักดิ์ มีเรื่องไม่พอใจกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นขุนนางที่มีบทบาทในราชสำนักมาก ขุนหลวงสรศักดิ์ได้ชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีความผิด เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นผู้ที่ช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษให้

ต่อมาบ้านของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้น ก็เป็นที่ประทับของกรมพระเทพามาตย์ พระมเหสีของสมเด็จพระเพทราชา ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัย พระเจ้าเสือว่า

“ในขณะนั้นสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ (สมเด็จพระเพทราชา – ผู้เขียน) ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระเจ้าเสือ – ผู้เขียน) ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่พระเยาว์นั้น ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาพระเจ้าแผ่นดินออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต และที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นตำหนักมาก่อนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเจ้าแม่ผู้เฒ่า ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก โกษาปาน ซึ่งได้ช่วยไปกราบบังคมทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ขณะที่เป็นหลวงสรศักดิ์ และชกเอาปากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ครั้งนั้น และเจ้าแม่ผู้เฒ่าก็ได้ตั้งตำหนักอยู่ในที่นี้ ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ และสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี้สืบต่อกันมาแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งเป็นกรมพระเทพามาตย์”

ในประวัติศาสตร์ไทย เจ้าแม่วัดดุสิต จึงเป็นสตรีสำคัญท่านหนึ่ง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ธีระ แก้วประจันทร์

พระสุพรรณกัลยา

พระสุพรรณกัลยาเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรี พระนามที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ มีต่างกันบ้าง เช่น พระปก พระสุวรรณ พระสุวรรณกัลยา พระสุวรรณเทวี พระสุพรรณกัลยาณี และพระสุพรรณกัลยาพระสุพรรณกัลยา

ในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ มีส่วนที่เกี่ยวพันกับพระสุพรรณกัลยาว่า

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสมภพที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชชนนีคือ พระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอันเกิดด้วยพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรฯ มีพระพี่นางองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี และพระน้องยาองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ

คราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาใน พ.ศ. ๒๑๐๖ เมื่อมีชัยชนะได้ตรัสขอสมเด็จพระนเรศวรฯ ไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงต้องเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดี เมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดีทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนองว่า ถูกสมเด็จพระมหินทราธิราชปองร้าย ทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้เสด็จไปรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระโอรสธิดาจากพิษณุโลกมาอยู่ในพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองเคลื่อนกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในเดือน๑๑ พ.ศ. ๒๑๑๑ นั้น สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชันษาได้ ๑๕ ปี ได้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนอง ทรงตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาปกครองกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ถวายพระสุพรรณกัลยาณีแก่พระเจ้าบุเรงนอง เป็นตัวจำนำแทนสมเด็จพระนเรศวรฯ ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ช่วยสมเด็จพระชนกปกครองบ้านเมือง

แท้ที่จริงแล้ว บันทึกเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยา และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเป็นตัวประกันอยู่ที่กรุงหงสาวดี ไม่มีในพระราชพงศาวดาร หรือพงศาวดารฉบับหลวงของไทยฉบับใด แต่มีเรื่องราวในพงศาวดารฉบับราษฎร์ และเอกสารต่างประเทศที่พอจะประมวลกันได้ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงของพระประวัติอยู่ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ข้างต้น

คำให้การขุนหลวงหาวัด
(เป็นเอกสารที่มีอยู่ในหอหลวง แปลในรัชกาลที่ ๔ จากภาษามอญ ซึ่ง แปลจากภาษาพม่าอีกชั้นหนึ่ง) และคำให้การชาวกรุงเก่า (เป็นเอกสารที่ได้จากหอสมุดรัฐบาลพม่าที่เมืองร่างกุ้งใน พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นภาษาพม่าคัดมาแปลเป็นภาษาไทย) บันทึกเกี่ยวกับพระสุพรรณกัลยาไว้ตรงกัน มีต่างกันบ้างในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ซึ่งประมวลได้ว่า

พระสุวรรณกัลยา เป็นพระราชธิดาพระสุธรรมราชาและพระบรมเทวี มีพระอนุชา ๒ พระองค์ คือ พระนเรศวรฯ และพระเอกาทศรถ

เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกทัพมาถึงเมืองพิษณุโลก พระสุธรรมราชาเห็นว่าสู้รบต้านทานไม่ได้ ก็แต่งเครื่องบรรณาการแล้วพาพระราชธิดาและพระราชโอรสออกไปเฝ้า และตามเสด็จพระเจ้าหงสาวดีมาล้อมพระนครศรีอยุธยา

เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าหงสาวดีมอบราชสมบัติให้พระสุธรรมราชา แล้วนำพระมหินทร์ พระสุวรรณกัลยา และพระนเรศวรฯ ไปเมืองหงสาวดี ทรงตั้งพระสุวรรณกัลยาเป็นอัครมเหสี พระนเรศวรฯ นั้นก็โปรดปรานเหมือนพระราชบุตร

วันหนึ่งพระนเรศวรฯ เล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชาก็ขัดใจแกล้งพูดเยาะเย้ยว่า ไก่เชลยเก่ง พระนเรศวรฯ ทรงแค้นพระทัยคิดอุบายหนี แล้วทูลชวนพระพี่นาง แต่พระสุวรรณกัลยาทรงขอให้พระนเรศวรเสด็จหนีไปโดยไม่ต้องห่วงพระนาง

ต่อมาเมื่อพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชา ได้ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ได้รับชัยชนะ พระเจ้าหงสาวดีทรงแค้นเคืองจึงฟันพระสุวรรณกัลยาสินพระชนม์ คำให้การขุนหลวงหาวัดว่า พร้อมพระราชโอรส คำให้การชาวกรุงเก่าว่า พร้อมพระราชธิดา

หลักฐาน ๒ ชิ้นนี้ เก็บจากคำบอกเล่าของบุคคลที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งห่างจากเหตุการณ์จริงร่วม ๒๐๐ ปี ทั้งผ่านกระบวนการแปลกลับไปกลับมา ความวิปลาสคลาดเคลื่อนจึงมีอยู่มาก

สังคีติยวงศ์
(เป็นหนังสือภาษามคธ ที่สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปลในรัชกาลที่ ๖) กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาว่า

“พระราชบุตรของพระมหาธรรมราชาสินั้นทรงพระนามว่า สมเด็จพระนริสสราช สมเด็จพระราชบิดาได้ถวายแก่พระเจ้าหงษาพร้อมกับสมเด็จพระราชธิดา พระเจ้าหงษาจึงได้พาไปเมืองหงษานคร พระองค์ได้อยู่ในเมืองหงษานครกับด้วยพระภาดาหลายปี

เมื่อได้โอกาสก็หนีจากหงษานครนั้นมาอยู่ในกรุงอโยชฌนคร พระอุปราชราชบุตรของพระเจ้าหงษาราชได้ติดตามมา แล้วทำสงครามกัน พระองค์ได้ชนช้างกับด้วยพระอุปราช ฟันพระเศียรพระอุปราชขาดด้วยดาบดํ้ายาว (ของ้าว) ได้ฆ่าอุปราชตายในสนามรบ พระองค์จึงได้มีไชยเหนือคอช้าง พระองค์จึงเป็นมหายศมหาเดชยิ่งกว่าพระราชาในสมัยนั้น”

ในเอกสารชาวต่างประเทศที่เข้ามาสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ โดยเฉพาะเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ต้องทรงเป็นตัวประกันอยู่กรุงหงสาวดีนั้น พบว่ามีการพรรณนาเรื่องอาณาจักรสยาม (Description of the Kingdom of Siam) เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ชาวดัตช์ บันทึกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๔) ฉบับแปลของสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ว่า

“…ประเทศสยามได้ส่งเครื่องบรรณาการให้อังวะหลายปี แต่ในที่สุดพวกสยามกับความช่วยเหลือของชายผู้หนึ่ง ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่า “พระองค์ดำ” (The black King) ได้สลัดแอกของต่างชาติไปได้ พระองค์ทรงเป็นรัชทายาทของบัลลังก์สยาม และเมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงไปเป็นตัวประกันที่ราชสำนักหงสาวดี อย่างใดก็ตาม เนื่องจากพระองค์ทรงอดทนต่อการดูถูกหมิ่นประมาทมามากจนทำให้ทรงคิดหนี คืนหนึ่งพระองค์ทรงหนีไปกับพวกขุนนาง ๓๐๐ คน ซึ่งล้วนแต่เป็นบริวารของพระองค์ พระองค์และพวกเขาได้เดินทางกลับประเทศสยาม”

ในช่วง พ.ศ. ๒๑๕๔ – ๒๑๕๘ จดหมายเหตุของ Peter Floris ชาวดัตช์ ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ กล่าวถึงเรื่องสยามเป็นเมืองขึ้นของพะโค (หงสาวดี) และว่าทั้งสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงได้รับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ในราชสำนักพะโค แล้วหนีกลับกรุงศรีอยุธยาว่า

“Siam is an auncient Kingdome and hath alwayes bene very mightye, but afterwards it hath bene subdued by the King of Pegu, becomming tributaries unto him. Butt it continued not long in that estate, for this King, Dying, lefte issue 2 sonnes, which were brought upp in the Kings courte of Pegu; who flying from thence to Siam, whereas the eldeste, called Raja Api, in the Maleys language the Fyery King, but by the Portingalls and other nations the Blacke King…”

The Ship of Sulaiman (บันทึกของทูตเปอร์เซียซึ่งเดินทางเข้ามาสยามในช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗) ก็กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ต้องประทับเป็นตัวประกันอยู่ที่พะโคเช่นกัน และทรงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดี จนเป็นที่อิจฉาของพระมหาอุปราชาว่า

“It happened that the son of the Siamese governor was at the royal court employed in waiting upon the king but unfortunately the young man’s honest character and the large amount of favor that the king accorded him only served to arouse the jealousy of the King’s son, for such was the faulty nature of the crown prince. It was not long before the relationship between these two young men took a turn for the worse”

ส่วนเรื่องถวายพระสุพรรณกัลยาให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนั้น บันทึกไว้ชัดเจนในพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า (Hmannan Yazawin Dawgyi ซึ่งพระเจ้าจักกายแมงของพม่า โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นายต่อแปลเป็นภาษาไทยชื่อ มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า)ว่า

“ในขณะนั้นออกยาพิศนุโลกผู้ครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายบุตรีพระชนม์ ๑๗ ปี กับพระพี่เลี้ยง ๑๕ คน ทรงพระนามพระราชบุตรีนั้นว่า พระสุวรรณ (Bra Thawan) พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงรับไว้ แล้วพระองค์รับสั่งให้ตามเสด็จพระองค์ไปเมืองเวียงจันทร์ด้วย”

เมื่อรวมกับหลักฐานที่ยืนยันว่า หลังเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระนเรศวรฯ ประทับอยู่ในประเทศแล้ว ก็คือพระราชพงศาวดารฉบับที่มีความแม่นยำทางศักราช คือ พระราชพงศาวดาร กรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งบันทึกว่า

“ศักราช ๙๓๓ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๑๔) นํ้าน้อย อนึ่ง สมเด็จพระณะรายบพิตรเป็นเจ้า (สมเด็จพระนเรศวรฯ) เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก”

จึงได้ข้อสรุปว่า พระสุพรรณกัลยามีตัวตนจริงและแลกพระองค์กับสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี เปิดโอกาสให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ฟื้นฟูบ้านเมืองจนกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ นับเป็นการเสียสละพระองค์อย่างสูงส่งของพระสุพรรณกัลยา เพราะอาจจะต้องถึงเสียสละชนม์ชีพก็ได้ หากสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกู้ชาติสำเร็จ

คำให้การ ๒ ฉบับดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานที่กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระสุพรรณกัลยา และมีหลักฐานชาวตะวันตกที่พรรณนาถึงความโหดร้ายของพระเจ้านันทบุเรงในระยะเวลานั้น ซึ่งน่าจะเป็นภัยต่อพระสุพรรณกัลยา เช่น

จดหมายเหตุของ Faria y Souza ชาวโปรตุเกส ที่อยู่พะโค (หงสาวดี) ขณะนั้น ได้เล่าถึงความคลุ้มคลั่งของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เมื่อทรงทราบข่าวสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา เช่น บางวันเผาราษฎรตายเป็นหมื่นแล้วโยนศพทิ้งแม่นํ้าจนปิดเส้นทางคมนาคมเป็นต้น

“the King of Pegu in a rage for the death of his son turned his fury against the people, and some days bornt about ten thousand throwing so many into the river as stopped the passage even of boats. He forbid them sowmg which caused such a famine that they not only eat one another to which purpose there was a pubic butchery of mans flesh. But devoured part of their own bodies. ”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการพม่าได้แสดงหลักฐานพม่าที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ พระราชพงศาวดาร มหาราชวงศ์ (ฉบับย่อ U Kala Mahayazawingyoke) ฉบับที่แต่งโดย อูกาลา ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับ เชื้อพระวงศ์ในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง มีมเหสีพระนาม พระสุวรรณ (Amyo Yone อะเมี้ยวโยง) ซึ่งเป็นพระพี่นางของพระนริศกษัตริย์อยุธยา และมีพระราชธิดาประสูติด้วยพระเจ้าบุเรงนอง พระนามว่า เจ้าหญิงน้อย (Min Atwe – เมงอทเว) อยู่ด้วย เอกสารฉบับนี้มิได้กล่าวถึงเรื่องพระสุพรรณกัลยาถูกประหารชีวิต และ อูกาลา มีมารดาที่สืบเชื้อสายเจ้าเมืองพิษณุโลก นักวิซาการพม่าจึงเชื่อว่า ภายหลังการล่มสลายของกรุงหงสาวดี พระสุพรรณกัลยายังมีพระชนม์ชีพอยู่

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา

พระเทพกษัตรี

มีเรื่องราวความสำคัญปรากฏอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระเทพกษัตรีเป็นพระราชธิดาพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งประสูติจากสมเด็จพระสุริโยทัย พระเทพกษัตรีทรงเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระวินิจฉัยว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งประสูติจากสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสีทั้งหมด ๕ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระราเมศวร
๒. สมเด็จพระมหินทราธิราช
๓. พระสวัสดิราช ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระนามว่า พระวิสุทธิกษัตรี
๔. พระราชบุตรีที่ไม่ปรากฏพระนาม และเสียพระชนม์กลางศึกคราวเดียวกับสมเด็จพระสุริโยทัย
๕. พระเทพกษัตรี

ในสมัยเดียวกับที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงครองราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยานั้น ภายหลังจากศึกคราวที่กรุงศรีอยุธยาสูญเสียสมเด็จพระสุริโยทัย ทางพม่าก็เปลี่ยนแผ่นดินเนื่องจากพระเจ้าหงสาวดี ตเบ็งชเวตี้เสด็จสวรรคต พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขึ้นครองราชย์ ทรงแผ่พระบรมเดชานุภาพออกไปรอบทิศทาง ภายหลังจากเลิกทัพกลับจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้ข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่ เมกุติ คบคิดกับพระยานครลำปาง พระยาแพร่ พระยาน่าน และพระยาเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของหงสาวดี คิดแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๗ ในการรบคราวนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอให้กรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ด้วย เนื่องจากเป็นไมตรีกัน ช่วงเวลานั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงขอให้พระมหาธรรมราชาจัดกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง คำว่า หัวเมือง เหนือ ในสมัยนั้นกินความถึงประมาณเมืองพิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย

พระมหาธรรมราชาทรงคุมกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ด้วยพระองค์เอง ปรากฏว่าพระเจ้าเชียงใหม่ เมกุติ ทรงยอมแพ้แต่โดยดี แต่พระยา ๔ คน จับได้เพียงพระยาเชียงแสน อีก ๓ คน หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ จึงเป็นเหตุให้เกิดศึกหงสาวดีกับเวียงจันทน์ในเวลาต่อมา เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้เมืองเชียงใหม่แล้ว มี รับสั่งให้พระมหาอุปราชายกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เพื่อติดตามพระยาทั้ง ๓ คน ส่วนทัพหลวงยกกลับเมืองหงสาวดี

กองทัพพระมหาอุปราชายกไปถึงเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาริราชทรงเห็นว่าเหลือกำลังสู้ไม่ได้ จึงทิ้งเมืองเวียงจันทน์พากองทัพหลบไปตั้งซุ่มซ่อนอยู่ในป่า พระมหาอุปราชาก็เข้ายึดครองเมืองเวียงจันทน์ แต่ยังไม่สามารถติดตามตีกองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ ด้วยเป็นฤดูฝนพอดี กองทัพหงสาวดีไม่ชำนาญในพื้นที่ก็ตั้งรับอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ส่วนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงใช้ยุทธวิธีแต่งกองโจรแยกย้ายกันไปตี ตัดกำลังลำเลียงเสบียงอาหาร ทำให้กองทัพหงสาวดีอดอยากหมดกำลัง ไม่มีกำลังพอจะทำศึกสงครามต่อไปได้ จึงถอยทัพกลับหงสาวดี พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชให้กองทัพออกติดตามข้าศึกสู้รบกัน ปรากฏว่าเป็นครั้งแรกที่กองทัพหงสาวดีต้องพ่ายศึกหนีไป เป็นเหตุให้พระนามของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเลื่องลือไป เป็นพระเกียรติยศอย่างสูง

กองทัพหงสาวดีเมื่อถอยออกจากเวียงจันทน์ได้เชิญพระมเหสีเทวีตลอดจนพระประยูรญาติของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปประทับที่เมืองหงสาวดีด้วย เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกลับมาครองเมือง เวียงจันทน์อีกครั้ง จึงคิดหาพระมเหสีใหม่ ทรงทราบว่าพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่ประสูติจากสมเด็จพระสุริโยทัยทรงเจริญวัยแล้ว จึงเห็นทางที่จะผูกสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาด้วย เห็นว่ามีเหตุที่แค้นเคืองกรุงหงสาวดีเช่นเดียวกัน จึงทรงแต่งทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ความในพระราชพงศาวดารว่า

“ในลักษณพระราชสาส์นนั้นว่า ข้าพระองค์ผู้ผ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอ ถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระปิตุราธิราช ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมด้วยพระราชมหาสถาน มเหาฬารอันยิ่งเป็นมิ่งมงกุฎด้วยสัตตเศวตกุญชรชาติตัวประเสริฐศีรีเมือง ข้าพระองค์ยังไม่มีเอกอัครราชกัลยาณี ที่จะสืบศรีสุริยวงค์ในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้ ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราช¬ธิดาอันทรงพระนามพระเทพกษัตรี ไปเป็นปิ่นศรีสุรางคนิกรกัญญาในมหานคเรศปราจีนทิศ เป็นทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีสุวรรณปัฐพีแผ่นเดียวกันชั่วกัลปาวสาน”

เพื่อร่วมต้านกรุงหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงเห็นสมควรที่จะสานสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรล้านช้าง จึงได้ตอบพระราชสาส์นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ให้แต่งทูตานุทูตมารับพระเทพกษัตรี เมื่อคุณทูตานุทูตกับไพร่ ๕๐๐ และท้าวนางเถ้าแก่ฝ่ายล้านช้างมาถึง พระเพทกษัตรีก็ทรงประชวนหนัก ไม่สามารถเสด็จไปด้วยได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็กลัวจะเป็นการเสียไมตรีถ้าล่าช้าไป จึงส่งพระแก้วฟ้า ซึ่งเป็นพระราชธิดาอีกองค์ไปแทน โดยทรงพระราชทานเครื่องราชูปโภคสำหรับอัครมเหสี พร้อมด้วยสนมสาวใช้ทาสกรรมกรชายห้าร้อยหญิงห้าร้อยไปด้วย

สาเหตุที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชขอพระเทพกษัตรีเพราะเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระสุริโยทัยผู้ทรงเกียรติยศ ที่ทรงสละพระชนม์ชีพแทนพระราชสวามี เป็นตระกูลวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ เมื่อรู้ความจริงก็เสียพระทัย

“ถึงมาตรว่าพระแก้วฟ้าราชบุตรีจะมีศรีสรรพลักษณโสภาคย์ยิ่งกว่าพระเทพกษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี ยังไป่ล้างกิตติศัพท์พระเทพกษัตรีเสียได้” พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงส่งพระแก้วฟ้ากลับคืน และขอพระเทพกษัตรีอย่างที่เคยขอไว้แต่เดิม เมื่อพระเทพกษัตรีหายประชวรแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงส่งพระเทพกษัตรีทรงสีวิกากาญจนยานุมาศ โดยมีพระยาแมนคุมไพร่ ๑๐๐๐ คน ขึ้นไปกรุงศรีสัตนาคนหุต

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็นำความนี้ไปแจ้งให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทราบ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงสั่งให้คุมพลมาสกัดตีชิงพระเทพกษัตรีไปถวาย โดยแต่งให้พระตะบะเป็นนายกอง ซุ่มพลอยู่ที่ตำบลมะเริง นอกด่านเมืองเพชรบูรณ์

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงพระพิโรธมากจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จึงเตรียมยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลก แต่ก็ไม่ได้ทำศึกกัน เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขอร้องไว้

จากเรื่องราวของพระเทพกษัตรี ทำให้ทราบถึงพระเกียรติของสมเด็จพระสุริโยทัยว่าได้ปรากฏแผ่ไพศาลเพียงใด การที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้รับพระราชทานพระเทพกษัตรี จึงถือว่าเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูง และเป็นการสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุต หลังจากนี้ก็ไม่พบเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระประวัติของพระเทพกษัตรีอีก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์

พระบรมดิลก

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระสุริโยทัยอัครมเหสี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๕ พระองค์ พระราชโอรสคือ พระราเมศวร และพระมหินทร ส่วนพระราชธิดาคือ พระวิสุทธิกษัตรี พระบรมดิลก และพระเทพกษัตรี

เรื่องราวที่เล่าถึงพระบรมดิลก มีเอกสารอยู่เพียง ๒ ฉบับคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และคำให้การชาวกรุงเก่า

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ว่า
พ.ศ. ๒๐๙๑ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ได้ ๗ เดือน พระยาหงสาวดีคือ พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ ได้ยกทัพมาล้อมพระนครศรีอยุธยาในเดือน ๔ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกรบศึกหงสาวดีนั้น สมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราชบุตรีเสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รบกับทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหล และสมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวรถูกจับ ต้องส่งพระยาช้างต้น ๒ ช้างไปแลกถึงเมืองกำแพงเพชร

แต่พระราชพงศาวดารฉบับความพิสดาร ที่กล่าวถึงสมเด็จพระสุริโยทัยเพียงพระองค์เดียว เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกว่า

เมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายปะทะกันนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกก็ขับพระคชาธารตามไล่พระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระสุริโยทัยทรงเห็นพระราชสวามีเสียทีจะไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารสะอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารสมเด็จพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรก็จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาสมเด็จพระสุริโยทัยขาดถึงราวพระถัน พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระราชชนนีแต่ไม่ทันท่วงที พระราชชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ทั้งสองพี่น้องจึงถอยรอรับข้าศึกกันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนคร ทัพพระนครแตกพ่ายล้มตายเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงเชิญพระศพพระอัครมเหสีมาไว้ตำบลสวนหลวง เมื่อเสร็จศึกหงสาวดีแล้ว จึงโปรดให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพและสถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเป็นพระเจดีย์วิหาร พระราชทานนามวัดสบสวรรค์

แต่คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นเอกสารฉบับเดียวที่ระบุพระนามของ พระบรมดิลก และได้เล่าถึงวีรกรรมของพระองค์ไว้อย่างละเอียดมีความว่า

พระเจ้าหงสาวดีทรงขอช้างเผือกจากพระมหาจักรวรรดิ(สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ไม่ได้ จึงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ได้สู้รบกันหลายครั้ง ในที่สุดจึงทรงนัดหมายจะออกทำยุทธหัตถีในอีก ๗ วันข้างหน้า ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดนัดหมาย พระมหาจักรวรรดิทรงพระประชวรมาก พระมหาเทวีผู้เป็นอัครมเหสีจึงประชุมพระราชวงศ์และข้าราชการทั้งปวง เพราะหากไม่ออกทำยุทธหัตถีตามสัญญา จะต้องยอมเสียราชสมบัติให้ข้าศึก พระบรมดิลกพระราชธิดาซึ่งมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา จึงกราบบังคมทูล รับอาสาออกไปชนช้างกับพระเจ้าหงสาวดี ฉลองพระคุณสมเด็จพระราชบิดาถึงแม้จะต้องเสียชีวิตในท่ามกลางข้าศึกก็มิได้คิด จะเอาชื่อให้ปรากฏไว้ในแผ่นดินชั่วกัลปาวสาน

แม้พระมหาเทวีจะทรงห้ามปรามหลายครั้ง แต่พระบรมดิลกก็ยังยืนกรานว่าจะออกรบ พระมหาเทวีจึงต้องทรงอนุญาตให้ไป

เมื่อพระบรมดิลกทรงเครื่องพิชัยยุทธอย่างพระมหาอุปราช ก็เข้าเฝ้ารับพระพรจากสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดา ถวายบังคมลา โดยทรงช้างบรมฉัททันต์ที่กำลังคลั่งตกมัน การทำยุทธหัตถีที่ทุ่งมโนรมย์ พระบรมดิลกไม่มีความชำนาญในการขับขี่ช้าง จึงเสียทีแก่พระเจ้าหงสาวดี เมื่อช้างบรมฉัททันต์เบนท้าย พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระแสงของ้าวฟันถูกพระบรมดิลกตกจากช้างทรง ก่อนจะสิ้นพระชนม์พระบรมดิลกก็ทรงร้องออกมาได้คำเดียว เมื่อพระเจ้าหงสาวดีรู้ว่าเป็นสตรีก็เสียพระทัย ละอายไพร่พล และนานาประเทศ ว่าทำยุทธนากับสตรีจะเป็นที่เลื่องลือไปนานว่าเป็นคนขลาด จึงยกทัพกลับหงสาวดี

พวกแม่ทัพนายกองของกรุงศรีอยุธยาจึงเชิญพระศพของพระบรมดิลกกลับพระนคร พระมหาจักรวรรดิและพระมหาเทวีมีความเศร้าเสียพระทันมาก รับสั่งให้ทำเมรุเชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงอย่างสมพระเกียรติ เมรุที่พระราชทานเพลิงได้ก่อเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระบรมดิลก มีชื่อว่า ตำบลเนินเจ้า พระราชธิดาของพระมหาจักรวรรดิและพระมหาเทวีทรงเป็นที่เสน่หาอาลัยดังชีวิตของพระองค์ จึงรับสั่งให้ช่างหล่อพระรูปของพระบรมดิลก ด้วยทองคำหนัก ๒๗๐ บาท ประดับเพชรนิลจินดาที่มีค่าถึง ๕๐๐๐ แล้วให้เชิญพระรูปไว้ข้างที่พระบรรทม แต่ในรัชกาลหลังๆ ก็ได้อัญเชิญไปไว้ที่หอพระเป็นทีสักการบูชา ซึ่งยังปรากฏอยู่จนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒

ในสงครามยุทธหัตถีแม้ในคำให้การชาวกรุงเก่าจะมิได้ระบุว่า พระมหาเทวีหรือสมเด็จพระสุริโยทัยสวรรคต เมื่อประมวลจากหลักฐานทั้งพระราชพงศาวดารฉบับสังเขปแต่มีความแม่นยำเรื่องศักราชอย่างพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ และพระราชพงศาวดารความพิสดาร ซึ่งล้วนระบุวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยแล้ว พระบรมดิลกคงสละพระชนม์ชีพเพื่อสมเด็จพระชนก และเพื่อชาติบ้านเมือง พร้อมกับสมเด็จพระราชชนนี และพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยที่วัดสบสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น เดิมก็มีพระเจดีย์ ๒ องค์คู่กัน แต่อีกองค์หนึ่งชำรุดทรุดโทรมไปจนเหลือเพียงองค์เดียว จึงบูรณะปฏิสังขรณ์เพียงองค์เดียว พร้อมทั้งได้รับนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่า พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย

แม้จะไม่มีวัตถุสถานโบราณชิ้นใดเหลือเป็นอนุสรณ์ถึงพระบรมดิลกในปัจจุบัน แต่จารึกในเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งฉบับหลวงและฉบับราษฎร์ ๒ ฉบับแม้เพียงเสี้ยว ก็นับว่าเพียงพอที่จะเป็นหลักฐานให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ได้น้อมรำลึก ได้ยึดถือและเชิดชู พระบรมดิลกวีรสตรีไทยผู้รักชาติ รักราชบัลลังก์ยิ่ง อีกพระองค์หนึ่ง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: วีณา โรจนราธา

พระวิสุทธิกษัตรี

ในสมัยอยุธยา พระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่สำคัญยิ่งพระองค์หนึ่ง ทรงสืบเชื้อสายมาจากวีรกษัตรีผู้ยิ่งใหญ่ คือ สมเด็จพระสุริโยทัย ทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ วีรกษัตริย์ผู้กอบกอบกู้เอกราชของชาติ สมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกพระวิสุทธิกษัตรี

พระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระสุริโยทัย มีพระนามเดิมว่า พระสวัสดิราช วันประสูติและวันสิ้นพระชนม์ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์วินิจฉัยไว้ว่า

“สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีลูกเธอหลายพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเกิดด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสี ๕ พระองค์ๆ ชาย ๒ คือ พระราเมศวร เป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่๑ พระมหินทร๑ พระองค์หญิง ๓ คือ พระสวัสดิราช ที่ประทานนามว่า พระวิสุทธิกษัตรีย์ เมื่ออภิเษกกับพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พระราชบุตรีไม่ปรากฏพระนาม พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่าไปเสียพระชนม์ในกลางศึกคราวเดียวกับสมเด็จพระสุริโยทัย ๑ พระเทพกษัตรีซึ่งส่งไปประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต(ไชยเชษฐา) และพระเจ้าหงสาวดีมาแย่งไป ๑ ลูกเธอเกิดด้วยพระสนมปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารพระองค์หญิง ๔ คือ ที่ประทานเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ๑ เจ้าพระยามหาเสนา ๑ เจ้าพระยามหาเทพ ๑(๒ องค์ หรือทั้ง ๓ องค์นี้ ข้าพเจ้าสงสัยว่าที่จริงจะไม่มี ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจะว่าเลยไปจึงไม่ปรากฏพระนาม) กับพระแก้วฟ้าที่ประทานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแทนพระเทพกษัตรีย์ ๑ ยังพระศรีเสาวราชอีกพระองค์ ๑ ที่สมเด็จพระมหินทราธิราชให้สำเร็จโทษเสีย เมื่อจวนจะเสียกรุงแก่พระเจ้าหงสาวดี ความที่กล่าวในฉบับหลวงประเสริฐ ทำให้เข้าใจว่าเป็นราชบุตรสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะเป็นลูกพระสนมอีกพระองค์ ๑”

เกี่ยวกับพระวิสุทธิกษัตรี มีเรื่องราวปรากฏเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงยอมรับคำกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะหลังจากที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บ้านเมืองก็ระส่ำระสายเมื่อขุนวรวงศาธิราช และท้าวศรีสุดาจันทร์ยึดอำนาจการปกครองไว้ มีขุนนางที่นำโดยขุนพิเรนทรเทพ ได้วางแผนกำจัดได้สำเร็จ แล้วกราบบังคมทูลเชิญพระเทียรราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อได้ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็โปรดให้บำเหน็จความชอบแก่ขุนนางกลุ่มนี้ โดยมีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่า

“คนสี่คนนี้เอาชีวิตและโคตรแลกความชอบไว้ในแผ่นดิน แล้วตรัสว่าขุนพิเรนทรเทพเล่า บิดาเป็นพระราชวงศ์พระร่วง มารดาไซร้เป็นพระราชวงศ์แห่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า ขุนพิเรนทรเทพปฐมคิด เอาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ให้รับพระบัณฑูรครองเมืองพระพิษณุโลก จึงตรัสเรียก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระสวัสดิราช ถวายพระนามพระวิสุทธิกษัตรี เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีเมืองพระพิษณุโลก พระราชทานเครื่องราชาบริโภค ให้ตำแหน่งศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือนเรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป เอาขุนอินทรเทพเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ครองเมืองนครศรีธรรมราช พระราชทานลูกพระสนมเอกองค์หนึ่ง เจียดทองคู่หนึ่ง พานทองหนึ่งคู่ เต้าน้ำทอง กระบี่กั้นหยั่น เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว เครื่องสูงพร้อม เอาหลวงศรียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนาบดี เอาหมื่นราชเสน่หาเป็นเจ้าพระยามหาเทพ พระราชทานลูกพระสนมและเครื่องสูง เครื่องทอง เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว แก่เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาเทพเหมือนกันกับเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช หมื่นราชเสน่หา นอกราชการที่ยิงมหาอุปราชตกช้างตายนั้น ปูนบำเหน็จให้เป็นพระยาภักดีนุชิต พระราชทานเจียดทองซ้ายขวา กระบี่บั้งทอง เต้าน้ำทอง พระราชทานลูกพระสนมเป็นภรรยา ฝ่ายพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกนั้น พระราชทานบำเหน็จให้เป็นเจ้าพระยาพิชัย เจ้าพระยาสวรรคโลก พระราชทานเจียดทองซ้ายขวา กระบี่บั้งทอง เต้าน้ำทอง พระหลวงขุนหมื่นนั้น พระราชทานบำเหน็จความชอบโดยอนุกรมลำดับแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสาบานไว้ว่า กษัตริย์พระองค์ใดได้ครองพิภพไปภายหน้าอย่าให้กระทำร้ายแก่ญาติพี่น้องพวกพงศ์สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช และเจ้าพระยามหาเสนา และเจ้าพระยามหาเทพ ให้โลหิตตกลงในแผ่นดิน ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดมิได้กระทำตามคำเราสาบานไว้ อย่าให้กษัตริย์พระองค์นั้นคงอยู่ในเศวตฉัตร”

ความสำคัญของขุนพิเรนทรเทพที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตระหนักถึง จึงได้ทรงสถาปนาให้เป็นเจ้า เชื่อมสายสัมพันธ์ดังเครือญาติ โดยพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีให้เป็นพระอัครมเหสี และให้ครองเมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาเริ่มได้รับผลกระทบจากการแผ่อำนาจของพระเจ้าตเบ็งชเวตี้กษัตริย์ของพม่า พระมหาธรรมราชาขึ้นครองเมืองพิษณุโลกยังไม่ถึงครึ่งปีก็เกิดศึกหงสาวดี ใน พ.ศ. ๒๐๙๒ พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เป็นศึกที่ทำให้เสียสมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิรับสั่งให้พระมหาธรรมราชายกกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาตีโอบหลังข้าศึก ทำให้พระเจ้าตเบ็งชเวตี้กลัวรีบเลิกทัพกลับไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ตรัสสั่งให้พระราเมศวร และพระมหาธรรมราชาตามไปตีข้าศึก แต่เสียทีถูกล้อมจับได้ทั้ง ๒ พระองค์ เพื่อไถ่องค์พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชากลับมาทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมเลิกรบ หลังจากนั้นก็ว่างศึกจากหงสาวดีอยู่ถึง ๑๔ ปี จึงสันนิษฐานว่าในช่วงนี้ พระโอรสพระธิดาของพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีเสด็จสมภพทั้ง ๓ พระองค์ โดยมีพระธิดาองค์โตคือ พระสุวรรณกัลยา หรือพระสุพรรณกัลยาณี ถัดมาคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทั้ง ๓ พระองค์ล้วนทรงมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อชาติไทยทั้งสิ้น

ทางพม่าได้เปลี่ยนแผ่นดินจากพระเจ้าตเบ็งชเวตี้มาเป็นพระเจ้าบุเรงนองในระหว่างที่ว่างศึก ๑๔ ปี ใน พ.ศ. ๒๑๐๖ ก็ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยเข้าโจมตีหัวเมืองทางเหนือก่อนเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ตีได้เมืองกำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก พิชัย ส่วนที่เมืองพิษณุโลกมีพระมหาธรรมราชาตั้งรับข้าศึกอยู่แข็งขัน พม่าไม่สามารถตีได้ แต่ก็ได้ล้อมเมืองอยู่จนหมดเสบียง ในขณะนั้นก็ยังเกิดไข้ทรพิษระบาดไปทั่ว พระมหาธรรมราชาจึงต้องยอมอ่อนน้อมต่อหงสาวดี มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า

“เราเคยทัพกรุงเทพมหานครช้าพ้นกำหนดอยู่แล้วก็ไม่ยกขึ้นมา อันศึกพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนี้เป็นอันมาก เสียงพลเสียงช้างเสียงม้าดังเกิดลมพยุใหญ่ เห็นเหลือกำลังเรานัก ถ้าเรามิออกไปพระเจ้าหงสาวดีก็จะให้ทหารเข้าหักเหยียบเอาเมือง สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจะมาถึงพินาศฉิบหายสิ้น ทั้งพระพุทธศาสนาก็จะเศร้าหมองดูมิควรเลย จำเราจะออกไป ถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก จะทรงพระพิโรธประการใดก็ดี ก็จะตายแต่ตัว จะแลกเอาชีวิตสัตว์ให้รอดไว้”

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ให้พระมหาธรรมราชา และกรมการเมือง ทำสัตย์ว่าจะจงรักภักดีต่อหงสาวดี แล้วเกณฑ์ให้พระมหาธรรมราชากับพระยาสวรรคโลก และพระยาพิชัยอยู่ในกองทัพหลวง ยกลงไปตีกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยโบราณ ธรรมเนียมการศึกและการปกครองบ้านเมืองหากใครมีกำลังเข้มแข็งกว่าก็จะสามารถครอบครองเมืองเล็กและพลเมืองได้ เมืองที่เล็กและมีกำลังน้อยกว่าก็ต้องยอมรับอำนาจนี้ แต่ถ้าเมื่อใดที่เมืองใหญ่อ่อนแอลง เมืองเล็กก็อาจแยกตัวเป็นอิสระได้ อย่างเช่นในกรณีของเมืองพิษณุโลกที่แม้ว่าพระมหาธรรมราชาจะมีความใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยาสักเพียงใด ก็จำเป็นต้องยอมรับอำนาจของหงสาวดี และเมื่อพระเจ้าหงสาวดีมีรับสั่งให้ทำการใดก็ต้องทำให้ ซึ่งในเวลานี้พระวิสุทธิกษัตรีและพระโอรสธิดาก็ยังคงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก

กองทัพหงสาวดีได้ตั้งล้อมเมืองไว้ หลังจากตีป้อมที่อยู่รอบๆ พระนครศรีอยุธยาได้หมด พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า จะสู้รบต่อไป หรือจะยอมเป็นมิตร เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ปรึกษากับพวกข้าราชการแล้วเห็นว่าไม่มีทางสู้ได้ จึงยอมเป็นมิตรเพื่อรักษาบ้านเมืองและพลเมืองเอาไว้ไม่ให้ถูกทำลาย ค่าไถ่เมืองที่พระเจ้าหงสาวดีทรงเรียกร้องก่อนจะเลิกทัพกลับไปมีหลายประการ ในพงศาวดารพม่าบันทึกไว้ว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเมืองหงสาวดีด้วย แต่หลักฐานของไทยกล่าวเพียงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกผนวช และมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช พระราชโอรส ครองกรุงศรีอยุธยาแทน และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยังได้ตรัสของพระนเรศวรพระโอรสของพระมหาธรรมราชาไปเป็นราชบุตรบุญธรรมด้วย เพื่อเป็นตัวประกันให้จงรักภักดีต่อหงสาวดีนั่นเอง

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างสมเด็จพระมหินทราธิราชและพระมหาธรรมราชา ทำให้พระมหาธรรมราชาใกล้ชิดกับหงสาวดีมากขึ้น จนได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองให้เป็นเจ้าฟ้าศรีสรรเพชญ์ ประเทศราชเมืองเหนือทั้งหมดให้ขึ้นต่อกรุงหงสาวดี ไม่ต้องขึ้นกับสมเด็จพระมหินทราธิราชอีกต่อไป สมเด็จพระมหินทราธิราชจึงคิดจะปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองเหนือให้อยู่ในอำนาจของอยุธยาดังเดิม โดยสนับสนุนให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต เข้ามาตีพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาจึงไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าหงสาววดีบุเรงนองที่กรุงหงสาวดี

เมื่อพระมหินทราธิราชเห็นว่าบ้านเมืองจะเข้าภาวะคับขันอีกครั้ง จึงกราบทูลเชิญให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวช แล้วกลับมาครองราชย์อีกครั้ง และกราบทูลว่า

“พระมหาธรรมราชานี้ มิได้สวามิภักด์ต่อพระองค์แล้ว ไปใฝ่ฝากไมตรีแก่พระเจ้าหงสาวดีถ่ายเดียว จำจะยกทัพรีบขึ้นไปเชิญเสด็จพระเจ้าพี่นางกับราชนัดดาลงมาไว้ ณ พระนครศรีอยุธยา ถึงมาตรพระมหาธรรมราชาจะคิดประการใดก็จะเป็นห่วงอาลัยอยู่ อันพระมหาธรรมราชาเห็นจะไม่พ้นเงื้อมพระหัตถ์ สมเด็จพระราชบิดาก็เห็นด้วย จึงตรัสให้พระยารามอยู่จัดแจงรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทรโอรสาธิราช ก็กรีธาพลเสด็จโดยชลมารคถึงเมืองพิษณุโลก ก็รับเสด็จพระวิสุทธิกษัตรีกับเอกาทศรถอันเป็นพระภาคิไนยราชและครัวอพยพข้าหลวงเดิมซึ่งให้ขึ้นมาแต่ก่อนนั้น แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทราธิราช ก็เสด็จล่องจากเมืองพิษณุโลกไปประทับยังเมืองนครสวรรค์”

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ในพระราชพงศาวดารมีความว่า

“ฝ่ายข้าหลวงในเมืองพระพิษณุโลก ครั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก และสมเด็จพระมหินทราธิราช มานำพระวิสุทธิกษัตรีและเอกาทศรถกับครอบครัวอพยพข้าหลวงเดิมลงไปแล้ว ก็ขึ้นม้ารีบไปยังกรุงหงสาวดี กราบทูลแด่พระมหาธรรมราชาเจ้าทุกประการ พระมหาธรรมราชาได้แจ้งดังนั้น ก็ตกพระทัยจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงสาวดี เอาเหตุซึ่งพระยารามกับสมเด็จพระมหินทราธิราชคิดการกันแต่ต้น จนมาหักหาญรับพระวิสุทธิกษัตรีลงไปกรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น ทูลแก่พระเจ้าหงสาวดีทุกประการ พระเจ้าหงสาวดีแจ้งเหตุดังนั้น ก็เคืองพระราชหฤทัย จึงตรัสแก่พระมหาธรรมราชาว่า ซึ่งกรุงพระมหานครเสียสัตยานุสัตย์กลับเป็นปรปักษ์ข้าศึกแก่พระเจ้าน้องเรานั้นจะละไว้มิได้ พระเจ้าน้องเราเร่งลงไปจัดแจงกองทัพทั้งเจ็ดเมืองเหนือและเสบียงอาหารไว้ให้สรรพ เดือน ๑๒ เราจะยกลงไป”
ศึกครั้งนี้ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๑๒

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประชวรและสวรรคตในระหว่างการศึกครั้งนี้ ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อคือ สมเด็จพระมหินทราธิราช เมื่อเสียกรุงอีกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็เชิญให้เสด็จไปประทับที่กรุงหงสาวดี ส่วนพระมหาธรรมราชาก็ทรงอภิเษกให้ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ ในพงศาวดารเรียกตามพระนามก่อนว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แต่ไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติของพระวิสุทธิกษัตรีเพิ่มเติม มีแต่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งเป็นผู้ที่กอบกู้เอกราชคืนมา ทำให้กรุงศรีอยุธยาเจริญมั่นคงต่อมาอีกยาวนาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์