วิวัฒนาการเรือใบรบของไทยหรือเรือราชนาวี

Socail Like & Share

เรือใบรบของไทยนั้น ความเจริญมีมากขึ้น ก็เห็นจะเป็นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ แห่งรัตนโกสินทร์ เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ พระองค์ได้โปรดเกล้า ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ต่อเรือกำปั่นแปลงขนาดยาว ๑๑ วา กว้าง ๙ ศอก ๑ คืบ หัวเรือเป็นปากปลา ท้ายเป็นแบบกำปั่นมีหลักแจวรายเรือสำเภาตลอดทั้งสองแคม สำหรับแจวในแม่น้ำลำคลอง ต่อมาให้ข้าราชการผู้ใหญ่และเจ้าภาษีอากรช่วยต่อเรือแบบนี้รวม ๓๑ ลำ ได้พระราชทานเงินช่วยลำละ ๓๐ ชั่ง (๒๔๐๐ บาท) ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่แพงสำหรับสมัยนั้น และพระราชทานนามตามลำดับและคล้องจองกันดังนี้

๑. เรือมหาพิไชยฤกษ์    ๒. เรือไชยเฉลิมกรุง    ๓. เรือบำรุงศาสนา ๔. เรืออาสาสู้สมร    ๕. เรือขจรจบแดน   ๖. เรือแล่นลอยลม ๗. เรืออุดมเดชะ  ๘. เรือชนะชิงไชย    ๙. เรือประไลยข้าศึก  ๑๐. เรือพิฤกเลอสรวง   ๑๑. เรือทะลวงกลางรณ ๑๒. เรือประจญโจมทัพ
๑๓. เรือจับโจรทมิฬ    ๑๔. เรือบินอรณพ ๑๕. เรือตลบล่องคลื่น
๑๖. เรือฝืนชลเชี่ยว    ๑๗. เรือเทียวอุทก    ๑๘. เรือกระหนกจาม
๑๙. เรือทรามคะนอง    ๒๐. เรือผยองสมุทร    ๒๑. เรือประทุษฐเมืองพาล
๒๒. เรือบำราญปรปักษ์    ๒๓. เรือจักรอมเรนทร์    ๒๔. เรือตระเวนวารี
๒๕. เรือตรีเพชรฆาฏ    ๒๖. เรือพรหมศาสตร์นารายณ์ ๒๗. เรือลอยชายเข้าเมือง
๒๘. เรือกระเดื่องบุญฤทธิ์ ๒๙. เรือพาณิชภิเษก    ๓๐. เรือเฉกเทพดาสรรค์
๓๑. เรือมหันตมงคล

เรือเหล่านี้คงจะเป็นเรือแจวสำหรับใช้ในแม่นํ้าหรือชายฝั่ง แต่มีเรือรบที่เป็นเรือใหญ่ใช้ใบและมีปืนประจำเรือด้วย อย่างเช่นเรือชื่อแกล้วกลางสมุทร สร้างที่จังหวัดจันทบุรี โดยฝีมือคนไทยที่ต่อกำปั่นใบลำแรก คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ เป็นเรือชนิดบริก ขนาด ๑๑๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๖ กระบอก เรือลำนี้ใช้ในการปราบกบถเจ้าแขกทางปักษ์ใต้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒

เรือระบิลบัวแก้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๓๗๙ ขนาด ๕๐๐ ตัน แต่บางแห่งว่าเป็นเรือขนาด ๑,๔๑๓ ตัน ติดปืนใหญ่ ๕๐ กระบอก นับว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ทีเดียวสำหรับสมัยนั้น แต่น่าเสียดายที่เรือลำนี้ไปอับปางเสียที่เกาะไหหลำ

นอกจากนี้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวร ก็ทรงต่อเรือรบอีกหลายลำ เพราะพระองค์สนพระทัยในการทหารเรือและการรบทางเรือ แต่มีมากเกินกว่าที่จะนำมาบรรยายในที่นี้ได้หมด

เรือรบของไทยเราแต่โบราณโดยเฉพาะเมื่อเป็นเรือพระที่นั่งจะมีรูปร่างหรือการตกแต่งเป็นอย่างไรนั้น ลองมาฟังกลอนชมเรือพระที่นั่งครุฑ ซึ่งสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ครั้งรัชกาลที่ ๑ ใช้เป็นเรือพระที่นั่งไปรบพม่าทางปักษ์ใต้ ก็พอจะทราบได้บ้าง คำกลอนนี้เป็นพระบวรราชนิพนธ์ ขององค์ท่าน ว่าดังนี้

“ที่นั่งครุฑทองท่าเตรียมเสด็จ    ดังจะเห็จนภามาศดูอาจอัด
จับพระยานาคินทร์บินรวบรัด    สองหัตถ์ถือธงพิไชยยุทธ
ลงยันต์ลายทองตำหรับหลวง    เด่นดวงเป็นรูปวายุบุตร
จ่ารงคร่ำใส่ช่องสองข้างครุฑ    ฝรั่งคอยเตรียมชุดจะจุดปืน
นายสมอเตรียมสมอประจำกว้าน    พนักงานคล่องแคล่วไม่ขัดขืน
ฝรั่งเตรียมคลี่ใบขยับยืน    พลแจวเร่งรื่นประจำแจว
ใส่เสื้อปัสตูแขนสั้น        โหมดคั่นขลิบคู่เป็นสองแถว
หมวกปีกยอดปักพู่ดูวับแวว    กางเกงแล้วด้วยแพรส่วยทอ
ยอดเสารายธงริ้วปลิวสะบัด      พระพายพัดแลละลิ่วเป็นทิวหนอ
จำรัสแสงแดงล้วนน่าพึงพอ    ธงรบปักหว่างสมอเป็นคู่กัน
ที่นั่งท้ายรวบรูดวิสูตรโถง    เป็นจรรโลงแผ้วโศกให้เสื่อมกระสัน
สองข้างท้ายลายเครือเจือสุวรรณ    วายุผันระยับพู่จุรีราย
พระแสงปืนล้วนถุงหักทองขวาง    มีหลายอย่างขุดคร่ำต้นเหลี่ยมหลาย
แฝดสองรางส้นคอลาย        ทองปรายปลายหอกรายเรียง
ช่องแกลห้องท้ายบานปิด        เป็นรูปวิจิตรเยี่ยมพักตร์แทบทักเถียง
ยิ้มละมายคล้ายสตรีเป็นที่เมียง    ถวิลเวียงฤามาเมินให้เร่งตรอง
จึงเสมือนพิศกราบสะอาดเรียบ    ดูระเบียบช่องปืนเป็นแถวถ่อง
รายแคมสองข้างลำประจำซอง    กระสุนสองนิ้วกึ่งชาติปากพระ
ระวังหน้าคอยรักษาถือถ่อจ้อง    นายท้ายเตือนร้องอยู่เอะอะ
เห็นเรือมากกลัวสมอจะเกาะพะ    คอยทอดปะทะท่าฤกษ์อยู่เป็นทิว
ทั้งท้ายหน้าใส่เสื้อแดงแขนเขียว    ดูแรงเรี่ยวสวมหมวกเกาจิ๋ว
กางเกงยกทอไหมเป็นลายริ้ว    ดังจะริ่วเย้ายวนให้ชวนทรง
ที่นั่งกราบส่งเสด็จขึ้นเรือใหญ่    สถิตย์ในบัลลังก์ท้ายสูงระหง

ชาวมหาดซึ่งตามเสด็จลง    ก็แต่งกายประจงประกวดกัน
ล้วนแต่ใส่เสื้อเข้มขาบแดง    เป็นริ้วแย่งขลีบครุยดูคมสัน
เชิญเครื่องตามตำแหน่งที่แบ่งปัน    ข้างในกลั่นล้วนสุนงค์ที่ทรงลักษณ์
ทั้งโอรสบุตรีที่เปรมโปรด    ปราโมทย์ที่ได้โดยบรรเทิงหนัก
จำเนียรองค์งามทรงจำนงพักตร์    สมศักดิ์สมศรีฉวีวร
ทรงทอดทัศนาเรือข้าบาท    แต่ละลำดูอาจชาญสมร
พร้อมเสร็จที่จะข้ามชโลธร    พลากรสวมเสื้อใส่หมวกแดง
ลมลงธงปลิวสีสลับ        เหลืองเขียวแดงจับรวีแสง
แสดขาวประจำลำมิให้แคลง    จับแจงเป็นระเบียบตำแหน่งกอง”

เรือรบที่ใช้ใบนี้ใช้ต่อมาจนรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ทั้งๆ ที่สมัยนี้มีเรือกลไฟใช้แล้ว แต่บางคราวเรือกลไฟก็ใช้ใบแล่นเหมือนกันในเมื่อลมดี และต้องการประหยัดเชื้อเพลิง เรือรบที่ใช้เครื่องจักรอย่างเดียวคงจะเข้ามาปลายรัชกาลที่ ๕ หรือต้นรัชกาลที่ ๖ เพราะเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น กองทัพเรือของเราคงจะล้าหลังมาก ฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามาปิดอ่าวเพียง ๒-๓ ลำ ก็สามารถบังคับให้เราจำต้องทำสัญญาที่เราเสียเปรียบแทบทุกอย่าง จนกระทั่งดินแดนบางส่วน เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ พอขึ้นรัชกาลที่ ๖ พระองค์ท่านก็ทรงปลุกใจให้ชาวไทยตื่นขึ้น เพื่อต่อสู้กับต่างชาติที่คอยจ้องจะรุกรานประเทศเรา พระองค์ทรงชักชวนให้ประชาชนเสียสละทรัพย์ซื้อเรือรบให้กองทัพเรือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นเรือพิฆาตลำแรกของไทยสั่งต่อจากประเทศอังกฤษ พระราชทานนามว่า “พระร่วง” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระร่วงเจ้าผู้ทรงสลัดแอกของขอมออกไปได้

นอกจากเรือรบหลวงพระร่วงแล้ว สมัยรัชกาลที่ ๖    ยังปรากฏว่ามีเรือรบอีกหลายลำ เท่าที่ปรากฏในกาพย์ห่อโคลงพระราชนิพนธ์ คือ
๑. เรือมหาจักรี    ๒. เรือพาลีรั้งทวีป    ๓. เรือสุครีพครองเมือง
๔. เรือสุริยมณฑล . ๕. เรือเสือทะยานชล    ๖. เรือคำรณสินธุ์
๗. เรือตอร์ปิโด เป็นต้น

เรือเหล่านี้คงจะเป็นเรือที่สั่งต่อในรัชกาลนี้ เพราะปรากฏชื่อในกาพย์ห่อโคลงซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ทุกวันนี้ราชนาวีของเราเจริญมากขึ้น จนเราสามารถที่จะป้องกันศัตรูที่มาทางทะเลไว้ได้ คงไม่ต้องถึงกับต้องจำใจเซ็นสัญญาเหมือน ร.ศ.๑๑๒ เป็นแน่

ความเป็นอยู่ของไทยเราสมัยโบราณนั้น ต้องอาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นสำคัญ ดังนั้นเรื่องของเรือจึงเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเรามาก

ในพระราชพิธีต่างๆ สมัยก่อนหรือแม้สมัยนี้ เมื่อมีการถวายพระกฐินทางชลมารค ก็ยังมีพิธีที่น่าชมอยู่ โดยเฉพาะกระบวนเรือที่เข้าในพิธีนี้  สมัยก่อนการมีกระบวนแห่ทางเรือ คงจะสนุกสนานไม่ใช่น้อย คงจะมีการเห่กันอย่างสนุกสนานในหน้านํ้า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือที่เรียกกันว่าเจ้าฟ้ากุ้ง กวีองค์หนึ่งปลายสมัยอยุธยาได้ทรงนิพนธ์กาพย์เห่เรือไว้ว่า

“พระเสด็จโดยแดนชล        ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพรวพรรณราย    พายอ่อนหยับจับงามงอน
นาวาแน่นเป็นขนัด        ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน        สาครลั่นครั่นครื้นฟอง

เรือครุฑยุดนาคหิ้ว        ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง        ร้องโห่เห่โอ้เอ้มา ฯลฯ

การเห่เรือนี้ ครั้งแรกคงจะเห่กันเป็นส่วนบุคคลไม่ใช่ทางการ ต่อมาในครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้มีการเห่เรือเป็นทางการด้วย กาพย์เห่เรือที่ขึ้นต้นว่า ‘‘เรือหงส์ทรงภู่ห้อย งามหยดย้อยลอยหลังสินธุ์” ก็เกิดขึ้นเพราะการเห่เรือเป็นทางการนี้เอง เรือรูปสัตว์ที่เข้ากระบวนเรือพระราชพิธีของเราที่เหลืออยู่ก็มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หรืออนันตนาคราช เรือเอนกชาติภุชงค์ เป็นต้น ซึ่งยังเก้บรักษาไว้จนบัดนี้

สำหรับราษฎรนั้น การละเล่นทางเรือในหน้าน้ำ คงจะมีกันมากในสมัยก่อน เราจึงมีเพลงชนิดหนึ่งซึ่งว่าเล่นกัน คือ เพลงเรือ อาจารย์กำชัย ทองหล่อ ได้อธิบายเรื่องเพลงเรือไว้ว่า

“เพลงเรือเป็นเพลงที่ว่าแก้กันเป็นกลอนสด เช่นเดียวกับเพลงฉ่อย” ท่านยกตัวอย่างเพลงเรือว่า

“ลงเรือลอยล่องร้องทำนองเพลงเกริ่น    เสียงเสนาะเพราะเพลิน-จับใจ
มาพบเรือสาวรุ่นราวสะคราญ        แสนที่จะเบิกบาน-หทัย
จึงโผเรือเทียบเข้าไปเลียบข้างลำ        แล้วก็เอ่ยถ้อยคำ-ปราศรัย
แม่เพื่อนเรือลอยแม่อย่าน้อยน้ำใจ    พี่ขอถามเจ้าสักนิด-เป็นไร
แม่พายเรือลัดแม่จะตัดทุ่งไกล        แม่จะไปทางไหน (เอ๋ย) น้องเอย

เมื่อเพลงเรือเป็นเพลงที่ร้องแก้กัน จึงจะกำหนดคำในวรรคให้แน่นอนลงไปไม่ได้ และการใช้คำแต่ละวรรคก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เท่าที่สังเกตในการร้องทั่วๆ ไป วรรคหน้าใช้คำได้มากตั้งแต่ ๕ ถึง ๑๕ คำ ถ้าใช้คำน้อยก็เอื้อนยาว ถ้าใช้คำมากก็ร้องจังหวะเร็ว แต่วรรคหลังใช้ ๖ ถึง ๗ คำเป็นพอดี

คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับคำที่ ๔ หรือที่ ๕ ของวรรคหลัง หรือสังเกตง่ายๆ ก็คือ ให้คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่ ๓ นับถอยหลังจากคำสุดท้ายของวรรคหลัง

คำสุดท้ายของวรรคหลังสุดทุกวรรค (ยกเว้นวรรคสุดท้ายของบท) ต้องมีสัมผัสดันเรื่อยไป จะแต่งยาวเท่าไรก็ได้ แต่เมื่อจะจบต้องให้บรรทัดสุดท้ายของบทสัมผัสกันตามแผน คือคำสุดท้ายวรรคหน้าของบรรทัดสุดท้าย นอกจากจะสัมผัสกันตามระเบียบแล้ว ยังต้องให้สัมผัสคำสุดท้ายวรรค ๒ ของบรรทัดถัดขึ้นไปอีกด้วย

คำสุดท้ายของบทต้องลงด้วยคำว่า “เอย”

เพลงเรือใช้สร้อยตอนลงสัมผัสในวรรคหลังว่า “ฮ้าไฮ้” และตอนจบว่า “เชียะ เชียะ นอระนอย ระนอย ระนอย เชียะ เชียะ ฮ้าไฮ้”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี