พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช

Socail Like & Share

พระสยามเทวาธิราชเป็นเทพที่พระมหากษัตริย์และปวงชนชาวไทยนับถือว่าเป็นเทพที่ทรงคุ้มครองรักษาประเทศไทย เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบหรือจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ก็จะวิงวอนขอให้พระสยามเทวาธิราชคุ้มครองประเทศชาติให้รอดพ้นอันตราย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่าพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช เมืองไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นมาได้เสมอ ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้นไว้สักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการทรงปั้นรูปพระสยามเทวาธิราชแล้วหล่อขึ้น ลักษณะเป็นเทวรูปยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระ สถิตในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีนแปลความว่า ที่สิงสถิตแห่งพระสยามเททธิราช ประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งทรงธรรม ในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายเครื่องสังเวยสักการะเป็นประจำวัน แต่เครื่องสังเวยประจำวันจัดเป็นเครื่องอย่างน้อย (แบบเครื่องเซ่น)

พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นแล้วทรงพระราชดำริว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ มีการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน เพราะในเทศกาลตรุษจีนชาวจีนได้นำสุกร เป็ด ไก่ มาถวายเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดให้มีการพระราชกุศลเลี้ยงพระในเทศกาลตรุษจีน ณ พระตำหนักแพ ท่าราชวรดิษฐ์ เป็นงาน ๓ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าฝ่ายในและภรรยาข้าราชการจัดเรือขนมจีนมาโดยเสด็จพระราชกุศลในการเลี้ยงพระ แล้วพระราชทาน เลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการด้วย

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า การพระราชกุศล เลี้ยงพระตรุษจีนและเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ประเพณีของจีน เป็นแต่ทำในเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงทำเกาเหลาเลี้ยงพระแทนขนมจีน ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ณ ตำหนักแพ ท่าราชวรดิษฐ์ และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเทวรูปพระสรัสวดีหรือพระพราหฺมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑ เจว็ดมุกในหอแก้วพระภูมิ พร้อมกับเชิญพระสยามเทวาธิราชไปตั้งประดิษฐาน เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนตั้งเครื่องสังเวยตลอด ๓ วัน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของไทยนั้น ตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือว่าวันปีใหม่เป็นวันรื่นเริง มีการเลี้ยงฉลอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสังเวยเทวดา สมโภชเครื่องเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ ทำนองเดียวกับการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชออกไปตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมเชิญเทวรูปกับเจว็ดมุกที่หอแก้วพระภูมิไปตั้งด้วย มีเครื่องสังเวยโต๊ะจีน ๓ โต๊ะ เวลาเช้าทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาคํ่าทรงสังเวยพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีละครหลวงเล่นสมโภช แล้วพระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและชาวต่างประเทศ

ภายหลังในปีต่อๆ มา การพระราชทานเลี้ยงและการสังเวยพระสยามเทวาธิราชในวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ มีผู้มาเฝ้าฯ ในงานน้อย จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสังเวยพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งทรงธรรมเพียงอย่างเดียว มีเครื่องสังเวยและละครหลวงสมโภช

เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้รอหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร รวมทั้งพระที่นั่งทรงธรรมด้วย (คือบริเวณสวนศิวาลัยในปัจจุบันนี้) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่พระวิมาน ๓ มุข ซึ่งกั้นเป็นลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ที่จะออกสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนเครื่องสังเวยที่เคยถวายเป็นประจำวันนั้นคงถวายเฉพาะวันอังคารและวันเสาร์

พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชได้เป็นราชประเพณีสืบต่อมาจนในรัชกาลปัจจุบันเมื่อถึงวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญพระสยามเทวาธิราช เทวรูปพระสรัสวดี หรือพระพราหฺมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑ จากพระวิมานลงมาประดิษฐานที่โต๊ะ สังเวยหน้าพระวิมาน และเชิญเทวรูปพระอิศวรองค์ใหญ่ เจว็ดมุกรูปพระภูมิเจ้าที่กับเจว็ดมุกรูปเจ้ากรุง พาลีจากหอแก้วพระภูมิมาประดิษฐานที่โต๊ะร่วมสังเวยด้วย

เครื่องสังเวยประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน องุ่น มะตูมเชื่อม มะพร้าวอ่อน กล้วยหอมจันทน์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม ดอกไม้ ธูป เทียนทอง \ เทียนเงิน

เวลา ๑๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชและทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย เสร็จแล้วเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนบูชาเทวดาและทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวยเทวดากลางหาว (เหมือนกับเครื่องสังเวย พระสยามเทวาธิราช) ที่โต๊ะหน้าหอพระสุราลัยพิมาน ขณะที่ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชและทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะเครื่องสังเวยเทวดานั้น ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์ทำเพลงสาธุการ ศิลปินกรมศิลปากรรำถวายมือ จบแล้วแสดงละคร ครั้นแสดงจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานรางวัลแก่ผู้แสดง แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

เมื่อธูปที่จุดปักไว้ ณ เครื่องสังเวยหมดดอกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวยและเชิญพระสยามเทวาธิราช เทวรูปพระสรัสวดีหรือพระพราหฺมี พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ทรงครุฑขึ้นสถิตบนพระวิมานตามเดิม และเชิญเทวรูปพระอิศวรองค์ใหญ่กับเจว็ดมุกรูปพระภูมิเจ้าที่และเจว็ดมุกรูป เจ้ากรุงพาลีกลับไปประดิษฐานที่หอแก้วพระภูมิตามเดิม

อนึ่ง พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชนี้ หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เสด็จพระราชดำเนิน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสธิดา หรือพระบรมวงศ์เสด็จแทนพระองค์

ที่มา:กรมศิลปากร