ปัญหาบางประการเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย

๑. การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางสังคม ค่านิยม ความเชื่อ ในปัจจุบันภาวะแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างเช่น ค่านิยมของคนไทยในเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือกันอย่างดีในการทำนา ก่อให้เกิดประเพณีลงแขก ประเพณีไทยซึ่งแสดงออกถึงนํ้าใจและความสามัคคี ปัจจุบันประเพณีนี้หาดูได้ยากแล้วเพราะการแข่งขันต่อสู้เพื่อการอยู่รอดในสังคมมีมากขึ้น คนจึงมุ่งคำนึงถึงตนเองก่อนผู้อื่น สังคมจึงเปลี่ยนรูปแบบจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมือง

ประเพณีไทยที่ว่า “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ถ้าปฏิเสธได้ก็ปฏิเสธ เป็นต้น นอกจากนี้ประเพณีบางอย่างของไทย มีลักษณะแสดงออกถึงความเชื่อและยึดถือโดยปราศจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เช่น ประเพณีการแห่นางแมว ด้วยการสาดนํ้าแมวให้เปียกเพราะแมวเป็นสัตว์กลัวและเกลียดนํ้า ถือกันว่าแมวเป็นตัวแห้งแล้ง ถ้านำนํ้าสาดแมวให้เปียก ฝนจะตกลงมา เมื่อเกิดการเรียนรู้ว่าฝนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ประเพณีนี้จึงเสื่อมความนิยมลงไปมาก

การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการไหลบ่าของวัฒนธรรม แนวความคิด วิทยาการของชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตก ทำให้คนไทยหันไปนิยมปฏิบัตตามวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาว ทำให้เกิดปัญหาการละเลยไม่สนใจปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันดีงามมากยิ่งขึ้น

๒. ปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันระหว่างคนรุ่นใหม่ (หนุ่มสาว) กับคนรุ่นเก่า (ผู้ใหญ่) เนื่องมาจากการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้แนวความคิด ความรู้สึก วิถีการดำเนินชีวิต เปลี่ยนแปลงไป เริ่มแนวคิดใหม่ว่า ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน ควรมีสิทธิมีเสียงในด้านต่างๆ เท่าเทียมกัน จึงเห็นว่าผู้น้อยย่อมมีอิสระและสิทธิในการตัดสินชีวิตของตัวเอง การแสดงความคิดเห็น จึงขัดกับผู้ใหญ่หรือคนรุ่นเก่าที่ยังถือว่าเด็กควรเชื่อฟังผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่เองก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความคิดของเด็ก จึงเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยขึ้น รวมทั้งปัญหาทางด้านศีลธรรม ระเบียบแบบแผนประเพณีอยู่เสมอๆ เกิดความตึงเครียดในสังคมมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าเด็กรุ่นใหม่มักไม่ค่อยยำเกรงพ่อแม่ ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ ส่วนใหญ่มักจะอ้างแนวความคิดใหม่ๆ และมองเห็นว่าผู้ใหญ่ล้าสมัย ซึ่งขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย อย่างไรก็ตาม การแสดงออกทางความคิดของเด็กวัยรุ่นควรอยู่ในขอบเขต และมีเหตุผลไม่ควรลํ้าหน้าจนเกินไปจนขาดความเคารพยำเกรง และการกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณนับว่าเป็นสิ่งดี พ่อแม่ ครูอาจารย์เป็นผู้มีพระคุณที่ไม่อาจทดแทนพระคุณได้หมดสิ้น อีกอย่างการเอาใจใส่ต่อพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า ย่อมไม่เกิดปัญหาความว้าเหว่ของคนแก่ เหมือนบางประเทศที่ประสบปัญหานี้อยู่

๓. ความเจริญทางวัตถุก้าวหน้ามากจนความเจริญทางด้านศีลธรรมตามไม่ทัน เช่น การมีรถยนต์ดีๆ ขับแต่คนขับขาดมารยาทและความรับผิดชอบในหน้าที่ เป็นผลต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้รถ ใช้ถนน ความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม การสร้างโรงงานต่างๆ ที่ไม่ถูกลักษณะ มีผลต่อสุขภาพและจิตใจของประชาชน การมีเครื่องจักรกลใช้แทนแรงงานสัตว์ในการกสิกรรมทำให้เห็นคุณค่าของแรงงานสัตว์น้อยลง เป็นต้น

จากเหตุผลที่นำมากล่าวทั้งหมดในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีไทยนั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งซึ่งแสดงออกทางวัฒนธรรมของชาติประการหนึ่ง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าของสังคม

เพราะฉะนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแบบใดสมควรที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อไป ก็ควรจะดำรงคงไว้เพื่อผดุงความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ถ้าไม่เหมาะสมกับกาลสมัย ก็สมควรแก้ไขดัดแปลง ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรร่วมกันพิจารณาว่าจะช่วยกันทำนุบำรุงส่งเสริมวัฒนธรรมสาขาต่างๆ ประการใด จึงจะสามารถรับใช้ปวงชนได้อย่างสมบูรณ์

อนึ่ง ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว รัฐบาลต่างทราบดีและตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ได้พยายามส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูประเพณีเก่าๆ ของไทยบางอย่างขึ้น พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งองค์กรบางหน่วยงานช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมในทุกสาขาอยู่แล้ว ย่อมเป็นเครื่องประกันได้ว่า วัฒนธรรมไทยยังคงดำรงอยู่คู่ไทยตลอดกาล

ที่มา:กรมศิลปากร

ขนบธรรมเนียมประเพณีกับชีวิตของคนไทย

๑. ขนบธรรมเนียมประเพณี นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาสู่อนุชนรุ่นหลัง และได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ขนบธรรมเนียมประเพณียังเป็นสิ่งหนึ่งที่กำหนดรูปแบบของสังคมไทย เช่น การทำความเคารพด้วยการยกมือไหว้ ขนบธรรมเนียมไทยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทย ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในแถบเอเชียที่นิยมการไหว้ด้วยกัน เช่น อินเดีย หรือ ศรีลังกา เราก็สามารถทราบได้ทันทีว่าคนไหนเป็นคนไทย ยิ่งถ้าเทียบกับประเทศตะวันตกด้วยแล้วจะมองเห็นลักษณะของขนบธรรมเนียมประเพณีได้อย่างชัดแจ้ง อันจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงสังคมของชาตินั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ลักษณะพิเศษของขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่ยกย่องเจ้านายนั้นทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีลักษณะสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน เจียมเนื้อเจียมตัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่รวมอำนาจไว้ส่วนกลาง

การที่คนไทยยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เพราะชาติไทยเป็นชาติเอกราชมาช้านาน การแสดงออกของคนในชาติและประเพณีเกี่ยวกับบุคคลทั่วไป เช่น ความสมัครสมานร่วมมือร่วมใจกันในการประกอบอาชีพ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือผู้ด้อยกว่าตน ในฐานะและโอกาส ความนับถือยกย่องกันและกันในชุมชน สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้ด้วย ความสันติสุข และผ่านพ้นภัยพิบัติได้ตลอดมา

ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีมีความผูกพันกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก เช่น การทำบุญในโอกาสต่างๆ ของคนไทยจะมีอยู่หลายลักษณะ มีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม

ส่วนพระมหากษัตริย์ ทรงประกอบพระราชพิธีต่างๆ ตามโบราณราชประเพณีสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันอยู่กับประเพณีของชุมชนในชาติไทย ประชาชนชาวไทยต่างตระหนักดีว่า พระบรมเดชานุภาพและพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนํ้าใจคนไทย และชาติไทย ทำให้สามารถรักษาเอกราชอธิปไตยและความมั่นคงมาได้ด้วยดีตลอดมา

ดังนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยบางอย่างจึงกำหนดรูปแบบของสังคมไทยให้มีลักษณะเฉพาะของตนเอง หรือเป็นเอกลักษณ์ของไทย แม้บางสิ่งบางอย่างจะรับวัฒนธรรมของต่างชาติมาใช้ แต่ก็ได้นำมาดัดแปลงแก้ไขจนเกิดเป็นรูปแบบของตน ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่า “ไทยเป็นชาติที่เก่งในการประสานประโยชน์” เช่น การรับวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศในการนับปีปฏิทินเพื่อความสะดวกนานาประการ แต่ก็มีการทำบุญตักบาตรตามประเพณีไทยด้วย เป็นต้น

๒. ด้านการเมืองและการปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมีส่วนครอบงำด้านการเมือง การปกครองของไทย ทั้งด้านผลดีและผลเสีย กล่าวคือการยกย่องผู้ใหญ่ กตัญญูรู้คุณ การโอบอ้อมอารีของคนไทยมีส่วนช่วยดำรงความมั่นคงและความสามัคคีปรองดองของชนในชาติอีกด้วย ส่วนผลกระทบอีกด้านหนึ่งนั้นก็คือ การที่ชาวไทยเคยชินกับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบบเจ้าขุนมูลนายมาเป็นช้านาน จนเกิดความคิดในเรื่องการเคารพเชื่อถือในตัวบุคคล อำนาจวาสนาและผู้มีเงิน ทำให้ชาวไทยมักเห็นว่าการปกครองเป็นเรื่องของเจ้านายผู้มีอำนาจวาสนา ราษฎรไม่ควรยุ่งเกี่ยว จึงขาดความกระตือรือร้นที่จะสนใจหรือใช้สิทธิใช้เสียงของตนตามหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล การสั่งงานตลอดจนการวางแผนต่างๆ ส่วนใหญ่จึงมาจากเบื้องบน การบริหารงานบางอย่างของรัฐบาลจึงไม่สามารถขอความร่วมมือจากประชาชนได้ อันจะนำมาซึ่งความล้มเหลวของโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน และการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง

อีกประการหนึ่งในเมื่อสังคมไทยยกย่องผู้ใหญ่ ผู้น้อยจึงมักไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเกรงจะถูกสังคมตำหนิ แม้ว่าในปัจจุบันความคิดวิทยาการต่างๆ จะก้าวหน้า การเมืองได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม ชาวไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าแสดงออกมากนัก และค่านิยมยังอยู่ในวงแคบ คนมักจะนึกถึงแต่เพียงเรื่องของการดำเนินชีวิต และปากท้องของครอบครัวตนหรือชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงตนเท่านั้น ถ้าจะมีการแสดงความคิดเห็น เสียสละและปฏิบัติเพื่อส่วนรวมในด้านการเมืองการปกครองโดยไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากกว่านี้แล้วบ้านเมืองของเราก็จะก้าวหน้าไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะนี้

๓. ด้านเศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น การทำบุญ การสร้างวัด คนไทยมักสละทรัพย์อย่างเต็มที่ในการทำบุญให้ทานโดยไม่คำนึงถึงฐานะเศรษฐกิจของตน ทั้งนี้เป็นเพราะความคิดของคนไทยในเรื่องการหวังผลตอบแทนจากการทำบุญมากเกินไปนั่นเองทั้งๆ ที่พุทธศาสนาสอนให้รู้จักประมาณตนเองอยู่แล้ว

การจัดงานเลี้ยงในบางงานฟุ่มเฟือยจนเกินไป เพราะคนไทยมักนิยมความมีหน้ามีตา บางคนต้องกู้หนี้ยืมสิน เช่น งานแต่งงาน พิธีศพ” ดังมีคำกล่าวว่า “ตำน้ำพริกละลายแม่นํ้า” หรือ “คนตายขายคนเป็น” เป็นต้น ถึงแม้จะมีพุทธภาษิตข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สุขเกิดจากการไม่มีหนี้สิน” แต่คนไทยก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนัก

ที่มา:กรมศิลปากร

รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา

รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เป็นรัฐพิธีชึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ ส่วนวันเวลานั้นย่อมแล้วแต่รัฐบาล เป็นผู้กำหนด เช่น รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๒๒ ดังต่อไปนี้รัฐพิธีประชุมรัฐสภา

วันอังคารที่ ๘ พฤษภาคม เวลา ๑๑ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระราชฐานที่ประทับไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิตซึ่งจัดเป็นที่ประชุมรัฐสภาตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ เสด็จ ฯ เข้าทางประตูทวยเทพสโมสร ณ ที่นี้ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์พร้อมด้วยแตรวงธงประจำกองถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จฯ ขึ้นสู่พระที่นั่งอนันตสมาคมโดยมีตำรวจหลวงนำเสด็จ เลขาธิการ รัฐสภารับเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ขึ้นประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระวิสูตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ คือ ด้านหลังมีพนักงานเครื่องสูงถวายอยู่งานพัดโบก ๑ คู่ ด้านขวาและซ้ายเป็นริ้ว เชิญเครื่องพระราชอิสริยยศ มีมหาดเล็กเชิญพระมาลา พระคทาจอมทัพ สมุหพระราชพิธี เลขาธิการพระราชวัง สมุหราชองครักษ์ และองคมนตรี เฝ้าฯ ตามตำแหน่ง

ภายนอกพระวิสูตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก เบื้องหน้าตรงกับพระราชบัลลังก์มีนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา ยืนเฝ้า ฯ ตามลำดับ

พร้อมแล้วมหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร พนักงานกระทั่งแตร มโหระทึกทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อสุดเสียงประโคมและเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว ผู้เฝ้าฯ ทั้งหมดถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส เปิดประชุมรัฐสภา จบแล้ว ผู้เฝ้าฯ ทั้งหมดถวายความเคารพ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ปิด พนักงานกระทั่งแตรมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ที่มา:กรมศิลปากร

รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้รัฐธรรมนูญจัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา แล้วได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ จึงได้ถือเป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมทุกปีสืบมา งานนี้เป็นงานพระราชพิธีและรัฐพิธีร่วมกัน

ในการประกอบพระราชพิธีประจำปีนั้น ที่ท้องพระโรงหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งพระที่นั่งพุดตานสลักปิดทอง เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๗ ขึ้นประดิษฐาน และเชิญฉบับ รัฐธรรมนูญวางบนพานทองสองชั้นเข้าในมณฑลพิธีแวดล้อมด้วยต้นไม้ทอง-เงิน พร้อมด้วยเครื่องนมัสการและที่ทรงกราบ

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต รถยนต์พระที่นั่ง ผ่านประตูทวยเทพสโมสร กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เทียบรถยนต์พระที่นั่งที่บันไดท้องพระโรงหลัง ณ ที่นี้ประธานรัฐสภารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่ท้องพระโรงหลังซึ่งเป็นมณฑลพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล แล้วพระสงฆ์ ๑๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนตะลุ่มภัตตาหารแด่สมเด็จพระสังฆราช ส่วนสำรับภัตตาหารถัดไป โปรดเกล้าฯ ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประเคนพระสงฆ์ ฉันเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์
ฉันเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์  นอกนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ถวายตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านประตูทวยเทพสโมสร กองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีนี้แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายช้างเผือก

อนึ่ง ทางรัฐสภาได้ขอพระบรมราชานุญาตหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ ๗ ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ประดิษฐานเป็นพระบรมราชานุสรณ์ไว้ที่หน้าตึกประชุม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ในพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน มาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จะได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ก่อน แล้วจึงเสด็จ ฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ รัฐบาลได้ประกาศเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สำคัญของชาติ มีการถวายบังคมพระบรมรูปเป็นงานประจำปี

ที่มา:กรมศิลปากร

วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นวีรบุรุษพระองค์หนึ่ง ได้ทรงปราบยุคเข็ญ กอบกู้ชาติ ไทยให้พ้นภัยจากข้าคึกศัตรูผู้มารุกราน แล้วจัดการบ้านเมืองให้มีความสงบสุขเข้าสู่ภาวะเป็นอิสรภาพ จึงได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี นับว่าพระเจ้าตากสินพระองค์ทรงเป็นผู้วางพื้นฐานความเป็นอิสระและเป็นปึกแผ่นของชาติไทยพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์

รัฐบาลและปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้ระลึกถึงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ที่ทรงมีต่อประเทศชาติ ด้วยความสำนึกกตัญญูกตเวทีจึงร่วมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน เพื่อเทิดทูนพระเกียรติประวัติไว้ถวายสักการะ ณ วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร ลักษณะทรงม้าออกศึกมุ่งไปทางตะวันออก พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ เมื่อพระบรมราชานุสาวรีย์สร้างสำเร็จแล้ว รัฐบาลจึงขอพระราชทานกำหนดเป็นงานรัฐพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นดิถีคล้ายวันพระบรมราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังกำหนดการต่อไปนี้

เวลา ๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพิธีมณฑล ณ วงเวียนใหญ่ ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงศีล แล้ว นายกรัฐมนตรีอ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานการสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ จบแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ลานหน้าพระบรมราชานุสรณ์ทรงเปิดพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะนี้พระสงฆ์ ๑๔ รูป เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์แตร มโหระทึก และดุริยางค์ทหาร กองเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์พร้อมด้วยแตรวงธงประจำกองถวายความเคารพครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายสรงพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับในมณฑลพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ต่อมารัฐบาลได้กำหนดให้มีงานรัฐพิธีถวายสักการะประจำปีในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ เรียกว่า “รัฐพิธีวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ถือเป็นงานบรมราชานุสาวรีย์สำคัญของชาติวันหนึ่ง ซึ่งสำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ดังนี้

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงวางพวงมาลา พนักงานประโคมแตร มโหระทึก แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองทิศ ทรงกราบ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบปรกติขาว

ตั้งแต่เวลาเช้า ผู้แทนกระทรวง ทบวง กรม สถาบันการศึกษา สมาคม และองค์การต่างๆ ได้นำพวงมาลามาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์

อนึ่ง ถ้าปีใดมิได้เสด็จพระราชดำเนิน จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองศ์

ที่มา:กรมศิลปากร

วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ นับแต่ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติจวบจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงเป็นเอตทัคคะทางอักษรศาสตร์ วรรณคดี นาฏศิลป ยากที่จะหาผู้เปรียบได้ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวปวงชนชาวไทยเทิดทูนเฉลิมพระเกียรติถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราซเจ้า” ด้วยความระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่ประเทศชาติ รัฐบาล คณะนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ข้าราชบริพาร พ่อค้า ประชาชน จึงพร้อมใจกันดำเนินการออกทุนทรัพย์จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นประดิษฐานที่ลานหน้าสวนลุมพินี อันเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งพระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจพระราชทานแก่ประชาชน เมื่อการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สำเร็จแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้ประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ มีรายการดังนี้

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปยังมณฑลพิธี ณ สวนลุมพินี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงจุดธูป เทียนเครื่องนมัสการ ทรงศีลแล้ว ประธานกรรมการรายงานการก่อสร้าง จบแล้ว ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีพระดำรัสตอบ แล้วคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออกจากโรงพระราชพิธี ไปยังลานวชิราวุธานุสรณ์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงทำพิธีเปิดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๕ รูป เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก แตรและดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศของพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นสู่บัลลังก์พระบรมรูป ประธานคณะ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงพระสุหร่าย ทรงวางพวงมาลาแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปยังโรงพระราชพิธี ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กลับ

พระบรมราชานุสาวรีย์นี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมลงมติให้มีการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นรัฐพิธีประจำปีในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต ถือเป็นวันที่ระลึก สำคัญของชาติวันหนึ่ง สำนักพระราชวังได้ดำเนินการออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาและถวายราชสักการะไว้ดังนี้

เวลา ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระบรมราชานุสรณ์ สวนลุมพินี ทรงวางพวงมาลา ขณะนั้นพนักงานประโคมแตร มโหระทึก แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะกราบถวายบังคม พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบปรกติขาว

ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนิน ผู้แทนกระทรวง ทบวง กรม สถาบันการศึกษา สมาคม องค์การต่างๆ นำพวงมาลาไปถวายสักการะ และในเวลากลางคืนกรุงเทพมหานครจัดดุริยางค์และดนตรีบรรเลงตามสมควร

อนึ่ง ปีใดมิได้เสด็จพระราชดำเนิน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

ที่มา:กรมศิลปากร

วันที่ระลึกมหาจักรี

วันที่ระลึกมหาจักรี หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า วันจักรี นั้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัย สมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้นประดิษฐาน เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ระลึกมหาจักรีครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ต่อมาทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคม สักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๕ รัชกาล พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึง ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง การพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร ได้รับการอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์ (ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล

ครั้นถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ประกาศพระบรมราชโองการให้มีการกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเป็นการประจำปี กำหนดในวันที่ ๖ เมษายน เป็นประเพณีสืบไปดังนี้

ที่ ๑๗
แจ้งความ
ถวายบังคมพระบรมรูป
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าได้ทรงพระราชดำริห์มาเป็นเนืองนิตย์จะพระราชทานโอกาสเตือนนํ้าใจให้อเนกนิกรชนได้ระลึกถึงความเดิมว่า สยามราษฎร์ได้กลับเป็นอิสรภาพขึ้นดังโบราณกาลด้วยพระบุญยาเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประถมกษัตริย์มหาจักรีบรมราชวงศ์เป็นประถม แลความเป็นอิสรภาพต่อมาก็ด้วยพระบรมราโชบายแห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าได้สนองพระองค์ประกอบด้วยพระปรีชาญาณต่าง ๆ อันควรแก่สมัย สยามราษฎร์ดำรงความเป็นอิสรภาพมาได้ด้วยพระมหากษัตราธิราชเจ้าเป็นนายกของประชาชนยิ่งกว่าผู้อื่น เพราะฉะนั้นความนิยมเคารพจำเป็นต้องฝังอยู่ในนํ้าใจจะละเว้นไม่ได้ เช่นเดียวกับรู้พระคุณแห่งความสั่งสอนซึ่งเป็นผลดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตราธิราชเจ้าอยู่เหนือ อเนกนิกรชนทั้งหลายแล้วก็ดี ความเป็นไปแห่งพระองค์ก็นับอยู่ในนิกรชนทั้งหลายได้ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณของอดีตมหาราชาธิราชเช่นเดียวกัน เมื่อทรงพระราชดำริห์อยู่ฉะนี้แล้ว จึงพระราชทานโอกาศให้อเนกนิกรชนได้แสดงกตเวทีคุณต่อพระมหากษัตราธิราชเจ้า จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดิมหาจักรีบรมราชวงศ์ทุกรัชกาล ประดิษฐานไว้ยังปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อความสะดวกแก่การเคารพบูชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมเป็นการประจำปี กำหนดวันที่ ๖ เมษายน เป็นประเพณีสืบไป ตรงกับดฤถีเดิมซึ่งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้สู่พระมหานครดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศเป็นประถม ในวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันควรแสดงนํ้าใจด้วยความชื่นบานยินดีของชาติสยาม แลแสดงความเคารพด้วยกตเวที สนองต่อพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ซึ่งได้มีพระเดชพระคุณปกเกล้าฯ มาแต่บรรพบุรุษสัตรีจนตลอดกาลนี้ แลเพื่อเป็นมงคลแก่ตัวเราด้วย

เพราะฉะนั้นในวันที่ ๖ เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำ สักการบูชาถวายบังคมพระบรมรูป แลโปรดเกล้า ฯ ให้อเนกนิกรชนมาถวายบังคมได้ตั้งแต่เวลา ๗ นาฬิกา ก่อนเที่ยง ถึง ๖ นาฬิกา หลังเที่ยง

กระทรวงวัง
วันที่ ๒๓ มีนาคม
พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ กำหนดการพระราชพิธีประดิษฐานพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมทนต์ พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุที่เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูป เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อายุพระนครจะบรรจบครบ ๑๕๐ ปี สมควรมีการสมโภชและสร้างสิ่งสำคัญเป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฏแก่อารยชนในนานาประเทศว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพ ฯ เป็นราชธานีแล้วบำรุงรักษาประเทศให้เป็นอิสระสืบมา ทรงปรึกษาพระราชปรารภแก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี ๒ สิ่งประกอบกัน คือพระบรมรูปพระ บาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน อำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ส่วน ๑ รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินช่วยส่วน ๑ อีกส่วน ๑ ทรงพระราชดำริให้บอกบุญเรี่ยไรชาวไทยทุกคน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันครบ ๑๕๐ ปี และมีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร และได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพตามขัตติยราชประเพณีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ที่โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวัน ที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นผม) พระสุพรรณบัฎจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงเสวยราชย์ พระดวงสวรรคต ลงในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุพระกรัณฑ์ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรแห่งพระบรมรูป และในพระราชพิธีนี้ได้ทรงบรรจุเส้นพระเจ้าพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงเสวยราชย์ พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุ ณ เบื้องสูงของพระเศียรแห่งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

การถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดรเป็นราชประเพณีประจำปีตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นมา ครั้นได้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประดิษฐาน ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื่องในการเฉลิมฉลองพระนครบรรจบครบ ๑๕๐ ปีแล้ว ในปีต่อมาทางราชการได้ประกาศให้ถือวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันที่ระลึกมหาจักรี และเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่ง กำหนดให้หยุดราชการและให้ชักธงชาติ และได้กำหนดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ สำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ พระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์และถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดร

การถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์นั้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้นมา เป็นการเสด็จของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕ – พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลบัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพวงมาลาเป็นราชสักการะ ภายหลังจากนั้นทรงมีพระราชปรารภพระราชทาน พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) เลขาธิการพระราชวัง ว่า การวางพวงมาลาตามคตินิยมของซาวไทยใช้สำหรับการไว้อาลัยแก่ชีวิตของผู้ที่จากไป แต่วันที่ระลึกมหาจักรี ๖ เมษายน นั้น เป็นมงคลดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี การถวายพวงมาลาจึงไม่เป็นการงดงามเหมาะสม ในปี พ.ศ.๒๔๙๗  สำนักพระราชวังได้เปลี่ยนเป็นจัดพานพุ่มดอกไม้สดทูนเกล้า ฯ ถวายเป็นเครื่องราชสักการะ

วันที่ระลึกมหาจักรีปัจจุบันนี้ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมราชานุสรณ์ ถวายพานพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วเสด็จพระราช ดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เสด็จ ฯ เข้าสู่พระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่พระบรมราชวงศ์จักรี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังปราสาทพระเทพบิดร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๘ รัชกาล แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

งานนี้แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายบังคมสมเด็จ พระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดร ตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๘ นาฬิกา

ที่มา:กรมศิลปากร

รัฐพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระกฤดาภินิหารในความเป็นนักรบที่กล้าหาญ ซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญในวีรกรรมที่ได้ทรงประกาศอิสรภาพทำให้เมืองไทยพ้นจาก อำนาจของพม่า และเมื่อพม่ายกกองทัพมาเหยียบยํ่าพื้นแผ่นดินไทยให้ตกอยู่ในอำนาจ กองทัพพม่าครั้งนั้นใหญ่หลวงมีพระมหาอุปราชาเป็นจอมทัพ ยกตีเข้ามาถึงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ยกกอง ทัพออกไปต่อสู้ในที่สุดสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาในท่ามกลางเหล่าทหารข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงของ้าวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแสนพลพ่ายฟันต้องพระอังสาของพระมหาอุปราชาขาดสิ้นพระชนมชีพอยู่กับคอช้าง สมเด็จพระนเรศวรและกองทัพไทยได้รับชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ เป็นที่เลื่องลือพระบรมเดชานุภาพไปยังประเทศใกล้เคียง เมื่อเสร็จสงครามยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ทุ่งหนองสาหร่าย ตำบลตระพังตรุ ตรงกับที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเรียกกันว่า เจดีย์ยุทธหัตถี

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถี เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ได้ช่วยกันค้นพบกองมูลดินปกคลุมด้วยต้นไม่จึงได้ดำเนินการ พิสูจน์หาหลักฐานประกอบแน่ชัดว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น เป็นอนุสรณ์ในครั้งทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสที่ได้ค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีนี้ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง ถวายราชสักการะเมื่อวันอังคารที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ มีประกาศสังเวยเทวดาโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์และทรงอ่านในวันสังเวย

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งขณะนั้นเจดีย์ยุทธหัตถียังเป็นมูลดินปกคลุมด้วยต้นไม้ มีรายการพระราชพิธีดังนี้

หลังจากเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสุพรรณบุรีแล้ว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปเทียบที่หน้าปะรำพิธี ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ เสด็จฯ ไปยังแท่นยกพื้นที่ตั้งโต๊ะวางเครื่องบวงสรวง ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน และเครื่องทองน้อย ทรงปักธูปที่เครื่องบวงสรวง ทรงกราบถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะนั้นชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์ แล้วเสด็จฯ ประทับปะรำพิธี โปรดเกล้าฯ ให้พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (สวาท รังสิพราหมณกุล) อ่านสดุดีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งประกาศนี้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงนิพนธ์

เมื่ออ่านประกาศบวงสรวงจบแล้ว พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วพระราชวงศ์ ข้าราชการทหาร พลเรือน จุดธูปเทียนถวายสักการะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ในปีต่อมารัฐบาลได้ตระหนักถึงพระราชวีรกรรมและคุณูประการอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีต่อประเทศชาติไทย อันควรจะได้เทิดทูนพระเกียรติยศให้ปรากฏเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์และประกาศให้ถือวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปีเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาติไทยและกองทัพไทยจึงได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยครอบองค์สถูปมูลดินนั้นไว้ เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว คณะรัฐมนตรีโดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเป็นงานรัฐพิธี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ มีรายการดังนี้

ที่พลับพลาพิธีตั้งพระคชาธารผูกศัสตราวุธประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลสมเด็จ พระนเรศวรมหาราช ทอดเครื่องนมัสการทองทิศพระแท่นทรงกราบ พระราชอาสน์และเก้าอี้ผู้มาเฝ้าฯ อาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์ ๑๐ รูป

ที่ฐานพระบรมราชานุสรณ์ตั้งขาหยั่งสำหรับวางพวงมาลา เครื่องทองน้อย เครื่องทองทิศ สำหรับทรงกราบถวายราชสักการะ และที่ลานหน้าพระบรมราชานุสรณ์ยกพื้นปูเสื่อพรม ตั้งโต๊ะสี่เหลี่ยมปูผ้าขาว วางเครื่องบวงสรวง มีหัวหมู บายศรี ของคาว-หวาน และผลไม้

ครั้นถึงเวลา ๙ นาฬิกา ๒๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ออกจากสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ไปลงยังสนามใกล้พระบรมราชานุสรณ์เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังมณฑลพิธี

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที เสด็จฯ เข้าสู่พลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะถวายศีล จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปประทับ ณ พระที่นั่งชุมสายหน้าพลับพลาพิธี พลเอก ถนอม กิตติขจร กราบบังคมทูลรายงาน การก่อสร้างพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ แล้วทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมแผ่นจารึก ขณะนี้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร บัณเฑาะว์ มโหระทึก และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศของพระบรมราชานุสรณ์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปบนแท่นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสรณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายที่แผ่นป้ายจารึกและทรงพระสุหร่ายฉีดสรงพระบรมรูป แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพวงมาลาและทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และเครื่องทองทิศ ทรงกราบ แล้วเสด็จฯ ไปยังพลับพลาพิธี พระสงฆ์ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งสู่พระมหานคร เมื่อเสด็จฯ กลับแล้ว พลเอก ถนอม กิตติขจร พร้อมด้วยคณะ กรรมการสร้างพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ ๑๐ รูป แล้วถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จการพระราชพิธี ต่อจากนี้ผู้ที่มาเฝ้าฯ ได้วางพวงมาลาถวายสักการะ

งานนี้เป็นงานออกหมายกำหนดการ แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ

ต่อมาทางราชการได้กำหนดไว้ว่าวันที่ ๒๕ มกราคม ให้มีรัฐพิธีถวายบังคมสมเด็จพระนเร¬ศวรมหาราช ณ พระบรมราชานุสรณ์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นงานประจำปี การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะโดยออกเป็นหมายกำหนดการ ดังนี้

เลขาธิการพระราชวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า วันที่ ๒๕มกราคม ซึ่งทางราชการได้กำหนดให้มีงานรัฐพิธีถวายบังคมสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ทรงพระราชดำริว่าเป็นวันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย มีรายการ คือ

เจ้าพนักงานตกแต่งพลับพลาพิธี ตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทอดเครื่องนมัสการทองทิศ ตั้งธรรมาสน์เทศน์ อาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์ สดับปกรณ์

ที่พระบรมราชานุสรณ์ ตั้งขาหยั่งวางพวงมาลา ทอดเครื่องทองทิศ เครื่องทองน้อยที่ทรงกราบ และตั้งโต๊ะวางเครื่องบวงสรวงคาวหวานไว้พร้อม

เวลา ๑๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงบริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีกราบบังคมทูลถวายรายงาน ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีทูนเกล้าฯ ถวายช่อดอกไม้แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรรณบุรีกราบบังคมทูลเบิกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดเฝ้าฯ แม่ทัพภาคที่ ๑ กราบบังคมทูลถวายรายงานและเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังแท่นรับการถวายความเคารพ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้บังคับกองทหารเกียรติยศกราบบังคมทูลถวายรายงานเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ

เมื่อทรงตรวจแถวกองทหารเกียรติยศแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปยังพระบรมราชานุสรณ์ ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ขณะนี้พนักงานประโคมสังข์ แตร มโหระทึก แล้วเสด็จฯ เข้าสู่พลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระราชาคณะถวายศีล พระสงฆ์ ๑๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปยังแท่นที่บวงสรวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนทองเทียนเงินที่โต๊ะเครื่องสังเวย ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปักธูปที่เครื่องบวงสรวง แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ ถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จฯ เข้าสู่พลับพลาพิธี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศบวงสรวง ประพันธ์โดย นายภาวาส บุนนาค

เมื่อหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศจบ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ประเคนสำรับภัตตาหารถวายพระสงฆ์แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การแต่งกายแต่งเครื่องแบบปรกติขาว

อนึ่งปีใดไม่เสด็จพระราชดำเนินจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และบางปีเปลี่ยนเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เสด็จฯ ไปแทนพระองค์ เป็นงานออกหมายกำหนดการ แต่ไม่มีการพระราชกุศลและอ่านประกาศบวงสรวง เสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะเท่านั้น

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาคือพระราชพิธีคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริ จัดมีขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่าพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

“การทำบุญวันเกิดทุกๆ ปีในเมื่อบรรจบรอบตามทางสุริยคติกาล เช่นทำกันอยู่ทุกวันนี้เกิดขึ้น โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นต้นเดิมมาแต่ยังทรงผนวช  ใช่ว่าจะตามอย่างจีนหรืออย่างฝรั่ง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าการซึ่งมีอายุมาถึงบรรจบครบรอบปีไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันอุดมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ควรยินดี เมื่อผู้มารู้สึกยินดีเช่นนั้นก็ควรจะบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น สมกับที่มีน้ำใจยินดี และควรที่จะทำใจให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ด้วยไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะอยู่ไปบรรจบรอบปีเช่นนี้อีกหรือไม่ ควรที่จะบำเพ็ญการกุศล และประพฤติหันหาสุจริตธรรม วันเกิดปีหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจครั้งหนึ่ง ให้รู้สึกว่าอายุล่วงไปใกล้ต่อมรณะอีกก้าวอีกคั่นหนึ่ง เมื่อรู้สึกมีเครื่องเตือนเช่นนี้ ก็จะได้บรรเทาความเมาในชีวิต ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นตัวอกุศลธรรมนั้นเสีย….”

ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษาตั้งแต่ยังทรงผนวชอยู่นั้น มีแต่สวดมนต์เลี้ยงพระ ๑๐ รูป เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเพียงเจริญพระพุทธมนต์และเลี้ยงพระเหมือนครั้งทรงผนวช เพิ่งจะทรงทำเป็นพิธีใหญ่เมื่อเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เป็นงาน ๓ วัน มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ที่ท้องพระโรง ๖๐ รูปเท่าพระชนมายุ ให้เจ้านายและข้าราชการทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระทุกวังทุกบ้าน เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคมคล้ายออกแขกเมือง เจ้านายและขุนนางอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล แล้วพระราชทานเหรียญทองคำตรามงกุฎแก่ข้าราชการ มีเทศนา ๕ กัณฑ์ และสรงมุรธาภิเษก

รัชกาลต่อๆ มาได้ถือเป็นราชประเพณีแต่ได้เปลี่ยนแปลงตามกาลสมัยของแต่ละรัชกาล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาได้กำหนดดังนี้

เสด็จออกมหาสมาคม
วันที่ ๕ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จฯ เข้าสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่โต๊ะเคียงด้านขวาทอดพระมหาพิชัยมงกุฎและพานทองคำลงยาวางแผ่นกระดาษพระราชดำรัส ที่โต๊ะเคียงด้านซ้ายทอดพานพระขันหมากและพระสุพรรณศรี ทอดพระสุพรรณราชที่ฐานเขียงพระแท่นราชบัลลังก์ ตั้งต้นไม้ทอง-เงิน สี่มุมพระราชบัลลังก์ หลังพระราชบัลลังก์พนักงานเครื่องสูงถวายอยู่งานพัดโบกคู่หนึ่ง มีมหาดเล็กเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์คือ พระมาลาและพระคทาจอมทัพ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พระแส้หางช้างเผือก พัดวาลวิชนี เข้าริ้วยืนเฝ้าฯ ตามตำแหน่ง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เฝ้าฯ ณ เบื้องซ้ายพระราชบัลลังก์ นายทหารรักษาพระองศ์ทุกเหล่าและราชองครักษ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักเฝ้าฯ เบื้องขวา พระราชบัลลังก์ เมื่อพร้อมแล้วเลขาธิการพระราชวังถวายความเคารพขอพระบรมราชานุญาตให้มหาดเล็กรัวกรับให้สัญญาณ ชาวม่านไขเปิดพระวิสูตร ตำรวจหลวงชูพุ่มให้สัญญาณถวายความเคารพ พนักงานกระทั่งแตรมโหระทึกทหารกองเกียรติยศที่ตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ข้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายความเคารพ ครั้นสุดเสียงประโคมแล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมารกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลแทนพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลแทนคณะรัฐมนตรี ประธาน รัฐสภากราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ จบแล้ว มหาดเล็กรัวกรับ ตำรวจหลวงชูพุ่มดอกไม้ทอง ชาวม่านไขปิดพระวิสูตร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ชาวพนักงานประโคมเช่นเวลาเสด็จออก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากพระแท่นราชบังลังก์นพปฎลมหาเศวต¬ฉัตร แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางพระทวารเทวราชมเหศวร์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

งานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายมหาจักรี สายสร้อยจุลจอมเกล้า

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา
บ่ายวันที่ ๕ ธันวาคม เจ้าพนักงานตกแต่งพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ ที่พระแท่นราชบัลลังก์นพปฎลมหาเศวตฉัตรเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบันขึ้นประดิษฐานบนโต๊ะหมู่ ตั้งพระกรัณฑ์ทองคำลงยาบรรจุพระสุพรรณบัฏพระดวงพระบรมราชสมภพมีพานทองคำ ลงยารองรับคลุมด้วยปักดิ้นทอง ทอดพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ และครอบพระกริ่งสำหรับทำนํ้าพระพุทธมนต์ถวายสรง บนฐานเขียงพระแท่นราชบัลลังก์ด้านหน้าตั้งเชิงเทียนปักเทียนพระมหามงคลคู่ ข้างซ้ายตั้งเทวรูปชื่อพระราชมุทธาธรเชิญหีบพระราชลัญจกร ข้างขวาตั้งเทวรูปชื่อพระราชบันฦๅ ธารเชิญพระแสงพระราชพิธี สี่มุมพระแท่นราชบัลลังก์ตั้งต้นไม้ทอง-เงิน และตั้งพานพุ่มดอกไม้แจกัน ดอกไม้รอบฐานพระแท่น

ด้านข้างขวาพระแท่นราชบัลลังก์นพปฎลมหาเศวตฉัตร ตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ ยอดตู้ทรงมงกุฎและตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูป เทวรูปนพเคราะห์องค์เสวยพร้อมด้วยดอกไม้สี ธูปเทียนตามกำลังของเทวรูป ด้านข้างซ้ายตั้งตู้เทียนเท่าพระองศ์ยอดตู้ทรงมงกุฎ และตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูป เทวรูปนพเคราะห์องศ์แทรก พร้อมด้วยดอกไม้สี ธูปเทียนตามกำลังของเทวรูปหน้าพระแท่นราชบัลลังก์นพปฎลมหาเศวตฉัตรทอดเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นและเครื่อง นมัสการลงยารองพร้อมที่ทรงกราบทอดพระราชอาสน์และเครื่องราชูปโภคตั้งอาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์ ที่จะรับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ และที่จะเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งโต๊ะปูผ้าขาววางผ้าไตร พัดยศ และเครื่องยศสมณศักดิ์ พร้อมทั้งตั้งเก้าอี้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทุกฝ่ายเฝ้าฯ

ส่วนที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ชานหน้าพระอุโบสถตั้งโต๊ะปูผ้าขาวสำหรับบรรพชิตญวนและจีนวางเครื่องดอกไม้เงิน-ทองในการถวายพระพร

ภายในพระอุโบสถที่ข้างธรรมาสน์ศิลาตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์คู่ ๑ บนธรรมาสน์ศิลาตั้งเทียนพระมหามงคลคู่ ๑ หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่และเครื่องนมัสการทองทิศพร้อมที่ทรงกราบ แนวผนังด้านเหนือตั้งอาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์ ๕ รูป สวดนวัคคหายุสมธัมม์ หน้าพระทวารกลางตั้งแท่นปูผ้าขาวตั้งบัตรนพเคราะห์ยอดวางบุษบกประดิษฐานเทวรูปนพเคราะห์มีธงเครื่องกระยาบวช ดอกไม้สี ธูปเทียนตามกำลังเทวดา

แนวผนังด้านใต้ทอดพระราชอาสน์และตั้งเก้าอี้สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรีและข้าราชการเฝ้าฯ

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยัง พระบรมมหาราชวัง รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินไปยังชานหน้าพระอุโบสถ บรรพชิตญวนและจีนถวายพระพรชัยมงคลและถวายดอกไม้เงิน-ทอง แล้วเสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนที่พระสงฆ์สวดนวัคคหายุสมธัมม์ แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนบูชาเทพยดานพเคราะห์ โหรลั่นฆ้องชัย พนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระสงฆ์ ๕ รูปเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ โหรบูชาเทพยดานพเคราะห์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จลงสู่ชานหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานราชสังคหวัตถุ แก่ข้าทูลละอองพระบาทผู้สูงอายุ แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระอุโบสถไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปเทียบหน้าพระทวารเทเวศร์รักษา เสด็จเข้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อาลักษณ์ กองประกาศิต สำนักนายกรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะและรองสมเด็จพระราชาคณะ จบแล้ว พระสงฆ์ ๑๐ รูปเจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนสุพรรณบัฏ หิรัญบัฎ พัดยศ ผ้าไตร แด่พระสงฆ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ แต่ถ้าปีใด ไม่สถาปนาสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะและรองสมเด็จพระราชาคณะ ไม่มีการอ่านประกาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ออกไปครองผ้าเรียบร้อยแล้วกลับมานั่งยังอาสนะถวายอนุโมทนา สมเด็จพระราชาคณะถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา นิมนต์พระสงฆ์ ๖๐ รูป ซึ่งจะเจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นนั่งยังอาสนะในพระที่นั่งตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์ และทรงจุดธูปเทียนบูชา พระพุทธรูปเทวรูปองค์เสวย พระพุทธรูปเทวรูปองค์แทรก แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่หน้าพระแท่นราชบัลลังก์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา อาราธนาศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงศีลแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และเมื่อถึงบทเสกทำนํ้าพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนที่ครอบพระกริ่งถวายสมเด็จพระสังฆราช เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงเสกนํ้าพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ ทรงจุดเทียนพระมหามงคลบูชาพระสยามเทวาธิราช คู่ ๑ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ขณะพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เสร็จแล้ว สมเด็จพระราชาคณะถวายอดิเรก ถวายพระพรลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายจุลจอมเกล้า

อนึ่ง ในวันนี้ตั้งแต่ ๙ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังได้จัดที่สำหรับลงพระนามและลงนามถวายพระพรไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง

เลี้ยงพระ
วันที่ ๖ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราชคู่ ๑ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลปัจจุบัน ทรงจุดเทียนบูชาพระพุทธรูปเทวรูปองค์เสวย พระพุทธรูปเทวรูปองค์แทรก แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ ๖๐ รูปที่เจริญพระพุทธมนต์ แต่วันก่อนและพระสงฆ์ที่สวดนวัคคหายุสมธัมม์ ๕ รูป ถวายพรพระจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนภัตตาหารแด่สมเด็จพระสังฆราชและประทับทรงปฏิบัติสมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ นอกนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงประเคนตามลำดับ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์พระราชทานเจ้าหน้าที่ นำไปตั้งที่จงกลธรรมาสน์เทศน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา อาราธนาธรรม สมเด็จพระสังฆราชถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ ซึ่งพรรณนาถึงพระราชกรณียกิจที่ได้ทรง
ปฏิบัติในรอบปีที่ผ่านมาโดยหลักที่ทรงปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมจักรวรรดิวัต จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธ มนต์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เจ้าหน้าที่ศุภรัต กองพระราชพิธี จะได้กราบบังคมทูลรายงานทรงพระราชอุทิศนำสัตว์ซึ่งในรัชกาลก่อนๆ มี หมู วัว ไก่ เป็ด ปลา ไปปล่อย ในรัชกาลปัจจุบันมีเฉพาะแต่ปลานำไปปล่อยที่ท่าราชวรดิษฐ์โดยเจ้าพนักงานทูลเชิญ พระราชวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งไปทรงปล่อยที่แม่น้ำเจ้าพระยา ใช้นํ้าจากพระเต้าที่ทรงหลั่งทักษิโณทกเทตามไปกับปลาที่ปล่อย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปประทับรถยนตร์พระที่นั่งที่พระทวารเทเวศร์รักษา เสด็จพระราชดำเนินกลับ

เจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน เวียนเทียนสมโภชดวงพระบรมราชสมภพ มีประโคม สังข์ แตร ดุริยางค์ เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว หัวหน้าพราหมณ์เจิมดวงพระบรมราชสมภพ

การแต่งกาย เครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายช้างเผือก

คณะทูตเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
การถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของคณะทูตานุทูตในรัชกาลปัจจุบัน แต่เดิมมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเฝ้าฯ ถวายพระพร ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นงานเต็มยศ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุบรรจบครบ ๕๐ พรรษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานเลี้ยงนํ้าชาเป็นเกียรติแก่คณะทูตานุทูตเป็นพิเศษจากที่เคยมา และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นงานแต่งกายแบบสากล และโปรดเกล้าฯ ให้ถือปฏิบัติในปีต่อมา มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ ๗ ธันวาคม เวลา ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังศาลาดุสิดาลัย เสด็จฯ ผ่านพระราชอาสน์ไปทรงยืนที่พระสุจหนี่ที่ทอดถวายไว้ สมุหพระราชมณเฑียร กราบบังคมทูลเบิกคณบดีคณะทูตเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จบคำถวายพระพรของคณบดี คณะทูตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ จบ วงดุริยางค์ซึ่งอยู่ที่สนามข้าง ศาลาดุสิดาลัย บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินนำคณะทูตานุทูตไปยังสนามด้านตะวันตกของศาลาดุสิดาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมุหพระราชมณเฑียรนำคณะทูตานุทูตตามเสด็จฯ เพื่อรับพระราชทานเลี้ยงน้ำชาและเครื่องว่างและโปรดเกล้าฯ ให้เชิญองคมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่บางท่าน ไปเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงนํ้าชาด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปฏิสันถารกับคณะทูตานุทูตตามพระราชอัธยาศัย สมควรแก่เวลา เสด็จขึ้นดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เป็นเสร็จสิ้น งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

เนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังออกบัตรกราบทูลและเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี รัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ข้าราชการฝ่ายทหาร ตั้งแต่ยศพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกขึ้นไป ข้าราชการฝ่ายพลเรือนตั้งแต่ชั้นเอกขึ้นไป ตลอดจนพ่อค้าคหบดีและผู้มีเกียรติอื่นๆ ที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ มารับพระราชทานเลี้ยง งานนี้เรียกว่า ราชอุทยานสโมสร ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ ๘ ธันวาคม เวลา ๑๗ นาฬิกา ณ บริเวณสวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ แต่งานนี้เมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปรกติก็โปรดเกล้าฯ ให้งด

อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ รัฐบาลสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นวันสำคัญของชาติ มีการเฉลิมฉลอง ดังข้อความในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อไปนี้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายนนั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนเเละหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ที่เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องในชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมานานแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ เรื่องวันชาตินั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วย ต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓

เนื่องด้วยประกาศให้ถือวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติรัฐบาลจึงได้กำหนดมีงานสโมสรสันนิบาตที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกบัตรกราบทูลเชิญ และเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะทูตานุทูต ผู้มีเกียรติทั้งไทยและต่างประเทศ ข้าราชการ ผู้ใหญ่ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปในงานนี้เพื่อถวายพระพรชัยมงคล การแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ

อนึ่ง ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษากองทัพไทยได้จัดให้กรม กองทหารรักษาพระองค์ทุกเหล่าทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ลานพระราชวังดุสิต บริเวณพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง (เปิดประทุน) มีนายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ ครุฑพ่าห์ขึ้นรถนำเสด็จฯ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตามเสด็จ เมื่อทรงตรวจพลเสร็จแล้วเสด็จฯ ประทับพลับพลา กองทหารถวายคำสัตย์ปฏิญาณ ถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ แล้วทอดพระเนตร ทหารเดินสวนสนามตามลำดับ แล้วเสด็จฯ กลับ

การแต่งกาย เครื่องแบบเต็มยศ

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราช

เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ครั้งนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการวันปิยะมหาราชทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้นเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระ แท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม

ส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่า พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่ง

ในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็นกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวังซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวังได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคมไฟ ราวเทียน กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ครั้นต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว เมื่อถึงอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เชิญพระบรมอัฐิออกประดิษฐานข้างเคียงพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมใน พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานด้วย การพระราชกุศลมีดังนี้

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมราชานุสรณ์ ที่พระลานพระราชวังดุสิต ถวายพวงมาลาแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองทิศและเครื่องทองน้อย ทรงกราบถวายราชสักการะ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอิฐ พระสงฆ์ ๕๗ รูปเท่าจำนวนพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียน เครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์และพระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนาสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

งานนี้แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ

ที่มา:กรมศิลปากร