ประเพณีทอดผ้าป่า

Socail Like & Share

ทอดผ้าป่าเป็นประเพณีและเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าจีวรจากคฤหัสถ์ ให้ใช้แต่ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น)เท่านั้น ชาวบ้านมักเรียกว่า ผ้าป่า เนื่องจากเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ทิ้งอยู่ตามที่ต่างๆ ตามกองขยะ หรือพันห่อศพไว้และต้องนำมาซัก เย็บ ย้อมเป็นสบง จีวรหรือสังฆาฏิให้เสร็จภายในระยะเวลา ๑๐ วัน ถ้าเกินกำหนดต้องสละผ้านับเป็นความยากลำบากแก่ภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ผ้าห่อศพมักจะหาได้ยากเพราะเป็นศพคนจน ผ้าที่จะพันห่อศพก็ไม่ค่อยมี ชาวบ้านที่มีผ้าป่าสามัคคีศรัทธาเห็นความยากลำบากของพระภิกษุจึงหาทางช่วย โดยนำผ้าไปทิ้งไว้ตามทางที่พระท่านเดินผ่านไปมาเป็นประจำ หรือทิ้งตามกองขยะ หรือนำไปห่อศพไว้ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้พระภิกษุจะไม่ยอมรับผ้านั้น จึงมีผู้นิยมทำตามกันมาจนเป็นประเพณี จนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากคฤหัสถ์ได้ แต่ยังทรงสรรเสริญพระสงฆ์ผู้ถือผ้าบังสุกุลอยู่ ทำให้พระภิกษุทั้งหลายประสงค์จะรับผ้าบังสุกุลจีวรอีก

การทอดผ้าป่าจึงยังคงมีอยู่และเป็นมรดกตกทอดกันมาทุกวันนี้ แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังที่เห็นในปัจจุบัน แม้จะมีผ้าไตรสำเร็จรูปขาย และชาวบ้านไม่ได้นำไปทิ้งไว้ตามป่าตามทางดังในสมัยพุทธกาล แต่ยังคงธรรมเนียมไว้บ้างโดยการนำกิ่งไม้มาปักในกระถางหรือภาชนะอื่น แล้วนำผ้าที่จะถวายผูกแขวนไว้ บางทีก็ทำเป็นโครงรูปต่างๆ ภายในใส่เครื่องบริขารหรือสิ่งที่ต้องการจะถวายพระ เช่น ทำเป็นรูปผี รูปศพต่างๆ เป็นต้น

ฤดูกาลของการทอดผ้าป่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาลงไปจะทอดในฤดูไหน เดือนไหน สุดแต่ชาวบ้านจะศรัทธาเลื่อมใส ส่วนใหญ่มักจะทำในระยะจวนจะออกพรรษาหรือช่วงออกพรรษาแล้ว อีกอย่างหนึ่งนิยมทำรวมกันกับขบวนกฐิน คือ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็ทอดผ้าป่าหรือทอดตามรายทางเป็นหลายสิบวัดก็ได้

วิธีการทอดผ้าป่านั้น เมื่อนำผ้าป่าไปถึงวัดแล้ว พึงตั้งใจถวายโดยไม่เฉพาะเจาะจง วางของไว้จะจุดธูปเทียนหรือไม่ก็ได้ ส่งอาณัติสัญญาณให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า หรือจะทำพิธีเงียบๆ เจ้าภาพจะรอดูจนกว่าพระท่านมาชักผ้าป่าหรือไม่ก็ได้ พึงถวายผ้าป่าโดยกล่าวคำถวาย ดังนี้

“อิมานิ มยํ ภนฺเต ปํสุกูลจีวรานิ สปฺปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส
โอโณชยาม สาธุโน ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ปํสุกูลจีวรานิ

ปฏิคฺคณหาตุ อมหากํ ทีฆรตตํ หิตาย สุขาย.”
แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งเครื่องอันเป็นบริวารเหล่านี้เเก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งเครื่องอันเป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญฯ”

อย่างไรก็ตามการถวายผ้าป่าโดยมากมักจะมีผ้าสำหรับพระสงฆ์อยู่ด้วยผืนหนึ่งหรือมากกว่า บางครั้งจะเห็นมีแต่เครื่องบริขารซึ่งมักมีผ้าเช็ดหน้าทำเป็นรูปชะนีแขวนอยู่ด้วย คงจะให้มีลักษณะเป็นป่า แต่เมื่อนำไปทอดมักจะหาซื้อผ้าสำหรับพระสงฆ์ด้วยเสมอ

ผ้าป่ามีหลายชนิด มักเรียกตามลักษณะของผ้าป่า เช่น ผ้าป่าหางกฐิน คือ การทอดผ้าป่าหลังทอดกฐิน ผ้าป่าสามัคคี ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทำขึ้นเพื่อรวมทุนจัดสร้างถาวรวัตถุในวัด ผ้าป่าโยง มีเจ้าภาพเดียว หรือหลายเจ้าภาพ ส่วนมากบรรทุกเรือแห่ไปทางนํ้าทอดตามวัดวาอารามต่างๆ เป็นต้น ในปัจจุบันงานศพบางแห่งนิยมถวายผ้าบังสุกุลวางไว้บนหีบศพ พระสงฆ์ขึ้นมาสวดคำบาลีสั้นๆ แล้วชักผ้าไป กรรมวิธีนี้เรียกว่า ชักผ้าบังสุกุลหรือชักผ้าป่า จัดรวมเข้าในการทอดผ้าป่าตามปรกติ มีวิธีการทอดผ้าป่าที่พิเศษอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ทอดผ้าป่าผีตาย คือ แทนที่จะเอาผ้าไตรวางไว้บนหีบศพ แต่กลับให้ศพเป็นผู้ถือผ้าไตร โดยวิธีเอาศพผูกไว้กับกระดานหก แล้วนิมนต์พระมาเหยียบกระดานหก ศพก็จะยืนขึ้นหรือลุกขึ้นนั่งก็แล้วแต่การจัดศพให้นั่งหรือยืน พระสงฆ์จะรับผ้าจากมือศพ กรรมวิธีนี้ต้องทำในป่าช้าและต้องให้พระเข้าไปรับผ้าไตรทีละรูป ส่วนญาติพี่น้องดูอยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันคนมาขโมยผ้าไปเท่านั้น ดูน่ากลัวอยู่สักหน่อย บางแห่งไม่ใช้ศพจริงๆ แต่ทำเป็นรูปร่างให้เหมือนศพจริงๆ ซึ่งก็น่ากลัวเช่นกัน การทอดผ้าป่าแบบนี้ถือว่าได้บุญกุศลมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการทอดผ้าป่าแบบผีตายนี้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงห้ามเพราะมีคนกลั่นแกล้งพระทำให้ตกใจสุดขีดจนถึงมรณภาพ

ในปัจจุบันการทอดผ้าป่ามักจะเป็นการชักชวนกันเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สร้างสิ่งต่างๆ ได้แก่ ถาวรวัตถุในวัด ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และอื่นๆ เสียมากกว่า

ที่มา:กรมศิลปากร