มหาตมะคานธีในเรือนจำ

Socail Like & Share

คานธี
ย่อมเป็นธรรมดาที่การก่อให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นทั่วอาณาจักรอินเดียดังกล่าวมานี้ จะต้องเป็นเหตุให้รัฐบาลรู้สึกเดือดร้อนมิใช่น้อย ฉะนั้นรัฐบาลจึงพยายามอยู่เสมอที่จะปราบปรามการตื่นตัวเพื่อกู้อิสระภาพของประเทศนั้นให้สิ้นเชิงลง เนื่องจากท่านคานธีเป็นต้นเหตุแห่งหลักการดำเนินและทั้งเป็นผู้นำของประเทศด้วย ประชาชนจึงมีความเกรงกลัวและห่วงอยู่เสมอว่า มิช้ามินานท่านจะต้องถูกจับเป็นแน่ การจับกุมบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ตาม ย่อมตกเป็นหน้าที่ประจำมณฑลนั้นๆ ตามปรกติตลอดเวลาแห่งการดำเนินหลักการไม่ร่วมมือนี้ ท่านคานธีได้เที่ยวแทบทุกมณฑล เพื่อสั่งสอนประชาชนให้มั่นอยู่ในหลักอหิงสา แต่โดยเหตุที่ท่านเป็นผู้นำและเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนทั่วไป ไม่จำกัดชั้นวรรณะจึงไม่มีรัฐบาลประจำมณฑลใดกล้าจับคานธี ทั้งนี้ก็โดยเกรงกลัวไปว่า ถ้าท่านคานธีถูกจับแล้วไซร้ ความไม่เรียบร้อยเท่าที่มีอยู่ในประเทศ คงจะทวีคูณขึ้นเป็นแน่แท้ ถึงกับฆ่าฟันกันเลือดนองก็เป็นได้ ฉะนั้นรัฐบาลประจำมณฑลจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลกลางให้งดการจับท่านคานธี จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ณ ปารเลียเมนต์ แต่ว่าความเกรงกลัวในแง่ดังว่านี้ไม่มีมูลความจริงแม้แต่ประการใด เพราะว่าถึงท่านคานธีเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ถ้าตัวท่านถูกจับประชาชนอาจจะปะทะกันกับตำรวจขึ้นได้ จึงได้สั่งสอนประชาชนไว้แต่ต้นว่า ถ้าท่านถูกจับขออย่าได้ก่อความไม่สงบประการใดๆ ขึ้น

ในที่สุด เมื่อรัฐบาลเห็นว่า อาศัยคำของท่านคานี ประชาชนคงจะไม่ก่อเหตุร้ายขึ้นแน่ จึงได้ตกลงใจว่าจะจับตัวท่านคานธี

ดังนั้นตกมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๒๒ การถกเถียงกันในสภาปาร์เลียเมนต์ จึงได้แสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ได้อนุญาตให้รัฐบาลอินเดียดำเนินการจับตัวท่านคานธี

เวลาเที่ยงคืน แห่งวันที่ ๑๐ เดือนมีนาคม ขณะที่มหาตมะคานธีกำลังพักผ่อนอยู่ในนิทรารมณ์ในอาศรมสวรมติซึ่งท่านได้สถาปนาขึ้นสำหรับอบรมดรุณชน ให้รู้จักการรับใช้ประเทศชาติ เผอิญมีแสงไฟฟ้าฉายส่องดวงหน้าอันสงบเสงี่ยมของท่าน แสงจ้าแห่งดวงไฟฟ้า ได้ทำลายความหลับของท่านเสียถึงกับต้องลุกจากที่นอน และพอดีเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอังกฤษมาคอยจับตัวอยู่ ท่านยิ้มแย้มต้อนรับผู้แทนแห่งราชอำนาจด้วยความแจ่มใส และจริงใจ แล้วขอเวลาเตรียมตัว และทำการภาวนาร่วมกับพวกพรหมจารีในอาศรมสัก ๑ ชั่วโมง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ได้แสดงอัธยาศัยอย่างไมตรีจิต และแสดงความเสียใจในการกระทำของตนซึ่งต้องทำไปเพราะหน้าที่บังคับ แต่ไม่ได้ขัดขวางคำขอร้องของท่านคานี ในไม่ช้าข่าวการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แผ่ไปทั่วอาศรม ทุกคนตื่นและเข้ามาในห้องนอนของท่านคานธี แวดล้อมท่านไว้ประดุจว่าจะไม่ยอมให้อำนาจของรัฐบาลเข้ามาแตะต้องท่านแม้แต่น้อย

เมื่อท่านได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว ท่านก็พาพวกพรหมจารีไปยังห้องประจำอาศรม ทำการภาวนารวมกันแล้วให้โอวาทครั้งสุดท้ายแก่พวกอาศัยในอาศรมนั้น เสร็จแล้วมอบคำสดุดี อวยพรแก่ประเทศที่ท่านเคยประพันธ์ไว้ให้แก่เลขานุการของท่าน เมื่อเสร็จธุระเรียบร้อยแล้วท่านก็มอบตัวเองให้เจ้าหน้าที่ทันที เจ้าหน้าที่เชิญตัวท่านไปพักอยู่ในเรือนจำสวรมติชั่วคราว คอยจนกว่าศาลจะตัดสินคดีที่ท่านถูกกล่าวหานั้น

มา ณ วันที่ ๑๗ เดือนมิถุนายน ๑๙๒๒ เจ้าหน้าที่ได้จัดการส่งตัวท่านไปยังศาล ดังได้กล่าวไว้แล้ว ท่านถูกกล่าวหาในฐานะที่เป็นผู้เขียนบทประพันธ์ อันก่อให้เกิดความชังต่อรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลอ้างบทประพันธ์ ๔ เรื่องที่ท่านเขียนลงในหนังสือพิมพ์ Young India ในฐานะเป็นบรรณาธิการ กล่าวคือ Disaffection a virtue ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๒๑ Tampering with Loyalty ลงวันที่ ๒๐ กันกายน ค.ศ.๑๙๒๑ The puzzle and its solution ลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ และ Shaking the manes ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๒๒ ดังได้กลาวมาแล้วในบทต้นว่า ศาลได้พิพากษาโทษให้จำคุกท่านไว้เป็นเวลา ๖ ปี

เมื่อทางการฝ่ายบริหารได้รับคำสั่งของศาลดังนั้นก็ย้ายท่านจากเรือนจำชั่วคราวไปอยู่ที่เรือนจำยารเวทาเป็นเวลา ๒ ปีเต็ม เรือนจำยารเวทาได้กลายเป็นปูชนียสถานของชาวอินเดียทุกคน คนนับร้อยๆ พากันไปเยี่ยมเรือนจำซึ่งเป็นที่สำนักอาศัยของผู้นำ อันเป็นที่เคารพรักของเขาทุกวัน ผู้แทนแห่งหนังสือพิมพ์ต่างๆ ของโลก พากันไปเยี่ยมเรือนจำยารเวทา เพื่อขอสัมภาษณ์กับท่านคานธีผู้ดำเนินการสงครามอหิงสา โดยยึดอหิงสาเป็นเครื่องอาวุธ

รัฐบาลอนุญาตให้บุตรภรรยาของท่านไปเยี่ยมท่านได้ทุก ๓ เดือน แต่การสนทนาปราศรัยกันระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้นต้องทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะมีความไว้วางใจในท่านคานธีอยู่เสมอว่า ท่านจะไม่ละเมิดกฎข้อบังคับของเรือนจำก็จริง แต่ก็ยังต้องเฝ้าควบคุมดูแลเป็นพิธีอยู่เสมอ ในการพักอยู่ในเรือนจำ ท่านถือคติว่า จะไม่ยอมรับสิทธิพิเศษแม้แต่ประการไร ดังจะได้เห็นชัดจากถ้อยคำต่อไปนี้

“ในการถูกจำคุก ฉันถือคติว่า จะตัดความสัมพันธ์ของโลกภายนอกเสียทุกประการ การอนุญาตให้รับแขกได้ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ ซึ่งนักโทษการเมืองที่ถือหลักการไม่ร่วมมือ ไม่ควรขอร้อง”

เมื่อถูกขังอยู่ในเรือนจำยารเวทาสักปีกว่าๆ ปรากฎว่าท่านเกิดเป็นโรคไส้ตันขึ้น รัฐบาลจึงสั่งให้ย้ายท่านไปที่โรงพยาบาลสาสุน ณ เมืองบูนา เพื่อทำการผ่าตัด ในที่นี้ขอกล่าวชมเชยรัฐบาลไว้ด้วยว่า ทางการได้ตระเตรียมการผ่าตัดท่านคานีด้วยความระมัดระวัง และเอาใจใส่ทุกประการ ทั้งได้จัดให้ผู้นำของชาติหลายท่านไปเป็นพยานและเพื่อนในเวลาทำการผ่าตัดด้วย พันเอก แมด๊อกเป็นศัลยแพทย์รับหน้าที่ทำการผ่าตัด อาศัยเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดมิตรภาพถาวรขึ้น ระหว่างท่านคานธีกับแมด๊อก เมื่อท่านศัลยแพทย์จะอำลาอินเดียกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนท่านได้กล่าวถึงท่านคานธีไว้ว่า

“ตลอดเวลาที่ท่านคานีพักอยู่ในโรงพยาบาล ได้เป็นที่รักใคร่แก่คนผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับท่านทุกคน ทั้งนี้ก็เพราะความอ่อนโยน ความอดทน ความร่าเริง ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และความไม่เห็นแก่ตัวของท่าน”

เมื่อท่านรื้อไข้ขึ้นแล้ว และรัฐบาลเห็นว่ายังอ่อนเพลียอยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ให้ปล่อยตัวท่านคานธีก่อนเวลากำหนด

ดังนั้นมา ณ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๒๔ หลังจากเวลาที่ท่านได้ถูกจำคุกมาแล้ว ๒ ปี ภายในท่ามกลางแห่งความปิติปราโมทย์แห่งอินเดีย รัฐบาลได้ปล่อยตัวท่านคานธีออกจากเรือนจำพ้นจากโทษ

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี