มหาตมะคานธีอดอาหาร

คานธี
เมื่อมหาตมะคานธีปล่อยคองเกรสให้ดำเนินนโยบายการไม่ร่วมมือภายในสภา และตนเองทำหน้าที่บรรณาธิการอยู่ มีเหตุร้ายเกิดขึ้นหลายราย ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกเดือดร้อนและน้อยใจมิใช่น้อย ถึงกับท่านต้องบำเพ็ญทุกข์กิริยาอีกครั้งหนึ่งโดยมุ่งจะเตือนพลเมืองอินเดียให้สำนึกตัวได้ เหตุร้ายดังว่านี้สืบเนื่องมาแต่ความแตกสามัคคีระหว่างฮินดูกับอิสลาม

ชาวฮินดูกับอิสลามรวมกันอาศัยอยู่ในดินแดนอินเดียมาแล้วกว่า ๗๐๐ ปี โดยไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทบาดหมางกันมาแต่ก่อนแม้แต่ประการใด ก็เหตุไฉนตกมาในสมัยอังกฤษปกครอง จึงมักเกิดทะเลาะวิวาทกันถึงนองเลือดเล่า นี้นับว่าเป็นปัญหาที่เราควรตรึกตรองกันให้ลึกซึ้ง แต่เนื่องจากเหตุแห่งการวิวาทกันเช่นนี้ ได้ชี้บ่งกันอยู่แล้ว ในถ้อยคำของรัฐบุรุษชาวอังกฤษหลายคน ฉันจึงเป็นเพียงขอยกเอาถ้อยคำเหล่านั้นมาให้ท่านผู้อ่านๆ ดูแล้วขอให้ท่านตัดสินเอาเองว่า เหตุไฉนฮินดูกับอิสลามจึงไม่ถูกกัน

“จงทำให้แตกร้าว แล้วปกครอง นี่เคยเป็นคติของชาวโรมันคติของเราก็ต้องเป็นเช่นนั้นด้วย”
ลอร์ดเอลพีนสโตน

“เราควรพยายามทำให้เกิดแตกร้าวกันขึ้นระหว่างนิกายและพรรคพวกต่างๆ ไม่ควรพยายามประนีประนอมปรองดองระหว่างนิกายและพรรคพวกนั้นๆ เลย จงทำให้แตกร้าวแล้วปกครอง นี่ควรจะเป็นหลักการแห่งรัฐบาลอินเดีย”
พันโท ยอนโคก

“ที่จริง รัฐอังกฤษจะไม่ทรงตัวได้ตราบเท่าทุกวันนี้ ถ้าไม่ดำเนินนโยบายก่อการแตกร้าวขึ้น ดังปรากฎอยู่ในการวิวาทบาดหมางระหว่างฮินดูกับอิสลาม ทั้งเป็นความจริงด้วยว่าการทะเลาะวิวาทบาดหมางระหว่างฮินดู กับอิสลาม ได้เริ่มขึ้นแต่สมัยเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง”
เซอร ยอน เมนารดฺ

“รัฐบาลอังกฤษในอินเดีย เปรียบเสมือนชายมีเมีย ๒ คือฮินดูกับอิสลาม แต่อิสลามเป็นตัวโปรด”
เซอร แบมปฟีลด ฟูเลอร

“ผู้ซึ่งมีความหมายคุ้นเคยกับกิจการในอินเดีย ย่อมจะปฏิเสธเสียมิได้ว่า หลักการแห่งข้าราชการอังกฤษในอินเดียถืออิสลามเป็นตัวโปรด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อจะใช้อิสลามเป็นเครื่องกีดขวางความรักชาติที่กำลังจะปรากฎขึ้นในพวกฮินดู”
ลอร์ด ออลิเวียร์

รัฐบาล(อินเดีย) กำลังแพร่หลายอานุภาพอย่างชั่วร้ายกล่าวคือ กระตุ้นเตือนให้ผู้นำแห่งพรรคอิสลามก่อให้เกิดความแตกร้าวขึ้นระหว่างชาวฮินดูกับชาวอิสลาม ก่อให้เกิดความแตกร้าวขึ้น ระหว่างชาวฮินดูกับชาวอิสลามการกระทำเช่นนี้ได้ก็โดยมอบสิทธิพิเศษให้แก่ชาวอิสลามนั่นเอง”
มร.แรมเซ แมคโดนาลด์

อาศัยถ้อยคำเหล่านี้ พอที่จะเห็นได้ว่า เหตุไฉนจึงเกิดมีการทะเลาะวิวาทขึ้น ระหว่างชาวอิสลามกับชาวฮินดู ยิ่งสภาคองเกรสดำเนินนโยบายการสมานสามัคคีไมตรีจิตระหว่างสองฝ่ายขึ้น รัฐบาลก็ยิ่งดำเนินหลักการแตกร้าวมากทวีขึ้นทุกที แม้ในบทพระราชบัญญัติอันว่าด้วยการเลือกตั้งรัฐบาลก็ได้กำหนดการเลือกตั้งไว้ โดยอาศัยศาสนาเป็นมาตรฐาน ซึ่งทำให้อินเดียต้องแตกแยกออกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งได้แก่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม อีกพวกหนึ่งนับถือศาสนาฮินดู (หมายถึงศาสนาที่เกิดขึ้นในอินเดีย) ความจริงคองเกรสได้เคยคัดค้านหลักการเลือกตั้งนี้มาก่อนแล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษถือคติว่า “จงทำให้เกิดแตกร้าวกันเสียก่อน แล้วจึงค่อยปกครอง” เป็นหลัก จะฟังเสียงประชาชนหรือ

ดังนั้นเมื่ออานุภาพแห่งคองเกรส กำลังแผ่ออกไปทั่วทุกมุมอินเดีย เพื่อทำให้พรรคทั้ง ๒ ร่วมกันเป็นพรรคเดียวคือชาวอินเดียผู้ยากจนเข็ญใจ รัฐบาลก็ได้พยายามทำลายขวัญแห่งความสามัคคีเสียแต่ชั้นต้น ผลก็คือ พวกที่ไร้การศึกษา ซึ่งใครๆ ก็สามารถปั่นหัวได้ต้องตกเป็นเหยื่อแห่งนโยบายการแตกร้าว เกิดทะเลาะวิวาทถึงกับฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่ง

มหาตมะคานธีมองเห็นสถานการณ์อันน่าทุเรศเช่นนี้และทั้งทราบแก่ใจอย่างดีว่า รัฐบาลจะไม่ดำเนินการแก้ไขมูลกรณีนั้น จึงตั้งใจจะบำเพ็ญทุกข์กิริยา เพื่อเตือนให้ทั้งสองฝ่ายมองเห็นความจริง

ดังนั้น มา ณ วันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ.๑๙๒๔ ท่านจึงได้ตกลงประกาศถ้อยแถลงว่า เพื่อจะช่วยชาติให้หลุดพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำในการทะเลาะวิวาทกันนั้น ท่านจะบำเพ็ญพรตการอดอาหาร กับการภาวนาตลอดเวลา ๒๑ วัน ถ้อยแถลงของท่านมีข้อความดังต่อไปนี้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการเหลือวิสัยที่จะอดทนอยู่ได้อีก อนึ่ง เนื่องจากฉันไม่อยู่ในฐานะที่จะแก้ไขมูลกรณีไม่ให้เกิดเหตุร้ายเช่นนี้ขึ้นได้อีกจึงรู้สึกกระวนกระวายใจมากยิ่งขึ้นทุกที ศาสนาของฉันได้สอนฉันว่าเมื่อบุคคลผู้ใดรู้สึกลำบากใจในเหตุการณ์ที่เขาไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยประการอื่น เขาต้องถืออุโบสถและทำการภาวนาเป็นทางแก้ไข วิธีการเช่นนี้ฉันเคยดำเนินมาในเรื่องอันเกี่ยวแก่ภรรยายอดรักของฉัน”

“ฉันพูดเท่าไรก็ตาม หรือเขียนเท่าไรก็ตาม ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ไม่ยอมทำการประนีประนอม ฉันจึงตกลงใจถืออุโบสถ (หมายถึงการอดอาหารด้วย) เป็นเวลา ๒๑ วัน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๘ ตุลาคม

“การกระทำเช่นนี้ นับว่าเป็นการแสดงอาบัติทั้งเป็นการขอร้องด้วย ในฐานะเป็นการแสดงอาบัติส่วนตัวฉันการเรื่องนี้ไม่ต้องบอกกล่าวแก่มหาชน แต่ในฐานะเป็นการร้องขอ ฉันขอประกาศการอดอาหารของฉันให้เป็นที่รู้กันทั่วๆ ไป โดยถือว่าการอดอาหารนี้ เป็นการร้องขอทั้งสองฝ่ายฮินดูและอิสลามซึ่งก่อนนี้เคยร่วมดำเนินกันอยู่ ว่าอย่าฆ่าฟันกันเลย”

“ฉันขอเชิญบรรดาผู้นำทั้งหลาย ทั้งชาวอินเดียและชาวอังกฤษ ด้วยความเคารพว่า ขอให้ท่านทั้งหลายรวมกันกำจัดเหตุวิวาทบาดหมางเช่นนี้เสีย ซึ่งนับว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศแห่งศาสนาและมนุษยธรรมนี้ ดูเหมือนว่าทำให้พระผู้เป็นเจ้าต้องเคลื่อนไปจากบัลลังก์ ขอให้พวกเราสถาปนาพระองค์ให้ทรงสถิตย์อยู่เหนือสิงหาสน์คือดวงใจของเรา”

เมื่อข่าวการอดอาหารของท่านคานธี แพร่ไปทั่วดินแดนอินเดียแล้ว ประชาชนพร้อมทั้งบรรดาผู้นำทั้งหลายต่างพากันรู้สึกตกตะลึงมิใช่น้อย เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ท่านได้กระทำการผ่าตัดโรคไส้ตันมาใหม่ๆ ไม่กี่เดือน ร่างกายยังไม่เข้าสู่ปรกติภาพเดิม ฉะนั้นจึงเกิดความหวาดเกรงกันไปว่า ร่างกายอันอ่อนแอของทานน่าจะทนรับความทรมานในการอดอาหารไปไม่ได้

ขณะที่ท่านประกาศข่าวการอดอาหาร ท่านพักอยู่ ณ มณฑลปัญจาบ พวกผู้นำทั้งแพทย์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน ได้พากันไปหาท่านคานธี ณ มณฑลปัญจาบ ร้องขอให้ท่านเลิกอดอาหารเสีย แต่ท่านตอบว่า

“การอดอาหารของฉัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวแก่ตัวฉันกับพระผู้เป็นเจ้าโดยเฉพาะ เมื่อบุคคลใดต้องการจะติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้า เขาไม่ต้องการหารือกับคนอื่นๆ คนใดเลยทั้งไม่เป็นการบังควรด้วย แต่ถ้าเขายังมีความสงสัยแฝงอยู่บ้างก็ควรจะปรึกษาหารือกับคนอื่นได้”

“การบำเพ็ญทุกข์กิริยาของฉันครั้งนี้ เป็นการตักเตือนทั้งชาวฮินดูและอิสลามผู้แสดงตนว่า รักฉัน ถ้าพวกเขารักฉันจริงๆ ทั้งฉันก็สมที่จะได้ความรักจากพวกเขาทั้งหลายก็ขอให้พวกเขาจงแสดงอาบัติที่ได้กระทำกันมาโดยไม่ยอมให้พระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตอยู่ในดวงใจของเขาเลย”

เมื่อท่านคานธี ไม่ยอมเลิกการอดอาหาร ท่านผู้นำทั้งหลาย จึงจัดตั้งคณะแพทย์ขึ้นคณะหนึ่งให้คอยตรวจตราดูแลจดบันทึกอาการของท่านอยู่เสมอ แล้วให้จัดการพิมพ์ออกประกาศวันละสามครั้ง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบอาการผลแห่งการอดอาหารคราวนี้ สามารถบันดาลให้บรรดาผู้นำคณะแห่งพรรคทั้งหลาย มีจำนวนกว่า ๓๐๐ นายรวมกันประชุม ณ เมือง เดลลี เพื่อหาลู่ทางกำจัดการทะเลาะวิวาทระหว่างฮินดูกับอิสลามเสียโดยด่วน

เป้นที่น่ายินดีสำหรับอินเดียมิใช่น้อย ที่หลังจากเวลากำหนด ๒๑ วัน อาการของท่านคานธีได้ค่อยๆ ทุเลาขึ้นจนกระทั่งเข้าสู่ปรกติภาพดังเดิม ส่วนการทะเลาะวิวาทระหว่างฮินดูกับอิสลามเล่าก็สูญหายไป กลับเป็นมิตรสมัครสมานฉันท์ร่วมมือ ดำเนินการภายใต้การนำของท่านคานธีสืบไป

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับการดำเนินกิจการใหม่

คานธี
ในระหว่างเวลา ๒ ปี ที่ท่านคานธียังต้องโทษอยู่ในเรือนจำ มติของคองเกรสเกิดแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคณะพรรคคองเกรสควรจะสมัครเป็นสมาชิกสภา แล้วดำเนินนโยบายการไม่ร่วมมือขึ้นภายในสภาด้วย แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า คองเกรสไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แม้แต่ประการไร ควรดำเนินหลักการไม่ร่วมมืออยู่แต่ภายนอกสภา และทำการบอยค๊อตรัฐธรรมนูญโดยประการทั้งปวง ฉะนั้นย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อท่านพ้นโทษออกจากเรือนจำเป็นอิสระแล้ว ประชาชนจะต้องเกิดอยากรู้อยากเห็นมติของท่านคานธี ในการสมัครเป็นสมาชิกสภา

ความคิดเห็นของท่านคานธี ที่ประเทศได้รับเป็นครั้งแรกหลังจากการพ้นโทษนั้นมีปรากฎชัดอยู่ในถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ตลอดเวลา ๒ ปี ฉันได้รับโอกาสและความสงบเป็นอย่างมาก พอที่จะใช้สมองคิดให้ลึกซึ้งโค่นล้างความเชื่อถือในหลักและวิธีการไม่ร่วมมือมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้อีก ฉะนั้นฉันจึงเชื่อว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้ จะนำผลสำเร็จมาสู่เรา ทั้งจะก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นระหว่างชาติทั้ง ๒ ด้วย ถ้าเรารักษาความซื่อสัตย์ต่อหลักอหิงสาโดยกาย วาจาและใจ และยอมดำเนินการตามวิธีการของคองเกรส เราจะต้องได้รับเสรีรัฐของตน โดยไม่ต้องดำเนินการขัดขืนกฎหมาย ถึงกระนั้นฉันขอกล่าวย้ำว่า การภาวนาถึงพระเจ้าพร้อมด้วยความคิดในความสงบเป็นเวลา ๒ ปีนี้ จะได้ทอนความเชื่อถือของฉันในฤทธิ์เดชแห่งการขัดขืนกฎหมายให้ลดน้อยลงไปก็หาไม่ ฉันถือว่าในเมื่อชาติตกอยู่ในข่ายอันตราย ชาติย่อมมีสิทธิที่จะขัดขืนกฎหมายได้ ใช่แต่เท่านั้น ยังนับว่าเป็นกรณียกิจของชาติด้วยซ้ำ ฉันเชื่อแน่ว่าวิธีการเช่นนี้มีอันตรายน้อยกว่การทำสงครามเพราะว่าถ้าวิธีการขืนกฎหมายตามหลักอหิงสาสำเร็จลงเมื่อใดย่อมจะเป็นประโยชน์แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายที่ขัดขืนและฝ่ายที่ปราบปราม ส่วนการสงครามมีแต่จะนำผลร้ายให้แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายที่ชนะและฝ่ายที่แพ้”

ในถ้อยแถลงข้างต้นนี้ ท่านมิได้เอ่ยถึงการสมัครเป็นสมาชิกสภา ทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุที่ท่านคอยโอกาสพบปะกับผู้นำต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะลงความเห็นโดยเด็ดขาดได้ ในไม่ช้าโอกาสเช่นนี้ก็ได้มาถึงสมประสงค์ที่เมืองซุหุ ณ ที่นั้นบรรดาผู้นำแห่งคองเกรสได้นัดมาประชุมกัน เพื่อปรึกษาหารือถึงเรื่องการสมัครเป็นสมาชิกสภา ท่านคานธีก็ไปในงานประชุมนั้นเหมือนกัน ผู้นำฝ่ายที่เห็นว่าควรจะสมัครเป็นสมาชิกสภามีอยู่ ๒ ท่าน คือ ท่านจิตรัญชันทาส กับบัณฑิต มติลาลเนรูห์ การประชุมคราวนี้แสดงให้เห็นว่าผู้นำฝ่ายคองเกรสส่วนมาก เห็นพ้องด้วยกับหลักการของท่านจิตรัญชันทาส ผู้แนะนำให้ดำเนินหลักการไม่ร่วมมือขึ้นแม้ภายในสภาด้วย เมื่อมติส่วนใหญ่ของคองเกรสเอียงเอนไปในทางการสมัครเป็นสมาชิกสภานั้น ท่านคานธีก็จะต้องอนุโลมตาม แต่โดยถือสิทธิที่ว่า สมาชิกคองเกรสคนใดเห็นว่า ไม่ควรจะสมัครเป็นสมาชิกคองเกรสผู้นั้นมีสิทธิดำเนินหลักการไม่ร่วมมือได้เฉพาะภายนอกสภาเท่านั้น แต่ก็ต้องรับรองว่าจะไม่ดำเนินกิจการให้เป็นปรปักษ์ กับฝ่ายที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภา

เมื่อการประชุมที่ซุหุได้ตกลงกันดังนี้แล้ว การดำเนินวิธีการของคองเกรสก็ตกเป็นภาระหน้าที่ของท่านจิตรัญชันทาส อินเดียจึงได้พากันไปรวมอยู่ภายใต้ธงนำของท่านจิตรัญชันทาส

ความจริงถึงการบริหารคองเกรสจะตกอยู่ในกำมือของท่านจิตรัญชันทาสทั้งหมดก็จริง แต่ท่านคานีก็หาได้ถอนตัวปลีกออกจากกิจการของคองเกรสไม่ ท่านลงมือดำเนินกิจอันเกี่ยวแก่การอบรมสั่งสอนประชาชนให้ยึดมั่นอยู่ในหลักอหิงสา มิหนำยังกลับเข้ารับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Young India ต่อไปอีกด้วย

ในการกลับเข้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการคราวนี้ท่านได้ลงถ้อยแถลงแสดงแนวความคิดเห็นของตนไว้ดังต่อไปนี้

“ฉันยอมเข้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ Young India อีกคราวนี้ ด้วยความลังเลใจสักหน่อย เพราะฉันยังไม่ทราบว่าสุขภาพของฉันพอที่จะดำเนินการแห่งหนังสือพิมพ์ได้หรือไม่ ฉันยังไม่เห็นชัดแต่เข้าใจได้อย่างรางๆ ถึงความหมายของพระเจ้าว่า เหตุไฉนฉันจึงได้ออกจากเรือนจำยารเวทาก่อนกำหนดเวลา ในการรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการแห่ง “นวชีวน” และ Young India ฉันเพียงแต่ดำเนินตามแสงประทีปของพระองค์ เท่าที่ฉันสามารถเห็นได้…ฉันยังไม่มีสิ่งไรที่จะเสนอต่อผู้อ่านได้ ฉันเคยมีความหวังอยู่ว่าฉันได้รับอิสรภาพด้วยอำนาจตราสารแห่งสภาเสรีรัฐอินเดียแล้วและออกมารับใช้เสรีรัฐอินเดีย แต่ความหวังได้ผิดคาดหมายไปเสียแล้ว เรายังมิได้กู้ประเทศให้เป็นอิสระ ฉันไม่มีโครงการเก่าที่จริง ความเชื่อของเรานี้เองเป็นเหตุให้ตั้งโครงการ และโครงการนั้นจะถูกหรือผิด เราจะพิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ถึงความตึงเครียดอย่างเต็มที่ ฉะนั้นถึงในหน้ากระดาษแห่ง Young India จะไม่มีโครงการใหม่ปรากฎอีกก็จริง แต่ระดับแห่งโครงการจะเสื่อมลงก็หาไม่”

“ฉันรู้ว่า พระเจ้าคือความจริง ฉันดำรงชีวิตเพื่ออิสรภาพแห่งอินเดีย และฉันจะพลีชีวิตเพื่ออิสรภาพแห่งอินเดียนั่นเอง เพราะตามความเห็นของฉัน อิสรภาพแห่งอินเดียคือความจริง ส่วนหนึ่งเฉพาะอินเดียที่เป็นอิสระเท่านั้นที่มีสิทธิบูชาพระเจ้าได้ ฉันได้อุทิศชีวิตเพื่ออิสระของอินเดีย เพราะความรักชาติของฉัน ได้สอนฉันว่าเนื่องจากฉันได้เกิดมาในประเทศนี้ ทั้งประเทศนี้ ทั้งได้รับวัฒนธรรมของอินเดียเป็นมรดก ฉันจึงย่อมสมควรที่จะรับใช้ประเทศนี้ได้ ทั้งประเทศก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องฉันมารับใช้อินเดียก่อนกว่ากิจทั้งปวง แต่ความรักชาติของฉัน ไม่จำกัดด้วยสิ่งไร ความรักชาติของฉันหมายถึงการไม่เบียดเบียนชาติใด ตรงกันข้ามมีแต่จะนำประโยชน์ที่แท้จริงมาให้แก่ชาติอื่นๆ ด้วย อิสระภาพของอินเดียตามที่ฉันเข้าใจจะไม่เป็นอันตรายแก่โลกแม้แต่น้อย”

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีในเรือนจำ

คานธี
ย่อมเป็นธรรมดาที่การก่อให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นทั่วอาณาจักรอินเดียดังกล่าวมานี้ จะต้องเป็นเหตุให้รัฐบาลรู้สึกเดือดร้อนมิใช่น้อย ฉะนั้นรัฐบาลจึงพยายามอยู่เสมอที่จะปราบปรามการตื่นตัวเพื่อกู้อิสระภาพของประเทศนั้นให้สิ้นเชิงลง เนื่องจากท่านคานธีเป็นต้นเหตุแห่งหลักการดำเนินและทั้งเป็นผู้นำของประเทศด้วย ประชาชนจึงมีความเกรงกลัวและห่วงอยู่เสมอว่า มิช้ามินานท่านจะต้องถูกจับเป็นแน่ การจับกุมบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ตาม ย่อมตกเป็นหน้าที่ประจำมณฑลนั้นๆ ตามปรกติตลอดเวลาแห่งการดำเนินหลักการไม่ร่วมมือนี้ ท่านคานธีได้เที่ยวแทบทุกมณฑล เพื่อสั่งสอนประชาชนให้มั่นอยู่ในหลักอหิงสา แต่โดยเหตุที่ท่านเป็นผู้นำและเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนทั่วไป ไม่จำกัดชั้นวรรณะจึงไม่มีรัฐบาลประจำมณฑลใดกล้าจับคานธี ทั้งนี้ก็โดยเกรงกลัวไปว่า ถ้าท่านคานธีถูกจับแล้วไซร้ ความไม่เรียบร้อยเท่าที่มีอยู่ในประเทศ คงจะทวีคูณขึ้นเป็นแน่แท้ ถึงกับฆ่าฟันกันเลือดนองก็เป็นได้ ฉะนั้นรัฐบาลประจำมณฑลจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลกลางให้งดการจับท่านคานธี จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ณ ปารเลียเมนต์ แต่ว่าความเกรงกลัวในแง่ดังว่านี้ไม่มีมูลความจริงแม้แต่ประการใด เพราะว่าถึงท่านคานธีเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ถ้าตัวท่านถูกจับประชาชนอาจจะปะทะกันกับตำรวจขึ้นได้ จึงได้สั่งสอนประชาชนไว้แต่ต้นว่า ถ้าท่านถูกจับขออย่าได้ก่อความไม่สงบประการใดๆ ขึ้น

ในที่สุด เมื่อรัฐบาลเห็นว่า อาศัยคำของท่านคานี ประชาชนคงจะไม่ก่อเหตุร้ายขึ้นแน่ จึงได้ตกลงใจว่าจะจับตัวท่านคานธี

ดังนั้นตกมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๒๒ การถกเถียงกันในสภาปาร์เลียเมนต์ จึงได้แสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ได้อนุญาตให้รัฐบาลอินเดียดำเนินการจับตัวท่านคานธี

เวลาเที่ยงคืน แห่งวันที่ ๑๐ เดือนมีนาคม ขณะที่มหาตมะคานธีกำลังพักผ่อนอยู่ในนิทรารมณ์ในอาศรมสวรมติซึ่งท่านได้สถาปนาขึ้นสำหรับอบรมดรุณชน ให้รู้จักการรับใช้ประเทศชาติ เผอิญมีแสงไฟฟ้าฉายส่องดวงหน้าอันสงบเสงี่ยมของท่าน แสงจ้าแห่งดวงไฟฟ้า ได้ทำลายความหลับของท่านเสียถึงกับต้องลุกจากที่นอน และพอดีเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอังกฤษมาคอยจับตัวอยู่ ท่านยิ้มแย้มต้อนรับผู้แทนแห่งราชอำนาจด้วยความแจ่มใส และจริงใจ แล้วขอเวลาเตรียมตัว และทำการภาวนาร่วมกับพวกพรหมจารีในอาศรมสัก ๑ ชั่วโมง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ได้แสดงอัธยาศัยอย่างไมตรีจิต และแสดงความเสียใจในการกระทำของตนซึ่งต้องทำไปเพราะหน้าที่บังคับ แต่ไม่ได้ขัดขวางคำขอร้องของท่านคานี ในไม่ช้าข่าวการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แผ่ไปทั่วอาศรม ทุกคนตื่นและเข้ามาในห้องนอนของท่านคานธี แวดล้อมท่านไว้ประดุจว่าจะไม่ยอมให้อำนาจของรัฐบาลเข้ามาแตะต้องท่านแม้แต่น้อย

เมื่อท่านได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว ท่านก็พาพวกพรหมจารีไปยังห้องประจำอาศรม ทำการภาวนารวมกันแล้วให้โอวาทครั้งสุดท้ายแก่พวกอาศัยในอาศรมนั้น เสร็จแล้วมอบคำสดุดี อวยพรแก่ประเทศที่ท่านเคยประพันธ์ไว้ให้แก่เลขานุการของท่าน เมื่อเสร็จธุระเรียบร้อยแล้วท่านก็มอบตัวเองให้เจ้าหน้าที่ทันที เจ้าหน้าที่เชิญตัวท่านไปพักอยู่ในเรือนจำสวรมติชั่วคราว คอยจนกว่าศาลจะตัดสินคดีที่ท่านถูกกล่าวหานั้น

มา ณ วันที่ ๑๗ เดือนมิถุนายน ๑๙๒๒ เจ้าหน้าที่ได้จัดการส่งตัวท่านไปยังศาล ดังได้กล่าวไว้แล้ว ท่านถูกกล่าวหาในฐานะที่เป็นผู้เขียนบทประพันธ์ อันก่อให้เกิดความชังต่อรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลอ้างบทประพันธ์ ๔ เรื่องที่ท่านเขียนลงในหนังสือพิมพ์ Young India ในฐานะเป็นบรรณาธิการ กล่าวคือ Disaffection a virtue ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๒๑ Tampering with Loyalty ลงวันที่ ๒๐ กันกายน ค.ศ.๑๙๒๑ The puzzle and its solution ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ และ Shaking the manes ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๒๒ ดังได้กลาวมาแล้วในบทต้นว่า ศาลได้พิพากษาโทษให้จำคุกท่านไว้เป็นเวลา ๖ ปี

เมื่อทางการฝ่ายบริหารได้รับคำสั่งของศาลดังนั้นก็ย้ายท่านจากเรือนจำชั่วคราวไปอยู่ที่เรือนจำยารเวทาเป็นเวลา ๒ ปีเต็ม เรือนจำยารเวทาได้กลายเป็นปูชนียสถานของชาวอินเดียทุกคน คนนับร้อยๆ พากันไปเยี่ยมเรือนจำซึ่งเป็นที่สำนักอาศัยของผู้นำ อันเป็นที่เคารพรักของเขาทุกวัน ผู้แทนแห่งหนังสือพิมพ์ต่างๆ ของโลก พากันไปเยี่ยมเรือนจำยารเวทา เพื่อขอสัมภาษณ์กับท่านคานธีผู้ดำเนินการสงครามอหิงสา โดยยึดอหิงสาเป็นเครื่องอาวุธ

รัฐบาลอนุญาตให้บุตรภรรยาของท่านไปเยี่ยมท่านได้ทุก ๓ เดือน แต่การสนทนาปราศรัยกันระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้นต้องทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะมีความไว้วางใจในท่านคานธีอยู่เสมอว่า ท่านจะไม่ละเมิดกฎข้อบังคับของเรือนจำก็จริง แต่ก็ยังต้องเฝ้าควบคุมดูแลเป็นพิธีอยู่เสมอ ในการพักอยู่ในเรือนจำ ท่านถือคติว่า จะไม่ยอมรับสิทธิพิเศษแม้แต่ประการไร ดังจะได้เห็นชัดจากถ้อยคำต่อไปนี้

“ในการถูกจำคุก ฉันถือคติว่า จะตัดความสัมพันธ์ของโลกภายนอกเสียทุกประการ การอนุญาตให้รับแขกได้ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ ซึ่งนักโทษการเมืองที่ถือหลักการไม่ร่วมมือ ไม่ควรขอร้อง”

เมื่อถูกขังอยู่ในเรือนจำยารเวทาสักปีกว่าๆ ปรากฎว่าท่านเกิดเป็นโรคไส้ตันขึ้น รัฐบาลจึงสั่งให้ย้ายท่านไปที่โรงพยาบาลสาสุน ณ เมืองบูนา เพื่อทำการผ่าตัด ในที่นี้ขอกล่าวชมเชยรัฐบาลไว้ด้วยว่า ทางการได้ตระเตรียมการผ่าตัดท่านคานีด้วยความระมัดระวัง และเอาใจใส่ทุกประการ ทั้งได้จัดให้ผู้นำของชาติหลายท่านไปเป็นพยานและเพื่อนในเวลาทำการผ่าตัดด้วย พันเอก แมด๊อกเป็นศัลยแพทย์รับหน้าที่ทำการผ่าตัด อาศัยเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดมิตรภาพถาวรขึ้น ระหว่างท่านคานธีกับแมด๊อก เมื่อท่านศัลยแพทย์จะอำลาอินเดียกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนท่านได้กล่าวถึงท่านคานธีไว้ว่า

“ตลอดเวลาที่ท่านคานีพักอยู่ในโรงพยาบาล ได้เป็นที่รักใคร่แก่คนผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับท่านทุกคน ทั้งนี้ก็เพราะความอ่อนโยน ความอดทน ความร่าเริง ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และความไม่เห็นแก่ตัวของท่าน”

เมื่อท่านรื้อไข้ขึ้นแล้ว และรัฐบาลเห็นว่ายังอ่อนเพลียอยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ให้ปล่อยตัวท่านคานธีก่อนเวลากำหนด

ดังนั้นมา ณ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๒๔ หลังจากเวลาที่ท่านได้ถูกจำคุกมาแล้ว ๒ ปี ภายในท่ามกลางแห่งความปิติปราโมทย์แห่งอินเดีย รัฐบาลได้ปล่อยตัวท่านคานธีออกจากเรือนจำพ้นจากโทษ

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีท้ารัฐบาล

คานธี
เมื่อคองเกรส มอบอำนาจเผด็จให้ท่านคานธีแล้ว ท่านได้แยกหลักดำเนินแห่งคองเกรสออกเป็น ๒ สาย คือ สายหนึ่งได้แก่กิจการอันเกี่ยวในสังคม และอีกสายหนึ่งเกี่ยวในทางการเมือง ในการดำเนินกิจการเหล่านี้ ท่านได้ตั้งบทใหญ่ไว้ว่า หากหลักการไม่ร่วมมือ ไม่พอที่จะโน้มน้าวรัฐบาลให้ดำเนินนโยบายอันชอบด้วยประชามติแห่งอินเดียได้แล้วไซร้ อินเดียจะต้องเตรียมตัวเพื่อประกาศและดำเนินหลักการขัดขืนกฎหมาย (Civil Disobedience) ไว้เป็นคั่นต่อไป

ผู้รับอาสาจึงต้องมีหน้าที่จะพึงทำอยู่ ๒ ประการคือ สั่งสอนประชาชนเพื่อเตรียมตัวในการขัดขืนกฎหมายในขั้นต่อไป ๑ กับแนะนำประชาชนให้ดำเนินหลักการไม่ร่วมมืออย่างดี ๑

ดังกล่าวมาแล้ว หลักการไม่ร่วมมือที่ประชาชนทุกชั้นต้องทำ และทั้งเป็นหลักการที่สำคัญยิ่ง คือการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษ เพื่อความสะดวกแก่ประชาชนคองเกรสได้ประกาสรายชื่อห้างร้านต่างๆ ทั่วอินเดียที่ทำการซื้อขายเฉพาะสินค้าอินเดีย และทั้งได้ประกาศชื่อห้างร้านต่างๆ ที่ทำการซื้อขายสินค้าอังกฤษด้วย มิหนำซ้ำยังได้ออกคำสั่งให้พวกผู้รับอาสาไปเที่ยวยืนอยู่ตามประตูห้างร้านที่ขายสินค้าอังกฤษและพูดขอร้องพวกประชาชนที่ผ่านไปมา ไม่ให้เข้าไปในห้างร้านนั้นๆ ด้วย บางครั้งพวกผู้รับอาสาถึงกับนอนขวางหน้าประตูไว้ และบอกกับประชาชนผู้ผ่านไปมาว่าผู้ใดต้องการจะเข้าไปซื้อของในห้างร้านนั้น ขอให้เขาเดินไปบนหลังของตนเถิด ย่อมเป็นธรรมดา ตามแง่ความรู้สึก การกระทำของพวกผู้รับอาสาเช่นว่านี้ ต้องเป็นเหตุทำให้การขายสินค้าอังกฤษถึงการตกต่ำลงโดยลำดับ และผลที่สุดหยุดชงักลงทันที

พร้อมๆ กับการสั่งให้ไปเฝ้าประตูห้างร้านสินค้าอังกฤษนี้ คองเกรสได้จักการสั่งห้ามไม่ให้ขายบรรดาเหล้าและน้ำเมาต่างๆ แม้ที่ทำขึ้นในอินเดียด้วย ในประเทศอินเดียคนดื่มเหล้ามีอยู่เฉพาะในพวกที่มีอาชีพทางชำระอุจจาระ กับพวกทำการทางซ่อมรองเท้า พวกเหล่านี้ชอบดื่มน้ำเมาที่ทำขึ้นจากต้นอินทผลัม และต้นตาล รัฐบาลจึงได้เก็บภาษีต้นไม้ชนิดนี้ในอัตราสูงมาก ดังนั้นคองเกรสจึงออกประกาศขอร้องไม่ให้พวกนี้ดื่มน้ำเมาต่อไป และทั้งได้สั่งผู้รับอาสาให้เที่ยวคอยขัดขวางตามร้านขายเหล้าชนิดนั้นด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังออกคำสั่งให้เจ้าของต้นไม้ชนิดนั้นตัดต้นไม้นั้นเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อจะปิดประตูมิให้รัฐบาลเก็บภีได้ต่อไปอีก

การคอยขัดขวางตามห้างร้านต่างๆ นี้ เป็นวิธีทำให้รัฐบาลต้องรู้สึกเดือดร้อนมิใช่น้อย ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องรีบลงมือทำการปราบปรามอย่างร้ายแรง เช่นส่งทหารไปเที่ยวทุบตีไล่พวกผู้ที่รับอาสาที่เที่ยวกีดกันห้างร้านต่างๆ บางครั้งถึงกับยิงก็มี คองเกรสเห็นความดุร้ายของเจ้าหน้าที่มีถึงเช่นนี้ จึงเปลี่ยนให้ผู้รับอาสาสตรีไปทำการกีดขวางห้างร้านแทนที่จะใช้ผู้รับอาสาชาย ถึงกระนั้นหลักการปราบปรามของรัฐบาลจะได้ลดน้อยลงประการใดก็หาไม่ คองเกรสจึงเข้าใจได้ว่า หลักวัฒนธรรมของรัฐบาลอังกฤษไม่เคารพเพศหญิงมากยิ่งไปกว่าเพศชาย จึงทุบตีได้เหมือนเพศชาย ฉะนั้นเนื่องจากไม่มีบุคคลใดยินยอมให้พี่สาวน้องสาวถูกทุบตีตราบเท่าที่ตนยังมีชีวิตอยู่ คองเกรสจึงต้องเลิกใช้ผู้รับอาสาเพศสตรีในกิจการทางนี้ และกลับสั่งให้ผู้รับอาสาชายทำการแทนดังเดิมอีก

ท่านคานธี เมื่อเห็นความดุร้ายแห่งนโยบายของรัฐบาลเช่นนี้ จึงเขียนจดหมายเปิดเผยความจริงเสนอผู้สำเร็จราชการโดยด่วน มีข้อความดังต่อไปนี้

“อาศัยความยินยอมแห่งรัฐบาลอินเดีย การปราบปรามอย่างร้ายแรง ได้เริ่มขึ้นแล้วในมณฑลเบงคอล อาสาม สหมณฑล ปัญจาบ เดลลี วิหาร อุทิศยาบางส่วนและที่อื่นๆ อีกหลายแห่งด้วยกัน ฉันรู้ว่าพณะท่านได้คัดค้านไม่ให้ใช้คำว่า ปราบปราม (Repression) ในวิธีอันเกี่ยวแก่การกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลในมณฑลเหล่านั้น ตามความเห็นของฉันเห็นว่าการกระทำใดๆ ก็ตาม ซึ่งรัฐบาลดำเนินไปโดยเกินกว่าความจำเป็นในกรณีนั้นๆ นับว่าเป็นการปราบปรามโดยมิต้องสงสัย การปล้นทรัพย์ การทุบตีพวกที่ไม่มีโทษ ความประพฤติอย่างป่าเถื่อนต่อนักโทษการเมืองในเรือนจำ รวมทั้งการเฆี่ยนตีเหล่านี้จะถือว่าเป็นการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายหรือหลักอารยธรรม หรือเป็นความจำเป็นมิได้เลยการกระทำของรัฐบาลในทางผิดกฎหมายเช่นนี้ เราจะบัญญัติศัพท์ให้เป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ นอกจากจะใช้คำว่าการปราบปรามชนิดที่ไม่ดำเนินตามกฎหมาย Lawless Repression”

“ฉันรับรองว่า ในหลักอันเกี่ยวแก่หัรตาลและกีดกันห้างร้าน พวกผู้รับอาสาได้ดำเนินการแรงไปหน่อยแต่ถึงอย่างไรก็ดี นั่นมิใช่เหตุผลที่เพียงพอถึงกับจะให้รัฐบาลนำกฎหมายอันแปลกประหลาดที่ตั้งขึ้นสำหรับปราบพวกผู้คิดหรือกระทำการปองร้ายมาใช้ห้ามปรามการกระทำหรือการประชุมที่ดำเนินไปในทางสงบได้ นโยบายเท่าที่รัฐบาลได้ดำเนินอยู่ เพื่อกำจัดพวกผู้ที่ปราศจากความผิดนั้น เราเข้าใจว่าเป็นการใช้กฎหมายในแง่ที่ผิดกฎหมายจึงสมญาว่า “การปราบปราม” อนึ่ง ถ้าอำนาจบริหารขัดขวางต่อเสรีภาพแห่งหนังสือพิมพ์ดังที่รัฐบาลเคยกระทำมา โดยอาศัยกฎหมายที่รัฐบาลได้ปฏิญาณไว้ว่า จะยกเลิกนั้น ก็เป็นอันตกอยู่ในลักษณะ “การปราบปรามนั่นเอง”

“ฉะนั้นกิจด่วนซึ่งประเทศควรจะรีบเร่งกระทำ แต่บัดนี้ คือช่วยตนให้พ้นจากอำนาจที่ตัดเสรีภาพในการพูด การประชุม การเขียน”

ในสถานการณ์เช่นนี้ มีทางเดียวที่ประเทศจะพึงดำเนินได้คือ ทางอหิงสา เพื่อบังคับให้รัฐบาลยอมตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งสิทธิเบื้องต้น คือเสรีภาพในการพูดประชุมและเขียน ตามความเห็นของฉัน เหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เกิดมีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ย่อมส่อให้เห็นว่ารัฐบาลได้ผิดแผกไปจากทางของอารยชน ดังที่พณะท่านได้แจ้งไว้ว่าจะดำเนิน…กล่าวคือ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายไม่ขัดขวางกิจการของคณะไม่ร่วมมือ ตราบเท่าที่คณะนั้นจะรักษาหลักอหิงสาไว้พร้อมทั้งกายและวาจา หากรัฐบาลได้รักษาความเป็นกลางไว้ (neutral) และปล่อยให้มติประชาชน (public opinion) แน่นแฟ้นขึ้น จนปรากฎผลอย่างเต็มที่ได้ ฉันคงจะแนะนำให้งดการดำเนินนโยบาย การขัดขืนกฎหมายเสีย จนกว่าคองเกรสจะมีอิทธิพลทั่วประเทศ ถึงกับกำจัดการปองร้ายได้ทุกประการ และนำมหาชนอันมีจำนวนแสนๆ ให้ดำเนินการขัดขืนกฏหมายด้วยวินัยอันดียิ่ง แต่ว่าการปราบปรามอย่างที่ไม่ดำเนินตามกฎหมาย (ดังที่ไม่มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของประเทศที่อับโชคนี้) เป็นเหตุให้การดำเนินนโยบายการขัดขืนกฎหมายโดยมหาชน (Mass civil disobedience) กลายเป็นหน้าที่ประจำยิ่ง คณะกรรมการบริหารแห่งคองเกรสตกลงกันแล้วว่า จะดำเนินหลักการขัดขืนกฎหมายโดยมหาชนคราวละแคว้น ซึ่งฉันจะเป็นผู้เลือกให้ บัดนี้เลือกแคว้นบรรโดลีแล้ว อาศัยอำนาจที่คองเกรสได้มอบให้ฉัน ฉันคงจะอนุญาตให้แคว้นคุนตรูที่มีหมู่บ้าน ๑๐๐ ตำบลดำเนินหลักการขัดขืนกฎหมายก็ได้ ทั้งนี้ถ้าพวกเหล่านั้นรับว่าจะยึดมั่นอยู่ในหลักอหิงสา จะตั้งความสามัคคีกันระหว่างชั้นและวงงาน จะทำการทอผ้า และนุ่งห่มผ้าอินเดียด้วยมือ”

“แต่ก่อนที่ชาวบรรโดลี จะเริ่มดำเนินการขัดขืนกฎหมายอย่างจริงจัง ฉันของร้องพณะท่านผู้เป็นประมุขแห่งรัฐบาลอินเดียด้วยความเคารพว่า ขอให้พณะท่านจงพิจารณาดูนโยบายของรัฐบาลอีกที และปล่อยนักโทษการเมืองที่ได้รับโทษแล้ว หรือที่ยังคอยคำพิพากษาอยู่ เพราะกิจการที่ดำเนินไปในทางความไม่ปองร้าย ทั้งขอให้รัฐบาลเปิดเผยนโยบายที่ไม่ขัดขวางกิจการ ที่ไปในทางอหิงสา จงทุกประการ ถึงแม้ว่ากิจการเหล่านั้นจะตกอยู่ในลักษณะโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายปราบปรามประการใดๆ ฉันขอร้องต่อไปอีกว่า ขอให้พณะท่านยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่รอนเสรีภาพหนังสือพิมพ์และคืนจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ปรับหรือยึดไว้แต่ก่อนเสียเท่าที่ขอร้องนี้ ได้ขอร้องเฉพาะสิ่งที่รัฐบาลที่ถือตนว่าเป็นอารยชนทำกันอยู่ในทุกประเทศทุกวันนี้ ถ้าพณะท่านเห็นว่าจะสามารถแก้ไขนโยบายตามคำขอร้องนี้ได้ ขอได้แจ้งให้ทราบภายใน ๗ วัน ตั้งแต่วันที่นำจดหมายฉบับนี้ลงประกาศ ฉันจะเตรียมงดหลักการขัดขืนกฎหมาย จนกระทั่งกรรมการต่างๆ ซึ่ง ณ บัดนี้ถูกกักขังอยู่ เมื่อถูกปล่อยให้พ้นโทษแล้วจะพิจารณาสถานการณ์ใหม่ ถ้ารัฐบาลดำเนินตามคำขอร้องนี้ ฉันจะถือว่า รัฐบาลมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเคารพมติมหาชน ถ้าเป็นเช่นนั้นฉันจะไม่ลังเลใจในการแนะนำประเทศให้ดัดแปลงมติมหาชน โดยปราศจากการบังคับประการใดๆ และปล่อยมติมหาชนให้ร้องเรียกสิทธิโดยตนเองจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้น เราจะดำเนินนโยบายการขัดขืนกฎหมายเฉพาะในเมื่อรัฐบาลวางนโยบายผิดแผกออกไปจากนโยบายที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดหรือในเมื่อรัฐบาลปฏิเสธ หรือไม่อ่อนน้อม ต่อมติส่วนใหญ่แห่งพลเมืองอินเดีย”

ตั้งแต่วันที่จดหมายของท่าน ลงประกาสในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่กี่วัน รัฐบาลก็ออกคำแถลงการณ์ตอบจดหมายของท่านคานธี มีใจความคัดค้านคำกล่าวหาของท่าน แล้วยุติลงด้วยคำพูด “อินเดียมีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง คือ การไม่ดำเนินตามกฎหมายพร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาจากนั้นทางหนึ่ง กับการดำเนินตามหลักที่ถือว่าเป็นรากฐานแห่งรัฐบาลที่อาศัยอารยธรรมอีกทางหนึ่ง”

คำแถลงการณ์ของรัฐบาล ได้ประกาศแพร่หลายไปทั่ว ณ วันที่ ๖ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๒๒ วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๗ ท่านคานธีได้ลงประกาศคำตอบคัดค้านคำแถลงการณ์รัฐบาลมีใจความว่า

“ประชาชนอินเดีย มิใช่ผู้ไม่ยอมดำเนินตามกฎหมายรัฐบาลต่างหากที่ไม่ดำเนินตามกำหมาย ทั้งกระทำกิจอันสมแก่ผู้เป็นป่าเถื่อน เช่น
๑. เจ้าหน้าที่ทางการสั่งให้ยิงผู้ไร้อาวุธทั้งหลายในอำเภอเอนตาลีแห่งเมืองกัลกัตตา มิหนำซ้ำประพฤติต่อซากศพอย่างไร้มนุษยธรรม
๒.รัฐบาลได้ยอมรับแล้วว่า เจ้าหน้าที่พลเรือนฝ่ายสันติบาลได้ดำเนินอย่างดุร้ายฉกรรจ์(brutally)
๓. เจ้าหน้าที่ทางการสั่งให้ทำรายงานการประชุมที่เมืองทากา (ในเบงคอล) โดยใช้กำลังและจับเท้าผู้ไร้โทษทั้งหลายลากไปตามถนน
๔. ในเมืองอาลิคท เจ้าหน้าที่ได้จัดการกับผู้รับอาสาคองเกรสในทำนองเดียวกันนี้
๕. ในเมืองลาโทร (ในปัญจาบ) ทางการได้จัดการกับพวกผู้รับอาสาและมหาชนอย่างร้ายฉกรรจ์ และโดยมิจำเป็นดังปรากฎอยู่ในรายงานของคณะกรรมการ มีท่านโคกุลจันทร์เป็นประธาน
๖. ในเมืองซาสันธร ทางการได้จัดการกับพวกผู้รับอาสาอย่างไร้มนุษยธรรม (inhuman)
๗. ในเมืองเดหราดุน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพร้อมด้วยลูกน้องได้ยิงเด็กคนหนึ่งเสีย ทั้งได้ทำการปล้นทรัพย์ของชาวบ้าน ตามบ้านนอก ซึ่งแม้รัฐบาลวิหารก็ได้ยอมรับรองแล้ว
๘. ในเมืองโรมปุร ทางการได้สั่งให้เผาผ้าที่ทำขึ้นในอินเดีย พร้อมทั้งเอกสารต่างๆ ของคองเกรส
๙. ทางการสั่งให้ค้นสำนักงานของคองเกรสและทำการจับกุมในเวลาเที่ยงคืน

นี่แหละคือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ดำเนินตามกฎหมาย ได้แต่ดำเนินในทางแห่งความเป็นป่าเถื่อน (barbarism) เท่าที่แนยกเอามากล่าวนี้ นับว่าเป็นส่วนน้อยแห่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอินเดียอย่างจริงจัง ฉันขอกล่าวโดยไม่กลัวจะถูกคัดค้านว่า อัตราแห่งการไม่ดำเนินตามกฎหมายเท่าที่รัฐบาลกำลังกระทำอยู่ในอินเดีย ณ บัดนี้ ทำให้การประหัตประหารในเมืองชาลิยานวาลาวาคกลายเป็นเหตุการณ์เล็กน้อยไป ฉันเชื่อแน่ว่าการประหัตประหาร อย่างไร้มนุษยธรรมที่ได้กระทำมาแล้วในเมืองชาลิยานวาลาวาคนั้น เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในสมัยปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าขาวสะอาดกว่ากัน และข้อที่น่าสังเวชที่สุดคือ เนื่องจากประชาชนไม่ได้ถูกยิงหรือถูกฆ่าโดยตรงทีเดียว แต่ได้รับความทรมานอย่างร้ายกาจ โดยค่อยๆ กระทำไปอย่างที่คนธรรมดามองไม่เห็นชัด ผลซึ่งเกิดขึ้นจากการทรมานนั้น ยังไม่พอที่จะทำให้ทุกๆ คนก่อการกบฎต่อรัฐบาล”

“ฉันขอยืนยันว่า ในการยกเหตุร้ายต่างๆ มากล่าวนี้ ฉันได้พินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดละออก โดยสายกลางเป็นกรณี ฉะนั้นวิถีทางที่ประชาชนจะพึงเลือกถือได้ มิใช่ทางตามที่คำแถลงการณ์ของรัฐบาลได้กล่าวไว้ คือ “การไม่ดำเนินตามกฎหมายพร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาทางหนึ่ง กับการดำเนินตามหลักที่ถือกันว่า เป็นรากฐานแห่งรัฐบาลที่อาศัยอารยธรรมอีกทางหนึ่ง” คำแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า “การขัดขืนกฎหมายโดยมหาชน เป็นอันตรายแก่รัฐอย่างร้ายแรงถึงกับรัฐบาลต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนั้น ด้วยความเหี้ยมเกรียมและเคร่งครัด ทางที่ประชาชนอินเดียจะพึงเลือกได้มีแต่ทางเดียว คือการขัดขืนกฎหมายพร้อมทั้งอันตรายที่สืบเนื่องมากับการปราบปรามการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยนโยบายที่ไม่ยอมดำเนินตามกฎหมาย ฉันเห็นว่าเป็นการเหลือวิสัยเหลือเกินเพราะกลัวอย่างที่มองไม่เห็นตัวตนที่ผู้มีเกียรติยศคนใดจะทนนั่งดูดาย ไม่พยายามแก้ไขในเมื่อรัฐบาลกระทำการปล้นทรัพย์ และทำร้ายผู้ไม่มีความผิดทั่วประเทศ ในนามแห่งกฎหมายและความสงบเรียบร้อย”

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีผู้เผด็จการ

คานธี
ภายใต้การนำของท่านคานธี หลักการไม่ร่วมมือได้ดำเนินไปด้วยดีและแพร่หลาย ดุ๊คออฟคอนน๊อตเสด็จเยี่ยมประเทศอินเดีย ทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามกำหนด แต่ฝ่ายประชาชนอินเดียไม่มีใครต้อนรับศิลปการทอผ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ ทุกประเภท ได้เจริญยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นิสิต-นิสิตานับหมื่นๆ ต่างได้พากันบอยค๊อตมหาวิทยาลัยและสมัครเข้ารับอาสาคณะคองเกรส การหยุดงาน หัรตาล เป็นต้น กลายเป็นเรื่องธรรมดา เกือบจะเป็นกิจวัตรประจำวัน

ตรงกับเวลาที่อินเดียกำลังตื่นตัวอยู่ดังกล่าวนี้ รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการคนเก่า และแต่งตั้งให้ลอร์ดริดิงเข้าทำหน้าที่แทน ในเชิงการทูต ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมาก โดยเหตุที่ในเวลาสงครามโลกท่านเคยครองตำแหน่งราชทูตสหปาลีรัฐอเมริกา และชักชวนประเทศอเมริกาให้เข้าฝ่ายพันธมิตรจนได้ นอกจากนั้นท่านยังเคยครองตำแหน่งผู้พิพากษามาแล้วหลายปี ฉะนั้นผู้นำแห่งคณะพรรคการเมืองอื่นๆ เห็นสมควรที่จะจัดการให้มีการพบปะกันระหว่างผู้สำเร็จราชการกับท่านคานธีขึ้น ในที่สุดเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการได้พบปะกัน ณ เมืองสิมลาอันเป็นที่พักอาศัยสำหรับฤดูร้อนของผู้สำเร็จราชการ ประชาชนพร้อมทั้งผู้นำแห่งคณะพรรคต่างๆ ต่างมีหวังกันว่า การพบปะของท่านทั้งสองคนนี้ คงจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสงบและการประนีประนอม ระหว่างอินเดียกับอังกฤษ แต่ความจริงการพบปะนั้นหาได้ประสพผลสมดังประสงค์ไม่ ต่อมาท่านคานธีได้ประกาศเปิดเผยออกมาว่าการพบปะกันคราวนั้น เป็นเพียงแต่การกล่าวย้ำหลักอหิงสาเท่านั้นเอง ความไม่สงบ การขันขืนกฎหมายเป็นต้น จึงยังดำเนินเรื่อยไปตามเคย

พอดีประจวบกับเวลานี้รัฐบาลประกาศว่า ปรินส์ออฟเวลส์จะเสด็จเยี่ยมอินเดีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ ในทันทีทันใดนั้นเอง คองเกรสได้ออกประกาศแก่ประชาชนทั่วไป ให้บอยค๊อตการเสด็จของปรินส์ออฟเวลส์ทั้งได้ชักชวนประชาชน ให้สมัครเป็นผู้รับอาสาดำเนินการบอยค๊อตปรินส์ออฟเวลส์ด้วย คำประกาสของคองเกรสในคราวนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษขุ่นเคืองมากยิ่งกว่าการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษเสียอีก ฉะนั้นเมื่อระยะเวลาเสด็จใกล้เข้ามารัฐบาลจึงต้องออกประกาศใช้กฎอัยการศึก และทั้งประกาศประนามโทษคณะผู้รับอาสาว่าเป็นคณะนอกกฎหมาย (Outlaws)

คำประกาศนี้ ได้ประสพผลตรงกันข้ามกับความคาดหมายของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลประกาศว่า คณะผู้รับอาสาของคองเกรส ถือว่าเป็นคณะนอกกฎหมาย ดังนั้นคองเกรสก็ลงมติท้ารัฐบาลขัดขืนคำประกาศนั้นทันที โดยออกประกาศชักชวนประชาชนให้สมัครเป็นผู้รับอาสาโดยด่วน อนึ่งการที่รัฐบาลประกาศนามดทษคณะ อันดำเนินกิจการในทางที่สงบโดยไม่คิดประทุษร้ายต่อบุคคลใดว่าเป็นคณะนอกกฎหมายนั้น เป็นเหตุให้ผู้นำแห่งพรรคอื่นๆ มองเห็นใจจริงของคองเกรสด้วย จึงได้พากันมาลงชื่อเป็นผู้รับอาสา ภายในวันเดียวเฉพาะในเมืองกัลกัตตามีคนสมัครเป็นผู้รับอาสานับจำนวนกว่า ๕,๐๐๐ คน ไม่ต้องกล่าวถึงผล การสมัครเป็นผู้รับอาสา โดยขัดขืนคำประกาศของรัฐบาลจะต้องเกิดผลร้ายแก่ผู้สมัครในภายหลังอย่างแน่นอน กล่าวคือ เมื่อคองเกรสท้ารัฐบาลว่าจะขัดขืนคำสั่งฉันใด รัฐบาลก็ท้าคองเกรสว่า จะดำเนินนโยบายอย่างปราบปรามผู้ร้ายฉันนั้น ฉะนั้นภายในไม่กี่วันเรือนจำทุกแห่ง จึงเต็มยัดเยียดไปด้วยนักโทษผู้รับอาสาถึงกับรัฐบาลต้องใช้เต็นท์เป็นเรือนจำชั่วคราวขึ้น จำนวนผู้รับอาสาที่ได้มีโอกาสเยี่ยมเรือนจำอังกฤษ ในทำนองนี้มีราว ๘๐,๐๐๐ คน แต่เป็นสุภาพสตรีเสีย ๕,๐๐๐ คน

ถึงแม้รัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายปราบปรามอย่างร้ายแรงเพียงไรก็ตาม กระนั้นจะถึงกับทำให้กิจการของคองเกรสหยุดชงักลงก็หาไม่ พวกผู้นำต่างๆ เช่นท่านจิตรัญชันทาส บัณฑิตมติลาลเนหรู บัณฑิตชวาหัรลาลเนหรู ถูกจำคุกในฐานะเป็นผู้นอกกฎหมายแทบทุกท่าน แต่รัฐบาลยังไม่กล้าจับมหาตมะคานธีโดยตรงทีเดียว โดยเกรงว่าถ้าท่านคานธีถูกจับความไม่สงบเท่าที่มีอยู่ จะเพิ่มพูนทวีคูณยิ่งขึ้นจนเหลือกำลังที่จะปราบปรามได้

เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในฐานะตรึงเครียดเช่นนี้ ผู้นำแห่งคณะพรรคอินดิเปนเดนส์ (Independence Party) ชื่อบัณฑิตมทนโมหนมาลวย กับศาสตราจารย์ฝ่ายเคมีแห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ชื่อ เซอรปรผุลล จินทรราย รวมกันจัดการให้ท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการได้พบปะสนทนากันคงจะวางข้อตกลงหรือทำการประนีประนอมกันได้บ้าง

เนื่องจากรัฐบาลได้ทำการปราบปรามในมณฑลเบงคอลร้ายยิ่งกว่ามณฑลอื่นๆ ทั้งคองเกรสก็ได้ตกลงกันแน่นอนที่จะทำการหัรตาล ณ เมืองกัลกัตตา เมื่อปรินส์ออฟเวลส์จะเสด็จมาที่นั้น ท่านสองคนจึงได้ไปหาลอร์ดโรนาลด์เซข้าหลวงประจำเบงคอลเสียก่อน แต่ท่านลอร์ดผู้นี้ ได้ตอบว่าสถานการณ์เบงคอลในปัจจุบันนี้ ถึงความตรึงเครียดเสมือนสถานการณ์ในยามสงครามแล้ว รัฐบาลจึงไม่สามารถที่จะผ่อนผันลงได้แม้แต่น้อย

เมื่อหมดหวังในคำตอบของข้าหลวงเบงคอล ท่าน ๒ คนก็พากันไปหาผู้สำเร็จราชการ คือ ลอร์ดริดิง ขอร้องให้ท่านเรียกประชุมโต๊ะกลม แห่งบรรดาผู้นำอินเดียทั้งหลาย เพื่อทำการประนีประนอมปรองดองกันด้วยดี แต่ท่านผู้สำเร็จราชการตอบว่า เป็นการเหลือวิสัยสำหรับรัฐบาลที่จะพิจารณาถึงการเรียกประชุม ถ้าหากการตื่นตัวและการขัดขืนกฎหมายยังทำกันอยู่โดยมีเจตนาเช่นนี้ เมื่อได้ประกาศคำตอบของท่านผู้สำเร็จราชการให้ทราบทั่วถึงกันแล้ว ท่านคานธีตอบแก่ผู้แทนฝ่ายหนังสือพิมพ์ว่า

“ฉันขอกล่าวซ้ำอีกพันครั้งว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้ต้องไม่ถือว่าเป็นอริต่อชาติใดหรือคณะใด แต่มุ่งต่อระเบียบการดำเนินของรัฐบาลอินเดีย ดังที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ และฉันขอปฏิญาณว่า การขู่เข็ญหรือการปราบปรามประการใด ที่ผู้สำเร็จราชการหรือคณะใดอาจกระทำได้นั้น จะทำให้การตื่นตัวนี้สงบลงไม่ได้เป็นอันขาด”

เมื่อความพยายามของท่านทั้ง ๒ คนนี้ได้ล้มลงโดยมิได้บังเกิดผลอย่างไร ก็ไม่ต้องสงสัย กิจการของคองเกรสกับการปราบปรามของรัฐบาลจำต้องดำเนินเป็นคู่เคียงกันไปเป็นธรรมดา ปรินส์ออฟเวลส์เสด็จถึงเมืองกัลกัตตา ณ วันที่ ๒๘ เดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ หัรตาลในเมืองกัลกัตตาได้ดำเนินไปอย่างมิเคยมีมาแต่ก่อน เมืองอันมีพลเมืองประมาณ ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน ดูเหมือนที่เปล่าเปลี่ยวดังสุสาน ในแผ่นธงดำพาดหัวข้อต่างๆ เช่น “India does not welcome Prince of Wales” โบกสบัดอยู่บนปลายเสาเกือบทุกบ้าน รัฐบาลรู้สึกตกตะลึงในการต้อนรับอย่างแปลกประหลาดเช่นนี้ พวกฝรั่งเห็นการต้อนรับรัชทายาทอังกฤษเช่นนี้ รู้สึกขุ่นเคืองถึงกับกล่าวหารัฐบาลว่าดำเนินนโยบายการปราบปรามยังไม่พอแก่สถานการณ์สมาคมพาณิชย์อังกฤษแนะนำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายปราบปรามให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น แต่รัฐบาลหมดหนทางไม่รู้ว่าจะปราบปรามอย่างไร เพราะว่ากฎหมายที่รัฐบาลประกาศใช้ในการปราบปรามนั้น มีการลงโทษอย่างสูงสุด คือการประหารชีวิตอยู่แล้ว

การสำเร็จผลในการดำเนินหัรตาล ในเมืองกัลกัตตาเป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสในนโยบายของท่านคานธี และในสมรรถภาพของท่านจิตรัญชันทาสผู้นำแห่งเบงคอลเป็นอย่างสูง ทั่วอินเดียจึงพากันเลือกท่านผู้นี้เป็นประธานของสภาคองเกรส ที่ได้นัดประชุมในปลายเดือนธันวาคม ณ เมืองอาหัมมทาวาท แต่เป็นความเสียใจสำหรับอินเดียมิใช่น้อยที่ในสมัยนั้นท่านยังพักอยู่ในเรือนจำ ฉะนั้นท่านเมาลานาฮัซ รัตโมหานิจึงทำหน้าที่วันนี้แทน

สภาคองเกรสได้เห็นผลสำเร็จแห่งนโยบายการไม่ร่วมมือของท่านคานธีอย่างไม่ได้นึกฝัน จึงตกลงมอบอำนาจบริหารให้ท่านคานธีอย่างเด็ดขาด โดยตั้งให้เป็นผู้เผด็จการแห่งคองเกรสต่อไป ตราบเท่าที่คณะกรรมการคองเกรสเห็นสมควร

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

สถานการณ์อินเดียสมัยดำเนินนโยบายไม่ร่วมมือของคานธี

คานธี
สมัยเมื่อท่านคานีหรือสภาคองเกรส ประกาศนโยบายการไม่ร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษ สถานการณ์อินเดียในทางการเมือง กำลังตกอยู่ในกระแสความผันแปรอย่างสำคัญกล่าวคือ ตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ว่าจะให้ Dominion Status แก่อินเดียในเมื่อสงครามโลกได้สิ้นสุดลงแล้วนั้น เมื่อถึงคราวเข้าจริงรัฐบาลให้เพียงรัฐธรรมนูญแก่อินเดียฉบับหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าไม่เป็นที่พอใจของชาติอินเดีย ทั้นี้ก็เพราะว่า ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แบ่งอำนาจการปกครองไว้เป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ได้แก่อำนาจที่โอน (Transferred Power) และอีกประเภท ๑ ได้แก่อำนาจที่สงวนไว้ (Reserved Power) อำนาจประเภทที่โอนให้นั้น หมายถึงอำนาจปกครองที่รัฐบาลได้โอนแก่ชาวอินเดีย ซึ่งมีอยู่ ๔ แผนก คืออำนาจการเทศบาล ๑ อำนาจการตั้งงบประมาณ ๑ ส่วนอำนาจที่สงวนไว้นั้นได้แก่อำนาจที่รัฐบาลอังกฤษยังสงวนไว้ ซึ่งมีอยู่ ๔ แผนกคืออำนาจการทหาร ๑ อำนาจการคลัง ๑ อำนาจตำรวจ ๑ และอำนาจกรมชลประทาน ๑

อาศัยหลักดังนี้ พอที่จะเห็นไว้ชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมิได้ให้อำนาจที่แท้จริงแก่อินเดียแม้แต่น้อย เพราะว่าการให้อำนาจการตั้งงบประมาณ โดยสงวนการคลังไว้ในกำมือเปรียบเสมือนว่าการใช้สิทธิใช้เงิน แต่ไม่ออกเงินให้ใช้ ในทำนองเดียวกันนี้การให้อำนาจเกษตร โดยสงวนการชลประทานไว้ และให้อำนาจการธรรมการ โดยไม่ยอมมอบเงินให้ในการบำรุงขยายการศึกษา ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน การคลังเสมือนลูกกุญแจในการดำเนินกิจการทั้งปวง ถ้ายังสงวนอำนาจการคลังไว้ในกำมือ ก็แปลว่าถึงจะโอนอำนาจอื่นๆ ให้ทั้งหมดก็นำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์มิได้ มีอำนาจสำคัญอีก ๒ ประการ ซึ่งนับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเป็นจิตใจสำคัญในการปกครองบ้านเมือง คือการตำรวจและการทหาร ตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น อำนาจทั้ง ๒ ประการดังกล่าวมานี้อังกฤษยังสงวนไว้ ฉะนั้นตามความเห็นของอินเดียในสมัยนั้น จึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่อังกฤาให้นี้เป็นเพียงแต่เครื่องเล่นชนิดหนึ่ง สำหรับปลอบใจเด็กขี้อ้อนเท่านั้นเอง หรืออีกประการหนึ่งเป็นการโปรปะกันดาของอังกฤษเพื่อให้โลกเห็นว่า อังกฤษได้มอบอำนาจให้แก่อินเดียแล้ว

อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อจำกัดอยู่ว่า ถึงสภาจะมีอำนาจออกพระราชบัญญัติได้ก็จริง แต่ผู้สำเร็จราชการมีสิทธิพิเศษ (คือ Power of Veto) ที่จะเผด็จร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับแม้ผ่านสภาแล้ว โดยที่ผู้สำเร็จราชการเห็นว่าไม่ควรที่จะออกเป็นกฎหมายได้อีกชั้นหนึ่งนั้นเป็นอันแสดงว่า สภาไม่มีอำนาจที่จะบังคับรัฐบาลให้ดำเนินตามมติของสภา เมื่อรูปการเป็นเช่นนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องเปรียบเสมือนสโมสรการโต้วาที ที่มีอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ เท่านั้น

อาศัยเหตุผลดังบรรยายมานี้ ท่านคานธีจึงได้เสนอญัตติต่อสภาคองเกรส ขอให้แนะนำประชาชนชาวอินเดียพร้อมใจร่วมมือบอยค๊อตรัฐธรรมนูญใหม่นี้โดยประการทั้งปวง

ถึงแม้อินเดียจะได้ตั้งข้อคัดค้านต่อหลักการรัฐธรรมนูญนี้อย่างแรงกล้ากันก็จริง แต่อังกฤษก็ยังดื้อดึงหายอมฟังเสียงอินเดียไม่ ในที่สุดร่างอันว่าด้วยรัฐธรรมนูญอินเดีย ก็ได้รับการยินยอมพร้อมใจของสภาปารเลียเมนต์ ทางราชการจึงได้ประกาศออกเป็นพระราชบัญญัติแล้วนำมาใช้ในอินเดียพรรคการเมืองคณะ Moderate ความจริงถึงจะไม่พอใจ ก็จำต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น และสมัครผู้แทนราษฎรเตรียมเข้านั่งในสภาผู้แทนตามระบอบรัฐธรรมนูญใหม่นี้ องค์จักรพรรดิ์ทรงแต่งตั้งให้ดุ๊คออฟคอนน๊อต เป็นผู้ประกอบการพิธีเปิดสภาผู้แทนขึ้นเป็นปฐมฤกษ์แทนพระองค์

คองเกรสภายใต้การแนะนำของท่านคานธี ประกาศให้ประชาชนบอยค๊อตการเสด็จของดุ๊คออฟคอนน๊อต ความตื่นเต้นจึงได้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกด้านทุกมุมของอินเดียทำให้รัฐบาลต้องตาบอดมองไม่เห็นลู่ทางว่าจะนำความสงบกลับคืนสู่อินเดียก่อนหน้าการเสด็จของท่านดุ๊คได้อย่างไร

พร้อมๆ กับการตื่นตัวในทางการเมืองดังกล่าวนี้เกิดมีความวุ่นวายขึ้น ในทางการพาณิชย์ผสมอีกทางหนึ่งด้วย กล่าวคือเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า อำนาจอันใหญ่หลวงของชาวอังกฤษนั้นเกิดขึ้นเพราะการพาณิชย์เป็นกระดูกสันหลัง การที่ชาวอังกฤษพยายามเข้าไปในประเทศต่างๆ ของโลก ก็โดยมีความมุ่งหมายจุดสำคัญยิ่งอยู่ว่าจะขายสินค้าของตน ฉะนั้นการที่ชาวอังกฤาใคร่จะยึดอินเดียไว้ก็โดยมีความมุ่งหมายไม่แตกต่างไปจากหลักที่กล่าวมาแล้ว ดังเราจะเห็นได้ชัดจากถ้อยคำของเซอรยอนห์นสันฮิกส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยเมื่อท่านบอลด์วินเป็นอัครมหาเสนาบดีครั้งแรก

“เรามิได้ชนะอินเดีย เพื่อประโยชน์ของอินเดีย ฉันรู้แก่ใจดีว่า พวกบาทหลวงมักชอบพูดกันในที่ประชุมเสมอว่า เราชนะอินเดียเพื่อจะยกฐานะของอินเดียให้สูงขึ้นนั้น เป็นคำพูดอย่างหน้าไหว้หลังหลอก เราตีอินเดียเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอังกฤษออก เรารบอินเดียชนะได้ด้วยดาบฉันใด เราจะกำอินเดียไว้ด้วยดาบฉันนั้น ฉันพูดพล่อยๆ ว่าเรากำอินเดียไว้เพื่อประโยชน์ของอินเดียอย่างคนหน้าไหว้หลังหลอกพูดกันไม่ได้ เรายึดอินเดียไว้เป็นตลาดเอกสำหรับระบายสินค้าอังกฤษทั่วไป และโดยเฉพาะผ้าแลงไซรเป็นพิเศษ”

หลักสำคัญแห่งการยึดอินเดียไว้คือการขายผ้า และว่าผ้าเป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง อังกฤษมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญแห่งการใช้ผ้านี้ จึงได้พยายามจะทำลายอุตสาหกรรมทอผ้า ซึ่งอินเดียเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาแล้วแต่สมัยโบราณเสีย ตั้งแต่แรกมาในการทำลายอุตสาหกรรมทอผ้า อังกฤษได้ดำเนินนโยบายหลายประการ เราอาจเห็นได้จากถ้อยคำของวิลเลียมบอลตร์ผู้เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ในสมัยต้นแห่งรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย

“การข่มเหงรังแกพวกทอผ้า ดังที่บริษัทอิสต์อินเดียกระทำนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น การปรับเงิน การจำคุก การเฆี่ยนตี การบังคับให้เซ้นชื่อในสัญญาเป็นต้น การข่มเหงคะเนงร้ายโดยวิธีเหล่านี้เป็นเหตุทำให้จำนวนพ่อค้าลดน้อยถอยลงทุกที เคยกระทำการทารุณกรรมพวกทอผ้าถึงกับจับตัดหัวแม่มือเสีย เพื่อไม่ให้กรอด้ายได้ก็มี”

เมื่ออุตสาหกรรมทอผ้าของอินเดีย ต้องล้มลงเพราะเหตุดังกล่าวนี้แล้ว อังกฤษก็เริ่มตั้งโรงทอผ้าขึ้นในบ้านเมืองของตนและนำผ้าที่ทอได้นั้นมาขายในอินเดีย ในตอนนี้อังกฤาได้ลูกค้าชาวอินเดียรับซื้อผ้าประมาณ ๓๕๐,๐๐๐,๐๐๐ คน รัศมีแห่งความเจริญวัฒนาถาวรแห่งอุตสาหกรรมทอผ้าของอังกฤา จึงค่อยๆ เริ่มแตกแสงทองขึ้นโดยลำดับกาล เงาความเสื่อมโทรมแห่งเศรษฐกิจได้เริ่มปกคลุมอินเดีย และขยายตัวแผ่ไพศาลไปทั่วทุกตำบล

มหาตมะคานธีมีความเข้าใจซาบซึ้งในข้อนี้ดีที่สุดว่าการต่อต้านกับรัฐบาลอังกฤษนั้น อินเดียจะต้องต่อสู้ในทางเศรษฐกิจ พูดสั้นๆ ก็คือ อินเดียต้องเลิกซื้อสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือสินค้าอังกฤษทุกประการ แล้วช่วยกันตั้งต้นใช้สินค้าอินเดียกันทุกคน ส่วนสิ่งของที่อินเดียยังทำขึ้นเองไม่ได้ ให้ซื้อจากประเทศอื่น นอกจากประเทศอังกฤษ

เนื่องจากผ้าเป็นสินค้าสำคัญของอังกฤษ และทั้งเป็นสินค้าที่นำเงินอินเดียออกนอกประเทศอย่างนับจำนวนไม่ถ้วนด้วย ท่านจึงได้วางกติกาของคองเกรสว่า

๑. สมาชิกทุกคนต้องแต่งเครื่องเสื้อผ้า ที่ทำขึ้นจากโรงงานหัตถกรรมของอินเดีย ห้ามไม่ให้ใช้เสื้อผ้าที่ทำขึ้นจากโรงเครื่องจักร ทั้งนี้เพราะว่าเครื่องจักรอินเดียต้องซื้อจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากที่โรงหัตถกรรมยังมีจำนวนน้อยจึงไม่สามารถจะทอผ้า ให้พอแก่ความต้องการของอินเดียทั่วประเทศได้ จึงได้แนะนำให้พวกที่ไม่ใช่สมาชิกของคองเกรสใช้ผ้าที่ทำจากโรงเครื่องจักรแทนได้
๒. สมาชิกทุกคนต้องทำด้ายให้ได้ปีละ ๔๐๐ หลา
๓. สมาชิกผู้ใดไม่สามารถเสียเงินค่าบำรุง ตามที่ได้กำหนดไว้ว่าปีละสลึง มีสิทธิที่จะใช้ด้ายขนาดราคานั้นแทนค่าบำรุงได้

เพื่อตักเตือนประชาชนให้ระลึกถึงอยู่เสมอว่า ผ้าเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษ และกู้ฐานะเศรษฐกิจของอินเดีย ท่านจึงแนะนำให้เขียนภาพเครื่องปั่นฝ้ายไว้บนธงชาติอินเดีย ยิ่งกว่านั้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้มองเห็นได้ชัด ท่านเริ่มปั่นด้ายเองทุกวัน ประดุจเป็นกิจวัตรประจำ แม้ในขณะที่ไปแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุมต่างๆ ท่านก็ยังนำเครื่องปั่นฝ้ายติดตัวไปด้วย เวลาหยุดแสดงสุนทรพจน์ ท่านทำการปั่นฝ้ายเรื่อยไปโดยไม่หยุดมือ

การแนะนำให้อินเดียเริ่มทำผ้าของท่านคานธีนี้ได้ประสพผลอย่างไม่มีใครนึกฝัน ยุวชนร่วมกันตั้งสมาคมทำผ้าเกือบทั่ว ทุกถนน ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ห้องพลศึกษาต่างๆ เปิดแผนกขึ้นเป็นพิเศษ พวกผู้ปกครองบังคับให้โรงเรียนเปิดสอนวิชาทำผ้าขึ้นเป็นวิชาพิเศษ เครื่องปั่นฝ้ายกลายเป็นของขวัญอันมีค่า และเกียรติยศอย่างสูง

คองเกรสจัดการรวบรวมผ้าอังกฤษตามบ้านทั่วไป แล้วนัดประชุมเผาผ้าเหล่านั้นเสีย ในงานมหรสพต่างๆ ออกข้อบังคับ ไม่ยอมให้ใครเข้าถ้าไม่นุ่งผ้าอินเดีย มีผู้รับอาสาคอยเฝ้าประตู ตรวจดูผ้าของผู้ที่จะผ่านประตูเข้าไปอย่างละเอียดว่า เป็นผ้าอินเดียหรือไม่

การบอยค๊อตผ้าอังกฤษอย่างเคร่งครัดเช่นนี้ เป็นเหตุให้โรงทำผ้า ณ เมืองแลงไซรของอังกฤษต้องหยุดงานถึงกับล้มไป ๑๐ กว่าโรง

พร้อมๆ กับขณะบอยค๊อตผ้าอังกฤษ ท่านได้แนะนำให้บอยค๊อตบุหรี่อังกฤษด้วย เป็นที่น่าชมมิใช่น้อยที่เริ่มแต่คองเกรสประกาสให้เลิกสูบบุหรี่อังกฤษ ภายในเวลาชั่ววันเดียวเท่านั้น ทำให้การขายบุหรี่ตกต่ำลงอย่างมากมายถึงกับอีกไม่กี่เดือน บริษัทเวอรยิเนีย ณเมืองกัลกัตตาต้องล้ม

โดยอาศัยแนว ๒ ประการคือบอยค๊อตการเสด็จของท่านดุ๊คออฟคอนน๊อต กับการบอยค๊อตสินค้าต่างประเทศหรือโดยเฉพาะสินค้าอังกฤษ ท่านคานธีได้แผ่หลักการไม่ร่วมมือแพร่หลายไปทั่วอินเดีย

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

หลักการต่อสู้แบบอหิงสาของคานธี

คานธีโครงการไม่ร่วมมือ
ดังนั้นอาศัยเหตุการณ์ ๒ ประการคือ ความดื้อดึงของรัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน ในอันที่เกี่ยวแก่กฎหมายดำ กับความเสียสัตย์ต่อชาวอิสลาม มหาตมะคานธี จึงได้วางหลักการแห่งการไม่ร่วมมือตามจุดหมายข้างต้นไว้เป็นทางปฏิบัติต่อไป ท่านได้แบ่งหลักการไม่ร่วมือไว้เป็น ๔ ขึ้น
ขั้นที่ ๑  ต้องคืนบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งกิตติมศักดิ์
ขั้นที่ ๒  ต้องไม่ยอมรับราชการ และทั้งไม่ยอมช่วยเหลือในการบริหารราชการทุกประการ
ขั้นที่ ๓  ต้องไม่ยอมเสียภาษี
ขั้นที่ ๔  ตำรวจและทหารต้องลาออก ไม่ช่วยเหลือราชการแม้แต่ประการใด

หลักการปฏิบัติมีอยู่ว่า เมื่อได้ทำการขึ้นที่ ๑ บรรลุผลแล้ว จะลงมือทำขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ โดยลำดับไป

เพื่อเป็นตัวอย่างในการไม่ร่วมมือตามว่านี้ ท่านได้คืนเหรียญไกเซอรี-ฮินด์ ที่ท่านได้รับจากรัฐบาลมอบให้แก่ผู้สำเร็จราชการโดยเขียนจดหมายกำกับด้วยฉบับ ๑ มีข้อความต่อไปนี้

“เหตุการณ์เท่าที่ได้เกิดมีขึ้นในเดือนที่แล้วมาย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขององค์จักรพรรดิ์ ได้ดำเนินกิจการอันเกี่ยวแก่พระเจ้าขลิฟา อย่างไม่เลือกเฟ้นความดีความชั่วอย่างผิดศีลธรรมและยุติธรรม มิหนำซ้ำยังประกอบกรรมทำความผิด เพื่อจะสนับสนุนความบกพร่องความขาดศีลธรรมของตนอยู่เรื่อยๆ ไปอีกเล่า ฉันจึงไม่สามารถที่จะแสดงความเคารพ หรือทนจงรักต่อรัฐบาลเช่นนี้อยู่ได้”

“พณฯ ท่าน ได้พิจารณาความผิดของพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างไม่เห็นเป็นสำคัญ ยกโทษให้แก่เซอรไมเคล โอไดเออร์ และสิ่งที่น่าอับอายขายหน้ายิ่งกว่านั้นคือ พณฯ ท่านไม่ยอมรับรู้ในเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในปัญจาบ มร.มันเตกูรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ได้ลงบันทึกความเห็นเกี่ยวแก่เรื่องนี้ไว้อย่างที่อินเดียไม่พอใจ สภาขุนนางก็ได้แสดงท่าทีไม่เอาใจใส่ในความรู้สึกของอินเดีย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฉันระแวงใจในอนาคตแห่งราชอาณาจักร และได้ทำลายความหลงของแน ในรัฐบาลปัจจุบันเสียโดยสิ้นเชิง ทั้งเป็นเหตุทำให้ฉันไม่ยอมร่วมมือกับรัฐบาลด้วยความจงรักภักดีที่ฉันได้เคยกระทำมาก่อนจนถึงบัดนี้ด้วย

ตามความเห็นของฉัน วิธีการธรรมดาเช่นยื่นคำร้องส่งคณะผู้แทนไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นเหล่านี้ ไม่เป็นกรณีที่จะทำให้เกิดความสำนึกตัวขึ้นในใจรัฐบาล ซึ่งไม่เหลียวแลผลประโยชน์ของปวงประชาชนเสียเลย เช่น รัฐบาลอินเดียนี้ได้ ถ้าเป็นประเทศในทวีปยุโรป ผลแห่งความผิดอย่างร้ายแรง เช่นเรื่องพระเจ้าขลิฟากับเหตุร้ายในปัญจาบครั้งนี้ อาจถึงกับทำให้ประชาชนก่อการปฏิวัติขึ้นอย่างนองเลือดทีเดียว พวกเขาคงยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อต่อต้านกับการกำจัดกำลังของชาติ อินเดียครึ่งหนึ่งยังขาดความสามารถที่จะก่อการปฏิวัติอย่างนองเลือดได้ แต่อีกครึ่งหนึ่งสามารถทำได้แต่ไม่สมัครจะทำ ฉันจึงกล้าแนะนำการไม่ร่วมมือให้เป็นทางแก้ไข ทั้งนี้ก็เพราะหวังอยู่ว่าผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล จะได้ดำเนินหลักการดังนี้ไปได้อย่างเรียบร้อย โดยไม่ต้องประทุษร้ายต่อบุคคลใดๆ เลยแล้วไซร้ รัฐบาลก็จะต้องหันหลังกลับมาแก้ความผิดที่ได้กระทำมาแล้วโดยแท้ แต่ทว่า ถึงฉันจะสามารถดำเนินหลักการไม่ร่วมมือ พร้อมด้วยประชาชนเท่าที่ฉันอาจนำเขาไปได้จริง แต่ก็ยังไม่หมดหวังว่า พณฯ ท่านคงมองหาลู่ทางแสดงความยุติธรรมให้จงได้ ฉันจึงขอร้องต่อ พณฯ ท่านด้วยความเคารพว่า ขอให้ท่านเรียกประชุมบรรดาผู้นำของชาติที่ประชาชนรับรองกันจริงๆ แล้วปรึกษาหารือช่วยมองหาทางที่จะนำให้ชาวอิสลามรู้สึกพอใจและปลอบขวัญชาวปัญจาบผู้ไร้ความผาสุกให้สดชื่นขึ้น”

แต่ว่าการที่จะแนะนำหลักการไม่ร่วมมือเป็นหลักดำเนินของอินเดีย ในการสู้รบกับรัฐบาลนั้น ต้องอาศัยการยินยอมของสภาคองเกรสเสียก่อน เพราะว่าสภาคองเกรสประดุจจะดังเป็นคณะราษฎรทั่วไปของอินเดีย ฉะนั้นหลักการหรือวิธีการใด คองเกรสรับรองหรือแนะนำอินเดียส่วนมากย่อมดำเนินตามหลักการหรือวิธีการนั้น เพราะเหตุนี้ ท่านคานธีจึงเห็นเป็นการจำเป็นที่คองเกรสจะต้องเรียประชุมพิเศษโดยด่วน”

คองเกรสได้นัดประชุมพิเศษ ณ เมือง กัลกัตตา เมื่อวันที่ ๑ เดือน สิงหาคม ค.ศ.๑๙๒๐ มหาตมะคานธีเสนอญัตติขอให้คองเกรสรับรองหลักการไม่ร่วมมือโดยถ้อยคำสำคัญดังต่อไปนี้

“ด้วยรัฐบาลของพระเจ้าจักรพรรดิ์ และรัฐบาลอินเดียมิได้ดำเนินการตามหน้าที่ของอิสลาม ในอันที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องพระเจ้าขลิฟา อัครมหาเสนาบดีเสียสัตย์ต่อชาวอิสลาม ทั้งนี้เห็นว่าย่อมเป็นหน้าที่ของชาวอินเดียผู้ไม่นับถือศาสนาอิสลามจะต้องช่วยเหลือพี่น้องของเขาคือชาวอิสลาม ในกรกำจัดอันตรายที่กำลังครอบงำศาสนาของเขาอยู่ โดยอาศัยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย”

“ด้วยรัฐบาลมิได้เอาใจใส่หรือป้องกันพวกไม่มีมลทิลในปัญจาบจากเหตุการณ์ที่ได้บังเกิดขึ้น ในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ ทั้งมิได้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในความประพฤติอย่างคนป่าเถื่อน และไม่สมกับเกียรติยศของทหาร มิหนำกลับทำให้เซอร์ไมเคล โอไดเออร์ ผู้ต้องรับผิดชอบในความผิดชอบของเจ้าหน้าที่ โดยทางอ้อมก็ดี ทางตรงก็ดี หรือและผู้ไม่เอาใจใส่ในความทุกข์ทรมานของประชาชนซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเขาเหล่านั้นหลุดพ้นจากโทษไปเสีย”

“ด้วยการอภิปรายกันในสภาสามัญ และสภาขุนนางได้แสดงให้เห็นว่า สภาทั้งสองขาดความเห็นอกเห็นใจชาวอินเดีย และสนับสนุนนโยบายการประหัตประหาร (Terrorism) ดังได้ดำเนินมาแล้วในปัญจาบ”

“ด้วยคำแถลงการณ์ของผู้สำเร็จราชการ ฉบับที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงว่ารัฐบาลไม่มีความรู้สึกเสียใจในเรื่องพระเจ้าขลิฟาและปัญจาบ”

“สภาคองเกรสนี้จึงเห็นว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่แก้ไขความผิดของตนและทำขวัญ ตราบนั้นจะไม่มีความสงบในอินเดีย และว่ามีอยู่ทางเดียวที่จะรักษาเกียรติยศของชาติ และป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายเช่นเดียวกันนี้ในอนาคตอีก ทางนั้นคือ การตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้น สภาคองเกรสยังมีความเห็นเลยไปอีกว่า สำหรับชาวอินเดียไม่มีทางดำเนินอื่นใดเลือกอีก นอกจากที่จะรับรองและดำเนินนโยบายคือการไม่ร่วมมือตามหลักอหิงสา จนกว่าการกระทำผิดทั้ง ๒ กระทงนั้นจะได้รับการแก้ไข และจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นได้”

“และเนื่องด้วยผู้ที่จะเป็นผู้นำ สำหรับโครงการนี้ต้องเป็นผู้ที่เคยได้ดัดแปลงมติของมหาชน และแทนมาแล้วจนตราบเท่าทุกวันนี้”

“และเนื่องด้วยความมั่นคงแห่งอำนาจรัฐบาลย่อมอาศัยทางคือ การใช้บรรดาศักดิ์ โรงเรียนภายใต้การดูแลของรัฐบาล ศาลและสภานิติบัญญัติ”

“และเนื่องด้วยการดำเนินหลักการต่อสู้ เพื่อบรรลุผลสำเร็จ ควรจะดำเนินไปในทางที่ประชาชนจะได้รับอันตรายน้อยที่สุด และเสียสละก็น้อยที่สุด สภาคองเกรสจึงแนะนำประชาชนทั้งหลายขอให้
ก. คืนบรรดาศักดิ์และลาออกจากตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และสมาชิกประเภทที่ ๒ (รัฐบาลเลือกตั้งทั้งหมด)
ข. ไม่ยอมรับเชื้อเชิญในพิธีงานฉลองต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นพิธีทางราชการหรือกึ่งราชการ ทั้งไม่ยอมรับเชื้อเชิญไปในพิธีเฝ้าแหนทั้งหมดด้วย
ค. ค่อยๆ ถอนกุลบุตรและกุลธิดา ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ผู้บำรุงหรือควบคุม และจัดตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแห่งชาติขึ้นทุกมณฑล
ง. ค่อยๆ บอยค๊อตศาลอังกฤษ ทั้งฝ่ายทนานความและลูกความ และจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการส่วนตัวขึ้นเพื่อตัดสินคดีระหว่างกันเอง
จ. ไม่ยอมรับอาสาเป็นทหาร เสมียน และกรรมกรไปสงครามเมโสโปเตเมีย
ฉ. ถอนใบสมัครเป็นสมาชิกสภา ทั้งไม่ยอมให้เสียงแก่ผู้สมัครผู้ใด ซึ่งสมัครโดยขัดขืนคำขอร้องของสภาคองเกรส
ช. ด้วยหลักการไม่ร่วมมือ ต้องอาศัยวินัยและการเสียสละ ซึ่งถ้าขาดวินัยและการเสียสละแล้วไม่มีชาติใดที่จะบรรลุถึงความเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้
ซ. ด้วยในการต่อสู้แม้จะเป็นขั้นแรกควรจะเปิดโอกาสให้แก่ชายหญิงและเด็กทุกคน แสดงวินัยและการเสียสละได้

สภาคองเกรสจึงแนะนำให้ใช้ผ้าเฉพาะที่ทำขึ้นในอินเดียเอง

ด้วยโรงทอผ้าต่างๆ เท่าที่มีอยู่ในอินเดีย และซึ่งเป็นทุกอย่างของอินเดีย และอยู่ภายใต้การดูแลของอินเดียไม่สามารถทำด้ายและผ้าได้ พอกับจำนวนความต้องการของชาติ สภาคองเกรสนี้จึงแนะนำพวกทอผ้า (แบบทอด้ายหูก) ให้เริ่มทำการทอผ้า อันเป็นงานอาชีพที่มีการบำรุง”

เมื่อมหาตมะคานธีเสนอญัตติดังกล่าวมานี้จบลงเสียงปรบมือได้ดังสนั่นขึ้นทั่วทุกมุมห้องประชุม แต่มีข้อที่ทำให้ถึงกับเกิดการโต้เถียงขึ้นเล็กน้อย ๒ ข้อ คือ การถอนกุลบุตรกุลธิดาออกจากโรงเรียน กับการลาออกจากสมาชิกสภา แต่ข้อต้นมีการโต้แย้งกันมากกว่าข้อ ๒ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่บรรดาโรงเรียนต่างๆ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทั้งสิ้น ในฐานะเป็นเจ้าของบ้าง เป็นผู้บำรุงบ้าง เป็นผู้ดูแลบ้าง เมื่อเป็นดังนั้นถ้าถอนนักเรียนออกจากโรงเรียนเสียหมด ก็แปลว่าจะไม่มีที่เล่าเรียนต่อไป แต่เหตุผลของท่านคานธีมีอยู่ว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้มิได้หมายความว่าจะทำกันตลอดไป เป็นเพียงวิธีดำเนินการต่อสู้ระหว่างอินเดียกับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อกู้เกียรติยศของชาติ เพื่อกู้ประเทศให้เป็นอิสระชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้นการถอนนักเรียนออกจากโรงเรียน จึงนับว่าเป็นการกระทำเฉพาะชั่วคราว เมื่อยามการต่อสู้ผ่านพ้นไปแล้วนักเรียนจะได้เล่าเรียนเช่นเคยต่อไป เพราะเหตุนี้ โดยเห็นแก่ประโยชน์จำนวนใหญ่หลวงของชาติ ท่านจึงขอให้ผู้ปกครองทั้งหลายดำเนินการตามหลักนี้ชั่วคราว

ในที่สุด หลังจากการเปิดอภิปรายกันแล้ว ประธานขอให้มีการออกเสียงสำหรับญัตติของท่านคานธี สมาชิกมาประชุม ๕๘๑๔ คน ได้เสียงฝ่ายรับรอง ๓๘๒๘ เสียง ฝ่ายค้าน ๑๙๒๓ เสียง เหลืออีก ๖๓ คน ไม่ยอมออกเสีย

สภาจึงรับรองญัตติของท่านคานธี ไว้เป็นหลักการดำเนินของคองเกรสต่อไป

เมื่อท่านคานธีชนะเสียงโหวตดังนี้แล้ว ท่านผู้นำอื่นๆ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็พลอยรับหลักการของท่านคานธีเป็นทางดำเนินด้วย โดยหวังกันว่าการประชุมสภาคองเกรสคราวนี้ เป็นสมัยประชุมวิสามัญมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการใหม่ได้ เมื่อสภาคองเกรสจะประชุมในสมัยสามัญเดือนธันวาคม

พอถึงเดือนธันวาคม สมัยประชุมสามัญคองเกรสได้นัดประชุมที่เมืองนาคปุระ แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหมายของท่านผู้นำเหล่านั้น คือในการประชุมคราวนี้มหาตมะคานธีได้ชนะคะแนนโหวตโดยไม่มีเสียงค้าน แม้แต่เสียงเดียว มิหนำซ้ำการประชุมคราวนี้ กลับทำให้วัตถุประสงค์ของคองเกรสเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิม ในข้อที่ว่า จะอยู่ภายในราชอาณาจักรอังกฤษ (Within the Brithish Empire) โดยมีสิทธิเท่าเทียมกันเป็น “เสรีภาพ” โดยไม่สำคัญต่อการปกครองของอังกฤษ (indifferent to British overloroship)

ท่านจิตรัญชันทาส ได้เป็นผู้นำคณะฝ่ายค้านท่านคานธีในการประชุมที่เมืองกัลกัตตา ท่านผู้นี้สำเร็จวิชากฎหมายมาจากประเทศอังกฤษ เป็นเนติบัณฑิตว่าความที่ศาลฎีกา ณ เมืองกัลกัตตา ชื่อเสียงในทางว่าความของท่านได้แผ่ไปทั่วอินเดีย ระหว่างเวลาที่มหาตมะคานธีกำลังเตรียมหลักการไม่ร่วมมือขึ้นเป็นหลักการปฏิบัติของคองเกรสนั้น รายได้ของท่านผู้นี้มีจำนวนสูงมาก ตกเดือนละ ๕๐,๐๐๐ รูปี ยิ่งกว่านั้นในขณะนั้นท่านกำลังรับจ้างรัฐบาลอินเดียเป็นทนายว่าความคดีรายหนึ่ง โดยตกลงราคาค่าจ้างเป็นงวดๆ ละ ๘๐,๐๐๐ รูปี

ในเรื่องหลักการไม่ร่วมมือ ความเห็นของท่านมีอยู่ว่า คองเกรสไม่ควรจะบอยค๊อตรัฐธรรมนูญที่เพิ่งได้รับมาใหม่ คือควรสมัครเป็นสมาชิกตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นแล้วเข้าควบคุมกิจการของรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจสภาเป็นเครื่องมือ แต่สำหรับในการประชุมคองเกรส ณ เมืองนาคปุระ ท่านมหาตมะคานธีได้ขอร้องให้ท่านดำเนินตามหลักไม่ร่วมมือไปพลางก่อน ต่อเมื่อหลักการนั้นไม่บรรลุผลสำเร็จ จึงค่อยดำเนินตามหลักของท่านในภายหลัง ท่านจิตรัญชันทาสได้ยอมปฏิบัติตามคำขอร้องของท่านคานธี ญัตติของท่านจึงได้ผ่านสภาไปโดยไม่มีเสียงค้านเลย

เมื่อท่านจิตรัญชันทาสตกลงยอมรับหลักการนั้นเป็นทางดำเนิน ก็ต้องเลิกว่าความ และต้องคืนเงินค่าจ้างว่าความ ๘๐,๐๐๐ รูปี ให้แก่รัฐบาล แล้วท่านก็ยอมพลีกาย วาจาและใจ เพื่อประเทศชาติที่รักจนกระทั่งต้องถึงมรณกรรมเพราะการรับใช้ประเทศชาติของท่าน นอกจากนั้นท่านยังได้อุทิศบ้านอันกอปรด้วยลักษณะทัดเทียมปราสาทให้แก่ชาติ เพื่อตั้งเป็นโรงพยาบาลสตรีด้วย แล้วนำบุตรภรรยาไปอาศัยอยู่บ้านหลังเล็กๆ สืบไป ชาติหวนระลึกถึงความเสียสละอันใหญ่หลวงของท่านผู้นี้ จึงให้สมญาว่า “ท่านวีระแลเทศพันธ์” (เพื่อนประเทศ) จิตรัญชันทาสสืบมา

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับเหตุการณ์ในตุรกี

คานธี
ตรงกับเวลาที่เหตุร้ายในปัญจาบกำลังก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วอินเดียนั้นเอง ได้มีการผันผวนขึ้นในทางการบ้านเมืองของตุรกีบางประการ ทำให้ชาวอิสลามในอินเดียเกิดมีความไม่พอใจในรัฐบาลอังกฤษ กล่าวคือในสมัยสงครามตุรกียังอยู่ในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย ภายใต้ความร่มเย็นของพระเจ้าขลิฟา ซึ่งอิสลามศาสนิกชนนับถือกันว่า เป็นองค์อุปถัมภกของศาสนาอิสลาม เนื่องจากการปกครองในระบอบนี้มิได้เป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งไม่ทันสมัยและถูกใจประชาชน จึงมีข่าวเลื่องลือกันว่า มิช้ามินานคงจะเกิดการผันผวนขึ้นเป็นแน่ มิหนำซ้ำยังมีเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือประเทศกรีซมักคอยฉวยโอกาสแผ่อำนาจเข้าครอบงำเมืองตุรกีอยู่เนืองๆ อาศัยสาเหตุ ๒ ประการนี้อาจถึงกับทำให้พระเจ้าขลิฟา องค์ศาสนูปถัมภกของชาวอิสลาม ต้องทรงสละราชบัลลังก์ก็เป็นได้

ชาวอิสลามในอินเดีย มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าขลิฟาเป็นอย่างสูง ฉะนั้นในยามสงครามรัฐบาลอังกฤษจึงได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าชาวอิสลามช่วยเหลือในการสงคราม รัฐบาลอังกฤษจะช่วยเหลือพระเจ้าขลิฟาให้ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งองค์ศาสนูปถัมภกสืบไป ชาวอิสลามจึงได้ดำเนินตามคำขอร้องของรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาภายหลังสงครามเหตุการณ์ต่างๆ บังคับให้พระเจ้าขลิฟาจำต้องทรงสละราชบัลลังก์ แทนที่รัฐบาลอังกฤษจะสนองคุณชาวอิสลามดังที่ได้สัญญาไว้ กลับไปรับรองรัฐบาลตุรกีที่พึ่งตั้งตัวขึ้นใหม่ หัวหน้าชาวอิสลามในอินเดีย เมื่อได้เห็นความไม่มีสัจของรัฐบาลดังนั้น ก็ก่อการวุ่นวายขึ้นในชาวอิสลามด้วยกันทั่วอินเดีย

มหาตมะคานทีมองเห็นอกชาวอิสลาม ผู้ประดุจเป็นพี่น้องของชาวอินเดียที่ต้องประสบโชคร้าย ดังนั้นจึงตกลงจะช่วยเหลือ และได้ชักชวนชาวฮินดู ให้ร่วมมือกับชาวอิสลามช่วยพระเจ้าขลิฟา

โดยอาศัยเหตุ ๒ ประการดังกล่าวนี้คือ เหตุร้ายในปัญจาบกับเหตุการณ์ในตุรกีรวมเข้ากับกรณีเดียวกัน ท่านจึงได้เขียนจดหมายถึงผู้สำเร็จราชการ แสดงนโยบายที่ท่านจะดำเนินต่อไป (เดือนมิถุนายน ๑๙๒๐)

“ข้อสนธิสัญญา และความสนับสนุนของพณะท่านเป็นเหตุให้ชาวอิสลามในอินเดียรู้สึกตกอกตกใจเป็นอย่างยิ่ง ข้อสนธิสัญญาเหล่านั้น ขัดกันกับคำสัญญาของอัครมหาเสนาบดี และขัดต่อความรู้สึกของชาวอิสลามในฐานะที่ฉันเป็นชาวฮินดูผู้เคร่งครัดคนหนึ่ง และมีความปรารถนาที่จะอยู่ด้วยไมตรีจิตกับชาวอิสลาม ผู้ร่วมประเทศ ฉันจะต้องช่วยเหลือเขา เมื่อเขาตกอยู่ในข่ายอันตรายเช่นนี้ มิฉะนั้นแล้วฉันไม่สมควรที่จะเป็นบุตรของอินเดีย ตามความเห็นของฉันเห็นว่า เหตุผลของเขาถูกต้องทีเดียว ถ้าจะเล็งเห็นน้ำใจชาวอิสลามไม่ควรจะลงโทษตุรกี ทหารอิสลามได้ช่วยอังกฤษโดยไม่คิดว่าพระเจ้าขลิฟาจะได้รับผลร้าย ถึงกับต้องพลัดพรากจากราชอาณาจักรตลอดเวลา ๕ ปีที่แล้วมา ชาวอิสลามมั่นอยู่ในข้อนี้เสมอ หน้าที่ของฉันผู้ยังมีความจงรักภักดีต่อราชอาณาจักรอังกฤษ จึงมีอยู่ว่าจะพยายามห้ามไม่ให้รัฐบาลอังกฤษขัดขืนต่อความรู้สึกของชาวอิสลาม เท่าที่ฉันทราบทั้งฮินดูและอิสลาม ไม่มีความไว้วางใจในความยุติธรรมและเกียรติยศของอังกฤษ”

“รายงานของคณะกรรมการฮันเตอรและความเห็นของพณะท่านในเรื่องรายงาน และคำบันทึกของ มร. มันเตกูทั้งสิ้นได้ช่วยเพิ่มความไม่วางใจขึ้นอีกมากหลาย ในสถานการณ์เช่นนี้มีทางเหลืออยู่ทางเดียว ที่คนเหมือนฉันจะพึงปฏิบัติได้คือ ตัดความสัมพันธ์กับอังกฤาเสียทุกประการ เพราะความหมดหวังหรือถ้ายังมีความไว้วางใจในรัฐธรรมนูญอังกฤษ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ใช้กันอยู่แล้วไซร้ ก็ต้องพยายามช่วยแก้ไขความผิดพลาดที่รัฐบาลได้กระทำมาแล้ว และต้องพยายามนำความไว้วางใจที่ดับหายไปนั้นกลับคืนมาอีกให้จงได้”

“การที่จะกระทำเช่นนั้นได้ด้วยเกียรติยศ และภายในขอบเขตแห่งสิทธิราษฎร คือโดยอาศัยหลักการไม่ร่วมมือเป็นกรณี เพราะว่า นับจำเดิมแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาได้รับรองกันแล้วว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ยอมช่วยเหลือรัฐบาลซึ่งปกครองไม่ถูก ฉันรับสารภาพว่า ถ้ามหาชนปฏิบัติตามหลักการไม่ร่วมมือ อาจมีช่องทางที่จะเกิดอันตรายได้อยู่บ้าง แต่สถานการณ์อย่างเข้าด้ายเข้าเข็มดังที่ชาวอิสลามในอินเดียตกอยู่ ณ บัดนี้ ถ้าเราไม่กล้ายึดถือหลักการอันน่าอันตราย ก็เป็นอันว่า ฐานะนั้นจะมิได้รับการแก้ไขแม้แต่น้อย ถ้าเราไม่กล้ายึดหลักการอันน่าอันตราย ในที่สุดเราจะต้องอยู่ในข่ายอันน่าอันตรายยิ่งกว่าถึงกับอาจทำลายความสงบเรียบร้อยเสียก็เป็นได้ แต่ก็ยังมีช่องทางที่ไม่จำเป็นจะต้องดำเนินตามหลักการไม่ร่วมมือก็ได้ กล่าวคือผู้แทนฝ่ายอิสลาม ได้ขอร้องพณะท่านให้เป็นผู้ทำการคัดค้านข้อสนธิสัญญา ดังที่ผู้สำเร็จราชการคนก่อนได้เคยกระทำมาในเรื่องการเสียภาษีในอาฟริกาใต้ แต่ว่าถ้าพณะท่านเห็นว่าไม่มีทางที่พณะท่านจะปฏิบัติเช่นนั้นได้และการไม่ร่วมมือกลายเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งไป ฉันหวังว่า พณะท่านคงจะชมเชยพวกผู้ซึ่งปฏิบัติตามคำแนะนำของฉัน ทั้งตัวฉันด้วยว่าเป็นผู้กล้ายึดถือหลักการอันน่าอันตราย เพราะความเคร่งครัดต่อหน้าที่นั่นเอง”

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับเหตุร้ายในปัญจาบ

คานธี
ไฟลุกทั่วอินเดีย
เหตุร้ายในปัญจาบ
ในเมื่อเหตุการณ์ในอินเดียกำลังตกอยู่ในอาการไม่สงบดังว่านี้ ได้มีเหตุร้ายแทรกแซงเข้ามาอีกรายหนึ่ง อันทำให้ไมตรีจิตระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับอินเดีย จำต้องสลายลงโดยไม่หวังจะกลับคืนดีได้ กล่าวคือดังได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อรัฐบาลได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะนำร่างพระราชบัญญัติเราว์แลตต์ขึ้นเสนอต่อสภานิติบัญญัตินั้นได้มีการคัดค้านกันทั่วอินเดีย เมืองอมฤตสร เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในปัญจาบ ชาวอมฤตสรก็ได้ตั้งใจว่าจะประชุมคัดค้านร่างพระราชบัญบัตินั้น ดังที่เมืองอื่นๆ เขาทำกันอยู่ ที่เมืองนั้นมีสนามใหญ่อยู่แปลงหนึ่งมีกำแพงล้อมรอบแต่มีทางเข้าออกอยู่เพียงทางเดียว พลเมืองพากันไปประชุม ณ สนามนี้ มีจำนวนมากมายนับพันๆ เมื่อทางการของรัฐบาลได้รับข่าวการประชุมนั้น ข้าหลวงประจำมณฑลปัญจาบ ชื่อ เซอรไมแคล โอไดเอรก็รีบส่งกองทหารกองหนึ่งภายใต้บังคับบัญชาของนายพล ไดเอรไปท่านผู้นี้ครั้นไปถึงสนามซาเลียนวาลาวาคแล้ว ก็สั่งให้ทหารเข้ายึดประตูทางเข้าออกไว้ และไม่ยอมอนุญาตให้ใครเข้าออกอีก แล้วสั่งให้ปิดประตูเสียทันที เนื่องจากสนามนั้นมีกำแพงล้อมรอบและมีทางเข้าออกอยู่แต่ทางเดียว ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ถึงจะปิดประชุมแล้วก็ไม่มีใครสามารถออกจากสนามนั้นได้ แล้วนายพลไดเอรออกคำสั่งให้ทหารยิงกราดไปยังประชุมนั้น พลเมืองผู้ไร้อาวุธได้ถูกยิงล้มระเนระนาด อย่างไร้เมตตากรุณาและมนุษยธรรม กล่าวตามสำนวนของท่านลาลาลาซปัตรายว่ายิงคนเหมือนยิงกระต่ายป่า ผู้คนได้ล้มตายไปนับร้อยๆ และได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นพันๆ ผู้นำทั้งหลายผู้มีการศึกษาชั้นสูงผู้เป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วประเทศ ได้ถูกบังคับให้คลานไปตามถนนจนหนังฝ่ามือและหัวเข่าถลอก แล้วยังนำไปเฆี่ยนตีตามสถานที่เปิดเผยอีกด้วย อารยประเทศทั้งหลายต่างมองดูความดุร้ายของรัฐบาลปัญจาบด้วยความตะลึงอินเดียรู้สึกสลดใจในความไร้มนุษยธรรมแห่งนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไฟลุกโชนยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

แม้ท่านมหากวีรพีนทฺร นาถ ถากูร ผู้ซึ่งไม่เคยเกี่ยวข้องในเรื่องการเมืองเลย ก็ไม่สามารถที่จะทนมองดูความดุร้ายของรัฐบาลอยู่ได้ ท่านจึงเขียนหนังสือกราบบังคมทูลขอถวายบรรดาศักดิ์ตำแหน่งเซอร คืนพระมหากษัตริย์ โดยอ้างเหตุผลว่า การรับบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลซึ่งดำเนินนโยบายอย่างไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ไว้ รู้สึกว่าเป็นการทำลายเกียรติยศของตนเอง

ทั่วอินเดีย คัดค้านการกระทำคราวนี้ของเซอรไมเคลอย่างรุนแรง ในที่สุดรัฐบาบจำต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้อำนวนการของท่านฮันเตอรให้ทำการไตสวนเหตุการณ์ในปัญจาบ อินเดียหวังว่ารัฐบาลจะต้องคณะกรรมาธิการขึ้นโดยอาศัยอำนาจอันมาจากองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง แต่เหมือนกับทุกคราว ความหวังนั้นได้หมดสิ้นดับสูญไปโดยมิเป็นผล

เมื่อคณะกรรมาธิการฮันเตอรเข้ามาทำหน้าที่สอบสวนเหตุการณ์ในปัญจาบครั้งนั้น ได้เกิดมีความเห็นแย้งกับคองเกรส ทั้งนี้เนื่องมาแต่สาเหตุที่คณะกรรมาธิการไม่ยอมรับพยานของท่านซึ่งยังถูกกักขังอยู่ ดังนั้น คองเกรสจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้ความควบคุมของท่านคานธี คณะนี้ได้ทำการไต่สวนสอบถามปากคำพยานกว่า ๑,๙๐๐ คน รายงานเรื่องนี้กินหน้ากระดาษ ๖๕๐ กว่าหน้า ทั่วประเทศรับรองรายงานนั้นว่าเป็นการสอบสวนและความเห็นอย่างยุติธรรมที่สุด

แต่ทว่ารัฐบาล จะได้ดำเนินเรื่องตามรายงานนี้ก็หาไม่ ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับไปยึดถือรายงานของคณะกรรมาธิการ ฮันเตอร ซึ่งคองเกรส และทั่วอินเดียบอยค๊อตโดยไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้อง และเห็นร่วมว่าเป็นความเห็นที่บริสุทธิ์และยุติธรรม

หลังจากการประกาศรายงาน ของคณะคองเกรสไม่กี่วันนัก รายงานคณะกรรมาธิการฮันเตอรก็ออกโฆษณาคณะนี้ได้กล่าวหาคณะสัตยาเคราะห์ ว่าเป็นต้นเหตุแห่งเรื่องร้ายที่เกิดมีขึ้นในปัญจาบ ส่วนการยิงที่นายพลไดเอรกระทำไปนั้น เห็นว่าเป็นเพราะความเข้าใจผิดเท่านั้น กระนั้นก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย คือ มร.มันเตกู ก็ยังกล้าคัดค้านการกระทำนั้นได้อย่างป่าเถื่อนภายในสภาสามัญแห่งปารเลียเมนตฺ และกลับสรรเสริญความเฉลียวฉลาดของเซอรไมเคล และผู้สำเร็จราชการซึ่งไม่รับรู้ในเหตุการณ์ในปัญจาบนั้น

ความเห็นของคณะกรรมาธิการ ฮันเตอร พร้อมทั้งความเห็นของมันเตกู เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วอาณาเขตอินเดีย หนังสือพิมพ์รวมหัวกันเขียนบทนำบังคับให้ผู้สำเร็จราชการ เซอรไมเคล และนายพลไดเอร ลาออกจากตำแหน่งโดยพาดหัวว่า “Chelmsford must go” ในที่สุดเรื่องเหตุร้ายในปัญจาบ ได้ถูกนำขึ้นพิจารณาในสภาสามัญแห่งปารเลียเมนตฺ มร. แอสกวิท มร.เซอรซิลล์ได้กล่าวถึงความยุติธรรมของรัฐบาลอังกฤษ ที่ได้กระทำมาตั้งแต่สมัยกระโน้น แต่ว่าสมาชิกส่วนมากเห็นด้วยกับการกระทำของนายพลไดเอร เมื่อเรื่องนี้ผ่านสภาสามัญไปถึงสภาขุนนางสภาขุนนางได้เสนอญัตติขอให้อภัยโทษแก่นายพลไดเอร อินเดียตกตะลึงเมื่อได้ประสบชีวิตความอยุติธรรมของสภาปารเลียเมนตฺอย่างหาที่เปรียบไม่ได้เช่นนี้

ถึงแม้สภาขุนนางจะให้อภัยโทษแก่นายพลไดเอรก็ตาม แต่อินเดียไม่สามารถที่จะให้อภัยโทษได้ เพราะผู้ที่สิ้นชีวิตไปเพราะกระสุนปืน ผู้ที่หลังถลอกปอกเปิดเพราะความโหดร้ายของรัฐบาล คนเหล่านั้นเป็นเลือดเนื้อของอินเดีย เป็นพี่น้องร่วมทุกข์ของชาวอินเดีย ฉะนั้นเสียงสรรเสริญดังสนั่นขึ้นทั่วเกาะอังกฤษและหมู่ชนอังกฤษเพียงใด เสียงคัดค้านก็ยิ่งเร่งขึ้นในอินเดียเพียงนั้น ในที่สุดรัฐบาลเห็นเป็นการจำเป็นแท้ที่จะต้องปลดเซอรไมเคลและนายพลไดเอร ออกจากตำแหน่ง เสียงมหาชนสามารถบันดาลให้เสียงรัฐบาลดับมอดลงอย่างสนิทด้วยประการฉะนี้

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับเหตุการณ์ในอินเดีย

คานธี

ไฟลุกทั่วอินเดีย
ภาษิตตะวันตก มีอยู่ว่า “เสียงมหาชนคือเสียงของพระเจ้า” ภิตข้อนี้มีความจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เท่าที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ พอที่จะกล่าวได้ว่า เมื่อรัฐบาลใดก็ตามดำเนินนโยบายเป็นไปในทำนองขัดขืนหรือไม่ยอมฟังเสียงมหาชนเสียเลยแล้ว ก็เป็นอันว่า อายุกาลแห่งรัฐบาลนั้นถึงที่สุดแล้ว แม้ราชวงศ์ผู้ทรงอำนาจทั้งหลาย ที่ต้องล้มละลายหายไปจากบรรณโลก หรือพลัดจากราชบัลลังก์ ก็เพราะเหตุที่เนื่องมาแต่การขัดขืนเสียงมหาชนนั่นเอง รัฐบาลใดก็ตามที่ แม้ถึงจะทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่สักเพียงไรก็ตาม ถ้าขาดจากความนิยมชมชอบของมหาชนแล้วไซร้ ก้หาสามารถทรงตัวอยู่ได้ไม่ มิวันใดก็วันหนึ่งจะต้องล้มละลายไปอย่างยับเยินเป็นแน่แท้ เพราะมหาชนย่อมทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนืออำนาจรัฐบาลหรืออำนาจแสนยานุภาพอีก มหาชนสำนึกตนและอำนาจของตนได้เมื่อใด เมื่อนั้นแหละ ถึงวาระขึ้นสุดท้าย ฉะนั้นรัฐจึงพยายามหาลู่ทางเพื่อไม่ให้มหาชนสำนึกตัวได้ อันสามารถกระทำขึ้นได้โดยวิธี ๒ ประการ ประการหนึ่งให้ความร่มเย็นแก่มหาชนจะไม่เอาใจใส่ในการบ้านเมือง หรือจะเอาใจใส่แต่จะเป็นไปในทางใช้อำนาจของตนเป็นหลักทางรัฐบาล ประการที่ ๒ สร้างกฎหมายเป็นเครื่องผูกมัดและตัดสิทธิมหาชน ไม่ให้กระดุกกระดิกตัวได้

นโยบายประการที่ ๑ รัฐบาลอังกฤษดำเนินอยู่ในดินแดนของเขาเอง ส่วนประการที่ ๒ เป็นนโยบายการปกครองของอินเดีย แต่ประวัติศาสตร์ได้แสดงมาแล้วหลายครั้งหลายคราวว่า นโยบายเช่นนี้ ย่อมมิเป็นผลถาวรที่จะทรงอำนาจรัฐไว้ได้ ใช่ว่ารัฐบาลอังกฤษมิรู้ประวัติศาสตร์ก็หาไม่แต่เพราะมึนเมาอยู่ในอิสริยะศักดิ์และอำนาจแสนยานุภาพ จึงไม่สามารถมองเห็นได้ว่า มหาชนแม้จะถูกผูกมัดอยู่อย่างแน่นแฟ้นเพียงไรก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะออกเสียง และพ้นจากการผูกมัดนั้นได้ไม่เร็วก็ไม่นานนัก

ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษขัดขืนเสียงมหาชนออกพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิยุวชนอินเดียดังกล่าวแล้ว ไฟคือความไม่สงบ จึงได้ลุกโชนขึ้นทั่วดินแดนอินเดีย ถึงกับคณะพรรคการเมืองต่างๆ รวมเป็นคณะเดียวกัน ทำการคัดค้านรัฐบาลอังกฤษในอินเดียอย่างแรงกล้า

ส่วนท่านคานธี เมื่อเห็นว่าการคัดค้านภายในขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นผลแม้แต่ประการใดจึงชักชวนประชาชนให้ดำเนินสัตยาเคราะห์ ดังท่านได้ดำเนินมาแล้วในภาคอาฟริกา

มหาชนเห็นพ้องตามความเห็นของท่านคานธี จึงพากันมารวมอยู่ภายใต้ธงชัยของท่านผู้นำผู้นี้ ฉะนั้นเพื่อดำเนินตามหลักแห่งสัตยาเคราะห์ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๑๙ ท่านจึงได้พิมพ์ใบสัตยาธิฐานแจกให้ผู้สมัครสัตยาเคราะห์ทั้งหลายเซ็นนามเป็นการแสดงปฏิญาณตนว่าจะดำเนินตามหลักสัตยาเคราะห์ ใบสัตยาธิฐานนั้น มีข้อความดังนี้

“เนื่องจากเรามีความเห็นอย่างแน่ว่าร่างพระราชบัญญัติที่เรียกว่าร่างพระราชบัญญัติกฎหมายอาญา (ฉบับแก้ไข) ฉบับที่ ๑ แห่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ และร่างพระราชบัญญัติกฎหมายอาณา (อำนาจฉุกเฉิน) ฉบับที่ ๒ แห่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ นั้นเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม ขัดต่อหลักเสรีและความยุติธรรมทำลายสิทธิเดิมของบุคคล อันหนึ่งที่ตั้งความปลอดภัยแห่งสังคมและรัฐ เราจึงขอปฏิบัติตนด้วยความจริงใจว่า ถ้าร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ ออกเป็นกฎหมายเมื่อใดแล้วตราบใดที่กฎหมายเหล่านั้นยังไม่ยกเลิก เราจะไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้น และกฎหมายอื่นๆ ที่คณะกรรมการจะสร้างขึ้นภายหลังว่า เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ควรมี ทั้งเราขอปฏิญาณว่า ในการต่อสู้คราวนี้ เราจะดำเนินตามสัจธรรมและงดเว้นเสียจากผลาญชีวิต การทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สมบัติของผู้ใดอื่นทั้งหลาย”

พลเมืองอินเดียนับจำนวนหมื่นๆ สมัครเข้าเป็นผู้รับอาสาเพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปโดยราบรื่น ได้จัดตั้งคณะสัตยาเคราะห์ขึ้นเป็นคณะกลางคณะหนึ่ง มีหน้าที่ควบคุมหลักการแห่งสัตยาเคราะห์ทั่วอินเดีย ส่วนการสัตยาเคราะห์เฉพาะแคว้นๆ อยู่ภายใต้ความควบคุมของคณะกรรมการสัตยาเคราะห์ประจำแคว้น แยกออกเป็นสาขา จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เป็นต้น มหาตมะคานธีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสัตยาเคราะห์กลาง

เมื่อประกาศสัตยาเคราะห์ ท่านมีเวลาว่างพักผ่อนร่างกายได้น้อยเต็มที ท่านได้จาริกไปทั่วจังหวัด จนแม้หมู่บ้าน เพื่อแนะนำหลักสัตยาเคราะห์ให้ประชาชนเข้าใจซาบซึ้ง แล้วจะดำเนินตาม ดังนั้นทั่วอินเดียจึงได้มารวมอยู่เบื้องหลังท่านคานธี เมื่อปรากฎว่า สัตยาเคราะห์กำลังดำเนินไปด้วยดี ท่านจึงเห็นเป็นโอกาสสมควรที่จะแสดงความสามัคคีของอินเดีย คัดค้านกฎหมายดังกล่าวแล้วให้รัฐบาลเห็นชัด ฉะนั้นท่านจึงได้กำหนด ณ วันที่ ๖ เดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เป็นวัน “หัรตาล”

ขออธิบายคำว่าหัรตาลสักหน่อย ในภาษาอังกฤษว่าไม่มีคำที่มีความหมายเท่ากับคำว่า หัรตาล ภาษาอังกฤาจึงได้ทับศัพท์ต่างๆ หัรตาลนับว่าเป็นนโยบายของอินเดียประการหนึ่ง ใช้ในการคัดค้านรัฐบาบ การถือหัรตาลหมายความว่าหยุดงานทั้งหมด อาทิเช่น งานในโรงงานต่างๆ การเล่าเรียน การจราจร การปิดร้าน การหุงอาหารจนกระทั่งการออกจากบ้าน แต่อนุญาตให้แพทย์ปักธงเครื่องหมายไว้บนรถ ทำการเยี่ยมและรักษาคนไข้ได้เวลากลางวันประชาชนทำพิธีสัตยาธิฐาน เพื่อให้มีกำลังใจที่จะดำเนินการต่อสู้โดยไม่ผลาญชีวิตใคร บางคราวประชาชนพากันไปยังเทวสถานตั้งสัตยาธิฐานก็มี แต่นั่นแล้วแต่คณะกรรมการจะสั่งประการใด การถือหัรตาลทำกันตั้งแต่ ๕ นาฬิกาจนถึง ๑๗ นาฬิกา ในเมื่อประชาชนพากันไปยังสนาม แล้วแสดงสุนทรพจน์คัดค้านนโยบายของรัฐบาล บางครั้งรัฐบาลใช้กำลังทหารระงับการประชุมนี้ก็มี แต่ก็หาเป็นผลประการใดไม่

อย่างไรก็ดี ตามคำสั่งของท่านคานธี อินเดียได้ถือหัรตาล เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เหตุการณ์ได้ดำเนินไปโดยความเรียบร้อย เว้นไว้แต่กรุงเดลลีได้เกิดเหตุร้ายขึ้นเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ พลเมืองนับจำนวนตั้ง ๔๐,๐๐๐ ไปประชุมกันที่เมืองเดลลี ภายใต้ความควบคุมของท่านสวามีสัทธานันท์ เกิดมีการปะทะกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับมหาชน ทั้งนี้เพราะข้าหลวงประจำเดลลีออกคำสั่งห้ามประชาชนไม่ให้ประชุมในวันหัรตาล เป็นธรรมดาที่มหาชน จะต้องทำการขัดขืนคำสั่งนั้นอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นในเวลาประชุมตำรวจจึงพยายามจะทำให้ประชาชนที่กำลังประชุมกันอยู่นั้นแตกแยก กระจัดกระจายออกไปเสีย แต่ครั้นเห็นมีจำนวนมากมายเกินคาดเช่นนั้น ก็ไม่กล้าลงมือทำแต่กำลังตน จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังกรมทหารให้ทหารทำหน้าที่แทนตำรวจ อาศัยคำขอร้องทางการตำรวจ ทหารยกกองมาลงมือยิงประชาชนที่กำลังประชุมอยู่นั้นทันที คนตายไปบ้าง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้อินเดียเลือดเดือดพล่านขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าทางการรัฐบาลกล่าวห้ามมหาชนเดลลีเข้าในหลัก ๕ ข้อคือ
๑. บางคน พยายามบังคับร้านขายขนมบางร้านให้ปิดร้าน ที่ไม่ปิดในวันหัรตาล
๒. บางคน พยายามฉุดคร่าพวกที่ขึ้นรถรางในวันหัรตาลไว้ไม่ให้ขึ้น
๓. บางคนปารถรางที่กำลังแล่นอยู่ด้วยก้อนหิน
๔. ประชาชนทั้งหมด พากันไปยังสถานีรถไฟ ขู่เข็ญรัฐบาลให้ปล่อยคนที่ถูกจับ ณ วันหัรตาล
๕. ประชาชน ไม่ยอมแยกออกจากชุมนุม ในเมื่อข้าหลวงออกคำสั่งให้เลิกการจับกลุ่มกัน ท่านสวามีสัทธานันท์ ปฏิเสธข้อหา ๓ ข้อข้างต้น แต่ยอมรับข้อหลัง ๒ ข้อ อย่างไรก็ดี ท่านคานธีเห็นว่า ถ้าจะดำเนินสัตยาเคราะห์และหัรตาลในทางที่สงบเรียบร้อย จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบให้แก่คณะบริหารและผู้อาสาทั้งหมดขึ้นอีก เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนประชาชนไม่ให้ก่อเหตุขึ้น ประการใดๆ ท่านจึงลงมือแก้ไขปรับปรุงระเบียบดำเนินการสัตยาเคราะห์และหัรตาลใหม่ และชักชวนประชาชนให้ดำเนินการสัตยาเคราะห์ในทางที่สงบโดยไม่ทำการขู่เข็ญรัฐบาล การชักชวนของท่านได้ปรากฎผลเป็นอย่างดีอย่างที่ไม่เคยมีปรากฎอยู่ในประวัติการณ์ของอินเดียแต่ก่อนๆ มา

นอกจากที่จะทำการหัรตาล และสัตยาเคราะห์แล้ว คณะกลางได้ขยายวงการดำเนินให้กว้างออกไปอีก คือ คณะกรรมการเห็นว่า ถ้าเราต้องการปลุกใจมหาชนเราจะต้องพิมพ์หนังสือแจก อย่างไม่ต้องชำเลืองแลพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิมพ์ เพราะพระราชบัญญัติการพิมพ์ผูกมัดผู้แต่งไม่ให้เขียนเรื่องราวตามที่ผู้เขียนเห็นสมควรจะเขียน แต่ต้องเขียนตามที่รัฐบาลเห็นสมควรต่างหาก อันนับว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างไม่ชอบธรรม มหาตมะคานธีก็เห็นพ้องตามมติของคณะกลางดังที่ว่า มาในวันที่ ๘ เดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๑๙ จึงเริ่มแจกใบโฆษณาชักชวนประชาชนให้ช่วยพิมพ์ขายแล้วซื้อหนังสือต่างๆ ที่รัฐบาลริบไว้ทั้งหมด โดยที่เป็นหนังสือที่รัฐบาลเห็นว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการนำในทางนี้ ท่านได้จัดการออกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ชือว่า สัตยาครหิ พร้อมกับจัดการพิมพ์หนังสือเล่มอื่นๆ ที่ท่านแต่งไว้ก่อนแต่ถูกรัฐบาลริบไว้เสียด้วยคำแถลงการณ์ที่ท่านนำลงในหนังสือพิมพ์ฉบับแรกนั้นมีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ

“บรรณาธิการคงจะถูกจับโดยกระทันหัน ตราบใดที่อินเดียยังไม่สามารถจัดหาบรรณาธิการสำรองไว้จนมีจำนวนเพียงพอ ที่จะเข้าทำงานแทนในตำแหน่งบรรณาธิการที่จะถูกจับนั้นๆ ก็เป็นอันว่าเราไม่สามารถที่จะออกหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสายได้ เราไม่มีความมุ่งหมายที่จะขัดขืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิมพ์นี้ตลอดไป เป็นแต่ว่าหนังสือฉบับนี้ จะคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่ยกเลิกพระราชบัญญัติเราว์แลตต์เท่านั้น”

เป็นธรรมดาการปลุกใจประชาชน เนื่องในการสัตยาเคราะห์ดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นเหตุทำให้ท่านคานธีตกอยู่ในอำนาจตำรวจเป็นแน่ๆ ฉะนั้นต่อมา ณ วันที่ ๑๐ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ เมื่อท่านกำลังเดินทางไปเมืองเดลลีและแคว้นปัญจาบ พอไปถึงสถานีรถไฟแห่งหนึ่งชื่อว่าโกสีอันตั้งอยู่ที่พรมแดนเมืองเดลลี เจ้าหน้าที่วฝ่ายตำรวจก็เข้ามาหาท่านคานธี แสดงเอกสารคำสั่งของทางการให้ท่านทราบว่าถ้าท่านเข้าไปในเมืองเดลลีหรือเขตของปัญจาบ เจ้าหน้าที่จะต้องทำการจับกุมตัวท่านไว้ไม่ให้เข้าไปในเมืองนั้นๆ แต่ท่านคานธีกลับตอบว่า เพื่อจะดำเนินหน้าที่อันชอบธรรมท่านจำเป็นแท้ที่จะต้องเข้าเมืองเดลลีให้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นเป็นอย่างอื่น และไม่สมควรประการใดจะจับกุมตัวท่านไว้ก็เชิญ เจ้าหน้าที่แสดงอัธยาศัยไมตรีต่อท่านคานธีเป็นอย่างดีมาก และได้วิงวอนขอให้ท่านคานธีเข้าใจถึงพฤติการณ์ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำไปตามหน้าที่ มิใช่เพราะความคิดร้ายหมายขวัญประการไร แล้วคุมตัวท่านคานธีส่งกลับคืนไปยังแคว้นบอมเบอีก ณ ที่นั้นท่านได้รับคำสั่งจากรัฐบาลฉบับหนึ่งมีข้อความว่า ให้ท่านจำกัดกิจการของท่านไว้ภายในขอบเขตบอมเบ โดยเฉพาะ และนอกจากนั้นรัฐบาลได้จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวท่านคานธีไม่ให้ออกนอกเขตบอมเบอีกด้วย

การกระทำของรัฐบาลต่อท่านคานธีโดยประการดังกล่าวมานี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นทั่วแคว้นบอมเบอย่างร้ายแรงกล่าวคือ เป็นธรรมดาอยู่เองที่มหาชนจะมองดูการคุมตัวท่านคานธีอย่างนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุไรย่อมเป็นที่ทราบอยู่แล้ว ฉะนั้นประชาชนจึงได้นัดหมายมาประชุมคัดค้านการกระทำของรัฐบาล แต่ในเมืองบอมเบและอาหัมมทาวาททางการตำรวจได้พยายามที่สุด ที่จะไม่ให้ต้องไม่คิด หรือประทุษร้าย ต่อฝ่ายปราบปรามหรือรัฐบาล ซึ่งถ้าจะกล่าวตามหลักแห่งจิตวิทยา เป็นการลำบากสำหรับมหาชนที่จะดำเนินได้ เพราะว่านิสัยของคนธรรมดามีอยู่ว่าถูกตีเมื่อใดต้องตีตอบเมื่อนั้น การยกโทษให้แก่ผู้ตี ย่อมเป็นการเหลือวิสัยสำหรับคนธรรมดา มหาชนประกอบขึ้นด้วยคนธรรมดาในการปราบปรามหลักการไม่ร่วมมือ ซึ่งมหาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอย่างไร้มนุษยธรรมดังที่ท่านคานธีได้กล่าวไว้ ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นของธรรมดาที่มหาชน อาจพลาดพลั้งจากหลักอหิงสา ตีตอบเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลบ้างก็เป็นได้ เหตุการณ์ชนิดนี้ได้เกิดขึ้นหลายราย แต่รายที่ร้ายที่สุด เกิดขึ้นที่เมืองเจารีโจรา ณ ที่นั้นพวกมหาชนพากันไปเผาสถานีตำรวจ และตีพวกพลตำรวจจนถึงตายหลายคน

อาศัยเหตุการณ์อันผิดหลักอหิงสาเช่นนี้ ท่านจึงมีความเห็นว่า ประเทศยังไม่เตรียมพร้อมพอที่จะดำเนินตามหลักอหิงสาได้ ฉะนั้นท่านจึงตกลงใจอย่างเด็ดขาดว่า ก่อน

“ฉันจึงขอแนะนำอีกว่า ถ้าเราไม่สามารถจะดำเนินการสัตยาเคราะห์ โดยถือหลักที่ฝ่ายเราจะไม่ยอมทำร้ายแก่บุคคลใดๆ แล้วไซร้ นโยบายที่วางแล้วนี้ เราจะต้องล้มเลิกแน่ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องปรับปรุงดัดแปลงหลักสัตยาเคราะห์ ให้เข้มแข็งเคร่งครัดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นอาจถึงกับเราต้องดำเนินสัตยาเคราะห์ต่อตัวเราเองก็เป็นได้ ถ้าเราตายฉันไม่เห็นว่าการตายนั้นจะเสื่อมเสียเกียรติยศแม้แต่น้อย ถ้าฉันได้รับข่าวผู้ถือสัตยาเคราะห์ตายไปคนหนึ่งฉันรู้สึกเสียใจอย่างล้นเหลือ กระนั้นก็ดี ฉันยังจะถือว่าความตายของท่านผู้นั้นนับเป็นการเสียสละ สำหรับประเทศชาติอย่างเหมาะสมทีเดียว”

“ฉันยังคิดไม่ตกว่า เพราะเหตุการณ์ร้ายที่ท่านทั้งหลายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นนั้น ฉันควรจะลงโทษตัวฉันเองอย่างไรดีนอกจากที่จะทำการอดอาหาร และถ้าเป็นการจำเป็นที่จะต้องความสงบเรียบร้อย และขอให้เว้นเสียจากการกระทำซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียเกียรติยศมาสู่ชาวบอมเบ”

คำแถลงการณ์นี้ ท่านได้แจกให้แก่ชาวบอมเบเท่านั้น ส่วนชาวอาหัมมทาวาท ท่านได้แจกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

“พี่น้องทั้งหลาย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อ ๒-๓ วันมานี้ นับว่าการกระทำเหล่านี้ ได้กระทำกันในนามของฉัน ฉันจึงรู้สึกละอายใจมิใช่น้อย ท่านทั้งหลายผู้ซึ่งนับว่าเป็นพวกก่อการจะได้แสดงเกียรติยศแก่ฉันก็หาไม่ หากกลับเป็นผู้ทำลายเกียรติยศเสียด้วยซ้ำ ถ้าท่านทั้งหลายจะเอาดาบมาแทงทลวงหัวใจของฉันเสีย ฉันคงจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าที่กำลังรู้สึกเจ็บอยู่เพราะกิจการของท่าน ฉันเคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งจนแทบนับไม่ถ้วนว่าสัตยาเคราะห์ไม่มุ่งหมายไปในทางการปองร้าย การปล้นหรือการก่อความหายนะประการใด ถึงกระนั้นก็ดีในนามแห่งสัตยาเคราะห์ เราได้เผาตึก แย่งชิงอาวุธ ตัดการคมนาคมทางรถไฟ ตัดสายโทรเลขทำลายชีวิตและปล้นทรัพย์สมบัติ ถ้าการกระทำเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อช่วยเหลือฉันให้หลุดจากคุก หรือพ้นจากการถูกประหารชีวิตแล้วไซร้ ฉันจะไม่ปรารถนาการพ้นจากคุก และทั้งไม่ต้องการแม้การพ้นจากคุกประหารชีวิตด้วย”

“บัดนี้ ทุกคนมีช่องทางที่จะพูดได้ว่า หากมิได้ดำเนินการสัตยาเคราะห์ เหตุร้ายเหล่านี้คงจะไม่บังเกิดขึ้นเป็นแน่ อาศัยเหตุร้ายเหล่านี้ ฉันจึงต้องบำเพ็ญทุกขกิริยา ซึ่งฉันเป็นเป็นทุกขกิริยาที่บำเพ็ญได้ด้วยยากยิ่ง กล่าวคือฉันได้งดการไปเยี่ยมเมืองเดลลี และทั้งได้จำกัดบริเวณสถานที่ที่เราจะดำเนินการสัตยาเคราะห์ด้วย นี่ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บยิ่งกว่าบาดแผล ถึงกระนั้นฉันก็เห็นว่าทุกขกิริยานั้นยังไม่เพียงพอ จึงตกลงใจที่จะบำเพ็ญการอดอาหารตลอดเวลา ๓ วัน หรือ ๗๒ ชั่วโมง ฉันหวังว่าการอดอาหารของแนนี้ คงไม่เป็นเหตุให้ใครรู้สึกเสียใจเพราะฉันเชื่อว่า การอดอาหารชั่วเวลา ๗๒ ชั่วโมงสำหรับฉันนั้น รู้สึกว่าจะมีความลำบากน้อยกว่าการอดอาหารตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงสำหรับท่าน ใช่แต่เท่านั้น การบำเพ็ญพรตเช่นนี้ ฉันสามารถอดทนได้จริงๆ”

อาศัยเหตุร้าย ณ เมืองบอมเบและอาหัมมทาวาทคราวนี้ ท่านจึงเห็นเป็นการจำเป็นแท้ ที่จะต้องระงับการดำเนินสัตยาเคราะห์ไว้ชั่วคราว ฉะนั้นต่อมาวันที่ ๒๔ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ อินเดียจึงได้เลิกการดำเนินสัตยาเคราะห์โดยบัญชาของท่านคานธี แต่ก็ไม่กี่วันนักได้เกิดมีเหตุร้ายขึ้นอีกรายหนึ่ง ทำให้อินเดียต้องเริ่มดำเนินสัตยาเคราะห์ต่อไปอีกอย่างเคร่งครัดมากยิ่งกว่าคราวที่แล้วๆ มา ถึงกับทำให้สายตาแห่งสากลโลกจ้องจับอยู่ที่อินเดียด้วยความประหลาดใจ

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี