ปรัชญาจีนข้ามสมัย

หลังจากสมัยของราชวงศ์โจวแล้ว ปรัชญาจีนถูกแบ่งออกเป็นสมัยต่างๆ สี่สมัยตามลักษณะของปรัชญา สมัยแรกคือ สมัยราชวงศ์จิ๋น-ราชวงศ์ฮั่น (ch’in-Han Period) เวลาประมาณศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. เป็นสมัยที่ปรัชญาจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาลัทธิขงจื๊อกำลังเสื่อม ทั้งในด้านความเข้มแข็งและในด้านความนิยม ในความหมายหนึ่ง สมัยนี้เป็นสมัยที่ย้ำความสำคัญของเอกภาพในวงการทางวิชาการ และวงการทางการเมืองนั้น เป็นผลของปฏิกิริยาที่เกิดจากความมีอิสระภาพอย่างมากมายที่มีอยู่ในตอนปลายของสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งแสดงออกเป็นลักษณะสำคัญได้แก่ “ปรัชญาร้อยสำนัก” และด้วยความคิดที่เป็นหัวใจของปฏิกริยาต่อสภาพการณ์อันนี้เอง ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิจิ๋น ซี ฮ่อง เต้ (Ch’ih shih Huang Ti) พยายามจะเข้าควบคุมปรัชญาทั้งหลายที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น โดยการมีบัญชาให้เผาหนังสือและตำราทั้งปวงของบรรดา “ปรัชญาร้อยสำนัก” นั้นให้หมด ยกเว้นไว้แต่ตำราที่เกี่ยวกับยารักษาโรค การพยากรณ์และการกสิกรรมเท่านั้น

ถึงแม้จะมีความเห็นพ้องด้วยกับหลักการของราชวงศ์จิ๋น ที่ว่าต้องควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้มีลักษณะเป็นแบบแผนเดียวกันให้หมดก็ตาม แต่ราชวงศ์ฮั่น ซึ่งได้ครองอำนาจต่อมาระหว่างปี 206 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 220 ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการอันรุนแรงดังที่พระเจ้าจักรพรรดิจิ๋น ซี ฮ่องเต้ ทรงปฏิบัติมา ในปี 136 ก่อน ค.ศ. ตุงจุงซู (Tung Chung-shu) ผู้มีชีวิตอยู่ในราวปี 179-104 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนสำคัญที่สุดในสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนต้น ได้เสนอความเห็นแก่พระจักรพรรดิว่า ควรจะแสวงหาเอกภาพของความคิดโดยวิธีการใหม่ กล่าวคือจะต้องยกย่องปรัชญาลัทธิขงจื๊อขึ้น เพื่อทำลายปรัชญาลัทธิอื่นๆ ให้หมดไป

แตปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ตามที่ ตุงจุงซู สนับสนุนและรับเอามาเผยแพร่ในตอนต้นของสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น เป็นปรัชญาที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากปรัชญาที่เผยแพร่และประกาศโดยขงจื๊อและสานุศิษย์รุ่นต่อมา ปรัชญาลัทธิขงจื๊อในสมัยฮั่นนั้นเป็นปรัชญาขงจื๊อที่ผสมกับปรัชญาอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งขันของลัทธิขงจื๊อมาแต่เดิม โดยเฉพาะปรัชญาลัทธิเต๋า ปรัชญาม่อจื๊อนั้นหลังจากการปราบปรามของพระเจ้าจิ๋นแล้ว ไม่สามารถจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้และปรัชญานิติธรรมนั้นกลับตกต่ำลง ถึงแม้จะมีหลักคำสอนในทางปรัชญาการเมืองคงเหลืออยู่ในห้วงความคิดของบรรดาชนชั้นปกครองอยู่บ้างก็ตาม แต่ปรัชญาเต๋านั้น เริ่มมีอิทธิพบอยู่ในวงการของนักปกครอง จึงถึงขนาดที่ได้มีการรับเอาหลักคำสอนเรื่อง หวู เว่ย ซึ่งในเนื้อหาสาระก็คือ ทฤษฎีเสรีนิยม (Laissez faire) นั่นเอง เข้ามาเป็นนโยบายในการปกครองบ้านเมือง และความเชื่อในเรื่องลึกลับของปรัชญาเต๋า นั้นก็กลายเป็นลัทธิความเชื่อของส่วนบุคคลอันมีผู้นับถือกันอยู่มากประปราย ข้อเท็จจริงอันนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนและทำลายคุณลักษณะทั่วไปของปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ที่มีอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว นักปราชญ์ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้แบ่งตนเองออกเป็นสองพวก พวกที่หนึ่งเรียกว่า “สำนักอักษรใหม่” (New Script School) เพราะเหตุที่ว่าตำราวรรณกรรมโบราณนั้นได้นำมาคัดลอกใหม่ โดยใช้ตัวอักษรที่ใช้กันอยู่เป็นปัจจุบันในสมัยนั้น อีกพวกหนึ่งนั้นมีชื่อว่า “สำนักอักษรเก่า” (Old Script School) เพราะว่าพวกนี้อ้างว่ามีตำราเก่าแต่โบราณ ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ก่อนสมัยพระจักรพรรดิจิ๋น จะมีบัญชาให้เผาตำราทั้งปวง ข้อโต้แย้งระหว่างสำนักทั้งสองนี้ กลายเป็นข้อโต้แย้งทางวิชาการที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์วรรณกรรมของจีน สาระสำคัญของความแตกต่างกันนั้นอยู่ที่ทรรศนะอันแตกต่างกัน เกี่ยวกับความสำคัญอันแท้จริงของขงจื๊อ กับลัทธิปรัชญาขงจื๊อ สำนักอักษรใหม่ถือว่าขงจื๊อนั้นคือ “กษัตริย์ผู้ไร้บัลลังก์” เป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ตามที่มีบรรยายไว้ในวรรณกรรมที่ประพันธ์ปลอมขึ้นมาทีหลัง ส่วนสำนักอักษรเก่านั้น มีทรรศนะตรงกันข้าม โดยยืนยันความเห็นว่า ขงจื๊อเป็นแต่เพียงนักปราชญ์ ผู้สร้างความหมายให้แก่วัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต ก่อนที่จะนำไปถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นลูกหลานต่อไป ถึงแม้ว่า ทรรศนะของสำนักอักษรใหม่นั้น ในปัจจุบันนี้จะมีลักษณะที่ไร้สาระและไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็เป็นทรรศนะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพราะว่า สถานการณ์ทางสังคมในขณะนั้น เหมาะกับการสร้างวรรณกรรมปลอมขึ้นมาได้มาก ผลตอบแทนในทางการเงิน การโปรดปรานของพระจักรพรรดิ และความนิยมยกย่องนับถือของประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่กระตุ้นให้นักปราชญ์ผู้มีความทะเยอทะยาน ใช้ความสามารถในทางสร้างสรรค์ของตนเพื่อผลิตงานนิพนธ์ที่ดีขึ้นมาแทน ตำราที่สูญไปในรูปของตำราที่ใช้ตัวอักษรใหม่ ความกระตือรือร้นในการที่จะฟื้นฟูปรัชญาขงจื๊อ อาจจะถือเอาว่าเป็นแรงจูงใจอีกประการหนึ่งที่ชักนำนักปราชญ์ให้อยากจะแสดงความคิดเห็นของตนออกมาโดยแอบอ้างนามของขงจื๊อโดยไม่ละอายแก่ใจก็ได้ ความคิดเห็นที่เกินความจริงเกี่ยวกับขงจื๊อของสำนักอักษรใหม่นั้น น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญนอกเหนือจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้สำนักอักษรใหม่ต้องเสื่อมความนิยมลง ในตอนปลายของรัชสมัยราชวงศ์ฮั่น ในขณะเดียวกัน อิทธิพบของลัทธิเต๋าได้แผ่ขยายไป พร้อมกันกับอิทธิพลของพุทธศาสนา ที่เผยแพร่ จากอินเดียเข้ามาสู่ประเทศจีนในราวคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งหรือก่อนหน้านั้น ปรัชญาจีนจึงเบ่งบานขึ้นมาใหม่ ในระยะเวลาหลังจากนั้นเป็นต้นมา

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สาม ถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบอารยธรรมของจีนเริ่มผสมกับวัฒนธรรมของต่างประเทศ ส่วนความคิดทางปรัชญาของจีนนั้น อาจกล่าวได้ว่ามี อภิปรัชญาของลัทธิเต๋า ในสมัยราชวงศ์เว่ย-จิ๋น (Wei-Chin) ระหว่าง ค.ศ. 220-420 เรียกกันในภาษาจีนว่า ซ่วน ซื่อ (hsuan hsueh) ซึ่งแปลว่า “วิทยาการอันลึกลับ” และพุทธปรัชญาในรัชสมัยราชวงศ์สุย (Sui) ระหว่าง ค.ศ. 581-618 และในรัชสมัยราชวงศ์ถัง (T’ang) ระหว่าง ค.ศ. 618-907 ปรัชญาในสมัยดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวพันกับการเมืองน้อยมาก แต่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อวัฒนธรรมของจีนในช่วงเวลาของสมัยดังกล่าว ปรัชญาเต๋าของจีนและพุทธศาสนาที่มาจากอินเดีย มีอิทธิพลมากกว่าปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ที่จริงแล้ว คัมภีร์ในพุทธศาสนา ที่แปลมาสู่ภาษาจีนมีจำนวนมากมายเป็นพิเศษ จำนวนวัดและพระในพุทธศาสนาทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งต้องมีพระบรมราชโองการยับยั้งไว้ในปี ค.ศ. 845 มีวัดของพุทธศาสนาถูกทำลายลงเป็นจำนวนถึง 40,000 วัด และมีพระและนางชีถูกสึกเป็นจำนวนถึง 260,000 รูป และที่ดินจำนวนมากมายที่เป็นสมบัติของวัดต้องถูกริบ

ในเรื่องนี้ มีสิ่งที่ควรสังเกตคือ ความแตกต่างของคำว่า “พุทธศาสนาแบบจีน” (Chinese Buddhism) กับคำว่า “พุทธศาสนาในประเทศจีน” (Buddhism in China) กล่าวโดยย่อก็คือ “พุทธศาสนาในประเทศจีน” นั้นคือ พุทธศาสนานิกายจิตนิยมอัตนัย (The School of Subjective Idealism) ภาษาจีนเรียกว่า เซียง ซุง (haiang tsung) หรือ เว่ยซีซุง (wei-shih tsung) หรือภาษาสันสกฤตเรียกว่า วิชณานวาท (Vijnanavada) อันเป็นพุทธศาสนาที่ยึดตามธรรมเนียมของอินเดีย และมีบทบาทน้อยมากต่อวิวัฒนาการทางปรัชญาของจีน ส่วน “พุทธศาสนาแบบจีน” นั้น คือพุทธศาสนาแบบทางสายกลาง ภาษาจีนเรียกว่า ซัน หลุน ซุง (San-lun sung) หรือภาษาสันสกฤตว่า มัธยมิกนิกาย นั้นคือ พุทธศาสนาในรูปแบบที่ใกล้ชิดกับคติความคิดของจีน และได้เจริญงอกงามไปพร้อมๆ กับปรัชญาของจีน ความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งของพุทธศาสนานิกายมัธยมิก กับ ปรัชญาลัทธิเต๋าของจีนนั้น นำไปสู่การสัมพันธ์ที่มีผลเกิดขึ้นเป็นพุทธศาสนานิกายฌาน (Ch’an) ซึ่งเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า เซ็น (zen) หรือ นิกาย ธยาน (Dhyana School) ความคล้ายคลึงกันระหว่างปรัชญาทั้งสองนี้มองเห็นได้อย่างชัดเจน

คำภาจีนว่า ณาน (Ch’an) หรือ ฌาน-นะ (Ch’an-na) นั้น เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤษว่า ธยาน โดยปรกติแล้วจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า meditation (การภาวนาจิต) โดยรากศัพท์แล้ว ฌาน หมายถึง “การชี้ตรงไปที่จิตของมนุษย์ และการเป็นพระพุทธเจ้าโดยการมองเห็นธรรมชาติแห่งพุทธของตน” หรือ “โดยการถือเอาจิตของบุคคลว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตแห่งสากลจักรวาล” สิ่งนี้จะกระทำให้บรรลุได้ก็โดยการภาวนาจิต ลัทธิฌาน เป็นปรัชญาแห่งความเงียบ โดยย้ำความสำคัญอยู่ที่ “การถ่ายทอดชนิดพิเศษที่อยู่นอกคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์” คำสอนในเรื่องการภาวนาจิตนั้น มิได้ยึดเอาพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ยึดเอาการบรรลุธรรม โดย “การทำให้รู้แจ้งว่าจิตของบุคคลนั้นคือ สิ่งอันเดียวกันกับจิตแห่งสากลจักรวาล” คำแปลของคำว่าจิตแห่งสากลจักรวาล (Universal Mind) นี้ อาจารย์ของนิกายฌาน ได้ให้ความหมายไว้หลายประการ แต่โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงสิ่งที่เรียกว่าความว่าง (The Void) อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะระบุออกมาเป็นถ้อยคำ หรือรับรู้โดยทางประสาทสัมผัสอันใด ฉะนั้นการที่จะก้าวล่วงเข้าไปสู่จิตแห่งสากลจักรวาลนั้น อาจารย์ในนิกายฌาน จะสอนให้ใช้วิธีการของหวู เนียน (Wu nien) หรือ “การทำตนให้ว่างจากความคิด” หรือไม่ก็วิธีการแห่ง หวั่ง ชิง (wang Ch’ing) หรือ “การถอนตนออกจากความรู้สึก” หรือมิฉะนั้นก็ใช้วิธีการของ เหยิน ซิน (Jen hsin) หรือ “ปล่อยให้จิตเป็นไปตามวิถีทางของมัน”

ความคิดของพุทธศาสนาแบบนี้มีลักษณะหลายประการร่วมกันกับปรัชญาลัทธิเต๋า และทำให้นักเขียนตำราพุทธศาสนาในสมัยต้นๆ ใช้คำศัพท์ของปรัชญาเต๋ามาอธิบาย ความคิดของพุทธศาสนาเช่น หยิ่ว (yu) หรือ ภาวะ (being) หวู (wu) หรือ อภาวะ (nonbeing) หยิ่ว เว่ย (yu wei) หรือ การกระทำ (action) และหวูเว่ย (wu wei) หรือการไม่กระทำ (nonaction) “การตรัสรู้โดยฉับพลัน” อันเป็นสิ่งที่นำไปสู่พุทธภาวะนั้น อาจารยในพุทธศาสนานิกายฌาน มักจะเรียกว่า “นิมิตแห่งเต๋า” (vision of Tao)

สิ่งสนใจที่น่าสังเกตก็คือว่า ประโยชน์ที่สำคัญอันหนึ่งที่พุทธศาสนาให้แก่ปรัชญาจีนนั้นคือ ความคิดเรื่องจิตแห่งสากลจักรวาลตามที่สอนกันในพุทธศาสนานิยกายมหายาน วิชญาณวาท คำสอนนี้มีบทบาทอย่างสำคัญในปรัชญาขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ที่วิวัฒน์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ้อง และราชวงศ์เหม็ง (The Sung-Ming period)

สมัยของราชวงศ์ซ้อง (ค.ศ.960-128) และราชวงศ์เหม็ง (ค.ศ.1368-1644) นั้นเป็นสมัยที่มีชื่อด้วยการกำเนิดของปรัชญา หลี เสว เจีย (Li Hsueh Chia) หรือปรัชญาแห่งการศึกษาเรื่องหลี ซึ่งทางตะวันตกเรียกว่า ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่นี้เป็นชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเป็นคำที่ไม่ได้แสดงความหมายถึงการฟื้นฟูลัทธิขงจื๊ออันแท้จริงขึ้นมา นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่นั้นเป็นผู้นิยมในลัทธิขงจื๊ออย่างไม่มีปัญหา แต่การเคลื่อนไหวทางสติปัญญานั้นถูกกระตุ้นและจูงใจจากอาจารย์ในพุทธศาสนานิกายฌาน ด้วยเหตุนี้ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ จึงเป็นคล้ายกับการสรุปหรือการปรับปรุงหลักความเชื่อหลักจริยธรรม หลักศีลธรรม ที่มีมาแต่อดีต แต่หลักใหญ่ของลัทธิขงจื๊อนั้น ได้รับการผสมผสานกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาอย่างทั่วถึงทั้งหมด เหมือนกันกับที่พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับปรัชญาลัทธิเต๋า แล้วเกิดผลเป็น พุทธศาสนานิกายฌานขึ้นมา ปรัชญาลัทธิขงจื๊อก็ผสมผสานกับพุทธศาสนาแล้วเกิดผลเป็น ลัทธิหลี (Li-ism) หรือ ปรัชญาที่เรียกกันว่า ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism)

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพุทธศาสนากับปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่นั้น อาจจะเห็นได้จากอุทธาหรณ์ต่อไปนี้ ภาวะอันเป็นอุดมคติที่เรียกว่า นิรวาณ (หรือนิพพาน) นั้น ตามคติของพุทธศาสนาที่แท้นั้น หมายถึงภาวะของจิตใจที่มีความสงบนิ่ง แต่สำหรับปรัชญาขงจื๊อนั้น ภาวะที่มีความสำคัญอย่างที่สุดนั้นคือภาวะแห่งการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ ยิ จิง (Yi Ching) หรือ คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงจึงประกาศว่า

การเคลื่อนไวของดวงดาว เป็นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาฉันใด อุตมบุรุษก็จะพยายามปรับปรุงตนโดยไม่หยุดยั้งฉันนั้น

ในการประนีประนอมทรรศนะอันแตกต่างกันข้อนี้ นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อได้สร้างความคิดใหม่แห่ง “ความเงียบที่มีการเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจนิรันดร และการเคลื่อนไหวที่มีแต่ความเงียบอยู่เป็นนิจนิรันดร”

ในเรื่องนี้ พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ มีอุทธาหรณ์ที่ยกมาอ้างหลายเรื่อง เช่น จิตเป็นเหมือนกระจกเงานั้น เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่กระจกเงานั้นเป็นสิ่งสงบนิ่งไม่มีความรู้สึกหวั่นไหวแต่ประการใด

จิตเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ เมฆลอยผ่านไปผ่านมาภายใต้ดวงอาทิตย์ แต่ดวงอาทิตย์อยู่คงที่ ไม่มีอาการหวั่นไหวแต่ประการใด

จิตเป็นเหมือนพื้นผิวน้ำทะเลอันเวิ้งว้าง คลื่นเกิดขึ้นบนผิวน้ำแล้วก็หายไปตลอดเวลา แต่ระดับของพื้นผิวน้ำทะเลก็ยังคงสงบนิ่ง ไม่หวั่นไหวแต่ประการใด

เพราะว่าจิตนั้นอยู่นอกขอบเขตของการเคลื่อนไหว ที่จริงแล้วจิตนั้น เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เป็นจิตที่สงบนิ่ง กับความเคลื่อนไหวนี้คือภาวะของจิตที่สูงที่สุดและดีที่สุด

ยิ่งกว่านั้น พุทธศาสนิกชน ถือว่าโลกที่เรามองเห็นอยู่นี้เป็นภาพมายา เป็นสิ่งเสกสรรปั้นขึ้นของจินตนาการ เป็นสิ่งที่ไม่มีภาวะอันแท้จริง เป็นความว่าง เป็นมหาสุญญตา แต่นักปรัชญาในลัทธิขงจื๊อกล่าวว่า โลกนี้เป็นโลกแห่งรูปธรรม มีภาวะที่แนบสนิทร่วมกันกับความคิดอันเป็นนามธรรมของมนุษย์ พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ ได้แก้ไขความขัดแย้งอันนี้โดยยอมรับว่า โลกภายนอกทั้งหลายนั้นคือ ความว่าง เป็นสุญญตา แต่มีภาวะอันแท้จริงเป็นมายา ดังที่ จางไส (Chang Tsai) (ค.ศ.1020-77)  ซึ่งเป็นนักปรัชญาคนสำคัญในสมัยราชวงศ์ซ้อง กล่าวได้ว่า

ความกว้างใหญ่ของอวกาศ ถึงแม้จะเรียกว่าเป็น ความว่างก็หาใช่จะว่างเปล่าอย่างแท้จริงไม่ ความว่างนั้นเต็มไปด้วยฉี (ch’i) ซึ่งเป็นภาวะอันแท้จริงของความว่างที่จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่า ความว่างนั้น ไม่มี

ฉี (Ch’i) คือ ความคิดที่มีความหมายอันสำคัญอย่างยิ่งของทฤษฎีทางอภิปรัชญาและทางจักรวาลวิทยาของปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ในสมัยหลังต่อมา

และอีกประการหนึ่ง พุทธศาสนานั้นโดยทั่วไปแล้วถือกันว่าเป็นปรัชญาแห่งโลกหน้าเพราะถือว่า ชีวิตคือรากเหง้าของความทุกข์ในชีวิต โลกปัจจุบันเป็นแต่เพียง “ทะเลแห่งความขมขื่น” แต่ปรัชญาลัทธิขงจื๊อสนใจในโลกนี้เป็นอย่างมาก และมีจุดมุ่งอยู่มนุษย์ ยึดมั่นอยู่ที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกัน และไม่ยอมพูดถึงปัญหาของภาวะที่อยู่เหนือธรรมชาติ นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่แก้ปัญหาของภาวะที่อยู่เหนือธรรมชาติ นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่แก้ปัญหายุ่งยากอันนี้โดยถือว่า คติความคิดของปรัชญาพุทธศาสนาและปรัชญาลัทธิขงจื๊อนั้น เป็นทรรศนะด้านเดียวและยึดมั่นแต่คติความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่กล่าวว่า พุทธศาสนานั้นเป็นจิตนิยมเกินไป และมุ่งแต่ความประเสริฐมากเกินไป ส่วนปรัชญาลัทธิขงจื๊อนั้น เป็นสัจนิยมมากเกินไป และมุ่งแต่มนุษย์มากเกินไป ฉะนั้นพวกปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ จึงพยายามที่จะผสมผสานคติความคิดชนิดที่สุดทางของปรัชญาทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของความคิดของปรัชญาทั้งสองก็ยังคงอยู่ และในที่สุดก็นำไปสู่การก่อตั้งเป็นนิกายความคิดที่แยกจากกันเป็นสองนิกาย คือ นิกายเหตุผลนิยม (Rationalism) หรือนิกายซ้อง (Sung School) และนิกายจิตนิยม (Idealism) หรือนิกายเหม็ง (Ming) กล่าวโดยทั่วไปแล้ว นิกายซ้องนั้นค่อนข้างจะใกล้ชิดไปในทางแนวคิดของปรัชญาขงจื๊อ ส่วนนิกายเหม็งนั้นค่อนข้างจะใกล้ชิดไปในทางพุทธศาสนาของอินเดีย พวกนิกายเหม็งกล่าวหาว่า พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ นิกายซ้อง ติดในรูปธรรมมากเกินไป ส่วนนิกายซ้องกล่าวหาว่า พวกนักปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ นิกายเหม็งนั้นติดในนามธรรมมากเกินไป และถึงแม้ว่าทั้งสองนิกายจะมีความเห็นพ้องกันในเรื่อง “คำสอนขั้นมูลฐาน” หรือ “สัจขั้นมูลฐาน” ของจักรวาลว่า คือ หลี (Li) แต่ทั้งสองนิกายก็มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องบทนิยามของคำว่าหลีนี้ ด้วยความพยายามที่จะผสมผสานคติความคิดของปรัชญาขงจื๊อกับปรัชญาพุทธศาสนานิกายซ้อง จึงเริ่มมองไปยังโลกภายนอก และถือความคิดเอาว่า หลีนั้น คือ สวรรค์ หรือธรรมชาติ แต่นิกายเหม็งพยายามที่จะขยายปรัชญาพุทธศาสนาให้เข้ากันกับปรัชญาขงจื๊อ จึงเริ่มมองไปยังโลกภายในจิตใจของตน แล้วถือความคิดเอาว่า หลีนั้นคือ จิต

อย่างไรก็ตา ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่เป็นปรัชญาที่มีความสำคัญที่สุดปรัชญาหนึ่งที่ประเทศจีนได้สร้างขึ้นมา อิทธิพลทางด้านสติปัญญาที่มีผลต่อประเทศจีนในอดีตทั้งหมด วัฒนธรรมและความที่ถูกนำมาจากต่างแดนทั้งหลาย ทั้งหมดนี้ผสมผสานกลมกลืนกันอยู่ในปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหญ่นี้ทั้งหมด

สมัยสุดท้ายคือสมัยของราชวงศ์แมนจู (Manchu dynasty) ค.ศ. 1644-1911 และสมัยของสาธารณรัฐ (ค.ศ. 1911 จนถึงปัจจุบัน) ประกอบกันเป็นสมัยที่มีแต่ความปั่นป่วนในทางสังคม การขาดเสถียรภาพในทางการเมือง และอนาธิปไตยในทางสติปัญญาสมัยสาธารณรัฐนั้น เป็นสมัยที่โกลาหลวุ่นวาย จนมีผลทำให้เกิดระบบการปกครองเป็นสองแบบ แยกออกจากกันขึ้นใน ค.ศ. 1949 คือ รัฐบาลคณะชาติใต้หวัน กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในผืนแผ่นดินใหญ่

กระแสแห่งภาวการณ์ทั้งหมดของสมัยนี้ มีลักษณะเป็นไปในทางไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายและเป็นไปในทางทำลาย สถาบันทางสังคมทุกอย่างแม้กระทั่งสถาบันครอบครัวและการแต่งงานต่างถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสิ้น นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงที่สุดของจีน ชื่อเหลียง ชี เฉา (Liang Ch’i-Ch’’o) ค.ศ.1873-1929 ได้กล่าวเปรียบเทียบสมัยนี้ของจีนกับสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของยุโรปที่จริงแล้ว ลักษณะทั่วไปของปรัชญาในสมัยนี้ มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในทางการเมืองและการสังคมของยุคสมัยนี้อย่างเห็นได้ชัดเจน คริสต์ศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาวางรากฐานอย่างมั่นคงลงในประเทศจีนพร้อมกับคริสต์ศาสนา ปรัชญาและวิทยาการทางตะวันตกก็เข้ามาสู่ประเทศจีนด้วย ที่เห็นได้ชัดก็คือปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ของ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) และลัทธิคำสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ มีอิทธิพลต่อความคิดทางปรัชญาของจีนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันการแปลงงานนิพนธ์ที่สำคัญๆ ของนักเขียนตะวันตกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่น ตอลสตอย (Tolstoy) อิบเซน (Ibsen) เดอ โมปัสซังท์ (De Maupassant) เชลลี (Chelly) เอเมอร์สัน (Emerson) มาร์กซ์ (Marx) และเองเกลส์ (Engels) ก็มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างบรรยากาศทางปรัชญาแบบใหม่ๆ อีกด้วย

ปรัชญานั้นเจริญไปพร้อมกันกับการพัฒนาการทางการเมือง การสังคม การศาสนาและการศิลปะ ทั้งหมดนี้เป็นแต่เพียงอุปกรณ์ต่างๆ ที่วัฒนธรรมใช้เป็นพาหะเพื่อแสดงวิญญาณของตนออกมา เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ในช่วงระยะเวลาของยุคสมัยสุดท้ายที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเกิดมีแนวคิดไปในทำนองวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระขึ้น พวกวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระนี้ได้โจมตี ปรัชญาลัทธิขงจื๊อใหม่ของสมัยราชวงศ์ซ้องและราชวงศ์เหม็ง พวกนักวิจารณ์เหล่านี้ คือ พวกที่สงสัยในคุณค่าของสถาบันเก่าๆ และเป็นนักวิจารณ์ที่รุนแรงที่สุดที่ประเทศจีนเคยมีมา แต่ถึงแม้ว่า ทรรศนะวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงของพวกนักวิจารณ์เหล่านี้พอจะจำแนกเข้าเป็นพวกปรัชญาปฏิบัตินิยมได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจถือเอาได้ว่าเป็นสำนักปรัชญาได้พวกเหล่านี้ย้ำความสำคัญมากเกินไปในเรื่องของการวิเคราะห์ภาษาและการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องเนื้อหา แต่สนใจในการแสวงหาสัจธรรมในทางปรัชญาที่แท้จริงน้อยเกินไป ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากการวิพากษ์วิจารณ์อันรุนแรงของกระบวนการแบบปรัชญาปฏิบัตินิยมนี้ จะดำเนินต่อไปเป็นเวลานานพอแล้วก็อาจจะทำให้เกิดผลเป็นปรัชญาแบบใหม่ของปรัชญาจีนขึ้นมาอีกก็ได้

กระบวนการเรียกว่า “กระบวนการแห่งวัฒนธรรมใหม่” นั้นเป็นการขยายตัวขึ้นมาในตอนหลังของวิญญาณแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อันนี้ โดยถือเอาแบบอย่างของตะวันตกจากปรัชญาประจักษะภาวะนิยม (Positivism) และปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) มาเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญ และถือเอาความก้าวหน้าทางสังคมและวิทยาศาสตร์ และลัทธิการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ ผู้นำของกระบวนการวัฒนธรรมใหม่นี้คือว่าปรัชญาลัทธิขงจื๊อ คือ ลัทธิอนุรักษ์นิยม สิ่งที่เป็นอดีต เสียงเรียกร้องที่ทวีพลังขึ้นอยู่ตลอดเวลาของกระบวนการวัฒนธรรมใหม่นี้ คือ “ขงจื๊อและสานุศิษย์ของขงจื๊อจงพินาศ” แต่ความยึดมั่นของบุคคลจำนวนหลายร้อยล้านนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะทำลายล้างให้หมดไปได้อย่างง่ายดายนัก ความขัดแย้งกันในเรื่องนี้ก็บังเกิดขึ้น ซึ่งยังคงดำเนินอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ อย่างน่าเศร้าสลดใจ

สมัยหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกต่างก็เปลี่ยนแปลงไปหมดทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ประเทศจีนมาบัดนี้ ไม่มีอะไรเลยในประเทศจีนที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ชาติที่อนุรักษ์นิยมอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก กำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผืนดิน โดยมุ่งหวังจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยกย่องเทิดทูนกันมาแต่อดีตไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในรูปของสถาบัน หรือชนชั้นหรือกฎเกณฑ์ทางสังคม และจริยธรรมก็ตาม อย่างไรก็ตาม รูปแบบของความคิดที่มีมาแต่เดิมจนเป็นประเพณี ที่ถูกหล่อหลอมด้วยคำสอนของนักปรัชญาสมัยโบราณนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะขจัดหรือกวาดล้างให้หมดไปจากสมอง โดยอุดมคติของมาร์กซ์ได้อย่างฉับพลันทันใด ปรัชญาเดิมมาตรฐานทางจริยธรรมแต่เดิม ยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวจีนอยู่ ชาวจีนนั้นนิยมการประนีประนอม การประสานกลมกลืน และการผสมผสานกัน ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเข้ากันใหม่ได้กับลัทธิคำสอนของมาร์กซ์ จากข้อเท็จจริงของลักษณะของคนจีนอันนี้ พวกคอมมูนิวส์จีน จึงได้พยายามปรับปรุงทฤษฎีของมาร์กซ์และเลนิน ให้เหมาะสมกับปรัชญามนุษยนิยมของธรรเนียมที่คนจีนยังยึดมั่นอยู่

ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า เรื่องราวของปรัชญาจีนนั้นเป็นเรื่องที่นิ่งอยู่กับที่เพราะตามที่เราได้ทราบมานั้น ปรัชญาจีนได้วิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงมาอย่างมากมายเท่าๆ กับปรัชญาของชนชาติอื่น แต่ปรัชญาจีนไม่เคยยืมคติความคิดของวัฒนธรรมต่างแดนเข้ามาใช้โดยไม่มีการปรับให้เข้าเอกลักษณ์แห่งธรรมชาติของตนนั้น ไม่มีเลย

ที่แท้จริงแล้ว คุณลักษณะอันสำคัญที่สุดของวิวัฒนาการของปรัชญาจีนนั้นคือ การผสมผสานและการคล้อยตามวิถีแห่งธรรมชาติ อิทธิพลทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่สามารถจะเข้ากันได้กับกระบวนการวิวัฒนาการของธรรมชาตินั้น ย่อมจะมีชีวิตคงอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ลักษณะทั่วไปของปรัชญาฮั่นเฟยจื๊อ

ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นบุคคลผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าท่านจะถูกจัดให้เป็นนักปรัชญาสำนักนิติธรรม แต่ท่านก็มีลักษณะหลายประการที่เป็นผู้นิยมลัทธิเต๋า ที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ท่านเป็นผู้มีความคิดสนับสนุนคำสอนเรื่อง หวู เว่ย

เหมือนกับที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ส่องแสง ฤดูกาลทั้งสี่หมุนเวียนเปลี่ยนไป เมฆลอยกระจาย กระแสลมพัดผ่านฉันใด นักการปกครองก็ไม่ควรจะพันธนาการจิตใจของตนด้วยความรู้ หรือพันธนาการตนเองด้วยความเป็นแก่ตัว นักการปกครองจะยึดเอา ฝ่า และ ซู่ เป็นหลักของการปกครองที่ดี ปฏิบัติต่อความถูกต้องและความผิดพลาด โดยวิธีการให้ความดีความชอบและการลงโทษมีความหนักเบา เหมาะสมกับน้ำหนักของการกระทำนั้นๆ

พูดอีกนัยหนึ่ง เมื่อนักการปกครองมีเครื่องมือและกลไกที่ดำเนินการปกครองแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะบังเกิดขึ้นตามลำพังภาวะของมันเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ฮั่นเฟยจื๊อ เคยศึกษาอยู่กับซุ่นจื๊อ ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของลัทธิขงจื๊อ ฉะนั้น ฮั่นเฟยจื๊อ จึงได้รับอิทธิพลในทางความคิดจากปรัชญาลัทธิขงจื๊อด้วย ในสังคมศักดินาของจีนในสมัยก่อนหน้านั้น บ้านเมืองปกครองคนชั้นสูงโดยอาศัยหลี (Li) หรือจารีตประเพณีแก่สามัญชนคนธรรมดานั้น บ้านเมืองปกครองพวกเขาโดยอาศัย ซิง (hsing) หรือการลงโทษ แต่ขงจื๊อมีความเห็นว่าควรจะยกเลิกการลงโทษเสีย และใช้จารีตประเพณีเป็นแนวทางของการปกครองประชาชนทุกประเภท ความเห็นอันนี้สอดคล้องกันกับปรัชญาของนักนิติธรรม ฮั่นเฟยจื๊อ จึงมีความเห็นอย่างเดียวกันว่า ไม่ว่าประชาชนจะเป็นคนชั้นสูงหรือเป็นคนชั้นต่ำ จะต้องมีการใช้กฎหมายอย่างเสมอกัน

เสนาบดี ถ้ากระทำความผิดแล้วจะต้องไม่มีการยกเว้นจากการลงโทษ สามัญชน เมื่อกระทำความดีแล้วจะต้องไม่ละเลยต่อการให้บำเหน็จรางวัล

แทนการยกระดับของคนชั้นต่ำให้มีสถานะสูงขึ้น ฮั่นเฟยจื๊อได้สถานะของคนชั้นสูงลงมา โดยการยกเลิก หลี หรือ จารีตประเพณี แต่ใช้ซิง หรือการลงโทษ แก่บุคคลทุกชั้นอย่างเสมอหน้ากัน

อีกประการหนึ่ง เราพบว่าคำสอนของฮั่นเฟยจื๊อ มีบางสิ่งบางอย่างที่มีลักษณะเหมือนกันกับคำสอนของม่อจื๊อ ฮั่นเฟยจื๊อกล่าวว่าบ้านเมือง ภายใต้การปกครองของนักการปกครองผู้รู้แจ้ง จะไม่ออกคำสั่งเล็กๆ น้อยๆ แต่จะประกาศใช้ประมวลกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของประชาชน นักการปกครองผู้รู้แจ้งจะไม่เจริญรอยตามแบบอย่างของกษัตริย์ในอดีต แต่จะสถาปนาข้าราชการให้เป็นผู้นำของประชาชน นักการปกครองผู้รู้แจ้งจะไม่ยอมให้มีการทะเลาะเบาะแว้งส่วนบุคคล แต่จะสร้างประชาชนให้ยอมอุทิศชีวิตแก่การทำสงครามของบ้านเมือง ในบ้านเมืองที่มีสภาพเช่นนี้ ประชาชนทุกคนจะยึดมั่นอยู่ในกฎหมาย จะทำงานอย่างเข็มแข็งเพื่อบ้านเมืองและพอใจในการทำสงครามเพื่อบ้านเมือง

ทรรศนะอันนี้ คล้ายคลึงกับทรรศนะของม่อจื๊อ ในเรื่องของเอกภาพในการปกครอง

นอกจากฮั่นเฟยจื๊อ จะนำเอาทรรศนะของนักปรัชญาจากสำนักต่างๆ มาปรับใช้อย่างกว้างขวางแล้ว ลักษณะที่สำคัญของฮั่นเฟยจื๊อนั้น มิใช่อยู่ที่การที่เขามีความสามารถเลือกสรรเอาทรรศนะที่ดีมีประโยชน์จากปรัชญาลัทธิอื่นๆ มาใช้เท่านั้น แต่เขาเป็นผู้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีความคิดริเริ่มเป็นของตนเอง อย่างปรีชาสามารถ

ประการแรก ฮั่นเฟยจื๊อ ปฏิเสธความคิดอันไม่เปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ ความคิดอันนี้ของเขาเกิดขึ้นจากการที่เขาสังเกตเห็นว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดนั้นคือ สังคมจีนระบบเก่ากำลังจะสูญหายไป ระบบสังคมจีนใหม่กำลังก่อรูปก่อร่างขึ้นมาแทนในทำนองเดียวกัน ปรัชญาของเขาคือ ความพยายามที่จะสลัดอำนาจของประเพณีนิยมเก่าๆ ทิ้ง และปรับปรุงสถาบันทางสังคมและการเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ๆ ในบทความที่มีชื่อที่สุดของเขาที่ชื่อว่า “ทรชนห้าจำพวก” (The Five Virmin) นั้น ฮั่นเฟยจื๊อ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่า มีลักษณะที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่เป็นการปฏิรูปสังคมทีเดียว เขาเตือนให้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยสร้างบ้านอยู่บนต้นไม้เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากสัตว์ร้ายในป่า มนุษย์ต่างก็ชื่นชมยินดีว่าเป็นความคิดที่นำมาซึ่งความสำเร็จงดงาม ในทำนองเดียวกัน ครั้งหนึ่งมนุษย์ต่างก็ทึ่งในความจริงที่ตนเองค้นพบว่า ถ้าเอากิ่งไม้สองอันมาขัดถูกกันเข้าก็จะเกิดเป็นไฟขึ้น แต่ฮั่นเฟยจื๊อได้แสดงทรรศนะต่อไปว่า ถ้าหากในปัจจุบันนี้ มนุษย์จะยังคงอาศัยอยู่บนต้นไม้ และก่อไฟโดยเอากิ่งไม้มาขัดถูกันเข้าอยู่แล้ว ก็คงจะเป็นที่หัวเราะเยาะอยู่เป็นแน่ เพราะมนุษย์ได้ค้นพบวิธีการอื่นๆ ที่ดีกว่านั้นมากมายและเขาสรุปความเห็นของเขาว่า

เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ ถ้าจะยังมีบุคคลผู้ใดยกย่องสรรเสริญวิธีการของพระเจ้าเย้า (Yao) พระเจ้าซู่น (Shun) พระเจ้ายู้ (Yu) พระเจ้าถัง (T’ang) พระเจ้าหวู (Wu) ซึ่งเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ทั้งห้าแห่งอดีตว่า ควรจะนำมาใช้กับเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้แล้วบุคคลผู้นั้นก็คงจะเป็นที่ขบขันของนักปราชญ์ในสมัยปัจจุบันเป็นแน่ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นปราชญ์นั้น จึงไม่มีความมุ่งหมายที่จะปฏิบัติตามอดีต หรือกำหนดกฎเกณฑ์อันใดขึ้นจากอดีต แต่เขาจะศึกษาเหตุการณ์ในปัจจุบันในยุคสมัยของเขา แล้วคิดแสวงหาลู่ทางเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในปัจจุบันอย่างเหมาะสมกับกรณี

เราได้ทราบมาแล้วว่า ขงจื๊อได้อ้างเอาพระเจ้าเย้าและพระเจ้าซุ่น เป็นหลักแบบอย่าง นักปรัชญาเต๋า ได้อ้างเอาพระเจ้าฮวงตี่ (หรือพระจักรพรรดิเหลือง:Huang Ti) เป็นปฐมกำเนิด และนักปรัชญาของม่อจื๊อ เคารพนับถือเอาพระเจ้ายู้ เป็นครูอาจารย์ นักปรัชญาของลัทธิเหล่านี้ต่างย้ำความสำคัญของอดีตนักปรัชญาเหล่านี้สร้างทรรศนะของตนว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเคารพนับถือในอดีต ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์ในด้านการถ่ายทอดวัฒนธรรมและสร้างเสถียรภาพแก่สังคม แต่ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการเกิดคติความคิดใหม่ๆ ตลอดทั้งพลังของความเจริญก้าวหน้าทั้งปวง ผลก็คือเป็นปรัชญาแบบอนุรักษ์นิยมชนิดที่เสียสมดุลย์ ซึ่งฮั่นเฟยจื๊อเห็นว่าเป็นปรัชญาที่ควรจะตำหนิอย่างยิ่งที่สุด เพราะฮั่นเฟยจื๊อเห็นว่าเป็นปรัชญาที่ควรจะตำหนิอย่างยิ่งที่สุด เพราะฮั่นเฟยจื๊อนั้นมีความเห็นว่า วิถีแห่งประวัติศาสตร์นั้นคือ กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

กฎหมายควรจะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของกาลเวลา และการปกครองก็จะต้องดำเนินไปให้สอดคล้องกับวิถีของเหตุการณ์แห่งปัจจุบันกาล

ฮั่นเฟยจื๊อได้ยกอุทธาหรณ์ เรื่องความเขลาของการยึดมั่นในอดีต โดยเล่าเรื่องให้ฟังดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง ยังมีชายคนหนึ่งในแคว้นซุง กำลังไถนาอยู่ในทุ่ง ในตรงกลางทุ่งนั้น มีตอไม้อยูตอหนึ่ง วันหนึ่งมีกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาอย่างรวดเร็ว และบังเอิญไปชนกับตอไม้ต้นนั้น คอหักตาย ทันใดนั้นชายคนนั้นก็ทิ้งไถของตนแล้วมายืนรออยู่ที่ตอต้นไม้นั้น ด้วยหวังว่าคงจะมีกระต่ายตัวอื่นๆ วิ่งมาชนตอไม้นั้นอีก แล้วตนจะได้เก็บไปเป็นอาหารต่อไป แต่เขาก็จะไม่มีวันได้กระต่ายตัวที่สองอีกเลย แต่กลับเป็นที่หัวเราะเยาะของคนทั้งแคว้นซุง ถ้าหากว่าท่านปรารถนาจะปกครองประชาชนในปัจจุบัน โดยใช้วิธีการปกครองของนักการปกรองในอดีตแล้ว ท่านก็กระตนเหมือนกะทาชายนายคนที่รอจับกระต่ายคนนี้นั่นเอง

……เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ทั้งหลายนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเราต้องเตรียมตัวให้ทันกับเหตุการณ์เป็นปัจจุบัน

ความคิดทำนองเสียดสีในเรื่องวิถีความคิดของมนุษย์ ตามทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อ ที่กล่าวมานี้ เป็นพื้นฐานที่ดีทางจิตวิทยาสำหรับปรัชญานิติธรรมเท่านั้น ที่จริงแล้ว ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อนั้น เป็นผลที่เกิดจากความสับสนวุ่นวายของเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคของเขานั้นเอง ปฏิกิริยาที่ฮั่นเฟยจื๊อแสดงออกต่อเหตุการณ์บ้านเมืองนั้น ก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน ฮั่นเฟยจื๊อได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของสถาบันทางการเมือง และมีความเข้าใจในความเป็นไปของการเมืองภายในแคว้นต่างๆ ที่กำลังวุ่นวายยุ่งเหยิงเหล่านั้นเป็นอย่างดี เขาจึงสรุปเป็นความเห็นของเขาว่ามนุษย์นั้นมีธาตุแท้ของตนคือ ความเห็นแก่ตัว และเป็นนักวัตถุนิยม เขามีความเห็นอย่างรุนแรงถึงกับกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น แผ่ซ่านไปด้วยความปรารถนาในเรื่องผลประโยชน์ มีบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือไปจากความรักอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ถ้าบุตรที่เกิดมาเป็นชายบิดามารดาต่างชื่นชมโสมนัส ถ้าบุตรที่เกิดมาเป็นหญิง บิดามารดาอาจกระทำได้แม้กระทั่งฆ่าบุตรนั้นทิ้งเสีย ทั้งบุตรชายและบุตรหญิงต่างก็ออกมาจากครรภ์ของมารดาเหมือนกัน แต่เมื่อเป็นบุตรชาย ผลที่ตามมาคือความชื่นชมยินดี แต่เมื่อเป็นบุตรหญิงผลที่ติดตามมาคือ ความตาย บิดามารดาคิดถึงแต่ความสะดวกสบายในเวลาข้างหน้า บิดามารดาคิดคำนวณถึงแต่ผลประโยชน์ในระยะยาว เพราะฉะนั้นแม้แต่บิดามารดาในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อบุตรก็ยังครุ่นคิดถึงประโยชน์ที่จะได้ที่จะเสีย แล้วก็ปฏิบัติต่อบุตรของตนตามวิถีแห่งความคิดของตน

แล้วฮั่นเฟยจื๊อ ได้เตือนเจ้าผู้ครองแคว้นว่า ไม่ควรจะไว้วางใจในบุคคลที่ห้อมล้อมพระองค์อยู่

ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจะตกอยู่ในห้วงอันตราย ถ้ามอบความไว้วางใจในเหล่าเสนาบดี บุคคลที่มอบความไว้วางใจให้แก่คนกลุ่มใด ก็จะต้องถูกข่มโดยคนกลุ่มนั้น เสนาบดีนั้น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มิใช่เพราะความผูกพันทางสายโลหิตแต่เป็นเพราะการบีบบังคับของสถานการณ์ เพราะฉะนั้น เสนาบดีจะเฝ้าคอยสังเกตสภาพการณ์ทางจิตใจของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเสมอ ว่าเมื่อใดท่านจะโปรดปราน หรือเกรี้ยวกราดเอา…..และก็เช่นกัน ถ้าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีความไว้วางใจในบุตรของตนมากเกินไป เสนาบดีที่เลวร้ายก็จะใช้บุตรของท่านเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตน….ถ้าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ความไว้วางใจในภรรยาของตนมากเกินไป เสนาบดีที่มีใจเลวทรามก็จะใช้ภรรยาของท่านเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาประสงค์….ถ้าหากว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่สามารถมอบความไว้วางใจให้แก่ภรรยา และบุตรของตนแล้วไซร้ ท่านควรจะมอบความไว้วางใจให้แก่บุคคลใดเล่า?

ฮั่นเฟยจื๊อ ได้ยกอุทธาหรณ์ หลายประการมาสนับสนุนความคิดเห็นของตน

…..บ่าวทำงานให้นาย มิใช่เพราะตนมีความซื่อสัตย์ แต่เป็นเพราะการทำงานนั้นได้รับสินจ้างรางวัล ทำนองเดียวกัน นายปฏิบัติต่อบ่าว มิใช่เพราะนายเป็นคนมีเมตตากรุณา แต่เป็นเพราะเขาต้องการบริการที่ดี เพราะฉะนั้นจิตใจของนายและบ่าวจึงมุ่งอยู่ที่ผลประโยชน์ทั้งสองคนต่างคิดถึงผลประโยชน์ของตน ฮั่นเฟยจื๊อสรุปว่า บุคคลให้และรับเพราะความเห็นแก่ตัว ถ้ามีผลประโยชน์ร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นคนแปลกหน้า บุคคลก็อยู่ร่วมกันโดยสันติได้ ตรงกันข้าม ถ้าผลประโยชน์ขัดกัน แม้ว่าจะเป็นบิดา กับบุตร บุคคลก็จะต่อสู้แก่งแย่งกัน

เพราะการกระทำตามสัญชาติญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ย่อมจะนำไปสู่ความรุนแรงและการใช้กำลังอำนาจ เว้นแต่จะมีการควบคุมของกฎหมายที่เข้มงวดและการลงโทษที่รุนแรงเท่านั้น ที่มนุษย์จะอยู่อย่างสงบและสันติร่วมกัน ฮั่นเฟยจื๊อแนะนำวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาอำนาจของตนให้แก่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินว่า ไม่ควรหันไปใช้หลักมนุษยธรรมและหลักการยึดมั่นในศีลธรรม แต่ “จงนำประชาชนโดยกฎหมาย และบังคับประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยการลงโทษ” ทั้งสองนี้คือ ด้ามคธาของการปกครองที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจะต้องถือไว้ให้มั่น

ถึงแม้ว่า คำสอนของเม่งจื๊อและของนักปรัชญากลุ่มนิติธรรมจะแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่ทั้งสองสำนักต่างย้ำความสำคัญในเรื่องวัตถุว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ฮั่นเฟยจื๊อมีความเห็นมีความเห็นตามแบบของปรัชญานิติธรรมว่าประชาชนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงนั้นคือ ฐานรากของบ้านเมืองที่ดี

ในอดีต เมื่อบุรุษไม่หว่านไถ มนุษย์ก็ยังมีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ เมื่อสตรีไม่ถักทอ มนุษย์ก็ยังมีขนสัตว์และหนังสัตว์ นุ่งห่มอย่างเหลือเฟือ ถึงแม้ว่ามนุษย์จะไม่ทำงานหนัก แต่ก็มีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า มนุษย์มีจำนวนน้อย แต่อาหารและสิ่งของมีเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น การทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกันในหมู่มนุษย์ จึงไม่มี และถึงแม้จะไม่มีการปูนบำเหน็จรางวัล หรือการลงโทษอย่างร้ายแรงก็ตาม มนุษย์ก็อยู่อย่างสันติได้ มาบัดนี้สมมติว่าบุคคลหนึ่งมีบุตรชายห้าคน บุตรชายแต่ละคนมีบุตรต่อไปอีกห้าคน ฉะนั้น แม้แต่ในช่วงชีวิตของบุคคลที่เป็นปู่ ก็จะมีลูกหลานยี่สิบห้าคนเข้าไปแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้จำนวนคนมากขึ้น จำนวนสิ่งของมีน้อยลง ถึงแม้ว่าประชาชนจะทำงานอย่างแข็งขัน แต่ก็มีอาหารการกินลำบาก เหตุอันนี้นำไปสู่การทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกัน ทั้งนี้หาใช่เพราะว่ามนุษย์นั้นเลวทรามแต่เป็นเพราะว่า สิ่งของมีน้อยลง

ถึงแม้ว่านี้จะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้มีการปกครองบ้านเมืองที่เข้มงวดกวดขันก็ตาม แต่ก็เป็นทรรศนะที่ชี้ให้เห็นว่า ฮั่นเฟยจื๊อได้ย้ำความสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ในทางวัตถุในเรื่องของการปกครอง ความคิดอันนี้ไม่ใช่ของใหม่ ขงจื๊อสอนว่า บ้านเมือง “ต้องทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น” เม่งจื๊อ มีความสนใจในเรื่องการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยการปฏิรูปสังคม เช่น ค่าเช่านา และการลดอัตราการเก็บภาษี ซุ่นจื๊อพูดถึงความสมดุลย์ ระหว่างความต้องการทางวัตถุของประชาชนกับการจัดให้มีสิ่งจำเป็นทางวัตถุแก่ชีวิตให้แก่ประชาชน ม่อจื๊อเผยแพร่ความคิดเห็นในเรื่องการจ่ายอย่างประหยัด แต่นักปรัชญากลุ่มนิติธรรม ตามแบบฉบับของฮั่นเฟยจื๊อ ย้ำความสำคัญของการกสิกรรม และความไม่ขาดแคลนในทางเศรษฐกิจ ว่าเป็นอุดมการณ์ที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็งขึ้นได้

บุคคลผู้ใช้ผืนดินทำการกสิกรรม ย่อมเจริญด้วยทรัพย์
บุคคลผู้ต่อสู้ศัตรูย่อมเจริญในอำนาจ

เขามีความเห็นว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้น ประการแรกควร “บังคับให้ทุกคนทำการกสิกรรม และบุกเบิกผืนดิน เพื่อเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของประชาชน” แล้วประการที่สอง “สอนให้ประชาชนทุกคนในแว่นแคว้นของตนรู้จักวิธีการรบ ฝึกฝนการทำสงคราม ทั้งนี้เพื่อว่าในยามที่มีศัตรูมาจู่โจม ประชาชนจะสามารถช่วยเหลือป้องกันบ้านเมืองได้อย่างฉับพลัน”

ทรรศนะเกี่ยวกับสังคมในอุดมคติของมนุษย์
การมีพลเมืองดีมากเกินไป และความเห็นแก่ตัวของคนเป็นสาเหตุอันสำคัญที่สุดสองประการที่นำไปสู่ความโกลาหลวุ่นวาย และความทุกข์ยากของสังคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น นอกจากนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ยังกล่าวหาว่า “นักทฤษฎีทางวิชาการทั้งหลาย” ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินสนับสนุนอุ้มชูด้วยเงินภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชนผู้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ผู้ซึ่งถึงแม้จะหมกมุ่นอยู่กับวิชาการ แต่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรอื่นเลยนั้น เป็นพวกที่หยิ่งผยองเกินไป ที่จะลดตนลงมาเกลือกกลั้วกับการทำงานด้วยแรงงานอันเหน็ดเหนื่อย ความคิดอันนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ได้นำมาวิจารณ์เกี่ยวกับประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนในบ้านเมืองต่างพูดกันถึงเรื่องการปกครองบ้านเมืองไม่มีครอบครัวใดที่จะไม่มีตำรากฎหมายของกว้านจื๊อ และของ ซ้องจื๊อ แต่ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอยู่ในทุกครัวเรือน แต่ผืนแผ่นดินกลับให้ผลพืชน้อยลง น้อยลงทั้งนี้เป็นเพราะว่า มีคนพูดเรื่องของการกสิกรรมมาก แต่คนที่ถือไถ ทำกสิกรรมมีน้อย ทุกคนในบ้านเมืองพูดกันถึงเรื่องศิลปะของการทำสงคราม….แต่กองทัพของเรากลับอ่อนแอลง ทั้งนี้เพราะว่ามีคนพูดเรื่องการรบมาก แต่คนที่ใส่เกราะเข้าสนามรบมีน้อย
ความทุกข์ยากของสังคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นนอกจากนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ยังกล่าวหาว่า “นักทฤษฎีทางวิชาการทั้งหลาย” ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินสนับสนุนอุ้มชูด้วยเงินภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชนผู้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ผู้ซึ่งถึงแม้จะหมกมุ่นอยู่กับวิชาการ แต่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรอื่นเลยนั้น เป็นพวกที่หยิ่งผยองเกินไป ที่จะลดตนลงมาเกลือกกลั้วกับการทำงานด้วยแรงงานอันเหน็ดเหนื่อย ความคิดอันนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ ได้นำมาวิจารณ์เกี่ยวกับประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนในบ้านเมืองต่างพูดกันถึงเรื่องการปกครองบ้านเมืองไม่มีครอบครัวใดที่จะไม่มีตำรากฎหมายของกว้านจื๊อ และของซ้องจื๊อ แต่ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอยู่ในทุกครัวเรือน แต่ผืนแผ่นดินกลับให้ผลพืชน้อยลง น้อยลงทั้งนี้เป็นเพราะว่า มีคนพูดเรื่องของการกสิกรรมมาก แต่คนที่ถือไถ ทำกสิกรรมมีน้อย ทุกคนในบ้านเมืองพูดกันถึงเรื่องศิลปะของการทำสงคราม….แต่กองทัพของเรากลับอ่อนแอลง ทั้งนี้เพราะว่ามีคนพูดเรื่องการรบมาก แต่คนที่ใส่เกราะเข้าสนามรบมีน้อย

นอกจากนั้นแล้ว สภาพแห่งอนาธิปไตยทางสติปัญญาที่มีอยู่ในขณะนั้น ทำให้ฮั่นเฟยจื๊ออุทานว่า “ไม่แต่เพียงเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมโดยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังปลุกปั่นให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันขึ้นทั่วไปในบ้านเมืองอีกด้วย”

ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มัวแต่ฟังวิทยากรจอมปลอมและการอภิปรายโต้เถียงกันที่หาข้อยุติไม่ได้ เพราะฉะนั้นการอภิปรายโต้เถียงกันจึงไม่มีผลนำไปสู่การปฏิบัติจริงจังแต่อย่างใด น้ำแข็งกับถ่านไฟคุแดงไม่อาจจะเอาไปใส่ไว้ในภาชนะเดียวกันได้ ฤดูหนาวกับฤดูร้อนก็ไม่อาจจะเวียนมาถึงพร้อมกันได้ฉันใด ความคิดความเห็นทางวิชาการจากสำนักปรัชญาต่างๆ ที่เจริญแพร่หลายขึ้นมาในสังคมนั้น ก็อาจจะต้องขัดแย้งกันเป็นธรรมดา แต่ถ้าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินฟังความคิดที่ขัดแย้งกันเหล่านี้แล้วเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ขัดแย้งกันแล้ว ความโกลาหลวุ่นวายในสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สังคมในอุดมคติของฮั่นเฟยจื๊อ นั้น ประกอบด้วยหลักการดังนี้ ประการที่หนึ่ง “ต้องบังคับประชาชนให้ทำการกสิกรรมและบุกเบิกผืนดิน เพื่อเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของประชาชน” ประการที่สอง “กำหนดให้มีการลงโทษและใช้การลงโทษเพื่อควบคุมบุคคลที่ชั่วร้ายเลวทราม” ประการที่สาม “กำหนดให้มีการเก็บภาษีอากร บรรจุยุ้งฉางและท้องพระคลังให้เต็ม เพื่อขจัดความอดอยากและเลี้ยงดูกองทัพ” และประการที่สี่ “จัดให้มีการฝึกฝนวิชาการรบพุ่งให้แก่ประชาชนทุกคนในบ้านเมือง หมั่นฝึกซ้อมให้มีความชำนาญเพื่อว่าประชาชนจะได้ช่วยกันป้องกันบ้านเมือง เมื่อถูกรุกราน”

ด้วยภาพของสังคมอย่างนี้อยู่ในจินตนาการของเขา ฮั่นเฟยจื๊อ ได้แบ่งระบบสังคมออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนผู้ทำประโยชน์ กับกลุ่มประชาชนผู้ขี้เกียจ กลุ่มประชาชนผู้ทำประโยชน์ได้แก่ชาวนาและทหาร ซึ่งเป็นชนชั้นที่ควรแก่การยกย่องและส่งเสริม กลุ่มประชาชนผู้ขี้เกียจได้แก่ คนชั้นสูงที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และนักวิทยาการที่เพ้อฝัน พวกนี้ ฮั่นเฟยจื๊อตำหนิว่า เป็นชนชั้นประเภทกาฝากของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮั่นเฟยจื๊อ รังเกียจพวกนิยมลัทธิขงจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าพวกเหล่านี้เป็นผู้ชักจูงบุคคลที่ควรจะเป็นชาวนาและทหารให้ไปเป็นพวกนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้หาคุณประโยชน์อันใดไม่ได้เลย นอกจาก “ประดับตนแต่วรรณกรรมอันสวยงาม และการอภิปรายโต้เถียงแสดงอวดภูมิรู้ของตน” เท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ฮั่นเฟยจื๊อจึงเสนอความคิดว่า นักการปกครองนั้นควรจะกำหนด กรอบให้แก่ความเพ้อฝันทางวิชาการที่ไม่มองดูสภาพความเป็นจริงของนักวิชาการทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ผู้ซึ่งควรจะสนใจในเรื่องการผลิตพืชผล ทางการกสิกรรมและอาชีพทางทหารอันมีเกียรติมากกว่า

ผู้ปกครองบ้านเมือง ในการรับเอาทฤษฎีมาจากนักวิชาการทั้งหลายนั้นถ้าหากถือเอาว่าทฤษฎีเหล่านี้เป็นทฤษฎีที่ใช้ได้ ก็ควรจะนำเอาทฤษฎีนั้นมาประกาศให้แพร่หลายและแต่งตั้งนักวิชาการเจ้าของทฤษฎีนั้น มาเป็นผู้ดำเนินงาน แต่ถ้าถือว่าทฤษฎีเหล่านั้น เป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้ ก็ควรจะโยนทฤษฎีเหล่านั้นทิ้งไปเสีย และเลิกใช้นักวิชาการเจ้าของทฤษฎีนั้นต่อไป แต่ในทุกวันนี้ ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ยอมรับรู้ทฤษฎีที่ใช้ได้ผลและยกย่องเจ้าของทฤษฎีเหล่านั้น และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ยอมทิ้งทฤษฎีที่ล้มเหลวตลอดทั้งเจ้าของทฤษฎีที่ล้มเหลวนั้นด้วย การรับฟังทฤษฎีที่ใช้ได้ผลแต่ไม่นำมาปฏิบัติ และการปฏิบัติตามทฤษฎีที่ไม่แน่ใจในผลของทฤษฎีนั้นย่อมเป็นหนทางที่นำไปสู่ความหายนะอย่างแน่แท้

กล่าวโดยสรุปแล้ว นโยบายทางสังคมของฮั่นเฟยจื๊อ นั้น มุ่งไปที่การยกย่องส่งเสริมชนชั้นที่เป็นชาวนาและทหาร และตำหนิชนชั้นที่เป็นข้าราชการและนักวิชาการ ควรจะสังเกตด้วยว่า ถึงแม้ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อในเรื่องนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับคติความคิดของสมัยศักดินาแต่อย่างใด หรือไม่ก็แต่เพียงเล็กน้อยนั้น ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อนั้น ก็เป็นทรรศนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสภาพการณ์ของประเทศจีนในยุคใหม่ ประชาชนพลเมืองของแคว้นจิ๋นนั้น ถูกจัดระบบตามความคิดของฮั่นเฟยจื๊อนี้หมดทั้งแคว้น ฉะนั้นจึงมีความเป็นเลิศในทางการกสิกรรมและการรบในสงคราม ผลก็คือแคว้นจิ๋ว สามารถกำจัดแคว้นอื่นที่เป็นปรปักษ์ได้ลงราบคาบทีละแคว้นๆ จนกระทั่งสามารถรวบรวมแคว้นทั้งหมดเข้าเป็นอาณาจักรประเทศจีน อาณาจักรเดียวกันได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจีน

บทวิเคราะห์
ฮั่นเฟยจื๊อ ได้สร้างโครงการอย่างละเอียดที่มุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การจัดระบบทางการเมืองและทางสังคมในรูปแบบใหม่ แผนการของฮั่นเฟยจื๊อประกอบด้วยการปรับปรุงอันสำคัญ “ในเรื่องศิลปะของการกสิกรรม และการทำสงคราม” ความมุ่งหมายประการแรกคือการเพิ่มพูนโภคทรัพย์ของประชาชนและส่งเสริมพลังอำนาจทางการทหารของแคว้นของตน เพื่อต่อสู้เพื่ออธิปไตยของตน ลักษณะสำคัญๆ ของโครงการทางการเมืองของฮั่นเฟยจื๊อนั้น อาจพอสรุปได้ดังนี้
1. การปกครองโดยมีกษัตริย์ เป็นผู้มีอำนาจอันสิทธิขาด โดยใช้อำนาจผ่านทางระบบราชการ
2. แต่ละท้องถิ่นต้องมีความสามารถในทางเศรษฐกิจพอเพียงที่จะเลี้ยงตนเองได้
3. มีการบริหารโดยใช้กฎหมายที่เข้มงวด มีการปูนบำเหน็จรางวัลและการลงโทษ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

เพราะฉะนั้น บ้านเมืองในอุดมคติของ ฮั่นเฟยจื๊อ จึงเป็นระบบรวมอำนาจที่มีประมุขของบ้านเมืองแต่ผู้เดียว มีผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียว และมีกฎหมายสูงสุดแต่อันเดียว เป็นระบบเอกาธิปไตยที่สามารถปราบปรามความยุ่งเหยิงวุ่นวาย อันเป็นผลของการแตกสลายของระบบศักดินาได้อย่างได้ผลดี หลักการของฮั่นเฟยจื๊อนี้ แคว้นจิ๋น เป็นแคว้นแรกที่รับเอาปฏิบัติ เพราะแคว้นจิ๋น เป็นแคว้นที่ระบบศักดินาแต่เดิมนั้นมีอิทธิพลอยู่น้อยมาก แคว้นจิ๋นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าราชวงศ์จิ๋นของอาณาจักรจีน จะมีอายุสั้นก็ตาม แต่สถาบันทางการเมืองที่ยึดหลักการของทฤษฎีปรัชญานิติธรรมนี้ ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปเป็นเวลานานกว่าสองพันปี

บทนิพนธ์ของฮั่นเฟยจื๊อ โดยเหตุที่เป็นบทนิพนธ์ที่แสดงถึงปัญญาใหม่ที่กำลังประสบอยู่ ในขณะนั้น และแสดงถึงทรรศนะของแนวคิดแบบใหม่ จึงถือว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดในทางการเมืองแบบสมัยใหม่ ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อ ถือว่า มนุษย์นั้นโดยภาวะที่แท้จริงแล้วมีแต่ความเห็นแก่ตัว รัฐมีความสำคัญยิ่งกว่าอิสรเสรีของบุคคล ฮั่นเฟยจื๊อ ยังเป็นต้นคิดของความคิดที่ให้มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากหลักธรรมของศาสนา และหลักจริยธรรม เรื่องการใช้กฎหมายเป็นหลักบริหารอาณาจักร เรื่องของการรวมอำนาจการบริหารราชการไว้ในส่วนกลาง และการย้ำความสำคัญทางเศรษฐกิจว่าเป็นพื้นฐานอันสำคัญของสังคมนั้น นับได้ว่าฮั่นเฟยจื๊อได้สร้างความคิดที่สำคัญให้แก่วงการปรัชญาการเมือง และยังได้ฝากทรรศนะทางการปกครองที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ของชาวจีนอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าระบบการปกครองแบบใหม่ตามปรัชญานิติธรรมจะสามารถรวบรวมอาณาจักร เข้าด้วยกันจนเป็นปึกแผ่นและมีเสถียรภาพดี ภายใต้การปกครองของกษัตริย์แบบพ่อปกครองลูกได้ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจจะวางพื้นฐานเพื่อการสถาปนาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประเทศจีนในสมัยปัจจุบันกำลังแสวงหาอยู่นี้ได้

ทฤษฎีความคิดของปรัชญานิติธรรม เป็นทฤษฎีที่ส่งเสริมอำนาจแบบเอกาธิปไตยของกษัตริย์ในระยะเวลาแห่งสมัยที่สังคมต้องการระเบียบวินัย และการเชื่อฟังอย่างเด็ดขาด มากกว่าต้องการเสรีภาพ ทฤษฎีของปรัชญานิติธรรม สอนประชาชนไม่ให้อภิปราย หรือคิด แต่ให้เชื่อฟัง ในเมื่อประชาชนยังไม่มีความพร้อมที่จะปกครองตนเอง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทฤษฎีความคิดของปรัชญานิติธรรม เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคมหลังจากการสลายตัวของลัทธิศักดินา ถึงแม้ว่า จะเป็นทฤษฎีแห่งความคิดที่ขัดแย้งกับหลักการของประชาธิปไตยในสมัยปัจจุบันก็ตาม

แต่ทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อ ในแง่นี้เป็นทรรศนะที่ง่ายและชัดเจนแจ่มแจ้ง ดังนี้

ผู้ที่เป็นปราชญ์นั้น ย่อมไม่คิดที่จะดำเนินรอยตามวิถีทางแต่โบราณ หรือสร้างกฎเกณฑ์อันใดที่มีลักษณะถาวรไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นไว้ ผู้ที่เป็นปราชญ์นั้น จะศึกษาสถานการณ์ในยุคสมัยของตน แล้วคิดหาวิธีการที่จะแก้ไขสถานการณ์นั้นขึ้นมาโดยเหมาะสมกับกรณี

ขณะที่ ทฤษฎีทางการเมืองของฮั่นเฟยจื๊อ มีผู้นำไปปฏิบัติอย่างได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดีนั้น ทรรศนะอันสุดท้ายที่สำคัญยิ่งอันนี้ของฮั่นเฟยจื๊อ กลับถูกหลงลืมไปเกือบสิ้น

ที่มา:กมล  นิลวรรณ

ฮั่นเฟยจื๊อกับปรัชญานิติธรรม

ผู้เผยแพร่ปรัชญานิติธรรมและแขนงต่างๆ ของปรัชญานิติธรรม
ปรัชญานิติธรรมไม่ได้เริ่มต้นด้วย ฮั่นเฟยจื๊อ มีนักปราชญ์หลายท่านยืนยันว่า บุคคลผู้เริ่มก่อตั้งปรัชญานิติธรรมนั้นคือ กว้าน ชุง (Kuan Ch’ung) เป็นเสนาบดีผู้มีชื่อเสียงในแคว้นฉี๋ในศตวรรษที่เจ็ด ก่อน ค.ศ. กว้าน ชุง เป็นบุคคลที่แต่เพียงสร้างแคว้นฉี๋ให้เป็นแคว้นที่มั่งคั่งที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในภาคตะวันออก โดยการกำหนดให้มีการเก็บภาษีของเกลือและของแร่เหล็กเท่านั้น แต่ยังได้สถาปนาแบบอย่างที่ดีของการบริหารบ้านเมืองที่ดีมีประสิทธิภาพสูงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้สงสัยไม่แน่ใจอยู่ว่า บทนิพนธ์ทางปรัชญาที่มีชื่อว่า กว้านจื๊อ (Kuan Tzu) นั้น จะถือว่าเป็นบทนิพนธ์ของกว้านชุง หรือไม่ บทนิพนธ์เล่มนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และวันเดือนปีที่แต่ง แต่เป็นบทนิพนธ์ที่เชื่อกันทั่วไปว่า เป็นผลงานที่ผลิตขึ้นจากนักปราชญ์ของสำนักปรัชญานิติธรรม ในสมัยตอนปลายของยุคการสงครามของแคว้นต่างๆ คือ ประมาณปี 250 ก่อน ค.ศ. ตามหมายเหตุในหนังสือรายการบันทึกประวัติศาสตร์ (Catalog) ของ ลู่ ซิน (Liu Hsin) ที่รวบรวมขึ้นประมาณ ปี ค.ศ. 1 นั้น กล่าวว่า บทนิพนธ์ กว้านจื๊อนั้น ประกอบด้วยบทความแปดสิบหกบทด้วยกัน ซึ่งในขณะปัจจุบันได้สูญหายไปสิบบทความ ที่จริงแล้ว กว้านชุงเป็นเสนาบดีนักปฏิบัติ กว้านชุงย้ำความสำคัญของจรรยามารยาท ความยุติธรรม ความสุขุมรอบคอบ และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันเป็นแบบฉบับของคติความคิดของคนในยุคสมัยฤดูใบไม้ร่วง กว้านชุงนิยมในวิธีการปกครองที่เข้มงวด ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของปรัชญานิติธรรม ด้วยเหตุนี้ ฐานะของกว้านชุง ในสำนักปรัชญานิติธรรมนั้นจึงมีความสำคัญคล้ายคลึงกับฐานะของ โจว กุง (Chou Kung) หรือ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว ในลัทธิปรัชญาขงจื๊อ ด้วยเหตุผลอันนี้เอง ฮั่นเฟยจื๊อ จึงกล่าวถึง กว้านชุง ด้วยความเคารพ

บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ จื๊อชาน (Tzu-Ch’an) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีของแคว้นแจ็ง (Cheng) ท่านผู้นี้เป็นผู้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายจีน ฉบับที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกขึ้นในปี 536 ก่อน ค.ศ. เมื่อจื๊อชานมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งนั้น ประชาชนทั้งปวงต่างยินดีต้อนรับการปฏิรูปสังคมของเขา ไม่มีบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามของเขาแต่อย่างใดเลย แคว้นของเขาเต็มไปด้วยความสงบ เรียบร้อย และเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างปฏิบัติต่อแคว้นเจ็งด้วยความนับถืออย่างเหมาะสม

ในการก่อตั้งสำนักปรัชญานิติธรรมนั้น มีบุคคลที่เป็นผู้นำอยูสามคนคือ เซน เต๋า (Shen Tao) แห่งแคว้นเจา (Chao) เซนปูไฮ (Sheu Pu-Hai) แห่งแคว้นฮั่น (Han) และ ชางหยาง (Shang Yang) แห่งแคว้นเว่ย (Wei) บุคคลทั้งสามนี้ต่างเป็นักคิดทางปรัชญา นิติธรรมที่มีชื่อเสียงเด่นมาก เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สี่ ก่อน ค.ศ. ในแคว้นทางทิศเหนือที่แยกตัวออกไปเป็นอิสระ

บุคคลแรก คือ เซน เต๋า มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า เซน จื๊อ (Shen Tzu) เป็นชาวเมืองของแคว้นเจา วันเดือนปีของการเกิดและการตายของเขาไม่มีผู้ใดทราบ แต่เชื่อกันว่าเขาเป็นคนร่วมสมัยกับเม่งจื๊อ เขาเป็นผู้ที่รู้จักกันในสำนักปรัชญานิติธรรมว่าเป็นผู้เผยแพร่และสนับสนุนหลักการเรื่อง ซี่ (Shih) หรืออำนาจว่าเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่สุดของการเมืองและของการปกครอง ในบทนิพนธ์เรื่อง Han Fei Tzu นั้นมีข้อความอยู่ตอนหนึ่งที่นำมาอ้างจากบทนิพนธ์ของเซนเต๋า ซึ่งแสดงถึงอุทธาหรณ์ที่ดีเกี่ยวกับความคิดเรื่อง ซี่

……คนดี ต้องยอมแก่ คนเลว เพราะว่าเป็นผู้มีอำนาจน้อย และอยู่ในฐานะตำแหน่งต่ำกว่า คนเลวมีอำนาจควบคุมคนดีอยู่ได้ ก็เพราะมีอำนาจสูงกว่า และอยู่ในฐานะตำแหน่งสูงกว่า เมื่อพระเจ้าเย้า (Yao)
กษัตริย์นักปราชญ์เป็นคนธรรมดาสามัญอยู่นั้น พระองค์ไม่สามารถจะควบคุมคนได้แม้แต่เพียงจำนวนสามคน ตรงกันข้าม เมื่อพระเจ้าเจี่ย (Chieh) กษัตริย์ทรชนเป็นพระจักรพรรดินั้น พระองค์สามารถทำให้โลกทั้งหมดต้องสับสนอลหม่าน ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ซี่ (อำนาจ) และตำแหน่งนั้นเป็นของจำเป็น ส่วนความดีและปัญญานั้นเป็นของที่ยึดมั่นอาศัยไม่ได้ เราใช้คันธนูที่อ่อนเพื่อยิงลูกศรให้ขึ้นสูง ถึงแม้ว่าจะมีกำลังลมช่วยพยุงอยู่ ก็ไม่อาจทำได้ คนเลวสามารถใช้อำนาจบังคับ ให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของตนได้ เมื่อพระเจ้าเย้าเป็นผู้น้อย ประชาชนไม่สนใจฟังคำสั่งของพระองค์เลย แต่เมื่อพระเจ้าเย้าเป็นพระจักรพรรดิ มีคนเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์เป็นอย่างดี และปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อย่างเคร่งครัด จากเหตุผลดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ความดีและปัญญานั้น ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อฟังในคำสั่งได้ แต่ ซี่ หรืออำนาจและตำแหน่งหน้าที่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อฟังคำสั่งได้

แง่คิดนั้นคือว่า ซี่ คือสิ่งที่ทำให้นักการปกครองสามารถปกครองได้ อำนาจนี้เองคือ สิ่งที่กล่าวถึงในบทนิพนธ์ของกว้าน จื๊อ

เมื่อเจ้าแผ่นดินทรงมีปัญญาและการปกครองบ้านเมืองด้วยอำนาจเด็ดขาด เสนาบดีทั้งหลายก็งดเว้นจากการทำความชั่ว พวกเสนาบดีไม่กล้าทรยศต่อเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้มิใช่เพราะว่าพวกเสนาบดีมีความรักในเจ้าแผ่นดินก็หาไม่ แต่เป็นเพราะพวกเขาเกรงกลัวในพระราชอำนาจ ประชาชนทั้งหลายพร้อมที่จะรับใช้เจ้าแผ่นดิน มิใช่เพราะว่าประชาชนมีความรักต่อเจ้าแผ่นดิน ก็หาไม่ แต่เป็นเพราะว่า พวกประชาชนเกรงกลัวในพระราชอำนาจ ด้วยเหตุนี้ เจ้าแผ่นดินผู้ฉลาด ผู้ปกครองอยู่ในตำแหน่งสูงจึงสามารถปกครองประชาชนพลเมืองได้ พระเจ้าแผ่นดินผู้มีอำนาจอันเด็ดขาด จึงสามารถควบคุมเสนาบดีทั้งหลายได้ ฉะนั้นคำสั่งของพระองค์ จึงมีคนเชื่อฟังและปฏิบัติตาม เจ้าแผ่นดินก็จะได้รับการยกย่อง และเสนาบดีทั้งหลายก็เกรงกลัวในพระราชอำนาจ เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงบัญญัติว่า “จงเคารพยกย่องพระเจ้าแผ่นดินและอ่อนน้อมถ่อมตนต่อเสนาบดี ทั้งนี้ มิใช่เพราะเหตุว่ามีความรักชอบพอในตัวท่านเป็นพิเศษอย่างใด แต่เป็นเพราะว่าท่านเหล่านี้ เป็นผู้มีอำนาจอันสูงสุดในแผ่นดิน”

ทฤษฎีที่ย้ำความสำคัญของอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นรากฐานของพระราชอำนาจอันเด็ดขาดของกษัตริย์ และเป็นทฤษฎีแขนงหนึ่งของปรัชญานิติธรรม

ทฤษฎีอีกแขนงหนึ่งของปรัชญานิติธรรมนั้น มีปรากฏอยู่ในตัวบุคคลของ เซน ปู ไฮ ท่านผู้นี้มีชื่อหนึ่งว่า เซน จื๊อ ท่านเป็นเสนาบดีของแคว้นฮั่น ชีวิตการงานของท่านส่วนใหญ่อยู่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่สี่ เซน ปู ไฮ เป็นผู้เผยแพร่ความคิดเรื่อง ซู่ (Shu) ว่าเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอันจะขาดเสียไม่ได้ในการปกครองบ้านเมือง ซู่ นี้คือ ศิลปะในการปกครอง หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ที่นักการปกครองจะต้องใช้เป็นเครื่องมือควบคุมบุคคลในบังคับบัญชา และเพื่อใช้บุคคลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตน ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องซู่ และการบริหารบ้านเมืองนั้น เซน ปู ไฮ ดูเหมือนจะเจริญรอยตามวิถีทางแห่งปรัชญาเต๋า ในหนังสือเรื่อง Lu Shih Ch’un Ch’iu หรือ ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงของ หลู ปู เว่ย (The Spring and Autumn of Lu Pu-wei) เขียนขึ้นประมาณปี 235 ก่อน ค.ศ. นั้น เราอ่านพบข้อความว่า

เซนปูไฮ กล่าวว่า “…….จงอย่าฟัง แล้วท่านจะได้ยินโดยไม่ต้องมีการฟัง จงปิดตาเสีย แล้วท่านจะเห็นโดยไม่ต้องมองดู จงทิ้งสติปัญญาเสีย แล้วท่านจะเป็นเหมือนคนที่ปราศจากความรู้ การละทิ้งสิ่งทั้งสามนี้ให้หมด คือ วิถีทางของการปกครอง การถือเอาสิ่งทั้งสามนี้ คือ วิถีทางของอนาธิปไตย หู ตา และสติปัญญา เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ สิ่งที่เราศึกษาเอาจากสิ่งทั้งสามนี้เป็นความรู้ที่บกพร่องและไม่พอเพียง สิ่งที่บกพร่องและไม่พอเพียงนั้น ไม่สามารถยับยั้งและชี้นำประชาชนได้ …..เพราะฉะนั้น คนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดที่สุดจะสลัดทิ้งสติปัญญาคนที่มีความเมตตากรุณามากที่สุด จะไม่พูดถึงคุณธรรมเลย จงอยู่อย่างสงบ และอย่าคิดถึงสิ่งใด เพียงแต่รอคอย ให้เวลาผ่านไปแล้ว ความสำเร็จก็จะมาถึงท่านเอง ….ด้วยเหตุนี้ นักการปกครองผู้ไม่ให้คำแนะนำอันใดจะได้รับความนิยมเห็นพ้องด้วย นักการปกครองผู้ไม่ได้เริ่มอะไร จะมีผู้ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นกษัตริย์ในสมัยอดีต จึงประกอบกิจการแต่เพียงน้อย แต่ก็สามารถทำให้งานทั้งหลายสำเร็จได้อย่างมากมาย สิ่งที่ทำให้การงานทั้งหลายสำเร็จได้นั้นคือ ซู่ ของผู้มีอำนาจ สิ่งที่กระทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปนั้นคือ เต๋าของเหล่าเสนาบดี จากเหตุผลอันนี้ ข้าพเจ้าจึงสรุปลงเป็นความเห็นว่า “ความไม่รู้ และความนิ่งเฉยนั้นดีกว่า ความรู้และความไม่อยู่นิ่ง นี้คือ วิถีของผู้มีอำนาจ”

คำสอนนี้ เมื่อพิจาณาดูแต่เพียงผิวเผินแล้ว มีลักษณะคล้ายกันกับคำสอนของปรัชญาเต๋า ปรัชญาแห่ง หวู เวย (การอยู่นิ่งและการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว) แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของฮั่นเฟยจื๊อนั้น คำสอนอันนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้บุคคลมาอยู่ภายใต้อำนาจของการปกครองของตน ซู่ นั้นเมื่ออธิบายเป็นถ้อยคำทางภาคปฏิบัติแล้ว ก็คือวิธีการอันลึกลับ….ของนักปกครองที่แสดงออกมาทำให้ประชาชนยินยอมกระทำตามด้วยอาการอันดุษณี ยังมีนักปรัชญาอีกท่านหนึ่งในสำนักปรัชญานิติธรรมที่ควรจะกล่าวถึงคือ ชาง หยาง (Shang Yang) ซึ่งมีชื่อที่นิยมเรียกกันว่า เจ้าคุณชาง (Lord of Shang) เป็นบุคคลที่ชอบทำงาน แต่กเป็นนักศึกษาที่ลึกซึ้งและพากเพียรค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสถาบันทางการเมือง ถึงแม้ว่าชาง หยาง จะมาจากครอบครัวที่เป็นนักการปกครองของแคว้นเว่ย แต่เขาก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของตนเพื่อทำราชการอยู่ในแคว้นจิ๋น (Ch’in) ในตอนกลางศตวรรษที่สี่ก่อน ค.ศ. ด้วยอาศัยอิทธิพลของชางหยางนั้นเอง ที่ทำให้แคว้นจิ๋นสามารถมีพลังอำนาจมากพอที่จะเตรียมทางขึ้นไปสู่การเป็นแคว้น ผู้มีชัยชนะเหนือแคว้นทั้งปวงได้ในที่สุด กล่าวกันว่า ชางหยางเป็นผู้ปฏิรูปทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่วินัยของกองทัพไปจนถึงการเช่าที่ดิน และเป็นบุคคลที่ได้ปฏิรูปกฎหมายและการบริหารบ้านเมือง งานนิพนธ์ทางปรัชญาที่มีชื่อตามชื่อของเขานั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นงานนิพนธ์ที่แต่งขึ้นในยุคสมัยหลัง แต่ก็เชื่อกันว่าอย่างน้อยที่สุดบางตอนของบทนิพนธ์เล่มนี้ ก็เป็นงานของเขาอย่างแท้จริง

มีเรื่องเล่ากันว่า ชางหยางเป็นผู้เผยแพร่สิ่งที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ศิลปะแห่งการกสิกรรมและการทำสงคราม” ตามทรรศนะของชางหยางนั้น การผลิตอาหาร และการเตรียมกำลังทางทหารนั้น เป็นกิจการของบ้านเมืองที่บ้านเมืองต้องให้การสนับสนุนชาวนาและทหาร เป็นชนชั้นประเภทเดียวที่บ้านเมืองควรจะส่งเสริม เพราะว่างานกสิกรรมเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย และการทำสงครามเป็นงานที่เต็มไปด้วยอันตราย เขาจึงแนะนำเจ้าผู้ครองแคว้นว่า “จงสร้างสภาพการณ์ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าการไม่ทำไร่ไถนา และการไม่ต่อสู้ในการสงครามนั้น เป็นสภาพที่ขมขื่นลำบากยิ่งกว่า” เขารังเกียจพวกนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อ เพราะเขารู้สึกว่า พวกเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีประโยชน์อันใด นอกจากใช้เวลาให้หมดไปในการศึกษากวีนิพนธ์และประวัติศาสตร์เท่านั้น

ถ้าหากในแว่นแคว้นใด มีสิ่งสิบประการต่อไปนี้ คือ กวีนิพนธ์และประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีและดนตรี คุณธรรมและการปลูกฝังคุณธรรม ความรักในบิดามารดาและความรักในพี่น้องกัน และความสุขุมรอบคอบแล้ว ผู้ปกครองบ้านเมืองก็จะไม่มีใครที่จะใช้ให้ทำการป้องกันบ้านเมือง และต่อสู้ในการสงคราม ถ้าแว่นแคว้นใดถูกครอบงำด้วยสิ่งสิบประการนี้ แว่นแคว้นนั้นก็จะแตกสลายลงทันทีทันใดที่มีข้าศึกศัตรูมาจู่โจม ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้าศึกศัตรูมาจู่โจม บ้านเมืองก็จะยากจนข้นแค้น

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของชางหยางนั้น ค่อการบริหารบ้านเมืองด้วยความเข้มงวด โดยอาศัยฝ่า (fa) หรือกฎหมายอันเป็นทฤษฎีทางความคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของปรัชญานิติธรรม มีผู้กล่าวว่า ชางหยางเป็นผู้บัญญัติกฎหมายใหม่ๆ โดยกำหนดให้มีการให้รางวัลและการทำโทษ โดยไม่ไว้หน้าว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้มีอำนาจหรือมีความสำคัญประการใด และไม่มีการแสดงความเลือกที่รักมักที่ชังแก่บุคคลที่เป็นญาติมิตรแต่อย่างใด จะเห็นได้ชัดเจนว่าทรรศนะของชางหยางนั้น เป็นทรรศนะที่เหมาะสมอย่างที่สุดกับสภาพการณ์ของบ้านเมือง หลังจากการแตกสลายของระบบศักดินาในระหว่างยุคสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ด้วยเหตุนี้ในยุคสมัยนี้ นักปรัชญากลุ่มนิติธรรมจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมและมีอำนาจในทางการเมืองของสมัยแห่งความโกลาหลวุ่นวายนี้ มากกว่าปรัชญาของขงจื๊อ

ความยิ่งใหญ่และความสำคัญของฮั่นเฟยจื๊อนั้น ต้องประเมินค่าโดยอาศัยคำสอนของเซนเต๋า ของเซนปูไฮ และของชางหยางเป็นหลัก ฮั่นเฟยจื๊อนำเอาความคิดเรื่องซี่ (Shih), ซู่ (Shu) และฝ่า (fa) มาใช้ แล้วพัฒนาทรรศนะทั้งสามนี้ขึ้นมาใหม่ โดยมีหลักการอันเป็นความคิดริเริ่มส่วนตนที่เฉียบแหลมเป็นแนวทาง

บ้านเมืองนั้นไม่อาจจะเข้มแข็งได้อยู่ตลอดกาล และก็ไม่อาจจะอ่อนแออยู่ตลอดกาลเช่นกัน ถ้าหากเมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแล้ว เมื่อนั้น บ้านเมืองก็เข้มแข็ง เมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างหย่อนยานแล้วเมื่อนั้น บ้านเมืองก็อ่อนแอ

ฮั่นเฟยจื๊อนั้นเป็นผู้ยึดมั่นในทรรศนะนี้อยู่เสมอว่า บ้านเมืองก็เข้มแข็ง เมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างหย่อนยานแล้วเมื่อนั้น บ้านเมืองก็อ่อนแอ

ฮั่นเฟยจื๊อนั้นเป็นผู้ยึดมั่นในทรรศนะนี้อยู่เสมอว่า บ้านเมืองที่มีการปกครองเป็นอย่างดีนั้น ประการแรกจะต้องมีประมวลกฎหมายที่แน่นอน และต้องนำกฎหมายนั้นมาใช้อย่างเข้มแข็งและเข้มงวด ประมวลกฎหมายนี้จะมีรายละเอียดและมีความยาวอย่างเหมาะสม

ถ้าหากว่า ข้อความในตำราสั้นห้วนเกินไป นักศึกษาก็จะบิดผันความหมายของข้อความในตำราได้ ถ้ากฎหมายมีข้อความสั้นเกินไปประชาชนพลเมืองก็จะโต้เถียงกันถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายนั้น ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์ เมื่อเขียนตำราจึงแถลงเหตุผลโต้แย้งของตนอย่างละเอียดและชัดเจน นักการปกครองผู้มีความรอบรู้เมื่อบัญญัติกฎหมายขึ้นมา ก็จะพิจารณาดูว่า กฎหมายนั้นได้มีตัวอย่างเป็นกรณีประกอบโดยละเอียด

ไม่เฉพาะแต่เพียงเท่านี้ เท่านั้น โทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนั้นจะต้องเป็นโทษที่หนัก

ชางหยาง กำหนดโทษไว้อย่างหนักสำหรับความผิดเล็กๆ น้อยๆ ฉะนั้น จึงมีผู้กระทำความผิดที่ร้ายแรงน้อยมาก แต่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ นั้นมีบ้างประปราย นโยบายที่ดีที่สุดของการปกครองนั้นคือ นำประชาชนให้งดเว้นกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ เสีย ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่กระทำความผิดที่ร้ายแรง เมื่อไม่มีการกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ แล้ว การกระทำความผิดที่ร้ายแรงก็ไม่มี
…..เพราะฉะนั้น กุง ซุน หยาง (Kung-sun Yang) หรือชางหยาง จึงกลาวได้ว่า “ถ้าโทษกำหนดไว้หนักจะไม่มีบุคคลใดกล้าฝ่าฝืนกฎหมายนี้ คือ วิธีที่จะกำจัดอาชญากรรม โดยวิธีการกำหนดบทลงโทษ”

กฎหมายนั้นไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของมันได้เหมือนดังเครื่องจักร กฎหมายต้องการบุคคลมาเป็นผู้ใช้กฎหมาย บุคคลผู้ใช้กฎหมายจะต้องรู้จักใช้ ซู่ (Shu) หรือศิลปะแห่งการปกครอง

เซนปูไฮย้ำความสำคัญเรื่อง ซู่ และกุงซุนหยาง ย้ำความสำคัญของฝ่า คำว่า ซู่นั้น เราหมายความว่า ตำแหน่งทั้งหลายต้องเกิดจากการแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์นั้น ต้องกำหนดให้ตามคุณงามความดี ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีวิธีการลงโทษและมีอำนาจที่จะยับยั้งเสนาบดีไม่ให้กระทำความชั่วได้ นี้คือ สิ่งที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจะต้องมี คำว่า ฝ่า นั้น เราหมายความว่า จะต้องมีการกำหนดระเบียบข้อบังคับและการลงโทษ ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ปฏิบัติตามกฎหมายจะได้รับความดีความชอบ บุคคลที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะได้รับโทษทัณฑ์ นี้คือ สิ่งที่เสนาบดีจะต้องปฏิบัติตาม เมื่อผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่มีซู่ การปกครองบ้านเมืองก็ตกอยู่ในอันตราย เมื่อเสนาบดีทั้งหลายไม่ปฏิบัติตามฝ่า ประชาชนพลเมืองก็จะใช้วิธีการอันรุนแรงทั้งซู่และฝ่า เป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ เพราะสิ่งทั้งสองนี้เป็นเครื่องมืออันจำเป็นของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

นอกจากฝ่าและซู่แล้ว ยังจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ซี่ (Shih) ในความหมายที่ว่าเป็นอำนาจ ตามทรรศนะของฮั่นเฟยจื๊อนั้น ซี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินสามารถ “บังคับให้เป็นไปตามคำสั่งอันเข้มงวดของตนได้” กษัตริย์ที่ปราศจากซี่ก็จะไม่แตกต่างไปจากบุคคลธรรมดาแต่อย่างใด พระองค์จะไม่มีอำนาจอันใดที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งของพระองค์ได้ และประชาชนก็จะไม่รู้สึกว่ากษัตริย์นั้นมีอิทธิพลอันใดเหนือพวกตน ซี่นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกษัตริย์โดยอัตโนมัติ จาก “ข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์” กษัตริย์ไม่จำต้องมีคุณธรรมแต่อย่างใด หรือมีความสามารถพิเศษแต่อย่างใด มีข้ออุปมาที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ฮั่นเฟยจื๊อเปรียบเทียบซี่ของกษัตริย์เหมือนกับเขี้ยวเล็บอันแหลมคมของเสือ ถ้าปราศจาก ซี่ กษัตริย์ก็คงจะขาดที่พึ่งและเป็นง่อย เหมือนกับเสือที่ปราศจากเขี้ยวเล็บฉะนั้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ฮั่นเฟยจื๊อ ได้รวบรวมทรรศนะต่างๆ ของนักปรัชญากลุ่มนิติธรรมเข้ามาผสมผสานกัน แล้วสร้างเป็นทฤษฎีปรัชญานิติธรรมของตนขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าปรัชญาของฮั่นเฟยจื๊อจะไม่ได้รักบารพิทักษ์รักษาไว้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นปรัชญาที่ได้ทิ้งรอยประทับไว้ในคติความคิด และสถาบันทางการเมืองของจีนอย่างมั่นคงถาวร

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ฮั่นเฟยจื๊อกับชีวิตและงานนิพนธ์

ฮั่นเฟยจื๊อ
บ้านเมืองนั้นไม่อาจจะเข้มแข็งได้อยู่ตลอดเวลาและก็ไม่อาจจะอ่อนแอตลอดกาลเช่นกัน ถ้าหากเมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแล้วเมื่อนั้นบ้านเมืองก็เข้มแข็ง เมื่อใดมีการใช้กฎหมายอย่างหย่อนยานแล้วเมื่อนั้นบ้านเมืองก็อ่อนแอ
ฮั่นเฟยจื๊อ บทที่19

ฮั่นเฟยจื๊อ (Han Fei Tzu)
เราได้ทราบมาแล้วว่า ในสมัยราชวงศ์โจวนั้น ได้มีสำนักปรัชญาหลายสำนักเจริญขึ้นมาทุกสำนักปรัชญาต่างสนใจในการสร้างสังคมในอุดมคติของมนุษย์ขึ้นทั้งหมด กล่าวคือ ลัทธิขงจื๊อซึ่งมีผู้สถาปนาลัทธิและผู้เผยแพร่ที่สำคัญ คือ ขงจื๊อ เม่งจื๊อ และซุ่นจื๊อ ลัทธิขงจื๊อยืนยันเรื่องการดำรงรักษาไว้ซึ่ง จารีตประเพณี และนักการปกครองจะต้องแสดงตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านจริยธรรม สำนักปรัชญาอีกลัทธิหนึ่งคือ ลัทธิเต๋า มีผู้เผยแพร่คือ เล่าจื๊อ และจวงจื๊อทั้งสองท่านนี้มีความเห็นว่าสังคมในอุดมคตินั้นจะเกิดมีขึ้นได้ ก็โดยการละทิ้งจารีตประเพณีอันประณีตหรูหรา และอารยธรรมที่มีอยู่ทั้งหมดแล้วหันกลับคืนมาไปสู่สภาพเรียบง่ายตามธรรมชาติ เพื่อปฏิบัติตนให้คล้อยตามกับสภาพเรียบง่ายตามธรรมชาติของ เต๋า นอกจากสำนักปรัชญาสองลัทธินี้แล้ว ยังมีสำนักปรัชญาลัทธิอื่นๆ อีกดังเช่น ปรัชญาคำสอนของหยางจื๊อ และของม่อจื๊อ หยางจื๊อนั้นไม่ยกย่องในคุณค่าของสถาบันทางสังคม เขามีความเห็นว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่าแก่การดำรงอยู่นั้นคือ การสนองความอยากในทางเนื้อหนัง เช่น ความเกษมสำราญจากอาหาร เครื่องแต่งกาย และการชื่นชมดนตรีและความงาม ส่วนม่อจื๊อนั้น มีความเชื่ออันแน่วแน่ในคุณค่าของสถาบันทางสังคม และแสดงความคิดเห็นเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดระบบสังคมโดยอาศัยหลักการของการมีความรักในมนุษย์ทั้งปวง ยังเหลืออยู่แต่สำนักปรัชญาอีกลัทธิหนึ่งซึ่งจะต้องพิจารณา ซึ่งเป็นปรัชญาที่จะทำให้ภาพของยุคสมัยที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของความคิดของจีนเป็นภาพที่สมบูรณ์

อุปนิสัยใจคอของคนจีนในภาคใต้ นั้นเอื้ออำนวยให้แก่ปรัชญาธรรมชาตินิยมแบบจินตนาการของปรัชญาเล่าจื๊อ และจวงจื๊อ ส่วนอุปนิสัยใจคอของคนจีนในภาคกลาง สนใจในคำสอนเกี่ยวกับมนุษยธรรมแห่งทางสายกลางของขงจื๊อ และสานุศิษย์ของขงจื๊อฉันใด คนจีนในภาคเหนือซึ่งเป็นคนหัวแข็งนั้น มีความโน้มเอียงยึดมั่นในปรัชญาและการปฏิบัติตามลัทธิ ปรัชญานิติธรรมฉันนั้น

ลัทธิปรัชญานิติธรรม (The Legalists) เจริญขึ้นในศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. อันเป็นสมัยที่การสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น นักปรัชญาลัทธินิติธรรมมองเห็นความล้มเหลวของการที่จะผดุงรักษาโลกให้มีความสุขสงบ โดยการใช้จารีตประเพณีที่ประณีตหรูหรา และการใช้หลักธรรมที่เป็นนามธรรมและหลักการที่เป็นภาวะเหนือธรรมชาติ พวกนิติธรรมมีความเห็นว่า ระบบสังคมแบบศักดินาที่นำมาซึ่งความแตกแยกและความโกลาหลวุ่นวายนั้น ควรจะต้องเปิดทางให้แก่ระบบของสังคมที่มีกฎหมายอันเข้มงวดกวดขันและการบริหารงานบ้านเมืองอันเคร่งครัดเท่านั้นที่จะนำความสุขสงบมาสู่สังคมได้ ด้วยเหตุนี้ พวกนักปรัชญากลุ่มนิติธรรมจึงสร้างความคิดที่จะต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้ในสังคม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากกฎทางจริยธรรม และกฎทางศาสนา หลักการขั้นมูลฐานของปรัชญานิติธรรมคือการยกย่องคุณค่าของรัฐเหนือคุณค่าของบุคคล ในบรรดานักปรัชญากลุ่มนิติธรรมนี้ ฮั่นเฟยจื๊อ (Han Fei Tzu) จัดว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นบุคคลที่มีความคิดริเริ่มเป็นพิเศษเหนือนักปรัชญาคนอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน เขามีลักษณะผสมผสานระหว่างนักศึกษาผู้พากเพียร กับนักคิดผู้มีสติปัญญาอันเฉียบแหลม เขารู้จักวิธีการอันเก็บเกี่ยวผลงานของบุคคลอื่นๆ ก่อนสมัยของเขามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุผลของคุณลักษณะเหล่านี้นั้นเองที่ทำให้ ฮั่นเฟยจื๊อ ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของสำนักปรัชญานิติธรรม แต่มีข้อสังเกตอันหนึ่งที่เราควรจะทราบตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวว่า ถึงแม้ ฮั่นเฟยจื๊อ จะเป็นผู้เผยแพร่คติความคิดของปรัชญานิติธรรมคนสำคัญก็ตาม แต่ทรรศนะและความคิดเห็นของเขานั้น ได้รับการกระตุ้นและแรงบันดาลใจจากคำสอนของสำนักปรัชญาที่สำคัญๆ อันได้แก่ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และลัทธิม่อจื๊อ ความสำคัญของฮั่นเฟยจื๊อ นั้นเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าคติความคิดต่างๆ ของปรัชญานิติธรรมมีขึ้นในศตวรรษที่สี่ และศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ.นั้น ได้ปรากฏขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง ในรูปของระบบความคิดทางปรัชญาของฮั่นเฟยจื๊อ

ชีวิตและงานนิพนธ์
ฮั่นเฟยจื๊อ มาจากสกุลเจ้าผู้ครองแคว้นฮั่น วันเดือนปีเกิดของเขาเป็นเรื่องที่ยังไม่นอน แต่ปีมรณะของเขานั้นกำหนดเอาประมาณปี 233 ก่อน ค.ศ. เมื่อเขาอายุประมาณห้าสิบปี เช่นนี้แล้ว ปีเกิดของเขาคงจะอยู่ในระหว่างปี 282 กับ 280 ก่อน ค.ศ. ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นครูและนักเขียนที่มีสติปัญญาสูง และเคยเป็นศิษย์ของซุ่นจื๊อ พร้อมกันกับ หลีซุ่ (Li Ssu) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีของพระจักรพรรดิองค์ที่หนึ่งในราชวงศ์จิ๋น (ปี 256-221 ก่อน ค.ศ.) เมื่อเราศึกษาปรัชญาของนิติธรรมแล้ว เราจะพบว่า ทฤษฎีเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ของท่านซุ่นจื๊อนั้น ประกอบเป็นพื้นฐานทางจิตวิทยาของหลักโต้แย้งของกลุ่มนิติธรรมที่ว่า กฎหมายควรจะมีบทบาทเข้าไปแทนหลักของศีลธรรม ถ้าหากจะควบคุมระงับ “สภาพการณ์แห่งความรุนแรง” ทั้งปวงให้ได้ วัยเยาร์ของฮั่นเฟยจื๊อ บังเอิญมาพ้องกับยุคสมัยที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคว้นฮั่น อันเป็นมาตุภูมิของเขา แคว้นฮั่นนั้นเราทราบมาแล้วว่าเป็นแคว้นเล็กในบรรดาสามแคว้นที่แตกแยกออกมาจากแคว้นซิ๋น (Tsin) ในตอนปลายศตวรรษที่ห้าก่อน ค.ศ. แคว้นฮั่นเป็นแคว้นที่เล็กที่สุดในบรรดาแคว้นที่รบพุ่งต่อสู้กัน กองทัพของแคว้นฮั่นต้องประสบความพ่ายแพ้ และความหายนะหลายครั้ง อาณาจักรของแคว้นฮั่นนั้นแขวนอยู่กับความเมตตากรุณาของแคว้นข้างเคียง ที่เป็นแคว้นใหญ่ที่มีกำลังอำนาจ สิ่งที่เลวร้ายลงไปกว่านั้นก็คือ แคว้นฮั่นยังถูกครอบงำด้วยสกุลที่มีอิทธิพลหลายสกุลที่คอยต่อสู้แย่งชิงเพื่อความเป็นใหญ่ เหมือนดังในแคว้นอื่นๆ อีกด้วย สภาพที่เป็นจริงทั้งหมดนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติชีวิตของนักคิดแห่งปรัชญานิติธรรมผู้นี้เป็นอย่างมาก

ฮั่นเฟยจื๊อ เป็นชนชั้นสูง ทั้งในทางกำเนิด และในทางความคิด เขายืนหยัดต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อสถาปนาการปกครองของคนชั้นสูง และสถาปนากฎหมายให้เป็นหลักที่จะนำความสงบของคนชั้นสูง และสถาปนากฎหมายให้เป็นหลักที่จะนำความสงบสุขมาสู่สังคม เขาตระหนักดีถึงอันตรายที่แคว้นฮั่นกำลังเผชิญอยู่ และเข้าใจเป็นอย่างดีว่าจะต้องรีกระทำการเพื่อแก้ไขอันตรายนั้นโดยรีบด่วน ด้วยเหตุนี้เขาจึงเข้าไปเฝ้าเจ้าผู้ครองแคว้นฮั่น และกราบทูลว่า แคว้นฮั่นจะยังคงเป็นแคว้นที่อ่อนแอ ไม่มีการจัดระบบการปกครองที่เข้มแข็งอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว มิฉะนั้นก็จะถูกข่มเหงโจมตีจากศัตรูอยู่ตลอดเวลา แต่เจ้าผู้ครองแคว้นไม่สนใจในคำแนะนำของเขา และก็ไม่สนใจที่จะรับเอาเขาเข้าทำราชการด้วย ฮั่นเฟยจื๊อ จึงผิดหวัง เกิดความรังเกียจเบื่อหน่ายเป็นอย่างยิ่ง จึงถอนตนออกจากสังคมไปใช้ชีวิตอยู่โดยลำพัง เพื่อพยายามศึกษาค้นคว้าและเขียนบทนิพนธ์ต่อไป ในบันทึกประวัติศาสตร์ (Historical Records) ของ ซุ มา เฉี๋ยน (Ssu-ma Ch’ien) เราอ่านพบข้อความว่า

เพราะฉะนั้น ฮั่นเฟยจื๊อ จึงมีความรังเกียจ เบื่อหน่ายในเจ้าผู้ครองแคว้น ซูปกครองบ้านเมืองโดยไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ในกฎหมาย ผู้ไม่ใช้อำนาจอันเด็ดขาดแก่เสนาบดีและคนในบังคับบัญชา วิธีการที่จะเพิ่มพูนกำลังของบ้านเมืองนั้น ประกอบด้วยการใช้บุคคลที่เป็นคนดี มีความสามารถ แต่เจ้าผู้ครองแคว้นกลับประทานอำนาจและเกียรติยศให้แก่บุคคลผู้เสเพลและไม่มีคุณค่าอันใด…. ฮั่นเฟยจื๊อ บ่นพ้อว่า เมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติสุข เจ้าผู้ครองแคว้นก็สนับสนุนนักปราชญ์ แต่เมื่อบ้านเมืองมีความยุ่งยากวุ่นวาย เจ้าผู้ครองแคว้นจำต้องใช้ทหาร ด้วยเหตุนี้ บุคคลผู้ได้รับการสนับสนุนหาใช่บุคคลที่ถูกใช้ให้การป้องกันบ้านเมือง และบุคคลที่ถูกใช้ให้ป้องกันบ้านเมือง ก็ไม่ใช่บุคคลที่ได้รับการสนับสนุน ด้วยความเสียใจในเหตุที่มีเจ้าผู้ครองแคว้นเช่นนั้น และในเหตุที่คนดีกลับถูกขัดขวางจากเสนาบดีที่เลวทราม ฮั่นเฟยจื๊อ จึงบันทึกเป็นคำสอนลงไว้ในบทนิพนธ์ของเขา โดยอาศัยประสบการณ์ที่เขาได้พบมาเป็นพื้นฐาน

ในบทนิพนธ์ของเขา เขาบรรยายว่านักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อนั้น เป็นแต่เพียงนักทฤษฎี ห่างไกลจากชีวิตอันแท้จริงของยุคสมัย และไม่สามารถจะเข้าใจความผิดปกติ และการทำผิดคิดร้ายของประชาชนได้ ฮั่นเฟยจื๊อ ย้ำว่าเขามีความเชื่อว่า การปกครองบ้านเมืองนั้นจะต้องยึดหลัก “ของข้อเท็จจริงตามที่มีปรากฏอยู่ในขณะเวลานั้น” เป็นเกณฑ์ ฉะนั้นการปกครองบ้านเมือง จึงไม่ควรมาเล่นทดลองกับทฤษฎีการปกครองที่ขัดแย้งกับความจริงในชีวิตของพวกนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊ออยู่เลย

ในปัจจุบันนี้ นักปรัชญาทั้งหลายที่กำลังถกกันถึงการปกครองของจักรวรรดิอยู่นั้น หาได้กล่าวถึงสภาพการณ์ของการปกครองที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่ แต่กลับไปพูดถึงคุณความดีของการปกครองที่มีอยู่ในอดีต พวกนักปราชญ์เหล่านี้ ไม่ศึกษาข้อเท็จจริงของกฎหมายทางบ้านเมือง ไม่พิจารณาศึกษาสภาพการณ์อันผิดปกติวิสัยของประชาชนพลเมือง ดีแต่พูดถึงประเพณีของอดีตกาลเท่านั้น โดยการยึดมั่นยู่แต่การเลียนแบบของคุณความดีของนักการปกครองในอดีต พวกนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อ กล่าวออกมาเป็นภาษาอันหรูหราว่า “จงฟังคำแนะนำของพวกเรา แล้วท่านจะกลายเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่ปรีชาสามารถ” คำกล่าวอย่างนี้เป็นเหมือนกับ คำสวดมนต์อ้อนวอนของพวกหมอผี นักการปกครองบ้านเมืองผู้มีความสามารถจะไม่ยอมรับคำแนะนำเช่นนั้นเป็นอันขาด นักการปกครองผู้มีสติปัญญาจะพิจารณาดูสภาพความเป็นจริง แล้วสลัดทิ้งสิ่งที่ไร้ประโยชน์ นักการปกครองผู้มีสติปัญญา จะไม่ยอมพึ่งพา สิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม การยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม หรือเงี่ยหูฟังคำแนะนำของนักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อแต่ประการใด

แต่พระจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์จิ๋น เป็นบุคคลแรกที่ดำเนินการจัดระบบการปกครองของประเทศจีน ตามคำสอนของฮั่นเฟยจื๊อ ในหนังสือเรื่อง Historical Records ของ ซุมาเฉี๋ยน นั้น มีบันทึกไว้ว่าเมื่อบทความสองเรื่องของ ฮั่นเฟยจื๊อ คือเรื่องความขุ่นเคืองของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว” (Solitary Indignation) กับเรื่อง “ทรชนห้าจำพวก” (The Five Vermin) ได้มาถึงอุ้งพระหัตถ์ของพระเจ้าจิ๋นโดยบังเอิญนั้น พระเจ้าจิ๋น หลังจากทอดพระเนตรอ่านแล้ว ถึงกับอุทานกับพวกเสนาบดีว่า

“นี่คือสิ่งที่ข้าแสวงหามานานแล้ว ถ้าคนเขียนบทนิพนธ์เรื่องนี้ จะมาอยู่ในราชสำนักของข้าแล้ว ข้าจะไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสียใจในชีวิตเลย”

ดังที่เราได้ทราบมาแล้ว แคว้นจิ๋น มีนโยบายแสวงหาผู้มีสติปัญญาจากแคว้นใกล้เคียงมาเป็นเสนาบดีและนายทหาร ด้วยเหตุนี้ในระยะเวลาตอนกลางศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. ผู้มีสติปัญญาจำนวนมากจึงมารวมกันอยู่ที่ราชสำนักของแคว้นจิ๋น โดยทำนองนี้เองที่ หลี ซู่ ซึ่งเป็นชาวเมืองแคว้นฉู่ จึงได้มาเป็นเสนาบดีของแคว้นจิ๋น แต่ ฮั่นเฟยจื๊อนั้น เป็นคนรักถิ่นกำเนิดของตน จึงยังคงภักดีต่อแคว้นของตนอยู่ ถึงแม้ว่าพระเจ้าฮั่นจะไม่รับรองฮั่นเฟยจื๊อเข้าไปรับราชการด้วย แต่ฮั่นเฟยจื๊อ ก็ไม่ได้ใช้สติปัญญาอันสามารถของตนไปรับใช้แคว้นอื่นที่เป็นคู่ต่อสู้ของแคว้นของตนเลย

ในตอนต้นของครึ่งศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. แคว้นจิ๋นได้ปราบปรามแคว้นฉู่ ซึ่งเป็นแคว้นคู่ปรับของตนได้หลายครั้ง แล้วผนวกแคว้นฉู่เข้ากับอาณาจักรของแคว้นจิ๋น ชัยชนะครั้งสุดท้ายที่ทำให้ผนึกอาณาจักรแคว้นฉู่เข้ามาได้นั้น สำเร็จได้เพราะความช่วยเหลือของ หลี ซู่ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสำนักศึกษาเดียวกันกับ ฮั่นเฟยจื๊อซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นเสนาบดีประจำราชสำนักของแคว้นจิ๋น ส่วนแคว้นฮั่น ซึ่งเป็นแคว้นใกล้เคียงอย่างที่สุดของแคว้นจิ๋น คงจะเป็นแคว้นแรกที่แคว้นจิ๋นจะต้องกลืนเอาเพื่อขยายอาณาจักรของแคว้นจิ๋นต่อไป พลังทั้งหมดของหลี ซู่ นั้น มุ่งไปสู่การผนึกเอาอาณาจักรของแคว้นฮั่น ฉะนั้น แคว้นฮั่นจึงส่งฮั่นเฟยจื๊อ เป็นทูตสันทวไมตรีไปยังแคว้นจิ๋น ฮั่นเฟยจื๊อ ได้รับการต้อนรับจากราชสำนักแคว้นจิ๋นเป็นอย่างดี จนกระทั่งเสนาบดีทั้งหลายรวมทั้งหลีซู่ ด้วย เกิดความริษยา พวกเสนาบดีทั้งหลายจึงกล่าวร้ายฮั่นเฟยจื๊อ ซึ่งเป็นแขกเกียรติยศจากต่างแคว้นถูกกล่าวหาว่าคิดร้ายต่อพระเจ้าจิ๋น และถูกโยนเข้าที่คุมขังไป

ครั้นแล้ว หลี ซู่ จึงส่งยาพิษไปให้ฮั่นเฟยจื๊อ และแนะนำให้ฮั่นเฟยจื๊อ ทำลายชีวิตของตนเสีย ฮั่นเฟยจื๊อประสงค์จะสารภาพความจริงกับพระเจ้าจิ๋น แต่ไม่มีโอกาสจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจิ๋น เมื่อพระเจ้าจิ๋น ระลึกถึงความผิดพลาดของพระองค์ขึ้นมาได้ และมีบัญชาให้ปล่อยฮั่นเฟยจื๊อนั้น ฮั่นเฟยจื๊อได้สิ้นชีวิตลงในเรือนจำไปเสียแล้ว

ชีวิตของฮั่นเฟยจื๊อ ครอบคลุมสมัยของการเปลี่ยนแปลงจากรัชสมัยของราชวงศ์โจวไปสู่รัชสมัยของราชวงศ์จิ๋น เป็นรัชสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนฉับพลัน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของจีนอย่างใหญ่หลวง ประมาณปี 250 ก่อน ค.ศ. แคว้นจิ๋นไม่เป็นแต่เพียงแคว้นที่มีความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจอย่างที่สุดในบรรดาแคว้นทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังเป็นแคว้นที่เลิกระบบศักดินาในสังคมของตนเองอีกด้วย แคว้นจิ๋นปกครองโดยใช้หลักของปรัชญานิติธรรม ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพการณ์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่คำสอนของ ฮั่นเฟยจื๊อ นั้น คือพื้นฐานทางปรัชญาที่นำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ในอนาคตของแคว้นจิ๋น

คำสอนของ ฮั่นเฟยจื๊อ มีอยู่ในหนังสือที่มีชื่อตามชื่อของเขา เป็นหนังสือที่ประกอบด้วยบทความทั้งหมดห้าสิบห้าบท ที่มีคุณค่าอย่างมากมาย บทความเหล่านี้มีคติความคิดของปรัชญานิติธรรมของศตวรรษที่สี่ และสามก่อน ค.ศ. รวมอยู่ด้วยกันอย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพิจารณาศึกษาเรื่องของ ฮั่นเฟยจื๊อต่อไปนั้น เราควรจะศึกษาเรื่องของปรัชญานิติธรรม เป็นส่วนรวมเสียก่อนจะเป็นการดี

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ซุ่นจื๊อกับเรื่องการเมือง

ซุ่นจื๊อ มีความสนใจในเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองที่ดี และมีความเห็นว่า ตามทฤษฎีแห่งเรื่องตัณหาของเขานั้น การปกครองบ้านเมืองที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็โดยการแสดงความแตกต่างอันเด่นชัดระหว่าง ผู้เป็นใหญ่และผู้น้อย และระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนนาบดี

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ควบคุมเสนาบดี และไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีผู้น้อย เมื่อนั้น บ้านเมืองก็ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ตัณหามีมากมาย แต่สิ่งสนองตัณหามีน้อย เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ การต่อสู้แก่งแย่งกันจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกหนีไม่พ้น

ซุ่นจื๊อ ยึดมั่นอยู่ในทฤษฎีเรื่องตัณหาของเขาอย่างมั่นคง เขามีความเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการเมืองนั้นคือ การควบคุมตัณหาของบุคคล เพื่อรักษาบุคคลนั้นให้อยู่ในฐานะที่ตนได้รับการแต่งตั้ง เขาสรุปความคิดเห็นของเขา โดยการแสดงความคิดที่มุ่งหมาย เพื่อการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นชนชั้นทางสังคม มนุษย์มีความปรารถนาอันเดียวกันคือ อยากจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นเจ้าของโภคทรัพย์ทั้งปวงในโลก เหมือนกันทุกคน แต่ความปรารถนานี้ไม่อาจจะปฏิบัติตาม หรือสนองตอบได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินในสมัยก่อนจึงกำหนดให้มีจารีตประเพณีและศีลธรรมขึ้น เพื่อจำกัดขอบเขตของความปรารถนาของมนุษย์ขึ้น เพื่อจำแนกคนออกเป็นผู้ใหญ่และผู้น้อย ผู้มีอาวุโสสูงและผู้มีอาวุโสต่ำ ผู้มีสติปัญญาและผู้ไม่มีสติปัญญา ผู้มีความสามารถและผู้ไม่มีความสามารถ

ข้อความอีกตอนหนึ่ง อธิบายถึงการแบ่งแยกชนชั้นอย่างละเอียดว่า

มนุษย์จะอยู่โดยปราศจากสังคมไม่ได้ เมื่อไม่มีการจัดแบ่งลำดับทางสังคมแล้ว ก็จะมีแต่การต่อสู้ขัดแย้งกัน เมื่อมีการต่อสู้ขัดแย้งกัน ก็จะมีแต่ความไม่สงบ เมื่อมีความไม่สงบทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอันหมดสิ้น….หรือพูดอีกนัยหนึ่ง การแบ่งลำดับชั้นในทางสังคมนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากมายแก่มนุษย์ พระเจ้าแผ่นดินเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของการจัดแบ่งลำดับขั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินตกแต่งให้สวยงาม จึงเป็นการตกแต่ง เพื่อประชาชนผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทำให้สงบ จึงเป็นการตกแต่ง เพื่อประชาชนผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทำให้สงบ จึงเป็นการสร้างความสงบเพื่อประชาชนผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง สิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินยกย่องให้เกียรติจึงเป็นการยกย่องให้เกียรติแก่ประชาชน ผู้เป็นรากฐานอันสำคัญของบ้านเมือง

การจัดลำดับทางสังคมนี้ ยอมรับระดับทางสังคมสองระดับ ระดับหนึ่งเป็นระดับของกลุ่มคนชั้นสูง รวมทั้ง “ผู้เป็นใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้มีสติปัญญา และผู้มีความสามารถ” โดยทั่วๆ ไปหมายถึง ชนชั้นสูงในสังคมทั้งหมด อีกระดับเป็นระดับต่ำ ประกอบด้วยประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็น “ผู้น้อย ผู้มีอาวุโสต่ำ ผู้ไม่มีสติปัญญา และผู้ไม่มีความสามารถ”

เมื่อมีการจัดลำดับเท่าเทียมกันทั้งหมด ความแตกต่างก็ไม่มี
เมื่อมีสภาพเท่าเทียมกัน เอกภาพก็ไม่มี
เมื่อประชาชนทั้งหมดเท่าเทียมกัน ความสงบเป็นระเบียบก็ไม่มี
ตราบใดที่ยังมีสวรรค์และแผ่นดิน ตราบนั้นการแบ่งแยกเป็นสูง เป็นต่ำ ก็ต้องมีอยู่

ซุ่นจื๊อ มีความเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นควรจะมีฐานะเป็นพิเศษอยู่เหนือจากการเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ เขามองเห็นพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นผู้มีฐานะแยกต่างหากจากบุคคลอื่นทั้งหมด แต่ไม่ใช่ในฐานะที่ได้รับสิทธิพิเศษจากสวรรค์ แต่ในฐานะที่ได้รับความยินยอมพร้อมใจอันเป็นเจตน์จำนงของประชาชนพลเมืองในคติความคิดอันนี้ ซุ่นจื๊อมีความเห็นคล้ายคลึงกันกับคติความคิดของเม่งจื๊อ

ผู้ปกครองแผ่นดินเป็นเสมือนหนึ่งต้นน้ำที่ไหลไปสู่ประชาชน ถ้าต้นน้ำใสสะอาด กระแสน้ำที่ไหลไปสู่ประชาชนก็ใสสะอาด ถ้าต้นน้ำเน่า กระแสน้ำที่ไหลไปสู่ประชาชนก็เน่า และ….
ผู้ปกครองแผ่นดินนั้นเป็นเสมือนจาน ถ้าจานกลม น้ำในจานนั้นก็กลม ผู้ปกครองแผ่นดินนั้นเป็นเสมือนชาม ถ้าชามรูปสี่เหลี่ยม น้ำในชามนั้นก็เป็นรูปสี่เหลี่ยม

กล่าวโดยย่อแล้ว ผู้ปกครองแผ่นดินนั้น ประการแรก จะต้องเป็นตัวอย่างของประชาชน เป็นแบบอย่างให้ประชาชนปฏิบัติตาม

ยังมีข้อความอีกตอนหนึ่งที่อธิบายถึงฐานะของผู้ปกครองบ้านเมือง ละเอียดยิ่งขึ้นว่า
……ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องสามารถยึดประชาชนไว้ได้ ผู้ปกครองบ้านเมืองจะยึดประชาชนไว้ได้อย่างไร? ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องมีความชำนาญในการบำรุง เลี้ยงดู ปกครอง ใช้ และป้องกันประชาชนของตน ผู้ปกครองบ้านเมืองผู้มีความชำนาญในการบำรุงเลี้ยงดูประชาชน จะได้รับจากประชาชน ผู้ปกครองบ้านเมือง ผู้มีความชำนาญในการปกครอง จะได้รับการยกย่องจากประชาชน ผู้ปกครองบ้านเมืองผู้มีความชำนาญในการใช้ประชาชน จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนผู้ปกครองบ้านเมือง ผู้มีความชำนาญในการป้องกันประชาชนจะได้รับการสรรเสริญจากประชาชน ผู้ปกครองบ้านเมืองผู้มีความชำนาญในเรื่องสี่ประการนี้ ย่อมจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน นี้คือเหตุผลที่ทำให้ผู้ปกครองบ้านเมืองสามารถยึดประชาชนไว้ได้….ในทางตรงข้ามกัน ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองปราศจากความชำนาญสี่ประการนี้ ก็จะถูกประชาชนละทิ้ง

ประโยคสุดท้าย แสดงถึงอคติของซุ่นจื๊อในเรื่องของการเมือง ซุ่นจื๊อมีทรรศนะเหมือนเม่งจื๊อ คือสนับสนุนความคิดที่ว่าประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านผู้ปกครองบ้านเมือง ผู้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในอุดมคติทั้งสี่ประการนี้

…..ผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นเสมือนหนึ่ง เรือ ประชาชนเป็นเสมือนหนึ่งน้ำ น้ำย่อมพยุงเรือให้แล่นไปได้ ขณะเดียวกันน้ำก็อาจทำให้เรือคว่ำได้เช่นกัน

ที่จริงแล้ว ความชำนาญในเรื่องสี่ประการนี้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบอันสำคัญให้แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง ซุ่นจื๊อได้กำหนดให้ผู้ปกครองบ้านเมืองมีฐานะอันสูงเป็นพิเศษ แต่ความมุ่งหมายอันแท้จริงซุ่นจื๊อนั้นคือ การกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความคิดของซุ่นจื๊อในเรื่องนี้ สอดคล้องกันได้เป็นอย่างดี กับทฤษฎีการปกครองในปัจจุบันที่ว่า การปกครองนั้นต้องเป็นไปตามความยินยอมของประชาชนผู้มีสิทธิทุกประการที่จะเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการปกครองได้ทุกเมื่อ ถ้าหากว่าการปกครองนั้นเป็นอันตรายและนำมาซึ่งความหายนะแก่สังคม

ซุ่นจื๊อ มีทรรศนะที่เสียดสีสังคมของมนุษย์ที่เป็นแบบธรรมชาติว่า เป็นสังคมที่ป่าเถื่อนเป็นสังคมแห่ง “นกและสัตว์ร้าย” เป็นสังคมที่มีแต่สภาพที่เต็มไปด้วยการต่อสู้แก่งแย่งกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ซุ่นจื๊อ จึงกล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องมีครูเพื่อเป็นผู้แนะนำ และมีกฎหมายเพื่อคอยควบคุมธรรมชาติอันชั่วช้าสามานย์ของมนุษย์ โดยวิธีการของการศึกษาและวิธีการทางกฎหมายเท่านั้น ที่จะสามารถปลูกฝังความสุภาพอ่อนโยนแก่กันและกัน สร้างความประณีตสวยงามของชีวิตและสถาปนาสังคมที่มีระเบียบ มีความสุขสงบขึ้นได้ นี้คือเหตุผลที่ว่าเราจำเป็นต้องมีการปกครองและสถาบันทางสังคม อย่างไรก็ตาม ซุ่นจื๊อก็ยังคงยึดมั่นอยู่ในธรรมเนียมประเพณีของปรัชญาขงจื๊ออยู่ โดยถือว่าประชาชนนั้นมีความสำคัญเป็นที่สุดส่วนผู้ปกครองแผ่นดินนั้นมีความสำคัญน้อยกว่าประชาชน เพราะฉะนั้น เวลาที่ซุ่นจื๊อกล่าวสรรเสริญผู้ปกครองแผ่นดินนั้นเขามีความหมายเพียงแต่กล่าวว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้นมีหนทางที่จะทำให้เกิดการปกครองบ้านเมืองที่ดีได้เท่านั้น

ที่ใดมีหนทาง  ที่นั้นก็มีรัฐ
ที่ใดไม่มีหนทาง  ที่นั้นไม่มีรัฐ

หนทางแห่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้น มีกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

จงใช้บุคคลที่เป็นคนดี และมีความสามารถ
จงส่งเสริมบุคคลที่มีความสุจริตและน่าเคารพนับถือ
loy
จงสนับสนุนบุคคลที่มีความเคารพรักใคร่ในบิดามารดา และมีความรักในพี่น้องของตน
จงเลี้ยงดูเด็กกำพร้า และหญิงหม้าย
จงช่วยบรรเทาทุกข์คนขัดสนและยากจน
ถ้าได้ประกอบกิจการงานเหล่านี้แล้ว ประชาชนจะพอใจการบริหารบ้านเมือง เมื่อประชาชนพอใจในการบริหารบ้านเมือง ผู้ปกครองแผ่นดินก็จะปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบและปลอดภัย เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ปกครองแผ่นดินปรารถนาความสงบและความปลอดภัย เขาจะบริหารบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม ด้วยความรักมีแก่ประชาชน ถ้าผู้ปกครองแผ่นดินปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองและเกียรติยศ เขาจะต้องยกย่องบุคคลผู้มีความรู้ ด้วยการประกอบพิธีการ และถ้าผู้ปกครองแผ่นดินต้องการความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย เขาจะต้องใช้บุคคลที่เป็นคนดี และมีความสามารถนี้คือ คุณธรรมที่สำคัญของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

หลักจริยธรรมส่วนบุคคล กับนโยบายของบ้านเมืองนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กัน ซุ่นจื๊อปรารถนาจะให้ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินปกครองบ้านเมืองด้วยการมีจริยานุวัตรอันประเสริฐมากกว่าการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน แท้ที่จริงแล้ว คติความคิดอันนี้ไม่ใช่ความคิดที่เป็นลักษณะเฉพาะของซุ่นจื๊อ เพราะว่าทั้งของขงจื๊อและเม่งจื๊อต่างย้ำความสำคัญของจริยานุวัตรอันดีงามของผู้ปกครองบ้านเมืองว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในการปกครองบ้านเมืองให้ประสบความสำเร็จได้ ดังที่เราได้ทราบมาแล้ว นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ต่างไม่เห็นด้วยกับวิธีการปกครองที่ใช้อำนาจ และต่างก็ถือว่า บุคคลที่อยู่ในอำนาจปกครองบ้านเมืองนั้น ควรกระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจของตน ทั้งสองท่านยกคำกล่าวดังนี้มาอ้างว่า

“ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้นคือลม
ประชาชนสามัญธรรมดานั้นคือหญ้า
และหญ้าต้องลู่ไปตามลม”

แต่ซุ่นจื๊อ ถึงแม้จะยอมรับในคุณค่าของคุณธรรมว่าเป็นสิ่งดีงามที่แสวงหาได้มาทีหลัง และถือว่าเป็นสิ่งที่ควรแสวงหาอยู่นั้น ในขณะเดียวกันเขาก็มีความเข้าใจในธรรมชาติด้านเลวทรามของมนุษย์ด้วยเหตุผลอันนี้ นอกเหนือไปจากระบบการจัดการศึกษาโดยการจัดให้มีจารีตประเพณีและดนตรีแล้ว ซุ่นจื๊อกล่าวว่า มนุษย์ยังต้องการครูอาจารย์เพื่อสอนตนให้รู้จักบำรุงรักษาคุณธรรม และยังต้องการกฎหมายเพื่อยับยั้งธรรมชาติอันเลวทรามของตน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าตัวอย่างจะเป็นสิ่งที่น่านิยมนับถือ และเป็นสิ่งจำเป็นแล้วก็ตาม การมีกฎหมายบังคับควบคุมและอิทธิพลของหลักศีลธรรมก็ยังมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน โดยการบังคับควบคุมของกฎหมายและหลักของศีลธรรมอย่างนั้นเท่านั้น ที่มนุษย์จะหวังได้ว่าจะเอาชนะธรรมชาติอันเลวทรามของตน ที่โน้มน้อมไปในทางที่จะก่อความรุนแรงและความไม่สงบอยู่ตลอดเวลาได้

ซุ่นจื๊อ มีทรรศนะเหมือนเม่งจื๊อ โดยถือว่า ประชาชนผู้มีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจดี มีความสันโดษ และมีความสุขนั้นเป็นพื้นฐานของการปกครองบ้านเมืองที่ดี

หนทางที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนความสุขสมบูรณ์ของรัฐนั้นประกอบด้วยการมัธยัสถ์ในเรื่องการใช้จ่าย การส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และการจัดสรรผลิตผล ให้กระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง

ในเรื่องวิธีการเฉพาะกรณีนั้น ซุ่นจื๊อมีความมุ่งหมายให้ลดการเก็บภาษีประชาชนอย่างหนักลง เพื่อเป็นวิธีการบรรเทาสภาพอันน่าเวทนาของประชาชน และให้เพิ่มผลผลิตขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรของบ้านเมือง นอกจากนั้น ซุ่นจื๊อยังเผยแพร่ความคิดเห็นเรื่องความสำคัญในการให้การศึกษาด้านเกษตรกรรมเพื่อปรับปรุงวิธีการและความชำนาญในการผลิตทางการเกษตร

จงจัดให้มีการสำรวจสภาพของพื้นดิน
จงศึกษาดูลักษณะของดิน
จงทดสอบเมล็ดข้าวกล้าห้าชนิด
ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงวิธีการของการทำกสิกรรม และเพื่อรักษาผลิตผลทางกสิกรรมให้ได้ผลดี เมื่อได้กระทำเช่นนี้ในวิธีการที่เหมาะสมแล้ว ชาวกสิกรทั้งหลายจะมีความขยันขันแข็งและพอใจในงานของตน

การประกันความเจริญมั่งมีของประชาชนนั้น เป็นข้อกำหนดขั้นแรกของซุ่นจื๊อ ที่จะนำไปสู่การปกครองบ้านเมืองที่ดี กลุ่มชนบางกลุ่มควรจะมีการจำกัดจำนวน

เมื่อมีข้าราชการมากเกินไป บ้านเมืองก็จะยากจนลง
เมื่อมีพ่อค้าและช่างมากเกินไป บ้านเมืองก็จะยากจนลง

มีข้อความปรากฏอยู่อีกแห่งหนึ่งว่า ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ดินไปในการเพาะปลูกและการผสมสัตว์เลี้ยง

โดยการดูแลและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม สัตว์หกชนิดจะเจริญแพร่หลาย โดยการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ โดยการบริหารบ้านเมืองอย่างเหมาะสม ประชาชนพลเมืองจะสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี้คือวิธีการที่กษัตริย์นักปราชญ์ในสมัยโบราณได้กำหนดไว้  ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองบ้านเมืองในปัจจุบันควรจะสนับสนุน….ฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูของการไถ ฤดูร้อนเป็นฤดูของการปลูก ฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูของการเก็บเกี่ยว และฤดูหนาวเป็นฤดูของการเก็บรักษา ถ้าฤดูกาลทั้งสี่ไม่มีอะไรผิดปกติ พืชพันธุ์ธัญญาหารก็จะอุดมสมบูรณ์ ประชาชนก็จะมีอาหารสำหรับบริโภคอย่างเหลือเฟือ ถ้าแม่น้ำและหนองบึงได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เต่าและปูปลาก็จะมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ และประชาชนก็จะมีสิ่งเลี้ยงดูชีวิตอย่างเหลือเฟือ ถ้าการตัดไม้และการปลูกไม้ได้กระทำเหมาะสมกับกาลเวลา ต้นไม้และป่าไม้ก็จะไม่ถูกทำลาย และประชาชนก็จะมีไม้กระดานใช้อย่างอุดมสมบูรณ์

บทวิจารณ์
ในบรรดาผลงานที่เกิดจากปรัชญาที่ขงจื๊อได้วางรากฐานไว้นั้น เม่งจื๊อและซุ่นจื๊อจัดว่าเป็นผู้มีผลงานเป็นชั้นผู้นำ บุคคลทั้งสองนี้ต่างเคารพนับถือปรมาจารย์ขงจื๊อ ว่าเป็นอาจารย์และเป็นแบบฉบับของตน บุคคลทั้งสองต่างสนใจในเรื่องการปกครองบ้านเมืองที่ดี และย้ำความสำคัญของเศรษฐกิจว่าเป็นรากฐานของสังคม ถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันดังกล่าวมานี้ แต่ก็มีทรรศนะหลายประการที่บุคคลทั้งสองแตกต่างกันอย่างมากมาย อุปนิสัยใจคอของบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน ซุ่นจื๊อเป็นคนสุขุม มีวิจารณญาณ พิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างใจเย็น ส่วนเม่งจื๊อเป็นคนเปิดเผยอย่างเผ็ดร้อน มีความคิดรุนแรงและใจร้อน ความแตกต่างในบุคลิกภาพของบุคคลทั้งสองแผ่ขยายไปถึงงานนิพนธ์และคำสอนของเขาด้วย บทนิพนธ์ของเม่งจื๊อ มีลีลาภาษาที่ไพเราะ มีเหตุผลโต้แย้งน่าฟัง ส่วนบทนิพนธ์ของซุ่นจื๊อมีลีลาภาษาที่สง่า มีข้อโต้แย้งที่เป็นหลักเหตุผลมากกว่า

เม่งจื๊อ เชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีมาแต่กำเนิด ฉะนั้นจึงมีคำสอนว่าการปฏิบัติตามหลักคุณธรรมนั้นเป็นการแสดงออกซึ่งธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากเหตุผลข้อนี้ การปลูกฝังบุคลิกภาพของบุคคลจึงไม่ขึ้นอยู่กับการระงับพฤติกรรมที่แสดงออกมาของบุคคล แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาจิตใจด้านในของบุคคล เป็นประการสำคัญ ตามหลักอันนี้เม่งจื๊อจึงถือว่า การปกครองบ้านเมืองที่ดีนั้น ต้องอาศัยการบริหารงานที่ดี และย้ำความสำคัญที่จะต้องมีการปลูกฝังหลักศีลธรรมให้แก่ชนชั้นปกครองเป็นพิเศษ

ส่วนซุ่นจื๊อนั้นถือว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเลวทรามมาแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นจึงมีความเห็นว่าควรจะมีการอบรมบ่มนิสัยอันเลวทรามนี้ให้ดีขึ้น เขากล่าวว่า มาตรฐานของความประพฤติอันเหมาะสมนั้นจะพบได้ในหลักของการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในจารีตประเพณี นี้คือความแตกต่างอันสำคัญระหว่างเม่งจื๊อกับซุ่นจื๊อ เม่งจื๊อถือว่าจารีตประเพณีเป็นการส่งเสริมมนุษยธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ แต่ซุ่นจื๊อถือว่าจารีตประเพณีเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะกล่อมเกลาธรรมชาติอันเลวทรามของมนุษย์ ที่จริงแล้ว ซุ่นจื๊อเป็นผู้ย้ำความสำคัญของจารีตประเพณีที่มีต่อศีลธรรมของมนุษย์ เขาอ้างว่าจารีตประเพณีไม่แต่เพียงให้หลักเกณฑ์ที่สนองตัณหาของมนุษย์เท่านั้นไม่ แต่ยังเป็นเครื่องกล่อมเกลาและยกระดับของอารมณ์ของมนุษย์ให้สวยงามและสูงขึ้นอีกด้วย จารีตประเพณีตามทรรศนะของซุ่นจื๊อแล้ว หมายถึง สิ่งที่เป็นพื้นฐานอันสำคัญอย่างยิ่งของชีวิตมนุษย์

ข้อขัดแย้งระหว่างความอิสระของบุคคลกับสวัสดิภาพของส่วนรวม ที่เป็นปัญหาที่มีมานานแล้วนั้น จะทำให้เราเข้าใจคุณค่าของทรรศนะของซุ่นจื๊อได้เป็นอย่างดี ทั้งสาวกของปรัชญาขงจื๊อ และผู้นิยมในปรัชญานิติธรรม มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ ขงจื๊อและสานุศิษย์ของขงจื๊อมีความเห็นว่า ประชาชนควรจะถูกปกครองโดยจารีตประเพณีและหลักศีลธรรมมากกว่า ดดยการใช้กฎหมายและการลงโทษ

ถ้าบุคคลถูกควบคุมโดยกฎหมาย และทุกคนถือว่าจะต้องถูกโทษทัณฑ์โดยเท่าเทียมกันแล้ว บุคคลอาจจะไม่กระทำความผิดอันใด แต่เขาจะขาดความรู้สึกในเรื่องความละอายต่อการทำความชั่ว แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าประชาชนถูกควบคุมโดยหลักศีลธรรมและถือว่าทุกคนอยู่ในหลักของศีลธรรมโดยเท่าเทียมกันแล้ว ความรู้สึกละอายต่อการทำความชั่วจะเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของบุคคลให้ดีขึ้น

ส่วนนักปรัชญาสำนักนิติธรรม (Legalists) นั้น มีความคิดเห็นสนับสนุนเรื่องของกฎหมาย และการมีการปกครองที่ใช้อำนาจ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ซุ่นจื๊อ ดูเหมือนจะเป็นบุคคลที่ประณีประนอมทรรศนะทั้งสองโดยให้ทรรศนะว่ากฎหมายนั้นเป็นระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณีนั้น  เป็นระเบียบทางภาคปฏิบัติของกฎหมายตามคำสอนของซุ่นจื๊อ กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจบังคับใช้ได้ผลดี ถ้าหากประชาชนไม่ปฏิบัติตนตามจารีตประเพณีที่ดี จารีตประเพณีและกฎหมายถึงเป็นสิ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลกัน ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและในการปลูกฝังคุณธรรมของบุคคล ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อ ได้พยายามสร้างรูปแบบทางวัฒนธรรมสากลขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างของสังคมของมนุษย์

สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้น ขณะที่ขงจื๊อประกาศความคิดเรื่องเหยิน หรือมนุษยธรรม ว่าเป็นคุณธรรมอันสำคัญยิ่งของชีวิตนั้น เม่งจื๊อถือเอา หยี หรือ การประพฤติตามหลักศีลธรรม ว่าเป็นหลักคุณธรรมอันสำคัญเทียบได้กับเหยิน ส่วนซุ่นจื๊อนั้น ย้ำความสำคัญของหลี หรือ “จารีตประเพณี” ว่าเป็นคุณธรรมอันสำคัญที่จะค้ำจุน เหยิน และเป็นภาคปฏิบัติของ หยี ด้วยเหตุนี้ เหยิน หยี และหลี จึงรวมกันเป็นคุณธรรมสามประการของคำสอนของขงจื๊อ คุณธรรมสามประการนี้เป็นมาตรฐานของการประพฤติปฏิบัติที่ประชาชนชาวจีนยึดถือมาเป็นเวลาหลายพันปี คุณธรรมทั้งสามประการนี้ แต่ละอย่างเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างยิ่งและต่างก็มีความสำคัญแก่คุณธรรมอีกสองประการนั้นเป็นอย่างมาก เหยิน เป็นคุณธรรมขั้นปฐมของชีวิต เป็นเครื่องนำไปสู่การกระตุ้นบุคคลให้พยายามกระทำคุณงามความดีเพื่อบุคคลอื่น หยี เป็นคุณธรรมอันดับถัดมาเป็นเครื่องอนุเคราะห์ เหยินในฐานะที่เป็นหลักธรรมอันสูงสุดที่แสดงออกมาในรูปของการกระทำของมนุษย์ และหลี เป็นการแสดงออกให้ปรากฏซึ่งความรู้สึกในทางด้านจริยธรรม เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ เหยิน และ หยี ทำให้การประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์ทั้งหมดกลมกลืนกันทั้งด้านเหตุผลและด้านระเบียบ ประกอบกันเป็นวิหารแห่งคุณธรรมของขงจื๊ออันสมบูรณ์

ประการสุดท้าย ที่จะต้องระลึกอยู่เสมอคือ ปรัชญาของขงจื๊อและซุ่นจื๊อนั้นมีลักษณะเด่นคือหลักจริยธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อความสัมพันธ์ในทางสังคมและหน้าที่ของพลเมืองดี ถึงแม้ว่าในหนังสือบทนิพนธ์ของซุ่นจื๊อ จะมีบทหนึ่งว่า “เรื่องของสวรรค์” แต่วัตถุประสงค์ของบทนั้นก็หาใช้เป็นการยกย่องความลึกลับสิ่งที่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใดเลย แต่เป็นการปฏิเสธการมีอยู่ของตัวตนที่เป็นวิญญาณ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่รอรับพิธีการบูชาเส้นสรวงทั้งปวงจากมนุษย์ สำหรับซุ่นจื๊อ สวรรค์ไม่มีรูปร่างลักษณะเป็นบุคคล สวรรค์นั้นเป็นแต่เพียงกฎแห่งธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เล่าจื๊อเรียกว่า เต๋า ความคิดของซุ่นจื๊อตามทรรศนะนี้ทำให้มนุษย์สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง และเป็นทรรศนะที่ท้าทายมนุษย์ให้สร้างตนให้เป็นนายของธรรมชาติ

ถ้ามีการปลูกฝังวิธีการแห่งการดำรงชีวิตอันถูกต้องแล้ว สวรรค์ก็ไม่อาจบันดาลเคราะห์กรรมอันเลวร้ายให้แก่มนุษย์ได้ น้ำท่วม ความแห้งแล้งก็ไม่อาจสร้างความอดอยากให้เกิดขึ้นได้ ความร้อนจัด หนาวจัดก็ไม่อาจสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ พลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ก็ไม่อาจสร้างความหายนะอื่นใดให้ได้

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ถ้ามนุษย์ละเลยหน้าที่ของตนแล้ว สวรรค์ก็ไม่อาจจะช่วยมนุษย์ได้เลยในการปฏิเสธความเชื่อเรื่องสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาตินี้ ซุ่นจื๊อได้สร้างปรัชญาขงจื๊อให้เห็น ปรัชญามนุษยธรรมแบบธรรมชาตินิยม (naturalistic humanism) อันสมบูรณ์ขึ้นได้สำเร็จการสร้างวิชาปรัชญาขงจื๊อให้เป็นปรัชญามนุษยธรรมแบบธรรมชาตินิยมนี้คือ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของผลงานทางปรัชญาของซุ่นจื๊อ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ทฤษฎีแห่งความรู้ของซุ่นจื๊อ

ตอนเริ่มต้นของทฤษฎีแห่งความรู้นั้น ซุ่นจื๊อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่สัมผัสได้ กับ สัจภาวะที่เป็นตัวตนของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เขาถือว่ามีแต่เพียง “ปรากฏการณ์” อันเดียว หรือ แบบอันเดียวเท่านั้นที่เป็นปรากฏการณ์อันแท้จริงของสิ่งนั้น ส่วนปรากฏการณ์อื่นๆ นั้น เป็นแต่ภาพลวงตา กล่าวคือ เป็นปรากฏการณ์ของปรากฏการณ์ที่เป็นลักษณะอันแท้จริงของสิ่งนั้นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ม้าหิน นอกจากปรากฏการณ์อันเดิมที่เป็นม้าหินแล้ว อาจจะปรากฏรูปคล้ายเสือก็ได้ ต้นไม้นอกจากปรากฏการณ์อันเดิมที่เป็นต้นไม้แล้ว อาจจะปรากฏรูปคล้ายกับคนก็ได้ แต่ภาพที่ปรากฏเป็นเสือหรือเป็นคนนั้นเป็นแต่เพียงภาพลวงตาที่เกิดจากจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่สภาพอันแท้จริงของสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ของม้าหินหรือของต้นไม้ แต่เป็นภาพที่สะท้อนปรากฏขึ้นในจิตใจ อันแท้จริงของสิ่งที่เรามองดู

ขณะที่บุคคลมีความสงสัยและมีจิตใจเลื่อนลอย เขาจะมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกกายของเขาได้ไม่ชัดเจน เพราะว่าถ้าความคิดของเขาไม่ชัดเจน เขาก็ไม่อาจพิจารณาได้ว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นภาพลวงตา ขณะที่บุคคลยืนอยู่ในระยะที่ห่าง เขามองเห็นม้าหินเป็นเสือ และมองเห็นต้นไม้เป็นคน เพราะว่าสายตาของเขาถูกปิดบัง
คนเมา เดินข้ามเหวลึกเหมือนกับว่าเหวลึกนั้นเป็นคูแคบๆ
คนเมา ก้มตัวลอดเข้าประตูเมือง คล้ายกับว่าประตูเมืองเป็นประตูห้องนอนส่วนตัว
เพราะว่าสุราทำให้จิตใจของเขาสับสน
ถ้าบุคคลหรี่ตามอง เขาจะมองเห็นของชิ้นเดียวเป็นของสองชิ้น
และถ้าเขาปิดหูฟัง เขาอาจจะถือเอาความเงียบเป็นเสียงฟ้าร้องก็ได้ เพราะว่าสิ่งภายนอกเหล่านั้นปิดบังอวัยวะประสาทสัมผัสของเขา

ด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์นั้นคือสิ่งที่ปรากฏขึ้นในโลกของปรากฏการณ์ และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์นั้น คือ โลกของความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เป็นสัจภาวะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะมองเห็นได้ในทางประสาทสัมผัส แต่เป็นสิ่งที่อาจรู้ได้โดยทางจิตความคิดในเรื่องนี้ของซุ่นจื๊อนั้นคล้ายคลึงกับทรรศนะของเฮเกล (Hegel) ประการที่ว่า บุคคลทั้งสองต่างมีทรรศนะว่าสัจภาวะนั้นมีอยู่ในระดับอันหนึ่ง แต่ทั้งสองท่านแปลความหมายของระดับอันหนึ่งนี้แตกต่างกัน สำหรับเฮเกลนั้น ระดับของสัจภาวะนั้น คือ ระดับของเหตุผล ซึ่งมีโลกแห่งปรากฏการณ์เป็นแต่เพียงภาพสะท้อนของจิตเท่านั้น ในทรรศนะเช่นนี้ เฮเกลเป็นแต่เพียงผู้มีทรรศนะทางอภิปรัชญา เป็นนักจิตนิยม แต่สำหรับซุ่นจื๊อนั้น ระดับของสัจภาวะนั้นคือระดับของสิ่งทั้งหลายที่มีตัวตน เป็นสัจภาวะที่มีสภาพแห่งความเป็นอยู่ของตน และมีความสำคัญของตนเองเป็นอิสระจากจิต ในทรรศนะเช่นนี้ ซุ่นจื๊อเป็นนักสัจนิยม

สิ่งที่มีอยู่ในบุคคลที่เขาใช้เป็นเครื่องรับรู้นั้นคือความสามารถในการรับความรู้ สิ่งที่มีอยู่ในความสามารถในการรับความรู้ ที่สอดคล้องกับสิ่งภายนอกตัวนั้นเรียกว่า ความรู้

ความสามารถในการรับความรู้นั้นประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือสิ่งที่ซุ่นจื๊อเรียกว่า “อวัยวะแห่งสวรรค์” ได้แก่ ประสาทหูและประสาทตา ส่วนที่สองคือ จิต หน้าที่ของส่วนแรกนั้นเขากล่าวว่า

บุคคลจะมองเห็นความคล้ายคลึงกันและความแตกต่างกันได้อย่างไร?
…..ได้โดยทาง “อวัยวะแห่งสวรรค์” ประสาทตาเป็นเครื่องจำแนกรูปและสีให้แตกต่างกัน ประสาทหูเป็นเครื่องจำแนกเสียงให้แตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของ “อวัยวะแห่งสวรรค์” คือการรับรู้การสัมผัสที่ได้รับจากสิ่งภายนอก

สำหรับหน้าที่ของจิต นั้นซุ่นจื๊อ กล่าวว่า

จิตเป็นผู้ให้ความหมายแก่สิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส
….อวัยวะแห่งสวรรค์ เป็นตัวรับรู้การสัมผัส และจำแนกการสัมผัส แล้วหลังจากนั้น จิตจะเป็นผู้ให้ความหมายแก่สิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส เมื่ออวัยวะแห่งประสาททั้งห้ารับการสัมผัส แต่ไม่สามารถจะให้ความหมายได้ เช่นนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีความรู้เกิดขึ้นเลย

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง จิตนั้นรับความรู้ได้ก็เฉพาะแต่เมื่อภายหลังจากที่ “อวัยวะแห่งสวรรค์” ได้สะสมการสัมผัสที่ได้จากวัตถุภายนอกแล้วเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อ จึงมีความเห็นว่า ความสามารถของจิตในการรับความรู้นั้น ไม่ใช่เป็นความสามารถที่มีอยู่ในจิตใจมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่ได้มาภายหลังและสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้จากประสบการณ์ ตัวอย่างสามัญธรรมดาคือ เมื่อเด็กมองเห็นไฟจะเอื้อมมือไปสัมผัสไฟ เพราะว่าจิตใจของเด็กในตอนแรกนั้นยังไม่มีความรู้ว่าไฟนั้นจะไหม้นิ้วมือ หลังจากที่ได้ลองสัมผัสกับไฟแล้ว จิตใจของเด็กจะมีความรู้ในเรื่องไฟไหม้นิ้วมือขึ้น ในฐานะที่ซุ่นจื๊อ มีความเห็นว่าความรู้ของมนุษย์นั้นเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ หรือการสัมผัสที่ประสาททั้งห้าสะสมขึ้นไว้นั้น อาจถือเอาได้ว่า ซุ่นจื๊อเป็นนักประสบการณ์นิยม (Empiricism)

ยิ่งไปกว่านั้น ตามี่ได้ให้ข้อสังเกตไว้ข้างต้นว่า จิตใจนั้นมักจะถูกบดบังด้วยตัณหา เพราะฉะนั้น การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับรู้ความรู้ทั้งปวง เมื่อได้ควบคุมตัณหาแล้ว จิตใจจะแจ่มใสและสามารถรับเอาความรู้ ในความหมายที่เป็นลักษณะอันแท้จริงของความรู้นั้นได้ ซุ่นจื๊อได้ให้อุทธาหรณ์ในเรื่องนี้ไว้ดังนี้

จิตของคนนั้นอาจเปรียบได้กับน้ำ เมื่อสงบนิ่ง ฝุ่นจะตกตะกอนนอนอยู่ก้นบึ้ง ผิวน้ำจะใสสะอาด ในสภาพเช่นนั้นเท่านั้น ที่ภาวะลักษณะอันแท้จริงของเราจะสะท้อนเงาปรากฏในผิวน้ำได้ แต่เมื่อมีกระแสลมเบาๆ พัดผ่านเหนือผิวน้ำ ฝุ่นที่ตกตะกอนจะกระพือขึ้นทำให้ผิวน้ำขุ่น ผลก็คือภาวะลักษณะอันแท้จริงของสิ่งทั้งหลายก็ไม่อาจสะท้อนเงาปรากฏขึ้นบนผิวน้ำนั้นได้ฉันใด จิตก็มีสภาพเช่นนั้น….ถ้าหากจิตไม่แจ่มใส เพราะถูกรบกวนจากสิ่งภายนอก จิตก็ไม่สามารถมองเห็นความจริงกับความไม่จริงได้

วัตถุประสงค์อันสูงสุดของความรู้คือ การแสวงหา เต๋า อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐและประณีต คำว่า เต๋า ในภาษาจีนนั้นเหมือนคำว่า “way-ทาง” ในภาษาอังกฤษซึ่งมีความหมายเป็นสองนัย คือ หมายถึง “หนทางที่ก้าวเดินก้าวไปข้างหน้า” หรือ “สัจธรรม” ก็ได้ซึ่งตรงกันกับภาษากรีกว่า logos คติความคิดเรื่องเต๋านี้เป็นคติความคิดที่เป็นหลักมูลฐานในวรรณกรรมโบราณของจีน มีปรากฏทั้งในบทนิพนธ์ของสำนักปรัชญาขงจื๊อ และในบทนิพนธ์ของเล่าจื๊อและจวงจื๊อ คำว่าเต๋า ตามความหมายของเล่าจื๊อและจวงจื๊อนั้นหมายถึง “วิถีทางแห่งธรรมชาติ” อันเป็นตัวแทนของสัจธรรมอันสูงสุด พวกนักปราชญ์ขงจื๊อให้คำว่า เต๋า ในความหมายของ “วิถีทางแห่งมนุษยธรรม” อันเป็นวิถีทางที่ธรรมชาติของมนุษย์ควรจะแสดงตนออกมาให้ปรากฏ ยกตัวอย่างเช่น ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื๊อ หรือคำสอนเรื่องทางสายกลาง ซึ่งสันนิษฐานว่าจื๊อ-ซู่ (Tzu-ssu:492-431 ก.ค.ศ.) ซึ่งเป็นหลานของขงจื๊อเป็นผู้นิพนธ์นั้นเราอ่านพบข้อความว่า

สิ่งที่สวรรค์ประทานให้นั้นเรียกว่าธรรมชาติ
สิ่งที่คล้อยตามธรรมชาตินั้นเรียกว่า เต๋า
สิ่งที่ทะนุบำรุงเต๋านั้น เรียกว่า วัฒนธรรม

ถึงแม้ว่า หลักสากลที่ว่าด้วย เต๋า นี้ จะไม่ใช่เรื่องเฉพาะเป็นพิเศษของซุ่นจื๊อ แต่การให้ความหมายของซุ่นจื๊อ แก่เต๋านั้นมีลักษณะแตกต่างเป็นพิเศษ ซุ่นจื๊อ มีความเห็นพ้องด้วยว่าเต๋า เป็นสัจธรรมอันสูงสุดสิ่งเดียว ที่คงสภาพอยู่ชั่วนิรันดร และมีแทรกซึมอยุ่ในสรรพสิ่งทั้งปวง แต่ซุ่นจื๊อมีความเห็นว่าสำนักปรัชญาอื่นๆ นั้น มีความเข้าใจเต๋า แต่เพียงลักษณะด้านเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถเข้าใจสัจธรรมทั้งหมดได้ ยกตัวอย่างเช่น

ม่อจื๊อ ปิดตาตนเองด้วยประโยชน์นิยม จนละเลยเรื่องของวัฒนธรรม จวงจื๊อ ปิดตาตนเองด้วยธรรมชาตินิยม จนละเลยเรื่องของมนุษย์
จากทรรศนะของประโยชน์นิยม เต๋า ก็คือการแสวงหาผลประโยชน์จากทรรศนะของธรรมชาตินิยม เต๋า ก็คือการอยู่อย่างเสรีไม่มีกฎเกณฑ์ ความแตกต่างระหว่างทรรศนะเช่นนี้ก็เพราะเข้าใจเต๋า แต่เพียงลักษณะด้านเดียว

แต่แก่นแท้ของ เต๋า นั้นเป็นสิ่งสม่ำเสมอมั่นคงและครอบคลุมสรรพสิ่งทั้งปวง เต๋า เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะล่วงรู้ได้โดยการมองเพียงแง่เดียว บุคคลที่มีความรู้เพียงแง่เดียวก็มองเห็นเต๋าเพียงด้านเดียว ไม่อาจเข้าใจเต๋าในสภาพอันสมบูรณ์ทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จึงคิดว่า ตนรู้เรื่องสิ่งทั้งหมดแล้ว เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีความเข้าใจสับสนเช่นนั้น ก็ชักนำบุคคลอื่นให้เข้าใจสับสนตาม….นี้เป็นเคราะห์กรรมอันยิ่งใหญ่ที่เกิดจากความมืดบอดและความโง่เขลา

ถ้อยคำว่า “การปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อ” นั้นเป็นคำที่ขงจื๊อเป็นผู้คิดขึ้น

ขอให้เจ้าเมือง จงเป็นเจ้าเมือง
ขอให้เสนาบดี จงเป็นเสนาบดี
ขอให้บิดา จงเป็นบิดา
ขอให้บุตร จงเป็นบุตร

ชื่อทุกชื่อควรจะแสดงภาวะอันแท้จริงของประเภทของสิ่งที่ชื่อนั้นแสดงนัย หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า ชื่อทุกชื่อที่แสดงฐานะแห่งความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น บอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบบางประการของชื่อนั้นด้วย เจ้าเมือง เสนาบดี บิดา และบุตร เป็นชื่อที่แสดงฐานะแห่งความสัมพันธ์ทางสังคมดังกล่าวนั้น  บุคคลที่เป็นเจ้าของชื่อนั้นๆ จะต้องปฏิบัติตนตามหน้าที่และความรับผิดชอบของชื่อนั้นโดยเหมาะสม ทฤษฎีแห่งการปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อนี้ ขงจื๊อ จำกัดให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม หรือจริยศาสตร์ ตามคำศัพท์ของตะวันตก แต่ ทฤษฎีแห่งการปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อของ ซุ่นจื๊อ ไม่ได้จำกัดอยู่ในขอบเขตของจริยศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นทฤษฎีที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหลักของเหตุผล หรือหลักแห่งตรรกวิทยาของทฤษฎีแห่งความรู้ ตามคำศัพท์ของตะวันตกอีกด้วย

ในเรื่องของที่มา และวัตถุประสงค์ของชื่อนั้น ซุ่นจื๊อกล่าวว่า

ชื่อ ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อแสดงถึงภาวะแห่งความเป็นจริง ประการแรก เพื่อจำแนกผู้เป็นใหญ่จากผู้น้อย และอีกประการหนึ่ง เพื่อแสดงความคล้ายคลึงกันและความแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ ชื่อนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อแสดงความแตกต่างทางสังคมนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพื่อแสดงความแตกต่างทางเหตุผล

เกี่ยวกับการใช้ชื่อทางเหตุผลนั้น ซุ่นจื๊อ อธิบายต่อไปว่า

ชื่อนั้นถูกกำหนดให้กับสิ่งต่างๆ สิ่งที่เหมือนกันจะถูกกำหนดให้มีชื่ออันเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างกันจะถูกกำหนดให้กับสิ่งที่เรียบง่าย ถ้าชื่อที่เรียบง่ายใช้ไม่ได้ก็จะใช้ชื่อผสมแทน และถ้าชื่อที่เรียบง่ายและชื่อที่ผสมมีความเกี่ยวข้องกันและกัน ก็จะใช้ชื่อสามัญร่วม  เพราะว่าชื่อสามัญร่วมกันนั้นไม่ทำให้เกิดความยุ่งยาก บุคคลที่รู้ว่าสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันนั้น มีชื่อแตกต่างกัน และบุคคลที่พูดถึงสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันด้วยการใช้ชื่อที่แตกต่างกันนั้น จะไม่ประสบความสับสนเลย ทำนองเดียวกัน บุคคลที่กล่าวถึงสภาพความเป็นอันเดียวกันก็ไม่ควรใช้ชื่ออื่น ที่แตกต่างไป นอกจากชื่ออันเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าสิ่งทั้งหลายจะมีจำนวนมากมาย นับไม่ถ้วนก็ตามแต่สิ่งเหล่านี้ ก็จะถูกระบุชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ คือ บางครั้งเราอยากจะกล่าวถึงสิ่งทั้งหลายว่าเป็นสิ่งทั่วไป เพราะฉะนั้นคำว่า สิ่งทั้งหลายจึงเป็นชื่อทั่วไป ซึ่งเป็นชื่อที่กว้างขวาง ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างหมด บางครั้งเราต้องการจะระบุสิ่งบางชนิดที่เราเรียกว่า “นกและสัตว์” คำว่า “นกและสัตว์” เป็นชื่อใหม่เฉพาะ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะนกและสัตว์ไม่รวมสิ่งอื่นๆ เข้าไว้

จากข้อความดังกล่าวนี้ เราอาจจะอนุมานเป็นข้อสรุปได้ดังนี้
1. ชื่ออันเดียวกันนั้นกำหนดให้ใช้แก่สิ่งชนิดเดียวกัน และชื่อแตกต่างกัน กำหนดให้ใช้ แต่สิ่งที่แตกต่างกัน

2. ชื่อที่เรียบง่าย ใช้กับสิ่งที่เรียบง่าย ชื่อผสมใช้กับสิ่งที่เป็นของผสม ตัวอย่าง เช่น “ม้า” เป็นชื่อที่เรียบง่าย แต่ถ้าม้านั้นมีสีขาว เพราะฉะนั้นจะเกิดเป็นชื่อผสมในกรณีนี้ว่า “ม้าขาว”

3. ชื่อสามัญร่วมกัน ใช้กับสิ่งที่มีลักษณะร่วมกัน ใช้ทั้งชื่อเรียบง่าย และชื่อผสม ตัวอย่างเช่น “สัตว์” เป็นชื่อสามัญร่วมกันของคำว่า “ม้า” และ “ม้าขาว”

4. ชื่อใหญ่ทั่วไปนั้น เป็นชื่อของสิ่งทั้งหลายทั่วไปที่มีขอบเขตกว้างขวาง ตัวอย่างเช่นคำว่า “สิ่งทั้งหลาย” เป็นชื่อทั่วไปชนิดใหญ่ ซึ่งรวมเอา “สัตว์ พืช และโลหะ” และสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด

5. ชื่อใหญ่เฉพาะ นั้นเป็นชื่อของ สิ่งทั้งหลายที่มีขอบเขตจำกัด ตัวอย่างเช่นคำว่า “นกและสัตว์” เป็นชื่อใหญ่เฉพาะ นกและสัตว์ ไม่รวมสิ่งอื่น

จากหลักสองประการหลังนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ซู่จื๊อนั้นมีความคิดอันชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการทางตรรกวิทยา ในการระบุชื่อของสิ่งต่างๆ ชื่อทั่วไปเป็นผลของการใช้เหตุผลแบบสังเคราะห์ ส่วนชื่อเฉพาะเป็นผลของการใช้เหตุผลแบบวิเคราะห์

ครั้นแล้ว ซุ่นจื๊อ ได้กล่าวถึงวิธีกำหนดชื่อ และสิ่งที่ควรย้ำความสำคัญในการกำหนดชื่อต่อไปดังนี้

ชื่อไม่มีมาตรฐานอันตายตัว แต่ชื่อเกิดจากความยินยอมเห็นห้องต้องกัน ถ้าได้ตกลงกันจะใช้ชื่ออันใดแล้ว ชื่อนั้นก็จะกลายเป็นธรรมเนียม และเกิดเป็นมาตรฐานขึ้น ชื่อใดที่ไม่สอดคล้องกับความยินยอมตกลงกันแล้ว ก็เป็นชื่อที่ขัดแย้งกับมาตรฐาน ชื่อไม่มีสภาพที่เป็นจริงที่แน่นอนตายตัว ชื่อเป็นแต่เพียงผลของความยินยอมตกลงกัน…..แต่ชื่อมีความดีที่แน่นอนตายตัว ชื่อที่เข้าใจได้ง่ายเป็นชื่อที่ดี มีการจำแนกระหว่าง สิ่งที่มีชื่อคล้ายกัน แต่ต่างชนิดกัน กับสิ่งที่มีชื่อแตกต่างกัน แต่มีชนิดคล้ายคลึงกัน สิ่งที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน แต่ต่างชนิดกัน ถึงแม้ว่าจะมีชื่ออันเดียวกัน ก็แตกต่างกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ สิ่งที่มีชื่อแตกต่างกัน แต่เป็นสิ่งที่เป็นชนิดเดียวกันนั้น มีความแตกต่างกันก็เฉพาะการเปลี่ยนแปลงชื่อเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีชื่อแตกต่างกัน ก็ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีชื่อแตกต่างกันแต่เป็นชนิดเดียวกันนั้น จึงเป็นสิ่งอันหนึ่งอันเดียวกัน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ซุ่นจื๊อกับทฤษฎีว่าด้วยเรื่องของตัณหา

ในขณะที่ หัวใจอันสำคัญของปรัชญาของซุ่นจื๊อคือ คติความคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นั้น ทฤษฎีอันเป็นหลักของธรรมชาติแห่งมนุษย์นั้นก็คือ ตัณหา ซุ่นจื๊ออธิบายถึงเรื่องตัณหา

มนุษย์เริ่มต้นด้วยตัณหา
และข้อความอีกแห่งหนึ่งว่า

ตัณหานั้นไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมา เพราะว่าสวรรค์ได้ประทานมันมาให้แก่มนุษย์แล้ว

เพราะว่า ตัณหาเป็นลักษณะตามธรรมชาติที่สามัญที่สุดของธรรมชาติของมนุษย์ ฉะนั้นตัณหาจึงเป็นสิ่งที่กำจัดให้หมดไปได้ยาก หรือเป็นสิ่งที่ทำให้พอใจได้ยาก ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อจึงกล่าวว่า
ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นเพียงคนยามเฝ้าประตู แต่ตัณหาของเขาก็เป็นสิ่งที่กำจัดให้หมดได้ยาก เพราะว่าตัณหานั้นเป็นลักษณะพื้นฐานของธรรมชาติของมนุษย์ ถึงแม้ว่า บุคคลจะเป็นกษัตริย์แต่ตัณหาของพระองค์ก็เป็นสิ่งจะทำให้พอใจอย่างสมบูรณ์ได้ยากเช่นกัน

ซุ่นจื๊อ ย้ำความสำคัญของความเชื่อของเขาว่า สาเหตุอันสำคัญที่สุดของความชั่วช้าสามานย์ทั้งปวงนั้นคือ ตัณหา แต่เนื่องจากตัณหาเป็นสิ่งที่มนุษย์มีมาตามธรรมชาติ และฝังอยู่ในกมลสันดาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่จะกำจัดให้หมดไปได้ยาก เพราะฉะนั้นเคล็ดลับของการดำรงชีวิตด้วยคุณธรรมนั้น คือการสนองตัณหาโดยเหมาะสม โดยการใช้จารีตประเพณี ดนตรีและการกล่อมเกลาจิตใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัณหาของมนุษย์นั้นจำเป็นจะต้องควบคุมกำหนดโดยการใช้จารีตประเพณี กล่อมเกลาโดยการใช้ดนตรี และทำให้มีเหตุผลโดยการควบคุมจิตใจ ความคล้ายคลึงที่น่าสังเกตระหว่างปรัชญาของขงจื๊อ และปรัชญาของซุ่นจื๊อในที่นี้คือ จารีตประเพณีและดนตรี เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในทรรศนะของบุคคลทั้งสอง จุดที่ความคิดของซุ่นจื๊อแตกต่างออกไปจากขงจื๊อนั้นคือ เขาย้ำความสำคัญในเรื่องของจิตใจ

ตัณหาของมนุษย์จะต้องควบคุมกำหนดโดยจารีตประเพณีนั้นเกิดขึ้นมาจากไหน? คำตอบคือว่ามนุษย์เริ่มต้นชีวิตด้วยตัณหา เมื่อตัณหาเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนองให้เป็นที่พอใจ มนุษย์ก็จะเฉยอยู่โดยไม่แสวงหาความพอใจให้แก่ตัณหาไม่ได้ เมื่อการแสวงหาเพื่อสนองตัณหาไม่มีขนาดหรือขอบเขต จึงทำให้เกิดการขัดแย้ง เมื่อมีการขัดแย้ง ความไม่สงบก็เกิดขึ้นเมื่อความไม่สงบเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ถึงที่สุด พระมหากษัตริย์ในสมัยต้นๆ จึงรังเกียจความไม่สงบ ฉะนั้นพระองค์จึงจัดให้มีจารีตประเพณี และการปฏิบัติยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีขึ้น เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตให้แก่ตัณหา และเพื่อเป็นการปรับปรุงตัณหาและเป็นการนำทางการแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตัณหา

กล่าวโดยย่อแล้ว จารีตประเพณีมีหน้าที่เป็นสามประการ คือเพื่อจำกัดขอบเขตของตัณหาเพื่อว่าบุคคลจะได้ไม่ต้อง “แย่งชิง” เอาหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ประการที่สอง เพื่อกล่อมเกลาปลูกฝังตัณหาให้เป็นไปในทางที่ดีงาม เพื่อว่าบุคคลจะได้ไม่แสวงหาแต่ความมานะของบุคคลอื่น” ประการที่สาม เพื่อเป็นการปรับตัณหาและสิ่งที่จะนำมาสนองตัณหาให้เกิดการสมดุลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่มีการแก่งแย่งต่อสู้กัน ตรงจุดนี้ ซุ่นจื๊อกล่าวย้ำความสำคัญว่า

มนุษย์นั้นมีความต้องการและมีความเกลียดชังในสิ่งอันเดียวกัน ความต้องการของมนุษย์นั้นมีมากมายแต่สิ่งที่จะสนองความต้องการนั้นมีน้อย เพราะสิ่งที่สนองความต้องการมีน้อย ฉะนั้นการต่อสู้แก่งแย่งกันจึงเป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรยกย่องและควรต้องกระทำนั้นคือ การกำหนดขอบเขตให้บุคคลทุกคนปฏิบัติในการแสวงหาหนทางตอบสนองตัณหาของตน หน้าที่อันสำคัญที่สุดของจารีตประเพณีคือ การกำหนดขอบเขตของตัณหาอันนี้เอง ทั้งนี้เพื่อว่า จะไม่มีบุคคลใดแสวงหาหนทางสนองความต้องการของตนจนเกินขอบเขต หรือเถลไถลออกไปนอกทางที่ถูกต้องและเหมาะสมได้

ตัณหาของมนุษย์ควรจะกล่อมเกลาให้งดงามขึ้นด้วยดนตรี
ดนตรีเป็นการแสดงออกของความปิติยินดีอันเป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่ไม่สามารถจะบีบบังคับไว้ได้ มนุษย์จะอยู่อย่างปราศจากความปิติยินดีไม่ได้ และความปิติยินดีนั้นจะแสดงออกเป็นเสียงและการเคลื่อนไหว…ถ้าการแสดงออกของความปิติยินดีไม่ได้กระทำไปในทางที่เหมาะสม ผลก็คือจะต้องเกิดมีการจลาจลวุ่นวายขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จากทรรศนะอันนี้ กษัตริย์ในสมัยต้นนั้นจึงคิดประดิษฐ์ดนตรีแบบหยา (Ya) และแบบซุง (Sung) ขึ้น (ซึ่งเป็นดนตรีสองประเภทที่กล่าวถึงในบทนิพนธ์เรื่องกวีนิพนธ์ รวบรวมโดยขงจื๊อ ทั้งนี้เพื่อเสียงของดนตรีทั้งสองแบบนี้อาจแสดงออกซึ่งความปิติยินดีได้ โดยไม่ก่อให้เกิดการจลาจล…และการบรรเลงและการประสานเสียงของดนตรีทั้งสองแบบนี้อาจบันดาลใจ ให้เกิดความคิดที่ดีงาม และคลี่คลายความคิดชั่วร้ายทั้งหลายลงได้

ในทำนองนี้ ดนตรี พร้อมทั้งจารีตประเพณีจึงเป็นพลังทางการศึกษาที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง สามารถกระตุ้นให้เกิดความดีงามขึ้นในจิตใจของประชาชน ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชั่วเลวทรามได้ มีข้อความอีกตอนหนึ่งเป็นคำกล่าวของซุ่นจื๊อว่า

ดนตรี เมื่อบรรเลงในวิหารของพระเทพบิดรนั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกที่น่าเคารพขึ้นในจิตใจของพระมหากษัตริย์และเหล่าเสนาบดี ส่วนดนตรีที่บรรเลงในอาคารบ้านเรือนนั้น ก่อให้เกิดความรักขึ้นในจิตใจของผู้เป็นสามีและภรรยา ส่วนดนตรีที่บรรเลงในลานหมู่บ้านนั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรกันขึ้นในจิตใจของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นดนตรีจึงเป็นเครื่องชักจูงให้ประชาชนเกิดความประสานสามัคคีกัน เสียงดนตรีที่แตกต่างกัน กลับเพิ่มพูนให้เกิดความกังวานชัดเจน และเสียงดนตรีที่ประสานกันนั้น ก่อให้เกิดเป็นความงดงาม ขณะที่ดนตรีชักนำความรู้สึกของประชาชนให้คล้อยตามไปด้วยนั้น ดนตรีก็ได้กระทำหน้าที่ประสานความรู้สึกที่แตกต่างกันนานาประการของประชาชนให้เกิดความเป็นระเบียบและงดงามขึ้นพร้อมกันไปด้วย

ความแตกต่างกันระหว่างหน้าที่ของจารีตประเพณี และดนตรีนั้นคือ จารีตประเพณีนั้นเป็นสิ่งควบคุมตัณหาของบุคคลและกล่อมเกลาความประพฤติที่เป็นการแสดงออกของบุคคล แต่ดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่กล่อมเกลาตัณหาของบุคคลและปลูกฝังความรู้สึกดีงามขึ้นในจิตใจของบุคคล ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อจึงกล่าวว่า

ดนตรีคือ การประสานเสียงที่กลมกลืนกันอย่างสม่ำเสมอ
จารีตประเพณีคือการประพฤติปฏิบัติด้วยอาการอันเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ดนตรีสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์ จารีตประเพณีประสานความแตกต่างและการแบ่งแยก

ตามทรรศนะของซุ่นจื๊อ ตัณหาทั้งหลาย ถ้าไม่ใช้เหตุผลเป็นสิ่งควบคุมแล้ว ตัณหาจะชักนำไปสู่การต่อสู้แก่งแย่งกันและกัน สิ่งที่ทำนุบำรุงเหตุผลนั้นคือจิตใจ ฉะนั้นจิตใจจึงเป็นเครื่องอนุเคราะห์ นำทางให้แก่การแสวงหาหนทางเพื่อตอบสนองตัณหาของมนุษย์

…..ภายใต้การควบคุมจิตใจของตน มนุษย์จะแสวงหาหนทางตอบสนองตัณหาของตนโดยเหมาะสม…..เมื่อจิตใจของมนุษย์ยึดมั่นในเหตุผล ความสงบก็จะมีอยู่ทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่ตัณหาก็ยังมีอยู่ ในทางตรงกันข้ามถ้าจิตใจไม่ยึดมั่นในเหตุผล ตัณหาแม้จะได้รับการตอบสนองก็ยังจะก่อให้เกิดความยุ่งยากลำบากขึ้นได้ เมื่อจิตใจของมนุษย์ขัดแย้งกับเหตุผล ความไม่สงบก็เกิดขึ้นถึงแม้ว่าตัณหาจะมีอยู่แต่เพียงเล็กน้อยก็ตาม

และ….

จิตใจเป็นผู้เป็นใหญ่ของร่างกาย และเป็นนายของดวงวิญญาณ จิตใจเป็นผู้บังคับบัญชาร่างกาย ไม่ใช่เป็นผู้รับคำสั่งจากร่างกาย เพราะฉะนั้น จิตใจจึงสามารถควบคุมตนเองได้ ทำการปฏิบัติของตนเองได้ สนองความอยากของตนเองได้ มีความพอใจในตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของตนเองได้

ด้วยเหตุนี้ งานของจิตใจ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการคิด แต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดชอบชั่วดีในความหมายของจริยธรรมด้วย เมื่อจิตใจถูกกระตุ้นด้วยเหตุผล ตัณหาก็จะอยู่ภายใต้อำนาจของมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าจิตใจนั้นมักจะถูกตัณหาเข้าไปบดบังอยู่เสมอ ซุ่นจื๊อถือว่าการทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากตัณหาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในการที่จะทำให้จิตใจได้บรรลุถึงสัจธรรมและคุณงามความดี ณ ตรงจุดนี้ ซุ่นจื๊อได้ให้ข้อเสนอแนะอันเป็นสิ่งที่จะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในระยะเวลาพันปีต่อมา หลังจากสมัยของเขาต่อนักปรัชญาในสมัยราชวงศ์ซุง หรือนักปรัชญาในลัทธิขงจื๊อใหม่ต่อไป

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ซุ่นจื้อกับทฤษฎีว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์

ซุ่นจื๊อ ปฏิเสธในเรื่องอำนาจของพระเจ้าที่อยู่เหนือมนุษย์ แต่ย้ำความสำคัญเรื่องมนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติได้ ในเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์นั้น เขาปฏิเสธเรื่องความสำคัญขององค์ประกอบทางด้านพันธุกรรม แต่ย้ำความสำคัญเรื่องการศึกษาอบรมที่แสวงหาได้มาในตอนหลัง คำอธิบายในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นั้น มีแสดงไว้ในข้อความที่ยกมาดังต่อไปนี้

ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ ตามที่สวรรค์ประทานมาให้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปลูกฝังอบรม หรือสร้างสรรค์ขึ้นมาได้….แต่สิ่งที่มนุษย์สามารถปลูกฝัง เรียนรู้ หรือสร้างสรรค์ขึ้นมาได้นั้น เป็นสิ่งที่ได้มาจากการฝึกฝนอบรมทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ ตามที่สวรรค์ประทานให้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะเลือกเอาได้ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้มาตามธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมนุษย์ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่การฝึกฝนอบรมที่มนุษย์ได้มาทีหลังนั้นเป็นผลงานที่เกิดจากความตั้งใจของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์สามารถปรับวิธีการของตนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของตนได้ ซุ่นจื๊อได้ขยายความหมายเรื่องต่อไปดังนี้

ขอให้เราพิจารณาดูธรรมชาติของมนุษย์ การที่ตาสามารถมองเห็นได้ หูสามารถฟังได้ยินนั้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่เรามองเห็นได้นั้นขึ้นอยู่กับสายตา สิ่งที่สามารถได้ยินนั้นขึ้นอยู่กับประสาทหู เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตามองเห็น และสิ่งที่หูได้ยินนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจศึกษาเอาได้

นอกจากนี้ ซุ่นจื๊อ กล่าวว่า

ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์นั้น คือ วัสดุดั้งเดิมที่ยังไม่ได้รับการตกแต่งสิ่งที่เป็นการฝึกฝนอบรมได้มามีหลังนั้นคือความรู้ และความประณีตที่เป็นผลของวัฒนธรรม ถ้าปราศจากธรรมชาติอันดั้งเดิมแล้ว ก็คงจะไม่มีอะไรที่จะเสริมด้วยการฝึกฝนอบรมที่ได้มาในตอนหลังได้ แต่ถ้าปราศจากการฝึกฝนอบรมที่ได้มาในตอนหลังแล้ว โดยลำพังธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อันใดเลย

ด้วยเหตุนี้ ธรรมชาติของมนุษย์นั้น คือ คุณลักษณะของมนุษย์ที่ได้มาแต่กำเนิด อันเป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

ตามทรรศนะของซุ่นจื๊อ สภาพทางจิตใจของมนุษย์ที่มีอยู่สองชนิด คือ สภาพแบบง่ายเรียบ กับสภาพแบบซับซ้อน สภาพทางจิตใจแบบเรียบง่ายประกอบด้วยสิ่งที่ตามองเห็นและหูฟังได้ยินเสียง สภาพทางจิตใจแบบนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ สภาพทางจิตใจอีกประการหนึ่งของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องสลับซับซ้อน และเกี่ยวกับการเลือกสรรของมนุษย์อันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกฝนอบรมที่มนุษย์ได้มาในตอนหลัง เนื่องจากสภาพจิตใจที่เรียบง่ายอาจประกอบกันเป็นสภาพจิตใจที่สลับซับซ้อนได้ ด้วยเหตุผลอันนี้ซุ่นจื๊อจึงมีความเห็นโต้แย้งว่า ธรรมชาติของมนุษย์ตามที่สวรรค์ประทานมาให้นั้น สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ โดยอาศัยผลของสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างบุคลิกภาพของมนุษย์ให้ประณีตสวยงามขึ้น

เพราะฉะนั้น ขงจื๊อจึงปรับปรุงธรรมชาติอันดั้งเดิมของตน และเปิดทางให้กับการฝึกฝนอบรมที่ได้มาในตอนหลัง เมื่อมีการฝึกฝนอบรมในตอนหลังขึ้น ก็จึงมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจารีตประเพณี และการยึดมั่นในศีลธรรมขึ้น เมื่อมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจารีตประเพณีและการยึดมั่นในศีลธรรมขึ้นแล้ว ก็จึงมีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายขึ้นสถาบันทางสังคมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านขงจื๊อสร้างขึ้น แต่ขงจื๊อนั้นก็ยังมีความคล้ายคลึงกับประชาชนส่วนใหญ่อยู่ คือ ธรรมชาติดั้งเดิมของท่านก็เหมือนกับของประชาชนส่วนใหญ่ ท่านแตกต่างไปจากประชาชนส่วนใหญ่ก็เฉพาะแต่การฝึกฝนอบรมที่ท่านได้มาในตอนหลังเท่านั้นเอง

ฉะนี้จะเห็นว่า ซุ่นจื๊อนั้นยอมรับในเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล ถือว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้นเป็นผลของสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ของแต่ละคน ซุ่นจื๊อกล่าวว่า

ถึงแม้ว่าบุคคลจะเป็นคนดีและจิตใจของเขาจะมีเหตุผลแต่เขาก็ยังจะต้องศึกษาอยู่กับครูที่ดี และสมาคมกับมิตรสหายที่ดี จากครูดี บุคคลผู้นั้นจะได้ทราบคุณธรรมนานาประการของพระเจ้าเย้า พระเจ้าซุ่น พระเจ้ายู้ และพระเจ้าถัง (ซึ่งเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ในยุคสมัยปรัมปรา) จากมิตรสหายที่ดี บุคคลผู้นั้นจะได้เห็นการประพฤติปฏิบัติที่มีความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ การมีเกียรติ และความสุภาพอ่อนน้อม เขาจะไม่สำนึกในความจริงเลยว่า ในหัวใจของเขานั้น เขายึดมั่นอยู่ในมนุษยธรรมและศีลธรรม แต่ถ้าเขาสมาคมกับมิตรสหายที่เลวทราม สิ่งที่เขาได้ยินมีแต่เรื่องเลวทรามสารพันอย่าง สิ่งที่เขาได้เห็นล้วนแต่เป็นเรื่องของตัณหานานาชนิดแล้ว เขาจะไม่รู้สำนึกในความจริงเลยว่า เขานั้นกำลังทำโทษให้แก่ตัวของเขาเอง

ซุ่นจื๊อยกย่องสิ่งแวดล้อม โดยมองข้ามความสำคัญของธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ ความดีทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญเหนือกว่าธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ซุ่นจื๊อจึงเป็นผู้มีทรรศตรงกันข้ามกับทรรศนะของเม่งจื๊อ กล่าวคือ เขาเห็นว่าธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์นั้น ชั่วช้าเลวทราม คุณธรรมนั้นเป็นผลอันเป็นการปรุงแต่งที่ได้มาจากการฝึกฝนอบรม ความชั่วช้าเลวทรามนั้น เป็นผลที่มนุษย์มีอยู่ในธรรมชาติอันแท้จริงของตน ข้อความต่อไปนี้คือ สาระสำคัญของข้อโต้แย้งของซุ่นจื๊อ

ขอให้เรามาพิจารณาดูธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มีความปรารถนาที่จะแสวงหาผลกำไรมาตั้งแต่กำเนิด เมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตของตนตามความปรารถนาอันนี้ มนุษย์จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะถือเอาทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่ตนจะทำได้ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและความมีเหตุผลแต่อย่างใดเลย เมื่อมนุษย์ดำเนินตามความปรารถนาอันนี้แล้ว มนุษย์จะแสวงหาแต่ความหายนะของบุคคลอื่นโดยไม่คำนึงถึงความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์สุจริตแต่อย่างใด มนุษย์มีความกระหายในทางตา และทางหูมาแต่กำเนิด ฉะนั้นจึงมีความปรารถนาในเรื่องดนตรีและความงาม เมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตตามความกระหายเหล่านี้ มนุษย์ก็มักจะแสวงหาจนเกินพอดี โดยไม่คำนึงถึงจารีตประเพณีการยึดมั่นในศีลธรรมอันดี วัฒนธรรมหรือเหตุผลแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เมื่อมนุษย์คล้อยตามธรรมชาติของตนที่มีมาแต่กำเนิด และกระทำตามความปรารถนาของตนแล้ว มนุษย์จะทะเลา ยื้อแย่งกัน อันจะนำมาซึ่งการมีวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกัน และการมีเหตุผลที่สับสนวุ่นวาย แล้วในที่สุดก็กลายเป็นการต่อสู้กันอย่างรุนแรง ต่อเมื่อมีกฎหมายอันเข้มงวด และอาศัยอิทธิพลของจารีตประเพณีและการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีเท่านั้น ที่มนุษย์จึงจะปฏิบัติตนด้วยความเหมาะสม มีเหตุผลและยอมอยู่ในระเบียบ จากเหตุผลเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความชั่วช้าสามานย์ และถ้ามนุษย์จะเป็นคนดีขึ้นได้แล้ว การเป็นคนดีนั้นก็เป็นผลของการฝึกฝนอบรมเอาทีหลังทั้งสิ้น

แต่ถึงแม้ว่ามนุษย์จะสามารถปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้ก็ตาม แต่ถ้ามนุษย์ถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังตนเองแล้ว มนุษย์ก็จะกลับคดงอไปตามสภาพดั้งเดิมของตน

ไม้คดนั้นจำเป็นต้องเอาไปอบไอน้ำและดัด จึงจะตรง
โลหะที่ทื่อ จำเป็นต้องลับและขัด จึงจะแหลมคม
ธรรมชาติอันเลวทรามของมนุษย์ ก็เช่นเดียวกัน ต้องการแก้ไขให้ตรง โดยการควบคุมบังคับของอำนาจและกฎหมาย และต้องกล่อมเกลาให้งดงามโดยการปฏิบัติตามจารีตประเพณี และการยึดมั่นในศีลธรรม

เหตุผลของซุ่นจื๊อดังกล่าวนี้ ยึดหลักของทฤษฎีว่า มนุษย์นั้นเกิดมาพร้อมกับสติปัญญา และสติปัญญานี้สามารถทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงสภาพหยาบกระด้างที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ให้เป็นบุคคลผู้มีบุคลิกภาพอันงดงาม สมบูรณ์ได้โดยอาศัยการฝึกอบรม

มนุษย์ที่สัญจรไปมาตามถนนทุกคน มีความสามารถที่จะรู้และเข้าใจ เรื่องของมนุษยธรรมและการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม การปฏิบัติตามกฎหมาย ความซื่อตรงและ วิธีการทั้งหลายเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ชัดเจนมนุษย์นั้นสามารถสร้างตนให้เป็นพระเจ้ายู้ กษัตริย์นักปราชญ์ได้ทุกคน

ส่วนเม่งจื๊อนั้น กล่าวว่า บุคคลทุกคนสามารถเป็นพระเจ้าเย้า หรือพระเจ้าซุ่น (กษัตริย์นักปราชญ์) ได้ทุกคน เพราะว่าทุกคนมีความดีมาแต่กำเนิด แต่ซุ่นจื๊อ โต้แย้งว่ามนุษย์ทุกคนอาจทำตนให้เป็นกษัตริย์นักปราชญ์ได้ทุกคน เพราะต่างเป็นผู้มีสติปัญญาติดมาแต่กำเนิดเหมือนกันทุกคน สิ่งที่มนุษย์ต้องการนั้นคือ การปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎของจารีตประเพณี และหลักแห่งการยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมเท่านั้น

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ชีวิตและงานนิพนธ์ของซุ่นจื๊อ

ซุ่นจื๊อ
ธรรมชาติของมนุษย์ คือ ความชั่วช้าสามานย์
ส่วนความดีงามนั้นเป็นสิ่งที่หามาได้ในภายหลัง
ซุ่นจื๊อ บทที่ 23

ซุ่นจื๊อ เป็นผู้สนับสนุนคำสอนของขงจื๊อ และขณะเดียวกันก็เป็นนักวิจารณ์เม่งจื๊อพร้อมกันไปด้วย ถ้าจะถือว่า เม่งจื๊อเป็นตัวแทนของปรัชญาฝ่ายจิตนิยมของคำสอนของขงจื๊อแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ซุ่นจื๊อนั้นเป็นตัวแทนของปรัชญาฝ่ายสัจจนิยมของคำสอนของขงจื๊อ ย้ำความสำคัญของการควบคุมสังคมและมีความเห็นว่า ความอ่อนแอคือธรรมชาติของมนุษย์ เราพบว่าซุ่นจื๊อถึงแม้จะเป็นผู้ป้องกันคำสอนของขงจื๊ออย่างเข้มแข็ง แต่ก็เป็นผู้ที่ยกย่องหน้าที่และสิทธิพิเศษของรัฐ อันเป็นทรรศนะนิยมของนักปรัชญาฝ่ายนิติธรรม (Legalists) ซึ่งเป็นปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างสูงในรัชสมัยของพระเจ้า ฉิ๋น ซี ฮ่วง ตี้ ซึ่งเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์ฉิ๋น ความสำคัญของซุ่นจื๊อนั้นอยู่ที่ว่าเขาเป็นบุคคลที่มีความสามารถไม่แต่เพียง สรุปย่อคติความคิดทั้งปวงของขงจื๊อไว้ได้หมดเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่รับเอาคติความคิดที่ดีที่สุดของสำนักปรัชญาอื่นๆ ดังเช่นคติความคิดของปรัชญาเต๋าคติความคิดของปรัชญานิติธรรม และแม้กระทั่งปรัชญาของม่อจื๊อ เข้ารวมไว้ในคำสอนของตนด้วย ในการกระทำเช่นนั้น เขาเป็นผู้สรุปอัจฉริยะทางสติปัญญาของอดีตกาลที่มีอยู่ในสมัยที่มีการสร้างสรรค์อย่างยิ่งที่สุดไว้เพื่อถ่ายทอดเป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังต่อๆ ไป

ชีวิตและงานนิพนธ์
ซุ่นจื๊อนั้น มีชื่อตัวว่า ขวง (K’uang) แต่เขายังเป็นที่รู้จักกันในนามของ ซุ่นชิง (Hsun Ch’ing) อีกชื่อหนึ่ง เขาเป็นชาวเมืองแคว้นเจา (Chao) อยู่ติดกับมณฑลชานสีอันเป็นทางผ่านของพวกฮั่น พวกเตอร์กและพวกมงโกล ในการเดินทางมาสู่เมืองจีน เขามีชีวิตอยู่ในปีไหนนั้นยังไม่เป็นที่รู้กันแจ่มชัด แต่ชีวิตการงานของเขานั้น ส่วนใหญ่มีปรากฏในศตวรรษที่สาม ก่อน ค.ศ. ทำนองเดียวกันกับนักปรัชญาจีนคนอื่นๆ ที่เราได้ศึกษามาแล้วคือ ซุ่นจื๊อมีความสนใจในเรื่องการปกครองบ้านเมืองที่ดี แต่เขามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่มีความปั่นป่วนทางสังคมและทางการเมืองมากยิ่งกว่ายุคสมัยของเม่งจื๊อเสียอีก เม่งจื๊อ ตามที่เราได้ทราบมานั้น ได้ประกาศแสดงทรรศนะของตนในเมืองหลวงของแคว้นต่างๆ หลายแห่ง ว่า “พื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของชาติได้คือ การมีมนุษยธรรมและการยึดมั่นอยู่ในหลักของศีลธรรม” แต่คำสอนอันสำคัญของเม่งจื๊อไม่สามารถจะดึงดูดความสนใจของเจ้าครองแคว้นศักดินาทั้งหลาย ซึ่งมีความสนใจอยู่แต่เพียงการแสวงหาความทะเยอทะยานส่วนตนเท่านั้นได้ ยุคสมัยของซุ่นจื๊อก็มีลักษณะที่คล้ายกันกับยุคสมัยของเม่งจื๊อ เพียงแต่ว่าเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีกเท่านั้น เพราะฉะนั้น ปรัชญาของซุ่นจื๊อจึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงภาวะการแห่งยุคสมัยนั้น

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของซุ่นจื๊อไม่เป็นที่รู้กันมามากนัก ในวัยเยาว์นั้น
ซุ่นจื๊ออยู่ในแคว้นเย็น (Yen) พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนั้นมีความทึ่งในสติปัญญาของซุ่นจื๊อเป็นอย่างยิ่งแต่ลังเลพระทัยที่จะรับเอาซุ่นจื๊อมาปฏิบัติงานราชการของพระองค์ ดังนั้นซุ่นจื๊อถึงอุทิศตนให้กับการค้นคว้าหาความรู้และการสอนจนกระทั่งเขามีอายุได้ห้าสิบปี เขาจึงได้รับคำเชิญจากแคว้นฉี๋ (Ch’i) ในตอนต้นของสมัยศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. นั้น แคว้นฉี๋ถูกลิดรอนอำนาจลงจากการเป็นแคว้นใหญ่ที่สำคัญ แต่พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นฉี๋ คือ พระเจ้าเสียง (Siang) ก็ยังคงเปิดประตูราชสำนักต้อนรับผู้มีสติปัญญา ผู้สัญจรไปมาอยู่เสมอ พระองค์ยกย่องซุ่นจื๊อโดยมีการจัดพิธีการต้อนรับ ยกย่องคำสอนของซุ่นจื๊อ และขอคำแนะนำปรึกษาต่างๆ จากซุ่นจื๊อดูเหมือนว่าโอกาสนี้จะเป็นครั้งแรกของซุ่นจื๊อที่ได้เข้าไปมีบทบาทกับกิจการของบ้านเมือง แต่พวกเสนาบดีและข้าราชการสำนักทั้งหลาย เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ซุ่นจื๊อได้รับตำแหน่งสำคัญในราชสำนัก รู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นจะต้องต่อต้านกับอิทธิพลของซุ่นจื๊อ จึงแพร่ข่าวลือที่เป็นไปในทางเสื่อมเสียแก่ซุ่นจื๊อ ซุ่นจื๊อจึงสลัดตำแหน่งทิ้งแล้วเดินทางต่อไปยังแคว้นฉู๋ (Ch’u) ด้วยคำแนะนำของ ชุน ซุ่น จุน (Ch’un Sun-chun) อัครเสนาบดีของแคว้นฉู๋ ซุ่นจื๊อ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาของเมือง หลาน-หลิง (Lan-ling) ซุ่นจื๊อมีความคิดคล้ายกันกับขงจื๊อว่า ผู้เป็นใหญ่ปกครองบ้านเมืองนั้นสามารถเอาชนะจิตใจของชาวเมืองของแคว้นที่เป็นศัตรูได้ด้วยการมีอุปนิสัยที่ทรงคุณธรรมมากกว่าการจะใช้กำลังอาวุธเข้าไปปราบปราม ซุ่นจื๊อมีความคิดคล้ายกับเม่งจื๊อว่า ประชาชนพลเมืองที่มีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจดี มีความสุข มีความพอใจในสภาพของตนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของการปกครองบ้านเมืองที่ดี แต่มรณกรรมของ ชุน ซุ่น จุน ทำให้ซุ่นจื๊อต้องอำลาจากชีวิตทางการเมืองของเขาอีกครั้งหนึ่งถึงแม้ว่าครั้งนี้เขาจะไม่เดินทางออกไปจากแคว้นฉู๋เลย

ในเมืองหลาน-หลิง ซุ่นจื๊อมีชีวิตห้อมล้อมไปด้วยกลุ่มนักศึกษาหนุ่ม นักศึกษาของเขาบางคนมีความเจริญก้าวหน้า เป็นผู้มีชื่อเสียงก็มี สำหรับชีวิตในช่วงที่เหลืออยู่นั้น ซุ่นจื๊ออุทิศตนให้แก่การสอนนักศึกษาหนุ่มๆ และแก่งานทางวรรณกรรม

ฉะนั้นวิถีชีวิตของเขาจึงละม้ายคล้ายกับวิถีชีวิตของขงจื๊อมาก การที่ได้เห็นความเสื่อมโทรมของยุคสมัยของเขาทำให้เขาเศร้าใจ ชักนำให้เขาไปสู่ชีวิตแห่งการเป็นนักปฏิรูปสังคมและการเมือง ขั้นแรก เขาพยายามจะบรรลุวัตถุประสงค์ของตนโดยการเข้าไปมีส่วนในการเมือง เพื่อจะวางแบบอย่างที่ดีงามของการปกครองบ้านเมือง และโดยการสั่งสอนทฤษฎีปรัชญาของตนให้แก่คนหนุ่ม แต่เขาประสบความสำเร็จน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ซุ่นจื๊อก็ยังเป็นคนที่มองโลกในแง่งามอยู่ โดยมีความเห็นยืนยันว่า มนุษย์นั้นสามารถสร้างตนให้เป็นนายที่สามารถกำหนดชะตากรรมของสังคมได้

คำสอนและบุคลิกภาพของขงจื๊อ ประกอบกันเป็นแรงบันดาลใจทางสติปัญญาอันสำคัญยิ่งแก่ชีวิตของเขา ซุ่นจื๊อกล่าวว่า

ขงจื๊อ เป็นผู้มีมนุษยธรรมและทรงคุณปัญญา
ท่านไม่ใช่บุคคลผู้มืดบอด
ฉะนั้นท่านจึงเข้าใจเต๋า และควรแก่การยกย่องเสมอเหมือนกษัตริย์นักปราชญ์แต่โบราณ

อย่างไรก็ตาม ซุ่นจื๊อมีลักษณะแตกต่างจากเม่งจื๊อในเรื่องทรรศนะที่สำคัญๆ หลายประการ ซุ่นจื๊อปฏิเสธคำสอนของเม่งจื๊อที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความดีงามมาแต่กำเนิด เขาโต้แย้งว่ามนุษย์นั้นมีความชั่วช้าสามานย์เป็นธรรมชาติของตน อันเป็นความคิดเห็นที่เป็นผลมาจากสภาพของความเสื่อมโทรมทางสังคมและการเมืองอย่างเลวทรามยิ่งของยุคสมัยของเขาและในส่วนที่เกี่ยวกับสวรรค์นั้น ซุ่นจื๊อมีความโน้มเอียงไปในแนวคิดของปรัชญาเต๋า ที่มีลักษณะภาวะเป็นธรรมชาติ ไม่มีตัวตน เขากล่าวว่าสวรรค์นั้นไม่ใช่อะไรอื่น คือ กฎแห่งธรรมชาติอันถาวรนั้นเอง

ดวงตาทั้งหลายโคจรไปตามวัฏจักรของมัน
ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สลับกันให้แสงสว่าง
ฤดูกาลทั้งสี่ สืบเนื่องติดต่อกันไป
หยิน และ หยัง ต่างจับคู่ผสมผสานกันตลอดเวลา
ลมและฝน เกิดกระจัดกระจายไปทั่ว
สรรพสิ่งทั้งปวงต่างมีวิถีชีวิตของมัน ประสานกันไปอย่างสงบสุข

ซุ่นจื๊อ เป็นนักการศึกษาชั้นยอด ในบรรดาสานุศิษย์ของเขานั้นมีอยู่สองคนที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างที่สุด คือ หลี ซู่ (Li Ssu) ซึ่งเป็นอัครเสนาบดีของพระจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิ๋น และ ฮั่น เฟย (Han Fei) นักปรัชญาสำนักนิติธรรมผู้มีชื่อเสียง บุคคลทั้งสองนี้ ยืนหยัดต่อสู้เพื่อการปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการอย่างเข้มงวด และเพื่อการใช้กฎหมายเป็นโครงสร้างที่นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม ผลของคติความคิดของบุคคลทั้งสองนี้ ปรากฏออกในรูปของ วิธีการอันเข้มแข็งที่ผนึกกำลังกัน นำมาซึ่งชัยชนะของราชวงศ์ ฉิ๋น จนสามารถกลายเป็นราชวงศ์ที่มีพลังอำนาจอันสำคัญทางวัฒนธรรมและการบริหารบ้านเมืองจนสามารถรวมเป็นอาณาจักรเดียวกันได้ คติความคิดของสานุศิษย์ของซุ่นจื๊อนี่เอง ที่ทำให้สาวกของปรัชญาขงจื๊อ กล่าวหา ซุ่นจื๊อว่าเป็นผู้ถางทางให้แก่ปรัชญานิติธรรม ได้มีอิทธิพลเหนือสำนักปรัชญาอื่นๆ จนทำให้เกิด “การเผาตำราต่างๆ ทิ้งหมดในปี 213 ก่อน ค.ศ. ซุ่นจื๊อ ถึงแก่กรรมลงประมาณ ปี 238 ก่อน ค.ศ.

คำสอนทั้งหมดของซุ่นจื๊อ มีบันทึกไว้ในหนังสือบทนิพนธ์ที่ใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อ แต่เดิมนั้น บทนิพนธ์ซุ่นจื๊อมีบทความทั้งหมดอยู่สามร้อยยี่สิบสองบท แต่หลังจากที่ได้ชำระตรวจสอบแล้ว จำนวนบทความตามที่ได้ชำระแก้ไขโดย หยาง จิง (Yang Ching) ในสมัยราชวงศ์ถัง (T’ang) นั้นมีอยู่เพียงสามสิบสองบท

เพื่อวัตถุประสงค์ในการปภิปราย เราจะแบ่งทรรศนะของซุ่นจื๊อออกเป็นสี่หัวข้อ คือ ธรรมชาติของมนุษย์ ความอยากของมนุษย์ ความรู้และการเมือง ทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์นั้น รวมเอาทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาเข้าไว้ด้วย เพราะว่าเราจะได้เห็นต่อไปว่า ซุ่นจื๊อนั้นเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในด้านความสามารถในการเรียนรู้ มากกว่าความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด ทฤษฎีเรื่องความอยากของมนุษย์นั้น เป็นพื้นฐานของปรัชญาทั้งหมดของซุ่นจื๊อ เพราะฉะนั้นจึงรวมเอาเรื่องของจารีตประเพณีและดนตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างจิตใจของคนให้เป็นระเบียบ และกล่อมเกลาความต้องการต่างๆ ของมนุษย์เข้าไว้ด้วย ทฤษฎีของความรู้นั้น ว่าด้วยธรรมชาติของสัจภาวะของสรรพสิ่งทั้งปวงที่มีรูปกาย ปรากฏการณ์ที่สัมผัสได้ รวมทั้งทฤษฎีที่เกี่ยวกับจิตใจและทฤษฎี “ปฏิบัติตนให้ตรงกับชื่อ” การเมืองนั้นรวมเรื่องของจริยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องของการเมืองที่รวมเอาจริยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน จะเห็นว่าทรรศนะของซุ่นจื๊อนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับทรรศนะของอริสโตเติลอย่างเห็นได้ชัดเจน นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ต่างสร้างทฤษฎีความคิดของตนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ลักษณะและความเป็นไปทำให้เกิดการผันผวนแก่รัฐเหมือนกันทั้งสองท่าน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ

ม่อจื๊อกับทรรศนะในทางการเมือง

เจตน์จำนงของสวรรค์ และการมีอยู่ของเทพยดาฟ้าดินนั้นคือตัวอย่างของบทบัญญัติทางศาสนาที่ม่อจื๊อนำมาใช้เพื่อให้เกิดสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของโลก นอกจากบทบัญญัติทางศาสนาแล้ว เขายังจำเป็นจะต้องมีบทบัญญัติในทางการเมืองอีก คือ การจัดการปกครองบ้านเมืองและการมีอำนาจในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ในบทนิพนธ์เรื่องม่อจื๊อนั้น มีข้อความอยู่สามบทเกี่ยวกับ “ข้อตกลงกับผู้มีอำนาจของบ้านเมือง” ซึ่งเป็นบทที่ม่อจื๊อแสดงปรัชญาทางการเมืองของเขาออกมา เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากที่ปรัชญาการเมืองของม่อจื๊อนั้น มีความคล้ายคลึงกับปรัชญาการเมืองของทอมัส ฮอปส์เป็นอย่างมาก ม่อจื๊อประณามสังคมแบบธรรมชาติของปรัชญา เต๋า หรือ สิ่งที่ฮอบส์ (Thomas Hohbes) เรียกว่าสภาพแห่งธรรมชาติ (State of Nature) ว่าเป็นสังคมที่ไม่สามารถจะมีอะไรได้เลย นอกจากความยุ่งเหยิงวุ่นวาย

ในสมัยเริ่มต้นของชีวิตของมนุษย์นั้น ยังไม่มีกฎหมายและการปกครองบ้านเมือง ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันนั้น คือ “ทุกคนปฏิบัติตามความคิดเห็นของตน” โดยเหตุนี้ทุกคนต่างมีความคิดของตนเอง สองคนก็มีสองความคิด ซึ่งแตกต่างกัน สิบคนก็มีสิบความคิดแตกต่างกันออกไป ยิ่งมีคนมาก ก็ยิ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกันมากขึ้น แต่ละคนต่างคิดว่าความคิดเห็นของตนถูกต้อง และเห็นว่าความคิดเห็นของคนอื่นผิด ภาวะเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งกัน ซึ่งนำไปสู่ความเกลียดชังและการเป็นศัตรูกัน แม้กระทั่งระหว่างบิดากับบุตร การแบ่งแยกและการแตกสามัคคีก็มีมากขึ้น ไม่มีความสุขสงบ หรือความร่วมมือร่วมใจกันเลย ประชาชนเข่นฆ่ากันและกันโดยการใช้น้ำ ไฟ และยาพิษเป็นอาวุธ จะไม่มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันและกันเลย….โลกเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มนุษย์มีลักษณะเหมือนกับนกและสัตว์ป่า

แต่ “สภาพแห่งธรรมชาติ” เช่นนี้ไม่ช้าก็กลายเป็นสภาพที่มนุษย์ไม่อาจจะทนทานได้ การที่มนุษย์จะอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีการจัดการปกครอง มีการติดต่อสัมพันธ์กัน และต้องมีความร่วมมือร่วมใจกันพอสมควรในรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมา ดังนั้น พวกมนุษย์จึงมาประชุมตกลงกันจัดให้มีรูปแบบทางการปกครองขึ้น และเลือกบุคคลที่มีความฉลาดและความสามารถขึ้นเป็น “พระจักรพรรดิ เสนนาบดี เจ้านาย และหัวหน้า” เพื่อเป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหลายของพวกตน ให้รางวัลแก่ผู้ที่ปฏิบัติตนตามหลักของ “ความรักสากลต่อเพื่อนมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน” และลงโทษทัณฑ์แก่ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักของ “ความรักโดยแบ่งชั้นวรรณะ”

ประชาชนมีความเข้าใจว่าสาเหตุของความไม่สงบวุ่นวายนั้น คือการขาดผู้ปกครองในทางการเมือง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงคัดเลือกบุคคลผู้ที่ฉลาดและสามารถที่สุดขึ้น และแต่งตั้งเขาเป็นโอรสแห่งสวรรค์ หรือพระจักรพรรดิ หลังจากที่ได้เลือกพระจักรพรรดิแล้ว ประชาชนก็คัดเลือกบุคคลที่ฉลาดและสามารถคนอื่นๆ เป็นเสนาบดี….แล้วประชาชนก็จัดแบ่งอาณาจักรทั้งหมดออกเป็นแคว้นต่างๆ และตั้งเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ขึ้น….ในที่สุดพวกประชาชนก็คัดเลือกบุคคลที่ลาดและมีความสามารถเป็นหัวหน้าหมู่ของตน

บ้านเมืองในทรรศนะของม่อจื๊อนั้น มีขั้นตำแหน่งลดหลั่นกันมาอย่างเห็นได้ชัด บนยอดของรูปแบบการปกครองนั้น คือพระจักรพรรดิ โดยเสนาบดีสามคนเป็นผู้ช่วยเหลือ โดยเสนาบดีแต่ละคนมีหน้าที่ทางบริหารแตกต่างกันออกไป แล้วอาณาจักรทั้งหมดจะมีการแบ่งออกเป็นแคว้นต่างๆ มีเจ้านายปกครองแคว้นแต่ละแคว้น ซึ่งมีหัวหน้าประชาชนเข้ามาอยู่เป็นผู้ช่วยเหลือพระจักรพรรดิ์ เสนาบดี เจ้าผู้ปกครองแคว้น และหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดนี้ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งขึ้นตามเจตน์จำนงของประชาชน เพื่อช่วยประชาชนให้มีความเป็นอยู่อันสุขสบายพ้นจากความวุ่นวายและความไม่สงบทั้งปวง โดยวิธีการอันนี้ ม่อจื๊อเห็นว่าบ้านเมืองหรือรัฐนั้นเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของมนุษย์ ทรรศนะของม่อจื๊อที่กล่าวนี้ แตกต่างจากทรรศนะของขงจื๊อผู้สอนว่า “สวรรค์เป็นผู้กำหนดให้ประชาชนอยู่เบื้องต่ำ และสร้างผู้เป็นใหญ่และครูอาจารย์ไว้ให้ประชาชน” ฉะนั้นถ้าเราจะเรียกว่า ทฤษฎีการเมืองของขงจื๊อเป็น “ทฤษฎีเทวสิทธิ divine theory” แล้ว ทฤษฎีการเมืองของม่อจื๊อก็คือ “ทฤษฎีสัญญาประชาชน social contract”

ฉะนั้น ก่อนที่จะมีรัฐขึ้นนั้น ประชาชนมีแต่ความทุกข์และความปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะว่า ความคิดเรื่องผิดชอบชั่วดีนั้นมีแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน เมื่อมีการจัดตั้งรัฐขึ้นแล้ว มนุษย์ยอมมอบความคิดเห็นของตนให้อยู่ภายใต้คำสั่งของผู้เป็นใหญ่ในการปกครอง ทั้งนี้เพื่อโลกจะได้มีความสงบสุข ม่อจื๊อได้อธิบายถึงความจำเป็นในการที่จะต้องการจัดตั้งรัฐเช่นนี้ขึ้น  ดังข้อความต่อไปนี้

ทีนี้ เหตุผลที่ว่าทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่สามารถควบคุมผู้น้อยได้ และผู้น้อยไม่ยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจนั้น เหตุผลนั้นคืออย่างไร?…เหตุผลนั้น คือเพราะว่ามีความเห็นแตกแยกกันในเรื่องของความคิดเกี่ยวกับความผิดชอบชั่วดี…ถ้าบุคคลคนหนึ่งได้รับรางวัลจากผู้มีอำนาจ และขณะเดียวกันบุคคลผู้นั้นกลับถูกประชาชนประณามแล้ว การให้รางวัลจะไม่ส่งเสริมให้ประชาชนทำคุณงามความดีเลย…ถ้าบุคคลคนหนึ่งถูกผู้มีอำนาจลงโทษ แต่ขณะเดียวกันประชาชนยกย่องเขา การทำโทษนั้นก็จะไม่เป็นการปราบคนไม่ให้กระทำความชั่วได้เลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าสาเหตุของการที่การให้รางวัลของผู้มีอำนาจไม่เป็นเครื่องกระตุ้นคนให้ทำความดีได้ และการทำโทษของผู้มีอำนาจไม่อาจปราบคนให้งดเว้นการทำความชั่วได้นั้น ก็คือ การมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นหลายความคิดนั่นเอง

ทรรศนะของม่อจื๊ออันเป็น คล้ายคลึงกันกับสิ่งที่ฮอบส์อธิบายว่าเป็น “เชื้อโรคแห่งสาธารณรัฐ…ที่เกิดจากพิษของทฤษฎีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทฤษฎีอันหนึ่งในบรรดาทฤษฎีเหล่านี้คือบุคคลทุกคนเป็นผู้วินิจฉัยสิ่งผิดชอบชั่วดีตามใจของตนเอง ทรรศนะที่ว่านี้ชักนำม่อจื๊อไปสู่ ทฤษฎีทางการปกครองของเขา  ที่เรียกว่า “ทฤษฎีแห่งการคล้อยตามกับเบื้องบน” ทรรศนะของม่อจื๊อเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายดังนี้

หัวหน้าของครอบครัว คล้อยตามคำสั่งของพระจักรพรรดิ จะเป็นผู้ผนึกความคิดเห็นต่างๆ ของครอบครัวของตน และชักนำบุคคลในครอบครัวของตนให้คล้อยตามผู้นำหมู่บ้านของตน ผู้นำหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้านจะชักนำประชาชนในหมู่บ้านของตนให้คล้อยตามเจ้าผู้ครองแคว้น และในขั้นสุดท้าย เจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายจะชักนำประชาชนของแคว้นของตนให้คล้อยตามกับพระจักรพรรดิ

นี้คือ ลักษณะของรัฐในอุดมคติของม่อจื๊อ…คือรัฐที่มีความสอดคล้องต้องกันเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งต่อมา ซุ่นจื๊อ (Hsun Tzu) ได้วิจารณ์ทฤษฎีของม่อจื๊อไว้ในบทนิพนธ์เรื่องซุ่นจื๊อ ของเขาว่า

ม่อจื๊อนั้น มองเห็นแต่ความคิดที่เป็นแบบฉบับอันเดียวกันเท่านั้น แต่มองไม่เห็นคุณค่าของเอกัตถภาพของบุคคลเลย

เนื่องจากเหตุผลที่ว่า รัฐนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อระงับความโกลาหลวุ่นวาย อันเป็นผลที่เกิดจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ฉะนั้นม่อจื๊อจึงมีความเห็นว่า รัฐนั้นต้องมีอำนาจเต็มที่และอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นจะต้องเป็นอำนาจอันสิทธิขาด ฉะนั้นวัตถุประสงค์อันสำคัญของรัฐ คือ “การผนึกความคิดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” กล่าวคือ จะต้องสร้างแบบฉบับของความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้น แล้วปราบความคิดเห็นที่แตกต่างกันให้หมดสิ้นไป ในทฤษฎีแห่ง “การคล้อยตามกับเบื้องบน” นั้น ม่อจื๊อ ย้ำความสำคัญว่า

เมื่อบุคคลใดได้ยินเรื่องดีหรือร้ายก็ตาม จะต้องรายงานให้ผู้เป็นใหญ่เหนือขึ้นไปของตนให้ทราบ สิ่งใดที่ผู้เป็นใหญ่พิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทุกคนจะต้องเห็นว่าถูกต้องตาม สิ่งใดที่ผู้เป็นใหญ่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ผิด ทุกคนจะต้องเห็นว่าผิดตามด้วย

ทรรศนะเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงลักษณะอันสำคัญของปรัชญาม่อจื๊อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความโกลาหลวุ่นวายในทางการเมือง และความระส่ำระสายทางสังคมของยุคสมัยแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ด้วย อันเป็นเหตุที่ทำให้สามัญชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นชอบกับการปกครองที่รวมอำนาจไว้ในส่วนกลาง อันเป็นทรรศนะที่ประกาศเผยแผ่โดยม่อจื๊อ นักปรัชญาแห่งสามัญผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเขา

บทวิจารณ์
กล่าวโดยสรุปแล้ว ม่อจื๊อประกาศเผยแพร่ทฤษฎีความคิดเพื่อสร้างสังคมของมนุษย์ในอุดมคติขึ้น โดยอาศัยหลักคำสอนเรื่อง “จงมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และจงแสวงหาสวัสดิภาพเพื่อบุคคลอื่น” ม่อจื๊อประณามการทำสงครามรุกรานบุคคลอื่นว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และต่อต้านกับขนบธรรมเนียม ในการจัดพิธีการทำศพที่ฟุ่มเฟือย หรูหรา พิธีการอันวิจิตรพิสดาร และแม้กระทั่งการดนตรี ว่าเป็นสิ่งชักจูงบุคคลให้เหินห่างจากการทำงาน ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่ม่อจื๊อยอมรับในความอ่อนแอของมนุษย์และพยายามจะใส่หลักคำสอนเรื่องความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ลงในรูปแบบของผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ และในรูปแบบของพระจักรพรรดิผู้ปกครองอาณาจักรบนผืนโลก ด้วยการบัญญัติให้มีการลงโทษและการตอบแทนคุณความดีขึ้น ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์และพระจักรพรรดิบนผืนโลกก็จะสามารถชักจูงประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎแห่ง “มหาประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพื่อชาวโลก” ได้ ซึ่งม่อจื๊อยืนยันว่า มหาประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพื่อชาวโลกนั้น ประกอบด้วยโภคทรัพย์และประชากรเป็นสำคัญ

ถ้าหากเราจะประเมินคุณค่าของปรัชญาของม่อจื๊อ ให้เป็นไปอย่างยุติธรรมแล้ว เราจะต้องเข้าใจขอบเขตของหัวใจของระบบปรัชญาของม่อจื๊อเสียก่อน วิธีการที่จะทำความเข้าใจหัวใจของปรัชญาม่อจื๊อนั้น คือ การเปรียบเทียบพิจารณาดูทรรศนะต่างๆ ที่นักปราชญ์จีนในปัจจุบันวิพากษ์วิจารณ์ม่อจื๊อไว้ ท่านเหล่านี้ได้วิจารณ์ทฤษฎีการปกครองของปรัชญาของม่อจื๊อไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

เซี่ย เซิ้ง หยิว (Hsia Ts’eng You) ในหนังสือของเขาเรื่องประวัติศาสตร์ของจีน (History of China) เล่มที่ 1 แสดงความเห็นของเขาว่า ทรรศนะความคิดที่เป็นหลักปรัชญาของม่อจื๊อนั้น ยึดหลักความเชื่อถือทางศาสนาของม่อจื๊อ เป็นประการสำคัญ

ความเชื่อถือของมนุษย์ในเรื่องการมีเทพยดาฟ้าดินนั้น ได้เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของมนุษย์ไปเป็นอย่างมาก เมื่อมนุษย์มีความเชื่อในเทพยดา ฟ้าดิน มนุษย์จะไม่สนใจในเรื่องของชีวิตและความตายนัก มนุษย์พร้อมที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น และเสียสละเพื่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นม่อจื๊อ จึงแตกต่างไปจากขงจื๊อ ผู้ถือว่า ชีวิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งปวง

เหลียง จี้-ฉา (Liang Chi-ch’as) ในหนังสือของเขาเรื่องการศึกษางานนิพนธ์ของม่อจื๊อ (A Study in the Works of Mo Tzu) นั้นยืนยันว่า สาระสำคัญของปรัชญาม่อจื๊อนั้น คือหลักคำสอนเรื่อง ความรักความเมตตาที่มีต่อมนุษย์ทั้งปวง หรือความรักสากลที่เท่าเทียมกัน

เม่งจื๊อ กล่าวว่า “ม่อจื๊อ ประกาศเผยแพร่คำสอนเรื่องความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง และพร้อมที่จะยอมทนทุกข์ทรมาน ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์” ที่จริงแล้ว คำกล่าวนี้ในเนื้อแท้แล้ว ก็คือ คำสอนทั้งหมดของม่อจื๊อ หลักคำสอนเรื่องการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นนั้น ก็พัฒนาขึ้นมาจากคำสอนเรื่อง ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวงนั้นเอง แม้กระทั่ง คำสอนเรื่อง “การประหยัดและการใช้จ่าย” เรื่อง “การทำพิธีเผาศพแบบง่ายเรียบ” และเรื่อง “การปฏิเสธความเชื่อในชะตากรรมของชีวิต” เหล่านี้ทั้งหมดต่างมีกำเนิดมาจากคำสอนที่สำคัญนี้ประการเดียวเท่านั้น

หู ซี่ (Hu Shih) ในหนังสือเรื่อง เค้าโครงแห่งประวัติของปรัชญาจีน (An Outline of the History of Chinese-Philosyphy) นั้นยืนยันว่า วิธีการปฏิบัติเพื่อประสิทธิผลของม่อจื๊อนั้น คือสาระสำคัญของปรัชญาของม่อจื๊อ ตามความเห็นของ หู ซี่ นั้น ความสำคัญของม่อจื๊อในประวัติของปรัชญาจีนนั้น อยู่ที่ปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ของม่อจื๊อนั้นเอง ซึ่งม่อจื๊อนำเอาหลักประสิทธิผลนี้มาใช้เป็นหลักการทดสอบการกระทำทั้งหลายของมนุษย์ ว่ามีลักษณะผิดชอบชั่วดีอย่างไร ส่วนทรรศนะอื่นๆ ของม่อจื๊อนั้น เช่น ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง การไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่น การใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์และการปฏิเสธความเชื่อในเรื่องชะตากรรมนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องทางภาคปฏิบัติเฉพาะกรณีเท่านั้นเอง

หู โผ่ อัน (Hu P’o-an) ในหนังสือของเขาเรื่อง คำสอนของม่อจื๊อ (The Teachings of Mo Tzu) นั้น ได้แสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะแตกต่างออกไปคือว่า ปรัชญาของม่อจื๊อนั้นยึดหลักของการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่น เขากล่าวว่า ม่อจื๊อมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ประเทศจีนอยู่ในความระส่ำระสาย และความทุกข์ยากลำบาก ฉะนั้นม่อจื๊อจึงประกาศสั่งสอนหลักการที่จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์ มั่งคั่งของสังคม ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงแบ่งคำสอนของตนออกเป็นสองภาค ภาคที่หนึ่งย้ำความสำคัญทางจิตใจ คือ คำสอนเรื่องความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง ทฤษฎีแห่งการคล้อยตามเบื้องบน และเจตจำนงของสวรรค์ อีกภาคหนึ่งนั้นเน้นความสำคัญทางวัตถุอันประกอบด้วย คำสอนเรื่อง การใช้จ่ายแบบมัธยัสถ์ การทำพิธีศพแบบเรียบง่าย และการปฏิเสธความเชื่อในเรื่องชะตากรรม

แท้ที่จริงแล้ว ความสำคัญของม่อจื๊อในประวัติของจีนนั้นอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า ม่อจื๊อเป็นผู้คิดคำสอนเรื่อง ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวงขึ้นมา อันเป็นปรัชญาที่ยากแก่การจำกัดขอบเขตเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าคำสอนนี้ได้ขยายกิ่งก้านสาขาออกไปแทรกซึมอยู่ในคติความคิด และการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดทุกสาขา หลักคำสอนและทฤษฎีความคิดของม่อจื๊อ ทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีคำสอนชิ้นเยี่ยมของเขาเรื่อง ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง ไม่อาจจะแยกออกจากคำสอนเรื่องการไม่รุกรานเบียดเบียนบุคคลอื่นได้ ในทำนองเดียวกัน ความเชื่อถือทางศาสนาของม่อจื๊อ และทฤษฎีทางการเมืองของเขาก็ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ เพราะฉะนั้น ปรัชญาของม่อจื๊อ จึงเป็นระบบความคิดที่มีระเบียบ มีเหตุผลสืบเนื่องกันเป็นอย่างดี ในท่ามกลางระบบความคิดที่ประสานสัมพันธ์กันอย่างดีนั้น ความคิดที่ยืนเด่นเป็นจุดศูนย์รวมของทรรศนะทั้งหมดของม่อจื๊อ ก็คือ ปรัชญาสาธารณประโยชน์นิยม ปรัชญาอันนี้เป็นหลักทดสอบทรรศนะทั้งหลายของม่อจื๊อทั้งหมด แต่เราจะต้องระลึกว่าม่อจื๊อนั้นไม่ได้เป็นผู้แสดงแต่หลักแห่งสาธารณประโยชน์ ที่เป็นหลักในลักษณะนามธรรมเท่านั้น แต่ยังได้แสดงทรรศนะของตนออกเป็นรูปธรรมแห่งสังคม รัฐ และศาสนาอีกด้วย

ความสำคัญของปรัชญาของม่อจื๊อ ในส่วนรวมที่เรียกว่าสาธารณประโยชน์นิยมนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับปรัชญาประโยชน์นิยมของเบนแทม (Bentham) คือเป็นการค้นพบวิธีการปฏิบัติมากว่าการค้นพบหลักการ แต่ปรัชญาของม่อจื๊อนั้น อาจมีลักษณะเป็นสาธารณประโยชน์นิยมมากเกินไป เพราะว่า เขาได้ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อที่จะสถาปนาสังคมที่เป็นอุดมคติขึ้นบนรากฐานของหลักการแห่งสาธารณประโยชน์นิยม ในบทนิพนธ์เรื่อง ซุ่น จื๊อ นั้นมีข้อความว่า

ม่อจื๊อ หลงใหลอยู่แต่เรื่องปรัชญาประโยชน์นิยม
จนมองไม่เห็นความงดงามของวัฒนธรรม

ในที่นี้ คำว่า “วัฒนธรรม” นั้นนำมาใช้ในความหมายของคำว่า “สิ่งประณีตสวยงาม”

ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื๊อ มีข้อความปรากฏว่า

มนุษย์จะต้องร้องเพลง แต่ม่อจื๊อประนามการร้องเพลงของมนุษย์ มนุษย์จะต้องร้องคร่ำครวญ แต่ม่อจื๊อประนามการร้องคร่ำครวญของมนุษย์ มนุษย์จะต้องแสดงความยินดี แต่ม่อจื๊อประนามการแสดงความปิติยินดีของมนุษย์ ความรู้สึกเช่นนั้นของม่อจื๊อนั้นจะไม่เป็นการขัดกับธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์ไปหรือ?

…..ตรงกันข้ามกับความคิดของม่อจื๊อ มนุษย์ไม่สามารถจะทนต่อสภาพการณ์เช่นนั้นได้ ถึงแม้ว่าม่อจื๊อเองอาจจะทนต่อสภาพการณ์เช่นนั้นได้ แต่ม่อจื๊อจะเอาชนะความเกลียดชังของมนุษย์โลกโดยทั่วไป ได้อย่างไรกันเล่า?

นี้คือ ถ้อยคำที่เป็นการทำนายของจวงจื๊อ ว่าลัทธิปรัชญาของม่อจื๊อนั้น จะต้องประสบกับความล้มเหลวลงอย่างแน่นอน…..และแล้วคำทำนายของจวงจื๊อ….ก็เป็นความจริงสมกับคำทำนายทุกประการ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ