มหาตมะคานธีกับเหตุการณ์ในอินเดีย

Socail Like & Share

คานธี

ไฟลุกทั่วอินเดีย
ภาษิตตะวันตก มีอยู่ว่า “เสียงมหาชนคือเสียงของพระเจ้า” ภิตข้อนี้มีความจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เท่าที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ พอที่จะกล่าวได้ว่า เมื่อรัฐบาลใดก็ตามดำเนินนโยบายเป็นไปในทำนองขัดขืนหรือไม่ยอมฟังเสียงมหาชนเสียเลยแล้ว ก็เป็นอันว่า อายุกาลแห่งรัฐบาลนั้นถึงที่สุดแล้ว แม้ราชวงศ์ผู้ทรงอำนาจทั้งหลาย ที่ต้องล้มละลายหายไปจากบรรณโลก หรือพลัดจากราชบัลลังก์ ก็เพราะเหตุที่เนื่องมาแต่การขัดขืนเสียงมหาชนนั่นเอง รัฐบาลใดก็ตามที่ แม้ถึงจะทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่สักเพียงไรก็ตาม ถ้าขาดจากความนิยมชมชอบของมหาชนแล้วไซร้ ก้หาสามารถทรงตัวอยู่ได้ไม่ มิวันใดก็วันหนึ่งจะต้องล้มละลายไปอย่างยับเยินเป็นแน่แท้ เพราะมหาชนย่อมทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนืออำนาจรัฐบาลหรืออำนาจแสนยานุภาพอีก มหาชนสำนึกตนและอำนาจของตนได้เมื่อใด เมื่อนั้นแหละ ถึงวาระขึ้นสุดท้าย ฉะนั้นรัฐจึงพยายามหาลู่ทางเพื่อไม่ให้มหาชนสำนึกตัวได้ อันสามารถกระทำขึ้นได้โดยวิธี ๒ ประการ ประการหนึ่งให้ความร่มเย็นแก่มหาชนจะไม่เอาใจใส่ในการบ้านเมือง หรือจะเอาใจใส่แต่จะเป็นไปในทางใช้อำนาจของตนเป็นหลักทางรัฐบาล ประการที่ ๒ สร้างกฎหมายเป็นเครื่องผูกมัดและตัดสิทธิมหาชน ไม่ให้กระดุกกระดิกตัวได้

นโยบายประการที่ ๑ รัฐบาลอังกฤษดำเนินอยู่ในดินแดนของเขาเอง ส่วนประการที่ ๒ เป็นนโยบายการปกครองของอินเดีย แต่ประวัติศาสตร์ได้แสดงมาแล้วหลายครั้งหลายคราวว่า นโยบายเช่นนี้ ย่อมมิเป็นผลถาวรที่จะทรงอำนาจรัฐไว้ได้ ใช่ว่ารัฐบาลอังกฤษมิรู้ประวัติศาสตร์ก็หาไม่แต่เพราะมึนเมาอยู่ในอิสริยะศักดิ์และอำนาจแสนยานุภาพ จึงไม่สามารถมองเห็นได้ว่า มหาชนแม้จะถูกผูกมัดอยู่อย่างแน่นแฟ้นเพียงไรก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะออกเสียง และพ้นจากการผูกมัดนั้นได้ไม่เร็วก็ไม่นานนัก

ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษขัดขืนเสียงมหาชนออกพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิยุวชนอินเดียดังกล่าวแล้ว ไฟคือความไม่สงบ จึงได้ลุกโชนขึ้นทั่วดินแดนอินเดีย ถึงกับคณะพรรคการเมืองต่างๆ รวมเป็นคณะเดียวกัน ทำการคัดค้านรัฐบาลอังกฤษในอินเดียอย่างแรงกล้า

ส่วนท่านคานธี เมื่อเห็นว่าการคัดค้านภายในขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นผลแม้แต่ประการใดจึงชักชวนประชาชนให้ดำเนินสัตยาเคราะห์ ดังท่านได้ดำเนินมาแล้วในภาคอาฟริกา

มหาชนเห็นพ้องตามความเห็นของท่านคานธี จึงพากันมารวมอยู่ภายใต้ธงชัยของท่านผู้นำผู้นี้ ฉะนั้นเพื่อดำเนินตามหลักแห่งสัตยาเคราะห์ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๑๙ ท่านจึงได้พิมพ์ใบสัตยาธิฐานแจกให้ผู้สมัครสัตยาเคราะห์ทั้งหลายเซ็นนามเป็นการแสดงปฏิญาณตนว่าจะดำเนินตามหลักสัตยาเคราะห์ ใบสัตยาธิฐานนั้น มีข้อความดังนี้

“เนื่องจากเรามีความเห็นอย่างแน่ว่าร่างพระราชบัญญัติที่เรียกว่าร่างพระราชบัญญัติกฎหมายอาญา (ฉบับแก้ไข) ฉบับที่ ๑ แห่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ และร่างพระราชบัญญัติกฎหมายอาณา (อำนาจฉุกเฉิน) ฉบับที่ ๒ แห่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ นั้นเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม ขัดต่อหลักเสรีและความยุติธรรมทำลายสิทธิเดิมของบุคคล อันหนึ่งที่ตั้งความปลอดภัยแห่งสังคมและรัฐ เราจึงขอปฏิบัติตนด้วยความจริงใจว่า ถ้าร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ ออกเป็นกฎหมายเมื่อใดแล้วตราบใดที่กฎหมายเหล่านั้นยังไม่ยกเลิก เราจะไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้น และกฎหมายอื่นๆ ที่คณะกรรมการจะสร้างขึ้นภายหลังว่า เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ควรมี ทั้งเราขอปฏิญาณว่า ในการต่อสู้คราวนี้ เราจะดำเนินตามสัจธรรมและงดเว้นเสียจากผลาญชีวิต การทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สมบัติของผู้ใดอื่นทั้งหลาย”

พลเมืองอินเดียนับจำนวนหมื่นๆ สมัครเข้าเป็นผู้รับอาสาเพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปโดยราบรื่น ได้จัดตั้งคณะสัตยาเคราะห์ขึ้นเป็นคณะกลางคณะหนึ่ง มีหน้าที่ควบคุมหลักการแห่งสัตยาเคราะห์ทั่วอินเดีย ส่วนการสัตยาเคราะห์เฉพาะแคว้นๆ อยู่ภายใต้ความควบคุมของคณะกรรมการสัตยาเคราะห์ประจำแคว้น แยกออกเป็นสาขา จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เป็นต้น มหาตมะคานธีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสัตยาเคราะห์กลาง

เมื่อประกาศสัตยาเคราะห์ ท่านมีเวลาว่างพักผ่อนร่างกายได้น้อยเต็มที ท่านได้จาริกไปทั่วจังหวัด จนแม้หมู่บ้าน เพื่อแนะนำหลักสัตยาเคราะห์ให้ประชาชนเข้าใจซาบซึ้ง แล้วจะดำเนินตาม ดังนั้นทั่วอินเดียจึงได้มารวมอยู่เบื้องหลังท่านคานธี เมื่อปรากฎว่า สัตยาเคราะห์กำลังดำเนินไปด้วยดี ท่านจึงเห็นเป็นโอกาสสมควรที่จะแสดงความสามัคคีของอินเดีย คัดค้านกฎหมายดังกล่าวแล้วให้รัฐบาลเห็นชัด ฉะนั้นท่านจึงได้กำหนด ณ วันที่ ๖ เดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เป็นวัน “หัรตาล”

ขออธิบายคำว่าหัรตาลสักหน่อย ในภาษาอังกฤษว่าไม่มีคำที่มีความหมายเท่ากับคำว่า หัรตาล ภาษาอังกฤาจึงได้ทับศัพท์ต่างๆ หัรตาลนับว่าเป็นนโยบายของอินเดียประการหนึ่ง ใช้ในการคัดค้านรัฐบาบ การถือหัรตาลหมายความว่าหยุดงานทั้งหมด อาทิเช่น งานในโรงงานต่างๆ การเล่าเรียน การจราจร การปิดร้าน การหุงอาหารจนกระทั่งการออกจากบ้าน แต่อนุญาตให้แพทย์ปักธงเครื่องหมายไว้บนรถ ทำการเยี่ยมและรักษาคนไข้ได้เวลากลางวันประชาชนทำพิธีสัตยาธิฐาน เพื่อให้มีกำลังใจที่จะดำเนินการต่อสู้โดยไม่ผลาญชีวิตใคร บางคราวประชาชนพากันไปยังเทวสถานตั้งสัตยาธิฐานก็มี แต่นั่นแล้วแต่คณะกรรมการจะสั่งประการใด การถือหัรตาลทำกันตั้งแต่ ๕ นาฬิกาจนถึง ๑๗ นาฬิกา ในเมื่อประชาชนพากันไปยังสนาม แล้วแสดงสุนทรพจน์คัดค้านนโยบายของรัฐบาล บางครั้งรัฐบาลใช้กำลังทหารระงับการประชุมนี้ก็มี แต่ก็หาเป็นผลประการใดไม่

อย่างไรก็ดี ตามคำสั่งของท่านคานธี อินเดียได้ถือหัรตาล เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เหตุการณ์ได้ดำเนินไปโดยความเรียบร้อย เว้นไว้แต่กรุงเดลลีได้เกิดเหตุร้ายขึ้นเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ พลเมืองนับจำนวนตั้ง ๔๐,๐๐๐ ไปประชุมกันที่เมืองเดลลี ภายใต้ความควบคุมของท่านสวามีสัทธานันท์ เกิดมีการปะทะกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับมหาชน ทั้งนี้เพราะข้าหลวงประจำเดลลีออกคำสั่งห้ามประชาชนไม่ให้ประชุมในวันหัรตาล เป็นธรรมดาที่มหาชน จะต้องทำการขัดขืนคำสั่งนั้นอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นในเวลาประชุมตำรวจจึงพยายามจะทำให้ประชาชนที่กำลังประชุมกันอยู่นั้นแตกแยก กระจัดกระจายออกไปเสีย แต่ครั้นเห็นมีจำนวนมากมายเกินคาดเช่นนั้น ก็ไม่กล้าลงมือทำแต่กำลังตน จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังกรมทหารให้ทหารทำหน้าที่แทนตำรวจ อาศัยคำขอร้องทางการตำรวจ ทหารยกกองมาลงมือยิงประชาชนที่กำลังประชุมอยู่นั้นทันที คนตายไปบ้าง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้อินเดียเลือดเดือดพล่านขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าทางการรัฐบาลกล่าวห้ามมหาชนเดลลีเข้าในหลัก ๕ ข้อคือ
๑. บางคน พยายามบังคับร้านขายขนมบางร้านให้ปิดร้าน ที่ไม่ปิดในวันหัรตาล
๒. บางคน พยายามฉุดคร่าพวกที่ขึ้นรถรางในวันหัรตาลไว้ไม่ให้ขึ้น

๓. บางคนปารถรางที่กำลังแล่นอยู่ด้วยก้อนหิน
๔. ประชาชนทั้งหมด พากันไปยังสถานีรถไฟ ขู่เข็ญรัฐบาลให้ปล่อยคนที่ถูกจับ ณ วันหัรตาล
๕. ประชาชน ไม่ยอมแยกออกจากชุมนุม ในเมื่อข้าหลวงออกคำสั่งให้เลิกการจับกลุ่มกัน ท่านสวามีสัทธานันท์ ปฏิเสธข้อหา ๓ ข้อข้างต้น แต่ยอมรับข้อหลัง ๒ ข้อ อย่างไรก็ดี ท่านคานธีเห็นว่า ถ้าจะดำเนินสัตยาเคราะห์และหัรตาลในทางที่สงบเรียบร้อย จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบให้แก่คณะบริหารและผู้อาสาทั้งหมดขึ้นอีก เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนประชาชนไม่ให้ก่อเหตุขึ้น ประการใดๆ ท่านจึงลงมือแก้ไขปรับปรุงระเบียบดำเนินการสัตยาเคราะห์และหัรตาลใหม่ และชักชวนประชาชนให้ดำเนินการสัตยาเคราะห์ในทางที่สงบโดยไม่ทำการขู่เข็ญรัฐบาล การชักชวนของท่านได้ปรากฎผลเป็นอย่างดีอย่างที่ไม่เคยมีปรากฎอยู่ในประวัติการณ์ของอินเดียแต่ก่อนๆ มา

นอกจากที่จะทำการหัรตาล และสัตยาเคราะห์แล้ว คณะกลางได้ขยายวงการดำเนินให้กว้างออกไปอีก คือ คณะกรรมการเห็นว่า ถ้าเราต้องการปลุกใจมหาชนเราจะต้องพิมพ์หนังสือแจก อย่างไม่ต้องชำเลืองแลพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิมพ์ เพราะพระราชบัญญัติการพิมพ์ผูกมัดผู้แต่งไม่ให้เขียนเรื่องราวตามที่ผู้เขียนเห็นสมควรจะเขียน แต่ต้องเขียนตามที่รัฐบาลเห็นสมควรต่างหาก อันนับว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างไม่ชอบธรรม มหาตมะคานธีก็เห็นพ้องตามมติของคณะกลางดังที่ว่า มาในวันที่ ๘ เดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๑๙ จึงเริ่มแจกใบโฆษณาชักชวนประชาชนให้ช่วยพิมพ์ขายแล้วซื้อหนังสือต่างๆ ที่รัฐบาลริบไว้ทั้งหมด โดยที่เป็นหนังสือที่รัฐบาลเห็นว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการนำในทางนี้ ท่านได้จัดการออกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ชือว่า สัตยาครหิ พร้อมกับจัดการพิมพ์หนังสือเล่มอื่นๆ ที่ท่านแต่งไว้ก่อนแต่ถูกรัฐบาลริบไว้เสียด้วยคำแถลงการณ์ที่ท่านนำลงในหนังสือพิมพ์ฉบับแรกนั้นมีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ

“บรรณาธิการคงจะถูกจับโดยกระทันหัน ตราบใดที่อินเดียยังไม่สามารถจัดหาบรรณาธิการสำรองไว้จนมีจำนวนเพียงพอ ที่จะเข้าทำงานแทนในตำแหน่งบรรณาธิการที่จะถูกจับนั้นๆ ก็เป็นอันว่าเราไม่สามารถที่จะออกหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสายได้ เราไม่มีความมุ่งหมายที่จะขัดขืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิมพ์นี้ตลอดไป เป็นแต่ว่าหนังสือฉบับนี้ จะคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่ยกเลิกพระราชบัญญัติเราว์แลตต์เท่านั้น”

เป็นธรรมดาการปลุกใจประชาชน เนื่องในการสัตยาเคราะห์ดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นเหตุทำให้ท่านคานธีตกอยู่ในอำนาจตำรวจเป็นแน่ๆ ฉะนั้นต่อมา ณ วันที่ ๑๐ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ เมื่อท่านกำลังเดินทางไปเมืองเดลลีและแคว้นปัญจาบ พอไปถึงสถานีรถไฟแห่งหนึ่งชื่อว่าโกสีอันตั้งอยู่ที่พรมแดนเมืองเดลลี เจ้าหน้าที่วฝ่ายตำรวจก็เข้ามาหาท่านคานธี แสดงเอกสารคำสั่งของทางการให้ท่านทราบว่าถ้าท่านเข้าไปในเมืองเดลลีหรือเขตของปัญจาบ เจ้าหน้าที่จะต้องทำการจับกุมตัวท่านไว้ไม่ให้เข้าไปในเมืองนั้นๆ แต่ท่านคานธีกลับตอบว่า เพื่อจะดำเนินหน้าที่อันชอบธรรมท่านจำเป็นแท้ที่จะต้องเข้าเมืองเดลลีให้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นเป็นอย่างอื่น และไม่สมควรประการใดจะจับกุมตัวท่านไว้ก็เชิญ เจ้าหน้าที่แสดงอัธยาศัยไมตรีต่อท่านคานธีเป็นอย่างดีมาก และได้วิงวอนขอให้ท่านคานธีเข้าใจถึงพฤติการณ์ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำไปตามหน้าที่ มิใช่เพราะความคิดร้ายหมายขวัญประการไร แล้วคุมตัวท่านคานธีส่งกลับคืนไปยังแคว้นบอมเบอีก ณ ที่นั้นท่านได้รับคำสั่งจากรัฐบาลฉบับหนึ่งมีข้อความว่า ให้ท่านจำกัดกิจการของท่านไว้ภายในขอบเขตบอมเบ โดยเฉพาะ และนอกจากนั้นรัฐบาลได้จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวท่านคานธีไม่ให้ออกนอกเขตบอมเบอีกด้วย

การกระทำของรัฐบาลต่อท่านคานธีโดยประการดังกล่าวมานี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นทั่วแคว้นบอมเบอย่างร้ายแรงกล่าวคือ เป็นธรรมดาอยู่เองที่มหาชนจะมองดูการคุมตัวท่านคานธีอย่างนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุไรย่อมเป็นที่ทราบอยู่แล้ว ฉะนั้นประชาชนจึงได้นัดหมายมาประชุมคัดค้านการกระทำของรัฐบาล แต่ในเมืองบอมเบและอาหัมมทาวาททางการตำรวจได้พยายามที่สุด ที่จะไม่ให้ต้องไม่คิด หรือประทุษร้าย ต่อฝ่ายปราบปรามหรือรัฐบาล ซึ่งถ้าจะกล่าวตามหลักแห่งจิตวิทยา เป็นการลำบากสำหรับมหาชนที่จะดำเนินได้ เพราะว่านิสัยของคนธรรมดามีอยู่ว่าถูกตีเมื่อใดต้องตีตอบเมื่อนั้น การยกโทษให้แก่ผู้ตี ย่อมเป็นการเหลือวิสัยสำหรับคนธรรมดา มหาชนประกอบขึ้นด้วยคนธรรมดาในการปราบปรามหลักการไม่ร่วมมือ ซึ่งมหาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอย่างไร้มนุษยธรรมดังที่ท่านคานธีได้กล่าวไว้ ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นของธรรมดาที่มหาชน อาจพลาดพลั้งจากหลักอหิงสา ตีตอบเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลบ้างก็เป็นได้ เหตุการณ์ชนิดนี้ได้เกิดขึ้นหลายราย แต่รายที่ร้ายที่สุด เกิดขึ้นที่เมืองเจารีโจรา ณ ที่นั้นพวกมหาชนพากันไปเผาสถานีตำรวจ และตีพวกพลตำรวจจนถึงตายหลายคน

อาศัยเหตุการณ์อันผิดหลักอหิงสาเช่นนี้ ท่านจึงมีความเห็นว่า ประเทศยังไม่เตรียมพร้อมพอที่จะดำเนินตามหลักอหิงสาได้ ฉะนั้นท่านจึงตกลงใจอย่างเด็ดขาดว่า ก่อน

“ฉันจึงขอแนะนำอีกว่า ถ้าเราไม่สามารถจะดำเนินการสัตยาเคราะห์ โดยถือหลักที่ฝ่ายเราจะไม่ยอมทำร้ายแก่บุคคลใดๆ แล้วไซร้ นโยบายที่วางแล้วนี้ เราจะต้องล้มเลิกแน่ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องปรับปรุงดัดแปลงหลักสัตยาเคราะห์ ให้เข้มแข็งเคร่งครัดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นอาจถึงกับเราต้องดำเนินสัตยาเคราะห์ต่อตัวเราเองก็เป็นได้ ถ้าเราตายฉันไม่เห็นว่าการตายนั้นจะเสื่อมเสียเกียรติยศแม้แต่น้อย ถ้าฉันได้รับข่าวผู้ถือสัตยาเคราะห์ตายไปคนหนึ่งฉันรู้สึกเสียใจอย่างล้นเหลือ กระนั้นก็ดี ฉันยังจะถือว่าความตายของท่านผู้นั้นนับเป็นการเสียสละ สำหรับประเทศชาติอย่างเหมาะสมทีเดียว”

“ฉันยังคิดไม่ตกว่า เพราะเหตุการณ์ร้ายที่ท่านทั้งหลายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นนั้น ฉันควรจะลงโทษตัวฉันเองอย่างไรดีนอกจากที่จะทำการอดอาหาร และถ้าเป็นการจำเป็นที่จะต้องความสงบเรียบร้อย และขอให้เว้นเสียจากการกระทำซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียเกียรติยศมาสู่ชาวบอมเบ”

คำแถลงการณ์นี้ ท่านได้แจกให้แก่ชาวบอมเบเท่านั้น ส่วนชาวอาหัมมทาวาท ท่านได้แจกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

“พี่น้องทั้งหลาย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อ ๒-๓ วันมานี้ นับว่าการกระทำเหล่านี้ ได้กระทำกันในนามของฉัน ฉันจึงรู้สึกละอายใจมิใช่น้อย ท่านทั้งหลายผู้ซึ่งนับว่าเป็นพวกก่อการจะได้แสดงเกียรติยศแก่ฉันก็หาไม่ หากกลับเป็นผู้ทำลายเกียรติยศเสียด้วยซ้ำ ถ้าท่านทั้งหลายจะเอาดาบมาแทงทลวงหัวใจของฉันเสีย ฉันคงจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าที่กำลังรู้สึกเจ็บอยู่เพราะกิจการของท่าน ฉันเคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งจนแทบนับไม่ถ้วนว่าสัตยาเคราะห์ไม่มุ่งหมายไปในทางการปองร้าย การปล้นหรือการก่อความหายนะประการใด ถึงกระนั้นก็ดีในนามแห่งสัตยาเคราะห์ เราได้เผาตึก แย่งชิงอาวุธ ตัดการคมนาคมทางรถไฟ ตัดสายโทรเลขทำลายชีวิตและปล้นทรัพย์สมบัติ ถ้าการกระทำเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อช่วยเหลือฉันให้หลุดจากคุก หรือพ้นจากการถูกประหารชีวิตแล้วไซร้ ฉันจะไม่ปรารถนาการพ้นจากคุก และทั้งไม่ต้องการแม้การพ้นจากคุกประหารชีวิตด้วย”

“บัดนี้ ทุกคนมีช่องทางที่จะพูดได้ว่า หากมิได้ดำเนินการสัตยาเคราะห์ เหตุร้ายเหล่านี้คงจะไม่บังเกิดขึ้นเป็นแน่ อาศัยเหตุร้ายเหล่านี้ ฉันจึงต้องบำเพ็ญทุกขกิริยา ซึ่งฉันเป็นเป็นทุกขกิริยาที่บำเพ็ญได้ด้วยยากยิ่ง กล่าวคือฉันได้งดการไปเยี่ยมเมืองเดลลี และทั้งได้จำกัดบริเวณสถานที่ที่เราจะดำเนินการสัตยาเคราะห์ด้วย นี่ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บยิ่งกว่าบาดแผล ถึงกระนั้นฉันก็เห็นว่าทุกขกิริยานั้นยังไม่เพียงพอ จึงตกลงใจที่จะบำเพ็ญการอดอาหารตลอดเวลา ๓ วัน หรือ ๗๒ ชั่วโมง ฉันหวังว่าการอดอาหารของแนนี้ คงไม่เป็นเหตุให้ใครรู้สึกเสียใจเพราะฉันเชื่อว่า การอดอาหารชั่วเวลา ๗๒ ชั่วโมงสำหรับฉันนั้น รู้สึกว่าจะมีความลำบากน้อยกว่าการอดอาหารตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงสำหรับท่าน ใช่แต่เท่านั้น การบำเพ็ญพรตเช่นนี้ ฉันสามารถอดทนได้จริงๆ”

อาศัยเหตุร้าย ณ เมืองบอมเบและอาหัมมทาวาทคราวนี้ ท่านจึงเห็นเป็นการจำเป็นแท้ ที่จะต้องระงับการดำเนินสัตยาเคราะห์ไว้ชั่วคราว ฉะนั้นต่อมาวันที่ ๒๔ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ อินเดียจึงได้เลิกการดำเนินสัตยาเคราะห์โดยบัญชาของท่านคานธี แต่ก็ไม่กี่วันนักได้เกิดมีเหตุร้ายขึ้นอีกรายหนึ่ง ทำให้อินเดียต้องเริ่มดำเนินสัตยาเคราะห์ต่อไปอีกอย่างเคร่งครัดมากยิ่งกว่าคราวที่แล้วๆ มา ถึงกับทำให้สายตาแห่งสากลโลกจ้องจับอยู่ที่อินเดียด้วยความประหลาดใจ

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี