พระราชพิธีสังเวยพระป้าย

Socail Like & Share

การสังเวยพระป้ายจัดเป็นงานพระราชพิธีโดยเหตุที่พระป้าย คือแผ่นป้ายภาษาจีนพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระป้ายนี้จีนเรียกว่า เกสิน เป็นป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้พระราชพิธีสังเวยพระป้ายสำหรับบูชาประจำบ้าน เพราะธรรมเนียมจีนเคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การบูชาเซ่นสรวงแสดงว่าเป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และให้ความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติ

พระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว แบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทอง จารึกพระปรมาภิไธยเป็นอักษรจีนที่ด้านหลังเรือนแก้ว มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง

ส่วนพระป้ายที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน เป็นแผ่นป้ายพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีคู่หนึ่ง พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถคู่หนึ่ง จารึกบนแผ่นไม้จันทน์ ปิดทองขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน พระป้ายทั้ง ๒ คู่ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้ จันทน์จำหลักลายลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลาง หน้าห้องพระบรรทมชั้นบนของพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย คือการถวายอาหารคาวหวานเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน พระราชพิธีนี้เริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ กำหนดการสังเวยแต่เดิมนั้น สังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ก่อน ๑ วันตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถานสังเวยในวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๑ ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่) พระราชพิธีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เอง หากบางปีมีพระราชกรณียกิจอื่นไม่สามารถพระราชดำเนินได้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

เครื่องสังเวยเป็นเครื่องคู่มี หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาละเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษ (ภาษาจีนเรียกว่า กิมฮวยอั้งติ๋ว) ผ้าสีชมพู ประทัด (ได้ตัดออกไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖) ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง

เครื่องสังเวยพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อเริ่มมีพระราชพิธีนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จัดทูนเกล้าฯ ถวาย ครั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงจัดต่อมา ปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ที่วังสระปทุมจัดทูนเกล้าฯ ถวาย ส่วนเครื่องสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เดิมเป็นของกรมท่าซ้ายที่สกุลพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) จัดทูนเกล้าฯ ถวาย ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เครื่องสังเวยเป็นของหลวงที่สำนักพระราชวังจัดทำตลอดมา

พระราชพิธีสังเวยพระป้ายนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ ทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งไปทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง (สมัยก่อนทรงจุดประทัดด้วย) แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ เมื่อธูปที่จุดปักไว้ที่เครื่องสังเวยหมดดอกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวยและนำวิมานเทวดา (กิมฮวยอั้งติ๋ว) ไปปักในแจกันที่โต๊ะเครื่องบูชา พร้อมทั้งผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

ที่มา:กรมศิลปากร