สถานการณ์อินเดียสมัยดำเนินนโยบายไม่ร่วมมือของคานธี

Socail Like & Share

คานธี
สมัยเมื่อท่านคานีหรือสภาคองเกรส ประกาศนโยบายการไม่ร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษ สถานการณ์อินเดียในทางการเมือง กำลังตกอยู่ในกระแสความผันแปรอย่างสำคัญกล่าวคือ ตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ว่าจะให้ Dominion Status แก่อินเดียในเมื่อสงครามโลกได้สิ้นสุดลงแล้วนั้น เมื่อถึงคราวเข้าจริงรัฐบาลให้เพียงรัฐธรรมนูญแก่อินเดียฉบับหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าไม่เป็นที่พอใจของชาติอินเดีย ทั้นี้ก็เพราะว่า ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แบ่งอำนาจการปกครองไว้เป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ได้แก่อำนาจที่โอน (Transferred Power) และอีกประเภท ๑ ได้แก่อำนาจที่สงวนไว้ (Reserved Power) อำนาจประเภทที่โอนให้นั้น หมายถึงอำนาจปกครองที่รัฐบาลได้โอนแก่ชาวอินเดีย ซึ่งมีอยู่ ๔ แผนก คืออำนาจการเทศบาล ๑ อำนาจการตั้งงบประมาณ ๑ ส่วนอำนาจที่สงวนไว้นั้นได้แก่อำนาจที่รัฐบาลอังกฤษยังสงวนไว้ ซึ่งมีอยู่ ๔ แผนกคืออำนาจการทหาร ๑ อำนาจการคลัง ๑ อำนาจตำรวจ ๑ และอำนาจกรมชลประทาน ๑

อาศัยหลักดังนี้ พอที่จะเห็นไว้ชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมิได้ให้อำนาจที่แท้จริงแก่อินเดียแม้แต่น้อย เพราะว่าการให้อำนาจการตั้งงบประมาณ โดยสงวนการคลังไว้ในกำมือเปรียบเสมือนว่าการใช้สิทธิใช้เงิน แต่ไม่ออกเงินให้ใช้ ในทำนองเดียวกันนี้การให้อำนาจเกษตร โดยสงวนการชลประทานไว้ และให้อำนาจการธรรมการ โดยไม่ยอมมอบเงินให้ในการบำรุงขยายการศึกษา ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน การคลังเสมือนลูกกุญแจในการดำเนินกิจการทั้งปวง ถ้ายังสงวนอำนาจการคลังไว้ในกำมือ ก็แปลว่าถึงจะโอนอำนาจอื่นๆ ให้ทั้งหมดก็นำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์มิได้ มีอำนาจสำคัญอีก ๒ ประการ ซึ่งนับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเป็นจิตใจสำคัญในการปกครองบ้านเมือง คือการตำรวจและการทหาร ตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น อำนาจทั้ง ๒ ประการดังกล่าวมานี้อังกฤษยังสงวนไว้ ฉะนั้นตามความเห็นของอินเดียในสมัยนั้น จึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่อังกฤาให้นี้เป็นเพียงแต่เครื่องเล่นชนิดหนึ่ง สำหรับปลอบใจเด็กขี้อ้อนเท่านั้นเอง หรืออีกประการหนึ่งเป็นการโปรปะกันดาของอังกฤษเพื่อให้โลกเห็นว่า อังกฤษได้มอบอำนาจให้แก่อินเดียแล้ว

อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อจำกัดอยู่ว่า ถึงสภาจะมีอำนาจออกพระราชบัญญัติได้ก็จริง แต่ผู้สำเร็จราชการมีสิทธิพิเศษ (คือ Power of Veto) ที่จะเผด็จร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับแม้ผ่านสภาแล้ว โดยที่ผู้สำเร็จราชการเห็นว่าไม่ควรที่จะออกเป็นกฎหมายได้อีกชั้นหนึ่งนั้นเป็นอันแสดงว่า สภาไม่มีอำนาจที่จะบังคับรัฐบาลให้ดำเนินตามมติของสภา เมื่อรูปการเป็นเช่นนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องเปรียบเสมือนสโมสรการโต้วาที ที่มีอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ เท่านั้น

อาศัยเหตุผลดังบรรยายมานี้ ท่านคานธีจึงได้เสนอญัตติต่อสภาคองเกรส ขอให้แนะนำประชาชนชาวอินเดียพร้อมใจร่วมมือบอยค๊อตรัฐธรรมนูญใหม่นี้โดยประการทั้งปวง

ถึงแม้อินเดียจะได้ตั้งข้อคัดค้านต่อหลักการรัฐธรรมนูญนี้อย่างแรงกล้ากันก็จริง แต่อังกฤษก็ยังดื้อดึงหายอมฟังเสียงอินเดียไม่ ในที่สุดร่างอันว่าด้วยรัฐธรรมนูญอินเดีย ก็ได้รับการยินยอมพร้อมใจของสภาปารเลียเมนต์ ทางราชการจึงได้ประกาศออกเป็นพระราชบัญญัติแล้วนำมาใช้ในอินเดียพรรคการเมืองคณะ Moderate ความจริงถึงจะไม่พอใจ ก็จำต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น และสมัครผู้แทนราษฎรเตรียมเข้านั่งในสภาผู้แทนตามระบอบรัฐธรรมนูญใหม่นี้ องค์จักรพรรดิ์ทรงแต่งตั้งให้ดุ๊คออฟคอนน๊อต เป็นผู้ประกอบการพิธีเปิดสภาผู้แทนขึ้นเป็นปฐมฤกษ์แทนพระองค์

คองเกรสภายใต้การแนะนำของท่านคานธี ประกาศให้ประชาชนบอยค๊อตการเสด็จของดุ๊คออฟคอนน๊อต ความตื่นเต้นจึงได้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกด้านทุกมุมของอินเดียทำให้รัฐบาลต้องตาบอดมองไม่เห็นลู่ทางว่าจะนำความสงบกลับคืนสู่อินเดียก่อนหน้าการเสด็จของท่านดุ๊คได้อย่างไร

พร้อมๆ กับการตื่นตัวในทางการเมืองดังกล่าวนี้เกิดมีความวุ่นวายขึ้น ในทางการพาณิชย์ผสมอีกทางหนึ่งด้วย กล่าวคือเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า อำนาจอันใหญ่หลวงของชาวอังกฤษนั้นเกิดขึ้นเพราะการพาณิชย์เป็นกระดูกสันหลัง การที่ชาวอังกฤษพยายามเข้าไปในประเทศต่างๆ ของโลก ก็โดยมีความมุ่งหมายจุดสำคัญยิ่งอยู่ว่าจะขายสินค้าของตน ฉะนั้นการที่ชาวอังกฤาใคร่จะยึดอินเดียไว้ก็โดยมีความมุ่งหมายไม่แตกต่างไปจากหลักที่กล่าวมาแล้ว ดังเราจะเห็นได้ชัดจากถ้อยคำของเซอรยอนห์นสันฮิกส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยเมื่อท่านบอลด์วินเป็นอัครมหาเสนาบดีครั้งแรก

“เรามิได้ชนะอินเดีย เพื่อประโยชน์ของอินเดีย ฉันรู้แก่ใจดีว่า พวกบาทหลวงมักชอบพูดกันในที่ประชุมเสมอว่า เราชนะอินเดียเพื่อจะยกฐานะของอินเดียให้สูงขึ้นนั้น เป็นคำพูดอย่างหน้าไหว้หลังหลอก เราตีอินเดียเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอังกฤษออก เรารบอินเดียชนะได้ด้วยดาบฉันใด เราจะกำอินเดียไว้ด้วยดาบฉันนั้น ฉันพูดพล่อยๆ ว่าเรากำอินเดียไว้เพื่อประโยชน์ของอินเดียอย่างคนหน้าไหว้หลังหลอกพูดกันไม่ได้ เรายึดอินเดียไว้เป็นตลาดเอกสำหรับระบายสินค้าอังกฤษทั่วไป และโดยเฉพาะผ้าแลงไซรเป็นพิเศษ”

หลักสำคัญแห่งการยึดอินเดียไว้คือการขายผ้า และว่าผ้าเป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง อังกฤษมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญแห่งการใช้ผ้านี้ จึงได้พยายามจะทำลายอุตสาหกรรมทอผ้า ซึ่งอินเดียเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาแล้วแต่สมัยโบราณเสีย ตั้งแต่แรกมาในการทำลายอุตสาหกรรมทอผ้า อังกฤษได้ดำเนินนโยบายหลายประการ เราอาจเห็นได้จากถ้อยคำของวิลเลียมบอลตร์ผู้เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ในสมัยต้นแห่งรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย

“การข่มเหงรังแกพวกทอผ้า ดังที่บริษัทอิสต์อินเดียกระทำนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น การปรับเงิน การจำคุก การเฆี่ยนตี การบังคับให้เซ้นชื่อในสัญญาเป็นต้น การข่มเหงคะเนงร้ายโดยวิธีเหล่านี้เป็นเหตุทำให้จำนวนพ่อค้าลดน้อยถอยลงทุกที เคยกระทำการทารุณกรรมพวกทอผ้าถึงกับจับตัดหัวแม่มือเสีย เพื่อไม่ให้กรอด้ายได้ก็มี”

เมื่ออุตสาหกรรมทอผ้าของอินเดีย ต้องล้มลงเพราะเหตุดังกล่าวนี้แล้ว อังกฤษก็เริ่มตั้งโรงทอผ้าขึ้นในบ้านเมืองของตนและนำผ้าที่ทอได้นั้นมาขายในอินเดีย ในตอนนี้อังกฤาได้ลูกค้าชาวอินเดียรับซื้อผ้าประมาณ ๓๕๐,๐๐๐,๐๐๐ คน รัศมีแห่งความเจริญวัฒนาถาวรแห่งอุตสาหกรรมทอผ้าของอังกฤา จึงค่อยๆ เริ่มแตกแสงทองขึ้นโดยลำดับกาล เงาความเสื่อมโทรมแห่งเศรษฐกิจได้เริ่มปกคลุมอินเดีย และขยายตัวแผ่ไพศาลไปทั่วทุกตำบล

มหาตมะคานธีมีความเข้าใจซาบซึ้งในข้อนี้ดีที่สุดว่าการต่อต้านกับรัฐบาลอังกฤษนั้น อินเดียจะต้องต่อสู้ในทางเศรษฐกิจ พูดสั้นๆ ก็คือ อินเดียต้องเลิกซื้อสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือสินค้าอังกฤษทุกประการ แล้วช่วยกันตั้งต้นใช้สินค้าอินเดียกันทุกคน ส่วนสิ่งของที่อินเดียยังทำขึ้นเองไม่ได้ ให้ซื้อจากประเทศอื่น นอกจากประเทศอังกฤษ

เนื่องจากผ้าเป็นสินค้าสำคัญของอังกฤษ และทั้งเป็นสินค้าที่นำเงินอินเดียออกนอกประเทศอย่างนับจำนวนไม่ถ้วนด้วย ท่านจึงได้วางกติกาของคองเกรสว่า

๑. สมาชิกทุกคนต้องแต่งเครื่องเสื้อผ้า ที่ทำขึ้นจากโรงงานหัตถกรรมของอินเดีย ห้ามไม่ให้ใช้เสื้อผ้าที่ทำขึ้นจากโรงเครื่องจักร ทั้งนี้เพราะว่าเครื่องจักรอินเดียต้องซื้อจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากที่โรงหัตถกรรมยังมีจำนวนน้อยจึงไม่สามารถจะทอผ้า ให้พอแก่ความต้องการของอินเดียทั่วประเทศได้ จึงได้แนะนำให้พวกที่ไม่ใช่สมาชิกของคองเกรสใช้ผ้าที่ทำจากโรงเครื่องจักรแทนได้
๒. สมาชิกทุกคนต้องทำด้ายให้ได้ปีละ ๔๐๐ หลา
๓. สมาชิกผู้ใดไม่สามารถเสียเงินค่าบำรุง ตามที่ได้กำหนดไว้ว่าปีละสลึง มีสิทธิที่จะใช้ด้ายขนาดราคานั้นแทนค่าบำรุงได้

เพื่อตักเตือนประชาชนให้ระลึกถึงอยู่เสมอว่า ผ้าเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษ และกู้ฐานะเศรษฐกิจของอินเดีย ท่านจึงแนะนำให้เขียนภาพเครื่องปั่นฝ้ายไว้บนธงชาติอินเดีย ยิ่งกว่านั้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้มองเห็นได้ชัด ท่านเริ่มปั่นด้ายเองทุกวัน ประดุจเป็นกิจวัตรประจำ แม้ในขณะที่ไปแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุมต่างๆ ท่านก็ยังนำเครื่องปั่นฝ้ายติดตัวไปด้วย เวลาหยุดแสดงสุนทรพจน์ ท่านทำการปั่นฝ้ายเรื่อยไปโดยไม่หยุดมือ

การแนะนำให้อินเดียเริ่มทำผ้าของท่านคานธีนี้ได้ประสพผลอย่างไม่มีใครนึกฝัน ยุวชนร่วมกันตั้งสมาคมทำผ้าเกือบทั่ว ทุกถนน ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ห้องพลศึกษาต่างๆ เปิดแผนกขึ้นเป็นพิเศษ พวกผู้ปกครองบังคับให้โรงเรียนเปิดสอนวิชาทำผ้าขึ้นเป็นวิชาพิเศษ เครื่องปั่นฝ้ายกลายเป็นของขวัญอันมีค่า และเกียรติยศอย่างสูง

คองเกรสจัดการรวบรวมผ้าอังกฤษตามบ้านทั่วไป แล้วนัดประชุมเผาผ้าเหล่านั้นเสีย ในงานมหรสพต่างๆ ออกข้อบังคับ ไม่ยอมให้ใครเข้าถ้าไม่นุ่งผ้าอินเดีย มีผู้รับอาสาคอยเฝ้าประตู ตรวจดูผ้าของผู้ที่จะผ่านประตูเข้าไปอย่างละเอียดว่า เป็นผ้าอินเดียหรือไม่

การบอยค๊อตผ้าอังกฤษอย่างเคร่งครัดเช่นนี้ เป็นเหตุให้โรงทำผ้า ณ เมืองแลงไซรของอังกฤษต้องหยุดงานถึงกับล้มไป ๑๐ กว่าโรง

พร้อมๆ กับขณะบอยค๊อตผ้าอังกฤษ ท่านได้แนะนำให้บอยค๊อตบุหรี่อังกฤษด้วย เป็นที่น่าชมมิใช่น้อยที่เริ่มแต่คองเกรสประกาสให้เลิกสูบบุหรี่อังกฤษ ภายในเวลาชั่ววันเดียวเท่านั้น ทำให้การขายบุหรี่ตกต่ำลงอย่างมากมายถึงกับอีกไม่กี่เดือน บริษัทเวอรยิเนีย ณเมืองกัลกัตตาต้องล้ม

โดยอาศัยแนว ๒ ประการคือบอยค๊อตการเสด็จของท่านดุ๊คออฟคอนน๊อต กับการบอยค๊อตสินค้าต่างประเทศหรือโดยเฉพาะสินค้าอังกฤษ ท่านคานธีได้แผ่หลักการไม่ร่วมมือแพร่หลายไปทั่วอินเดีย

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี