ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา

Socail Like & Share

“ไทย” เป็นชาติอารยะ มีวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามมาแต่โบราณกาล ความดีงามดังกล่าวได้หล่อหลอมชนในชาติให้เจริญรุ่งเรืองโดยลำดับตลอดทุกยุคสมัย แต่ความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมจักไม่ปรากฏ และมิสามารถดำรงอยู่ได้ หากปราศจากผู้เกื้อหนุนผลักดัน โดยเฉพาะ “สตรีไทย” มีบทบาท
สำคัญ ช่วยนำพาให้วัฒนธรรมประเพณีที่ดีของไทยยืนหยัดทัดเทียมสากลได้ ตราบจนถึงปัจจุบัน สตรีไทยกอปรด้วย ความสามารถ คล่องแคล่ว อุตสาหะ รักงาน มุ่งปฏิบัติภารกิจเพื่อสังคม และประเทศชาติ สตรีท่านหนึ่ง ดำรงคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น ทั้งยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทุกพระองค์สืบมาตลอดชีวิตอันยาวนานถึง ๕ รัชกาล จนอาจกล่าวขานกันว่า “สตรีห้าแผ่นดิน” สตรีท่านนั้น คือ “ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา”ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา สกุลเดิมคือ “ไกรฤกษ์” เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะโรง วันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๔๗ ณ ตำบลตึกแดง ใกล้ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี เป็นบุตรีคนที่สองของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ขณะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์” และท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๒ คน บิดาตั้งนามบุตรและธิดาห้าคนแรกตามราชทินนามที่ได้รับพระราชทานในขณะนั้น โดยแยกราชทินนามออกแต่ละคำคือ “จักร” “ปาณี” “ศรี” “ศีล” “วิสุทธิ์’” และนำชื่อเหรียญตราที่ได้รับพระราชทาน มาตั้งนามของบุตรีอีกสองคนคือ “ดุษฎีมาลา” และ “รัตนาภรณ์” โดยเฉพาะเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา เป็นเหรียญที่ท่านได้รับพระราชทาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ก่อนท่านผู้หญิงดุษฎีมาลากำเนิด ๗ ปี เพราะสอบได้เนติบัณฑิตชั้นที่ ๑ คนแรกของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้บรรดาญาติสนิทและผู้ใกล้ชิดจึงเรียกท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาว่า “คุณเหรียญ”

ลำดับพี่น้องทั้ง ๑๒ คน ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ปรากฏนามดังนี้

๑. เด็กชายจักร ไกรฤกษ์ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)

๒. นายปาณี ไกรฤกษ์ ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายจ่ายวด” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ขณะอายุ ๒๑ ปี

๓. นางสาวศรี ไกรฤกษ์ ภายหลังสมรสแล้วได้บรรดาศักดิ์เป็น “คุณหญิงศรี ไชยยศสมบัติ”

๔. เด็กชายศีล ไกรฤกษ์ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)

๕. นายวิสุทธิ์ ไกรฤกษ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงจักรปาณีศรี ศีลวิสุทธิ์”

๖. นางสาวดุษฎีมาลา ไกรฤกษ์ ภายหลังได้รับพระราชทานสายสะพายทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) เป็น “ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา”

๗. นายวิจิตราภรณ์ไกรฤกษ์

๘. นายภูษณาภรณ์ ไกรฤกษ์

๙. นางนิภาภรณ์ วิมลศิริ

๑๐. เด็กชายมัณฑณาภรณ์ ไกรฤกษ์ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)

๑๑. นางสาวดารา ไกรฤกษ์ ภายหลังเป็น “คุณหญิงดารา ไชยยศสมบัติ”

๑๒. นางรัตนาภรณ์ ยูนิพันธ์

เมื่อเยาว์วัยบิดามารดาได้เลี้ยงดูท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา อย่างสมัยใหม่ อาทิ ไม่ได้โกนผมไฟเช่นเด็กทั่วไป ทั้งตามใจจนเป็นเด็กดื้อ มารดาจึงให้เข้าโรงเรียนพร้อมพี่สาว คือ คุณหญิงศรีไชยยศสมบัติ เมื่ออายุไม่เต็ม ๔ ปี เป็นนักเรียนชั้นมูลคืบ โรงเรียนราชินี ครูผู้สอนอ่านเขียนระยะแรกคือ คุณหญิงภรตราชา แต่เพราะดื้อและเยาว์วัยจึงไม่สนใจเรียนเหมือนเด็กทั่วไป อย่างไรก็ตาม ท่านยังได้ร่วม แสดงชุด “รำธงช้าง” ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในงานประจำปีของโรงเรียน

เมื่อศึกษาใน่โรงเรียนได้ปีเศษ เกิดเหตุจำเป็นในครอบครัว บิดาจึงให้ยุติการเรียนในโรงเรียนระยะหนึ่ง และให้เรียนที่บ้านกับนายเปล่ง ดิษยบุตร (หลวงนัยวิจารณ์) เลขานุการส่วนตัวของบิดา จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนราชินีอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะนักเรียนในพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง เนื่องจากได้ถวายตัวเป็น ข้าหลวงเรือนนอกในพระองค์ฯ

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้ศึกษาชั้นมูลคืบ ค ข ก เป็นเวลา ๓ ปี แล้วจึงศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา มีหม่อมเจ้าหญิงศรีคทาลัย เทวกุล และหม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล เป็นครูประจำชั้นมูลคืบ ค และประถมศึกษาปีที่ ๑ ตามลำดับ นอกจากนั้นเมื่อศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ขณะนั้นคือ มัธยมศึกษาปีที่ ๗ – ๘) จึงได้ศึกษาวิชาต่างประเทศ เรียนเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส มีหลวงเรี่ยมวิรัชพากย์ เป็นครูสอนฝรั่งเศส และมิสซิสเบรียลี่ มิสซิสแคมเบส เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ จนสำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๖๖

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ยังได้ศึกษาขนบประเพณีไทยกับคุณท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) ผู้เป็นป้า ซึ่งถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอยู่ใน ราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เป็นใหญ่ในวังของพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และหัดละครรำไว้ถวายคณะหนึ่ง โดยเฉพาะได้ฝึกตัวละครพระเอกที่สำคัญจนได้เป็นหม่อมของพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา คือ หม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ซึ่งเป็นบุคคลที่รักและอุ้มชูท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาอย่างมาก อย่างไรก็ตามประสบการณ์ที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาได้รับขณะนั้น ทำให้ท่านมีทัศนคติในการสืบทอด อนุรักษ์ และจรรโลงขนบประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ประจวบกับการเจริญรอยตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดการแสดงละคร ทำให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลารักและสนใจ การแสดงอย่างมาก จนเป็นพื้นฐานให้ท่านจัดแสดงละคร โดยตั้งคณะละคร “สโมสรละครสมัครเล่น” เพื่อแสดงละครการกุศล และริเริ่มจัดประกวดมารยาทของนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนเขียนตำรับตำราอันเกี่ยวเนื่องกับมารยาทอันเป็นขนบประเพณีวัฒนธรรมของไทยที่เด็กไทยพึงปฏิบัติในสมัยต่อมา

ชีวิตในวัยทำงาน ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เริ่มเรียนรู้งานจากบิดา ระยะแรกเป็น “เสมียน” เขียนหนังสือตามคำบอก พิมพ์ดีดตามที่ได้รับมอบ ตลอดจนให้รับใช้ติดสอยไปตามสถานที่ต่างๆ ระยะต่อมาจึงเป็น “เลขานุการ” ส่วนตัวของบิดา เช่น แปลข่าว บทความในหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ สยามออบเซอเวอร์เป็นภาษาไทยทุกวัน มีหน้าที่ถอนฝากเงิน ณ ธนาคารทุกวัน ควบคุมเงินใช้จ่ายในบ้าน นอกจากนี้ยังปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ในเรื่องราชการ และเรื่องที่เป็นความลับต่างๆ ทำให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลามีประสบการณ์ และความรู้รอบตัวกว้างขวางกว่าบุคคลทั่วไป

ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นนางพระกำนัล (Maid of Honour) ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เพื่อตามเสด็จฯ ไปในงานพระราชพิธีต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘

ครั้นถึงวัยสมควรมีครอบครัว ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้รับหมั้นกับหม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้และเป็นเพื่อนกับพี่ชาย (นายปาณี ไกรฤกษ์ หรือนายจ่ายวด) เป็นบุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ใหญ่สู่ขอ และสมรสเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คู่สมรสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ทรง “รับไหว้” ด้วยเงิน ๕ ชั่ง ส่วนสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีพระราชทานจี้ทับทิม พร้อมสร้อยข้อมือทับทิมล้อมเพชร ๑ สาย

ระยะแรกสมรสนั้น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา พำนัก ณ บ้านราชวิถี ๒- ๓ ปี แล้วย้ายไปอยู่บ้านของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ถนนหลานหลวง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงย้ายไปพำนักถาวร ณ บ้านปลูกใหม่ที่ซอยไชยยศ (สุขุมวิท ๑๑) ถนนสุขุมวิท โดยไม่มีทายาทสืบสกุล

ภายหลังการสมรสครบ ๕๓ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อพระราชทานนํ้าสังข์ด้วยพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เริ่มมีบทบาททางสังคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ โดยเฉพาะในวงการศึกษา ท่านได้ประพันธ์บทไหว้ครู ให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๗ บทร้อยกรองดังกล่าวได้รับบันทึกชมเชยจากพลโท ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการขณะนั้นว่า “คำไหว้ครูนี้ใช้ได้ดี ขอขอบคุณผู้แต่ง ซึ่งไม่ทราบว่าผู้ใด” บทไหว้ครูนี้เป็นที่ยอมรับ และกล่าวขานกันทั่วในสังคม เพราะได้ใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี ผู้ประพันธ์ได้เรียงร้อยถ้อยคำด้วยภาพลักษณ์ของศิษย์ที่สำนึกถึงพระคุณแห่งครูบาอาจารย์ ผู้ประสาทวิชาความรู้จนสำเร็จการศึกษาได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ดังความว่า

“ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์
ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา

ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน

ข้าขอเคารพอภิวันทน์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา

ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน

ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี

ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ”

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้สนใจใฝ่หาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์ แล้วนำผลที่ได้รับต่างๆ มาถ่ายทอดสู่ชนชาวไทยในประเทศ เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้เดินทางรอบโลกครั้งแรก พร้อมกับสามี ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เพื่อไปประชุมองค์การศึกษาสหประชาชาติ ณ ประเทศเลบานอน ทัศนาการศึกษาแผนใหม่ ณ ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มีโอกาสได้ชมมหาอุปรากรเรื่อง “เฟ้าสต์” “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” และ “ไดโดกับอีเนียส” ณ ประเทศอังกฤษ เป็นผลให้ท่านได้นำเรื่องดังกล่าวมาแปลเป็นบทละครให้ชาวไทยได้ศึกษา และครั้งนั้น ท่านยังประพันธ์เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์ในการเดินทางเป็นหนังสือชื่อ “นิราศเมืองไทยไปรอบโลก” นอกจากนั้นท่านยังได้ติดตามสามีไปต่างประเทศอีกหลายครั้ง บางครั้งท่านขออยู่ศึกษาภาษาเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งเพียงลำพังต่ออีกหลายเดือน โดยใช้จ่ายด้วยเงินส่วนตัว ผลที่ได้รับจากประสบการณ์รอบด้านทำให้ท่านสนใจการประพันธ์ต่างๆ ตลอดจนการแปลบทละครของ วิลเลียม เซกสเปียร์ เช่น ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน แปลเทพนิยายของแฮนส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน เช่น คนเลี้ยงหมู เครื่องทรงชุดใหม่ของพระราชาซัมแบลิซ่า นางเงือกน้อย นกไนติงเกลของพระเจ้ากรุงจีน เจ้าหญิงบนเมล็ดถั่ว ฯลฯ แปลคำประพันธ์ภาษาอังกฤษเรื่อง Poor Mother เป็นคำประพันธ์กลอนแปลเรื่อง แม่เอ๋ยแม่ ทำให้มีวรรณกรรมหลากหลายประเภท ทั้งบทความ สารคดี นิทาน หนังสือสำหรับเด็ก บทละครแปล ร้อยกรอง บทเพลง ประจำสถานศึกษา ฯลฯ ที่สำคัญคือบทประพันธ์ที่เกี่ยวกับมารยาท วัฒนธรรม ประเพณีไทยที่มุ่งเน้นให้เด็กไทยมีมารยาทงดงาม รักษารูปลักษณ์ขนบวัฒนธรรมและประเพณีไทยให้คงอยู่สืบไป เช่น มารยาทไทย มารยาทอันเป็นวัฒนธรรมทางประเพณีไทย และมรรยาทเล่มน้อย ซึ่งเล่มหลังนี้ได้พิมพ์เผยแพร่กว่า ๒๐ ครั้งรวมทั้งเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี หนึ่งในสิบเพลงที่ประพันธ์ให้แก่วชิราวุธวิทยาลัย และใช้เป็นเพลงประจำโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน ประพันธ์บทละครเรื่อง แม่ เพื่อแสดงในงานวันแม่ตามที่ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามขอความร่วมมือ และรับเป็นกรรมการจัดงานวันแม่ด้วย นอกจากนั้นยังริเริ่มงานเฉลยปัญหา ราชาศัพท์ จัดงานสัปดาห์แห่งศิลปะ และวรรณคดีนานาชาติ เป็นต้น

ส่วนบทบาทในหน้าที่ของสตรีไทยนั้น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้รับเกียรติจากรัฐบาล แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนสภาวัฒนธรรมแห่งชาติไปประชุมยูเนสโก (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ยุโรป และประเทศต่างๆ ทั่วโลกหลายครั้ง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะท่านได้พยายามรื้อฟื้นและจัดวางระเบียบให้กิจการสโมสรวัฒนธรรมหญิงที่มุ่งส่งเสริมความรู้ให้สตรี และให้ตื่นตัวเกี่ยวกับสิทธิของสตรี การปฏิบัติงานดังกล่าวทำให้ท่านต้องเตรียมจัดงาน เพื่อต้อนรับชาวต่างชาติเป็นประจำ

ในด้านสาธารณประโยชน์ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้อุทิศทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทุนทรัพย์ เพื่อกิจการส่วนรวมของประเทศ เช่น การรื้อฟื้นกิจการเนตรนารี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ จนเจริญก้าวหน้าตราบถึงปัจจุบัน ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังและพระอุโบสถ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสร้าง พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นประธานกรรมการส่งเสริมกิจการ ศาลาวันเด็ก ณ สนามเสือป่า ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเยาวชน ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้ง สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ก่อตั้งสมาคมบ้านเยาวชนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นที่พักทำกิจกรรมของเยาวชนไทยและต่างชาติ ตลอดจนสมัครเป็นสมาชิกองค์การโลกเพื่อส่งเสริมความสามัคคี รักธรรมชาติ รักชาติ และเพื่อนมนุษยโลก ซึ่งมีผู้สมัครเป็นสมาชิกจำนวนมาก ได้โอกาสแลกเปลี่ยนเยาวชนกับต่างชาติ เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมความสะดวกและสุขภาพนักเรียนในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนผู้ยากไร้ ที่ร่างกายไม่สะอาด และเป็นแผล โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปบริการตามสถานศึกษาและชุมชนแออัด นอกจากนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “มูลนิธิราชประชาสมาสัย” เพื่อให้ประชาชนและพระราชาช่วยเหลือกัน โดยมีรับสั่งให้ท่านผู้หญิง ดุษฎีมาลา เป็นประธานกรรมการจัดตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัย เพื่อแยกบุตรจากผู้ป่วยโรค เรื้อน และป้องกันการแพร่กระจายของโรค จนสุดท้ายเด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ภายหลังเมื่อโรคเรื้อนลดน้อยลง โรงเรียนนี้จึงรับนักเรียนทั่วไปในบริเวณใกล้เคียง ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคลุล่วง จนกิจการก้าวหน้าดียิ่งสืบมาจนถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา จึงได้บริจาคเงินรวมทั้งสิ้น ๖ ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง “มูลนิธิท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา” เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือบำบัดทุกข์ของประชาราษฎรตลอดเวลา มูลนิธินี้ไม่รณรงค์ขอรับบริจาคเงินด้วยทัศนคติของท่านว่า “ทำบุญต้องใช้ทุนทรัพย์ของตนเอง ไม่ใช่ไปรับบริจาคเงินจากคนอื่นมาเข้าในชื่อของมูลนิธิ”

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นสตรีไทยผู้หนึ่ง ซึ่งมีจิตวิญญาณในการปฏิบัติภารกิจ เพื่อส่วนรวมอันเป็นสาธารณประโยชน์ และประเทศชาติ ทั้งยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหา กษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ด้วยความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมีได้ ดังเช่นความตอนหนึ่งที่บันทึกไว้ในงานเขียนอัตชีวประวัติ เรื่องของคนห้าแผ่นดิน ว่า

“ฉันเคารพในความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ ๕ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงมีต่อครอบครัวของสามีและครอบครัวของฉันเองเป็นอย่างมาก ฉันเห็นพระราชหฤทัยและเลื่อมใสในพระราชจริยวัตรทุกประการของรัชกาลที่ ๗ เอ็นดูและสงสารพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนั้น ฉันมีความสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งด้วยดินฟ้ามหาสมุทร มีความรัก เทอดทูน เคารพบูชาเหนือสิ่งอื่นใด เพราะพระองค์ทรงไว้ ซึ่งทศพิธราชธรรม และทรงมีพระปรีชาสามารถในวิทยาการต่างๆ ทุกแขนงวิชา อย่างน่ามหัศจรรย์ที่สุด …”

สิ่งสำคัญที่ท่านผู้หญิงได้แสดงความรักเทิดทูนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเจตจำนงแน่วแน่ นั่นคือการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายบ้านและที่ดิน ดังความปรากฏในพินัยกรรม ลงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ว่า

“ข้าพเจ้ามีทรัพย์สินที่สำคัญ คือ บ้านเลขที่ ๑๓๙, ถนนสุขุมวิท ที่ใช้เป็นที่อยู่มา ๔๔ ปีแล้ว … ข้าพเจ้าขอพระราชทานทูนเกล้าฯ ถวายโฉนดและกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความจงรักภักดีอันบริสุทธิ์ใจ เมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีวิตแล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำประการใดแก่ที่ดินรายนี้ ก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย ทุกประการ’’

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๑๖ คือ จตุตถจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์มงกุฎไทยประถมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ตลอดจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นต้นว่า ปริญญาศึกษาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์ไทย ของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ และ ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยา ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒

ต่อมาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน เป็นเหตุให้พูดมิได้ แต่สามารถสื่อสารด้วยมือ และเขียนประโยคสั้นๆ ได้ จนถึงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา เข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยอาการหนักโรคหัวใจ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และอาการเริ่มทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี ๑๐ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๕๔๐

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา จึงเป็นสตรีไทยที่มีชีวิตอยู่ถึง ๕ แผ่นดิน ที่เพียบพร้อมด้วยความสามารถ สร้างสรรค์งานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนมีจิตสำนึกเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตราบจนวาระสุดท้าย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ผกาวรรณ เดชเทวพร