พระราชพิธีสงกรานต์

Socail Like & Share

สงกรานต์ตามตำราโหราศาสตร์คือพระอาทิตย์ยกจะย่างขึ้นสู่ราศีใหม่ ไทยสมัยโบราณนับในเดือนปีทางจันทรคติและใช้ปีเป็นจุลศักราช ถือคตินับขึ้นปีใหม่ในวันเปลี่ยนปีที่เรียกว่าเถลิงศกสงกรานต์ ขึ้นจุลศักราช ซึ่งจะอยู่ในวันที่อาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ จะตกในระหว่างวันที่ พระราชพิธีสงกรานต์๑๕-๑๖ เมษายน เทศกาลเถลิงศกเริ่มตั้งแต่ วันที่ ๑๓ เมษายน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวิธีนับวันเดือนปีเป็นทางสุริยคติ ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของทุกปี ส่วนประเพณีการบำเพ็ญกุศลสงกรานต์ยังคงมีอยู่

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖ โปรดเกล้าฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือนํ้าพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกัน เรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน และถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นงานพระราชพิธีสงกรานต์ที่เคยมีในวันที่ ๑๓ เมษายน จึงงดเพราะไปมีในงานพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ดังกล่าว

พระราชพิธีตรุษนั้นมีราชประเพณีบำเพ็ญพระราชกุศลมาแต่โบราณ เพราะตรุษเป็นเทศกาล นักขัตฤกษ์สิ้นปี โบราณถือเป็นประเพณีว่าชีวิตได้ผ่านพ้นมาได้หนึ่งปีด้วยความผาสุกสวัสดี ชาวไทยได้รับคตินับถือพุทธศาสนาเมื่อถึงวันตรุษจึงมีการรื่นเริงส่งปีเก่าและทำบุประกอบการกุศลตามประเพณีของชาวพุทธ พระราชพิธีตรุษมีปรากฏในเรื่องของนางนพมาศ ความว่า

“เดือน ๔ การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โลกสมมติว่า ตรุษ ชาวพนักงานตั้งบาตรนํ้ามนต์ทราย จับด้ายมงคลสูตรใส่ลังไว้ในโรงพระราชพิธี ทั้งสี่ทิศพระนครและในพระราชนิเวศน์ อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานอาราธนาพระมหาเถระผลัดเปลี่ยนกันมาจำเริญพระปริตในโรงพระราชพิธีทุกตำบลสิ้นทิวาราตรีสามวาร และด้ายมงคลสูตรนั้น ชาวพนักงานแจกพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เมื่อวันพระมหาเถระเจ้าจำเริญพระอาฏานาฏิยสูตรในราตรี เหล่าทหารยิงปืนใหญ่รอบพระนคร พราหมณาจารย์ประชุมกันผูกพรตกระทำพระราชพิธีในเทวสถานหลวง ตั้งเครื่องพลีกรรมสังเวย บวงสรวงพระเทวรูปทั้งมวล มีพระปรเมศวร เป็นต้น แล้วก็เปลี่ยนเวรกันอ่านอาคมในทิวาราตรีทั้งสาม….”

พระราชพิธีตรุษในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ตอนต้นจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ รวมเป็นพระราชพิธีเดียวกับสงกรานต์ มีหลักการพระราชพิธีคล้ายสมัยสุโขทัยตามเรื่องของนางนพมาศ เว้นแต่บางปีเมื่อพระราชโอรสธิดาของพระมหากษัตริย์เจริญพระชนมายุที่จะโสกันต์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ ในงานพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ในวันแรกที่มีการสวดมนต์

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ ๑ มกราคม การพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์จึงเปลี่ยนไปเรียกว่า พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ มีรายการบำเพ็ญพระราชกุศล คือ

วันที่ ๓๑ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

วันที่ ๑ มกราคม เวลา ๑๐ นาทีกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิสมเด็จพระบรมวงศ์

วันนี้มีการลงชื่อถวายพระพรที่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๑๐ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๖ นาฬิกา

วันที่ ๒ มกราคม เวลา ๙ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงนํ้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปสำคัญ ปูชนียสถาน และสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวร และพระอัฐิพระราชวงศ์ที่หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ แต่ยังทรงพระเยาว์ เสด็จไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ให้ฟื้นฟูราชประเพณี พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เทศกาลสงกรานต์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พระราชพิธีสงกรานต์ มีรายการบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณีสงกรานต์ ดังนี้

วันที่ ๑๓ เมษายน เวลาเช้า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ ๑๕๐ รูปเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาตามเจดีย์สถานต่างๆ ดังนี้

ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ในการพระราชพิธีสงกรานต์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเครื่องราชสักการะ มีต้นไม้ทอง ๔ ต้น ต้นไม้เงิน ๔ ต้น แพรแดงติดขลิบ ๔ ผืน ผ้าแพรดอก ๒ ผืน เทียนหนักเล่มละ ๑๘๐ กรัม ๔๘ เล่ม ธูปไม้ระกำ ๔๘ ดอก นํ้าหอมสรงพระ ๒ หม้อ เทียนหนักเล่มละ ๑๕ กรัม ๖๐๐ เล่ม ธูป ๒๐ กล่อง สำหรับทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยนำไปบูชาพระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุนครศรีธรรมราช พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปถ้ำประทุน พระพุทธรูปถ้ำวิมานจักรี พระพุทธ
รูปวัดพนัญเชิง พระพุทธรูปวัดสุวรรณดาราราม

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

จบแล้ว เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่าย สรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปสรงนํ้าปูชนียวัตถุตามเจดีย์สถานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ ๑๔ เมษายน เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๖๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้ว ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระมหามณเฑียร สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุราลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่อง นมัสการแล้ว เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงนํ้าพระบรมอัฐิ พระอิฐแล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ ทรงจุดธูปเทียนครื่องนมัสการพระสงฆ์ ๖๙ รูปถวายพรพระแล้ว ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระอัฐิขึ้นพระเสลี่ยง มีตำรวจหลวงนำ ๔ นาย ออกจากประตูสนามราชกิจ ไปประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และบนพระที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น ขณะเชิญพระโกศพนักงานประโคมสังข์ แตร กลองชนะ จนประดิษฐานเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิและทรงทอดผ้าคู่พระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จฯกลับ

วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ไปยังหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงทอดผ้าคู่พระบรมอัฐิ พระสงฆ์ ๕ รูปสดับปกรณ์แล้ว ทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก ๔๐ รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสงกรานต์เพียงวันเดียว ในวันที่ ๑๕ เมษายน โดยถือหลักการพระราชพิธีเดิมดังนี้

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลาเช้า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ ๑๕๐ รูปเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตที่ในพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สรงนํ้าพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุราลัยพิมานทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ แล้วสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ เสร็จแล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๗๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้ว ทรงประเคนภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิขึ้นพระเสลี่ยง มีตำรวจหลวงนำ ๔ นาย ออกจากประตูสนามราชกิจไปประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และบนพระที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น ขณะเชิญพระโกศพนักงานประโคมสังข์ แตร กรองชนะ จนประดิษฐานเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่พระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ และพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินกลับ

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาเจดีย์สถานต่างๆ แล้ว เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จไปสรงนํ้าปูชนียวัตถุตามเจดีย์ สถานในพระอารามนี้คือ หอพระดันธารราษฎร์ หอราชกรมานุสร หอราชพงศานุสร พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป พระวิหารยอด แล้วเสด็จเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงทอดผ้า พระสงฆ์ ๕ รูป สดับปกรณ์ แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก ๔๐ รูปสดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เป็นเสร็จการ

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบปรกติขาว

ที่มา:กรมศิลปากร