พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

กฐิน ตามศัพท์บาลีแปลว่า กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเย็บจีวรถวายพระภิกษุห่มครอง กรอบไม้ขึงผ้าเพื่อเย็บนี้ไทยเรียกว่า สะดึง เมื่อนำผ้าไตรจีวรเย็บโดยใช้กรอบไม้ขึงให้เป็นผืนติดต่อกันเป็นท่อนๆ เรียกว่า เย็บเข้ากระทงสำเร็จรูปเป็นไตรจีวร เหตุที่ต้องใช้กรอบไม้ขึงผ้าเย็บก็เพราะในสมัยพุทธกาลไม่มีเครื่องจักรที่จะเย็บผ้าเช่นปัจจุบัน จึงผ้าพระกฐินเกิดเป็นศัพท์ว่า ผ้าไตรกฐิน ผ้าไตรองศ์กฐิน หรือผ้ากฐิน

มูลเหตุที่เกิดทอดกฐินในบาลีกล่าวว่า ครั้งพุทธกาลพระภิกษุเมืองปาไถยรัฐ ๓๐ รูปจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ที่ประทับเชตุวันมหาวิหาร แต่มาไม่ทันเพราะจะถึงเวลาเข้าพรรษาจึงพักเข้าพรรษาเสียก่อนที่เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้วก็รีบออกเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า การเดินทางของพระภิกษุเหล่านี้ถูกฝนเปรอะเปื้อนโคลนตมในระหว่างเดินทาง พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความยากลำบากได้ทรงตรัสอนุญาตให้พระภิกษุเมื่อออกพรรษาแล้ว ให้อยู่รับผ้ากฐินที่จะมีผู้นำมาถวายเสียก่อน คือกำหนดเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เป็นเวลา ๑ เดือน เรียกว่าสุดกฐินกาล

ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุจำนวนมากขึ้นผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทำขึ้นมีไม่พอจะถวายทั่วทุกองศ์ พระภิกษุสงฆ์ไม่กล้าที่จะรับเกรงว่าจะเป็นการแก่งแย่งกัน เป็นการนำมาซึ่งความแตกสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเพื่อความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ขึ้นเป็นพระธรรมวินัย กำหนดให้พระภิกษุผู้จำพรรษาสิ้น ๓ เดือน คือไตรมาสในอาวาสนั้น โดยวางหลักเกณฑ์ว่าพระภิกษุรูปใดมีจีวรครองเก่ากว่าภิกษุอื่นในอาวาสที่จำพรรษาด้วยกัน รอบรู้พระธรรมวินัยปฏิบัติศาสนกิจเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ เป็นที่เคารพนับถือของหมู่พระสงฆ์ และไม่มีอธิกรณ์ใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียในทางปฏิบัติและพระธรรมวินัย พระภิกษุในอาวาสที่จำพรรษาลงอุโบสถร่วมสังฆกรรมได้เห็นชอบพร้อมกันอนุโมทนาให้เป็นผู้รับครองผ้ากฐิน ซึ่งผู้นำมาถวายจะเจาะจงถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้ จึงต้องวางไว้แล้วกล่าวคำถวายโดยไม่เจาะจง จึงเรียกกันว่า ทอดกฐิน

โดยเหตุนี้การทอดกฐินจึงเป็นเทศกาลและประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชน จัดเป็นงานกุศลยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพิธีของหลวงหรือพิธีของราษฎร คือเป็นประเพณีสำคัญมาแต่โบราณตั้งแต่ไทยได้รับพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไม่มีการกุศลใดๆ ที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันด้วยจิตศรัทธาและมีความสามัคคีในการทำบุญเสมอการทอดกฐิน ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัยว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ฝูงท่วย มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอนบริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน คำบงคำกลอย ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ….”

ประเพณีกฐินจึงสืบเป็นราชประเพณีและเทศกาลบำเพ็ญกุศลทอดกฐิน เริ่มแต่วันออกพรรษา แรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เป็นสุดกฐินกาล

ส่วนราชประเพณีของหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงในวันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันแรม ๙ คํ่า เดือน ๑๑ เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางบก ทางเรือ วันละ ๒ วัดบ้าง ๓ วัดบ้าง ในสมัยก่อนๆ เป็นงานใหญ่เสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค คือทรงพระราชยาน มีกระบวนแห่ราชอิสริยยศ เครื่องสูง สังข์ แตร กลองชนะ คู่เคียง อินทร์พรหมถือหอก ถือทวน ถือดาบ เชิญพระแสงต่างๆ เป็นกระบวนราชอิสริยยศ แต่งกายอย่างทหารไทยโบราณ สมัยต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกองทหารแบบยุโรปขึ้นแล้ว จึงจัดให้มีกองทหารแบบใหม่เป็นกระบวนหน้าและกระบวนหลังตาม เช่น มีแตรวงธงประจำกองนำ ทหารม้า ทหารราบทุกเหล่า ทหารปืนใหญ่ ทั้งหมดแต่งเครื่องแบบเต็มยศแห่นำและตามเสด็จฯ และบางปีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินทางเรือเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค ผ้าไตรองค์กฐินตั้งในบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กระบวนเรือพระอิสริยยศมีเรือคู่ชักเป็นรูปสัตว์ที่หัวเรือ เช่นรูปพญาพานรบ้าง รูปอสูรบ้าง มีสังข์ แตร มโหระทึก ปี่ กลองชนะ ประโคม มีศิลปินเห่เรือ และมีกระบวนเรือตั้งเรือแซง เป็นต้น แต่งกายด้วยเครื่องทหารแบบโบราณ สวมหมวกหูกระต่าย หมวกทรงประพาส เมื่อเคลื่อนกระบวนเรือพยุหยาตรา ศิลปินประจำเรือผ้าไตรจะเห่ตามบทประพันธ์กาพย์เห่เรือ ฝีพายร้องรับเป็นตอนๆ

ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่ง รถยนต์พระที่นั่ง เรือยนต์พระที่นั่ง ไปถวายผ้าพระกฐิน และบางปีก็โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเป็นเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราสถลมารค บางปีก็กำหนดเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารคตามโบราณราชประเพณี เช่น เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๒ และ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินวัดอรุณราชวราราม เป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคโดยจัดเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งบุษบกเชิญผ้าไตรพระกฐิน นำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในกัญญาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เพื่อเป็นการรักษาราชประเพณีที่เคยมีมาแต่กาลก่อนและเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมของไทย

โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภ์ เฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนามีวัดที่ทางราชการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ๑๙๐ วัด ในฐานะที่เป็นวัดหลวงตามราชประเพณีพระมหากษัตริย์ย่อมจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดหลวงทุกวัด แต่จำนวนวัดหลวงมีมากมายหลายจังหวัดทั่วราชอาณาจักร บางโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง และบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินให้ครบทุกวัดที่เป็นพระอารามหลวงตามกำหนดเทศกาลทอดกฐินได้

เมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินพระอารามหลวงในเขตที่ใกล้พระนครเป็นส่วนมาก เริ่มพระกฐินหลวงแต่วันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ เป็นวันแรก กำหนดเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ๓ วัด หรือ ๒ วัด รุ่งขึ้นแรม ๗ คํ่าพักวันหนึ่ง วันที่พักนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานเตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป็น กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคจะต้องกำหนดในวันแรม ๙ คํ่า ก็เพราะวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่านํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนพระนครจะขึ้นมากและนิ่งไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปแต่ละปี

พระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนดเป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เป็นประจำปีในปัจจุบัน ๑๖ วัด คือ
๑. วัดบวรนิเวศวิหาร (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๖)
๒. วัดสุทัศนเทพวราราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๘)
๓. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๑)
๔. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๕)
๕. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๗)
๖. วัดมกุฎกษัตริยาราม (มีพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๔)
๗. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๔)
๘. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (เป็นวัดคู่พระบรมราชวงศ์จักรี)
๙. วัดราชาธิวาส (มีพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๑๐. วัดราชโอรสาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๓)
๑๑. วัดอรุณราชวราราม (มีพระบรมราซสริรางคารรัชกาลที่ ๒)
๑๒. วัดเทพศิรินทราวาส (รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างอุทิศถวายพระบรมราชชนนี)
๑๓. วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สร้างขึ้นไว้ ณ นิวาสสถานเดิม)
๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริ ให้สร้างเป็นวัดประจำพระราชวังบางปะอิน)
๑๕. วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๖)
๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (เป็นวัดในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ ถือเป็นราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์เสวยราชย์บรมราชาภิเษกแล้วจะต้องเสด็จฯ ไปถวายสักการะ พระพุทธชินราช)

พระอารามหลวงในจำนวน ๑๖ วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินวันละ ๓ วัด หรือ ๒ วัด เริ่มแต่วันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ เสด็จฯ ๓ วัน ส่วนวัดที่เหลือก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระกฐินหลวงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์และเป็นกฐินหลวงพระราชทานพระบรมวงศ์ หรือราชสกุล ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นกฐินพระราชทาน

ส่วนพระอารามหลวงอื่นๆ นอกจาก ๑๖ วัดนี้ ซึ่งมีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บางปีก็โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นบางวัด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้กระทรวง ทบวง กรม สถาบัน คณะบุคคล เมื่อมีจิตศรัทธาจะถวายผ้าพระกฐิน พระอารามหลวงวัดใดวัดหนึ่งนอกจากที่สงวนไว้ ๑๖ วัดนั้นแล้ว ก็ให้แจ้งความจำนงขอพระราชทาน ไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะรวบรวมกราบบังคมทูลขอพระราชทานครองพระกฐินหลวงนำไปทอดถวาย ณ วัดหลวงที่มีจิตศรัทธาประสงค์จะไปทอดกฐิน เครื่องพระกฐินวัดเหล่านี้กรมการ ศาสนาเป็นผู้จัดไว้ให้พร้อม เพราะถือเป็นพระกฐินหลวงพระราชทาน

การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินและโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยออกเป็นหมายกำหนดการ แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ สวมสายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือจุลจอมเกล้าและช้างเผือก ถ้าปีใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามด้วย ต้องกำหนดสายสะพายราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยเป็นสายสำคัญ แต่สำหรับวัดอรุณราชวราราม ต้องกำหนดสายสะพายราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์เป็นสายสำคัญ ในกรณีที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์นั้น หมายกำหนดการจะได้กำหนดแต่งกายเต็มยศ สายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี และทุกวัดที่ออกหมายกำหนดการแต่งเครื่องแบบเต็มยศต้องมีทหารเหล่ารักษาพระองค์จัดเป็นกองเกิยรติยศ พร้อมแตรวง ธงประจำกองไปตั้งรับ-ส่งเสด็จฯ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

พระอารามหลวงที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ถวายผ้าพระกฐินเป็นงานออกหมายกำหนดการเต็มยศ ในพระอุโบสถจะได้ทอดพระราชอาสน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยถวายคลุมด้วยผ้าเยียรบับ

พระกฐินหลวงที่ทอด ณ วัดฝ่ายธรรมยุต ที่ไตรองค์กฐินจะมีผ้าขาวพับซ้อนอยู่ข้างบน เมื่อทอดถวายพระสงฆ์ทำกฐินกรรมเสร็จแล้ว เสด็จฯ กลับ เจ้าพนักงานช่างเย็บซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายใน (สตรี) สังกัดสำนักพระราชวัง จะช่วยฝ่ายสงฆ์ตัดเย็บผ้าขาวที่ทรงทอดถวายรวมกับไตรองค์กฐินเอาไปตัดเย็บเข้ากระทงเป็นจีวรแล้วย้อมใหม่ด้วยสีกรัก (สีเปลือกไม้) ถวายพระสงฆ์ไปทำพิธีกรรมในการครองผ้าพระกฐินต่อไป ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จในวันนั้น

กำหนดวันและวิธีถวายผ้าพระกฐินเสด็จพระราชดำเนินและแทนพระองค์ มีดังนี้

วันแรก ขึ้น ๖ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายมงกุฎไทย

วันที่ ๒ ขึ้น ๗ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๓ ขึ้น ๘ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๔ ขึ้น ๙ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายนพรัตน์ และข้างเผือก

วันที่ ๕ ขึ้น ๑๐ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๖ ขึ้น ๑๑ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรีและจุลจอมเกล้า

วันที่ ๗ ขึ้น ๑๒ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรีและ จุลจอมเกล้า

เวลา ๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดที่ ๑ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ เจ้าหน้าที่ศุภรัตทูนเกล้าฯ ถวายผ้าพระกฐินที่ประตูนอกพระอุโบสถ ทรงรับพาดระหว่างพระกรอุ้มเชิญเข้าไปในพระอุโบสถ ทรงวางผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้าหน้าอาสนสงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถทรงกราบทรงหยิบผ้าสำหรับห่มถวายพระประธานที่วางอยู่บนหลังผ้าไตรพระกฐิน พระราชทานให้เจ้าหน้าที่ภูษามาลา แล้วเจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดนี้ จบแล้ว ทรงหยิบผ้าไตรกฐินที่วางบนพานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกรประนมพระหัตถ์ผินพระพักตร์สู่พระประธาน ทรงว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ๓ จบ แล้วหันพระพักตร์สู่ที่ชุมนุมสงฆ์ ทรงว่าคำถวายผ้าพระกฐิน
แบบที่ ๑ สำหรับวัดฝ่ายธรรมยุต
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส
โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ
อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏคฺคณฺหาตุ
ปฏิคฺเหตุวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ
อมหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

แบบที่ ๒ สำหรับวัดฝ่ายมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ทุติยมฺปิ อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ตติยมฺปิ อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม

แบบที่ ๓ สำหรับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มีราชประเพณีวางไว้ให้ว่าเป็นภาษาไทย

ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษาถ้วนไตรมาส ในพระอาวาส ราชวรมหาวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินแล้วกระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ฯ

แบบที่ ๔ สำหรับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงกำหนดให้ใช้ตามแบบวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์

ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจำพรรษา ถ้วนไตรมาส ในพระอาวาสราชวรวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินแล้วกระทำกฐินัตถารกิจ ตาบพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ฯ

เมื่อทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินแล้วทรงวางผ้าไตรบนพานแว่นฟ้า ทรงประเคนเทียนปาติโมกข์ แด่พระสงฆ์รูปที่ ๒ แล้วประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์ทำกฐินกรรมตามพระวินัย พระสงฆ์รูปที่ได้เป็นผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองไตรพระกฐินเรียบร้อยแล้วกลับมานั่งที่เดิม ต่อจากนี้เลขาธิการพระราชวังจะได้เข้าไปหมอบเฝ้าฯ กราบบังคมทูล แล้วเชิญพระราชกระแสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ถวายเครื่องบริขารพระกฐิน แด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน พระราชวงศ์ผู้ที่ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้า จะถวายความเคารพแล้วไปยังอาสนสงฆ์ พระราชวงศ์องค์อื่นจะได้ส่งเครื่องบริขารให้พระราชวงศ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้ารับแล้วถวายพระสงฆ์โดยผินพระพักตร์ออกสู่ที่ประทับ แต่ถ้าเป็นของมีคม เช่น ขวาน สิ่ว จะต้องหันหลังส่งตามลำดับ เมื่อถวายเครื่องบริขารพระกฐินเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถ้าวัดใดมีผู้ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ผู้แทนเจ้าอาวาสจะกราบบังคมทูลเบิกตัวเข้าไปเฝ้าฯ ทูนเกล้าฯ ถวายเงินตามลำดับจนหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปฏิสันถารกับเจ้าอาวาส แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบที่เครื่องนมัสการหน้าพระพุทธปฏิมาประธาน เสด็จฯ ยังวัดที่ ๒ หรือที่ ๓ ต่อไป แล้วเสด็จฯ กลับ

ในกรณีวัดที่เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินนั้น มีการสดับปกรณ์พระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เช่น วัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อพระผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองผ้าไตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะแล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป สดับปกรณ์ ออกไปครองผ้ากลับเข้านั่งที่เดิมพร้อมกับพระผู้ครองผ้าพระกฐินแล้วจึงถวายเครื่องบริขารพระกฐิน

อนึ่งพระกฐินหลวงที่โปรดเกล้าฯ ให้แทนพระองค์ ตลอดจนพระกฐินพระราชทาน รวมทั้งที่แจ้งความจำนงไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีคำว่าถวายผ้าพระกฐินเป็นภาษาไทย ดังนี้

“ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา¬ภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าน้อมนำถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ”

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้วางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงและกฐินพระราชทาน ดังนี้

แนวปฏิบัติ เกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงและพระกฐินพระราชทาน
เนื่องด้วยกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นว่า สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในวัดหรือใกล้วัดมักจะนำนักเรียนไปตั้งแถวรับพระกฐินหลวง และพระกฐินพระราชทานเป็นประจำ กระทรวงศึกษาธิการจึง ปรับปรุงแนวปฏิบัติขึ้นใหม่ ดังนี้

๑. พระกฐินหลวงและพระกฐินพระราชทาน
“พระกฐินหลวง” หมายความว่า พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ องคมนตรี หรือบุคคลผู้หนึ่งผู้ใด เสด็จไป หรือไปถวายแทนพระองศ์ ตามหมายของสำนักพระราชวัง

“พระกฐินพระราชทาน” หมายความว่า พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน แก่กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สโมสร สมาคม หรือเอกชนผู้มีเกียรติซึ่งขอพระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่อนำไปถวาย ณ พระอารามหลวง

“สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน วิทยาลัย หรือสถานศึกษา ที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

“หัวหน้าสถานศึกษา” หมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

แนวปฏิบัตินี้เป็นแนวปฏิบัติของสถานศึกษาที่นำนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ลูกเสือ ยุวกาชาด หรือเนตรนารี ไปตั้งแถวรับผู้เป็นองค์ประธานหรือประธานเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับพิธีทางศาสนา หรือพิธีการในพระอุโบสถ

๒. สถานศึกษาที่ควรไปรับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน
๒.๑ สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในวัดนั้น
๒.๒ สถานศึกษาที่เคยตั้งอยู่ในวัดนั้น
๒.๓ สถานศึกษาที่ทางวัดเคยอุปการะ หรือกำลังอุปการะอยู่
๒.๔ สถานศึกษาที่ทางวัดขอร้อง หรือสถานศึกษาที่ทางจังหวัดเห็นสมควรให้ไปรับพระกฐินหลวง หรือพระกฐินพระราชทาน

๓. วิธีดำเนินการ
เมื่อวัดใดได้รับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน ให้หัวหน้าสถานศึกษาดังกล่าวในข้อ ๒ นำนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ ไปตั้งแถวรับผู้เป็นองค์ประธาน หรือประธาน โดยให้ดำเนินการดังนี้
๓.๑ ติดต่อประสานงานกับวัดเพื่อทราบกำหนดแน่นอน และแจ้งจำนวนครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ ที่จะไปตั้งแถวรับให้ทางวัดทราบแล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย
๓.๒ การฝึกซ้อมเกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน ให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ควรจะให้เสียเวลาของนักเรียนนักศึกษาน้อยที่สุด

๔. การรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน และรับผู้เป็นประธานที่ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินมาทอดถวาย
๔.๑ การแต่งกาย ให้เป็นไปตามหมายกำหนดการ หรือกำหนดการว่าด้วยการนั้น
๔.๒ การตั้งแถวรับ จะคัดจัดนักเรียนนักศึกษาทุกแผนกไว้ในที่เดียวกัน หรือแบ่งแยกนักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี หรือยุวกาชาดไว้คนละแห่ง ก็ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาตามที่เห็นสมควร
๔.๓ การจัดโต๊ะหมู่บูชา ถ้าเป็นการรับเสด็จพระราชดำเนิน หรือในกรณีที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ให้จัดโต๊ะหมู่บูชา ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ ไม่ต้องจุดธูปเทียน

๕. การจัดดุริยางค์บรรเลงรับ-ส่ง
๕.๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีใน รัชกาลก่อน สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระ ราชดำเนินมาถึงให้หัวหน้าสถานศึกษา หรือผู้ควบคุมแถวบอกทำความเคารพ นักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ทำความเคารพตามระเบียบว่าด้วยการนั้น ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
๕.๒ พระกฐินหลวงที่พระราชทานพระราชวงศ์ องคมนตรี ไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง เมื่อเสด็จหรือไปถึงวัดรับผ้าไตรของหลวง เชิญเข้าสู่พระอุโบสถ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อกลับบรรเลงเพลงมหาชัย
๕.๓ นายกรัฐมนตรี หรือผู้มีเกียรติที่ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดถวายมาถึงรับผ้าไตรของหลวงเชิญเข้าสู่พระอุโบสถ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อนายกรัฐมนตรีกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย ส่วนบุคคลผู้มีเกียรตินอกจากนี้เมื่อกลับไม่ต้องบรรเลงเพลงใดๆ

๖. การถวายรายงานและรายงาน
ให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ควบคุมแถว ถวายรายงานและหรือรายงานตามแบบดังนี้
(แบบถวายรายงานรับพระกฐินหลวง)
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า……………………..(ออกนาม) ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท………………………..(ชื่อสถานศึกษา) นักเรียน นักศึกษา………..คน
ครู อาจารย์…………..คน ลูกเสือ……………คน เนตรนารี………………คน
ยุวกาชาด…………….คน รวมทั้งสิ้น…………คน

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า……………………………..(ลงนาม)
ตำแหน่ง………………………………………
หมายเหตุ ถ้าเป็น
๑. สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อน
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ๓. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
คาขึ้นต้นใช้ “ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาท……………..
คำสรรพนาม “ข้าพระพุทธเจ้า, ใต้ฝ่าละอองพระบาท”
คำลงท้าย    “ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”

                 ซอง
ขอพระราชทานทูนเกล้าฯ ถวาย
รายงาน
จำนวน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา
ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด

(แบบกล่าวรายงานรับพระกฐินพระราชทาน)
ถ้าผู้ได้รับพระกฐินพระราชทานเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า หรือสมเด็จพระบรมวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้า ใช้ว่า

“ขอพระราชทานกราบทูล ทราบฝ่าละอองพระบาท…………………….(ชื่อสถานศึกษา) นำนักเรียน นักศึกษา………….คน ครู/อาจารย์……………..คน ลูกเสือ    ………………คน เนตรนารี…………คน
ยุวกาชาด……………คน รวมทั้งสิ้น……………………คน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า……………………..(ลงนาม)
ตำแหน่ง……………………………..
หมายเหตุ
๑. ถ้าเป็นพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ให้ใช้ ขอประทานกราบทูล ทราบฝ่าพระบาท ถ้าเป็นหม่อมเจ้า ใช้ กราบทูล คำลงท้ายว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
๒. ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา

คำขึ้นต้น    “กราบเรียน, เรียน…………….(ออกชื่อตำแหน่งที่จะรายงาน)
คำลงท้าย    “จึงขอประทานกราบเรียน เรียน เพื่อโปรดทราบ”

                    ซอง
รายงาน
จำนวนครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา
ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีสารท

สารทเป็นนักขัตฤกษ์ ถือเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณกาลว่า เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน ๑๐ คือ วัน เวลา เดือนและปีได้ผ่านพ้นไปกึ่งปี และโดยที่มนุษยชาติดำรงอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรมเป็นหลักสำคัญ เมื่อถึงกึ่งปีเป็นฤดูกาลที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม จึงได้มีกรรมวิธีปรุงแต่งที่เรียกกันว่า กวนข้าวทิพย์ หรือข้าวปายาส ข้าวยาคู และขนมชนิดข้าวทิพย์หนึ่งเรียกว่า กระยาสารท แล้วประกอบการบำเพ็ญกุศลถวายพระสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนาทั้งอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนผู้มีพระคุณ และแจกสมนาคุณญาติมิตรตามคติที่ชาวไทยเป็นพุทธศาสนิกชน แม้จะเป็นประเพณีที่มีส่วนมาจากลัทธิพราหมณ์ ชาวไทยก็นิยมรับเพราะเป็นประเพณีในส่วนที่มีคุณธรรมอันดีพึงยืดถือปฏิบัติ

พิธีสารทนอกจากเป็นประเพณีของชนชาวไทยทั่วไปแล้ว ในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า พิธีของหลวงนั้นในสมัยสุโขทัย มีในตำนานนางนพมาศว่า

“…ราชบุรุษชาวพนักงานตกแต่งโรงพิธีในพระราชนิเวศน์ ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ นายนักการระหารหลวงก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงข้าวมาตากตำเป็นข้าวเม่า ข้าวตอกส่งต่อมณเฑียรวังเวรเครื่อง นายพระโคก็รีดนํ้าขีรารสมาส่งดุจเดียวกัน ครั้นได้ฤกษ์รับสั่งให้จ่าชาวเวร เครื่องทั้งมวล ตกแต่งปรุงมธุปายาสปรุงปนระดมเจือล้วนแต่โอชารส มีขัณฑสกร นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย นํ้าตาล นมสด เป็นต้น ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิง จึงให้สาวสำอางกวนมธุปายาสโดยสังเขป ชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์ ฆ้อง กลอง เล่นการมหรสพ ระเบงระบำล้วนแต่นารี แล้วพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชบริพารนำข้าวปายาสไปถวายพระมหาเถรานุเถระ…”

ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้สืบประเพณีพระราชพิธีสารทมาจัดทำ เช่น ในรัชกาลที่ ๑ มีพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ รัชกาลต่อมาได้ทำบ้างงดบ้าง จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสารท มีกำหนดการดังนี้

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าราชประเพณีแต่ก่อนมา ถึงเวลากลางปีเคยมีการพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ปายาสทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายยาคูแต่พระสงฆ์ ด้วยว่าประจวบฤดูข้าวในนาแรกออกรวงเป็นกษีรรส พอจะเริ่มบริจาคเป็นทานถวายแด่ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้เรียกว่าสาลีคัพภทาน แต่เว้นว่างมิได้กระทำมาเสียนาน มีพระราชประสงค์ที่จะทรงกระทำในปีนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีสารทในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แต่งสาวพรหมจารีราชอนุวงศ์ให้กวนข้าวทิพย์ปายาส แลแผ่พระราชกุศลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน ให้รับรวงข้าวอ่อนไปแต่งเป็นยาคูบรรจุโถทำด้วยฟักเหลือง ประดับประดาอย่างวิจิตรพึงชม ถวายโดยเสด็จในการพระราชกุศลพิธีสารท มีกำหนดการดังนี้

วันที่ ๒๕ กันยายน ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๑๕ คํ่า ปีเถาะ เจ้าพนักงานจะได้แต่ง การในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เชิญพระพุทธรูปชัยวัฒน์ทั้ง ๗ รัชกาลแลพระสุพรรณบัฏ พระมหาสังข์ พระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ ทั้งพระแสงราชาวุธ จัดตั้งไว้บนพระแท่นเศวตฉัตร ตั้งโต๊ะจีนสองข้าง ประดิษฐานพระพุทธรูปนิรันตรายบนโต๊ะข้างตะวันออก ประดิษฐานรูปพระสยามเทวาธิราชบนโต๊ะข้างตะวันตก ตั้งเครื่องนมัสการสรรพสิ่งทั้งปวงสำหรับพระราชพิธีพร้อมกับทั้งตกแต่งโรงพระราชพิธี ที่กวนข้าวทิพย์ปายาส ณ สวนศิวาลัย แลแต่งหอเวทวิทยาคมพราหมณ์เข้าพิธีเสร็จสรรพ

เวลา ๕.๐๐ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนนมัสการทรงศีล อาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธีสารท

เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศจบ พระสงฆ์ ๓๐ รูปสวดพระพุทธมนต์ สาวพรหมจารีราชอนุวงศ์ ซึ่งจะกวนข้าวทิพย์ปายาสฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระสูตร ครั้นสวดจบสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนํ้าพระมหาสังข์ทรงเจิมพระราชทานสาวพรหมจารี แล้วท้าวนางนำไปสู่โรงพระราชพิธี ณ สวนศิวาลัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเข้าโรงพระราชพิธี ทรงหลั่งนํ้าพระมหาสังข์ลงในกะทะแลทรงเจิมพายแล้วทรงรินนํ้าพระพุทธมนต์ในพระเต้าลงกะทะโดยลำดับ โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าน้อยๆ นำเครื่องปรุงอเนกรสหยอดตามเสด็จไป เจ้าพนักงานเทถุงเครื่องกวนลงในกะทะ สาวพรหมจารีกวนข้าวทิพย์ปายาส เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร เครื่องดุริยางค์ พราหมณ์หลั่งนํ้าเทพมนต์ลงทุกกะทะเพื่อเป็นสวัสดิมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ ครั้นกวนข้าวทิพย์ปายาสได้ที่แล้ว เจ้าพนักงานบรรจุเตียบนำไปตั้งไว้ในมณฑลพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

วันที่ ๒๖ กันยายน ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ คํ่า ปีเถาะ เวลาเช้าเจ้าพนักงานจะได้รับโถยาคู ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแต่งมาโดยเสด็จการพระราชกุศล จัดตั้งเรียงไว้ถวายตัว

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนนมัสการ ทรงศีล พระสงฆ์ถวายพรพระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรโถยาคู ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแต่งมาถวาย ทรงเลือกปักธงชื่อพระตามพระราชประสงค์จำนงพระราชทานโถไหนแก่รูปไหนแล้ว เจ้าพนักงานยกไปตั้งตามที่ทรงประเคนภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ครั้นพระสงฆ์ฉันของคาวแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ประเคนของหวานกับทั้งยาคูแลข้าวทิพย์ปายาส ครั้นฉันเล้วทรงประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายอดิเรก ถวายพระพรลาแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ เจ้าพนักงานจำแนกข้าวทิพย์ปายาสพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ กับข้าทูลละอองธุลีพระบาททั่วกันแล้ว เป็นเสร็จการ

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระราชเทวี ทรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๑ จึงมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถือเป็นราชประเพณีสืบมา เนื่องจากวันพระราชสมภพตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร คือวันที่ ๑ มกราคม พระราชพิธีจึงจัดร่วมกันเป็นงาน  ๓ วัน คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ถึงวันที่ ๒ มกราคม ในครั้งนั้นไม่มีพิธีสงฆ์ มีแต่งานสโมสรสันนิบาต พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ทูตานุทูต ข้าราชการ แล้วถวายพระพร เวลาเที่ยงวันของวันที่ ๑ มกราคม ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัดวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชกุศลด้วย คือในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พระสงฆ์ ๔๑ รูปเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร มีพระแท่นมณฑลพิธีตั้งม้า
หมู่ประดิษฐานบุษบกพระพุทธบุษยรัตน์น้อย พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ ๔ พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๕ และพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระเต้านํ้าพระพุทธมนต์ เทียนพระมหามงคล ๑ คู่ สองข้างพระแท่นมณฑล ตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ข้างตู้เทียนเท่าพระองศ์ตั้งม้าหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูปเทวรูปองค์ประจำพระชนมพรรษา และพระพุทธรูปเทวรูปองค์แทรกพระชนมพรรษา

วันที่ ๑ มกราคม เวลาเช้า ๔ โมงเศษ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์เมื่อวันก่อนเวลาเที่ยงวัน ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด เวลาคํ่าพระราชทาน เลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ มีงานสโมสรสันนิบาต

วันที่ ๒ มกราคม เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จออกพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร พระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบ ทรงประเคนผ้าไตรและเครื่องบริขาร เวลาคํ่าพระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ทูตานุทูตและข้าราชการ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีต่อๆ มาโปรดเกล้าฯ ให้มีแต่การพระราชทานเลี้ยงเป็นประจำ นอกจากปีใดเปลี่ยนพระมหาทักษาจึงจะมีพิธีสงฆ์ด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษาบรรจบครบ ๕๐ ปี เป็นประเพณีนิยมว่าพระชนมพรรษาได้กึ่งร้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมฉลองเป็นพระราชพิธีใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อสนองพระเดชพระคุณแด่สมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง หลังจากนั้นมาการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาจึงได้กำหนดมีพิธีสงฆ์ตลอดมาจนกระทั่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ก็ได้อนุโลมตามพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ กำหนดเป็นงาน ๒ วัน ดังตัวอย่างหมายกำหนดการนี้

หมายกำหนดการ
เฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๑

วันที่ เวลา รายการ ที่ แต่งกาย
๒๐ ๑๗.๐๐ น. สวดมนต์ ครึ่งยศ
๒๑ ๑๐.๓๐ น. เลี้ยงพระ เวียนเทียน พระที่นั่งอัมพร ปกติ
๑๗.๐๐ น. สโมสรสันนิบาตมีละคร สนามสวนศิวาลัยพระที่นั่งอัมพร ครึ่งยศ 

ปกติ

๒๑.๓๐ น.

มหาเสวกเอก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า การมงคลราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดดังนี้

วันที่ ๒๐ ธันวาคม เจ้าพนักงานพระราชพิธีเตรียมการที่ห้องประชุมพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เป็นห้องพระราชพิธี ตั้งพระแทนมณฑลน้อยประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลปัจจุบัน พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ พระพุทธรัตนานาวิล และพระพุทธรูปประจำวันของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระเต้าเครื่องสรงสนาน ตั้งม้าหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวรูปองค์ประจำพระชนมพรรษาและองค์แทรกและเครื่องนมัสการไว้พร้อมสรรพ

ถึงเวลา ๑๒ นาฬิกา ทหารบกและทหารเรือจะไดยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด

ครั้นเวลา ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกห้องพระราชพิธี โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๒๕ รูป มีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานขึ้นสู่ ณ ห้องฉัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงประเคนไตรจีวรกับย่ามแก่พระสงฆ์ๆ ออกไปครองไตรจีวรใหม่กลับขึ้นมานั่งยังอาสนสงฆ์ในห้องพระราชพิธีแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงจุดเทียนพระมงคลและเทียนเท่าพระองค์ แล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงศีล พระสงฆ์ ๒๕ รูปสวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา

อนึ่ง วันนี้ตั้งแต่เวลา ๑๒ นาฬิกา ถึง ๑๘ นาฬิกา กรมวังในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะได้จัดกระดาษสำหรับลงนามถวายพระพร สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในและข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในที่พระที่นั่งอัมพรสถานแห่งหนึ่ง สำหรับทูตานุทูตและคณะที่ตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์แห่งหนึ่ง สำหรับข้าทูลละอองพระบาทฝ่ายหน้าที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระราชวังดุสิตแห่งหนึ่ง

วันที่ ๒๑ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกห้องพระราชพิธี โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสน์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงบาตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนภัตตาหารแก่สมเด็จพระสังฆราช และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงประเคนแก่พระสงฆ์อีก ๒๔ รูป แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงจุดธูปเทียนเครื่องสังเวยเทวดา อาลักษณ์อ่านประกาศสังเวยเทวดา พระสงฆ์ทำภักตกฤตย์เสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลาแล้ว เจ้าพนักงานจะได้ตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชดวงพระราชสมภพ

ครั้นถึงเวลา ๑๒ นาฬิกา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีจะได้เสด็จสู่ที่สรงภายในพระราชมณเฑียร

เวลา ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมราชวงศ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ส่วนผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเชิญมาสโมสรสันนิบาต จะได้คอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่สนามสวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลงยังสนาม พระบรมราชวงศ์ตามเสด็จพระราชดำเนิน พระราชวงศ์และอัครราชทูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ข้าราชการและสตรีบรรดาศักดิ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มีพระราชปฏิสันถารแล้ว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงนํ้าชาเครื่องว่างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนี เสด็จขึ้น

ในคํ่าวันนี้ เสนาบดีกระทรวงวังรับพระราชเสาวนีย์ใส่เกล้าฯ เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในมาทอดพระเนตรละครเนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ท้องพระโรงหลังแห่ง พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ถึงเวลา ๒๑ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จออกประทับ ณ ท้องพระโรงหลัง ทอดพระเนตรละครและพระราชทานเครื่องว่างแก่ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมา ละครเลิกแล้ว เสด็จขึ้นเป็นเสร็จการ

การแต่งกาย
วันที่ ๒๐    เวลาสวดพระพุทธมนต์ แต่งเครื่องครึ่งยศ
วันท ๒๑    ตั้งแต่เวลาเลี้ยงพระตลอดจนเวียนเทียน แต่งเครื่องยศปกติ
เวลาเย็น การสโมสรสันนิบาต แต่งเครื่องครึ่งยศ เวลาค่ำ มีละครแต่งเครื่องยศปกติ

ที่ลงนามถวายพระพร
พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน         พระที่นั่งอัมพรสถานชั้นบน
ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน    ห้องนางสนองพระโอษฐ์
พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า     ห้องถ้วย

ตำแหน่งเฝ้าฯ ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระบรมราชวงศ์ฝ่ายใน ประทับในห้องทิศเหนือห้องทรงพระอักษรก่อนเสด็จออก เมื่อเสด็จออกห้องพระราชพิธีประทับในห้องพระราชพิธี เมื่อเสด็จออกทอดพระเนตรละคร ประทับท้องพระโรงทรงพระราชวงศ์ฝ่ายใน ประทับที่พระเฉลียงทิศตะวันออกห้องพระราชพิธี เมื่อเสด็จทอดพระเนตรละครประทับที่ท้องพระโรงหลัง

พระบรมราชวงศ์ฝ่ายหน้า ประทับห้องแป๊ะเต๋งก่อนเสด็จออก เมื่อเสด็จออกห้องพระราชพิธี ประทับห้องพระราชพิธี เมื่อเสด็จออกทอดพระเนตรละครประทับท้องพระโรงหลัง

พระราชวงศ์ฝ่ายหน้า ประทับห้องถ้วย เมื่อเสด็จออกทอดพระเนตรละคร ประทับท้องพระโรงหลัง
พระสงฆ์ พักท้องพระโรงหลัง
ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน พักที่ห้องนางสนองพระโอษฐ์
ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า พักที่ห้องแก้ว และห้องอียิปต์

ตำแหน่งเฝ้าฯ ในการอุทยานสโมสร
พระบรมราชวงศ์ ห้องรับแขกพระที่นั่งบรมพิมาน นอกกว่านั้นที่สนามสวนศิวาลัย
กรมวัง
หมายมา ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๑

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปีแรกๆ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดพระราชพิธี ๒ วัน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตามหมายกำหนดการดังนี้

ที่ ๑๓/ ๒๕๐๑
หมายกำหนดการ
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สิงหาคม ๒๕๐๑

วันที่ เวลา รายการ ที่ แต่งกาย
๑๒  ๙.๐๐-๑๗.๐๐น.  ลงชื่อถวายพระพร  ในพระบรมมหาราชวัง ปรกติ
๑๖.๓๐ น. เจริญพระพุทธมนต์ พระที่นั่งอมรินทร์ ครึ่งยศ
๑๓  ๑๐.๓๐ น. เลี้ยงพระ พระที่นั่งอมรินทร์ ปรกติ

นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวัง รับสนองพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระราชพิธีศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ปีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีดังนี้

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา ไปยังพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์และธูปเทียนบูชาพระพุทธรูป เทวรูปพระเคราะห์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ ทรงศีล พระสงฆ์ ๒๗ รูปเจริญพระพุทธมนต์ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จบแล้ว ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันนี้ ตั้งแต่เวลา ๙ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังได้จัดที่สำหรับลงพระนาม และนามถวายพระพรไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง

อนึ่ง เวลา ๑๒ นาฬิกา ทหารบก ทหารเรือ จะได้ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด

วันที่ ๑๓ สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา ไปยังพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ถวายพรพระแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินกลับ

การแต่งกาย    
วันที่ ๑๒ สิงหาคม บ่าย เจริญพระพุทธมนต์ แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ
วันที่ ๑๓ สิงหาคม เช้า แต่งเครื่องแบบปรกติ

สำนักพระราชวัง    
วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๐๑

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นส่วนพระองค์ ไม่มีหมายกำหนดการพระราชพิธี มีแต่หมายกำหนดการสำหรับลงนามถวายพระพรที่ในพระบรมมหาราชวัง และการยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ดังนี้

ที่ ๑๑/ ๒๕๒๔
หมายกำหนดการ
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔

เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า การพระราชพิธีศุภมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดดังนี้

วันพุธที่๑๒ สิงหาคม ตั้งแต่เวลา ๙ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังได้จัดที่สำหรับลงพระนามและนามถวายพระพรไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๑๒ นาฬิกา ทหารบก ทหารเรือ จะได้ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด

สำนักพระราชวัง
วันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔

การบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นส่วนพระองค์มีรายการบำเพ็ญพระราชกุศลดังนี้

ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วรัสเซีย) และเทียนพระมหามงคล ๑ คู่ สองข้างโต๊ะหมู่ตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ และโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูปเทวรูปองค์เสวย พระพุทธรูปเทวรูปองค์แทรก หน้าโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วรัสเซีย) ตั้งเครื่องนมัสการกระบะถม และปูลาดผ้าเป็นอาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์ ๕ รูป สวดนพเคราะห์นวัคคหายุสมธัมม์

ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ บนโต๊ะหน้าพระวิมานพระสยามเทวาธิราชตั้งเทียนพระมหามงคล ๑ คู่ ถัดออกมาตั้งเครื่องราชสักการะ ธูปเทียนท้ายที่นั่ง และที่ทรงกราบราบ สองข้างพระวิมานพระสยามเทวาธิราช ตั้งโต๊ะประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ข้างพระวิมานพระสยามเทวาธิราชด้านตะวันตก ที่พื้นปูผ้าขาวเป็นอาสนสงฆ์ พระที่นั่งภัทรบิฐ ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ พระวาลวิชนี พระแส้หางช้างเผือก และฉลองพระบาทเชิงงอน หน้าพระที่นั่งภัทรบิฐตั้งเครื่องทองน้อยและที่ทรงกราบ

ข้างพระวิมานพระสยามเทวาธิราชด้านทิศตะวันออกตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมธาตุระย้ากินนร พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ทุกรัชกาล พระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ พระนิรันตรายและพระพุทธเพชรญาณสองข้างโต๊ะหมู่ตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ หน้าโต๊ะหมู่ทอดเครื่องนมัสการทองทิศและที่ทรงกราบ ต่อจากโต๊ะหมู่ออกไปตั้งธรรมาสน์เทศน์และที่พื้นปูลาดผ้าขาวเป็นอาสนสงฆ์

ชิดผนังด้านตรงข้ามกับโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระพุทธรูปลาดสุจหนี่จัดเป็นที่ประทับราบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา

เวลา ๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง เสด็จฯ เข้าสู่ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดเทียนพระมหามงคลเทียนเท่าพระองค์ ธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปเทวรูปองค์เสวย พระพุทธรูปเทวรูปองค์แทรกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ กระบะถมบูชาพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วรัสเซีย) ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะหน้าพระสงฆ์สวดนพเคราะห์วัคคหายุสมธัมม์พระสงฆ์ ๕ รูปวัดราชประดิษฐ์มีพระธรรมปัญญาจารย์เป็นประธานสวดนพเคราะห์ แล้วเสด็จออกจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ไปยังหอพระสุราลัยพิมาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธรูปสำคัญ ทรงกราบ แล้วเสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมอัฐิ ทรงกราบ เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระที่นั่งภัทรบิฐ ถวายสักการะเทพยดารักษาพระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์ ทรงกราบ เสด็จฯ ไปยังพระวิมานพระสยามเทวาธิราช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดเทียนพระมหามงคลบนโต๊ะหน้าพระวิมานพระสยามเทวาธิราช แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช ทรงกราบสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดเทียนเท่าพระองค์ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ แล้วประทับ ณ สุหนี่ เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตรพระสงฆ์จำนวนเกินกว่าพระชนมายุหนึ่งรูป เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเจริญพระพุทธมนต์ถึงบทเสกทำนํ้าพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนที่ฝาครอบพระกริ่งแล้วทรงประเคนแด่สมเด็จพระสังฆราช ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์พระราชทานให้เจ้าหน้าที่เชิญไปตั้งที่ธรรมาสน์เทศน์ สมเด็จพระญาณสังวรขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม เจ้าหน้าที่อาราธนาศีลสมเด็จพระญาณสังวรถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนา จบ ลงมานั่งยังอาสนสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งหมดที่เจริญพระพุทธมนต์จะได้เจริญสมาธิภาวนาประมาณ ๓๐ นาที เสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปถวายจัตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะพร้อมด้วยเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ เสร็จแล้วสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จลงทรงยืนที่ท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณและพระสงฆ์สวดนพเคราะห์ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานซึ่งเดินมารับจนหมดแล้ว เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณประทับที่เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้า เครื่องนมัสการ เสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

งานนี้เป็นการส่วนพระองค์ เฝ้าฯ เฉพาะพระราชวงศ์และข้าราชบริพาร แต่งกายปรกติ

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา

วันอาสาฬหบูชาคือวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๘ สืบเนื่องมาจากเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ในระหว่าง ๓ เดือนนี้เป็นฤดูฝนการเดินทางจาริกสั่งสอนแสดงธรรมของพระภิกษุในฤดูนี้ จึงได้เหยียบยํ่าข้าวกล้าธัญพืชของชาวไร่ชาวนาเสียหาย แม้แต่สัตว์เล็กๆ ก็ถูกเหยียบยํ่าตายไป พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้พระสงฆ์หยุดพักการเดินทางและอยู่ปฏิบัติพระธรรมวินัย ณ ที่ใดที่หนึ่ง พุทธพระราชกุศลวันเข้าพรรษาศาสนิกชนถือโอกาสที่พระสงฆ์ได้มาอยู่พร้อมเพรียงกันนี้บำเพ็ญกุศลฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล พร้อมทั้งนำเครื่องสักการะบูชา เช่น เทียนพรรษา และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นแก่พระสงฆ์ไปถวาย ซึ่งได้ทำกันจนเป็นประเพณีสืบมา ส่วนในราชสำนักก็ได้ปฏิบัติสืบมาแต่ โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ

ก่อนจะถึงเทศกาลพระราชพิธีเข้าพรรษา ๔๕ วัน จะมีการหล่อเทียนพรรษา สำนักพระราชวัง จะแจ้งให้พระบรมวงศานุวงศ์และหน่วยราชการต่างๆ ถ้ามีจิตศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศลในการหล่อเทียนพรรษา ให้นำขี้ผึ้งมามอบที่กองพระราชพิธี เมื่อรวบรวมพร้อมแล้วเจ้าพนักงานจะได้หุงขี้ผึ้งแล้วนำไปตั้งพร้อมด้วยหุ่นเทียน ณ พระราชฐานที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกทรงเทขี้ผึ้งหล่อเทียนพรรษา มีจำนวนเทียนหล่อ ๓๓ เล่ม (ใหญ่ ๓๑ เล่ม เล็ก๒) เล่ม กระจุบยอดเทียนสลัก ๕๐ เล่ม ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำเทียนที่หล่อไปตกแต่งลวดลายปิดทองให้เรียบร้อย เมื่อจะถึงวันเข้าพรรษาประมาณ ๗ วัน เจ้าพนักงานจะได้นำเทียนที่ทรงหล่อนั้นไปตั้งถวาย ณ พระราชฐานที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมเทียนพรรษา กระจุบยอดเทียน สลัก เทียนชนวนและไม้ขีดไฟที่จะพระราชทานไปจุดเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวง ซึ่งมีบัญชีที่ได้รับพระราชทานดังนี้

บัญชีวัดที่ได้รับพระราชทานเทียนพรรษา

ชื่อวัด

จำนวนเทียนพรรษา

หมายเหตุ

เทียนหล่อ

เทียนสลัก

กระทรวงศึกษาธิการวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ๒ เล่ม
วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ เล่ม ๑ เล่ม
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ๒ เล่ม
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ๑ เล่ม
วัดราชโอรสาราม ๑ เล่ม
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ๒ เล่ม
วัดราชาธิวาสวิหาร ๒ เล่ม
วัดสุทัศนเทพวราราม ๑ เล่ม ๑ เล่ม
วัดมกุฏกษัตริยาราม ๑ เล่ม
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ๑ เล่ม
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ๑ เล่ม ๑ เล่ม
วัดอรุณราชวราราม ๑ เล่ม ๑ เล่ม
วัดเทพศิรินทราวาส ๑ เล่ม
วัดชนะสงคราม ๑ เล่ม
วัดกัลยาณมิตร ๒ เล่ม
วัดหนัง ๑ เล่ม
วัดนางนอง ๑ เล่ม
วัดพิชัยญาติการาม ๑ เล่ม
วัดมหาพฤฒาราม ๑ เล่ม
วัดประยุรวงศาวาส ๑ เล่ม
วัดระฆังโฆสิตาราม ๑ เล่ม
วัดจักรวรรดิราชาวาส ๑ เล่ม
วัดราชสิทธาราม ๑ เล่ม
วัดอมรินทราราม ๑ เล่ม
วัดสัมพันธวงศ์ ๑ เล่ม
วัดปทุมคงคา ๑ เล่ม
วัดปรินายก ๑ เล่ม
วัดราชนัดดาราม ๑ เล่ม
วัดเทพธิดาราม ๑ เล่ม
วัดเขมาภิรตาราม (นนทบุรี) ๑ เล่ม
วัดเฉลิมพระเกียรติ(นนทบุรี) ๑ เล่ม
วัดชัยพฤกษ์มาลา(นนทบุรี) ๑ เล่ม
วัดปทุมวนาราม ๑ เล่ม
วัดบรมนิวาส ๑ เล่ม
วัดโมลีโลกยาราม ๑ เล่ม
วัดโสมนัสวิหาร ๑ เล่ม
วัดหงส์รัตนาราม ๑ เล่ม
วัดพระศรีมหาธาตุ ๑ เล่ม
วัดสุวรรณาราม ๑ เล่ม ๑ เล่ม
กระทรวงมหาดไทย
วัดปรมัยยิกาวาส(นนทบุรี) ๑ เล่ม
วัดโปรดเกสเชษฐาราม(สมุทรปราการ) ๑ เล่ม
วัดไพชยนต์พลเสพ(สมุทรปราการ) ๑ เล่ม
วัดจุฑาทิศธรรมสภาราม(สมุทรปราการ) ๑ เล่ม
วัดพระพุทธบาท (สระบุรี) ๑ เล่ม
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(พิษณุโลก) ๑ เล่ม
วัดชุมพลนิกายาราม(พระนครศรีอยุธยา) ๑ เล่ม
วัดอัมพวันเจติยาราม(สมุทรสงคราม) ๑ เล่ม
วัดพระปฐมเจดีย์(นครปฐม) ๑ เล่ม
วัดกระวิศยาราม(ลพบุรี) ๑ เล่ม
วัดพระมหาธาตุ(นครศรีธรรมราช) ๑ เล่ม
วัดมหาธาตุ(สุโขทัย) ๑ เล่ม
วัดป่าโมกข์(อ่างทอง) ๑ เล่ม
วัดศาลาปูน (พระนครศรีอยุธยา) ๑ เล่ม
วัดสุวรรณดาราราม(พระนครศรีอยุธยา) ๑ เล่ม
วัดเสนาสนาราม(พระนครศรีอยุธยา) ๑ เล่ม
วัดบรมวงศ์อิศรวราราม(พระนครศรีอยุธยา) ๑ เล่ม
วัดนิเวศธรรมประวัติ(พระนครศรีอยุธยา) ๑ เล่ม
วัดพนัญเชิง(พระนครศรีอยุธยา) ๑ เล่ม
วัดไชโย(อ่างทอง) ๑ เล่ม
วัดพระนอนจักรสีห์(สิงห์บุรี) ๑ เล่ม
วัดมหาสมณาราม(เพชรบุรี) ๑ เล่ม
วัดพระบรมธาตุไชยา(สุราษฎร์ธานี) ๑ เล่ม
วัดพระธาตุหริภุญชัย(ลำพูน) ๑ เล่ม
วัดพระธาตุพนม(นครพนม) ๑ เล่ม
กองมหาดเล็ก
หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง ๑ เล่ม
พระพุทธนรสีห์ ๑ เล่ม พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระพุทธบุษยรัตน์ ๒ เล่ม พระที่นั่งอัมพรสถาน
แผนกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระศรีรัตนเจดีย์ ๑ เล่ม
หอพระมณเฑียรธรรม ๑ เล่ม
ในพระอุโบสถ ๒ เล่ม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
พระพุทธสิหงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ๑ เล่ม
รวม ๓๓ เล่ม ๕๐ เล่ม

ครั้นถึงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุคลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามประทับพระราชอาสน์ หัวหน้ากองพระราชพิธีเชิญเทียนชนวนทูนเกล้าฯ ถวาย ทรงจุดไฟ จากโคมสำหรับถวายเจ้าอาวาสไปจุดเทียนพรรษาที่ทรงพระราชอุทิศไว้แล้ว ทรงจุดเทียนพรรษาบูชาพระรัตนตรัย ถวายพุ่มเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระลัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทรงประเคนถาดบรรจุพุ่มเทียน ถ้วยใส่ดอก ไม้ ธูป ๑ กล่อง เทียน ๕๐ เล่ม แด่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระถานา¬นุกรมเปรียญ พระภิกษุนาคหลวง จำนวน ๓๐ รูป พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานพุ่มเทียนเที่ยวแรกนี้ ถวายอดิเรกแล้วออกจากพระอุโบสถ พระสงฆ์ชุดต่อไปขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทรงประเคนพุ่มเทียนแด่พระสงฆ์ ๓๐ รูป พระสงฆ์นอกนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น องคมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นพิเศษ และนายทหารชั้นนายพล ถวายพุ่มเทียนจนหมดจำนวนพระสงฆ์ประมาณ ๓๐๐ รูป แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ส่วนเทียนพรรษาสำหรับบูชาปูชนียวัตถุในพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดารามและที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียน

วันเข้าพรรษาคือวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๘ ในวันนี้เวลาเช้า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ ๑๕๐ รูป เข้าไปรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตของหลวงในพระบรมมหาราชวังตามราชประเพณี เนื่องด้วยพระราชกุศลเข้าพรรษา

ครั้นเวลา ๑๖ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อนเป็นฤดูฝนถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียนแด่พระพุทธชินสีห์ ถวายพุ่มเทียนที่พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ถวายพุ่มเทียนแด่เจ้าอาวาส แล้วเสด็จฯ ไปถวายพุ่มเทียนตามปูชนียสถานและปูชนียวัตถุในวัด คือ พระพุทธเจดีย์ พระศาสดา พระพุทธไสยา พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ พระพุทธมนุษยนาค

ที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียนแด่พระพุทธนรสีห์ พระพุทธบุษยรัตน์แทนพระองค์

การจุดเทียนพรรษาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตามราชประเพณีแต่เดิมมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียน แต่ในปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ มีกำหนดดังนี้

ที่วัดพระเซตุพนวิมลมังคลาราม ผู้แทนพระองค์ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียนแด่พระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถ ถวายพุ่มเทียนที่วิหารทิศ พระพุทธไสยาสน์ แล้วเสด็จไปยังตำหนักวาสุกรี ถวายพุ่มเทียนที่พระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และถวายพุ่มเทียนแด่เจ้าอาวาส

ส่วนที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จถึงหน้าพระอุโบสถทรงตักบาตรเทียนแด่พระภิกษุสามเณรทั้งวัด โดยพระภิกษุสามเณรเดินเข้าไปรับดอกบัวธูปและเทียนมัดรวมกันจากผู้แทนพระองค์ตามลำดับ แล้วผู้แทนพระองค์เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียนแด่เจ้าอาวาส เสร็จแล้วเสด็จไปยังวิหารสมเด็จ ถวายพุ่มเทียนบูชาพระพุทธนรสีห์จำลองและพระฝางจำลอง

พระอารามหลวงนอกจากที่กล่าวนี้ เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ พระราชทานเทียนจุดไฟไว้ในโคมให้พระราชวงศ์ไปทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่ม ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้พระราชทานไฟชนวนให้เจ้าหน้าที่ไปจุดในโคมเล็กๆ ถวายเจ้าอาวาสพระอารามหลวง นำไปจุดเทียนพรรษาที่ทรงพระราชอุทิศไว้

การแต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง

ประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยก่อนจะถึงเทศกาลเข้าพรรษา กุลบุตรที่มีอายุครบ ๒๐ ปีหรือมากกว่านี้ นิยมอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนาเพื่อรับการอบรมบ่มนิสัย ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอุปสมบทนาคหลวง

พระราชพิธีทางบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง มีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาว¬ดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี และโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ พร้อมกับสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ในพระบรมมหาราชวังสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร(รัชกาลที่ ๒) ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับเป็นนาคหลวงพระองค์แรก

ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นราชประเพณีที่พระบรมราชวงศ์จะต้องทรงผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง ทั้งนี้ มีหลักฐานพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน ว่า

“การทรงผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกทีเดียวนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้นบรรดาเจ้านายภายหลังที่เป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งในวังหลวงวังหน้าไม่มีพระองค์ใดที่ได้ทรงผนวชที่อื่น นอกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามเลย เว้นแต่พิการเป็นที่รังเกยจอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นจึงได้ถือกันว่า ถ้าเจ้านายองค์ใดไม่ได้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ย่อมเป็นคนที่เสียแล้ว หรือจะเสียคนต่อไปเป็นแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือจนชั้นบวชเณร…..”

ส่วนนาคหลวงที่เป็นมหาดเล็กและข้าราชบริพารนั้น ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ไม่มีหลักฐานว่ามีผู้ใดได้รับพระราชทานพระมหากรุณา มามีหลักฐานปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นสราภัยสฤษฎิการ (เจิม แสง-ชูโต ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) บุตรพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) เป็นนาคหลวง อุปสมบทต่อท้ายหม่อมเจ้า จึงถือเป็นหลักเกณฑ์ว่า ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เป็นบุตรข้าราชการชั้นผู้ ใหญ่ หรือเป็นราชสกุล เมื่อจะอุปสมบทต้องกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนและเมื่อความทราบฝ่าละอองพระบาทแล้วได้ทรงพระราชดำริว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

นาคหลวงในสมัยนั้นมี ๔ ประเภท คือ
๑. พระราชวงศ์ ราชสกุล ราชินิกุล มีพิธีสมโภชในพระที่นั่งแล้วแห่ไปอุปสมบทในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๒. ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ไม่มีพิธีสมโภช เมื่อปลงผมแล้วเข้าอุปสมบทในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นาคหลวงประเภทนี้ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ ก็มีพิธีสมโภชในพระที่นั่งเหมือนกัน
๓. ข้าราชการที่ตํ่ากว่าสัญญาบัตร พระราชทานเครื่องบริขารไปอุปสมบท ณ วัดใดวัดหนึ่ง ตามความประสงค์ของผู้อุปสมบท (นาคหลวงประเภทนี้ปัจจุบันเรียกว่า นาคในพระบรมราชานุเคราะห์)
๔. ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สามเณรปลด กิติโสภโณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงพระราชศรัทธาให้จัดรถม้าหลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ถือเป็นราชประเพณี ถ้าสามเณรรูปใดสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค เมื่อมีอายุครบอุปสมบทโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และจัดรถหลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษาตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน

การอุปสมบทนาคหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีคณะสงฆ์ธรรมยุตเกิดขึ้น สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ไม่ว่านาคหลวงจะไปจำพรรษา ณ วัดที่คณะสงฆ์เป็นมหานิกาย หรือธรรมยุต คณะสงฆ์ที่นั่งหัตถบาสจึงมีทั้งมหานิกายและธรรมยุตรวมกัน แล้วพระภิกษุนาคหลวงที่ไปจำพรรษา ณ วัดฝ่ายธรรมยุตไปทำทัฬหิกรรม ณ พระอุโบสถของวัดที่จำพรรษาเป็นการภายใน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ผู้เป็นนาคหลวงต่างก็ขอพระราชทานทรงผนวชและอุปสมบทไปจำพรรษา ณ วัดที่เป็นฝ่ายธรรมยุต คณะสงฆ์ในพิธีจึงมีแต่ฝ่ายธรรมยุตทั้งนั้น และได้เว้นว่างการอุปสมบท นาคหลวงฝ่ายมหานิกายมาหลายปี ต่อมาปีใดมีนาคหลวงขอพระราชทานอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย จึงได้แยกอุปสมบทนิกายละวันหรือนิกายละเวลา การอุปสมบทก่อนหรือหลังย่อมแล้วแต่ความเหมาะสม แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าทรงผนวช ประกอบพระราชพิธีตามราชประเพณีที่มีคณะสงฆ์รวมกันทั้ง ๒ นิกาย เป็นสังฆมณฑลในการทรงผนวช แล้วจึงเสด็จไป ทำทัฬหิกรรมเป็นฝ่ายธรรมยุตที่พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมไว้

การทีพระราชวงศ์จะทรงผนวชในรัชกาลก่อนๆ นั้น พระราชวงศ์ผู้มีศรัทธาจะทรงผนวช ต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต หรือกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้พระโอรสนัดดาทรงผนวชอุปสมบทเป็นนาคหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ กระทรวงวังได้ออกหมายหรือทำเป็นแบบกราบบังคมทูลถามพระบรมราชวงศ์ แล้วกระทรวงวังจึงรวบรวมจำนวนนาคหลวงขึ้นกราบบังคมทูลกำหนดการทรงผนวช ส่วนราชสกุล ข้าราชบริพาร หรือบุตรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั้นย่อมแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง

การทรงผนวชและอุปสมบทนาคหลวงซึ่งเป็นงานพระราชพิธีในรัชกาลก่อนๆ นั้น กำหนด ๓ วัน คือ วันเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา วันสมโภช และวันทรงผนวชอุปสมบท

วันกราบถวายบังคมลา
กระทรวงวังจะแจ้งกำหนดเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลาให้พระราชวงศ์และข้าราชการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงทราบ เพื่อเข้าเฝ้าฯ พร้อมกันในวันที่เสด็จออก ขุนนางซึ่งสมัยก่อนเสด็จออกสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม การเฝ้าฯ ถ้าที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ พระราชอาสน์หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ผู้เป็นนาคหลวงนำพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ เข้าไปกราบถวายบังคม ณ ที่ประทับเป็นรายบุคคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท จบแล้วเสด็จขึ้น นาคหลวงกลับ

วันสมโภช
กำหนดก่อนวันทรงผนวชอุปสมบท ๑ วัน ส่วนมากสมโภชในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้าพนักงานจัดโต๊ะลายทองตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน คลุมด้วยเยียรบับ และตั้งโต๊ะเงินบรรจุเครื่องคาว โต๊ะเงินบรรจุเครื่องหวาน โต๊ะเงินบรรจุเครื่องเคียง พร้อมด้วยแว่นแก้ว ทอง เงิน ขันเหมแป้งหอม น้ำวัก พลูคะแนน สำหรับเวียนเทียนสมโภชนาคหลวงพระราชวงศ์ ส่วนนาคหลวงที่มิใช่พระราชวงศ์ตั้งโต๊ะบายศรีตอง ๕ ชั้น ๑ คู่ คลุมด้วยผ้าขาว พร้อมด้วยแว่นโลหะ แป้งหอม น้ำมันหอม น้ำวัก พลูคะแนน และจัดโต๊ะวางเครื่องอัฐบริขารสำหรับนาคหลวง คือผ้าไตร บาตร ย่าม กรวยอุปัชฌาย์

เวลาบ่ายพระราชวงศ์ที่ทรงผนวชเจริญพระเกศาที่ทิมคดด้านตะวันออกหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะเจริญพระเกศาทรงพระภูษาแดงคลุมด้วยแพรเพลาะขาว เจริญพระเกศาเสร็จแล้วไปประทับ ณ ตั่งหุ้มผ้าขาว ในแท่นสรง มีขันสาครบรรจุนํ้าสำหรับสรง ส่วนราชสกุล ข้าราชการ ชั้นสัญญาบัตร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สมโภช ปลงผมที่ทิมคดด้านตะวันตกหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะปลงผมนุ่งผ้าแดงคลุมด้วยผ้าขาว แล้วไปนั่งบนแท่นมีขันสาครบรรจุนํ้าสำหรับอาบ เสร็จแล้วนาคหลวงพระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปทรงผ้าเยียรบับขาวฉลองพระองค์ชั้นในแขนยาวลดไหล่ขวา คาดรัดพระองค์สายทอง ฉลองพระองค์ครุยลดไหล่วงเฉวียนแบบผ้าสไบเฉียง และมีหมายรับสั่ง ให้กรมพระคลังมหาสมบัติจัดพระธำมรงค์ประจำวันสวมนิ้วพระหัตถ์ ๘ วง (พระหัตถ์ขวา ๔ วง พระหัตถ์ซ้าย ๔ วง) แล้วทรงพระเสลี่ยงกั้นพระกลด ส่วนนาคหลวงที่มิใช่พระราชวงศ์นุ่งผ้าเยียรบับ ผ้าม่วงหรือผ้าขาว สวมเสื้อชั้นในแขนยาวลดไหล่ขวาและสวมเสื้อครุยลดไหล่ขวาวงเฉวียนแบบผ้าสไบเฉียง มีหมายรับสั่งให้กรมพระคลังมหาสมบัติจัดแหวนประจำวันสวมนิ้วเช่นเดียวกัน เสร็จแล้วนั่งแคร่มีเจ้าพนักงานกั้นสัปทนแดงออกจากชาลาทิมคดหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปหยุดที่หน้าพระทวารเทเวศร์รักษา เข้าไปนั่งเก้าอี้(บุแพรเหลืองไม่มีพนักหมุนได้รอบ) หลังโต๊ะบายศรี ในพระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย

เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ออก ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระราชอาสน์หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร นาคหลวงเข้าไปเฝ้าฯ กราบถวายบังคมแล้วกลับไปนั่งที่เดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์ เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชนาคหลวง เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ เมื่อเวียนเทียน ครบรอบที่ ๑ พราหมณ์คลี่ผ้าเยียรบับที่คลุมบายศรีแก้ว ทอง เงิน ออกนำไปมอบให้นาคหลวงพระราชวงศ์ทรงถือไว้และคลี่ผ้าขาวที่คลุมบายศรีตองออกนำไปมอบให้นาคหลวงข้าราชการถือไว้ ครั้นเวียนเทียนครบ ๕ รอบ พราหมณ์ดับเทียนแล้วถวายเจิมที่พระหัตถ์ และเจิมที่มือนาคหลวงพระราชวงศ์ และข้าราชการ แล้วป้อนนํ้ามะพร้าวอ่อน เสร็จแล้วนาคหลวงทั้งหมดเข้าไปกราบถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนํ้าด้วยพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏที่พระเศียรนาคหลวงพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป พระราชทานใบมะตูมให้ทัดที่พระกรรณขวาและทรงเจิมที่พระนลาฏ นาคหลวงราชสกุลพระราชทานหลั่งนํ้าด้วยสังข์เดิม พระราชทานใบมะตูมและทรงเจิมที่หน้าผาก ส่วนนาคหลวง ข้าราชการพระราชทานหลั่งนํ้าด้วยพระสังข์นคร พระราชทานใบมะตูมและทรงเจิมที่หน้าผาก เสร็จแล้วนาคหลวงแต่ละคนกลับไปนั่งที่เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ นาคหลวง ทั้งหมดไปกราบถวายบังคมพระราชอาสน์ที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วนาคหลวงพระราชวงศ์ออกไปทรงพระเสลี่ยง นาคหลวงข้าราชการขึ้นแคร่ออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยกลับไปเปลื้องเครื่องยังทิมคดหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

วันทรงผนวชอุปสมบท
ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่ ชิดผนังด้านเหนือตั้งอาสนสงฆ์ยกพื้นโดยเว้นช่องกลางและทำสะพานลด ชิดผนังด้านใต้ทอดพระราชอาสน์ ตั้งเก้าอี้สำหรับพระราชวงศ์และข้าราชการ ชิดผนังหุ้มกลองด้านพระทวารหน้าพระอุโบสถตั้งโต๊ะสำหรับวางพานผ้าไตร และตั้งเก้าอี้สำหรับนาคหลวง กลางพระอุโบสถตั้งโต๊ะวางเครื่องบริขาร

เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา นาคหลวงพระราชวงศ์และข้าราชการแต่งองค์และแต่งกายที่ทิมคด หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเหมือนวันสมโภช นาคหลวงพระราชวงศ์ทรงพระเสลี่ยงกั้นพระกลด นาคหลวงข้าราชการนั่งแคร่กั้นสัปทนแดง ออกจากชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปออกประตูพิมานไชยศรีเลี้ยวไปสนามหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นเกยที่ตั้งไว้ในสนามเพื่อโปรยทาน ก่อนโปรยทานนาคหลวงถอดพระธำมรงค์และแหวนออกมอบคืนเจ้าหน้าที่ เมื่อโปรยทานแล้วเดินเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นสู่พระอุโบสถทางพระทวารกลางไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่หน้าฐานพุทธบัลลังก์แล้วออกมาถวายกรวยดอกไม้ ธูป เทียนแพ เป็นพุทธบูชาโดยวางบนธรรมาสน์ศิลา แล้วออกไปนั่งหน้าพระราชอาสน์ถวายบังคมเสร็จแล้วไปนั่งยังเก้าอี้ที่จัดไว้

เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าในพระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่บูชาพระรัตนตรัย ประทับพระราชอาสน์แล้ว นาคหลวงเข้าไปเฝ้าฯ ถวายบังคมรับพระราชทานผ้าไตรไปขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์ตามลำดับ เมื่อบรรพชา อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระภิกษุนาคหลวงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์และพระอันดับ เรียบร้อยแล้วไปนั่งต่อท้ายอาสนสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งหมดจัดระดับที่นั่งหันไปยังที่ประทับ พร้อมแล้วพระภิกษุนาคหลวงลงจากอาสนสงฆ์ไปยังที่ประทับหน้าพระราชอาสน์ พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงประเคนเครื่องบริขารแก่ภิกษุราชภัฏ และโปรดให้พระภิกษุนาคหลวงไปรับของถวายจากพระราชวงศ์ฝ่ายในที่หน้าพระฉากแล้วไปนั่งที่อาสนสงฆ์ที่เดิม พระราชวงศ์ฝ่ายหน้าและข้าราชการที่มาเฝ้าฯ ถวายของตามสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระภิกษุนาคหลวงกรวดนํ้า พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การพระราชกุศลทรงผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ เป็นงานออกหมายกำหนดการ เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม จัดข้าราชการมาเฝ้าฯ

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงในปัจจุบัน
ผู้ที่เป็นข้าราชการทั่วไปเมื่อมีจิตศรัทธาจะอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา ทางราชการมีระเบียบกำหนดไว้ให้มีสิทธิ์ลาอุปสมบทได้ไม่เกิน ๑๒๐ วัน โดยเสนอใบลาอุปสมบทต่อผู้บังคับบัญชาในสังกัดตามลำดับ เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วนำใบอนุญาตไปแสดงต่อพระอุปัชฌาย์เป็นหลักฐานและเมื่อลาสิกขาบทเป็นฆราวาสกลับเข้ารับราชการจะต้องทำหนังสือเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อขอถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับข้าราชการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงเมื่อลาสิกขาบทแล้วต้องทำหนังสือเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการที่ผู้อุปสมบทขอถวายพระราชกุศล

ส่วนข้าราชการในพระองค์มีความประสงค์จะขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท สำนักพระราชวังได้วางระเบียบไว้ดังนี้

คำสั่งสำนักพระราชวัง
ที่ ๓๕/ ๒๕๑๒
เรื่อง ระเบียบการขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท

โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่าระเบียบหลักเกณฑ์การขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท ที่ได้วางไว้แต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้น ยังไม่เป็นการเหมาะสม เนื่องจากได้กำหนดอายุราชการของผู้ที่ประสงค์จะขอรับพระราชทานพระมหากรุณาไว้มากเกินไป การอุปสมบทนั้นเป็นคุณประโยชน์ในด้านการอบรมบ่มนิสัยของข้าราชการให้มีคุณธรรมยิ่งขึ้น จึงควรสนับสนุนได้ให้อุปสมบทในวัยอันควร ฉะนั้น จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักพระราชวัง ที่ ๓๒/ ๒๔๘๘ เรื่องระเบียบหลักเกณฑ์การขอพระมหากรุณาในการอุปสมบทนั้นเสีย และให้ถือหลักเกณฑ์ใหม่ดังต่อไปนี้
๑. ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตั้งแต่ชั้นตรีขึ้นไป หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์ชั้นจัตวาที่เป็นราชตระกูล หรือราชินิกุล เมื่อได้รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์มาครบ ๕ ปีบริบูรณ์แล้ว ขอพระราชทานพระมหากรุณาอุปสมบทเป็นนาคหลวงได้

๒. ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ดังกล่าวในข้อ ๑ ถ้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์มาแล้ว ๓ ปีบริบูรณ์ หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์ชั้นจัตวา ซึ่งมิได้เป็นราชตระกูลหรือราชินิกุลแต่ได้รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ครบ ๕ ปีบริบูรณ์แล้ว ขอพระราชทานเครื่องสมณบริขารไปอุปสมบทได้
๓. ผู้ที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณาอปสมบทเป็นนาคหลวงก็ดี หรือขอพระราชทานเครื่องสมณบริขารไปอุปสมบทก็ดี จะต้องเป็นผู้ที่ผู้บังคับบัญชาได้เลือกเฟ้นและรับรองแล้วว่าเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่ราชการมาแล้วเป็นอย่างดีสมควรได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท
๔. ให้ผู้ที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณารายงานแจ้งความประสงค์ที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณาผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับเพื่อพิจารณารับรองมาโดยลำดับ รายงานดังกล่าวนี้ให้เสนอถึงสำนักพระราชวังก่อนวันอุปสมบทไม่น้อยกว่า ๓ เดือน
๕. ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท จะต้องจำพรรษาในวัดที่มีการศึกษา พระธรรมวินัยอย่างน้อย ๑ พรรษาเต็ม
๖. การนับวันรับราชการให้นับตั้งแต่วันดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์จนถึงวันที่ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท ห้ามมิให้นับเวลาที่เป็นข้าราชการวิสามัญเข้ามารวมด้วย

๗. ห้ามมิให้ผู้ที่รับราชการยังไม่ถึงขั้นหรือยังไม่ครบกำหนดเวลาตามที่ได้ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ข้อ ๑ และ ๒ ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท เว้นไว้แต่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาเป็นกรณีพิเศษ

สั่ง ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒
(ลงชื่อ) กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
(นายกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา)
เลขาธิการพระราชวัง

สำหรับพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าเมื่อมีจิตศรัทธาจะทรงผนวช ตามราชประเพณีผู้ปกครอง หรือผู้ประสงค์จะทรงผนวชเองในฐานะพระราชวงศ์ต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตทรงผนวชและย่อมจะได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง ส่วนราชสกุลและข้าราชการอื่นๆ แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ การขอพระราชทานพระมหากรุณาเป็นนาคหลวงนั้นสำนักพระราชวังได้ถือเป็นหลักประกอบการพิจารณาตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมาแต่ก่อน คือ ต้องเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเป็นสำคัญ

นาคหลวงเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา
เมื่อสำนักพระราชวังรวบรวมจำนวนผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงได้แล้วจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานกำหนดวันเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา ณ พระราชฐานที่ประทับ เช่นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นต้น ครั้นโปรดเกล้าฯ กำหนดวันให้เฝ้าฯ แล้ว สำนักพระราชวัง แจ้งให้ผู้ที่เป็นนาคหลวงจัดดอกไม้ ธูป เทียนแพ แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาวตามยศและสังกัดไปยังพระราชฐาน กรมวังประจำที่ประทับจะเชิญผู้เป็นนาคหลวงเข้ายืนเรียงแถวตามลำดับ ข้างหน้านาคหลวงแต่ละคนมีโต๊ะปูผ้าขาววางพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ เตรียมพร้อมจะเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา

ได้เวลากำหนดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ หน้าแถวนาคหลวงที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทนาคหลวงทั้งหมดถวายความเคารพพร้อมกันกรมวังผู้ใหญ่ประจำที่ประทับกราบบังคมทูลเบิกผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงแต่ละคน นาคหลวงเปิดกรวยกระทงดอกไม้และถวายคำนับตามลำดับจนครบทุกคนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ถึงการที่จะอุปสมบท จบพระบรมราโชวาทแล้ว นาคหลวงถวายความเคารพพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น

ก่อนถึงวันอุปสมบท เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จะนัดนาคหลวงมาวัดศอกเพื่อทราบขนาดสำหรับเย็บสบง จีวร เข้าเป็นชุดไตรครองอุปสมบท และชี้แจงให้นาคหลวงแต่ละคน เตรียมจัดสิ่งของเครื่องใช้สำหรับปลงผม ผ้านุ่งอาบนํ้าและผลัด ๒ ผืน ผ้าเช็ดตัว ๑ ผืน สบู่ ๑ ก้อน แป้งฝุ่นโรยเมื่อปลงผม ผ้าสำหรับแต่งกายนาคจะเป็นเยียรบับ แพรไหมขาวหรือผ้าขาว ๑ ผืน เสื้อชั้นในแขนยาว ๑ ตัว เข็มขัดคาดเอว ๑ เส้น เข็มกลัดซ่อนปลายขนาดกลาง และเสื้อครุย ๑ ตัว แล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบว่าเครื่องอัฐบริขารตลอดจนเครื่องสักการบูชาในการอุปสมบท เช่น ธูป เทียนแพ กรวยอุปัชฌาย์กรวยคู่สวด จตุปัจจัยไทยธรรมเป็นของพระราชทานทั้งหมด เว้นแต่ผ้าคลุมไตรไม่มี เจ้าหน้าที่จะจัดผ้าปักไหมหรือผ้าเยียรบับห่อผ้าไตรไว้ให้ถ้านาคหลวงประสงค์จะมีดอกไม้คลุมไตรก็จัดมามอบเจ้าหน้าที่ได้

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงปัจจุบันไม่ออกเป็นหมายกำหนดการ คงออกแต่หมายรับสั่งเฉพาะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติและมีหน้าที่เฝ้าฯ โดยตำแหน่งเท่านั้น

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง
การตั้งแต่งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กลางพระอุโบสถหน้าธรรมาสน์ศิลา ทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่พร้อมที่ทรงกราบสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทอดเครื่องนมัสการทองทิศพร้อมที่ทรงกราบสำหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ชิดแนวผนังด้านเหนือข้างหน้าพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งอาสนสงฆ์ยกพื้นสำหรับพระนั่งหัตถบาส ๓๐ รูป และตอนกลางเว้นช่องให้นาคหลวงเดินเข้าไปนั่งขอบรรพชา ท้ายอาสนสงฆ์ข้างฉากลับแลตั้งโต๊ะวางธูป เทียนแพ กรวยอุปัชฌาย์ กรวยคู่สวดและบาตร (ในบาตรบรรจุมีดโกน หินลับ ด้าย เข็ม ที่ตัดเล็บ)

ชิดผนังหุ้มกลองพระทวารหน้าพระอุโบสถ ท้ายอาสนสงฆ์ตั้งโต๊ะปูผ้าขาววางพานผ้าไตรครองสำหรับทรงผนวช อุปสมบท นาคหลวงพระราชวงศ์ผ้าไตรวางบนพานทอง ๒ ชั้น ส่วนนาคที่มิใช่พระราชวงศ์ผ้าไตรวางบนพานแว่นฟ้า มีดอกไม้คลุมหรือห่อด้วยผ้าปักไหมหรือเยียรบับ

ชิดผนังด้านใต้หน้าพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทอดพระราชอาสน์และตั้งเก้าอี้พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เยื้องถัดไปเบื้องหลัง ต่อออกมาตั้งเก้าอี้พระราชวงศ์ องคมนตรี และข้าราชการที่มาเฝ้าฯ

กลางพระอุโบสถตรงกับพระทวารกลาง ตั้งโต๊ะวางเครื่องบริขารสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนพระภิกษุนาคหลวง มีรายการดังนี้
๑. ไตรอาศัย
๒. ตาลปัตรใบลาน
๓. ย่าม (บรรจุธูปเทียน)
๔. ธรรมกรก
๕. ที่บูชาเครื่องทองน้อยโลหะ
๖. ธูป ๒ กล่อง เทียน ๑๐๐ เล่ม
๗. โคมไฟ
๘. นาฬิกา
๙. ไฟฉาย
๑๐. กระเป๋าเอกสาร
๑๑. ผ้าอาบสรง
๑๒. ผ้าห่ม
๑๓. ผ้าเช็ดตัว
๑๔. หมอน
๑๕. ที่นอนนวมและผ้าปู
๑๖. พรมปูนอน
๑๗. มุ้ง
๑๘. พรมสันถัด
๑๙. ร่ม
๒๐. แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ขันนํ้า
๒๑. กาถังนวมและถ้วยชา
๒๒. คนโทและแก้วครอบ
๒๓. ใบชา
๒๔. ชามข้าว ช้อนซ่อม
๒๕. สำรับคาว
๒๖. สำรับหวาน
๒๗. รองเท้าหนัง
๒๘. กระโถน

เวลา ๙ นาฬิกาถึง ๑๑ นาฬิกา ผู้เป็นนาคหลวงมาพร้อมกัน ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง หลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าหน้าที่จัดโต๊ะวางพานเครื่องมือที่จะใช้ในการปลงผม นาคหลวงนั่งเก้าอี้ถือพานสำหรับรองรับผม ก่อนจะปลงผมเจ้าหน้าที่จะเชิญบิดามารดาผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่ของนาคหลวงขลิบเส้นผมเป็นปฐม แล้วเจ้าหน้าที่ภูษามาลา แผนกราชูปโภค กองพระราชพิธี ปลงผมนาคหลวงแต่ละคนเสร็จแล้วจึงไปอาบนํ้าที่ขันสาคร แล้วนาคหลวงไปพักหรือรับประทานอาหารในห้องโถงซึ่งเจ้าหน้าที่จัดโต๊ะไว้รับรองโดยแต่ละนาคจัดอาหารมาเอง ต่อจากนั้นเริ่มแต่งกายนาค โดยนุ่งผ้าเยียรบับขาว (ถ้าไม่มีใช้ผ้าเยียรบับสี หรือผ้าม่วง หรือผ้าขาว) สวมเสื้อชั้นในแขนยาวใส่เฉพาะแขนซ้าย คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุยทับใส่เฉพาะแขนซ้ายวงเฉวียนแบบผ้าสไบเฉียง พร้อมแล้วเจ้าหน้าที่จะเชิญออกไปเข้าแถวหน้าศาลาสหทัยสมาคม นาคหลวงพระราชวงศ์นำหน้ามีเจ้าหน้าที่กั้นกลดขาวลายทอง นาคหลวงข้าราชการตามหลังมีเจ้าหน้าที่กั้นสัปทนแดง

เวลา ๑๓ นาฬิกา นาคหลวงเดินออกจากหน้าศาลาสหทัยสมาคมเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูเกย ขึ้นสู่พระอุโบสถทางพระทวารกลาง (บิดามารดา ผู้ปกครอง จะจูงนาคเข้าพระทวารกลางไม่ได้ เพราะเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน) ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย ปี่พาทย์ทำเพลงช้า นาคหลวงไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ฐานพุทธบัลลังก์หลังธรรมาสน์ศิลาแล้วออกมารับกระทงดอกไม้ ธูป เทียนแพ จากเจ้าหน้าที่วางบนธรรมาสน์ศิลาเป็นการถวายสักการบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วออกไปคุกเข่าที่หน้าเครื่องนมัสการทองใหญ่ตามลำดับ พร้อมแล้วกราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เสร็จแล้วไปคุกเข่าเรียงแถวหน้าพระราชอาสน์ถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนี้กลับไปนั่งเก้าอี้ที่หลังโต๊ะวางพานผ้าไตรท้ายอาสนสงฆ์ตามลำดับ ปี่พาทย์หยุดบรรเลง

เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสงฆ์นั่งหัตถบาสรวม ๓๐ รูป (ปีใดมีนาคหลวงอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย พระหัตถบาสแบ่งเป็นฝ่ายละ ๑๕ รูป) ขึ้นนั่งบนอาสนสงฆ์พร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่ภูษามาลาเชิญนาคหลวงไปคุกเข่าหน้าพระราชอาสน์ถวายบังคม ๓ ครั้ง แล้วหยิบผ้าไตรซึ่งเจ้าหน้าที่ภูษามาลาเชิญพานผ้าไตรไปวางไว้หน้าพระราชอาสน์เป็นการรับพระราชทาน นาคหลวงหยิบผ้าไตรอุ้มพาดระหว่างแขน ๒ ข้างมือพนมแนบกับอกถอยออกมายืนถวายคำนับ เจ้าหน้าที่สังฆการี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา คอยรับที่ท้ายอาสนสงฆ์ นำนาคหลวงอุ้มผ้าไตรเข้าไปยังชุมนุมสงฆ์เพื่อขอบรรพชาอุปสมบทคราวละ ๑ คน หรือ ๒ คน แล้วแต่จำนวนนาคหลวงจะมีมากหรือน้อย ซึ่งพระอุปัชฌาย์จะกำหนด นาคหลวงคุกเข่าหน้าสมเด็จพระสังฆราช แล้ววางผ้าไตรรับพานธูปเทียนแพจากเจ้าหน้าที่ถวายสมเด็จพระสังฆราช กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วอุ้มผ้าไตรประนมมือเปล่งวาจาขอบรรพชา จบแล้วน้อมกายถวายผ้าไตรแด่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อทรงตรวจสอบผ้าไตรถวายแล้วนาคหลวงนั่งประนมมือ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท จบ นาคหลวงคุกเข่ากราบ ๓ ครั้ง แล้วสมเด็จพระสังฆราชทรงบอกปัญจกัมมัฏฐานให้พิจารณาว่าอาการทั้ง ๕ นี้ไม่ดีไม่งาม นาคหลวงว่าตาม สมเด็จพระสังฆราชทรงว่าทวนกลับอีกครั้ง นาคหลวงว่าตาม จบ สมเด็จพระสังฆราชทรงชักอังสะออกจากผ้าไตร นาคหลวงผู้บรรพชาก้มศีรษะเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงคล้องอังสะแล้วนาคหลวงสวมสะพายด้วยตนเอง นาคหลวงรับผ้าไตรคืนจากสมเด็จพระสังฆราช อุ้มผ้าไตรพนมมือเดินออกจากที่ชุมนุมสงฆ์ ผ่านที่ประทับถวายคำนับ เข้าไปในพระฉากข้างฐานชุกชีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้านเหนืออาสนสงฆ์ เปลื้องเครื่องแต่งกายแล้วห่มครองผ้ากาสาวพัสตร์ ขณะที่นาคหลวงครองผ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย ปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการจนครองผ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงหยุดประโคม

นาคหลวงเดินออกจากพระฉากเดินประสานมือถือผ้ากราบไปยังท่ามกลางสังฆมณฑลที่เดิม คุกเข่าปูผ้ากราบ แล้วรับดอกไม้ ธูป เทียน จากเจ้าหน้าที่ถวายสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วเปล่งวาจาขอสรณะและศีล สมเด็จพระสังฆราชประทาน สรณคมน์ นาคหลวงว่าตามทีละบท จบแล้ว ประทานศีล ๑๐ นาคหลวงว่าตามทีละบท เมื่อรับศีลจบ ขณะนี้นาคหลวงได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรนาคหลวงกราบ ๓ ครั้ง ออกไปนั่งที่ท้ายอาสนสงฆ์ ถวายธูปเทียนแพแด่พระกรรมวาจาจารย์ พระกรรมวาจาจารย์สวดถาม จบแล้ว สามเณรนาคหลวง กราบรับบาตรจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังแล้วอุ้มบาตรเข้าไปนั่ง ณ ท่ามกลางสังฆมณฑล หน้าพระอุปัชฌาย์วางบาตรไว้ข้างซ้าย ปูผ้ากราบแล้วรับเทียนขอนิสัยและกระทงดอกไม้ จากเจ้าหน้าที่ สำนักพระราชวังถวายพระอุปัชฌาย์เพื่อขอนิสัย ถวายแล้วกราบ ๓ ครั้ง ประนมมือกล่าวคำขอนิสัย สมเด็จพระสังฆราชประทานนิสัยแล้วจะทรงบอกสามเณรนาคหลวงว่า ต่อไปนี้พระสงฆ์จะได้ทำอุปสมบทกรรม พระกรรมวาจาจารย์ส่งบาตรให้สามเณรนาคหลวงรับมาคล้องสะพายเฉียงไหล่ขวาตัว บาตรอยู่ข้างหลัง แล้วพระกรรมวาจาจารย์บอกอัฐบริขาร จบ พระกรรมวาจาจารย์บอกให้สามเณร นาคหลวงออกไปยืนที่ท้ายอาสนสงฆ์ห่างจากหัตถบาส ๑๒ คอก คือที่หน้าฉากกั้นบันไดข้างพระทวาร ร้านเหนือ ประนมมือหันหน้าไปสู่สังฆมณฑล พระกรรมวาจาจารย์กราบพระรัตนตรัย แล้วสวดวาจา สมมติตนในท่ามกลางสงฆ์ จบแล้วกราบสมเด็จพระสังฆราช ออกจากสังฆมณฑลไปยืนที่ผ้าขาว (พรมประกาศ) ข้างหน้าสามเณรนาคหลวงแล้วสอนซ้อมสามเณรนาคหลวง เสร็จแล้วพระกรรมวาจาจารย์ เข้าไปยังสังฆมณฑล กราบสมเด็จพระสังฆราช ๑ ครั้ง นั่งประนมมือสวดกรรมวาจาขออนุญาตเรียก สามเณรนาคหลวงเข้ามายังที่ประชุมสงฆ์ สามเณรนาคหลวงเดินเข้าไปยังสังฆมณฑลคุกเข่าตรงหน้าสมเด็จพระสังฆราช กราบ ๓ ครั้ง แล้วประนมมือเปล่งวาจาขออุปสมบท สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ทรงกล่าวเผดียงสงฆ์ จบแล้ว พระกรรมวาจาจารย์สวดกรรมวาจาสมมติตนในที่ชุมนุมสงฆ์จบ พระกรรมวาจาจารย์สวดถามสามเณรนาคหลวง เสร็จแล้วพระกรรมวาจาจารย์สวดญัตติจตุดถกรรมวาจา พระภิกษุนาคหลวงประนมมือฟังจนจบ แล้วกราบ ๓ ครั้ง ถอดบาตรออกวางไว้ ออกไปยืนที่หน้า ฉากท้ายอาสนสงฆ์ หันหน้าสู่สังฆมณฑล เจ้าพนักงานถอนบาตรไปตั้งที่ท้ายอาสนสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปประทานอนุศาสน์ หรือบางกรณีก็โปรดให้พระอาจารย์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดที่นาคหลวงไปจำพรรษาเป็นผู้บอกอนุศาสน์แทน สมเด็จพระสังฆราชประทานอนุศาสน์จบแล้วเสด็จไปประทับที่เดิม พระภิกษุนาคหลวงเข้าไปคุกเข่าหน้าสมเด็จพระสังฆราช กราบ ๓ ครั้งด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วคุกเข่าถวายไตรแด่พระอุปัชฌาย์ ถวายพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ แด่พระกรรมวาจาจารย์ ถวายไทยธรรมแด่พระหัตถบาสแล้วกราบสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ๑ ครั้ง แล้วหยิบผ้ากราบถือไว้ออกไปนั่งที่ท้ายอาสนสงฆ์

ในระหว่างพิธีอุปสมบทกรรม ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้เสด็จฯ มาประทับในพระอุโบสถ สำนักพระราชวังอนุญาตให้บิดามารดา ญาติมิตรของนาคหลวงเข้าไปนั่งอนุโมทนาในพระอุโบสถได้เมื่อใกล้เวลาเสด็จฯ จะได้เชิญออกไปเฝ้าฯ นอกพระอุโบสถ

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี เทียบรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูเกยหลังวัด พระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถทางพระทวารกลาง พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องน้อยท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบแล้วประทับ พระราชอาสน์พนักงานหยุดประโคม เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา นำพระภิกษุนาคหลวงที่ได้อุปสมบทใหม่เข้าไปรับพระราชทานเครื่องบริขารยังที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายเครื่องบริขาร มี ไตรอาศัย ตาลปัตร ย่าม และบริขารอื่นๆ ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงช้า เมื่อพระภิกษุนาคหลวงรับพระราชทานเครื่องไทยธรรมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ไปรับพระราชทานผ้าไตรหรือไทยธรรมจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมวงศ์ฝ่ายในตามลำดับ แล้วพระภิกษุนาคหลวงกลับไปนั่งยังอาสนสงฆ์ ตามเดิม เจ้าหน้าที่จะได้เชิญพระราชวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้มีเกียรติบางท่านเข้าไปถวายไทยธรรม แด่พระภิกษุนาคหลวง เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จัดภาชนะแก้วสำหรับให้พระภิกษุนาคหลวงทุกรูปกรวดน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระภิกษุนาคหลวงกรวดนํ้าโดยเสด็จพระราชกุศล กรวดนํ้าแล้วพระภิกษุนาคหลวงประนมมือ ขณะทรงหลั่งทักษิโณทกพระสงฆ์ในสังฆมณฑลถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จบ ออกจากพระอุโบสถ พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงต้นกราวรำหรือพระเจ้าลอยถาด ส่วนพระภิกษุนาคหลวงยังคงนั่งอยู่ที่เดิมเป็นการเฝ้าฯ ส่งเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงกราบ ที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถไป ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกราวรำส่งเสด็จฯ พระภิกษุนาคหลวงไปกราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วออกจากพระอุโบสถทางพระทวารกลาง เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง นำไปขึ้นรถยนต์หลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษาพร้อมกับเครื่องบริขารที่ได้รับพระราชทาน

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ

ตามโบราณราชประเพณีพระมหากษัตริย์ที่ได้สืบราชสันตติวงศ์ย่อมทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทักษิณานุปทานคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระบรมราชชนกหรือพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาริราช ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวันที่ ๒๔ กันยายนโดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ ออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์ ๒๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ ต่อจากนั้นทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดัปกรณ์เท่าพระชนมพรรษา ๓๘ รูป เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมพระราชานุสรณ์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ โรงพยาบาลศิริราช

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนี้ไปรวมกับการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ในวันที่ ๙ มิถุนายน เป็นงานพระราชพิธีออกหมายกำหนดการแต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ มีรายการดังนี้

เจ้าพนักงานมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ตกแต่งที่บรรจุพระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ ฐานพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี ในวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ทอดเครื่องนมัสการทองทิศ เครื่องทองน้อย พระแท่นทรงกราบ และที่พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ที่ลานหน้าพระวิหารด้านตะวันตก ตั้งเครื่องทองน้อย พระแท่นทรงกราบ ตกแต่งประดับดอกไม้ที่ฐานพระบรมราชานุสรณ์พร้อมทั้งตกแต่งโต๊ะหมู่เครื่องผ้าป่าของมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณไว้พร้อม

ในพระบรมมหาราชวัง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พร้อมกับเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิออกประดิษฐานบนพระที่นั่งบุษบกมาลา ทอดเครื่องราชูปโภคและพระสุพรรณภาชน์สำหรับพระบรมอัฐิ เครื่องนมัสการ เครื่องราชสักการะ อาสนสงฆ์ ธรรมาสน์เทศน์ไว้พร้อม

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม เสด็จฯ เข้าสู่พระวิหารหลวง ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระศรีศากยมุนี และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระวิหารหลวงไปทรงวางพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ เสร็จแล้วเสด็จฯ ไปที่หน้าโต๊ะหมู่เครื่องผ้าป่า ทรงกล่าวนำถวายผ้าป่า ผู้โดยเสด็จพระราชกุศลว่าตามจบแล้ว พระสงฆ์ชักผ้าป่า แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกจากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  พระสงฆ์ ๕๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์ จบ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมและทรงทอดผ้า พระสงฆ์สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลาออกจากพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการและเครื่องราชสักการะแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

วันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าเป็นคำที่บุคคลทั่วไปใช้ แต่ตามศัพท์ของพุทธศาสนาหรือฝ่ายสงฆ์ เรียกว่า วันอัฏฐมีบูชา คือการบูชาในดิถีที่ ๘ ซึ่งเป็นวันแรม ๘ คํ่า วันอัฏฐมีบูชาเดือน ๖ ตามจันทรคติ การที่มีประเพณีบูชาในวันนี้เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จสู่พระปรินิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ บรรดาพระอรหันตสาวกและมัลละกษัตริย์ได้มีการบำเพ็ญกุศลถวายตลอดมาจนครบ ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๘ เป็นดิถีอัฏฐมี จึงเชิญพระบรมศพแห่ไปประดิษฐาน ณ มกุฎพันธเจดีย์ แล้วเตรียมการถวายพระเพลิง

ในตำนานกล่าวว่าพระอานนท์อรหันตสาวกได้ชี้แจงแก่มัลละกษัตริย์ให้ทราบว่า พระบรมศพพระพุทธเจ้าห่อด้วยผ้าเนื้อดี ๒ ชั้น แล้วเอาด้ายมัดพันให้แน่น และเอาผ้าห่อหุ้มพระบรมศพอีกว่ามีถึง ๕๐๐ ชั้น เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพลงสู่หีบทอง โปรยปรายด้วยเครื่องหอมนํ้าหอมแล้วครอบด้วยหีบทองอีกชั้นหนึ่ง แห่เชิญไปประดิษฐานในพระจิตกาธารทำด้วยไม้แก่นจันทน์ ครั้นได้เวลาถวายพระเพลิงมัลละ กษัตริย์ ๔ พระองค์ก็เชิญไฟเข้าไปจุดแต่ปรากฏว่าไฟไม่ติด จึงตรัสถามพระอนิรุทธพุทธสาวกก็ได้ทราบว่าเทพยดาที่รักษาพระบรมศพปรารถนาจะให้คอยพระมหากัสสปพุทธสาวกผู้เป็นใหญ่ก่อน ในวันนั้นคือวันอัฏฐมี ๘ คํ่า เดือน ๖ พระมหากัสสปพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูปเดินทางมาจะเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๗ วัน และในวันนี้จะได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ต่างก็โศกเศร้าเมื่อระงับความโศกเศร้าแล้วก็รีบเดินทางไปยังพระจิตกาธารที่ประดิษฐานพระบรมศพถวายสักการบูชา พระมหากัสสปได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณและอาลัยถวายสักการะ ณ ปลายพระบาท เสร็จแล้วพระเพลิงก็พวยพุ่งขึ้นบนเชิงตะกอนพระจิตกาธารเป็นการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีรฌาปนกิจ

ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือเป็นประเพณีเมื่อถึงวันแรม ๘ คํ่า เดือน ๖ ดิถีอัฏฐมีบูชาซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า คือหลังจากการพระราชกุศลวิสาขบูชาแล้ว ๘ วัน การบำเพ็ญกุศล มีแสดงพระธรรมเทศนาและเวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัยทุกวัด

ส่วนการพระราชกุศลของหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชอุทิศเทียนรุ่ง บูชาพระรัตนตรัยพระอารามละ ๒ เล่ม พร้อมด้วยเทียนเดินสำหรับเวียนเทียนพระอารามละ ๓๐๐ เล่ม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงจุดเทียนรุ่งและถวายเทียนแด่เจ้าอาวาส ตามที่ทรงพระราชอุทิศไว้ ณ พระอารามหลวง ๗ อาราม คือ
๑. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๒. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
๓. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๔. วัดบวรนิเวศวิหาร
๕. วัดนิเวศธรรมประวัติ
๖. วัดบรมนิวาส
๗. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชาคือวันขึ้น ๑๕ คำ เดือน ๖ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนถือเป็นประเพณีสำคัญยิ่งที่ต้องบำเพ็ญกุศลและเป็นราชประเพณีของพระมหากษัตริย์มาแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังปรากฏในตำนานของนางนพมาศซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชพิธี ๑๒ เดือน ว่าพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

“ครั้นถึงวันวิสาขบูชา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วทุกนิคมตามชนบทก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างในจวนตำแหน่งท้าวพระยา
พระหลวงเศรษฐี ชีพราหมณ์ บ้านเรือน โรงร้านพ่วงแพ ชนประชาชายหญิงล้วนแต่แขวนโคมประทีป ชวาลาสว่างไสวห้อยย้อยพวงบุปผาชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนพากันรักษาอุโบสถศีล สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหาร สังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททก คนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อไถ่ชีวิตสัตว์จาตุบททวิบาทชาติมัจฉาต่างๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูลก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศล ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสนาเป็นอันมาก เวลาตะวันชายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์และนางในออกวัดหน้าพระธาตุราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราษฎร์บุรณะพระวิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกสุทธราชาวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคนธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่า สมโภชพระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถ พระสัฏฐารสโดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวคน”

และมีคำสรรเสริญว่า
“อันพระนครสุโขทัยราชธานี ถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงประดากไสวไปด้วยพู่พวงดวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกช่อชั้น”

สมัยอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระราชพิธีทำอย่างไร มาสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระราชดำริการทำวิสาขบูชากับสมเด็จพระสังฆราช(มี) วัดมหาธาตุ ซึ่งถวายพระพรให้ทรงทำวิสาขบูชาเป็นการใหญ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยบอกบุญพระบรมวงศานุวงศ์ กระทรวง ทบวง กรม ข้าราชการทุกหมู่เหล่า จัดตกแต่งโต๊ะหมู่ โคมเทียนและเทียนต้นประดับดอกไม้สดตั้งและแขวนรายรอบศาลา ระเบียง และกำแพงแก้วพระอุโบสถทั้งข้างล่างข้างบนถวายเป็นพุทธบูชา แล้วมีการเวียนเทียนสวดมนต์สรรเสริญพระพุทธคุณ นับเป็นครั้งแรก และได้ถือเป็นราชประเพณีโดยอนุโลมสืบมา พิธีสำหรับฝ่ายหน้าในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ สำหรับฝ่ายในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงสร้างพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานขึ้นในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ซึ่งเป็นบริเวณใกล้กับพระที่นั่งอันเป็นที่ประทับ การวิสาข¬บูชาของฝ่ายในซึ่งเคยทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจึงย้ายไปทำที่พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน จนถึงสิ้นรัชกาลที่ ๗ จึงได้รวมวิสาขบูชาทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเข้าด้วยกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

อนึ่ง พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชานี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงถือว่าเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาเพราะพุทธศักราชได้เริ่มแต่วันปรินิพพาน แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนปี ซึ่งใช้รัตนโกสินทรศกเป็นปีพระพุทธศักราช แต่ให้เริ่มขึ้นปีในวันที่ ๑ เมษายน และโปรดเกล้าฯ ให้ทำบัตรอวยพรพระราชทานในวันวิสาขบูชา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกวดแต่งหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสำหรับสอนเด็ก พิมพ์พระราชทานในวันวิสาขบูชาซึ่งถือปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน

และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงฟื้นฟูการทำบัตรอวยพรในวันวิสาขบูชาดำเนินตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาเป็นงานต่อเนื่องกัน ๒ วัน วันแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เป็นพิธีทรงตั้งพระภิกษุสามเณรเปรียญ วันต่อมาคือวันขึ้น ๑๕ คํ่าเดือน ๖ เป็นวันทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา มีการพระราชพิธีดังนี้

ตั้งเปรียญ
ตามราชประเพณีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์จึงทรงใฝ่พระราชหฤทัย ในการศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร เมื่อพระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสอบ ไล่ได้เปรียญธรรม มีการพระราชพิธีพระราชทานพัดยศตามชั้นเปรียญที่สอบได้ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถ้าหากสามเณรรูปใดสอบเปรียญธรรมได้ ๙ ประโยค เมื่ออายุครบอุปสมบททรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีพระราชทานพัดยศพระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรมเฉพาะ ๓-๖ และ ๙ ประโยค ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนวันวิสาขบูชาวันหนึ่ง ส่วนพระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๔-๕-๗-๘ ประโยค โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ประทานพัดยศเปรียญ ณ พระอุโบสถวัดที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ

พระราชพิธีตั้งเปรียญในปัจจุบัน เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จฯ ขึ้นสู่พระอุโบสถที่ชานหน้าพระอุโบสถเจ้าพนักงานพระราชพิธีกราบบังคมทูลทรงพระราชอุทิศธูปเทียนไทยธรรมสำหรับบูชาพระรัตนตรัยในวันวิสาขบูชา ว่า

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

เนื่องในการพระราชกุศลวิสาขบูชา สำนักพระราชวังได้รับพระราชทานจัดธูปเทียนไทยธรรม สำหรับทรงพระราชอุทิศ ดังนี้
๑. เครื่องไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ ถวายพระสงฆ์เทศนาตามพระอารามหลวง ๑๙ พระอาราม มีสบง ๕๗ ผืน เทียนดูหนังสือ ๕๗ เล่ม และปัจจัยบูชากัณฑ์เทศน์
๒. เทียนรุ่งสำหรับบูชาพระรัตนตรัย ๖ พระอาราม พระอารามละ ๒ เล่ม พร้อมธูปเทียนสำหรับเวียนเทียน
๓. สำหรับวันถวายเพลิงพระพุทธสรีระ มีเทียนรุ่งบูชาพระรัตนตรัย ๗ พระอาราม พระอารามละ ๒ เล่ม พร้อมด้วยธูปเทียนสำหรับเวียนเทียน

ทั้งนี้ เจ้าพนักงานแผนกพระราชพิธีจะได้เชิญไปถวายเจ้าอาวาสตามที่ได้ทรงพระราชอุทิศแล้วนี้

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

เมื่อเจ้าพนักงานพระราชพิธีกราบบังคมทูลจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุร่าย ทรงเจิมธูปเทียนที่ทรงพระราชอุทิศ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถทรงจุดธูปเทียน ถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงยืนประเคนผ้าไตร ประกาศนียบัตรเปรียญ พัดยศเปรียญ ๓- ๖- ๙ ประโยค แด่พระภิกษุสามเณรตามลำดับประโยค ขณะนั้นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ๑๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานเจริญชัยมงคลคาถา พระภิกษุสามเณรที่เข้ารับผ้าไตร ประกาศนียบัตร พัดยศ แล้วเดินออกจากพระอุโบสถไปครองผ้าที่ระเบียงพระอุโบสถ ครองผ้าเสร็จถือพัดยศกลับเข้าไปนั่งยังอาสนสงฆ์เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ที่เจริญชัยมงคลคาถาและพระภิกษุเปรียญที่ทรงตั้งใหม่ยกพัดขึ้น พร้อมกันถวายอนุโมทนา จบ สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรก จบแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมดออกจากพระอุโบสถ เจ้าหน้าที่พระคลังข้างที่ทูนเกล้าฯ ถวายเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพระราชทานเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก หากผู้ชนะการประกวดเป็นพระภิกษุเปลี่ยนเป็นถวายผ้าไตร เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระภิกษุหรือสามเณรเปรียญ ๙ ประโยค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดรถยนต์หลวงรับนำไปส่งถึงวัดทุกรูป

งานนี้แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว

ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
กำหนดพระราชพิธีในเวลาบ่ายวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ พระบรมวงศานุวงศ์จัดเทียนต้นตกแต่งดอกไม้สดไปตั้งบูชาที่หน้าพระฉากในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บรรดาข้าราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะนำโคมกระจกมีเครื่องหมายตราหรือตำแหน่งสังกัดตกแต่งประดับพวงดอกไม้ไปมอบเจ้าหน้าที่ติดไฟฟ้าแล้วแขวนที่กำแพงแก้วและศาลารายรอบพระอุโบสถ เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศล

เวลา ๑๘ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วเสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ ทรงจุดเทียน และทรงถือไว้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายทหาร ตำ รวจ และพลเรือน เข้าไปขอพระราชทานต่อไฟที่ทรงจุดถือไว้สำหรับบูชาพระรัตนตรัยและเวียนเทียน ครั้นทรงต่อไฟพระราชทานหมดทุกคนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำสวดบูชาสรรเสริญพระรัตนตรัย จบ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี ข้าราชการ ประทักษิณพระอุโบสถภายในกำแพงแก้ว ส่วนนอกกำแพงแก้วทหารมหาดเล็กถือดอกไม้ธูปเทียน เวียนรอบตามด้วยประชาชน เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว เจ้าพนักงานนิมนต์พระราชาคณะที่จะถวายพระธรรมเทศนา ๑ รูป และพระสงฆ์ที่จะสวดรับอนุโมทนา ๔ รูปขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ ทรงโปรยดอกไม้ (ดอกมะลิ กับกลีบกุหลาบ) ที่ธรรมาสน์ศิลา ทรงจุดเทียนดูหนังสือพระราชทานเจ้าหน้าที่นำไปตั้งที่ธรรมาศน์ ศิลา แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา อาราธนาศีล พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง จบ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

อนึ่ง บางปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแปรพระราชฐานประทับนอกกรุงเทพมหานครจะเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดใกล้พระราชฐานที่ประทับแรม ส่วนที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

บางปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ ปูชนียสถานสำคัญ เช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เป็นต้น เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลร่วมกันกับประชาชน

การแต่งกาย วันวิสาขบูชาตามราชประเพณีในรัชกาลก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์จะทรงพระภูษาแดง ฉลองพระองค์ขาวแบบปรกติ ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ส่วนข้าราชการแต่งเครื่องแบบปรกติขาว

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ในสมัยโบราณคงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกพืชผลโดยเฉพาะคือการทำนา  ซึ่งเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งของการดำรงชีวิต ผู้ปกครองหรือผู้เป็นประมุขของประเทศเมื่อถึงฤดูกาลที่ควรจะเริ่มลงมือเพาะปลูกพืชผล จึงต้องประกอบกรณียกิจเป็นผู้นำโดยลงมือไถ หว่าน พืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่างเพื่อเตือนว่าถึงเวลาประกอบการเพาะปลูกตามฤดูกาลแล้ว

ต่อมากาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป ได้มีการพิธีเรียกว่า จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิส่งเสริมการให้มีอำนาจและความสวัสดีต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ ในพิธีนี้พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศอาจจะทรงมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดให้ทำแทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ ไถ หว่านธัญญพืช พระมเหสีหรือชายาที่เคยร่วมการไถ หว่าน ก็เปลี่ยนเป็นจัดให้นางใน คือท้าวนางใน ราชสำนักออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนาไถ หว่าน เรียกว่า เทพี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีมานานนับพันๆ ปีและมีเกือบทุกชาติ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทำในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นพิธีพราหมณ์ตามแบบในสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ

ครั้งถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พืชมงคล เมื่อรวม ๒ พิธีแล้ว เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมาโดยจัดเป็นงาน ๒ วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกร จึงเป็นวันที่มีความสำคัญ โบราณาจารย์จึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วยขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน ๖ โดยที่มีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงไม่ได้กำหนดวันเวลา ไว้ตายตัว ตามปรกติแล้วจะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน ๖ ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทาน ในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้ลงกำหนดไว้ว่า วันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ ๑ วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีตลอดมาจนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคล ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา

พระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืชสำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ๑ วัน มีอ่านประกาศ ถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในประกาศนั้นอ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลคราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปรกติ และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธารราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพที่ทรงบันดาลให้มีฝนตกจึงได้สร้างขึ้น ณ เมืองคันธารราษฎร์ครั้งอดีตกาล แล้วประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงานพระราชพิธีนี้สืบมา สุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคล และขอ อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธี่ที่เคารพบูชา เทพยดาทั้งปวง ประสิทธิประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จบประกาศแล้ว พระสงฆ์ ๑๑ รูปเจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะเพื่อเสก พืชพันธุ์ต่างๆ ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑล มีข้าวเปลือกพันธุ์ดีต่างๆ ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เลขาธิการพระราชวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมมาจัดเป็นงาน ๒ วัน แล้วได้ระงับไปคงไว้แต่พิธีพืชมงคลจัดเป็นงานประจำปีทุกปี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางรัฐบาลเห็นควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิมเพื่อรักษาบูรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตามราชประเพณีเดิมขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการพระราชพิธีทุกปี ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพระราชพิธีเพื่อความเหมาะสมตาม ยุคสมัยด้วย พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓

ส่วนผู้ที่จะเป็นพระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวง เกษตราธิการ เป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้น โปรดเกล้าฯ ให้จัดท้าวนางฝ่ายใน เมื่อเวลาได้เปลี่ยนเเปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้ เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ พระยาแรกนาจึงได้แก่อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตร เทพีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติในกระทรวงเกษตร ในปีต่อมาจนถึงปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนาได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับ ๓-๕ คือชั้นโทขึ้นไป

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีเพื่อสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร สนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ชาวนาในการประกอบอาชีพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานอธิษฐานขอความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารให้มีแก่อาณาจักรไทยและได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวทดลองในนาทดลองบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วพระราชทานนำมาเข้าในพระราชพิธีประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมาเข้าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านที่ลานประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อเป็นสิริมงคลตามพระราชประสงค์ที่ทรงส่งเสริมการเกษตรพระราชพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคล
ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าหน้าที่เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบัน  พะพุทธคันธารราษฎร์ของรัชกาลที่ ๑ พระพุทธรูปปางสมาธิทรงภาวนาให้ต้นข้าวเกิดงอกงามรอบพุทธ บัลลังก์ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ พระคันธารราษฎร์ขอฝนแบบจีน พระบัวเข็ม
เทวรูปพระพลเทพ พระโคอุศุภราช ตั้งบนม้าหมู่ในธรรมาสน์ศิลาหน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์บุษบกพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ใต้ธรรมาสน์ศิลาตั้งกระบุงทอง กระบุงเงินอย่างละคู่บรรจุข้าวเปลือกพันธุ์ดีที่เป็นของพระราชทานจากนาทดลอง และมีถุงบรรจุพันธุ์พืชต่างๆ
คือ ผักกาดกวางตุ้ง ดอกผักกาดหอม ข้าวโพดขาว ผักกาดขาวปลี แตงกวา พริกชี้ฟ้า แตงกวาผสม ละหุ่ง ผักกาดหัว บวบเหลี่ยม มะระจีน คะน้าใบ ผักกาดขาวกวางตุ้ง คะน้ายอด มะเขือเทศสีดา แตงร้าน แตงโม ฟักทอง พริกขี้หนู มันแกว แตงไทย ผักบุ้งจีน ผักกาดขาวใหญ่ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ตั้งโอ๋ นํ้าเต้า ข้าวโพดเกษตร ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เมล็ดงา ผักปวยเล้ง กระเจี๊ยบ ขึ้นฉ่าย ชุนฉ่าย ฟักเขียว ผักกาดขาวปลี ผักชี ผักกาดเขียวกวางตุ้ง แฟง ผักขมจีน เผือก มัน แล้ววงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปสำคัญโยงไปถวายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการพุ่มพานดอกไม้ ธูปเทียนไว้พร้อม

ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนิน พระยาแรกนาแต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เทพีทั้ง ๔ แต่งกายชุดไหมไทยห่มสไบผ้าไหมประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มายังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุดธูปเทียนสักการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปนั่งเก้าอี้ที่เฝ้าฯ ตามลำดับ

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภกรมการศาสนา อาราธนาศีล พระราชาคณะถวายศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศีล เมื่อทรงศีลแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ธรรมาสน์ศิลา ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ และพระพุทธรูปสำคัญแล้วทรงประพรมพืชต่างๆ ทรงโปรยดอกไม้มีดอกมะลิและกลีบกุหลาบ แล้วถวายพวงมาลัยที่พระพุทธรูปทุกองค์โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ทูนเกล้าถวาย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนบูชาพระคันธารราษฎร์ ๒ คู่ และทรงจุดเทียน ที่พระคันธารราษฎร์จีนอีก ๑ เล่ม ทรงกราบอธิษฐานขอความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักร แล้วประทับพระราชอาสน์ หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล

เมื่อหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคลจบ พระสงฆ์ ๑๑ รูป มีพระราชาคณะวัดระฆังโฆสิตารามเป็นประธานสงฆ์ และพระเปรียญ ๙ ประโยคจากวัดต่างๆ อีก ๑๐ รูป รวมเป็น ๑๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถาพืชมงคลจบ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาแรกนา เข้าไปเฝ้าฯ คุกเข่าถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งนํ้าสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะ ทรงเจิมแป้งกระแจะที่หน้าผาก พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวา และพระราชทานธำมรงค์นพเก้าสำหรับสวมที่มือขวา ๑ วง ที่มือซ้าย ๑ วง แล้วพระราชทานพระแสง ปฏักที่จะถือใช้ในวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แล้วลุกขึ้นถวายคำนับ กลับไปนั่งเฝ้าฯ ที่เดิม ต่อจากนี้ ข้าราชการสตรีในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทพี ๔ คน ถวายความเคารพ เดินเข้าไปหมอบเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งนํ้าสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะ ทรงเจิม พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวาตามลำดับ ขณะที่พระยาแรกนาและเทพีรับพระราชทานนํ้าสังข์นั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาจนเสร็จการพระราชทานนํ้าสังข์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมซึ่งบรรจุในถาดมีคนโทแก้วบรรจุน้ำฝนด้วย เป็นราชประเพณีที่จะต้องจัดภาชนะบรรจุนํ้าฝนถวายพระสงฆ์เฉพาะงานพระราชพิธีพืชมงคลตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วออกจากพระอุโบสถ

เมื่อพระสงฆ์ออกจากพระอุโบสถแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว คณะพราหมณ์เชิญเทวรูปสำคัญที่ตั้งในมณฑลพิธี คือ พระพลเทพ พระโคอุศุภราช ไปเข้าเบญจาพิธีมณฑล ณ โรงพิธีพราหมณ์ที่ท้องสนามหลวง ที่แท่นมณฑลพิธีนี้ พราหมณ์ได้เชิญเทวรูปสำคัญจาก เทวสถานเสาชิงช้า มาตั้งเข้าพิธี คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม และพระพิฆเณศวร์ พร้อมด้วยกระบุงทอง กระบุงเงินบรรจุข้าวเปลือกที่ได้เข้าพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามรวมทั้งพืชพันธุ์ต่างๆ และเครื่องพิธีตามลัทธิธรรมเนียมของพราหมณ์ คณะพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมสวดบูชาพระเวทย์ตลอดคืน

วันนี้แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีแต่งกายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระยาแรกนาสวมสนับเพลาปลายขอบปักดิ้นทอง ถุงเท้าขาว รองเท้าหุ้มส้นสีดำไม่ผูกเชือกมีกรอบทำด้วยโลหะสีทองติดคล้ายโบ นุ่งผ้าเยียรบับชายพกพับจีบ ไม่จีบโจง ใช้เชือกสายแถบรัดเอว สวมเสื้อเยียรบับพื้นเขียวลายทองแขนยาวแบบราชการ กระดุม ๕ เม็ด สวมสายสะพายและประดับราชอิสริยาภรณ์ คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทองรัดเอวนอกเสื้อ สวมเสื้อครุยผ้าโปร่งปักดิ้นทองแล้วกลัดดวงตราปักอักษรย่อ จจจ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ส่วนเทพีนุ่งจีบหน้านางผ้าเยียรบับหรือผ้าไหมไทยทอยกดอกลายสีทองพื้นสีตามความเหมาะสม สวมเสื้อไหมไทยรัดรูปแขนยาว คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะเป็นเกลียวเกี่ยวขัดสีทอง ห่มผ้าสไบปักทองแล่ง ประดับอาภรณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมถุงเท้าสีเนื้อ รองเท้าหนังหุ้มส้นสีทองปลายงอน เสร็จแล้วพระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เทพีและข้าราชการ (แต่งเครื่องแบบเต็มยศประดับราชอิสริยาภรณ์) เชิญเครื่องยศขึ้นรถตามเป็นกระบวน เมื่อเข้าสู่พระ อุโบสถแล้วพระยาแรกนาและเทพีจุดธูปเทียนถวายนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปที่ปราสาทพระเทพบิดรถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แล้วไปขึ้น รถยนต์หลวงเป็นกระบวนออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังท้องสนามหลวง

เวลา ๗ นาฬิกา เจ้าพนักงานจัดตั้งริ้วกระบวนอิสริยยศตามแบบประเพณีโบราณรับพระยาแรกนา พระยาแรกนาลงจากรถยนต์หลวงแล้วสวมลอมพอกเดินเข้าประจำที่ในกระบวนพร้อมด้วยคู่เคียง ๒ ข้างๆ ละ ๘ นาย ผู้เชิญเครื่องยศและเทพีจัดเป็นรูปกระบวนยาตราไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ประโคมกลองชนะ สังข์ แตร ตลอดทาง

ริ้วกระบวนอิสริยยศ พระยาแรกนา
นำริ้ว ๑    นุ่งผ้าม่วงเชิง เสื้อนอกขาว หมวกทรงประพาสดำ
จ่าปี่ ๒    สวมกางเกงมัสรู่ไหมเหลือง เสื้อเข้มขาบ หมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว
กลองชนะ    แถวละ ๑๐ คน ๒ แถว สวมกางเกงปัสตูแดงปลายขาขลิบขอบเหลือง เสื้อปัสตูแดง ปลายแขนขลิบขอบเหลือง หมวกกลีบลำดวนขลิบเหลือง
แตรฝรั่ง ๑๐    สวมกางเกงปัสตูแดงปลายขาขลิบขอบเหลือง เสื้อปัสตูแดงแขนบาน ขลิบปลายลูกไม้กระจังสีทอง หมวกทรงกรวยปัสตูสีแดงขอบขลิบลูกไม้กระจัง ยอดจุกขาว
แตรงอน ๑๐    สวมกางเกงปัสตูแดงปลายขาขลิบขอบเหลือง เสื้อปัสตูแดงแขนบาน ขลิบปลายลูกไม้กระจังสีทอง หมวกทรงกรวยปัสตูสีแดงขอบขลิบลูกไม้กระจัง ยอดจุกขาว
สังข์ ๒        พราหมณ์
พราหมณ์เป่าสังข์ ๒    เดินนำในกระบวน หน้ากรรชิง
กรรชิง หน้า ๒     สวมกางเกงมัสรู่ริ้วไหมสีเหลืองพื้นแดง เสื้อมัสรู่แขนยาวปลายแขนขลิบ
กรรชิง หลัง ๒    กระจังสีทอง หมวกหูกระต่ายแดงขลิบขอบเหลือง
คู่เคียง ข้างละ ๘ คน ๒ ข้าง ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ ๕-๖ แต่งเครื่องแบบเต็มยศพระยาแรกนาเข้ากระบวนเดินอยู่กลางระหว่างคู่เคียงมีพนักงานเชิญบังสูรย์และสัปทนกางกั้น    พนักงานนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน เสื้อนอกขาว คาดรัดประคดแดง

หลังพระยาแรกนาข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ ๕ – ๖ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ เชิญเครื่องยศของพระยาแรกนาซึ่งได้ราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า มีพานหมากทองคำลงยาเครื่องพร้อม (มี จอกหมาก จอกยาฝอย ซองพลู ตลับภู่ มีดเจียนหมากทำด้วยทองคำ) กระโถนทองคำขอบสลัก กานํ้าทองคำทรงมันมีพานรอง คนโททองคำมีพานรอง

เมื่อพระยาแรกนาเข้าสู่โรงพิธีพราหมณ์ หัวหน้พราหมณ์เชิญพระยาแรกนาไปที่แท่นเบญจามณฑลพิธี จุดธูปเทียนบูชาเทวรูปพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเชิญมาประดิษฐานในการประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม พระพิฆเณศวร์ พระพลเทพ พระโคอุศุภราช พระยาแรกนาจุดธูปเทียนสักการบูชาแล้วไปนั่งพัก ณ เก้าอี้ที่จัดไว้พร้อมด้วยเทพี และผู้เชิญเครื่องยศ หัวหน้าพราหมณ์เข้าไปหลั่งนํ้าสังข์ที่มือและให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ ต่อจากนี้หัวหน้าพราหมณ์เชิญโต๊ะเงินใส่ผ้านุ่งสำหรับเสี่ยงทายมีผ้าคลุมให้พระยาแรกนาสอดมือ เลือกหยิบดึงออกมา เมื่อเลือกได้แล้วเข้าไปในห้องเพื่อนุ่งทับผ้าที่นุ่งอยู่เดิม ผ้านุ่งเสี่ยงทายมี ๓ ผืน ขนาดกว้าง ๔ คีบ ๕ คีบ ๖ คีบ มีคำพยากรณ์ ดังนี้
ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่านํ้าจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่านํ้าในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลสมบูรณ์และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่านํ้าน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

ครั้นพระยาแรกนานุ่งผ้าเสี่ยงทายทับอีกชั้นหนึ่งแล้วออกมานั่งรอ ณ ที่เดิม

เวลา ๘ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มาถึงพลับพลา ณ ท้องสนามหลวง พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานรัฐสภา รัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และคณะทูตานุทูตเฝ้าฯ รับเสด็จ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดที่นั่งไว้ในปะรำ ให้กลุ่มชาวนาเกษตรกรเฝ้าฯ และชมพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงแถวทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เป่าแตรถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ขึ้นประทับ ณ มุขกลางพลับพลา

ส่วนทางโรงพิธีพราหมณ์ตั้งแถวแตรกลองชนะยืนอยู่กับที่ และได้ตั้งกระบวนสำหรับพระยาแรกนาจะเข้าสู่ลานแรกนา มีราชบัณฑิต ๑ (ผู้เป็นเปรียญธรรม) เชิญพระเต้าเทวบิฐบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ พระเต้านี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างขึ้น และโปรดให้ใช้ประพรมพื้นแผ่นดินในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นราชประเพณีสืบมา ถัดจากราชบัณฑิตมีพราหมณ์เป่าสังข์ ๑ คู่ พราหมณ์เชิญพระโคอุศุภราช ๑ คนนำ และมีกรรชิงหน้า ๑ คู่ กรรชิง หลัง ๑ คู่ แล้วถึงพระยาแรกนาถือพระแสงปฏักที่ได้รับพระราชทาน หลังพระยาแรกนา หัวหน้าพราหมณ์เดินตามแล้วเทพีทั้ง ๔ หาบกระบุงทอง ๑ คู่ เงิน ๑ คู่ บรรจุข้าวเปลือกตามเมื่อถึงพลับพลาที่ประทับ พระยาแรกนาส่งพระแสงปฏักให้หัวหน้าพราหมณ์ถือไว้ พระยาแรกนาเข้าไปเฝ้าฯ ที่ชานชั้นลดพลับพลาตรงที่ประทับ คุกเข่าถวายบังคม ๓ ครั้ง แล้วถอยออกมารับพระแสงปฏักจากหัวหน้าพราหมณ์ เดินเข้าสู่ลานแรกนาตรงไปที่พระโค ๒ ตัวที่เทียมแอก พระยาแรกนาเจิมคันไถแล้วเจิมพระโคทั้งคู่

ครั้นได้มงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงบูชาพระฤกษ์และลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานพิธียํ่ามโหระทึก ประโคมแตรฝรั่ง ปี่พาทย์ทำเพลงพร้อมกัน พระยาแรกนาจับหางคันไถมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือพระแสง ปฏัก บัณฑิตถือพระเต้าเทวบิฐสาดพรมนํ้าพระพุทธมนต์ลงในพื้นดินนำ และพราหมณ์เชิญเทวรูปพระโคอุศุภราชและพระพลเทพเดินนำหน้าพระโค พระยาแรกนาเดินไถดะไป ๓ รอบ โดยขวาง ๓ รอบ แล้วส่งพระแสงปฏักให้หัวหน้าพราหมณ์ถือไว้ พระยาแรกนาหยิบพันธุ์ข้าวเปลือกในกระบุงทองกระบุงเงิน ที่เทพีหาบตามหว่านลงในลานแรกนาจนครบ ๓ รอบ แล้วไถกลบอีก ๓ รอบ เมื่อครบแต่ละรอบ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรงอนแตรฝรั่ง ส่วนปี่พาทย์และมโหระทึกบรรเลงและยํ่าพร้อมกันตลอดเวลา

ครั้นหว่านกลบเสร็จแล้ว พระยาแรกนารับพระแสงปฏักจากหัวหน้าพราหมณ์กลับเข้าโรงพิธีพราหมณ์พร้อมด้วยเทพีโดยกระบวนไม่ผ่านหน้าพลับพลา ราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐและพราหมณ์เชิญเทวรูปพระพลเทพ พระโคอุศุภราช ไปตั้งยังแท่นเบญจาตามเดิม พนักงานผู้ทำหน้าที่ดูแลพระโคปลดพระโคออกจากแอกแล้วจูงพระโคทั้งคู่ไปยืนที่ขอบลานแรกนาตรงหน้าพลับพลาที่ประทับ พราหมณ์ถือถาดวางกระทงบรรจุของเลี้ยงพระโคเป็นการเสี่ยงทายถาดละ ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า พระโคกินอะไรพราหมณ์ผู้ถือถาดกระทงอาหารจะได้แจ้งแก่โหรหลวง แล้วโหรหลวงจดรายงานพยากรณ์ให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่ออ่านกราบบังคมทูลในการพระโคกินอาหาร แล้วรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กราบบังคมทูลถึงผ้านุ่งเสี่ยงทายและการเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง

เมื่อจบคำกราบบังคมทูลแล้ว รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กราบบังคมทูลเบิกชาวนา ผู้ชนะการประกวดผลผลิตข้าวแต่ละภาค รวม ๔ คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลตามลำดับแล้ว ต่อจากนี้เบิกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสหกรณ์ดีเด่นเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เกียรติคุณ พระยาแรกนาจะได้ยาตรากระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ผ่านหน้าพลับพลาที่ประทับ เมื่อถืงหน้าพลับพลาพระยาแรกนาเข้าไปคุกเข่ากราบถวายบังคม ๓ ครั้งแล้วถอยออกมาเข้ากระบวนต่อไป กระบวนผ่านพลับพลาแล้วพระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงไปรอเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แปลงนาทดลองในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พร้อมด้วยเทพี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพลับพลาพิธี ณ ท้องสนามหลวง ไปยังแปลงนาทดลองในสวนจิตรลดาอันเป็นพระราชฐานที่ประทับ แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ข้าวให้พระยาแรกนาหว่านในแปลงนาทดลองสำหรับนำไปใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีต่อไป หลังจากนั้นทรงพระราชปฏิสันถารเกี่ยวกับการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ แล้วเสด็จขึ้น

วันนี้แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว

ที่มา:กรมศิลปากร

พระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคล

พระราชพิธีฉัตรมงคลมีพระบรมราชาธิบายในพระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่าวันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติจึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล นี้ขึ้น การพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มนั้น มีสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีเพิ่มการพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ชุมนุมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เวียนเทียนสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ตอน ๑ พระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ได้บรมราชาภิเษกอีกตอน ๑

พระราชกุศลทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคลในปัจจุบันได้จัดพระราชพิธีอนุโลมพระราชพิธีดังกล่าวนี้

พระราชกุศลทักษิณานุปทาน
พระราชพิธีนี้เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในรัชกาลพระราชกุศลทักษิณานุปทานก่อน ตั้งการพระราชพิธีที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทลมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระโกศพระบรมอัฐิพระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรและพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารพระบรมอัฐิของทุกพระองค์ขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งบุษบกมาลา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทอดเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นบูชาพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวาร ทอดเครื่องราชสักการะทองลงยาราชาวดี และทองลงยารองที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรสำหรับถวายสักการะพระบรมอัฐิ แวดล้อมด้วยเครื่องราชูปโภค บรมราชอิสริยยศต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ตั้งธรรมาสน์กลีบบัวสำหรับพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน อาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และสดับปกรณ์ ทอดพระราชอาสน์และเก้าอี้ที่เฝ้าฯ ของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

วันที่ ๓ พฤษภาคม เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จฯ เข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปสำคัญประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงกราบ แล้วเสด็จฯ ไปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะ ทรงกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิ ประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา อาราธนาศีล พระสงฆ์ ๒๒รูป สวดพระพุทธมนต์การพระราชกุศลทักษิณานุปทานจบ พระบาทสม เด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์พระราชทานให้เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปปักที่จงกลธรรมาสน์เทศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจุดธูป เทียนเครื่องทรงธรรม แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมอัฐิทรงธรรม แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา อาราธนาธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประเคนเครื่องไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ แล้วเจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์ไปนั่งอาสนสงฆ์สำหรับสดับปกรณ์และลาดพระภูษาโยงจากที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ ไปยังอาสนสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์รวมทั้งพระถวายพระธรรมเทศนาด้วยเป็น ๒๓ รูป พระสงฆ์ทั้งหมดสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงกราบพระพุทธรูปที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกราบพระบรมอัฐิที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร เสด็จพระราชดำเนินกลับ เป็นเสร็จการพระราชกุศลทักษิณานุปทานตอนหนึ่ง

งานวันนี้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ

พระราชพิธีฉัตรมงคล
พระราชพิธีนี้เป็นการเฉลิมฉลองพระมหาเศวตฉัตร สิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงสำคัญประจำรัชกาล อันเนื่องด้วยคล้ายวันที่จะเข้าสู่งานบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติพระราชพิธีฉัตรมงคลตามราชประเพณี จึงได้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมฉลองที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลปัจจุบัน ประดิษฐานที่ม้าหมู่พระแท่นมุก ด้านตะวันออก และเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงสำคัญประจำรัชกาลประดิษฐานที่พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตั้งเทวรูปชื่อพระราชมุทธาธรเชิญหีบพระราชลัญจกร และเทวรูปชื่อพระราชบันฦๅธารเชิญพระแสงพระราชพิธีข้างพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยต้นไม้ทอง-เงิน ตั้งอาสนสงฆ์ พระราชอาสน์ เก้าอี้ที่ประทับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไว้พร้อม

วันที่ ๔ พฤษภาคม เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จฯ ขึ้นทางบันไดเกยพระที่นั่งพิมานรัตยา แล้วเสด็จออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ที่หน้าพระแท่นมุก แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมท์ กรมการศาสนา อาราธนาศีล สมเด็จพระสังฆราชถวายศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศีลจบแล้ว เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรบูชาเทพยดา รักษาพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แล้วหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล

เมื่อหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคลจบ พระสงฆ์ ๒๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์จบ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงกราบพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ที่หน้าพระแท่นมุก แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดมุขเหนือผ่านผู้ที่มาเฝ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันนี้แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ

วันที่ ๕ พฤษภาคมวันนี้เป็นมงคลดิถีคล้ายวันที่ได้ทรงรับนพปฎลมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันมีพระมหามงกุฎเป็นปฐมแห่งการบรมราชาภิเษก จึงกำหนดการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเช่นวันก่อน แต่ตั้งโต๊ะเครื่องบายศรีสำรับใหญ่ สำหรับเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และองศ์สมเด็จพระมหากษัตริย์ที่ได้เสวยราชสมบัติมาบรรจบในมงคลดิถีวันบรมราชาภิเษก

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้นทางบันไดเกยพระที่นั่งพิมานรัตยา เสด็จออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ที่หน้าพระแท่นมุก ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนาอาราธนาศีล สมเด็จพระสังฆราชถวายศีลและถวายพรพระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนภัตตาหารแด่สมเด็จพระสังฆราช นอกนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทรงประเคน แด่พระสงฆ์ตามลำดับ เมื่อพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์แต่วันก่อนรับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยแทนเครื่องไทยธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะ แล้วทรงยืนประเคนพระสงฆ์ซึ่งตํ่ากว่าพระราชาคณะจนครบ ๒๐ รูปแล้วประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง ราชประเพณีแต่เดิมมีอ่านฉันท์กล่อมพระมหาเศวตฉัตร ศิลปินขับไม้ประกอบซอสามสาย ได้งดไปตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

เจ้าพนักงานปูลาดผ้าแดงเตรียมการเวียนเทียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรสักการะเทพยดาที่รักษาพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธกัณฑ์ แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กรมวังกราบทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหารและพลเรือนไปยืนเฝ้าฯ รายล้อมตามแนวผ้าแดง หลังพระราชอาสน์ มีสมุหราชองครักษ์ เลขาธิการพระราชวัง ราชเลขาธิการ ต่อไปเป็นแนวพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมแล้วหัวหน้าพราหมณ์เบิกแว่น โหรหลวงรับแว่นส่งให้ข้าราชการที่ยืนเรียงตามลำดับรับแว่นเวียนเทียนสมโภช ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์ พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว หัวหน้าพราหมณ์รวมเทียนโบกควันถวาย แล้วถวายความเคารพไปเจิมนพปฎลมหาเศวตฉัตรพร้อมกับโหรหลวง ผูกผ้าสีชมพูที่คันองค์นพปฎลมหาเศวตฉัตรเรียบร้อยแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงพระสุหร่ายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ที่พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ที่หน้าพระแท่นมุก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดมุขเหนือไปประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ

อนึ่ง ในวันนี้ซึ่งเป็นดิถีคล้ายวันบรมราชาภิเษก เวลาเที่ยงวันทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด

การถวายภัตตาหารพระสงฆ์และเวียนเทียนสมโภชวันนี้เป็นงานแต่งเครื่องแบบปรกติขาว ประดับเหรียญ (เหรียญบรมราชาภิเษก เหรียญรัตนาภรณ์ เหรียญที่ระลึกประจำรัชกาล)

เสด็จออกมหาสมาคม
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าและพระราชทานในพระราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลต่อๆ มาจึงได้ถือเป็นราชประเพณี พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในท่ามกลางมหาสมาคม พร้อมด้วยเครื่องประกอบเกียรติยศตราจุลจอมเกล้า

เมื่อเสร็จจากงานเลี้ยงพระและเวียนเทียนสมโภชในตอนเช้าแล้ว เจ้าพนักงานถอนเครื่องตกแต่งบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรออกทั้งหมด พร้อมกับถอนพระราชอาสน์ อาสนสงฆ์ เก้าอี้และเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์กลับ ทอดพระแท่นลายสลักปิดทองประดับกระจกที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ลาดผ้าสุจหนี่ปักตราราชสีห์ตรงกลาง ตั้งพระราชอาสน์เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโต๊ะเคียงสองข้าง โต๊ะเคียงเบื้องซ้ายทอดพานพระขันหมากและพระสุพรรณศรี ข้างพระราชอาสน์ทอดพระสุพรรณราชทองคำเฟือง หลังพระราชอาสน์ที่ประทับทอดพระแสงปืนและพระแสงของ้าวด้ามถม สี่มุมพระแท่นมุกตั้งต้นไม้ทอง-เงินไว้พร้อม

ครั้นเวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้นทางบันไดเกยพระที่นั่งพิมานรัตยาเสด็จออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีสมุหพระราชพิธี สมุหพระราชมณเฑียร และเจ้าหน้าที่เชิญพระมหาพิชัยมงกุฎ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแยกไปเฝ้าฯ ทางพระบรมวงศานุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระราชอาสน์บนพระแท่นหน้าพระราชบัลลังก์นพปฎลมหาเศวตฉัตร เจ้าพนักงานเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎทอดที่โต๊ะเคียงพระราชอาสน์เบื้องขวา ขณะนั้นตำรวจหลวงชูพุ่มดอกไม้ทองเป็นสัญญาน ชาวพนักงานกระทั่งแตร มโทระทึก กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองศ์ซึ่งตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศอยู่ที่ลานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้าน เหนือ ถวายความเคารพแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นมหาสมาคมยืนถวายความเคารพโดยดุษณี เมื่อสุดเสียงประโคมแล้วผู้เฝ้าฯ ถวายความเคารพพร้อมกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์ กองประกาศิต สำนักนายกรัฐมนตรี อ่านรายนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเดินเข้าไปรับพระราชทานตามลำดับ เมื่อพระราชทานเสร็จแล้วเสด็จขึ้นพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีสมุหพระราชพิธี สมุหพระราชมณเฑียรตามเสด็จพร้อมด้วยพนักงานเชิญเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขณะนั้นตำรวจหลวงชูพุ่ม ดอกไม้ทอง ผู้เฝ้าฯ อยู่ในมหาสมาคมถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเช่น เวลาเสด็จออก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปประทับพัก ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา

พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการที่มาเฝ้าฯ และผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านำดอกไม้ธูปเทียนไปรอเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งราชกรัณยสภาไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณีพระพุทธรูปฉลองพระองศ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่และทองทิศที่หน้าธรรมาสน์ศิลาบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบแล้ว เสด็จออกจากพระอุโบสถไปขึ้นปราสาท พระเทพบิดรด้านหน้ามุขตะวันออก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะ ทรงกราบถวายบังคมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๘ รัชกาล แล้วเสด็จออกจากปราสาทพระเทพบิดรไป ประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามทางประตูสวัสดิโสภา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปต่อไป

งานตอนนี้แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศสวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า

อนึ่ง ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลวันที่ ๕ พฤษภาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้กราบถวายบังคมพระบรมรูปตั้งแต่เวลา ๙ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา

การนี้แต่งกายสุภาพ

ที่มา:กรมศิลปากร