มหาตมะคานธีผู้เผด็จการ

Socail Like & Share

คานธี
ภายใต้การนำของท่านคานธี หลักการไม่ร่วมมือได้ดำเนินไปด้วยดีและแพร่หลาย ดุ๊คออฟคอนน๊อตเสด็จเยี่ยมประเทศอินเดีย ทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามกำหนด แต่ฝ่ายประชาชนอินเดียไม่มีใครต้อนรับศิลปการทอผ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ ทุกประเภท ได้เจริญยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นิสิต-นิสิตานับหมื่นๆ ต่างได้พากันบอยค๊อตมหาวิทยาลัยและสมัครเข้ารับอาสาคณะคองเกรส การหยุดงาน หัรตาล เป็นต้น กลายเป็นเรื่องธรรมดา เกือบจะเป็นกิจวัตรประจำวัน

ตรงกับเวลาที่อินเดียกำลังตื่นตัวอยู่ดังกล่าวนี้ รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการคนเก่า และแต่งตั้งให้ลอร์ดริดิงเข้าทำหน้าที่แทน ในเชิงการทูต ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมาก โดยเหตุที่ในเวลาสงครามโลกท่านเคยครองตำแหน่งราชทูตสหปาลีรัฐอเมริกา และชักชวนประเทศอเมริกาให้เข้าฝ่ายพันธมิตรจนได้ นอกจากนั้นท่านยังเคยครองตำแหน่งผู้พิพากษามาแล้วหลายปี ฉะนั้นผู้นำแห่งคณะพรรคการเมืองอื่นๆ เห็นสมควรที่จะจัดการให้มีการพบปะกันระหว่างผู้สำเร็จราชการกับท่านคานธีขึ้น ในที่สุดเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการได้พบปะกัน ณ เมืองสิมลาอันเป็นที่พักอาศัยสำหรับฤดูร้อนของผู้สำเร็จราชการ ประชาชนพร้อมทั้งผู้นำแห่งคณะพรรคต่างๆ ต่างมีหวังกันว่า การพบปะของท่านทั้งสองคนนี้ คงจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสงบและการประนีประนอม ระหว่างอินเดียกับอังกฤษ แต่ความจริงการพบปะนั้นหาได้ประสพผลสมดังประสงค์ไม่ ต่อมาท่านคานธีได้ประกาศเปิดเผยออกมาว่าการพบปะกันคราวนั้น เป็นเพียงแต่การกล่าวย้ำหลักอหิงสาเท่านั้นเอง ความไม่สงบ การขันขืนกฎหมายเป็นต้น จึงยังดำเนินเรื่อยไปตามเคย

พอดีประจวบกับเวลานี้รัฐบาลประกาศว่า ปรินส์ออฟเวลส์จะเสด็จเยี่ยมอินเดีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ ในทันทีทันใดนั้นเอง คองเกรสได้ออกประกาศแก่ประชาชนทั่วไป ให้บอยค๊อตการเสด็จของปรินส์ออฟเวลส์ทั้งได้ชักชวนประชาชน ให้สมัครเป็นผู้รับอาสาดำเนินการบอยค๊อตปรินส์ออฟเวลส์ด้วย คำประกาสของคองเกรสในคราวนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษขุ่นเคืองมากยิ่งกว่าการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษเสียอีก ฉะนั้นเมื่อระยะเวลาเสด็จใกล้เข้ามารัฐบาลจึงต้องออกประกาศใช้กฎอัยการศึก และทั้งประกาศประนามโทษคณะผู้รับอาสาว่าเป็นคณะนอกกฎหมาย (Outlaws)

คำประกาศนี้ ได้ประสพผลตรงกันข้ามกับความคาดหมายของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลประกาศว่า คณะผู้รับอาสาของคองเกรส ถือว่าเป็นคณะนอกกฎหมาย ดังนั้นคองเกรสก็ลงมติท้ารัฐบาลขัดขืนคำประกาศนั้นทันที โดยออกประกาศชักชวนประชาชนให้สมัครเป็นผู้รับอาสาโดยด่วน อนึ่งการที่รัฐบาลประกาศนามดทษคณะ อันดำเนินกิจการในทางที่สงบโดยไม่คิดประทุษร้ายต่อบุคคลใดว่าเป็นคณะนอกกฎหมายนั้น เป็นเหตุให้ผู้นำแห่งพรรคอื่นๆ มองเห็นใจจริงของคองเกรสด้วย จึงได้พากันมาลงชื่อเป็นผู้รับอาสา ภายในวันเดียวเฉพาะในเมืองกัลกัตตามีคนสมัครเป็นผู้รับอาสานับจำนวนกว่า ๕,๐๐๐ คน ไม่ต้องกล่าวถึงผล การสมัครเป็นผู้รับอาสา โดยขัดขืนคำประกาศของรัฐบาลจะต้องเกิดผลร้ายแก่ผู้สมัครในภายหลังอย่างแน่นอน กล่าวคือ เมื่อคองเกรสท้ารัฐบาลว่าจะขัดขืนคำสั่งฉันใด รัฐบาลก็ท้าคองเกรสว่า จะดำเนินนโยบายอย่างปราบปรามผู้ร้ายฉันนั้น ฉะนั้นภายในไม่กี่วันเรือนจำทุกแห่ง จึงเต็มยัดเยียดไปด้วยนักโทษผู้รับอาสาถึงกับรัฐบาลต้องใช้เต็นท์เป็นเรือนจำชั่วคราวขึ้น จำนวนผู้รับอาสาที่ได้มีโอกาสเยี่ยมเรือนจำอังกฤษ ในทำนองนี้มีราว ๘๐,๐๐๐ คน แต่เป็นสุภาพสตรีเสีย ๕,๐๐๐ คน

ถึงแม้รัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายปราบปรามอย่างร้ายแรงเพียงไรก็ตาม กระนั้นจะถึงกับทำให้กิจการของคองเกรสหยุดชงักลงก็หาไม่ พวกผู้นำต่างๆ เช่นท่านจิตรัญชันทาส บัณฑิตมติลาลเนหรู บัณฑิตชวาหัรลาลเนหรู ถูกจำคุกในฐานะเป็นผู้นอกกฎหมายแทบทุกท่าน แต่รัฐบาลยังไม่กล้าจับมหาตมะคานธีโดยตรงทีเดียว โดยเกรงว่าถ้าท่านคานธีถูกจับความไม่สงบเท่าที่มีอยู่ จะเพิ่มพูนทวีคูณยิ่งขึ้นจนเหลือกำลังที่จะปราบปรามได้

เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในฐานะตรึงเครียดเช่นนี้ ผู้นำแห่งคณะพรรคอินดิเปนเดนส์ (Independence Party) ชื่อบัณฑิตมทนโมหนมาลวย กับศาสตราจารย์ฝ่ายเคมีแห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ชื่อ เซอรปรผุลล จินทรราย รวมกันจัดการให้ท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการได้พบปะสนทนากันคงจะวางข้อตกลงหรือทำการประนีประนอมกันได้บ้าง

เนื่องจากรัฐบาลได้ทำการปราบปรามในมณฑลเบงคอลร้ายยิ่งกว่ามณฑลอื่นๆ ทั้งคองเกรสก็ได้ตกลงกันแน่นอนที่จะทำการหัรตาล ณ เมืองกัลกัตตา เมื่อปรินส์ออฟเวลส์จะเสด็จมาที่นั้น ท่านสองคนจึงได้ไปหาลอร์ดโรนาลด์เซข้าหลวงประจำเบงคอลเสียก่อน แต่ท่านลอร์ดผู้นี้ ได้ตอบว่าสถานการณ์เบงคอลในปัจจุบันนี้ ถึงความตรึงเครียดเสมือนสถานการณ์ในยามสงครามแล้ว รัฐบาลจึงไม่สามารถที่จะผ่อนผันลงได้แม้แต่น้อย

เมื่อหมดหวังในคำตอบของข้าหลวงเบงคอล ท่าน ๒ คนก็พากันไปหาผู้สำเร็จราชการ คือ ลอร์ดริดิง ขอร้องให้ท่านเรียกประชุมโต๊ะกลม แห่งบรรดาผู้นำอินเดียทั้งหลาย เพื่อทำการประนีประนอมปรองดองกันด้วยดี แต่ท่านผู้สำเร็จราชการตอบว่า เป็นการเหลือวิสัยสำหรับรัฐบาลที่จะพิจารณาถึงการเรียกประชุม ถ้าหากการตื่นตัวและการขัดขืนกฎหมายยังทำกันอยู่โดยมีเจตนาเช่นนี้ เมื่อได้ประกาศคำตอบของท่านผู้สำเร็จราชการให้ทราบทั่วถึงกันแล้ว ท่านคานธีตอบแก่ผู้แทนฝ่ายหนังสือพิมพ์ว่า

“ฉันขอกล่าวซ้ำอีกพันครั้งว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้ต้องไม่ถือว่าเป็นอริต่อชาติใดหรือคณะใด แต่มุ่งต่อระเบียบการดำเนินของรัฐบาลอินเดีย ดังที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ และฉันขอปฏิญาณว่า การขู่เข็ญหรือการปราบปรามประการใด ที่ผู้สำเร็จราชการหรือคณะใดอาจกระทำได้นั้น จะทำให้การตื่นตัวนี้สงบลงไม่ได้เป็นอันขาด”

เมื่อความพยายามของท่านทั้ง ๒ คนนี้ได้ล้มลงโดยมิได้บังเกิดผลอย่างไร ก็ไม่ต้องสงสัย กิจการของคองเกรสกับการปราบปรามของรัฐบาลจำต้องดำเนินเป็นคู่เคียงกันไปเป็นธรรมดา ปรินส์ออฟเวลส์เสด็จถึงเมืองกัลกัตตา ณ วันที่ ๒๘ เดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ หัรตาลในเมืองกัลกัตตาได้ดำเนินไปอย่างมิเคยมีมาแต่ก่อน เมืองอันมีพลเมืองประมาณ ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน ดูเหมือนที่เปล่าเปลี่ยวดังสุสาน ในแผ่นธงดำพาดหัวข้อต่างๆ เช่น “India does not welcome Prince of Wales” โบกสบัดอยู่บนปลายเสาเกือบทุกบ้าน รัฐบาลรู้สึกตกตะลึงในการต้อนรับอย่างแปลกประหลาดเช่นนี้ พวกฝรั่งเห็นการต้อนรับรัชทายาทอังกฤษเช่นนี้ รู้สึกขุ่นเคืองถึงกับกล่าวหารัฐบาลว่าดำเนินนโยบายการปราบปรามยังไม่พอแก่สถานการณ์สมาคมพาณิชย์อังกฤษแนะนำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายปราบปรามให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น แต่รัฐบาลหมดหนทางไม่รู้ว่าจะปราบปรามอย่างไร เพราะว่ากฎหมายที่รัฐบาลประกาศใช้ในการปราบปรามนั้น มีการลงโทษอย่างสูงสุด คือการประหารชีวิตอยู่แล้ว

การสำเร็จผลในการดำเนินหัรตาล ในเมืองกัลกัตตาเป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสในนโยบายของท่านคานธี และในสมรรถภาพของท่านจิตรัญชันทาสผู้นำแห่งเบงคอลเป็นอย่างสูง ทั่วอินเดียจึงพากันเลือกท่านผู้นี้เป็นประธานของสภาคองเกรส ที่ได้นัดประชุมในปลายเดือนธันวาคม ณ เมืองอาหัมมทาวาท แต่เป็นความเสียใจสำหรับอินเดียมิใช่น้อยที่ในสมัยนั้นท่านยังพักอยู่ในเรือนจำ ฉะนั้นท่านเมาลานาฮัซ รัตโมหานิจึงทำหน้าที่วันนี้แทน

สภาคองเกรสได้เห็นผลสำเร็จแห่งนโยบายการไม่ร่วมมือของท่านคานธีอย่างไม่ได้นึกฝัน จึงตกลงมอบอำนาจบริหารให้ท่านคานธีอย่างเด็ดขาด โดยตั้งให้เป็นผู้เผด็จการแห่งคองเกรสต่อไป ตราบเท่าที่คณะกรรมการคองเกรสเห็นสมควร

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี