หนังตะลุง:ช่างแกะตัวหนังตะลุงเมืองนครฯ

ช่างแกะตัวหนังตะลุงเมืองนครฯ

วิบูลย์  ลี้สุวรรณ

หนังตะลุงเป็นมหรสพที่เล่นโดยการอาศัยเงาของตัวหนัง ซึ่งแกะสลักขึ้นจากหนังโคและหนังกระบือเป็นรูปร่างต่าง ๆตามลักษณะของตัวละคอนในเนื้อเรื่องที่จะเล่น แต่เดิมนิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์มากที่สุด

การเล่นหนังตะลุงจะต้องมีผู้เชิดให้ตัวหนังโลดเต้นไปตามบทพากย์และเสียงดนตรี  ให้เงาของตัวหนังไปปรากฎบนจอโดยอาศัยแสงไฟที่ส่องผ่านตัวหนัง  การเล่นหนังตะลุงจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปหลายแขนงเข้าด้วยกันคือ เล่นตามเรื่องราวของวรรณคดีการเชิดต้องใช้ศิลปทางนาฏศิลปและดนตรีเป็นเครื่องประกอบการพากย์จะต้องอาศัยศิลปทางด้านวรรณศิลป์ตลอดไปจนถึงการสร้างตัวหนังซึ่งจะต้องใช้ศิลปด้านทัศนศิลป์เข้าช่วย  จึงเห็นได้ว่าหนังตะลุงเป็นมหรสพที่ผสมผสานกันของศิลปแขนงต่าง ๆ และหนังตะลุงที่ดีจึงจำเป็นจะต้องมีความประสานกลมกลืนกันระหว่างศิลปแขนงต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วเป็นอย่างดี

ส่วนรูปแบบในการแสดงและการถ่ายทอดศิลปต่าง ๆ ออกไปสู่ประชาชนผู้ชมนั้น  อาจจะมีรูปแบบที่ต่างกันไปบ้างตามความนิยมของผู้คนแต่ละท้องถิ่นและความสามารถของผู้เล่นหนังตะลุงแต่ละคณะ  ที่จะมีลักษณะวิธีการเฉพาะคนที่แตกต่างกันไปบ้างตามความถนัดของแต่ละคณะ  แต่โดยหลักการใหญ่ ๆแล้ว จะมีขบวนการเล่นที่คล้ายคลึงกัน

หนังตะลุงเป็นมหรสพเก่าแก่อย่างหนึ่งของภาคใต้ (อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ  มรดกไทย ของ วิบูลย์  ลี้สุวรรณ สำนักพิมพ์ปาณยา  พ.ศ. 2521 หน้า 179-197) ที่ได้รับความนิยมสืบต่อกันมาเป็นเวลานานนับร้อยปี  และจากการเล่นหนังตะลุงกันเป็นจำนวนมากในภาคใต้นี้เองทำให้เกิดหัตถกรรมที่ควบคู่กันไปกับการเล่นหนังตะลุงอย่างหนึ่งคือ  การแกะตัวหนัง หรือ การทำตัวหนังตะลุง

การแกะตัวหนัง

หัตถกรรมเมืองนครฯ

การแกะตัวหนังตะลุงขึ้นใช้ในการเล่นหนังตะลุงนั้นมีทำกันในหลายจังหวัดในภาคใต้  ซึ่งบางครั้งคณะหนังตะลุงอาจจะมีช่างแกะตัวหนังของตัวเอง  หรือบางคณะอาจจะซื้อตัวหนังมาจากช่างแกะหนังต่างถิ่น

ปัจจุบันนี้การทำตัวหนังตะลุงได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  มีช่างแกะหนังหลายแห่งได้แกะตัวหนังตะลุงในลักษณะของการประยุกต์  สำหรับใช้เป็นของที่ระลึกบ้าง  สำหรับใช้แขวนผนังเป็นเครื่องประดับบ้านบ้าง  หรือบางแห่งอาจจะประยุกต์ทำเป็นพัดก็มี

การนำตัวหนังตะลุงไปประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือไปจากการใช้เล่นหนังตะลุงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังที่ผลิตขึ้นมาขาดความประณีตและขาดลักษณะที่เป็นแบบแผนโบราณที่ยึดถือกันมา  เพราะเป็นการผลิตขึ้นเพื่อต้องการปริมาณมาก ๆ ในการจำหน่ายมากกว่าคุณค่าในด้านความงาม

ดังนั้นแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้แกะตัวหนังจำหน่ายกันมาก  แต่จะหาช่างที่มีคุณภาพและมีฝีมือดีค่อนข้างยาก

นายวิโรจน์  รอดเอียด  บ้านเลขที่ 110/3 ถนนศรีธรรมโศก  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นช่างแกะหนังฝีมือดีคนหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช  ที่ยังคงทำตัวหนังตะลุงตามแบบแผนดั้งเดิมโบราณอยู่บ้างประกอบกันไปกับการทำตัวหนังตามแบบประยุกต์

การทำตัวหนังของนายวิโรจน์  รอดเอียด  ยังคงเป็นการทำตามแบบฉบับของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านพื้นเมืองตามลักษณะของการจดจำถ่ายทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ  มิได้เล่าเรียนอย่างจริง ๆ  แต่อาศัยความชำนาญเป็นสำคัญ

นายวิโรจน์  เป็นช่างแกะหนังที่มีความสามารถผู้หนึ่งที่สามารถเขียนแบบร่างของตัวหนังชนิดต่าง ๆ ขึ้นเอง  และแกะลวดลายส่วนละเอียดตลอดจนสร้างส่วนประกอบของตัวหนังได้เองจนเสร็จเรียบร้อย

การสร้างตัวหนังขึ้นใหม่โดยมิได้ลอกเลียนแบบจากของโบราณนี้  ผู้เขียนจะต้องมีความชำนิชำนาญและมีความสามารถในการร่างรูปให้ถูกสัดส่วนตามลักษณะของตัวหนังแต่ละตัวเป็นอย่างดี  จึงจะได้ตัวหนังที่มีความประณีตสวยงาม

การทำตัวหนังของนายวิโรจน์ ช่างแกะหนังพื้นบ้านฝีมือดีของเมืองนคร ฯ นี้  นับว่าเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความงดงาม ตามแบบฉบับของศิลปพื้นบ้านที่น่าสนใจไม่น้อย  ซึ่งในปัจจุบันนี้จะหาช่างพื้นบ้านฝีมือดีอย่างนี้ไม่ได้ง่ายนัก  แม้ว่าการทำตัวหนังหรือการแกะตัวหนังจะเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีวิธีการและขั้นตอนธรรมดา ๆ ก็ตาม แต่การจะทำได้ดีนั้นผู้ทำจะต้องมีใจรักในการทำด้วยจึงจะได้งานที่ดี

ขั้นตอนของการทำตัวหนังตะลุง จะเริ่มจากการหาหนังก่อน  หนังที่จะนำมาแกะเป็นตัวหนังในสมัยก่อนนั้น  จะต้องพิถีพถันมาก  เพราะการเล่นหนังตะลุงหรือ การเชิดหนังตะลุง  ผู้เชิดจะต้องอาศัยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก  ดังนั้นการทำตัวหนังจึงต้องเชื่อถือตามคติโชคลางด้วย เช่น หนังบางตัวซึ่งถือว่าเป็นตัวสำคัญ เช่น หนังฤาษี พระอิศวร ซึ่งเป็นตัวหนังศักดิ์สิทธิ์ประจำคณะ บางคณะถึงกับใช้หนังฝ่าเท้าของครูบาอาจารย์ หรือบิดามารดาของนายหนังเข้ามาประกอบในตัวหนังก็มี

ถ้าไม่ใช้หนังดังกล่าว  จะใช้หนังวัวหนังควายก็มักจะใช้หนังวัวหนังควายที่ตายผิดปกติ เช่น ฟ้าผ่าตาย ออกลูกตาย หรือบางครั้งอาจจะพิสดารออกไปอีกคือ เอาหนังอวัยวะเพศของผู้ชายที่ตายแล้วมาติดไว้ที่ริมฝีปากล่างของตัวหนังเพื่อให้หนังตลกถูกใจคนดูก็มี  สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์  ซึ่งในปัจจุบันนี้ดูจะลดความเชื่อถือลงไปมากแล้ว

ส่วนตัวหนังธรรมดาที่ทำกันอยู่ทั่วไปนั้น จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ หนังธรรมดา และ หนังแก้ว

หนังธรรมดา  คือ ตัวหนังที่ทำจากหนังวัวหนังควายธรรมดาโดยไม่ผ่านการฟอก  แต่จะต้องนำหนังมาขูดด้วยกะลามะพร้าวเพื่อเอาเนื้อ  พังผืดและสิ่งสกปรกออกจากหนัง  แล้วจึงนำไปแช่น้ำส้มสายชูอ่อน ๆ เพื่อล้างให้หนังสะอาด  แล้วจึงตากไว้ให้หนังแห้งสนิทจึงลงมือแกะเป็นตัวหนัง

หนังแก้ว นั้นเป็นหนังที่ผ่านการฟอกแล้ว  ซึ่งอาจจะเป็นหนังวัวตัวเมียหรือหนังลูกวัว  ซึ่งมีหนังบางกว่าหนังวัวตัวผู้และหนังควาย  แต่ถ้าเป็นหนังที่มีความหนาจะต้องแล่เป็นแผ่นบาง ๆ ด้วยเครื่อง  จนดูเป็นแผ่นบางใสคล้ายแผ่นพลาสติค  หนังชนิดนี้นิยมใช้ทำตัวหนังกันมากเพราะสามารถระบายสีได้สวยงามกว่าหนังธรรมดา

การแกะตัวหนังขั้นแรกจะต้องร่างรูปตัวหนังลงบนกระดาษเพื่อเป็นแม่แบบก่อน  หรืออาจจะร่างลงบนหนังโดยตรงเลยก็ได้ถ้าช่างผู้ร่างมีความชำนาญพอตัวหนังตะลุงทั่วไปจะมีขนาดไม่ค่อยใหญ่สูงประมาณ 1 ฟุต  จะมีเล็กหรือใหญ่ไปบ้างก็ไม่มากนัก

เมื่อได้แบบของตัวหนังลงบนแผ่นหนังแล้ว  ขั้นต่อไปก็จะต้องแกะให้เป็นลวดลาย  โดยการใช้มีดขูดหรือมีดแกะซึ่งทำจากใบเลื่อยตัดเหล็ก  ปลายแหลมมีคมแกะหรือตัดเป็นรูปตัวหนังพร้อมทั้งใช้ตุ๊ดตู่ชนิดต่าง ๆ แกะเป็นลวดลายไปพร้อม ๆ กัน

การแกะลวดลายของตัวหนังส่วนมากจะใช้ตุ๊ดตู่ มีด สิ่ง และกรรไกร ประกอบกันไป

การแกะตัวหนังอาจแกะทีละตัวหรือวางซ้อนกันครั้งละ 2 ตัว หรือมากกว่าก็ได้ แล้วแต่ความหนาบางของหนัง  เมื่อแกะเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ถ้าต้องการจะให้ตัวหนังมีสีสันก็สามารถใช้สีชนิดต่าง ๆ ระบายลงไปได้  สีที่ใช้ระบายตัวหนังแต่โบราณมักจะใช้สีผสมขมิ้นระบาย  แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สีวิทยาศาสตร์ เช่น สีน้ำมัน สีหมึก ระบาย ซึ่งสะดวกกว่าสีแบบโบราณ

นอกเหนือจากการตกแต่งระบานสีแล้ว  จะต้องต่อเติมแขนขาและอวัยวะส่วนที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้  โดยใช้ไม้ไผ่ชิ้นเล็ก ๆ เป็นก้านเชิด  ตัวหนังที่สามารถชักให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้มากมักเป็นพวกตัวตลก  แต่ถ้าเป็นตัวเอกมักจะมีเพียงไม้ขนาบกลางตัวสำหรับให้ผู้เชิดจับอันหนึ่ง  กับอีกอันหนึ่งเป็นไม้สำหรับชักให้แขนขาตัวหนังเคลื่อนไหวเท่านั้น

ตัวหนังตะลุงที่ทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะเป็นรูปโปร่งแสง  และตัวหนังโบราณมักจะมีตัวหนังตามตัวละคอนในเรื่องรามเกียรติ์เป็นส่วนมาก หรืออาจจะมีตัวตลกเพิ่มเข้ามาอีกตัวหรือสองตัวเป็นตัวชูโรง  แต่ปัจจุบันการทำตัวหนังตะลุงได้พัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม  เพื่อให้เข้ากับความนิยมของชาวบ้านจึงมีตัวหนังใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เจ้าเมือง มนุษย์ โจร ต้นไม้  และสัตว์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

การทำตัวหนังในปัจจุบันได้พัฒนาวิธีการไปจากโบราณ  เพื่อต้องการให้สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น เช่น การใช้วิธีการทาบตัวหนังที่แกะเสร็จแล้วลงบนแผ่นหนัง  แล้วพ่นสีให้เกิดเป็นรอยตัวหนังลงบนแผ่นหนัง  แทนการลอกด้วยกระดาษ ซึ่งวิธีพ่นสีนี้ทำได้รวดเร็วกว่า และการแกะลวดลายของตัวหนังก็เช่นกัน มักจะใช้แผ่นหนังวางซ้อน 2-3 แผ่น  ซึ่งจะช่วยให้แกะเพียงครั้งเดียวได้หนังถึง 2 หรือ 3 ตัว  ทำให้สามารถผลิตตัวหนังได้รวดเร็วขึ้น

การทำตัวหนังตะลุงในภาคใต้ในปัจจุบันนี้มีทำกันหลายแห่งในหลายจังหวัด แต่การทำตัวหนังที่ประณีต  สวยงามถูกต้องตามลักษณะของตัวหนังตะลุงโบราณนั้นมีอยู่ไม่มาก  และแม้แต่ในเมืองนครศรีธรรมราช  จะมีการทำตัวหนังเป็นอุตสาหกรรมย่อย ๆ อยู่หลายแห่งก็ตาม  แต่ที่มีฝีมือดีนั้นจะหายาก

และในจำนวนช่างแกะตัวหนังฝีมือดีซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก  นายวิโรจน์  รอดเอียด  ก็เป็นคนหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นช่างแกะตัวหนังตะลุงตามแบบพื้นบ้านของเมืองนครศรีธรรมราชที่น่าสนใจ

 

เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?

เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?

พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์

พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์  อายุ ๓๗ ปี เป็นชาวอุตรดิตถ์ ได้รับปริญญาตรีทางโบราณคดี  จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐  แล้วเข้ารับราชการเป็นนักโบราณคดีประจำกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ครั้นเมื่อเจดีย์พระธาตุพนมล้ม  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘  จึงได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้เป็นนักโบราณคดี  ไปควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์ด้วย

รบกันแน่แต่ได้สร้างเจดีย์

มีเอกสารทางประวัติศาสตร์อยู่ ๔ ฉบับที่สนับสนุนข้อสงสัยดังกล่าวแล้วของผู้เขียนคือ

พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์  ซึ่งเป็นพงศาวดารที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้นักปราชญ์ในราชสำนักเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารต่าง ๆ ในหอหลวง

พระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวถึงแต่สถานที่ ๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา  แต่พงศาวดารก็มิได้กล่าวว่า พระองค์ได้ทรงสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น

อย่างไรก็ตาม การที่พงศาวดารฉบับนี้เพียงฉบับเดียวมิได้กล่าวถึงและถึงแม้ว่าจะเป็นพงศาวดารฉบับที่มีความโดยทั่วไปน่าเชื่อถือมากที่สุดก็ตาม  ก็มิได้เป็นข้อพิสูจน์อย่างเพียงพอว่า  จะไม่มีเจดีย์ยุทธหัตถีแต่อาจเป็นเพราะสาเหตุอื่น ๆ ได้ นานัปการ นับตั้งแต่เป็นเพราะผู้เรียบเรียงลืมจดลงไป…หรือเพราะเขาไม่เห็นความสำคัญที่จะจดลงไปก็ได้  จึงจำเป็นที่จะต้องหาเอกสารอื่นมาสนับสนุนเพิ่มเติม

คำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด  เอกสารสองฉบับนี้  ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเลอะเลือนและแปรปรวนมาก  แต่ในด้านที่จะแสดงให้เห็นถึงความรู้เกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถีของ่ชาวกรุงศรีอยุธยาในสมัยเสียกรุงครั้งที่สองนั้น  การนำเอกสารสองฉบับนี้มาอ้างอิงก็มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

เอกสารทั้งสองฉบับได้เล่าเรื่องการทำยุทธหัตถีของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์โดยพิสดาร  และจบลงด้วยพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์และบอกเครื่องหมายตามธรรมชาติที่มีอยู่ในสถานที่ ๆ กระทำยุทธหัตถีนั้นแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า เรื่องราวการต่อสู้ของวีรบุรุษในครั้งนั้นได้ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาเป็นเวลานานจนถึงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึง ๑๗๖ ปี

แต่ก็น่าแปลกใจที่เอกสารทั้งสองฉบับมิได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ด้วยเลย  ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน

หนังสือนิทานโบราณคดี  พระนิพนธ์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้กล่าวเรื่องราวตอนที่พระยาสุพรรณบุรี (อี่  กรรณสูต) ไปพบเจดีย์สร้าง  ซึ่งสมเด็จกรม ฯ พระยาดำรงราชานุภาพทรงเข้าพระทัยว่า

“….พระยาสุพรรณ ฯ ได้ออกไปที่ตำบลนั้น  สืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ  พวกชาวบ้านบอกว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกว่า “ดอนพระเจดีย์” องค์หนึ่ง พระยาสุพรรณ ฯ ถามต่อไปว่า เป็นพระเจดีย์ของใครสร้างไว้  รู้หรือไม่  พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง  เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า “พระนเรศวร ฯ กับพระมหาอุปราชาชนช้างกันที่ตรงนั้น”

เมื่อพิจารณาความตอนนี้ให้ดีจะเห็นว่าในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เช่นกันที่คนไทยยังมีความทรงจำเรื่องการกระทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี  แต่หากว่าไม่มีความรู้เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีเลย

กล่าวโดยสรุป  จากเอกสารต่างสมัยกันทั้ง ๔ ฉบับ แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าคนไทย ในสมัยต่าง ๆ คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ และสมัยตอนต้นของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งในแต่ละช่วงเกือบ ๒๐๐ ปีนี้เรื่องราวการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชายังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยและชอบที่จะเล่าเรื่องราวนั้นมาโดยตลอด  แต่ขณะเดียวกัน เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีก็กลับไม่อยู่ในความทรงจำของเขาเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันและมีพยานในทางสถานที่อยู่ด้วย  แต่ก็กลับลืมเสียไม่รู้จัก  นับเป็นเหตุผลที่พอเพียงทีเดียวที่จะกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะในความเป็นจริงนั้นสมเด็จพระนเรศวรไม่เคยที่จะทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ ณ ที่ใดเลย

 

ขันโตก : ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ขันโตกดินเนอร์”

ขันโตก : ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ขันโตกดินเนอร์”

โดย  วิลี พานิชพันธ์ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ  ซึ่งนับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีงาม เหมาะสมกับสภาวะของชาติที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน

แต่บ่อยครั้งที่การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูนี้มักจะกระทำโดยการขาดความรู้ความเข้าใจ  โดยทำกันอย่างลวก ๆ ตามยุคสมัยนิยม ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวแล้ว  ยังสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเพณีวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย

บทความนี้ผู้เขียนต้องการเสนอแนะความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยง “ขันโตกดินเนอร์” ซึ่งเป็นประเพณีแบบใหม่อย่างหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นประเพณีของเมืองเหนือหรือของชาวลานนามาช้านาน

ถ้าพิจารณาคำว่า “ขันโตกดินเนอร์” ให้ดีแล้วก็จะเห็นได้ว่าคำ ๆ นี้มิได้เป็นคำในภาษาท้องถิ่นลานนาแต่ดั้งเดิม แต่เป็นคำศัพท์ใหม่ซึ่งประยุกต์ขึ้นจากคำในภาษาถิ่นลานนาว่า “ขันโตก” กับคำว่า “ดินเนอร์” ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ

คนต่างถิ่นส่วนมากที่มาเยี่ยมเยียนภาคเหนืองของประเทศไทย มักจะได้รับการต้อนรับจากเจ้าถิ่นด้วยการเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์  โดยมีการบอกเล่าว่นี่คือประเพณีการต้อนรับแขกแบบดั้งเดิม

คำบอกเล่าดังกล่าวนี้คือข้อมูลที่ผิดพลาดที่ถูกนำไปเผยแพร่จนกระทั่งเรียกว่ากู่ไม่กลับ ชาวลานนาหรือคนพื้นเมืองทางเหนือเองตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยายมาไม่เคยรู้จักคำว่า “ขันโตกดินเนอร์” และเพิ่งได้มารู้เห็นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

ฉะนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องขันโตกดินเนอร์กันเสียใหม่ เพื่อที่จะได้ลดความเข้าใจผิด และการเผยแพร่วัฒนธรรมแบบบิดเบือนให้น้อยลง

จากประสบการณ์และความรู้ทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านลานนาของผู้เขียนที่มีอยู่ การเลี้ยงขันโตกนั้นคือการเลี้ยงอาหารทั่ว ๆ ไปในงานทำบุญไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่วัด การทำอาหารประเภทไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแขกที่มาทำงานและทุนทรัพย์ของเจ้าภาพ  แต่โดยหลักแล้วมักจะเป็นอาหารที่พิเศษกว่าโภชนาการปกติตามบ้านเพราะถือว่าเป็นงานเลี้ยง เช่นว่า มีกับข้าวหลาย ๆ อย่าง มีเนื้อสัตว์มากขึ้น หรือว่าวิธีการปรุงที่พิถีพิถันกว่าอาหารที่กินอยู่ประจำวัน

ตามธรรมดาชาวบ้านทางเหนือจะมีกับข้าวมื้อละอย่างหรือสองอย่าง  ซึ่งประกอบขึ้นด้วยผักและแป้งเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์หรือโปรตีนมากนัก อาหารขันโตกนั้นมักจะใส่ในถ้วยก้นลึก บางครั้งมีฝาครอบเพื่อรักษาความสะอาด คนทางเหนือไม่นิยมใช้จาน  เพราะเมื่อวางขันโตกแล้วจะเกะกะกินที่ จานข้าวก็ไม่ใช้ เพราะส่วนใหญ่กินข้าวเหนียวจากก่องข้าว ที่สานด้วยไม้ไผ่

ตัวขันโตกนั้นจะมีลักษณะเป็นถาดไม้แผ่นใหญ่กลม ๆ มีขาสูงประมาณหนึ่งคืบตกแต่งด้วยการกลึงให้สวยงามพอประมาณ ทำหน้าที่เป็นทั้งถาดและโต๊ะอาหารเล็ก ๆ ซึ่งทำให้สะดวกรวดเร็วในการจัดวางสำรับอาหารบนพื้นตามประเพณีการกินอยู่แบบไทย

การกินโตกนั้นก็ไม่มีพิธีรีตรองอะไรมากมาย  ในสมัยเดิมเมื่อถึงเวลาอาหารซึ่งโดยมากจะเป็นอาหารกลางวัน  เพราะคนไทยไม่นิยมทำบุญกลางคืนกัน(ยกเว้นงานศพ) เจ้าภาพก็จะยกอาหารใส่ขันโตกเป็นสำรับออกมาวางเป็นชุด ๆ ให้ห่างกันพอสมควรที่จะให้คนล้อมวงรับประทานโดยไม่เบียดเสียดจนเกินไป  ซึ่งจะมีจำนวนคนประมาณ ๔-๖ คนต่อหนึ่งโตก

ของคู่เคียงกับสำรับโตกคือ คนโฑดินเผาใส่น้ำดื่ม ขันน้ำเล็ก ๆ สำหรับใช้ดื่มน้ำ กระโถนรองรับเศษอาหาร และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือพานเมี่ยงและบุหรี่สำหรับหลังอาหาร

“ก่องข้าว” เป็นคำภาษาถิ่นลานนาเทียบได้กับคำว่า “กล่องข้าว” บางท้องถิ่นเรียกว่า “แอ๊บข้าว”, “ปุ๊กข้าว” หากเทียบกับคำภาษาถิ่นอีสานก็คือ “กระติ๊บข้าว” นั่นเอง

ในงานบุญบางงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัด  ถ้ามีช่างฟ้อนและวงดนตรีพื้นเมือง เขาก็มักจะจัดให้มีการแสดงในช่วงนี้ซึ่งถือว่าเป็นการบันเทิงและแสดงศิลปะการฟ้อนตลอดจนความงามของเด็กสาวช่างฟ้อน  เมื่อรับประทานเสร็จก็เคี้ยวเมี่ยง สูบบุหรี่ คุยกันไปตามอัธยาศัย เป็นอันว่าเสร็จสิ้นการเลี้ยงขันโตก

งานเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์ในปัจจุบันได้กำเนิดมาจากอาจารย์ไกรศรี นิมานเหมินท์  ผู้ซึ่งได้มีความคิดริเริ่มประยุกต์เอางานเลี้ยงโตกแบบชาวบ้านมาเลี้ยงต้อนรับให้เกียรติแก่อาคันตุกะต่างแดนเมื่อประมาณยี่สิบปีเศษมานี้เอง

ความคิดริเริ่มอันนี้ได้วางแบบแผนงานขันโตกดินเนอร์ มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ซึ่งส่วนมากเข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของทางเหนือ  แม้กระทั่งชาวลานนารุ่นใหม่เองก็คิดว่าเป็นเช่นนั้น

เดิมทีทางภาคเหนือเองไม่มีประเพณีการเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารค่ำ แต่เมื่อจำเป็นต้องเอาการกินโตกซึ่งปกติเป็นอาหารกลางวันมาต้อนรับแขกเมืองในตอนค่ำ ก็เลยมีการเติมคำว่า “ดินเนอร์” เข้าไปกับ “ขันโตก” ตามแบบสากลนิยม

การแต่งกาย สำหรับงานขันโตกดินเนอร์ ปัจจุบันก็พยายามเลือกลักษณะที่ดูเผิน ๆ แล้วให้เป็นแบบทางเหนือได้พอสมควร เช่น สตรีก็จะแต่งตัวลักษณะคล้ายช่างฟ้อน คือนุ่งผ้าซิ่นลายขวาง ใส่เสื้อแขนกระบอกรัดรูปสีลูกกวาด ห่มสไบสีตัดกับเสื้อและเกล้ามวยแบบต่าง ๆ ส่วนสุภาพบุรุษก็จะใส่เสื้อม่อฮ่อมกางเกงม่อฮ่อม ตามแบบชาวนา ชาวสวนทางเหนือ คาดเอวด้วยผ้าขาวม้าลายตาหมากรุกจากโบ๊เบ๊ ถ่ายรูปออกมาแล้วมีสีสันหลากตาดี ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่เป้าหมายของงานที่ถือว่าเป็นการให้เกียรติกันนั้น ก็ค่อนข้างจะไม่ตรงกับประเพณีดั้งเดิมเท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะการแต่งตัวเพื่อให้เกียรติของชาวลานนาที่ทำกันมาแต่โบราณ คือการใส่เสื้อขาว และห่มผ้าสไบขาว ทั้งหญิงและชาย ผ้าซิ่นก็ต้องต่อตีนจกเพื่อเป็นการแต่งเต็มยศ

การใส่เสื้อม่อฮ่อมคาดผ้าขาวม้านั้นคือการออกไปทำงานในไร่สวนกัน มิใช่เป็นการให้เกียรติต่อผู้ใดแต่อย่างใด

การแห่ขันโตกด้วยดนตรี และช่างฟ้อน ประดับด้วยแสงเทียนระยิบระยับนั้นได้ประยุกต์มาจากการแห่ครัวทานหรือเครื่องไทยทานไปวัด เป็นบรรยากาศที่ดูแล้วตื่นตาตื่นใจคล้าย ๆ กับการเสริฟอาหารขั้นโต๊ะแบบฝั่งผสมชาวเกาะเล็กน้อย  สามารถสร้างความประทับใจให้แก่อาคันตุกะได้ดีพอสมควร

อาหารที่ใช้รับประทานตามแบบขันโตกดินเนอร์นั้นก็มีลักษณะที่แปลกไปจากกินโตกแต่เดิมมาก เช่น รายการอาหารจะต้องเป็นอาหารทางเหนือชนิดปรับปรุงให้สอดคล้องกับรสลิ้นของคนต่างถิ่น คือ แกงฮังเล(Burmese Curry) น้ำพริกอ่อง (Meat sauce for spaghetti, Burmese Style) จิ๊นทอด (Pork chop) หรือ ผักกะหล่ำ (Chop suey)

อาหารเหล่านี้ จะเรียกว่าเป็นอาหารแบบฉบับทางเหนือที่แท้จริงก็พอได้ แต่ไม่สนิทใจนัก เพราะนานทีปีหน คนทางเหนืออาจจะได้รับประทานสักทีหนึ่ง  ซึ่งต่างจากแกงหยวกกล้วย แกงหน่อไม้ใส่ชะอม ไข่มดแดง น้ำพริกหนุ่มใส่ปลาร้า ผักลวก ลาบควายที่นิยมกันตามพื้นบ้านจริง ๆ และอาจจะเป็นที่น่าสะอิดสะเอียนของชาวถิ่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขึ้นโตกแล้ว ถ่ายรูปไม่สวย

นอกจากนี้ปัจจุบันผู้นั่งกินขันโตกดินเนอร์แต่ละท่านอาจมีจานกระเบื้องอย่างดีพร้อมด้วยช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ และแก้วเครื่องดื่ม ซึ่งมักจะเกะกะเรี่ยราดอยู่รอบ ๆ โตกอาหาร ระบบช้อนกลางแบบผู้ดีรับประทานอาหารก็ถูกนำมาใช้บนขันโตกอย่างประดักประเดิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กินกับข้าวเหนียว คนโฑใส่น้ำ และพานเมี่ยง บุหรี่ เป็นของประดับคู่กับขันโตกไป ไม่ได้ถูกใช้จริง ๆ บางทีก็มีขันน้ำอะลูมิเนียมใส่น้ำลอยดอกมะลิมาไว้สำหรับล้างมือหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วด้วย  และก็ไม่แปลกใจที่บางครั้ง อาคันตุกะจากภาคกลางของไทยยกน้ำล้างมือขึ้นมาซด โดยที่นึกว่าเป็นน้ำสำหรับใช้ดื่ม

การฟ้อนรำ และการละเล่นเพื่อให้แขกชมไประหว่างรับประทานอาหารส่วนใหญ่ก็ได้มาจากแบบพื้นบ้านบ้าง ราชสำนักบ้าง ผสมผเสเข้าไปให้เกิดลักษณะคล้าย ๆ กับแนวความคิดของงานแสดงใน Restaurant-Theatre แถว Las Vegas

การจุดดอกไม้ไฟ ซึ่งแต่เดิมจะจุดกันในงานสมโภชวัดวาอารามหรืองานศพก็ถูกนำมาแสดงเพื่อสร้างความระทึกใจให้แก่แขกที่มาร่วมงาน การรำวงแบบภาคกลาง ซึ่งไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเพณีวัฒนธรรมภาคเหนือเลยก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการปิดท้ายรายการ ขันโตกดินเนอร์ไป

เท่าที่กล่าวมานี้ ก็มิได้มีเป้าหมายที่จะยับยั้งงานประเพณีขันโตกดินเนอร์แต่อย่างใด เพราะขันโตกดินเนอร์นั้นได้ก่อให้เกิดสิ่งดีงาม และประโยชน์ขึ้นหลายอย่างหลายประการ อย่างน้อยก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวเหนือจำนวนมากที่มีความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่น หรือไม่ก็เรียกร้องความสนใจในแง่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ข้อสำคัญที่ควรตระหนักถึงก็คือ งานเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์นั้นมิได้เป็นประเพณีดั้งเดิมของทางเหนือของไทย แต่ว่าเป็นการประยุกต์จากประเพณีกินโตกมาอีกทีหนึ่ง พร้อมกับเพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปอีกมากมาย ผสมปนเปออกมาเป็นแบบหัวมังกุท้ายมังกร

บางทีก็เข้าท่า แต่บางทีก็เละเทะน่าเกลียด เช่น ชุดผู้หญิงใส่ซิ่นผ้าไหมมัดหมี่แหวกสูงถึงสะโพก และระบำชาวเขาปลอมทำนองระบำจ้ำบ๊ะ ซึ่งทำให้ภาพพจน์เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางเหนือผิดเพี้ยนไป และขาดความีสุนทรีย โดยสิ้นเชิง

เพลงพื้นบ้าน:กลอนเพลงปฎิพากย์

กลอนเพลงปฎิพากย์

สุกัญญา  ภัทราชัย

เพลงปฏิพากย์ คือ เพลงพื้นบ้านประเภทที่ชายหญิงร้องโต้ตอบกันในเชิงเกี้ยวพาราสี มีจุดเด่นอยู่ที่โวหารต่าง ๆ ที่นำมาปะทะคารมกัน  โวหารเหล่านี้บางครั้งก็แฝงนัยทางเพศอันเป็นเสน่ห์ของเพลงประเภทนี้

เพลงปฏิพากย์ ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงในบทความนี้ จำกัดวงอยู่เฉพาะเพลงปฏิพากย์ของภาคกลาง อันได้แก่ เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย ซึ่งเป็นเพลงหลักของเพลงปฏิพากย์ชนิดอื่น ๆ  และยังเป็นเพลงครูซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงส่วนใหญ่หัดกันเป็นเพลงแรก

กลอนหัวเดียว:

กลอนไล กลอนลา กลอนลี กลอนลูด ฯลฯ

เพลงพื้นบ้านร้อยคำขึ้นมาจากลักษณะคำประพันธ์ที่คนไทยเรียกว่า กลอนเพลง

กลอนเพลงที่ใช้แต่งเพลงปฏิพากย์นี้เรียกกัยว่า “กลอนหัวเดียว”

กลอนหัวเดียว มีลักษณะอย่างไร?

กลอนหัวเดียว ก็คือ กลอนที่ลงท้านด้วยสระเสียงเดียวกันไปเรื่อย ๆ เช่น

กลอนไล ก็จะเป็นกลอนที่มีคำสุดท้ายของวรรคหลังลงด้วย สระไอ ทุกคำกลอน

กลอนลา คำสุดท้ายของวรรคหลังก็ลงด้วย สระอา

ดังตัวอย่าง

กลอนไล

ธรรมเนียมออกป่าละต้องชมนก            ว่าธรรมเนียมเข้ารก ละก็ต้องชมไม้

ก็นั่นยี่โถกระถิน ซ่อนกลิ่นมีถม             ก็โน่นแน่ะต้นลั่นทม อยู่ในเมืองไทย

ต้นทองสองต้นขึ้นอยู่ข้างทาง                 ก็ลอบเข้าถากเข้าถาง ว่าจะปลูกไปขาย

ทั้งใต้ต้นกระท้อน มีทั้งดงกระทือ           พี่ขี้เกียจจะถือ ทั้งแม่จะถอนเอาไป

โน่นแน่ะต้นกระเบา ขึ้นอยู่ที่คันบ่อ        ต้นบัวรูบ๋อ มันอยู่ในบ่อหนึ่งใบ

อุ๊ยในบ่อมีบอนจะตัดแบกไปบ้าน                   แกงกินเสียให้บาน เชียวนะตะไท ฯลฯ

(เพลงฉ่อย  สำนวนพ่อเผื่อน  โพธิ์ภักดิ์)

กลอนลา

จะยกบายศรีขึ้นสี่มุม                            ลูกจะไหว้พระภูมิที่มา

ไหว้ทั้งแม่เข้าเจ้า ทั้งพ่อข้าวเหนียว         เสียแหละเมื่อลูกนี้เกี่ยวกันมา

ลูกจะไหว้แม่โพสพ                              สิบนิ้วนอบนบ นิ้วหน้า

ขอให้มาเป็นมงคล มาสวมบนเกศา       กันแต่เมื่อเวลานี้เอย

(กลอนไหว้ครูเพลงเรือ สำนวนแม่บัวผัน   วงษ์งาม)

นอกจากกลอนไล กลอนลา  ซึ่งเป็นกลอนหลักแล้ว ยังมีกลอนอื่น ๆ อีก ดังจะได้ยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้

กลอนลี

โอ้แม่งามเจริญ สวยเหลือเกินผู้หญิง      ฉันยอมไปไกลจริง ถึงแม่โยทินี

แต่แรกที่คิด จิตพี่ก็รัก                           มันเบือนบ่ายย้ายยัก  มันไม่ตั้งพอที่

ให้หนักแน่นแสนรัก จะพิศพักตร์ผุดผ่อง เหมือนจันทรสองส่อง อยู่ในทวีปทั้งสี่

ชลนัยน์ไหลร่วง จิตห่างใจห่อ                นี่จะไม่รั้งไม่รอ เชียวหรือแม่เนื้อสองสี

กลอนลัว

หญิง – ถอยพ่อถอย น้ำค้างยางข่อย     มันจะย้อยหยดหัว

หน้าพี่จะมืดตามัว                     ไปหมดทั้งตัวชายเอย

ชาย –  จะเป็นภู่วู่วาม                          จะชมเกษรเสียให้ทั่ว

แต่พอน้ำค้างย้อยหมด               เหล็กไนก็หยดออกหัวขั้ว

น้ำย้อยหยดหดตัว                     อยู่ที่ตัวนางเอย

(เพลงเกี่ยวข้าว สำนวนหลวงพ่อพร้อม)

กลอนลัน

จะหยุดหน่วงช้าหน่วง เสียเลยแม่พวงซะพอ  เจ้าช่อมะกอกดอกมะละกอ จำไว้จะว่า กลอนลัน

ได้ลูกกลม ๆ เขาเรียกมะนาว       ไอ้ที่ลูกยาว ๆ เขาเรียกมะดัน

ให้น้องแม่เป็นน้ำปลา                 จะได้งัดเอามาจิ้มกัน

น้องจิ้มด้วย พี่ก็จิ้มด้วย               จิ้มกันให้ปากถ้วยเป็นมัน เอ่ชา….

กลอนแชะ

บอกว่าวันนี้มาเจอกันเข้า                               เจอแม่มะพร้าว จำแพะ

เปรียบเหมือนกระรอกเที่ยวซอกเที่ยวซอน        อดหลับอดนอนเสียจนตาแฉะ

คราวนี้เอาตีนเขี่ย ที่หัวขั้ว                               น้ำในไหลรั่ว หยดแมะ

คราวนี้กระรอกผลุบเข้าผลุบออก                     เล่นเอาหัวถลอกแตกแยะ

กลอนติ๊ด

ก็ดูแต่ตูดเข็มยังมาสน                 เขากลัวตูดก้นมันจะติด

เอาขี้สนิมมันกิน ขี้สนิมมันพอก   จะลอกหัวมันดูสักนิด

แม่อึ่งอ่างจัญไร โดดไล่คางคก      งูเขียวโดดตก ตุ๊กแกติด

นั่นฤาษีเป็นลมหกล้มกระมัง       เลยเอาหัวไปตำก้อนอิฐ

กลอนลูด

บอกว่าผมเอาดีไปเป็นยา                      นึกว่าได้ฟาดกะตู๊ด

มันกุมโรคกุมภัย กุมได้หลายเท่า           กุมทั้งเครื่องศาสตรา อาวุธ

คราวนี้มันมาแทงเข้ามันก็ไม่ตาย           เป็นความสบายอยู่ที่ตู๊ด

(สำนวนกลอน พ่อเผื่อน  โพธิ์ภักดิ์)

นอกจากนี้แล้วยังมีกลอนอื่น ๆ อีก สุดแท้แต่ใครจะประดิษฐ์ขึ้นมา  ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว  แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือกลอนพื้นบ้านของเรานั้น  สัมผัสคล้องจองกันที่เสียงสระมิใช่ที่รูปสระ ดังจะพบว่า แม้ใน กลอนไล เสียงสระจะใช้ได้ทั้ง ใล-ไล-ลาย ดังตัวอย่าง

เห็นหัวเราแล้วแลมแลม              อยู่ที่ข้างกอแขม แล้วไรไร

แม่ก็เดินกระชด แม่ก็เดินกระช้อย แม่ก็เดินยิ้มน้อย แม่ก็เดินยิ้มใหญ่

เห็นหัวคนแม่จะทำไม่เห็น           จะเหยียบหัวมันเล่นแล้วให้ตาย

(เพลงอีแซว สำนวนนายชั้น  แดงทองคำ)

หรือ กลอนลัน ก็เช่นกัน ใช้ได้ทั้งเสียงสระสั้น-ยาว

จะแจ้งความไปตามอรรถ            พระเจ้าให้ตรัสสมาทาน

เกิดมังสังขึ้นมาก่อน                             เกิดในอุทรโตเท่ากำปั้น

เกิดนัยน์ตาขึ้นมาก่อน                ขมองอ่อนเกิดเรือนทวาร

พระอธิษธังท่านตั้งแต่ง               ไว้ห้าแห่งครบครัน

ดังนั้น ความไพเราะ คล้องจองของบทกลอนขึ้นอยู่กับเรื่องของเสียงเป็นสำคัญ

ขอไม่ให้แพ้เพลงต้น                   ขอไม่ให้จนเพลงด่า

ตลอดจนชักกลอนลา        เชียวนะกลอนไล

ในบทไหว้ครูเพลงฉ่อย  แม่เพลงร้อง ขอไม่ให้แพ้เพลงต้นและขอไม่ให้จนเพลงด่า

ไม่ให้จนเพลงด่า ก็คือ ขอให้ปฏิภาณสามารถยกสำนวนโวหารมาโต้ตอบกับฝ่ายชายได้เป็นการเอาชนะกันที่เนื้อความ

ส่วน ไม่ให้แพ้เพลงต้น นั้นเป็นเรื่องของการ “ชักกลอน” หรือเอาแพ้เอาชนะกันที่ตัวกลอนโดยเฉพาะ

การประดิษฐ์กลอนชนิดต่าง ๆ ขึ้นมามากมายของพ่อเพลงแม่เพลงมิใช่เพื่อสร้างความหลายหลากเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงการแข่งขันว่าใครจะเจ้าบทเจ้ากลอนมากกว่ากัน  ใครจะมีลูกเล่นยักเยื้องคำ ใครจะเป็นนายของภาษามากกว่ากัน

ในการเล่นเพลงฉ่อย  เมื่อร้องบทไหว้ครู ชาย-หญิง จบแล้ว จะเข้าสู่บทเกริ่น  ตอนนี้เรียกกันว่า “ทอดกลอนไล” เมื่อคอต้นร้องจบ คอสองจะร้องต่อด้วยกลอนชนิดต่าง ๆ เช่น กลอนลี กลอนลัว ต่อจากนั้นคอสามจะต่อกลอนอื่น อาจเป็นกลอนลันก็ได้ต่อไปอีกจนครบคนร้องฝ่ายชาย เสร็จแล้วฝ่ายหญิงจะร้องเกริ่นโต้ตอบจนครบทุกคนเช่นกัน

ส่วนเพลงเกี่ยวข้าวยาวหรือเต้นกำ  เมื่อจบบทเกริ่นแล้ว ฝ่ายหญิงจะขึ้นก่อน ยกกลอนนำโดยทั่วไปจะใช้กลอนไล 3 จบ แล้วเปลี่ยนเป็นกลอนอื่น  ฝ่ายชายจะต้องว่ากลอนตามให้ได้  ถ้าว่าตามไม่ทันก็ถือว่าแพ้ ฉะนั้น พ่อเพลงแม่เพลงรุ่นก่อนจึงต้องมีกลอนเด็ดเอาไว้ปราบคู่ต่อสู้  เช่นที่มหากวีสุนทรภู่มีกลอนอีนอันลือเลื่อง

จังหวะ:

ตัวกำหนดจำนวนคำในกลอนเพลงปฏิพากย์

บทร้อยกรองพื้นบ้านมีลักษณะเด่นที่จำนวนคำ  และสัมผัสที่ไม่กำหนดตายตัวแน่นอน  หลักเกณฑ์นี้เป็นหลักของศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งเป็นอิสระจากกรอบกฎเกณฑ์ที่ลงตัวอันต่างจากศิลปะที่เกิดขึ้นจากราชสำนัก

กลอนเพลงปฏิพากย์ก็เช่นเดียวกัน  นอกจากกลอนชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จำนวนคำในกลอนก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

กลอนเพลงโดยทั่วไปเกิดขึ้นจากการร้อยคำ 6-10 คำ เข้าด้วยกันในแต่ละวรรค  ดังนั้นหนึ่งคำกลอน : วรรคหน้าและวรรคท้ายอาจมีคำรวมกันได้ถึง 20 คำ วรรคหน้าอาจแบ่งคำได้เป็น 4/3, 4/4, 5/3, 5/4 และวรรคหลังแบ่งเป็น 4/3, 4/4, 5/2, 5/3, 5/4, 5/5 แต่ละวรรคอาจมีเพียง 6 คำ หรือยึดไปถึง 10 คำก็ได้สุดแต่ผู้ร้องจะร้องให้พอดีกับจังหวะที่ลง

จังหวะจึงเป็นตัวกำหนดจำนวนคำในกลอนเพลง เช่นเพลงเรือบทข้างล่างนี้

กลอนแรก วรรคหน้าร้องรวดทีเดียว 9 คำ วรรคหลัง 6/2

กลอนที่ 2 วรรคหน้า 5/6 วรรคหลัง 5/5

กลอนที่ 3 วรรคหน้า 6/5 วรรคหลัง 5/3

ทางโน้นก็ดีว่าทางนี้ก็ดี  ให้เลิกรากันเสียที(ฮ้าไฮ้) เป็นไร

บอกว่าพี่เป็นชาย ก็เปรียบเหมือนเม็ดข้าวเปลือก ผู้หญิงยอมให้เสือก ได้ท่าก็เข้าใส่

น้องเป็นตายพี่ไม่จาก จะขอฝากชีวา มอดม้วยมรณา ไม่ไปไหน

(เพลงเรือ สำนวนพ่อไสว  วงษ์งาม)

ดังนั้น  จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่กลอนเพลงชนิดหนึ่งจะใช้กลอนชุดเดียวกันร้องได้ทั้งเพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงอีแซว เพลงระบำบ้านนา เพลงพวงมาลัย ฯลฯ เพียงแต่จับจังหวะของแต่ละเพลงให้ได้เท่านั้น  ก็สามารถยักย้ายกลอนร้องได้ทุกเพลง

เรื่องของเสียงและจังหวะจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของกลอนเพลงปฏิพากย์!

 

 

 

อาวุธ:อีแดงพะเลิง

อีแดงพะเลิงไม่ใช่ช้าง

ในกระบวนศิลาจารึกของกรุงสุโขทัยด้วยกันแล้ว ไม่มีจารึกหลักใดที่จะมีความสำคัญ สนุกสนาน ตื่นเต้น โลดโผน เท่าศิลาจารึกหลักที่ ๒ ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม

ศิลาจารึกหลักนี้ได้เผยโฉมหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยให้มีอายุสูงย้อนหลังขึ้นไปอีกหนึ่งราชวงศ์  โดยได้เปิดเผยให้ทราบว่าก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะได้สถาปนาราชวงศ์พระร่วง  หรือราชวงศ์บางยางขึ้นที่กรุงสุโขทัยนั้น  ประเทศไทยในครั้งกระนั้นมีราชวงศ์ของพ่อขุนศรีนาวนัมถมปกครองอยู่ก่อนแล้ว

ศิลาจารึกหลักนี้เปิดเผยให้เราได้รู้จักพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด  พระราชบุตรของพ่อขุนศรีนาวนัมถมและเป็นพระราชบุตรเขยของผีฟ้าเมืองศรีโสธรปุระ พระราชบิดาของนางศิขรมหาเทวี  และพ่อขุนผาเมืองเป็นผู้อภิเสกพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยางพระสหายของพระองค์  ให้ขึ้นเป็นประมุขของชนชาติไทย  โดยให้ทรงใช้พระนามศรีอินทรบดิทราทิตย์ ซึ่งเป็นพระนามของพระองค์เองสืบไป

ศิลาจารึกหลักนี้  ได้กล่าวเน้นถึงลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อพ่อขุนรามราชปราชญรู้ธรรม ก่อพระศรีรัตน์ในศรีสัชชนาลัยและหลานพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อธรรมราชา

เนื้อความส่วนใหญ่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ นี้ เป็นเรื่องราวของสมเด็จพระมหาเถรศรีสรัธาราชจุลามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามิเป็นเจ้า  ผู้เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง และเป็นบุตรของพระยาคำแหงพระราม แทบทั้งสิ้น

ในศิลาจารึกหลักนี้มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งในด้านที่หนึ่งบรรทัดที่ ๘-๑๘ ซึ่งไม่ค่อยมีความสำคัญนัก  เป็นเรื่องราวกล่าวถึงความเก่งกล้าสามารถของพ่อขุนศรีนาวนัมถม  ว่าท่านเป็นผู้สร้างนครสองอัน  อันหนึ่งชื่อนครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีสัชชนาลัย เนื่องจากท่านเป็นผู้รู้วังช้างแกล้วกล้า

แต่เดิมมาท่านผู้รู้ผู้ใฝ่ใจในการอ่านศิลาจารึกปักใจเชื่อว่า  ท่านพ่อขุนศรีนาวนัมถมท่านขี่ช้างชื่อ อีแดงพะเลิง  เที่ยวปราบบ้านแปรงเมือง ราบคาบจากเมืองแถงตลอดทั่วถึงกรุงสุโขทัย

แม้ท่านผู้รู้หลายท่านจะมีความตะขิดตะขวงใจในวรรคที่ว่า อีแดงพะเลิงใหญ่ประมาณเท่าบาตร  อยู่ตลอดมา  แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีท่านผู้ใดแสดงความตะขิดตะขวงใจออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้แน่ชัด  จนกระทั่งนายไมเคิล ไรท์  ได้แสดงความกังขาออกมาอย่างชัดแจ้งในเรื่องปริศนาศิลาจารึกวัดศรีชุมที่ลงพิมพ์ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒ เล่มที่ ๑(๑๓) ว่า

อีแดงพะเลิงใหญ่ประมาณเท่าบาตรคือใคร? หรือเป็นตัวอะไร?

แม้อีแดงพะเลิง จะไม่มีความสำคัญอะไรมากนัก  แต่ก็ทำให้เกิดความรำคาญใจอยู่เนือง ๆ และเพื่อที่จะขจัดความรำคาญอันนี้ให้สิ้นไป  จึงขอเสนอให้ทราบไว้ในที่นี้ว่าอีแดงพะเลิงไม่ใช่ช้างหรือสัตว์อื่นใดทั้งสิ้น

ในศิลาจารึกหน้า ๑ บรรทัดที่ ๑๗ ได้จารึกไว้อย่างชัดเจนว่า –หัวช้างด้วยอีแดงพะเลิง  เป็นการชี้ชัดลงไปว่า เวลาที่พ่อขุนนาวนัมถมท่านออกไปทำการรบพุ่งนั้น ท่านมีอาวุธสำคัญชนิดหนึ่งบันทุกไปบนหัวช้าง และอาวุธพิเศษนี้ชื่อว่าอีแดงพะเลิง

ในบรรทัดที่ ๑๘ ก็บอกไว้ชัดเจนว่า อีแดงพะเลองใหญ่ประมาณเท่าบาตร  หาได้บอกว่าช้างที่ท่านขี่ไปนั้นมีหัวโตเท่าบาตรไม่

เมื่ออีแดงพะเลิงไม่ใช่ช้าง แต่เป็นอาวุธที่บันทุกไปบนหัวช้างและมีขนาดโตเท่าบาตรฉะนี้ อีแดงพะเลิงจึงน่าจะเป็นอาวุธจำพวกปืนไฟอย่างแน่นอน

ด้วยความเก่งกล้าสามารถของท่านพ่อขุนศรีนาวนัมถม  ประกอบกับความร้ายแรงของอีแดงพะเลิงนี้เอง  ผีฟ้าเมืองศรีโสธรปุระจึงต้องขอเป็นพันธมิตรอันใกล้ชิด  โดยยอมยกนางศิขรมหาเทวีให้เป็นทองแผ่นเดียวกับ พ่อขุนผาเมืองพระราชบุตรของท่านนั้นเลยทีเดียว

นายแพทย์ถนอมศักดิ์  ถาวรธนสาร

ก. ๓๙ อ.เสนา

พระนครศรีอยุธยา

 

 

วัดเศวตฉัตร : วัดบางลำภูล่าง

วัดเศวตฉัตร

แต่ก่อนนี้เรียกกันว่า “วัดบางลำภูล่าง” เพราะที่แถวนั้นมันเป็นบางลำภูล่าง ที่มีคำ “ล่าง” เพราะมันเกิดมีสองลำภู และลำภูนี้มันอยู่ตอนล่างของแม่น้ำ  จึงเรียกว่า บางลำภูล่าง

ส่วนบางลำภูบนนั้นก็คือ บางลำภูวัดบวรฯ  ซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำ และ “วัดบางลำภูบน” นั้นก็คือ วัดสังเวชฯ

ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ก่อนนี้เต็มไปด้วยต้นลำภูทั้งนั้น  เวลากลางคืนละก็สว่างวับไปด้วยแสงหิ่งห้อย  แต่ตรงบางลำภูสองบางนี้หนาแน่นกว่าที่อื่นจึงตั้งเป็นชื่อบาง ดังปรากฎในนิราศทวารวดีของนายฤกษ์

“ออกคลองบางลำภูดูวะวับ

หิ่งห้อยจับพฤกษ์แจ่มแอร่มหาว

เหมือนแหวนเพ็ชรเม็ดพร่างสว่างพราว

ของเจ้าสาวแน่งน้อยสอดก้อยกร”

ลำภู  เป็นคำสองคำผสมกันคือ “ลำ” กับ “ภู”

อะไรที่มันเป็นแท่งหรือท่อน ยาว ๆ กลม ๆ เราเรียก ลำ เช่น ลำไม้ไผ่ ลำแขน

ภู  ก็คือ อะไรที่ปูด ๆ หนูด ๆ ขึ้นมาสูงกว่าที่อื่น อย่างเช่น เขา (ภาคกลางเราเรียกเป็นคำคู่ว่า “ภูเขา”)

ต้นไม้ชนิดนี้มันมีรากผุดขึ้นมาจากดินเหมือนเขา  แต่มันไม่ใหญ่และไม่กว้างอย่างเขา มันเป็นลำเรียว ฉะนั้นเขาจึงเรียกมันว่า “ลำภู”

ถ้าจะดูเอกสารเก่า ๆ ว่า ลำภูหรือ “บางลำภู” เขาเขียนอย่างไร ? ก็จะพบว่าเขาเขียน “ลำภู” อย่างนี้ทั้งนั้น เป็นต้น ทำเนียบนาม ตำนานวังเก่า ตำนานเสนาบดี จดหมายเหตุความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2478

ฉะนั้นใครอย่าได้ไปเปลี่ยน ถ้าจะเปลี่ยนก็จงเปลี่ยนคำ “ภู” ที่ภูเขาเสียด้วย เพราะเป็นคำเดียวกัน

ต้นลำภูนั้นคู่กับหิ่งห้อย  สังเกตดูเถอะ มีต้นลำภูที่ไหนก็มีหิ่งห้อยที่นั่น บางต้นก็มากเสียจนสว่างยังกะไฟเฉลิมเมื่อเวลากลางคืน

มีนิทานเก่าเล่ากันมาว่า เจ้าหนุ่มหิ่งห้อยไปรักลูกสาวต้นลำภู  ต้นลำภูก็บอกว่า  ถ้าถอนลูกสาวข้า (ต้นลำภู) ให้ขึ้นก่อนแล้วข้าจะให้

ฉะนั้นที่เราเห็นต้นลำภูแดงวาบ ๆในเวลากลางคืนนั้นไม่ใช่อะไร  หิ่งห้อยมันกำลังถอนต้นลำภูนั้นเอง  มันออกแรงถอนจนดากแพล็มออกมา  และตราบที่ต้นลำภูยังไม่ขึ้น  มันก็ยังถอนอยู่อย่างนั้น เพราะมันรักลูกสาวเจ้าลำภูอยู่

นี่ก็เป็นเรื่องในอดีตเหมือนกัน จึงรวมมาเข้าชุดไว้ โบราณนั้นเขาอธิบายอะไรไม่ได้เขาก็ต้องเล่าเป็นนิทานแบบนี้ละครับ  แต่สิ่งหนึ่งที่เขารู้แน่ก็คือหิ่งห้อยมันจะต้องอยู่คู่ต้นลำภู มีต้นลำภูแล้วต้องมีหิ่งห้อย

วัดบางลำภูล่างนี้ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1  ท่านสร้างครับ จึงได้นามพระราชทานว่า “เศวตฉัตร” เพราะพระนามเดิมของท่านคือพระองค์เจ้าชายฉัตร

ราชสกุล “ฉัตรกุล” น่ะขึ้นต้นที่พระองค์นี้

ท่าเรือ โอ.เค.ซิกกาแร็ต

ท่าเรือ โอ.เค.ซิกกาแร็ต

ลำเลิกอดีต

ท่าเรือคลองเตย  หรือว่าท่าเรือปากคลองพระโขนงนั้นจะสร้างเมื่อไหร่ผมก็ไม่ทราบ  แต่ว่าเมื่อสงครามนั้น  สิ่งต่าง ๆ เป็นต้นว่าออฟฟิศและโกดังนั้นมันมีอยู่แล้ว

และที่ที่เป็นท่าเรืออยู่นี้นั้น  แต่เดิมเป็นวัดสามวัด คือ วัดบ้านเหล้า, วัดเงิน, วัดทอง เมื่อรื้อวัดสามวัดแล้วก็มารวมสร้างใช้หนี้วัดเดียวคือวัดธาตุทอง

กรรมการที่สร้างท่าเรือนั้นก็ล้วนแต่เป็นคนในคลองพระโขนงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงรู้ลู่ทางดี ขนาดญี่ปุ่นเดินยามก๊อก ๆ อยู่หน้าโกดัง  แต่ของในโกดังก็หายได้

ก็จะไม่หายได้ยังไงล่ะครับ  เพราะว่าใต้โกดังนั้นมันเป็นโพรง  และมีฝาเปิดขึ้นไปในโกดังได้  แล้วใต้โกดังนั้นก็มีท่อใหญ่ ๆ สูบขนาดครึ่งตัวคนลอดออกทางคลองข้างหลังโกดัง

เวลาน้ำขึ้นท่อนี้ไม่เห็นหรอก  แต่เวลาน้ำลดซิ เอาเรือเข้าไปจอดเทียบลำเลียงของออกมาได้อย่างสบาย  เท่าไหร่ก็หมด

เมื่อสมัยสงครามนั้น  ขโมยของญี่ปุ่นกันสนุกจริง ๆ ครับ  รู้สึกว่ามิได้สะทกสะท้านอะไรเลย  ขนาดมันถือปืนเดินก๊อก ๆ ให้เห็นก็ยังไม่กลัว  กลางวันแสก ๆ น่ะครับ  ไปขโมยไม้มันต่อหน้า มันยกปืนจ้องมาก็หลบ  พอมันเผลอก็เข้าไปดึงมา มันยิงก็หมอบต่ำเสีย  ถ้ามันเดินมาใกล้ก็ว่ายข้ามฝั่งหนี

ที่บางอ้อ (ซึ่งเป็นคลังซัมมิทปัจจุบัน) เขากลิ้งน้ำมันลงแม่น้ำกันเป็นถัง ๆ แล้วว่ายน้ำพาน้ำมันมาสองถังต่อคน

เมื่อญี่ปุ่นอยู่ที่ท่าเรือนั้นพวกแม่ค้าแม่ขาย  ไปขายของกับญี่ปุ่น พูดญี่ปุ่นกันคล่อง ๆ ทุกคน  พอญี่ปุ่นไปฝรั่งเข้ามายิ่งดีหนัก สมกับที่เพลงปรบไก่ว่า

“เมื่อยุคไอ้ยุ่นแม่คุณอะลิงกะโต้

บ้างก็ร้องไชโย โอโฮโย่บานไซ

พอญี่ปุ่นให้หลังฝรั่งเข้ามา

แม่ก็ส่งภาษายู ๆ ไอ ๆ”

เมื่อแรกก็ขายแต่ของกิน  แต่ตอนหลังเกิดพ่อค้าหัวใสขนอีตัวไปจากกรุงเทพฯ

พ่อคุณเอ๋ย  ก็ที่ทางที่ไหนมันจะมีล่ะที่ท่าเรือนั่นน่ะ  มีแต่ลานแจ้ง ๆ ก็ฉลองมันทั้งแจ้ง ๆ กลางลานนั่นแหละ  อาศัยความมืดเป็นฉากกำบังเอา ทำเช่นนี้อยู่ได้สัก 5 วันหรืออาทิตย์หนึ่งมั้ง  เกิดเหตุก็ถูกห้าม  ไม่ให้ใครขึ้นเขื่อนขึ้นท่าเลย  ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เรือจะจอดเข้าไปก็ไม่ได้มียามคอยกวดขัน

ไม่เป็นไรมีทางแก้  ใช้วิธีลอยเรือเล่นรัก พอยามเผลอก็แวะเข้าไปรับออกมาลอยกลางน้ำ  เสร็จแล้วเข้าไปส่งขึ้นฝั่ง เรือก็ใช้แจว เรือจ้างนี่แหละ แต่เอาหลังคาออก เพื่อว่าจะได้ส่งสัญญาณหรือเห็นสินค้ากันได้ง่าย  แจวเรือเกร่ไปเกร่มา  ฉายไฟแว็บ ๆ ประเดี๋ยวก็มีไฟฉายกราดมาจากบนฝั่ง กวาดหาตัวผู้หญิง พอพบก็นิ่งอยู่ครู่แล้วถาม “เฮามัช-เฮามัช” ทางนี้ก็ยกซองบุหรี่ขึ้นให้ดู  ปากก็พูด “ซิกกาแร็ต-ซิกกาแร็ต” พร้อมกับกางมืออีกข้างเป็นห้านิ้ว  หมายถึงบุหรี่ห้าซอง  ถ้าตกลงฝรั่งก็จะตอบ “โอ.เค.ซิกกาแร็ต” คำ โอ.เค.ซิกกาแร็ตก็เกิดขึ้นด้วยเหตุฉะนี้

สมัยนั้นเขาไม่เอาเงินกันหรอกครับ เขาเอาเป็นบุหรี่  เพราะบุหรี่ฝรั่งกำลังขายดี ขายง่ายได้ราคา  เพราะเป็นที่อดอยากมานานปี  ก็พวกเพลเยอร์-นาวีคัตนี่แหละครับ  ยิ่งเป็นอย่างซองใหญ่ ๆ ยิ่งดี

สมัยนั้นขายกันอย่างต่ำก็ซองละ 10 บาทแน่ะครับ

10 บาทสมัยนั้นไม่ใช่เล่น ๆ นะครับ บุหรี่ไทยตราฆ้อง  ยังซองละแค่ 6 สลึง 2 บาทเท่านั้น

สุดท้ายนี้ผมขอจบที่วัดเกาะ  เพราะมีผู้ต่อว่ามาว่า “ซ่องละก็บรรยายได้ละเอียดยืดยาว ที่วัดละก็หุบเงียบ ฉะนั้นผมก็จะเทศน์ใช้หนี้

วัดเกาะเป็นวัดเก่า มีชื่อเต็มว่า “เกาะแก้วลังการาม”  พระสัมพันธวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี  ได้มาสถาปนาในรัชกาลที่ 1  จึงได้นามพระราชทานว่าวัดสัมพันธวงศ์

เจ้าฟ้าองค์นี้พระนามเดิมว่า จุ้ย เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 5 ในกรมพระศรีสุดารักษ์เชษฐภคินี  ในรัชกาลที่ 1 เป็นผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์  ได้แต่งตำราโหราศาสตร์ไว้เล่มหนึ่ง  เป็นที่นิยมกันมาทุกยุคทุกสมัย  คือ ลิลิตทักษาพยากรณ์  เป็นผู้เชี่ยวชาญการละคอน  ในสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านได้ประดิษฐ์ท่าละคอนไว้หลายท่า เป็นผู้คิดเกรินรอกกว้าน  สำหรับชักพระบรมศพขึ้นสู่เมรุ  ซึ่งยังใช้ในงานพระเมรุอยู่จนปัจจุบัน

ประสูติแต่ครั้งธนบุรี  มาสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2 ต้นสกุลมนตรีกุล

 

ออกพระวิสุทธสุนธร(โกษาปาน)

ออกพระวิสุทธสุนธร(โกษาปาน)

จากหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

คำบรรยาย ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส มีความดังนี้

“ท่านออกพระวิสุทธสุนธรราชทูต  เอกอัครราชทูตพิเศษแห่งพระมหากษัตริย์สยามในประเทศฝรั่งเศส กิตติศัพท์ชัยชนะของพระเจ้าอยู่หัวโด่งดังเลื่องลือแผ่กระจายออกไปโดยฝูงชนถ้วนทั่วหน้า  กษัตริย์สยามผู้อยู่ปลายสุดแห่งสากลโลกทรงได้ทราบข่าว  จึงทรงตระหนักว่าควรจะได้แสดงความปีติยินดีที่ทรงมีต่อการนี้ให้เป็นที่ปรากฎ  ได้ทรงเลือกเสนาบดีผู้ซึ่งคุณวุฒิปรากฎเด่นชัดท่านนี้ให้เป็นผู้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสสรรเสริญไปสู่พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นคริสต์ศาสนิกชนยิ่ง และอัญเชิญของพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงอำนาจที่สุดในแถบมหาสมุทรอินเดียมาถวายพระเจ้าอยู่หัว ท่านลงเรือ ณ สันดอนประเทศสยาม เมื่อปี ค.ศ.๑๖๘๕ มาถึงประเทสฝรั่งเศสและได้เข้าเฝ้าฯ จนเป็นที่เลื่องลือกันเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ค.ศ.๑๖๘๖ พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานการต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นเดียวกับทางราชสำนัก  ท่านผู้นี้มีชาติกำเนิดอันสูงส่งด้วยเป็นน้องชายของพระคลัง  ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีคนก่อนแห่งพระมหากษัตริย์สยาม

วาดขึ้นตามรูปลักษณ์ที่แท้จริง โดย T. Hainzelman ถนน Galande ใกล้จตุรัส Maubert ติดกับ Crolx blanche ปารีส โดยได้รับพระบรมราชานุญาต”

เพียงฤทัย  ตันติธีรวิทย์  ผู้แปล

ประเพณีลอยกระทงของภาคต่าง ๆ

ประเพณีลอยกระทงของภาคต่าง ๆ

ลอยกระทงพายัพ  หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำพิธี ๓ วัน ในเดือนยี่เปง(คือเพ็ญเดือนยี่ ตรงกับเดือน ๑๒ ของภาคกลาง เพราะการนับเดือนของภาคนี้เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)  โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันจ่าย  วันขึ้น ๑๔ ค่ำ  เป็นวันทำบุญและวันทำกระทง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันลอยกระทง

กระทงที่ลอยแบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด คือ กระทงของเจ้าผู้ครองนครและบริพาร กระทงใหญ่และกระทงเล็ก

กระทงของเจ้าผู้ครองนครและบริพารเป็นกระทงที่ทำขึ้นส่วนหนึ่งต่างหาก  และจะลอยก่อนกระทงของทางวัดและประชาชน  กระทงที่เจ้าครองนครและบริพารนำไปลอยนี้เรียกกันว่ากระทงลอยประทีป เป็นปฐมฤกษ์

กระทงใหญ่ เป็นกระทงที่วัดใหญ่ ๆ ในละแวกหมู่บ้านที่ทางวัดและชาวบ้านช่วยกันทำ โดยทำเป็นรูปเรือตั้งไว้ตรงลานวัด แล้วชาวบ้านนำเสบียงกรัง มีข้าวสาร น้ำตาล เป็นต้น มาใส่ไว้ในกระทงนอกจากนี้ก็มี ไม้ขีดไฟ เทียนไข ผ้าห่มกันหนาว และของอื่น ๆ อีก โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการทำทานเมื่อถึงเวลาลอยกระทงก็พากันแห่แหนมาทางเรือกันอย่างสนุกสนาน  พร้อมทั้งกระทงเล็ก ๆ อันเป็นของส่วนตัวซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

กระทงเล็ก ส่วนมากทำด้วยกาบมะพร้าวเป็นรูปต่าง ๆ เป็นของส่วนตัวของชาวบ้าน ในกระทงเล็ก ๆ เหล่านี้ จะมีกล้วย อ้อยใส่ลงไปด้วย ชาวบ้านจะนำกระทงเล็ก ๆ ไปพร้อมกับกระทงใหญ่

การลอยกระทงของชาวพายัพดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะบูชาพระอุปคุต ซึ่งชาวพายัพพากันนับถือมาก และว่าพระอุปคุตบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก  นอกจากนี้ก็ถือว่า เป็นการลอยทุกข์โศกโรคภัยและบาปต่าง ๆ ให้ไปเสีย

มีประเพณีที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องลอยกระทงทางภาคพายัพ ก็คือ การทำบุญที่วัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำนั้น ชาวบ้านจะนำขนมเทียนที่ทำขึ้นสำหรับงานนี้ไปแจกกันตามบ้านต่าง ๆ เวลาค่ำเด็กผู้หญิงจะนำช่อดอกไม้ช่อเล็ก ๆ ไปให้ผู้ใหญ่ที่รักษาอุโบสถศีลที่วัด ส่วนเด็กผู้ชายทำกระทงเล็ก ๆ และเตรียมประทัดไปจุด พอตกเย็นชาวบ้านจะนำผางประทีปหรือกระทงประทีปที่ทำด้วยดินเผาขนาดถ้วยตะไลเล็ก ๆ ที่มีขี้ผึ้งกับน้ำมันมะพร้าวใส่ไว้โดยมีด้ายขวั้นเป็นไส้เอาไปวัดเวลาค่ำ  ผางประทีปเหล่านี้จะนำไปจุดไว้ที่หน้าพระประธานในอุโบสถ  หากไม่สามารถจุดได้หมด ก็นำกลับมาจุดบูชาที่หิ้งพระตามบ้าน การจุดประทีปในผางประทีบดังกล่าวนี้ ชาวบ้านถือกันว่าสำคัญมาก หากไม่จุดพวกยักษ์จะมาเอาหัวไป

ลอยกระทงภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เอาหยวกกล้วยมาทำเป็นกระทงขนาดใหญ่ กล่าวคือ เอาหยวกกล้วยทั้งต้นมาต่อกันโดยใช้ไม้เสียบยาวหลายวา วางขนานเป็นสองแถว ห่างกันพอประมาณ แล้วเอาไม้ปักเป็นเสาบนหยวกกล้วยเป็นระยะ ๆ บนปลายเสาทำเป็นรูปเรือหรือรูปพระยานาค แล้วเอาผ้าชุบน้ำมันยางจุดบนปลายไม้ข้าง ๆ เป็นระยะ ๆ หรือไม่ก็จุดได้ หยวกกล้วยที่นำมาต่อขนานไว้นั้นเป็นเหมือนหุ่นให้เรือหรือพระยานาคลอยอยู่ กระทงแบบนี้วัดในตำบลหนึ่ง ๆ จะทำกระทงหนึ่ง แล้วพากันลากไปทางเหนือน้ำจอดไว้ทั้งสองฝั่ง เวลาเย็นชาวบ้านก็พากันลงเรือมาชุมนุมร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน จนถึงเวลาค่ำ จึงพากันเอาเชือกมายกกระทงบากไปปล่อยกลางน้ำ พอกระทงลอยไปลับตาแล้วจึงพากันกลับบ้าน

ลอยกระทงภาคใต้

พิธีลอยกระทงของชาวภาคใต้ เอาหยวกกล้วยมาทำเป็นแพ บรรจุเครื่องอาหารแล้วลอยไป แต่มีข้อน่าสังเกตก็คือ การลอยกระทงทางภาคใต้ดังกล่าวนี้ ไม่มีกำหนดว่าเป็นกลางเดือน ๑๒ หรือเดือน ๑๑ ดังกล่าวแล้ว แต่จะลอยเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บ ดังนี้ ก็เพื่อให้หายโรคภัยไข้เจ็บที่ตนเป็นอยู่ ทำนองพิธีอาพาธพินาศและเรื่องเสียกบาล

ส่วนของที่บรรจุในกระทงนั้น บางแห่งว่ามีอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ แต่บางแห่งว่าไม่ได้บรรจุอะไร  มีแต่ดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น และเรียกการลอยกระทงนี้ว่า “ไหลเรือ”

เรื่องของการลอยกระทงของภาคอีสานนี้ก็คือ ส่วนมากจะทำในจังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำโขง และลอยกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ นอกจากนี้ยังมีรวงข้าวอ่อนผูกไว้ด้วย  แล้วเอากระทงไปวางไว้เฉย ๆ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้

เก็บความจากหนังสือ เรื่องเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ของเสฐียรโกเศศ

บักกลิ้งล้อ:กีฬาทางภาคอีสาน

บักกลิ้งล้อ

บักกลิ้งล้อ เป็นเกมส์กีฬาที่นิยมเล่นในภาคอีสานโดยเฉพาะ  เด็กเยาวชนชอบเล่นกีฬาประเภทนี้มาก ในปัจจุบันแทบจะหาดูไม่ได้อีกแล้ว

สถานที่เล่น ลานกว้าง หรือสนามหญ้าขนาดเท่าสนามฟุตบอลก็ได้

ผู้เล่น เล่นได้ทีละหลาย ๆ คน แล้วแต่สถานที่ ถ้ามีผู้เล่นมากก็อาจจะแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๕-๑๐ คน แล้วเอาที่ ๑-๓ มาแข่งชิงชนะเลิศอีกครั้งก็ได้

อุปกรณ์การเล่น ใช้ลำไม้ไผ่หรือไม้อะไรก็ได้ ผ่าซีกแล้วทำเพลาใส่ล้อเข้า ๒ ล้อ สูงขนาดเท่ากับคนขับก็ได้

วิธีเล่น แต่ละคนนำบักกลิ้งล้อของตนเองเข้าประจำที่หลังเส้นเริ่ม (เส้นเริ่มจะห่างจากเส้นชัยประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร)  เมื่อได้ยินสัญญาณทุกคนก็ไสบักกลิ้งล้อของตนเองไปให้ถึงเส้นชัยให้เร็วที่สุด ใครถึงก่อนก็ชนะที่ ๑-๒-๓ ตามลำดับ