เทศน์มหาชาติ

พุทธศาสนิกชนชาวไทยเรียกการมีเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกว่า “เทศน์มหาชาติ” หนังสือเรื่องมหาเวสสันดรชาดกนี้ ของเดิมแต่งไว้ในภาษาบาลี เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง แต่งเป็นคาถาล้วน มีจำนวนพันคาถา แต่ก่อนคงเทศน์และสวดกันเฉพาะที่เป็นคาถาภาษาบาลีล้วน อย่างที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ “เทศน์คาถาพัน” และคงจะไม่ได้เทศน์เป็นทำนอง ภายหลังมีพระอรรถกถาจารย์แต่งอรรถกถาภาษาบาลี อธิบายความเป็นคำร้อยแก้วเพิ่มเติมไว้ในตอนต้น และในตอนสุดท้ายของชาดกก็ได้แต่งคำอธิบายในเรื่องกลับชาติของพระเวสสันดรและคนอื่นๆ ไว้ ต่อมาคงจะมีผู้รู้ภาษาบาลีขวนขวายแปลเรื่องพระเวสสันดรชาดกออกเป็นภาษาไทยและร้อยกรองให้ไพเราะตามหลักกวีนิพนธ์ จึงมีมหาชาติในพากย์ไทย เป็นสำนวนต่างๆ หลายสำนวนและแบ่งเป็นตอน เรียกว่า กัณฑ์ มีทั้งหมดรวม ๑๓ กัณฑ์

กล่าวกันว่า ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียวแล้วจะได้ผลานิสงส์มาก จึงเกิดมีการประชุมฟังเทศน์มหาชาติกันทุกปีเป็นธรรมเนียมมา ประเพณีนี้เห็นจะมีมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กรุงสุโขทัย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการมีเทศน์มหาชาตินั้นนิยมจัดกันในฤดูไหน แต่ก่อนมักนิยมเทศน์กันตั้งแต่ออกพรรษาแล้วไปจนถึงสิ้นเดือน ๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลื่อนมามีในเดือนอ้าย ปัจจุบันประเพณีเทศน์มหาชาตินี้นิยมทำกันหลังจากออกพรรษาแล้ว จนถึงเดือน ๔

วัดใดจะมีเทศน์มหาชาติก็แจกฎีกาให้ชาวบ้าน เมื่อใครมีศรัทธาก็รับเป็นเจ้าของกัณฑ์ตามแต่ตนจะเลือก ครั้นถึงวันกำหนด เจ้าของกัณฑ์ก็นำเครื่องกัณฑ์และเงินมาติดเทียนในกัณฑ์ของตน พร้อมด้วยธูป และเทียนเท่ากับจำนวนคาถาของกัณฑ์นั้นๆ เช่น ถ้ารับกัณฑ์ทศพร ก็นำธูปและเทียนมาอย่างละ ๑๙ ดอก เพราะกัณฑ์นี้มี ๑๙ พระคาถา เมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่งๆ ก็มีพิณพาทย์ประโคมเพลงประจำกัณฑ์ เช่น จบกัณฑ์ทศพรก็ใช้เพลง “สาธุการ” จบกัณฑ์หิมพานต์ บรรเลงเพลง“ตวงพระธาตุ” จบกัณฑ์นครกัณฑ์ บรรเลง “กลองโยน” สถานที่มักจะประชุมกันตามศาลาใหญ่ในวัด มีปักต้นกล้วยหรืออ้อยตามประตูวัด หรือทางที่จะเข้าไปในบริเวณที่มีเทศน์ เพื่อจะให้คล้ายกับป่าตามท้องเรื่อง และที่ปักฉัตรธงก็เพื่อแสดงว่าเป็นของสูงสำหรับกษัตริย์ หมายถึง พระเกียรติยศของพระเวสสันดร ตามศาลาหรือสถานที่ที่ใช้เทศน์มักจะมีภาพแสดงเรื่องมหาชาติติดไว้ เพื่อน้อมนำพุทธศาสนิกชนให้ระลึกถึงกาลครั้งนั้นตามท้องเรื่อง ที่หน้าหรือข้างๆ ธรรมาสน์พระเทศน์ตั้งขันสาครใบใหญ่เป็นขันนํ้ามนต์ นํ้ามนต์ที่ตั้งไว้ในมณฑลพิธีนี้ ถือกันว่าใช้ประพรมบำบัดเสนียดจัญไรได้

หนังสือมหาชาติเดิมแต่งเป็นภาษามคธ ใครแต่งไม่ปรากฏ คงจะมีผู้แปลเป็นไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ฉบับสูญหายไป คงปรากฏหนังสือมหาชาติแปลเป็นภาษาไทยที่เก่าที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้คือ มหาชาติคำหลวง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงขึ้น เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕ วิธีแต่งเอาภาษามคธเติมตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปลเป็นคำร้อยกรองในภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป ตามความถนัดของกวีผู้แต่ง หรือตามกำหนดที่ได้ตกลงวางไว้เป็นแบบ คงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะและให้ความใกล้กับภาษามคธเดิมทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เป็นหนังสือซึ่งนับว่าแต่งดีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หนังสือจินดามณีซึ่งพระโหราธิบดีแต่งเป็นแบบเรียนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยกเอากลอนในหนังสือมหาชาติคำหลวง มาเป็นตัวอย่างในแบบเรียน

หนังสือมหาชาติคำหลวง ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับสวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังในเวลาที่ไปอยู่บำเพ็ญการกุศลที่ในวัด ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงได้สูญหายไป ๖ กัณฑ์เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งกัณฑ์ที่ขาด ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ ฉกษัตริย์ ขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๘ จึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้

นอกจากมหาชาติคำหลวง ยังมีกาพย์มหาชาติ เข้าใจว่าแต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กาพย์มหาชาติมีศัพท์มคธน้อย ภาษาไทยมาก สันนิษฐานว่าจะแต่งสำหรับพระเทศน์ให้สัปบุรุษเข้าใจเรื่องง่ายขึ้นกว่ามหาชาติคำหลวง แต่เรื่องก็คงยาวเช่นเดิม คงจะเทศน์ไม่จบในวันเดียว แต่งมหาชาติกลอนเทศน์ในเวลาต่อมา

หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ (ร่ายยาวมหาชาติ) นั้น วิธีแต่ง นำเอาคำบาลีทั้งที่เป็นคาถาและอรรถกถามาลงไว้แล้วแต่งความภาษาไทยเป็นแบบร่ายยาว ต่อเข้าเป็นตอนๆ สำหรับพระเทศน์เพื่อผู้ฟังจะได้ฟังทั้งภาษาบาลีและไทย และให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียว เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พิธี ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้แต่งหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ขึ้นมากมายหลายสำนวน ผู้แต่งในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีหลายท่าน

ที่กล่าวมาเป็นประเพณีซึ่งมีทั่วทุกภาคของประเทศไทย รายละเอียดอาจผิดแปลกกันไปบ้างตามภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ความเชื่อถือ ซึ่งเป็นส่วนปลีกย่อย แต่หลักใหญ่นั้นเหมือนกัน นับว่าวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นสิ่งจรรโลงใจ ยึดเหนี่ยวให้คนประกอบคุณงามความดี บางอย่างอาจไม่มีประโยชน์โดยตรงแต่ก็มีประโยชน์ทางอ้อม เป็นเครื่องเตือนให้สำนึกถึงความเป็นชาติและความสามัคคีของคนในชาติ

ที่มา:กรมศิลปากร