สารทการทำบุญกลางปีของไทย

สารท เป็นคำของอินเดีย หมายถึง ฤดู ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษ ว่า ออทัม แปลว่าฤดูใบไม้ร่วง อยู่ในระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว สารท เป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุก ข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้ เช่น ในทวีปยุโรปตอนเหนือหรือในประเทศจีนและประเทศอินเดียตอนเหนือประเพณีชิงเปรด ซึ่งอยู่ถัดเขตร้อนของโลกขึ้นไป ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนของโลก จึงไม่มีฤดูซึ่งมีลักษณะอย่างนี้ ข้าวก็ยังไม่สุก ผลไม้ก็มีบางชนิดเท่านั้นที่สุกในฤดูนี้

สารทเป็นการทำบุญกลางปีของไทยตรงกับวันสิ้นเดือน ๑๐ หรือวันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๑๐ พิธีนี้เป็นของพราหมณ์มาก่อน คือในถิ่นที่มีฤดูสารทดังกล่าว เมื่อถึงเดือน ๑๐ เป็นฤดูที่ข้าวสาลีในท้องนาออกรวงอ่อนเป็นนํ้านม ผู้คนพากันเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลแรกได้มาทำมธุปายาสและยาคู เลี้ยงพราหมณ์ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา อีกอย่างหนึ่ง เขาทำเพื่อเซ่นบุรพชน คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว มาในชั้นหลังผู้ที่เคยถือศาสนาพราหมณ์แล้วกลับมานับถือพระพุทธศาสนาเมื่อถึงคราวที่เคยทำบุญตามฤดูกาลให้แก่พราหมณ์ ก็จัดทำถวายพระสงฆ์เหมือนที่เคยทำแก่พราหมณ์ถือกันว่า การทำบุญด้วยของแรกได้เป็นผลานิสงส์อย่างยิ่ง และเมื่อทำบุญแล้ว มักจะกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทำพิธีอุทิศให้แก่ผู้ตายของชาวฮินดูเรียกว่า ศราทธ์ เสียงเหมือนกับคำว่า สารท ในภาษาไทยซึ่งเป็นชื่อฤดู

ของที่ทำในเทศกาลสารทถวายพระสงฆ์นี้ เรียกว่า “กระยาสารท” แปลว่า “อาหารที่ทำในฤดูสารท” กระยาสารทนี้คงจะเนื่องมาจากข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย ใช้ข้าว นํ้าตาล น้ำนม ผสมกัน และไม่กำหนดว่าทำเฉพาะฤดูสารท บางทีเขาทำกินกันเอง เช่น ที่นางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้าก็เป็นเวลาเดือนหก ส่วนผสมของกระยาสารทไทยมีข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง งา ของ ๓ อย่างนี้คั่วให้สุกเสียก่อน แล้วนำมากวนกับนํ้าอ้อยกวนให้เหนียวกรอบเกาะกันเป็นปึก จะทำกรอบเป็นก้อนหรือตัดเป็นชิ้นๆ ห่อด้วยใบตองแห้งใส่ไว้ในโหลหรือปี๊บเก็บไว้ได้นาน ถ้ากวนไม่ดี จะร่วน ไม่เหนียว กินไม่อร่อย ผู้เขียนสังเกตว่ากระยาสารทของเดิมมาจากพืชผลล้วนๆ สมกับเจตนาว่า ทำจากพืชผลแรกได้ ต่อมาคนรุ่นหลังคิดดัดแปลงให้แปรเปลี่ยนไปใส่นมเนยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากสัตว์มาปนด้วย ไม่ใช่พืชล้วนๆ กระยาสารทเป็นของหวานจัดโดยมากคนจะกินกับกล้วยไข่สุก แต่ก่อน ชาวบ้านมักจะกวนกันเองนอกจากทำถวายพระแล้ว ยังเอาไปแจกเพื่อนบ้าน ต่างฝ่ายต่างแจก แลกเปลี่ยนฝีมือกัน เดี๋ยวนี้มีคนทำขายสะดวกดี เลยกวนกันไม่เป็น

พิธีสารทเป็นราชพิธีหนึ่งซึ่งทำกันมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ครั้งนั้นเรียกว่า “พิธีภัทรบท” ปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อาหารที่ทำเนื่องในพิธีสารทอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้าวทิพย์ สิ่งของที่ใช้กวนมีพวกถั่วงา สาคู ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า มันเทศ กระจับ แห้ว ข้าวสาร ลูกบัว เมล็ดกลํ่า นํ้านมโค น้ำผึ้ง นํ้าอ้อย มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ชะเอมและอื่นๆ อีกมากเอามากวนให้เข้ากัน ใช้สาวพรหมจารีเป็นผู้กวน การกวนข้าวทิพย์มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้มีการกวนข้าวทิพย์ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทรงกวนทั้งสิ้น แต่ในรัชกาลหลังๆ ใช้หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ซึ่งเป็นสาวพรหมจารีเป็นผู้กวน

ส่วนพิธีกวนข้าวทิพย์ของราษฎร มักทำกันที่วัดให้หญิงสาวพรหมจารีเป็นผู้กวน มีพระสงฆ์สวดมนต์ หลังจากเลี้ยงพระแล้ว แจกขาวทิพย์กันคนละเล็กละน้อย ถือว่ากินแล้วจะเกิดสวัสดิมงคลและระงับโรคภัยได้ การกวนข้าวทิพย์นี้ไม่สู้จะแพร่หลายเพราะต้องทำพิธีมาก

การทำบุญเนื่องในฤดูสารทนี้ นอกจากทำกระยาสารทอันเป็นอาหารที่ทำตามแบบอย่างทางลัทธิพราหมณ์แล้ว ยังมีการทำบุญเนื่องด้วยฤดูสารทอีกอย่างหนึ่ง คือ การถวายของ  ๕ อย่างแก่พระสงฆ์ มีเนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย มีมูลเหตุว่าครั้งพุทธกาล พวกภิกษุเกิดอาพาธขึ้นชนิดหนึ่ง เรียกว่า สารทิกาพาธ แปลว่า ไข้เกิดในฤดูสารท อาการมีฉันจังหัน แล้วอาเจียนทำให้ร่างกายซูบผอม พระพุทธองค์จึงทรงดำริหาสิ่งที่เป็นทั้งยาและอาหารและไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เพื่ออนุญาตให้พระสงฆ์ฉันได้ตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้วเพื่อบำรุงร่างกาย ของ ๕ อย่างนี้เป็นของที่มีในอินเดีย ในมืองไทยใช้เป็นยาไม่ได้ทุกอย่าง ใช้เป็นยาได้แต่นํ้าผึ้ง จึงพากันถวายแต่นํ้าผึ้งอย่างเดียวเรียกว่า ตักบาตรน้ำผึ้งบางที่มีนํ้าอ้อย นํ้าตาลกรวดด้วย การตักบาตรน้ำผึ้งนั้น เขามักมีการป่าวร้องหรือแจกฎีกา แล้วพร้อมกันไปทำที่วัด คือเอาบาตรมาตั้งแล้วใส่น้ำผึ้งลงไปในบาตร แล้วแบ่งถวายพระสงฆ์ในวัด พิธีถวาย ทายกจะเอาด้ายสายสิญจน์วงเข้ากับบาตรให้ผู้อื่นจับสายสิญจน์ต่อๆ กันไป  แล้วหัวหน้าว่านำให้ผู้อื่นว่าตาม สมัยนี้ไม่ใคร่มีการตักบาตรนํ้าผึ้ง คงจะเป็นเพราะใช้ประโยชน์ได้น้อย จึงเปลี่ยนเป็นตักบาตรข้าวสาร

ประเพณีสารททางปักษ์ใต้ทำบุญเดือนสิบเป็นสองระยะ คือ วันขึ้นคํ่าเดือน ๑๐ เป็นวันรับตายาย และบูชาข้าวบิณฑ์ ตายายในที่นี้คือ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นัยหนึ่งว่า เป็นวันเชิญตายายที่ตายไปแล้ว มากินเลี้ยงเนื่องด้วยเก็บเกี่ยวผลแรกได้ ถ้าเป็นชาวนาก็เลี้ยงด้วยข้าวใหม่ ข้าวบิณฑ์นั้น คือ ก้อนข้าว งานเริ่มแต่เวลากลางคืนของวันสิ้นเดือน ๙ พระสงฆ์จะทำพิธีสวดพระสูตรที่เนื่องด้วยเรื่องของเปรต คือ ผู้ที่ตายล่วงหน้าไปก่อนแล้ว มีติโรกุฑฺฑสูตร เป็นต้น รุ่งขึ้นเมื่อชาวบ้านนำข้าวไปทำบุญ พระสงฆ์จะสวดมนต์ต่อ สวดจบแล้วมีงานทำบุญเลี้ยงพระ พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วมีพิธีบังสุกุลอัฐิเป็นส่วนรวมเป็นเสร็จพิธีในวันนั้น แล้วทำซ้ำอีกในวันรุ่งขึ้น และวันถัดไปรวม ๓ วัน เป็นเสร็จพิธีรับตายายและบูชาข้าวบิณฑ์ พิธีบูชาข้าวบิณฑ์ที่เขาแยกทำ เขาจะนำข้าวใส่ภาชนะไปวางไว้หน้าพระสงฆ์ในศาลาไว้เป็นส่วนสัดเฉพาะครอบครัว เห็นจะอุทิศให้เฉพาะญาติของตน ส่วนที่ทำรวมจะนำข้าวใส่ ภาชนะไปรวมไว้เป็นกองกลาง คงจะอุทิศ หรือเลี้ยงผีที่ไม่มีญาติด้วย ข้าวบิณฑ์ที่บูชานี้เสร็จพิธีแล้วใครจะเอาไปกินก็ได้ ถือว่าถ้าได้กินข้าวชนิดนี้แล้วจะเกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้กิน ข้าวที่เหลือนำไปเทกองไว้

อีกระยะหนึ่ง คือ วันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นเทศกาลสารท มีพิธีส่งตายายและวันชิงเปรตในวันนี้ ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ แล้วนำอาหารแห้งที่เก็บไว้ได้นานเป็นของส่งตายายเมื่อจะกลับไปยังเปตโลก ไปวางไว้ตามโคนไม้หรือกอหญ้าสุดแท้แต่ใครจะหยิบไป นอกจากนี้ทำพิธีชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ตั้งเปรต” คือ เอาไม้ไผ่มาผูกโครงเป็นร้านยกพื้นสูง แล้วนำขนม อาหาร ผลไม้ ตลอดจนเสื้อผ้าวางไว้ข้างบน อุทิศเป็นเปรตพลี คนมาแย่งไปกินไปใช้เรียกว่า “ชิงเปรต” ภายหลังใช้วิธีทิ้งสลาก เมื่อแย่งได้ก็มาขึ้นรับเอาของไปตามสลาก ถือกันว่าผู้ที่มีร่างกายออดแอด หากได้แย่งเปรตกินเช่นนี้ จะกลับเป็นผู้ที่มีร่ายกายแข็งแรง

ที่มา:กรมศิลปากร

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ คํ่าเดือน ๑๑ คำว่า “ออกพรรษา” คือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝน หลังจากที่พระภิกษุอยู่จำพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือนแล้วตักบาตรเทโว วันรุ่งขึ้นก็จะจาริกไปที่อื่นได้ สำหรับวันนี้พระสงฆ์ต้องแรมคืนอยู่ในวัดที่จำพรรษา เพื่อให้ครบกำหนด ๓ เดือนเต็มและทำปวารณาเสียก่อน ฉะนั้น อาจเรียกวันออกพรรษาว่า “วันปวารณา” หรือ วันมหาปวารณาก็ได้เหมือนกัน

โดยปรกติ พระสงฆ์ต้องสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ คือสวดเป็นประจำทุก ปักษ์หรือทุกกึ่งเดือน หากวันนี้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำปวารณาแทน

การทำปวารณานี้มีสาเหตุมาแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือ ระหว่างที่ภิกษุกลุ่มหนึ่งจำพรรษาอยู่ ณ วัดในแคว้นโกศล ประสงค์จะป้องกันความวิวาท มิให้เกิดขึ้นแก่กันและกัน จึงตั้งกติกาสัญญาไม่พูดกันตลอดพรรษาใครมีกิจหรือหน้าที่อย่างไร ต่างก็ทำกิจตามหน้าที่ของตนๆ ไป การปฏิบัติเหมือนคนใบ้เช่นนี้ เรียกว่าวิธี “มูควัตร” ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี และกราบทูล มูควัตรที่ตนปฏิบัติให้ทรงทราบทุกประการ แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นการณ์ไกลกว่าจึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ปวารณาแก่กันและกัน

คำ “ปวารณา” โดยทั่วๆ ไปแปลว่า ยอมให้ใช้ ยอมให้ขอ ยอมให้ว่ากล่าว ในที่นี้หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือน ข้อผิดพลั้งของตนได้ ไม่มีทิฐิมานะ

การทำปวารณานี้ จะต้องเข้าประชุมพร้อมกันภายในสีมา ซึ่งเป็นเขตที่กำหนดไว้สำหรับกระทำสังฆกรรม พระสงฆ์ทั้งหมดนั่งคุกเข่าประนมมือพร้อมกัน ภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าองค์อื่นจะเริ่มพิธี กล่าวคำปวารณาต่อสงฆ์เป็นภาษาบาลี ใจความว่า “ฉันขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นเองก็ดี ด้วยได้ฟังมาก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน เมื่อฉันเห็นโทษนั้นจักทำการแก้ตัวเสีย” ครั้นแล้วภิกษุนอกนั้นก็กล่าวคำปวารณาตามลำดับพรรษาแก่อ่อนทีละรูป เว้นแต่พระผู้มีพรรษาเท่ากัน จะปวารณาพร้อมกันก็ได้

วิธีนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงถือบุคคลเป็นใหญ่ แต่พระองค์ทรงถือธรรมคือความถูก ความควรเป็นสำคัญ เมื่อเห็นความไม่ดีไม่งามของกันและกันแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้ก็เพื่อความบริสุทธิ์ของสงฆ์ ซึ่งยังผลให้เกิดความบริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนาด้วย

การมอบตนให้ผู้อื่นช่วยดู ช่วยฟัง ช่วยตักเตือนว่ากล่าวกันได้เช่นนี้ หากนำมาปฏิบัติในหมู่ฆราวาส ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันโดยหน้าที่การงาน การสมาคม หรือในฐานที่เป็นญาติกันก็ตาม ย่อมเป็นแนวทางให้ปรับปรุงตนเป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งยังช่วยป้องกันความเศร้าหมองอันอาจจะเกิดขึ้น นับว่าเป็นทางสร้างความสันติสุขแก่หมู่คณะทั่วหน้ากัน

บุญกุศลที่จะทำในวันออกพรรษามีหลายอย่าง เช่น ทำบุญ ตักบาตร จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด รับศีล และฟังพระธรรมเทศนา เป็นการอบรมกาย วาจา ใจ ให้เกิดความสงบ ความบริสุทธิ์ขึ้นในตน นอกจากนี้ ยังมีกุศลกรรมพิเศษอีกอยางหนึ่ง ซึ่งพุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ คือ “ตักบาตรเทโว”

“เทโว” ย่อมาจากคำว่า “เทโวโรหนะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก หมายถึงการเสด็จจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้าแล้วทรงปรารถนาจะสนองคุณพระมารดาซึ่งหลังจากประสูติพระองค์ได้ ๗ วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดา อยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับเมืองสังกัสสะ ประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น

การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ทั้งนี้แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน

พิธีที่ทำนั้น ทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อน มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคนลากล้อเลื่อนไปช้าๆ นำหน้าพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณรถือบาตรเดินตามไปโดยลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารมาเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ตามแนวทางที่รถบุษบกนั้นจะผ่าน เพื่อตักบาตร ของที่นิยมใช้ตักบาตรในวันนั้น นอกจากข้าวปลาอาหารธรรมดาแล้ว ก็มีข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยนเป็นพื้น บางทีก็อาจจะเป็นข้าวต้มมัดอย่างที่ทำขาย ทำรับประทานกันอยู่ก็ได้ โดยมากทำกันในบริเวณพระอุโบสถ แต่บางวัดทำในบริเวณวัดก็มี ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสม

อนึ่ง การที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่เพียงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เนื่องจากมีพระประสงค์จะให้พระพุทธมารดาได้บรรลุโลกุตรธรรมอันเป็นธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้

ที่มา:กรมศิลปากร

วันเข้าพรรษา

“เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่เป็นประจำ แต่พอเข้าฤดูฝนถนนหนทางเป็นโคลนเลนทั่วไปหมด และทางเดินบางวันเข้าพรรษาสายต้องผ่านไร่นา ซึ่งเจ้าของเขาไถหว่านปลูกพืชทั่วบริเวณเสียแล้ว การเดินทางไม่สู้สะดวก จึงไม่มีใครไปไหนมาไหนโดยไม่จำเป็น เพราะเกรงจะเหยียบยํ่าเข้าไปในนาทำให้เกิดความเสียหาย พระพุทธองค์ทรงทราบดี จึงทรงตั้งระเบียบการจำพรรษาขึ้น ให้พระภิกษุสงฆ์หยุดพักการเดินทางระหว่างฤดูฝน กำหนดตั้งแต่วันแรม ๑ คํ่าเดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ รวมเวลา ๓ เดือนเต็ม เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน ๗ คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็จะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม่ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลายๆ องค์ ที่พักดังกล่าวเรียกว่า “วิหาร” แปลว่าที่อยู่ของสงฆ์ เมื่อหมดหน้าฝนแล้ว พระสงฆ์ท่านก็ออกจาริกตามกิจของท่าน ครั้นถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านก็อยู่ประจำเลย เหตุประการสุดท้ายนี้เอง จึงมีการขยายตัวเป็นวัดหรืออาวาสขึ้น แล้วในที่สุดเมื่อเกิดพระพุทธรูป วิหารก็กลายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไป บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าจำนำพรรษา หรือผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในวันเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา

การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวช ผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วๆ ไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด รับอุโบสถศีล ฟังธรรม ในวันพระ ตามความสมัครใจ เพื่อเป็นการขัดเกลาและตัดความกังวลทั้งหลายที่มีอยู่ให้เบาบางลง และเดี๋ยวนี้ยังมีเพิ่มจากนั้นบางประการ เช่น งดดื่มเหล้า หรือของเสพติดให้โทษ นับว่าเป็นประโยชน์แก่สังคม และแก่ตนเองที่ช่วยส่งเสริมจิตใจของคนให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี จึงสมควรแล้วที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

ที่มา:กรมศิลปากร

วันอาสาฬหบูชา

คือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ๑ วันวันอาสาฬหบูชา

หลังจากสมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน ๖ แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรม และทรงคำนึงว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้งจึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น ๔ ประเภทคือ

๑. อุคฆติตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นนํ้าแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น

๒. วิปัจจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับนํ้า จะบานในวันรุ่งขึ้น

๓. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากนํ้า แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากนํ้าแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อๆ ไป

๔. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้นํ้าติดกับเปือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา

เมื่อทรงเล็งเห็นเหตุนี้แล้ว พระพุทธองค์ตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน จึงเสด็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ ถึงกรุงพาราณสี ในตอนเย็นวันขึ้น ๑๔ คํ่า เดือน อาสาฬหะ ประทับแรมอยู่กับพระปัญจวัคคีย์นั้น รุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ สรุปลงด้วยอริยสัจ ๔ ได้แก่

๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ ความดับทุกข์
๔. มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศน์กัณฑ์นี้ว่า “ปฐมเทศนา”

ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านโกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระพุทธองค์ จึงได้สมัครเข้าเป็นสาวกนับเป็น “ปฐมสาวก”ของพระพุทธเจ้า

หลังจากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา” นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์

จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญๆ ในวันนี้มีถึง ๔ ประการด้วยกันคือ

๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
๓. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

เดิมทีเดียว วันนี้ไม่มีพิธีพิเศษ คงเนื่องมาจากเป็นวันก่อนเข้าพรรษาเพียงวันเดียว ประชาชนชาวพุทธได้ประกอบการบุญการกุศลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ต่อมาสังฆมนตรี มีมติให้ชาวพุทธประกอบการบูชาเป็นพิเศษในวันนี้ และเรียกว่า “วันอาสาฬหบูชา” เมื่อรัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติ

จึงนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา พวกเราชาวพุทธต่างก็ประกอบการบูชาเป็นพิเศษตลอดวันนั้น นับตั้งแต่รับศีล ฟังเทศน์ สนทนาธรรม สวดมนต์ เดินเวียนเทียนพระพุทธสถาน เช่น รอบโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ หรือต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น เช่นเดียวกันวันมาฆบูชา วิสาขบูชา ต่างกันที่เปลี่ยนคำบูชาพระก่อนเวียนเทียนตามประกาศของสำนักสังฆนายก

ที่มา:กรมศิลปากร

วันวิสาขบูชา

ความจริง “วิสาข” เป็นชื่อดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในจักรราศี หากเมื่อพระจันทร์โคจรผ่านดาวกลุ่มนี้ในวันเพ็ญเดือน ๖ จึงเรียกว่า “วันวิสาข” หรือวันวิสาขปุรณมี แปลว่า วันพระจันทร์เต็มดวง โคจร ผ่านกลุ่มดาววิสาขวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๓ ประการด้วยกันคือ

๑. เป็นวันประสูติ เมื่อพระนางสิริมหามายาอัครมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมีพระประสูติกาลคือ เจ้าชายสิทธัตถะ ณ ป่าลุมพินีวันซึ่งเป็นดินแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุกับกรุงเทวทหะปัจจุบัน เรียกว่า ตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล ครั้งนั้นตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

๒. เป็นวันตรัสรู้ หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงถือเพศฆราวาสมา ๒๙ พรรษา จนมีพระโอรส คือพระราหุล แล้วทรงเบื่อหน่ายทางโลก จึงเสด็จออกบรรพชา ทรงประจักษ์หลักธรรมขึ้นในพระปัญ¬ญา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมริมฝั่งแม่นํ้า เนรัญชรา ปัจจุบันอยู่ที่เมืองคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

๓. วันปรินิพพาน หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมดเผยแพร่พระศาสนาและสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน จนพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน แขวงเมืองกุสินารา ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี

เนื่องจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยพระคุณธรรม ๓ ประการอย่างสมบูรณ์คือ
๑. พระองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เองนี้ จัดเป็นพระปัญญาคุณ
๒. พระองค์ทรงบริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง ทั้งกาย วาจา ใจ จัดเป็นพระบริสุทธิคุณ
๓. พระองค์ทรงสั่งสอนประชาชน โดยมิได้ทรงเลือกเพศ ชั้น วรรณะ จัดเป็นพระกรุณาคุณ

ฉะนั้น ในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ หรือในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๗ ในปีอธิกมาส จึงเป็นวันระลึก ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งชาวพุทธได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมา แต่ครั้งกรุงสุโขทัย หากถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่พบหลักฐานว่าได้ทำกันมาอย่างไร เพิ่งจะปรากฏ “พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา” สมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๐ และให้ราชการหยุด ๑ วัน เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศล ประกอบพิธีวิสาขบูชาได้สะดวก นับแต่ทำบุญถวายอาหาร บิณฑบาตในตอน เช้า ปล่อยนก ปล่อยปลา หรือไปบำเพ็ญกุศล ถวายสังฆทานที่วัด รับศีล ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีลอุโบสถ ครั้นถึงเวลาเย็นหรือกลางคืน ก็นำดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการะมาชุมนุมกันรอบพระอุโบสถ หรือเจดีย์ที่ทางวัดกำหนดจัดพิธีไว้ไหว้พระสวดมนต์คารวะพระรัตนตรัยแล้วก็ทำการประทักษิณ คือ ประนมมือถือดอกไม้ ธูปเทียน เดินเวียนรอบพุทธสัญลักษณ์ พลางเปล่งวาจาสรรเสริญพระคุณจนครบ ๓ รอบ จากนั้นก็อาจมีพระธรรมเทศนาเรื่องปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นพระพุทธประวัตินับแต่ตอนวิวาหมงคล ระหว่างพระเจ้าสิริสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา จนถึงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

บางแห่งจัดให้มีการประกวดโคมไฟ หรืออุบะดอกไม้ที่ประชาชนจัดมาเป็นเครื่องสักการบูชา บางวัดก็ตกแต่งวัดให้วิจิตรงดงาม โดยปักธงฉัพพรรณรังสี ธงเสมาธรรมจักร ธงชาติสลับกันตามแนวกำแพงวัด แนวกำแพงแก้วรายรอบอุโบสถ เจดีย์ วิหาร และสิ่งสักการบูชาทั้งหลาย

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีวันมาฆบูชา

เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันทำบุญเพื่อระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาสก็เลื่อนไปเป็นเพ็ญเดือน ๔วันมาฆบูชา

ในวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ นับว่าเป็นวันที่พระพุทธศาสนา ได้วางรากฐานมั่นคง เรียกวันดังกล่าวว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ ๔ คือ
๑. พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวัน กรุงราชคฤห์โดยมิได้นัดหมายกันแต่อย่างใด
๒. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น
๔. ในวันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้ พระพุทธองค์จึงถือโอกาสแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งมีใจความที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส พร้อมทั้งได้สอนหลักครู คือ หลักของผู้สอนไว้ด้วย เช่น ต้องมีความอดทน มุ่งความสงบ อยู่ในระเบียบวินัย ตั้งใจแน่วแน่ ทำแต่ความดีมีคุณประโยชน์ ฯลฯ เป็นต้น

สาเหตุของการชุมนม คงเนื่องมาจากภิกษุเหล่านั้นล้วนเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนและในวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นวันที่ทางศาสนาพราหมณ์ได้ประกอบพิธีศิวาราตรี คือ การลอยบาปในแม่น้ำคงคา และประกอบพิธีสักการบูชาพระเป็นเจ้าในเทวสถาน เมื่อถึงวันนี้ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเคยประกอบพิธีดังกล่าวจึงต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์

ในวันเพ็ญเดือนมาฆะยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งในสมัยพุทธกาล กล่าวคือเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ที่ปาวาลเจดีย์ แคว้นวัชชี เนื่องจากขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ได้ทรงแสดงอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ให้แก่พระอานนท์ ว่าถ้าใครเจริญได้แล้วสามารถจะต่ออายุได้ แต่พระอานนท์ก็มิได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีก เมื่อพระอานนท์ออกจากที่เฝ้าแล้ว พระยามารจึงเข้ามาทูลขอให้พระองค์ปรินิพพาน โดยอ้างว่ามีพุทธบริษัท ๔ ครบแล้ว และพุทธศาสนาได้เจริญมั่นคงแล้ว พระพุทธองค์ได้เปล่งวาจาว่าอีก ๓ เดือนนับจากนี้ไปจะปรินิพพาน พระวาจาของพระพุทธเจ้าที่ทรงเปล่งออกมาครั้งนี้เรียกว่าทรงปลงอายุสังขาร

เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ๒ อย่าง จึงนับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาสมควรที่ชาวพุทธจะแสดงความระลึกถึงและจัดพิธีบูชาให้เป็นพิเศษต่างไปจากวันพระตามปกติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมองเห็นความสำคัญนี้จึงได้โปรดให้มีพระราชพิธีประกอบการกุศลขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ และให้เป็นงานหลวงตลอดไป ต่อมาได้แพร่กระจายไปตามวัดต่างๆ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในที่สุดก็ขยายไปยังวัดอื่นๆ จนเป็นที่นิยมทั่วไป และทางราชการหยุด ๑ วัน เพื่อให้ข้าราชการมีโอกาสบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ในวันนี้ ชาวพุทธจะทำบุญตักบาตร ไปวัด ฟังเทศน์ สวดมนต์ และเลี้ยงพระ กลางคืนมีพิธีเดินเทียนหรือปัจจุบันนิยมเรียกว่า เวียนเทียน เป็นการบูชาพิเศษ โดยทางวัดจะประกาศให้ทราบโดยกำหนดเวลาเวียนเทียนจะเป็นตอนเช้า บ่าย หรือคํ่าก็ได้แล้วแต่ความสะดวก ในกรุงเทพฯ มักเป็นเวลากลางคืนประมาณ ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัด แล้วแต่ทางวัดจะจัดทำพิธี ณ ที่ใด (บางครั้งชาวบ้านจะหาซื้อดอกไม้ธูปเทียนได้ในบริเวณนั้น) เมื่อถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์ สามเณร จะมาชุมนุมกันในพระอุโบสถ สวดมนต์ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า (คำบูชาต่างกันไปซึ่งจะมีกำหนดใช้เฉพาะวันนั้นๆ) บางครั้งอาจมีคำแปล แปลภาษาบาลีให้ฟังด้วย หลังจากนี้ผู้เป็นประธานในหมู่สงฆ์จุดธูปเทียนเดินนำหน้าพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้านตามลำดับ โดยจัดแบ่งเป็นแถวๆ ละ ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้างแล้วแต่ความกว้างแคบของบริเวณ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนขวา จำนวน ๓ รอบ ครบ ๓ รอบแล้ว ปักดอกไม้ธูปเทียนในที่ที่จัดไว้เป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน ทางวัดอาจจัดให้มีการฟังเทศน์ โดยมากมักเทศน์โอวาทปาติโมกข์ และสวดโอวาทปาติโมกข์ อาจสวดก่อนหรือหลังเทศน์ก็ได้ บางวัดก็จัดให้มีเทศน์เรื่องอื่นๆ อีกด้วย จะจัดทำตลอดรุ่งหรือแล้วแต่จะเห็นสมควรก็ได้

ที่มา:กรมศิลปากร

เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์ มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า สํกฺรานฺติ แปลว่าผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ในที่นี้ หมายถึง พระอาทิตย์โคจรหรือเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งกินเวลาประมาณ ๑ เดือน เมื่อผ่านไปครบจักรราศีคือ ๑๒ ราศี ก็เป็นเวลา ๑ ปี โดยประมาณ ประเพณีสงกรานต์และโบราณท่านแบ่งกลุ่ม ตามมาตราวัดได้ราศีละ ๓๐ องศา รวมทั้งจักรราคีก็เป็น ๓๖๐ องศา แต่กลุ่มดาวในราศีหนึ่งๆ นั้นอาจมิได้อยู่ภายในราศีที่แบ่งไว้โดยเด็ดขาด ดาวบางดวงในราศีหนึ่งคาบเกี่ยวหรือเหลื่อมล้ำเข้าไปในราศีอื่นก็มี เหตุนี้จำนวนวันในแต่ละเดือนจึงไม่เท่ากันเสมอไป

เนื่องจากกลุ่มดาวในแต่ละราศีนั้นเรียงรายกันอยู่ในรูปลักษณะต่างๆ กัน การตั้งชื่อเดือนจึงสอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มดาวเหล่านั้น เช่น กลุ่มดาวเรียงรายกันอยู่เป็นรูปแมลงป่อง ภาษาสันสกฤตว่า “พฤศจิก” เอาคำว่า “อายน” แปลว่า “การมาถึง” เข้าไปเชื่อมกันด้วยวิธีสนธิก็เป็น “พฤศจิกายน”  หมายถึงการเคลื่อนมาถึงกลุ่มดาวรูปแมลงป่อง หรือกลุ่มดาววัว ซึ่งภาษาสันสกฤตว่า “พฤษภ”  มาสนธิกับ “อาคม” ซึ่งแปลว่า “การมาถึง” เช่นเดียวกัน ก็กลายเป็น “พฤษภาคม” ที่เราแยกใช้คำเชื่อมหรือคำที่นำมาสนธิว่า “อายน” หรือ “อาคม” ก็เพื่อแบ่งเดือนที่มีจำนวนวันเป็น ๓๐ วันบ้าง ๓๑ วันบ้าง ให้เป็นเครื่องสังเกตได้ง่าย

วันและเวลาที่พระอาทิตย์โคจรจากราศีหนึ่ง ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ ๑ เดือนนั้น เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ คือ ในเดือนเมษายนท่านเรียกเป็นพิเศษว่า มหาสงกรานต์ เพราะถือเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นปีใหม่

ที่โบราณถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่ เนื่องมาจากประชาชนที่อยู่เหนือเขตร้อนของโลก เช่น ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือ เมื่อถึงฤดูหนาวหนาวจัด อากาศมืดครึ้ม บางแห่งจะมีหิมะปกคลุม สัตว์บางชนิด เช่น กบ กระรอก กระแต ต้องหยุดหากิน นอนนิ่งอยู่ในรูในโพรงชั่วคราว ต้นไม้ต้นหญ้าหยุดการเจริญเติบโต แม้แต่ใบไม้ก็ร่วงหมดราวกับธรรมชาติกำลังจะตายไป ครั้นสิ้นฤดูหนาวย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ จัดเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุด เพราะอากาศคลายความหนาว แจ่มใส และชุ่มชื้น สบายดีจริงๆ ต้นไม้ผลิตดอกออกช่อแตกใบเขียวชอุ่มเขาจึงนับเอาต้นฤดูใบไม้ผลิเป็นวันขึ้นปีใหม่ แสดงความยินดีปรีดา เล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์กัน และบังเอิญสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพในทางกสิกรรม กำลังว่างจากทำไร่ไถนา จึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันทำบุญใหญ่ แล้วเล่นสนุกกัน

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์มาแต่สมัยโบราณว่า ท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นเทพชั้นพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ ๘ ขวบที่เรียนจบไตรเพท ด้วยปัญหา ๓ ข้อ จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรม บาลตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรงนัก ถ้าวางบนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งในมหาสมุทรนํ้าก็จะแห้ง จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง ๗ นาง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นเช่นนี้ประจำทุกปี ความจริงธิดาทั้ง ๗ นางนั้น มีชื่อต่างๆ กัน แต่รวมเรียกว่า นางสงกรานต์ทั้งสิ้น

ประเพณีเกี่ยวกับสงกรานต์ มีดังนี้
๑. วันจ่ายสงกรานต์
๒. ทำบุญตักบาตร
๓. บังสุกุลอัฐb
๔. สรงนํ้า รดนํ้า สาดนํ้า รื่นเริงในวันสงกรานต์
๕. ก่อพระเจดีย์ทราย ปล่อยนก ปล่อยปลา

๑. วันจ่ายสงกรานต์
นิยมทำขนมกวนกันแทบทุกบ้าน โดยมากเป็นข้าวเหนียวแดง กะละแม ซึ่งเก็บไว้รับประทานได้นานวัน สำหรับไปทำบุญ ถวายพระ และแจกเพื่อนบ้าน เป็นการแสดงไมตรีจิตในวันขึ้นปีใหม่ นับเป็นอัธยาศัยอันดีงามของคนไทยโดยทั่วๆ ไป

๒. ทำบุญตักบาตร
โดยปรกติสงกรานต์จัดแบ่งเป็น ๓ วัน คือ
วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันต้นของปีใหม่ ชาวบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระที่วัดประจำหมู่บ้านของตน ส่วนทางภาคเหนือจะเรียกวันนี้ว่า “วันสังขารล่อง ถือเป็นวันสิ้นปีเก่า หลังจากทำบุญแล้ว เขาจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนของคนเป็นการใหญ่กำจัดความสกปรกซึ่งถือว่าเป็นความไม่ดีของปีเก่าให้หมดสิ้นไป เพื่อต้อนรับปีใหม่ด้วยความบริสุทธิ์ เป็นมงคล ราษฎรภาคกลางก็ถือคติเช่นนี้เหมือนกัน เป็นผลพลอยได้ประโยชน์ที่เพิ่มวันสาธารณสุขได้อีกวันหนึ่ง

วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันเนา หรือ “วันเน่า” ทางภาคเหนือจะพักผ่อนอยู่แต่ในบ้านไม่ไปไหน เป็นแต่หุงต้มอาหาร จัดสำรับคาวหวานเตรียมเอาไปทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ในวันรุ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้นได้ มิฉะนั้นแผลจะเน่า รักษาให้หายได้ยาก เพราะแปลความหมายของคำว่า “เน่า” เอาตรงๆ นั่นเอง

วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” เพราะเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่แต่เป็นวัน “พระยาวัน” ของทางภาคเหนือ ชาวบ้านจะนำภัตตาหารคือสำรับคาวหวาน ผลไม้ และหมากเมี่ยงไปถวาย พระที่วัด เรียกว่า “ทานขันข้าว” หรือ “ทำบุญขันข้าว” เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับภาคกลางนั้นมีการทำบุญตักบาตรตลอด ๓ วัน

๓. บังสุกุลอัฐิ หรือกระดูกของผู้ตาย
ประเพณีแต่เดิม นิยมฝังอัฐิของญาติผู้ใหญ่ไว้ใต้โคนต้นโพธิ์ในวัด โดยกำหนดสถานที่เอาไว้ หากเป็นผู้มีฐานะดี มักก่อเป็นพระเจดีย์บรรจุอัฐิ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุลใกล้บริเวณนั้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเกรงจะเป็นที่รังเกียจเกลียดกลัวแก่ภิกษุ สามเณรและสัปปุรุษทั้งปวง จึงทรงมีพระราชกำหนด จุลศักราช ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๔๘) ให้เก็บอัฐิมาไว้ที่บ้าน จะนิมนต์พระมาบังสุกุลที่บ้าน หรือจะนำอัฐิไปทำที่วัดพร้อมๆ กับเพื่อนบ้านก็ได้ แล้วแต่สะดวกหากไม่มีอัฐิก็เขียนชื่อผู้ตายลงในแผ่นกระดาษ แล้วบังสุกุลได้เช่นเดียวกัน

ในบางท้องถิ่น มีพิธีบวงสรวง ผีปูย่าตายายประจำหมู่บ้าน เพื่อขอความคุ้มครองและความอยู่เย็นเป็นสุขในวันปีใหม่ จะทำพิธีวันไหนก็แล้วแต่จะนัดหมายตกลงกัน นอกจากนี้ยังเซ่นผีพ่อแม่ ปูย่า ตายาย ตลอดจนสังเวยพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเป็นกิจเฉพาะของแต่ละครัวเรือน

๔. สรงน้ำ รดน้ำ สาดน้ำ
ก่อนนี้ชาวบ้าน นิยมประดิษฐานพระพุทธรูปที่วัดมากกว่าจะเอาไว้บูชาในบ้านที่ตนอยู่ ด้วยนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นของสูง เมื่อถึงวันสงกรานต์ จึงพากันนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาประพรมพระพุทธรูปด้วยนำอบ เรียกว่า สรงน้ำพระ และอธิษฐานขอพรเพื่อความสุขสวัสดีปีใหม่ จากนั้นก็มีการสรงนํ้าพระสงฆ์ซึ่งโดยมากเป็นสมภารเจ้าวัด หรือพระที่มีลูกศิษย์นับหน้าถือตามากมาย ก็ต้องนัดหมายกำหนดวันและเวลาเพื่อไปชุมนุมสรงนํ้าให้ท่านโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วท่านจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์อำนวยพรปีใหม่แก่ผู้ที่ไปรดนํ้า เมื่อหมดภารกิจทางศาสนาแล้ว ส่วนมากนิยมไปรดนํ้าผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือเพื่อขอศีลขอพรจากท่านตามประเพณี..

การสรงนํ้าสมัยก่อน รดอาบให้ทีเดียว อาบแล้วผู้รดนำผ้าใหม่มาให้ผลัด มีผ้านุ่งผ้าห่มชุดหนึ่ง พร้อมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน จึงเป็นประเพณีที่ต้องจัดหาผ้านุ่งผ้าห่มไปในงานรดนํ้าผู้ใหญ่สืบต่อกันมา ปัจจุบันนี้ทำพอเป็นสังเขป คือ เทรดลงที่มือท่านด้วยนํ้าอบ นํ้าหอม และที่สุดพวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็สาดนํ้ากันเอง เป็นการเล่นสนุกของชาวชนบทสมัยก่อนตามสภาพของท้องถิ่นและสังคม

เหตุที่มีสรงนํ้า รดน้ำ และสาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า การสาดนํ้าจะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ในฤดูปีเดือนประการหนึ่ง น้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีนํ้าการเพาะปลูกทำไร่ไถนาก็ได้ผล ประการหนึ่ง และถือกันว่า นํ้าเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดอีกประการหนึ่ง เหตุนี้นํ้าจึงเป็นสิ่งใช้ในพิธีต่างๆ เช่น อาบนํ้าหรือซัดนํ้าหรือรดน้ำเมื่อทำพิธีสมรส อาบเมื่อตาย อาบเมื่อโกนจุกหรือบวชนาค ฯลฯ การอาบน้ำในพิธีหรือการสาดนํ้านี้ มิได้ทำกันในหมู่คนไทยเท่านั้น หากยังเป็นประเพณีของชนอีกหลายชาติ เช่น เยอรมัน พม่า ลาว ฯลฯ โดยมีคตินิยมคล้ายๆ กัน

๕. ก่อพระเจดีย์ทราย
ไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะต้องก่อในวันสงกรานต์ วันอื่นๆ ที่ใกล้เคียงก็มีก่อกัน และไม่จำเป็นจะต้องก่อในบริเวณวัด อาจก่อที่ริมทางเดิน กลางลานบ้าน หรือที่หาดทรายก็ได้ การขนทรายมาก่อพระเจดีย์นั้น นอกจากจะเป็นกุศลได้บุญแรงแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย เพราะชาววัดชาวบ้านก็จะสามารถใช้ทรายนั้นให้เป็นประโยชน์ในการก่อสร้างและทำถนน

การปล่อยนกปล่อยปลา
การปล่อยปลานั้น พอจะสันนิษฐานถึงเหตุได้บ้างว่า ก่อนหน้านี้เป็นหน้านํ้า นํ้าในแม่นํ้าลำคลอง ไหลบ่าเข้าไปในทุ่ง ฝูงปลาก็ว่ายเข้าไปวางไข่ ลูกปลายังไม่ทันจะโต ก็ถึงหน้าน้ำลด นํ้าขาดตอนเป็นห้วงๆ คงมีนํ้าเหลือบ้างก็ที่แอ่งและหนองนํ้า ฝูงปลาหนีตามน้ำลงมายังแม่น้ำลำคลองไม่ทันโดยเฉพาะลูกปลาก็ตกค้างอยู่ อีกไม่ช้าพอนํ้าแห้งหมดปลาเหล่านี้ก็จะตาย เหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลา ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อหนังอะไร ก็เลี้ยงไว้ในตุ่มในไหเพื่อเอาบุญ และนำไปปล่อยในแม่นํ้าลำคลองวันสงกรานต์ ปลาที่รอดตายนั้นก็มีโอกาสขยายพันธุ์ได้ต่อไป นับว่าเพิ่มบุญกุศลขึ้นอีก จึงมีประเพณีปล่อยปลาและสืบเนื่องมาถึงปล่อยนกด้วย

ระหว่างงานสงกรานต์นี้ หนุ่มสาวจะได้รับความสุข สนุกรื่นเริงกันเต็มที่ เพราะได้แต่งตัวสวยๆ งามๆ ทำบุญก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน สาดนํ้ารดกันแล้วตอนเย็นๆ แดดร่มลมตกก็จะมีการเล่น ต่างๆ เช่น โยนชิงช้า เพลงชาวไร่ มอญซ่อนผ้า ช่วงชิง ตี่จับ การเล่นพื้นเมือง ฯลฯ ซึ่งนานทีมีหน ญาติผู้ใหญ่หรือบิดามารดาจึงปล่อยให้ลูกหลานว่างจากงานมาเล่นสนุกกันเช่นนี้

การเล่นสงกรานต์ ตามประเพณีไทย อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามภาคต่างๆ ของประเทศ แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกันดังกล่าวแล้วนั่นเอง

ที่มา:กรมศิลปากร

ประวัติความเป็นมาของพิธีตรุษไทย

ประเพณีส่วนประชุมชนหรือส่วนรวมที่ได้ปฏิบัติกันสืบมาแต่โบราณในยุครัตนโกสินทร์ เช่นสวดภาณยักษ์

ตรุษ หรือที่เรียกกันว่า ตรุษไทยนั้นเป็นเทศกาลหนึ่งของไทย ตรงกับวันแรม ๑๔ คํ่าเดือน ๔ ถึงวันขึ้น ๑ คํ่าเดือน ๕ รวม ๓ วัน ตรุษแปลว่าตัดหรือขาด จึงหมายความถึงการตัดปีเก่าให้ขาดไป วันขึ้น ๑๔, ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ถือเป็นวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้น ๑ คํ่าเดือน ๕ เป็นวันต้นของปีใหม่ ในวันนี้ ชาวไทยจะพากันไปทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ขนมที่ใช้ทำบุญที่จะขาดเสียมิได้ คือ ข้าวเหนียวแดง อาจมีการเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันด้วยแล้วแต่จะเล่นกัน เช่น เพลงพิษฐาน มอญซ่อนผ้า ชักเย่อ เพลงพวงมาลัย ฯลฯ กลางคืนเล่นเข้าแม่ศรี ลิงลมเป็นต้น ปัจจุบันไม่มีการเล่นฉลอง เพียงแต่ทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระตามประเพณีเดิม วันตรุษไทยนี้คนรุ่นใหม่บางคนแทบจะไม่รู้จักเพราะมีการ เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่หลายครั้ง

ประวัติความเป็นมาของพิธีตรุษไทยได้นำแบบอย่างพิธีตรุษมาจากลังกา ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดิมเป็นพิธีในราชสำนักหรือที่เรียกกันว่าพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นพระราชพิธีใหญ่พิธีหนึ่งได้ถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีดังกล่าวเป็นการทำบุญขึ้นปีใหม่ (สัมพัจฉรฉินท์ แปลว่า สิ้นปีหรือ ขาดปี) นิมนต์พระมาสวด ๓ วัน วันที่ ๓ ประกาศเทวดาแผ่ส่วนบุญแก่เทวดา ยักษ์ นาค สัตว์เดียรัจฉาน ฯลฯ กลางคืนสวดอาฏานาฏิยสูตร (ชาวบ้านเรียกว่า สวดภาณยักษ์) เป็นการขับผีซึ่งไม่ได้นับถือ พุทธศาสนา ผีที่มีมิจฉาทิฐิและไม่ดูแลรักษาพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และราษฎรให้ออก ไปจากขอบเขตหรือขอบเขตจักรวาล ระหว่างสวดก็ยิงปืนอาฏานาด้วยเพื่อขู่และขับไล่ผี คนโบราณเชื่อกันว่าการสวดอาฏานาฎฏยสูตรเป็นการขับไล่ผีหรือขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว การยิงปืนก็เป็นการขู่ สำทับให้ผีวิ่งหนี ชาวบ้านจึงหาขมิ้น ปูน ใส่ชามวางไว้ และหาของกินเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งกระบอกนํ้า เรียกว่า ข้าวผอกกระบอกนํ้า ผูกกับกิ่งไม้ไว้ที่บันไดเรือนหรือในบริเวณบ้าน เพราะมีความเชื่อว่า ผีอาจวิ่งหกล้มได้รับบาดเจ็บจะได้ทาขมิ้นกับปูน หรือผีวิ่งเหน็ดเหนื่อยหิวโหยจะได้หยิบของกินและนํ้าดื่มได้

นอกจากนี้ในพิธีตรุษของหลวงผู้เข้าร่วมพิธีต้องมีมงคลและพิสมร (ใบลานลงยันต์พับเป็นสี่เหลี่ยม) สำหรับห้อยป้องกันภัยจากผี มี ๓ ขนาด ขนาดเล็กสำหรับมนุษย์ ขนาดกลางสำหรับม้าต้นขนาดใหญ่สำหรับช้างต้น และยังต้องถือกระบองเพชรหรือวางไว้ใกล้ตัว เพื่อป้องกันผีวิ่งมาชน หรือแลบลิ้นหลอก เป็นต้น พิธีตรุษนี้ได้วิวัฒนาการดัดแปลงและแก้ไขมาโดยลำดับ จนถึงรัชกาลที่ ๕ มีทีท่าว่าจะยกเลิกประเพณีนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ยังมีคนเชื่อถือและเกรงกลัวฤทธิ์เดชของผีอยู่มาก ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงประชาชนจะกล่าวโทษรัฐบาล ต่อมาความเชื่อถือผีสางลดน้อยลง พิธีตรุษของหลวงก็ลดลงโดยลำดับจนกระทั่งยกเลิกไป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
และได้กลายมาเป็นพิธีตรุษของราษฎรต่อมา ในปัจจุบันบางแห่งจัดให้มีการสวดภาณยักษ์ขึ้นตามวัด จะมีชาวบ้านที่เชื่อเรื่องผีสาง และผู้สนใจไปร่วมพิธีด้วย แต่การสวดภาณยักษ์ในปัจจุบันนี้บางครั้ง ก็ไม่ได้จัดทำในวันตรุษอาจจะจัดวันอื่นๆ ตามแต่ที่ทางวัดเห็นความสะดวกและเหมาะสม แต่ที่แน่แท้ก็คือการทำบุญตักบาตรของชาวบ้านในวันตรุษไทยยังคงมีอยู่

ที่มา:กรมศิลปากร

ประเพณีโกนผมไว้ทุกข์

ตามประเพณีเดิมของไทยถ้าพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตลง ราษฎรต้องไว้ทุกข์ด้วยการโกนศีรษะและนุ่งขาวด้วยกันหมดทุกคน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าลำบากและยุ่งยากแก่ราษฎร จึงให้ยกเลิกการโกนศีรษะเพียงแต่แต่งกายไว้ทุกข์ตามโบราณโกนผมไว้ทุกข์ราชประเพณีเท่านั้น นอกจากนี้ยังสั่งการว่างานพระบรมศพของพระองค์ให้ตัดสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่จำเป็นออกไป เช่น การมหรสพ การเลี้ยงอาหาร จำนวนวันงาน ซึ่งประหยัดเวลาและ ค่าใช้จ่ายลงได้มาก พระราชนิยมดังกล่าวนี้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติกันต่อมา ประกอบกับเหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบันในขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ

การแต่งกายไว้ทุกข์ของชาวไทยเราแต่เดิมนุ่งสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นนุ่งดำ และยังมีสีกุหร่า สีนกพิราบ สีน้ำเงินอีกด้วย ดังที่พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบายไว้ในหนังสือ เรื่องประเพณีเนื่องในการตายว่า

“นุ่งขาวพูดกันว่าเอาอย่างจีน แต่ถามพวกจีนเขาก็ว่าไม่ได้นุ่งขาว ตกลงจะมาแต่ไหนก็ไม่ทราบ แต่นุ่งดำนั้นจำฝรั่งมาแน่ และเป็นแน่ว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ด้วยที่นุ่งสีกุหร่า สีนกพิราบ และสีนํ้าเงิน อะไรเหล่านี้ เชื่อว่าเป็นของเราคิดขึ้นเองเพื่อจะเดินให้เป็นสายกลางเพียงแต่แต่งขาวแต่งดำก็ลำบากอยู่แล้ว ไฉนไปรับเอาอย่างอื่นมาพอกให้ลำบากยิ่งขึ้นอีกเล่า”

ในปัจจุบันการแต่งกายไว้ทุกข์จะแต่งตามประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการไว้ทุกข์ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องการไว้ทุกข์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงปฏิรูปสิ่งอื่นอีกหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เช่น การสร้างถนนหนทาง นำเครื่องจักร เครื่องกลเข้ามาใช้ ตลอดจนปฏิรูปการศึกษา กฎหมาย และการศาล มีพระราชบัญญัติยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) และตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรทำให้แนวการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลิกทาสเป็นการล้มล้างประเพณีเก่าโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องการเลิกทาสนี้ พระองค์มีพระราชประสงค์มาแต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เพราะทรงพระราชดำริว่าเป็นเครื่องกีดขวางความเจริญของบ้านเมือง ตัวทาสก็ขาดเสรีภาพและปราศจากความสุขด้วยประการทั้งปวง ต้องถูกกดขี่เยี่ยงสัตว์เดียรัจฉาน ผลประโยชน์ที่เกิดจากแรงงานต้องตกเป็นของนายเงินทั้งหมด ทาสเป็นเสมือนทรัพย์สินของเจ้าของ ลูกของทาสที่เกิดมา แทนที่จะเป็นของพ่อแม่ซึ่งเป็นทาสด้วยกัน กลับตกเป็นของนายเงินประดุจดังลูกของสัตว์เลี้ยง นอกจากนั้นกฎหมายยังยอมให้นายเงินใช้ทาส ไปรับโทษแทนตัวบุตร ภริยา ญาติพี่น้องของตัวได้อีกด้วย เป็นการอยุติธรรมแก่ทาสอย่างยิ่ง กฎหมายให้ประโยชน์แก่นายเงินมากไป เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาแรงงาน ปัญหาเศรษฐกิจแล้วยังก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมขึ้น พลเมืองส่วนมากซึ่งเป็นทาสได้หลุดพ้นจากการ ถูกกดขี่

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศตะวันตกอีกหลายอย่าง เช่น การใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล การกำหนดคำนำหน้านามสตรีและเด็กดังที่ประเทศเจริญแล้วปฏิบัติกัน นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนแปลงการนับเวลาและใช้เวลามาตรฐานสากล แต่เดิมการนับเวลาถือกันว่าเวลายํ่ารุ่งเป็นสิ้นสุดวัน ยํ่ารุ่งแล้วเป็นต้นวันของวันใหม่ นับเวลาเป็น “โมง” “ทุ่ม” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการนับเวลาเป็น “โมง” “ทุ่ม” นั้นไม่สะดวกกับการติดต่อกับชาติยุโรปที่นับเวลาเป็นนาฬิกา จึงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามสากลนิยมโดยถือเอาเวลา ๒ ยาม (เที่ยงคืน) ล่วงแล้วเป็นวันใหม่ (ก่อนหน้านี้นับ ๖ โมงเช้าเป็นวันใหม่) เวลาทุ่มโมงเปลี่ยนเรียกว่านาฬิกาและได้ยึดถือเวลาที่เมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นมาตรฐาน

“โดยพระราชกฤษฎีกาประกาศการนับเวลาเหมือนประเทศในตะวันตกแบ่งเป็นก่อนเที่ยง หลังเที่ยง ใช้อักษรย่อ ก.ท. และ ล.ท. ตามลำดับ เช่น ๗ ก.ท. ตรงกับ ๗.๐๐ น. และ ๗ ล.ท. ตรงกับ ๑๙.๐๐ น. เท่ากับ A.M. และ P.M. ของฝรั่ง

การนับเวลาดังกล่าวมา มีเวลาก่อนเที่ยง (ก.ท.) และหลังเที่ยง (ล.ท.) ภาคละ ๑๒ ชั่วโมง แบ่งชั่วโมงเป็น ๔ ภาค ภาคละ ๑๕ นาที”

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ประกาศเปลี่ยนการนับเวลาเป็นวันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นการสะดวกกว่า ไม่ต้องพะวงว่าก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยง

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ถึงปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในขณะนั้น อันเป็นลักษณะประการหนึ่งของวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามความเจริญและสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกบรรดาศักดิ์เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน ยกเลิกยศข้าราชการพลเรือนในตำแหน่งมหาอำมาตย์ อำมาตย์ และรองอำมาตย์ ซึ่งเห็นว่ามีแนวโน้มไปในทางแบ่งชั้นวรรณะ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป็นประเทศไทย ตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เป็นต้น

จะสังเกตเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ไทยเราได้มีการติดต่อกับนานาประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอิทธิพลตะวันตกกำลังแพร่ขยายเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ ยังผลให้ จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่คิดว่าล้าสมัยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ส่วนมากจะพัฒนาให้เป็นไปตามชาติตะวันตก แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อของคนไทย อิทธิพลของศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ ยังฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของคนไทย ฉะนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่จึงออกมาในรูปของการผสมผสานทางวัฒนธรรม

ที่มา:กรมศิลปากร

การใช้ศักราช

ในสมัยก่อนใช้ศักราชกันหลายอย่างตามความนิยมของแต่ละสมัย ศักราชที่เคยใช้มาในประเทศไทยมีสามศักราช คือ พุทธศักราช มหาศักราช จุลศักราช แต่ศักราชที่ใช้กันแพร่หลายในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงรัชกาลที่ ๕ คือ จุลศักราชซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าจุลศักราชเป็นของพม่า นอกจากนี้วิธีกำหนดเดือนปีของไทยในสมัยก่อนนับทางจันทรคติ แต่ในประเทศยุโรป นับทางสุริยคติ เมื่อมีการคบหาสมาคมกับนานาประเทศและมีกิจการเกี่ยวข้องกันมากขึ้นโดยลำดับมา ความลำบากก็เกิดขึ้นด้วยวิธีนับเดือนปีใหม่ไม่เหมือนกัน จึงทรงกำหนดให้ใช้รัตนโกสินทรศกแทนโดยให้นับปี พ.ศ.๒๓๒๕ เป็น ร.ศ. ๑ อันเป็นปีประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการใช้รัตนโกสินทรศกลำบากในการนับเหตุการณ์ในอดีต เพราะจำนวนปียังมีน้อย เรื่องราวที่ต้องกล่าวถึงก่อนประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทร์จะใช้จุลศักราชหรือศักราชใดยังไม่ได้คิดไว้ ทรงเห็นว่า พุทธศักราชเคยใช้ในราชการสำคัญๆ ประกอบกับประเทศต่างๆ ก็ใช้ศักราชของศาสนาที่ตนนับถืออยู่ จึงประกาศให้ใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) นับเป็นการสะดวกและสอดคล้องกับนานาประเทศด้วย และเริ่มใช้ศักราชใหม่เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นมา (ขณะนั้นยังถือเอาวันที่ ๑ เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่)

ที่มา:กรมศิลปากร