มหาตมะคานธีกับเหตุการณ์ในตุรกี

Socail Like & Share

คานธี
ตรงกับเวลาที่เหตุร้ายในปัญจาบกำลังก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วอินเดียนั้นเอง ได้มีการผันผวนขึ้นในทางการบ้านเมืองของตุรกีบางประการ ทำให้ชาวอิสลามในอินเดียเกิดมีความไม่พอใจในรัฐบาลอังกฤษ กล่าวคือในสมัยสงครามตุรกียังอยู่ในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย ภายใต้ความร่มเย็นของพระเจ้าขลิฟา ซึ่งอิสลามศาสนิกชนนับถือกันว่า เป็นองค์อุปถัมภกของศาสนาอิสลาม เนื่องจากการปกครองในระบอบนี้มิได้เป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งไม่ทันสมัยและถูกใจประชาชน จึงมีข่าวเลื่องลือกันว่า มิช้ามินานคงจะเกิดการผันผวนขึ้นเป็นแน่ มิหนำซ้ำยังมีเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือประเทศกรีซมักคอยฉวยโอกาสแผ่อำนาจเข้าครอบงำเมืองตุรกีอยู่เนืองๆ อาศัยสาเหตุ ๒ ประการนี้อาจถึงกับทำให้พระเจ้าขลิฟา องค์ศาสนูปถัมภกของชาวอิสลาม ต้องทรงสละราชบัลลังก์ก็เป็นได้

ชาวอิสลามในอินเดีย มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าขลิฟาเป็นอย่างสูง ฉะนั้นในยามสงครามรัฐบาลอังกฤษจึงได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าชาวอิสลามช่วยเหลือในการสงคราม รัฐบาลอังกฤษจะช่วยเหลือพระเจ้าขลิฟาให้ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งองค์ศาสนูปถัมภกสืบไป ชาวอิสลามจึงได้ดำเนินตามคำขอร้องของรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาภายหลังสงครามเหตุการณ์ต่างๆ บังคับให้พระเจ้าขลิฟาจำต้องทรงสละราชบัลลังก์ แทนที่รัฐบาลอังกฤษจะสนองคุณชาวอิสลามดังที่ได้สัญญาไว้ กลับไปรับรองรัฐบาลตุรกีที่พึ่งตั้งตัวขึ้นใหม่ หัวหน้าชาวอิสลามในอินเดีย เมื่อได้เห็นความไม่มีสัจของรัฐบาลดังนั้น ก็ก่อการวุ่นวายขึ้นในชาวอิสลามด้วยกันทั่วอินเดีย

มหาตมะคานทีมองเห็นอกชาวอิสลาม ผู้ประดุจเป็นพี่น้องของชาวอินเดียที่ต้องประสบโชคร้าย ดังนั้นจึงตกลงจะช่วยเหลือ และได้ชักชวนชาวฮินดู ให้ร่วมมือกับชาวอิสลามช่วยพระเจ้าขลิฟา

โดยอาศัยเหตุ ๒ ประการดังกล่าวนี้คือ เหตุร้ายในปัญจาบกับเหตุการณ์ในตุรกีรวมเข้ากับกรณีเดียวกัน ท่านจึงได้เขียนจดหมายถึงผู้สำเร็จราชการ แสดงนโยบายที่ท่านจะดำเนินต่อไป (เดือนมิถุนายน ๑๙๒๐)

“ข้อสนธิสัญญา และความสนับสนุนของพณะท่านเป็นเหตุให้ชาวอิสลามในอินเดียรู้สึกตกอกตกใจเป็นอย่างยิ่ง ข้อสนธิสัญญาเหล่านั้น ขัดกันกับคำสัญญาของอัครมหาเสนาบดี และขัดต่อความรู้สึกของชาวอิสลามในฐานะที่ฉันเป็นชาวฮินดูผู้เคร่งครัดคนหนึ่ง และมีความปรารถนาที่จะอยู่ด้วยไมตรีจิตกับชาวอิสลาม ผู้ร่วมประเทศ ฉันจะต้องช่วยเหลือเขา เมื่อเขาตกอยู่ในข่ายอันตรายเช่นนี้ มิฉะนั้นแล้วฉันไม่สมควรที่จะเป็นบุตรของอินเดีย ตามความเห็นของฉันเห็นว่า เหตุผลของเขาถูกต้องทีเดียว ถ้าจะเล็งเห็นน้ำใจชาวอิสลามไม่ควรจะลงโทษตุรกี ทหารอิสลามได้ช่วยอังกฤษโดยไม่คิดว่าพระเจ้าขลิฟาจะได้รับผลร้าย ถึงกับต้องพลัดพรากจากราชอาณาจักรตลอดเวลา ๕ ปีที่แล้วมา ชาวอิสลามมั่นอยู่ในข้อนี้เสมอ หน้าที่ของฉันผู้ยังมีความจงรักภักดีต่อราชอาณาจักรอังกฤษ จึงมีอยู่ว่าจะพยายามห้ามไม่ให้รัฐบาลอังกฤษขัดขืนต่อความรู้สึกของชาวอิสลาม เท่าที่ฉันทราบทั้งฮินดูและอิสลาม ไม่มีความไว้วางใจในความยุติธรรมและเกียรติยศของอังกฤษ”

“รายงานของคณะกรรมการฮันเตอรและความเห็นของพณะท่านในเรื่องรายงาน และคำบันทึกของ มร. มันเตกูทั้งสิ้นได้ช่วยเพิ่มความไม่วางใจขึ้นอีกมากหลาย ในสถานการณ์เช่นนี้มีทางเหลืออยู่ทางเดียว ที่คนเหมือนฉันจะพึงปฏิบัติได้คือ ตัดความสัมพันธ์กับอังกฤาเสียทุกประการ เพราะความหมดหวังหรือถ้ายังมีความไว้วางใจในรัฐธรรมนูญอังกฤษ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ใช้กันอยู่แล้วไซร้ ก็ต้องพยายามช่วยแก้ไขความผิดพลาดที่รัฐบาลได้กระทำมาแล้ว และต้องพยายามนำความไว้วางใจที่ดับหายไปนั้นกลับคืนมาอีกให้จงได้”

“การที่จะกระทำเช่นนั้นได้ด้วยเกียรติยศ และภายในขอบเขตแห่งสิทธิราษฎร คือโดยอาศัยหลักการไม่ร่วมมือเป็นกรณี เพราะว่า นับจำเดิมแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาได้รับรองกันแล้วว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ยอมช่วยเหลือรัฐบาลซึ่งปกครองไม่ถูก ฉันรับสารภาพว่า ถ้ามหาชนปฏิบัติตามหลักการไม่ร่วมมือ อาจมีช่องทางที่จะเกิดอันตรายได้อยู่บ้าง แต่สถานการณ์อย่างเข้าด้ายเข้าเข็มดังที่ชาวอิสลามในอินเดียตกอยู่ ณ บัดนี้ ถ้าเราไม่กล้ายึดถือหลักการอันน่าอันตราย ก็เป็นอันว่า ฐานะนั้นจะมิได้รับการแก้ไขแม้แต่น้อย ถ้าเราไม่กล้ายึดหลักการอันน่าอันตราย ในที่สุดเราจะต้องอยู่ในข่ายอันน่าอันตรายยิ่งกว่าถึงกับอาจทำลายความสงบเรียบร้อยเสียก็เป็นได้ แต่ก็ยังมีช่องทางที่ไม่จำเป็นจะต้องดำเนินตามหลักการไม่ร่วมมือก็ได้ กล่าวคือผู้แทนฝ่ายอิสลาม ได้ขอร้องพณะท่านให้เป็นผู้ทำการคัดค้านข้อสนธิสัญญา ดังที่ผู้สำเร็จราชการคนก่อนได้เคยกระทำมาในเรื่องการเสียภาษีในอาฟริกาใต้ แต่ว่าถ้าพณะท่านเห็นว่าไม่มีทางที่พณะท่านจะปฏิบัติเช่นนั้นได้และการไม่ร่วมมือกลายเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งไป ฉันหวังว่า พณะท่านคงจะชมเชยพวกผู้ซึ่งปฏิบัติตามคำแนะนำของฉัน ทั้งตัวฉันด้วยว่าเป็นผู้กล้ายึดถือหลักการอันน่าอันตราย เพราะความเคร่งครัดต่อหน้าที่นั่นเอง”

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี