พระราชพิธีขึ้นปีใหม่

Socail Like & Share

ประเพณีปีใหม่ของไทยในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในพระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่าพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ วันขึ้น ๑ คํ่า เดือนห้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่าในกฎมนเทียรบาลมีการสมโภช และเลี้ยงลูกขุน ซึ่งตรงกับการเลี้ยงโต๊ะพระราชพิธีขึ้นปีใหม่อย่างฝรั่ง จึงทรงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้น เวลาเช้ามีการพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอิฐิ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาคํ่าเชิญพระสยามเทวาธิราชและเชิญเจว็ดรูปพระภูมิเจ้าที่จากหอแก้วออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิต มหาปราสาท ตั้งเครื่องสังเวยที่พื้นชาลาหน้ามุขเด็จ ตั้งพระราชอาสน์ที่ประทับ ณ ศาลาคด มีละครหลวงแสดงและตั้งโต๊ะพระราชทานเลี้ยง

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติ ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และโปรดให้ใช้รัตนโกสินทร์ศกในการนับปี ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๐๘ เป็นต้นมา สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทาน เลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรละครหลวงแล้วเสด็จฯ กลับ

ส่วนวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้นกำหนดเป็นพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ตลอดมาจนทุกวันนี้

ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๕ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา เข้าด้วยกัน เรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน

การพระราชพิธีในวันที่ ๒๘ มีนาคมเรียกว่าตั้งนํ้าวงด้ายมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสวดภาณวารในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๙ มีนาคม เลี้ยงพระ อ่านประกาศสังเวยเทวดา สวดอาฏานาฏิยสูตร ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค วันที่ ๓๐ มีนาคม พระราชทานนํ้าพระมหาสังข์ทรงเจิมแก่พระราชวงศ์ วันที่ ๓๑ มีนาคม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ ๑ เมษายน เสด็จสรงนํ้าพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร เลี้ยงพระในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สรง มูรธาภิเษกที่ชานหน้าพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส (พระที่นั่งราชฤดีในปัจจุบัน) ถ้ามีพระราชวงศ์จะโสกันต์ก็กำหนดในงานพระราชพิธีนี้ สดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ เวลาบ่ายมีงานอุทยานสโมสร กระทรวงวังจัดที่ลงพระนามและนามถวายพระพร วันที่ ๒ เมษายน เสกนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จฯ ไปสรงนํ้าพระพุทธรูปที่หอราชพงศานุสร หอราชกรมานุสร พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระคันธารราษฎร์ และพระวิหารยอด แล้วสดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าและพระอัฐิพระบรมวงศ์ที่หอพระนาก เวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วันที่ ๓ เมษายน พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยา ถือน้ำแล้วไป ถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ที่หน้าพระที่นั่งสนามจันทร์ในกำแพงแก้ว พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เพราะวันที่ ๑ มกราคม ใกล้เคียงวันแรม ๑ คํ่า เดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี และเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และตรงกับนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นไป จึงได้กำหนดการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปสรงนํ้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิสมเด็จพระบรมวงศ์

วันนี้มีการลงชื่อถวายพระพรที่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๑๐ นาฬิกา ถึง ๑๖ นาฬิกา

วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๙ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงปูชนียวัตถุ คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรและพระอัฐิพระราชวงศ์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ ไปไว้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามโบราณราชประเพณีซึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ ๑๓-๑๔-,๑๕ เมษายน

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์ เลี้ยงพระ ในวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร์วันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๑ มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ ๑ มกราคม พ.ค. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธปฏิมาที่พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในท้องพระโรง

เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จฯ ลงยังสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย แล้วทรงบาตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดเป็นสายๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ๕๐ รูป นอกนั้น รายละ ๒๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๐๐ รูป เสร็จแล้วเสด็จฯ ขึ้น งานนี้แต่งเครื่องแบบปรกติขาว งานนี้มีสังข์ แตร ปี่พาทย์ ประโคมบรรเลงตั้งแต่เสด็จทรงจุดเทียนจนเสด็จขึ้น

วันนี้ เวลา ๙ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังจะได้จัดที่สำหรับลงพระนาม และนามถวายพระพรไว้ที่พระบรมมหาราชวัง

ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นปี

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานส่วนพระองศ์ ณ พระราชฐานที่ประทับ

ที่มา:กรมศิลปากร