ตุ๊กตาเสียกบาลศิลปะกับความเชื่อ

งานสะเดาะเคราะห์ที่เป็นอุตสาหกรรมศิลป์

“ตุ๊กตาเสียกบาล”

ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหู..ภาพอาจไม่คุ้นตาเท่าเครื่องถ้วยชามสังคโลกที่ใคร ๆ รู้จัก

แต่คุณค่าของตุ๊กตาเสียกบาลจากศรีสัชนาลัย ไม่เพียงแต่เป็นงานสะสมที่นักสะสมศิลปโปรดปาน พอ ๆ กับสังคโลก

หากสะท้อนภาพขนบธรรมเนียมยุคเก่า ซึ่งชายหญิงใช้โอนอันตรายทั้งปวงซึ่งจะเกิดกับตนเองไปให้กับตุ๊กตานั้น ตุ๊กตาเหล่านี้ เคลือบด้วยน้ำยา

จากเตาเผาตามแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตศรีสัชนาลัย พบตุ๊กตาที่ปั้นเป็นเพศหญิงชาย ในอิริยาบถต่าง ๆ กัน มากมาย เช่น

หากเป็นหญิงจะเกล้าผมมวย มีจุก เปลือยอก นั่งตัวตรง มืออุ้มเด็กทารกหรือเด็กอ่อนแนบอก พนมมือทั้งสองข้างถือดอกไม้ หรือพัด

ส่วนชาย หัวจะแบน แก้มตุ่ยคล้ายอมหรือเคี้ยวหมากหรือเมี่ยงข้างใดข้างหนึ่ง มืออุ้มไก่ชน หรือปลากัด เป็นต้น

ที่เรียกว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” ก็เพราะเป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้นเพื่อนำไปตัดศีรษะ การตัดศีรษะก็เพื่อสะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุของบุคคลที่นำมาปั้นเป็นตุ๊กตา ทั้งชายและหญิง

เช่นผู้หญิงไทยสมัยก่อนกลัวอันตรายจากการคลอด เพราะการทำคลอดสมัยโบราณอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทั้งแม่และเด็ก

สตรีใกล้คลอดจึงมีการทำตุ๊กตาเป็นรูปนางและบุตร แล้วไปตัดศีรษะ โอนอันตรายไปให้ตุ๊กตานั้นแทน

ตุ๊กตาที่คอไม่ขาด…ยังพอหลงเหลืออยู่ให้เห็นเป็นคุณค่าทางงานศิลปะ ที่สะท้อนชีวิต..ความอยู่รอด..ความเชื่อถือของคนสมัยโบราณ

โดยเฉพาะ พบได้ที่เตาเผาเก่าที่ศรีสัชนาลัย ผลิตทั้งเครื่องถ้วยชาม วัสดุทางสถาปัตยกรรม ตุ๊กตาคน ตุ๊กตาสัตว์ ที่นี่คือแหล่งเตาเผามูลค่ามหาศาล แม้สักห้าพันโกฏิ…ก็มิอาจประเมินได้

“ตุ๊กตาเสียกบาล” หนึ่งในศิลปอุตสาหกรรมไทย สมัยศรีสัชนาลัย

หัวล้าน:ลักษณะของหัวล้าน ๗ ประเภท ๗ ชนิด

เมื่อปีกลายราว ๆ กลางปีมีจังหวัดหนึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นจังหวัดใด (เพราะฟังจากวิทยุ) และมีงานอะไร แต่ในงานนั้นได้ประกาศว่ามีประกวดหัวล้าน ไม่ทราบว่าเขาประกวดอย่างไร มีกฎเกณฑ์ในการตัดสินเป็นไฉน ว่ากันมั่ว ๆ ไปสักแต่ว่าเห็นหัวไหนสวยก็ให้รางวัลหรือว่าแยกเป็นประเภท ชนิด ถ้าแยกเป็นประเภท-ชนิดละก็ รางวัลที่ ๑ เห็นจะต้องมีถึง ๗ รางวัล เพราะว่าหัวล้านนั้นมีอยู่ถึง ๗ แบบ ๗ ชนิด และจะหาคนหัวล้านจากที่ไหนมาประกวดได้ครบ

บางท่านอาจจะค้านว่า “อ้าว-ก็ว่ามีถึง ๗ ประเภท ๗ ชนิด แล้วทำไมถึงจะว่าหาไม่ได้ครบล่ะ”

ถูกละครับ มันมี ๗ แบบ ๗ ชนิด แต่ว่าในพื้นที่แคบ ๆ ระดับเมือง ระดับจังหวัดนั้นจะหาครบได้ที่ไหน มันต้องระดับโลกหรือระดับประเทศนั่นแหละครับ จะพอควานหากันได้

ในเมื่อเป็นเรื่องเอิกเกริกฮือฮากันถึงขนาดจัดประกวดกันแล้ว ก็ต้องเขียนตำรากันหน่อยเผื่อว่าใครเห็นงามจะจัดประกวดกันขึ้นอีกจะได้เอาเป็นแนวทางวินิจฉัย และหากประกวดกันครึกโครมจริง ๆ ฝรั่งก็เห็นจะต้องมาถ่ายวิดีโอไปออกข่าว เพราะฝรั่งเองก็ยังไม่มีตำราหัวล้านเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่คนหัวล้านเต็มเมือง หาได้ง่ายกว่าเมืองไทยหลายเท่า

เท่าที่ได้ยินได้ฟังมาท่านว่ากันว่ามี ๗ ชนิด ได้พยายามสังเกตสังกามาตลอดก็ยังไม่เห็นมีเพิ่มมาเกินกว่าที่ท่านว่า ทั้งหัวฝรั่ง หัวไทย ๗ ชนิดที่ท่านว่านั้นมีดังนี้

๑. ทุ่งหมาหลง

๒.  ดงช้างข้าม

๓.  ง่ามเทโพ

๔.  ชะโดตีแปลง

๕.  แร้งกระพือปีก

๖.  ฉีกขวานฟาด

๗.  ราชคลึงเครา

เห็นไหมละครับ ท่านว่าของท่านเป็นบทเป็นกลอนเสียด้วย นี่ละครับคนไทย

เพลงร้องก็เคยมี แต่เนื้อเพลงจาระไนไม่สู้จะได้ความนัก เนื่องจากคนแต่งมือไม่ถึง และยังไม่เข้าใจลักษณะหัวล้านดีพอ จึงไม่ถ่องแท้ในชื่อที่เขาตั้ง

ลักษณะ

ทุ่งหมาหลง นั้นลักษณะก็คือ ล้านเกลี้ยง บนหัวไม่มีผมสักเส้น เปรียบเหมือนทุ่ง ซึ่งไม่มีต้นไม้ใบหญ้าให้สังเกตสังกาเอาเลย หมาจึงหลง เจ้าคุณไชยยศสมบัติไงล่ะครับ ลักษณะนี้ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอาจารย์เสนีย์  ปราโมช  สมัยหลังสุดนี่ก็อีกท่านหนึ่ง

ดงช้างข้าม คือเลี่ยนเป็นทางตรงช่องกลางตั้งแต่หน้าผากจรดท้ายทอย เปรียบเสมือนป่า ที่ช้างมันข้ามมันเดินกันเป็นประจำ จนเป็นเทือกเป็นทาง ต้นไม้มันเลยไม่ขึ้น ไม่ว่าแต่ช้างหรอกครับ คนก็เหมือนกัน-ถ้าเดินทางใดเป็นประจำทางนั้นหญ้าก็ไม่ขึ้น เพราะเช่นนั้นจึงต้องมีการปักป้าย “ห้ามเดินลัดสนาม” ไงล่ะครับ เพราะลงได้หญ้าตายเป็นทางเสียแล้วคนก็ต้องเดินกันเรื่อยละ แล้วหญ้าจะโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร

ลักษณะนี้เราได้เห็นกันอยู่ทุกวันทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และในโทรทัศน์ ก็โฆษกเอกของทำเนียบไงละครับ แต่ของท่านถ้าประกวดขณะนี้คงยังไม่ได้รางวัล เพราะยังมีหญ้าอยู่บาง ๆ

ง่ามเทโพ แหลมเข้าไปสองข้างตรงรอยแสก-ลักษณะเหมือนเงี่ยงปลาเทโพแทงเข้าไป แต่ถ้าปลายแหลมงุ้มเข้าหากันกลางศีรษะเขาเรียก “ง่ามถ่อ” ใครที่เคยเห็นง่ามถ่อคงหายสงสัย เพราะเป็นง่ามงุ้มเข้าหากันเหมือนเขาควาย อีนี่หาตัวอย่างให้ดูไม่ได้ มีครับ เยอะด้วยแต่มันไม่มีในบรรดาท่านที่ดัง ๆ ที่ได้เห็นหน้าหนังสือพิมพ์

ชะโดตีแปลง ลักษณะเป็นวงกลมข้างหลัง-เหมือนปลาชะโดที่มันดิ้นตีแปลงอยู่ในปลักตม มีตัวอย่างพอยกให้เห็นได้ครับอีนี่คุณสุประวัติ  ปัทมสูตร ไงล่ะ

แร้งกระพือปีก อีนี่เลี่ยนกลางจากข้างหน้าเข้าไปท้ายทอย ลักษณะก็เหมือนดงช้างข้าม ทว่าผมสองข้างพองออกเป็นปีก เหมือนปีกนกที่กำลังกระพือ จึงเรียก “แร้งกระพือปีก”

ฉีกขวานฟาด อีนี่เถลิกหน้าเข้าไปเป็นแหลม เป็นรูปสามเหลี่ยม เหมือนดินที่ถูกขวานฟัน ลองเอาขวานฟันดินที่หมาด ๆ หนึก ๆ ดูเถอะครับ จิกคมขวานลงไปตรง ๆ ดินตรงโคนขวานจะเบอะออกไปรับกับตรงปลายขวานเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พอมีตัวอย่างบุคคลสำคัญครับลักษณะนี้ แต่เดี๋ยวนี้ลักษณะกลายไปเสียแล้ว อ้างไปก็มองไม่เห็นเว้นแต่คนที่เคยเห็นเมื่อก่อนนี้

ลักษณะนี้กลายง่ายครับ เมื่อเป็นใหม่ ๆ จะเป็นรูป ๓ เหลี่ยม แต่ไป ๆ พอมีอายุเข้าหน่อยจะกินวงกว้างออกไป และถ้าหากมีชะโดตีแปลงอยู่ข้างหลังด้วย ก็จะกินวงจดกันกลายเป็นดงช้างข้ามไป

ราชคลึงเครา อีนี่ก็ลักษณะของดงช้างข้ามหรือแร้งกระพืปีก แต่ว่ามีเคราตั้งแต่จอนหูลงมาจนจดถึงคาง ถ้าดก ๆ หนา ๆ และตัดแต่งให้ดีแล้ว อื้อฮื้อ งามชะมัด อีนี่คนไทยมักไม่ค่อยมี แขก ฝรั่ง มีเยอะและเขาเห็นว่าเป็นบุคลิกที่เข้ม จึงมักเอามาแสดงหนังให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ

วิสัชชนาเรื่องหัวล้านมา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล

เช็งเม้ง : ประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน

เช็ง แปลว่า สะอาด แจ่มใส

เม้ง แปลว่า สว่าง

เมื่อรวมกันแล้วก็แปลว่า แจ่มใส หรือปลอดโปร่ง ซึ่งเป็นสภาพอากาศของประเทศจีนในฤดูใบไม้ผลิ ชาวจีน โดยเฉพาะสุภาพสตรี จึงอาศัยสภาพที่ปลอดโปร่งนี้เองเดินทางไปเที่ยวตามหลุมศพของบรรพบุรุษ เพื่อบูรณะบำรุงไม้ใบไม้ดอกซึ่งโทรมไปเมื่อตอนฤดูหนาว

ผู้หญิงนั้นเสมือนน้ำ ผู้ชายเปรียบเสมือนปลา น้ำถึงไหนปลาก็ถึงนั่น โบราณท่านว่าไว้ ฉะนั้นเมื่อมีผู้หญิงหรือจะไร้ซึ่งผู้ชาย ของมันชอบ ๆ กันอยู่แล้ว ก็ต้องตามไปตื๊อกัน ก็เลยกลายเป็นขบวนและกลายเป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษไปอีกอย่าง

เทศกาลนี้มักตรงกับวันที่ ๕ เมษายน (ตามระบบสุริยคติ) แต่ก็มีอยู่ปีหนึ่ง คือ พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่ตรงกับวันที่ ๔ ทั้งนี้ก็เนื่องจากปฏิทินของเขาเป็นปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งปีหนึ่งวันขาดไปตั้ง ๑๑ วัน ต้องมีอธิกมาส ๓ ปีหน เหมือนของเราเหมือนกัน และเมื่อเพิ่มแล้วก็ยังอาจขาดได้อีก เพราะเขาไม่มีอธิกวาร ฉะนั้นนาน ๆ ไปจึงอาจคลาดเคลื่อนได้ อนึ่งการกำหนดวันเช็งเม้งนั้นเขานับต่อแต่เทศกาลตงจื้อมา ๑๐๖ วัน ถ้าวันตงจื้อคลาดเคลื่อน ก็ต้องเคลื่อนตามกันมา

การละเล่นพื้นเมืองของภาคอีสาน

การละเล่นเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัตินอกเหนือจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เป็นนันทนาการ เป็นกิจกรรมที่เล่นกันในเวลาว่าง มีกติกาหรือวิธีเล่นที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อน ทำให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะเป็นอย่างดี

การละเล่นของภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นการละเล่นของพวกเด็ก ๆ แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถจะเล่นได้ กลับได้รับความสนุกสนานได้ออกกำลังกาย ไม่แพ้เด็กเหมือนกัน

ม้าหลังโปก

ม้าหลังโปก เป็นการละเล่นที่มีมานานแล้ว ชอบเล่นในพวกเด็กและหนุ่มสาววัยรุ่น เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน เป็นการออกกำลังกาย

สถานที่เล่น ลานกว้าง เช่น ลานวัด โรงเรียน หรือสนาม

อุปกรณ์การเล่น ผ้าขาวม้าม้วนเป็นก้อนกลม หรือลูกบอลขนาดเล็ก

จำนวนผู้เล่น เล่นได้ทั้งชาย-หญิง ประมาณ ๑๐ คู่

วิธีการเล่น ผู้เล่นยืนเป็นคู่ ๆ เป็นวงกลมห่างกันประมาณ ๑-๒ วา คนที่เป็นม้าก้มลงมือทั้งสองจับเข่า อีกคนหนึ่งขี่ข้างหลัง เมื่อทุกคู่พร้อมแล้ว คู่ที่ถือลูกบอลหรือผ้าขาวม้าเริ่มโยนไปรอบ ๆ ให้คนที่ขี่ข้างหลังรับ ถ้าบอลหรือผ้าขาวม้าตกให้ผู้เป็นม้า (คนที่ถูกขี่หลัง) แย่งลูกบอลหรือผ้าขาวม้านั้นขว้างคนที่ขี่ คนที่ขี่ต้องรีบลงจากหลังวิ่ง ถ้าขว้างถูกคนขี่ต้องเป็นม้า และม้ากลับเป็นคนขี่

โค้งตีนเกวียน

โค้งตีนเกวียน เป็นการละเล่นของเด็กและพวกหนุ่มสาวอีกอย่าง                            หนึ่งซึ่งมีการเล่นมาช้านาน เป็นการเล่นเพื่อทดสอบสมรรถภาพทางกาย เพื่อความสนุกสนานเพื่อออกกำลังกายในเวลาว่าง

สถานที่เล่น ลานกว้าง เช่น ลานวัด ลานบ้าน สนาม

อุปกรณ์การเล่น ไม่มี ใช้คนเล่นทั้งหมด

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน เล่นได้ทั้งชาย-หญิง เล่นด้วยกันได้ทั้งชาย-หญิง

วิธีการเล่น แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ พวก พวกที่หนึ่งยืน อีกพวกหนึ่งนั่ง

พวกที่หนึ่ง  เอาเท้ายันกันไว้ตรงกลางและเอามือจับคนที่ยืน ซึ่งยืนสลับกับคนนั่งระหว่างคน ๒ คน การจับมือให้จับเป็นมัดข้าวต้มทั้งมือซ้ายและขวา แล้วพวกยืนพาเดินหมุนไปรอบ ๆ เป็นวงกลมคล้ายกับล้อเกวียนเวลาหมุน ถ้าฝ่ายนั่งทำมือหลุดหรือแยกออกจากกันจะเป็นฝ่ายแพ้ เปลี่ยนให้ฝ่ายยืนมานั่งแทน แล้วเล่นกันต่อไป

การเล่นบัก “อี”

บักอี เป็นการเล่นประเภททีม เพื่อความสนุกสนานเพื่อเป็นการออกกำลังกาย เพื่อฝึกไหวพริบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และฝึกการตัดสินใจที่เด็ดขาดรวดเร็วไม่ลังเล เป็นการละเล่นที่นิยมของพวกผู้ชายวัยรุ่นและเด็ก ๆ

สถานที่เล่น สนาม ลานวัดกว้าง ๆ

อุปกรณ์การเล่น

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น ๑.  แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย เท่า ๆ กัน

๒.  ฝ่ายใดชนะเสี่ยงฝ่ายนั้นเริ่มก่อน

๓.  ฝ่ายเล่นก่อน อี เข้าไปก่อนทีละคน โดยสลับกันฝ่ายตรงข้าม โดยพยายามอี เข้าไปแตะฝ่ายตรงข้ามให้ได้

กติกา ๑.  การ อี นั้นจะต้องมีเสียงตลอดและจะต้องไม่เห็นฟัน

๒.  ถ้าฝ่ายรับถูกแตะยังไม่พ้นเขตมีสิทธิ์ที่จะจับคน อี ได้ ถ้าคนอี พ้นเขตไปถือว่าคนที่ถูกแตะต้องออกจากการแข่งขันไป

๓.  ถ้าคน อี ถูกจับและหยุดเสียง อี อยู่ในแดนรุกหรือเห็นฟันถือว่าตาย

๔.  เล่นประมาณ ๕-๑๐ นาที ฝ่ายใดเหลือมากเป็นฝ่ายชนะ หรือเล่นไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดหรือยอมแพ้

 

 

 

“ชนวัว” กีฬาของชาวไทยภาคใต้

ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

“การชนวัว” หรือ “การชนโค” เป็นกีฬาประเภทการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้นสนุกสนานและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมที่รักการต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง กีฬาชนวัวได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะชาวภาคใต้ถือเป็นกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาประจำถิ่นอันสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน นับได้หลายศตวรรษทีเดียว กีฬาชนวัวหาได้นิยมเฉพาะแต่ในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้นไม่ ในต่างประเทศ เช่น ประเทศโคลัมเบียในทวีปอเมริกากลางก็นิยมกีฬาประเภทนี้เป็นอย่างมากเช่นกัน

กีฬาชนวัวเริ่มมีในสมัยใด มีความเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงนิยมกันมากในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่มีท่านผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่า ชาวไทยภาคใต้น่าจะได้กีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส คือในสมัยพระเจ้าเอมมานูแอลแห่งโปรตุเกส ได้แต่งฑูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับไทย ในปี พ.ศ.๒๐๖๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นั้นได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขาย กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นั้น ได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายในเมืองไทย อันนับเป็นฝรั่งชาติแรกที่ได้เข้ามาค้าขายกับไทยโดยทางเรือและทำการค้าขายใน ๕ เมือง คือ ที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเมืองมะริด นอกจากการค้าขายแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมของเขาไว้หลายอย่าง เช่น การคิดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัวรวมอยู่ด้วย

ในระยะแรกของการชนวัวนั้น เชื่อว่าคงเอาวัวมาชนกันเล่น เพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาได้มีการพนันขันต่อกันด้วยตามวิสัยของมนุษยชาติ กีฬาชนวัวจึงได้กลายมาเป็นการพนันประเภทหนึ่งขึ้นด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นกีฬาที่มีการพนันแทรกเข้ามาโดยมีการได้เสียกันเป็นเงินเรือนหมื่นเรือนแสนทางราชการก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมการเล่นประเภทนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมืองเพื่อป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ ขึ้น โดยจัดให้มีบ่อนชนวัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่า “สนามชนโค” (โดยทางราชการได้กำหนดให้ขออนุญาตในการตั้งบ่อน และขออนุญาตทุกครั้งที่จะจัดให้มีการชนวัว) หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า “บ่อนชนวัว” หรือ “บ่อนวัวชน” และเพื่อขจัดความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่จะ เกิดขึ้นกับกีฬาชนโคดังกล่าว ทางสนามชนโคจึงได้จัดทำกติกาสำหรับกีฬานี้โดยตรงขึ้น  โดยให้ใช้เหมือน ๆ กันเกือบทุกแห่งในเวลาต่อมา

การชนวัว มักจัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานเทศกาลสารทเดือนสิบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช งานฉลองรัฐธรรมนูญเดิม หรืองานเฉลิมพระชนมพรรษาในปัจจุบันที่จังหวัดตรัง เป็นต้น ในช่วงปกติจะชนได้เดือนละ ๑ ครั้งเท่านั้น โดยกำหนดให้ชนได้ในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์หนึ่งใดของเดือน แต่ถ้าวันเสาร์ใด วันอาทิตย์ใดตรงกับวันธรรมสวนะหรือวันพระก็ต้องเลื่อนไปชนกันในวันเสาร์อื่นอาทิตย์อื่น ในปัจจุบันจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ที่นิยมกีฬาประเภทนี้กันมาก คือ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส ในบางอำเภอของจังหวัดกระบี่และที่อำเภอบ้านนาสารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้กีฬาชนวัวยังได้แพร่หลายขึ้นไปทางจังหวัดภาคเหนือบางจังหวัด คือ จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก แต่ก็ไม่นิยมกันจริงจังเหมือนในจังหวัดภาคใต้

การชนวัวในจังหวัดภาคใต้นั้นส่วนมากจะไม่จัดให้ตรงกัน คือหมุนเวียนกันชนในจังหวัด หรืออำเภอที่ใกล้ ๆ กัน เช่น บ่อนหนึ่งชนวันเสาร์ อีกบ่อนหนึ่งชนวันอาทิตย์หรืออาจจะทำการชนกันคนละสัปดาห์ของเดือนหนึ่ง ๆ ก็มี ทั้งนี้เพื่อให้นักเลงชนวัวได้มีโอกาสได้เล่นพนันกันอย่างทั่วถึง อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเลงชนวัวในจังหวัดภาคใต้ได้รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นส่วนมาก

วัวที่ใช้ชนหรือทำเป็นวัวชนนั้นต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะถึงจะดี วัวใช้งานธรรมดาหรือวัวเนื้อไม่ค่อยจะนิยมใช้เป็นวัวชนกันนัก วัวชนต้องเป็นวัวตัวผู้ อายุระหว่าง ๔-๖ ปี ซึ่งเรียกว่า “ถึก” อันเป็นระยะเวลาของอายุที่ทำการชนได้ ถ้าไม่แพ้หลายครั้งหรือเสียวัวเสียก่อนก็อาจจะชนได้ถึงอายุ ๑๔-๑๕ ปี แต่ในระยะอายุ ๑๔-๑๕ ปี ดังกล่าววัวจะเริ่มแก่แล้วก็ต้องเลิกชนไปในที่สุด

วัวชนที่ดีต้องมีคุณสมบัติบางอย่างในการต่อสู้ คือ ต้องมีน้ำใจทรหดอดทน มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์หลายอย่างตามความเชื่อ เท่าที่มีผู้กล่าวไว้ในอดีต ถ้าจะประมวลมากล่าวเฉพาะที่สำคัญได้ดังนี้

ตาม “ตำราดูลักษณะโค” ซึ่งนายพร้อม  รัตโนภาศ เป็นผู้รวบรวมจากหนังสือบุด หรือสมุดข่อย ที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ลงพิมพ์ในหนังสืองานประจำปีนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ กล่าวถึงลักษณะของวัวทั่วไปและลักษณะของวัวชนไว้ว่า วัวหรือโคจะดีจะชั่วจะเป็นโภคทรัพย์ สิริมงคลหรืออัปรีย์จัญไร ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่า มีลักษณะที่จะพึงสังเกตได้อยู่ ๓ ประการคือ

๑.  ขวัญ

๒.  สีหรือชาติพันธุ์

๓.  เขา

ขวัญ

ลักษณะของขวัญที่เป็นอยู่ตามตัววัวนั้นท่านบรรยายไว้ดังนี้ คือ

๑)  ขวัญที่เรียกว่า “ขวัญเดิม” คือเป็นอยู่ตรงหน้าผาก ขวัญนี้ไม่ดีไม่ชั่ว

๒)  ขวัญที่เรียกว่า “สูบสมุทร” นั้นอยู่เบื้องบนและตรงกับจมูก (แต่ไม่ถึงหน้าผาก) ขวัญนี้ท่านว่าร้ายนัก วัวตัวใดมีขวัญชนิดนี้ท่านห้ามมิให้เลี้ยงรักษา จะนำความเดือดร้อนมาให้

๓)  ขวัญที่อยู่ตรงขากรรไกรนั้นดีควรเลี้ยงไว้

นอกจากนี้ยังมีวัวสีอื่น ๆ อีกที่จัดอยู่ในจำพวกสีดำได้แก่

“สีหมอก” หรือ “สีขี้เมฆ” คือ สีเทาที่ค่อนไปทางขาว

“สีเขียว”หรือ “กะเลียว” เป็นสีเขียวอมดำ เช่น วัวเขียวไฟแห่งอำเภอปากพนังในอดีตเป็นสีวัวที่หายากอย่างหนึ่ง

ชาติวัวโหนดหัวแดง เป็นวัวที่มีสีตัวดังนี้คือ มีสีแดง (น้ำตาลปนแดงหรือสีเหลือง) ที่หน้าผากหรือที่เรียกว่า “หน้าหัว” คอสีดำ กลางตัวแดงเหมือนสีที่หน้าผาก ส่วนที่ท่อนท้ายของลำตัวเป็นสีดำ

วัวโหนดหัวแดงนี้ตามตำรากล่าวไว้ว่าชนะวัวบิณฑ์น้ำข้าว

วัวโหนดที่นิยมเป็นวัวชน ได้แก่

“โหนดร่องมด” คือร่องกลางหลังมีสีแดงหรือเหลืองดังทางเดินหรือแถวของมดคันไฟ

“โหนดคอหม้อ” บางทีเรียกว่า “คอหม้อ” หรือ “คอดำ” คือหัวดำ คอดำ กลางตัวสีน้ำตาลไหม้ ส่วนท้ายของลำตัวสีดำ ที่เรียกว่า  “คอหม้อ” เพราะที่คอสีดำเหมือนดินหม้อนั่นเอง

“โหนดหัวดำ” สีตัวส่วนอื่น ๆ เหมือนโหนดหัวแดง เว้นเฉพาะที่หน้าผากเป็นสีดำ

สีโหนด เป็นสีของวัวสีหนึ่งที่มีในภาคใต้ โดยเรียกสีชนิดนี้จากการเทียบกับสีของลูกตาลโหนดคลุกนั่นเอง

อนึ่ง  วัวสีโหนดตัวใดที่มีข้อเท้าขาวทั้งสี่เท้าบางคนก็จะเรียกว่า “สีลางสาด” อีกสีหนึ่งก็เรียก

ชาติวัวบิณฑ์น้ำข้าว เป็นวัวสีขาวดุจสีน้ำข้าวหรือสีสังข์

วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวนี้ท่านว่าชนะวัวสีแดง

วัวสีขาวมีหลายชนิด แต่ที่นิยมเป็นวัวชนได้แก่ วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นก็มีสีขาวชนิดอื่น ๆ เช่น

“ขาวลางสาด” คือสีขาวที่เหมือนสีเปลือกผลลางสาดทั้งตัว หรืออาจจะมีสีขาวเฉพาะตรงกลางแล้ว ส่วนที่หัว คอ และส่วนท้ายสีดำก็เรียก “ลางสาด” เช่นกัน

ฉะนั้น “วัวสีลางสาด” หรือ “วัวลางสาด” มี ๓ จำพวก คือ

(๑)  มีสีขาวเหมือนสีเปลือกผลลางสาดทั้งตัว

(๒)  มีสีขาวเหมือนสีเปลือกผลลางสาดเฉพาะกลางตัว ส่วนที่หัว คอ และส่วนท้ายดำหมด

(๓)  วัวสีโหนดทุกชนิดที่มีสีตรงข้อเท้าลงมาเป็นสีขาวหมดทั้งสี่เท้า ส่วนวัวสีขาวบางชนิดที่ตำราห้ามมิให้ใช้เป็นวัวชน คือ “ขาวชี” หรือ “ขาวเผือก” คือวัวที่มีสีตัวเป็นสีขาวใส

ชาติวัวแดงหงส์ เป็นวัวสีแดงสะอาด คือแดงไม่เข้มหรือไม่จางจนเกินไป วัวตัวนี้จึงสีแดงตลอดทั้งตัว แม้แต่สีเขาและเล็บก็เป็นสีแดง

วัวสีแดงชนิดอื่น ๆ ที่นิยมรองลงมา ได้แก่

“แดงไฟ” คือสีแดงเหมือนเปลวเพลิง แดงเข้มกว่าแดงหงส์เล็กน้อย

“แดงพังพอน” คือสีแดงอย่างสีพังพอน

“แดงลั่นดา” คือสีแดง เหมือนสีกุ้งแห้งหรือสีออกแดงจัดจนเป็นกำมะหยี่ แต่จมูกขาวหรือลาย

กล่าวกันว่า วัวสีแดงลั่นดา ชนเดิมพันมากแล้วมักจะไม่ชนะคู่ต่อสู้ แต่ถ้าชนเดิมพันน้อยก็แพ้ยาก ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวในหมู่นักเลงชนวัวเป็นทำนองเตือนใจเอาไว้ว่า “วัวลั่นดา ปลาโดงแดง อย่าแทงมาก” แต่ถ้าเป็นวัวสีแดงลั่นตาหางดอก (ขนหางสีขาวหรือสีขาวแซมสีอื่น) ที่เรียกตามภาษานักเลงชนวัวว่า “ผ้าร้ายห่อทอง” กลับเป็นวัวที่มีลักษณะดีอย่างหนึ่งเสียด้วยซ้ำไป

อนึ่ง วัวชนที่มีลักษณะไม่ดี เช่น หางสั้นมากจนผิดปกติ หรือหางยาวมากจนเกินไป ๑ เขากางมาก ๑ เป็นวัวหลังโกง ๑ เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะที่ไม่ดีทั้งสิ้น แต่ถ้าทั้ง ๓ ลักษณะดังกล่าวมารวมอยู่ในวัวตัวเดียวกัน คือ “เขากาง หางเกิน และหลังโกง” ก็กลับถือว่าเป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งไป เช่น วัวแดงไพรวัลย์ วัวชนที่มีชื่อเสียงลือนามในอดีตก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน ในภาษาถิ่นใต้ที่ออกชื่อว่า “ลั่นดา” หรือ ลันดา” มีอยู่ ๓ ชื่อคือ

–         ของใช้คือเลื่อยชนิดหนึ่งเรียกว่า “เลื่อยลั่นตา”

–         พืชคือกล้วยชนิดหนึ่งเรียกว่า “กล้วยลั่นดา” บางท้องถิ่นเรียกว่า “กล้วยกุ้ง” ก็เรียก

–         สัตว์คือวัวที่สีแดงดังกล่าวเรียกว่า “วัวลั่นดา”

สำหรับข้อแรกคนปักษ์ใต้เข้าใจเอาว่า เลื่อยชนิดนี้คงเป็นของชาติวิลันดาหรือฮอลันดามาก่อน ส่วยอย่างหลังทั้งสองชื่อเข้าใจว่าคงจะเรียกชื่อตามสีผิวของคนฝรั่งชาติวิลันดาที่คนปักษ์ใต้พบเห็นมาแต่ก่อนก็ได้

สำหรับ “วัวลาย” แม้ในตำราห้าม แต่ถ้ามีลักษณะอื่น ๆ ดีก็อาจจะเป็นวัวชนที่ดีได้เหมือนกัน ฉะนั้นปัจจุบันจึงมีวัวลายที่ใช้เป็นวัวชนอยู่เหมือนกัน สีลาย หรือ ลาย หมายถึงสีที่ตามลำตัวหรือส่วนอื่น ๆ จะเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ต้องมีสีขาวปน จึงจะเรียกว่า “ลาย”

นอกจากนั้นก็มีลักษณะสีพิเศษอย่างอื่นอีก เช่น “หน้าโพธิ์” “หน้าจุด” (บางทีเรียกว่า “หัวกัว” คือ หัวมีจุดคล้ายหัวปลาหัวตะกั่ว) “หน้าปิ้ง” (คือหน้าโพธิ์นั่นเอง แต่เป็นหน้าโพธิ์ที่ไม่อยู่ในความนิยม คือ เป็นรูปสามเหลี่ยมฐานขึ้นหรือเอายอดลงล่างคล้ายจะปิ้ง) ส่วนหน้าโพธิ์ที่อยู่ในความนิยมนั้นมักจะเอายอดเหลี่ยมขึ้นข้างบน ซึ่งเป็นลักษณะสีที่หายากมาก และเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะของวัวชาติศุภราช ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

“แซม” หมายถึง มีขนสีขาวแซมขนสีอื่น ๆ ที่เป็นพื้นสี ส่วนมากพื้นสีมักจะเป็นสีดำหรือนิล เรียกว่า นิลแซม เช่น วัวนิลแซมใจสิงห์ ของนายอรุณ  สุไหง-โกลก

“ดาว”  หมายถึงมีขนสีขาวเป็นจุด ๆ ประอยู่ตามตัว ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งตัวของวัวที่มีพื้นสีขนเป็นสีอื่น แต่ส่วนมากมักเป็นสีแดง เช่น วัวดาวประกายของนายบ่าว บ้านทานพอ เป็นต้น

“ดอก” หมายถึงวัวหางดอก คือวัวที่มีสีขนหางขาวหรือสีขนหางขาวแซมสีอื่น ส่วนสีตัววัวนั้นจะเป็นสีอะไรก็ได้ บางทีเป็นสีนิล สีโหนด ฯลฯ เช่น วัวโหนดดอกอาฆาต ของนายวิศิษฐ์  ฉวาง เป็นต้น

“เขาวง” มีลักษณะโค้งเข้าหากันเป็นวง

“เขาโนรา” มีลักษณะคล้ายเขาวงแต่เขายกขึ้นสูงจากหัวตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขาเหมือนแขนของมโนราห์เมื่อยามรำท่าเขาควาย

“เขากุบ”  มีลักษณะคล้ายเขารอมแต่ปลายเขาหุบงอเข้าหากันมากกว่าเขารอม

“เขาพรก”  มีลักษณะคล้ายเขากุบแต่เขาสั้นกว่าเขากุบ ปลายเขาหรือยอดหุบเข้าหากันมากกว่าเขากุบ

“เขากาง”  มีลักษณะเขาถ่างออกจากกัน

“เขาแบะ”  มีลักษณะเขาถ่างออกจากกันมากจนปลายเขาอยู่กันคนละด้าน

“เขาตรง” หรือ “เขาแทง”  มีลักษณะพุ่งตรงไปข้างหน้า

“เขาบิด”  มีลักษณะคล้ายเขาวงแต่ปลายเขาข้างใดข้างหนึ่งบิดเบี้ยวขึ้นบนหรือลงต่ำเล็กน้อย

“เขาแจ๊ง”  มีลักษณะเขาเล็ก สั้น แต่ปลายเขาแหลม

“เขาหลั้ว”  มีลักษณะโคนเขาใหญ่แต่สั้น และปลายไม่แหลม วัวที่มีเขาชนิดนี้ บางท้องถิ่น เรียกว่า “วัวหัวหลั้ว” ก็เรียก

“เขาหลุบ”  มีลักษณะเขาสั้นมากคล้าย ๆ เขาหลั้ว คือยาวไม่เกินนิ้วชี้

“เขาแห็ก”  คือมีลักษณะเขางามข้างหนึ่งอีกข้างหนึ่งจะเป็นเขาแบะหรือเขาห้อยลงมา

ลักษณะของเขาวัวนี้สามารถบ่งบอกถึงวิธีการชนของวัวแต่ละตัวได้ เว้นแต่วัวตัวนั้นจะไม่ใช้ยอดหรือเขา ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เรียกว่า “ชนไม่สมยอด” คืออาจจะเลวหรือดีกว่าที่คาดหมายไว้ก็ได้ เช่น วัวที่มีลักษณะเขาเป็น “เขาตรง” หรือ “เขาแทง” แต่ไม่แทง “เขาบิด” แต่ไม่บิด “เขาวง” หรือ “เขารอม” แต่ไม่จับ อย่างนี้เรียกว่าชนไม่สมยอด เป็นต้น

วัวที่มีเขายาวแลดูสวยงามและน่ากลัวหรือน่าหวาดเสียวในขณะเดียวกัน ได้แก่ เขาวง เขารอม เขากุบ หรือเขาแทง เหล่านี้ บางทีเรียกว่า “เขารก” ก็เรียก โดยเฉพาะ “เขาวง” นั้นสามารถใช้ปลายเขาแทงเข้าตา เข้าหูคู่ต่อสู้ได้ง่าย หรือเพียงแต่ตั้งรับเฉย ๆ คุ่ต่อสู้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนที่ว่าวัวเขาชนิดไหน ควรจะใช้ชนกับวัวที่มีเขาชนิดไหน หรือวัวที่มีชั้นเชิงอย่างไรนั้น เจ้าของวัวและนักเลงวัวชนจะต้องศึกษาวิธีการชนให้จงดี และจะต้องเคยเห็นวิธีการชนของวัวแต่ละตัวมาแล้ว เช่น วัวเขาวง หรือเขารอม มักจะได้เปรียบคู่ต่อสู้ที่มีชั้นเชิงการชนเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น วัวแทง วัวทุบ วัวดอก หรือวัวฟัน แต่จะเสียเปรียบ วัวขี่ หรือ “วัวเหง” อย่างเดียวเท่านั้น

ลักษณะทั่ว ๆ ไปของวัวชน

วัวชนที่ดีต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

๑)  คร่อมอกใหญ่ ให้หาคร่อมอกใหญ่ ๆ อย่างคร่อมอกเสือถึงจะดีมีดำลังมาก

๒)  ท้องใหญ่ มีกำลังมากชนได้นานกว่าวัวท้องเล็ก

๓)  กระดูกใหญ่ เช่น กระดูกเท้าใหญ่เหมือนควายจะดีมาก

๔)  คอยาวใหญ่ จะเป็นวัวที่แข็งแรงและแก้เพลียงได้ดีกว่าและเร็วกว่าวัวคอสั้น แต่คอยาวเหมือนคอกวางก็ไม่ดี

๕)  หนอก  หรือโหนก รูปก้อนเส้าถึงจะดี ถ้าแบนเป็นใบพัดไม่ดี

๖)  เขา  ให้หาเขาใหญ่ ๆ ถึงจะดีและถ้ามีขนงอกปิดโคนเขาก็จะดีมาก

๗)  หน้าหัวแคบ คือระหว่างเขาแคบถึงจะดี เพราะถ้าหน้าหัวแถบส่วนมากจะเขาใหญ่

๘)  คิ้ว  ให้หาคิ้วหนานัยน์ตาไม่ถลนถึงจะดี

๙)  ตาเล็ก ดี

๑๐) ใบหูเล็ก ให้หาที่ใบหูเล็กเหมือนหูม้าถึงจะดีและถ้ามีขนในหูมากก็ยิ่งดี

๑๑) หน้าตาคมคายเกลี้ยงเกลา ถึงจะดี

๑๒) หน้าผาก หรือหน้าหัวถ้ามีขนมาก หรือขนรกถึงจะดี

๑๓) ข้อเท้า ให้เลือกหาข้อเท้าสั้น ๆ จะดีมาก ถ้าข้อเท้ายาวไม่ดี

๑๔) เล็บ ให้เลือกหาเล็บใหญ่ที่เรียกว่า “เล็บพรก” (เล็บคล้ายกะลามะพร้าวคว่ำ) ถึงจะดี เล็บยาว หรือเล็บตรงไม่ดี

๑๕) ให้เอาที่หางเล็กเรียวจะดีมาก ถ้าหางใหญ่ไม่ดี แต่โคนหางใหญ่ดี

๑๖) ขนหาง ให้หาขนหางเล็ก ๆ เหมือนเส้นด้าย เส้นไหมและถ้าขนหางบิดนิด ๆ จะดีมาก ขนหางยาวถึงน่องไม่ดี ขนหางหยาบ หรือขนหางเป็นพวงหงิกงอที่เรียกว่า “หางโพ่ย”ไม่ดี

๑๗) อัณฑะ  ให้หาที่มีลูกอัณฑะเล็ก และปลายอัณฑะบิดนิด ๆ หรือยานตวัดไปข้างหน้าจะดีเลิศ ยิ่งถ้ามีลูกอัณฑะเพียงลูกเดียวก็ยิ่งดีเลิศ เรียกว่า “อ้ายหน่วย” หรือ “ทองแดง” เป็นวัวที่หายาก

๑๘) ลึงค์ ให้หาที่ลึงค์ยาว ๆ ใหญ่ ๆ ถึงจะดี ถ้าลำลึงค์ยาวตั้งแต่ลูกอัณฑะ จนถึงกลางท้องแสดงถึงการมีพลังมาก ถ้ามีขนที่ปากลำลึงค์ดกมาก แสดงถึงความมีใจสู้ไม่ค่อยยอมแพ้คู่ต่อสู้ง่าย ๆ

๑๙) ขน  ให้หาที่ขนละเอียด เลี่ยน จึงจะดี ถ้าขนแห้ง คือไม่เป็นมันก็จะดีมาก (สำหรับข้อนี้ยกเว้นเฉพาะวัวนิลเพชรเท่านั้น เพราะวัวนิลเพชรจะมีขนดำเป็นมันหรือขนเปียก)

ประวัติต้นโพธิ์ต้นแรกในโลก

เมฆินทร์  พานิชกุล

กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

เมื่อเห็นหัวข้อเรื่องแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าจะเอาอะไรมาเป็นหลักฐาน หรือพิสูจน์ให้แน่ชัดลงไปว่า ต้นโพธิ์ที่กำลังจะพูดถึงนี้เป็นต้นโพธิ์ต้นแรกในโลกจริง ต้นโพธิ์ต้นอื่นที่มีก่อนต้นโพธิ์ต้นนี้ไม่มีบ้างหรือ ข้อนี้อาจทำให้ท่านคิดเลยเถิดไปว่า เรื่องนี้อาจจะเข้าทำนองว่า “อาดัมกับอีวา เป็นมนุษย์คนแรก (คู่แรก) ในโลก” นี้ เป็นความคิดของนักปราชญ์ในกาลก่อนว่าไว้ในแง่ของมนุษยชาติ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นจริง หรือไม่จริงก็ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องต้นโพธิ์ต้นแรกนี้ จะเป็นความจริงหรือไม่ ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเองตามเนื้อความที่จะกล่าวต่อไป แต่ก่อนที่จะพูดถึงความเป็นมาของต้นโพธิ์ต้นแรก ควรรู้ถึงความหมายของคำว่า “โพธิ” ก่อน ตามหลักภาษาศาสตร์ที่นักปราชญ์กล่าวไว้

ถ้าจะว่ากันตามคัมภีร์ที่นักปราชญ์นิยามความหมายไว้ คำว่า “โพธิ” ที่เป็นคุณศัพท์ของต้นไม้ อันเราเรียกกันว่า”ต้นโพธิ์” นั้น แปลตามภาษาศาสตร์ว่า “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์” หรือ “พระโพธิสัตว์นั่งใต้ต้นไม้ใดแล้วได้ตรัสรู้ธรรมทั้ง ๔ ประการ ต้นไม้นั้นเรียกว่า “โพธิ” (เป็นที่ตรัสรู้ของพุทธ) หากว่าพิจารณาตามนี้ พอจะพูดได้ว่า ต้นไม้ที่พระโพธิสัตว์นั่งใต้ต้นตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้นามว่าต้นโพธิ์ คำว่า “พระโพธิสัตว์” ในที่นี้แปลว่า “ผู้ข้อง(หวัง) ในอันที่จะตรัสรู้เป็นพุทธ” ท่านผู้ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านี้ ท่านผู้รู้บางท่านเรียกว่า “ปรารถนาพุทธภูมิ” หรือ “ปรารถนาโพธิญาณ”

เรื่องต้นโพธิ์นี้ ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ปริจเฉท(บท) ที่ ๘ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๓ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…เสด็จลีลา จาก ทิวาวิหาร (เสด็จสำราญพระอิริยาบถเวลากลางวันที่ได้ต้นนิโครธ) จักบทจรสู่สถานโพธิพฤกษ์มณฑล…..”

ตามเนื้อความที่กล่าวนี้ ไม่บ่งชัดว่าที่เรียกว่า “โพธิพฤกษ์มณฑล” นี้มีชื่อมาก่อนพระสิทธัตถโพธิสัตว์ตรัสรู้ หรือเรียกอย่างนั้น หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้ว

ในปริเฉทที่ ๓ แห่งพระปฐมสมโพธิกถานี้เช่นเดียวกัน มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึง “สหชาติ” ซึ่งหมายถึงผู้หรือสิ่งที่เกิดพร้อมกับพุทธ มี ๗ อย่าง คือ ๑.  ยโสธราพิมพา ๒.  พระอานนท์พุทธอนุชา ๓.  นายฉันนามาตย์  ๔.  นายกาฬทายีอำมาตย์ ๕.  ม้ากันฐกะ ๖.  ต้นมหาโพธิ์  ๗.  ขุมทรัพย์ทั้ง ๔

เรื่อง “สหชาติ” นี้ มิได้บ่งชัดว่า “ไม้มหาโพธิ์” ที่ว่าเกิดพร้อมกับพุทธนั้น พอเกิดขึ้นมาก็เรียกว่า “ไม้มหาโพธิ์” หรือเรียกชื่ออย่างอื่นก่อนแล้ว จึงได้นามว่า “ไม้มหาโพธิ์” หลังจากพระโพธิสัตว์ตรัสรู้แล้ว เรื่องนี้ถ้าพิจารณากันตามเนื้อความที่ว่า “เกิดพร้อมกัน” น่าจะมีชื่อว่า “ไม้มหาโพธิ์” ก่อนคือพอต้นไม้เกิดงอกขึ้นมาก็มีชื่อว่า “ไม้มหาโพธิ์” มิใช่มีชื่อว่า “ไม้มหาโพธิ์” หลังจากที่พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้แล้ว

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ปริจเฉทที่ ๒๐ ใจความตอนที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ อชิตภิกษุว่า “….ขณะนั้น อันว่าปราสาทก็เลื่อนลอยขึ้นบนนภากาศ ลงมาประดิษฐาน ณ ปฐพีใกล้ “ไม้นาคมหาโพธิ์ คือ ไม้กากะทิง” พระมหาโพธิสัตว์ก็ลงจากปราสาทถือทิพยกาสาวพัสตร์อันท้าวมหาพรหมนำมาถวายแล้วบรรพชา….”

ตามเนื้อความที่กล่าวในปริจเฉทนี้ เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า “ไม้กากะทิง” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งก่อนพระเมตไตยยโพธิสัตว์ หรือพระศรีอาริยเมตไตย์ตรัสรู้ ต่อเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว จึงได้นามใหม่ว่า “ไม้นาคมหาโพธิ์”

หนังสือต้นไม้สำคัญในพุทธประวัติของหลวงบุเรศบำรุงการ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายสวัสดิ์  ผึ่งผายงาม พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ต้นศรีมหาโพธิ์ (อัสสัตถพฤกษ์) เป็นต้นไม้ที่สำคัญยิ่ง เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ภายใต้ร่มศรีมหาโพธิ์…”

เนื้อความในหนังสือนี้แสดงให้รู้ว่า “อัตถพฤกษ์” เป็นชื่อเดิมของ “ต้นศรีมหาโพธิ์”

หนังสืออนาคตวงศ์ คือ เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ฉบับพิมพ์ โรงพิมพ์พระจันทร์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้กล่าวไว้ในหน้า ๑๑ ว่า “….กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระมหาโพธิ์ สิ้นประมาณ ๗ วัน…..”

คำกล่าวในหนังสือนี้ คำว่า “พระมหาโพธิ์” นี้มิได้บ่งชัดว่ามีชื่อเช่นนั้นมาก่อนพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ หรือหลังตรัสรู้

ในหนังสือพระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ข้อที่ ๑ ฉบับของกรมการศาสนา กล่าวว่า “โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน ฯลฯ…”

ตามหลักฐานที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนี้ ไม่มีคำว่า “อัสสัตถพฤกษ์” ซึ่งเป็นชื่อของต้นโพธิ์มาก่อนเหมือนในคัมภีร์อื่น ๆ ที่เขียนขึ้นทีหลัง จึงชวนให้สงสัยว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ตรัสรู้แล้วจึงมีนามว่า “โพธิพฤกษ์” หรือมีชื่ออย่างนั้นมาก่อนพระองค์ตรัสรู้

ในหนังสือชื่อ ๔๕ พรรษา ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร เป็นผู้เรียบเรียง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…พระพุทธเจ้าพระองค์ได้ตรัสรู้ที่ภายใต้ต้นไม้ชื่อว่า “อัสสัตถะ” ต่อมาก็เรียกว่า “ต้นโพธิ์” คำว่า “โพธิ” แปลว่า “ตรัสรู้” เพราะพระพุทธเจ้าไปประทับนั่งใต้ต้นไม้นั้นตรัสรู้ จึงได้เรียกว่า “ต้นไม้ตรัสรู้” เรียกเป็นศัพท์ว่า “โพธิพฤกษ์” แต่ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ว่า “อัสสัตถพฤกษ์…”

ตามนัยที่กล่าวในหนังสือนี้ บ่งชัดว่าที่เรียกว่า “ต้นโพธิ์นั้น” ได้นามนี้หลังจากเป็นที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ชื่อสิทธัตถะ

แม้ใน อรรถกถามหาวรรค ชื่อสมันตปาสาทิกา และฎีกาสมันตปาสาทิกา ชื่อ สารัตถทีปนี ได้แก้เนื้อความในบาลีไว้ว่า คำว่า “โพธิ” หมายถึงพระโพธิสัตว์ตรัสรู้มรรค ๔ (โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีญาณหยั่งรู้ชัดแจ้งในมรรคทั้ง ๔ นั้นที่ใต้ต้นไม้นี้ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกต้นไม้นั้นว่า “โพธิ” ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เมื่อพิจารณาตามเนื้อความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า เมื่อมีพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็มีต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง ๆ จึงน่าจะลงความเห็นได้ว่าเมื่อมีพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกในโลกในกาลใด ในกาลนั้นนั่นแหละจึงเกิดมี “ต้นโพธิ์ต้นแรกขึ้นในโลก” อันว่าต้นโพธิ์ที่เป็นที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์นี้ ย่อมเป็นปูชนียสถาน เป็นที่สักการบูชาเคารพนับถืออย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชน และแม้ของผู้ที่มิใช่พุทธศาสนิกชนบางกลุ่มบางหมู่ เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร กับพระอานนท์ว่า สถานที่ซึ่งชวนให้เกิดความสังเวชสลดใจ ควรรู้ ควรเห็น ของผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งบุญสัมปทาได้นั้น คือสถานที่ตถาคตเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นี้ประการหนึ่ง…

สำหรับในภัททกัปป์นี้ในศาสนาแห่งพระสมณโคดมพุทธเจ้านี้ ย่อมเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ที่พุทธคยา ตำบลคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย ปัจจุบัน ต้นโพธิ์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่สืบเนื่องมาจากต้นโพธิ์ต้นแรก ซึ่งเป็นที่ตรัสรู้ของพระสิทธัตถราชกุมาร เจ้าชายหนุ่มแห่งแคว้นสักกะผู้เสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี ได้ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ ๓๕ ปี

ปัจจุบันนี้ ชาวอินเดียถือว่า “ต้นโพธิ์” ที่พุทธคยา เป็นวัตถุโบราณซึ่งจัดเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์และมีค่ามหาศาล เป็นเหมือนขุมทรัพย์อันล้ำค่า เป็นบ่อเกิดของทรัพย์โดยไม่ต้องลงทุน ทำรายได้ให้ประเทศ จากนักท่องเที่ยวจากทิศานุทิศ ในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมากมาย หากใครสักคนหนึ่งไปประเทศอินเดีย แม้นมิได้ไปเยือนหรือนมัสการสถานที่นี้ ก็เหมือนมิได้ไปประเทศอินเดีย