พระราชพิธีสงกรานต์

สงกรานต์ตามตำราโหราศาสตร์คือพระอาทิตย์ยกจะย่างขึ้นสู่ราศีใหม่ ไทยสมัยโบราณนับในเดือนปีทางจันทรคติและใช้ปีเป็นจุลศักราช ถือคตินับขึ้นปีใหม่ในวันเปลี่ยนปีที่เรียกว่าเถลิงศกสงกรานต์ ขึ้นจุลศักราช ซึ่งจะอยู่ในวันที่อาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ จะตกในระหว่างวันที่ พระราชพิธีสงกรานต์๑๕-๑๖ เมษายน เทศกาลเถลิงศกเริ่มตั้งแต่ วันที่ ๑๓ เมษายน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวิธีนับวันเดือนปีเป็นทางสุริยคติ ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของทุกปี ส่วนประเพณีการบำเพ็ญกุศลสงกรานต์ยังคงมีอยู่

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖ โปรดเกล้าฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือนํ้าพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกัน เรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน และถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นงานพระราชพิธีสงกรานต์ที่เคยมีในวันที่ ๑๓ เมษายน จึงงดเพราะไปมีในงานพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ดังกล่าว

พระราชพิธีตรุษนั้นมีราชประเพณีบำเพ็ญพระราชกุศลมาแต่โบราณ เพราะตรุษเป็นเทศกาล นักขัตฤกษ์สิ้นปี โบราณถือเป็นประเพณีว่าชีวิตได้ผ่านพ้นมาได้หนึ่งปีด้วยความผาสุกสวัสดี ชาวไทยได้รับคตินับถือพุทธศาสนาเมื่อถึงวันตรุษจึงมีการรื่นเริงส่งปีเก่าและทำบุประกอบการกุศลตามประเพณีของชาวพุทธ พระราชพิธีตรุษมีปรากฏในเรื่องของนางนพมาศ ความว่า

“เดือน ๔ การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โลกสมมติว่า ตรุษ ชาวพนักงานตั้งบาตรนํ้ามนต์ทราย จับด้ายมงคลสูตรใส่ลังไว้ในโรงพระราชพิธี ทั้งสี่ทิศพระนครและในพระราชนิเวศน์ อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานอาราธนาพระมหาเถระผลัดเปลี่ยนกันมาจำเริญพระปริตในโรงพระราชพิธีทุกตำบลสิ้นทิวาราตรีสามวาร และด้ายมงคลสูตรนั้น ชาวพนักงานแจกพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เมื่อวันพระมหาเถระเจ้าจำเริญพระอาฏานาฏิยสูตรในราตรี เหล่าทหารยิงปืนใหญ่รอบพระนคร พราหมณาจารย์ประชุมกันผูกพรตกระทำพระราชพิธีในเทวสถานหลวง ตั้งเครื่องพลีกรรมสังเวย บวงสรวงพระเทวรูปทั้งมวล มีพระปรเมศวร เป็นต้น แล้วก็เปลี่ยนเวรกันอ่านอาคมในทิวาราตรีทั้งสาม….”

พระราชพิธีตรุษในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ตอนต้นจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ รวมเป็นพระราชพิธีเดียวกับสงกรานต์ มีหลักการพระราชพิธีคล้ายสมัยสุโขทัยตามเรื่องของนางนพมาศ เว้นแต่บางปีเมื่อพระราชโอรสธิดาของพระมหากษัตริย์เจริญพระชนมายุที่จะโสกันต์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ ในงานพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ในวันแรกที่มีการสวดมนต์

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ ๑ มกราคม การพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์จึงเปลี่ยนไปเรียกว่า พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ มีรายการบำเพ็ญพระราชกุศล คือ

วันที่ ๓๑ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

วันที่ ๑ มกราคม เวลา ๑๐ นาทีกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิสมเด็จพระบรมวงศ์

วันนี้มีการลงชื่อถวายพระพรที่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๑๐ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๖ นาฬิกา

วันที่ ๒ มกราคม เวลา ๙ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงนํ้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปสำคัญ ปูชนียสถาน และสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวร และพระอัฐิพระราชวงศ์ที่หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ แต่ยังทรงพระเยาว์ เสด็จไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ให้ฟื้นฟูราชประเพณี พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เทศกาลสงกรานต์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พระราชพิธีสงกรานต์ มีรายการบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณีสงกรานต์ ดังนี้

วันที่ ๑๓ เมษายน เวลาเช้า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ ๑๕๐ รูปเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาตามเจดีย์สถานต่างๆ ดังนี้

ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ในการพระราชพิธีสงกรานต์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเครื่องราชสักการะ มีต้นไม้ทอง ๔ ต้น ต้นไม้เงิน ๔ ต้น แพรแดงติดขลิบ ๔ ผืน ผ้าแพรดอก ๒ ผืน เทียนหนักเล่มละ ๑๘๐ กรัม ๔๘ เล่ม ธูปไม้ระกำ ๔๘ ดอก นํ้าหอมสรงพระ ๒ หม้อ เทียนหนักเล่มละ ๑๕ กรัม ๖๐๐ เล่ม ธูป ๒๐ กล่อง สำหรับทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยนำไปบูชาพระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุนครศรีธรรมราช พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปถ้ำประทุน พระพุทธรูปถ้ำวิมานจักรี พระพุทธ
รูปวัดพนัญเชิง พระพุทธรูปวัดสุวรรณดาราราม

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

จบแล้ว เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่าย สรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปสรงนํ้าปูชนียวัตถุตามเจดีย์สถานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ ๑๔ เมษายน เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๖๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้ว ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระมหามณเฑียร สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุราลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่อง นมัสการแล้ว เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงนํ้าพระบรมอัฐิ พระอิฐแล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ ทรงจุดธูปเทียนครื่องนมัสการพระสงฆ์ ๖๙ รูปถวายพรพระแล้ว ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระอัฐิขึ้นพระเสลี่ยง มีตำรวจหลวงนำ ๔ นาย ออกจากประตูสนามราชกิจ ไปประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และบนพระที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น ขณะเชิญพระโกศพนักงานประโคมสังข์ แตร กลองชนะ จนประดิษฐานเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิและทรงทอดผ้าคู่พระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จฯกลับ

วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ไปยังหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงทอดผ้าคู่พระบรมอัฐิ พระสงฆ์ ๕ รูปสดับปกรณ์แล้ว ทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก ๔๐ รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสงกรานต์เพียงวันเดียว ในวันที่ ๑๕ เมษายน โดยถือหลักการพระราชพิธีเดิมดังนี้

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลาเช้า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ ๑๕๐ รูปเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตที่ในพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สรงนํ้าพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุราลัยพิมานทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ แล้วสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ เสร็จแล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๗๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้ว ทรงประเคนภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิขึ้นพระเสลี่ยง มีตำรวจหลวงนำ ๔ นาย ออกจากประตูสนามราชกิจไปประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และบนพระที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น ขณะเชิญพระโกศพนักงานประโคมสังข์ แตร กรองชนะ จนประดิษฐานเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่พระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ และพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินกลับ

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาเจดีย์สถานต่างๆ แล้ว เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จไปสรงนํ้าปูชนียวัตถุตามเจดีย์ สถานในพระอารามนี้คือ หอพระดันธารราษฎร์ หอราชกรมานุสร หอราชพงศานุสร พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป พระวิหารยอด แล้วเสด็จเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงทอดผ้า พระสงฆ์ ๕ รูป สดับปกรณ์ แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก ๔๐ รูปสดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เป็นเสร็จการ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบปรกติขาว

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช

พระสยามเทวาธิราชเป็นเทพที่พระมหากษัตริย์และปวงชนชาวไทยนับถือว่าเป็นเทพที่ทรงคุ้มครองรักษาประเทศไทย เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบหรือจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ก็จะวิงวอนขอให้พระสยามเทวาธิราชคุ้มครองประเทศชาติให้รอดพ้นอันตราย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่าพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช เมืองไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นมาได้เสมอ ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้นไว้สักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการทรงปั้นรูปพระสยามเทวาธิราชแล้วหล่อขึ้น ลักษณะเป็นเทวรูปยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระ สถิตในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีนแปลความว่า ที่สิงสถิตแห่งพระสยามเททธิราช ประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งทรงธรรม ในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายเครื่องสังเวยสักการะเป็นประจำวัน แต่เครื่องสังเวยประจำวันจัดเป็นเครื่องอย่างน้อย (แบบเครื่องเซ่น)

พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นแล้วทรงพระราชดำริว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ มีการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน เพราะในเทศกาลตรุษจีนชาวจีนได้นำสุกร เป็ด ไก่ มาถวายเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดให้มีการพระราชกุศลเลี้ยงพระในเทศกาลตรุษจีน ณ พระตำหนักแพ ท่าราชวรดิษฐ์ เป็นงาน ๓ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าฝ่ายในและภรรยาข้าราชการจัดเรือขนมจีนมาโดยเสด็จพระราชกุศลในการเลี้ยงพระ แล้วพระราชทาน เลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการด้วย

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า การพระราชกุศล เลี้ยงพระตรุษจีนและเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ประเพณีของจีน เป็นแต่ทำในเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงทำเกาเหลาเลี้ยงพระแทนขนมจีน ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ณ ตำหนักแพ ท่าราชวรดิษฐ์ และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเทวรูปพระสรัสวดีหรือพระพราหฺมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑ เจว็ดมุกในหอแก้วพระภูมิ พร้อมกับเชิญพระสยามเทวาธิราชไปตั้งประดิษฐาน เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนตั้งเครื่องสังเวยตลอด ๓ วัน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของไทยนั้น ตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือว่าวันปีใหม่เป็นวันรื่นเริง มีการเลี้ยงฉลอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสังเวยเทวดา สมโภชเครื่องเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ ทำนองเดียวกับการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชออกไปตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมเชิญเทวรูปกับเจว็ดมุกที่หอแก้วพระภูมิไปตั้งด้วย มีเครื่องสังเวยโต๊ะจีน ๓ โต๊ะ เวลาเช้าทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาคํ่าทรงสังเวยพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีละครหลวงเล่นสมโภช แล้วพระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและชาวต่างประเทศ

ภายหลังในปีต่อๆ มา การพระราชทานเลี้ยงและการสังเวยพระสยามเทวาธิราชในวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ มีผู้มาเฝ้าฯ ในงานน้อย จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังเวยพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งทรงธรรมเพียงอย่างเดียว มีเครื่องสังเวยและละครหลวงสมโภช

เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้รอหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร รวมทั้งพระที่นั่งทรงธรรมด้วย (คือบริเวณสวนศิวาลัยในปัจจุบันนี้) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่พระวิมาน ๓ มุข ซึ่งกั้นเป็นลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ที่จะออกสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนเครื่องสังเวยที่เคยถวายเป็นประจำวันนั้นคงถวายเฉพาะวันอังคารและวันเสาร์

พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชได้เป็นราชประเพณีสืบต่อมาจนในรัชกาลปัจจุบันเมื่อถึงวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญพระสยามเทวาธิราช เทวรูปพระสรัสวดี หรือพระพราหฺมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑ จากพระวิมานลงมาประดิษฐานที่โต๊ะ สังเวยหน้าพระวิมาน และเชิญเทวรูปพระอิศวรองค์ใหญ่ เจว็ดมุกรูปพระภูมิเจ้าที่กับเจว็ดมุกรูปเจ้ากรุง พาลีจากหอแก้วพระภูมิมาประดิษฐานที่โต๊ะร่วมสังเวยด้วย

เครื่องสังเวยประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน องุ่น มะตูมเชื่อม มะพร้าวอ่อน กล้วยหอมจันทน์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม ดอกไม้ ธูป เทียนทอง \ เทียนเงิน

เวลา ๑๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชและทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย เสร็จแล้วเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนบูชาเทวดาและทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวยเทวดากลางหาว (เหมือนกับเครื่องสังเวย พระสยามเทวาธิราช) ที่โต๊ะหน้าหอพระสุราลัยพิมาน ขณะที่ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชและทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะเครื่องสังเวยเทวดานั้น ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์ทำเพลงสาธุการ ศิลปินกรมศิลปากรรำถวายมือ จบแล้วแสดงละคร ครั้นแสดงจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานรางวัลแก่ผู้แสดง แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

เมื่อธูปที่จุดปักไว้ ณ เครื่องสังเวยหมดดอกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวยและเชิญพระสยามเทวาธิราช เทวรูปพระสรัสวดีหรือพระพราหฺมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑขึ้นสถิตบนพระวิมานตามเดิม และเชิญเทวรูปพระอิศวรองค์ใหญ่กับเจว็ดมุกรูปพระภูมิเจ้าที่และเจว็ดมุกรูป เจ้ากรุงพาลีกลับไปประดิษฐานที่หอแก้วพระภูมิตามเดิม

อนึ่ง พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชนี้ หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เสด็จพระราชดำเนิน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสธิดา หรือพระบรมวงศ์เสด็จแทนพระองค์

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระแก้วมรกต นั้น เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ เซนติเมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระรัศมี ๖๖ เซนติเมตร พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จไปปราบปรามความไม่พระแก้วมรกตเรียบร้อยในแคว้นลานช้าง จึงได้เชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาจากนครเวียงจันทน์ มาถึงกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ ภายหลังพระองค์ได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี จึงโปรดให้ย้ายพระนครและสร้างพระราชฐานใหม่ พร้อมกันนี้ได้โปรดให้สร้างวัดไว้ในพระราชฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งได้มีพิธีแห่ข้ามฟากจากกรุงธนบุรีมาประดิษฐาน ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชศรัทธา ทรงสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝนได้เสด็จไปถวายเป็นพุทธบูชา จึงเป็นราชประเพณีเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรปีละ ๒ ฤดู แต่นั้นมา

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงสร้างเครื่องทรงฤดูหนาวถวายเป็นพุทธบูชาอีกฤดูหนึ่ง จึงมีเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเปลี่ยนตามฤดูกาลมาจนปัจจุบัน คือ
วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๔ เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวเป็นเครื่องทรงฤดูร้อน วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๘ เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อนเป็นเครื่องทรงฤดูฝน
วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เปลี่ยนเครื่องทรงฤดูฝนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว

เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน เป็นเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชรและมณีต่างๆ มงกุฎที่ทรงเป็นเทริด ยอดประดับเพชรเม็ดใหญ่

เครื่องทรงสำหรับฤดูฝน ทรงอย่างห่มดอง ใช้ทองคำทำเป็นกาบจำหลักลายทรงข้าวบิณฑ์ ประดับมณีต่างๆ เมื่อประกอบเข้ากับองค์พระแล้วก็เหมือนผ้าทรงอย่างห่มดอง พระศกศิราภรณ์ ทำด้วยทองคำลงยาสีนํ้าเงินแก่ ปลายพระเกศาที่เวียนเป็นทักษิณาวรรตประดับด้วยมณีเม็ดย่อมๆ ทั่วไป พระรัศมีลงยา

เครื่องทรงสำหรับฤดูหนาว เป็นผ้าทรงคลุมแต่ทำด้วยทองเป็นหลอดลงยาร้อยลวดเหมือนตาข่าย ใช้คลุมทั้งสองพระพาหา พระศกคล้ายของฤดูฝน

พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ ที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนด้วยพระองค์เอง เว้นแต่ทรงมีพระราชกรณียกิจไม่อาจเสด็จฯ ได้ จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระราชกรณียกิจในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมีดังนี้

ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าหน้าที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามจะได้เปลื้องเครื่องที่ทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรออก เหลือไว้แต่มงกุฎหรือพระศกศิราภรณ์

เวลา ๑๕ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ ประตูทางเสด็จฯ เข้าวัด เจ้าหน้าที่พระแสงต้น กองพระราชพิธีถวายพระแสงดาบคาบค่าย ซึ่งเป็นพระแสงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้วพระราชทานให้มหาดเล็กถือเชิญตามเสด็จฯ ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ เสด็จฯ ไปยังบันไดเกยที่ฐานชุกชีด้านหลังบุษบกประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อเสด็จฯ ขึ้นถึงบุษบกทรงกราบ ต่อจากนั้นทรงเปลื้องมงกุฎหรือพระศกศิราภรณ์ออกจากพระเศียร แล้วทรงหลั่งพระสุคนธ์ด้วยพระมหาสังข์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สร้างถวายไว้ประจำพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีมังสีเป็นคันทวย ตั้งอยู่หน้าบุษบก แล้วทรงหลั่งพระสุคนธ์ด้วยพระมหาสังข์เพชรน้อย เสร็จแล้วทรงซับองค์พระด้วยผ้าขาว ๔ ผืน จากนั้นถวายมงกุฎหรือพระศกศิราภรณ์ แล้วเสด็จลงจากเกยไปประทับพระเก้าอี้ข้างมุมฐานชุกชีด้านเหนือ ทรงจุ่มผ้าขาวที่ได้ซับองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงในหม้อพระสุคนธ์ แล้วทรงบิดลงในโถแก้วและหม้อนํ้าเพื่อเป็นนํ้าพระพุทธมนต์สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ด้วยพระมหาสังข์เพชรน้อย และสำหรับพระราชทานข้าทูลละอองพระบาทที่มาเวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้วยพระสุหร่าย

ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกหน้าฐานชุกชี ทรงเปลี่ยนยอดพระรัศมี พระสัมพุทธพรรณี (ฤดูร้อนกะไหล่ทอง ฤดูฝนเป็นแก้วสีนํ้าเงิน ฤดูหนาวเป็นแก้วขาว) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปของรัชกาลที่ ๔ สร้างไว้ แล้วทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่บูชาพระรัตนตรัย จากนั้นเสด็จไปประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่ภูษามาลาเชิญพระมหาสังข์เพชรน้อยบรรจุพระสุคนธ์ที่สรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาทูนเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งนํ้าพระมหาสังข์ที่พระเศียรของพระองค์เองแล้วพระบรมวงศานุวงศ์เข้าไปหมอบเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งพระราชทานที่พระเศียรตามลำดับ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงพระสุหร่ายพระราชทานแก่ข้าทูลละอองพระบาทซึ่งเฝ้าฯ เรียงรายรอบผนังภายในพระอุโบสถ แล้วประทับพระราชอาสน์ หัวหน้าพราหมณ์เบิกแว่น พราหมณ์เป่าสังข์ พนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตร ดุริยางค์ ข้าราชการที่ยืนเฝ้าฯ เรียงรายนั้นรับแว่นเวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว หัวหน้าพราหมณ์ขึ้นบันไดเกยไปเจิมพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเจ้าหน้าที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่แต่งเครื่องทรงถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเสร็จ เรียบร้อยกลับลงมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระอุโบสถพระราชทานนํ้าพระพุทธมนต์ทสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ด้วยพระสุหร่ายแก่ประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทอยู่รอบพระอุโบสถทั้งในและนอกกำแพงแก้ว แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ ก่อนจะเสด็จฯ ออกจากประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระแสงดาบคาบค่ายคืนให้เจ้าหน้าที่พระแสงต้นรับไปเก็บรักษา

งานนี้แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว
ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชกุศลมาฆบูชา

มาฆะเป็นชื่อของดาวฤกษ์ เมื่อถึงเดือน ๓ ดวงจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะคือดวงจันทร์โคจรสู่ดาวมาฆะบูรณมี ขึ้น ๑๕ คํ่า พุทธศาสนิกชนประกอบพิธีมาฆบูชา แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาสคือมีเดือน ๘ สองหน พิธีมาฆบูชาจะต้องเลื่อนไปทำในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๔พระราชกุศลมาฆบูชา

วันมาฆบูชามีความสำคัญของพุทธศาสนาด้วยเหตุ ๔ ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ
๑. เป็นวันที่พระภิกษุจำนวน ๑๒๕๐ รูป มาประชุมเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดา ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น
๔. เป็นวันที่ดวงจันทร์เสวยฤกษ์มาฆบูรณมี

เมื่อเป็นวันที่น่าอัศจรรย์โดยที่พระภิกษุมารวมประชุมเฝ้าพร้อมกันเป็นจาตุรงคสันนิบาตเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเทศนาโอวาทปาติโมกข์ซึ่งมีใจความเป็นหลักของพระพุทธศาสนา คือ ไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาเหตุนี้บูชาพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป นับว่าเป็นองค์ประกอบที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก

การพระราชกุศลมาฆบูชาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือนว่า มีการบำเพ็ญกุศล เวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ๓๐ รูป มาฉันในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาคํ่าเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้วพระสงฆ์ทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัด และสวดมนต์ต่อแล้วสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์จบ มีจุดเทียนตามราวรอบพระอุโบสถ ๑๒๕๐ เล่ม มีประโคมสังข์แตรดุริยางค์ แล้วจึงเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นภาษาบาลีและภาษาไทย เครื่องไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ มีจีวร ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่างๆ เมื่อเทศน์จบพระสงฆ์ ๓๐ รูปสวดมนต์รับสัพพี

ในรัชกาลต่อมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนถึงวันมาฆบูชาเจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จะได้นำเทียนรุ่งไปตั้งถวาย ณ พระราชฐานที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก หัวหน้ากองพระราชพิธีกราบบังคมทูลว่า

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ในการพระราชกุศลมาฆบูชาปีนี้ ตรงกับวัน……ที่……กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานพระราชพิธีได้จัดเทียนรุ่งมาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เพื่อทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัย ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตร วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ และวัดนิเวศธรรมประวัติ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

จบคำกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมเทียนรุ่ง ทรงคม ทรงพระราชอุทิศแล้วเสด็จขึ้น เจ้าพนักงานเชิญเทียนรุ่งไปถวายเจ้าอาวาสพระอารามหลวงตามที่ทรงพระราชอุทิศ

ส่วนการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ประทับพระราชอาสน์ ทรงจุดเทียนชนวนพระราชทานหัวหน้ากองพระราชพิธีสำหรับเชิญไปถวายเจ้าอาวาสจุดเทียนรุ่งที่ได้ทรงพระราชอุทิศบูชาพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวง พระสงฆ์ ๓๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยดอกมะลิ ๑๒๕๐ ดอก เท่าจำนวนพระอรหันต์ที่ธรรมาสน์ศิลาสำหรับพระราชาคณะจะนั่งถวายพระธรรมเทศนา แล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบปรกติขาว

อนึ่ง วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา ทางราชการได้กำหนดให้หยุดราชการ ๑ วัน

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย

การสังเวยพระป้ายจัดเป็นงานพระราชพิธีโดยเหตุที่พระป้าย คือแผ่นป้ายภาษาจีนพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระป้ายนี้จีนเรียกว่า เกสิน เป็นป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้พระราชพิธีสังเวยพระป้ายสำหรับบูชาประจำบ้าน เพราะธรรมเนียมจีนเคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การบูชาเซ่นสรวงแสดงว่าเป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และให้ความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติ

พระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว แบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทอง จารึกพระปรมาภิไธยเป็นอักษรจีนที่ด้านหลังเรือนแก้ว มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง

ส่วนพระป้ายที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน เป็นแผ่นป้ายพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีคู่หนึ่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถคู่หนึ่ง จารึกบนแผ่นไม้จันทน์ ปิดทองขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน พระป้ายทั้ง ๒ คู่ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้ จันทน์จำหลักลายลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลาง หน้าห้องพระบรรทมชั้นบนของพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย คือการถวายอาหารคาวหวานเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน พระราชพิธีนี้เริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ กำหนดการสังเวยแต่เดิมนั้น สังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ก่อน ๑ วันตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถานสังเวยในวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๑ ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่) พระราชพิธีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เอง หากบางปีมีพระราชกรณียกิจอื่นไม่สามารถพระราชดำเนินได้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

เครื่องสังเวยเป็นเครื่องคู่มี หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาละเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษ (ภาษาจีนเรียกว่า กิมฮวยอั้งติ๋ว) ผ้าสีชมพู ประทัด (ได้ตัดออกไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖) ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง

เครื่องสังเวยพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อเริ่มมีพระราชพิธีนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จัดทูนเกล้าฯ ถวาย ครั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงจัดต่อมา ปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ที่วังสระปทุมจัดทูนเกล้าฯ ถวาย ส่วนเครื่องสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เดิมเป็นของกรมท่าซ้ายที่สกุลพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) จัดทูนเกล้าฯ ถวาย ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เครื่องสังเวยเป็นของหลวงที่สำนักพระราชวังจัดทำตลอดมา

พระราชพิธีสังเวยพระป้ายนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ ทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งไปทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง (สมัยก่อนทรงจุดประทัดด้วย) แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ เมื่อธูปที่จุดปักไว้ที่เครื่องสังเวยหมดดอกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวยและนำวิมานเทวดา (กิมฮวยอั้งติ๋ว) ไปปักในแจกันที่โต๊ะเครื่องบูชา พร้อมทั้งผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่

ประเพณีปีใหม่ของไทยในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในพระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่าพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ วันขึ้น ๑ คํ่า เดือนห้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่าในกฎมนเทียรบาลมีการสมโภช และเลี้ยงลูกขุน ซึ่งตรงกับการเลี้ยงโต๊ะพระราชพิธีขึ้นปีใหม่อย่างฝรั่ง จึงทรงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้น เวลาเช้ามีการพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอิฐิ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาคํ่าเชิญพระสยามเทวาธิราชและเชิญเจว็ดรูปพระภูมิเจ้าที่จากหอแก้วออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิต มหาปราสาท ตั้งเครื่องสังเวยที่พื้นชาลาหน้ามุขเด็จ ตั้งพระราชอาสน์ที่ประทับ ณ ศาลาคด มีละครหลวงแสดงและตั้งโต๊ะพระราชทานเลี้ยง

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติ ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และโปรดให้ใช้รัตนโกสินทร์ศกในการนับปี ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๐๘ เป็นต้นมา สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทาน เลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรละครหลวงแล้วเสด็จฯ กลับ

ส่วนวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้นกำหนดเป็นพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ตลอดมาจนทุกวันนี้

ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๕ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา เข้าด้วยกัน เรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน

การพระราชพิธีในวันที่ ๒๘ มีนาคมเรียกว่าตั้งนํ้าวงด้ายมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสวดภาณวารในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๙ มีนาคม เลี้ยงพระ อ่านประกาศสังเวยเทวดา สวดอาฏานาฏิยสูตร ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค วันที่ ๓๐ มีนาคม พระราชทานนํ้าพระมหาสังข์ทรงเจิมแก่พระราชวงศ์ วันที่ ๓๑ มีนาคม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ ๑ เมษายน เสด็จสรงนํ้าพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร เลี้ยงพระในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สรง มูรธาภิเษกที่ชานหน้าพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส (พระที่นั่งราชฤดีในปัจจุบัน) ถ้ามีพระราชวงศ์จะโสกันต์ก็กำหนดในงานพระราชพิธีนี้ สดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ เวลาบ่ายมีงานอุทยานสโมสร กระทรวงวังจัดที่ลงพระนามและนามถวายพระพร วันที่ ๒ เมษายน เสกนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จฯ ไปสรงนํ้าพระพุทธรูปที่หอราชพงศานุสร หอราชกรมานุสร พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระคันธารราษฎร์ และพระวิหารยอด แล้วสดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าและพระอัฐิพระบรมวงศ์ที่หอพระนาก เวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วันที่ ๓ เมษายน พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา ถือน้ำแล้วไป ถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ที่หน้าพระที่นั่งสนามจันทร์ในกำแพงแก้ว พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เพราะวันที่ ๑ มกราคม ใกล้เคียงวันแรม ๑ คํ่า เดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี และเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และตรงกับนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นไป จึงได้กำหนดการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปสรงนํ้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิสมเด็จพระบรมวงศ์

วันนี้มีการลงชื่อถวายพระพรที่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๑๐ นาฬิกา ถึง ๑๖ นาฬิกา

วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๙ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงปูชนียวัตถุ คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรและพระอัฐิพระราชวงศ์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ ไปไว้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามโบราณราชประเพณีซึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ ๑๓-๑๔-,๑๕ เมษายน

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์ เลี้ยงพระ ในวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร์วันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๑ มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ ๑ มกราคม พ.ค. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธปฏิมาที่พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในท้องพระโรง

เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จฯ ลงยังสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย แล้วทรงบาตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดเป็นสายๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ๕๐ รูป นอกนั้น รายละ ๒๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๐๐ รูป เสร็จแล้วเสด็จฯ ขึ้น งานนี้แต่งเครื่องแบบปรกติขาว งานนี้มีสังข์ แตร ปี่พาทย์ ประโคมบรรเลงตั้งแต่เสด็จทรงจุดเทียนจนเสด็จขึ้น

วันนี้ เวลา ๙ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังจะได้จัดที่สำหรับลงพระนาม และนามถวายพระพรไว้ที่พระบรมมหาราชวัง

ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นปี

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานส่วนพระองศ์ ณ พระราชฐานที่ประทับ

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธี-รัฐพิธี

พระราชพิธี คือ พิธีการที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามกำหนดที่เป็นแบบแผนราชประเพณีสืบมาแต่โบราณ หรือการพระราชพิธีที่ทรงพระราชดำริมีพระราชประสงค์ให้จัดทำขึ้น พระราชพิธีที่เป็นการประจำตามเทศกาลนั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมามีความละเอียดในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงอธิบายไว้แล้ว พระราชพิธีต่างๆ เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เปลี่ยนระเบียบการปกครองประเทศขึ้นใหม่ มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นหลักในการบริหาร มีนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ โดยนัยนี้กิจการใดที่จะต้องทำเป็นงานพิธีของรัฐบาลตลอดจนกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งเป็นผู้ดำริจัดขึ้น จึงเรียกงานนี้ว่ารัฐพิธี กล่าวคือเป็นงานของรัฐจัดขึ้น งานรัฐพิธีดังกล่าวนี้คณะรัฐบาลหรือกระทรวง ทบวง กรม จะกราบบังคม ทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาอัญเชิญพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธี หรืออาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา รัฐมนตรี ก็แล้วแต่กรณีของความ สำคัญแห่งงานรัฐพิธีนั้นๆ

งานพระราชพิธีและรัฐพิธีได้กำหนดไว้เป็นงานประจำปีในปฏิทินหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่ ดังนี้
๑. พระราชพิธีขึ้นปีใหม่
๒. พระราชพิธีสังเวยพระป้าย
๓. พระราชกุศลมาฆบูชา
๔. เปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ๓ ฤดู
๕. พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช
๖. พระราชพิธีสงกรานต์
๗. พระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคล
๘. พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
๙. พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
๑๐. พระราชกุศลวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
๑๑. พระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมราชชนก และวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
๑๒. พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง
๑๓. พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา
๑๔. พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
๑๕. พระราชพิธีสารท
๑๖. พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
๑๗. พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุคลวันปิยมหาราช
๑๘. พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ยังมีพระราชพิธีซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นครั้งคราว ได้แก่ พระราชพิธีหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล พระพุทธรูปปางประจำพระชนมวาร พระปางทรงพระราชอุทิศ แด่พระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อน พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสถาปนาอิสริยศักดิ์พระราชวงศ์ พระราชพิธีอภิเษกสมรส พระราชพิธีสมโภช ๓ วันสมเด็จพระราชโอรสธิดาหรือพระเจ้าหลานเธอที่ประสูติ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่สมเด็จพระราชโอรสธิดาหรือพระเจ้าหลานเธอ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหาราช วันประสูติสมเด็จพระราชโอรสธิดา พระราชพิธีฉลองพระชนมายุพระบรมวงศ์ที่ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งด้วยพรรษา และพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ เป็นต้น

ส่วนงานรัฐพิธีที่กำหนดไว้เป็นการประจำปีในปฏิทินหลวง คือ
๑. รัฐพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระบรมราชานุสรณ์ จังหวัดสุพรรณบุรี
๒. วันที่ระลึกมหาจักรี
๓. รัฐพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต
๔. รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
๕. รัฐพิธีวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๖. รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา

ที่มา:กรมศิลปากร

เทศน์มหาชาติ

พุทธศาสนิกชนชาวไทยเรียกการมีเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกว่า “เทศน์มหาชาติ” หนังสือเรื่องมหาเวสสันดรชาดกนี้ ของเดิมแต่งไว้ในภาษาบาลี เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง แต่งเป็นคาถาล้วน มีจำนวนพันคาถา แต่ก่อนคงเทศน์และสวดกันเฉพาะที่เป็นคาถาภาษาบาลีล้วน อย่างที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ “เทศน์คาถาพัน” และคงจะไม่ได้เทศน์เป็นทำนอง ภายหลังมีพระอรรถกถาจารย์แต่งอรรถกถาภาษาบาลี อธิบายความเป็นคำร้อยแก้วเพิ่มเติมไว้ในตอนต้น และในตอนสุดท้ายของชาดกก็ได้แต่งคำอธิบายในเรื่องกลับชาติของพระเวสสันดรและคนอื่นๆ ไว้ ต่อมาคงจะมีผู้รู้ภาษาบาลีขวนขวายแปลเรื่องพระเวสสันดรชาดกออกเป็นภาษาไทยและร้อยกรองให้ไพเราะตามหลักกวีนิพนธ์ จึงมีมหาชาติในพากย์ไทย เป็นสำนวนต่างๆ หลายสำนวนและแบ่งเป็นตอน เรียกว่า กัณฑ์ มีทั้งหมดรวม ๑๓ กัณฑ์

กล่าวกันว่า ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียวแล้วจะได้ผลานิสงส์มาก จึงเกิดมีการประชุมฟังเทศน์มหาชาติกันทุกปีเป็นธรรมเนียมมา ประเพณีนี้เห็นจะมีมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กรุงสุโขทัย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการมีเทศน์มหาชาตินั้นนิยมจัดกันในฤดูไหน แต่ก่อนมักนิยมเทศน์กันตั้งแต่ออกพรรษาแล้วไปจนถึงสิ้นเดือน ๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลื่อนมามีในเดือนอ้าย ปัจจุบันประเพณีเทศน์มหาชาตินี้นิยมทำกันหลังจากออกพรรษาแล้ว จนถึงเดือน ๔

วัดใดจะมีเทศน์มหาชาติก็แจกฎีกาให้ชาวบ้าน เมื่อใครมีศรัทธาก็รับเป็นเจ้าของกัณฑ์ตามแต่ตนจะเลือก ครั้นถึงวันกำหนด เจ้าของกัณฑ์ก็นำเครื่องกัณฑ์และเงินมาติดเทียนในกัณฑ์ของตน พร้อมด้วยธูป และเทียนเท่ากับจำนวนคาถาของกัณฑ์นั้นๆ เช่น ถ้ารับกัณฑ์ทศพร ก็นำธูปและเทียนมาอย่างละ ๑๙ ดอก เพราะกัณฑ์นี้มี ๑๙ พระคาถา เมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่งๆ ก็มีพิณพาทย์ประโคมเพลงประจำกัณฑ์ เช่น จบกัณฑ์ทศพรก็ใช้เพลง “สาธุการ” จบกัณฑ์หิมพานต์ บรรเลงเพลง“ตวงพระธาตุ” จบกัณฑ์นครกัณฑ์ บรรเลง “กลองโยน” สถานที่มักจะประชุมกันตามศาลาใหญ่ในวัด มีปักต้นกล้วยหรืออ้อยตามประตูวัด หรือทางที่จะเข้าไปในบริเวณที่มีเทศน์ เพื่อจะให้คล้ายกับป่าตามท้องเรื่อง และที่ปักฉัตรธงก็เพื่อแสดงว่าเป็นของสูงสำหรับกษัตริย์ หมายถึง พระเกียรติยศของพระเวสสันดร ตามศาลาหรือสถานที่ที่ใช้เทศน์มักจะมีภาพแสดงเรื่องมหาชาติติดไว้ เพื่อน้อมนำพุทธศาสนิกชนให้ระลึกถึงกาลครั้งนั้นตามท้องเรื่อง ที่หน้าหรือข้างๆ ธรรมาสน์พระเทศน์ตั้งขันสาครใบใหญ่เป็นขันนํ้ามนต์ นํ้ามนต์ที่ตั้งไว้ในมณฑลพิธีนี้ ถือกันว่าใช้ประพรมบำบัดเสนียดจัญไรได้

หนังสือมหาชาติเดิมแต่งเป็นภาษามคธ ใครแต่งไม่ปรากฏ คงจะมีผู้แปลเป็นไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ฉบับสูญหายไป คงปรากฏหนังสือมหาชาติแปลเป็นภาษาไทยที่เก่าที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้คือ มหาชาติคำหลวง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงขึ้น เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕ วิธีแต่งเอาภาษามคธเติมตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปลเป็นคำร้อยกรองในภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป ตามความถนัดของกวีผู้แต่ง หรือตามกำหนดที่ได้ตกลงวางไว้เป็นแบบ คงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะและให้ความใกล้กับภาษามคธเดิมทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เป็นหนังสือซึ่งนับว่าแต่งดีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หนังสือจินดามณีซึ่งพระโหราธิบดีแต่งเป็นแบบเรียนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยกเอากลอนในหนังสือมหาชาติคำหลวง มาเป็นตัวอย่างในแบบเรียน

หนังสือมหาชาติคำหลวง ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับสวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังในเวลาที่ไปอยู่บำเพ็ญการกุศลที่ในวัด ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงได้สูญหายไป ๖ กัณฑ์เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งกัณฑ์ที่ขาด ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ ฉกษัตริย์ ขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๘ จึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้

นอกจากมหาชาติคำหลวง ยังมีกาพย์มหาชาติ เข้าใจว่าแต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กาพย์มหาชาติมีศัพท์มคธน้อย ภาษาไทยมาก สันนิษฐานว่าจะแต่งสำหรับพระเทศน์ให้สัปบุรุษเข้าใจเรื่องง่ายขึ้นกว่ามหาชาติคำหลวง แต่เรื่องก็คงยาวเช่นเดิม คงจะเทศน์ไม่จบในวันเดียว แต่งมหาชาติกลอนเทศน์ในเวลาต่อมา

หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ (ร่ายยาวมหาชาติ) นั้น วิธีแต่ง นำเอาคำบาลีทั้งที่เป็นคาถาและอรรถกถามาลงไว้แล้วแต่งความภาษาไทยเป็นแบบร่ายยาว ต่อเข้าเป็นตอนๆ สำหรับพระเทศน์เพื่อผู้ฟังจะได้ฟังทั้งภาษาบาลีและไทย และให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียว เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พิธี ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้แต่งหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ขึ้นมากมายหลายสำนวน ผู้แต่งในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีหลายท่าน

ที่กล่าวมาเป็นประเพณีซึ่งมีทั่วทุกภาคของประเทศไทย รายละเอียดอาจผิดแปลกกันไปบ้างตามภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ความเชื่อถือ ซึ่งเป็นส่วนปลีกย่อย แต่หลักใหญ่นั้นเหมือนกัน นับว่าวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งจรรโลงใจ ยึดเหนี่ยวให้คนประกอบคุณงามความดี บางอย่างอาจไม่มีประโยชน์โดยตรงแต่ก็มีประโยชน์ทางอ้อม เป็นเครื่องเตือนให้สำนึกถึงความเป็นชาติและความสามัคคีของคนในชาติ

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีทอดผ้าป่า

ทอดผ้าป่าเป็นประเพณีและเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าจีวรจากคฤหัสถ์ ให้ใช้แต่ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น)เท่านั้น ชาวบ้านมักเรียกว่า ผ้าป่า เนื่องจากเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ทิ้งอยู่ตามที่ต่างๆ ตามกองขยะ หรือพันห่อศพไว้และต้องนำมาซัก เย็บ ย้อมเป็นสบง จีวรหรือสังฆาฏิให้เสร็จภายในระยะเวลา ๑๐ วัน ถ้าเกินกำหนดต้องสละผ้านับเป็นความยากลำบากแก่ภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ผ้าห่อศพมักจะหาได้ยากเพราะเป็นศพคนจน ผ้าที่จะพันห่อศพก็ไม่ค่อยมี ชาวบ้านที่มีผ้าป่าสามัคคีศรัทธาเห็นความยากลำบากของพระภิกษุจึงหาทางช่วย โดยนำผ้าไปทิ้งไว้ตามทางที่พระท่านเดินผ่านไปมาเป็นประจำ หรือทิ้งตามกองขยะ หรือนำไปห่อศพไว้ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้พระภิกษุจะไม่ยอมรับผ้านั้น จึงมีผู้นิยมทำตามกันมาจนเป็นประเพณี จนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากคฤหัสถ์ได้ แต่ยังทรงสรรเสริญพระสงฆ์ผู้ถือผ้าบังสุกุลอยู่ ทำให้พระภิกษุทั้งหลายประสงค์จะรับผ้าบังสุกุลจีวรอีก

การทอดผ้าป่าจึงยังคงมีอยู่และเป็นมรดกตกทอดกันมาทุกวันนี้ แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังที่เห็นในปัจจุบัน แม้จะมีผ้าไตรสำเร็จรูปขาย และชาวบ้านไม่ได้นำไปทิ้งไว้ตามป่าตามทางดังในสมัยพุทธกาล แต่ยังคงธรรมเนียมไว้บ้างโดยการนำกิ่งไม้มาปักในกระถางหรือภาชนะอื่น แล้วนำผ้าที่จะถวายผูกแขวนไว้ บางทีก็ทำเป็นโครงรูปต่างๆ ภายในใส่เครื่องบริขารหรือสิ่งที่ต้องการจะถวายพระ เช่น ทำเป็นรูปผี รูปศพต่างๆ เป็นต้น

ฤดูกาลของการทอดผ้าป่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาลงไปจะทอดในฤดูไหน เดือนไหน สุดแต่ชาวบ้านจะศรัทธาเลื่อมใส ส่วนใหญ่มักจะทำในระยะจวนจะออกพรรษาหรือช่วงออกพรรษาแล้ว อีกอย่างหนึ่งนิยมทำรวมกันกับขบวนกฐิน คือ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็ทอดผ้าป่าหรือทอดตามรายทางเป็นหลายสิบวัดก็ได้

วิธีการทอดผ้าป่านั้น เมื่อนำผ้าป่าไปถึงวัดแล้ว พึงตั้งใจถวายโดยไม่เฉพาะเจาะจง วางของไว้จะจุดธูปเทียนหรือไม่ก็ได้ ส่งอาณัติสัญญาณให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า หรือจะทำพิธีเงียบๆ เจ้าภาพจะรอดูจนกว่าพระท่านมาชักผ้าป่าหรือไม่ก็ได้ พึงถวายผ้าป่าโดยกล่าวคำถวาย ดังนี้

“อิมานิ มยํ ภนฺเต ปํสุกูลจีวรานิ สปฺปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส
โอโณชยาม สาธุโน ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ปํสุกูลจีวรานิ
ปฏิคฺคณหาตุ อมหากํ ทีฆรตตํ หิตาย สุขาย.”
แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งเครื่องอันเป็นบริวารเหล่านี้เเก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งเครื่องอันเป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญฯ”

อย่างไรก็ตามการถวายผ้าป่าโดยมากมักจะมีผ้าสำหรับพระสงฆ์อยู่ด้วยผืนหนึ่งหรือมากกว่า บางครั้งจะเห็นมีแต่เครื่องบริขารซึ่งมักมีผ้าเช็ดหน้าทำเป็นรูปชะนีแขวนอยู่ด้วย คงจะให้มีลักษณะเป็นป่า แต่เมื่อนำไปทอดมักจะหาซื้อผ้าสำหรับพระสงฆ์ด้วยเสมอ

ผ้าป่ามีหลายชนิด มักเรียกตามลักษณะของผ้าป่า เช่น ผ้าป่าหางกฐิน คือ การทอดผ้าป่าหลังทอดกฐิน ผ้าป่าสามัคคี ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทำขึ้นเพื่อรวมทุนจัดสร้างถาวรวัตถุในวัด ผ้าป่าโยง มีเจ้าภาพเดียว หรือหลายเจ้าภาพ ส่วนมากบรรทุกเรือแห่ไปทางนํ้าทอดตามวัดวาอารามต่างๆ เป็นต้น ในปัจจุบันงานศพบางแห่งนิยมถวายผ้าบังสุกุลวางไว้บนหีบศพ พระสงฆ์ขึ้นมาสวดคำบาลีสั้นๆ แล้วชักผ้าไป กรรมวิธีนี้เรียกว่า ชักผ้าบังสุกุลหรือชักผ้าป่า จัดรวมเข้าในการทอดผ้าป่าตามปรกติ มีวิธีการทอดผ้าป่าที่พิเศษอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ทอดผ้าป่าผีตาย คือ แทนที่จะเอาผ้าไตรวางไว้บนหีบศพ แต่กลับให้ศพเป็นผู้ถือผ้าไตร โดยวิธีเอาศพผูกไว้กับกระดานหก แล้วนิมนต์พระมาเหยียบกระดานหก ศพก็จะยืนขึ้นหรือลุกขึ้นนั่งก็แล้วแต่การจัดศพให้นั่งหรือยืน พระสงฆ์จะรับผ้าจากมือศพ กรรมวิธีนี้ต้องทำในป่าช้าและต้องให้พระเข้าไปรับผ้าไตรทีละรูป ส่วนญาติพี่น้องดูอยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันคนมาขโมยผ้าไปเท่านั้น ดูน่ากลัวอยู่สักหน่อย บางแห่งไม่ใช้ศพจริงๆ แต่ทำเป็นรูปร่างให้เหมือนศพจริงๆ ซึ่งก็น่ากลัวเช่นกัน การทอดผ้าป่าแบบนี้ถือว่าได้บุญกุศลมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการทอดผ้าป่าแบบผีตายนี้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงห้ามเพราะมีคนกลั่นแกล้งพระทำให้ตกใจสุดขีดจนถึงมรณภาพ

ในปัจจุบันการทอดผ้าป่ามักจะเป็นการชักชวนกันเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สร้างสิ่งต่างๆ ได้แก่ ถาวรวัตถุในวัด ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และอื่นๆ เสียมากกว่า

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีทอดกฐินของไทย

ประเพณีการทอดกฐินของไทยมีหลักฐานปรากฏว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ และได้ถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งกฐินที่พระมหากษัตริย์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลลงไปจนถึงกฐินของราษฎรประเพณีทอดกฐิน

กฐินมี ๒ ประเภท คือ กฐินราษฎร์ และกฐินหลวง

กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดถวายหรือพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์และองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปทอดถวายตามพระอารามหลวง ที่กำหนดไว้ ๑๖ วัด คือ วัดเทพศิรินทราวาส วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตร วัดพระเชตุพนฯ วัดมกุฎกษัตริย์ฯ วัดมหาธาตุฯ วัดราชบพิธฯ วัดราชประดิษฐ์ฯ วัดราชาธิวาส วัดสุทัศน์ฯ วัดราชโอรสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดนิเวศธรรมประวัติ และวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม วัดพระศรีมหาธาตุ พิษณุโลก ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักพระราชวัง ส่วนพระอารามหลวงที่นอกเหนือจาก ๑๖ วัดเป็นหน้าที่ของกรมศาสนา กล่าวคือ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การคณะชน หรือเอกชน ขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนา เพื่อจัดบริวารกฐินให้เป็นของพระราชทาน แล้วผู้ได้รับพระราชทานจัดเพิ่มเติมหรือจัดจตุปัจจัยสมทบ ซึ่งเรียกกันว่า กฐินพระราชทาน แต่ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปถวายวัดใดๆ ตามแต่พระราชอัธยาศัย จะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ตาม เรียกว่า กฐินต้น ซึ่งโดยมากมักจะเสด็จไปถวายผ้ากฐินวัดราษฎร์ที่ขาดการบูรณะ

การทอดกฐินเป็นพระราชประเพณีอย่างหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธุระบำเพ็ญพระราชกุศลมาตั้งแต่สมัยโบราณ การเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินสมัยก่อนมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารคเป็นการแห่พระกฐิน ซึ่งจุดมุ่งหมายเดิมของการแห่พระกฐินด้วยกระบวนพยุหยาตรานี้เพื่อจะตรวจตราพลรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ และฝึกซ้อมรบ ในสมัยก่อนมีการซ้อมรบปีละ ๒ ครั้ง คือในเดือน ๔-๕ ซึ่งเป็นฤดูเกี่ยวข้าวเก็บเข้ายุ้งฉางครั้งหนึ่ง ในช่วงนี้ จะยกกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเป็นการซ้อมรบทางบกไปนมัสการพระพุทธบาท การซ้อมรบ อีกครั้งหนึ่งในเดือน ๑๑-๑๒ ซึ่งเป็นฤดูปักดำนาเสร็จแล้ว ในช่วงนี้จะซ้อมรบทางเรือและเป็นระยะเวลา ทอดกฐิน จึงจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ การเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราได้ล้มเลิกไป ทางสำนักพระราชวังได้กำหนดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือผู้แทนพระองค์ ทอดผ้าพระกฐินเฉพาะพระอารามหลวง ๑๖ วัด พระอารามหลวงนอกเหนือจากนี้ให้เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนาจัดบริวารกฐิน ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และพ.ศ. ๒๕๑๐ ได้จัด ให้มีกระบวนแห่กฐินทางชลมารคอีก ปัจจุบันทางสำนักพระราชวังยังไม่ได้ประกาศยกเลิกการเสด็จ ด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ คงจะมีขึ้นในโอกาสอันควรต่อไป

กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้น แบ่งออกเป็น มหากฐินและจุลกฐิน
มหากฐิน คือ การนำผ้าสำเร็จรูปแล้วไปถวายพระดังที่นิยมทำกันอยู่ทุกวันนี้ และมักนิยมเรียกกันว่า กฐิน ถ้าร่วมกันออกทุนทรัพย์และร่วมกันจัดทอดเรียกว่า กฐินสามัคคี

การทอดกฐินนี้ก่อนจะไปทอดกฐินวัดใดจำเป็นต้องไปแสดงความจำนงให้ทางวัดทราบเป็นการล่วงหน้าก่อน เรียกว่า การจองกฐิน ซึ่งจองได้แต่เฉพาะวัดราษฎร์เท่านั้น สำหรับวัดหลวงจะต้องขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนาดังได้กล่าวแล้ว เมื่อจองแล้วควรเขียนหนังสือปิดประกาศไว้เพื่อให้รู้ทั่วกัน ว่าวัดนี้จองแล้ว ถือกันว่าใครจองก่อนก็ได้ทอดก่อน แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธามากกว่าเป็นผู้ได้ทอดก่อน ดังนั้นในคำจองจึงปรากฏชื่อผู้ทอด จำนวนองค์กฐิน บริวารกฐิน กำหนดวันเวลาทอด แต่ถ้าใครมีศรัทธามากกว่านี้จะเป็นผู้ได้ทอด เป็นต้น

การจองกฐินนี้เพื่อให้ทางวัดและชาวบ้านในละแวกนั้นเตรียมการต้อนรับทั้งในเรื่องความสะดวก สบายและอาหารการกิน เมื่อถึงวันกำหนดจะต้องนำผ้าซึ่งจะทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งอาจเป็นผ้าขาวยังไม่ได้เย็บ เย็บแล้วยังไม่ได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ เรียกว่าองค์กฐิน และบริวารกฐิน ได้แก่พวกจตุปัจจัยไทยธรรมต่างๆ ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องมีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้มักจะมีผ้าห่มพระประธานในโบสถ์ด้วยอย่างน้อยผืนหนึ่ง เทียนสำหรับจุดในการสวดพระปาติโมกข์ ๒๔ เล่ม นำไปยังวัดที่จะทอด จะมีการสมโภชองค์กฐินก่อนก็ได้ และเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว จะฉลองต่ออีกก็ได้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ ในขณะนำไปทอดอาจมีการแห่กฐิน จะแห่ไปทางนํ้า หรือทางบกขึ้นอยู่ทับการคมนาคมทางไหนจะสะดวกกว่ากัน หรือจะไปอย่างเงียบๆ ก็ได้ เมื่อมาถึงวัดและภิกษุมาพร้อมแล้วผู้ทอดกฐินอุ้มไตรกฐิน พนมมือ หันหน้าไปทางพระพุทธรูปว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา
สมฺพุทฺธสฺส” ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์กล่าวคำถวายผ้ากฐิว่า

ถ้าเป็นวัดมหานิกาย “อิมํ สปฺปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม ทุติยมฺปิ อิมํ สปฺปริ¬วารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม ตติยมฺปิ อิมํ สปฺปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม”

ส่วนวัดธรรมยุตกล่าวคำถวายดังนี้
“อิมํ ภนฺเต สปฺปริวารํ กฐินทุสุสํ โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปฺปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย”

คำกล่าวถวายนี้ หัวหน้าผู้ทอดจะกล่าวนำเป็นคำๆ หรือประโยคก็ได้ หรือกล่าวคนเดียวก็ได้ บางครั้งมีการโยงสายสิญจน์ถึงกันหมดด้วย หรืออาจจะกล่าวคำถวายเป็นภาษาไทยซึ่งแปลจากคำถวายภาษาบาลีก็ได้ เมื่อจบคำถวายแล้วพระสงฆ์รับ “สาธุ” เจ้าภาพประเคนไตรกฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง (โดยมากมักจะเป็นรูปที่ ๒) หรืออาจวางไว้ข้างหน้าพระสงฆ์ก็ได้ ต่อจากนี้จะถวายบริวารกฐินเลยก็ได้ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี หรือจะรอฟังพระสงฆ์อปโลกนกรรมจึงจะถวายบริวารกฐินก็ได้ การทำอปโลกนกรรม คือ ประกาศมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้ซึ่งมีจีวรเก่ามีพรรษามาก สามารถกรานกฐินได้ถูกต้อง ฉลาดมีความรอบรู้ธรรมวินัยเป็นต้น ภิกษุ ๒ รูปสวดออกนามภิกษุที่จะเป็นผู้รับผ้ากฐินเพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสงฆ์ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ภิกษุอีก ๒ รูปก็สวดประกาศซ้ำเป็นภาษาบาลี เรียกว่าญัตติทุติยกรรม เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านก็เป็นอันว่าภิกษุที่ได้รับการเสนอนามเป็นผู้รับผ้ากฐินไป เสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นอันหมดภาระหน้าที่ของเจ้าภาพ เมื่อเสร็จพิธีแล้วอาจมีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงส์กฐินหรือไม่มีก็ได้ บางแห่งอาจจัดให้มีการสนุกสนานรื่นเริง มีการแข่งเรือ เล่นเพลงเรือ เป็นต้น หลังจากนี้เป็นวิธีการกรานกฐินซึ่งเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยเฉพาะ กล่าวคือ ภิกษุผู้ครองผ้ากฐินนำผ้ากฐินไปทำเป็นจีวรอย่างใดอย่างหนึ่งให้แล้วเสร็จในวันนั้น และนำมาบอกในที่ประชุมสงฆ์ภายในพระอุโบสถเพื่ออนุโมทนา การทำบุญกฐินนี้ก่อให้เกิดอานิสงส์ ทั้งผู้ทอดและภิกษุสงฆ์ สำหรับภิกษุสงฆ์นั้น มีบัญญัติไว้ในพระวินัยว่าผู้กรานกฐินแล้ว จะได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชนได้
๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ในพระวินัยกำหนดให้ภิกษุเก็บผ้าจีวรเกินจากสำรับที่นุ่งไม่ได้ เก็บได้เพียงแค่ ๑๐ วัน หลังจากนี้ต้องสละให้ผู้อื่นไป ถ้ากรานกฐินแล้วเก็บได้เกินกว่านี้)
๕. ลาภที่เกิดขึ้น ให้เป็นของภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว

การที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ในพระวินัยให้พระสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วได้รับการยกเว้นเพราะเกิดปัญหาและข้อขัดข้องบางประการ อันก่อให้เกิดความลำบากแก่ภิกษุสงฆ์ เช่น ต้องบอกลา ถ้าอยู่คนเดียว ก็บอกลาไม่ได้ การต้องเอาจีวรไปให้ครบ การฉันอาหารล้อมวงกันไม่ได้ การเก็บจีวรสำรองไว้ไม่ได้นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่พระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากของภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป จึงมีพุทธานุญาตให้กรานกฐิน การกรานกฐินนับเป็นความดีความชอบประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ต้องร่วมมือร่วมใจกัน พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดข้อยกเว้นไว้ให้

ส่วนอานิสงส์สำหรับผู้ทอดนั้นเชื่อกันว่าได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่งๆ จะมีเพียงครั้งเดียวและมีฤดูกาลทอด เป็นผลให้ผู้ทอดมีจิตใจแจ่มใสและปิติยินดีในบุญกุศลที่ตนเองได้ทำไว้ นอกจากนี้ยังสามารถขจัดความโลภ โกรธ หลง โดยทางอ้อมได้อีกด้วย กล่าวคือกำจัดความโลภในวัตถุทานที่ได้บริจาคแล้วนั้น กำจัดความโกรธเพราะได้ฟังอนุโมทนาบุญนั้น กำจัดความหลงเข้าใจผิดเพราะทำด้วยมือของตนเองในบุญนั้นได้

เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วมักปักธงรูปจระเข้ไว้ที่วัดด้วย จะเป็นที่ศาลาวัด หน้าโบสถ์หรือที่ใดๆ ที่เห็นง่ายเพื่อแสดงให้รู้ว่าวัดนั้นทอดกฐินแล้ว เพราะวัดหนึ่งๆ สามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียว

จุลกฐิน เป็นกฐินอย่างหนึ่งที่ราษฎรจัดทำขึ้นเป็นพิเศษต่างกับกฐินธรรมดาทั่วๆ ไป กล่าว คือ เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่น  ทอเป็นผืน กะตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันเดียว จุลกฐินจึงหมายถึงผ้าที่ทำสำเร็จมาจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ในบางท้องถิ่น เรียกว่า กฐินแล่น ซึ่งแปลว่า รีบด่วน จึงเข้าความหมายเพราะจุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องเร่งทำให้เสร็จในวันนั้น มักจะทำในระยะเวลาจวนหมดเขตการทอดกฐิน เช่น ในวันขึ้น ๑๔ – ๑๕ คํ่าเดือน ๑๒ เป็นต้น

ความเป็นมาของจุลกฐินเริ่มจากในสมัยพุทธกาล ครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงเห็นด้วยพระพุทธญาณว่า พระอนุรุทธมีจีวรอันเก่าขาดใช้การเกือบไม่ได้ และก็เป็น
เวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ต่างก็ออกช่วยหาผ้าบังสุกุลจีวรตามที่ต่างๆ แต่ได้ผ้ายังไม่เพียงพอจะเย็บจีวรได้ ความทราบถึงนางเทพธิดาซึ่งเคยเป็นปราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า)ของพระเถระในชาติก่อน จึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธผ่านมาพบเข้าจึงชักผ้าบังสุกุลแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร ในการทำจีวรครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานและสนเข็ม พระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชาย-หญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียง นับว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าแล้วเสร็จในวันนั้นก่อนอรุณขึ้น เป็นการร่วมแรง ร่วมใจกันของหมู่ภิกษุสงฆ์ ถ้าชักช้าจะทำให้ผู้ครองผ้ากฐิน ไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการกรานกฐิน นอกจากนี้ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์เพราะพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานในที่นั้นด้วย จะเห็นได้ว่า ในตอนแรก ความยากลำบากในการทำจุลกฐินตกอยู่กับพระภิกษุสงฆ์ แต่ปัจจุบันความยากลำบากนี้ตกอยู่แก่ผู้ทอดเพราะต้องจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง พระภิกษุสงฆ์เป็นเพียงผู้รับผ้ากฐินและนำไปกรานกฐินเท่านั้น ฉะนั้นจุลกฐินนี้คงมีเค้ามาจากการที่วัดบางวัดไม่ได้รับกฐินหลงเหลืออยู่ และจวนหมดเขตทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจึงช่วยกันขวนขวายจัดทำเมื่อระยะเวลากระชั้นชิด อีกประการหนึ่งสมัยก่อนผ้าสำเร็จรูปยังไม่มีขาย ประกอบกับลักษณะความเป็นอยู่แบบเลี้ยงตนเองและครอบครัวมีกิจการงานอย่างใดก็ร่วมมือกันเมื่อต้องการผ้ากฐินอย่างรีบด่วนเช่นนี้ จึงต้องหาทางและร่วมแรงร่วมใจกันให้เป็นผลสำเร็จ

จุลกฐินนี้นิยมทอดกันในภาคเหนือ แพร่หลายเข้ามายังภาคกลางทางจังหวัดสุโขทัย และเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก น่าจะนำมาจากราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า ๒๖๘ ว่า “ถึงวันขึ้น ๑๕ คํ่า (เดือน๑๒) โปรดให้ทำ จุลกฐิน คือ ทอดผ้ากฐินให้เสร็จในวันนั้น” ผู้ทำจุลกฐินส่วนมากจะเป็นผู้มีทรัพย์มาก เพราะต้องอาศัยกำลังคนและทุนทรัพย์มาก ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำจุลกฐินกันแล้ว

วิธีทำจุลกฐิน เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายจากต้น มักจะนำเมล็ดปุยฝ้ายไปผูกไว้ แล้วทำทีไปเก็บมาจากต้นฝ้าย บางตำราก็ว่า เริ่มตั้งแต่ขุดดินทำแปลงปลูกฝ้าย แล้วนำต้นฝ้ายปลูกลง เอาเมล็ดฝ้ายมาผูกติดกับต้น ฝ้าย ซึ่งเป็นเรื่องสมมติอีก เมื่อเก็บเมล็ดฝ้ายมาแล้ว (มักจะใช้สาวพรหมจารีเป็นผู้เก็บ) นำมากรอเป็นด้าย ทอเป็นผืนผ้า กะตัดเย็บย้อม ตากให้แห้งโดยแบ่งหน้าที่กันทำ แล้วนำไปทอดให้พระสงฆ์ได้กรานกฐินทันในวันนั้น

การทอดกฐินชนิดนี้ถือว่าได้อานิสงส์มากกว่าทอดกฐินธรรมดาหลายเท่า เพราะเหตุว่า ทำในช่วงเวลาจำกัด คือ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ และต้องใช้กำลังคน ทุนทรัพย์มาก ถ้าทำไม่ทัน เป็นอันเสียพิธี ฉะนั้นเมื่อทำเสร็จทันเวลาจึงส่งผลต่อจิตใจของผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก

ยังมีกฐินอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า กฐินโจร เป็นกฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้นในวันจวนจะหมดเขตกฐินกาล คือ ในราวๆ วันขึ้น ๑๔ – ๑๕ คํ่า เดือน ๑๒ ด้วยการสืบหาวัดที่ยังไม่ได้รับการทอดกฐินและจัดหาผ้ากฐินไปทอด เรียกว่ากฐินตก กฐินตกค้าง หรือกฐินจรก็มี เพราะเป็นวัดที่ตกค้างไม่มีผู้ใดมาจองกฐินไว้ ซึ่งตามธรรมดา การทอดกฐินต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้พระภิกษุสงฆ์วัดนั้นทราบล่วงหน้า จะได้เตรียมการต้อนรับและเพื่อมิให้มีการทอดกฐินซํ้า แต่กฐินโจรนี้ไม่มีการบอกล่วงหน้า จู่ๆ ก็ไปเฉยๆ เป็นการจู่โจมไม่ให้พระสงฆ์รู้ ส่วนวิธีการทอดนั้นเหมือนกับการทอดกฐินทั่วไป กล่าวคือเจ้าภาพกล่าวคำถวายผ้ากฐิน ถวายบริวารกฐิน ฟังพระอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี

การทอดกฐินประเภทนี้นับว่าได้อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินธรรมดามาก เพราะเป็นการอนุเคราะห์พระสงฆ์ให้มีโอกาสกรานกฐินในระยะเวลาจวนจะหมดเขตการทอดกฐินอยู่แล้ว

ที่มา:กรมศิลปากร