คานธีกับการดำเนินกิจการใหม่

Socail Like & Share

คานธี
ในระหว่างเวลา ๒ ปี ที่ท่านคานธียังต้องโทษอยู่ในเรือนจำ มติของคองเกรสเกิดแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคณะพรรคคองเกรสควรจะสมัครเป็นสมาชิกสภา แล้วดำเนินนโยบายการไม่ร่วมมือขึ้นภายในสภาด้วย แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า คองเกรสไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แม้แต่ประการไร ควรดำเนินหลักการไม่ร่วมมืออยู่แต่ภายนอกสภา และทำการบอยค๊อตรัฐธรรมนูญโดยประการทั้งปวง ฉะนั้นย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อท่านพ้นโทษออกจากเรือนจำเป็นอิสระแล้ว ประชาชนจะต้องเกิดอยากรู้อยากเห็นมติของท่านคานธี ในการสมัครเป็นสมาชิกสภา

ความคิดเห็นของท่านคานธี ที่ประเทศได้รับเป็นครั้งแรกหลังจากการพ้นโทษนั้นมีปรากฎชัดอยู่ในถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ตลอดเวลา ๒ ปี ฉันได้รับโอกาสและความสงบเป็นอย่างมาก พอที่จะใช้สมองคิดให้ลึกซึ้งโค่นล้างความเชื่อถือในหลักและวิธีการไม่ร่วมมือมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้อีก ฉะนั้นฉันจึงเชื่อว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้ จะนำผลสำเร็จมาสู่เรา ทั้งจะก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นระหว่างชาติทั้ง ๒ ด้วย ถ้าเรารักษาความซื่อสัตย์ต่อหลักอหิงสาโดยกาย วาจาและใจ และยอมดำเนินการตามวิธีการของคองเกรส เราจะต้องได้รับเสรีรัฐของตน โดยไม่ต้องดำเนินการขัดขืนกฎหมาย ถึงกระนั้นฉันขอกล่าวย้ำว่า การภาวนาถึงพระเจ้าพร้อมด้วยความคิดในความสงบเป็นเวลา ๒ ปีนี้ จะได้ทอนความเชื่อถือของฉันในฤทธิ์เดชแห่งการขัดขืนกฎหมายให้ลดน้อยลงไปก็หาไม่ ฉันถือว่าในเมื่อชาติตกอยู่ในข่ายอันตราย ชาติย่อมมีสิทธิที่จะขัดขืนกฎหมายได้ ใช่แต่เท่านั้น ยังนับว่าเป็นกรณียกิจของชาติด้วยซ้ำ ฉันเชื่อแน่ว่าวิธีการเช่นนี้มีอันตรายน้อยกว่การทำสงครามเพราะว่าถ้าวิธีการขืนกฎหมายตามหลักอหิงสาสำเร็จลงเมื่อใดย่อมจะเป็นประโยชน์แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายที่ขัดขืนและฝ่ายที่ปราบปราม ส่วนการสงครามมีแต่จะนำผลร้ายให้แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายที่ชนะและฝ่ายที่แพ้”

ในถ้อยแถลงข้างต้นนี้ ท่านมิได้เอ่ยถึงการสมัครเป็นสมาชิกสภา ทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุที่ท่านคอยโอกาสพบปะกับผู้นำต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะลงความเห็นโดยเด็ดขาดได้ ในไม่ช้าโอกาสเช่นนี้ก็ได้มาถึงสมประสงค์ที่เมืองซุหุ ณ ที่นั้นบรรดาผู้นำแห่งคองเกรสได้นัดมาประชุมกัน เพื่อปรึกษาหารือถึงเรื่องการสมัครเป็นสมาชิกสภา ท่านคานธีก็ไปในงานประชุมนั้นเหมือนกัน ผู้นำฝ่ายที่เห็นว่าควรจะสมัครเป็นสมาชิกสภามีอยู่ ๒ ท่าน คือ ท่านจิตรัญชันทาส กับบัณฑิต มติลาลเนรูห์ การประชุมคราวนี้แสดงให้เห็นว่าผู้นำฝ่ายคองเกรสส่วนมาก เห็นพ้องด้วยกับหลักการของท่านจิตรัญชันทาส ผู้แนะนำให้ดำเนินหลักการไม่ร่วมมือขึ้นแม้ภายในสภาด้วย เมื่อมติส่วนใหญ่ของคองเกรสเอียงเอนไปในทางการสมัครเป็นสมาชิกสภานั้น ท่านคานธีก็จะต้องอนุโลมตาม แต่โดยถือสิทธิที่ว่า สมาชิกคองเกรสคนใดเห็นว่า ไม่ควรจะสมัครเป็นสมาชิกคองเกรสผู้นั้นมีสิทธิดำเนินหลักการไม่ร่วมมือได้เฉพาะภายนอกสภาเท่านั้น แต่ก็ต้องรับรองว่าจะไม่ดำเนินกิจการให้เป็นปรปักษ์ กับฝ่ายที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภา

เมื่อการประชุมที่ซุหุได้ตกลงกันดังนี้แล้ว การดำเนินวิธีการของคองเกรสก็ตกเป็นภาระหน้าที่ของท่านจิตรัญชันทาส อินเดียจึงได้พากันไปรวมอยู่ภายใต้ธงนำของท่านจิตรัญชันทาส

ความจริงถึงการบริหารคองเกรสจะตกอยู่ในกำมือของท่านจิตรัญชันทาสทั้งหมดก็จริง แต่ท่านคานีก็หาได้ถอนตัวปลีกออกจากกิจการของคองเกรสไม่ ท่านลงมือดำเนินกิจอันเกี่ยวแก่การอบรมสั่งสอนประชาชนให้ยึดมั่นอยู่ในหลักอหิงสา มิหนำยังกลับเข้ารับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Young India ต่อไปอีกด้วย

ในการกลับเข้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการคราวนี้ท่านได้ลงถ้อยแถลงแสดงแนวความคิดเห็นของตนไว้ดังต่อไปนี้

“ฉันยอมเข้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ Young India อีกคราวนี้ ด้วยความลังเลใจสักหน่อย เพราะฉันยังไม่ทราบว่าสุขภาพของฉันพอที่จะดำเนินการแห่งหนังสือพิมพ์ได้หรือไม่ ฉันยังไม่เห็นชัดแต่เข้าใจได้อย่างรางๆ ถึงความหมายของพระเจ้าว่า เหตุไฉนฉันจึงได้ออกจากเรือนจำยารเวทาก่อนกำหนดเวลา ในการรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการแห่ง “นวชีวน” และ Young India ฉันเพียงแต่ดำเนินตามแสงประทีปของพระองค์ เท่าที่ฉันสามารถเห็นได้…ฉันยังไม่มีสิ่งไรที่จะเสนอต่อผู้อ่านได้ ฉันเคยมีความหวังอยู่ว่าฉันได้รับอิสรภาพด้วยอำนาจตราสารแห่งสภาเสรีรัฐอินเดียแล้วและออกมารับใช้เสรีรัฐอินเดีย แต่ความหวังได้ผิดคาดหมายไปเสียแล้ว เรายังมิได้กู้ประเทศให้เป็นอิสระ ฉันไม่มีโครงการเก่าที่จริง ความเชื่อของเรานี้เองเป็นเหตุให้ตั้งโครงการ และโครงการนั้นจะถูกหรือผิด เราจะพิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ถึงความตึงเครียดอย่างเต็มที่ ฉะนั้นถึงในหน้ากระดาษแห่ง Young India จะไม่มีโครงการใหม่ปรากฎอีกก็จริง แต่ระดับแห่งโครงการจะเสื่อมลงก็หาไม่”

“ฉันรู้ว่า พระเจ้าคือความจริง ฉันดำรงชีวิตเพื่ออิสรภาพแห่งอินเดีย และฉันจะพลีชีวิตเพื่ออิสรภาพแห่งอินเดียนั่นเอง เพราะตามความเห็นของฉัน อิสรภาพแห่งอินเดียคือความจริง ส่วนหนึ่งเฉพาะอินเดียที่เป็นอิสระเท่านั้นที่มีสิทธิบูชาพระเจ้าได้ ฉันได้อุทิศชีวิตเพื่ออิสระของอินเดีย เพราะความรักชาติของฉัน ได้สอนฉันว่าเนื่องจากฉันได้เกิดมาในประเทศนี้ ทั้งประเทศนี้ ทั้งได้รับวัฒนธรรมของอินเดียเป็นมรดก ฉันจึงย่อมสมควรที่จะรับใช้ประเทศนี้ได้ ทั้งประเทศก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องฉันมารับใช้อินเดียก่อนกว่ากิจทั้งปวง แต่ความรักชาติของฉัน ไม่จำกัดด้วยสิ่งไร ความรักชาติของฉันหมายถึงการไม่เบียดเบียนชาติใด ตรงกันข้ามมีแต่จะนำประโยชน์ที่แท้จริงมาให้แก่ชาติอื่นๆ ด้วย อิสระภาพของอินเดียตามที่ฉันเข้าใจจะไม่เป็นอันตรายแก่โลกแม้แต่น้อย”

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี