อมนุษย์พวกต่างๆ

Socail Like & Share

ในวรรณคดีสันสกฤตได้กล่าวถึงอมนุษย์ว่ามีอยู่หลายพวกด้วยกัน

อมนุษย์  พวกแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ กินนร คำว่ากินนรนี้ ตามรูปศัพท์แปลว่า คนอะไร ถ้าเป็นเพศเมียก็เรียกว่ากินกินนรีนรี กินนรและกินนรีของไทยนั้น เป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งนก คือท่อนบนเป็นคนแต่ท่อนล่างเป็นนก บางแห่งว่ากินนรนั้นหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน อย่างนางแก้วหน้าม้าของเราก็น่าจะเป็นพวกกินนรได้ ตามวรรณคดีของอินเดียว่ากินนรนั้นเป็นนักดนตรี และนักขับร้องของเทวดาอยู่บนสวรรค์ เป็นบริวารของท้าวกุเวร แต่ในที่บางแห่งคำว่ากินนรหมายถึงคนชั่วช้าเลวทรามก็ได้ ท่านเสถียรโกเศศเล่าว่าไทยอาหมเรียกคนเลวว่า “คมม้า” ทำให้นึกถึงคำไทยคำหนึ่งคือคำว่าหน้าม้า หมายถึงคนที่ชักจูงให้คนอื่นหลงกลให้พวกของตัวหลอกลวงเอาได้ เช่นที่เรียกกันว่าพวกต้มหมู เป็นต้น ทำไมจึงเรียกคนพวกนี้ว่าหน้าม้าก็ไม่ทราบ อาจจะหมายความถึงคนชั่วช้าเลวทรามอย่างภาไทยอาหมก็ได้ ซึ่งของเรากลายความหมายเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว แต่คนไทยอาหมยังรักษาความหมายเดิมไว้ได้ก็เป็นได้

อมนุษย์อีกพวกหนึ่ง ก็คือ คนธรรพ์ ว่ากันว่าเป็นพวกขับร้อง เช่นเดียวกับกินนร บางแห่งก็หาว่าเป็นพวกเดียวกับกินนรนั่นเอง แต่พูดถึงความประพฤติของพวกคนธรรพ์ในทางชู้สาวแล้วดูเหมือนพวกคนธรรพ์จะสำส่อนชอบสนุกในทางนี้ โดยรักใคร่สู่สมกันด้วยตนเอง แล้วพากันไปอยู่ตามอำเภอใจ จนเราเรียกคนที่หนีตามกันไปว่า แต่งงานแบบคนธรรพ์ หรือคันธรรพ์วิวาห์

วิทยาธร  หมายถึงชนเผ่าหนึ่งว่ากันว่ามีวิชาความรู้แสดงกลได้หลายอย่าง แต่เวลานี้จะหมายเอาชนเผ่าไหนก็ยังค้นไม่พบ

อีกพวกหนึ่งคือ รากษสนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่ายักษ์ร้าย ยักษ์เลว ผีเสื้อยักษ์ รากษสจึงเป็นยักษ์พวกหนึ่งนั่นเอง บางแห่งว่ารากษสนั้นพระพรหมได้สร้างขึ้นเพื่อให้รักษาท้องน้ำ ในลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงอธิบายเรื่องรากษสไว้ว่า “เกศินี รากษสี ผู้เป็นมเหสีพระวิศระวัส และเป็นมารดาของทศกัณฐ์” และทรงอธิบายต่อไปว่า นครลงกาของทศกัณฐ์นั้นแต่เดิมมาพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างให้พวกรากษสอยู่ ภายหลังพวกรากษสได้ทิ้งร้างไป พวกต้นตระกูลของทศกัณฐ์จึงได้เข้าไปยึดครองแทน พวกรากษสได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเดิมพวกรากษสก็คือพวกที่อยู่ตามน้ำนั่นเอง อย่างนางผีเสื้อสมุทรตัวละครตัวหนึ่งของสุนทรภู่ ในเรื่องพระอภัยมณีก็คงเป็นรากษสนั่นเอง เพราะท่านพรรณนาไว้ว่า

“จะกล่าวถึงอสุรีผีเสื้อน้ำ    อยู่ท้องน้ำวังวนชลสาย
ได้เป็นใหญ่ในพวกปีศาจพราย    สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา”

ในชาดกทางพุทธศาสนาของเรามีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงรากษสว่าเป็นยักษ์อาศัยอยู่ในน้ำ เช่น สระเป็นต้น ใครเผลอลงไปก็ถูกพวกรากษสจับกินเสีย

ท่าน น.ม.ส. ได้ทรงอธิบายเรื่องรากษสไว้ในหนังสือเรื่องกนกนคร ว่า “รากษสนั้นอ่านในหนังสือสังเกตว่า มีพวกดุเข้ารบเข้าฆ่าซึ่งๆ หน้าอย่างกล้าๆ พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งไม่กล้าสู้ซึ่งๆ หน้า มักจะลวงด้วยมายาต่างๆ ให้คนเสียทีเพลี่ยงพล้ำก่อนจะเข้าทำร้าย มีคำกล่าวว่า เวลาโพล้เพล้เป็นเวลารากษสออกหากิน แขกจึงห้ามกันว่า ไม่ให้คนนอนหลับเวลานั้น เพราะกลัวว่าถ้ารากษสมาพบกำลังหลับก็จะทำร้ายได้ถนัด การห้ามไม่ให้นอนหลับในเวลาโพล้เพล้ ไทยเราก็ยังห้ามอยู่จนบัดนี้ แต่ไม่เคยได้ยินคำอธิบายว่าทำไมจึงห้าม จะเป็นด้วยแขกมาสอนให้กลัวรากษส จนเดี๋ยวนี้เลิกกลัวรากษส แต่ยังไม่เลิกกลัวนอนเวลาโพล้เพล้ จึงไม่มีคำอธิบายก็เป็นได้ หรือถ้ามีข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน”

เรื่องนี้ผมเองได้ยินผู้ใหญ่ให้เหตุผลที่ห้ามนอนตอนโพล้เพล้ว่า นอนตอนนี้จะทำให้ไม่สบาย เคยเผลอนอนถึงตอนโพล้เพล้ รู้สึกไม่สบายครั่นเนื้อครั่นตัวจริงๆ

ท่าน น.ม.ส. ทรงอธิบายเรื่องรากษสต่อไปว่า “ถ้าจะกล่าวตามโปรเฟซเวอร์เดาซัน รากษสมีสามจำพวก พวกหนึ่งทำนองเดียวกับยักษ์ คือเป็นอสูรชนิดไม่ดุร้าย ไม่สู้เป็นภัยกับใครนัก รากษสอีกจำพวกหนึ่ง เป็นศัตรูของเทวดา และจำพวกที่สามเป็นพวกที่เที่ยวอยู่ตามป่าช้าเที่ยวทำลายพิธีบูชา กวนคนจำพรต สิงซากศพ กินคน แลทำการลามก และเป็นภัยแก่มนุษย์ด้วยประการต่างๆ…..” เรื่องของรากษสกับยักษ์เห็นจะแยกกันยาก

อมนุษย์อีกพวกหนึ่งคือพวก คุหยัก แปลตามตัวผู้ซ่อนตัว บางทีจะเป็นพวกขุดหาแก่ก็ได้ บางแห่งว่าเป็นบริวารของท้าวกุเวรมีหน้าที่เฝ้าทรัพย์อยู่ใต้ดิน

ปีศาจ เป็นมนุษย์พวกหนึ่ง ซึ่งตามความเข้าใจของเราว่าเป็นพวกเดียวกับภูตผี เรียกรวมว่าภูตผีปีศาจ แต่ความจริงแล้วคำว่าปีศาจ เป็นชื่อของคนเผ่าหนึ่งซึ่งอยู่ในอินเดีย คือพวกที่อยู่ในแคว้นทรทิศสถาน เหนือแคว้นกัษมีระหรือแคชเมียร์ มีภาษาพูดต่างหากเรียกกันว่าภาษาปีศาจ แต่ภายหลังคงจะเหยียดคนพวกนี้เป็นคนเลว สกปรก ชอบกินเนื้อดิบๆหรือซากศพ ก็เลยสงเคราะห์ให้อยู่ในจำพวกภูตผีเสียเลย อย่างเราเรียกมนุษย์เผ่าหนึ่งว่า ผีตองเหลืองนั่นเอง

ยักษ์นั้นมิใช่ร้ายแต่ส่วนเดียวหรือมิใช่ร้ายไปทั้งหมด ยักษ์ที่มีคุณธรรมความดีก็มีเช่นท้าวกุเวร ซึ่งเป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ นับถือกันว่าเป็นผู้คุ้มครองป้องกันภัยให้แก่มนุษย์ ท่านเสถียรโกเศศอธิบายเรื่องกุเวรไว้สั้นๆ ในหนังสือสารานุกรมไทยว่า “กุเวร ท้าวพระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ มียักษ์และคุหยกะ (ยักผู้เฝ้าขุมทรัพย์) เป็นบริวารท้าวกุเวรนั้นบางทีก็เรียกท้าวไวศรวัน (เวสสุวัณ) ทมิฬเรียกกุเวรว่า กุเปรัน ซึ่งมีเรื่องอยู่ในรามเกียรติ์ว่าเป็นพี่ต่างมารดาของทศกัณฐ์ และทศกัณฐ์ไปแย่งบุษบกของท้าวกุเวรไป ท้าวกุเวรมีรูปร่างพิการ ผิวขาว มีฟัน ๘ ซี่ และมีขาสามขา (ภาพท้าวเวสสุวัณจึงมักเขียนท่ายืนแยงถือไม้ตะบองยาวยันอยู่หว่างขา) เมืองท้าวกุเวรชื่อ อลกา อยู่บนเขาหิมาลัย มีสวนอุทยานอยู่บนไหล่เขาแห่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ ชื่อว่าสวนไจตรตหรือมนทร มีพวกกินนรและคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้…..จีนเรียกโต้แหวนหรือโต้บุ๋น ญี่ปุ่นเรียก พิศมอน ตามคติไทยมักเขียนภาพท้าวกุเวรซึ่งเรียกว่า เวสสุวัณ แขวนไว้ที่แปลเด็กเป็นเครื่องคุ้มกันภัย เพราะท้าวเวสสุวัณมีคนเป็นพาหนะสำหรับพระองค์ขี่….ดังนั้นที่เรานิยมทำรูปยักษ์ไว้ตามประตูโบสถ์วิหารก็เพื่อจะให้ยักษ์คุ้มครองภัยหรือช่วยรักษาทรัพย์นั่นเอง เพราะยักษ์ที่มีคุณความดีก็มีดังกล่าวแล้ว

ในสมัยก่อนมีพระราชพิธีอยู่อย่างหนึ่ง คือพิธีสัพพัจฉรฉินท์คือ พิธีตรุษสิ้นปี ในพิธีนี้มีการสวดอาฏาณาฏิยสูตร และภาณยักษ์ภาณพระที่ในพระบรมมหาราชวัง ว่าเป็นการขับพวกปีศาจให้ออกไปจากเมือง ให้ประชาชนพลเมืองอยู่ดีมีความสุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนพิธีประจำเดือนสี่ว่า

“การที่มุ่งหมายในเรื่องทำพระราชพิธีตรุษสุดปีนี้ มีการสวดอาฏาณาฏิยสูตรซ้ำๆ กันไปตลอดคืนยันรุ่งนี้ ด้วยประสงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาเขต ตามพระบรมพุทธานุญาต แต่ตามที่เข้าใจกันโดยมากว่า ซึ่งพระสงฆ์สวดภาณยักษ์หรือภาณพระนั้น เป็นการขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำสำหรับให้วิ่งจนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทาแล้วทำต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือนเรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนนจะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนื่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ปัสสาวะลงทางร่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางที่ที่เป็นโคมใบโตๆ (คำว่าโคมเป็นสำนวนหมายความว่าเชื่ออย่างงมงาย) จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักตัวใคร่ก็มี การซึ่งว่าขับผีเช่นนี้ ในตัวอาฏานาฏิยสูตรเองก็ไม่ได้ว่าพระสงฆ์ก็ไม่ได้ขู่ตวาดขับไล่ผี ตามความที่คาดคะเนไป มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งแต่ในคำประกาศเทวดาเวลาค่ำขับผีซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฐิ มิอาจที่จะรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์และราษฎร์ได้ ให้ออกไปเสียนอกขอบเขาจักรวาล ชะรอยจะได้ยินคำประกาศอันนี้ ส่อให้เข้าใจภาณยักษ์ภาณพระว่าเป็นขู่ตวาดไล่ผี”

ท่านที่เคยได้ยินพระท่านสวดภาณยักษ์เป็นทำนองแล้ว ก็คงจะเข้าใจทำนองเดียวกับคนไทยสมัยก่อนเข้าใจว่าไล่ผีนั่นเอง เพราะมีคำว่ายักโข วา ยักขิณี วา และพอถึงคำว่ายักษ์พระท่านก็ขึ้นเสียงเหมือนตวาดจริงๆ สมัยผมเป็นเด็กยังถูกเขาบอกเล่าว่าเวลาพระสวดภาณยักษ์นั้นระวังอย่าไปยืนอยู่ตรงทาง ให้หลีกๆ ไปอยู่ในบ้านในเรือนเสีย เพราะผีตกใจพระสวดวิ่งพลวดพลาดมาชนเอาหกล้มไปได้ กว่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องเหลวไหลก็เชื่อไปเสียนานแล้ว

เรื่องของยักษ์แล้วต้องกินเนื้อคนหรือเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มีแทบทุกชาติทุกภาษา และเรื่องของคนกินเนื้อคนด้วยกันนี้ เห็นจะมีในอินเดียมาก เพราะพระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้พระภิกษุฉันเนื้อมนุษย์อยู่ด้วยอย่างหนึ่ง ถ้าคนไม่นิยมกินกันแล้ว คงไม่ต้องห้ามเป็นแน่ ในเรื่องโปริสาทชาดกยังได้กล่าวถึงว่าพระเจ้าโปริสาทถูกคนครัวหลอกให้เสวยเนื้อมนุษย์ครั้งเดียวก็ติดใจ ไม่ยอมเสวยเนื้ออื่นนอกจากเนื้อมนุษย์ จนยอมสละราชบัลลังก์เพียงเพื่อจะได้เสวยเนื้อมนุษย์ตามพระราชหฤทัย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายักษ์ที่กินเนื้อมนุษย์นั้นมีจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเล่นเฉยๆ มนุษย์กินคนยังมีอยู่ทั่วไปในป่าหลายแห่ง

ยักษ์ร้ายนั้นยกไว้เถิด แต่มนุษย์เราใจทมิฬหินชาติยิ่งกว่ายักษ์ทุกวันนี้ก็ยังมีมากท่านควรระวังมนุษย์พวกนี้ยิ่งกว่ายักษ์

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี