หนังตะลุงมากจากไหน?

ภิญโญ  ศรีจำลอง

ภิญโญ  ศรีจำลอง: ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการหอวชิราวุธานุสรณ์ กรมศิลปากร เริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนกลอน ต่อมาเขียนหนังสือทุกประเภท ทั้งเรื่องยาว เรื่องสั้น เรื่องตลก และบทความทางวิชาการ นอกจากจะได้รับยกย่องให้เป็น “ปฏิภาณกวี” คนหนึ่งแล้ว เขายังร่วมแต่งกาพย์เห่เรือเนื่องในโอกาสสมโภช 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

หนังตะลุงเป็นการละเล่นหรือมหรสพพื้นบ้านประเภทหนึ่งของไทย ที่ยืนยงคงทนอยู่มาได้จนกระทั่งทุกวันนี้

ไม่ว่าสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือศิลปวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยอย่างไร หนังตะลุงก็สามารถประยุกต์ตนเองให้กลมกลืนอยู่ในสภาพการณ์นั้น ๆ ได้ตลอดมา ผิดกับศิลปะและวัฒนธรรมอื่นๆ อีกหลายประเภทของคนไทยทุกภาคที่สูญหายไปแล้ว เพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและค่านิยมของประชาชนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคต่าง ๆ ได้

กำเนิดดั้งเดิมของหนังตะลุง

นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่าการละเล่นในทำนองเดียวกันกับหนังตะลุงมีมาแล้วในบรรดาเผ่าชนสมัยโบราณทั่วโลกและยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนี้

ชาติที่มีการเล่นประเภทหนังตะลุงอันหมายถึงการเล่นเงาของภาพใช้ไฟส่องให้ปรากฎบนจอ (Shadow Play) มีชาติจีน มาเลย์ ชวา และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ การเล่นประเภทนี้มีอยู่ในหมู่ประชาชนของยุโรป เช่น พวกรีก และพวกยุโรป แถบแหลมบอลข่าน เป็นต้น

ในประเทศไทยหนังตะลุงปรากฎอยู่ทุกภาคทั้งใต้-กลาง-และเหนือ จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าหนังตะลุงมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิม ณ สถานที่ใดกันแน่

หนังตะลุงภาคใต้

การแสดงหนังตะลุงเท่าที่ปรากฎอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ทางภาคกลางยังมีการแสดงหนังตะลุงอยู่หลายจังหวัดมีมากที่จังหวัดเพชรบุรี และราชบุรี แต่ส่วนมากเป็นการแสดงชั่วครั้งชั่วคราวเช่นในงานศพเท่านั้น

ทางภาคอีสานมีการแสดงหนังตะลุงในรูปแบบที่เรียกว่า “หนังปราโมทัย” แต่ไม่สู้แพร่หลายนัก

หนังตะลุงที่แสดงกันอยู่ประจำสม่ำเสมอนั้นเป็นหนังตะลุงของชาวภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง เหล่านี้เป็นมหรสพพื้นบ้านที่แพร่หลายไม่แพ้ภาพยนตร์หรือดนตรี ซึ่งแพร่หลายอยู่ในทุกส่วนของประเทศไทยทุกวันนี้

ดังนั้น การพูดถึงหนังตะลุงจึงมุ่งไปสู่หนังตะลุงของปักษ์ใต้เป็นหลักใหญ่

วิธีการและขอบเขตการแสดงของหนังตะลุงภาคใต้

คณะหนังตะลุงแต่ละคณะประกอบด้วยผู้เล่นหนังคือ “นายหนัง” เป็นหัวหน้ามีคนเล่นดนตรีเรียกว่า “ลูกคู่” คนแบกหามสัมภาระและเด็กรับใช้ในคณะ ในปัจจุบันอาจมีเพิ่มขึ้นเป็นคนขับรถ ช่างไฟคุมด้านแสงเสียง พนักงานบัญชี และอื่น ๆ เพราะคณะหนังตะลุงเด่น ๆ ประกอบอาชีพการแสดงเป็นงานธุรกิจกันมานานแล้ว

นายหนังตะลุงหลายรายประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างสูงจนกลายเป็นเศรษฐี

มีอยู่คนหนึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส.ในปัจจุบันนี้ ชื่อนายพร้อม  บุญฤทธิ์ เป็น ส.ส. จังหวัดพัทลุง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

อุปกรณ์หนังตะลุง มีตัวหนังซึ่งสลักจากหนังสัตว์ แต่เดิมคล้ายกับหนังใหญ่แต่ขนาดย่อมกว่ามาก คือ มีพระ นาง ยักษ์ เทวดา ผิดกันตรงหนังตะลุงมีตัวตลกมากมาย

ปัจจุบันนี้มีรูปหนังแต่งกายตามสมัยนิยม และรูปเบ็ดเตล็ดเป็นอันมากที่เป็นไปตามยุคสมัย เช่น อาจมีรูปรถยนตร์ รถถัง เครื่องบิน ดาวเทียม หรือจรวด

อุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งอีกประเภทหนึ่งสำหรับลูกคู่ ก็คือเครื่องดนตรี แต่เดิมมีโหม่ง 1 คู่ ทับ 1 คู่ กลองทัดและปีชวา ลูกคู่แต่ละคนจะต้องชำนาญในการเล่นเครื่องดนตรีนั้น ๆ

ในปัจจุบันนี้บางคณะอาจมีกลองแบบที่ใช้กันในวงดนตรีสากล ทรัมเป็ต แซ็กโซโฟน ไวโอลิน ตลอดจนเครื่องกระจับปีสีซอต่าง ๆ

ขอบเขตของการแสดงซึ่งจะขอกล่าวอย่างย่นย่อสำหรับสารคดีเรื่องนี้  เพราะมุ่งจะกล่าวถึงตำนานหนังตะลุงเป็นหลัก นายหนังจะเป็นผู้แสดงคนเดียวทั้งการเชิดรูปหนัง พากย์กลอน และเจรจาการแสดงในครั้งหนึ่ง ๆ เป็นการแสดงนิทานหรือนิยาย แต่เดิมเป็นเรื่องคล้ายวรรณคดี จักร ๆ วงศ์ ๆ หรือชาดกในปัจจุบันมีทั้งนวนิยายสมัยใหม่ นวนิยายสะท้อนสังคมหรือการเมืองก็มี

วิธีการดำเนินการแสดงหนังตะลุงโดยพิสดารนั้น โปรดสังเกตจากการอ่านเรื่องสั้นชุดนายหนังตะลุงพริ้งพระอภัย  ซึ่งข้าพเจ้าแต่งไว้ ในปัจจุบันมีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ “แข่งหนังตะลุง” เป็นแบบเรียนวรรณคดีไทย ชั้น ม.3 และรวมเรื่องสั้นหนังตะลุง 15 เรื่อง เป็นหนังสือเล่มชื่อ “พริ้งพระอภัย กรีดเลือดตะลุง”

ข้อถกเถียงเรื่องที่มาของหนังตะลุง

หนังตะลุงโดยเฉพาะหนังตะลุงภาคใต้มาจากไหน เป็นปัญหาใหญ่ที่มีผู้ถกเถียงกันมาไม่สิ้นสุด พอจะแยกประเด็นสำคัญออกได้เป็น 3 ฝ่าย คือ

1.  เป็นการละเล่นมหรสพดั้งเดิมของเผ่าชนในภาคใต้ยุคโบราณ อย่างที่ปรากฎตามตำนานและประวัติศาสตร์ว่าดินแดนไทยทางใต้เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรศรีวิชัย-ตามพรลิงค์-เคยมีราชวงศ์กษัตริย์ไศเลนทร์-ปทุมวงศ์ เหล่านี้ปกครอง แต่หลักฐานกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ยังคลุมเครือไม่แน่ชัด ยังต้องอาศัยการค้นคว้าสอบสวนอยู่อีกเป็นอันมาก ดังนั้นจึงไม่มีทางใดที่จะสามารถสอบไปถึงว่าสมัยนั้นมีการละเล่น ศิลปวัฒนธรรมใด ๆ เช่น หนังตะลุง ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงขอตัดประเด็นนี้ออกไป

2.  ได้รับอิทธิพลจากชวาและมลายู เรื่องนี้มีหลักฐานของผู้เห็นด้วยอยู่หลายอย่างจะขอนำมาอภิปรายไว้ตามสมควร

3.  ได้รับอิทธิพลจากการเล่นหนังของสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ข้อนี้ก็มีเหตุผลอยู่มาก จะนำมาอภิปรายเช่นเดียวกับข้อ 2

คนไทยใต้ได้รับอิทธิพลการเล่นหนังตะลุงมาจากชวามลายูจริงหรือ

การเล่นหนังตะลุงปรากฎว่ามีอยู่ในเผ่าชนชวา และมลายูโบราณมาจนกระทั้งทุกวันนี้หนังตะลุงเรียกเป็นภาษาของพวกเผ่าพันธุ์นั้นว่า “วายัง” และ “วายังกุลิต” คนไทยเชื้อสายมลายูในสี่จังหวัดปักษ์ใต้ทุกวันนี้ยังมีการเล่น “วายัง” กันอยู่ เขาเรียกการเล่นหนังตะลุงแบบไทยภาคใต้ว่า “วายังเซียม”

ส่วนเรื่องที่ว่าคนไทยจะได้รับอิทธิพลการเล่นหนังตะลุงมาจากคนเผ่าพันธุ์นี้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องน่าสงสัย เพราะวายังแตกต่างกับ “หนังตะลุงภาคใต้”

ในด้านจุดมุ่งหมายและเนื้อหาวายังของเขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์-วิญญาณ-ภูตผี ใช้ตัวหนังเป็นพวกรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวทั้งหมด ไม่มีรูปหนังสวยงามอย่างของไทยเรา

มีหลักฐานว่าการแสดงวายังแบบชวามลายูเข้ามาเผยแพร่ถึงกรุงเทพฯ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะคำอ้างอิงในบมกลอนของสุนทรภู่ถึงเรื่องนี้ปรากฎอยู่ในเรื่อง “รำพันพิลาป”

และยังมีเรื่องน่าคิดอยู่อีกด้านหนึ่งคือ เรื่องไทยเราได้รับอิทธิพลทางวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” มาจากชวาและมลายูดังมีตำนานบ่งว่า หญิงมลายูชาวปัตตานีชื่อ “ยะโว” ผู้รอบรู้พงศาวดารชวาเรื่องอิเหนาได้มาเป็นพระพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎและกุณฑลสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นผู้เล่าเรื่องนี้ถวายฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทรงนำเอาเค้าเรื่องอิเหนามาทรงพระนิพนธ์บทละครอิเหนาขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยนั้นแล้วสูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุง และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงนำเค้าเรื่อง “อิเหนาใหญ่” มาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครเรื่อง “ดาหลัง”

เรื่อง “ดาหลัง” นี่เองทำให้ต้องพิจารณาว่าไทยเราได้รับอิทธิพลเรื่องหนังตะลุงมาจากชวาหรือมลายูบ้างหรือไม่ เพราะคำว่า “ดาหลัง” แปลว่า “นายหนัง” หรือ “นักเชิดหนังตะลุง” และอิเหนาพระเอกในเรื่องดาหลังนี้เป็นนายหนังตะลุงท่องเที่ยวผจญภัยด้วยการเล่นหนังตะลุงอยู่แทบตลอดเรื่อง

ในการสอบสวนเรื่องอิเหนาในชั้นหลัง เราได้หลักฐานเรื่องอิเหนาจากชวาและมลายูหลายสำนวน ได้รวมพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “พงศาวดารอิเหนา ฉบับอารีนครา” ปรากฎว่าพงศาวดารเรื่องอิเหนาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแต่งขึ้นเพื่อใช้เล่นหนังตะลุง

อย่างไรก็ตามที่มาของหนังตะลุงภาคใต้ตามแนวที่ว่านี้ ยังจะต้องค้นคว้าสอบสวนกันอีกมาก

ไทยภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากหนังใหญ่สมัยศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

การเล่นหนังใหญ่หรือ “หนัง” เป็นมหรสพเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างแน่นอน เราหาข้อความอ้างอิงเรื่องนี้ได้จากวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้โดยทั่วไป เช่น จากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาของรัชกาลที่ 2

“ครั้นราตรีมีหนังประชันเชิด

ฉลุฉลักลายเลิศเลขา

ปล่อยลิงหัวค่ำทำศักดา

แล้วพากย์เจรจาว่าเรื่องราว”

จากประมวลเรื่องราวเกี่ยวกับหนังใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นบ่งบอกว่ามีการเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น ไม่ปรากฎว่ามีการเล่นเรื่องอื่น รูปหนังใหญ่ที่ตกทอดมาถึงยุคนี้ก็เป็นหลักฐานที่เด่นชัด

แต่ในสมัยอยุธยาน่าจะมีการเล่นหนังเรื่องอื่นอีก นอกเหนือไปจากเรื่องรามเกียรติ์ ดังมีหลักฐานจากคำนำเรื่องตอนหนึ่งใน “สมุทรโฆษคำฉันท์”

“พระรำลึกยศพระศาสดา

ปางเป็นราชา

สมุทรโฆษอาดูร

เสด็จเสวยสุรโลกพิบูล

เสด็จเสด็จมาพูล

ในมรรตทรงธรณี

แสดงศิลปธนูศรศรี

ผจญคณกษัตรีย์

อันโรมในรณควรถวิล

ได้ไท้เทพีชื่อพิณ-

ทุมวดีเจียรจิน-

ตโฉมอนงคพิมล

พระให้กล่าวกาพย์นิพนธ์

จำนองโดยกล

กระการเพรงยศพระ

ให้ฉลักแสบกภาพอันชระ

เป็นบรรพบุรณะ

นเรนทรราชบรรหาร

ให้ทวยนักคนชำนาญ

เชิดเล่นโดยการ-

ยเป็นบำเทิงธรณี”

แสดงว่าเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” เรื่องนี้ แต่งขึ้นเพื่อเล่นหนัง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอนิรุธคำฉันทร์ เสือโคคำฉันท์ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกันและแต่งในสมัยใกล้เคียงกันจะมีจุดประสงค์ในการแต่งคล้ายกันได้หรือไม่

การที่จะอ้างอิงว่าหนังตะลุงภาคใต้ได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากหนังใหญ่ดูจะเป็นเรื่องน่าเชื่อถือกว่าเหตุผลอื่น ๆ แม้จะยังหาเหตุผลสรุปได้ไม่ชัดเจนนักก็ตาม

เพราะมีหลักฐานจากคำกาพย์เก่า ๆว่าหนังตะลุงภาคใต้สมัยรัชกาลที่ 4-5 เล่นเรื่องรามเกียรติ์  แต่จะมีผู้แย้งว่าหนังตะลุงภาคใต้ในระยะก่อนเก่าหรือแม้แต่ปัจจุบันมีวิธีพากย์บรรยายเป็น “กลอน” ไม่ใช่กาพย์ หรือร่ายหรือฉันท์แบบหนังใหญ่

วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายที่เป็นกลอนกลบทเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “สิริวิบูลกิจ” หรือ “ยศกิจ” เป็นแม่แบบในการพากย์กลอนหนังตะลุงครั้งดั้งเดิมของนานหนังตะลุงชาวเมืองนครศรีธรรมราช เราจึงควรสืบค้นว่ากลบทเรื่องนี้แต่งขึ้นเพื่ออะไร และผู้แต่ง คือ หลวงศรีปรีชา(เซ่ง)นั้นเป็นคนครั้งไหน ชาวภาคใด มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับหนังตะลุงภาคใต้ดั้งเดิมอย่างไรหรือไม่

ถึงแม้ว่าจะยังไม่อาจหาข้อยุติได้ว่าหนังตะลุงภาคใต้มาจากแหล่งเกิดอันใดกันแน่ก็ตาม สิ่งที่เราคนไทยยุคปัจจุบันจะต้องชื่นชมอย่างยิ่งก็คือ หนังตะลุงภาคใต้เป็นการละเล่นอันเป็นมหรสพพื้นบ้านประเภทเดียวที่เป็นศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ยังหลงเหลือมามีอิทธิพลรับใช้คนไทยจำนวนมากอยู่ในยุคปัจจุบัน

 

ศิวลึงค์:สัญญลักษณ์ที่สำคัญของพระศิวะเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์


ดร.พรหมศักดิ์  เจิมสวัสดิ์

ศิวลึงค์นี้คือสิ่งเคารพอย่างหนึ่งของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ในอินเดีย

วัตถุเคารพนี้คือสัญญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระศิวะหรืออิศวร  ซึ่งเป็นเทพเคารพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์

ศิวลึงค์หรืออวัยวะเพศชายนี้ คือต้นกำเนิดของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ ชีวิตทุกชีวิตในโลก ดำรงอยู่ได้เนื่องมาจากผลของการร่วมกันระหว่างสาระสำคัญของเพศชายและหญิง

อนึ่งอำนาจในการสร้างสรรค์และสืบต่อของอวัยวะเพศนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นแผ่นดิน และพืชพันธุ์ธัญญาหารในโลกอีกด้วย

ลัทธิบูชาศิวลึงค์นี้ เกิดขึ้นในอินเดีย เมื่อ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือ ๓,๕๐๐ ปีก่อน คริสต์ศักราช เกิดขึ้นครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย บริเวณลุ่มน้ำสินธุในแคว้นปัญจาบ

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณเมืองโบราณโมเฮนโจดาโร และฮารัปปา ในแคว้นปัญจาบตะวันตก และทางเหนือของเมืองการาจี เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๒ และ ๑๙๒๔(พ.ศ. ๒๔๖๕ และ ๒๔๖๗) ได้พิสูจน์เรื่องราวเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อถือของคนในสมัยนั้น หลักฐานเหล่านี้มีที่ประทับตราทำเป็นรูปผู้ชาย ที่ศีรษะมีเขาสัตว์ และมีสัตว์อยู่ล้อมรอบ

รูปนี้อาจหมายถึงพระศิวะ เทพแห่งสัตว์นั่นเอง

การขุดค้นที่เมืองฮารัปปา ผู้ขุดค้นได้พบหินเล็ก ๆ รูปทรงกระบอกและรูปกลม หินรูปทรงกระบอกอาจหมายถึงสัญญลักษณ์อวัยวะเพศหญิง  ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เลือดเนื้อ และการสืบต่ออายุ หรือเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นมารดาผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิตของมนุษยชาตินั่นเอง

ในสมัยหลังต่อมา ชาวฮินดูได้นับถือตรีมูรติ เทพสามพระองค์ซึ่งประกอบด้วยพระพรหมผู้สร้างโลก พระวิษณุหรือนารายณ์ผู้บริหารโลก และพระศิวะผู้ทำลายโลก ลัทธินับถืออวัยวะเพศก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในคติลัทธิศาสนาสมัยนี้ด้วย

พระศิวะนั้นพระองค์เป็นเทพที่มีทั้งความกรุณาและโหดเหี้ยมน่าสะพรึงกลัวมีพระนามต่าง ๆ กันถึง ๔๘ พระนาม เช่น รุทร, อิศวร, มหาเทพ, มหากาล, ปรเมศวร, ปสุบดี, นิลกาฬ, ภูเตศวร, หรเทพ ฯลฯ เป็นต้น พระองค์คือเทพที่มีขี้เถ้าปกคลุมพระวรกาย พระเกศาสยายยาวเป็นเส้นตรง มีรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวบนมุ่นมวยผม มีพระแม่คงคาแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์พุ่งออกมาจากยอดมวยผม พระเนตรโปน และมีพระเนตรที่ ๓ อยู่ตรงกลางหน้าผาก พระเนตรนี้ปิดอยู่ตลอดเวลา

พระศิวะทรงมีเครื่องประดับคือกำไลแกะ มีนาคหรืองูเห่าเป็นสังวาลพันรอบพระศอ และพระวรกายสรวมหนังสือ พาหนะของพระองค์คือ วัวนนทิ หรือนานดิน (Nandin) ซึ่งไทยเราเรียกว่า โคอสุภราช เป็นต้น

อาวุธสัญญลักษณ์ที่สำคัญของพระศิวะคือ ตรีศูล (Trident)

มีมเหสีคือพระนางอุมา หรือปารพตี มีโอรส ๒ องค์ คือ พระขันทกุมาร หรือกาติเกยะ เทพเจ้าแห่งสงคราม ทรงนกยูงเป็นพาหนุ และพระคเณศ หรือพิฆเณศร์ เทพเจ้าแห่งศิลป กรรมการศึกษา ทรงหนูเป็นพาหนะ

ชาวฮินดูที่นับถือพระศิวะ เรียกว่าพวกไศวเวษ ลัทธิไศวนิกาย พวกเขานับถือเทพองค์นี้ ๒ แบบด้วยกัน

แบบแรกบูชาพระองค์ในรูปมนุษย์มี ๒ กรบ้าง ๔ กรบ้าง มีหลายพระนามหลายปาง มีสัญญลักษณ์และถืออาวุธต่างกัน

อีกแบบหนึ่งคือศิวลึงค์ อวัยวะเพศชาย

รูปเคารพปางนี้ทำด้วยหินรูปทรงกระบอกประดิษฐานอยู่ในเทวาลัย และตามที่สาธารณะทั่วไป

ในอินเดียปัจจุบันนี้ เทวสถานที่ประดิษฐานศิวลึงค์ที่มีชื่เสียงที่สุดในอินเดีย คือ กลุ่มถ้ำวิหารที่เอลจูรา เอเลฟันตะ หน้าเมืองบอมเบย์ อินเดียตะวันตก

นอกจากนี้ในอินเดียตะวันออกแถบเบงกอล รัฐอัสสัม พิหาร ก็มีวิหารประดิษฐานศิวลึงค์รวมทั้งในอินเดียใต้บริเวณที่ราบสูงเดคข่าน ทามิลนาดู โอริสสา บูทเนสวาริ ปูรีมัทราส เป็นต้น

รูปเคารพศิวลึงค์ตามสถานที่ดังกล่าวเบื้องต้นนี้มีหลายแบบหลายลักษณะ เช่นมีรูปใบหน้าของคนหรือเทพเจ้าประดับอยู่ที่ผิวของหินแท่งทรงกระบอก เรียกว่า มุขลึงค์ และบางศิวลึงค์ มีรูปหน้าคนประดับอยู่ทั้ง ๔ ด้าน ๔ ทิศเรียกว่า จรุรมุขลึงค์

รูปหน้าคนนี้เขาเชื่อกันว่าเป็นพระพักตร์ของพระศิวะนั่นเอง

บางศิวลึงค์แปลกออกไปคือ มีรูปพระศิวะที่เป็นมนุษย์ยืนอยู่เต็มองค์ที่ผิวของหินที่สลักเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ศิวะลึงค์ประเภทนี้มีชื่อว่า Gudimallam Linga และในอินเดียใต้และตะวันตก มีวิหารที่ประดิษฐานศิวลึงค์ทั้งแบบธรรมดาและแบบอยู่รวมกับอวัยวะเพศหญิงก็มี

นอกจากนี้ยังมีชาวฮินดูพวกหนึ่งนิยมทำรูปศิวลึงค์ขนาดเล็กมาห้อยคอเพื่อเป็นเครื่องรางของขลังวัตถุบูชาติดตัว เพื่อความเป็นศิริมงคลชาวฮินดูพวกนี้มีชื่อเฉพาะว่า ลิงคายัต (Lingayat Cult)

ส่วนศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่สถานที่บูชากลางแจ้งทั่วอินเดียนั้น มีลักษณะหินรูปทรงกระบอกตั้งอยู่ตรงกลางและมีหินรูปทรงกลมแผ่นหนาเป็นฐาน บางรูปก็มีรูปปั้นเล็ก ๆ ของโคนนทิ นอนหมอบอยู่ตรงหน้าศิวลึงค์ และข้างซ้ายขวาของรูปเคารพนี้ จะมีรูปจำลองขนาดเล็กของตรีศูล อาวุธของพระศิวะปรากฎอยู่ด้วย

ประวัติกำเนิดของศิวลึงค์นี้พิสดารมาก มีหนังสือตำนานนิยายปรัมปราของอินเดียกล่าวถึงกันมากเหตุมากผล จะขอนำมากล่าวไว้บางเรื่อง อย่างเช่น คัมภีร์ฤคเวทที่แต่งระหว่าง ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชกล่าวว่า ประชาชนในสมัยพระเวทนับถือพระเป็นเจ้าในแบบของอวัยวะเพศ (Shishna-Vevara)

หนังสืออุปนิษัทหรือปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ก็กล่าวถึงศิวลึงค์ว่า เป็นวัตถุที่เกิดขึ้นมาเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช สิ่งนี้คือพระเจ้าอิสาน ที่ทรงมีอำนาจเหนืออวัยวะเพศหญิงทั้งปวงในโลก เทพเคารพนี้ทรงเป็นประธานของชีวิตสัตว์โลกทั้งปวงด้วย

ส่วนคัมภีร์ปุราณะกล่าวไว้ถึงกำเนิดของศิวลึงค์น่าสนใจมากว่า

ครั้งหนึ่งพระศิวะกำลังสมัครสังวาสกับพระอุมาชายาในที่โล่งแจ้งบนเขาไกรลาส ในขณะเดียวกันนั้น เทพเจ้าองค์อื่น ๆ ได้เสด็จมาที่เขาไกรลาส เพื่อมาเฝ้าถวายความเคารพพระองค์ เทพทั้งหลายมาเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าเช่นนั้นเข้าก็หมดความเคารพเลื่อมใสในพระศิวะทันที พากันหัวเราะเยาะเย้ย และแสดงอาการรังเกียจเดียจฉันท์

พระศิวะต่อมาทราบเรื่องนี้เข้าจึงโกรธและเสียใจจนสุดขีด ถึงกับถึงวิสัญญีภาพสิ้นลมหายใจทันที

แต่ก่อนที่จะสวรรคตพระองค์ได้ตรัสว่ารูปใหม่ของพระองค์คืออวัยวะเพศ ลึงค์ ซึ่งจะหมายถึงตัวแทนของพระองค์จะกลายเป็นวัตถุบูชาของผู้ที่นับถือพระองค์ต่อไปในกาลภายหน้า มนุษย์ผู้ใดบูชาลึงค์ในวันที่ ๑๔ ของเดือนมาฆ(กุมภาพันธ์) และบูชาต่อไปในคืนวันที่ ๑๕ ของเดือนนั้นผลบุญจะส่งให้คนนั้นไปจุติบนสวรรค์เขาไกรลาส

ยังมีหลักฐานอื่น ๆ กล่าวถึงกำเนิดที่มาของศิวลึงค์อีกอย่าง เช่นพระศิวะเองได้แสดงเป็นรูปศิวลึงค์ให้บรรดาสาวกของพระองค์ได้เห็นและจดจำ ในวันที่สาวกพากันบูชาเทพตรีมูรติ

วันนั้นพระพรหมและพระนารายณ์(วิษณุ) ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปรากฎให้เห็นในรูปเทพมนุษย์ ส่วนพระศิวะปรากฎร่างในรูปอวัยวะเพศชาย มีดวงตาของพระองค์ประดับประดาอยู่เต็มไปหมด สาวกที่เห็นวัตถุนั้นก็นับถือและเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพระศิวะอย่างแท้จริง นับตั้งแต่นั้นมา

ตำนานอีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่า เป็นเทพที่โปรดในการเสพย์เมถุนกับบรรดาชายาต่าง ๆ ดังนั้นมนุษย์จึงคิดค้นหาวิธีสร้างวัตถุบูชาขึ้นมาเพื่อให้ตรงกับเหตุการณ์หรือลักษณะของพระเป็นเจ้า

มีฤาษีตนหนึ่งชื่อว่า ภิกครุ ได้สร้างวัตถุบูชาเป็นอวัยวะเพศชายเพื่อบูชาพระศิวะ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดมาก ดังนั้นจากตัวอย่างแรกที่ฤาษีทำไว้นี้เอง มนุษย์คนอื่น ๆ จึงบูชาเทพองค์นี้ด้วยอวัยวะเพศ นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงกำเนิดศิวลึงค์เกี่ยวข้องกับรูปเคารพของพระศิวะในปางที่ชื่อ ลิงกตภวมูรติ มีเรื่องเล่าว่า

ครั้งหนึ่งพระพรหมและพระวิษณุทะเลาะวิวาทกันในเรื่องที่ว่าใครเป็นผู้สร้างโลกที่แท้จริง ในขณะวิวาทกัน ด้วยการใช้อาวุธประหัตประหารกันนั้น ได้มีอวัยวะเพศชายมหึมาเกิดขึ้นต่อหน้าพระพรหมและพระวิษณุ รูปนั้นแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เทพทั้งสองละทิฐิพากันเคารพบูชาอวัยวะเพศชายนั้น ซึ่งปรากฎว่าจากการบูชา ทำให้พระศิวะพอพระทัย จึงปรากฎร่างให้เห็นชัดเจนอยู่บนผิวของอวัยวะเพศชาย เป็นรูปประหลาดมีแขนและขาเป็นพัน ๆ มีพระอาทิตย์ พระจันทร์และไฟเป็นตาดวงที่ ๓ กลางหน้าผาก พระศิวะกล่าวกับเทพทั้งสองว่า พระพรหมก็ดี พระวิษณุก็ดีเกิดมาจากสะเอวข้างซ้ายขวาของพระองค์นั่นเอง ดังนั้นพระองค์คือเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ตรัสจบศิวเทพก็อัตรธานหายไป

หลังจากเหตุการณ์นี้มา ศิวลึงค์ก็กลายเป็นวัตถุเคารพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์เทวดาพระเจ้าทั้งหลายมาจนปัจจุบัน

พิธีกรรมบูชาศิวลึงค์ในอินเดียเท่าที่ทราบมา เป็นไปในรูปของการบูชาประจำวันบ้างหรือบูชาในกรณีวันสำคัญเทศกาลนักขัตฤกษ์ทางศาสนาเช่น เทศกาลมหาศิวาราตรี ในเทศกาลนี้ชาวอินเดียจะทำพิธีกันใหญ่โตเอิกเกริก

ส่วนพิธีกรรมบูชาศิวลึงค์โบราณของอินเดียอื่น ๆ ก็มีพิธีหนึ่งชื่อ Saturnalia หรือพิธีพืชมงคล เขาทำกันเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินที่ใช้ในการเพาะปลูก พิธีนี้เริ่มต้นด้วยการบูชาศิวลึงค์ เพื่อความเป็นศิริมงคลและโชคดีนั่นเอง

การบูชาก็คือ เอาน้ำหรือน้ำนมราดรดส่วนบนของหินทรงกระบอก ให้น้ำไหลไปสู่ที่ฐานหินกลม ซึ่งมีร่องน้ำอยู่ น้ำจะไหลลงเบื้องล่าง และเอาข้าวตอกใบมะตูม ดอกไม้ ขนม โปรยลงบนหินแท่งนั้น พลางก้มลงกราบ หรือเอาศีรษะโขกหินเป็นการแสดงคารวะสูงสุด

มีอีกพิธีหนึ่งของอินเดีย บูชาศิวลึงค์เช่นกัน เรีกว่าพิธี Kartikai เขาทำกันในโบสถ์บนยอดเขาในเมือง Arunachala ซึ่งโบสถ์นี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การเกิดขึ้นของพระศิวะในรูปของอวัยวะเพศชายเป็นครั้งแรก

พิธีนี้ทำกันทุกปีระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของศิวลึงค์ที่คนไทยรู้จัก เคยเห็นมา ในบ้านเราก็มีศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานศิวลึงค์อยู่หลายแห่ง ตามภาคต่าง ๆของประเทศ แสดงว่าไทยเรารับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียมาใช้ และรับคติความเชื่อในพระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู มาปะปนกับพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย อยุธยา จนถึงปัจจุบันนี้

ซากปรักหักพังของโบราณสถานวัตถุที่สร้างอุทิศให้ศาสนาฮินดูในบ้านเรา คือพยานที่สนับสนุนคำกล่าวที่ว่าศาสนาพราหมณ์และวัฒนธรรมอินเดียเคยมีอิทธิพลอยู่ในบ้านเรานั่นเอง

ยักษ์วัดพระแก้ว:นายทวารบาลพิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน

เจิม กมลวรรณ

เมื่อพูดถึงนายทวารบาล เผ้าประตูวัดแล้วไม่มีนายทวารบาลใด จะขึ้นชื่อลือชาเท่ากับยักษ์เป็นไม่มี

ยักษ์ที่เป็นนายทวารบาล ซึ่งมีชื่อเสียงมาก่อนยักษ์อื่นใด ก็เป็นยักษ์วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง) ต่อมาก็เป็นยักษ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) แล้วก็ยักวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดรพระแก้ว)

ยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์นั้น ตามประวัติฉบับปากต่อปาก ก็ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาซึ่งกันและกัน ทั้งที่เป็นเผ่ายักษ์เหมือนกัน เคยท้าตีท้าต่อยและเอากันจริง ๆ จนป่าไม้ชายเลนและไม้อื่น ๆ หน้าวัดโพธิ์ราบเรียบเป็นท่าเตียนไปครั้งหนึ่ง แต่บัดนี้คงมีผู้ไกล่เกลี่ยและปรับความเข้าใจกันได้แล้ว ท่าเตียนจึงเป็นท่ารก ทำลายศรีสง่าของวัดโพธิ์ ที่มองจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เห็นทัศนียภาพยอดพระเจดีย์เสียดฟ้า ช่อฟ้าใบระกาของพระอุโบสถ พระวิหาร และปูชนียวัตถุอื่น ๆ ระวังท่าน้ำวัดแจ้งไว้ให้ดีอย่าให้รกรุงรัง จนบังพระปรางค์วัดแจ้ง โดยเฉพาะบังตัวยักษ์วัดแจ้งเสียเองก็แล้วกัน

ยักษ์วัดแจ้งนั้นสูง ๗ เมตร เครื่องแต่งกายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นดอกดวงต่าง ๆ สวยงาม หน้าตา ท่าทาง ขึงขัง ยืนหันหน้าออกพระอุโบสถ(หันหลังให้โบสถ์) ลักษณะการยืนไม่ได้ยืนตรงเหมือนยักษ์วัดพระแก้ว แต่ยืนเข่ากาง หรือย่อเข่า ถือกระบอง

ประวัติการสร้างยักษ์วัดแจ้งนี้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จฯ ฉบับคุรุสภาจัดพิมพ์เล่มที่ ๒๖ (หน้า ๑๓๔) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“….ยักษ์วัดแจ้งนั้น เขาพูดถึงของเดิมว่า เป็นฝีมือหลวงเทพกัน” คำว่า “หลวงเทพ” นั้น จะเป็นหลวงเทพรจนา หรือหลวงเทพยนต์ อะไรก็ไม่ทราบ แต่คำว่า “กัน” เป็นชื่อตัวแน่ เพราะฝีมือแกดี จึงโปรดให้ปั้นรูปไว้ รูปเก่านั้น พังไปเสียแล้ว ที่ยืนอยู่บัดนี้ เป็นของใหม่ก่อนท่านเจ้านาค(เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ในราวปลายรัชกาลที่ ๖) ไปอยู่เป็นแน่ เข้าใจว่า ยักษ์วัดแจ้งนี้แหละ ทำให้เกิดยักษ์ในวัดพระแก้วขึ้น”

ส่วนยักษ์วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นนายทวารบาล เหมือนทำหน้าที่พิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานนั้น ในหนังสือจดหมายเหตุ เรื่องปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้กล่าวถึงประวัติการปั้นยักษ์ว่า

“….ครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เพื่อเตรียมงานมหกรรมฉลองกรุงเทพมหานคร จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี และสมโภชพระแก้วมรกตด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงของแรงพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงรับเป็นนายงานทำการปฏิสังขรณ์ทุกพระองค์ และโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทำหอพระคันธารราษฎร์ และหอพระเจดีย์ประดับกระเบื้อง และปูศิลา และทำกำแพงแก้วภายนอกและทำเพดานเขียน ปั้น ปูพื้นและทำเรือนแก้วภายนอกพระคันธารราษฎร์ ทำใหม่ทั้งสิ้น และปั้นประดับกระเบื้อง รูปยักษ์ประตูคู่หนึ่ง”

คงเป็นคู่มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหกที่ยืนอยู่หน้าประตูหน้าหอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งทรงเป็นนายงานนั้นเอง

อนึ่ง ยักษ์วัดพระแก้วนี้ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จฯ ฉบับคุรุสภา เล่มที่ ๑๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ยักษ์วัดพระแก้วนั้น คงทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิมเพราะจำได้ว่า คู่ทศกัณฐ์-สหัสเดชะนั้นเป็นฝีมือหลวงเทพรจนา(กัน) คือมือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณฯ สันนิษฐานว่า เพราะเวลานั้น มีช่างฝีมือดี ๆ จึงได้ทำขึ้นไว้ เพราะทำแกนด้วยไม้  ครั้นไม้ผุก็ล้มซวนทลายไปบ้าง ถึงเมื่อซ่อมคราว ๑๐๐ ปี จึงกลับเกณฑ์กันขึ้นใหม่  นับว่าเป็นการสมควรอยู่ เพราะเวลานั้นช่างปั้นอันมีฝีมือพอดูได้ยังมีอยู่บ้าง…”

ยักษ์วัดพระแก้ว นายทวารเฝ้าประตูนี้ มีอยู่ทั้งหมด ๑๒ ตน แต่ละตนล้วนเป็นยักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ อิทธิพล เป็นผู้ครองนคร เป็นลูกหลวง รัชทายาทเกือบทั้งสิ้น และเป็นที่ควรสังเกตว่ายักษ์เหล่านี้ ล้วนเป็นวงศาคณาญาติ หรือสัมพันธมิตรของทศกัณฐ์ทั้งหมด

เจตนารมณ์ของท่านผู้ดำริริเริ่มปั้นยักษ์เฝ้าประตูให้เป็นพวกเดียวกันนี้ ก็เป็นการสมควร เพราะการเฝ้าพิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานอันสำคัญอย่างยิ่งนั้น ถ้าผู้เฝ้าเป็นคนละพวก คนละหมู่ ก็ยากในการดูแลรักษา และยุ่งยากในการปกครอง ฉะนั้น จึงจัดให้เป็นยักษ์พวกเดียวกัน โดยมีทศกัณฐ์เป็นประธาน และแกนกลางสำคัญ

อนึ่งการยืนเฝ้าของยักษ์ทั้ง ๑๒ ตนไม่เหมือนกับการยืนเฝ้าของทวารบาลอื่นเช่นยักษ์วัดแจ้งเป็นต้น ซึ่งยืนหันหลังให้สิ่งที่ตนเฝ้า แต่ยักษ์วัดพระแก้วยืนหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ

ยักษ์ทั้ง ๑๒ ตนนี้ เครื่องแต่งกายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ตบแต่งเป็นดอกดวงสวยงามมาก ยืนเฝ้าประตูอยู่เป็นคู่ ๆ ๖ ประตู จะนับตั้งแต่คู่ประตูทางขึ้นหอพระเทพบิดร(เข้าทางประตูสวัสดิโสภาหน้ากระทรวงกลาโหม) ไปทางหอพระคันธารราษฎร์(หน้าโบสถ์) เป็นลำดับ ดังนี้

คู่ที่ ๑.  สุริยาภพ    สีแดงซาด

อินทรชิต    สีขาว

คู่ที่ ๒.  มังกรกัณฐ์           สีเขียว

วิรุฬหก                สีม่วงแก่

คู่ที่ ๓.  ทศคีจันธร           สีหงส์ดิน

ทศคีรีวัน             สีเขียว

คู่ที่ ๔.  จักรวรรดิ์            สีเขียว

อัศกรรณมาราสูร          สีม่วงแก่

คู่ที่ ๕.  ทศกัณฐ์              สีเขียว

สหัสสเดชะ         สีขาว

คู่ที่ ๖.  ไมยราพ              สีม่วงอ่อน

วิรุฬจำบัง            สีหมอก

ขอเชิญชวนท่านไปชมศิลปของการปั้น และการประดับกระเบื้องเคลือบ ซึ่งเป็นศิลปของไทยแท้ควรชื่นชม

พระยาเสือ วีรบุรุษผู้ถูกลืม

พระยาเสือ วีรบุรุษผู้ถูกลืม

เฉลิม  พงศ์อาจารย์(รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก และประจำ “ศูนย์สุโขทัยศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

เนื่องจากในปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี  ได้มีการเทอดทูนพระเกียรติของราชวงศ์จักรี แต่มิได้มีผู้กล่าวขวัญถึงกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทบ้างเลย  ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการกู้ชาติบ้านเมืองจากพม่าข้าศึกทำสงครามอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีตลอดจนสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษที่ถูกลืม  กระผมมีความปราถนาที่จะเห็นคนไทยได้รำลึกถึงพระองค์ จัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเป็นราชสักการะแด่พระองค์บ้าง  จึงได้รวบรวมวีรกรรมของพระองค์ออกเผยแพร่

กระผมมิใช่นักเขียนนักประพันธ์ ได้แต่รวบรวมวีรกรรมที่มีในพงศาวดาร เมื่อท่านได้อ่านบทความนี้แล้ว ถ้าเห็นด้วยกับความคิดนี้แล้ว ก็ขอความร่วมมือช่วยขยายความคิดนี้ให้แพร่หลายออกไป ช่วยกันรณรงค์หาทางสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้น

สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนารถ ทรงประสูติเมื่อ วันพฤหัสสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๐๕ (พ.ศ.๒๒๘๖) ณ กรุงศรีอยุธยา  ทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนารถ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ทรงประสูติร่วมชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าบุญมา

ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์ได้เข้ารับราชการในตำแหน่ง นายสุจินดา หุ้มแพร  มหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ เมื่อกรุงเสียแก่พม่าได้เสด็จหนีพม่าไปทางเรือกับเพื่อน ๓ คน ไปอาศัยอยู่ที่เมืองชลบุรี

ครั้นเมื่องทรงทราบข่าวพระยาตากไปตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี เตรียมกำลังจะเข้าตีขับไล่พม่า ด้วยทรงคุ้นเคยกับพระยาตากตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า จึงตกลงจะไปทำราชการด้วย เมื่อพระยาตากยกกองทัพจากจันทบุรีมาตีพม่าที่กรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายไปแล้ว และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยความดีความชอบในการร่วมทำศึกสงครามคราวนี้พระเจ้ากรุงธนบุรีได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจ จากนั้นพระองค์ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพไปทำศึกสงคราม และได้รับการแต่งตั้งเลื่อนยศโดยลำดับ คือ

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อไทยตั้งตัวได้ที่กรุงธนบุรีมิทันนานพม่าก็ยกกองทัพมาโจมตีไทยที่บางกุ้ง แขวงเมืองราชบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นทัพหน้าพระองค์เป็นทัพหลวงยกออกไปต่อสู่พม่าสามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไป

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ โดยเสด็จพระเจ้าตากสินยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก  แต่ไม่สำเร็จต้องยกทัพกลับ ต่อมาได้โดยเสด็จพระเจ้าตากสินไปปราบชุมนุมเจ้าเมืองพิมาย

ศึกครั้งนี้พระองค์และพระเชษฐาได้แสดงความสามารถเอาชนะข้าศึกได้  เมื่อเสร็จสงครามได้เลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาอนุชิตราชา ส่วนพระเชษฐาได้เลื่อนยศจากพระราชวรินทร์ขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้พระองค์และพระเชษฐาพร้อมด้วยพระยาโกษาธิบดี ยกกองทัพไปตีเขมร  พระองค์เข้ายึดเมืองเสียมราฐเอาไว้ได้  ส่วนพระยาโกษาธิบดียึดได้เมืองพระตะบอง  กองทัพทั้งสองยั้งทัพอยู่ที่เมืองดังกล่าว เพื่อรอกองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกไปสมบท ในเวลานั้นกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปปราบชุมนุมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วไปติดลมมรสุมเสด็จกลับไม่ได้ จึงไม่สามารถยกไปสมทบกองทัพที่จะตีเมืองเขมรได้ทันกำหนด ซ้ำมีข่าวสืบแพร่ไปว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี สวรรคตที่นครศรีธรรมราชและทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจล พระองค์และพระเชษฐาจึงยกทัพกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๓  พระยายมราชสิ้นชีวิต พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลื่อนยศของพระองค์ขึ้นเป็นพระยายมราชและโปรดให้ยกกองทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง พร้อมกับกองทัพของพระยาพิชัยราชา สามารถปราบพระฝางได้สำเร็จ พระฝางหนีไปได้  ได้แต่ช้างเผือกของพระฝางนำไปถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ศึกครั้งนี้พระองค์ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราชผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาป้องกันหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งมวล  อันเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าเสนาบดีจตุสดมภ์

ส่วนพระเชษฐาได้เลื่อนมารับตำแหน่งพระยายมราชแทนพระองค์ต่อมาในปลายปีนั้นพระเชษฐาจึงได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่องกองทัพไทยปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว พรรคพวกของพระฝางหนีไปพึ่งพม่าที่เชียงใหม่ พม่าได้จัดกองทัพมาตีเมืองสวรรคโลก เจ้าพระยาพิชัยได้ขอให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปช่วย กองทัพไทยสามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไป ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นทัพหน้า พระองค์เป็นทัพหลวง  ยกขึ้นตามไปตีพม่าที่เชียงใหม่  ฝ่ายไทยล้อมเมืองเชียงใหม่และสู้รบกับพม่าเป็นสามารถ แต่ก็ตีไม่ได้จึงถอยกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ ทรงได้รับแต่งตั้งให้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ร่วมกับพระเชษฐา

การตีเชียงใหม่คราวนี้พระองค์ตีค่ายพม่า ๓ ค่าย ที่ตั้งอยู่ทางประตูท่าแพทางตะวันออกแตกพ่ายไป ส่วนพระเชษฐาตีค่ายพม่าทางด้านตะวันตก ๓ ค่ายได้ และเข้าเมืองเชียงใหม่ได้พร้อมกัน

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าวชัยชนะทรงโสมนัสปราโมทย์ถึงกับยกพระหัตถ์ตบพระเพลาทั้งสองข้างแล้วตรัสว่า “นี้จะว่าพี่หรือว่าน้องดีกว่ากันไฉนในครั้งนี้”

หลังจากเสร็จศึกเชียงใหม่แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกกองทัพไปทำศึกกับพม่าที่บางแก้ว แขวงเมืองราชบุรี กรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้ยกกองทัพไปสมทบต่อสู้กับพม่าด้วย เมื่อพิชิตศึกแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้พระองค์ยกทัพขึ้นไปรักษาหัวเมืองฝ่ายเหนือตามเดิม

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๕-๒๓๑๖ พม่ายกกองทัพลงมาตีเมืองพิชัย ๒ ครั้ง เจ้าพระยาสุรสีห์ และพระยาพิชัยได้ร่วมกันสู้รบขับไล่พม่าจนพ่ายแพ้กลับไปทั้งสองคราว ข้างพระยาพิชัยนั้นสู้รบกับพม่าจนดาบหักเป็นที่เลื่องลือจนได้ชื่อว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าแต่งตั้งให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพใหญ่มาตีไทย อะแซหวุ่นกี้สั่งให้โปมะยุง่วน โปสุพะลา ยกจากเชียงแสนมาตีเมืองเชียงใหม่ก่อน แล้วตัวอะแซหวุ่นกี้จึงยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์  หวังเข้าตียึดเอาเมืองพิษณุโลกเป็นที่ตั้งมั่นในครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ และพระเชษฐาได้ยกขึ้นไปป้องกันเมืองเชียงใหม่ยังไม่ทันได้รบกับพม่า เพราะพม่าเมื่อทราบว่าพระองค์ยกไปก็รีบถอยทัพกลับ แต่พระองค์ไม่ทันได้ยกไปตามตี ก็ทรงทราบข่าวที่อะแซหวุ่นกี้ยกมาทางเมืองพิษณุโลก พระองค์และพระเชษฐาต้องรีบยกทัพมาป้องกันเมืองพิษณุโลก

เมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลกก็ได้ยกกองทัพไปตีพม่า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสุโขทัย สู้พม่าอยู่ ๓ วัน เห็นพม่ามีกำลังมากกว่าหลายเท่า จะเอาชนะไม่ได้จึงถอยทัพกลับไปตั้งมั่นในเมืองพิษณุโลกอยู่เป็นเวลา ๔ เดือน  กองทัพฝ่ายไทยได้ป้องกันเมืองพิษณุโลกเป็นสามารถ เพื่อคอยกำลังสนับสนุนจากกองทัพหลวง

แต่เนื่องจากพม่ายกมาตีหลายทาง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงไม่สามารถยกกองทัพหลวงมาช่วยได้ ฝ่ายกองทัพที่รักษาเมืองพิษณุโลกเห็นว่าขาดเสบียงอาหารอย่างหนักจะรักษาเมืองต่อไปไม่ได้ จึงยกกองทัพตีแหกค่ายพม่าไปตั้งหลักมั่นที่เมืองเพชรบูรณ์

ในระยะเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก และหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้น เกียรติประวัติความห้าวหาญ ความเก่งกล้าสามารถของพระองค์ขจรขจายไปทั่ว เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ทหารไทยและฝ่ายพม่าข้าศึกจนได้รับยกย่อง  เรียกพระนามกันทั่วไปว่า “พระยาเสือ”

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ทรงได้รับมอบหมายให้ยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองจำปาศักดิ์ร่วมกับพระเชษฐาสามารถปราบปรามและนำเอาหัวเมืองลาวฝ่ายใต้มาอยู่ในพระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีได้สำเร็จ

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒ ทรงร่วมกับพระเชษฐายกกองทัพไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์  พระเชษฐายกไปทางนครราชสีมา ส่วนพระองค์ยกไปทางเมืองเขมร ยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง ตีได้เมืองนครพนม เมืองหนองคาย แล้วยกเข้าตีเวียงจันทน์ พร้อมกับกองทัพของพระเชษฐาสามารถยึดเมืองเวียงจันทน์ได้

ในครั้งนั้นทางหลวงพระบางก็ส่งบรรณาการยอมเป็นเมืองขึ้นของไทยด้วย  และในการศึกครั้งนี้ได้นำเอาพระแก้วมรกตกลับคืนมาสู่ราชอาณาเขตของไทย พระแก้วมรกตจึงได้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตราบเท่าทุกวันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๓  ทางเมืองเขมรเกิดจลาจล พระองค์และพระเชษฐาได้รับแต่งตั้งให้ยกกองทัพออกไปปราบจลาจลจัดการบ้านเมืองทางเขมร เมื่อยกไปถึงเขมรแล้วกษัตริย์เขมรหนีไปพึ่งญวน  กองทัพไทยเตรียมจะทำสงครามกับญวน แต่ยังไม่ทันได้รบพุ่งก็พอดีทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลต้องรีบยกกองทัพกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ร่วมกับพระเชษฐา และกรมพระราชวังหลังราชนัดดาได้ร่วมกันปราบจลาจลที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อพระเชษฐปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนารถ และทรงได้รับมอบหมายให้ควบคุมการสร้างวังหน้าขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์เอง

เมื่อพระเซษฐากระทำราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าให้กระทำราชพิธีอุปราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรที่พระราชวังบวรสถานมงคลหลังจากนั้นก็ทรงดำรงฐานะเป็นหลักเมือง ทำหน้าที่ปกป้องชาติบ้านเมืองตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงกระทำศึกครั้งสำคัญ คือ

ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงยกทัพใหญ่จำนวน ๙ ทัพมาตีไทยแยกเป็น ๓ ทาง คือ ทางเหนือ ๓ ทัพ ทางกลาง ๓ ทัพ และทางใต้ ๓ ทัพ ทางกลางยกมาทางเมืองกาญจนบุรี กองทัพของพระองค์ยกมาตั้งรับข้าศึกที่บางแก้ว ศึกครั้งนี้ทรงสามารถตั้งรับพม่าเอาไว้จนพม่าขัดสนเสบียงอาหาร และใช้กลศึกหลอกลวงพม่าโดยเวลากลางคืนให้ยกพลออกนอกค่าย  รุ่งเช้าจึงทำทีเป็นยกกองทัพเข้ามาสมทบ โดยจัดขบวนใหญ่โตยกพลเรียงกันเข้าค่ายแต่เช้าจรดเย็น ทำอยู่ทุก ๆ วัน จนพม่าขวัญเสียเพราะเข้าใจว่าฝ่ายไทยมีกำลังมากมายมหาศาล  เมื่อได้โอกาสแล้วจึงยกเข้าตีเอาชนะพม่าโดยง่าย

เมื่อเสร็จศึกด้านกาญจนบุรีแล้ว ทรงยกกองทัพลงไปขับไล่พม่าทางภาคใต้ เมื่อขับไล่พม่าออกไปและจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว จึงมีพระดำริที่จะเอาหัวเมืองปัตตานีและไทยบุรี ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเป็นของไทยอีก ทรงแต่งกองทัพไปตีเมืองปัตตานีได้สำเร็จ

เมื่อกองทัพไทยปราบสุลต่านเมืองปัตตานีได้แล้ว สุลต่านเมืองไทยบุรี กลันตันและตรังกานู เกรงกองทัพไทยจะยกไปตีต่างก็รีบแต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นเมืองขึ้นของไทย แม้ในเวลาต่อมาไทยจะสูญเสียไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูไปแต่หัวเมืองปัตตานีนั้นก็ยังคงรวมอยู่ในผืนแผ่นดินไทย สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้  ซึ่งได้แก่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล นั่นเอง

หลังจากเสร็จศึก ๙ ทัพกับพม่าแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ยังทรงต้องทำสงครามป้องกันชาติไทยอีกหลายครั้ง คือในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ทรงทำสงครามกับพม่าที่ท่าดินแดง

ศึกครั้งนี้นอกจากสามารถพิชิตพม่าแล้ว ยังสามารถจับเอาพม่ามาเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ทหารไทยมีกำลังใจเข้มแข็งเลิกกลัวพม่าอีกต่อไป

และในปีรุ่งขึ้นได้ยกกองทัพไปตีเมืองทวาย แต่ครั้งนี้ฝ่ายพม่าป้องกันอย่างเข้มแข็งและแม้ตีได้ก็รักษาเมืองไว้ลำบากจึงยกทัพกลับ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ พระองค์และพระเชษฐาทรงยกกองทัพไปตีมอญและพม่าอีก กองทัพไทยและพม่าได้ทำสงครามกันเป็นสามารถ แต่ละฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก การตีเมืองครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จก็ต้องยกทัพกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงได้รับมอบให้ยกกองทัพไปขับไล่พม่า กองทัพไทยสามารถขับไล่พม่าแตกพ่ายกลับไป เมื่อเสร็จศึกเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ถวายพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่แก่พระองค์และพระองค์ได้นำพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วังหน้า พระพุทธสิหิงค์จึงได้ประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองในกรุงเทพมหานครสืบมาจนทุกวันนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๔๕ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีก กรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จเป็นแม่ทัพหลวงยกขึ้นไปขับไล่พม่า เมื่อเสด็จไปถึงเมืองเถินก็ทรงประชวรหนักไม่สามารถบัญชาการทัพได้  ได้แต่สั่งกองทัพไปช่วยเจ้าเมืองเชียงใหม่กองทัพไทยสามารถขับไล่กองทัพพม่าออกไปได้อีกครั้งหนึ่ง

ศึกครั้งนี้เป็นศึกครั้งสุดท้ายของพระองค์

แม้นพระองค์จะห้าวหาญเก่งกาจอย่างใด  ก็ไม่สามารถพิชิตพระยามัจจุราชได้ ในที่สุดทรงเสด็จสวรรคตในปีรุ่งขึ้นคือเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ.๒๓๔๖) สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา อยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ ๒๑ ปี ๔ เดือน ๕ วัน

สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนารถ นอกจากเป็นนักรบที่ห้าวหาญเก่งกาจแล้ว ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านอื่น ๆ อีกมาก ในยามที่ทรงว่าการศึก ที่สำคัญคือทรงสร้างพระบวรราชวังหรือวังหน้า ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง

ทรงสถาปนา วัดสลัก แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดนิพพานาราม ซึ่งคือ วัดมหาธาตุราชวรวิหาร ในปัจจุบัน

ทรงสร้างเสริมวัดตองปุ แล้วพระราชทานนามเป็นวัดชนะสงคราม

สร้างเสริมวัดสำเพ็ง อุทิศถวายพระราชบิดา พระราชทานนามว่าวัดปทุมคงคา

นอกจากนั้นยังทรงปรับปรุงวัดอีกหลายวัด เช่น วัดสุวรรณคีรี วัดสุวรรณดาราราม และทรงสร้างหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างวิหารคดในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น

ในปี พ.ศ.๒๓๓๘ ทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จออกผนวชที่วัดพระศรีสรรเพชญ์  เป็นเวลา ๗ วัน จึงลาผนวช

สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนารถหรือพระยาเสือ ทรงประกอบวีรกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชาติไทยยิ่งใหญ่ไพศาล  ออกศึกสงครามถึง ๑๗ ครั้ง มากกว่าวีรบุรุษของชาติไทยคนอื่น ๆ แต่ชาวไทยทุกวันนี้ไม่ค่อยจะรำลึกถึงวีรกรรมของพระองค์ ไม่มีอนุสาวรีย์ของพระองค์ให้ชาวไทยได้กราบไหว้บูชา ในขณะที่วีรชนในรุ่นเดียวกับพระองค์ ทำศึกน้อยครั้งกว่าและมีความสำคัญน้อยกว่านั้น ล้วนแต่มีอนุสาวรีย์เด่นสง่าอย่างเช่น อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เป็นต้น

แม้ในเพลงต้นตระกูลไทย ซึ่งได้เอ่ยชื่อ โกษาเหล็ก พระยาสีหราชเดโช นายแท่น นายดอก ท้าวสุรนารี แต่ก็มิได้เอ่ยอ้างถึงพระองค์เลย

ในวาระกรุงรัตนโกสินทร์จะมีงานสมโภชครบ ๒๐๐ ปี มีการเฉลิมพระนามพระเชษฐาของพระองค์ขึ้นเป็นมหาราช  แต่ไม่เห็นมีใครเอ่ยถึงวีรกรรมของพระองค์บ้าง

ความเป็นมหาราชของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ดีผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เป็นทหารเอกอาสาทำศึกสงครามเสริมส่งพระบารมีมหาราชทั้งสองพระองค์นั้น ก็คือพระยาเสือ

จึงสมควรหรือไม่ที่พี่น้องผองไทยจะรำลึกถึงพระองค์ จะทำพิธีราชสักการะในคราวสมโภชกรุง ๒๐๐ ปี และสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ไว้เตือนใจคนรุ่นหลังให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเป็นตัวอย่างในการเสียสละเพื่อชาติ เพื่อชาวไทยจะได้เอาเยี่ยงอย่าง และกราบไหว้บูชาสืบไปชั่วกาลนาน

พระคเณศ:พระขันทกุมารโอรสของพระอิศวร

พระคเณศ

พระขันทกุมาร

มณีปิ่น  พรหมสุทธิรักษ์ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เทพนิยายเกี่ยวกับโอรสทั้งสองของพระอิศวร คือ พระคเณศและพระขันทกุมารค่อนข้างสับสนในวรรณคดีไทย มักเข้าใจผิดว่าทั้งสองเป็นเทพองค์เดียวกัน

พระคเณศของฮินดูเป็นโอรสองค์โตของพระอิศวร  เป็นเทพแห่งความสำเร็จในการประกอบกิจการทั้งปวง เป็นเทพที่มีเศียรเป็นช้างงาเดียว งาซ้ายหัก จำนวนกรไม่ตายตัว มีหนูเป็นพาหนะ

พระขันทกุมาร เป็นน้องพระคเณศ เป็นเทพแห่งศิลปการทำสงคราม เป็นแม่ทัพของกองทัพเทพ มีหกเศียร สิบสองกร มีนกยูงเป็นพาหนะ

อาจเป็นได้ว่าไทยเข้าใจผิดเรื่องเทพทั้งสองตั้งแต่สมัยอยุธยา ในลิลิตโองการแช่งน้ำเทพสำคัญของฮินดูเกือบทุกองค์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอินทร์ พระเพลิง และพระยม ได้รับอัญเชิญให้มาเป็นพยานในพิธีถือน้ำ พระขันทกุมารก็ได้รับเชิญด้วย แม้จะไม่ได้ถูกเรียกโดยชื่อ แต่โดยลักษณะเฉพาะ คือ เจ้าผู้ขี่นกยูง –“ขุนแกล้วกล้าขี่ยูง”- ก็ตาม แต่ในลิลิตโองการแช่งน้ำกลับไม่มีชื่อพระคเณศ เทพที่พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีใด ๆก็ตามต้องอัญเชิญมาเมื่อเริ่มพิธี

ในอนิรุทธคำฉันท์ตอนสงครามระหว่างพระกฤษณะและกรุงพาณ มีการออกนามทั้งสอง คือ พระขันทกุมารและพระวิฆเนศวร ซึ่งเป็นสมญาหนึ่งของพระคเณศ แต่ความที่ปรากฎในวรรณคดีเรื่องนี้ไม่ชัดว่านามทั้งสองหมายถึงเทพสององค์หรือหมายถึงเทพองค์เดียวเท่านั้น  ความในอนิรุทธคำฉันท์มีว่า

โดยประจิมรากษสชาติ

อุตระยุพราช

พระขันทกุมารพิไชย

วิฆเนศวรวิฆนประไลย

ถืออาวุธไกร

กำลังกำเลาะแสนสาร

ความนี้อาจหมายได้สองอย่างคือ พระขันทกุมาร เป็นเทพองค์หนึ่ง และพระวิฆเนศวรเป็นเทพอีกองค์หนึ่ง ผู้มีอาวุธที่มีกำลังเท่าช้างแสนเชือก เป็นแม่ทัพทิศเหนือในกองทัพพระอิศวรพันธมิตรของกรุงพาณ หรือความนี้อาจหมายถึงพระขันทกุมารองค์เดียว คำว่า “วิฆเนศวร” อาจเป็นสมญาของพระขันทกุมารก็ได้  ความหมายประการหลังดูดีกว่าความหมายแรก เพราะความกลืนกันกับคำว่า “ยุพราช” ที่ปรากฎอยู่ด้วย เพราะยุพราชควรมีองค์เดียว

นอกจากนั้นเมื่อถึงตอนพรรณนาฉากรบความในหนังสือเล่มเดียวกันมีแต่พระขันทกุมารเท่านั้นที่หนังสือนี้กล่าวว่ากำลังรบอยู่ ไม่มีการกล่าวถึงพระคเณศเลย

ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นที่ปรากฎแน่ชัดว่าไทยเข้าใจผิดว่าพระคเณศและพระขันทกุมารเป็นเทพองค์เดียวกัน

ในฉันท์กล่อมพระเจ้าลูกยาเธอรัชกาลที่ ๕ ขุนสารประเสริฐ(นุช) ผู้แต่งได้กล่าวถึงพระคเณศว่าเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมาร “วิฆเนศวรศักดิ์เหี้ยมหาญ คือขันทกุมารมยุรอาศน์เลิศฤา”

ในฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรที่แต่งขึ้นต้นรัชกาลที่ ๖ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ผู้แต่งได้เรียกพระคเณศว่า เจ้าแห่งธนูศิลป์ “อนึ่งโสดคเณศรบพิตร วรสิทธิศักดิ์ศรี เป็นมหาสวามิศบดี ศรศิลปาคม”

ในฉันท์กล่อมพระเศวรอุดมวารณ์ที่แต่งในสมัยเดียวกัน กวียกย่องพระขันทกุมารศิวบุตรว่าเป็นเจ้าแห่งธนูศิลป์ “หนึ่งนบศิวบุตรศักดาสิทธิดังสัญญา สมเญศพระขันทกุมาร กุมมั่นคันธนูน้าวผลาญ เหนี่ยวแผลงเชี่ยวชาญ ช่ำชองประลองศรศิลป์” ตามความเชื่อของฮินดูพระขันทกุมารเป็นเจ้าแห่งธนูศิลป์ ไม่ใช่พระคเณศ

งานประพันธ์สมัยรัตนโกสินทร์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดอาจได้รับอิทธิพลจากหนังสือชื่อ “นารายณ์สิบปาง” ที่มีฉบับพิมพ์แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในหนังสือนารายณ์สิบปางพระขันทกุมารมีเศียรเป็นช้างเหมือนพระคเณศ ส่วนพระกลับมีกำเนิดจากพระเพลิงเหมือนพระขันทกุมารของฮินดู

กำเนิดพระคเณศ

เทพนิยายเรื่องกำเนิดพระคเณศของไทยมีสองสำนวนคือ

สำนวนหนึ่งว่าพระคเณศเกิดจากไฟ เกิดมาพร้อมกับเศียรช้าง

อีกสำนวนหนึ่งว่า เกิดจากพลังภายในของพระอิศวร เกิดเป็นพระขันทกุมารมีหกเศียรก่อนแล้วมาได้เศียรช้างภายหลัง

สำนวนที่หนึ่งคล้ายกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดู

หนังสือนารายณ์สิบปางเล่าเรื่องกำเนิดพระคเณศสำนวนที่หนึ่งไว้ว่า เมื่อไตรดายุคหนึ่ง พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมได้มาประชุมพร้อมกัน พระอิศวรจึงมีเทวโองการให้พระเพลิงใช้เทวฤทธิ์ทำให้บังเกิดโอรสพระอิศวรขึ้นสององค์ “พระเพลิงรับเทวโองการแล้วกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสองมีรัศมีสว่างรุ่งเรือง แลกลางเปลวเพลิงนั้นเบื้องขวาเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นหน้าช้าง มีพระกรสองกร ๆ ขวาทรงตรีศูล กรซ้ายทรงดอกบัว มีอุรเคนทร์ เป็นสังวาล นั่งชานุมณฑล ลอยอยู่ข้างเบื้องขวาของพระเป็นเจ้าทั้งสอง จึ่งให้นามปรากฎชื่อว่าศิวบุตรพิฆเนศวร”

เรื่องกำเนิดพระคเณศของไทยสำนวนนี้คล้ายกับเรื่องของฮินดูที่ปรากฎในลิงคปุราณะมัสยปุราณะ และสกันทปุราณะ คือ พระคเณศเกิดมาพร้อมกับเศียรช้างและเป็นศิวบุตร คือ บุตรแห่งพระศิวะหรือพระอิศวร

แต่เรื่องของไทยต่างจากเรื่องของฮินดูตรงที่พระคเณศเกิดจากพระเพลิงหรือพระอัคนิคล้ายกับเรื่องกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดู

อาจเป็นได้ว่าไทยสับสนว่าพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารเลยโอนเรื่องกำเนิดพระขันทกุมารให้พระคเณศ

เรื่องกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดูมีหลายฉบับสำนวน และพระเพลิงมีบทบาทสำคัญในทุกสำนวน เรื่องกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดูแบ่งได้เป็นสองพวก คือ พวกหนึ่งพระขันทกุมารเกิดแต่เชื้อของพระเพลิงเท่านั้น ส่วนอีกพวกหนึ่งพระเพลิงเป็นสื่อทำให้เชื้อของพระอิศวรเกิดเป็นพระขันทกุมาร

ในมหาภารตะมีเรื่องกำเนิดพระขันทกุมารจากเชื้อพระเพลิงว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อพระเพลิงเห็นนางพราหมณีเจ็ดคนนอนหลับอยู่ในอาศรมก็เกิดความกำหนัด แต่คิดได้ว่าไม่สมควรที่ตนจะเกิดความกำหนัดกับเมียพราหมณ์ผู้บริสุทธิ์และไม่ได้รักตอบตน พระเพลิงเลยแฝงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไฟที่ใช้อยู่ในอาศรม เพื่อว่าจะไดมีโอกาสแตะต้องนางทั้งเจ็ดด้วยเปลวเพลิงบ้าง แต่ยิ่งได้แตะต้องนางทั้งเจ็ดนานเท่าไรพระเพลิงยิ่งมีความใคร่ในตัวนางมากขึ้นเท่านั้น จึงคิดจะไปฆ่าตัวตายในป่า ฝ่ายนางสวาหะลูกสาวพระฤาษีทักษะหลงรักพระเพลิงนานแล้ว นางคอยเฝ้าดูว่าจะมีโอกาสร่วมรักกับพระเพลิงได้เมื่อไร ครั้นนางทราบว่าพระเพลิงกำลังคลั่งรักนางพราหมณ์ทั้งเจ็ดจึงแปลงกายเป็นนางพราหมณ์ไปยั่วยวนพระเพลิง พระเพลิงก็สมรักกับนาง นางสวาหะแปลงกายได้เพียงหกครั้ง แปลงเป็นนางอรุนธตีเมียพระวสิษฐะไม่ได้ เพราะอำนาจความซื่อสัตย์ต่อสามีของนาง เมื่อนางสวาหะถือเชื้อของพระเพลิงไว้ในมือแต่ละครั้งที่ร่วมรักกับพระเพลิงนางคิดได้ว่าเป็นการไม่สมควรที่นางแปลงตัวเป็นนางพราหมณ์ทั้งหก เพราะถ้าใครเห็นเข้าจะเข้าใจนางพราหมณ์ผิดได้ นางสวาหะจึงแปลงกายเป็นครุฑตัวเมียออกจากป่าไป นางสวาหะเอาเชื้อของพระเพลิงไปใส่ไว้ในบ่อทองบนยอดเขาขาวที่มีกองทัพพระอิศวรคอยดูแลอยู่ เชื้อของพระเพลิงเกิดเป็นพระขันทกุมาร ต่อมานางพราหมณ์ทั้งหกมาหาพระขันทกุมาร นางทั้งหลายถูกสามีทิ้ง เพราะคิดว่าพระขันทกุมารเป็นลูกของนาง นางขอให้พระขันทกุมารอนุญาตให้นางอยู่บนสวรรค์ พระขันทกุมารยอมตามนั้น  นางเหล่านั้นได้ไปเกิดเป็นดาวกฤตติกา  ได้รับนับถือว่าเป็นแม่พระขันทกุมาร ดังนั้นบางครั้งพระขันทกุมารจะได้สมญาว่าพระการตติเกย หรือลูกของกฤตติกา

ในหนังสือสกันทปุราณะและศิวปุราณะ พระขันทกุมารเกิดจากเชื้อพระอิศวรไปให้นางกฤตติกา เรื่องมีว่า

พวกเทวดากลัวว่า บุตรพระอิศวรที่เกิดกับพระอุมาจะมีฤทธิ์มากจนโลกไม่อาจรับไว้ได้ จึงให้พระเพลิงไปก่อกวน พระอิศวรโกรธจึงบังคับพระเพลิงให้ดื่มเชื้อของพระองค์  พวกเทวดาเลยตั้งท้องกันหมดเพราะได้รับเชื้อพระอิศวรที่พระเพลิงอมมา พวกเทวดาทรมานมากที่ตั้งท้องจึงไปขอให้พระอิศวรช่วย พระอิศวรแนะให้พวกเทวดาไปคายเชื้อทิ้ง พวกเทวดาทำตามและเชื้อนั้นได้กลายเป็นภูเขาใหญ่สีทองสุก แต่เชื้อในพระเพลิงยังคงอยู่และคอยเผาผลาญดังดาวหาง พระอิศวรแนะนำพระเพลิงให้ไปปล่อยเชื้อนั้นในครรภ์ผู้มีความร้อนทุกเดือน เช้าวันรุ่งขึ้นนางพราหมณ์ทั้งหกได้ไปผิงไฟหลังอาบน้ำ แม้นางอรุนธตีจะพยายามห้ามก็ตาม เชื้อพระอิศวรในพระเพลิงจึงซึมเข้าไปตามขุมขนของพวกนาง เมื่อนางทั้งหกกลับอาศรมก็ถูกสามีโกรธหาว่าไม่ซื่อต่อตนจนตั้งท้อง และถูกสาปให้ไปเกิดเป็นดาว นางทั้งหกทุกข์ทรมานใจมากจึงไปปล่อยเชื้อพระอิศวรไว้บนภูเขาหิมาลัยเชื้อนั้นไหลลงแม่น้ำคงคา และลอยไปติดต้นไผ่ แล้วเกิดเป็นพระขันทกุมารมีหกเศียร ขณะนั้นพระอุมาเกิดมีน้ำนมไหลจากอกจึงไปที่แม่น้ำคงคาตามคำแนะนำของพระฤาษีมารท นางได้พบพระขันทกุมารและรับเป็นลูก

ในสมัยปุราณะพระขันทกุมารเป็นลูกพระอิศวรและพระอุมาจริง ๆ คือนางอุมาตั้งท้องและคลอดพระขันทกุมารเองจริง กระนั้นพระเพลิงยังคงมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วยคือพระเพลิงถูกบังคับให้ดื่มเชื้อพระอิศวรดังในสกันทปุราณะและศิวปุราณะ แต่เอาไปคายไว้ในทะเลสาบ พระอุมาดื่มน้ำทะเลสาบนั้นจึงตั้งท้องพระขันทกุมาร

ในนารายณ์สิบปางนางกฤตติกาและพระอุมาไม่ได้มีบทบาทในการกำเนิดพระศิวบุตรพิฆเนศวรเลย กล่าวได้ว่าเรื่องกำเนิดศิวบุตรองค์นี้ได้เค้าเรื่องจากกำเนิดพระขันทกุมารพวกที่สอง  คือพระเพลิงเป็นสื่อให้เชื้อพระอิศวรเกิดเป็นพระขันทกุมาร ในนารายณ์สิบปางนั้นพระเพลิงเป็นผู้สร้างพระขันทกุมารตามคำสั่งพระอิศวร  ส่วนเชื้อของพระอิศวรกลายมาเป็นเปลวเพลิงที่พลุ่งออกมาจากช่องกรรณทั้งสองของพระเพลิงแทน

สำนวนที่สองคล้ายกำเนิดพระคเณศของฮินดู

เรื่องกำเนิดพระคเณศสำนวนที่สองของไทยที่ว่าเกิดจากพลังภายในของพระอิศวรคล้ายกับเรื่องกำเนิดพระคเณศของฮินดูมากต่างกันแต่ตรงที่ว่าโอรสองค์นี้ของพระอิศวรเกิดเป็นพระขันทกุมารมีหกเศียร สิบสองกรก่อน แล้วกลายเป็นพระคเณศมีเศียรช้างภายหลัง

หนังสือนารายณ์สิบปาง เล่าเรื่องกำเนิดพระขันทกุมาร-พระคเณศไว้ว่า หลังจากที่พระอิศวรไปปราบอสุรพรหมชื่อมูลคะนียักษ์แล้ว “ก็เสด็จกลับไปยังไกรลาศ แล้วเสด็จไปทรงศีลเหนือเขารัชดากูฏ ให้หมู่อุรเคนทร์รักษาพระองค์ แล้วดื่มกินพระโลหิตในนิ้วพระบาทแล้วกระทำด้วยเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นกุมารองค์หนึ่งออกจากอุระประเทศ มีพระพักตร์หกพระพักตร์ มีกรสิบสองกร พระเป็นเจ้าจึงให้นามปรากฎว่า พระขันทกุมารเทวโอรส แล้วพระเป็นเจ้าก็เสด็จกลับมายังไกรลาส จึงรังสฤษดิ์มยุราปักษาให้เป็นพาหนะขันทกุมาร”

กำเนิดพระคเณศ-ขันทกุมารของไทยนี้กลับไปคล้ายกำเนิดพระคเณศของฮินดูคือ พระอิศวรแต่ผู้เดียวที่สร้างศิวบุตรองค์นี้ พระเพลิงไม่ได้มีส่วนด้วยเลย

เรื่องกำเนิดพระคเณศของฮินดูสำนวนหนึ่งมีเล่าไว้ในวราหปุราณะว่า

ครั้งหนึ่งเทวดาและฤาษีทั้งหลายสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าคนจะประกอบพิธีใด ๆ ทั้งดีและเลวจะไม่พบปัญหายุ่งยากหรืออุปสรรค์ใด ๆ เลย จึงคิดกันว่าน่าจะมีอุปสรรคบ้างสำหรับคนที่ประกอบสิ่งชั่ว จึงพากันไปหาพระอิศวรเพื่อขอให้สร้างสิ่งมีชีวิตผู้จะทำให้เกิดอุปสรรคแก่คนที่ประกอบพิธีไม่ถูกต้อง เมื่อได้รับคำของดังนั้น พระอิศวรก็มองไปที่พระอุมา และคิดใครครวญดูว่าจะช่วยให้เทวดาสมปรารถนาได้อย่างไร ขณะนั้นรัศมีสุกสว่างแห่งดวงพักตร์ของพระองค์ก็กลายเป็นชายหนุ่มผู้มีรัศมีเรืองรองขึ้นมา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งพระอิศวร  และมีความ่งามมัดใจนางฟ้าทั้งสรวงสวรรค์ เมื่อพระอุมาเห็นดังนั้นก็โกรธและสาปหนุ่มงามผู้นั้นให้มีเศียรเป็นช้าง มีพุงใหญ่ และหมดงาม พระอิศวรต้องช่วยให้พรว่า ให้หนุ่มผู้มีเศียรเป็นช้างนี้มีนามว่าคเณศ ให้เป็นผู้มีอำนาจบันดาลให้เกิดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆได้ และต้องได้รับการบูชาจากผู้ประกอบพิธีต่าง ๆ ก่อน มิฉะนั้นพิธีนั้น ๆ จะไม่สำเร็จ

จะเห็นได้ว่าพระขันทกุมารซึ่งต่อมากลายเป็นพระคเณศของไทยและพระคเณศของฮินดูมีกำเนิดจากพลังภายในของพระอิศวรทั้งคู่ คือพระขันทกุมารไทยเกิดจากเทวฤทธิ์ส่วนพระคเณศฮินดูเกิดจากรัศมีที่น่าจะเกิดจากพลังในดวงหน้าพระอิศวร

อาจเป็นได้ว่าไทยเคยได้รับเรื่องกำเนิดพระคเณศสำนวนวราหปุราณะนี้เหมือนกัน แต่เพราะความที่เชื่อว่าพระขันทกุมารและพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกันเลยโอนเรื่องกำเนิดพระคเณศนี้มาให้เป็นของพระขันทกุมาร

เมื่อไทยคิดว่าพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารจึงต้องคิดเรื่องให้พระขันทกุมารผู้มีหกเศียรกลายเป็นเทพผู้มีเศียรเดียว และเรื่องจึงมาต้องกับเรื่องพระคเณศเสียเศียรของฮินดู

หนังสือนารายณ์สิบปางเล่าเรื่องพระขันทกุมารเสียเศียรไว้ว่า “จึ่งนางเทพอัปสรองค์หนึ่งเป็นข้าเฝ้านางพระสุรัสวดี ปราศจากธรรมคติ แห่งจารีตเทพอัปสรทั้งหลาย ก็จุติลงมาเกิดเป็นช้างน้ำชื่ออสุรภังคี ได้เป็นใหญ่กว่าอมนุษย์ทั้งหลาย อสุรภังคีนั้นมีจิตหยาบช้านักเที่ยวเบียดเบียนตรีโลกทั้งหลายให้ได้ความรับความเดือดร้อน ทราบไปถึงพระอิศวรเป็นเจ้าจึ่งทรงพระดำริจะให้พระขันทกุมารไปปราบ แต่จะโสกันต์เสียก่อน” แล้วพระอิศวรก็ให้ประชุมเทวดาและนักสิทธิวิทยาธรทั้งหลายให้พร้อมกัน ณ เขาไกรลาส เมื่อถึงวันมงคล เทวดาทั้งหลายก็มาพร้อมกันหมด เว้นแต่พระนารายณ์องค์เดียวเผอิญบรรทมหลับสนิทอยู่ที่เกษียรสมุทรและไม่มีใครกล้าปลุกด้วย พระอิศวรเห็นจวนจะถึงฤกษ์ตัดเกษาพระขันทกุมาร จึงให้พระอินทร์ไปเป่าสังข์ปลุกพระนารายณ์ พระนารายณ์กำลังบรรทมหลับสนิทแว่วเสียงมหาสังข์พิไชยยุทธของพระอินทร์จึงลืมเนตรขึ้น เห็นพระอินทร์ก็ตรัสถามว่า โลกทั้งหลายเป็นอย่างไร พระอินทร์ตอบว่าพระอิศวรให้มาปลุกบรรทมพระนารายณ์ไปตัดเกษาพระขันทกุมารในเวลานี้ทีเดียว พระนารายณ์กำลังงัวเงียอยู่จึงพลั้งปากว่า “ลูกหัวหายจะนอนหลับให้สบายก็ไม่ได้” แล้วมากันพระอินทร์ เพราะวาจาศักดิ์สิทธิ์ของพระนารายณ์เศียรทั้งหกของพระขันทกุมารจึงหายไปหมด  พระอิศวรต้องให้พระวิษณุกรรม ไปตัดศีรษะมนุษย์ตายแล้วมาต่อ พระวิษณุกรรมจึงได้เศียรช้างมาต่อแทนเศียรพระขันทกุมาร “พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงพร้อมกันเปลี่ยนพระนามให้ เรียกว่า พระมหาวิฆเนศ”

อาจเป็นได้ว่าเรื่องพระคเณศเสียเศียรและกลายเป็นพระคเณศเศียรช้างของไทยนั้น ได้อิทธิพลจากเรื่องของฮินดูว่าพระคเณศเสียเศียรเพราะถูกพระเสาร์มอง พรหมไววรรตะปุราณะเล่าไว้ว่า

เมื่อพระอุมาบำเพ็ญตบะจนได้โอรสแล้ว ก็จัดงานฉลองใหญ่โต เทวดาทั้งหลายพากันมาแสดงความยินดีด้วยทั่วหน้า แต่ที่แปลกกว่าเขาอื่นคือพระเสาร์ แม้จะอยากดูโอรสพระอิศวรพระอุมาเท่าไรก็ไม่กล้ามอง  เพราะถูกชายาของตนสาปไว้เมื่อพระเสาร์มัวแต่บำเพ็ญตบะจนไม่สนใจนางว่า ขอให้สายตาของพระเสาร์ทำลายใครก็ตามที่พระเสาร์มอง แต่พระอุมารบเร้าให้พระเสาร์มองพระคเณศจนได้ พระเสาร์ให้พระธรรมะหรือพระยมเป็นพยานแล้วจึงมอง พอมองปุบเศียรพระคเณศก็หลุดจากร่างปับและลอยไปสู่สวรรค์ของพระนารายณ์ พระอุมาโกรธแค้นมากคร่ำครวญต่าง ๆ นานา จนพระนารายณ์ต้องเอาหัวช้างมาต่อแทนเศียรพระคเณศเดิมให้ พระคเณศเลยมีเศียรช้างแต่นั้นมา

แม้ทั้งพระเสาร์และพระนารายณ์จะไม่ได้ปองร้ายหรือมุ่งร้ายต่อโอรสพระอิศวรและพระอุมาแต่สายตาอัปมงคลของพระเสาร์และคำพูดอัปมงคลของพระนารายณ์ก็ทำให้เกิดผลร้าย จะเห็นว่าเรื่องของไทยได้แสดงลักษณะเฉพาะด้วย คือการเล่นคำ คำสบถ “ลูกหัวหาย” ของพระนารายณ์ กลายเป็นคำสาปทำให้เศียรพระขันทกุมารขาด

คือพระขันทกุมาร?

พระโกญจนาเนศวร

ครั้งหนึ่งไทยอาจเคยรู้ว่าพระอิศวรมีโอรสสององค์ ดังมีหลักฐานทางวรรณคดีปรากฎอยู่ในหนังสือนารายณ์สิบปางตอนกำเนิดศิวบุตรพิฆเนศวร ครั้งนั้นพระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงสร้างโอรสขึ้นสององค์ องค์หนึ่งคือศิวบุตรวิฆเนศวร อีกองค์หนึ่งคือ โกญจนาเนศวร

โกญจนาเนศวรไม่ได้มีหกเศียร สิบสองกรเหมือนพระขันทกุมาร แต่มีเศียรเป็นช้างเหมือนพระพิฆเนศวร

นารายณ์สิบปางเล่ากำเนิดพระโกญจนาเนศวรไว้ว่าเมื่อพระเพลิงสร้างพระพิฆเนศวรขึ้นทางด้านขวาแล้ว “เบื้องซ้ายเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพักตร์เป็นช้างสามพักตร์ มีพระกรหกพระกร กรหนึ่งเกิดเป็นช้างเผือกผู้มีเศียร ๓๓ เศียร ๔ บาท ชื่อคิรีเมฆละไตรดายุค ช้างทั้งสองนี้คือเทพยดานฤมิตด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ประสมพรไว้ให้สำหรับเป็นพาหนะของสมเด็จอมรินทราธิราช แลกรอีกสองกรเกิดเป็นช้างเผือกซึ่งจะอุบัติในโลกสำหรับได้เป็นพาหนะของกษัตรริย์อันมีอภินิหารอีกข้างละสามช้าง คือ เผือกเอ เผือกโท เผือกตรี สามตระกูลเหมือนกันทั้งซ้ายขวาข้างละสามช้าง แต่เบื้องซ้ายเป็นช้างพัง เบื้องขวาเป็นช้างพลาย อีกสองกรนั้นเกิดเป็นสังข์ทักขิณาวัฏเบื้องขวาสังข์อุตราวัฏเบื้องซ้าย ยืนอยู่เหนือกระพองศีรษะทั้ง ๗ เศียร พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงให้นามว่าโกญจนาเนศวรศิวบุตร”

แม้พระโกญจนาเนศวรจะไม่มีลักษณะเหมือนพระขันทกุมารเลยจนไม่อาจสรุปได้แน่นอนว่าเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารแต่อาจกล่าวได้ว่าตำนานพระโกญจนาเนศวรได้รับอิทธิพลจากเรื่องพระขันทกุมารของฮินดู

คำว่า “โกญจนาเนศวร” น่าจะมาจากคำสันสกฤตว่า “เกราญจนาเนศวร” (เกราญจอานน-อีศวร) แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นพักตร์แห่งเกราญจะ” และคงหมายถึงพระขันทกุมารนั่นเอง

แม้ว่าคำนี้จะไม่ปรากฎใช้เป็นสมญาของพระขันทกุมารในเทพนิยายฮินดูเลยก็ตาม สมญานี้ของพระขันทกุมารอาจมีที่มาจากเทพนิยายของเทพองค์นี้กับภูเขาชื่อเกราญจะก็เป็นได้

เรื่องในมหาภารตะมีว่า “ครั้งหนึ่ง เมื่อพวกเทวดาทำสงครามกับอสูร พวกอสูรได้ไปซ่อนอยู่ในภูเขาเกราญจะ พระขันทกุมารแม่ทัพพวกเทวดาต้องการจะทำลายล้างพวกอสูรให้สิ้นจึงได้เอาหอกแทงภูเขาเกราญจะจนราบเป็นหน้ากลอง”  ส่วนในวามนปุราณะมีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งพระขันทกุมารกับพระอินทร์เถียงกันว่าใครมีฤทธิ์ยิ่งกว่ากัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงวิ่งรอบเขาเกราญจะเพื่อพิสูจน์ฤทธิ์ของแต่ละฝ่าย พระขันทกุมารวิ่งชนะ แต่ภูเขาเกราญจะลำเอียงตัดสินให้พระอินทร์ชนะ พระขันทกุมารแค้นใจมากจึงพุ่งหอกทำลายภูเขาเกราญจะเสียราบ  อาจเป็นได้ว่าไทยเคยรู้เรื่องเทพนิยายตอนี้และอาจได้ศัพท์โกญจนาเนศวรจากเรื่องนี้ก็ได้

นอกจากนั้นเรื่องกำเนิดช้างสำคัญและสังข์ศักดิ์สิทธิ์จากมือพระโกญจนาเนศวรก็อาจได้มาจากเรื่องพระขันทกุมารแสดงกำลังของเทพนิยายฮินดู ในมหาภารตะมีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระขันทกุมารเกิดนั้นมีรัศมีเรืองรองจากตัวดังพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางหมู่เมฆสีแดง พระขันทกุมารถือธนูที่พระอศวรใช้ปราบอสูรตรีปุระแล้วคำรามก้องทั่วตรีโลก ทำให้เกิดความหวั่นไหวหวาดหวั่นกันไปทั่ว ช้างสำคัญทั้งสองคือจิตระและเอราวัณตกใจกลัวจนตัวสั่น พระขันทกุมารเห็นช้างทั้งสองตัวสั่นจะทรงกายไว้ไม่ได้จึงจับช้างทั้งสองด้วยกรทั้งสอง ทรงนกยูงและหอกไว้ในอีกสองกร พระขันทกุมารก็เล่นล้อหลอกไปมาพร้อมกับส่งเสียงดังสนั่น และเป่าสังข์ศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงไว้ในกรอีกสองกร เป่าดังจนแม้สัตว์มีกำลังมากในจักรวาลยังตระหนกตกใจกลัว

ถ้าไทยได้เห็นรูปวาดเหตุการณ์ตอนนี้จากมหาภารตะอาจเข้าใจผิดได้ว่าช้างสำคัญทั้งสองและสังข์ศักดิ์สิทธิ์กำลังเกิดจากฝ่ามือพระขันทกุมารดังในเรื่องของไทย

ไทยคงเคยรู้ว่าพระอิศวรมีโอรสสององค์คือพระคเณศและพระขันทกุมาร และคงเคยรู้เรื่องเทพนิยายต่าง ๆ เกี่ยวกับโอรสทั้งสองของพระอิศวรด้วย ต่อมาเกิดเข้าใจผิดว่าพระคเณศและพระขันทกุมารเป็นเทพองค์เดียวกันจึงโอนชื่อพระขันทกุมารไปให้พระคเณศคิดชื่อใหม่ให้โอรสองค์รองของพระอิศวร พร้อมทั้งโอนลักษณะสำคัญไปให้คือ ให้มีเศียรเป็นช้างเหมือนพระคเณศด้วย

ในสมัยอยุธยาและสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระคเณศได้รับนับถือจากไทยว่าเป็นเทพแห่งช้างดังความในลิลิตยวนพ่ายว่า “การช้างพิฆเณศน้าว ปูนปาน ท่านนา” และในนารายณ์สิบปางที่ยกมาแล้ว  แต่ไม่มีหลักฐานว่าไทยนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งความสำเร็จผู้ทำลายอุปสรรคในการประกอบพิธีทั้งปวง

นอกจากนั้นยังไม่มีหลักฐานว่าไทยอัญเชิญเทพองค์นี้ให้มาประสาทพรในการแต่งคำประพันธ์ใด ๆ ด้วย

อาจเป็นได้ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะไทยเข้าใจผิดว่าพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารเทพแห่งศิลปศาสตร์สงครามนั่นเอง

พระคเณศพึ่งได้รับการนับถือจากไทยว่าเป็นเทพผู้ประสาทความสำเร็จโดยเฉพาะในการประกอบการศิลปะต่าง ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี่เอง  สมัยนี้เป็นสมัยที่การศึกษาการตวิทยาแนวตะวันตกรุ่งเรือง เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงริเริ่มและแนะนำการศึกษาวิชาสาขานี้เอง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงจัดตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นและได้โปรดให้คิดประดิษฐ์ดวงตราพระคเณศขึ้นใช้เป็นตราประจำสโมสรนี้

นี่เป็นครั้งแรกที่พระคเณศมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับศิลปะด้วย นอกจากจะเกี่ยวกับช้างอย่างเดียวดังแต่ก่อน

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กรมศิลปากรได้ดำเนินตามรอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยการประกาศใช้ดวงตราพระคเณศเป็นตราประจำกรม ดวงตราพระคเณศนี้เป็นรูปพระคเณศอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยแก้วเจ็ดดวงซึ่งหมายถึง ปฏิมากรรม จิตรกรรม ดนตรี นาฏยศาสตร์ วาทศิลป์ สถาปัตยกรรม และวรรณคดี ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ถึงสมัยนี้พระคเณศได้รับนับถือว่าเป็นเทพแห่งความสำเร็จในการประกอบศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์และตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมาไทยนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะมากกว่าเป็นเทพแห่งช้าง

นอกจากนั้นในสมัยนี้กวียังแยกออกด้วยว่าพระคเณศเป็นเทพคนละองค์กับพระขันทกุมาร ดังความในฉันท์กล่อมพระเศวตวชิรพาหะ ของหลวงธรรมาถิมนฑ์(ถึก) ว่า

นบสิทธิบดีเทวา        คชภักตร์ภูษา

ภรณ์พรรณสดแสดแสง

กรกระลึงบาศขอคชสาร            เหิรอาศน์ชวดชาญ

เชี่ยวศิลปวิทย์วุฒิไกร

อิกองค์กรรติเกย์ยเทวไท

เพียงจันทร์ผ่องเพ็ญพิมล           หกภักตร์ประไพ

และความนิยมพระขันทกุมารก็เสื่อมไป จนเทพองค์นี้ไม่มีบทบาทอะไร ไม่ว่าจะในวงการใด ๆ

 

 

หลวงบรรเทาทุกข์ขวากหนามการปฏิวัติเงียบ

หลวงบรรเทาทุกข์ขวากหนามการปฏิวัติเงียบ

วีรวัฒน์  วงศ์ศุปไทย

ตะวันรอนอ่อนแสงในยามเย็น เสียงเรือโยงค่อยจางหายไป ผิวน้ำราบเรียบไม่มีคลื่นลมแรงอีกแล้วเบื้องหน้าเป็นแผ่นดินเกาะใหญ่ปกคลุมด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่เขียวชะอุ่มชุ่มชื้น หัวใจลองพระยาบรรฦา และลำน้ำเจ้าพระยาโอบล้อมเกาะใหญ่ให้ลอยเด่นอยู่กลางลำน้ำ ท้ายเกาะบางกระบือ โพธิ์แตงเป็นถิ่นตำบลในเขตจังหวัดปทุมธานี อำเภอสามโคกและแดนต่อแดนในเขตจังหวัดอยุธยา อำเภอบางไทร

ท้ายเกาะใหญ่เคยมีเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งตระหง่านตา ท่ามกลางดงไม้ริมฝั่งน้ำ บัดนี้เหลือแต่ซากโคนโพธิ์ใหญ่เจดีย์นี้มีชื่อ “เจดีย์หลวงบรรเทาทุกข์” มีอดีตอันยาวนานด้วยหยาดน้ำตาความทุกข์ยากและความตาย ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหนใครจะช่วยเมื่ออำนาจนั้นตกอยู่กับฝ่ายอธรรม.

จากวันนั้นถึงวันนี้ย้อนรอยถอยหลังไปนับร้อยปี  ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในขณะที่พระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ในการจัดการปกครองในระยะแรก พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๑๖ ที่ประชุมเสนาบดีได้ตกลงเลือก “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” (ช่วงบุญนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการและได้สถาปนา กรมหมื่นวรวิชัยชาญพระโอรสองค์ใหญ่ของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นอนุชาของพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลต้องประสบปัญหาในการปกครอง ในการดึงอำนาจสู่ส่วนกลางอย่างมาก กับกลุ่มตระกูลบุญนาค ซึ่งมีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจการเมือง เช่น กรณีบาดหมางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า

“เหมือนว่าวที่ปล่อยจนหมดสายป่านไม่มีเหลือเลย ยังเหลือแต่ธุระที่จะทำอยู่เพียง จะชั่งกำลังตัวว่าเมื่อเราเป็นเด็กอยู่มีกำลังเพียงเท่านั้นจะรั้งว่าวไว้ไม่หกล้ม ฤาจะปล่อยให้ว่าวหลุดลอยเสีย”

การปฏิวัติเงียบ

ในวันที่ ๑ มกราคม ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ “พระองค์ได้รับคำกราบบังคมทูลเป็นลายลักษณ์อักษรมีใจความติเตียนการปกครองของพระองค์ให้เร่งรัดการปกครองเปลี่ยนแปลงเสียโดยเร็ว ผู้กระทำการดังกล่าวได้แก่ ๑. กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ ๒. กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาคา ๓.พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก ๗ คน ใจความสำคัญคือต้องการให้ประเทศไทยได้ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก เปิดโอกาสให้ราษฎร์ได้มีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น แทนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาแบบประนีประนอมเสียดินแดนเพื่อรักษาเอกราช พระองค์ได้พระราชดำรัสตอบอย่างละมุนละม่อมมิได้ถือโทษแก่ผู้กราบบังคมทูล ในครั้งนั้นพระองค์ได้ปฏิวัติการปกครอง กฎหมาย ทางด้านสังคมได้ยกเลิกประเพณีต่าง ๆ ที่ไม่เข้ากับยุคสมัยเสียเป็นส่วนมาก เช่น เลิกทาส และเสด็จต่างประเทศยุโรป และเอเชีย”

การปกครองส่วนกลางแต่เดิมแบ่งเป็น “ฝ่ายทหาร” มีสมุหกลาโหมบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ “ฝ่ายพลเรือน” มีสมุหนายกบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ จัดแบ่งกระทรวงเสนาบดีเป็น “จตุสดมภ์” มีกรมเมือง(นครบาล) กรมวัง กรมคลัง กรมนา ซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นการล้าสมัยไม่ทันต่อสภาพการณ์จึงเปลี่ยนเป็น

การปกครองส่วนกลางจัดตั้งเป็นสภาแผ่นดิน ๒ สภา คือ “สภารัฐมนตรี” กับ “สภาองคมนตรี” ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๑๗

การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเป็นมณฑลและเทศาภิบาลได้แก่ ๑ กระทรวงมหาดไทย ๒. มณฑล ๓. เมือง ๔. อำเภอ ๕. ตำบล ๖. หมู่บ้าน และได้จัดตั้งการศาลกระทรวงยุติธรรม มีศาลตัดสินคดีแยกเป็น ๑. ศาลในกรุง ๒. ศาลหัวเมือง ตั้งกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “เป็นสภานายก” พิจารณาคดีตามหัวเมืองต่าง ๆ

ขวากหนามการปฏิวัติเงียบ

การสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงจากรายได้เจ้าเมืองตามหัวเมืองกำลังสูญเสียไปซึ่งเคยได้รับจากราษฎร์ โดยมิได้ส่งเข้าห้องพระคลัง แต่เดิมมิได้แยกเงินหลวงเงินราษฏร์ มักจัดการเองตามสมควร การสูญเสียแรงงานทาสที่เคยใช้ประโยชน์ส่วนตัว การต่อต้านในการสูญเสียอำนาจเกิดขึ้นเสมอ เช่นฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือ “พระยาอาหารบริรักษ์” เสนาบดีกรมนาไม่ยอมส่งค่าน่าให้ “หอรัษฎากรพิพัฒน์” จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง เกิดขบถขึ้นในเมืองเหนือ เช่น “โจรเงี้ยวเมืองแพร่” ขบถผีบุญในภาคอีสานเป็นต้น ส่วนในภาคกลางไม่ห่างจากเมืองหลวงมากนักในเขตจังหวัดอยุธยาและจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน  ได้ต่อต้านการปกครองการเปลี่ยนแปลง สมคบกับโจรปล้นสะดมประชาชนในเขตสองจังหวัด ก่อความเดือดร้อนแก่ราษฎร์  ซึ่งเป็นเรื่องเล่าขานติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

หลวงบรรเทาทุกข์

หลวงบรรเทาทุกข์เป็นผู้มีอำนาจร่ำรวยเงินทอง มีข้าทาสบริวารมาก ชอบใช้อำนาจข่มเหงราษฎร์อยู่เสมอ มีภรรยานับสิบคน หากชอบใจหญิงใดก็จะใช้บริวารฉุดคร่ามาตามต้องการ ราษฎร์ที่ขัดขวางก็จะถูกฆ่าตายโดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือได้ หญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นสาวก็จะถูกพ่อแม่เก็บซ่อนตัวไว้ มิใช้ไปปรากฎตัวในที่ชุมนุมชน อีกทั้งห้ามมิให้นุ่งห่มเสื้อผ้าสีฉูดฉาดบาดตา จะนำอันตรายมาสู่ตัวได้

นอกจากหลวงบรรเทาทุกข์จะมักมากในกามารมณ์แล้วยังมีนิสัยเป็นอันธพาลสมคบกับโจรปล้นสะดมชาวบ้าน บางครั้งจะสั่งให้บริวารไปบอกล่วงหน้าว่าจะเข้าปล้นวัวควายในคืนนี้  ชาวบ้านจะอยู่เวรยามเฝ้าตลอดคืน ครั้นเห็นท้องฟ้าสางใกล้สว่างคิดว่าปลอดภัยแล้ว ก็หลับไปหลังจากอดนอนมาตลอดคืน ครั้นตื่นขึ้นมาในตอนสายวัวควายก็หายไปสิ้น

หลวงบรรเทาทุกข์มักก่อความเดือดร้อนให้ราษฏร์ผู้ยากไร้ให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ ลุแก่อำนาจเรือสินค้าที่นำสินค้าพื้นเมืองจากทางเหลือล่องสู่กรุงบางกอก หรือจากกรุงบางกอกขึ้นไปหัวเมืองเหนือหากไม่จอดพักในเขตกำหนดโดยเสียค่าคุ้มครองแล้ว  ก็จะถูกปล้นฆ่าชิงเรือและสินค้าจนหมดสิ้น เป็นที่หวาดกลัวของผู้สัญจรไปมาทางลำน้ำเจ้าพระยายิ่งนัก

เมื่อหลวงบรรเทาทุกข์จับได้ว่าบุตรของตนได้ลักลอบได้เสียกับภรรยาน้อยที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูก จะลงโทษให้แก้ผ้าทั้งสองคนเอาตะกร้าวิดน้ำเรือจากเรือใหญ่ให้แห้งแล้วจับโบยด้วยหวายจนขาดใจตาย

ความชั่วทั้งหลายที่หลวงบรรเทาทุกข์ได้ก่อไว้ทำให้ราษฎร์หวาดกลัวและไร้ที่พึ่งในไม่ช้าได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถถอดทนอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้ อำดำเต๋อและพวกได้เสี่ยงชีวิตเข้าแลก เขียนรายงานถวายฏีกาจำนวน ๙ ใบ กราบทูลไปยังพระเจ้าอยุ่หัว กล่าวหาหลวงบรรเทาทุกข์เลี้ยงโจรปล้นสะดมชาวบ้าน ก่อความเดือดร้อนให้ราษฎร์

หลวงบรรเทาทุกข์ได้พยายามวิ่งเต้นใช้อำนาจข่มขู่ผู้ถวายฎีกาและพยายามล้มคดีเสียโดยใช้แตงโมทั้งลูกคว้านไส้ออกหมด แล้วนำเงินทองยัดไส้ไว้ภายใน แล้วนำไปให้เป็นของฝากแก่ผู้ไต่สวนคดีนี้ แต่เรื่องนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสั่งใหไต่สวนเอาความจริงในเรื่องนี้ให้จงได้ ซึ่งโทษมันเป็นขวากหนามการปฏิวัติ  สมคบโจรกดขี่ขูดรีดปล้นฆ่าราษฎร์ตามอำเภอใจ โทษมันจึงควรตัดหัวให้ตายไปตามกรรม

เรื่องหลวงบรรเทาทุกข์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ “การปกครองหัวเมืองสมัยโบราณเป็นแบบกินเมือง โดยเฉพาะเมืองที่มีเจ้าเมืองมีการสืบตระกูลเจ้าเมืองยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ดังที่สมเด็ดกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ในหนังสือ “เทศาภิบาล” ซึ่งท่านได้ไปเห็นด้วยตนเองขณะไปตรวจราชการหัวเมืองเจ้าเมืองจะว่าราชการกันที่บ้านเรียกว่า “จวน” ราษฎร์เคารพยกย่อง เอาสิ่งของมาให้เป็นของกำนัล และยิ่งมีระบบเจ้านายภาษีอากรก็ยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ดังนั้นช่องทางที่เจ้าเมืองจะใช้อำนาจในทางที่ผิดก็มีมากขึ้น  ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะดูแลหรือส่งขุนนางจากส่วนกลางไปควบคุมก็ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกรณีเจ้าเมืองที่มีสมัครพรรคพวกเป็นผู้คิดมิชอบ เช่น กรณีผู้รักษาการกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้แต่งตั้ง “คหบดีชื่อช้าง” ให้เป็น “หลวงบรรเทาทุกข์” ซึ่งบุคคลผู้นี้กลับเข้ากับโจรผู้ร้าย ทำการโจรกรรมในเขตท้องที่อื่น ซึ่งในที่สุดก็ถูกลงโทษประหารชีวิต”

จากอดีตถึงปัจจุบัน แม้นหลวงบรรเทาทุกข์นี้จะไม่จัดเป็นวีรบุรุษหรือผู้ก่อคุณงามความดีให้ประเทสชาติจนยากยิ่งที่จะลืมกันได้ก็ตามที แต่เรื่องนี้กลับสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจและการใช้อำนาจการปกครองและกลไกของรัฐในการจัดการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เรื่องเช่นนี้ก็ยังมีปรากฎอยู่ เพียงแต่ต่างกรรมและต่างกาลเวลาเท่านั้น

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้นไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แต่ด้านคุณธรรมเพียงด้านเดียว เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ในปัจจุบันจึงควรเรียนรู้ทั้งสองด้าน ตราบใดที่อำนาจคือธรรมะราษฏร์ย่อมเป็นสุข ตรงกันข้าม หากอำนาจนั้นตกอยู่กับฝ่ายอธรรม ย่อมส่งผลให้ราษฎร์ต้องทุกข์ยากและยากไร้ยิ่งขึ้นในบั้นปลายผู้ใช้อธรรมย่อมได้รับผลกรรมในที่สุด ดังเช่นหลวงบรรเทาทุกข์ผู้เพิ่มความทุกข์ยากให้แก่ราษฏร์เช่นนี้

ใบมะตูม:ทำไมต้องมีใบมะตูม

ทำไมต้องมีใบมะตูม

มณีปิ่น  พรหมสุทธิรักษ์

มณีปิ่น  พรหมสุทธิรักษ์  หลังจากได้ปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแล้ว ก็ได้รับประราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาขั้นปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน  ได้รับปริญญาเอกทางภาษาสันสกฤตจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย  คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ทับแก้ว) และเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ภาควิชาภาษาตะวันออกของคณะโบราณคดี

เมื่อข้าพเจ้าจะแต่งงานได้ไปกราบเรียนเชิญอาจารย์ที่ข้าพเจ้าเคารพรักนับถือมากท่านหนึ่ง  มาเป็นผู้ประกอบพิธีสวมมงคลและถอดมงคลให้ ท่านอาจารย์รับปากด้วยความเต็มใจ  แล้วยังได้กรุณาแนะนำข้าพเจ้าด้วยว่า  ข้าพเจ้าควรเตรียมสิ่งใดบ้างที่จะต้องใช้ในการประกอบพิธีครั้งนี้

สิ่งของที่ท่านอาจารย์บอกให้ข้าพเจ้าเตรียมนั้นมีใบมะตูมอยู่สิ่งหนึ่งด้วย  เพื่อให้ไว้ทัดหูเจ้าสาว

ข้าพเจ้าเก็บความสงสัยไว้ไม่ได้ ต้องเรียนถามท่านว่า “ทำไมต้องใช้ใบมะตูมด้วย”

ท่านอาจารย์ตอบว่า  คงเป็นเพราะชื่อของใบไม้ชนิดนี้มีคำแสดงเสียงคือ “ตูม” อยู่ด้วย ท่านว่าคงจะหมายถึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วเหมือนเสียงดัง “ตูม” กระมัง

ความเห็นของอาจารย์ข้าพเจ้าก็น่าฟังอยู่ เพราะไทยเรานั้นชอบเล่นเสียงเล่นคำอยู่แล้ว  ดังมีตัวอย่างปรากฎอยู่ทั้งในประเพณีและในวรรณคดีไทยไม่น้อย เช่นดอกไม้ในงานแต่งงาน ก็มักเป็นดอกรักกับบานไม่รู้โรย  เพื่อเป็นเคล็ดว่าความรักของบ่าวสาวจะไม่รู้โรยไม่รู้จืดจาง หรือชื่อเมืองของทศกัณฐ์ในเรื่องรามเกียรติ์ก็ว่าชื่อลังกา  เพราะมีรังของกาอยู่บนยอดเขาที่ตั้งเมืองลงกา เป็นต้น

ปัญหาว่า “ทำไมต้องใช้ใบมะตูมด้วย” ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะไทยเราไม่ได้ใช้ใบมะตูมแต่เฉพาะในงานแต่งงานเท่านั้น  หากแต่ใช้ในงานพระราชพิธี และงานมงคลทั่วไปที่มีพิธีพราหมณ์เกือบทุกงาน เช่น ในพระราชพิธีโสกันต์  ในวันโสกันต์ เจ้านายที่จะโสกันต์จะถูกแบ่งเกศาจุกออกเป็นสามปอยด้วยการใช้พายเงินพายทอง พายนาค แบ่งแล้วเอาลวดเงิน ลวดทอง ลวดนาค สายสิญจน์ ผูกปลายเกศาแต่ละปอยกับแหวนนพเก้าและใบมะตูมทั้งสามปอย

ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เราจะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจิมและทรงทัดใบมะตูม พระราชทานพระยาแรกนา และเทพีคู่หาบทั้งสี่ เป็นต้น  ดังนั้นการที่ไทยใช้ใบมะตูมในงานพิธีต่าง ๆ  อาจจะไม่ใช่เป็นเพราะชอบเสียง “ตูม” ของใบไม้ชนิดนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นก็ได้  น่าจะมีสาเหตุอื่น ๆ อีก

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล  ประทานความเห็นว่าใบมะตูมที่มีสามแฉกนั้น หมายถึงตรีมูรติ หรือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะของฮินดู ความเห็นนี้ใกล้เคียงกับความเชื่อของฮินดูมาก  ตามลัทธิฮินดูนั้น มะตูม ที่มีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตว่า “พิลฺ ว” หรือที่เป็นภาษาฮินดูว่า “เพล” นั้น เป็นไม้ “ศรีผล” หรือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์  กล่าวคือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะ  หรือพระอิศวรนั่นเอง  เหตุนี้พระศิวะจึงมีสมญานาม “พิล วฑณ ฑ” หรือ “ผู้มีไม้มะตูมเป็นคทา”

นอกจากนั้นไม้มะตูมยังเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพวกลัทธิศากตะด้วย ชาวฮินดูเชื่อว่าใบมะตูมที่มีรูปเป็นสามแฉกคล้ายตรีศูล  นั้นเป็นสัญญลักษณ์ของหน้าที่ ๓ อย่างของพระศิวะ คือ การสร้าง การพิทักษ์ และการทำลาย  นอกจากนั้นยังเป็นสัญญลักษณ์ของตาทั้งสามของพระศิวะด้วย

แม้ไม้มะตูมจะเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะ  แต่กำเนิดของไม้ชนิดนี้ หาได้มาจากพระศิวะโดยตรงไม่ ตำนานเรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้กลับไปเกี่ยวกับพระลักษมีชายาของพระวิษณุหรือพระนารายณ์  ซึ่งเป็นเทพเจ้าสำคัญพอ ๆ กับพระศิวะ  จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเทพคู่แข่งของพระศิวะทีเดียว

เรื่องกำเนิดของต้นมะตูมของฮินดูนั้นหวาดเสียวพอสมควร เรื่องมีว่า

พระลักษมีชายาของพระวิษณุนั้นบูชาพระศิวะด้วยดอกบัวจำนวนพันดอกเป็นกิจวัตรทุกวัน วันหนึ่งพระนางพบว่า ดอกบัวที่ใช้บูชาพระศิวะหายไปสองดอก พระลักษมีเป็นกังวลและว้าวุ่นใจมาก  และพยายามคิดหาสิ่งทดแทน  แล้วนางก็ระลึกขึ้นได้ว่าพระวิษณุสวามีของนางเคยให้ข้อสังเกตว่า อุระของนางนั้นสวยเหมือนดอกบัวที่กำลังจะบาน  เมื่อระลึกได้ดังนั้นนางก็ตัดสินใจใช้อุระของนางแทนดอกบัว  ขณะที่นางกำลังจะตัดอุระของนางด้วยดาบคมกริบนั้น พระศิวะก็ปรากฎองค์ขึ้น พระศิวะพอใจมากที่พระลักษมีภักดีต่อพระองค์แน่นแฟ้น  พระศิวะจึงห้ามไม่ให้พระลักษมีตัดอุระนาง แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะพระลักษมีได้ตัดอุระนางไปข้างหนึ่งแล้ว  เพื่อตอบแทนความภักดีของนาง พระศิวะจึงสัญญาว่า พระองค์จะเอาอุระของนางไปปลูกมันจะกลายเป็นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก  ต้นมะตูมจึงเกิดขึ้นในโลกแต่นั้นมา

อาจกล่าวได้ว่าผู้แต่งตำนานเรื่องนี้ขึ้นคงเห็นว่าลูกมะตูมมีรูปร่างคล้ายอกสาว ก็เลยผูกเรื่องว่าต้นมะตูมนั้นมีกำเนิดจากอกสาว และที่กะเกณฑ์ให้เกิดจากอุระของพระลักษมีก็คงเป็นพวกผู้แต่งเป็นพวกไศวะ หรือพวกที่นับถือพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุดนั่นเอง  พวกนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า พระศิวะนั้นสำคัญกว่า ยิ่งใหญ่กว่าพระวิษณุเพราะแม้แต่พระลักษมีชายาของพระวิษณุเองก็ยังต้องบูชากราบไหว้พระศิวะ

การที่เรื่องกำเนิดต้นมะตูมของฮินดูเกี่ยวกับพระลักษมีนี้อาจเป็นเหตุให้ เรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้ในวรรณคดีไทยกลายไปเป็นเรื่องของพระวิษณุสวามีของพระลักษมีก็เป็นเรื่องของไทยไม่หวาดเสียวเท่ากับเรื่องของฮินดู  แต่กลับไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจับช้าง คล้องช้าง หนังสือนายรายณ์สิบปางเล่าว่า

ครั้งหนึ่งช้างเอกทันต์อาละวาดรุกรานไปทั่วตรีโลก  พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์มาปราบ  พระนารายณ์จึงเอาไม้เจ็ดประการมาร่ายวิษณุมนต์สามคาบ  ฟาดลงที่รอยเท้าช้างเอกทันต์นั้นสามครั้ง  เดชุอำนาจวิษณุมนต์บันดาลให้ช้างเอกทันต์ปวดหัวดังจะแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง  ไม่อาจทนอยู่ได้ ก็วิ่งมาด้วยความโกรธเข้าต่อสู้กับพระเป็นเจ้า พระนารายณ์ก็เข้าต่อยุทธ์ด้วยช้างเอกทันต์เป็นสามารถ  ช้างเอกทันต์สิ้นกำลังเห็นจะต้านทานพระนารายณ์ไม่ได้ก็บ่ายหน้าจะหนี  พระนารายณ์จึงเอาบ่วงบาศพญานาคซัดถูกเท้าขวาช้างเอกทันต์แล้วเอาตรี ซึ่งเป็นอาวุธของพระองค์ปักลงกับพื้นธรณีอธิษฐานให้เป็นไม้มะตูม แล้วเอาหางช้างเอกทันต์พันไว้กับต้นมะตูมนั้น  ช้างเอกทันต์ก็ไม่อาจหนีไปได้

จะเห็นได้ว่าในเรื่องของไทยนั้นต้นมะตูมเกิดจากตรี-อาวุธของพระวิษณุ ไม่ได้เกิดจากอุระพระลักษมีอย่างเรื่องของฮินดู และการที่ใบมะตูมมีสามแฉกคล้ายตรี อาจทำให้ผู้แต่งเรื่องนี้แต่งให้ต้นมะตูมเกิดจากตรีก็เป็นได้

นอกจากนั้นยังกล่าวได้อีกว่าการที่เรื่องกำเนิดไม้มะตูมของไทย ไม่เหมือนของฮินดูนั้น  อาจเป็นเพราะว่า ไทยเราไม่เคยรู้เรื่องกำเนิดไม้มะตูมของฮินดูเลย แต่คิดเรื่องของเราขึ้นเอง  สาเหตุที่ทำให้คิดเรื่องขึ้นก็เพราะว่าในเวลาที่เกิดนินานเรื่องนี้นั้น ไทยรับนับถือไม้มะตูมเป็นไม้มงคล เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพิธีต่าง ๆ อยู่แล้ว  และไม้มะตูมนี้คงได้ใช้ในพิธีคล้องช้างด้วย  จึงมีผู้ผูกเรื่องกำเนิดไม้มะตูมให้เกี่ยวข้องกับพิธีนี้ขึ้น

ไทยคงได้ธรรมเนียมการใช้ใบมะตูมในงานพิธีจากพราหมณ์  โดยเฉพาะพวกพราหมณ์ไศวะพราหมณ์ในอินเดีย  เมื่อจะบูชาเทพเจ้าประจำบ้านเป็นกิจวัตรประจำวันนั้นจะถวายใบมะตูม พร้อมกับท่องมนต์จาก “พรหมกรรมะ” ว่า

“ข้าแต่พระศิวะ ข้าขอถวายใบมะตูมที่มีสามแฉกนี้แก่พระองค์ ใบมะตูมที่มีสามแฉกนี้ เปรียบเหมือนคุณลักษณะสามประการของพระองค์  คือดี ไม่ดี และเพิกเฉย แฉกทั้งสามของพระองค์ยังเปรียบเสมือนเนตรทั้งสามของพระองค์  และเปรียบเหมือนอาวุธศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามของพระองค์ด้วย ใบมะตูมนั้นทำลายบาปแห่งสสาร ผู้ใดได้แม้เพียงเห็นหรือสัมผัสใบมะตูมก็จะหลุดพ้นจากบาปทั้งปวง  ใบมะตูมแม้เพียงใบเดียวที่ได้ถวายพระศิวะแล้วสามารถล้างบาปหนักที่สุดได้”

เมื่อพราหมณ์ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

“พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้ เป็นพราหมณ์ที่สำหรับใช้ในการพระราชพิธีในกรุงสยามทั่วไป ตั้งแต่การบรมราชาภิเษก เป็นต้น พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้นับถือพระอิศวรว่าเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์  นับถือพระอิศวรคล้ายพระยโฮวาหรือพระอ้าหล่าที่ฝรั่งและแขกนับถือกัน” นั้นก็คงจะได้นำแบบการใช้ใบมะตูมในพิธีต่าง ๆ มาใช้ในเมืองไทยด้วย  และไทยก็คงยอมรับนับถือไม้มะตูมว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ตามแบบพราหมณ์ไศวะ และยอมรับใช้ใบมะตูมตามแบบพราหมณ์มาจนทุกวันนี้

อาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต และภาษาฮินดู และผู้คุ้นเคยกับขนมธรรมเนียมของชาวฮินดูอย่างดี ได้กรุณาให้รายละเอียดเพิ่มเติมแก่ข้าพเจ้าว่า แม้จนปัจจุบันนี้ ชาวฮินดูนิกายไศวะก็ยังนับถือมะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะอยู่ และไม่ได้ใช้แต่เฉพาะใบอย่างเดียวเท่านั้นในการพิธีต่าง ๆ หากยังใช้ส่วนอื่น ๆ ของไม้มะตูมด้วย เช่นในการประกอบยัญพิธี โหมกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมต่าง ๆของชาวฮินดู พราหมณ์จะใช้ทั้งกิ่งและใบมะตูมประดับทางเข้าหรือทวารทั้งสี่ทิศของบริเวณพิธี นอกจากนั้นชาวฮินดูยังใช้ใบมะตูมทำอรตีหรือทำการบูชากราบไหว้เทพเจ้าทุกวันเหมือนไทยเราจุดธูปเทียนถวายดอกไม้บูชาพระนั่นเอง

นอกจากจะใช้ไม้มะตูมในพิธีกรรมต่าง ๆ แล้ว ชาวฮินดูยังใช้ไม้มะตูมเป็นสมุนไพรแก้โรคต่าง ๆ ด้วย เช่นใช้แก้ จฺ รมโรค หรือโรคผิวหนัง เขาจะเอาเยื่อมะตูม ผิวมะตูม มาบดแล้วละลายน้ำใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน หรือใช้ทาแก้โรคก็ได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่อาจารย์กรุณาและอาจารย์เรืองอุไร  กุศลาสัยได้กรุณาชี้แจงแก่ข้าพเจ้าก็คือ นอกจากชาวฮินดูจะนับถือไม้มะตูมว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ประจำพระศิวะแล้ว ปัจจุบันนี้ชาวฮินดูยังให้ไม้มะตูมเป็นไม้ประจำพระลักษมีด้วย ชาวฮินดูจะใช้ไม้มะตูมนี้ทั้งต้นทั้งกิ่งทั้งใบในการบูชาพระลักษมี กล่าวได้ว่าธรรมเนียมนี้อาจเกิดจากตำนานเรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้จากอุระของพระลักษมี ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วข้างต้นก็เป็นได้

ที่น่าสนใจ คือพระลักษมีหรือพระศรีนี้เป็นเทวีแห่งโชคลาภ และความเจริญทั้งปวง พระศรีหรือพระลักษมีมีความสำคัญเรื่องโชคมากจนกวีสันสกฤตมักนำมาใช้ในความเปรียบว่า “พระราชาองค์ใดมีพระศรีเคียงข้าง พระราชาองค์นั้นเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งปวง” หรือว่า “พระจักรพรรดิ์องค์นี้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติดีเลิศทั้งปวง เพราะมีพระศรีอยู่ด้วย” เป็นต้น

ไทยอาจได้ธรรมเนียมการใช้ไม้มะตูมในงานพิธีต่าง ๆ จากคตินี้ด้วยก็ได้กล่าวคือ เดิมอาจจะใช้ตามพราหมณ์นิกายไศวะ และต่อมาเมื่อธรรมเนียมการใช้ไม้มะตูมของชาวฮินดูในการบูชาพระลัษมี เพื่อแสวงโชคลาภแพร่หลายขึ้น ไทยก็อาจจะรับคตินี้มาด้วยก็เป็นได้ จึงได้นิยมใช้ใบมะตูมในงานพิธี  โดยเฉพาะงานมงคลต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

หนังสืออ้างอิง

๑.  นารายณ์สิบปาง และพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ประพันธ์  สุคนธะชาติ รวบรวมและเรียบเรียง พระนคร ๒๕๑๑

๒.  พระราชพิธีสิบสองเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนคร ๒๕๐๖

๓.  พระราชพิธีโสกันต์ ณัฏฐภัทร นาวิกโยธิน เรียบเรียง พระนคร ๒๕๑๘

๔.  Chulakantamangala  The tonsure Ceremony as performed in Siam G.E. Gerini Bankok 1893

๕.  Visnuism and Sivaism J. Londa London 1970

 

 

เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

เจดีย์อีกองค์ที่มีประวัติเนื่องจากความเชื่อ เกี่ยวกันถึงการมีชัยชนะครั้งนี้ของสมเด็จพระนเรศวร  คือเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา เชื่อกันว่า เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนั้นของพระองค์

ความเชื่อเรื่องนี้ยิ่งเลื่อนลอยเสียยิ่งกว่าเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีเสียอีก  เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดแม้เพียงชิ้นเดียวที่จะแสดงว่าสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเนื่องในชัยชนะดังกล่าว

ที่มาของความเชื่อเรื่องนี้ เพิ่งเกิดขึ้นภายในไม่กี่สิบปีมานี้เอง  เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี” ในตอนที่สอบค้นหาเจดีย์ยุทธหัตถีและวัดป่าแก้วที่พระวนรัตน์จำพรรษา

ความจริงเรื่องในหนังสือมหาวงศ์ มิใช่เป็นเอกสารที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะไม่รู้จัก ตรงกันข้าม ทรงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงนำเอาพระนามของกษัตริย์ลังกาบางพระองค์  มาใช้เป็นมงคลนามในชีวิตส่วนพระองค์ในบางโอกาสด้วย แต่แทนที่จะทรงวิเคราะห์ว่า ผู้เรียบเรียงพระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาได้รับอิทธิพลจากหนังสือมหาวงศ์  จึงนำเกร็ดบางตอนในหนังสือดังกล่าวมาตกแต่งเรื่องราวในพระราชพงศาวดารที่เขาเรียบเรียงขึ้น ดังเช่นในกรณีของเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี แต่ทรงกลับไปวิเคราะห์ว่าพระเอกของเรื่องคือสมเด็จพระนเรศวร  น่าจะได้รับข้อเสนอแนะจากพระวนรัตน์วัดป่าแก้วให้ทรงเอาเยี่ยงอย่างพระเจ้ากุฏฐคามณิอภัยในมหาวงศ์  แล้วก็เลยสร้างเรื่องเติมเข้าไปจากเรื่องเดิมให้มากไปอีกว่าพระวนรัตน์ก็คงที่จะได้ถวายคำแนะนำให้สร้างเจดีย์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนั้น  คือเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนั่นเอง  ซึ่งต่อมาเพียงไม่เท่าไร ก็เกิดเป็นความเชื่อขึ้นในหมู่ปวงชนว่าเป็นข้อเท็จจริง  โดยมิได้ตรวจดูที่มาว่า เป็นเพียงความคิดเห็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ภายในเวลาไม่กี่สิบปีมานี่เอง